โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ว้าเตรียมหารือกองทัพพม่าเกี่ยวกับเขตพื้นที่ปกครองทางตะวันออกของรัฐฉาน

Posted: 09 Jul 2013 12:32 PM PDT

ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพพม่าได้ต่อสายโทรศัพท์โดยตรงถึงกองทัพสหรัฐว้า UWSA เพื่อที่จะหารือเรื่องเขตปกครองอีกรอบ หลังจากก่อนหน้านี้เกิดความตึงเครียดเมื่อกองทัพพม่าสั่งให้กองทัพสหรัฐว้าถอนกำลังจากพื้นที่ควบคุมบริเวณชายแดนไทย-พม่า

จากเหตุการณ์ที่กองทัพพม่ามีคำสั่งให้ทหารของกองทัพว้า (UWSA - United Wa State Army) ถอนกำลังออกจากพื้นที่ควบคุมของตัวเอง ทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายตึงเครียด ล่าสุดมีรายงานว่า ผู้นำกองทัพพม่าและว้าเตรียมที่จะหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้ประชาชนในเขตปกครองของว้าต่างวิตกกังวลว่าจะเกิดสงคราม  

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.มิ้นอ่องหลาย ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพพม่าได้ต่อสายโทรศัพท์โดยตรงถึงกองทัพว้า (UWSA) เพื่อที่จะหารือเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการระบุว่า การพบกันครั้งนี้จะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่เรื่องนี้ได้รับการยืนยันว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าจะมาหารือกับกองทัพว้าด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ กองทัพพม่าได้เรียกร้องให้กองทัพว้า (UWSA) ย้ายฐานที่มั่นจำนวน 4 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่เมืองสาดและเมืองโต๋น ทางภาคตะวันออกของรัฐฉาน โดยยังสั่งห้ามทหารว้าพกพาอาวุธและสวมเครื่องแบบทหารว้าเข้าไปในเขตควบคุมของกองทัพพม่า  ด้านผู้สังเกตการณ์และเชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่าเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกองทัพพม่าได้ปิดเส้นทางเชื่อมระหว่างเขตปกครองของว้าทางภาคเหนือและทางภาคใต้ของรัฐฉานแล้ว โดยทหารว้าไม่สามารถผ่านเส้นทางจากเมืองป๋างซาง ไปยังเมืองเชียงตุงและเมืองสาด เมืองโต๋นได้เหมือนเมื่อก่อน ทำให้ว้าต้องใช้เส้นทางลัดไปในป่า  

ด้านอูจอหลุ่น เจ้าหน้าที่่ในกองทัพว้า (UWSA) กล่าวว่า การให้ทหารว้าถอนกำลังออกจากพื้นที่ทางภาคตะวันออกของรัฐฉานนั้นไม่ได้ถูกระบุไว้ในข้อตกลงที่ทางกองทัพพม่าและกองทัพว้าลงนามในปี 2532 แต่อย่างใด เรื่องการขอให้ย้ายฐานที่มั่นของว้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกะทันหัน อย่างไรก็ตามเขาระบุว่า หากทางผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือกัน เชื่อว่าจะสามารถพูดคุยกันได้

อูจอหลุ่น กล่าวอีกว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ส่งผลให้ประชาชนในเขตว้าต่างวิตกกังวลว่าสงครามระหว่างทหารพม่าและทหารว้าจะเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนว้าบางส่วนเริ่มขายทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงของตัวเองและเตรียมอพยพเข้ามายังเขตไทยหากเกิดสงคราม

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยรายงานชี้วัดเรื่องทุจริตปี 2013

Posted: 09 Jul 2013 12:25 PM PDT

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ สำรวจความเห็นจากประชากร 1,000 คนของแต่ละประเทศเรื่องการคอร์รัปชั่นในประเทศตนเองและการติดสินบน โดยประเทศไทยมีร้อยละ 66 ที่คิดว่ามีการทุจริตเพิ่มมากขึ้น และส่วนมากคิดว่ากลุ่มที่ทุจริตคือหน่วยงานพรรคการเมืองและตำรวจ


เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2013 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติหรือ Transparency International เผยแพร่ผลสำรวจการชี้วัดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นทั่วโลกในปี 2013  (Global Corruption Barometer 2013) โดยทำการสำรวจความเห็นของประชาชน 114,000 คนจาก 107 ประเทศ ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย. 2012 ถึงเดือน มี.ค. 2013 ในเรื่องความเห็นต่อการคอร์รัปชั่นของสถาบันต่างๆ ในประเทศ

ผลสำรวจโดยรวมระบุว่ามีการทุจริตมากขึ้น มีผู้เข้าร่วมการสำรวจร้อยละ 27 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกบอกว่าพวกเขาต้องติดสินบนเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้ในช่วงเวลาที่มีการสำรวจ

ผลสำรวจระบุอีกว่าประชาชนราว 9 ใน 10 บอกว่าพวกเขาจะต่อสู้เพื่อต่อต้านการทุจริต และ 2 ใน 3 ของทั้งหมดบอกว่าพวกเขาปฏิเสธที่จะจ่ายค่าสินบน

ฮิวเกต์ ลาเบลล์ ประธานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ กล่าวว่าเมื่อวัดจากภาพรวมทั่วโลกแล้ว ยังมีกรณีของการติดสินบนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนที่เชื่อว่าพวกเขามีอำนาจในการต่อต้านการใช้อำนาจอย่างผิดๆ  การสร้างข้อตกลงแบบมีลับลมคมใน และการติดสินบน ก็มีอยู่จำนวนมากเช่นกัน

ทั้งนี้ จากผลสำรวจการทุจริตคอร์รัปชั่นทั่วโลกในปี 2013 พบอีกว่าสถาบันที่ประชาชนพึ่งพาในการใช้ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นก็เป็นสิ่งที่เชื่อใจไม่ได้เช่นกัน เช่นใน 36 ประเทศมองว่าตำรวจเป็นสถาบันที่มีการทุจริตสูงสุด และในประเทศเหล่านั้นมีประชาชนโดยเฉลี่ยร้อยละ 53 เคยถูกเจ้าพนักงานเสนอให้ติดสินบน ขณะที่มี 20 ประเทศ มองว่าสถาบันตุลาการเป็นหน่วยงานที่มีการทุจริตสูงสุด และในประเทศเหล่านั้นมีประชาชนอยู่ร้อยละ 30 ที่เคยถูกขอให้ติดสินบนในกระบวนการยุติธรรม

ลาเบลล์กล่าวอีกว่าจากการสำรวจกลุ่มประเทศ G20 มีอยู่ร้อยละ 59 จาก 17 ประเทศที่บอกว่ารัฐบาลไม่มีการดำเนินการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นมากพอ โดยผลสำรวจเปิดเผยอีกว่าในจำนวน 51 ประเทศทั่วโลกมองว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่มีการทุจริตมากที่สุด โดยร้อยละ 55 มองว่ารัฐบาลดำเนินงานโดยมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในแง่การต่อต้านการทุจริต กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72 มองว่าควรใช้วิธีการล่ารายชื่อร้องเรียน ร้อยละ 56 มองว่าควรใช้โซเชียลมีเดียในการเปิดโปงการคอร์รัปชั่น ร้อยละ 56 มองว่าควรมีการประท้วงอย่างสันติ ร้อยละ 54 บอกว่าพวกเขายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทที่ไม่มีการทุจริต ร้อยละ 51 บอกว่าต้องมีการเข้าร่วมองค์กรต่อต้านการทุจริต


กลุ่มประเทศแอฟริกาติดอันดับการติดสินบนมากที่สุด

ทางสำนักข่าว BBC ได้นำข้อมูลของการชี้วัดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นทั่วโลกในปี 2013 มาเผยแพร่โดยเน้นกล่าวถึงเรื่องการติดสินบน โดยชี้ว่ากลุ่มประเทศแอฟริกาอย่าง เซียร์ร่า ลีโอน, ไลบีเรีย, เยเมน และเคนย่า โดยที่ประเทศเซียร์ร่าลีโอนมีผู้เข้าร่วมการสำรวจร้อยละ 84 ที่ยอมรับว่าพวกเขาเคยติดสินบน ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการติดสินบนต่ำสุดคือ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย


กลุ่มตัวอย่างไทยร้อยละ 66 คิดว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจการชี้วัดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นทั่วโลกในปี 2013 ซึ่งมีการสำรวจตั้งแต่เดือน ก.ย. 2012 ถึงเดือน มี.ค. 2013 กล่าวถึงประเทศไทยว่า กลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยมองว่ามีการทุจริตคอร์รับชั่นเพิ่มขึ้นกว่าการสำรวจในปีก่อนหน้านี้ โดยจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน มีร้อยละ 66 มองว่ามีการทุจริตเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 25 มองว่าเท่าเดิม และร้อยละ 9 มองว่าน้อยลง ซึ่งกลุ่มผู้รับการสำรวจมองว่าพรรคการเมืองและตำรวจเป็นกลุ่มที่มีการทุจริตมากที่สุด รองลงมาคือในสภาฯ และในวงการราชการ

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการสำรวจของประเทศไทยร้อยละ 18 ยังได้บอกอีกว่า พวกเขาเคยต้องจ่ายค่าสินบนมาก่อน โดยร้อยละ 37 บอกว่าพวกเขาจ่ายสินบนให้กับตำรวจ ร้อยละ 19 บอกว่าเป็นการติดสินบนด้านบริการอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ร้อยละ 14 บอกว่าพวกเขาติดสินบนในกระบวนการศาล

นอกจากหน่วยงานดังกล่าวแล้วยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ผู้เข้ารับการสำรวจมองว่ามีการทุจริต เช่น มีร้อยละ 23 มองว่ามีการทุจริตในหน่วยงานทหาร, ร้อยละ 18 มองว่ามีการทุจริตในกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอ, ร้อยละ 37 มองว่ามีการทุจริตในภาคธุรกิจ, ร้อยละ 32 มองว่ามีการทุจริตในภาคการศึกษา, ร้อยละ 20 มองว่ามีการทุจริตในภาคสื่อ, ร้อยละ 12 มองว่ามีทุจริตในวงการศาสนา, ร้อยละ 21 ในวงการการแพทย์ และร้อยละ 18 ในกระบวนการศาล

โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชน 1,000 คนในแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนของแต่ละประเทศอยู่ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นประเทศเล็ก เช่น ไซปรัส, ลักเซมเบิร์ก มีกลุ่มตัวอย่าง 500 คน มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ร้อยละ 4




แปลและเรียบเรียงจาก

Corruption getting worse, says poll, BBC, 09-07-2013
http://www.bbc.co.uk/news/business-23231318

BRIBE PAYING STILL VERY HIGH WORLDWIDE BUT PEOPLE READY TO FIGHT BACK, Transparency.org, 09-07-2013
http://www.transparency.org/news/pressrelease/bribe_paying_still_very_high_worldwide_but_people_ready_to_fight_back

แผนภาพประเทศไทย
http://www.transparency.org/gcb2013/country/?country=thailand

รายงานฉบับเต็ม
http://www.transparency.org/gcb2013/report/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ "มหาสมชาย" โพสต์สามีเจ้าชู้สาเหตุเป็นเพราะภรรยา

Posted: 09 Jul 2013 12:19 PM PDT

พระดังแฟนเพจ 2.5 ล้านคน โพสต์ลงเพจระบุสามีเจ้าชู้เป็นเพราะแม่บ้านบกพร่องต่อหน้าที่-และเป็นกรรมเก่าที่ภรรยาดูคนไม่เป็น "จ่าพิชิต" อัดเป็นการยัดเยียดความผิดให้ฝ่ายหญิงล้่วนๆ ขณะที่ก่อนหน้านี้พระดังเคยเทศน์อัดคลิประบุ "ปากแหว่งเพดานโหว่" สาเหตุมาจากกรรมปาณาติบาต-จาบจ้วงผู้ทรงศีล

เฟซบุคเพจของพระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี หรือ "ThanavuddhoStory" ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 2.5 ล้านคนนั้น เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ หัวข้อ "แก้ไขปัญหาสามีเจ้าชู้" โดยภาพมีข้อความระบุว่า "สาเหตุของสามีเจ้าชู้มี 2 ประการ" และมีข้อความต่อมาว่า "1. เจ้าชู้เพราะแม่บ้านบกพร่องต่อหน้าที่ แม่บ้านต้องแก้ไขตัวเอง โดยค้นหาข้อบกพร่องของตัวเองให้พบแล้วแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น 2.เจ้าชู้โดยนิสัย เป็นกรรมของเราที่ดูคนไม่เป็น ให้ตั้งใจทำหน้าที่ภรรยา ไม่ให้บกพร่อง ไม่ด่าว่าให้สามีอับอายแค้นเคืองใจ" นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า "พยายามทำความดีให้มากเข้าๆ จนกระทั่งเขาเกรงใจ ในที่สุดเขาก็จะเลิกเจ้าชู้ไปเอง"

สำหรับสเตตัสดังกล่าวมีผู้กดไลค์กว่า 1.5 หมื่นไลค์ และแชร์หลายพันครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้เข้ามาเขียนวิจารณ์จำนวนมาก รวมทั้ง "จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" แห่งเพจ "ดราม่า แอดดิค" โดย "จ่าพิชิต" ได้เข้ามาแสดงความเห็นด้วยว่า "คำสอนบ้าบออะไรของหลวงพี่วะครับ นี่มันยัดเยียดความผิดให้ฝ่ายหญิงล้วนๆเลยนี่หว่า"

ขณะเดียวกัน เฟซบุคของพระมหาสมชาย ยังได้โพสต์คลิปความยาว 1.44 นาที (ชมคลิปที่นี่) ตอบคำถามที่ญาติโยมถามว่า โรคปากแหว่งเพดานโหว่เกิดจากกรรมใด โดยพระมหาสมชายตอบว่าเกิดจากกรรมปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ ผลกรรมจึงส่ง ใช้วาจาจ้วงจาบผู้ทรงศีล มีความบริสุทธิ์สูงก็จะมากไปตามส่วน ถึงคราวต่อเองปากเลยโหว่ รักษาให้เต็มที่ สร้างความดี ให้ลูกอยู่ในบุญในกุศล อย่าไปพูดวาจาใครอีก โดยเฉพาะพระภิกษุผู้ทรงศีล

สำหรับพระมหาสมชาย ชื่อเดิมคือ นพ.สมชาย วัชรศรีโรจน์ สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระหว่างที่เป็นนิสิต ยังเป็นประธานชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

อนึ่ง กรณีพระมหาสมชายเทศน์เรื่องกรรมเก่าของโรคปากแหว่งเพดานโหว่นั้นไม่ใช่กรณีแรก โดยก่อนหน้านี้แม่ชีทศพร เทวาพิทักษ์ แห่งวัดพิชยญาติการาม ย่านคลองสาน กทม. ซึ่งนิยมเทศน์เรื่อง "การแก้กรรม" ครั้งหนึ่งมีญาติโยมสตรีมาถามว่ามีแต่ผู้ชายผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วก็ผ่านไป แม่ชีทศพรจึงบอกว่าเนื่องจากชาติก่อน โยมสตรีดังกล่าว "เปิดประตูให้พม่าเข้าเมือง" พร้อมกับแนะ "วิธีแก้กรรม" ให้เอา "โมบายหอยมาห้อยประตู" เพื่อให้รับกรรมแทน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิสิฏฐ ภัคเกษม: มองเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลัง (พ.ศ.2556)

Posted: 09 Jul 2013 10:06 AM PDT

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น  ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เกิดปัญหานั้นก็เพราะการใช้จ่ายทางการคลังที่เกินตัว หรือ รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินตัว มีหนี้สาธารณะมากไป ทำให้ฟื้นตัวได้ช้า  ซึ่งความล่าช้าในการฟื้นตัวของ"เศรษฐกิจโลก"ในครึ่งหลังของปี2556 ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ในขณะเดียวกัน ปรากฏว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในจีน และอาเซียนกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกระจาย(Diversify) มีทั้งอุตสาหกรรมและการบริการ ไม่ได้พึ่งพิงไปที่อุตสาหกรรมหนึ่ง อุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะถือเป็นพื้นฐานที่ดี รวมถึงการที่ไทยเป็นประเทศมีสินค้าเกษตรเหลือส่งออก (Food surplus country) มากที่สุดในกลุ่มอาเซียน จึงเป็นปัจจัยด้านบวกที่เอื้ออำนวยต่อ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ตาม"การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท"ยังคงเป็นปัญหาที่นักลงทุนวิตกกังวล ด้วยเกรงว่าอาจจะมี"มาตรการควบคุมเงินไหลเข้า" อย่างไรก็ตามการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย แต่เกิดขึ้นจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ ซึ่งควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะไม่สามารถควบคุมได้ 

การแข็งค่าของเงินบาท จะส่งผลกระทบกับรายรับ"ในรูปเงินบาท"ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2556 ก็ยังคงมี"แรงกดดันต่อการแข็งค่า" ต่อเนื่อง จะทำให้การขยายตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย "ชะลอตัวลง"

ข้อเสนอแนะต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจไทยปี 2556 นั้น ประการแรกเห็นว่าควรดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีการเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ 

ประการต่อมา รัฐควรดูแลราคาสินค้าสำคัญ ๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง วัตถุดิบทางการเกษตร ให้มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับราคาสินค้า"ในตลาดโลก" เพื่อลดแรงกดดัน "เงินเฟ้อ" และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

ประการที่สาม ต้องมีการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบให้กับ SMEs จากการแข็งค่าของเงินบาท การเพิ่มต้นทุนค่าแรง และความยืดเยื้อในการหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป

ประการที่สี่ ควรเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)  เร่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่(ชายแดน)และเศรษฐกิจโดยภาพรวม

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556 นั้น คาดว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ 4 – 5 % ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 5% และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ประมาณ 4.2 – 5.2 % "ราคาส่งออก"มีความเสื่อมในครึ่งหลังของปี2556ในเกณฑ์สูง เงินเฟ้อเท่ากับ 2.2 – 3.3% บัญชีเดินสะพัด"เกินดุล"เท่ากับ 0.9%  การลงทุนภาคเอกชนคงจะขยายตัว"ต่อเนื่อง" อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในเกณฑ์"ต่ำ" ความเชื่อมั่นในการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมการลงทุน(BOI) และการเบิกจ่ายงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากร"น้ำ" ซึ่งคาดว่าจะคืบหน้าและสามารถเบิกจ่ายให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในครึ่งหลังของปี 2556

การบริโภคของภาคเอกชน(Private Consumption)ขยายตัว 4.2% การลงทุน(Investment)ขยายตัว 6.0% ส่งออกขยายตัว 4.5% เทียบกับหดตัวในปี 2555 ยานยนต์ขยายตัวสูงถึง16.8%  ส่งออกข้าวขยายตัว8.6% โดยพบว่าการส่งออกข้าวไปยังตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ ส่วนการส่งออกข้าวไปยังตลาดจีน ฮ่องกง ออสเตรเลียอยู่ในเกณฑ์ดี   ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นในปี 2556 ขยายตัว "ต่ำ"

 

 

 

ที่มา: CPe-NEWS

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งจำกัด ยิ่งขยาย การจัดระเบียบที่ดิน กับการขยายการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง

Posted: 09 Jul 2013 09:25 AM PDT

 
พื้นที่สูงส่วนใหญ่มีความคลุมเครือในสิทธิเหนือที่ดิน เนื่องจากหากยึดตามตัวบทกฎหมายแล้วจะพบว่าที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แต่หากพิจารณาตามสภาพความเป็นจริงจะพบว่าชาวบ้านในท้องถิ่นยังคงใช้ประโยชน์พื้นที่ภายใต้ข้อตกลงทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการ ความคลุมเครือนี้เองที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนมากมายเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน
 
การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายในการกำหนดแนวเขตการใช้ที่ดินเป็นทางแก้ไขปัญหาที่เชื่อกันว่าเหมาะสมสำหรับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านที่ไม่ใช่ระดับแกนนำชุมชนนั้นคิดเห็นอย่างไรและมีส่วนได้เสียอย่างไรกับแนวทางนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างถี่ถ้วน เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่หลายฝ่ายกำลังช่วยกันกำหนดแนวเขตที่ดินที่ชัดเจนลงบนแผนที่ ชาวบ้านเองก็มียุทธวิธีการแสดงแนวเขตของตนเองบนผืนดินจริง
 
และในช่วงเวลาที่พยายามกำหนดแนวเขตเพื่อจำกัดการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงนี่เอง เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการขยายการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อย่างรวดเร็ว
 
พื้นที่สูงพื้นที่คลุมเครือ
 
 
"อำเภอแม่แจ่มเกือบทั้งอำเภอตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หากยึดตามกฎหมาย ชาวบ้านเกือบทั้งอำเภออยู่ในสถานะที่ทำผิดกฎหมาย...ถูกจับเข้าคุกเมื่อไหร่ก็ได้" เฉลิม (นามสมมติ) ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม เล่าถึงสถานะที่ไม่มั่นคงของชาวบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากรัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่อยู่อาศัยที่ทำกิน
 
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่าชาวบ้านในท้องถิ่น และแม้แต่หน่วยงานราชการเอง ยึดถือสิทธิตามจารีตประเพณีมากกว่ากรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย  
 
ในกรณีการก่อสร้างสำนักงานขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าแต่เดิม อบต. เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ทำการชั่วคราว แต่บ้านหลังนั้นก็ค่อนข้างคับแคบ ทาง อบต. จึงเตรียมก่อสร้างสำนักงานถาวร มีการจัดสรรงบประมาณไว้พร้อมแล้ว แต่ว่าหาที่ดินไม่ได้ ในที่สุด ทางอบต. ตัดสินใจใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่ชาติ ซึ่งเฉลิมเล่าว่าหากจะให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ ต้องทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่จากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ผ่านหลายขั้นตอน กินเวลานาน และอาจไม่ได้รับอนุญาตง่าย ๆ ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่ แต่ใช้วิธีประชุมปรึกษาหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น และจัดประชุมชาวบ้านเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชน เช่นเดียวกันกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายโครงการ เช่น การก่อสร้างถนน การติดตั้งเสาไฟฟ้า ฯลฯ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ แต่ทาง อบต. ก็ลัดตอนขั้นตอน ไม่ขออนุญาตหน่วยงานราชการกลับไปขออนุญาตชุมชนเจ้าของพื้นที่แทน
 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากรรมสิทธิ์ตามกฎหมายไม่ได้เป็นสิ่งที่ชี้ขาดอำนาจการเข้าถึงที่ดินเสมอไป หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าแม้รัฐจะเป็นเจ้าของพื้นที่ ก็อาจไม่มีอำนาจผูกขาดในการกำกับการใช้พื้นที่เสมอไป ในที่นี้ที่ดินจึงมีความคลุมเครือทั้งในเรื่องสิทธิลักษณะต่าง ๆ ที่ซ้อนทับกัน และแนวเขตที่ยังไม่ชัดเจนซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป  
 
ความขัดแย้งในพื้นที่สูง
 
 
จากการที่รัฐมุ่งเน้นนโยบายการอนุรักษ์พื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมด้วยการขยายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นจำนวนมากถูกรัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับซ้อนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในการอ้างสิทธิเหนือที่ดินระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชาวบ้านที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี หากยึดเฉพาะตัวบทกฎหมาย ชุมชนบนพื้นที่สูงอยู่ในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านกลายเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินที่ตนเองไม่มีกรรมสิทธิ์ จึงตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดกฎหมาย อาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมดำเนินคดีและบังคับให้ออกจากถิ่นฐานได้ตลอดเวลา
  
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาชุมชนในเขตป่าที่ประสบปัญหาได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายและขบวนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ โดยมีข้อเสนอที่คล้ายคลึงกันประการหนึ่งคือ เรียกร้องให้รัฐสำรวจเพื่อจำแนกแนวเขตที่ดินของประชาชนออกจากเขตป่าของรัฐให้ชัดเจน และให้รัฐรับรองสิทธิที่มั่นคงเหนือที่ดินให้แก่ชุมชน ด้วยเหตุผลว่าแม้ประชาชนจะไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในที่ดินนั้น แต่เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ การกำหนดแนวเขตจะเป็นหลักประกันไม่ให้ราษฎรขยายที่ทำกินบุกรุกเข้าไปในเขตป่าเพิ่มเติม และการรับรองสิทธิจะช่วยสร้างหลักประกันในการใช้ที่ดินทำมาหากิน และมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาระบบการผลิตในระยะยาว
 
การผลักดันของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานภาครัฐรับรองหลักการที่จะให้สำรวจจำแนกแนวเขตที่ดิน แต่ในทางปฏิบัติได้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแนวทางการสำรวจแนวเขต การพิสูจน์และรับรองสิทธิ และเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณาว่าพื้นที่ลักษณะแบบใดที่สมควรจัดสรรให้ประชาชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาและพื้นที่ลักษณะใดที่ควรจะปกป้องให้ปราศจากการรบกวนของมนุษย์ แม้ว่าในระดับนโยบายจะยังคงมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวทางการพิสูจน์สิทธิ แต่ในระดับพื้นที่มีการสำรวจแนวเขตไปบ้างแล้ว ทั้งกรณีที่รัฐดำเนินการโดยลำพัง และกรณีที่ชุมชนดำเนินการเองโดยหน่วยงานรัฐไม่ได้รับรู้หรือมีส่วนร่วม การสำรวจของหน่วยงานรัฐมักดำเนินการไม่แล้วเสร็จเพราะมีการโต้เถียงกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ส่วนกรณีที่สำรวจแนวเขตโดยลำพัง ก็แน่นอนว่าผลการสำรวจนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่ไม่ได้มีส่วนร่วม
 
องค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับชุมชน ด้วยการผลักดันให้เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่น ตัวแทนหน่วยงานราชการ และองค์กรภาคเอกชนในสำรวจแนวเขต มีการดึงทรัพยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ เทคโนโลยี และบุคคลากร มาสนับสนุน แม้ว่าจะยังไม่สามารถผลักดันให้มีกฎหมายรับรองสิทธิของชุมชนเหนือที่ดินที่มีการสำรวจแยกแยะออกจากเขตป่าของรัฐก็ตาม
 
แนวทางการดำเนินงานนอกจากจะใช้การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ยังมีการใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสีมาตราส่วน 1:4,000 ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งถ่ายไว้ในปี พ.ศ.2545 มาพิจารณาสภาพที่ดินประกอบกับการให้ข้อมูลของชาวบ้าน และมีการจัดตั้งกลไกระดับท้องถิ่นเพื่อกำหนดกติกาในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่ แผนที่ที่กำหนดแนวเขตแล้ว จะนำไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐลงนามรับรองเพื่อเป็นหลักประกันให้ชุมชนเกิดความมั่นใจในสิทธิเหนือที่ดิน และหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ออก "โฉนดชุมชน" เพื่อรับรองสิทธิในที่ดินให้แก่ชุมชนในพื้นที่ที่สำรวจและกำหนดแนวเขตไว้
 
การกำหนดแนวเขตระดับอำเภอและตำบล
 
 
อำเภอแม่แจ่มตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม ซึ่งพื้นที่บางส่วนอยู่ระหว่างการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่โถ ที่ผ่านมารัฐมีความพยายามจัดทำแนวเขตให้ชัดเจนหลายครั้งแต่การทำแนวเขตไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชน และแม้ว่ารัฐจะสามารถจัดทำแนวเขตโดยกำหนดลงไปในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศได้ แต่ในระดับพื้นที่กลับไม่ปรากฏสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นเส้นแบ่งแนวเขตที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้เมื่อเห็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่บนภูเขาสูงจึงยากที่จะบอกว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นที่ดินทำกินเดิมของชุมชนหรือเป็นพื้นที่ป่าที่ถูกบุกเบิกใหม่
 
ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา การสำรวจแนวเขตเพื่อจัดระเบียบที่ดินในบ้านก่อวิละเกิดขึ้นอีกครั้งโดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนตามกระบวนการที่กล่าวมาข้างต้น โดยเป็นการดำเนินการในระดับจังหวัดและตำบล มีการใช้ทรัพยากรจากหลายส่วนรวมกันทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชน รวมทั้งงบประมาณและบุคลากรจากองค์การบริหารส่วนตำบล  ราวปี 2552 ผู้เขียนเคยเข้าไปสังเกตการณ์การประชุมในระดับอำเภอ และพบว่าขณะที่แกนนำชาวบ้านซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นพยายามเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยอมรับการสำรวจและกำหนดแนวเขตบนแผนที่ที่ชาวบ้านร่วมกับ อบต. กำลังจะจัดทำขึ้นในอนาคตอันใกล้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้กลับแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับการกำหนดแนวเขตนั้นจนกว่าจะเจ้าหน้าที่รัฐผู้ชำนาญการมาตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน
 
ราวหนึ่งปีถัดมา ผู้เขียนได้เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมรณรงค์เชิงบวกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่องค์กรพัฒนาเอกชนจัดขึ้นในอำเภอแม่แจ่ม องค์กรพัฒนาเอกชนหวังจะใช้โอกาสนั้นโน้มน้าวและผลักดันให้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมลงนามรับรองแนวเขตบนแผนที่ซึ่งสำรวจจนแล้วเสร็จ  แต่ในที่สุดก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดยอมลงนามในแผนที่โดยอ้างว่าหากทำเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะมีความผิดตามกฎหมาย
 
ในโอกาสเดียวกันนี้ทางแกนนำชาวบ้านได้ยื่นหนังสือขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตตำบล หนังสือดังกล่าวส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แต่มีนายอำเภอแม่แจ่มมารับแทน การขอใช้ประโยชน์นี้เป็นยุทธวิธีที่ชาวบ้านเลือกใช้เพื่อต่อรองให้สามารถเข้าถึงที่ดินโดยอาศัยช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่นเดียวกับที่หน่วยงานราชการและภาคเอกชนสามารถจะขออนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่มีการตอบสนองใดจากทางจังหวัด  
 
นั่นหมายความว่าที่ดินในพื้นที่นั้นยังคงมีความคลุมเครือต่อไปทั้งในเรื่องแนวเขต และสิทธิการเข้าถึงที่ดิน
 
ยุทธวิธีการกำหนดแนวเขตของชาวบ้าน
 
การกำหนดแนวเขตด้วยเทคโนโลยีแผนที่และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์สมัยที่กล่าวมานั้น เป็นการดำเนินการโดย อบต. ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้นำชุมชนเป็นหลัก  แม้ว่าในด้านหนึ่งจะเป็นการสร้างความชัดเจนเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจและมั่นคงในการใช้ที่ดิน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อจะควบคุมชาวบ้านไม่ให้ขยายพื้นที่การเกษตรออกไปยังพื้นที่ "ป่า" ที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
  
ผู้เขียนเชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเป้าหมายประการแรก เพราะย่อมไม่มีชาวบ้านคนใดอยากถูกเจ้าหน้าที่รัฐมาข่มขู่คุกคามและใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย  แต่สำหรับเป้าหมายอีกประการที่จะทำแนวเขตเพื่อจำกัดควบคุมการใช้ที่ดินของพวกเขาเองผู้เขียนสังเกตว่ามีชาวบ้านเพียงไม่กี่คนที่ตระหนักหรือเห็นความสำคัญของเป้าหมายนี้
 
ในช่วงเวลาของการพยายามสร้างความชัดเจนในเรื่องแนวเขตและสิทธิในที่ดินซึ่งกินเวลาหลายปีนั้น เป็นที่รู้กันในท้องถิ่นว่าพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งในบ้านก่อวิละและในชุมชนบนพื้นที่สูงอื่น ๆ ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก่อวิละไม่ได้คิดว่าตนเองกำลัง "ขยาย" พื้นที่เกษตรเข้าไปยังพื้นที่ป่า เพราะพื้นที่ที่พวกเขาเข้าไปเพาะปลูกนั้นเป็นที่ดินที่เคยใช้ทำการเพาะปลูกมาก่อนตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเพียงแต่ปล่อยพักไว้ให้ฟื้นตัวตามระบบการเกษตรตามจารีตประเพณีของพวกเขา
 
ขณะที่ อบต. และองค์กรพัฒนาเอกชนพยายามกำหนดแนวเขตด้วยเทคโนโลยีแผนที่ ชาวบ้านก่อวิละได้พยายามแสดงแนวเขตการใช้ที่ดินบนพื้นที่จริงมาหลายปีแล้วก่อนหน้าที่จะมีการนำแผนที่เข้าไปกำหนดแนวเขต ผู้อาวุโสคนหนึ่งในบ้านก่อวิละเล่าว่าหลายปีก่อนเจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยมาจัดประชุมและขอให้ชาวบ้านกันพื้นที่ป่าเหนือหมู่บ้านไว้ให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ห้ามเข้าไปทำไร่ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ หากไร่แปลงไหนที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้เพาะปลูกแล้วก็จะขอให้ฟื้นคืนสภาพเป็นป่า เมื่อเป็นเช่นนั้นชาวบ้านก็เกรงว่าที่ดินที่เคยทำเกษตรจะถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปเป็นป่าเสียหมด พวกเขาจึงไม่ปล่อยให้ที่ดินที่เคยทำเกษตรพักตัวเป็นป่าไม้พุ่มหรือป่าชั้นสองตามระบบหมุนเวียนที่ดินแบบเดิมอีกต่อไป แต่พยายามใช้ที่ดินทุกแปลงอย่างต่อเนื่องในลักษณะพื้นที่เกษตร "ถาวร" แต่ละครัวเรือนจะมีวิธีแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขและข้อจำกัด เช่นบางครัวเรือนมีทุนและแรงงานน้อยไม่สามารถเพาะปลูกได้เต็มพื้นที่ก็จะคอยแผ้วถางที่ดินเอาไว้หรือปลูกไม้ผลทิ้งไว้  การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นการแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถาวรอีกวิธีการหนึ่งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนเลือกใช้เพื่ออ้างสิทธิในที่ดินการเกษตรของตน 
 
ประหนึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ายิ่งมีการเตรียมการจะทำแนวเขตบนแผนที่ให้ชัดเจน ชาวบ้านก็ยิ่งพยายามแสดงการใช้ที่ดินบนพื้นที่จริงให้ชัดเจนเพื่อรอการกำหนดแนวเขตด้วยแผนที่  ปลัด อบต. ซึ่งเป็นคนนอกชุมชนที่สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวเขตที่ดินยอมรับว่าในตำบลที่เขารับผิดชอบมีการขยายการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาบอกว่า "การจัดระเบียบที่ดินอาจทำให้เกิดการบุกรุกที่ดินเพิ่ม แต่ขอให้เป็นการ(บุก)รุก..ครั้งสุดท้าย"
 
ยิ่งจำกัด ยิ่งขยาย
  
"ขยาย" พื้นที่การเกษตรหรือไม่ "บุกรุก" พื้นที่ป่าหรือเปล่า ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป ตราบเท่าที่นิยามของพื้นที่และสิทธิในพื้นที่เหล่านั้นยังไม่มีความชัดเจน แม้หลายฝ่ายจะเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนทั้งแนวเขตและสิทธิในที่ดินเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ ที่มีมานาน แต่ความชัดเจนก็ใช่ว่าจะสร้างขึ้นได้โดยง่ายเพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือหลักการหรือบรรทัดฐานคนละแบบ โดยเฉพาะระหว่างแบบที่ใช้กฎหมายและหลักฐานของรัฐ กับแบบที่ใช้จารีตประเพณีและร่องรอยการทำประโยชน์และคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น แม้แต่นิยามของพื้นที่ว่าเป็น "ป่า" หรือ "พื้นที่เกษตร" ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกนานเพราะหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการนิยามนั้นไม่เหมือนกัน
 
ด้วยสภาพความคลุมเครือของพื้นที่ที่สืบเนื่องมาหลายสิบปีและยากจะคลี่คลาย ได้เปิดช่องให้ผู้กระทำการหลากหลายกลุ่มทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่ได้เกี่ยวข้องตรงกับพื้นที่นี้สามารถแทรกตัวเองเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการจัดการกับความคลุมเครือ ซึ่งหมายรวมถึงการกำหนดบรรทัดฐานในแบบของตนเองขึ้นมาว่าแนวทางแก้ไขปัญหาแบบใดจึงจะดีหรือเหมาะสมสำหรับชาวบ้านผู้ควรจะถูกตีกรอบให้ใช้พื้นที่อยู่ในขอบเขตอันจำกัด
 
หากแนวเขตนั้นกำหนดตามความต้องการของชาวบ้านและมีการรับรองสิทธิตามที่มุ่งหวัง แนวเขตก็คงจะช่วยสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการทำกินให้ชาวบ้านได้ตามการกล่าวอ้างของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่หากการกำหนดแนวเขตไม่นำไปสู่การรับรองสิทธิ แนวเขตก็คงมีหน้าที่เป็นเพียงจำกัดการใช้ที่ดินของชาวบ้านไม่ให้ขยายออกไปในพื้นที่ที่ทางการต้องการสงวนไว้ให้เป็น "ป่า" ซึ่งในที่นี้กระบวนการกำหนดแนวเขตก็จะกลายเป็นเพียงเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตีเส้นเพื่อจำกัดการเข้าถึงที่ดินของชาวบ้าน  ผลที่เกิดจะเป็นแบบแรกหรือแบบหลังเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาและติดตามกันต่อไปเพราะเป็นกระบวนการที่ต้องผลักดันกันอย่างหนักและต่อเนื่อง
 
การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของหลาย ๆ ฝ่ายในการกำหนดแนวเขตดูราวกับจะเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ต่างเห็นพ้องกันว่าเหมาะสม แต่ผู้ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นก็อาจมีอำนาจในการกำหนดหรือออกเสียงได้ไม่เท่ากัน ชาวบ้านที่ไม่ใช่ระดับแกนนำนั้นคิดเห็นและได้รับผลกระทบอย่างไรจากการกำหนดแนวเขต เป็นประเด็นที่ควรจะมีการศึกษาต่อไป
 
เป็นที่น่าสังเกตว่าท่ามกลางการพยายามกำหนดแนวเขตให้ชัดเจนในแผนที่ด้วยการสนับสนุนของหลายฝ่าย ชาวบ้านเองกลับมียุทธวิธีการแสดงแนวเขตของตนเองบนผืนดินจริงซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับแนวเขตที่พยายามกำหนดบนแผนเพื่อจำกัดการใช้ที่ดินของพวกเขา และในเรื่องนี้ ปฏิเสธได้ยากว่าความพยายามสร้างความชัดเจนของที่ดินที่คลุมเครือนั่นเองที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการขยายการปลูกข้าวโพดในพื้นที่สูงให้มากขึ้น
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 องค์กรวิชาชีพสื่อ เตรียมยื่น กสทช.ทบทวนร่างประกาศคุมเนื้อหาสื่อ

Posted: 09 Jul 2013 08:25 AM PDT

4 องค์กรวิชาชีพสื่อเตรียมยื่นจดหมายให้ กสทช. ทบทวนและแก้ไข ร่างประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตามมาตรา 37 ชี้อาจขัดรัฐธรรมนูญ-เปิดให้เจ้าของสื่อแทรกแซงการทำงาน

(9 ก.ค.56) เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่ประชุมร่วม 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีมติและข้อสรุปร่วมกันจากกรณีที่ กสทช. ได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ...ว่า

องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นที่ กสทช. จะต้องมีกลไกเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อมวลชนทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดร่างประกาศฉบับดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจ "ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง" แต่จากการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาที่ปรากฏในร่างฉบับดังกล่าว องค์กรวิชาชีพสื่อ พบว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบดังนี้คือ

1. เนื้อหาของร่างประกาศนี้อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้

2. การใช้อำนาจกำกับดูแลของ กสทช.ตามร่างประกาศนี้อาจเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของ กสทช.เกินกว่าที่ มาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ.2551 ให้อำนาจไว้

3. กสทช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 37 นี้ร่วมกับกลไกอื่นๆ ที่ กสทช.ได้ประกาศใช้ไปแล้ว คือ ประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีโทษทางปกครอง หรือร่างประกาศ เรื่องการรวมกลุ่มเพื่อกำกับดูแลกันเองของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

4. เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดของร่างประกาศ พบว่า

4.1 หมวด 1 อาจมีความจำเป็นต้องให้คำจำกัดความถ้อยคำบางประการให้ชัดเจนเพื่อคุ้มครองการได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะของประชาชน เช่น รายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ที่มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการทำลายสันติสุขโดยพลันหรือก่อให้เกิดการใช้กำลังหรือความรุนแรงในสังคม เป็นต้น

4.2 หมวด 2 การกำหนดให้ "ผู้รับใบอนุญาต" ซึ่งหมายถึงเจ้าของสื่อ มีหน้าที่ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งอาจทำให้เกิดการแทรกแซงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์สาธารณะ อันจะนำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารหรือการเซ็นเซอร์ได้โดยง่าย

4.3 หมวดที่ 3 การกำกับดูแลที่ให้อำนาจผู้รับใบอนุญาตในการกำกับดูแลตรวจสอบเนื้อหาของรายการอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพของพนักงาน ลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรม

องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กร จึงเห็นควรเสนอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนและปรับแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวด้วยความรอบคอบ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่าง เพื่อให้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง และหาก กสทช.เห็นควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กรยินดีให้ความร่วมมือส่งตัวแทนเข้าร่วมเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อไป

 

ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวในที่ประชุมว่า ร่างประกาศฯ ดังกล่าว ถ้าคนทั่วๆ ไปมาดูก็อาจจะเห็นว่าดี ในการคุมสื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ข้อบกพร่องที่สุดคือการเปิดช่องให้เจ้าของสื่อสามารถแทรกแซงการนำเสนอข่าวได้โดยตรง

ทั้งนี้ ตัวแทน 4 องค์กรสื่อ มีมติร่วมกันว่าจะออกข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศฯ ดังกล่าว และจะนำไปยื่นในการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยที่จัดขึ้นโดย กสทช.ในวันที่ 18 ก.ค. ที่โรงแรมเซนจูรี

สำหรับเนื้อหาในร่างประกาศฯ ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมตัวแทน 4 องค์กรสื่อเห็นว่าน่าจะเป็นปัญหา มีอาทิ ข้อ 17 ที่กำหนดให้นักข่าวห้ามปกปิดแหล่งข่าวเว้นแต่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งไม่ชัดเจนว่าหมายถึงกฎหมายใด และเป็นไปได้ว่าในอนาคต กสทช.อาจส่งคนมาตรวจสอบเนื้อหาก่อนออกอากาศ โดยการบังคับให้เปิดเผยแหล่งข่าวมีลักษณะคล้ายเนื้อหาในร่าง   พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ข้อ 25 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือ ผอ.สถานีมีหน้าที่ตรวจสอบหรือระงับการออกอากาศรายงานที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ร่างประกาศฯ ดังกล่าวกำหนด ที่เป็นการเปิดช่องให้ผู้รับใบอนุญาต ที่เป็นผู้ประกอบการหรือนายทุนเข้าแทรกแซงการนำเสนอข่าวได้โดยตรง เป็นต้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: เงื่อนปมรัฐ+ศาสนา

Posted: 09 Jul 2013 07:09 AM PDT

ในเมืองไทยและบางประเทศ อย่างเช่น พม่า(กรณีพระวิราธุ- ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม) เกิดกระแสวิจารณ์พระสงฆ์ในศาสนาพุทธและกระบวนการจัดการด้านศาสนาอย่างกันอย่างขนานใหญ่  เพราะเรื่องศาสนาเกี่ยวข้องกับเรื่องของความเชื่อความศรัทธาโดยตรง  หากธรรมนูญแห่งรัฐ หรือหลักการบริหารจัดการของรัฐไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเกิดขึ้นตามมาได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างน้อย 2 ประการ  คือ

หนึ่ง เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนิกของแต่ละศาสนากับ สอง ส่งผลต่อจริยธรรมและวัฒนธรรมของแต่ละศาสนิก  เพราะต้องไม่ลืมว่าจริยธรรมและวัฒนธรรมเป็นเบ้าหลอมรูปร่างและการคงอยู่ของสังคม เพื่อให้สังคมนั้นๆอยู่กันอย่างสันติโดยอิสระในส่วนของความเชื่อทางด้านศาสนาหรือลัทธิใดก็ตาม ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนในสังคมคนอื่นๆ

การคำนึงผลกระทบด้านจริยธรรมและวัฒนธรรมของสังคมส่วนหนึ่ง เป็นที่มาของความพยายามอนุรักษ์หรือปกป้องลัทธิศาสนา หรือความเชื่อของคนสังคม  ซึ่งหากในสังคมใดมีความเชื่อ ความนับถือในศาสนาที่หลากหลายก็เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้ง ในหลายแง่มุม อย่างน้อยในแง่ "ความยุติธรรม" หรือความเสมอภาคที่คนในสังคมได้รับ ก็เป็นประเด็นหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติต่อคน(ประชาชน)ในประเด็นความเชื่อที่แตกต่าง

การบริหารสังคมหรือบริหารรัฐ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวลักษณะของการบริหารจัดการ เพื่อคงอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมและความเชื่อความศรัทธาของประชาชน เพื่อจริยธรรม(ความสงบสุข)ในการอยู่ร่วมกันก็จำเป็นเช่นกัน

เรื่องนี้ คนอเมริกันและสังคมอเมริกันได้บทเรียน เกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งศาสนาหรือความเชื่อนี้มาจากหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือ สงครามครูเสด ซึ่งเกิดขึ้นอย่างยาวนานในยุโรป เป็นช่วงๆ ราวสองศตวรรษ  นอกเหนือไปจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างศาสนิกในศาสนาเดียวกันหลายกรณี โดยเฉพาะความขัดแย้งในบรรดาคริสตศาสนิกด้วยกันในยุโรป ระหว่างนิกายใหม่โปรแตสแต้นท์ กับนิกายโรมันแคททอลิก ที่ต้นเหตุความขัดแย้งเริ่มจากฝรั่งเศส (French Wars of Religion) เป็นต้น  

สำหรับอเมริกันจึงนำมาสู่การบัญญัติหรือกำหนดรัฐธรรมนูญข้อแรก (First amendment) ไม่ให้มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวข้องกับศาสนา  (Congress shall make no law respecting an establishment of religion)  และยังมีบางมาตราที่กำหนดให้การทดสอบเพื่อทำงาน มีข้อห้ามเรื่องการตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนาในการรับคนเข้าทำงาน ซึ่งยังแสดงให้เห็นถึงหลักการบริหารจัดการ(ปรัชญา)ของรัฐที่มีต่อศาสนา ตามคำกล่าวที่ว่า "เสรีภาพทางศาสนาเพื่อทุกคน (Religious Liberty for All)"

สหรัฐอเมริกา จึงเป็นตัวอย่างของรัฐที่แยกกิจการของรัฐออกจากศาสนา (Secular State) เหมือนกับแคนาดา เม็กซิโก และอีกหลายประเทศในยุโรป ซึ่งการแยกดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าคนอเมริกันไม่มีศาสนา หรือจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือศาสนาก็ได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายรัฐธรรมนูญ คนอเมริกันมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการนับถือศาสนาด้วย แต่เป็นความรับผิดชอบอย่างยุติธรรมและเสมอภาค เหตุดังกล่าว ทำให้หลายศาสนา  รวมถึงพุทธศาสนามาเบ่งบานอยู่ในดินแดนตะวันตกแห่งนี้  ซึ่งจะเปรียบเทียบกับพุทธศาสนาตามรูปแบบของรัฐไทยคงไม่ได้ เพราะสำหรับรัฐไทยแล้ว รัฐ เป็นฝ่ายออกแบบลักษณะวิธีการศาสนาเอง ผ่านระบบกฎหมายพุทธศาสนา หรือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์(พ.ร.บ. สงฆ์) พ.ศ.2505 แก้ไข พ.ศ. 2535

การออกกฎหมายดังกล่าว เท่ากับรัฐไทยได้ถูกทำให้เป็นรัฐศาสนา(State Religion)กลายๆ, ศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสถาบัน ซึ่งผลของการทำให้เป็นสถาบันนี้ มีทั้งดีและเสีย

ผลดีเห็นจะได้แก่ การสร้างอุดมการณ์/คุณค่าของรัฐ ในเรื่องของศีลธรรม และจริยธรรม  รวมถึงการปกป้องศาสนาในขอบวงของอุดมการณ์/คุณค่าของรัฐ  ส่วนผลเสีย ได้แก่ การที่(พุทธ)ศาสนา ถูกจำกัดอาณาบริเวณ(นิยาม/ตีความ)โดยรัฐ โดยที่การนิยาม/การตีความ ดังกล่าว ก่อให้เกิดการผูกขาดแบบแช่แข็ง(พุทธ)ศาสนาขึ้นในประเทศไทย ขณะการให้คุณค่าของการดำเนินชีวิตของคนในโลกปัจจุบันเปลี่ยนไป และในอนาคตคุณค่านี้ก็จะยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

นอกจากนี้ การที่(พุทธ)ศาสนาถูกจำกัดอาณาบริเวณโดยรัฐ ยังเป็นเหตุให้เกิดความไม่เสมอภาคในแง่ของการปฏิบัติต่อศาสนิกในศาสนาเดียวกันและศาสนิกของศาสนาอื่น เกิดการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์มากบ้างน้อยบ้าง โดยการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยรัฐ ยิ่งในสังคมอุปถัมภ์อย่างสังคมไทยด้วยแล้ว ศาสนาที่อยู่ในสังคมอุปถัมภ์มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระแสชาตินิยมและจริยธรรมชนิดผูกขาด ซึ่งอยู่เหนือหลักจริยธรรมสากล(สิทธิมนุษยชน)ออกไป

ดังนั้น กรณีของอเมริกา รัฐอเมริกันจึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเชิงการอุปถัมภ์ เกื้อกูลศาสนาใดโดยตรง เพียงแต่มีการอำนวยความสะดวกให้ศาสนิกและที่ไม่เป็นศาสนิกใด ในแง่ของสิทธิเสรีภาพของการนับถือ หรือไม่นับถือศาสนาเท่านั้น 

แนวทางในการเข้าไปจัดการหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาของรัฐอเมริกัน จึงมีลักษณะดังนี้

            1. ให้สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือไม่นับถือศาสนา

            2. สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของศาสนิก ต้องไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือความของศาสนิกอื่น หรือความเชื่อของคนที่ไม่มีศาสนา

            3. อาศัยหลักพื้นฐานด้านความเชื่อ "เชิงหลักการสิทธิมนุษยชน"ของปัจเจกบุคคล

            4. องค์กรศาสนาได้รับการยอมรับในบริบทกฎหมาย( เช่น นิติบุคคล) ซึ่งอาจเป็นองค์กรมุ่งผลกำไร (profit organization) หรือองค์กรไม่หวังผลกำไร(nonprofit organization)ก็ได้

            5. เมื่อองค์กรศาสนาถูกยอมรับในบริบทกฎหมาย ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

            6. เมื่อรัฐให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและแยกศาสนาออกจากรัฐ ว่ากันว่ามีผลเชิงบวกต่อความมั่นคงของรัฐ ในทางที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับรัฐ เพราะอย่างน้อยความขัดแย้งในเรื่องความเชื่อทางด้านศาสนาจะลดลง 

เรื่องเดียวกันนี้  วิลเลียม ไอโบเดน( Dr. William Inboden) แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส (เมืองออสติน) ซึ่งศึกษาเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างรัฐศาสนากับรัฐโลกีย์ (รัฐฆราวาส- Secular State) พบว่ารัฐศาสนา (Religious Persecution)มีแนวโน้มของความขัดแย้งในประเทศและความขัดแย้งระหว่างประเทศสูง โดยเฉพาะกรณีศึกษาความมั่นของอเมริกา

น่าสนใจว่า องค์กรศาสนาในอเมริกา ซึ่งอยู่ในฐานะของนิติบุคคลนั้น นอกจากมีเรื่องสิทธิเสรีภาพเกี่ยวข้องแล้ว ยังมีเรื่องของหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเป็นหน้าที่จากหลักความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐอเมริกัน เช่นเดียวกับองค์กรนิติบุคคลของอเมริกันโดยทั่วไป เช่น หน้าที่ในการเสียภาษี หรือหากเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรก็ต้องรายงานรายรับรายจ่ายให้กับรัฐอย่างไม่มีข้อยกเว้น   

(ดูได้จากตัวอย่าง "องค์กรวัดไทย"ในอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรนิติบุคคล ไม่หวังผลกำไร ที่ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะองค์กรนิติบุคคลเหมือนองค์กรนิติบุคคลอื่น)

ที่สำคัญ คือ การตรวจสอบบุคคลที่ทำงานในองค์กรด้านศาสนาเท่ากับกับการตรวจสอบบุคคลที่ทำงานในองค์กรด้านอื่น  เช่น บุคคลที่ทำงานในองค์กรศาสนาต้องรายมีการจัดทำงบดุลบัญชีอย่างโปร่งใสและเปิดเผย และรัฐบังคับให้ต้องมีการงานเป็นระยะ ซึ่งทราบกันดีว่า องค์กรศาสนาจำนวนมากอยู่ได้โดยอาศัยเงินบริจาค  แต่หากการบริจาค เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ใช่ปัญหาขององค์กรศาสนาในสหรัฐอเมริกา        

กรณีผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับองค์กรเกี่ยวกับศาสนาในอเมริกาทีผ่านมาส่วนใหญ่ เกิดจากความไม่โปร่งใสขององค์กรเหล่านั้น เช่น กรณีของโยคีบางตน ที่มาเปิดสำนักอยู่อเมริกา บางตนรัฐบาลอเมริกันตรวจพบความไม่ชอบมาพากลด้านการเงิน(ธุรกิจ)และปัญหาเกี่ยวกับสถานะต่างด้าวของบุคคลเหล่านั้น        

สำหรับกรณีของประเทศไทย  เราเป็นรัฐศาสนาแบบกึ่งๆ เพราะมี พ.ร.บ.สงฆ์และหน่วยงานรัฐอย่างเช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาดูแลและกำกับคณะสงฆ์และคอยสอดส่องความเป็นไปเกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยถึงแม้หน่วยของรัฐเหล่านี้ดูแลกำกับศาสนาตามหน้าที่แล้ว ก็ยังมีพฤติกรรมที่กล่าวได้ว่า แย้งกับ "ความเรียบร้อยทางศาสนา" อยู่จำนวนมาก พฤติกรรมของพระสงฆ์หลายรูปเป็นที่ขัดตาขัดใจชาวพุทธ  ตามที่ปรากฏข่าวไปทั่วโลกผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ นอกเหนือไปจากปัญหาของการเลือกปฏิบัติอีกประการหนึ่ง

ด้วยความที่ไทยเป็นรัฐลักปิดลักเปิด วับๆแวมๆ แบบกึ่งๆ  ดังกรณีใช้กฎหมายเข้าแทรกแซงเรื่องความเชื่อความศรัทธา จนบางครั้งล้นออกมา จนเกิดเป็นสิทธิพิเศษสำหรับคนบางกลุ่มบางองค์กรแม้กระทั่งองค์กรศาสนาที่ส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยศรัทธาจากเงินบริจาค แต่องค์กรเหล่านั้นกลับตรวจสอบได้บ้าง ตรวจสอบไม่ได้บ้าง ทำให้งานศาสนาบางส่วนอยู่ในมุมมืด ไม่โปร่งใส ก่อให้เกิดวิจิกิจฉากับศาสนิกและคนทั่วไป

งานกำกับดูแลด้านศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งการกำกับความเชื่อจึงไม่ใช่เรื่องง่าย   

อเมริกันจึงเลือกใช้หลัก "การกำกับความเชื่อความศรัทธาที่ดี คือ การไม่กำกับ(ความเชื่อความศรัทธา)"  

           

           

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯ โอไอซียินดีไทย-บีอาร์เอ็นจะหยุดยิงรอมฎอน หวังนำสู่สันติภาพระยะยาว

Posted: 09 Jul 2013 06:56 AM PDT

เลขาธิการโอไอซี แสดงความยินดีต่อความพยายามเพื่อจะยุติความรุนแรงชั่วคราวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย 

นาย Ekmeleddin Ihsanoğlu เลขาธิการโอไอซี
ภาพจาก ifa-fiv.org/

เว็บไซต์ขององค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (Organisation of Islamic Cooperation) รายงานเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 ว่า นาย Ekmeleddin Ihsanoğlu เลขาธิการโอไอซี แสดงความยินดีต่อความพยายามของรัฐบาลไทยกับกลุ่มมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทยเพื่อที่จะยุติความรุนแรงชั่วคราวในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ โดยเลขาธิการ โอไอซี ได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับความพยายามดังกล่าวและความคืบหน้าและเหตุการณ์ต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ในขณะที่พบกับนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อ วันที่ 6 กรกฎาคม 2556 (ที่ประเทศตุรกี)

เลขาธิการโอไอซี ได้กล่าวว่า เดือนรอมฎอนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเพื่ออุทิศวิญญาณเพื่อศาสนา ทุกคนต้องตระหนักถึงคุณค่าของความอดทน การอุทิศตัวต่อพระเจ้า ความสงบและสันติภาพ

เลขาธิการโอไอซี ให้คำแนะนำต่อทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น) ให้ยึดถือหลักการของการยุติความรุนแรงชั่วคราว โดยได้แสดงความหวังว่า การยุติความรุนแรงชั่วคราวครั้งนี้จะนำไปสู่ความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หวังว่าในสุดท้ายก็จะมีแนวทางแก้ไขสำหรับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

เลขาธิการแสดงความพร้อมของโอไอซีที่จะเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพ เพื่อให้ชาวมุสลิมทุกคนในจังหวัดชายแดนใต้สามารถดำรงชีวิตภายใต้สันติภาพ ความปลอดภัย การพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเจริญ

ที่มา http://www.โอไอซี-oci.org/โอไอซีv2/topic/?t_id=8256&t_ref=3331&lan=en

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มือมืดติดป้ายผ้าโจมตีรัฐไทย 80 จุด มาเลย์เลื่อนแถลงลดความรุนแรงช่วงรอมฎอน

Posted: 09 Jul 2013 06:38 AM PDT

มือมืดติดป้ายผ้าโจมตีรัฐไทย 80 จุด ทั่วปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 2 อำเภอของสงขลา ด้านมาเลเซียถกเครียดก่อนเลื่อนแถลงข่าวหยุดยิงช่วงรอมฎอน หลังไร้เงาฝ่ายไทย-บีอาร์เอ็นเข้าร่วม

9 ก.ค.56 เกิดเหตุมือมืดเดินสายแขวนป้ายผ้าข้อความภาษามลายู เป็นอักษรรูมีและยาวี กว่า 80 จุดทั่วปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 2 อำเภอของสงขลา โดยมีเนื้อหาว่า 'Pengganas+Pengkhianat+Penipu+Memfitnah Penjajah Siam' หรือ 'ผู้ก่อการร้าย+ผู้ทรยศ+ผู้หลอกลวง+พวกใส่ร้าย คือ นักล่าอาณานิคมสยาม'

ภาพจากเฟซบุ๊ค N a R a Peace ( น ร า สันติ )

สำหรับป้ายผ้าดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจ.ยะลา ได้ตรวจพบรวม 11 จุด ได้แก่ บนราวสะพาน ที่บ้านกำปงบารู ม.3 ต.สะเตงนอก อำเภอเมือง บริเวณบ้านควน หมู่ 5 ต.พร่อน อำเภอเมือง จำนวน 1 ป้าย บ้านท่าสาป หมู่ 1 ต.ท่าสาป อำเภอเมือง 1 ป้าย บ้านพงกาเสาะ หมู่ 7 ต.บุดี อำเภอเมือง 1 ป้าย

ในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา 2 จุด คือ ที่บ้านตาโล๊ะดือลง หมู่ 4 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ และบ้านรานอ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ ในพื้นที่ อำเภอรามัน 2 จุด คือ ที่บ้านบือยอง หมู่ 3 ต.กายูบอเกาะ และที่บ้านกาลูปัง หมู่ 1 ต.กาลูปัง ในพื้นที่ อำเภอยะหา บริเวณสามแยกบ้านลากอ ต.ยะหา 1 ป้าย ส่วน อำเภอกาบัง พบที่บ้านบาสาตาแปและ อำเภอธารโต บ้านคอแย ม.5 ต.แม่หวาด 1 ป้าย

พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจ.ยะลาได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจทุกพื้นที่ เพิ่มความระมัดระวังในการออกตรวจสอบ ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มแนวร่วมในพื้นที่ที่ต้องการสร้างสถานการณ์

ในพื้นที่จ.ปัตตานี พบป้ายผ้าลักษณะดังกล่าวใน 7 อำเภอ รวม 33 จุด ประกอบด้วย อำเภอสายบุรี 9 จุด อำเภอปะนาเระ 3 จุด อำเภอยะรัง 12 จุด อำเภอยะหริ่ง 5 จุด อำเภอมายอ 1 จุด อำเภอกะพ้อ 2 จุด และ อำเภอโคกโพธิ์ 1 จุด

ในพื้นที่จ.นราธิวาสพบป้ายผ้าที่มีข้อความลักษณะเดียวกันรวม 26 จุด ใน อำเภอเมืองพบการแขวนป้ายผ้าและพ่นสีบนถนน 8 จุด คือ ที่บ้านจืองา ม.6 ต.บางปอ, บ้านแคนา ม.7 ต.บางปอ, บ้านมะนังกาหยี ม.1 ต.มะนังตายอ, บ้านคลองไทร ม.1 ต.ลำภู และบ้านโต๊ะเจ๊ะ ต.บางนาค อำเภอเมือง, บ้านฮูแตทูวอ ม.4 ต.โกเคียน 2 จุด บ้านสะปอม ม.5 ต.กะลุวอเหนือ

ในพื้นที่ อำเภอจะแนะ พบ 2 จุด คือ ที่บ้านไอร์โซ ม.5 ต.ช้างเผือก ในพื้นที่ อำเภอบาเจาะ 7 จุด คือ บ้านตะโล๊ะมาเนาะ ม.1 ต.ลูโบะสาวอ, บ้านจำปากอ ม.1 ต.กาเยาะมาตี, บ้านกาเยาะมาตี ม.3 ต.กาเยาะมาตี จำนวน 2 จุด บ้านส้มป่อย ม.4 ต.กาเยาะมาตี เขตเทศบาลตำบลบาเจาะ 1 จุด และที่บริเวณคอสะพานกอตอ ม.1 ต.ปะลุกาสาเมาะ

ในพื้นที่ อำเภอรือเสาะ 4 จุด คือ บ้านปูโป ม.1 ต.สามัคคี, บ้านลูโบะปูโละ ม.3 ต.สามัคคี, บ้านยือลาแป ม.3 ต.สุวารี, บ้านบาตง ม.3 ต.บาตง ในพื้นที่ อำเภอเจาะไอร้อง 1 จุด ที่บริเวณบ้านบูกิต ม.1 ต.บูกกิต ในพื้นที่ อำเภอตากใบ 2 จุด ที่บ้านไพรวัน ม.1 ต.ไพรวัน บ้านโคกมือบา ม.5 ต.โฆษิต ในพื้นที่ อำเภอแว้ง 2 จุด ที่บ้านไม้ฝาด ม.8 ต.กายูคละ และบ้านจามาแก๊ะ ม.3 ต.ฆอเลาะ

นอกจากนี้ ยังพบแผ่นป้ายผ้าข้อความลักษณะเดียวกันในพื้นที่ จ.สงขลา อีก 2 อำเภอ คือ อำเภอเทพาและสะบ้าย้อย ไม่น้อยกว่า 8 จุด ได้แก่ ริมถนนสายเกาะสะบ้า-เทพา พื้นที่ ม.4 ต.เกาะสะบ้า จำนวน 4 จุด ในพื้นที่ สภ.ห้วยปลิง อำเภอเทพา 2 จุด และยังพบในพื้นที่ สภ.สะบ้าย้อย และ สภ.บ้านโหนด จำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นในบางจุด ยังพบการนำระเบิดปลอมมาวางข่มขู่เจ้าหน้าที่ด้วย

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นการก่อกวนด้วยการผลิตป้ายผ้าแล้วนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นความต้องการของสังคมส่วนใหญ่ จึงอยากเรียกร้องให้ทุกส่วนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง ด้วยการรวมพลังปฏิเสธการใช้ความรุนแรงและสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี เพราะเป็นทางเดียวที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

พ.อ.ปราโมทย์ ชี้แจงด้วยว่า ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน.มีความจำเป็นในการใช้กำลังเพื่อดูแลด้านความมั่นคงในทุกรูปแบบ ทั้งใช้กำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ดูแลปกป้องประชาชนให้มีความปลอดภัย ทำพื้นที่ให้ปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชน และหน่วยราชการต่างๆ ในการเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ และยังคงใช้กำลังตามหน้าที่ ตราบใดที่ยังมีเหตุความรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเดือนรอมฎอนอันประเสริฐประจำปี ฮ.ศ.1434

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน ดาโต็ะศรีซัมซามีน ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตัวแทนฝ่ายไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ได้จัดประชุมเพื่อเตรียมประกาศผลการพูดคุยสันติภาพของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน ที่โรงแรมโรยัลจูลัน ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในเวลา 17.00 น.ตามเวลาของประเทศมาเลเซีย หรือตรงกับ 16.00 น.ของประเทศไทย แต่ปรากฏว่าไม่มีตัวแทนของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวต่อเนื่องไปจนกระทั่งเวลาเกือบ 18.00 น.ตามเวลาไทย โดยมีรายงานว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับกรณีที่บีอาร์เอ็นไม่ยอมรับข้อเสนอของไทยหลายข้อเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดการใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอน จนทำให้ต้องมีการแจ้งเลื่อนการแถลงข่าวดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสำรวจ เม.ย.56 พบคนไทยว่างงานลดลง

Posted: 09 Jul 2013 04:09 AM PDT

ผลสำรวจภาวะการทำงานของ สนง.สถิติแห่งชาติ เม.ย.56 พบคนไทยมีงานทำ 38 ล้านคน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม พบผู้ว่างงานเกือบ 3.5 แสนคน ลดลง 3 หมื่นคน จาก เม.ย.ปีที่แล้ว

9 ก.ค.56 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสนอผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือน เม.ย.56 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี พบผู้มีงานทำ 38.02 ล้านคน ลดลงจากปีที่แล้ว 1.2 แสนคน จำนวนผู้ว่างงาน 3.47 แสนคน ลดลงจากปีก่อน 30,000 คน

ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือน เม.ย.56 จากการสุ่มตัวอย่างประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 27,960 ครัวเรือน พบว่าผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานลดลง 1.2 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยลดลงจาก 38.91 ล้านคนเป็น 38.79 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.02 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.47 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 4.16 แสนคน

สำหรับผู้มีงานทำในเดือน เม.ย.56 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 1.2 แสนคน จาก 38.14 ล้านคน เป็น 38.02 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 0.3 ส่วนผู้ทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ตารางการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ เปรียบเทียบ เม.ย.55 และ เม.ย.56

สำหรับผู้ว่างงานทั่วประเทศ พบว่ามีจำนวน 3.47 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลง 3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.44 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.03 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการบริการและการค้า 7.5 หมื่นคน ภาคการผลิต 7.0 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 5.8 หมื่นคน

ผลสำรวจพบว่า มีผู้ว่างงานที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 1.16 แสนคน ระดับประถมศึกษา 7.4 หมื่นคน ระดับมัธยมต้น 6.8 หมื่นคน มัธยมปลาย 6 หมื่นคน และผู้มีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษาและไม่มีการศึกษาจำนวน 2.9 หมื่นคน

โดยทั้งนี้ เป็นผู้ว่างงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.09 แสนคน ภาคกลาง 9.2 หมื่นคน ภาคใต้ 7.1 หมื่นคน ภาคเหนือ 4.5 หมื่นคน และกรุงเทพมหานคร 3.0 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.3 ภาคกลางร้อยละ 1.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.9 กรุงเทพมหานคร   ร้อยละ 0.8 และภาคเหนือร้อยละ 0.6

ที่มา เว็บไซต์รัฐบาลไทย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภิญญา เตือนจับตา กสทช. ออกเกณฑ์กำกับสื่อ

Posted: 08 Jul 2013 11:46 PM PDT

สุภิญญา ชี้ให้สื่อจับตาบางประเด็นในหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการฯ คาบเกี่ยวกับจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. ชี้แจงเพิ่มเติม หลังจากที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 25 วันจันทร์ที่ 8 ก.ค. 2556 มีมติอนุมัติ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นประกาศ กสทช.ที่หลายๆ ฝ่ายรอคอยมานานสำหรับการกำกับดูแลใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตนได้สงวนความเห็นในบางประเด็นในร่างฯ ดังกล่าว เพราะมีส่วนที่คาบเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณ จริยธรรมของสื่อ ซึ่งการใช้ดุลยพินิจของ กสทช.ที่อาจเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้มีขอบข่ายกว้างขวางกว่า มาตรา 37 หรือไม่ เพราะอาจจะทำให้หน่วยงานรัฐ อย่าง กสทช.ใช้อำนาจเพิ่มมากขึ้นในกำกับเนื้อหาและอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อได้

สุภิญญา ระบุว่า อย่างไรก็ตาม เห็นว่ามีหลายเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เช่น การโฆษณาที่ผิด กฎหมายอาหารและยา หรือ กฎหมายลิขสิทธิ์  กสทช.เองสามารถที่จะดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างเด็ดขาด แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม จรรณยาบรรณของสื่อ กสทช.ควรทำหน้าที่ส่งเสริมการกำกับตนเองของวิชาชีพสื่ออย่างเข้มข้น และต้องพิจารณาว่าเรื่องใดที่ผิดกฎหมาย เรื่องใดผิดหลักจริยธรรม เพราะที่ผ่านมาเราได้ระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในการทำสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ (DO and Don't) เพราะหากนำเรื่องที่ผิดกฎหมายและคาบเกี่ยวกับจรรยาบรรณหรือจริยธรรมด้วย อาจทำให้ กสทช.ใช้ดุลยพินิจกว้างขวางขึ้นในการที่จะสั่งแบนหรือเซ็นเซอร์สื่อ ทั้งนี้ในส่วนการกำกับทางจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพสื่ออาจต้องใช้มาตรการทางสังคมควบคู่ด้วยหรือไม่

สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ประกาศฯฉบับนี้จะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงอยากให้สื่อมวลชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างฯ นี้ด้วย เพราะจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์อย่างแน่นอน ในการเปิดให้ กสทช.ใช้อำนาจทางกฎหมายเพียงใดในการที่จะไปกำหนดอนาคตของสื่อ
              

 

มาตรา 37 ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน

ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภาพบุรุษจุฑาเทพ : ภาพแทนความรักและชนชั้นของผู้หญิงชั้นกลางไทย

Posted: 08 Jul 2013 10:21 PM PDT

จากกระแสความร้อนแรงของละครโทรทัศน์ชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ที่ประกอบไปด้วยเรื่องราวทั้ง 5 ตอน คือ คุณชายธราธร คุณชายปวรรุจ คุณชายพุฒิภัทร คุณชายรัชชานนท์ และคุณชายรณพีร์ ที่ทำให้สาวๆทั่วเมืองไทยตอนนี้เกิดความอินจัด แม้จะจบลงไปแล้วแต่กระแสของคุณชายนั้นยังคงติดปากกันไปทั่วจนอาจเรียกได้ว่าเป็นกระแสที่ช่องสาม "จุดติด" ตามมาจากละครเรื่องแรงเงา จึงทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดละครโทรทัศน์ชุดนี้จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ละครชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพนั้นดัดแปลงมาจาก นวนิยายชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพโดยสำนักพิมพ์พิมพ์คำ จัดพิมพ์ขึ้นในปีพ.ศ.2554 โดยนักเขียนห้าคน คือ ณารา ร่มแก้ว เก้าแต้ม ซ่อนกลิ่นและแพรณัฐ แต่งนวนิยายคนละเล่ม และนำไปสู่คำถามของบทความชิ้นนี้ คือ นวนิยายชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพต้องการเสนอภาพของ "คุณชาย" อย่างไร นวนิยายชุดนี้ได้นำเสนอภาพความรักในทัศนคติของชนชั้นกลางอย่างไร และเป็นภาพแทนของสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร

นวนิยายชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพดำเนินเรื่องโดยมีบริบททางสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2500 เป็นฉากหลัง เช่น การกล่าวถึงตุ๊กตา Bild Lilli Doll ที่ได้รับความนิยมในช่วงปลายทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา (ร่มแก้ว, คุณชายปวรรุจ : 29) การเจรจาเรื่องสิทธิในปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทดอนโตนระหว่างไทย-กัมพูชาในปีพ.ศ.2501 (ร่มแก้ว, คุณชายปวรรุจ :  295) โดยเหตุผลที่หยิบเอาช่วงเวลานี้ขึ้นมาเนื่องจากคณะผู้แต่งเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวเต็มไปด้วยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สอดคล้องกับตัวละครและการดำเนินเรื่อง ซึ่งตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องการขึ้นมามีอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แทนที่จอมพล ป.พิบูลสงครามที่เน้นนโยบายรัฐนิยมและลัทธิผู้นำในระบอบประชาธิปไตย กลายมาเป็นการฟื้นฟูความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ชนชั้นสูงในช่วงเวลานี้ซึ่งเหลืออยู่จำนวนน้อย อันเนื่องมาจากประชุมประกาศตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาที่ระบุว่าหม่อมเจ้าเท่านั้นจึงจะนับเป็นเจ้า แต่ในระยะนี้แม้แต่หม่อมราชวงศ์ก็ยังนับว่าเป็นเจ้าในสายตาของคนทั่วไป ทำให้ "เจ้า" มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคมแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าอย่างยิ่งที่สถานภาพของเจ้าทั้งหลายตกต่ำลง สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 เป็นต้นมา การหยิบยกเอาช่วงทศวรรษ 2500 ขึ้นมาเป็นฉากของนวนิยายชุดนี้จึงนับเป็นความสอดคล้องกับสภาวะของการฟื้นฟูเจ้าในเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ เป็นยุคทองของบรรดาเจ้าและชนชั้นสูงรวมถึงประชาชนทั่วไปผ่านคำบรรยายของคุณชายธราธร พี่ชายใหญ่แห่งวังจุฑาเทพ

"เขารู้ดีว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาหยกๆนั้นมีข่าวการโกงอย่างใหญ่หลวง ประชาชนออกมาต่อต้านและเรียกร้องหาแต่จอมพลสฤษดิ์ที่กำลังเป็นที่นิยมชมชอบ นายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงก็ไม่มีใครฟัง จนสุดท้ายจอมพลสฤษดิ์ต้องออกมาปรากฏตัวให้ชาวบ้านที่รวมตัวกันประท้วงสงบลง" (ณารา, คุณชายธราธร : 46)

แต่ความเป็นเจ้าในทศวรรษ 2500 ที่ปรากฏในนวนิยายชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพกลับไม่ได้เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและมนตร์เสน่ห์แบบชนชั้นสูงตามที่เราคุ้นชินในนวนิยายสมัยเก่าของว. ณ ประวมวลมารค และ ว. วินิจฉัยกุล เช่น เรื่องปริศนา เจ้าสาวของอานนท์ รัตนาวดี มาลัยสามชาย ฯลฯ ที่ดำรงอยู่ด้วยทรัพย์สินเก่าแก่ตกทอดมาหลายชั่วคน หรือทำงานในตำแหน่งสูงเทียบเท่ากับพระยาในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากบรรดารายได้ทั้งหมดที่หล่อเลี้ยงคนในวังจุฑาเทพคือ ทรัพย์สินกิจการจำนวนมากที่พระบิดาได้ลงทุนเป็นอสังหาริมทรัพย์

"ขณะทำงานอยู่กรมที่ดิน ก็ร่วมทุนกับหุ้นส่วนซื้อที่ดินรกร้างแถบสาทร สีลม รวมไปถึงที่ดินชายทะเล ชะอำและหัวหินเอาไว้หลายผืน เมื่อบ้านเมืองขยับขยาย ก็สร้างตึกแถวให้คนเช่าแถบในเมือง ต่างจังหวัดก็ให้เช่าสร้างโรงแรม" (ณารา, คุณชายธราธร : 10)

ที่แสดงให้เห็นว่าความเป็นเจ้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก้าวหน้าของทรัพย์สินเงินทองแต่อย่างใด ตรงกันข้าม บรรดาคุณชายทั้งห้ากลับมีสถานภาพกึ่งนายทุน กึ่งนักเก็งกำไร อันเป็นอาชีพสมัยใหม่ของชนชั้นกลางโดยเฉพาะ "เจ๊ก" ด้วยซ้ำ นอกจากนี้อาชีพของคุณชายตั้งแต่นักโบราณคดี นักการทูต แพทย์ วิศวกร และทหารอากาศ ก็เป็นอาชีพที่ชนชั้นกลางในสมัยทศวรรษ 2500 เริ่มเข้ามาสัมผัส คุณชายธราธรเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับอาจารย์ชินกร บุตรชายของคนจีนเจ้าของร้ายขายทองที่เยาวราช คุณชายปวรรุจเป็นนักการทูตตำแหน่งเล็กๆ แตกต่างอย่างชัดเจนกับชั้นหม่อมเจ้าอย่างหม่อมเจ้าภาณุทัศนัย ศุภกิจ คู่หมั้นของหม่อมเจ้าหญิงวรรณรสา ที่เป็นถึงเลขานุการเอกประจำสถานทูตไทย ขณะที่อาชีพของคุณชายพุฒิภัทร คุณชายรัชชานนท์ และคุณชายรณพีร์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร และทหารอากาศ ก็เป็นอาชีพที่ชนชั้นกลางในเมืองที่กำลังเจริญเติบโตในช่วงทศวรรษ 2500 เข้าถึงได้ไม่ยากเย็นเช่นกัน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาพของความรักที่ปรากฏในแต่ละเรื่องไม่ว่าจะเป็นคุณชายธราธร พี่ใหญ่ของห้าสิงห์หนุ่มแห่งจุฑาเทพ ก็จะพบว่าเป็นสุภาพบุรุษที่ยินยอมกระทำตามหน้าที่ที่หม่อมย่าเอียดและย่าอ่อน ผู้เลี้ยงดูตนเองและน้องๆมา ได้วางเอาไว้ให้ คือการแต่งงานกับหม่อมหลวงเกษรา เทวพรหม ตามสัญญาของสองตระกูล แต่ระหว่างที่มีหน้าที่ผูกมัดอยู่ หัวใจของคุณชายธราธรก็ได้เกิดความรักต่อ "น้องมะปราง" หรือหม่อมหลวงระวีรำไพ แสงอาทิตย์ พร้อมทั้งเผชิญกับเรื่องราวและบทพิสูจน์ความรักต่อกันและลงเอยกันในท้ายที่สุด ขณะที่เรื่องคุณชายปวรรุจที่มีมารดาเป็นเพียงนางต้นห้องทำให้ศักดิ์ศรีของเขาดูจะด้อยค่ากว่าพี่น้องคนอื่นๆ กลับสามารถพิชิตใจของหม่อมเจ้าหญิงวรรณรสา อรุณรัศมิ์ มาครอง เนื่องจากคุณสมบัติของความเป็น "แม่บ้าน" ที่อยู่ในตัวของชายหนุ่ม ทำให้นางเอกของเรื่องที่ทำงานบ้านไม่เป็นชิ้นเป็นอันเกิดความประทับใจและตกหลุมรัก

"ฉันละอายน่ะค่ะ ที่ต้องให้คุณมาเย็บผ้าให้ ส่วนตัวฉันสิทำอะไรไม่เป็นเลย" (ร่มแก้ว, คุณชายปวรรุจ : 111) แม้กระทั่งการเปลี่ยนล้อรถยนต์ "ตั้งแต่เกิดมาให้ชีวิตของหล่อนไม่เคยเห็นหม่อมเจ้าหรือกระทั่งหม่อมราชวงศ์คนไหนที่นั่งลงกับพื้นถนนเพื่อเปลี่ยนยางล้อรถด้วยตนเองมาก่อนเลย" (ร่มแก้ว, คุณชายปวรรุจ :  91)

 สำหรับเรื่องคุณชายพุฒิภัทร ภาพของผู้ชายเจ้าเหตุผลที่ยึดถือเอาความถูกต้องเหมาะสมเป็นใหญ่กว่าความรู้สึก สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ต่อหัวใจและความรักของตนเองที่มีต่อนางสาวกรองแก้ว บุญมี นางสาวศรีสยามที่คนทั้งเมือง แม้แต่ตัวคุณชายเองเคยปรามาสไว้ในใจว่ามีแต่ความสวย และบ้าบิ่นเกินกว่าหญิงทั่วไปที่จะมาใส่ชุดว่ายน้ำบนเวทีประกวด

"ถ้าหากนายแน่ใจว่าหล่อนคือนางในฝัน ก็ขอให้เดินหน้าทำตามหัวใจของตนเอง เหตุผลบางครั้งก็เก็บเอาไว้บ้างเถอะ ถ้าเรื่องงานนายอาจจะต้องใช้ แต่ถ้าเรื่องความรัก ฟังเสียงหัวใจอย่างเดียวก็พอ" (เก้าแต้ม, คุณชายพุฒิภัทร : 137)

ในส่วนของคุณชายรัชชานนท์ จุดเด่นที่สุดดูจะเป็นเรื่องความรักที่คุณชายมีต่อสร้อยฟ้า หญิงสาวชาวป่าที่สุดท้ายพบว่าเป็นถึงเจ้าหญิงแห่งเวียงพูคำ รวมถึงการดูแลปกป้อง ร่วมเป็นร่วมตายในการฝ่าฟันอันตรายไปด้วยกันกับผู้หญิงที่ตนเองรัก และเรื่องสุดท้ายคือคุณชายรณพีร์ ที่สละภาพความสูงศักดิ์ของหม่อมราชวงศ์ทิ้งไป แล้วออกตามหารักแท้จากผู้หญิงที่รักในตัวตนของตนเองอย่างนางสาวเพียงขวัญ จันทร์ประดับ นักแสดงสาวที่มีชื่อเสียง ด้วยประโยคที่แสนจะประทับใจ

"กับผู้หญิงบางคนก็คุ้มค่าที่จะเป็นฝ่ายถูกเลือกครับ" (แพรณัฐ, คุณชายรณพีร์ : 128)

ความรักในสายตาของคุณชาย จึงสลัดความเป็นชนชั้นสูงออกไปเสียสิ้น ฐานันดรศักดิ์ไม่ได้มีความสำคัญอะไรอีกต่อไป

"แค่เธอรักฉันก็พอแล้วรสา ชนชั้นไม่สำคัญอะไรทั้งนั้น อยู่กับเธอ ฉันไม่ต้องการเป็นคุณชาย แต่ต้องการเป็นแค่ผู้ชายคนหนึ่งที่จะรักผู้หญิงคนหนึ่งอย่างสุดหัวใจ และดูแลหล่อนไปชั่วชีวิต" (ร่มแก้ว, คุณชายปวรรุจ : 211) "ลองมองดูผมดีๆสิแก้ว ผมเองก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นเลย ถ้าไม่มีศักดิ์นำหน้า ผมก็เป็นแค่หมอคนหนึ่ง" (เก้าแต้ม, คุณชายพุฒิภัทร : 376)

จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะด้านความรักของคุณชายทั้งห้า ไม่ได้มีภาพของความเป็นชนชั้นสูงเลยแม้แต่น้อย ความรักในแบบชนชั้นสูงตามความเป็นจริงนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง อำนาจและระบบผัวเดียวหลายเมียที่เป็นที่ยอมรับได้ตามแบบฉบับของนวนิยายและละครน้ำเน่าที่เราคุ้นชินภาพของการตบตี ชิงรักหักสวาทเพื่อที่จะทำให้ผู้ชายรักตนเองเพียงผู้เดียว ได้ถูกทำให้สิ้นสุดลงในนวนิยายชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ผ่านการสิ้นชีพตักษัยของหม่อมเจ้าวิชชากร จุฑาเทพและหม่อมทั้งสามที่เป็นมารดาของคุณชายทั้งห้า ขณะที่คุณชายทั้งหมดนั้นกลับมีความคิดที่ว่า จะไม่เอาอย่างพระบิดาที่มีภรรยาถึงสามคน

"ผมไม่เคยคิดจะมีเมียน้อยหรือเมียหลวงหรอกครับ ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงที่ตกเป็นรองดี ไม่มีใครมีความสุขหรอกครับ" (ซ่อนกลิ่น, คุณชายรัชชานนท์ :218)

ความรักในแบบชนชั้นสูงจึงได้ตายไป พร้อมกับการสถาปนาความรักแบบชนชั้นกลางที่ประกอบไปด้วยความรักเดียวใจเดียว ความรักที่ปราศจากชนชั้น การดูแลปกป้องผู้หญิง และผนวกรวมเข้ากับความคิดของชนชั้นกลางใหม่ในปัจจุบัน ที่ว่าด้วยการที่ผู้ชายจะต้องมีความเป็นแม่บ้าน สามารถช่วยเหลือผู้หญิงทำงานบ้านได้

ไม่เพียงแต่ลักษณะของคุณชายที่เป็นความรักแบบชนชั้นกลาง คุณสมบัติของผู้หญิงที่สามารถพิชิตใจของคุณชายทั้งห้าก็เป็นลักษณะเฉพาะของผู้หญิงชั้นกลางเช่นกัน หม่อมเจ้าหญิงวรรณรสา อรุณรัศมิ์ อยู่ในสถานภาพของลูกสาวพ่อค้า "เจ๊ก" ตามคำโกหก จนรักกับคุณชายปวรรุจ หรือสร้อยฟ้า ที่แม้จะเป็นถึงเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ แต่ก่อนหน้านั้นก็เป็นเพียงสาวชาวป่ามาก่อน ทั้งยังมีนางสาวกรองแก้ว บุญมี และนางสาวเพียงขวัญ จันทร์ประดับ ที่เป็นเพียงคนธรรมดา ผู้หญิงจึงจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์คุณค่าของตนเองว่าคู่ควรกับผู้ชายไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตาม เช่น การเป็นกุลสตรี เป็นแม่บ้านแม่เรือน เลี้ยงดูครอบครัวเป็นอย่างดี

 "สำหรับกรองแก้ว หลานสะใภ้คนที่สามของฉัน ถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีเชื้อมีสาย แต่ก็มีตำแหน่งเป็นถึงนางสาวศรีสยามที่ทุกคนยอมรับ เป็นกุลสตรีที่ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมอยู่ในกรอบประเพณีอันดีและมีมานะอดทนที่จะปรับปรุงตนเองให้ทัดเทียมสามีด้วยการเรียนต่อพยาบาล" (แพรณัฐ, คุณชายรณพีร์ : 247)

ทั้งยังต้องปฏิเสธอำนาจของเงินตราไม่ให้มีอำนาจเหนือความรักของตนเองตามแบบฉบับของชนชั้นกลางที่บูชาความรักมากกว่าสิ่งใดในโลก

"ไม่มีเงินทองหรือของมีค่าใดจะสูงค่าเกินกว่าความรักที่ดิฉันมีต่อคุณชายรณพีร์หรอกค่ะ" (แพรณัฐ, คุณชายรณพีร์ : 248)

ทั้งนี้ในมุมมองของชนชั้นสูงไทยดั้งเดิมที่อิงอยู่กับผลประโยชน์และอำนาจ คุณสมบัติของคุณชายและนางเอกจากห้าเรื่องแทบจะไม่จำเป็น การแต่งงานของหม่อมเจ้าวิชชากร จุฑาเทพกับหม่อมราชวงศ์อุบลวรรณ เป็นไปเพื่อเกียรติยศและธำรงไว้ซึ่งศักดิ์แห่งราชสกุล การแต่งงานกับหม่อมหยก ลูกสาวเจ้าสัวเป็นไปเพื่อธำรงสถานภาพทางเศรษฐกิจให้มั่นคงยิ่งขึ้น

"พุฒิภัทรและรัชชานนท์มีผิวขาวกว่าพี่น้องที่เหลือ นั่นก็เพราะแม่หยก มารดาของทั้งสองมีเชื้อสายจีน แต่งงานกับพระบิดาด้วยเป็นหุ้นส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันมาหลายปี" (ณารา, คุณชายธราธร : 11)

และท้ายที่สุดการแต่งงานกับหม่อมหยก นางต้นห้องของหม่อมอุบลวรรณมาก่อน ก็เกิดขึ้นกกดเกิดจากความพึงพอใจส่วนตัว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องมาเน้นย้ำถึงความรักเดียวใจเดียวจนกว่าชีวิตจะหาไม่ การยินยอมทำตามหน้าที่ของราชสกุล การดูแลปกป้องผู้หญิงที่ตนเองรัก หรือปรัชญาพื้นฐานความรักของชนชั้นกลางต่างๆดังที่คุณชายทั้งห้ายึดถือเอาไว้

"พื้นฐานของชีวิตคู่นั้นไม่ได้เกิดจากความรักเพียงอย่างเดียว หากต้องมีความไว้ใจกันด้วย" (ซ่อนกลิ่น, คุณชายรัชชานนท์ : 246)

ภาพความเป็น "เจ้า" ที่สูงศักดิ์ของคุณชายทั้งห้ายังถูกขับเน้นให้เบาบางลงไปอีก ผ่านคำพูดและความรู้สึกของหม่อมหลวงสาวแห่งวังเทวพรหมที่เป็นคู่หมั้นคู่หมายกัน ทั้งหม่อมหลวงมารตีและหม่อมหลวงวิไลรัมภา ที่ต้องการจะหลุดพ้นจากความยากจน มีชีวิตที่สะดวกสบาย ดังที่หม่อมหลวงมารตี เทวพรหม ได้มาดหมายว่าจะต้องได้คุณชายพุฒิภัทรมาเป็นคู่หมั้นของตนมากกว่าที่จะได้มาซึ่งเกียรติยศและสถานภาพทางสังคม

"แม้มารดาจะเป็นเจ๊กเป็นจีนแต่ก็ร่ำรวย แถมอาชีพของเขาก็เข้ากับอาชีพของเธอดี คุยกันรู้เรื่อง" (ณารา, คุณชายธราธร : 73)

และ

"หล่อนเคยคิดเสมอว่าวันใดหากได้แต่งงานกับคุณชายพุฒิภัทรสมใจจะย้ายไปอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ยิ่งมองไปทางบ้านของพวกคุณชายก็ยิ่งรู้สึกอิจฉา เพราะสภาพบ้านต่างจากของสกุลเทวพรหมหน้ามือเป็นหลังมือ" (เก้าแต้ม, คุณชายพุฒิภัทร : 46)

เช่นเดียวกับผู้เป็นน้องสาว คือ หม่อมหลวงวิไลรัมภา ก็หมายมั่นปั้นมือจะได้เข้าไปอยู่อย่างสุขสบายในวังจุฑาเทพเช่นกัน

"ผู้เป็นพ่อจึงเพียรย้ำว่าหนทางเดียวที่จะกู้วิกฤติได้คือการแต่งงานกับรณพีร์ซึ่งร่ำรวย มีกินมีใช้ไม่ขาด หากอยู่กับเขา นอกจากเธอจะกู้บ้านเทวพรหมให้กลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง วิไลรัมภายังจะมีชีวิตที่หรูหราดังฝัน" (แพรณัฐ, คุณชายรณพีร์ : 135)

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคืออาชีพทั้งห้าอาชีพนั้นผูกพันอยู่กับความมีอำนาจในสังคมไทยอย่างมาก นักโบราณคดีและอาจารย์มหาวิทยาลัย ทางหนึ่งคือผู้สถาปนาและสร้างชุดความรู้ต่างๆ รวมถึงการผลิตซ้ำความรู้ให้ออกมาในแนวทางที่ตนเองต้องการ นักการทูตแสดงถึงอำนาจของการเจรจาต่อรองทั้งหลังฉากและหน้าฉากที่เคลือบไว้ด้วยมารยาทที่ดีงามและคำพูดอันสวยหรู แพทย์ เป็นตัวแทนของความสูงส่งทางวิชาชีพที่ช่วยเหลือชีวิตของผู้อื่น ทั้งยังเป็นอาชีพที่อยู่ในความนิยมชมชอบของชนชั้นกลางไทยโดยเฉพาะลูกจีนเสมอมา วิศวกร คือบุคคลที่มาพร้อมกับความทันสมัย ปราดเปรียว การพัฒนาอำนาจของรัฐไปพร้อมกับการขยายตัวของถนนหนทาง และท้ายที่สุดคืออำนาจของการทหารที่ควบคุมความเรียบร้อยของสังคม

สิ่งหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าขาดหายไป คืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ นายทุนและความร่ำรวย แต่หากจะพิจารณาลงไปให้ดีจะพบว่าเบื้องหลังที่ขับเคลื่อนและค้ำจุนคุณชายทั้งห้าแห่งวังจุฑาเทพนั้นมาจากธุรกิจที่มาจากการเก็งกำไรและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น การประกอบอาชีพทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการใช้จ่ายเพื่อซื้อความหรูหราฟุ่มเฟือยในชีวิตไปในแต่ละเดือนเท่านั้น หากทรัพย์สินที่แทบจะไม่ได้รับการเอ่ยถึงในนวนิยายต่างหากที่ทำให้ชีวิตของคนในวังจุฑาเทพดำเนินไปอย่างราบรื่น ทัศนคติของชนชั้นกลางไทยที่ถือเอาคุณธรรมและศีลธรรมอันบริสุทธิ์ดีงามเหนืออื่นใด จึงไม่สามารถแปดเปื้อนจากภาพของการเป็นพ่อค้าที่ขูดรีด เก็งกำไรได้แม้แต่น้อย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่หม่อมหลวงทั้งสองจากวังเทวพรหมจะต้องถูกล้มเลิกการหมั้นหมายในที่สุด เนื่องจากความกระหายที่จะเข้ามามีชีวิตที่สุขสบายบนกองเงินกองทองของวังจุฑาเทพ ยกเว้นหม่อมหลวงเกษราที่แต่งงานไปมีชีวิตที่ราบรื่นกับอาจารย์ชินกร ลูกจีนร้านขายทองเยาวราช

จะเห็นได้ว่า นวนิยายชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ได้สร้างภาพของชนชั้นสูงในสังคมไทยขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับจินตนาการของตน คุณชายธราธร คุณชายปวรรุจ คุณชายพุฒิภัทร คุณชายรัชชานนท์ และคุณชายรณพีร์ เมื่อสลัดชุดสูทอันหรูหราออกไป จึงเหลือเพียงตัวตนแท้จริงที่เป็นผู้ชายชนชั้นกลางที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในนวนิยายพาฝันยุคปัจจุบัน ที่ทุ่มเทให้กับความรักและผู้หญิงที่เขารักอย่างเต็มที่ มีหน้าที่การงานทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม จินตนาการด้านความรักในนวนิยายชุดนี้จึงไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่ไปกว่านวนิยายร่วมสมัยอื่นๆ ที่เริ่มต้นและจบลงด้วยความสุข พระเอกเป็นเจ้าชายที่ออกตามหารักแท้ที่พิสูจน์ได้ด้วยใจ หาใช่เงินตรา เช่นเดียวกับนางเอกที่แม้จะมอมแมม ยากไร้เพียงใด แต่คุณงามความดีของพวกเธอก็ได้แสดงออกมาให้ทุกคนได้ประจักษ์ในท้ายที่สุด

แต่สิ่งหนึ่งที่นวนิยายชุดนี้มีคุณค่าต่อการนำมาพิจารณา คือ จินตนาการเกี่ยวกับชนชั้นสูง หรือ "เจ้า" ในสังคมไทยที่ถูกบรรจุเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม เป็นการสร้าง/สถาปนา ภาพของชนชั้นสูงในสังคมไทยขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะที่เข้าถึงได้ง่ายดายยิ่งขึ้นและมีปฏิสัมพันธ์กับชนชั้นกลางอย่างแนบแน่น จึงอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใด เรื่องราวความรักของชนชั้นสูงที่ถูกดูถูกว่าเป็นเนื้อเรื่องที่แสนจะน้ำเน่า และไม่เคยได้รับการนำมาเขียนเป็นนวนิยายในสังคมไทยระยะหนึ่ง จึงกลับมาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับกระแสสายรัดข้อมือสีเหลืองและข้อความน่ารักๆอย่าง "เรารักพระเจ้าอยู่หัว" หรือ "เรารักในหลวง" ที่ทำให้ชนชั้นกลางไทยจำนวนมากมองเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์และชนชั้นสูงเป็นสถาบันที่ผูกพันอย่างแนบแน่นกับชีวิตของตนไม่ใช่สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์เกินเอื้อมอีกต่อไป และพร้อมที่จะปวารนาตนเองเข้าไปอยู่รวมกลุ่มอย่างไม่ลังเล

ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่กลุ่มคนเสื้อแดงยืนยันถึงอัตลักษณ์ของตนเองในฐานะกลุ่มคนที่ถูกกดขี่จากระบอบไพร่-อำมาตย์ รวมทั้งกระแสต่อต้านกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี สลิ่ม ฯลฯ หรือชนชั้นกลางในเมืองที่ถือว่าร่วมมือกับอำมาตย์ในการกีดกันประชาธิปไตยของประชาชน ชนชั้นกลางที่ถูกสั่นคลอนจากวิกฤติอัตลักษณ์และการต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อแดงจึงรู้สึกว่าตนเองนั้นจะต้องสร้างอัตลักษณ์และเชื่อมโยงตนเองเข้ากับความเป็นไทย และกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งหนทางที่สำคัญได้เกิดขึ้นผ่านทางการโหยหาอดีตและอธิบาย/สร้างความทรงจำของการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างกลุ่มของตนเองและชนชั้นสูงขึ้นมา เพื่อธำรงไว้ซึ่งพื้นที่ทางสังคมของตน จึงอาจกล่าวได้ว่านวนิยายชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพ จึงเป็นนวนิยายของผู้หญิงชนชั้นกลาง ที่เขียนให้ผู้หญิงชนชั้นกลางอ่าน เป็นไปเพื่อสร้างจินตนาการและความใฝ่ฝันร่วมกัน ถึงชีวิตที่สามารถร่วมเป็นกลุ่มก้อน มีความรู้สึกนึกคิด ชีวิต ความรัก ระหว่างตนเองกับชนชั้นสูงได้อย่างไม่ไกลเกินเอื้อม

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"คลิปเสียง ท-ย" กับ "สองมาตรฐาน" ในการอภิปรายการเมืองไทย

Posted: 08 Jul 2013 09:04 PM PDT


.........................

ผมพูดไปหลายครั้งแล้วว่า ปัญหาใจกลาง หรือ "แก่น" ของปัญหาการเมืองไทย คือ เรื่อง "สองมาตรฐาน" ระหว่าง นักการเมือง (และคนอืนๆ) กับ สถาบันกษัตริย์ (ผมควรย้ำอีกทีว่า ผมใช้คำนี้ในความหมายมาตรฐาน คือ ไม่ได้หมายถึงบุคคลไม่กี่คน แต่หมายถึง "องค์กร" หรือ "กลุ่มอำนาจ" Power Bloc ซึงรวมทั้ง ราชวงศ์, องคมนตรี, ตุลาการ และกองทัพ)

ประเด็น "คลิปเสียง ท-ย" ที่กำลัง "ฮือฮา" กันในขณะนี้ ได้สะท้อนปัญหานี้อย่างชัดเจนอีกครั้ง

ถ้าประเมินอย่าง "ภววิสัย" (objective) เลยว่า ในรอบหลายๆ ปีนี้ "คลิปลับ" ไหนมีความสำคัญ ในแง่การเปลี่ยนแปลงการเมืองที่สุด?

ไมใช่ "คลิปเสียง ท-ย" แน่ๆ ยังห่างมาก

"คลิปเสียง ท-ย" นั้น อย่างมากทีสุด ก็เป็นเพียงสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า "wish list" หรือ "รายการสิ่งที่ปรารถนา" ของ "ท" เท่านั้นเอง และเอาเข้าจริง ในความเห็นของผม ในที่สุด wish list เหล่านี้ จะเป็นเพียง wishful thinking หรือ "เพ้อฝัน" ของ "ท" ไป (ผมจะโพสต์อธิบายประเด็นนี้ละเอียดอีกครี้ง ในหัวข้อ "อนุสนธิจากคลิปเสียง (2)" อาจจะค่ำๆ วันนี้ หรือพรุ่งนี้)

ผมเห็นว่า โดยเปรียบเทียบแล้ว - ถ้ายกเว้น "คลิปริมสระ" เสียอันหนึ่ง - ในหลายปีนี้ "คลิปลับ" ที่ต้องเรียกว่าสำคัญที่สุด มีผลในแง่การเปลี่ยน หรือ "หักเห" ต่อการเมือง ที่สุด

คือ "คลิปลับ" ที่คุณ จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair และ "สามเกลอ" นำมาเปิด เมื่อกลางปี 2550

เป็นคลิปเสียง การสนทนา ระหว่างบุคคลใน "วงการตุลาการ" ที่พาดพิงไปถึง "องคมนตรี" และ "วัง" ในช่วงต้น-กลางปี 2549 ในท่ามกลางวิกฤติแหลมคม ในปีนั้น

ในคลิปนั้น กล่าวถึงการพยายาม "ล้ม" กกต. คณะวาสนา เพิ่มลาภ ที่พาดพิงถึงบทบาทขององค์กรสถาบันกษัตริย์ (โดยเฉพาะองคมนตรี ตุลาการ และอาจจะกว่านั้น)

ถามว่า เคยมี สื่อ ไม่ว่า นสพ. หรือ ทีวี ฯลฯ หรือ การอภิปรายกันในที่สาธารณะ ออนไลน์ และอื่นๆ นำไปอภิปราย ถกเถียงกัน แบบเดียวกับ "คลิปเสียง ท-ย" ไหม?

ไม่มี - ห่างกันมาก

ทั้งๆ ที่ความสำคัญของเนื้อหาคลิปนั้น ไมใช่เพียงแค่ wish list (ยิ่งไม่ใช่เรือง wishful thinking) แต่เป็นเรืองการปฏิบัติจริงๆ (และก็มีผลที่ออกมาให้เห็นจริงๆ ในกรณี กกต. ชุดวาสนา)

.............

การเมืองไทย มันมีลักษณะ "บิดเบี้ยว" เหมือนเรือง "ปลอมๆ" (pseudo) เหมือนโลก "เมทริกซ์" ของ "มีสเตอร์ แอนเดอร์สัน" กันแบบนี้แหละ

ปวศ. การเมืองไทย ย้อนหลังไปถึงอย่างน้อย กรณีสวรรคต (ซึ่งดังที่เรารู้กันทุกวันนี้แล้วว่า ปรีดี และคนอืนๆ มี "ข้อสรุป" จริงๆยังไง) ไล่เลียงมาถึง สฤษดิ์, 14 ตุลา, 6 ตุลา และอืนๆ จนถึงวิกฤติปัจจุบัน (เรือง "ผ้าพันคอ พันธมิตร เรือง เงิน 2.5 แสน เป็นต้น ฯลฯ อีกสารพัดเรืองทีถูกเปิดเผย ใน "วิกิลีกส์")

ล้วนมีลักษณะ "บิดเบี้ยว" "ปลอมๆ" แบบกรณี "คลิปลับ" นี้แหละ

คือ อภิปรายได้ เฉพาะบางเรือง (ที่สำคัญเฉพาะเรืองที่เกี่ยวกับนักการเมืองนั่นแหละ)

ถ้าไม่มี "สองมาตรฐาน" ของการอภิปรายการเมือง อย่างที่เป็น (มาจนถึงกรณี่ "คลิปลับ" ล่าสุด) นี้

โลกและชีวิตการเมือง และประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะเป็นอีกอย่าง คือ จะเป็นโลกและชีวิตการเมืองแบบจริงๆ ที่ทุกเรือง ทางการเมือง สามารถนำมาอภิปรายกันเต็มที่ โดยเสรี เหมือนๆ กัน แล้วให้เป็นวิจารณญาณของสังคม ที่จะ "ชั่งน้ำหนัก" ว่า เรื่องไหน สำคัญ แค่ไหน และควรจัดการอย่างไร อย่างเสรี

ก็ไม่รู้อีกนานเท่าไร กว่าสังคมไทยจะ "ตื่น" จาก โลก "เมทริกซ์" ปลอมๆ แบบนี้

แล้วมามีชีวิตการเมือง ที่ปกติ ที่เป็น "ของจริง" (the REAL) เสียที

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุรุนแรงครั้งใหม่ที่การประท้วงหน้าค่ายทหารในอียิปต์

Posted: 08 Jul 2013 08:39 PM PDT

ผู้ชุมนุมสนับสนุน ปธน. ที่ถูกทำรัฐประหารพากันไปปักหลักชุมนุมหน้าค่ายทหารก่อนเกิดเหตุรุนแรง ฝ่ายผู้ชุมนุมบอกทหารเข้าล้อมและเปิดฉากยิง ด้านฝ่ายทหารบอกว่ามีกลุ่ม "ผู้ก่อการร้าย" พยายามบุกเข้าไปในค่าย รวมถึงมีอาวุธปืน ระเบิดเพลิง ไว้ในครอบครอง

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2556 มีชาวอียิปต์ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้ถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร พากันไปนั่งปักหลักชุมนุมที่หน้าค่ายทหารซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นที่ๆ มอร์ซีถูกควบคุมตัวอยู่ ก่อนที่พวกเขาจะถูกยิงจนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยราว 50 ราย

ฝ่ายกองทัพอ้างว่าเหตุเกิดเนื่องจากมี "กลุ่มผู้ก่อการร้าย" พยายามบุกเข้าไปในค่ายทหาร ขณะที่อาดลี มานซูร์ รักษาการประธานาธิบดีออกมาแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิต เรียกร้องให้จำกัดการใช้ความรุนแรง และสั่งการให้สืบสวนการเสียชีวิตดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มานซูร์เองก็กล่าวในแถลงการณฺ์ว่ามีการพยายามบุกเข้าไปในค่ายทหารจริง

โมฮาเหม็ด ฮัสซัน หนึ่งในผู้ชุมนุมเล่าว่า มีกองทัพทหารหลายพันคนพากันล้อมยิงพวกเขา ขณะที่อีกด้านของถนนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ ฮัสซันกล่าวอีกว่าทหารเล็งยิงที่ศีรษะและหน้าอก เขาเห็นคน 10 คนเสียชีวิตลงต่อหน้า

ด้านกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิต 53 รายและอ้างว่าในจำนวนนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 51 ราย และมีประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บ 435 ราย

โฆษกของกองทัพกล่าวผ่านสื่อรัฐบาลอียิปต์ว่ามีกลุ่มผู้ก่อการร้ายติดอาวุธพยายามบุกเข้ามาในค่ายทหาร และในจำนวนผู้เสียชีวิตมีทหารรวมอยู่ด้วย 1 ราย และมีตำรวจอยู่ 2 ราย นอกจากนี้ยังมีทหารอีก 8 รายที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส

โดยทหารรายหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ช่องรัฐบาลว่ากองทัพไปอยู่ในที่ชุมนุมเพื่อช่วยดูแลความปลอดภัย และบอกว่าฝ่ายผู้ประท้วงเริ่มยิงใส่พวกเขา และขว้างปาก้อนอิฐและระเบิดขวด

"ผมยืนอยู่ตรงกลาง พยายามทำให้เหตุการณ์สงบ แต่ก็มีบางคนใช้แท่งเหล็กเข้ามาแทงผม" ทหารที่ได้รับบาดเจ็บกล่าว

โฆษกของกองทัพยังกล่าวถึงกรณีที่มีภาพของเด็กที่เสียชีวิตถูกเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยอ้างว่ามาจากการปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้ จริงๆ แล้วภาพที่ถูกเผยแพร่ดังกล่าวเป็นภาพที่ถ่ายในซีเรียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โฆษกกองทัพกล่าวอีกว่า หากผู้ชุมนุมประท้วงกันอย่างสงบก็จะไม่มีปัญหาใดๆ

ด้านพรรคการเมืองฟรีดอมแอนด์จัสติส (FJP) ซึ่งเป็๋นพรรคของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเรียกร้องให้ประชาชนชาวอียิปต์พากันลุกฮือต่อต้านผู้ทำรัฐประหาร และเรียกร้องให้ประชาคมโลกเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งการสังหารหมู่ และทำให้อียิปต์ไม่กลายเป็นแบบประเทศซีเรีย (ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ประเทศซีเรียเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง-หมายเหตุประชาไท)

พรรคนูร์ ซึ่งเป็นพรรคของมุสลิมนิกายซาลาฟีที่สนับสนุนให้ถอดถอนมอร์ซีกล่าวว่า พวกเขาขอถอนตัวออกจากที่ประชุมหารือเรื่องการเลือกรักษาการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเหตุการณ์ยิงผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการ "สังหารหมู่"

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็เคยมีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นที่หน้าค่ายทหาร โดยมีประชาชนที่มาชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบราย

สถานีโทรทัศน์ช่องรัฐบาลเผยแพร่ภาพผู้ชุมนุมยิงใส่ทหาร ขณะที่แถลงการณ์จากกองทัพเปิดเผยว่าพวกเขาสามารถจับกุมตัวคน 200 คนและพบว่าพวกเขามีอาวุธ กระสุน และระเบิดเพลิง ไว้ในครอบครอง ทางด้านอัยการส่วนหนึ่งบอกว่าพวกเขากำลังสั่งการให้ปิดสำนักงานพรรค FJP ของมอร์ซีในกรุงไคโร หลังจากตำรวจอ้างว่าพบอาวุธในสำนักงาน

ลิส โดวเซท ผู้สื่อข่าว BBC ในกรุงไคโรกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีวิดีโอที่ใช้อ้างว่าเหตุการณ์จากฝ่ายของตนถูก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าประชาชนชาวอียิปต์จะเชื่อฝั่งใด

ทางด้านจิม มิวร์ ผู้สื่อข่าวอีกคนในกรุงไคโรกล่าวว่าเหตุรุนแรงครั้งล่าสุดเป็นการทำลายความพยายามหาทางออกจากวิกฤติของอียิปต์ด้วยวิธีทางการเมือง ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะตีบตัน นอกจากนี้ การที่พรรคนูร์ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมจัดขอถอนตัวออกจากการหารือการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ยังทำให้การตั้งนายกฯ คนใหม่ชะงักงัน





แปลและเรียบเรียงจาก

Egypt unrest: Tensions soar amid Cairo killings, BBC, 08-07-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23222546

Egypt unrest: Interim leader Adly Mansour calls for calm, BBC, 08-07-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23230221

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2 - 8 ก.ค. 2556

Posted: 08 Jul 2013 03:59 PM PDT

ฟันนายจ้างเหลี่ยมจัดเอาเปรียบลูกจ้าง

นครราชสีมา * นายวินัย บัวประเสริฐ ผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้ประกาศเตือนไปยังบรรดานายจ้างที่มีพฤติกรรมหรือส่อเจตนากระทำผิดกฎหมาย ประกันสังคม ด้วยการหักเงินสมทบจากลูกจ้างแล้วไม่ยอมนำส่งสำนักงานประกันสังคม เมื่อลูกจ้างไปขอรับประโยชน์ทดแทนก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ ทำให้เสียขวัญและกำลังใจ รวมทั้งเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อขอรับสิทธิประ โยชน์ที่พึงได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว จ.นครราชสีมาไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จ จริงดังกล่าว ซึ่งในส่วนของเงินทดแทน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังคงค้างชำระ ส่วนกองทุนประกันสังคม นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่ง หรือต้องชำระส่วนที่ขาดอยู่จนครบถ้วน หากยังเพิกเฉยจะถูกดำเนินคดี คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายวินัยกล่าวว่า การกระทำเช่นนี้นอกจากนายจ้างจะต้องเสียเงินเพิ่มโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกจ้างผู้ประกันตน ทำให้ไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมได้ เพราะหากนำส่งเงินสมทบไม่ครบตามเงื่อนไขจะทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิ์โดยไม่รู้ ตัว จึงขอฝากเตือนนายจ้างส่งให้ครบถูกต้อง หากลูกจ้างหรือผู้ประกันตนพบเห็นการกระทำดังกล่าว แจ้งข้อมูลไปได้ที่สำนักงานประกันสังคม จ.นครราชสีมา โทร.0-4420-5353 เพื่อตรวจสอบต่อไป.

(โพสต์ทูเดย์, 2-7-2556)

 

"จาตุรนต์" เตรียมหารือ สกอ.ดูแลปัญหาเงินเดือน พนง.มหา'ลัย

(3 ก.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงบประมาณ ได้เชิญมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปชี้แจงเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มคุณวุฒิให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย จำนวน 54,801 คน จากมหาวิทยาลัยรัฐ จำนวน 79 แห่ง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ปีวันที่ 1 มกราคม 2555 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,792,432,440 บาท ซึ่งเดิมในปีงบประมาณ 2556 สำนักงบฯขอให้มหาวิทยาลัยใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายของมหาวิทยาลัยเบิกจ่ายไป ก่อน และจะตั้งงบคืนให้ในปี 2558 ว่าในปี 2558 อาจจะไม่สามารถตั้งงบคืนให้มหาวิทยาลัยในส่วนที่จ่ายไปแล้วได้ เพราะติดขัดปัญหาบางข้อ แต่จะตั้งงบให้ในปีถัดไป ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่กล้าที่จะควักเงินรายได้ของตนเองจ่ายให้กับพนักงาน ว่า ตนทราบเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณแล้ว จึงทำให้พอทราบเรื่องว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตนจะหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก่อน ว่าจะอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ความเป็นธรรมกับพนักงานมหาวิทยาลัยกลุ่มดัง กล่าว

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า หากสำนักงบฯ ไม่ตั้งงบคืนให้มหาวิทยาลัย เชื่อว่าจะส่งผลกระทบให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้ พนักงาน ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีรายได้มากก็คงจะจ่าย แต่ก็อาจจะเกิดปัญหากระทบในงบส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะงบวิจัยต่างๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทปอ.เคยเสนอต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ไปแล้วว่า หากรัฐบาลมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดๆ ให้กับข้าราชการ ก็ควรจะเพิ่มให้พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของงบบุคลากรเสมอไป แต่อาจจะมาในรูปแบบอื่นๆ อาทิ งบพัฒนามหาวิทยาลัย งบพัฒนางานวิจัย เป็นต้น และให้มหาวิทยาลัยไปบริหารจัดการเอง ก็สามารถทำได้
      
"ผมมั่นใจว่า นายจาตุรนต์ จะช่วยผลักดันเรื่องนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพนักงานมหาวิทยาลัย เพราะเงิน 100 กว่าล้านบาท สำหรับรัฐบาล อาจจะดูไม่เยอะ แต่สำหรับมหาวิทยาลัย ถือว่ามาก และจะต้องกระทบกับงบในส่วนที่ใช้พัฒนามหาวิทยาลัยแน่นอน และในการประชุม ทปอ.ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จะเชิญนายจาตุรนต์ เข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังข้อสรุปถึงปัญหาต่างๆ ของอุดมศึกษาด้วย" ศ.ดร.สมคิด กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-7-2556)

 

ร.ต.อ.เฉลิม มอบนโยบายจัดระบบแรงงานต่างด้าว ค้ามนุษย์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าทำงานที่กระทรวงวันแรก มอบนโยบายให้เร่งรัดพัฒนาระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบต่างๆ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเข้าทำงานที่กระทรวงแรงงานเป็นวันแรก เมื่อเวลา 09.49 น.โดยปฎิเสธเรื่องการถือฤกษ์เข้ากระทรวง โดยมี นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ,พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัััญชาการตำรวจแห่งชาติ ,พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นายอดิศร เพียงเกษ แกนนำ นปช. ข้าราชการกระทรวง และประชาชนจำนวนหนึ่งให้การต้อนรับ พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ

ร.ต.อ.เฉลิม มอบแนวทางการทำงานในช่วงไตรมาสสุดทัายของปีงบประมาณ 56  ว่า ต้องเร่งรัดพัฒนาระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบต่างๆพร้อมยืนยัน จะปราบปรามยาเสพติดในสถานประกอบการทุกแห่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โดยระหว่างประชุมมอบนโยบาย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวถึงการถูกตั้งฉายา "จับกัง1" ว่าพร้อมยอมรับ และระบุว่าทุกคนมีสิทธิ์น้อยใจที่ถูกลดตำแหน่งแต่ก็เข้าใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการใช้ดุลยพินิจตัดสินใจ อีกทั้งตนเองไม่เคยแบ่งเกรดกระทรวงตามที่เป็นข่าว  แต่จากนี้ไปจะทำให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเกรดเอบวก และพร้อมให้ข่าวประจำสัปดาห์ในช่วงบ่ายวันพุธ

อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม ยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องแนวคิดที่แตกต่างกันในการแก้ปัญหาภาคใต้กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. แต่ไม่ได้ขัดแย้งกัน

(ครอบครัวข่าว, 4-7-2556)

 

"เหลิม" เล็งชงรัฐขึ้นเงินเดือน ขรก.แรงงาน

4 ก.ค. 56 - ที่กระทรวงแรงงาน  ร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ในโอกาสเข้าทำงานวันแรก ว่า  ตนจะสานต่อนโยบายที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีต รมว.แรงงาน ได้ทำไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นนโยบายหลัก จะต้องไม่มีอีกต่อไป  ตนผ่านมากระทรวงแรงงานเหมือนเงาะที่ยังไม่ได้ถอดรูป   จึงยังไม่มีใครมองเห็น  ท้าวสามนก็ยังไม่เห็น แต่รจนาเห็นว่าข้างในรูปเป็นทอง และตนไม่เคยจัดเกรดว่ากระทรวงแรงงานเป็นเกรดเอ บี ซี คนที่พูดแบบนี้แสดงว่าจะมาหากิน  ขอให้ข้าราชการทุกคนทำงานอย่างสบายใจ  ตนมาอย่างมิตรตั้งใจมาทำงาน    ไม่มีการกดขี่รังแกข้าราชการ จะรักทุกคนเท่ากัน   ใครมีทุกข์อะไร ก็ขอให้มาบอก และไม่อยากให้มีข้าราชการกระทรวงแรงงานยิงตัวตายในยุคของตน เพราะเครียด       

"เร็ว ๆ นี้จะจัดเลี้ยงข้าราชการกระทรวงแรงงานและให้นายอดิศร  เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น มาเป่าแคนให้ฟัง   หากเป็นไปได้ก็จะหาทางเสนอรัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการกระทรวงแรงงาน ผมจะทำให้กระทรวงแรงงาน เป็นกระทรวงเกรดเอบวก   ส่วนเรื่องเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีเงินอยู่มาก ยืนยันจะไม่แตะต้องเงินกองทุนประกันสังคมเพราะมีคณะกรรมการดูแลอยู่แล้ว  และถ้ายังอยู่ต่อจะตั้ง พล.ต.อ.ภาณุพงศ์  สิงหรา ณ  อยุธยา  เป็นเลขานุการ รมว.แรงงาน  " ร.ต.อ. เฉลิม กล่าว.

(เดลินิวส์, 4-7-2556)

 

ดุสิตโพลชี้ประชาชนหวัง "เฉลิม" คุ้มครองสวัสดิการแรงงาน 51.78%

(5 ก.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,334 คน ถึง ครม.ยิ่งลักษณ์ 1/5 กับสิ่งที่ประชาชนอยากฝากให้รัฐมนตรีใหม่ทำ โดยถามว่าสิ่งที่ประชาชนอยากฝาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 47.52% ติดตาม ดูแลการแก้ปัญหาไฟใต้อย่างใกล้ชิด 27.69% ดูแลความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และ 24.79% สร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าทหาร และกวดขันเรื่องระเบียบวินัยของกองทัพ
      
เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝากนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 49.62% แก้ปัญหาของแพง ควบคุมราคาสินค้า พัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 28.03% เร่งแก้ปัญหา ติดตามและตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว และ 22.35% ช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ดูแลเรื่องผลผลิตทางการเกษตร
      
เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝากนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 46.74% พัฒนาการศึกษาไทยให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 30.66% ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และ 22.60% พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ ดูแลเรื่องสวัสดิการ ขวัญและกำลังใจ
      
เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝากนางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 40.58% พัฒนาสังคม ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในทุกพื้นที่ 30.43% คุ้มครองดูแลเด็ก สตรีและคนชราให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และ 28.99% มีมาตรการ-บทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้กระทำความผิดในสังคม
      
เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 52.36% คุ้มครองดูแลเรื่องสิทธิสวัสดิการ ค่าจ้าง เงินเดือนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน 26.88% แก้ปัญหาการตกงาน ว่างงานของคนไทย ดูแลแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย และ 20.76% พัฒนาฝีมือแรงงานไทย ให้การสนับสนุนส่งเสริมและหาตลาดรองรับ
      
เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝากนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 51.78% ดูแลเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้คนไทยมีจิตสำนึกและรักธรรมชาติ 32.49% เร่งปราบปรามผู้ที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกที่ดิน ป่าสงวน /มีบทลงโทษที่เด็ดขาด และ 15.73% บริหารจัดการโครงการต่างๆให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงการจัดการน้ำ
      
เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝากนายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 39.04% ดูแลประชาชนให้อยู่ภายใต้กฎหมาย ได้รับความเป็นธรรม มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน 33.15% แก้ไขกฎหมายบางตัวที่ยังมีช่องโหว่หรือมีปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพสังคม ปัจจุบัน และ 27.81% บุคลากรในกระทรวงจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง
      
และเมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝากนายพีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 68.26% พัฒนานวัตกรรม สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า 17.96% สนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ แข่งขันได้ และ 13.78% ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของกระทรวงฯ ให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจในการทำงานมากขึ้น

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-6-2556)

 

พนักงานโรงงานประกอบโครงสร้างเหล็กกว่า 50 ชีวิต ถูกปล่อยลอยแพ รวมตัวประท้วงเรียกค่าชดเชย

(7 ก.ค.) นายภูชิต นันทะสี อายุ 35 ปี พักบ้านเลขที่ 124/14 ม.4 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้นำพนักงาน และแรงงานกว่า 50 คน ของบริษัท เอ อาร์ วี คอนสตรัคชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 121/130-139 ม.3 ต.พลูตาหลวง ซึ่งเป็นโรงงานประกอบโครงสร้างเหล็ก และถังเหล็กสำหรับการก่อสร้างงานปิโตรเคมีทุกชนิด รวมถึงงานเชื่อมโลหะทั่วไป มาประท้วงที่หน้าบริษัทดังกล่าวเพื่อร้องขอความเป็นธรรม
      
เนื่องจากทางบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าแรงงานให้แก่พนักงานตามที่ได้นัดหมาย ไว้ มิหนำซ้ำยังได้ปิดสำนักงานของบริษัทอีกด้วย พร้อมกับได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ทางบริษัทหาข้อยุติเรื่องจ่ายค่าแรงให้ครบ ซึ่งขณะนี้กลุ่มแรงงานอยู่ระหว่างการรอตัวแทนของบริษัทมาชี้แจง
      
นายภูชิต นันทะสี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้มีหนังสือแจ้งเตือนมายังพนักงาน และแรงงานของบริษัทว่า จะมีการปลดพนักงานทั้งหมดออกจากบริษัทในวันที่ 28 มิ.ย.56 โดยนายอลัน สจ๊วต เจ้าของบริษัทชาวต่างชาติยินยอมที่จะจ่ายเงินเดือนเดือนสุดท้าย และค่าแรงล่วงหน้าให้อีก 1 เดือน
      
แต่เมื่อวันที่ 4 ก.ค.56 ที่ผ่านมา ตนและพนักงานทั้งหมดเดินทางมาตามที่นัดหมาย ถึงกับต้องน้ำตาตกเมื่อพบว่าบริษัทได้ปิดกิจการลงโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่อย่างใด พร้อมทั่งได้ย้ายสำนักงานไปตั้งอยู่ที่ใหม่อีกด้วย ซึ่งทำให้ตน และเพื่อนร่วมงานไม่เชื่อถือถึงสถานะทางการเงินของบริษัท จึงได้มารวมตัวกันเพื่อร้องขอความยุติธรรมให้แก่ตนเอง และเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องถูกลอยแพจากการเลิกจ้างงาน ซึ่งล่าสุด พนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทได้พยายามติดต่อกับนายอลัน สจ๊วต จนได้รับการตอบกลับมาว่าอีก 2 สัปดาห์ จะนัดหมายจ่ายเงินส่วนที่เหลือ ทำให้พนักงานทั้งหมดพอใจ และได้แยกย้ายกันกลับบ้านในที่สุด
      
ด้าน ร.อ.ประพันธ์ ชูละออง ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกมิเตอร์ และหัวหน้าสถานีควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงสัตหีบ กล่าวว่า บริษัท เอ อาร์ วี คอนสตรัคชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด ได้ติดค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้านานกว่า 3 เดือน เป็นเงินกว่า 3 แสนบาท และขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อขอชำระค่ากระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบการใช้กระแสไฟฟ้าพบว่า ทางบริษัทได้ถอดหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ภายในโรงงานของบริษัทออกไปแล้ว ซึ่งจะได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-7-2556)

 

พิษค่าแรงป่วนหนัก"ไปรษณีย์ไทย" แก้ไม่ตก-ขาดแรงงานส่ง"จม.-พัสดุ"ช้าหลายพื้นที่

นายปิยวัตร์ มหาเปารยะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานระบบปฏิบัติการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาประชาชนผู้ใช้บริการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากในขณะนี้ กรณีได้รับจดหมายและพัสดุล่าช้ามาจาก 2 สาเหตุหลัก สาเหตุแรก เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลางจากการที่บริษัทตั้งศูนย์ไปรษณีย์ใหม่เพิ่ม 2 แห่ง ในจังหวัดราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อกลางเดือน มิ.ย.

ที่ผ่านมา ทำให้ระบบงานต่าง ๆ ไม่เข้าที่ เนื่องจากทุกอย่างใหม่หมดตั้งแต่พนักงาน, สถานที่ และอุปกรณ์ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในไม่เกินหนึ่งสัปดาห์

อีกสาเหตุมาจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และพื้นที่ที่ธุรกิจท่องเที่ยวเฟื่องฟู อาทิ ภูเก็ต ระยอง ปทุมธานี เขตรอบนอกกรุงเทพฯ เช่น บางพลี มีนบุรี ราษฎร์บูรณะ ตลิ่งชัน เป็นต้น ทำให้มีการแย่งแรงงานเกิดขึ้น ประกอบกับเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีพนักงานไปรษณีย์ไทยเกษียณก่อนกำหนด (เออร์รี่รีไทร์) จำนวน 336 คน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหาร ทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนพนักงานมากขึ้นด้วย

"ค่าแรงภาครัฐให้ได้แค่ 300 บาทต่อวัน แต่กว่าจะฝึกให้คล่องต้องใช้เวลาเป็นเดือน และเมื่อทำไปสักพักโดนชวนไปทำโรงงานหรือโรงแรมที่ให้ค่าแรงได้สูงกว่า ทำให้เราขาดคน พอรับเข้ามาใหม่ก็เป็นแบบนี้อีก ช่วงรอยต่อที่ต้องฝึกคนใหม่มีผลกับการนำจ่ายไปรษณีย์ภัณฑ์ จากเดิมนำส่งได้ 1,000 ชิ้น ก็เหลือแค่ 600 ชิ้นเท่านั้น ปัญหานี้เริ่มเห็นชัดขึ้นตั้งแต่หลังวิกฤตน้ำท่วมเป็นต้นมา ต่างจากในอดีตที่ลูกจ้างจะอยู่กันยาว ๆ"

นายปิยวัฒน์กล่าวต่อว่า ทางแก้ไขในขณะนี้ นอกจากให้พนักงานระดับหัวหน้างานและฝ่ายบุคคลลงมาช่วยแล้ว ยังพยายามผลักดันให้มีการเพิ่มกรอบอัตรากำลัง เพื่อให้กลุ่มลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปีมีโอกาสบรรจุเป็นลูกจ้างประจำซึ่งมีสวัสดิการมั่นคงกว่า เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น และแก้ปัญหาเรื่องการโดนดึงตัวจากภาคอุตสาหกรรมอื่น

"แม้เราจะมีโรงเรียนไปรษณีย์ที่ผลิตบุคลากรให้ปีละราว 100 คน แต่ส่วนใหญ่จบมาจะทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รับฝากหน้าเคาน์เตอร์ และผลิตเพื่อทดแทนพนักงานที่เกษียณอายุแต่ละปี ขณะที่จุดที่ขาดแคลนแรงงานเป็นพนักงานคัดแยกและนำจ่ายที่ต้องทำงานท่ามกลาง ความร้อน และต้องไว้ใจได้ โดยต้องมีการดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคุณภาพบริการ ซึ่งปัญหาการเพิ่มอัตรากำลังฝ่ายบริหารยังมองไม่ตรงกัน บางส่วนมองว่าทำให้มีค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ แต่ยืนยันได้ว่าเรากำลังพยายามแก้ปัญหากันนี้อยู่"

สำหรับปัญหาไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหายระหว่างนำส่ง เนื่องจากมีพนักงานกว่า 10,000 คน อาจรั่วไหลได้ง่าย บริษัทจึงเพิ่มกล้องวงจรปิด รวมถึงในกระบวนการคัดแยกมีการแบ่งทีมทำงานเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 6-7 คน ทั้งให้มีหัวหน้างานคอยกำกับดูแลแต่ละกลุ่มใกล้ชิด และมีการสุ่มตรวจตลอดเวลา ถ้าพบเห็นสิ่งผิดปกติหรือไม่พึงพอใจบริการแจ้งข้อมูลเข้ามายังบริษัทได้

ปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทยมีพนักงานนำจ่ายจดหมายและพัสดุทั่วประเทศ 11,000 คน เป็นลูกจ้างชั่วคราว 20% ที่เหลือเป็นลูกจ้างประจำและพนักงานบริษัท มีพนักงานทำหน้าที่คัดแยกประมาณ 3,000 คน

(ประชาชาติธุรกิจ, 8-7-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น