โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อียิปต์ ประชาชนฝ่ายต้าน-หนุนปธน. ปะทะกันตายแล้ว 10 เจ็บ 210

Posted: 05 Jul 2013 01:17 PM PDT

การปะทะกันเริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซีถูกทหารยิงเสียชีวิต 3 คน มวลชนทั้งสองฝ่ายโยนดอกไม้ไฟและก้อนหินเข้าใส่กัน โดยฝ่ายสนับสนุนปธน. ประกาศชุมนุมจนกว่าปธน. คืนสู่ตำแหน่ง

เวลาประมาณ 2.30 น. ตามเวลาประเทศไทย สถานี France 24 รายงานสดเหตุการณ์ปะทะกันบริเวณใกล้จตุรัสทารีห์ กรุงไคโรประเทศอีปต์ ระบุ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 10 คน บาดเจ็บ 210 คน

บีบีซี รายงานว่า การปะทะกันเริ่มขึ้นในช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซีถูกทหารยิงเสียชีวิต 3 คน

ก่อนหน้านั้น โมฮัมเหม็ด บาดี ผู้นำภราดรภาพมุสลิมซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่ราบาห์ อัล-อาดาวิยาห์ มัสยิดโดยวางเงื่อนไขชุมนุมต่อเนื่องจนกว่าประธานาธิบดีมอร์ซีจะกลับคืนสู่ตำแหน่ง จากนั้นมวลชนได้เคลื่อนตัวผ่านสะพาน 6 ตุลาคม ข้ามแม่น้ำไนล์มุ่งหน้าไปยังจุตุรัสทารีห์เพื่อรวมตัวกับผู้ชุมนุมสนับสนุนประธานาธิบดีจำนวนมากที่ปักหลักอยู่ ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกันกับที่ผู้ชุมนุมต่อต้านมอร์ซีและสนับสนุนการรัฐประหารเมื่อวันพุธที่ผ่านมารวมตัวกันอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน จากนั้นจึงเกิดการปะทะกันทั้งสองฝ่ายโดยต่างโยนดอกไม้ไฟและก้อนหินเข้าใส่กัน

เดอะการ์เดียนรายงานว่า เจเรมี โบเวน บ.ก.ข่าวตะวันออกกลางของบีบีซีได้รับบาดเจ็บเนื่องจากถูกกระสุนลูกปรายถากศีรษะ ขณะทำหน้าที่อยู่ในเหตุปะทะ

 

 

เรียบเรียงจาก

LIVE: Morsi supporters and opponents clash in Cairo
Egypt clashes after army fire kills Morsi supporters
BBC journalist Jeremy Bowen wounded in Egypt
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานมิถุนายน 2556

Posted: 05 Jul 2013 10:11 AM PDT

"อียู" ยืดลดงบฯขาดดุล แลก "ปฏิรูปตลาดแรงงาน"
 
2 มิ.ย. 56 - คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมขยายเวลาให้ฝรั่งเศสและสมาชิกอีก 5 ชาติมีเวลาหายใจหายคอ สำหรับการลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณให้ได้ตามเกณฑ์ของสหภาพยุโรป พร้อมกดดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศยกเครื่องตลาดแรงงาน ระบบเงินบำนาญและสวัสดิการสังคมอื่น ๆ ซึ่งมีแนวโน้มจะกระตุ้นความไม่พอใจของประชาชนภายในประเทศ
 
วอลล์สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของอียูยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการจ้างงานและระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยืดเวลาลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณของแต่ละชาติให้เหลือไม่เกิน3% ของจีดีพี ข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างครั้งนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาความวิตกในประเทศแถบยุโรปเหนือ นำโดยเยอรมนีที่หวั่นว่าการขยายเวลาจะเป็นการอ่อนข้อให้ประเทศที่ไร้วินัยการคลังจนเกินไป
 
ภายใต้กฎเกณฑ์อันเข้มงวดของอียูและวิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาล 27 ชาติชาติสมาชิกอียูจำเป็นต้องตัดลดรายจ่าย ตลอดจนขึ้นภาษีเพื่อรักษาสถานะการคลังของประเทศ แต่มาตรการเหล่านั้นกลับผลักชาติยุโรปเข้าสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอีกรอบ หลังจากเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกปี 2551 
 
เพื่อแสดงให้เห็นว่า กฎเกณฑ์ของอียูด้านงบประมาณสามารถปรับใช้ได้กับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันแปรไป คณะกรรมาธิการยุโรปจึงตัดสินใจขยายเวลาให้ฝรั่งเศส สเปน โปแลนด์ รวมถึงสโลวีเนีย อีก 2 ปี และ 1 ปี สำหรับเนเธอร์แลนด์กับโปรตุเกส ในการลดตัวเลขขาดดุลงบฯให้ได้ตามเป้า 
 
ระยะเวลาที่ยืดออกไปมาพร้อมเงื่อนไขให้รัฐบาลทั้ง 6 ชาติข้างต้นเร่งขจัดหรือปรับปรุงแก้ไขปัจจัยที่เป็นตัวถ่วง จนทำให้อัตราการว่างงานในบางประเทศแตะเลข 2 หลัก และหนี้สาธารณะพอกพูนอย่างรวดเร็ว
 
โดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับ 2 ของยูโรโซน ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาผู้ส่งออกแดนน้ำหอมต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเป็นจำนวนมาก สวนทางกับเยอรมนีที่การส่งออกดีวันดีคืน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปตลาดแรงงานช่วงต้นทศวรรษที่แล้ว ซึ่งช่วยเปลี่ยนเยอรมนีมาเป็นประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำสุดแห่งหนึ่งในยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปกระตุ้นให้เมืองน้ำหอมเรียนรู้จากเมืองเบียร์ และหาทางลดต้นทุนแรงงานให้สำเร็จโดยเร็ว
 
โอลี เรห์น คณะกรรมาธิการยุโรปด้านกิจการเศรษฐกิจและการเงิน เน้นย้ำว่า "สำคัญและจำเป็นมากทีฝรั่งเศสจะใช้เวลาที่ได้รับเพิ่ม ต่อสู้กับปัญหาที่เป็นอุปสรรรคต่อความสามารถในการแข่งขัน" โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการชุดนีเคยวิพากษ์วิจารณ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในฝรั่งเศส และแนะให้ลดสวัสดิการแรงงาน ตลอดจนเงินยังชีพสำหรับผู้ว่างงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หางานใหม่
 
ด้าน ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์รวมถึงรัฐมนตรีคลัง ปิแอร์ มอสโควิชิ แห่งเมืองน้ำหอม มีท่าทีตอบรับต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยระบุว่าสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่
 
คณะกรรมาธิการยุโรปยังแนะสเปนซึ่งได้รับการขยายระยะเวลาลดงบประมาณเป็นครั้งที่สามให้เดินหน้าแผนปรับโครงสร้างตลาดแรงงานที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปีกลาย แม้ว่าจะถูกประชาชนคัดค้านอย่างหนัก 
 
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้เยอรมนีรักษาสภาวะที่หนุนให้ค่าแรงภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นดีมานด์ต่อสินค้าต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของประเทศอื่น ๆ ในอียูกระเตื้องตามไปด้วย
 
ส่วนอิตาลี แม้จะไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยืดเวลาลดการขาดดุลงบฯ เพราะมีแนวโน้มที่จะลดการขาดดุลเหลือใกล้ 3% ภายในสิ้นปีนี้ แต่รัฐบาลประเทศดังกล่าวก็ยังมีการบ้านต้องสะสางหลายเรื่อง ทั้งการปฏิรูประบบสวัสดิการ การใช้จ่ายงบประมาณ และการมีประสิทธิภาพของระบบราชการ
 
 
'ชิคาโก ซัน-ไทมส์' ปลดช่างภาพทั้งหมด-เทรนนักข่าวใช้ไอโฟน
 
3 มิ.ย. 56 - หนังสือพิมพ์ชิคาโก ซัน-ไทมส์ ของสหรัฐอเมริกาไล่ช่างภาพทั้งทีมจำนวน 28 คน ออก พร้อมวางแผนอบรมถ่ายภาพด้วยไอโฟนเบื้องต้นให้นักข่าว
 
แหล่งข่าวระบุว่า ช่างภาพซึ่งเป็นพนักงานประจำทั้ง 28 คน ได้ทราบข่าวการเลิกจ้างนี้เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยให้มีผลทันที
 
โรเบิร์ต เฟเดอร์ บล็อกเกอร์และคอลัมนิสต์ด้านสื่อ โพสต์ในเฟซบุ๊กของเขาว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (31 พ.ค.) นักข่าวของชิคาโก ซัน-ไทมส์ ต้องเข้าร่วมการอบรมภาคบังคับเรื่องการถ่ายภาพด้วยไอโฟนเบื้องต้น หลังจากปลดช่างภาพออกทั้งหมด
 
ด้านหนังสือพิมพ์ชิคาโก ซัน-ไทมส์ เผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่า ธุรกิจของซัน-ไทมส์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้อ่านก็มองหาเนื้อหาข่าวในรูปแบบวิดีโอมากขึ้น โดยองค์กรได้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการนี้และได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสามารถในการรายงานข่าวด้วยวิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ
 
หนึ่งในผู้ที่ถูกปลดออก รวมถึง จอห์น เอช ไวท์ ช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ สาขาภาพสารคดี ในปี 1982 ด้วย
 
หลังการประกาศดังกล่าว สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์ชิคาโกระบุว่ากำลังพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายกับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้รับพนักงานกลับเข้าทำงาน โดยช่างภาพ 28 คนที่ถูกไล่ออกนั้นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 20 คน
 
 
ม็อบแรงงานกัมพูชาร้องขึ้นค่าจ้างปะทะ จนท.บาดเจ็บหลายคน
 
4 มิ.ย. 56 - คนงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชารวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง  และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคน
 
คนงานราว 4,000 คน ของโรงงานในจังหวัดกำปงสะปือ ที่ผลิตชุดกีฬาให้กับบริษัทไนกี้ของสหรัฐพากันผละงานประท้วงเพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าผู้ประท้วงใช้ท่อนไม้และก้อนอิฐเป็นอาวุธ ทุบทำลายกระจกหน้าต่างโรงงานก่อนที่จะเกิดการปะทะกับผู้ร่วมงานที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ทางการได้ส่งตำรวจและทหารราว 1,000 คน เข้ามายุติเหตุการณ์และสลายกลุ่มผู้ประท้วง เป็นผลให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บไป 11 คน ขณะที่ผู้ประท้วงบาดเจ็บไป 8 คน สำหรับบริษัทไนกี้นั้นมีโรงงานอยู่ในกัมพูชารวม 5 แห่ง แต่ผลผลิตที่ได้คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของผลผลิตทั่วโลกของไนกี้เท่านั้น
 
 
"ซิงก้า" เลย์ออฟพนักงาน 520 ชีวิต ปิดออฟฟิศ 4 แห่ง
 
4 มิ.ย. 56 -  "ซิงก้า"(Zynga) บริษัทผู้พัฒนาเกมบนโซเชียลเน็ตเวิร์คเจ้าของเกมดังอย่าง ฟาร์มวิลล์(Farmville) ประกาศเลย์ออฟปลดพนักงานออก 520 คน คิดเป็น 18 เปอร์เซนต์ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
       
การเลย์ออฟปลดพนักงานครั้งนี้จะมีผลกระทบกับสต๊าฟพนักงานทุกสาขาของซิงก้า งานนี้ซิงก้าจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับเหล่าพนักงานที่เลย์ออฟออกไป การปรับลดพนักงานจะเกิดขึ้นในทุกฟังก์ชันธุรกิจของซิงก้า และคาดว่าการเลย์ออฟจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนสิงหาคมนี้
       
การปรับลดพนักงานรอบนี้ส่งผลให้ซิงก้าต้องปิดตัว 4 ออฟฟิศ ในนิวยอร์ก , ลอสแองเจลลิส , ออสติน และดัลลัส รวมถึงต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคพื้นฐานไปด้วย
       
"มาร์ค ปินคัส" ซีอีโอของซิงก้า ที่ก่อนหน้านี้ได้แสดงสปิริตด้วยการลดรายได้ของตัวเองลงเหลือ 1 เหรียญสหรัฐ ได้พูดถึงการเลย์ออฟปลดพนักงานครั้งนี้ว่าเป็นความเจ็บปวด แต่เป็นสิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้บริษัทก้าวต่อไปข้างหน้าได้
 
"พวกเราไม่เคยคิดว่าจะต้องพบกับเหตุการณ์อย่างวันนี้ เนื่องจากวัฒนธรรมเกมของพวกเราได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผมคิดว่าทุกคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการเดินก้าวต่อไปข้างหน้า"
       
มาร์ค ปินคัส ระบุว่าการลดพนักงานและปรับโครงสร้างองค์กรกระทำด้วยความมั่นใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของซิงก้าที่ต้องการเชื่อมต่อกับโลกผ่านเกม "จากการลดต้นทุนโครงสร้างในวันนี้ เราจะนำเสนอกับทีมงานเกี่ยวกับมุมมองด้านความเสี่ยงและการพัฒนาที่ดีเพื่อให้ประสบการณ์เกมใหม่บนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คออกมาได้รับความนิยม"
       
สำหรับเรื่องค่าชดเชยนั้น ทางมาร์ค ปินคัส ระบุว่าทางซิงก้าจะมีเงินค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตอบแทนให้กับพนักงานอย่างงดงาม เพื่อเป็นการขอบคุณและสำนึกในบุญคุณของเหล่าพนักงานที่ทุ่มเทให้เวลากับผลงานดีๆที่เคยทำออกมา
 
"ผมต้องการแสดงความขอบคุณทุกคนที่ได้ทุ่มเทพลังงานและความคิดในระหว่างที่ทำงานให้กับซิงก้า พวกคุณได้ทำให้ผู้คนหลากหลายรุ่นได้มาเล่นเกม และการเล่นเกมที่ว่านี้ก็เป็นช่องทางใหม่ในการเชื่อมต่อระหว่างคนในครอบครัว , เพื่อนใหม่ หรือแม้แต่กระทั่งคนรัก"
 
 
ทางการซาอุฯเผย มีแรงงาน "โรบินฮูด" กว่า 180,000 คนยอมออกนอกประเทศ ตั้งแต่เม.ย.
 
9 มิ.ย. 56 - รายงานจากหนังสือพิมพ์รายวัน "โอกาซ" ซึ่งอ้างคำพูดของบาเดอร์ มาเล็คโฆษกสำนักงานหนังสือเดินทางของซาอุดีอาระเบียระบุว่าตั้งแต่เริ่มเดือนเมษายน จนกระทั่งถึงต้นเดือนมิถุนายน มีแรงงานผิดกฏหมายชาวต่างชาติ 180,000 คนเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว และเมื่อนับรวมตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา แรงงานต่างชาติที่เดินทางออกจากซาอุดีอาระเบียมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 380,000 คน
       
การไหลทะลักออกนอกประเทศของแรงงานต่างด้าวเถื่อนในซาอุดีอาระเบียมีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลของราชอาณาจักรกลางทะเลทรายซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมันแห่งนี้ประกาศมาตรการนิรโทษกรรมซึ่งระบุจะไม่ดำเนินคดีตามกฏหมายแก่ผู้ที่ลักลอบเข้าเมือง หากพวก "โรบินฮูด" เหล่านี้ ยินยอมเดินทางออกนอกประเทศก่อนเส้นตายในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้
       
แต่หากแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายรายใดยังคงดื้อดึงที่จะอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆในซาอุดีอาระเบียต่อไปหลังจากวันที่ 3 กรกฎาคม ก็จะต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุดนานถึง 2 ปีหากถูกจับกุมได้ และต้องถูกปรับเป็นเงินกว่า 27,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 827,500บาท)
       
ทั้งนี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเผยข้อมูลว่าปัจจุบันมีชาวต่างชาติถึง 8 ล้านคนเข้ามาทำงานในประเทศของตน นอกเหนือจากนั้นยังมีแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฏหมายอีกราว 2 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ รวมถึงชาติเพื่อนบ้านอาหรับที่ยากจน ขณะที่ทางการซาอุฯเองกำลังต้องการสร้างงานให้กับพลเมืองของตัวเองหลังอัตราว่างงานในประเทศพุ่งสูง จึงเตรียมหันมาปรับลดจำนวนแรงงานต่างชาติลง แม้ในความเป็นจริงแล้ว จะเป็นที่ทราบกันดีว่า พลเมืองซาอุฯเอง ไม่ยอมประกอบอาชีพหลายอาชีพซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำ
 
 
แรงงานอินโดนีเซียปะทะตำรวจหน้าสถานกงสุลในซาอุดีอาระเบีย
 
9 มิ.ย. 56 - แรงงานชาวอินโดนีเซียจุดไฟเผากำแพงอาคารสถานกงสุลอินโดนีเซียในเมืองเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบียและปะทะกับตำรวจด้วยความไม่พอใจที่ต้องค้างคืนรอนอกอาคารท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด
 
ทางการซาอุดีอาระเบียจะเริ่มปราบปรามแรงงานเถื่อนตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ทำให้แรงงานต่างชาติหลายแสนคนแห่ไปยังหน่วยงานราชการ สถานทูตและสถานกงสุลเพื่อยื่นแก้ไขสถานภาพการเข้าเมืองให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะถูกเนรเทศกลับ ส่งผลให้สถานที่เหล่านั้นแน่นขนัดและเจ้าหน้าที่ทำงานไม่ทัน ตำรวจเมืองเจดดาห์แจ้งว่า แรงงานอินโดนีเซียได้แย่งกันเข้าไปในสถานกงสุลจนมีคนบาดเจ็บ ขณะที่แรงงานด้านนอกขว้างปาก้อนหินและขวดน้ำใส่ตำรวจที่ยิงปืนขึ้นฟ้า และมีผู้เผากำแพงอาคาร จนกระทั่งตำรวจสามารถยุติเหตุการณ์ได้ในที่สุด จากนั้นแรงงานพากันรอที่นอกอาคารอย่างสงบ บางส่วนเข้าไปรอในเต็นท์ 20-30 หลัง มีการแจกจ่ายหรือจำหน่ายน้ำและอาหารให้ระหว่างนั้น
 
ข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางซาอุดีอาระเบียระบุว่า ตำแหน่งในบริษัทเอกชนราว 9 ใน 10 ตำแหน่งเป็นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศประมาณ 9 ล้านคน ทางการได้กำหนดโควตาตำแหน่งงานให้แก่แรงงานในประเทศ และเก็บค่าธรรมเนียมรายปีกับบริษัทที่มีคนงานต่างชาติมากกว่าชาวซาอุดีอาระเบีย 2,400 ริยาล (ราว 19,200 บาท) ต่อคนงานต่างชาติ 1 คน
 
 
แรงงานหญิงดับ 1 ในเหตุวางเพลิงประท้วงกงสุลอินโดฯ ในซาอุฯ
 
10 มิ.ย. 56 - แรงงานหญิงแดนอิเหนาคนหนึ่งเสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) จากเหตุเพลิงไหม้ที่จุดขึ้นโดยพวกคนงานด้วยกันเองที่บริเวณด้านนอกสถานกงสุลอินโดนีเซีย ในเมืองทางภาคตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย ในขณะที่มีแรงงานนับพันตบเท้าเข้ามาแก้ไขสถานะการทำงานของตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แหล่งข่าวของสถานกงสุลรายหนึ่งเปิดเผย
       
ชาวอินโดนีเซียราว 8,000 คนมารวมตัวกันนอกกำแพงกงสุลอินโดฯ ประจำเมืองเจดดาห์ เพื่อขอยื่นเรื่องให้เจ้าหน้าผู้มีอำนาจทำการแก้ไขเอกสารรับรองสถานะของตนให้ถูกต้อง เนื่องจากราชอาณาจักรซาอุฯ ได้ขีดเส้นตายให้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีสถานะผิดกฎหมายจัดการแก้ไขให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะต้องกลับประเทศ
       
ในระหว่างนั้นเอง "แรงงานบางส่วนวางเพลิงบริเวณใกล้กำแพงของสถานกงสุล ด้วยหวังที่จะใช้กำลังบุกเข้าไปด้านใน แต่เพลิงที่ลุกไหม้ทำให้มีผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิต" แหล่งข่าวให้ข้อมูล
       
ก่อนที่เพลิงจะลุกไหม้ขึ้น แรงงานชาวอินโดนีเซียได้ขว้างก้อนอิฐก้อนหินใส่สถานกงสุล เพราะโมโหที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้รอนาน ทำให้เกรงว่าจะจัดการเอกสารได้ไม่ทันกำหนด
       
เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นด้านนอกกำแพง จึงทำให้ตัวอาคารของสถานกงสุลไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด แหล่งข่าวของสถานกงสุลรายงาน
       
ทางด้านตำรวจซาอุฯ ยืนยันว่าเพลิงที่ลุกไหม้ทำให้มีผู้บาดเจ็บบางส่วน แต่ไม่มีการกล่าวถึงผู้เสียชีวิต
       
"ขณะนี้เพลิงสงบลงแล้ว" แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งให้ข้อมูล
       
ทางการซาอุฯ ได้ออกเงื่อนไขนิรโทษกรรม โดยอนุญาตให้แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายสามารถยื่นเรื่องขอแก้ไขสถานะให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องออกจากประเทศไปโดยที่ไม่มีการลงโทษ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงานไว้เมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) ว่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน มีแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะผิดกฎหมายราว 180,000 คน ออกจากประเทศซาอุดีอาระเบีย
       
ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ยอดแรงงานข้ามชาติที่ออกจากประเทศซาอุดีอาระเบียตั้งแต่เมื่อต้นปีมีมากถึง 380,000 คน
       
มาตรการดังกล่าวทำให้แรงงานที่ไม่มีเอกสารรับรองที่ถูกต้องรู้สึกกังวลใจมากขึ้น เนื่องจากหลังวันที่ 3 กรกฎาคมเป็นต้นไป อาณาจักรเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้ได้กำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานข้ามชาติต้องได้รับบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 ริยาล (810,000 บาท)
       
ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในดินแดนแห่งนี้ถึง 8 ล้านคน นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ยังมีแรงงานอีก 2 ล้านคนที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน
 
การที่ดินแดนเศรษฐีน้ำมันออกมาตรการเช่นนี้ เนื่องจากตั้งเป้าที่จะสร้างอาชีพให้ชาวซาอุฯ ที่ว่างงาน โดยใช้วิธีลดจำนวนแรงงานข้ามชาติลง ถึงแม้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากจะทำงานชั้นต่ำที่ชาวซาอุดิอาระเบียไม่นิยม
       
ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลกแห่งนี้ คือ เหมืองทองของคนนับล้าน ที่มาจากประเทศยากจนในทวีปเอเชียและกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งประสบกับปัญหาการว่างงานภายในประเทศตนเอง
 
 
หวั่น "อาเบะโนมิกส์" เหลว เมินปฏิรูปตลาดแรงงาน
 
10 มิ.ย. 56 - ซีเอ็นเอ็นมันนี่ ระบุว่า แผนที่ถูกขนานนามว่า "อาเบะโนมิกส์" ตาม นายชินโสะ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่น ประกอบด้วย 3 มาตรการหลักหรือลูกธนู 3 ดอก ได้แก่ เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลาง (BOJ) และการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง
 
โดยอาเบะเชื่อว่ามาตรการข้างต้น จะช่วยดึงราคาสินค้าให้พุ่งขึ้น สิ้นสุดภาวะเงินฝืดที่ยาวนานกว่าทศวรรษ และช่วยให้เศรษฐกิจแดนปลาดิบกลับมาผงาดในเวทีโลกอีกครั้ง
 
ลูกธนูดอก ที่ 1 และ 2 เริ่มใช้ไปแล้ว เหลือดอกที่ 3 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นหัวใจหลักที่จะชี้ชะตาว่าแผนของอาเบะจะประสบความ สำเร็จหรือไม่ จากการรายงานของซีเอ็นบีซี ล่าสุดสุนทรพจน์ของนายกฯญี่ปุ่นแย้มว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ต่อหัวให้ถึง 1.5 ล้านเยน ภายใน 10 ปี และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติเป็น 2 เท่าภายในปี 2563 โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดจนลดหย่อนภาษีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับหลายเซ็กเตอร์
 
โดยมาตรการดังกล่าวจะ เริ่มบังคับใช้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) นี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า การทอดเวลาออกไปแทนที่จะดำเนินการโดยเร็ว เป็นเพราะอาเบะต้องการหลีกเลี่ยงความไม่พอใจของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงที่จะมีขึ้นในเดือนหน้าและหากพรรดแอลดีพีต้น สังกัดของอาเบะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาสูง การผลักดันกฎหมายของรัฐบาลก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น
 
แม้จะอัดแน่นด้วย มาตรการหลากหลาย แต่สุนทรพจน์ของอาเบะกลับสร้างความผิดหวังให้ตลาดที่ต้องการเห็นการปฏิรูป เชิงรุก โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน 
 
เนื่องจากแรงงานทั่วไปที่ทำงานเต็ม เวลาได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากกฎหมาย ทำให้นายจ้างไม่สามารถปลดพนักงานออกได้แม้บริษัทขาดทุน ข้อดีของกฎหมายปัจจุบันคืออัตราว่างงานของญี่ปุ่นอยู่ที่เพียง 4.1% ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจซบเซา ส่วนข้อเสีย ได้แก่ ทำให้นายจ้างไม่ยอมเพิ่มจำนวนพนักงานเต็มเวลา โดยปัจจุบันลูกจ้างมากกว่า 1 ใน 3 ของญี่ปุ่นเป็นพนักงานชั่วคราวหรือพาร์ตไทม์ และยังมีส่วนทำให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นล้าหลังบริษัทต่างชาติ เนื่องจากเจอปัญหายุ่งยากในการปิดโรงงานที่ไม่ทำกำไรซึ่งหมายถึงการลอยแพ พนักงานด้วย
 
ไม่เพียงเท่านั้น ผลของลูกธนูดอกที่ 2 ช่วงแรกทำให้ค่าเงินเยนก็อ่อนลงอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มกำไรให้ผู้ส่งออกและผลักดันดัชนีนิกเคอิสูงทุบสถิติในรอบหลายปี จนสัปดาห์ที่แล้วตลาดหุ้นญี่ปุ่นเริ่มฟุบ มีการ
 
เทขายอย่างหนักหลาย วัน เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจศักยภาพของอาเบะโนมิกส์ ตลอดจนกังวลว่าผลข้างเคียงที่เกิดจากการทุ่มเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะยิ่ง ซ้ำเติมปัญหาหนี้สาธารณะที่วิกฤตอยู่แล้ว
 
นักเศรษฐศาสตร์แนะให้รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งสะสางปัญหาหนี้สินของประเทศที่คาดว่าจะพอกพูนถึง 230% ของจีดีพีภายใน
 
ปี 2557 ด้วยการคลอดแผนตัดลดสวัสดิการและขึ้นภาษีในระยะกลาง ส่วนองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แม้ไม่ได้คัดค้าน
 
อาเบะโนมิกส์ แต่ก็เตือนให้ญี่ปุ่นหาแนวทางควบคุมหนี้สาธารณะโดยเร็ว 
 
นอก จากนี้ยังมีความวิตกว่า อานิสงส์ของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะตกไปอยู่ที่ตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ไปไม่ถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง จนถึงขณะนี้ค่าจ้างแรงงานยังคงที่ ส่วนยอดขายปลีก ยังน่าผิดหวัง
 
อีกด้านหนึ่ง BOJ พยายามซื้อพันธบัตรระยะยาวอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงราคาให้สูง ซึ่งในอีกด้านหนึ่งคือการฉุดอัตรา
 
ผล ตอบแทนให้ต่ำ หวังกระตุ้นให้นักลงทุนนำเงินไปซื้อสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทว่า หลังมีเสถียรภาพอยู่ระยะหนึ่ง ราคาพันธบัตรญี่ปุ่นเริ่มร่วง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีขยับแตะ 1% ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งสูงที่สุดในรอบมากกว่า 1 ปี
 
นัก เศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของ BOJ มีจุดประสงค์ที่ขัดแย้งกันเอง ด้านหนึ่งพยายามลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร อีกด้านหนึ่งหาทางเพิ่มอัตราเงินเฟ้อซึ่งมีผลกดดันให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้น
 
ปัญหาเหล่านี้ และความเชื่อมั่นของตลาดที่เริ่มสั่นคลอน อาจทำให้อาเบะโนมิกส์เป็นแค่แผนล้มเหลวอีกแผนหนึ่งเท่านั้น
 
 
แรงงานกัมพูชาหลายร้อยคนถูกไล่ออกจากโรงงานไนกี้
 
11 มิ.ย. 56 -  แรงงานหลายร้อยคนถูกไล่ออกจากโรงงานในกัมพูชาที่ผลิตชุดกีฬาให้แก่บริษัทไนกี้ของสหรัฐฯ หลังเกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้งเกี่ยวกับค่าแรง สหภาพแรงงานระบุวานนี้ (11) และกล่าวประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และผิดกฎหมาย
       
"แรงงานเหล่านั้นถูกบังคับให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินชดเชย นี่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย" นายมาน เซ็ง ฮัก แกนนำสหภาพแรงงาน กล่าว และระบุว่า มีแรงงานเกือบ 300 คน ถูกไล่ออก
       
"นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงโทษแรงงานเพื่อไม่ให้มีการจัดชุมนุมประท้วงกันอีก เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้" แกนนำคนเดิมกล่าวและว่า กลุ่มของเขาจะร้องเรียนไปยังรัฐบาล
       
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคิดเห็นจากเจ้าของโรงงานเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
       
แรงงานกัมพูชาจัดชุมนุมประท้วงหลายครั้งเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจเกี่ยวกับค่าแรงต่ำและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่ผลิตสินค้าให้แก่แบรนด์ดังของชาติตะวันตก
       
แรงงานอย่างน้อย 10 คน ได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมประท้วงที่โรงงานซาบริน่า แคมโบเดีย การ์เม้นท์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง ใน จ.กำปงสะปือ ที่ผลิตสินค้าให้แก่บริษัทไนกี้ และสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลถูกกล่าวหาว่าใช้กระบองเข้าทำร้ายผู้ชุมนุมประท้วง และผู้ชุมนุมประท้วงได้ระบุว่า หญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจนแท้งลูกในการสลายการชุมนุมครั้งดังกล่าว และยังกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุม
       
อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชา ที่มีแรงงานราว 650,000 คน และผลิตเสื้อผ้าให้แก่แบรนด์ชั้นนำของชาติตะวันตกหลายบริษัท ถือเป็นแหล่งที่มาของรายได้จากต่างชาติที่สำคัญของประเทศ.
 
 
UN เผย มีเด็กมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องทำงานเป็นคนรับใช้ เสี่ยงถูกกระทำเยี่ยงทาส
 
12 มิ.ย. 56 - มีเด็กจำนวนมากถึง 10.5 ล้านคนจากทั่วโลก ที่ต้องทำงานเป็นคนรับใช้ ในบ้าน และอาจตกอยู่ในสภาวะการทำงานที่อันตราย หรือถูกกระทำเยี่ยงทาส องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) แถลงเมื่อวันพุธ (12)
       
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ซึ่งเป็นองค์กรชำนาญการพิเศษของสหประชาชาติ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกือบ 3 ใน 4 ของเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กผู้หญิง และมีเด็กรับใช้จำนวน 6.5 ล้านคนทีเดียว ที่อยู่ในช่วงอายุ 5 ถึง 14 ปีเท่านั้น
       
ข้อเท็จจริงนี้สวนทางกับความพยายามที่จะยุติการเอารัดเอาเปรียบเด็กในระดับนานาชาติ คอนสแตนซ์ โทมัส ผู้อำนวยการโครงการขจัดปัญหาแรงงานเด็กของ ILO ชี้แจง
       
ทั้งนี้เธอได้แถลงว่า สถานการณ์ที่เด็กรับใช้ในบ้านจำนวนมากกำลังประสบอยู่ ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กขั้นรุนแรง แต่ได้กลายเป็นอุปสรรคที่คอยขัดขวางไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ
       
การใช้แรงงานเด็กทำงานบ้านเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ถึงแม้ว่าจะพบปัญหานี้มากที่สุดในทวีปแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา โดยเฉพาะ ประเทศเบอร์กินาฟาโซ กาน่า ไอเวอรีโคสต์ และมาลี ตามข้อมูลที่ ILO ระบุ
       
รายงาน 87 หน้า ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ยังได้เน้นย้ำอีกว่า บางครั้ง ครอบครัวในชนบทของปากีสถานและเนปาลจะถูกบังคับให้ส่งลูกของตัวเองไปเป็นเด็กรับใช้ภายในบ้านเพื่อเป็นการชดใช้หนี้
       
ส่วนในประเทศเฮติ มีเด็กเป็นแสนๆ คน รวมถึงผู้ที่หลบหนีภัยธรรมชาติ ลงท้ายด้วยการทำงานรับใช้ในบ้านซึ่งก็ไม่ได้ดีกว่าการเป็นทาส
       
ในขณะที่เด็กสาวชาวเอธิโอเปีย ในแต่ละปีจะถูกส่งไปเป็นคนรับใช้ในตะวันออกกลางเป็นพันๆ คน
       
ILO ระบุว่า โดยปกติแล้ว เด็กเหล่านี้จะทำงานในบ้านของเจ้านาย โดยรับผิดชอบงานประเภท ทำความสะอาด รีดผ้า ทำอาหาร ทำสวน หาบน้ำ เลี้ยงเด็ก และดูแลผู้สูงอายุ
       
เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกทารุณทางร่างกาย จิตใจ และถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงต้องทำงานในสภาวะที่อันตราย พวกเขามักจะต้องแยกจากครอบครัว โดยไม่มีใครคอยสอดส่องดูแล และต้องพึ่งพานายจ้างตลอดเวลา
       
นอกจากนี้ เด็กเหล่านี้ยังเสี่ยงที่จะถูกบังคับให้ค้าประเวณี ILO แถลง
       
"เราต้องการกฎหมายที่เข้มงวดซึ่งสามารถระบุอย่างชัดเจน ป้องกันและขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กภายในบ้านให้หมดไป รวมทั้งช่วยให้วัยรุ่นได้ทำงานในสภาพบรรยากาศที่เหมาะสมเมื่อพวกเขาถึงวัยที่กฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้แล้ว" โทมัสแถลง
       
ในรายงานระบุว่าหลายๆ ประเทศไม่ได้พิจารณาว่าการมีเด็กรับใช้ในบ้านเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้แรงงานเด็ก เนื่องจากลูกจ้างและครอบครัวของนายจ้างมีความสัมพันธ์ที่คลุมเครือ
       
กล่าวคือ ในขณะที่เด็กเหล่านี้เป็นลูกจ้าง กลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแรงงาน และแม้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกับนายจ้าง แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนคนในครอบครัว รายงานระบุ
       
"สภาวะสูญญากาศของความห่วงใย" เช่นนี้ เปิดโอกาสให้มีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องยากที่เด็กๆ เหล่านี้จะได้รับการปกป้องเพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ใครเห็น
       
ข้อมูลทางสถิติของ ILO ระบุว่า เด็กรับใช้ในบ้านคิดเป็น 5 เปอร์เซนต์ของเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีที่ได้รับการว่าจ้างงานทั่วโลก
 
 
กรีซสั่งปิดสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเพื่อปรับลดคนงานลง 2,500 คน 
 
12 มิ.ย. 56 - รัฐบาลกรีซสั่งปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐบาลทุกแห่งไม่มีกำหนด เพื่อปรับลดคนงานลง 2,500 คน ตามแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ตามเงื่อนไขของผู้ให้กู้ยืม
 
แถลงการณ์ของรัฐบาลกรีซ ระบุว่า การปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐทุกแห่งจะทำเป็นการชั่วคราว และจะเปิดทำการใหม่อีกครั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากปรับลดคนงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่อาจระบุออกมาอย่างชัดเจนว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน และจะเปิดสถานีได้อีกครั้งเมื่อใด ถือเป็นการปรับลดคนงานภาครัฐครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับแต่เริ่มใช้มาตรการลดรายจ่ายเป็นต้นมา ขณะที่ภาคเอกชนได้รับผลกระทบแล้วเกือบ 1 ล้านคน ที่ต้องกลายเป็นคนว่างงาน
 
ทันทีที่ประกาศออกมา พนักงานสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ERT และนักเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรการลดรายจ่าย รวมถึง ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกสหภาพแรงงานราว 2,000 คน ก็ออกมาชุมนุมประท้วงทันที ขณะที่นายซีมอส เคดิโคกลู โฆษกรัฐบาล ซึ่งเคยเป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ของรัฐมาก่อน เปิดเผยว่า สถานีโทรทัศน์ ERT เป็นที่รวมแห่งความสิ้นเปลืองมากกว่าสถานีอื่นๆ ถึง 7 เท่า และมีบุคลากรมากกว่าที่อื่นถึง 6 เท่า ทั้งนี้ คนงาน 2,500 คน ที่ต้องตกงานจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย
 
ด้านสถานีโทรทัศน์เอกชนในกรีซ พากันระงับรายการข่าวอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากสหภาพแรงงานเรียกร้องให้มีการผละงานสายฟ้าแลบเป็นเวลา 6 ชั่วโมง เพื่อประท้วงการที่รัฐบาลนำสถานีโทรทัศน์ไปบูชายัญชาติเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืม โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน ขณะที่สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศในยุโรป ก็ออกมาตำหนิรัฐบาลกรีซที่สั่งปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐในครั้งนี้
 
 
เผยมีแรงงานเด็กทั่วโลกกว่า 10 ล้านคนรับใช้ตามบ้าน
 
12 มิ.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ แถลงวันนี้ มีเด็กกว่า 10.5 ล้านคนทั่วโลก ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้าน ซึ่งอาจอยู่ในสภาพที่เป็นอันตราย และถูกใช้แรงงานไม่ต่างจากทาส สำนักงานด้านแรงงานของสหประชาชาติ ระบุว่า เด็กเกือบ 3 ใน 4 เป็นเด็กหญิง และคนใช้เด็ก 6.5 ล้านคน มีอายุระหว่าง 5 และ 14 ปี
 
คอนสแตนซ์ โทมัส ผู้อำนวยการโครงการป้องกันแรงงานเด็กทั่วโลกของไอแอลโอ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว ท้าทายความพยายามของนานาชาติในการยุติการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กภายในบ้าน ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของวัตถุประสงค์ในการพัฒนาชาติและระหว่างประเทศ
 
ประเทศในแถบซับซาฮาราของแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศบูร์กินา ฟาโซ, กานา, ไอวอรีโคสต์ และมาลี น่าเป็นห่วงที่สุด นอกจากนี้ ในรายงานหนา 87 หน้า ที่เผยแพร่ในวันต่อต้านแรงงานเด็กโลก วันที่ 12 มิ.ย. ยังย้ำด้วยว่า ครอบครัวในชนบทในปากีสถานและเนปาล ยังถูกบีบบังคับให้ต้องส่งลูกหลานไปเป็นแรงงานรับใช้ในบ้าน เพื่อแลกกับหนี้สินของพวกเขา
 
 
คนงานรถไฟฝรั่งเศสผละงานประท้วง
 
13 มิ.ย. 56 - ฝรั่งเศสยังคงเผชิญกับความโกลาหลในการเดินทางขณะพนักงานรถไฟพากันผละงานประท้วง ทำให้ต้องปิดการเดินรถกว่าครึ่งประเทศ หลังจากการผละงานของพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ ทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายพันเที่ยวในสัปดาห์นี้
 
รายงานระบุว่า รถไฟความเร็วสูงเตเจเวและรถไฟในฝรั่งเศสเปิดให้บริการเพียงร้อยละ 40 ของรถไฟทั้งหมด หลังจากพนักงานรถไฟซึ่งค้านแผนการปรับโครงสร้างบริษัทรถไฟเอ็นเอสซีเอฟของรัฐบาลพากันผละงานประท้วง โดยเริ่มผละงานตั้งแต่เวลา 00.00 น.วันพุธ ถึง 13.00 น. วันศุกร์ตามเวลาไทย
 
รายงานยังระบุว่า รถไฟสายที่มุ่งหน้าไปยังสวิตเซอร์แลนด์ให้บริการเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนสายที่เดินทางไปยังอิตาลีให้บริการเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมด แต่รถไฟความเร็วสูงยูโรสตาร์ที่เดินทางจากกรุงปารีสไปยังกรุงลอนดอนของอังกฤษและรถไฟความเร็วสูงที่เดินทางไปยังเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีไม่ได้รับผลกระทบจากการผละงานประท้วงในครั้งนี้
 
สหภาพแรงงานรถไฟเรียกร้องให้มีการประท้วงแผนของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งจะรวมบริษัทเอสเอ็นซีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทควบคุมดูแลบริการรถไฟ และบริษัทอาร์เอฟเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมการซ่อมบำรุงเครือข่ายรถไฟเข้าด้วยกัน ขณะที่ยังแยกสองหน่วยงานนี้ออกจากกัน ด้านผู้บริหารกล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะทำให้การดำเนินงานของการรถไฟดีขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มภาระให้แก่ผู้เสียภาษี แต่สหภาพแรงงานเกรงว่า การปฏิรูปจะทำให้ระบบปัจจุบันถูกยกเลิก การผละงานครั้งนี้ยังเป็นการประท้วงการลดตำแหน่งงาน ซึ่งสหภาพระบุว่า มีการลดตำแหน่งงานถึง 10,000 ตำแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเพื่อกดดันฝ่ายบริหารก่อนการเจรจาเรื่องค่าแรงในวันศุกร์นี้
 
 
พนักงานหอบังคับการบินฝรั่งเศสประท้วง
 
13 มิ.ย. 56 - พนักงานควบคุมหอการบินในฝรั่งเศสไม่พอใจระบบบริหารเส้นทางการบินแผนใหม่ที่ทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักกันมากขึ้นเพราะต้องรับผิดชอบการขึ้น-ลงของเครื่องบินเอกชน ได้พากันผละงานประท้วง ทำให้ต้องมีการระงับเที่ยวบินต่างๆ กว่า 60 % ของจำนวนเครื่องบินที่ขึ้น-ลงรอบๆ ฝรั่งเศส และทำให้การจราจรทางอากาศในที่อื่น ๆในยุโรปหยุดชะงักเมื่อวานนี้
 
โดยเครื่องบินโดยสารกว่า 2,000 เที่ยวบินในฝรั่งเศสถูกระงับ เนื่องจากมีพนักงานควบคุมหอการบินในประเทศต่างๆรวม 11 ประเทศตัดสินใจเข้าร่วมการผละงานประท้วงในวันที่ 2 โดยการผละงานประท้วงวันแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันอังคารและจะสิ้นสุดลงในวันนี้
 
 
เจพี มอร์แกน บ.ยักษ์สถาบันการเงิน ปลดพนักงาน 1,800 คน
 
13 มิ.ย. 56 - บริษัทเจพีมอร์แกน เชส โค.ประกาศปลดพนักงานอีก 1,800 คน ในแผนกบริการเงินกู้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันการจำนองหรือแผนกมอร์ทเกจ และพนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกปลดจะอยู่ที่นิวยอร์กเพราะมีการปิดคอลล์เซ็นเตอร์ทั้งแผนก อีกแห่งก็คือที่รัฐฟลอริดา
 
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปลดคนงาน 17,000 คนตามที่เจพีมอร์แกนประกาศไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะพนักงานในแผนกมอร์ทเกจ เจพีมอร์แกนตั้งเป้าไว้ว่าจะปลดออกทั้งสิ้น 15,000 คนภายในสิ้นปี 2557 สำหรับจำนวนพนักงานในปัจจุบันของเจพีมอร์แกนมีประมาณ 43,000 คน
 
 
'กรีซ' หยุดงานประท้วงค้านปิดทีวี
 
13 มิ.ย. 56  สมาชิกสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆเริ่มหยุดงานประท้วงทั่วประเทศในวันนี้ เพื่อร่วมสนับสนุนสื่อมวลชน และคัดค้านคำสั่งของรัฐบาลที่ให้ปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ERT ทำให้พนักงานต้องตกงานเกือบ 2,700 คน และสถานีต้องยุติการแพร่สัญญาณตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืนวันอังคารที่ผ่านมา นอกจากนี้ประชาชนหลายพันคนร่วมชุมนุมประท้วงที่ด้านนอกสำนักงานของ ERT เป็นวันที่สองเมื่อคืนวาน 
 
ขณะที่บรรดานักข่าวของโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ก็ร่วมหยุดงานประท้วงนาน 24 ชั่วโมง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่พนักงาน ERT กลับท้าทายคำสั่งของรัฐบาลด้วยการแพร่ภาพรายการข่าวออกอากาศทางอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณดาวเทียม โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงยุโรป
 
การปิด ERT ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการทำลายเสรีภาพสื่อและทำลายประชาธิปไตย และอเล็กซิส ทซีปรัส ผู้นำพรรคฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์กับ ERT ด้วยว่า การปิด ERT เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าเป็นการก่อปฏิวัติ ขณะเดียวกันรัฐบาลผสมสามพรรคได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดจุดยืนต่อเรื่องนี้ร่วมกัน และสองพรรคร่วม เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราส ปล่อยให้ ERT ออกอากาศต่อไประหว่างการปรับโครงสร้าง
 
แต่นายกรัฐมนตรียืนยันให้ปิด ERT ชั่วคราวและสัญญาว่าจะเปิดใหม่โดยปรับโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง หลังจากที่ผ่านมาองค์กรนี้บริหารงานอย่างสิ้นเปลืองงบมหาศาลมากกว่าสถานีอื่นหลายเท่า
 
ขณะที่สื่อสารมวลชนในฝรั่งเศสและเบลเยียมร่วมแสดงพลังสนับสนุน ERT ของกรีซ โดยในกรุงปารีสของฝรั่งเศส มีผู้ประท้วงจากพรรคการเมืองหัวเสรีและสหภาพแรงงาน รวมทั้งชาวกรีซ ร่วมชุมนุมใกล้สถานทูตกรีซ และสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในเบลเยียม ติดป้ายโลโก้ ของ ERT แทนโลโก้ของบริษัทในรายการทีวีตั้งแต่ภาคบ่ายจนถึงเที่ยงคืนเมื่อวาน
 
 
"IBM" ประกาศปลดพนักงานมากกว่า 1,600 คน อ้างปรับโครงสร้างองค์กร
 
14 มิ.ย. 56 - บริษัท อินเตอร์เนชันแนล บิสเนสส์ แมชีนส์ (ไอบีเอ็ม) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งมีฐานอยุ่ที่มลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ประกาศแผนปลดพนักงานในสังกัดมากกว่า 1,600 คน ตามแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่
 
รายงานข่าวซึ่งอ้างจาก นางเวอร์จิเนีย มารี โรเม็ตตี ประธานและซีอีโอหญิงของไอบีเอ็มที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2012 ระบุว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์การใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นๆในตลาดไอทีและซอฟต์แวร์ ซึ่งผลของการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะส่งผลให้ต้องมีการปลดพนักงานออก 1,634 คน
 
แผนการปลดพนักงานดังกล่าว รวมถึงพนักงานมากกว่า 220 คนในฝ่ายการตลาด และอีกอย่างน้อย 165 คนในฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์
 
อย่างไรก็ดี คำแถลงของบริษัท ยืนยันว่าจะมีการสั่งปลดพนักงานรอบใหม่อีกครั้ง ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีพนักงานได้รับผลกระทบเป็นจำนวนเท่าใด
 
ทั้งนี้ ข้อมูลของไอบีเอ็ม ระบุว่า เมื่อสิ้นปี 2012 ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มมีจำนวนพนักงานในสังกัดทั้งสิ้น 434,246 ราย ขณะที่นิตยสาร "ฟอร์จูน" จัดให้ไอบีเอ็ม เป็นองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของสหรัฐฯในแง่ของจำนวนพนักงาน และถือเป็นบริษัทเอกชนที่ทำกำไรประจำปีได้มากที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของประเทศ
 
 
พม่าเผยไอแอลโอยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่เหลือทั้งหมดแล้ว
 
19 มิ.ย. 56 - กระทรวงแรงงาน การจ้างงานและความมั่นคงสังคมของพม่า เผยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าที่เหลืออยู่ทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะทำให้การค้าต่างประเทศ การลงทุน และการจ้างงานในพม่าเพิ่มขึ้น
 
กระทรวงระบุว่า ที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 102 ของไอแอลโอ ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ เห็นชอบญัตติดังกล่าวเมื่อวันอังคาร หลังจากทบทวนสิ่งที่พม่าได้ดำเนินการเพื่อยุติการบังคับใช้แรงงาน
 
ไอแอลโอประกาศมาตรการคว่ำบาตรพม่าเมื่อปี 2542 และ 2543 ต่อมาได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 101 เมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน ในช่วงที่นางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ตระเวนเยือนยุโรปครั้งแรก
 
 
องค์การแรงงานระหว่างประเทศชี้มาตรการแบ่งปันงานช่วยแก้ปัญหาในช่วงวิกฤติ
 
19 มิ.ย. 56 - รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า การลดจำนวนชั่วโมงทำงานลงอาจจะมีผลกระทบในเชิงบวกต่อระดับการจ้างงานในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง
 
รายงานชื่อ "Work sharing during the Great Recession" ของ ILO ระบุว่า การแบ่งปันงานได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางเพื่อรักษาตำแหน่งงานในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างปี 2551-2552 และในช่วงที่เกิดผลพวงจากวิกฤต และมีความเป็นไปได้ในการสร้างตำแหน่งงานใหม่
 
จอน ซี. เมสเซนเจอร์ นักวิจัยและผู้ร่วมเขียนรายงานของ ILO กล่าวว่า นโยบายการแบ่งปันงานในช่วงที่เกิดวิกฤตได้รับการออกแบบและนำไปใช้อย่างเหมาะสม และให้ผลลัพธ์ที่ win-win
 
"พนักงานยังคงมีงานทำ บริษัทสามารถอยู่รอดและอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะกลับมาเติบโต ในขณะที่รัฐบาลและสังคมโดยรวมสามารถประหยัดต้นทุนด้านการว่างงานและการแปลกแยกจากสังคม" เขากล่าว
 
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้นำเสนอการวิเคราะห์ในเชิงลึกของโครงการแบ่งปันงานในช่วงที่เกิดวิกฤตจากทั่วโลก โดยระบุว่า การสนับสนุนจากรัฐบาลจะช่วยให้โครงการแบ่งปันงานเป็นไปอย่างประสิทธิภาพ
 
นอกจากนี้ ความสมดุลระหว่างกฎเกณฑ์ที่เลือกใช้สำหรับบริษัทและพนักงาน, ความจำเป็นด้านการบริหารที่น้อยที่สุดสำหรับบริษัท, ความยืดหยุ่นในเรื่องปริมาณและรูปแบบของการลดชั่วโมงทำงาน, รายได้เสริมสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบ และ การกำหนดกรอบเวลาแต่มีความยืดหยุ่นในเรื่องการชดเชยการแบ่งปันงานควรจะถูกนำเข้ามาเสริมเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพ สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
 
แกลลัพโพลชี้ : พนักงานออฟฟิศมะกันส่วนใหญ่เป็น "หุ่นยนต์" ในที่ทำงาน
 
26 มิ.ย. 56 - แกลลัพโพลชี้ มากกว่า 70% ของพนักงานออฟฟิศชาวอเมริกันไม่มีความสุขในที่ทำงาน เมื่ออยู่ในที่ทำงานมักทำตัวเป็นเหมือนหุ่นยนต์เพียงเพื่อให้หมดไปในแต่ละวัน หรือไม่ก็จะเป็นพวกที่คอยแอบทำลายบริษัทอยู่ลับหลังทุกครั้งที่มีโอกาส
       
จากผลสำรวจล่าสุดของแกลลัพโพล 2013 เกี่ยวกับความสุขในการทำงานของพนักงานประจำและชั่วคราวชาวอเมริกันทั่วสหรัฐฯราว 150,000 คน และพบว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
       
พวก 30% แรกที่มีความสุขกับงาน มีความกระตือรือร้นที่จะมาทำงาน และมีความสุขกับเจ้านายของตัวเอง แต่ข่าวดีก็หมดลงแค่นั้น
       
เพราะในพวก 20% ที่สอง นั้นเป็นพวกที่เกลียดงานที่ทำและไม่ชอบหัวหน้างานของตนเองอย่างรุนแรง และพร้อมที่จะทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับที่คู่มือพนักงานของบริษัทกำหนดไว้ เหมือนอย่างในภาพยนตร์เรื่อง "Waiting..." ที่มีฉากวันแรกของการทำงานในฐานะพนักงานเสิร์ฟในภัตตาคารแบบแฟรนไชส์ ซึ่งอธิบายได้เลยว่าพวก 20% นี้ มีความกระตือรือร้นที่จะหางานใหม่อยู่ตลอดเวลาระหว่างพักเที่ยง บ่นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
       
และสุดท้ายพวก 50% หลังสุด เป็นพนักงานที่มีลักษณะอยู่ไปวันๆ ไม่มีความกระตือรือร้น หรือมีแรงขับดันทั้งทางด้านบวกหรือลบจากที่ทำงานของพวกเขา โดยไม่รู้สึกยินดียินร้ายต่อสวัสดิการพิเศษที่บริษัทมีให้ เช่น อาหารกลางวันฟรี ห้องนอนงีบ โดยการศึกษาชี้ว่า 44% ของพนักงานที่สามารถเลือกเวลาทำงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าพนักงานที่ได้รับสวัสดิการที่ดีจากบริษัท
       
จิม คลิฟฟอร์ด ประธานกรรมการและซีอีโอของแกลลัพ ให้ความเห็นว่า การจัดการที่แย่ทำให้พนักงานในบริษัทไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วมในที่ทำงาน
       
และในรายงานพบว่า การที่พนักงานไม่มีความสุขในที่ทำงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกาในภาพรวม ซึ่งแย่มาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว
 
 
หอไอเฟล ปิดให้บริการ 2 วันติดต่อกันแล้ว เนื่องจากพนักงานผละงานประท้วงเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง
 
26 มิ.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ว่า หอไอเฟล สถานที่ท่องเที่ยวและสัญลักษณ์สำคัญของฝรั่งเศส ถูกปิดเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันแล้วในวันนี้ เนื่องจากการผละงานประท้วงของพนักงานเพื่อเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้นและขึ้นเงินเดือน ทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งสร้างความผิดหวังต่อนักท่องเที่ยวอย่างมาก
 
โดยสหภาพซีจีที ที่ทรงอิทธิพล เรียกร้องให้ผละงานประท้วง หลังจากการเจรจาล้มเหลวในนาทีสุดท้ายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาหลังใช้เวลาในการเจรจานานถึง 7 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การเจรจาเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อวันอังคาร แต่ปัญหาบางประเด็นยังไม่สามารถแก้ไขได้
 
อย่างไรก็ตาม ทางสหภาพกล่าวเพิ่มเติมว่า หอไอเฟล จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้ตามเวลาในฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นการเปิดปกติ คือในเวลา 09.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 14.00 น.ตามเวลาในไทย และปิดหลังเที่ยงคืน ระหว่างช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มจากเดือนมิ.ย. ถึงเดือนก.ย.
 
การผละงานประท้วงของพนักงานครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เคยปิดไป 2 วันในเดือนธ.ค.2553
 
 
คนงานจีนกักตัวนายจ้างชาวอเมริกันเกือบสัปดาห์
 
26 มิ.ย. 56 - นักธุรกิจสหรัฐที่ตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ในจีน ถูกพนักงานกักขังไว้นาน 6 วันเนื่องจากโกรธแค้นที่เขาค้างจ่ายเงินเดือน แต่ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว
 
นายชิพ สตาร์เนส วัย 42 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท สเปเชียลตี้ เมดิคัล ซัพพลายส์ ไชน่า ถูกพนักงานกักตัวไว้ภายในโรงงานในกรุงปักกิ่งตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา และเขาได้ให้สัมภาษณ์ผ่านลูกกรงหน้าต่างห้องในโรงงานกับสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์เมื่อวันพุธบอกว่า เขาได้แต่บอกตัวเองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง พวกเขากักตัวผมไว้เป็นเหมือนการจับตัวประกันเรียกค่าไถ่หรือจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่าอะไรก็ตาม
 
สตาร์เนส อ้างว่า ชนวนของเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากบริษัทมีแผนจะปิดหน่วยการผลิตพลาสติกเพื่อโยกย้ายไปยังเมืองมุมไบของอินเดีย ทำให้ต้องย้ายพนักงานแผนกนี้ไปอยู่แผนกอื่นโดยมีการจ่ายเงินชดเชยให้ แต่เกิดกระแสข่าวลือว่าเขาจะปิดโรงงานทั้งหมดแล้วหนีไปโดยไม่จ่ายเงินเดือนให้พนักงานที่เหลือ ทำให้คนงานต้องการเงินชดเชยบ้าง จึงก่อเหตุจับตัวเขาไว้
 
แต่คนงานเล่าแย้งว่า พวกเขาก่อเหตุครั้งนี้เพียงเพื่อทวงเงินเดือนที่นายจ้างค้างจ่ายมานานกว่าสองเดือนแล้ว และบอกด้วยว่า พวกเขาต้องการเงินเดือนคืนเท่านั้น คงไม่ใช่คิดว่าพวกเขาเป็นพวกขอทานหรอกนะ 
 
ล่าสุดสตาร์เนส เปิดเผยว่า พนักงาน 97 คนยอมปล่อยตัวเขาแล้ว โดยได้ข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันอังคารแต่ไม่เปิดเผยรายละเอีย นอกจากบอกว่า เขายืนยันเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป โดยจะยังจ้างคนงานบางคนที่ก่อเหตุจับตัวเขาไว้ต่อไปด้วย 
 
นายสตาร์เนส ให้สัมภาษณ์สื่อถึงช่วงเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ที่ไร้อิสรภาพว่า พนักงานเหล่านี้พยายามรบกวนไม่ให้เขานอนหลับ โดยแกล้งส่องไฟใส่เขา หรือทุบประตูและกระจกหน้าต่าง แต่ไม่ได้ทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้เขาโพสข้อความหลังกลับถึงโรงแรมที่พักในกรุงปักกิ่ง แสดงความดีใจที่ได้กลับถึงโรงแรม และโอดครวญว่าน้ำหนักตัวลดไป 4 กก.
 
สิ่งที่เกิดขึ้นกับสตาร์เนสไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และตำรวจลังเลที่จะเข้าแทรกแซงกรณีแบบนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องขัดแย้งทางธุรกิจ จึงอยากปล่อยให้เจรจากันภายในที่จะไม่ก่อให้เกิดเหตุรุนแรง โดยครั้งนี้ตำรวจได้แต่เฝ้าคุมโรงงานเพื่อรับประกันความปลอดภัยของนายสตาร์เนส และปล่อยให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านแรงงานเจรจาไกล่เกลี่ย
 
 
การขนส่งสาธารณะในโปรตุเกสเป็นอัมพาตหลังพนักงานผละงานประท้วง
 
27 มิ.ย. 56 - การขนส่งสาธารณะในโปรตุเกสหยุดชะงักในวันนี้ เนื่องจากสหภาพแรงงานสำคัญ 2 แห่ง เรียกร้องให้มีการผละงาน 1 วัน เพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษหลังปี 2513
 
รายงานระบุว่า มีการระงับบริการรถไฟหลายสาย รวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดินและเรือข้ามฟากในกรุงลิสบอน และรถโดยสารประจำทางหลายสาย ทำให้ประชาชนต้องใช้เวลาในการเดินทางไปทำงานนานขึ้น ส่วนเส้นทางที่เป็นทางเลือกของประชาชนมีรถโดยสารประจำทางให้บริการน้อยกว่าปกติ ด้านสายการบินทีเอพีของทางการโปรตุเกสเตือนว่าอาจเกิดการหยุดชะงักแต่ไม่ได้ยกเลิกเที่ยวบินใดๆ
 
สหภาพแรงงานทั้ง 2 แห่งหวังว่าการผละงานประท้วงครั้งที่ 4 ในรอบ 2 ปี จะกดดันให้รัฐบาลส่งเสริมการเติบโตและผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งจะนำไปสู่การขึ้นภาษีอย่างรวดเร็วที่สุดในปีนี้
 
 
คนงานจีนยอมปล่อยตัวนายจ้างอเมริกันแล้ว หลังบรรลุข้อตกลงเงินชดเชย
 
27 มิ.ย. 56 - นายชิพ สตาร์เนส นักธุรกิจชาวอเมริกันที่ถูกคนงานจีนจับเป็นตัวประกันนานเกือบสัปดาห์ ได้บรรลุข้อตกลงกับคนงานและได้รับการปล่อยตัวแล้ว
 
นายสตาร์เนส เจ้าของร่วมบริษัท สเปเชียลิตี้ เมดิคอล ซัพพลายส์ กล่าวว่า คนงานได้กักตัวเขาไว้เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยเมื่อถูกให้ออกจากงาน ขณะที่คนงานกล่าวว่าเกิดจากปัญหาเงินเดือนค้างชำระ โดยบางรายไม่มีรายได้มานานกว่า 2 เดือน
 
เจ้าหน้าที่โรงงานรายหนึ่งกล่าวว่า คนงานจำนวนมากเกรงว่าหากโรงงานต้องปิดอาจทำให้คนงานที่เหลือต้องตกงานและไม่ได้รับค่าชดเชย ขณะที่โรงงานเตรียมย้ายฐานการผลิตไปที่อินเดีย โดยบริษัทต้องปลดคนงานที่เหลือชุดสุดท้ายอีก 30 คน สร้างความโกรธแค้นให้คนงานจนนำไปสู่การจับกุมนายจ้างเป็นตัวประกันในครั้งนี้ และสามารถสรุปข้อตกลงได้ในช่วงรุ่งสางวันนี้
 
นายชิพ สตาร์เนส ประธานคนปัจจุบันของบริษัท สเปเชียลิตี้ เมดิคอล ซัพพลายส์  ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตฮ่วยหรู ชานกรุงปักกิ่ง สามารถบรรลุข้อตกลงกับคนงานในเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยสำหรับการถูกปลดออกจากงาน
 
นายจ้างชาวอเมริกันเล่าว่า คนงานได้ปิดทางเข้าออกโรงงานทั้งหมด และเมื่อเขาพยายามจะนอนหลับ คนงานก็เคาะประตูหน้าต่างจนเขานอนไม่ได้ โดยเวลานี้เขาเตรียมเดินทางออกจากโรงงานในกรุงปักกิ่ง หลังได้รับอิสรภาพภายใต้ข้อตกลงว่า บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้คนงานที่ถูกปลดจากงานและดูแลสวัสดิการอื่น ๆ ให้แก่คนงานที่ไม่ถูกปลดด้วย
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นไม่ได้เข้าแทรกแซงการกักกันตัวแต่อย่างใด โดยอ้างว่าเป็นกรณีพิพาทระหว่างพลเมืองสองฝ่าย ที่ต้องจัดการปัญหากันเอง 
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาไท, สำนักข่าวไทย, ประชาชาติธุรกิจ, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, เดลินิวส์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ ประกาศ 13 ข้อ แนะรัฐปฏิบัติในเดือนรอมฎอน ผ่อนการตั้งด่านและตรวจค้นสตรี

Posted: 05 Jul 2013 09:02 AM PDT

จุฬาราชมนตรีออกประกาศรวม 13 ข้อแนะให้รัฐปฏิบัติช่วงรอมฎอน ให้หนุนการปฏิบัติศาสนกิจ ผ่อนการตั้งด่านและตรวจค้นสตรี นายอำเภอสายบุรีรับลูกพิมพ์แจกให้ทุกหน่วย เพิ่ม2ข้อให้หยุดขายประทัด-ลดปฏิบัติการยกเว้นคุ้มครองครู ทหารได้ทีจัดหมอตรวจสุขภาพชาวบ้านรับรอมฎอน ตำรวจชี้แจงหัวหน้าโรงพักดูแลมุสลิม เหตุไม่สงบ เจ็บ 5 ตาย 2

สำนักจุฬาราชมนตรีได้มีหนังสือข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการตามที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร้องขอ เน้นให้หน่วยงานรัฐให้การหนุนเสริมการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ให้ผ่อนปรนการปฏิบัติงานของมุสลิมและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการตั้งจุดตรวจและการตรวจค้นสตรี พร้อมเชิญชวนติดตามการประกาศผลการดูดวงจันทร์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11

ทั้งนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้มีหนังสือดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 เรื่องคำแนะนำแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการในเดือนรอมฎอนประจำปี ฮ.ศ.1343 (พ.ศ.2556) ตามที่ศอ.บต.ร้องขอ เพื่อให้ส่วนราชการยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ลงนามโดยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี

ข้อเสนอแนะดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญ 4 ส่วน คือคำแนะนำช่วงเตรียมการเข้าสู่เดือนรอมฎอน คำแนะนำช่วงเดือนรอมฎอน ช่วงหลังเดือนรอมฎอน (ประมาณ 8 วันหลังจากวันอิฎิ้ลฟิตรี หรือวันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน) และแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความเป็นธรรม

นอกจากนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้มีหนังสือแจ้งกำหนดการถ่ายทอดสดรายงานผลการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช (ฮศ.) 1434 โดยสำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดถ่ายทอดสดรายงานผลการดูดวงจันทร์จากสำนักจุฬาราชมนตรี ในวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2556 ในเวลา 19.45-20.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT (ช่อง 11)

สำหรับหนังสือข้อเสนอแนะของจุฬาราชมนตรี พ.ศ.2556 ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการในจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ในเดือนรอมฎอน มีเนื้อหาดังนี้

"เดือนรอมฎอน" เป็นเดือนที่อัลลอฮทรงประทานอัล-กุรอานและบัญญัติให้มุสลิมถือศีลอด รอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งการเพิ่มพูนคุณงามความดี การขัดเกลาจิตใจ การอภัยโทษ และการลบล้างความผิดพลาด ตลอดทั้งการหยิบยื่นความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8(1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จุฬาราชมนตรีจึงจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ และอย่างสันติสุขตลอดช่วงเดือนรอมฎอน โดยมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

1.ช่วงเตรียมการเข้าสู่เดือนรอมฎอน

1.จัดให้มีบริการด้านสุขภาพแก่มุสลิมเพื่อเตรียมความพร้อมทางร่างกายในการถือศีลอด และปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ เช่น การตรวจสุขภาพ การชี้แจงแนวปฏิบัติของผู้ป่วยในการถือศีลอด การชี้แจงแนวปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพในเดือนรอมฎอน เป็นต้น

2.ให้ความรู้ด้านคุณค่าของการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน เช่น บรรยายปฏิทินกิจกรรมรอมฎอน เอกสารประกอบการถือศีลอด ฯลฯ

3.อำนวยความสะดวกและจัดสรรปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนแก่ผู้ด้อยโอกาส เด็กกำพร้า และผู้ต้องขังมุสลิมและครอบครัว

4.สนับสนุนอาหารในการละศีลอดและปัจจัยสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ อาทิเช่น ผลอินทผาลัม น้ำตาลทราย หรือชุดละหมาด แก่องค์กรศาสนาอิสลาม มัสยิด และผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอย่างทั่วถึง

 

2.ช่วงระหว่างเดือนรอมฎอน

1.ควรผ่อนปรนเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มุสลิม โดยมีช่วงเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่ 08.30 – 15.00 น. เพื่อให้มีเวลาเตรียมความพร้อมสำหรับการละศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างมีคุณภาพ

2.สนับสนุนให้ละศีลอดร่วมกัน ณ มัสยิดของแต่ละชุมชน โดยหน่วยงานราชการ ไม่ควรจัดกิจกรรมละศีลอดตามสถานที่ราชการ เพราะอาจกระทบกับความปลอดภัย และการปฏิบัติศาสนกิจของบุคคลในเดือนรอมฎอน

3.ควรงดเว้นการจัดกิจกรรมอบรม ประชุมสัมมนา สำหรับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนมุสลิม ในช่วงเวลาสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน

4.ส่งเสริมและสนับสนุนการละหมาดตะรอเวียะห์และการเอี๊ยะติกัฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะเยาวชนในทุกชุมชน และอาจให้มีรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

5.ควรใช้สื่อของรัฐทุกประเภทเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การอ่านและศึกษาอัล-กุรอานตลอดเดือนรอมฎอน ถ่ายทอดการละหมาดตะรอเวียะห์จากมัสยิดหะรอม ณ นครมักกะฮ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เป็นต้น

 

3.ช่วงหลังเดือนรอมฎอน (ประมาณ 8 วันหลังจากวันอิฎิ้ลฟิตริ)

ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน ร่วมกับองค์กรศาสนาอิสลามจัดงานเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีต่อกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

 

4.แนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความเป็นธรรม

1.กำกับและชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจทุกจุด ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นปัญหา อุปสรรค และควรดำเนินการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกับการปฏิบัติศาสนกิจ หากมีเหตุต้องตรวจค้นสตรี ต้องใช้เจ้าหน้าที่สตรีในการตรวจค้นเท่านั้น

2.สนับสนุนให้แจกจ่ายอาหารละศีลอดแก่ผู้สัญจรผ่านจุดตรวจ เช่น อินทผาลัมและน้ำ ตั้งแต่ช่วงเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

3.ให้จัดระเบียบและกวดขันแหล่งอบายมุขอย่างเข้มงวด เพื่อดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของเดือนรอมฎอน

 

นายอำเภอสายบุรีรับลูกพิมพ์แจกให้ทุกหน่วย

จากกรณีที่สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกประกาศ "เรื่องคำแนะนำแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฎอนประจำปี ฮ.ศ.1343 รวม 13 ข้อ" หลายหน่วยงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ขานรับกับข้อเสนอแนะดังกล่าว

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ นายอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ทางอำเภอสายได้พิมพ์แจกจ่ายคำประกาศดังกล่าวให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหารและตำรวจในอำเภอสายบุรีเกือบทั้งหมด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่

 

เพิ่ม 2 ข้อให้หยุดขายประทัด-ลดปฏิบัติการยกเว้นคุ้มครองครู

นายไกรศร เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากคำแนะนำของสำนักจุฬาราชมนตรี 13 ข้อแล้ว ทางอำเภอยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมอีก 2 ข้อด้วย 1.ขอความร่วมมือจากร้านค้าห้ามร้านค้าขายลูกประทัด 2.ขอให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจและทหาร ตกลงกันว่าในเดือนรอมฎอนจะลดปฏิบัติการเชิงรุก เช่น ลดการลาดตระเวนเพื่อค้นหาเป้าหมายต่างๆ ในพื้นที่หรือลดการตั้งด่านตรวจบนถนน เป็นต้น แต่การปฏิบัติการในเชิงรับยังดำเนินการตามปกติ โดยเฉพาะการคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยครู

"นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐจะลดการถือปืน เมื่อจำเป็นต้องเข้าไปในสถานประกอบศาสนกิจหรือในตลาดเพื่อให้เกียรติต่อคนในพื้นที่" นายไกรศร กล่าว

นายไกรศร เปิดเผยด้วยว่า ส่วนอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ทางอำเภอสายบุรี จะให้ทำงานตั้งแต่ 08.00 – 16.00 น. หลังจากนั้นจะอนุญาตให้กลับอยู่กับครอบครัวและประกอบศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ ส่วนช่วงเวลาที่เหลือทางอำเภอจะให้อส.ที่ไม่ใช่มุสลิมมาปฏิบัติหน้าที่แทน

 

ทหารได้ทีจัดหมอตรวจสุขภาพชาวบ้านรับรอมฎอน

พ.อ.บุญสิน พาดกลาง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 22 (ผบ.ฉก.ทพ22) มีฐานปฏิบัติการที่เขื่อนปัตตานี เปิดเผยว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเดือนรอมฏอนปีนี้ ทางหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประชุมร่วมกับพล.ท.สกล ชื่นสกุล แม่ทัพภาคที่ 4 แล้ว ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้กำชับให้ทหารให้ลดปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น ตลอดจนลดการตั้งด่านตรวจ เพื่อที่จะให้เกียตริแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้

"นอกจากนี้ ทหารต้องไปร่วมละศีลอดกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมๆกับนำทีมแพทย์ของทหาร ไปตรวจสุขภาพและแจกจ่ายยารักษาโรคต่างๆ แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของสำนักจุฬาราชมนตรี" พ.อ.บุญสิน กล่าว

 

ตำรวจชี้แจงหัวหน้าโรงพักดูแลมุสลิมช่วงรอมฎอน

พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีแต่อย่างใด หากได้รับแล้วก็จะนำไปทำความเข้าใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อนำปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่

ในช่วงวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พล.ต.ต.พีระ ได้เรียกผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่จังหวัดยะลา เข้าประชุมเพื่อชี้แจง และมอบนโยบายการปฏิบัติงานในช่วงเดือนรอมฎอน โดยพล.ต.ต.พีระ เปิดเผยว่า ได้นำข้อสั่งการจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาชี้แจงให้แก่ตำรวจในระดับหัวหน้าสถานีตำรวจภูธร รวมทั้งข้อสั่งการจากผู้บัญชาการทหารบก โดยกำชับการปฏิบัติการดูแลพี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามในช่วงเดือนถือศีลอด

"ในห้วงเดือนรอมฎอนหรือก่อนเดือนรอมฎอน ทางผู้บังคับบัญชาให้ทำมวลชนสัมพันธ์กับพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังคงก่อเหตุอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นในช่วงก่อนเดือนรอมฎอน" พล.ต.ต.พีระ กล่าว

เหตุไม่สงบ เจ็บ 5 ตาย 2

สำหรับเหตุไม่สงบในวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 เริ่มเกิดเหตุเวลา 11.30 น. โดยคนร้ายลอบวางระเบิดอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส บนถนนสายชนบทบ้านกำปงบูเก๊ะ หมู่ที่ 2 ต.ซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทำให้อส.บาดเจ็บ 5 นาย ได้แก่ 1.อส.ท.สุนทร คงขวัญ 2.หมู่ใหญ่วิโรจน์ โทบุรี 3.อส.อ.ชาตรี ศรีรัตนะ 4.อส.ท.กิตติ สุขแดง และ 5.อส.อ.สมศักดิ์ พรมมูล

ต่อมาเวลา 12.55 น.คนร้ายใช้อาวุธปืน AK-47 ยิงนายซัมสูดิน ลาเตะ อายุ 62 ปีเสียชีวิตขณะเตรียมละหมาดในมัสยิดดารุลอามาน หมู่ที่ 4 ต.เกราะ อ.เทพา จ.สงขลา โดยนายซัมสูดินเป็นอดีนสมาชิกขบวนการพูโล

เวลา 13.45 น.คนร้ายยิงนายมาหามะ ยะราเฮม อายุ 50 ปี เสียชีวิตในบ้านพักเลขที่ 121 หมู่ที่ 5 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มสื่อและองค์กรสิทธิฯ ประณามการปิดสื่อหลังรัฐประหารในอียิปต์

Posted: 05 Jul 2013 08:38 AM PDT

กองทัพทางการอียิปต์ได้สั่งปิดสื่อจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นสื่อที่เอียงข้างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและปธน.มอร์ซี ที่เพิ่งถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร ทำให้กลุ่มสื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชน ออกมาประณามการปิดสื่อในครั้งนี้

5 ก.ค. 2013 สำนักข่าวอัลจาซีร่าเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวคณะผู้บริหารของช่องโทรทัศน์ มูบาเชอร์ มิซร์ ในอียิปต์ที่ถูกจับกุมตัวหลังจากเจ้าหน้าที่ทางการบุกเข้าไปในสำนักงาน ในเวลาไม่นานนักหลังจากปธน. โมฮาเหม็ด มอร์ซี ถูกขับออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มองค์กรนักข่าวและนักสิทธิมนุษยชนประณามการปิดสถานีโทรทัศน์อีก 3 แห่งของทางการอียิปต์ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมาโดยอ้างว่าเป็นสถานีที่มีสนับสนุนมอร์ซี

อัลจาซีร่าเปิดเผยว่า ไอมาน กาบาลาห์ กรรมการผู้จัดการของสถานีมูบาเซอร์ มิซร์ ยังคงถูกควบคุมตัวไว้ขณะที่ พนักงานอีก 4 คนได้รับการปล่อยตัวแล้ว นอกจากนี้ยังมีคำสั่งห้ามไม่ให้สถานีโทรทัศน์ APTN ส่งคลิปวีดิโอการชุมนุมในอียิปต์หรืออุปกรณ์การถ่ายทำใดๆ ให้กับอัลจาซีร่า ทางด้านบริษัทสื่อไคโร (Cairo News Company) ก็ถูกห้ามไม่ให้มีการช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การถ่ายทำข่าว

มุสตาฟา เซาวัก รักษาการผู้อำนวยการของอัลจาซีร่าประณามการกระทำของดังกล่าวนี้โดยบอกว่า "ประชาชนชาวอียิปต์ต้องการให้มีการเคารพในเสรีภาพสื่อ และรักษาเสรีภาพสื่อไว้ ไม่ว่าสื่อนั้นจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบใดก็ตาม"

"สำนักงานสื่อไม่ควรตกเป็นเป้าของการบุกรุกและข่มขู่ นักข่าวไม่ควรถูกจับเพียงเพราะการทำงานของพวกเขา" มุสตาฟากล่าว

เจ้าหน้าที่ทางการอียิปต์อ้างว่าช่องโทรทัศน์ มูบาเชอร์ มิซร์ ซึ่งเป็นช่องรายงานข่าวอียิปต์ของอัลจาซีร่าไม่มีใบอนุญาต ถึงแม้ว่าจะมีการออกอากาศมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ยังได้สังห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ข่าวออกอากาศเรื่องการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนมอร์ซีจากกรุงไคโร

โดยช่องข่าวอียิปต์ของอัลจาซีร่าเริ่มออกอากาศในปี 2011 หลังการปฏิวัติโค่นล้มปน.ฮอสนี มูบารัค และมีคนวิจารณ์ว่าสื่อช่องนี้เป็นพวกที่เข้าข้างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ให้การสนับสนุนมอร์ซีเป็นประธานาธิบดี

สื่อช่องอื่นๆ ที่โดนฝ่ายกองทัพของอียิปต์สั่งปิดคือ Egypt25 ซึ่งเป็นช่องของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมพวกเขาถูกทางการสั่งห้ามออกอากาศและคณะผู้บริหารของสื่อถูกจับกุมตัว นอกจากนี้ยังมีการสั่งปิด สื่ออัล-ฮาฟิซ และอัล-นาส ซึ่งเป็นสื่อของกลุ่มขบวนการนิกายซาลาฟี นิกายหนึ่งของอิสลามที่มีความเคร่งครัดมาก

กลุ่มสิทธินักข่าวเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของปชช.อียิปต์

เหตุการณ์สั่งปิดและจับกุมสื่อเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่คณะรัฐประหารนำโดยนายพล อับเดล ฟัตตาร์ อัล-ซีซี ผู้นำกองทัพอียิปต์ได้ทำการสั่งปลดปธน.มอร์ซี และประกาศแถลงการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา

เชอรีฟ มานซูร์ จากองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (CPJ) แสดงความกังวลว่าทางการอียิปต์กำลังสั่งปปิดสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ด้วยมุมมองที่ต่างกันทางการเมือง และเรียกร้องให้กองทัพอียิปต์ยกเลิกการลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของชาวอียิปต์ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้

ทางด้านกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้ออกแถลงการณ์กล่าวถึงการปิดสื่อในครั้งนี้ว่า เป็นการกลับมาของ "ยุคมืด" ในอียีปต์ ที่มีนโยบายเชิงบีบบังคับ

องค์กรนิรโทษกรรมสากลกล่าวถึงการปิดสื่อในครั้งนี้ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น

อย่างไรก็ตาม คาเล็ด ดาวูด โฆษกของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมอร์ซีที่ชื่อ National Salvation Front ได้กล่าวปกป้องการกระทำของทหารในครั้งนี้ โดยบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นข้อยกเว้นที่จะเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่นาน และอ้างว่าในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ อาจมีบางคนที่พยายามยุยงให้ผู้สนับสนุนออกมาต่อสู้ ซึ่งในความเห็นของเขาไม่มีประโยชน์ที่จะให้ช่องโทรทัศน์เหล่านี้นำเสนอข่าวในช่วงวิกฤติ

 

 

เรียบเรียงจาก

Groups condemn raids on Egypt TV channels, Aljazeera, 05-07-2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เยี่ยมก่อนย้ายนักโทษคดีไฟใต้ จับโต๊ะเจรจาไทย-BRN หลังรอมฎอน

Posted: 05 Jul 2013 08:36 AM PDT

เยี่ยมก่อนย้ายนักโทษคดีไฟใต้ ศอ.บต.นำญาติเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ บางขวาง คลองเปรม ก่อนย้ายกลับขังในจังหวัดภูมิลำเนาในชายแดนใต้ก่อนเดือนรอมฎอน บรรยากาศสุดเศร้า ยันไม่อยากย้ายไปนครศรีธรรมราช และหลายข้อเสนอต่อผู้ต้องขังมุสลิม

 

 

โครงการ "สานสายใยจากครอบครัว สู่ผู้ต้องขังในเรือนจำนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ แม้เป็นปีที่ 2 แล้วที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จัดร่วมกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ครอบครัวผู้ต้องขังหรือนักโทษคดีความมั่นคงได้เข้าเยี่ยมอย่างใกล้ชิด

แต่โครงการในปีนี้เกิดขึ้นในโอกาสพิเศษที่ผู้ต้องขังเกือบทั้งหมด จะถูกย้ายกลับไปคุมขังในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเอง ก่อนเดือนรอมฏอนอันประเสริฐที่จะถึงในอีกไม่กี่วัน

ตลอดทั้งวันของวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. สมาชิกครอบครัวของผู้ต้องขังจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา 220 คน ที่เดินทางออกจากพื้นที่มาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2556 ต่างก็สาละวนอยู่กับญาติใกล้ชิดของตัวองที่หาโอกาสพบได้ยากยิ่ง บางคนได้อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ บางคนได้อุ้มลูกพลางน้ำตาคลอ

ทั้งนักโทษและผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกกุมขังในเรือนจำ 3 แห่งในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำกลางคลองเปรม 47 คน แต่ก็มีนักโทษคดีทั่วไปอีกจำนวนหนึ่งที่ขอโอกาสให้ญาติมาเยี่ยมในโครงการนี้ด้วย

การเข้าเยี่ยมตามโครงการครั้งนี้ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.อรุณ สมตน ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายฐานิส ศรียะพันธ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายสุรศิษฎ์ บัวทรัพย์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. และนายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรีเข้าร่วมเยี่ยมด้วย

ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กลุ่มด้วยใจ กลุ่ม FT media สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) กลุ่มเยาวชนใจอาสา ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เข้าร่วมเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย ในฐานะทีมสื่อสารจากเครือข่ายประชาสังคม

การเข้าเยี่ยมครั้งนี้ อยู่ในช่วงจังหวะที่สังคมพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งคนสังคมไทยบางส่วนที่ติดตามสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นมีข้อเสนอหนึ่งในการต่อรองกับรัฐไทย คือ ให้ปล่อยตัวนักโทษและยกเลิกหมายจับผู้ที่ถูกคดีความมั่นคง

จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไปว่า อนาคตของกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ โดยจะมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งต่อไปหลังจากเดือนรอมฎอนปีนี้ ซึ่งจะนำไปสู่อิสรภาพของนักโทษกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ในท้ายที่สุด ขณะที่ในฝั่งของผู้สูญเสียจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมองเรื่องนี้อย่างไร

 

เริ่มย้ายเรือนจำก่อนรอมฎอน 8 กรกฎาฯ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อหน้าครอบครัวผู้ต้องขังขณะเข้าเยี่ยมในครั้งนี้ว่า โครงการนี้เป็นความเห็นร่วมกันของรัฐบาลและส่วนราชการ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันเนื่องจากเดือนรอมดอนที่กำลังจะถึงเป็นเดือนที่สำคัญของคนมุสลิมที่ชาวมุสลิมจะถือศีลอด เป็นเดือนแห่งการล้มล้างความผิด และเป็นการเยียวยาจิตใจทั้งคนในเรือนจำและครอบครัว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เดือนรอมฎอนอย่างสบายใจ

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า ในเดือนรอมฎอนนี้ ทาง กอ.รมน. ร่วมกับ ศอ.บต.จะจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพผู้ต้องขังและนักโทษมุสลิมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเดือนรอมฎอน และโครงการอื่นๆ เพื่อดูแลเหยื่อจากเหตุการณ์ไม่สงบ ทั้งเด็กกำพร้า ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และครอบครัวผู้ต้องขังด้วย

"ผมตระหนักดีว่า เราอาจจะขังเขาได้แต่ตัว แต่กักขังหัวใจ อุดมการณ์และเสรีภาพ กักขังไม่ได้จริง" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การย้ายผู้ต้องขังดังกล่าว จะมีขึ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 นี้ ก่อนที่จะถึงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมที่จะเริ่มขึ้นในช่วงวันที่ 9 หรือ 10 กรกฎาคม 2556

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า "เราทำให้ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า บุคคลที่เกิดในแผ่นดินไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา ย่อมได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคกัน ถ้าสังคมไทยตระหนักในความเป็นธรรม ก็น่าจะให้พี่น้องในพื้นที่ 3 จังหวัด มีปากมีเสียงบ้าง"

เมื่อถามว่ามีนโยบายโยกย้ายผู้ต้องขังจากส่วนกลางกลับไปภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า อยู่ระหว่างการประสานกับกรมราชทัณฑ์ ในทางหลักการทำได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องพิจารณาอัตราโทษของผู้ต้องขัง เพื่อดูว่าแต่ละเรือนจำในจังหวัดชายแดนใต้สามารถรองรับได้แค่ไหน เช่น ผู้ต้องขังที่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.ปัตตานี มีโทษเกิน 30 ปีขึ้นไป ประสงค์จะย้ายกลับไปอยู่ที่เรือนจำกลางปัตตานี ซึ่งมีการขยายอำนาจการคุมขังนักโทษจำคุกจาก 15 ปีถึง 30 ปี ถ้าเกินจากนั้นก็ไม่สามารถย้ายไปได้ แต่สามารถขอย้ายไปอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลาได้ เพราะขยายอำนาจการคุมขังนักโทษจำคุกจาก 15 ปี ถึงประหารชีวิต

ขณะที่พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้อธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ต้องขังที่สามารถย้ายกลับไปขังในพื้นที่ภูมิลำเนาว่า ต้องเป็นความสมัครใจของผู้ขังเองก่อน และจะพิจารณาว่ามีพฤติกรรมอย่างไร เกี่ยวข้องกับสิ่งต้องโทษร้ายแรงอย่างยาเสพติดหรือไม่ ซึ่งถ้าผิดเงื่อนไขนี้ก็ไม่สามารถพิจารณาให้ย้ายกลับไปได้ ซึ่งยืนยันว่า ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงไม่มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลย

 

ไม่อยากย้ายไปนครศรีธรรมราช

ระหว่างการเข้าเยี่ยม นักโทษชาย (นช.) จากแดน 5 และ 3 สองรายเข้ามาร้องขอต่อพ.ต.อ.ทวี ให้ช่วยดำเนินการเรื่องห้องที่ให้ นช.มุสลิมสามารถละหมาดหมู่และปฏิบัติศาสนกิจหมู่ได้อย่างเต็มที่

"ในเรือนจำไม่มีพื้นที่เฉพาะสำหรับมุสลิมในการประกอบพิธีละหมาดหมู่ โดยไม่ใช้พื้นที่ใช้รวมกับศาสนิกอื่น และต้องสะอาด เพราะปกติจะละหมาดในที่พักของตัวเองไม่สะดวก"

นช.แดน 6 คนหนึ่งได้ยื่นหนังสือขอย้ายกลับไปอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลาต่อนายกิตติ สุระคําแหง หัวหน้าสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. โดยระบุว่า ตนไม่อยากถูกย้ายไปเรือนจำที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากจะทำให้ญาติมาเยี่ยมไม่สะดวก และกังวลเรื่องอาหารไม่ฮาลาล เพราะไม่ใช่เรือนจำในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีนักโทษมุสลิมจำนวนมาก

นายนเรศ อาหวัง และนางสีตีมือลอ อาหวัง น้าของ นช.แดน 6 รายหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เล่าว่า พวกตนเลี้ยงหลานคนนี้มาตั้งแต่เด็ก รักเหมือนลูก ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตนก็เดินเรื่องเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของหลานชายมาโดยตลอด หลานชายเคยห้ามไม่ให้ช่วยเหลือเพราะสงสารน้าที่ต้องมาเป็นทุกข์เพราะตน แต่ถึงอย่างไรน้าทั้งสองคนยืนยันว่า จะเดินหน้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของทั้งหลานชายต่อไป

"ผมเข้าไปเยี่ยมเข้าทุกที่ที่เขาถูกขัง ผมก็ขอทางเรือนจำที่นั่นว่าขอย้ายกลับบ้านได้หรือไม่ เขาตอบว่า ได้ แต่ต้องรอไปก่อน ผมพยายามทุกทางเพื่อให้เขาได้เป็นอิสระ" นายนเรศ กล่าวทั้งนัยน์ตาเริ่มแดง

วันเดียวกันนั้น นายนเรศ ได้เขียนหนังสือขอให้ย้ายหลานชายไปเรือนจำที่จังหวัดยะลา เพื่อให้สามารถเดินทางไปเยี่ยมได้สะดวกขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า หลานชายจะถูกย้ายไปอยู่เรือนจำใด และสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ อาหารการกินในเรือนจำ เนื่องจากไม่มีการรับประกันว่า นช.มุสลิมจะได้รับประทานอาหารฮาลาลให้ ยิ่งเข้าสู่เดือนรอมฎอนก็ยิ่งอยากให้ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ญาติ นช.อีกคน เผยว่า  รู้สึกพึงพอใจมากกับการมาเยี่ยมครั้งนี้ เพราะเยี่ยมได้นานกว่าการเยี่ยมครั้งที่แล้วที่ ศอ.บต.จัดขึ้น ซึ่งมีเวลาเยี่ยมแค่ 2 ชั่วโมงและมีสิทธินำของเยี่ยมแค่ขนมต้มคนละลูกเท่านั้น ต่างกับครั้งนี้ที่ครอบครัวได้รับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากับนช.และผู้ต้องขัง

ญาติหลายคนสะท้อนว่า ถ้ามาเยี่ยมกันเองกับครอบครัวอาจไม่มีโอกาสได้พบเลย อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็สูง ที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมโครงการในลักษณะเดียวกันกับองค์กรกาชาดสากล (ICRC) แต่ครั้งนี้สามารถเข้าถึงตัวผู้ต้องขัง และนช.ได้เป็นครั้งแรกและดีใจมาก

 

ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมเยี่ยม

นางซีตีมาเรียม บินเย๊าะ จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า การมาร่วมเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับครอบครัวผู้ต้องขังและตัวผู้ต้องขังครั้งนี้ เห็นว่า มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องจัดการเร่งด่วนเยอะมาก โดยเฉพาะความกังวลของผู้ต้องขังที่เขาไม่สามารถดูแลสมาชิกครอบครัวได้ และปัญหาอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับครอบครัวเขา จะทำอย่างไรที่จะลดความกังวลเหล่านั้นได้บ้าง

นางซีตีมาเรียม กล่าวว่า สำหรับปัญหาในระยะยาวของกลุ่มผู้ต้องขัง ภาคประชาสังคมจะต้องสะท้อนให้รัฐเข้ามาดูแลและรับรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายบางอย่างที่เอื้อให้หน่วยงานสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผู้ต้องขังเสนอมาได้ทันที

"มองว่าปัญหาต่างๆ ในตอนนี้ ต้องการให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือ เพราะนี่คือภารกิจของมุสลิม เพราะพี่น้องของเราที่กำลังเดือดร้อน อะไรที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ได้ ก็ให้ช่วย"

นางซีตีมาเรียม กล่าวว่า เชิญชวนมุสลิมในสังคม เข้ามาร่วมช่วยเหลือพี่น้องที่ถูกมองว่าเป็นคนผิดในสังคม ทั้งๆที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด เพราะผู้ต้องขังบางคนคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือระหว่างฎีกา

อย่างไรก็ตาม นางซีตีมาเรียมมองว่า ขณะนี้รัฐเริ่มปรับเปลี่ยนการทำงานในบางส่วนให้ดีขึ้น และเริ่มเข้าใจสิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งภาคประชาสังคมเองก็ต้องหนุนเสริมในบางประเด็นที่รัฐไม่สามารถเข้าถึงปัญหาได้ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาในระยะยาว และเกิดสันติภาพที่ประชาชนต้องการให้เป็นจริง

 

ต้องชี้หนทาง ความหวังสู่สันติภาพ

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องกลับไปทำต่อคือ วิเคราะห์ข้อมูลและมองให้เห็นว่า ผู้ต้องขังและชาวบ้านต้องการให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ทั้งปัญหาเร่งด่วน หรือปัญหาระยะยาว

"สิ่งที่ค้นพบจากการเยี่ยมครั้งนี้คือ ผู้ต้องขังต้องการความเป็นธรรม ในขณะที่ภาคประชาสังคมต้องการให้ครอบครัวและผู้ต้องขัง รวมทั้งภาครัฐมองเห็นปัญหาร่วมกัน และสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ"

นางสาวอัญชนา กล่าวว่า ส่วนกลุ่มด้วยใจเอง ซึ่งทำงานกับผู้ต้องขังและครอบครัวผู้ถูกคดีความมั่นคง คิดว่า ต้องสร้างความหวังให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง แม้จะถูกศาลตัดสินประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตก็ตาม ให้มองว่ายังมีโอกาสหรือหนทางสำหรับพวกเขา

"เมื่อพวกเขาเห็นความหวังแล้ว เราก็ต้องดูว่าใครสามารถช่วยพวกเขาได้บ้าง เช่น กระทรวงยุติธรรม หรือศูนย์ทนายความมุสลิมเองก็ควรต้องศึกษาสภาพปัญหาของผู้ต้องขังและครอบครัวว่า พวกเขามีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง โดยผ่านกระบวนการรับฟังเรื่องราวเพื่อให้เห็นสภาพปัญหา หรือถอดบทเรียนร่วมกันและแก้ปัญหาต่อไป" นางสาวอัญชนา กล่าว

นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์  ตัวแทนจากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ครอบครัวผู้ต้องขังหวังที่จะให้ภาคประชาสังคมได้ไปเยี่ยมพวกเขาอีกครั้ง และอยากให้ช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษาของคนในครอบครัว ขณะเดียวกันทางเลขาธิการ ศอ.บต.ก็ได้เอ่ยปากว่าจะช่วยสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาสังคมได้เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำในช่วงเดือนรอมฎอน

นายอับดุลอาซิส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ต้องขังทราบให้ชัดเจนถึงขั้นตอนการย้ายเรือนจำ เพราะบางคนยังไม่แน่ใจว่า ตัวเองจะสามารถย้ายได้หรือไม่ ขณะที่หลายคนก็กังวลว่า หากย้ายไปอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลาอาจไม่ได้รับความสะดวกเท่ากับที่เรือนจำบางขวาง เพราะที่เรือนจำบางขวางมีสิทธิพิเศษและมีระบบการดูแลอย่างดี แต่ก็อยู่ไกลจากบ้านทำให้ญาติไม่สะดวกในการเดินทางไปเยี่ยม ส่วนข้อดีของการอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลาคือ ญาติสามารถเข้าไปเยี่ยมได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้กว่า

นายสิทธิวิชญ์ รัตนาชัยศิริ เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.ซึ่งดูแลการเยี่ยมเยียนของชาวบ้านมาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า สาเหตุที่การเยี่ยมเยียนครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นครอบครัวผู้ต้องขังที่เราพยายามสร้างความไว้วางใจโดยช่วยเหลือและบริการอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันกับกรมราชทัณฑ์เองเราก็ได้ทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเยี่ยม ที่ต้องการให้โอกาสกับผู้ต้องขังมีเวลาอยู่กับครอบครัว

 

ห่วงกินอาหารต้องห้ามในเดือนรอมฎอน

ญาติผู้ต้องขังรายหนึ่ง ระบุก่อนหน้านี้ว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้ คือเรื่องอาหารการกินของผู้ต้องขังมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม เพราะที่ผ่านมาทราบมาว่า ครัวในเรือนจำไม่ได้แยกประกอบอาหารเฉพาะตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อให้ผู้ต้องขังมุสลิมได้รับประทาน ซึ่งญาติที่เป็นผู้ต้องขังซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชาย เคยบอกว่าได้กินเนื้อหมูเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

"ถ้าเป็นเดือนอื่นๆ ผมไม่ได้รู้สึกเป็นห่วงมากเท่าเดือนรอมดอน แต่ก็ไม่มีทางเลือก จึงสงสารหลานที่ต้องมากินอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม" ญาติผู้ต้องขังรายเดิมกล่าว

ญาติผู้ต้องขังรายนี้ กล่าวด้วยว่า เรื่องการย้ายนักโทษคดีความมั่นคงจากเรือนจำบางขวาง กรุงเทพมหานครกลับมาขังที่ภูมิลำเนานั้น มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ญาติจะได้ดูแลได้ใกล้ชิด สามารถเข้าไปเยี่ยมได้ง่าย

 

ตัวแทนจุฬาฯ ชี้เป็นโอกาสกลับใจ

นายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี นำสารจากจุฬาราชมนตรี มากล่าวให้กำลังใจแก่ผู้ต้องขัง เนื่องจากจุฬาราชมนตรีสุขภาพไม่แข็งแรง

นายสุธรรม ได้เน้นย้ำเรื่องการทำดีในเดือนรอมฎอน ที่ถือเป็นเดือนของมุสลิม ที่ผลบุญจะทวีคูณกว่าเดือนปกติ และความผิดพลาดของมนุษย์คือสิ่งที่ต้องเผชิญทุกเมื่อ แต่การกลับเนื้อกลับตัวเป็นพลเมืองที่ดีแห่งศาสนาและประเทศชาติ เป็นสิ่งที่พระเจ้าโปรดปรานมากที่สุด

"ในโอกาสที่เราอยู่ในนี้ และจะใช้โอกาสในเดือนอันประเสริฐนี้ ในการทบทวนตรึกตรอง ในการจะกลับมาเป็นผู้ที่อยู่ในข้อกำหนดที่ศาสนาได้กำหนดเอาไว้ และรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ เพื่อเราจะได้เป็นบุคคลกรของประเทศนี้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง" นายสุธรรมกล่าว

นายสุธรรม ได้ขอดุอาให้พระองค์อัลลอฮฺ ทรงประทานสุขภาพที่ดีแก่ผู้ต้องขังและครอบครัว และขอให้พระองค์ประทานผลบุญตอบแทนการกระทำที่ดีต่อทุกคน ในเดือนรอมฎอนด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

STEP เตรียมจัดงานใหญ่โชว์ผลงานสู่สันติภาพ

Posted: 05 Jul 2013 08:11 AM PDT

โครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project) เตรียมจัดงานนำเสนอผลงาน STEP TO PEACE ก้าวสู่สันติภาพชายแดนใต้

ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ประธานโครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project)

ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ประธานโครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project) เปิดเผยว่า STEP Project จะจัดงาน STEP symposium ในวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยใช้หัวข้อของงานว่า STEP TO PEACE

ผศ.ดร.บุษบง เปิดเผยต่อไปว่า การจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆที่อยู่ภายใต้โครงการSTEP โดยมีโจทย์สำคัญคือ การนำเสนอผลงานของแต่ละโครงการ การถอดบทเรียนที่ได้จากการทำกิจกรรมที่ผ่านมา โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ได้จากการดำเนินโครงการต่างๆ

ผศ.ดร.บุษบง เปิดเผยด้วยว่า ในงานดังกล่าวจะมีตัวแทนของสำนักงานงานใหญ่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP มาร่วมงานและประเมินว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่ UNDP สามารถสนับสนุนหรือสามารถเข้ามาทำงานในพื้นได้บ้าง ผ่านโครงการต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนจาก UNDP ผ่าน STEP Project

ผศ.ดร.บุษบง เปิดเผยว่า สำหรับเหตุผลที่ใช้หัวข้อของงาน STEP TO PEACE นั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสู่สันติภาพโดยอาศัยความต้องการของความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี STEP Project ได้จัดการประชุมหารือเพื่อกำหนดรูปแบบการนำเสนอผลงานในงาน STEP symposium โดยมีตัวแทนจากโครงการย่อยต่างๆ ภายใต้ STEP Project เข้าร่วมประชุม 8 โครงการ

ที่ประชุมได้กำหนดรูปแบบการจัดงานออกเป็น การจัดเวทีใหญ่ ประกอบด้วยการปาฐกถาของ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเสวนาโดยด้วยตัวแทนองค์กรเครือข่ายต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนจาก STEP Project ครอบคลุม 5 ประเด็นได้แก่ ประเด็นสันติภาพ ท้องถิ่นกับการกระจายอำนาจ พลเมืองภัยพิบัติ ความยุติธรรม และการศึกษาภาคประชาชน

โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย เช่น ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากโครงการวิจัยการสร้างพื้นที่ในการสร้างสันติภาพจากคนในของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ IPP

ดร.สมพร ช่วยอารีย์ จากโครงการแบบจำลองเพื่อการเฝ้าระวังภัยพิบัติและโครงการวิจัยแบบจำลองการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ประธาน STEP Project และนายวีรศักดิ์ ทองเนียม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากนั้นในช่วงบ่ายจะแบ่งห้องย่อยเพื่อนำเสนอบทเรียนจากโครงการต่างๆ 5 ห้อง ประกอบด้วย ห้ององค์กรภาคประชาสังคม สื่อและ IPP ห้ององค์กรท้องถิ่นกับการกระจายอำนาจ ห้องเครือข่ายพลเมืองภัยพิบัติ ห้องเครือข่ายงานยุติธรรม ตระหนักถึงเรื่องกฎหมาย และห้องการศึกษาภาคประชาชน

นอกจากนี้ยังจะมีการจัดบู๊ธนิทรรศการของโครงการย่อยต่างๆ และกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนที่อยู่ภายใต้โครงการ STEP

สำหรับโครงการย่อยต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนจาก STEP Project เช่น โครงการวิจัยการสร้างพื้นที่ในการสร้างสันติภาพจากคนในของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ IPP

โครงการแบบจำลองเพื่อการเฝ้าระวังภัยพิบัติและโครงการวิจัยแบบจำลองการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง โครงการกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานีโดยภาคประชาชน

โครงการส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายให้กับองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิเด็กและผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านกฎหมายแก่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะที่ 2

โครงการเสวนาท้องถิ่นใต้: วิทยาลัยวันศุกร์ โครงการพัฒนาศักยภาพการเขียนข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและการผลิตสื่อภาษามลายู-ไทย โครงการศูนย์การเรียนรู้ธุรกิจชุมชนต้นแบบ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สธ.เล็งขึ้นค่าบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวนอกระบบคาดมากกว่า 2 พันต่อปี

Posted: 05 Jul 2013 07:44 AM PDT

สธ.เล็งขึ้นค่าบัตรประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าว คาดมากกว่า 2,000 บาทต่อปี เพื่อให้ครอบคลุมรับยาต้านไวรัสเอชไอวี ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และโรคร้ายแรงอื่นๆ ด้านผอ.รพ.อุ้มผางแย้ง ขายบัตรประกันสุขภาพราคาแพงซ้ำเติมปัญหา แนะต้องตั้งเป็นกองทุนเหตุกลุ่มนี้รายได้ต่ำ ไม่มีกำลังซื้อ ย้ำสธ.ไม่ควรคิดเชิงธุรกิจกำไร

 
5 ก.ค. 56 - เว็บไซต์ healthfocus รายงานว่านพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า อาจมีการเพิ่มค่าบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวนอกระบบในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุขในราคา 1,300 บาท/คน/ปี โดยที่มีค่าตรวจสุขภาพอีก 600 บาทก่อนเข้าร่วมในระบบประกันสุขภาพ ส่วนในกลุ่มเด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี มีค่าใช้จ่ายการซื้อประกันสุขภาพที่ 365บาท/คน/ปี โดยผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิในการดูแลทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี บริการด้านการรักษาพยาบาล บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่ไม่ครอบคลุมถึงการรับยาต้านไวรัสเอชไอวี การบริการล้างไต และโรคร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งหากไม่มีการรักษา อาจมีการแพร่เชื้อโรคขยายเป็นวงกว้างและมีผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดจะเพิ่มค่าบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวนอกระบบเพื่อครอบคลุมการรักษาโรคร้ายแรงเหล่านี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้ ยังไม่มีการสรุปราคาใหม่ของบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวนอกระบบ ทางกระทรวงได้มอบหมายให้ผู้ชำนาญการด้านเศรษฐศาสตร์คิดคำนวณราคาใหม่จากต้นทุนและความคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวภายในเผยว่าราคาบัตรประกันสุขภาพอาจขึ้งสูงมากกว่า 2,000บาท/คน/ปี
 
ขณะที่ในการประชุมหารือระดับนโยบาย ณ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา เรื่องนโยบายการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวรองรับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 ม.ค. 2556 มีการเสนอว่า อาจมีการขยายผู้ได้รับสิทธิจากบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวนอกระบบในอนาคต ซึ่งเดิมมีเพียงแรงงานต่างด้าว พม่า ลาว กัมพูชา ขยายไปสู่กลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ และกลุ่มประชากรต่างด้าวที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน
 
ยังมีการรายงานในที่ประชุม มีการพบว่า "จำนวนต่างด้าวที่เข้าร่วมในสิทธิบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวนอกระบบมีจำนวนลดลง ในขณะที่จำนวนต่างด้าวที่เข้าร่วมในระบบประกันสังคมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าที่ควร" สอดคล้องกับการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ พบว่ามีต่างด้าวซื้อบัตรประกันสุขภาพ 365 บาท ให้เด็กน้อยมาก เพียง 18,413 คนจากการประมาณการณ์จำนวนเด็กไร้สัญชาติในไทยทั้งหมดที่ประมาณ 400,000-500,000 คน ในช่วงการขายบัตรประกันสุขภาพรอบแรกเมื่อวันที่ 15 ม.ค.–14 เม.ย. 2556
 
กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เหตุที่บัตรประกันสุขภาพต่างด้าวนอกระบบยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร นั่นอาจเป็นเพราะปัญหาในการสื่อสาร ความห่างไกลของพื้นที่ ความกลัวต่อการถูกจับ และปัญหาต่างด้าวนอกระบบถูกนายหน้ารีดไถเงินจนไม่มีเงินมาจ่ายค่าหลักประกันสุขภาพ ซึ่งนพ.ชาญวิทย์ เชื่อว่าการประชาสัมพันธ์ที่ดี จะช่วยให้คนกลุ่มนี้ตระหนักในความสำคัญของสุขภาพ จนตัดสินในลงทุนกับบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้วางยุทธศาสตร์ในการรณรงค์ให้ต่างด้าวนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ โดยการใช้ชุมชน อาสาสมัครต่างด้าว ให้มีบทบาทในการสร้างความรู้แก่กลุ่มคนเหล่านี้
 
อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้สื่อข่าว Hfocus ลงศึกษาพื้นที่ชายแดน อ. อุ้มผาง จ.ตาก พบว่า มีน้อยคนที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวนอกระบบที่ราคา 1,300 บาท/คน/ปี สาเหตุหลักมาจากความยากจน และการเข้าถึงสถานพยาบาล ซึ่ง 25% ของประชากรกว่า 84,000 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารมาก
 
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ให้ความเห็นว่า การสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่กลุ่มต่างด้าวนอกระบบและกลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ มิอาจไปคำนึงถึงเรื่องเชิงธุรกิจกับพวกเขาได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การขายบัตรประกันสุขภาพจึงอาจมิใช่การตอบโจทย์ที่ถูกต้องนักสำหรับคนกลุ่มนี้ ทิศทางการแก้ปัญหาอาจเป็นการตั้งกองทุนเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ในลักษณะการเอื้อด้านมนุษยธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการรีดเงินจากคนที่ไม่มี
 
ที่มา: http://www.hfocus.org/content/2013/07/3834
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "จับกัง โรลส์รอยซ์"

Posted: 05 Jul 2013 06:41 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "จับกัง โรลส์รอยซ์"

อภัยโทษ 'หนุ่ม เรดนนท์' ปล่อยตัวแล้ว หลังจำคุกกว่า 3 ปี

Posted: 05 Jul 2013 02:28 AM PDT

(5 ก.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์ ผู้ต้องขังซึ่งถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3), (4) และมาตรา 15 ได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว เมื่อเวลา 16.10 น. ที่ผ่านมา  

ทั้งนี้ ผู้ที่ไปรอรับ หนุ่ม เรดนนท์ มีอาทิ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สุดา รังกุพันธุ์, เหวง โตจิราการ, ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์, ไม้หนึ่ง ก.กุนที, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

คดีนี้ ธันย์ฐวุฒิถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จับกุมและยึดคอมพิวเตอร์ เมื่อเดือนเมษายน 2553   โดยถูกกล่าวหาว่าระหว่างเดือนมีนาคม 2553 นายธันย์ฐวุฒิ ผู้ดูแลเว็บไซต์  www.norporchorusa.com และ www.norporchorusa2.com ได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยมีข้อความที่หมิ่นสถาบันกษัตริย์ และจงใจ สนับสนุน ยินยอมให้ผู้อื่นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีข้อความหรือภาพที่ผิดกฎหมาย

ในชั้นศาล เขายื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธทุกครั้ง ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 54 ศาลอาญาตัดสินว่าธันย์ฐวุฒิมีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 10 ปีและผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14 (3) ลงโทษจำคุก 3 ปีรวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 13 ปี ทั้งนี้ หลังจากศาลอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เมื่อ 12 ก.ย.55 ทีมทนายของธันย์ฐวุฒิได้ดำเนินเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยผลสำรวจ วัยรุ่นอเมริกันใช้เฟซบุ๊ก ห่วงภาพลักษณ์ มากกว่า ความเป็นส่วนตัว

Posted: 05 Jul 2013 01:47 AM PDT

 



(4 ก.ค.56)  Urs Gasser อาจารย์กฎหมายและผู้อำนวยการบริหารศูนย์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา บรรยายเรื่อง วัยรุ่น โซเชียลมีเดีย และอนาคตของความเป็นส่วนตัว ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ โดยความร่วมมือกับ เครือข่ายพลเมืองเน็ต

Gasser กล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมของวัยรุ่นอเมริกันในปี 2555 ว่า วัยรุ่นอายุ 12-17 ปีใช้อินเทอร์เน็ตถึง 95% โดย 74% ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์พกพา ซึ่งผู้ปกครองไม่สามารถจะควบคุมการใช้งานของพวกเขาได้

โดย 94% ของวัยรุ่นที่ใช้โซเชียลมีเดียนั้นมีบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง มีการแชร์ข้อมูลมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยปี 2555 มีการแชร์ข้อมูล 91% ขณะที่ปี 2549 มีการแชร์ 79% อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็เริ่มจัดการกับบัญชีของตัวเองด้วย เช่น การลบเพื่อน ลบโพสต์ หรือลบแท็ก รวมทั้งมีความระมัดระวังในการโพสต์มากขึ้น

Gasser กล่าวว่า แม้เฟซบุ๊กจะเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของโซเชียลมีเดีย แต่แนวโน้มที่น่าสนใจคือ ในสหรัฐอเมริกานั้น จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก เพิ่มขึ้นจาก 93% ในปี 2554 เป็น 94% ในปี 2555 ขณะที่มีการใช้ทวิตเตอร์มากขึ้นจาก 12% เป็น 26% และอินสตาแกรม 11% (ไม่มีการเก็บข้อมูลในปี 2554) โดยพบว่า สาเหตุที่วัยรุ่นย้ายจากเฟซบุ๊กไปใช้อินสตาแกรม เพราะเมื่อโพสต์ในเฟซบุ๊ก พวกเขาไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องพูดจาดีๆ มีภาพดีๆ เพราะรู้ว่ามีครอบครัว หรือเพื่อนมองอยู่ ดังนั้น จึงน่าสนใจสำหรับผู้สร้างนโยบายต่างๆ ที่มองโซเชียลมีเดียอื่นๆ นอกจากเฟซบุ๊กด้วย

นอกจากนี้ พบว่า ข้อมูลที่วัยรุ่นแชร์ในที่สาธารณะนั้นค่อนข้างน้อย โดยแบ่งเป็นสาธารณะ 14% ส่วนตัว 60% สาธารณะบางส่วน 25% และไม่รู้ 1% ดังนั้นจะเห็นว่าที่พูดกันว่าวัยรุ่นโพสต์โดยไม่สนใจอะไรนั้นไม่จริง เพราะพวกเขามีการแยกแยะแล้ว

เมื่อถามว่า การเลือกแชร์หรือไม่แชร์อะไร จะดูจากอะไร พวกเขาส่วนใหญ่ตอบว่า จะคำนึงถึงการจัดการชื่อเสียง-ภาพลักษณ์ว่าคนจะมองพวกเขาอย่างไร ไม่ได้สนใจประเด็นความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ มีเพียง 9% เท่านั้นที่สนใจว่าข้อมูลของพวกเขาอาจถูกเก็บโดยบุคคลที่สามเพื่อประโยชน์ทางการค้า ขณะที่ผู้ปกครองถึง 46% ที่กังวลในเรื่องนี้ ซึ่งนี่เป็นช่องว่างที่กว้างมาก 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีโปสการ์ดธนบัตร ตร.แจงแค่รับแจ้งความ รอส่งผู้บังคับบัญชา

Posted: 05 Jul 2013 12:59 AM PDT

กรณีเครือข่ายเฝ้าระวังระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ นำโดย นายอุดร แสงอรุณ เลขาธิการเครือข่ายฯ แจ้งความกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย จากการทำโปสการ์ดที่มีลักษณะคล้ายธนบัตร โดยมีรูปบุคคลสำคัญทางการเมือง ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

(5 ก.ค.56) พ.ต.ท.เอกชัย ศรีระหงษ์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต กล่าวว่า ได้รับแจ้งความไว้ เบื้องต้นยังไม่ชัดว่าเป็นความผิด ทั้งนี้ จะทำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาต่อไป

สำหรับโปสการ์ดธนบัตรดังกล่าว กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยระบุว่า จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกวันชาติในแบบฉบับ 2475 และระดมทุนสำหรับการทำกิจกรรมของทางกลุ่มในช่วงปีการศึกษาถัดไป เนื่องจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่สนใจการเมืองและปัญหาสังคม การขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีทุนสนับสนุนเช่นกัน

ชุดโปสการ์ดธนบัตรวันชาติ ประกอบด้วยโปสการ์ดภาพ 4 บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย 1. ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน และผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  2. พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ภาพในโปสการ์ดเป็นภาพการอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง3. จอมพล ป พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรผู้ร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ผู้สร้างนิยามความเป็นไทย วางรากฐานสู่ความเป็น "รัฐสมัยใหม่"  4. กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย ผู้ต่อสู้เพื่อราษฎรและมนุษยธรรมด้วยปลายปากกา
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษียร เตชะพีระ

Posted: 04 Jul 2013 10:35 PM PDT

"..นับวันประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันก็ ล้มง่ายเข้า และ สร้างยากขึ้น ทุกที.."

4 ก.ค.56, กล่าวถึง 6 ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์

"พิธีกรรม"เสันขนานแห่งเสรีภาพในระบบการศึกษาไทย

Posted: 04 Jul 2013 07:38 PM PDT

"การทำลายเสรีภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงเท่ากับเป็นการลดทอนบุคคลนั้นให้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นมนุษย์ไปเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง "   

                                                             (จากหนังสือ ปรัชญาชีวิตของ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ : พินิจ รัตนกุล)


เมื่ออ่านประโยคข้างต้นแล้วทำให้ผม อึ้ง! กับตัวอักษรแต่ละตัวที่ร้อยเรียงมาเป็นคำ เป็นประโยค แสดงให้เห็นถึงอณูของความหมาย คำว่าเสรีภาพของมนุษย์ได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมา และด้วยประโยคเดียวกันนี้ทำให้ผมนึกถึงครั้นเมื่อตอนรับน้องในมหาวิทยาลัย ซึ่งราวกับเสมือนกับว่าตนถูกพันธนาการด้วยสิ่งที่เรียกว่าระบบ เต็มร่างกายไปหมด พื้นที่บนเนื้อตัว ความรู้สึกนึกคิด  สิทธิเสรีภาพ ถูกรุ่นพี่สรรสร้างและแต่งแต้ม ให้อยู่ในเบ้าหลอมแห่งอำนาจแทบทั้งสิ้น ราวกับตนเป็นหุ่นยนต์ที่ประกอบไปด้วยเครื่องประดับที่มีป้ายชื่อแขวนที่คอ และมีรหัสกำกับสายพันธุ์ ทั้งหมดที่ผมประสบพบเจอมานี้ในการรับน้อง หากนำมาเปรียบเทียบกับความคิดของนักปรัชญาสายเสรีนิยม เช่น ฌอง ปอล ซาร์ตร์ แล้วนั้น จะเห็นได้ว่าล้วนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงราวกับเส้นขนานเลยก็ว่าได้

ความที่เป็นน้องใหม่ ภายในใจต้องการเรียนรู้อะไรที่ใหม่ ๆ ในมหาวิทยาลัย ผนวกกับการที่มาจากโรงเรียนมัธยมอันไกลโพ้น ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความกลัวซึ่งมักซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาและมีอยู่กันทุกคน อีกทั้งความเห็นแก่ตัว เกรงว่าจะถูกตัดรุ่น และอาจจะประสบปัญหาในการหางานทำในอนาคต ด้วยความคิดทั้งหมดนี้เข้ามารุมเร้าอยู่ในภวังค์แห่งจิตใต้สำนึก และได้ปะทุขึ้น มุ่งสู่การยอมรับพิธีกรรมรับน้องอย่างไร้ข้อคำถาม

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่ง่ายมากต่อการถูกชักจูง และระบบหมู่ที่เข้าครอบงำความคิด ผมจึงตัดสินใจอย่างไม่รีรอในการเข้าร่วมระบบ และพิธีกรรมที่คนส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดในชีวิตปีหนึ่งไปโดยปริยาย ด้วยการตัดสินใจของตนเองผนวกกับเพื่อน ๆ ในชั้นปีเดียวกัน ที่จะสยบสมยอมต่ออำนาจจากผู้ที่อาวุโสกว่า หลังจากนั้นมา กิจกรรมต่าง ๆ จากหลายทิศหลายทางก็พุ่งตรงเข้ามาบรรจบกับน้องปีหนึ่ง ซื่อ ๆ เซ่อ ๆ ใส ๆ เช่นผม

กิจกรรมหนึ่งในพิธีกรรมรับน้องที่ส่วนตัวมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด มากกว่าการแขวนป้าย มากกว่าการแต่งกาย นั่นคือ การว๊าก หรือการเข้าวินัย นั่นเอง ซึ่งมีการด่าทอ และบังคับให้ทำตามคำสั่ง หากไม่ได้ดังใจผู้สั่งก็จะมีการลงโทษต่าง ๆ นานา ผมจึงขอยกตัวอย่างจากบทความหนึ่งที่ผมเคยอ่านมาประกอบ มีใจความว่า

" ว้ากน้อง ร้องเพลงเชียร์ เต้นรำสนุกสนาน สั่งน้องให้เข้าแถว ยืนตรง นิ่ง นับจำนวนคนที่มาและคนที่ขาด สั่งให้วิ่ง หันซ้ายหันขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน สั่งให้นั่งประชุมนิ่ง ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง สั่งให้ร้องเพลงดัง ๆ ที่สุด ตบมือให้ดัง ร้องเพลงหลาย ๆ รอบให้พร้อมกัน (ทำตามคำสั่ง order) ห้ามคุยกัน ห้ามแสดงความคิดเห็น หรือโต้ตอบการกระทำของรุ่นพี่ ห้ามมองหน้าพี่ ห้ามยิ้ม ห้ามเกา ถ้าไม่ทำตามก็จะมีมาตรการลงโทษเช่น นำตัวไปที่ห้องเรียน ปิดประตูหน้าต่าง ปิดพัดลมให้หมด เพื่อไม่ให้คนภายนอกรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในห้อง จากนั้นก็ด่าทอ ตะโกนใส่อย่างบ้าคลั่ง กักตัวไม่ให้ไปไหน กลับบ้านยังไม่ได้จนกว่าจะถึงเวลาสมควร หรือจนกว่าพี่จะพอใจ กลั่นแกล้งสารพัด โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมความสามัคคี (unity) ในหมู่คณะและความภาคภูมิใจในสถาบัน กิจกรรมระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง (seniority) ข้างต้นจัดขึ้นในช่วงที่กำลังจะเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่ถึงการสอบกลางภาคในรั้วมหาวิทยาลัย วิทยาลัยทุกปีจนเป็นประเพณี (tradition) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฤดูล่าหัวมนุษย์ (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2543)

( จากบทความ "การใช้อำนาจข่มเหงเสรีภาพของหนุ่มสาว" ของ พัชณีย์ คำหนัก, ประชาไท)


จากบทความข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า สังคมในมหาวิทยาลัยไทยที่มีพิธีกรรมรับน้องและการว๊าก ที่ส่อให้เห็นถึงการฝักใฝ่ถึงอำนาจเผด็จการของผู้ที่มีความอาวุโสกว่า ซึ่งพร้อมจะขีดเส้น ตีกรอบ ล้อมคอก ให้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาใหม่ และทั้งหมดนี้เองที่ย้อนแย้งอย่างมากกับรูปแบบการปกครองในประเทศ นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์จากรายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกาที่วิเคราะห์และสรุปพิธกรรมรับน้องออกมาว่า

 "เบื้องหลังที่ทำให้กิจกรรมรับน้องดำรงอยู่มาได้ ในระดับจิตวิทยาเชื่อมโยงกับระดับวัฒนธรรม กล่าวคือการพิสูจน์ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมอำนาจนิยมและสถาบันนิยม (หรือเรียกว่าระบบโซตัส) ที่อยู่เบื้องหลังของกิจกรรมรับน้อง ส่งผลต่อการสร้างบุคลิกภาพของเด็กเยาวชนให้เป็นผู้นิยมอำนาจเผด็จการ อันเป็นพฤติกรรมที่ช่วยให้โครงสร้างทางชนชั้นสูง-ต่ำยังคงอยู่ และทำให้การยึดถือในคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นปัจเจกภาพของคนหนุ่มสาวหดหายไป" 

(ประวัติศาสตร์การรับน้องและระบบ Sotus ในประเทศไทย, รายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา: Voice TV)

เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม การทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นกับรัฐไทยในแต่ละครั้งจึงได้ประสบผลสำเร็จแทบจะทุกครั้งไป ซึ่งมีความสอดคล้องกันมากเพราะผู้ที่เรียกตนว่าปัญญาชนยังหมกหมุ้นอยู่กับอำนาจเผด็จการที่จะจัดการกับนักศึกษาใหม่ จุดนี้เองจึงเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ก่อเกิดขึ้นก่อนการเป็นพลเมืองผู้น่ารัก และมีระเบียบตามกรอบอำนาจเผด็จการทุกประการ

กรอบทั้งหมดนี้เองที่เปรียบเสมือนเป็นเส้นกรอบที่ครอบงำทางความคิดให้นักศึกษาที่เข้าร่วมพิธีกรรม ถูกจำกัด อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้นปี รุ่นพี่ และครูบาอาจารย์ เพราะกรอบเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ถือเป็นอำนาจหนึ่งที่กดสถานะของนักศึกษาใหม่ให้มีสถานะและอำนาจที่ต่ำลง ส่งผลให้ ความกล้าในการที่จะเผชิญโลก การตั้งคำถาม และการยึดมั่นในคุณค่าความเป็นปัจเจกถูกบั่นทอน และส่งผลต่อการเสาะแสวงหาซึ่งความรู้จริงในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์แรก และหนึ่งเดียวที่นักศึกษาเลือกที่จะเข้ามาเสาะแสวงหา และผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีการปรับตัวที่ดีเยี่ยม และมีความสามารถในการกำหนดและตัดสินได้ด้วยตนเองตามหลักมนุษยนิยม โดยไม่ต้องอาศัยการเร่งเร้า การบีบบังคับ การลงโทษ เพราะมนุษย์มีความพิเศษและแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ตรงที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล นั่นเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องไม่สู้กับตุลาการด้วยการยุบสภา!

Posted: 04 Jul 2013 05:39 PM PDT

ในหลายเดือนที่ผ่านมา ฝ่ายเผด็จการได้ก่อการรุกครั้งใหม่เพื่อโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยวิธีการเดิม ๆ คือ ส่งมวลชนเสื้อเหลืองสารพัดชื่อมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เรียกร้องให้มีรัฐประหาร ประสานกับสื่อมวลชนกระแสหลักช่วยกันกระพือโจมตีรัฐบาลทั้งจริงและเท็จปะปนกัน สร้างสถานการณ์ให้เห็นว่า รัฐบาลเสื่อมความนิยมจากทุจริตคอรัปชั่นและละเมิดสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนกลุ่มมวลชนเสื้อเหลืองบนท้องถนนอย่างเปิดเผย และที่สำคัญคือ การใช้องค์กรตุลาการในมือ เข้ามาสะกัดกั้นการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภา ขัดขวางกฎหมายและโครงการต่าง ๆ ที่ริเริ่มโดยรัฐบาล และตั้งแท่นเตรียมยุบพรรค ปลดนายกรัฐมนตรี

แต่ดูเหมือนว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยจะยังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของสถานการณ์ทั้งหมด ยังคงดำเนินยุทธศาสตร์การเมืองแบบเลือกตั้งล้วน ๆ ต่อไป ดังจะเห็นได้จากแนวทางของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และในการเลือกตั้งซ่อมสส.เขตดอนเมือง ซึ่งพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายทั้งสองกรณี

สถานการณ์ปัจจุบันเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างกลุ่มจารีตนิยม พวกทุนเก่า และชนชั้นกลางในเมืองฝ่ายหนึ่ง กับประชาชนรากหญ้า ชนชั้นกลางในชนบทและกลุ่มทุนใหม่อีกฝ่ายหนึ่ง และก็เป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างระบอบเผด็จการจารีตนิยมกับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม เป็นการต่อสู้ที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้และจะต้องแตกหักในที่สุด

ในการต่อสู้นี้ ฝ่ายจารีตนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งใหญ่สองครั้ง แต่ก็ยังมีกลไกที่เข้มแข็ง ทั้งกองทัพ ตุลาการ พรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนกระแสหลัก องค์กรพัฒนาเอกชน และฐานมวลชนในเขตกรุงเทพและเมืองใหญ่ การเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นทุกครั้งในปัจจุบันจึงไม่ใช่การเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาที่เป็นปกติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง แต่เป็นการต่อเนื่องของสงครามชนชั้นและสงครามสองแนวทาง

พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งใหญ่ทั้งสองครั้งก็เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคเพื่อไทยนั้นต้องการประชาธิปไตย ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็เพราะพวกเขาไม่ต้องการประชาธิปไตย แต่ต้องการระบอบจารีตนิยม ส่วนการแข่งขันด้วยนโยบายและโครงการนั้นเป็นเรื่องรอง

กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเขตฐานมวลชนหลักของพวกจารีตนิยมและพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็มีฐานคะแนนเสียงและคนเสื้อแดงในจำนวนที่ก้ำกึ่งกัน การเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯเป็นการต่อเนื่องของการต่อสู้สองแนวทางและการต่อสู้ทางชนชั้นระดับชาติ การแพ้ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯจึงตัดสินกันที่ดุลกำลังของฐานคะแนนเสียงทั้งฝ่ายว่า จะสามารถระดมออกมาได้อย่างเต็มที่หรือไม่ ประเด็นนโยบายและโครงการมีความสำคัญเป็นรอง

คำถามคือ แล้ว "คนกลาง ๆ" หรือ "คนไม่มีสี" อยู่ตรงไหน? คำตอบคือ คนพวกนี้เป็นพวกเฉื่อยชาทางการเมือง หากมีรายได้ไม่สูงก็จะหมกมุ่นกับการทำมาหากิน หากมีรายได้สูง ก็หมกมุ่นกับการหาความสุขส่วนตัว คนพวกนี้ไม่สนใจชะตากรรมของบ้านเมืองและความขัดแย้งใด ๆ ไม่สนใจการเลือกตั้งและส่วนใหญ่จะนอนหลับทับสิทธิ์

แกนนำพรรคเพื่อไทยยังไม่เข้าใจถึงการต่อสู้สองแนวทางในระดับท้องถิ่นกรุงเทพฯ จึงยังคงดำเนินยุทธวิธีทางการเมืองเสมือนเป็นระบอบรัฐสภาตามปกติ คือสร้างกระแสเลือกตั้งด้วยกลยุทธ์การตลาด ประดิษฐ์คำขวัญนโยบายสวยหรู เสนอขายชุดโครงการหลากหลาย เอาผลงานของรัฐบาลระดับชาติเป็นเครื่องประกันคุณภาพ แต่จงใจละเลยไม่ชูประเด็นการต่อสู้ทางประชาธิปไตย ไม่ชี้ให้เห็นว่า หากต้องการประชาธิปไตย ปฏิเสธเผด็จการ ก็ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย

แกนนำพรรคเพื่อไทยเชื่อลม ๆ แล้ง ๆ ว่า ด้วยผลงานระดับชาติ คำขวัญหรู ๆ ชุดนโยบายหลากหลาย จะทำให้มวลชนกรุงเทพฯ "คนกลาง ๆ" หรือ "คนไม่มีสี" สนใจหันมาลงคะแนนให้กับผู้สมัครพรรคเพื่อไทย เมื่อรวมกับฐานเสียงพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงแล้ว ก็จะชนะเลือกตั้งท้องถิ่นได้ แต่นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะยุทธวิธีดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้เสียงจาก "คนกลาง ๆ" "คนไม่มีสี" แล้ว พฤติกรรมอ่อนแอโลเลในการเมืองระดับชาติของพรรคเพื่อไทยยังทำให้การสนับสนุนจากมวลชนคนเสื้อแดงลดน้อยถอยลงไปอีกด้วย ผลก็คือ พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯและปริมณฑลทุกครั้ง และจะแพ้ซ้ำซากเช่นนี้ต่อไปอีก

จะเห็นได้ว่า นโยบายเอาใจคนกรุงเทพฯสารพัดไม่เคยได้ผลตอบรับ ตั้งแต่การต่อสู้ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพชั้นใน โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก โครงการรถไฟฟ้า และโครงการอื่น ๆ คนกรุงเทพฯที่เป็น "เหลือง" และ "คนกลาง ๆ" จำนวนมากได้ประโยชน์โดยตรง แต่ก็ยังไม่ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเพราะคนกรุงเทพฯที่ "เหลือง" ก็ต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ขณะที่ "คนกลาง ๆ" ไม่สนใจใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ในทางตรงข้าม พรรคประชาธิปัตย์กลับมีความชัดเจนในเรื่องนี้ พวกเขาหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วยการชูความขัดแย้งการเมืองระดับชาติเป็นธงนำ ปลุกระดมฐานมวลชนของตนด้วยการชูธง "ต้านระบอบทักษิณ" หากแพ้เลือกตั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็คือ แพ้ต่อ "ระบอบทักษิณ" ทำให้สามารถระดมพลังมวลชนของฝ่ายตนออกมาได้อย่างเต็มที่ และชนะเลือกตั้งทุกครั้ง นัยหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่า นี่คือสถานการณ์สู้รบ ต้องชูเป้าหมาย "ต่อต้านระบอบทักษิณ" จึงจะยืนอยู่ได้

หากองค์กรตุลาการเดินหน้าไปถึงขั้นจะยุบพรรคและปลดนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร? ข้อเสนอข้อหนึ่งภายในพรรคเพื่อไทยคือ ให้สู้กับตุลาการด้วยการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ โดยเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยเข้ามาด้วยคะแนนล้นหลามอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการยับยั้งฝ่ายตุลาการ

แต่นี่เป็นข้อเสนอที่ไร้เดียงสาด้วยวิธีคิดของการเมืองแบบเลือกตั้งล้วน ๆ คือเชื่อว่า ฝ่ายจารีตนิยม "กลัวการเลือกตั้ง" และเชื่อว่า เมื่อยุบสภาแล้ว ฝ่ายจารีตนิยมจะต้องยอมให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างแน่นอนเพราะไม่มีทางเลือกอื่น นี่เป็นความเชื่อที่ผิด พรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ลืมบทเรียนจากการยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งแทนที่จะได้เลือกตั้งใหม่ กลับนำไปสู่สภาวะสูญญากาศทางการเมือง ให้พวกจารีตนิยมสร้างวิกฤตการเมืองขึ้นทีละขั้น ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง จนเป็นเงื่อนไขสุกงอมให้เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

หากพรรคเพื่อไทยสู้กับตุลาการด้วยการยุบสภาก็จะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เพราะจะเหลือแต่รัฐบาลและรัฐมนตรีรักษาการ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เปิดช่องโอกาสให้พวกจารีตนิยมใช้ตุลาการ สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง และมวลชนเสื้อเหลืองบนท้องถนน ตลอดจนกองทัพในมือได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องทำในสถานการณ์สู้รบนี้ จึงไม่ใช่การยุบสภาอย่างเด็ดขาด แต่เป็นการเดินแนวทางการเมืองแบบมวลชน ชูธงประชาธิปไตยให้สูงเด่น เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองโดยเร็ว พึ่งพาสนับสนุนมวลชนของตนอย่างเต็มที่ ดึงความเชื่อมั่นของมวลชนคนเสื้อแดงกลับคืนมา ต่อสู้กับกลไกของจารีตนิยม ทั้งตุลาการและพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ด้วยแนวทางทั้งในและนอกสภา

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การอยู่รวมกันภายใต้ความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

Posted: 04 Jul 2013 05:28 PM PDT

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐถือเป็นสถานศึกษาที่ให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ที่ไม่เพียงมีภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการให้การศึกษาระดับสูงแก่ประชาชนของประเทศ เพื่อให้ประชาชนของประเทศกลายเป็นแรงงานที่สำคัญสำหรับพัฒนาหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศในอนาคตเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการอบรมบ่มเพราะประชาชนเหล่านั้นให้มีคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้ประชาชนเหล่านั้นเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพดี รู้จักสิทธิและหน้าที่ที่กฎหมายได้รับรอง คุ้มครองหรือระบุเอาไว้ในอนาคตด้วย

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงประกอบไปด้วยบุคลากรสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรสายวิชาการ (academic staff) และบุคลากรสายสนับสนุน (supporting staff) รวมไปถึงคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย (University Executive Board - UEB) ที่มาจากทั้งบุคลากรประจำและบุคคลากรที่มหาวิทยาลัยจ้างมาเป็นพิเศษเพื่อบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือกิจการของมหาวิทยาลัยให้สามารถตอบสนองต่อการจัดทำบริการสาธารณด้านการศึกษาและสามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับโลกในด้านต่างๆ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยของรัฐย่อมประกอบด้วยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยให้เข้าศึกษาต่อทั้งในหลักสูตรเต็มเวลา (full time) และหลักสูตรภาคสมทบ (part time) อันประกอบด้วยการศึกษาหลายระดับ หลายหลักสูตรตามแต่ความถนัดหรือความชอบของนักศึกษาที่ต้องการเรียนรู้หรือศึกษาในสาขาวิชานั้นๆ

มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นศูนย์รวมของบุคลากรสายต่างๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการ สายสนับสนุนและผู้บริหารหน่วยงานหรือคณะกรรมการประเภทต่างๆ รวมไปถึงนักศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะตนที่หลากหลาย  จากลักษณะทางกายที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ลักษณะทางกายหรือเงื่อนไขทางการแพทย์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงภายหลังจากกำเนิด ความเชื่อส่วนบุคคลในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป รสนิยมในเรื่องต่างๆ ที่อาจไม่ความนิยมชมชอบที่ไม่เหมือนกัน ความหลากหลาย (characteristic diversity) เหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งความแตกต่างส่วนตนภายใต้สังคมอุดมศึกษาของรัฐ

รัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสถาบันการศึกษาของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงมีหน้าที่ที่สำคัญในการกำกับดูแลและควบคุมให้บุคคลที่หลากหลายดังกล่าวสามารถดำรงอยู่รวมกันได้อย่างปกติสุขและสันติสุข ในขณะเดียวกัน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำต้องขับเคลื่อนการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาภายใต้ความหลากหลายของบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะตนที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้บุคคลที่มีลักษณะเฉพาะประเภทต่างๆ สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ สำหรับให้บริการสาธารณะทางการศึกษาหรือสนับสนุนการการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษา รวมไปถึงสามารถเข้ารับบริการสาธารณะทางการศึกษาได้ โดยปราศจากเงื่อนไขอันถือเป็นการเลือกปฏิบัติ (conditions for discrimination) ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเลือกปฏิบัติระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัยด้วยกัน เงื่อนไขที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยสามารถกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษา เงื่อนไขที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสามารถกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษา และเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่นักศึกษาตั้งขึ้นมาเพื่อกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาด้วยกันเอง โดยปราศจากบทบัญญัติทางกฎหมายที่ให้อำนาจหรือกฎหมายรับรองหรือคุ้มครองให้กระทำการนั้นๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงได้พยายามแสวงหานโยบายและมาตรการทางกฎหมายเฉพาะที่กำหนดหลักเกณฑ์กับวิธีการในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ (anti-discriminatory approaches) เพื่อให้บุคคลที่มีที่มาหรือมีลักษณะเฉพาะตนที่หลากหลายถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (equality) โดยปราศจากการกีดกันและการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเพียงความแตกต่างในลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลในสังคมอุดมศึกษาของรัฐ ได้แก่ อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรส การใช้ชิวิตคู่ สีผิว ศาสนา เพศ และการแสดงออกทางเพศ

แม้ว่าการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ไม่อาจจะทำให้ผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะตนที่หลากหลายมีความเท่าเทียมกันในทุกๆเรื่อง ทุกๆ มิติและทุกๆด้าน ในความเป็นจริง แต่การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโดยนโยบายและมาตรการทางกฎหมายเฉพาะที่จัดทำขึ้นโดยรัฐดังกล่าวย่อมสามารถทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายต่างๆ นักศึกษาประเภทต่างๆ และผู้บริหารสามารถมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติต่างๆ อย่างเท่าเทียมในการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาและการรับบริการสาธารณะด้านการศึกษา รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ทั้งกิจกรรมทางกายภาพและการกระทำทางปกครองที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันการศึกษาของรัฐหรือหน่วยงานในสถาบันการศึกษาของรัฐ นอกจากนี้ การต่อต้านการเลือกปฏิบัติยังเท่ากับเป็นการเปิดหรือให้โอกาส แก่บุคคลที่อยู่ภายใต้สังคมอุดมศึกษา ให้สามารถใช้สิทธิของตนที่กฎหมายรับรองหรือคุ้มครองเอาไว้กับสามารถรับหน้าที่ที่กฎหมายระบุเอาไว้ รวมไปถึงมีโอกาศได้รับความก้าวหน้าจากการศึกษาหรือการประกอบหน้าที่การงานได้อย่างเท่าเทียมกัน

หลักเกณฑ์และวิธีการในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอุดมศึกษาของรัฐที่ควรพัฒนาเป็นนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในอนาคต ได้แก่ มาตรการต่อต้านการเลือกปฏิบัติจากความพิการทางกาย (disability discrimination) มาตรการสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชนหรือผู้พิการที่มีความต้องการพิเศษ (special educational needs) มาตรการขจัดการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเพียวความแตกต่างด้านเชื้อชาติหรือสีผิว (race relations) มาตรการการต่อต้านการเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างทางเพศ (sex discrimination) และมาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมในการจ้างงานในสถาบันอุดมศึกษา (employment equality) เหตุที่ควรพัฒนากฎหมายสำหรับต่อต้านการเลือกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาก็เพราะสถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งที่รวมของบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษามากมายหลายประเภท ตัวอย่างเช่น นักศึกษาในแต่ละชั้นปีที่มีอายุแตกต่างกัน นักศึกษาที่มีลักษณะทางกายที่แตกต่างกัน และพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีรสนิยมทางเพศหรือเพศวิถีที่แตกต่างกัน เป็นต้น

อนึ่ง หากภายรัฐกำหนดนโยบายสาธารณะหรือมาตรการทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสารบัญญัติหรือกฎหมายระดับอนุบัญญัติ เอาไว้เป็นการเฉพาะเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติหรือส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีความเสมอภาคหรือมีความเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาสที่จะได้รับจากสังคมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติแล้ว ย่อมอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดธรรมาภิบาล (governance) และการอยู่รวมกันอย่างปกติสุขระหว่างบุคคลผู้ดำรงสถานะต่างๆในมหาวิทยาลัย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานสายวิชาการ พนักงานสายสนับสนุน และนักศึกษาประเภทต่างๆ อันมีที่มาจากความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะตัวที่หลายหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น

แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 ได้วางหลักเกณฑ์ให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยที่การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ อย่างไรก็ดี ประเพณีหรือแนวทางการปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาและระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆของภาครัฐบางอย่าง กลับเป็นตัวสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือการกีดกันระหว่างผู้ดำรงสถานต่างๆในมหาวิทยาลัย ได้แก่ การเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ดำรงสถานะข้าราชการกับพนักงานมหาวิทยาลัย การเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ดำรงสถานะพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ การเลือกปฏิบัติระหว่างบุคคลกรมหาวิทยาลัยต่อนักศึกษา และการเลือกปฏิบัติระหว่างนักศึกษาต่อนักศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติบนความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเช่น

ตัวอย่างแรก มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ที่คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ส่งผลให้รัฐและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจการอุดมศึกษาต้องกำหนดวางกรอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจ้างพนักงานทดแทนเท่ากับจำนวนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่เกษียณอายุในปีงบประมาณนั้น ๆ จนกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐภายในปี พ.ศ. 2545 โดยการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการที่เกษียณอายุในแต่ละปีดังกล่าว ให้จัดสรรเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการในตำแหน่งที่เกษียณอายุในปีนั้น ๆ กล่าวคือเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า จากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการ สำหรับการจัดสรรงบประมาณทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สาย ก. และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการ สำหรับการจัดสรรงบประมาณทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สาย ข. และสาย ค. เหตุที่มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติไว้เช่นนี้ ก็เพราะต้องการจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนของสายวิชาการและสายสนับสนุน และต้องการดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงให้เข้ามาดำเนินกิจกรรมบริการสาธารณะด้านการศึกษาที่มุ่งพัฒนาให้สถาบันการศึกษาของรัฐมีอิสระในการบริหารตนเองในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยในอนาคต

อย่างไรก็ดี ผลของการออกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติในสังคมแรงงานของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นธรรม เพียงเพราะอาศัยเพียงเหตุแห่งความแตกต่างระหว่างการดำรงสถานะที่แตกต่างกันระหว่างผู้ดำรงสถานะข้าราชการและผู้ดำรงสถานะพนักงานมหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การกดขี่หรือการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอาศัยสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยกับข้อจำกัดประการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการดำรงสถานะภาพพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นเครื่องต่อรอง จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติประการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในสถาบันอุดมศึกษา

ตัวอย่างที่สอง กรณีปัญหาการรับน้องในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ การรับน้องอาจเป็นวัฒนธรรมหรือจารีตระหว่างนักศึกษารุ่นพี่และนักศึกษารุ่นน้องที่มีที่มาจากความหลากหลายที่แตกต่างกันออกไปในหลายสถาบันการศึกษา  แม้ว่าการรับน้องที่เหมาะสมและอยู่ภายในกรอบแห่ง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวปฏิบัติในการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2556 ย่อมนำไปสู่การสร้างความสามัคคีและการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องที่ศึกษาอยู่ภายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งเดียวกัน ทำให้รุ่นพี่หรือรุ่นน้องที่ผ่านกิจกรรมรับน้องที่เหมาะสมและปฏิบัติตามกรอบแห่งกฎหมายเหล่านั้นกลายเป็นมิตรที่ดีที่สามารถเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบันและในภายภาคหน้า อย่างไรก็ดี การรับน้องที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประกาศกระทรวงได้กำหนดไว้ อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในกรณีต่างๆ เพียงเพราะเหตุแห่งความแตกต่างระหว่างอายุหรือชั้นปีของนักศึกษา ทำให้นักศึกษารุ่นพี่ที่มีชั้นปีเหนือกว่าหรือรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วสามารถกระทำการต่างๆหรือดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือการกีดกันรุ่นน้องในกรณีต่างๆ ได้ จนอาจนำไปสู่การละเมิดจริยธรรม ศีลธรรมและกฎหมายของรัฐต่างๆได้

ด้วยเหตุนี้ บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ดำรงสถานะต่างๆ และนักศึกษาประเภทต่างๆ เช่น ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ ลูกจ้างประเภทต่างๆ นักศึกษาทุกชั้นปี ที่มีลักษณะเฉพาะตัวอันประกอบด้วยความหลากหลายกันในเรื่องของอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรส การใช้ชิวิตคู่ สีผิว ศาสนา เพศ และการแสดงออกทางเพศ จำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทางทำให้บุคคลต่างๆ อยู่รวมกันได้อย่างเกื้อกูลและปกติสุขในสังคมอุดมศึกษาของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐอาจพัฒนานโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมายเฉพาะสำหรับกำหนดกลไกในการกำกับและควบคุมกลไกของรัฐเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างประชาชนในระดับต่างๆ รวมไปถึงกลไกสำหรับสร้างความเท่าเทียมในสังคมอุดมศึกษา ที่ทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง นักศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดทำบริการสาธารณะโดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามารถอยู่รวมกันอย่างเข้าอกเข้าใจและเอื้ออาทรบนพื้นฐานแห่งความหลากหลายของบุคคลได้อย่างสันติสุข

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น