โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ดีอาร์ไอชี้ช่องใช้กลไกการเงิน ‘บริหารจัดการ-สร้างรายได้’ ดูแลป่าอนุรักษ์

Posted: 17 Jul 2013 01:42 PM PDT

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยได้รับการสนับสนุนจากโครงการเพิ่มศักยภาพการใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์เพื่อคงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ (Enhancing the Economics of Biodiversity and Ecosystem Services in Thailand/South East Asia) หรือ ECO-BEST ให้ศึกษากลไกการเงินเพื่อจัดการระบบนิเวศในพื้นที่คุ้มครอง หวังเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภายใต้งบประมาณและบุคลากรจำกัด โดยนำร่องศึกษาในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
 
น.ส.ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ให้ข้อมูลว่า งบประมาณประจำปีและจำนวนบุคลากรที่จำกัด ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่สามารถดูแลนิเวศผืนป่าอนุรักษ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงมีความพยายามหาช่องทางดำเนินการเพิ่มเติม แนวทางหนึ่งคือการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการเงินมาใช้ โดยใช้หลักการผู้ได้ประโยชน์จากทรัพยากรและระบบนิเวศเป็นผู้จ่ายชดเชยกลับคืนให้กับผู้มีหน้าที่หรือประชาชนที่แบกรับภาระในการรักษาสภาพนิเวศ ซึ่งเป็นแนวทางตามหลักการที่ ECO-BESTดำเนินการอยู่ จึงให้การสนับสนุนทีดีอาร์ไอในการศึกษาและทบทวนความเป็นไปได้ในการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการเงินมาใช้ในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่กันชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้ดีขึ้น
 
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า รูปแบบของแหล่งรายได้ที่นำมาใช้ในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของไทยและต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่ได้รับจัดสรรมาจากเงินงบประมาณประจำปีที่เป็นเงินภาษีซึ่งรัฐจัดเก็บมาจากประชาชน และมีบางส่วนได้รับจากเงินรายได้ที่เก็บจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากร รวมทั้งการให้บริการในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น การเก็บค่าบริการเข้าใช้พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว รายได้จากกิจกรรมให้บริการ ค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพยากร เป็นต้น
 
ในบางประเทศมีรูปแบบการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติม อาทิเช่น ค่าปรับ ภาษีสิ่งแวดล้อม (กรณีถ้าทำให้เกิดมลพิษ) เงินสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น ท้องถิ่น เทศบาล อบต. รวมถึงกลุ่มอนุรักษ์ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ รวมถึงเงินบริจาคและการเข้าดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัทเอกชน เงินบริจาคจากเอ็นจีโอในประเทศ ต่างประเทศ และแหล่งรายได้อื่นๆ
 
ในหลายประเทศได้นำหลักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้แนวคิดว่า ผู้ใช้หรือได้รับประโยชน์ ต้องร่วมรับภาระเพื่อเยียวยาผู้เสียโอกาสเพราะเลือกไม่ทำร้ายป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Payment for Ecosystem Services หรือ PES ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีหลายโครงการ หลายหน่วยงาน รวมทั้ง ECO-BEST ด้วย ที่พยายามพัฒนา PES ขึ้น โดยต้องเริ่มค้นหาผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อจับคู่ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมและพอใจร่วมกัน ทั้งพื้นที่นิเวศป่าต้นน้ำ นิเวศลำคลอง และนิเวศทางทะเล เมื่อผู้ซื้อ-ผู้ขายเข้าใจร่วมกัน แล้วจึงสร้างเป็นข้อตกลงที่สองฝ่ายยินดีร่วมกันว่า จะมีการจ่ายและรับเงินเพื่อเป็นหลักประกันว่า กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ตระหนักและพร้อมใจจ่ายเงินไป เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงของบริการนิเวศจากกลุ่มคนที่ต้องเสียโอกาสเพราะเขาทำดีหรือดูแลการใช้หรือไม่ใช้ทรัพยากรพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ระบบนิเวศยั่งยืนต่อไป
 
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การศึกษานี้เน้นพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมป่าอนุรักษ์ 5 แห่ง ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติทับลาน 3.อุทยานแห่งชาติปางสีดา 4.อุทยานแห่งชาติตาพระยา และ 5.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีนิเวศป่าใกล้เคียงหรืออยู่แนวขอบผืนป่านี้ ซึ่งเป็นป่าขนาดหย่อมลงมาที่ประกาศให้มีการคุ้มครองหรือจัดการในรูปแบบอื่น เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลำนางรอง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย รวมทั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคด-โป่งก้อนเส้า ซึ่งเป็นนิเวศป่าจากการปลูกฟื้นฟูป่าสัมปทานมาก่อน และป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่รอบๆ อีกหลายผืน เป็นต้น
 
แม้ว่า คุณสมบัติของทรัพยากรธรรมชาติในป่าเหล่านี้จะคล้ายกัน แต่เพราะชื่อเสียงและความยากง่ายในการเข้าถึงของแต่ละพื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน และวัตถุประสงค์การจัดการที่ไม่เหมือนกัน แต่ละแห่งจึงมีศักยภาพในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างกัน เช่น ในปี 2554 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีรายได้กว่า 64 ล้านบาท ขณะที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา มีรายได้เพียง 4.4 ล้านบาท และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ไม่มีการจัดเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวเลย ดังนั้นแต่ละแห่งจึงมีความพร้อมและศักยภาพในการบริหารจัดการเพื่อดูแลนิเวศผืนป่าภายใต้ข้อจำกัดที่แตกต่างกันมาก
 
การศึกษาพบว่า มีกลไกทางการเงินอื่นที่มีเสริมอยู่แล้วส่วนหนึ่ง คือ การสนับสนุนของกลุ่มคน ภาคประชาสังคมซึ่งสนใจอนุรักษ์ธรรมชาติที่ทำงานอยู่ในระดับพื้นที่ แม้เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่มีศักยภาพในการระดมทุนหรือเงินบริจาคเพื่อมาใช้ในการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าได้ดีภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ดังนั้น หากฝ่ายต่างๆ ร่วมกันสนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเขาก็จะมีบทบาทเสริมการทำงานของรัฐและชุมชนได้มากยิ่งขึ้น
 
ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งคือ หากกรมอุทยานแห่งชาติฯ สามารถปรับระบบบริหารให้มีการจัดการในภาพรวมทั้งผืนป่า แทนการแยกงานกันตามระบบงบประมาณ ที่ปัจจุบันเป็นอยู่จนเสมือนต่างคนต่างทำ การปรับปรุงให้มีการทำงานที่เป็น "ผืนป่า" เดียวแล้วมีโครงการหรือหน่วยงานสนับสนุนที่หลากหลายลงไปทำงานในผืนป่านั้นๆ ก็เป็นการลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานไปได้หลายส่วน เท่ากับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายใต้งบประมาณและบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ดียิ่งขึ้น
 
สำหรับแนวทางการหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมนั้น นักวิจัยพบว่า มีความเป็นไปได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะจัดทำข้อเสนอและกติกาเพื่อเจรจากับผู้ได้ประโยชน์จากนิเวศผืนป่า ให้จัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งไปเป็นงบสนับสนุนการทำงานของกลุ่มคนหรือผู้ที่ดูแลผืนป่า ตัวอย่างของผู้ได้ประโยชน์จากนิเวศป่าผืนนี้ ได้แก่ เจ้าของกิจการ บ้านเรือน โรงงาน ร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักต่างๆ รวมถึง หน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นผู้บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในบริเวณผืนป่าหรือรอบผืนป่านี้ เช่น อบจ.นครนายกซึ่งบริหารจัดการน้ำตกนางรอง มูลนิธิจุมพล-พันธุ์ทิพย์ ที่เป็นเจ้าของและผู้บริหารจัดการน้ำตกวังตะไคร้ นิคมอุตสาหกรรมในอำเภอนาดี ฯลฯ โดยนักวิจัยเสนอว่า หน่วยงานเหล่านี้ควรจัดสรรรายได้อย่างน้อยปีละ 10-15% มาเสริมให้กับหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลในท้องถิ่นที่ทำหน้าที่รักษาระบบนิเวศ
 
ที่สำคัญเงินที่จะได้รับการจัดสรรมานี้ควรระบุให้ชัดเจนว่า ต้องนำไปใช้เพื่อทำอะไรได้บ้าง เช่น สนับสนุน สร้างเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มบุคคลหรือองค์กรระดับพื้นที่ซึ่งทุ่มทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่ เพื่อเสริมการทำงานของภาครัฐ เช่น กลุ่มอนุรักษ์ช้างในผืนป่ามรดกโลก กลุ่มอนุรักษ์ปางสีดา กลุ่มครูและโรงเรียนในจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งช่วยเหลือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีศักยภาพในการระดมทุนและมุ่งมั่นดำเนินการด้วยตนเองอยู่แล้วระดับหนึ่ง
 
ประเด็นสำคัญที่การศึกษานี้เสนอ คือ การให้ทุกฝ่ายมองและบริหารจัดการมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่เป็นผืนเดียวแบบทั้งผืน ให้การจัดสรรงบลงไปเพื่อการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ที่อยู่ในและนอกผืนป่า ให้มีการจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างบูรณาการ โดยการรวมผืนป่าย่อยๆ ให้เป็นผืนป่าเดียวกัน แล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งที่รับผิดชอบโดยตรงหรือหน่วยงานภายนอก ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลุ่มคนเล็กคนน้อยที่เห็นความสำคัญของป่าและทำงานอยู่ในพื้นที่ได้เข้ามาส่วนร่วมมองภาพใหญ่และทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าประสงค์ให้คนอยู่กับผืนป่าได้
 
รัฐควรเร่งพิจารณาจัดทำระบบบริหารจัดการที่มีกฎกติกาที่ชัดเจน เพื่อบังคับใช้ตามบริบทที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากการดำเนินงานและนโยบายของรัฐที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในอดีตทั้งสิ้น วันนี้ทุกฝ่ายจึงต้องเร่งหาข้อตกลงและเงื่อนไขที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ เพื่อให้มั่นใจว่าคนอยู่ร่วมกับป่าด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่เกื้อกูลต่อกันและกันอย่างยั่งยืน
 
นักวิจัยผู้นี้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การเจรจาเพื่อการจัดสรรรายได้จากเจ้าของกิจการและหน่วยงานภายนอก ควรเริ่มด้วยการสร้างความตระหนักร่วมกันเสียก่อนว่า เขาคือผู้ได้ประโยชน์จากการมีนิเวศผืนป่าที่สมบูรณ์ รวมถึงเพิ่มการจัดเก็บ เพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บค่าเข้าชม และทำกิจกรรมท่องเที่ยวในเขตอนุรักษ์ต่างๆ โดยให้มีบุคลากรในการเข้าไปดูแลจัดการในส่วนนี้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามหลักการ TEEB หรือ เศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศและความหลายหลายทางชีวภาพ (The Economics of Ecosystems and Biodiversity)
 
ที่สำคัญคือ การสรรหาหรือพัฒนาให้เกิดองค์กรระดับท้องถิ่นขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการอนุรักษ์ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับชุมชนเพื่อลดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะจากปัญหาแนวเขตของผืนป่าซึ่งมีเพียงบางพื้นที่ที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของแต่ละฝ่าย
 
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เป็นปัจจัยคุกคามหลักในพื้นที่อนุรักษ์ที่ทำการศึกษา คือ 1) การซื้อขายเปลี่ยนมือสิทธิการใช้หรือครอบครองที่ดิน กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนประเภทการใช้ที่ดิน เช่น เปลี่ยนจากเกษตรกรรมไปเป็นบ้านพักตากอากาศ อาคารบริการที่พัก ร้านอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนวิถีการเกษตรจากเชิงธรรมชาติไปเป็นการพึ่งพิงสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชในบริเวณต้นน้ำลำธาร การปรับเปลี่ยนเส้นทางน้ำและกักตุนน้ำ ซึ่งโดยมากเป็นการลงทุนของกลุ่มคนนอกชุมชน
 
2) การลักลอบตัดไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้พะยูง ไม้กฤษณา และ 3) ความไม่เข้าใจกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อนุรักษ์ อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของแนวเขตและความไม่แน่วแน่ในนโยบายของรัฐ ดังนั้น เพื่อลดภัยและปัจจัยคุกคามที่มีต่อผืนป่า ความร่วมมือของทุกฝ่ายและกลไกการเงินเพื่ออนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม จะช่วยเสริมให้การดูแลนิเวศผืนป่าอนุรักษ์สามารถคงคุณค่าและมีความมั่นคงในการให้บริการนิเวศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ปมเงื่อนคดี-ข้อพิพาทที่ดิน 775 ไร่ กองทัพธรรม VS ชาวบ้านบุ่งไหม

Posted: 17 Jul 2013 11:23 AM PDT

รายงานความเคลื่อนไหวกลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทวงคืน "ที่ดินสาธารณะ" จากหมู่บ้านราชธานีอโศก สรุปพิพาทกว่า 10 ปีของที่ดินเลี้ยงสัตว์  775 ไร่ และคดีแพ่ง-คดีอาญาที่ค้ำคอชาวบ้าน ตัดสิน 13 กันยานี้

======

พื้นที่ 775 ไร่ในตำบลบุ่งไหมกำลังเป็นชนวนความขัดแย้งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันที่ 13 กันยายนซึ่งศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษา  กรณีราชธานีอโศกฟ้องชาวบ้าน 14 รายเพื่อเรียกค่าเสียหาย ขณะที่คดีอาญาข้อหาบุกรุกและทำร้ายร่างกายยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 

นายเมธชัย  คำแผ่น ประธานกลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม บอกเล่าถึงเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างราชธานีอโศกที่ถือครองกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ กับชาวบ้านบุ่งไหมที่ต่อสู้เพื่อยืนยันความเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเลี้ยงสัตว์ว่า ที่ดินผืนใหญ่ 1,140 ไร่ บริเวณ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี . เป็นที่ทราบกันดีของชาวบ้านว่าเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน  โดยแบ่งเป็นทำเลสำหรับเลี้ยงสัตว์ จำนวน 775 ไร่ และพื้นที่ทำกินหมู่บ้านกุดระงุม หมู่ 3 จำนวน 365 ไร่

ต่อมาในปี 2533 มีการปรับหน้าดิน ขุดร่องน้ำ เพื่อนำดินไปถมในพื้นที่ประมาณ 300 ไร่  โดยเป็นการดำเนินการของนางทัศนา เศวตราภร   ซึ่งเป็นคนที่มีพื้นเพอยู่ในพื้นที่แต่ไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ในเบื้องต้นชาวบ้านต่างก็เห็นด้วยที่เพราะอยากได้ทางสัญจรที่สะดวกแก่การขึ้นลงในพื้นที่  ป่าบุ่งป่าทาม ที่สำคัญคือเป็นทางสัญจรของ โค และ กระบือ ที่มีจำนวนมาก

หลังจากนั้นปรากฏว่ามีการนำดินที่ขุดได้ไปตากยังบริเวณพื้นที่ ป่าทาม มีการถมยังบริเวณพื้นที่ต่างๆที่เป็นร่องน้ำและหนองน้ำ  รวมทั้งต้นไม้น้อยใหญ่จนไม่เหลือสภาพเดิม ทำให้ชาวบ้านเริ่มไม่เห็นด้วยกับ "การพัฒนา" ดังกล่าว เพราะเป็นทำลายพื้นที่ทำมาหากินดังเดิม  เช่น ที่นา  ป่าหญ้าที่เลี้ยงสัตว์  และบ่อน้ำน้อยใหญ่ที่เคยหาปลา  แต่สุดท้ายผู้นำหมู่บ้านก็มิได้ห้ามปรามการถมที่นั้น ที่ทำมาหากินและเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านจึงกลายเป็นกองดินนับพันกองทั่วบริเวณป่าทาม และขุดหนองน้ำขึ้นใหม่ โดยเน้นเฉพาะที่มี ใบสำคัญที่หลวง 

ปี พ.ศ. 2537 ที่ดิน 775ไร่ ได้ถูกนำไปออกเป็นโฉนด และ นส .3 โดยชาวบ้านตำบลบุ่งไหมไม่รู้เรื่องนี้เลย โดยนาง ทัศนา และนาย จรูญ ถาวร อดีตผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น นางทัศนา ได้บอกกล่าวเพียงว่ากำลังมีการพัฒนา โครงการพัฒนา ทำประโยชน์ฝึกอาชีพให้แก่ชาวบ้าน เป็นอีกครั้งที่ชาวบ้านเชื่อและมีความหวังกับโครงการวาดฝันดังกล่าว

ต่อมา ปี พ.ศ. 2544 ชาวบ้านจึงได้ทราบว่ามีการตัดแบ่งโฉนดออกเป็น 214 แปลงโดยนางทัศนา ได้นำโฉนดไปจำนองกับธนาคารไทยทนุ ในราคา 28 ล้าน และจากนั้นปล่อยให้ที่ดินได้ขาดจำนอง  ชาวบ้านคาดกันว่าเหตุที่มีการแบ่งโฉนดเป็นจำนวนมากถึง 214 แปลงนั้นเพื่อจะนำไปทำโครงการบ้านจัดสรร หนึ่งในรายชื่อเจ้าของที่ดินแปลงย่อยได้แก่ พลเอกวิมล วงศ์วานิช อดีต ผบทบ.

คำถามใหญ่ดังก้องไปทั่วตำบล ที่ดินสาธารณะดังกล่าว ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิให้เอกชนได้อย่างไร

เรื่องราวของคดีส่อเค้าเกิดขึ้นในอีกราว 5 ปีหลังจากนั้น หรือในปี พ.ศ. 2549 เมื่อกองทัพธรรมมูลนิธิได้ไปประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวที่ถูกขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี ในราคาเพียงแค่ 6.2 ล้านบาท จากนั้นได้ขับไล่ชาวบ้านที่กำลังทำการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวให้ออกจากพื้นที่

กระนั้น ก็ยังมีข้อตกลงพิเศษว่า ชาวบ้านสามารถทำสัญญาเช่าได้ไร่ละ 1 บาทต่อปี แต่ต้องห้ามใช้สารเคมี รวมทั้งห้ามนำอบายมุขต่างๆ เข้ามาในพื้นที่พิพาทดังกล่าว หากใครไม่ทำตามข้อตกลงต้องออกจากพื้นที่ มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย

ชาวบ้านบางส่วนหวาดกลัวคำขู่ดังกล่าว และยอมทำตามข้อตกลง

ปี พ.ศ. 2553 ชาวบ้านตำบลบุ่งไหม หมู่ 3 และหมู่ 6 เริ่มรวมตัวกันเพื่อทวงคืนพื้นที่พิพาทในนาม "กลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม"  โดยเริ่มเคลื่อนไหวจากการทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีและขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชนในกรุงเทพมหานคร แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จแม้แต่น้อย ชาวบ้านจึงต้องลงมือปกป้องพื้นที่ด้วยตนเองด้วยการรวมตัวกันในวันที่กองทัพธรรมนำเจ้าพนักงานที่ดินเข้ามารังวัดที่ดินเพื่อคัดค้านการรังวัดที่ดิน

การเผชิญหน้ากันบนพื้นที่พิพาทในวันดังกล่าวเป็นชนวนสำคัญให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ชาวบ้านที่อยู่ในทิ่เกิดเหตุ  เล่าถึงเหตุการณ์ว่า ราชธานีอโศกได้นำรถไถมาจำนวน 2 คันมาไถที่ที่ชาวบ้านเตรียมทำนา เมื่อชาวบ้านเห็นจึงเรียกระดมกันเลยมาเพื่อขัดขวาง โดยฉุดดึงคนขับตกลงจากรถไถ แม้ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรแต่กรณีนี้นำไปสู่คดีอาญาในที่สุด

ชาวบ้าน 14 ราย ถูกกองทัพธรรมมูลนิธิ โดย นายวัลลภ เทพไพฑูรย์ และนายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง และมีชาวบ้านอีก 10 รายถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหาบุกรุกและร่วมกันทำร้ายร่างกาย

ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 กันยายน 2556 ส่วนคดีอาญาอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมาย

นายแสง  คำแผ่น เปิดเผยว่า ตนได้ออกมาทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อปกป้องพื้นที่ดังกล่าวร่วมกับทางกลุ่ม จนเป็นเหตุทำให้ถูกดำเนินในคดีแพ่ง มีการฟ้องขับไล่ เรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงคดีอาญาในข้อหาร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายร่างกาย ปัจจุบันคดีอาญายังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอวารินชำราบ

เขาระบุด้วยว่า ข้อมูลที่ใช้ในการต่อสู้คดีจะเป็นงานวิจัย และเอกสารใบสำคัญที่หลวงเพื่อยืนยันว่ามีบางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่สำคัญ หลังจากชาวบ้านได้เข้าไปขอคืนพื้นบางส่วนได้ทั้งหมด 7 ไร่ และได้ใช้ทำ "นารวม" ร่วมกันในตำบลบุ่งไหม  มีการศึกษาเรียนรู้จนทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามจากงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมหมาย  ชินนาค อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและคณะนักวิจัยไทบ้าน ในปี พ.ศ. 2548 

ปัจจุบัน "กลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม" ยังคงทำนารวม เพื่อผลิตข้าวเป็นกองทุนของกลุ่มไว้ใช้ในการต่อสู้ทั้งด้านกฎหมายและกิจกรรมย่อยต่างๆ  นอกจากนี้ยังปรึกษาหารือแนวทางในการ พัฒนาพื้นที่ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะทำให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ และจะจัดการศึกษาเป็นหลักสูตรการศึกษาของกลุ่ม โดยร่วมงาน งานวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ  กับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.ผ่านเกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง คาดประมูล ต.ค.-พ.ย.

Posted: 17 Jul 2013 11:20 AM PDT

ที่ประชุม กสทช. มีมติ 8 ต่อ 3 เห็นชอบประกาศเกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง คาด 2 สัปดาห์ประกาศใช้ เข้าสู่การประมูลใน ต.ค.-พ.ย.นี้

(17 ก.ค.56) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการทางธุรกิจระดับชาติ หรือการประมูลทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง โดยให้นำข้อสังเกตของกรรมการ กสทช. อาทิ การครองสิทธิ์ข้ามสื่อ การจัดทำแผนตาราง (Platform) การใช้คลื่นความถี่ระหว่างคลื่นโทรคมนาคมกับคลื่นวิทยุโทรทัศน์ที่ทับซ้อนกันให้เกิดความชัดเจน และใช้ประโยชน์คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพนำไปประกอบการพิจารณาด้วย จากนั้นจะนำร่างประกาศดังกล่าว ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า และจะเข้าสู่การประมูลทีวีดิจิตอลได้ในช่วง ต.ค.-พ.ย.2556

"การพิจารณาร่างประมูลดิจิตอลครั้งนี้ ด้วยมติ 8 ต่อ 3 โดย 3 เสียงขอสงวนความเห็น เพราะมีบางเรื่องเห็นด้วยและบางเรื่องไม่เห็นด้วย ได้แก่ นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ส่วนประเด็นการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เป็นผู้หยิบมาหารือในที่ประชุม เนื่องจากมีกรรมาธิการหลายคนฝากถามประเด็นดังกล่าว ซึ่งบอร์ดก็ได้ฝากเป็นข้อสังเกตแล้ว แต่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ เนื่องจากจะมีการออกประกาศเพื่อกำกับการดูแลอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนก่อนการประมูลทีวีดิจิตอลอย่างแน่นอน"

ฐากร กล่าวต่อว่า ประเด็นการครองสิทธิ์ข้ามสื่อนั้นเป็นการดำเนินการตามมาตรา 31 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพื่อป้องกันการผูกขาดและการครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งปัจจุบันสื่อมีการผสมผสานกันแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการกำกับการดูแลที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สาธารณะ และยืนยันว่าสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลได้อย่างแน่นอน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ และระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่โทรทัศน์ และการคืนความถี่ที่ถือครองอยู่ในปัจจุบัน โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยหรือช่อง 11 จะเสนอแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการทีวีจากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลภายใน 5 ปี จากเดิม 10 ปี ส่วนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะเสนอแผนปรับเปลี่ยนทีวีจากระบบอะนาล็อกไปสู่ดิจิตอลภายใน 3 ปี แต่ปัจจุบันคลื่นความถี่ของไทยพีบีเอสจะสิ้นสุดในเดือนเม.ย.2557 ดังนั้นไทยพีบีเอส มีสิทธิ์ที่จะขอใช้คลื่นความถี่ไปจนกว่าการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีดิจิตอลจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี

สำหรับการประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง แบ่งเป็น ประเภทวาไรตี้ทั่วไป ความคมชัดสูง (เอชดี) 7 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูลช่องๆ ละ 1,510 ล้านบาท เคาะครั้งละ 10 ล้านบาท ประเภทวาไรตี้ทั่วไป ความคมชัดมาตรฐานทั่วไป (เอสดี) 7 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูลช่องละ 380 ล้านบาท เคาะครั้งละ 5 ล้านบาท ประเภทข่าวและสาระ 7 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูลช่องละ 220 ล้าน เคาะราคาครั้งละ 2 ล้าน และประเภทเด็ก 3 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูล 140 ล้านบาท เคาะครั้งละ 2 ล้านบาท

ด้าน ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการส่งเสริมแข่งขัน อยู่ระหว่างการออกประกาศการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ ว่าจะมีรายละเอียดลักษณะใดของการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ เช่น เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์มีสิทธิ์เป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ แต่ไม่สิทธิ์เป็นเจ้าของสื่อวิทยุ หรือเป็นเจ้าของสิทธิ์สิ่งพิมพ์และวิทยุ แต่ไม่มีสิทธิ์ในกิจการโทรทัศน์ เป็นต้น ในลักษณะการเป็นเจ้าของกิจการสื่อเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งจะเน้นการกำกับดูแลสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ส่วนรายละเอียดว่ารายใหญ่มีส่วนแบ่งการตลาดเท่าใดนั้น ก็ยังไม่ได้กำหนดแต่คาดว่าอยู่ในระดับมีส่วนแบ่งการตลาดไม่เกิน 40% สำหรับประกาศการถือหุ้นไขว้นั้น ก็ต้องดำเนินการเช่นกัน โดยคาดว่าทั้ง 2 ประกาศจะมีความชัดเจนใน 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จก่อนการประมูลทีวีดิจิตอล

"การออกร่างประกาศการห้ามครองสิทธิ์ข้ามสื่อ และการห้ามถือหุ้นไขว้นั้น เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 31 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพื่อป้องกันการครอบงำในกิจการ เนื่องจากกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีผลต่อความคิดของประชาชน และสามารถชักจูงประชาชนได้ ฉะนั้นจึงต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด" ธวัชชัย กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw: แง้มร่างประกาศ กสทช. กำหนด 'เนื้อหาต้องห้าม' สำหรับทีวีวิทยุ #1

Posted: 17 Jul 2013 10:56 AM PDT

<--break->

กสทช.กำลังจัดทำร่างหลักเกณฑ์กำกับเนื้อหารายการในวิทยุและโทรทัศน์ให้ชัดเจน เตรียมประกาศในระยะอันใกล้ เพื่อกำหนดว่ารายการแบบไหนออกอากาศได้ รายการแบบไหนออกอากาศแล้วมีความผิด เคาะเนื้อหามาช่วยกันวิเคราะห์ที่นี่

ตามที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37 กำหนดไว้ว่า

"มาตรา ๓๗  ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง"

โดยกำหนดให้ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหารายการ คือ "ผู้รับใบอนุญาต" หรือ "เจ้าของสถานี" ขณะที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลเจ้าของสถานทีอีกชั้นหนึ่ง หากมีการออกอากาศรายการที่มีลักษณะต้องห้าม กสทช.มีอำนาจสั่งให้ระงับการออกอากาศในทันที อาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศก็ได้ หรืออาจสั่งปรับตั้งแต่ 50,000 – 500,000 บาทก็ได้
 
ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ มาตรา 37 บัญญัติลักษณะของรายการที่ต้องห้ามออกอากาศไว้อย่างกว้างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ กสทช. ใช้ดุลพินิจตีความและบังคับใช้กฎหมาย ถ้อยคำอย่างเช่น "ความมั่นคงของรัฐ" "ความสงบเรียบร้อย" "ศีลธรรมอันดี" "ลามกอนาจาร" เป็นถ้อยที่มีปัญหามาตลอดในการบังคับใช้กฎหมายหลายต่อหลายฉบับว่ากว้างเกินไป ยากที่ผู้ผลิตรายการจะทราบได้ว่ารายการแบบไหนผลิตแล้วจะถูกพิจารณาว่าสามารถออกอากาศได้หรือไม่

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย กสทช. จึงต้องจัดทำ ประกาศเพื่อกำหนดนิยาม และรายละเอียดของรายการที่เข้าข่ายต้องห้ามออกอากาศให้ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ตรงกันทุกฝ่าย ซึ่งประกาศฉบับนี้จะมีความหมายอย่างมากต่อเนื้อหาที่จะปรากฏในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั่วประเทศในอนาคต และมีผลต่อเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยตรง

ขณะนี้ อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ของ กสทช. ร่างประกาศออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อแจกแจงถ้อยคำต่างๆ ในมาตรา 37 ประกาศฉบับนี้กำลังอยู่ระหว่างรอฟังความคิดเห็นจากสาธารณะก่อนประกาศใช้จริง ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจเบื้องต้น ดังนี้
 
 
 
 

ในร่างประกาศฉบับนี้ แบ่งการอธิบายแจกแจงถ้อยคำต่างๆ ตามมาตรา 37 โดยแบ่งออกเป็นข้อย่อยต่างๆ ตัวอย่างเช่น

ข้อ 1. แจกแจงกรณีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 2. แจกแจงกรณีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

ข้อ 3. แจกแจงกรณีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ข้อ 4. แจกแจงกรณีเนื้อหาของรายการที่มีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร

ข้อ 5. แจกแจงกรณีเนื้อหาซึ่งมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง

ข้อ 6. กำหนดมาตรการในการออกอากาศรายการให้เจ้าของสถานีปฏิบัติ

 

นิยามเนื้อหาต้องห้าม ยิ่งเขียนยิ่งกำกวม

ประกาศกสทช.ฉบับนี้ ในฐานะที่เป็นกฎหมายจำกัดสิทธิ และเป็นกฎหมายลูกที่ต้องกำหนดรายละเอียดให้เกิดความชัดเจนโดยไม่ต้องห่วงว่าจะยาวหรือเยิ่นเย้อเกินไป จึงควรเขียนลงรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และต้องให้ชัดเจนจริงๆ แต่กลับยังพบถ้อยคำกว้างๆ ที่อาจจะเป็นปัญหากับการตีความในอนาคตได้อยู่ไม่น้อย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

"กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ"

ในข้อ 2. การแจกแจงกรณีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ร่างประกาศนี้กำหนดว่าเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ คือ "รายการที่มีเนื้อหาอันเป็นการจงใจก่อให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศชาติ" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีหน้าที่แจกแจงให้เกิดความชัดเจน แต่กลับยังคงเป็นคำที่คลุมเครือขึ้นอยู่กับการตีความ ว่าการดูหมิ่นเหยีบดหยามประเทศชาติอย่างไรบ้างที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐได้ ดังที่เคยมีกรณีการแบนภาพยนตร์โฆษณาชุด "ขอโทษประเทศไทย" เมื่อปี 2553 โดยอ้างเหตุว่ามีภาพธงชาติไทยฉีกขาด ซึ่งก็เป็นคำสั่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และไม่ทราบว่า กรณีเช่นนี้จะเข้าข่ายว่าเป็นการจงใจก่อให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศชาติหรือไม่ 

หรือในข้อที่กำหนดว่า "รายการที่กระทบกระเทือนหรือดูหมิ่นประเทศ หรือต่อประมุขของประเทศอื่นๆ อันจะเป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ในเมื่อนักการเมืองของไทยถูกสื่อมวลชนไทยตรวจสอบได้ หากผู้นำประเทศอื่นมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็สมควรถูกตรวจสอบได้โดยสื่อไทยเช่นกัน ตัวอย่างกรณีที่ประเทศไทยมีกรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทเขาพระวิหารกับกัมพูชา สื่อไทยก็ย่อมต้องวิพากษ์วิจารณ์กัมพูชาได้ หรือหากประเทศอื่นกระทำการใดที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เช่น การสร้างเขื่อน การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี ฯลฯ สื่อไทยก็ย่อมต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำหรือประมุขของประเทศนั้นๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจได้ ซึ่งการนำเสนอข้อมูลเช่นนี้น่ากังวลว่าจะถูกตีความว่าเป็นรายการที่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจนต้องห้ามออกอากาศ

หรือในข้อที่กำหนดว่า "รายการที่มีเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในสังคม"ดังที่เคยมีกรณีการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย โดยกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ด้วยเหตุผลว่าก่อให้เกิดความแตกสามัคคีของคนในชาติ ทั้งที่บทของภาพยนตร์เรื่องนี้แปลแบบคำต่อคำมาจากนวนิยายชื่อก้องโลก Targedy of Mcbeth ของ William Shakespeare และเนื้อหาก็เกี่ยวกับความพินาศของผู้ปกครองที่บ้าอำนาจ แต่กรรมการกลับมีดุลพินิจเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้จึงยังเป็นเงื่อนไขที่ไม่ชัดเจนเพียงพอและยังอาจขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการตีความของเจ้าหน้าที่ผู้ถืออำนาจรัฐได้อยู่

 

"กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"

ในข้อ 3. การแจกแจงเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ร่างประกาศนี้กำหนดว่าเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ คือ "รายการที่มีลักษณะยุงยง ส่งเสริม หรือก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบการกระทำที่ขัดต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของประชาชนชาวไทย" ซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดที่ไม่ได้ให้ความชัดเจนมากขึ้น เพราะ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของประชาชนชาวไทยนั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและฐานความเชื่อของผู้คน วัฒนธรรมหลายอย่างในสังคมไทยมีลักษณะที่กว้างมาก จนไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าสิ่งใด หรือ กรณีใดบ้างที่อาจเข้าข่ายว่าขัดต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของประชาชนชาวไทย ผู้คนที่เกิดและเติบโตต่างยุคสมัยมักมีมุมมองต่อวัฒนธรรมและความดีงามในสังคมแตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น การให้ค่าต่อการใช้เทคโนโลยี พฤติกรรมการเล่นเกมส์ออนไลน์ การใช้ภาษาแบบวัยรุ่น ฯลฯ ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้นอกจากจะไม่ได้ให้ความชัดเจนใดๆ แล้วยังเป็นเพิ่มถ้อยคำที่ต้องอาศัยการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้นอีกด้วย

 

"การกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร"

ในข้อ 4. การแจกแจงเนื้อหาของรายการที่มีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร ร่างประกาศนี้กำหนดว่าเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ คือ "การแสดงออกด้วยถ้อยคำที่ต้องห้าม น่ารังเกียจ ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทย" ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่น่ากังขามาก เพราะร่างประกาศฉบับนี้ถูกคาดหวังว่าจะทำหน้าที่ชี้แจงให้ชัดเจนว่าถ้อยคำแบบใดที่เป็นถ้อยคำต้องห้าม แต่กลับเขียนว่าห้ามออกอากาศ "ถ้อยคำที่ต้องห้าม"ทำให้ยิ่งสับสนว่า "ต้องห้าม" ตามกฎหมายหรือกติกาใด ส่วนคำว่า "น่ารังเกียจ" นั้นก็เป็นคำที่ขึ้นอยู่กับมาตรฐานทางความรู้สึกของแต่ละคนอีกเช่นกัน ตัวอย่างเช่น คำที่หมายถึงอวัยวะเพศซึ่งมีคำอยู่หลายระดับมาก บางคนอาจรู้สึกว่าบางคำน่ารังเกียจบางคำไม่น่ารังเกียจ บางคนอาจรู้สึกว่าทุกคำเป็นคำพูดในชีวิตประจำวันไม่น่ารังเกียจ หรือบางคนอาจรู้สึกว่าเป็นคำน่ารังเกียจทุกคำก็ได้ 

คำที่น่าสับสนที่สุด คือการอ้างถึงถ้อยคำที่ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทย" ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ไม่ชัดเจน จึงต้องมีการแจกแจงความหมายของเนื้อหาสาระของรายการที่มีลักษณะ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทย" เอาไว้อยู่แล้วตามข้อ 3. และเป็นเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศประเภทหนึ่งอยู่แล้วตามข้อ 3. จึงไม่มีเหตุใดต้องยกเอาคำที่มีความหมายไม่ชัดเจนมาเขียนซ้ำอีกในฐานะคำอธิบายเพื่อให้ข้อ 4. ชัดเจนยิ่งขึ้น การเขียนเช่นนี้มีแต่จะก่อให้เกิดการตีความกลับไปกลับมาให้สับสนกันเพิ่มขึ้นเท่านั้น และอาจเปิดโอกาสให้มีการเซ็นเซอร์เนื้อหารายการโดยอ้างว่าเป็น "ถ้อยคำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทย" โดยตีความนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้แล้วในข้อ 3. ก็ได้

หรือในข้อที่กำหนดว่า "เนื้อหาของรายการที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการร่วมเพศ" ซึ่งเปิดให้ตีความหมายได้อย่างกว้าง ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าพฤติกรรมการร่วมเพศนั้นต้องชัดเจนแค่ไหน ต้องเป็นการร่วมเพศระหว่างชายกับหญิงเท่านั้นหรือไม่ รวมถึงการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง หรือทางช่องปากด้วยหรือไม่ ต้องปรากฏภาพการสอดใส่เท่านั้นหรือเพียงแค่ภาพของร่างกายบางส่วนที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าคนกำลังมีเพศสัมพันธ์กันก็เป็นสิ่งต้องห้ามแล้ว 

นอกจากนี้ร่างประกาศนี้ยังมีข้อที่กำหนดว่า "การแสดงให้เห็นถึงอวัยวะเพศหรืออวัยวะส่วนที่พึงสงวน" คำว่า อวัยวะส่วนที่พึงสงวนนั้นก็ยังต้องตีความว่าหมายถึงอวัยวะส่วนใดบ้าง ทั้งที่พื้นที่สีเทาของเรื่องลามกอนาจาร เช่น การเปิดก้น เต้านมหรือหัวนมผู้หญิง การแก้ผ้าหมดแต่ทำเบลอ ฯลฯ เหล่านี้เป็นข้อถกเถียงในสังคมมานานแล้วว่าแค่ไหนจึงจะถือว่าลามกอนาจาร แต่ก็ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนในทางกฎหมาย ทั้งที่มีอวัยวะอยู่เพียงไม่กี่อย่างที่การเปิดเผยอาจเข้าข่ายลามกอนาจารและเป็นปัญหาในการตีความอยู่ในปัจจุบัน หากประกาศฉบับนี้จะกำหนดให้ชัดเจนลงไปโดยไม่ต้องให้ตีความอีกก็น่าจะทำได้ไม่ยาก และการเขียนให้ชัดเจนยังเป็นการวางบรรทัดฐานของคำว่าลามกอนาจารตามกฎหมายให้กับสังคมได้ด้วย

 

 
 
 

นิยามเนื้อหาต้องห้าม ยิ่งเขียนยิ่งขยายความ

แม้ว่าหลักเกณฑ์บางข้อจะไม่มีปัญหาเรื่องความคลุมเครือในการตีความ แต่โดยวิธีการเขียน ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ยังอาจเปิดช่องให้ตีความให้เนื้อหาบางอย่างกลายเป็นเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศเกินเลยไปจากเจตนารมณ์และอำนาจที่ กสทช.มีตามมาตรา 37 ตัวอย่างเช่น 

 

"ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ในข้อ 1. แจกแจงกรณีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ร่างประกาศนี้กำหนดว่าเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ คือ "รายการที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะของการยุยง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อล้มล้างอำนาจอธิปไตยไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้" ความกำกวมของประโยคนี้ อยู่ที่คำว่า "ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้" เมื่ออ่านทั้งประโยคแล้วจะได้ความหมายว่า ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ รายการที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะการยุยง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนได้

ซึ่งหากรัฐบาลในสมัยใดก็ตามมีแนวโน้มจะใช้อำนาจบริหารประเทศไปในทางที่ไม่ชอบ หรือรัฐสภาสมัยใดจะออกกฎหมายที่ประชาชนไม่เห็นด้วย การที่สื่อวิทยุหรือโทรทัศน์นำเสนอเนื้อหาเพื่อให้ประชาขนต่อต้านการใช้อำนาจนั้นๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น แต่อาจถูกตีความตามร่างประกาศฯ ฉบับนี้ได้ว่า เป็นรายการที่ยุยงทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้จึงต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างมาก

 

"กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ"

ในข้อ 2. การแจกแจงเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ร่างประกาศนี้กำหนดว่าเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ คือ "การแสดงออกที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงออกซึ่งความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน หรือสถาบันพระมหากษัตริย์"จะเห็นว่าข้อความตามร่างประกาศข้อนี้ คล้ายกับมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่มุ่งลงโทษการกระทำที่ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย แต่ มาตรา 112 นั้นมุ่งปกป้องพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นบุคคล ไม่ใช่ตัวสถาบัน การวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรในปัจจุบันไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่การที่ร่างประกาศฉบับนี้กำหนดคุ้มครอง "สถาบันพระมหากษัตริย์" ด้วย ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันในฐานที่เป็นสถาบันแม้จะไม่ผิดกฎหมายในปัจจุบันแต่ก็จะต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศในโทรทัศน์และวิทยุได้

 

"กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี"

ในข้อ 3. การแจกแจงเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ร่างประกาศนี้กำหนดว่าเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ คือ "การแสดงออกใดๆ ซึ่งก่อให้เกิดการดูถูก หรือการสร้างความเกลียดชัง เป็นเหตุให้คุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลถูกทำลายหรือด้อยค่าลงหรือก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือการประทุษร้ายต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล บนพื้นฐานลักษณะเฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นๆ …." ประกาศข้อนี้มีข้อน่าสังเกตว่า การละเมิดคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่รายการที่มีเนื้อหาละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นจะต้องเป็นเป็นรายการที่ "กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี" เสมอไปหรือไม่ และเจตนารมณ์ของมาตรา 37 ต้องการห้ามการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกกรณีหรือไม่ เพราะลักษณะของรายการในโทรทัศน์และวิทยุในปัจจุบันมีทั้งรายการบันเทิง เพื่อความสนุกสนานซึ่งก็อาจนำเอาความแตกต่างอันเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลมาเล่นเป็นเรื่องตลก เช่น ผิวดำ ตัวอ้วน เป็นต้น

ข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่ง เห็นว่า ลักษณะเฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลตามที่กำหนดไว้ในประกาศมีฐานที่กว้างจนเกินไป เช่นคำว่า อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ วัยวุฒิหรือความสามารถในทางสติปัญญา การศึกษาอบรม การประกอบอาชีพ หรือ ลักษณะเฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในประการอื่นทำนองเดียวกัน 

อีกทั้ง แม้ว่าการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของคนเพราะเหตุความแตกต่างอันเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลนั้นๆ จะเป็นสิ่งที่ไม่ดี และไม่สมควรอย่างยิ่ง จนถึงขนาดก่อให้เกิดการดูถูก หรือ สร้างความเกลียดชัง แต่กลไกในการจัดการกับการแสดงออกที่ไม่สมควรนั้นยังมีวิธีการอดทนและให้โอกาสสังคมเรียนรู้ความผิดพลาดซึ่งกันและกัน อันอาจเป็นวิธีการจัดการกับปัญหาที่ถูกต้องกว่า การเซ็นเซอร์หรือห้ามออกอากาศรายการในลักษณะเช่นนี้เลยนั้น นอกจากจะกระทบต่อแนวทางการผลิตเนื้อหาจำนวนหนึ่งที่เคยมีอยู่แล้ว ยังอาจเป็นการกดทับวิธีคิดรูปแบบหนึ่งที่มีอยู่จริงในสังคมให้ไม่มีพื้นที่แสดงออก ซึ่งไม่ได้ช่วยให้วิธีคิดแบบนั้นหมดไป มีแต่จะสะสมความเกลียดชังไว้ในระยะยาวโดยที่สังคมไม่ได้ขบคิดร่วมกันเพื่อพัฒนาความเข้าใจที่ดีกว่าต่อไป

หรือในข้อที่กำหนดว่า "การออกอากาศหรือการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการที่มีกฎหมายห้ามมิให้การออกอากาศหรือการเผยแพร่โฆษณา เช่น กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการพนัน หรือกฎหมายว่าด้วยยาสูบ" นั้นน่ากังขาว่าข้อกำหนดเช่นนี้อยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของมาตรา 37 หรือไม่ เพราะเมื่อมีกฎหมายเฉพาะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าบางประเภทไว้แล้ว ก็ย่อมต้องบังคับตามหลักเกณฑ์และบทลงโทษของกฎหมายนั้นๆ ไม่มีเหตุที่ต้องให้กสทช.เข้ามาตรวจสอบเนื้อหาในประเด็นเหล่านี้และใช้อำนาจออกบทลงโทษเพิ่มต่างหากอีก 

 

"การกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร"

ในข้อ 4. การแจกแจงเนื้อหาของรายการที่มีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร ร่างประกาศนี้กำหนดว่าเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ คือ "เนื้อหารายการที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉับว่าเป็นการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร" ซึ่งหากเป็นรายการที่ศาลพิพากษาแล้วว่ามีลักษณะลามกอนาจารและกสทช.จึงสั่งว่าเป็นรายการที่มีลักษณะต้องห้ามออกอากาศก็น่าจะเป็นธรรมต่อผู้ถูกคำสั่งพอสมควร แต่หาก กสทช. หยิบยกแนวคำพิากษาของศาลในสมัยก่อนที่มีลักษณะคล้ายกันมาใช้ตัดสินรายการที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนั้นอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะเหตุผลดังนี้

1) แนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับคำว่า "ลามกอนาจาร" ก็ยังไม่นิ่งอาจเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาอยู่เสมอ

2) ข้อเท็จจริงในรายละเอียดและพฤติการณ์แวดล้อมอาจมีผลต่อคำวินิจฉัยในคดีหนึ่งๆ เช่น ลักษณะของการเผยแพร่ พฤติการณ์กระทำผิดซ้ำของจำเลย ความน่าเชื่อถือของพยานที่มาเบิกความ ฯลฯ ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านั้นย่อมแตกต่างออกไปสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้แนวทางการวินิจฉัยในคดีหนึ่งอาจใช้ไม่ได้กับอีกกรณีหนึ่งเสมอไป

3) ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอาจทำให้ค่านิยมเรื่องความลามกเปลี่ยนแปลงไป เช่น สมัยหนึ่งการเห็นเนินอกผู้หญิงอาจถือว่าลามก แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไปการเห็นเนินอกอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น แนวคำพิพากษาของยุคสมัยหนึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้

 

"เนื้อหาซึ่งมีผลกระทบให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง"

ในข้อ 5. การแจกแจงเนื้อหาซึ่งมีผลกระทบให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง ร่างประกาศนี้กำหนดว่าเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ คือ "การแสดงให้เห็นหรือสาธิตรูปแบบหรือวิธีการอัตตวินิบาตกรรม" หรือการแสดงการฆ่าตัวตาย ซึ่งปัจจุบันอาจพบฉากเหล่านี้ได้ไม่ยากในภาพยนตร์หรือละคร เท่ากับว่าตามความเข้าใจในปัจจุบันเนื้อหาลักษณะนี้ไม่ได้ต้องห้ามออกอากาศ

หากเจตนารมณ์ของการเขียนประกาศข้อนี้เพราะเกรงว่าการนำเสนอฉากการฆ่าตัวตายจะนำไปสู่ความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือก่อให้เกิดการเลียนแบบได้ ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า แม้ปัจจุบันการฆ่าตัวตายไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายและการฆ่าตัวตายไม่ได้กระทบสิทธิของบุคคลอื่น แต่กสทช.ก็ยังเพ่งเล็งที่จะห้ามเนื้อหาลักษณะนี้ออกอากาศ ขณะที่การฆ่าผู้อื่น หรือการกระทำอีกหลายอย่างที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นอย่างชัดแจ้ง กลับไม่ถูกกำหนดให้เป็นลักษณะหนึ่งของเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศด้วย

เพราะฉะนั้นคงจะด่วนสรุปเกินไปหากจะกล่าวว่าร่างประกาศข้อนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันคนเสพย์สื่อแล้วเลียนแบบ เพราะคนที่จะฆ่าตัวตายคงต้องมีปัจจัยหลายอย่างในชีวิตเป็นเหตุให้ตัดสินใจมากกว่าถูกสื่อกระตุ้นเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับการเลียนแบบพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอื่นๆ ที่ยังคงออกอากาศได้อยู่เพราะยึดหลักการเดียวกันนี้นั่นเอง

หรือในข้อที่กำหนดว่า "การแสดงออกที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือการคุกคามบุคคลหรือกลุ่มบุคคล" แน่นอนว่าการยุยงให้ทำอันตรายต่อบุคคลอื่นในลักษณะที่จะนำไปสู่ผลนั้นจริงควรเป็นสิ่งต้องห้ามออกอากาศ แต่ก็เป็นข้อห้ามอยู่แล้วในข้อ 3. หากกรณีปรากฎว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่วนการแสดงออกโดยตัวการแสดงออกผ่านสื่อโทรทัศน์หรือวิทยุนั้น ประกาศควรระบุมาให้ชัดเจนว่าต้องเป็นการแสดงออกประการใดบ้าง เช่น การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือการคุกคาม

หรือในข้อที่กำหนดว่า "การแสดงที่มุ่งหมายจะชักจูงให้บุคคลทั่วไปใช้บริการซื้อสินค้า โดยอาศัยการอวดอ้าง การแสดงคุณวิเศษเหนือธรรมชาติหรือำนาจทางไสยศาสตร์ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ จนทำให้ผู้ชมรายการหลงเชื่อ" นั้น น่าตั้งข้อสังเกตว่าการกำหนดประเด็นนี้น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวง ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับอำนาจตามมาตรา 37 ในเรื่องเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง

 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.ilaw.or.th/node/2860

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สร้างสันติวิธี ให้คนปาตานีกำหนดชะตากรรมของตนเอง

Posted: 17 Jul 2013 09:47 AM PDT

 

เกือบ 10 ปี ของสงครามสมัยใหม่(สงครามที่ประชาชนไม่รู้ว่าใครคือมิตรใครคือศัตรู)ที่เกิดขึ้นที่ปาตานี(PATANI) นับแต่ พ.ศ. 2547 โดยมีตัวละครหลักในสงครามครั้งนี้  คือ กลุ่มขบวนการ ฝ่ายรัฐไทย และประชาชนปาตานี(PATANI)  ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่แสดงบทบาทมากที่สุด คือรัฐไทยและกลุ่มขบวนการในการกำหนดชะตากรรมของคนปาตานี(PATANI) ในขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและเป็นเจ้าของแผ่นดินเป็นเจ้าของมาตุภูมิ ไม่มีโอกาสที่จะส่งเสียงสันติภาพที่พวกเขาต้องการ หรือบางครั้งอาจมีโอกาสแต่เป็นการส่งเสียงที่ไม่เปิดเผยและมีความไม่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นในการกำหนดชะตากรรมตนเอง อาทิ การชุมนุมเดินขบวนของประชาชนที่มัสยิดกลางปาตานี  พ.ศ.2550 โดยการปิดหน้าเนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย

สงครามที่ปาตานี( PATANI) ในปัจจุบันคงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าทั้งรัฐไทยและขบวนการต่าง ก็อ้างว่าประชาชนเห็นด้วยกับฝ่ายตนในขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตรงข้าม แต่ความจริงไม่มีใครทราบว่าประชาชนคิดอย่างไร และต้องการอะไร ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญของสันติภาพก็คือ ประชาชน (เมื่อประชาชนออกมา เสียงปืนคงเงียบลง)  เพราะประชาชนจะเป็นผู้แสดงเจตจำนงของตนเอง ว่าตนเองต้องการอะไร  แต่ปัญหามีอยู่ว่าประชาชนปาตานี(PATANI)จะแสดงความต้องการของตนเองอย่างไร

ประชาชนปาตานี(PATANI) จะสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้นั้น จะต้องมาจากกการผลักดันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม คนไทยทั้งประเทศ รัฐบาล ข้าราชการ นักศึกษาและประชานPATANIเอง เพื่อสร้างขบวนการทางการเมืองที่สามารถทำให้ประชาชนสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อย่างแท้จริง เช่น การลงประชามติ  การเปิดเวทีแสดงความคิดเห็น เป็นต้น โดยใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเอง the right of self-determination(RDS)ตามมติของสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ ที่ 1514 (xv) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่องการให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม ซึ่งมีข้อความกำหนดว่า "กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าว พวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมืองและดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของตนเองได้อย่างเสรี" เพราะปาตานีPATANI มีปัจจัยครบถ้วนที่ทำให้หมู่ชนที่มีเชื้อชาติเดียวกันมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง กล่าวคือ มีประวัติความเป็นอิสระหรือการปกครองตนเองที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงดินแดนที่มีอยู่จริง พร้อมทั้งเจตจำนงและความสามารถในอันที่จะกลับไปสู่การปกครองตนเอง

คนไทย ประชาคมโลก นักศึกษาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษามาลายูปาตานีซึ่งถือเป็นกระบอกเสียงที่ดังที่สุดของคนปาตานี(PATANI)จะต้องมีความเข้าใจและเห็นใจต่อชะตากรรมของคนปาตานี(PATANI) ที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความรุนแรงและสงครามที่ยืดเยื้อ ผลักดันให้พวกเขาได้สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเอง  ว่าสันติภาพแบบไหนที่คนปาตานี(PATANI) ต้องการ? โดยการรณรงค์และส่งเสียงให้สังคมไทย รัฐบาลและสังคมโลก ได้จัดให้มีกระบวนการทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนมีเวทีในการแสดงเจตจำนงของตนเองในการสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ยิงครูตาดีกา-บึ้มทหาร สถานการณ์สวนทางหยุดยิงรอมฎอน

Posted: 17 Jul 2013 09:36 AM PDT

แค่สัปดาห์แรกเดือนรอมฎอน เกิดแล้ว 10 เหตุการณ์ ยิงครูตาดีกา-บึ้มทหาร สถานการณ์สวนทางข้อตกลงลดความรุนแรง ย้อนดูสถิติ 4 ปี ความสูญเสียในเดือนอันประเสริฐ

สถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2552-2555

 

สถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอน
และอีก 10 วัน หลังจากเดือนรอมฏอน ปี 2552-2555

 

หลังจากดาโต๊ะอัฮหมัด ซัมซามิน ฮุสเซน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN แถลงข่าว กรณีข้อตกลงที่จะลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนและ 10 วันของเดือนเชาวาลปีนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ผ่านไปเพียง 4 วัน ก็เกิดเหตุรุนแรงแล้ว 9 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 8 คน

นั่นจึงน่าเป็นห่วงว่า เดือนรอมฎอนปีนี้อาจเกิดเหตุรุนแรงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะจากสถิติพบว่า เป็นช่วงหนึ่งที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดช่วงหนึ่งของปี

เหตุที่ 1 วันที่ 13 กรกฎาคม พบศพชายไม่ทราบชื่อบริเวณริมแม่น้ำโก-ลก บ้านลูโบ๊ะฆง หมู่ 3 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สภาพศพถูกยิงบริเวณศีรษะ และมีบาดแผลถลอกที่แขนกับข้อมือ

เหตุที่ 2 วันที่ 14 กรกฎาคม เวลา 20.30 น.คนร้ายขับรถยนต์เก๋งยิงใส่รถนายอิสมะแอ บาเหะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 บ้านรือเปาะ หมู่ 4 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส บนทางหลวงหมายเลข 4057 บ้านกวาลอมาแด หมู่ 4 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บ นางมารียะ หะมะ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140/1 หมู่ 5 ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งนั่งมาในรถด้วยได้รับบาดเจ็บเช่นกัน เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

เหตุที่ 3 วันที่ 15 กรกฎาคม เวลา 13.50 น.คนร้ายดักยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ 1 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ขณะขับรถจักรยานยนต์ไปทำสวน ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่สะพานข้ามคลองลิเง๊ะ ม.13 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยนายตอเหล็บถูกดำเนินคดีความมั่นคง 5 คดี ศาลยกฟ้องไปแล้ว 1 คดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกันตัว

เหตุที่ 4 วันที่15 กรกฎาคม กลางดึกคนร้ายดักยิงนายอับดุลรอฮิม งอเล็ง อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17/1 หมู่ 5 ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ขณะเดินหาปลาจนเสียชีวิต เหตุเกิดหลังโรงเรียนสาลาลุสดินวิทยา ม.11 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ระบุว่า นายอับดุลรอฮิมมีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย ชอบขโมยของชาวบ้าน

เหตุที่ 5 วันที่ 16 กรกฎาคม เช้า คนร้ายดักยิงนายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและครูตาดีกา มีอาชีพกรีดยาง เสียชีวิต เหตุเกิดที่บ้านบาโงแจเกาะ หมู่ 10 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา ขณะออกไปกรีดยาง

เหตุที่ 6 วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 15.00 น. คนร้ายใช้รถยนต์กระบะตามประกบยิงนายปรเมศวร์ วงศ์บุตรรอด อายุ 57 ปี เจ้าของหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่น "อาชญากรรม" ขณะขับรถยนต์บนถนนสาย 418 หมู่ 7 ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยถูกยิงเข้าลำตัวบาดเจ็บ นายปรเมศ ระบุว่า สาเหตุน่าจะเป็นเรื่องการเสนอข่าวบ่อนการพนันใน จ.ยะลา 2 แห่ง ที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มอิทธิพลและผู้ที่เสียผลประโยชน์

เหตุที่ 7 วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 23.30 น. คนร้าย 2 คน ลอบยิงนายสุชัล คงขวัญ อายุ 28 ปี ขณะนอนในขนำกลางสวนยางพารา ม.4 ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เข้ากลางหลัง 1 นัด ได้รับบาดเจ็บ

เหตุที่ 8 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 เวลา 07.35 น. ลอบวางระเบิดทหารพรานชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู บนถนนสายบ้านกาโสด – เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 1 นาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคนร้ายในพื้นที่

เหตุที่ 9 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ลอบวางระเบิดและโจมตีซ้ำทหารพราน ฉก.ทพ.4807 บริเวณสะพานบ้านปะเระลูโบะ ม.9 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะลาดตระเวนด้วยรถวีว่า ทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 2 นาย

เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2552 - 2555 จากการรวบรวมของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีสถิติ ดังนี้

ปี 2552 เกิดเหตุการณ์ 83 ครั้ง เสียชีวิต 41 ราย บาดเจ็บ 177 ราย

ปี 2553 เกิดเหตุการณ์ 88 ครั้ง เสียชีวิต 33 ราย บาดเจ็บ 50 ราย

ปี 2554  เกิดเหตุการณ์ 71 ครั้ง เสียชีวิต 37 ราย บาดเจ็บ 58 ราย

ปี 2555 เกิดเหตุการณ์ 62 ครั้ง เสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 86 ราย

จากสถิติดังกล่าว จะพบว่า ในช่วงปี 2552 มีผู้บาดเจ็บที่สูงมากถึง 177 คน เฉลี่ยวันละ 5-6 คน จากนั้นในปี 2553 – 2555 มีจำนวนผู้บาดเจ็บที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่จำนวนเหตุการณ์เฉลี่ยมากกว่าวันละ 2 เหตุการณ์ แต่มีแนวโน้มลดลงโดยในปี 2553 มีจำนวน 88 เหตุการณ์ ปี 2554 มี 71 เหตุการณ์ และปี 2555 ลดลงเหลือ 62 เหตุการณ์ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีไม่แตกต่างมากนัก โดยปี 2555 มีจำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนรอมฎอนน้อยที่สุดเพียง 29 คน

ส่วนเดือนรอมฎอนปีนี้ หากนับรวมเหตุลอบวางระเบิดรถทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 12 บนถนนเลียบทางรถไฟ บ้านบาลอ หมู่ที่ 1 ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา จนได้รับบาดเจ็บ 8 นาย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมด้วยแล้ว ทำให้มียอดรวมเหตุการณ์ทั้งหมด 10 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 3 คน บาดเจ็บ 12 คน เฉลี่ยในรอบ 8 วันของการถือศีลอดมีเหตุรุนแรงวันละ 1 เหตุการณ์

แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ยกเว้นลอบวางระบิดทหารเมื่อเช้านี้ เจ้าหน้ายังไม่ได้สรุปว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใด แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้พยายามตั้งคำถามถึงถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1.ความสามารถของขบวนการบีอาร์เอ็นในการควบคุมกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่มีจริงหรือไม่

2.อาจมีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้สังกัดขบวนการบีอาร์เอ็นพยายามก่อเหตุเพื่อฉวยโอกาสแสดงบทบาทหรือตัวตนออกมา และ

3.มีการตั้งคำถามถึงความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่า จะสามารถป้องไม่ให้มีเหตุรุนแรงได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ต้องจับตาดูกันว่า ในช่วงเดือนรอมฎอน 2556 ปีนี้ และอีก 10 วันหลังจากนั้น จะเกิดเหตุรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะดำเนินต่อเนื่องไปหลังจากนี้

 

หวังว่าในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐปีนี้ สถิติจะไม่ทะลุมากไปกว่านี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายทหารเบิกความคดีฮิโรยูกิ พบชายชุดดำในรถตู้

Posted: 17 Jul 2013 09:35 AM PDT

ไต่สวนการตายคดี ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย 10 เม.ย.53 นายทหารเบิกความ ถูกโจมตีด้วยระเบิดแบบขว้างเอ็ม 79 และโจมตีจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย  มีชายชุดดำในรถตู้ด่าทอ รถพยาบาลทหารถูกกลุ่มคนเสื้อแดงขวางและไล่ตีทหารที่บาดเจ็บ

ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย

16 ก.ค.56 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.1/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553

ร.ต.ชัยวัฒน์ ตะเพียรทอง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2553 พยานมาปฏิบัติหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยอยู่ประจำการ 3 วัน ต่อมาได้รับคำสังให้เคลื่อนพลไปที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.2553 กระทั่ง 10 เม.ย.2553 ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายเข้ามาที่หน่วยงานของกองทัพเรือ ใกล้กับวัดอัมพวา วันเดียวกันก็ได้รับคำสั่งจาก  พ.ท.พงษ์ศักดิ์ เอี่ยมพญา ให้ไปสมทบกับทหารหน่วยอื่นเพื่อตั้งด่านบริเวณแยกไฟฉาย เนื่องจากได้รับข่าวว่าจะมีกลุ่ม นปช. มาชุมนุมที่ ร.พ.ศิริราช พยานขับรถฮัมวี่นำขบวน ตามด้วยรถบัส 2 คัน และรถยีเอ็มซี 2 คัน โดยมีกำลังทหาร 1 กองร้อย ประมาณ 150 คน เมื่อไปถึงในเวลาประมาณ 11.00 น. ก็พบผู้ชุมนุมสวมเสื้อสีแดงอยู่ประปราย ประมาณ 10 คนขึ้นไป แต่ยังไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย และไม่เห็นผู้ชุมนุมถืออาวุธ ขณะนั้นมีทหารตั้งด่านอยู่ พยานกับพวกจึงเข้าไปสมทบ

พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นได้รับคำสั่งจาก พ.อ.พงษ์ศักดิ์ ให้ไปที่สะพานพระปิ่นเกล้าเพื่อไปสมทบกับทหารหน่วยอื่น พยานจึงขับรถนำขบวนไป ตามด้วยรถของผู้บังคับบัญชา 2 คัน รถยนต์บรรทุกหัวตัด 2 คัน รถบัส 2 คัน รถบรรทุกทหาร 2 คัน และรถบรรทุกน้ำ ขณะใกล้ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า เห็นบนสะพานมีกลุ่ม นปช.ล้อมรถทหารอยู่ พยานจึงหยุดรถและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ก่อนได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางไปทางสะพานพระราม 8 ขณะจะเลี้ยวขวาเข้าสะพานวันชาติก็เห็นผู้ชุมนุมขวางทางอยู่ พยานจึงบีบแตรใส่และเลี้ยวเข้าไปจอดกลางสะพานวันชาติ จากนั้นกำลังพลทั้งหมดก็ลงไปสมทบกับทหารหน่วยอื่น แต่พยานเป็นพลขับจึงอยู่ที่รถ ขณะนั้นเห็นกำลังพลตั้งแถวสองแถวที่สี่แยกไฟแดงก่อนถึงสะพานวันชาติ จากการสังเกตรถของทหารที่จอดอยู่คาดว่ามีกำลังพลรวมกับหน่วยของพยานประมาณ 3 กองร้อย

พยานเบิกความอีกว่า กระทั่งเวลา 14.00 น. ทหารเริ่มปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ โดยเดินคืบหน้าไปตามถนนประชาธิปไตย มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมจึงถอยร่นไป ซึ่งทหารหน่วยของพยานมีโล่กับกระบองและสวมชุดปราบจลาจล แต่ไม่มีอาวุธปืน ส่วนผู้ชุมนุมถือไม้ เหล็ก ก้อนอิฐ และไม้เหลาแหลม แต่ไม่เห็นว่ามีอาวุธปืนหรือไม่ หลังปฏิบัติการผ่านไปประมาณ 1 ชม. มีทหารบาดเจ็บถูกหามเข้ามา สอบถามทราบว่าโดนตีด้วยเหล็กท่อน้ำที่เทปูนลงไปให้มีความแข็งแรงมากขึ้น พยานจึงช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น หลังจากนั้นก็มีทหารบาดเจ็บจากการโดนก้อนอิฐปาและโดนตี แต่ไม่พบว่ามีทหารคนใดบาดเจ็บจากการถูกยิง

ร.ต.ชัยวัฒน์ เบิกความว่า ต่อมาเวลา 18.00 น. ได้รับคำสั่งทางวิทยุว่าให้หยุดเคลื่อนกำลังพล และถอนกลับไปที่กองบัญชาการกองทัพบก บริเวณแยก จปร. ขณะรอกำลังพลอยู่ที่รถ กระทั่งเวลา 19.30 น. ได้ยินเสียงระเบิดดังมาจากแนวทหารที่อยู่ทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมาเวลาประมาณ 20.30 น. เห็นแสงไฟวาบในกลุ่มทหารและตามด้วยเสียงระเบิดหลายครั้ง จากประสบการณ์คาดว่าเป็นระเบิดแบบขว้างเอ็ม 79 จากนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังตามมาอีกหลายนัด สักพักมีทหารบาดเจ็บถูกหามออกมาหลายนาย และเห็นพลทหารพากันวิ่งหนีออกมา พยานจึงช่วยหามไปขึ้นรถพยาบาล แต่ขณะรถพยาบาลเคลื่อนออกไป ก็ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงขวางรถและไล่ตีทหารที่บาดเจ็บ

ร.ต.ชัยวัฒน์ เบิกความต่อว่า กระทั่งเวลา 22.00 น. เศษ กำลังพลส่วนใหญ่เริ่มทยอยออกมา พยานจึงกลับรถที่สี่แยกวันชาติ และหันหน้ารถมุ่งหน้าไปทางกองบัญชาการกองทัพบก ขณะจอดรอกำลังพลมีรถตู้สีขาววิ่งสวนมาเฉียดกับรถพยานประมาณ 1 ช่วงแขน จากนั้นผู้โดยสารในรถตู้เปิดกระจกชะโงกมาด่าว่า "เป็นยังไงบ้างไอ้พวกเหี้ย" ชายคนดังกล่าวใส่ชุดคลุมสีดำ เสื้อแจ็คเก็ตสีดำ สวมหมวกไหมพรมคลุมศีรษะ เห็นแต่ดวงตา ซึ่งในรถมีอยู่ประมาณ 5 คน รวมคนขับ บางคนใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก บางคนสวมไอ้โม่ง  พยานเห็นอาวุธปืนอาก้า 1 กระบอก วางอยู่บนเบาะนั่งแถวที่สอง ส่วนที่พื้นรถเห็นอาวุธปืนเอ็ม 16 ประมาณ 4 กระบอก โดยรถคันดังกล่าวถอดเบาะนั่งแถวหน้าออก ขณะนั้นได้ยินเสียง ผบ. กองร้อย มีคำสั่งให้ออกรถไปที่กองบัญชาการกองทัพบก แต่ไม่ทราบว่ารถตู้คันดังกล่าวจะมุ่งหน้าไปทางใด ในช่วงเกิดเหตุไม่ได้มองเห็นเหตุการณ์ขณะผู้ตายทั้ง 3 ถูกยิง เนื่องจากอยู่ไกลจากที่เกิดเหตุ แต่ภายหลังทราบจากข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตหลายรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว

เรียบเรียงจาก ข่าวสดออนไลน์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชินทาโร่ ฮารา: “ทำไมคนมลายูไม่ภูมิใจภาษาของตัวเอง”

Posted: 17 Jul 2013 09:28 AM PDT

ชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาภาษามลายูยังมีจำนวนไม่ค่อยมากเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ใคร่ขออนุญาตที่จะเล่าเรื่องราวในฐานะที่เป็นชาวญี่ปุ่นมาแต่กำเนิดที่มีโอกาสได้สัมผัสกับภาษามลายู และมีความเป็นมาอย่างไรถึงได้มีความหลงใหลในภาษานี้ จนต้องศึกษาต่อเพิ่มเติมที่ประเทศมาเลเซีย

ชื่อบทความเดิม : "ภาษามลายูนำทางชีวิต" (Bahasa Melayu penentu perjalanan hidup)

 

 

ผมเริ่มเรียนรู้ภาษามลายูที่ประเทศญี่ปุ่น ณ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่ชื่อมหาวิทยาลัยกิโอะ(Keio) ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมเองไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับภาษามลายูเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ผมได้รู้จักมักคุ้นก่อนหน้านี้ก็คือ มาเลเซียนั้นเป็นประเทศหนึ่งที่มีการส่งออกยางพาราและแร่ต่างๆ ที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก

จากนั้นผมก็ได้เข้าไปศึกษาต่อที่คณะการจัดการนโยบาย (Pengurusan Dasar) ซึ่งเป็นคณะใหม่ที่เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยโชนาน ฟูจิซาว่า (Shonan Fujisawa) ซึ่งที่คณะดังกล่าวนี้เอง ได้บังคับให้นักศึกษาทั้งหมดต้องเลือกวิชาภาษาต่างประเทศ

ในขณะเดียวกันนั้นเองทางคณะได้เปิดให้เลือกภาษาต่างประเทศ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษามลายู ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วภาษาที่ถูกเสนอให้เลือกเรียน มักเป็นภาษาที่คนญี่ปุ่นจะเรียนเป็นปรกติอยู่แล้ว แต่มีอยู่ภาษาหนึ่งที่ดูเหมือนว่าค่อนข้างแปลก นั่นก็คือภาษามลายู

ในรอบๆ ตัวของผมเองไม่มีใครที่สามารถพูดภาษามลายูได้เลย หรือไม่มีแม้แต่คนที่เคยศึกษาภาษามลายู และผมเองก็ชอบที่จะเลือกทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ค่อยจะเลือกกัน ผมจึงตัดสินใจเลือกที่จะเรียนหลักสูตรภาษามลายูเป็นวิชาภาษาต่างประเทศ

คณะที่ผมศึกษาคือ คณะ Pengurusan Dasar ไม่ใช่คณะภาษามลายูแต่อย่างใด เพราะว่าหลักสูตรวิชาภาษามลายูเป็นแค่วิชาเลือกภาษาต่างประเทศวิชาหนึ่ง ที่ได้เปิดสอนตามหลักสูตรแบบเข้มเท่านั้น ทว่าผมไม่ได้มีพรสวรรค์ และไม่ค่อยชอบกับคณะนี้เท่าไหร่ แต่ผมเองกลับไปให้ความสนใจกับภาษามลายูเป็นอย่างมาก และความลุ่มหลงต่อภาษามลายูของผมนับวันก็ยิ่งมีมากขึ้นทุกขณะ

 

เมื่อประตูสู่โลกมลายูเปิด

อาจารย์ที่มีส่วนช่วยในการเรียนภาษามลายูของผมสมัยที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น เขาเป็นอาจารย์ชาวมลายูท่านหนึ่งที่ชื่อ ท่านซัยฟูบาฮารีย์ อะฮ์หมัด ที่ผมมักจะเรียกท่านว่าอาจารย์ซัยฟูล ซึ่งท่านเป็นชาวมลายูที่มีพื้นเพมาจากเมืองบาตูปาฮัต ซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นแรกเลยก็ว่าได้ ที่ถูกส่งมายังประเทศญี่ปุ่น ภายใต้นโยบายของชาติที่ว่าด้วยการเหลียวมองสู่ภาคตะวันออกของรัฐบาล(มาเลเซีย)

ท่านมิเพียงแต่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษามลายูอย่างเดียวเท่านั้นไม่ หากยังมีความรู้ความสามารถในด้านภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย การใช้ภาษาญี่ปุ่นของท่านอยู่ในขั้นดีมาก จนคนส่วนใหญ่นึกว่าท่านเป็นคนญี่ปุ่นโดยแท้ด้วยซ้ำ ประกอบกับรูปร่างหน้าตาของท่านจะดูเป็นคนเชื้อสายจีน ทำให้หลายคนอดใจไม่ได้ที่จะมองว่าท่านเป็นชาวจีนมากกว่า

ท่านยังสามารถอธิบายปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ภาษามลายูในภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีและชัดเจนอีกด้วย ในขณะนั้นผมเองก็ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเรียนรู้ภาษามลายูอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นพจนานุกรมภาษามลายู-ญี่ปุ่นและคู่มือต่างๆ แต่การมาของท่านนั้น มาในฐานะนักพูดที่เป็นเจ้าของภาษามลายูโดยแท้ที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่วเป็นอย่างดี สามารถที่จะสร้างความกระจ่างชัดให้กับบรรดานักศึกษาได้เกือบหมด

บรรยากาศในห้องเรียนก็แสนสนุกอีกด้วย เพราะนักศึกษาจะถูกตั้งชื่อเล่นใหม่เป็นภาษามลายูทุกคน และจะใช้ชื่อที่ตั้งใหม่นั้นใช้เรียกในการเรียนการสอนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในห้องหรือนอกห้องเรียน

ในวันแรกของการเรียน ท่านอาจารย์ซัยฟูลจะเขียนชื่อภาษามลายูบนกระดานแล้วให้นักศึกษาเลือกชื่อเหล่านั้นที่ทุกคนชื่นชอบ ส่วนตัวนั้นได้เลือกชื่อว่า 'Badiuzzaman' เพราะชื่อดังกล่าว ท่านอาจารย์ได้บอกว่า เป็นชื่อของนักปราชญ์ท่านหนึ่ง และมีเพื่อนคนหนึ่งที่ขอใช้ชื่อตัวเอง โดยได้ให้ท่านอาจารย์ช่วยแปลชื่อเขาให้เป็นภาษามลายูให้หน่อย ซึ่งชื่อเพื่อนคนนั้นมีความหมายว่าเป็น'mutiara' (ไข่มุก) เขาจึงได้ตั้งชื่อว่ามูเตียรา

ภายหลังจากที่แต่ละคนได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษามลายูโดยครบถ้วนแล้ว ทำให้บรรยากาศในการเรียนดูเหมือนยิ่งสนุกไปกันใหญ่และมีความผูกพันยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผมเองมีความรู้สึกซาบซึ้งในชื่อภาษามลายู จนบางครั้งผมเองเกือบจะลืมชื่อญี่ปุ่นไปด้วยซ้ำ

 

สัมผัสดินแดนมลายู

ความพิเศษของท่านอาจารย์ซัยฟูลก็คือ การที่มีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ของท่านอย่างตั้งใจ เช่น ทุกๆ ปลายภาคเรียนประจำปี ท่านจะนำลูกศิษย์ไปเยี่ยมบ้านเกิดของท่านอยู่เป็นประจำ ที่หมู่บ้านตือโละบูโละฮ์ เมืองบาตูปาฮัต รัฐยะโฮร์ ซึ่งนักศึกษาจะได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอย่างน้อยประมาณ 3 สัปดาห์ โดยที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ของแต่ละคนที่ได้จัดไว้ให้

โอกาสเช่นนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีและมีความหมายต่อนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะว่าที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น แทบจะไม่มีโอกาสในการใช้ภาษามลายูเลยแม้แต่น้อยนอกจากในชั้นเรียนเท่านั้น ในขณะเดียวกันนั้นผมเองก็ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ภาษามลายูจากเจ้าของภาษามลายูโดยตรง

ผมเองก็ชอบที่จะไปเยี่ยมเยือนชาวบ้านและทำความรู้จักมักคุ้นกัน และพวกเขาเองก็ต้อนรับผมในฐานะลูกบุญธรรมคนหนึ่งด้วยดีมาตลอด ผมเองก็เรียกชื่อคนในครอบครัวด้วยชื่อที่ไพเราะ ที่เต็มไปด้วยความผูกพัน เช่น ดาโต๊ะ อีบู กากะ อาเดะ เป็นต้น ตัวผมเองก็ถูกเรียกในภาษามลายูเช่นกัน ในที่สุดผมก็ได้กลายเป็นสมาชิกของหมู่บ้านนั้นโดยปริยาย

ปกติแล้วผมเองอาจเดินทางไปที่นั่นหลังจากที่จบหลักสูตรวิชาภาษามลายู นั่นก็คือตอนปิดภาคเรียนที่สอง แต่ด้วยการที่มีความรู้สึกผูกพันที่ดีกับชาวบ้านที่นั่น ทำให้หลายคนรวมทั้งตัวผมเองด้วยที่มักจะกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านนั้นอยู่เป็นนิจ

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสได้ร่วมเทศกาลเนื่องในวันตรุษอิดิ้ลฟิตรีย์ที่หมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งจะมีทั้งญาติพี่น้องที่กลับมาจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีทั้งที่กลับจากสิงคโปร์และจากที่อื่นๆ พวกเขาก็จะชักชวนผมไปเยี่ยมเยือนครอบครัวของพวกเขาด้วย และโอกาสที่ผมจะได้ท่องแวะเยี่ยมเยือนก็พลอยมีมากขึ้นอีกด้วย ถ้าหากว่าผมได้ไปยังกรุงกัวลัมเปอร์หรือที่สิงคโปร์เมื่อใด ผมแทบไม่ต้องพักโรงแรมอย่างเช่นเคยอีก แต่จะเป็นบ้านพักของผู้คนที่ผมได้รู้จัก และยังได้ช่วยสอนการแนะนำในการเขียนงานอีกด้วย

ผมใคร่ต้องการที่จะพัฒนาแนวการเขียนภาษามลายูให้ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทดลองเขียนเป็นภาษามลายูดู และหัวข้อของวิทยานิพนธ์ผมก็เลือกเอง อย่างเช่นจะเป็นแนวปัญหาสังคมของคนญี่ปุ่น วัฒนธรรมของคนมลายู ความพิเศษของภาษามลายู เป็นต้น และทุกๆ งานเขียนของผม ผมจะส่งไปยังอาจารย์ซัยฟูลก่อนทุกครั้ง เพื่อทำการตรวจทานอย่างละเอียด และท่านจะช่วยสรุปให้อีกที

แหละนี่คือปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่ได้สร้างขวัญกำลังแก่ตัวผม ซึ่งงานเขียนดังกล่าวผมยังเก็บรักษาไว้อย่างดี ถ้าหากได้อ่านงานเขียนชิ้นดังกล่าวเมื่อใด จะพบว่ายังมีข้อบกพร่องอีกมาก แต่ว่านั่นคือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับตัวผมในการเขียนหนังสือภาษามลายู

ในช่วงที่ผมอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผมก็ลองศึกษาเรียนรู้กับกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาจากประเทศมาเลเซียอีกด้วย เพื่อเป็นเพื่อนพูดคุยรียนรู้กับพวกเขา แต่ที่ค่อนข้างจะมีความสนิทสนมมากเป็นพิเศษก็คือ เห็นจะเป็นกลุ่มอดีตคณาจารย์มากกว่า ที่เข้ามาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีอายุมากกว่าผมก็ตาม แต่พวกเขายินดีรับผมและเพื่อนๆ เป็นสมาชิกของพวกเขาอีกด้วย

 

การศึกษาต่อยังประเทศมาเลเซีย โอกาส และมิตรภาพ

ก่อนที่ผมจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ผมก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซีย แต่ในช่วงแรกนั้นค่อนข้างที่จะยุ่งยากนิดหน่อย เพราะยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน อย่างเช่น จะไปศึกษายังมหาวิทยาลัยใด? จะเรียนอะไรดี? และจะอยู่กับใคร? และประจวบกับโอกาสที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซียนั้นก็มาถึงพอดี

จากนั้นการเข้าออกประเทศมาเลเซียของผมจึงกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อครั้นที่ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นผมก็ได้ทำงานไปด้วยเพื่อเก็บเงินไว้เป็นทุนเรียนต่อ ส่วนเงินที่เก็บสะสมมานั้นก็หมดไปกับการซื้อตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายระหว่างทาง เหตุการณ์ที่ทำให้ผมไม่อาจลืมมันลงได้คือเป็นช่วงที่ผมไปยังมาเลเซีย แต่เป็นครั้งที่เท่าไหร่ผมจำไม่ได้แล้ว เพราะในช่วงที่ผมเป็นนักศึกษาอยู่นั้น ผมเข้าออกมาเลเซียไม่น้อยกว่าสิบครั้ง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ผมและเพื่อนๆ ที่มาจากญี่ปุ่นด้วยกัน ได้มีโอกาสติดตามชาวบ้าน ที่บ้านตือโละบูโละฮ์ ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องของเขาที่บ้านบาตูปาฮัต ซึ่งผมเองก็ได้รู้จักเขามาแล้วก่อนหน้านั้น เพราะเขาเองก็เคยไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านที่เราเคยอยู่เป็นประจำ เขามีชื่อเรียกว่า กะนิ

ในระหว่างที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น กะนิได้เอยถามผมว่า ยังจำชื่อแก่อยู่ได้อีกไหม? แต่ที่รัฐยะโฮร์นั้นไม่เหมือนกับรัฐกลันตัน เพราะที่นี่คนที่มีชื่อนำหน้าด้วยคำว่านิ ไม่ค่อยมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเอ่ยคำว่า กะนิ หลายคนในหมู่บ้านนั้นมักจะเข้าใจเป็นเสียงเดียวกันว่าหมายถึงใคร

ผมเองก็ยังไม่ลืมชื่อเต็มของเขา เพื่อเป็นการหยอกเย้ากัน ผมก็ได้เรียกชื่อของเขาด้วยความชื่นชอบและความเคารพ นั่นก็คือท่านนิซาฟียะฮ์ การิม ซึ่งหนังสือไวยกรณ์ของเดวันบาฮาซา(Tatabahasa Dewan) ผมได้อ่านจนจบไม่น้อยกว่าสองครั้งไปแล้วในช่วงนั้น หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวบวกกับการที่ได้อ่านงานเขียนบทความของท่านในวารสารต่างๆ และในหนังสือพิมพ์ ผมจึงได้กลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของท่านโดยปริยาย ผมมีความหลงใหลในสไตล์การเขียนของท่านที่มีความกระจ่างและมีลำดับความ

และแล้วผมก็ต้องสะดุ้งตกอกตกใจ เมื่อท่านได้ตอบการล้อเล่นของผมว่า นั่นคือชื่อของพี่เขา แรกๆ นั้นผมไม่อยากจะเชื่อหูตัวเองเท่าไหร่นักกับคำตอบที่ได้ยิน

"ท่านอย่าโกหกนะ มันไม่ดีรู้ไหม!" ผมถาม

"ฉันโกหกที่ไหนกัน" เขาตอบด้วยความสุขุ่ม

ผมก็ได้บอกกับท่านว่า ผมมีความรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากกับคนที่ชื่อ นิซอฟียะฮ์ การีม และผมเองก็ได้ขอร้องให้ท่านแสดงออกมา เพื่อให้เห็นว่าท่านนั้นคือพี่น้องกันกับนักเขียนที่ผมชื่นชอบคนนั้นจริง

และแล้วท่านก็เอยถามผมว่า "คุณจะพูดกับเขาไหม?"

ใจผมตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยนึกไม่เคยฝันเลยว่าจะมีโอกาสได้คุยกับคนที่ผมให้ความเคารพและติดตามงานเขียนมาโดยตลอด ความหลงใหลของผมในช่วงนั้นมิได้เป็นนักร้องวงแอลล่า เฟาซียะฮ์ ลาตีฟ หรือแอรร่า ฟาซียะฮ์ แต่เป็นบุคคลทางด้านภาษาศาสตร์คนนี้ โดยความรวดเร็วผมตอบไปว่า "ก็ได้!"

กะนิ ก็ไม่รอช้า รีบกดโทรศัพทร์มือถือไปหาพี่เขา กะนิได้โต้ตอบกับคนที่อยู่ปลายสายด้วยสำเนียงการพูดแบบคนกลันตัน ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความผูกพัน แน่นอนเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า กะนิคนนี้เป็นพี่น้องกันกับนักภาษาชื่อดังคนดังกล่าว

 

กะนิได้บอกกับคนที่อยู่ปลายสายว่า "ตอนนี้มีคนจากประเทศญี่ปุ่นอยากจะคุยกับเมาะจู"(ชื่อเรียกพี่ของกะนิ) จากนั้นกะนิก็ได้ยื่นเครื่องโทรศัพทร์มาให้ผม

"อืม นี่พี่ฉันเอง" ด้วยการที่มีความตื่นเต้นมากเกินไป ทำให้ผมจำไม่ได้ว่าผมได้พูดอะไรกับบุคคลที่ผมชื่นชอบในขณะนั้น แต่ผมก็มีโอกาสได้กล่าวกับท่านว่า ผมมีความตั้งใจที่ต้องการอยากจะพบกับท่านสักครั้งหนึ่ง แล้วผมก็ได้ยื่นเครื่องโทรศัพท์ไปให้กะนิด้วยอาการที่ตื่นเต้นและมีความสุขที่สุด เพราะท่านเองก็ยินดีที่จะพบกับผม หากว่าผมเข้าไปยังเมืองหลวงในคราวหน้า

ผมมีโอกาสได้พบกับท่านศาสตราจารย์ นิซาฟียะฮ์ การีม สองครั้งด้วยกัน ณ บ้านพักของท่านที่ปือตาลิงจายา ในครั้งแรกนั้นท่านได้ต้อนรับผมเป็นอย่างดี และผมก็ได้บอกกับท่านว่า ผมมีความตั้งใจที่จะมาศึกษาต่อที่มาเลเซียแห่งนี้ และท่านก็ยังได้ชี้แนะและให้กำลังใจผมอีกด้วย

หลังจากนั้นผมก็ได้ศึกษาภาษามลายูอย่างขยันมากขึ้นกว่าเดิม  อีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ผมก็ได้ไปเยี่ยมเยือนท่านอีกครั้ง และได้บอกกับท่านว่า ผมต้องการที่จะเข้าศึกษาต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ภาษามลายู (APM : Akademi Pengajian Melayu) ที่มหาวิทยาลัยมาลายาหรือยูเอ็ม(UM)

และท่านก็ยังได้สอบถามอีกว่าอะไรคือสิ่งที่ผมต้องการ ซึ่งผมก็ได้อธิบายค่อนข้างที่จะยาว หลังจากที่ท่านได้รับฟังท่านก็ได้ตอบกลับมาว่า ถ้าอย่างนั้นเขาพร้อมที่จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ให้ ความรู้สึกของผมในตอนนั้นแทบไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้ว หลังจากจบหลักสูตรปริญญาตรีที่ญี่ปุ่น ผมไม่ได้รอช้าอะไร รีบกรอกข้อมูลเพื่อเข้าศึกษาต่อที่ยูเอ็มทันที ด้วยการระบุชื่อผู้ดูแลตามที่ได้เตรียมไว้แล้ว ที่พร้อมจะรับนักศึกชาวญี่ปุ่นคนใหม่อีกคน

 

ภาษานำสู่อิสลาม 'ไม่ใช่อิทธิของนักเผยแพร่'

นั่นคือภาษามลายูที่ได้นำพาชีวิตของผม ไม่เพียงแค่นั้นอย่างเดียวไม่ หากแต่ภาษามลายูยังมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับผม เพราะด้วยภาษามลายูนี้เองที่ทำให้ผมได้รู้จักกับศาสนาอิสลาม จนในที่สุดผมก็ได้เข้ารับอิสลามศาสนาที่บริสุทธิ์นี้จนได้

ผมรับอิสลามไม่ใช่ว่าได้รับอิทธิพลมาจากนักเผยแพร่ท่านใดเลย แต่สิ่งที่ทำให้ผมได้เข้ารับอิสลามก็คือด้วยวิถีชีวิตของคนมลายูที่มีรากฐานมาจากคำสอนของศาสนานั่นเอง ที่ได้ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก การรักษาความสะอาดของร่างกายและมีความสมถะในการใช้ชีวิต ถ้าหากว่าผมไม่ได้ร่ำเรียนภาษามลายูบางทีผมอาจจะไม่มีโอกาสไดรู้จักกับศาสนาอิสลามได้อย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ภาษามลายูจึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผม บางครั้งผมเองก็มีความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายใจเช่นกันกับคนมลายูบางคนที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญต่อภาษาของตนเอง ไม่เหมือนกับบางภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน

ผมเองก็ยังได้มีโอกาสไปเยือนอินโดนีเซียหลายครั้งด้วยกัน ความจริงผมไม่เคยได้เรียนภาษาอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการเลย แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับผมแม้แต่น้อยในการพูดคุยกับคนอินโดนีเซีย ผมเองรู้สึกมีความยินดีทุกครั้งที่ได้ไปเยือนอินโดนีเซีย เพราะว่าคนอินโดนีเซียล้วนต่างก็มีความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง เมื่อพวกเขาได้ทราบว่าผมสามารถพูดภาษาอินโดนีเซียได้ แน่นอนเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าภาษาที่ผมใช้นั้นอาจจะไม่ใช่ภาษาอินโดนีเซียก็ตาม แต่เป็นภาษามลายู

 

ทำไมคนมลายูไม่ภูมิใจในภาษาของตัวเอง

บางครั้งสิ่งที่เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกันได้เกิดขึ้นที่มาเลเซีย ผมใคร่ขออนุญาตบอกเล่าเรื่องราวเล็กๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อบ่งบอกให้เรารู้ว่า ยังมีคนมลายูส่วนหนึ่งที่ไม่มีความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง

เมื่อครั้นที่ผมกำลังเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่ยังหาสถานที่ไม่พบ ขณะนั้นเอง ก็ได้มีหญิงสาวมลายูท่านหนึ่งเดินผ่านมาพอดี ผมได้ให้สลามกับเขาเพื่อให้เขาช่วยบอกเส้นทางที่จะไปยังที่หมายให้หน่อยโดยใช้ภาษามลายู คำตอบที่ได้รับก็คือ "OK, you go straight, and then turn left, you'll find..." ผมก็ได้กล่าวขอบคุณว่า "terima kasih" ทว่าคำตอบที่เขาได้ตอบมาคือ "welcome".

และเหตุการณ์ต่อมาก็เกิดขึ้นที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติซูบัง มีผู้ชายมลายูวัยกลางคนท่านหนึ่งที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ได้สอบถามโดยใช้ภาษาอังกฤษว่า "What's the purpose of your visit?" แต่ผมกลับตอบเป็นภาษามลายูว่า "Saya mahu melanjutkan pelajaran di Universiti Malaya. Ini suratnya" พร้อมกับการยื่นแบบฟอร์มจากทางมหาวิทยาลัยให้เขาดู

เขาก็ยังถามอีกว่า  "So where's your visa? You don't have a student visa!" ผมก็ได้ตอบเขาไปว่าต้องการต่อวิซ่าในภายหลัง เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ได้ถามคำถามที่สามด้วยภาษาอังกฤษเช่นเดิม ด้วยที่ว่าผมเองก็ไม่ได้ชำนาญภาษาอังกฤษเท่าไหร่ ผมจึงได้ขอร้องให้เขาพูดภาษามลายูแทน

"ท่านครับ ท่านสามารถใช้ภาษามลายูได้ไหม? เพราะภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่" แต่ว่าเขายังปฏิเสธด้วยเสียงที่แข็งกร้าวว่า "I speak English for you because you are a foreigner!" (ฉันพูดภาษาอังกฤษกับคุณเพราะคุณเป็นชาวต่างชาติ!)

แต่นั่นถือเป็นข้อดีสำหรับชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษามลายู แต่ถามว่าอะไรคือเหตุผลที่เจ้าของภาษามลายูโดยแท้ใช้ภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่อ่อนด้อยในภาษาอังกฤษ ทว่าสามารถพูดภาษามลายูได้? ผมเองก็รู้สึกหงุดหงิดเช่นกัน จึงพูดออกไปว่า "คนต่างชาติไม่ทั้งหมดหรอกที่พูดอังกฤษได้! อีกทั้งภาษามลายูเองก็เป็นภาษาทางการของมาเลเซียอีกด้วย แล้วมันผิดตรงไหนที่ผมจะพูดภาษามลายู?"

เขาเองมีอาการสีหน้าที่ไม่ค่อยดี และเริ่มชักช้าในการให้บริการด้วยการถามโน่นถามนี่ไปต่างๆ นานา ทั้งยังเป็นคำถามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมืองด้วยซ้ำ ทั้งหมดนั้นล้วนใช้ภาษาอังกฤษทั้งสิ้น คำตอบของผมยังเป็นในภาษามลายูเช่นเดิม หลังจากเสร็จสิ้นทุกอย่าง ผมก็รับพาสปอร์ตที่เขายื่นให้โดยที่ปราศจากคำขอบคุณใดๆ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่คล้ายๆ กันก็คือ เมื่อตอนที่ผมได้เข้าประชุมสัมมนา เกี่ยวกับภาษาและงานวรรณกรรมมลายู เอกสารทุกชิ้นล้วนเป็นภาษามลายู ในช่วงพักแบรกเช้า ปรากฏว่าได้มีมุสลีมะฮ์มลายูท่านหนึ่งที่เข้าสัมนาด้วยกัน ได้เข้ามาหาและชมเชยในการนำเสนอของผมว่า "Your Malay is very good. I was so impressed by your presentation! Where did you study Malay?"

ผมก็มีความรู้สึกภูมิใจที่การนำเสนอของผมได้รับคำชื่นชมจากผู้คน แต่ผมไม่รู้สึกภูมิใจตรงที่ว่า คำเชยชมที่ถูกกล่าวออกมา ไม่ได้เป็นภาษาที่ผมใช้ในการสัมนาแต่อย่างใด ผมเองก็ตอบเขาไปโดยใช้ภาษามลายู

แค่นั้นยังไม่พอ ทุกครั้งที่ได้ดูโทรทัศน์ของมาเลเซีย จะเห็นได้ว่านักการเมืองที่ไม่ใช่มลายูจะใช้ภาษามลายูมากกว่านักการเมืองมลายู แต่กลับตรงกันข้ามกับนักการเมืองมลายูที่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษามลายูหรือไม่ก็จะพูดปนกันกับภาษาอังกฤษ ผมไม่เคยเห็นนักการเมืองของญี่ปุ่นท่านใดที่ตอบคำถามของสื่อมวลชนท้องถิ่นในภาษาอังกฤษ แต่ว่าในมาเลเซียบ่อยครั้งที่คำถามภาษามลายูมักจะถูกตอบในภาษาอื่น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าแปลกใจ

ความจริงยังมีเรื่องอีกมากมายที่ได้บันทอนกำลังใจของคนต่างชาติที่มีความตั้งใจที่จะเรียนในด้านภาษามลายู เพราะภาษาที่ผมกำลังศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังอยู่นี้ เจ้าของภาษาที่แท้นั้นยังไม่ได้ให้ความสำคัญเอาเสียเลย

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาษาที่มีความสำคัญสำหรับผมนั้น จะสามารถแพร่กระจายบนเวทีโลกได้อย่างแน่นอน ผมเองก็ได้มีความพยายามในการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันเพื่อเผยแพร่ภาษามลายู เพราะผมรู้สึกถึงการเป็นหนี้บุญคุณต่อสังคมมลายูเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบรรดาคณาจารย์และเพื่อนๆ ที่ช่วยเหลือในการเรียนภาษามลายูของผม แต่ในขณะเดียวกันสังคมมลายูเองจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนะคติในแง่ลบที่มีต่อภาษามลายูออกไปด้วย

ผมต้องการที่อยากจะเห็นภาษามลายูมีสถานะเท่าเทียมกับภาษาอื่นๆ ในระดับสากล ส่วนในแง่ระดับความสามารถของตัวภาษาเองนั้น ผมเชื่อเหลือเกินว่า ได้ประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งหมดนั้นจะต้องไปพร้อมๆกันกับทักษะและอุปนิสัยของผู้พูดที่มีความภูมิใจในภาษาของตนเองอีกด้วย ผมมีความภาคภูมิใจต่อภาษามลายูที่ผมได้ศึกษามาก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีคนมลายูบางคนที่ไม่มีความภูมิใจต่อภาษามลายูทั้งๆ ที่ภาษามลายูนั้นเป็นภาษาภูมิบุตร(แม่)ของเขาเอง?

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บริษัทวิจัยชี้ระดับความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของนักธุรกิจไทยต่ำกว่า ASEAN และทั่วโลก

Posted: 17 Jul 2013 06:55 AM PDT

ผลการสำรวจของแกรนท์ ธอร์นตันชี้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ระบุผลกระทบยาวจากน้ำท่วม และปัจจัยใหม่คือค่าแรง 300 บาท หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นและนโยบายจำนำข้าว ขณะที่ตลาดส่งออกยังชะลอตัว

ผลการสำรวจล่าสุดจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) พบว่าทัศนคติด้านบวกของผู้บริหารธุรกิจในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 ค่อนข้างมาก

แม้ว่าทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 22% จาก 14% เมื่อไตรมาสที่ 1 แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมของ 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 42% โดยภายหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยเป็นต้นมา ค่าเฉลี่ยของทัศนคติด้านบวกอยู่ที่ 16%

ผลการสำรวจเปรียบเทียบทัศนคติด้านบวกก่อนเหตุการณ์อุทกภัยและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เพื่อความสำเร็จภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งทัศนคติด้านบวกมีความชะลอตัว เนื่องมาจากผลกระทบระยะแรกจากเหตุการณ์อุทกภัย สภาวะเศรษฐกิจที่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกและประเทศคู่ค้า ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศที่น่าวิตกกังวล อาทิ ผลกระทบจากนโยบายจำนำข้าวต่อสภาวะเศรษฐกิจ การเพิ่มสูงขึ้นของหนี้ครัวเรือน และความกังวลต่อความโปร่งใสของโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย

ทั้งนี้ นักธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลงต่อความสามารถในการขยายธุรกิจ โดยมีนักธุรกิจ 28% ที่คาดว่ารายรับจะเพิ่มสูงขึ้น และ 28% มองว่าผลกำไรจะเพิ่มสูงขึ้นภายในช่วง 12 ข้างหน้า เปรียบเทียบกับผลการสำรวจของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 56% และ 52% ตามลำดับ นอกจากนี้ ความคาดหวังต่ความสามารถในการทำกำไรเมื่อปี 2554 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50% เปรียบเทียบกับ 39% เมื่อ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา

เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า "ณ เวลานี้ ผู้บริหารธุรกิจชาวไทยกำลังมุ่งเน้นแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดสัมฤทธิผล เนื่องจากกลุ่มเศรษฐกิจหลักยังมีการขยายตัวที่ต่ำ ซึ่งประเทศจีนยังคงมีการชะลอตัว และธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ได้ริเริ่มทดสอบการตอบรับของตลาดในเรื่องของการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ"

"ในขณะเดียวกัน ธุรกิจในประเทศรับรู้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจนจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ และหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายจำนำข้าวต่อไปแม้ว่าจะสูญเสียรายรับอย่างมากและเกิดความเสียหายที่ไม่อาจระบุได้ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในระยะยาว ทั้งยังมีความวิตกกังวลต่อความคุ้มทุนและการสนับสนุนเงินลงทุนของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และธนาคารแห่งประเทศไทยยังปรับลดคาดการณ์ GDP อีกด้วย"

ในการนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีนซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคยังเห็นได้ชัดเจนในตัวเลขจากรายงาน IBR กล่าวคือมีธุรกิจเพียง 4% ที่มีทัศนคติด้านบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งลดลงจาก 19% เมื่อไตรมาสที่ 1 ดังนั้น การที่ธุรกิจไทย 51% มีการรายงานในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมาว่าข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจคือการลดลงของอุปสงค์จึงไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดที่ธุรกิจไทยรายงานคือการแปรปรวนของเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ที่ 60% โดยสูงกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของ ASEAN ที่ 43% และทั่วโลกที่ 41%

ในขณะที่ตลาดหลักของการส่งออกส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อาทิ เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปยังคงอ่อนแอ และเศรษฐกิจในจีนซึ่งเป็นตลาดการส่งออกรายประเทศที่ใหญ่ที่สุดมีการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ได้เพิ่มสูงขึ้น 8.3% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2012 โดยสามารถระบุสาเหตุได้ว่าเกิดจากทัศนคติด้านบวกที่ดีขึ้นของธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งช่วยหักล้าง "ผลกระทบจากประเทศจีน (China Effect)" ที่มีต่อภาคการผลิตของประเทศไทย

มร. แพสโค กล่าวเพิ่มเติมว่า "คติพจน์ที่สำคัญคือต้องใช้ความระมัดระวัง แม้การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ต่อเนื่องตลอดจนอัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลงได้ชดเชยปัจจัยลบบางประการ อย่างไรก็ดี ธุรกิจไทยยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก สูงกว่าธุรกิจในประเทศอื่นๆ โดยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจกลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าเหตุการณ์อุทกภัย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw รับสมัคร "คณะลูกขุน" ร่วมตัดสินรางวัล "หนังน่าจะแบน"

Posted: 17 Jul 2013 06:55 AM PDT

ในกิจกรรมการประกวดหนังสั้นหัวข้อ "หนังน่าจะแบน" โดยไอลอว์ ไบโอสโคป และเครือข่ายคนดูหนัง หลังจากที่ปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 มีภาพยนตร์ส่งเข้ามาร่วมสนุกทั้งหมด 40 เรื่อง

เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่ iLaw ขอเชิญชวนผู้รักการดูหนัง หรือ ผู้ที่มีความสนใจประเด็นการแบนหนังและกิจกรรมครั้งนี้ เข้ามาร่วมเป็น "คณะลูกขุน" หรือ คณะกรรมการพิจารณาฝ่ายภาคประชาชนเพื่อตัดสินรางวัลภาพยนตร์ "ขวัญใจคนรักหนัง"

คณะลูกขุน คือ อะไร

เนื่องจากรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ และรางวัลเข้าตากรรมการ จะถูกตัดสินโดยตัวแทนจากองค์กรร่วมจัดและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาภาพยนตร์ และสาขากฎหมาย จำนวน 4 ท่าน  แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังตั้งคำถามว่าการตัดสินภาพยนตร์โดยให้ "ผู้ทรงคุณวุฒิ" เพียงแค่กลุ่มเดียวเป็นคนใช้ดุลพินิจแทนคนทั้งประเทศนั้นอาจจะไม่ถูกต้อง เพราะไม่ว่า "ใครก็ได้" ที่เป็นคนดูหนังทุกคนก็อาจมีความคิดเห็นต่อหนังแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคลก็ได้

ดังนั้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้การพิจารณาภาพยนตร์เป็นอำนาจของ "ใครก็ได้" และเพื่อตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เราจึงต้องการคณะลูกขุนที่เป็นตัวแทนของ "ใครก็ได้" ไม่จำเป็นต้องมีประวัติการศึกษา หรือประสบการณ์ด้านใดเป็นพิเศษ ขอเพียงแค่ชื่นชอบการดูหนังและสนใจที่จะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมครั้งนี้

คณะลูกขุนจะมีจำนวน 7 คน ทำหน้าที่ตัดสินรางวัล "ขวัญใจคนรักหนัง" ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษในกิจกรรมนี้ โดยมีโล่ห์ประกาศเกียรติคุณมอบให้ การตัดสินจะมีขึ้นสดๆ ในกิจกรรมฉายภาพยนตร์ในโครงการพร้อมประกาศผลรางวัลอื่นๆ ในวันที่ 7 กันยายน 2556 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

คุณสมบัติผู้สมัครคณะลูกขุน

1. ฟัง พูด อ่าน ภาษาไทยได้

2. อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

3. พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย

4. ไม่รู้จักกับผู้เข้าประกวดเป็นการส่วนตัว ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ กับหนังที่ส่งเข้าประกวด

5. สามารถเข้าร่วมงานประกาศรางวัลหนังน่าจะแบนได้ ในวันที่ 7 กันยายน 2556 ตั้งแต่เวลาเที่ยง ถึง 2 ทุ่ม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

วิธีการคัดเลือกหากมีผู้สมัครเกิน 7 คน

หากมีผู้สมัครมากกว่า 7 คน iLaw จะทำการคัดเลือกด้วยวิธีการจับสลากแบ่งตามช่วงอายุ โดยไม่พิจารณาจากการศึกษา ประสบการณ์ หรือตำแหน่งหน้าที่การงาน ทั้งสิ้น

ผู้ สมัครจะถูกแบ่งตามกลุ่มอายุ และจับสลาก โดยแบ่งเป็น กลุ่มอายุ 18-30 (2 คน), 31-40 (2 คน), 41-50 (2 คน), และ ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป (1 คน) เมื่อคัดเลือกเสร็จแล้ว iLaw จะติดต่อผู้ที่ได้เป็นคณะลูกขุนเพื่อประสานงานเข้าร่วมกิจกรรมต่อไป

ค่าใช้จ่าย

iLaw จะรับผิดชอบค่าเดินทางของลูกขุนที่มาจากต่างจังหวัด แต่ไม่รวมถึงค่าที่พักด้วย และไม่มีค่าตอบแทน

ผู้สนใจกรุณาดาวน์โหลดและกรอกใบสมัครตามไฟล์แนบ และส่งกลับมาที่ อีเมล ilaw@ilaw.or.th ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2556

 

สำหรับรายชื่อหนังสั้นน่าจะแบนทั้ง 40 เรื่อง ที่ส่งเข้ามาภายในกำหนดเวลา มีดังนี้ 

1.  เจ็บปวด  ส่งในนามบุคคล

2.  คนข้างห้อง The body Next Door  ส่งในนามบุคคล

3.  The Last try  ส่งในนามบุคคล

4.  หมอเปลี่ยนหัว บุกหัวไทร Doctor Changes ตุลายน

5.  Yellow Summer  ส่งในนามบุคคล

6.  THESIS  ส่งในนามบุคคล

7.  lost & FOUND  ส่งในนามบุคคล

8.  ข้าว  some-how (สามหาว)

9.  180 Degrees ด้านเดียวจำกัดองศา ส่งในนามบุคคล

10. Delete  ส่งในนามบุคคล

11. ห้ามแบน, แต่แบนเอง  ส่งในนามบุคคล

12. ธรรมเนียมปฎิบัติ (ทำ-เทียม-ปฎิบัติ)  ส่งในนามบุคคล

13. รถคันแรก  ส่งในนามบุคคล

14. ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ  ส่งในนามบุคคล

15. Thailand calling รู้ว่าเลว(แต่)ก็ทำไป  ส่งในนามบุคคล

16. คิม  ส่งในนามบุคคล

17. YOU, ME AND THE WINDSHIED MAN  ส่งในนามบุคคล

18. ร้าว LOUD  กวาดใบไม้ฟิล์ม Production

19. เกษตรกรรมครบวงจร เกษตรกรครบวงจน ส่งในนามบุคคล

20. ประชาธิปไตย (ไม่มีจริง)  The dragonfly

21. Mbps (Mega bit per second)  Reunion film

22. Blood Money  ส่งในนามบุคคล

23. เราพูดในห้อง (WE SAID IN A ROOM)  ส่งในนามบุคคล

24. สวรรค์บางกอก  One day & 7 film production

25. ป้าสมมติ ไม่ได้อยู่สมุทรสาคร  ส่งในนามบุคคล

26. อะไรเอ่ย?  ส่งในนามบุคคล

27. ห้องน้ำ Flamingo

28. A Silent Manifesto  A team Manifesto

29. เซียนพระ  Moustache Picture

30. There is no space for me  Commetive Production

31. ปฏิรัก (Unconsciousness in the time of crisis)   ส่งในนามบุคคล

32. mirror  Good Well Film

33. LUST  Triangle Production

34. ไชโย   Lo: Production

35. กุฎุมพี  Espoon Production

36. Hire  ส่งในนามบุคคล

37. STAND DOWN  ส่งในนามบุคคล

38. เฮ่ย นี่มันพวกต่างด้าวนี่ครัส  หมูหลุม

39. โอสถทิพย์ กลุ่มวันใหม่

40. ความรัก ส่งในนามบุคคล

 

AttachmentSize
Application for Jury _ Short Film.doc61 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ปชป.หนุน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ 'แม่พยาบาลเกด' ระบุ คดีม.112 ล้างผิดไม่ได้

Posted: 17 Jul 2013 05:58 AM PDT

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับฉบับ 'แม่พยาบาลเกด' สอดคล้องกับพรรคฯ ลหุโทษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาได้รับการนิรโทษกรรม แต่กรณีผู้สั่งการ, มุ่งหมายต่อชีวิต การวางเพลิง, ประทุษร้ายต่อชีวิต รวมทั้งคดี ม.112 จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

17 ก.ค.56 ที่พรรคประชาธิปัตย์  นายชวนนท์  อินทรโกมาลย์สุต  โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการที่มีกลุ่มภาคประชาชน นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมลเกด อัคฮาด ที่เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ว่า พรรคประชาธิปัตย์เริ่มเห็นคำตอบให้กับประเทศ เพราะร่างดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการ คนทำผิดกฎหมายอาญา มีการแบ่งแยกผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนคือ เป็นเรื่องลหุโทษ การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา  จะได้รับการนิรโทษกรรม  แต่คนที่มีพฤติกรรมหรือมีเหตุอันเชื่อว่า มุ่งหมายต่อชีวิต การวางเพลิงเผาทำลายทรัพย์สิน ประทุษร้ายต่อชีวิตประชาชน และทหาร จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม ดังนั้นถ้ารัฐบาลยอมถอยถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ทั้งหมดที่อยู่ในสภา ทั้งร่างของนายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ร่างของวิปรัฐบาล และอีก 4ร่างที่ยังค้างอยู่ และเดินหน้าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ภาคประชาชน 

 "ผมเชื่อว่าจะมีทางออก โดยอาจมีประเด็นปลีกย่อยบางประการที่ต้องระบุให้ชัด เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ควรจะได้รับการนิรโทษกรรม กรณีผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ซึ่งจะต้องมานั่งคุยกัน วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ จะยืนอยู่ข้างประชาชนที่เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยหลังจากที่เราตกลงระบุรายละเอียดให้ชัดแล้วขอให้กลุ่มประชาชน เดินไปบอกรัฐบาลให้ถอนร่างทั้งหมดในสภาออก แล้วเรามาร่วมกันพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อพาประเทศไทย เดินหน้าไปสู่ความปรองดอง ความสงบ และสันติ จึงถือว่าเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลแล้ว หวังว่าจะมีคำตอบให้กับเรื่องนี้โดยเร็ว"นายชวนนท์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอไอ' ร้องไทยดูแลและคุ้มครองชาวโรฮิงญา

Posted: 17 Jul 2013 05:06 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความยุติธรรมและคุ้มครองผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญา เผยเหตุหญิงชาวโรฮิงญาถูกข่มขืนและมีตำรวจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

 
แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าทางการไทยต้องรับประกันว่าจะมีการสอบสวนอย่างไม่ลำเอียง กรณีที่มีข้อกล่าวหาว่ามีการข่มขืนกระทำชำเราผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญา และให้นำตัวผู้เกี่ยวข้องทุกคนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสู่การไต่สวนของศาลตามมาตรฐานสากล และประเทศไทยต้องประกันให้มีการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพทั้งแง่กฎหมายและการปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้เข้าเมืองที่เดินทางมาถึงชายฝั่งหรือพยายามขึ้นฝั่งในประเทศไทย 
     
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556  หญิงสาวชาวโรฮิงญาสามคนและเด็กหญิงอายุ 9 และ 12 ขวบอีกสองคน ได้ออกจากที่พักพิงในจังหวัดพังงาไปกับผู้ชายสองคน ที่สัญญาว่าจะพาทั้งหมดไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อไปพบกับสามีและญาติคนอื่น ๆ โดยแลกกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อมาพบว่าหนึ่งในชายทั้งสองคนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ส่วนอีกคนเป็นชายชาวโรฮิงญาที่มาจากพม่า ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2556 มีรายงานว่าชายชาวโรฮิงญาคนดังกล่าวได้กักขังผู้หญิงคนหนึ่งไว้ในสถานที่ห่างไกล และได้ข่มขืนกระทำชำเราเธอหลายครั้ง
                
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ลงพื้นที่ในจังหวัดพังงา และได้รับการยืนยันว่า ปัจจุบันชายชาวโรฮิงญาคนดังกล่าวได้ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา การค้ามนุษย์ และการอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และอ้างว่ามีเจ้านายเป็นตำรวจ ยศดาบตำรวจ ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 และถูกดำเนินคดีฐานเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และการเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังจากนั้นไม่นานเขาได้รับการประกันตัวและถูกไล่ออกในที่สุด
                
จากเหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของผู้แสวงหาที่พักพิงในประเทศไทย ที่อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์อันมาจากการขาดความคุ้มครองด้านกฎหมายในสถานะผู้ลี้ภัย เพราะประเทศไทยไม่กำหนดให้มีสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมายในประเทศ และไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (1951 UN Convention relating to the Status of Refugees) เมื่อขาดความคุ้มครองด้านกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้แสวงหาที่พักพิงเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ควบคุมตัว และส่งกลับระหว่างอยู่ในเมืองไทย และเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกใช้ประโยชน์และถูกกระทำอย่างมิชอบโดยเฉพาะจากบรรดาขบวนการค้ามนุษย์
                
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าผู้แสวงหาที่พักพิงที่ถูกกระทำอย่างมิชอบหรือถูกใช้ประโยชน์ในไทย รวมทั้งผู้หญิงเหล่านี้ ต้องมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมทั้งต้องมีทนายความและล่ามที่เป็นอิสระ และจำเลยในคดีนี้ก็ควรได้รับการคุ้มครองเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมายซึ่งเป็นไปตามข้อบท 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี
                
นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องทางการไทยให้มีการสอบสวนอย่างถี่ถ้วนและอย่างรอบด้านต่อรายงานการค้ามนุษย์ทั้งหมด รวมทั้งข้อกล่าวหาที่ว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2556 กองทัพบกมีคำสั่งให้นายทหาร 2 นาย คือ นายทหารยศพันตรี และ นายทหารยศร้อยโท ออกจากราชการไว้ก่อน หลังมีข้อกล่าวหาว่าเข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ในภาคใต้ ต่อมาได้มีการบรรจุเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ให้ย้ายไปปฏิบัติราชการในหน่วยอื่นแทน และไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับพวกเขา   
                
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุ หากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสนับสนุนการค้ามนุษย์ควรถูกสั่งพักราชการโดยทันที และให้ดำเนินคดีตามกระบวนการไต่สวนที่เป็นธรรม
                
สำหรับกรณีผู้หญิงสามคนและเด็กหญิงสองคนที่เป็นเหยื่อในกรณีจังหวัดพังงา พวกเธอได้เข้ามาอยู่ในที่พักพิงที่รัฐจัดให้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 พร้อมกับผู้หญิงและเด็กอีกกว่า 55 คน พวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชาวมุสลิมกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ของพม่าหลายพันคน ที่หลบหนีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงในพม่า และเดินทางมายังประเทศไทยด้วยเรือขนาดเล็กในช่วงปลายปี 2555 และต้นปี 2556 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 ทางการไทยประกาศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นระยะเวลาหกเดือนสำหรับชาวโรฮิงญาในไทย ซึ่งประกาศดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2556
                
นอกจากจะมีผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในที่พักพิงแล้ว ยังมีการควบคุมตัวชายชาวโรฮิงญาอีกกว่า 1,500 คนในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่แออัดและขาดแคลนความสะดวก ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในจังหวัดภาคใต้ของไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เมื่อเร็ว ๆ นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในศูนย์กักตัวเหล่านี้ โดยทำเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 และยังเน้นประเด็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอีกสองรายที่ศูนย์กักตัวในจังหวัดสงขลา เป็นเหตุให้จำนวนชายชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวเพิ่มจำนวนเป็นเจ็ดคน นับแต่เดือนมกราคม 2556
                
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่าการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาและผู้เข้าเมืองตามสถานกักตัวคนต่างด้าวและที่พักพิงต่อไป เป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีอิสรภาพซึ่งได้รับการรับรองตามกติกา ICCPR โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาพการควบคุมตัวชายชาวโรฮิงญาไม่สอดคล้องกับมาตรฐานหลักเกณฑ์ขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อนักโทษแห่งสหประชาชาติ (UN Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) จึงเรียกร้องรัฐบาลไทยควรปล่อยตัวผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้เข้าเมืองที่ถูกควบคุมตัวอยู่ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และประกันว่าสภาพการควบคุมตัวพวกเขาสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ทั้งยังควรกำหนดให้มีกลไกระดับชาติเพื่อประกันว่า บุคคลซึ่งหลบหนีจากภัยคุกคามในประเทศของตนเองและต้องการแสวงหาที่พักพิง สามารถเข้าถึงขั้นตอนปฏิบัติที่เป็นธรรมและเป็นผลอย่างเต็มที่เพื่อให้มีการประเมินข้อเรียกร้องเพื่อขอที่พักพิง
                
ชาวโรฮิงญาหลายพันคนหลบหนีออกจากพม่าทางเรือมุ่งสู่ประเทศไทยและมาเลเซีย ภายหลังความรุนแรงระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ความรุนแรงครั้งนั้นเป็นเหตุให้มีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก มีการทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนและทำให้คนต้องอพยพจำนวนมาก แม้ว่าชุมชนของทั้งสองศาสนิกในพม่าจะได้รับผลกระทบ แต่ผู้เป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นชาวโรฮิงญา โดยชาวโรฮิงญากว่า 140,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วรัฐยะไข่ ทางการพม่าไม่ยอมรับสถานภาพของชาวโรฮิงญาอย่างเป็นทางการ และยังคงปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสที่จะมีสัญชาติ ซึ่งเป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติ ทั้งยังมีการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางและสิทธิที่จะได้รับการศึกษา การทำงาน การแต่งงาน และการมีครอบครัวในระดับต่าง ๆ กัน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธเนศวร์ เจริญเมือง: สภาวะอำนาจนิยมของสิ่งที่เรียกกันว่า 'การรับน้อง'

Posted: 17 Jul 2013 04:07 AM PDT

ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ

1. เพราะในระหว่างเรียน ไม่ได้สอนให้เห็นความสำคัญของการอ่านมากๆ แต่เน้นให้จำ จำเพื่อจะได้ไปสอบ สอบให้ได้คะแนนดีๆ คะแนนดีๆ แล้วสมัครอะไร เขาก็จะรับ

2. เพราะในระหว่างเรียน ไม่ได้สอนให้เน้นการคิด การวิเคราะห์ การตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย การฝึกค้นคว้า การออกไปค้นหาความจริงในที่ต่างๆ และที่ห้องสมุด แต่เป็นการเรียนให้จำ ให้จด ไม่ต้องถามมาก หรือไม่ถามเลยยิ่งดี

3. เพราะเรียนจบแล้ว ก็บอกว่าจบ จบหลักสูตรแล้ว ก็จึงไม่ต้องอ่านอะไรอีกแล้ว เพราะจบแล้ว ฉลาดแล้ว ได้ปริญญาแล้ว ได้ถ่ายรูปใบสำคัญเอาไว้อวดเพื่อนบ้านญาติมิตรแล้ว ได้กินเลี้ยงแล้ว ก็ไม่เห็นต้องอ่านอะไรอีกล่ะ

4. เพราะรอบๆ สถาบันการศึกษา มีร้านหนังสือน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านดนตรี กินดื่มเต้น และร้ายขายของสารพัด แทบไม่มีร้านหนังสือเลย หรือมีน้อยมากๆ มีหนังสือพิมพ์วางขายหน้าร้าน 3 -4 เล่ม มีนิยาย นิตยสารให้เช่าจำนวนหนึ่ง นอกนั้นแทบไม่มีอะไรเลย นี่ไงครับ บัณฑิต ที่ครองตน ครองคน และครองงาน หนังสือไม่ต้องอ่าน เพราะจบแล้วหรือว่าใกล้จะจบแล้วนี่ครับ เวลาขึ้นรถไฟฟ้า หรือรถเมล์ ก็แทบไม่เห็นว่ามีใครอ่านหนังสือเลย

แล้วถ้าถามต่อไปว่า ก็ทำไมไม่ปฏิวัติการเรียนการสอน และการสอบ ตามข้อ 1-2-3 ที่ได้พูดไป ก็ต้องบอกว่าก็คนสอนเขาไม่ต้องการให้คนเรียนคิดเป็น ถามเป็น ตอบเป็น เถียงเป็น ค้นคว้าเป็น หรือตั้งคำถามเป็นนี่นา

ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปเป็นปี 1 ดูสิครับ กฎระเบียบทุกอย่างที่วางไว้โดยสถาบันและโดยรุ่นพี่ วางกรอบ วางกฎไว้หมดทุกอย่าง ถามได้ไหม เถียงได้ไหม แย้งได้ไหม เสนอได้ไหม สงสัยได้ไหม ขอให้ทบทวนได้ไหม ฯลฯ

ก็แทบไม่ได้สักอย่างเดียว แล้วจะคาดหวังอะไรจากระบบการศึกษาเช่นนี้ครับ

 

000

ใครเป็นคนทำ VDO นี้ ไม่ได้บอกชื่อไว้ แต่ขอได้รับคำขอบคุณจากคนดูครับ
เพราะให้ภาพชัดดี ข้อมูลมากมาย (ดูวิดีโอที่นี่)

"รับน้องขึ้นดอย 56" กิจกรรมสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาสำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือยังคงสะท้อนสภาวะสำคัญที่เราเรียกกันระบบรับน้อง และระบบว้ากน้อง ที่ร่วมมือกัน โดยคน 4-5 กลุ่ม ที่มีความคิดโดยหลักๆ เป็นเอกภาพ ตรงกัน คล้ายคลึงกัน คือเป็นแบบอำมาตยาธิปไตย ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้บริหารและคณาจารย์
กลุ่มที่ 2 กลุ่มนักศึกษารุ่นปี 2-3-4-5-6
กลุ่มที่ 3 คือบรรดาศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว แต่คิดถึง เลยมาแวะดู ยืนดู เชียร์ หาน้ำหาขนม หาเงินมาให้ มาหนุน
กลุ่มที่ 4 บรรดาสื่อมวลชน ซึ่งก็คือพวกศิษย์เก่า มารายงานข่าว เก็บเก่า ยืนดูไป เชียร์ไปด้วย เพราะผ่านมาแล้ว เห็นด้วย ชื่นชม อาจจะควักเงินด้วย และอาจมีน้ำตาไหลด้วย แล้วก็กลับไปเขียนเชียร์

นี่คือ 4 กลุ่มหลักที่เป็น Actors และเป็น conductors ด้วย ส่วนบรรดาน้องใหม่ ก็เป็น Actors ที่แสดงบนท้องถนนที่ผู้คนเห็นหน้ามากที่สุด แต่พวกเขาก็เป็นเหมือนตัวละครแบบพวกจุฑาเทพ หรือละครไหน นั่นคือ กลุ่มทั้ง 4 โดยเฉพาะกลุ่ม 1-2-3 สั่งให้ทำอย่างไร ก็ทำตามนั้น ตัวอย่าง

1. แต่งชุดเหมือนกันหมด โชว์ส่วนที่เป็นล้านนา เพราะมหาลัยเห็นแล้วว่าต้องทำให้โลกเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นต้องสืบสาน ถามไม่ทำ เดียวโดนวิจารณ์ อีกอย่างมันขายได้ เอาไปขอเงินได้ นักท่องเที่ยวก็ชอบมาดู ไปของบจากรัฐบาล ก็จะดูดี

2. เน้นคณะนิยม แบบขุนศึกศักดินาเป็นก๊กๆ แต่ละก๊ก ธงไม่เหมือนกัน แต่งกายไม่เหมือนกัน เพื่อโชว์ก๊กใครก๊กมัน ก๊กของเราต้องสวยเลิศกว่าคนอื่น ระบอบอำมาตยาก็สร้างก๊กไว้แบบนี้

3. เน้นแต่งกายทะมัดทะแมง เพื่อสะดวกเวลาพี่สั่งให้น้องๆวิ่งขึ้นไป โชว์ความแข็งแกร่ง โชว์พลังของก๊ก น้องปี 1 หญิงต้องนุ่งกางเกง ล้านนา สตรีนุ่งซิ่นเอาเก็บไว้ ไม่ได้ เพราะต้องวิ่งขึ้นโชว์ความแข็งแกร่ง ทรหดอดทน สปิริต พี่สั่งอะไร น้องต้องทำให้ได้ ทุกอย่างตามที่พี่อยากเห็น

4. สังเกตไหม น้องยืนตัวตรง หน้าบึ้ง ไม่ยิ้ม เหมือนทหารถูกบังคับ

5. ได้ยินไหมครับ พี่ตะโกนบอก เราจะเดินขึ้น สูงชัน โหด ทำภารกิจอันยิ่งใหญ่

6. แล้วก็ก้มๆเงยๆ บูมๆๆๆๆ ประกาศนามก๊กให้ดังสุดเสียง ให้โลกรู้ว่ากูคือใคร คณะอะไร ได้ยินไหม ก็คือเพลงเชียร์คณะที่ซ้อมกันมาเป็นเดือนนั่นแหละ

7. แล้วพี่ก็สั่งให้เกาะบ่ากัน วิ่งๆๆๆๆ ขึ้นโค้งขุนกัณฑ์ หรือหากเิดินช้าไป เกิดช่องว่าง ก็ต้องเร่งให้วิ่ง ให้แถวกระชั้นเข้ามา

8. มีรุ่นพี่ตะโกน ว่าให้น้องๆดูแลกัน ช่วยกัน และพี่จะเข้าไปช่วย

9. เห็นชัดไหมครับ พี่ๆ ปี 2-3-4 แทบทุกคณะไม่แต่งกายล้านนา ไม่เข้าแถว กับน้อง แต่ส่วนหนึ่ง จะยืนหน้าสุด เหมือนทหาร ถือธงอันยิ่งใหญ่ของก๊ก เหมือนไปรบพุ่งกับศัตรู ใบหน้าเข้ม เอาจริง ยืนแบบนั้นหน้าขบวน ไม่่กี่คนครับ แต่ข้างๆทั้งชายหญิงคือรุ่นพี่ ที่ดูแลน้องๆ มักใส่เสื้อสีน้ำเงินหรือสีดำ พวกเขาไม่แต่งตัวแบบน้อง เพราะถือว่าผ่านมาแล้ว ปีก่อน ทำแล้วนี่ ปีนี้ก็ไม่ต้อง แต่เป็นผู้กำกับบท และคอยช่วยเหลือ คอยดูแล และแน่นอน คอยเชือด คอยบันทึก ถ้าใครไม่ให้ความร่วมมือ กลับลงมาจากดอย กลับไปที่ก๊ก มึงตายแน่ เจอโทษแน่ ฯลฯ

จาก 9 ข้อนี้ เราเห็นชัดเจนมากครับว่า นี่คือการเอาการขึ้นดอยไปไหว้พระธาตุมาทำให้ดูดี ด้วยการทำทุกปี แล้วบังคับให้ยึดกันเป็นประเพณี (จะได้ดูเป็นคนมีอารยธรรม มีศิวิไลซ์ ไม่ใช่คนล้าหลัง เพราะเป็นคนมีรากเหง้า มีแบบแผน) แต่ทั้งหมด ก็ให้ดูดี ดูล้านนา (แม้บางส่วน) ดูนำไปขายได้ อวดโลกได้ แต่ทั้งหมดก็คือ ส่วนหนึ่งของการสร้างก๊ก ให้น้องๆอยู่ในโอวาท สั่งอะไรให้ทำตาม ต้องทำตาม เพราะยังจะต้องมีกีฬาอีกหลายรายการ ที่น้องๆต้องไปเชียร์ ไปร้องเพลง ไปเป็นลีด ไปปรบมือ ไปตะโกน สู้ ๆ บูมๆๆๆๆ ประกาศนามอันเกรียงไกรของก๊ก

น้องๆ ต้องทำสิ่งเหล่านี้ เพราะพี่ๆ ผ่านมาแล้ว เมื่อพี่ๆ ทำมาแล้ว น้องก็ต้องทำตาม ไม่ทำไม่ได้ ห้ามขัดประเพณี

ก็ถามสิครับ คนล้านนาเดินขึ้นดอย ไปทำไม ไปไหว้พระ ไปสงบจิตใจ ไปหาคำสอน บนนั้นไม่มีหิมะ ไม่ใช่ไปตาย เดินไปหยุดไป คุยไป ออกกำลังไป รู้จักกันไป ผูกมิตรกันไป ทำไมต้องเครียด ทำไมต้องแข่งกัน ใครถึงก่อน ใครตะโกนร้องเพลง เสียงดังกว่า

ถึงได้บอกว่า การขึ้นดอยเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นเพียงวิธีการที่นำไปรับใช้ระบบรับน้องและว้ากน้องเท่านั้น น้องคือเครื่องมือ น้องคือตัวแสดง ที่ผู้กำกับบท เจ้าของค่าย เจ้าของก๊ก อยากเห็นและอยากให้ทำ และรักษาระบบอำนาจนี้ รักษระบบการกดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ถามว่า แล้วเราจะจัดประเพณีแบบประชาธิปไตย ที่สถาบันการศึกษาสูงส่งนี้ทำได้ และทำได้ดี มีคนรัก คนชื่นชม คนยกย่องได้ไหม ได้ครับ

เช่น เข้าแถวได้ ทำตัวให้สบาย ไม่ต้องยืนแบบทหาร ไม่ต้องตะคอก ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องยืนดุมรอบๆ เพื่อกดดันน้อง ไม่ต้องทำตัวเป็นเจ้าของก๊ก เจ้าของค่าย ปีที่แล้ว พวกคุณไปแล้ว ก็ไม่ต้องไป ถ้าไม่อยากไป และไม่ต้องมาคุม มาบงการ มาสั่งการ มาคอยดูแลพฤติกรรมเพื่อที่จะเล่นงานและลงโทษน้องเมื่อลงจากดอย

แต่งตัวตามคณะก็ได้ เหมือนก้ันก็ได้ ไม่เหมือนกันก็ยังได้ ด้วยการถาม ปรึกษาหารือกัน ให้น้องออกแบบก็ยังได้ เปิดประชาธิปไตย กันได้ เหนื่อยก็พัก ไปวัด ไปทำใจสงบ ไม่ต้องสำแดงเดช ไม่ต้องบูม ไม่ต้องแหกปาก แค่มีป้ายถือบอกคณะไหน ผู้คนก็รู้หมดแล้ว บางคณะทำแย่มาก สังเกตไหมครับ เอาป้ายชื่อน้องแขวนน้องทุกคนด้วย ก็คือบังคับในมหาลัยยังไม่พอ จะขึ้นดอย ยังตามมาบังคับกันอีก

ความจริง ถ้าเดินขึ้นจากถนนสุเทพ ไปทางกาแล เดินขึ้นไปบนเส้นทางนั้นแบบบรรพชนชาวล้านนาเมื่อหลายร้อยปีก่อน ก่อนปี พ.ศ. 2477 เดินทั้งขึ้นและลง ทำทางให้ขยายกว้างกว่าเดิม ไม่ต้องมาใช้ถนนที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง ก็อาจจะเท่ไปอีกแบบด้วยซ้ำไป อาจจะดีกว่า ได้บุญมากกว่าด้วยซ้ำไป

สุดท้าย ถ้าทำแบบโอลิมปิค ก็ยังได้ ออกเช้า ค่อยๆ เดิน พักไปเรื่อยๆ ก็ไม่เครียด ขากลับแตกคณะเดินคละกัน เอาธงทุกคณะมารวมกันเดินเข้าสเตเดียมด้วยกันแบบพิธีปิดโอลิมปิคยังได้เลย แต่พวกเขาถูกบังคับแต่แรกให้ไป บีบกันมาก สั่งให้วิ่ง สั่งให้ไปถึงก่อนคณะคู่แข่ง แบบนี้ ใครจะมีความสุข ในใจมันมีแต่กิเลศ มันมีแต่การแข่งขัน ที่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนไว้ แล้วใครจะเดินกลับมาเพราะมันหมดแรงหมดใจ ไม่ได้อิ่มเอิบอะไร เพราะไปวัดไปดอยมาหลายหนแล้ว ไปกันเอง ไปกับครอบครัว นี่ยังมาบังคับกะเกณฑ์ (กรู) อีก มันจะอะไรนักหนา จะแหกปากกันไปถึงไหน ทุกอย่างก็ให้มหาลัยได้หน้า ให้พวกรุ่นพี่มีความสุข สะใจได้บังคับรุ่นน้อง ได้ล้างแค้นสำเร็จแล้ว ก็เท่านั้น

นี่ไงครับ ปฏิบัติการแบบอำมาตยาธิปไตยในแวดวงการศึกษาระดับสูงของประเทศนี้

 

000

ปล.1 เราไปวัดเพื่ออะไรครับ ... ก็ไปทำบุญ ไปไหว้พระ ชมสิ่งก่อสร้างเก่าๆ ซึ่งเป็นอารยธรรมที่บรรพชนเราท่านสร้างไว้ ไปสงบจิตใจ ไปเข้าใกล้ธรรมะ ไปหาพลังชีวิต ฯลฯ

หลายร้อยปีที่ผ่านมา คนล้านนาเดินขึ้นดอยสุเทพคืนก่อนวันวิสาขบูชา ก็ด้วยจิตใจมุ่งม้นต่อพระศาสนา ก่อนไปควรจะอวดใครในโลกนี้ไหมว่า นี่ๆ ฉันจะเดินไปวัดแล้วนะ รู้ไหม

ฉันจะเอาป้ายไปหลายใบ บอกให้ใครทั่วโลกรู้ว่าฉันเป็นใคร เรียนอะไร คณะไหน มหาวิทยาลัยอะไร ฯลฯ

วันนี้ คนมีการศึกษาเอาการขี้นดอยเป็นเครื่องมือเพิ่ออวดสถาบันตัวเอง แข่งขันวิ่งขึ้นไป ใครจะถึงจุดหมายก่อน จะได้ร้องเพลงประกาศ นามสถาบันดังๆ ในวัดหรือหน้าวัด คิดไปคิดมา ก็ชวนสงสัยว่าการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้เราควรจะเปนชาวพุทธที่สุขุม อ่อนน้อมมากขึ้น หรืออหังการมากขึ้น โอ้อวดตัวเองมากขึ้น?

 

ปล. 2 เราจะทำอะไร รวมหมู่กัน ไม่ว่าในหน่วยงาน ไหน สถาบันไหน แบบประชาธิปไตยได้ไหมครับ ไม่ยากเลย

1. เคารพซึ่งกันและกัน เพราะเราเป็นคนเหมือนกัน ปี 1 2 3 4 5 6 อาจารย์ใหม่ เก่า ทุกคนก็ค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร และไม่ควรมีใครบังคับใคร สั่งใคร เพราะเราทุกคนเท่ากัน ดังน้น ก็ถามความเห็นกัน ปรึกษากัน ชวนกัน ให้ทุกคนทำตามใจสมัคร

2 จะคิดทำอะไร ก็วางแผนร่วมกัน เช่น เพื่อนๆ ปี 1 ที่รักทั้งหลาย ทุกปี เราจะมีงานเดินขึ้นดอย ที่ผ่านมา เราทำแบบนี้ (ฉายวีดีโอให้ดูประกอบ) ดูร่วมกันเสร็จก็ถามปี 1 เลย เอ้า เพื่อนๆ ปี 1 เราจะทำต่อดีไหมครับ ถ้าจะทำ จะทำแบบไหน แต่งกายอย่างไร ใครจะออกเงิน ออกแบบ ใครจะแบ่งงานกันอย่างไร

แล้วก็แบ่งแผนงานไปคิด แยกกันไปทำ แล้วมานำเสนอ ให้ที่ประชุมรับรอง จากนั้น ก็เอ้า ใครจะไป ใครจะไม่ไป ใครจะออกเงินช่วย

อ้าว ปีนี้ เพื่อนๆ ปี 1 ไม่มีใครอยากไปเลย เพราะเดินขึ้นดอยมาหลายหนแล้ว ตอนอยู่สาธิต อยู่ยุพราช วัฒโน พ่อแม่พาไป ฯลฯ ไม่อยากไปตอนนี้ เอ้า ไม่ไปก็ไม่ไป พวกเรา ปี 2-3-4 -5 มานั่งคุยกันเอง เราก็ไปของเราเอง ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างครับ พี่น้อง ประชาธิปไตยต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ เคารพกัน ฟังกัน และทุกอย่างทำไปด้วยใจ ด้วยความรัก ด้วยศรัทธา ไม่มีบังคับกันเลย

ปุจฉา ชาตินี้ จะได้เห็นกิจกรรมแบบนี้ไหม ในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศนี้

 

ปล. 3 มีคนเขียนมาแซวหลังไมค์มา สมัย ศ.นพ.บุญสม มาร์ติน เป็นรองอธิการบดี ได้ให้นักศึกษาเดินขึ้นดอย วิ่งขึ้น เป็นการออกกำลังกายด้วย

ก็ดีนี่ครับ แต่ว่าเราจะต้องไม่บังคับกัน ไม่ใช่ให้ทุกคนในคณะวิ่งไปพร้อมกัน ยกเท้าพร้อมกัน ไปถึงจุดหมายพร้อมกัน ไม่ใช่ครับ คนเราเดินไม่เท่ากัน วิ่งไม่เท่ากัน เราไปวัด ไปขึ้นดอย ไปไหว้พระด้วยศรัทธา อย่าเอาฮิตเล่อร์ อย่าเอามุสโสลินีมายุ่งกับกิจกรรมพระพุทธศาสนาแบบนี้ เราเป็นสถาบันปัญญาชน ใช้ปัญญาไปวัด ไปหาพระ เราไม่ใช่สถาบันที่ใช้ตีน และใช้อาวุธ เราเป็นสถาบันที่ใช้สมองครับ โปรดทราบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

8 องค์กรทำ MOU เล็งสร้างเกณฑ์กำกับกันเองของเนื้อหาออนไลน์

Posted: 17 Jul 2013 03:22 AM PDT

สพธอ.จับมือ 7 องค์กรเอกชน ตั้งกลุ่ม Making Online Better (MOB) หวังร่างเกณฑ์กำกับดูแลกันเองด้านเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ สื่อห่วง กลายเป็นขยายขอบเขตการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไปกว่ากฎหมายกำหนด  


 

(17 ก.ค.56)  สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง 8 องค์กร ได้แก่ สพธอ., มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย , สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ, สมาคมไทยแลนด์พีเคไอ, สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย, กูเกิล เอเชีย แปซิฟิค, อีเบย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอจีและสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ภายใต้ชื่อกลุ่ม "Making Online Better" (MOB) หรือ Thai Online Self-regulation Community (TOSC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตนเองด้านเนื้อหาบนสื่อออนไลน์

ทั้งนี้ เอกสารประกอบการแถลงข่าว ระบุว่า จะมีการดำเนินการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม (Code of Conduct) ในการดูแลเนื้อหาบนสื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อให้มีกระบวนการที่ชัดเจนในการจัดการกับเนื้อหาที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น อันเป็นการผิดต่อกฎหมาย และอาจมีผลกระทบทำให้ผู้ให้บริการต้องรับผิดจากการกระทำของบุคคลที่สาม โดยขอบเขตเนื้อหาที่จะดูแลในระยะแรก ประกอบด้วยเรื่องสื่อลามก ที่เน้นให้ความสำคัญกับสื่อลามกเด็กด้วยมาตรการที่รวดเร็ว การก่อการร้าย ยาเสพติด การหลอกลวง เช่น ฟิชชิ่งและสแปม และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ระบุว่า ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนออนไลน์ ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง อีกทั้งในการบังคับใช้กฎหมาย ยังมีข้อถกเถียงว่าเนื้อหาแบบใดเหมาะสมหรือไม่ อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดเว็บเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือไม่ ซึ่งทั้งผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เจ้าของเว็บไซต์ ต่างก็มีความเห็นที่ต่างกัน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันจัดทำเกณฑ์ในการกำกับเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่อยู่บนพื้นฐานหลักการเดียวกัน

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการขายของในเว็บมากขึ้น ภาครัฐก็เริ่มเข้ามากำกับมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการต้องปรับตัวด้วย โดยยกตัวอย่างว่าเคยมีกรณีที่ผู้ประกอบการเอายาผิดกฎหมายมาขายในเว็บ โดยที่ตัวเองในฐานะผู้ให้บริการก็ไม่รู้ว่ามี เพราะมีของเข้ามาขาย 4,000-5,000 รายการต่อวัน และแม้จะมีการบล็อค แต่ก็ดูได้ไม่หมด จน อย. แจ้งความจะมาจับ ก็ต้องแย้งว่าไม่ใช่คนขาย เป็นเพียงตัวกลาง พร้อมยินดีเอาข้อมูลออกและประสานงานให้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกับ อย. มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าอะไรควรขาย อะไรขายไม่ได้ และตกลงกันว่าถ้าเกิดปัญหา ให้แจ้งมา ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็จะเอาลงทันที ดังนั้น มองว่าการกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่าเมื่อเกิดปัญหาจะต้องติดต่อใคร ก็จะช่วยปกป้องผู้ให้บริการเอง และช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ SME ด้วย

ณัฐวรรธน์ สุขวงศ์ตระกูล ผู้เชี่ยวชาญสำนักกฎหมาย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กล่าวว่า มาตรฐานจริยธรรมฯ นี้จะมีเนื้อหาคู่ขนานกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแก้ร่างฯ โดยมีแนวคิดกันว่า อาจนำไปใส่ในมาตราเรื่องผู้ให้บริการ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปรวมถึงกรอบเวลาที่ชัดเจน

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท แสดงความเห็นว่า การกำกับกันเองย่อมดีกว่าให้คนอื่นมากำกับ แต่มีข้อเป็นห่วงว่า จะมีมาตรการแนวทางอย่างไรไม่ให้การกำกับดูแลเป็นการขยายให้แนวทางการเซ็นเซอร์ตัวเองไปไกลกว่าที่กฎหมายกำหนด

ณัฐวรรธน์ ตอบว่า ในต่างประเทศก็มีความกังวลในประเด็นนี้ว่า ผู้ให้บริการอาจเอาเนื้อหาลงทันทีเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเท่ากับไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อนและเป็นการเซ็นเซอร์เนื้อหาให้ภาครัฐหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า มีเส้นบางๆ และความเห็นต่างกันอยู่ แต่การจัดทำแนวจริยธรรมนี้ จะยืนอยู่บนฐานของกฎหมาย ซึ่งจะน่าจะทำให้เส้นแบ่งชัดมากขึ้น แต่ก็รับเป็นข้อห่วงใยไว้

กำพล ศรธนะรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานว่า ด้านหนึ่งจะเป็น Fast track รับแจ้งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ก็จะกำกับดูแลกันเอง โดยอาจมีเนื้อหาบางแบบที่ระบุชัดในแนวทาง ว่า ในฐานะผู้ให้บริการสามารถพิจารณาเอาออกเองได้โดยที่ไม่ต้องมีคนรับแจ้ง ซึ่งจะช่วยจัดระเบียบสังคมได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หัวหน้าโฆษกศาล รธน.ยืนยันการลาออกของวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

Posted: 17 Jul 2013 01:21 AM PDT

และระบุด้วยว่าคณะตุลาการทั้ง 8 คนที่เหลือ จะดำเนินการพิจารณาคดีในศาล รธน. ต่อไปโดยไม่ทำให้การพิจารณาหยุดชะงัก 

หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานวันนี้ (17 ก.ค.) ว่านายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้แถลงยืนยันว่านายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการประธานศาลรัฐธรรมนูญและการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป หลังจากที่นายวสันต์ปฏิบัติตามภารกิจที่ตั้งใจไว้ คือ การพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการเร่งรัดการพิจารณาคดีที่ค้างในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยคดีที่รับต้องพิจารณาเสร็จภายใน 1 ปี

หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่าคดีสำคัญที่ค้างอยู่ เช่น คำร้องที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และการพิจารณาสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั้นหัวหน้าคณะโฆษกศาล รธน. ระบุว่า คณะตุลาการทั้ง 8 คนที่เหลือ ก็จะดำเนินการพิจารณาต่อไปโดยไม่ทำให้การพิจารณาหยุดชะงัก นอกจากนี้วุฒิสภาจะดำเนินการสรรหาตุลาการศาล รธน. คนใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่พ้นตำแหน่ง (อ่านข่าวฉบับเต็มที่นี่)

ทั้งนี้ในต้นปี 2555 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีคดีที่ยังค้างอยู่ 123 คดี และพิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว 109 คดี ปัจจุบันมีคดีที่ค้างอยู่ในการพิจารณา 30 คดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น