โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว' เตรียมจัดเวทีถก 'คำถามที่ ปตท.ต้องตอบ'

Posted: 16 Aug 2013 11:21 AM PDT

กลุ่ม "จับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว" ระบุ เตรียมเปิดเวทีสาธารณะ "คำถามที่ปตท.ต้องตอบ... ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน" 21 ส.ค. นี้ เชิญชาวเสม็ดและผู้เชี่ยวชาญถกข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันรั่ว พร้อมเปิดเผยรายชื่อประชาชนจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 20,000 คน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมอิสระตรวจสอบเหตุดังกล่าว

 
16 ส.ค. 56 -  "กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว" ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia), และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) ได้ร่วมกับ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กำหนดจัด เวทีสาธารณะ "คำถามที่ปตท.ต้องตอบ... ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน" ขึ้น โดยได้เชิญตัวแทนประชาชนชาวเกาะเสม็ดผู้ได้รับผลกระทบ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันให้ข้อมูลและวิเคราะห์ถกเถียงร่วมกัน เกี่ยวกับจากเหตุการน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) จำนวนมหาศาลรั่วไหลสู่อ่าวไทยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 รวมถึงเหตุการณ์และผลกระทบด้านต่างๆ ที่ตามมา
 
โดยเวทีดังกล่าวจะมีขึ้นในวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้อง 2201 ชั้น 22 ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต ถนนวิภาวดีรังสิต ซอย 9 แขวงจตุจักร
 
นอกจากนี้ ในงานดังกล่าว ทางกลุ่มยังเตรียมเปิดเผยรายชื่อประชาชนกว่า 20,000 คน ทั้งในประเทศไทย (กว่าหนึ่ง 10,000คน) และประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งได้ร่วมลงนามผ่าน www.change.org/oilspill เพื่อร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแต่งตั้ง "คณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง" ที่มีความเป็นอิสระ และมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน ขึ้นมาสอบสวนสาเหตุรวมถึงประเมินผลกระทบที่แท้จริงของเหตุที่เกิดขึ้น ก่อนจะนำรายชื่อดังกล่าวยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
 
เปิดเผยข้อเท็จจริง: เรียกความเชื่อมั่น – ยุติความเคลือบแคลง
 
ทั้งนี้กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว ระบุว่าการพยายามทำให้สถานการณ์ดูคลี่คลายกว่าที่เป็นจริง หรือไม่เป็นที่น่าตระหนกด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงจากฝ่ายบริษัทและฝ่ายรัฐที่ผ่านมา แม้จะอ้างว่าเพื่อแลกกับความเชื่อมั่นและภาพพจน์ทางการท่องเที่ยว แต่ผลที่ได้อาจไม่เป็นเช่นนั้น แต่อาจยิ่งทำให้สังคมเคลือบแคลงต่อข้อมูลที่เปิดเผย "อย่างเป็นทางการ" มากยิ่งขึ้น ว่าอาจมีการละเลยข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
 
ดังเช่น เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณรอบเกาะเสม็ด จำนวน 12 หาด จากการเก็บตัวอย่างหนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดเหตุ พบการปนเปื้อนของสารปรอทเกินมาตรฐาน 29 เท่าที่บริเวณอ่าวพร้าว พร้อมทั้งแจ้งว่าในวันที่ 15 สิงหาคม จะสามารถแถลงผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำครั้งที่ 2 จากการเก็บตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงวันดังกล่าว นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปตท. กลับประกาศเลื่อนการเปิดเผยผลดังกล่าวออกไป โดยอ้างว่าต้องการตรวจสอบข้อมูล
 
ขณะเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีรายงานถึงผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ พบก้อนน้ำมันดิน (tar ball) บริเวณหาดแม่พิม พบปะการังฟอกขาวเป็นบางจุดรอบอ่าวพร้าว พบซากสัตว์ทะเลเกยตื้นที่หลายหาดบนชายฝั่งระยอง เช่น พบซากเต่าตนุขนาด 100 กิโลกรัมเกยตื้นที่หาดสวนสน อำเภอแกลง พบซากโลมา 2 ตัวเกยตื้นที่บ้านเพ พบซากฝูงปลาแป้นเกยหาดแม่รำพึงเป็นระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร และปรากฎการณ์ฟองสีเหลืองขุ่นหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขี้ปลาวาฬจำนวนมากผิดปกติที่หลายหาด
 
จากตัวอย่างข่าวสารและข้อมูลที่ย้อนแย้งกันเช่นนี้เอง ที่เพิ่มความสับสนและกังขาให้แก่สาธารณชน ทั้งประชาชนในพื้นที่ ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว แทนที่จะเกิดความเชื่อมั่นดังที่หลายฝ่ายคาดหวัง
 
นอกจากนี้ ขณะที่ยังไม่มีการประเมินขนาดผลกระทบที่แท้จริงต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนประมงและธุรกิจท้องถิ่นออกมาอย่างชัดเจน หลายฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านได้เริ่มตั้งข้อสังเกตต่อความจริงใจและเป็นธรรมในการจ่ายค่าชดเชยและเยียวยาผลกระทบของ ปตท. เช่นแนวโน้มที่จะจ่ายค่าชดเชยครั้งเดียวจบ และการกำหนดระยะเวลาชดเชยเพียง 30 วัน โดยไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบที่แท้จริงในระยะยาว
 
"กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว" จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้ก่อมลพิษอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และเรียกร้องให้บริษัท พีทีทีจีซี ในฐานะผู้ก่อมลพิษเปิดเผยข้อเท็จจริงและรับผิดชอบความเสียหายที่แท้จริงต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน แต่การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มต้นด้วยการมีข้อเท็จจริงที่ปราศจากข้อกังขาของสังคม ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจนแล้วว่าสังคมไม่สามารถหวังพึ่งกลไกของรัฐและบริษัทที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันได้
 
 
หมายเหตุ: "กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว" มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia), และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ท่าศาลาจ่อเดือด ชุมชนมุสลิมประกาศใช้ทุกวิถีทางเพื่อหยุดเชฟรอน

Posted: 16 Aug 2013 10:53 AM PDT

แกนนำชาวบ้าน อ.ท่าศาลา ประกาศยอมตายเพื่อรักษาทะเล ต้านกับการคุกคามของบริษัทเชฟรอนทุกวิถีทาง หลังจากบริษัทฯ กลับคำ ยื่นส่งรายงาน EHIA เข้าสู่การพิจารณาขอใบอนุญาตสร้างท่าเรือ ทั้งที่เคยประกาศยุติโครงการต่อสาธารณะ
 
 
วันนี้ (16 ส.ค.56) เวลาประมาณ 14.00 น.หลังจากทำพิธีละหมาดวันศุกร์ แกนนำชาวบ้านจากบ้านหน้าทับ สระบัว ท่าสูง ในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ร่วมชุมนุมเพื่อประกาศเตือนบริษัทเชฟรอนซึ่งเตรียมการสร้างฐานปฏิบัติการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อำเภอท่าศาลา หลังจากที่บริษัทกลับคำยื่นส่งรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เข้าสู่การพิจารณาขอใบอนุญาตสร้างท่าเรือ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศต่อสาธารณะว่ายุติโครงการ
 
การเคลื่อนไหวของชุมชนมุสลิมบริเวณชายฝั่งอำเภอท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ชุมชนแถบนี้ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่การเคลื่อนไหวปกป้องทะเลที่ใช้งานวิชาการและกฎหมายเป็นหลัก แต่แกนนำชุมชนเปิดเผยว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าบริษัทเชฟรอนเล่นนอกเกมส์ตลอดเวลา แกนนำชุมชนมุสลิมจึงลุกขึ้นมาประกาศพร้อมกันว่า จะใช้ทุกวิถีทางหลังจากนี้เพื่อหยุดเชฟรอน แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยชีวิตก็ตาม
 
สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนได้ประกาศยุติโครงการสร้างฐานปฏิบัติการขุดเจาะน้ำมันบริเวณบ้านบางสาร อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช หลังจากไม่สามารถอธิบายสังคมได้เกี่ยวกับกระบวนการในการทำ EHIA ที่มีปัญหา รวมทั้งมีการจัดทำข้อมูลของชุมชนเพื่อแสดงข้อมูลถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลา ซึ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับรายงาน EHIA ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิชาการจำนวนมาก จนกระทั่งคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง 'ความยุติธรรมเชิงนิเวศน์ อ่าวท่าศาลา' เพื่อยืนยันถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทประกาศถอนตัวจากพื้นที่ แต่ยืนยันไม่ยกเลิกรายงาน EHIA ซึ่งได้สร้างความกังขาให้กับชุมชนท่าศาลาและสังคมโดยรวมตลอดมา ถึงความจริงใจของบริษัทฯ
 
ต่อมารายงาน EHIA ของบริษัทเชฟรอนเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตสร้างท่าเรือและฐานปฏิบัติการขุดเจาะน้ำมัน โดยยื่นเข้าสู่องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม (กอสส.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2556 เพื่อให้ กอสส.ดำเนินการต่อไป
 
เหตุการณ์ดังกล่าวชุมชนมุสลิมท่าศาลาไม่อาจยอมรับความตระบัดสัตย์ของบริษัทสัญชาติอเมริการายนี้ได้ แกนนำชุมชนทั้งหมดลุกขึ้นมาทบทวนจนได้บทเรียนว่าหลังจากนี้จะใช้ทุกวิถีทางในการหยุดเชฟรอนให้ได้ เพราะการทำลายท้องทะเลของบริษัทน้ำมันในขณะนี้ถือเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุด
 
"การรักษาทะเลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือการปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า หลังจากนี้คงไม่อาจพูดด้วยเหตุผลปกติกับเชฟรอนได้อีกแล้ว เราจะรวมจิตวิญญาณของชาวมุสลิมเพื่อต่อต้านกับการคุกคามของบริษัทข้ามชาติรายนี้ให้จงได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม" นายสุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา กล่าว
 
ด้านนายหมาด ลังกาบำ ผู้อาวุโสของชาวมุสลิมแถบนี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพฤติกรรมของเชฟรอนไม่น่าไว้วางใจตลอดมา และชาวบ้านได้ใช้ความอดทนเสมอมาตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยหวังว่า กฎหมาย และข้อมูลจะช่วยให้บริษัทอเมริการายนี้ถอยออกไปจากพื้นที่
 
"เราเพิ่งทราบข่าวเมื่อสองสามวันที่ผ่านมาว่าเชฟรอนยื่นรายงานอีไอเอเข้าสู่การขอใบอนุญาตสร้างท่าเรือ แม้ว่าจะไม่เกินคาดแต่ก็ตอกย้ำเราว่าถึงเวลาแล้วที่จะใช้มาตรการอื่นหลังจากก่อนหน้านี้ได้ห้ามปรามกันมาตลอด" นายหมาดกล่าว
 
การรวมตัวครั้งนี้ไม่มีคำแถลงการณ์ใดๆ โดยแกนนำให้เหตุผลว่าแถลงการณ์ทำมามากพอแล้วไม่มีผลอันใด วันนี้จึงตั้งใจให้เป็นการประกาศเตือนครั้งสุดท้าย ก่อนใช้ทุกมาตรการในการหยุดเชฟรอน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยมาตรการได้ในขณะนี้ โดยจะเคลื่อนไหวหลัง 20 สิงหาคมนี้ แต่แหล่งข่าวเปิดเผยว่าขณะนี้ช่วงกลางคืนมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อมูลและระดมมวลชนทุกคืน
 
"ผมยอมตายเพื่อรักษาทะเลนี้ไว้ ผมพร้อมและหลายคนก็พร้อม ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว" นายชายแดน แกนนำอีกคนหนึ่งกล่าวอย่างหนักแน่น
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รำลึก 68 ปีวันสันติภาพไทยที่ธรรมศาสตร์

Posted: 16 Aug 2013 09:48 AM PDT

วันนี้ (16 ส.ค.) ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมกันจัดงานรำลึก "68 ปี วันติภาพไทย" โดยมีทายาทเสรีไทย และคณะราษฎรเข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยมี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และในงานยังมีกิจกรรมวางช่อดอกไม้ ยืนคารวะไว้อาลัยเสรีไทยและผู้สละชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพ ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ และต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสันติภาพไทย

และในงานดังกล่าวยังมีการปาฐกถา "ภารกิจเพื่อชาติเพื่อ Humanity ของจำกัด พลางกูร กับเอกราชของไทย" โดย ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะละครเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการมอบรางวัลสันติประชาธรรมให้ นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร นักธุรกิจเพื่อสังคม และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง โดยมีนางสุดา พนมยงค์ เป็นผู้มอบรางวัล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวนายังไม่ตาย! สัมมนาถามหาคุณค่า-ความหมาย ในภาวะหนี้สินทำช้ำหนัก

Posted: 16 Aug 2013 09:43 AM PDT

วิจัยชุมชนศึกษาข้อมูลหนี้สินชาวนา เผยอยุธยาจากอู่ข้าวอู่น้ำสู่แหล่งอุตสาหกรรม หนี้สูงเฉลี่ย 6.3 แสน ขณะที่เพชรบุรีค่าเช่านาสูงถึง 35% ของต้นทุนทำนา ด้านนักวิชาการชี้ชาวนาไม่มีวันตาย แต่อยู่ทุกวันก็เหมือนตาย มองทิศทางการต่อสู้ยังต้องต่อรองกันไปเรื่อยๆ
 
 
15 ส.ค.56 กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Action Links) ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ "คุณค่า ความหมายของชาวนาและชุมชน ในยุคโลกาภิวัตน์" ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
นำเสนอ ข้อค้นพบบางประการจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ภาวะหนี้สินชาวนากับนัยที่มีผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม" ใน 2 กลุ่มพื้นที่ คือ 1.เกษตรกรกลุ่มอุทัยพัฒนา จ.อยุธยา จำนวน 100 ราย และ 2.เกษตรกรกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชร จ.เพชรบุรี จำนวน 135 ราย และเรื่อง "การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยกับนัยยะที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม" ศึกษาพื้นที่ ชุมชนบ้านไร่เหนือ ต.ในเตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยดำเนินโครงการตั้งแต่ ก.ย.55 - ส.ค.56
 
 
อยุธยา: การเปลี่ยนผ่าน เมืองเกษตรสู่นครโรงงาน
 
กิมอัง พงษ์นารายณ์ ชาวนา จ.ชัยนาท ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) นำเสนอผลสรุปกรณีศึกษา จ.อยุธยาว่า อยุธยาจากที่เคยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ตอนนี้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม โดยผลผลิตมวลรวม (จีดีพี) ของจังหวัดมาจากภาคอุตสาหกรรมถึง 98.27% และจากภาคเกษตรกรรมเพียง 1.73%
 
ชาวนาส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 62 ปี และมีแนวโน้มไม่มีลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรกรต่อ ปัจจุบันเกษตรถึง 84 % เปลี่ยนไปทำอาชีพนอกภาคเกษตร ด้วยสาเหตุที่ว่ารายได้ไม่เพียงพอ ภาระหนี้สิน ราคาผลผลิตตกต่ำ และสุขภาพไม่เอื้ออำนวยตามลำดับ
 
ในส่วนของพื้นที่ ปัจจุบันเนื้อที่ 60% ของจ.อยุธยายังคงเป็นที่ทำนาปลูกข้าว แต่มีแนวโน้มลดลง และชาวนาส่วนใหญ่คือ 72% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองจึงมีการเช่าทำนามายาวนานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย
 
กิมอัง กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันเกษตรกร 27% มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ เกษตรกร 45% มีที่ดิน 1-4 ไร่ ส่วนเกษตรกรที่มีที่ดิน 5-9 ไร่ คิดเป็น 15% รวมแล้วเกษตรกร 87% มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และมีคนที่ต้องเช่าที่นาทำนาถึง 85% โดยเสียค่าเช่านาประมาณ 1,052 บาทต่อไร่ ซึ่งคิดเป็น 17.5% ของต้นทุนทำนาทั้งหมด 6,007 บาทต่อไร่
 
สำหรับเรื่องหนี้สิน เกษตรกรอยุธยากลุ่มตัวอย่างมีหนี้สินเฉลี่ย 636,387 บาทต่อครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยถึง 58% ของหนี้สินทั้งหมด
 
 
เพชรบุรี: ที่ดินปัจจัยการผลิตที่ต้องเลือกเพาะปลูก
 
งานศึกษา จ.เพชรบุรี ระบุข้อมูลว่า ผู้ที่มีอาชีพทำนาส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุเฉลี่ย 60 ปี และตัวเลขของคนที่ทำนาเป็นอาชีพหลักลดลงจากอดีตประมาณ 1 ใน 3 ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้เกษตรกร 89% ยังคงสืบทอดอาชีพทำนาจากรุ่นพ่อแม่ แต่อาชีพทำนาไม่ใช่อาชีพหลักของเกษตรกรส่วนใหญ่ และพื้นที่นาได้ถูกปรับขนาดให้ลดลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อตอบสนองตลาด
 
อีกทั้ง พบว่ารายได้ที่เป็นกำไรสุทธิจากการทำนาขายข้าวของชาวนา จ.เพชรบุรี เท่ากับ 8,220 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 7,500 บาทต่อเดือน มีส่วนต่างรายได้เพียง 720 บาท ซึ่งไม่มากนัก ตรงนี้อาจเป็นเงื่อนไขให้ชาวนานำไปเปรียบเทียบรายได้จากการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
 
กิมอัง ให้ข้อมูลว่า พบเกษตรกรมีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ 4% เกษตรกรมีที่ดิน 1-4 ไร่ 27% เกษตรกรมีที่ดิน 5-9 ไร่ 29% รวมแล้วเกษตรกร 60% ที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และมีคนที่ต้องเช่าที่นาทำนา 24% โดยค่าเช่านาเฉลี่ย 2,400 บาทต่อไร่ คิดเป็น 35% ของต้นทุนทำนาเฉลี่ย 6,950 บาทต่อไร่ และค่าใช่จ่ายในการลงทุนทางการเกษตรที่สูงที่สุดคือค่าเช่าที่ดิน
 
ส่วนหนี้สินของเกษตรกร จ.เพชรบุรี เฉลี่ย 364,787 บาทต่อราย ในจำนวนหนี้เป็นดอกเบี้ย 35% ของหนี้สินทั้งหมด
 
 
ภาวะหนี้สินชาวนาวังวนปัญหาที่ยังรอการแก้ไข
 
กิมอัง แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ก็ทำได้เพียงเยียวยา ไม่ได้ลงลึกถึงโครงสร้างของปัญหา ซึ่งจะช่วยเหลือและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมชาวนาได้จริง อีกทั้งยังพบปัญหาการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม การไม่ควบคุมราคาปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรม การกว้านซื้อที่ดินเพื่อปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทั้งสิ้น
 
กิมอังให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรรายใหญ่ที่ให้ผลผลิตสูง โดยมีการรับปากว่าจะรับซื้อผลผลิตคืน ซึ่งส่วนตัวกลัวว่าหากพันธุข่าวดังกล่าวปลูกกันอย่างแพร่หลายแล้ว เกษตรกรจะถูกผูกขาดต้องซื้อทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่บริษัทฯ เป็นผู้กำหนดราคา
 
"ผลผลิตเกษตรตกอยู่ในมือเขา แล้วนโยบายของรัฐสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า" กิมอังตั้งคำถาม
 
ส่วนเรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกร นางกิมอัง กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ยื่นคำร้อง 500,000 ราย มีหนี้สินกว่า 60,000 ล้าน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพียง 30,000 ราย คิดเป็นหนี้สิน 3,000 กว่าล้าน ซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้ปัญหาหมด
 
กิมอัง กล่าวด้วยว่า ทางรอดของเกษตรคือลด-เลิกการใช้สารเคมี หันมาใช้ชีวภาพ แต่ทางรอดกลับไปไม่ได้เพราะวิธีดังกล่าวต้องใช้เวลา ตราบใดที่เกษตรกรยังมีหนี้สินติดหลังอยู่คงเกิดขึ้นยาก อีกทั้งยังไม่มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของเกษตร
 
 
นักวิชาการฟันธงไม่มีวันที่ชาวนาไทยจะหมดไป
 
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงคำถามสำคัญสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับชาวนาที่ว่า "ชาวนาคือใคร?" ว่า สถานะของชาวนามีความสับสนมาตั้งแต่ในอดีต โดยชาวนาถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีสถานะที่ยื่นอยู่ระหว่างกลางไม่ใช่คนรวยหรือคนจน เพราะชาวนามีปัจจัยการผลิตคือที่ดินอยู่แต่ไม่มากนัก แต่มีวิถีชีวิตแบบขึ้นๆ ลงๆ เพราะพึ่งพาดินฟ้าอากาศในการทำการเกษตร จึงต้องดิ้นรนตลอดเวลา ต่างจากโลกสมัยใหม่ ที่ชาวนากลายเป็นผู้รับจ้างทำนาหรือเป็นกรรมกรที่ใช้แรงงานโดยไม่มีที่ดิน ไม่ต้องแบกรับภาวะความเสี่ยง
 
ส่วนคำถามที่ว่าชาวนาจะหายไปจากสังคมหรือไม่ เพราะในอดีตมีความเชื่อว่าชาวนานั้นอยู่ในช่วงรอยต่อที่จะก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อเข้าสู่สังคมสมัยใหม่แล้วชาวนาจะถูกผลักเข้าไปเป็นกรรมกรในเมือง ก็มีข้อถกเถียงทางทางทฤษฎีว่าคนที่ทำนาอยู่ในทุกวันนี้เป็นชาวนาหรือไม่
 
ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันชาวนาไทยอยู่ในภาวะที่ยังมีที่ดินขนาดเล็กอยู่ แต่กำลังจะสูญเสียที่ดินไปเรื่อยๆ และมีหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า "ทำไมชาวนายังไม่ตาย" ซึ่งตรงนี้เป็นข้อค้นพบใหม่ที่ได้จากงานศึกษาวิจัยในวันนี้ นั่นคือชุดความคิดที่พูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
 
ในทางหนึ่งมีการค้นพบกรณีคลาสสิกในงานวิจัยชุมชนเกี่ยวกับชาวนาเสมอๆ นั่นคือ ที่ดินลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ที่ชาวนาไม่ตายเพราะความเสี่ยง เนื่องจาก 1.โลกต้องการอาหาร หากไม่มีชาวนาก็อาจยังผลิตอาหารได้ในลักษณะที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จ้างแรงงานชาวนาในการผลิต แต่ในความเป็นจริงไม่มีวันที่ชาวนาจะหมดไปโดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทย เพราะทุนขนาดใหญ่ไม่กล้าแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนผลิตเอง แต่โยนความเสี่ยงให้เกษตรแบกรับ   
 
2.มิติทางการเมือง ทางการแรงตึงเครียดตรงนี้รัฐได้ทำหน้าที่บางประการ เพื่อให้วิกฤตดีขึ้น ภายใต้การช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะรัฐที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งทางหนึ่งเป็นเพราะต้องการได้รับการเลือกตั้ง และอีกทางหนึ่งคือต้องการลดวิกฤติ ไม่เช่นนั้นคนจะไม่มีอาหารกิน หากไม่มีการเพาะปลูก ดังนั้นหน้าที่ทางการเมืองตรงนี้จึงยังมีอยู่เสมอ
 
"ความแตกต่างก็คือทุกข์ของชาวนาเปลี่ยน มันมีความซับซ้อน แต่ชาวนาก็ยังดำรงอยู่ ตราบใดที่ยังมีวิกฤติของสังคมในการสะสมทุนในวันนี้ ในลักษณะพิเศษแบบนี้ คือโลกนี้ในทางหนึ่งยังจำเป็นต้องมีอาหาร และในอีกทางหนึ่งทุนใหญ่ก็ไม่อยากแบกความเสี่ยง ฉะนั้นชาวนาก็ต้องมาทำหน้าที่แบบความเสียงของทุน แล้วก็ต้องเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงโลก แต่การพูดแบบนี้ก็ต้องเอาทุกข์ชาวนาเป็นที่ตั้งด้วย"
 
 
มองทิศทางการต่อสู้ของชาวนา ยังคงต้องต่อรองกันไปเรื่อยๆ
 
ผศ.ดร.พิชญ์ ยังกล่าวแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า เรื่องความมั่นคงทางอาหารดีในทางหนึ่งคือทำให้คนชั้นกลางในเมืองได้เข้าใจว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นมาจากไหน ความมั่นคงทางอาหารในขั้นลึกคือชาวนาต้องสามารถที่จะยืนอยู่ได้จึงจะผลิตออาหารที่มั่นคงให้ชนชั้นกลางได้ แต่ในอีกทางหนึ่งข้อเสนอนี้เป็นแนวความคิดที่เห็นแก่ตัว เพราะสุดท้ายไม่ได้เอาทุกข์ชาวนาเป็นที่ตั้ง แต่เอาทุกข์ระยะสั้นของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง
 
อีกประเด็นใหม่ที่พบในงานวิจัยคือโครงสร้างอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ไม่ใหม่คือชาวนาออกจากภาคเกษตรไปทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามักตอบว่าเป็นเพราะไม่พอกิน หากมองในระดับทฤษฎีนักวิชาการจะบอกว่าเหตุผลที่สำคัญเป็นเพราะวิธีการผลิตข้าวในปัจจุบันนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเพียงพอ แต่กลับไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในระดับตัวชาวนาเองและกลุ่มทุนก็ไม่เห็นความสำคัญ ชาวนาจึงต้องดิ้นรนไปทำอย่างอื่น  
 
ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวด้วยว่า จากงานวิจัยพบว่ามีองค์กรใหม่ๆ ที่การเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจำนวนมากทั้งของรัฐเอง และการรวมตัวของชาวนา แต่ลักษณะการประเมินผลอาจกระจุกอยู่เฉพาะเรื่องการเจรจาต่อรองเรื่องหนี้สิน ทั้งที่ภาพใหญ่ในวันนี้ ในงานวิจัยหลายๆ ชุดพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องชาวนาเข้ากับมิติทางการเมืองในระดับชาติด้วย
 
ยกตัวอย่างงานวิจัยของนักวิชาการอินเดีย ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนาข้อหนึ่ง จากอดีตที่เรานิยามสังคมชาวนาว่าเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษ มีชุดทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง เป็นสังคมช่วงรอยต่อจากเก่าสู่ใหม่ แล้วมักจะต้องรวมตัวกันต่อสู้กับโลกภายนอกที่เข้ามากดขี่ขูดรีดชาวนาโดยเฉพาะรัฐ แต่ในวันนี้นักวิจัยในอินเดียค้นพบว่า โครงสร้างของรัฐ โครงการต่างๆ มันแทรกซึมลงไปในชีวิตของหมู่บ้านหมดแล้ว ชาวนาไม่ได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของภายนอกที่จะเข้ามาทำลายสังคมชาวนาให้กระจัดกระจายอีกต่อไป และชาวนาก็มีความสามารถในการต่อรองในโครงการต่างๆ สูง
 
"คือมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวนา เพราะฉะนั้นชาวนาก็ไม่ได้ปฏิเสธรัฐ หรือถูกรัฐครอบงำอย่างสมบูรณ์ แต่มันเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งมันต่างจากเดิมที่เรามองว่าชาวนาจะถูกดกขี่โดยรัฐอย่างสมบูรณ์" ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว และว่าชีวิตชาวนาเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องเนื่องจากชาวนามีหลายสถานภาพ ดังนั้นการพูดถึงหนี้สินชาวนาในงานวิจัยยังจำเพาะอยู่ในเรื่องเดียวไม่ได้เชื่อมกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นความอยู่รอดของสังคมชาวนา
 
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ยังตั้งคำถามด้วยว่า ทิศทางการต่อสู้ของชาวนาจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นทิศทางการตั้งรับและประนีประนอมหนี้ ซึ่งจะยังไม่นำไปสู่การระเบิดออกมา เพราะสุดท้ายทุกคนยังคงต้องพึ่งพากันอยู่ ทุนนิยมต้องการชาวนา รัฐก็ต้องการชาวนาเป็นฐานคะแนนเสียง ชาวนาก็ต้องการคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้นความเชื่อแบบโบราณที่นำไปสู่การศึกษาเรื่องสังคมชาวนา ที่เชื่อว่าชาวนานั้นจะเป็นปัจจัยในการปฏิวัติสังคมคงไม่จริง วันนี้ก็คงต้องเจรจาต่อรองกันไปเรื่อยๆ
 
"ชาวนาไม่มีวันตาย แต่ทุกวันชาวนาก็เหมือนตายอยู่อย่างนี้ นี่คือลักษณะปกติของความเป็นชาวนาในทฤษฎี เพราะชาวนาจะมีอาการปริ่มน้ำตลอดเวลา" ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย
 
 
 
ดาวน์โหลดงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.landactionthai.org :
- "ภาวะหนี้สินเกษตรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม" กรณีศึกษา สค.ปท. จ.พระนครศรีอยุธยา โดย อารีวรรณ คูสันเทียะ นักวิจัยพื้นที่ จ.อยุธยา
- "ภาวะหนี้สินเกษตรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม" กรณีศึกษา สค.ปท. จ.เพชรบุรี โดย เมธี สิงห์สู่ถ้ำ นักวิจัยพื้นที่ จ.เพชรบุรี
- "การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย กับนัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม" กรณีศึกษา องค์กรชุมชนบ้านไร่เหนือ คปบ. จ.ตรัง โดย กฤษดา ขุนณรงค์ นักวิจัยพื้นที่ จ.ตรัง
- "นัยยะความมั่นคงทางอาหารในกระแสความเปราะบางของสังคมผู้ผลิต" โดย ปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิจัยประจำโครงการสิทธิชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาเตรียมจัดละคร 'เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY' รำลึก 'จำกัด พลางกูร'

Posted: 16 Aug 2013 08:16 AM PDT

ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง และชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดละครเวที "เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY" รำลึกวีรบุรุษที่โลกลืม "จำกัด พลางกูร" เสรีไทยหนุ่มผู้กล้ารับหมายภารกิจอันสำคัญยิ่งกว่าชีวิตของเขา รอบสื่อมวลชน 30 ส.ค. นี้  

 
   
 
16 ส.ค. 56 - ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง และชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดละครเวทีเรื่อง "เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY" ว่าด้วยวีรกรรมของนายจำกัด พลางกูร  หนึ่งในขบวนการเสรีไทย (ในประเทศ) ที่กล้าปฏิบัติภารกิจสำคัญในการเดินทางผ่านเขตทหารกองทัพญี่ปุ่น เพื่อไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยไม่ถูกปรับให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ วีรกรรมของเขาจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ แต่ชื่อเสียงและภารกิจนี้ กลับไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมเท่าที่ควร ละครเวทีประวัติศาสตร์เรื่องนี้ จัดแสดงโดยศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบันของคณะเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้เขียนต้นฉบับแรกของบทละคร กล่าวว่า "ในการค้นคว้าเรื่องขบวนการเสรีไทย ผมพบว่าคุณจำกัด พลางกูร มีความสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเขาคือผู้ที่ยอมสละชีวิต เสี่ยงภัยเดินทางไปยังเมืองจีนเพื่อขอเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้รับทราบการเกิดขึ้นของขบวนการเสรีไทยในประเทศ และให้การยอมรับสถานะของขบวนการจนกระทั่งส่งผลให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด"  
 
การปฏิบัติภารกิจของนายจำกัด ได้รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำขบวนการเดินทางเสี่ยงการถูกฝ่ายทหารญี่ปุ่นจับตัว เพื่อไปยังแผ่นดินจีนและหาโอกาสเจรจากับนายพลเจียงไคเช็ค ผู้นำกองกำลังทหารพรรคก๊กมินตั๋ง และประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ให้ถือคำประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยรัฐบาลไทยขณะนั้น ซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ และขอให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองความชอบธรรมของขบวนการเสรีไทยที่กำลังต่อต้านฝ่ายอักษะ นอกจากนี้ ยังขอการสนับสนุนหาทางให้นายปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศอินเดียด้วย 
 
บันทึกประจำวันเขียนด้วยลายมือความหนานับพันหน้าของนายจำกัด พลางกูร และจดหมายโต้ตอบนับหลายฉบับระหว่างเขากับ พ.ท.ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน คณะกู้ชาติสายอังกฤษ ได้เผยความนึกคิดและสภาพความเป็นอยู่อันยากแค้นของเขาระหว่างปฏิบัติภารกิจนี้อย่างโดดเดียวในแผ่นดินจีนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ที่สำคัญที่สุด จากบันทึกฉบับนี้ ความจริงหลายเรื่องในประวัติศาสตร์ช่วงปี พ.ศ.2486 ก็ปรากฏชัดขึ้น ความจริงเบื้องหลังที่ทำให้ชาติไทยธำรงเอกราชไว้ได้
 
"คุณูปการ 3 ข้อ จากบันทึกประจำวันของนายจำกัดฉบับนี้ ชี้ให้สังคมไทยเห็นว่า หนึ่ง จีนเป็นประเทศแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่รับปากว่าจะให้การรับรองเอกราชของไทย ซึ่งนี่น่าจะเป็นข้อมูลที่บอกว่า จีนมีบทบาทสำคัญพอๆ กับสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนอาวุธแก่ขบวนการเสรีไทยเลยทีเดียว  สอง เรื่องราวในจดหมายระหว่างนายจำกัดกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ 7 สะท้อนให้เห็นการประนีประนอมยอมรับระบอบการปกครองใหม่ ระหว่างฝ่ายเจ้ากับคณะราษฎรอย่างมีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ การที่ฝ่ายเจ้าก็ให้การยอมรับหลักการของคณะราษฎรที่ชูความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และการนำของนายปรีดี ด้วยคำพูดบางตอนของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ในบันทึกที่ว่า 'ถึงผมจะเป็นเจ้า แต่ก็บูชาประชาธิปไตย' และคุณูปการข้อสุดท้ายคือ การทำให้พลังประชาชนในชาติมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยครั้งนั้น จำต้องอาศัยความรักและความร่วมมือของคนในชาติอย่างแท้จริง ลำพังการประกาศจุดยืนของเสรีไทยนอกประเทศที่ขาดกำลังคน ย่อมไม่อาจบรรลุผล"  ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กล่าวย้ำ 
 
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกูล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ในฐานะประธานชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมืองและนักแสดงหลักในละครเรื่องนี้ เผยว่า "เราทุกคนได้อ่านเรื่องของนายจำกัดแล้วจากหนังสือชื่อ เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY เขียนโดยท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แล้วรู้สึกภูมิใจมากที่ประเทศไทยมีคนกล้า ยอมเสียสละแม้ชีวิตเพื่อชาติ เสี่ยงภัยที่ไม่อาจคาดเดาได้ จนฟันฝ่าไปถึงจุดหมายและมุ่งมั่นจัดการภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง ถ้าขาดเขา ปานนี้ไม่รู้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรเลย"
 
โดยคณะผู้จัดงานและการแสดงละครเวทีคาดหวังว่าการจัดการแสดงละครครั้งนี้จะลบข้อครหาที่เคยมีผู้กล่าวว่านายจำกัด พลางกูร ที่ได้มอบชีวิตของเขาให้แก่ประเทศชาติ แต่ทุกวันนี้กลับมีคนน้อยมากที่รับรู้และสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงความรักชาติและความกล้าหาญของเขา โดยการแสดงรอบสื่อมวลชนจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2556 เวลา 18.30 น.  ณ โรงละครสดใส พันธุมโกมล  ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปฏิบัติการแห่งอำนาจทางกฎหมายในชีวิตประจำวัน และ สำนึกเรื่อง “สองมาตรฐาน”

Posted: 16 Aug 2013 07:22 AM PDT

บทความเรื่อง "ปฏิบัติการแห่งอำนาจทางกฎหมายในชีวิตประจำวันฯ" นี้เป็นความพยายามของผู้เขียนในการแสดง "ปัญหา" และ "เงื่อนไข" ที่ได้จากความขัดแย้งในชีวิตประจำวันของสามัญชนไทย ที่มักถูก "มองข้าม" หรือ "เก็บกด" ซ่อนเร้นไว้ภายใต้วาทกรรม "เมืองไทยนี้ดี คนไทยมีน้ำใจ รู้รักสามัคคี"  ว่าแท้ที่จริงแล้ว   หากค้นหาความจริงที่ปรากฏอยู่ในชีวิตธรรมดาของประชาชนนั้นล้วนแต่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบ   แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ความขัดแย้งเหล่านั้นมิได้ถูกยกระดับเข้าสู่การรับรู้ของสาธารณชน หรือแม้กระทั่งคนจำนวนไม่น้อยที่ตกในสถานการณ์เหล่านั้นก็จำต้อง "ยอม" รับเอาผลในการระงับข้อพิพาทไปด้วยใจที่คลางแคลง หรือเจ็บแค้น   ซึ่งมีส่วนไม่น้อยในการประกอบสร้างประสบการณ์ทางการเมืองและนำไปสู่การแสวงหา บุคคล สถาบัน นโยบาย หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่จะมาตอบสนองต่อสภาพปัญหาทางกฎหมายที่ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันของตนที่เต็มไปด้วย "ความเสี่ยง"   ด้วยเหตุที่ตนนั้นมีอำนาจด้อยกว่า  

จากงานวิจัยเรื่อง "สภาพปัญหาทางกฎหมายในชีวิตประจำวันของประชาชน และแนวทางการใช้หลักกฎหมายเบื้องต้นในการแก้ไข" ของข้าพเจ้าก็ให้ข้อสรุปได้บางประการว่า   อำนาจที่น้อยของประชาชนนั้นมิได้มีเพียงอำนาจทาง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่น้อยกว่าคู่กรณี คู่พิพาท หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น   แต่อาจหมายถึงความด้อยกว่าด้าน "ความรู้" และ "ภาพลักษณ์"   นั่นหมายความว่า งานวิจัยและหนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสะสม ความรู้ทางกฎหมายและแนวทางในการใช้กระบวนการทางกฎหมาย เสริมสร้างอำนาจของตน เพื่อนำไปเสริมกลยุทธ์ในการต่อสู้ ต่อรอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแก่ตน   ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาของหนังสือจะแสดงให้เห็นทั้งภาพรวมของ ข้อพิพาททางกฎหมายในชีวิตประจำวันของประชาชน   ตัวอย่างกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นรายละเอียดที่น่าสนใจบางคดี   และแนวทางในการนำ "ความรู้ทางกฎหมาย" เบื้องต้น มาใช้เสริมสร้างอำนาจในการต่อสู้ ต่อรอง ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยอำนาจ ด้อยทุนทั้งหลาย   เพราะข้อดีประการหนึ่งของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการระงับข้อพิพาทก็คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมได้รับรองสถานะอย่างเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย   เพียงแต่ต้องประยุกต์ใช้กฎหมาย และกระบวนการทางกฎหมายให้กลายเป็นเครื่องมือของตนให้ได้

ข้อพิพาทหลักของเรื่องว่าเกี่ยวเนื่องกับประเด็นทางกฎหมายด้านต่างๆ สามารถจำแนกออกได้เป็นประเภทต่างๆดังต่อไปนี้

โดยประเด็นที่มีความถี่สูงสุด 10 อันดับแรก   ได้แก่

1.                  นิติกรรมสัญญา 329 ประเด็น                                           คิดเป็น 10.19%

2.                  ความผิดต่อทรัพย์/ฉ้อโกง 325 ประเด็น                              คิดเป็น 10.06%

3.                  คดีจราจรทางบก 277 ประเด็น                                          คิดเป็น 8.58%

4.                  ทรัพย์/ทรัพย์สินทางปัญญา 241 ประเด็น                           คิดเป็น 7.46%

5.                  เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 211 ประเด็น                คิดเป็น 6.53%

6.                  คดีผู้บริโภค 181 ประเด็น                                                 คิดเป็น 5.60%

7.                  ละเมิด/จัดการงานนอกสั่ง/ลาภมิควรได้ 167 ประเด็น          คิดเป็น 5.17%

8.                  ปัญหากระบวนการทางอาญา 157 ประเด็น                        คิดเป็น 4.86%

9.                  หนี้ 156 ประเด็น                                                                        คิดเป็น 4.83%

10.              ความผิดต่อร่างกาย 149 ประเด็น                                     คิดเป็น 4.61%

 

ผลการวิเคราะห์ในเชิงลึกจากกรณีศึกษาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นว่าว่า หากต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของประชาชน การไร้ความรู้เบื้องต้นทางกฎหมายจะทำให้ประชาชนต้องเสี่ยงต่อความเสียเปรียบและด้อยอำนาจต่อรองอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ว่าหากไร้ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายหรืออำนาจรัฐในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาทั้งหลายเสียแล้ว   ประชาชนในสังคมไทยจำเป็นต้องมีทุนใดบ้างในการแก้ปัญหาทางกฎหมายในชีวิตประจำวันของตน   ดังจะมีการวิเคราะห์ตามกรณีศึกษาที่ปรากฏในชีวิตจริงของบุคคลทั้งหลายที่ผู้เขียนได้รวมรวมจากงานวิจัย แต่ในส่วนของ "แนวทางแก้ไข" จะเป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์เพิ่มเติมหลังจากได้วิเคราะห์สภาพปัญหาและวิธีการแก้ไข


ชื่อเรื่อง...เจ้าพนักงานเข้าค้นโดยมิชอบ

บ่ายวันหนึ่งมีตำรวจพร้อมหมายศาลขอค้นที่พักอาศัยของคนงานที่ทำงาน โดยให้เหตุผลว่ามี คนงานคนหนึ่งมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ด้วยความที่พ่อแม่ข้าพเจ้าเชื่อใจในตัวคนงานมาก  จึงปล่อยให้ตำรวจคนหนึ่งเข้าไปค้นห้องเพียงคนเดียว ตำรวจคนหนึ่งเดินออกมาพร้อมยาบ้าครึ่งเม็ด และขอจับกุมคนงานทุกคนตรวจปัสสาวะ ซึ่งผลออกมาก็ไม่มีผู้ใดที่บ่งบอกว่าติดยา จึงปล่อยทุกคนกลับบ้านและขอคุมตัวคนงานเจ้าของห้องที่พบยาบ้าไว้ก่อน ซึ่งในตอนแรกพ่อกับแม่ขอประกันตัวไว้แต่ก็ไม่ได้รับการยินยอม  แล้วมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเดินออกมาพร้อมกล่าวหาว่าแม่ขัดขวางการทำงานเจ้าพนักงานและพยายามปกปิดความผิดคนงาน  นายตำรวจบอกให้แม่เอาเงินให้เขาจำนวน 50,000 บาทแล้วคดีก็จะสิ้นสุดลง แต่แม่ไม่ยอมให้ นายตำรวจคนนั้นจึงขู่ว่าจะสั่งปิดกิจการทางบ้านและขออายัดทรัพย์สิ้นทั้งหมด  ทั้งนี้ตำรวจคนนั้นยังจับแม่ไว้และให้เหตุผลว่ากลัวแม่จะหนีความผิด

ซึ่งมองอย่างไรก็ดูเหมือนว่าตำรวจผู้นั้นต้องการแค่เงินของแม่ และเรื่องที่เกิดขึ้นก็ยังทำให้กิจการของทางบ้านจำเป็นต้องหยุดชะงักลงอีกด้วย


แนวทางแก้ไข

ใช้หลักการตรวจค้นและตั้งข้อหาตามกระบวนการทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกรณีนี้การตรวจค้นกระทำได้ตามหมายค้น แต่ยังมีข้อต่อสู้เรื่องการพบยาเพียงครึ่งเม็ดแต่ไม่พบสารเสพติดในร่างกายของผู้ใด ส่วนเรื่องการโต้เถียงเป็นการใช้สิทธิธรรมดาที่กระทำได้ไม่ถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกเงินถือเป็นความผิดทางอาญาของเจ้าพนักงานสามารถฟ้องต่อศาลอาญาได้ โดยอาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปปช. หรือแต่งทนายขึ้นสู้คดีเอง

 

ชื่อเรื่อง...ด่านลอย

พี่ชายผมและพี่สะใภ้เดินทางไปบ้านญาติที่อยู่ในซอยค่อนข้างเปลี่ยวแต่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก ซึ่งพบด่านตำรวจจึงหยุดให้ตรวจตามปกติ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ขอตรวจค้น และพบหนังสือพิมพ์กีฬาฉบับหนึ่งเขาจึงถามว่าเล่นพนันฟุตบอลหรือ พี่ชายผมปฏิเสธไปเพราะไม่มีหลักฐานอื่นได้ เขาจึงเปลี่ยนประเด็น และบอกว่าเป็นบุคคลต้องสงสัยที่มีประวัติเคยค้ายาเสพติด พี่ชายและพี่สะใภ้ผมจึงปฏิเสธอีกครั้ง  ขณะเดียวกันพี่ชายผมกำลังโทรศัพท์กลับมาที่บ้านเพื่อบอกให้แม่ได้ทราบเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ดึงโทรศัพท์ออกและรุมทำร้ายพี่ชายผม พร้อมกับพูดว่า " มึงหัวหมอนักหรือ" จากนั้นเอาโทรศัพท์ไปคุย และแนะนำตัวว่าเป็น สารวัตกำนัน และบอกแม่ผมว่าพี่ชายถูกจับเพราะมากับผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด  ซึ่งแม่ได้ปฏิเสธ จากนั้นเจ้าหน้าที่คนนั้นรับปากทางโทรศัพท์ว่าจะช่วยดูแลพี่ชายผม ซึ่งจริงๆแล้วได้ทำร้ายพี่ชายผมไปแล้วจากนั้นก็ได้ปล่อยตัวพี่ชายผมและพี่สะใภ้ผมกลับมา หลังจากนั้นแม่จึงรีบไปแจ้งความที่ สภอ.เมือง แต่ สภอ.กลับให้ไปแจ้งที่ สน.ท้องที่ เมื่อไปถึงที่ท้องที่กลับบอกว่าไม่มีการตั้งด่านที่นั้น หากมีการตั้งด่านจะมีแต่ที่ สภอ.เท่านั้น  ซึ่งก่อนกลับได้ไปแวะที่เกิดเหตุหลังจากเดิม 3 ชม. ก็ไม่พบการตั้งด่านใดๆ  เมื่อกลับไปที่ สภอ.เมืองอีกครั้ง จึงได้ลงบันทึกประจำวัน และเจ้าหน้าที่ก็ได้พูดปัดความรับผิดชอบว่าคนทำร้ายเป็นสารวัตกำนันไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ อบต.ให้ไปเอาผิดที่นั้นเอง เช้าวันรุ่งขั้นแม่จึงโทรศัพท์ติดต่อไปแต่ถูกปฏิเสธและถูกพูดเชิงดูถูก

แม่จึงโทรไปหากำนันท้องที่ ซึ่งกำนันคนนั้นก็พูดและถามด้วยความรำคาญทั้งยังเยาะเย้ยและดูถูกโดยไม่สนใจแต่อย่างใด   ซึ่งหลังจากนั้นแม่จึงโทรศัพท์ไปที่ อบต.อีกครั้ง และได้พบนายกฯอบต.   แม่จึงเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง ซึ่งเขายอมรับฟังเหตุผลและสนทนาด้วยพร้อมกับรับปากว่าจะตักเตือนเจ้าหน้าที่ในสังกัด และกล่าวขอโทษแม่  แม่จึงยอมยุติเรื่องไว้เท่านี้ แต่ส่วนผมเห็นว่าเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจที่มิชอบ


แนวทางแก้ไข

ใช้หลักการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานต้องกระทำตามกรอบของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และความผิดต่อร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา   ซึ่งกรณีนี้มีการตั้งด่านลอยโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ร้อยเวรประจำการ และยังมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย จึงเป็นการใช้อำนาจนอกกรอบของวีพิจารณาความอาญา และกระทำผิดอาญาต่อร่างกายสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ หากคดีไม่คืบหน้าอาจร้องเรียนไปยัง ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

ชื่อเรื่อง...ศอฉ.อายัดเงินในสถานการณ์ฉุกเฉิน

น้าสะใภ้ของนักศึกษาได้เขียนเช็คเงินสดไว้ล้วงหน้าให้แก่ลูกค้าและลูกน้องจำนวน 4-6คน โดยไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงขึ้น และไม่ทราบว่ากลุ่มลูกค้าเหล่านั้นจะนำเช็คเงินสดไปขึ้นธนาคารเป็นช่วงเวลาพร้อมๆกัน จึงทำให้ยอดรวมของจำนวนเงิน ที่เกิดจาการทำธุรกรรมผ่านในวันนั้นเกิดยอดจำกัด 2,000,000 บาท   น้าสะใภ้ของนักศึกษาจึงถูกรัฐสั่งอายัดเงินทั้งหมดในทุกธนาคารของน้าสะใภ้ไม่ให้สามารถทำธุรกรรมใดได้จนกว่ายอดเงินที่เกิดการถ่ายเทในวันนั้นได้รับการตรวจสอบสอบจากทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)  แล้วว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ชุมนุม จนกระทั่ง ณ ขณะนี้ก็เป็นเวลากว่าสองปีแล้วทางรัฐบาลก็ยังตรวจสอบไม่เสร็จ ทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการลง

แม่หาหลักฐานบิลชำระเงินสด ส่งแฟ็กซ์ที่ใช้ทำธุรกิจมารับรองความบริสุทธิ์ และต้องไปขึ้นศาลเพื่อแจ้งความบริสุทธิ์ใจต่อศาลตามการนัดหมายของศาล


แนวทางแก้ไข

ใช้หลักความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาญา ซึ่งต้องใช้หลักกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ  ซึ่งกรณีนี้มีการใช้กฎหมายพิเศษที่มีลักษณะละเมิดสิทธิดังกล่าว และสร้างภาระในการพิสูจน์ให้กับประชาชน จึงต้องมีการฟ้องเพิกถอนการออกคำสั่งอายัดบัญชีของ ปปง. ในศาลยุติธรรมตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542   แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเนื่องจาก พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ตัดสิทธิของประชาชนในการฟ้องศาลปกครองให้ตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายทั้งสอง   จึงต้องมีการผลักดันให้มีการแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายทั้งสามฉบับ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของประชาชนอีกต่อไป

หลังจากได้นำเสนอแนวทางในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาทางกฎหมายในชีวิตประจำวันของประชาชนไปแล้วจะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วการแก้ไขปัญหาด้วยกฎหมายในประเด็นต่างๆโดยเน้นไปที่การใช้วิธีการหรือช่องทางกฎหมายเป็นหลักสำคัญ จะต้องใช้เวลาและการตอบสนองจากองค์กรทางกฎหมายของรัฐเป็นอย่างมาก เพื่อนำหลักกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ทั้งในเชิง "สาระ" ของข้อพิพาท และ "กระบวนการทางกฎหมาย" ในการระงับข้อพิพาท   การใช้กฎหมายหรือองค์กรทางกฎหมายจึงอาจเป็นแนวทางในการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิและแสวงหาทางเลือกในการระงับข้อพิพาทอย่างสันติสำหรับประชาชนที่ไม่ง่ายสำหรับสามัญชนผู้อำนาจด้อยกว่า

ในทางกลับกัน ผู้ที่มี "เส้นสาย" "ฐานะทางเศรษฐกิจ" "ตำแหน่งแห่งที่" หรือ "ความรู้ทางกฎหมาย" ที่ดีกว่า ก็มักอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าในความขัดแย้งเหล่านั้น   แม้จะมีความชอบธรรมน้อยกว่าหากปรับใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาตามลายลักษณ์อักษร    ความยุติธรรมตามกฎหมายที่ได้เขียนไว้ล่วงหน้า โดยยังไม่ได้นำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริง จึงไม่อาจอำนวย ความยุติธรรมทางสังคม ให้กับ ผู้ที่มีต้นทุนน้อย/อำนาจน้อยในสังคม   และประสบการณ์เหล่านั้นก็ได้ประกอบสร้างสำนึกเรื่อง "สองมาตรฐาน" ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนคนสามัญจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความ "การประกอบสร้างสำนึก "สองมาตรฐาน" ของประชาชนจากประสบการณ์ปัญหาทางกฎหมายในชีวิตประจำวัน"   ซึ่งจะนำเสนอในงานไทยศึกษา ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงวันที่ 24-25 สิงหาคม 2556   โดยอยู่ภายใต้กรอบการนำเสนองานวิชาการเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของ "ลมตะวันออก" ที่ถาโถมเข้าใส่รัฐไทยมากขึ้นทุกที

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยผู้ต้องหาฆ่า 'เอกยุทธ' ระบุมีคนจ้างวานให้ลงมือ แฉเพราะฉุนโดนเบี้ยวเงิน

Posted: 16 Aug 2013 07:14 AM PDT

"สุวัตร อภัยภักดิ์" อดีตทนายความของ "เอกยุทธ อัญชันบุตร" และทีมทนายความตั้งโต๊ะแถลงข่าว ระบุผู้ต้องหาเคยทำงานกับคนสนิท "ทักษิณ" ส่งมาสอดแนมจับตาความเคลื่อนไหว "เอกยุทธ" ก่อนให้ทีมฆ่าลงมือสังหารโหด มีการอำนวยความสะดวกตลอดทางในการไปฝังศพที่พัทลุง แฉเพราะฉุนถูกเบี้ยวเงิน 3 ล้าน 

16 ส.ค. 56 - เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่าเมื่อเวลา 17.00 น. ที่บริษัท กฎหมายอรุณอัมรินทร์ จำกัด ซอยลาดพร้าว 23 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ อดีตทนายความของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร พร้อมด้วย น.ส.อัจฉรา แสงขาว ทีมทนายความ ได้แถลงข่าว กรณีที่ออกมาเปิดเผยว่า นายสันติ เพ็งด้วง หรือบอล ผู้ต้องร่วมกันฆ่า นายเอกยุทธ ติดต่อมาไปพบ เพื่อเปิดเผยข้อมูลว่า ถูกว่าจ้างโดยกลุ่มคนมีสี ให้ฆ่านายเอกยุทธ แต่ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ก็ยืนยันว่า ไม่มีใครเข้าเยี่ยมนายบอล ที่เรือนจำ แต่อย่างใด
 
โดย นายสุวัตร เปิดเผยว่า ตนไม่อยากแถลงข่าว เนื่องจากเลิกทำคดีนี้แล้ว แต่ที่ พล.ต.ต.อนุชัย ออกมาให้ข่าวว่า ตนไม่ได้ส่งทีมงานไปพบนายบอลจริงนั้น ทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง เหมือนตนเป็นคนโกหก และไม่ได้ตั้งใจคัดค้านพนักงานสอบสวน ยังคงแสวงหาความร่วมมือกันต่อไป โดยตนได้ส่ง น.ส.อัจฉรา ซึ่งเป็นคนจังหวัดพัทลุง และเป็นคนที่พูดกับนายบอล ที่บช.น.จน นายบอล ยอมบอกที่ฝังศพ นายเอกยุทธ นอกจากนั้น ตนยังทำหนังสือ เรื่อง ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอประเด็นให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม ถึง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. มีใจความว่า ตามที่ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น. ได้แถลงข่าวถึงกรณีที่ให้พนักงรานสอบสวน เข้าไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อสอบปากคำนายสันติภาพ เพ็งด้วง หรือบอล โดยมีการตอบเป็นข้อๆ โดยอ้างว่า ไม่เคยมีผู้แทน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ พบหรือพูดคุยกับนายบอล แต่อย่างใด และอ้างว่า ไม่เคยพูดว่ามีคนจ้าง ให้ฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร เป็นเงิน 3 ล้านบาท โดยปรากฏตามข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ โดยมีการนำคำให้การที่อ้างว่า เป็นของนายบอลได้ให้การไว้มาแสดงต่อสื่อมวลชน ตนขอยืนยันว่า เมื่อประมาณ วันที่ 18 ก.ค. นายสันติภาพ ได้ให้คนติดต่อมาเพื่อจะบอกข้อมูลสำคัญ ต่อมาตนได้ส่งตัวแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมทนายความ คือ น.ส.อัจฉรา แสงขาว เข้าพบนายสันติภาพ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.โดยแสดงบัตรทนายความ เข้าเยี่ยม เวลา 13.00 น.และได้พบนายบอล เวลา 14.10 น.ซึ่งได้พูดคุยกันประมาณ 10–15 นาที
 
ด้าน น.ส.อัจฉรา เปิดเผยว่า ตนขอยืนยันว่า วันที่ 26 ก.ค. ตนได้เข้าไปพบกับ นายบอล จริง โดยสามารถตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่เรือนจำได้ เพราะถ้าจะเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องหาต้องยื่นบัตรประจำตัวทนายความ และต้องกรอกเอกสารว่าจะเข้าเยี่ยมใคร จากนั้นยังจะต้องนำเอกสารไปให้หัวหน้าเซ็นอีกที ก่อนจะมานั่งรออยู่กว่า 30 นาที จนเจ้าหน้าที่มาบอกว่ารอนานหน่อนนะ เพราะนายบอล เป็นนักโทษคดีสำคัญ ต้องมีผู้คุมเดินมาด้วย ซึ่งที่ตนจำวันที่ได้ เพราะตอนยื่นบัตรทนาย ในบัตรระบุวันหมดอายุวันที่ 26 ก.ค. เจ้าหน้าที่ยงถามว่า บัตรหมดอายุวันนี้แล้ว อย่าลืมไปต่อนะ ตนยังบอกว่าถ้าอย่างนั้น ก็เร็วหน่อย จะได้รับกลับไปต่อบัตรทนาย ก่อนจะพบนายบอล ซึ่งวันนั้นเขาสวมเสื้อนักโทษสีน้ำตาล โดยเราพูดคุยกันเป็นภาษาใต้ เพราะเป็นคนพัทลุง ด้วยกัน โดยนายบอล บอกกับตนว่า ผลจะเล่าความจริงให้พี่ปุยฟังทุกอย่าง ซึ่งชื่อปุย เป็นชื่อเล่นของตน และอยากให้พี่บอกนายสุวัตร ช่วยตนด้วย พี่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลที่ผมเล่าเป็นความจริงหรือไม่
 
น.ส.อัจฉรา กล่าวต่อว่า ตนยังถามบอลว่า ไม่กลัวอันตรายหรือหากเล่าให้พี่ฟัง เพราะไม่แน่ใจว่าจะถูกดักฟังหรือไม่ บอลยังตอบว่า ไม่กลัว เพราะกำลังลำบาก และเขาเบี้ยวค่าจ้างผม 3 ล้านบาท ผมรับมาเพียงหลักแสนในเบื้องต้น หากนายสุวัตร รับปากจะช่วยดูแลครอบครัวผม จากนั้นนายบอลได้ล่าให้ฟังว่า เคยทำงานที่บริษัท ซ๊ทีเอ็ม มาก่อนโดยตอนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นทรีวิว ตั้งอยู่สี่แยกอโศกเลี้ยวขวาไปทางคลองเตย อยู่ชั้น 22 หรือชั้น 23 อยู่ในตึก ซีทีไอทาวเวอร์ โดยมีเจ้านายเก่า ตนชื่อนายสมชาย เป็นเจ้าของบริษัท จำนามสกุลไม่ได้ มีภรรยาเชื่อ เกียว อยู่หมู่บ้านชิชา พระราม 2 และมีคอนโดเดอะเลค อยู่สี่แยกอโศกที่เดียวกับายเอกยุทธ และนายสมชาย ยังมีบ้านพักอยู่ประเทศอังกฤษ นอกจากนั้น นายสมชาย ยังอ้างว่า เป็นลูกน้องคนสนิทของ พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) และเคยพาตนเข้าออกพรรเพื่อไทยเป็นประจำ เมื่อตนลาออกมาอยู่กับ นายเอกยุทธ นายสมชาย ได้ติดต่อมาว่า สนใจรับงานไหม จากนั้น ก็ให้ตนติดต่อทีมอุ้มซึ่งเป็นคนมีสี โดยก่อนหน้านี้มีการวางแผนกัน 2 ครั้งแต่ไม่สบโอกาส จนวันเกิดเหตุ นายเอกยุทธ ลืมปืนไว้ในรถตนจึงตัดสินใจทำวันนั้น โดยติดต่อทีมอุ้ม พี่ปุยคิดดูว่า จะเอาศพไปพัทลุงได้อย่างไร โดยไม่เจอด่านตำรวจ ตลอดเวลาที่ขับรถจะขับชิดขวาตลอด และมีรถนำขบวนตลอดทาง รวม 3 ช่วง นอกจากนั้น การทำงานคร้งนี้มีเบอร์พิเศษ และฮาร์ดดิสก์ ตนก็ไม่ได้ทุบทำลาย ตามที่ให้การกับตำรวจ แต่นำไปฝังดิน ดังนั้น หลักฐานทุกอย่างยังอยู่ สามารถสาวไปถึงผู้บงการได้ หากนายสุวัตร รับปากจะดูแลพ่อแม่ตน ตนก็ยินดีจะบอกทุกอย่าง
 
น.ส.อัจฉรา กล่าวต่อว่า หลังจากพบนายบอล แล้วตนก็ให้ทีมงานเช็คว่า นายสมชาย มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ โดยคัดหนังสือรับรองบริษัท ทรีวิว จำกัด เมื่อวันที่ 26 ก.ค. พบว่า บริษัททีซีเอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด มี นายสมชาย (สงวนนามสกุล) เคยเป็นกรรมการ ส่วนคอนโดเดอะเลควิว ก็ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับที่นายบอล เล่าให้ฟัง  
 
นายสุวัตร กล่าวต่อว่า เพื่อจะได้เกิดความยุติธรรม กับ นายเอกยุทธ และจำเลย ตนจึงขอให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.นายบอล หรือสันติภาพ เคยทำงานอยู่ที่ บริษัท ซีทีเอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด จริงหรือไม่ 2.นายสมชาย เกี่ยวกับอย่างไรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย 3.นายบอล และ นายสมชาย เคยไปที่ทำการพรรคเพื่อไทย หรือไม่อย่างไร 4.ฮาร์สดิสก์ฝังอยู่ใต้ดิน อยู่ที่ไหน เพราะฮาร์ดิสก์จะนำไปสู้ทีมฆ่าตัวจริง ขอให้พนักงานรสอบสวนค้นหาฮาร์ดิสก์ ดังกล่าวมาให้ได้ 5.ที่อ้างว่ามีรถนำนายบอล นำศพเอกยุทธไป จังหวัดพัทลุง 3 ช่วง เพื่อเป็นใบเบิกทางมีอยู่จริงหรือไม่ และเป็นรถของผู้ใด
 
นายสุวัตร กล่าวต่อว่า หากเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าวแล้ว ก็จะเป็นการคลี่คลายปัญหาของคดีนี้ได้ อันจะไม่ทำให้พนักงานสอบสวนไม่หลงทาง เนื่องจากบาดแผล จากการชันสุตรศพของ นายเอกยุทธ ขัดกับคำให้การของนายบอล และข้อสรุปของพนักงานสอบสวน และจะขอแถลงข่าวครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และไม่ขอไปเยี่ยมนายบอลอีกแล้ว ขอยุติคดีของนายเอกยุทธ และส่งเอกสารที่ได้มาให้กับพนักงานสอบสวน และ กมส. ต่อไป แต่ถ้าญาติ นายเอกยุทธ เข้ามาขอให้ทำคดีอีก ก็ต้องคุยกันอีกที
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

40 ส.ว. เสวนาระบุแก้ที่มา ส.ว.ให้เป็นการเมืองสูง มีแค่ ส.ส.จะดีกว่า ด้านสภาถก 20 ส.ค.นี้

Posted: 16 Aug 2013 06:48 AM PDT

"คำนูน สิทธิสมาน" ส.ว.สรรหา ระบุแก้ที่มา ส.ว. ให้สภาผัวเมียกลับมา วุฒิสภามีลักษณะใกล้ชิดทางการเมืองสูง กลั่นกรองตรวจสอบการทำงานรัฐบาลยาก ก็ให้มีแค่สภาเดียวดีกว่า "รสนา โตสิตระกูล" ลั่นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาตนจะเป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ด้านสภาเรียกประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้ รธน.ที่มา ส.ว.20 ส.ค.นี้

16 ส.ค. 56 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่รัฐสภา คณะกรรมมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง เป็นประธาน ได้มีการจัดเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชนครั้งที่ 2 เรื่อง "แก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. : แผนเผด็จการรัฐสภาควบคุมองค์กรศาลและองค์กรอิสระ" โดยนายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวตอนหนึ่งว่า การที่สภาฯ จะมีการพิจารณาร่างฉบับดังกล่าววาระ 2 ในวันอังคารที่ 20 ส.ค.นี้ตนมองว่าเป็นการเอาเข้าสู่สภาฯ อย่างจวนตัวกลับหลักการรัฐธรรมนูญ 50 ที่ห้าม ส.ว.ลงเลือกลงเลือกตั้งติดต่อกันเกิน 2 สมัย อีกทั้งเป็นการเร่งรีบเอาเข้าสู่สภาฯเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ทันการเพราะ ส.ว.ชุดปัจจุบันจะหมดอายุในต้นเดือนมี.ค ปี 57 ดังนั้นสภาฯจึงต้องมีการเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ส.ค.
       
นายคำนูณกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างที่มีการขายเหล้าพ่วงเบียร์แถมน้ำ เพราะมีการตัดใน (5), (6), (7) และ (9) ซึ่งถ้าร่างฉบับนี้ผ่านก็จะทำให้สภาผัวเมียกลับมา ส่วนผู้ที่เป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งสามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ ทันทีโดยไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปี เรื่องนี้ตนมองว่ามีความสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญ 50 นั้นวุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบการทำงานรัฐบาลในฐานะตัวแทนประชาชน ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ตนเห็นว่าเราก็มีสภาเดียวดีกว่า ถ้าวุฒิสภาถูกแปลเปลี่ยนที่มาคือมีลักษณะทางการเมืองสูง ก็จะทำให้วุฒิิสภามีลักษณะใกล้ชิดทางการเมืองสูง และจะทำให้การถอดถอนมีลักษณะทางการเมืองสูง ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะหลอกลวง 3 ประเด็นคือ 1. หลอกลวงว่าเป็นประชาธิปไตย 2. หลอกลวงเป็นสภาฯกลั่นกรอง และ 3. หลอกลวงว่ามีองค์กรอิสระ ทั้งนี้ตนเกรงว่า หากวุฒิสภาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองตนเกรงว่าอาจทำให้องค์กรอิสระจะถูกดำเนินไปตามการเมือง
       
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองครอบครองพื้นที่สภาสูง และเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองส่งคนของตนมาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนจับตาดูในเรื่องนี้ต่อไป" นายคำนูนกล่าว
       
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 เป็นการแก้ข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญปี 40 โดยการถอดบทเรียนข้อบกพร่องมาอุดรอยรั่ว ทั้งนี้มองว่าขนาดมี ส.ว.สรรหายังมีพรรคการเมือง กลุ่มผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงดังนั้นที่รัฐบาลอ้างว่าการแก้รัฐธรรมนูบฉบับนี้เพื่อยึดโยงกับประชาชน จึงเป็นคำหลอกลวงประชาชนว่าเป็นประชาธิปไตย แต่อันที่จริงแล้วเป็นการนำเอา ส.ว.มาเป็นลูกไก่ในกำมือเท่านั้น
       
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า การแก้รัฐธรมนูญฉบับนี้เป็นการแก้เพื่อเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร ทั้งนี้มองว่าการมีอำนาจบริหารก็ต้องมีอำนาจในการตรวจสอบควบคู่กันไป ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาก็จะทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งตนเกรงว่าจะทำให้อำนาจในการตรวจสอบลดลง นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องที่มา ส.ว.นั้นตนเห็นว่า ส.ว.ควรมีที่มาแตกต่างจาก ส.ส. เพราะถ้ามีที่มาเช่นเดียวกันจะทำให้ ส.ว.ถูกรวบอำนาจในการทำหน้าที่ และทำให้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่จะนำไปสู่การครอบครองทั้ง 2 สภาฯ ซึ่งจะเป็นการทำลายกระบวนการในการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือเป็นการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จภายใต้เสื้อคลุมที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตย ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาตนจะเป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้
       
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การออกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผิดตำรารัฐศาสตร์ รัฐบาลพยายามทำให้ ส.ว.และส.ส.มีการเลือกตั้งที่เหมือนกันทั้งที่ตามหลักสากลที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ต้องมีที่มาที่ต่างกัน จึงมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องสภาฯ ผัวเมียนั้นชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยตรง ดังนั้นใครที่รับหลักการเรื่องนี้ขอให้เตรียมตัวขึ้นศาลได้เลย
       
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า วันนี้เราจะต้องมาพิจารณาว่า เราจะมี 2 สภาหรือสภาเดียว ถ้าจะมี 2 สภาเราต้องมาพิจารณาว่าส.ส.และสว.ควรมีลักษณะอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้า ส.ว.ถูกควบคุมนั้นตนเกรงว่า จะทำให้องค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และจะทำให้ ส.ว.สามารถถอดถอนองค์กรอิสระโดยได้อย่างแน่นอน
       
"ตรงนี้เราจะต้องมาต่อสู้อย่างถึงที่สุดซึ่งเราจะยื่นเรื่องนี้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงทุกๆ ศาลอย่างแน่นอน ซึ่งผมก็ขออภัยในความไม่สะดวก เพราะเราทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน" นายสมชายกล่าว
 
เรียกประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้ รธน.ที่มา ส.ว.20 ส.ค.นี้
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่านายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการรัฐสภา ได้มีหนังสือด่วนมากที่ สผ 0014/ร 31 ถึง ส.ส. ส.ว.เพื่อนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เนื่องด้วยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญทั่วไป) ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118  มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ในระเบียบวาระได้มีการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เพียงฉบับเดียว ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ในขณะที่ระเบียบวาระของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค.54 ยังไม่มีการบรรจุระเบียบวาระแต่อย่างใด
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมอเหวง' ยื่นเเปรญัตติ นิรโทษฯ ครอบคลุมก่อน รปห.2549

Posted: 16 Aug 2013 06:23 AM PDT

"นพ.เหวง โตจิราการ" ระบุยื่นเเปรญัตตินิรโทษครอบคลุมกลุ่มพันธมิตรฯ เสนอเปลี่ยนเวลาตั้งเเต่ปี 2548 ยันประกาศใช้ในราชกิจจาฯ ยันแกนนำ-ผู้สั่งการไม่ได้อานิสงส์ ด้าน "อภิสิทธิ์" วอนสังคมจับตาการขยายเวลาร่าง พ.ร.บ.เกินกว่า 19 ก.ย.49 ปัดเล่นแผนซ้อนแผนเพิ่มข้อความถึงตัวเองตามที่ ส.ส.เพื่อไทยกล่าวหา

 
16 ส.ค. 56 - โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเมื่อเวลา 12.30 น.ที่รัฐสภา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นพ.เหวง โตจิราการ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด ร่วมแถลงความคืบหน้าการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย โดย นพ.เหวง ระบุว่า ตนและเพื่อนสส.จำหนวนหนึ่งได้ยื่นขอแปรญัตติในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อขอขยายเวลาช่วงเหตุการณ์ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จากเดิมในมาตรา 3 ที่ระบุระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค. 2554 เป็นระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 ไปจนถึงวันที่ประกาศพ.ร.บ.ฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ครอบคลุมการชุมนุมของประชาชนทุกกลุ่มสี
 
นพ.เหวง กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 มีการประกาศใช้พ.ร.บ.มั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายครั้งมาก ซึ่งเมื่อนับรวมแล้วมีประชาชนที่ผิดตามประกาศหลายพันคน หากดูประวัติบุคคลเหล่านี้ก็จะมีประวัติถูกออกหมายเรียก ถูกออกหมายจับ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์ทันทีเมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้
 
"มีการครหาว่า ร่าง พ.ร.บ.ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร แต่ว่าก่อนหน้ารัฐประหารมีกรณีที่เ กิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมือง เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือเหตุการณ์ของภาคประชาชนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยึดบริเวณสวนจตุจักรเป็นที่ชุมนุมเมื่อเดือนมี.ค.ปี 2549  ดังนั้นขอยืนยันว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวทุกกลุ่มทุกสีเสื้อจะได้รับอานิสงค์และจะไม่มีการนิรโทษแกนนำหรือผู้สั่งการ"นพ.เหวงกล่าว
 
"อภิสิทธิ์" วอนสังคมจับตาการขยายเวลาร่าง พ.ร.บ.เกินกว่า 19 ก.ย.49 ปัดเล่นแผนซ้อนแผนเพิ่มข้อความถึงตัวเองตามที่ ส.ส.เพื่อไทยกล่าวหา
 
ด้าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นนัดแรกว่า การที่กรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่รับตำแหน่งใดๆ ในกรรมาธิการนั้น แต่ว่าการทำหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการ หรือว่า ส.ส.ก็ทำได้เต็มที่ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ขอให้สังคมอย่าละสายตาจากเรื่องนี้ และช่วยกันสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ ไปที่กรรมาธิการ ซึ่งพวกตนก็จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการเป็นตัวแทนของประชาชน ตามคำพูดที่เราบอกว่าจะมาสู้ในสภาก็ต้องทำกันเต็มที่ต่อไป
       
ส่วนการที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนพูดทำนองว่าอาจจะขยายระยะเวลาไปเกินกว่า 19 ก.ย. 2549 และอาจจะมาถึงปี 2556 ด้วยนั้น ก็ยังไม่ได้มีการลงไปในเนื้อหา แต่ตนคิดว่าว่าจะต้องมีข้อมูลว่า ตกลงมีคดีความอะไรอย่างไรบ้าง ที่น่าจะอยู่ในข่ายว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งตนก็ได้เสนอในกรรมาธิการว่ากรณีม็อบ เสธ.อ้าย หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ผ่านมา ก็ต้องมาพิจารณาด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ที่บอกว่าจะเสนอเหมาเข่งอะไรนั้น ตนพึ่งเห็นในข่าวหนังสือพิมพ์
       
เมื่อถามว่า นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่าการขยายให้เหมาครอบคลุม พรรคประชาธิปัตย์ว่าอาจจะเล่นแผนซ้อนแผน ด้วยการเพิ่มข้อความให้ครอบคลุมถึงตัวนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเอาอะไรคิด เพราะถ้าจะซ้อนแผนอย่างนั้น ทำไมพวกตนไม่ประกาศหนุน พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานไปตั้งแต่แรก ซึ่งตนยืนยันว่ามีสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งโดยเด็ดขาด และขอเรียกร้องว่า ในการพิจารณาต่อไปนี้ ใครที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งในเรื่องนี้ ก็ไม่ควรที่จะพิจารณาเพราะจะเป็นเงื่อนไขไปสู่การที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันชัย ศรีนวลนัด

Posted: 16 Aug 2013 06:20 AM PDT

"โดยรวมแล้วผมคิดว่ารายงานฉบับนี้ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้พยายามท้วงติงก่อนที่รายงานจะเผยแพร่ แต่กลับไม่มีใครรับฟัง จึงไม่แปลกอะไรที่หลังเผยแพร่รายงานฉบับนี้อกมาแล้วจะถูกหลายฝ่ายต่อต้าน ซึ่งผมก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ด้วยการไม่ลงนามเซ็นชื่อรับรอง แต่หากรายงานนี้สร้างความเสียหายอย่างไรก็คงต้องให้คนที่เซ็นชื่อลงนามเป็นคนรับผิดชอบ"

16 ส.ค.56, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวถึงรายงานของ กสม. ต่อกรณีเหตุการการณ์ชุมนุมเสื้อแดงปี 53

กรรมการสิทธิเสียงแตก 'พล.ต.อ.วันชัย' ชี้รายงานเสื้อแดงชุมนุมไม่ได้มาตรฐาน

Posted: 16 Aug 2013 06:05 AM PDT

พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้รายงานเสื้อแดงชุมนุมเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน เป็นรายงานที่ให้คุณให้โทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากเกินไป ระบุตนเองไม่ได้เซ็นชื่อรับรอง หากสร้างความเสียหายคนที่เซ็นชื่อลงนามเป็นคนรับผิดชอบ

 
16 ส.ค. 56 - แนวหน้ารายงานว่า พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กรณีรายงานการตรวจสอบของ กสม. เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.ถึง 19 พ.ค.53 ที่ได้เผยแพร่ออกไป จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ตนซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ไม่ได้ลงนามรับรองเห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นรายงานที่ไม่ได้มาตรฐาน? ไม่ได้นำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วน ถ้าหากรายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมาหลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมภายใน 3 เดือน ตนจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นี่มาเผยแพร่ในตอนที่เหตุการณ์ผ่านมา 3 ปีแล้ว ข้อมูลเนื้อหาในรายงานกลับไม่ได้มีการปรับปรุงตามสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น กรณีที่ศาลพิพากษาคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งเหยื่อที่เสียชีวิตไมได้ใช้อาวุธตอบโต้ หรือแม้แต่คดีที่ศาลยกฟ้องกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหา ทางกรรมการสิทธิฯเสียงข้างมากก็ไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งตนก็ได้ทำหนังสือโต้แย้งเสนอไปยังที่ประชุมให้พิจารณา แต่ที่ประชุมก็ไม่ได้นำคำโต้แย้งมาพิจารณา ส่วนเหตุผลที่จำเป็นต้องโต้แย้ง เนื่องจากเห็นว่าผู้ชุมนุมมีหลายระดับ มีทั้งแกนนำ ประชาชนทั่วไป และผู้ก่อเหตุรุนแรง ดังนั้นกรรมการสิทธิฯควรจำแนกว่าใครได้กระทำการใด ไม่ใช่เหมารวมไปทั้งหมด อีกทั้ง ข้อเสนอในรายงานที่เป็นเชิงนโยบาย ตนมองว่ามันยังไม่เป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปใช้จริงได้
 
"โดยรวมแล้วผมคิดว่ารายงานฉบับนี้ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้พยายามท้วงติงก่อนที่รายงานจะเผยแพร่ แต่กลับไม่มีใครรับฟัง จึงไม่แปลกอะไรที่หลังเผยแพร่รายงานฉบับนี้ออกมาแล้วจะถูกหลายฝ่ายต่อต้าน ซึ่งผมก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ด้วยการไม่ลงนามเซ็นชื่อรับรอง แต่หากรายงานนี้สร้างความเสียหายอย่างไรก็คงต้องให้คนที่เซ็นชื่อลงนามเป็นคนรับผิดชอบ" พล.ต.อ.วันชัยกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานดังกล่าวนำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน ซึ่งเห็นว่าเป็นรายงานที่ให้คุณให้โทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากเกินไป ทั้งที่กรรมการสิทธิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีบุคคลจากฝ่ายต่างๆ อาทิ นักวิชาการ กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และองค์กรต่างๆ มาร่วมกับพิจารณาและให้ข้อมูล แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการชุดนี้กลับไม่ได้ทำงาน เหมือนตั้งขึ้นมาเฉยๆ เท่านั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'จารุพรรณ' ส่งจดหมายแจงสหประชาชาติ ชี้รายงาน คอป.ให้ความจริงครึ่งเดียว

Posted: 16 Aug 2013 05:40 AM PDT

จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.เพื่อไทย ส่งจดหมายถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุการจัดทำรายงาน คอป. เขียนโดยฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเหตุให้ OHCHR ได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว

16 ส.ค. 56 - น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ Press release แปลไทย:จดหมายส่งถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR) ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
Press release
แปลไทย:จดหมายส่งถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN OHCHR)
ที่มา: เฟซบุคจารุพรรณ กุลดิลก
 
ดิฉัน สส. จารุพรรณ กุลดิลก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำจดหมายถึงข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชี้แจงในสองเรื่อง ได้แก่ (1)รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) และ (2) สถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงอยู่โดยขัดกับหลักการปารีส (Paris Principles)
 
ในประเด็นแรก จากการศึกษาการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พบว่าการจัดทำรายงานมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่เขียนโดยฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเหตุให้ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว และตัวคณะกรรมการของคอป. ก็มาจากการเสนอชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น ตัวกรรมการในอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้แสดงความลำเอียงตั้งแต่ต้น อนุกรรมการสองท่านเคยทำงานเป็นการ์ดให้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง ที่เรียกร้องให้มีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้แก่ นายเมธา มาสขาว และนายชัยวัฒน์ ตรีวิทยา โดยอนุกรรมการชุดนี้มีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน เป็นเรื่องที่ทำให้คนทั้งประเทศตกใจ เมื่อทราบว่านายสมชายแต่งตั้งสมาชิกกลุ่มพธม.เข้ามาทำงานและเป็นผู้จัดทำรายงาน และบุคคลทั้งสองยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำหลักของพธม.
 
ถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคอป. ขัดต่อหลักกระบวนการอันควรตามกฎหมายและหลักนิติธรรม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ ผู้เขียนรายงานของ คอป.จงใจละทิ้งประเด็นสำคัญที่เป็นเนื้อหาสาระและยังเขียนรายงานอย่างขาดความเป็นกลาง ดิฉันขอย้ำว่าคนไทยต้องการความปรองดอง แต่ที่ผ่านมากระบวนการดังกล่าวได้ถูกขัดขวางโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร
 
เกี่ยวกับสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งขัดกับหลักการปารีส ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้เลือกผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights - UDHR) เมื่อวันที่10 ธันวาคม 2491 รวมทั้งยังให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (International Bills of Human Rights) ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR)
 
แต่ที่ผ่านมาสถาบันตุลาการในประเทศไทยไม่ให้ความใส่ใจ ที่จะพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายระหว่างประเทศไม่มีการนำมาตรฐานระหว่างประเทศเหล่านี้มาใช้ในการตัดสินอรรถคดีต่างๆ ในขณะที่ระบบกฎหมายและระเบียบวิธีพิจารณาความของระบบกฎหมายไทยยังไม่ได้สะท้อนมาตรฐานการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรมซึ่งได้รับการรับรองจากกติกา ICCPR
 
หลักการปารีสมีการรับรองตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตามมติที่ 48/134 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 โดยในหลักการดังกล่าวกำหนดไว้ว่า เนื่องจากสถาบันสิทธิมนุษยชนเป็นสถาบันระดับชาติ จึงต้องเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระและมีความเป็นพหุนิยม แต่ในทางตรงกันข้าม บรรดาสมาชิกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ล้วนแต่ได้รับการคัดเลือกจากบุคคลเพียงไม่กี่คน เป็นเหตุให้ขาดความเป็นพหุนิยม บรรดากรรมการกสม. ล้วนแต่มีอุดมการณ์ที่ล้าสมัย หลักเกณฑ์การคัดเลือกกรรมการกสม. ไม่สอดคล้องกับมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตามมติที่ 48/134 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 และไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่ากสม.เป็นสถาบันระดับชาติที่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลโดยย่อ โดยดิฉันจะจัดส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กับทางข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทางจดหมายด่วนอีกครั้งหนึ่ง
 
ดิฉันหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาคมนานาชาติที่มีต่อรายงานของ คอป. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหวังว่าจะช่วยให้สามารถเอาชนะอุปสรรคและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทย ที่มีต่อบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ปัญหาหลายประการในปัจจุบันเกิดขึ้นจากการขาดธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ หลายหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่โดยพลการ ไม่คำนึงถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมายเป็นเหตุให้ประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับ"สงครามกลางเมือง" จึงมีความจำเป็นที่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะต้องแสดงออกถึงความไม่ลำเอียงและมีการปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด และงดเว้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์การเมืองเลวร้ายลง
 
ดิฉันยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของท่านไม่เปลี่ยนแปลง
 
ด้วยความนับถือ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz: สัมปทานจำแลง?

Posted: 16 Aug 2013 03:47 AM PDT

ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศฯ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานออกไป โดยอ้างความจำเป็นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ ประกาศดังกล่าวถูกนักวิชาการและภาคประชาสังคมตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น เช่น ประเด็นฐานอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ในการออกประกาศที่ขัดเจตนารมณ์ในกฎหมาย ประเด็นความไร้ประสิทธิภาพของ กสทช. ที่มีเวลาเตรียมการล่วงหน้า แต่กลับไม่สามารถดำเนินการให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นไปอย่างราบรื่น และประเด็นว่าใครได้ประโยชน์จากการออกประกาศมากกว่ากันระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมถึงประเทศชาติเสียประโยชน์อะไรบ้างจากการยืดระยะเวลาคืนคลื่นออกไป

ภายหลังจากการรับฟังความเห็นสาธารณะ ประกาศดังกล่าวได้ถูกปรับแก้ไขและผ่านการพิจารณาของบอร์ดใหญ่ กสทช. ในวันที่ 14 สิงหาคม 2556 โดยมีประเด็นสำคัญที่ปรับแก้ดังนี้

  • การนิยาม "ผู้ให้บริการ" (ในข้อ 2 ของประกาศ) ซึ่งจะเป็นผู้ที่ดูแลลูกค้าต่อในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง ได้เปลี่ยนจาก "ผู้ให้สัมปทานและหรือผู้รับสัมปทาน" เป็น "ผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทาน" นั่นหมายความว่า กสทช. ไม่ได้กำหนดว่าผู้ให้สัมปทาน (กสท) หรือผู้รับสัมปทาน (ทรูมูฟและดีพีซี) ใครควรเป็นผู้ให้บริการต่อ แต่ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเองเพื่อให้บริการในช่วงเวลาคุ้มครอง (ขณะที่คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าวเสนอว่า ผู้ให้บริการน่าจะเป็นผู้ที่มีใบอนุญาต หรือ กสท ไม่ใช่เป็นการให้บริการร่วมกันระหว่าง กสท กับเอกชนผู้รับสัมปทาน)
     
  • ข้อ 7 ของประกาศ ได้เปลี่ยนจากที่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการในช่วงเวลาคุ้มครองต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมเลขหมาย และต้องจัดสรรรายได้เข้ากองทุนวิจัย กสทช. ไปเป็นให้ผู้ให้บริการเป็นผู้ชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐ โดยหลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้โครงข่าย ค่าบริหารจัดการ ฯลฯ ให้นำส่งเงินรายได้ที่เหลือให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบ ก่อนส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
     
  • ข้อ 10 ของประกาศ จากที่กำหนดว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครองและได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่แล้ว กรณีที่มีผู้ใช้บริการเลือกที่ไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ต้องรับโอนผู้ใช้บริการคงค้างไปให้บริการต่อ ได้เปลี่ยนไปเป็นให้สิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองตามประกาศเลยโดยไม่บังคับให้ผู้รับใบอนุญาตต้องรับโอนลูกค้ามาให้บริการ 2G ต่อ นั่นหมายความว่า ผู้ใช้บริการคงค้างในระบบจะไม่สามารถใช้บริการต่อได้หลังสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครอง หรือเจอกับเหตุการณ์ซิมดับ

อย่างไรก็ดี การแก้ไขเนื้อหาในส่วนดังกล่าวมีประเด็นที่น่าวิเคราะห์และตั้งข้อสงสัย ดังนี้

  • แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขเนื้อหาให้ผู้ให้สัมปทาน (กสท) และเอกชนที่ได้รับสัมปทาน (ทรูมูฟและดีพีซี) เป็นผู้ดูแลลูกค้าในช่วงระยะเวลาคุ้มครองร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นการลดแรงเสียดทานของสังคมที่วิจารณ์ว่าประกาศฉบับนี้เอื้อเอกชนที่ต้องการรักษาฐานลูกค้าของตนไว้ ทว่าหากพิจารณาเนื้อหาที่ระบุถึงการจ่ายค่าใช้โครงข่ายของ กสท รวมถึงบทสัมภาษณ์ของ ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. ที่ว่า "... ผู้ให้บริการต้องหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด แบ่งเป็นรายจ่ายค่าเช่าเสาอุปกรณ์ให้แก่ กสท และค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการให้พนักงาน สำหรับ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น และนำรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายส่งเข้ากระทรวงการคลัง" (อ้างจาก กรุงเทพธุรกิจ, 8 สิงหาคม 2556) ก็สื่อให้เห็นว่า ผู้รับสัมปทานรายเดิม คือ ทรูมูฟและดีพีซี น่าจะเป็นผู้ใช้คลื่นเพื่อให้บริการลูกค้าต่อในทางปฏิบัติ โดย กสท เป็นเพียงผู้ให้เช่าโครงข่าย
     
  • แม้การแก้ไขข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องส่งรายได้หลังหักต้นทุนเข้ารัฐโดยตรงจะช่วยลดข้อวิจารณ์ว่า ประกาศฉบับนี้เอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชนที่สามารถให้บริการต่อได้โดยไม่ต้องเสียค่าสัมปทานและค่าใบอนุญาต ทว่าข้อกำหนดนี้ก็อาจนำไปสู่ปัญหา 2 ประการ คือ 1) กสทช. จะใช้ฐานอำนาจทางกฎหมายอะไรในการบังคับให้ผู้ให้บริการส่งเงินรายได้เข้ารัฐ และ 2) กสทช. จะใช้กลไกอะไรในการตรวจสอบรายได้และต้นทุนรายจ่ายของผู้ให้บริหาร โดยเฉพาะต้นทุนที่ตรวจสอบได้ยากในทางบัญชี เช่น บริษัทอาจคิดค่าพนักงานมากเกินความเป็นจริง (แม้จะมีข้อกำหนดให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบ แต่ก็อาจทำได้ยากในทางปฏิบัติ)
     
  • การแก้ไขประกาศให้ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ไม่ต้องมีพันธะในการรับผู้ใช้บริการที่คงค้างอยู่ในระบบ แม้จะมีข้อดีที่ผู้ชนะประมูลจะสามารถนำคลื่น 1800 MHz ไปให้บริการอะไรก็ได้โดยไม่ติดข้อบังคับว่าต้องให้บริการ 2G เพื่อรองรับฐานลูกค้าเดิม (อันที่จริง แนวโน้มที่ผู้ได้รับใบอนุญาตรายใหม่ต้องการให้บริการต่อเนื่องเพื่อโอนรับฐานลูกค้าเดิมมาก็มีค่อนข้างมาก) แต่ก็ถือเป็นตลกร้ายที่หักล้างเหตุผลและข้ออ้างทางกฎหมายของ กทค. ที่ใช้ในการออกประกาศฉบับนี้ทั้งหมด นั่นคือการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ข้ออ้างในมาตรา 20 พรบ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม ว่าผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถหยุดพักการให้บริการได้ (ทั้งที่มาตรานี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงกรณีการหมดอายุสัมปทาน) เพราะถึงที่สุดแล้ว ผู้ใช้บริการที่คงค้างก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ "ซิมดับ" อยู่ดี 

นอกจากนั้น การแก้ไขเนื้อหาดังกล่าวก็ไม่สามารถตอบคำถามที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้า อาทิเช่น

  • ประกาศดังกล่าวละเมิดข้อกำหนดใน 1) มาตรา 80 พรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544  ที่บัญญัติว่าผู้รับสัมปทานมีสิทธิประกอบกิจการจนกว่าสัมปทานจะสิ้นสุดลงเท่านั้น และ 2) แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ข้อ 8.2.1 ที่ระบุว่า คลื่นความถี่ที่หมดอายุสัมปทานต้องคืนมาให้ กสทช. จัดสรรใหม่ ดังนั้น ประกาศดังกล่าวจึงยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องฐานอำนาจทางกฎหมายได้ ไม่ว่าจะให้ผู้ให้สัมปทานหรือเอกชนผู้รับสัมปทานดำเนินการก็ตาม
     
  • การแก้ไขประกาศสุดท้ายก็ไม่สามารถลบล้างคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถึงความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของ กสทช. ซึ่งมีเวลาเตรียมการนานกว่า 420 วัน แต่กลับไม่สามารถดำเนินการให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งที่หากมีการเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2555 การประกาศขยายระยะเวลาซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายก็ไม่มีความจำเป็น และประเทศชาติก็ไม่ต้องเสียโอกาสในการนำคลื่นกลับมาจัดสรรใหม่เพื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสารออกไปอีก 1 ปี
     
  • สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์จากประกาศฉบับดังกล่าวก็น่าจะเป็นผู้ให้บริการรายเดิมอยู่ดี (ผู้บริโภคไม่ได้ไม่เสียอะไรตราบเท่าที่ กสทช. ประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ย้ายค่ายเบอร์เดิมได้ล่วงหน้า – เพราะถึงที่สุดหากผู้บริโภคไม่ทำอะไรก็ต้องเจอกับเหตุการณ์ซิมดับอยู่ดี) แม้จะมีการแก้ไขให้ผู้ให้บริการในช่วงขยายเวลาต้องส่งเงินรายได้หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับรัฐก็ตาม เพราะเอกชนผู้รับสัมปทาน โดยเฉพาะทรูมูฟ อาจต้องเสียฐานลูกค้าส่วนใหญ่ที่โอนย้ายไปใช้บริการกับผู้ประกอบการรายอื่น หากไม่มีประกาศขยายระยะเวลาออกไป

แม้จะมีความพยายามในการแก้ไข แต่ร่างประกาศฉบับนี้ ซึ่งอนุญาตให้เอกชนสามารถใช้คลื่นต่อไปได้หลังสิ้นสัมปทาน และส่งรายได้จากการให้บริการเข้ารัฐ ก็คือ "สัมปทานจำแลง" ในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ในกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาตที่มีความโปร่งใสและสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกว่า

สุดท้ายเราคงต้องกลับไปตั้งคำถามเดิมๆ กับ กสทช. ว่า ประกาศฉบับนี้ก็ทำขึ้นโดยใช้ฐานอำนาจทางกฎหมายอะไร? ละเมิดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ใบอนุญาตหรือไม่? เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายมากกว่าคุ้มครองผู้บริโภคหรือเปล่า? และจะรับผิดชอบอย่างไรกับความไร้ประสิทธิภาพในการดำเนินการของตน จนนำไปสู่ความเสียหายจากการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ?
 

 


ตีพิมพ์ครั้งแรกใน www.nbtcpolicywatch.org

 
[1] อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: เสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์กับประเด็นความมั่นคง

Posted: 16 Aug 2013 12:51 AM PDT

กรณีโพสต์ข่าวลือรัฐประหาร - เสริมสุข สงสัยถูกเล่นงานทางการเมือง ถาม ปอท.ทำไมไม่จัดการเว็บหมิ่น ปอท.แจงยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา ยังอยู่ขั้นรวบรวมหลักฐาน ส่วนกรณีไลน์ แค่ขอข้อมูลผู้ใช้ ไม่ได้อ่านเนื้อหาแชท เครือข่ายพลเมืองเน็ตป้องเสรีภาพแสดงความเห็น ชี้การจำกัดเสรีภาพต้องเป็นมาตรการสุดท้าย

 

(16 ส.ค.56) ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง เสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์กับประเด็นความมั่นคง จากกรณี ปอท.เปิดเผยว่าจะเฝ้าระวังสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเกิดคำถามว่าความมั่นคงกับเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลจะหาจุดลงตัวกันอย่างไร ณ ห้อง 1001 ศูนย์ประชุมศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ชั้น 10 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หนึ่งในสี่ผู้ถูกออกหมายเรียก โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ระบุว่าเป็นผู้ที่โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เล่าว่า โดยปกติ ตนเองสื่อสารข้อมูลกับคนอ่านผ่านเฟซบุ๊ก โดยโพสต์ข่าวสารต่างๆ ในลักษณะขำขัน และเพิ่มเติมเกร็ดความรู้ มีผู้เป็นเพื่อนจำนวน 5,000 คน และผู้ติดตาม 7,000 กว่าคน ซึ่งมาจากหลากหลายสีเสื้อการเมือง

เสริมสุข เล่าต่อว่า หลังรัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อนในเฟซบุ๊กมักจะส่งข้อความหลังไมค์ (ส่งข้อความทางช่อง message) พูดเรื่องข่าวลือปฏิวัติกัน ซึ่งเขาก็มักจะตอบว่าอย่าคิดเอาเอง ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. มีคนหลังไมค์มาบอกว่ามีข่าวลือในกลุ่มคนเสื้อแดงว่าทักษิณจะทำรัฐประหารเอง ตนเองจึงคัดลอกข้อความจากในไลน์มาโพสต์ต่อ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ โดยได้โพสต์ทำนองว่า ที่ลือกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำรัฐประหารนั้น มีอีกแนวคิดว่าทักษิณ ชินวัตร จะทำ ซึ่งก็โพสต์ในลักษณะตลกขบขัน และยังได้โพสต์แสดงความเห็นต่อมาว่า ไม่เชื่อ เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่ทักษิณจะทำโดยที่ผู้นำเหล่าทัพไม่รู้เรื่อง รวมถึงยังโพสต์ต่อด้วยว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะทำรัฐประหารก็คงกินยาผิด

ต่อมา วันอาทิตย์ ปอท.บอกว่าจะมีผู้ต้องหา 4 คน ก็ยังไม่คิดว่าเป็นตัวเอง เพราะเชื่อว่าตัวเองมีต้นทุนทางสังคม และเปิดเผยชื่อ-นามสกุลชัดเจน  ในวันจันทร์หลังทราบว่าโดน ยังตั้งคำถามกับตัวเองว่าขอบเขตความมั่นคงคืออะไร เพราะมาตรา 14 (2) นอกจากด้านเทคนิค ยังมีความผิดด้านเนื้อหา ซึ่งกินความกว้างมาก และมีคำถามด้วยว่า ความมั่นคงที่ว่านั้นเป็นความมั่นคงของชาติหรือรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าการที่บอกเพื่อนผ่านเฟซบุ๊ก เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.นี้

เสริมสุข มองว่า ถ้าคนจะตื่นตระหนกน่าจะมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงมากกว่า เพราะคนในเฟซบุ๊กเป็นคนที่ติดตามการเมืองข่าวสารบ้านเมือง ไม่น่าจะตื่นตระหนกได้ง่าย ทั้งนี้ ตนเองได้ไปให้ปากคำกับตำรวจแล้ว ซึ่งตำรวจก็บอกว่า ตนเองเป็นพยาน ดังนั้น ถ้า ปอท. ไม่มั่นใจ หรือไม่มีหลักฐาน ก็ไม่ควรทำเช่นนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ทำไมเลือกเล่นประเด็นนี้

เสริมสุข ระบุว่า นอกจากนี้ ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ให้ข้อมูลเป็นเท็จ แต่เว็บเหล่านี้ก็ยังอยู่ ซึ่งกระทบความมั่นคงของชาติ ไม่ทราบว่า ปอท.หรือกระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการอย่างไรให้มันไม่แพร่หลายในสังคมออนไลน์


ด้าน พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า การโพสต์ลงเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคม สิ่งที่จะทำให้คนสนใจคือตัวของผู้โพสต์ กรณีนี้คุณเสริมสุขเป็นคนดัง เมื่อโพสต์ข่าว ย่อมมีคนสนใจและเชื่อถือ ปัญหาคือ มาตรา 14(2) มีการถามว่าความมั่นคงขอบเขตอยู่ตรงไหน ซึ่งต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.คอมฯ ออกมาใช้หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ก็จึงเห็นว่า กฎหมายจะโฟกัสไปที่ความมั่นคงของรัฐบาลและประเทศ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ติดมาถึงทุกวันนี้ จริงๆ ก็กำลังมีการแก้ไข พ.ร.บ.บางส่วนอยู่

ถามว่าการเอาข้อความมารีทวีต โพสต์ซ้ำ เป็นการเผยแพร่ข้อมูลไหม พ.ต.ท.สันติพัฒน์ กล่าวว่า มียุคหนึ่งที่อธิบดีกรมตำรวจเคยออกประกาศกรมตำรวจ ห้ามสื่อต่างชาติคนหนึ่งเข้าประเทศ โดยนำข้อความที่สื่อนั้นเขียนติดไว้ในคำสั่ง กลายเป็นว่า อธิบดีกรมฯ มีความผิดด้วย ดังนั้น เมื่อเอามาโพสต์ซ้ำ ก็มองว่าเป็นความผิด รวมถึงกรณีที่มีผู้หวังดีเอาข้อความหมิ่นสถาบันมาโพสต์ ก็เคยมีการเชิญมาให้ปากคำ แต่ไม่ได้ดำเนินคดี เพราะถือว่ามีเจตนาดีให้สังคมช่วยกันดูแล อย่างไรก็แล้วแต่ เบื้องต้นต้องเรียกมาให้ปากคำก่อน กรณีคุณเสริมสุขย้ำว่ายังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ทั้งสิ้น และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน อาจจะดำเนินคดีหรือไม่ก็ได้ คุณเสริมสุขยังอยู่ในฐานะพยาน ไม่ใช่ผู้ต้องหา

พ.ต.ท.สันติพัฒน์ กล่าวว่า ขอบเขตของความมั่นคงนั้นตอบยาก โดยการทำให้เกิดความตื่นตระหนก เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาตินั้น รวมถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งก็เคยมีการดำเนินคดีกับการโพสต์แล้วทำให้หุ้นตกมาแล้ว

กรณีเว็บอื่น-คนอื่นโพสต์จาบจ้วง โพสต์ข้อมูลเท็จ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ กล่าวว่า ตำรวจดำเนินการทุกวัน แต่ละวันตรวจสอบเว็บเป็นร้อย เวลาจะปิดกั้น ตามกฎหมายให้เสนอไปที่กระทรวงไอซีที เมื่อ รมต.เห็นชอบ จึงจะเสนอไปศาล ขอคำสั่งศาลปิดกั้นได้ ซึ่งถ้าตามขั้นตอนนี้ใช้เวลานานมากเป็นเดือน ปัจจุบัน กระทรวงไอซีทีใช้วิธีประสานกับไอเอสพีต่างๆ ว่าจะส่งรายการให้บล็อคก่อนมีคำสั่งศาล ก็ทยอยบล็อคไปเรื่อย แต่บางทีก็หลุด เช่น ยูทูบ กรณีที่รันบนเดสท์ทอป ใช้ url นึง แต่พออยู่บนโทรศัพท์มือถือก็มี m เพิ่มมา แม้ว่าจะส่งบล็อคหมด แต่บางทีก็หลุด

กรณีที่ถามว่าทำไมไม่เรียกเว็บมาสเตอร์หรือคนโพสต์มา ถ้าเป็นในไทย บอกเลยว่าโดนแน่ แต่ในต่างประเทศ เคยเรียกและขอความร่วมมือ เช่น กับกูเกิล ก็เคยคุยมาหลายปีแล้ว กูเกิลบอกว่าส่วนของกูเกิลทั้งหมดอยู่ใต้กฎหมายอเมริกา ซึ่งไม่มีเรื่องการหมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน ทำตรงนี้ให้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีกรณีที่ไทยบล็อคยูทูบ ยูทูบจึงยอมที่จะบล็อคไอพีที่มาจากไทยไม่ให้เข้าดูได้

กรณีขอความร่วมมือกับไลน์นั้น เกิดจากความต้องการดูแลผู้ใช้ ให้ได้รับการคุ้มครอง กรณีถูกหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ โดยได้คุยกับผู้ให้บริการไลน์ว่าเมื่อมีการกระทำผิด อยากรู้ว่าเจ้าของไอดีเป็นใคร ส่วนเรื่องเนื้อหานั้น ยกตัวอย่างว่า ผู้ใช้ไลน์ในไทย 15 ล้านคน โพสต์คนละข้อความ ก็เป็น 15 ล้านข้อความ เราคงไม่นั่งอ่าน 15 ล้านข้อความ และการจะเข้าไปดูเนื้อหาได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือด้วย อย่างไรก็ตาม ไลน์ก็คงไม่ยอมเพราะเป็นความลับลูกค้า

ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ สื่ออิสระและนักกฎหมาย กล่าวว่า ตามที่คุณเสริมสุขเล่ามา มองว่าเข้าข่ายเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก เพราะในความเป็นจริง ต้องยอมรับว่า ประเทศต่างๆ ก็มีสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นข้อมูลที่กระทบความมั่นคงได้ แต่ละประเทศ มี taboo มีสิ่งต้องห้าม อย่ามองว่า เราเป็นประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ทุกประเทศมีสิ่งอ่อนไหวทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายออกมาแบบนี้ เสนอว่า เราต้องฉลาดกว่ากฎหมายและรู้ว่าจะอยู่กับมันอย่างไร จึงเสนอว่าไม่ควรคัดลอกข้อความนั้นมาตรงๆ ควรพูดแค่ว่าที่มีการเผยแพร่นั้น ไม่จริง ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายมาตรา 14(5) แล้ว

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ความบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับนี้ คือ การที่เพิ่มเรื่องเนื้อหาเข้ามารวมกับเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันไปด้วยกันไม่ได้  โดยเดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกออกแบบให้ใช้กับความผิดที่เกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ตอนพอกฎหมายนี้ผ่านในช่วงหลังรัฐประหาร มีการเพิ่มเรื่องเนื้อหาเข้ามา ทำให้มาตรา 14 ถูกนำไปใช้ในกรณีหมิ่นประมาท ซึ่งมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะ พ.ร.บ.คอมฯ เป็นอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้

อาทิตย์ อ้างถึงรายงานของผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ที่เสนอว่า การแสดงออกเป็นเรื่องได้รับการปกป้อง แต่ก็อาจจำกัดเสรีภาพได้ ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ หนึ่ง ต้องคาดหมายได้ มีความโปร่งใส คือต้องมีกฎหมายชัดเจน คนอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที สอง มีหลักความชอบธรรม และ สาม หลักความจำเป็นและชอบด้วยสัดส่วน โดยมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมาตรการอื่นใช้ไม่ได้แล้ว หลายสังคมก็เคยมีการใช้ข้อมูลตอบโต้ เช่น กรณี ศอฉ. เมื่อปี 53 ที่รู้สึกว่ามีข้อมูลเท็จในอินเทอร์เน็ตรายวัน ก็เก็บคลิปมานำเสนอว่าคลิปนั้นๆ ไม่จริงอย่างไร ซึ่งหลายครั้งก็เกินจริงไปบ้าง สำหรับกรณีของเสริมสุข คิดว่าไม่เข้าสักข้อ อาจเข้าข้อ 2 แต่ก็คิดว่าสังคมไทยหลังรัฐประหาร ก็มีข่าวลือมาตลอด ถามว่าเคยมีความโกลาหลอะไรเกิดขึ้นไหม ก็ไม่ เราทนทานต่อข่าวลือมากขึ้นเรื่อยๆ 

อาทิตย์ระบุว่า ในทางหลักการ ต้องปกป้องคนอย่างเสริมสุข ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับองค์กรวิชาชีพสื่อว่า เหตุใดกรณีเมื่อสองปีก่อน รัฐมนตรีไอซีทีเคยบอกว่า คลิกไลค์ กดแชร์ หรือแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กในประเด็นสถาบันฯ นั้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย องค์กรวิชาชีพสื่อจึงไม่ออกมาปกป้องเรื่องนี้ ทั้งนี้ ถ้าเป็นเรื่องที่ประชาชนเห็นว่าต้องพูดคุยกัน และไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ก็น่าจะต้องทำได้ พร้อมชี้ว่า ในทางหนึ่งมีการบอกว่าถึงจะมีการเผยแพร่ข่าวลือเรื่องรัฐประหาร คนก็มีวิจารณญาณ แสดงความเห็นไป คนอ่านไม่น่าเชื่อ จึงไม่กระทบความมั่นคง แต่กลับกัน หากมีข่าวลือเกี่ยวกับสถาบันฯ กลับกลัวว่าคนจะเชื่อ ซึ่งเขายืนยันว่า ถ้าจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในประเด็นนี้ ต้องปฏิบัติให้เท่ากัน

พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า จริตของโซเชียลมีเดียต่างกับสื่อแบบเดิม ที่มีกระบวนการบรรณาธิกรณ์ที่ชัดเจน หรือกรองก่อนแล้วค่อยเสนอ ขณะที่โซเชียลมีเดีย เสนอแล้วค่อยกรอง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันแก้ไข

กรณีของเสริมสุข ทำให้บทบาทเบลอไป เพราะในชีวิตจริงเป็น บก.ข่าว ในโซเชียลมีเดีย คุณเสริมสุขก็เข้าใจว่าตัวเองเป็น บก.ในเฟซบุ๊ก ซึ่งแม้จะถือว่าสื่อสารกับคนที่เรารู้จัก แต่ก็มีการเผยแพร่ในสาธารณะ ทำให้แยกกันไม่ขาด และเมื่อ ปอท.เข้ามาจัดการ ก็ทำให้เกิด "จริตเสีย" และ "เสียจริต" คือแทนที่ชุมชนจะสะท้อน กลายเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเข้ามายุ่ง ส่งผลให้บรรยากาศเสีย เพราะแง่หนึ่งมันคือการแสดงอำนาจ ทำให้คนเข้าใจว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิด จนหลายคนเกร็ง ซึ่งบรรยากาศความกลัวเช่นนี้ไม่ดีต่อประชาธิปไตย 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: โลกทรรศน์แบบกรรมการสิทธิฯ

Posted: 15 Aug 2013 11:06 PM PDT

หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์มานาน 3 ปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน ก็ได้เผยแพร่รายงานยาว 92 หน้า ในชื่อว่า "ผลการตรวจสอบ กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค.2553"อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า รายงานฉบับนี้ได้นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งจากนักวิชาการหลายฝ่าย และโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งปฏิเสธความชอบธรรมของคณะกรรมการชุดนี้มาตั้งแต่ต้น 
 
ประเด็นสำคัญที่พอสรุปได้จากรายงานฉบับนี้ของกรรมการสิทธิฯมีสองด้าน คือ อธิบายว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้การนำของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่ละเมิดสิทธิของประชาชนคนกรุงเทพฯ มีการปิดการจราจร มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรง มีการใช้อาวุธ และยังมีชายชุดดำปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิ เช่น การเจาะเลือด การบุกโรงพยาบาล มีการใช้เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์ เป็นต้น และต่อมาก็คือ การเผาอาคารสถานที่ เช่น ศาลากลาง และห้างสรรพสินค้า ทั้งหมดนี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ในทางตรงข้าม การดำเนินการของฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้วนแต่ถูกต้อง เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ก็เป็นความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ การระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนลและวิทยุชุมชน ก็เป็นการกระทำในขอบเขตของกฎหมาย การขอคืนพื้นที่คืน ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และได้ดำเนินมาตรการจากเบาไปหาหนักตามหลักการ ความรุนแรงส่วนหนึ่งก็มาจากความจำเป็นในการป้องกันตัวและตอบโต้ผู้ถืออาวุธที่แฝงตัวมากับประชาชน จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ การเสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม รวมทั้งการเสียชีวิตของสื่อมวลชนต่างประเทศ ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากฝ่ายไหน การที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงเป็นเพียงความผิดพลาดระดับปฏิบัติการ
 
ประเด็นปัญหาแรกสุดของรายงานฉบับนี้ ก็คือ เรื่องความเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชน เพราะ สิทธิในการชุมนุมทางการเมืองที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง และรัฐที่เคารพในสิทธิมนุษยชน จะถือเอาการต่อต้านรัฐบาลมาเป็นเหตุในการปราบปรามกวาดล้างประชาชนนั้นไม่ได้ แม้ว่าการชุมนุมเรียกร้องสิทธิของประชาชนจำนวนหลายครั้ง ก็มักจะมีการละเมิดกฎหมาย แต่ถ้าอธิบายว่า ถ้าฝ่ายประชาชนละเมิดกฎหมายแล้ว การที่รัฐเข้าทำการควบคุมปราบปรามก็ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ การใช้หลักเหตุผลเช่นนี้ ก็คือการสร้างความชอบธรรมให้การปราบปรามประชาชนทั่วโลก เพราะรัฐบาลที่ปราบปรามก็ต้องออกกฎหมายมารองรับการดำเนินการของตนเองอยู่แล้ว
 
ปัญหา ประการต่อมา ของรายงานฉบับนี้ อยู่ที่ว่า ประเมินการปฏิบัติการของฝ่ายทหารต่ำกว่าความเป็นจริง โดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่-ทหารมีแค่กระบอง แก็สน้ำตา กระสุนยาง  ทั้งที่ในวันที่ 10 เมษายน มีการใช้รถถัง อาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ มีปืนกลมือ และปฏิบัติการทั้งหมดมีการใช้กระสุนจริงจำนวนนับแสนนัด และมีพลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ ยิงผู้ชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมเสื้อแดงฝ่าย นปช. ที่อ้างว่ามีอาวุธก็ไม่ชัดเจน รูปจำนวนมากแสดงว่า มีแค่หนังสะติ๊ก ไม้ และ พลุตะไล และปรากฏหลักฐานว่า นอกเหนือจากเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และคณะในวันที่ 10 เมษายนแล้ว ก็ไม่ปรากฏการเสียชีวิตของฝ่ายเจ้าหน้าที่อีกเลย ประเด็นก็คือ ถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรงในการยิงตอบโต้ เหตุใดฝ่ายเจ้าหน้าที่จึงเสียชีวิตเพียงเท่านี้
 
ด้วยความต้องการที่จะอธิบายความชอบธรรมของการเข่นฆ่าสังหารนี้เอง ทำให้ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯข้ามเรื่องสำคัญเรื่องใหญ่ไป คือ ไม่มีการวิเคราะห์เหตุการณ์การเสียชีวิตของประชาชนแต่ละกรณีอย่างเป็นจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีรายงานอีกฉบับหนึ่งคือ รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต และพบว่า ประขาชนที่เสียชีวิตแทบทั้งหมด เป็นประชาชนมือเปล่าไม่มีอาวุธอยู่ในมือ และหลายกรณีก็เป็นเด็ก หน่วยกู้ภัย หรือ ประชาชนที่ผ่านทางเสียด้วยซ้ำ และจำนวนมากถูกยิงที่ศีรษะ ซึ่งถือเป็นการลงมือของพลซุ่มยิงโดยตรง
 
นอกจากนี้ ในรายงานยังขาดการวิเคราะห์ถึงรากฐานของปัญหา จากการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 และความไม่เป็นธรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น อันเป็นเหตุนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือมีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการสิทธิฯก็มองการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในมิติเดียว คือ เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงเท่านั้น และด้วยการพิจารณาเช่นนั้น คณะกรรมการสิทธิฯจึงไม่พิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กุเรื่องผังล้มเจ้ามาโฆษณาโจมตีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 26 เมษายน ทั้งที่การใส่ร้ายป้ายสีว่า ฝ่ายทักษิณและคนเสื้อแดงเป็นขบวนการล้มเจ้านั้น เป็นขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปราม
 
สรุปแล้วรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯฉบับนี้ จึงถือเป็นการเสนอข้อเท็จจริงอันไร้สาระ และมีเป้าหมายเพียงการแก้ต่างและสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงไม่อาจจะเล่าได้ว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นเป็นไปโดยสันติจนถึงวันที่ 10 เมษายน ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้มาตรการของพื้นที่คืน และฝ่ายทหารก็เป็นฝ่ายใช้อาวุธในการปราบปรามประชาชนก่อน รวมทั้งมีใช้แก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ จึงก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน หลังจากนั้น การชุมนุมของฝ่าย นปช.จึงมีลักษณะของการสร้างป้อมค่ายในการป้องกันตนเอง ฝ่ายทหารจึงตั้งกำลังล้อมการชุมนุมในทุกทิศทาง แล้วนำมาสู่การปราบปรามครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม โดยใช้กระสุนจริงในการปฏิบัติการ จึงนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากของฝ่ายประชาชน และทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกกล่าวขานว่าเป็นฆาตกร และบทบาทของกองทัพก็เป็นที่ปฏิเสธของมวลชนคนเสื้อแดงตั้งแต่นั้นมา
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น