โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน

Posted: 10 Jun 2013 01:23 PM PDT

"แรงจูงใจเดียวของผมในการบอกต่อสาธารณะก็เพราะว่าการกระทำนี้มันขัดแย้งกับชื่อของตัวองค์กร(สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ)

อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ของหน่วย ซีไอเอ ผู้เปิดโปงโครงการ PRISM ที่ทางการสหรัฐฯ ใช้สอดแนมข้อมูลของประชาชน

การปฏิรูปที่ดิน คปอ. สู่ข้อตกลงสัญญารัฐบาล

Posted: 10 Jun 2013 11:10 AM PDT

 
 
ความขัดแย้งเรื่องที่ดินในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของสังคม ที่ทุกฝ่ายพยายามหาทางออก แต่กระทั่งปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวยังดำรงอยู่ และมีแนวโน้มจะขยายขนาดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณามูลเหตุของเรื่องจะพบว่า เกิดจากโครงสร้างการจัดการที่ดินของรัฐไทย ที่จำแนกระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐและของเอกชน โดยในส่วนระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐจะให้อำนาจรัฐบริหารจัดการโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น พื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายป่าไม้ประเภทต่างๆ เป็นต้น ส่วนกรรมสิทธิ์ของเอกชนก็จะให้สิทธิ์การจัดการโดยเอกชน
อย่างเบ็ดเสร็จเช่นกัน โดยการบริหารจัดการจะใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญ ดังนั้น เราจะพบว่าที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือนายทุน และผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยมีความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยการผลิตของตนเองได้
 
ในอีกด้านหนึ่ง ข้อพิพาท และความขัดแย้งระหว่างที่ดินของรัฐกับประชาชนที่มีปัญหาทับซ้อนกัน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมายาวนาน แต่รัฐกลับไม่มีมาตรการที่เป็นธรรมในการแก้ไขปัญหา ในทางตรงกันข้าม กลับกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกลไกการแก้ไขปัญหาที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้หลายพื้นที่มีการละเมิดสิทธิของเกษตรกรอย่างรุนแรง เช่น การจับกุม ดำเนินคดีชาวบ้านใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในกรณีสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย กรณีที่สาธารณประโยชน์ ต.ดงกลาง และกรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น          
 
ในขณะที่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า พื้นที่พิพาทเหล่านี้ ชาวบ้านได้ครอบครอง ทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ของหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น แต่เมื่อรัฐมีอำนาจเหนือทรัพยากรตามกฎหมายที่บังคับใช้ ชาวบ้านกลับกลายเป็นผู้บุกรุก และถูกดำเนินการทางกฎหมาย
 
จากความขัดแย้งดังกล่าว ชาวบ้านได้รวมตัวเพื่อผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนโดยประชาชน มีมาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเฉพาะหน้าของสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การจัดการที่ดินของชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน รวมทั้งการผลักดันให้รัฐมีการกำหนดมาตรการทางภาษี โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายการถือครองที่ดินสู่เกษตรกร คนจนเมือง การจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน และมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยการบรรจุเป็นนโยบาย กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 มิ.ย.53 ทั้งนี้ มีพื้นที่นำร่องที่จะดำเนินการ ทั้งสิ้นกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายภาคประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ ทางสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กลับพบว่าในหลายพื้นที่ถูกคุกคามจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านห้วยกลทา อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น
 
ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนบริหารจัดการที่ดินของเครือข่ายฯ ยังคงดำเนินไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยืนยันในสิทธิของชุมชน และความเป็นเกษตรกรผู้ทำการผลิตสร้างและเลี้ยงสังคม โดยในพื้นที่ คปอ.ได้กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการจัดทำโฉนดชุมชนทั้งสิ้น 16 ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ยโสธร ศรีสะเกษ และเพชรบูรณ์
 
จากการดำเนินการในพื้นที่ของเครือข่ายฯ จะพบว่า การจัดทำโฉนดชุมชนของชาวบ้านจะมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การจัดทำขอบเขตที่ดินที่จะดำเนินการโฉนดชุมชน การจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการที่ดินในรูปคณะกรรมการโฉนดชุมชน การกำหนดระเบียบข้อบังคับ กองทุนที่ดิน กองทุนสวัสดิการสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มฌาปนกิจ และการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า ในหลายพื้นที่มีการทำการผลิตแปลงรวม การใช้แรงงานร่วมกันเพื่อจัดหากองทุนกลุ่ม เช่น การทำหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ การทำนารวมของทั้งชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ หรือจะเป็นที่ชุมชนเขวาโคก อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด การเก็บหาหน่อไม้รวมของชุมชนบ้านห้วยระหงส์ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น
 
กล่าวได้ว่า การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เป็นบทสรุปสำคัญของเกษตรกรและคนจนเมือง ที่ผ่านบทเรียนอันยากลำบากจากการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิในที่ดิน และการรักษาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ในท่ามกลางการคุกคามสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ปฏิบัติการดังกล่าวจึงถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญ และท้าทายต่อทัศนคติของสังคม เกี่ยวกับแนวคิดการจัดการที่ดินที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในอนาคต รวมทั้งการยืนหยัดต่อสู้ของเกษตรกรผู้ริเริ่มดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ
 
แม้การปฏิบัติการโฉนดชุมชนของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน จะดำเนินไปท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ตกเป็นเบี้ยล่างทางการผลิต รวมถึงการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกดำเนินคดี ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาในระบบการจัดการที่ดินเช่นนี้ แต่ชุมชนหลายแห่งได้เริ่มต้นที่จะก้าวเดินไปสู่จินตนาการทางสังคมที่มีความเป็นธรรม รวมทั้งได้ร่วมเรียกร้อง ผลักดัน ติดตามการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง
 
ล่าสุดการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้มาชุมนุมเป็นครั้งที่ 7 ในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อร่วมติดตามปัญหาบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 พ.ค.56 ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้าชีวมวล และให้ดำเนินการโฉนดชุมชน การชุมนุมดังกล่าวได้ดำเนินมาถึงวันที่ 22 พ.ค.56 กระทั่งได้มีการร่วมทำบันทึกข้อตกลง (mou) ระหว่างภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กับตัวแทนภาครัฐ โดยมี นายประชา ประสพดี รมช.ช่วยมหาดไทย นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุภรณ์ อัตตาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมลงนาม
 
การตกลงร่วมครั้งนั้น ทุกขั้นตอนได้มีบันทึกการแก้ไขปัญหาผ่านเวทีสาธารณะสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีข้อยุติร่วมกันไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดี ดังเช่นกรณีที่ดินทำกินและกรณีการเร่งรัดเสนอเร่งออกโฉนดชุมชน นั้น ตัวแทนรัฐบาล โดย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กำชับด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ในระหว่างการดำเนินการการแก้ไขปัญหา ตามกลไก และตามดำเนินการที่มีข้อยุติเดิมอยู่แล้วนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่เร่งจัดการ รวมทั้งให้ยุติการดำเนินการต่างๆ ในอันที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน หากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใดก็ตามฝืนปฏิบัติในคำสั่ง จะจัดการในขั้นเด็ดขาด
 
นี่หมายถึงนิมิตรหมายหรือสัญญาณที่ดีอีกขั้นหนึ่ง ที่เครือข่ายฯ และภาคประชาชนต่างๆ ได้ร่วมต่อสู้เรื่อยมา เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ให้ผืนดินที่ทำกิน เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ไปถึงลูก สู่ถึงหลาน และถือเป็นบทพิสูจน์หัวใจอีกครั้ง ที่รัฐบาลสัญญาโดยมีการบันทึกข้อตกลงร่วม รวมทั้งมีการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ ในการที่จะให้ความจริงใจอย่างเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองนัดพิพากษาคดีโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน 27 มิ.ย นี้

Posted: 10 Jun 2013 09:14 AM PDT

ศาลปกครองกลางใช้ "หลักการป้องกันล่วงหน้า" นัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้านฟ้องนายกรัฐมนตรี กบอ.-กยน.กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน

 
10 มิ.ย. 56 - นายศรีสุวรรณ  จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯได้รับหมายแจ้งคำสั่งศาลในคดีหมายเลขดำที่ 940/2556 คดีระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 45 คน ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น บัดนี้กระบวนการไต่สวนของศาลได้กำหนดการสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงจากคู่กรณีและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วในวันที่ 18 มิถุนายน 2556 นี้แล้ว และศาลได้กำหนดให้มีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2556 เวลา 13.00 น. หลังจากนั้นศาลได้กำหนดวันพิพากษาในคดีดังกล่าวในวันพฤหัสที่ 27 มิถุนายน 2556 เวลา 13.00 น.ทันที ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ชั้น 3 ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ
 
คดีนี้ถือว่าเป็นคดีที่ศาลปกครองไต่สวนและพิจารณาคดีได้เร็วที่สุดเท่าที่สมาคมฯ ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองมากว่า 4,000 คดี คือใช้ระยะเวลาในการต่อสู้คดีเพียง 49 วันเท่านั้น และเชื่อได้ว่าเป็นคดีแรกของศาลปกครองที่ใช้กระบวนการไต่สวนและพิจารณาคดีจนมีคำพิพากษาได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เปิดดำเนินการศาลปกครองมากว่า 12 ปี ซึ่งเชื่อได้ว่าศาลปกครองได้ใช้ "หลักการป้องกันล่วงหน้า" หรือ Precautionary Principle มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านนี้ เพื่อให้ทันกับระยะเวลาที่รัฐบาลและ กบอ. จะก่อนิติสัมพันธ์จนสร้างความเสียหายต่อประเทศในอนาคตอันใกล้ ซึ่งรัฐบาลโดย กบอ. ได้ดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาโดยตลอด ตั้งแต่การจัดทำแผนฯ การจัดทำทีโออาร์ ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ล่าสุดได้ออกมาประกาศกลุ่มบริษัทที่ชนะการประมูลในโมดูลต่างๆ ไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา และจะเสนอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เพื่อเร่งรีบการกู้เงินออกมาใช้ก่อนวันที่ 30 มิ.ย.ตามที่พระราชกำหนดกู้เงินฯ ขีดเส้นตายเอาไว้ ซึ่งหากศาลปกครองปล่อยให้การพิจารณาคดีเนิ่นนานช้าไปกว่านี้ อาจจะยากแก่การแก้ไขและเยียวยาได้
 
ซึ่งหากศาลปกครองมีคำพิพากษาเป็นไปตามคำขอท้ายคำฟ้องของสมาคมฯ ก็จะทำให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ที่ชนะการประกวดราคาในครั้งนี้ หันกลับไปเริ่มต้นปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด เริ่มตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 มาตรา 87 มาตรา 165  รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม ก่อนดำเนินการใด ๆ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด    
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โยนอนุฯ ผังรายการดู ‘ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์’ ก่อนส่ง กสท.-‘สุภิญญา’ ชี้วิกฤตศรัทธาสื่อ

Posted: 10 Jun 2013 09:04 AM PDT

กสทช.สุภิญญา เรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมของสภาวิชาชีพสื่อ กรณีไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ชี้สะท้อนวิกฤตศรัทธาการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ยิ่งเปิดทางให้รัฐควบคุมดูแลมากขึ้น เผย กสท.ให้อนุกรรมการผังรายการกลั่นกรองก่อนส่งบอร์ดลงมติ แต่ไม่ระบุเวลา

 
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กสท.ครั้งที่ 22 ว่า บอร์ดมีมติให้นำเรื่องร้องเรียน รายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ซีซั่น 3 ของมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้าสู่กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน และส่งให้คณะอนุกรรมการผังรายการซึ่ง พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานนำไปกลั่นกรองก่อนส่งมาให้บอร์ดลงมติตัดสินใจอีกครั้ง แต่ยังไม่ระบุว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อใด ซึ่งต้องคอยติดตามเร่งรัดและแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย 56 มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้ายื่นหนังสือถึง ประธาน กสทช.ผ่านนางสาวสุภิญญา ให้ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ซีซั่น 3 ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย.56 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีการนำเสนอเนื้อหาลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สำหรับการแสดงความสามารถของนายสิทธัตถะ เอมเมอรัล
 
"ขั้นตอนตามกระบวนการทางกฎหมายก็ว่ากันไป แต่สิ่งน่าเสียใจกับมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อที่ไม่มีการออกมาแสดงความรับผิดชอบจากสภาวิชาชีพฯ ช่อง 3 หรือแม้กระทั่ง Work point ซึ่งเป็นเรื่องที่สะท้อนวิกฤติศรัทธาในการกำกับดูแลกันเองของสื่อ สังคมก็จะไม่เชื่อมั่นว่าสื่อจะกำกับดูแลกันเองได้ โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นผลดีเลย ที่จะใช้กฎหมายเข้ามากำกับเหมือนย้อนยุค แต่เมื่อสื่อไม่ทำหน้าที่และรับผิดชอบต่อสังคม ยิ่งทำให้เกิดการเรียกร้องให้รัฐไปควบคุมดูแลมากขึ้น" นางสาวสุภิญญากล่าว
 
ทั้งนี้ สำหรับกรณีดังกล่าวนี้แนวทางการพิจาณาจะเข้าข่าย ม.37  พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 รวมประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556 ข้อ 11
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.56) ตนเองในนามของประธานอนุกรรมการกำกับดูแลกันเองได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือมาตรการทางสังคมว่าจะมีการเยียวยาเรื่องดังกล่าวอย่างไร ในมุมของจริยธรรม จรรยาบรรณ โดยเฉพาะได้เชิญ รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งมีช่อง 3 เป็นสมาชิก รวมทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ส่วนด้านกฎหมายต้องรอผลการพิจารณาจากอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการต่อไป
 
นอกจากนี้ บอร์ดมีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดส่งแผนประชาสัมพันธ์ในยุคเปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อคสู่ดิจิตอลเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้วุฒิสภา
 
ส่วนกรณีเรื่องร้องเรียนสัญญาการให้บริการของบริษัททรูวิชั่นส์ไม่เป็นธรรมกับผู้ร้องเรียน บอร์ดมีมติส่งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ช่วยวินิจฉัยสัญญาการให้บริการระหว่างบริษัททรูวิชั่นส์กับผู้ร้องเรียน อย่างไรก็ตามบอร์ดมีมติเห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ให้สำนักงานเร่งออกมาตรฐานสัญญา และส่งจดหมายแจ้งให้บริษัททรูวิชั่นส์ระมัดระวังเรื่องสัญญา เพราะมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำกันหลายครั้ง
 
สำหรับกรณีอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอต์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) บริษัทลูกของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ครอบครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 2 เม.ย.56 ที่ผ่านมา โดยอาร์เอสฯ ยืนยันสิทธิ์ในการเผยแพร่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านช่องฟรีทีวี จำนวน 22 คู่ ตามที่ต้องการ ในฐานะผู้ที่ถือครองลิขสิทธิ์ เนื่องจากการทำสัญญาลิขสิทธิ์นั้นเกิดขึ้นก่อน กสทช.ออกประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปนั้น จะมีการขึ้นศาลพิจารณาคดี ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้
 
ส่วนหลักเกณฑ์ทีวีสาธารณะและการคัดเลือกโครงข่ายโทรทัศน์ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ซึ่งคงต้องมีการติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ในการประชุมบอร์ดต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิรมล ยุวนบุณย์ :การเลื่อนชั้นและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา

Posted: 10 Jun 2013 08:26 AM PDT


บทความชิ้นที่ 4 ของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

ภายใต้ภาพจำของโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมข้าวที่ชาวนาและแรงงานที่ถูกขูดรีดด้วยกลไกการตลาดและทุน   เราจะได้เห็นการปรับตัวของชาวนาในระบบการผลิต ที่ไม่ยอมจำนนกับแรงกดเค้น โดยเข้ามาอิงอาศัยกลไกและเครื่องมือต่างๆ ในระบบการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร เครื่องมือสมัยใหม่  สถาบันเงินกู้ และการสร้างเครือข่ายของกลุ่มชาวนารับจ้างที่ทุนน้อย โดยอาศัยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ และการติดตามข่าวสารข้อมูล   ทำให้โครงการรับจำนำข้าว และนโยบายค่าจ้าง 300 บาท/วัน  กลายเป็นน้ำมันหล่อลื่นชั้นดีที่เข้ามาลดช่องว่างของการจ้างงานซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรมข้าวภาคกลางให้เดินหน้าต่อไปได้   ในขณะที่ชาวนาเองก็มีทางเลือกมากขึ้นจากโอกาสที่เพิ่มขึ้นด้วยเมื่อส่วนต่างของรายได้จากการขายผลผลิตนั้นเพิ่มขึ้น  

พัฒนาการของการทำนา

สนิท  สภาพโชติ   ชายวัย 62 ปี  ทำนามาตั้งแต่จบชั้น ป. 4 ทั้งครอบครัวมีที่นาราว 200 ไร่ ซึ่งเพิ่งเบิกทำนาปรังได้ 80 กว่าไร่ในปีนี้    เขาเล่าให้ฟังถึงสภาพการจ้างงานในนาที่เขาเคยจ้างมาตั้งแต่สมัยที่เขามาช่วยพ่อทำนาใหม่ๆ  ทั้งรับจ้างเกี่ยว มัดฟ่อนข้าว และไถนา ซึ่งการรับจ้างไถนาเริ่มมีขึ้นช่วงที่มีรถไถเข้ามาในหมู่บ้านราวปี 2515 และเป็นเหตุให้พี่ทุยของรวงหายจากนาไปในที่สุดว่า  

"เมื่อก่อนนาปี(ข้าวฟางลอย) ดีกว่านี้เยอะ  เกี่ยวแล้วต้องมัดเป็นฟ่อน  ต้องจ้างเขาเกี่ยวคิดค่าจ้างเกี่ยวเป็นฟ่อน  คนรับจ้างเกี่ยวเขาพักที่ตามนา   พวกนี้มาจากแถวสิงห์บุรี  แล้วมารุ่นหลังนี่พวกนี้ก็หายไป  แล้วก็มีทางศรีประจันต์มาแทน  พวกนี้มาเกี่ยวเป็นรายวัน ค่าจ้างเกี่ยวเป็นไร่ มาเช้าเย็นกลับ มาเกี่ยวถึงไร่  ถ้าจ้างเกี่ยวพวกไร่นี่เหนื่อยเยอะเพราะต้องมัดเอง ไม่เหมือนจ้างพวกที่นอนตามนานี่มัดให้    แล้วต่อมาเป็นรถเกี่ยว  นี่แต่มาสุพรรณ เราต้องมัดเองหมด ก็ต้องจ้างเขามัดฟ่อนละบาทละบาท  ลำบากแล้ว   โอ้โห!อีตอนลุข้าว[2] นี่แหละคันละออง   ปิดตรงเบ้าตาหน่อยเดียวละ  ละอองทั้งนั้น  จะนอนก็ตั้งตี 1 ทำฟางอยู่นั่น พุ้ยพาย แต่นวดฟางมันน้อยเจ้า  เพราะว่ามีรถไถแล้วจ้าง มารุ่นลูกนี่สบายแล้ว รุ่นลูกนี่มาแบบ(อัดฟาง)เป็นก้อนนะนั่น สบายเยอะ  แต่มารุ่นนี้สบายกว่าอีก ไม่ต้องฝัดเลย   เดี๋ยวนี้เกี่ยวออกมาเป็นเม็ดเลย   เมื่อก่อนต้องเอาข้าวใส่กระสอบไปขาย ต้องจากคนยกกระสอบอีก  เดี๋ยวนี้มีท่อต่อลงรถเทขายกันเป็นคันรถ    สมัยก่อนรุ่นเราต้องลากไปลงบ้าน ถ้าไม่บ้านก็เอาไปไว้กลางนารวมๆ กันไว้แล้วรถลากจะมานวดให้  แล้วก็คอยอยู่นั่นแหละข้าวมันไม่ดี" 

แม้สนิทจะมีบรรพบุรุษทำนา  เขาก็ไม่ได้สนับสนุนให้ลูกชาย ทั้ง 3  วัย 36 , 35 และ 27 ปี กลับมาเป็นชาวนา แต่ได้ส่งเสียให้ลูกๆ เรียนจบขั้นปริญญาตรี  มีเพียงลูกชายคนโตเท่านั้นที่กลับมาอยู่บ้าน และลงสมัครเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอยู่ 2 ครั้งจนได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน    ส่วนอีก 2 คน เป็นพนักงานออฟฟิสในกรุงเทพฯ   

เมื่อปี 2554 ช่วงที่ลูกชายคนเล็กรอสมัครงานนั้น  ช่วยพ่อทำนาประหยัดค่าจ้างคนขับรถไถนาฟางลอยของตัวเองเพื่อไปได้มาก ซึ่งช่วงนั้นเขาต้องจ่ายค่าจ้างวันละ 300 – 350 บาท เพราะคนรับจ้างหายาก  จากปกติที่ต้องจ่ายแบบเหมาไร่ละ 500 บาท  แต่พ่อก็อยากให้ลูกเป็นข้าราชการ หรือทำงานเอกชน ซึ่งดูว่าจะเป็นอาชีพที่ดีกว่าชาวนา   จนกระทั่ง ลูกชายคนเล็กได้เข้าทำงานบริษัทเมื่อต้นปี 2555  ครั้นพอลูกชายคนเล็กได้งานซึ่งต้องใช้รถวิ่งออกหาลูกค้าโดยทางบริษัทเป็นผู้จ่ายค่าน้ำมันเท่านั้น    ช่วงนี้เองที่พยงค์ ภรรยาวัย 55 ปีของสนิทตัดสินใจควักเงินก้อนใหญ่ที่เป็นผลกำไรซึ่งมากขึ้นจากการขายข้าวในโครงการรับจำนำให้ลูกชายคนเล็กผ่อนดาวน์รถยนต์คันแรกที่ได้รับส่วนลดหย่อนจากนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์  

ครอบครัวสภาพโชติ นั้นหวังว่าข้าวราคาดีช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้จะช่วยผ่อนเพลาภาระหนี้ที่สะสมได้บ้าง  ส่วนงานหนักๆ ในนานั้นสนิท รับหน้าที่ด้านออกแรง ดูแลความเรียบร้อยในนา  เช่น การปั่นนา  ,  การทำเทือก  , การดูแลน้ำ   ส่วนพยงค์ทำหน้าที่ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านต้นทุน  การติดต่อประสานงานกับคนงานรับจ้างทำนาประเภทต่างๆ

ลูกจ้างขาประจำของพยงค์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสุพรรณบุรีนั้นมีหลากหลายแตกต่างไปตามประเภทของงาน  ตั้งแต่  การหว่านข้าวปลูก  ,   การหว่านปุ๋ย ( 4 ครั้ง/ฤดู)  ,  การฉีดยากำจัดวัชพืช ( 2 ครั้ง/ฤดู) , การฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ( 4 – 8 ครั้ง/ฤดู ขึ้นกับการแพร่ระบาดของโรคแมลง) ,  การตัดข้าวดีดซึ่งเป็นวัชพืชที่ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายได้ตั้งแต่ 30 – 100 % , การจ้างเกี่ยว  และการจ้างเข็นข้าว [3]

ในช่วงโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 2 ปี 2555 ที่พยงค์นำข้าวไปขายแล้วได้รับเงินจาก ธกส. ช้า  จึงสร้างปัญหาให้กับการผ่อนชำระหนี้ปัจจัยการผลิตที่ร้านค้าเจ้าประจำซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านของเธอไปราว 6 กม. คิดดอกเบี้ยเธอร้อยละ 2 บาท/เดือน  และทำให้การจ้างงานนาในรอบใหม่อยู่ในภาวะขัดสน   เธอก็ต้องยืมเงินญาติมาจ่ายตัดดอก    เธอว่าขายข้าวได้เงินช้าแต่ว่าข้าวราคาดีจนน่าพอใจ  และหวังว่าจะมีไม่การจ่ายช้าในครั้งต่อๆไป

 

อัตราค่าจ้างงานในนา เครื่องมือ และแหล่งติดต่อ ของชาวนาทุ่งลาดชะโด ม.9 ต.หนองน้ำใหญ่

งาน

เครื่องจักร/เครื่องมือ

แหล่งที่ติดต่อ

อัตราจ้าง/ไร่ (บาท)

ขุดคลอง

รถแบคโฮ

นอกหมู่บ้าน

ตั้งแต่ 900*

ดันนาให้เรียบและยกคันนา

รถดัน

นอกหมู่บ้าน

750*

ปั่นนา

รถปั่นนา

ใน/นอกหมู่บ้าน

220 - 250

ตีเทือก

รถไถขนาดเล็ก รถไถเดินตาม

ใน/นอกหมู่บ้าน

220 - 250

ฉีดพ่นสารเคมี

แบกสะพายหลัง

ใน/นอกหมู่บ้าน

50 – 60

ถือหัวฉีดจากเครื่องฉีดพ่น

ใน/นอกหมู่บ้าน

20 - 25

เหมาจ่ายตั้งแต่ผสม-ฉีดด้วยเครื่องฉีดพ่น

ใน/นอกหมู่บ้าน

50 - 60

หว่านข้าว / หว่านปุ๋ย

หว่านมือ หรือเครื่องหว่านสะพายหลัง

ใน/นอกหมู่บ้าน

50 - 60

ตัดข้าวดีด

เคียว

ใน/นอกหมู่บ้าน

ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของข้าวดีด อัตราจ้างวันละ 300 บาท

เกี่ยวข้าว

รถเครื่องเกี่ยวนวด

นอกหมู่บ้าน

500

เข็นข้าว

รถบรรทุก 6 ล้อ

ใน/นอกหมู่บ้าน

1.50 – 2 บาท/ถัง**

หมายเหตุ*คิดเป็นรายชั่วโมง ค่าจ้างขึ้นกับขนาดของรถ    **ขึ้นกับระยะทางในรัศมีไม่เกิน 10 กม. บางรายมาพร้อมกับรถเกี่ยว

 

แม้ราคาข้าวในโครงการรับจำนำจะจูงใจให้ชาวนาอยากทำนาเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น  แต่ในฤดูปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ปี 2555 ของพยงค์และสนิท  มีนาบางแปลงก็จำเป็นต้องเลือกปลูกข้าว 51 [4] ซึ่งมีอายุสั้น เพราะในการปลูกข้าวนาปรังครั้งแรกของปีนี้มีข้าวดีดปนมาก ทำให้ผลผลิตที่ควรได้ไร่ละตันลดลงเหลือแต่ 3 ตันจาก 5 ไร่  เธอต้องการกำจัดข้าวดีดให้หมดจึงใช้วิธีปั่นนาหลังเกี่ยวข้าวแปลงนี้แล้วปล่อยน้ำเข้าแปลงเพื่อล่อให้เมล็ดหญ้างอกขึ้นมา แล้วทำการปั่นนาอีกครั้งเพื่อให้วัชพืชเจ้าปัญหาเหล่านี้ตาย จึงตีเทือกแล้วหว่านข้าวอายุสั้นแทนข้าวอายุ 110 วัน เพื่อจะได้เกี่ยวข้าวให้ทันก่อนที่ชลประทานน้ำจะปล่อยเข้าท่วมนาในช่วงปลายสิงหาคม-ต้นกันยายน   

พยงค์  ยังเลือกหว่านข้าวพันธุ์ 51 ถึง 4 ถัง/ไร่  ซึ่งมากเกินคำแนะนำของรัฐที่ให้หว่านไร่ละ 1.5 – 2 ถัง เพื่อป้องกันเพลี้ย  เธอว่าถ้าหว่านบางอย่างนั้นไม่ได้ เพราะดินไม่ดี  หว่านห่างแล้วข้าวไม่แตกกอ  จะทำให้ได้ผลผลิตไม่ถึงไร่ละตัน   ที่สำคัญคือหว่านเผื่อนกเผื่อหนูมารบกวน เพราะถ้าจ้างหว่านซ่อมก็ต้องเสียเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว   และเธอเลือกปลูกข้าว 51 นี้ ซึ่งเธอใช้เวลาปลูกเพียงแค่ 85 วันและขายได้แค่ตันละ 8,000 บาท ก็ทำให้เสี่ยงน้อยกว่าปลูกข้าวราคาดีตามที่โครงการรับจำนำกำหนดอายุไว้ 110 วัน แต่ต้องเสี่ยงกับการความไม่แน่ไม่นอนของน้ำที่อาจทำให้เธอต้องจ้างรถเกี่ยวมาเกี่ยวข้าวเขียวหรือไม่ได้เกี่ยวข้าวขายเลย

 

สุพรรณแหล่งสำคัญของแรงงานรับจ้างทำนา

อำไพ  เสือแดง  อายุ 44 ปี    เรียนจบ ป.6  ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาที่บ้านเกิด  ที่ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี  ปัจจุบันเธอทำนา 44 ไร่ เป็นที่นาของตัวเอง 10 กว่าไร่  เธอบอกว่าแรงงานในครอบครัวมีแค่เธอกับลูกชายคนโตวัย 24 ปี ที่จบชั้น ม. 3 มาช่วยงานทั้งในนา และสวนดอกสลิดที่ปีหนึ่งมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวราว 9 เดือน   บางครั้งลูกชายเธอก็ออกไปรับจ้างตีเทือกให้กับนาเพื่อนบ้านด้วย  เมืองสุพรรณบุรีอาจนับเป็นเมืองหลวงแห่งอุตสาหกรรมข้าว  อำไพซึ่งต้องอาศัยการจ้างงานในนาแทบทุกขั้นตอน จึงหาคนรับจ้างทำไม่ยาก  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน  

เธอว่าทำนาโครงการจำนำข้าวให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดที่แล้ว  ถ้าเงินออกไวและลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและออกใบประทวนให้ยุ่งยากน้อยลงจะดียิ่งขึ้น   ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นหลักประกันให้เธอพออุ่นใจได้ว่าจะมีเงินเป็นค่าใช้จ่ายหลักค่าสูงลูกชายคนเล็กที่กำลังเรียน ปวส.ปี 1 ที่วิทยาลัยเอกชนในตัวเมืองสุพรรณบุรี ให้จบปริญญาตรี  ในขณะที่แวดวงสังคมของเธอในหมู่บ้านที่เริ่มเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ก็มีรายจ่ายสูงขึ้นผิดไปจากในอดีต

"ถ้าขายได้เงินสดเกวียนละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทมันอยู่ได้   ทำนามันดีอย่าง มันได้เงินเป็นก้อน  นอกจากต้นทุนก็มีรายจ่ายหนักๆ ตกที่ลูกชายคนเล็กคนเดียว เบิกค่าเทอมได้ครึ่งหนึ่งจาก 13,000 บาท ปีละ 2 เทอม   ค่าใช้จ่ายรายวันวันะ 60 บาท ค่ารถเดือนละ 600 บาท  กินอยู่ในบ้านวันละ 300 บาท   น้ำ 300 กว่าบาท  ค่าไฟ 500 กว่าบาท  ภาษีสังคมก็เดือนละ 5,000 บาทเข้าไปแล้ว"

 

ทำนาในทุ่งผักไห่แต่อาศัยแรงงานรับจ้างจากสุพรรณบุรี

สำหรับชาวนามือใหม่อย่างผู้ใหญ่ธงชัย  นัยเนตร ชาวนามือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำนาได้เป็นปีที่ 2 ซึ่งทำนากว่า 80 ไร่ ในทุ่งผักไห่  บอกว่า เขาเลือกจ้างงานจากชาวนารับจ้างที่มาจากสุพรรณบุรี  ห่างไปราว 30 กว่ากม.  เพราะความเป็นมืออาชีพของผู้รับจ้าง  เขาวิเคราะห์ว่าค่าแรงรับจ้างทำนาที่ขึ้นมาราว 20 % จากแต่เดิมในช่วงการเพาะปลูกปี 2555 – ปัจจุบัน นั้นไม่ใช่เพราะราคาข้าวที่ชาวนาขายได้เพิ่มจากโครงการรับจำนำข้าวโดยตรง หากแต่เป็นการประกาศยกระดับค่าจ้างรายวัน 300 บาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกอบกับการขยายตัวของนาปรังที่เปิดใหม่แทนการทำนาปีข้าวฟางลอยที่ล้มเหลวจนแทบไม่ได้ผลผลิตมาในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้

"หว่าน ฉีด  จ้างไร่ละ 60 บาท  เพิ่งขึ้นมาได้ 5 เดือน  ทีแรกมัน 50 บาท แล้วคนฉีดคนหว่านเขาบอกว่าเขาทำดี  คนอื่นทำไม่ค่อยดี เขาก็ขึ้น(ค่า)ตัวเขา   ถ้าไม่ขึ้นจะไปเอา 50 บาทแถวบ้าน  เราก็ไม่เอาดีกว่า เราไม่รู้จักใคร อีกอย่างไม่เคยเห็นฝีมือ  นามันเปิดเยอะขึ้นด้วย  คนที่ฉีดหว่านไม่ค่อยดีไม่มีฝีมือก็ถูกตัด ไม่เอา  ของเขากลุ่มนึงฉีดทีมา 10 คน   คนเขาก็ไว มาถึงคนก็รุมทำ เวลาเร่งด่วน   โทรไป  เขามีทีมของเขาอยู่แล้ว  บอกเขาฉีดยา เขาก็ลงวันนัดเวลาให้เลย  เย็นหรือบ่าย  เราก็เตรียมตัว ยา ถัง ถึงเวลาเขาก็มาที่นา โทรนัดกัน  แต่เขาน่ะฉีดทุกวัน เช้ายันเย็น ทุกวัน ไม่ว่าง วันละร้อยกว่าไร่"

 

ทำนาแบบเลื่อนขั้น

จำเนียร และสุภาพ  ฉ่ำแจ่ม  ( 42 และ 46 ปี) เป็นชาวนาสุพรรณบุรีที่ครอบครัวพี่น้อง 6 คน ทั้งครอบครัวมีที่นาของตัวเองแค่ 10 กว่าไร่     เมื่อ 9 ปีที่แล้ว พี่น้องคู่นี้ต้องมาเช่านาแถว ต.หน้าโคก และ ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  ทำหลายแปลงรวม 46 ไร่  จำเนียรเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อนที่ต้องทำนาของตัวเองและรับจ้างทำนาของคนอื่นไปพร้อมๆ กันว่า

"ทำนามาตั้งแต่เด็ก เมื่อ 30 กว่าปีก่อน  แต่ก่อนไม่มีกินหรอก ลำบาก  ขนาดหมูแต่ก่อนโลละ 30 บาท แขวนอยู่ยังมองอยู่นั่น กินแต่ผัก เห็นหมูยังไม่มีตังค์กินเลย  แต่ก่อนลำบาก   เดี๋ยวนี้สบาย   มันก็ตามยุคตามสมัย พอสบายเงินมันก็ไม่มีค่า เดี๋ยวนี้สบายก็ต้องใช้เงินเยอะ  แต่ก่อนเงินมีค่า แต่เดี๋ยวนี้สบาย ถือว่ารวยกว่าแต่ก่อน เมื่อก่อนว่ามีเงินแสนถือว่ารวย เดี๋ยวนี้มีเงินล้าน  ยังไม่กระดิกไปไหนเลย  ตอนนั้นลำบากแต่เงินมีค่า  ตอนนั้นเกี่ยวเอง หาบเอง กว่าจะหาบได้  หอบมามัดแล้วหาบมาขึ้นร้าน แล้วก็ไปรูด  กว่าจะได้ (ข้าว) หลายขั้นตอนเลย เดี๋ยวนี้สบาย"

จำเนียร สบายขึ้นจากเดิม เพราะปัจจุบันทำนาพอมีเงินเก็บ  ไม่มีหนี้  แต่ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อที่นาเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะราคาที่ดินแพงขึ้น โดยเฉพาะที่ทำเลดีอย่างในสุพรรณบุรี   เธอและพี่สาวจึงต้องพยายามทำนาแบบไม่ให้เป็นหนี้  

จากที่ก่อนหน้านี้หลายปี จำเนียรทำนาตัวเองและรับจ้างทำนาด้วย ซึ่งมีตั้งแต่เอากระสอบพันธุ์ข้าวแช่น้ำ[5]  ตีเทือก  หว่านปุ๋ย  แต่ 4 – 5 ปีหลังมานี่เธอลงแรงในนาตัวเองเป็นส่วนมาก  และจ้างงานนาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น  คือ  หว่านข้าว  ฉีดยา เกี่ยวข้าว และเข็นข้าวไปขาย  แต่ทั้งคู่เลือกที่จะลงทุนซื้อรถปั่นนามาปั่นนาของตัวเอง และให้ สมดี ตันติโน ญาติที่ทำนาข้างๆ กัน ราว 160 ไร่ เช่าใช้

เมื่อเธอจะปั่นนา   เธอต้องจ่ายค่าจ้างขับรถปั่นให้สมดี ไร่ละ 20 บาท กับค่าน้ำมันที่ใช้ไร่ละ 2 ลิตร     หากสมดีจะนำรถปั่นของเธอไปใช้ก็ต้องจ่ายค่าเช่ารถไร่ละ 100 บาท  ในขณะที่รถรับจ้างปั่นทั่วไปที่ชาวนาในทุ่งลาดชะโดจ้างมักมาจากสุพรรณบุรี และ อ.สามโก้ จ.อ่างทอง นั่นจะไปคิดค่ารับจ้างเหมา ไร่ละ 220 – 250 บาท  

"รถปั่นคันละ 450,000 บาท  ดาวน์ไป 200,000 บาท  ผ่อน 4 งวด ครึ่งปี  หมดหนี้ไปนานหลายปีแล้ว  ซื้อมาเมื่อปี 51  พี่ชายเพิ่งถอยมาเหมือนกันคันหนึ่งไว้ไปรับจ้าง  ไม่ทันไรพังแล้ว  นี่เขาว่าจะฟ้อง คันละ 190,000 บาท  ของคูโบต้า  แต่ของเราเป็นยันมาร์  มันปั่นไม่ได้เงิน ไม่มีเงินส่งเขา  เขาจะยึด  ไม่ได้ส่งมา 3 งวด เขาจะมาฟ้องแต่ยึดรถไปแล้ว"   

จำเนียร  เชี่ยวชาญในการตีเทือก   เธอเคยรับจ้างตีเทือกมานานนับสิบปี  ปัจจุบัน เธอตีเทือกเฉพาะนาที่เธอทำ   เธอว่าชาวนาในทุ่งลาดชะโดและทุ่งหน้าโคกส่วนใหญ่มีชุดเครื่องมือตีเทือกเป็นของตัวเอง  นอกจากคนที่ทำนาขนาดเล็กและไม่มีเงินทุนมากพอจะใช้วิธีจ้าง  เพราะเฉพาะขลุบตัวหนึ่งราคาราว 40,000 บาท   ประกอบด้วยกล่อง 2,000 บาท   ลูกตีตัวละ  7,500 บาท  และเครื่องยนต์ซึ่งหากเป็นเครื่องยนต์เกียร์ธรรมดา ตัวละ 15,000 – 20,000 บาท  หากเป็นเกียร์อัตโนมัติ ตัวละ 30,000 บาท   อุปกรณ์เหล่านี้หากเก็บไม่ดีจะถูกลักขโมยได้ง่าย  และหากเครื่องตีเทือกของเธอพัง เธอต้องขนไปซ่อมไกลถึงสุพรรณบุรี

เมื่อเธอหันมาใช้เครื่องจักรกลและจ้างงาน   แม้อยากจะเช่านาทำเพิ่มแต่ที่นาเช่าก็หายากและราคาค่าเช่าก็แปรผันตามราคาข้าวซึ่งกระตุ้นให้มีคนอยากทำนาเหมือนๆ กับเธอจนเกิดการแข่งขันด้านราคาเช่า   เธอและพี่สาวจึงใช้เวลาว่างที่เหลือจากงานนาลงแรงไปกับพืชผักอายุสั้น  ปลูก ฟักทอง ฟักเขียว บนคันนา เป็นรายได้เสริม และ 4 วัน ใน 1 สัปดาห์เธอจะเก็บผักบุ้งในคันคลอง ผลผลิตในนา  เก็บมะม่วง และมะพร้าวในสวนที่บ้าน ให้น้องสาววัย 36 ปี ไปขายที่ตลาดนัด อ.ผักไห่ และ วัดลาดชะโด 

 

ในตอนหน้า พบกับกลุ่มชาวนายากจน และอดีตชาวนาไร้ที่ดินที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายออกรับจ้างทำงานเฉพาะด้านในนา  ซึ่งได้รับอานิสงค์จากโครงการจำนำข้าว นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และกองทุนหมู่บ้าน 




[1]  บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  "โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว"  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2] ลุข้าว:  หรือนวดข้าว การทำให้เมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกจากรวง โดยการตี ฟาด หรือ ใช้วัวควายเหยียบย่ำ

 

[3] การปั่นนา :   เป็นวิธีการเตรียมดินในนาข้าวขั้นแรกที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนการไถดะและไถแปร เพื่อใช้ในการไถกลบตอซังด้วยรถปั่นยนต์ที่ติดใบจอบหมุน  ปั่นให้หน้าดินเป็นก้อนเล็กและตัดซังข้าวและหญ้าให้สั้นลง

การทำเทือก:  หรือการตีขลุบ  หลังจากปั่นนาแล้วจะต้องเตรียมดินให้แตกเป็นก้อนละเอียดจนเป็นโคลน   โดยใช้รถไถเดินตามเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนพ่วงขลุบซึ่งเป็นล้อเพลาติดใบมีดเหล็ก (บางครั้งก็เรียกลูกตี, ลูกเจาะ)   เมื่อตีเทือกจนเป็นโคลนดีแล้วจะต้องปาดผืนนาให้เรียบ  แล้วทำเป็นร่องระบายน้ำ    จึงเริ่มทำการหว่านข้าวที่เริ่มมีรากงอกซึ่งผ่านการเตรียมไว้ก่อนหน้าการหว่าน 3 วัน

การกีดน้ำ:  การทำร่องน้ำเล็กๆ หลังจากการตีเมือกและปาดเรียบ เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำออกจากนา

ข้าวดีด:  ข้าวดีด เป็น วัชพืชที่ขึ้นปนในนาข้าว มีลักษณะคล้ายต้นข้าวมาก เมื่อปลูกข้าว ข้าวดีดจะโตไปพร้อมกับข้าว สังเกตแยกแยะได้ยาก จนกระทั่งข้าวดีดออกรวง ต้นจะสูงกว่าและออกรวงไวกว่าข้าว ช่วงนี้ชาวนาในเขตผักไห่และสุพรรณบุรีมักจะใช้วิธีกำจัดข้าวดีดด้วยวิธีการตัด(เฉาะ)ข้าวดีดทิ้ง เพราะปล่อยให้ข้าวดีดแก่และเมล็ดร่วงหล่นจะทำให้ผลผลิตนาข้าวเสียหาย 10 – 100 %

เข็นข้าว:  การจ้างรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกข้าวเปลือกที่ได้จากการเกี่ยวไปขายที่โรงสี หรือลานตากข้าว

[4] ชื่อเดิม "เจ้าแปด51"   หรือ"ตาเม้า51" ตามชื่อเจ้าของ/คิดค้นชือ เม้า บ้านอยู่วัดเจ้าแปดทรงไตร อ.เสนา จ.อยุธยา ต่อมา พ่อค้าข้าวเปลี่ยนมาเรียกเบอร์ 51   ลักษณะสายพันธุ์ 1.อายุเก็บเกี่ยวสั้น 90 - 100 วัน 2.ผลผลิตสูง 3.เมล็ดข้าวเปลือกยาวเกิน 0.5 ซม. ข้าว 51 นี้คนละพันธ์กับ กข.51 ของกรมการข้าว ที่ทนน้ำท่วมและพัฒนามาจากการผสมข้าวขาวดอกมะลิกับ IR49830-7-1-2-2

[5] เป็นวิธีการเตรียมข้าวปลูก  ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียม 3 วันก่อนจะนำข้าวไปหว่าน  โดยการนำข้าวพันธุ์ไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน (บางรายอาจผสมสารเร่งการงอกเพื่อให้งอกดีและป้องกันเชื้อราลงในน้ำที่แช่ข้าว) แล้วยกขึ้นจากน้ำ พักให้กระสอบแห้ง 1 คืน แต่ต้องราดน้ำลงในกระสอบเป็นระยะ ทิ้งไว้อีกคืน แล้วก็หว่านในเช้าวันที่ 3  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความคิดเกี่ยวกับรัฐไทยในฐานะ “นักล่าอาณานิคม

Posted: 10 Jun 2013 05:54 AM PDT

 
ขบวนการBRN แถลงการณ์ผ่านคลิปวีดีโอทาง Youtube เมื่อวันที่26 เมษายน คลิปดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างในคืนวันที่ 27และมีรายงานข่าวอย่างกว้างขวางตั้งแต่วันที่ 28 ต้นไป
 
แถลงการณ์ของ BRNครั้งนี้ทำให้สังคมไทยตกใจกันใหญ่ ความตกใจนั้นอาจะเกิดจากสาเหตุ3ประการ ประการแรก นี่คือครั้งแรกที่องค์กรซึ่งก่อนหน้านี้รักษาความลับอย่างเข้มงวดเปิดตัวต่อหน้าสาธารณะ สำหรับหลายๆ คน คลิปดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสครั้งแรกที่ได้ยินเสียงของ อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ สาเหตุที่สองคือ ในคลิปที่มีความยาวประมาณ 5 นาที ตัวแทนของ BRN ทั้งสองคนใช้ภาษามลายูกลางที่มีมาตรฐานสูงตลอดช่วงเวลาแถลงการณ์โดยไม่ใช้คำศัพท์ภาษาไทยแม้แต่คำเดียว และ สาเหตุสุดท้ายคือ การใช้คำว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" สำหรับเรียกรัฐไทย
 
ก่อนหน้านี้ไม่มีใคร (กล้า) เรียกรัฐไทยเป็นนักล่าอาณานิคม และคนไทยก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักล่าอาณานิคม เพราะตามความเข้าใจประวัติสาสตร์แบบไทย/สยาม ดินแดนปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณและมีสิทธิที่จะปกครองดินแดนแห่งนี้อย่างชอบธรรม         
 
การที่มองรัฐสยามเป็นนักล่าอาณานิคมนั้นเกิดขึ้นจากทัศนคติทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากฉบับประวัติศาสตร์ที่คนไทยรู้จักกัน
 
ผมเริ่มเรียนภาษามลายูในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นและเคยอ่านหนังสือภาษามลายูหลายเป็นจำนวนมาก หลังจากเรียนจบแล้ว ผมก็ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมาลายาประเทศมาเลเซีย และทำงานวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบภาษามลายูกลางกับภาษามลายูถิ่นปาตานี ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยของผมก็ได้จากหนังสือและเอกสารภาษามลายูหรือภาษาอังกฤษทางด้านมลายูศึกษา ไม่ใช่ข้อมูลทางด้านไทยศึกษา แต่เมื่อผมเรียนภาษาไทย และเริ่มอ่านหนังสือภาษาไทย ผมเองก็ตกใจกับประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นไทย เพราะมันแตกต่างไปจากสิ่งที่ผมเคยเรียนมาอย่างมาก 
 
ดร. วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภาจากจังหวัดปัตตานี ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยมาลายา ได้อธิบายในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่าการใช้คำว่า นักล่าอาณานิคมสยาม เป็นเรื่องธรรมดาในภาษามลายู ทัศนคตินี้ถูกมองว่าเป็นทัศนคติที่ถูกต้องโดยบรรดานักประวัติศาสตร์ด้วยหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานีที่ใช้คำว่า นักล่าอาณานิคมสยามก็สามารถพิมพ์และจำหน่ายได้โดยไม่เคยถูกห้าม
          
แถลงการณ์ของ BRN ก็ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับสังคมไทยที่เผชิญกับประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันเพราะถ้าอาเซียนต้องการจะเป็นประชาคมที่มีความเข้มแข็งเหมือนสหภาพยุโรป (EU) จำเป็นต้องมีความสามัคคีในบรรดาประเทศสมาชิก ในทางกลับกัน การที่ขาดความเข้าใจต่อทัศนคติทางประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นๆ คงจะเป็นที่มาของปัญหาอย่างแน่นอน ดังนั้น แต่ละประเทศสมาชิกควรทราบว่า ประเทศอื่นๆมีทัศนคติทางประวัติศาสตร์อย่างไร ความรู้ด้านนี้ย่อมมีความสำคัญมากกว่าการปักธงชาติหรือให้ความรู้ผิวเผินเกี่ยวกับประเทศสมาชิก
          
ประเทศบางประเทศมีทัศนคติที่ค่อนข้างรุนแรงต่อประเทศของตนเนื่องจากมีประวัติศาสตร์ฉบับที่แตกต่างกันผมขอยกตัวอย่างจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก
          
ในประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองของ เกาหลีใต้และจีนจะเน้นการกระทำของกองทัพญี่ปุ่นอาทิ ความโหดร้าย ทารุณกรรม การปกครองที่อยุติธรรมและความยากลำบากที่เกิดขึ้น รวมถึงการบังคับให้เป็นหญิงบริการทางเพศ  แต่สิ่งเหล่านี้ นักการเมืองปีกขวาและพวกคลั่งชาติจากญี่ปุ่นก็ไม่ยอมรับ และทัศนคติทางประวัติศาสตร์เป็นที่มาของปัญหาทางการทูตในภูมิภาคนี้เป็นประจำ
          
สถานการณ์เช่นนี้ยังเป็นอุปสรรคในการสร้างมิตรภาพที่แท้จริงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ทั้งๆ ที่ประเทศในภูมิภาคนี้มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กันอย่างใกล้ชิด  แม้แต่การที่เป็นเจ้าภาพร่วมบอลโลก 2002 ระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่นก็ไม่เอื้อต่อการสร้างมิตรภาพเพราะมีอุปสรรคทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว และจนถึงบัดนี้ บรรดาประเทศเอเชียตะวันออกยังไม่สามารถสร้างประชาคมภูมิภาคในรูปแบบใดๆ
          
จากตัวอย่างข้างบนสิ่งที่ชัดเจนคือถ้าหากว่าประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ยอมรับความแตกต่างทัศนคติทางด้านประวัติศาสตร์ความศามัคคีมิอาจเกิดขึ้นและอาเซียนก็แค่เป็นการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคที่เปราะบางที่ไม่มีอำนาจใดๆ
          
สังคมไทยจะยอมรับประวัติศาสตร์ฉบับที่ฝ่าย BRN นำเสนอ ที่มองประเทศไทยเป็นนักล่าอาณานิคมหรือไม่ยอมรับก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสังคมไทย แต่นี่คือประวัติศาสตร์ของบรรดาประเทศในอาเซียนที่ใช้ภาษามลายู
          
ภูมิภาคหมู่เกาะมลายูมีชื่อเรียกในภาษามลายูว่านูซันตารา (Nusantara)  ภูมิภาคนี้เคยตกเป็นเมืองขึ้นของบรรดาประเทศมหาอำนาจตะวันออกในประวัติศาสตร์ของนูซันตารา จุดสูงสุด (climax) อยู่ที่ช่วงเวลาที่ประเทศ"บรรลุเอกราช" (ภาษามลายูใช้คำว่า mencapai kemerdekaan) ไม่ใช่ "ได้รับเอกราช" เพราะเอกราชคือผลที่เกิดจากการต่อสู้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วมีคนที่จะมาให้กับเราผู้นำของประเทศในขณะที่ "บรรลุเอกราช"อย่างเช่น ประธานาธิบดีซูการ์โน แห่งประเทศอินโดนีเซียหรือนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งประเทศมาเลเซีย ตนกู อับดุล ราห์มัน ปุตรา ได้รับความยกย่องอย่างสูงเป็น"บิดาแห่งเอกราช" (Bapa Merdeka) ฉะนั้น การต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านี้คือการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดน
          
ในการสร้างประชาคมระดับภูมิภาคที่แข็งแรงในยุคที่แต่ละประเทศสามารถสอนหรือบังคับประวัติศาสตร์ของตนอย่างเดียว  ประวัติศาสตร์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อสร้างความสามัคคีโดยการสร้างศัตรูของชาติขึ้นมากำลังจะสิ้นสุดลง  ในยุคต่อไป ประวัติศาสตร์ควรจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจกันระหว่างประเทศ
          
ในสหภาพยุโรป ประเทศที่เคยรบกันมานาน เช่นฝรั่งเศสและเยอรมัน เริ่มใช้ตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่แนะนำเวอร์ชั่นประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความเข้าใจระหว่างกันในทางประวัติศาสตร์ เพราะการที่ยึดถือประวัติศาสตร์ฉบับเดียวโดยปฏิเสธฉบับอื่นๆมีแต่จะสร้างความแตกแยกเท่านั้น
          
แถลงการณ์ของ BRNนั้นคือบททดสอบสำหรับสังคมไทยที่มาก่อนถึงเวลาประชาคมอาเซียนเปิดตัวนี่คือประวัติศาสต์ฉบับที่สังคมไทยต้องเผชิญหน้าภายในเวลาอีกสองปีเศษ
 
 
 
เผยแพร่ครั้งแรกที่: วารสาร รูสมิแล  มอ. ปัตตานี
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เท่ง เถิดเทิง แจ้งความกองปราบฟ้องมือตัดต่อภาพผิดพ.ร.บ.คอมพ์

Posted: 10 Jun 2013 05:47 AM PDT

เท่ง เถิดเทิง แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เอาผิดคนตัดต่อและเผยแพร่รูปตนเองในลักษณะหมิ่นสถาบัน ระบุ ภาพที่เกิดขึ้นมาจากการแสดงในรายการชิงร้อยชิงล้าน

10 มิ.ย. 56 - สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายพงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ หรือ เท่ง เถิดเทิง พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบ พลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. เพื่อแจ้งความดำเนินคดี กรณีมีผู้ตัดต่อภาพตนเองและเติมข้อความในลักษณะหมิ่นสถาบัน เผยแพร่ผ่านโชเชียลเน็ตเวิร์ค

โดย เท่ง เถิดเทิง ยอมรับว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพของตนเองจริง ซึ่งเป็นภาพจากรายการชิงร้อยชิงล้าน ซันชายเดย์ ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 ในบทบาทนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น กำลังนั่งรถลาก เที่ยวชมบรรยากาศของประเทศญี่ปุ่น และนำกล้องถ่ายรูปบันทึกบรรยากาศไว้เป็นที่ระลึก แต่กลับมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีตัดต่อภาพบางช่วงของการแสดง และนำไปเผยแพร่ต่อ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ พร้อมยืนยันว่า ตนเองรักและเทิดทูนสถาบัน


ภาพที่ถูกนำไปตัดต่อและเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก
 
ส่วนกรณีที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากใครใส่หน้ากาก เท่ง เถิดเทิง เปรียบเสมือนการต่อสู้ เพื่อนำ พันตำรวจโท ทักษิณ กลับบ้าน เท่ง เถิดเทิง ได้กล่าวทั้งน้ำตาว่า กรณีนี้ตนเองได้ออกมาขอโทษแล้ว และขอร้องอย่านำตนไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตนก็สามารถประกอบอาชีพได้
 
ด้าน พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะสอบปากคำ เท่ง เถิดเทิง และตรวจสอบเนื้อหาของภาพดังกล่าว หากพบว่าผิด จะระงับการเผยแพร่ภาพ ซึ่งเข้าข่ายความผิดประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 และผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์
       
ด้านเวิร์คพอยท์ เอนเทอร์เทนเมนท์ บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าว ได้เผยแพร่คำชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กของบริษัท มีเนื้อหาว่า หลังจากที่ได้มีผู้นำเอาภาพประกอบกับข้อความที่ไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างรุนแรงออกมาแชร์เผยแพร่นั้น ทางทีมงานขอชี้แจงว่าภาพดังกล่าวมาจากรายการชิงร้อยชิงล้านซันไชน์เดย์ เทปที่ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทางตลกชื่อดังซึ่งได้แสดงเป็นนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังนั่งรถลากเที่ยวชมเมือง พร้อมกับได้บันทึกภาพที่งดงามของประเทศญี่ปุ่นเอาไว้นั่นเอง
       
"เนื่องจากว่าในช่วงเวลานี้ มีการแชร์รูปภาพประกอบกับข้อความที่ไม่เหมาะสมอันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ทางทีมงานจึงขอชี้แจงให้ทุกท่านได้ทราบข้อเท็จจริงว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจากรายการชิงร้อยชิงล้าน ซันไชน์เดย์ ออกอากาศในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556
       
โดยมีบุคคลนำภาพจากช่วงละครสามช่า ซึ่งเนื้อหาในวันนั้นล้อละครเรื่องข้างหลังภาพ เท่ง เถิดเทิง รับบทนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น กำลังนั่งรถลาก เที่ยวชมบรรยากาศอันแสนงดงามของประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้ถ่ายรูปบรรยากาศไว้เป็นที่ระลึก
       
เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทางรายการจึงนำภาพนิ่งช่วงละคร จากรายการชิงร้อยชิงล้าน วันดังกล่าวมาให้ดูอีกครั้ง"
       
 
ภาพนิ่งจากละคร ชิงร้อย ออกอากาศเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556
(ที่มาภาพ:
เฟซบุ๊กของเพจชิงร้อยชิงล้าน)
       
ก่อนหน้านี้เจ้าตัวต้องตกเป็นประเด็นข่าวมาแล้วครั้งหนึ่งหลังไปแสดงในงานวันเกิดของนาย "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับบอกว่า "อยากเห็นทักษิณกลับบ้าน" ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าตัวก็ได้ออกมาชี้แจง โดยยืนยันว่าตนเองไม่ฝักใฝ่เรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด และการพูดดังกล่าวก็เพื่อจะเอาใจเจ้าภาพเท่านั้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เตรียมตั้งสถานคุ้มครอง

Posted: 10 Jun 2013 04:43 AM PDT

ภาพการประชุม ครม.สัญจร ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎกาแพงเพชร ภาพจาก แฟนเพจ Yingluck Shinawatra
10 มิ.ย.56 เดลินิวส์ เว็บ รายงาน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร  ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร)ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และกำหนดให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม และกิจการต่างๆที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
 
ร.ท.หญิงสุณิสา กล่าวอีกว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดให้การจัดตั้งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยมีคณะกรรมการฯเป็นผู้พิจารณาประกาศจัดตั้ง และกำหนดเขตพื้นที่ที่ให้การคุ้มครอง อีกทั้งกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรสวัสดิการชุมชน องค์กรภาคเอกชนอื่น สถาบันศาสนา หรือกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ดำเนินการในลักษณะเดียวกับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือมีส่วนร่วมในการให้การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง นอกจากนี้กำหนดให้คนไร้ที่พึ่งมีสิทธิขอรับการคุ้มครองจากสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และกำหนดให้คนไร้ที่พึ่งต้องจัดทำข้อตกลงเข้าร่วมการอบรมเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ การประกอบอาชีพและทำงาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายปชช.ลุ่มน้ำเหนือ-ใต้-อีสาน ผนึกจี้รัฐยกเลิกโครงการจัดการน้ำ

Posted: 10 Jun 2013 04:21 AM PDT

ชี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงการมอบหมายสัมปทานให้เอกชนจัดการเบ็ดเสร็จ ชี้การเวนคืนที่ดินจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ชุมชนอย่างรุนแรง 

10 มิ.ย. 56 - เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำเหนือ อีสาน และใต้ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย แสดงการคัดค้านโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) 
 
จดหมายดังกล่าวที่ลงนามโดยองค์กรประชาสังคม อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ และภาคใต้ สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุว่า นอกจากโครงการดังกล่าวจะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนแล้ว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เช่น ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน เครือข่ายดังกล่าวจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการดังกล่าวทันที 
 
 
0000
 
 
จดหมายเปิดผนึก
 
199/13 ซ. 6 ถ.โพธาราม
ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
                    
 
10 มิถุนายน 2556
 
เรื่อง             เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย
 
เรียน             ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ
ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย นายปลอดประสพ สุรัสวดี
 
            ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ทำการประมูลเพื่อดำเนินงานโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยนั้น   เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆดังรายชื่อแนบท้ายจดหมาย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว เนื่องจากสาเหตุหลายประการ  
 
ประการแรก การดำเนินงานของโครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันรวมถึงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งที่มันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมากมายทั้งในระสั้นและระยะยาวและเป็นวงกว้างทั้งประเทศ รัฐบาลที่อ้างว่าตัวเองมาจากเสียงประชาชนกลับทำในสิ่งตรงกันข้ามคือการเหยียบย่ำคุกคามประชาชนที่พยายามแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม อย่างไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่าเป็นผู้นำ 
 
ประการที่สอง การดำเนินงานภายใต้แผนงานตามที่ได้มีการประกาศรายชื่อบริษัทผู้ที่ผ่านการคัดเลือกการประมูลนั้น ไม่สามารถจะทำได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้เนื่องจากเป็นแผนงานขนาดใหญ่และใช้งบประมาณสูง
 
ประการที่สาม การดำเนินโครงการของ กบอ.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เช่น ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน 
 
ประการที่สี่ กบอ.ได้ปรับเปลี่ยนระบบและระเบียบต่างๆในการทำงาน ให้บริษัทเอกชนต่างประเทศที่ได้รับสัมปทานเป็นฝ่ายจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบต่างๆไปจนถึงการออกแบบและก่อสร้าง รวมถึงการเวนคืนที่ดินการหาพื้นที่อพยพซึ่งจะกระทบต่อชุมชนและก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง
 
ดังนั้นเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆดังรายชื่อแนบท้ายจดหมาย จึงเรียกร้องมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย นายปลอดประสพ สุรัสวดี  ให้ยกเลิกแผนงานโครงการดังกล่าว หากไม่มีการดำเนินงานตามที่ประชาชนได้เรียกร้องพวกเราจะดำเนินการตามมาตรการต่างๆที่ได้วางแผนไว้เพื่อปกป้องทรัพยากร สิทธิ และชุมชนของตนเองอย่างถึงที่สุด
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
 
นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง
ราษฎรตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
ผู้ลงนามแนบท้าย
1.    คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่
2.    กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่
3.    กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ม.แม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
4.    เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
5.    กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
6.    กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
7.    เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา และ เชียงใหม่
8.    กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่
9.    กลุ่มเยาวชนจิตอาสาหญ้าแพรกสาละวิน
10.  เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
11.  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
12.  สภาประชาชนภาคอีสาน
13.  เครอข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร
14.  เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลฯ
15.  กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
16.  คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv.จ.อุดรธานี
17.  กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
18.  กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
19.  สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
20.  เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
21.  เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
22.  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) 
23.  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
24.  มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) 
25.  สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ
26.  เครือข่ายทรัพยากรและสิ่่งแวดล้อมภาคอีสาน
27.  ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
28.  ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
29.  มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม จ.เชียงใหม่
30.  สถาบันอ้อผะหญา
31.  สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
32.  โครงการทามมูล จ.สุรินทร์
33.  เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน
34.  สถาบันปัญญาปีติ
35.  ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
36.  สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล
37.  โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า
38.  เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น
39.  กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
40.  กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารพม่า-ว้า ตึงเครียดอีก เหตุว้าไม่ยอมถอนกำลังในตอนใต้ของรัฐฉาน

Posted: 10 Jun 2013 03:50 AM PDT

สถานการณ์ระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพว้า (USWA) ตึงเครียดอีกครั้งหลังกองทัพพม่าได้เพิ่มกำลังทหารเข้าประชิดเขตควบคุมของว้าทางภาคใต้ของรัฐฉาน เหตุพม่าให้ทหารว้าถอนกำลัง แต่กองทัพว้าปฏิเสธ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพว้า UWSA ได้ตึงเครียดอีกครั้ง โดยกองทัพพม่าได้เพิ่มกำลังทหารเข้าประชิดเขตควบคุมของว้าทางภาคใต้ของรัฐฉาน ทั้งสองฝ่ายต่างวางมาตรการทางทหารต่อกันอย่างเข้มงวด ส่วนสาเหตุเชื่อว่า อาจมาจากที่ทางกองทัพพม่าให้ทหารว้าถอนกำลังออกจากทางภาคใต้ของรัฐฉาน
 
 
ความเคลื่อนไหวทางทหารจากฝ่ายพม่าเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า ได้นำรถถังจำนวน 14 ลำ และรถบรรทุกทหารอีก 11 ลำจากจังหวัดท่าขี้เหล็กมุ่งหน้าไปยังเมืองตุมและเมืองกาน ด้านชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า สาเหตุความตึงเครียดน่าจะมาจากสาเหตุความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและในพื้นที่ควบคุมเขตพื้นที่ 171 ของกองทัพว้า UWSA หลังจากที่กองทัพพม่าสั่งให้ทหารว้าถอนกำลังออกจากทางภาคใต้ของรัฐฉาน โดยขีดเส้นตายไม่ให้เกินวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทางว้าปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของกองทัพพม่า จึงทำให้ทางทหารพม่าเพิ่มกำลังทหารและอาวุธไปยังเขตควบคุมของว้า
 
ขณะที่รายงานบางส่วนระบุว่า สาเหตุความตึงเครียดระหว่างทหารว้า UWSA และกองทัพพม่านั้นน่าจะมาจากหลายสาเหตุเช่น อาจมาจากสาเหตุที่กองทัพว้าได้วางกับระเบิดเพื่อปิดกั้นไม่ให้ประชาชนใช้เส้นทางผ่านในเขตควบคุมของตนตั้งแต่สงกรานต์ที่ผ่านมา  และอาจจะสืบเนื่องจากที่ทางการไทยสามารถจับยึดยาบ้าได้มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ที่กรุงเทพฯ ทำให้กองทัพว้าวางมาตรการทางทหารอย่างเข้มงวด
 
นอกจากนี้  อาจมาจากสาเหตุที่ทหารว้า UWSA สูบน้ำจากแม่น้ำแขมไปยังสวนยางพาราของตน แต่กลับไม่ให้ชาวบ้านสูบน้ำไปใช้ในนา ทำให้ชาวบ้านนำเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อทางการพม่า และต่อมา ทำให้ทางทหารพม่านำกำลังเข้าไปใกล้กับเขตปกครองของว้าและขับไล่ทหารว้าออกจากเขตเมืองขิด  
 
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ขณะนี้เมืองขิดในเขตอำเภอเมืองโต๋น (ตรงข้ามอำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่) เต็มไปด้วยกำลังทหารพม่า เช่นเดียวกับที่ดอยปุ่งผาปุ่งตองก็พบว่า มีทหารพม่าประจำไว้แล้ว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ชี้ช่องโหว่ร่างฯรธน.ม.190 ติงขาดการถ่วงดุล-เป็นกลาง

Posted: 10 Jun 2013 03:15 AM PDT

วงเสวนาร่างฯ รธน.ม.190 ถกดุลอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ ด้านทีดีอาร์ไอ ติงกรอบสัญญาหลวม ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ขาดการถ่วงดุล - เป็นกลาง คปก.ชี้ออกกม.ลูกอุดช่องโหว่ ขณะที่กมธ.ฯ แจง คำนึงผลกระทบรอบด้าน ภาคปชช.ระบุนิยามกว้างสร้างอำนาจต่อรอง ลดอุณหภูมิการเมือง

10 มิ.ย. 56 – คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเสวนาวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีคณะกรรมาธิการพิจารราร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) ,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร,กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ,กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และผู้แทนจากภาควิชาการร่วมอภิปราย

 
คปก.ชี้ออกกม.ลูกทันทีที่แก้รธน.ม.190 อุดช่องโหว่ ตั้งข้อสังเกตปชช.เข้าถึงข้อจริงหรือ
 
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า มีข้อกังวลว่า หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190  ต้องไปออกกฎหมายลูกนั้น จะมีประเด็นสำคัญตามมาคือ หนังสือสัญญาจะเป็นประเภทใดจะมีการศึกษาผลกระทบหรือไม่แล้วใครจะเป็นผู้ศึกษา ขณะเดียวกันถ้ากฎหมายลูกออกมาล่าช้าก็จะต้องใช้กฎหมายแม่บท ประเด็นนี้อาจจะเกิดการโต้แย้งจากหลายฝ่ายได้ ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐสภาที่จะต้องทำกฎหมายลูกทันทีหากมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 อีกทั้งควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมโดยพิจารณาด้วยว่าเรื่องใดบ้างที่ต้องรับฟังความคิดเห็น เพื่อแก้ไขจุดอ่อนตรงนี้ให้ฝ่ายปฏิบัติทำงานได้จริง
 
นายไพโรจน์ กล่าวว่า กรณีวรรค 4 ที่ระบุก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น ประเด็นนี้ตนมีข้อสังเกตว่า ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการเข้าถึงสัญญานั้นจะกระทำได้ในขั้นตอนที่ทำสัญญาแล้วเสร็จ ประเด็นนี้เป็นจุดอ่อนประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะถ้าหากให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของหนังสือสัญญาได้ตั้งแต่ขั้นต้นก็จะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองของรัฐไทยได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งรัฐสภายังมองไม่เห็นถึงประเด็นนี้มากนักและคิดว่าเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตามคาดว่าการพิจารณาในวาระสองและสามอาจจะต้องใช้เวลา ซึ่งคปก.จะเร่งทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เสนอไปยังรัฐสภาโดยเร็ว
 
กมธ.ฯแจง คำนึงผลกระทบรอบด้าน
 
ด้านผศ.จารุพรรณ กุลดิลก ผู้แทนคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) กล่าวชี้แจงว่า ในการแก้ไขมาตรา190 เป็นมาตราที่ยากที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งผู้ที่นำกฎหมายเข้าสู่สภาตลอดจนผู้ยกร่างฯ ตรงนี้ได้พิจารณาแล้วว่ามีใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้าง ประเทศไทยจะได้เปรียบเสียเปรียบต่างประเทศอย่างไร โดยการพิจารณาครั้งนี้ได้คำนึงถึงประวัติความเป็นมา,วัฒนธรรม,กฎหมายระหว่างประเทศ,ทิศทางการทูตในอนาคตรวมถึงการจะเข้ารวมเป็นประชาคมอาเซียนและข้อกังวลต่างๆแล้ว
 
ทีดีอาร์ไอ ติงเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร ขาดหลักธรรมาภิบาลในกม.ลูก
 
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กระบวนการขั้นตอนในการจัดทำหนังสือสัญญาตามร่างฯ ฉบับนี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานราชการมากกว่าการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งมีการกำหนดกรอบในการทำหนังสือสัญญาไว้หลวมๆ ทำให้อำนาจของดุลยพินิจตกอยู่กับฝ่ายบริหารค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีกฎหมายลูก นอกจากนี้ยังเห็นว่าไม่มีการกำหนดหลักธรรมาภิบาลที่สำคัญในกฎหมายลูก เช่น การถ่วงดุล ความโปร่งใส ความเป็นกลาง เป็นต้น
 
 "จากประสบการณ์ที่ยังไม่มีการตรากฎหมายลูกแม้เวลาล่วงเลยมาแล้ว 6 ปี ควรกำหนดให้มีการดำเนินการภายใต้ระบบเดิมในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายลูก เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมายลูก ขณะเดียวกันเห็นว่าควรกำหนดกรอบของกระบวนการและขั้นตอนในการทำหนังสือสัญญาที่ไม่น้อยกว่าเดิม เพราะประเภทของหนังสือสัญญาถูกจำกัดแล้ว ภาระที่ตกแก่หน่วยงานราชการไม่น่าจะมากนัก นอกจากนี้ยังเห็นว่าหากมีการขยายประเภทของหนังสือสัญญา อาจกำหนดกระบวนการและขั้นตอนของหนังสือสัญญาแต่ละประเภทที่แตกต่างกันด้วย" ดร.เดือนเด่น กล่าว
 
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า การกำหนดบทนิยามให้แคบลงนั้นเป็นเรื่องดี แต่นิยามใหม่ยังแคบเกินไป ควรรวมถึงหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อการเงิน การคลังของประเทศ  เช่น สัญญาเงินกู้จากต่างประเทศ ตลอดจนหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม แรงงาน และสิทธิมนุษยชนที่ต่างไปจากเดิม และความตกลงกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ
 
เสนอแก้ไขวรรค2 เพิ่มบทคุ้มครอง-แย้งอำนาจวินิจฉัยศาลรธน.หวั่นขาดความสมดุล
 
นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้แทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการเน้นย้ำคุณูปการมาตรา190 ซึ่งตนมองว่า นิยามที่กว้างขึ้นสอดคล้องกับการเป็นประชาธิปไตย ลดความสุ่มเสี่ยงทางการเมือง และสร้างอำนาจต่อรองได้มากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าข้อจำกัดก็ยังมีอยู่ คือมีความไม่ชัดเจนในพื้นที่การตีความเดิม จึงนำมาสู่การแก้ไขมาตรา190 เพื่อลดข้อจำกัดด้านความล่าช้า ความไม่มีประสิทธิภาพดังกล่าว
 
นายจักรชัย กล่าวว่า กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์มีความเห็นว่า ในวรรคสองควรจะต้องมีเพิ่มเติมเรื่อง บทคุ้มครองด้านการค้าการลงทุน หรือมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองหรือจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรือสังคม ที่มิใช่ความร่วมมือทางวิชาการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ขณะเดียวกันควรเพิ่มบทบัญญัติ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือหนังสัญญา  รวมทั้งการศึกษาถึงประโยชน์ของหนังสือสัญญา และผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการ และการดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว ประเด็นนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก หากมีการแก้ไขปรับปรุงตรงจุดนี้จะช่วยลดแรงเสียดทานต่อรัฐบาลได้
 
"ประเด็นที่เห็นต่างประเด็นหนึ่งคือในกรณีที่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดเข้าลักษณะหนังสือตามวรรคสาม ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยหนังสือสัญญา ซึ่งประธานรัฐสภาจะได้แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยประธานสภาส.ส. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีและประธานศาลฎีกา เพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่เห็นด้วยที่ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด" นายจักรชัย กล่าว
 
ตั้ง 5 ประเด็นถกเถียงดุลอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ
 
ผศ.รัชดา ธนาดิเรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มี 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ควรจะมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ 2.เรื่องการเยียวยา ไม่ควรมองเฉพาะเรื่อง FTA อาจจะมองเรื่องอื่นด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรต่างๆ 3. กรอบการเจรจาควรจะมีอยู่หรือไม่ 4. หากมีความเห็นแย้งกัน เหตุใดต้องให้การวินิจฉัยกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ 5.บทเฉพาะกาล ในมาตรา 4 เขียนไว้ แต่ยังไม่ได้หยิบยกเรื่องของการเยียวยา ช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายลูก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ทั้ง 5 ประเด็นเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป
 
ด้านผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า  กรมเจรจาการค้าต้องพิจารณาทั้งสองส่วนคือ ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจุดประสงค์หลักของการแก้ไขมาตรา 190  เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจนในบทนิยาม ประกอบกับมีประเด็นเกี่ยวกับผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องปลดล็อคความคลุมเครือดังกล่าวนั้น และการออกกฎหมายลูกก็จะทำได้ง่ายขึ้น
 
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190
 
มาตรา 190 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
 
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
 
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
 
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในการที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน หรือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
 
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผล กระทบจากการปฏิวัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
 
ในกรณีที่มีปัญหาตาม วรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154(1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีสันติภาพ ‘บาโงซิแน’ หนุนคุยสันติภาพมากกว่าเจรจา ย้ำคนพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม

Posted: 10 Jun 2013 02:54 AM PDT

เผยเวทีพูดคุยสันติวิธีของภาคประชาสังคมที่บ้านบาโงซิแน ยะลา เสริมสันติภาพชายแดนใต้ หนุนการพูดคุยมากกว่าเจรจา แต่ย้ำต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม จี้รัฐสำรวจความต้องการชาวบ้าน ชี้เพราะรู้ดีและอาจทำให้สันติภาพเกิดขึ้นเร็ว

นางสาวเตะหาวอ สาและ จากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมช่วยเหลือเด็กกำพร้า 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เครือข่ายฯได้เวทีพูดคุยโดยสันติวิธีของภาคประชาสังคมในกระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ที่อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านบาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่
 
นางสาวเตะหาวอ เปิดเผยว่า การจัดเวทีครั้งนี้ เพื่อต้องการรับรู้ถึงความคิดเห็นของคนในพื้นที่ในการแก้ปัญหาและการพูดคุยเพื่อสันติภาพของรัฐบาล เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
นางสาวเตะหาวอ เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นที่ได้จากเวที ซึ่งเป็นเสียงจากคนในรวม 5 ข้อหลักๆ ได้แก่ 
 
1.คนในพื้นที่สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ มากกว่าการเจรจาเพื่อสันติภาพ โดยให้มีคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพุดคุยด้วย
 
2.อยากให้รัฐลงมาสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่เกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพด้วย แทนที่จะเอาความคิดของฝ่ายรัฐฝ่ายเดียวเข้าไปพูดคุยหรือเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.อยากให้ฝ่ายรัฐนำข้อเสนอจากคนในพื้นที่ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่มานั่งฟังอย่างเดียว 
 
4.การทำประชาคมของคนในพื้นที่ ถือว่าสำคัญมากต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และ 5.การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม เพราะคนในพื้นที่ย่อมรู้ดีว่าในพื้นที่ต้องการอะไร
นอกจากนี้ ในเวทียังมีความเห็นต่อสถานการณ์ด้วย ซึ่งมีการเขียนสรุปเป็นคำคมต่างๆ ดังนี้ "ความรุนแรง เป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้" "ความสงบหาย ความหวาดระแวงตามมา" "เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาด้วยการพูดคุย มากกว่าการเจรจา" "ต้องการยุติความรุนแรง นำความสงบสุขกลับบ้านเรา"
นางสาวเตะหาวอ กล่าวว่า ทุกคนในพื้นที่ต้องการมีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรง ต้องการมีส่วนร่วมในการพูดคุยอย่างสันติวิธี และต้องการเสนอแนะการแก้ปัญหาต่อผู้รับผิดชอบ ดังนั้น รัฐต้องนำข้อเสนอต่างๆ จากคนในพื้นที่ไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ตำรวจ เป็นต้น เพื่อให้ทราบว่าพี่น้องในพื้นที่ต้องการอะไรและจะแก้ปัญหาอย่างไร
 
"คนในพื้นที่ต้องการสันติภาพโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็แล้วแต่ เพราะไม่อยากจะเห็นความสูญเสียมากกว่านี้อีกแล้ว และคนในพื้นที่ไม่สนับสนุนทุกรูปแบบที่ก่อให้เกิดความรุนแรง" นางสาวเตะหาวอ กล่าว
นางสาวเตะหาวอ กล่าวว่า มีผลการวิจัยที่ระบุความต้องการของคนในพื้นที่ที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้มากที่สุด ปรากฏว่า ต้องการให้แก้ปัญหาการว่างงานของเยาวชน รองลงมาคือปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาความยุติธรรมและปัญหาความปลอดภัยหรือความสงบสุขจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 
 
นางสาวเตะหาวอ กล่าวว่า ถามว่าเพราะเหตุใดคนในพื้นที่ต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยหรือความไม่สงบเป็นลำดับที่ 4 ก็เพราะสถานการณ์เกิดขึ้นบ่อยมากจนทำให้คนในพื้นที่เกิดความเคยชินต่อสถานการณ์ไปแล้ว
 
นางสาวเตะหาวอ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนในพื้นที่เชื่อว่าความสงบหรือสันติภาพคงเกิดขึ้นได้ยาก จึงอยากให้แก้ปัญหาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่มากกว่า อีกอย่าง เพราะคิดว่าคนในพื้นที่ไม่มีสิทธิ์หรือไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ และคิดว่ารัฐเองก็ไม่ได้จริงจังกับการแก้ปัญหามากนัก เพราะเชื่อว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาจากฝ่ายรัฐเอง โดยคนในพื้นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
 
"ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และต้องตระหนักกับทุกวิธีการที่คนในพื้นที่เสนอ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องสันติภาพของคนในพื้นที่มากขึ้น รัฐต้องสนับสนุนให้คนในพื้นที่มีวาระการพูดคุยเพื่อสันติภาพในพื้นที่ของเขาเอง ไม่ใช่มาจากรัฐฝ่ายเดียว" นางสาวเตะหาวอ กล่าว
นางสาวเตะหาวอ กล่าวด้วยว่า การที่รัฐให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้น อาจจะทำให้มีทางออกได้เร็วมากขึ้น เพราะคนในพื้นที่ย่อมรู้ดีว่าเขาต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และสันติภาพก็อาจจะเกิดขึ้นได้เร็วๆ นี้ 
 
ศอ.บต.ร่วมเวทีสันติภาพบาเระเหนือ
ในวันเดียวกันนั้น ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดเวทีพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ อำนวยความยุติธรรมสู่สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายนัจมุดดีน อูมา ประธานสมาพันธ์เสริมสร้างความยุติธรรมและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอับดุลลาเต๊ะ อาลี นายกอบต.บาเระเหนือ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนและผู้นำสตรีเข้าร่วม
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การเปิดเวทีพูดคุยเพื่อสันติภาพกับผู้ที่มีความคิดต่าง การให้คนในพื้นที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นในการสร้างความปรองดอง การหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน คืนความเป็นธรรม ลดความขัดแย้งความหวาดระแวง เป็นต้น
 
นายนัจมุดดีน กล่าวว่า สมาพันธ์เสริมสร้างความยุติธรรมและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล็งเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างความเข้าใจและอำนวยความยุติธรรมสู่สันติภาพซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 ของศอ.บต. เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม สร้างทางเลือกให้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ในการส่งเสริมให้มีกฎหมาย มีกระบวนการยุติธรรมเฉพาะตามหลักศาสนา การให้ความช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟูผู้เสียหาย และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความยั่งยืน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น