โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักอนุรักษ์ทยอยประกาศคืน ‘รางวัลลูกโลกสีเขียว’ จวก ปตท.สร้างภาพสีเขียว

Posted: 31 Jul 2013 01:56 PM PDT

กลุ่มผู้เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจาก ปตท. ทยอยประกาศตัวไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ ปตท.อีกต่อไป เตรียมเดินหน้าคืนรางวัลพร้อมเงินศุกร์ 2 ส.ค.นี้ 
สภาพอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เมื่อวันที่ 31 พ.ค.56
โดย: Karnt Thassanaphak
 
1ส.ค.56 – ความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กกรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วจากท่อส่งน้ำมันกลางทะเลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ พีทีที จีซี ในเครือ ปตท.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้คราบน้ำมันดิบสร้างความเสียหายแก่ชายหาดบนเกาะเสม็ด จ.ระยอง รวมทั้งสัตว์น้ำในทะเล มีการรวมตัวตั้งกลุ่ม "คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท." ขึ้นเพื่อประท้วงเหตุการณ์ดังกล่าว และการแก้ปัญหาของ ปตท. พร้อมมีการนัดหมายกันของกลุ่มผู้เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจาก ปตท.เพื่อไปคืนรางวัลที่สำนักงานใหญ่ ปตท.ในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.นี้ 
 
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเริ่มต้นจาก เมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 ก.ค.56 นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ หน่วยวิชาระบบ หัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550 ในฐานะเป็นผู้เปิดประตูสู่โลกธรรมชาติให้กับเยาวชน ด้วยการจัดกิจกรรมดูนกและให้ความรู้เรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit ประกาศคืนรางวัล พร้อมเงินสด 1 แสนบาท
 
"ผมต้องกราบขออภัยและด้วยความเคารพอย่างสูงต่อ ฯพณฯ ท่าน อานันท์ ปันยารชุน และคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท.ผมมีความจำเป็นต้องคืนรางวัลดังกล่าวที่ได้รับมาแก่ทางบริษัท ในปี พ.ศ.2550 ผมรู้สึกขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ทางคณะกรรมการได้ให้กำลังใจ และเกียรตินี้แก่ผม แต่ ด้วยพฤติกรรมของบริษัท ปตท.ที่ผ่านมา ผมไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพสีเขียว ของบริษัทฯ ได้จริงๆ โดยผมจะนำไปส่งคืนพร้อมเงินหนึ่งแสนที่ได้รับมาในวันศุกร์นี้ครับ ขอกราบขออภัยอีกครั้งครับ" ข้อความจากเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit
 
 
 
ต่อมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กในชื่อ Acharawadee Buaklee ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของ นางอัจฉราวดี บัวคลี่ ผู้ชำนาญการสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนดีเด่นรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550 ก็ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของ นพ.รังสฤษฎ์ และจะส่งมอบรางวัลดังกล่าวคืนให้กับ ปตท.เช่นกัน
 
"ต้องขออภัยในกำลังใจที่เคยมีให้กับหนังสือพิมพ์ 'พลเมืองเหนือ' จ.เชียงใหม่ พวกเราเคยรู้สึกภาคภูมิใจที่การร่วมสื่อสารเพื่อปกป้องดูแลทรัพยากรของชุมชนมีคนมองเห็นคุณค่า แม้ขณะนี้หนังสือพิมพ์พลเมืองได้ปิดตัวลงไปนานแล้ว แต่เชื่อว่าผู้ร่วมงานทุกคนยังคงยึดมั่นกับแนวคิดเดิม ดิฉันในนามอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ เห็นด้วยกับแนวคิดของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ จึงขอส่งมอบรางวัลดังกล่าวคืนต่อ ปตท. โดยจะส่งคืนทางไปรษณีย์ยัง ปตท.สำนักงานใหญ่ในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.2556)" ข้อความจากเฟซบุ๊ก Acharawadee Buaklee
 
 
ส่วนในเพจ คนอนุรักษ์ ได้รวบรวมชื่อผู้ประกาศจุดยื่นโดยการคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวของ ปตท.ว่าล่าสุด มีจำนวน 5 กลุ่ม/คน ประกอบด้วย
 
1.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เจ้าของรางรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550 ประเภทบุคคล (คลิกอ่านข้อมูล)
2.นายเข็มทอง และนางอาริยา โมราษฎร์ ผู้ก่อตั้ง "กลุ่มเด็กรักป่า" เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2546 ประเภทบุคคล (คลิกอ่านข้อมูล)
3.หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ จ.เชียงใหม่ เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550 ประเภทสื่อมวลชน (คลิกอ่านข้อมูล)
4.แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เจ้าของรางรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550 ประเภทงานเขียน จากสารคดี "เขา ป่า นา เล : บันทึกที่หล่นหายในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" (คลิกอ่านข้อมูล)
5.กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2548 ประเภทกลุ่มเยาวชน (คลิกอ่านข้อมูล)
 
 
นอกจากนี้ ในกลุ่ม คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท. มีการเผยแพร่ข้อความของ นายเข็มทองและนางอาริยา โมราษฎร์ ผู้ก่อตั้ง "กลุ่มเด็กรักป่า"ประกาศคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว
 
ระบุว่า "เรียน ฯพณฯ ท่าน อานันท์ ปันยารชุน และคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท.ผมมีความจำเป็นต้องคืนรางวัลดังกล่าวที่ได้รับมาแก่ทางบริษัท ในปี พ.ศ.2546 ผมรู้สึกขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ทางคณะกรรมการได้ให้กำลังใจ และเกียรตินี้แก่ผมและภรรยา แต่ด้วยพฤติกรรมของบริษัท ปตท.ที่ผ่านมา ผมไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพองค์อนุรักษ์ธรรมชาติ ของปตท.ได้ ผมกับภรรยาจะนำถ้วยรางวัลมาส่งคืนในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2556 ณ.ปตท.สำนักงานใหญ่
 
ปล.ผมขออนุญาตท่านอานันท์และกรรมการทุกท่านนะครับ ผมขอคืนเฉพาะถ้วยรางวัล ส่วนเงินรางวัลหนึ่งแสนนั้น ผมใช้ซื้อน้ำมันปตท.ท่านไปหมดแล้ว ขอกราบขออภัยท่านอีกครั้งครับ"
 
ทั้งนี้ ในเว็บไซต์รางวัลลูกโลกสีเขียว (http://pttinternet.pttplc.com/greenglobe/history.html) ระบุถึงความเป็นมาของรางวัลดังกล่าวไว้ว่า รางวัลลูกโลกสีเขียวเป็นโครงการต่อเนื่อง จากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ปตท.ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2542 เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ด้วยความร่วมมือของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนและให้กำลังใจ แก่ผลงานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของบุคคลและกลุ่มบุคคล ที่ทำด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยความมุ่งมั่น เป็นความดีที่สมควรได้รับการยกย่องและเผยแพร่เป็นแบบอย่างต่อไป
 
นับจากปีแรกจนถึงปัจจุบัน รางวัลลูกโลกสีเขียว มีผลงานประเภทชุมชน บุคคล กลุ่มเยาวชน งานเขียน ความเรียงเยาวชน สื่อมวลชน และรางวัล "สิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปี แห่งความยั่งยืน" ได้รับ รางวัลลูกโลกสีเขียว ไปแล้วทั้งสิ้น 249 รางวัล โดยผู้ได้รับรางวัลยังคงมุ่นมั่นสร้างสรรค์ผลงาน ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และขยายเครือข่ายแห่งการอนุรักษ์ออกไปมากขึ้นกว่าเดิม
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัสซานจ์ออกแถลงการณ์กรณีคำตัดสินคดีแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง

Posted: 31 Jul 2013 11:49 AM PDT

จากกรณีศาลสหรัฐฯ ตัดสินคดีของแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ให้มีความผิดฐาน 'จารกรรม' หลังจากที่เขาเปิดโปงข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ แก่สาธารณชน จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลโอบาม่าลิดรอนเสรีภาพ และบอกว่าแมนนิ่ง "เป็นผู้เปิดโปงที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง"

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2013 มีการตัดสินพิพากษาคดีของสิบตรีประจำการแบรดลีย์ แมนนิ่ง ที่ศาลทหารในฟอร์ทมี้ด ผู้ซึ่งถูกตั้งข้อหา 19 ข้อหา จากการเผยแพร่เอกสารของทางการสหรัฐฯ รวมถึงข้อหา 'จารกรรม' อีก 5 ข้อหา ซึ่งทำให้แบรดลี่ย์ถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 136 ปี

จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีของแมนนิ่งไว้ในเว็บไซต์ โดยกล่าวว่าข้อกล่าวหาของแมนนิ่ง เรื่อง 'การให้ความช่วยเหลือศัตรู' ตกไปแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าข้อกล่าวหานี้จะถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อแค่ให้การตั้งข้อหา 'จารกรรม' จากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดูสมเหตุสมผลขึ้นเท่านั้น ซึ่งอัสซานจ์คิดว่าจริงๆ แล้วไม่สมเหตุสมผลเลย

แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง เป็นทหารสหรัฐฯ ผู้เปิดโปงเรื่องราวเกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม การยุยงให้เกิดการปฏิวัติ และการปฏิรูปประชาธิปไตย ซึ่งแถลงการณ์ในวิกิลีกส์กล่าวไว้ว่าแมนนิ่ง "เป็นผู้เปิดโปงที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง"

"นี่เป็นการดำเนินคดีต่อข้อหา 'จารกรรม' กับผู้เปิดโปงความลับของรัฐบาลเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการริเริ่มที่อันตรายและเป็นตัวอย่างของแนวคิดสนับสนุนความมั่นคงของชาติอย่างสุดโต่ง มันเป็นการตัดสินที่ไม่อาจทนรับได้ และต้องมีการพลิกคำตัดสิน การเปิดเผยข้อมูลจริงแก่สาธารณชนไม่ควรถือว่าเป็น 'การจารกรรม' " จูเลียน อัสซานจ์กล่าว

แถลงการณ์ของอัสซานจ์ระบุอีกว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ของสหรัฐฯ ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหา 'จารกรรม' กับผู้เปิดโปงและสื่อต่างๆ มากกว่าการฟ้องร้องของเหล่าอดีตประธานาธิบดีทุกคนรวมกัน

โดยเมื่อปี 2008 บารัค โอบาม่า ในขณะยังเป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้กล่าวชื่นชมผู้เปิดโปงข้อมูลว่าพวกเขาทำไปด้วยความกล้าหาญและความรักชาติ

"แต่เขาได้พลิกคำปราศรัยนั้นอย่างสิ้นเชิง" อัสซานจ์กล่าวในแถลงการณ์ "เอกสารของเขาที่กล่าวว่าผู้เปิดโปงข้อมูลเปรียบเสมือนผู้เฝ้าระวังไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิดถูกนำออกจากอินเทอร์เน็ตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา"

แถลงการณ์ของอัสซานจ์ยังได้กล่าวถึงกระบวนการดำเนินคดีที่ปราศจากผู้เสียหาย อัยการไม่ได้นำเสนอหลักฐานหรือแม้แต่กล่าวอ้างว่ามีคนแม้แต่คนเดียวที่ได้รับความเสียหายจากการเปิดโปงของแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง และรัฐบาลก็ไม่เคยอ้างว่าแมนนิ่งทำงานให้กับผู้มีอำนาจในต่างแดน

"'ผู้เสียหาย' หนึ่งเดียวคือศักดิ์ศรีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถูกทำร้าย แต่การใช้อำนาจข่มเหงคนหนุ่มดีๆ คนหนึ่งไม่มีอะไรที่ชดเชยได้เลย แต่การข่มเหงแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง จะทำให้คนทั้งโลกรู้สึกขยะแขยง ว่ารัฐบาลโอบาม่าเล่นบทได้ต่ำทรามลงเพียงใด มันไม่ใช่การแสดงความเข้มแข็งเลย แต่เป็นความอ่อนแอ" อัสซานจ์กล่าว

ด้านผู้พิพากษาอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินคดีหลังจากที่ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีการสรุปสำนวนคดีแล้ว อนุญาตให้มีการสืบพยาน 141 ปาก และมีขั้นตอนการไต่สวนที่ปิดลับ

"รัฐบาลได้ขังแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ไว้ในกรง เปลืองผ้าเขาล่อนจ้อนและขังเดี่ยวเพื่อบีบเอาข้อมูลจากเขา การกระทำเช่นนี้ปกติแล้วจะถูกประณามโดยคณะผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติ (United Nations Special Rapporteur) ว่าเป็นการทารุณกรรม คดีนี้ไม่มีความเป็นธรรมอยู่แล้ว" อัสซานจ์กล่าว

แถลงการณ์ในวิกิลีกส์ระบุอีกว่า รัฐบาลโอบาม่าได้ลิดรอนเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และยิ่งมีการลิดรอนมากขึ้นอีกจากการตัดสินคดีในครั้งนี้ ทั้งที่ในบทบัญญัติเพิ่มเติมที่ 1 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุว่า "รัฐสภาจะต้องไม่ออกกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือเสรีภาพสื่อ"

"รัฐบาลจงใจขัดขวางและปิดปากผู้เปิดโปงข้อมูล จงใจทำให้เสรีภาพสื่ออ่อนแอลง" อัสซาจน์กล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Statement by Julian Assange on Verdict in Bradley Manning Court-Martial, 30-07-2013, Wikileaks
http://wikileaks.org/Statement-by-Julian-Assange-on.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปรารภบุญ

Posted: 31 Jul 2013 11:45 AM PDT

ในสมัยนี้ พูดอะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา กลายเป็นเครื่องประกาศความเป็นคนดีของตัวเอง ผมจึงขอบอกไว้ก่อนว่า ที่จะพูดต่อไปนี้เป็นคำพูดของปุถุชนคนบาปครับ

ทีวีช่องหนึ่ง ตั้งปัญหาในรายการข่าวว่า การไปทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา แล้วถ่ายรูปส่งข่าวให้เพื่อนๆ ออนไลน์รู้ว่าตัวไปทำบุญ เพื่อนๆ ก็กดไลค์กลับมาเพื่ออนุโมทนา ถามว่าการอนุโมทนาเช่นนี้ได้บุญหรือไม่ อย่างน้อยในบุญกิริยาวัตถุก็มีเรื่อง "ปัตติทานมัย" ซึ่งท่านแปลว่าเฉลี่ยส่วนความดีให้ผู้อื่น และ "ปัตตานุโมทนามัย" ซึ่งท่านแปลว่ายินดีในความดีของผู้อื่น

ผมคิดว่าเป็นคำถามที่สะท้อนให้เห็นความสับสนในเรื่อง "บุญ" ของชาวพุทธในปัจจุบันได้ดี เพราะหากเข้าใจแล้ว คำถามนี้ก็ไม่ต้องถามแต่แรก

หนึ่งในคำแปลของคำว่า "บุญ" ก็คือ การกระทำที่ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ถามว่าสะอาดบริสุทธิ์จากอะไร ตอบอย่างสรุปก็คือสะอาดบริสุทธิ์จากความเห็นแก่ตัว หรือยึดมั่นถือมั่นในตัว (เพราะนี่คือความไม่สะอาดที่จรมาจับใจที่เป็นประภัสสรของเรา) ฉะนั้น หากกดไลค์ด้วยใจที่ยินดีกับการทำดีของผู้อื่น หรือด้วยใจที่ยินดีว่าสิ่งดีๆ ในโลก (คือพระศาสนา) จะดำรงอยู่ต่อไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น คือไม่ได้คิดถึงตนเอง แต่คิดถึง "ผู้อื่น" อย่างแคบๆ เฉพาะบุคคล หรืออย่างกว้างคือมวลสรรพสัตว์ทั้งหมดก็ตาม ย่อมเป็นบุญอย่างไม่ต้องสงสัย

ตรงกันข้าม หากกดไลค์เพื่อเอาใจเพื่อน เพราะกลัวเขาจะโกรธเรา หรือกดเพื่อทำให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเป็นคนดีมีธรรมะ จะได้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น ก็ไม่ได้บุญ แต่อาจได้เพื่อน

สรุปก็คือทำอะไรแล้วจะได้บุญหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การกระทำ แต่อยู่ที่ใจของผู้ทำว่าทำด้วยทัศนคติอย่างไร ตรงกับความเห็นของผู้ทำบุญท่านหนึ่งซึ่งทีวีไปสัมภาษณ์ แล้วตอบว่า กดไลค์ด้วยจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลเล่า หากเป็นกุศลย่อมได้บุญเป็นธรรมดา (ผู้รู้ทางพุทธศาสนาท่านหนึ่ง เคยบอกผมว่า ทั้งหมดของพุทธศาสนาคือเรื่องทัศนคติหรือท่าทีต่อชีวิต)

แล้วทีวีก็ไปถามพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านก็ตอบว่าได้บุญเพราะตรงกับคำบาลีว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ได้บุญไม่เท่ากับการไปทำบุญเอง (ที่วัดกระมัง เพราะคำถามเริ่มต้นจากการไปทำบุญที่วัด) แต่ท่านไม่ได้พูดเรื่องใจเลย

อันที่จริงเราสามารถทำบุญตามคติพระพุทธศาสนาได้ทุกวัน และทุกเวลานาทีด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องไปวัดเลยก็ได้ ขับรถด้วยความสำนึกถึงประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้พร้อม จะจอดรถให้คนอื่นออกจากซอยได้ ก็ต้องดูหลังว่าคันหลังเขาจะจอดทันไหม ดูหน้าว่าเป็นจังหวะให้รถวิ่ง หรือถึงแล่นไปก็ติดข้างหน้าเห็นๆ อยู่ เพราะสิทธิบนถนนไม่ใช่ของเราคนเดียว ที่จะเที่ยวยกให้ใครได้ตามใจชอบ ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เพราะลดความเห็นแก่ตัวลงได้ ซ้ำยังต้องทำบุญโดยใช้สติและปัญญาด้วย ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า

อะไรเกิดขึ้นกับตัวไม่ว่าดีหรือร้าย ย่อมตั้งสติรำลึกพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไว้ให้มั่น จนมองเห็นว่าโลกก็เป็นเช่นนี้เอง นับเป็นการทำบุญยิ่งใหญ่ เพราะความยึดมั่นถือมั่นย่อมลดลงเป็นธรรมดา และฝึกให้รู้เท่าทันความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตไปพร้อมกัน (นี่ก็เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่มาก โดยไม่ต้องไปวัดเลย)

คำตอบของพระภิกษุเกี่ยวกับเรื่องบุญในทีวีที่กล่าวข้างต้น จึงสะท้อนอะไรสองอย่างที่น่าวิตกในพุทธศาสนาไทยปัจจุบัน

ประการแรก เรื่องของจิตใจหรือทัศนคติดูเหมือนจะหายไปจากองค์กรที่เป็นทางการของพุทธศาสนาเสียแล้ว และนี่คือส่วนหนึ่งของคำอธิบายการทำบุญทางวัตถุกันอย่าง "บ้าคลั่ง" ที่เป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาในปัจจุบัน งานวิจัยของอาจารย์ที่นิด้าชิ้นหนึ่งบอกว่า ในบรรดาวัดกว่าสามหมื่นของไทยนั้น มีรายได้จากการทำบุญถึงปีละประมาณ 120 ล้านบาท (รวมกันกว่า 360,000 ล้านบาท) วัดจึงมักใหญ่และแพงกว่าโรงเรียน, โรงพยาบาล, ระบบชลประทาน, ระบบขจัดขยะ ฯลฯ ท้องถิ่น

จะแปลกใจทำไมว่า มีภิกษุบางรูปฉ้อฉลคดโกงเงินบริจาคเหล่านี้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว และจะแปลกใจทำไมที่วัดต่างๆ พากันสร้างสิ่งก่อสร้างนานาชนิดเพื่อ "บอกบุญ" ชาวบ้านอยู่เป็นประจำ

มีคำอธิบายที่มองการ "ทำบุญ" กันอย่างมโหฬารเช่นนี้ในฝ่ายทายกทายิกาว่า ความสัมพันธ์หลักในระบบทุนนิยมคือการซื้อขายแลกเปลี่ยนซึ่งต้องผ่านเงิน ความสัมพันธ์กับศาสนาก็หนีไม่พ้นรูปแบบดังกล่าว ผู้คนเลือกรูปแบบความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมซึ่งเขาเคยชินไปใช้กับศาสนา

ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไรก็ตาม แต่ผมคิดว่าปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดในอาณาบริเวณกว้างขวางเท่านี้ไม่ได้ หากทางฝ่ายสงฆ์เองไม่ละเลยมิติด้านจิตใจของพระพุทธศาสนา จะออกเงินสร้างพระแก้วมรกตจำลองไปทำไม ถ้าไม่ทำให้ความเห็นแก่ตัวของผู้บริจาคลดลง (จนถึงที่สุดจะสร้างพระแก้วมรกตจำลองไปทำไม)

ประการที่สอง คำสอนของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยขาดมิติทางสังคม (ยกเว้นเรื่องเดียวคือเพื่อยกย่องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์) มิติทางสังคมของการทำบุญจึงไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "คนอื่น" ในความหมายถึงสังคมในวงกว้าง หรือมวลมนุษยชาติ อันที่จริงมิติทางสังคมนั้นเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้า ("ชนเหล่าใดปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน จัดบริการน้ำดื่ม และบึงบ่อสระน้ำ ให้ที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเจริญงอกงามทั้งคืนทั้งวัน...") ส่วนนี้ในศาสนาแบบไทยแต่ก่อน ฝากไว้กับความเชื่อเรื่องผีเป็นส่วนใหญ่ ครั้นรัฐกล่อมให้เราเลิกนับถือผี พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้เข้ามาแทนที่ หรือแทนที่อย่างฉลาด คือต้องปรับให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย (ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ก่อนการปฏิรูปคณะสงฆ์ใน ร.5 วัดไม่เคยผูกขาดความเป็นศูนย์กลางของชีวิตทางศาสนาของคนไทยมาก่อน)

ผมคิดว่าสองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่กว่าพระนั่งเจ็ตส่วนตัว หรือสวมแว่นกันแดดราคาแพง หรือนอนกับผู้หญิง และฉ้อโกง แต่มันใหญ่เสียจนไม่มีใครรับผิดชอบ สำนักงานพระพุทธศาสนาเห็นว่าอยู่พ้นอำนาจหน้าที่ของตน เพราะตัวมีหน้าที่เพียงเป็นไวยาวัจกรของคณะสงฆ์เท่านั้น มหาเถรสมาคมก็ไม่คิดว่าตนมีอำนาจหน้าที่เหมือนกัน ก็ไม่มีอะไรผิดวินัยนี่ครับ ผิดเมื่อไรค่อยว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป

แต่เรื่องมันใหญ่กว่าพระรูปนั้นรูปนี้ประพฤติล่วงพระวินัย หากเป็นเรื่องของคุณค่าและความหมายของพระพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งนั่งท่องแต่คุณสมบัติของพุทธธรรมว่า "อกาลิโก" อย่างเดียว ไม่แก้ปัญหาอะไร

พระปรมัตถธรรมอาจเป็นอกาลิโก แม้กระนั้นก็ยังต้องมีการตีความให้เข้ากับยุคสมัยอยู่นั่นเอง เล่นหุ้นอย่างไรจึงจะไม่ลืมพระไตรลักษณ์ ทำบุญอย่างไรจึงจะได้ชำระล้างจิตใจให้สะอาด (จากตัวตน) เจตนาเลี่ยงภาษีให้ไม่ผิดกฎหมายเป็นอทินนาทานหรือไม่ ถือหุ้นในบริษัทชำแหละเนื้อสัตว์เป็นปาณาติบาตหรือไม่ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนต้องการการตีความจากผู้รู้ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นนักบวชในพระศาสนา

คิดดูก็แปลกดี มหาเถรสมาคมนั้นเพิ่งมีขึ้นครั้งแรกในสยามตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2445 ตั้งขึ้นเพื่อเป็นหัวหอกในการ "ปฏิรูป" ศาสนา และเป้าหมายของการ "ปฏิรูป" ก็คือ ผนวกเอาพระสงฆ์สยามทั้งหมดไว้ภายใต้การกำกับของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แม้กระนั้นก็มีผลกระทบต่อการตีความหลักธรรมคำสอนอย่างมาก เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปถึงบัดนี้ ศักยภาพในการนำเพื่อตีความของมหาเถรสมาคมได้เสื่อมสลายไปหมดแล้ว

เมื่อองค์กรทางศาสนาไม่ทำงานที่สำคัญอย่างนี้ จึงเป็นธรรมดาที่ผู้คนพากันไปแสวงหาธรรมะจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะสำนักปฏิบัติธรรมของพระภิกษุและฆราวาส ความทุกข์ของโลกทุนนิยมมันเปลี่ยนไป ต่างคนต่างต้องการคำตอบให้แก่ความทุกข์เฉพาะหน้าของตน จึงเป็นธรรมดาที่สำนักทั้งหลายย่อมเน้นการแก้ทุกข์ระดับปัจเจกเป็นสำคัญ และละเลยมิติด้านสังคมเหมือนเดิม

คนชั้นกลางระดับบนอาจไปสำนักที่สอนวิปัสสนากรรมฐาน คนชั้นกลางระดับกลางอาจเดินทางไปแสวงบุญในอินเดีย (ซึ่งถูกเรียกอย่างน่าอัศจรรย์ว่า "พุทธภูมิ") คนชั้นกลางระดับล่างอาจทำบุญเก้าวัด หรือนมัสการอัฐิหลวงพ่อหลวงปู่ต่างๆ ซึ่งได้รับการตัดสินจากฆราวาสว่าเป็นพระ "อรหันต์" ทั้งหมดนี้คือการ "ปฏิบัติธรรม" ทั้งนั้น แตกต่างตามนิสัยปัจจัยของผู้ทำบุญ

การจัดองค์กรทางศาสนาเวลานี้ จัดการได้แต่ปัญหาเล็ก แต่จัดการกับปัญหาใหญ่ไม่ได้ ซ้ำยังจัดการปัญหาเล็กได้อย่างสายเกินไปทุกที จึงถึงเวลาแล้วที่ควรหันกลับมาทบทวนการจัดองค์กรพุทธศาสนากันใหม่ ไม่แต่เพียงการปกครองคณะสงฆ์เท่านั้น แต่คิดทบทวนตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐ และศาสนากับสังคม ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นจริง

มีปัญหาสำคัญๆ ที่ควรถกเถียงอภิปรายกันหลายประเด็น นับตั้งแต่เราควรแยกศาสนาออกจากรัฐให้เด็ดขาดไปหรือไม่ แต่รัฐจะต้องปฏิบัติต่อศาสนาและองค์กรศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน จะคืนวัดให้กลับมาเป็นของประชาชนและอยู่ภายใต้การกำกับของประชาชนได้อย่างไร การจัดองค์กรในพระพุทธศาสนาอาจมีได้หลายรูปแบบ และดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมได้เสมอ (อันที่จริงเวลานี้ก็เป็นอยู่แล้ว หากคิดถึงสันติอโศกและธรรมกาย แต่เป็นเสรีภาพที่ไม่ได้ประกันไว้แก่ "สำนัก" อื่นๆ ทั้งหมด ที่ไม่มีพลังทางการเมือง และ/หรือทรัพย์เท่าสองสำนักนี้) ทำอย่างไรสังคมจึงมีพลังพอจะควบคุมองค์กรศาสนาได้จริง ความเป็นเถรวาทนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ และนักบวชในพระพุทธศาสนาไทยมีเสรีภาพที่จะไม่เป็นเถรวาทได้หรือไม่

จะเชื่อมโยงการศึกษาทางโลกและทางธรรมให้ได้ผลอย่างไร จะมีนักบวชหลายระดับที่ทำหน้าที่ต่อสังคมแตกต่างกันได้หรือไม่ และอย่างไร ฯลฯ

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 29 ก.ค.2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษตรกรรมในเมือง : ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา

Posted: 31 Jul 2013 10:29 AM PDT

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงโครงการเกษตรกรรมในเมืองที่น่าสนใจภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ Garden City Harvest ในเมืองมิสซูล่า มลรัฐมอนทาน่า สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยโครงการส่งเสริมเกษตรกรรมในโรงเรียน โครงการสวนชุมชน สวนแห่งเพื่อนบ้าน และโครงการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้เยาวชนมีความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตนเอง สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ และมองเห็นโอกาสในชีวิตอื่นๆ ด้วย ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น โครงการเหล่านี้เป็นโครงการเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาสังคม ที่ช่วยให้คนชายขอบ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่เข้าไม่ถึงอาหาร สามารถมีอาหารคุณภาพดี สดและปลอดภัยบริโภคฟรีหรือในราคาถูก

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอประสบการณ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรมในเมือง  ภายใต้ความรับผิดชอบของมูลนิธิ Garden City Harvest เริ่มต้นจาก จอร์จ สล็อตนิค ผู้อำนวยการโครงการพีส์ ฟาร์ม (PEAS FARM) ซึ่งเป็นทั้งเกษตรกร คุณพ่อและอาจารย์มหาวิทยาลัย จอร์จเล่าว่าเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา เขาเคยร่วมโครงการนิเวศเกษตรกรรมของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ ประสบการณ์ในครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตของเขา เพราะเขาเกิดความประทับใจกับการทำเกษตรและการทำงานร่วมกับเยาวชน ในเวลาต่อมา เขาได้เริ่มทำโครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชนขึ้นในมหาวิทยาลัยมอนทาน่า เพื่อผลิตพืชผักสดๆ และอาหารป้อนให้แก่ธนาคารอาหาร (Food bank) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ให้บริการอาหารสำหรับคนที่ไม่มีอาหารบริโภคในเมืองมิสซูล่า


เยาวชนมาช่วยทำงานปูผ้ายางพลาสติกป้องกันหิมะใน PEAS FARM


จอร์จ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนที่มาช่วยเพาะเมล็ดพันธุ์ผักในโรงเพาะชำ

จอร์จเล่าว่าโครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชนมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งความมั่นคงทางอาหารในที่นี้ เขาให้ความหมายไว้สองด้าน ด้านแรก ความมั่นคงทางอาหารหมายถึงการที่คนทุกคนควรมีอาหารกิน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือใครก็ตาม ด้านที่สอง ความมั่นคงทางอาหารหมายถึงการผลิตอาหารควรเป็นสิ่งที่ยั่งยืน การผลิตอาหารในปัจจุบันควรจะเป็นวิธีการที่ใช้ผลิตอาหารได้ในอนาคต โครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชนทำแปลงเกษตรสำหรับนักศึกษา ซึ่งครั้งแรกตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยมอนทาน่า ต่อมาได้ย้ายออกจากมหาวิทยาลัยมอนทาน่าไปอยู่ในที่ดินสาธารณะซึ่งเช่ามาจากที่ดินของรัฐ  การดำเนินการโครงการเกษตรกรรมเพื่อเยาวชนและโครงการสวนแห่งเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดการตั้งมูลนิธิ Garden City Harvest ขึ้นมา การดำเนินงานของมูลนิธิฯ กลายเป็นที่สนใจของสังคม จนสามารถระดมเงินบริจาคเพื่อใช้ปรับปรุงฟาร์ม ทำรั้ว สร้างโรงเรือนเพาะชำ และทำกิจกรรมต่างๆ ได้สำเร็จ


เยาวชนช่วยหยอดเมล็ดพันธุ์ลงดินใน PEAS FARM

หลังจากนั้นโครงการฯ เปิดรับเยาวชนที่ต้องคดียาเสพติดเพื่อเข้ามาฝึกงานในฟาร์ม ทำให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสทำงานร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยและเยาวชนทั่วไปที่อาสาเข้ามาทำงานในฟาร์ม ตั้งแต่ดำเนินการโครงการมา มีเยาวชนกว่า 2,000 คนเข้ามาเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานในฟาร์มทุกปี นอกจากนั้นเยาวชนยังมีโอกาสรับฟังการบรรยายในห้องเรียน ออกค่ายภาคฤดูร้อน เรียนทำอาหาร โครงการเหล่านี้ช่วยให้เยาวชนเกิดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหาร การเกษตร วิทยาศาสตร์และชีวิตประจำวัน


คอริ แอช อาสาสมัครในโครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชน
 

คอริ แอช นักเรียนที่ผ่านการฝึกงานภาคสนามในโครงการเกษตรกรรมสำหรับเยาวชน เล่าว่าเธอหลงรักการทำเกษตร และเมื่อเธอมาทำงานเป็นอาสาสมัครในฟาร์มสัปดาห์ละอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เธอพบว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมาก การทำงานในฟาร์มช่วยลดอาการหลงตัวเอง เธอได้เรียนรู้เรื่องดิน การเพาะเมล็ดพันธุ์ การปลูกพืช การรดน้ำต้นไม้ด้วยวิธีการต่างๆ เรียนรู้จักแมลงที่มีประโยชน์และแมลงศัตรูพืช ที่สำคัญที่สุด เธอได้เรียนรู้จักตัวเองและการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ มากขึ้น

เธอบอกว่า "ที่ตั้งฟาร์มที่เราใช้ชีวิตร่วมกันสวยงามมาก เราทำงานด้วยกัน และเรียนรู้จักกัน ที่นี่ไม่มีคำว่าวิธีการที่ผิดหรือวิธีการที่ถูกในการทำงาน มีแค่วิธีการแบบที่ได้ผลสำหรับคุณและวิธีการแบบที่ไม่ได้ผล" คอริกล่าวเสริม "วันหนึ่งฉันนำทีมออกภาคสนามให้กับเด็กๆ ที่มาช่วยเก็บหัวกะหล่ำปลีในฟาร์ม แล้วขนไปใส่รถบรรทุกเพื่อนำไปที่มหาวิทยาลัยมอนทาน่า ฉันได้ตระหนักว่า ฉันได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างในการทำฟาร์ม มากกว่าที่ฉันเคยเรียนในห้องเรียนเสียอีก ทุกครั้งที่ฉันทำงานกับดิน ดึงหัวแครอทขึ้นมา ฉันรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวฉันเอง  การมีชีวิตที่ดีหมายถึงการทำงานที่ตอบสนองความจำเป็น หากคนทุกคนยังต้องกินอาหาร คนส่วนหนึ่งก็ยังต้องปลูกพืชผัก เมื่อไรก็ตามที่ฉันได้ยินว่ามีคนได้กินอาหารที่เราใส่ใจปลูกมันขึ้นมา ฉันรู้สึกดีและมีความสุขมาก"

ทิม ฮอลล์ ผู้อำนวยการโครงการสวนชุมชน (Community garden) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 แห่งในเมืองมิสซูล่า เป็นโครงการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตผู้มีรายได้น้อยทั่วเมืองมิสซูล่า พื้นที่ตั้งสวนชุมชนอาจเป็นของเทศบาล โบสถ์หรือองค์กรเอกชนที่นำมาแบ่งสรรเป็นแปลงย่อยเล็กๆ แล้วให้ผู้สนใจเช่าในราคา 35 เหรียญ สำหรับทำสวนปลูกพืชผัก ไม้ดอก สมุนไพร เพื่อบริโภค เพื่อขาย หรือเพื่อพักผ่อน สวนชุมชนแต่ละแห่งจัดหาที่ดินให้สมาชิกขนาดกว้าง 15 ฟุต และยาว 15 ฟุต พร้อมจัดหาอุปกรณ์สำหรับทำเกษตร น้ำ ปุ๋ย ฟาง ตลอดจนให้การอบรมความรู้ในการทำเกษตร นอกจากนี้สมาชิกยังได้รับคำปรึกษาปัญหาการทำฟาร์มจากผู้ประสานงานโครงการด้วย

ทิมเล่าว่าครอบครัวของเขาในอดีตย้อนไปหนึ่งถึงสองรุ่นเคยเป็นชาวนา ทำให้เขามีความทรงจำในวัยเด็กที่ดีเกี่ยวกับการทำฟาร์ม ทิมเรียนจบด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการวางแผนการใช้ที่ดินในเมืองนิวยอร์ค ต่อมาเขาย้ายมาอยู่เมืองมิสซูล่า และทำงานในหน่วยงานเกี่ยวกับการวางแผนที่ดินของมลรัฐท้องถิ่น เขาให้คำปรึกษาและช่วยเหลือจอร์จและคนอื่นๆ เพื่อหาที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการทำฟาร์มในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง Garden City Harvest และเมื่อมีการเปิดรับสมัครคนทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนชุมชน เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่โครงการในที่สุด


บ้านดินซึ่งเป็นยุ้งฉางเก็บพืชผักของโครงการ Garden City Harvest

ทิมมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารงานโครงการสวนชุมชนถึง 80 แห่งให้สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีคนเช่าที่ดิน เขาต้องแน่ใจว่าผู้เช่าที่ดินจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในการทำเกษตร มีเครื่องมือพร้อม มีการจัดการเรื่องน้ำพร้อม และมีความรู้ในการทำฟาร์ม  องค์กรต้องแน่ใจว่าผู้ดูแลสวนชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เช่าที่ดิน และทำให้ผู้เช่าที่ดินเกิดความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถขอคำปรึกษาได้ทุกเมื่อ หากต้องการความช่วยเหลือ

ทิมเล่าว่า ในสวนของชุมชน เพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันมีโอกาสมาพบปะกัน คนรวยและคนจนได้ปฏิสังสรรค์และสนทนากัน การสำรวจของโครงการพบว่าคนที่ทำสวนชุมชนมีเงินเหลือเพียงพอซื้ออาหารอื่นๆ รวมถึงซื้ออาหารในระบบผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิต (Community Supported Agriculture-CSA) บางคนมีสวนที่บ้านของตัวเอง แต่เลือกที่จะมาทำสวนของชุมชนด้วยเหตุผลบางอย่างเพราะเงินแค่ 35 เหรียญก็สามารถเช่าสิทธิในสวนของชุมชนเพื่อปลูกผัก พร้อมได้รับจัดสรรน้ำ ปุ๋ย ดิน และฟาง แต่สิ่งที่ดึงดูดใจคนให้มาเช่าที่ดินในสวนชุมชนมากที่สุดคือความเป็นชุมชน เพราะที่นี่มีการพูดคุย การสอน การเรียนรู้ หากเรามีแปลงเกษตรอยู่ติดกัน เราอาจรู้จักกันดีขึ้น จนพัฒนากลายเป็นเพื่อนกันเมื่อทำสวนข้างๆ กันไปสักหนึ่งฤดูกาล บางทีคนหนึ่งอาจช่วยรดน้ำผักในช่วงที่อีกคนไม่อยู่ และอีกคนหนึ่งก็อาจแบ่งปันผักที่ปลูกให้แก่อีกคนหนึ่งตอบแทนน้ำใจ


ที่ตั้งสวนแห่งชุมชนและสวนแห่งเพื่อนบ้าน

สิ่งที่น่าทึ่งในโครงการสวนชุมชนคือการที่คนช่วยเหลือกันและกัน  เรามักได้อาสาสมัครที่มาช่วยทำงานทั้งแบบมาเดี่ยวและมาเป็นกลุ่ม เนื่องจากพื้นที่ตั้งสวนของชุมชนเป็นพื้นที่เปิด มีความปลอดภัย และตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ทำให้สมาชิกสวนของชุมชนเกิดความมั่นใจว่า พวกเขาสามารถเดินมาทำสวนของตัวเองได้บ่อย และสามารถพาเด็กๆ มาเรียนรู้จักการทำฟาร์ม มาสัมผัสผืนดินและธรรมชาติได้ยามว่าง    

ครอบครัวคีลลี่ ประกอบด้วยกิตาและเจสัน พร้อมกับลูกอีกสองคน ครอบครัวนี้เป็นสมาชิกสวนชุมชน กิตาเป็นนักผลิตภาพยนตร์สารคดีและอาจารย์มหาวิทยาลัยมอนทาน่า ครอบครัวของเธอมีที่พัก แต่ไม่มีที่ดินสำหรับเพาะปลูกพืชเลย ต่อมาครอบครัวของเธอพบที่ดินรกร้างขนาดเล็กอยู่ใกล้บ้าน ทำให้เธอได้คุยกับเจ้าหน้าที่โครงการสวนแห่งเพื่อนบ้าน (Neighborhood farm) เพื่อลองปรับสภาพพื้นที่เป็นสวนแห่งเพื่อนบ้าน และลองปลูกพืชผัก เธอเดินเคาะประตูเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไปสี่ถึงห้าบล็อคเพื่อถามความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งสวนแห่งเพื่อนบ้านขึ้นในละแวกนั้น ปรากฏว่ามีเพื่อนบ้านถึง 50 คนที่ให้การสนับสนุน และในจำนวนดังกล่าวมีคนถึง 12-15 คนที่ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน

กิตาเล่าว่าครอบครัวของเธอมีความสุขที่ได้ทำสวนครัว เธอสามารถเก็บอาหารสดๆ กินได้ทุกเมื่อยามต้องการ  และสามารถทดลองปรุงอาหารเมนูแปลกๆ จากพืชผักที่ปลูกเอง การทำสวนชุมชนยังทำให้เธอมีโอกาสรู้จักเพื่อนบ้านมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านหลายคน การทำสวนชุมชนยังทำให้เธอมีประสบการณ์ของการเป็นคนท้องถิ่นซึ่งเธอไม่เคยมีมาก่อนตอนอยู่เมืองใหญ่

 


เครก ไพรซ์ ผู้จัดการโครงการสวนชุมชน (เครดิตภาพ เนตรดาว เถาถวิล)

เครก ไพรซ์ ผู้จัดการโครงการสวนชุมชนบนถนน River Road และผู้จัดการโครงการสวนแห่งเพื่อนบ้าน เล่าว่าเขามีความประทับใจกับหนังสือเรื่อง Living the Good Life ที่เขียนโดย สก็อต เนียริ่ง (Scott Nearing) ซึ่งพูดถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างคนกับธรรมชาติ สก็อตสร้างบ้านด้วยก้อนหินโดยใช้แรงงานตัวเองซึ่งกินเวลานานถึง 7 ปี และขุดบ่อน้ำใช้เองในขณะที่เขามีอายุย่างเข้า 95 ปี และนั่นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เครกเริ่มสร้างสวนหลังบ้านขนาดใหญ่ของเขาเองในมลรัฐเพลซิลวาเนีย ต่อมาเครกและภรรยาเดินทางท่องเที่ยวมลรัฐมอนทาน่า เขาประทับใจบรรยากาศของเมืองมิสซูล่าจนอยากย้ายมาอยู่ที่นี่ เมื่อภรรยาของเขาได้งานทำที่เมืองมิสซูล่า ครอบครัวของเขาจึงย้ายมาอยู่ที่นี่ เครกได้ขอฝึกงานในฟาร์มของครอบครัวจอร์จ สล็อตนิค ผู้อำนวยการโครงการ PEAS FARM

ต่อมาเครกได้งานทำในโครงการผลิตผักป้อนธนาคารอาหาร (The Food Bank Garden) นอกจากนั้น เขามีหน้าที่รับผิดชอบโครงการผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรในฤดูหนาว (a Winter CSA) และโครงการทำงานอาสาแลกผัก (Volunteer for veggies) ซึ่งเปิดรับอาสาสมัครให้มาทำงานในฟาร์มแลกกับการรับผักปลอดสารพิษไปกิน โครงการนี้มีอาสาสมัครทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้ามาทำงานในฟาร์ม ซึ่งเขาต้องดูแลคนจำนวนมากที่ไม่มีทักษะในการทำเกษตรมาก่อน เพื่อให้อาสาสมัครเหล่านี้สามารถทำงานในฟาร์มได้อย่างเหมาะสม PEAS FARM ผลิตอาหารประมาณ 30,000 ปอนด์ในพื้นที่หนึ่งเอเคอร์ ดังนั้นจึงมีรายละเอียดของงานที่ต้องทำมากมายและต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก รวมถึงต้องมีคนที่คอยควบคุมการทำงานไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดด้วย

โครงการส่งเสริมการศึกษาด้านเกษตรกรรมในโรงเรียน ประกอบด้วยโครงการย่อย 3 โครงการ ได้แก่ การฝึกภาคสนามในฟาร์ม การออกค่ายภาคฤดูร้อน และการทำฟาร์มในโรงเรียน ทุกปีนักเรียนเกือบ 2,000 คนจากหลายระดับชั้นจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงเพื่อเยี่ยมชม PEAS FARM ดังนั้น PEAS FARM จึงเปรียบเสมือนห้องเรียนกลางแจ้ง ที่เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนสามารถทำความเข้าใจกับความรู้ในเรื่องต่างๆ นักเรียนสามารถเรียนรู้ในเรื่องวงจรชีวิตของพืชและสัตว์ สัตว์เลี้ยง ระบบนิเวศ เทคนิคการทำเกษตร และประวัติศาสตร์การเกษตร

แอรอน บรอค อดีตผู้อำนวยการโครงการธนาคารอาหารแห่งมิสซูล่า เล่าว่าในเมืองมิสซูล่ามีคนอาศัยอยู่ประมาณ 100,000 คน และมีคนมาขอรับบริจาคอาหารประมาณ 12,000 คนทุกปี นั่นหมายความว่าในบรรดา 8 คนที่เดินอยู่ตามท้องถนน จะมี 1 คนที่เปิดประตูเข้ามาขอรับอาหารจากธนาคารอาหาร เขาเล่าว่ามีคนจำนวนมากที่หารายได้แค่พอกินพอใช้เดือนชนเดือน และมีงบประมาณจำกัดมากในการซื้ออาหาร

แอรอนอธิบายเสริมว่า "คุณอาจมีงานทำ 8 ชั่วโมงต่อวัน และคุณต้องใช้รถยนต์เพื่อขับไปทำงาน แต่เมื่อรถยนต์คุณเสีย คุณจึงต้องใช้เงิน 120 เหรียญไปกับการซ่อมรถยนต์ และนั่นเป็นเงินที่คุณสำรองไว้ใช้ซื้ออาหาร หรือคุณอาจเป็นคนที่กำลังประสบปัญหาเจ็บป่วย ครอบครัวผู้ใช้แรงงานอาจประสบปัญหาเพราะไม่มีการประกันสุขภาพ ในขณะที่ลูกของเขาขาหัก ทำให้มีรายจ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่ม และทำให้งบประมาณที่จำกัดหมดไป ในขณะเดียวกันธนาคารอาหารให้บริการผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราให้บริการแม่ม่ายที่พวกเธอยังชีพจากเงินส่วนแบ่งรายได้ประกันสังคมของสามีซึ่งมีเพียงเดือนละ 670 เหรียญเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เราพบว่าในบรรดาคนที่เราให้บริการราว 40-45 % อายุน้อยกว่า 18 ปี"

พันธกิจของธนาคารอาหารไม่ใช่แค่ให้บริการอาหารแก่คนที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่มุ่งให้บริการอาหารที่มีคุณภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย แอรอนอธิบายว่าคนที่หิว ไม่ใช่แค่เพราะพวกเขาอดอยาก แต่พวกเขาหิว เพราะยากจน เพราะไม่มีระบบประกันสุขภาพ เพราะป่วย เพราะตกงาน เพราะอยู่ห่างไกลและเข้าไม่ถึงระบบขนส่งมวลชน เพราะไม่รู้ว่าจะปลูกพืชผักกินเองยังไง ธนาคารอาหารเพียงแค่ช่วยแก้ปัญหาการไม่มีอาหารกินและการไม่มีอาหารให้เด็กๆ ในครอบครัวกินเท่านั้น แต่เราไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างให้พวกเขาได้

โครงการ Garden City Harvest นำอาหารสดมาส่งให้ธนาคารอาหารทุกวันเป็นเวลานานถึง 12 ปีแล้ว ในทุกฤดูร้อน โครงการ Garden City Harvest จะนำอาหารมาบริจาคให้ธนาคารอาหาร 20,000-25,000 ปอนด์เสมอ บางครั้งโครงการ Garden City Harvest มีการนำอาหารแปลกๆ มาบริจาคให้ธนาคารอาหารด้วย ทำให้ผู้มาขอรับบริจาคอาหารจากธนาคารอาหารรู้สึกตื่นเต้นที่พวกเขาจะได้ทดลองทำอาหารเมนูใหม่ๆ ในขณะที่พวกเขาไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย เวลาเดินเข้าไปซื้ออาหารในร้านขายของชำ อาสาสมัครของโครงการ Garden City Harvest เช่น เยาวชนที่มาช่วยงานที่ธนาคารอาหารจะได้พบผู้ประสบปัญหาและต้องการอาหาร พวกเขาได้ความรู้สึกชื่นชมยินดีกับสิ่งที่พวกเขาได้มีส่วนทำให้เกิดขึ้น

ผู้เขียนและผู้รับทุนแลกเปลี่ยนในโครงการ Economic Empowerment Fellow Program มหาวิทยาลัยมอนทาน่า ร่วมทำงานเป็นอาสาสมัครในธนาคารอาหารแห่งเมืองมิสซูล่า (เครดิตภาพ พยงค์ ศรีทอง)

การที่อาสาสมัครเหล่านี้ได้ร่วมสังเกตการณ์ นับตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ได้ถูกหว่านเพาะลงในดิน จนถึงวันที่พืชผักถูกเก็บเกี่ยว และส่งต่อมายังธนาคารอาหาร จนส่งถึงมือของผู้ต้องการอาหาร นับเป็นการทำให้วงจรของการทำเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาสังคมครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้คนในเมืองมิสซูล่าได้ตระหนักว่าตนเองจะมีส่วนช่วยผลิตอาหารเลี้ยงผู้คนที่ต้องการอาหาร  และตระหนักถึงความหมายของการดำรงอยู่ของตนเองในชุมชนเมืองนี้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ้านทุ่งยาวใช้พลังสตรีกำจัดค่านิยม “ไฮโล” งานศพ

Posted: 31 Jul 2013 09:37 AM PDT

เป็นความเชื่อที่ยาวนานในสังคมไทยว่า การตั้งวงเล่นการพนันในงานศพที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเป็นเรื่องปกติ เพราะนอกจากเป็นการทำให้บรรยากาศการเฝ้าศพไม่เงียบเหงาเกินไปแล้ว การตั้งวงพนันในศาลาวัดหรือ หน้าศพ ยังทำให้มีเพื่อนบ้านมาร่วมงานจำนวนมากอีกด้วย

ในการเสวนาเรื่อง "พนันในสังคมภาคเหนือ" จัดโดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน และสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ได้มีการกล่าวถึงประเด็นการเล่นการพนันในงานศพนี้เช่นเดียวกัน โดยเป็นการถึงพลังของสตรีในการจัดการการพนันในงานศพ

ภาคี วรรณสัก ผู้นำสตรีชุมชนบ้านทุ่งยาว อ.เมือง จ.ลำพูน ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มแม่บ้านทุ่งยาว ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นผู้นำเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชน เปิดประเด็นนี้ว่า ในอดีตชาวบ้านเชื่อว่าการตั้งวงพนันในการจัดงานศพเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้มีคนมาช่วยงานมาก  แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า การพนันเหล่านี้ล้วนสร้างผลกระทบรุนแรงให้กับครอบครัวเพื่อนบ้าน ต่อเนื่องไปถึงชุมชนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอเห็นว่า "การเล่นไฮโล" หน้าศพเป็นการพนันที่รุนแรงมาก ทำให้ชาวบ้านหมดเนื้อหมดตัว ล่มจมไปตามๆ กันมาแล้ว

ภาคี กล่าวต่อว่า เธอรู้สึกสงสารกลุ่มแม่บ้านที่มีพ่อบ้านติดการพนันเป็นอย่างมาก เพราะหลายคนมักจะอ้างว่าจะต้องไปช่วยงานศพ ไม่กลับบ้าน แต่ที่จริงแล้วคือไปเล่นการพนัน โดยเฉพาะ "ไฮโล" ที่ถือว่าเป็นการพนันยอดนิยม และทำให้เป็นปัญหามากที่สุด รุนแรงถึงขนาดที่ครอบครัวต้องแตกแยกกัน เพราะพ่อแม่ทะเลาะ ด้วยปัญหาไม่มีเงินในบ้าน ลูกไม่มีเงินไปโรงเรียน

"เราเห็นแล้วมันสลดใจ มันแย่มาก คนในชุมชนเชื่อว่าถ้าไม่มีวงพนันจะไม่มีคนไปช่วยงาน แต่ไปแล้วคนก็กลับมาเดือดร้อนกันหมดเพราะไปเล่นไฮโล"  ป้าภาคีกล่าว

และด้วยการมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากค่านิยมผิดๆ เหล่านี้ ทำให้ ภาคี และ อนันต์ ลูกชายซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ตัดสินใจเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่ให้เกิดวงพนันในงานศพภายในหมู่บ้าน โดยการออกกฎ  "ห้ามมีการเล่นพนันในงานศพ เด็ดขาด" หากพบว่าเกิดขึ้นที่ใด จะมีการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด

การรณรงค์เชิงบังคับด้วยกฎหมายครั้งนั้น แม้ต้องทนต่อแรงกดดันจากความไม่เข้าใจของชาวบ้านในระยะแรก มีการตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอ ข่มขู่ หรือทำลายทรัพย์สิน ป้ายรณรงค์ต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การรณรงค์ที่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า แม้ไม่มีวงพนันในงานศพ ก็ยังมีคนมาร่วมงานศพไม่ต่างกัน ที่สำคัญแม่บ้านก็ไม่เดือดร้อนจากการที่พ่อบ้านนำเงินมาเล่นพนันแทนการนำไปช่วยงานศพ ความสำเร็จจึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมา  จนทุกวันนี้ป้าภาคีบอกว่าที่บ้านทุ่งยาว ไม่มีการเล่นพนันในงานศพในหมู่บ้านอีกแล้ว

แต่กระนั้นก็ตามการเลิกโดยสิ้นเชิง คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะแม้จะไม่มีสถานที่ให้เล่นภายในหมู่บ้าน แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเดินออกจากบ้านไป "งานศพ" ในหมู่บ้านอื่น เป้าหมายคือไปร่วมวง "ไฮโล" ซึ่งกลุ่มนี้ต้องยอมรับว่าแก้ไม่ได้

"ในหมู่บ้านเราไม่มี ห้ามเล่น เขาก็ออกไปเล่นที่อื่น เพราะหมู่บ้านอื่นๆ รอบๆ เขายังไม่เลิก ดังนั้นจึงห้ามไม่ได้ มันก็เป็นแบบนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ลดจำนวนการเล่นไฮโลในหมู่บ้านเราได้ไปบ้าง เพราะมันรุนแรงจริงๆ น่าสงสารครอบครัวที่พ่อบ้านติด ล่มจมกันทั้งนั้น บ้านหาย ที่ดินหายไปหมด"  ป้าภาคีระบุ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถที่จะทำให้การพนันหายไปได้เด็ดขาด แต่สำหรับในพื้นที่หมู่ 4 ต.ชมพู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ พื้นที่รับผิดชอบของผู้ใหญ่อนันต์ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ก็สามารถที่จะลดจำนวนการเล่นการพนันในงานมหรสพ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปได้จนกลายเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้

"จริงๆ แล้ว เจ้าภาพเองก็ไม่ต้องการให้มีกิจกรรมเหล่านี้ เพราะต้องใช้เงินทุนที่ไม่จำเป็น แต่ไม่มีคนแถวหน้าที่จะออกมาพูด ดังนั้นในเมื่อรับรับผิดชอบในหน้าที่นี้และอยากให้สังคม และชุมชนดีขึ้น จึงเป็นหน้าที่และทุกคนก็ตอบรับได้อย่างดี แสดงว่ามีคนเห็นด้วยอยู่มาก ถ้าหากสังคมช่วยกันปัญหาน่าจะลดลงได้"  ผู้ใหญ่อนันต์ตั้งความหวัง

จากประสบการณ์การต่อสู้ของทั้งป้าภาคี และผู้ใหญ่อนันต์ ถือเป็น 2 ตัวอย่างความสำเร็จที่สำคัญของการต่อสู้ เพื่อลบค่านิยมผิดๆ ที่แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน ด้วยขนบประเพณี และความเชื่อในอดีต แต่หากชุมชนให้ความสำคัญ และมุ่งมองไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะกำจัด การพนัน ออกไปจากชุมชนได้เหมือนกัน

 

 

 

หมายเหตุ: ข่าวเผยแพร่สำหรับวันสตรีไทย  1 สิงหาคม 2556 โดย ฝ่ายสื่อสารสาธารณะ ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงส์  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้รัฐไทยลงนามอนุสัญญาป้องกันการทรมาน-ยูนิเซฟเรียกร้องทั่วโลกหยุดทารุณเด็ก

Posted: 31 Jul 2013 09:16 AM PDT

 31 ก.ค.56   ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ในวาระการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์กในเดือนกันยายนนี้ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เชื้อเชิญให้รัฐสมาชิกร่วมการลงนามในอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ ซึ่ง การประชุมนี้เรียกกันว่า UN Treat Event

สมาคมเพื่อการต่อต้านการทรมาน (The Association for the Prevention of Torture- APT) สนับสนุนให้ประเทศไทยใช้โอกาสดังกล่าวในการยืนยันคำมั่นว่าจะป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายโดยการลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาป้องกันการทรมาน (OPCAT) การลงนามในอนุสัญญาป้องกันการทรมานในงาน Treaty Event เป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายก่อนการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านการทรมานในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 และการนำเสนอรายงานประเทศต่อคณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานในปีพ.ศ. 2557 ที่จะถึงนี้

การลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหมายถึงรัฐสมาชิกเห็นด้วยที่จะให้มีการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทั้งในเรือนจำและสถานีตำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งงจะเป็นกลไกในการป้องกันการทรมาน

ปัจจุบันพิธีสารเลือกรับฉบับนีมuรัฐสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 70 ประเทศทั่วโลกที่เริ่มดำเนินการกลไกป้องกันการทรมานนี้ร่วมกัน

สมาคมเพื่อการต่อต้านการทรมานระบุว่า ขอแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้พัฒนาให้มีการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างแก้ไขกฎหมายอาญาที่จัดให้มีข้อหาการทรมาน และจะจัดให้มีการศึกษาหาความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นรัฐภาคีในพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมได้จัดให้มีการปรึกษาหารือกับตัวแทนของหน่วยงานรัฐภาคส่วนต่างๆ ไปแล้ว

สมาคมระบุว่า ในจดหมายที่ทางสมาคมส่งถึงผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กนั้นได้ขอให้ประเทศไทยใช้โอกาสในงาน UN Treaty Event ณ นครนิวยอร์กในระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน และวันที่ 30 กันยายนถึง1 ตุลาคม 2556 ลงนามในพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน

ขณะที่ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ยูนิเซฟก็เปิดตัวโครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไป ผู้มีอำนาจออกกฎหมาย และรัฐบาลออกมาพูดคุยและร่วมกันต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่มักมองไม่เห็น และไม่ถูกรายงาน

ยูนิเซฟระบุว่าโครงการนี้ริเริ่มหลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กๆ ทั่วโลกหลายครั้ง เช่น การยิงเด็กหญิงมาลาล่า ยูซาฟไซ ในปากีสถานเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุ 14 ปี และเหตุสังหารหมู่เด็กนักเรียนและครู 26 คนที่เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนคติกัตเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ตลอดจนเหตุการณ์รุมข่มขืนเด็กหญิงที่ประเทศอินเดียและแอฟริกาใต้ในปีนี้

นายแอนโทนี่ เลค ผู้อำนวยการบริหารขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ในทุกประเทศ ทุกวัฒนธรรม มีเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ไม่ว่าเมื่อใดหรือที่ใดในโลก พวกเราทุกคนต้องแสดงการต่อต้านและประณามอย่างรุนแรงออกมาให้เห็น เพื่อทำให้ปัญหาที่มักมองไม่เห็นนี้เป็นที่ประจักษ์ในสังคม

โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็กต้องการผลักดันให้ทุกคนทั่วโลกได้รับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก และร่วมกันเคลื่อนไหวทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกเพื่อยุติความรุนแรงนี้ ตลอดจนร่วมกันเสนอความคิดใหม่ๆ ในการทำงานเพื่อต่อสู้กับเรื่องนี้

แม้ว่าข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กจะมีจำกัด แต่ก็เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นถึงรูปแบบและระดับความรุนแรง ซึ่งต้องการการจัดการอย่างเร่งด่วน ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีเด็กหญิงประมาณ 150 ล้านคน และเด็กชาย  73 ล้านคน เคยถูกกระทำรุนแรงและถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ นอกจากนี้รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในปี 2548 ยังระบุว่าในแต่ละปีมีเด็กประมาณ 1.2 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

 

ดาวน์โหลดจากลิงค์:

http://weshare.unicef.org/C.aspx?VP3=SearchResult_VPage&ALID=2AM4080UHWER

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุใด ‘พันธมิตร’ จึงไม่ชุมนุม ?

Posted: 31 Jul 2013 08:56 AM PDT

 
แถลงการณ์ 'ไม่ชุมนุม' ของแกนนำ 'พันธมิตรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' ฉบับล่าสุด ทำเอาผู้เขียน 'สะดุ้ง' ถึงสองครั้ง!
 
แน่นอนว่าพันธมิตรฯ ยังคงแถลงต่อต้านการนิรโทษกรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ส่วนนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่
 
แต่ที่ส่วนที่น่าสนใจจนต้อง 'สะดุ้ง' คือคำอธิบายการไม่ออกมาชุมนุมในช่วงเวลานี้ โดยพันธมิตรฯ ได้อธิบายในแถลงการณ์ฉบับที่ 4/2556 ว่า
 
…แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไป เมื่อแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ปราศรัย พิธีกร ศิลปิน และประชาชน ได้ถูกกลั่นแกล้งโดยยัดเยียดข้อหาร้ายแรงอันเป็นเท็จ...แม้ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ศาลอาญาก็ได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ อ. 973/2556 ให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566 ว่า
 
"ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล"
 
และศาลอาญาได้แถลงย้ำคำสั่งดังกล่าวอีกเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ย่อมแสดงให้เห็นว่า แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ปราศรัย พิธีกร ศิลปิน และประชาชนอีกจำนวนมากได้ถูกลิดรอนสิทธิจากคำสั่งดังกล่าว และเป็นข้อจำกัดจนไม่สามารถทำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือประสบผลสำเร็จได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน และวิธีการชุมนุมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวก็ยังไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ในขณะนี้
 
(ย่อและเน้นคำโดยผู้เขียน คำแถลงฉบับเต็ม ดูที่ http://bit.ly/PAD310713)
 
เมื่อได้อ่านคำแถลงส่วนนี้แล้ว ผู้เขียนต้อง 'สะดุ้ง' ถึงสองครั้ง !
 
*** สะดุ้งแรก : พันธมิตรวิจารณ์ศาล ? ***
 
ผู้เขียนสะดุ้งเพราะรู้สึกเป็นบุญตาที่ได้เห็นพันธมิตรฯ ออกมาวิจารณ์ "ศาลไทย" ตรง ๆ ว่าคำสั่งศาลที่กำหนดเงื่อนไขการชุมนุมนั้นเป็นการ  "ริดรอนสิทธิ" ของประชาชน
 
ในขั้นแรก การแสดงจุดยืนเช่นนี้ จะถือว่า 'ย้อนแย้ง' ตนเองหรือไม่ ? เพราะในขณะที่พันธมิตรฯ กำลังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการทางศาล แต่แถลงการณ์ฉบับเดียวกันนี้เองก็กลับเห็นว่าศาลกำลังริดรอนสิทธิของประชาชน แล้วเช่นนี้ ประชาชนจะยังพึ่งศาลได้มากน้อยเพียงใด ?
 
หรือพันธมิตรฯ กำลังส่งสัญญาณเพื่อต่อรองกับ "อำนาจเหนือตุลาการ" ให้ยอมผ่อนปรนเงื่อนไขการประกันตัว แลกกับการออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ?
 
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอมองในแง่ดีว่า พันธมิตรฯ กำลังแสดงความเห็นวิจารณ์ศาลอย่างสุจริต และเป็นการวิจารณ์ทำนองเดียวกันจากประชาชนทุกสีเสื้อที่ศาลควรรับฟังอย่างยิ่ง
 
ผู้เขียนทราบดีว่า คำสั่งศาลอาญาไม่ได้ปิดกั้นการชุมนุม หรือการไปแสดงออกทางการเมือง โดยหากจำเลยที่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวรายใดจะชุมนุมโดยสงบสันติ และไม่ทำผิดเงื่อนไขที่ห้าม "ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง..."   ศาลท่านก็ย่อมไม่ได้ห้ามแต่ประการใด
 
แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ในแง่ที่ว่า การใช้อำนาจออกคำสั่งของศาลโดยใช้ถ้อยคำที่กินความกว้างเช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยเหล่านี้กลายเป็น 'ประชาชนที่มีตราบาป' และไม่กล้าใช้สิทธิเสรีภาพ เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นต้อง "ถูกใจศาล" หากไม่ถูกใจก็จะถูกศาลเรียกมาไต่สวนเพื่อแสดงความสำนึกและก้มกราบขอขมาต่อศาล มิเช่นนั้น ก็อาจถูกส่งกลับเข้าคุกได้โดยไม่ต้องพิจารณาคดีใหม่
 
การออกคำสั่งล่วงหน้าที่พ่วงมาด้วยโอกาสติดคุกโดยไม่ต้องรับการพิจารณาคดีใหม่เช่นนี้ ถือเป็นกรณีที่ศาลสร้างเกณฑ์ขึ้นมาปรับใช้เอง ซึ่งเกินเลยไปกว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ให้อำนาจไว้
 
แน่นอน ย่อมมีผู้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ได้บัญญัติว่า
 
"บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน"
 
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นมาตรานี้ หรือ มาตรา 108/1 ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจะมาตราใดในระบบกฎหมายไทย ก็ไม่ได้ให้อำนาจศาลออกคำสั่งกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการทั่วไปดังเช่นที่ศาลอาญากระทำตลอดมา
 
หากว่ากันไปตามตัวบทกฎหมายแล้ว ศาลจะต้องกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างแคบ เช่น ห้ามจำเลยไปทำลายพยานหลักฐาน หรือทำผิดซ้ำในประเด็นที่เจาะจงกับคดีเดิม ส่วนหากจำเลยจะไปชุมนุมและละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นต่างกรรมต่างวาระ ก็ต้องถูกดำเนินคดีใหม่แยกกันต่างหาก มิใช่นำเรื่องการประกันตัวในคดีเดิมมาตีความปะปนกันประหนึ่งเป็นคำขู่ในการควบคุมความประพฤติ (ผู้เขียนเคยอธิบายข้อกฎหมายไว้แล้วที่ http://bit.ly/trabab)
 
การใช้อำนาจของศาลไทยเช่นนี้ เกิดขึ้นกับจำเลยชาวไทยทุกคน ไม่ว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเสื้ออะไร ส่งผลให้จำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างมีเงื่อนไขกลายเป็นประชาชนที่มีตราบาปอย่างไม่เป็นธรรม และถือเป็นการที่ศาลไทยละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องความเสมอภาค และบทสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างโจ่งแจ้งที่สุด
 
*** สะดุ้งที่สอง : ชุมนุมทั้งที ต้องเอาให้คุ้ม ? ***
 
การสะดุ้งครั้งที่สอง แรงยิ่งกว่าครั้งแรก เมื่อผู้เขียนได้อ่านคำแถลงส่วนท้ายของพันธมิตรฯ ที่ว่า
 
"วิธีการชุมนุมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวก็ยังไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ในขณะนี้"
 
กล่าวคือ พันธมิตรฯ กำลังจะสื่อว่าหากต้องชุมนุมโดยสงบสันติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด จะถือเป็นการชุมนุมที่ไม่คุ้มค่า ?
 
หรือหากจะชุมนุมให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า จะต้องสามารถ  "ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ" ?
 
แม้ผู้เขียนไม่คิดว่า พันธมิตรฯ จะเจตนาสื่อเช่นนั้น แต่ข้อความในคำแถลงอาจทำให้เข้าใจเช่นนั้นได้หรือไม่ ?
 
พันธมิตรฯ ไม่ควรลืมว่า ความสำเร็จและเสียงสนับสนุนใดๆ ที่พันธมิตรฯ เคยได้รับจาก "ประชาชนทั่วไป" ในยุคแรกเริ่ม จนกลายมาเป็น "คนเสื้อเหลือง" ในยุคเฟื่องฟูนั้น เริ่มต้นมาจากสมัยที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จัดปราศรัยวิจารณ์คุณทักษิณ ชินวัตร อย่างสันติ แต่เด็ดขาด และตรงไปตรงมา เช่น รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี ฯลฯ
 
การปราศรัยดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการใช้เสรีภาพที่สันติ และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ใช้พื้นที่สาธารณะงัดข้อมูลและเหตุผลมาถกเถียงกันโดยไม่ต้องสนใจว่าจะต้องสามารถล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งพลังที่สันติเช่นนั้น คือ พลังที่ขาดหายไปจากสังคมไทยในวันนี้
 
หากพันธมิตรฯ สามารถจุดพลังสันติที่เคยมีมาในอดีต โดยมีหลักการและเหตุผลเป็น "ต้นทุน" ย่อมไม่ต้องกังวลเลยว่าชุมนุมไปแล้ว "คุ้มค่าหรือไม่"
 
แต่หากพันธมิตรฯ จะคิดแบบนักธุรกิจการเมือง ที่มองผล "ความคุ้มค่า" เป็นสำคัญ หลายคนก็คงอดไม่ได้ ที่จะต้อง "สะดุ้ง" ทั้งด้วยความสงสัย และความเสียดาย
 
และนี่อาจเป็นคำตอบส่วนหนึ่งว่าเหตุใด คนที่เคยใส่เสื้อเหลือง ถึงหันมาสวม 'หน้ากากขาว' แทน (http://bit.ly/whiteandyellow) .
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แย้งนิธิเรื่องฮิตเลอร์

Posted: 31 Jul 2013 08:44 AM PDT

หลังจากได้อ่านบทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์เกี่ยวกับฮิตเลอร์ที่ลงในทั้งมติชนและประชาไทแล้ว  ผู้เขียนใคร่แสดงความอหังการที่จะหยิบยกบทความของเจ้าพ่อวงการประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยมาแย้งแบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน อย่างไรก็ตามต้องเกริ่นเสียก่อนว่า ผู้เขียนนั้นเห็นด้วยกับความคิดของนิธิโดยเฉพาะประเด็นที่ว่าตามลำพังตัวตนของฮิตเลอร์หากไม่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางการเมืองหรือประวัติศาสตร์ย่อมไม่สามารถมีบทบาทในการสังหารหมู่ชาวยิวหรือก่อให้เกิดสงครามอันล้างผลาญชีวิตหลายสิบล้านได้ แต่ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับนิธิในหลายประเด็นดังต่อไปนี้

1.นิธิมองข้ามความจำเป็นของการห้ามการแสดงสัญลักษณ์

นิธิเห็นว่าการห้ามไม่ให้มีการแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับฮิตเลอร์และนาซีเกิดจากการที่ไม่ต้องการให้เยอรมันกลับมาเป็นฟาสซิสต์อีกครั้งรวมไปถึงบทบาทของพวกยิวในสหรัฐฯ ข้อแย้งของผู้เขียนคือนิธิไม่ได้กล่าวถึงอันตรายจากขบวนการลัทธินาซีใหม่   (Neo-Nazi) หรือพวกขวาตกขอบซึ่งพยายามสืบทอดมรดกฟาสซิสต์ของพรรคนาซี  ขบวนการนี้ไม่ได้มีเพียงในเยอรมันแต่ยังกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป หรือ แม้แต่รัสเซียภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย การห้ามไม่ให้แสดงสัญลักษณ์แบบนาซีจึงมีประโยชน์คือไม่ให้พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้ได้ใช้ประโยชน์ทางการเมืองนอกจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันสั่งยุบพรรคนาซีใหม่เมื่อปี 1952  การห้ามเข้มงวดแม้กระทั้งว่ารัฐบาลเยอรมันไม่ยอมให้มีการบูรณะบังเกอร์ที่  ฮิตเลอร์ใช้หลบภัยก่อนจะฆ่าตัวตายเมื่อเดือนเมษายน ปี 1945 เพราะไม่ต้องให้เป็นแท่นบูชาสำหรับพวกนาซีใหม่ 

แม้เป็นเรื่องยากที่เยอรมันจะกลับมาเป็นฟาสซิสต์อีกครั้งหนึ่ง แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเยอรมันและที่สำคัญรวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกเพราะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้พวกขวาจัดใหม่เข้ามามีอิทธิพลอีกครั้งอันจะส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวมเช่นเช่นการต่อต้านชาวต่างชาติที่มีเชื้อชาติหรือศาสนาที่แตกต่างจากชาวยุโรปรวมไปถึงการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป และแม้จะสามารถโต้เถียงได้ว่าหากสถานการณ์เอื้ออำนวยเช่นปัญหาเศรษฐกิจได้ส่งผลให้เกิดพวกขวาตกขอบที่เต็มไปด้วยอคติทางเชื้อชาติและศาสนาเช่นการต่อต้านพวกอพยพที่เป็นชาวประเทศโลกที่ 3 ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การบังคับห้ามการแสดงออกด้านสัญลักษณ์เปรียบได้ดังการทำสงครามเชิงวัฒนธรรม (Culture War) ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเหลือรัฐบาลของยุโรปไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย

2.นิธิเขียนเป็นทำนองว่ารัฐหรือสังคมพยายามให้มีการบังคับให้ลืมฮิตเลอร์ในทุกกรณี

ผู้เขียนคิดว่ารัฐหรือสังคมยุคใหม่เพียงแต่ต้องการไม่ให้นำเสนอสัญลักษณ์ของนาซีและฮิตเลอร์ในเชิงยกย่องหรือเกินความเหมาะสม กล่าวอีกนัยคือประชาชนสามารถนำเสนออย่างเป็นกลางเช่นทางวิชาการหรือทางศิลปะได้ อันเป็นสิ่งที่นิธิได้เรียกร้องในช่วงท้ายๆ ของบทความ ดังในรัฐธรรมของเยอรมันที่ถูกนำออกใช้ในปี 1949 ได้พยายามทำให้เยอรมันปลอดจากความเป็นนาซี (De-Nazification) ในหลังสงครามโลกเช่นสั่งห้ามการแสดงออกหลายอย่างเกี่ยวกับนาซีเพราะเป็นองค์กรที่ผิดรัฐธรรมนูญแต่ในมาตรา 5 บรรทัดที่ 3 ได้กล่าวว่า "ศิลปะและวิทยาศาสตร์ การวิจัยและการสอน (เกี่ยวกับนาซี)จะเป็นอิสระ อันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐและสังคมยุคใหม่ไม่ได้บังคับให้ลืมฮิตเลอร์และนาซีไปเสียทุกกรณีเสมอไป ถึงแม้หลายครั้งจะพยายามก็ตาม

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ของฮิตเลอร์ที่ทรงพลังที่สุดแต่คนจำนวนมากกลับมองข้ามคือหนังสือของฮิตเลอร์ที่ชื่อ Mein Kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) ซึ่งถูกเขียนขึ้นในช่วงที่เขาถูกคุมขังในคุกที่แคว้นบาวาเรียเมื่อปี 1923 ภายหลังจากพยายามทำรัฐประหารที่โรงเบียร์  (Beer Hall Putsch) ไม่สำเร็จ หนังสือเล่มนี้เผยแพร่อุดมการณ์แบบฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์โดยเฉพาะการต่อต้านยิวซึ่งลุ่มลึกและทรงพลังได้ดีกว่าสัญลักษณ์ทั้งหลาย แม้หนังสือจะไม่สามารถตีพิมพ์ได้ในเยอรมันแต่ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างๆ ในหลายประเทศได้โดยมีเงื่อนไขว่าเพื่อการศึกษา และเป็นที่น่าสนใจว่ามีการแปลเป็นไทยและจัดจำหน่ายในเมืองไทยด้วย อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่าสถาบันวิจัยประวัติศาสตร์เยอรมันร่วมสมัยพยายามจะนำเอาหนังสือเล่มนี้มาตีพิมพ์อีกครั้งในเยอรมันในปี 2016 เมื่อสิทธิในการตีพิมพ์หนังสือที่ถือครองโดยรัฐบาวาเรียหมดอายุโดยทางสถาบันอ้างถึงเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ กระนั้นก็เป็นเรื่องตลกที่ว่าในโลกออนไลน์นั้น เราสามารถโหลดเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ของฮิตเลอร์มาอ่านได้สบายๆ ทั้งหมด  แม้แต่ในเวลาที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่   วัตถุประสงค์ของผู้เผยแพร่อาจจะนำไปสู่การศึกษาความคิดของฮิตเลอร์เพื่อเข้าใจในตัวเขาและเยอรมันช่วงสงครามโลกดีขึ้นหรือเอาไปวิพากษ์การเมืองยุคใหม่หรืออาจจะเบี่ยงเบนจากเจตนาคือใช้เป็นตำราพิชัยยุทธ์สำหรับสร้างสรรค์การเมืองแบบขวาตกขอบ สิ่งนี้คนอ่าน  Mein Kampf จำนวนมากนับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมาคงได้ตัดสินใจไปแล้วว่าจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไรดี

นอกจากนี้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นวนิยาย ภาพยนตร์ สื่อต่างๆ มีการนำเสนอตัวตนของฮิตเลอร์อย่างแพร่หลายและมีมิติที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงหลังสงครามอาจเพราะทั้งมีการตีความผสมกับการค้นพบหลักฐานทั้งบุคคลและวัตถุใหม่อยู่เรื่อยๆ หนังสือวิชาการเกี่ยวกับตัวฮิตเลอร์รวมไปถึงบรรดาลูกน้องคนสนิทไม่ว่าเฮอร์มานน์ เกอร์ริ่ง  อัลเบิร์ต สเปียร์ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ฯลฯ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมาคงจะมีเป็นล้านๆ เล่ม หนังสือชื่อดังอย่างเช่นชีวประวัติ "ฮิตเลอร์" ของนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับฮิตเลอร์มากที่สุดของอังกฤษคือเอียน เคอร์ชอว์จำนวน  3 เล่มใหญ่ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากเพราะทำให้เราเห็นตัวตนของฮิตเลอร์ที่ปราณีตยิ่งไปกว่าคนบ้าที่เสียสติและไม่นานมานี้ก็มีการเปิดเผยห้องสมุดส่วนตัวของฮิตเลอร์ว่ามีหนังสือที่มีคุณค่าจำมากอันทำให้เราสามารถเห็นมุมมองความขัดแย้งในตัวเองของบุรุษซึ่งเคยสั่งให้เผาหนังสือต้องห้ามสำหรับรัฐนาซีแต่แอบมีความหลงใหลในหนังสือ แต่งานเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะนำมาตัดสินว่าเขาเป็นคนดีในที่สุด  สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำว่าโลกบังคับให้ "จำ"  ฮิตเลอร์ไปตามกรอบแนวคิดแบบเสรีนิยมและรักสันติผ่านการบังคับจากกฎหมายของหลายๆ  ประเทศ  สำหรับประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้าม ก็ต้องอาศัยแรงกดดันทางสังคมประสานกับบทบาทของศูนย์ไซมอน วีเซนทัลในสหรัฐฯ  

3.นิธิมองว่าการแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับฮิตเลอร์และนาซีแบบไร้เดียงสาเกิดจากการบังคับให้ลืม

สำหรับที่มีการแสดงสัญลักษณ์ของฮิตเลอร์และนาซีที่ไร้เดียงสาเช่นเกิดจากความเลื่อมใสในลัทธิขวาจัดหรือความคึกคะนองหรือเพียงเพราะเห็นว่าเป็นความเท่ห์ได้เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ของโลกสมัยใหม่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยอยู่เรื่อย ๆ นั้น  ผู้เขียนไม่อยากสรุปเอาง่ายๆ เกิดจากความล้มเหลวของการศึกษาในปัจจุบันหรือการบังคับให้ลืมเพียงอย่างเดียวเพราะคิดว่าประเทศทั้งหลายในโลกคงจะถ่ายทอดความชั่วร้ายของฮิตเลอร์ให้กับเยาวชนผ่านตำราเรียนไปทั่วถ้วน แต่ปัญหาคือจะมีการนำเสนอในแบบเดียวกันหรือไม่นั้นก็คงมีปัจจัยของการเมือง สังคม อคติทางเชื้อชาติหรือแม้แต่ศาสนาของประเทศนั้นเข้ามาเป็นตัวแปรในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ถ้าจะให้เดาประเทศประชาธิปไตยโดยเฉพาะอิสราเอลคงใส่ภาพของฮิตเลอร์มืดดำหน่อย (สำหรับญี่ปุ่นเป็นประเด็นน่าสนใจว่าจะนำเสนอภาพของอดีตเพื่อนร่วมฝ่ายอักษะของตนในสงครามอย่างไร)  ส่วนประเทศประชาธิปไตยเทียมหรืออำนาจนิยมเผด็จการก็อาจจะไม่เสนอเรื่องของฮิตเลอร์เลยหรืออาจเสนอภาพไม่แรงนักด้วยความกลัวว่าประชาชนจะใช้ความรู้เกี่ยวกับนาซีมาจับไต๋ของตัวเองอย่างเช่นประเทศในอเมริกาใต้ในช่วงทศวรรษที่ 70 ที่ผู้นำเป็นเผด็จการทหารและคอยให้การช่วยเหลือพวกนาซีที่แอบหนีเข้ามาในประเทศตน หรือในทางกลับกันประเทศเหล่านั้นอาจเสนอภาพของฮิตเลอร์ในด้านดีจนเกินจริงเพื่อสนับสนุนความเป็นบุรุษเหล็กของผู้นำเผด็จการตัวเอง

นอกจากนี้บทบาทของอิสราเอลในการเมืองโลกปัจจุบันและลัทธิเกลียดยิวก็เป็นปัจจัยที่ผลต่อมุมมองของประชาชนในประเทศต่างๆ  ต่อฮิตเลอร์ เช่นเมื่อศูนย์ไซมอน วีเซนทัลออกมาประท้วงการใช้สัญลักษณ์ของฮิตเลอร์และนาซีในประเทศต่างๆ ด้วยเหตุผลว่าฮิตเลอร์ฆ่าชาวยิวไปหลายล้านคน ก็คงมีคนย้อนกลับมาโจมตีบทบาทของอิสราเอลในการสังหารชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก แม้ว่าสัดส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตของทั้ง 2 เหตุการณ์จะต่างกันมากแต่ก็ทำให้อิสราเอลสูญเสียความชอบธรรมในการประณามจอมเผด็จการนาซีไปไม่ใช่น้อยและแน่นอนว่าคงมีคนจำนวนมากโดยเฉพาะชาวมุสลิมในตะวันกลางที่มองว่าการประณามฮิตเลอร์และนาซีคือความพยายามของอิสราเอลในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐอิสราเอลหรือลัทธิ  Zionism ต่อชาวโลกดังภาพยนตร์เรื่อง Schindler's List (1993) ของสตีเวนส์ สปีลเบิร์ก ที่พรรณนาการสังหารหมู่ของชาวยิวในค่ายกักกันนาซีอย่างน่าสะเทือนใจจึงถูกสั่งห้ามฉายหรือถูกเซนเซอร์อย่างหนักในประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ ความเกลียดยิวยังส่งผลให้ชาวมุสลิมหรือชาวประเทศโลกที่ 3 จำนวนมากที่หันมาเชิดชูหรือยกย่องฮิตเลอร์เพื่อประชดหรือต่อต้านอิสราเอลด้วยความรู้สึกไม่พอใจแทนชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลรุกรานรังแก ดังตัวอย่างเจ้าของบาร์ในอินโดนีเซียที่ติดรูปของฮิตเลอร์รวมไปถึงทหารกับสัญลักษณ์นาซีไว้บนผนังร้านเมื่อไม่นานมานี้

แม้แต่ในประเทศในยุโรปเองคงมีพลเมืองจำนวนมากที่เห็นว่าการควบคุมการนำเสนอภาพของนาซีและฮิตเลอร์เป็นการสร้างอำนาจของรัฐในการจำกัดเสรีภาพการแสดง  ดังนั้นจึงกลายเป็นประเพณีใหม่ของพวกหัวเสรีนิยมที่จะท้าทายในการนำเสนอภาพของปีศาจร้ายในสายตาของรัฐบาลในอีกมิติหนึ่งแม้จะถูกโจมตีว่าเสนอไม่ยอมภาพฆาตกรโหดตามรูปแบบที่คาดหวังไว้ก็ตาม หากติดตามข่าวจะพบว่ามีบ่อยครั้งมากที่ฝรั่งจะพยายามท้าทายกฎหมายในด้านศิลปะโดยนำเสนอฮิตเลอร์ในด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านลบเช่นศิลปินชาวเยอรมันหลายคนพยายามแสดงศิลปะที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ของนาซีแบบกำกวมหรือผลิตนวนิยายแนวขบขันที่มีฮิตเลอร์เป็นตัวเอก ส่วนที่ทำให้สาธารณชนเยอรมันตกใจเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็คืออุปรากรเรื่อง Tannhauser ของริชาร์ด วาคเนอร์ คตีกวีขวัญใจของฮิตเลอร์ในเมืองดุลเซลดอร์ฟที่ผู้จัดใช้ฉากพวกนาซีสังหารหมู่ชาวยิวโดยอ้างว่าเพื่อสะท้อนถึงปัญหาลัทธิเกลียดยิว แต่ก็ทำให้ถูกวิจารณ์โจมตีอย่างหนัก

สำหรับความคิดของผู้เขียนที่ไม่น่าเหมือนกับนิธิแล้วสิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับ"กระบวนการทำให้ลืมฮิตเลอร์" คือกระบวนการนำเสนอเรื่องราวของฮิตเลอร์ที่มากล้นเกินไป (Hyper-representation) คือยิ่งรัฐหรือสังคมสั่งห้าม ต่อต้านหรือประณามก็กลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดภาพหรือวาทกรรมของฮิตเลอร์ทวีล้นพ้นขึ้นไปอีก สิ่งนี้ย่อมส่งผลถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เกิดภาวะอิ่มตัวกับความล้นนี้ ที่สำคัญการนำเสนอมักได้รับอิทธิพลโดยวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) ที่ผลิตซ้ำภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ของฮิตเลอร์และนาซีอันน่าตื่นตาตื่นใจอยู่จนถึงปัจจุบันแต่ไม่สามารถทำให้คนรับข่าวสารสามารถเชื่อมโยงหรือวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ได้มากไปกว่าความบันเทิง ซ้ำร้ายภาพอันล้นเกินของฮิตเลอร์ยังกลายเป็นภาพครอบงำหรือเป็นภาพหลอกหลอน  (Specter of Hitler) ทำให้คนรุ่นใหม่มองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรต่อการสังหารหมู่ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่  2 เช่นทุ่งสังหารของพอล พตในกัมพูชาสงครามกลางเมืองในอดีตยูโกสลาเวีย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ฯลฯ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ดูกระจอกเล็กน้อยเสียเหลือเกินถ้าเทียบกับการฆ่าชาวยิวไปกว่า 6 ล้านคนหรือแม้แต่จอมเผด็จการคนอื่น ๆ ที่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ดูให้ดีก็ได้มีส่วนหรือสั่งการโดยตรงให้ล้างผลาญชีวิตของเพื่อนร่วมชาติในจำนวนมากยิ่งกว่าฮิตเลอร์ (ซึ่งมุ่งฆ่าชาวยิวที่มาจากประเทศต่างๆนอกจากเยอรมัน) เช่นโจเซฟ สตาลินและเหมา เจ๋อตงก็ไม่สามารถจรัสแสงของการเป็นฆาตกรของมวลมนุษยชาติได้เท่ากับฮิตเลอร์เลย          

ผู้เขียนเคยถามนักศึกษาในห้องเรียนว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยขณะที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลับมีคนตอบได้น้อยมาก แต่ถ้าถามว่าใครเป็นผู้นำของเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่สามารถตอบได้ แต่ถ้าจะถามต่อว่าค่ายกักกันของนาซีตั้งอยู่ที่ใดหรือเหตุใดฮิตเลอร์จึงสามารถขึ้นมาอำนาจเหนือเยอรมันได้ ก็จะมีจำนวนคนที่ตอบได้ลดน้อยลง  นักศึกษาเหล่านี้ถึงแม้จะอยู่มหาวิทยาลัยต่างกันแต่ความคิดคงไม่ต่างกับพวกที่วาดภาพฮิตเลอร์ปะปนกับบรรดาซูเปอร์ฮีโรทั้งหลายบนฝาผนังกระมัง

4.นิธิเห็นว่าฮิตเลอร์สามารถสร้างรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จได้สมบูรณ์กว่าสตาลิน

ผู้เขียนรู้สึกสงสัยว่านิธิได้ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่ารัฐของใครเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จมากกว่ากัน   เพราะความจริงสตาลินนั้นขึ้นมามีอำนาจในโซเวียตตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1920  เขาได้สานต่อการสร้างรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จจากเลนินโดยเริ่มลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality)  ผ่านภาพและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ชาวโซเวียตเคารพนับถือสตาลินดุจบิดาแห่งชาติที่จะรวมรัฐต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้สหภาพโซเวียต การมีตำรวจลับ เพื่อกำจัดศัตรูฝ่ายตรงกันข้ามโดยการสังหารหรือนำไปเข้าค่ายกักกัน (gulag)  กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนฮิตเลอร์จะขึ้นมามีอำนาจในปี 1933 เสียด้วยซ้ำ ผู้เขียนคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าสตาลินมีความเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จที่สมบูรณ์กว่าฮิตเลอร์แม้ว่าจะยึดถืออุดมการณ์คนละฝั่งคือความสามารถของสตาลินในการนำอำนาจของรัฐทะลุทะลวงสู่ทุกอณูของสังคมโซเวียตผ่านความกลัวแบบไร้สาระเพื่อให้คนโซเวียตกลายเป็นเครื่องจักรที่ปฏิบัติตามสตาลินโดยปราศจากเงื่อนไข สำหรับเยอรมันนั้นหากใครไม่ใช่พวกรักร่วมเพศหรือพวกยิว และไม่วิจารณ์หรือต่อต้านฮิตเลอร์กับพรรคนาซีก็ปลอดภัยพอสมควร แต่รัฐของสตาลิน ทุกคนที่อยู่รอบตัวสตาลินไม่ว่าภรรยาของเขา กลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยกอดคอสตาลินในการตั้งพรรคบอลเชวิกมาด้วยกันหรือนายทหารในกองทัพแดง ไม่นับประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้มีความสนใจทางการเมืองเลยก็สามารถถูกกำจัด (purge) ออกไปอย่างง่ายดายเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนายทุนแอบแฝงหรือพวกต่อต้านการปฏิวัติ  วิธีการนี้ต่อมาถูกเลียนแบบโดยเหมา เจ๋อตงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อกลางทศวรรษที่ 60 จนเป็นเหตุให้มีคนจีนเสียชีวิตเป็นล้านๆ

นอกจากนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อยว่าสำหรับกองทัพเยอรมันที่ไม่ใช่หน่วยเอสเอส ทหารไม่จำเป็นต้องทำท่าเคารพฮิตเลอร์อันสะท้อนว่าบารมีและความศรัทธาต่อตัวฮิตเลอร์ไม่ได้มีมากมายในกองทัพดังที่เข้าใจกันไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่มีกลุ่มนายทหารพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มฮิตเลอร์ในเดือนกรกฎาคม ปี 1944  ตรงกันข้ามกับสตาลินดังฉากที่เขากล่าวคำปราศรัยแล้วคนในห้องปรบมือให้อย่างยาวนานโดยไม่มีใครกล้าเลิกปรบมือเป็นคนแรกเพราะกลัวจะถูกจับผิด จนสตาลินต้องกดกริ่งให้การปรบมือสิ้นสุดลง  ดังนั้นจึงพอตั้งสมมติฐานว่าการนำเสนอภาพของฮิตเลอร์ที่มากล้นเช่นการโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์และนาซีซึ่งถูกผลิตซ้ำผ่านภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนมากอาจเป็นผลให้มีความเข้าใจว่าฮิตเลอร์สร้างรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จได้สมบูรณ์กว่าสตาลิน

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ: เมื่อการไฟฟ้าฯ แพ้ผักตบชวา ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล (บางส่วน)

Posted: 31 Jul 2013 08:43 AM PDT

 

ชาวบ้านในพื้นที่รายงานว่า วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 หลังชาวบ้านรอคอยมายาวนาน ก็เป็นอันกว่าเขื่อนปากมูลต้องเปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เนื่องจากอั้นไม่อยู่ เหตุเพราะผักตบชวาอัดแน่นหน้าเขื่อนปากมูล จนตาข่ายที่มีไว้กั้นบรรดาเศษสวะรวมทั้งผักตบไม่ให้เข้าไปในช่องปั่นไฟขาด สุดท้ายการไฟฟ้าฯ จึงต้องยอมแพ้ผักตบชวา เริ่มยกบานประตูระบายน้ำแล้ว 3 บาน จากทั้งหมด 8 บาน ขณะที่จังหวัดอุบลเรียกประชุมฉุกเฉินเตรียมมือรองรับน้ำเหนือจากโคราชที่กำลังจะมาถึง พร้อมกับเสนอให้การไฟฟ้าฯ เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ในวันที่ 1 สิงหาคม 2556 นี้

 

 

คนหาปลาแหวกผักตบที่กระจายเต็มแก่งสะพือ เพื่อเอาเรือ

 

ตาข่ายกั้นผักตบไม่ให้ไหลเข้าช่องปั่นไฟขาด เพราะทนแรงดันผักตบไม่ไหว


เขื่อนปากมูลเริ่มยกประตู ระบายผักตบออก

น้ำจำนวนมากทะลังออกจากเขื่อนปากมูล

คนหาปลาท่านา ท้ายเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม

คนหาปลาจะพัก กิน นอน บนเรือ

 

คนหาปลาเข้าคิวรอไหลมอง (หรือการนำตาข่ายดักปลาล่องไปตามแม่น้ำ)


รวมพลคนหาปลา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บล็อกเกอร์เวียดนามยื่นหนังสือยูเอ็น ประท้วง ม.258 ละเมิดเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

Posted: 31 Jul 2013 07:54 AM PDT

เครือข่ายบล็อกเกอร์เวียดนามยื่นหนังสือพร้อมลงลายมือชื่อกว่า 100 คนที่สำนักงานสหประชาชาติในกรุงเทพฯ ประท้วงรัฐบาลเวียดนามที่ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเรียกร้องให้เลิก ม.258 ความผิดฐาน "ฉกฉวยเสรีภาพประชาธิปไตยเพื่อทำลายผลประโยชน์ของรัฐฯ" ซึ่งใช้เป็นข้อหาจัดการบล็อกที่วิจารณ์รัฐบาล

วันนี้ (31 ก.ค.) ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ตัวแทนเครือข่ายบล็อกเกอร์ชาวเวียดนาม 6 คน ซึ่งเดินทางมายังกรุงเทพฯ ได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อยื่นแถลงการณ์แนบรายชื่อบล็อกเกอร์เวียดนามกว่า 100 คน ที่เข้าชื่อกันประท้วงที่รัฐบาลเวียดนามละเมิดต่อเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 258 ความผิดฐาน "ฉกฉวยสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยเพื่อทำลายผลประโยชน์ของรัฐและสิทธิหน้าที่อันชอบธรรมขององค์การพลเมือง"

ซึ่งกฎหมาย "มาตรา 258" เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเวียดนามใช้จับกุมบล็อกเกอร์ที่เขียนบทความหรือรายงานข่าววิจารณ์รัฐบาลเวียดนาม

แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามทบทวนสถานะด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และต้องให้หลักประกันแก่ประชาชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ด้วย

โดยการยื่นหนังสือของเครือข่ายบล็อกเกอร์เวียดนามวันนี้ มีมาเรีย อิซาเบล ซาน การิโด (Maria Isabel Sanz Garido) เจ้าหน้าที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมารับแถลงการณ์และเรียกสอบถามข้อมูลนานกว่า 2 ชั่วโมงด้วย

และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ก.ค. เครือข่ายบล็อกเกอร์เวียดนามได้ยื่นหนังสือมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำเวียดนามด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติพท.พิจารณาเฉพาะร่าง'วรชัย' – แดงลพบุรีเสนอร่างนิรโทษใหม่อีก

Posted: 31 Jul 2013 07:52 AM PDT

 


วันที่ 31 ก.ค. ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า  นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงผลการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมพรรคมีมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยในวันที่ 7-8 สิงหาคม เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สมาชิกที่เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาฯ เสนอร่างประกบโดยเด็ดขาด เพื่อประโยชน์ในการนิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกสี ทุกฝ่าย ไม่รวมแกนนำ ผู้สั่งการ และพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ ส.ส.ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและเริ่มต้นลดทอนปัญหาให้กับประชาชนที่เป็นเหยื่อ ทางการเมืองให้เกิดรูปธรรม ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลมา 2 ปี

ทั้ง นี้ ได้มอบหมายให้ประธานวิปรัฐบาลประสานนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำการถอนร่างนิรโทษกรรมฉบับของนายนิยมออกจากสภาฯ เพื่อป้องกันความสับสน เนื่องจากร่างของนายนิยมและของนายวรชัยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อแถลงข่าวตลอดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่าวันที่ 1 สิงหาคมจะพิจารณาเพียงวาระกระทู้ถามเท่านั้น ไม่ลักไก่นำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาแน่  และจะเป็นการพิจารณาตามวาระปกติ ไม่ใช่สามวาระรวดตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา  อย่างไรก็ตามในเวลา 17.30 น. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะแถลงข่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่วมกันอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุรัฐบาลลิดลอนสิทธิ ประชาชนกรณีประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง  โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุเป็นการพิจารณาของฝ่ายความมั่นคงและพรรคเพื่อไทยที่มีข้อมูลตรงกันว่า ฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามได้ปลุกระดมมวลชนและระดมคนให้เข้าร่วมชุมนุม  เห็นได้จากการประกาศของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศคัดค้านทั้งในและนอกสภาฯ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องป้องกันให้สถานการณ์อยู่ในความเรียบร้อย  ยืนยันการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยประกาศใช้ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเคยประกาศใช้ถึง 7 ครั้ง ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธ์ ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกือบ 18 ครั้ง

นายพร้อมพงศ์ ระบุด้วยว่าจะส่งตัวแทนยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีปราศรัยปลุดระมให้คนมาร่วมชุมนุม เท่ากับขัดขวางการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย.

 

พรรคร่วม รบ.มีมติเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย

เว็บไซต์มติชน รายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิด ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคม โดยในการประชุมมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รองนายกรัฐมนตรี  ขณะที่ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย  นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทองพรรคชาติไทยพัฒนา  และนายนิกร จำนงค์ อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม เข้าร่วมประชุม

ต่อมาเวลา 18.00 น. นายจารุพงศ์ ได้แถลงผลการประชุม โดยอ่านแถลงการณ์ถึงมติของพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ว่า จากสภาพปัญหาสังคมไทยเกิดความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทย พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาฝังลึกดังกล่าวคือการให้โอกาส ประชาชน เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาร่างพระราช บัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งก็คือร่างของนายวรชัย เหมะและคณะโดยสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีหลักการสำคัญที่จะนิรโทษกรรมประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทุกสี ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียมกันซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออก ทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นวาระปกติ โดยพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่นำร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย และใช้วิธีพิจารณาตามข้อบังคับปกติทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเร่งรัดใดๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

นายจารุพงศ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะและคณะมีหลักการคือ "ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว" ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำและผู้สั่งการ คดีที่ติดค้างกับประชาชนทั้งสองฝ่ายร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่น การก่อการร้าย การยึดสนามบิน ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นชนักติดหลัง ความสงบจะเกิดขึ้นยาก พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงนิรโทษกรรมให้ "ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่มีการเลือกข้างใดๆ ทั้งสิ้น" อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าจะไม่นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าประชุมในวันที่ 1สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน
 

สุชาติ ลายน้ำเงิน ยื่น 19,000 รายชื่อ เสนอร่าง ก.ม.นิรโทษกรรมคดีอาญา

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. มีรายงานว่า ที่รัฐสภา นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้นำประชาชนจาก จ.ลพบุรี ประมาณ 200 คน มาชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าอาคาที่รัฐสภาเพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้ง หรือการรัฐประหารเกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ.2548-2554 พร้อมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนจำนวน 19,999 รายชื่อ ต่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือแทน

โดย นายสุชาติ กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 หมวด 3 และหมวด 5 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 ซึ่งอยากเห็นการบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาฯ เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภายหลังประเทศ เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่มาจากความเห็นต่างของประชาชน จึงควรช่วยเหลือผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือต้องคำพิพากษาว่า กระทำผิดอาญาที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2554

ด้าน นายเจริญ กล่าวว่า ตนจะนำร่างกฎหมายดังกล่าว ส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ซึ่งอยากให้ประชาชนติดตามที่ประชุมที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยให้ติดตามได้ ทางการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์และวิทยุรัฐสภา แต่หากคนใดว่าง ก็สามารถมาติดตามการประชุมได้ที่หน้ารัฐสภาได้
 

เปิดสาระร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเสื้อแดงลพบุรี นำโดยสุชาติ ลายน้ำเงิน

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานถึงสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554 ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน จำนวน 10,999 คน ที่นำยื่นโดย นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน ฐานะแกนนำคนเสื้อแดงจ.ลพบุรี ระบุว่าให้ประกาศว่าโดยที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีมูลเหตุ มาจากความเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน บั่นทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสงบสุขดังเดิม และพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศ และนำมาซึ่งความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทย จึงเป็นการสมควรที่จะให้มีการนิรโทษกรรมแก่บรรดาบุคคลทั้งหลายทุกฝ่าย โดยการคืนสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดอาญาซึ่งมีมูล เหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาการกระทำผิดอาญาทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือได้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นจากการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่างนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดอาญาที่มีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหารที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 - 2554 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำในระหว่างวันที่กล่าวหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าว หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากการกระทำผิดทางอาญาโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม ในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ์หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสาระในมาตรา 3 ที่ระบุตามร่างกฎหมายดังกล่าว หากมีการพิจารณาจริง จะทำให้บุคคลที่ถูกยื่นฟ้องหรือดำเนินคดี โดย คตส. จะได้รับการนิรโทษกรรมตามผลของร่างกฎหมายนี้ ซึ่งหมายรวมถึงคดีอาญาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ด้วย

 

"อภิสิทธิ์-สุเทพ" นำ 80 ส.ส.ขึ้นเวทีผ่าความจริง ปลุกคนต้าน "นิรโทษกรรม"

ไทยรัฐออนไลน์รายงานความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อม ส.ส.พรรคกว่า 80 คน ได้ออกเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เพื่อเดินทางไปยังลานสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี เพื่อร่วมขึ้นเวทีผ่าความจริง โดยมีแกนนำพรรค อาทิ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคฯ นายไตรรงค์ สุวรรณคิรี นายศิริโชค โสภา และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค โดยมีประชาชนขอลายเซ็นและถ่ายรูปจำนวนมาก ส่วนการรักษาความปลอดภัย มีตำรวจจาก บก.น.5 มาดูแลรักษาความปลอดภัย 1 กองร้อย

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์จัดเวทีผ่าความจริงในทุกวันเสาร์ แต่ช่วงใกล้เปิดสภาฯ ที่จะพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคได้จัดเวทีถี่ขึ้น เพื่อปลุกกระแสให้ประชาชนออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่รัฐบาลจะนำเข้าสภาฯ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.ความมั่นคง รับมือม็อบหน้าสภา 1-10 ส.ค. 3 เขตกทม.

Posted: 31 Jul 2013 07:07 AM PDT

ครม.ชุดเล็กประชุมด่วนประกาศพื้นที่อันกระทบต่อความมั่นคง  ดุสิต-พระนคร-ป้อมปราบฯ ให้ กอ.รมน.ดูแล อ้างเตรียมรับมือการชุมนุมหน้าสภาต้านร่างนิรโทษกรรม ส่วนกวป.ประกาศยุติชุมนุม ด้านพงศ์เทพชี้ม็อบไม่มีอำนาจยื่นศาลปกครองขวางครม.ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง

31 ก.ค. 56  เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็กซึ่งใช้จำนวนครม.1 ใน 3 ของทั้งหมด เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภาย ในราชอาณาจักรในช่วงของการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมว่า  ที่ประชุมเห็นสมควรประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่เขตดุสิต พระนครและป้อมปราบศัตรูพ่าย มีกำหนดระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม โดยให้อยู่ในอำนาจของ กอรมน. ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยมีผบ.ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศอ.รส.) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า มูลเหตุที่ครม.มีการประกาศดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีที่มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มประกาศชุมนุมไม่เห็นด้วยกับการพิจารณา กฎหมายของรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยการชุมนุมของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะระดมมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และอาจชุมนุมยืดเยื้อ รวมทั้งลุกลามไปถึงการยึดพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ หรืออาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุแทรกซ้อน เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง เพื่อหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือขัดขวางการทำหน้าที่ของฝายนิติบัญญัติ เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนหรืออันตรายต่อประชาชน ให้สมาชิกรัฐสภาสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย และเป็นการป้องกันและป้องปรามภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และไม่ให้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลมีความหลากหลาย รวดเร็ว จนสามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิติบัญญัติ ระบบบริหารราชการแผ่นดิน และความสงบเรียบร้อยในประเทศ สมควรประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระบุว่า ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มว่าจะอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งอยู่ในอำนาจของหน่วยงานหลายหน่วย ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจมอบหมายให้กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปรามเหตุการณ์ดังกล่าว

ส่วนการประชุมครม.ครั้งนี้ เป็นครม. "ชุดเล็ก" ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ เช่น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม รวมทั้งยังมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รองนายกฯ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที รวมถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทุกคน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.อ.อุดมเดช สูตบุตร เสนาธิการทหารบกและตน โดยมติที่ประชุมวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศได้รับทราบมติในการประชุมครั้ง นี้แล้ว

เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า หลังจากที่มมติ ครม.เห็นชอบแนวทางและมาตรการ จากนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อเห็นชอบแผนและมาตรการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สตช.) ที่จะเสนอให้ที่ประชุม กอ.รมน.เห็นชอบ จากนั้นก็จะมีการออกคำสั่งให้ตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติโดย ผบ.ตร.จะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ทั้งหมด สำหรับมาตารการและการจัดกำลังของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นที่วางในพื้นที่สำคัญมีการเตรียมการไว้แล้วน่าจะสามารถป้องกันได้

 พล.ท.ภราดร ได้กล่าวถึงการประเมินตัวเลขผู้มาร่วมชุมนุมว่า ยังระบุจำนวนตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะเมื่อมีการเริ่มเปิดสภาแล้ว ผู้ชุมนุมจะเริ่มทยอยเข้าร่วม และเนื่องจากมีจำนวนหลายกลุ่มและมีความหลากหลาย ซึ่งมีโอกาสที่จะรวมกันได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกัน เพื่อไม่ให้กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเผชิญหน้ากัน ส่วนจำนวนกลุ่มใหญ่ๆของฝ่ายเห็นด้วยน่าจะมีหลักๆแค่ 1 กลุ่ม ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยประมาณ 3-4 กลุ่ม 

"ในตอนนี้มีมาตรการที่จะป้องกันเพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างเผชิญหน้า กัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบได้ แล้วตรงนี้จะเป็นเหตุให้มือที่สามเข้ามาแทรกแซงได้ โดยเจ้าหน้าที่จะไม่มีการใช้อาวุธอยู่แล้ว จะมีเพียงแค่โล่ และกระบองเท่านั้น และตอนนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สมช.) ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด" พล.ท.ภราดร  กล่าว

'พงศ์เทพ' ชี้ม็อบไร้อำนาจยื่นศาลปค. ยกเลิกประกาศพรบ.ความมั่นคง
ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมครม.ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อคัดค้านการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอำนาจที่จะไปยื่นให้ยกเลิกประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงได้ เนื่องจากเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของฝ่ายบริหารที่จะพิจารณาประกาศใช้ และที่ไม่สามารถไปยื่นให้ยกเลิกคำสั่งได้ เพราะได้ผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากครม.แล้ว แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมจะไปยื่นก็ต้องไปยื่นที่ศาลยุติธรรม และให้ยกคัดได้เฉพาะรายละเอียดการปฏิบัติไม่ใช่ยื่นให้ยกเลิกประกาศ

กวป.ประกาศยุติชุมนุมหน้าสภาฯ หลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง
พล.ต.ต. วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผู้บังคับการตำรวจนครบาล1 (ผบก.น.1) ได้เดินทางมายังพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมชุมสื่อวิทยุประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย (กวป.) ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อเจรจากับแกนนำกวป. ให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าวหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

โดยภายหลังการเจรจา นายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป. ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าจะยุติการชุมนุมหน้ารัฐสภา ในเวลา 24.00 น. นี้ และจะย้ายไปปักหลักชุมนุมต่อที่บริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้จะติดตามการประชุมสภาต่อไป หากพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถปกป้องพื้นที่อาคารรัฐสภาได้ จะนำมวลชนมาหน้ารัฐสภาอีก

 

เรียงเรียง จากเว็บไซต์คมชัดลึก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เว็บไซต์ไอลอว์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Posted: 31 Jul 2013 05:44 AM PDT

"หัวใจของ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านนี้คือเรื่องเวลา ไม่ใช่เรื่องเงิน เราต้องทำเวลาให้พร้อมต่อการพัฒนาของโลก"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เชื่อมภาค เชื่อมชีวิตบูรณาการทุกทิศสู่ความเจริญ" ในงานสัมมนา "Moving Forward 2 ล้านล้าน ขับเคลื่อนไทยทัดเทียมโลก"

กทค.เผยเตรียมประมูลคลื่น 1800 MHz ใน ก.ย.57

Posted: 31 Jul 2013 04:02 AM PDT

กทค.มีมติเห็นชอบประมูลคลื่น 1800 MHz ก.ย.นี้ พร้อมแต่งตั้งอนุกรรมการจัดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการโทรคมนาคม ด้านเลขาฯ กสทช.ยัน การจัดการคลื่นความถี่ 1800 ไม่ได้ล่าช้า

                            
(31 ก.ค.56) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม โดยที่ประชุม กทค. มีมติดังนี้                  

1. กทค. ได้มีมติเห็นชอบกรอบระยะเวลาการดำเนินการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz โดยจะกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนกันยายน 2557 ทั้งนี้การมีกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้อุตสาหกรรมได้มีการเตรียมความพร้อมในการประมูล

2. กทค. ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดให้มีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการโทรคมนาคม โดยมี  ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ อาทิ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกลไกการมีส่วนร่วม วางแผนและเสนอวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการศึกษาและเสนอแนะการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสนับสนุนกระบวนการการตัดสินใจของ กสทช. เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม มีการจัดทำมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงเหตุผลที่ กสทช. ตัดสินใจในการดำเนินการภายใต้กฎหมายในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ส่งเสริมกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น โดยจะนำเรื่องเข้าบอร์ด กสทช. เพื่อมีมตินำไปแต่งตั้งต่อไป

ด้าน สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. กล่าวในเรื่องกรอบระยะเวลาการดำเนินการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ว่า ตามมาตรา 45 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดไว้ว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน คลื่นความถี่จะคืนกลับมายัง กสทช. เพื่อนำมาจัดสรร นำมาทำการประมูลต่อไป แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องจัดสรรคลื่นเมื่อใด ทั้งนี้การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ถ้าทำการจัดสรรในตอนนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง อาทิ มีประชาชนตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก และในทางเทคนิคของคลื่นความถี่ที่ยังไม่สามารถทำการประมูลได้ ถ้าทำการจัดสรรตอนนี้ประชาชนก็จะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด

ขณะที่ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยืนยันว่า การดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่  1800 MHz ไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด คณะทำงานร่วมระหว่าง กสทช. กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้มาตลอดหลังจาก กสทช. เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในประเด็น คลื่นจะกลับคืนมาอยู่ที่ใคร กสทช. หรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ขณะเดียวกัน กสทช. ก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องการคุ้มครองผู้ใช้บริการที่จะได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานควบคู่กันไปด้วย ในส่วนของกระทรวงไอซีที ได้นำประเด็นเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ รอเป็นวาระเพื่อทราบที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายท้วงติงการใช้อำนาจของ กสทช. ในการออก "ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ....."  ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการขยายเวลาสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ออกไปอีกหนึ่งปี ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย (อ่านเพิ่มเติมที่เรื่องที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิทย์ มหิดลชี้ปัญหาน้ำมันรั่วที่เสม็ดต้องการความโปร่งใส

Posted: 31 Jul 2013 03:41 AM PDT

วงเสวนาคณาจารย์คณะวิทย์ ชี้เส้นผมไม่เหมาะนำมาใช้ซับน้ำมันกรณีน้ำมันรั่วเสม็ด กระบวนการขั้นแรก คือ ดูด ซับ ตัดทิ้ง และใช้สารลดแรงตึงผิว แต่ต้องระวังผลระยะยาว ติง ปตท. จัดการไม่โปร่งใส รวบรัดอธิบาย ขณะที่โซเชียลมีเดียเน้นดรามาเกินไป


 

วันที่ 31 ก.ค. 2556 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา และ ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ร่วมกันเปิดประเด็นเรื่องการจัดการปัญหาน้ำมันรั่วในอ่าวไทย บริเวณใกล้เกาะเสม็ด ระบุว่า แม้จะเป็นสเกลเล็กมากเมื่อเทียบกับการรั่วครั้งใหญ่ของบริษัทบีพี ออยล์ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาคือน้ำมันได้ลอยเข้าสู่ชายฝั่งทำให้การจัดการปัญหาซับซ้อนขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกว้างขวางขึ้น โดยระบุว่าปัญหาใหญ่ของการจัดการปัญหานี้คือการขาดความโปร่งใส ชี้แจงต่อสังคมอย่างรวบรัด ขณะเดียวกันก็ท้วงติงการก่อดราม่า แชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างรวดเร็วในอินเทอร์เน็ต

วงเสวนาได้ตั้งข้อสังเกตกระบวนการจัดการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วที่เสม็ด มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี และชีวะ ในขั้นตอนฟิสิกส์นั้นเป็นไปอย่างที่ ปตท. ดำเนินการอยู่ ในส่วนของเคมี มีการใช้สารเคมีลดแรงตึงผิว แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าใช้สารอะไร ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องการความโปร่งใส เปิดเผยได้เพื่อลดข้อสงสัยจากประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการจัดการแก้ปัญหา

ในขั้นตอนสุดท้ายคือ ชีววิทยา การศึกษาวิจัยชี้ว่าจุลชีพในทะเลลึกหลากหลายพันธุ์กินปิโตรเลียมเป็นอาหาร และแสดงบทบาทสำคัญในการย่อยสลายปิโตรเคมี ดังนั้นควรศึกษาว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีจุลชีพชนิดใดที่เอื้อต่อการกำจัดปิโตรเลียมได้ สำหรับจุลินทรีย์นั้น ไม่มีที่ไหนในโลกที่ไม่มีจุลินทรีย์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าจะมีจุลินทรีย์ชนิดใดที่ใช้ประโยชน์ได้ มีข้อสังเกตอีกเช่นกันว่างานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายปิโตรเลียมได้เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมันบีพี และเป็นจุลินทรีย์ในทะเลลึก

ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล กล่าวถึงกรณีข่าวสารที่แชร์กันทางโซเชียลมีเดียว่าเส้นผมสามารถดูดซับน้ำมันว่า เส้นผมซับน้ำมันได้จริงแต่ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีน้ำมันรั่วที่เสม็ด โดยศีรษะคนปกติหนึ่งคนสามารถดูดซับน้ำมันได้ประมาณ  350 มล. หรือเปรียบเทียบง่ายๆ คือคนไทยต้องใช้ 150,000 คน หรือประมาณประชาชนในระยองประมาณ  1 ใน 5 คน แต่จริงๆ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ ใช้ได้กรณีที่เป็น Liquid Waste (ของเสียในสภาพที่เป็นของเหลว) คือทำในกรณีที่เป็นน้ำมันลอยเหนือผิวน้ำและทำในห้องทดลอง แต่ปัจจุบันน้ำมันกลายเป็น Solid Waste (ของเสียที่มีสภาวะเป็นของแข็ง) ไปแล้ว ทำให้จัดการด้วยการใช้เส้นผมซับน้ำมันไม่ได้  วิธีที่ทำได้คือตักออก ดูด และซับ เช่นที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นกระบวนการทางกายภาพ นอกจากนี้ คือการใช้สารเคมีลดแรงตึงผิว แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ดร.พหล โกสิยะจินดา กล่าวว่า ในทางชีววิทยา การใช้สารเคมีลดแรงตึงผิวต้องระมัดระวังเรื่องผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม เพราะการใช้สารเคมีจะมีการสะสมของสารพิษ ที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูระยะยาว  เช่น บริเวณป่าพรุชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะเลี้ยงฟูมฟักตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ถ้าตัวอ่อนได้รับสารพิษและแพร่กระจายต่อไปในห่วงโซ่อาหาร ก็อาจเกิดกรณีที่สารพิษค่อยๆ สะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ใหญ่ที่เป็นสัตว์ที่นิยมนำมาบริโภค  อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อไป

ดร.พลังพลกล่าวเสริมว่า ปัญหาในการจัดการขณะนี้คือ การใช้สารเคมีลดแรงตึงผิวซึ่งประชาชนและแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ทราบว่ามีคุณสมบัติอย่างไร และจะส่งผลกระทบอย่างไร โดยบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า ระบุแต่เพียงว่าเป็นสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ

สำหรับกระบวนการจัดการของเสียจากน้ำมันรั่วไหลนั้น ดร.พลังพล กล่าวว่า จากกรณีของน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก มีการศึกษาพบว่า นอกเหนือจากคราบน้ำมันที่ใช้วิธีทางกายภาพดูด และซับออกแล้ว อีก 1 ใน 4 ที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ระเหยได้ก็จะระเหยไปสู่บรรยากาศ ส่วนที่เหลือ 26 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นมวลสารจะจมลงสู่ทะเล โดยมวลสารสีดำของปิโตรเลียมที่รั่วไหลลงไปจะไปกระตุ้นจุลชีพต่างๆ ในทะเลลึก ที่กินน้ำมันเป็นอาหาร ทำหน้าที่ย่อยสลาย

ดร.พลังพลอธิบายว่า การสลายตัวทางชีวะวิทยาของน้ำมันนั้น อาจกล่าวได้ว่า สิ่งมีชีวิตชั้นสูงถูกผลกระทบจากน้ำมัน แต่จุลชีพสามารถบริโภคปิโตรเลียม ไฮโดรคาร์บอนต่างๆ เหล่านั้นได้  และเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญมากที่ทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดีที่สุด เวลาจะเยียวยาทุกอย่าง ตัวแบคทีเรียเช่นนี้จะมีทั่วไป มีหลายร้อยชนิด รวมทั้งมีเชื้อรา

ดังนั้น กล่าวโดยสรุป กระบวนการที่จัดการอยู่ขณะนี้เป็นกระบวนการทางกายภาพซึ่งอยู่ในช่วงสัปดาห์แรกเมื่อเกิดกรณีน้ำมันไหลลงสู่ทะเล คือ เห็นทีไหนก็ตัก และซับ ดูด ตรงไหนจัดการไม่ได้ให้ใช้สารเคมีช่วย และสารเคมีที่ใช้เหมือนแฟ้บ คือสารลดแรงตึงผิว เพียงแต่ข้อสังเกตต่อการทำงานของบริษัทที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อกรณีน้ำมันรั่วที่เสม็ดคือลักษณะรวบรัด ขาดการอธิบายต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสเพื่อการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

"ถ้ามีความโปร่งใส เราจะสามารถจำลองขั้นตอนการทำงานได้ทั้งขั้นตอนฟิสิกส์ เคมี และชีวะ ถ้าบอกว่าใช้เวลา 300 วันแล้วมีวิธีการอธิบายกับสังคมได้ พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ทุกคนจะเชื่อมั่นและเชื่อใจ ประเด็นนี้มันเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับปัญหาของที่อื่น ผมเชื่อว่าเวลาเยียวยาหัวใจได้ ธรรมชาติจะคืนสมดุลใหักับตัวเอง" ดร. พลังพลกล่าว

โดย ดร.พหลเสริมว่า ที่นำเสนอนี้ไม่ใช่การปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิดหรือปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเองโดยไม่ทำอะไร หากแต่ควรศึกษาว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีจุลชีพชนิดใดที่เอื้อต่อการกำจัดปิโตรเลียมได้ สำหรับจุลินทรีย์นั้นไม่มีที่ไหนในโลกที่ไม่มีจุลินทรีย์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าจะมีจุลินทรีย์ชนิดใดที่ใช้ประโยชน์ได้ และการศึกษาต้องใช้เวลา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น