ประชาไท | Prachatai3.info |
- สภาใช้งบ 55 ล้าน ซื้อไอแพดให้ ส.ส.-ส.ว.ยืม - พัฒนาระบบสืบค้นงานสภา
- ปัญหา ‘Must carry’ ของ กสทช.
- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ร่างพรบ.นิรโทษกรรม ใครได้ประโยชน์?
- สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจี้หยุดนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมัน
- พฤกษ์ เถาถวิล: การเมืองเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ
- 4 เครือข่ายชายแดนใต้ร้องมาเลย์ ตั้งกลไกสอบลอบสังหารระหว่างการพูดคุยสันติภาพ
- ศาลปฏิเสธคำขอประกันสมยศเป็นครั้งที่15 เหตุผล 'เกรงว่าจะหลบหนี'
- ‘วิกฤติศาสนาหรือศรัทธาที่เปลี่ยนไป’ แลกมุมมองต่อ ‘พุทธศาสนา’ ในปัจจุบัน
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23 - 29 ก.ค. 2556
- แฉอีก โปรแกรม XKeyscore ช่วย จนท.สหรัฐฯ สืบค้นได้แทบทุกอย่าง
- กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ แสดงจุดยืนต้องเอาผิดทหาร เร่งนิรโทษกรรม พร้อมเยียวยา
- รอบโลกแรงงานกรกฎาคม 2556
- ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับ ณ วังไกลกังวล
- กรณีน้ำมันดิบรั่ว งานเก็บกู้ อาสาสมัคร งานนี้ไม่ใช่ที่ของคุณ!!!
- 8 องค์กรสิทธิฯ ค้านรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง คุมม็อบ
สภาใช้งบ 55 ล้าน ซื้อไอแพดให้ ส.ส.-ส.ว.ยืม - พัฒนาระบบสืบค้นงานสภา Posted: 01 Aug 2013 12:28 PM PDT รัฐสภา ใช้งบ 55.30 ล้านบาท ซื้อไอแพด ให้ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการระดับสูง ผอ.สำนัก กมธ.ยืมใช้ 3 ปี ประธานสภาฯ เชื่อเพิ่มศักยภาพการทำงาน ส.ส. ไม่ตกขบวนไอที ลดการใช้กระดาษ ด้านฝ่ายค้าน ท้วงไอแพดมินิถูกกว่า-ไม่จำเป็นต้องแจกซิมการ์ด
ด้าน บุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า แม้สภาจะมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้กระดาษ แต่มีประเด็นข้อสงสัย คือ ทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างไอแพด ซึ่งเคยท้วงติงแล้วว่า ควรจะจัดซื้อเครื่องไอแพดมินิ เพราะมีความสะดวกและราคาถูกกว่า แต่ได้รับคำตอบว่าต้องทำตามทีโออาร์ที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว และค่าบริการรายเดือนของซิมการ์ดที่ใส่ในไอแพด มีค่าใช้จ่ายรายเดือนเดือนละ 1,200 บาท ซึ่งรวมแล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณตกปีละ 14,400 บาท ซึ่งเคยท้วงติงต่อกรรมาธิการกิจการสภาฯ ว่า ไม่สมควรที่จะจัดซื้อซิมการ์ดให้ ส.ส. เพราะ ส.ส.สามารถหาซื้อได้เอง อีกทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดมีเครือข่ายโทรศัพท์ครอบคลุมไม่เหมือนกัน ดังนั้นเกรงว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของสภาในแต่ละปีโดยไม่จำเป็นถึงกว่า 7,200,000 บาท อีกด้วย
ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก และข่าวสด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 01 Aug 2013 10:48 AM PDT ประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ประกาศ must carry) มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างหลักประกันว่าผู้ชมจะต้องเข้าถึงและได้รับชมฟรีทีวีได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าการรับชมจะผ่านช่องทาง (platform) โดยสาระสำคัญของประกาศอยู่ที่การกำหนด ภาระหน้าที่ (obligations) ของ ผู้ให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป (ช่องฟรีทีวี) ในข้อที่ 4 ผู้ให้บริการโครงข่าย (ทั้งภาคพื้นและดาวเทียม)ในข้อที่ 5 และ ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิลทีวี หรือ ดาวเทียม) ในข้อที่ 6 ข้อที่ 4 ของประกาศ [1] กำหนดภาระหน้าที่ของช่องฟรีทีวีว่าต้องไม่มีการปิดกั้นเนื้อหา และให้บริการทั้งในระบบภาคพื้นและดาวเทียมและเก็บค่าใช้จ่ายไม่ได้ ซึ่งข้อกำหนดนี้คือการบังคับภาระหน้าที่ "must offer" กับฟรีทีวีนั่นเอง ข้อที่ 5 ของประกาศ [2] กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายสำหรับฟรีทีวี (เช่น Multiplexers ในกรณีระบบภาคพื้น และผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียม) มีหน้าที่ต้องให้บริการอย่างต่อเนื่อง และสามารถเรียกเก็บค่าตอบแทนได้ตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. ซึ่งเป็นการกำหนดภาระหน้าที่ซึ่งโครงข่ายไม่สามารถปฏิเสธการให้บริการฟรีทีวีได้ ข้อที่ 6 ของประกาศ [3] กำหนดภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (pay TV) ทั้งระบบเคเบิล และดาวเทียม มีหน้าที่ต้องให้บริการช่องฟรีทีวีอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ทุกช่อง โดยผู้ให้บริการสามารถ "เลือก" ช่องรายการที่จะเผยแพร่ตามวิธีการที่ กสทช. กำหนด ซึ่งข้อกำหนดนี้คือภาระหน้าที่ ที่ กสทช. เรียกว่า "must carry" และกำหนดให้กับผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิก (ทั้งๆ ที่โดยเนื้อหาแล้วควรเรียกว่า may carry) ประกาศฉบับดังกล่าว ยังมีปัญหาในบางประเด็น อาจจะเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายการรับชมอย่างทั่วถึง 1. ฟรีทีวีบางช่องอาจจะไม่ถูกเผยแพร่อย่างทั่วถึงจริงตามเจตนารมณ์ ของ กสทช.ในขณะที่กฎ must carry ที่ใช้กันตามหลักสากล กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ (platform) ไม่ว่าจะเป็นระบบเคเบิล หรือ ระบบดาวเทียม ที่มีหน้าที่ดังกล่าว "ต้อง" เผยแพร่ช่องทีวีที่ได้รับสถานะ must carry (เช่น ช่องฟรีทีวี) โดยหลักการแล้ว ช่องทีวีที่ได้รับสถานะ must carry จะเป็นช่องที่ทำหน้าที่บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะบางประการ (Public Service Broadcasting) เช่น การสร้างความหลากหลาย การเผยแพร่รายการสาระความรู้ วัฒนธรรมและจำเป็นต้องให้มีการรับชมอย่างทั่วถึงแต่เนื้อหาในข้อ 6 ของประกาศกลับระบุให้ผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิก (platform) สามารถ "เลือก" ช่องรายการที่จะเผยแพร่ตามวิธีการที่ กสทช. กำหนด ซึ่งจะมีผลให้ช่องฟรีทีวีที่มีสถานะ must carry บางช่องอาจจะไม่ถูกเลือกเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องที่มีประโยชน์เชิงธุรกิจต่อ platform ที่ต่ำ ในทางกลับกัน ช่องฟรีทีวีมีหน้าที่ต้องให้บริการทั้งระบบภาคพื้นและผ่านดาวเทียมโดยไม่ปิดกั้น หรือ must offer (ตามเนื้อหาข้อที่ 4 ของประกาศ) ซึ่งการบังคับให้ช่องทีวีให้บริการในระบบดาวเทียมด้วย ทำให้ภาระของช่องทีวีสูงขึ้นในการส่งสัญญาณขึ้นสู่ดาวเทียมเพิ่มขึ้นมาจากระบบภาคพื้น แต่ต้นทุนที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจจะสูญเปล่าเนื่องจากช่องฟรีทีวีบางช่องอาจจะไม่ถูก "เลือก" เผยแพร่ ข้อกำหนดในลักษณะนี้สร้างภาระให้กับช่องทีวี แต่สังคมอาจจะไม่ได้ประโยชน์กลับคืนมาและ กสทช. ไม่บรรลุเป้าหมายการรับชมอย่างทั่วถึง 2. ช่องรายการต้อง "จ่าย" ค่าเชื่อมต่อเพื่อให้ถูก "carry" ในระบบของ cable หรือดาวเทียม หรือไม่?สาระสำคัญที่สุดของ กฎ must carry คือการวางกรอบกติกาให้ฟรีทีวีที่ได้รับสถานะ must carry ถูกเผยแพร่ในหลายๆ ช่องทางที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบปิดเช่นเคเบิล และดาวเทียมซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่ใช้เป็นช่องทางหลักในการรับชม แต่เนื้อหาข้อ 6 ของประกาศซึ่งเป็นข้อเดียวที่กล่าวถึงระบบโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกกลับไม่ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรต้นทุนที่จะเกิดขึ้นระหว่างช่องรายการและผู้ประกอบการบน platform เคเบิล หรือ ดาวเทียมแต่อย่างใด โดยหลักปฏิบัติสากล ผู้ให้บริการโทรทัศน์ในรูปแบบหรือ platform ต่างๆ ที่มีภาระ must carry จะต้องเผยแพร่โดยช่องรายการที่ถูกกำหนดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นั่นคือ must carry เป็นภาระและหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่ต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเป็นหลักประกันว่าช่องรายการจะเข้าถึงผู้ชมได้อย่างกว้างขวางที่สุด เนื้อหาข้อ 5 ของประกาศ must carry ของ กสทช. กำหนดเพียงว่าให้โครงข่ายโทรทัศน์ หรือ Multiplexers (MUX) สามารถเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการโทรทัศน์ หรือช่องรายการได้ แต่ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนคือผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นระบบปิด เช่น ระบบเคเบิล หรือดาวเทียม ที่มีการบอกรับสมาชิกและผู้ชมต้องใช้กล่อง Set top box ในการรับชม สามารถเรียกเก็บค่าตอบแทนในการเชื่อมต่อกับช่องฟรีทีวีที่ได้รับสถานะmust carry ได้หรือไม่ ตามหลักการ must carry แล้วผู้ให้บริการโทรทัศน์เหล่านี้ต้องเผยแพร่ช่องรายการที่ได้รับสถานะ must carry โดยไม่สามารถเรียกเก็บค่าตอบแทนได้ มิฉะนั้นแล้วตามประกาศฉบับนี้ของ กสทช. ช่องฟรีทีวีต้องรับภาระต้นทุนการเผยแพร่รายการจากประกาศ must carry ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง (ผลิต, ส่งสัญญาณภาคพื้น, ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม, จ่ายค่าเชื่อมต่อกับ platform บอกรับสมาชิก) ทั้งที่ must carry เป็นภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ในระบบปิด ผ่านช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ระบบภาคพื้น ข้อกำหนดของ กสทช. อาจจะมีผลให้เกิดภาระที่ไม่สมดุลระหว่างช่องรายการ และผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณในการลงทุนผลิตรายการ และคุณภาพรายการของช่องทีวี must carry ในที่สุด 3. เกณฑ์การพิจารณาให้สถานะ must carry status กับช่องทีวี และภาระ must carry obligation กับผู้ให้บริการโทรทัศน์ไม่ชัดเจนเกณฑ์ must carry มีผลในด้านลบเช่นเดียวกันกล่าวคือเกณฑ์ดังกล่าวจะสร้างภาระให้กับทั้งช่องทีวีและ platform อีกทั้งเป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ ดังนั้นการกำหนดว่าช่องทีวีใดจะได้รับสถานะ must carry และผู้ให้บริการโทรทัศน์รายใดจะต้องมีภาระหน้าที่ในการเผยแพร่ จะต้องมีวัตถุประสงค์และเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจน ซึ่งยังไม่พบในประกาศ must carry ของ กสทช. ช่องทีวีแต่ละช่องทำหน้าที่บริการสาธารณะไม่เท่ากัน ในขณะที่ระบบโทรทัศน์บางระบบอาจจะไม่ได้เข้าถึงผู้ชมอย่างแพร่หลาย การบังคับ must carry แบบเหมารวมผู้ประกอบการทุกรายจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี และเป็นการกำกับดูแลอย่างไม่เป็นสัดเป็นส่วนที่เหมาะสมและไม่สมเหตุสมผล ข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์ must carry ของ กสทช.1. must offer ต้องมาคู่กันกับ must carry ในขณะที่ กสทช. กำหนดให้ ภาระ must offer กับช่องทีวีที่มีสถานะ must carry โดยต้องไม่ปิดกั้นการนำเนื้อหาไปเผยแพร่ไม่ว่าช่องทางใด กสทช. จำเป็นต้องกำหนดภาระ must carry ที่แท้จริงกับผู้ให้บริการโทรทัศน์ในระบบบอกรับสมาชิกด้วย กล่าวคือ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเผยแพร่ช่องทีวีตามที่ กสทช. กำหนด โดยไม่มีสิทธิเลือก ในกรณีที่ช่องรายการที่มีสถานะ must carry มีจำนวนมากจนเกิดความกังวลว่า must carry จะสร้างภาระให้กับผู้ให้บริการโทรทัศน์ผ่านเคเบิล หรือดาวเทียมมากจนเกินไป กสทช. อาจกำหนดเพดานขั้นสูงของ capacity ของระบบที่ผู้ให้บริการโทรทัศน์ต้องกันไว้เพื่อให้บริการ (เช่น 1 ใน 3 ของ capacity หรือจำนวนช่องในระบบทั้งหมด) และ กสทช. เลือกช่องที่ต้องการให้เผยแพร่โดยจัดลำดับความสำคัญ 2. เรียงลำดับความสำคัญ (priority) หรือความจำเป็นของการถูกเผยแพร่ของช่องที่ได้สถานะ must carry โดยความจำเป็นต้องวัดตามการทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะ (public service obligation) ที่แต่ละช่องมีแตกต่างกัน ดังนั้นช่องประเภทรายการเด็กและครอบครัว และช่องประเภทรายการข่าว อาจจะได้ลำดับความสำคัญของสถานะ must carry ก่อนช่องประเภททั่วไปนอกจากนี้ กสทช. อาจจะกำหนดประเภทของช่องรายการที่มีความจำเป็นในการเผยแพร่รองลงมาเป็นช่องที่ให้ผู้ประกอบการเลือกเผยแพร่ (สถานะ may carry) เพิ่มเติมได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด 3. ความชัดเจนของภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเกณฑ์ must carry ประกาศกำหนดให้ช่องที่มีสถานะ must carry ต้องเผยแพร่ทั้งทางภาคพื้นและดาวเทียม ซึ่งตีความโดยนัยได้ว่า กสทช. กำหนดให้ช่องที่ได้สถานะ must carry ต้องรับภาระต้นทุนการยิงสัญญาณขึ้นสู่ดาวเทียม ซึ่งในประเด็นนี้ในต่างประเทศมีการปฏิบัติที่ต่างกันไป โดยสำหรับประเทศอังกฤษช่องที่ได้สถานะ must carry เป็นผู้รับภาระ ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งอเมริกาและฝรั่งเศส เคเบิล ทีวีหรือทีวีดาวเทียมเป็นผู้รับภาระ ค่าใช้จ่ายอีกประเภทที่ต้องมีความชัดเจนคือค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมในการเผยแพร่ช่องทีวีที่มีสถานะ must carry โดยตามหลักการแล้ว กสทช. ควรกำหนดให้ช่องทีวีที่มีภาระ must offer แล้วไม่ต้องรับภาระดังกล่าว ซึ่ง must carry ถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการทีวี 4. สร้างเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อกำหนดสถานะ must carry ให้กับช่องทีวีและภาระ must carry ให้กับผู้ให้บริการ platform เกณฑ์สำหรับกำหนดสถานะ must carry ให้กับช่องทีวีได้กล่าวไปแล้วในข้างตน สำหรับการกำหนดภาระ must carry กสทช. ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเลือกplatform ที่ต้องเผยแพร่ช่องทีวี must carryเช่น ต้องเป็นช่องทางที่ผู้ชมจำนวนมากใช้เป็นช่องทางหลักในการรับชม เนื่องจาก must carry มีวัตถุประสงค์ตั้งตนเพื่อให้ช่องรายการเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหญ่อย่างทั่วถึง ผู้ให้บริการหรือ platform ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร โดยสามารถยกเว้นผู้ให้บริการรายเล็กได้เนื่องจากการบังคับรายเล็กจะเป็นการบังคับที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่เป็นสัดเป็นส่วนที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น กรณี ประเทศเยอรมนีกำหนดว่า ให้ภาระ must carryให้กับ (1) platform ที่เป็น open network เช่น อินเทอร์เน็ต (2) platform ผ่านสาย เช่น เคเบิล ทีวี ที่มีครัวเรือนเป็นสมาชิกน้อยกว่า 10,000 ครัวเรือน (3) platform ไร้สาย เช่น ทีวีดาวเทียมที่มีสมาชิกน้อยกว่า 20,000 ในขณะที่เบลเยี่ยม ยกเว้นให้กับ platform ที่ให้บริการน้อยกว่า 25% ของครัวเรือน ในพื้นที่ให้บริการนั้นๆ เป็นต้น 5. กำหนดระยะเวลาทบทวนสถานะ must carry อย่างสม่ำเสมอ สถานะและภาระmust carry ไม่ได้คงอยู่กับช่องทีวีและผู้ให้บริการตลอดไป ความจำเป็นของการเผยแพร่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพตลาด การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และหน้าที่การให้บริการสาธารณะของช่องทีวี กสทช. จำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาในการทบทวนสถานะ must carry อย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ เช่น อยากน้อยทุก 3 ปี เป็นต้น
อ้างอิง:
ที่มา: http://nbtcpolicywatch.org/press_detail.php?i=1153 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ร่างพรบ.นิรโทษกรรม ใครได้ประโยชน์? Posted: 01 Aug 2013 10:40 AM PDT ในที่สุด พรรคเพื่อไทยก็มีมติผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระแรกในในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนเสื้อแดงและในพรรคเพื่อไทยถึงองค์ประกอบและขอบข่ายของการนิรโทษกรรม ประเด็นถกเถียงยิ่งสับสนเมื่อญาติผู้เสียชีวิตกลุ่มของนางพะเยาว์ อัคฮาด ได้ออกมาออกมาคัดค้านร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ โดยกล่าวหาว่า มีการสอดแทรกยกเว้นความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ปราบปรามประชาชน จากเหตุผลดังกล่าว นางพะเยาว์และกลุ่มจึงได้ผลักดันร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับของพวกตน ซึ่งมีข้อความระบุไม่ยกเว้นความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่ "กระทำเกินกว่าเหตุ" ความจริงแล้ว ร่างพรบ.ฉบับนายวรชัย เหมะกล่าวครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ "เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง" รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้ชุมนุม "แต่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณา ... ให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ ..." ซึ่งก็คือ ไม่ครอบคลุมถึงบุคคลอื่นใดอีก รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับสั่งการและระดับปฏิบัติการ ผู้ที่กล่าวหาว่า ฉบับนายวรชัย เหมะว่า ยกเว้นความผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นการเข้าใจผิด แม้แต่นายวรชัย เหมะก็ยังเข้าใจผิดในร่างพรบ.ของตัวเอง! การที่ร่างพรบ.นิรโทษกรรมยังไม่กล่าวถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งนั้นเป็นการถูกต้อง ซึ่งก็หมายความว่า ยังไม่มีการยกเว้นความผิดเจ้าหน้าที่รัฐใดๆ ในร่างพรบ.นี้ ความเห็นที่ตรงกันจากทุกฝ่าย ณ เวลานี้คือ ให้เร่งนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเฉพาะที่เป็นมวลชนร่วมเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายเสื้อแดง ครอบคลุมการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่รัฐประหาร 2549 โดยไม่รวมแกนนำของทั้งสองฝ่าย ไม่รวมนักการเมือง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีประเด็นถกเถียงกันอีกถึงขอบเขตการนิรโทษกรรมว่า จะให้ครอบคลุมเพียงใด ทั้งในแง่คดีที่เกี่ยวข้อง บุคคล และลักษณะความเสียหายต่อคู่กรณีหรือต่อบุคคลที่สาม สำหรับมวลชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองและต้องคดีความผิดภายใต้ พรก.ฉุกเฉินและพรบ.มั่นคงนั้น ร่างพรบ.นิรโทษกรรมทุกฉบับเห็นตรงกันว่า ให้ผู้ต้องคดีพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ปัญหาที่ยังถกเถียงกันอยู่คือ แล้วความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายอาญา จะยกเว้นความผิดด้วยหรือไม่ ในประเด็นนี้ ร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทยก็ให้ผู้ต้องคดีพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิงเช่นกัน ยกเว้นฉบับนายณัฐวุฒิ ใสเกื้อที่ไม่ครอบคลุมคดีก่อการร้ายและคดีความผิดต่อชีวิต ประเด็นถกเถียงต่อมาคือ ผู้ต้องคดีตาม ป.อาญา ม.112 จะอยู่ภายใต้พรบ.นิรโทษกรรมด้วยหรือไม่เพียงใด เนื่องจากร่างพรบ.ทั้งหมดระบุครอบคลุมให้ยกเว้นเฉพาะความผิดอันเนื่องมาจาก "การแสดงออกทางการเมือง" ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ฉะนั้น คดี ม.112 จะได้รับการยกเลิกความผิดด้วยหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ในศาลว่า "การกระทำตามข้อกล่าวหา" ของผู้ที่ต้องคดี ม. 112 แต่ละคนนั้น เข้าข่ายเป็น "การแสดงออกทางการเมือง" หรือไม่ คดี ม.112 แต่ละคดีจะต้องพิสูจน์ว่า เป็น "คดีการเมือง" ก่อน จึงจะได้รับการยกเว้นความผิด ผู้ต้องคดีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนมีเหตุจูงใจทางการเมืองจากรัฐประหาร 2549 จะไม่ได้รับการยกเว้นความผิด แต่ถ้าเรามองดูบรรดาคดี ม.112 ในระยะหลายปีมานี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้คนเห็นร่วมกันคือ "ความไม่ปกติ" ของกระบวนการยุติธรรม จากขั้นตอนพนักงานสอบสวน อัยการไปถึงศาล ตั้งแต่ความคลุมเคลือไม่ชัดเจนในการตีความ ม.112 ครอบคลุมเพียงใด การวินิจฉัยเจตนาที่อยู่ในความคิดจิตใจของผู้ถูกกล่าวหาว่า "เจตนาดูหมิ่นจริง" รวมทั้ง การไม่ให้ประกันตัวออกจากที่คุมขัง ปฏิบัติต่อผู้ต้องคดีเสมือนว่า มีความผิดแล้ว ทั้งที่ยังมิได้พิพากษา รวมทั้งการตัดสินโทษจำคุกอย่างรุนแรงยิ่งกว่าคดีอาญาอื่น ๆ เป็นต้น จึงมีคำถามว่า จากคดี ม.112 จำนวนมากในปัจจุบัน จะมีสักกี่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นคดีที่ "เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง" และได้รับการยกเว้นความผิดทั้งหมดจริง? ไม่เป็นการเกินเลยที่จะสรุปได้ล่วงหน้าว่า ผู้ต้องคดี ม.112 จะไม่ได้รับประโยชน์จากร่างพรบ.นิรโทษกรรมเหล่านี้ ก็เพราะ "ความไม่ปกติ" ของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวข้างต้น ในการถกเถียงกันนี้ ดูเหมือนว่า ผู้คนจะลืมนึกถึง "ต้นฉบับแรก" ของแนวคิดนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่เสนอโดยคณะนิติราษฎร์ ในรูปแบบของ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง" เมื่อเดือนมกราคม 2556 และได้ยื่นต่อรัฐบาลโดยแกนนำกลุ่ม 29 มกราฯ ข้อคิดของคณะนิติราษฎร์มีความสำคัญที่ใช้เป็นหลักอ้างอิงได้ เพราะเป็นแนวทางนิรโทษกรรมที่เป็นผลจากการระดมสมองกลุ่มนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญหลักกฎหมายมหาชนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์คือ ให้ยกเลิกความผิดจาก พรก.ฉุกเฉิน พรบ.มั่นคง และความผิดลหุโทษตาม ป.อาญา ความผิดที่มีโทษปรับหรือโทษจำคุกไม่เกินสองปีตามกฎหมายอื่น ส่วนความผิดนอกเหนือจากนั้น รวมทั้งความผิดตาม ม.112 ก็ให้พ้นผิดถ้าผู้นั้นกระทำโดย "มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง" ที่สำคัญคือ ในข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ผู้ที่จะวินิจฉัยว่า ความผิดใด "มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง" หรือไม่นั้น ไม่ใช่ศาล แต่เป็น "คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง" จำนวน 5 คนที่แต่งตั้งโดยประธานรัฐสภา ประกอบด้วยผู้ที่เสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน สมาชิกสภาผู้ราษฎรสองคน ผู้พิพากษาหรือดีตผู้พิพากษาที่เลือกโดยรัฐสภาหนึ่งคน และพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการที่เลือกโดยรัฐสภาหนึ่งคน นัยหนึ่ง คณะนิติราษฎร์เสนอให้เอากระบวนการนิรโทษกรรมทั้งหมดออกไปจากศาล เพราะการนิรโทษกรรมเป็นการตัดสินใจทางการเมือง จึงต้องใช้กระบวนการทางการเมือง หากยังคงให้ศาลวินิจฉัย ก็เท่ากับให้ศาลเข้ามาวินิจฉัยประเด็นทางการเมืองโดยตรง และอาจถูกครหาไปในทางใดทางหนึ่งได้ ผู้ที่อ้างว่า ผู้ต้องคดี ม.112 จะได้รับประโยชน์จากร่างพรบ.นิรโทษกรรมด้วยนั้น จึงเป็นการเข้าใจผิด ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับสั่งการและระดับปฏิบัตินั้น ได้รับการคุ้มครองจากพรก.ฉุกเฉินและพรบ.มั่นคงที่มีผลในขณะเกิดเหตุอยู่แล้ว การจะเอาผิดคนเหล่านี้ในกรณี "กระทำเกินกว่าเหตุ" จึงเป็นเรื่องซับซ้อนทางกฎหมายและความยากลำบากทางการเมือง ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องต่อสู้ต่อไปอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และมิให้เป็นเยี่ยงอย่างให้เกิดการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนซ้ำซากโดยอ้างกฎหมายใด ๆ อีกต่อไป
เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข" 2 สิงหาคม 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจี้หยุดนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมัน Posted: 01 Aug 2013 10:01 AM PDT ร้องพีทีที-หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยุติการนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมันอันเป็นละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็กโดยทันที ทั้งให้นายกฯ ตั้งกรรมการสอบ 4 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง-ผู้ว่าฯ ระยอง เหตุปล่อยให้มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย จี้ตอบสาธารณชนภายใน 7 วัน วันนี้ (2 ส.ค.56) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ขอให้ยุติการนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมันอันเป็นละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก หลังพบมีเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาช่วยทำหน้าที่ตักเก็บ ทำความสะอาดคราบน้ำมันในพื้นที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยองซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล โดยคราบน้ำมันดังกล่าวเป็นสารอันตรายก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่านัก อีกทั้งพบว่าเด็กดังกล่าวไม่มีระบบป้องกันร่างกายที่ถูกต้องแต่อย่างใด กรณีดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงขอให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ยุติการนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมันอันเป็นละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็กดังกล่าวโดยทันที และให้นายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการสอบสวน 4 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดระยองด้วยว่า เหตุใดจึงปล่อยให้มีการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้ต้องมีคำตอบต่อสาธารณชนภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
พฤกษ์ เถาถวิล: การเมืองเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ Posted: 01 Aug 2013 09:41 AM PDT ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อเพลิงชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel)[1] หมายถึงเชื้อเพลิงที่ผลิตจากชีวมวล (biomass) หรือสิ่งมีชีวิตได้แก่พืชและสัตว์ เชื้อเพลิงชีวภาพที่สำคัญได้แก่ เอทาทอล ซึ่งผลิตได้จากพืชหลายชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เอทานอล เมื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินจะได้เชื้อเพลิงที่เรียกว่า แก๊สโซฮอล์ เชื้อเพลิงชีวภาพอีกประเภทหนึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล ผลิตจากปาล์มน้ำมัน เชื้อเพลิงชีวภาพ จัดเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานทดแทนหรือบางกรณีเรียกว่าพลังงานทางเลือก ส่วนพืชที่นำมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมักถูกเรียกว่า "พืชพลังงาน"
การเติบโตของเชื้อเพลิงชีวภาพ เห็นได้จากการเพิ่มอัตราการใช้ของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลก ระหว่างปี ค.ศ. 2000 -2010 ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 285.2 พันบาเรลต่อวัน เป็น 1,418.5 พันบาเรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17.9 ต่อปี และในปี 2010 บราซิลบริโภค 381.9 พันบาเรลต่อวัน จีน 38 พันบาเรลต่อวัน สำหรับประเทศไทยผู้บริโภคอันดับเก้าของโลกอยู่ที่ 7 พันบาเรลต่อวัน[2] สหรัฐอเมริกามีแผนเพิ่มการใช้เอทานอลจาก 9 พันล้านแกนลอน/ปี ในปี 2008 เป็น 36 พันล้านแกนลอน/ปี ในปี 2022 ฝ่ายสหภาพยุโรปมีแผนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งเพิ่มจากร้อยละ 2 ในปี 2005 เป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2020[3] สำหรับประเทศไทย กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (ค.ศ.2012-2021) โดยกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศร้อยละ 25 โดยเฉพาะกำหนดให้ใช้เอทานอล 9 ล้านลิตรต่อวัน และ และไบโอดีเซล 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ในปี ค.ศ. 2021[4] ในฐานะผู้ผลิต ประเทศไทยยกระดับเป็นผู้ผลิตเอทานอนระดับนำของเอเชีย ผลผลิตของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ในช่วง 5 ปี (ค.ศ. 2005 – 2010) และในตลาดผู้ผลิตในเอเชียแปซิฟิก การผลิตของไทยเพิ่มจากร้อยละ 6 ในปี 2005 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2010 ของผลผลิตในตลาดทั้งหมด[5] การเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อเพลิงชีวภาพ มาจากสาเหตุพื้นฐานคือ ความกังวลต่อการขาดแคลนเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil) ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะหมดไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานที่สร้างขึ้นใหม่ได้ มันจึงถูกมองว่าเป็นทางออกสำหรับความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต ในกรณีประเทศไทย ซึ่งมีภาระการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงสูงมาก เชื้อเพลิงชีวภาพจะเป็นทางออกสำคัญจากภาระดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกหลายประการ คือมีข้อเสนอว่า เชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวภาพปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า จึงช่วยลดปัญหาโลกร้อน เชื้อเพลิงชีวภาพจึงเป็นการพัฒนาที่ไม่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพยังจะช่วยให้ราคาพืชผลการเกษตรดีขึ้น และช่วยสร้างงานสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย เชื้อเพลิงชีวภาพจึงถูกมองว่า เป็นทางออกที่ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย (win-win solution) แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เรื่องธุรกิจผลประโยชน์มหาศาล คงไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมา แต่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจผลักดัน การให้ข้อมูลอาจแฝงด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และยังเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ใครจะได้ และใครจะเสียประโยชน์
ข้อถกเถียงเรื่องผลกระทบ ภารกิจพื้นฐานประการหนึ่งของศาสตร์คือ "การวัด" (measurement) เพื่อหาค่าที่เที่ยงตรง สำหรับนำผลที่ได้ไปใช้ขั้นต่อไป เช่นประเมินผลกระทบ หรือความคุ้มค่า แต่ก่อนอื่นมีปัญหาว่าเราจะเชื่อถือการวัดของใครดี ? ข้อเท็จจริงเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพมีอยู่ว่า ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของหลากหลายสาขาวิชาความรู้ นับตั้งแต่ด้านพลังงาน นิเวศวิทยา เศรษฐศาสตร์ การเกษตร การพัฒนาชนบท ในแต่ละสาขาวิชายังมีค่าย แต่ละค่ายมีทฤษฎีและวิธีการวัดที่แตกต่างกัน นักวิชาการแต่ละสาขาวิชายังสังกัดองค์กรแตกต่างกัน บ้างสังกัดฝ่ายวิจัยของบริษัทผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพชั้นนำ บ้างสังกัดหน่วยงานรัฐบาล บ้างสังกัดองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม บ้างเป็นนักวิจัยอิสระ ภาพสะท้อนที่ดีของสงครามความรู้อาจเห็นได้จาก การกำหนดเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานของเชื้อเพลิงชีวภาพ ในประเด็นเรื่องความยั่งยืน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ของหลายองค์กรในหลายวาระโอกาส เช่น The Roundtable on Sustainable Biofuels (RSB), The Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO), Global Bioenergy Partnership (BGEP),EU. Renewable Energy Directive[6] เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าประหลาดใจว่า เรื่องเดียวกันอาจมีคำตอบที่สวนทางกัน เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งสรุปข้อดีของเชื้อเพลิงชีวภาพต่อสิ่งแวดล้อมว่า การเผาไหม้ของเอทานอลที่ผลิตจากธัญพืช ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ในอัตราร้อยละ 13 และหากเป็นเอทานอลที่ผลิตจากอ้อย จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงร้อยละ 90 ในทำนองเดียวกันกรณีของไบโอดีเซล ก็ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลจากฟอสซิลในอัตรา ร้อยละ 40 - 60[7] ในขณะที่งานวิจัยอีกหลายชิ้นเสนอในทางตรงกันข้ามว่า เชื้อเพลิงชีวภาพมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล[8] และอาจปล่อยพลังงานออกมาน้อยกว่าที่ใช้ในกระบวนการผลิตของมัน[9] "การผลิตและการขนส่งเชื้อเพลิงชีวภาพ ในหลายกรณีอาจทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล"[10] และ "ไม่เพียงไกลจากข้ออ้างว่าจะช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่เชื้อเพลิงชีวภาพกลับจะสร้างปัญหาการปกคลุมของคาร์บอนไดออกไซด์ครั้งใหญ่กว่าเดิม"[11] เมื่อพิจารณาในประเด็นปลีกย่อยจะพบว่า การวัดขึ้นกับการกำหนดขอบเขต/ตัวแปร/การประเมินคุณค่าของสิ่งที่ต้องการวัด เช่นการพิสูจน์ว่าการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ก็มีคำถามว่า จะประเมินคุณค่าอย่างไร สำหรับการปลูกพืชพลังงานซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่ทำลายถิ่นที่อยู่และความหลากหลายของอาหารและยา และสรรพสัตว์, การจัดการแปลงการผลิตในเงื่อนไขต่างกันยังให้ผลต่างกัน ขึ้นกับประเภทพืชที่ปลูก ประสิทธิภาพการจัดการฟาร์ม การจัดการของเสีย และที่ดินที่ใช้ ลำพังกรณีที่ดินก็เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะขึ้นกับคุณภาพดิน การได้ที่ดินมาและประเภทของที่ดิน เช่นที่ทำการเกษตรมาก่อน ที่ชุ่มน้ำ หรือป่าบุกเบิกใหม่ เพราะการใช้ที่ดินต่างประเภท (เช่นการถางป่า) มีผลต่อการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แตกต่างกัน การชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนฯด้วยพืชพลังงานจึงต้องคิดในเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับเรื่องราวบางประเด็นอาจถูกจัดให้มีความสำคัญอันดับรอง เช่นกรณีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่ไปลดพื้นที่ปลูกข้าวและพืชอาหาร ทำให้กระทบความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้าน อันที่จริงเรื่องนี้มีการวิจัยของบางสำนักชี้ว่า การขยายตัวของพืชพลังงานมีผลกระทบต่อการผลิตอาหาร ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนจน[12] และยังมีการประเมินว่าในอนาคตปัญหานี้จะรุนแรงขึ้น ตามการขยายตัวของพืชพลังงาน แต่ก็ดูเหมือนว่าสำหรับภาครัฐและธุรกิจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจเท่าใดนัก กล่าวถึงที่สุด การวัดอาจนำเราไปสู่เขาวงกตทางวิชาการ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบแน่นอน หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ต้องการคำตอบแบบใดก็ได้ อยากให้เรื่องอะไรสำคัญกว่าอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการคำตอบเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านเชื้อเพลิงชีวภาพ
พลังผลักดัน เราจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ดีขึ้น เมื่อมองไปที่พลังผลักดันระดับโลก เบื้องหลังความเชื่อเรื่อง win-win solution ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางพลังงาน การแก้ไขความยากจน เราจะพบกลุ่มทุนระดับโลกทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ทำเงินกันอย่างคึกคัก การเกิดอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพคือ "พื้นที่ใหม่" ของผลประโยชน์มหาศาล ในแง่หนึ่งเรื่องนี้เป็นโอกาสของประเทศมหาอำนาจและกลุ่มทุน ที่ต้องการหลุดพ้นจากอิทธิพลของกลุ่มโอเปกที่ครอบงำธุรกิจพลังงานมานาน สถานการณ์ในปัจจุบันอาจเทียบกับยุคตื่นทอง (goal rush) โดยเรียกว่าเป็นยุคตื่นเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel rush) มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพในปัจจุบันมีรูปแบบสอดคล้องกับลัทธิพาณิชย์นิยมในศตวรรษที่ 16[13] ที่การขยายตัวทางการค้าเกิดจากการสนับสนุนของรัฐ โดยการเปิดทางและสนับสนุนการค้าและการลงทุนในประเทศโพ้นทะเล จากนั้นกลุ่มทุนได้เดินทางไปลงทุนค้าขาย ในกรณีนี้จะเห็นได้จากการตั้งเป้ากำหนดนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพของรัฐบาลในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้กลุ่มทุนแข่งขันกันออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ แต่กรณีนี้มีความซับซ้อนกว่านั้น ในบริบทโลกาภิวัตน์ ธุรกิจเกิดขึ้นบนแกนความสัมพันธ์ระหว่างซีกโลกเหนือ-ใต้ ซีกโลกเหนือเป็นผู้ลงทุนและบริโภค ส่วนซีกโลกใต้เป็นผู้ผลิต ในซีกโลกเหนือเกิดความร่วมมือกันอย่างซับซ้อนของกลุ่มทุนระดับโลก ระหว่างกลุ่มทุนพลังงานทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ และกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเกษตร น่าสังเกตว่าจากเดิมที่ทุนพลังงานกับทุนอุตสาหกรรมเกษตรค่อนข้างแยกขาดจากกัน แต่ในเรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายหันมาจับมือกัน ในระดับรัฐ เกิดข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างรัฐในซีกโลกเหนือและใต้ เครือข่ายธุรกิจได้แผ่ลงไปในระดับประเทศและท้องถิ่น เกิดการร่วมทุนของทุนระดับชาติ และการประสานกับทุนท้องถิ่น ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดเตรียมที่ดินและแรงงาน ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้[14] - การขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในอินโดนิเชีย โดย บริษัทในอินโดนิเชีย ร่วมทุนกับ Cargill (บริษัทเอกชนระดับนำของโลก), ADM-Kuck-Wilmar alliance (อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ที่สุดในโลก),Synergy Drive, และรัฐบาลมาเลเชีย ซึ่งจะทำให้อินโดนิเชียเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่ที่สุดของโลก - การเกิด "พันธมิตรผู้ผลิตเอทานอล" หลายกลุ่ม เช่นกลุ่ม "ethanol alliance" เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกา บราซิล อเมริกากลาง; กลุ่มพันธมิตรเอทานอลของบราซิล เป็นความร่วมมือของบริษัทบราซิล กับ อินเดีย จีน โมแซมบิก และ อัฟริกาใต้; กลุ่ม Southern Cone ระหว่าง บริษัท Bunge และ Dreyfue กับ บริษัทในอาร์เจนตินา และปารากวัย จะเห็นว่าแกนความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นระหว่างประเทศซีกโลกเหนือ-ใต้เท่านั้น แต่มีลักษณะเป็น เหนือ-ใต้-ใต้ ด้วย - การเตรียมลงทุนของ Royal Dutch Shell กับ Cosan บริษัทเอทานอลรายใหญ่ของบราซิล ซึ่งจะเป็นโอกาสขยายธุรกิจครั้งใหญ่ของ Shell ส่วนฝ่าย Cosan กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และยังเป็นการเจาะตลาดพลังงานในยุโรป เพิ่มเติมจากที่มีตลาดหลักในสหรัฐอเมริกา - การร่วมมือของ Cargill กับ Monsanto ในนาม Renessen เพื่อประสานกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ กับเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรม เช่น ข้าวโพด และถั่วเหลือง ในกรณีนี้วัสดุเหลือใช้จากการผลิตอาหารสัตว์จะถูกนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งทำให้เห็นว่า การผลิตอาหารและเชื้อเพลิงชีวภาพมีแนวโน้มเคลื่อนไปด้วยกัน ในภาพกว้างกว่านั้น อาจกล่าวได้ว่าเกิดแนวทาง (trend) การร่วมธุรกิจระหว่างเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตรถยนต์ อาหาร และไบโอเทคโนโลยี ที่มุ่งลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศซีกโลกใต้ และส่งออกในตลาดระดับโลก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐในประเทศกำลังพัฒนากับบริษัทข้ามชาติ ในธุรกิจครบวงจรแบบนี้คงคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าเกษตรกรจะยิ่งไร้อำนาจต่อรองเพียงใด งานวิจัยบางชิ้นเปิดเผยให้เห็น การถักทอเครือข่ายธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพระดับนานาชาติ ผ่านมิติความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังกรณีของเมืองไมอามี ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจน้ำตาล ธุรกิจดังกล่าวทำให้ไมอามีฐานะดังที่นักสังคมศาสตร์เรียกว่า "โลกานคร" (global city) คือเป็นทั้งชุมทางข้อมูล การค้า และการลงทุน เป็นที่ตั้งของคณะกรรมการ/สถาบันกำกับดูแลเอทานอลระดับโลกหลายสถาบัน กลายเป็นแหล่งชุมนุมของวงการธุรกิจเอทานอลระดับโลก (a global biofuels assemblage) ที่นี่เราจะเห็นการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยธุรกิจจากระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับมลรัฐ จนถึงระดับท้องถิ่น เป็นที่พบกันของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สถาบันระหว่างประเทศ สถาบันนานาชาติของธุรกิจเอกชน กลุ่มธุรกิจด้านการเกษตร พลังงาน รถยนต์ และไบโอเทคโนโลยี ความสัมพันธ์นี้เชื่อมต่อกับคนจากรัฐบาลนานาประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น บราซิล สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน และอื่นๆ [15]
ที่ดินและแรงงาน ความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพส่งแรงกระเทือนไปทั้งโลก โดยเฉพาะต่อประเทศซีกโลกใต้ ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเริ่มแผนเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จะต้องใช้พื้นที่มากกว่า 500 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่การเกษตรที่ใช้อยู่เพื่อปลูกพืชป้อนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ[16] การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของความต้องการเชื้อเพลิงฯในประเทศซีกโลกเหนือ กับการขยายพื้นที่ผลิตวัตถุดิบในประเทศซีกโลกใต้ เช่นใน บราซิล อินโดนิเซีย มาเลเซีย และในอาฟริกา การแสวงหาที่ดินและแรงงานราคาถูก จากซีกโลกใต้ ป้อนผู้บริโภคในซีกโลกเหนือ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลก การเปลี่ยนที่ดินมาปลูกพืชพลังงานในบางพื้นที่ มีลักษณะคล้ายกระบวนการปิดล้อมที่ดินในยุโรป (The Enclosure) ในอดีต เพราะการขยายพื้นที่ปลูกพืชฯไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่การเกษตรที่ใช้มาก่อนเท่านั้น แต่มีการบุกเบิกพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งคือ การเปลี่ยนพื้นที่ "สาธารณะ" ซึ่งเป็นพื้นที่พึ่งพาของชุมชน ภายใต้สิทธิการถือครองตามประเพณี ในพื้นที่ป่าชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะของชุมชนประเภทต่างๆ ซึ่งตามกฎหมายสมัยใหม่มักจะไม่ให้การรับรองสิทธิการถือครองตามประเพณี จึงมีการยึดพื้นที่ "ไร้การถือครอง" เหล่านั้น ให้เป็นของรัฐ และให้สัมปทานต่อแก่บริษัทเอกชน ".. รัฐบาลในหลายประเทศนิยาม "ที่ดินไร้ประโยชน์" และจัดสรรแก่บริษัทอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ คำว่าที่ดินไร้ประโยชน์ อาจหมายถึง พื้นที่ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่รกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินห่างไกลการคมนาคม ซึ่งที่ดินเหล่านี้ที่จริงมักไม่ได้เป็นที่ไร้ประโยชน์ตามนิยาม แต่มักเป็นที่พึ่งพาดำรงชีวิตของคนจน และพื้นที่เหล่านี้ครอบครองโดยสิทธิตามประเพณีของชุมชน"[17] กรณีพื้นที่กาลิมันตันตะวันตก ประเทศอินโดนิเซีย เป็นกรณีตัวอย่างอีกแบบหนึ่ง เมื่อทางการมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จึงมีโครงการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ถือครองที่ดินทางการเกษตรในระบบกรรมสิทธิ์ตามประเพณี โดยโครงการกำหนดให้ชาวบ้านนำที่ดิน (อย่างน้อย) 7.5 เฮกตาร์เข้าร่วมโครงการ สำหรับพื้นที่ 5.5 เฮกตาร์ รัฐจะให้เป็นพื้นที่สัมปทานแก่บริษัทเอกชน ส่วนที่เหลืออีก 2 เฮกตาร์ รัฐจะออกเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตและสินเชื่อสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันแก่ชาวบ้าน[18] โครงการที่ผลักดันโดยรัฐ ร่วมกับบริษัทเอกชน ด้วยการสร้างแรงจูงใจ (หรือบางกรณีเข้าข่ายล่อลวง หรือบีบบังคับ) เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย ละตินอเมริกา และอัฟริกา สำหรับคำอธิบายว่า เหตุใดรัฐบาลประเทศเหล่านั้นจึงขานรับโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างกระตือรือร้น มาจากเหตุผลหลายประการ ข้อเท็จจริงในประเทศกำลังพัฒนาคือ ภาคเกษตรเผชิญความเสื่อมถอยของประสิทธิภาพการผลิต ความตกต่ำของราคา และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ชนบทกลายเป็นพื้นที่ผูกติดกับความยากจน รัฐบาลในประเทศเหล่านั้นไม่ต้องการทุ่มงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท ประกอบกับการแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่สนับสนุนให้ตลาดเสรีเป็นกลไกจัดการปรับเปลี่ยนอาชีพของคนชนบท เกษตรกรในชนบทต้องปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่แรงงาน และรัฐก็ตกอยู่ใต้เงื่อนไขการลดการอุดหนุนภาคเกษตร การเกิดขึ้นของโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงเป็นโอกาสใหม่ของการระดมทุนและการช่วยเหลือลงสู่ชนบท[19] เรื่องแรงงานเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ พืชพลังงานเป็นพืชที่ใช้ที่ดินมาก ให้ผลตอบแทนต่อไร่ต่ำ แต่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงแล้ว กล่าวในเชิงอุดมคติ หากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ ก็จะสร้างผลกำไรได้ดี แต่ความเป็นจริงทำเช่นนั้นได้ยาก การแปรรูปผลผลิตเป็นเชื้อเพลิงมักเป็นของทุนใหญ่ และเกษตรกรก็ตกอยู่ในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงาน ผลตอบแทนแรงงานของเกษตรกรสะท้อนให้เห็นได้จากราคาผลผลิตที่ขายได้ เมื่อมองย้อนกลับไปสู่ประสบการณ์การปลูกพืชพาณิชย์ขายโรงงาน จะเห็นว่าปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำเกิดขึ้นมานาน เมื่อเป็นเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า การขยายตัวของพืชพลังงาน ไม่มีหลักประกันว่า เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนดีขึ้น ต่างจากการปลูกพืชพาณิชย์ที่ผ่านมา กรณีต่างประเทศ โรงงานอุตสาหกรรมมีวิธีการจัดการวัตถุดิบป้อนการผลิตหลายรูปแบบ ที่ปรากฏเช่น การผลิตในแปลงขนาดใหญ่ โดยการลงทุนของโรงงาน และจ้างแรงงานเกษตรกรเข้ามาทำงานในแปลงการผลิต (plantation) อีกรูปแบบหนึ่งคือ การทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกร (contract farming) ทั้งสองรูปแบบมีการศึกษาและถกเถียงกันมานานในวงวิชาการ จากประสบการณ์ในหลายประเทศ งานวิชาการจำนวนมากยืนยันว่า รูปแบบการผลิตดังกล่าว คือการขูดรีดแรงงานเกษตรกร และให้ประโยชน์แก่เจ้าของกิจการมากกว่า[20] งานวิจัยในอเมริกาชิ้นหนึ่งเรียกการขยายตัวของพืชพลังงานว่า "ม้าโทรจัน" (Trojan Horse) ที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยตกอยู่ในการควบคุมอย่างสมบูรณ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในที่สุด ดังกรณีที่ Monsanto และ Cargill ได้ร่วมทุนกันในนาม Renessen ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดตัดแต่งพันธุ์กรรม บริษัทนี้ขายเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกร และรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เมล็ดพันธ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานเทคโนโลยีของ Monsanto เกษตรกรที่ขายผลผลิตแก่ Renessen จะได้รับสิทธิรับเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเพื่อทำการผลิตรอบต่อไป ของเสียจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ บริษัทจะขายให้เป็นอาหารสัตว์ "… Renessen ได้กลายเป็นฐานทางธุรกิจของ Monsanto และ Cargill อย่างสมบูรณ์, Renessen ตั้งราคาเมล็ดพันธุ์ , Monsanto ขายเคมีภัณฑ์แก่เกษตรกร , Renessen ตั้งราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร, และ Renessen ขายเชื้อเพลิงชีวภาพแก่ผู้บริโภค. แต่เกษตรกรรับความเสี่ยงจากการผลิตทั้งหมด"[21]
(ยังมีต่อ)
[1] นักวิชาการบางส่วนใช้คำว่า agrofuel แทนคำว่า biofuel เพื่อเน้นว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร [2] ส่วนเศรษฐกิจภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 2555. เอทานอล โอกาสและความท้าทายของนโยบายพลังงานไทย . น.2. [3] Sorda, Giovanni; Martin Banse and Claudia Kemfert. 2010. An Overview of biofuel policies across the world. Energy Policy. 38, 6977-6988. [4] Kumar, S.; P. Abdul Salam, ; Pujan Shrestha and Emmanuel Kofi Ackom. 2013. An Assessment of Thailand's Biofuel Development. Sustainability,5, 1577-1579. pp.1586. [5] Kumar, S., P. et. al 2013. pp.1579. [6] Kumar, S., P. et. al. 2013. pp.1588. [7] Quadrelli, R. and S. Peterson. 2007. The Energy –climate challenge : Recent trends in CO2 emission from fuel combustion . Energy Policy.,35, 5938-5952 cited in Kumar, S., P. et.al. 2013. pp.1588. [8] Scharlemann. J. and W.Laurance. 2008. How green are agrofuels ? Sciences. 329 (5859), 43-4. ; Fargione, J. et. al. 2008 Land clearing and argofuel carbon dept. Sciences, 319(5867) 1235-8 . cited in White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. Agrofuels capitalism : a view from political economy. The Journal of peasant Studies.Vol.37. No.4. October, 593-607. pp.595. . [9] Shattuck. A. 2009,The agrofuels Trojan Horse : biotechnology and the corporate domination of agriculture. pp.93. . In Jonasse , R. ed. Agrofuels in the Americas . A Food First Book. Oakland : Institute for Food and Development Policy. cited in White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.595. [10] Eide . A. 2008 . The right to food and impact of liquid biofuels (agrofuels). Right to Food Studies .Rome : Food and Agriculture Organization. pp.4. cited in White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.595. [11] Ernsting, A. 2007. Agrofuels in Asia : fueling poverty, conflict , deforestation and climate change. Seedling , July. 25-33. pp. 25 cited in White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.595. [12] Salvador, M. and B. Damen. 2010. BEFS Analysis for Thailand. Bio Energy and Food Security Project ; Rome : Food and Agriculture Organization. cited in Kumar, S., P. et. al 2013. pp. 1591. [13] Barros Jr., Saturnino M.; Philip McMichael and Ian Scoone. 2010. The politic of biofuels ,land and agrarian change : editors' introduction. Journal of Peasant Studies, 37 : 4, 575-592. pp.577. [14] ตัวอย่างต่อไปนี้อ้างจาก Barros Jr., Saturnino M.; Philip McMichael and Ian Scoone. 2010.pp.577-8. [15] Hollander, G. 2011. Power is sweet : sugarcane in the global ethanol assemblage. Journal of Peasant Studies, 37 : 4, 699-721. [16] Gallagher. E. 2008. The Gallagher review of the indirect effect of biofuel production . London : UK. Government , Renewable Fuels Agency. Cited in .Barros Jr., Saturnino M.; Philip McMichael and Ian Scoone. 2010. pp. 577. [17] Cotula L.; N. Dyer and S. Vermeulen. 2008. Fuelling exclusion ? The agrofuels boom and poor people's access to land . London : IIED/FAO. pp. 22-23. Cited in White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.601 [18] Sirait, M.T. 2009. Indigenous people and oil palm expansion in West Kalimantan , Indonesia. The Hague/Amsterdam : Cordaid/University of Amsterdam. Cited in White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.602. [19] White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.597-8. [20]Beckford, G. 1972. Persistence poverty : underdevelopment in the plantation economies of the Third World. New York : Oxford university; Little. P and M. Watts. 1994. Living Under contract : contract farming and agrarian transformation in sub-Saharan Africa. Madison : University of Wisconsin press. Cited in White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.603. [21]. Shattuck. A. 2009,The agrofuels Trojan Horse : biotechnology and the corporate domination of agriculture pp.93. In Jonasse , R. ed. Agrofuels in the Americas . A Food First Book. Oakland : Institute for Food and Development Policy. cited in White, Ben and Anirban Dasrupta.2010. pp.604.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
4 เครือข่ายชายแดนใต้ร้องมาเลย์ ตั้งกลไกสอบลอบสังหารระหว่างการพูดคุยสันติภาพ Posted: 01 Aug 2013 09:27 AM PDT เครือข่ายประชาชนในชายแดนใต้ยื่นจดหมายขอให้มาเลย์ ตั้งกลไกตรวจสอบและป้องกันเหตุลอบสังหารพลเรือนท่ามกลางพูดคุยสันติภาพ เผยรายชื่อ 4 กลุ่มเป้าหมายถูกลอบสังหาร เชื่อมีเจ้าหน้าที่ไทย-บีอาร์เอ็นเอี่ยวพร้อมตัวอย่าง 12 กรณี
ภาพประกอบจาก เพจ Student Voice เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ที่สถานกงสุลมาเลเซีย จ.สงขลา ตัวแทน เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ เครือข่ายครูตาดีกา เครือข่ายโต๊ะอิหม่าม และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายมูฮัมหมัดไฟซอล ราซาลี กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียเข้ามาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการลอบสังหารพลเรือนและกลุ่มผู้นำศาสนาหลายคนในพื้นที่ ที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN) ภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย จดหมายดังกล่าวระบุว่า ที่ผ่านมามีพลเรือนที่เป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมในพื้นที่ เช่น ครูตาดีกา และผู้นำศาสนา รวมไปถึงสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายหลายคนถูกลอบสังหารถี่ขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยและแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานีหรือกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ริเริ่มการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่ 28กุมภาพันธุ์ 2556 นอกจากนี้ ยังได้ยกกรณีการลอบสังหาร ได้แก่ เหตุการณ์ลอบยิงอิหม่ามอิสมาแอ ปาโอ๊ะมานิ เสียชีวิต เหตุลอบยิงนายมะรอเซะ กะยียุ เสียชีวิต และนายตอเหล็บ สะแปอิง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งทั้งคู่เป็นอดีตจำเลยและเป็นสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ และยังมีครูตาดีกาถูกลอบสังหารเสียชีวิตอีก 2 รายคือ นางสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง อายุ 24 ปี และนายมะยาฮารี อาลี (อ่านรายละเอียด) จดหมายระบุโดยสรุปว่า ด้วยประสบการณ์การรับรู้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆในอดีต เช่น เหตุการณ์ตากใบ ไอปาแยร์ ปูโละปูโย เหตุกราดยิงร้านน้ำชาในหลายๆที่ เหตุลอบยิงผู้นำศาสนา กลุ่มอดีตจำเลย และครูตาดีกา ทำให้ทั้ง 4 เครือข่ายมีความสงสัยและเคลือบแคลงใจต่อรัฐไทยและบีอาร์เอ็นในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนกรณีการลอบสังหารกลุ่มอดีตจำเลยหรือผู้ที่อยู่ระหว่างประกันตัวหลายรายทำให้เกิดข้อกังขาว่า เป็นผลมาจากการตัดสินนอกระบบหรือ"ศาลเตี้ย" จดหมายระบุอีกว่า ที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายฯ พยายามเรียกร้องต่อทางการไทยให้ตรวจสอบกรณีเหล่านี้หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจ มิหนำซ้ำยังถูกหวาดระแวงและเป็นที่จับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ทั้ง 4 เครือข่าย จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นจัดตั้งกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพลเรือนถูกลอบสังหารท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ เพื่อช่วยคลี่คลายความวิตกกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนทั่วไป เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันให้มากขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่ อันจะเป็นผลดีต่อการเจรจาดังกล่าว
เอกสารแนบ : ข้อมูลสถิติการสูญเสียของพลเรือนเนื่องจากการถูกลอบสังหารในช่วงหลังการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 กลุ่มเป้าหมายที่ 1 : จำเลยคดีความมั่นคงที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว(ประกันตัว)และจำเลยคดีความมั่นคงที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนามเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ(JOP) กรณีที่ 1 : นายมะรอเซะ กายียุ อายุ 36 ปี ถือเป็นรายแรกในช่วงการพูดคุยสันติภาพ แต่เป็นรายที่ 4 ของสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ(JOP) ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 เวลาประมาณ 09.00 น. ที่บ้านเลขที่ 34 หมู่1 ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา เสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา(ก่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 22 วัน) กรณีที่ 2 : นายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 42 ปี เป็นรายที่สองในช่วงการพูดคุยสันติภาพ แต่เป็นรายที่ห้าของสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ(JOP) ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 13.00 น. ขณะที่นายตอเหล็บ สะแปอิง กำลังขับรถจักรยานยนต์ เดินทางจากยะลา กลับไปบันนังสตา (ระหว่างปากทางเข้าหมู่บ้านนิคมกือลอ) ได้มีคนร้ายลอบยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา กลุ่มเป้าหมายที่ 2 : ครูโรงเรียนตาดีกา กรณีที่ 1 : นางสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง อายุ 24 ปี พร้อมลูกในครรภ์อายุ 7 เดือน ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2556 บนถนนสายชนบท บ้านตันหยง หมู่ 1 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ นางสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง เป็นครูสอนโรงเรียนตาดีกาบ้านบือแนสะแต หมู่ 5 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา กรณีที่ 2 : นายมะยาฮารี อาลี อายุ 40 ปี เป็นครูสอนที่โรงเรียนตาดีกาบ้านบันนังกูแว ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 06.15 น. เกิดเหตุที่บ้านบันนังกูแว หมู่ 4 ต.บังนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในขณะที่ผู้ตายกำลังเดินทางไปกรีดยาง กรณีที่ 3 : นายอาหามะ ดอเลาะ อายุ 47 ปี เป็นครูสอนที่โรงเรียนตาดีกาดารุลอามาน ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ที่หน้าบ้านเลขที่ 21/1 ม.4 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ กลุ่มเป้าหมายที่ 3 : โต๊ะอิหม่ามหรือผู้นำศาสนา กรณีที่ 1 : นายอิสมาแอ ปาโอ๊ะมานิ๊ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 ม.4 ต.กอลำ ซึ่งเป็นโต๊ะครูเจ้าของปอเนาะปูลาฆาซิง ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ กลุ่มเป้าหมายที่ 4 : พลเรือนทั่วไป กรณีที่ 1 : เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ได้เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงชาวบ้านที่นั่งอยู่ในร้านน้ำชา ในพื้นที่หมู่ 5 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 6 ศพ ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีเด็กอายุ 3 ขวบรวมอยู่ด้วย กรณีที่ 2 : นางสุฮัยนี ลงซา อายุ 37 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์เยียวยาเทศบาลตำบลกายูบอเกาะ อ.รามัน จ.ยะลา ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 เหตุเกิดบริเวณทางไปตลาดนัดบุดี ถนนสายโกตาบารู-ไม้แก่น ม. 8 อ.เมือง จ.ยะลา เสียชีวิตทันทีในที่เกิดแหตุ กรณีที่ 3 : นายมะซูดิง ดีบุ อายุ 62 ปี เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านเปาะลามะและเป็นพี่เขยของนายฮาซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพBRN ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืนเอ็ม16 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 เมื่อเวลา 19.50 น.วันที่ 28 มิถุนายน 2556 เหตุเกิดหน้าบ้านพักเลขที่ 132/1 บ้านเปาะลามะ หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ กรณีที่ 4 : เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2556 พบศพผู้เสียชีวิตสองสามีภรรยาอยู่ในท่านั่งคุกเข่าคว่ำหน้า ชื่อนายทรงชัย พรหมจันทร์ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 209/3 หมู่ 1 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกกระสุนปืนขนาด 9 มม.ยิงที่ศีรษะและใบหน้าจนพรุน และนางนิตยา ฝ่ายนารีผล อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 209/3 หมู่1 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกยิงที่ศีรษะและใบหน้าเช่นเดียวกัน บริเวณพื้นถนนพบปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม.ตกอยู่ 10 ปลอก กรณีที่ 5 : เมื่อเวลา 19.43 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2556 มีเหตุคนร้ายยิงถล่มเข้าใส่ร้านน้ำชาเลขที่ 94/7 ม.4 บ.ลูโบ๊ะดาโต๊ะ ต.ลูโบ๊ะบือซา อ.ยี่งอ พบศพผู้เสียชีวิต 2 ราย นอนเสียชีวิตอยู่บริเวณพื้นโต๊ะน้ำชา โดยถูกกระสุนปืนของคนร้ายที่ลำตัวและสีข้าง ตรวจสอบทราบชื่อคือ นายอาแว นิสายู อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44 ม.4 ต.ลูโบ๊ะบือซา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และนายต่วนมะเซ็ง โมง อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 125/2 ม.6 ต.ลูโบ๊ะบือซา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นอดีตสมาชิก อบต.ลูโบ๊ะบือซา ส่วนผู้บาดเจ็บคือ นายมามุ สะนิ อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 104/1 ม.6 ต.ลูโบ๊ะบือซา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส นอกจากนี้ ในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนสงครามอาก้าตกอยู่ จำนวน 8 ปลอก เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน กรณีที่ 6 : เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 เกิดเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการลาดตระเวนตามเส้นทาง บริเวณหน้าโรงพยาบาลจะแนะ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทางเจ้าหน้าที่รัฐสรุปว่าแรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต แต่ทางชาวบ้านทั่วไปสรุปว่าไม่ใช่มาจากแรงระเบิดแต่มาจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางนูรยาฮาน อาแว อายุ 43 ปี และนางนายีหะห์ ยีระ อายุ 38 ปี ได้รับบาดเจ็บ 1ราย คือ นายอภิชาต เบ็ญจุฬามาศ อายุ 32 ปี ทั้ง 3 เป็นครูโรงเรียนพิทักษ์วิทยากุมุง ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศาลปฏิเสธคำขอประกันสมยศเป็นครั้งที่15 เหตุผล 'เกรงว่าจะหลบหนี' Posted: 01 Aug 2013 09:12 AM PDT ภรรยาเหยื่อ112 ใช้หลักทรัพย์เฉียดห้าล้านยื่นประกัน ประกาศไม่ถอยเตรียมประกันต่อเพื่อยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐาน เจ้าตัวยืนยันไม่ผิด ไม่สารภาพและไม่ขออภัยโทษ 1 สิงหาคม 2556 เวลา10.00 น. นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการวารสาร Voice of Taksin ผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีตาม กม.อาญาฯ มาตรา112 ได้เดินทางไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อรับฟังคำสั่งศาลตามคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายสมยศ หลังจากที่นางสุกัญญาได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 โดยในคำร้องได้ให้เหตุผลถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญและตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยในการนี้นางสุกัญญาได้ยื่นหลักทรัพย์เอกสารสิทธิในที่ดินประกอบการประกันตัวมีมูลค่าเป็นตัวเงิน 4,762,000 บาท 10.30 น. ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำสั่งปฏิเสธการให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า "การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และต่อความรู้สึกของประชาชน นับเป็นเรื่องร้ายแรง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปในระหว่างอุทธรณ์ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์" หลังที่ได้รับทราบคำสั่งศาล นางสุกัญญา กล่าวว่าไม่ได้รู้สึกแปลกใจกับคำสั่งในครั้งนี้ เนื่องจากตนเองและญาติมิตรได้เคยยื่นขอประกันตัวนายสมยศมารวมแล้วถึง15ครั้ง ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธโดยให้เหตุผลในลักษณะเดียวกันนี้มาโดยเธอกล่าวต่อว่าแม้ว่าในการประกันแต่ละครั้งจะมีความยากลำบากในการจัดเตรียมเอกสาร แต่ก็จะขอยื่นประกันนายสมยศต่อไปเรื่อยๆประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง และแม้จะไม่มีความหวังในการได้ประกันตัว แต่อย่างน้อยก็ยังถือว่าเป็นการยืนยันว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เมื่อสอบถามว่านายสมยศได้ทราบข่าวแล้วหรือไม่และจะยอมรับสารภาพหรือไม่นั้น นางสุกัญญาได้เล่าว่า นายสมยศไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และได้ยืนยันจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และหากต้องถวายฎีกาเพื่อขออภัยโทษก็จำเป็นที่จะต้องยอมรับสารภาพว่ามีความผิดและให้เหตุผลเพื่อขอความเมตตา รวมถึงจะต้องให้คำสัตย์ว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ซึ่งนายสมยศเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ถูกต้องจึงไม่สามารถที่จะกระทำได้ อนึ่งนั้น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข (52ปี) นักสหภาพแรงงาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีตาม กม.อาญาฯ มาตรา112 ในฐานะบรรณาธิการวารสาร Voice of Taksin มาเป็นเวลา 2 ปี 3เดือน โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำคุกนายสมยศเป็นเวลา 10 ปี เมื่อผนวกกับคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ในระหว่างรอลงอาญาทำให้สมยศต้องโทษจำคุกนานถึง11ปี ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
‘วิกฤติศาสนาหรือศรัทธาที่เปลี่ยนไป’ แลกมุมมองต่อ ‘พุทธศาสนา’ ในปัจจุบัน Posted: 01 Aug 2013 08:55 AM PDT เสวนา 'วิกฤติศาสนาหรือศรัทธาที่เปลี่ยนไป' ร่วมตอบคำถามของคนรุ่นใหม่ถึงความหมายของศาสนาในปัจจุบัน เมื่อสื่อเปิด โลกก็เปลี่ยน หรือการเข้าใจศาสนาอย่างถ่องแท้ไม่เคยมีอยู่ วันนี้ (1 ส.ค.56) ฟรีดอมโซน ร่วมกับสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดงานเสวนา "วิกฤติศาสนาหรือศรัทธาที่เปลี่ยนไป" เพื่อตอบคำถามของคนรุ่นใหม่ถึงความหมายของศาสนาในปัจจุบัน พร้อมทั้งบันทึกเทปรายการ "ร่วมทุกข์ร่วมสุข" เผยแพร่ออกอากาศทางทีวีเคเบิลท้องถิ่น โดยมีการร่วมพูดคุยของนางสาวกาญจนา คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายวิทยากรโสวัตร นักเขียน/นักอ่าน ร้านหนังสือฟิลาเดเฟีย นางสาวขนิษฐา หาระสาร นักผลิตสื่อรุ่นใหม่ และนายเจนณรงค์ วงษ์จิตร เยาวชนกลุ่มแว่นขยาย ดำเนินรายการโดย นายกมล หอมกลิ่น สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี นางสาวกาญจนา คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวว่า การที่เด็กรุ่นใหม่รู้จักตั้งคำถามเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม คนรุ่นใหม่รู้จักใช่สื่อออนไลน์มาก บางครั้งการเข้ารับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อาจดึงคนรุ่นใหม่ให้หลุดออกจากคำสอนของศาสนา การเรียนรู้แนวคิดทางศาสนาเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิต การปฏิบัติศาสนกิจควรพิจารณาให้เข้มข้น ซึ่งจะกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันว่าจำนวนมากหรือน้อยเท่าใดที่เข้าถึงแก่นธรรมคงไม่สามารถตัดสินได้ เพราะศาสนาไม่จำเป็นต้องเข้าสถานปฏิบัติธรรม การเข้าใจศาสนาเข้าใจชีวิตโดยที่ไม่ปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ต้องคิด ยุคข้อมูลข่าวสาร รูปแบบข้อมูลข่าวสาร ในสังคมที่เราคาดหวังว่าต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ และที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของศาสนาที่มืดบอด แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสให้สังคมได้เรียนรู้ โลกเปลี่ยนไปทำให้เราได้ค้นหาตัวเอง ทำให้บอกได้ว่า การดำเนินทางสายกลางโดยที่เราจะต้องเอาตัวเองเป็นตัววัด ที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และสายกลางของแต่ละบุคคลก็กลางไม่เท่ากัน อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ กล่าวด้วยว่า เราต้องรู้และอยู่กับตัวเอง ต้องเอาทุกอย่างไปปรับใช้ในชีวิต รู้และอยู่กับตัวเองในสิ่งที่มองเห็น เมื่อรู้และเข้าใจแล้วจะกลายเป็นปัญญา เราต้องคิดและยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคมเรา นายเจนณรงค์ วงษ์จิตร เยาวชนกลุ่มแว่นขยาย กล่าวว่า เรื่องการกระทำอันไม่เหมาะสมของพระสงฆ์หรือผู้ที่เป็นนักบวชของศาสนาพุทธนั้น แม้ทุกศาสนาสอนให้คนในสังคมเป็นคนดี แต่กรณีที่เกิดขึ้นและสะท้อนได้ เช่น กรณีพระสงฆ์จับสุนัขโยน เป็นการใช้ความรุนแรงที่ผิดแปลกวิสัยนักบวช ทำให้เห็นถึงจิตใจที่ไม่ดีงามของพระสงฆ์ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวได้ได้ลึกซึ้งกับคำสั่งสอนของพุทธศาสนามาก เข้าใจทั่วไปว่าคำสอนของศาสนาพุทธเน้นให้คนที่นับถือปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม พระสงฆ์หรือนักบวชควรอยู่ในส่วนศาสนาสถานหรือพื้นที่สำหรับพระและนักบวช หน้าที่สำคัญคือการศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถ่องแท้ นายเจนณรงค์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพยายามค้นหาการใช้ชีวิตตามหลักศาสนาอื่นมากกว่าศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งศาสนาพุทธโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเห็นข้อดีของแต่ละศาสนาว่ามีส่วนที่จะนำมาปรับใช้ในชีวิตได้ และเชื่อว่ามนุษย์มีความศรัทธาที่แตกต่าง เพราะธรรมชาติที่มนุษย์เกิดความกลัวทำให้ศาสนาและความเชื่อเกิดขึ้นในสังคม และคนที่ไม่มีศาสนาในสังคมก็มีน้อย อยากให้ปรับหลักการจากแต่ละศาสนามาปรับใช้ให้ได้ในชีวิต ด้านนายวิทยากร โสวัตร นักเขียนและผู้ดูแลร้านหนังสือฟิลาเดเฟีย อุบลราชธานี กล่าวว่า ถ้าเริ่มจากข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ คนบางกลุ่มที่มีความศรัทธาพระสงฆ์มาก เมื่อไม่ได้ตามที่ตนวาดหวังว่าพระต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็กลายเป็นไปตำหนิพระสงฆ์แทน อารมณ์ที่เราตามวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรองเป็นการกระทำที่เลวร้ายต่อศาสนา มองภาพในสังคมอีสานที่มีท่าทีการนับถือผีมากกว่าศาสนาพุทธ ย่อมไม่แปลกที่มีคนไม่นับถือศาสนาพุทธ การบอกว่าไม่ศรัทธาในศาสนานั้น ต้องถามว่าเราได้อ่านและเข้าใจถึงหลักแก่นแท้ทางศาสนาแล้วหรือยัง การกล่าวถึงองค์กรสงฆ์กับพุทธศาสนานั้น อย่าเอามาวิเคราะห์ให้สับสน ถ้าไม่เข้าใจอย่างแท้จริงเมื่อมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นในสังคมก็อธิบายแบบไม่เข้าใจ ส่วนสถานปฏิบัติธรรมหรือวัดจะเป็นทีพึ่งได้ไหมในกระแสสังคมปัจจุบัน เป็นคำถามที่ยั่วยวนให้เกิดโทสะ ยั่วยวนให้เกิดความขัดแย้ง การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางศาสนานั้นไม่ยาก เพระเรามีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาอะไรก็ได้ เราสามารถเลือกที่จะศึกษาให้ถึงแก่นแท้ของคำสอน และต้องถามตัวเองว่าเราเข้าถึงหลักธรรมคำสอนมาปรับใช้ในชีวิตอย่างไร ขณะที่นางสาวขนิษฐา สาระหาญ คนผลิตสื่อรุ่นใหม่ และนักเรียนห้องเรียนพลเมืองรุ่นใหม่ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่มีความชอบในการผลิตสื่อ และช่วงระยะเวลานี้ไม่ชอบติดตามข้อมูลทางโทรทัศน์ เลือกการรับข้อมูลจากสื่อออนไลน์มากกว่า เพราะทำให้รู้สึกว่าดีกว่า แต่ต้องใช้การดูข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งในสังคมออนไลน์นั้นมีข้อมูลที่รวดเร็ว ยุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยสังคมออนไลน์ ถ้าเสพสื่อโดยที่ไม่พิจารณาให้ดี อาจทำให้เราได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และถ้าอยู่กับสื่อมากจะทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารมาก รวมถึงข้อมูลทั้งบวกและลบเกี่ยวกับศาสนา นางสาวขนิษฐา กล่าวต่อมาว่า คนรุ่นใหม่ปัจจุบันมีความเชื่อมั่นเป็นตัวของตัวเองสูง เป็นช่วงที่สับสนในชีวิต และบางครั้งจะไม่เชื่ออะไรเลย การทำบุญตักบาตรกับครอบครัวตอนเช้าในอดีตเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งมองว่ามันเสมือนเป็นเพียงหน้าที่ที่ต้องทำ ขณะนี้ก็ตั้งคำถามว่าทำไม่ต้องทำเช่นนั้น ปัจจุบันเลือกที่จะศึกษาตำราเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ไม่ได้เขียนหรือเรียบเรียงโดยพระหรือนักบวช เนื่องจากอ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงหันมาหาตำราที่เกี่ยวกับศาสนาที่แต่งโดยคนทั่วไปมากกว่า คนรุ่นใหม่ยุคนี้อย่าคิดว่าพุทธศาสนาจะต้องเป็นเรื่องที่วัดเพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาให้กว้างขึ้นกว่านั้น ค้นหาความเชื่อหรือความศรัทธา แล้วจะพบว่าอยู่ในตัวเราเอง เราเองที่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรเหมาะสม และจะดำเนินชีวิตได้ลงตัว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23 - 29 ก.ค. 2556 Posted: 01 Aug 2013 08:44 AM PDT "ร.ต.อ.เฉลิม" ย้ำกรมการจัดหางานเร่งหางานให้ผู้มาใช้บริการภายใน 30 วัน
เล็งยื่น กก.สิทธิ-ผู้ตรวจ ล้มร่างแก้ไข กม.ประกันสังคม
สิงห์รถบรรทุก ขาดแคลนหนัก 1.4 แสนคน
เปิดตัว "ริชเชอร์ จ็อบ แอดส์" เครื่องมือหางานสำหรับนายจ้าง-ลูกจ้าง
ระวังหลงกลนายหน้าจัดหางานเถื่อน อ้างงานก่อสร้างรายได้ดีในมาเลเซีย
จัดหางานนครปฐมรับสมัครคัดเลือกคนงานไปภาคเกษตรในอิสราเอล-ญี่ปุ่น
สั่งประเมินลูกจ้างชั่วคราวเป็น พนักงาน สธ.ลั่นไม่ผ่านอาจเลิกจ้าง
เตือนแก๊งนายหน้าเถื่อนต้มคนไทยทำงานญี่ปุ่น
บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เตรียมบุก สปสช. ถกเหลื่อมล้ำกองทุนสุขภาพ
แรงงานนอกระบบพึ่งศาลปกครองฟ้อง"นายกฯปู-กิตติรัตน์-ผอ.สศค."ละเลยหน้าที่
กสร.จวก นายจ้าง ไม่แจ้งเหตุระเบิดทำลูกจ้างดับ
สปส.ตั้งคณะทำงานศึกษาให้สิทธิรักษา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แฉอีก โปรแกรม XKeyscore ช่วย จนท.สหรัฐฯ สืบค้นได้แทบทุกอย่าง Posted: 01 Aug 2013 08:06 AM PDT เดอะ การ์เดียน แฉข้อมูลล่าสุดจากสโนวเดน เรื่องโปรแกรม XKeyscore ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลสามารถสืบค้นข้อมูล "กิจกรรมแทบทุกอย่างที่ผู้ใช้งานกระทำในอินเทอร์เน็ต" ตั้งแต่อีเมล, การแชท, การใช้คำค้นหาในเว็บต่างๆ และเลขไอพีของผู้เข้าชมเว็บ
เอกสารล่าสุดนี้มาจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเอกสารการฝึกอบรมของ NSA ที่ระบุว่ามีความสามารถในการสอดแนมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ในวงกว้าง เอกสารการฝึกอบรมการใช้ XKeyscore ระบุถึงรายละเอียดการใช้งานว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้โปรแกรมนี้ร่วมกับระบบอื่นๆ ในการดักจับข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของบุคคลได้ทันทีความเวลาจริง (real-time) โดยข้อมูลต่างๆ รวมถึงอีเมล, ประวัติการเข้าเว็บ, การใช้คำค้นหา รวมถึงนิยามข้อมูล (metadata) ของบุคคลนั้นๆ ได้ โดยตามกฎหมายการสืบราชการลับต่างประเทศ (FISA) ปี 1978 ของสหรัฐฯ แล้ว NSA ต้องขอหมายค้นหากเป้าหมายเป็นพลเมืองสหรัฐฯ หรือบุคคลที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนกรณีการสื่อสารระหว่างชาวสหรัฐฯ กับคนต่างชาติไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น แต่โปรแกรม XKeyscore มีความสามารถในการสอดแนมได้แม้กระทั่งชาวสหรัฐฯ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ข้อมูลจากภาพสไลด์ของเอกสารแสดงให้เห็นว่า XKeyscore สามารถให้เจ้าหน้าที่ค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่ถูกดักไว้โดยค้นจากหมายเลขโทรศัพท์มือถือ, หมายเลขไอพี หรือคำสำคัญได้ เอกสารของ NSA ยังมีการกล่าวอ้างอีกว่าจนถึงปี 2008 พวกเขาสามารถใช้ข้อมูลจาก XKeyscore จับกุมผู้ก่อการร้ายได้ 300 ราย ในภาพสไลด์ของเอกสารในเดือน ธ.ค. 2012 ได้บรรยายถึงข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้โดยเจ้าหน้าที่เช่น บัญชีรายชื่ออีเมลทุกบัญชีที่ถูกดักข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นชื่อผู้ใช้หรือชื่อโดเมน หมายเลขโทรศัพท์ทุกหมายเลขที่ถูกดัก รวมถึงกิจกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ตั้งแต่เว็บเมล การสนทนา รวมถึงรายชื่อผู้ใช้ รายชื่อเพื่อน และคุกกี้ (ข้อมูลขนาดเล็กซึ่งถูกเก็บไว้ที่โปรแกรมท่องเว็บ เช่น ข้อมูลการเข้าถึงเว็บไซต์ หรือข้อมูลส่วนตัวของเราลงทะเบียนกับเว็บไซต์ต่างๆ) ภาพสไลด์ที่เดอะ การ์เดียน นำมาเผยแพร่ยังแสดงให้เห็นตัวอย่างการพยายามสาธิตวิธีการให้เจ้าหน้าที่ค้นหาผ่านข้อมูลการสนทนาทางเฟซบุ๊ก การแยะแยกข้อมูลว่าบุคคลผู้หนึ่งมีกิจกรรมค้นหาข้อมูลเช่นไรบ้าง เช่น การที่ผู้ใช้ค้นหาคำว่า "Musharraf" ผ่านเว็บไซต์ BBC เดอะ การ์เดียนกล่าวอีกว่า โปรแกรม XKeyscore ทำให้เจ้าหน้าที่นักวิเคราะห์ข้อมูลสามารถทราบถึงเลขที่อยู่ไอพีของทุกคนที่เข้าถึงเว็บไซต์หนึ่งๆ ได้ เช่น การที่เจ้าหน้าที่สามารถค้นหาว่ามีบุคคล (หมายเลขไอพี) ใดบ้างในประเทศสวีเดนที่เข้าสู่เว็บบอร์ดเสวนาของกลุ่มหัวรุนแรง
XKeyscore: NSA tool collects 'nearly everything a user does on the internet', The Guardian, 31-07-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ แสดงจุดยืนต้องเอาผิดทหาร เร่งนิรโทษกรรม พร้อมเยียวยา Posted: 01 Aug 2013 07:59 AM PDT กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย แจงไม่ได้หนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใดโดยเฉพาะ แสดงจุดยืนต้องเอาผิดทหารทุกระดับ หนุนทุกฝ่ายที่ส่วนร่วมในกมธ.ร่าง หนุนนิรโทษกรรมโดยเร็ว พร้อมเยียวยาความเสียหาย
(1 ส.ค. 56) กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำกิจกรรมด้านการเมืองและสังคม ได้เดินทางมายังรัฐสภา ในเวลาประมาณ 11.00 น. เพื่อยื่นหนังสือแสดงจุดยืนเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและการแก้ไขความขัดแย้งอันเนื่องมาจากเหตุความรุนแรงทางการเมือง โดยสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่สวมชุดนักโทษ สร้างความสนใจให้กับสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐสภาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งและความรุนแรงดังกล่าว การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำผิดเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วน โดยไม่รวมไปถึงระดับแกนนำหรือต้นเหตุของความรุนแรงเนื่องจากผู้ที่ตกเป็นผู้กระทำผิดนั้นล้วนเป็นเพียงผู้ร่วมเรียกร้องที่กระทำผ่านการชี้นำของฝ่ายแกนนำเท่านั้น ไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาการ ทำให้การกระทำความผิดของบุคคลเหล่านี้ ล้วนทำไปด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งในสถานการณ์ปกติ หากไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง บุคคลเหล่านี้ก็ย่อมจะไม่ออกมากระทำการต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏ การนิรโทษกรรมก็เปรียบเสมือนยาที่ช่วยบรรเทาความล้มเหลวจากกระบวนการยุติธรรม เพราะขณะที่ประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดี พวกเขากลับไม่สามารถได้รับสิทธิสำคัญในกระบวนการยุติธรรม เช่น สิทธิการประกันตัว อีกทั้งยังถูกละเมิดสิทธิทางร่างกาย เช่น ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกซ้อมทรมานในเรือนจำ จากผู้ต้องขังคนอื่นที่มีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน 1. ไม่นิรโทษกรรมทหารในระดับผู้สั่งการและผู้นำฝ่ายพลเรือน เพราะว่ามีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือโดยรวมเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย รวมถึงทหารในระดับปฏิบัติการที่กระทำการเกินกว่าเหตุหรือปฏิบัติตามคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา 2. สนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเสนอร่างกฎหมายการนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการโดยตรงเพื่อถกเถียงในขั้นตอนของการออกกฎหมาย และอนุญาตให้ประชาชนรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมของคณะกรรมาธิการได้ 3. สนับสนุนให้การนิรโทษกรรมดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด ในเมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าบุคคลใดไม่สมควรจะได้รับโทษ บุคคลนั้นก็สมควรที่จะพ้นจากสภาพนักโทษอย่างรวดเร็วที่สุด ความล่าช้าของกระบวนการนิรโทษกรรมย่อมหมายความว่าบุคคลที่ได้รับโทษจะต้องสูญเสียโอกาสในการใช้เสรีภาพ โอกาสในการทำมาหากิน และโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการที่จำเป็น และ 4.ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะการที่บุคคลหนึ่งได้รับโทษนั้นจะต้องเกิดความสูญเสียแก่โอกาสและทุนที่ได้สั่งสมมา นอกจากนี้ยังต้องสูญเสียอิสรภาพและทางทำมาหากินที่ย่อมส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะต่อผู้ได้รับการนิรโทษกรรมเท่านั้นแต่ยังรวมถึงครอบครัวพวกเขาเหล่านั้น ดังนั้นการนิรโทษกรรมอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ รัฐจะต้องมีมาตรการเพื่อเยียวยาแก่ความเสียหายเหล่านั้นอย่างเหมาะสม จากนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้เดินทางมารับหนังสือแสดงจุดยืนด้วยตัวเอง จากโฆษกของกลุ่มฯ และยังได้ร่วมพูดคุยกับสมาชิกกลุ่มฯ อย่างเป็นกันเองอีกด้วย ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมที่อาคารรัฐสภาแล้ว ในช่วงบ่ายเป็นต้นไป กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีประชาธิปไตยได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มที่หนึ่ง ไปทำกิจกรรมที่ Sky Walkสถานีบีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแจกเอกสารเรื่องการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่สัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าว ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดย นายปณิธาน พฤษภาเกษมสุข บุตรชายของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ผู้ต้องขังคดี 112 เดินทางไปยื่นหนังสือและร่วมพูดคุยกับนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่อาคารรัฐประศาสน์ภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 01 Aug 2013 07:54 AM PDT อัตราว่างงานในยูโรโซนเพิ่มขึ้นแตะ 12.1% 1 ก.ค. 56 - สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท เปิดเผยว่า อัตราว่างงานของกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.1% แตะ 12.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จาก 12.0% ในเดือน เม.ย.ทั้งนี้ยูโรโซนมีจำนวนผู้ว่างงาน 19.22 ล้านคนในเดือน พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้น 67,000 คนจากเดือนก่อนหน้า ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ มีอัตราว่างงานที่ 10.9% ในเดือนพ.ค. ทรงตัวจากเดือนเม.ย. โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 26.40 ล้านคน หนุ่มสาวยุโรปว่างงานสูง-แนะเยอรมนีเป็นแบบแก้ 2 ก.ค. 56 - เอเอฟพีรายงานจากกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีว่า นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่สื่อหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับ ก่อนเข้าร่วมประชุมผู้นำรัฐบาลและประเทศต่างๆ ของยุโรป 20 ประเทศ ว่าด้วยปัญหาวิกฤตการณ์ว่างงานในหมู่เยาวชนของชาติยุโรปในวันรุ่งขึ้น นางแมร์เคิลกล่าวว่า หนุ่มสาววัยต่ำว่า 25 ปี ในกลุ่มประเทศยุโรปนั้น หลายๆ ประเทศมีจำนวนมากเกินไป และยิ่งมีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจมาซ้ำเติม ก็ยิ่งไปกันใหญ่ อย่างเช่น ที่กรีซ สเปน และอีกบางประเทศนั้น คนหนุ่มสาวรุ่นนี้ ถึงกับว่างงานสูงเกินกว่าครึ่งของประชากรวัยเดียวกัน จนกลายเป็นคนรุ่นเคว้งคว้าง หมดคุณค่า หรือ "ลอสต์เจเนอเรชั่น" นางแมร์เคิลกล่าวด้วยว่า ปัญหาว่างงานของคนหนุ่มสาวในยุโรป ที่มีมากถึง 6 ล้านคน เป็นเรื่องที่ไปไม่ได้กับโครงสร้างประชากรที่เต็มไปด้วยคนชราของยุโรป ไม่เหมือนกรณีของเยอรมนี ที่คนรุ่นนี้ยังว่างงานอยู่เพียงแค่ 7.6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรวัยเดียวกัน เพราะระบบการศึกษาที่ให้นักเรียนนักศึกษา "ฝึกและทดลองงาน" ไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เอาแต่เรียนโดยไม่คำนึงถึงฝีมืองานช่างหรือความชำนาญงาน "เป็นบทเรียนที่เราชาวเยอรมนีได้จากการปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาและการทดลองงานจริง เพื่อลดปัญหาว่างงานหลังการรวมประเทศใหม่ๆ และเป็นประสบการณ์ความรู้จริงที่เราพร้อมแบ่งปัน "นางแมร์เคิลกล่าว หลังตำหนิด้วยว่า กลุ่มชนชั้นนำด้านเศรษฐกิจ-ธุรกิจ แทบจะไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบรรเทาปัญหานี้แต่อย่างใด และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่กลุ่มคนที่ได้รับผลจากความแปรเปลี่ยนหลงทิศผิดทางในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด กลับเป็นคนรุ่นหนุ่มสาว หรือคนยากไร้ ที่ไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดปัญหาวิกฤตในระบบ ฟิลิปปินส์คุมเข้มแรงงานหญิงถูกบังคับค้าประเวณี 2 ก.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ว่า นิคอน ฟาเมอโรแนก โฆษกกระทรวงแรงงานฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่แรงงานหญิงประจำตะวันออกกลาง ท่ามกลางการสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่า มีเจ้าหน้าที่ทูตฟิลิปปินส์บางกลุ่ม ให้อำนาจหน้าที่บังคับแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ยากลำบากในตะวันออกกลาง ค้าประเวณี โดยเจ้าหน้าที่ผู้หญิงทั้งหมด 13 คน จะถูกส่งตัวไปยังซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน คูเวต และมาเลเซียด้วย ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปัจจุบันที่สถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศเหล่านี้ เจ้าหน้าที่หญิงเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือแรงงานชาวฟิลิปปินส์ ที่เข้าไปขออาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวของสถานทูต เพื่อหลบหนีการถูกล่วงละเมิดจากนายจ้าง การตัดสินใจส่งผู้หญิงเข้าไปดูแลปัญหานี้ เพราะมีแรงงานหญิงจำนวนมากกว่าผู้ชายที่เข้าไปหลบอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้หญิงด้วยกันทำงานได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ชาย การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หญิงถูกประกาศท่ามกลางการสอบสวนของกระทรวงต่างประเทศ กรณีมีข้อกล่าวหาว่า มีเจ้าหน้าที่ทูตอย่างน้อย 2 คน บังคับให้ผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์ที่พักอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว ขายบริการทางเพศให้กับพวกเขา หรือให้กับชายคนอื่น ๆ โดยการสอบสวนเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากมีสมาชิกรัฐสภาได้แจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศว่า เขาได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้จากผู้หญิงบางคน ที่เคยพักอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราว เวียดนาม-ลาว ยังเดินหน้าร่วมมือด้านแรงงาน และสวัสดิการมากขึ้น 2 ก.ค. 56 - ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีแรงงานและสวัสดิการของเวียดนาม-ลาว ครั้งที่ 3 ที่ เมืองเว้ของเวียดนาม นายเหวียน ซวนฟุก รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่า เวียดนามและลาวควรพัฒนาระดับความร่วมมือด้านแรงงาน และสวัสดิการสังคม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสังคม และเศรษฐกิจของสองประเทศให้มากขึ้น หลังการประชุม สองประเทศตกลงจะปฎิบัติตามข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานระดับทวิภาคี โดยทางกระทรวงจะแบ่งปันประสบการณ์ และความร่วมมือด้านแรงงาน และการจ้างงานต่อกัน นอกจากนี้ สองประเทศสัญญาที่จะร่วมมือกับหน่วยงานของ 2 ฝ่ายให้ใกล้ชิดมากขึ้นในการค้นหา และรวบรวมศพที่ยังหาไม่พบของทหารอาสาสมัครเวียดนาม-ลาวที่เสียชีวิตในดินแดนของตัวเองช่วงเกิดสงคราม ทั้งนี้การประชุมครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่ประเทศลาว ปี2558 ซาอุฯ ต่อลมหายใจแรงงานต่างด้าว 3 ก.ค. 56 - สำนักข่าวซาอุดี เพรส ของทางการซาอุดีอาระเบีย รายงานเมื่อวันอังคารว่า กษัตริย์อับดุลลาห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย ขยายเวลาการนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติ เพื่อให้ได้รับสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในการทำงานในประเทศ จนถึงสิ้นปีอิสลาม คือวันที่ 3 พ.ย.นี้ จากกำหนดเส้นตายเดิมวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยเมื่อต้นปี ซาอุดีอาระเบีย ได้เริ่มกวาดล้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ที่ละเมิดเงื่อนไขหนังสือเข้าเมือง ด้วยการตรวจสอบเข้มทั้งบนถนนและในสำนักงานบริษัทต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ มีแรงงานต่างชาตินับหมื่นคนถูกเนรเทศ หรือตัดสินใจเดินทางออกจากซาอุฯ ภายใต้ความกดดันดังกล่าว ซึ่งได้เพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศ หากรัฐบาลยังคงเนรเทศต่อไป เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงประกาศการนิรโทษกรรม ซึ่งระหว่างนี้ แรงงานต่างด้าวจะไม่เสียค่าธรรมเนียม หรือค่าปรับสำหรับการละเมิดวีซ่า เช่นพักอยู่ในประเทศเกินกำหนด หรือเปลี่ยนงาน กองกำลังรักษาความมั่นคงจะเริ่มกวาดล้างแรงงานเถื่อนอีกครั้งในช่วงสิ้นปีอิสลาม ค่าแรงเอเชียพุ่งฉุดกำไรหด ไนกี้จ่อลดแรงงาน-ดึงเทคโนโลยีเสริม 3 ก.ค. 56 - ไนกี้เตรียมลดคนงานในโรงงานผลิตรองเท้าและเสื้อผ้าแถบภูมิภาคเอเชียลง เพื่อรับมือกับปัญหาค่าแรงที่กำลังพุ่งสูงขึ้น โดยคาดหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถรักษาผลกำไรของบริษัทไว้ได้หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า "ดอน แบลร์" ซีเอฟโอ ไนกี้ อิงค์ ออกมาระบุว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซียเป็นผลกระทบสำคัญทำให้บริษัทต้องออกมาตรการลดปริมาณคนในโรงงาน ขณะนี้ไนกี้ และบริษัทข้ามชาติรายอื่นต่างเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากค่าแรงในประเทศจีนที่ปรับสูงขึ้น "แบลร์" กล่าวว่า ทางออกของปัญหาในระยะยาว คือการหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่จะเพิ่มขึ้นจากการจ้างแรงงาน "แบลร์" ชี้ด้วยว่า รองเท้าวิ่งไนกี้รุ่น "Flyknit" ที่ออกแบบมาเพื่อนักกีฬาระดับมืออาชีพ ได้ใช้เทคโนโลยีการปักเย็บด้วยเส้นด้ายโดยใช้เครื่องจักร รวมถึงการใช้เทคนิคการพิมพ์แบบ 3D เข้ามาช่วยในการผลิต การลดจำนวนคนงานในโรงงานยังช่วยให้ไนกี้ลดคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน ที่มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องจากการประท้วงที่เรียกว่า "anti-sweatshop campaigns" โดยเริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เดือนมกราคมที่แล้ว กลุ่มผู้เคลื่อนไหวได้ออกมาเรียกร้องโรงงานผู้ผลิตสินค้าให้ไนกี้ในอินโดนีเซีย เรื่องการยกเว้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของบริษัท ซึ่งไนกี้เองภายหลังจากใช้เวลาตรวจสอบปัญหาดังกล่าวก็ได้ออกมา เปิดเผยว่า เป็นสิทธิ์ที่โรงงานสามารถทำได้ตามข้อตกลงในสัญญา อย่างไรก็ตาม เมื่อไนกี้ได้รายงานถึงผลประกอบการช่วงไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าต้นทุนค่าแรงที่เกิดขึ้นได้ทำให้กำไรลดลง แม้จะสามารถทำกำไรได้มากกว่าปีที่แล้วจากการขึ้นราคาสินค้า ต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลง และการปรับลดภาษี การที่กระบวนการผลิตสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเสื้อผ้ายังคงต้องการใช้แรงงานเป็นหลัก มากกว่าสินค้าประเภทอื่น ๆ ซึ่งอธิบายว่าทำไม 98-99% ของสินค้าที่คนอเมริกันสวมใส่แบรนด์นี้จะถูกผลิตขึ้นในตลาดที่เกิดใหม่แทบทั้งสิ้น สืบเนื่องมาจากค่าแรงที่ต่ำอยู่นั่นเองโดยประเทศที่ไนกี้ใช้เป็นฐานผลิตหลัก ได้แก่ เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ด้านกำไรของไนกี้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม เติบโตขึ้น22% หรือคิดเป็นมูลค่า 668 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยอดขายรวมเติบโต 7% หรือ 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เหนือกว่าความคาดหมายถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐและบริษัทยังคงให้น้ำหนักกับการเป็นสปอนเซอร์ชิปกับนักกีฬาคนดัง เพื่อที่จะกระตุ้นยอดขายสินค้าต่อไป แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไนกี้ต้องประสบปัญหาอย่างไม่คาดคิดกับรายการแข่งขันเทนนิส วิมเบิลดัน เมื่อโรเจอร์เฟเดอเรอร์ ที่บริษัทเป็นสปอนเซอร์ โดนเตือนว่าละเมิดกฎการแต่งตัว จากการใช้รองเท้าเทนนิสพื้นส้ม จากกฎที่อนุญาตให้สวมใส่เครื่องแต่งกายทุกอย่างเฉพาะสีขาวเท่านั้น ส่วนยอดขายของไนกี้ในไตรมาสที่ผ่านมา แม้ว่าจะเติบโตขึ้นในตลาดสหรัฐและตลาดเกิดใหม่บางที่ แต่กลับพบว่าไม่ค่อยมีการเติบโตมากนักในจีน และตกต่ำลงในญี่ปุ่นกับยุโรปตะวันตก ในจีนไนกี้จำเป็นต้องจัดการกับปริมาณสินค้าคลังคงเหลือที่อยู่ในตลาดจำนวนมาก และคุณภาพของสินค้ากับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ขณะที่ "มาร์ค พาร์คเกอร์" ซีอีโอไนกี้ อิงค์ กล่าวว่า "การที่จะกลับมาเติบโตในตลาดจีนได้นั้น ต้องอาศัยความมีวินัยและความอดทน เพราะเรากำลังอยู่ในการแข่งขันวิ่งแบบมาราธอนไม่ใช่การแข่งวิ่งระยะสั้น" นอกจากนี้ ไนกี้ยังได้ปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา โดยประกาศการโยกย้ายรวมถึงการเกษียณอายุของ "ชาร์ลี เดนสัน" ประธานบริษัทของแบรนด์ไนกี้ โรงงานตัดเย็บผ้าอินเดียถล่มดับ 1 เจ็บ 15 4 ก.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในวันนี้ (4 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นของอินเดีย กล่าวถึง อุบัติเหตุอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น เกิดถล่มกะทันหันในย่าน Thane ใกล้กับนครมุมไบ ประเทศอินเดีย ส่งผลกระทบความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งยังทำให้มีเหยื่อเคราะห์ร้าย เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส อีก 15 คน เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาคารดังกล่าวเป็นโรงงานตัดเย็บผ้า ซึ่งตัวอาคารนั้นอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเก่าและทรุดโทรมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ทั้งนี้ พยานซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า ย่านดังกล่าวมักมีการก่อสร้างอาคารที่ผิดกฎหมาย ซึ่งล่าสุด กลุ่มนายทุน ยังประกาศจะมีการก่อสร้างต่อเติมเพิ่มอีก 1 ชั้น เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ไม่คำนึงว่าตัวอาคารมีสภาพเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กู้ภัย ได้ลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงแล้ว สายการบินโลว์คอสต์ในอินเดียงดจ้างสจ๊วด เหตุพนักงานหญิงน้ำหนักเบากว่าทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิง 5 ก.ค. 56 - ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคข้าวยากหมากแพงนั้น ทุกบริษัทต่างพยายามเสาะหาวิธีลดรายจ่ายเพื่อความอยู่รอดกันถ้วนหน้า ล่าสุดการรัดเข็มขัดยังลามไปยังธุรกิจสายการบินภายหลังสายการบิน "โก แอร์" ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในอินเดีย ประกาศจ้างเฉพาะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน "หญิง" เท่านั้น โดยอ้างว่าเป็นไปตามนโยบายลดต้นทุนทางด้านเชื้อเพลิงนั่นเอง ทั้งนี้ เพราะพนักงานหญิงนั้นมีน้ำหนักเบากว่าพนักงานชายราว 14-19 กิโลกรัม ดังนั้นทางสายการบินจึงสามารถประหยัดรายจ่ายได้สูงถึง 3.3 แสนปอนด์ (ราว 16 ล้านบาท) ต่อปี "การอ่อนค่าลงของเงินรูปีของอินเดีย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วอ่อนค่าถึง 27% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างหนัก เนื่องจากทำให้รายได้ลดลง" จีออร์โจ เดอ โรนี ประธานสายการบิน กล่าว พร้อมยืนยันว่า พนักงานชายทั้งหมด 132 คนนั้น จะไม่ถูกไล่ออกอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าทางสายการบินจะไม่จ้างพนักงานชายเพิ่มในอนาคต นอกจากนี้ ทาง โก แอร์ ยังเตรียมลดจำนวนหน้าของนิตยสารที่แจกบนเครื่อง รวมทั้งลดปริมาณน้ำในถังกักเก็บบนเครื่องจาก 100% เหลือเพียง 60% เพื่อช่วยให้เครื่องมีน้ำหนักเบาลง กรีซป่วน ข้าราชการประท้วงมาตรการปลดพนักงาน 8 ก.ค.56 - ข้าราชการชาวกรีซหลายพันคน ผละงานประท้วงในวันนี้ เพื่อต่อต้านการตัดลดพนักงานภาครัฐรอบใหม่ตามกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรืออียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ โดยในกรุงเอเธนส์ ข้าราชการหลายพันคนที่เป่านกหวีด ชุมนุมประท้วงนอกกระทรวงปฏิรูป ขณะที่ รัฐบาลเตรียมคลอดกฎหมายปลดพนักงานฉบับใหม่ ฝูงชนประมาณ 4,000 คน ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจำนวนมาก ที่หลายคนอาจต้องตกงานในการปลดพนักงานภาครัฐครั้งนี้ สหภาพข้าราชการ เอดีอีดีวาย ระบุในแถลงการณ์ว่า ในประเทศที่มีอัตราการว่างงานทะลุถึงร้อยละ 30 และวัยหนุ่มสาวตกงานมากถึงร้อยละ 60 มาตรการใหม่นี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ประชาชนยากจนมากยิ่งขึ้น ยังจะถูกนำมาใช้อีก เมื่อเช้าวันนี้ เจ้าหนี้ระหว่างประเทศของกรีซ ประกาศในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีเกี่ยวกับการปฏิรูปของกรีซ ลงความเห็นให้ปล่อยกู้จำนวน 8,100 ล้านยูโร หรือ 10,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากรายงานดังกล่าวผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีคลังยูโรโซน ซึ่งมีกำหนดประชุมกันในบ่ายวันนี้ในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อตรวจสอบว่า กรีซได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อแลกกับเงินกู้งวดต่อไป บราซิลประกาศแผนจ้างแพทย์เพิ่มนับหมื่นตำแหน่ง 9 ก.ค. 56 - รัฐบาลบราซิลเปิดเผยโครงการจ้างแพทย์เพิ่มเติมราว 10,000 ตำแหน่งในเวลา 3 ปี คิดเป็นมูลค่าการลงทุนถึง 1,207 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์บราซิล แต่จะจ้างแพทย์ต่างชาติด้วยหลายพันคนเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาด ซึ่งแพทย์จะได้เงินเดือนถึง 4,500 ดอลลาร์ โครงการนี้มีขึ้นหลังฝูงชนลุกฮือประท้วงใหญ่ หนึ่งในข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข แต่ถูกแพทย์บราซิลส่วนหนึ่งต่อต้าน แม้รัฐบาลระบุว่าขาดแคลนแพทย์ 54,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ สหภาพแรงงานใหญ่กรีซ เตรียมนัดหยุดงานประท้วงสัปดาห์หน้า ต้านแผนปลด พนง.ภาครัฐ 10 ก.ค. 56 - รายงานข่าวระบุว่า สหภาพแรงงาน "จีเอสอีอี" ซึ่งเป็นองค์กรด้านแรงงานของภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกรีซและมีสมาชิกกว่า 2.5 ล้านคนประกาศในวันพุธ (10) ว่า การนัดหยุดงานประท้วงวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงจุดยืนต่อต้านแผนลดตำแหน่งงานภาครัฐอีก 12,500 อัตรา ภายในเดือนกันยายน รวมถึงแผนของรัฐบาลที่เตรียมปลดลูกจ้างของรัฐอีก 25,000 คน จากจำนวนลูกจ้างรัฐที่มีอยู่กว่า 600,000 รายในช่วงสิ้นปีนี้ แผนปลดพนักงานภาครัฐดังกล่าวของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราส กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แม้ทางรัฐบาลจะอ้างว่าเป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาครัฐตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ 2 ครั้ง ในวงเงิน 240,000 ล้านยูโร ที่กำหนดโดยเจ้าหน้าที่ต่างชาติ คือ สหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กรีซกลายเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดในโลกตะวันตก โดยมีตัวเลขว่างงานสูงกว่าอัตราว่างงานเฉลี่ยของกลุ่มยูโรโซนถึง 2 เท่า จากระดับการว่างงานล่าสุดที่สูงถึงเกือบร้อยละ 27 บราซิลผละงานประท้วงใหญ่เรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้น สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ว่า แรงงานภาคอุตสาหกรรมในบราซิลหลายหมื่นคนทั่วประเทศพร้อมใจกันผละงานประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐปรับปรุงเงื่อนไขการทำงาน และแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ สหภาพแรงงาน 5 แห่งในบราซิลปลุกระดมให้สมาชิกหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเนื่องใน "วันแห่งการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานแห่งชาติ" ใน 18 รัฐทั่วประเทศ จากทั้งหมด 26 รัฐ รวมถึงรัฐรีโอเดจาเนโรและเซาเปาลู ซึ่งผู้ชุมนุมได้นำรั้วมาปิดกั้นเส้นทางการจราจร และจัดการสร้างที่พักชั่วคราวบนถนนหลายสายด้วยความรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัท ห้างร้าน โรงเรียนและสถานที่ราชการทุกแห่งต้องหยุดทำการกำหนด รวมถึงท่าเรือขนส่งสินค้าที่เมืองซานโตส ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ด้วย ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมคือ การขึ้นค่าจ้างแต่ขอให้เวลาการทำงานลดลง ความปลอดภัยในการทำงาน ระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเร็วที่สุด การแก้ไขปัญหาเงินเห้อที่รุมเร้าบราซิลมานานหลายปี และการเพิ่มมาตรการกระตุ้นการลงทุนในภาคการศึกษาและสาธารณสุข แม้ภาพรวมของการชุมนุมจะเดินขบวนจะเป็นไปอย่างสงบ แต่มีผู้ประท้วงบางส่วนก่อเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลที่ตรึงกำลังอยู่ในหลายจุด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุม เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ที่เมืองรีโอเดจาเนโรมีผู้ถูกจับกุมแล้ว 12 คน เป็นผู้เยาว์ 2 คน การประท้วงใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังการประท้วงให้ลดราคาค่าโดยสารรถประจำทางและแก้ไขระบบการศึกษาในช่วงการแข่งขันฟุตบอล "คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ" เมื่อเดือนที่แล้ว แม้ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ผู้นำบราซิลให้คำมั่นจะจัดลงประชามติ แต่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองมากกว่าเพื่อความต้องการของประชาชน และอาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของเธอในการเลือกตั้งปีหน้าด้วย ชาวกรีซผละงานวันนี้ประท้วงแผนเลิกจ้างลูกจ้างภาครัฐ 16 ก.ค. 56 - ชาวกรีซหลากหลายอาชีพจะผละงานในวันนี้เพื่อประท้วงรัฐบาลที่เตรียมจะเลิกจ้างลูกจ้างภาครัฐจำนวนมากตามเงื่อนไขการรับความช่วยเหลืองวดใหม่จากเจ้าหนี้ต่างชาติ ขณะที่อัตราว่างงานในประเทศใกล้แตะร้อยละ 27 แล้ว การเดินขบวนของลูกจ้างเทศบาลที่ดำเนินมานานกว่าสัปดาห์จะทวีความเข้มข้นขึ้นในวันนี้ เมื่อพนักงานเก็บขยะ คนขับรถโดยสาร พนักงานธนาคาร ผู้สื่อข่าวและอีกหลายอาชีพจะเข้าร่วมการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาในวันนี้ ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติในวันพุธเรื่องมาตรการปฏิรูปที่รัฐบาลตกลงกับสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตามเงื่อนไขความช่วยเหลือมูลค่า 6,800 ล้านยูโร (ราว 278,800 ล้านบาท) เช่น การเลิกจ้างครูอาจารย์ ตำรวจเทศบาล และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น รวมหลายหมื่นคน สหภาพแรงงานเอกชนและสหภาพแรงงานภาครัฐ ซึ่งมีสมาชิกรวมกัน 2.5 ล้านคน ประกาศจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อยุตินโยบายที่เข่นฆ่าคนงานและทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงยิ่งกว่าเดิม สหภาพสองแห่งนี้ชักชวนสมาชิกชุมนุมตามท้องถนนมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่กรีซเข้าสู่วิกฤตหนี้ในปลายปี 2552 สหภาพการบินพลเรือนพร้อมใจกันผละงานเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งจะกระทบต่อเที่ยวบินเข้าออกกรุงเอเธนส์ ขณะที่พนักงานขับรถโดยสารและรถรางผละงานในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าและตอนเย็น รถไฟ สำนักงานสรรพากร และหน่วยงานเทศบาลทุกแห่งปิดทำการ สายการบินสปริงแอร์จีน เพิ่มเกณฑ์อายุในการจ้างพนักงานสาวบนเครื่องบิน 17 ก.ค. 56 - สายการบินสปริงแอร์ ของประเทศจีนตัดสินใจเพิ่มเกณฑ์อายุในการจ้างแอร์โฮสเตส หรือพนักงานหญิงผู้ให้บริการอำนวยความสะดวกบนเครื่องบิน โดยมีอายุระหว่าง 25-45 ปี จากเดิมที่จะจำกัดอายุไม่เกิน 35 ปี โดยให้เหตุผลว่า ผู้หญิงในวัยดังกล่าวมีพร้อมทั้งระดับการศึกษา วุฒิภาวะทางอารมณ์ และความน่าเชื่อถือมากกว่าเด็กสาวที่อายุน้อยกว่า ขณะเดียวกัน รายงานยังระบุอีกว่า ผู้สมัครหญิงที่สมรสและมีลูกแล้วจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ด้านหนังสือพิมพ์ ไชน่า เรียล ไทม์ รายงานว่า วิธีการคัดเลือกพนักงานแอร์โฮสเตสของสปริง แอร์ไลน์ ครั้งนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมของสายการบินทั่วไปของจีน ซึ่งมักเน้นหนักที่ความงามและความอ่อนเยาว์ ถึงขนาดที่บางสายการบินจัดเวทีคล้ายกับเวทีประกวดนางงามเพื่อคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำหน้าที่แอร์โฮสเตส หนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมจากสาววัยรุ่นทั่วจีน ที่ต้องการโอกาสในการท่องเที่ยวทั่วโลก และค่าตอบแทนที่ดี ทั้งนี้ สปริงแอร์ กล่าวว่า การเพิ่มเกณฑ์อายุครั้งนี้ มีขึ้นภายหลังผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่า 72% ของผู้โดยสารชอบที่ได้รับการบริการจากแอร์โอสเตสที่มากด้วยประสบการณ์มากกว่า พร้อมระบุว่า ผู้สมัครที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริการบนเครื่องบินอย่างกว้างขวางจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษเช่นกัน และยอมรับว่า แม้แอร์โฮสเตสอายุน้อยจะมีชีวิตชีวาและความกระตือรือร้นมากกว่า แต่แอร์โฮสเตสที่มีอายุเพิ่มขึ้นมาจะน่าเชื่อถือและมีวุฒิภาวะมากกว่า "เราเชื่อว่าผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมการบินไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม" แถลงการณ์ของสายการบินระบุ เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์นับหมื่น ในเปรู รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าแรง 17 ก.ค. 56 - เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ภาคส่วนสาธารณะราว 15,000 คน ในเปรู พากันออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้าง ขณะที่ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของเปรู กล่าวว่า การประท้วงมีขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่คร่าชีวิตประชาชนแล้ว 3 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์กล่าวยืนยันว่า ผู้ป่วยในห้องหน่วยอภิบาล หรือ ห้องไอซียู และหน่วยฉุกเฉิน จะไม่ได้รับผลกระทบจากการลุกฮือประท้วงของเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ในครั้งนี้ รัฐสภากรีซลงมติผ่านร่างกม.ปลดลูกจ้างภาครัฐมากกว่าหมื่นคน 18 ก.ค. 56 - สภากรีซมีมติแบบฉิวเฉียด ด้วยคะแนน 153-140 เสียง ผ่านร่างกฎหมายแก้ไขโครงสร้างระบบบริหารราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการปฏิรูปที่รัฐบาลตกลงกับสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตามเงื่อนไขความช่วยเหลือมูลค่า 6,800 ล้านยูโร (ราว 278,800 ล้านบาท) เช่น การเลิกจ้างครูอาจารย์ ตำรวจเทศบาล และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น รวมหลายหมื่นคน ภายใต้มติดังกล่าว ตามแผนดังกล่าว รัฐบาลจะต้องเลิกจ้างเจ้าหน้าที่มากกว่า 4,000 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึง ครูอาจารย์ และข้าราชการท้องถิ่นภายในปีนี้ และอีกราว 11,000 คน ภายในปี 2014 ทั้งนี้ ลูกจ้างรัฐจะได้รับเงินเดือนร้อยละ 75 ของอัตราเงินเดือนจริง นาน 8 เดือน และหลังจากนั้น หากไม่ได้รับการโอนย้ายไปแผนกหรือหน่วยงานอื่น ก็จะถูกเลิกจ้าง รัฐบาลผสมกรีซ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราส แถลงปกป้องมาตรการดังกล่าวว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องบังคับใช้มาตรการที่อาจทำให้หลายฝ่ายเจ็บปวด พร้อมกับประกาศปรับลดอัตราภาษีการขายอีกร้อยละ 10 เพื่อนำเงินที่ได้ไปกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราว่างงานในประเทศพุ่งขึ้นแตะร้อยละ 27 แล้ว โดยในระหว่างการอภิปราย ผู้ประท้วงหลายพันคนได้มาร่วมตัวกันบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงเอเธนส์ เพื่อประท้วงคัดค้านการลงมติรับรองร่างกฎหมายใหม่ของรัฐบาล แต่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.ค. แรงงานชาวกรีซหลายแสนคนเข้าร่วมผละงานเป็นเวลา 24 ชม. ตามคำเรียกร้องของสหภาพแรงงาน เพื่อประท้วงแผนการเลิกจ้างลูกจ้างภาครัฐของรัฐบาล ILO ชี้สภาพการทำงานของแรงงานกัมพูชาแย่ยิ่งกว่าเดิม 18 ก.ค. 56 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เผยว่า ความพยายามของกัมพูชาในการปรับปรุงสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเสื่อมถอยลง หลังเกิดเหตุประท้วงหลายครั้งตามโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่บริษัทชาติตะวันตก รายงานของ ILO ระบุว่า กัมพูชาประสบความล้มเหลว และไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้นเลย หากพิจารณาถึงเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานในหลายด้าน เช่น แรงงาน การรักษาความปลอดภัยจากเหตุเพลิงไหม้ และการใช้แรงงานเด็ก "จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า สภาพการทำงานในปัจจุบันของคนงานกัมพูชาเสื่อมถอยลง นับจากช่วงปี 2548-2554 ที่ยังมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กัมพูชาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนสภาพการณ์เลวร้ายให้ได้ มิฉะนั้น ก็เสี่ยงที่จะต้องสูญสียผลประโยชน์ที่เคยทำให้กัมพูชามีชื่อเสียงในด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน" จิลล์ ทัคเกอร์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิชาการ ประจำโครงการปรับปรุงสภาพโรงงานกัมพูชาให้ดีขึ้น ของ ILO ระบุ รายงานของ ILO ยังระบุอีกว่า จากการสำรวจโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากกว่า 10 แห่ง พบว่าบางแห่งใส่กุญแจปิดตายทางหนีไฟในระหว่างชั่วโมงการทำงาน ในขณะที่บางแห่งก็ไม่ได้จัดการซ้อมรับมือเหตุเพลิงไหม้ทุกๆ 6 เดือน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาอากาศภายในสถานทำงานร้อนอบอ้าว ไม่สะอาดถูกหลักอนามัย รวมทั้งมีการจ้างแรงงานเด็กด้วย ปัญหาความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยของคนงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากเกิดเหตุหลังคาโรงงานผลิตรองเท้าของไต้หวัน พังถล่มลงมา ทำให้คนงานเสียชีวิต 2 คน เมื่อเดือน พ.ค. บรรดาคนงานในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้จัดชุมนุมประท้วงต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อต่อต้านค่าจ้างแรงงานถูก รวมทั้งสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ ในอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่มีการจ้างงานแรงงานราว 650,000 คน และถือเป็นแหล่งรายได้จากต่างชาติที่สำคัญของประเทศ. ภาคการเกษตรสหรัฐฯ ขาดแคลนคนงานและต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอย่างหนัก 25 ก.ค. 56 - ภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ขาดแคลนแรงงานที่ช่วยทำงานเพื่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตในฟาร์มมานานอย่างน้อยถึงสิบปีแล้ว และส่วนหนึ่งต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวจากเม็กซิโกและประเทศละตินอเมริกาซึ่งข้ามพรมแดนเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ แบบไปเช้าเย็นกลับ ส่วนใหญ่ของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวมีปัญหาในการขอวีซ่าจึงอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย โดยตัวเลขขณะนี้แสดงว่ามีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในสหรัฐฯ ราว 11 ล้านคนและ 1.2 ล้านคนช่วยงานอยู่ในภาคการเกษตร ขณะนี้สมาคมผู้ผลิตทางการเกษตรในรัฐด้านตะวันตกของสหรัฐฯ และสหภาพแรงงานคนงานในฟาร์ม สนับสนุนร่างกฎหมายปฏิรูประบบคนเข้าเมืองฉบับที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ได้สัญชาติอเมริกันภายใน 11 ปี แต่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยังไม่ผ่านร่างของตน และยังมีจุดยืนที่แตกต่างกันอยู่ระหว่างร่างกฎหมายของทั้งสองสภา ซึ่งเกษตรกรในสหรัฐฯ ได้เตือนว่าหากไม่มีกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบคนเข้าเมืองนี้แล้ว การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ จะไม่เพียงพอกับความต้องการและต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาทดแทน ซึ่งก็หมายถึงว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะต้องจ่ายเงินซื้อพืชผักผลไม้แพงขึ้นนั่นเอง แรงงานประท้วงรบ.ตูนิเซียเหตุยุติบริการเที่ยวบิน 26 ก.ค. 56 - เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับแจ้งเกิดเหตุกลุ่มสหภาพแรงงานจำนวนมากนัดประท้วงหยุดงานกลางกรุงตูนิส ท่ามกลางการปะทะเดือดกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลในหลายพื้นที่ มีชนวนสาเหตุมาจากการลอบสังหารผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนสำคัญเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ในขณะนี้ เหตุปะทุความรุนแรงเริ่มเลวร้ายขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบไปถึงการบริการเที่ยวบินเกือบทุกสายการบิน ทั้งไปและกลับ โดยถูกยกเลิกการให้บริการฉุกเฉิน ซึ่งหัวหน้าทีมงาน และประธานบริษัท สายการบินออกมาแถลงการณ์ถึงสาเหตุความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบนั่นเอง ทั้งนี้ กลุ่มประท้วงสหภาพแรงงาน ยังพยายามเร่งบีบบังคับให้รัฐบาลทำการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์ที่พวกเขาต้องสูญเสีย อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัฐบาลของตูนิเซีย ยังไม่มีการแถลงการณ์ตอบโต้ หรือ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด สเปนตั้งข้อหาพนักงานขับรถไฟมรณะประมาท 27 ก.ค. 56 - สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษ รายงานว่า นายฮอร์เก เฟอร์นันเดซ ดิแอซ รัฐมนตรีมหาดไทยของสเปน ยืนยันว่า นายฟรานซิสโก โฮเซ การ์ซอน อาโม พนักงานขับรถไฟมรณะ ที่ประสบอุบัติเหตุตกราง มีผู้เสียชีวิต 78 คน ถูกตั้งข้อหา ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต เนื่องจากถูกสงสัยว่า ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด รายงานระบุว่า นายการ์ซอน ซึ่งได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากอุบัติเหตุ ถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง เพื่อ สอบสวน เนื่องจากสงสัยว่า ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดในช่วงเข้าโค้ง เพราะรายงานของการรถไฟ ระบุว่า รถไฟความเร็วสูง วิ่งมาด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 2 เท่า ในช่วงเกิดเหตุ ขณะเดียวกัน นายจูลิโอ โกเมซ โปมาร์ ประธานบริษัทรถไฟ กล่าวว่า รถไฟไม่มีปัญหาทางเทคนิคอย่างแน่นอน พร้อมกับยืนยันว่า คนขับเป็นพนักงานที่มีประสบการณ์สูงด้วยเช่นกัน ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาชาติธุรกิจ, มติชนออนไลน์, เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์, สำนักข่าวไทย, VOA, ประชาไท ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับ ณ วังไกลกังวล Posted: 01 Aug 2013 07:12 AM PDT พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ แปรพระราชฐานจากโรงพยาบาลศิริราช ยังพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ภายหลังจากการเข้ารักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 ปี 10 เดือน เมื่อเวลาประมาณ 16.25 น.วันนี้(1ส.ค.56) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยทันทีที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนออกมาช้าๆ จากชั้นใต้ดินของอาคารเฉลิมพระเกียรติ เสียงถวายพระพร "ทรงพระเจริญ" ดังกึกก้องทั่วโรงพยาบาลศิริราช พสกนิกรที่เฝ้าฯรับเสด็จฯหลายคนหลั่งน้ำตาด้วยความปีติที่ได้เห็นทั้งสองพระองค์มีพระพักตร์แจ่มใส โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมสีส้ม และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ฉลองพระองค์ผ้าไหมสีฟ้า ทรงโบกพระหัตถ์ และแย้มพระสรวลให้กับพสกนิกรที่มาเฝ้าฯรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2552 จนกระทั่งถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ที่จะเสด็จฯ กลับไปประทับ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมระยะเวลาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ประมาณ 3 ปี 10 เดือน โดยมีแถลงการณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งหมด 65 ฉบับ ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระชนมพรรษา 80 พรรษา ทรงเข้ารับการรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลแห่งเดียวกัน เมื่อช่วงปีที่แล้ว ซึ่งสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ระบุเพียงว่า สมเด็จพระราชินีทรงประชวรด้วยพระอาการที่เกี่ยวข้องกับความดันพระโลหิตและระบบการทำงานของพระหทัย และแถลงการณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระประชวรขณะประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งหมด 14 ฉบับ หมอแถลงในหลวงราชินีแข็งแรงเสด็จฯ พักผ่อนวังไกลกังวล ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึง พระอาการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงดี จึงทรงมีพระราชประสงค์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นการชั่วคราว เพื่อทรงเปลี่ยนพระราชอิริยาบถ ภายหลังที่ทรงประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช มาเป็นระยะเวลา 3 ปี กับ 10 เดือน โดยกล่าวอีกว่า การที่ทรงประทับ ณ โรงพยาบาล เป็นเวลานานนั้น เนื่องจากจะต้องมีการพักฟื้นพระวรกาย จากพระอาการต่างๆ ที่ได้ถวายการรักษา และบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนบ้าง ตามธรรมชาติของผู้สูงอายุ ส่วนพระอาการใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงเช่นกัน สามารถพระดำเนินได้ดี แต่เพื่อความปลอดภัย จึงได้ กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ทรงประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปก่อน ทั้ง 2 พระองค์ อย่างไรก็ตาม การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการดูแล จะได้มีการติดตามไปถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย โดยได้มีการเตรียมความพร้อมถวายการดูแลทุกด้าน ทั้งที่ วังไกลกังวล และโรงพยาบาลหัวหิน พร้อมทั้งได้มีการ ฝึกซ้อมการถวายการดูแลทางเฮลิคอปเตอร์ เพื่อความไม่ประมาทด้วย เมืองหัวหินพร้อมรับเสด็จในหลวง-ราชินีแล้ว สำหรับบรรยากาศ ที่บริเวณหน้าวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการเตรียมความพร้อม สำหรับรอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่มีหมายกำหนดการจากสำนักพระราชวังว่า ทั้ง 2 พระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินออกจากโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพ ในช่วงเย็นของวันนี้ เวลา 16.00 น. เสด็จฯไปประทับเปลี่ยนพระอิริยาบถ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สร้างความปลื้มปีติให้กับประชาชนชาวประจวบคีรีขันธ์ และประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่ทราบข่าวดีว่า ทั้ง 2 พระองค์ ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ล่าสุด นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหินและคณะ ได้เดินทางมาตรวจความพร้อมในทุกด้านที่บริเวณหน้าวังไกลกังวล โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ เร่งฉีดน้ำทำความสะอาด ถนนเพชรเกษม ที่ผ่านหน้าวังไกลกังวลทั้งหมด พร้อมทั้งตรวจความพร้อมเรื่องไฟส่องสว่างด้วย เนื่องจากคาดการณ์ว่า รถพระที่นั่งจะถึงหน้าวังไกลกังวล ราว 18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงใกล้ค่ำ จะต้องมีการเปิดไฟส่องสว่างให้สวยงามตลอดเส้นทางเสด็จด้วย โดยขณะนี้ในภาพรวมของการเตรียมการรับเสด็จถือว่ามีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ แล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
กรณีน้ำมันดิบรั่ว งานเก็บกู้ อาสาสมัคร งานนี้ไม่ใช่ที่ของคุณ!!! Posted: 01 Aug 2013 06:28 AM PDT หมายเหตุ: Noppakun Dibakomuda เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับอาสาสมัครช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการเก็บกู้น้ำมันดิบขึ้นจากทะเลและชายฝั่งจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลกลางทะเลอ่าวไทย ซึ่งได้จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ และเคยทำงานด้านการกำจัดและบำบัดการปนเปื้อนของน้ำมันและสารประกอบอื่นที่มีน้ำมัน ที่เขาใช้นามแฝงว่า Mr.A.V. ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ "ถ้าเพื่อนๆ คิดจะลงไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการเก็บกู้น้ำมันดิบขึ้นจากทะเลและชายฝั่ง หรืออยากมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการรับมือกับกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล จำเป็นอย่างยิ่งต้องอ่านเอาความรู้ในบทความข้างล่างนี้ก่อนครับ บทความนี้เขียนโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านการกำจัดและบำบัดการปนเปื้อนของน้ำมันและสารประกอบอื่นที่มีน้ำมัน ซึ่งเขียนบทความนี้มาด้วยความเป็นห่วงในสวัสดิภาพของทุกๆ คนโดยเฉพาะคนที่กำลังจะอาสาไปช่วย เจ้าหน้าที่ทหารเรือ ทุกท่านที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ครับ" Noppakun Dibakomuda ด้วยความเคารพในจิตอาสาของทุกคน ครั้งนี้ไม่เหมือนกับภัยต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมา เช่น สึนามิ น้ำท่วม ที่เราแค่ มีใจ มีแรง มีรองเท้าบูท มีเรือ พร้อมของบริจาค ช่วยเหลือก็เข้าไปช่วยเหลือได้แล้ว แต่ครั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นน้ำมันดิบที่รั่วไหล และยังคงไม่สามารถจัดการกับน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลได้ ลองมาสำรวจตัวเราเองก่อนไหมว่าเรามีสิ่งพื้นเหล่านี้แล้วหรือยัง 1.รู้ถึงอันตรายของสิ่งที่เราจะไปเจอหรือยัง น้ำมันดิบ การสัมผัสตรงโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งองค์ประกอบทางเคมี โลหะหนักที่อยู่ในน้ำมันดิบมีความสามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังได้ ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าความไวของการรับรู้และการต้านทานสารพิษของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน บางคนอาจเริ่มต้น มีอาการคัน แสบผิว หรือไม่แสดงอาการอะไร แต่ถ้าสัมผัสโดยตรงสารเคมีซึมเข้าไปสะสมในร่างกายของเรา ปริมาณน้อยก็อาจจะไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการไม่ร้ายแรง แต่ปริมาณมากหน่อยก็จะเห็นชัดเจน คำถามว่ามากแค่ไหน ก็บอกได้ว่าแล้วแต่บุคคลเลยครับ แต่โดยส่วนตัว แค่ใช้มือเปล่าหรือใส่ถุงมือแล้วไปตักน้ำมันดิบที่มันมาเกยฝั่ง อยู่ซัก 2-3 ชั่วโมง แล้วมันกระเด็น โดนแขน โดนหน้าบ้าง ผมก็ว่ามันเยอะมากแล้วหล่ะครับ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต!!! ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้ ที่ไหนในร่างกายหรอครับ ก็แล้วแต่ว่า อวัยวะ เครื่องใน ของแต่ละคน อันไหนมีความแข็งแรง อันไหนอ่อนแอ การสูดดมเอาไอระเหยเข้าไปในร่างกาย เชื่อว่าไม่มีใครอยากดมกลิ่นน้ำมันหรอกครับ แต่ไปอยู่ในที่แบบนั้นอาจเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เราจะรับรู้ได้ง่ายมากถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สั้น โดยที่เราไม่มีเครื่องป้องกัน อาการมึน กลิ่นติดจมูก บางคนอาจจะแสบตา แสบจมูก หากสูดดมเป็นเวลานานไม่ได้มีการป้องกันก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด รวมถึงอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งตามมาในอนาคต อย่างที่กล่าวไปว่าระดับความไวต่อการรับรู้และการต้านทานของสารพิษแต่ละคน ไม่เหมือนกันนะครับ 2.คุณผ่านการอบรมการจัดการของเสียแบบนี้มาหรือเปล่า...? ซึ่งสรุปแบบง่ายว่า การผ่านการอบรมจะทำให้เราตระหนักถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำในการกำจัด วิธีการใช้งาน การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล การอ่าน Material Safety Data Sheet (MSDS) ของสารที่รั่วไหลหรือปนเปื้อนบ่งบอกว่าอะไรรั่วไหล อะไรปนเปื้อน มีองค์ประกอบทางเคมีผสมอะไรบ้าง ต้องถามเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรงหรือเปล่า ควรมีการประเมินความเสี่ยงในวิธีการกำจัด ควรจัดทำแผนการการเลือกใช้กำจัดที่ถูกวิธี การใช้สารเคมีที่ระงับ หรือบำบัดให้ตรงกับสิ่งที่ปนเปื้อน รวมถึงแผนและวิธีการกำจัดอุปกรณ์ และดินหรือน้ำที่ปนเปื้อน แผนฉุกเฉินสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยอื่นที่อาจเกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ การปนเปื้อนที่อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น 3.อุปกรณ์ ป้องกันภัยส่วนบุคคล ที่เหมาะสมกับระดับความเข้มข้น และสารเคมีที่ต้องปฏิบัติงานด้วยเรามีพร้อมแล้วหรือหรือไม่ อย่างไร...? ในกรณีที่มีความรุนแรงประมาณที่หาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด สิ่งที่ต้องมี คือ a. หน้ากากกรองไอน้ำมันได้ หน้ากาก รวมชุดกรอง (Haft face resperator) ราคาประมาณ 900-1000 บาท b. ชุดหมีป้องกันน้ำมัน สารเคมีแบบใช้แล้วทิ้ง ที่บ้านเราเรียกกันว่า Tyvek suit ราคาประมาณ 200-300 บาท ซึ่งใช้แล้วทิ้ง ไม่นำมาใช้ใหม่ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เราสัมผัสน้ำมัน หรือเคมีโดยตรงได้ c. ถุงมือไนไตรแบบหนา ที่เคยใช้เป็นสีเขียว หนาประมาณ 18 mil คู่ละประมาณ 40 บาท ใช้แล้วทิ้งแล้วเปลี่ยนคู่ใหม่นะครับ ถ้าหากว่าน้ำมันเปื้อนถุงมือมาก การสวมใส่ที่ถูกต้องคือต้องใส่หลังจากใส่ชุดหมีแล้วต้องมีผู้ช่วยใช้เทปกาวพันรอบถุงมือเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันสามารถเข้าไปในภายในถุงมือได้ d. รองเท้าบูทยางสูงเลยหน้าแข้ง ที่ ป้องกันสารเคมี (น้ำมัน) ได้ต้องมีมาตรฐาน EN345 ซึ่งมีราคาประมาณคู่ละ 600-700 บาท การสวมใส่ที่ถูกต้องคล้ายกับถุงมือ คือสวมรองเท้าหลังจากใส่ชุดหมีแล้ว และต้องมีเทปกาวพันรอบขอบรองเท้าบูทด้านบนเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันสามารถเข้าไปในรองเท้าได้ e. แว่นตานริภัย ป้องกันไอระเหยเข้าตา ป้องกันน้ำมันกระเด็นเข้าตาแบบไม่ได้ตั้งใจ ราคาประมาณ 80 – 300 บาท f. อุปกรณ์ทำความสะอาดอื่นๆ กระดาษทิชชู่ ถุงขยะหนาเพื่อใส่ ชุดหรืออุปกรณ์ที่ถูกเปลี่ยนเพราะปนเปื้อนอย่างมาก เพื่อที่จะนำขยะอันตรายนี้ไปกำจัดอย่างถูกวิธี ประมาณราคาโดยประมาณ ต่อคนก็ก็ประมาณ 1700-2500 บาท จำได้ใช่ไหมครับ บางอย่างใช้แล้วต้องทิ้ง สรุปนะครับ เมื่อเราตั้งใจดีไปช่วยแบบไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ก็จะเป็นเพียงแค่การย้ายของเสียจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเราก็คงไม่อยากให้มันเกิดขึ้นใช่ไหมครับ คิดต่ออีกนะครับ เราจะเอาตัวเราไปเสี่ยงเพราะไม่รู้อะไรในการจัดเรื่องนี้ที่ต้องอาศัยเจ้าที่ที่ชำนาญการ เราเองก็จะไปเป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับต้องดูแลเรา หรือมาเสียเวลา ต้องมาทำให้เราเข้าใจ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอธิบายกันพอสมควร ว่าตรงนี้ปลอดภัย ไม่ปลอดภัย อยู่ได้ อยู่ไม่ได้ ช่วยได้ไหม หรือช่วยไม่ได้ เพราะเราไปแบบไม่พื้นฐาน ไม่มีความชำนาญ ไม่มีความรู้ ที่จะแย่ไปกว่านั้นอีก ถ้าหากมีคนเข้าไปเยอะแยะแต่ช่วยอะไรได้ไม่มาก หรือที่แย่คือช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะด้วยการประเมินขั้นต้นทั้ง 3 ข้อ ได้แค่ไปนั่งดูเจ้าหน้าที่ทำงาน เราก็จะไปเพิ่มมลพิษ ขยะขึ้นจากเดิมที่มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำได้จริงๆ คิดดูนะครับ กล่องโฟมหรือถุงพลาสติกที่ใส่อาหารมาให้เรากิน ขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เพิ่มขึ้น เปลืองเงินที่ต้องซื้ออาหาร น้ำดื่มเพิ่มขึ้น ทำให้ไปเบียดเรื่องเงินสำหรับอุปกรณ์เก็บกู้ อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ต้องใช้แล้วทิ้งและต้องเปลี่ยนใหม่เสมอ ซึ่งส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้เร็ว ต้องรีบทำ สุดท้ายก็ทำแบบขอไปที อันนี้ต้องเผื่องบประมาณสำหรับสารเคมี หรือแบคทีเรีย ที่ต้องซื้อมากินสารเคมี กรดอีกกว่า 700 ชนิดจากน้ำมันดิบที่สามารถละลายอยู่ในน้ำทะเล ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าต้องซื้อมาเยอะแค่ไหน และต้องบำบัดและติดตามวัดผล เก็บตัวอย่างน้ำไปอีกนานเท่าไร แต่ต้องไม่น่าต่ำกว่า 2 ปี ท้ายที่สุดแล้วระบบนิเวศน์ก็จะไม่ได้รับการช่วยบำบัดอย่างถูกต้อง และตลอดลอดฝั่ง เพราะความตั้งใจดีและจิตอาสาของเราหรือเปล่า ผมว่า "เก็บพลังและความตั้งใจไว้ช่วยฟื้นฟูขั้นต่อไป ซึ่งอาสาสมัครอย่างพวกเราน่าจะช่วยได้และดีกว่าแน่นอนครับ" บทความโดย Mr. A.V. อดีตเจ้าหน้าที่ชำนาญด้านการกำจัดและบำบัดการปนเปื้อนของน้ำมันและสารประกอบอื่นที่มีน้ำมัน (ไม่ประสงค์ออกนาม) "ผมเห็นภาพข่าวในโทรทัศน์ เห็นอาสาสมัครในชุดที่อาจจะเรียกได้ว่า เปลือย สำหรับสารพัดสารพิษ รองเท้าเอาถุงพลาสติกห่อไว้ ถุงมือซื้อจากตลาดนัด บางคนใส่เสื้อกันฝน หน้ากากกรองสารพิษที่กันอะไรไม่ได้เลย แว่นตาแทบไม่มีใส่ กำลังเอาถังพลาสติกจ้วงตักน้ำมันดิบจากชายฝั่ง...ภาพนี้หลายคนคงเคยเห็น ผมรู้อย่างหนึ่งว่า อาสาสมัครเหล่านั้น ไม่มีความรู้ในสาระข้างบนนี่เลย...เป็นห่วงครับ แชร์และส่งต่อกันให้มากที่สุด มากกว่า ที่คุณแชร์เรื่องดารากับยาไอซ์นะครับ ขอขอบคุณ Mr. A.V. ที่เอื้อเฟื้อบทความข้างบนด้วยเจตนาดีบนความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมครับ" Noppakun Dibakomuda ประกาศรับสมัครอาสาในภาพเป็นการประกาศภายในองค์กร แต่ในโซเชียลเนตเวิร์คมันมีผลเชิงนัยยะต่อจิตอาสาที่ไม่รู้ความว่าการลงพื้นที่ แม้ไม่ใช่โปรเฟสชั่นแนล ก็สามารถลงได้ พิจารณาครับ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
8 องค์กรสิทธิฯ ค้านรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง คุมม็อบ Posted: 01 Aug 2013 06:20 AM PDT สืบเนื่องจากกรณีรัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม นี้ ด้วยเหตุผลเพื่อดูแลความสงบ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม (1 ส.ค.56) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงของรัฐบาล โดยชี้ว่า การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า กลุ่มผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 8 องค์กร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในเขตต่างๆ และขอให้ใช้อำนาจบริหาร ตามเจตนารมณ์ของหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชนโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์ ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 โดยการอ้างเหตุว่า ได้มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมการชุมนุม หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันอาจทำให้เกิดความไม่สงบสุขในบ้านเมืองนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรข้างท้ายนี้ ขอคัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลไม่เป็นไปเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของรัฐบาล พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ได้ให้อำนาจรัฐบาลในการประกาศใช้กฎหมายนี้ได้ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานานทั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย โดยมีความมุ่งหมายเป็นการจัดการกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะจัดการไม่ได้โดยภาวะปกติ หรือโดยกลไกปกติ ดังนั้น การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงต้องมีเหตุเกิดขึ้นก่อนและเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน แต่การที่รัฐบาล อ้างเหตุว่า การชุมนุมของกองทัพประชาชนหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยยังไม่มีเหตุการณ์การชุมนุมเกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นและเกินสมควรสมควรแก่เหตุ เนื่องจากกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ตามปกติก็เพียงพอที่รัฐจะสามารถจัดการณ์ให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเงื่อนไขที่จะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแต่อย่างใด การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2.การกระทำของรัฐบาลเป็นการไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญ กลุ่มผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 63 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 21 การที่ประชาชนใช้เสรีภาพดังกล่าว รัฐบาลจะกล่าวอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวอ้างเหตุผลว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลจัดการกับความเห็นที่แตกต่างด้วยการใช้มาตรการนี้ ย่อมเป็นการหยุดยั้งการใช้เสรีภาพของประชาชนโดยปกติ ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่ควรมีและไม่อาจยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งการชุมนุมย่อมไม่ได้คุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ หรือเป็นอาชญากรรมที่จะเป็นภัยต่อรัฐบาล ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรข้างท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องและขอเสนอแนะให้รัฐบาล 1.ยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 2.ใช้อำนาจบริหาร ตามเจตนารมณ์ของหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชนโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น