โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จิบ‘กาแฟปฏิรูป’ แก้วแรกกับ อลงกรณ์ นัดหน้าเล็ง ภูมิธรรม-ธิดา

Posted: 05 Jun 2013 02:04 PM PDT

รายงานบทสนทนาในกิจกรรม 'กาแฟปฏิรูป' บก.ลายจุด จับเข่าคุย อลงกรณ์ พลบุตร เรื่องพิมพ์เขียวปฏิรูป ปชป.เสนอระบบ primary ในพรรคสู่สถาบันประชาชน รับ 'ดีแต่พูด-อิงเผด็จการ' ทำแบรนด์เสีย นัดหน้าเล็งซดกาแฟกับกุนซือเพื่อไทย ภูมิธรรม-ประธาน นปช.

วิดีโอส่วนหนึ่งจากการสนทนา "กาแฟปฏิรูป" ระหว่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด และ อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ร้านสตาร์บัค สาขาอมรินทร์พลาซ่า ถ.เพลินจิต เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556

 

5 มิ.ย.56 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ร้านกาแฟ Starbucks อัมรินทร์พลาซ่า ใกล้สี่แยกราชประสงค์ ​นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด และนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเพิ่งมีการเสนอร่าง "พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์" จนเป็นที่สนใจของคนในสังคม นัดสนทนากันภายใต้ชื่อกิจกรรม "กาแฟปฏิรูป" เพื่อสนทนาถกเถียงโดยการนำข้อเสียและสิ่งที่ตัวเองจะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อสร้างบรรยากาศ "ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์" โดย บก.ลายจุด มีแผนว่าจะเชิญนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สนทนาด้วยคำถามเดียวกันว่า "จะปฏิรูปองค์กรตัวเองอย่างไร" เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยโดยเริ่มจากตัวเองหรือองค์กรตัวเองก่อน และหากกระแสสังคมตอบรับบก.ลายจุดยังระบุว่าอาจมีกระบวนการคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยโดยให้คนที่สังคมยอมรับคุย

สำหรับบรรยากาศในการสนทนาระหว่าง บก.ลายจุด กับ นายอลงกรณ์ เป็นไปโดยถ้อยทีถ้อยอาศัย ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนมากเป็นการนำเสนอทัศนะทางการเมืองและพิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์โดยนายอลงกรณ์ ซึ่งทั้งคู่สั่งกาแฟร้อนพร้อมขนม โดย บก.ลายจุด เป็นผู้เลี้ยงในราคา 270 บาท พร้อมทั้งมีนายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวข่าวเนชั่น ร่วมทวีตสดทางทวิตเตอร์ด้วย

นำการเมืองมาสู่ความเชื่อถือและศรัทธาในระบบรัฐสภา

นายอลงกรณ์ เปิดบทการสนทนาว่าเรื่องการปฏิรูปพรรคมีปฏิกิริยาทั้งภายในพรรคและโซเชียลมีเดียให้ความสนใจมาก และเห็น บก.ลายจุด เข้าใจและสนใจจึงมาสนทนากันในวันนี้ บริบทของการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์คือการหาทางออกให้กับประเทศไทย จะเป็นการก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย โดยมองประเด็นปัญหาของประเทศที่เป็นอยู่ในวันนี้ว่ามองไม่เห็นอนาคตและไม่รู้ว่าวันใดจะเกิดการรบราฆ่าฟันกัน เกิดการนองเลือก การรัฐประหารบ้านเมืองก็จะถอยหลังทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และคิดว่านักการเมืองควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย

"ย้อนกลับมาดูตัวเองมันก็เห็นว่ามันต้องแก้ ถ้าเราไม่แก้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอีกต่อไป ผมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง และเป็นระบบการเมืองที่เป็น 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพราะฉะนั้นมันต้องมีคนเริ่มต้น ผมก็คิดว่าถ้าเราสามารถปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นพรรคการเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีอุดมการณ์ และสามารถสร้างระบบการเมืองที่ดีในการแข่งขันเชิงคุณภาพ นำการเมืองมาสู่ความเชื่อถือและศรัทธาในระบบรัฐสภาได้" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่าข้อเสนอของการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งปี 2554 แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น

กลับมาเป็นบริษัทมหาชนไม่ใช่บริษัทจำกัด บริษัทครอบครัว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่าเรายังมีทุนทางการเมืองที่ดี ไม่ใช่แย่ไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยประชาธิปัตย์ข้อดีคือเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่มีใครเป็นเจ้าของเหมือนบริษัทมหาชน เพียงแต่ว่ามีวัฒนธรรมองค์กรที่เริ่มจะย้อนกลับไปเป็นบริษัทจำกัด คือ เหมือนเป็นบริษัทครอบครัว อยู่กันนานและใกล้ชิด ในที่สุดก็เหมือนกับว่าเป็นครอบครัว เป็นพ่อเป็นแม่เป็นปู่เป็นตา ลูกหลานไม่ว่าจบในจบนอก พอมาอยู่ในวัฒนธรรมของครอบครัวที่มีความใกล้ชิดกัน แต่ก็เป็นด้านหนึ่งที่ต้องมองว่าอาจส่งผลต่อความกล้าในการแสดงออก เนื่องจากถูกอิทธิพลของผู้อาวุโส

ในเรื่องความเป็นองค์กรทางการเมือง การบริหารองค์กรจะต้องไม่ใช่ทิศทางแบบนั้น ต้องกลับมาเป็นบริษัทมหาชน เมื่อมีปัญหาด้านการบริหารองค์กรก็ควร Re-engineering (การปรับรื้อระบบ) ปรับวิธีคิด และฝึกคนขึ้นมาเพื่อให้รองรับกับวัฒนธรรมองค์กรที่ทันสมัยและเป็นประชาธิปไตยเปิดกว้าง ยังคิดว่าพรรคเพื่อไทยง่ายกว่าเพราะเป็นบริษัทจำกัดที่บริหารโดยครอบครัว อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเริ่มต้นว่ากุญแจที่จะไขไปสู่การปฏิรูปประเทศได้ จะไขไปสู่ทางออกของประเทศได้มันต้องมีการเริ่มต้น และโดยหน้าที่เรารับผิดชอบต้องยอมเสียสละที่จะปฏิรูปตัวเอง หลังจากนั้นจะเกิดปฏิกิริยาเป็นลูกโซ่

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันด้วยว่า เขาไม่ใช่คนเดียวในพรรค แต่มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรค วันนี้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเห็นพ้องว่าเราต้องปฏิรูปใหญ่ เรื่องการบริหารจัดการ วัฒนธรรมองค์กร และภายในสัปดาห์เศษก็จะสรุปตัวร่างของการปฏิรูปของพรรค

ระบอบประชาธิปไตยอยู่บนความแตกต่าง จึงได้เกิดคำว่าเสียงข้างมาก-ข้างน้อย

บก.ลายจุด แลกเปลี่ยนด้วยว่า สังคมภายนอกขานรับ และคนที่ไม่ได้อยู่ในปีกสุดโต่งของแต่ละฝ่ายก็น่าจะขานรับกับเรื่องแนวทางการปฏิรูป เรื่องการคุย แม้ว่าในเรื่องที่ยังเถียงกันอยู่เห็นไม่ตรงกันมากๆ ก็ยังเถียงกันอยู่ได้ แต่เรื่องที่คุยกันได้ก็น่าจะได้คุยกัน

ขณะที่อลงกรณ์ มองว่า "พัฒนาการประชาธิปไตยของไทยลุ่มๆดอนๆ และมีการฉวยโอกาสในการสร้างแนวคิดที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแฝงเข้ามาในประชาธิปไตย ความจริงคนที่เป็นนักประชาธิปไตยจริงๆ ต้องยอมรับความแตกต่างได้ และไม่ใช่ความแตกแยกด้วย ผมจะคุยกับจ่าประสิทธิ์ หรือผมจะคุยกับ บก.ลายจุด หรือจะให้ผมไปคุยกับใครผมคุยได้ทั้งนั้น ระบอบประชาธิปไตยมันอยู่บนความแตกต่าง จึงได้เกิดคำว่าเสียงข้างมากข้างน้อย"

อลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองต้องเป็นตัวอย่าง เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองเองก็ต้องแสดงความเป็นสถาบันประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างความเข้าใจเรื่องความแตกต่างของความคิด

คนประชาธิปัตย์บางส่วนกลัวการปฏิรูปพรรคมากกว่าคุณทักษิณ

"เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมงบประมาณมีเพื่อนๆ ทางพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยพูดสรุปตรงกันว่า คุณทักษิณกลัวการปฏิรูปของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะทำให้แข่งด้วยยากมาก แต่ว่าคนประชาธิปัตย์บางส่วนกลับกลัวการปฏิรูปมากกว่าคุณทักษิณ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

สำหรับการปฏิรูปพรรค อลงกรณ์ มองว่าหากทำได้ 100% เชื่อว่าประเทศไทยมีความหวังแน่นอน มันไม่ใช่ว่าเราผิดหรือเราไม่ดีอย่างที่หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์คิด แต่เรากำลังทำสิ่งที่ดีและสร้างสิ่งที่เป็นอนาคตเพื่อเป็นทางออกของประเทศ

"เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา และถ้าเราเริ่มการเปลี่ยนแปลงเราก็จะเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลง การที่เราเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มันหมายถึงว่าคู่แข่งของเราคือพรรคเพื่อไทยเขาจะตามเราไม่ทัน เขาเองก็ต้องปฏิรูปและก็ทำให้เกิดความเป็นบริษัทมหาชน เป็นพรรคของมหาชน" อลงกรณ์กล่าว

ความหวังอยู่ที่ 2 พรรคใหญ่

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่าในระบบการเมือง 2 พรรคใหญ่ มันก็มีความหวังอยู่ 2 พรรคเหมือนกับหัวรถจักร ก็มี 2 หัวรถจักรเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องทางเลือกที่ 3 นั้น มองว่ายาก ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นคือการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เพราะเมื่อมีการแข่งขันคนก็จะดูที่คู่เอก ไม่มีใครดูที่คู่รอง และพัฒนาการทางการเมืองทั่วโลกที่พัฒนาการในแนวทางประชาธิปไตยจะไปสู่ระบบการเมืองแบบ 2 ขั้ว

อลงกรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอของตนเองในการปฏิรูปพรรค ปชป. ว่า ให้มีการจัดตั้งสำนักวิจัยและพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศ สำนักวิจัยและพัฒนากฎหมาย สำนักวิจัยและพัฒนางบประมาณแผ่นดิน ศูนย์ต่อต้านคอรัปชั่น ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักพัฒนาสาขาพรรคและสมาชิก เพราะตอนหลังประชาธิปัตย์แพ้เพราะนโยบายโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา เงินเป็นปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยภายในคือเราไม่มีสำนักงานที่จะทำนโยบายเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการพัฒนานโยบายจึงไม่เกิด รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเมื่อเราเป็นรัฐบาลเรามีปัญหาการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพราะการไม่เตรียมพร้อม

"ดีแต่พูด" แบรนดิ้งปัญหาการนำนโยบายไปปฏิบัติของพรรค

"ก่อนปี 44 พรรคประชาธิปัตย์แข่งกันเองกับนักการเมืองหรือว่าอดีตข้าราชการ วิธีคิด วิธีทำงานไม่ค่อยต่างกันเท่าไร แต่พอปี 44 นักธุรกิจหมื่นล้านมาแข่ง เพราะฉะนั้นวิธีคิดก็เปลี่ยนแปลง การบริหารก็เปลี่ยนแปลง ผมถึงบอกว่าสิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับคือ เวลาที่พรรคไทยรักไทยหรือเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเขานำนโยบายมาปฏิบัติทันที ดีไม่ดี เหมาะสมหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่อีกประเด็นหนึ่ง แต่การเอานโยบายมาปฏิบัติทันที คนเกิดความเชื่อมั่น พูดจริง ทำจริง และพอเขาสะท้อนพรรคประชาธิปัตย์ว่า "ดีแต่พูด" เราก็ถูกแบรนดิ้งไปหมดแล้ว เพราะเวลาที่เราบริหารมันก็มีปัญหาจริงๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ต้องสร้าง Policy Choice(ทางเลือกนโยบาย)

อลงกรณ์ เสนอว่าต้องมี Policy Choice(ทางเลือกนโยบาย) เพราะเมื่อการเมืองพัฒนา คุณต้องมีทางเลือกให้เขาเลือก ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งมีทางเลือก อีกฝ่ายไม่มีทางเลือก ไม่ใช่ว่าวิจารณ์นโยบายนั้นไม่ดี แต่ไม่มีทางเลือกให้ประชาชน โดยยกตัวอย่างว่า เรื่อง 2 ล้านล้านนั้นคิดอยู่ในใจว่าตอนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลทำไมไม่คิด ไม่ทำแบบนี้บ้าง คิดที่จะลงทุนประเทศ แต่ก็ติดตรงนั้นนี้ เราอาจไปคิดว่าเราสามารถลดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ รู้สึกภูมิใจที่ได้ลดและรักษาวินัยการคลัง ซึ่งมันอาจจะถูกเมื่อทศวรรษก่อน แต่ถึงวันนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องคิดถึงการเติบโต การแข่งขันด้วย แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้เรื่องที่คิดแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ น่ามีการคิดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การสร้างคน เพิ่มงบวิจัยและการพัฒนา

"ต้องสร้างให้คนคิดอย่างเป็นลูกไก่ ไม่ใช่ลูกนก เพราะลูกนกจะคอยแต่อยู่ในรังอ้าปากรอแม่มาป้อน แต่ลูกไก่จะขุดคุ้ยหาอาหารด้วยตัวเอง" อลงกรณ์กล่าวถึงการพัฒนาคน

เปิดใจให้กว้าง เป็นประชาธิปไตย อย่าอิงแอบเผด็จการ อย่าเดินในทางลัด

"เรามาผิดทิศผิดทางเสียแล้ว และวันหนึ่งมันอาจจะถึงจุดที่เราเปลี่ยนกลับมาไม่ได้ คนที่จะเปลี่ยนได้คือพรรค ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเอง สร้างความทันสมัยให้กับองค์กร มีวิธีคิดที่ทันโลก ทันสมัย เปิดใจให้กว้าง เป็นประชาธิปไตย อย่าอิงแอบเผด็จการ อย่าเดินในทางลัด ผมคิดว่าผมเองก็เดินผิด ผมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ผมต้องรับผิดชอบ แต่ขอโอกาสให้ผม ผมจะแก้ตัว ผมว่าถ้าเราเริ่มต้นตรงนี้เหมือนกับพรรคเพื่อไทย ถ้าคุณทักษิณอาจจบอกว่าผมผิด ที่ผ่านมาขออภัย ให้โอกาสผมจะแก้ไข พรรคเพื่อไทยก็จะเป็นพรรคการเมืองแบบบริษัทมหาชน คนเสื้อแดงก็ยอมรับในการพัฒนาการเมืองในระบบรัฐสภา ส.ส.ก็สามารถที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรมสร้างระบบนิติธรรมที่เป็นธรรมกับทุกคนอย่างแท้จริง มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย" อลงกรณ์กล่าว

ระบบ Primary กุญแจพรรคสู่การเป็นสถาบันของประชาชน

"เราต้องสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่สถาบันของนักการเมือง" อลงกรณ์ กล่าว พร้อมอธิบายด้วยว่าต้องพัฒนาพรรคจากสถาบันของนักการเมืองไปสู่สถาบันทางการเมือง โดยระบบ Primary หรือระบบการคัดเลือกเลือกตั้งเบื้องต้นเป็นกุญแจที่จะเปิดให้พรรคกลับไปหาประชาชน ไปหาสมาชิกพรรค ตาเราจะเห็น หูเราจะได้ยิน เราอยู่ตึกสูงเราไม่ได้ยินว่ารากหญ้าเขาคิดอย่างไร เขาเดือดร้อนหรือไม่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร ระบบการคัดเลือกเลือกตั้งเบื้องต้นมันไม่ใช่แค่กลไกหนึ่งของการเลือกตั้งหรือการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ แต่จริงๆ มันคือการเป็นสถาบันของประชาชนต่อไป" อลงกรณ์กล่าว

บก.ลายจุด วอนสังคมหนุนอลงกรณ์

บก.ลายจุด ยังกล่าวหลังการพูดคุยด้วยว่าอยากให้สังคมสนับสนุนคุณอลงกรณ์ เนื่องจากเขาได้ลงเปิดสนามแล้ว โดยเริ่มด้วยการเสนอว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองและองค์กรอย่างไร เพราะหากไม่มีใครลงมาร่วม เกมส์นี้ก็ไปต่อไม่ได้ พร้อมฝันด้วยว่าหากกระแสสังคมตอบรับ เขาอาจเสนอให้มีวงสนทนาแบบนี้กับทักษิณ ชินวัตร ในฝั่งแดง ส่วนอีกฝั่งยังนึกไม่ออก แต่ในเบื้องต้นอาจเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยาก และไม่จำเป็นต้องเป็นตนที่เป็นคนไปคุย อาจเป็นคนที่พร้อมและสังคมยอมรับไปคุยก็ได้

สำหรับคำถามว่ากิจกรรมนี้เป็นการโหนกระแสอลงกรณ์เพื่อโจมตีพรรค.ปชป.หรือไม่ บก.ลายจุด กล่าวว่า จริงๆ เป็นการใช้กระแสที่คุณอลงกรณ์จุดเพื่อไปกดดันพรรคเพื่อไทยเพื่อให้มีการปฏิรูปด้วยเช่นกันมากกว่า

ต่อคำถามที่ เมื่อ 3 ปีก่อนมีวงปฏิรูปของหมอประเวศ วะสี แต่บก.ลายจุดไม่ร่วมด้วยนั้น เขาองว่าตอนนั้นบรรยากาศยังไม่พร้อม เพราะเพิ่งจะมีการสลายการชุมนุม มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สำหรับกระบวนการที่จะเดินหน้าต่อไปนั้นอยากให้เกิดบรรยากาศ "ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์" แต่หากประเด็นไหนที่ยอมกันไม่ได้ต้องขัดแย้งก็สู้ตามกระบวนการกันต่อไป 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สม รังสี" โฟนอินที่ FCCT วิจารณ์การเลือกตั้งกัมพูชาไม่มีความชอบธรรม

Posted: 05 Jun 2013 12:20 PM PDT

ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาแถลงทางไกลมายัง FCCT แปลกใจรอบนี้เข้าไทยไม่ได้ สงสัย รบ.กัมพูชาจะกดดันไทย พร้อมวิจารณ์เลือกตั้งกัมพูชาไม่ชอบมาพากลเพราะมีบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งปลอม ส่วนผู้มีสิทธิจริงกลับไม่มีสิทธิ และเรียกร้องนานาชาติอย่ารับรองความชอบธรรมของการจัดเลือกตั้งกัมพูชา เพราะครั้งก่อนๆ ก็เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส

การแถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของนายสม รังสี ผู้นำพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ทั้งนี้นายสม รังสี ซึ่งอยู่ระหว่างลี้ภัยการเมือง และมีกำหนดเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อจัดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ แต่ได้ถูกทางการไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งตัวกลับ ทำให้ต้องแถลงข่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากสิงคโปร์แทน (ที่มาของภาพ: Takato Mitsunaga)

หลังจากมีข่าวว่า นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งมีกำหนดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "เราไม่ใช่ตัวปัญหา: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกัมพูชาของข้าพเจ้า" (We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่มีรายงานว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งกลับนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุด เมื่อเวลา 19.00 น. วานนี้ (5 มิ.ย. 56) ซึ่งเป็นกำหนดการเดิมที่เขาจะมาเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นั้น ในเวลานัดหมายดังกล่าวเข้าได้ใช้วิธีแถลงข่าวและตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผ่านทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากประเทศสิงคโปร์แทน โดยในการแถลงเขาได้กล่าวในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาที่จะมาถึงในปลายเดือนกรกฎาคม รวมทั้งเรื่องที่เขาถูกปฏิเสธจากทางการไทยไม่ให้เข้าประเทศ

นายสม รังสีกล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมากที่ตนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ โดยเขากล่าวว่าได้เดินทางจากเกาหลีใต้เพื่อเข้าประเทศไทย แต่เจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงของไทยกล่าวว่าไม่อนุญาตให้เข้า และชี้ว่าอาจกลับมาใหม่ได้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชา ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นการกดดันจากรัฐบาลกัมพูชามายังรัฐบาลไทยอีกทีหนึ่ง

เขากล่าวว่า เมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ได้เดินทางมายังประเทศไทยได้ตามปกติ และได้ไปเยือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วยอาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย พม่า โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาล  

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เขาได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดตัวหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง และบรรยายในที่ต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาทางสังคมและการเมืองในกัมพูชา

"ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่คึกคักต่างยินดีต้อนรับผมเป็นอย่างดีทั้งนั้น" สมกล่าว และระบุว่ารัฐบาลกัมพูชาคงรู้สึกหวั่นเกรงที่ตนเข้ามาใกล้ชิดกัมพูชามากเกินไป

ต่อการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ เขาเรียกร้องให้นานาชาติไม่ให้ยอมรับความชอบธรรมของการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว เพราะชี้ว่าครั้งที่ผ่านๆ มาก็เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส และยังกล่าวถึงรายงานของการสังเกตการณ์เลือกตั้งของสถาบัน National Democratic Institute ด้วยว่า มีบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งปลอมออกมาถึงร้อยละ 10 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด เพื่อเพิ่มคะแนนให้กับพรรครัฐบาล และราวร้อยละ 15 มิได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง

เมื่อตัวแทนจากสหภาพยุโรปถามเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ ว่าตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลให้ส่งผู้แทนเข้าไป ทั้งๆ ที่ครั้งก่อนสามารถร่วมสังเกตการณ์ได้ นายสมกล่าวว่า ประชาคมนานาชาติไม่จำเป็นต้องส่งผู้แทนเข้าไปสังเกตการณ์ เนื่องจากจะเท่ากับยอมรับความชอบธรรมของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น "ทำไมพวกเขาควรต้องเสียเงินเพื่อเข้ามาดูการเลือกตั้งที่มีบทสรุปไปล่วงหน้าแล้ว (ว่าไม่สะอาดและยุติธรรม)" สมกล่าว

ทั้งนี้การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา มีกำหนดจัดในวันที่ 28 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบัน พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดยนายฮุน เซ็น ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาโดยมี ส.ส. 90 คน ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ที่มีนายสม รังสี เป็นผู้นำ ขณะนี้มีเสียงในสภา 26 ที่นั่ง

สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 และจะร่วมกันแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้

อนึ่งกรณีส่งกลับหรือการห้ามไม่ให้นักการเมืองหรือนักกิจกรรมในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยเพื่อแถลงข่าวหรือจัดประชุมนั้น ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยที่ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายนปี 2553 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส คือ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights: FIDH) และคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (the Vietnam Committee on Human Rights: VCHR) เคยมีกำหนดจะแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่ต้องยกเลิกการจัดงานเนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยขณะนั้น ไม่อนุมัติวีซ่าให้กับผู้ที่จะเข้ามาแถลงข่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’: บทวิพากษ์ ศาลรัฐธรรมนูญ-หัวใจการปฏิรูป สภาต้องแก้รธน.ให้ได้

Posted: 05 Jun 2013 12:09 PM PDT

 

เมื่อปรากฏการณ์ 'ตุลาการภิวัตน์' กำลังกลายเป็นความปกติอันน่าตระหนก ในขณะที่ 3 เสา แห่งอำนาจอธิปไตยกลับเริ่มไม่สมดุล 'ศาลรัฐธรรมนูญ' คือ กลไกสำคัญที่มีบทบาทสูงยิ่งในการขับเคลื่อนรุกคืบเข้าสู่พื้นที่เขตอำนาจทาง 'นิติบัญญัติ' ซึ่งเคยแบ่งแยกกันไว้ชัดตามหลักแห่งการดุลอำนาจ โดยเฉพาะหากเมื่อมองจากจากฝั่ง 'รัฐสภา' การแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งกำเนิดและถือเป็นผลพวงสืบเนื่องจาการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่น่าจะไม่มีปัญหาก็กลับกลายเป็นปัญหาขั้นวิกฤติ  

ความเกี่ยวพันของเหตุการณ์ยิ่งนำไปสู่ความซับซ้อน 'ตุลาการณ์ภิวัตน์' กับบทบาทของ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เป็นตัวอย่างที่หนึ่งเดียวมากๆในโลกใบนี้ที่ 'วรเจตน์ ภาคีรัตน์' ถึงกับกล่าวว่า "ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะแบบนี้เลย"  

ในบ่ายวันหนึ่ง 'เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน' หาโอกาสไปพูดคุยกับนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านนี้ ท่ามกลางสถานการณ์อันแปลกประหลาด เนื่องจากคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า เขาคือผู้ที่ศึกษาโครงสร้าง 'ศาลรัฐธรรมนูญ' และวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งมีข้อเสนอมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้ และทำอย่างสม่ำเสมอมาตลอดไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เคยมีคำตัดสินอันเป็นคุณแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาก่อนก็ตาม

ดังนั้น หากลองละวางอคติแห่งความขัดแย้งลง แล้วลองหันมาฟังหลักการแห่ง 'นิติศาสตร์' บ้าง 'นิติรัฐ' ที่ใครหลายคนใฝ่ฝันและเฝ้าพูดถึงก็อาจเกิดขึ้นได้จริง 

 

oooooooooooo

"เพราะเหตุว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็กุมสภาพในคณะกรรมการสรรหา ฝ่ายค้านที่จะเข้ามาร่วมในการสรรหาก็น้อยลง จึงเป็นเหตุให้เวลาต่อมามีการอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลครอบงำองค์กรอิสระ ซึ่งจะว่าไปมันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกันในเชิงของการได้มาซึ่งตัวของบุคคลากรที่เข้าสู่องค์กร แต่ว่าถ้าพูดในทางหลักการแล้วมันควรจะเปิดให้มีการต่อรองกัน หรือว่ายอมให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาตัวบุคคลมากกว่านี้ "

"เรื่องล่าสุดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีเลย ไม่มีตัวบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ วินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี วินิจฉัยเรื่องการยุบพรรค เรื่องสนธิสัญญา"

"แต่เมื่อปรากฏต่อรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มีจากรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองมีอำนาจอะไรจากตัวรัฐธรรมนูญ สภาซึ่งทรงอำนาจตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันเขาย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญได้"

"ถึงจุดหนึ่งเมื่อคุณก้าวล่วงออกจากกรอบขอบเขตอำนาจแล้ว องค์กรของรัฐเขาสามารถไม่ปฏิบัติได้ แน่นอนว่า จะนำมาซึ่งวิกฤตในทางกฎหมายไหม ก็นำมา แต่ถ้ายันกันได้ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนั้นก็จะไม่มีผลในทางกฎหมาย"

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร มันไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอะไรยังไงก็ได้ในรูปคำวินิจฉัยแล้วผูกพันองค์กรทั้งหมด ไม่งั้นก็ตัดสินอะไรก็ได้หมด มันต้องในความหมายความคำวินิจฉัยนั้นอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ แล้วจึงผูกพันอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน"

"ยังไม่เคยปรากฏว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง บ้านเราเป็นตัวอย่างที่หนึ่งเดียวมากๆ ตอนนี้ ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะแบบนี้เลย"

"คณะนิติราษฎร์เคยเสนอตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่าให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญไปก่อน เรียกว่า 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ' เพราะสิ่งที่จะพิทักษ์คือตัวระบอบรัฐธรรมนูญ หรือคุณค่าของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิทักษ์ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญ "

"ต้องมีระบบความรับผิดหรือความพร้อมรับผิด อันนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้วแต่เกี่ยวกับการ reform ศาลทั้งระบบและ reform กฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับความผิดฐานบิดเบือนการตีความกฎหมายที่ต้องให้เป็นความผิดอาญา"

"ตอนรับเรื่องมาตรา 291 ไว้ ก็บอกให้แก้รายมาตราได้ แต่ว่ามาถึงคราวนี้ไม่ยอมแล้ว เพราะมาตรา 68 มันแปรสภาพมาเป็นศูนย์กลางของเรื่อง เป็นหัวใจ กล่องดวงใจของเรื่อง ถ้าสูญเสียมาตรา 68 ไปก็ถูก reform ได้"

๑๐

"..การ reform เขาทำได้เพราะเขาเป็นเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาต้องมีความชอบธรรมในการ reform ได้ตราบเท่าที่มันไม่ได้ไปกระทบกับหลักสิทธิเสรีภาพ หรือทำลายแก่นหลักของหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ "

oooooooooooo

 

อยากให้อาจารย์ย้อนถึงที่มาที่ไปของ 'ศาลรัฐธรรมนูญ'

ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2550 กับ 2540 จะมีความแตกต่างกันอยู่ในแง่ขององค์ประกอบ ในแง่ที่มา แต่จะขอพูดถึงในเรื่องหลักการก่อนคือ ความจริงในระบบกฎหมายหนึ่งๆ ควรมีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในหลายประเทศไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่อีกหลายประเทศก็มีศาลรัฐธรรมนูญ

ทีนี้บ้านเรากำเนิดของความคิดที่จะต้องให้มีองค์กรมาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในบริบทของคดีอาชญากรสงคราม เมื่อปลายปี พ.ศ. 2488 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี พ.ศ. 2489 ที่ตอนนั้นยังใช้รัฐธรรมนูญปี 2475 อยู่ แล้วมันมีประเด็นกันขึ้นมาคือสภาผู้แทนราษฎรไปตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามปี พ.ศ. 2488 แล้วก็มีการจับกุมบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงครามขึ้นศาล ซึ่งตามพระราชบัญญัติที่ออกมากำหนดให้มีการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาก็คือศาลอาชญากรสงคราม โดยให้ศาลฎีกามาทำหน้าที่ศาลอาชญากรสงคราม และก็มีศาลเดียวตัดสินแล้วจบเลย

ต่อมาก็มีคนถูกจับกุมหลายคน คนที่โด่งดังที่สุดที่ถูกจับกุมก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วต่อมาก็มีการดำเนินคดี ในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ถูกจับกุมในชั้นศาลอาชญากรสงคราม (หรือศาลฎีกา) จำเลยก็ได้ต่อสู้ว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรไปตรากฎหมาย กำหนดความผิดอาชญากรสงครามขึ้นนั้น เป็นการตรากฎหมายย้อนหลังลงโทษทางอาญาแก่บุคคล เพราะว่าในตอนกระทำความผิดนั้นมันไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำนั้น เช่น การช่วยเหลือญี่ปุ่น เป็นความผิดอาญา แล้วก็มีการต่อสู้ว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นนั้นมันขัดรัฐธรรมนูญ ที่ไปขัดกับเรื่องเสรีภาพในการกระทำเพราะว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการกระทำการตราบเท่าไม่มีกฎหมายห้าม เพราะกฎหมายอันนี้ออกมาทีหลัง

มันจึงกลายเป็นปัญหาถกเถียงกันว่ากฎหมายที่สภาออกมาและตราขึ้นมานั้นมันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเวลานั้นศาลอาชญากรสงคราม (หรือศาลฎีกา) ก็ใช้อำนาจชี้ไปเอง โดยบอกว่าถ้าไม่ให้ศาลชี้ ก็ไม่รู้จะให้ใครชี้ว่ากฎหมายนี้ใช้ได้หรือไม่ได้ ก็ปรากฏว่าในคดีนั้น ศาลอาชญากรสงครามพิพากษาว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ยกฟ้องและปล่อยตัวจำเลยทั้งหมด หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็มีการประชุมกัน และก็มีความเห็นว่าถ้าเกิดปล่อยให้ศาลใช้อำนาจแบบนี้มันก็เป็นการก้าวล่วงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการตรากฎหมาย เพราะว่า ส.ส.จำนวนหนึ่งมีความเห็นว่า เวลาสภาตรากฎหมายไปแล้ว ศาลมีหน้าที่ต้องใช้กฎหมายตามที่สภาตราขึ้น จะไม่ยอมใช้กฎหมายที่สภาตราขึ้นโดยอ้างว่ากฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่ในฝั่งศาลเองก็มีเหตุผลว่าถ้ากฎหมายที่สภาตราขึ้นมันขัดกับกฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ มันจะต้องมีคนบอกว่า กฎหมายนั้นใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ซึ่งในเวลานั้นมันไม่มีใครที่จะบอกได้ ศาลซึ่งเป็นคนตัดสินคดีก็บอกว่าเขาต้องเป็นคนบอกเอง ตอนนั้นมันจึงคล้ายๆ ว่ามีความเห็นกันไปในคนละทาง ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลอยู่

สุดท้ายก็เกิดการแก้ปัญหา ในช่วงนั้นกำลังมีการทำรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2489 อยู่พอดี ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการบรรจุหมวดหมวดหนึ่งไว้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2489 เรียกว่าหมวดที่ว่าด้วย 'คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ' คือมีการก่อตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก มีอำนาจที่จะชี้ว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งองค์ประกอบของตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรกึ่งการเมืองกึ่งตุลาการ ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ลงพระปรมาภิไธยนั้น กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการอื่นอีกสิบสี่คน  ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มามีการกำหนดองค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแตกต่างกันออกไป เช่น กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ มีประธานศาลฎีกา มีอธิบดีกรมอัยการ มีผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เข้ามาเป็นองค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรกึ่งการเมืองกึ่งตุลาการ ทำหน้าที่สำคัญ คือ ชี้ว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นและเป็นคดีอยู่ในศาล และศาลในคดีนั้นเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น จริงๆแล้วกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  เราได้ใช้ระบบนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ 2540

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2540 ก็มีการเปลี่ยนโครงสร้าง จากที่เป็นองค์กรกึ่งการเมืองกึ่งตุลาการ มาเป็นองค์การตุลาการเต็มรูปแบบ คือ มีสภาพเป็นศาลที่เรียกว่า 'ศาลรัฐธรรมนูญ' และเพิ่มอำนาจหน้าที่อีกหลายประการ อำนาจที่มีแต่เดิมคืออำนาจในการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังเป็นอำนาจที่มีอยู่ต่อไป และบัดนี้เป็นของศาลรัฐธรรมนูญ แต่นอกจากอำนาจดังกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจมากไปกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญหลายประการ  เช่น มีอำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายที่ผ่านสภามาแล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือที่เรียกว่าอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายก่อนที่จะประกาศใช้ มีอำนาจชี้เรื่องการยุบพรรคการเมือง มีอำนาจชี้ในเรื่องสมาชิกภาพของ ส.ส. มีอำนาจเรื่องที่จะชี้ว่าสนธิสัญญาไหนที่จะต้องขอความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ คืออำนาจขยายออกไปกว้างขวางมากทีเดียว แต่หลักการสำคัญอันหนึ่งก็คือยังไม่ยอมให้ประชาชนฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 เลิกไปก็มีการใช้ ปี พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ก็มีปัญหาอยู่คือ หนึ่ง คือ ไปให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาเอง ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ว่ากฎหมายวิธีพิจารณาที่ศาลใช้ในการตัดสินคดี สภาจะต้องเป็นคนออก รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ยกอำนาจนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปทำ โดยบังคับว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องออกข้อบังคับนี้โดยมติเอกฉันท์ของตุลาการทั้ง 15 คน แต่ตุลาการก็ตกลงกันไม่ได้เพราะไม่ได้คะแนนเสียงเอกฉันท์ เลยออกข้อกำหนดมาได้เพียงสามสิบกว่าข้อ มีเนื้อความที่ไม่สมบูรณ์หลายประการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเลยก็คือคดีซุกหุ้นของคุณทักษิณ ที่ในตอนนั้นตอนเริ่มต้นคดีมีตุลาการ 14 คน และในระหว่างการดำเนินการพิจารณาคดีก็มีการตั้งตุลาการเข้ามาอีกคนหนึ่งเป็น 15 คน แล้วคดีนี้ตัดสินมาในทางกฎหมาย คือ 7-4-4 แต่ 4 กับ 4 นี้มันรวมกันเป็น 8 ซึ่งจริงๆแล้วในทางกฎหมายถือว่าไม่ถูกต้องจากนั้นมีการบอกว่า กรณีคุณทักษิณไม่มีความผิดตาม ม.295 ของ รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งผมก็ได้วิจารณ์ประเด็นนี้เอาไว้ว่าระบบวิธีพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งประเด็นเพื่อวินิจฉัยก็ดี การที่ยอมให้ตุลาการเข้ามาในองคณะภายหลังร่วมพิจารณาด้วยร่วมตัดสินด้วยก็ดี มันไม่ถูกต้อง รวมทั้งการตั้งประเด็นที่ไม่เป็นเสียง 8 ต่อ 7 แต่เป็น 7-4-4 ก็ไม่ถูกต้อง

 

"เพราะเหตุว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็กุมสภาพในคณะกรรมการสรรหา ฝ่ายค้านที่จะเข้ามาร่วมในการสรรหาก็น้อยลง

จึงเป็นเหตุให้เวลาต่อมามีการอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลครอบงำองค์กรอิสระ

ซึ่งจะว่าไปมันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกันในเชิงของการได้มาซึ่งตัวของบุคคลากรที่เข้าสู่องค์กร

แต่ว่าถ้าพูดในทางหลักการแล้วมันควรจะเปิดให้มีการต่อรองกัน

หรือว่ายอมให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาตัวบุคคลมากกว่านี้ "

 

พูดง่ายๆ มันก็มีปัญหาอยู่หลายประการตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 องค์คณะ 15 คนก็ใหญ่เกินไป กระบวนการการได้มาของตุลาการตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 มันก็เป็นกระบวนการที่พูดให้ถึงที่สุดแล้วแม้ว่ามันจะมีการคัดเลือกจากกรรมการคัดเลือก แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่าบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการคัดเลือกโดยปกติก็จะเป็นคนจากฟากรัฐบาลเป็นหลัก เพราะเหตุว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็กุมสภาพในคณะกรรมการสรรหา ฝ่ายค้านที่จะเข้ามาร่วมในการสรรหาก็น้อยหรือไม่มีเลย จึงเป็นเหตุให้เวลาต่อมามีการอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลครอบงำองค์กรอิสระ ซึ่งจะว่าไปมันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกันในเชิงของการได้มาซึ่งตัวของบุคคลากรที่เข้าสู่องค์กร ถ้าพูดในทางหลักการแล้วมันควรจะเปิดให้มีการต่อรองกัน หรือว่ายอมให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาตัวบุคคลมากกว่านี้

ดังนั้นในตัวโครงสร้างของการได้มาตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 นี้ มันก็มีปัญหาอยู่จริง แต่การแก้ปัญหาควรจะต้องเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่ใช้รถถังใช้ปืนมายึดอำนาจ แล้วอ้างกรณีปัญหาดังกล่าวเป็นความชอบธรรมในการยึดอำนาจซึ่งไม่ถูกต้อง หลังยึดอำนาจแล้ว มีการตรารัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของการยึดอำนาจขึ้นใช้บังคับ การตรารัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นใช้บังคับ คือ รัฐธรรมนูญ 2550 กลับสร้างปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าบางส่วนจะมีความพยายามแก้ปัญหาที่ผมเคยวิพากษ์วิจารณ์ไว้ เช่น ลดจำนวนตุลาการเหลือ 9 คน ซึ่งผมเคยวิจารณ์ไว้ว่าองคณะ 15 คนมันใหญ่เกินไป แล้วก็มีการพยายามแก้ปัญหาเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดเอง  อันเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ผมเคยวิจารณ์ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญไปออกข้อกำหนดวิธีพิจารณาได้เอง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาใหม่ผุดขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็คือปัญหาที่ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ดันไปกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละเป็นคนเสนอกฎหมายนี้เข้าสภา การกำหนดให้ศาลเสนอกฎหมายได้เอง ผมเห็นว่าขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ ตอนนี้ปัญหาที่เกิดก็คือศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนเสนอกฎหมายนี้เข้าสภา แต่ก็ยังคงค้างอยู่ที่สภา เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเสนอว่าควรมีเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเสียงข้างมากของสภาก็กลับเห็นว่ามันไม่ควรจะมี และก็ทำให้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ผ่านสภา

ยิ่งไปกว่านั้นที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นปัญหาหนักไปกว่าเดิม คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญ 9 คน 5 คนมีที่มาจากฝั่งศาล ศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ซึ่งการมาแทบจะเรียกได้เป็นว่าเป็นการมาแบบออโตเมติค คือแม้รัฐธรรมนูญเขียนว่าจะต้องมาจากวุฒิสภาก็ตาม แต่ว่าโดยสภาพแล้ววุฒิสภาก็ได้แต่รับรองเท่านั้น แทบที่จะเรียกว่าทำอย่างอื่นไม่ได้ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าวุฒิสภาครึ่งหนึ่งก็ยังมาจากการสรรหา ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 4 คนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒินิติศาสตร์และรัฐศาสตร์นั้น ก็เห็นได้ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหามีที่มาที่เชื่อมโยงกับประชาชนน้อยมาก กรรมการสรรหาส่วนใหญ่ก็คือประธานศาลต่างๆและประธานอง์กรอิสระ กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ถ้าดูในแง่ที่มา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้เป็นสัญลักษณ์ของพวกอภิชน คือ มีลักษณะที่ตัวแทนของระบอบอภิชนาธิปไตยหรือคณาธิปไตย ไม่ใช่สัญลักษณของนิติรัฐและระบอบประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้มาจากความคิดที่รังเกียจนักการเมือง ซึ่งในที่สุดแล้วก็คือความคิดที่รังเกียจประชาธิปไตยนั่นเองที่ทำให้ได้โครงสร้างในลักษณะแบบนี้ขึ้นมา ทำให้ตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขาดจุดยึดโยงเท่าที่ควรจะเป็นกับประชาชนผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจ

ในทางปฏิบัติเราจะเห็นว่าตัวบุคลากรที่เข้าสู่ตำแหน่ง ในศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา วิธีคิดของบุคคลากรเหล่านี้ รวมทั้งการปฏิบัติภารกิจในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมามันบ่งชี้แล้วว่าทิศทางแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรค คดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคุณสมัคร สุนทรเวช คดีเรื่องปราสาทพระวิหาร เรื่องสนธิสัญญาที่จะต้องขอความเห็นชอบจากสภา คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเหล่านี้มีปัญหาในทางกฎหมายทั้งสิ้น จนมาถึงคดีที่ใหญ่มากที่สุดและมีปัญหามากที่สุด และสำหรับผมแล้ว นี่คือคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำหน้าที่พิทักษ์คุณค่าของนิติรัฐในระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว แต่สถาปนาตัวเองขึ้นไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ นั่นคือคดีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

 

ทำไมอาจารย์มองกรณีล่าสุดว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

เรื่องล่าสุดเห็นว่าใหญ่ที่สุด รุนแรงที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเรื่องที่ผ่านมาไม่รุนแรง กรณีการยุบพรรคพลังประชาชน ก็มีสภาพซึ่งหลายคนกังขาในเชิงความเป็นกลาง ความโปร่งใส และความเป็นมืออาชีพในการตัดสินคดี เพราะมันมีการแถลงคดีด้วยวาจา หลังจากนั้นประมาณชั่วโมงหนึ่งก็ตัดสินคดีเลย ลักษณะการอ่านคำวินิจฉัยอ่านชื่อพรรคการเมืองก็ยังผิด และยังตัดสินในบริบทของการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิของพวกพันธมิตรด้วย นี่เป็นปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญแสดงออกผ่านการทำงานที่เราก็คงพอเห็นได้ ยิ่งถ้าดูคำให้สัมภาษณ์ของประธานศาลรัฐธรรมนูญในตอนหลังที่พูดถึงเรื่องบริบทของการตัดสินคดียุบพรรคจะยิ่งเห็นได้ชัดว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ผมอคติ แต่ดูจากภววิสัย ผมคิดว่าคนทั่วไปที่มีใจเป็นธรรมพอก็จะเห็นว่ามีปัญหาอย่างแน่นอน , คดีปราสาทพระวิหารที่ตัดสิน รัฐธรรมนูญเขียนว่า เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ศาลรัฐธรรมนูญก็ไปเติมคำว่า "อาจ" ลงไป ซึ่งก็เป็นการขยายอำนาจของตัวเอง และสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นฝักเป็นฝ่าย , คดีการปฏิเสธไม่ยุบพรรค ปชป.ในเรื่องระยะเวลาในการยื่นคำร้อง อะไรเหล่านี้มันชวนให้สาธารณชนมีข้อกังขาได้ทั้งสิ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาจากประโยชน์ได้เสียทางการเมืองในช่วงระยะเวลาหกถึงเจ็ดปีที่ผ่านมา และนำคำวินิจฉัยเหล่านั้นมาตรวจวัดกับคุณค่านิติรัฐประชาธิปไตย คนที่มีใจเป็นธรรมก็ตาสว่างแล้วตาสว่างอีก

 

"เรื่องล่าสุดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีเลย

ไม่มีตัวบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

ในการวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว

ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

วินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี วินิจฉัยเรื่องการยุบพรรค เรื่องสนธิสัญญา"

 

แต่ความรุนแรงของความผิดพลาดในการตัดสินคดีที่ผ่านมาหลายๆ คดีในทางกฎหมาย มันยังไม่เท่ากับคดีที่เกิดขึ้นล่าสุด เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าล่าสุดนั้น หมายถึงคดีตั้งแต่เรื่องมาตรา 291 เมื่อปีที่แล้ว (2555) เรื่อยมาถึงมาตรา 68 ในปัจจุบัน (2556) สองคดีนี้เชื่อมโยงหรือเกี่ยวเนื่องกัน ที่บอกว่ารุนแรง เพราะว่าคดีอื่นๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี อย่างน้อยที่สุดตอนคดีเข้าสู่ศาลเรายังพอบอกได้ว่าศาลมีเขตอำนาจเหนือคดี อย่างกรณียุบพรรค หนังสือสัญญาต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ กรณีคุณสมัคร สุนทรเวช รัฐธรรมนูญเขียนให้อำนาจศาลสามารถวินิจฉัยเรื่องของสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนฯ หรือคุณสมบัติของนายกฯ  คืออย่างน้อยทางเข้ามันเห็นว่ามีตัวบทรองรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ถึงแม้ว่าในเชิงการพิจารณา การตัดสินคดี การตีความรัฐธรรมนูญ ผมจะเห็นว่ามีปัญหาอย่างยิ่งก็ตาม แต่ในทางการรับคดีเราต้องยอมรับว่าในหลายคดีศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเหนือคดี

แต่เรื่องล่าสุดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีเลย ไม่มีตัวบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ วินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี วินิจฉัยเรื่องการยุบพรรค เรื่องสนธิสัญญา

แล้วศาลธรน.รับเรื่องนี้จากมาตราไหน คำตอบก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั้นอาศัยมาตรา 68 แต่มาตรา 68 มันเป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองไปล้มล้างระบอบการปกครอง ปัญหาก็คือ มาตรานี้ไม่ใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ

การรับคดีที่ผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง มีข้อวิจารณ์ 2 ประการใหญ่ๆ ประการแรก ที่คนทั่วไปเขาก็พูดกันคือ ขั้นตอนของการเอาคดีนี้เข้าสู่ศาลไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อ้างเพื่อรับคดีไว้พิจารณานั้น  กำหนดสิทธิอัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นคนยื่นเรื่อง ผู้ที่รู้เห็นการกระทำว่าจะเป็นการล้มล้างก็ต้องไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อไต่สวนว่ามีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลแล้วอัยการสูงสุดก็จะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปดูการอภิปรายตัวรัฐธรรมนูญก็ได้ ไม่ว่าจะในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ดี หรือ 2550 ก็ดี ผู้อภิปรายก็อภิปรายในทิศทางนี้หมด แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะอ้างได้ว่า เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญอาจตีความแตกต่างจากคนร่างก็ได้ถ้ามีเหตุผลที่ดีกว่า แต่คำถามคือมันมีเหตุผลที่ดีกว่าไหม การตีความนั้นขัดแย้งกับตัวถ้อยคำอย่างชัดแจ้งไหม ขัดวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งไหม ถามผม ผมเห็นว่าขัดแย้งกับถ้อยคำในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เพราะเขาพูดถึงอัยการ ให้อัยการเป็นผู้รับเรื่องและยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าขัดแย้งกับระบบของรัฐธรรมนูญไหม ถ้าตีความแบบ systematic interpretation คำตอบคือ ขัดแย้งกับระบบรัฐธรรมนูญ 

นอกจากจะขัดแย้งในเชิงถ้อยคำ ไวยากรณ์แล้ว ยังขัดแย้งกับตัวระบบ การขัดแย้งกับระบบคือ ถ้าตีความอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มันไม่มีความจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนคำว่าอัยการสูงสุดเอาไว้ ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญต้องเขียนว่า บุคคลจะไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้หรือไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดก่อนก็ได้  โดยการตีความของศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้ function หรือภารกิจของอัยการสูงสุดไม่มีความหมาย พูดให้ชัดลงไปอีกก็คือ เท่ากับลบคำว่าอัยการสูงสุดออกจากรัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติ เพราะต่อไปคนจะไม่ไปยื่นเรื่องที่อัยการสูงสุดแต่ไปยื่นโดยตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย  การตีความแบบนี้จึงขัดกับตัวระบบ

อันถัดไปคือ ขัดกับวัตถุประสงค์ของตัวรัฐธรรมนูญเองซึ่งดูได้จากผู้ร่างว่า เขาไม่ต้องการให้ใครก็ได้ไปยื่นเรื่อง ซึ่งมันอาจจะไม่มีมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญเขาถึงให้ไปที่อัยการสูงสุดก่อน และในด้านหนึ่งก็เป็นการถ่วงดุลอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะไม่อย่างนั้นโดยอาศัยมาตรา 68 ถ้าประชาชนหรือบุคคลไปยื่นเรื่องได้โดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีอำนาจมาก สามารถรับเรื่องทุกประเภทเอาไว้เข้าสู่การพิจารณาได้ ขอเพียงแต่คนไปยื่นเรื่องอ้างว่าองค์กรของรัฐกระทำการเป็นการล้มล้างการปกครองเท่านั้นเอง มีมูลหรือไม่ก็สามารถรับเรื่องและเดินหน้าต่อไปได้ เท่ากับทำให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางนี้กลายเป็นองค์กรที่ทรงพลานุภาพที่สุดในระบบรัฐธรรมนูญ  ก็ผิดกับเรื่องหลักของการตีความในเชิงวัตถุประสงค์ของตัวบทที่เรียกว่า theological interpretation และขัดกับความเป็นมาของตัวบทที่เรียกว่า histological interpretation การตีความมาตรา 68 จึงขัดกับหลักเกณฑ์การตีความกฎหมายในทุกมิติ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้

ประการที่สอง ในเชิงตัวบทเขาพูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อันนี้หนักกว่าเรื่องอัยการสูงสุดอีก ถ้าไปอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จะเห็นว่ามาตรา 68 ระบุว่าการที่บุคคลจะยื่นเรื่องได้ต้องเป็นกรณีที่บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพ ผมถามว่า รัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เขาใช้สิทธิและเสรีภาพตรงไหน การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องสิทธิและเสรีภาพเลย สิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ของประชาชน ของพรรคการเมือง แต่รัฐสภาในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทรงอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเขาปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มันจึงไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพในความหมายของมาตรา 68 ถ้าตีความว่า เวลาองค์กรของรัฐปฏิบัติหน้าที่เท่ากับใช้สิทธิและเสรีภาพ ต้องตีความต่อไปว่า การที่ตำรวจไปจับผู้ร้าย เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ทหารได้รับคำสั่งให้ไปรับ การออกรบก็เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ  อธิบดีกรมกรมหนึ่งออกใบอนุญาตบางอย่างก็เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ศาลตัดสินคดีก็เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะตัดสินหรือใช้อำนาจยังไงก็ได้เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา ซึ่งผิด !!!

องค์กรของรัฐไม่ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพ แต่องค์กรเหล่านั้นเขากำลังปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ยิ่งไปกว่านั้นศาลรัฐธรรมนูญยังไปอนุโลมเอาตัวบทตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาสั่งคุ้มครองชั่วคราว คือ สั่งห้ามหรือยังไม่ให้ลงมติในวาระสามในตอนที่มีการฟ้องคดี อำนาจแบบนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ในข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีโดยตรง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปอนุโลมเอากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งในใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดาด้วยกัน เวลาเป็นหนี้กันแล้วไปฟ้อง กลัวว่าลูกหนี้จะหนีหนี้ไปก่อน ก็สั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อน ระงับการโอนทรัพย์ได้ แต่นี่เป็นองค์กรของรัฐ ไปเอาอันนี้มาใช้ ก็เลยทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสกัดการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาได้

เราลองนึกดูง่ายๆ ถ้าใครยังไม่เข้าใจ ลองนึกดูว่า ขนาดรัฐธรรมนูญยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้กฎหมาย รัฐธรรมนูญก็ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ในชั้นที่ผ่านรัฐสภาไปแล้วแต่เป็นชั้นก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ นี่ขนาดรัฐธรรมนูญยอมให้ตรวจสอบยังเขียนไว้ชัดขนาดนี้  ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไหนเลยเขียนว่า คุณสามารถเข้ามาตรวจสอบวาระที่ 1 หรือวาระ 2 หรือวาระที่ 3 พูดง่ายๆ ก็คือ ขนาดรัฐธรรมนูญยอมให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาร่างพระราชบัญญํติต่างๆ รัฐธรรมนูญก็ยอมให้กระทำได้ภายหลังจากที่ร่างพระราชบัญญํตินั้นๆ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว เรื่องราวนั้นเสร็จสิ้นไปจากรัฐสภาแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญสอดเข้าไปยุ่งกับกระบวนการตรากฎหมายได้ นี่ขนาดเป็นกรณีที่เขียนไว้ชัดแจ้งนะ แต่กรณีของการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีเขียนไว้เลย ศาลรัฐธรรมนูญยังสอดเข้าไปห้ามการลงมติในวาระที่ 3 ซึ่งไม่มีบัญญัติใดให้อำนาจเลย ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา จึงเห็นได้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการละเมิดตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเอง

 

"แต่เมื่อปรากฏต่อรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันว่า

ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มีจากรัฐธรรมนูญ

และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองมีอำนาจอะไรจากตัวรัฐธรรมนูญ

สภาซึ่งทรงอำนาจตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันเขาย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญได้"

 

การดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อาจารย์พอใจกับการแสดงออกนี้ไหม หรือเหมาะสมหรือไม่

ผมคิดว่าถูกต้องแล้ว เพราะว่า ในแง่นี้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้วางสถานะของศาลรัฐธรรมนูญให้อยู่เหนือรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเขียนแบบนั้นให้รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมดูแลของศาลรัฐธรรมนูญ เขาวางโครงสร้างอำนาจเอาไว้เท่ากัน และใช้อำนาจคนละลักษณะ โดยการวางโครงสร้างแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนใช้อำนาจคนสุดท้ายในข้อพิพาททางกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จริง แต่การใช้อำนาจต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญด้วย คือต้องเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญเขียนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน

แต่เมื่อปรากฏต่อรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหมือนกัว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มีจากรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองมีอำนาจอะไรจากตัวรัฐธรรมนูญ รัฐสภาซึ่งทรงอำนาจตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญได้

 

"ถึงจุดหนึ่งเมื่อคุณก้าวล่วงออกจากกรอบขอบเขตอำนาจแล้ว

องค์กรของรัฐเขาสามารถไม่ปฏิบัติได้ แน่นอนว่า จะนำมาซึ่งวิกฤตในทางกฎหมายไหม ก็นำมา

แต่ถ้ายันกันได้ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนั้นก็จะไม่มีผลในทางกฎหมาย"

 

ผลของการปฏิเสธจะออกมารูปไหนได้บ้าง

ผลในทางกฎหมายที่ตามมา ถ้ารัฐสภาปฏิเสธ ก็คือ รัฐสภาไม่ผูกพันตามผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มักมีคนอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ประเด็นคือ คำวินิจฉัยที่บอกให้มีผลเป็นเด็ดขาด ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกรอบของรัฐธรรมนูญด้วย แต่คำวินิจฉัยอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นโดยเห็นประจักษ์ชัดว่ามันขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างแน่แท้จะไปบังคับให้รัฐสภาเขาผูกพันไม่ได้ เพราะถ้าผูกพันก็เท่ากับไปผูกพันตามคำวินิจฉัยซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ

ทีนี้ก็มีคนบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตีความรัฐธรรมนูญ ศาลตีความแบบนี้จะไม่เชื่อศาลได้อย่างไร อย่างที่ผมบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่เหมือนศาลยุติธรรมที่ตัดสินคดีระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันในฐานะที่เศาลยุติธรรมมีอำนาจเหนือกว่าคู่ความในคดี แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในฐานะที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งในรัฐธรรมนูญเสมอกับองค์กรอื่นๆ ถ้าองค์กรอื่นๆ มีความเห็นว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญทำอยู่มันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งแล้ว องค์กรนั้นต้องไม่ปฏิบัติตาม เพราะถ้ายอมปฏิบัติตามก็เท่ากับยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญทำลายรัฐธรรมนูญได้ผ่านคำวินิจฉัย ตนเองก็จะกลายเป็นผู้ร่วมทำลายรัฐธรรมนูญไปด้วย  ซึ่งยอมให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้

ต่อไปถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี อ้างมาตรา 68 สมมติสั่งห้ามนายกฯ ไปปาฐกถาในต่างประเทศเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจแต่มีคนไปร้องว่าการทำเช่นนั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา แล้วสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯ เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปแสดงปาฐกถา แล้วบอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร แล้วมันจะเป็นยังไง เรายังจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยแบบนี้ไหม อย่าคิดว่าตัวอย่างพวกนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ในยามที่สังคมเผชิญวิกฤติรุนแรง เอาเป็นเอาตายกันแบบนี้ เรื่องที่บ้าๆบอๆที่เป็นไปไม่ได้ มันก็เกิดขึ้นหลายเรื่องแล้ว

ผมยกตัวอย่างให้เห็นสำหรับคนที่ชอบอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรทุกองค์กรว่ามันมีพรมแดนของมัน ไม่ใช่สักแต่อ้าง ท่องอยู่นั่นแหละว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ตัดสินอะไรมาก็ต้องทำตาม คือ องค์กรอื่นเขาก็มีสมองเหมือนกัน เขาก็ใช้รัฐธรรมนูญเหมือนกัน เมื่อเขาเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ตีความรัฐธรรมนูญทำลายอำนาจของเขา เขาก็ต้องไม่ปฏิบัติตาม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงจุดหนึ่งเมื่อคุณก้าวล่วงออกจากกรอบขอบเขตอำนาจแล้ว องค์กรของรัฐเขาสามารถไม่ปฏิบัติได้ ส่วนคำถามว่า จะนำมาซึ่งวิกฤตในทางกฎหมายไหม ก็นำมา แต่ถ้ายันกันได้ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนั้นก็จะไม่มีผลในทางกฎหมาย

 

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร

มันไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอะไรยังไงก็ได้ในรูปคำวินิจฉัยแล้วผูกพันองค์กรทั้งหมด

ไม่งั้นก็ตัดสินอะไรก็ได้หมด

มันต้องในความหมายความคำวินิจฉัยนั้นอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ

แล้วจึงผูกพันอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน"

 

ในทางการเมือง พอทำนายได้ไหมจะเกิดอะไร

มันก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายการเมืองหนักแน่นแค่ไหนในการปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เราคาดหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญเขาถือว่าเขาตีความในอำนาจของเขา ที่สุดแล้ว ถ้าเขาไม่ถอย เขาก็จะทำคำวินิจฉัยออกมา การไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าฝ่าฝืนคำวินิจฉัย  ก็อาจมีคนไปร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง ที่สุดมันก็เหลืออยู่แต่ว่าฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องทำตามไหม เพราะที่บอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร มันไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอะไรยังไงก็ได้ในรูปคำวินิจฉัยแล้วผูกพันองค์กรทั้งหมด ไม่งั้นก็ตัดสินอะไรก็ได้หมด มันต้องในความหมายที่ว่าคำวินิจฉัยนั้นอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ แล้วจึงผูกพันอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แล้วที่สำคัญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจบังคับการตามคำวินิจฉัยเอง ถ้าองค์กรบริหารซึ่งเป็นองค์กรที่จะต้องบังคับการตามคำวินิจฉัยไม่บังคับให้ คุณจะวินิจฉัยอะไรก็เรื่องของคุณ สุดท้ายพอขัดแย้งกันอย่างนี้ ก็อยู่ที่ผู้ถืออาวุธว่าจะเดินตามข้างไหน

โดยปกติถ้ามันก้ำๆ กึ่งๆ เถียงกันประมาณนี้ องค์กรอื่นๆของรัฐก็ยอมผูกผัน เพื่อระบบกฎหมายดำรงอยู่ได้ แต่เมื่อใดที่เขาเห็นว่าอันนี้เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ผมถามว่าจะไปบังคับให้เขาผูกพันได้อย่างไร ยกตัวอย่างแบบ extreme ถ้ามีคนไปยื่นเรื่องว่าคณะรัฐมนตรีมุ่งประสงค์ล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นกบฏ  ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา แล้วก็เห็นว่าไม่มีวิธีอื่นใดที่จะระงับยับยั้งคณะรัฐมนตรีได้ จึงอนุโลมเอากฎหมายอาญามาใช้ ให้อำนาจตัวเองลงโทษประหารชีวิตบุคคล คือ ประหารชีวิตรัฐมนตรีทุกคน มีการทำคำสั่งดังกล่าวในรูปคำวินิจฉัย อย่างนี้ยังจะผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ยังจะผูกพันราชทัณฑ์หรือ

 

"เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการตัดสินคดีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าดูในบริบทของการต่อสู้กันทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจเมื่อ 19 กันยา 49

บ้านเราเป็นตัวอย่างที่หนึ่งเดียวมากๆ ตอนนี้

ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะแบบนี้เลย"

 

พอจะมีตัวอย่างในประเทศอื่นไหม ที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปดำเนินการในลักษณะนี้

ในต่างประเทศ ถ้าองค์กรตุลาการหรือศาลใช้อำนาจก้าวล่วงอำนาจขององค์กรอื่นมาก แต่ไม่ถึงขึ้นผิดพลาดชัดแจ้ง วิธีการของเขาคือออกกฎหมายตัดอำนาจศาล สภาเขาก็แก้กฎหมาย เพื่อให้ในอนาคตคุณไม่สามารถทำอย่างนี้ได้อีก แต่กรณีนั้นเขาก็รับไป ปฏิบัติไปก่อน หรืออาจจะออกกฎหมายที่มีผลเป็นการแก้ไขความบกพร่องของคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัย เช่น ออกกฎหมายนิรโทษกรรม  เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการตัดสินคดีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าดูในบริบทของการต่อสู้กันทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจเมื่อ 19 กันยา 49 บ้านเราเป็นตัวอย่างที่หนึ่งเดียวมากๆ ตอนนี้ ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะแบบนี้เลย 

 

 

"คณะนิติราษฎร์เคยเสนอตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่าให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญไปก่อน

เรียกว่า 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ'

เพราะสิ่งที่จะพิทักษ์คือตัวระบอบรัฐธรรมนูญ หรือคุณค่าของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิทักษ์ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญ "

 

ถ้ามีโอกาสปรับโครงสร้าง อาจารย์มีข้อเสนออะไรบ้าง

การปรับโครงสร้างต้องมองสองระยะ ระยะหลังอาจไม่มีความจำเป็นต้องพูดกันตอนนี้ ระยะแรกถ้าเราลองดูโดยระบบของศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่แล้วเขาจะแก้มาตรา 291 เปิดทางให้มี สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเอาไปออกเสียงประชามติ  ศาลรัฐธรรมนูญบอกประมาณว่าแก้ไม่ได้ ถ้าจะทำศาลเขียนเป็นกึ่งๆ คำแนะนำว่าต้องทำประชามติก่อน หรือเป็นความเหมาะสมที่จะแก้ไขรายมาตรา เป็นการเบรคสภา เรื่องนี้จึงค้างอยู่ในวาระสอง ยังไม่มีการลงมติในวาระสาม พูดง่าย คือ สภาเขาก็ยอมถอย ผมเห็นว่าตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ถูกต้องแล้วที่ตีความมาตรา 68 แบบนั้น แต่สภาไม่สู้ ยอมแก้เป็นรายมาตรา ครั้นแก้เป็นรายมาตราก็ถูกเบรคอีก มันสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของศาลรัฐธรรมนูญ และน่าสนใจว่าสภาจะยอมอีกไหม

อาจจะมีคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ทันเบรกเสียหน่อย เขาแค่รับเรื่องเอาไว้พิจารณา แต่การรับเรื่องเอาไว้ก็ไม่ได้แล้ว คือ ชอบมีคนแย้งว่าไปวิจารณ์ทำไมเขายังไม่ได้ตัดสินคดี มันไม่ต้องรอให้ตัดสินคดี เพราะมันผิดตั้งแต่รับเรื่องที่ตัวเองไม่มีอำนาจรับแล้ว

ในแง่นี้ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องแก้โดยทำเป็นสองระยะ ระยะแรก  คือ การตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญในโครงสร้างแบบนี้ชั่วคราวไปก่อน เพื่อเปิดทางให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยปลอดจากการแทรกแซงโดยศาลรัฐธรรมนูญ วิธีการเบื้องต้นคือ ต้องยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญที่สืบทอดมาจากรัฐประหารแบบที่เป็นอยู่ก่อน ตัวตุลาการอาจไม่ได้สืบเนื่องโดยตรง แต่โดยโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญ 50 หลายๆ เรื่องมันเชื่อมต่อจากรัฐประหารมา มันจึงปฏิเสธความเชื่อมต่อโดยอ้อมไม่ได้เสียทีเดียว มันจึงต้องยุบ เลิก ระบบนี้ไป

คณะนิติราษฎร์เคยเสนอตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่าให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญไปก่อน เรียกว่า 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ' เพราะสิ่งที่จะพิทักษ์คือตัวระบอบรัฐธรรมนูญ หรือคุณค่าของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิทักษ์ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญนะ ตัวหนังสือนั้นต้องถูกแก้ถูกเปลี่ยนด้วยซ้ำไป แต่เราพิทักษ์คุณค่ารัฐธรรมนูญ คุณค่านิติรัฐ

เราเคยเสนอไว้ว่าตั้งองค์กรนี้มาแทนที่ สวมเข้าไปเพื่อรับภาระที่ยังคั่งค้างอยู่ เพราะถ้ายุบทิ้งไม่มีอะไรมาแทน มันเหมือนฟันเฟืองมันหายไป รถหรือตัวรัฐธรรมนูญจะวิ่งไม่ได้ ต้องมีอะไรมาแทนที่ไปก่อนระหว่างปรับโครงสร้าง โดยคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ  ให้มีที่มาจากแหล่งต่างๆ กัน มีเพียง 8 คน พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของประธานรัฐสภา และมีที่มา 3 ทาง จากสภาผู้แทนราษฎร 3 คน จากวุฒิสภา 2 คน จากครม. 3 คน รวมแล้วคือ ฝั่งนิติบัญญัติ 5 คน ฝ่ายบริหาร 3 คน เพื่อให้มีความชอบธรรมย้อนกลับไปหาประชาชน คณะตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้ที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วที่มาจากวุฒิสภาอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฏีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรียกว่าอย่างน้อย 2 ใน 8 ต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาอาชีพ และให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี

อาจมีคนบอกว่าทำแบบนี้ก็แย้งกับที่ผมเคยบอกว่า ฝ่ายค้านไม่มีส่วนร่วม ทำแบบนี้ฝ่ายบริหารก็กินกันไปหมด แล้วก็จะกระทบกับอิสระของตุลาการ มีแต่คนของฝ่ายรัฐบาล คำตอบคือ ประการแรก มันไม่เป็นแบบนั้น ฝ่ายบริหารถูกล็อคเอาไว้แล้วว่าต้องเลือกจากผู้พิพากษา 2 ใน 8 ส่วนที่เหลือเราเปิดคุณสมบัติไว้กว้างก็จริง แต่ฝ่ายบริหารก็ต้องเลือกโดยรับผิดชอบต่อรัฐสภาอยู่ดี เราต้องไม่ลืมว่าสภาผู้แทนราษฎรเลือก 3 คน ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมด้วย ในการท้วงติง ในการอภิปรายถึงตัวบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก ฝ่ายค้านมีส่วนในกระบวนการเพราะเป็นการเลือกในสภาผู้แทน ไม่ใช่เลือกโดยคณะกรรมการสรรหาแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ผมเคยวิจารณ์ว่าในทางปฏิบัติ ฝ่ายค้านไม่มีโอกาสร่วมคัดเลือก เพราะไม่ได้อยู่ในกรรมการคัดเลือก ส่วนในวุฒิสภาก็มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาอยู่แล้ว วุฒิสมาชิกสรรหาเหล่านี้ก็เป็นอภิชนที่เรายอมให้มีส่วนในการเลือกตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งๆที่ว่ากันในทางระบบให้ถึงที่สุดแล้ว คนเหล่านี้ไม่ควรได้สิทธิในการเลือกตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญเลย  ส่วนอีก 2 คนให้มาจากครม.เปิดคุณสมบัติไว้ให้ค่อนข้างกว้าง และให้ ครม.รับผิดชอบทางการเมือง

มีคนบอกว่า กรณีแบบนี้แทรกแซงได้ คำตอบคือ แทรกแซงไม่ได้ เพราะเมื่อ 8 คนนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว เขาเป็นอิสระจากการสั่งการของ ครม.หรือรัฐสภา เขาได้รับการประกันความเป็นอิสระเหมือนผู้พิพากษาเลย

ก็มีคนบอกว่า สั่งไม่ได้ แต่ก็รู้กัน เพราะเป็นคนที่ตัวเองส่งไป คำตอบคือ มันยังมีระบบถ่วงดุลโดยการถอดถอนโดยวุฒิสภาอยู่ และวุฒิสภาก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่คือครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา อีกครึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยระบบแบบนี้ถ้าปรากฏหลักฐานแบบนั้นมันก็ถอดถอนได้ แต่ถ้าไประแวงหมดมันก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วในทางกลับกัน ผมถามว่าทุกวันนี้คุณเชื่อได้อย่างไรว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่คุณไม่ถูกสั่งหรือไม่ถูกแทรกแซง ถ้ามีคนไม่เชื่อว่าอิสระล่ะ เพราะองค์กรที่คัดเลือกก็ต้องรู้จักกัน คือ ถ้าเราไม่ไว้วางใจแบบนี้ก็ต้องใช้ตรรกะนี้กับศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันเหมือนกัน

ในด้านหนึ่งเวลาครม.เลือก ก็ต้องเลือกคนซึ่งได้รับการยอมรับ อย่างน้อยก็ต้องเป็นคนที่ฝ่ายค้านโจมตีน้อยที่สุด สุดท้ายก็ยังมีสาธารณชนดู และจะคอยดูว่าที่ตัดสินมันเอียงไหม เข้าข้างรัฐบาลตลอดเวลาไหม ระบบถอดถอนก็ยังมีอยู่ และเป็นโครงสร้างที่ใช้ไปชั่วคราว เพราะถ้าไม่ทำตรงนี้มันจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบถาวรไม่ได้

 

"ต้องมีระบบความรับผิดหรือความพร้อมรับผิด

อันนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้วแต่เกี่ยวกับการ reform ศาลทั้งระบบ

และ reform กฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับความผิดฐานบิดเบือนการตีความกฎหมายที่ต้องให้เป็นความผิดอาญา"

 

ส่วนโครงสร้างถาวรข้างหน้า ผมว่าต้องคิดกันเยอะ เราอาจจะคิดถึงแต่ตัวตุลาการไม่ได้ ผมคิดว่าต้องตั้งคำถามแต่แรกเลยด้วยซ้ำ ว่า เราควรมีศาลรัฐธรรมนูญไหม ถ้าจะ reform ทั้งระบบ มันมีความจำเป็นต้องมีหรือไม่ต้องมี ซึ่งเรื่องนี้มีโมเดลตั้งเยอะ บางประเทศเขาไม่ยอมให้มีศาลรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าอำนาจเยอะเกินไป ถามว่าใครคุมการตรากฎหมาย เขาบอกว่า เวลาคุมก็ให้คุมโดยคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจและเลือกมาจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ และเป็นการคุมในขั้นตอนก่อนประกาศใช้กฎหมาย กฎหมายผ่านรัฐสภามาแล้วให้เอาให้คณะกรรมการชุดนี้ตรวจสอบ ถ้ากรรมการซึ่งมีความชอบธรรม มีที่มาจากหลายภาคส่วนชี้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ปล่อยผ่านไป 

ก็มีคนบอกว่าระบบการควบคุมก่อนการประกาศกฎหมายก็มีข้อดีอยู่ในการที่จะกันการแทรกแซงของศาล แต่มันอาจจะมีข้อเสียคือ ตอนคุมก่อนประกาศใช้กฎหมาย บางทีถ้ากฎหมายยังไม่ถูกเอาไปใช้จริง มันไม่รู้หรอกว่าเวลานำไปใช้แล้วมันจะขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หลายประเทศเลยบอกว่าต้องมีระบบคุมหลัง ซึ่งระบบคุมหลังมีแนวทางให้เลือกหลายแนว หนึ่ง ใช้ระบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งการเมือง กึ่งตุลาการ ไม่ต้องเป็นศาล เป็นคณะตุลาการในรูปแบบเดิม แล้วให้อำนาจเฉพาะเรื่องเอาไว้ ไม่ได้อำนาจมากแบบศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องตั้งขึ้นมาเป็นศาล หรือจะตั้งขึ้นมาเป็นศาลก็มีแนวทางว่าให้ศาลฎีกาตัดสินคดีแบบนี้ หรือตั้งเป็นศาลเฉพาะขึ้นมา

สรุป 1.ตั้งเป็นองค์กรการเมืองแท้ๆ ในรูปคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการ 2.ตั้งเป็นองค์กรกึ่งการเมือง กึ่งตุลาการ ในรูปคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 3.ตั้งในรูปของศาล ถ้าเป็นในรูปของศาล ไม่ควรให้ศาลฎีกามีอำนาจแบบนี้ในความเห็นผม ควรมีศาลพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละ มันคงตั้งในรูปแบบนี้ เพียงแต่ที่มาของตุลาการจะต้องเปลี่ยนใหม่หมด ต้องวางระบบ กฎหมายวิธีพิจารณาใหม่หมด การกำหนดอำนาจหน้าที่ต้องเขียนใหม่หมด fixเป็นเรื่องๆ  และไม่ยอมให้สภาออกกฎหมายเพิ่มอำนาจให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องอะไรก็ได้ แต่ต้องเขียนว่าจะต้องให้สภาออกกฎหมายเพิ่มอำนาจในเรื่องอะไรบ้าง ถ้าสภาไม่ออกก็ตัดสินคดีไม่ได้ มันต้องเป็นแบบนี้

ที่มาในเบื้องต้น เราต้องดูเรื่องระบบถอดถอนคู่กันไป ผมมีโมเดลในใจของผมแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเสนอเรื่องนี้ออกไป แต่เราพูดในทางหลักการก่อนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยสูงมากกว่าผู้พิพากษาตุลาการของศาลอื่น เพราะเขามาตัดสินคดีรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ที่มา โอเค อาจไม่ถึงกับมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง แต่ก็ต้องเชื่อมกับองค์กรที่มีที่มาทางประชาธิปไตย ก็คือ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในทางใดทางหนึ่ง จะเชื่อมแบบเข้มข้นหรือเจือจางก็แล้วแต่จะออกแบบ จะปล่อยให้มาจากศาลเองเกือบจะ automatic แบบนี้ไม่ได้

พูดง่ายๆ ว่า โมเดลที่ให้ศาลส่งมาแล้วผ่านวุฒิสภาในเชิงพิธีกรรมโดยไม่มีอำนาจปฏิเสธแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ สอง ต้องมีระบบถอดถอน ซึ่งต้องมาพร้อมกับ สาม หลักการประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ หมายความว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมี เขาจะแต่งตั้งมาจากทางใดเป็นเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แต่เมื่อตั้งแล้ว เขาต้องได้รับการประกันว่าเขาจะไม่ถูกแทรกแซงจากบุคคลใด เมื่อมีหลักประกันอิสระ ก็ไม่จำเป็นต้องฟังคนตั้ง แต่อิสระที่มีไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ มันต้องตั้งอยู่บนระบบของการยอมให้มีการถอดถอนออกได้ ซึ่งเมื่อถึงขั้นการถอดถอน ผมเห็นว่า อาจมีระบบเดียวไม่พอ ต้องมีสองระบบคู่กัน ทั้งการถอดถอนโดยตรงในเหตุบางเหตุ และการถอดถอนโดยองค์กรของรัฐในอีกเหตุบางเหตุ แต่การถอดถอนนั้นจะต้องทำได้ยาก เพราะถ้าทำง่ายเขาก็ขาดอิสระ แต่ยังไงก็ต้องมีระบบถอดถอน ไม่ใช่ปล่อยว่า เอาเข้าไปแล้วหมดหนทางในการเอาออก

ถัดไปคือต้องมีระบบความรับผิดหรือความพร้อมรับผิด อันนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้วแต่เกี่ยวกับการ reform ศาลทั้งระบบและ reform กฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับความผิดฐานบิดเบือนการตีความกฎหมายที่ต้องให้เป็นความผิดอาญา ว่า ถ้าได้ความประจักษ์ว่าตุลาการตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้เป็นคดีทางการเมืองก็ตาม ถ้าเห็นประจักษ์ชัด มีพยานหลักฐาน ตุลาการเข้าไปพบคนนั้นคนนี้ พบแล้วผลการตัดสินออกมาเป็นแบบนี้ หรือบางกรณีที่แอบถ่ายคลิปกันแล้วเงียบไปแล้ว กรณีเหล่านี้ต้องมีความพร้อมรับผิด มันจะเป็นไปได้ยังไง คลิปถ่ายออกมาเรื่องราวใหญ่โตแล้วเงียบไป อย่างนี้ไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น

สุดท้ายคือ กฎหมายวิธีพิจารณา สภาต้องเป็นคนออก ทั้งการริเริ่มออกและการบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายเอง เพราะกฎหมายวิธีพิจารณาคือตัวกฎหมายที่คุมการทำงานของศาล แน่นอน ฝ่ายศาลเองต้องมีส่วนร่วมในการมีคน บุคลากรเข้ามาชี้แจงในสภาถึงความจำเป็นในเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่สภาต้องเป็นคนตัดสินใจสุดท้ายว่าวิธีพิจารณาของศาลต้องเขียนไว้ยังไง ศาลต้องทำยังไง เพราะตัววิธีพิจารณาคือตัวล็อคการทำงานของศาล ไม่อย่างนั้นจะไม่มีระบบคุม

นี่คือสิ่งที่เราต้องทำภายหลังจากที่เราก่อร่างสร้างรูปรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด รู้แต่ว่าต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

 

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากตอนนี้ ในทางกฎหมายแล้วมีอะไรที่จะเบรคศาลรัฐธรรมนูญได้บ้าง

ไม่มี ก็มีเรื่องการแจ้งความ ในหมู่ศาลเขาก็ตัดสินเอง ระบบที่รัฐธรรมนูญ 50 ออกแบบเอาไว้เป็นระบบซึ่งเน้นอำนาจตุลาการเยอะ บางคนอาจบอกไม่ได้เน้นเยอะเสียหน่อย  วรเจตน์พูดไปเองหรือเปล่า มีอคติหรือเปล่า คำว่าเน้น คือ หมายถึงเน้นความสำคัญของบรรดาผู้พิพากษาตุลาการ ทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงองค์กร ในเชิงบุคลากร เช่น มีการเขียนอายุเกษียณของผู้พิพากษาไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน เพราะเรื่องอายุเกษียณมันเป็นผลประโยชน์ของบุคลากร แล้วเราบอกว่าผู้พิพากษาตุลาการไม่มีผลประโยชน์ได้ยังไง นี่เถียงไม่ได้เลย

ระบบบุคลากร ไม่เฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ระบบคณะกรรมการตุลาการฝ่ายศาลยุติธรรม ศาลปกครอง เป็นระบบปิด เป็นระบบที่ศาลดูแลกันเองหมด องค์กรหรือคนภายนอกแทบจะไม่มีส่วนเลย ถึงมีก็น้อยมาก ซึ่งเป็นระบบที่ไม่น่าจะถูกต้อง ในแง่นี้ ถ้าดูจากตัวรัฐธรรมนูญ 50 มันเน้นอำนาจศาล ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเยอะมาก อำนาจตัวเองก็มีเยอะอยู่แล้วแล้วยังตีความออกไปอีก แล้วดันไปให้อาญาสิทธิ์ให้คำวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด ผูกพันองค์กรทุกองค์กรอีก คือ ใหญ่มากกว่าใครทั้งหมดได้เลย ถ้าไม่ระมัดระวัง วินิจฉัยอะไรมาก็กลายเป็น ให้นิ้วเพชรกับนนทก ไปชี้แล้วตายหมดเลย จริงๆ แล้วไม่ถูก

โดยโครงสร้างแทบจะเรียกว่ารัฐธรรมนูญ 50 ให้อำนาจศาลเยอะ แต่ความจริงถ้าไปยันเชิงระบบจริงๆ ศาลก็ไม่มีอำนาจทำแบบนี้หรอก อย่างมาตรา 68 ถ้าตีความตามหลักจริงๆ ศาลก็รับคดีแบบนี้ไม่ได้ ฉะนั้นจะว่า มันเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันทั้งรัฐธรรมนูญและการตีความ แต่โดยรัฐธรรมนูญเองในบริบทหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 บุคลากรที่มาอยู่ในตัวรัฐธรรมนูญที่เลือกๆ กันมา ทัศนคติของบุคลากรเหล่านั้นมันเสริมทำให้อำนาจของศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมีมาก จนทำให้โดยผลของการตีความมาตรา 291 เมื่อปีที่แล้ว เขาสถาปนาตัวเองขึ้นไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญไปแล้ว

 

"ตอนรับเรื่องมาตรา 291 ไว้ ก็บอกให้แก้รายมาตราได้ แต่ว่ามาถึงคราวนี้ไม่ยอมแล้ว

เพราะมาตรา 68 มันแปรสภาพมาเป็นศูนย์กลางของเรื่อง เป็นหัวใจ กล่องดวงในของเรื่อง

ถ้าสูญเสียมาตรา 68 ไปก็ถูก reform ได้"

 

"..การ reform เขาทำได้เพราะเขาเป็นเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เขาต้องมีความชอบธรรมในการ reform ได้

ตราบเท่าที่มันไม่ได้ไปกระทบกับหลักสิทธิเสรีภาพ หรือทำลายแก่นหลักของหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ "

 

สุดท้ายขอถามโดยสรุป 'สภา' ต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

สภาต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ นี่คือหัวใจ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ จะทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าสภาจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะ ต้องขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญก่อน ก็ไม่มีทางที่จะแก้แก้รัฐธรรมนูญไปในทิศทางของการปฏิรูประบบโครงสร้างของรัฐธรรมนูญได้ ฉะนั้น สภาจะทำยังไงก็ได้เพื่อจะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ แค่นี้ก็ยากแล้ว

ความจริงไม่ควรจะยากเลย เพราะรัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจสภาในการแก้อยู่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเองตอนตัดสินคดีเมื่อปีที่แล้วโดยหลักการทางกฎหมายก็ไม่ค่อยถูกต้อง ตอนรับเรื่องมาตรา 291 ไว้ แม้กระนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็บอกให้แก้รายมาตราได้ แต่ว่ามาถึงคราวนี้ดูเหมือนว่าจะศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ยอม ทั้งๆที่รัฐสภาก็ทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไว้ในคำวินิจฉัยก่อนนั้นนั่นแหละ  เพราะมาตรา 68 มันแปรสภาพมาเป็นศูนย์กลางของเรื่อง เป็นหัวใจ กล่องดวงในของเรื่อง ถ้าสูญเสียมาตรา 68 ไป ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจถูก reform ได้ ถึงขั้นอาจจะถูกยุบไปเลยก็ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจลืมไปว่า การ reform ศาลทั้งระบบนั้น รัฐสภาทำได้เพราะเขาเป็นเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาต้องมีความชอบธรรมในการ reform ได้ตราบเท่าที่มันไม่ได้ไปกระทบกับหลักสิทธิเสรีภาพ หรือทำลายแก่นหลักของหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นจะมีเลย มีแต่อ้างกันไปเอง

บ้านเรามันกลายเป็นว่าฝ่ายที่แพ้ เสียงข้างน้อยกว่าไม่ยอมเคารพผลของการวินิจฉัยของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ แล้วดันมาอ้างประชาธิปไตย นิติรัฐ แบบกำมะลอ ไม่อ้างตรงไปตรงมา มีคนบอกว่าประชาธิปไตยต้องดูเนื้อหา ดูที่การเลือกตั้งไม่ได้ ผมถามง่ายๆ ว่า แม้กระทั่งในทางรูปแบบคุณยังไม่เคารพ เขาเลือกตั้งกันมากี่ครั้งๆ คุณยังไม่เคารพ ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ยืนยันเจตจำนงซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านการเลือกตั้ง คุณยังไม่แยแสไยดี ยังอยากจะทำลายคณะรัฐมนตรีที่จะดีจะชั่วก็ผ่านการเลือกตั้งมาตามวิถีทางประชาธิปไตยอยู่นั่นแหละ ยังอยากทำลายพรรคการเมืองที่คุณเกลียดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และตั้งแต่ค่ำจรดเช้า แล้วคุณจะร้องหาเนื้อหาอะไร คุณอย่าพูดสวยๆ หรูๆ ในทางเนื้อหา ขนาดในทางรูปแบบคุณยังไม่มีความใจกว้างพอจะเคารพได้เลย คนที่อ้างเนื้อหาคือคนที่โดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้เคารพประชาธิปไตย ต้องเคารพในเชิงรูปแบบก่อนในเบื้องแรก แล้วค่อยๆปรับเนื้อหา ไม่ใช่เอาเนื้อหามาปฏิเสธรูปแบบ อย่างนั้นไปอ้างหลักการอันอื่นเสียดีกว่า ที่อ้างกันอยู่อ้างเพื่อขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญทั้งนั้น ผมเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยทั้งสิ้น แล้วยังมาอ้างประชาธิปไตยกันอยู่ได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ร้อง กสทช.ลงดาบไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์

Posted: 05 Jun 2013 10:50 AM PDT

 

6 มิ.ย. 56 กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองกว่า 30 คน จาก มูลนิธิเครือข่ายครอบครอบครัว เครือข่ายครอบครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้ายื่นหนังสือ กทสช.ให้ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ซีซัน 3  ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เหตุ "ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"  เข้ายื่นหนังสือต่อ  สุภิญญา กลางณรงค์  กสทช.ด้านกิจกรรมกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์   ขอให้จัดการรายการ ไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3      

สืบเนื่องรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนต์ซีซัน 3  ที่ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมแข่งขันที่ใช้ชื่อ "สิทธัตถะ เอมเมอรัล"  แสดงการร้องเพลงจีน  และช่วงแนะนำตัวได้แสดงประพฤติที่กรรมการทั้ง 3 ท่านเห็นว่าไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมไทย เช่น พูดลงท้ายไม่มีหางเสียง ไม่ทักทายสวัสดีและไม่ยกมือไหว้ เป็นต้น ทำให้กรรมการ 2 ท่าน กดปุ่มไม่ให้ผ่านทันทีพร้อมกับลุกออกจากที่นั่งและเดินออกจากที่ถ่ายทำรายการ  จากนั้นกรรมการทั้ง 2 ท่าน ได้ให้ความเห็นต่อกันและกันจากอีกห้องหนึ่งถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวฯ อธิบายเหตุผลในการเดินออกจากที่นั้นว่าไม่สนับสนุนผู้แสดงรายนี้ เนื่องจากไม่ให้ความเคารพและไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมอันดีของไทย อาจทำให้คนดูอาจเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ แต่ยังมีกรรมการที่เหลืออีกหนึ่งท่านนั่งอยู่และให้โอกาสผู้เข้าร่วมแข่งขันได้ทำการแสดงจนจบ

เมื่อการแสดงการร้องเพลงของผู้เข้าร่วมแข่งขันคนดังกล่าวเริ่มขึ้น ผู้ชมจำนวนมากในห้องส่งรวมถึงกรรมการแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการแสดงนั้น  ด้วยแสดงสัญลักษณ์ของความไม่พอใจและเป็นไปในเชิงขับไล่ มีการส่งเสียงโห่ร้อง  การยกนิ้วโป้งชี้ลงพื้น และการไขว้แขนเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการปฏิเสธ ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมแข่งขันไม่ได้มีการตอบสนองใดๆ ทางสีหน้าและพฤติกรรมในทางที่ไม่พอใจหรือเสียใจที่โดนขับไล่   ในท้ายที่สุดกรรมการคนสุดท้ายก็กดปุ่มสัญลักษณ์ไม่ให้ผ่านเข้ารอบซึ่งหมายความว่าผู้เข้าร่วมแข่งขันท่านนั้นตกรอบไป

อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า การออกอากาศของรายการขัดกับ หมวดที่ 2 จริยธรรมของการแพร่ภาพและการกระจายเสียง ข้อ 2.5.1.3 ข้อ 25.1.6 และข้อ 2.5.1.8 แห่ง ข้อบังคับสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ซึ่งอาศัยความตามข้อ 18(4) แห่งธรรมนูญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและกระจายเสียง (ประเทศไทย) 2554 เนื่องจากปัญหาที่พบคือ รายการไม่ระมัดระวังหรือรัดกุมเพียงพอในการนำเสนอเรื่องราว ภาพและเสียงเกี่ยวกับบุคคลผู้ที่อาจมีลักษณะของความเปราะบาง (vulnerable) หรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

"รายการนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมและผิดต่อข้อบังคับ ซึ่งออกอากาศทางฟรีทีวี ในช่วงพาร์มไทม์ เป็นช่วงเวลาที่มีผู้รับชมมาก  การแสดงรายการนี้เป็นเทปบันทึกรายการ   ผู้ผลิตสามารถควบคุมและดูแลการผลิตให้รัดกุมและเหมาะสมมากกว่านี้   สามารถตัดการนำเสนอได้ แต่ผู้ผลิตและสถานีได้แสดงความบกพร่องของการไม่รัดกุมและคำนึงตามข้อบังคับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ารายการจงใจนำเสนอและสร้างความคลางแคลงใจให้แก่ผู้ชมถึงสุขภาพจิตของผู้แสดงอันอาจจะกระทบต่อการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ใน ข้อ 11 (ค)(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556" อัญญาอร กล่าว

นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 4 ข้อ

"ข้อแรก ขอให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้แสดงที่ใช้ชื่อว่า "สิทธัตถะ เอมเมอรัล" เพื่อสร้างความกระจ่างกับสังคมอันจะนำไปสู่การพิจารณาเรื่องของความเหมาะสมในการนำเสนอตามจริยธรรมและจรรยาบรรณรวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ

ข้อสองหากพบว่าผู้แสดงคนดังกล่าวมีสุขภาพจิตที่เปราะบางหรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ดำเนินการต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓  และ บริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ตามโทษที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายอย่างสูงสุดและเคร่งครัดพร้อมกับให้ผู้ผลิตรายการตลอดจนสถานีแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยถอดรายการนี้ออกจากผังรายการเพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตรายการและการออกอากาศรายการที่รัดกุมโดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายทางสังคมตลอดจนการไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า

ข้อสามขอให้เชิญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงมาพิจารณาและดำเนินการใช้กลไกการกำกับดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ให้กรณีที่พิสูจน์แล้วว่าผิดจริงตามกฎข้อบังคับต่างๆ

และข้อสี่ เรียกร้องให้ กสทช. ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 ของ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551ที่ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสือมทรามทางจิตใจของประชาชน"

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้กล่าวถึงการเรียกร้องให้ กสทช.ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อผู้ประกอบการและรายการ ไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ตาม มาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจกรรมโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพราะการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ถือเป็นการสร้างผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นกัน

"การตีความว่าการละเมิดศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น  ต้องตีความรวมถึงการสร้างให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มคนพิการ  กลุ่มคนออทิสติก  คนอ้วน  ฯลฯ ให้เกิดการดูหมิ่น ดูถูก  กีดกันการแสดงออกในความสามารถ และไม่ยอมรับในการอยู่ร่วมกัน ของคนที่หลากหลายในสังคม เป็นการสร้างอคติต่อคนที่มีความแตกต่าง  ซึ่งเข้าข่ายการสร้างผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ"  น.ส.เข็มพรกล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  กล่าวหลังได้รับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุม กสท. เพื่อประชุมในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 นี้ เพื่อให้คณะกรรมการลงมติการตัดสินกรณีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 37

"เรื่องของมาตรา 37เป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าจะมีการตีความว่าเข้าข่ายการละเมิดศีลธรรมอันดีของสังคมหรือไม่ เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยตีความในมาตรานี้ ต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมของบอร์ด กสท.ก่อน ในกรณีเรื่องจริยธรรมด้านสื่อนั้น กสทช.ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมตรงนี้โดยตรงแต่จะส่งเรื่องนี้ให้สภาวิชาชีพดำเนินการพิจารณาว่าผิดจริยธรรมหรือไม่และจะมีกระบวนการดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะเป็นอำนาจสภาวิชาชีพในการกำกับดูแลตรวจสอบกันเอง และในกรณีนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการจัดเรตติ้งเพื่อปรับผังรายการให้เหมาะสม เพราะรายการนี้นำเสนออยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เด็กเยาวชนและครอบครัวดูมากที่สุด จึงต้องเป็นรายการที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์  เพื่อจัดระบบและคุณภาพเพื่อก้าวสู่ทีวีดิจิตอล" สุภิญญากล่าว

ส่วนในการเยียวยาเร่งด่วนจากเหตุการณ์นี้ เธอกล่าวว่า ทางกสทช.จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนจากช่อง 3 บริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเครือข่ายครอบครอบครัว เครือข่ายครอบครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เพื่อหาวิธีทางเยียวยาทางสังคมต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสุรินทร์จี้อธิบดีฯ เปิดเผยข้อมูลหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม

Posted: 05 Jun 2013 10:26 AM PDT

ชาวอำเภอชุมพลบุรี ยึดเอาวันสิ่งแวดล้อมโลก เดินขบวนปิดทางเข้าหลุมขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมกลางทุ่งกุลาร้องไห้ เรียกร้องอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดเผยข้อมูลการสำรวจ และปิดหลุมสำรวจให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

 

5 มิ.ย.56 เวลา 10.00 น.ที่บริเวณปากทางเข้าหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 15 ต.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ นายนิรันดร์ ศรีเมือง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชุมพลบุรี ได้ร่วมกับหน่วยงานและสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข อำเภอชุมพลบุรี ได้จัดกิจกรรม วันสิ่งแวดล้อมโลก เดินรณรงค์คัดค้านการการขุดเจาะสำรวจหลุมปิโตรเลียม ของบริษัทซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด ซึ่งร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม YPT2 ซึ่งเป็นหลุมแรกตามข้อผูกพันช่วงที่ 1 ปีที่ 3 ของแปลงสำรวจบนบก เลขที่ L31/50 ตามสัมปทานเลขที่ 6/2553/108 ที่ครอบคลุม จ.บุรีรัมย์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สุรินทร์ ซึ่งบริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด ได้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 และเปิดหลุมเจาะสำรวจ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา

นายนิรันดร์ ศรีเมือง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชุมพลบุรีระบุว่า การที่ชาวบ้านต้องออกมาประท้วง การเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมในวันสิ่งแวดล้อมโลก เพราะต้องการใช้ประชาชนชาวบ้านในเขตอำเภอชุมพลบุรีได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่จะได้รับจากการเจาะสำรวจปิโตรเลียม ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ซึ่งจะสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้ชาวบ้านโดยตรงทั้งเรื่องกลิ่น เรื่องเสียงดัง และผลกระทบหนักจะตกถึงชาวบ้านโดยตรง ทุกคนจึงต้องเข้าใจต่อปัญหานี้ คุณครู โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีอนามัย ต้องตื่นตัวในด้านสุขภาพของประชาชน นักเรียน รวมถึงผลกระทบใหญ่เรื่องนาข้าวหอมมะลิ ขณะนี้กำลังหว่านปลูกข้าวหอมมะลิ

นอกจากนี้เขายังเรียกร้องไปยังอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้เปิดเผยความจริงต่อชาวบ้านว่าการเจาะสำรวจปิโตรเลียมนั้นพบหรือไม่ เพราะตามแนวทางการศึกษาจะใช้เวลา 90 วัน หรือ 3 เดือนจะทราบผลการเจาะสำรวจ แต่ขณะนี้ยังมีการดำเนินงานต่อไป โดยไม่หยุดสำรวจ เหตุใดจึงไม่แจ้งชาวบ้านให้ทราบผลว่าพบหรือไม่ จึงขอเรียกร้องว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านขอทราบข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และหากไม่พบก็จะต้องทำการปิดหลุมเจาะสำรวจตามหลักวิชาการและให้ชาวบ้านเข้าไปตรวจสอบได้ หากไม่ทำตามนี้ เราจะยึดเอาวันนี้เป็นวันต้านหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม และจะปิดเส้นทางเข้า-ออก หลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียมจนกว่าจะทราบข้อเท็จจริงต่อไป

ทั้งนี้ ในพื้นที่บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 15 ต.ชุมพลบุรี แปลงสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมเป็นที่นา พื้นที่กว่า 10 ไร่ อยู่ในเขต เทศบาลชุมพลบุรี เทศบาลทุ่งศรีชุมพล และ ต.ศรีณรงค์ นอกจากนั้นยังมีการ เจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม 2 หลุมใน จ.บุรีรัมย์ ที่หมู่ที่ 8 บ้านหนองไทร ต.หนองขมาร อ.เมือง และหมู่ที่ 4 บ้านหนองสรวง ต.สระบัวอ.แคนดง โดยการเจาะสำรวจทั้ง 3 หลุมเป็นการดำเนินการเพื่อประเมินศักยภาพของปิโตรเลียม ซึ่งหากพบปิโตรเลียม บริษัทจะพิจารณาความคุ้มทุนจากการประเมินปริมาณสำรอง และดำเนินการในขั้นตอนการขอพื้นที่พัฒนาและผลิตปิโตรเลียม เพื่อเสนอให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาอนุมัติ แต่หากไม่พบหรือไม่คุ้มทุน บริษัทจะปิดหลุม และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเดิม คาดว่าจะใช้เวลาเจาะสำรวจ 90 วัน หรือ 3 เดือน

บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 22-27 ธันวาคม 2554 และครั้งที่ 2 วันที่ 10-11 พฤษภาคม 2555 พร้อมทั้งจัดทำอีไอเอ ซึ่งทำการศึกษาในรัศมี 5 กิโลเมตรต่อหลุม โดยหลุมหมู่ 15 บ้านโคกกลาง ต.ชุมพลบุรี ศึกษาผลกระทบครอบคลุมเขตเทศบาลชุมพลบุรี เทศบาลทุ่งศรีชุมพล และต.ศรีณรงค์ อ.ชุมพลบุรี

การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ศึกษารวม 4 ด้าน คือ ด้านทรัพยากรทางภายภาพ ทรัพยากรทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งได้ดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ศึกษารัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่ฐานเจาะ ทั้งการประชุมรับฟังความคิดเห็นระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน และระดับครัวเรือน

      

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: มาตรฐานความดีที่แตกต่าง

Posted: 05 Jun 2013 09:37 AM PDT

ประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะมีความพยายามทำมาหลายสิบปีแล้ว และคงมีมือที่มองไม่เห็นกีดขวาง จะสังเกตได้ว่ากฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประชาชนโดยรวมเกิดได้ยากมาก บทความนี้ยังจะชี้ให้เห็นถึงความผิดชอบชั่วดีในมาตรฐานที่แตกต่างกันในสังคมอารยะและสังคมอุปถัมภ์แบบไทย ๆ  เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ต่อเรื่องภาษีนี้ จึงขออนุญาตยกตัวอย่างที่เห็นอยู่ทั่วไปเช่น ที่ดินว่างเปล่าแปลงหนึ่งอยู่ปากซอยนนทรี 5 ขนาดประมาณ 5.5 ไร่ หรือ 2,200 ตารางวา ประเมินตามราคาตลาดเป็นเงิน ณ ตารางวาละ 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 220 ล้านบาท ที่ดินว่างเปล่าเช่นนี้มีทั่วไปในใจกลางกรุงเทพมหานคร

เจ้าของที่ดินท่านเมตตาให้สำนักงานเขตยานนาวาเช่าใช้เป็นสนามกีฬาของเขต โดยคาดว่าให้เช่าในราคากึ่งให้ใช้เปล่า ข้อนี้ต้องยกความดีให้กับเจ้าของที่ดินที่มีใจกว้างและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง สำนักงานเขตก็ปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเป็นสนามบาสเก็ตบอล สนามมวย สนามตะกร้อ และสนามฟุตบอล ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และมีผู้ไปใช้สอยพอสมควร

แต่หากมีการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่าง เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินแปลงนี้ในฐานที่เป็นที่ดินว่างเปล่า ณ อัตรา 0.5% ต่อปี หรือเป็นเงิน 1.1 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่าแทนที่เจ้าของที่ดินจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณตามค่านิยมความดีในสังคมปัจจุบัน กลับยังต้องเสียภาษีอีกนับล้านบาท การหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีอาจทำให้ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลอดเพื่อนำเงินมาชำระภาษีได้

เหตุผลที่เป็นสามัญสำนึกและเป็นอารยสากลที่ว่าทำไมเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีก็คือ การทำหน้าที่พลเมืองดีของชาติ เพราะขนาดสามัญชนที่มี 'ล้อเลื่อน' เช่น จักรยานยนต์ หรือมีเงินฝากในธนาคารก็ต้องเสียภาษี ดังนั้นคหบดีและชนชั้นนำของประเทศที่มีที่ดินผืนใหญ่ ๆ งาม ๆ ใจกลางเมืองเป็นทรัพย์จึงต้องเสียภาษีในฐานะคนไทยเช่นกัน ว่าไปแล้วการหลีกเลี่ยงภาษีถือเป็นอาชญากรรม (ทางเศรษฐกิจ) อย่างหนึ่งในอารยประเทศ

ยิ่งที่ดินนั้นได้รับประโยชน์จากสาธารณูปโภค ทำให้ทรัพย์ทวีค่า เจ้าของยิ่งต้องเสียภาษี แม้เราจะใช้สอยหรืออยู่อาศัยในทรัพย์นั้นหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ หากเรามีห้องชุดราคาแสนถูกสักหน่วยหนึ่ง กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า เจ้าของทรัพย์มีหน้าที่ต้องเสียค่าส่วนกลาง ถ้าไม่เสีย ก็ต้องหักจากเงินที่ขายทรัพย์นั้นได้ในภายหลัง และห้ามการขายทรัพย์นั้นหากยังไม่มีการชำระค่าส่วนกลาง

การที่ประเทศไทยไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเอาใจผู้มากทรัพย์นั้น จึงเกิดปรากฏการณ์หนึ่งเมื่อ พ.ศ.2553 ที่พบต้นจามจุรี (ฉามฉาหรือก้ามปู) อายุนับร้อยปีใจกลางเมืองติดถนนสุขุมวิท ตรงข้ามห้างเอ็มโพเรียม ตอนที่จะพัฒนาเป็นศูนย์การค้า มีนักอนุรักษ์ธรรมชาติออกมาเรียกร้องให้คงต้นไม้เหล่านั้นไว้ แต่ในที่สุดก็ถูกโค่นไป ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษี จึงเก็บที่ดินไว้ให้ลูกหลานเมื่อถึงเวลาอันควรนั่นเอง

ถ้าเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีก็คงไม่นิ่งนอนใจ ต้องขวนขวายหาทางพัฒนาหรือขายไป แต่ทุกวันนี้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ จะ "หยิ่ง" ไม่ยอมขายที่ถ้าไม่ล้มละลายหรือจำเป็นจริง ๆ ในแง่หนึ่งก็ดูคล้ายเป็นคนดีรักแผ่นดิน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด เพราะราชการพัฒนาสาธารณูปโภคมาให้ถึงที่ กลับไม่อินังขังขอบ การใช้ที่ดินเมืองจึงไร้ประสิทธิภาพ เมื่อมีความต้องการซื้อบ้าน ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินจะสร้างโครงการบ้านก็ไม่สามารถหาที่ดินใกล้ๆ เมืองได้ เพราะถูกจับจองเก็งกำไรไว้หมด ก็จึงต้องไปซื้อนอกเมือง เมืองก็ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขตไปรอบนอก สาธารณูปโภคก็ต้องขยายตัวตามไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นภาระของส่วนรวมเสียอีก

อันที่จริงทุกฝ่ายพึงทำความเข้าใจว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสิ่งวิเศษ เป็นสิ่งที่ดีแท้แก่ทุกฝ่าย ยิ่งเราเสียภาษีนี้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีงบประมาณมาพัฒนาท้องถิ่นได้มากขึ้นเท่านั้น การก่อสร้างถนนหนทาง การบำรุงและพัฒนาสถานศึกษา การจัดพื้นที่สีเขียว ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้น เมื่อท้องถิ่นเจริญ ที่ดินและอาคารของเราก็ยิ่งเพิ่มพูนมูลค่ามากกว่าภาษีที่เราเสียไปเสียอีก นี่จึงเป็นภาษีที่ "ยิ่งจ่าย ยิ่งได้"

บางคนพยายามจะบิดเบือนว่ายิ่งเราเสียภาษีไป ภาษีของเราก็จะยิ่งถูกนักการเมืองท้องถิ่นโกงไป แต่ในความจริงก็คือ ทุกวันนี้รายได้ของท้องถิ่นเฉลี่ยถึง 90% มาจากส่วนกลางจัดเก็บภาษีทางอ้อมแล้วจัดส่งมาให้ ดังนั้นทั้งนักการเมืองและประชาชนจึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงิน จึงเกิดอาการ "วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง" แต่ถ้าภาษีเก็บจากในท้องถิ่นเอง ชาวบ้านก็จะรู้สึกหวงแหนไม่ยอมให้ใครโกง

ในช่วงแรกของการมีเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ยังอาจมีการโกง แต่ต่อไปประชาชนในท้องถิ่นจะเรียนรู้และร่วมกันตรวจสอบมากขึ้น ความโปร่งใสก็จะเกิด ประชาธิปไตยจากขั้นรากฐานที่ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่การจ่ายภาษีและการตรวจสอบก็จะเกิดขึ้นอย่างมั่นคง แต่เรื่องประชาธิปไตยนี้ ชนชั้นนำไม่ต้องการให้เกิดเป็นจริง จึงไม่อยากให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อจะยังได้สร้างระบบอุปถัมภ์จากการทุจริตโกงกินเงินที่ส่งมาจากส่วนกลาง เข้าทำนองแบ่ง ๆ กันโกงกินแบบ "บุฟเฟ่ต์" นั่นเอง

มาร่วมกันส่งเสริมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อพัฒนาชาติไทยอันเป็นที่รักของเราเถิด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไม “ประชาธิป’ไทย” (Paradoxocracy) ไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ

Posted: 05 Jun 2013 08:53 AM PDT

 
เป็นที่ฮือฮาในโซเชียลมีเดียกันพอสมควร สำหรับภาพยนตร์สารคดี "ประชาธิปไทย" (Paradoxocracy) ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงทุกวันนี้ ผ่านภาพเหตุการณ์สำคัญๆ ของความขัดแย้งทางการเมือง และผ่านมุมมองของนักคิด นักวิชาการจำนวนมาก เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ธงชัย วินิจจะกูล, ไชยันต์ ไชยพร, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ สมบัติ บุญงามอนงค์(บก.ลายจุด) เป็นต้น

แต่ที่น่าแปลกใจ หรือน่าประหลาดใจมากคือ เมื่อผู้ทำหนังสารคดีเรื่องดังกล่าว คือ "เป็นเอก รัตนเรือง" กับ "ภาสกร ประมูลวงศ์" ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ (5 มิถุนายน 2556 http://www.youtube.com/watch?v=NUe1M4XIK1g&feature=player_embedded#t=41s) ว่า "ก่อนถ่ายหนังเรา research มาปีกว่า" แต่พอถึงประเด็นคำถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คำตอบกลับเป็นว่า "...ส่วนตัวผมก็ไม่รู้จักแกเลยเพิ่งมารู้จักตอนออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น..." ขอคัดคำถาม-ตอบเกี่ยวกับ "ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ" จากมติชนออนไลน์มาให้อ่านดังนี้

@ทำไมไม่มีสัมภาษณ์ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"
 
เป็นเอก : ไม่มี ไม่ได้ติดต่อเขา คือก็มีเพื่อนบอกผมว่าต้องไปหาคนนี้ แต่พอถึงเวลาก็จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้มีเขาอยู่
 
@ ทำไมไม่มี "สมศักดิ์ เจียมฯ" ทั้งที่ เขาเป็นผู้นำทางความคิดทางการเมืองขั้วหนึ่งเลย
 
เป็นเอก : มันมีคนเต็มไปหมดเลย ที่เป็นผู้นำทางความคิด ทางการเมือง ไม่ได้มีเขาคนเดียว
 
ภาสกร : ถ้าถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ ก็จะมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีคนโน้นคนนี้
 
เป็นเอก : ใช่ คือถ้ามีสมศักดิ์ เจียมฯ เดี๋ยวก็จะตามมาด้วยคำถามอีกว่า ควรจะมีป๋าเปรมหรือเปล่า ควรมีคนโน้นคนนี้ หรือควรจะมีทักษิณ ซึ่งเราก็ติดต่อทักษิณนะ ไม่ใช่ไม่ติดต่อ แต่ว่าเขาไม่ว่าง ถ้าก่อนหน้านั้นหน่อยเขาคงว่าง ช่วงที่เราจะไปเขาไม่ว่าง
 
@สมศักดิ์ เจียม อาจจะเป็นภาพตัวแทนความคิดคนอีกจำนวนมาก
 
เป็นเอก : อันนี้เป็นความเห็นของบางคน แต่สำหรับหลายๆ คน เขาก็เป็นตัวแทนของความกวนตีนนะ อันนี้ผมพูดตามที่ได้ยินมา แล้วส่วนตัวผมก็ไม่รู้จักแกเลยเพิ่งมารู้จักตอนออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น พอผมไปดูก็พบว่า หลายอย่างที่แกพูด ผมเห็นด้วยมาก เป็นหลักการที่ถูกต้อง ปัญหาอย่างหนึ่งคือ แกมีท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น น่าเสียดายที่ทำให้คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก ไม่ได้ฟังสิ่งที่แกพูด
 
(นิ่ง) หนังเรื่องนี้ ตั้งใจให้การศึกษา ไม่ได้ต้องการจะทำตัวให้ดูดตีน หรือประกาศตัวว่า ฉันมีความคิดแบบนี้ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี "สติ" มาก ไม่ต้องการจะเล่นกับความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในประเทศนี้ แต่ต้องการให้ความรู้แบบง่ายๆ ดังนั้น คนที่เป็นฮาร์ดคอร์เหลืองหรือแดง จะไม่ได้รสแซ่บกลับไป หรือไม่ได้รสชาติถูกปากคุณ แต่หนังเรื่องนี้ สำหรับคนที่กำลังอยู่กลางศูนย์กลางของความงงงวย คล้ายๆ ผมกำลังงงว่าเหตุการณ์ในประเทศนี้เกิดอะไรขึ้นวะ
 
อ่านสัมภาษณ์นี้แล้ว ผมมีข้อคิดเห็นดังนี้
 
1.ไม่ทราบว่าเหตุผลที่ไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ คืออะไรกันแน่? ที่ภาสกรว่า "ถ้าถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ ก็จะมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีคนโน้นคนนี้ แล้วเป็นเอกก็ตอบว่า "ใช่ คือถ้ามีสมศักดิ์ เจียมฯ เดี๋ยวก็จะตามมาด้วยคำถามอีกว่า ควรจะมีป๋าเปรมหรือเปล่า ควรมีคนโน้นคนนี้ หรือควรจะมีทักษิณ..."
 
แต่จริงๆ ประเด็นคำถามอยู่ที่ว่า ในเมื่อหนังเรื่องนี้มีนักคิด นักวิชาการที่เป็นตัวแทน (หรือต่อสู้) ทางความคิดอยู่หลายคน ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ แต่คนตอบกลับอ้างถึงป๋าเปรม ทักษิณ ที่อยู่นอกวงการนักคิด นักวิชาการ
 
2.ไม่น่าเชื่อว่า "ทำ research มาปีกว่า" ก่อนลงมือทำหนัง แต่กลับไม่รู้จักสมศักดิ์ เจียมฯว่าเขาเสนอ "ประเด็นสำคัญ" อะไรที่เป็น "ปัญหาแกนกลางของความเป็นประชาธิปไตย" เพิ่งมารู้จักตอน "ไปออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา" จากนั้นก็วิจารณ์ว่า "ท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น น่าเสียดายที่ทำให้คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก ไม่ได้ฟังสิ่งที่แกพูด"
 
ทำให้สงสัยว่า "คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก" นั้น ผู้ทำหนังไป "สำรวจ" มาจากคนกลุ่มไหน ใช้วิธีสำรวจอย่างไรจึงได้ข้อสรุปนี้มา หรือเป็นแค่ "ความรู้สึก" ของผู้ทำหนังเอง หรือแค่ "อนุมาน (คาดคะเน/เดา)" จากที่ฟังต่อๆ กันมาจากคนในกลุ่มสีหนึ่งเท่านั้น (ทว่ากลับบอกว่าหนังเรื่องนี้ "ไม่มีสี" อยากให้คน "ถอดเสื้อดูหนัง")
 
3.ประเด็นสำคัญคือ ถ้าผู้ทำหนังประกาศว่า "หนังเรื่องนี้ ตั้งใจให้การศึกษา ไม่ได้ต้องการจะทำตัวให้ดูดตีน หรือประกาศตัวว่า ฉันมีความคิดแบบนี้ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี "สติ" มาก ไม่ต้องการจะเล่นกับความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในประเทศนี้..."
 
คำถามก็คือว่า ผู้ที่ประกาศตนว่า "ตั้งใจให้การศึกษา" โดยเฉพาะเป็นการศึกษาในเรื่อง "ประชาธิปไตย" แก่ประชาชนนั้น เหคุใดจึงไม่สามารถก้าวข้ามประเด็น "ท่าที" ไปสู่ประเด็นเรื่อง "หลักการ" ให้ได้
 
ก็ในเมื่อผู้ทำหนังบอกเองว่า "...หลายอย่างที่แกพูด ผมเห็นด้วยมาก เป็นหลักการที่ถูกต้อง..." แล้วไง ต่อให้สมศักดิ์จะมี "ท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น" จริงๆ มันจะมีปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ทำหนังจะสัมภาษณ์ หรือตั้งประเด็นถามอย่างไรเพื่อให้ได้ความคิดเห็นหรือคำอธิบาย "เชิงหลักการ" มิใช่หรือ
 
โดยเฉพาะที่ว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี "สติ" มากนั้น วัดอย่างไร ถ้าไม่วัดจากการที่ผู้ทำหนังมี "สติ" ก่อนตั้งแต่เริ่มแรกที่จะเผชิญกับ "การอภิปรายปัญหาเชิงหลักการ" ของ "ประเด็นสถาบันกษัตริย์" ซึ่งเป็นประเด็นที่สมศักดิ์พูดและเรียกร้องให้นักวิชาการ ปัญญาชนอภิปรายประเด็นนี้มากว่าสิบปีหรือยี่สิบปีแล้ว
 
ซึ่งการอภิปรายเชิงหลักการเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยตามที่สมศักดิ์ทำและเรียกร้องมาตลอด ก็ไม่ใช่เรื่อง "เล่นกับความเป็นฝักฝ่าย" หรือทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ "ดูดตีน" ไปได้แต่อย่างใด กลับจะเป็นการก้าวข้ามความเป็นฝักฝ่ายไปช่วยกันคิดในประเด็นหลักการ ซึ่งตรงตามความหมายของการ "ให้การศึกษา" เรื่อง "ประชาธิปไตย" ได้ตรงจุดหรือตรงหัวใจสำคัญมากกว่า
 
4.ตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ เป็นเอกบอกว่า "หนังเรื่องนี้ ก็คงถูกแต่ละฝ่าย เอาไปตีความให้เข้าข้างฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน ผมว่าดูเรื่องนี้ มันไม่สับสน เพราะตั้งใจจะให้การศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้ว ควรจะฉายในห้องเรียนมากกว่าฉายในโรงหนัง เพราะ ปมด้อยของเราอย่างหนึ่งในฐานะคนที่เกิดมาเติบโตในประเทศไทย คือว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียนที่เราเรียนมา มันบอกไม่หมด มันมีแต่ความดีความดี แล้วหนังเรื่องนี้ ก็แค่เปิดให้เห็นกว้างขึ้น จากหนังสือเรียนที่เคยเรียนกันมา"
 
น่าเสียดายที่แม้ผู้ทำหนังจะคิดอย่างที่ว่านี้ได้ และต้องการ "ให้การศึกษา" (ดูเหมือนจะ "ย้ำ" คำนี้บ่อยมาก) เกี่ยวกับ "ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย" เห็นว่าหนังสือเรียนบอกไม่หมด บอกแต่ "ความดี ความดี" แต่กลับไม่ได้ไปสัมภาษณ์คนที่เขียนหนังสือ "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" ที่พยายามจะบอกความจริงทุกด้านให้หมด และพยายามจะตั้งคำถามกับสิ่งที่ปลูกฝังกันมาว่า "ความดี ความดี" นั้น พิสูจน์กันได้อย่างไร หากจะพิสูจน์ควรจะมีหลักการ กติกากันอย่างไร และทำไมประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจต้องมีสิทธิที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า "ความดี ความดี" นั้น เป็นต้น
 
กลายเป็นว่า การที่คนทำหนัง "Paradoxocracy" ไม่รู้จักสมศักดิ์ เจียมฯ และประกาศทำหนังเพื่อต้องการให้การศึกษาประชาธิปไตยแก่ประชาชน แต่กลับไม่สามารถแม้แต่จะก้าวข้าม "ท่าที" ของสมศักดิ์ ไปสู่การอภิปรายเชิง "หลักการ" ของเขา อันเป็นหัวใจสำคัญของการทำความเข้าใจ "ปัญหาแกนกลาง" ของประชาธิปไตยไทย จึงทำให้แม้แต่ในกระบวนการทำหนัง "Paradoxocracy" นี้ ก็ยังมีความเป็น "Paradox ในตัวมันเองเองอย่างที่ไม่น่าจะเป็น!
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักการศึกษาอุบลฯ-ผู้ปกครอง ค้านยุบรวมโรงเรียน หวั่นกระทบเด็ก-ชุมชน

Posted: 05 Jun 2013 08:46 AM PDT


                

5 มิ.ย.56 ที่ศูนย์อาหาร Citymall โรงแรมสุนีย์ แกรนด์แอนคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี  โดยโครงการสะพานจากการสนับสนุนของ USAID เชิญนักการศึกษาทั้งเอกชนและรัฐถกนโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กได้หรือเสีย โดยมีผู้ปกครอง อดีตผู้บริหารสถานศึกษา ประชาชนทั่วไปสนใจร่วมรับฟัง

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการได้สอบถาม ดร.อภิสิทธิ์ บุญยา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ถึงความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาต้องยุบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อย โดยมีเหตุผลสำคัญจากอะไร ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนในจังหวัดอุบลราชธานี แต่มีครูถึง 4-5 คน มีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความจำเป็นต้องยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่น เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียน และลดภาระด้านงบประมาณรายจ่ายประจำที่เป็นเงินเดือนของครู ซึ่งปัจจุบันครูแต่ละคนมีเงินเดือนเฉลี่ย 2-3 หมื่นบาท เมื่อมีการยุบรวม ทำให้ครูทำงานให้กับรัฐได้คุ้มค่ากับเงินเดือน สำหรับเด็กนักเรียนที่ถูกยุบรวมและอาจต้องเดินทางไกลจากถิ่นที่อยู่ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจัดรถตู้มาช่วยรับ-ส่งให้กับนักเรียนเหล่านั้นให้เดินทางได้สะดวกด้วย

สำหรับคำถามเกี่ยวกับมูลค่าการสั่งซื้อรถตู้ที่มีราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด ดร.อภิสิทธิ์บอกว่า เป็นการตั้งงบในราคากลาง เมื่อมีการจัดซื้อจริงราคาจะต่ำกว่านั้น แต่เรื่องการจัดซื้อรถตู้เป็นเรื่องของกระทรวงไม่เกี่ยวกับสถานการศึกษาแต่ละแห่ง

นักการศึกษารายนี้บอกอีกว่า การจะยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนของจังหวัดอุบลราชธานี คำตอบสำคัญขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของชุมชนด้วย โรงเรียนบางแห่งที่มีนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ 60 คน แต่มีระบบการจัดการเรียนการสอนดีกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนมาก โรงเรียนแบบนี้จะไปยุบก็ไม่ได้ เพราะชุมชนไม่ยอมแน่นอน

ขณะที่นายเสมอ หาริวร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าลัง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนชายขอบติดแม่น้ำโขงกล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนของตนมีนักเรียนเพียง 39 คน ครู 3 คน แต่โรงเรียนแห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน
มีระบบจัดการเรียนการสอนเน้นให้นักเรียนนำไปใช้ดำรงชีวิตประจำวันได้จริง ไม่เน้นการสอนใช้ทำคะแนนแข่งขันระบบโอเน็ตเอเน็ต

หากมีการเอามาตรฐานการสอบโอเน็ตเข้ามาเป็นตัวชี้วัด นักเรียนสอบไม่ผ่านแน่นอน แต่นักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนนี้ไปแล้วสามารถเอาความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตของตนเองได้เพราะโรงเรียนสอนให้เอาความรู้ไปใช้สร้างความสุข และเอาความสุขของชุมชนมาเป็นตัวชี้วัด มีการจัดระบบการเรียนการสอนโดยเอาปราชญ์ของหมู่บ้านมาแนะนำ

"แต่หากมองความเจริญคือ เป็นบ้านหลังใหญ่ แต่ต้องสร้างรั้วขังตัวเองเอาไว้ แต่หมู่บ้านนี้ มีบ้านหลังเล็ก
แต่ทุกคนในหมู่บ้านเดินไปมาหาสู่กันได้ สิ่งของไม่เคยหาย จึงเป็นความเจริญแบบมีความสุข จึงมีการจัดระบบการสอนเพื่อตอบสนองชุมชน ไม่ได้จัดการสอนเพื่อตอบสนองการสอบเอาคะแนนอย่างเดียว"

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าลังยังกล่าวแนะนำให้นักการศึกษาที่คิดยุบโรงเรียนขนาดเล็กลองเข้าไปศึกษาเรียนรู้ที่ชุมชนจะทราบความจริงคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เอาขนาดของโรงเรียนหรือจำนวนเด็กมาวัดแต่คุณภาพการศึกษาคือ ต้องสอนเด็กให้มีความรู้อย่างมีความสุข นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้

ขณะที่ ผศ.ดร.อารี หลวงนา รองอธิการบดีฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกัมพูชาก็มีครูและนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งน้อยเช่นกัน แต่สามารถจัดระบบการเรียนการสอนได้ และในประเทศยุโรปที่มีการศึกษาตามอัธยาศัยที่ให้ผู้ปกครองที่มีความรู้เป็นผู้สอนลูกหลานหรือโฮมสคูล ก็ทำได้ดี โรงเรียนในต่างประเทศถือว่า การมีนักเรียนจำนวนน้อยเป็นเรื่องดีและท้าทายความสามารถของครูผู้สอน และรัฐยิ่งสนับสนุนระบบไอทีให้มาก เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงได้มาก พร้อมติงว่าแนวความคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการขณะนี้ ถือเป็นการทำร้ายพ่อแม่และตัวเอง เพราะก่อนจะได้เรียนในโรงเรียนใหญ่ ต้องผ่านโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้มาก่อน การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเท่ากับไม่สามารถรักษามรดกทรัพย์สินที่พ่อแม่ให้ไว้ได้

เขายังแนะทางออกของการศึกษาที่โรงเรียนมีเด็กนักเรียนจำนวนน้อยคือต้องจัดระบบการบริหารจัดการ เพราะถ้าเทียบระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ก็ถือว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่ได้มาถึงวันนี้ เพราะมีระบบการบริหารที่ดี
ครูที่ดีต้องเป็นครูที่มีความคิดสร้างสรรค์

ขณะที่นายคิด แก้วคำชาติ นักการศึกษาจากเครือข่ายการศึกษาทางเลือกของจังหวัดระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการเกาไม่ถูกที่คัน ที่คิดยุบโรงเรียนตามชุมชน เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมีรากเหง้าเกิดจากชุมชนก่อนต่อยอดไปสู่ด้านนอก
การยุบโรงเรียนชุมชนเท่ากับผลักดันให้เด็กออกห่างจากชุมชน ส่วนการแก้ระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ต้องไปแก้ที่ตัวกระทรวงศึกษาธิการ แก้หลักสูตร และแก้บุคลากรให้ครูเป็นครูของจริง ไม่ใช่นักขายสินค้าในคราบครู แล้วโทษว่าเด็กโง่ ที่อ่านเขียนหนังสือไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับความจริงข้อนี้ก่อน

การที่โรงเรียนมีนักเรียนจำนวนน้อย ยิ่งถือเป็นเรื่องดีที่นักเรียนได้ใกล้ชิดเข้าถึงตัวผู้สอนได้ง่าย หากคนที่สอนเป็นครูของจริง นักเรียนยิ่งได้ประโยชน์ ส่วนที่มองว่าต้องสูญเสียงบประมาณด้านเงินเดือนครูอยู่ที่ไหนก็สอนได้ โรงเรียนไหนมีครูมากเกินไป ก็เกลี่ยไปให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครูเท่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาครูมากกว่านักเรียนได้

นายคิดเสนอว่าไม่ต้องเอาเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือรถตู้มาหลอกเด็ก เพราะการใช้รถตู้ขนส่งนักเรียน
ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณกว่าการจ้างครูมาสอนเสียอีก อดีตกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายคืนครูสู่ท้องถิ่น
เมื่อคนในหมู่บ้านเรียนจบก็บรรจุเข้าเป็นครูให้สอนอยู่ในชุมชน นอกจากครูจะเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชนที่ตัวเองเติบโตขึ้นมาแล้ว ยังช่วยประหยัดทั้งเรื่องค่าที่พัก ค่าเดินทางมาสอน

นักการศึกษาทางเลือกรายนี้ ยังชี้ต่อว่า ปัจจุบันการจัดระบบการศึกษาของไทยตอบสนองระบบทุนการศึกษามากกว่าตอบสนองชุมชน นักเรียนปัจจุบันจึงเป็นนักเรียนประเภท "ท่องจำ แต่ทำไม่เป็น" เพราะมองแต่ตัวเลขที่ใช้เป็นเกณฑ์มาวัด และการยุบโรงเรียนขนาดเล็กตามชุมชนยังเป็นการทำลายเสาหลักทางวัฒนธรรมของชุมชนที่ต้องมีบ้าน วัด และโรงเรียน ที่ต้องอยู่ด้วยกันด้วย

ด้านผู้ฟังที่เป็นผู้ปกครองและอดีตผู้บริหารการศึกษาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการศึกษาโดยลดภาษีให้กับโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก เหมือนการลดภาษีรถหรือบ้านหลังแรก เพราะการศึกษามีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ขณะนี้กระทรวงศึกษามองถึงการลงทุนทางการศึกษาว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มหรือไม่คุ้มทุนซึ่งเป็นการมองที่ผิดพลาดอย่างมากโรงเรียนในชนบทขนาดเล็กบางแห่งใน อ.นาตาล นักเรียนสามารถสอบทำคะแนนโอเน็ตได้เป็นที่หนึ่งของเขตการศึกษา จึงไม่ควรหว่านแหมองโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนขาดคุณภาพ ทั้งที่ความจริงโรงเรียนขนาดใหญ่คือ ธุรกิจการศึกษาที่ให้กับผลกำไรกับผู้บริหารการศึกษา แต่สร้างความทุกข์ให้กับผู้ปกครอง ปัญหาเด็กนักเรียนน้อยไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของครูแต่ปัญหาอยู่ที่เด็กเกิดมาน้อย ครูก็ต้องปรับวิธีบริหารการจัดการ ไม่ใช่มีเด็กน้อยก็ไม่อยากสอน แล้วแก้ปัญหาโยนเด็กให้ไปหาที่เรียนใหม่ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด

ผู้ปกครองกล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาเรื่องบประมาณใช้จ่ายในโรงเรียนชุมชน ทั้งพื้นกระดานชำรุด เก้าอี้พัง ผนังร้าว ชุมชนจัดผ้าป่าหาเงินมาซ่อมแซมแก้ไขกันเอง ชุมชนไหนเข้มแข็งร่วมกันสร้างตัวอาคารใช้เรียนใช้สอนใหม่กันเองแค่รัฐจัดหาคนที่เป็นครูมาสอนให้เท่านั้น งบประมาณที่สูญเสียไปมากขณะนี้ และตกลงมาไม่ถึงเด็ก ก็เพราะมีการตั้งตำแหน่งทั้งครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ต่อไปอนาคตจะมีตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษที่พิเศษยิ่งกว่าขึ้นมากอีก เพื่อครูหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยเด็กไม่ได้รับประโยชน์จากตำแหน่งเหล่านี้ ที่กระทรวงตั้งขึ้นมาเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจรจาปมที่ดินสุราษฎร์ฯ คืบ ตั้งคณะกรรมการร่วมฯ แต่ม็อบยังปักหลักศาลากลาง

Posted: 05 Jun 2013 07:44 AM PDT

กลุ่มผู้เรียกร้องที่ดินทำกินจาก 18 เครือข่าย ปักหลักชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.สุราษฎร์ ต่อเนื่อง รอดูเอกสารสรุปการประชุม ฟังผล 3 ข้อ ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ-สัมมนาเชิงปฏิบัติการ-ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษามติ ครม.26 ส.ค.46

 
 
วันนี้ (5 มิ.ย.56) ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นประธานการประชุมร่วมกลุ่มผู้เรียกร้องที่ดินทำกินจาก 18 เครือข่ายองค์กร จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 27 คน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
จากกรณีที่ กลุ่มผู้เรียกร้องที่ดินทำกินจาก 18 เครือข่ายองค์กร ประมาณ 1,000 คน ปักหลักชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกร้องที่ดินทำกิน ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงพลังยืนหยัดขอที่ดินทำกินจากรัฐบาลซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนาน ขณะที่แกนนำส่วนหนึ่งเดินทางจาก จ.สุราษฎร์ธานีเข้าร่วมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาที่กรุงเทพมหานคร
 
ผลการเจรจาตกลงตามที่เสนอทั้ง 3 ข้อ คือ 1.ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบแบบบูรณาการ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีตัวแทนกลุ่มผู้เรียกร้องที่ดินทำกินจาก 18 เครือข่ายองค์กร เข้าร่วมโดยเท่าเทียม 2.จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องสภาพปัญหาที่ดินและแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการ 3.ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษามติ ครม.26 ส.ค.46 ที่ให้นำที่ดินที่หมดสัญญาเช่าจากนายทุนมาดำเนินจัดสรรให้ประชาชนไม่มีที่ดินทำกิน
 
สำหรับการชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ รายงานว่า ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่ต่อไป เพื่อรอผู้แทนที่เข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลกลับไปรายงานผลการประชุมพร้อมเอกสารสรุปให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับทราบโดยตรง จึงจะไว้วางใจและสลายการชุมนุม
 
ทั้งนี้ ผู้ชุมนุม จาก 18 เครือข่ายองค์กร เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร ตามที่เคยแถลงไว้ในนโยบายของรัฐบาล ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคยตกลงไว้กับทาง จ.สุราษฎร์ธานี ในการชุมนุมก่อนหน้านี้หลายครั้ง โดยเฉพาะการเรียกร้องให้โยกย้าย นางสุวรรณา ทรัพย์มี ธนารักษ์พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จากเหตุผลปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าข้างนายทุน รังแกชาวบ้าน
 
อีกทั้ง ให้ตั้งกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหา โดยให้ภาคประชาชนเป็นกรรมการร่วม และให้การเปิดเผยสัญญาเช่าที่ดินของรัฐทุกแปลงต่อสาธารณชน ในระหว่างการเจรจาและแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ห้ามดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดี DSI แถลงเตรียมสั่งฟ้อง อภิสิทธิ์-สุเทพ คดีเหยื่อกระสุน พ.ค.53 ศุกร์นี้

Posted: 05 Jun 2013 04:47 AM PDT

ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(แฟ้มภาพ/ประชาไท)

5 มิ.ย.56 - มติชนออนไลน์ รายงาน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ฐานก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีการเสียชีวิต ของนายพัน คำกอง / เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา และฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่า นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการเข้าควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่า พนักงานสอบสวนเตรียมสรุปสำนวนคดี พร้อมความเห็นสั่งฟ้องในวันศุกร์นี้ เวลา 16 นาฬิกา ซึ่งถือเป็นการปิดสำนวนคดีแรกเกี่ยวกับการเสียชีวิตของกลุ่มคนเสื้อแดง

ขณะเดียวกัน นายธาริต ยังกล่าวถึง กรณีการส่งสำนวนการเสียชีวิตของกลุ่มคนเสื้อแดง อีก 3 ศพ ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลทำการสืบสวนและชันสูตรพลิกศพ หาหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งรวมกับของเดิมที่ก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้ส่งให้แล้วเป็น 39 ศพ แล้ว

ส่วนกรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีภาพผู้ต้องสงสัยเป็นผู้วางเพลิงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์รวม 31 รายซึ่งสามารถยืนยันใบหน้าชัดเจนได้เพียง 6 ราย นั้นขณะนี้ ดีเอสไอ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI แนะรัฐใช้ความรอบคอบจัดโครงสร้างเงินอุดหนุนด้านพลังงาน

Posted: 05 Jun 2013 04:14 AM PDT

เมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ร่วมกับ International Institute for Sustainable Development (IISD) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "Civil Society Workshop on Fuel and Electricity Subsidies" โดยมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการอุดหนุนพลังงานของประเทศไทย จากผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม

คณะวิจัยจาก IISD และ ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอภาพรวมความเข้าใจต่อการอุดหนุนพลังงานโดยระบุว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง โดยมีการนำไปใช้ในภาคครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า  สำหรับโครงสร้างราคาพลังงานนั้น จากจุดเริ่มต้นที่ราคาหน้าโรงกลั่น ภาคปิโตรเคมีจ่ายเพิ่มเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.63%  ขณะที่ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม มีภาระต้องที่ต้องจ่ายเพิ่มคือภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าการตลาด ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการอุดหนุนราคาพลังงานหลายตัวทั้งแอลพีจี  เอ็นจีวี ดีเซล  ค่าไฟฟ้า และเอทานอล  จึงทำให้ราคาขายปลีกในแต่ละภาคการใช้งานมีความแตกต่างกัน   และยากที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย  

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า  การออกแบบโครงสร้างภาษีและเงินอุดหนุนพลังงานต้องมีเป้าหมายในการออกแบบ 3 เรื่องคือ

1. ลดการนำเข้าพลังงานให้น้อยลง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาหรือผูกติดกับความผันผวนในตลาดโลก

2. หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้พลังงานฟอสซิลฟิวด์ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่สามารถทดแทน ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือชีวมวล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3. โครงสร้างราคาหรือการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย เช่น การใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับบ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน

ในส่วนของเป้าในการลดความผันผวนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้นจากการลดการนำเข้าน้ำมันแล้วผลิตน้ำมันเอง แล้วจะส่งผลให้เราปลอดจากปัญหาราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนนั้นมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาน้ำมันภายในประเทศจะผันผวนตามราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วหากราคาพลังงานในตลาดโลกแพงขึ้น

แต่เป้าหมายที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และหันมาสนับสนุนพลังงานจากชีวภาพ หรือชีวมวล ซึ่งอาจมีข้อจำกัด เพราะในส่วนของธุรกิจน้ำมันที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว นักธุรกิจอาจจะอยากทำการค้ากับน้ำมันตัวเดิม เนื่องจากมีฐานธุรกิจเดิมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การยกเว้นค่าไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับผู้ที่ใช้ไม่เกินจากที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้นถือเป็นแนวคิดที่ดีและควรทำต่อไป แต่ก็จำเป็นต้องหามาตรการที่ดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง

ดร.อดิศร์  แนะนำว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยรัฐบาลอาจจะออกนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริงผ่านการกรอกแบบฟอร์มภาษี ซึ่งทำได้ทั้งน้ำมัน ค่าไฟ และเรื่องอื่น ๆ ก็ให้การช่วยเหลือได้โดยทำให้อยู่ในแบบฟอร์มภาษีกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตามในเรื่องของเงินอุดหนุนพลังงานเป็นเรื่องที่ล่อแหลม ในทางเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่ความบิดเบือนเพราะจะจูงใจให้คนใช้พลังงานตัวนั้นเยอะขึ้น และมีปัญหาในเชิงธุรกิจแอบแฝง ซึ่งในหลายประเทศนั้นการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นจะไม่อยากเห็นเงินอุดหนุนเท่าไรนัก เพราะเมื่อมีการอุดหนุนก็เหมือนกับเป็นการกระตุ้นพลังงานตัวนั้น  ทำให้มีการนำเข้าและผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ก็จะข้อครหาได้หากคนในภาครัฐเข้าไปมีส่วนในธุรกิจพลังงานนั้นด้วย ก็เป็นเหมือนการให้เงินช่วยเหลือพวกพ้องในการทำธุรกิจ นอกจากนี้การให้เงินอุดหนุนอาจเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้การให้เงินอุดหนุนพลังงานต้องเป็นนโยบายที่ต้องดำเนินไปด้วยความระมัดระวัง

Ms. Tara Laan

ด้าน Ms. Tara Laan จากสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development หรือ IISD) กล่าวว่า การอุดหนุนราคาพลังงานนั้น ทางภาครัฐได้มองประเด็นนี้มานานแล้ว แต่มีกระบวนการที่ค่อนข้างยาก และไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกประเทศ ต้องยอมรับว่าในต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จแล้วนั้นต้องผ่านอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านของภาคประชาชน เพราะฉะนั้นหากภาครัฐต้องการดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน จะต้องมีมาตรการเยียวยาและปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างประเทศนั้นค่อนข้างยากเพราะแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่จากการรวบรวมของ IISD พบว่า ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนในการสนับสนุนเงินอุดหนุนพลังงานติดอันดับ 20 ประเทศที่มีการสนับสนุนค่อนข้างสูง การแก้ปัญหาพลังงานนั้นนอกจากลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานให้น้อยลง เพิ่มการใช้เพลังงานทางเลือกที่ผลิตได้เองมากขึ้น และเพื่อให้ได้ผลควรทำไปพร้อมกับการออกแบบระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพและการอุดหนุนราคาพลังงานเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

 อย่างไรก็ตามส่วนที่สำคัญคือการสร้างความตระหนัก สร้างความเข้าใจของประชาชนต่อการอุดหนุนพลังงาน ซึ่งก็ถือเป็นจุดประสงค์ที่ทางเราได้ผลิตหนังสือ "A Citizens' Guide to Fossil-Fuel Subsidy Reform" ซึ่งเป็นเรื่องของการอุดหนุนพลังงาน โดยหวังว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สม รังสี" ถูกห้ามเข้าไทย-หลังเตรียมเปิดตัวหนังสือที่ FCCT

Posted: 05 Jun 2013 02:49 AM PDT

ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา "สม รังสี" ถูกทางการไทยส่งตัวกลับ - หลังเข้าประเทศเพื่อเตรียมเปิดตัวหนังสือและถกเรื่องการเมืองกัมพูชาที่ FCCT เย็นนี้ โดยเปลี่ยนเป็นการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาแทน ขณะที่ทั้งนักการทูตไทยและกัมพูชา รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศของไทยต่างปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้

นายสม รังสี นักการเมืองฝ่ายค้านชาวกัมพูชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองได้พบปะผู้สนับสนุนของเขาที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ 2 มิ.ย. ล่าสุดเขาถูกห้ามเข้าประเทศไทยและถูกส่งกลับ หลังมีกำหนดจะเข้ามาเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia" ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เวลา 19.00 น. วันนี้ (5 มิ.ย.) โดยต้องเปลี่ยนเป็นการเสวนาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาในที่ประชุมแทน (ที่มา: เฟซบุค Sam Rainsy)

ป้ายพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่หน้าสำนักงานสาขาพรรคย่านบึงกัก กรุงพนมเปญ ภาพนี้ถ่ายในเดือนพฤศจิกายนปี 2555 ทั้งนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นพรรครัฐบาลที่ครองอำนาจในกัมพูชามาอย่างยาวนานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ขณะที่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศว่าจะครองอำนาจไปอีก 30 ปี (ที่มา: ประชาไท)

 

นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งมีกำหนดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "เราไม่ใช่ตัวปัญหา: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกัมพูชาของข้าพเจ้า" (We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia) ในเวลา 19.00 น. วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT นั้น มีรายงานว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งกลับ

โดยนายสม รังสี ให้สัมภาษณ์ พนมเปญโพสต์จากสิงคโปร์เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.) ว่าเขาถูกส่งกลับโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง "พวกเขาบอกผมว่า ผมสามารถเข้ามาได้ภายหลังการเลือกตั้ง (ของกัมพูชา)" อย่างไรก็ตาม นายสม รังสี ไม่ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมโดยระบุว่ากำลังยุ่ง

ทั้งนี้ในเว็บของ FCCT ระบุว่า กิจกรรมเสวนาและเปิดตัวหนังสือดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้สนับสนุนให้จัดโดย FCCT แต่ผู้จัดกิจกรรมเป็นผู้เช่าสถานที่ และขณะนี้ยังไม่มีการเผยแพร่แถลงการณ์ใดๆ ออกมาจาก FCCT ขณะที่ผู้สื่อข่าวซึ่งโทรศัพท์ไปสอบถาม ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ FCCT ว่ากำหนดการเสวนาและเปิดตัวหนังสือยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม แต่เปลี่ยนเป็นการเสวนาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาในที่ประชุมแทน

ด้านนายจอร์จ แมคคลาวด์ กรรมการบริหาร FCCT ระบุว่า ทางสมาคมได้รับแจ้งว่าการปฏิเสธดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมทางการเมืองของชาวต่างประเทศภายในประเทศ

ทั้งนี้ตามกำหนดการเดิม ประเด็นที่นายสม รังสีกับเสวนาจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความยากจนในประเทศ การคอรัปชั่น ความไม่ยุติธรรมในประเทศ และถกเถียงในเรื่องการปฏิรูปด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจอย่างแท้จริงในกัมพูชา

โดยขณะนี้นายสม รังสี อยู่ระหว่างลี้ภัยที่ฝรั่งเศส หลังถูกเล่นงานทางการเมือง จนทำให้เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 12 ปี และถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชาที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะเดียวกันเขาได้เดินทางไปในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อทำการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในกัมพูชา และเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา เขาเพิ่มเดินทางไปปราศรัยกับผู้สนับสนุนของเขาที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา มีกำหนดจัดในวันที่ 28 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบัน พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดยนายฮุน เซ็น ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาโดยมี ส.ส. 90 คน ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ที่มีนายสม รังสี เป็นผู้นำ ขณะนี้มีเสียงในสภา 26 ที่นั่ง

สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 และจะร่วมกันแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนปฏิกิริยาของนักการทูตนั้น พนมเปญโพสต์ รายงานว่า นางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำกรุงเทพมหานคร ได้หัวเราะและวางสายโทรศัพท์ หลังผู้สื่อข่าวพนมเปญโพสต์โทรศัพท์ไปสอบถาม ขณะที่นายนายธัชชยุติ ภักดี เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญระบุว่าเขาไม่ทราบเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

โดย พนมเปญโพสต์ ได้สัมภาษณ์ความเห็นของเคม เล นักวิเคราะห์การเมืองชาวกัมพูชา ซึ่งเห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินของไทยน่าจะรวมถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน และอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ยังมีเรื่องความตึงเครียดตามแนวชายแดน รวมทั้งความพยายามล่าสุดของรัฐบาลกัมพูชาที่พยายามเชื่อมโยงกลุ่มของนายสม รังสีกับกลุ่มก่อการร้าย

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า อนึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายนปี 2553 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส คือ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights: FIDH) และคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (the Vietnam Committee on Human Rights: VCHR) ได้จองห้องของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อจัดการแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน "จากวิสัยทัศน์สู่ความเป็นจริง: สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียน 2010"

อย่างไรก็ตาม นายธานี ทองภักดี รักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นได้ขอให้ FCCT ยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว และขอให้ FCCT สื่อสารกับองค์กรผู้จัดงานว่าประเทศไทยตั้งใจจะระงับการออกวีซ่าให้แก่ผู้ร่วมแถลงข่าว แต่ทาง FCCT ปฏิเสธที่และว่าการแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการเช่าสถานที่ FCCT ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุน และออกแถลงการณ์ที่หน้าเว็บด้วยว่า FCCT เองก็ให้ความสำคัญกับหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและความหลากหลายทางความคิด และขอให้รัฐบาลไทยทบทวนวิธีการ อย่างไรก็ตามองค์กรผู้จัดงานก็ได้ยกเลิกการแถลงข่าว โดยให้เหตุผลกับ FCCTว่า ทางการไทยปฏิเสธที่จะออกวิซ่าให้ผู้แถลงข่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานนสพ.โลกร่วมถกปัญหากม.หมิ่นกับยิ่งลักษณ์

Posted: 05 Jun 2013 02:29 AM PDT

ประธานนสพ.โลกเผยได้คุยปัญหากม.หมิ่นกับนายกฯ โดยยิ่งลักษณ์รับมีปัญหาจริงแต่กระบวนการแก้ยาก ในขณะที่ภรรยาสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ประธานสมาคมฯ คนใหม่ ร้องหนุนนายกฯ ผ่านกม.นิรโทษกรรม

5 มิ.ย. 56 - ที่งานประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลกครั้งที่ 56 (World Newspaper Congress) ณ โรงแรมแกรนด์เซ็นทารา นายจาคอบ แมทธิว ประธานสมาคมสื่อหนังสือพิมพ์และผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์โลก เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวประชาไทว่า วานนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลก ตนได้พูดคุยกับนายกฯ เรื่องปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขัดต่อหลักเสรีภาพสื่อในประเทศไทย 
 
นายจาคอบ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่า รับทราบแล้วว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้ในทางที่ผิด แต่ด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่ซับซ้อน ทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่รับว่ากำลังดำเนินการอยู่ 
 
ในขณะเดียวกัน สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารนิตยสารที่ถูกตัดสินจำคุก 11 ปี ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่นายแลรี่ คิลแมน ประธานสมาคมฯ คนใหม่ที่ได้รับตำแหน่งในวันนี้ โดยนอกจากจะกล่าวถึงผลกระทบของมาตรา 112 ต่อเสรีภาพของนักข่าว ยังระบุถึงการขอการสนับสนุนในประเด็นเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมืองและนักโทษมโนธรรมสำนึก และให้ศาลอาญาให้การประกันตัวผู้ต้องขังอย่างเป็นธรรม
 

(จากซ้ายไปขวา) จาคอบ แมทธิว, สุวรรณา ตาลเหล็ก, สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข, แลรี่ คิลแมน
 
นายแลรี่กล่าวว่า ทางสมาคมฯ สนใจเป็นอย่างมากถึงกรณีปัญหามาตรา 112 โดยได้ส่งจดหมายเพื่อย้ำถึงประเด็นนี้ถึงนายกรัฐมนตรี และหวังว่าจะสามารถส่งแรงกดดันต่อปัญหาดังกล่าวได้
 
สุวรรณา ตาลเหล็ก แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย ยังได้แจกจ่ายเอกสารดังกล่าวรวมถึงข้อมูลกรณีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมงานบางส่วนด้วย โดยในงานมีบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน ทั้งบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าว และนักโฆษณาเข้าร่วมราว 1,000 คน 
 
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา นสพ.บางกอกโพสต์และเดอะเนชั่นได้รายงานว่า นายจาคอบ แมทธิว ได้กล่าวระหว่างการประชุมว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และขัดกับหลักเสรีภาพสื่อ และแสดงความกังวลต่อการจับกุมบรรณาธิการ ผู้ทำสื่อสิ่งพิมพ์ และนักข่าวด้วยมาตรา 112 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แบรดลีย์ แมนนิง ให้ปากคำในศาล ต้องการเปิดเผยความโหดร้ายของสหรัฐ

Posted: 04 Jun 2013 04:02 PM PDT

แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง นายสิบตรีประจำการกองทัพสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ส่งข้อมูลลับของทางการให้วิกิลีกส์กำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาล โดยขณะที่นักวิชาการสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ 


เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2013 ทางการสหรัฐฯ ได้เริ่มการดำเนินคดีในชั้นศาลกับแบรดลีย์ แมนนิ่ง ทหารสหรัฐฯ ที่ถูกจับกุมตัวเมื่อราวสามปีที่แล้วเนื่องจากเป็นผู้ทำให้ข้อมูลลับของทางการสหรัฐฯ รั่วไหลและถูกนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์วิกิลีกส์

เขาถูกตั้งข้อหา 22 กระทง ซึ่งแมนนิ่งยอมรับผิด 10 กระทง เว้นแต่ข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ "ให้ความช่วยเหลือศัตรู" ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะประกาศว่าจะไม่มีการลงโทษหนักสุดแต่แบรดลี่ย์ก็ยังมีโอกาสถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการภาคทัณฑ์บน

การดำเนินคดีมีขึ้นที่ศาลทหาร ฟอร์ทมี้ด แมรี่แลนด์ โดยที่แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ถูกกล่าวหาว่าได้ส่งข้อมูลโทรเลขทางการทูต 250,000 ข้อความ และรายงานจากพื้นที่สงคราม 500,000 ฉบับ จากสงครามอิรักและอัฟกานิสถานในช่วง ปี 2009 ถึง 2010

ในการดำเนินคดีเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา เริ่มต้นโดยการที่ร้อยเอก โจ มอร์โรว์ กล่าวต่อศาลว่า แมนนิ่งทำไปเพราะต้องการสร้าง "เรื่องอื้อฉาว" ขณะที่คำแถลงจากฝ่ายอัยการระบุว่าแมนนิ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์จากการช่วยตัดต่อวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ โจมตีใส่พลเรือนในกรุงแบกแดด และศาลก็แสดงหลักฐานการแชทกันระหว่างแมนนิ่งกับอัสซานจ์

แบรดลีย์ แมนนิ่งกล่าวว่า ที่เขาปล่อยข้อมูลให้กับวิกิลีกส์เนื่องจากต้องการเผยให้เห็นความโหดเหี้ยมของกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อชีวิตมนุษย์ในอิรักและอัฟกานิสถาน โดยที่เขาไม่เชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะถือว่าเป็นภัยต่อสหรัฐฯ

สำหรับข้ออ้างเรื่องการให้ความช่วยเหลือศัตรูนั้น พันเอก เดนิส ลินด์ หนึ่งในผู้พิพากษาศาลอาญาทหารกล่าวว่าฝ่ายอัยการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ได้ให้ข้อมูลด้านการข่าวอย่างจงใจแก่กลุ่มอัล-เคด้า แม้ว่าจะเป็นช่องทางอ้อมอย่างวิกิลีกส์ก็ตาม และตัวผู้ต้องหาเองต้องมี "เจตนาชั่วร้ายในแบบที่เขารู้ตัวว่าเขากำลังทำ"

ลอวเรนซ์ ไทรบ์ ศาตราจารย์ด้านกฏหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เคยสอนวิชากฏหมายแก่ปธน.โอบามา และเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลโอบามาสมัยแรกแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า การฟ้องร้องแมนนิ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

"การสั่งฟ้องบุคคลใดก็ตามด้วยข้อหาร้ายแรงอย่าง 'ให้ความช่วยเหลือศัตรู' โดยตัดสินจากข้อเท็จจริงเพียงแค่ว่าบุคคลผู้นั้นได้โพสต์ข้อความลงบนเว็บ และด้วยวิธีนี้ทำให้เขา 'ได้ให้ข้อมูลด้านการข่าวอย่างจงใจ' แก่ใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงมันได้ เป็นการตัดสินที่อันตราย" ไทรบ์กล่าว

ลอวเรนซ์ ไทรบ์ กล่าวอีกว่ากรณีของแมนนิ่งจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น บรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกไม่ปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต และอาจจะส่งผลเสียต่อเรื่องความมั่นคงของชาติในแบบที่มองไม่เห็น

ก่อนหน้านี้ในปี 1971 ก็มีชายผู้หนึ่งชื่อ แดเนียล เอลส์เบิร์ก ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ปล่อยข้อมูลของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ในเรื่องสงครามเวียดนามให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ซึ่งปัจจุบันนี้คดีของเขาถูกยกเลิกไปแล้ว

แดเนียลบอกว่า การดำเนินคดีแมนนิ่งถือเป็นเรื่องหนักหนากว่าที่เขาเคยเจอมา เขายังบอกอีกว่ารัฐบาลโอบามาพยายามทำให้การรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนกลายเป็นอาชญากรรม และหากรัฐบาลยังทำเช่นนี้ต่อไปก็เป็นการยากที่จะเปิดโปงการทุจริตและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

ชวนย้อนดูข้อมูลที่แบรดลีย์เผยแพร่

นอกจากเรื่องการดำเนินคดีในศาลแล้ว แมนนิ่งก็ตกอยู่ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องข้อมูลลับทางราชการในยุคดิจิตอล และการต่อสู้ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และวิกิลีกส์

ขณะเดียวกันก็มีปฏิกิริยาหลากหลายในเรื่องนี้ บ้างก็อ้างว่าข้อมูลจากโทรเลขทางการทูตบางอย่างก็เป็นแค่เรื่องซุบซิบนินทา และข้อมูลสงครามก็ช่วยยืนยันสิ่งที่พวกเราสงสัยกันอยู่แล้ว ขณะที่คนอื่นๆ เช่นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เกลน กรีนวัลด์ กล่าวว่าข้อมูลที่รั่วไหลได้เผยให้เห็นถึงความฉ้อฉลหลอกลวง ความโหดเหี้ยม และอาชญากรรมของฝ่ายสหรัฐฯ

ซึ่งทางเว็บไซต์ Channel4 ก็ได้ย้อนนำเสนอข้อมูลที่รั่วไหลบางส่วนและผลกระทบ

กรณีแรกคือข้อมูลที่วิกิลีกส์ตั้งชื่อว่า "Collateral Murder" ซึ่งเผยแพร่ภาพวิดีโอทีมทหารอากาศของสหรัฐหัวเราะหลังจากที่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศได้คร่าชีวิตประชาชนไปสิบกว่าคน รวมถึงผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ชาวอิรักสองคน วิดีโอคลิปนี้เชื่อว่าเป็นวิดีโอคลิปตัวแรกที่พลทหารแมนนิ่งปล่อยออกมาในเดือน เม.ย. 2010 และทำให้ทราบว่ากองทัพสหรัฐฯ พยายามปกปิดข้อมูลเรื่องการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวและประชาชน

กรณีต่อมาคือ ตัวเลขการเสียชีวิตของพลเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการอ้างว่าไม่มีบันทึกตัวเลขประชาชนผู้ถูกสังหารจากปฏิบัติการในอิรัก แต่ในข้อมูลที่เผยแพร่จากแมนนิ่งไปสู่วิกิลีกส์ทำให้ทราบว่า มีบัญชีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการในอิรักอยู่จริง

โดยจากข้อมูลระบุว่า มีผู้เสียชีวิตราว 109,000 คน จากปฏิบัติการ 6 ปีในอิรัก ในจำนวนนั้นมี 66,081 คนที่เป็นพลเรือนไม่มีอาวุธ ซึ่งองค์กร Iraq Body Count ของอังกฤษก็ได้ระบุตัวตนของพลเรือนผู้เสียชีวิตได้ 15,000 คน จากข้อมูลที่รั่วไหลจากบันทึกสงคราม

กรณี่ต่อมาคือเรื่องการทรมาน ข้อมูลจากบันทึกสงครามในอิรักยังได้เปิดเผยหลักฐานแสดงการทรมานผู้ต้องขัง โดยที่สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนได้ทำการวิเคราะห์แฟ้มข้อมูล 400,000 แฟ้ม จนกระทั่งพบเอกสารลับที่เผยให้เห็นการใช้กำลังกับผู้ต้องขังชาวอิรัก แม้กระทั่งหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวในเรือนจำอาบู การิบ*

โดยรายงานดังกล่าวพูดถึงการที่ทหารและนาวิกโยธินสหรัฐฯ ใช้กำลังกับผู้ต้องขัง บังคับให้พวกเขาขุดหาระเบิดที่ทำขึ้นเอง และการกระทำทารุณอื่นๆ

มีเหตุการณ์หนึ่งถูกบันทึกเมื่อปี 2007 ผู้ต้องขังรายหนึ่งเปิดเผยว่าเขาถูกแทงด้วยไขควงที่ด้านขวาและส่วนบนของหลัง ถูกจับเฆี่ยนด้วยสายไฟและสายยางที่แขน ขาและหลัง ถูกจับช็อตไฟฟ้า และถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยสายยางฉีดน้ำ

มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าตกใจพอๆ กับเรื่องการทรมานคือการที่มีรายงานเรื่องการใช้กำลังกับชาวอิรักแต่ไม่มีการสืบสวนเรื่องดังกล่าว มีแฟ้มข้อมูลเปิดเผยว่าทางการสหรัฐฯ ล้มเหลวในการสืบสวนข้อมูลรายงานเรื่องการที่ตำรวจอิรักทรมานและกระทั่งสังหารผู้คน มีคดีราว 1,300 คดีเกี่ยวกับการทรมานและล่วงละเมิดผู้ต้องขังชาวอิรักในสถานีตำรวจและในฐานทัพโดยชาวอิรักด้วยกันเอง

ข้อมูลบ่งชี้ว่า กองกำลังผสมที่เข้าร่วมสงครามอิรักได้รับทราบหรือได้รายงานเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุบตี, การใช้ไฟฟ้าช็อต, การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้มีการบันทึกเป็นรายวัน แต่ก็มีคำสั่งทหารที่มอบให้กับกองทัพสหรัฐฯ สองฉบับหลังจากเหตุการณ์เรือนจำอาบู การิบ ที่บอกว่าพวกเขาต้องรายงานเรื่องการล่วงละเมิดที่เกิดจากชาวอิรักด้วยกันเอง แต่ถ้าหากว่ากองกำลังผสมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่จำเป็นต้องมีการสืบสวนต่อจากนั้น

อีกกรณีหนึ่งคือเรื่องที่รั่วจากข้อมูลทางการทูต เผยให้เห็นว่าบริษัท DynCorp ซึ่งเป็นบริษัทการทหารภายใต้การจ้างวานของกลาโหมสหรัฐฯ ได้มีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็ก และมีการนำเด็กผู้ชายหลายคนที่ถูกซื้อตัวจากผู้ค้ามนุษย์มาเป็นผู้ให้ความบันเทิงแก่เจ้าหน้าที่ทหารเกณฑ์ชาวอัฟกัน

การเปิดเผยในเรื่องดังกล่าว ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการนำเหล่าผู้ถูกจ้างวานออกจากประเทศอัฟกานิสถาน


เชิงอรรถ

*กรณีเรือนจำ อาบู การิบ เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2003 ถึง ต้นปี 2004 โดยทหารในเรือนจำดังกล่าวกระทำทารุณทางร่างกาย จิตใจ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้ต้องขัง


เรียบเรียงจาก

What did WikiLeaks and Bradley Manning do for us?, Channel4, 03-06-2013

Bradley Manning trial begins three years after arrest, The Guardian, 03-06-2013

Bradley Manning trial 'dangerous' for civil liberties – experts, The Guardian, 03-06-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น