ประชาไท | Prachatai3.info |
- Patani Forum: นักศึกษากับงานสันติภาพ สัมภาษณ์สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย
- คนงานฟาสต์ฟู้ดอเมริกันประท้วงขอเพิ่มค่าจ้างเป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง
- ประกาศล้มร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม แรงงานขู่ชุมนุมสกัดไม่ให้ผ่านสภาฯ
- รัสเซียเตรียมติดตั้งระบบอ่านซิมมือถือในสถานีรถไฟใต้ดิน
- หลิ่มหลี: โลกเรานั้นล้วนเหยียดหยามกัน
- ครม.อนุมัติหลักการเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน เห็นชอบร่าง พรบ.ปรับปรุงภาษีเงินได้
- รวมวาทะ 108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง?
- ‘อุทัย’ วอนถอน กม.นิรโทษฯ เลี่ยงปะทะ ขอผู้มีอำนาจเร่งช่วยเหลือง-แดงพ้นคุก
- โสภณ พรโชคชัย: ไฮไลท์อสังหาริมทรัพย์นานาชาติ
Patani Forum: นักศึกษากับงานสันติภาพ สัมภาษณ์สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย Posted: 30 Jul 2013 12:23 PM PDT ปาตานี ฟอรั่ม ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกแกนนำนักศึกษาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรน้องใหม่ ที่ออกมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ซึ่งในสถานการณ์ของความรุนแรงนั้น ได้เกิดกลุ่มคนหลายกลุ่ม ซึ่งมีความพยายามที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในลดน้อยลง เช่นเดียวกันกับกลุ่มนักศึกษาที่มีแสดงบทบาทต่อการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพอย่างแข็งขัน ทั้งการทำกิจกรรมส่งเสริมกระบวนสันติภาพ การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และการเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมที่เกิดขึ้น ทางปาตานี ฟอรั่ม ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกแกนนำนักศึกษาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรน้องใหม่ ที่ออกมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่มาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย อัซฮาร์ สารีมะเจ๊ะ นักศึกษาจาก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันก็ยังคงทำกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดสันติภาพ และสร้างพื้นที่พูดคุย "เสียงของประชาชนปัตตานี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดสมาพันธ์ก็คือการชุมนุมใหญ่ของแกนนำนักศึกษา และประชาชนที่มัสยิดกลางปัตตานี ในปี 2550 หลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุม คล้ายมีฉันทามติจากประชาชน ให้มีกลไกที่จะขับเคลื่อนภารกิจนี้ต่อ"
งานขององค์กร กิจกรรมของกลุ่มมีการรณรงค์ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับโลกมุสลิม ชุมชนมุสลิมต่างๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องหลักที่เราสนใจเนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง คือเรื่องของในพื้นที่ปัตตานี โดยเราพยายามเป็นคนต้นคิดและเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่ให้ นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมและ โดยพื้นที่ของการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งค่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ หรือค่ายสร้างเพื่อริเริ่มความคิดหรือพื้นทีในการแก้ไขปัญหาอีกแบบหนึ่ง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 9 ปีมานี้ ในช่วงแรกความรุนแรงจะมุ่งเป้าไปที่โรงเรียนบ้าง ครูบ้าง การก่อเหตุที่มุ่งเป้าไปสู่อุลามะห์บ้าง พอเรามีการจัดกิจกรรมสนับสนุนมากขึ้น เราก็ดีใจถ้าส่วนหนึ่งจะช่วยทำให้การก่อเหตุมุ่งเป้าไปสถานที่แบบนี้น้อยลง
นักศึกษากับภาพที่ถูกมองในแง่ลบ โดยส่วนตัวคิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นซ้อนอยู่สองอันใหญ่ๆ คือ กระแสของโลกที่เป็นโรคกลัวอิสลาม หลัง 911 ที่มุสลิมตกเป็นเป้าทุกพื้นที่ในโลก นักศึกษา หรือองค์กร นักศึกษา มุสลิมจะถูกมองโดยความกลัวมากๆ เรื่องที่สองเราอยู่ในประเทศไทยและเกี่ยวข้องกับปัตตานีด้วย พออกมาเคลื่อนไหวเลยทำให้ถูกมองในภาพลบ หลายๆ ครั้งถูกมองว่าเราทำงานในเรื่องตรงข้ามกับความมั่นคงของรัฐ ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องปัตตานี โรฮิงยาก็เช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับเรื่องปัตตานีที่เราทำ เน้นเรื่องการศึกษา ถูกมองว่าเราไปสนับสนุนขบวนการไหม ตรงนี้ผมคิดว่าไม่แปลก จุดยืนของ นักศึกษา อย่างเราชัดเจนว่าจะร่วมมือกับองค์กร นักศึกษา อื่นๆ นำเสียงของประชาชนฉายออกมาให้สาธารณชนรับรู้มากที่สุด บางประเด็นบางกรณีที่กระทบต่อประชาชน รัฐก็ให้การเยียวยาที่ดี ออกมารับผิดชอบ ปกป้องพอสมควร แต่เราเห็นบางกลุ่มไม่ได้รับเยียวยา ดูแลจากรัฐเท่าที่ควร ในเมื่อเขาถูกกระทำ นักศึกษา เลยจำเป็นต้องทำ ตรงนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนมองว่าเราสนับสนุนขบวนการหรือไม่ หลายคนมองว่าเราสนับสนุนให้แนวคิดของขบวนการเผยแพร่มากขึ้นหรือไม่
นักศึกษากับการเคลื่อนไหวเพื่อกระบวนการสันติภาพ สิ่งที่ นักศึกษา พยายามทำคือสร้างพื้นที่ตรงกลาง ให้ความคิดสุดโต่งมากที่สุดมาคุยกันโดยไม่ใช้อาวุธ สิ่งที่เราชูมาตลอดก็คือสันติภาพของประชาชน แต่เป้าหมายอาจจะยังต้องถกเถียงกัน หรือท้ายที่สุดเหมือนกับพวกเราก็คือสันติภาพที่จะเกิดกับปัตตานี ประชาชนต่างหากที่จะออกมานิยามว่าสันติภาพที่เขาต้องการคืออะไร ทางออกของความขัดแย้ง 80-90% ยุติด้วยการพูดคุยเจรจา ปัตตานีก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องมีการพูดคุยเจรจา ตอนนี้ก็เริ่มแล้วที่มาเลเซีย พอเริ่มขึ้นแบบสาธารณะ พวกเราเองคาดหวัง เรียกร้องมากๆ ให้มีการพูดคุย ในขณะรูปแบบการพูดคุยเพื่อให้มีประสิทธิผลมากที่สุดก็ต้องถกเถียงกันได้ อาจมีแบบสาธารณะบ้าง ปิดลับบ้าง ที่เราหวังคือต้องเป็นการคุยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นสากลมากที่สุด มีการรับรองจากสาธารณประเทศมากที่สุด เราคาดหวังผลของการเจรจานี้จะส่งผลดีต่อสันติภาพของปัตตานี เราคาดหวังเพื่อให้ภาคประชาชนออกมานิยามสันติภาพของเขาได้ การมาพูดคุยของทั้งสองฝั่ง เป็นการใช้แนวทางที่ถูกต้องในการยุติความขัดแย้งโดยการพูดคุยกันของคู่ขัดแย้งหลัก คือ รัฐและขบวนการ แต่สิ่งที่เราถกเหถียงกันได้คือรูปแบบและวิธีที่ใช้ในการพูดคุย ถกเกถียงกันได้เพื่อให้มีความยั่งยืน ในเรื่องที่ขบวนการอาจจะว่าเรา เพราะเราสนับสนุนรัฐไทย สาเหตุหลักๆ ที่เราอาจจะถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ หรือรัฐมองว่าไม่ดี รัฐอาจจะมองว่าเราทำอะไรที่เป็นการสนับสนุนขบวนการ เช่น การที่เราเปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นแบบสุดโต่งอย่างขบวนการที่ต้องการจะปลดปล่อยปาตานี โดยเรานำมาให้คุยในพื้นที่สาธารณะได้ เหมือนกับเป็นการขยายแนวความคิดนั้นหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วมองในลักษณะเดียวกันนี้ มันสามารถมองได้กันว่า เรากำลังสนับสนุนรัฐไทย ซึ่งเป็นไปได้ว่าขบวนการก็อาจจะไม่ชอบเรา เพราะหลายๆ ครั้งที่เราออกมาพูด ออกมาทำกิจกรรมนี้ เราได้ออกมาบอกว่า คุณต้องให้เสรีภาพทั้งหมด ถ้าคนนี้มาบอกว่าอยากจะอยู่กับรัฐไทย เราไม่ต้องปลดปล่อย มันก็หมายความว่าขบวนการเองก็ไม่ต้องไปคุกคามเขา และในขณะเดียวกันรัฐเองก็ห้ามไปกระทำต่อผู้ที่ที่คิดต่างไปจากรัฐ มองในลักษณะนี้อาจจะเป็นจะเหมือนทั้งในกรณีของรัฐและในกรณีของขบวนการด้วยซ้ำไป ถ้ากล่าวให้ชัดในเชิงเป้าหมาย รัฐเองก็อยากจะให้เกิดสันติภาพ ขบวนการก็ต้องการสันติภาพเช่นเดียวกัน แต่นิยามอาจจะเป็นคนละแบบ สิ่งที่นักศึกษามาทำก็เช่นเดียวกัน สนับสนุนให้เกิดสันติภาพ โดยที่เอานิยามของทุกคนมาคุยกัน โดยเอาพื้นฐานจากชาวบ้านมาคุยกัน ดังนั้นการมองว่าเราเกี่ยวข้องกับขบวนการนั้นเป็นการมองที่ยังไม่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเรา แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้แปลกใจที่เราถูกมองเช่นนี้ เพราะนักศึกษาก็ประกาศตัวชัดเจนว่า เราทำงานด้านการเมือง เราทำกิจกรรมร่วมกับภาคประชาชน เพื่อผลักวาระประเด็นทางการเมืองด้วย เพราะอิสลามไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการเมือง อิสลามมีคำสอนเรื่องการเมือง และการเมืองที่ดีต้องมีศาสนาเป็นตัวรองรับและเป็นตัวให้คำอธิบาย และสมาพันธ์ก็ทำเรื่องนี้ด้วย
บทบาทของผู้หญิงในสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ต่อมา วนิสา ร่าหีม ฝ่ายกิจการสตรี สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงต่อการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ได้ทำงานคลุกคลีอยู่กับผู้หญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยมีการเริ่มต้นการพูดคุย สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และอาจจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางสมาพันธ์จัดขึ้น รวมทั้งองค์กรเครือข่ายต่างๆ เพื่อที่สร้างเข้าใจและตระหนักมากยิ่งขึ้น โดยส่วนตัวแล้วการทำกิจกรรมแล้ว มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกัน ความหวังของประชาชนในพื้นที่มีความต้องการให้เราเป็นกระบอกเสียง เป็นเสียงที่สำคัญในการพูดคุยแทนชาวบ้าน ที่เรามีโอกาสมาพูดคุยในตรงนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรารู้สึกว่าดูรุนแรงมาก นั่นก็คือ เหตุการณ์ของนูรฮายาตี ครูสอนตาดีกา เขาโดนทหารข่มขืนและฆ่า ในปี 2551 ในส่วนของสื่อออกมาหลังจากนั้นเป็นเวลาสองปี ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้บอกเราว่า เราจะนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เป็นพี่น้องเขา แต่เราก็ต้องออกมาพูดเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขา ความหวังของเราในพื้นที่คือเราต้องการให้พื้นที่มีความสงบ มีสันติภาพเข้าไปในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ และการเจรจาที่เกิดขึ้นอาจจะใช้เวลานานพอสมควร เพราะมีหลายฝ่ายที่เข้ามา ทั้งนี้สมาพันธ์จะทำงานอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีการร่วมด้วยช่วยกัน และมาร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน เปิดพื้นที่ให้กับนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ ต่อไปข้างหน้า เราจบไปได้รับปริญญา แต่เราไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้เลย ซึ่งมันจะเป็นที่น่าเสียดาย หากเราได้ทั้งใบปริญญาและสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องทำ อย่าลืมว่า เราเป็นความหวังของชาวบ้าน เพราะว่าเราได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาตรงนี้ เราก็ต้องช่วยเหลือชาวบ้าน การที่เราเป็นผู้หญิง ซึ่งคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา หากถึงสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างเต็มที่ เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป ในส่วนของสมาพันธ์เปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงได้มากพอสมควร ซึ่งมีพื้นที่มากในการทำงานในด้านกิจการสตรี สมาพันธ์ของเราเปรียบเสมือนกับการทำงานเชิงรุก โดยส่วนตัวแล้ว ปีนี้ได้มาทำเป็นปีที่สอง ในงานที่ทำก็เป็นลักษณะของการจัดทำฮาลากอฮ์ (วงกลมเรียนรู้ศาสนา) ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วน บางตอน จากความคิด รูปแบบการเคลื่อนไหว/กิจกรรม ของนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาสาเข้ามามีบทบาทในการสรรค์สร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพให้เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขาเอง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนงานฟาสต์ฟู้ดอเมริกันประท้วงขอเพิ่มค่าจ้างเป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง Posted: 30 Jul 2013 12:16 PM PDT คนงานในร้านฟาสต์ฟู้ดของสหรัฐอเมริกาในหลายเมืองใหญ่ ออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องขอค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง สุดทนค่าแรงต่ำเพียงแค่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง การประท้วงที่นิวยอร์คเมื่อเช้าของวันที่ 29 ก.ค. 56 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น (ที่มาภาพ: twitter.com/JackieKessel) การประท้วงที่มิลวอคกี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: Light Brigading / Flickr / Creative Commons) อินโฟกราฟฟิคแสดงความไม่เป็นธรรมต่อคนงานของอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด (ที่มาอินโฟกราฟฟิค: fastfoodforward.org) เมื่อเช้าของวันที่ 29 ก.ค. 56 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าคนงานในร้านฟาสต์ฟู้ดของสหรัฐอเมริกา เช่น แมคโดนัลด์ (McDonald's), พิซซ่าฮัท (Pizza Hut), เบอร์เกอร์คิง (Burger King) ,เคเอฟซี (KFC) และเวนดี้ (Wendy's) ในนิวยอร์ก, เซนต์หลุยส์, แคนซัสและอีกหลายเมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องขอค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง คนงานแม็คโดนัลด์ประจำสาขาบรู๊คลิน นิวยอร์ก คนหนึ่งระบุว่าเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยค่าแรงเพียงแค่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง โดยผู้จัดการประท้วงระบุว่ามีคนงานในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดที่เข้าร่วมการประท้วงที่นิวยอร์ควันนี้กว่า 500 คน ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคนงานร้านฟาสต์ฟู้ดในชิคาโก้, มิลวอคกี้ และดีทรอยด์ ก็ได้ออกมารวมตัวเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน คนงานในอุตสาหกรรมนี้บางคนได้ค่าแรงต่ำเตี้ยถึง 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อเที่ยบกับอัตราเงินเฟ้อแล้วปรากฏว่าจ้างนี้ต่ำกว่า 22 % ในปี ค.ศ.1968 (9.27 ดอลลาร์) และต่ำกว่า 7% ในปี ค.ศ.2009 (7.78 ดอลลาร์) เหล่าบริษัทฟาสต์ฟู้ดได้ออกมาตอบโต้ว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นตามข้อเรียกร้องของคนงาน (15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง) ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่จะไม่สามารถสร้างจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ ในสภาวะที่การหางานยังเป็นเรื่องที่ลำบากของคนอเมริกันในขณะนี้ รวมทั้งการขึ้นค่าแรงอาจจะกระทบต่อราคาอาหารฟาสต์ฟู้ดให้สูงขึ้น แต่แคมเปญรณรงค์ Fast Food Forward ระบุว่าธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดของอเมริกันที่มีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์นั้น คนงานในอุตสาหกรรมนี้ (ตัวเลขประมาณการของคนงานในนิวยอร์ค) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 11,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนประธานฝ่ายบริหารสูงสุดของบริษัท (CEO) ในอุตสาหกรรมนี้มีรายได้ถึง 25,000 ดอลลาร์ต่อวัน (คนงานต้องทำงานสองปีกว่าถึงจะได้รายได้เท่ากับที่ CEO ทำหนึ่งวัน) ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของคนงานในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดนี้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนกลุ่มน้อย (ผิวสีและแรงงานที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก) ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาสหภาพแรงงาน ชุมชน เอ็นจีโอและองค์กรทางศาสนา และมีการประท้วงขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ที่มาเรียบเรียงจาก: http://www.chicagotribune.com/news/sns-rt-us-usa-fastfood-protests-20130729,0,4209372.story http://inthesetimes.com/working/entry/15366/fast_food_slow_burn/ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประกาศล้มร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม แรงงานขู่ชุมนุมสกัดไม่ให้ผ่านสภาฯ Posted: 30 Jul 2013 12:09 PM PDT กลุ่มแรงงาน-ภาคประชาชน ประกาศค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับรัฐบาล -ส.ส.เรวัต 'วิไลวรรณ' จวกกฎหมายอัปลักษณ์ ค้านหนัก รมว.แรงงาน นั่งควบ ปธ.บอร์ดประกันสังคม ด้าน คปก.แนะแนวทางการสู้ต่อ-ชี้กฎหมายเข้าชื่อฯ ฉบับใหม่ส่อแววเป็นอุปสรรค์ ประกาศล้มร่างกฎหมายประกันสังคม ขู่ชุมนุมสกัดไม่ให้ผ่านสภาฯ วันนี้ (30 ก.ค.56) เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวแสดงท่าทีคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต อารีรอบ กับคณะ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประกันสังคมแล้วและอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากที่ร่างกฎหมายฉบับที่มีการเข้าชื่อของประชาชน 14,264 รายชื่อ ไม่ถูกรับพิจารณา ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งมาจากตัวแทนภาคแรงงานเพียงคนเดียว กล่าวถึงเนื้อหาในแถลงการณ์ว่า แรงงานและภาคประชาชนเห็นว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านการพิจารณาแล้วนั้น มีสาระสำคัญหลายประการที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และไม่ก่อให้เกิดการปฏิรูปปรับปรุงให้ระบบประกันสังคมดีขึ้น ทั้งบางประเด็นกลับยิ่งก่อปัญหาเพิ่มขึ้น ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงปัญหาของร่างกฎหมายดังกล่าวว่า 1.ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ประกันตนราว 10 ล้านคน เพราะไม่กำหนดแนวทางให้มีการคัดเลือกตัวแทนผู้ประกันตนโดยตรงอย่างกว้างขวาง และร่างดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ประกันสังคม ซึ่งมีอำนาจในการออกระเบียบการเลือกตั้งคณะกรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง รวมทั้งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการครอบงำสำนักงานกองทุนประกันสังคม (สปส.) จากนักการเมืองที่อาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้ 2.ขาดกลไกในการตรวจสอบการบริหารงานของบอร์ดประกันสังคม เพราะในร่างที่ผ่านการพิจารณาไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำให้กองทุนประกันสังคมจำนวนมหาศาลกว่า 1 ล้านล้านในปัจจุบันไม่เกิดการทุจริต มีความโปร่งใสและบริหารงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง และ 3.ไม่ครอบคลุมลูกจ้างทุกกลุ่ม ชาลี กล่าวถึงมาตรการที่จะมีการเคลื่อนไหว ดังนี้ 1.จะยื่นหนังสือให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เพื่อตรวจสอบที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน เข้าพิจารณาในสภาฯ 2.จะยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองภาคพลเมืองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ 3.จะนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของภาคประชาชน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุด้วยว่า หากระหว่างนี้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน จะไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร จวกกฎหมายอัปลักษณ์-ค้านหนัก รมว.แรงงาน นั่งควบ ปธ.บอร์ดประกันสังคม วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวในการเสวนา "กฎหมายประกันสังคมกับอนาคตผู้ประกันตน???" ในช่วงเช้าวันเดียวกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชนที่เคลื่อนกันมาตั้งแต่ปี 2552 มีความครบถ้วน ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเรื่องสิทธิประโยชน์ การมีส่วนร่วม และมีโครงสร้างผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ แต่กลับถูกสภาฯ ปฏิเสธไม่รับพิจารณาวาระแรก เหตุผลเพราะร่างดังกล่าวแตกต่างกันอย่างมากทั้งเรื่องหลักการ องค์กร และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเมื่อเทียบกับร่างฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่างฉบับของนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่สภาฯ รับพิจารณา ซึ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวของภาคประชาชนผ่านไปได้ สัดส่วนของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย 1 ใน 3 จะเป็นของภาคประชาชน ทำให้รัฐบาลกังวลว่าภาคประชาชนจะไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ จนมีเสียงเป็น 2 ใน 3 ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอได้รับการพิจารณา วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า ในระหว่างที่มีการผลักดันกฎหมายฉบับของภาคประชาชนได้เดินสายพูดคุยกับฝ่ายการเมืองแล้ว แต่ในวันลงคะแนน ส.ส.จำนวน 250 คน ของพรรคเพื่อไทยกลับปฏิเสธที่จะรับพิจารณา มีเพียง 5 คนที่ให้คะแนนเสียง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าไม่สามารถพึ่งตัวแทนในสภาผู้แทนฯ ได้เลย ทำให้ต้องหันกลับมามองว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไป กลุ่มแรงงานต้องคิดให้มากขึ้น ส่วนการดำเนินการที่ผ่านมาภายหลังร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนถูกปัดตก วิไลวรรณให้ข้อมูลว่า กลุ่มแรงงานได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านกรณีดังกล่าวถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาซึ่งมีความเกี่ยวข้องในการพิจารณากฎหมายในชั้นต่อไป รวมทั้งยื่นหนังสือต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแช่งชาติ และได้มีการปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายถึงช่องทางที่จะเดินหน้าต่อไปด้วย วิไลวรรณ กล่าวต่อมาว่า การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวแรงงานได้ทุ่มเทกันอย่างมากที่สุด แต่สุดท้ายกลับไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และสาระสำคัญที่เป็นหัวใจไม่ถูกบรรจุไว้เลย โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่ปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ดประกันสังคม ทำให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนของแรงงาน และมีอำนาจในการสรรหาผู้มีคุณวุฒิ โดยอำนาจของประธานเป็นอำนาจแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมด ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ และขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน อีกทั้งเปิดช่องให้นำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้ในสิ่งที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ประกันตน "ถามว่ากฎหมายประกันสังคมที่ออกมาหน้าตาอัปลักษณ์แบบนี้เราจะรับได้หรือ แล้วมันจะนำไปสู่ความหายนะของกองทุนประกันสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน ดิฉันมีความเชื่อมั่นอย่างนั้น" วิไลวรรณกล่าว คปก.แนะแนวทางการสู้ต่อ-ชี้ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่อาจเป็นอุปสรรค์ ด้านสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนว่า รัฐธรรมนูญ 40 ได้บุกเบิกมาจากการผลักดันของประชาชนในการให้สิทธิประชาธิปไตยทางตรง คือ เข้าชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50,000 ชื่อ แต่เมื่อออกกฎหมายลูกในปี 42 (พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542) ก็มีความผิดเพี้ยนไป ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เช่น ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก ต้องใช้เงินจำนวนมากในการล่ารายชื่อ ทำให้มีกฎหมายหลายฉบับตกไปเพราะไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อ 50,000 ชื่อได้ รวมถึงกฎหมายสถาบันความปลอดภัย (ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสนอโดยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย) ต่อมารัฐธรรมนูญปี 50 มีการปรับให้เป็นการเข้าชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 10,000 ชื่อ ซึ่งทำให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนมากมาย และก่อนหน้านี้มีร่างกฎหมายเข้าชื่อของกฎหมายแก้ไขกฎหมายเข้าชื่อปี 42 ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดีขึ้น โดยใช้บัตรประชาชน ไม่ต้องใช้ทะเบียนบ้าน และสู้ในอีกหลายเรื่อง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงมีประเด็นปัญหาอยู่ ซึ่งร่างกฎหมายเข้าชื่อของภาคประชาชนแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 มี 2 ฉบับและวันนี้ยังไม่ผ่านรัฐสภา ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ซ้อนว่าการเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมของภาคประชาชนนั้นใช้กฎหมายฉบับเก่า โดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 และใช้กฎหมายเข้าชื่อปี 42 ซึ่งกำหนดให้เข้าชื่อ 10,000 รายชื่อและให้สิทธิ์เป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ 1 ใน 3 เข้าไปถกเถียงในสภา แต่สุดท้ายกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านการพิจารณาวาระ 1 กลับออกมาดูไม่ดีนัก ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คปก.เคยออกมาแถลงหลายครั้งว่าการที่ไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับภาคประชาชนถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก และส่งผลอย่างยิ่งต่อกฎหมายเข้าชื่อของภาคประชาชนฉบับอื่นๆ ที่ในอนาคตที่อาจถูกปัดตกได้ สุนี กล่าวต่อมาถึงการต่อสู้ต่อไปที่จะต้องผ่านด่านต่างๆ ว่า แม้จะดูเหมือนการไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนขัดรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนผู้เสนอกฎหมายไม่สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะในรัฐธรรมนูญ 50 เขียนเอาไว้ว่าการยื่นเรื่องต้องผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน ส่วนด่านต่อมาคือการตีความซึ่งนักกฎหมายถกเถียงกันอยู่ว่าจะสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงการวินิจฉัยกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่การไม่รับหลักการนั้นยังเป็นร่างกฎหมาย ไม่ใช่กฎหมาย อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการตีกรอบ เรามีสิทธิในการแสดงเจตนารมณ์ในการยื่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน หากไม่มีการส่งต่อก็สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง หรือช่องทางที่ 2 หากกฎหมายผ่านไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ส.ส.หรือ ส.ว.มีสิทธิที่จะเข้าชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ตามกลไกที่ออกแบบไวในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ช่องทางที่ 3 มีการเสนอจากกลุ่มนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งว่าเมื่อสภาผู้แทนอ้างเหตุผลว่าร่างของภาคประชาชนมีหลักการไม่ตรงกับร่างของรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็สามารถนำกลับไปเสนอใหม่ได้ โดยใช้ชื่อเดิม และช่องทางสุดท้ายคือการใช้สิทธิในการชุมนุม รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน หากจะใช้วิธีการยื่นเสนอกฎหมายต่อสภาฯ อีกครั้ง อาจไปชนกับที่กฎหมายเข้าชื่อฉบับใหม่ที่กำลังรอออกบังคับใช้อยู่ ซึ่งหลักการของกฎหมายจะไม่เหมือนเดิม ทำให้ต้องเจอกับ 2 ปัญหา คือ 1.กฎหมายจะต้องตกไปเพราะเป็นคนละช่วงเวลา 2.กระบวนการของกฎหมายใหม่แม้จะมีหลายเรื่องดีขึ้น แต่ก็มีอุปสรรคคือต้องมีคนริเริ่มอย่างน้อย 20 คน ในการเสนอกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนฯ ให้อนุมัติในหลักการว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงจะมีสิทธิทำการล่ารายชื่อ และมีบทลงโทษสำหรับการข่มขู่ จูงใจให้มีการเข้าชื่อ ดังนั้น การเลือกใช้วิธีการใดๆ ต้องพิจารณาให้ดี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รัสเซียเตรียมติดตั้งระบบอ่านซิมมือถือในสถานีรถไฟใต้ดิน Posted: 30 Jul 2013 10:54 AM PDT ตำรวจกรุงมอสโควประกาศติดตั้งระบบเซนเซอร์ตรวจจับซึ่งสามารถอ่านข้อมูลซิมการ์ด อ้างหวังลดอาชญากรรมล้วงกระเป๋า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางการรัสเซียประกาศว่าจะมีการติดตั้งระบบอ่านข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการที่ "น่าสงสัย" ผู้บังคับการตำรวจกรุงมอสโคว อังดรี โมคอฟ เปิดเผยว่าทางการรัสเซียจะมีการติดตั้งระบบเซนเซอร์ตรวจจับซึ่งสามารถอ่านข้อมูลจากซิมการ์ดของมือถือเพื่อเป็นตรวจสอบว่าโทรศัพท์นั้นถูกขโมยมาหรือไม่ อังดรีอ้างว่าระบบตรวจสอบทำไปเพื่อลดอาชญากรรมการล้วงกระเป๋าในสถานีรถไฟใต้ดิน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่ารัฐบาลรัสเซียอาจจะมีเจตนาซ่อนเร้นในเรื่องนี้ อเล็กซานเดอร์ อีวานเชงโก ประธานสมาคมอุตสาหกรรมด้านความมั่นคงของรัสเซียคาดเดาว่าทางการรัสเซียต้องการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงมีอำนาจในการควบคุมเพิ่มมากขึ้น "เห็นได้ชัดว่าราคาที่ต้องจ่ายเพื่อติดตั้งระบบนี้ไม่คุ้มกับมูลค่าของโทรศัพท์มือถือที่ถูกขโมยไป" อเล็กซานเดอร์กล่าว สำนักข่าว Globalpost กล่าวว่ารัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคงใหญ่ที่สุดในโลก โดยหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย (FSB) ก็กลับมาเติมโตในสมัยของประธานาธิบดีวลามิเมียร์ ปูติน อังดรี โมคอฟ กล่าวว่าระบบตรวจจับชุดใหม่นี้ไม่ได้เป็นการละเมิดกฏหมายใดๆ โดยแม้ว่าตามกฏหมายของรัสเซียจะไม่อนุญาตให้มีการติดตามสืบค้นตัวบุคคลหนึ่งๆ โดยไม่มีหมายค้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับอนุญาตให้สามารถสืบค้น "ทรัพย์สินของบริษัท" ซึ่งในกรณีนี้คือซิมการ์ดซึ่งจัดเป็นทรัพย์สินของผู้ให้บริการเครือข่ายได้ ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งมองว่า ทางการรัสเซียต้องการอาศัยระบบดังกล่าวนี้ในการสืบหาผู้ก่อการร้าย โดย Globalpost ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ก่อการร้ายในรัสเซียเพิ่มขึ้น รวมถึงการระเบิดพลีชีพในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งทำให้ประชาชน 40 คนเสียชีวิตเมื่อปี 2010
เรียบเรียงจาก Moscow Subway To Use Devices To Read Data On Phones, Radio Free Europe, 29-07-2013
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หลิ่มหลี: โลกเรานั้นล้วนเหยียดหยามกัน Posted: 30 Jul 2013 09:09 AM PDT ตั้งแต่ก้าวเข้ามาสู่โลกของเสรีชน ที่เรียกตัวเองว่า ลิเบอรัล Liberal ก็เป็นครั้งแรกที่หลิ่มหลีได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า การเรียกร้องความเท่าเทียมหลายเรื่องราวที่หลิ่มหลีไม่ได้รู้ว่ามันมีอยู่... ไล่นึกดู ... การเรียกร้องความเท่าเทียม มันก็ต้องเกิดเนื่องมาจากการเหยียดหยาม และคนที่ถูกเหยียดหยามก็ต้องยืนหยัดขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมกันเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดกันทางเพศ การเมือง ศาสนา สีผิว หลากหลายการเหยียดหยาม ทำให้การเรียกร้องมีความหลากหลาย มีกลุ่มต่างๆ มากมายที่มาจากเหล่าคนที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ จากโลกที่สวยใสก็ได้รับรู้ว่า ในโลกสวยๆ ใบนี้ หลิ่มหลีก็ได้เห็นมุมมืดมากมายที่มาจากจิตใจของคนในการดูถูกเหยียดหยามกัน จริงๆ แล้วโลกของสลิ่มอย่างเราๆ หรือชนชั้นกลางที่ไม่เข้าใจการเมืองอย่างลึกซึ้ง ก็เข้าใจหลักของการเหยียดหยามกันอยู่บ้าง แต่เราไม่ปฏิบัติกัน และมันเป็นแค่ความคิดในใจที่เราจะไม่แสดงออกมา เราเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกสวย แสดงความสวยงามของจิตใจต่อครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้เราดูสวยงามทั้งกายและใจ เราศึกษาการฝึกให้สวยงามด้วยสิ่งเหล่านี้จากหนังสือหลายอย่าง เช่น Chicken Soup หรือหนังสือของนิ้วกลม เป็นต้น อย่างน้อย ทัศนคติการมองโลกในแง่ดีที่เราบังคับไว้ในใจ ก็จะบังคับให้เราพูดแต่สิ่งดีดีออกมา จนเราเคยชิน การเป็นคนที่ต้องอยู่ในโลกสวยทำให้เราต้องทำจิตใจให้สวยและกิริยาทุกอย่างให้สวย ไม่ว่า พูด เขียน หรือแม้กระทั่งด่า ก็ด่าในรูปแบบที่สวยงาม (ยกตัวอย่างเช่น "การตบหัวลูบหลัง" เราต้อง ลูบหลังก่อนแล้วตบหัวแล้วลูบหลังอีกครั้ง) จนกระทั่งโลกสวยๆ ในกรุงเทพฯ ที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่อยู่อาศัยกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยคนเสื้อแดงที่มาเรียกร้องความเท่าเทียมกันในระบอบการเมือง ที่เรียกกันว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย คำหยาบคาย จิตใจโสมม การดูถูกเหยียดหยามมากล้นมากมายพรั่งพรูออกมาจากในชนชั้นกลาง หรือสลิ่มอย่างพวกเรา สลิ่มอย่างเรายอมรับว่า เราพลาด เราเคยสวย เราเคยงดงาม แต่เราพลาด มันก็เพราะเราโดนรุกล้ำพื้นที่โลกสวยๆ ของเรา กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยรถติด ขยะ สิ่งสกปรก และคนต่างจังหวัดที่มากิน ขี้ ปี้ นอนกลางถนนกลางกรุงเทพฯ การด่าทอเป็นไปอย่างเข้มข้นจนกระทั่งเหตุการณ์ 19 พ.ค. 53 เสียงกระสุนทำให้เราหยุดด่า ...เราช็อค... เราก็ได้เห็นภาพคนตายเช่นกัน แต่เพื่อความรักษาหน้าเพราะเราเลือกด่าไปแล้ว ทำให้เราเลือกที่จะยับยั้งความเห็นอกเห็นใจผู้เจ็บและผู้ตายแล้วเข้าสู่กระบวนการ Together We Can แล้วหันไปโทษคนเผาบ้านเผาเมือง เผาห้างของเรา แล้วเราเงียบงัน จนกระทั่งการเลือกตั้งผ่านเข้ามา แล้วผ่านไป เราพ่ายแพ้ พรรคของเราพ่ายแพ้ (การบอกว่าพรรคของเรา เพราะอีกพรรคเป็นของคนเสื้อแดงที่เราด่า แล้วเราไม่มีพรรคที่สามที่ดีพอและเก๋พอให้เราเลือก... เราบางคนก็จำใจเหมือนกัน) สลิ่มโลกสวยอย่างเราก็พ่ายแพ้มาหลากหลายครั้ง เราไม่แปลกใจหรอก แล้วเราก็ไม่ได้สะเทือนอะไรมากมายกับความพ่ายแพ้นั้น เราไม่ได้เรียนเก่งที่สุดในห้อง เราไม่ได้สอบได้มหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลก เราไม่ได้ที่ทำงานที่ยอดเยี่ยม เงินเดือนเป็นแสนเป็นล้าน เรายังไม่ได้ก้าวเข้ากลุ่มชนชั้นสูงหรือชนชั้นศักดินาเลย ดังนั้น เราก็ยังไม่ได้ชนะ เราออกจะเป็นผู้แพ้ในชีวิตของเราด้วยซ้ำ แต่เราก็เลียแผลช้ำๆ ของเราด้วยโลกสวยๆ ของเรา เช่น ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ซื้อของแพงๆ เท่าที่เงินเราจะทำได้ เท่านี้ก็พอแล้วเราก็ลืมๆ มันไป วิกฤติทางการเมืองผ่านพ้นไป (อย่างน้อยก็ในสายตาของสลิ่มอย่างหลิ่มหลี) เราไม่มีอะไรจะด่า เพราะทุกอย่างเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องแล้ว มันก็ไม่มีใครสมควรจะด่าใครอีกแล้ว ...ไม่ใช่หรือ สลิ่มอย่างเราพร้อมที่จะกลับไปสู่โลกของการทำงาน ทำมาหากิน โลกของชนชั้นกลาง โลกทุนนิยม โลกของเงินเดือน โลกของรถติดเพราะทุกคนไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ สำหรับสลิ่มอย่างหลิ่มหลีและเพื่อนๆ หลายคน ....เราจบแล้ว เรากลับไปทำงาน หาเงิน เที่ยว ช้อปปิ้ง ดูคอนเสิร์ต ดินเนอร์เก๋ๆ ท้ายสุดเราก็กลับมาสู่โลกสวยๆ ของเราต่อไป แต่สำหรับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย สำหรับหลากหลายคน มันไม่จบแฮะ !!! การเริ่มต้นในโลกเสรีชนของสลิ่มแท้ๆ อย่างหลิ่มหลีได้เริ่มต้นอย่างชัดเจนด้วยความอยากรู้อยากเห็น ในขณะที่สลิ่มกลับไปโลกสวย มันเป็นความโชคดีที่หลิ่มหลีก็ได้มีโอกาสพิจารณาโลกเสรีชน เช่นกัน หลิ่มหลีได้อ่าน ได้ฟัง ได้สนทนา หรือแม้แค่รับคำทักทาย ในฐานะ สลิ่มโลกสวย สลิ่มที่เป็นเสื้อแดงแต่ก็ยังเป็นสลิ่มผู้ไม่รู้เรื่องอะไรอย่างลึกซึ้ง หลิ่มหลีได้เข้าไปสัมผัสโลกของคนเหล่านี้ โดยเริ่มจากการไม่รู้จักใครสักคน อาศัยหน้าด้านล้วนๆ อาศัยใบบุญประชาไทเข้าไปก็หลายครั้ง ได้พบบุคคลมากมาย ล้วนแล้วแต่การศึกษาดีดี จบทางด้าน นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์แขนงต่างๆ ปรัชญา อักษร นิเทศ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุขต่างๆ ฯลฯ ได้พบผู้คนมากมาย นักกฏหมาย อาจารย์ แม่ค้า นักเขียน ศิลปิน นักข่าว NGO บอกอ ผู้กำกับ นักแปล แท็กซี่ ผู้บริหารระดับสูง พิธีกร นักคิด(? อาชีพอะไร?) หลากหลาย ทุกคนเต็มไปด้วยน้ำจิตน้ำใจที่จะบอกเล่าเก้าสิบให้ได้รู้ว่า น้ำใจเหล่านี้มาจากการพบปะบ้าง มาจากการอ่านหน้าเฟซบุ๊กบ้าง โดยไม่รู้ตัวของพวกเขา น้ำใจเหล่านี้ ... มันแฝงด้วยบางอย่างที่เป็นการเหยียดโดยที่เขาไม่รู้ตัว ในโลกแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย มันน่าจะเป็นโลกแห่งเสรีภาพในทุกๆ แง่มุม ทุกๆ ความคิด และทุกๆ ชนชั้น ทุกๆ ฐานะ ทุกๆ รสนิยม ทุกๆ ทัศนคติ มันน่าจะเป็นโลกที่รับได้ทุกอย่าง อยู่กันให้ได้กับความแตกต่างในทุกแง่ที่กล่าวมาข้างต้น แต่แล้ว หลิ่มหลีกลับพบว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของไทย หรือที่เรียกตัวเองเกร๋ๆ ว่า เสรีชน มักจะมีคำเรียกคนคิดต่างที่ออกไปในทางเหยียดหยาม และมีการเหยียดความไม่รู้ ความรู้น้อย หรือความรู้เท่าไม่ถึงการ รสนิยม ทัศนคติของคนอื่น อย่างไม่รู้ตัว ในลักษณะของการเบื่อหน่ายการคิดต่างหรือเบื่อหน่ายความไม่รู้ ก็ยังมีน้ำใจที่จะมอบข้อมูลที่ถูกต้องแต่มันก็แอบแฝงความเหยียดหยันไปในตัว อย่างไม่รู้ตัว จากการเข้าคลุกคลี (แหม เสี่ยงเสียเพื่อนจริงๆ ที่เขียนเรื่องนี้) ...จากการเข้าคลุกคลีเหล่าเสรีชนที่ต้องการจะเรียกร้องประชาธิปไตยหรือที่ต้องการจะเปลี่ยนโลกกะลาที่ชื่อประเทศไทยให้เป็นแบบที่ตนอยู่ได้ ทำให้หลิ่มหลีค้นพบว่า เราสองสามฝ่ายต่างก็มีโลกสวยไม่แพ้กัน ในขณะที่โลกของสลิ่มสวยกลวงเห็นแก่ตัว โลกของเสรีชนก็เต็มไปด้วยความอยากมีอยากได้บนความขาดแคลน มันเหมือนจะเป็นโลกของคนที่พ่ายแพ้ในโลกของสลิ่มแล้วไม่มีที่ยืนในสังคม แต่ก็โชคดีที่มีเหตุบ้านการเมืองที่ทำให้เขาได้โอกาสที่จะมายืนหยัดเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองพ่ายแพ้ ได้มีโอกาสที่จะโลกสวยกะเขาเหมือนกันนั่นแหละ ดีกรีความเหยียดหยามล้วนแล้วแต่แตกต่างกันไปตามปัจเจก และความอยากเป็นซัมบอดี้ (somebody) ของแต่ละคน บางคนหาที่ยืนอย่างทุลักทุเรศ บางคนกระเสือกกระสนอย่างกระหาย ซึ่งล้วนแล้วแต่กระทบกระเทือนต่อความคิดของตัวเองโดยแสดงความแรงของการเหยียดหยามออกมาอย่างไม่รู้ตัว การเหยียดหยามคนโลกสวยอย่างไม่รู้ตัวของคนเสรีชนก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงสำหรับหลิ่มหลีในตอนแรกๆ แต่ก็ชินซะแล้วกับการโดนเหยียด แอบฝังใจมาโดยตลอดด้วย ไม่ว่าการไม่อ่านหนังสือที่ถูกจริตเสรีชน (ใช่ซี้ ฉันมันอ่านแต่หนังสือจาก สนพ. แจ่มใสนิ) ไม่ว่าจะรสนิยมที่ดูหนังได้ไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะรสนิยมการบริโภคสิ่งรอบด้านที่ป๊อปดัดจริตเกินไป หรือแม้แต่การดำรงชีวิตที่ชิวๆ จนน่าหมั่นไส้ เพียงแค่พวกเขาไม่รู้ตัวว่าในสายตา ในคำพูด ในตัวหนังสือ ล้วนแล้วแต่มีความขบขัน เบื่อหน่าย แกมเหยียดหยันซ่อนอยู่เช่นกัน โดยที่ไม่ได้เรียนรู้เลยว่า เสรีชนนั้นถ้าได้เหยียดหยามในเรื่องรสนิยมส่วนตัวกันแล้วนั้น มันน่ารังเกียจเป็นที่สุด และคุณไม่ใช่เสรีชน ลึกๆ แล้วนั้น มันก็ต้องทำใจกันจริงๆ เพราะส่วนลึกของจิตใจ คนเราล้วนเหยียดหยามซึ่งกันและกัน โลกเรานั้นล้วนเหยียดหยามกัน
หลิ่มหลี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ครม.อนุมัติหลักการเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน เห็นชอบร่าง พรบ.ปรับปรุงภาษีเงินได้ Posted: 30 Jul 2013 03:54 AM PDT ครม.อนุมัติหลักการร่าง พรก.เว้นภาษีธุรกิจเฉพาะกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และมีมติเห็นชอบร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 30 ก.ค.56 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง) และเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมและให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ) โดย ครม.พิจารณาตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะประมาณ 160 ล้านบาทต่อปี สาระสำคัญของร่าง พรก.ดังกล่าว กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะเฉพาะการกู้ยืมของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยสาระสำคัญ คือ การปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ดังนี้ สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ ให้เสียภาษีเงินได้สุทธิ ร้อยละ 20 สำหรับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้เสียภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ร้อยละ 20 โดยกำหนดให้ มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมิน ประจำปีภาษี พ.ศ.2556 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ.2557 เป็นต้นไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รวมวาทะ 108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง? Posted: 30 Jul 2013 02:32 AM PDT วันที่ 26 ก.ค. 2556 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) จัดเสวนาหัวข้อ 108 เหตุผลทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน ซึ่งมีผู้ร่วมให้เหตุผลไว้ ดังนี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศาสตราจารย์ประจำและอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "ที่เรามารวมตัวกันที่นี้ เพื่อบอกว่า นักโทษการเมือง จะต้องหมดไปจากประเทศไทยด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรมในปี 2556 ต้องไม่ใช่การนิรโทษกรรมเช่นใน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เป็นการนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ที่ผู้ก่อความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย เพราะประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนว่า ตราบใดที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ ก็จะมีความุรนแรงตามมา อย่าให้ประวัติศาสตร์สอนเราว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาตร์ต่อไปอีกเลย" นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ "การนิรโทษกรรมในอดีตที่ผ่านมา 81 ปี ของประชาธิปไตยไทย เป็นการนิรโทษกรรมผู้ที่ละเมิดสิทธิของประชาชน เป็นการนิรโทษกรรมในการทำร้ายประชาชน" "การนิรโทษกรรมนั้นเป็นสถานปนาความยั่งยืนของประชาธิปไตย จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่แตกแยกกลับมาสร้างความเป็นพลเมืองเป็นพลเมืองที่รอบรู้และเท่าทันเพราะเราไม่สามารรถจะตัดสินใจหรือตัดสินได้ว่าจะเกิดรัฐประหารหรือเปล่า หรือเกิดความวุ่นวายทางกรเมืองหรือเปล่า สิ่งที่ขยายไปทางอีสานและภาคเหนือ พบว่าความเสียหายต่อพวกเราที่เกิดขึ้นจากความเสียสละ การนิรโทษกรรมนี้ต้องยืนหยัดปกป้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการแสดงความเห็น อารยะขัดขืนต่อความฉ้อฉลทางการเมือง สิ่งนี้สำคัญต้องยืนหยัดในการเคลื่อนไหว ไม่ให้บุคคลที่แปลกปลอมทางการเมืองเข้ามาครอบงำ" "สิ่งที่เป็นปัญหาในระบบของการร่างกฎหมายคือรัฐสภา ร่างฯ ของภาคประชาชนเข้าสู่สภาแต่ไม่เคยมีกฎหมายฉบับไหนประสบความสำเร็จเลย ไม่ว่าจะเป็นป่าชุมชน ประกันสังคม …." "มีแต่พวกเราเท่านั้นภาคประชาชนทีได้รับผลกระทบทุกสีทุกกลุ่มต้องผนึกกำลังสังคมให้นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายภาคประชาชน และทำให้การเมืองตะหนักว่าการเมืองมวลชนตื่นตัวรู้เท่าทันในการเรียกร้องสิทธิที่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนอย่างแท้จริง" ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "หนังเรื่อง only god forgives แปล่าวมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ให้อภัย แปลว่ามนุษย์ไม่ ในหนังก็พูดแบบเดียวกัน ประเด็นของมันก็คือว่าในที่สุดแล้วคนซึ่งอย่าจะแก้แค้นก็ไม่ยอมให้อภัย ไม่ยอมคิดถึงเรื่องของการนิรโทษกรรม 2 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกันแต่ก็พันกันอยู่ ดังนั้นในหนังก็เลยอธิบายว่าในสังคมนี้ก็ไม่สามารถจัดการความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ยกเว้นต้องใช้ความรุนแรงด้วยกันเอง ดังนั้นมีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่จะให้อภัยได้" "ทำไมการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองในสังคมไทยจึงยาก ในสังคมไทยถ้ามองไป ผมคิดว่าถ้าดูจากพุทธประวัติ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าเทวทัต ที่สัมพันธ์กับพุทธองค์นี่ ในที่สุดแล้วทั้ง 2 ซึ่งเคยขอยกกรรมซึ่งเคยทำไว้ แม้แต่พระพทธองค์ก็ไม่สามารถที่จะยกกรรมที่พวกเขาทำไว้ได้ ในระบบของจักรวาลวิทยาแบบพุทธนี่การยกโทษจากกรรมการนิรโทษจากกรรมคงทำได้ยากกว่าในศาสนาอื่น" นิรโทษกรรมในภาษาฝรั่งใช้คำว่า "Amnesty" คำนี้เป็นญาติกับอีกคำหนึ่ง คำนั้นคือคำว่า "Amnesia" แปลว่าความหลงลืม ปัญหาอยู่ที่ว่าในสังคมต่างๆ ซึ่งถ้าจะคิดเรื่อการนิรโทษกรรมแล้วมันพันกับความหลงลืม บางที่กลายเป็นว่าจะต้อลืมบางอย่าง คำถามที่น่าสนใจในทางสังคมศาสตร์ก็คือว่า ความทรงจำเป็นเรื่องสำคัญ แต่วันนี้ก็คงจะเห็นว่าประเด็นเรื่องความทรงจำมันเปลี่ยนไป หลายสำนักคิดก็พูดว่าจริงๆการหลงลืมก็สำคัญพอกัน ดังนั้นการหลงลืมเป็นฐานของสังคมการเมืองได้ไหม ก็ได้นะครับ" "เวลาเราคิดเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เรากำลังพูดถึง ความแตกต่างในสังคม เรากำลังพูดถึงการจัดการคามแตกต่างในสังคม เรากำลังพูดถึงสังคมนี้ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการใช้ความรุนแรงจัดการกับความแตกต่างในสังคมการเมือง กับความคิดความอ่านทั้งหลาย พอทำไปแล้วปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วจะอยู่ต่อไปอย่างไร ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในชีวิตของทมนุษย์คือว่าเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งที่ตามมาก็คือมันแก้ไม่ได้ ชีวิตของคุณทั้งกลายที่เดินผ่านมาในอดีตมันกลับไปเปลี่ยนไม่ได้แล้ว คำถามเลยกลายเป็นว่าถ้ามันเปลี่ยนไม่ได้แล้วจะอยู่กับมันอย่างไร ด้วยเหตุนี้การคิดเรื่องการนิรโทษกรรม การคิดเรื่องการให้อภัย การคิดเรื่องวิธีการจัดการกับอดีตเลยกลายเป็นเรื่องสำคัญในทางสังคมการเมือง" "สังคมนี้ปล่อยให้มีโรคภัยบางอย่าง โรคภัยนี้คือการบอกว่าถ้าเราคิดต่างกันทางการเมืองคนนั้นเป็นอันตราย เราเชื่ออย่างนี้กันมาตลอด โรคภัยนี้นำมาสู่การจัดการคนซึ่งคิดต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะด้วยใช้ยี่ห้ออะไร แล้วในที่สุดจะกลายเป็นต้องปราบ จับกุม ทำร้าย ความทุกข์ทรมานก็เต็มไป ทางออกก็คือเราสงสัยต้องหาวิธีดิ้นให้หลุดจากกับดักทางประวัติศาสตร์ กับดักที่เราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเรา ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยต้องคิดถึงว่าในประเทศนี้มีความเห็นต่างจริงๆ แล้วมันอาจจะต้องคิดต่อไปว่าสิ่งซึ่งเราคิดว่าเป็นความเห็นทางการเมืองแท้จริงเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน" จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย "การนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนจำนวนมากในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นและเกิดขึ้นโดยง่ายก็เป็นการนิรโทษผู้ที่ทำรัฐประหาร นิรโทษตัวเอง นอกจากนั้นก็เป็นการนิรโทษผู้มีอำนาจด้วยกันเอง เช่นผู้ก่อกบฏและผู้ปราบได้ ไม่อยากให้ทะเลาะกันต่อไปก็นิรโทษกรรมกันไปเสีย เป็นการนิรโทษคนระดับสูงในสังคม ส่วนการนิรโทษที่นานๆ จะมีครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยและเกิดขึ้นได้ยากมากก็คิดการนิรโทษประชาชน ผู้ที่เป็นผู้ต้องหา ผู้ที่เป็นจำเลยหรือผู้ที่ถูกคุมจังทางการเมือง" "การนิรโทษกรรมเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ไม่ใช่ประชาชนกับรัฐบาล การปล่อยสภาพที่เป็นอยู่มันทำให้คนเผชิญหน้ากับรัฐ และความไม่เท่าเทียมกันมันก่อให้เกิดความโกรธแค้นต่อกันและกัน ไม่เท่าเทียมในการใช้กฎหมาย" "การนิรโทษเป็นการเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมแบบรวดเร็ว เนื่องจากเขาไม่มีฐานจากการต้องการใช้ความรุนแรงมาแต่ต้นอยู่แล้วด้วย" ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาวิทยาลัยแห่งชาติ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต "ปรองดองกันไม่ได้เมื่อความจริงยังไม่จบ เราทิ้งไว้ข้างหลังแล้วไม่หันกลับไปดู คุณพูดได้เพราะเขามีญาติผู้เสียชีวิต เขาลืมไม่ลง ความจริงต้องปรากฏก่อนที่เราจะเกินไหน้าไปข้างหน้า ดังนั้นตองมีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และนักโทษการเมืองต้องได้รับการพิจาณาคดีอย่างเป็นธรรม " "ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมชิกของประชาคมโลกก็มีพันธกรณีในการกป้องสิทธิมนุษยชนของตัวเอง ในอาเซียนมีสามประเทศที่เดินหน้าในเรื่องนี้อย่างมาก (อินโดนีเซีย, พม่า, กัมพูชา) ไทยก็ควรต้องแสดงให้เห็นว่าไทยปกป้องงสิทธิมนุษยชน อาเซียนเองก็มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และมีการพูดคุยกัยฝ่ายไทยขอให้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ไทยเองก็ได้รับแรงกดดดันจากประเทศอื่นเช่นสหภาพยุโรป เมื่อไหร่ที่มีการเจรจาก็จถถูกหยิบยกมาถกเสมอ เราจะเลื่อนการตัดสินใจเรื่องนี้ได้นานแค่ไหน" "ตอนนี้มู้ดทั้งหมดของคนทั่วไปอยู่ที่คนที่ถูกจับกุมจากการสลายการชุมนุม แต่คนที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันคือ 112 ซึ่งเป็นนักโทษการเมืองแบบหนึ่งและสะท้อนให้เห็นความผิดปกติของสังคมไทยเป็นอย่างมาก ที่ใช้มาตรานี้อย่างพร่ำเพรื่อ มากมาก ใช้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ใช้ปิดกปากคนทื่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันทางด้านการเมือง นอกจากนี้คนที่ถูกจับกุมไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ไม่ต้องพูดถึงกฎหมายที่อมนุษยธรรมมาก นี่เป็นประเทศที่บอกว่ารักสถาบันกษัตริย์ แต่มีกฎหมายที่โหดร้ายรุนแรงมากๆ และผมอายมากๆ ที่เป็นพลเมืองจากประเทศไทยที่ยังพูดอยู่ลอดเวลาว่าเราเป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เนื้อแท้ไม่ใช่" อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของ รางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63 "ผมพูดในฐานะคนสร้างภาพที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีกิจกรรมหลักคือการสร้างภาพ และเป็นประเทศที่ตอแหลใส่กันจนสร้างความลำบากแก่กันอย่างมาก เมื่อไหร่ที่ไทยจะเลิกตอแหลใส่กัน" "เราทุกคนตอแหลกันจนเป็นสันดาล และในการตอแหลของเราสร้างความลำบากให้พี่น้องประชาชนอีกมากมาย มันเหมือนน้ำที่หยดลงหิน สิ่งที่เราไม่อยากทำแต่เราต้องทำ จนทำให้สามัญสำนึกของเราสึกกร่อน นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกว่าสิ่งสำคัญที่หายไปจากชีวิตเราก็คือสามัญสำนึก" "เมื่อเรามาดูร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ที่เราคุยกัน ผมคิดว่าทุกฉบับยังมีความไม่ชัดเจน หรือไม่ก็ปัดความเกี่ยวข้องกับนักโทษคดี 112 ไปเลย โดยระบุว่าให้ขึ้นอยู่กับศาลจะตีความว่าเกี่ยวกับการขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ผมคิดว่าเราแสดงความขลาดและการเอาตัวรอดโดยหวังลมๆแล้งๆ ว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มนี้ พวกคุณคิดหรือว่าเขาจะให้ความเป็นธรรมกับนักโทษ 112 แน่นอนสำหรับผมคดีนี้เป็นการเมืองยิ่งกว่าการเมืองอีก" "รัฐได้กระทำอาชญากรรมทางความคิดแก่ประชาชน ในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมานี้ รัฐได้ประโหมประโคมเยินยอภาพลักษณ์ขงสถาบันกษัตริย์จนล้นปรี่ จนทำให้ตรรกะต่างๆ มันวิบัติ แล้วคุณไม่คิดหรือในเวลา 50 ปี จะมีสักกลุ่มคนหนึ่ง ที่พยายามดึงให้ตรรกะเข้ารูปเข้ารอย หรือแม้จะถามคำถาม แต่สิ่บที่รัฐทำกับคนพวกนี้ ก็คือการอ้างว่าละเมิด ปิดปาก จับเข้าคุก นี่คือความเสื่อมในสำนึกของรัฐอย่างหนึ่ง" "ผมอยากจะเห็นศาลที่เชิดชูการเห็นต่าง เราไม่จำเป็นต้องปรองดอง ตัวผมผมไม่อยากปรองดองกับใครเลย คือเราอยู่ด้วยกันได้ คุณมีสิทธิพูดเขียนทำหนัง จะเชิดชูฝักใฝ่พรรคการเมืองไหนคุณก็แสดงออกมาคุณต้องโชว์ออกมา แล้วเราไม่เห็นชอบร่วมกันก็ไม่ทำให้ชาติสลาย" "ที่ผ่านมานักโทษการเมืองเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากนักโทษการมเองที่เป็นเจ้า สมัยกบฎบวรเดช จนถึงนักศึกษา จนเป็นนักเขียน นักคิด จนถึงขณะนี้นักโทษการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน ผู้ซึ่งสำนึกแล้วว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง" "สังคมไทยมีอาการสามัญสำนึกเสื่อม เราอยู่ในประเทศไทยเหมือนตกนรก เราร่วมชะตากรรมและคนทั้งประเทศอยู่กับเรา ให้เราได้คิดว่าอะไรคือความเป็นไทย อะไรคือความเมตตาอย่างแท้จริง พรบ. นิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในการแก้ปมที่บรรพบุรุษและเราได้สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะบีบรัดกันและกัน เราต้องสร้างรัฐที่เคารพความเป็นคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเชื่อสิ่งใดก็ตาม และเมื่อนั้นเราจะได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง" อภินันท์ บัวหภักดี นักเขียน-ช่างภาพ อนุสาร อสท. อดีตนักโทษการเมืองจาก ม.112 สมัย 6 ต.ค.19 "ในการทำสงครามสมัยก่อนถ้าแฟร์ๆกันจริงๆ หัวหน้าต่อหัวหน้าเขาก็มาสู้กัน เขาไม่ปล่อยให้ลูกน้องเป็นอะไร หวัหน้าต่อหัวหน้ามาฟันกันเลย เพราะฉะนั้นบรรดาหญ้าแพรกทั้งหลายปล่อยเขาไปเถอะครับ ช้างสารชนกันก็ให้ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็ปล่อยเขาไปเถอะครับ" วาสนา มาบุษย์ มารดาของนักโทษการเมือง นส.ปัทมา มูลมิล "ตลอดสามปีไม่เคยได้รับความเป็นธรรม ไม่เคยได้รับการประกันตัว ศาลก็ไม่เคยไต่สวนว่าลูกสาวทำผิดอะไร ตำรวจ ก็จับตามสำนวน อยากขอร้องผู้มีอำนาจให้ปล่อยลูกสาวดิฉันด้วย" สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะแกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลและกลุ่ม 29 ม.ค.หมื่นปลดปล่อย "การนิรโทษกรรมไม่มีรายละเอียดมากมายที่เราจะต้องมาถกเถียง มีแค่หัวใจของคุณที่เป็นมนุษย์คนหนี่งก็พอแล้วค่ะ" "ภาพของการจับกุมที่ใช้เจ้าหน้าที่ทหารแทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามภาวะปกติ เป็นต้นทางของความอยุติธรรมทั้งปวง เราคงไม่ต้องบอกว่าทำไมเราถึงเรียกร้องการนิรโทษกรรม เมื่อต้นทางมันไม่เคยเป็นธรรม" "การปล่อยนักโทษการเมืองไม่เพียงแค่คืนความเป็นธรรมให้กับพวกเขา นักสู้ที่มีความปราถนาดีต่อประเทศชาติเท่านั้น แต่มันกำลังจะเป็นก้าวแรกของสังคมไทยที่จะสามารถร่วมมือกันได้ในทุกๆฝ่าย จะเป็นก้าวแรกของการปรองดองที่จะทำให้สังคมไทยกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกครั้ง" ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา "มีเหตุผลอยู่ร้อยแปดพันเก้า แต่สุดท้ายแล้วประมวลได้เหตุผลเดียวเท่านั้นคือ ความอยุติธรรม ความอยุติธรรมปรากฏตั้งแต่เรื่องการนิรโทษกรรมในเมืองไทยที่หลายครั้งเป็นการนริโทษกรรมให้กับผู้ก่อรัฐประหาร เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ก่อความขัดแย้งกันเอง ผู้มีอำนาจกันเอง มันสะท้อนว่ามีชนชั้นคนที่ไม่เท่ากันในสังคม เมื่อไหร่ทีเป็นความขัดแย่งในหมู่ชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจกันเองเขานิรโทษกรรมกันเองง่ายเหลือเกิน โดยเฉพาะการก่อรัฐประหารทีเป็นความผิดฐานกบฏ เป็นความผิดที่ลบล้างกันได้ แต่ถ้าคุณเกิดผิดชนชั้นการะทำการกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ตอบโต้ความอยุตธิรรมของรัฐ คุณถูกจับดำเนินความผิด การลบล้างนั้นยากเหลือเกิน" "การดำรงอยู่ของกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างทีผ่านมาก็สะท้อนภาพสังคมคือความอยุติธรรมเหล่านี้เป็นพื้นฐาน การกระทำใดๆ ที่จะได้รับนิรโทษกรรมนั้นขึ้นกับชนชั้น ความอยุตธิรรมประการที่สองที่สำคัญมาก คือกระบวนการยุติธรรม แต่ทุกวันนี้เราน่าจะพูดกันชัดๆ ว่ากระบวนการยุติธรรมอันไม่เที่ยงธรรมซึ่งคือกระบวนกรรอยุติธรรม" "ปัญหานักโทษการเมืองหรือการนิรโทษกรรมมีหลักง่ายๆ คือเมื่อไหร่มีนักโทษการเมือง ควรจะปล่อย เพราะในประเทศอารยะ ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าอยากให้เชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ควรมีนักโทษการเมือง ถ้าหากรัฐบาลนี้ยอมรับหรือรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ยอมรับว่ามีนักโทษการเมืองก็ต้องปล่อย เพราประเทศที่ต้องการจะเป็นประชาธิปไตยไม่ต้องมีนักโทษการเมือง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการลงโทษคนอันเนื่องมารจากเหตุผลทางการเมืองหรือคาวมคิดที่แตกต่างกัน ถ้าต้องการเป็นประเทศอารยะ ถ้าพยายามจะเป็นประชาธิปไตย คำตอบคือปล่อยทันที เพราะคนเหล่านี้ไม่มีความผิด" "ทำไมในต่างประเทศจึงสนใจคดี 112 มองเป็นเลนส์ในการมทองประเทศไทยเพราะต้องการดูว่าประเทศไทยจะสามารถลบล้างความป่าเถื่อนที่ดำรงอยู่ได้หรือเปล่า คุณอาจจะด่าว่าเขาไม่เข้าใจความเป็นไทย ผมคิดว่าเขาไม่สนใจ เขามองว่าประเทศไทยยังป่าเถื่อนอยู่" "ถ้ากระบวนการยุติธรรมทีเป็นธรรมมีอยู่จริง เราไม่ต้องกลัว แต่เพราะกระบวนการมันไม่ยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมเชื่อถือไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นที่พึ่งกุญแจอยู่ตรงนี้ กระบวนการยติธรรมที่คนดำเนินไปและจัดการได้ แต่เราเห้นอยู่ว่กระบวนกรยติธรรมในประเทศไทยเป็นอย่างไร เอื้ออำนวยให้ผ็มีอำนาจ เอื้ออำนวยให้ชนชั้นหนึ่ง แม้แต่คนที่ตอบโต้กับการกระทำของรัฐที่ไม่ยุติธรรม ก็ยากเหลือเกินที่จะเคลียร์ความผิดให้คนเหล่านี้" "ตุลาการของไทยยึดฝ่าย ยึดอำนาจ ยึดว่าตัวเองเป็นตุลาการของพระราชา แต่ต้องยึดหลักเดียวคือหลักยุติธรรม ความเที่ยงธรรม แต่กรณีที่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคง ตุลาการของไทยยึดหลักเข้าข้างอำนาจ นี่เป็นมาตลอดก่อนยุคเสื้อแดงหลายทศวรรษแล้ว ตัวอย่างง่ายๆ ที่นานาชาติไม่เข้าใจคือการไม่ยอมให้ประกันตัว นี่เป็นเรื่องแสนสามัญ เรื่อวที่สุดแสนจะเบื้องต้น แต่การไม่ให้ประกันไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดกับเสื้อแดง" "คนเหล่านี้ไม่ควรอยู่ในคุกอยู่แล้ว ถ้าหากมองย้อนกลับมา การนิรโทษกรรมที่ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นคือการคืนสามัญสำนึกกลับสู่สภาวะที่ควรจะเป็น คือการคืนความยุติธรรม ไม่ใช่การลบล้างความผิดให้แก่ผู้ชุมนุม" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘อุทัย’ วอนถอน กม.นิรโทษฯ เลี่ยงปะทะ ขอผู้มีอำนาจเร่งช่วยเหลือง-แดงพ้นคุก Posted: 30 Jul 2013 01:35 AM PDT นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก วอนให้ถอนร่างกฎหมายปรองดอง-นิรโทษกรรม หวั่นคนไทยปะทะกัน ขอผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเร่งช่วยทั้งพันธมิตรฯ และ นปช.ออกจากคุก 30 ก.ค.56 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรื่องความปรองดองแห่งชาติส่งถึงประชาชน ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษา และตุลาการ มีใจความโดยสรุปว่า ในฐานะทำงานการเมืองมานาน มีความห่วงใยกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันอย่างยิ่งที่ประชาชนและผู้มีอำนาจทั้งหลายในแผ่นดิน กำลังสับสนในเรื่องของความสามัคคี เสนอกฎหมายในลักษณะ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ หรือพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหตุการณ์ความผิดทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2549 ถึงปัจจุบัน ผมเห็นว่าแทนที่จะก่อให้เกิดความปรองดอง หรือความสามัคคีของคนในชาติ กลับจะทำให้ความแตกแยกขยายวงความรุนแรง จนอาจเกิดความไม่สงบที่ยากจะเยียวยาได้ ซึ่งเริ่มตั้งเค้าต่อต้านการเสนอกฎหมายทั้ง 2 รูปแบบ หากพิจารณาให้ดีและมองเรื่องนี้อย่างไตร่ตรองแล้ว จะเห็นว่าเรื่องที่เสนอนี้ไม่มีความจำเป็นเลย เพราะมองว่าสังคมปัจจุบันเป็นปกติอยู่แล้ว กระบวนการยุติธรรมต้องอย่าเช้าชามเย็นชาม เอาคดีเหล่านี้มาเป็นคดีสำคัญของสังคม เมื่อเขาขอประกันก็ควรใช้ดุลยพินิจให้ประกันทันที โดยไม่ต้องเรียกหลักทรัพย์ อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ ไม่ใช่อาชญากร หากผิดกฎหมายก็ว่าไปตามความเหมาะสมของโทษและการกระทำ อย่างนี้บ้านเมืองจึงจะได้ชื่อว่ามีขื่อมีแปและการเมืองภาคประชาชนก็จะเข้มแข็ง ความแตกแยกที่ตั้งเค้าอยู่จะได้สลายไป อย่าทำแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่าเลย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โสภณ พรโชคชัย: ไฮไลท์อสังหาริมทรัพย์นานาชาติ Posted: 30 Jul 2013 12:55 AM PDT วันนี้ขอฉายภาพหลายกรณีศึกษาอสั ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่สำรวจ เพิ่มขึ้น 0.7% และเดือนเมษายน ก็เพิ่มขึ้น 0.5% ทั้งนี้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื อาจกล่าวได้ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พฤษภาคม 2555-2556 ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 7.3% ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาบ้ การตกต่ำของราคาบ้านในสหรั โดยที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริ
การล้มละลายของนครดีทรอยต์ ไม่กี่วันที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ลงข่าวกันพอสมควรถึ นครแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2353 หรือ 202 ปีก่อน มีอายุน้อยกว่ากรุงเทพมหานครเล็ กรุงเทพมหานครที่เคยได้ชื่อว่
ท่าเรือน้ำลึกจาฮอร์ พอดีเร็ว ๆ นี้ผมมีคิวไปบรรยายในการสั ขนาดของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ใหญ่ มาเลเซียลงทุนเต็มที่ ชวนบริษัทเดินเรืออันดับหนึ่
อ่างเก็บน้ำจืดปากแม่น้ำสิ ในที่นี้หมายถึง the Marina Reservoir ซึ่งเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำสิ ลองนึกถึงประเทศไทย หากปิดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปากอ่ ทุกวันนี้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ อย่าลืมเอาเยี่ยงกา แต่ใช้ต้องเอาอย่างกาไปเสียทุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น