โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

“คนหลากหลายทางเพศไม่ได้ป่วย...ไม่ต้องบำบัดรักษา”

Posted: 29 Jun 2013 08:15 AM PDT

เนื่องจากเดือนมิถุนายนนี้ เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ อันนี้มีต้นกำเนิด จากการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTIQ ที่บาร์เกย์ ชื่อสโตนวอลล์ ในนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969 หรือ 44 ปี ก่อน

เครือข่ายหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย จึงถือเป็นโอกาสอันนี้ที่จะใช้เดือนนี้และวันนี้เพื่อรณรงค์ยุติอคติต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต/จิตวิทยา "ฉันไม่ป่วย" ที่ตอกย้ำ ผลิตซ้ำมาตลอดว่าคนเหล่านี้เป็นโรคจิต หรือไม่ก็มีความวิปริตทางเพศ เบี่ยงเบนทางเพศเป็นต้น ซึ่งมันได้นำไปสู่ปัญหาในการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มดังกล่าว

***************************************************

 

จดหมายเปิดผนึก

 

29 มิถุนายน 2556

 

เรียน                          ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง TCIJ

เรื่อง              การนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม

 

สืบเนื่องมาจากการนำเสนอข่าว "เปิดคอร์สแก้ไข'เบี่ยงเบนทางเพศ'ฯ"  บนเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดย คุณปาลิดา พุทธประเสริฐ นั้น เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ที่ทำงานในประเด็นความหลากหลายทางเพศและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ใคร่ขอแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่ผลิตซ้ำอคติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

ควรใช้ภาษาที่ไม่ทำให้รู้สึกในด้านลบต่อกลุ่มที่กล่าวถึงในการสื่อข่าว

ในข่าวได้กล่าวถึงโรงเรียนติวเตอร์เอกชนที่เปิดกิจกรรมเพื่อ "แก้ไขพฤติกรรม" ซึ่งในข่าวเรียกว่า "เบี่ยงเบนทางเพศ" ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าเป็นการใช้คำที่แสดงถึงอคติต่อความหลากหลายทางเพศ และเป็นคำที่ผู้สื่อข่าวอาจใช้ในการอ้างอิงคำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์ได้ แต่ไม่ควรใช้ในการรายงานข่าวโดยทั่วไป เพราะตามที่แพทย์ที่ให้สัมภาษณ์ในข่าวได้ระบุไว้แล้ว การรักเพศเดียวกันมิได้จัดว่าเป็นความผิดปกติ ดังนั้น การใช้คำว่า "ความเบี่ยงเบน" ก็ย่อมถือว่าเป็นอคติ ซึ่งผู้รายงานข่าวไม่ควรส่งเสริมหรือผลิตซ้ำ ไม่ต่างจากอคติและการเหยียดหยามในประเด็นอื่นๆ เช่น ศาสนา สีผิว หรือเชื้อชาติเป็นต้น ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศขอแนะนำให้ใช้คำที่เป็นกลางและแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มบุคคลที่กล่าวถึง เช่น "คนรักเพศเดียวกัน" ในกรณีชายรักชายหรือหญิงรักหญิง หรือ  "คนข้ามเพศ" ในกรณีบุคคลที่มักเรียกกันว่ากะเทยหรือสาวประเภทสอง หรือในการกล่าวถึงปรากฏการณ์โดยรวม ก็สามารถใช้คำว่า "ความหลากหลายทางเพศ" ได้ หรือในอีกทาง ก็สามารถใช้คำย่อที่มาจากภาษาอังกฤษว่า LGBTIQ ซึ่งย่อมาจากคำเรียกกลุ่มอัตตลักษณ์ต่างๆ (lesbian, gay, bisexual, transgender, intersex และ queer หรือ questioning) ภายใต้ความหมายของคำว่า "ความหลากหลายทางเพศ"

 

สัดส่วนประชากร LGBTIQ มีมากกว่าที่คิด

แหล่งข้อมูลที่สัมภาษณ์ไว้ในข่าวตอบว่าขนาดประชากรที่เกี่ยวข้องกับตัวประเด็นมีประมาณ 1 ต่อ 30,000 คน ซึ่งในข่าวก็วิจารณ์ไว้ว่าไม่น่าจะตรงกับสถานการณ์ที่แท้จริง

เนื่องจากในสังคมยังมีอคติต่อชาว LGBTIQ อยู่ งานวิจัยเกี่ยวกับขนาดของจำนวนประชากรกลุ่มนี้จึงเผชิญความท้าทายทางวิธีวิทยาที่ว่า เมื่อถูกถามแล้ว หลายๆ คนจึงอาจไม่กล้าเปิดเผยต่อนักวิจัยหรือนักสำรวจแปลกหน้าว่าตนรักเพศเดียวกันหรือเป็นคนข้ามเพศ ขนาดจำนวนประชากรที่พบในงานวิจัยจึงน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง แต่จากการสำรวจเยาวชนในภาคเหนือของประเทศไทยที่ใช้วิธีตอบข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่ามีความเป็นส่วนตัวในการตอบ พบว่าเยาวชนไทยเกินร้อยละ 10 ระบุว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ หรือยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับความชอบทางเพศของตนเอง[1]

 

ความพยายามที่จะเปลี่ยนความชอบทางเพศของบุคคลไม่ได้ผลและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต

ในส่วนของตัวประเด็นที่สื่อไว้ในข่าว ทางเครือข่ายฯ ขอชี้แจงข้อมูลที่ขาดจากตัวข่าวไป กล่าวคือ "การบำบัด" คนรักเพศเดียวกันเพื่อให้เปลี่ยนใจมาชอบคนต่างเพศ นั้นปรากฏในสังคมตะวันตกมายาวนาน และส่วนใหญ่เกิดจากอคติทางศาสนาต่อคนรักเพศเดียวกัน แต่จากที่องค์กรวิชาชีพชั้นนำ เช่น สามาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ได้ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ พบว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่น่าเชื่อถือว่าการบำบัดดังกล่าวจะได้ผล แต่มีหลักฐานอยู่บ้างว่าอาจมีผลเสียต่อสภาพจิตใจของผู้ถูก "บำบัด"[2] ดังนั้น องค์กรเหล่านี้จึงไม่สนับสนุนการบำบัดดังกล่าว

รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกาได้บัญญัติกฎหมายห้ามการบำบัดผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในลักษณะดังกล่าว[3] เนื่องจากเห็นว่าอาจเกิดผลเสียต่อผู้ถูกบำบัด เพราะฉะนั้น ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศจึงรู้สึกแปลกใจที่ผู้แทนจากกรมสุขภาพจิตที่สัมภาษณ์ไว้ในข่าวละเลยที่พิจารณาข้อมูลส่วนนี้ ในเมื่อหน้าที่ของกรมสุขภาพจิตคือการส่งเสริมสุขภาพจิต ไม่ใช่การสนับสนุนวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตของประชาชน

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเข้าใจไม่ยาก เพราะในการบำบัดดังกล่าวมีความพยายามที่จะโน้มน้าวผู้ถูกบำบัดให้เชื่อว่าความชอบทางเพศหรือตัวตนทางเพศของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่สมควร และควรปรับเปลี่ยน แต่เมื่อการบำบัดไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าวได้ ผู้ถูกบำบัดจะโทษตนเองและรู้สึกว่าตนเองล้มเลว ซึ่งย่อมมีผลเสียต่อการเคารพนับถือตัวเองของผู้ถูกบำบัด

 

สังคมที่น่าอยู่เกิดจากการยอมรับและเคารพความแตกต่าง

ทางเครือข่ายฯ เข้าใจว่าในสังคมไทยยังมีอคติหลายแบบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอคติทางเพศ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบัน มาตรา 30 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยระบุว่าการเลือกปฏิบัติบนฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่กระทำมิได้ ดังที่เขียนไว้ในบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุแห่งเพศ โดยคำว่า "เพศ" นั้นในเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายไว้ว่า "ความแตกต่างเรื่อง "เพศ" นอกจากหมายถึงความแตกต่างระหว่างชายหรือหญิงแล้ว ยังหมายรวมถึงความแตกต่างของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Identity) หรือเพศสภาพ (Gender) หรือความหลากหลายทางเพศ (Sexual Diversity) แตกต่างจากเพศที่ผู้นั้นถือกำเนิดอยู่ด้วย จึงไม่ได้บัญญัติคำดังกล่าวข้างต้นไว้ในมาตรา 30 เนื่องจากคำว่า "เพศ" ได้หมายความรวมถึงคำดังกล่าวอยู่แล้ว และจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ"[4]

เมื่อคนในสังคมถูกหมิ่นศักดิศรีในเรื่องสีผิว คำตอบไม่ใช่การกดดันให้คนที่ถูกเหยียดหยามให้พยายามเปลี่ยนสีผิว หรือเมื่อคนคนหนึ่งถูกเหยียดหยามในเรื่องศาสนา คำตอบไม่ใช่การกดดันให้คนนั้นเปลี่ยนศาสนา และในลักษณะเดียวกัน เมื่อคนคนหนึ่งไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศ คำตอบก็ย่อมไม่ใช่การกดดันให้คนนั้นพยายามเปลี่ยนความชอบหรือตัวตนทางเพศ แต่คำตอบคือการยอมรับและเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา เพื่อนำเสนอข้อมูลในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยต่อไป

 

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย

 

หมายเหตุ : สามารถติดต่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่

คุณ Timo Ojanen นักวิจัย ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 089-022-7597

คุณ ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ฝ่ายสื่อสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ โทร. 085-041-8477

คุณอัญชนา สุวรรณานนท์ โครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี โทร.086-994-9525

 




[1] Tangmunkongvorakul, A., Banwell, C., Carmichael, G., Utomo, I. D. & Sleigh, A. (2010). Sexual identities and lifestyles among non-heterosexual urban Chiang Mai youth: Implications for health. Culture, Health & Sexuality, 12, 827 — 841.

[2] APA Task Force on Appropriate Therapeutic Responses to Sexual Orientation (2009). Report of the Task Force on Appropriate Therapeutic Responses to Sexual Orientation. Washington, DC: American Psychological Association.

[3] Slosson, M. (2012, September 30). California bans gay "conversion" therapy for minors. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2012/09/30/us-california-gaytherapy-idUSBRE88T0DR20120930

[4] คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ. 2550.เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ดาวน์โหลดจาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_cons50/cons50-intention.pdf

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุวินัย ภรณวลัย

Posted: 29 Jun 2013 07:51 AM PDT

"ผมสลดใจกับพฤติกรรมของปุถุชนที่ครั้งหนึ่งเคยแห่แหนบูชา"อริยบุคคล"ที่อ้างตนว่าเป็นชาติสุดท้าย พอต่อมาก็มาเหยียบย่ำ ถ่มน้ำลายบุคคลผู้นั้น เพียงเพราะสื่อชี้นำและเปิดโปงว่าเขาไม่ใช่อริยบุคคล ปุถุชนผู้ต่ำต้อยเหล่านี้ต่างหากคือผู้ที่สร้าง "บุคคลศักดิ์สิทธิ์" ขึ้นมาเป็นรูปเคารพบูชาเพียงเพื่อเป็นข้ออ้างให้กับความต่ำต้อยในความเป็นปุถุชนของตนเอง พวกเขาเคารพบูชา "บุคคลที่รู้แจ้ง" เพียงเพื่อหลีกหนีหรือปฏิเสธที่จะรู้แจ้งด้วยความเจ้าเล่ห์ของอัตตาของพวกเขาเท่านั้น นี่คืออีกด้านหนึ่งที่สังคมนี้มองข้ามไปในกรณีของหลวงปู่เณรคำ และจะว่าไปแล้วนี่คือต้นตอที่สร้างคนลวงโลกอย่างหลวงปู่เณรคำขึ้นมา"

28 มิ.ย.56, โพสต์สถานะในเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai'

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล: จากทรงนักเรียน ถึงข้อเสนอยกเลิกความเป็นไทย

Posted: 29 Jun 2013 06:23 AM PDT

สนทนากับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย และบรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร

หลังจากก่อนหน้านี้ "สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย" ได้รณรงค์ให้มีการยกเลิกทรงนักเรียน และต่อมากระทรวงศึกษาธิการยอมปรนด้วยการออกระเบียบกฎกระทรวงฉบับใหม่ และมีหนังสือสั่งการถึงหัวหน้าส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัดให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรง และนักเรียนหญิงไว้ผมยาวได้ ทันทีที่เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2556 แต่ล่าสุด เนติวิทย์บอกว่า ได้รับการร้องเรียนว่ายังพบโรงเรียนหลายร้อยแห่งที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม (ข่าวที่เกี่ยวข้อง [1], [2])

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวด้วยว่าทางสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ จะเรียกร้องให้มีการยกเลิกทรงนักเรียนต่อไป รวมถึงข้อเสนอให้เรื่องการยกเลิกความเป็นไทยด้วย

"เรื่องทรงผมไม่ใช่ว่าได้รองทรงแล้วจะจบ เราจะเรียกร้องไปถึงที่สุดเลยครับ คือจำเป็นเลยที่จะต้องยกเลิกกฎระเบียบเรื่องทรงผม เพราะว่าผมเชื่อเลยครับถ้าสมัยก่อนเขาให้รองทรง นักเรียนก็ต้องต่อสู้อยู่ดี ก็ต้องเรียกร้องสิ่งที่มากกว่า ไม่มีใครหรอกครับที่จะต้องการโดนจำกัดเสรีภาพ และเสรีภาพที่ทางกระทรวง (ศึกษาธิการ) ให้ เป็นเสรีภาพจอมปลอมเท่านั้นเอง ทำให้เราหลงเชื่อว่าเรามีอิสรภาพ มีเสรีภาพแล้ว เสรีภาพที่แท้จริง ต้องไม่ควบคุมกันครับ นี่เป็นสิ่งที่เราเรียกร้องไปให้ถึงที่สุด"

"และเราจะเรียกร้องเกี่ยวกับ อาจจะเรื่องความเป็นไทยด้วย เพราะเรารู้สึกแย่กับความเป็นไทยเต็มที่แล้ว เพราะเวลาสู้เรื่องทรงผม ครูบาอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาชอบอ้างเรื่องความเป็นไทย ดังนั้นทางสมาพันธ์ฯ ซึ่งเป็นนักเรียน เป็นเยาวชน ต้องการปลุกมโนธรรมของนักเรียน และครู อาจารย์ให้รู้ว่าความเป็นไทยมันไม่มีอยู่จริง นอกจากอุปโลกน์ขึ้นมา เราจะต่อสู้เรื่องวาทกรรมพวกนี้ด้วย และจะต่อสู้เรื่องโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนน้อยๆ ต่างๆ รวมถึงจะเอาเรื่องการศึกษาทางเลือกมาพิจารณา แล้วก็คุยเรื่องประเด็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการว่าจะเป็นอย่างไร" เนติวิทย์ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กล่าวตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์

นอกจากนี้ในวันที่ 6 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ทางสมาพันธ์นักเรียนไทยฯ จะจัดเสวนาเปิดครั้งที่ 1 "ทิศทางนักเรียนไทยในอนาคต" ด้วย ที่ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเขากล่าวว่าจะเป็นการเปิดตัวกลุ่มครั้งแรก จะมีการพูดเรื่องทรงผม เครื่องแบบนักเรียน รวมถึงทิศทางของนักเรียนไทยในอนาคต โดยจะเป็นการคุยกันให้แตกฉาน นอกจากนี้ทางกลุ่มก็จะเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในโรงเรียนแห่งต่างๆ ด้วย

ในวันที่พูดคุยกับเนติวิทย์ คือวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดยและวันดังกล่าวเขาได้หยุดเรียน เพื่อมาฟังปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยเขาบอกว่า ได้หยุดโรงเรียนเองเช่นนี้เพื่อร่วมกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน มาเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว

โดยเขาเล่าให้ฟังด้วยว่า ในปีนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่เขาสามารถจัดงาน "สัปดาห์รำลึกอภิวัฒน์สยาม 2475" ขึ้นภายในโรงเรียนที่เขาอธิบายว่า "มีสภาพที่อนุรักษ์นิยมอย่างเต็มที่" อย่างไรก็ตามในหมู่เพื่อนนักเรียนยังไม่ตระหนัก เพราะการเรียนที่มุ่งไปเพื่อสอบนั้น นักเรียนส่วนมากต้องสอบอย่างเดียว ยิ่งอยู่ชั้น ม.5 จึงขึ้น ม.6 แล้ว ตอนนี้ยิ่งต้องเตรียม ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยอะไรดี จะตามฝันอย่างไรดี เขาไม่มีเวลามาสนใจเรื่องแบบนี้

เขากล่าวด้วว่าเห็นด้วยกับประกาศของคณะราษฎรอย่างเต็มที่ "โดยส่วนของหลัก 6 ประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสมอภาค เสรีภาพ เรื่องเอกราช ความปลอดภัย การศึกษา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในสังคมไทย ตอนนี้สิ่งเหล่านี้ไม่มีอย่างเต็มที่ เรื่องการศึกษาก็ดี ราษฎรก็ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน และการศึกษาก็ห่วยแตก การศึกษาซึ่งคณะราษฎรต้องการปลูกฝังให้เราเป็นพลเมือง แต่ตอนนี้เราไม่ได้เป็นพลเมือง ตอนนี้เราอยู่ภายใต้อำนาจ ไม่สามารถคิดได้อย่างอิสระ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

The Economist วิเคราะห์กระแสการตื่นตัวของชนชั้นกลางในการประท้วงทั่วโลก

Posted: 29 Jun 2013 04:41 AM PDT

ดิ อิโคโนมิสต์ ชี้ กระแสตื่นตัวในหมู่ชนชั้นกลางและเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เอื้อต่อการกระจายข้อมูล ทำให้เกิดการทำตามกันอย่างเรื่องหน้ากาก V และเหตุการณ์ประท้วงหลายแห่งทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาทั้งในบราซิล, ตุรกี, อินโดนีเซีย ฯลฯ 

29 มิ.ย. 2013 -  เว็บไซต์ The Economist นำเสนอบทความชื่อ "The march of protest" เกี่ยวกับกระแสการประท้วงรัฐบาลที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บางแห่งมีการใช้หน้ากาก กาย ฟอว์กส์ จากตัวละคร V ในการ์ตูนยุค 1980 ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มกลุ่มแฮกเกอร์ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้นิรนาม" (Anonymous)

โดยการประท้วงในแต่ละที่มีที่มาต่างกัน เช่น ในบราซิลเริ่มต้นมาจากการประท้วงต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง, ในตุรกีเริ่มจะการประท้วงโครงการก่อสร้างที่มีการรื้อถอนสวนสาธารณะ, อินโดนีเซียมีการประท้วงการขึ้นราคาเชื้อเพลิง, ในบัลแกเรียเป็นการประท้วงการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกเดียวกันในรัฐบาล ส่วนในเขตประเทศยุโรปก็มีการประท้วงต่อต้านนโยบายจำกัดงบประมาณ (austerity) ขณะที่ปรากฏการณ์ "อาหรับสปริง" ในตอนนี้ก็กลายเป็นการประท้วงโดยถาวรในแทบทุกเรื่อง ผู้ประท้วงแต่ละกลุ่มต่างก็มีความไม่พอใจในแบบของตัวเอง

แต่กระนั้นในบทความกล่าวว่า ผู้คนก็ยังคงมีลักษณะของการเรียกร้องร่วมกัน ผู้ชุมนุมก็มีลักษณะคล้ายกัน แบบการประท้วงที่เคยเกิดขึ้นในปี 1848, 1968 และ 1989 แม้ว่าการประท้วงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจะเกิดการรวมตัวอย่างรวดเร็ว ในยุคนี้มีความตื่นตัวของประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ และผู้ชุมนุมก็มักจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางธรรมดาๆ ไม่ใช่กลุ่มผลประโยชน์ที่มีข้อเรียกร้องเรียงกันเป็นรายการ พวกเขามีทั้งความสนุกสนานและความโกรธในการกล่าวประณามการทุจริต, ความไร้ประสิทธิภาพ และความจองหองของผู้บริหารประเทศ

ไม่มีใครรู้ว่าปรากฏการณ์ในปี 2013 จะเปลี่ยนโลกไปอย่างไรหรือแม้กระทั่งจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงหรือไม่ ในปี 1989 สหภาพโซเวียตคลอนแคลนและล่มสลาย แต่ในปี 1848 ที่มาร์กซ์ เชื่อว่าเป็นกระแสการปฏิวัติชนชั้นแรงงานครั้งแรกก็ต้องแปลกใจกับการเบ่งบานของระบบทุนนิยมในอีกหลายทศวรรษต่อมา และในปี 1968 ที่ดูเหมือนจะเป็นแนวถอนรากถอนโคนก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศมากกว่าเรื่องการเมือง แม้ว่าในตอนนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ปี 2013 จะนำไปสู่อะไร แต่สำหรับนักการเมืองที่พยายามใช้วิธีการแบบเก่านั้น มันไม่ใช่ข่าวดีเลย


จากโลกออนไลน์มาสู่ท้องถนน

จังหวะของการประท้วงถูกขับเคลื่อนด้วยความเร่งจากการพัฒนาเทคโนโลยี การที่หน้ากาก V ปรากฏขึ้นทั้งในบราซิลและตุรกีเป็นเพราะว่าการประท้วงมีการจัดตั้งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีทั้งการกระจายข้อมูลข่าวสาร การสนับสนุนให้เลียนแบบกัน และทำให้เกิดเป็นแฟชั่น คนที่มีสมาร์ทโฟนต่างก็เผยแพร่ข่าวสารแม้ว่าอาจจะไม่ใช่ข่าวสารที่น่าเชื่อถือเสมอไป เมื่อตำรวจจุดไฟเผาที่พักผู้ชุมนุมในสวนสาธารณะเกซีเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ในกรุงอิสตันบูล ข่าวเหตุการณ์นี้ก็ไปปรากฏในทวิตเตอร์ทันที หลังจากที่ชาวตุรกีพากันออกไปประท้วงบนท้องถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจก็มีการสุมไฟใส่ข่าวว่าผู้ประท้วงเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะมีบางเรื่องกลายเป็นเรื่องไม่จริง แต่มันก็ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นที่นิยมพูดถึงในการชุมนุมไปแล้ว

นอกจากนี้การประท้วงยังไม่ได้มาจากการจัดตั้งโดยสหภาพฯ หรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมา บางกรณีเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีเป้าหมายของตัวเอง เช่น กลุ่มที่ต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารในเซา เปาโล แต่เมื่อข่าวสารแพร่ออกไปเร็วมาก ทำมให้ประเด็นหลักๆ ของการประท้วงเปลี่ยนไป ซึ่งโดยตัวมันเองทำให้การประท้วงมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย แต่ขณะเดียวกันการขาดการจัดการก็ทำให้วาระในการชุมนุมดูไม่แน่ชัด การประท้วงในบราซิลกลายสภาพเป็นการกล่าวประณามทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นไปจนถึงบริการสาธารณะ หรือในบัลแกเรียเมื่อรัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมด้วยการยกเลิกการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายความมั่นคงคนใหม่ แต่มวลชนก็ไม่ฟังรัฐบาลแล้ว

บรรยากาศของนักกิจกรรมเช่นนี้อาจจะหายไปเร็วเท่ากับตอนที่มันเกิดขึ้นซึ่งเป็นชะตากรรมเดียวกับกลุ่มผู้ประท้วง Occupy ที่เคยปักหลักชุมนุมในหลายๆ เมืองของสหรัฐฯ เมื่อปี 2011 อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ผู้ประท้วงมีความรู้สึกไม่พอใจอย่างลึกซึ่งจากที่เคยถูกกระทำมา ในอียิปต์มีความผิดพลาดร้ายแรงเกิดขึ้นในรัฐบาลทุกระดับทำให้การประท้วงในอียิปต์กลายเป็นการต้านรัฐบาล ขณะที่ในยุโรปเป็นเรื่องของการต่อสู้กับการลดรายจ่ายด้านงบประมาณ โดยทุกครั้งที่มีการตัดงบประมาณครั้งใหม่ เช่นล่าสุดคือสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของกรีซ ก็จะทำให้เกิดการประท้วงขึ้นอีกครั้ง

ในบางครั้งเหตุการณ์ก็มาจากความรู้สึกถูกกีดกันจากทรัพยากรความมั่งคั่งรอบตัว เช่นการก่อจลาจลของกลุ่มผู้อพยพในย่านชานเมืองของสวีเดนเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา หรือเหตุการณ์จลาจลโดยกลุ่มวัยรุ่นอังกฤษในปี 2011 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยว่าสวีเดนมีอัตราการว่างงานของเยาวชนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานทั่วไป กลุ่มวัยรุ่นในอังกฤษก็ได้รับการศึกษาที่แย่และมีการเปรียบเทียบสถานะ

เมื่อเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตดีขึ้นทำให้ผู้คนคาดหวังว่าคุณภาพชีวิตของตนจะได้รับการพัฒนาชึ้นด้วย ความมั่งคั่งนี้จะถูกนำไปใช้กับบริการสาธารณะและในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมเช่นในบราซิลก็จะลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน แต่ในตอนนี้การพัฒนาทางเศรษฐกิจกำลังอยู่ในอันตราย อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของบราซิลลดลงจากร้อยละ 7.5 ในปี 2010 เหลือ ร้อยละ 0,9 ในปี 2012 ในอินโดนีเซียซึ่ง GDP ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 5,000 ดอลลาร์ (ราว 150,000 บาท) ต่อหัว การขึ้นราคาเชื้อเพลิงก็ทำให้ครอบครัวคนธรรมดาทั่วไปรู้สึกสูญเสีย

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของความคาดหวังทางการเมืองจากกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเมื่อปลายปีที่ผ่านมามีกลุ่มเยาวชนผู้มีการศึกษาในอินเดียมากันออกมาเดินขบวนในหลายๆ เมืองหลังเกิดเหตุข่มขืนหมู่นักศึกษาแพทย์วัย 23 ปี พวกเขาประท้วงที่รัฐไม่มีการคุ้มครองผู้หญิงที่ดีพอ ในช่วงปี 2011 ก็มีการประท้วงใหญ่กว่าเมื่อเหล่าชนชั้นกลางลุกขึ้นต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกระดับ

The Economist เปิดเผยข้อมูลว่าประเทศตุรกีมีนักศึกษาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ตั่งแต่ปี 1995 ชนชั้นกลางหนุ่มสาวเหล่านี้รู้สึกต่อต้านแนวคิดอนุรักษ์นิยมเชิงศาสนาของนายกฯ เรเซป ตอย์ยิป เออร์โดแกน ผู้สนับสนุนการอยู่แบบครอบครัวใหญ่และมีการควบคุมแอลกอฮอล ขณะที่ประชาชน 40 ล้านคนในบราซิลที่ตะเกียกตะกายออกมาจากความยากจนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาก็เริ่มทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการใช้เงินภาษี พวกเขาต่างต้องการบริการสาธารณะ แต่กลับได้รับสนามกีฬาที่ราคาสูงเกินจริงมาแทน


เผด็จการต้องจ่ายแพงกว่า

เมื่อถามว่าแล้วการประท้วงในปีนี้จะจบลงอย่างไร หากตอบแบบมองโลกในแง่ร้ายก็คือประชาธิปไตยจะยากขึ้น เมื่อการพยายามแบ่งสรรคทรัพยากรให้กลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มคงยุ่งยากขึ้นหากมีการประท้วงตามท้องถนนในอีกไม่กี่วัน นั่นหมายความว่าในเขตยุโรปจะร้อนระอุขึ้นช่วงฤดูร้อนนี้ จนถึงบัดนี้นักการเมืองในยุโรปยังสามารถหาทางบ่ายเบี่ยงได้อยู่ (เช่นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในปารีสมาจากกลุ่ม "Frigide Barjot" ซึ่งเป็นกลุ่มคาโธลิกที่ประท้วงต่อต้านการแต่งงานของเกย์) แต่ไม่ว่ารายจ่ายสาธารณะลดลงต่ำกว่า GDP ร้อยละ 5 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า การขาดเสถียรภาพทางสังคมจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในจุดๆ หนึ่งเหล่าผู้นำในยุโรปก็จะเริ่มตัดงบประมาณที่ใช้จ่ายมากเกินไปสวัสดิการสังคมและต้องเผชิญความอ่อนแอของสถาบันของยุโรป แล้วความวุ่นวายจะตามมา

แต่โชคดีที่ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เก่งในการปรับตัว เมื่อนักการเมืองยอมรับว่าประชาชนต้องการสิ่งที่ดีขึ้น และผลโหวตก็ทำให้พวกเขาพอใจ สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปได้ เช่นการประท้วงการทุจริตในอินเดียก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยทันที แต่พวกเขาได้สร้างวาระร่วมกันของชาติขึ้นมา ทำให้มีคำสัญญาว่าจะมีการปฏิรูปในด้านนี้ ส่วนในบราซิล ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟ ก็ต้องการให้มีการอภิปรายระดับชาติในเรื่องการปฏิรูปการเมือง เรื่องนี้ไม่ได้มาอย่างรวดเร็วหรือง่ายดาย แต่การประท้วงก็ช่วยพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นได้ แม้กระทั่งกับสหภาพยุโรปเอง

แม้ว่าบางคนในประเทศประชาธิปไตยอาจอิจฉาที่เหล่าเผด็จการมีอำนาจในการยับยั้งการชุมนุมประท้วงได้ ในจีนประสบความสำเร็จด้วยการป้องกันไม่ให้การประท้วงระดับท้องถิ่นขยายตัวเป็นการประท้วงระดับชาติ ซาอุดิอาร์เบียใช้วิธีการติดสินบนผู้ต่อต้านให้เงียบลง ในรัสเซียใช้การข่มเหงด้วยการขู่จ่ายค่าปรับและจับเข้าคุก แต่ในระยะยาวกลุ่มเผด็จการอาจต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงกว่า การกำลังขับไล่ผู้คนออกจากท้องถนนจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งเออร์โดแกนน่าจะรู้ในเรื่องนี้ และเช่นที่รัฐบาลอาหรับได้เรียนรู้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ระบอบเผด็จการไม่เหลือช่องทางให้ผู้ประท้วงได้ระบายความโกรธแค้น ผู้นำของจีน รัสเซีย และซาอุฯ ก็คงรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างเมื่อได้เห็นการต่อสู้ของเหล่าประเทศประชาธิปไตยในปี 2013

เรียบเรียงจาก

The march of protest, The Economist, 29-06-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้สหรัฐอเมริกาต้องไม่ไล่ล่าเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน

Posted: 29 Jun 2013 04:29 AM PDT

29 มิ.ย. 56 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่านายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงความลับของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) มีความเสี่ยงที่ถูกปฎิบัติอย่างทารุณหากเขาถูกส่งตัวข้ามแดนสู่สหรัฐอเมริกา จึงเรียกร้องสหรัฐอเมริกาต้องไม่ดำเนินคดีกับใครก็ตามที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล  หลังจากกรณีนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ถูกตั้งข้อกล่าวหาภายใต้กฎหมายจารกรรม

วิดนีย์ บราวน์ (Widney Brown) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกฎหมายและนโยบายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายใดก็ตามสำหรับการเปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวควรได้รับความคุ้มครองภายใต้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออก

"เขาถูกตั้งข้อหาโดยรัฐบาลสหรัฐสำหรับการเปิดโปงรัฐบาลและการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ ของรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน"

อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) กำลังหนีหลังจากออกมาเปิดเผยว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังสร้างกลไกสอดแนมขนาดมหึมาทั้งภายในประเทศและทั่วโลก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556 สโนว์เดนถูกฟ้องร้องข้อหาขโมยทรัพย์สินรัฐบาลจากการนำรายละเอียดโครงการลับสุดยอดมาเปิดเผยผ่านสื่อ มีรายงานว่าเห็นเขาครั้งสุดท้ายในกรุงมอสโกของรัสเซีย และกำลังจะขอลี้ภัยในเอกวาดอร์

เจ้าหน้าที่สหรัฐรวมทั้งเลขานุการของนายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ประณามสโนว์เดนผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐว่าเป็น "คนทรยศต่อประเทศชาติ"

นอกจากการยื่นฟ้องสโนว์เดนแล้ว รัฐบาลสหรัฐยังได้เพิกถอนหนังสือเดินทางของเขา  ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทางและแสวงหาที่พักพิง

ตามรายงานของสื่อ สโนว์เดนมีเป้าหมายที่จะแสวงหาที่ลี้ภัยในเอกวาดอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปประเทศสหรัฐอเมริกา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้แจงว่าบุคคลจะต้องไม่ถูกส่งตัวข้ามแดนในขณะที่พวกเขามีการร้องขอลี้ภัยในประเทศใดๆ ก็ตาม

"ไม่ว่าสโนว์เดนจะตัดสินใจไปที่ใด เขามีสิทธิที่จะแสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัย คำขอดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ เมื่อเขาแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวที่จะถูกทำร้ายและสังหาร แต่ถึงแม้ว่าคำขอดังกล่าวจะล้มเหลว ก็จะต้องไม่มีประเทศใดที่ส่งตัวเขาข้ามแดนเพื่อกลับไปยังอีกประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงจะถูกปฎิบัติอย่างทารุณ การส่งตัวเขากลับไปยังสหรัฐอเมริกาจะทำให้เขามีความเสี่ยงอย่างมากในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่ง" บราวน์กล่าวทิ้งทาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานเผยรายจ่ายจากเงินภาษีประชาชนของเจ้าชายชาร์ลส์ลดลง 48%

Posted: 29 Jun 2013 04:16 AM PDT

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ว่า เงินกองทุนสาธารณะสำหรับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ลดลงจาก 2.2 ล้านปอนด์ เหลือ 1.2 ล้านปอนด์ หรือลดลงร้อยละ 48 ในปีงบประมาณ 2555-2556 โดยอ้างข้อมูลจากรายงานประจำปีของมกุฎราชกุมาร
 
งบที่ลดลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากประเทศที่พระองค์เสด็จไปเยือน โดยรายงานรายรับรายจ่ายประจำปีเปิดเผยว่ารายได้ทั้งหมดของเข้าฟ้าชายชาร์ลส์ทั้งปี เท่ากับ 20.2 ล้านปอนด์
 
ส่วนรายรับส่วนพระองค์ที่มาจากดัชชี ออฟ คอร์นวอลล์ เป็นหน่วยงานจัดการที่ดิน ทรัพย์สิน และการลงทุนทางการเงินของชาร์ลส์ เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 4 คิดเป็น 19 ล้านปอนด์ โดยบีบีซีรายงานว่า กว่าครึ่งของรายได้ของพระองค์ที่หักภาษีแล้ว ถูกใช้ไปกับภารกิจทางการและมูลนิธิการกุศลต่างๆ 
 
ในปีงบประมาณ 2554-2555 รายรับของพระองค์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ก่อนจะลดลงร้อยละ 48 ในปีนี้ 
 
พระองค์ได้จัดสรรงบประมาณ 11 ล้านปอนด์ เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นทางการ และอีก 2.5 ล้านปอนด์เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จ่ายภาษีเป็นจำนวน 4.4 ล้านปอนด์ด้วยในปีนี้ 
 
รายงานระบุว่า พระองค์ทรงจ้างเจ้าหน้าที่ทั้งหมดอย่างน้อย 148 คน คิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 6.3 ล้านปอนด์ต่อปี ในจำนวนนี้รวมถึงเชฟ คนรับใช้ส่วนตัว ชาวสวน และอีกเจ้าหน้าที่อีก 125 คนเพื่อทำงานในส่วนของภารกิจที่เป็นทางการและงานการกุศล 
 
"ในปี 2555-2556 เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงกระทำภารกิจเป็นจำนวน 657 ภารกิจที่เป็นทางการ ในจำนวนนี้มี 154 ภารกิจในต่างประเทศ ส่วนดัชเชส ออฟ คอร์นวอลล์ทรงกระทำภารกิจ 277 ภารกิจ ในจำนวนนี้คิดเป็นภารกิจในต่างประเทศ 122 ครั้ง" รายงานประจำปีของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ระบุ 
 
รายงานของพระราชวังบัคกิงแฮมซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เปิดเผยว่างบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรให้ราชวงศ์เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1 ล้านปอนด์ เป็น 33.3 ล้านปอนด์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา
 
ส่วนงบประมาณสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก 9 แสนปอนด์ในปีงบประมาณปีล่าสุด 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลาสเวกัส : การบริหารจัดการการพนัน & จริยธรรม

Posted: 28 Jun 2013 09:36 PM PDT

10 กว่าปีที่สัมผัสลาสเวกัส (รัฐเนวาดา) ทำให้ผมได้เห็นอะไรต่างๆเกี่ยวกับการบริหารจัดการอบายมุขของเมืองนี้พอสมควร

จากความเชื่อภายใต้กรอบของทุน(นิยม)ของการจัดการแบบอเมริกัน ซึ่งบัดนี้ความเชื่อดังกล่าวได้กระจายออกไปทั่วโลก ในชื่อ "ทุนเสรี" ซึ่งหมายถึงการทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยทุน และเมริกันทั้งเอกชนทั้งรัฐบาลพยายามทำความเชื่อนี้ให้เป็นจริงอยู่เสมอเป็นเวลาเกินกว่าศตวรรษ

หนึ่งในกิจกรรม เหล่านี้ ได้แก่  ความเชื่อในเรื่องการบริหารจัดการด้านอบายมุข ที่ผมมองว่า ลาสเวกัส คือ เมืองต้นแบบ ให้กับเมืองหลายเมืองในอเมริกา เช่น นิวออร์ลีน แอตแลนติกซิตี้  ฯลฯ และเมืองอีกหลายเมืองในโลก เช่น มาเก๊า(จีน) แคนติ้ง(มาเลเซีย) และสถานคาสิโนในประเทศเพื่อนบ้านของไทยเกือบทุกที่

อบายมุข อย่างเช่น การพนัน เหล้า และอื่นๆ ถูกนำมาแปรเปลี่ยนเป็นกิจกรรมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขทางด้านกฎหมาย ที่สำคัญ คือ มีการจำกัดพื้นที่ในส่วนของการพนัน

กรณีของลาสเวกัส  น้ำหนักย่อมหมายถึง ธุรกิจบ่อน เมืองนี้เริ่มทำการธุรกิจบ่อน(คาสิโน) ในปี 1931 เรื่อยมาจนเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เป็นเมืองที่มีพัฒนาการตลอดมา ในเชิงของการปรับตัวให้เข้ากับกระแสสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสถานการณ์ความเป็นไปของโลก

บรรยากาศกลิ่นอายลาสเวกัสเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับลาสเวกัส ณ วันนี้  จึงแตกต่างกัน ขณะที่เมื่อก่อน ลาสเวกัส เป็นเมืองที่ให้น้ำหนักในด้านบ่อนหรือการพนัน แต่ปัจจุบันเมืองนี้ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมการประชุม(convention) ระดับโลกอีกเป็นจำนวนมาก

พูดกันว่า ในระบบการพนัน ไม่ว่ากิจกรรมอะไรก็ตาม สามารถนับหรือนำมาเป็นกิจกรรมด้านพนันได้หมด  แม้ลาสเวกัสอาจไม่ได้ตรงกับคำพูดที่ว่าทั้งหมด หากแต่กิจกรรมการพนันหลายอย่างก็ถูกรวบรวมไว้ที่นี่ ทั้งการพนันในอาคารบ่อนและนอกอาคารบ่อนจำพวก สปอร์ตบุ๊ค การแข่งกีฬาต่างๆ ไล่ตั้งแต่แข่งม้า จนถึงแข่งรถ แข่งฯลฯ

ผู้คนจำนวนมากเดินทางมายังเมืองนี้ เพื่อเข้าร่วมเหตุการณ์เฉพาะคราวในช่วงของการจัดกิจกรรมการแข่งขัน เมื่อพวกเขาเดินทางกลับก็ทิ้งสถานที่บางแห่งนอกเมืองลาสเวกัส ให้อยู่เวิ้งว้างแบบซาดิสม์ต่อไป สถานที่นั้นๆก็จะเงียบ จนกว่ากิจกรรมประจำปีจะวนกลับมาใหม่

ในบรรยากาศแบบทะเลทราย (โมฮาเว่) ดูไปแล้ว เหมือนผู้คนตกในสถานการณ์เวิ้งว้างแบบซาดิสม์ เงียบ ร้อน หนาว น้ำแข็ง ลม และฝุ่นดิน เว้นในอาคารบ่อน ที่ทำงานกัน 7 วัน 24 ชั่วโมง

ธุรกิจบ่อนของลาสเวกัสกำกับโดยคณะกรรมการกำกับการพนันของรัฐเนวาดา (Nevada Gaming Control Board) ซึ่งมีหน้าที่ในการคอยดูแลกิจกรรมการพนันให้เป็นตามระเบียบภายใต้กฎหมายของรัฐเนวาดา และคณะกรรมการชุดเดียวกันนี้ต่อมา มีบทบาทในการจัดทำระบบบ่อนทั่วโลก โดยใช้มาตรฐานของรัฐเนวาดาเป็นเกณฑ์ อย่างเช่น บ่อนที่มาเก๊า คณะกรรมการกำกับการพนันของรัฐเนวาด้าก็ไปเซ็ตระบบให้เหมือนกัน ทั้งดูเหมือนมาเก๊า จะจำลองระบบบ่อนของลาสเวกัสไปใช้เกือบทั้งหมด ต่อมามีเจ้าของบ่อนในลาสเวกัสทะยอยไปเปิดกิจการในมาเก๊ากันจำนวนมาก  ที่เห็นก็อย่างสตีฟ วินน์  (Steve Wynn)เจ้าของวินน์รีสอร์ตและคาสิโน รวมถึง นักลงทุนในกลุ่ม Las Vegas Sands Corporation เจ้าของคาสิโนและโรงแรมเวเนเชียน นำโดย นักธุกิจใหญ่ เชลดอน อเดลสัน(Sheldon Adelson)  

เมื่อผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ นักการเมืองท้องถิ่น และคนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับบ่อน ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับรัฐ ความคิดในการบริหารจัดการบ่อนในระดับนโยบายเปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยผู้ที่มีเสียงสำคัญ มาจาก 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายบ่อนกับฝ่ายประชาชน และเป็นสองฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับจากธุรกิจบ่อนโดยตรง

เมืองลาสเวกัสถูกพัฒนามาไกล จากเดิมที่ต้องการให้บ่อนและอบายมุขด้านอื่นๆ เช่น โสเภณี เป็นตัวกระตุ้นในการสร้างสรรค์ ความเจริญด้านวัตถุ และโสเภณีเอง ก็เป็นอีกหมวดหนึ่งของอบายมุข "ซ่อง"ถูกกำหนดให้เป็นธุรกิจระบบกฎหมาย แต่ไม่ใช่ในคลาร์คเค้าน์ตี้  ซึ่งเป็นเค้าน์ตี้ที่เมืองลาสเวกัสตั้งอยู่ ซ่องที่ถูกกฎหมายตั้งอยู่ที่ ไนเค้าน์ตี้ ติดกับคลาร์คเค้าน์ตี้)

รายได้จากบ่อนจำนวนมาก ถูกนำไปใช้ในการอุดหนุนการศึกษาของรัฐและพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ที่กำหนดสัดส่วนโดยกฎหมายท้องถิ่น รวมทั้งมีการกำหนดโซนนิ่งต่างๆ ใช้ระเบียบบังคับเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชน เข้าไปยุ่งกับบ่อน ในขณะที่พวกเขาไม่บรรลุทั้งวุฒิภาวะและนิติภาวะ

คณะกรรมการกำกับบ่อนของเนวาดาทำงานกันอย่างเข้มงวด ถามว่าปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการพนันไหม คงต้องตอบว่า มีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการพนัน และให้การศึกษาที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน หรือ Nevada Council on Problem Gambling  ซึ่งทำหน้าที่เหมือนหน่วยงานในระดับชาติในการป้องและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการพนัน คือ National Council on Problem Gambling  

แต่เมื่อถามว่า ทำไมในรัฐเนวาดายังมีการพนันอยู่ แม้ว่าจะผ่านยุคของการก่อร่างสร้างเมือง และพัฒนาเมืองโดยอาศัยการพนันมาแล้ว พวกที่ทำงานในคณะกรรมการกำกับการพนันของเนวาดาอธิบายให้ฟัง ซึ่งผมขอสรุปเป็นข้อๆดังนี้ครับ

1. เมือง(อย่างลาสเวกัส) ยังต้องอาศัยการรายได้จากการพนันเป็นหลัก แม้ว่าจะมีรายได้จากส่วนอื่นๆ เช่น โรงแรม การจัดประชุม เพิ่มขึ้นก็ตาม ทั้งหมดเกื้อกูลต่อการรายได้และการมีงานทำของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น ที่ยังอิงกับธุรกิจบ่อนและธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

2.  เมืองถูกพัฒนาโดยรายได้ธุรกิจบ่อนและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสวัสดิการสังคม และด้านศึกษา โดยมีการนำรายได้ที่ได้จากการจ่ายภาษีบาปและการบริจาคของบ่อนในสัดส่วนที่สูงไปใช้เพื่อการดังกล่าว

3. นิสัยของผู้คน จำนวนมากชอบเล่นการพนัน สถานพนันสร้างแรงดึงดูดอย่างมหาศาลต่อผู้คนจำนวนมากทั่วโลกให้มาเยือนเมือง(ลาสเวกัสและเมืองอื่นๆ) ถึงอย่างไรคงไม่สามารถปฏิเสธ ความชื่นชอบการพนันของผู้คนไปได้ สำหรับคนที่ชอบเล่นการพนันนั้นอย่างไรเสียก็คงต้องเล่น ขณะที่คนที่ไม่ชอบการพนันก็ย่อมไม่เล่นไม่ว่าจะมีสถานพนันตั้งอยู่อย่างยั่วยวนเพียงใดก็ตาม

4. มีการวางกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดในการเล่นการพนัน  การป้องกันการโกง ระบบรักษาความปลอดภัย ภายในและภายนอกบ่อน

5. การเปิดสถานพนันตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อในแง่การแยกแยะด้านการบริหารจัดการธุรกิจกับเรื่องทางศีลธรรม และจริยธรรม ออกจากกัน เรื่องธุรกิจ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องทางด้านศีลธรรมและจริยธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตามหลักการแบ่งแยกหน้าที่ ตามนโยบายของรัฐ เช่น หน่วยงานที่กำกับและดูแลสถานพนัน(หรืออบายมุขอื่นๆ) ก็ทำหน้าที่ไป ขณะที่หน่วยงานด้านส่งเสริมศีลธรรมและส่งเสริมการศึกษาที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนันก็ทำหน้าที่ของพวกเขาเช่นกัน 

อีกนัยหนึ่ง คือ รัฐมีหน้าที่เชิงการจัดการ(นโยบาย) ทั้งการควบคุมกำกับกฎกติกา กำกับสถานพนัน  กำกับผู้เล่น และกำกับผู้ที่ไม่สามารถเล่นได้ รวมถึงให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน  เช่น ชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของการพนันว่าเป็นอย่างไร

รัฐมีหน้าที่บริหารจัดการธุรกิจการพนันให้อยู่ในความเรียบร้อย  อยู่ในกฎกติกา เพื่อให้รัฐได้ผลประโยชน์ใน 2 ด้าน คือ ผลด้านรายได้เข้ารัฐและการสร้างงานสำหรับประชาชน ตามมติของเสียงส่วนใหญ่ที่มองว่าธุรกิจการพนัน เป็นเรื่องจำเป็นต่อความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจของประชาชนในรัฐเนวาดา

โดยเฉลี่ยแล้วเนวาด้า มีรายได้จากธุรกิจการพนันประมาณ 10,000 กว่าล้านดอลลาร์ ขณะที่ลาสเวกัสเมืองเดียว มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 6,000 กว่าล้านดอลลาร์ต่อปี

ในช่วงเศรษฐกิจอเมริกันตกต่ำ 4-5 ปีที่ผ่านมา เมืองการพนันอย่างลาสเวกัส เป็นเมืองหนึ่งของหลายเมืองในอเมริกาที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซา

สำหรับกรณีของลาสเวกัส ความจริงต้นเหตุไม่ได้มาจากการพนัน แต่มาจากการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (subprime  crisis) พวกที่ทำงานอยู่ในคณะกรรมการกำกับการพนันของรัฐเนวาดาเลยพากันสรุปว่า การพนันไม่มีวันตายและพวกเขาต้องทำงานอย่างเข้มแข็งในการดูแลบ่อนต่อไป  

ทั้งพวกเขายังมองว่า การบริหารจัดการบ่อนกับประเด็นจริยธรรม ศีลธรรม เป็นคนละเรื่องกัน เพียงแต่ที่เหมือนกันคือ ต้องอาศัยการบริหารจัดการโดยรัฐทั้งคู่

เพราะมาตรฐานของการบริหารจัดการของรัฐนั่นเอง คือ แบบแผนด้านจริยธรรม โดยประชาชน(ผู้มีสิทธิโหวต)ไม่จำเป็นต้องใส่หัวข้อด้านจริยธรรมไว้ในธรรมนูญการบริหารจัดการของรัฐก็ได้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น