โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘คนปากมูน’ เข้ากรุงอีก! ถกร่วม ‘วราเทพ’ แก้ปัญหา หลังเจอโรคเลื่อนซ้ำซาก

Posted: 11 Jul 2013 02:49 PM PDT

ชาวบ้านปากมูนเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ ร่วมประชุมกับ 'วราเทพ' แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล หลังเลื่อนประชุมซ้ำซาก เจรจาขออนุเคราะห์รถไฟฟรีไม่เป็นผลต้องระดมเงินจ่ายค่าเดินทางรถไฟ เลี่ยงซ้ำรอยการเดิมทางรอบเก่า
 
 
วันที่ 11 ก.ค. 56 ชาวบ้านที่ได้รับกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เดินทางด้วยรถไฟมายังกรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 หลังจากเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมาชาวบ้านเข้ามาติดตามความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
 
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งนายวราเทพ รัตนากร  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลเรื่องการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปากมูล และนัดประชุมในวันที่ 10 ก.ค.นี้ จากนั้นได้มีการแจ้งเลื่อนเป็นวันที่ 11 ก.ค.และล่าสุดทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า นายวราเทพ ขอเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 12 ก.ค.เวลา 13.30 น.ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานลำดับสถานการณ์การเคลื่อนไหวของปากมูล ณ สถานีรถไฟวารินชำราบ จ.อุบลราชธานีว่า เวลา 14.30 น.ชาวบ้านปากมูน เริ่มทยอยมาถึงสถานีรถไฟอุบลราชธานี ขณะได้ส่งตัวแทนเข้าไปประสานงานเรื่องการเดินทาง แต่นายสถานีรถไฟและเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่อยู่ในที่ทำงาน ต่อมาชาวบ้านเริ่มทยอยเดินทางไปที่ที่ทำการนายสถานีรถไฟอุบล โดยมีตัวแทน 10 คนเข้าไปประสานงานกับผู้บริหารสถานีรถไฟอุบลฯ
 

เวลา 15.30 น.การเจรจาขออนุเคราะห์รถไฟฟรี ไม่เป็นผล ชาวบ้านปรึกษาหารือกันว่าอาจเป็นต้องใช้อาระยะขัดขืน กระทั่งเวลา 18.20 น. ชาวบ้านปากมูน ตัดสินใจปิดทางเดินรถไฟ ห้ามไม่ให้รถไฟออกแม้แต่ขบวนเดียว
 

 
ต่อมาเมื่อเวลา 19.45 น.ตัวแทนชาวบ้านปากมูนได้เจรจากับทางนายสถานีรถไฟอุบล โดยตกลงกันได้ว่าทางรถไฟจะจัดให้ 3 โบกี้ โดยชาวบ้านระดมเงินจ่ายบางส่วน โดยขบวนรถไฟจะออกจากสถานีเวลา 20.45 น.และคาดว่าจะถึงกรุงเทพเวลาประมาณ 08.30 น.และชาวบ้านปากมูนจะลงรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน จากนั้นจะตั้งขบวนเพื่อมุ่งหน้าไปยังที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กะเหรี่ยงเมืองกาญจน์ร่วมเคลื่อนนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

Posted: 11 Jul 2013 01:39 PM PDT

ทบทวน แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่จะมีอายุครบ 3 ปีในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า เตรียมรับประชุมเพื่อจัดทำแผนงานระดับชาติ ของชาวกะเหรี่ยงจาก 15 จังหวัดทั่วประเทศ 16-18 ส.ค.นี้
<--break->
 
วันที่ 11 ก.ค.56 ชาวกะเหรี่ยงจำนวนกว่า 100 คนจากทั่วจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ถือเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการรับฟังความคิดเห็นและติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
 
นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาฯ กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตลอดจนสถานการณ์ปัญหาสิทธิสถานะบุคคลของชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นภารกิจที่ทางจังหวัดกำลังเร่งแก้ไขต่อไป
 
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ชี้แจงถึงแนวนโยบายและหลักปฏิบัติของรัฐในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชาวกะเหรี่ยงทั้งส่วนของการนำเสนอประเด็นปัญหาของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย
 
นายสุรพงษ์ ให้ข้อมูลว่า แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงนี้ได้ประกาศใช้มานานพอสมควรแล้ว และจะมีอายุครบ 3 ปีในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงจะต้องช่วยกันติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปเพียงใด ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงถูกแก้ไขไปอย่างไรบ้าง โดยจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดโดยผ่านกลไกคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จังหวัดกาญจนบุรี
 
นอกจากนี้ในวันที่ 16-18 ส.ค.56 จะมีการประชุมเพื่อจัดทำแผนงานระดับชาติเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยจะเปิดพื้นที่ให้พี่น้องกะเหรี่ยงจาก 15 จังหวัดทั่วประเทศไทยได้มาพบปะ และระดมความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนประเด็นของชาวกะเหรี่ยง อาทิ เช่น ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากร ปัญหาเรื่องการศึกษา เพื่อผลักดันให้เป็นวาระของชาติ
 
นายสุรพงษ์เน้นย้ำด้วยว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ชาวกะเหรี่ยงก็คือคนไทย วัฒนธรรมกะเหรี่ยงก็คือวัฒนธรรมไทย ดังนั้นสังคมไทยจำเป็นจะต้องเปิดกว้างให้ชาวกะเหรี่ยงได้มีพื้นที่สืบทอดอัตลักษณ์ของตน และชาวกะเหรี่ยงจะต้องร่วมแรงร่วมใจแสดงพลังของพวกเราให้ปรากฏ ซึ่งพลังของชาวกะเหรี่ยงนี้เองที่จะแก้ไขปัญหาของชาวกะเหรี่ยงได้
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Posted: 11 Jul 2013 12:22 PM PDT

"..ยังไม่ถึงจุดสุดท้ายที่จะตายกันทั้งประเทศ ดังนั้นต้องดึงกลับมาและแก้ไขกันทีละเรื่อง ถ้าส่งเสริมให้ทุกคนกลับมาแก้ปัญหาได้ในแต่ละปัญหา เดี๋ยวก็แก้ได้ แต่ถ้าเรียกทหารออกมา ถือว่าแก้ปัญหาด้วยยาแรงอันเดียว ผมว่าบางทีมันแก้ไม่ได้ เพราะตอนนี้โรคเยอะ และเกิดขึ้นหลายโรค" 

11 ก.ค.56, ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ออกมารัฐประหาร

Asean Weekly : นโยบายต่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียน

Posted: 11 Jul 2013 11:12 AM PDT

รายการอาเซียนวีคลีย์สัปดาห์นี้ เสนอเรื่องราวของนโยบายต่างประเทศของไทยในมิติความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา มาชมการวิเคราะห์ถึงรูปแบบ วิธีการ รวมถึงการปรับตัวของนโยบายต่างประเทศของไทยกับบริบทสังคมการเมืองในภูมิภาคและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 พบกับ อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ ผู้สื่อข่าวประชาไท

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์การอาหารโลกเผยสถานการณ์โลกผลิตข้าวสูงขึ้น 2%

Posted: 11 Jul 2013 08:57 AM PDT

ชี้จีนนำเข้าข้าวมากสุด ในขณะที่ทั่วโลกผลิตธัญพืชสูงขึ้น 7.2% ชี้ไทยยังมีศักยภาพเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ได้ถ้าปรับราคาให้แข่งขันได้และคงคุณภาพข้าว ระบุไม่ทราบเรื่องสารหนูปนเปื้อนข้าวในลุ่มแม่น้ำโขง
 
11 ก.ค. 56 - ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย องค์การอาหารและอนามัยโลก (FAO) แถลงสถานการณ์อาหารโดยเฉพาะธัญพืชและข้าวทั่วโลกประจำปี 2012/1013 เผยการผลิตธัญพืชทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดที่เคยบันทึกสถิติ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 จากปีก่อน โดยการผลิตข้าวทั่วโลกและในเอเชียโตขึ้นร้อยละ 2 โดยอินเดีย เวียดนาม และไทย เป็นผู้ส่งออกข้าวสูงสุดสามอันดับของโลก ในขณะที่การส่งออกของเวียดนามและกัมพูชาลดลงจากเดิม
 

ตัวแทนจากองค์การอาหารและอนามัยโลก นายราเมช ชาร์มา (ซ้ายสุด) และนายฮิโรยูกิ โคนุมา (กลาง)
 
รายงานเรื่องสถานการณ์พืชและอาหารประจำเดือนก.ค. ของ FAO ชี้ว่า ทั้งยอดการส่งออกและนำเข้าธัญพืชในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าธัญพืชสูงขึ้นร้อยละ 6 จากการนำเข้าแป้งข้าวโพดในประเทศจีนที่สูงจากปีก่อนสองเท่าตัว อย่างไรก็ตาม การนำเข้าข้าวในภูมิภาคนี้คาดว่าจะลดลง เนื่องจากการผลิตสินค้าภายในประเทศหลักๆ เช่น อินโดนีเซีย จีน และเกาหลีปรับปรุงดีขึ้น 
 
นายราเมช ชาร์มา นักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายขององค์การอาหารโลก กล่าวถึงแนวโน้มที่สำคัญว่า จีนได้กลายเป็นผู้นำข้าวที่ใหญ่ที่สุด โดยนำเข้าข้าวสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 3 ล้านตัน นับว่าสูงสุดที่เคยบันทึกไว้
 
ส่วนการส่งออกธัญพืชในภูมิภาคเอเชีย เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 7 จากการส่งออกข้าวจากประเทศไทย (คิดเป็นร้อยละ 20) และข้าวสาลีจากอินเดีย (ราวร้อยละ 6) ส่วนการส่งออกข้าวอย่างเดียวในภูมิภาคนี้ ยังเฉลี่ยเท่าเดิมจากปีที่แล้ว โดยอินเดียและเวียดนามส่งออกข้าวลดลง ในขณะที่ไทยส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 17 จากปีที่แล้ว คิดเป็นราว 8.2 ล้านตัน 
 
สำหรับราคาข้าวในเอเชีย มีหลายแนวโน้มปนกันไป ในจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ยังคงเท่าเดิม ส่วนในประเทศอื่นลดลง เนื่องจากอุปทานที่มีสูงขึ้น และราคาข้าวที่ลดลงจากการกำหนดของผู้ส่งออกข้าวหลักๆ อย่างไทยและเวียดนาม ส่วนราคาข้าวในบังกลาเทศ อินเดีย และพม่าสูงขึ้น โดยเฉพาะพม่านั้นสูงขึ้นที่สุดที่ในสถิติ เนื่องจากโครงการจัดหาข้าวของรัฐบาลหรือระบบโควตา และการส่งออกที่สูงขึ้นด้วย 
 
ส่วนเรื่องที่มีข่าวการปนเปื้อนสารเคมีในข้าวไทยจนทำให้ต่างชาติกักกันข้าวไทยนั้น นายฮิโรยูกิ โคนุมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอาหารและอนามัยโลกเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า อาจเกิดขึ้นได้กับบริษัทเอกชนบางแห่งที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาล แต่เชื่อว่าข้าวที่ผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลจะยังคงรักษาคุณภาพไว้ นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า ไทยยังมีศักยภาพที่จะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกได้ หากลดราคาข้าวให้สามารถแข่งขันกับข้าวประเทศอื่นได้ และรักษาคุณภาพข้าวซึ่งยังเป็นจุดเด่นของข้าวไทย 
 
นอกจากนี้ ต่อเรื่องที่มีข่าวว่าสารหนูซึ่งปนเปื้อนข้าวในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง นายฮิโรยูกิกล่าวว่าทางองค์การอาหารโลกไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. แจงลดค่าบริการ 15% เฉพาะ 3G ใหม่เท่านั้น

Posted: 11 Jul 2013 08:38 AM PDT

(11 ก.ค.56) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้บริโภคร้องเรียนค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 2.1 GHz (อัตราค่าบริการ 3G ใหม่) ที่ให้ปรับลดลง 15% ตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม หมวด 3 เงื่อนไขเฉพาะสำหรับผู้รับใบอนุญาต ภาคผนวก ก ข้อ 7.5 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยในการเปิดให้บริการผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต (วันที่ 7 ธันวาคม 2555)

ฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้ตรวจสอบไปยังผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค พบว่า ปัจจุบัน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) มีเลขหมายในระบบ 40 ล้านเลขหมาย ขณะนี้มีเลขหมายที่ย้ายไปบริษัท ในเครือ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่าย ย่าน 2.1 GHz (3G ใหม่) เพียง 2 ล้านเลขหมายเท่านั้น ส่วนบริษัทลูกของ ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่ายย่าน 2.1 GHz (3G ใหม่) คือ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) มีจำนวนเลขหมายที่ย้ายมาใช้บริการเพียง 1,000 กว่าเลขหมายเท่านั้น จากทั้งหมด 18 ล้านเลขหมายที่เป็นผู้ใช้บริการของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท เรียลมูฟ จำกัด ส่วนบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่ายย่าน 2.1 GHz (3G ใหม่) ในเครือบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) แจ้งว่าจะให้บริการเชิงพาณิชย์ช่วงเดือนกรกฎาคม 2556

ฐากร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภคยังคงไม่เข้าใจ ว่าเหตุใดค่าบริการในระบบ 3G ยังไม่ปรับลดลง 15% ตามที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ ข้อเท็จจริงคือ การปรับลดค่าบริการนั้นจะปรับลดให้เฉพาะผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ใหม่ บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เท่านั้น ดังนั้นผู้บริโภคที่ใช้บริการ 2G หรือ 3G ในสัมปทานเดิมของ AIS บนคลื่นความถี่ 900 MHz และทางทรูมูฟ บนคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ก็จะไม่ได้รับส่วนลดในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับลดค่าบริการในระบบเดิมลงได้บ้างซึ่งก็จะต้องดูกลไกตลาดต่อไป

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคท่านใดไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการปรับลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 2.1 GHz (3G ใหม่) หรือปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์ สามารถร้องเรียนมาได้ที่ คอลเซ็นเตอร์ สำนักงาน กสทช. 1200 หรือ SMS 1200 หรือ เว็บไซต์สำนักงาน กสทช.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ.ผลิตน้ำตาลในกัมพูชาถูกฟ้องเรื่องไล่ที่ชาวบ้าน-ใช้แรงงานเด็ก

Posted: 11 Jul 2013 07:39 AM PDT

ชาวกัมพูชา 200 ครอบครัวยื่นฟ้องบริษัท Tate & Lyle ต่อศาลสูงในกรุงลอนดอน โดยกล่าวหาว่าบริษัท KSL ของไทยที่ตั้งอยู่ในกัมพูชา ผู้ผลิตวัตถุดิบน้ำตาลให้กับบริษัท Tate & Lyle ได้ร่วมกระทำผิดกับรัฐบาลกัมพูชาในการไล่ที่ ทำร้ายชาวบ้าน และมีการใช้แรงงานเด็ก

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2556 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนของอังกฤษ รายงานข่าวกรณีบริษัทผู้ผลิตในกัมพูชาที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบน้ำตาลให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ Tate & Lyle ของอังกฤษ ถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานเด็ก รวมถึงยึดเวนคืนที่ดินจากท้องถิ่น รวมถึงใช้ความรุนแรงต่อผู้คนในท้องถิ่น

บริษัท Tate & Lyle ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปและจัดจำหน่ายน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป โดยน้ำตาลของบริษัทถูกใช้ในอาหารหลากหลายชนิดทั่วโลก ได้อาศัยน้ำตาลจากผู้ผลิตคือเครือข่ายธุรกิจของเคเอสแอล (KSL Group) ของไทยที่ตั้งอยู่ในกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2554 อย่างไรก็ตาม KSL ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาในการไล่ที่ประชาชน การก่อเหตุวางเพลิง และโจรกรรม

ชาวบ้านให้สัมภาษณ์เดอะการ์เดียนว่า พวกเขาถูกทำลายทรัพย์สินและถูกยึดที่ดิน พวกเขากล่าวอีกว่าพวกเขาถูกทำร้ายร่างกายและมีคนหนึ่งที่ถูกสังหารในช่วงที่มีการรื้อถอนที่ดินเพื่อการเพาะปลูก เดอะการ์เดียนเปิดเผยอีกว่าบริษัท KSL ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำสุด 9 ปี ในการทำงานเพาะปลูก

ข้อกล่าวหาเหล่านี้ชวนให้ตั้งคำถามต่อบริษัท Tate & Lyle ในเรื่องเชิงจรรยาบรรณของผู้จัดจำหน่ายน้ำตาล แบบเดียวกับที่เคยมีการตั้งคำถามและการตรวจสอบกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมอัญมณี

ชาวกัมพูชาราว 200 ครอบครัวได้ยื่นฟ้องร้องบริษัท Tate & Lyle ต่อศาลสูงในกรุงลอนดอน ซึ่งครอบครัวเหล่านั้นอ้างว่าทางบริษัทรู้ หรือควรจะรู้ถึงข้อกล่าวหาของบริษัทผู้ผลิต และเรียกร้องให้มีการชดเชยพวกเขาตามมูลค่าต้นอ้อยที่ปลูกบนที่ดินซึ่งน่าจะยังเป็นของพวกเขา

ผู้ที่สูญเสียที่ดินไปบอกว่าพวกเขาถูกบังคับให้ทำงานเพาะปลูก และได้รับค่าจ้างเพียงน้อยนิดต่อวันแลกกับการตัดต้นอ้อยกว่า 1,000 ต้น เพื่อให้ได้อ้อยที่เป็นผลผลิต

กลุ่มนักกิจกรรมกล่าวว่า พื้นที่ราว 100,000 เฮกตาร์ (ราว 625,000 ไร่) ในสามจังหวัดถูกรื้อถางเพื่อทำเป็นไร่อ้อยตั้งแต่ปี 2549 โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการยึดมาจากชาวนาที่เพาะปลูกเพื่อยังชีพ

เจีย โซก อายุ 38 ปีหนึ่งในชาวบ้านที่ยื่นฟ้องเรื่องที่ดินกล่าวว่า เขาต้องให้ลูกออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานในไร่หลังจากที่ดินของพวกเขาถูกยึดไป เพราะพวกเขาไม่มีอะไรกิน "พวกเราเสียที่ดินไป 5 เฮกตาร์ (ราว 30 ไร่) สูญเสียรายได้ไปประมาณ 2,500 ดอลลาร์ (ราว 78,000 บาท) และไม่ได้รับการชดเชยใดๆ ไม่มีแม้เงินสักเรียล"

เดอะการ์เดียน ระบุว่า Tate & Lyle พอใจกับการจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีซึ่งเป็นบุคคลที่สามในการตรวจสอบ KSL ในเรื่องทางกฎหมาย จรรยาบรรณ และมาตรฐานของอสังหาริมทรัพย์ โดยพวกเขาเชื่อว่าการดำเนินการซื้อขายที่ดินเป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการและมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน และน้ำตาลที่พวกเขาซื้อได้มาโดยปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามทาง Tate & Lyle ก็บอกว่าพวกเขาพร้อมจะยกเลิกสัญญากับ KSL ถ้าหากพบว่าผู้ผลิตกระทำผิดจริงไม่ว่าข้อหาใดๆ ก็ตาม

ขณะที่ทาง KSL ยังไม่ได้กล่าวแสดงความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้




แปลและเรียบเรียงจาก
Tate & Lyle sugar supplier accused over child labour, The Guardian, 09-07-2013
http://www.guardian.co.uk/business/2013/jul/09/tate-lyle-sugar-child-labour-accusation

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลพม่ารับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง

Posted: 11 Jul 2013 06:46 AM PDT

ยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ารับรองสัญชาติแก่ชาวโรฮิงญากว่า 8 แสนคนในประเทศ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลพม่ายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายบัน คี มูน เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดประชุมที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีทูตจากออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย นอร์เวย์ รัสเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และไทย เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางยุติความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายร้อยราย และผู้พลัดถิ่นราว 140,000 คน โดยนายบันเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ารับรองสัญชาติชาวโรฮิงญากว่า 800,000 คน ในฐานะพลเมืองของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับประชาชนเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์อื่นๆ อีก 60 ล้านคนในพม่า

ขณะที่นายอับดุลเลาะห์ ยะห์ยา อัล-มูอัลเลมี ทูตซาอุดีอาระเบียประจำยูเอ็น และนายโรเบิล โอลฮาเย ผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือศาสนาอิสลาม (โอไอซี) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วย เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในประเทศ รวมถึงยกเลิกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพชาวโรฮิงญา เช่น กฎควบคุมจำนวนบุตรชาวโรฮิงญาไม่ให้มีเกินครอบครัวละ 1 คน โดยระบุว่าหากพม่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ก็ถือว่าล้มเหลวด้านการปฏิรูปการปกครอง ส่วนทูตพม่าประจำยูเอ็นปฏิเสธเข้าร่วมการประชุมและงดแสดงความคิดเห็น 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารพม่า-ว้าตึงเครียดอีก เสริมกำลังเผชิญหน้าในเขตเมืองสาด ภาคตะวันออกรัฐฉาน

Posted: 11 Jul 2013 05:18 AM PDT

วันนี้ (11 ก.ค.56) มีรายงานว่า สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพว้า (UWSA) เขตพื้นที่ควบคุม 171 ตึงเครียดอีกบริเวณดอยป่าเก่ ในเขตพื้นที่เมืองสาด ทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน โดยทั้งสองฝ่ายต่างเพิ่มกำลังทหารไปในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่พลโทเจ้ายอดศึกปฏิเสธจะไม่ช่วยกองทัพพม่ารบกองทัพว้า

เหตุการณ์ความตึงเครียดครั้งนี้มีสาเหตุมาจากกองทัพพม่าพยายามที่จะเข้าไปเคลื่อนไหวใกล้กับบริเวณดอยเก่ ซึ่งอยู่ในเขตควบคุมของกองทัพว้า โดยต่อมา ว้าได้ส่งกำลังไปบริเวณดอยป่าเก่ เพื่อล้อมทหารพม่าไว้ มีรายงานว่า ทางกองทัพพม่าเองก็ได้ส่งกำลังไปล้อมทหารว้า และทหารว้าก็พยายามล้อมทหารพม่าอีก จนถึงขณะนี้ทั้งสองฝ่ายต่างล้อมอีกฝ่ายไว้และสถานการณ์ยังตึงเครียด

ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ไม่กล้าเดินทางในช่วงนี้ โดยรถของประชาชนที่เคยสัญจรระหว่างเมืองท่าขี้เหล็กและเมืองสาด 50 -100 คันต่อวัน ขณะนี้เหลือเพียง 20 คันต่อวันเท่านั้น และมีรายงานว่า การหารือระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพว้าได้เลื่อนไปเป็นวันที่ 12 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทางด้านแหล่งข่าวในเมืองโต๋นระบุว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า การหารือระหว่างทั้งสองฝ่ายจะเกิดขึ้นหรือไม่

อีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่า นับตั้งแต่สภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) นำโดย พล.ท.ยอดศึก เดินทางไปพบหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพม่า ทางกองทัพว้าเชื่อว่า ทหารไทใหญ่จะร่วมมือกับกองทัพพม่าหันมารบกับกองทัพว้า

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางพลโทเจ้ายอดศึก เปิดเผยว่า ไม่มีความคิดที่จะแก้ปัญหาการเมืองโดยใช้การทหาร โดยระบุต้องการใช้แนวทางสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาการเมือง และยิ่งไม่มีแนวคิดที่จะร่วมมือกับกองทัพพม่ามารบกองทัพว้าแต่อย่างใด

ทางด้านเจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งของ RCSS/SSA กล่าวว่า "นับตั้งแต่ปี 2532 กองทัพว้าได้ร่วมมือกับกองทัพพม่ารบกับทหารไทใหญ่ RCSS/SSA อยู่หลายครั้ง ดังนั้นกองทัพว้าอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ทางไทใหญ่จะใช้วิธีแบบเดียวกับว้า ซึ่งปัญหาระหว่างไทใหญ่และว้าที่ผ่านมา ทางไทใหญ่ไม่เคยคิดติดใจแต่อย่างใด"

 

ที่มา: "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช. ดึง 'วิทยุชุมชน' ร่วมสร้างเครือข่ายมีส่วนร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพในท้องถิ่น

Posted: 11 Jul 2013 04:45 AM PDT

สปสช.ประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายสื่อวิทยุชุมชนจากทั่วประเทศเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ เผยวิทยุชุมชนใกล้ชิดชาวบ้าน เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะการสื่อสารเพื่อให้ความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่หลักประกันสุขภาพ

(11 ก.ค.56) ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ กทม. นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ แกนนำสื่อวิทยุเพื่อการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหลักประกันสุขภาพทางสื่อวิทยุ และสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่ายวิทยุชุมชน

นพ.วีระวัฒน์ กล่าวว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ในระบบหลักประกันสุขภาพ มีความสำคัญต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนและความเชื่อมั่นต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งสื่อวิทยุถือเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายนักสื่อสารชุมชน สื่อวิทยุในพื้นที่ และนักจัดรายการวิทยุของ ธกส. ถือเป็นสื่อบุคคลที่ใกล้ชิดชุมชนและสามารถแปลงรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพให้เข้าใจง่ายและเป็นที่น่าสนใจ ทำให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจสิทธิหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจุดนี้สะท้อนว่าสื่อวิทยุชุมชนร่วมเป็นเจ้าของหลักประกันสุขภาพและขับเคลื่อนพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกับทุกภาคส่วนต่อไป

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวในการเสวนาเรื่อง ปฏิรูปสื่อวิทยุ เพื่อสร้างสุขภาวะในชุมชน ว่า การเกิดวิทยุชุมชนแรกๆ เป็นความหวังที่ดี แต่หลังๆ กลายสภาพจากชุมชนทำเองเป็นสื่อธุรกิจ ดังนั้นจากสื่อที่จะส่งเสริมสุขภาพุชมชน กลายเป็นทำลายสุขภาพชุมชนด้วยการโฆษณาขายสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ที่ผ่านมาก็ร่วมมือกับ อย. และตำรวจในการดำเนินการจัดการ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มีการจับกุม แต่น้อยมาก เพราะสถานีวิทยุชุมชนมีเยอะมากที่ทำแบบนี้ ซึ่ง กสทช.กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ และเนื่องจากจุดเด่นที่สำคัญของวิทยุชุมชน คือความใกล้ชิดชุมชน ดังนั้นจุดแข็งตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาวะชุมชนไปด้วยกัน โดย กสทช.ส่งเสริมให้เกิดจุดนี้ และในส่วนของวิทยุชุมชนที่ทำลายสุขภาพนั้น กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้นิ่งนอนใจ มีแนวทางจัดการเพื่อให้วิทยุชุมชนเป็นสื่อสร้างสุขภาวะในชุมชนที่แท้จริง        

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสปสช.เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน คนไทยไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย และในระดับชุมชนหมู่บ้านนั้น มีกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือกองทุนสุขภาพตำบลในกรสร้างสุขภาวะชุมชน เพื่อระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าวิทยุชุมชนในฐานะที่เป็นสื่อที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุดนั้น ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพไปด้วยกัน ซึ่งบทบาทที่สำคัญของสื่อวิทยุชุมชน คือ การสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ในระบบหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน

ทั้งนี้การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จัดขึ้นโดย สปสช. ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2556 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 80 คน จากสมาคมเครือข่ายนักสื่อสารชุมชน นักจัดรายการวิทยุธกส. สื่อวิทยุในพื้นที่ สปสช.ทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยมูลเหตุภายใน ก่อนมาเลย์เลิกแถลงหยุดยิงรอมฎอน

Posted: 11 Jul 2013 04:23 AM PDT

ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เผย BRN มีโอกาสสร้างการยอมรับ-เป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ได้ หากสามารถมีข้อตกลงและยุติการก่อเหตุเดือนรอมฎอน เชื่อกองทัพพร้อมรับเงื่อนไขถอนกำลังออกจากพื้นที่ ชี้สถานการณ์เดือนรอมฎอนกำหนดทิศทางการเจรจาครั้งหน้า

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวถึงกรณีการงดแถลงข่าวยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนของดาโต๊ะศรีซัมซามีน ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตัวแทนฝ่ายไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) หลังการประชุมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวานนี้ (9 กรกฎาคม 2556)

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า การแถลงข่าวดังกล่าว จะเป็นความคืบหน้าที่สำคัญของการพูดคุยสันติภาพ โดยข้อมูลล่าสุดก่อนที่จะยกเลิกการแถลงข่าว ทราบว่าทหารยอมที่จะยุติปฏิบัติการและยอมที่จะถอนกำลังออกจากพื้นที่หมู่บ้าน ในขณะเดียวกันฝ่าย BRN ก็ยอมที่จะยุติปฏิบัติการและการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนโดยสิ้นเชิง

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายคงมีการประสานงานกันในทางลับผ่านฝ่ายมาเลเซียซึ่งเป็นคนกลางในการเจรจา โดยมีความพยายามให้มีข้อตกลงกันภายในก่อนซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะมีกระแสข่าวว่ากลุ่มต่างๆ ภายในขบวนการที่อยู่ในพื้นที่เองจะไม่ยอม แต่ท้ายที่สุดสามารถตกลงกันได้ และจะรีบแถลงข่าวทันที แต่ก็มีการงดแถลงไป

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงบทบาทของมาเลเซียว่า มีบทบาทสำคัญที่เป็นผู้ประสานระหว่างทั้งสองฝ่ายให้ยอมรับข้อเสนอ โดยการพูดคุยครั้งที่ผ่านมา มีการตกลงแล้วในขั้นต้น แต่สัญญาณการตอบรับไม่ชัดเจน มาเลเซียพยายามให้มีข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรมในการลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเพื่อแสดงความคืบหน้าของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพราะถ้าไม่มีความคืบหน้าอะไรเลยในเดือนรอมฎอน การพูดคุยกันหลังเดือนรอมฎอนก็จะขาดความเชื่อมั่น ขาดความไว้วางใจกัน

"ถ้าหากมีข้อตกลงที่เป็นจริงและเป็นรูปธรรมในเดือนรอมฎอน จะเป็นการทดสอบข้อตกลงว่า ทำได้จริงหรือไม่อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถที่จะมีความเชื่อมั่นต่อกันได้หรือไม่ และทำให้การพูดคุยหลังรอมฎอนที่จะพูดคุยกันในข้อตกลงอื่นๆ ที่ยังติดค้างอยู่ ก็สามารถที่จะคุยกันต่อได้ เป็นการยกระดับการเจรจาไปสู่สถานภาพที่มั่นคงยิ่งขึ้น" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ในส่วนความพร้อมของฝ่ายรัฐไทยนั้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ในทางนโยบายทางกองทัพรับข้อตกลงถอนทหารได้ โดยเฉพาะทางกองทัพภาพที่ 4 ได้มีการเตรียมการหลายอย่างแล้ว ซึ่งถ้ามีข้อตกลงที่ชัดเจน มีมาตรการที่ชัดเจนเชื่อว่าฝ่ายทหารสามารถทำได้ และเชื่อว่าการที่จะมีข้อตกลงนั้นคงจะมีการพูดคุยกันในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งทางกองทัพต้องยอมรับในเงื่อนไขเหล่านี้ก่อน ไม่เช่นนั้นคงไปตกลงกับเขาไม่ได้

"ที่สำคัญรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ค้ำประกันความน่าเชื่อถือของทั้งสองฝ่ายด้วย เราต้องรับปากว่าทำได้ พร้อมกับมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ให้ความเชื่อมั่นแก่เขาด้วย ไม่เช่นนั้นฝ่ายโน้นอาจไม่เชื่อถือ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลมาเลเซียต้องเป็นผู้ค้ำประกันความน่าเชื่อถือในข้อเรียกร้องนี้" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ในส่วนฝ่าย BRN ถ้าสามารถลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนได้จริง สถานภาพในทางการเมืองของ BRN จะสูงขึ้น จะเกิดการยอมรับการเป็นตัวตนของขบวนการ BRN จากประชาชน จากสังคม และจากสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในทางการเมือง หรือการเกิด recognition ที่หมายถึงการยอมรับการมีตัวตน ยอมรับสถานภาพที่มีความน่าเชื่อถือขององค์กร ซึ่ง BRN กำลังจะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ตัวเองถ้าหากผ่านขั้นนี้ไปได้

"BRN ต้องตระหนักในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้ข้อถกถียง ข้อสงสัยต่อขบวนการที่เกิดขึ้นก็จะสามารถลบล้างไปได้ อีกทั้งสามารถสร้างความเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ BRN ต้องการก็จะเป็นภาพที่ชัดเจน ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง ซึ่งก็ต้องแสดงบทบาทในส่วนนี้ออกมา เป็นการก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของฝ่ายขบวนการ" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า การหยุดยิงชั่วคราวเป็นกระบวนการหนึ่งของการเจรจาสันติภาพ ถ้าทำได้จริงจะเป็นอีกก้าวสำคัญของการพูดคุยเพื่อสันติภาพในระยะยาว การพูดคุยเจรจาจะมีความน่าเชื่อถือ มีน้ำหนัก มีความหมายมากขึ้นในทางการเมือง ถ้าไม่สำเร็จก็ทำอะไรไม่ได้ มีแต่ดึงกันไปมา โจมตีกันไปมา

"แต่ผมยังเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เราทุกคนต้องคอยดูสัญญาณจากสถานการณ์จริงให้ชัดกว่านี้ภายในสัปดาห์แรกของรอมฎอนนี้"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ' รับโพสต์พลาด - ยืนยันไม่มีอกุศลเจตนาใดๆ

Posted: 11 Jul 2013 03:37 AM PDT

ผู้จัดคนค้นฅนแจงกรณีโพสต์เรื่องสารพิษตกค้างในข้าว รับ "มือไปโดน post ส่งไปก่อน" พยายามรีบลบแล้ว ยันไม่มีอกุศลเจตนาต่อผู้ใด ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังจากนี้เป็นกรรมที่ต้องรับตามหลักพุทธศาสนา ขณะที่ 'ข้าวตราฉัตร' ประกาศเชิญพิธีกรดังมาพิสูจน์ ทั้งโพสต์ภาพ 'องคมนตรี'-'สุเมธ ตันติเวชกุล' เยี่ยมโรงงาน

จากกรณีที่นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ผู้จัดและผู้ดำเนินรายการ คนค้นฅน โพสต์ข้อความในเฟซบุคเมื่อวันอังคาร (9 ก.ค.) ที่่ผ่านมา (ทำนองว่าโรงสีข้าว 3 แห่งที่เตรียมส่งข้าวในสต็อกออกจำหน่ายให้ผู้ผลิตรายใหญ่ เป็นโรงสีของภาคอีสาน เป็นโรงงานของ ส.ส.เพื่อไทย "คงจะมีสารพิษตกค้าง เพราะสารตัวนี้ไม่สามารถละลายในน้ำได้ หนูตายใน 5 นาที"

พร้อมโพสต์ข้อความว่า "ห้ามสื่อข้าวหอมปทุมธานีทุกยี่ห้อ ตอนนี้ข้าวถูกจำหน่ายออกในนาม ข้าวหอมปทุมธานี เนื่องจากคนกลัวข้าวจากอีสาน และสต็อกต่อไปคือข้าวเสาไห้ (ระบุยี่ห้อข้าว) ห้ามเด็ดขาด (ระบุยี่ห้อข้าว) ทุกประเภทห้ามทาน เป็นสต็อกจากต้นปีที่แล้ว จัดจำหน่าย" โดยย้ำไว้ที่หน้าข้อความด้วยว่า "แล้วแต่พิจารณานะครับ ผมไม่ได้มีประโยชน์ได้เสีย"

โดยมีผู้แชร์สเตตัสดังกล่าวจำนวนมาก ก่อนที่ไม่กี่ชั่วโมงภายหลังนายสุทธิพงษ์ได้ลบข้อความดังกล่าวออกไป

และเมื่อเวลา 20.38 น. วันที่ 9 ก.ค. นายสุทธิพงษ์ได้โพสต์ข้อความว่า "เร็วกว่าไฟลามทุ่ง ถึงแม้ผมจะลบไปแล้ว เร็วที่สุดเท่าที่ผมจัดการได้เมื่อเห็นผลของความสะเพร่า ไปไกลเกินกว่าเจตนาแห่งสัมมาทิฐิและกุศลเจตนา อย่าให้และอย่าใช้ผมไปก่อกรรมกับใครเลยนะครับ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผมสามารถลบความจริงทิ้งได้ และไม่ว่าใครก็ไม่สามารถลบกรรมทั้งดีชั่วทิ้งได้ โดยเฉพาะการกระทำกับชาวนาและข้าวปลาอาหาร"

อย่างไรก็ตามสำนักข่าวทีนิวส์ได้นำไปรายงานว่าเฟซบุ๊คของผู้จัดรายการ "คนค้นฅน" ดังกล่าวถูกบล็อก (อ่านข่าวที่นี่) ทำให้ภายหลังเมื่อวันที่ 10 ก.ค. เวลา 13.55 น. นายสุทธิพงษ์ต้องอัพสเตตัสว่า "เพจผมไม่ได้ถูกบล็อกนะครับ"

 

โพสต์ยอมรับในความผิดพลาด แต่ยืนยันว่าไม่มีอกุศลเจตนาใดๆ

ล่าสุดวันนี้ (11 ก.ค.) นายสุทธิพงษ์ ได้อัพสเตตัสชี้แจง ว่า "ขอขยายความสิ่งที่ผมบอกว่าเจตนาผมคือไม่อยากให้เกิดการเบียดเบียนกันจากกรณีข้าว แล้วผมดันเป็น "ส่วนหนึ่ง" ในการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียเอง เจตนาผมมีประการเดียวคือเรื่องความมั่นใจในความปลอดภัยของคนกินข้าว เนื่องจากความกังวลและความห่วงใยจากข่าวสารที่ได้รับ ก่อนโพสท์ตามที่ได้เรียนชี้แจงว่าผมตั้งใจเขียนความตั้งใจ ชี้แจงเจตนาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเจตนาผมต้องการให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้รับรู้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้น ผมไม่ได้มีธงในใจหรืออกุศลเจตนาต่อผู้ใด แต่ความสะเพร่าของผมก็คือ ผมเขียนไปได้แค่สองประโยค ยังไม่ครบถ้วนก็เกิดอุบัติเหตุระหว่างแก้ไขคำผิด มือไปโดน post ส่งไปก่อน ซึ่งได้พยายามรีบลบ แต่ผมทำไม่เป็นต้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นอีก 2 คนจึงทำได้สำเร็จ ซึ่งถ้าสามารถเช็คเวลาก่อนจะลบได้จะทราบว่าไม่กี่นาทีเท่านั้นเอง ต่อมาไม่นานมีคนโพสท์ตำหนิผมอย่างรุนแรง"

"ผมได้ชี้แจงกลับไป ทั้งขอบคุณที่เตือนสติและยอมรับความผิดพลาด ต่อมาภายหลังผมจึงพบคำตอบว่าทำไมความรู้สึกเขาถึงรุนแรงมาก นั่นก็เพราะมีการเอาไปขยายต่อ เพิ่มเติม ชี้นำ จะเพื่อประโยชน์อันใดก็สุดแท้แต่ แต่ไม่ใช่ความตั้งใจและเจตนาของผม ซึ่งยืนยันชัดเจนตั้งแต่ต้น ผมจึงได้รู้ว่าผมกลายเป็นเหยื่อและเครื่องมือไปแล้วอีกคนหนึ่ง แต่ถามว่าเหตุมาจากไหน ก็มาจากผมนั่นแหละ"

 

รับเป็นผลกรรมตามหลักพุทธศาสนา และเตรียมแถลงข่าว

"สิ่งนี้ก็เป็นกรรมที่ผมต้องรับตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งสิ่งนี้ผมก็ยืนยันเหมือนเจตนารมณ์ เมื่อเช้านี้ผมได้ฟังความรู้สึกของเจ้าของโรงสี เจ้าของสินค้า ยิ่งทำให้ผมไม่สบายใจ เพราะสิ่งที่กำลังส่งผล มาจากความคลาดเคลื่อนและปรุงแต่งสิ่งที่เกิดจากผมจนไปไกล ผมไม่มีอะไรแก้ตัวแต่มีความเสียใจในบางด้าน และความจริงทั้งหมดจะชี้แจง โดยเฉพาะเรื่องปราศจากอกุศลเจตนาและมิจฉาทิฐิ ผมจึงจะแถลงบ่ายนี้" โพสต์ของนายสุทธิพงษ์ระบุ

 

"ข้าวตราฉัตร" ชี้แจงคุณภาพการผลิต พร้อมโพสต์ภาพ "สุเมธ-องคมนตรี" เยี่ยมชมโรงงาน

คำชี้แจงของ "ข้าวตราฉัตร" โดยลงท้ายมีการเชิญชวนสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มาพิสูจน์ที่โรงงาน

สุเมธ  ตันติเวชกุล  ประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เยี่ยมชมโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าว โครงการนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา  (ที่มา: เว็บไซต์ข้าวตราฉัตร)

พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ประธานมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท เยี่ยมชมโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าว โครงการนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ข้าวตราฉัตร)

โดยก่อนหน้านี้ เฟซบุคของ "ข้าวตราฉัตร" ได้ชี้แจงนายสุทธิพงษ์ว่าว่า มีการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสินค้าตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ ที่คัดเลือกจากแหล่งเพาะปลูกที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนของสารตกค้างต่างๆ โดยข้าวตราฉัตรได้ใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคซึ่งเราได้สุ่มตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปทางด้านต่างๆ เป็นประจำ นอกจากนี้ในข่าวที่เผยแพร่ใน เว็บข้าวตราฉัตร นอกจากการชี้แจงเรื่องคุณภาพข้าว และการเรียนเชิญนายสุทธิพงษ์ ร่วมเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อดูกระบวนการผลิตข้าวตราฉัตรแล้ว ยังมีการโพสต์ภาพการเยี่ยมชมโรงงานโดยสุเมธ  ตันติเวชกุล  ประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ประธานมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท คณะทูต และคณะนักเรียนนักศึกษาด้วย

 

โรงสี-ซีพี จ่อฟ้องพิธีกรดัง ระบุทำเสียรายได้

ก่อนหน้านี้ ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ว่านายอนันต์ วังอมรมิตร เจ้าของโรงสีทรัพย์อนันต์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่ถูกนายสุทธิพงษ์ระบุชื่อ กล่าวว่าได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองสุรินทร์ โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการรมยา และไม่เคยขายข้าวให้กับข้าวถุงตราฉัตร

ส่วนเจ้าของโรงสีทรัพย์สิริธร อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ที่ถูกพาดพิงก็ปฏิเสธข้อกล่าวหา และปฏิเสธว่าไม่เคยขายข้าวให้กับข้าวเบญจรงค์และข้าวตราฉัตร และยินดีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ (อ่านต่อที่นี่)

ขณะที่วันนี้ (11 ก.ค.) โพสต์ทูเดย์รายงานว่า  โดยอ้างคำพูดของนายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด ที่ระบุว่าฝ่ายกฎหมายของเครือซีพีกำลังประชุมว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อนายสุทธิพงษ์หรือไม่ เช่นเดียวกับนายถาวร ทองพิทักษ์ถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอเชีย อินเตอร์ ไรซ์ ที่ชี้แจงว่าไม่เคยประมูลข้าวจากโครงการรับจำนำของรัฐ แต่ซื้อข้าวจากโรงสีที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชัยนาท สุพรรณบุรี โดยจะฟ้องร้องนายสุทธิพงษ์ เพราะทำให้เกิดการเสียหายและสูญเสียรายได้

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายสุทธิพงษ์ได้โพสต์ข้อความเรียกร้องให้โรงสีที่ถูกกล่าวหาเปิดโรงสีให้เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเข้าไปตรวจอย่างอิสระด้วย โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องพูดเอามันส์ ไม่ใช่แค่เรื่องมาด่าทอเพื่อความสะใจ ผมคิดว่าเป็นเรื่องง่ายมากถ้าบริสุทธิใจ ไม่ต้องรอสื่อไปแอบตรวจสอบหรอกครับ ข้าวทุกยี่ห้อและโรงสีทั้งหลายที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ถูกกล่าวหาก็ตาม แย่งกันเลยครับ แย่งกันเปิดโรงสีให้เจ้าหน้าที่และสื่อเข้าไปตรวจอย่างอิสระ ทั้งตอนที่เป็นข้าวเปลือกและตอนที่สีบรรจุถุง ตรวจกันให้หนำใจเพราะข้าวบริสุทธิ์และปลอดภัยอยู่แล้วจะไปกลัวอะไร สื่อยินดีไปทำข่าวให้ไม่ต้องเสียเงินไปทำโฆษณา ผมว่าตราเปิดเผย จริงใจ บริสุทธิ์ใจ ตรงไปตรงมานี่การันตีคุณภาพให้ดียิ่งกว่าตรารับรองมาตรฐานไหนๆ ทั้งนั้น ทำเลยครับ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้งวงรำพันกับแอดมินเพจ ‘ซดเหล้าเข้าพรรษา’ ทำไมต้องสู้เพื่อ ‘สิทธิแห่งการเมา’

Posted: 11 Jul 2013 03:03 AM PDT

"เราไม่ได้ต่อต้านการควบคุมการบริโภคสุรา สิ่งที่เราต่อต้านคือการใช้อำนาจรัฐจากฐานคิดทางศาสนา" รำพันจากแอดมินเพจ'ซดเหล้าเข้าพรรษา' ชวนตั้งวงฟังทัศนะกับเทศกาลเข้าพรรษางดดื่มสุราแห่งชาติ ทำความดีถวายในหลวง

ภาพปกประจำเพจ "ซดเหล้าเข้าพรรษา"

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบที่จะประกาศให้ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเป็นช่วงกิจกรรม "งดดื่มสุราแห่งชาติ ทำความดีถวายในหลวง" ตามที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติเสนอ

โดยพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 ได้กำหนด "ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม" เพื่อสนับสนุนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จากยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ

อย่างไรก็ตามล่าสุดนาทีแรกของวันที่ 10 ก.ค. ในโซเชียลเน็ตเวิคได้มีการตั้งเพจชื่อ "ซดเหล้าเข้าพรรษา" ขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การรณรงค์ "เทศกาลเข้าพรรษางดดื่มสุราแห่งชาติ ทำความดีถวายในหลวง" ไว้อย่างน่าสนใจว่า

1. การดื่มสุรามีผลร้ายต่อสุขภาพจริง แต่นั่นเป็นเรื่องของปัจเจกของใครของมัน

2. การดื่มสุรา มีผลร้ายต่อสังคมโดยรวมจริง เช่น อุบัติเหตุ หรือสุขภาพที่เสื่อมโทรมของประชากรก็ทำให้ประเทศอ่อนแอ --- แต่รัฐก็ควบคุมการบริโภคผ่าน "ภาษีบาป" ของสินค้าพวกนี้ไปแล้ว รัฐได้เงินจากผู้บริโภคไปมหาศาลในแต่ละปี

3. การควบคุมการบริโภคสุราเป็นเรื่องปกติสามัญ แต่สิ่งที่ไม่ปกติในประเทศไทยคือการควบคุมโดยการอ้าง "ศาสนา" ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการของสังคมโดยรวมแต่อย่างใด

ดังนั้นการต่อต้านประเด็นเรื่องสุรา จึงเท่ากับการต่อต้านการเป็น "รัฐศาสนาพุทธ" ของประเทศไทยนั่นเอง ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ศาสนาพุทธ ขอสิทธิให้คนอื่นได้อยู่บ้าง....

จน ทราย อินทิรา เจริญปุระ ในชื่อเฟซบุ๊ก "Itr Charoenpura" นักแสดง คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดัง ได้โพสต์แนะนำเพจนี้จากหลักการ 3 ข้อข้างต้นด้วยว่า "เชิญท่านพิจารณา ถ้าเห็นด้วยตามหลักการนี้ก็ตามไปไลค์เพจ หากไม่เห็นด้วยต่อหลักการ โปรดทำเพจต่อต้านอย่างสงบ"

ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้มีโอกาสตั้งวงพูดคุยกับแอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อทำความเข้าใจแนวคิด พร้อมทั้งเป็นช่องทางในนำเสนอมุมมองที่แตกต่างจากรัฐกรณีการรณรงค์งดเหล่าในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาดังกล่าว

0000

ประชาไท : แอดมินเพจนี่เป็นใคร ทำไมถึงตั้งเพจขึ้นมา

แอดมินซดเหล้าฯ : แอดมินมีหลายท่านช่วยงานกันครับ เพราะเราอยากให้เพจมันหลากหลาย มีทั้งสาระ เฮฮา พูดเรื่องเหล้า เบียร์ ไวน์ พูดเรื่องการไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐศาสนา เราเลยให้คนมาช่วยทำเพจกันเยอะ และจะพยายามเพิ่มจำนวนแอดมินให้มากขึ้นเรื่อยๆต่อไป

"..รัฐนำเอา "ศาสนา" ใหญ่ของรัฐ มาใช้ในการ "ควบคุม" พฤติกรรมของพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเป็น "รัฐสมัยใหม่" เพราะมันจะเปิดโอกาสให้มีการ "ละเมิดสิทธิผู้อื่น" ในนามศาสนาได้อีกมาก.." - แอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า ปัจจุบันปัญหาแอลกอฮอล์นั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาสังคม ความรุนแรงในครอบครัว และก่อให้เกิดโรคภัยร้ายแรงกว่า 60 ชนิด มีการสรุปการใช้จ่ายในการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น มีความรุนแรง มีปัญหาอาชญากรรมจากแอลกอฮอล์ถึง 1,242 ราย หรือคิดเป็น 23.6% จากการถูกทำร้ายโดยรวม ซึ่งการก่ออาชญากรรมกว่าครึ่งนั้นมีการดื่มสุราก่อนกระทำความผิดด้วย รวมทั้งเพจเองก็บอกว่า "การดื่มสุรา มีผลร้ายต่อสังคมโดยรวมจริง.." แต่ทำไมไม่เห็นด้วยกับการใช่ช่วงเวลานี้ในการลดผลร้ายต่อสังคมนั้น 

อย่างที่กล่าวไปแล้ว คือไม่มีใครตะแบงว่าการดื่มสุราไม่มีผลเสีย เราทราบดีว่าการดื่มสุรามีผลเสีย โดยเฉพาะถ้าดื่มปริมาณมากๆ แต่ก็เหมือนหลายอย่างในชีวิตของมนุษย์ครับ ที่มีผลเสีย และเสียมากหากบริโภคมากเกินไป เช่น กินแฮมเบอเกอร์ทุกวันจำนวนมาก ก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ แต่มนุษย์ก็ยังเลือกจะทำมันบ้าง สุราก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น

แล้วทำไมไม่เห็นด้วยกับการใช้ช่วงเวลานี้? เพราะมันเท่ากับว่า รัฐนำเอา "ศาสนา" ใหญ่ของรัฐ มาใช้ในการ "ควบคุม" พฤติกรรมของพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเป็น "รัฐสมัยใหม่" เพราะมันจะเปิดโอกาสให้มีการ "ละเมิดสิทธิผู้อื่น" ในนามศาสนาได้อีกมาก

หรือคิดด้วยฐานกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายปกครอง การที่รัฐจะจำกัดสิทธิของประชาชนได้ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ก่อประโยชน์แก่รัฐหรือสังคม อย่างที่เราเรียกว่า ประโยชน์สาธารณะ แต่เรื่องนี้ แม้ "ผล" ของมันอาจจะก่อประโยชน์สาธารณะคือการจำกัดปริมาณผู้ดื่มสุรา แต่ "จุดประสงค์แรก" ของมันผมว่าไม่ใช่ เหตุผลของมันไม่ได้เอาเรื่องความปลอดภัยหรือประโยชน์สาธารณมาจับ แต่เป็นเหมือนการมุ่งให้ผู้คุณบำเพ็ญบุญในศาสนาหนึ่งมากกว่า

"..เราไม่ได้ต่อต้านการควบคุมการบริโภคสุรา สิ่งที่เราต่อต้านคือการใช้อำนาจรัฐจากฐานคิดทางศาสนา.." - แอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา กล่าว

การที่เพจบอกว่า "การควบคุมการบริโภคสุราเป็นเรื่องปกติสามัญ แต่สิ่งที่ไม่ปกติในประเทศไทยคือการควบคุมโดยการอ้าง "ศาสนา" ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการของสังคมโดยรวมแต่อย่างใด" นั้น อยากให้ลองยกตัวอย่างมาตรการสวัสดิการทางสังคมในการควบคุมการบริโภคสุราที่เป็นรูปธรรมว่ามีอะไรบ้าง รวมทั้งรัฐควรอยู่จุดไหนกับเรื่องการบริโภคสุราของประชาชน

สุราเป็นสินค้าสีเทาอ่อนไหวในทุกสังคม ในสหรัฐอเมริกาเองก็เคยมีช่วงห้ามขายเหล้าโดยสิ้นเชิง (Prohibition) ที่รัฐเอาหลักคิดทางศาสนาสุดโต่งมาเป็นแนวนโยบาย พวกเขาแก้รัฐธรรมนูญห้ามขาย ผลิต จัดส่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทั่วประเทศ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจใต้ดินขยายตัวมหาศาล เกิดระบบมาเฟีย ผู้คนดื่มเหล้าด้อยคุณภาพ ต้องหลบๆซ่อนๆ เดือดร้อนกันไปทั่ว จนกระทั่งผู้นำการเคลื่อนไหวหลายคนออกมายอมรับว่าการห้ามขายเหล้านั้นไม่เวิร์ก เสียมากกว่าได้ สุดท้ายก็แก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้กลับมาขายได้อีก

แต่ละสังคมจึงมีการควบคุมการบริโภคสุราที่แตกต่างกันไป เข้มงวดบ้าง ผ่อนปรนบ้าง ซึ่งเส้นแบ่งนั้นสังคมก็ต้องถกเถียงกันเอาเอง และเราไม่ได้ต่อต้านการควบคุมการบริโภคสุรา สิ่งที่เราต่อต้านคือการใช้อำนาจรัฐจากฐานคิดทางศาสนา

ถ้ารัฐจริงใจจะควบคุมการบริโภคสุราจริงๆ ทำไมไม่ห้ามขายเหล้าเบียร์ใน 7-11 ไปเลยละครับ ประกาศไปเลย ทั่วประเทศ ทุกวัน ไม่ต้องเฉพาะวันหยุดในศาสนาพุทธด้วย หรือไม่ก็มีมาตรการมากมายที่เราสนับสนุนและคิดว่าควรบังคับใช้ให้ได้อย่างจริงจัง เช่น เมาไม่ขับ ห้ามขายหรือบริการสุราในปั๊มน้ำมัน ตรวจสอบการดื่มสุราของผู้ขับขี่รถยนต์อย่างจริงจังเข้มงวด หรือแม้แต่การห้ามหรือจำกัดโฆษณาที่ยังเทาๆ แต่อย่างน้อย มันก็มีการวิจัยที่เป็นรูปธรรมว่าโฆษณาสร้างนักดื่มหน้าใหม่ได้จริง หรือมาตรการทางอ้อมอื่นๆ เช่น ขึ้นภาษีสุรา เพื่อลดอำนาจซื้อ

เหตุผลเดียวของรัฐในการจำกัดการบริโภคสุรา ต้องเป็นเรื่องของความปลอดภัยสาธารณะและระบบสุขภาพโดยรวมของสังคมเท่านั้น ไม่ใช่การใช้ "ศาสนา" เป็นเป้าหมายหลักในโครงการ "ลดเหล้าเข้าพรรษา"

รัฐควรอยู่จุดไหนกับเรื่องการบริโภคสุราของประชาชน? เราเห็นว่ารัฐสามารถแทรกแซงเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคสุราที่รบกวนต่อสังคมหรือเป็นอันตรายต่อสังคม เช่น การดื่มสุราในที่สาธารณะ การเมาแล้วขับ การกำหนดมาตรการทางกฎหมายหรือการดำเนินนโยบายของรัฐควรอยู่ในกรอบนี้เท่านั้น รัฐ "ไม่มีสิทธิ" บังคับให้คนเป็นคนดี

ทำไมคิดว่าเรื่องการดืมสุรา "เป็นเรื่องของปัจเจกของใครของมัน" ทั้งๆที่เพจเองก็มองว่า การดื่มสุรามีผลร้ายต่อสุขภาพ และ มีผลร้ายต่อสังคมโดยรวมจริง

"เราเชื่อว่ามนุษย์ที่โตแล้วคิดเองเป็น เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน เราไม่เชื่อว่ามนุษย์หรือพลเมืองของรัฐต้องถูกกำกับบังคับเหมือนเด็กทารก ถ้าเราสามารถออกเสียงเลือกตั้งปกครองตนเองได้ในประเทศนี้ แล้วทำไมเราจะตัดสินใจเองไม่ได้ว่าวันไหนควรดื่มเหล้า" - แอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา กล่าว

ในโลกนี้มีหลายสิ่งมากมายที่มันส่งผลร้ายต่อสุขภาพแต่ก็อาจมีผลดีต่อคนๆนั้นในด้านอื่นๆ เราเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีความสามารถในการ "ชั่งน้ำหนัก" เอาเองได้ว่าจะยอมรับความรื่นรมย์นั้นแลกกับผลเสียทั้งหลายหรือไม่  คุณเพลินเย็นนี้ เช้ามาคุณปวดหัว คุณยอมจ่ายไหม ถ้าเจ้าตัวคนดื่มตัดสินใจได้ ก็จบ ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มแล้วรบกวนสังคม ซึ่งตอบไปเยอะแล้วข้างต้น

"รัฐต้องสร้างสภาพ "ไม่คุ้ม" ในการละเมิดกติกาการดื่มสุรา ให้เห็นว่า ถ้ากินเหล้าขับรถ ผลได้ไม่คุ้มเสีย เช่น อาจจะห้ามขับรถไปเลยปีหนึ่ง แค่ไปดื่มคืนเดียว ขับรถไม่ได้ทั้งปี คุณอย่าเสี่ยงเลยมันไม่คุ้ม นี่คือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า นิติเศรษฐศาสตร์" - แอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา กล่าว

ทำไมถึงมองว่า สิทธิในการดืมสุรา ไม่เกี่ยวกับ การเมาแล้วขับหรือล่วงละเมิดบุคคลอื่นในสังคม / แล้วหากดืมสุราแล้วจะมีมาตราการในการป้องกันไม่ให้คนไปขับรถหรือล่วงละเมิดคนอื่นในสังคมได้อย่างไรบ้าง

การใช้บังคับกฎหมายที่ป้องกันการละเมิดสิทธิดังกล่าวอย่างเข้มงวด เมาแล้วขับ จับดำเนินคดีจริงจัง ผมเห็นบางคนเป็นข้าราชการมีตำแหน่งพอสมควร ดื่มแล้วขับ ตำรวจเรียก แสดงตำแหน่ง ตำรวจปล่อย ไม่ต้องเป่า อย่างนี้ก็ไม่ไหว รวมทั้งการลงโทษอย่างจริงจังหากการดื่มสุราไปก่อเหตุละเมิดต่อผู้อื่น

รัฐต้องสร้างสภาพ "ไม่คุ้ม" ในการละเมิดกติกาการดื่มสุรา ให้เห็นว่า ถ้ากินเหล้าขับรถ ผลได้ไม่คุ้มเสีย เช่น อาจจะห้ามขับรถไปเลยปีหนึ่ง แค่ไปดื่มคืนเดียว ขับรถไม่ได้ทั้งปี คุณอย่าเสี่ยงเลยมันไม่คุ้ม นี่คือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า นิติเศรษฐศาสตร์

เราอยากเรียกร้องให้บริหารจัดการประเด็นเรื่องสุราแบบ "รัฐฆราวาส" (Secular State) นั่นคือจัดการกันไปตามกฎหมาย ยึดผลประโยชน์สังคมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ยึดเรื่องบาปบุญคุณโทษ เอาความเชื่อทางศาสนานำ พอถูกจับก็เอาเรื่องเส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ "ช่วยๆกันหน่อย" อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง

"In wine there is wisdom, in beer there is freedom, in water there is bacteria."
เป็นคำพูดของมิตรสหายท่านหนึ่งซึ่งแอดมินก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ขอเอามาขอบคุณทุกคนที่มาช่วยแบ่งปัน wisdom และ freedom กันครับ (แอดมินโพสต์ในเพจฯ)

ทำไมคิดว่าไม่ควรเอาเรื่องศาสนามาใช้ในการรณรงค์ให้คนไม่ดืมสุรา

เพราะศาสนาคือความชอบ ความเชื่อ ความนิยมส่วนตน ถ้าเราให้รัฐใช้อำนาจโดยเอาฐานของศาสนาเป็นที่ตั้ง แล้วสิทธิของคนในศาสนาอื่นละจะว่าอย่างไร

ชาวคริสต์อยากดื่มไวน์ แต่บังเอิญเป็นวันพระในศาสนาพุทธเลยหาซื้อไม่ได้ อย่างนี้มันก็ไปละเมิดสิทธิเขา แล้วไหนจะคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆอีกล่ะ เราจะไปละเมิดสิทธิในการดื่มของเขาได้อย่างไร

แล้วถ้าเรายอมให้รัฐเอาฐานคิดทางศาสนามาใช้ในการปกครองประเทศ มันก็จะนำมาสู่หลักคิดในเรื่องอื่นๆอีกมากมายซึ่งหลายอย่างมันอาจไม่สอดคล้องกับการเป็นรัฐสมัยใหม่ เอาง่ายๆ สมมติว่าถ้าใช้ตรรกะเดียวกันกับเรื่องเหล้า แล้วรัฐไทยเขียนในรัฐธรรมนูญว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศีลข้อ 1 เราจะไม่ฆ่าสัตว์ ห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วประเทศ ปิดกิจการฟาร์มหมู ไก่ เนื้อ ไปเลยทั่วประเทศ อย่างนี้คิดว่ายอมได้ไหม เป็นเหตุเป็นผลหรือเปล่า

ดังนั้นจึงขอพูดซ้ำๆอีกทีว่าเราไม่ได้ปัญหากับการควบคุมการดื่มสุรา เช่น ห้ามโฆษณา ห้ามขายในปั้มน้ำมัน และไม่มีปัญหากับมาตรการควบคุมพฤติกรรมคนดื่มสุรา เช่น เมาแล้วขับ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการอ้างศาสนา มาดำเนินนโยบายของรัฐ

การบอกว่า "ไม่เชื่อว่ารัฐไทยจริงใจกับเรื่องสุขภาพหรือความปลอดภัยของพลเมือง" มีประเด็นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่มีความจริงใจไหม และมีข้อเสนอเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของพลเรือนที่เสนอว่ารัฐครดำเนินการแต่กลับไม่ดำเนินการหรือดำเนินการแล้วไม่มีประสิทธิภาพไหม

อย่างง่ายที่สุดคือเอาแค่มาตรการทุกอย่างที่มีวันนี้ ลองบังคับใช้ให้ได้อย่างจริงจังก่อนดีไหม สมัย "จัดระเบียบสังคม" เราเห็นผับบาร์ปิดตีหนึ่งกันได้เป๊ะๆ แต่พอมาทุกวันนี้เราก็รู้ดีว่ามันเป็นอย่างไร แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่ารัฐไทยเอาจริงเอาจังห่วงใยสุขภาพคนไทย

เราอยู่ในประเทศที่เบียร์หนึ่งกระป๋องราคาเท่ากับก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม แถมหาซื้อได้ที่ 7-11 ทั่วประเทศ พอรัฐออกมาประกาศมาตรการห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระ ก็มี "ข้อยกเว้น" ว่าขายได้ในโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวใหญ่ๆ มันแปลว่าอะไร? แปลว่ารัฐก็ยังอยากได้เงินจากนักท่องเที่ยว เงินจากธุรกิจบริการ รัฐยังต้องการเงินอยู่นะ รัฐยังต้องเกรงใจ "เจ้าสัว" กิจการเหล้าเบียร์อยู่นะ แล้วไหนละความจริงใจหรือข้ออ้างเรื่องสุขภาพของพลเมือง? คนไทยเดินไปกินเหล้าที่โรงแรมกันไม่ได้เลยงั้นเหรอ

แอดมินชอบกินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อะไรมากที่สุด เพราะอะไร

ข้อนี้ตอบไม่ได้ครับ แอดมินเรามีหลายคน และมันเป็นเรื่องปัจเจกของแอดมินแต่ละท่าน (หัวเราะ) คงต้องสังเกตกันเอาเองในหน้าเพจว่าใครชอบแบบไหนน่ะครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักปรัชญาชายขอบ: พื้นที่ทางสังคมของพุทธศาสนาไทยๆ

Posted: 11 Jul 2013 02:00 AM PDT

ถามว่าตัวคำสอนพุทธศาสนามีมิติทางสังคม คือมีมโนทัศน์ (Concepts) คำอธิบายเกี่ยวกับสังคมการเมืองที่ดี ที่ควรจะเป็นหรือไม่ หรือว่าคำสอนของพุทธศาสนามีเพียงมิติปัจเจก คือมีมโนทัศน์ คำอธิบายเกี่ยวกับความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณหรือการมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคลเท่านั้น
 
คำตอบคือ คำสอนพุทธศาสนามีมิติทางสังคมแน่นอน และเมื่อว่าเฉพาะสังคมไทย อิทธิพลของการแปรมิติทางสังคมของพุทธศาสนา เช่น คำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ เป็นต้น มาเป็นปรัชญาการเมืองการปกครอง และสถาปนาสถานะความเป็นเทพ เป็นพระโพธิสัตว์ หรือกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าของชนชั้นปกครองในระบอบราชาธิปไตยนั่นเอง ที่สถาปนาพุทธศาสนาให้เป็น "ศาสนาแห่งรัฐ" ปลูกฝังความทรงจำและสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ว่า พุทธศาสนากับชนชั้นปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความมั่นคงของพุทธศาสนากับความมั่นคงของรัฐ (ชนชั้นปกครอง) ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ความทรงจำและสำนึกร่วมนี้พัฒนามาถึงขีดสุดในนามของอุดมการณ์จงรักภักดีต่อ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์"
 
มองจากความทรงจำและสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่า "พื้นที่ทางสังคม" ของพุทธศาสนาครอบคลุมกว้างขวางและลึกซึ้งมาก ในเชิงนามธรรมเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ ซึ่งกำหนดให้พุทธศาสนามีบทบาทหลักในการปลูกฝังความเชื่อที่ค้ำจุนสถานะ อำนาจ ของชนชั้นปกครอง ในเชิงรูปธรรมอุดมการณ์ดังกล่าวได้กำหนดโครงสร้างสถาบันสงฆ์ที่ขึ้นต่ออำนาจรัฐ และกำหนดเนื้อหาคำสอนของพุทธศาสนาส่วนไหนบ้างที่ควรนำมาศึกษา สั่งสอน เผยแผ่ แปรเป็นพิธีกรรม ในการอบรมปลูกฝังกล่อมเกลาศีลธรรมจรรยาของคนในชาติ กำหนดกรอบในการตีความ การกำกับควบคุมความหมายของธรรมวินัยอย่างไร ควรจัดให้มีการเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน สวดมนต์หน้าเสาธงอย่างไร เป็นต้น
 
นอกจากพื้นที่ทางสังคมของพุทธศาสนาจะแสดงออกผ่านอุดมการณ์รัฐ ผ่านบทบาทของสถาบันสงฆ์ และการศึกษาแบบทางการแล้ว พุทธศาสนาไทยๆ ยังเข้าไปแสดงบทบาทในพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลและพื้นที่ทางสังคมแทบทุกพื้นที่ เป็นบทบาทของ "ตำรวจทางศีลธรรม" คอยจ้องมอง จับผิด หรือตัดสินถูก ผิด ควร ไม่ควร มิบังควร ไปจนถึงประณาม สาปแช่ง
 
เช่น ไปตัดสินว่าคนที่เกิดมาเป็นเพศที่สามที่สี่เป็นเพราะ "บาป" ในชาติก่อน เนื่องจากชาติที่แล้วประพฤติผิดศีลข้อสาม ผิดลูกผิดเมียคนอื่น กรรมเลยตามสนองให้เกิดมาผิดเพศในชาตินี้ กระทั่งคนที่มีองคชาติเล็ก กลาง ใหญ่ ก็เกิดจากกรรมเก่าในอดีตชาติ ไปจนถึงคอยกำกับจิตใจคนว่าคิดอย่างนี้อย่างนั้นบาป ไม่บาป โดยเฉพาะคิดเกี่ยวกับเรื่องด้านลบของบุคคลที่ถูกยกย่องศรัทธาว่ามีคุณธรรมสูงส่ง เป็นพระเป็นพระเป็นเจ้า แม้แต่คิดก็บาปแล้ว ไม่ควรคิด อย่าว่าแต่จะตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์เลย
 
พุทธศาสนาไทยๆ เข้าไปยุ่มย่ามในพื้นที่ทางสังคมเต็มไปหมด เช่น ละครหลังข่าวจบ มีพระเซเลบไปเทศนาสอนว่าละครเรื่องนี้สอนธรรมะอะไร เพราะเป็นห่วงว่าชาวบ้านเขาคิดเองไม่เป็น เข้าไปในพื้นที่ทางการเมืองแต่เป็นการอ้างศีลธรรม อ้างคำพระประณามนักการเมือง กดเหยียดประชาชนว่าไม่มีศักยภาพจะใช้อำนาจอย่างมีศีลธรรม แต่สรรเสริญคุณธรรมของชนชั้นปกครองในระบบเก่า อ้างศีลธรรมสนับสนุนการรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ในสถานการณ์ที่รัฐบาลใช้กำลังทหารและกระสุนจริงสลายการชุมนุม พระบางรูปเทศนาสนับสนุนความรุนแรงในการปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย
 
นอกจากนี้พุทธศาสนาไทยๆ ยังเข้าไปละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สื่อสาธารณะ เช่น กรณีที่พระสงฆ์และชาวพุทธบางกลุ่มกดดันให้รายการ "คิดเล่นเห็นต่าง" ทาง Voice TV ออกมาขอโทษกรณีวิจารณ์การสวดมนต์ข้ามปี เป็นเหตุให้รายการดังกล่าวงดพูดเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาไปเลย ผมพูดเรื่องนี้บ่อยเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่องที่ทำกันในนามปกป้องพุทธศาสนาสร้าง "ตราบาป" ละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อสาธารณะในโลกสมัยใหม่
 
นอกจากบทบาท "ตำรวจทางศีลธรรม" ที่คอยปลูกฝังควบคุมกำกับจิตสำนึกความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และแทรกแซงจับผิดเข้าไปในพื้นที่ชีวิตส่วนตัว พื้นทางสังคมการเมืองดังกล่าวแล้ว บทบาทนำในทางส่งเสริมเสรีภาพ ความเป็นธรรม สันติภาพของพุทธศาสนาไทยๆ แทบไม่ปรากฏเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนในประเทศ หรือเรื่องชาวพุทธด้วยกันเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงกับคนในศาสนาอื่น ก็ไม่เห็นองค์กรปกครองสงฆ์ไทยแสดงท่าทีอะไรเลย (หากจะมีก็เป็นเรื่องของพระหรือชาวพุทธรายบุคคล)
 
เพราะการที่พุทธศาสนาไทยแสดงบทบาทตำรวจทางศีลธรรมก้าวล้ำเข้าไปในพื้นที่ชีวิตและพื้นที่ทางสังคมในแทบทุกมิติ และเข้าไปในท่วงทำนองควบคุมกำกับด้วยมาตรฐานถูก ผิด ควร ไม่ควร มิบังควรอย่างคลุมเครือหรืออย่างลดทอนเสรีภาพและความเป็นมนุษย์อย่างโลกย์ๆ หรือความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมในความหมายของโลกสมัยใหม่ดังกล่าว จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกโชเชียลมีเดีย
 
เฟซบุ๊ก คือพื้นที่หนึ่งที่บรรดาผู้แสดงความเห็นทางการเมือง ศาสนา และเรื่องอื่นๆ ต้องการสิทธิแสดงออกบนพื้นฐานของหลักการสากล คือ "freedom of speech" ลำพังการถูกจำกัดสิทธิโดยกฎหมายที่คลุมเครืออย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ม.112 ก็เป็นเรื่องที่หนักหน่วงอยู่แล้ว พวกเขาจึงไม่ต้องการ "ตำรวจทางศีลธรรม" ไปอ้างคำพระ อ้างคำสอนศาสนาจับผิด หรืออบรมสั่งสอนศีลธรรมว่าด้วยท่วงทีวาจาอะไรต่ออะไรอีกแล้ว ฉะนั้น ในโลกเฟซบุ๊กจึงมีคนจำนวนหนึ่งสร้างเพจล้อเลียนศาสนา ศีลธรรมจรรยา พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ขนบจารีตแบบไทยๆ กระทั่งเสนอให้ "ยกเลิกความเป็นไทย" หรือพุทธศาสนาไทยๆ ที่ชอบทำหน้าที่ตำรวจทางศีลธรรมด้วยการอ้างบรรทัดฐานที่คลุมเครือมาทับซ้อน แทรกแซง ลดทอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามมาตรฐานสากล ที่เป็นมาตรฐานการแสดงออกในเรื่องสาธารณะอย่างโลกย์ๆ
 
เพราะพวกเขาต้องการชีวิตทางสังคมการเมืองอย่างโลกย์ๆ ไม่ใช่สังคมการเมืองของผู้ทรงศีลธรรมสูงส่งที่นิยมใช้ศีลธรรมแต่งหน้าให้ตัวเองดูดี หรืออ้างศีลธรรมบังหน้า กระทั่ง "บังตา" ไม่ให้เห็นโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง และประวัติศาสตร์ความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาครั้งแล้วครั้งเล่า!
 
น่าสงสัยเหลือเกินว่า บรรดาตำรวจทางศีลธรรมเขาเคยสำเหนียกบ้างหรือเปล่าว่า สำหรับคนที่ยืนยันเสรีภาพและความเท่าเทียมในการแสดงออกเชิงสาธารณะนั้น พวกเขาอาจรู้สึกเฉยๆ กับคำด่าหยาบๆ คายๆ อาจมองสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระเกินกว่าจะใส่ใจ
 
แต่พวกเขาอาจรับไม่ได้ เจ็บปวด หรือกระทั่งรังเกียจการใช้ภาษาศีลธรรมทางศาสนา การอ้างคำพระมาจับผิด หรือตัดสินท่าที ท่วงทีวาจาที่พวกเขาแสดงออก โดยละเลย "เนื้อหา" หรือประเด็นความคิดที่พวกเขาเสนอ
 
เพราะตราบใดที่การแสดงออกของพวกเขาไม่ละเมิดเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ยังอยู่ในกรอบของ freedom of speech ศีลธรรมทางศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องควร ไม่ควร มิบังควรในการพูด ควรพูดน้อย พูดมาก มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ ฯลฯ ก็ไม่ควรเข้าไปพิพากษาตัดสินพวกเขา ศีลธรรมทางศาสนาแบบสร้างจินตภาพ"บุคคลที่ดีงามด้วยกาย วาจา ใจ" ควรเป็นเรื่องรสนิยมของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ใครทำได้ปฏิบัติได้ก็เป็นเรื่องความดีส่วนตัวของบุคคลนั้น ไม่ควรเอามาตรฐานที่ตัวเองทำได้ (?) ไปตัดสินคนอื่น
 
หรือหากจะใช้ศีลธรรมทางศาสนามาตั้งคำถาม ก็ควรใช้กับบรรดาคนที่อ้างศาสนาอ้างศีลธรรม อ้างการปล่อยวาง เสียสละ เมตตา ฯลฯ สั่งสอนคนอื่นๆ มากกว่าว่าทำไมพวกเขาเหล่านั้นถึงไม่ยอมปล่อยวางสถานะ อำนาจ ระบบ จารีตเก่าที่ไม่สมสมัย ทำไมจึงยังอยากขยายอำนาจ สะสมความมั่งคั่งจากทรัพย์บริจาค อ้างเป็นพระอรหันต์จนร่ำรวยถอยรถเบนซ์ 10 คัน ในเวลา 3 ปี คิดเป็นเงิน 100 ล้าน แถมมีบ้านเดี่ยวในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนไม่มีแต่หลวงปู่เณรคำรูปเดียวนี้แน่ๆ
 
น่าเสียดายที่ศีลธรรมแบบพุทธศาสนาแห่งรัฐ หรือพุทธศาสนาไทยๆ ยิ่งขยายพื้นที่ทางสังคมออกไปมากเท่าไร ยิ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อพื้นที่เสรีภาพและความเท่าเทียมมากขึ้นทุกที แทนที่จะขยายออกไปเพื่อสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียม เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐประหารและโศกนาฏกรรมทางการเมืองของอียิปต์

Posted: 11 Jul 2013 01:33 AM PDT

 

เมื่อชาวอียิปต์พร้อมใจกันออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ต่อประธานาธิบดีอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ  กองทัพจึงสนองโดยการทำรัฐประหารโค่นนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีหลังจากดำรงตำแหน่งไปเป็นเพียง 1 ปีอย่างง่ายดายดุจพลิกฝ่ามือ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่รัฐบาลทั่วโลกไม่ว่าประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเทียมหรือเผด็จการอำนาจนิยมเข้าสู่ภาวะเปราะบางคือมีเสถียรภาพน้อยกว่าเดิมเพราะการตื่นตัวอย่างรวดเร็วทางการเมืองของประชาชนอันเป็นผลกระทบจากอาหรับสปริงเมื่อสองปีก่อน (ดังที่เรียกว่าการเมืองแบบโลกาภิวัฒน์แบบยุคหลังอาหรับสปริงหรือ  Post-Arab spring Global Politics)                แต่ผลกระทบจาการเมืองอียิปต์ดังที่ว่านี้คือผู้ที่มี (หรืออ้างว่าไม่มี) ความชื่นชอบในรถถังและปลายประบอกปืนได้พยายามฟื้นความถูกต้องชอบธรรมของการทำรัฐประหารขึ้นมาว่าสามารถช่วยในการปฏิวัติของประชาชนต่อรัฐบาลพลเรือนที่เผด็จการแสนฉ้อฉลแม้ว่ามีการยอมรับว่าการทำรัฐประหารคือการทดถอยของประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ทหารจะเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยตามอุดมคติในไม่ช้า 

ผู้เขียนไม่เคยเห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและความคิดเช่นนี้ ดังนั้นในบทความนี้ต้องการวิเคราะห์บทบาทของกองทัพต่อการเมืองอียิปต์เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการทำรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ดังต่อไปนี้

กองทัพอียิปต์เช่นเดียวกับกองทัพไทยถือได้ว่าเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่มีอิทธิพลทางการเมืองนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เมื่อปี 1952 มาเป็นสาธารณรัฐโดยกลุ่มนายทหารซึ่งต่อมาสมาชิกจำนวน 2 คนก็ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างเช่น คามัล อับเดล นัสเซอร์ที่นำเอาคลองสุเอซกลับมาเป็นของอียิปต์และสามารถหลอกให้มหาอำนาจปะทะกันเองในช่วงสงครามเย็นเมื่อปี 1957  และอดีตนายทหารอีกคนคือนายอัลวาร์ ซาดัตขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนก็ได้ทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 1979  จนในปี 1981 เขาก็ถึงแก่อสัญกรรมเพราะถูกสังหารโดยพวกมุสลิมหัวรุนแรง สำหรับฮุสนี มูบารัคประธานาธิบดีคนถัดมาก็เคยเป็นนายทหารอีกเช่นกัน ชาวอียิปต์จึงคุ้นชินกับระบอบการเมืองแบบบุรุษเหล็ก (Strongman Politics) ที่ปกครองประเทศด้วยเผด็จการทหาร อันเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงยอมรับหรือทนทานกับการปกครองของมูบารัคจนถึงปี 2011  ที่ถูกกระแสโลกาภิวัฒน์เล่นงานเช่นความเจริญทางเทคโนโลยีสื่อสารที่ทำให้ประชาชนมีสำนึกประชาธิปไตยมากขึ้นและมีการนัดแนะในการชุมนุมประท้วงกันได้จำนวนทั่วเพราะความโกรธแค้นต่อปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหนา แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้มูบารัคต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างง่ายดายเพราะทหารเป็นตัวแปรที่หันไปเข้าข้างประชาชน

นอกจากการเป็นบุรุษเหล็กของอดีตประธานาธิบดีทั้ง 3 คนที่ทำให้ได้รับการชื่นชอบจากชาวอียิปต์โดยเฉพาะรุ่นเก่าแล้ว ความสามารถของพวกเขาในการทำให้เกิดดุลภาพระหว่างสังคมอียิปต์และกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเคร่งศาสนาก็ยังทำให้คนอียิปต์รุ่นใหม่(ก่อนจะเกิดสำนึกประชาธิปไตยในช่วงอาหรับสปริง) จำนวนมากยอมรับเพราะคุ้นเคยกับการดำรงชีวิตโดยปราศจาการครอบงำของศาสนาอิสลาม  สำหรับกลุ่มเคร่งศาสนาในอียิปต์แล้วก็มีความหลากหลายอยู่ไม่น้อยในเรื่องทางอุดมการณ์และการปฏิบัติ ในช่วงมูบารัคแม้จะให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เป็นกลุ่มผิดกฎหมายแต่ก็เปิดพื้นที่ทางการเมืองและสังคมให้กับกลุ่มนี้ในระดับหนึ่งเพราะต้องการให้มาถ่วงอำนาจกับกลุ่มเคร่งศาสนากลุ่มอื่นที่ความคิดสุดโต่งเหมือนกันหรือยิ่งกว่า

อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมขึ้นมามีอำนาจในยุคหลังมูบารัค ชาวอียิปต์ก็หวาดระแวงว่ามอร์ซี สมาชิกของกลุ่มที่มักสร้างภาพว่าเป็นพวกหัวไม่รุนแรง (แต่เคยพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีคนก่อนคือนัสเซอร์มาแล้ว) จะนำอียิปต์ไปสู่การเป็นรัฐศาสนาเช่นเดียวกับอิหร่าน  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าการโค่นนายมอร์ซีคือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งถูกโจมตีโดยชาวอียิปต์โดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติกซึ่งมีจำนวน 10 % ของพลเมืองอียิปต์และผู้หญิงว่ามีอิทธิพลของศาสนาอิสลามเข้ามาแอบแฝงมากเกินไป[i] นอกจากนี้มอร์ซียังถูกมองว่าประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประกอบกับการที่เขายอมให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเข้ามาก้าวก่ายในการบริหารงานมากเกินไปอันเป็นการผิดรูปแบบของประชาธิปไตย ผสมกับแนวโน้มของตัวมอร์ซีเองที่กลายเป็นเผด็จการขึ้นเรื่อยๆ   เช่นมีการดำเนินคดีผู้ดูหมิ่นประธานาธิบดีอย่างจริงจังแทนที่จะเปิดเสรีภาพในการแสดงออกโดยเฉพาะของสื่อมวลชนตามระบอบประชาธิปไตย

ปัจจัยเหล่านี้ย่อมทำให้ชาวอียิปต์ทั้งหลายหันกลับมามองทหารในด้านดีเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่ขับไล่ผู้นำที่ตนเองเลือกมากับมือได้ถึงแม้ทหารจะมีอำนาจเป็นกลุ่มผลประโยชน์และองค์กรธุรกิจที่มั่งคั่งแต่กองทัพยังคงได้รับความนิยมเพราะระบบการศึกษาและค่านิยมของสังคมอียิปต์ที่ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้ซาบซึ้งกับวีรกรรมที่ได้กล่าวมาข้างต้น ความน่าสะพรึงกลัวของมอร์ซีและภราดรภาพมุสลิมทำให้พวกเขาลืมไปว่าตัวเองเคยออกมาประท้วงอิทธิพลของทหารที่จตุรัสทาห์รีร์มาแล้วครั้งหนึ่ง  ที่สำคัญชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ก็อาจลืมไปว่าไม่มีใครทำรัฐประหารโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเอง เช่นการที่ทหารเข้าข้างประชาชนครั้งแรกในยุคมูบารัคคือต้องการให้อำนาจของกองทัพดำรงอยู่ต่อไปและครั้งที่  2  ต้องการล้างแค้นมอร์ซี ที่ทำการลิดรอนอำนาจของกองทัพถึงแม้อดีตประธานาธิบดีพยายามแก้เกมก่อนหน้านี้โดยแต่งตั้งให้อับเดลฟาต์ตาห์ เอล ซิสซีซึ่งเคร่งศาสนาเป็นผู้นำของกองทัพแต่ผลประโยชน์ย่อมอยู่เหนือเรื่องศาสนา

ผู้เขียนไม่เชื่อว่าชนชั้นปกครองอียิปต์ซึ่งเคยร่วมงานและสานผลประโยชน์กับทั้งมูบารัคและมอร์ซีมาอย่างลึกซึ้งจะมีความศรัทธาในประชาธิปไตย ความวุ่นวายจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อาจเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลเฉพาะกาลคงอำนาจเอาไว้เรื่อยๆ   ส่วนการจัดให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แม้จะมีการให้ลงประชาชนลงประชามติในตอนท้ายแต่ก็คงเต็มไปด้วยเล่ห์กลซ่อนเร้นภายในเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาไว้ เช่นทำลายอิทธิพลของกลุ่มเคร่งอิสลามเพื่อให้ประชาชนไม่ใส่ใจต่อการคงอำนาจของทหารไว้เหมือนเดิมหรืออาจเพิ่มมากกว่าเดิม แม้ในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งใครก็มาดำรงตำแหน่งก็ตามต้องพบกับหนทางอันแสนยากลำบาก ถ้าหากเขามาจากการสนับสนุนทางอ้อมของกองทัพก็อาจถูกโจมตีโดยประชาชนบางกลุ่มที่ไม่นิยมทหารอันนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายกว่าเดิมแต่ถ้าประธานาธิบดีมาจากการเลือกโดยประชาชนอย่างแท้จริง ก็อาจจะมีความขัดแย้งกับกองทัพและพันธมิตรที่ดีของกองทัพคือฝ่ายตุลาการ(ที่ออกมาให้ความร่วมมือกับทหารจนหัวหน้าศาลรัฐธรรมนูญได้เป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาล) เพราะศักดิ์ศรีของผู้นำที่มาจากปวงชนย่อมไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดจากทหารหรือฝ่ายตุลาการ นอกจากนี้การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของผู้นำสูงสุดอาจถูกสกัดกั้นเพราะหลีกไม่พ้นที่จะลดทอนผลประโยชน์ของกองทัพและตุลาการที่เห็นว่ามีประชาชนอียิปต์และรัฐบาลชุดใหม่ควรสำนึกในบุญคุณของตนจากการขับไล่นายมอร์ซีออกไป   การยอมรับการทำรัฐประหารไม่ว่ากรณีใดๆ คือการตกอยู่ในร่างแหแห่งอำนาจอันท้าทายไม่ได้ของกองทัพดังคติพจน์ที่ว่า "ไม่มีของฟรีในโลก"

ถึงแม้ทั้ง 2 ฝ่ายอาจหันมาประนีประนอมหรือ "เกี้ยะเซี้ยะ " กันได้แต่ก็ใช่ว่าจะมีโอกาสำเร็จเสมอไปเพราะเศรษฐกิจย่ำแย่อันเป็นผลมาจากอาหรับสปริงทำให้อียิปต์ต้องเข้าไปพึ่งองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นเงินกว่า 4.8 พันล้านเหรียญกลายเป็นตัวบังคับให้ผู้นำคนใหม่ต้องดำเนินนโยบายเหมือนหลายประเทศในยุโรปคือมีนโยบายรัดเข็มขัด ทำให้เขาต้องเลือกเอาระหว่างกองทัพหรือประชาชน หากรัฐบาลตัดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแทนเช่นเลิกอุ้มค่าเชื้อเพลิงก็จะทำให้ชาวอียิปต์ไม่พอใจต่อทั้งรัฐบาลและกองทัพแล้วออกมาเดินขบวนประท้วงอีก  ดังนั้นวิธีการอีกวิธีการหนึ่งคือการลดทอนผลประโยชน์โดยเฉพาะงบประมาณของกองทัพที่มีอยู่อย่างมหาศาลเป็นวิธีทางเลือกที่รัฐบาลใหม่จะต้องตกลงกับกองทัพให้ดีแต่เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักกับกลุ่มบุคคลที่คุ้นเคยกับอภิสิทธิและผลประโยชน์มานาน

นอกจากนี้ผู้นำคนใหม่ต้องเผชิญกับระบบการเมืองสกปรกที่เป็นมรดกมาตั้งแต่ยุคมูบารัคเช่นเดียวกับระบบราชการที่เทอะทะเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวงและหน่วยตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่นิยมแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงและความไม่ยอมรับสิทธิของชนชายขอบเช่นผู้หญิง พวกรักร่วมเพศหรือชาวคริสต์ ฯลฯ ผสมกับแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์เก่าไม่ว่าภราดรภาพมุสลิม พวกนิยมมูบารัคหรือแม้แต่กลุ่มมุสลิมอื่นที่หัวรุนแรงยิ่งกว่าที่พร้อมจะก่อการร้ายให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้มหาศาลให้กับอียิปต์ต้องพังพินาศ  การที่รัฐบาลจะสามารถตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติที่อยู่ในอาการสาหัสเปรียบได้ว่าเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาเลยทีเดียว   จึงเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมเป็นเผด็จการแบบมอร์ซีเพราะต้องการทำให้เก้าอี้ของตัวเองแข็งแกร่งอันเป็นเรื่องง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจและต้องมาประท้วงอีกแต่อาจแตกต่างจากช่วงอาหรับสปริงคือมีแบ่งพรรคแบ่งพวกกันทำให้มีการนองเลือดและทหารก็เคลื่อนรถถังออกมาทำรัฐประหารอีก เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 

รัฐประหารครั้งนี้จึงสะท้อนว่าอียิปต์มีลักษณะคล้ายประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ทั้งหลายที่รับเอารูปแบบใหม่ของประชาธิปไตย (เช่นการเลือกตั้งและการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน) แบบฉับพลันอันจากผลของอาหรับสปริงจนรับไม่ทัน [ii] และยังได้ลดคุณค่าของวีรกรรมของชาวอียิปต์ที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติให้กลายเป็นวิธีแก้ไขปัญหาแบบขอไปทีของชาวอียิปต์คือการใช้ความรุนแรงแบบมักง่ายอย่างเช่นการประท้วงเป็นครั้ง ๆไป[iii] เพื่อปูทางกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามามีอำนาจแทนอันเป็นการคงไว้ซึ่งโครงสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมแบบเดิมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความฉ้อฉล ขาดความยืดหยุ่นไม่สามารถตอบรับสำนึกใหม่ของชาวอียิปต์  ก่อนหน้านี้ 1  ปีคงจะมีชาวอียิปต์ไม่น้อยที่มีความคิดเสรีนิยมหาทางกดดันนายมอร์ซีให้มีการปฏิรูปโครงสร้างเหล่านั้นโดยวิธีเคลื่อนไหวทาง           ประชาสังคมหรือพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบละมุนละม่อมหรือค่อยเป็นค่อยไปแต่ก็คงสู้กระแสความใจร้อนและความคุ้นชินกับตำนานวีรบุรุษขี่ม้าขาวของชาวอียิปต์ซึ่งมีจำนวนมากกว่าไม่ได้ อันสะท้อนว่าชาวอียิปต์ "สอบตก" วิชาการทดลองระบอบประชาธิปไตย สิ่งนี้อาจจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหม่ของการเมืองอียิปต์คือการกลับไปเดินบนหนทางที่ซ้ำรอยยุคมูบารัคหรืออาจลุกลามใหญ่โตไปมีชะตากรรมแบบเดียวกับซีเรียหรือไม่นั้น อนาคตอันอยู่ไม่ไกลน่าจะมีคำตอบให้




   

     [i]  อาจเป็นเรื่องตลกที่ขันไม่ออกว่าในขณะที่มูบารัคมีอำนาจ ภรรยาของเขาได้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิและเสรีภาพ รวมไปถึงมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่เมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมีอำนาจก็พยายามยุติความพยายามเช่นนี้  อันสะท้อนให้เห็นว่าระบบประชาธิปไตยเองก็มีปัญหา หากมีเรื่องของความเชื่อทางศาสนาหรือคุณค่าบางอย่างของประเทศนั้นแอบแฝงมาด้วย

 

     [ii] ความวุ่นวายของอียิปต์และประเทศตะวันออกกลางในรอบ 2 ปีเป็นอาการที่บ่งบอกว่าอาหรับสปริงเป็นเหรียญ 2 ด้านคือในขณะที่โค่นล้มผู้นำเผด็จการไปได้ แต่ก็ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ถูกกดทับอำนาจไว้หันมามีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถสมานฉันท์กันได้ อันเป็นอุปสรรค์สำคัญในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หากประเทศเหล่านั้นยังคงดำรงภาวะรัฐล้มเหลว (Failed State) อยู่เช่นนี้นานตาปี

 

     [iii] ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ทำให้เห็นว่าการประท้วงของชาวอียิปต์ไม่ว่าครั้งไหนมีตรรกะที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตยแบบตะวันตกเช่นสิทธิสตรี คือการที่ผู้หญิงอียิปต์พบกับภาวะอันตรายขณะที่เข้าร่วมเดินขบวนทางการเมืองหรือแม้แต่การปรากฏตัวในที่สาธารณะตามลำพังเช่นถูกล่วงละเมิดทางเพศเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงถูกข่มขืนหมู่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น