โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ตัดโบกี้รถไฟขวาง ‘ชาวบ้านปากมูน’ เข้ากรุงฯ ทวงสัญญารัฐบาล

Posted: 30 Jun 2013 12:33 PM PDT

ชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล กว่าครึ่งร้อย ถูกตัดโบกี้ปล่อยทิ้งกลางสถานีรถไฟวารินชำราบ หลังรวมตัวขึ้นรถไฟเที่ยวเย็นไปทวงสัญญากับนายกฯ ร้องปฏิบัติตามข้อตกลง ตั้งกรรมการระดับชาติแก้ปัญหา-เร่งเปิดประตูระบายน้ำ

 
วันที่ (30 มิ.ย.56) ชาวบ้านกรณีสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลเตรียมทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลโดยขบวนรถไฟเที่ยวเย็นของวันที่ 30 มิ.ย.หลังจากมีการประสานงานกับแขวงเดินรถไฟวารินชำราบและเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟไว้ล่วงหน้าแล้ว
 
แต่ในช่วงบ่ายเมื่อชาวบ้านราว 70 คนเดินทางไปยังสถานีรถไฟวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อเคลื่อนขบวน กลับถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นรถไฟ โดยอ้างว่าไม่สามารถจัดตู้โดยสารรถไฟฟรีให้ได้ตามที่เรียกร้อง และต้องซื้อตัวหากต้องการเดินทางในเวลาดังกล่าว อีกทั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาสัมพันธ์รถไฟเข้ามาพูดกดดันชาวบ้านโดยยกกฎระเบียบและบทลงโทษต่างๆ
 
 
การปฏิเสธที่จะอำนวยความสะดวกให้ตามที่ตกลง ทำให้ชาวบ้านปากมูนต้องขึ้นยึดที่นั่งบนโบกี้รถไฟ แต่ต่อมาในเวลาประมาณ 17.20 น. นายสถานีรถไฟวารินฯ ได้สั่งให้รถไฟขบวนที่มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ออกจากสถานี โดยตัดโบกี้ที่ชาวบ้านปากมูนโดยสารและตู้โดยสารอีก 3 โบกี้ไว้ที่ชานชาลาสถานีรถไฟวารินฯ ซึ่งขัดแย้งกับที่เจ้าหน้าที่ได้อ้างไว้ว่าไม่มีตู้โดยสารว่างเลย 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านปากมูนที่ถูกตัดโบกี้ทิ้งไว้ที่ชานชาลา ยังคงปลักหลักอยู่บนโบกี้รถไฟดังกล่าว และจะค้างแรมที่สถานีรถไฟวารินฯ ในคืนนี้
 
 
ทั้งนี้ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูลได้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องมากว่า 24 ปีแล้ว ล่าสุดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีมติครม.วันที่ 28 พ.ค.56 เรื่องการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล มีสาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้นหนึ่งคณะ ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมชุมนุมเรียกร้องกับเครือข่ายผู้เดือดร้อนทั่วประเทศในนาม P-move ระหว่างวันที่ 6-23 พ.ค.56
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ในขณะที่ช่วงเวลานี้กำลังเข้าสู่ฤดูกาลหาปลาของชาวบ้านแล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งหรือมติของคณะกรรมการฯ ให้เปิดเขื่อนได้ ทำให้ไม่สามารถหาปลาได้ ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูลจึงได้มีมติเดินทางไปทวงสัญญาจากรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล 
 
ด้าน พ.ต.ท.สุทิน สะเดา รอง ผกก.ป.สภ.วารินชำราบ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดูแลรักษาความปลอดภัย ให้กับกลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลแล้ว พร้อมกับยืนยันว่า พรุ่งนี้เช้าชาวบ้านจะได้เดินทางด้วยรถไฟฟรีอย่างแน่นอน โดยก่อนหน้านี้ทางสถานียืนยันว่า กลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล จะต้องซื้อตั๋วจึงจะสามารถเดินทางได้ และหากจะเดินทางฟรีจะสามารถเดินทางได้ในเวลา 07.00 น.ของวันนี้ (1 ก.ค.56)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้ กสทช. หาวิธีคำนวณตรวจแถวค่าบริการ 3G เผยวิจัยพบค่าบริการลดไม่ถึง 15%

Posted: 30 Jun 2013 11:51 AM PDT

งานศึกษา NBTC Policy Watch พบค่าบริการ 3G ส่วนใหญ่ลดลงไม่ถึง15% พร้อมเสนอวิธีการเพื่อใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของผู้บริโภค

(28 มิ.ย.56) โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) นำเสนอรายงานในหัวข้อ "ลดค่าบริการ 3G ลง 15% ใครได้ประโยชน์?: ข้อเสนอวิธีการเพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงค่าบริการ" โดย พรเทพ เบญญาอภิกุล นักวิจัยประจำโครงการ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พรเทพ กล่าวว่า หลังจากที่ กสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายลดราคาแพคเกจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ลงร้อยละ 15 จากราคาแพคเกจ 2G และกำหนดอัตราอ้างอิงสำหรับแพคเกจใหม่โดยกำหนดเป็นรายลักษณะบริการคือค่าโทรนาทีละ 0.82 บาท, SMS ข้อความละ 1.33 บาท, MMS ครั้งละ  3.32 บาทอินเทอร์เน็ตต่อ 1เมกะไบต์ละ 0.28 บาท พบว่าการติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาแพคเกจแต่ละแพคเกจว่าเป็นไปตามอัตราที่กำหนดหรือไม่นั้นทำได้ยาก เนื่องจากอัตราอ้างอิงที่ประกาศเป็นรายบริการนั้นไม่สอดคล้องกับลักษณะการให้บริการและการคิดราคาที่เกิดขึ้นตามสภาพความเป็นจริงที่ผู้บริโภคซื้อเป็นแพคเกจไม่สามารถแยกซื้อบริการแต่ละประเภทแยกกันได้ การที่บริการทั้งหมดถูกผูกรวมเข้าด้วยกันในรูปของแพคเกจทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้บริโภคและ กสทช. จะตรวจสอบว่าในแต่ละแพคเกจ บริการใดคิดราคาเกินกว่าราคาอ้างอิง

"การที่บริการเสียงและข้อมูลถูกขายพ่วงรวมกันเป็นแพคเกจทำให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการน้อยถูกคิดราคาในอัตราที่แพงกว่าผู้บริโภคที่ใช้บริการมาก การกำหนดราคาอ้างอิงเพียงอัตราเดียวแยกตามประเภทบริการอาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคบางกลุ่มเช่น กลุ่มที่มีการใช้งานสูงซึ่งอัตราค่าบริการต่อหน่วยการใช้ของแพคเกจที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ใช้อยู่จะมีค่าที่ต่ำกว่าอัตราอ้างอิงที่ กสทช. ประกาศอยู่แล้ว" พรเทพ กล่าว

พรเทพ เสนอว่า กสทช. จำเป็นที่จะต้องกำหนดวิธีการวัดราคาที่สะท้อนลักษณะการใช้งานของผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถแน่ใจได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาการให้บริการในอนาคต ซึ่งวิธีหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือการสร้าง"ลักษณะการใช้บริการ"หรือ "ตะกร้าสินค้า" ที่แสดงปริมาณการใช้บริการประเภทต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคหลายกลุ่มที่มีลักษณะการใช้บริการเสียงและข้อมูลที่ต่างกัน และคำนวณค่าใช้จ่ายของแต่ละกลุ่มว่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดจากแพคเกจที่เปลี่ยนแปลงไป

พรเทพยังได้แสดงตัวอย่างการคำนวณโดยทดลองสร้าง "ลักษณะการใช้บริการ" จำนวน 24 ลักษณะ เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการใช้บริการด้านเสียงและข้อมูลที่ต่าง ๆ กัน โดย พรเทพ คำนวณค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคทั้ง 24 ประเภทนี้ต้องจ่ายภายใต้แพคเกจรายเดือน 2G ของผู้ให้บริการทั้งสามราย และเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากแพคเกจรายเดือน 3G ของผู้ให้บริการรายเดือน และตรวจสอบดูว่าในแต่ละลักษณะการใช้บริการ แต่ละกลุ่มมีค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร และมีกลุ่มใดบ้างที่จ่ายลดลงกว่า 15% ตามความตั้งใจของ กสทช.

พรเทพ พบว่า จากลักษณะการใช้งานทั้ง 24 แบบ บริษัท AIS มีค่าบริการลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 7.8% ในขณะที่ บริษัท TRUE มีค่าบริการลดลงเฉลี่ย 8.5% ในขณะที่ DTAC มีค่าบริการลดลง 17.7% (ดูตารางประกอบ)

สำหรับบริษัท AIS พบว่ามีเพียง 5 กลุ่มลักษณะการใช้บริการ จาก 24 กลุ่ม เท่านั้นที่จะจ่ายค่าบริการลดลงมากกว่า 15% ในระบบ 3G ในขณะที่มีถึง 13 กลุ่มลักษณะการใช้งานที่จ่ายค่าบริการลดลงน้อยกว่า 5%

ส่วนบริษัท TRUE พบว่ามี 9 กลุ่มลักษณะการใช้บริการที่จ่ายค่าบริการลดลงมากกว่า 15% และ 11 กลุ่มที่จ่ายค่าบริการลดลงน้อยกว่า 5%

ในขณะที่ DTAC มีถึง 10 กลุ่มลักษณะการใช้งานที่ค่าบริการลดลงมากกว่า 15 % และมีเพียง 2 กลุ่มมีค่าบริการลดน้อยกว่า 5%

 

ตารางแสดงจำนวนประเภทการใช้งานที่ราคาลดลง และค่าเฉลี่ยราคาที่ลดทั้งหมด

บริษัท

จำนวนประเภทการใช้ที่มีจ่ายค่าบริการลดลงมากกว่า 15%

จำนวนประเภทการใช้ที่มีจ่ายค่าบริการลดลงน้อยกว่า5%

ราคาลดลงเฉลี่ยทั้ง 24 กลุ่มประเภทการใช้งาน

AIS

5

13

7.8%

TRUE

9

11

8.5%

DTAC

10

2

17.7%

 

พรเทพ ให้ความเห็นว่าความสำเร็จในการลดราคาค่าบริการของ DTAC น่าจะมีสาเหตุมาจากการแบ่งการคิดราคาเป็นรายบริการ (unbundled) และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกส่วนผสมของบริการเสียงและข้อมูลที่ต้องการอย่างยืดหยุ่นซึ่งแพคเกจ 3G ของ DTAC สามารถแบ่งย่อยลงได้ถึง 9 แพคเกจ

"หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่ากลุ่มผู้ใช้บริการที่มีปริมาณการใช้งานบริการเสียงในระดับสูงจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลดราคาแพคเกจน้อยที่สุด เหตุผลเนื่องจากว่าผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีแนวโน้มการใช้บริการเสียงเกินจำนวนนาทีที่แพคเกจกำหนด แต่ราคาค่าโทรเกินแพคเกจสำหรับผู้ให้บริการทุกรายที่ 1.25-1.5 บาทต่อนาที ยังมีค่าสูงกว่าอัตราขั้นสูงที่ กสทช. กำหนดและราคาค่าโทรเกินแพคเกจในระบบ 3G เป็นต้นทุนที่ยังไม่ลดลงสำหรับผู้บริโภคกลุ่มโทรมาก" พรเทพให้ความเห็น

ในทางตรงกันข้าม พรเทพ ชี้ว่า ผู้บริโภคในกลุ่มที่มีการโทรน้อยแต่ใช้งานอินเตอร์เน็ตมากมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการลดราคาแพคเกจ 3G ของผู้ประกอบการ ผลดังกล่าวบ่งชี้ว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มการลดราคาแพคเกจผ่านการปรับเปลี่ยนลักษณะแพคเกจโดยการเพิ่มปริมาณข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์เฉพาะกับผู้บริโภคกลุ่มที่เน้นการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ

พรเทพ สรุปว่า กสทช. จำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือในการติดตามการเปลี่ยนแปลงราคาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการทำธุรกิจ และลักษณะการใช้งานของผู้บริโภคซึ่งวิธีการใช้ตระกร้าสินค้าที่นำเสนอมีข้อดีที่สามารถแสดงผลกระทบต่อผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม และการคำนวณคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่บริการหลายประเภทถูกขายพ่วงเป็นแพคเกจซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยวัดผลของนโยบายและติดตามสภาวะราคาและระดับการแข่งขันในตลาด

 

 

ตารางประกอบ

ตารางที่ 1การเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการรายเดือนของ AIS ต่อประเภทการใช้งาน (ร้อยละ)

 

ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อเดือน

 

100MB

500MB

1000MB

2000MB

ปริมาณการโทรต่อเดือน

60 นาที

-25.1

-25.1

0.0

-20.0

200 นาที

-5.3

-5.3

-11.1

-20.0

400 นาที

-3.2

-3.2

-14.3

-20.0

600 นาที

-2.3

-2.3

-8.7

-4.4

1000 นาที

-1.5

-1.5

-5.7

-2.9

2295 นาที

-0.7

-0.7

-2.7

-1.4

ราคาเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยทั้ง 24 ตะกร้า:   -7.8%

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงมากกว่า 15%:     5 ตะกร้า

 

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงน้อยกว่า5%:     13 ตะกร้า

 

 

ตารางที่ 2การเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการรายเดือนของ TRUEต่อประเภท (ร้อยละ)

 

ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อเดือน

 

100MB

500MB

1000MB

2000MB

ปริมาณการโทรต่อเดือน

60 นาที

99.3

-53.9

-38.5

-33.4

200 นาที

40.7

-53.9

-38.5

-33.4

400 นาที

18.7

-34.4

-22.4

-8.3

600 นาที

12.1

-22.0

-12.2

0.0

1000 นาที

7.1

-14.8

-8.2

0.0

2295 นาที

3.1

-7.2

-4.0

0.0

ราคาเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยทั้ง 24 ตะกร้า:   -8.5%

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงมากกว่า 15%:     9 ตะกร้า

 

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงน้อยกว่า5%:     11 ตะกร้า

 

 

ตารางที่ 3การเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการรายเดือนของ DTACต่อประเภทการใช้งาน (ร้อยละ)

ตะกร้า OECD

ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อเดือน

ตะกร้าเพิ่มเติม

100MB

500MB

1000MB

2000MB

ปริมาณการโทรต่อเดือน

60 นาที

-25.1

-57.2

-42.9

-16.7

200 นาที

0.0

-42.9

-42.9

-16.7

400 นาที

-10.7

-19.4

-19.4

-16.7

600 นาที

-12.8

-12.8

-12.8

-2.6

1000 นาที

-14.8

-14.8

-14.8

-7.4

2295 นาที

-6.1

-6.1

-6.1

-3.0

ราคาเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยทั้ง 24 ตะกร้า:   -17.7%

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงมากกว่า 15%:     10 ตะกร้า

 

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงน้อยกว่า5%:     2 ตะกร้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปมสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ 1,486 ไร่ นายทุน-ชาวบ้าน ใครบุกรุกใคร?

Posted: 30 Jun 2013 10:59 AM PDT

ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐต่อศาลปกครอง เหตุไม่เร่งเพิกถอน น.ส.3 บริษัทเอกชนในเขตป่า จากกรณีพิพาทที่ดินสวนปาล์ม 1,486 ไร่ ทำชาวบ้านถูกฟ้องทั้งแพ่ง-อาญา ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมถึง 15 ล้าน กับคำถาม 'นายทุนรุกที่ป่า' หรือ 'ชาวบ้านรุกที่นายทุน'

 
 
จากความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด กรณีพิพาทที่ดินสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ 1,486 ไร่ ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี นำเอกสารหลักฐาน เข้ายื่นฟ้องหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ 4 หน่วยงาน คือ กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตามความใน ม.61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกรมป่าไม้ ต่อศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เป็นคดีหมายเลขดำ 1373/2556 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.56
 
คำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) 10 แปลง และโฉนดที่ดินจำนวน 13 ฉบับ ตาม ม.61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินออกให้บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ป่าไม้ถาวรหมายเลข 92 แปลงที่ 29 และป่าสงวนแห่งชาติป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระซุม ในเขต อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี 
 
อีกทั้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้กรมป่าไม้ปฏิบัติการและใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด เพื่อดำเนินการให้บริษัทคู่กรณีดังกล่าวออกจากเขตป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติ
 
000
 
 
สุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า ที่ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ทางคดีในครั้งนี้ เนื่องจากประสบความเดือดร้อนจากการที่เอกสารสิทธิ์ดังกล่าวถูกบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ นำมาฟ้องร้องนำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยอ้างความเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน 1,486 ไร่ ซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3ก 330 ไร่ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการออกเอกสารสิทธิ
 
นำไปสู่การตัดสินลงโทษจำคุกชาวบ้าน และให้ชดใช้ค่าเสียหายรวมกว่า 15 ล้านบาท รวมทั้งขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ชาวบ้านยืนยันว่าได้เข้าไปอยู่อาศัยในที่ ส.ป.ก.ที่มีการยึดคืนจากบริษัทฯ แล้ว
 
อีกทั้ง ยังมีคำถามว่าเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวออกโดยชอบหรือไม่ โดยศาลให้ความเห็นไว้ว่า เอกสารสิทธิ์ที่ดินแม้จะออกในพื้นที่ป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติ แต่เมื่อยังไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์และเป็นชื่อของบริษัทฯ อยู่ ถือว่าบริษัทฯ เป็นเจ้าของที่ดิน
 
"บุกรุกก่อนมีสิทธิ์ก่อน เพราะกฎหมายนั้นรับร้องสิทธิของผู้มาก่อน ส่วนผู้มาทีหลังต้องยอมรับสิทธิของผู้ที่มาคนแรก" สรไกร ศรศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาในการฟ้องคดีปกครอง กล่าวถึงสภาพปัญหาที่ชาวบ้านต้องผจญอยู่ในขณะนี้
 
ขณะที่ ศิริวรรณ เลิศว่องเกียรติไพศาล คณะทำงานในคดีปกครองชี้ว่า การที่รัฐในฐานะเจ้าของที่ดินเพิกเฉย ไม่เข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย และจัดการให้เกิดความเป็นทำตั้งแต่ต้น นั่นคือเงื่อนปมปัญหา
 
000
 
กรณีปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่แตกต่างกับในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายนำพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาให้เช่าระยะยาวหลายสิบปี และเช่าในราคาถูก แต่ชาวบ้านที่ยากจนผู้ไม่มีที่ดินทำกินกลับไม่ได้รับสิทธิในการเช่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เช่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นนายทุน นักการเมืองและข้าราชการ 
 
จนเมื่อรัฐบาลต่อๆ มาต้องมีนโยบายตรวจสอบการถือครองทำประโยชน์ของบริษัทและนายทุนรายใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อการจัดการโครงสร้างการกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น
 
เมื่อปี 2550 ชาวบ้านซึ่งไม่มีที่ดินทำกินในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้เรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ดำเนินการตรวจสอบการถือครองและทำประโยชน์ ของบริษัทและนายทุนรายใหญ่ตามมติคณะรัฐมนตรี นำมาสู่คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอตรวจสอบที่ดิน ของบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ ใน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี โดยการมีสวนร่วมของหน้าที่รัฐ ผู้ปกครองท้องที่ ตัวแทนบริษัท และผู้แทนชาวบ้าน
 
ผลการตรวจสอบของคณะทำงานพบว่า บริษัทฯ ครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่กว่า 3,392 ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหมายเลข 92 แปลง 29 เนื้อที่ 1,210 ไร่ 2.อยู่ในเขต ส.ป.ก.เนื้อที่ 276 ไร่ และ3.อยู่ในเขตออกเอกสารสิทธิ์กรมที่ดิน เนื้อที่ 1,901 ไร่
 
ทั้งนี้ ที่ดินในเขตป่าไม้ถาวรและ ส.ป.ก.รวมแล้วเป็นเนื้อที่กว่า 1,486 ไร่นี้เอง บริษัทฯ ได้อ้างตัวเป็นผู้ครอบครองแล้วนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน และเป็นที่มาของการยื่นฟ้องคดีทางปกครองของชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา
 
 
000
 
จากการพูดกับทีมทนายความ จากสภาทนายความ ในฐานะคณะทำงานในคดีปกครอง แจกแจงข้อมูลของชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาในกรณี พิพาทที่ดินสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ 1,486 ไร่ ได้ดังนี้
 
1.คดีอาญา บริษัทฯ ฟ้องชาวบ้านข้อหาร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ในพื้นที่มี นส.3ก จำนวน 330 ไร่ พร้อมระบุว่าพื้นที่ที่เหลืออยู่ระหว่างการออกเอกสารสิทธิเพิ่ม โดยไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า นส.3ก ดังกล่าวอยู่ตรงไหนในพื้นที่ 1,486 ไร่
 
อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาอ้างมีเหตุสงสัยว่าอยู่ในพื้นที่จึงสั่งลงโทษจำเลย ทั้งที่การระบุมีเหตุสงสัยในคดีอาญาปกติต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ชาวบ้านจึงถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการถือครองที่ดินโดยมิชอบของบริษัทเอกชน
 
2.ตามความจริงชุมชนสันติพัฒนาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 276 ไร่ ในที่ดิน ส.ป.ก.ที่บริษัทฯ อ้างตัวเป็นเจ้าของ โดยเมื่อราวปลายปี 2550 ชาวบ้านที่ขาดแคลนที่ดินทำกินได้เข้าไปก่อตั้งชุมชน เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินด้วยตนเอง พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม หลังจากพบว่าบริษัทฯ ถือครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
ขณะนี้พื้นที่ดังกล่าว สปก.จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีหนังสือส่งมอบพื้นที่ให้กับชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินไปก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ตามหนังสืออ้างถึงสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ กษ 1204/1977 ลงวันที่ 23 มี.ค.52
 
3.ที่ดิน 1,486 ไร่ ไม่ใช่ที่ดินของบริษัทฯ แต่เป็นที่ดินของรัฐ โดยแบ่งเป็นที่ ส.ป.ก.ประมาณ 276 ไร่เศษ ซึ่งเป็นตั้งชุมชน ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร รวมทั้งที่ดิน น.ส.3ก 330 ไร่ ที่บริษัทฯ อ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ด้วย
 
ยืนยันจากการตรวจสอบของหลายหน่วยงาน อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งพบว่าเอกสารสิทธิออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
000
 
 
"เอกสารสิทธิ์ถูกใช้อ้างอิงความชอบโดยกฎหมายมาตลอด จึงควรยุติการใช้เอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบ" สรไกรกล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของบริษัทเอกชน
 
นอกเหนือจากการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ นส.3ก ของบริษัทเอกชน เพื่อคืนที่ดินให้สาธารณะนำมาจัดสรรแก่เกษตร หรือดำเนินการบำรุงรักษาต่อไปตามความเหมาะสมแล้ว ทนายความในคดียังคาดหวังด้วยว่า การดำเนินการทางคดีปกครองจะส่งผลต่อคดีอาญาและคดีแพ่งที่บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้านอยู่
 
สรไกร กล่าวด้วยว่า หากศาลปกครองรับฟ้อง จะนำคำรับฟ้องไปยื่นต่อศาลในคดีอาญาให้เห็นว่ามีการดำเนินการที่จะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่ศาลชั้นต้นลงความเห็น
 
ส่วนสุทิน บรมเจต คณะทำงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ แสดงความเห็นว่า ประเด็นการออกเอกสารสิทธิ์นั้นค่อนข้างชัดเจนแล้ว แต่ขณะนี้อยู่ที่ว่าศาลจะพิจารณารับคำฟ้องของชาวบ้านหรือไม่ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนหลังจากนี้
 
หากศาลปกครองตีความอย่างกว้าง อาศัยสิทธิชุมชน ชาวบ้านในฐานะผู้ได้รับความเสียหายตามกฎหมายมีสิทธิ์ฟ้องได้ แต่หากตีความอย่างแคบว่า การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบในที่ดินรัฐ เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ชาวบ้านไม่ใช่ผู้เสียหายก็ไม่สามารถฟ้องคดีได้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านสามารถดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้
 
000
 
 
ภาพรวมโดยสรุปของกรณีพิพาทที่ดินสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ มีว่า บริษัทเอกชนรายใหญ่บุกรุกที่ป่า และใช้เอกสารสิทธิที่ครอบครองพื้นที่เพียงจำนวนหนึ่งไปใช้อ้างความเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด เพื่อทำประโยชน์ เมื่อชาวบ้านเห็นว่าทำได้ก็เข้าไปทำประโยชน์บ้าง จึงถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดี
 
'ถือครองก่อนมีสิทธิก่อน' คือข้ออ้างของบริษัทเอกชน ขณะที่ชาวบ้านก็อ้างว่า 'การถือครองของบริษัทเอกชนไม่ชอบด้วยกฎหมาย' กลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายเป็นความรุนแรงในพื้นที่
 
อย่างไรก็ตามในการต่อสู้ทางคดีนั้น ชาวบ้านมักตกอยู่ในภาวะคู่ชกที่เสียเปรียบเต็มประตู
 
ศิริวรรณ กล่าวว่า การหาความเป็นธรรมโดยใช้กระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลามาก และชาวบ้านก็มักเข้าไม่ถึงกระบวนการนี้ ทั้งหน่วยงานที่จะมาให้ความช่วยเหลือและทนายความที่มีความเข้าใจคดีก็หาได้ยาก ดังนั้นจึงหวังว่าในคดีนี้ชาวบ้านจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล โดยเริ่มต้นจากการรับพิจารณาคดี
 
"บริษัทหนึ่งครอบครองที่ดินกว่า 4 หมื่นไร่ ขณะที่ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนามีเจตนาให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินครอบครัวละ 11 ไร่เท่านั้น แต่ก็ยังไม่ได้" บุญฤทธิ์ ภิรมย์ ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา หนึ่งในผู้ฟ้องคดีกล่าวถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาได้สัมผัส
 
 
 
รายละเอียดและความคืบหน้าคดี
 
1.คดีอาญาดำ 1912, 2131/2552 แดง 3738, 3739/2554 (รวมการพิจารณา 2 คดี)
ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์
บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วม
นายมนัส กลับชัย กับพวกรวม 9 คน จำเลย
ข้อหา ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งเก้ามีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจำคุก 1 ปี 6 เดือน คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
 
2.คดีแพ่งดำ 1243/2551 แดง 138/2555
ระหว่าง บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด โจทก์
นางอรพิน วัชรเฉลิม กับพวกรวม 3 คน จำเลย
ข้อหา ละเมิด ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท
 
ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน 110 ไร่ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่พิพาท และชำระค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท จนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท และชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 30,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะทุนทรัพย์ที่ชนะคดี คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
 
3.คดีแพ่งดำ 230/2552 แดง 953/2554
ระหว่าง บริษัท สหอุตสาหกรรน้ำมันปาล์ม จำกัด โจทก์
นายมนัส กลับชัย กับพวกรวม 12 คน จำเลย
ข้อหา ละเมิด ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1, 3, 5-9, 11, 12 รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน 110 ไร่ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาทจนกว่าจะขนย้ายฯ
 
คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ในส่วนของจำเลยขอยกเว้นค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ศาลมีคำสั่งอนุญาต และขอทุเลาการบังคับคดี ศาลยังไม่มีคำสั่งต้องรอให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งเกี่ยวกับการทุเลาการบังคับคดี
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.55 โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศเพื่อจะดำเนินการรื้อถอนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เริ่มดำเนินการรื้อถอน 29 มิ.ย.55
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.55 ตัวแทนชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาได้เข้าประชุมร่วมกับ นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งทาง สปก.ยืนยันบังคับคดีไม่มีสิทธิ์เข้าไปรื้อถอนชุมชนเพราะเป็นพื้นที่ สปก.และสปก.ได้ส่งมอบพื้นที่ไปแล้ว และมีการทำหนังสือแจ้งไปทางบังคับคดีระงับการรื้อถอน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“อรหันต์(น.)” การตีความใหม่ในยุคเครื่องบินเจ็ต

Posted: 30 Jun 2013 10:13 AM PDT

เกริ่นนำ


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542) ให้คำจำกัดความคำนาม "อรหันต์" หมายถึง ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน 4 ชั้น และคำว่า "อริยบุคคล" อันเป็นศัพท์เฉพาะนั้น ยังหมายถึง บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ [1] เช่นนี้เราจะได้ว่า "อรหันต์เป็นบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุด" ทว่าคำจำกัดความนี้กลับไม่ได้บอกอะไรแก่เรา นอกจากชนชั้นหรือระดับขั้น ฉะนั้น พระไตรปิฎกอันเป็นต้นเรื่องอาจให้คำตอบได้มากกว่า ในมาคัณฑิยสูตร กล่าวถึง "ความเป็นอรหันต์" ไว้ว่า "ท่านเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก ถึงที่สุดของการบำเพ็ญเพียรแล้ว จบภารกิจที่ต้องทำแล้ว และไม่มีภารกิจใดต้องทำต่อไปอีก" [2] กระนั้น มาคัณฑิยสูตรก็ไม่ได้ให้อะไรมากนัก นอกจากความเชื่อที่ว่าเมื่อเป็นอรหันต์แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ดังนั้น การย้อนกลับไปพิจารณาเกณฑ์สำคัญ น่าจะช่วยเราได้ดีที่สุด "สังโยชน์ 10" เป็นเกณฑ์หนึ่งที่จะช่วยจัดจำแนกเรื่อง "ภาวะอรหันต์" ได้ เนื่องจากมีคำจำกัดความเป็นคู่ตรงข้ามกับภาวะอรหันต์ กล่าวคือ "ภาวะอรหันต์" เป็นที่เข้าใจกันดีว่า หมายถึง การพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย แต่ "สังโยชน์ 10" หมายถึง กิเลสอันผูกใจสัตว์ เป็นธรรม (สิ่ง) ที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏทุกข์ [3] ดังนั้น จึงเป็นคู่ตรงข้ามกัน และ ทางเดียวที่จะบรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุดได้ในที่นี้ คือ "ตัดกิเลสเครื่องผูกทั้งหมด" [4] ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการตัดเสียซึ่งเครื่องผูกสัตว์นี้เป็นพิเศษ [5]

สำหรับประเทศไทยมีการใช้คำว่า "อรหันต์" เพิ่มสูงขึ้นผ่านกระบวนการผลิตซ้ำเพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่างและเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า นักบวชหลายรูปในพุทธศาสนาถูกลูกศิษย์ยกย่องให้เป็นพระอรหันต์  บ้างก็ยกย่องอย่างเป็นทางการผ่านหนังสือในลักษณะชีวประวัติ บ้างก็ยกย่องอย่างไม่เป็นทางการด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ปัญหาคือลูกศิษย์ทั้งหลายใช้เกณฑ์ใดในการตรวจสอบว่า พระอาจารย์ที่เคารพนับถือนั้น บรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุดเป็นถึงพระอรหันต์? น่าสังเกตว่า พระอริยบุคคลระดับสกิทาคามี กลับไม่เป็นที่กล่าวถึงแต่ประการใด และพระสูตรชื่อ ฉวิโสธนสูตร [6] ซึ่งเป็นคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าในการตรวจสอบภิกษุผู้พยากรณ์ว่าตนบรรลุอรหัตผลกลับไม่เป็นที่กล่าวถึงด้วย กลายเป็นว่า "อรหันต์" ไม่สามารถตรวจสอบได้ ด้วยเหตุผลยอดนิยมจากบทสวดทำวัตรที่ว่า "พึงรู้ได้เฉพาะตน" [7] กระนั้นหรือ? ทั้งที่จริง หลักการของหนังสือชื่อพระไตรปิฎก ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบนี้อยู่
 

เนื้อหา

ปัญหาการยกตนขึ้น "ตำแหน่งอรหันต์" อันเป็นตำแหน่งสูงสุด ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยืมคำนี้มาจากระบบราชการในยุคนั้น [8] เป็นเรื่องที่มีแนวทางในการแก้ปัญหาไว้นานแล้ว ในชั้นแรก พระพุทธเจ้าเสนอว่า ไม่ควรทั้งยอมรับและคัดค้าน (ท่าทีอนุรักษ์สัจจะ) แต่ให้เลือกเฟ้นถามคำถามสำคัญเพื่อตรวจสอบภาวะความเป็นอรหันต์ของผู้อ้าง และคำถามแรกที่ต้องถาม นั่นคือ "รู้ได้อย่างไร?" [9] และจบด้วยคำถามที่ว่า ท่านกำจัดอนุสัย ซึ่งหมายถึง กิเลสที่ไม่แสดงตัวออกมาได้อย่างไร? มีญาณ (ปัญญา) อะไรไปกำจัดกิเลสอันบางเบาเหล่านั้นจนถึงที่สุด? ทั้งหมดนี้ต้องแสดงให้สังฆะ (กลุ่ม) เห็นเพื่อให้สังฆะอนุโมทนาว่าท่านผู้นี้พ้นอนุสัย 7 แล้วจริง [10] กล่าวคือ พ้นจากความติดใจอยากได้สิ่งบำเรอประสาทสัมผัสแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (กามราคานุสัย)  พ้นจากความคิดขัดเคืองหงุดหงิดรำคาญแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (ปฏิฆานุสัย) พ้นจากความลังเลสงสัยในธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำเพ็ญเพียรแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (ทิฏฐานุสัย) พ้นจากความถือตัวถือตนว่านี่เรานี่เขาสำคัญตัวผิดแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (มานานุสัย) พ้นจากความติดในภาวะและการเกิดภาวะต่างๆ แม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (ภวราคานุสัย) และพ้นจากความไม่รู้ธรรมชาติตามความเป็นจริงแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (อวิชชานุสัย) ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าสังฆะจะพึงรับรอง หรือที่เรียกว่า พึงอนุโมทนากับ "ความเป็นอรหันต์" นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มตั้งแต่ภูมิรู้ทางธรรมของสังฆะนั้นทีเดียว ดังนั้น ไม่ใช่ว่าปุถุชนคนธรรมดาจะเที่ยวแต่งตั้ง "ความเป็นอรหันต์" ให้ใครต่อใครได้ เพราะ "ความเป็นอรหันต์" ไม่ใช่ตำแหน่ง แต่เป็นชื่อที่ใช้บ่งบอกปลายทางของการบำเพ็ญตนเท่านั้น และถ้านักบวชในสำนักของพระพุทธเจ้ากระทำการ "อวด" (อุตริ) เสียเอง กล่าวคือ อวดอ้างว่าได้บรรลุธรรมวิเศษทั้งที่เมื่อสังฆะพิสูจน์แล้วกลับเห็นว่าเป็นเท็จ แม้เมื่อครูอาจารย์ในสังฆะอื่นด้วยพิสูจน์แล้วกลับเห็นว่าเป็นเท็จ เมื่อตรวจสอบดูในพระไตรปิฎกนั้นก็ยังมีข้อขัดแย้งที่แก้ต่างไม่ขึ้น ว่ากันตามพระวินัยแล้วให้ถือว่า โมฆบุรุษผู้อุตรินั้นขาดจากการเป็นภิกษุในสังฆะแล้ว คือ ควรลาสิกขาบทไปเสีย เพราะเป็นอลัชชี (ผู้ไร้ยางอาย)

               

อีกประการหนึ่ง "ความเป็นอรหันต์" ไม่จำเป็นต้องมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริ์ยตามโลกทัศน์ของปุถุชนคนธรรมดาแต่ประการใด และ "ความเป็นอรหันต์" ก็มิได้ผูกกับโลกทัศน์แบบ "อภิมนุษย์" ด้วย จริงอยู่เรื่องเล่าเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ของพระอรหันต์ที่นิยมนำมาสวดหรือท่องบ่น เช่น บทถวายพรพระ (พาหุงมหากาฯ) จะอ้างถึงความมีอิทธิฤทธิ์ของพระอรหันตสาวกองค์สำคัญ [11] แต่หลักการในพุทธศาสนากลับให้การยอมรับว่า "บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุด" ไม่จำเป็นต้องมีอิทธิฤทธิ์ ขอเพียงหลุดพ้นจากสังโยชน์เครื่องร้อยรัดได้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและเพียงพอแล้ว ฉะนั้น "อภิมนุษย์" ที่มีอิทธิฤทธิ์ทั้งหลาย อาจหมายถึง ใครก็ตามที่มีอำนาจจิตแก่กล้าเพราะจิตไปบริกรรมบางอย่างเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับภาวะอรหันต์ตามตัวบทในคัมภีร์ แม้กระทั่งในเรื่องอิทธิฤทธิ์ฝ่ายยมกปาฏิหาริย์ด้วย การกล่าวตู่ว่าอาจารย์ของตนเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ใช่ท่าทีที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว เฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกี่ยวกับการแสดงอิทธิฤทธิ์ พระพุทธเจ้าถึงกับทรงตำหนิว่า "ผู้แสดงอิทธิฤทธิ์เพื่อแลกกับสิ่งของมีค่าก็ไม่ต่างจากหญิงที่เปิดเผยอวัยวะสงวนเพียงเพื่อแลกกับเงินทอง" [12] นี่จึงเป็นจุดยืนที่หนักแน่นของพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูของผู้บำเพ็ญธรรม
               

ยิ่งไปกว่านั้น พระไตรปิฎกซึ่งเป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งที่รวบรวมแนวทางและเรื่องเล่าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและสาวก กลับไม่ค่อยถูกอ่าน ทั้งที่ เนื้อเรื่องส่วนหนึ่งเป็นนิทานคุณธรรมที่สอนให้ปุถุชนรู้จักงดเว้นการเบียดเบียนกันในขั้นพื้นฐาน มีเฉพาะบางส่วนเท่านั้นที่เป็นการอรรถาธิบายธรรมที่ลึกซึ้ง ดังที่รู้จักกัน เช่น ปฏิจจสมุปบาท 12 ฉะนั้น การตีความคำว่า "อรหันต์(น.)" ในยุคสมัยนี้ ก็เป็นเหตุเนื่องมาจากความเพิกเฉยที่จะอ่านศึกษาพระไตรปิฎก จึงทำให้เกิดชุดคำอธิบายใหม่ที่น่าสงสัยว่าแปลกหรือคลาดเคลื่อนจากตัวบทมากจนผิดสังเกต เนื่องจาก เป็นการหยิบเอาคำนามมาใช้ใหม่ เพื่อแต่งตั้งสถาปนา "ใครคนหนึ่ง" ให้เป็น "อภิมนุษย์" โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบอย่างกว้างขวางว่าตรงกับกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าในฐานะพระศาสดาให้ไว้หรือไม่?  และเมื่อสถาปนาคำว่า "อรหันต์" ในลักษณะแต่งตั้งเช่นนี้แล้ว ก็มักจะลงมือผลิตซ้ำให้มากพอ จนท้ายที่สุด "สิ่งที่ยังไม่ได้รับพิสูจน์" ก็กลับเป็นความจริงขึ้นมาได้ กลายเป็นว่า "โลกนี้มีพระอรหันต์เกิดขึ้น" ทั้งที่ในความเป็นจริงยังไม่มีการตรวจสอบแต่ประการใด นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน่าตกใจในกึ่งพุทธกาลนี้
               

อาจเป็นเพราะ "อรหันต์(น.)" เป็นคำนามที่ทรงอิทธิพลกับคนไทยมากกว่าคำว่า "โสดาบัน" แน่นอน เพราะคนไทยคุ้นหูกับคำๆ นี้มากกว่า ในขณะที่อริยบุคคลระดับอื่นกลับไม่เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เป็นพิเศษสำหรับในยุคพุทธพาณิชย์ "ความเป็นพระอรหันต์" สามารถสร้างเงินทองให้เกิดดอกผลได้อย่างมากมายเป็นกอบเป็นกำ มีหรือที่บรรดาลูกศิษย์ผู้มีความโลภเป็นที่ตั้งจะไม่ปรารถนาเข้าเกาะชายผ้าเหลืองของอาจารย์รวยกันอย่างถ้วนหน้า มาตรการเลี่ยงบาลีทุกรูปแบบจึงถูกนำมาใช้อย่างรอบคอบและรัดกุม กระนั้นก็ดี ภูมิรู้ทางศาสนาในประเทศนี้ยังย่ำแย่หนักถึงกับว่า ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงบาลีหรือมีคำอธิบายใดๆก็ได้ ขอเพียงมีการผลิตซ้ำที่มากพอก็พร้อมแล้วที่จะเชื่อและกราบไหว้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ท่าทีเช่นนี้ ขัดแย้งโดยตรงกับพุทธพจน์หลายแห่ง เป็นต้น กาลามสูตร 10
               

ธุรกิจชนิดที่หากินกับภาพลักษณ์อันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าทำกันอย่างเบ่งบานในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีใครกล้าตรวจสอบภาษีหรือรายรับของพระภิกษุสงฆ์ กลายเป็นว่าโครงการต่างๆที่ "พระอรหันต์" (ลูกศิษย์ถวายสมญานาม) จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจตรวจสอบได้ทั้งสิ้น ใครก็ตามกล้าตั้งคำถามเช่นนี้กับพระภิกษุสงฆ์ผู้มีศีลงดงาม คนผู้นั้นจะกลายเป็นบุคคลผู้ไม่สะอาด เป็นผู้ประทุษร้ายต่อพระพุทธศาสนา ทั้งที่จริงพระพุทธเจ้าประทานพุทธานุญาตให้สรรพสัตว์ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพุทธบริษัท หรือ เดียรถีย์ (นอกศาสนา) ซักถามได้เสมอ เพราะพระพุทธเจ้าทรงถือว่าทุกอย่างมีเหตุปัจจัย และหลักธรรมสูงสุดที่พระองค์ตรัสรู้นั่นคือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ (อริยสัจ) ก็เป็นธรรมที่เนื่องมาจากการตั้งไว้ของธรรมนั้น พระพุทธเจ้ามิได้ถือครองกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของหลักธรรมเหมือนแนวคิดเรื่องทรัพย์สินแต่ประการใด กลับกันพระองค์ทรงแนะนำให้ลูกศิษย์ทุกรูปปล่อยวางการถือครองทรัพย์สินอีกด้วย และเมื่อมีข้อสงสัยสำคัญ พระองค์จะแสดงธรรมเสมอเพื่อให้คลายความสงสัย เพื่อทำให้เป็นประโยชน์ในการฝึกตน เช่นเดียวกันเรื่องใดที่แสดงธรรมแล้วไม่เป็นไปเพื่อคลายความสงสัย ไม่ทำให้เป็นประโยชน์ในการฝึกตน พระองค์ก็จะนิ่งเฉยเสียไม่ทรงตอบ แต่โดยทั่วไป เรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของพระภิกษุในสังฆะ พระพุทธเจ้าทรงเน้นหนักและพัฒนาพระวินัยขึ้นอย่างแข็งแรงในช่วงชีวิตของพระองค์ซึ่งค่อนข้างครบถ้วนครอบคลุม จุดประสงค์ก็เพื่อป้องปรามบรรดาพระภิกษุที่มีจริตผาดแผลง เป็นต้น พระอุทายี พระฉัพพัคคีย์ นั่นเอง
 

สรุป

โดยไม่ต้องสงสัย สมญานาม "อรหันต์" เป็นคำสรรเสริญที่ลูกศิษย์ในยุคนี้ กล้าใช้เรียกอาจารย์ของตนเองโดยพลการ เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในการฝึกตน เป็นพฤติกรรมที่ทุกสำนักควรสอดส่องและงดเว้น เพราะคุณสมบัติและคำจำกัดความ "อรหันต์" นั้นย่อมตั้งอยู่ แม้จะมีส่วนผิดแปลกแตกย่อยไปในแต่ละนิกาย แต่ความหมายโดยทั่วไปก็เหมือนกัน คือ "เป็นผู้พ้นจากเครื่องผูกมัด" และลำดับของการฝึกปฏิบัติจิตเพื่อให้ลุล่วงไปในแต่ละขั้นตอนสู่อริยบุคคลย่อมตั้งอยู่ แม้จะมีวิธีผิดแปลกแตกย่อยหลากหลายแต่ก็มุ่งหน้าไปในทางเดียวกันคือ "ตัดเครื่องผูกมัด" ซึ่งถ้าแต่ละสำนักปล่อยให้ใครก็ได้เที่ยวพูดไปเช่นนี้ จะเป็นการคะนองมือคะนองเท้าผิดรูปของผู้ปฏิบัติธรรมไป และทุกวันนี้ เมื่อ "อรหันต์" บางรูปกลายเป็นผู้ที่ไม่ชอบอยู่วิเวก และมีสมณกิจมากมายเสียจนน่าสงสัยว่าเอาเวลาใดตั้งมั่นในบำเพ็ญภาวนา ก็ชวนให้ยิ่งสงสัยและน่าตั้งคำถามว่า ที่ว่าเป็นอรหันต์นั้น  "รู้ได้อย่างไร?" และ "มีปัญญาอะไรไปกำจัดกิเลสอันบางเบาเหล่านั้นจนถึงที่สุด?" เพราะลำพังการแสดงบทบาทสมมติที่ยอดเยี่ยมและการโฆษณาที่ทุ่มทุนสร้าง ไม่ช่วยให้ "อรหันต์แต่งตั้ง" กลายเป็น "อรหันต์" แท้จริงได้เลยแม้แต่น้อย ตราบใดที่ผู้ถือตนว่าปฏิบัติธรรมยังแยกแยะไม่ออกระหว่าง "วัฒนธรรมศาสนาพุทธ" กับ "ธรรมะของพุทธะซึ่งเป็นของสากล" แล้ว ย่อมจะมีโมฆบุรุษแอบอ้างความเป็นอรหันต์และอิทธิฤทธิ์ของเดรัจฉานวิชาให้อยู่เหนืออริยสัจ 4 อยู่เสมอ สำคัญที่สุดคือ หากการเป็นอริยบุคคลทรงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ทำได้ง่ายดายราวกับกดน้ำร้อนเพื่อปรุงบะหมี่สำเร็จรูปให้สุกแล้ว หนังสือชื่อพระไตรปิฎกจะมีประโยชน์อะไร? เพราะแค่อ่านเอกสารสรุปหรือไฟล์เสียงธรรมเทศนาจากบรรดาอรหันต์ยุคใหม่ก็เป็นสุดยอดแห่งธรรมแล้วมิใช่หรือ? อาจจะต่างกันเพียงอย่างหลังต้องใช้เงินหรือร่างกายมาแลกเท่านั้นเอง !

 

 

 

อ้างอิง
[1] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 [online]
[2] "ขีณา ชาติ, วุสิตํ พรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ, นาปรํ อิตฺถตฺตาย" (มาคัณฑิยสูตร)
[3]  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม [online]
[4] ขุ.อิติ. 25/24/15
[5] ที.ปา. 11/116/46
[6] ม.อุ 14/123
[7] "ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ – วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน" (บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ)
[8] ธนิต อยู่โพธิ์. (2541). อานิสงส์วิปัสสนากัมมัฏฐาน. กรุงเทพฯ : สหธรรมิก
[9] ม.อุ 14/123
[10] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม [online]
[11] บทถวายพรพระเล่าถึงพระโมคคัลลานะอรหันตสาวกผู้เป็นเลิศเรื่องอิทธิฤทธิ์ปราบนันโทปนันทนาคราช
[12] วินย.จุลฺลวคฺค, ทุติย. 7/15-16

           
           
           
           
            

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน.ภาค 4 สน.แถลงเหตุบึ้มทหาร 8 ศพ ย้ำดูแลให้เดือนรอมฎอนปลอดภัย

Posted: 30 Jun 2013 01:30 AM PDT

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยืนยันใช้แนวทางที่ผู้บัญชาการสั่งดูแลความปลอดภัยในเดือนรอมฎอน เคารพในสิทธิมนุษยชนตามกระบวนการยุติธรรม ชี้เหตุที่เกิดเป็นการกระทำของผู้บิดเบือนหลักศาสนาและมีอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่ง วันเดียวกันเกิดเหตุยิงครูสาวตาดีการามัน

 
พ.อ.ปราโมทย์ พรมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2556 ว่า จากกรณีที่คนร้ายลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย.ร 4021 หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 2 เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน เป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 2 นาย และราษฎรได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 คน ทางกอ.รมน.ภาค 4 สน.ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
 
"กอ.รมน.ภาค 4 สน. จะยังคงดำเนินความมุ่งหมายในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามนโยบายและข้อสั่งการของผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้วยการเคารพในหลักของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และจะเร่งติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะยังคงดำเนินการสนับสนุน อำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนในการประกอบศาสนากิจ เนื่องในเดือนรอมฎอนในปีนี้อย่างเต็มที่"
 
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ ด้วยการบูรณาการกำลังพลทุกภาคส่วน ลงมาแก้ปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาผ่านศูนย์ปฏิบัติการอำเภอไปสู่หมู่บ้านเป้าหมาย ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้กับประชาชน ส่วนราชการต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยังยืนในอนาคต
 
"กอ.รมน.ภาค 4 สน. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัว และญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ขอสดุดีในวีรกรรมอันกล้าหาญที่ได้ทุ่มเท และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อที่จะรักษาความสงบสุขของพี่น้องประชาชน โดยกองทัพจะดูแลเยียวยากำลังพลและสวัสดิการต่างๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถและสมเกียรติ"
 
พ.อ.ปราโมทย์ ได้กล่าวถึงการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงตลอด 9 ปีทีผ่านมา รวมทั้งเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า เป็นการกระทำของกลุ่มที่บิดเบือนหลักศาสนา มีแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งและตกขอบ ซึ่งได้ทำลายความหวังและโอกาสของพี่น้องประชาชนที่ต้องการความสันติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะกองกำลังกลุ่มนี้ได้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างทุ่มเทร่วมกับพี่น้องประชาชนจนเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อมั่น
 
"กอ.รมน.ภาค 4 สน.ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายตางๆ ร่วมกันประณามการกระทำดังกล่าวและประกาศจุดยืนในการปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในทุกกรณี" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวปิดท้าย
 
ยิงครูสาวโรงเรียนตาดีกายะลาดับ 1
 
เวลา 15.50 น. วันเดียวกัน เกิดเหตุคนร้ายยิงนางสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56/7 ม. 1 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ. ยะลา เป็นครูสอนโรงเรียนตาดีกาบ้านบือแนสะแต ม.5 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา เหตุเกิดบนถนนสายชนบท บ้านตันหยงม.1 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา ส่วนสาเหตุ เจ้าหน้าที่ระบุว่าอยู่ระหว่างการสอบสวนว่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบหรือเป็นเรื่องส่วนตัว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภิญญาหวั่น กรณีช่อง 5 ตัดสกู๊ปข่าว กระทบสิทธินักข่าว-ความเชื่อมั่นให้สื่อกำกับกันเอง

Posted: 30 Jun 2013 01:02 AM PDT

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กังวล กรณี ตัดสกู๊ปข่าวกลางอากาศ ช่อง 5 กระทบสิทธินักข่าวลดทอนแนวทางการกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพสื่อตามแนวทาง กสทช.เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องและสภาวิชาชีพข่าวฯ หาข้อเท็จจริงพร้อมสรุปบทเรียนให้สังคม

สืบเนื่องจากกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ปล่อยโฆษณาแทรกคั่น ในรายการฮาร์ดคอร์ข่าว ขณะกำลังนำเสนอสกู๊ปข่าวโครงการการจัดการน้ำของรัฐบาลกับบริษัท เค วอเตอร์ เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

ล่าสุด (30มิ.ย.56) สุภิญญา กลางณรงค์  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า แม้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ได้ออกมายอมรับการตัดสินใจใช้ดุลยพินิจเซ็นเซอร์ตัวเองในการออกอากาศข่าวนี้แล้ว เพราะเกรงว่าข้อมูลไม่ครบรอบด้าน ในขณะที่บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทผู้ผลิตร่วม ได้ออกแถลงการณ์ว่าเป็นดุลยพินิจของสถานี พร้อมทั้งยืนยันหลักสำคัญในการนำเสนอข่าวในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีและยึดหลักในการทำงานในวิชาชีพมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ควรมีการฟังความเห็นของนักข่าว หรือกองบรรณาธิการที่เกี่ยวข้องถึงการนำเสนอข่าวนี้ ได้มีโอกาสออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะเกรงว่าอาจกระทบต่อศักดิ์ศรีของนักข่าว คนทำข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าวที่ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริง

สุภิญญา กล่าววว่า กรณีการเซ็นเซอร์ตัวเองในรายการนำเสนอข่าวสารถือเป็นการส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารข้อมูลของประชาชน ตามบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

สุภิญญา กล่าวต่อว่า แม้การเซ็นเซอร์ตัวเองจะไม่ได้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบกิจการวิชาชีพในกิจการโทรทัศน์ ว่าได้ใช้เหตุผลที่เพียงพอต่อการกำกับตัวเองตามจรรยาบรรณหรือไม่ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมกำกับดูแลกันเองจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในคณะอนุกรรมการเพื่อที่จะเชิญตัวแทนสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 รวมทั้งบริษัทผู้ร่วมผลิตและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มาร่วมพูดคุยเพื่อหาข้อมูลข้อเท็จจริง สรุปบทเรียนต่อสังคมและพัฒนาต่อแนวทางการกำกับดูแลกันเองของกิจการนี้ต่อไป ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ช่องดังกล่าวที่กำลังจะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ประเภทสาธารณะ (โดยไม่ต้องผ่านการบิวตี้คอนเทสต์) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสาร ตลอดจนการสร้างความน่าเชื่อและความเชื่อมั่นในสังคมต่อไปด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.ลงใต้เล็งแจกคูปองลดราคาตัวแปลงสัญญาณทีวีดิจิตอล–แฉกลโกงมือถือดูดเงิน

Posted: 30 Jun 2013 12:09 AM PDT

สองคณะกรรมการ กสทช. ลงชายแดนใต้เปิดวงคุยพบประชาสังคมชายแดนใต้ เผยแจงชาวบ้านอย่าเชื่อคำโฆษณา ทีวีดิจิตอลยังใช้ไม่ได้ แม้แต่ในกรุงเทพเพราะยังไม่ติดตั้งเสาสัญญาณ เล็งแจกคูปองลดราคาตัวแปลงสัญญาณทีวีดิจิตอล ใช้กับทีวีรุ่นเก่า แฉกลโกงสารพัดวิธีการบริษัทมือถือดูดเงิน

 
 
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2556 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จัดเสวนา "2 องค์กร กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภคพบเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้" ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี โดยมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาร่วมเสวนา
 
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า ทีวีดิจิตอลที่กำลังจะมาแทนทีวีระบบอนาล็อกในปัจจุบันนั้น ยังไม่มีการประกาศใช้เนื่องจากยังไม่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ทั้งที่มีนโยบายที่จะติดตั้งเสารับส่งสัญญาณในกรุงเทพมหานครก่อนจะขยายไปยังหัวเมืองต่างๆ และพื้นที่อื่นๆ แต่ปัจจุบันแม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ก็ยังไม่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณ จึงต้องรออีกซักระยะกว่าสัญญาณระบบดิจิตอลจะสามารถส่งไปทั่วพื้นที่ทั่วประเทศ จึงไม่อยากให้รีบร้อนซื้อโทรทัศน์ที่รองรับระบบดิจิตอล
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวอีกว่า ใครมีโทรทัศน์เครื่องเก่าก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องใหม่ เนื่องจากยังสามารถใช้งานได้ เพียงแต่ต้องติดตั้งกล่องรับสัญญาณเพื่อแปลงรหัสให้เป็นดิจิตอล ซึ่งกล่องรับสัญญาณดังกล่าวทาง กสทช. มีนโยบายจะแจกคูปองลดราคาให้ประชาชนทุกครัวเรือน เพื่อให้สามารถซื้อกล่องรับสัญญาณดังกล่าวในราคาที่ถูกลง ซึ่งราคายังไม่ชัดเจน แต่น่าจะประมาณ 1,000 กว่าบาท
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวด้วยว่า อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาของร้านค้าที่เริ่มมีจำหน่ายโทรทัศน์ที่รองรับระบบดิจิตอลในท้องตลาดแล้ว ถึงแม้จะซื้อโทรทัศน์ที่รองรับระบบดิจิตอลได้ แต่ก็ยังใช้งานไม่ได้อยู่ดี เนื่องจากทาง กสทช. ยังไม่ได้ประกาศจะปล่อยสัญญาณดิจิตอลออกมาใช้ในขณะนี้ 
 
"กสทช.จะเริ่มทยอยปล่อยสัญญาณเป็นโซนๆ ก่อน เริ่มจากกรุงเทพฯและตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งจะมีการประกาศยืนยันว่า พื้นที่ใดสามารถรับสัญญาณดิจิตอลได้แล้วบ้าง และทาง กสทช. ระบุไว้ว่าสัญญาณต้องเข้าถึงพื้นที่ 50% ของประเทศภายในหนึ่งปี แล้วจะขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ อีก 80% และ 100% ตามลำดับในเวลาต่อมา" นางสาวสุภิญญา กล่าว
 
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กล่าวถึงสิทธิของผู้บริโภคว่า คนไทยที่ใช้บริการโทรศัพท์ทั้งแบบเคลื่อนที่และแบบติดตั้งตามบ้าน ถูกผู้ประกอบการโกงค่าบริการเกินจริงมาตลอด เป็นปัญหาที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องดิ้นรนเรียกร้องสิทธิทวงถามความเป็นธรรมเองมาตลอด และประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าถูกผู้ประกอบการทั้งที่เป็นบริษัทผลิตเครื่องโทรศัพท์และผู้จ่ายคลื่นความถี่โทรศัพท์ปิดบังข้อมูลสิทธิของผู้ใช้บริการ
 
นายประวิทย์ กล่าวว่า ตัวอย่างปัญหาที่ผู้ใช้บริการมักจะถูกลิดรอนสิทธิ เช่น การที่แม่ข่ายสัญญาณโทรศัพท์ไม่คืนเงินที่เหลือค้างในระบบ หลังจากถูกระงับบริการไป ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะสามารถเรียกร้องคืนเงินที่เหลือค้างอยู่ในระบบนั้นได้ แต่ผู้ประกอบการจะไม่แจ้งสิทธิใดๆให้ผู้บริโภคทราบ 
 
อีกปัญหาคือ ถูกตัดค่าบริการ ข้อความสั้นหรือ SMS ทั้งๆที่ไม่เคยสมัครเพื่อใช้บริการมาก่อน ซึ่งบางข้อความจะถูกส่งมาเป็นไวรัสติดตั้งตัวเองอัตโนมัติ แล้วดูดข้อมูลจากเครื่องโทรศัพท์ไปรวมถึงพาสเวิร์ดต่างๆที่ค้างในระบบโทรศัพท์ได้ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกแฮคข้อมูล หลายรายถูกขโมยรหัสบัญชีธนาคารออนไลน์ไป
 
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า มีหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย บางครั้งถูกตัดเงินในระบบ ทั้งๆที่ไม่รู้ตัว และมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ทราบว่าจะทวงสิทธิตัวเองจากผู้ประกอบการอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่หลอกลวงผู้บริโภค และละเมิดสิทธิ ทั้งนี้ ต้องหวังให้ประชาชนรู้เท่าทันเทคโนโลยี และอย่าปล่อยให้ปัญหาที่ประสบกับตัวเองผ่านเลยไป ต้องเผยแพร่เพื่อเตือนประชาชนรายอื่นๆที่อาจจะประสบเหตุการณ์เดียวกัน
 
นายประวิทย์ กล่าวว่า ทาง กสทช. ได้ฝากให้ประชาชนติดตามความเคลื่อนไหวของข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริการโทรคมนาคมจากเว็บไซต์ www.tcp.nbtc.go.th หรือจะสอบถามข้อสงสัยต่างๆได้ที่ เบอร์ 1200 ย้ำว่า ทางตนต้องการข้อเสนอแนะจากสังคม เพื่อร่วมผลักดันเปลี่ยนแปลงนโยบายบางข้อที่อาจจะยังเอื้อต่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนไม่เต็มที่ ทั้งนี้ ต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างประชาชน ประชาสังคมและคณะกรรมการใน กสทช. เอง มาร่วมแก้ไข
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เผยผลสำเร็จลดคิวผ่าตัดตาต้อกระจก จากข้ามปีเหลือไม่เกิน 3 เดือน

Posted: 29 Jun 2013 11:55 PM PDT

 

สปสช.เผยผลสำเร็จลดคิวผ่าตัดตาต้อกระจก จากเคยรอคิวข้ามปี เหลือไม่เกิน 3 เดือน แจง สปสช.ร่วมมือกับ สธ.ใช้แนวทางจัดการโรคเฉพาะเพื่อลดการรอคิวผู้ป่วยโรคตาต้อกระจก ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่กว่า 60,000 ราย และมีผู้ป่วยสะสมกว่า 1 แสนราย 

 
30 มิ.ย. 56 - นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เพื่อให้ผู้ป่วยบางกลุ่มโรคได้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็วนั้น สปสช.ได้ใช้วิธีการบริหารจัดการโรคเฉพาะ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับการบริการให้มีคุณภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อประชาชน โดยเฉพาะโรคหรือบริการที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงมากและต้องได้รับบริการต่อเนื่อง รวมถึงโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากเนื่องจากรอคิวนาน อาทิ โรคตาต้อกระจก ซึ่งแต่ละปีมีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคตาต้อกระจกรายใหม่ 60,000 คน ขณะที่มีผู้ป่วยสะสมรอรับการผ่าตัดกว่า 100,000 คน ซึ่งหากยังปล่อยให้สภาวะดำเนินไปเช่นนี้ จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว สปสช.จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขใช้แนวทางการบริหารจัดการโรคเฉพาะ เริ่มตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
 
ทั้งนี้ สปสช.ได้สนับสนุนการผ่าตัดแก่ผู้ป่วยต้อกระจกอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ทั้งในส่วนของการให้บริการรักษาที่รพ.และการรักษาโดยหน่วยผ่าตัดต้อกระจกในโครงการผ่าตัดต้อกระจกเชิงรุก มีการกำหนดแนวทางการชดเชยที่เหมาะสม ชัดเจนแก่โรงพยาบาลที่ให้บริการรักษา ซึ่งเป็นการใช้การบริหารจัดการร่วมกับกลไกทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โรงพยาบาลในการผ่าตัดตาต้อกระจกให้ผู้ป่วย เป็นการสร้างแรงจูงใจ ทำให้ผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกในประเทศไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น ลดการรอคิว ลดจำนวนผู้ป่วยสะสม และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนไทย ผลการดำเนินงาน มีผู้ได้รับการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 100,000 ราย โดยล่าสุดในปี 2555 มีผู้ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกและการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม 141,574 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 142 จากเป้าหมาย 100,000 ครั้ง
 
นายแพทย์วินัย กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล กรณี "ไม่ต้องรอรักษานาน" ในโรคต้อกระจก ที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ สามารถได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน ผลการดำเนินงานพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 87 ได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และที่เหลือร้อยละ 13 ได้รับการผ่าตัดภายใน 38 วัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากความร่วมมือกันระหว่าง สปสช. กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดต่างๆ สามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการผ่าตัดได้บรรลุตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ลดการรอคิวจากเดิม 6 เดือน-1 ปี เป็นไม่เกิน 3 เดือน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาพบรรยากาศหาเสียงวันแรกเลือกตั้งกัมพูชา 2013

Posted: 29 Jun 2013 10:46 PM PDT

วันที่ 28 ก.ค.ที่จะถึงนี้ หรืออีกราว 1 เดือนจากนี้ไป จะเป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปของประเทศกัมพูชา การรณรงค์หาเสียงวันแรกซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ตั้งแต่ตอนสายของวันที่ 27 มิ.ย.ในเมืองพนมเปญเป็นไปอย่างคึกคักตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ Cambodian People's Party (CPP) ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน จัดขบวนรถติดลำโพงและขบวนพาเหรดสวมเสื้อขาวที่มีภาพแกนนำพรรค พร้อมถือป้าย ธงชาติ และธงที่มีสัญลักษณ์ของพรรคเคลื่อนไปตามถนนสายต่างๆ ในพนมเปญ

ตาม 4 แยกมีการตั้งเต็นท์พร้อมประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเลือกพรรค CPP ส่วนการหาเสียงของพรรคการเมืองขนาดเล็กและพรรคฝ่ายค้านค่อนข้างเงียบเหงา จะมีป้ายหาเสียงขนาดเล็กของพรรคฝ่ายค้านติดอยู่ตามเสาไฟฟ้าให้เห็นอยู่บ้างแบบบางตา และนานๆ ครั้งจะมีรถยนต์ติดลำโพงที่ไม่ใช่พรรครัฐบาลวิ่งไปบนถนนในพนมเปญ

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 29 มิ.ย.56 กระทรวงข้อมูลข่าวสารของกัมพูชาประกาศห้ามการออกอากาศรายการของสถานีวิทยุต่างประเทศที่ถ่ายทอดเสียงเป็นภาษาแขมร์ จนถึงวันที่ 28 ก.ค.ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไป หนึ่งในจำนวนที่ถูกห้าม คือ สถานีวิทยุเสียงอเมริกา หรือ Voice of America (VOA) ซึ่งภายหลังการวิจารณ์อย่างหนักจากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของกัมพูชาจึงยอมให้สถานีวิทยุต่างประเทศสามารถออกอากาศได้ตามเดิม


ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมบัติ บุญงามอนงค์

Posted: 29 Jun 2013 09:51 PM PDT

"..ประเทศชาติไม่ได้ล่มสลายเพราะมีคนใส่หน้ากากแล้วออกมายืนในที่สาธารณะหรอก แต่จะล่มสลายเพราะคนในสังคมไม่ยอมให้มีพื้นที่แตกต่างกันทางความคิดแล้วใช้กำลังเข้าเผชิญหน้ากัน"

30 มิ.ย.56, โพสต์สถานะบนเฟซบุ๊ก

สนนท.จี้ สภา-รบ.แก้ รธน. เร่งด่วน วอน ตลก. ฝ่ายค้าน อำนาจนอกระบบหยุดขวาง

Posted: 29 Jun 2013 09:21 PM PDT

28 มิ.ย.56 เวลาประมาณ 10.00 น. ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) นำโดยนายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สนนท. เดินทางเข้ายืนจดหมายถึงประธานรัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายค้าน องค์กรอิสระและอำนาจนอกระบบทุกรูปแบบหยุดขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ที่เป็นผลผลิตจากรัฐประหาร 19 ก.ย.49 โดยระหว่างรอยื่นจดหมาย สนนท. มีการแสดงละครล้อเลียนกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์จากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ก่อนที่ตัวประธานรัฐสภาออกมารับจดหมายพร้อมรับปากจะส่งต่อไปยังประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาต่อไป

เลขาธิการ สนนท. มองว่า ผลผลิตจากการรัฐประหารไม่ได้มีแค่รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงองค์กรอิสระต่างๆและ สมาชิกวุฒิสภาสายสรรหา ที่ผู้สนับสนุนการรัฐประหารไปดำรงตำแหน่งอยู่ เป็นที่ชัดเจนว่าแม้คณะรัฐประหารจะยุบตัวลงไป แต่ขุมอำนาจในการทำลายล้างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนยังคงอยู่และพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งต้องออกจากตำแหน่งหรือทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่อจะได้ให้เกิดนายกแต่งตั้ง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย

นายสุพัฒน์ กล่าวถึงปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า ฝ่ายบริหารซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนและเป็นที่พึ่งเพื่อให้การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้ตอบสนองความต้องการนั้น เพียงแต่ยังคงรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลให้อยู่ยาวนานที่สุดเท่านั้น ส่วนฝ่ายตุลาการนั้นกลับไม่ได้เป็นที่หวังพึ่งของประชาชนเพราะเป็นอำนาจเดียวที่ได้รับประโยชน์จากการรัฐประหารและ ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยทำงานกันเป็นเครือข่ายตั้งแต่ ฝ่ายค้าน กลุ่มมวลชน สว.สรรหา องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และอำนาจนอกระบบ ด้านอำนาจนิติบัญญัติถือว่าเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างใด แม้ว่าจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งวุฒิสภาก็แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มทำให้ไม่เป็นเอกภาพในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยนายสุพัฒน์ เปิดเผยว่า สนนท.จะขับเคลื่อนประเด็นรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนการมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทย และต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ จึงได้จัดโครงการรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยการจัดเวทีเสวนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยครั้งที่ 1 ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ณ ห้องสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจะเดินหน้าผลักดันการจัดเวทีเสวนาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรับฟังความเห็น แล้วรวบรวมส่งสภาและรัฐบาลต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น