ประชาไท | Prachatai3.info |
- คนงานอินเดียถูกจับหลังประท้วงหน้าโรงงาน 'โนเกียซีเมนส์'
- ไต่สวนการตาย ‘ถวิล’ ศพแรก 19 พ.ค. ‘3นายพัน’ เบิกยันไม่มีการใช้กระสุนจริง
- ผู้เขียน "นายใน" ระบุต้องการอธิบายเชิงวิชาการ แทนการปล่อยให้คลุมเครือ
- เกร็ดจาก BBC เรื่องการเดินทางโดยปราศจากหนังสือเดินทาง
- คนไทยป่วยทางจิตเพิ่ม-คลั่งเฉียดสองหมื่นในรอบปี
- เหลือเชื่อผังเมืองในไทย 190 ผัง หมดอายุไปแล้ว 95 ผัง
- นายกฯ สั่ง กขช.ทบทวนลดวงเงินจำนำข้าว หลังตัวแทนชาวนาบุกยื่นหนังสือค้าน
- กลยุทธ์การปรับตัวของชาวนาผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญา
- เจ้ายอดศึกแถลงสรุปการเยือนพม่า เสนอคนไทใหญ่ควรมีส่วนร่วมปกครองรัฐฉาน
- ปัญหาหมอกควันบรูไนสะท้อนถึงอาเซียน
- รัฐศาสตร์ชุมนุม เปิดหลากโจทย์เก่า-ใหม่ สังคมการเมืองไทย
คนงานอินเดียถูกจับหลังประท้วงหน้าโรงงาน 'โนเกียซีเมนส์' Posted: 25 Jun 2013 12:42 PM PDT การเจรจาประนีประนอมระหว่างบริษัทโนเกียซีเมนส์ (Nokia Siemens) และคนงานไม่ประสบผลสำเร็จ คนงาน 93 ราย ถูกตำรวจจับ ระหว่างการประท้วงหน้าโรงงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) ที่เมืองเชนไน (Chennai) ประเทศอินเดีย การประท้วงของคนงานบริษัทโนเกียซีเมนส์เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. หลังจากที่ข้อเสนอ 2 ข้อของคนงานถูกปฏิเสธ ได้แก่ ข้อ 1 การคืนสิทธิให้แก่คนงาน 5 ราย ที่ถูกเลิกจ้าง ข้อ 2 และต้องให้คนงาน 5 รายนี้เซ็นสัญญาค่าจ้างใหม่ และสามารถเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานด้วย "เราทำงานกับตัวแทนของคนงานที่โรงงานในเมืองเชนไน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นเองเราต้องกระตุ้นให้มีการใช้มาตรการที่มีเหตุมีผล ตามลำดับขั้นตอนและกฏหมาย เราให้คำมั่นว่าผู้ถือหุ้นในโรงงานนี้สนับสนุนด้านความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้ทางโรงงานยังคงเดินหน้าประกอบกิจการต่อไป" นี่ถือเป็นการประท้วงครั้งที่ 3 ในรอบปีของโรงงานโนเกียซีเมนส์ ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ. และครั้งต่อมาในเดือน เม.ย. สำหรับการเรียกร้องค่าจ้างที่มากขึ้น ประเด็นเรื่องค่าจ้างนี้เกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายการจัดการปฏิเสธคนงานไม่ให้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน หลังการประท้วงในเดือน เม.ย. ทางโนเกียซีเมนส์ลอยแพคนงาน 73 ราย หลังจากนั้นคนงาน 55 รายสามารถกลับเข้าไปทำงาน และตามด้วยคนงานอีก 13 รายที่เข้าไปทำงาน ส่วนคนงานที่เหลืออีก 2 ราย ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ เนื่องจากคนหนึ่งฆ่าตัวตาย และอีกคนหนึ่งลาออกไปเสียก่อน ทั้งนี้การประท้วงรอบปัจจุบันเป็นการประท้วงของคนงาน 5 ราย ที่ต้องการเข้าไปทำงานใหม่ เจ้าหน้าที่ของโนเกียซีเมนส์เผยว่ามีโอกาสน้อยมาก หรือไม่มีเลยในการเซ็นสัญญารอบใหม่ของคนงาน 5 ราย เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ต่อต้านบริษัทซึ่งถือว่าเป็นการไร้ระเบียบวินัยอย่างมาก ขณะเดียวกันความสามารถในการผลิตของบริษัทก็ช้าลง และการประท้วงเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะให้ผลดีหรือผลร้ายต่อคนงาน ที่มา: http://timesofindia.indiatimes.com/business/india-business/93-held-as-strike-at-Nokia-Siemens-factory-continues/articleshow/20710132.cms ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไต่สวนการตาย ‘ถวิล’ ศพแรก 19 พ.ค. ‘3นายพัน’ เบิกยันไม่มีการใช้กระสุนจริง Posted: 25 Jun 2013 11:56 AM PDT 24 มิ.ย.56 ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลอาญา รัชดา นัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต คดีหมายเลขดำที่ อช.3/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนการเสียชีวิตของ นายถวิล คำมูล อายุ 38 ปี อาชีพรับจ้าง แนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ถูกกระสุนปืนลูกโดดที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำให้เนื้อสมองฉีกขาดมากชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร สมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในวันนี้อัยการได้นำพยานจำนวน 3 ปาก ประกอบด้วย พ.อ.โกญจนาท ธูปเทียนรัตน์ เสนาธิการกรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์, พ.ท.ณัฐพงศ์ บัวจันทร์ รองเสนาธิการ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, พ.ท.จิรภัทร เศวตเศรณี หัวหน้าฝ่ายส่งกำลังบำรุง กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ขึ้นเบิกความสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ขณะนั้นพยานทั้งสามซึ่งเป็นผู้นำหน่วยทหาร ได้นำกำลังทหารขอคือพื้นที่จากกลุ่ม นปช. บริเวณถนนวิทยุและอาคารเคี่ยนหงวน ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ซึ่งจากการตรวจสอบภายในอาคารเคี่ยนหงวนพบกลุ่มผู้ต้องสงสัยประมาณ 10-20 คน จึงได้ตรวจค้นภายในตัวไม่พบอาวุธ แต่จากการตรวจสอบภายในอาคารพบอาวุธปืนเอ็ม 16 และ HK ประมาณ 3 กระบอก จึงได้นำตัวผู้ต้องสงสัยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี จากนั้นเป็นเรื่องของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ พยานเบิกความด้วยว่าทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธ แต่ไม่ทราบฝ่ายอยู่ในพื้นที่บริเวณสวนลุมพินีด้วย ทั้งนี้จุดที่พยานได้นำกองกำลังทหารเคลื่อนพลนั้นไม่ได้มีเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด และยืนยันว่าการปฏิบัติการดังกล่าวทหารใช้เพียงอาวุธปืนลูกซองและกระสุนยางโดยการยิงขึ้นฟ้าขู่ผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่มีการใช้กระสุนปืนจริงแต่อย่างใด อีกทั้งการใช้กระสุนจริงจะต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นก่อน ส่วนปฏิบัติการกระชับพื้นที่ 19 พ.ค. นั้น พยานไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิต แต่ได้รับทราบจากข่าวสารในเวลาต่อมา ภายหลังพยานเบิกความแล้วเสร็จ ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 29 ก.ค. นี้ เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดี มีเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 20 นาย ได้เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนและมาให้กำลังใจผู้บังคับบัญชา แต่ไม่มีญาติฝ่ายผู้เสียชีวิตเข้าฟังการไต่สวนแต่อย่างใด ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต กล่าวว่า สำหรับการไต่สวนนัดนี้เป็นนัดที่ 2 ซึ่งอัยการได้นำเจ้าหน้าที่ทหารผู้นำหน่วยในการกระชับพื้นที่บริเวณถนนวิทยุและอาคารเคี่ยนหงวน ขึ้นเบิกความ แต่พยานไม่ได้อยู่บนถนนสารสินจึงไม่เห็นผู้ตายและไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ค่อยมีผลต่อรูปคดีมากเท่าใด สำหรับถวิล คำมูล เขาถูกยิงเวลาประมาณ 7.30 น. วันที่ 19 พ.ค.53 บริเวณป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ใกล้สี่แยกศาลาแดงถนนราชดำริ ถือเป็นศพแรกของวันที่ 19 พ.ค.53 โดยผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือหลายคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส(คลิกดูอัลบั้มภาพชุดเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ "หงส์ศาลาแดง" และ คลิกดูภาพเคลื่อนไหว ) แต่ก็ไม่มีใครนำร่างถวิลไปส่งโรงพยาบาลได้ จนกระทั่งถูกหน่วยกู้ชีพที่มากับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาทางศาลลาแดงนำร่างไป พร้อมกับร่างของชายไม่ทราบชื่อถอดเสื้อนอนเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะบริเวณเต๊นท์ผู้ชุมนุมใกล้ร่างของถวิล (คลิกอ่านเรื่องของชายไม่ทราบชื่อ) โดยขณะเกิดเหตุทหารกำลังเข้าพื้นที่ดังกล่าวอย่างน้อย 2 ทาง คือ บริเวณแยกศาลาแดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลไปทางด้านหลังป้ายแท็กซี่อัจฉริยะนั้น และทางด้านสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ทางซ้ายของภาพ
ภาพ : ถวิล คำมูลก่อนและหลังถูกยิง ภาพโดย หงส์ศาลาแดง ทั้งนี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อรัฐสภากรณีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 ว่าชายดังกล่าวเสียชีวิตก่อนหน้าการปฏิบัติการของทหารเนื่องจากเลือดได้แห้งหมดแล้ว โดยนายสุเทพ ระบุว่า ".. มีคนเสียชีวิตจริงๆ 6 คน นับรวมคนที่เสียชีวิตมาก่อนตอนที่เราเข้าไปถึงตอน 7-8 โมงเช้า เห็นนอนอยู่แล้ว ที่ข้างเต๊นท์ที่สวนลุมพินีเลือดแห้งหมดแล้ว 2 คนด้วย.." (คลิกดูวิดีโอคลิปอภิปรายดังกล่าวในนาทีที่ 1.25.12 ประกอบ) ถวิล ถูกยิงก่อนหน้าที่นายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี จะถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งในคดีนายฟาบิโอนั้น เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสังว่าเขาเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ (คลิกคำสั่งชันสูตรพลิกศพ นายฟาบิโอ โปเลงกีคดีหมายเลขดำที่ ช.10/2555) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้เขียน "นายใน" ระบุต้องการอธิบายเชิงวิชาการ แทนการปล่อยให้คลุมเครือ Posted: 25 Jun 2013 11:43 AM PDT "วิพากษ์นายใน" ที่ Book Re:public "ชานันท์ ยอดหงษ์" ระบุสาเหตุที่ค้นคว้าก็เพื่ออธิบายเชิงวิชาการแทนเรื่องนินทา หรือปล่อยให้คลุมเครือจนเลยเถิด ด้านศิษย์เก่าวชิราวุธแลกเปลี่ยนด้วยโดยเห็นว่าพอรับได้หาก "นายใน" อยู่ในกองหนังสือซุบซิบ แต่เสียใจที่ธรรมศาสตร์ที่ทำให้เรื่องซุบซิบกลายเป็นวิทยานิพนธ์ ด้าน "วรชาติ มีชูบท" วิจารณ์ผู้เขียนตัดตอนตีความพระราชดำรัส ร.6 - ส่วนมหาดเล็กนวดถวายถือเป็นปกติของราชสำนักมาแต่โบราณ 22 มิ.ย.56 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาหนังสือ (Book Talk) ในหัวข้อ "วิพากษ์นายใน" โดยมีวิทยากรคือ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "นายใน สมัยรัชกาลที่ 6" และดำเนินรายการโดยอรรถวุฒิ บุญยวง สำหรับบรรยากาศในงานเสวนามีผู้ร่วมฟังมากกว่า 60 คน และมีอดีตศิษย์เก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเดินทางมาร่วมฟังเสวนาราว 20 คน ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสในเฟซบุ้คให้ศิษย์เก่าของโรงเรียนได้ร่วมกันคัดค้านมุมมองต่อรัชกาลที่ 6 ของหนังสือเล่มนี้ ในช่วงต้นการเสวนา ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ ได้นำเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ในชื่อ "นายใน/รอยัล อิเม "จิ้น" คอมมิวนิตี้: นัยแห่งวรรณกรรม วัฒนธรรมป๊อบและมุมมองวิชาการ" โดยเผยแพร่ลงในประชาไทเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. แล้วนั้น (อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง) 000 ในช่วงต่อมา ชานันท์ ยอดหงษ์ ได้อภิปรายต่อจากภิญญพันธุ์ โดยกล่าวว่า วรรณกรรมเป็นมรณกรรมของผู้ประพันธ์อยู่แล้ว เมื่อหนังสือวางอยู่บนแผง ผู้อ่านสามารถจะหยิบมาวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ได้ และตนก็ยินดีรับฟัง และโดยส่วนตัวคิดว่างานวิชาการทางประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องของการมาหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นการวิเคราะห์ตีความโดยผ่านแว่น มุมมอง และทฤษฎีต่างๆ ที่หลากหลายโดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่ มิเช่นนั้นความรู้ทางประวัติศาสตร์จะกลายเป็นสิ่งที่ดิ้นไม่ได้ ความรู้จะแบน กลายเป็นการท่องจำท่องบ่นเหมือนที่เราเรียนๆ กันอยู่ กลายเป็นเรื่องที่ตายไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อค้นคว้าข้อเท็จจริงว่าเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ มันก็ยังคงสำคัญอยู่ ชานันท์ได้แสดงความเห็นว่าตนให้ความสนใจปรากฏการณ์ภายหลังหนังสือนายใน (วางแผง) สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีหลายคนบอกว่าคนเขียนมีธงอยู่ก่อนแล้ว แล้วพยายามสร้างความชอบธรรมให้ธงหรือความคิดตนเองด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยต้องยอมรับว่าเราก็เคยได้ยินคำเล่าลือหรือข้อสงสัยกันมาเรื่องรัชกาลที่ 6 ท่านเป็น homo-sexuality หรือเปล่า คำร่ำลือนี้มันมีตั้งแต่สมัยก่อนที่ท่านยังไม่ขึ้นครองราชย์ด้วยซ้ำ ซึ่งตนก็เห็นว่าการที่จะเอาสิ่งที่เป็นการนินทาหรือการตัดสิน มาอธิบายในเชิงวิชาการจะดีกว่าไหม เพราะการที่จะปล่อยให้คลุมเครือไปมันก็อาจจะเลยเถิด การอธิบายในเชิงวิชาการที่จับต้องได้ชัดเจน ช่วยทำให้คนในรุ่นที่ยังอยู่ในปัจจุบันมองเห็นว่าอดีตเป็นอย่างไร ตัวตนของคนนั้นๆ เป็นอย่างไร ชานันท์กล่าวว่าสำนึกเกย์ในประเทศไทยมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะคำว่าเกย์ในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องเพศด้วยซ้ำ จึงน่าสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนคำว่าเกย์ในยุคนั้นมันเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ค้นพบ ถ้าอ่านในหนังสือคือมันเป็นความชายในรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่ความเป็นเกย์ ไม่ใช่ความเป็น homo-sexuality แต่เป็น masculine ในอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการมีธงนั้น ตนเห็นว่าทุกอย่างในการเขียนงานวิชาการมันจะต้องมีธงอยู่แล้ว จะต้องมีสมมติฐาน มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย รู้ว่าประเด็นอะไร เราจะได้รู้ว่าเราจะเลือกหยิบประเด็นอะไรมาใส่ในหนังสือ มาอธิบายอย่างไร ชานันท์กล่าวต่อว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีหนังสือนายใน ไม่ใช่ปัญหาเรื่อง Royalist แล้ว แต่เป็นปัญหาของ heterosexualism ในสังคมไทย เป็นปัญหาว่าสังคมเรายอมรับความหลากหลายทางเพศได้หรือไม่ โดยหนังสือไม่ได้บอกว่าใครเป็นเกย์หรืออะไร แต่บอกว่าพฤติการณ์และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในราชสำนักสมัยนั้น ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันอภิปรายแล้วด่วนสรุปว่าพระองค์เป็น homo-sexual โดยไม่ได้มองว่า homo-sexual ไม่ดี แต่ปรากฏการณ์ในปัจจุบันทำให้ตนตั้งคำถามกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศของสังคม การที่บุคคลสำคัญหรือใครที่เรายกย่องเป็นไอดอล เราเชิดชูเขา เขาจะเป็น homo-sexual ไม่ได้หรือ หรือเรากำลัง homophobia กำลังรังเกียจการรักเพศเดียวกันอยู่หรือไม่ อีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือคนที่วิพากษ์ยังไม่ได้วิพากษ์หนังสือโดดๆ แต่ผู้วิพากษ์ยังได้ไปศึกษาที่มาความรู้ ผู้ผลิตความรู้นั้น ว่าผู้เขียนเรียนที่ไหน ใครเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ตำแหน่งแห่งที่ของผู้เขียนเป็นอย่างไร อุดมการณ์ของผู้เขียนเป็นอย่างไร ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่าญาณวิทยา (epistemology) เป็นการตรวจสอบองค์ความรู้ แต่ก็มีการพูดถึงความเป็นเพศของผู้เขียนเอง โดยบางส่วนได้สะท้อนถึงตัวคนวิพากษ์ ที่ยังมีการ homophobia หรือรังเกียจการรักเพศเดียวกันอยู่ ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่าสิ่งที่เขาเชื่อและเคารพกำลังถูกสั่นคลอน แต่ปัญหาไม่ใช่เรื่องการสั่นคลอนบุคคลที่เคารพ แต่คือเรากำลังไม่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของคนที่เคารพหรือไม่ หนังสือเล่มนี้ รวมถึงหนังสือเล่มอื่นๆ เช่น ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เอง มันสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ ทำให้เราได้จับต้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่รัก สิ่งที่เราเทิดทูน "มันน่าเศร้ามากที่เราจะรักใครมาก แต่เราไม่ได้มองเขาเป็นมนุษย์เลย มองเขาเป็นเทพเจ้าหรือเป็นอะไรไป ทันทีที่เขาถูกอธิบายในฐานะมนุษย์ เรากลับรับไม่ได้ ทั้งที่เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน การเทิดทูนอะไรแบบนี้มันค่อนข้างสร้างปัญหาให้ตัวบุคคล ทั้งบุคคลที่ตายไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ เรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป" ชานันท์กล่าว 000 ด้านตัวแทนจากกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนวชิราวุธ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ผู้เขียนหนังสือยังอธิบายในแบบที่ได้ทำในหนังสือ คือแทนที่จะมองภาพกว้าง กลับไปหยิบจับเรื่องคนที่วิจารณ์ผู้เขียนในเรื่องเป็นตุ๊ดหรือเกย์ แต่ตนพูดได้เลยว่าไม่ได้คิดเรื่องนั้น ที่วชิราวุธ เรามีทั้งเพื่อนที่เป็นเกย์และตุ๊ดเยอะ ไม่ได้มีการรังเกียจและแบ่งแยก แต่ตนมองวรรณกรรมเรื่องนี้ คนที่ตนเสียใจที่สุดไม่ใช่ชานันท์ แต่ตนเสียใจกับธรรมศาสตร์ ที่ทำให้เรื่องซุบซิบกลายเป็นวิทยานิพนธ์ ถ้าเราไปตามร้านหนังสือ จะมีหนังสือทำนองที่ซุบซิบเยอะไปหมด เช่น สมเด็จพระเจ้าตากสินตายที่ไหน รัชกาลที่ 8 สวรรคตอย่างไร แต่หนังสือเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยม เราไม่รู้ว่าใครเขียนด้วยซ้ำ ถ้าชานันท์เขียนแบบนั้น คิดว่าก็คงไปกองอยู่ในเรื่องซุบซิบ เรื่องซุบซิบเรารับได้ แต่ประเด็นวันนี้คือเรื่องซุบซิบถูกทำให้เป็นมาตรฐาน เป็นสิ่งที่บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ เรามา เพราะเราอยากให้บันทึกด้วยว่าเราไม่เห็นด้วย ถ้าผ่านไปอีก 20-30 ปี สิ่งที่ชานันท์เขียนมันจะถูกได้รับการยอมรับโดยอัตโนมัติ และอย่าหยิบจับเฉพาะประเด็นเล็กๆ น้อยๆ อย่างในหนังสือเพียงสองสามบรรทัดก็ฟันธงว่ารัชกาลที่ 6 ไม่ชอบผู้หญิง ซึ่งง่ายไปหรือเปล่า เราแค่ไม่อยากให้เรื่องซุบซิบกลายเป็นวิทยานิพนธ์ อยากให้เข้าใจว่าเรามาเพื่ออะไร และตนเคยดูคลิปที่เสวนาเรื่องประวัติต้นรัชกาลที่ 6 แล้วรู้สึกเจ็บปวดที่เอาพระจริยาวัตรมานั่งถกกัน แล้วหัวเราะหัวใคร่กัน เรารู้สึกว่าเราจะได้อะไรจากตรงนี้ไหม ประเทศชาติจะเจริญขึ้นไหม ควรจะมี priority ของเรื่องที่ควรจะทำมากกว่านี้หรือไม่ ด้าน วรชาติ มีชูบท นักเรียนเก่าและอดีตอาจารย์ที่วชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งเข้าร่วมเสวนาด้วย ได้แสดงความเห็นโต้แย้งในเชิงข้อมูลหลายประการ เช่น กรณีที่อ้างอิงว่ารัชกาลที่ 6 ไม่ชอบทหาร ซึ่งปรากฏในวิทยานิพนธ์ฉบับหนึ่งที่พูดเรื่องเสือป่าด้วย ซึ่งเป็นการตัดตอนพระราชดำรัสมาแค่ 3-4 บรรทัด ถ้าอ่านบรรทัดต่อไป ซึ่งไม่ได้บอกว่าไม่ชอบทหาร หรือกรณีในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงเขียนเล่าถึงเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นคนในยุคเดียวกัน ฉะนั้นเรื่องบางเรื่องเป็นการย่นย่อ ไม่ได้ระบุรายละเอียดลงไปว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะเจ้าพระยารามฯ ทราบอยู่แล้ว หรือเรื่องการสร้างดุสิตธานี ซึ่งเป็นการเตรียมการสอนประชาธิปไตย และเน้นเรื่องการปกครองท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย แล้วจึงจะพัฒนาขึ้นสู่ระดับชาติ ขณะที่ 2475 เป็นการพัฒนาจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง หรือการที่มหาดเล็กต้องไปถูกต้องกายพระองค์ ซึ่งในรัชกาลก่อนๆ ไม่มี แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เวลาตามเสด็จหัวเมือง หรือเวลาตามเสด็จต่างประเทศ มหาดเล็กก็ต้องทำหน้าที่ฟอกสบู่พระองค์ หรือทำหน้าที่เป็นหมอนวด นวดถวาย เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติของราชสำนักไทยมาแต่โบราณ หรือที่เขียนในหนังสือในเรื่องฟุตบอล ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ไหนว่ามีการเล่นฟุตบอลโดยไม่สวมเสื้อ เพราะมีการสวมเสื้อมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 สาเหตุที่รัชกาลที่ 6 นำกีฬาฟุตบอลมาเผยแพร่ เพราะคนไทยเราถนัดแต่กีฬาประเภทบุคคล เพราะไม่รู้จักการทำงานเป็นทีม จึงนำเข้ามาใช้และเผยแพร่ในกองทหาร ทำให้ห้องขังของกองทหารมันว่างลง เพราะทหารเอาเวลาไปออกกำลังกายหมดแล้ว ไม่มีเวลามาตีหัวคน ซึ่งมีเยอะในช่วงก่อนหน้านั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นว่าปัญหาหนึ่งในหนังสือเล่มนี้คือไม่ได้ใช้หลักฐานชั้นต้นในการเขียน ข่าวลือต่างๆ มันมีเยอะมาก การตีความบางอย่าง จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการตีความบนหลักฐานที่มันไม่ชัดเจน ผู้ฟังอีกท่านหนึ่งได้กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ได้เปิดให้เกิดการคิดต่อ และได้นำคนจำนวนมากมาในวันนี้ ในทางวัฒนธรรมศึกษาได้พยายามเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการศึกษาเพื่อที่จะสลัดกรอบความคิดที่อาจจะครอบมาอย่างยาวนาน แม้จะไม่ค่อยชอบวิธีที่เขียนถึงเรื่องเพศในหนังสือ แต่หนังสือก็ทำให้เราคิดต่อ และหลายคนก็คิดต่อ การคิดต่อต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่การไม่ให้เราพูด ถ้าเราไม่คิดต่อ หนังสือจะดีแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่มีประโยชน์ หมายเหตุ: คลิปการเสวนาสามารถติดตามได้จากเพจของร้าน Book Re:public ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เกร็ดจาก BBC เรื่องการเดินทางโดยปราศจากหนังสือเดินทาง Posted: 25 Jun 2013 10:11 AM PDT กระแสข่าวการหลบหนีจากฮ่องกงของเอ็ดเวิร์ด สโนวเดน ผู้เปิดโปงโครงการ PRISM ของสหรัฐฯ ทำให้เกิดคำถามว่าเขาสามารถเดินทางไปประเทศอื่นอย่างไรเมื่อโดนเพิกถอนหนังสือเดินทางแล้ว BBC ได้นำเสนอเกร็ดความรู้เรื่องความเป็นได้ต่างๆ เช่น เอกสารผู้ลี้ภัย หรือเอกสารพิเศษจากประเทศปลายทาง
เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน ถูกทางการสหรัฐฯ สั่งเพิกถอนหนังสือเดินทาง และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ห้ามการเดินทางของเขา แต่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมามีทนายความของเขาคนหนึ่งบอกว่าสโนวเดนได้เดินทางจากฮ่องกงไปยังกรุงมอสโควประเทศรัสเซียโดยอาศัยหนังสือเดินทางของสหรัฐฯ เพื่อลี้ภัยไปยังประเทศเอกวาดอร์ มีคำถามว่า ในเมื่อหนังสือเดินทางเป็นสิ่งที่ใช้ในการเดินทางข้ามประเทศ แต่สภาพการณ์ใดที่ผู้ที่ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทางอย่างสโนวเดนถึงเดินทางได้ จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สโนวเดนได้รับ "เอกสารเดินทางพิเศษสำหรับผู้ลี้ภัย" ซึ่งออกโดยทางการเอกกวาดอร์ รายงานจากองค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่าในปี 2012 มีผู้ลี้ภัยมากกว่า 7 ล้านคน และหลายล้านคนต้องเดินทางข้ามพรมแดนโดยไม่มีหนังสือเดินทางเพื่อหนีจากการจับกุมหรือการสู้รบ แลร์รี่ ยุงค์ คณะทำงานด้านการตั้งรกรากใหม่จากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า คนที่ไม่มีหนังสือเดินทางจะต้องมีการแสดงเอกสารระบุตัวตนอย่างอื่น แต่ก็มีผู้ลี้ภัยบางคนที่ลงทะเบียนที่จุดผ่านแดนโดยไม่มีเอกสารระบุตัวตนเลย ลาวิเนีย ลิมอน ประธานและหัวหน้าผู้บริหารของคณะกรรมการเพื่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยของสหรัฐฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับประเทศที่รับผู้ลี้ภัยว่าพวกเขาจะอนุญาตให้บางคนสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือไม่ ลาวิเนีย กล่าวว่าประเทศสหรัฐฯ อนุญาตให้มีผู้ลี้ภัยจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเข้าประเทศได้ 60,000 คนต่อปี โดยมีแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีหนังสือเดินทาง ทางการสหรัฐฯ ใช้วิธีการให้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) เป็นผู้สัมภาษณ์เพื่อพิจารณาว่าพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยจริงและมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการใช้เอกสารที่เรียกว่า I-94 ซึ่งใช้แทนหนังสือเดินทาง และทุกคนที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ ก็มีการออกเอกสารชุดนี้ให้ ลาวิเนียได้ยกตัวอย่างเช่นคนมาเลเซียอยากเดินทางไปรัฐลอสแองเจลิส แต่ต้องแวะไปที่ฮ่องกงก่อน โดยทางการฮ่องกงเห็นว่าเขามีเอกสารเดินทางไปยังสหรัฐฯ จึงอนุญาตให้เขาผ่านประเทศไป ประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ และแคนาดา รวมถึงองค์กรกาชาดสากล ก็สามารถออกเอกสารคล้ายกันนี้ได้เช่นกัน ทนายความด้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดักลาส แมคแนบ กล่าวว่า หากรัฐใดรัฐหนึ่งต้องการให้คนเดินทางโดยสายการบินของรัฐบาลเองก็เป็นสิทธิของประเทศนั้นโดยไม่จำเป็นต้องมีการออกเอกสารใดๆ หากมีความยินยอมจากประเทศที่หมาย นอกจากนี้แล้วคุณยังสามารถเดินทางโดยที่หนังสือเดินทางของคุณหายหรือถูกขโมยขณะอยู่ต่างประเทศได้ด้วย ไซมอน คาลเดอร์ บรรณาธิการแผนกข่าวการท่องเที่ยวของนสพ. ดิ อินดิเพนเดนท์กล่าวว่า คุณสามารถอยู่ในประเทศได้หลายวันเพื่อรอหนังสือเดินทางใหม่ หรือเดินทางขึ้นเครื่องบินมีหลักฐานบางอย่างจากสถานกงสุลที่บ่งบอกว่า "บุคคลนี้ไม่มีอะไรอันตราย ขอให้เขาหรือเธอขึ้นเครื่องบินเที่ยวเดียวไปยังที่หมายได้" แต่ไซมอน ก็เตือนว่า อย่างไรก็ตามเอกสารเหล่านี้ก็ไม่เชิงเป็น "ใบอนุญาตให้หนีจากคุก" ดังนั้นเมื่อไปถึงที่หมายแล้วก็ไม่ควรเตร็ดเตร่ไปมา นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่มีความสัมพันธ์รูปแบบพิเศษทำให้ประชาชนในประเทศเดินทางผ่านไปมาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเดินทาง เช่น ประชาชนสหรัฐฯ สามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในอาณาเขตของสหรัฐฯ อย่างเปอร์โตริโก และเกาะกวม ได้โดยมีบัตรประจำตัวที่มีการรับรองรูปถ่าย ประชาชนสหรัฐฯ และแคนาดา สามารถเดินทางข้ามประเทศได้โดยอาศัยบัตรเน็กซัสการ์ดที่มีการรับรองก่อนหน้านี้แทนหนังสือเดินทาง เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่ามีข้อยกเว้นบางประการสำหรับกฏหนังสือเดินทางสำหรับพลเมืองอเมริกันที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศอื่นในแถบอเมริกาเหนือได้ไม่ว่าจะทางน้ำหรือทางอากาศ อย่างเช่น หากต้องการเดินทางไปยังแถบเบอร์มิวดาหรือแคริบเบียนก็จะใช้เพียงพาสปอร์ตการ์ดแทนการถือหนังสือเดินทางทั้งเล่ม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ใบขับขี่แบบพิเศษหรือบัตรประจำตัวทหารแทนได้ สหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์เหนือก็มีการจัดตั้งอาณาเขตท่องเที่ยวร่วม (Common Travel Area) ซึ่งอาศัยบัตรประจำตัวติดรูปถ่ายในการเดินทางไม่ว่าจะมาจากฝั่งใด และในปี 1995 กลุ่มประเทศยุโรป 26 ประเทศก็มีการจัดตั้งอาณาเขตเชงเกน (Schengen area) ซึ่งทำให้สามารถเดินทางอย่างอิสระโดยไร้พรมแดน เว้นแต่การเดินทางโดยเครื่องบินซึ่งจะมีการตรวจสอบระบุตัวตน รวมถึงอาจจะยังต้องใช้หนังสือเดินทาง กลุ่มประเทศในบางภูมิภาคก็มีอนุญาตให้มีการใช้บัตรประชาชนแทนหนังสือเดินทาง เช่น ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS), สหภาพยุโรปและประเทศใกล้เคียงบางประเทศ, คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) และกลุ่มตลาดร่วมอมเริกาใต้ตอนล่าง หรือ เมร์โกซูร์ (MERCOSUR) และสำหรับประเทศอังกฤษแล้ว พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเดินทางเนื่องจากตามกฏหมายระบุให้พระราชินีอังกฤษเป็นผู้ออกหนังสือเดินทางอย่างเป็นทางการ ทำให้เป็นบุคคลเดียวในอังกฤษที่ไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทาง
Who, what, why: When can you legally travel without a passport?, 24-06-2013, BBC ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนไทยป่วยทางจิตเพิ่ม-คลั่งเฉียดสองหมื่นในรอบปี Posted: 25 Jun 2013 07:44 AM PDT สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเผย เผยปี 55-56 ออกช่วยเหลือผู้ป่วยคลุ้มคลั่งกว่า 19,240 ครั้ง ชี้เหตุจากความเครียด ย้ำก่อนเข้าให้การช่วยเหลือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้ป่วย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยข้อมูลจากสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคจิตที่เข้ามารับการรักษามีจำนวนกว่า 1,076,155 คน โดยสพฉ. ชี้ว่าสาเหตุสำคัญมาจากสภาวะสังคมปัจจุบันมีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ก่อให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม หรือแม้กระทั่งปัญหาครอบครัว ส่งผลให้มีคนไทยจำนวนมากที่ไม่สามารถแบกรับกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ทำให้ป่วยเป็นโรคจิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ลักษณะของการป่วยโรคจิตมีหลายประเภท แต่ประเภทที่น่าเป็นห่วงคือโรคจิตที่จะทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร่างกายตนเองและทำร้ายร่างกายผู้อื่น ได้แก่ โรคจิตชนิดซึมเศร้า โดยคนที่เป็นโรคจิตชนิดนี้จะมีอาการเฉื่อยชา ไม่ดูแลตนเอง เบื่ออาหาร คิดมาก วิตกกังวล บางคนก็ร้องไห้ตลอดเวลา และบางคนอาจตัดสินใจถึงขั้นฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังมีอาการโรคจิตที่เกิดจากสารเสพติดที่ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ก้าวร้าว ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น โดยผู้ป่วยโรคจิตทั้งสองกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากที่สุด โดยล่าสุดได้มีกรณีผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติดคลุ้มคลั่งที่ จ.ขอนแก่น และใช้มีดจี้คอตัวเอง จนถูกหลอดลมด้านหน้า ส่งผลให้หายใจลำบาก ซึ่งหน่วยกู้ชีพจำเป็นต้องเข้าให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากกรณีนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงเล็งเห็นว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉินควรรองรับกับผู้ป่วยฉุกเฉินในทุกประเภท และประชาชนทั่วไปควรจะมีความรู้หากพบเห็นผู้ป่วยโรคจิตจากอาการดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยผู้ประสบเหตุและต่อผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย นางสุภลักษณ์ ชารีพัด พยาบาลวิชาชีพ ประจำศูนย์สื่อสารสั่งการ โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า หากประชาชนทั่วไปพบเห็นเหตุการณ์ของผู้ป่วยโรคจิตในลักษณะนี้และเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายตนเอง และทำร้ายร่างกายผู้อื่น ผู้พบเห็นเหตุการณ์จะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างทันท่วงที และในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ ผู้พบเหตุจะต้องประเมินสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ให้การช่วยเหลือเองและกับผู้ป่วยด้วย โดยจะต้องพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย และต้องปฏิบัติตามคำร้องขอของผู้ป่วย ในกรณีที่ปัญหานั้นๆ สามารถดำเนินการได้ พร้อมทั้งแสดงความเข้าใจในปัญหาของผู้ป่วย ไม่ซ้ำเติมและทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตื่นตระหนกมากยิ่งขึ้น สำหรับขั้นตอนการช่วยเหลือมีดังนี้ 1. โทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ 2.บอกผู้ป่วยว่าเรามาช่วยเหลือ เราพร้อมที่จะทำตามคำร้องขอ 3. แนะนำให้นั่งลงและคุยกัน ควรปลดอาวุธให้เรียบร้อยก่อนทำการช่วยเหลือ แต่ทั้งนี้หากประเมินว่าไม่ปลอดภัยควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้การช่วยเหลือจะดีกว่า 4. หากผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกภายนอกมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการห้ามเลือด คือให้ใช้ผ้าสะอาดกดให้แน่นในตำแหน่งบาดแผล เพื่อหยุดเลือดที่ออก แต่ทั้งนี้จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองด้วย อาทิ ถุงมือ หน้ากาก เสื้อคลุมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของการช่วยเหลือที่เหมาะสมและปลอดภัยต้องเริ่มต้นจากการประเมินสถานการณ์ ณ จุดเกิดเหตุที่ดี ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความปลอดภัยและทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปควรสังเกตผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยงต่ออาการโรคจิตหรือไม่ โดยอาการในเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคจิตจะมีอาการซึมเศร้า เก็บตัว จากที่เคยเรียบร้อยก็จะกลายเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงจนน่ากลัว ไม่ชอบอาบน้ำ สะสมขยะ พูดจาหรือหัวเราะอยู่คนเดียว ซึ่งหากพบเห็นควรรีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาและบำบัด เพื่อลดอัตราการเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยสถิติการออกปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2555 พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการช่วยเหลือจากอาการคลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาทและอารมณ์ 11,652 ครั้ง และในปี 2556 นี้ 7,588 (ตัวเลขตั้งแต่ ต.ค.55-มิ.ย.56) ดังนั้นหากพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เหลือเชื่อผังเมืองในไทย 190 ผัง หมดอายุไปแล้ว 95 ผัง Posted: 25 Jun 2013 07:14 AM PDT ผังเมืองที่ออกมาทั่วประเทศ 190 ผัง หมดอายุไปถึง 95 ผัง เท่ากับขาดการวางแผนการใช้ที่ดิ จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ข้ ผังเมืองที่ (จะ) หมดอายุไป เรียงตามปี มีดังนี้ ผังเมืองที่หมดอายุ 10 ปี (2546) จำนวน 1 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 9 ปี (2547) จำนวน 4 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 8 ปี (2548) จำนวน 2 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 7 ปี (2549) จำนวน 5 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 6 ปี (2550) จำนวน 14 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 5 ปี (2551) จำนวน 11 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 4 ปี (2552) จำนวน 19 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 3 ปี (2553) จำนวน 10 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 2 ปี (2554) จำนวน 10 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุปี 1 ปี (2555) จำนวน 11 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุปี 2556 จำนวน 10 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุปี 2557 จำนวน 16 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุปี 2558 จำนวน 8 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุปี 2559 จำนวน 20 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุปี 2560 จำนวน 42 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุปี 2561 จำนวน 7 ผัง ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ก็พยายามที่จะให้ท้องถิ่นจั ในการวางผังเมือง ต้องประสานกับกับกิจการไฟฟ้า ประปา ทางหลวง รถไฟฟ้า ช่วยกันร่างผังเมืองนี้เป็ การว่าจ้างผู้จัดทำผังเมือง ควรทำให้เกิดความโปร่งใส ขั้นตอนการวางผังเมืองก็ควรโปร่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นายกฯ สั่ง กขช.ทบทวนลดวงเงินจำนำข้าว หลังตัวแทนชาวนาบุกยื่นหนังสือค้าน Posted: 25 Jun 2013 07:12 AM PDT ตัวแทนชาวนาเดินทางมาทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือค้านลดวงเงินจำนำข้าว ประกาศให้เวลารัฐบาล 7 วัน พร้อมเคลื่อนไหวต่อ ทางด้านนายกฯ ส่งเรื่องต่อให้ กขช.ทบทวน 25 มิ.ย.56 ตัวแทนชาวนา 3 สมาคม ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย นายภูติ ศรีสมุทรนาค นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย ตัวแทนศูนย์ข้าวชุมชม และชาวนาจาก 15 จังหวัด เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ขอให้ทบทวนมติการลดวงเงินรับจำนำข้าวจาก 15,000 บาท เหลือ 12,000 บาท โดยขอให้ใช้วงเงินเดิมจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูนาปรัง ปี 2556 และในเดือนพฤศจิกายนสำหรับนาปรังพื้นที่ภาคใต้ โดยมีนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมารับหนังสือร้องเรียน แกนนำกล่าวว่าจะให้เวลารัฐบาลในการพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าว 7 วัน ซึ่งหากไม่มีคำตอบหรือได้รับคำตอบที่ไม่น่าพอใจ กลุ่มชาวนาจะประชุมกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง จากนั้นจึงแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.รับทราบข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว และจะมอบหมายให้ กขช.นำไปพิจารณาต่อไปตามขั้นตอนกฎหมายจึงจะออกมาเป็นมติได้ และยืนยันว่ารัฐบาลต้องการเห็นความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น ซึ่งถ้าพบว่าขาดทุนจริงก็ต้องดูแล แต่ถ้าเป็นการขาดทุนกำไร จะต้องนำเรื่องความสมดุลใน 4 เรื่องมาพิจารณาประกอบกัน ได้แก่ ความเป็นอยู่ของชาวนา ความสัมพันธ์กับพันธุ์ข้าวและคุณภาพข้าว ราคาตลาดโลก และการรักษาวินัยการเงินการคลัง ส่วนกรณีที่มีข้าวหายไปจากโกดัง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้สั่งให้ กขช.นำระเบียบต่างๆ ไปดูเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และดูว่าปฏิบัติถูกขั้นตอนหรือไม่ ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.สั่งให้ตั้งบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ เพื่อให้มีคนกลางมาตรวจร่วมกับคณะกรรมการระบายข้าวและสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศ กรณีที่โรงสีใน จ.พิจิตรถูกขึ้นบัญชีดำ แต่ยังได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวก็ต้องไปตรวจสอบในรายละเอียด และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาทั้งระบบ แต่เป็นปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งคณะกรรมการข้าว สตช. และผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องสรุปผลการตรวจสอบมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กลยุทธ์การปรับตัวของชาวนาผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญา Posted: 25 Jun 2013 05:15 AM PDT บทความตอนที่แล้ว[i] ผู้เขียนได้พูดถึงการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้ส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ที่มีการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ๆ กับเกษตรกรอย่างเคร่งครัด เงื่อนไขดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันรูปแบบใหม่ ที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการทำเกษตรกรรม แบบแผนการผลิตและวิถีการดำรงชีพของเกษตรกร ในตอนนี้ ผู้เขียนนำเสนอมุมมองของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ เพื่อชี้ให้เห็นแรงกดดันที่มีต่อเกษตรกรและกลยุทธ์ที่เกษตรกรใช้เพื่อต่อรองกับแรงกดดัน
ชาวนาในระบบพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ เกษตรกรในภาคอีสานตัดสินใจปลูกข้าวอินทรีย์ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ปัญหาดินเสื่อม แมลงศัตรูพืชระบาด ทำให้ผลผลิตตกต่ำ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรเคมีเพิ่มขึ้น ราคาข้าวตกต่ำ ในขณะที่ชาวนาอีสานมีทางเลือกไม่มาก เพราะแหล่งน้ำในการเกษตรมีจำกัด ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนผลักดันให้เกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อหาทางเลือกในการทำเกษตร ในขณะเดียวกัน ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกษตรกรตัดสินใจทำเกษตรอินทรีย์ เช่น ภาครัฐบาลและเอกชนมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์จากสื่อต่างๆ มากขึ้น เกษตรกรมีโอกาสรับการฝึกอบรมเพื่อทำเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดความคุ้นเคยในการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ เกษตรกรมองเห็นโอกาสในการได้รับการสนับสนุนเงินทุน ความรู้และเทคนิคการผลิตข้าวอินทรีย์ ตลอดจนปัจจัยการผลิตต่างๆ จากการเข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ รวมถึงมองเห็นโอกาสทางการตลาดจากการขายข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นตลาดทางเลือกที่มีมูลค่าสูง นอกจากนั้น เกษตรกรบางคนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีการเกษตร เงื่อนไขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในภาคอีสานเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากการพัฒนากว่าครึ่งศตวรรษ และการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ตลอดจนอิทธิพลของกระบวนการโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ดี เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา มีความแตกต่างในด้านฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม และวิธีคิดต่อการทำเกษตรอินทรีย์ ความแตกต่างของเกษตรกรทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทางบวกและทางลบจากการทำเกษตรอินทรีย์แตกต่างกัน ดังนั้นเกษตรกรจึงตอบสนองต่อการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญาแตกต่างกันด้วย การสำรวจของผู้เขียนเกี่ยวกับจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อส่งออกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2550 พบว่า จากจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมด 553 ราย มีเกษตรกรขนาดเล็ก (ถือครองที่ดิน 1-15 ไร่) เข้าร่วมมากที่สุดคือร้อยละ 45 เกษตรกรรายย่อยพึ่งพาแรงงานในครัวเรือนในการทำนา ส่วนเกษตรกรขนาดกลาง (ถือครองที่ดิน 16-30 ไร่) เข้าร่วมโครงการลำดับรองลงมาคือร้อยละ 38 เกษตรกรฐานะปานกลางใช้แรงงานครอบครัว ร่วมกับแรงงานรับจ้างในช่วงที่ต้องการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เกษตรกรฐานะปานกลางกลางกำไรจากการทำนาอินทรีย์ค่อนข้างดี ส่วนเกษตรกรขนาดใหญ่ (ถือครองที่ดิน 31 ไร่ ขึ้นไป) เข้าร่วมโครงการน้อยที่สุดคือร้อยละ 17 แม้เกษตรกรฐานะร่ำรวยจะไม่ได้ลงแรงทำนาเอง และพึ่งพาแรงงานรับจ้างเป็นหลัก แต่กลับเป็นกลุ่มที่ทำกำไรจากนาอินทรีย์มากที่สุด
ความเสี่ยงของการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ภายใต้ระบบพันธะสัญญามีความตึงเครียดจากการต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในสัญญา ข้อเท็จจริงที่ไม่มีการพูดถึงกันมากนัก แต่กลับเป็นแรงกดดันต่อเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ระบบพันธะสัญญา คือการที่พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างน้อยสามประการ ความเสี่ยงประเภทแรก ได้แก่ ความเสี่ยงในการผลิต เนื่องจากกฎการผลิตข้าวอินทรีย์ระบุว่าพันธุ์ข้าวต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองเป็นข้าวอินทรีย์โดยกรมการข้าวและต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี พันธุ์ข้าวจึงเป็นสิ่งที่โครงการจัดหามาขายให้แก่ชาวนา การจัดหาพันธุ์ข้าวมาขายให้เกษตรกรนับเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ควบคุมคุณภาพข้าวอินทรีย์ แต่เกษตรกรมักบ่นว่าพันธุ์ข้าวที่โครงการขายให้เกษตรกรมีราคาแพง แต่คุณภาพไม่มาตรฐาน ให้ผลผลิตต่ำและมีข้าวพันธุ์อื่นปะปน ความเสี่ยงประเภทที่สอง ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการตลาด เช่น ถ้าชาวนาไม่สามารถขายข้าวอินทรีย์ในราคาประกัน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชาวนาต้องเสี่ยงกับการขาดทุน ถ้าราคาประกันของข้าวอินทรีย์ในปีนั้นต่ำกว่าราคาข้าวเคมีที่ขายในท้องตลาด เช่น ปี2551 ราคาประกันของข้าวอินทรีย์ต่ำกว่าราคาข้าวเคมีถึงกิโลกรัมละ 3-4 บาท ชาวนาเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายข้าวอินทรีย์นอกสัญญา ความเสี่ยงด้านการตลาดเช่นนี้ทำให้ชาวนาส่วนหนึ่งไม่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบพันธะสัญญา ความเสี่ยงประเภทที่สาม ได้แก่ "ความเสี่ยงของการผลิตในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน" เมื่อชาวนาเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ ชาวนาต้องไม่ละเมิดกฎการทำนาอินทรีย์นานถึงสามปีจึงจะได้รับการรับรองว่าเป็นเกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์ ปีแรกของการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ผลผลิตลดลงมาก ชาวนาบางคนกล่าวว่าผลผลิตลดกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตที่เคยเก็บเกี่ยวได้ในช่วงทำนาเคมี ผลผลิตมักเพิ่มขึ้นในปีที่สองของการทำนาอินทรีย์ แต่ก็ยังน้อยกว่าผลผลผลิตที่เคยได้ตอนทำนาเคมี ผลผลิตในปีที่สามและหลังจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น หากชาวนาลงทุนใส่ปุ๋ยหมักบำรุงดินและปลูกพืชหมุนเวียน สำหรับชาวนาช่วงระยะปรับเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอินทรีย์ถือว่ามีความกดดันและเปราะบางมาก เพราะต้องลงทุนมากขึ้น แต่กลับมีรายได้ลดลง และไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ สำหรับผลผลิตที่ลดลง หรือผลผลิตเสียหายจากแมลงศัตรูพืช อีกทั้งยังเสี่ยงว่าจะไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ และไม่สามารถขายข้าวในราคาประกันด้วย
ศักยภาพการปรับตัวของเกษตรกร การที่เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินน้อย ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำรงชีพจากการทำนาอย่างเดียว ชาวนารายย่อยจึงหันไปดำรงชีพจากการพึ่งพาแหล่งรายได้หลายแหล่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการเกษตรเพียงอย่างเดียว ชาวนารายย่อยบางคนใช้วิธีเช่าที่ดินทำนา นาเช่าส่วนมากเป็นนาเคมี เพราะเจ้าของที่ดินมักไม่เห็นด้วยกับการทำนาอินทรีย์ เนื่องจากการทำนาอินทรีย์มีต้นทุนสูง ได้ผลกำไรต่ำ ทำให้ชาวนารายย่อยที่เช่าที่ทำนากลายเป็นคนที่ทำผิดกฎการทำนาอินทรีย์ เพราะทำเกษตรคู่ขนาน คือทำนาอินทรีย์ในแปลงของตนเอง ควบคู่กับการทำนาเคมีในนาเช่า กฎการทำนาอินทรีย์มีข้อบังคับว่าชาวนาต้องทำเกษตรอินทรีย์ในที่ดินทุกแปลง ดังนั้นชาวนารายย่อยจึงเสี่ยงต่อการถูกเบียดขับออกไปจากระบบเกษตรอินทรีย์ ในสถานการณ์ที่การพึ่งพารายได้นาอินทรีย์เพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้อยู่รอด ชาวนายากจนต้องหันไปทำงานรับจ้าง ซึ่งมักให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ชาวนารายย่อยใช้เงินส่งกลับจากสมาชิกครอบครัวที่ออกไปทำงานรับจ้างเพื่อลงทุนสร้างและซ่อมแซมบ้านเรือน ทำการเกษตร ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม รวมถึงจ้างแรงงานช่วยทำนาเพิ่ม ในขณะที่ชาวนาฐานะปานกลางดำรงชีพโดยการทำเกษตร ควบคู่กับทำงานนอกภาคเกษตร เช่น รับจ้าง ทำธุรกิจขนาดย่อม เป็นข้าราชการ ทำให้ครัวเรือนชาวนาฐานะปานกลางมีเงินทุนซื้อเครื่องจักรและจ้างแรงงานเพิ่ม จึงสามารถจัดการไร่นาปริมาณมากได้ และได้กำไรจากการผลิตในที่ดินขนาดใหญ่กว่า ชาวนาฐานะปานกลางจึงสามารถปรับตัวทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่มีความเสี่ยงว่าจะถูกให้ออกจากโครงการเพราะผิดข้อบังคับในเรื่องห้ามทำนาคู่ขนาน สำหรับชาวนาขนาดใหญ่ที่ร่ำรวย ส่วนใหญ่ทำงานหลักนอกภาคเกษตร ทำธุรกิจส่วนตัวและข้าราชการ จึงมีสถานะเป็น "ผู้จัดการนา" มากกว่าเป็นชาวนา ชาวนาร่ำรวยแทบไม่ได้ออกแรงทำนา เพราะพึ่งพาเครื่องจักรและแรงงานรับจ้างในการทำนาเป็นหลัก แต่กลับมีรายได้จากการทำนาอินทรีย์มากที่สุด ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวนารวยมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อทำนาอินทรีย์ดีที่สุด เพราะมีความสามารถเข้าถึงที่ดิน เงินทุนและแรงงานมากกว่าชาวนายากยากจน จึงมีความได้เปรียบ และมีความยืดหยุ่นในการดำรงชีพมากด้วย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่ชาวนารวยจะทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน[ii]
กลยุทธ์การปรับตัวของเกษตรกร แม้ว่าเกษตรกรต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมาย แต่พวกเขาก็ไม่ได้สยบยอมกับการถูกเอาเปรียบ การต่อรองของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวนา สอดคล้องกับที่ทาเนีย ลี วิเคราะห์ปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของคนในเขตป่าอนุรักษ์ในอินโดนีเซีย ซึ่งใช้กลยุทธ์การต่อรอง โดยปฏิเสธสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นอยู่ ที่มักอาศัยข้อเท็จจริงและการอธิบายจากมุมมองของคนนอก ที่มุ่งควบคุมและกดปราบคนในป่า ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้ดีขึ้น[iii] ในการผลิตข้าวอินทรีย์ แทนที่ชาวนาอีสานจะปฏิบัติตามกฎระเบียบในการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดจากภายนอก พวกเขากลับเลือกที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบบางข้อ เท่าที่พวกเขาประเมินว่าให้ประโยชน์แก่ตน แต่กลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอื่นๆ ที่พวกเขามองว่ามีต้นทุนที่ต้องจ่ายแพงเกินไป เกษตรกรตั้งคำถามกับการสร้างมาตรฐานในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ การประเมินความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนของข้าวอินทรีย์โดยผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนวิธีการคิดคำนวณที่ผู้เชี่ยวชาญนำมาใช้ เพื่อประเมินความถูกต้องของระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ การสนทนาตอบโต้ระหว่างเกษตรกรกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ แสดงให้เห็นความตึงเครียดและความไม่คงเส้นคงวาในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์และการตรวจสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพ (Certification) ซึ่งเป็นระบบที่มีความเป็นนามธรรมสูง พึ่งพาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคการคำนวณ ทั้งยังขึ้นอยู่กับความชอบธรรมในการใช้อำนาจของผู้เชี่ยวชาญ ในขณะเดียวกันการตั้งคำถามของเกษตรกรก็แสดงให้เห็นปฏิบัติการต่อรองของชาวนาเพื่อตอบโต้อำนาจครอบงำ[iv] [v] ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกลยุทธ์การต่อรองที่เกษตรกรนำมาใช้บางเรื่องเป็นกรณีศึกษา กรณีแรก เกษตรกรตั้งคำถามเรื่องคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญอ้างว่าข้าวที่เกษตรกรปลูกขายให้โครงการไม่ได้มาตรฐาน เพราะชาวนาไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากเกษตรกรทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ อัตราการปนเปื้อนในข้าวอินทรีย์จะลดลง ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ การขาดความใส่ใจของเกษตรกรเป็นปัญหา ดังนั้นเกษตรกรที่ขายข้าวปนเปื้อนให้แก่โครงการจึงควรถูกลงโทษ โดยถูกหักเงินค่าปรับ 1 บาท จากราคาข้าวที่ขาย 1 กิโลกรัม แต่เกษตรกรโต้แย้งว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่โครงการนำมาขายให้พวกเขาปลูกไม่ได้มาตรฐาน มักมีพันธุ์ข้าวเหนียวปนเปื้อนมากับพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ข้อโต้แย้งของเกษตรกรสะท้อนว่า เกษตรกรไม่ไว้ใจผู้เชี่ยวชาญ และมองว่าการรับรองคุณภาพการผลิตไม่น่าเชื่อถือ เกษตรกรท้าทายความชอบธรรมของผู้เชี่ยวชาญ โดยชี้ว่าความผิดพลาดเกิดจากผู้เชี่ยวชาญเอง[vi]
การตั้งคำถามต่อความถูกต้องของระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญ นับเป็นกลยุทธ์ของเกษตรกร เพื่อลดทอนความชอบธรรมของระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้เชี่ยวชาญ หากพิจารณาข้อเสนอของ Anthony Gidden ที่ว่า สังคมทันสมัยเกี่ยวโยงกับกลไกและสถาบันที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ระบบนามธรรมต่างๆ เช่น ความมีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส นอกจากนั้น สังคมทันสมัยยังเกี่ยวพันกับการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไม่ให้มีความแตกต่างระหว่างความจริงที่อยู่ "ฉากหน้า" (สิ่งที่เกิดขึ้น และอนุญาตให้คนนอกมองเห็น) และความจริงที่อยู่ "ฉากหลัง" (สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่อนุญาตให้คนนอกมองเห็น)[vii] การที่เกษตรกรตั้งคำถามกับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ แสดงถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่วางอยู่บนหลักการเรื่องความทันสมัย สะอาด ปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ การตั้งคำถามของเกษตรกรต้องการลดความเสียเปรียบในระบบดังกล่าว ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถต่อรองกับมาตรการหักค่าปรับจากข้ออ้างเรื่องการปนเปื้อน กรณีที่สอง การที่เกษตรกรแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ ในการประเมินความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อน นับเป็นปฏิบัติการต่อรองของชาวนาอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากการทำนาอินทรีย์มีข้อห้ามไม่ให้ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีบทลงโทษสำหรับเกษตรกรที่ละเมิดข้อห้ามเรื่องนี้ในระดับที่รุนแรง คือให้ออกจากโครงการ และไม่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินว่าเกษตรกรแต่ละคนมีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ เกษตรกรไม่มีอำนาจโต้แย้งการตัดสินของผู้ตรวจสอบแปลงนา
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสารเคมีทางการเกษตรเป็นอันตรายพอๆ กับยาพิษ กลับเป็นเรื่องยากที่ผู้ตรวจสอบแปลงนาจะรู้ว่าเกษตรกรแอบใช้ปุ๋ยเคมีหรือไม่ เพราะการตรวจสอบแปลงนากินเวลามากและมีต้นทุนสูง ดังนั้นการตรวจสอบแปลงนาส่วนใหญ่จึงทำโดยผู้ตรวจสอบภายในซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น ผู้ตรวจสอบภายในจะไปเยี่ยมเกษตรกรถึงบ้าน เพื่อตรวจดูบ้านเรือน ไร่นา ยุ้งฉาง และหาหลักฐานว่าชาวนาแอบใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงหรือไม่ ถ้าผู้ตรวจสอบภายในไม่พบหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่ามีการละเมิดกฎเกณฑ์ ผู้ตรวจสอบภายนอกซึ่งเน้นการตรวจสอบเอกสารที่ผู้ตรวจสอบภายในจัดเตรียมไว้ ก็ยากจะรู้ว่ามีการกระทำผิดกฎข้อบังคับหรือไม่ เกษตรกรรู้ถึงข้อจำกัดของการตรวจแปลงนาโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี เกษตรกรยังรู้วิธีที่ผู้เชี่ยวชาญใช้จำแนกความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมเสี่ยงกับพฤติกรรมที่ปลอดภัย ดังนั้นเกษตรกรจึงใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดนี้ เพื่อสร้างพื้นที่ต่อรอง ดังเช่นที่เกษตรกรคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า "ผู้ตรวจสอบภายในมาเยี่ยมแปลงนาของเฮาหลังจากดำนาแล้ว เพิ่นมาเบิ่งว่าเฮาใส่ปุ๋ยเคมีลงนาบ่ ถ้าเฮาหว่านปุ๋ยเคมี เพิ่นสิเห็นว่าใบข้าวเปลี่ยนเป็นสีเขียวแก่ และใบข้าวเป็นเส้นโค้งยาว ถ้าเฮาบ่ใส่ปุ๋ยเคมี ใบข้าวสิเป็นสีเขียวอ่อน และใบสั้นตรงขึ้นไปซื่อๆ ฉันย่านเพิ่นหาว่าเฮาหว่านปุ๋ยเคมี ฉันคิดว่าบ่มีไผสิอยากใส่ปุ๋ยเคมีในแปลงนาข้าว เพราะปุ๋ยเคมีแพงหลาย (ราคาปุ๋ยเคมีในปี 2555 สูงถึงเกือบ 1,000 บาทต่อ 25 กิโลกรัม) แล้วก็เสี่ยงว่าทำผิดกฎ"[viii] แม้เกษตรกรส่วนมากบอกว่าพวกเขาไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่รายงานอย่างเป็นทางการของโครงการระบุว่า ทุกปีมีชาวนาที่ทำผิดกฎ เช่น ปี 2550 มีเกษตรกร 16 คน หรือร้อยละ 2 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทำผิดกฎและถูกให้ออกจากโครงการ สถิตินี้เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการละเมิดกฎจริง แต่เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ยังไม่มีความกระจ่าง เพราะไม่มีเกษตรกรคนใดยอมรับว่าตนทำผิดกฎ ส่วนคนที่ถูกให้ออกจากโครงการ ก็มักจะไม่อยากให้ข้อมูล เรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับการแอบใส่ปุ๋ยเคมีและใช้ยาฆ่าแมลงของชาวนาอินทรีย์ มักจะมาจากเพื่อนบ้านซึ่งทำเกษตรเคมีมากกว่า มีเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์จำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่เล่าให้ผู้เขียนฟังเรื่องการใส่ปุ๋ยเคมี ดังเช่นเกษตรกรคนหนึ่งเล่าว่า
"การใช้ปุ๋ยเคมีในแปลงนาอินทรีย์เป็นความผิดร้ายแรง แต่ชาวนาบางคนก็แอบใส่ปุ๋ยเคมี พวกเฮาคิดคำนวณว่าจะใส่ปุ๋ยเคมีเท่าไร และจะใส่ช่วงไหน เฮาอาจใส่ปุ๋ยเคมีก่อนหว่านและหลังจากปักดำ เฮาต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพียงบางๆ ที่ต้นข้าวไม่ค่อยงาม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ข้าวแน่นอน แต่เฮาจะไม่ใส่ปุ๋ยเคมีมากๆ จนคนเห็น ถ้าใครใส่ปุ๋ยเคมีลงนาเยอะ ผู้ตรวจแปลงนาสิเบิ่งเห็น เพราะต้นข้าวจะสูงและใบข้าวก็จะเป็นเขียวเข้ม มันจะเป็นที่สังเกตง่ายมาก ถ้ามีปูนาในแปลงนามาก บางครั้งเฮาอาจใช้ยาฆ่าแมลงจั๊กหน่อย การใช้ยาฆ่าปูช่วยให้เฮามั่นใจว่าต้นข้าวจะไม่ถูกกินจนหมด ถ้าเฮาไม่ใช้เลย เฮาจะแน่ใจได้ยังไงว่าเฮาสิมีข้าวพอกินพอขาย เมื่อก่อนเฮาไม่ต้องค่อยห่วงว่าจะได้ใบแดง (ให้ออกจากโครงการ) แต่ตอนนี้เฮาเป็นห่วงว่าจะถูกทำโทษ เฮากลัวว่าเงินหักสะสมจากขายข้าวสิถูกริบ เฮามองว่าเรื่องห้ามใส่ปุ๋ยเคมีและยาเป็นข้ออ้างเพื่อควบคุมเฮา ส่วนการเงินหักสะสมของเราถ้าเราทำผิดกฎ เป็นการควบคุมเฮาเข้มกว่าเดิม"[ix] ผู้เขียนมองว่า เกษตรกรมีความคิดต่อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง แตกต่างจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงอันตรายเหมือนยาพิษ เกษตรกรไม่ได้มองว่าปุ๋ยเคมีเป็นอันตรายเสมอไป เกษตรกรมองว่าการใช้ปุ๋ยเคมีช่วยสร้างหลักประกันเรื่องปริมาณผลผลิตที่แน่นอน และการใช้ยาฆ่าแมลงในบางสถานการณ์ช่วยลดการสูญเสียผลผลิต มุมมองของเกษตรกรมีผลต่อการตัดสินใจใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงไม่มากก็น้อย คำบอกเล่าของชาวนาอีสาน สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Guivant ที่กล่าวว่า ชาวนาเม็กซิกันมองว่าปุ๋ยเคมีให้หลักประกันเรื่องประสิทธิภาพผลผลิต และยาฆ่าแมลงช่วยลดความเสี่ยง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้มองว่าปุ๋ยเคมีเป็นอันตรายเสมอไป ชาวนาเม็กซิกันยังมองความเสี่ยงจากการใช้ยาฆ่าแมลงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะมองว่าความเสี่ยงเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น Guivant มองว่าการปฏิเสธความเสี่ยงของสารเคมีทางการเกษตร เป็นวิธีการที่ชาวนาเม็กซิกันนำมาใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรทุกวัน พวกเขาจึงต้องการหลีกเลี่ยงความกังวลใจ[x] ด้วยเหตุผลในข้างต้นผู้เขียน จึงมองว่าเหตุผลที่เกษตรกรบางคนใช้สารเคมีทางการเกษตร อาจแตกต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไป และอาจมีเหตุผลซับซ้อนกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคิด นอกจากนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในนาอินทรีย์ก็อาจมองว่าเป็นปฏิบัติการต่อรองในชีวิตประจำวันของชาวนาได้อีกด้วย ดังที่ De Certeau (อ้างใน Pile, 1997) เสนอว่า เมื่อกลุ่มผู้ด้อยอำนาจเผชิญกับการควบคุมของกลุ่มอำนาจ พวกเขาอาจใช้ว่ากลยุทธ์ในการต่อรองหลายแบบเพื่อต่อรอง และหนึ่งในรูปแบบการต่อรองนั้นคือการใช้วิธีการที่อยู่เหนือการควบคุมของผู้มีอำนาจ[xi] เช่นเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งยากจะพิสูจน์ได้จริง
สรุป บทความนี้นำเสนอผลกระทบที่เกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ได้รับ และกลยุทธ์ที่เกษตรกรนำมาใช้เพื่อต่อรอง ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวนา การที่เกษตรกรเลือกที่จะพึ่งพาแหล่งรายได้หลายแห่ง เช่น การปลูกข้าวหลายระบบ การทำนาเช่า และการทำงานรับจ้าง นับเป็นกลยุทธ์เพื่อต่อต้านการครอบงำ และการเปลี่ยนระบบการเกษตรให้เป็นไปตามภาพฝันเชิงอุดมคติ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการดำรงชีพจริงๆ ของเกษตรกรฐานะยากจน นอกจากนั้น การประกอบอาชีพหลากหลาย ยังเป็นการต่อรองของเกษตรกรยากจน ซึ่งช่วยให้พวกเขามีทางเลือกมากขึ้น มีกำไรจากการขายข้าวอินทรีย์ แต่ก็ไม่ต้องการเสี่ยงกับการพึ่งพาตลาดข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียว ส่วนการที่เกษตรกรตั้งคำถามกับมาตรฐานของคุณภาพพันธุ์ข้าวอินทรีย์ และความถูกต้องของการตรวจสอบการปนเปื้อน นับเป็นการตั้งคำถามต่อระบบ ซึ่งเน้นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และอำนาจของผู้เชี่ยวชาญ การตั้งคำถามดังกล่าวแม้ไม่ได้ล้มล้างระบบทุนนิยมซึ่งเกษตรกรเป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นการต่อรองเพื่อทำให้เกษตรกรเสียเปรียบน้อยลง [i] โปรดดูบทความเรื่อง "เกษตรพันธะสัญญา (แย่?) + เกษตรอินทรีย์ (ดี?) แต่บางทีก็มาแพ็คคู่" ในประชาไท [ii] เนตรดาว เถาถวิล. 2554. "เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน---คำถามว่าด้วยการพึ่งตนเองของชาวนาเกษตรอินทรีย์ใน ยุคโลกาภิวัตน์และการพัฒนา," วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10(2): 82-109. [iii] Li, Tania Murray. 2007.The Will to Improve: Governmentality, Development and the Practices of Politics. Durham and London: Duke University Press. [iv] Scott, James. C. 1976. The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in Southeast Asia. New Heaven and London: Yale University Press. [v] Benedict J. Tria Kerkvliet. 2009. "Everyday Politics in Peasant Society (and Ours)," Journal of Peasant Studies 36 (1): 227-243. [vi] การสังเกตการณ์การฝึกอบรมชาวนาอินทรีย์ โดยผู้เขียน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551. [vii] Giddens, Antony. 2001. Dimension of Globalization. In Steven Seidman and Jeffrey C. Alexander (eds.), The New Social Theory Reader. London, New York: Routledge. [viii] การสัมภาษณ์นางสมศรี วางาม ชาวนาอินทรีย์ อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ วันที่ 19 มกราคม 2550. [ix] จากการสัมภาษณ์นางบัวคลี่ ชาวนาตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 13 เมษายน 2551. [x] Guivant, Julia S. 2003. "Pesticide Use, Risk Perception and Hybrid Knowledge: A Case Study from Southern Brazil," Internal Journal of Sociology of Agriculture and Food. 13.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เจ้ายอดศึกแถลงสรุปการเยือนพม่า เสนอคนไทใหญ่ควรมีส่วนร่วมปกครองรัฐฉาน Posted: 25 Jun 2013 04:49 AM PDT พล.ท.เจ้ายอดศึก แถลงที่ท่าขี้เหล็ก เพื่อสรุปผลการพบประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และการหารือผู้นำการเมืองหลายเมืองทั่วพม่า-รัฐฉาน โดยหวังให้ชาวไทใหญ่มีส่วนร่ แฟ้มภาพ พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ระหว่างเยือนเนปิดอว์ เมืองหลวงพม่า รายงานข่าวจากจังหวัดท่าขี้เหล็ เจ้ายอดศึกได้ชี้แจงสรุปการเดิ มีรายงานว่า มีประชาชนเป็นจำนวนมากตั้ นอกจากนี้ ยังมีประชาชนเรียกร้องเจ้ายอดศึ ทั้งนี้ เจ้ายอดศึกกล่าวว่า การเดินทางเยือนพม่าเพื่อหารื เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA พร้อมคณะกว่า 20 คน ออกเดินทางจากฐานที่มั่นไปพม่
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปัญหาหมอกควันบรูไนสะท้อนถึงอาเซียน Posted: 25 Jun 2013 01:39 AM PDT ปัญหาหมอกควันที่ขณะส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจของประชาชนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และขณะนี้ได้ขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นมาเกาะบอร์เนียว จนกลายเป็นปัญหาของภูมิภาคก็ว่าได้ โดยบรูไนที่ถือว่าตั้งอยู่บริเวณปลายเกาะทางเหนือของบอร์เนียวได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่แรก ความรุนแรงของสภาวะอากาศดังกล่าว ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ช่วงเย็น โดยในวันแรกยังไม่มีความรุนแรงและมองไม่เห็นหมอกควัน แต่เมือวานและโดยเฉพาะในวันนี้สามารถมองเห็นหมอกควันได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน ดารุสลาม ติดทะเลจีนใต้ เดินข้ามถนนไปเพียง 200 เมตรก็จะถึงทะเล โดยหากอยู่บนตึกก็สามารถมองเห็นทะเลได้อย่างชัดเจน แต่ในขณะนี้ถูกหมอกควันปกคลุมจนมิด ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถออกกำลังกายได้ บางคนเจ็บคอ หายใจไม่สะดวก และหลายคนได้ล้มป่วย จากปัญหานี้ อยากสะท้อนมุมมองปัญหาผ่านมุมมองการจัดการ วิสัยทัศน์, core value กับ structural transformation ของ ASEAN ทุกปีในแง่ของนโยบาย การจัดการ และการควบคุมหมอกควันของแต่ละประเทศได้มีการเตรียมพร้อมรับอยู่แล้วโดยเฉพาะอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปัญหาหมอกควัน หรือ ปัญหาอื่นที่มีลักษณะส่งผลกระทบร่วมต่อหลายประเทศในภูมิภาค การบริหารจัดการร่วมต่อภัยพิบัติหรือปัญหาต่างๆ มีแนวทางเป็นอย่างไร ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ ASEAN อยู่ การดำเนินการในลักษณะ Inter-governmental หรือ กลไก ASEAN สามารถตอบสนองกับปัญหาต่างๆ ใหม่ๆ ได้มากน้อยเพียงใด เช่น ในเรื่องของภัยธรรมชาติ หรือ ภัยพิบัติต่างๆ ก็มีแนวคิดในการจัดการเรื่องดังกล่าว ที่ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อช่วยเหลือด้านภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ ที่เริ่มคิดกันเมื่อเกิดพายุไซโคลนนากิส พัดถล่มพม่าและไทย โดยอาเซียนแทบไม่มีบทบาทใดๆ เลยในฐานะองค์กรกลาง มีเพียงแต่การดำเนินการช่วยเหลือของแต่ละประเทศในภูมิภาคในลักษณะรัฐต่อรัฐ หรือความช่วยเหลือที่มาจากประเทศนอกภูมิภาค และ องค์การสหประชาชาติ สิ่งที่อยากชวนคิด คือ เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและถึงเวลาที่ควรจะทบทวนแนวคิด "ASEAN WAY" ที่เป็นยุทธศาสตร์ผลักดันที่ใช้กันมา ที่อาจจะไม่สามารถปรับ หรือ สะท้อนฟังชั่นของมันต่อความซับซ้อนของปัญหาในภูมิภาคได้อย่างเท่าที่ควรจะเป็น ด้วยจุดเด่น ที่รัฐต่างให้การให้ความชอบธรรมระหว่างกัน ในการตัดสินใจและดำเนินการ จนเป็นเสมือนดาบสองคมหรือไม่ ที่ทำให้เมื่อเกิดปัญหาใหม่ๆ ที่มีผลกระทบกับหลายประเทศในภูมิภาค เราไม่มี core value ที่เป็นช่องทางในการรับมือกับปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค หรือ มติร่วมกันในการดำเนินการต่างๆ ในฐานะองค์กรกลางของภูมิภาคอย่างทันท่วงที เรายังมี mind set แบบเดิมอยู่ คือ จัดการใครจัดการมัน ด้วยความเกรงใจและให้เกียรติกัน ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ ASEAN อาจต้องมีการทบทวน ปรับเปลี่ยนแนวคิดรวมถึงโครงสร้าง กลไก บางอย่างในการบริหารงานของ ASEAN เช่น ในลักษณะ R2P (Responsibility to Protect) หรือ อย่างอื่น เพื่อเข้าถึงปัญหาต่างๆ ที่มีมากขึ้นในภูมิภาคไม่เพียงแต่ปัญหาทางธรรมชาติเท่านั้นที่กำลังจะท้าทายภูมิภาคนี้มากขึ้นทุกวัน แต่ยังรวมถึง ปัญหาอื่นๆ ด้วยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ สงครามกลางเมือง ความขัดแย้งของความเชื่อและความแตกต่างของชาติพันธ์ จริงอยู่ ASEAN มีแนวคิด หรือ คณะกรรมการเล่านี้อยู่แล้ว แต่เท่าที่ได้สัมผัสมาโดยตรงองค์กรย่อย หรือ คณะกรรมการเหล่านี้ไม่ active ด้วยหลายสาเหตุ เช่น หนึ่ง จากจุดเด่นของอาเซียนที่บอกว่า ความหลากหลาย คือ จุดเด่นของอาเซียน ซึ่งมองในแง่ดีเป็นสิ่งที่สวยงามแต่จริงๆ แล้วมีความอยากลำบากในการผนวก ผสาน ลักษณะระบบการปกครอง วัฒนธรรม จารีต ภาษา ศาสนา ที่แตกต่างเข้าอยู่ในองค์กรเดียวกันตามหัวข้อที่ระบุใน Road Map (ยกเว้นกรอบ AEC) ในขาความมั่นคงทางการเมืองระบุเรื่องของแนวทางการส่งเสริมให้ประเทศมาชิกมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งบางประเทศไม่ได้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตัวอย่าง เช่น บรูไน ดารุสลาม ใช้ระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช ดังนั้นหลายเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เมื่อจัดให้อยู่ตามกรอบสากล จะมีหลายตัวชี้วัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้ หรือ บางประเทศก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ หรือ บางประเทศก็ดูเหมือนจะมีความเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ไม่ได้เป็นดังที่เห็น คือ เรามีประเทศที่ไม่ได้ใช้ระบบประชาธิปไตย เราระดับของความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างกันด้วยในมุมเดียวกัน ดังนั้น เราจะหา common ground ในจุดนี้อย่างไร เพื่อให้นำไปสู่ภารกิจย่อยๆ ที่ไม่ active เพราะความแตกต่างเหล่านี้ อาจจะต้องมีการกำหนดกรอบเฉพาะขึ้นมาเพื่อภารกิจบางอย่างที่ความหลากหลายถูกจุดให้อยู่บนมาตรฐานร่วมบางอย่างที่ไม่ได้วางอยู่บนเรื่องของ การปกครอง ศาสนา วัฒนธรรม หรือ เศรษฐกิจ แต่วางอยู่บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์เหมือนกันเพื่อจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ สอง การที่อาเซียนเน้นหนักมากเรื่อง AEC จนมีผลงานวิจัยบอกออกมาแล้วในประเทศไทยว่าคนไทยจำนวนมากมีความเข้าใจว่า ASEAN คือ AEC ด้วยสาเหตุใดก็ตามที่เกี่ยวกับรัฐที่เน้นเศรษฐกิจนำ แต่ทำให้ประชาชนไม่ทราบถึงสองขาที่เหลือ ซึ่งข้อนี้สำคัญมากสำหรับเจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศที่มีความตั้งใจในการทำงานและการพลักดันเป้าหมายที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญไม่มากเท่าที่ควรกับสองขาที่เหลือ โดยเฉพาะด้านงบประมาณในการดำเนินงานต่างๆ การประชุม เพื่อดำเนินการร่วมกัน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสัมฤทธิ์ผลของการทำงาน นโยบายและเป้าหมายของสองขาที่เหลือที่แท้จริงแล้วควรจะมีการดำเนินการควบคู่กันไปทั้งสามขาพร้อมๆ กัน
หมายเหตุ: นิชานท์ สิงหพุทธางกูร เป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขาเอเชียศึกษา คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม
ที่มา: PATANI FORUM
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รัฐศาสตร์ชุมนุม เปิดหลากโจทย์เก่า-ใหม่ สังคมการเมืองไทย Posted: 24 Jun 2013 11:01 PM PDT
24 มิ.ย.56 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิตยสารวิภาษา จัดงาน รัฐศาสตร์ชุมนุม: สู่ทศวรรษที่เก้าประชาธิปไตยไทย โดยในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง"รัฐศาสตร์กับวิกฤตการเมืองไทย" ส่วนในช่วงเช้าเป็นงานชุมนุมทางวิชาการ ซึ่งมีการนำเสนองานศึกษาหลายชิ้นจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์สถาบันต่างๆ (อ่านหัวข้อทั้งหมดที่ด้านล่างสุด) ในการอภิปรายเรื่องรัฐศาสตร์กับวิกฤตการเมืองไทย ยุทธพร อิสระชัย จากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงปัญหาหลายประการทั้งการเมืองในระบบและการเมืองนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นหลักการเรื่องนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพที่ไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ความอ่อนแอของรัฐสภา ระบบตรวจสอบที่มีปัญหา การแทรกแซงอำนาจรัฐ ส่วนการเมืองนอกระบบก็ยังมีปัญหาการสร้างความเข้มแข็งของพลเมือง วัฒนธรรมที่จะเอื้ออำนวยต่อการสร้างประชาธิปไตยยังไม่ดีพอ ตอนนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น 'มวลชนาธิปไตย' การเคลื่อนไหวการเมืองแบบมวลชนไม่ได้เป็นภาพเชิงบวกเสมอไป ถ้าประเด็นไม่สร้างสรรค์ต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นการที่มวลชนพยายามแทรกตัวสู่อำนาจรัฐ ก็ไม่ต่างจากที่เคยกล่าวหาทุน เขากล่าวอีกว่าองค์ความรู้ใหม่ของรัฐศาสตร์ที่จะทันต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ยังไม่ดีพอ ทำให้ถูกตั้งคำถามมากว่ารัฐศาสตร์มีบทบาทในการแก้ปัญหาทางการเมืองได้สักเท่าไร วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของระบบการเมืองไทยเป็นดังที่เบน แอนเดอร์สันเคยเขียนไว้ในหนังสือเมื่อหลายสิบปีก่อนว่า ในช่วงสร้างความเป็นชาติ เราสามารถแยกตัวเองออกจากอำนาจเด็ดขาด ( absolutism) ได้ ซึ่งอำนาจเด็ดขาดก็ความหมายหลากหลาย จนถึงวันนี้ปัญหานี้ก็ยังไม่จบ เหมือนเหตุการณ์พาเราไป แต่ทุกคนก็ต้องการคำตอบเดียวที่สุดโต่ง เช่น ความมั่นคงของชาติสำคัญที่สุด การรักษาไว้ซึ่งสถาบันสำคัญที่สุด เลือกไม่ได้ เชื่อว่าศาลไม่ว่าทำอะไรก็ถูกทั้งหมด เป็นต้น ถ้าไม่สามารถนิยามความเป็นชาติที่วางอยู่บนความเป็นประชาชาติหรือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางได้ก็ถือว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ ก็ยังไม่สามารถทำให้นักศึกษามองไกลและเท่าทันสถานการณ์การต่างๆ ในโลกได้ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากอ้างอิงถึงรัฐศาสตร์อเมริกัน ก็จะมีไว้เพื่อเชิดชูความเป็นอเมริกัน ความเป็นอเมริกันคือประชาธิปไตย รัฐศาสตร์อเมริกันเป็นหนึ่งเดียวกับประชาธิปไตย และอเมริกันก็ส่งออกประชาธิปไตย เรากต้องถามตัวเองว่าตัวตนของรัฐศาสตร์คืออะไร มันทำอะไรบ้าง ปัจจุบันนี้ดูเหมือนรัฐศาสตร์จะไม่มีที่ยืน ขณะที่ผู้คนหันศึกษากฎหมายหรือไม่ก็เศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่า แต่รัฐศาสตร์กลับเน้นตั้งคำถาม เคลื่อนตัวไปมาระหว่างปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ มีความหลากหลายที่ไม่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ
ทำไมองค์อธิปัตย์ได้สิทธิตัดสินใจในสภาวะยกเว้นเกษม เพ็ญภินันท์ นำเสนอเรื่อง"อ่าน Carl Schmitt ในบริบททวิรัฐ" เป็นงานศึกษาที่ยังไม่เสร็จ เน้นศึกษาประโยคสำคัญของ Carl Schmitt ที่ว่า องค์ประชาธิปัตย์เป็นบุคคลสำคัญที่ตัดสินใจในสภาวะยกเว้น ชมิทพยายามเข้าใจองค์อธิปัตย์โดยอธิบายในแง่เทววิทยาทางการเมืองบนพื้นฐานของการเมืองสมัยใหม่ที่แปรสภาพมาจากความเข้าใจแบบเก่า องค์อธิปัตย์จึงเป็นบุคคลที่ได้รับเทวสิทธิบางอย่างในสร้างความชอบธรรมให้ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง การตัดสินใจต่างๆ ขององค์อธิปัตย์ก็เสมือนภาวะ creation เป็นสภาวะยกเว้นให้เฉพาะบางบุคคลที่จะได้รับสภาวะนั้น เป็นที่มาของ divine right มาสู่กษัตริย์ เป็นบุคคลที่ transcend body ของ God เป็น 2 กายา สิ่งที่ชมิททำคือการทำให้เทววิทยาส่วนนี้มาบนพื้นฐานของรัฐสมัย รัฐเสรีนิยม องค์อธิปัตย์ไม่ใช่เพียงคนใช้อำนาจ แต่สามารถใช้อำนาจในสภาวะยกเว้น โดยมีสิ่งที่ตัดกันคือ กฎหมายกับสภาวะยกเว้น กฎหมายรองรับการตัดสินใจขององค์อธิปัตย์ และองค์อธิปัตย์ก็ตัดสินใจใช้อำนาจบนพื้นฐานของการได้รับกายกเว้น เป็น free act โดยชมิทเห็นว่าสภาวะยกเว้นนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองในลักษณะของบรรทัดฐาน (Norm) เดิมที่วางอยู่บนพื้นฐานของอภินิหาร (miracle) ชมิทอธิบายบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่รองรับการใช้อำนาจนั้น เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 ที่อนุญาตให้องค์อธิปัตย์ใช้อำนาจตรงนี้ได้ การอ่านชมิทตรงส่วนนี้จะทำให้เห็นอำนาจรัฐที่ซ้อนรัฐซึ่งเร้นตัวเองบนพื้นฐานของรัฐแบบ normative state และพยายามอธิบายลักษณะการทำงานนี้ซึ่งอาศัยการทำงานของ legal state ว่าเป็นอย่างไร
การเมืองวัฒนธรรมของ ลูกจีนกู้ชาติ VS หมู่บ้นเสื้อแดงพิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ นำเสนอเรื่อง Politics of Multiculturalism in Thailand โดยระบุว่าข้อถกเถียงใหญ่ของโลกนี้ไม่ได้จบลงที่ประชาธิปไตยแต่เกี่ยวพันไปถึงการกำหนดตัวนโยบายด้วย การเมืองในวันนี้มีสองเรื่องที่เพิ่มขึ้นคือ สิทธิทางเศรษฐกิจ และ สิทธิทางวัฒนธรรม โดยในเรื่องเศรษฐกิจก็จะมีการพูดถึงสวัสดิการ และเนื่องจากยุโรปมีการเคลื่อนย้ายของคนทำให้ต้องมีการพูดเรื่องวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนด้วยเช่นกัน สำหรับสถานะของความรู้และการต่อสู้เรื่องนี้ในเมืองไทยไม่เด่นชัดนัก ที่ผ่านมาส่วนมากจะศึกษาเรื่องนโยบายชาวเขา แต่อยากจะนำเสนอมันในบริบททางการเมืองของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมีการอธิบายประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง โดยจะเห็นผ่านปรากฏการณ์ ลูกจีนกู้ชาติ กับ หมู่บ้านเสื้อแดง ทั้งนี้ ขอไม่อธิบายในมุมของเศรษฐกิจ ชนชั้น เพราะเห็นว่ามีคนพูดแล้วและเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายประกอบด้วยคนหลากชนชั้นทั้งคู่ จะเห็นว่าวิธีการต่อสู้ทั้งสองฝ่ายได้ดึงเอา moment บางอันในอดีตมาพยายามปรับใหม่ และเอาคอนเซ็ปท์คนกลุ่มน้อยมาเกี่ยวพัน เช่น การที่ลูกจีนนำปมในอดีตของตัวเองมาต่อสู้ แม้ปมนั้นจะจบไปแล้ว แต่ก็สร้างภาพนี้อีกครั้ง ในการ "กู้ชาติ" กรณีเสื้อแดงจุดสำคัญของการดึงความเป็นชนกลุ่มน้อยเป็นชั่วเวลาสั้นๆ ช่วงถูกปราบ ก่อนยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเกิดหมู่บ้านเสื้อแดงจำนวนมากในขณะนี้เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เป็นการแข็งข้อกับรัฐในระดับรากฐาน ดังนั้นจะเห็นว่า การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยไม่ได้ใช้หลักเสรีภาพ ประชาธิปไตยแบบตะวันตกล้วนๆ แต่เชื่อมโยงกับมิติทางประวัติศาสตร์ที่อ้างว่าตัวเองถูกกดขี่ แล้วแปรเปลี่ยนมันเป็นพลังในการกู้ชาติ ในการต่อต้าน ทั้งสองฝ่ายนี้ล้วนแต่มีความเป็นพลเมือง (citizenship) เหมือนกัน แต่ดูเหมือนการเมืองปัจจุบันยังไม่ตอบคำถามของเขา
เสียงข้างน้อย อาจไม่ถูกเสมอไปศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ นำเสนอเรื่อง "เสียงข้างน้อยในสังคมประชาธิปไตย" กล่าวว่า รูปแบบของการพูดถึงสิทธิเสียงข้างน้อยที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือช่วงก่อนที่จะรณรงค์รับรัฐธรรมนูญในอเมริกายุคต้นๆ federalist เขียนเพื่อจูงใจตัวแทนรัฐนิวยอร์กรับรัฐธรรมนูญของสหภาพ บทความสำคัญชิ้นหนึ่งเขียนโดย Alexander Hamilton ชี้ให้เห็นว่า เสียงข้างมากที่จนและขาดความรู้เป็นอันตราย จึงพยายามจะออกแบบสถาบันทางการเมืองรองรับเสียงข้างน้อยที่ฉลาด จึงเป็นที่มาของการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในอเมริกา นี่เป็นหลักการที่สะท้อนให้เห็นว่าคำนึงถึงเสียงข้างน้อยอย่างเป็นรูปธรรม ในเมืองไทย 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมของทั้งสองฝั่ง ด้านหนึ่งการชุมนุมยืนบนสิทธิของเสียงข้างน้อย แต่มันต่างกับสังคมที่มีพัฒนาการทางสังคมที่มีประชาธิปไตยมายาวนาน เพราะการเคลื่อนไหวของเราพร้อมจะล้มรูปแบบการปกครองประชาธิปไตย ดูได้จากข้อเสนอของ พธม.ที่เสนอ ม.7 หรือกลุ่มที่สนามหลวงที่พยายามเสนอใช้ ม.3 ความน่าสนใจคือการกล่าวอ้างเสียงข้างน้อยในไทย โดยลำพังตัวมันเองไม่สามารถทำงานได้โดยหลักการโดดๆ แต่กลุ่มที่กล่าวอ้างเสียงข้างน้อยต้องผนวกกับปัจจัยอื่นๆ เช่น เรื่องความดี คนดี , การเคลื่อนไหวของกองทัพ ดังนั้น วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยตามหลักสากล จึงมีปัญหาอยู่ตลอดเวลาในสังคมการเมืองไทย เรื่องเสียงข้างน้อยในมิติเศรษฐกิจนั้น เสียงข้างน้อยจะเป็นผู้มั่งคั่ง เป็นกลุ่มอภิชนที่เชื่อว่าตัวเองกำหนดทิศทางและหาทางออกของสังคมได้ โดยขอให้คนส่วนใหญ่วางใจและเชื่อใจกลุ่มตนเองเพื่อจะหาทางออกได้ร่วมกัน ดังนั้นจึงมีสองคำถามที่จะชี้ชวนนักรัฐศาสตร์คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องศึกษาเสียงข้างน้อยในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง และถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยต้องมาพูดเรื่องระบบเลือกตั้งในปัจจุบัน เพื่อกันไม่ให้เสียงข้างน้อยเข้ามาทำลายระบอบประชาธิปไตย ชุมชนเข้มแข็ง การควบคุมแบบละเอียดของรัฐรัชนี ประดับ นำเสนอเรื่อง"ชุมชนเข้มแข็ง: ปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐไทยสมัยใหม่" โดยระบุว่านี่เป็นเทคนิควิทยาการของรัฐสมัยใหม่ เป็นวิธีควบคุมของรัฐแบบใหม่ ไม่ได้มีเป้าหมายจากการหลุดรอดจาการควบคุมอย่างที่เข้าใจ ความเข้าใจต่อชุมชนเข้มแข็ง หลังพฤษภา 35 มักโยงกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กระบวนการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 การเผยตัวของคำนี้เป็นปฏิบัติการของวาทกรรมในการพัฒนาท่ามกลางการอุปถัมภ์ของนักวิชาการ คำเช่น การพึ่งตนเอง ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมชุมชน เกิดขึ้นในทศวรรษ 2530 โดยอาศัยเครือข่ายอำนาจที่ทำงานใกล้ชิดชุมชนเป็นกลไกดำเนินการ จากที่เป็นกระแสทางเลือกก็เริ่มมาฮิตในทศวรรษ 2540 ร่วมไปกับเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับศิลปะของการปกครองของรัฐสมัยใหม่ เพียงแต่เน้นให้ประชาชนพึ่งตัวเองมากว่าพึ่งพิงรัฐ รัฐไม่ได้ใช้อำนาจกดบังคับ แต่คำนึงถึงการดูแลประชาชน โดยอาศัยประชาชนเองที่จะมีสำนึกในการดูแลตัวเอง จัดการชีวิตประจำวันกันเอง หมอประเวศ วะสี ถือเป็นผู้ผลิตวาทกรรมเรื่องนี้ที่รัฐหยิบไปใช้มากที่สุดคนหนึ่ง และมีส่วนอย่างมากของการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งผ่านองค์กรอิสระ สสส. สกว. พอช. จัดการโปรแกรมพัฒนาที่มีเป้าหมายที่ชุมชน อย่างไรก็ตาม ชุมชนเข้มแข็งมีลักษณะกำลังพัฒนาแต่ยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็ไม่ได้โหยหาอดีตแบบเดิม หากแต่เป็นการก่อตัวชุมชนในแบบใหม่ บริหารจัดการชีวิตโดยอาศัยสำนึกคนในชุมชนเอง ปฏิบัติการเกิดจากการกระตุ้นในเงื่อนไขของความสัมพันธ์อำนาจที่หลากหลาย จึงกลายเป็นความเคลือบแคลงสงสัยต่อเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการสร้างตัวมัน เพราะไม่ได้ปราศจากอำนาจ แต่มองว่าเป็นการพัฒนาเทคนิคการใช้อำนาจอีกรูปแบบ เป็นการควบคุมอย่างละเอียดลออในเปลืองของเสรีภาพแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ขบวนการนักศึกษา..ที่ไม่ได้เข้าป่าภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นำเสนอเรื่อง "การเมืองของอุดมการณ์ของขบวนการนักศึกษา : อิทธิพลทางอุดมการณ์แบบ พคท. ต่อขบวนการนักศึกษาในเมืองหลัง 6 ตุลาคม 2519 ถึงยุคป่าแตก" กล่าวว่า งานศึกษาชิ้นนี้สนใจศึกษาขบวนการนักศึกษา หลัง 6 ตุลา 19 จนถึงป่าแตก โดยมุ่งศึกษากลุ่มที่ปฏิบัติการอยู่ในเมือง ไม่ใช่กลุ่มที่เข้าป่า คำถามสำคัญคือ อุดมการณ์นักศึกษาคืออะไร, ความสัมพันธ์ของขบวนการนักศึกษายุคนั้นกับนโยบายและการเมืองในปัจจุบัน, ขบวนการซ้ายไทยในบริบทการเมืองเหลืองแดงยัง function อยู่หรือไม่ และมีส่วนกำหนดการเคลื่อนไหวเหลืองแดงไหม แง่การเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมอุดมการณ์ของนักศึกษา งานประจักษ์ ก้องกีรติ แบ่งเป็น 3 สาย คือ พวกเสรีนิยม, พวกซ้าย ไม่ใช่แบบ พคท.แต่เป็นแบบกุหลาบ สายประดิษฐ์, พวก new left บุปผาชนอเมริกัน หลัง 14 ตุลา 16 บริบทสังคมเริ่มเปิด ส่วน พคท.ก็เริ่มมามีอิทธิพลมากในยุคนี้ จนถูกปราบเมื่อ 6 ตุลา 19 นักศึกษาส่วนใหญ่ก็หนีเข้าป่า พวกที่หลงเหลือในเมืองหรือ "ผู้ปฏิบัติงานในเขตเมือง" นั้นจากหลักฐานต่างๆ การสัมภาษณ์ การอ่านเอกสาร พบว่า การขยายอิทธิพลเชิงอุดมการณ์มีนัยที่สำคัญ 2 อย่าง คือ เป็นการเคลื่อนไหวที่ออกมาจากยุทธศาสตร์ของ พคท.เอง ที่ประเมินแล้วว่าจะต้องขยายเขตงานการปฏิวัติเชื่อมเขตเมืองกับป่าเข้าด้วยกัน กับเป็นส่วนของขบวนการนักศึกษาเอง หากถามว่านักศึกษาสัมพันธ์กับ พคท.ได้อย่างไร เราจะพบว่าหลังการล้อมปราบก็เข้าสู่สถานการณ์ที่เปิดเผยตัวไม่ได้ ด้วยความที่ถูกรัฐไล่ขยี้ในทางการเมืองและต้องการแก้แค้น ทำให้ความต้องการทั้งสองส่วนมาบรรจบกัน จึงเกิดการรื้อฟื้นอุดมการณ์ภายใต้อิทธิพลพคท.ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร ยุทศาสตร์ พคท. รูปธรรมนั้นจะมีหน่วยจัดตั้งพรรคที่อยู่ในเมือง ผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองของพรรคแบ่งเป็น 2 พวก คือ พวกนักศึกษารุ่นพี่ที่มีสัมพันธ์กับ พคท.ก่อนหน้า 6 ตุลาอยู่แล้ว กับ ผู้ปฏิบัติงานของพรรคโดยตรง แต่ส่วนใหญ่ส่งรุ่นพี่มาเสียมากกว่า พคท.ออกทฤษฎี "กองหน้าสะพานเชื่อม" ถูกผลิตออกมาจากศูนย์การนำในช่วง 2520-2522 ตั้งอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา แต่นักศึกษาที่เข้าไปในป่าก็เริ่มทะเลาะกับพรรคในป่าแล้วเกี่ยวกับการวิเคราะห์สังคมไทยตรงนี้ ส่วนในเมืองกลับเป็นหนังอีกม้วนหนึ่ง นักศึกษาในเมืองไม่ค่อยรู้สถานการณ์ในป่า จึงยอมรับอุดมการณ์ พคท.โดยตั้งคำถามน้อย สำหรับกองหน้าสะพานเชื่อมนั้น พคท.อธิบายว่า ขบวนการนักศึกษาเป็นชนชั้นนายทุนน้อย ไม่ใช่ขบวนปฏิบัติโดยตัวเอง แต่เป็นกองหน้าในการเผยแพร่แนวคิดสังคมวิทยาศาสตร์ เชื่อมกรรมการแรงงาน นักศึกษาก็เชื่อว่าตัวเองเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต่อมาของเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้เปลี่ยนนโยบายเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้น ขบวนการนักศึกษาก็ฟื้นคืนมาภายใต้ยุทธศาสตร์แบบพคท. ขบวนการนักศึกษาในเมืองช่วงนั้นแทบจะเป็นสาขาหนึ่งของพรรคด้วยซ้ำ ภายใต้การชี้นำของ พคท.นี้ก็เกิดเครือข่ายนักศึกษาระหว่างสถาบัน มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบลับลวงพราง นำไปสู่การประท้วงนโยบายเศรษฐกิจ เพราะพูดการเมืองตรงๆ ไม่ได้
ทั้งนี้ หัวข้อทั้งหมดที่มีการนำเสนอได้แก่ เกษม เพ็ญภินันท์ นำเสนอเรื่อง"อ่าน Carl Schmitt ในบริบททวิรัฐ" , พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นำเสนอเรื่อง "politics of multiculturalism in thailand", บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ นำเสนอเรื่อง "ทัศนียภาพของการต่อต้าน: สู่การเมืองทัศนา", ณัฐพล ใจจริง นำเสนอเรื่อง "เขียนสามัญชนในสังคมประชาธิปไตยไทย", ศุภชัย ศุภผล นำเสนอเรื่อง"รุสโซในระบอบปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2745-2490" , ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ นำเสนอเรื่อง "เสียงข้างน้อยในสังคมประชาธิปไตย", ชนุตร์ นาคทรานนท์ นำเสนอเรื่อง "เหตุผลทางการเมืองและเหตุผลทางตรรกศาสตร์ในการเมืองไทย", ศรัณย์ วงศ์ขจิตร นำเสนอเรื่อง "66/23 ใน 'ไฟใต้', ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นำเสนอเรื่อง "การเมืองของอุดมการณ์ของขบวนการนักศึกษา : อิทธิพลทางอุดมการณ์แบบ พคท. ต่อขบวนการนักศึกษาในเมืองหลัง 6 ตุลาคม 2519 ถึงยุคป่าแตก", อุเชนทร์ เชียงเสน นำเสนอเรื่อง "หลังการเมืองแบบฝ่ายซ้าย- พคท. (2524-2535): การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความคิดของนักศึกษา-ปัญญาชนกลุ่มต่างๆ ยุคหลัง "ป่าแตก", รัชนี ประดับ นำเสนอเรื่อง"ชุมชนเข้มแข็ง: ปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐไทยสมัยใหม่"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น