โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

Why or why not: นาปรังอินทรีย์ในที่ลุ่มภาคกลาง

Posted: 01 Jul 2013 10:23 AM PDT

บทความชิ้นที่ 6 ของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

ต้องขอบคุณรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางระดับล่างอย่างชาวนา  และรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงกับพวกเขา  หลัง ครม. มีมติเห็นชอบตามผลสรุป การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่จัดให้มีขึ้นทันทีหลังเปลี่ยนตัว รมต.กระทรวงพาณิชย์คนใหม่  เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเสนอให้กลับไปใช้ราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ที่ตันละ 15,000 บาท เหมือนเดิม โดยจะรับจำนำเฉพาะปริมาณที่เกษตรกรได้ลงทะเบียนและได้ใบรับรองแล้วเท่านั้น  และกำหนดวงเงินไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาท กำหนดเวลารับจำนำไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน นี้  ส่วนชาวนาที่จำหน่ายข้าวในราคารับจำนำ 1.2 หมื่นบาท ไปเมื่อ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงรอผลการประชุม กขช. ครั้งล่าสุดนั้น รัฐบาลจะชดเชยคืนให้เท่ากับราคาที่ปรับกลับมาเท่าราคาเดิม 

นับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มดำเนินโครงการรับจำนำข้าว องค์กรในภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์และวิถีพอเพียงได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการฯ นี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยให้โครงการฯ ส่งผลให้ชาวนาทำนาอินทรีย์น้อยลง คุณภาพข้าวทั่วไปที่ได้ก็ด้อยลง เพราะการเร่งผลิตเพียงให้ได้ปริมาณมากเพื่อนำผลผลิตมาเข้าโครงการ[1] เดชา ศิริภัทร แกนนำเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เสนอว่าจะแก้ไขปัญหาของชาวนาได้ก็ต้องพัฒนาระบบผลิตอินทรีย์ให้ได้ หรือ "พึ่งตนเองก่อน"  รัฐบาลควรหันมาสนับสนุนการทำนาอินทรีย์และยกเลิกการใช้/โฆษณาสารเคมีการเกษตร [2]   และควรเก็บภาษีสารเคมีการเกษตรแล้วนำเงินที่ได้มาจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ รูปแบบเดียวกับการตั้งกองทุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) [3]   พ้องกันกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าและอาหารแห่งชาติ  ที่เสนอว่าไทยควรจัดเก็บภาษีสารเคมีการเกษตร อันจะช่วยลดการใช้ส่วนที่ไม่จำเป็นลง[4]  โดยควรเก็บภาษีสารเคมีตามระดับความรุนแรงของสารออกฤทธิ์  แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการใช้สารเคมีการเกษตรของเกษตรกร[5]

บทส่งท้ายของกรณีศึกษานี้จะว่าด้วยเรื่องเทคนิคการผลิตที่ชาวนาปรังภาคกลางในพื้นที่รับน้ำนองเลือกใช้ท่ามกลางเงื่อนไขต่างๆ โดยจะเน้นการทำความเข้าใจว่าเหตุใดพวกเขาถึงไม่เลือกทำนาแบบอินทรีย์ แต่กลับพยายามใช้วิธีการอื่นๆ ในการลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่ผลผลิต/ไร่ในระดับที่สามารถพออยู่รอดได้ก็ต้องไม่ต่ำกว่าไร่ละ 80 ถัง ทั้งนี้ บทความนี้ต้องการเสนอข้อมูลและมุมมองอื่นที่พ้นไปจากการด่วนประณามชาวนาว่าโลภและไม่รู้จักพอเพียง จนนำมาสู่การใช้สารเคมีการเกษตร รวมทั้งการดูแคลนชาวนาว่าขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สารชีวภาพต่างๆ อย่างถูกวิธี

 

ข้าวราคาดีไม่ทำให้ใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นเสมอไป

แน่นอนว่าชาวนาต้องการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ไม่ว่าพวกเขาจะขายข้าวได้ราคาถูกหรือแพง  เพราะนี่คือหนทางเดียวที่พวกเขาสามารถควบคุมได้ภายใต้โครงสร้างการผลิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อแผนการผลิต  การแพร่กระจาย และสะสมของโรคแมลง   โครงสร้างการจัดการน้ำ  การกระจุกตัวของที่ดินในมือนายทุน  และกลไกตลาดที่พวกเขามักถูกเอาเปรียบ  

จากการสำรวจการจัดการข้าวตั้งแต่เริ่มหว่านจนถึง เก็บเกี่ยว ผู้ศึกษาพบว่า   ปัจจุบันชาวนาปรังมีการนำปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มมากขึ้น  ทั้งแบบที่จำหน่ายสำเร็จรูปและแบบที่นำหัวเชื้อมาหมักเองเพื่อลดต้นทุน  โดยใช้ควบคู่ไปกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี   ดังกรณีของสมดี ตันติโน  และกรณีของประเสริฐ  พุ่มพวง และเพื่อนชาวนาในทุ่งนาคู [6] ซึ่งหันมาทำนาลดต้นทุนเมื่อเข้าโครงการรับจำนำ


รูป A001-สารชีวภาพและเคมี

สมดีบอกว่าปุ๋ยอินทรีย์ใช้ได้สะดวกรวดเร็วโดยใช้ร่วมกับเครื่องพ่นปุ๋ยเคมี ทั้งนี้ สมดีเห็นผลชัดเจนในการลดต้นทุน ขณะที่ผลผลิตก็ไม่ได้ลดลงจากเดิมนัก ส่วนประเสริฐนั้นเขาหันมาใช้บิวเวอร์เรียและสารสมุนไพรชีวภาพควบคุมแมลงศัตรูพืชเพราะสามารถในการเข้าถึงความรู้ เทคนิควิธี  วัตถุดิบทางเลือก  และหาซื้อปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูปได้ง่าย  จนทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นจากเดิมแม้ต้นทุนค่าเช่าที่นาจะเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ราคาข้าวรับซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้มีผลทำให้พวกเขาเพิ่มผลผลิตโดยใช้สารเคมีการเกษตรเพิ่มขึ้นเสมอไป  ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นไปถึงตันละ 1.5 หมื่นบาท ทำให้ประเสริฐคำนวณได้ว่าแม้ผลผลิตจากการทดลองใช้ชีวภาพจะลดลง แต่ก็ทำให้ผลกำไรเพิ่มสูงขึ้น

"เราคิดแล้วว่าถ้าลองมาใช้วิธีแบบนี้แล้วผลผลิตลดเหลือ 80 ถัง แต่ทุนต่ำกว่า แต่ยังขายข้าวในราคาจำนำ(ที่1.5 หมื่นบาทในขณะนั้น-ผู้ศึกษา)  ก็ยังพอคุ้มอยู่"  ประเสริฐกล่าว

 

ปลูกข้าวอายุสั้น เพราะมันจำเป็น

พยงค์  สภาพโชติ  เลือกปลูกข้าว 51 ซึ่งเป็นข้าวอายุสั้น มีอายุตั้งแต่การหว่านจนถึงเก็บเกี่ยวเพียง 85 วันเท่านั้น ข้าวพันธุ์นี้ไม่ใช่พันธุ์ที่กรมการข้าวส่งเสริมและไม่สามารถขายเข้าโครงการรับจำนำได้[7]  เมื่อขายจึงมีราคาถูก แต่เนื่องจากสภาพแปลงนาของเธอเสี่ยงต่อน้ำท่วมมาก เธอจึงเลือกปลูกข้าวชนิดนี้ โดยพยายามใช้เทคนิคการผลิตที่ช่วยให้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 1 ตัน/ไร่/ฤดูปลูก [8]   สอดคล้องกับ วิชัย นิลเขต ชาวนา ม.4 ต.นาคู ซึ่งมีนาตัวเองแค่ 5 ไร่และเช่านาทำอีกเกือบ 40 ไร่ วิชัยปลูกข้าว กข.47 ซึ่งมีคุณสมบัติต้านเพลี้ย มีอายุการผลิตเพียง 90วัน ซึ่งน้อยกว่า 110 วัน เป็นยังเป็นพันธุ์ข้าวที่โครงการรับจำนำข้าวรับรอง  ชาวนาเหล่านี้ต้องการทำนาปรังให้ได้ปีละ 2 ครั้ง ก่อนพื้นที่จะถูกน้ำจะท่วมจนหมดเป็นเวลานาน 4 เดือน

 

ข้าวหอมปทุม  : ข้าวดีที่ยังรอความหวัง

ช่วงที่ข้าวพันธุ์หอมปทุมหรือข้าวปทุมธานีถูกคิดค้นออกมาใหม่ๆ มีเสียงวิจารณ์ว่าพ่อค้าส่งออกข้าวมักนำข้าวชนิดนี้ไปปะปนกับข้าวหอมมะลิ เนื่องจากมีคุณสมบัติหอมและเม็ดเรียวยาว ใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 จนเกิดผลเสียต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยในต่างประเทศ  แต่สำหรับชาวนาปรังภาคกลางแล้ว มันเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้ผลิตข้าวนาปรังราคาดี  สามารถขายให้โรงสีสีเป็นข้าวกล้องและข้าวขาวได้  แม้ข้าวพันธุ์หอมปทุมจะไม่นุ่ม หอม และกินอร่อยเท่าข้าวหอมมะลิก็ตาม

สมดี  ซึ่งมีนา 38 ไร่ และเช่านาทำเพิ่มหลายแปลงในหลายทุ่ง รวม 160 ไร่  เล่าว่า  เขาเคยปลูกข้าวหอมปทุมตั้งแต่ช่วงที่ข้าวชนิดนี้ออกมาใหม่ๆ เมื่อราวปี พ.ศ. 2548 – 49  เพราะข้าวนี้ขายได้ราคาดีและให้ผลผลิตดี คือประมาณ 1 ตัน/ไร่   ดีกว่าข้าวนาปรังทั่วไป เช่น กข.41 และ ชัยนาท ที่เอาไว้ใช้ทำแป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน และข้าวนึ่ง อย่างไรก็ดี ต่อมามีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเมื่อปี พ.ศ. 2552-53  จนเกิดความเสียหาย  เขาจึงเลิกปลูกข้าวชนิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน นี่ก็สอดคล้องกับที่กรมการข้าวเองก็แนะให้ชาวนาหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวพันธุ์หอมปทุมในช่วงที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีโครงการประกันรายได้สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ยังมีชาวนาบางรายเสี่ยงปลูกข้าวชนิดนี้เพราะราคาเป็นแรงจูงใจ   แต่เนื่องจากราคาข้าวหอมปทุมสูงกว่าข้าวนาปรังทั่วไป ผู้ปลูกจึงมักหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวหอมปทุมและใช้ชื่อพันธุ์ข้าวนาปรังทั่วไปแทนเพื่อให้ "ส่วนต่างหรือเงินชดเชย" [9] ที่มากกว่า   นั่นเท่ากับเป็นการตอบโต้ของพวกเขาต่อการเลือกผลิตข้าวคุณภาพดีที่มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาขายและค่าชดเชยยังต่ำกว่าที่พวกเขาคาดหมาย

 

ข้าวหอมชลสิทธิ์ อีกทางเลือกของชาวนาในที่รับน้ำนอง?   

คณะนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ [10]  ซึ่งเป็นข้าวนาปรังไม่ไวแสงสายพันธุ์ใหม่  มีคุณสมบัติพิเศษคือทนน้ำท่วมฉับพลันได้นาน 2 สัปดาห์  มาทดลองปลูกในนาที่เป็นจุดเส้นทางน้ำใน จ. พระนครอยุธยา อุตรดิตถ์  และพิจิตร ทั้งนี้  สหกรณ์การเกษตรผักไห่ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการนี้และทำการทดลองปลูกครั้งแรกเมื่อต้นฤดูปลูกปี 2553 ผลจากการการปลูกทดลองในฤดูปลูกนาปรังที่ 2 พบว่า สามารถเจริญเติบโตได้ดีโดยไม่จำกัดความลึกของระดับน้ำ ให้ผลผลิตระหว่าง 900-1,000 กิโลกรัม/ไร่   ผลดังกล่าวทำให้  สวทช. ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการผลิตให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 1.6 แสนไร่ ในภาคกลาง โดยมีงบประมาณสนับสนุนถึง 40 ล้านบาท [11]  อย่างไรก็ดี ชาวนาในทุ่งลาดชะโดส่วนใหญ่ไม่สนใจข้าวหอมชลสิทธิ์ มีบางรายที่ทดลองปลูกแต่ผลที่ได้ก็ไม่น่าพอใจ

อดีตครูมัธยมในกรุงเทพฯ รายหนึ่งกลับมาอยู่บ้านและเริ่มทำนาได้ไม่นาน  ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทดลองปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์ ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2553 โดยใช้ที่นาตนเอง 3 แปลง รวม 36 ไร่ ใน อ.จักราช และ อ.นาคู  ปลูกแบบนาดำ ดูแลและควบคุมแมลงศัตรูพืชใช้ตามวิธีปกติ ผลที่ได้คือ แปลงนาขนาด 24 ได้ยข้าวแค่ 6 ตัน เท่านั้น  ส่วนอีก 2 แปลง ขนาด 4 ไร่และ 6 ไร่ รวมเป็น 10 ไร่ ได้ผลผลิต 6 ตัน อดีตครูสรุปบทเรียนได้ว่า ผลผลิตที่ต่ำเกิดขึ้นจากการที่ที่นาของเธอยังปรับได้ไม่เรียบ ทำให้จัดการน้ำและปุ๋ยไม่ได้ดี ประกอบกับใช้ปุ๋ยเคมีมากไปทำให้ต้นข้าวอวบงาม อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่ระบาด   

"ตอนแรกหลังจากดำนา ข้าวดีมากเลย แต่พอใกล้เก็บเกี่ยว อีก 10 วัน เพลี้ยมันไปอยู่ในกอข้าว  เราฉีดยามันก็ไม่ลง มันก็เกิดการสะสมอยู่อย่างนั้น  มันลงเป็นบางจุดแต่เราคุมไม่อยู่ เราคิดว่าอยู่แล้วแต่มันไม่อยู่  ลงดำเมื่อ 17 มกราคม   ถ้าเกี่ยวตามกำหนดก็ประมาณวันที่ 23 เมษายน  แต่เราเกี่ยวก่อนคือ 17 เมษายน เกี่ยวหนีเพลี้ย นา 24 ไร่ ได้ข้าว 6 ตัน และมีข้าวลีบปนมาก เกี่ยวมาแล้วเครียดมาก   อีกแปลงเราเก็บข้าวดีดหมดแล้ว ไปเจอเพลี้ย ที่ไปตกแอ่งมีน้ำขัง เพลี้ยลงหมด แต่แปลงนี้ นา 4 ไร่ กับ 6 ไร่ รวมกันได้ข้าว 6 ตัน เม็ดเต่งดี"

หลังจากทดลอง เธอคิดว่าถ้าหากจะทดลองทำข้าวหอมชลสิทธิ์อีกก็จะลองทำแปลงเล็กๆ ปรับที่นาให้เรียบ  แต่สุดท้ายความเข็ดขยาดเรื่องเพลี้ย ทำให้เธอชะลอแผนการทดลองไว้ก่อนและหันมาปลูกข้าวที่ทนเพลี้ยอย่างชัยนาท 1 และ กข.47 ที่เคยปลูกมาก่อนและให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 80 ถัง/ไร่  แม้จะข้าวทั้งสองพันธุ์นี้จะขายได้ราคาที่ต่ำกว่าข้าวหอมชลสิทธิ์[12]  ก็ตาม

 

โครงการข้าว "อ่อนหวาน" เพื่อสุขภาพ[13]


รูป A002-ข้าวอ่อนหวาน

สหกรณ์การเกษตรผักไห่ ยังคงมีความหวังกับข้าวหอมชลสิทธิ์ และดำเนินโครงการส่งเสริมต่อเนื่อง โดยเน้นจุดเด่นคือ ความสามารถในการทนน้ำท่วมได้นานถึง 2 สัปดาห์ รวมทั้งการสร้างจุดขายแก่คนชั้นกลางที่สนใจเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากข้าวชนิดนี้เมื่อผ่านกระบวนการย่อยสลายแล้วจะปลดปล่อยน้ำตาลได้น้อยและมีธาตุเหล็กสูง  สหกรณ์ตั้งเป้าหมายจะให้ข้าวชนิดนี้ข้าวหอมขึ้นชื่อของจังหวัด โดยริเริ่มจำหน่ายข้าวในแบรนด์ "อ่อนหวาน" โดย ทั้งนี้มีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์สนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาทในการจัดหาเครื่องอบข้าวและเครื่องคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ [14]  ปัจจุบัน  มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์ 100 ไร่ จากสมาชิก 50 ราย จากสมาชิกทั้งหมด 1,999 คน

จำเนียร (นามแฝง)  ชาวนาในทุ่งผักไห่ เขต ต.ท่าดินแดง วัย 55 ปี เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรผักไห่อีกรายที่ทดลองทำข้าวหอมชลสิทธิ์ในปีแรก เธอได้รับพันธุ์ข้าวมาทดลองดำลงในนา 60 ไร่ และได้ผลผลิตต่ำมากแค่ 10 ตัน  เพราะการระบาดของเพลี้ยกระโดด จึงขาดทุนไปหลายแสนบาท โดยเฉพาะจากค่าจ้างดำนา และค่าเช่านาไร่ละ 1,000 บาท/ฤดู อีกเกือบ 40 ไร่  ความล้มเหลวนี้ไม่ได้รับการชดเชย อีกทั้งนาเธอยังถูกน้ำท่วมในปีต่อมาอีก แต่ก็เคราะห์ดีที่สหกรณ์ฯ ยกหนี้ให้เป็นหนี้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 4 ปี สำหรับผู้ประสบมหาอุทกภัยปี54  ประกอบกับที่ลูกๆ ของเธอต่างมีหน้าที่การงานทำมั่นคงดี     อย่างไรก็ดีเธอได้ตัดสินใจทดลองทำข้าวหอมชลสิทธิ์อีกครั้ง   โดยปรับทำแบบหว่านแทน ภายใต้เงื่อนไขสหกรณ์ฯ ที่สนับสนุนให้ทำนาปลอดสารเคมี เลิกเผาตอซัง แล้วใช้สารชีวภาพสลายตอซัง ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภาพ รวมทั้งซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากสหกรณ์  และรับซื้อคืนในราคาตันละ 18,000 บาท ความชื้น 15 %  ซึ่งเทียบเท่ากับราคาข้าวที่โครงการรับจำนำตั้งไว้เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวหอมประจำจังหวัด   

แรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้เธอสนใจมาปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์ในครั้งนี้ คือ การที่สหกรณ์ฯ เพิ่งตั้งโรงสีเพื่อรับซื้อข้าวของสมาชิกในราคาสูง  อีกทั้งเธอยังเชื่อมั่นในความสามารถของผู้จัดการ ว่าสามารถบริหารจัดการร้านค้าจนมีสินค้าปัจจัยการผลิตที่หลากหลายมาบริการสมาชิก  และมีช่องทางและแผนการตลาดข้าวที่ดูว่าน่าจะแจ่มใส 

"ผู้จัดการเขาเก่ง  ทำข้าวนี้ขายสหกรณ์ ขายตันละ 14,000 บาท ความชื้น 27  ขายแล้วได้เงินเชียว ไม่ยุ่งยากไปขึ้นทะเบียนเหมือนจำนำข้าวแล้วก็ได้เงินช้า  สหกรณ์เขาอยากให้ทำปลอดสารเคมี เพราะว่าตลาดขายตลาดต่างประเทศเขาต้องการ"

ในด้านการผลิต จำเนียร ไม่ได้ทำตามสิ่งที่สหกรณ์ฯ  คาดหวังไปทั้งหมด  แม้จะมีอาจารย์จากศูนย์ไบโอเทคมาตรวจเยี่ยมเป็นประจำ   แปลงนาของเธอที่ยกคันคูกันน้ำไว้สูง และมีน้ำท่าสมบูรณ์เพราะอยู่ใกล้คลองส่งน้ำใหญ่ ผักไห่-เจ้าเจ็ด การจัดการวัชพืชก็ยังจำเป็นต้องเผาฟางข้าวแทนการใช้น้ำหมัก เพราะหญ้าขึ้นหนามาก   และต้องใช้ยาคุมหญ้าทั้งแบบแห้งและแบบเปียกอย่างละเที่ยว [15] เหมือนนาทั่วๆ ไป   เธอทำน้ำหมักภาพใช้เองด้วย  และหว่านปุ๋ยเคมีครั้งละ 25 กก. โดยแบ่งใส่ 3 รอบ ช่วงข้าวแตกกอ ข้าวตั้งท้อง และข้าวออกรวง  การฉีดยากำจัดแมลง 4 – 5 ครั้ง/ฤดู โดยสังเกตการแพร่ระบาดก่อน  รวมทั้งใช้ฮอร์โมนอามูเร ช่วงรับท้องเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวใส มีน้ำหนัก    

"พันธุ์ข้าวซื้อจากสหกรณ์ ตันละ 24,000 บาท  ปุ๋ย ยา น้ำมัน ก็ซื้อจากสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ย มีทุกอย่าง  โครงการนี้หลวงเขาให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เขาว่าจะเอามาให้แต่อย่างว่า  ของหลวงมันช้า  เราทำไปก่อนก็เลยต้องซื้อปุ๋ยเคมีจากสหกรณ์มาใส่ก่อน"

ชาวนาทั่วไปที่หว่านข้าว 3 – 4 ถัง/ไร่ เพราะเผื่อไว้สำหรับนก หนู ที่มากัดกินเมล็ดข้าวหลังหว่าน  และเห็นว่าเป็นการประหยัดต้นทุนและเวลาแทนการจ้างหว่านซ้ำอีกครั้งหากเมล็ดข้าวหรือต้นกล้าถูกทำลาย  หากหว่านบางจะทำให้ต้นข้าวน้อย ได้ข้าวน้อย ไม่ได้น้ำหนัก   หากเป็นพันธุ์ข้าวที่แตกกอดีก็จะลดปริมาณข้าวพันธุ์ลงเหลือราว 2.5 ถัง ส่วนการป้องกันเพลี้ยหรือแมลงศัตรูพืชนั้นจะใช้วิธีฉีดพ่นสารกำจัดแมลง    ในขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรฯ แนะนำให้ชาวนาหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ไร่ละ  1.5 ถัง ช่วงที่มีการแพร่ระบาดเพื่อให้สภาพนาโปร่ง ลดการสะสมของแมลงศัตรูพืช  และให้หว่านข้าวเพียง 2 ถัง ในสภาพปกติเพื่อลดต้นทุน[16]  แต่เธอใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์หว่านไร่ละ 2.5 ถัง เธอให้เหตุผลว่า 

"ข้าวพันธุ์นี้แตกกอดี   ไร่หนึ่งหว่านแค่ 2.5 ถัง แต่ถ้าหว่านบางแค่ไร่ละ 2 ถังที่เขา (ไบโอเทค) บอก  ต้นข้าวจะบางมากเกินไป  นี่ว่าเที่ยวหน้าก็จะเก็บเองบางส่วนแต่ต้องไปจ้างเขาตาก จะได้ประหยัด  ที่เหลือก็ซื้อเขา จากสหกรณ์นั่นแหละบางส่วน" 


รูป A003...-นาข้าวหอมชลสิทธิ์

ปีนี้ จำเนียรปันที่นา 20 ไร่ ให้ลูกชายคนโตวัย 36 ปี ปลูกข้าว กข.47 เข้าโครงการรับจำนำ เพื่อเป็นรายได้ควบคู่กับการเปิดร้านคาร์แคร์ โดยยังคงเหลือที่นาเพื่อข้าวหอมชลสิทธิ์ไว้ 60 ไร่ ซึ่งครั้งล่าสุดเธอได้ผลผลิตข้าวเปลือก 40 ตัน มีต้นทุนการผลิตประมาณ  6,150 บาท/ไร่   ผลผลิตเฉลี่ย 66.7 ถัง/ไร่   หรือต้นทุนประมาณ 9,220 บาท/ตัน  รวมต้นทุนทั้งหมด 369,000 บาท ได้กำไรทั้งหมด  191,000 บาท  เธอพอใจกับข้าวหอมชลสิทธิ์ที่ได้และยังมีความหวังว่าถ้าเธอดูแลนานี้ให้ดีมากขึ้น ผลผลิตอาจจะได้ดีกว่านี้   

 

ข้าวดีด  นาดำ  กับความจำเป็นในการใช้ยาฆ่าหญ้า 

ข้าวดีด เป็นข้าววัชพืชที่มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น  มีลักษณะเหมือนต้นข้าว และมีความแข็งแรงกว่าข้าวปลูก และเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วจนปกคลุมต้นข้าวปลูก  มีผลทำให้ข้าวไม่สมบูรณ์  ไม่เต็มเมล็ด  ได้ปริมาณน้อยหรือไม่ได้ข้าวเลย  และเมื่อขายก็ได้ราคาต่ำ   แม้ชาวนาปรังในทุ่งลาดชะโด และ ต.สระแก้วจะใช้สารกำจัดการงอกของวัชพืชในการคุมเปียกและคุมแห้งแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากมีเมล็ดข้าวดีดติดมากับพันธุ์ข้าว ต้นข้าวดีดก็มักเจริญเติบโตจนชาวนาต้องหาวิธีการกำจัดข้าวดีด โดยเฉพาะช่วงที่ต้นข้าวดีดเริ่มออกรวง เพราะรวงข้าวดีดจะชูช่อสูงกว่าต้นข้าว 

จำเนียร เล่าว่าเธอเคยกำจัดข้าวดีดโดยใช้วิธีนำผ้าชุบสารกำจัดวัชพืชแล้วขึงให้ตึงกับเชือกแล้วจับปลายเชือกทั้ง 2 ข้าง เดินลูบยอดข้าวดีดเพื่อให้ข้าวดีดตายก่อนจะเมล็ดข้าวดีดร่วงลงนา และปล่อยให้ต้นข้าวในแปลงเดียวกันออกรวงจนเก็บเกี่ยว  เธอว่าแม้วิธีการนี้จะประหยัดค่าจ้างได้มากกว่าการจ้างเหมารายวันให้ผู้รับจ้างมาเดินตัดรวงข้าวดีดออกไปกองทิ้งไว้นอกนา แต่ก็เหนื่อยมาก   ปัจจุบันเธอใช้วิธีการจ้างคนงานให้ใช้เครื่องเกี่ยวหญ้าแบบเหวี่ยง มาเกี่ยวต้นข้าวดีดช่วงที่ข้าวดีดออกรวงและก่อนที่ข้าวในแปลงเดียวกันจะตั้งท้อง  เพราะหลังจากตัดยอดข้าวดีดแล้วต้นข้าวจะยังสามารถเติบโตเกี่ยวข้าวได้  แม้ค่าจ้างเหวี่ยงจะลดลงเหลือค่าจ้างไร่ละ 120 บาท ซึ่งต้องเติมน้ำมันเองและซื้อ M-100 ให้คนงาน แต่เธอก็บอกว่าต้องใช้ปุ๋ยเคมีหว่านลงนาถึง 75 กก./ไร่ เพราะต้นข้าวดีดยังคงมีชีวิตและแย่งสารอาหารจากต้นข้าว

วิธีการทำนาดำ จึงกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประสบปัญหาข้าวดีดและพอมีเงินทุนมากพอ ปัจจุบันอุตสาหกรรมรับจ้างเพาะกล้าข้าวและดำนาซึ่งริเริ่มมาจากเขตอุตสาหกรรมข้าวก้าวหน้าใน จ.สุพรรณบุรี ได้เริ่มแพร่ขยายมาใน อ.ผักไห่แล้ว จ.อยุธยา แล้ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก  เพราะชาวนาส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการเดิมๆ เช่นการล่อข้าวดีดแล้วไถกลบแบบพยงค์ สภาพโชติ  ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาและทุนเพิ่ม และมีผลทำให้ช่วงระยะการปลูกข้าวเสี่ยงต่อน้ำท่วมมากขึ้นในช่วงนาปรังครั้งที่2 จนต้องปลูกข้าวอายุ 85 วัน  หรือสารกำจัดวัชพืช ซึ่งราคาถูกกว่า

เชิด ศรีราชา  วัย 44 ปี ชาวอำเภอวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ทำนาในทุ่งกะเทพ  ห่างจากทุ่งลาดชะโดไม่เกิน 5 กม.  เพิ่งดำนาหนีข้าวดีดเป็นครั้งที่ 3 เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 56   ครั้งแรกที่เขาเริ่มหันมาทำนาดำเป็นช่วงที่เริ่มโครงการรับจำนำครั้งที่ 2 เขาลดต้นทุนในการกำจัดแมลงด้วยการใช้สาร  6-G  และผงซักฟอกละลายน้ำ  

แปลงนาที่เชิดเช่ามีขนาด 25 ไร่  ค่าเช่า 30,000 บาท/ฤดูปลูก  นาถูกแบ่งเป็น 2 ฟากด้วยคูน้ำ ฟากหนึ่งเป็นนาลุ่ม 12 ไร่  และอีกฟากเป็นนาดอน ขนาดเท่ากัน  นาลุ่มนั้นเขาเลือกใช้วิธีดำนาเพื่อคุมข้าวดีดเพราะน้ำมักลงไปขังในกระทงนา  ซึ่งแม้ประหยัดต้นทุนค่าน้ำมันที่วิดน้ำออกและไม่ต้องจ้างคนตัดข้าวดีด  แต่เขาต้องจ่ายค่ากล้าและค่าจ้างดำรวมทั้งค่าขนส่ง และต้องใช้สารกำจัดวัชพืชที่ขึ้นในน้ำอย่างผักบุ้ง และต้นพริก (ก้ามกุ้ง)   มีต้นทุนทั้งหมดประมาณ 9,000 บาท/ไร่   ในขณะที่นาดอนซึ่งเขาใช้วิธีทำนาหว่านน้ำตมนั้นต้องคอยสูบน้ำเข้านาอยู่เป็นระยะ มีต้นทุนต่ำกว่าและผลผลิตพอๆ กับนาดำ จึงทำให้มีผลกำไรมากกว่า   แต่ช่วงก่อนที่จะมาทำนาดำและยังไม่มีข้าวดีดระบาด เขาเคยทำนาหว่านในพื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ ได้ผลผลิตสูงถึง 27 ตัน


รูป A004-เชิด ศรีราชา

 "ตีเทือกและเตรียมแช่ข้าวไว้แล้ว   พวกกันโทรมาบอกมีกล้าเหลือก็ติดต่อคนขายกล้าที่ดอนเจดีย์มาลงให้ เขาก็มาเลย คุยกันเรื่องค่าใช้จ่ายก็นัดวันมาดำ  ข้าวที่แช่ไว้ก็เลยขายคนอื่น  ขอดน้ำไม่แห้งก็เลยต้องดำ  บางคนเจอข้าวดีด 10 ไร่ได้ข้าวแค่ 1 ตัน   กล้าที่ดำเป็นพันธุ์ข้าว 41-หนัก  อายุ 110 วัน  เอากล้าอายุ 37 วัน มาลงมันเกี่ยวได้ไวกว่าแปลงที่หว่าน 10 กว่าวัน  เสี่ยงน้ำท่วมน้อยกว่าหว่าน   นาดำเที่ยวที่แล้วปลูก 1 ไร่ได้ 1.2 ตัน แต่ถ้าจะขายข้าวให้ได้ตันละ 14,000 บ. น้ำหนักก็จะเหลือแค่ 1 ตัน  นาดำได้กำไรไร่ละประมาณ 4,000 กว่าบาท ถามว่าคุ้มไหม?  เราไม่รู้จะทำอะไรก็ต้องเอา" 

ต้นทุนสำคัญในการทำนาดำได้แก่ ค่าปั่นนาและตีเทือกเหมือนนาปกติ  550 บาท/ไร่  แต่ไม่ต้องจ้างฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช 2 หนเหมือนนาหว่าน  มีค่าต้นกล้า 500 ต้น/ไร่ มีราคา 500 บาท  ค่าจ้างดำไร่ละ 1,600 บาท  ค่าจ้างขนข้าวทั้งหมด 900 บาท ใช้เวลาดำ 2 - 4 วัน แต่เที่ยวนี้หลังคนงานดำเสร็จแล้ว เชิดต้องนำกล้าที่เหลือลงดำซ่อมเองเพราะไม่คุ้นกับระยะกล้าที่ห่างเกินไป นอกนั้นเป็นค่าจ้างหว่านปุ๋ยและค่าปุ๋ยซึ่งใช้แม่ปุ๋ยผสมปุ๋ยเม็ด แบ่งใส่ 2 เที่ยว เที่ยวละ 15 ก.ก. ช่วงหลังดำกล้า 2 – 3 วันกับช่วงรับท้องข้าว  และฉีดพ่นกำจัดแมลงประมาณ 5 – 6 ครั้ง/ฤดูปลูก โดยพ่นด้วยผงซักฟอกละลายน้ำซึ่งเป็นความรู้ที่ได้มาจากการไปฝึกอบรมที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ต.หน้าโคก

"ก่อนหน้านี้เคยใช้บิวเวอเรียควบคุมเพลี้ยเหมือนกัน แต่บางที ที่ศูนย์เขาก็ไม่มี เราเลยหันมาใช้แบบนี้ก็ถูกดีและไม่อันตราย  ส่วน 6–G (ฟูราดาน-ผู้ศึกษา) ก็ใช้ช่วงลงกล้าข้าวใหม่ๆ ผสมไปกับปุ๋ยที่ใส่ในช่วงแรก"

 

"ข้าวขวัญสุพรรณ"  กับกระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์โดยโรงเรียนชาวนา  [17]

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี   มูลนิธิข้าวขวัญ และนักเรียนโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันทำ MOU เพื่อพัฒนาสินค้ข้าวหอมประจำจังหวัดสุพรรณบุรีที่ปลอดสารพิษจำหน่าย โดยเน้นความโดดเด่นของสายพันธุ์ ซึ่งทางมูลนิธิข้าวขวัญได้พัฒนาปรับปรุงจากพันธุ์ข้าวท้องถิ่นซึ่งผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยนักเรียนชาวนา[18]   


รูป A005-ข้าวขวัญสุพรรณ

เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวในระบบนาอินทรีย์เล่าว่า  ข้าวขวัญสุพรรณก็คือข้าวขาวตาเคลือบ  นักเรียนชาวนาเลือกพันธุ์นี้มาปรับปรุงเพราะให้ผลผลิตดี ต้านทานโรค เมล็ดใหญ่ เมื่อสีแล้วได้น้ำหนัก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายข้าวหอมมะลิ แม้จะไม่นุ่มเท่า  ทั้งหมดนี้ถือเป็นลักษณะข้าวที่ดีที่สามารถขายให้กับโรงสีทั่วไป  

"ข้าวพันธุ์นี้ทนมากและให้ผลผลิตดีมาก  มีพันธุ์อื่นๆ ที่ให้ผลผลิตรองลงมา กินอร่อยกว่า แต่คะแนนรวมจากการเลือกของชาวนาแต่ละคนแล้วได้ไม่เท่าข้าวขาวตาเคลือบ" 

นั่นหมายถึงว่า หากผู้บริโภคอยากได้พันธุ์ข้าวที่หอมอร่อยและปลูกแบบปลอดสารเคมีกำจัดแมลง ต้องยอมจ่ายแพงขึ้นเพราะผลผลิต/ไร่ ที่ได้จะได้น้อยกว่าข้าวขาวตาเคลือบ

เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ อีกรายหนึ่ง เล่าว่า โครงการนี้ เริ่มเมื่อกันยายน 2554  มีเป้าหมายการผลิตที่ 120 ไร่ มีผู้ผลิตเป็นนักเรียนชาวนา 17 รายซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการเรียนการทำนาอินทรีย์ 3 หลักสูตรพื้นฐาน[19]  อย่างไรก็ดี นักเรียนชาวนาเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยผ่านกระบวนการฝึกอบรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ มาตั้งแต่ปี 2546  การเก็บเกี่ยวเมื่อต้นปี 2555  ได้ข้าวเปลือกทั้งหมด 69 ตัน ราคารับซื้อตันละ 15,800 บาท โดยใช้เกณฑ์รับซื้อตามความชื้นในราคาที่แพงกว่าข้าวทั่วไปในโครงการรับจำนำข้าวถึง 1,000 บาท อย่างไรก็ดี มีชาวนา 4 – 5 รายประสบปัญหาน้ำท่วมจึงไม่ได้เกี่ยวขายเข้าโครงการฯ พวกเขาได้รับค่าชดเชยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอัตราเท่ากับนาทั่วไป

ผู้เข้าร่วมโครงการรายหนึ่งเล่าว่า ปลูกข้าวในโครงการนี้ 25 ไร่ ได้ข้าว 21 ตัน  ผลผลิต/ไร่ 84 ถัง ต้นทุนไร่ละประมาณ 3,500 บาท   ซึ่งมาจากค่าปั่นนา ค่าตีเทือก ค่าจ้างฉีดพ่นและค่าสารกำจัดวัชพืช  และไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและทำนาแบบปล่อย

"โครงการอนุญาตให้สมาชิกใช้สารกำจัดวัชพืชสารเคมีควบคุมการงอกของวัชพืช 2 ครั้ง เพราะเป็นวิธีที่ถูกที่สุดและชาวนารับได้  ส่วนปุ๋ยเคมีไม่ให้ใช้  แต่ให้ใช้สมุนไพรและฮอร์โมนชีภาพ  แต่ตัวเองไม่ได้ใช้  มูลนิธิมีปริมาณพันธุ์ข้าวจำกัดจึงปลูกได้แค่ 120 ไร่ ในปีแรก ใครจะปลูกกี่ไร่ก็ได้แต่ไม่มากเกินนี้ " 

แผนการผลิตในรอบที่ 2 นี้ทางมูลนิธิฯ มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เป็น 150 ไร่ และมีสมาชิกเข้าร่วม 15 ราย เหตุที่ต้องจำกัดพื้นที่ไว้เพียงเท่านี้เพราะข้าวที่ได้มีลักษณะแข็งและยังทำตลาดได้ค่อนข้างยาก

 

การทำนาลดต้นทุนหลากรูปแบบเพราะหวังรวย

ก.- นักเรียนชาวนารายหนึ่งวัย 49 ปี จาก อ.เมืองสุพรรณบุรี ทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวตาเคลือบอินทรีย์ให้กับโครงการส่งเสริมส่งข้าวขวัญสุพรรณเล่าว่า เขาก็อยากปลูกข้าวพันธุ์ใหม่นี้และขายให้โครงการฯ เพราะเห็นว่าได้ราคาดี แต่โควตามีจำกัด และตนก็ถนัดในการผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์และได้ทำนาลดต้นทุนในรูปแบบอื่นๆ แล้ว จึงไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น 

"เขาจะมาถามว่าใครสมัครใจทำ  ทำไหม  ใครทำก็จดไว้ว่าจะทำกี่ไร่  เขาก็จะจัดสรรพันธุ์มาให้เท่าที่จะเข้าโครงการ  ฉันจะทำ เขาบอกมันเต็มพอดี  เลยได้แต่ทำพันธุ์ให้เขา"

ชาวนารายนี้รู้จักมูลนิธิข้าวขวัญตั้งแต่ปี 2545 และเข้าโรงเรียนนักเรียนชาวนาของทางมูลนิธิฯ ที่จัดขึ้นในชุมชนของตนในปีถัดมา จนกระทั่งผ่านหลักสูตร 3 ขั้น  ต่อมาได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์โดยใช้เทคนิคนาดำควบคุมวัชพืชด้วยน้ำ   ซึ่งเป็นเทคนิคที่นอกจากจะต้องมีความเข้าใจระบบนิเวศน์ของแมลงในนาข้าวแล้ว ยังต้องอาศัยความประณีต   อดทนเฝ้ารอให้ดินและแปลงนาปรับสู่สมดุลทางนิเวศน์  และต้องมีแปลงนาที่ทำเลดีอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะต้องสูบน้ำเข้านาทุก 7 – 10 วัน ที่สำคัญจะต้องมีเงินหมุนเวียนเป็นค่าจ้างดำนา   และลงทุนปรับนาให้เรียบเพื่อประสิทธิภาพของการใช้น้ำควบคุมวัชพืชและการใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นข้าว   ในขณะที่การผลิตพันธุ์ข้าวขาวตาเคลือบในปี 54 ครั้งแรกจำนวน 11 ไร่ ได้ข้าว 9.5 ตัน  คิดเป็นผลผลิต 86.4 ถัง/ไร่ ส่วนครั้งที่ 2 ได้ข้าว 6 ตัน ผลผลิต  55 ถัง/ไร่   มีต้นทุนการทำข้าวพันธุ์ ไร่ละ  3,168 บาท  และ ขายข้าวไม่กำหนดความชื้นได้ในราคาตันละ 16,000 บาท    ( ดูตาราง A006-ต้นทุนทำนาสุรัตน์)


ตาราง A006-ต้นทุนทำนาสุรัตน์

 

ทำนาลดต้นทุนปลดหนี้ได้จากโครงการรับจำนำ

ชาวนารายที่ว่านี้มีพื้นที่ทำนาอินทรีย์ไม่มากนัก  เขาเลือกใช้ที่นาของภรรยา ขนาด 5 – 11 – 8 ไร่ ทำนาอินทรีย์ทั้งหมด โดยทำนาดำคัดพันธุ์  นาขยายพันธุ์ที่ผลิตให้มูลนิธิข้าวขวัญ และนาโยนเพื่อปลูกข้าวกินเองในครอบครัว    ในขณะที่เช่านา 27 ไร่  ที่บ้านเกิดใน อ. ผักไห่ จ.อยุธยา และอีกสองผืนขนาด 8 และ 18 ไร่ ตามลำดับ ที่อยู่ใกล้บ้านของภรรยา ผลิตในรูปแบบนาลดต้นทุนและขายให้โรงสีแบบปกติทั้งหมด    ทั้งนี้ การที่ต้องเช่านาคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขา รวมทั้งชาวนาคนอื่นๆ ไม่ทำนาระบบอินทรีย์    ทั้งนี้ ชาวนาในทุ่งลาดชะโดมีสัดส่วนชาวนาเจ้าของนา:ชาวนาเช่า  คือ 38: 62 โดยชาวนาส่วนใหญ่กว่า 80 % มีที่ดินถือครองไม่เกิน 20 ไร่ 

"นาเช่านี่ไม่ทำอินทรีย์เพราะเราเช่าเขา  เขาคิดเป็นข้าว  เราก็เลยไม่ทำอินทรีย์ เดี๋ยวไปขึ้นค่าเช่าให้เขา ไร่ละ 15 ถัง  ไม่ดี  เหมือนมันเพิ่มให้เขา แต่ไม่มีการลดค่าเช่า  ทำอินทรีย์มันก็มีค่าใช้จ่าย  มันต้องดำ  แต่เราต้องหาที่ตกกล้ามาอีก  ที่ตกกล้าต้องพอกับกล้าอีก 10 ไร่  แล้วเราต้องรอให้กล้าโตอีก  มันจะห่างกันอีกเป็นเดือน  โดยมากจะเอาแต่แปลงที่สำคัญ   ถ้ามีที่ตกกล้าตีซะ 20 ไร่ ห่างกัน 7 วันก็ดำได้ " ดูรูปรูป A007-นาดำทำพันธุ์ข้าวอินทรีย์


รูป A007-นาดำทำพันธุ์ข้าวอินทรีย์

 

ปรับความรู้เทคนิคทำนาอินทรีย์มาทำนาลดต้นทุนแทนเพราะตลาดกว้างกว่า

ชาวนาอีกรายที่เป็นอดีตนักพัฒนาเอกชนและมีความรู้ดีในการทำเกษตรกกรรมทางเลือก มีประสบการณ์ทำนาอินทรีย์ทั้งแบบนาโยน และนาหว่าน เล่าว่า

"เริ่มตอนแรกปี 53  ทำนาโยน   ครั้งแรกก็ร้อนวิชา อยากทำอินทรีย์ โดยทำข้าวพิษณุโลกแล้วขายตามช่องทางทั่วไป ก็มาสรุปกับตัวเองว่ามันไม่ได้ มันไม่คุ้ม ต้นทุนมันสูง หากจะทำอินทรีย์แล้วขายแบบทั่วไป ก็คืออยากลอง  ลองดู ก็รู้ว่ามันไม่ได้   นา 4.5 ไร่ ได้ 3.8 ตัน ผลผลิตก็คือพอใจ โดยเทคนิคถือว่าผลผลิตดีมาก เพราะมากกว่า 84.4 ถัง/ไร่ เหมือนกัน  แต่จัดการเรื่องหญ้า เรื่องแรงงาน ก็อานเหมือนกัน  ขายข้าวได้ตันละ 7,000 บาท ยังไม่เป็นโครงการรับจำนำ ต้นทุน 6,804บาท" 

เมื่อล้มเหลวครั้งที่1 เธอและสามีตัดสินใจปรับแผนการผลิตนาอินทรีย์รอบใหม่ คราวนี้เลือกผลิตพันธุ์ข้าวทางเลือกที่ตลาดข้าวอินทรีย์นิยมและมีมูลค่า คือข้าวหอมนิล 2.5 ไร่ และข้าวหอมปทุม 2 ไร่  เริ่มทำประมาณ 4 พฤศจิกายน 53  ซึ่งเป็นช่วงโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์

"เที่ยวแรกเราคิดว่าทำน้อยขายโรงสีไม่คุ้มต้นทุน ก็เลยจะทำสีขายเอง  ทำข้าวพรีเมี่ยม  เพลี้ยกระโดดระบาดไง  ได้ขายข้าวแค่ 18,000 บาท เป็นข้าวหอมนิล ให้ตลาดทางเลือกโลละ 60 บาท  300 โล(ข้าวกล้อง)  ได้ข้าวก็ไปจ้างเขาสี  ไม่เหลือข้าวไว้กินเลย  ปทุมนี่เอาไว้กินอย่างเดียวไม่ได้ขาย  ขายเขาไปกระสอบนึง (ประมาณ 40 กก.) เพราะได้น้อยมาก  เพราะมันเป็นเพลี้ยกระโดด  มันระบาดแล้วมันก็เอาไม่อยู่  ก็คุยกันว่าเราได้เกี่ยวก็ดีแล้ว เพราะบางคนไม่ได้เกี่ยวเลย  เราก็ฉีดสมุนไพร ไปตั้ง 6 เที่ยว  แต่มันไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดด"

นาอินทรีย์พรีเมียมที่เธอหวังจะขายในตลาดอินทรีย์ได้ผลผลิตไม่ดีนัก  เงินลงทุนทั้งหมด 30,080 บาท หรือไร่ละ 6,684 บาท ต้องนำมาจ้างสีแปรรูปขายข้าวได้เงินมาทั้งหมดเพียง 19,200 บาท กับเงินชดเชยส่วนต่างประกันราคาไร่ละ 1,000 กว่าบาท  จะเห็นว่าช่วงที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่ระบาด  นาอินทรีย์ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังทำได้ในขนาดแปลงนาจำกัด   ดังนั้น ในปีที่ 3 เธอจึงปรับเปลี่ยนมาทำนาลดต้นทุนแบบหว่าน

เธอยังชี้ให้เห็นว่า    เมื่อคำนวณปริมาณการใช้ปุ๋ยขี้หมูกับปุ๋ยเคมีแล้ว ปุ๋ยขี้หมูต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณปุ๋ยเคมีที่ใช้ และราคาก็ไม่ได้ถูกกว่ากันมาก   แต่ค่าจ้างหว่านปุ๋ยคิดเท่าเดิมคือจ่ายเป็นไร่ซึ่งแรงงานที่รับจ้างต้องแบกปุ๋ยลงนาหนักขึ้น    อีกทั้งปุ๋ยอินทรีย์คือปลดปล่อยธาตุอาหารช้ากว่า ในขณะที่ข้าวมีอายุเพียง 4 เดือน  ปุ๋ยเคมีจึงตอบสนองต่อความต้องการสารอาหารของพืชได้ทันใจกว่า  แต่เธอเพิ่มอินทรียวัตถุในดินไม่ให้ดินแข็งด้วยการหมักฟางหลังเกี่ยว    ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีก็ใช้ปริมาณ 25 – 30 กก. โดยผสมปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ในอัตราส่วน 2 : 1 แบ่งหว่าน  หว่าน 2ครั้ง/ฤดูปลูก   ช่วงแตกกอและตั้งท้อง  บางฤดูอาจต้องเพิ่มปุ๋ยยูเรียด้วย   ส่วนการเตรียมแปลงก็เหมือนกับนาทั่วไปคือฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช 2 ครั้ง แบบ คุมเปียกและคุมแห้ง  รวมทั้งทำน้ำหมักปลา-ฮอร์โมนไข่เอง   แต่ถึงกระนั้น เมล็ดข้าวที่เธอได้ก็ไม่สวยเต่ง และรวงสวยทุกรวงเหมือนอย่างที่ชาวนาทั่วไปใช้ฮอร์โมนฉีดเป็นธาตุอาหารเสริมในช่วงรับท้อง

ประสบการณ์ทำนาลดต้นทุนเพื่อขายโรงสีครั้งแรกเธอได้ข้อสรุปว่า    การปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าว ไร่ละ 2.5 ถัง นั้นยากมากที่จะได้ผลผลิตมากเกินกว่า 80 ถัง ยกเว้นที่นาที่เรียบเสมอกันเพราะคุมน้ำได้  ทั้งนี้เพราะธาตุอาหารไม่เพียงพอ  หากต้องการผลผลิต/ไร่ มากกว่า 90 ถังขึ้นไป ก็ต้องหว่านพันธุ์ข้าวไร่ละ 3 ถัง และใช้ปุ๋ยเคมีผสมอินทรีย์และปรับโครงสร้างดินดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

เธอยังชี้ให้เห็นว่า  การส่งเสริมให้ชาวนาเก็บพันธุ์ข้าวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เธอเองไม่สะดวกและไม่มีสถานที่ตากข้าว จึงซื้อข้าวเกรดเอจากเอกชนเพราะมีคุณภาพดีกว่า และช่วยลดปัญหาเรื่องข้าวดีดซึ่งต้องเพิ่มทุนอย่างมากในการกำจัดทิ้งเมื่อมีการแพร่ระบาด   การทำนาปรังลดต้นทุนจำนวน  20 ไร่ ในรอบนี้ได้ผลผลิต 15 ตันที่ความชื้น 18% โดยขายโครงการรับจำนำได้ในราคาตันละ  14,200 บาท รวมเป็นเงิน 213,000 บาท  โดยมีต้นทุนรวมทั้งสิ้น 86,150 บาท หรือไร่ละ 4,307.5 บาท ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่น่าพอใจ

 

ข้ออภิปรายส่งท้าย

1.การเพิ่มราคาสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนเทคนิคการผลิตเพื่อลดต้นทุน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่หน่วยธุรกิจเอกชนที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปปักหลักลงทุนทำการผลิตข้าวในกลุ่มประเทศอาเซียน [20] รวมทั้งกระแสการลงทุนผลิตข้าวหอมข้ามชาติของประเทศต่างๆทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและแอฟริกา [21]    ชาวนาไทยจึงไม่ใช่แค่ต้องแข่งขันกับชาวนาชาติเพื่อนบ้าน      หากแต่เป็นทุนขนาดใหญ่ที่มีความยืดหยุ่นสูงและพร้อมเสมอที่จะเข้ามาเบียดชิงส่วนแบ่งการตลาด    ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ควรจะต้องแสดงฝีมือและสร้างมั่นใจให้ชาวนาที่สนับสนุนนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยที่มีเป้าหมายตั้งแต่แรกเริ่มหาเสียงว่าจะมาสร้างเกณฑ์ราคาใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวนาเราปฏิเสธไม่ได้ว่า  "ราคาที่สูงกว่า" เป็นแรงจูงใจที่ชาวนาตัดสินใจทดลองทำการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิต  ในขณะเดียวกันช่วงระหว่างการทดลองก็มีความเสี่ยงที่ไม่คุ้นเคยกับการทดลองผลิตในแบบที่แตกต่างจากความคุ้นชินของชาวนา  ซึ่งกระบวนการทดลอง เรียนรู้ และสรุปผลเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็น "ราคาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เปลี่ยนระบบการผลิต"  เป็นหลักประกัน   ซึ่งรัฐบาลอาจจำเป็นต้องตั้งเกณฑ์ราคารับซื้อข้าวชนิดต่างๆ ตามคุณภาพผลผลิตและสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง บวกกำไรจากการขายสินค้าการเกษตร 25 % และค่าแรงจูงใจ ในลักษณะที่เป็นขั้นบันได ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เช่น 4 – 6 ฤดูปลูก  ควบคู่ไปกับการติดตามผลการทดลอง และควบคุมการรับซื้อให้ตรงตามเกณฑ์คุณภาพ       (ดูภาพ A008 แบบทดลองเสนอ) 


แผนภูมิ A008 แบบทดลองเสนอ

2.การสร้างองค์กรธุจกิจเพื่อชาวนา

 "ใช้ (ปัจจัยการผลิต – ผู้ศึกษา) หลายอย่าง หลายตัว พอเย็นๆ เวลา 2 ทุ่ม มาแล้ว ประกาศแล้ววิทยุบ้านบ้านแพนนี่ ตอนนี้เขาเรียกหุ้นแล้ว น่าไปสมัครหุ้น มีเงินเล่นหุ้นกับเขามั่ง หุ้นละ 20 บาท"

นี่คือความเห็นของชาวนาวัย 60 ปี ที่ทำนามาตลอดชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับได้ถึงบทบาทของทุนและภาคธุรกิจที่สามารถเข้ามาแสวงกำไรกับชาวนา    ขณะเดียวก็เขาเห็นว่าควรมีช่องทางที่จะเข้าไปมีส่วนในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เหล่านั้นด้วย  เช่นเดียวกับสีนวล ศรีชาติ ที่พึงพอใจกับบทบาทด้านการตลาดและบริการของสหกรณ์ฯ    พ้องกันกับข้อเสนอของ กานดา นาคน้อย ที่เสนอให้มีการจัดตั้งโรงสีในรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดอำนาจตลาดของโรงสีเอกชน [22]  ผู้ศึกษามีความเห็นว่า หากรัฐบาลประการลดราคาจำนำนาปรังตันละเหลือ 12,000 บาท[23] และนำการโซนนิ่งข้าวมาปรับปรุงการผลิตข้าวเพื่อลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพข้าว ให้สามารถแข่งขันได้เมื่อเปิด AEC โดยโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์นั้นก็ยังอาจไม่พอ   ควรสนับสนุนให้มีการใช้ -และค้าขายปัจจัยการผลิตชีวภาพที่มีคุณภาพให้สามารถแข่งขันได้กับสารเคมีการเกษตร   และควรแปรรูปกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ใกล้ชิดกับชาวนาและเกษตรกรที่สุด ให้เป็นหน่วยส่งเสริมธุรกิจการเกษตรที่แสวงกำไรในรูปรัฐวิสาหกิจ  ที่มีชาวนาไปร่วมเป็นคณะกรรมการและสมาชิกเป็นผู้ร่วมถือหุ้น  และเปิดให้มีการตรวจสอบได้โปร่งใส   เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานแทนการเป็นข้าราชการประจำ    




[1] ทางเลือกตลาดชาวนาไทย : เมื่อจำนำข้าวสอยราคาข้าวอินทรีย์ร่วง  ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน  9-09-55 

[2] "เดชา ศิริภัทร" ปราชญ์ชาวนา (2): "ทำนาผิดวิธี" อนาคต "สิ้นนา สิ้นชาติ"  thaipublica  27-05-55 http://thaipublica.org/2012/05/deja-siripat-2/

[3] "ปราชญ์ชาวนาแนะเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี ตั้งกองทุนเกษตรอินทรีย์"  ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน 31-12-55   

[4] "เสนอรัฐคิดต้นทุนสิ่งแวดล้อม-สังคม รีดภาษีสารเคมีเกษตรผู้ผลิต"  เข้าถึงเมื่อ 6-01-56   http://www.peoplepress.in.th/archives/autopagev3/show_page.php?group_id=1&auto_id=43&topic_id=85&topic_no=186&page=1&gaction=on

[5] "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยนโยบายสารเคมีเกษตร THE ECONOMIC OF AGRICULTURAL CHEMICAL POLICY" วราภรณ์ ปัญญาวดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ Dec.2007  http://www.ennrjournal.com/20081/20varaporn_f.pdf

[6] ดูเพิ่ม "โครงการจำนำข้าว: วิกฤตหรือโอกาสของคนทำนาเช่า ?" ประชาไท 6-06-56   http://prachatai.com/journal/2013/06/47101

[7] ดู "ประกาศรายชื่อข้าวที่มีอายุต่ำกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ ไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำ"  ของ กรมการข้าว ที่  http://www.ricethailand.go.th/home/index.php?option=com_content&view=article&id=568:---110---&catid=14:2012-01-31-06-16-00

[8] ดูเพิ่ม  "นิรมล ยุวนบุณย์ :การเลื่อนชั้นและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา" ประชาไท 10-06-56 http://prachatai.com/journal/2013/06/47150

[9] ส่วนต่างจากราคาจากการขายข้าวให้โรงสีที่ต่ำกว่าราคาประกันรายได้ที่รัฐกำหนด โดยดูวันปลูกและเก็บเกี่ยวที่ชาวนาขึ้นทะเบียนไว้ให้ตรงกับวันที่กรมการค้าภายในประกาศราคาอ้างอิง ซึ่งขึ้นกับราคาตลาด ทั้งนี้รัฐได้กำหนดราคาประกันข้าวเปลือกหอมปทุมธานีไว้ที่ตันละ 11,000 บาท และข้าวเปลือกนาปรังทั่วไป ตันละ 10,000 บาท  แต่ส่วนต่างของข้าวเปลือกหอมปทุมธานีจะต่ำกว่าข้าว

[10] ข้าวหอมชลสิทธิ์ เป็นข้าวลูกผสมของข้าวทนน้ำท่วมกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยรศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และคณะ  โดยอาศัยเทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอ(DNA marker) ดูเพิ่มที่ http://dna.kps.ku.ac.th

[11] รมว.วิทย์ลุยอยุธยาโชว์นาข้าวทนน้ำท่วม คมชัดลึก  30-10-53

[12] ดูราคารรับจำนำข้าวชนิดต่างๆ ปี 2554/55 ได้ที่เว็บกรมส่งเสริมการเกษตร http://www.edoae.doae.go.th/project_rice.htm

[13] ข้าวเศรษฐกิจ , วารสาร  หน้า 28-41  ฉบับที่ 3/34/2556  ปีที่3

[14] ดูคลิ๊ปประชาสัมพันธ์โครงการข้าวหอมชลสิทธิ์ และผลิตภัณฑ์ "อ่อนหวาน" ของสหกรณ์การเกษตรผักไห่ ได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?v=253362551433432&set=vb.100002790675491&type=2&theater

[15] คุมแห้ง   หมายถึง  การควบคุมเม็ดวัชพืชโดยฉีดพ่นสารเคมีควบคุมการงอกของวัชพืชหลังจากหว่านข้าวและปล่อยน้ำแห้งแล้ว 3 วัน  จากนั้นจึง คุมเปียก คือฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชอีกครั้งเมื่อข้าวอายุ 9 วัน

[16] ดูเพิ่มที่ "เปิดผลสำรวจชาวนารวยขึ้น พึงพอใจโครงการจำนำข้าว กรมข้าวแนะ7วิธีลดต้นทุน" มติชนออนไลน์ 20-06-56 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1371708485&grpid=03&catid&subcatid

[17] 'ข้าวขวัญสุพรรณ'ต้นแบบผลิตข้าว"  ฐานเศรษฐกิจ 12-04-56   http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=117049:2012-04-12-09-48-22&catid=87:2009-02-08-11-23-26&Itemid=423

[18] ดูรายละเอียดการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเพิ่มเติมที่  http://www.suphan.biz/khaokwan.htm 

[19] "โรงเรียนชาวนา"  มูลนิธิข้าวขวัญ  http://www.khaokwan.org/farmerschool.html

[20] จับตา "เบียร์ช้าง-ซี.พี." จับมือทุนท้องถิ่น-ผูกขาด "ข้าว"  ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ก.ย. 2552  http://www.afet.or.th/v081/thai/news/commodityShow.php?id=2255

[21] "ชาติร่ำรวยแห่หาที่ปลูกข้าว"  ฐานเศรษฐกิจ 20-06-54  http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=71767&catid=85&Itemid=417

[22] "กานดา นาคน้อย: ข้าว เหล้า ไวน์" ประชาไท 23-06-56  http://prachatai.com/journal/2013/06/47346

[23] ดูรายละเอียดการปรับราคารับจำนำข้าวชนิดต่างๆ หลัง ครม.รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีมติลดราคารับจำนำข้าวนาปรังเหลือตันละ 12,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ได้ที่ข่าว "พาณิชย์คาดกำหนดราคารับจำนำข้าวในฤดูนาปี56/57 ได้ภายในนก.ค." ฐานเศรษฐกิจ 21-06-56   http://www.afet.or.th/v081/thai/news/commodityShow.php?id=5920

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ขาดทุนจำนำข้าวด้วยเหตุใดแน่ ?

Posted: 01 Jul 2013 10:09 AM PDT

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญมรสุมที่หนักหน่วงที่สุดตั้งแต่เป็นรัฐบาลมา นั่นคือการประท้วงของชาวนาทั่วประเทศ เพราะไปลดราคารับจำนำข้าวเหลือเพียง 12,000 บาท ไม่เฉพาะแต่ชาวนาเท่านั้น แม้ประชาชนทั่วไปก็คงไม่เห็นด้วยเช่นกัน การสำรวจโพลของสำนักนิด้ารายงานว่า เกือบ 60% ของผู้ถูกสำรวจไม่เห็นด้วยกับการลดราคารับจำนำลงเหลือ 12,000 บาท เพราะเห็นใจชาวนา

จะมองเรื่องนี้เป็นปัญหาในเชิงเทคนิคก็ได้ เพราะ ครม.ลงมติรับมาตรการใหม่ คือรับจำนำข้าวเปลือก 100% ความชื้นไม่เกิน 15% ที่ 12,000 บาท (ต่อตัน) และด้วยวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย โดยมีผลตั้งแต่ 30 มิ.ย. เป็นต้นไป แทนที่จะเป็น 16 ก.ย. หลังปิดโครงการรับจำนำที่มีมาแต่เดิมเสียก่อน แต่ชาวนาจำนวนมากได้ลงทุนปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว ด้วยความคาดหวังว่าจะได้รายได้จากการรับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน

หนึ่งในประโยชน์ของโครงการประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าว (หรือประกันรายได้ก็ตาม) ก็คือ ผู้ผลิตรู้ผลตอบแทนล่วงหน้า จึงวางแผนการผลิตได้ดีขึ้น (ดีขึ้นแปลว่าเหมาะสมกับสถานภาพและกำไรที่ต้องการของตนเอง ในโลกปัจจุบันคงไม่มีมนุษย์ที่ผลิตตามสถานภาพโดยไม่มองที่กำไรเอาเลย ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือนายธนาคาร

ฉะนั้นจะมองการประท้วงของชาวนาทั่วประเทศว่า เกิดขึ้นจากความผิดพลาดทางเทคนิค ที่เริ่มใช้มาตรการใหม่ผิดจังหวะเวลา ทำให้ชาวนาได้รับความเสียหายก็ได้ แต่ผมสงสัยว่าอาจจะมากกว่านั้น

ในราคารับจำนำข้าวที่ 12,000 บาท ส่วนใหญ่ของชาวนา (โดยเฉพาะรายย่อย) จะได้รับเงินต่ำกว่านั้น เพราะค่าความชื้นของข้าวสูงกว่า 15% ไปโขทีเดียว (ถึงประมาณ 25%) ฉะนั้นก็จะถูกหักลดราคาลง ในขณะเดียวกันทั้งนักการเมือง (ฝ่ายค้าน) นักวิชาการ และแม้แต่ตัวชาวนาเองก็กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตสูงกว่าตัวเลขประเมินของกระทรวงเกษตรที่ไร่ละ 8,600 บาท บ้างก็ว่าสูงกว่ามาก อย่างต่ำก็ไม่หนี 9,000 บาทขึ้นไป เฉลี่ยแล้วจะได้กำไรไร่ละพันกว่าบาทเท่านั้น ทำนา 20 ไร่ ได้กำไรเพียงสองหมื่นกว่าบาท โดยไม่นับค่าแรง และค่าดอกเบี้ย จะเหลืออะไร ทั้งนี้ไม่นับการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ชาวนาจำนวนหนึ่งที่ออกมาประท้วงเห็นว่า ตัวเลขขาดทุนบักโกรกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากราคารับจำนำที่สูงเกินไปอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการทุจริต (นับตั้งแต่พรรคการเมือง, ข้าราชการ, และเอกชนที่เกี่ยวข้อง)

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเพิ่งจับโรงสีที่ทุจริตได้หนึ่งราย มีมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นเข้าไป 130 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีพาณิชย์เองก็ดำเนินโครงการนี้อย่างไม่ ?โปร่งใส? (แปลว่าเปิดเผยข้อมูลอย่างจะแจ้งพอที่ผู้อื่นจะตรวจสอบได้ ส่วนจะร่วมทุจริตด้วยหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) เป็นผลให้มีการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาส่งมอบแก่รัฐ ประมาณกันถึง 3 ล้านตัน (อย่างน้อย 1 ล้านตัน ไม่อาจบอกที่มาได้) ส่วนที่ไม่โปร่งใสที่สุดคือการระบายข้าว ซึ่งนักวิชาการท่านหนึ่ง (ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร) กล่าวว่าช่องทางการระบายเป็นการทุจริตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโครงการ

ความเห็นของชาวนาจึงมีมูลอยู่มากทีเดียว น่าเสียดายที่ตัวเลข ?ขาดทุน? ที่ กขช.เสนอแก่ ครม. ไม่มีการประเมินว่า หากโครงการป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบของโครงการได้ ตัวเลข ?ขาดทุน? จะลดลงไปเท่าไร รวมทั้งยุทธวิธีการระบายข้าวที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพทางธุรกิจ จะลดความเสียหายของโครงการลงได้อีกเท่าไร ผมออกจะสงสัยว่า หากตั้งเป้าการขาดทุนไว้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาทต่อปี บางทีอาจไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงการแต่อย่างใด นอกจากจำกัดเพดานการรับจำนำไว้ไม่เกิน 500,000 บาท

ไม่แต่เพียงโครงการจะ ?ขาดทุน? ในปริมาณที่ประเทศพอรับไหวเท่านั้น ประโยชน์ด้านการกระจายรายได้ก็อาจเพิ่มขึ้นด้วย สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแสดงตัวเลขว่า โครงการรับจำนำที่แม้ดำเนินงานอย่างหละหลวมและเต็มไปด้วยการทุจริตนี้ ก็ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นปีละ 1.16-1.14 แสนล้านบาท เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่ม 42,000 บาทต่อคน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในรายได้มวลรวม 0.69% เพิ่มรายจ่ายของครัวเรือนทั้งประเทศอีกประมาณ 2%

ถ้าหยุดการโกงได้ ตัวเลขในส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตรงกับเป้าหมายของโครงการ คือกระจายรายได้ลงไปถึงมือชาวนา เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจโดยรวม

ผมสนับสนุนนโยบายรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาทมาแต่ต้น ประเมินผลของการ "ขาดทุน" ว่าไม่น่าจะเกิน 70,000 ถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี จนถึงปัจจุบันผมก็ยังเชื่อว่า หากตัดการทุจริตในทุกระดับและทุกประเภทลงได้ รวมทั้งดำเนินการทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขการขาดทุนก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 ล้านบาทอยู่นั่นเอง (ตัวเลขนี้อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะผมคำนวณไม่เป็น ผมนำเอาตัวเลขมาจากการคำนวณของนักเศรษฐศาสตร์นอก TDRI เท่านั้น) ดังนั้น จึงเป็นนโยบายที่น่าสนับสนุน แต่ผมเห็นด้วยว่าควรรับจำนำรายละไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการทุจริตอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องหามาตรการป้องกันมาแต่ต้น (เช่นรับจำนำข้าวของชาวนารายใหญ่ร่วมไปด้วยโดยแบ่งผลประโยชน์กัน)

แต่ 100,000 ล้านบาทต่อปีก็ไม่ใช่ขี้ไก่ ต้องมีเป้าหมายที่คุ้มกับเงินที่เสียไป หากวางเป้าหมายให้ชัด ก็จะรู้ด้วยว่ารัฐต้องทำอะไรอีกบ้าง เพื่อเสริมให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมสนับสนุนนโยบายนี้เพราะเห็นว่า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน ไม่ช้า (อย่างที่เคยช้ามา) ก็เร็วขึ้น ชาวนาไทยจำนวนไม่น้อย ต้องทยอยออกจากการผลิตข้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนหนึ่งที่ไม่มากนัก คงอยู่ในภาคการเกษตรเพื่อผลิตพืชอื่น (เวลานี้ข้าวใช้พื้นที่ 50% และ 66% ของครัวเรือนเกษตรกรได้รายได้สำคัญจากข้าว) อีกส่วนหนึ่งคงไหลเข้าสู่ตลาดงานจ้างอย่างเต็มตัว (ปัจจุบันรายได้จากแรงงานรับจ้างก็เป็นรายได้สำคัญอีกทางหนึ่งของครัวเรือนชาวนาอยู่แล้ว) อีกส่วนหนึ่งคงเข้าสู่ภาคบริการที่ตนเองเป็นเจ้าของ นับตั้งแต่ขายก๋วยเตี๋ยวไปจนถึงค้าขายพืชผลการเกษตร หรือเป็นเอเยนต์ปุ๋ย

จะช่วยคนเหล่านี้ให้เปลี่ยนผ่านซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้อย่างไร เพื่อให้เขาสามารถเปลี่ยนผ่านไปโดยมีอำนาจต่อรองในตลาดมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเพิ่มรายได้ของเขาในช่วงหนึ่งตามนโยบายนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่พอ เพราะเป้าหมายไม่ใช่เพียงให้ชาวนามีกินมีใช้มากขึ้นเพื่อช่วยนายทุนในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ต้องทำให้เขาสามารถพาครอบครัวของเขาเปลี่ยนผ่านไปสู่สภาวะใหม่ได้อย่างราบรื่นขึ้น

การลงทุนด้านการศึกษาจึงจำเป็น ถึงเวลาที่ควรขยายการศึกษาฟรีจาก ม.3 ไปสู่การศึกษาอาชีวะ แรงงานที่มีทักษะระดับนี้ก็ขาดแคลน การเพิ่มทักษะของลูกหลานชาวนา จึงจะช่วยให้เขามีอำนาจต่อรองในตลาดงานจ้างมากขึ้น พร้อมกันไปนั้นก็ช่วยป้อนแรงงานทักษะซึ่งจะช่วยยกระดับการผลิตของไทยให้สูงขึ้นไปด้วย

เมื่อจำนวนของเกษตรกรลดลง คนที่ยังเหลืออยู่ในภาคเกษตรจึงต้องผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ไม่ควรคิดถึงประสิทธิภาพของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว ควรคิดถึงเอกชนระดับกลางๆ ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปที่ทำให้คนเข้าถึงปัจจัยการผลิต (ที่ดิน, เงินกู้, ทักษะความรู้) ได้สะดวกขึ้น, สหกรณ์หลายรูปแบบ, ฯลฯ

โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐก็อาจมีส่วนช่วยการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านมามีส่วนเปลี่ยนชาวนาทำกินเป็นชาวนาเชิงพาณิชย์ จึงควรคิดตั้งแต่ต้นว่า จะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในครั้งนี้มีส่วนเปลี่ยนชาวนาสู่อาชีพในภาคสมัยใหม่อื่นๆ ได้อย่างไรด้วย

ในส่วนการทุจริตคดโกง ดูเหมือนรัฐบาลกำลังเริ่มตรวจสอบและเอาโทษอยู่ มาตรการนี้ต้องทำสืบเนื่องอย่างเอาจริงเอาจัง อย่าทำเพียงเพื่อเรียกคะแนนเสียงคืนในระยะนี้ มีข่าวด้วยว่านายกฯ กำลังจะปรับ ครม. และหนึ่งใน ครม.ที่จะเปลี่ยนคือรัฐมนตรีพาณิชย์ ซึ่งเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ผมไม่มีหลักฐานว่าเขามีส่วนในการทุจริตคดโกง แต่ภายใต้การบริหารงานของเขามีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ก็แสดงอยู่แล้วว่าเขาไม่มีสมรรถนะที่จะดำเนินโครงการซึ่งมีความสำคัญเยี่ยงนี้ได้

หารัฐมนตรีใหม่ที่ซื่อสัตย์ และมีความสามารถในการทำให้โครงการโปร่งใสทุกขั้นตอน ระดมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยกันในการวางแผนทางธุรกิจระบายข้าว เลิกจำนำทุกเมล็ด แต่รับจำนำเพียงรายละไม่เกิน 500,000 บาท ด้วยราคาเดิมคือตันละ 15,000 บาท ในขณะเดียวกันทำความเข้าใจกับ รมต.ทั้งชุดว่า โครงการนี้เป็นส่วนเดียวของการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นของชาวนาไทย ยังมีงานที่กระทรวงอื่นๆ ต้องทำร่วมกันอีกมาก

ไม่ต้องตระหนกกับคะแนนเสียงที่ลดลง ทำให้ถูกทำให้ดี คะแนนจะกลับมาเอง เวลายังมี
 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาไม่ให้ประกันคดี 112 'เอกชัย' คนขายซีดีABC – เปิดคำอุทธรณ์สู้คดี

Posted: 01 Jul 2013 09:33 AM PDT

 

1 ก.ค.56 นายอานนท์ นำภา ทนายความของนายเอกชัย (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีมาตรา 112 จากกรณีจำหน่ายซีดีสารคดีการเมืองไทยที่จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์เอบีซี ประเทศออสเตรเลีย และเอกสารวิกิลีกส์ ระบุว่า เอกชัยถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อ 28 มี.ค.56 และถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมาทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวจำเลย ทนายจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาและในวันนี้ (1 ก.ค.) ศาลฎีกาได้มีคำสั่งปฏิเสธให้ประกันตัวเนื่องจากเกรงจำเลยจะหลบหนี

"พิเคราะห์แล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง" ศาลฎีการะบุ

 

ภาพจากเฟซบุ๊ค อานนท์ นำภา

ทั้งนี้ ในการยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลฎีกานั้นได้ยื่นพร้อมกับวิดีทัศน์สัมภาษณ์บิดาวัย 80 ปี มารดาวัย 78 ปี ของเอกชัยถึงความยากลำบากในการดำรงชีวิต ประกอบกับใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับโรคพาร์คินสันของบิดา และการผ่าตัดสะโพกที่ทำให้มารดาของเขาเดินไม่ได้

ส่วนสาระสำคัญของคำร้องขอประกันตัวของจำเลยนั้นระบุว่าจำเลยได้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาทรวมทั้งโฉนดที่ดินย่านคลองจั่นมูลค่า 582,400 บาท พร้อมแถลงถึงเหตุแห่งความจำเป็นทางศีลธรรมจรรยาในฐานะบุตรที่มีภาระที่ต้องดูแลบิดามารดาที่แก่ชรา ที่ผ่านมาจำเลยยังเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม การที่ก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า "หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี" นั้นจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างประกอบคำวินิจฉัย ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยในอัตราโทษ 3 ปี4เดือน อันมิใช่อัตราโทษที่สูง จำเลยต่อสู้คดีโดยได้นำสืบถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ต่อสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยก็เป็นเพียงประชาชนผู้นำเสนอข่าวสาร มิได้เป็นผู้จัดทำหรือเป็นแกนนำปราศรัยทางการเมือง ขณะนี้จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ทั้งประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว แต่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์อาจต้องใช้ระยะเวลานาน จึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดี

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมถึงการอุทธรณ์คดีของนายเอกชัยว่า ทนายได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งในคำพิพากษาศาลชั้นต้น สรุปได้ 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ความผิดฐานจำหน่ายวิดีทัศน์ 2.ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ 3.โต้แย้งการตีความเนื้อหาบางฉากตอนที่ปรากฏในสารคดีและเอกสารวิกิลีกส์ 4.เจตนาของจำเลย 5.การลงโทษเรียงตามกระทง

1.ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ คำร้องอุทธรณ์ระบุว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานประกอบธุรกิจจำหน่วยวิดีทัศน์หรือซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 54 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะหากดูตามนิยามใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ซีดีที่จำเลยจำหน่ายไม่เข้านิยาม "วิดีทัศน์" แต่เข้าข่ายซีดี "ภาพยนตร์" การที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตาม มาตรา 54ประกอบมาตรา 82 ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดีทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการปรับใช้กฎหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ขอมาในคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยในฐานความผิดนี้ ประกอบกับจำเลยขายซีดีแผ่นละ 20 บาท ขายมาเพียงแค่สองครั้ง เดินขายโดยไม่ได้ผลกำไร ซึ่งจำเลยได้ให้การไว้ทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลแล้วว่าต้องการเผยแพร่ข้อมูลของสำนักข่าวเอบีซีเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าข่ายความผิด

2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คำร้องอุทธรณ์ระบุว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยหยิบยกข้อกฎหมายประกอบการวินิจฉัยและตีความกฎหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ เนื่องจากคำพิพากษาอ้างถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตรา 8 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 77 บัญญัติว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา แล้วสรุปว่า "ย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่ในกฎหมายแม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกินเปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้น อาจทำได้ไม่" คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยดูหมิ่น หมิ่นประมาทสมเด็จพระราชินีและรัชทายาท อันมิได้เกี่ยวข้องพาดพิงกับพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ทั้งนี้ เนื่องจากเนื้อหาในแผ่นซีดีและในเอกสารวิกิลีกส์พาดพิงถึงพระราชกรณียกิจสมเด็จของพระราชินีและองค์รัชทายาทเพียงสองพระองค์ อันเป็นบทบัญญัติแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่มุ่งหมายคุ้มครองตัวบุคคลโดยตรง หาได้มุ่งหมายที่จะคุ้มครอง "สถาบันกษัตริย์" แต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญข้างต้นขึ้นประกอบการวินิจฉัยจึงเป็นการยกข้อกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ทั้งศาลยังได้หยิบยกข้อเท็จจริงนอกสำนวนขึ้นวินิจฉัยกล่าวคือ "ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล" ในประเด็นนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบไว้ในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด ทั้งต้องห้ามมิได้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกด้วย ซึ่งย่อมทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3.คำร้องอุทธรณ์ในส่วนนี้โดยสรุปเป็นการโต้แย้งการตีความเนื้อหาของสารคดี/เอกสารวิกิลีกส์ในหลายช่วงตอน เนื่องจากในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเอาผิดจำเลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำเบิกความบางส่วนของพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคำร้องได้อธิบายยืนยันการตีความเช่นเดียวกับที่นำสืบในศาลชั้นต้นอีกครั้ง พร้อมระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาถึงสารคดีข่าวทั้งสารคดีโดยไม่เลือกตัดตอนเพียงข้อความตอนใดตอนหนึ่ง ย่อมจะเห็นได้ว่าเนื้อหาสาระในสารคดีข่าวนั้นไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายแต่ประการใด ทั้งพยานโจทก์ทุกปากเบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเนื้อหาแห่งข้อความ มักตอบคำถามว่า "ไม่ทราบ" ในข้อเท็จจริงนั้นๆ แต่กลับเบิกความให้ความเห็นไปในทางที่มีผลร้ายต่อจำเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปาก แม้จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่ก็ไม่มีความรู้ในข้อเท็จจริง ทั้งยังมีเจตคติที่หวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คำเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากจึงไม่อาจรับฟังได้ การที่ศาลจะรับฟังพยานในชั้นพิจารณา พยานนั้นต้องให้การหนักแน่น เป็นเหตุเป็นผล และเข้าเบิกความด้วยความเป็นกลาง แต่สำหรับคดีนี้ พยานโจทก์ตกอยู่ในความหวาดกลัวหวาดระแวงต่อพระราชอำนาจและแบกรับความกดดันทางสังคม ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลับทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะจะเป็นการส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์เสียเอง ถ้อยคำสำนวนของพยานโจทก์ทุกปากในคดีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้

4.เรื่องเจตนาของจำเลย คำร้องอุทธรณ์ระบุว่า ศาลชั้นต้นได้รับฟังและยกข้อเท็จจริงแวดล้อมในหลายประการเพื่อจะชี้เจตนาที่แท้จริงของจำเลยอันเป็นข้อเท็จจริงที่เลื่อนลอยและยังได้วินิจฉัยในข้อกฎหมายที่ขัดกับหลักกฎหมายอาญาในสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบเรื่องเจตนาแห่งการกระทำของจำเลยอีกด้วย โดยคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า "เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนโดยทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น มิใช่ตามความเข้าใจหรือความรู้สึกของจำเลย..." อย่างไรก็ตาม ในคดีอาญา การจะพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากเจตนาที่อยู่ภายในจิตใจของจำเลยเป็นหลัก หากจำเลยไม่มีเจตนาก็ย่อมไม่มีความผิด ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ส่วนการจะพิจารณาถึงเจตนาซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจต้องดูจากพฤติการณ์ของการกระทำและองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ ประกอบ แต่ในคดีนี้ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่า การพิจารณาเจตนาของจำเลยไม่อาจพิจารณาตามความเข้าใจของจำเลยได้ แต่ต้องดูความเข้าใจของ "วิญญูชน" อีกทั้งคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงความเข้าใจของ "วิญญูชน" เนื่องจากไม่ได้นำพยานบุคคลอื่นนอกจากเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งย่อมไม่ใช่ตัวแทนของวิญญูชน การกล่าวอ้างความเข้าใจของ "วิญญูชน" ในคำพิพากษา จึงเป็นความเข้าใจตามมาตรฐาน "ส่วนตัว" ของผู้พิพากษาในคดีนี้เท่านั้น ในขณะเดียวกันศาลชั้นต้นกลับมิได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่า เนื้อหาส่วนใดในซีดีและเอกสารที่ทำให้พระราชินีและรัชทายาทเสื่อมเสีย และเสื่อมเสียอย่างไร อันเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบการวินิจฉัย นอกจากนี้การพิจารณามาตรฐานของ "วิญญูชน" นั้น เป็นหลักการที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หลักในคดีอาญานั้นแตกต่างกัน เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของจำเลย ความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาต้องพิจารณาที่ "เจตนา" ของจำเลย ด้วยเหตุนี้ คำว่ามาตรฐานของ "วิญญูชน" จึงไม่อาจนำมาปรับใช้กับคดีอาญา นอกจากนี้คดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า จำเลยได้จำหน่ายซีดีและเอกสารในการพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม ลำพังเพียงข้อเท็จจริงนี้ไม่อาจรับฟังประกอบเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่ชี้เจตนาของจำเลยว่าประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นต่อผลเพื่อจะดูหมิ่น หมิ่นประมาท สมเด็จพระราชินีหรือองค์รัชทายาท ประกอบกับการตรวจสอบบ้านพักของจำเลยรวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อบ่งชี้ใดที่แสดงให้เห็นเป็นที่แวดล้อมได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทั้งสองพระองค์ หรือเพียงพอให้เห็นว่าจำเลยน่าจะจำหน่ายซีดีของกลางและเอกสารวิกิลีกส์โดยมีเจตนาประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผล ในทางตรงกันข้ามจำเลยกลับเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลจากสาระคดีข่าวของสำนักข่าวเอบีซีของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งเมื่อพิจารณาเนื้อหาทั้งสารคดีข่าวแล้วก็เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเป็นในเชิงวิชาการ ไม่ได้มีถ้อยคำสำนวนหยาบคาย ใส่ร้ายป้ายสีหรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จแต่อย่างใด เอกสารวิกิลีกส์ก็เป็นเอกสารที่มีความน่าชื่อถือเนื่องจากเป็นเอกสารที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญของประเทศไทย ทั้งพยานโจทก์ทุกปากก็ได้เบิกความถึงพฤติการณ์แวดล้อมในสถานการณ์ทางการเมืองในห้วงเวลาที่ถูกกล่าวถึงทั้งในซีดีและเอกสารวิกิลีกส์ ทั้งหมดย่อมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นำเสนอข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นธรรมให้กับประชาชนโดยทั่วไป

5.การวินิจฉัยลงโทษเรียงตามกระทงความผิด คำร้องอุทธรณ์ระบุว่า แม้ศาลชั้นต้นจะรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่การวินิจฉัยโดยลงโทษจำเลยเรียงตามกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินีหรือรัชทายาทจะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อข้อความที่ดูหมิ่น หมิ่นหมิ่นประมาทนั้นถูกเผยแพร่ออกไปยังบุคคลที่สามแล้ว และความผิดฐานจำหน่ายวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการ "จำหน่าย" สำเร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น หากจำเลยเพียงแค่ดาวน์โหลดข้อมูลมาไรท์ลงแผ่นซีดี ย่อมไม่เป็นความผิดทั้งสองฐาน ดังนั้นในคดีนี้หากแม้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องจริง ความผิดทั้งสองฐานย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คือความผิดจะสำเร็จก็ต่อเมื่อจำเลยได้ "จำหน่าย" ซีดีไปยังบุคคลที่สามแล้ว แม้ข้อหาตามคำฟ้องในคดีนี้ทั้งสองข้อหาจะมุ่งคุ้มครองคุณธรรมทางกฎหมายคนละประการ ความผิดฐานจำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตมุ่งคุ้มครองจัดระเบียบการประกอบธุรกิจ ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองพระเกียรติยศของพระราชินีและรัชทายาท แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้ คือ การ "จำหน่าย" เป็นการกระทำในทางกายภาพเพียงครั้งเดียว จึงต้องถือว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิด กรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ไม่ใช่ความผิดต่างกรรมต่างวาระตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91

ท้ายที่สุด คำอุทธรณ์ระบุว่า "จำเลยขอเรียนยืนยันว่า จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะกระทำผิดต่อกฎหมายใดๆ การกระทำของจำเลยกระทำไปในกรอบกฎหมายและกระทำไปด้วยความสุจริต มิได้มีจิตคิดร้ายหมายอาฆาตต่อสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นหัวใจที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากบรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชนและนานาอารยะประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การพิจารณาว่าการกระทำของผู้ใดมีเจตนาเป็นการ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย กับการกระทำใด เป็นการวิพากษ์วิจารณ์จึงต้องพิจารณาเป็นกรณีกรณีไป คดีนี้จำเลยได้นำเสนอข้อเท็จจริงจากสารคดีของสำนักข่าวที่มีชื่อเสียง และมีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเอกสารวิกิลีกส์ก็เป็นเอกสารที่มีความน่าเชื่อถือ แม้จะมีข้อความที่อาจดูละเอียดอ่อน หรือเถรตรงไปบ้าง แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นถ้อยความจริงอันอยู่ในกรอบของการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นจริง และเป็นธรรม ทั้งจากการตรวจค้นบ้านของจำเลยรวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นถึงพฤติการณ์ใดๆที่จำเลยจะจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยได้ให้การเป็นประโยชน์และยืนยันถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ของจำเลยตั้งแต่ต้น ขอศาลอุทธรณ์ได้ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ได้โปรดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกคำฟ้องโจทก์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมด้วย"

                                               

อ่านรายละเอียดคดี ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/68#detail

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปาฐกถาณัฐพล ใจจริง "ชีวประวัติของพลเมืองไทยฯ"

Posted: 01 Jul 2013 09:22 AM PDT

คลิปการปาฐกถา "ชีวประวัติของพลเมืองไทย : กำเนิดพัฒนาการและอุปสรรคกับภาระกิจการปกป้องประชาธิปไตย (2475 - ปัจจุบัน)" โดย อ.ดร.ณัฐพล ใจจริง เมื่อ 24 มิถุนายน 2556 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 81 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ กรุงเทพมหานคร มีการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2556 โดย ดร. ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดยหัวข้อการปาฐกถาคือ "ชีวประวัติของพลเมืองไทย : กำเนิดพัฒนาการและอุปสรรคกับภาระกิจการปกป้องประชาธิปไตย (2475 - ปัจจุบัน)"

ทั้งนี้ณัฐพลระบุว่าเป้าหมายของบทความดังกล่าว คือ บททดลองการนำเสนอประวัติศาสตร์สามัญชน เพื่อคืนตำแหน่งแห่งที่ของสามัญชน กลับสู่ประวัติศาสตร์ไทย หรือคืนบทบาทพลเมืองกลับสู่ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ด้วยการพยายามฉายภาพความเป็นมาของสถานะของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ ภายใต้การปกครองตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันว่าเป็นเช่นไร ตลอดจนให้ภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตและความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง เช่น "ไพร่" "ราษฎร" ที่ต่ำต้อย มาสู่ "พลเมือง" ผู้ทรงคุณค่าเป็นผู้มีเสรีภาพและความเสมอภาคภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการเรียกร้องให้พลเมืองมีความตระหนักในการพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่อำนวยถึงความเป็นคนให้กับสมาชิกทุกคนในชุมชนทางการเมืองเหมือนดังคำกล่าวที่ว่า "พลเมืองเท่ากับความเป็นคน"

ณัฐพล ระบุในปาฐกถาว่า ในประเทศประชาธิปไตย การเขียนถึงประวัติศาสตร์สามัญชน ผู้มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเรื่องปกติ ขณะที่ของไทยนั้นยากจะปรากฏ ทั้งมีงานเขียนประวัติศาสตร์มหาบุรุษ เข้ามาครองพื้นที่ความรู้อย่างมากในสังคมไทย โดยงานเขียนชนิดนี้ถูกคนชั้นปกครองใช้ครอบงำผู้ถูกปกครองให้จำนนและเจียมตัวให้สมฐานะแห่งตน จนอาจเกิดคำถามถึงผลกระทบของความรู้เช่นนี้ที่มีต่อความมั่นคงและความยั่งยืนของประชาธิปไตยไทย

หากความมั่นคงและยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทยตั้งอยู่บนความรู้ความเข้าใจ ความภูมิใจและการตระหนักในความสำคัญของคนทุกคนในฐานะผู้ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย ที่มีสิทธิและหน้าที่แล้วไซร้ หน้าที่ประการหนึ่งที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยทุกคนพึงมีคือการพิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น หนึ่งในหนทางในการธำรงความมั่นคงให้กับระบอบการปกครองดังกล่าว คือ การส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในที่มาแห่งตน ความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงสถานะจากความต่ำต้อยสู่เสรีภาพและความเสมอภาคของผู้คนให้กับพลเมือง หรือการเขียนประวัติศาสตร์ไทยให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยด้วย

ในวาระสำคัญแห่งการรำลึกถึง 8 ทศวรรษ 2475 และ 4 ทศวรรษ 14 ตุลาคม 2516 จึงดูเหมือนไม่มีหัวข้อใดที่เหมาะสมไปกว่าการกล่าวถึงชีวประวัติพลเมืองไทย ที่พยายามให้ภาพความเป็นมาของสามัญชนไทยผู้เคยเดินผ่านความขมขื่น ความเบิกบาน ความทุกข์ระทมที่แปรเปลี่ยนไปตามบริบทการเมืองการปกครองในแต่ละยุคสมัย

ในตอนท้ายของปาฐกถา ณัฐพลกล่าวว่า มีคำถามมากมายเกี่ยวกับอะไร คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการพลเมืองผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย อย่างการเคลื่อนไหวของพวกเสื้อแดงที่สร้างแนวอย่างร่วมกว้างขวางภายหลังการรัฐประหาร 2549 มีงานที่วิจัยศึกษาพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาเกิดสำนึกพลเมืองอย่างเข้มข้น เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย จึงต้องการต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิและศักดิ์ศรีของความเท่าเทียมทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมผ่านการเลือกตั้ง

และหากจะการถามถึงสภาพความทางการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ได้มีนักวิชาการเสนอสาเหตุไว้ 3 ประการดังนี้ ก็คือ หนึ่ง สังคมไทยได้เกิดพลังทางการเมืองใหม่ที่สนับสนุนประชาธิปไตย คือพวกเสื้อแดง ซึ่งประกอบขึ้นมาจากผู้คนที่มาจากชนบทเป็นส่วนใหญ่ สอง กลุ่มอภิชนคนชั้นสูงหรือพวกอำมาตย์ ไม่ยอมปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เคลื่อนเข้าสู่กระแสประชาธิปไตย แต่คนเหล่านี้ยังต้องการบงการระบอบการปกครองของไทยต่อไป สาม ความไม่แน่นอนทางการเมือง และปัญหาผู้สืบทอดในช่วงปัจจุบัน

เป็นเวลากว่า 80 ปี ที่สถานะความเป็นพลเมือง และสำนึกความเป็นพลเมืองได้ถือกำเนิดขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 ซึ่งได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตย และหลักการสำคัญขึ้นในประเทศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ระบอบการปกครองนี้ได้ยืนยันหลักเสรีภาพ สิทธิ และความเสมอภาคให้กับทุกคน และยกสถานะให้ทุกคนพ้นจากการเป็นคนที่ถูกปกครองมาสู่พลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศ เป็นผู้มีเสรีภาพ และสิทธิอย่างเต็มเปี่ยมในการปกครองและการกำหนดทิศทางของประเทศร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ให้ภาพมาตั้งแต่ต้น เส้นทางชีวิตของพลเมืองและระบอบประชาธิปไตยมิได้มีความราบรื่น แต่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคาม อุปสรรคนานัปการ จากกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงและกองทัพที่มักเข้ามาทำลายระบอบประชาธิปไตย และลดสถานะความสำคัญของพลเมืองลงหลายครั้ง และหลายครั้งที่ผ่านมา พลเมืองก็พ่ายแพ้ และสูญเสียชีวิต แต่ก็มีบางครั้งที่พลเมืองสามารถทัดทานอำนาจของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงได้บ้าง ถึงกระนั้นก็ดีการประลองกำลังของฝ่ายนิยมประชาธิปไตยกับอภิชนาธิปไตยในสังคมไทยยังไม่สิ้นสุดลง ดังนั้น บนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของไทยที่มีสามัญชนเป็นตัวเดินเรื่องจึงเป็นเพียงหน้าแรกๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเหล่าพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมกันในการเขียนประวัติศาสตร์สามัญภายใต้สังคมประชาธิปไตย ท่ามกลางกระแสของการประลองกำลังทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีสิ่งใดประกันความปลอดภัยให้กับสถานะพลเมืองของเราท่านได้ นอกจากเราท่านทั้งหลายจะต้องไม่ประมาท มีความตระหนักรู้เท่าทัน และสั่งสมพลังเพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยของไทยต่อไป

ดังคำกล่าวที่สำคัญของรุสโซที่ว่า "การดำรงระบอบประชาธิปไตยไม่ให้เป็นอื่นนั้น จำต้องมีพลเมืองที่ระวังระไวและเข้มแข็ง พลเมืองต้องสั่งสมพลังและความหนักแน่น เพื่อไว้ใช้เป็นอาวุธและป้องกันรักษาระบอบนี้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาก 1969 ถึง 2013: 44 ปีของสิทธิ LGBT ในสหรัฐอเมริกา

Posted: 01 Jul 2013 09:21 AM PDT

สุดสัปดาห์นี้, ลมหายใจของนิวยอร์คซิตี้กลายเป็นสีรุ้งอันหมายถึงสัญลักษณ์ของชาว LGBT และการต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 44 ปีที่แล้ว

วันที่ 28 มิถุนายน 1969 ถือเป็นหลักไมล์ประวัติศาสตร์ของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิเกย์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อตำรวจนิวยอร์คบุกเข้าค้น Stonewall Inn เพราะในช่วงทศวรรษที่ 50-60 การเป็นคนรักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องต้องห้ามเพราะในหลายรัฐยังมีกฎหมาย Sodomy ที่กำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมายและมีโทษจำคุก อีกทั้งขบวนการไล่ล่าฝ่ายซ้ายในยุค 50 นำโดยวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธีย์ก็นับรวมว่าการเป็นคนรักเพศเดียวกันนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

การบุก Stonewall ในคืนนั้นทำให้เกิดการประท้วงและจลาจลต่อเนื่องหลายวันในย่านกรีนิช วิลเลจ เนื่องจากชาวเกย์ทั้งหลายรู้สึกว่าการกระทำของตำรวจนั้นละเมิดสิทธิจนยากจะทนต่อไปได้ หลังเหตุการณ์ Stonewall ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกาตื่นตัวอย่างมาก การจัดงานครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์ Stonewall ในปี 1970 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของงาน Pride อันยิ่งใหญ่ในนิวยอร์คซิตี้

และในปี 2013, ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT ได้เฉลิมฉลองอีกหน้าประวัติศาสตร์ในสุดสัปดาห์ของงานไพรด์ เพราะเมื่อวันพุธที่ผ่านมาศาลสูงของสหรัฐอเมริกาประกาศคำตัดสินเกี่ยวข้องกับสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันสองประเด็นคือ

1) ศาลสูงสหรัฐตัดสินว่ากฎหมายรัฐบาลกลาง Defense of Marriage Act หรือ DOMA (กฎหมายคุ้มครองการแต่งงาน) ข้อ 3 ซึ่งกำหนดไว้ว่า "คำว่า 'แต่งงาน' หมายถึงการสมรสเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างชายและหญิงเท่านั้น และคำว่า 'คู่สมรส' หมายถึงบุคคลที่เป็นสามีหรือภรรยาของบุคคลที่มีเพศตรงกันข้ามเท่านั้น" การระบุเช่นนี้ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย 996 ฉบับที่คู่สมรสเพศเดียวกันได้รับ เช่นการลดหย่อนภาษี, สิทธิในการโอนย้ายสัญชาติหลังจากแต่งงาน, ประกันสุขภาพของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งครอบคลุมไปถึงคู่สมรส ฯลฯ ละเมิด Fifth Amendment ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่า "จะต้องไม่มีผู้ใด . . . สูญเสียชีวิต, เสรีภาพ, หรือทรัพย์สิน, โดยปราศจากกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย"

ผลของคำตัดสินซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในทางกฎหมายให้กับคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเกิดจากการต่อสู้ของ Edie Windsor ซึ่งยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 2010 ว่ากฎหมาย DOMA นั้นปฏิบัติต่อคู่รักเพศเดียวกันแตกต่างจากคู่รักต่างเพศโดยขาดการให้เหตุผลที่มีน้ำหนัก

Edie Windsor แต่งงานกับ Thea Spyer ในปี 2007 ที่แคนาดา และการแต่งงานของทั้งคู่ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายของรัฐนิวยอร์ค แต่เมื่อ Thea เสียชีวิตในปี 2009 และยกทรัพย์สินให้กับ Edie ซึ่งควรจะได้รับการยกเว้นภาษีในฐานะคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ Edie กลับต้องจ่ายภาษีถึง 363,053 เหรียญสหรัฐเนื่องจาก DOMA ข้อ 3 ซึ่งจำกัดความหมายของคู่ชีวิตและการสมรสไว้ว่าต้องเป็นสถานภาพและการกระทำที่เกิดขึ้นระหว่างเพศตรงข้าม

เมื่อรู้ว่าศาลสูงสหรัฐมีคำตัดสินว่า DOMA ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประโยคแรกที่ Edie พูดออกมาคือ "I wanna go to Stonewall right now!" (ฉันอยากไป Stonewall ตอนนี้เลย") และเมื่อวาน (30 มิถุนายน) Edie Windsor วัย 84 กลายเป็นผู้นำขบวนเกย์ไพรด์ในนิวยอร์คซิตี้

2) การต่อสู้เพื่อสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในมลรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีความซับซ้อนในการทำความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมระบบศาลคู่ของสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง

ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 ซึ่งบารัค โอบามาได้เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก มีการเสนอ Proposition 8 หรือญัตติหมายเลข 8 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญรัฐแคลิฟอร์เนียไปพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี (เหมือนที่ผู้มีสิทธิออกเสียงในรัฐโคโลราโดรับรองว่ากัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายในการเลือกตั้งปี 2012 ที่ผ่านมา) และ Proposition 8 หรือที่เรียกกันว่า Prop 8 ได้เสนอให้เพิ่มข้อ 7.5 เข้าไปในรัฐธรรมนูญของรัฐแคลิฟอร์เนียระบุ "การแต่งงานระหว่างชายและหญิงเท่านั้นที่จะมีผลตามกฎหมายและได้รับการรับรองในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย" ทั้งที่ก่อนหน้านี้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันนั้นได้รับการรับรองตามกฎหมายในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะในเดือนพฤษภาคม 2008 ได้มีคำตัดสินของศาลสูงสุดมลรัฐแคลิฟอร์เนียว่าการจำกัดสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันตาม Proposition 22 ซึ่งถูกเสนอในปี 2000 นั้นละเมิดรัฐธรรมนูญมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันซึ่งได้รับการรับรองตามกฎหมายในมลรัฐแคลิฟอร์เนียต้องถูกยกเลิกไป เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวตค้านคำตัดสินของศาลสูงสุดมลรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยการรับรอง Prop 8 ด้วยคะแนน 52.24% ต่อ 47.76%

คดีนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2009 เมื่อเสมียนเขตปฏิเสธใบรับรองการแต่งงานของ Kristin Perry and Sandra Stier เนื่องจากทั้งคู่เป็นผู้หญิง ในปี 2010 ผู้พิพากษา Vaughn Walker แห่งศาลชั้นต้นรัฐบาลกลาง ณ เขตเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาว่า Prop 8 ละเมิดรัฐธรรมนูญ Fourteenth Amendment ที่กล่าวว่า "ไม่มีมลรัฐใดสามารถทำให้บุคคลสูญเสียชีวิต, เสรีภาพ, หรือทรัพย์สิน, โดยปราศจากกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย หรือปฏิเสธการคุ้มครองโดยเท่าเทียมกันแห่งกฎหมายต่อบุคคลที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจกฎหมายของมลรัฐนั้น" มลรัฐแคลิฟอร์เนียไม่แม้กระทั่งต่อสู้ในศาลชั้นต้นรัฐบาลกลางเพื่อปกป้อง Prop 8 และไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่หลังจากนั้นกลุ่มผู้สนับสนุน Prop 8 ได้กลายเป็นทนายจำเลย (ซึ่งในที่นี้คือ Prop 8) ยื่นอุทธรณ์ในศาลอุทธรณ์สหรัฐมาจนถึงศาลสูงสหรัฐ

และในวันที่ 26 มิถุนายนเช่นกัน, คำตัดสินของศาลสูงสหรัฐคือ "กลุ่มผู้สนับสนุน Prop 8 ไม่มีอำนาจฟ้องภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 เมื่อมลรัฐแคลิฟอร์เนียไม่ได้เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์เพื่อปกป้องกฎหมายของมลรัฐ ทำให้คำพิพากษาแห่งศาลชั้นต้นรัฐบาลกลางถือเป็นคำพิพากษาสูงสุด" ส่งผลให้ Prop 8 ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในทันที และการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันกลับมาได้รับการรับรองตามกฎหมายอีกครั้งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่านี่เป็นคำตัดสินแบบ "หาทางลง" ของศาลสูงสหรัฐ เมื่อกฎหมายระดับมลรัฐที่มีผลบังคับใช้โดยการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งละเมิดหลักการว่าด้วยเสรีภาพและความเท่าเทียมที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ

คำตัดสินทั้งสองของศาลสูงสุดสหรัฐทำให้ Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender ทั่วสหรัฐอเมริกาได้เฉลิมฉลองทั้งครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ Stonewall และการผ่านกฎหมายที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนรักเพศเดียวกันเข้าใกล้ความเท่าเทียมเข้าไปอีกหนึ่งก้าว แม้การต่อสู้บนถนนสายกว้างและไกลนี้ยังต้องดำเนินต่อไป แต่พัฒนาการที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าสิทธิ LGBT ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในกระแสหลัก ผู้เขียนหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งแรงกระเพื่อมไปยังขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT ทั่วโลกที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิตหรือสิทธิในการแต่งงาน รวมไปถึงการผลักดันสนธิสัญญาระดับสากลเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลในการมีรสนิยมทางเพศและ/หรืออัตลักษณ์ทางเพศอันแตกต่างหลากหลายโดยที่รัฐไม่อาจเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง

หมายเหตุ นักคิดสายเควียร์อาจจะมองว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นการสยบยอมให้กับสถาบันทางสังคมแบบรักต่างเพศ แต่ถ้ามองในแง่มุมสิทธิมนุษยชน ผู้เขียนยืนยันว่าถ้าเรายังไม่สามารถรื้อโลกทั้งใบแล้วประกอบมันขึ้นมาใหม่ เราก็ต้องหาทางอยู่ร่วมกับมัน   

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กทค. โต้กรณีขยายสัมปทานคลื่น 1800 มีฐานกฎหมายรองรับชัดเจน

Posted: 01 Jul 2013 07:51 AM PDT

เศรษฐพงค์ แจงการทำงาน กสทช. โต้ข้อกล่าวหา 2 ปี เกียร์ว่าง ไม่เตรียมการประมูลคลื่น 1800 MHz ด้าน สุทธิพล ชี้ฝ่ายกฎหมายเห็นตรงกัน มาตรการเยียวยาผู้บริโภคไม่ขัดกฎหมาย 

               
ตามที่ กสทช.มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 เห็นชอบร่างประกาศ กสทช.  เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... และเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าวตามกฎหมาย และต่อมามีผู้ออกมาวิจารณ์ว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายรองรับ เป็นการขยายระยะเวลาสัมปทานจึงควรที่จะเร่งให้มีการประมูลคลื่นความถี่ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใด ในช่วงสองปี ที่ผ่านมา กสทช. จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น 

วันนี้ (1 ก.ค.56) สำนักงาน กสทช. เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม  (กทค.) ชี้แจงว่า ปัจจุบันบอร์ด กสทช.ชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ถึงสองปี ซึ่งเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก็เริ่มปฎิบัติหน้าที่ทันที แต่กฎหมายกำหนดให้ กสทช. ต้องจัดทำและประกาศใช้แผนแม่บทต่างๆ ตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป จึงได้เร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทต่างๆ ได้แก่ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม  โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จนสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555    

ขณะเดียวกัน ได้ทำคู่ขนานไปกับการเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน  2.1 GHz โดยการจัดประมูล (การประมูล 3จี) ซึ่งมีการทำงานในเชิงรุกจนสามารถออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 จัดประมูลคลื่นความถี่สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย  เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 และสามารถออกใบอนุญาต 3 จี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 รวมเวลาเตรียมการประมูล 3 จี นับตั้งแต่มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯจนถึงวันออกใบอนุญาต 3 จี เป็นเวลาประมาณ 11 เดือน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 และคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2555 โดยคณะอนุกรรมการทั้งสองชุดได้รายงานผลการพิจารณาต่อ กทค.ในช่วงต้นปี 2556 ทั้งนี้มีประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิในการใช้คลื่นเมื่อสัมปทานสิ้นสุด ซึ่งได้ส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา กสทช.ให้ความเห็น ทำให้ประเด็นข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมีความชัดเจนขึ้น
               
"การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดให้ต้องทำโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ กฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้ต้องประมูลคลื่นความถี่ทันทีที่สัมปทานหมดอายุ แต่มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า กสทช. ต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน  ดังนั้น ถ้าดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ โดยสภาพอุตสาหกรรมไม่พร้อม หรือเร่งรีบเกินไปจนเกิดความเสียหาย ก็จะทำให้ กสทช. กระทำผิดต่อหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  หากพิจารณาสภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและลำดับขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้การจัดประมูลคลื่นความถี่เกิดประสิทธิภาพแล้ว ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมชุดแรกเสนอว่าจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 10-11 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ได้ในช่วงปี 2557 โดยอาจจะมีการประมูลพร้อมกับคลื่น 900 MHz ก็ได้ จึงขอชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย"  พันเอก เศรษฐพงค์ กล่าว

ย้ำมีฐานอำนาจกฎหมายรองรับชัดเจน
ด้าน สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ด้านกฎหมาย ชี้แจงข้อวิจารณ์ที่ว่า กสทช.ไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายที่จะออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีสัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดและมีการโต้แย้งว่าการออกประกาศนี้เป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ซึ่งต้องทำโดยวิธีการประมูลว่า มีเหตุผลทางกฎหมายในทางตรงกันข้าม เนื่องจากเรื่องนี้มีความเห็นที่สอดคล้องกันทั้งในส่วนของกลุ่มงานกฎหมายโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. และคณะทำงานกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน โดยเห็นว่ามาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามร่างประกาศฯ เป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดการให้บริการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ที่จะต้องทำโดยวิธีประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และมิใช่เป็นการขยายอายุสัมปทาน เนื่องจากเมื่อสัมปทานสิ้นสุด คลื่นความถี่จะต้องตกมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เพื่อรอการจัดสรรตามกฎหมายต่อไป

สุทธิพล ระบุว่า การออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้นมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการคุ้มครองนี้กำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ให้บริการรับผู้ขอใช้บริการใหม่ รวมทั้งจะต้องเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจน คือ ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่สัมปทานสิ้นสุด ทั้งนี้ทั้งสำนักงาน กสทช.และคณะทำงานฯยืนยันว่ามีฐานอำนาจในการออกประกาศชัดเจนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 นอกจากนี้ยังเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองที่ต้องทำให้การให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบริการสาธารณะมีความต่อเนื่องของการให้บริการ

สุทธิพล กล่าวด้วยว่า  ฝ่ายที่คัดค้านการออกประกาศฯนี้ มิได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมและได้ผลในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตรงกันข้ามกลับไปเคลื่อนไหวให้รีบเร่งในการจัดการประมูล หากกสทช. ปฎิบัติตามแนวทางนี้ก็จะทำให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ ในขณะที่ปัจจัยต่างๆ ไม่พร้อม ซึ่งจะเป็นการจัดสรรคลื่นที่ขาดประสิทธิภาพ และไม่เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะทำให้ กสทช. กระทำผิดหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47  เนื่องจากทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ส่วนข้อเสนอของฝ่ายคัดค้านที่เสนอให้ปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แทนการออกประกาศนั้น ก็มีความเสี่ยงสูง แม้แต่นักวิชาการที่เสนอความเห็นในเรื่องนี้ก็มีความเห็นขัดแย้งกัน  เพราะการแก้ไขแผนแม่บทฯมีขั้นตอนตามกฎหมายที่จะต้องจัดประเมินผลและจะต้องปรับปรุงในภาพรวม หากไปแก้ไขเฉพาะบางประเด็นก็จะถูกโจมตีว่าเลือกปฎิบัติและช่วยเหลือผู้ประกอบการบางราย การออกประกาศฯเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นผู้ใช้บริการ จึงมีเหตุผลรองรับที่หนักแน่นมากกว่า

นอกจากนี้ ข้อเสนอของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ ที่ให้เร่งโอนย้ายแทนที่จะออกประกาศฯ ก็เป็นข้อเสนอที่ถูกมองว่าขาดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากแม้จะมีการเร่งโอนย้าย โดยเพิ่มขีดความสามารถในระบบโอนย้าย ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะยังมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบ  ฉะนั้นการออกประกาศฯจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หาก กสทช. ทำตามความเห็นที่ไม่ให้ออกประกาศในการเตรียมการรองรับเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งๆ ที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าจะเกิดผลกระทบ แล้วเกิดความเสียหายขึ้น บอร์ด กสทช. ก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กขช. มีมติคงราคาจำนำข้าว 15,000 บาท จนถึง 15 ก.ย.

Posted: 01 Jul 2013 07:24 AM PDT

คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติมีมติให้คงราคาจำนำข้าวที่ 1.5 หมื่นบาท/ตัน ถึง 15 ก.ย. 56 จำกัดวงเงินไม่เกินครัวละ 5 แสนบาท หลังสามสมาคมชาวนายื่นให้ทบทวนมติลดราคาจำนำข้าวเหลือ 1.2 บาท/ตัน 

 
1 ก.ค. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)  ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน มีการประมีการพิจารณาวาระสำคัญตามที่ 3 สมาคมชาวนา ซึ่งประกอบด้วย สมาคมชาวนาไทย, สมาคมส่งเสริมชาวนาไทย และสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้ กขช. ทบทวนมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ค่าความชื้น 15% จาก 15,000 บาท/ตัน เหลือ 12,000 บาท/ตัน โดยเรียกร้องให้ กขช.ทบทวนกลับไปใช้ราคารับจำนำข้าวที่ 15,000 บาท/ตัน ตามเดิม จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูกาลผลิตข้าวในรอบนี้
 
โดยกขช.มติให้กลับไปใช้เงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 (นาปรัง) ของรัฐบาลมาใช้รูปแบบเดิมที่ราคาตันละ 15,000 บาท คงราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100 เปอร์เซนต์ ที่ความชื้น 15% และข้าวชนิดอื่น ๆ กลับมาที่ราคาเดิมเช่นกัน โดยจะรับจำนำเฉพาะปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุในใบรับรองเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน ตามมติ กขช.เดิม
 
ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันสิ้นสุดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในฤดูกาลผลิตดังกล่าว พบว่ามีเกษตรกรขึ้นทะเบียนกว่า 200,000 คน มีปริมาณข้าว 2.9 ล้านตัน ถือว่าอยู่ในกรอบที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งโครงการรับจำนำดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย. 2556 ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย.2556 โดยการขึ้นทะเบียนกษตรกรเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและชัดเจนผู้ที่มีสิทธิรับจำนำอยู่ในจำนวนที่รัฐบาลสามารถดูแลโครงการรับจำนำได้ไม่เกินกรอบที่รัฐบาลกำหนดไว้ 500,000 ล้านบาท
 
ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 ที่ประชุม กขช.จะมีการพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งต่อไป โดยจะนำเสนอมติ กขช.ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 2 ก.ค.นี้
 
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า กขช.ยังมีมติให้เพิ่มช่องทางและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลช่วงครึ่งปีหลังด้วยการขายข้าวเป็นการทั่วไปให้ผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อการส่งออกยังต่างประเทศหรือจำหน่ายภายในประเทศ ทั้งข้าวหอม ข้าวเหนียวและข้าวขาว ข้าวเปลือก ในส่วนของปริมาณข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 (นาปรัง) และ ฤดูการผลิตปี 2556/2557 (นาปี) จากปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ในการเพิ่มกลุ่มประเทศส่งออกข้าวใหม่และปริมาณขายข้าวเพิ่มขึ้น ด้วยรูปแบบช่องทางเดิมการเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (G To G ) และร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกข้าวในการนำข้าวสารส่งออกให้มีความสม่ำเสมอมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกจะนำมาแปรรูปเป็นข้าวนึ่ง โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการต่อไป
 
ด้าน นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ดีใจกับการตัดสินใจของรัฐบาล ที่เห็นชอบให้รับจำนำข้าวเปลือกที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท ต่อไป จนถึงสิ้นฤดูการผลิตในเดือนก.ย. และในวันที่ 2 ก.ค.นี้ตัวแทนชาวนาจะขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้กำลังใจ กรณีที่รัฐบาลรวมถึงคณะรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง ในการช่วยเหลือชาวนา
 
"ขอยืนยันว่าชาวนาจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อไป เพราะที่ผ่านมามีแต่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ที่กล้าลงมาช่วยเหลือ  ชาวนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยไม่เกรงกลัวว่า จะถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจ้องเล่นงาน"นายวิเชียรกล่าว   
 
อย่างไรก็ตามชาวนาเข้าใจและเห็นใจการทำงานของพรรคเพื่อไทยด้วยมีหลายฝ่ายทั้งกลุ่มนายทุน และนักการเมืองที่เสียผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลและเพียรพยายามจะล้มโครงการนี้ให้ได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.ทันสมัยผุดแอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาทในมือคุณ”

Posted: 01 Jul 2013 02:49 AM PDT

สปสช.จัดทำแอพพลิเคชั่น "สิทธิ 30 บาทในมือคุณ" บนโทรศัพท์มือถือ ในระบบปฏิบัติการ iOS ใช้ได้กับมือถือสมาร์ทโฟน iPhone และ iPod เพื่อเป็นช่องทางให้บริการข้อมูลสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชน

 
สปสช.สร้างนวัตกรรมการสื่อสารจัดทำแอพพลิเคชั่น "สิทธิ 30 บาทในมือคุณ" บนโทรศัพท์มือถือ ในระบบปฏิบัติการ iOS ใช้ได้กับมือถือสมาร์ทโฟน iPhone และ iPod เพื่อเป็นช่องทางให้บริการข้อมูลสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชน และบริการสายด่วน 1330 หลังพบสถิติคนใช้บริการสมาร์ทโฟนเพื่อหาข้อมูลมากขึ้น แจงมีข้อมูล 30บาทยุคใหม่เพิ่มคุณภาพ วิธีใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท การติดต่อหน่วยงาน สปสช.ครบถ้วน การสอบถามข้อมูลสายด่วน สปสช.1330 รวมถึงรายละเอียดการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ต่างๆ
 
นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทยในปัจจุบันพบว่ามีการใช้โทรศัพท์มือถือในรูปแบบของสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาข้อมูลบริการในรูปแบบต่างๆ สปสช.จึงได้จัดทำแอพพลิเคชั่น "สิทธิ 30 บาทในมือคุณ" เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น โดยในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะให้บริการข้อมูลที่ค้นหาง่าย ทั้งเรื่องวิธีการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ การตรวจสอบสิทธิก่อนการรักษาพยาบาลด้วยตนเองอย่างง่าย สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งในเรื่องความครอบคลุมการรักษาโรคค่าใช้ข่ายสูง และกรณีอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน การลงทะเบียนกับโรงพยาบาล การติดต่อหน่วยงานสปสช. ทั้งส่วนกลางและสาขาเขต
 
"โดยมีความพิเศษตรงที่ในส่วนของเบอร์โทรศัพท์ หากผู้ใช้งานต้องการติดต่อสอบถามก็สามารถกดโทรออกจากเบอร์โทรศัพท์ได้เลย นอกจากนี้ ในส่วนของสำนักงานที่ตั้งสปสช.เขตทั้ง 13 เขต นั้น ก็จะมีตำแหน่งที่ตั้งของสำนักงานฯ ในแผนที่ไว้ด้วย รวมถึงการสอบถามข้อมูลทางสายด่วนสปสช. 1330 การบริการคำถามที่พบบ่อย (FAQ) และบริการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ต่างๆ ซึ่งตรงจุดนี้ได้ลงรายละเอียดข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ รายชื่อผู้ติดต่อของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) ทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้นด้วย"นพ.วีระวัฒน์ กล่าว
 
ด้านนพ.อิทธพร คณะเจริญ อนุกรรมการสื่อสารประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การเพิ่มช่องทางการสื่อสารดังกล่าวนั้น ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลและความรู้ในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ส่วนใหญ่ใช้ช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ในการค้นหาข้อมูลเป็นประจำ นอกจากนี้ยังเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้นในการค้นหาและเปิดรับข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
 
ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลสิทธิหลักประกันสุขภาพได้สะดวก เพียงเข้าไปดาวน์โหลดจาก Apps Store สำหรับมือถือระบบปฏิบัติการ iOS ของ APPLE ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป โดยเครื่องโทรศัพท์ที่สามารถรองรับในครั้งนี้ ได้แก่ iPhone 3G, 3Gs,4, 4S, 5 และ iPod touch โดยมีขั้นตอนดาวน์โหลดง่ายๆ เพียงพิมพ์คำว่า"สิทธิ 30 บาท", "บัตรทอง" หรือ "สปสช." ใน App Store ก็สามารถติดตั้งได้ หรือสแกนจาก QR Code ที่ปรากฎบนหน้าแรกของเว็บไซต์ สปสช. ที่ "www.nhso.go.th" โดยในเบื้องต้นมีบริการเฉพาะระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้น ส่วนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) จะอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการในระยะต่อไป ผู้สนใจบริการดังกล่าว สามารถดูขั้นตอนและรายละเอียดการดาวน์โหลดติดตั้งแอพพลิเคชั่นได้ที่ www.nhso.go.th
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25 มิ.ย. - 1 ก.ค. 2556

Posted: 01 Jul 2013 02:35 AM PDT

ครม.อนุมัติขยายความคุ้มครองประกันสังคมครอบคลุมแรงงานนอกระบบ-วัยเกษียณ

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่ง สมัครเป็นผู้ประกันตน เพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มเกษียณอายุ
 
พร้อมทั้งอนุมัติหลักการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 56 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 165 ล้านบาท เพื่อเตรียมการรองรับการดำเนินงาน และอนุมัติหลักการสนับสนุนบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พศ.2533 ทางเลือกที่ 1 ทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 ต่อเนื่องไปจนกว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจะมีผล บังคับใช้

(ประชาชาติธุรกิจ, 25-6-2556)

 

กระทรวงแรงงานจัดงาน"วันมาตรฐานแรงงานไทย" ยกระดับสู่สากล

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน จัดงาน "วันมาตรฐานแรงงานไทย ครั้งที่ 13 เรื่อง มรท.ยกระดับคุณภาพชีวิต ธุรกิจไทยเข้มแข็ง พร้อมสู่ประชาคม ASEAN" โดยนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานและกล่าวภายหลังการจัดงานว่า เพื่อให้สถานประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินการพัฒนาระบบมาตรฐานแรง งานสู่ระดับสากล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้แรงงาน อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของธุรกิจไทย และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งจากกระแส CSR (Corporate Social Responsibility) รวมทั้งหากสถานประกอบการมีมาตรฐานแรงงานก็จะทำให้สามารถส่งออกสินค้าไปขาย ได้ทั่วโลก และทำให้ไม่ถูกกีดกันทางการค้า รวมทั้งเป็นการยกระดับชีวิตผู้ใช้แรงงานอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันสถานประกอบการต่างๆ ในประเทศไทย มีความสนใจและมีแนวโน้มจะเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น
   
"ที่ผ่านมา จำนวนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนลดลง เนื่องจากเป็นการแจ้งเข้าร่วมโครงการปีต่อปี ซึ่งบางสถานประกอบการก็ได้มาตรฐานแต่ไม่ได้ยื่นต่อ กสร.หรือบางครั้งก็ยื่นไม่ทันเวลา ซึ่งปัจจุบันเรามีสถานประกอบการที่ได้รับ มรท.จำนวน 732 แห่งและตั้งเป้าจะรักษาจำนวนสถานประกอบการที่เข้าร่วมในแต่ละปีไว้ และขยายจำนวนสถานประกอบการที่เข้าร่วม มรท.ให้เพิ่มขึ้น"   นายอนุสรณ์กล่าว และว่า โดยจะเพิ่มการรณรงค์ และวางแผนจัดทำเว็บไซต์รวบรวมรายชื่อ รายละเอียดของสถานประกอบการที่เข้าร่วมและได้ มรท.จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ต่างประเทศทราบ ซึ่งในอนาคต อาจใช้ มรท.เป็นมาตรฐานในการคัดเลือกภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมงานกับภาครัฐในอนาคต
   
นอกจากนี้ ภายในงานมีการมอบรางวัลพร้อมใบประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วม มรท.ต่อเนื่อง 9 ปี และมอบใบประกาศเกียรติคุณ มรท.8001-2553 แก่สถานประกอบการที่เข้าร่วม

(มติชนออนไลน์, 26-6-2556)

 

สธ.ดึงใช้โซเชียลมีเดีย แก้ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น-แรงงานหญิง

26 มิ.ย. 56 - คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติเตรียมใช้โซเชียลมีเดียแก้ ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น-วัยแรงงาน มีบริการถามตอบปัญหาทางอินเทอร์เน็ต เพิ่มคลินิกบริการรูปแบบใหม่ทันสมัย ให้บริการเป็นกันเองครบครันทั้งความรู้ เสริมสวย อินเทอร์เน็ต ให้คณะอนุกรรมการจัดทำร่างแผนปฏิบัติให้เสร็จภายใน 60 วัน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ แห่งชาติครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 ว่า ที่ประชุมวันนี้ได้หารือ 2 ประเด็นหลักคือ 1.อัตราการเกิดของคนไทยน้อยลง และ2.ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยที่ประชุมให้ความสำคัญ ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอยู่อันดับ 1 และมอบให้คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขตามกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม 1.เยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา 2.ผู้หญิงที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาที่พบขณะนี้มี 3 เรื่อง ประการแรกได้แก่ ทัศนคติประชาชนยังมองว่าการคุมกำเนิดเป็นการส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ 2.การเข้าถึงบริการบริการคุมกำเนิดของวัยรุ่นยังไม่ดี และ3.วัยรุ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิด

การแก้ปัญหาดังกล่าวจะเน้น 3 กลยุทธ์หลัก 1.ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้แยกเป็นรายกลุ่ม โดยในกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา ให้ความรู้เรื่องผลเสียการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ไม่พร้อม 2.การใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ใหม่ ช่วยให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการได้ทุกเรื่องโดยใช้อินทอร์เน็ตเข้ามาให้คำ ปรึกษา ไม่ต้องเผชิญหน้าใคร มีความส่วนตัว 3.ขยายคลินิกบริการวัยรุ่นและสตรีวัยแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยสถานบริการอยู่นอก รพ.และอาจตั้งชื่อแบบเก๋โดนใจวัยรุ่น แทนการเปิดบริการแบบเดิม และให้บริการหลากหลาย เช่น มีอินเทอร์เน็ต มีบริการเสริมสวย มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาทุกเรื่องแบบกันเอง รวมทั้งดึงวัยรุ่นและกลุ่มสตรีที่ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการจัดบริการให้ตรงปัญหาและความต้องการแท้จริง ทั้งหมดนี้ที่ประชุมมอบให้คณะอนุกรรมการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จ ภายใน 60 วัน และนำเสนอในที่ประชุมครั้งต่อ ไป                                               

สำหรับแหล่งงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการเบื้องต้นจะมาจาก 2 แหล่ง งบจาก สปสช.ในหมวดของการส่งเสริมสุขภาพ และ สสส.ด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ และสร้างความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิดในเยาวชน ทั้งนี้ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติจำนวน 3 ชุด 1.ชุดคณะอนุกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ จำนวน 32 คน มีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน 2.ชุดคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียบและกฎหมายด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ มีทั้งหมด 27 คน มีนายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล เป็นประธาน 3.ชุดคณะอนุกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ระดับจังหวัด และของ กทม. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่า กทม.เป็นประธาน

(สำนักข่าวไทย, 26-6-2556)

 

เฉลิม ไม่น้อยใจนายกฯ เด้งคุมแรงงาน เชื่อปรับครม.ตามเหมาะสม ปัดคุยทักษิณ

27 มิ.ย. 56 - ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวให้สัมภาษณ์โดยไม่ขอแสดงความเห็นกรณีการปรับคณะรัฐมนตรีที่มีกระแสว่า จะย้ายตนเองไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพราะต้องรอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯก่อน ทั้งนี้เห็นว่าหากมีการโยกย้ายจริงก็เชื่อว่านายกฯได้พิจารณาอย่างรอบคอบ แล้ว โดยตนเองไม่ยึดติดกับตำแหน่งและสามารถไปทำงานได้ทุกที่ อย่างไรก็ตามไม่กล้าฝากงานเรื่องการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ เพราะต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แก้ยาก ซึ่งเห็นว่าการพูดคุยกับกลุ่ม BRN นั้นจะต้องมีการรายงานต่อนายกฯก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลให้สื่อมวลชน ทั้งนี้ตนเองจะไม่เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ในวันเสาร์-อาทิตย์ นี้้ เนื่องจากในวันนี้นายกฯได้ยกเลิกการประชุมความมั่นคงออกไป

อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการพูดคุยกับพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รมว. ยุติธรรม ที่มีกระแสข่าวว่าจะมาดำรงตำแหน่งแทนตนเอง และไม่มีการพูดคุยกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว. แรงงาน พร้อมกันนี้ยังปฎิเสธว่าไม่ได้มีการโทรศัพท์พูดคุยกับ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ถึงเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ ยืนยันจะยังต้องพาพันตำรวจโททักษิณกลับประเทศไทยตามที่เคยตั้งใจไว้ และเชื่อว่าหากโดนปรับออกจากตำแหน่งรองนายกฯจริงก็ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ตน เองพูดถึง 3 กลุ่มทุนที่จะล้มรัฐบาล และเชื่อว่าไม่ได้มาจากความขัดแย้งภายในพรรคเพราะตนเองก็ยังมีความนิยมจากคน ในพรรคอยู่

อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ. เฉลิม เห็นว่า หากมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ตามที่มีโผออกมาจากสื่อมวลชนนั้นก็เห็นว่ามี ความเหมาะสม ถึงแม้จะปรับท่ามกลางปัญหาที่ยังรุมเร้ารัฐบาล และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ ซึ่งหลังจากนี้หากมีการปรับ ครม. แล้วจะเชิญสื่อมวลชนมาฟังการวิเคราะห์ทางการเมืองของตนเองด้วย

(มติชนออนไลน์, 27-6-2556)

 

ขสมก.ให้พนักงานทำ OT รับมือการเดินทางช่วงเวลาเร่งด่วน

นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขสมก. ได้มีการเจรจากับพนักงานรัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงาน ขสมก. รวมถึงพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถทุกคน ให้ความร่วมมือปฏิบัติงานล่วงเวลางานในช่วงเวลาเร่งด่วนของช่วงเช้าและเย็น เพื่อให้มีรถวิ่งบริการเพียงพอกับจำนวนประชาชนที่ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวต่อว่า ด้านการสำรวจปัญหาการเดินรถในเส้นทางต่างๆ นั้น ได้มอบหมายให้สายตรวจ ขสมก.จัดรถสายตรวจ ออกตรวจถนนสายหลัก เพื่อให้ทราบถึงปัญหา และนำปัญหาที่พบมาหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-6-2556)

 

"เผดิมชัย" ขอบคุณ ขรก.ฝากงานให้ รมว.แรงงานคนใหม่สานต่อเรื่องค้ามนุษย์

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 1 กรกฎาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเข้ามายังกระทรวงฯเพื่ออำลาตำแหน่ง โดยมีนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานพร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่คอยให้การต้อนรับ โดยนายสมเกียรติได้กล่าวขอบคุณนายเผดิมชัยในการทุ่มเททำงานเพื่อกระทรวงแรง งานและเพื่อผู้ใช้แรงงานมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี
   
นายเผดิมชัยกล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯในระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าเป็นกระทรวงฯที่มีความรับผิดชอบ ทว่าการทำงานและจัดการในเรื่องเกี่ยวกับคนจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงที่ถูกกล่าวหาว่ามีการคอร์รัปชั่นสูง ซึ่งทุกวันนี้ก็มีความพยายามในการแก้ปัญหาเป็นอย่างมาก
   
"ที่ผ่านมามีแรงงานต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมากและวันนี้เรากำลังดำเนิน งานอย่างถูกกฎหมาย อาจจะยังไม่สำเร็จเรียบร้อยแต่ก็ได้เริ่มดำเนินงานไปแล้ว" นายเผดิมชัยกล่าว และว่า อยากฝากให้หน่วยงานทุกหน่วยของกระทรวงแรงงานร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน อย่าคิดแยกส่วนกัน แต่ขอให้คิดว่าเราทำเพื่อประเทศไทยเหมือนกัน และอยากให้แรงงานมีความมั่นใจในกระทรวงแรงงานว่าจะเป็นที่พึ่งให้กับพวกเขา ได้ รวมทั้งอยากฝากให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่สานต่องาน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์และเรื่องการผลักดันให้รัฐบาลรับรอง อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98
    
นายเผดิมชัยกล่าวต่อไปว่า ร.ต.อ.เฉลิมได้โทรศัพท์มาหาตน 2-3 ครั้ง เพื่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ ของกระทรวงแรงงานว่ามีหน่วยงานเท่าใด ทำหน้าที่ด้านใดบ้าง เป็นรายละเอียดทั่วๆ ไปของกระทรวง
   
จากนั้นผู้บริหารกระทรวงแรงงานรวมทั้งข้าราชการได้มอบดอกกุหลาบ นายเผดิมชัยได้ไปสักการะพระพุทธชินราชจำลองด้านหน้ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จากนั้นเข้าสักการะศาลพระภูมิชัยมงคลและศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน      

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานถึงกำหนดการเข้าทำงานที่กระทรวง โดย ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ยังไม่มีกำหนดเดินทางเข้าทำงานที่กระทรวงฯแต่อย่างใด เพราะในวันพรุ่งนี้ (2 ก.ค.) มีกำหนดเดินทางไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าตามที่แพทย์นัด ส่วนเรื่องนโยบายขอศึกษาข้อมูลรายละเอียดก่อน

(มติชนออนไลน์, 1-7-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมใหญ่นปช.เลือก 'จตุพร' เป็นประธานใหม่ แต่เจ้าตัวขอเคลียร์คดีค้าง-ให้ธิดารักษาการไปก่อน

Posted: 01 Jul 2013 02:33 AM PDT

เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า วันนี้ (1 ก.ค.) นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่ม นปช.เปิดเผยว่า วันที่ 29-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมใหญ่แกนนำ นปช.ทั้งหมดจากทั่วประเทศ ซึ่งเข้าพร้อมเพรียงทั้งนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.ที่เค รีสอร์ท ย่านรามอินทรา โดยมีมติเห็นชอบให้นายจตุพรขึ้นมาทำหน้าที่ประธาน นปช. เนื่องจากประเมินว่า 2-3 เดือนข้างหน้าสถานการณ์การเมืองจะวิกฤตแน่นอน เพราะขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เคลื่อนไหวระดมคนในภาคใต้ขึ้นมาต่อสู้แล้ว ประกอบกลุ่มหน้ากากขาวก็เริ่มมีการขยายตัวและเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ หรือกรณีใช้องค์กรอิสระล้มรัฐบาล อย่างล่าสุดใช้เงื่อนไขโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ดังนั้นต้องเอาคนที่แข็งแกร่งขึ้นมานำทัพต่อสู้ ซึ่งนางธิดาก็ไม่ขัดข้อง
 
อย่างไรก็ตาม นายจตุพรชี้ว่ายังไม่รับตำแหน่งดังกล่าว โดยกล่าวกับประชาไทว่า ได้กล่าวกับที่ประชุมว่าขอเวลาในการสะสางภาระส่วนตัวซักช่วงหนึ่งแล้วจึงจะเข้ามารับภาระหน้าที่นี้ต่อจาก อ.ธิดา และกล่าวอีกว่าในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมกรรมการนปช.ต่อ และจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 3 ก.ค. ที่จะถึงนี้
 
นายวรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุม นปช.มีมติจะต่อสู้รักษา ปกป้องประชาธิปไตยและประชาชนอย่างเต็มที่ โดยจะเดินหน้ารักษาผลประโยชน์ประชาชนที่เกิดความสูญเสีย มีคดีความจากการต่อสู้ทางการเมืองให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและการให้เงินเยียวยาจากรัฐบาล พร้อมกันนี้จะสนับสนุนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกรณีเสนอแก้ไขรายมาตราที่ยังไม่ได้มติวาระ 2 และ 3 หรือกรณีแก้ไขทั้งฉบับตาม มาตรา 291 ที่ยังค้างลงมติวาระ 3 ไม่ว่าฉบับใดถูกนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาก่อนเราก็สนับสนุนเต็มที่ โดย นปช.จะเดินสายพบปะประชาชนทั่วประเทศเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้
 
"ส่วนการปรับ ครม.ที่ไม่มีชื่อนายจตุพร เป็นรัฐมนตรี แกนนำ นปช.ไม่ได้พูดถึง เรายอมรับอำนาจการตัดสินใจของนายกฯ และการประชุมแกนนำ นปช.นัดหมายก่อนปรับ ครม.นานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งนัดเมื่อนายจตุพรไม่ได้ตำแหน่ง แต่การปรับ ครม.ครั้งนี้มีประชาชนจำนวนมากสะท้อนผ่านผู้แทนฯ ว่าดูเหมือนรัฐบาลถอยทางการเมืองหรือไม่ เพราะเอาคนอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ออกจากรองนายกฯ ไปนั่งรมว.แรงงาน หรือคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่จะตอบโต้หรือชี้แจงแทนนายกฯ เหมือนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี อย่างคุณจาตุรนต์ ผมว่าสามารถให้ควบตำแหน่งรองนายกฯ เพื่อคอยชี้แจง ตอบโต้ทางการเมืองด้วยได้ แต่เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ต่อไปการต่อสู้ทางสภาฯ ของฝ่ายรัฐบาลต้องถอยแน่นอน ขณะที่เกมในสภาของพรรคประชาธิปัตย์รอบจัด เขี้ยวลากพื้น" นายวรชัย กล่าว
 
นายวรชัย ยังกล่าวถึงแรงกระเพื่อมภายในพรรคเพื่อไทย หลังปรับ ครม.ว่า จะไม่กลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรค เพราะเมื่อปรับแล้วรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่ผู้ใหญ่ในพรรคควรจะเข้ามารับฟังเสียงสะท้อนของส.ส.และชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง ถึงเหตุผลในการปรับ ครม.และการจัดวางตัวบุคคลเป็นรัฐมนตรี เพราะการปรับ ครม.เกิดขึ้นโดยไม่มีใครรู้ตัว จึงอาจทำให้มีความไม่เข้าใจอยู่บ้าง เพราะไม่ได้พูดคุยกันมาก่อน และส.ส.ก็มาจากประชาชนหลังฟังคำชี้แจงแล้วจะได้กลับไปตอบคำถามประชาชนในพื้นที่ได้.
 
นายสลักธรรม โตจิราการ บุตรชายของธิดา ฐาวรเศรษฐ ได้โพสต์ทางเฟซบุ๊กส่วนตัวราวเวลา 16.00 น. ของวันนี้ว่า ในที่ประชุมนปช. ครั้งล่าสุด ธิดาเห็นว่าน่าจะมอบตำแหน่งประธานนปช.ให้แก่ผู้อื่น เนื่องจากได้ปฏิบัติงานมากว่าสองปีแล้ว ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบมอบตำแหน่งประธานให้แก่นายจตุพร อย่างไรก็ตาม เขาเกรงว่าตนเองยังมีคดีและเรื่องราวที่คั่งค้างอยู่ อาจถึงขั้นต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกรอบ ซึ่งเป็นอุปสรรคการดำรงตำแหน่งประธาน นปช. และการขับเคลื่อนการต่อสู้ จึงขอให้ธิดาเป็นประธานรักษาการไปก่อน 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยากจนและเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่สาเหตุความขัดแย้งเหลือง-แดง

Posted: 01 Jul 2013 01:15 AM PDT

หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคมอำมหิต 2553 ใหม่ๆ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสองชุด ชุดแรกชื่อว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ โดยมีอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ส่วนชุดที่สองคือ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน รัฐบาลหวังว่ากรรมการทั้งสองชุดจะผลิตข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ของสังคมไทย ในการแถลงข่าวเปิดตัวคณะกรรมการทั้งสองชุดที่บ้านพิษณุโลก เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2553 นั้น นายอานันท์กล่าวว่า คณะกรรมการทั้งสองชุดมีอำนาจหน้าที่ "ในการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ และกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูป จัดทำข้อยุติและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปเสนอต่อสาธารณชนและภาครัฐ...ที่มุ่งไปสู่ [การลด]ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เสริมสร้างสมรรถนะ และพลังปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข มีศักดิ์ศรี มีความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ สันติสุข" 


กล่าวในอีกทางหนึ่ง ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และกรรมการทั้งสองชุดมีสมมติฐานร่วมกันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงนั้น มีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สังคมไทยในปัจจุบันนั้นจะยังคงเชื่อถือในสมมติฐานดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากเรื่องราวและผลงานของกรรมการทั้งสองชุดไม่ได้รับการถกเถียงทางสาธารณะ 

ข้อมูลการสำรวจของ อาจารย์วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานวิจัยเรื่องเหลือง-แดงร่วมกับผู้เขียน ชี้ว่าการที่คนเสื้อแดงมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าเสื้อเหลืองนั้น ไม่ได้หมายความว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุที่จุดปะทุของความขัดแย้งทางการเมือง เรากลับพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง และผู้เป็นกลาง มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันหมด คือค่อนข้างเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 

กล่าวในรายละเอียดเรื่องความยากจนนั้น แม้กลุ่มเสื้อแดงมีแนวโน้มฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำกว่าเสื้อเหลือง แต่กลุ่มเสื้อแดงทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่ตอบแบบสอบถามกลับไม่ใช่กลุ่มที่เป็น กลุ่มจนที่สุด เนื่องจากกลุ่มที่เราไม่สามารถจำแนกได้ว่าเข้าข่ายสีใดทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่ไม่มีความสนใจทางการเมืองเลยก็ได้ กลับเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มรายได้ต่ำกว่าทุกกลุ่มสีทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ดังนั้น เราจึงไม่อาจสรุปได้ว่าความยากจนเป็นสาเหตุของความเป็นเสื้อแดง 

ผู้วิจัยพบอีกว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร (51.5%) เห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ห่างมากแต่ยังพอรับได้" ส่วนผู้เห็นว่า "ห่างมากจนรับไม่ได้" มีเพียง 27.85% เท่านั้น ในหมู่คนกลุ่มนี้กลับปรากฏว่า คนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มจะเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ห่างมากจนรับไม่ได้" มากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคนเสื้อแดง 

ในทางตรงข้าม ผู้ที่ถูกเราจัดเป็นสีแดงแบบที่หนึ่ง ซึ่งเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ไม่ห่างมาก กำลังพอดี" กลับมีมากกว่าสีอื่นๆ ทั้งหมด 

ข้อมูลข้างต้นถูกยืนยันอีกชั้นหนึ่งเมื่อใช้วิธีการทางสถิติเพื่อตรวจสอบว่า มีความแตกต่างของทัศนคติต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มแดงและกลุ่มเหลืองอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ วรรณวิภางค์พบว่าในเขตต่างจังหวัดนั้น มีเฉพาะกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายสีใดทางการเมือง, กลุ่มเป็นกลาง, และกลุ่มเหลืองเฉดหนึ่งเท่านั้น ที่มีแนวโน้มจะเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ห่างมากจนรับไม่ได้" มากกว่ากลุ่มเสื้อแดง ส่วนในเขต กทม.ผลปรากฏว่าทุกกลุ่มเฉดสีทางการเมือง (ยกเว้นกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายสีใด) มีแนวโน้มจะเห็นว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้น "ห่างมากจนรับไม่ได้" มากกว่ากลุ่มเสื้อแดงเฉดหนึ่ง ดังนั้น ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่สาเหตุที่ลั่นไกความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสี เนื่องจากความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาจนรับไม่ได้จากส่วนใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดง ตรงข้าม ประเด็นนี้กลับถูกให้ความสำคัญมากกว่าจากกลุ่มเหลืองทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ 

สมควรกล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาของวรรณวิภางค์ข้างต้น สอดรับกับข้อมูลที่ได้จากการสนทนากลุ่มของทีมวิจัย ซึ่งไม่พบเลยว่ามีผู้ใดเริ่มต้นพัฒนาความเป็นคนเสื้อแดงจากฐานปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดงประเภท "ชาวบ้าน" หรือที่ทีมวิจัยจัดให้เป็นกลุ่ม "ชนชั้นกลางระดับล่าง" นั้นพัฒนาความเป็นแดงขึ้นมาจากการเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบาย "ประชานิยม" หรือนโยบายอื่น รวมทั้งความคล่องตัวทางเศรษฐกิจในยุครัฐบาลทักษิณ 

อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ถกเถียงว่า การที่คนเสื้อแดงเริ่มต้นความเป็นแดงจากการได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายประชานิยมนั้น ก็ย่อมส่อนัยว่า ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำนั้นน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง ในประเด็นนี้เราเห็นว่า ความยากจน ความเหลื่อมล้ำอย่างมากที่สุดก็เป็นเพียงปัจจัยที่จำเป็นแต่ไม่ใช่ปัจจัยเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ 

หากว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นทั้งปัจจัยจำเป็นและเพียงพอแล้ว สิ่งนี้ย่อมอธิบายไม่ได้ว่าทำไมความขัดแย้งทางการเมืองจึงเพิ่งมาปะทุขึ้นหลัง 2549 เป็นต้นมา ทั้งๆ ที่ปมปัญหานี้ดำรงอยู่ในสังคมมานานหลายสิบปีแล้ว 

หากผลการวิจัยของพวกเราสามารถสะท้อนความเป็นจริงได้โดยไม่คลาดเคลื่อนมากนักแล้ว ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ความพยายาม การลงแรง รวมทั้งงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์อนุมัติให้กรรมการทั้งสองชุด เพื่อเสนอมาตรการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ โดยหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีได้นั้น เป็นการลงทุนและลงแรงที่สูญเปล่า เนื่องจากเริ่มต้นการทำงานด้วยข้อสมมติฐานที่ผิดพลาดเสียแต่ต้นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (และความยากจน) เป็นที่มาของความขัดแย้งเสื้อสี โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า ผู้เขียนเห็นว่าระดับความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในปัจจุบันนั้น ไม่เป็นปัญหาหรือไม่มีผลเสียมากมายอะไร ตรงข้ามผู้เขียนเห็นว่าระดับความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจของเรานั้นเป็นปัญหาใหญ่ 

ผู้เขียนเพียงแต่อยากชี้ว่า ต่อให้เราสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้แล้ว ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีมากๆๆ ก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป
 

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟังข้อเสนอจากเวที ‘ทำไมรัฐต้องหยุดเข้าหาชาวบ้านในเดือนรอมฎอน’

Posted: 30 Jun 2013 11:46 PM PDT

ศอ.บต.เปิดเวทีฟังความเห็นยุติความรุนแรงในรอมฎอน ตำรวจตากใบเห็นด้วยให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการ แต่ต้องมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา รองแม่ทัพ 4 ย้ำทำหน้าที่ปกติเพื่อรักษาความปลอดภัยประชาชน พล.ท.ภราดร ชี้ผลประชุมยืนยันชัดประชาชนต้องการความสงบสุข

 
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2556 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ศอ.บต.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสร้างสันติสุขและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอน โดยมีพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และภาคประชาชนประมาณ 300 คน
 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. การประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ขบวนการบีอาร์เอ็นได้แถลงเงื่อนไข 7 ข้อ ที่เกี่ยวกับการหยุดการใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฏอน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมในเดือนรอมฎอน จึงขอให้ผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้ให้ขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
 
นายซาฟีอี เจาะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในเดือนรอมฎอนปีนี้เจ้าหน้าที่รัฐจะไปร่วมละศีลอดกับประชาชนในพื้นที่ได้ แต่ต้องได้รับการเชิญจากผู้นำศาสนา ในพื้นที่ก่อน
 
นายซาฟีอี กล่าวอีกว่า หากเป็นไปได้ ไม่อยากให้จัดละศีลอดที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะจะทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมบางส่วนไม่สามารถประกอบศาสนกิจในช่วงกลางคืนได้ไม่ทัน เพราะที่ผ่านมามีการเชิญผู้นำศาสนาจากทั่วจังหวัดมาร่วม ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทาง หากจะจัดขอให้จัดละศีลอดในช่วงเดือนเชาวัล (เดือนที่ 10 ของปฏิทินอิสลาม) เนื่องจากไม่มีศาสนกิจที่ต้องปฏิบัติในช่วงกลางคืน
 
"ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดกิจกรรมหรือจัดประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ ในช่วงเดือนรอมฎอนเพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถที่ประกอบศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอนอย่างเต็มที่" นายซาฟีอี กล่าว
 
นายเซ็ง ใบหมัด กรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หากรัฐจะจัดละศีลอดก็ควรให้งบประมาณแก่ผู้นำศาสนาในพื้นที่ไปจัดกันเองดีกว่า
 
พ.ต.อ.ประยงค์ โคตรสาขา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างสงบสุข ยกเว้นในกรณีจำเป็นที่ต้องปฏิบัติการ แต่ต้องมีคำสั่งที่เป็นทางการจากหน่วยระดับสูง
 
พล.ต.กิตติ อินทสร รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ในช่วงของรอมฎอนปีนี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติเพื่อรักษาปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่
 
พล.ต.กิตติ กล่าวว่า สำหรับคนที่มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ป.วิอาญา)หรือหมายจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548(พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 48) สามารถมาพบเจ้าหน้าที่รัฐได้ทุกหน่วยในพื้นที่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการช่วยเหลือภายใต้กฎหมาย และอยากให้คนเหล่านี้กลับมาอาศัยอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขในเดือนรอมฎอนนี้
 
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ในช่วงของเดือนรอมฎอนนี้ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐไปเยี่ยมหรือพบปะคนที่เป็นอดีตผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ผู้ที่อยู่ในบัญชีดำและผู้ที่เคยมีหมายหมายจับหรือหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในช่วงเดือนรอมฎอน
 
"ขอวิงวอนต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงทั้งหลายว่า ไม่อยากให้ยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น แต่อยากให้ยุติความรุนแรงอย่างถาวร"นางสาวพรเพ็ญ กล่าว
 
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การเดินทางมารับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนในวันนี้ ทำให้ทราบว่าทุกคนต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงของเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ เป็นความต้องการของภาคประชาชนเอง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล 'ลับ' สหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสอดแนมประชาชน

Posted: 30 Jun 2013 09:08 PM PDT

อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสืบราชการลับต่างประเทศ (Foreign Intelligence Surveillance Court) ได้กล่าวแสดงความไม่พอใจในเรื่องความน่าเชื่อถือของรายงานเปิดโปงซึ่งกล่าวหาว่าศาลร่วมมือกับฝ่ายบริหารสอดแนมข้อมูลประชาชน


เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2013 เว็บไซต์วอชิงตันโพสท์กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกผู้พิพากษาของสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจจากการที่ตนถูกหาว่ามีบทบาทเป็นศาลพิเศษที่ขออนุญาตให้มีโครงการสอดแนมลับๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยพวกเขาแสดงความไม่พอใจในจุดที่ว่าฝ่ายตุลาการของพวกเขาได้ร่วมมือกับฝ่ายบริหาร

หลังจากที่มีการเปิดโปงรายงานลับฉบับร่างปี 2009 ของสภาความมั่งคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) ที่มีการกล่าวถึงการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้พิพากษาและองค์กร NSA ในการขออนุญาตเปิดโครงการสอดแนมที่มาจากความริเริ่มของรัฐบาลขอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช

คอลลีน โคลลาร์-โคเทลลี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของสหรัฐฯ อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสืบราชการลับต่างประเทศ (Foreign Intelligence Surveillance Court) ได้กล่าวแสดงความไม่พอใจในเรื่องความน่าเชื่อถือของรายงานและการที่ศาลไม่สามารถอธิบายการตัดสินใจของพวกเขาได้

ตามความเห็นของโคลลาร์-โคเทลลี แล้ว ร่างรายงานดังกล่าวมีการละเลยในส่วนสำคัญและมีความผิดพลาดในบางจุด โดยเฉพาะเรื่องท่าทีของตัวเขาในฐานะผู้พิพากษาของ FISC และการปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร

ร่างรายงานลับดังกล่าวเป็นหนึ่งในเอกสารที่เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน อดีตคนทำงานร่วมกับ NSA นำมาเผยแพร่ จนทำให้เกิดการถกเถียงกันขึ้นในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวและเรื่องความมั่นคง โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่าศาลสืบราชการลับฯ ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการตั้งโครงการสอดแนมเพื่อเก็บข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งโครงการนี้ถูกตั้งโดยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็น ปธน.สมัยนั้น โดยที่ไม่มีมติรับรองจากรัฐสภาหรือจากศาล และต่อมาในปี 2004 โครงการนี้ก็ถูกยุบหลังจากที่คนในกระทรวงยุติธรรมต่อต้านและขู่ว่าจะลาออกเพราะคิดว่าโครงการนี้ขัดต่อกฏหมาย

ในรายงานระบุว่ามี "การให้ความร่วมมือ" ระหว่างศาล, NSA และกระทรวงยุติธรรมที่กล่าวถึงในเอกสารหมายถึงการพยายามตั้งเจ้าหน้าที่ภายใต้กฏหมายสืบราชการลับต่างประเทศปี 1978 (Foreign Intelligence Surveillance Act) ซึ่งเป็นกฏหมายที่ตั้งขึ้นมาแทนกฏหมายปี 1960s-1970s ที่ถูกนำมาใช้อย่างผิดๆ ซึ่งโคลเทลลีปฏิเสธว่ามันเป็นกระบวนการ "วินิจฉัย" ไม่ใช่การ "ให้ความร่วมมือ"

Washington Post ระบุว่าศาลสหรัฐฯ ทำงานใกล้ชิดกับระฐบาลมากเกินไปทำให้เกิดการพิจารณาแบบ "ฝ่ายเดียว" หมายความว่าศาลไม่ได้ทำหน้าที่แบบศาลโดยทั่วไปคือการมีคู่พิพาททางกฏหมายแล้วศาลเป็นตัวกลางในการคัดสิน แต่กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ทำคดีให้กับองค์กรของรัฐที่ต้องการใบอนุญาตในการสอดแนมประชาชนในสหรัฐฯ โดยไม่มีใครเป็นผู้ว่าความให้ฝ่ายผู้ถูกสอดแนมหรือบริษัทที่ถูกสั่งให้วางเครือข่ายสำหรับการสอดแนมข้อมูลลูกค้าของตน

โคเทลลีไม่ต้องการแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไปมากกว่านี้โดยอ้างว่ามีบางเรื่องในร่างรายงานเป็นเรื่องที่ควรปิดเป็นความลับ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ปฏิเสธจะแสดงความเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน ทำให้เรื่องที่ศาลอนุญาตให้มีโครงการสอดแนมยังคงมีความคุลมเครือ

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับศาลกล่าวว่า ศาลเป็นองค์กรกลางที่ไม่มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้รับใช้รัฐบาล แต่ข้อมูลที่ถูกเปิดโปงออกมาทำให้ประชาชนสงสัยว่าเหตุใดศาลถึงสนับสนุนโครงการนี้

Washington Post เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ศาลสหรัฐฯ ก็เคยให้อนุญาตการดักฟังโทรศัพท์และการสอดส่องความเคลื่อนไหวของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากร และหลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายวันที่ 11 ก.ย. 2001 ก้มีโครงการขยายการเก็บข้อมูลอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์โดยอำนาจของประธานาธิบดี ซึ่งปราศจากมติจากสภาหรือการรับรองจากศาลสืบราชการลับ

รายงานดังกล่าวระบุว่าเมื่อเดือน พ.ค. 2004 NSA ได้กล่าวสรุปเรื่องโครงการให้โคลลาร์-โคเทลลี ฟัง นอกจากนี้โคเทลลียังได้เข้าพบกับผู้อำนวยการของ NSA พลโท ไมเคิล วึ. เฮย์เดน ในช่วงฤดูร้อนของปี 2004 เพื่อหารือในประเด็นเดียวกัน

เฮย์เดนให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาทำงานกันอย่างมืออาชีพ พวกเขาพยายามอธิบายกับโคเทลลีว่าพวกเขาทำอะไรและต้องการทำอะไรบ้าง มีช่องว่างตรงไหนต้องอุดบ้าง และให้โคเทลลีเป็นผู้ตัดสินตามแต่ความเหมาะสมเพื่อให้มีความสมดุลระหว่างเรื่องความมั่นคงและเสรีภาพ

เฮย์เดน ปฏิเสธอีกว่าโคเทลลีไม่ได้ทำงานร่วมกับพวกเขา พวกเขาแค่นำเสนอสิ่งที่คิดว่าเหมาะสมและตอบสนองข้อกังวลของโตเทลลี และมีการปรับเปลี่ยนในเชิงเทคนิคเพื่อลดจำนวนเป้าหมายของข้อมูลการสื่อสารของประชาชนสหรัฐฯ

ในวันที่ 14 ก.ค. 2004 ศาลสืบราชการลับได้อนุมัติให้ NSA สามารถเก็ข้อมูลได้เป็นครั้งแรกภายใต้ขอกำหนดของกฏหมายการสืบราชการลับที่เรียกว่า "ระบบการตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ ทั้งเข้าและออก" (PRTT) ทำให้มีการสร้างสิ่งที่เป็นเหมือนตู้นิรภัยดิจิตอลสำหรับเก็บ "นิยามข้อมูล" หรือข้อมูลที่มีกล่าวถึงรายละเอียดของข้อมูลเช่น ผู้รับผู้ส่งข้อมูลเป็นใคร

ในวันที่ 24 พ.ค. 2006 โคเทลลีก็ได้เซ็นลงนามคำสั่งอนุญาตให้มีการเก็บนิยามข้อมูลจากบริษัทโทรศัพท์ของสหรัฐฯ ภายใต้จ้อกำหนดมาตรา 215 ของกฏหมายการสืบราชการลับ

โดยภายใต้ขอกำหนด PRTT กระทรวงยุติธรรมและ NSA มีหน้าที่ "ร่วมกันออกแบบโปรแกรมใช้งาน เตรียมการประกาศ และตอบสนองต่อคำถามจากที่ปรึกษาจากศาล"

ในปี 2007 ศาลยังได้ตกลงอนุญาตให้รัฐบาลเก็บข้อมูลเนื้อหาอีเมลล์และโทรศัพท์ที่เข้าสู่และออกจากสหรัฐฯ เมื่อมีความเป็นไปได้ว่าผู้ติดต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นสมาชิกของ อัล-เคด้า หรือกลุ่มก่อการร้าย และโครงการนี้เองเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันในนามโครงการปริซึ่ม (PRISM)

แต่โคเทลลีก็ไม่ได้เอื้อต่อ NSA ไปเสียทั้งหมด บางครั้งเธอก็คิดว่า NSA ทำการล้ำเส้นเกินไป เช่นในปี 2004 โคเทลลีสั่งยุบโครงการสอดแนมชั่วคราวเมื่อพบว่า NSA มีความล้มเหลวในด้านสำคัญ คือการที่ NSA ไม่ได้แบ่งแยกข้อมูลที่ได้มาจากการไม่มีหมายค้น และอาจนำข้อมูลมาใช้ขอหมายค้นจากศาลซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม และในปี 2005 ปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นอีกครั้งทำให้โคเทลลีต้องเตือนรัฐบาลว่าพวกเขาต้องแก้ปัญหาเหล่านี้มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับหมายค้นจากศาล

โรเบิร์ต แอล. ดิทซ์ อดีตที่ปรึกษา NSA ในสมัยของเฮย์เดน กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่า ศาลไม่ได้ให้อนุญาตรัฐบาลเสมอไปเช่นที่ถูกวิจารณ์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมก็ให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดเผยผลสรุปความเห็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในประเด็นนี้เพื่อทำให้ผู้ที่รู้สึกไม่พอใจหลังจากรับรู้เรื่องจากการเปิดโปงสงบลง

"ในบรรยากาศเช่นนี้ คุณควรเอนเอียงไปทางการเปิดเผยความลับมากกว่าที่ควรจะเป็น คุณอาจสามารถหาข้อสรุปที่ฟังดูมีเหตุผลซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวอเมริกันได้"


เรียบเรียงจาก

Secret-court judges upset at portrayal of 'collaboration' with government, Washington Post, 30-06-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น