โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวนานครปฐมเดินสาย 'พท.-ปชป.' ร้องรัฐฯ คืนสิทธิร่วมโครงการจำนำข้าว

Posted: 18 Aug 2013 02:44 PM PDT

เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดนครปฐม หนังสือต่อสองพรรคแกนนำฝ่ายค้าน-รัฐบาล ขอคืนสิทธิการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว หลังเปลี่ยนเกณฑ์ปีการผลิต 2556/2557 ทำชาวนาถูกตัดสิทธิ์ไม่ทันตั้งตัว จี้นำเสนอปัญหาประชุม ครม.อังคารนี้
ยื่นหนังสือที่พรรคเพื่อไทย
 
ยื่นหนังสือที่พรรคประชาธิปัตย์
 
18 ส.ค.56 เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดนครปฐม เดินทางไปยังพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื่นหนังสือต่อหัวหน้าพรรคทั้งสอง เรื่อง 'ขอให้แก้ไขปัญหาโดยคืนสิทธิการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวให้แก่เกษตรกร' พร้อมสำเนาหนังสือกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ กษ 1012 /ว 594 ลงวันที่ 6 มิ.ย.56 โดยที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์มอบผ่านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 
 
สืบเนื่องจาก กรมส่งเสริมการเกษตรมีหนังสือเวียน แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เปลี่ยนหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการรับจำนำปีการผลิต 2556/2557 จากใช้วันปลูกข้าวเป็นหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการไปใช้เกณฑ์วันเก็บเกี่ยวข้าวแทน โดยเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวข้าวระหว่าง 1 ตุลาคม 2556 - 30 กันยายน 2557 ทำให้ชาวนาที่เริ่มปลูกวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาตามคำแนะนำเดิม ซึ่งขณะนี้ใกล้ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ถูกตัดสิทธิเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวไป
 
หนังสือของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดนครปฐมถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยเร่งนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นที่ต่อรัฐบาล เพื่อคืนสิทธิการเข้าร่วมโครงการรับจำนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 20 ส.ค.นี้ พร้อมระบุหากภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วพรรคเพื่อไทยไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่แสดงถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา เครือข่ายฯ จะมีปฏิบัติการกดดันขั้นต่อไป เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข
 
 
ด้าน ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสเฟสบุ๊คส่วนตัวแสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาของเกณฑ์ใหม่คือทำให้ตกสิทธิกันค่อนทุ่ง คนที่ตกสิทธิเป็นชาวนาที่ทำนา 2 ครั้งทั้งสิ้นและควรจะได้ขายในโครงการจำนำทั้งสองครั้ง แต่เกณฑ์ใหม่ทำให้ขายจำนำราคา 15,000 บาทได้แค่ครั้งเดียว ปัญหาก็คือ ข้าวที่ขายให้โรงสีโดยไม่สามารถเข้าโครงการจำนำหรือตกสิทธินี้ราคาเพียงตันละ 8,000-8,500 บาทเท่านั้น ทำนา 20 ไร่ได้ข้าว 20 เกวียน รายได้ที่เห็นอยู่ข้างหน้าอีกไม่กี่วันหายไปมากกว่า 100,000 บาท
 
ประภาส ให้ข้อมูลด้วยว่า รัฐบาลประกาศรับจำนำมาแล้ว 4 รอบ ชาวนานครปฐมได้กันแค่ 2 รอบ เพราะ 2554/2555 จมน้ำตั้งแต่ ต.ค.2554 ว่าจะทำ ม.ค.2555 (ปีนี้ได้ 2 ครั้ง) แต่รอบนี้ไม่ได้ทั้งๆ ที่ที่อื่นได้รอบที่ 4 แล้ว เกษตรอำเภอบอกให้รอขึ้นรอบหน้า แต่รอบหน้าจะเริ่มทำราวๆ ม.ค.2557 เพราะต้องรอน้ำลดก่อน อีกทั้งมองว่าข้าวนอกโครงการจำนำมากเช่นนี้โอกาสจะถูกจับยัดเป็นข้าวในโครงการจำนำก็เป็นไปได้มาก การฉ้อฉลยิ่งง่ายมากขึ้น
 
"ข้อเรียกร้องของพี่น้องจึงไม่ใช่เรื่องเงินเลยแต่อย่างใด เขาไม่ได้เรียกร้องเพราะทำนาครั้งที่สาม ทั้งๆ ที่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่น้ำท่วมท่วมใหญ่ ท่วมนาน ควรจะได้สิทธิพิเศษตามที่รัฐบาลประกาศ แต่ในขั้นตอนปฏิบัติกับเป็นไปอย่างตรงกันข้าม กล่าวคือสิทธิพิเศษก็ไม่ได้ ส่วนสิทธิที่เขาได้กันอย่างปติก็ดันถูกตัดสิทธิอีก" ประภาส ระบุ
 
 
 
 
เรื่อง ขอให้แก้ไขปัญหาโดยคืนสิทธิการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวให้แก่เกษตรกร
เรียน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาหนังสือกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ กษ 1012 /ว 594 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556


ตามที่พรรคเพื่อไทย นำเสนอนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดราคาเกวียนละ 15,000 บาท ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา จนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เป็นสัญญาประชาคม ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกเกวียนละ 15,000 โดยทันที เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

การดำเนินนโยบายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้กำหนดให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถนำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการได้ 2 ครั้ง ต่อปีการผลิต รายละเอียดดังนี้

ครั้งที่ 1 เรียกว่า ข้าวนาปี กำหนดให้เกษตรกรต้องปลูกข้าว ระหว่าง 1 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม
 
ครั้งที่ 2 เรียกว่า ข้าวนาปรัง กำหนดให้เกษตรกรต้องปลูกข้าว ระหว่าง 1 พฤศจิกายน - 30 เมษายน
 
สรุปความคือ ใช้วันปลูกข้าวเป็นหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำเรื่อยมา 
 
จนกระทั่งวันที่ 6 มิถุนายน 2556 กรมส่งเสริมการเกษตรมีหนังสือเวียน ความละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เปลี่ยนหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการรับจำนำปีการผลิต 2556/2557 ดังนี้
 
1. ยกเลิกการนับรอบปลูกข้าวนาปี นาปรัง
 
2. ใช้เกณฑ์วันเก็บเกี่ยวข้าวแทนวันปลูกข้าว
 
3. โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนำปีการผลิต 2556/2557 ต้องเก็บเกี่ยวข้าวระหว่าง 1 ตุลาคม 2556 - 30 กันยายน 2557 
 
การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ข้างต้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ด้วยการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรับทราบหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อปรับรอบการปลูกและการเกี่ยว ก่อนที่หลักเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำได้ แต่กลับประกาศหลักเกณฑ์ซึ่งมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายหมื่นครัวเรือน ต้องเสียสิทธิการนำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการรับจำนำ เพราะจำเป็นต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกของฤดูกาลผลิต 2556/2557 ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างมหาศาล กว้างขวางครอบคุลมทั่วทุกพื้นที่
 
ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำหน้าที่บริหารประเทศและนำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไปปฏิบัติ เมื่อเกิดปัญหาอันเกิดจากการดำเนินนโยบายส่งผลให้เกิดความเดือดร้อน พรรคเพื่อไทยจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ แสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน
 
เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดนครปฐมขอให้พรรคเพื่อไทย เร่งนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นที่ต่อรัฐบาล เพื่อคืนสิทธิการเข้าร่วมโครงการรับจำนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2556 เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน 
 
หากภายในกำหนดเวลาดังกล่าวพรรคเพื่อไทยมิได้ดำเนินการใดๆ ที่แสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดนครปฐมมีความจำเป็นต้องปฏิบัติการกดดันขั้นต่อไป เพื่อให้ปัญหาของเกษตรกรได้รับการแก้ไข 
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคเพื่อไทยจะได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบ ในนโยบายที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนโดยเร่งด่วน
 
ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดนครปฐม
18 ส.ค.2556
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เพื่อไทย' เล็งแจ้งความ พ.ร.บ.คอมฯ คนปล่อยข่าวรัฐบาลไม่สนใจคนไทยในอียิปต์

Posted: 18 Aug 2013 11:25 AM PDT

โฆษกเพื่อไทยเตรียมเอาผิดคนปล่อยข่าว รัฐบาลไม่สนใจคนไทยในอียิปต์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

(18 ส.ค.56) พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวว่า กรณีวิกฤตการเมืองในอียิปต์ รัฐบาลมีความเป็นห่วงคนไทยในประเทศดังกล่าว โดยได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออพยพคนไทยออกจากอียิปต์อย่างเร่งด่วนแล้ว แต่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกลับโจมตีในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยการกระทำนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยเสียหาย

โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า กำลังตรวจสอบและอาจแจ้งความเพื่อเอาผิดผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ก่อนหน้านี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ออกหมายเรียกผู้ที่โพสต์ข่าวลือรัฐประหารบนสื่อสังคมออนไลน์ 4 คนมาสอบสวน โดยระบุว่าอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา (ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่กฏหมายแผ่นดิน เกิดความปั่นป่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร) ล่าสุด ปอท.ระบุว่ายังไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ โดยทั้งหมดจะอยู่ในฐานะพยาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประสบการณ์ของการเป็นสมาชิกในคณะลูกขุนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

Posted: 18 Aug 2013 10:33 AM PDT

เห็นมีเพื่อนๆ กลุ่มรักประชาธิปไตยหลายท่าน ได้โพสต์อยู่หลายครั้งว่า อยากให้ประเทศไทยมีระบบการตัดสินด้วยคณะลูกขุนกัน อาจจะเป็นเพราะว่า ได้กิตติศัพท์ความยุติธรรม และความน่าเชื่อถือทางกฎหมาย  วันนี้ ก็ขอเล่าให้ฟังจากประสบการณที่มีอยู่ สาม ครั้ง ในการเข้าไปเป็นสมาชิกของคณะลูกขุนว่า ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เขาทำกันอย่างไร
 
ก่อนอื่น การจะเป็นสมาชิกของคณะลูกขุน (Jury) ได้นั้น จะต้องเป็นประชากรของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าบุคคลนั้นเป็นพลเมืองถาวร (permanent resident) หรือยังถือ Green Card อยู่ ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกในคณะลูกขุนได้
  
ประการแรก ศาลของเมืองจะส่งไปรษณียบัตรมาให้  จ่าหน้าซองว่า คุณได้ถูกคัดเลือกให้มารายงานตัวต่อศาล ภาษาอังกฤษเรียกว่า Jury Duty Summons  หรือเรียกสั้นๆ ว่า Summons เพื่อปฎิบัติหน้าที่ในคณะลูกขุน ศาลเขาคัดเลือกโดยระบบคอมพิวเตอร์ (ส่วนใหญ่มาจากบัญชีรายชื่อใบขับขี่หรือไม่ก็บัตรลงทะเบียนเพื่อมีสิทธิ์ลงคะแนนในการเลือกตั้ง  - Voter's Registration Card) ซึ่งหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในคณะลูกขุน บุคคลที่คัดเลือกขึ้นมา จะต้องไปรายงานตัวที่ศาล ตามวันเวลาที่ระบุไว้  การไปรายงานตัวที่ศาลนี้ เป็น civic duties หรือ หน้าที่พลเมือง และถ้าเราทำงานอยู่ บริษัทห้างร้านจะต้องอนุญาตให้เราไปทำหน้าที่นี้อย่างไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นกฎหมายของประชาชน
 
เมื่อเราขออนุญาตจากบริษัทที่เราทำงานอยู่แล้ว (ปรกติเขาจะขอสำเนา หมายเรียกจากศาล) เราก็เดินทางไปปฎิบัติหน้าที่ได้ ศาลแต่ละรัฐไม่เหมือนกัน แต่วิธีการใช้แบบเดียวกันหมด คือ ต้องเป็นคดีอาญา (Criminal case) ส่วนคดีแพ่งนั้น มีเหมือนกัน แต่น้อยมากค่ะ
  
เมื่อไปรายงานตัวต่อเสมียนศาลแล้ว เขาก็จะให้เรานั่งรอ จากนั้น ก็จะให้เบอร์เราไว้ว่า เราคือเบอร์อะไร จะไม่มีการเรียกชื่อเด็ดขาด การคัดเลือกลูกขุนเพื่อการพิจารณาคดี จะทำการคัดเลือกโดยทางฝ่ายทนายความทั้งสองฝ่าย คณะลูกขุนจะประกอบด้วยจำนวนเลขคู่เท่านั้น เพราะทางฝ่ายทนายแต่ละฝั่งจะเลือกโดยจำนวนเท่าเทียมกัน  คณะลูกขุนจะประกอบไปด้วยจำนวนตั้งแต่ 6 ถึง 20 คน อยู่ตามสถานภาพของคดี  ส่วนใหญ่จะมาลงกันที่ 12 คน เพราะเป็นแม่แบบกันในคดีอาญา
 
การคัดเลือกรอบแรก อาจจะมีจำนวนทั้งหมด 50 คน ก่อน ทนายทั้งสองฝ่ายจะนำเอาคนนั้นออกไป คนนี้ออกไป จนเหลือประมาณ 20 คน  คนที่ถูกคัดออกไป สามารถกลับไปบ้านได้ ทางเสมียนศาลจะออกหนังสือรับรองหรือแผ่นกระดาษที่มีตราของศาลประทับให้ว่า คุณคนนี้ ได้มาปฎิบัติหน้าที่เรียบร้อยแล้ว จดหมายนี้ เราจะต้องนำเอาไปให้กับที่ทำงาน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า เรามาที่ศาลจริง  (หลังจากนั้น ประมาณอาทิตย์หนึ่ง ทางศาลก็จะส่งเช็คมาให้ เป็นค่าใช้จ่าย จำนวนเงินไม่มากเท่าไรหรอก เพราะมันเป็นภาษีจากประชาชน แถมยังต้องไฟล์เรื่องในภาษีด้วยว่า เป็นรายรับ)
 
กว่าการคัดเลือกจะได้ถึง 16 คนนั้น ใช้เวลาพอสมควรทีเดียว บางครั้ง ทางทนายอาจจะเลือกคนนั้นคนนี้ ทางผู้พิพากษาก็จะนั่งบนบัลลังก์เท่านั้นเอง เพื่อเป็นสักขีพยานในการเลือกตัวลูกขุน  ถ้ามีการตัดสินโดยใช้คณะลูกขุน 12 คน ทางศาลจะคัดเลือกไว้ทั้งหมด 16 คน เพราะจะต้องมีลูกขุนสำรองอยู่ เผื่อว่า ลูกขุนตัวจริงไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ลูกขุนสำรองจะขึ้นปฎิบัติหน้าที่แทนได้ทันที
 
เมื่อการคัดเลือกลูกขุนเสร็จสิ้นลงแล้ว เราจะรู้แต่หมายเลข ไม่รู้ชื่อว่า ลูกขุนคนนี้ ชื่ออะไร เพราะอาจจะมีการสืบกันได้ เรื่องนี้ เป็นการปกป้องตัวของลูกขุนด้วย เพราะคดีอาญานั้น มีพวกมาเฟีย หรือ สมาชิกจากแก๊งค์พอสมควร  เมื่อการคัดเลือกคณะลูกขุนสิ้นสุดลงได้ตามจำนวนที่กล่าวไว้ ทางทนายทั้งสองก็จะกล่าวให้กับผู้พิพากษาฟังว่า บัดนี้ เราได้คณะลูกขุนแล้ว การพิจารณาคดีก็เริ่มขึ้นได้
 
ทางศาลจะประกาศว่า เป็นคดีของใคร ระหว่างใครกับใคร จำเลยถูกตั้งข้อหาอะไร ใครเป็นโจทก์ ฯลฯ  จากนั้น คณะลูกขุนก็จะเข้าไปในห้องๆ หนึ่งอยู่ติดกับศาล เราก็นั่งอยู่ที่นั่นก่อน จากนั้น เสมียนศาลก็จะเข้ามาบอกให้เราทราบว่า กฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นอย่างไร ระเบียบการเป็นอย่างไร อย่างไหนทำได้ และ อย่างไหนทำไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางตัวเป็นกลาง และ เรารับฟังความยุติธรรมอย่างเดียว เหมือนกับ สตรีที่มีผ้าผูกตา และถือตาชั่งอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่า Justice is Blind คือรับฟังอย่างเดียว โดยไม่รู้เห็นอะไรทั้งสิ้น 
 
สิ่งที่ทางศาลเตือนเราคือ การตัดสินแบบสามัญสำนึก ใช้วิจารณญาณ เคสที่เราตัดสินนั้น จะมีผลกระทบไปยังเคสอื่นๆ ในอนาคต เพราะสามารถใช้เคสของเรานี้ กระทำการอ้างอิงได้ ทุกหมู่เหล่าจะต้องถือว่า จำเลยนั้น ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าจะได้มีการพิจารณาและถูกตัดสินว่ากระทำความผิด (They are innocent until proven guilty) เราต้องฟังการเบิกพยานต่างๆ รวมทั้งพยานบุคคลและพยานวัตถุอย่างเที่ยงธรรม ลูกขุนแต่ละท่านมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง และต้องแสดงความเห็นด้วยกันทุกคน จะไม่ให้ลูกขุนคนใด ทำการข่มหรือ manipulate ในเคสได้ เพราะเราใช้หลักการว่า ทุกๆ คน เกิดเป็นมนุษย์มาอย่างเท่าเทียมกัน และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ตอนสรุปความนั้น คือเรื่องที่เราทราบกันว่า ถ้ายังมีความคลุมเครือในการตัดสินแล้ว ผลประโยชน์จะต้องถูกยกให้กับจำเลย (Benefit of the Doubt)

  
ในการพูดคุยกันนั้น จะมีการเลือกหัวหน้าคณะลูกขุนหรือ head of Jury ขึ้นมา บุคคลนี้ อาจจะมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในประสบการณ์ เขาจะต้องเป็นผู้รวบรวมรายละเอียดต่างๆ  ที่ลูกขุนแต่ละท่านแสดงความเห็น และเป็นผู้นับคะแนน รวมถึงการเป็นผู้อ่านรายละเอียดว่า ผลการตัดสินเป็นอย่างไร ว่า ผิดตามข้อกล่าวหา หรือว่า ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา บางท่านอาจจะเคยเป็น Juror มาก่อน ก็เลยทราบว่าขั้นตอนจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่า บุคคลที่ไม่มีประสบการณ์เลย โดยเฉพาะการรวบรวมรายละเอียดและข้อความ
 
คำตัดสินของคณะลูกขุน ถือว่าเป็นอย่างเด็ดขาดและจะต้องมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถพิจารณาคดีต่อได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hung Jury ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เคสอาจจะถูกยกเลิกไปหรือ retired หรือไม่ศาลก็จะต้องเลือกคณะลูกขุนใหม่ เพื่อทำการพิจารณาคดีนั้นๆ แต่เรื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก  แต่ก่อนจะมีการ ประกาศว่าเป็น Mistrial นั้น บางทีจะมีการเรียกตัวลูกขุนผู้ซึ่งแย้งกับความคิดเห็นส่วนใหญ่เข้ามาพิจารณาถึงเหตุผล และดูว่า สามารถเปลี่ยนหลักการเหล่านี้ได้หรือไม่ ศาลให้โอกาสในเรื่องนี้ เพราะเป็นอิสรภาพของการตัดสินคดี เนื่องจากว่า คนบริสุทธิ์อาจจะถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ากระทำผิดได้
 
ลูกขุนทุกท่านจะได้รับกระดาษและปากกา สำหรับจดบันทึกต่างๆ แต่ห้ามนำเอาบันทึกเหล่านี้ออกไปจากห้องพิจารณาคดี ถ้าคดีไม่เสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา ทางศาลจะจัดหาห้องพักให้ เพราะคดีเหล่านี้ จะต้องไม่มีการนำเอาความคิดเห็นไปเผยแพร่ทางสาธารณะได้ ตัวเสมียนศาลจะอนุญาตให้ลูกขุนคุยกับครอบครัวตนเองได้ภายใน 5 นาที โดยโทรศัพท์ของศาลเท่านั้น ห้องพักต่างๆ จะไม่มีโทรศัพท์อยู่ และ ตัวลูกขุนจะไม่มีโทรศัพท์มือถือเด็ดขาด เพราะเขาจะบอกก่อนเลยว่า ห้ามนำเอาเข้ามาในการพิจารณาคดี
 
การพิจารณาคดีในห้องการพิพากษา เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นลูกขุนมาก่อน เพราะจะมีคนเข้ามาฟังการพิจารณาคดีเหมือนกัน รวมทั้งจะเห็นการเตรียมตัวของฝ่ายทนายทั้งสองคือ ทนายความของจำเลย และ ทนายความของฝ่ายผู้ฟ้อง หลักการศาลของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ตำแหน่งอัยการจะเทียบเท่ากับตำแหน่งทนายความของฝ่ายจำเลย ไม่มีใครสูงกว่าหรือต่ำกว่า เพราะตาชั่งจะต้องไม่เอียงหรือหนักข้างหนึ่งข้างใด
 
ปรกติแล้ว ทางฝ่ายอัยการจะเริ่มก่อนว่า ฝ่ายจำเลยกระทำการอะไรที่ผิดกฎหมาย เป็นต้นว่า ฆาตกรรมคนนี้หรือคนนั้น หน้าที่ของลูกขุนคือฟังความอย่างเดียว เพราะฝ่ายผู้เสียหายและฝ่ายผู้ฟ้องนั้น มีญาติอยู่ในห้องการพิพากษาทั้งสิ้น ถ้าจิตใจลูกขุนเกิดไขว้เขว ไปเห็นใครร้องไห้หรือมีอารมณ์โกรธแค้น ทางศาลสามารถขอให้เขาออกไปจากห้องพิจารณาดดีได้ทั้งสิ้น


Justice is Blind
 
การพิจารณาคดีที่ดิฉันมีส่วนร่วมนั้น มีทั้งแบบ hi-tech คือมีทั้งจอทีวี เอา PowerPoint ขึ้นให้เห็น หรือไม่ก็เป็น White Board ซึ่งแสดงให้เห็นพยานวัตถุและพยานหลักฐาน  ฝ่ายทนายทั้งสอง มีเวลาซักถาม พยานที่ตนมีอยู่เสมอ  คำถามต่างๆ ที่นำเสนอนั้น จะได้ยินบ่อยว่า  "Objection" หรือคัดค้านคำถามนั้น ซึ่งทางฝ่ายผู้พิพากษา จะตัดสินว่า "Overruled" ซึ่งหมายความว่า ผู้พิพากษาไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้านนั้น หรือไม่ก็ "Sustained" ซึ่งหมายความว่า ผู้พิพากษาเห็นด้วยกับคำถาม, คำให้การ หรือ พยานวัตถุต่างๆ
 
เมื่อการพิจารณาคดีผ่านไปสักสองสามชั่วโมง จะมีการพักเบรคกัน ฝ่ายลูกขุนจะต้องเข้าไปในห้องของคณะลูกขุน ซึ่งอยู่ติดๆ กันกับทางเดินเข้า ห้องนี้คือห้องการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกขุนแต่ละบุคคลว่า เป็นอย่างไร  ถ้าเป็นตอนกลางวัน ก็จะมีอาหารว่างเข้ามาในห้องประชุม แต่การถกเถียงจะไม่หยุด เพราะเราต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันหลายเรื่อง
 
ขอแสดงความคิดเห็นด้วยว่า กฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระบบ Common Law ซึ่งไม่มีการตีความตามตัวอักษรแบบประเทศไทยที่เป็นระบบ Civil Law ดังนั้น การเป็นลูกขุน ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องตัวบทกฎหมายว่า มาตราอะไร ว่าอย่างไร เพราะการใช้สามัญสำนึกในการตัดสินนั้น จะไม่มีการถูกข่มขู่ว่า ตนเองด้อยความรู้กว่า หรือมีประสบการณ์น้อยกว่าอีกคนหนึ่ง 
 
ถ้าเป็นประเทศไทย อาจจะมีการข่มขู่ในศักดิ์ศรีระหว่าง อาจารย์ในมหาวิทยาลัย กับกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า หรือ ลูกจ้างธรรมดาได้ ซึ่งเรื่องนี้ จะทำให้คดีต่างๆ มีการข่มขู่และโน้มน้าวการตัดสินเนื่องจากอีกคนถือว่า ตนเองมีความรู้มากกว่า หรือเรียนมาโดยตรงในเรื่องนี้ ย่อมเข้าใจดีกว่าทุกๆ คนในคณะลูกขุน ต้องใช้มาตรฐานเดียวตัดสินกันหมด ถ้ามีคนแย้งกระต่ายขาเดียวว่า ไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนี้ ผู้นั้นจะต้องแสดงเหตุผลให้ทุกคนทราบว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น มีการถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิง ถ้าเหตุผลไม่ดีพอ แต่ยังดื้อรั้นอยู่นั้น ทางฝ่ายหัวหน้าลูกขุน สามารถปรึกษากับทางฝ่ายศาลได้ ถ้าเกิดมีพวกหัวหมอเข้ามา
 
ตัวลูกขุนจะต้องเซ็นต์ชื่อในกระดาษในเรื่องของ Confidentiality Agreement หรือสัญญาว่าจะไม่มีการนำเอาดคีที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ ออกไปเผยแพร่หรือพูดกับใครได้ (แม้แต่สมาชิกของครอบครัวตนเองก็พูดให้ฟังไม่ได้) ถ้ามีเรื่องลอดออกมา ลูกขุนผู้นั้น จะถูกให้ออกจากการพิจารณาคดี และบางรัฐถือว่า เป็นการ Perjury หรือ พูดโกหก มีการต้องโทษในคดีอาญาด้วย
 
ตามปรกติแล้ว การพิจารณาคดีใช้เวลาตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึงหลายๆ สัปดาห์ ถ้าเป็นเคสที่หนักและได้รับความสนใจจากสังคม หรือไม่ก็เป็นเคสที่มีคนติดตามอย่างมาก ถ้ามีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ตัวลูกขุนจะได้รับการปกป้องรักษาความปลอดภัยอย่างดีทีเดียว
 
คำตัดสินของคณะลูกขุน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Verdict หรือคำพิพากษานั่นเอง ผู้พิพากษาจะรับหนังสือจากหัวหน้าคณะลูกขุนว่า ลูกขุนทุกคนเซ็นชื่อหมดแล้ว และมีมติเป็นเอกฉันท์  จากนั้น ฝ่ายเสมียนศาลจะบอกให้ทุกคนลุกขึ้นยืน เพื่อฟังความตัดสิน หัวหน้าฝ่ายคณะลูกขุนจะอ่านคำตัดสิน ว่า คณะลูกขุนมีความเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ว่า จำเลยนั้น ผิดตามข้อกล่าวหา หรือ ปราศจากความผิด  ก็เป็นการจบสิ้นการตัดสินนั้นๆ
  
หลายครั้งที่เมื่อมีการอ่านคำตัดสินของคณะลูกขุนแล้ว จะมีการดีใจ หรือ เสียใจ ร้องกันลั่นศาล ซึ่งทางผู้พิพากษาจะเตือนประชาชนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีให้อยู่ในความสงบ จะมีหน่วยรักษาความปลอดภัยนำตัวผู้กระทำผิดออกไปโดยทันที
  
แต่เรื่องนี้ยังไม่เสร็จสิ้นหน้าที่ของคณะลูกขุน เพราะถ้าคำตัดสินได้มีมติว่ามีความผิดแล้ว ฝ่ายลูกขุนนี้ จะเป็นผู้กำหนดว่า จะต้องมีการลงโทษอย่างไร ตั้งแต่ประหารชีวิต มาจนจำคุกตลอดชีวิต หรือ จำคุกกี่ปีก็ว่ากันไปตามเนื้อหา ส่วนคดีแพ่ง จะเป็นการปรับจำนวนเงิน ก็ว่ากันไปว่า ทั้งหมดเท่าไร  ส่วนใหญ่ฝ่ายทนายก็จะได้กันอย่างน้อย หนึ่งในสาม อาชีพทนายถึงเป็นอาชีพที่ดีมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ขอให้ว่าความเก่ง ๆ และค้นคว้าคดีเก่าๆ ให้เพียงพอ มีใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมาย อาจจะต้องจำหลักการกฎหมายบางอย่างพอสมควร นำเอาหลักสามัญสำนึกเข้ามาเป็นกลางในการพิจารณาคดีเท่านั้นเอง
 
ส่วนใหญ่แล้ว เรื่องการพิจารณาโทษทัณฑ์นั้น ใช้เวลาน้อย เนื่องจากทราบถึงผลการตัดสินแล้ว รวมไปถึงตัวอย่างต่างๆ ที่ทางฝ่ายทนายทั้งสองฝั่งได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า เรื่องนี้ ควรจะเป็นอย่างไร
 
 เคสทั้งสามเคสที่ดิฉันมีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกในคณะลูกขุนนั้น สองเคสอยู่ที่รัฐ Indiana และอีกเคสหนึ่งอยู่ที่รัฐ Kentucky ทั้งสองรัฐอนุญาตให้มีการประหารชีวิตได้ สำหรับรัฐที่เคยอยู่เช่น New Jersey จะไม่มีเรื่องการประหารชีวิต  เคสที่ตัดสินสองเคส จบลงด้วยการลงโทษตลอดชีวิต และมีการตัดสินให้ประหารชีวิตเคสหนึ่ง 
  
ถ้ามีการประหารชีวิตเกิดขึ้น ผู้ที่กระทำผิดสามารถอุทธรณ์ต่อได้ จะต้องผ่านขั้นตอนสามศาล ตามระบบยุติธรรมสากลทั่วไป
 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
ดิฉันเคยเขียนในเว็บบอร์ดหลายครั้งว่า ประเทศไทย ยังไม่พร้อมในการใช้คณะลูกขุนต่อการพิจารณาคดีในเวลาปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้:
 
1.ระบบศาลเอง ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือโยงกับประชาชนเลย การเป็นผู้พิพากษาในประเทศไทย ใช้ระบบการแต่งตั้ง หรือ สอบเข้าไป ซึ่งตนเองไม่มีความผูกพันกับประชาชน จะมาให้ตัดสินคดีของประชาชนก็กระไรอยู่  ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น การเป็นผู้พิพากษาต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือ การยินยอมโดยผู้แทนของประชาชน 
 
การยินยอมโดยผู้แทนของประชาชนนั้น ทางฝ่ายบริหาร เช่น ประธานาธิบดี หรือ ผู้ว่าการรัฐ หรือ นายกเทศมนตรี (เมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เมืองเล็กๆ จะเป็นการเลือกตั้งเข้าไป) จะเป็นผู้เสนอชื่อผู้พิพากษาเข้าไปให้ทางคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเป็นผู้ลงคะแนนเสียงว่า ผู้นี้มีความเหมาะสมหรือไม่  ตัวคณะกรรมาธิการวุฒิสภาทุกท่านมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ดังนั้น พวกเขาคือตัวแทนของประชาชนโดยสมบูรณ์ เมื่อทางคณะกรรมาธิการวุฒิสภาให้ความยินยอมแล้ว ตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อ ก็จะต้องไปตอบคำถาม ให้กับคณะกรรมาธิการฟังว่า ทำไมเขาถึงมีคุณสมบัติเป็นผู้พิพากษาได้  เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็มีการเสนอชื่อให้นำเข้าไปโหวด ถ้าผ่านครึ่งหนึ่งของจำนวนวุฒิสภา บุคคลผู้นั้นก็กลายเป็นผู้พิพากษาได้  ซึ่งถือว่า มาจากประชาชนเหมือนกัน เพราะได้รับการเลือกตั้งและยินยอมจากผู้แทนของประชาชน
 
ผู้พิพากษาในศาลของประเทศไทย ไม่มีการถูกซักไซร้ไล่ประวัติว่า ทำไมถึงกระทำการตัดสินออกมาในรูปนี้ ในคดีเหล่านี้ เพื่อสร้างความเหมาะสมในความรู้และตำแหน่งที่มีอยู่
 
ที่สำคัญที่สุดคือ ฝ่ายตุลาการจะต้องมีการโยงถึงประชาชนได้
 
 2.    การคัดเลือกคณะลูกขุนนั้น จะต้องทำแบบล็อตเตอรี่คือเลือกขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน มีสิทธิ์เท่าเทียมกันหมด ต้องมีกฎหมายออกมาว่า นายจ้างจะต้องอนุญาตให้บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกนั้น มาปฎิบัติหน้าที่การเป็นลูกขุน และบริษัทร้านค้าจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้ด้วย (ไม่สามารถไล่ออกได้ เพราะเป็นคดีอาญาทันที) จนกว่าคดีจะสิ้นสุดลง
 
3. บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปนั้น อาจจะมีฐานะทางสังคมดีกว่า และทำให้ลูกขุนอีกหลายคนไม่อยากเสียหน้า  การแสดงความเห็นต่างๆ แบบ "หัวหมอ" เป็นการสร้างความโน้มน้าว สร้างพวกให้กับตนเอง บางคนชอบอ้างมาตรานู้น มาตรานี้ การตัดสินโดยมีความเกรงอกเกรงใจเพราะฐานะทางสังคม เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะเคสแต่ละอย่างนั้น มันจะเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินต่อไป การแก้ไขคือต้้องมีการพิจารณาความอย่างเป็นธรรม และลูกขุนทุกคนจะต้องออกความคิดเห็น ไม่อย่างนั้น เคสจะเป็นอย่างเอกฉันท์ไม่ได้
 
4. ประเทศไทยยังมีมาตรา 112 ซึ่งถือว่าเป็นคดีอาญา แต่เคสเหล่านี้ ไม่สามารถทำการตัดสินโดยคณะลูกขุนได้ ต้องให้ผู้พิพากษาตัดสินกันแบบลับๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดนิติธรรมและนิติรัฐอยู่แล้ว
 
5. ฝ่ายผู้มีอิทธิพลในวงการ สามารถทำให้รูปคดีเสียได้ทันที  ซึ่งเห็นได้หลายครั้ง จากการแทรกแทรงโดยฝ่ายมือที่มองไม่เห็น ซึ่งสามารถการแทรกแทรงในการพิจารณาคดีได้ทุกเมื่อ รวมทั้ง "สั่ง" ให้เรื่องที่เราเห็นผิดๆ เป็นถูกได้ รวมทั้งการปฎิบัติการแบบสองมาตรฐานที่เห็นกันอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้
 
6. การรักษาความปลอดภัยของคณะลูกขุน รวมไปถึงการปกปิดความลับต่อข้อมูลในการพิจารณาคดี  จะต้องทำอย่างไรถึงจะปกป้องคณะลูกขุนในความปลอดภัยของพวกเขาได้ เมื่อคดีได้ถูกตัดสินเรียบร้อยแล้ว?  ถ้าลูกขุนถูกคุกคามจากอิทธิพลมืด จะทำอย่างไรในการปกป้องชีวิตของพวกเขาและครอบครัว เพราะที่ประเทศไทยไม่มีสำนักงานอย่าง Adult Protective Services หรือแม้แต่ United States Federal Witness Protection Program ซึ่งสามารถแปลงชื่อเปลี่ยนชื่อทุกอย่างได้หมด และย้ายถิ่นฐานได้เหมือนกับเป็นบุคคลคนใหม่เลย  
 
7. ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายปกป้อง Whistleblower แบบที่เรียกว่า Whistleblower Protection Act เพราะกฎหมายนี้ จะเป็นกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่เอาความชั่วร้ายของบุคลากรฝ่ายรัฐบาลมาเปิดเผยให้ทราบ ตัวอย่างเช่น คนที่บันทึกเทปการคอรัปชั่นของพนักงานของรัฐ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่กลับกลายเป็นคนถูกฟ้อง ทั้งๆ ที่ตัวเองได้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างมหาศาล
 
 
ตามความคิดของดิฉันนั้น สามารถเริ่มระบบการตัดสินโดยใช้ คณะลูกขุน ในลักษณะที่เป็นแบบ ลูกขุนจำลอง (mock jury) แบบเคสจำลอง  (Mock Trial)  ก่อน  เรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นในห้องเรียนของสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยใช้เคสจริง ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เข้ามาทำการพิจารณา  สามารถทำกันได้ในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมเป็นอย่างแรก  อาจจะทำเป็นแบบ Role Play หรือ มีบทบาทเหมือนกับการพิจารณาความอย่างแท้จริง อาจจะมีการสัมมนาด้วยก็ย่อมได้  เรื่องแบบนี้เป็นการศึกษาจากเคสจริง ที่กำลังเกิดขึ้น  ถ้ามีการตื่นตัวเรื่องแบบนี้ขึ้น และขยายวงกว้างขึ้น  
 
สิ่งที่น่าติดตามคือ การตัดสินของ Mock Trial จะต่างกับคำตัดสินของเคสจริงแค่ไหนนะคะ
 
ถ้ามีรูปร่างแบบนี้ขึ้นมา ดิฉันขอเสนอให้บันทึกภาพและเสียงไว้ด้วย เพื่อการเผยแพร่  ทำการตัดต่อให้ดีๆ เก็บใจความสำคัญไว้ เพื่อความเข้าใจและบทสรุปของเคส อาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ของการพัฒนาประเทศไทย ในระบบตุลาการรูปใหม่ ซึ่งเป็นศาลของประชาชนโดยแท้จริง
 
ดิฉันคิดว่า มันมีความเป็นไปได้ ที่ประเทศไทยจะรับเอาการตัดสินโดยคณะลูกขุนเข้ามาใช้ในอนาคตข้างหน้า  แต่ต้องไม่ลืมว่า ความรู้ความสามารถของบุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน ระบบลูกขุนในเรื่องตีความตามมาตราและตัวอักษร ยังเป็นเรื่องที่งุนงงอยู่สำหรับคำศัพท์ที่ใช้  (รวมถึงการตีความแบบพลิกแพลง ประหลาดๆ ตามตัวอักษร หรือ ศาลใช้อำนาจเกินกว่าจากที่ตนเองมีอยู่) ซึ่งตรงกันข้ามกับ ระบบตีความตามสามัญสำนึก ที่ผู้พิจารณาความ (คณะลูกขุน และ / หรือ ผู้พิพากษา) จะต้องพิจารณาไปตามครรลองข้อคิดเห็น โดยอาจจะมีการอ้างอิงถึงคดีที่คล้ายๆ กัน ซึ่งเคยตัดสินกันมาก่อนเป็นต้น
 
ถ้าสามารถแก้ไขเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ดิฉันมั่นใจว่าระบบการพิจารณาความอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมจะไม่แพ้ประเทศไหนในโลกเลย
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (4) ผู้กรุยทางความสัมพันธ์ไทย-จีน

Posted: 18 Aug 2013 09:50 AM PDT

เมื่อเอ่ยนาม "ศรีบูรพา" บรรดานักอ่าน นักเขียน และผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมไทยทั่วไปต่างทราบกันดีว่า เป็นนามของนักเขียนเรืองนามของไทยผู้ได้รับการยกย่องในวงกว้าง

นอกจากนั้น บัดนี้ชื่อ "ศรีบูรพา" ในสังคมไทยยังกลายมาเป็นชื่อสาธารณสถานบางแห่ง เช่น "ถนนศรีบูรพา"

กลายมาเป็นชื่อ "รางวัลศรีบูรพา" สำหรับเชิดชูนักคิดนักเขียนตัวอย่างของไทยใน "วันนักเขียน" ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี

กลายมาเป็นชื่อ "นิตยสารศรีบูรพา" และกลายมาเป็นแบบอย่างที่ดีหนึ่งสำหรับนักหนังสือพิมพ์ผู้ต้องการเดินตามรอยผู้ทำงานเพื่อใฝ่หาสันติภาพและนักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อประชาชน

ชีวประวัติและผลงานของศรีบูรพาได้มีผู้ศึกษาเอาไว้ไม่น้อยอย่างละเอียดแทบทุกด้าน ยกเว้นในช่วงบั้นปลายชีวิตเกือบ 20 ปีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การดูแลที่ดีของรัฐบาลจีน ซึ่งศรีบูรพาได้ลี้ภัยการเมืองไทยไปที่นั่นจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

แม้จนบัดนี้ซึ่งยังคงเป็นปริศนาคลุมเครือ และเป็นที่ใคร่รู้ของผู้สนใจติดตามชีวิตและผลงานของนักประพันธ์ท่านนี้

เหตุเพราะเจ้าของชีวประวัติได้ลาลับจากวงวรรณกรรมไทยไปแล้ว โดยละวางการกล่าวถึงอัตชีวประวัติในช่วงดังกล่าว

รวมถึงไม่ได้เปิดเผยงานเขียนใดต่อสาธารณะให้ได้วิเคราะห์หรือศึกษาในช่วงที่น่าจะเรียกได้ว่า "สุกงอม" ที่สุดในชีวิตของนักเขียน ทิ้งไว้เพียงผลงานช่วงที่อยู่ในประเทศไทยให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา

และไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนได้ท่ามกลางบรรยากาศในต่างแดน ภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีนในช่วงก่อนสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนให้กระจ่างได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความจริง" ดังกล่าวนั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคณะบุคคลหลายฝ่ายและเกี่ยวข้องกับความผกผันทางการเมืองไทย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน

จนอาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นอีกหน้าหนึ่งที่ควรได้รับการเปิดเผยและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยและจีนอย่างมิควรหลีกเลี่ยงหรือวางเฉยเพื่อสัมฤทธิผลในการศึกษาประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนอีกหัวเลี้ยวหนึ่ง ผ่านการต่อสู้ฝ่าฟันของคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งที่มุ่งใฝ่หาสันติภาพและความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างประชาชน!

ช่วงดังกล่าว จึงเรียกได้ว่าเป็นช่วง "หัวเลี้ยวหัวต่อ" ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนช่วงหนึ่งก่อนที่จะเปิดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2517

ดังนั้น แม้จนบัดนี้ ความเคลื่อนไหวของคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มเล็กๆ ดังกล่าวที่ได้เดินทางไปจีนตามคำเชิญภายใต้การนำของศรีบูรพา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะในช่วงนั้นได้ตัดสินใจกลับประเทศไทยหมดเกือบทุกคนในระยะต่อมาก็ตาม และบ้างก็ถูกจับกุมคุมขัง

แต่ก็ยังคงเหลือตกค้างอยู่ในจีนอีกสองคนคือ "ศรีบูรพา" หัวหน้าคณะ และ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" นักหนังสือพิมพ์ไทยอีกผู้หนึ่งซึ่งไปในนามของเลขานุการกลุ่มในเวลานั้น

กิจกรรมของคนไทยกลุ่มเล็กๆ นอกสายตาของรัฐบาลไทยในยุคดังกล่าว รวมถึงเป็นกิจกรรมที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้แก่รัฐบาลในเวลานั้นอาจเป็นเรื่องที่ลืมเลือนไปแล้วในสังคมไทยปัจจุบัน

แต่หากย้อนกลับไปศึกษาก็จะพบคำตอบบางประการว่า ได้เกิดอะไรขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองเวลานั้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย-จีนในวงกว้างและด้วยพลังรุนแรง

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นสิ่งที่ชนรุ่นหลังบางกลุ่มได้พยายามหาคำตอบเพื่อเป็นเสมือน "กุญแจ" ไขไปสู่คำตอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องสะดุดลง เพราะปัญหาทางสภาพการเมืองและสังคมในยุคหนึ่ง

น่าเสียดายอยางยิ่งที่บัดนี้ศรีบูรพา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่กุม "ความลับ" ทั้งหมดของประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวเมื่อช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้น่าจะมีโอกาสได้มาเปิดเผยความจริงอันมีคุณค่าต่อสาธารณะ ทั้งด้วยวาจาหรือข้อเขียนในฐานะนักเขียนเอกของไทยซึ่งเป็น "แขกเมือง" ของรัฐบาลจีนผู้หนึ่งในเวลานั้น ดังที่ศรีบูรพาได้เคยปฏิบัติมาทุกสถานการณ์ แม้จะอยู่ในที่ต้องขังก็ตาม

จากบทบันทึกประจำวันชื่อ "บันทึกอิสรชน" ซึ่งศรีบูรพาเขียนขึ้นในระหว่างต้องคดี "กบฏสันติภาพ" เป็นเวลาถึงกว่า 4 ปี หรือผลงานนวนิยาย "แลไปข้างหน้า" ซึ่งเป็นผลงานโดดเด่นที่สุดของศรีบูรพาที่ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นในยามถูกจองจำ เป็นบทพิสูจน์ที่ดีแห่งวิญญาณนักเขียนของศรีบูรพา

อย่างไรก็ตาม น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ศรีบูรพากลับไม่มีผลงานใดปรากฏอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่พำนักอยู่ในจีนเลย แม้จะทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า ความจริง ศรีบูรพาเขียนหนังสือ "ตลอดเวลา" ก็ตาม

และทราบเพิ่มเติมว่า ความจริงผลงานของศรีบูรพาในจีนนั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และบางส่วนก็ไม่มีผู้ใดกล้านำกลับไปในประเทศไทย หลังจากการจากไปของศรีบูรพาในจีน และครอบครัวได้ค่อยๆ ย้ายกลับผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน

ดังคำกล่าวให้สัมภาษณ์ของ ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยา เมื่อปี พ.ศ.2544 "บ้านศรีบูรพา" ที่กล่าวว่า

"ตอนนั้นไม่ได้เอาผลงานศรีบูรพากลับไทยเลย เอาตัวมาได้ก็ดีแล้ว เพราะทางนี้ (ประเทศไทยในเวลานั้น-ผู้เขียน) ก็กวดขันกัน"

ส่วนผลงานในจีนทั้งหมดของศรีบูรพาอยู่ที่ไหนนั้น ผู้กุมความลับนี้ก็คือ ชนิด สายประดิษฐ์ นั่นเอง รวมถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ อีกผู้หนึ่งซึ่งเขาขอสงวนที่จะปิดเป็นความลับต่อไป!

บัดนี้แม้ร่างศรีบูรพาลาลับ แต่เขากลับทิ้งผลงานอมตะไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งนับวันกลับยิ่งส่งให้ชื่อเสียงของศรีบูรพาเรืองรองยิ่งขึ้น อาจเป็นดังที่นักวิชาการชาวอเมริกันผู้หนึ่ง นาม "เบนจามิน แบตสัน" ได้เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่า

"ฐานะของนายกุหลาบในโลกวรรณกรรมไทยในยุคปัจจุบันสูงกว่าในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่"

นี่ย่อมแสดงถึงอมตะของผลงานซึ่งยืนยงยิ่งกว่าร่างของผู้เป็นเจ้าของซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งก็จะต้องดับสูญกลับคืนสู่ธรรมชาติ เสมอเหมือนกันไม่แตกต่าง และไม่อาจมีใครหลีกเลี่ยงพ้น

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องโชคดีที่บัดนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ มิตรรุ่นน้องวัย 80 ปีในวันนี้ซึ่งได้เดินทางไปจีนพร้อมคณะนักหนังสือพิมพ์ 12 ชีวิตในนามของเลขานุการ ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย คือ ศรีบูรพา ยังมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพที่ดีและตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาร่วมครึ่งศตวรรษนั้น เขายังคงพำนักอยู่ในประเทศจีน ภายใต้การดูแลอย่างดีของรัฐบาลจีนมาตั้งแต่ต้น และเลือกประเทศจีนเป็น "เรือนตาย"

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ จึงน่าจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่กุม "ความลับ" บางด้านดังกล่าวนั้นไว้ไม่มากก็น้อย

เพราะเขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่เดินเคียงข้างศรีบูรพามาตั้งแต่ก้าวแรกที่สัมผัสผืนแผ่นดินจีน

ก้าวต่อมาที่ร่วมคณะไปชมสถานที่ต่างๆ ตามกำหนดการของรัฐบาลจีนในฐานะ "แขกเมือง"

และก้าวสำคัญที่แทบจะเรียกว่า "ร่วมหลังคาเรือน" เดียวกันเป็นระยะเวลายาวนานใน "โรงแรมสันติภาพ" กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่พำนักที่รัฐบาลจีนจัดสรรให้เป็นการเฉพาะ

จนกระทั่งก้าวสุดท้ายที่ศรีบูรพาลาลับ ฝากลมหายใจสุดท้ายบนเตียงคนป่วย ณ โรงพยาบาลเสเหอ ณ กรุงปักกิ่ง

และกล่าวประโยคสุดท้ายที่จับใจเขาต่อกรณีเหตุการณ์ "14 ตุลามหาวิปโยค" พ.ศ.2516 ด้วยความยินดีต่อผลสำเร็จของประชาชนและนักศึกษาไทยในเวลานั้นที่ว่า

"นี่เป็นชัยชนะของนักศึกษา!"

และต่อมาอีกไม่กี่วัน ศรีบูรพาก็ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: ความคิดบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดในอียิปต์

Posted: 18 Aug 2013 09:27 AM PDT

เวลาเห็นมวลชนพรรคมุสลิมโดนฆ่าเหมือนผักปลาหลายร้อยคน ตอนแรกมันยากที่จะพูดอะไรออกมาด้วยสติปัญญา นอกจากจะหลุดปากออกมาว่า "ทหารระยำชาติหมา" แต่สักพักเราต้องตั้งสติเพื่อวิเคราะห์และเรียนบทเรียน อย่างน้อยเพื่อคนที่ตายไป ในอียิปต์และไทย และเพื่อเราเองที่รอดมาด้วย
    
ภาพอาชญากรรมรัฐ ที่ทหารก่อต่อประชาชนอียิปต์ เป็นภาพการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนเพื่อระงับกระบวนการปฏิวัติอียิปต์ และทำลายพรรคมุสลิม มันเป็นวิธีการที่ชนชั้นปกครองเดิมจากสมัยเผด็จการมูบารักหวังจะได้อำนาจกลับคืนมา และถ้าเขาทำกับมวลชนพรรคมุสลิมได้ เขาก็จะเดินหน้าทำกับนักสหภาพแรงงาน นักสังคมนิยม และคนหนุ่มสาว ที่เป็นแกนหลักของการปลุกกระแสการปฏิวัติเมื่อสองปีก่อน แต่เรื่องยังไม่จบ
    
ในการปฏิวัติทุกครั้ง ทุกยุค ทุกที่ เราจะเห็นการเดินหน้าและถอยหลัง และที่เราเห็นวันนี้คือการถอยหลัง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นจุดจบ
    
พรรคมุสลิมเป็นฝ่ายค้านในสมัยเผด็จการมูบารักมานาน แต่เป็นฝ่ายค้านที่พยายามหาทางประนีประนอมตลอด ตอนแรกที่มวลชนออกมาประท้วงมูบารัก พรรคมุสลิมไม่เอาด้วย ต้องให้สมาชิกหนุ่มสาวลากไปจนยอมร่วมต้านมูบารักในจตุรัสทาห์เรีย พอมูบารักถูกล้ม ทหารอ้างว่าเป็นมิตรประชาชน แต่มวลชนที่ออกมาล้มมูบารักเริ่มตาสว่างและเบื่อทหารภายในไม่กี่เดือน เพราะทหารอยากแช่แข็งความเหลื่อมล้ำและปกป้องอำนาจเก่า
    
หลังจากที่มีการเลือกตั้งที่พรรคมุสลิมชนะ ประธานาธิบดีมูรซี่ของพรรคมุสลิม รีบประนีประนอมกับกองทัพและสหรัฐอเมริกา และเริ่มมีท่าทีเผด็จการมากขึ้น มีการใช้นโยบายกลไกตลาดเสรี ซึ่งเผด็จการยุคก่อนเคยใช้ และคนจนจำนวนมากเดือดร้อนต่อไป มีการปราบการนัดหยุดงานและคนที่เห็นต่าง ในที่สุดมวลชนอียิปต์ออกมาประท้วงเป็นล้านๆ คน และในนั้นรวมถึงคนที่เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคมุสลิมของมูรซี่ด้วย แต่แล้วกองทัพอียิปต์ก็ชิงการนำโดยล้มมูรซี่และนำเผด็จการทหารมาปกครองแทน การกระทำนี้เพื่อยับยั้งการเดินหน้าของการปฏิวัติ และเพื่อปกป้องอำนาจเก่า แต่ทหารโกหกว่าทำเพื่อประชาชน
    
ล่าสุด หลังจากที่มวลชนหลายส่วนที่ต้านพรรคมุสลิม ไปแสดงท่าทีสนับสนุนทหาร เพราะหลงเชื่อว่าทหาร "อยู่ข้างประชาชน" ทหารได้ความมั่นใจมากขึ้น จึงลงมือปราบพรรคมุสลิมด้วยความป่าเถื่อนอย่างที่เราเห็น
    
คำถามแรกที่บางคนอาจถามคือ "การออกมาประท้วงประธานาธิบดีมูรซี่ซึ่งเคยชนะการเลือกตั้ง ผิดหรือไม่? เพราะดูเหมือนเปิดโอกาสให้ทหารยึดอำนาจ???" คำตอบคือไม่ผิด เพราะถ้ากระบวนการปฏิวัติอียิปต์จะเดินหน้าไปสร้างประชาธิปไตยแท้ ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และระบบที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน การปฏิวัติต้องจัดการกับมูรซี่ด้วย เนื่องจากมูรซี่ก็ต้องการหยุดกระบวนการปฏิวัติ และแช่แข็งความเหลื่อมล้ำ แต่ทำผ่านรัฐสภา คนที่ประท้วงมูรซี่ไม่ได้ชวนให้ทหารทำรัฐประหาร ไม่เหมือนเสื้อเหลืองในไทย
    
ไทยอาจไม่ตื่นเต้นน่ากลัวเท่าอียิปต์ แต่เราก็เห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงที่จบลงกับแค่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย นำไปสู่การแช่แข็งความเหลื่อมล้ำต่างๆ นาๆ ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง และการหักหลังอุดมการณ์ของการต่อสู้ที่เคยถูกทหารปราบ
    
ปัญหาที่อียิปต์คือ มวลชนส่วนสำคัญที่ออกมาประท้วงล้มมูรซี่ หลงเชื่อว่าทหารคือมิตรของประชาชนหลังจากทหารยึดอำนาจ
    
องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์พูดมาตลอด ตั้งแต่สมัยล้มมูบารัก ว่าทหารคือศัตรูของประชาชนและกระบวนการปฏิวัติ แต่องค์กรนี้เล็กเกินไปที่จะรีบเปลี่ยนใจมวลชนเป็นล้านๆ ส่วนพวก "เสรีนิยม" เป็นพวกที่วิ่งเข้าไปจับมือกับทหารมือเปื้อนเลือด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อคนอียิปต์จำนวนมากเห็นความป่าเถื่อนของทหาร และเมื่อรัฐบาลทหารไม่ยอมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จุดประกายการปฏิวัติแต่แรก เขาสามารถจะตาสว่างเปลี่ยนใจได้ และออกมาต้านทหารเพื่อให้กระบวนการปฏิวัติเดินหน้าต่อไป นักสหภาพแรงงานที่จะต้องเผชิญหน้ากับทหาร เมื่อเรียกร้องเรื่องปากท้อง จะตาสว่างเร็วและมีพลังทางเศรษฐกิจ แต่ไม่มีอะไรอัตโนมัติหรือหลักประกันว่าฝ่ายประชาชนจะชนะ ความก้าวหน้ามาจากการต่อสู้เท่านั้น
    
บทเรียนสำคัญสำหรับคนทั่วโลกคือ อย่าหลงเชื่อว่ากองทัพที่ไหนเป็นมิตร อย่ารอให้คนข้างบนมาแก้ปัญหาให้ เพราะพวกที่อยู่เบื้องบนเรา เขาอยู่ตรงนั้นเพื่อกดขี่ขูดรีดเราเท่านั้น มวลชนรากหญ้าต้องจัดตั้งตนเองทางการเมือง ต้องจับมือกับกรรมาชีพในสหภาพแรงงานและคนหนุ่มสาว และต้องมั่นใจว่าถ้าเรารวมพลังเราเปลี่ยนโลกได้
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พม่าตามหาสันติภาพ: เยี่ยมปัตตานีเพื่อศึกษาทางแก้ขัดแย้งทางชาติพันธุ์

Posted: 18 Aug 2013 06:08 AM PDT

กลุ่ม 'ภาวนาเพื่อพม่า' ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมพุทธ มุสลิม ฮินดูในพม่า ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาชายแดนใต้ เรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธ์ ลงชุมชนทรายขาว ฟังบรรยายจาก DeepSouthWatch พบปะเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพและกลุ่มเยาวชน เชื่อปัญหาไฟใต้มาจากการเลือกปฏิบัติของรัฐ

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2556 กลุ่ม "Pray for Myanmar" หรือ กลุ่ม "ภาวนาเพื่อพม่า" จากประเทศพม่า จำนวน 17 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลามและฮินดู ได้เดินทางมาเยี่ยมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch : DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเรียนปัญหาและการจัดการความขัดแย้งทางด้านชาติพันธ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในการเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยในช่วงเช้ากลุ่มภาวนาเพื่อพม่า ได้เข้าฟังการบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้จาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จากนั้นในช่วงบ่ายกลุ่มดังกล่าวได้พบปะกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี ต่อด้วยการพบปะกับกลุ่มเยาวชนและนักกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2556 กลุ่มภาวนาเพื่อพม่า ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมุสลิม

นายซอ มิน ลัต (Zaw Min Latt) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาวนาเพื่อพม่า เปิดเผยว่า ทางกลุ่มก่อตั้งขึ้นในช่วงประมาณปลายปี 2012 หลังเกิดเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของพม่า ที่ทำให้มีชาวมุสลิมโรฮิงญาเสียชีวิตจำนวนมาก และความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมหลายแห่งในประเทศพม่า

นายซอ มิน ลัต เปิดเผยต่อไปว่า จุดประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มภาวนาเพื่อพม่า เป็นไปเพื่อทำงานในกระบวนการสันติภาพ เป้าหมายคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและปกป้องความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยในกลุ่มมีสมาชิกหลักประมาณ 30 คน และสมาชิกที่หนุนเสริมอีกประมาณ 100 กว่าคน สมาชิกในกลุ่มมีทั้งนักกิจกรรมสังคม นักธุรกิจที่ทำงานเพื่อสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือNGO โดยมีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม พุทธและฮินดู

นายซอ มิน ลัต เปิดเผยอีกว่า กิจกรรมของกลุ่มจะเป็นการรณรงค์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสันติภาพ สันติวิธี และให้ผู้นำศาสนาของแต่ละศาสนาที่มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มีการนำลงพื้นที่พูดคุยกับผู้นำศาสนา เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีซึ่งกันและกัน และพยายามรวมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง

เขากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุที่เดินทางมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เนื่องจากต้องการมาศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาของที่นี่ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งของที่นี่มีความคล้ายกันกับปัญหาความขัดแย้งในประเทศพม่า จึงต้องการศึกษาวิธีการแก้ปัญหาเพื่อนำกลับไปใช้ในการแก้ในพม่าด้วย

"ผมคิดว่าปัญหาความขัดแย้งของที่นี่ เป็นปัญหาที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อคนมุสลิมในพื้นที่" นายซอ มิน ลัต กล่าว

นายซอ มิน ลัต เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มภาวนาเพื่อพม่าขึ้นมา ยังไม่มีสมาชิกคนใดเคยได้ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากปัจจุบันสิทธิเสรีภาพต่างๆในประเทศพม่ามีมากขึ้น ต่างจากเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ประชาชนสามารถรวมกลุ่มหรือชุมนุมเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระแล้ว ตอนนี้มีการเปิดกว้างมากขึ้นในพม่า

นายหม่อง เซาก์ (Maung Saung) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาวนาเพื่อพม่า และนักกวี ชาวพุทธ กล่าวว่าสิ่งแรกที่มาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับปัญหาความขัดแย้งในพม่า และหาทางแก้ปัญหา สอง คือเรียนรู้ความเป็นมาของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะจากการพบปะกับคนกลุ่มต่างๆ พบว่าแต่ละคนก็มีคำอธิบายเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่เหมือนกัน เช่น ฝ่ายรัฐพูดอย่างหนึ่ง ก็ต้องมาฟังจากฝ่ายคนในชุมชนด้วยว่าเขาจะพูดอย่างไร

นายหม่อง เซาก์ กล่าวว่า เหตุที่เดินทางมาศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเลือกปฏิบัติ สิทธิเสรีภาพทางศาสนา และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน รวมทั้งการต่อสู้ในรูปของขบวนการ

ส่วน น.ส.ชาฮาล (Shahal) สมาชิกอีกคนของกลุ่มภาวนาเพื่อพม่า กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่นี่มีความซับซ้อนมาก พวกตนยังไม่เข้าใจภาพรวมทั้งหมด แต่จากการติดตามในสื่อกระแสหลักมักบอกว่า ผู้ก่อการเป็นคนร้าย แต่เมื่อลงมาในพื้นที่แล้ว กลับได้รับรู้ในมิติหนึ่งที่แตกต่างออกไป

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บางกอกโพสต์สัมภาษณ์ 'อมรา' ว่าด้วยรายงานความรุนแรงปี 53

Posted: 18 Aug 2013 05:41 AM PDT

อัจฉรา อัชฌายกชาติ สัมภาษณ์ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อมรา พงศาพิชญ์  ว่าด้วยรายงานฉบับล่าสุดเรื่องความรุนแรงในเหตุการณ์ทางการเมืองปี 53 หลังจากถูกโจมตีจากสาธารณะอย่างกว้างขวาง

 
18 ส.ค. 56 - เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งสัมภาษณ์โดย อัจฉรา อัชฌายกชาติ เกี่ยวกับ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม 2553" ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นำมาซึ่งกระแสต่อต้านโดยเฉพาะจากฝ่ายพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงบางส่วน และถูกวิจารณ์ในประเด็นความเป็นกลางของข้อเท็จจริง และความครบถ้วนของข้อมูล เป็นต้น 
 

ศ.ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
 
0000
 
โดย ขวัญระวี วังอุดม 
 
ถาม: เหตุใดรายงานของกสม.ต่อเรื่องการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 เผยแพร่หลังจากรายงานของคอป. ถึงหนึ่งปี
 
ตอบ: เราถูกวิจารณ์มานานแล้วเรื่องความล่าช้า และเราก็ได้ขออภัยไปแล้ว หลังจากที่ร่างแรกของรายงานถูกตรวจทาน เราก็ได้ตั้งอนุคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงแก้ไข และกระบวนการการเรียบเรียงใหม่ก็ต้องใช้เวลาในการขัดเกลา 
 
ทางคณะกรรมการได้ลงนามเห็นชอบในรายงานดังกล่าววันที่ 26 มิ.ย. และส่งรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีวันที่ 17 ก.ค. ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กำหนด
 
ถาม: ทำไมกสม.จึงไม่ทำการแถลงข่าว แต่เผยแพร่รายงานทางเว็บไซต์แทน 
ตอบ: เราถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเยอะพอแล้ว และไม่อยากจะต้องมาหัวเสียกับเรื่องนี้อีก
 
ถาม: รายงานของคุณถูกกล่าวหาว่าอ้างอิงแต่เอกสารและปากคำจากฝ่ายรัฐ?
 
ตอบ: ไม่เป็นความจริง ผู้ที่มาให้ปากคำกับเรามีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เช่น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม เราติดต่อขอสัมภาษณ์ทั้งหมด 1,000 คน แต่มีเพียง 184 คนที่ยอมมาให้การ
 
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเราจะจัดพิมพ์รายละเอียดทั้งหมด รวมถึง คำสั่งการต่างๆและปากคำที่เกี่ยวข้อง แต่เราจะไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะเว้นแต่จะมีการติดต่อขอเอกสารโดยตรง
 
ถาม: รายงานดูจะโน้มเอียงเข้าข้างรัฐบาลในขณะนั้นในการเข้าสลายการชุมนุม มากกว่ามุ่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ตอบ: เราไม่ได้ตั้งธงไว้ รัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชน แต่ผู้ชุมนุมเองก็มีหน้าที่ที่จะไม่ก้าวล่วงขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ การจะเรียกร้องต่อรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่สิ่งที่พวกเขาทำนั้นชอบธรรมแล้วหรือ?
 
ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่าประชาชนมีสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ ตอนที่รัฐบาลเข้าควบคุมการชุมนุม เราได้ตรวจสอบว่ามาตรการที่รัฐนำมาใช้นั้นเกินกว่าเหตุหรือได้สัดส่วนหรือไม่ 
 
ถาม: ทำไม กสม. ถึงกล่าวโทษชายชุดดำแทนที่จะอธิบายว่ารัฐทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรเหมือนอย่างรายงานของ คอป.?
 
ตอบ: เราไม่ได้มีรายงานวิถีกระสุนที่ทำโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเหมือนอย่างที่ คอป. มีหรือจะไปตรวจสอบทิศทางการยิงอาวุธอะไรอย่างนั้นได้ เราไม่ได้ระบุว่าชายชุดดำมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายในวัดปทุม เราเพียงอ้างอิงการปรากฎตัวของพวกเขาในบางเหตุการณ์ เช่น 10 เมษา และ 13-19 พฤษภา 
 
ถาม: แต่มีคนวิจารณ์ว่าเนื้อหาของรายงานไม่ละเอียดรอบคอบ และยังตั้งคำถามต่อจังหวะเวลา (ในการจัดทำและเผยแพร่รายงาน - ผู้แปล)
 
ตอบ: ตอนนี้มีบางคดีที่เข้าสู่ชั้นศาล ฉะนั้นตามกฎหมาย กสม.ไม่มีอำนาจในให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อเรื่องเหล่านั้นได้
 
การเผยแพร่รายงานซึ่งดันตรงกับที่กำลังมีการอภิปราย พรบ.นิรโทษกรรมนั้นเป็นความบังเอิญ แต่อาจถูกทำให้เป็นการเมืองโดยคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์
 
ถาม: มีการเรียกร้องให้อาจารย์ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการสิทธิ อาจารย์กังวลไหม?
 
ตอบ: ไม่กังวลแต่รู้สึกหงุดหงิดและเบื่อ ใครก็ตามที่ต้องการถอดถอนเราออกจากตำแหน่งก็ต้องทำตามกระบวนการ ก็ต้องรวบรวมรายชื่อตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ จากนั้นขึ้นอยู่กับวุฒิสมาชิกที่เป็นคนโหวตเลือกเราเข้ามาว่าจะเตะเราออกจากตำแหน่งหรือไม่
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงานเผยเร่งช่วยแรงงานไทยในอียิปต์ 200 คน

Posted: 18 Aug 2013 04:05 AM PDT

18 ส.ค. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่านายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศอียิปต์ ซึ่งกำลังเกิดเหตุจลาจล ว่า เจ้าภาพในการช่วยเหลือคนไทยคือ กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนี้แรงงานไทยที่ต้องให้การช่วยเหลือมีประมาณ 200 คน แต่ส่วนใหญ่เดินทางไปเองโดยไม่ผ่านบริษัทจัดหางาน จึงไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ
 
ทั้งนี้ ทางกรมการจัดหางานได้ส่งคณะทำงานเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยอยู่ระหว่างให้แรงงานไทยรวมตัว และจัดสรรให้เดินทางกลับมาประเทศไทยโดยเครื่องบินที่กระทรวงการต่างประเทศจัดเตรียมให้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมข่าวนิติบัญญัติประจำสัปดาห์ 13-18 ส.ค. 2556

Posted: 18 Aug 2013 03:58 AM PDT

รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์

 
วิปฝ่ายค้าน ชี้ รัฐบาลรวบรัดอภิปรายร่างกฎหมายนิรโทษกรรม อ้างไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน หวังอุ้มนายกฯ ให้พ้นความรับผิดชอบ
 
13 ส.ค. 56 - วิปฝ่ายค้าน ชี้ รัฐบาลรวบรัดอภิปรายร่างกฎหมายนิรโทษกรรม อ้างไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน หวังอุ้มนายกฯ ให้พ้นความรับผิดชอบ   พร้อมจี้ นายกฯ รายงานผลต่อสภาและวุฒิสภา หลังยกเลิกใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ผ่านมาว่า  เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามรวบรัดในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทุกขั้นตอน และมีการจับมือกันระหว่างผู้ทำหน้าที่ประธาน กับ ส.ส.รัฐบาล เพราะรับใบสั่งมา และยังปิดหูปิดตาฝ่ายค้านและประชาชน เพราะไม่มีการถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี  ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ารับฟังประชุม  มีการรีบปิดอภิปรายทั้งที่ฝ่ายค้านอภิปรายไปได้แค่ 4 คนเท่านั้น  ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวยังเกี่ยวกับการเงิน ที่นายกฯ จะต้องรับรองก่อนนำเข้าพิจารณาแต่ก็มีการหลีกเลี่ยง เพื่ออุ้มนายกฯ ให้พ้นจากการรับผิดชอบ  และในการประชุมที่ผ่านมานายกฯ แค่มาเซ็นชื่อและอยู่ร่วมประชุมเพียงชั่วครู่  ตอนลงมติก็ไม่อยู่ร่วม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำเสียงข้างมาก
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า  พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา15 วรรค2 ระบุไว้ชัดว่า หลังประกาศใช้ และยกเลิกพ.ร.บ.ความมั่นคงแล้ว นายกฯจะต้องรายงานผลต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพราะฉะนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ เร่งปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
 
ฝ่ายค้าน ชี้ ปฏิรูปการเมืองเป็นเป้าลวง แต่การล้างผิดหวังกินรวบประเทศคือเป้าหมายที่แท้จริง ของรัฐบาล
 
13 ส.ค. 56 - ฝ่ายค้าน ระบุ  รัฐบาลเดินสายเชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วมสภาปฏิรูปฯ เป็นแค่การสร้างภาพ  ชี้  ปฏิรูปการเมืองเป็นเป้าลวง แต่การล้างผิดหวังกินรวบประเทศคือเป้าหมายที่แท้จริง
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน)  กล่าวถึงแนวคิดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง ขอบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า เป้าหมายของการตั้งสภาปฏิรูปการเมือง ก็เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือเขียนขึ้นมาใหม่ให้สอดรับกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อนำไปสู่การล้างผิด เพราะคนที่อยู่ต่างประเทศและนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาพูดชัดว่าต้องการเห็นการเขียน รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะฉะนั้นสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปการเมืองเป็นแค่เป้าลวง แต่การล้างผิดนำไปสู่การกินรวบประเทศในอนาคตคือเป้าหมายที่แท้จริง  สภาปฏิรูปไม่ได้นำไปสู่ความปรองดอง แต่เป็นสภาข้างเดียวมากกว่า ส่วนการเดินสายเชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วมก็เพื่อสร้างภาพ เพราะบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมรัฐบาลเดิมอยู่แล้ว  และการเชิญ บุคคลจากต่างประเทศก็เป็นแค่ผักชี เพราะหากบุคคลเหล่านี้เสนอไม่ตรงกับที่รัฐบาลตั้งใจ รัฐบาลก็จะไม่นำไปปฏิบัติ   ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ลงมาดำเนินการเอง เพราะต้องการล็อคสเป็คเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ  ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่เข้าร่วมไม่ใช่มีเพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่มีอีกหลายบุคคล หลายองค์กรที่ไม่เข้าร่วม เพราะเห็นว่าไม่จริงใจและไม่ใช่แนวทางปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
โฆษกประธานสภาฯ รับเรื่องร้องเรียนจาก กวป. ขอให้สอบจริยธรรม ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ฉีกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
13 ส.ค. 56 - โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นเรื่องจากกลุ่ม กวป.ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่แสดงพฤติกรรมฉีกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและกล่าวหาเป็นการรับใช้ออกกฎหมายให้โจร
 
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร รับการยื่นหนังสือจากกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) นำโดย นายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป. ที่ต้องการให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมของ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ฉีกร่าง  พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระหว่างการประชุมอภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ผิดจริยธรรม เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ในการประชุมสภาจะต้องเป็นไปตามแบบแผนและความสงบเรียบร้อย และยึดตามข้อบังคับการประชุม ประกอบกับที่ นายนิพิฏฐ์ ได้กล่าวหาบุคคลภายนอกโดยระบุว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อรับใช้โจร ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยมิชอบ จึงขอให้สภาตรวจสอบเพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างต่อไป
 
ที่มา: ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
 
ปชป.ส่ง 137 ขุนพล ถกงบฯ 57 เน้นจี้วินัยการคลังและความไม่ชอบมาพากลในการจัดสรรงบประมาณ
 
13 ส.ค. 56 -  ประชาธิปัตย์ส่ง 137 ขุนพล อภิปรายงบฯ 57 เผย เน้นอภิปรายวินัยการคลังและความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำงบประมาณ โดยเฉพาะการจัดซื้อรถตู้ของกระทรวงศึกษาธิการ
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยถึงการเตรียมอภิปรายในส่วนของฝ่ายค้าน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2557ระหว่างวันที่ 14-15ส.ค.นี้ ว่า   พรรคประชาธิปัตย์ มีผู้ขอแปรญัตติ 137 คน จาก ส.ส.ทั้งหมด 163 คน ทั้งนี้ ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลถ่ายทอดสดการประชุมทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ด้วย  ส่วนจำนวนวันเวลาที่ใช้อภิปรายนั้น ต้องให้ดำเนินการตามข้อเท็จจริง ผู้สงวนคำแปรญัตติและความเห็นต้องได้ใช้สิทธิอภิปรายทุกคน เว้นแต่ไม่ประสงค์จะอภิปราย ดังนั้นการกำหนดวันอภิปรายไว้เพียง 2 วันอาจไม่เพียงพอ  ทั้งนี้ เนื้อหาการอภิปรายจะพุ่งเป้าหลายประเด็น เช่น การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่สนใจวินัยการคลัง มีตัวเลขก่อหนี้สูงมาก ใช้งบประมาณมหาศาลบานปลายหลายโครงการ บางโครงการมีการใช้เงินคงคลังแล้ว แต่เก็บภาษีไม่เป็นตามเป้า รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณกระจุกตัวในบางจังหวัด  และความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำงบประมาณ โดยเฉพาะการจัดซื้อรถตู้ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กลายพันธ์เป็นโครงการรถตู้โรงเรียนดีศรีตำบล  และงบประมาณการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่ซ่อนอยู่ในทุกกรมเป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
ปธ.กลุ่มมิตรภาพฯไทย-เปรู เผย หารือ 4 ประเด็นสำคัญกระชับความสัมพันธ์ไทย-เปรู
 
13 ส.ค. 56 - ประธานกลุ่มมิตรภาพฯไทย-เปรู เผย ได้หารือกับบุคคลสำคัญของสาธารณรัฐเปรูใน 4 ประเด็นหลัก หวังพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและวัฒธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมระบุ ประธานาธิบดีเปรู เห็นด้วยจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ 2 ประเทศ ช่วงเดือนต.ค.58
 
นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เปรู ให้การรับรองนายเฟลิกซ์ ริการ์โด อาเมริโก อันโตนิโอ เดเนกรี โบซา เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่บุคคลสำคัญของเปรูอาทิ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาและประธานกลุ่มมิตรภาพสาธารณรัฐเปรู-ไทย ให้การต้อนรับตนและคณะเป็นอย่างดีในการเยือนเปรูเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาและจากการเยือนครั้งนี้ก็ได้หารือกันใน 4 ประเด็น คือ 1.ความสัมพันธ์ไทย-เปรูที่จะครบรอบ 50 ปี ในวันที่ 10 พ.ย. 2558 ซึ่งตนได้เสนอไปยังประธานรัฐสภาเปรูว่า ควรจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองวันดังกล่าวและควรมีการพัฒนาความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนด้านธุรกิจ การค้าให้มากยิ่งขึ้น 2.นายออลลันตา ฮูมาลา ประธานาธิบดีแห่งเปรูจะเดินทางเยือนไทยวันที่ 4-5 ต.ค.นี้ ซึ่งจะใช้ช่วงเวลานี้กระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา วัฒนธรรม การพาณิชย์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 3.ปัญหาข้าว ที่เปรูนำเข้าข้าวไทยจะต้องเสียค่ากินต่าง 66-100 เหรียญ/ตัน ซึ่งรัฐบาลพยายามเจรจาว่า จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร และ4.ได้หารือเรื่องของภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาเรื่องนี้แล้วแต่กลับหยุดชะงักไป ตนจึงได้ขอให้เปรูเริ่มเจรจาใหม่อีกครั้ง เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งเรื่องของแหล่งกำเนิดของสินค้า หลังหารือทราบว่าประธานาธิบดีและบุคคลสำคัญของเปรู ให้ความสนใจเรื่องการค้า เศรษฐกิจ การลงทุน และตั้งข้อสังเกตว่า จะทำอย่างไรให้ทั้ง 2 ประเทศพัฒนาด้านการค้า การลงทุนในเปรูให้มากยิ่งขึ้น
 
ด้านเอกอักทูตฯเปรู กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ส.ว.ประเสริฐและคณะได้เดินทางเยือนเปรู  ตน ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ยินดีอย่างยิ่งที่จะทำงานเพื่อช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเปรู-ไทยให้แน่นแฟ้นมากขึ้น และหวังว่าจากนี้ไปทั้ง 2 ประเทศจะมีการทำงานที่ประสานความร่วมมือแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันเพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และขอยืนยันว่าเปรูให้ความสำคัญกับรัฐบาลและประเทศไทย ในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนอย่างมาก ส่วนปัญหาการขายข้าวนั้น เปรูกำลังหาทางออกให้กับปัญหาภาษีซ้ำซ้อนอยู่เช่นกัน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.เพี่อไทย แนะรัฐบาลส่งเสริมครอบครัวรุ่นใหม่นำโครงการเด็กสองภาษาปรับใช้ในครอบครัว
 
13 ส.ค. 56  –  ส.ส.เพื่อไทย แนะรัฐบาลส่งเสริมให้ครอบครัวรุ่นใหม่นำโครงการเด็กสองภาษาไปใช้สอนบุตร เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยมีความสามารถทางด้านภาษาอย่างแท้จริง
 
นางมาลินี  อินฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรียกร้องให้รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ได้สร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้ครอบครัวนำโครงการสอนเด็กสองภาษามาปรับใช้ในครอบครัว เพื่อสร้างให้เด็กไทยมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศและภาษาไทยตั้งแต่ยังเล็ก เนื่องจากเห็นว่าโครงการเด็กสองภาษานั้นมีผู้นำมาใช้และประสบความสำเร็จจริง ดังนั้นจึงเห็นว่าถ้าหน่วยงานราชการให้ความสำคัญและช่วยส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวรุ่นใหม่นำแนวคิดนี้ไปใช้เลี้ยงบุตรก็จะทำให้เด็กมีความสามารถด้านภาษาดีขึ้นอย่างแน่นอน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เผย วิป 2 ฝ่ายยืนยันกรอบเวลาพิจารณางบประมาณ 57 สองวัน
 
13 ส.ค. 56 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เผย วิป 2 ฝ่ายยืนยันกรอบเวลาพิจารณางบประมาณ 57 วันที่ 14-15 ส.ค. นี้ เวลา 09.30-24.00 น. แต่อาจขยายเพิ่มต่อได้ พร้อมกำชับ ส.ส.อภิปรายในเนื้อหาที่ขอแปรญัตติ ขณะประธานการประชุมยืนยันทำหน้าที่เป็นกลาง
 
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แถลงภายหลังหารือกับวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ถึงการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วว่า ได้กำหนดกรอบเวลาการอภิปรายไว้ 2 วัน ในวันที่ 14 - 15 สิงหาคม เวลา 09.30 - 24.00 น. แต่หากเวลาไม่เพียงพอสามารถขยายเพิ่มได้อีก 1 วัน โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือวิปทั้ง 2 ฝ่าย ให้กำชับสมาชิกที่ขอสงวนคำแปรญัตติให้อภิปรายเฉพาะเนื้อหาที่ได้แปรญัตติไว้เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และงดการกล่าวพาดพิงหรือการประท้วงไปมา เนื่องจากทำให้เสียเวลาการอภิปราย อย่างไรก็ตาม ยืนยันการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมด้วยความเป็นกลางและเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม แต่อาจไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบ้างนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนป้องกันน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเล
 
13 ส.ค. 56 – ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เร่งสร้างเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะชายทะเล หลังพบ พื้นที่ตำบลท่าซัก อำเภอเมือง ถูกน้ำทะเลเซาะชายฝั่งทำลายนากุ้งหายไปกว่าสิบไร่
 
นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวเรียกร้องไปยังกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการจัดสร้างเขื่อนเรียงหินกันคลื่นในพื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 9 ตำบลท่าซัก ซึ่งมีพื้นที่ติดกับตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากขณะนี้พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรง ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นนากุ้ง ถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปหลายสิบไร่ นอกจากนั้นยังพบว่า ถนนสายนาวง – บ้านปากพญา บริเวณสุดสายเป็นชายทะเล ก็ถูกน้ำทะเลขัดเซาะเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งนี้ชาวบ้านต้องซื้อหินมาเรียงเป็นเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเลไว้ชั่วคราว แต่เชื่อว่าเมื่อถึงฤดูมรสุมความเสียหายจะรุนแรงมากขึ้น จึงขอหารือไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม  สร้างเขื่อนเรียงหินกันคลื่นในพื้นที่ดังกล่าวโดยด่วนก่อนที่จะเกิดความเสียหายมากไปกว่านี้
 
นายอภิชาต ยังกล่าวเรียกร้องให้กรมทางหลวงชนบท เร่งสร้างเนินชะลอความเร็วหรือที่เรียกว่าเนินหลังเต่าบนถนนทางหลวงชนบท สายโรงเลื่อยบ้านตาลถึงบ้านเหนือคลอง จุดผ่านโรงเรียน ในพื้นที่ตำบลกำแพงเซา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อชะลอความเร็วของรถยนต์ที่สัญจรไปมาเนื่องจากรถยนต์ที่แล่นไปมา แล่นรถด้วยความเร็วสูง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะจุดผ่านโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดกับนักเรียนที่จะต้องใช้ถนนเส้นนี้สัญจรด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย จี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จ่ายเงินชดเชยภัยแล้ง
 
13 ส.ค. 56 – ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย จี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จ่ายเงินชดเชยภัยแล้ง หลังตรวจสอบตั้งปี 2555 ชาวนายังไม่ได้รับเงินชดเชย พร้อมร้องขอกรมการปกครองจัดสรรงบประมาณสร้างอาคารหอประชุมอำเภอเมืองหนองบัวลำภูหลังใหม่ เนื่องจากหลังเก่ามีขนาดเล็กเกินไป
 
นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู กรณีที่เกษตรกรหรือชาวนายังไม่ได้รับเงินชดเชยภัยแล้งตั้งแต่ปี 2555 และขณะนี้ล่วงเลยมาถึงปี 2556 แล้ว แต่เกษตรกรยังไม่ได้รับเงินชดเชย จึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการตรวจสอบและจ่ายเงินชดเชยภัยแล้งให้กับเกษตรด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน หรือภาคอีสานตอนบน ขณะนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำฝนเทียมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรด้วย
 
นายพิษณุ ยังกล่าวเรียกร้องให้กรมการปกครองจัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารหอประชุมอำเภอเมืองจังหวัดหนองบัวลำภูหลังใหม่ เนื่องจากหอประชุมหลังเก่ามีขนาดเล็ก สามารถรองรับคนได้เพียง 300 คน เท่านั้น ส่งผลให้เวลาจัดประชุมจังหวัดหรืออำเภอที่มีประชาชนมาร่วมจำนวนมากไม่เพียงพอ จึงอยากขอให้กรมการปกครองเร่งจัดสรรงบประมาณจัดสร้างอาคารหอประชุมหลังใหม่ด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
รมว.วท. โชว์ศักยภาพวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
 
14 ส.ค. 56 - รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน หวังขับเคลื่อนพัฒนางานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาประเทศไทยให้เข้มแข็งในเวทีโลก
 
ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วท.) เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน จัดขึ้นโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 โดย ดร.พีรพันธุ์ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวัน และการพัฒนาด้านต่างๆของประเทศ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ และภาคชุมชนชนบทให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการผลักดันประเทศไทยให้เข้มแข็งได้ต้องมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ มีการสร้างความรู้อย่างเพียงพอและรู้จักนำวิทยาศาสตร์มาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ ตลอดจนรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศชัดเจนในการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ประเทศ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้ผลอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมทั้งการเพิ่มและสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรรมที่เป็นสัดส่วนโครงสร้างหลักของประเทศ ดังนั้นการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ ต่อยอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนางานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศโดยผู้แทนของภาคประชาชนและนักวิจัย เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เข้มแข็งในเวทีโลก อันนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว/ เรียบเรียง
 
 
วิปฝ่ายค้าน เรียกร้องรัฐบาลให้เวลา ส.ส.ที่สงวนคำแปรญัตติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้ใช้สิทธิอภิปรายอย่างเต็มที่
 
14 ส.ค. 56 - วิปฝ่ายค้าน เรียกร้องรัฐบาลให้สิทธิ ส.ส.ที่สงวนคำแปรญัตติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้ใช้เวลาอภิปรายอย่างเต็มที่ เพื่อชี้ประเด็นการใช้เงินแบบขาดวินัยการคลัง และขยายเวลาเพิ่มหาก 2 วันไม่แล้วเสร็จ พร้อมเรียกร้องประธานควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ อย่าใช้เสียงข้างมาก
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลอย่ากำหนดกรอบเวลาการอภิปราย แต่ควรให้เวลาสมาชิกที่ขอแปรญัตติไว้ได้อภิปรายตามความเป็นจริง และได้ใช้สิทธิอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของฝ่ายค้านมีผู้อภิปรายที่สงวนคำแปรญัตติ และสงวนความเห็นในชั้นกรรมาธิการเอาไว้หมด 137 คน หากเวลาการพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 2 วัน ต้องขยายเวลาเพิ่ม สำหรับประเด็นที่ฝ่ายค้านพยายามจะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ คือการตั้งเงินงบประมาณแบบขาดวินัยการเงินการคลัง มีการก่อหนี้สูง งบลงทุนน้อย รายจ่ายสูง แต่การจัดเก็บงบประมาณไม่ได้ตามเป้า มีการจัดงบแบบกระจุก ไม่กระจาย และความไม่ชอบมาพากลของการจัดสรรงบในบางโครงการ อย่างไรก็ตาม ไม่คาดหวังว่านายกฯ จะเข้ามาชี้แจงต่อสภา นอกจากมาเซ็นชื่อเท่านั้น
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ คำนึงถึงสิทธิของผู้อภิปราย ไม่ใช้อำนาจหรือเสียงข้างมากในสภามากจนเกินไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
กมธ.พลังงาน วุฒิสภา เผย ผลการประกวดโครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชน พ.ศ.2556"
 
14 ส.ค. 56 - ประธาน กมธ.พลังงาน วุฒิสภา เผย ผลการประกวดโครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชน พ.ศ.2556 ระบุ จะจัดพิธีมอบรางวัล ศุกร์ที่ 23 ส.ค. นี้ เวลา 09.00-12.00 น. ณ. ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา และจัดมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556 ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กทม. 23-27 ส.ค. นี้
 
นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา แถลงข่าวประกาศผลการประกวดโครงการ ประกวดผลงานโครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชน พ.ศ.2556" ที่กมธ. ร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศจัดขึ้น โดยการประกวดครั้งนี้มีผู้สนใจส่งโครงงานเข้าร่วมประกวดในประเภทต่างๆ จำนวน 48 โครงงาน จาก 25 จังหวัด แบ่งเป็น ชุมชนทั่วไป 14 โครงงาน ได้รางวัลดีเด่น 3 โครงงาน รางวัลดีมาก 4 โครงงาน รางวัลความคิดสร้างสรรค์ 7 โครงงาน สถาบันการศึกษา 12 โครงงาน ได้รางวัลดีเด่น 2 โครงงาน รางวัลดีมาก 2 โครงงาน รางวัลความคิดสร้างสรรค์ 8 โครงงาน ภาครัฐ จำนวน 19 โครงงาน ได้รางวัลดีเด่น 2 โครงงาน รางวัลดีมาก 4 โครงงาน ความคิดสร้างสรรค์ 13 โครงงาน ภาคเอกชน จำนวน 3 โครงงาน ได้รับรางวัลดีมาก ทั้ง 3 โครงงาน
 
ประธานกมธ.พลังงาน วุฒิสภา กล่าวถึงพิธีมอบรางวัลว่า จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2556 เวลา 09.00 – 12.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา 1 ตลอดจนจะจัดแสดงผลงานโครงงานที่ได้รับรางวัลในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2556 (Thailand Research Expo 2013) ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถ.ราชดำริ แขวงปทุมวัตน เขตปทุมวัน กทม. ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2556 รวมทั้งจะจัดให้มีการสัมมนาเรื่อง "ชุมชนพลังงานพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ในวันที่ 27 ส.ค. 2556 ด้วย ทั้งนี้ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาในโครงการดังกล่าวหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สำนักกรรมาธิการ 1 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โทร. 02-8319157
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
 
องค์กรพิทักษ์ความเป็นธรรม เรียกร้อง กมธ.วุฒิสภา ตรวจสอบการกำจัดขยะของ กทม.
 
14 ส.ค. 56 - ประธาน กมธ.องค์การตามรัฐธรรมนูญฯ รับหนังสือขอให้ตรวจสอบการดำเนินการกำจัดขยะของ กทม.จากองค์กรพิทักษ์ความเป็นธรรม หลังโครงการสร้างเตาเผาขยะหนองแขมไม่ชอบมาพากล
 
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการองค์การตามรัฐธรรมนูญ และติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา พร้อมคณะ รับหนังสือขอให้ตรวจสอบการดำเนินการกำจัดขยะ ของกรุงเทพมหานคร จากนายไชยนิรันดร์ พะยอมแย้ม ประธานองค์กรพิทักษ์ความเป็นธรรม และคณะ เนื่องจากทราบว่าทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีนโยบายด้านการกำจัดขยะ โดยการสร้างเตาเผาขยะพร้อมผลิตไฟฟ้าที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมของ กทม. ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 900 ล้านบาท แต่โครงการนี้ยังไม่ได้ผ่านประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงมีบริษัทเอกชนหลายบริษัทฯได้ยื่นหนังสือความจำนงค์ถึง กทม. เพื่อเสนอเงื่อนไขการรับกำจัดขยะในราคาที่ถูกกว่าและเทคโนโลยีที่ดีกว่าวิธีการฝังกลบของ กทม.ในปัจจุบัน ดังนั้นองค์กรพิทักษ์ความเป็นธรรมจึงขอให้กรรมาธิการฯทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วยว่ากระทำถูกต้องตามหลักข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหรือไม่ และทำไม กทม.ถึงไม่เลือกการกำจัดขยะในวิธีที่ดีกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงประหยัดงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
ด้านนายจิตติพจน์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยินดีตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงเพื่อพิจารณาต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
 
หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เชื่อเวทีสภาปฏิรูปการเมือง เป็นแนวทางที่ดีในการหาทางออกประเทศ
 
14 ส.ค. 56 – พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เห็นด้วยกับรัฐบาลเดินทางเวทีปฏิรูปการเมือง ชี้เป็นทางออกที่ดีของประเทศ พร้อมเชื่อจะไม่เป็นชนวนความขัดแย้งหรือนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
 
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจัดให้มีสภาปฏิรูปการเมืองหาทางออกประเทศไทย ว่าเป็นกระบวนการที่ดี เพราะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการมองหาทางออกของประเทศ ทั้งนี้ไม่สามารถตอบได้ว่าเวทีนี้จะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ส่วนการเชิญต่างประเทศเข้าร่วม ถือเป็นความพยายามที่น่ายินดีในการรับฟังเสียงสะท้อนการเมืองไทยจากนานาชาติขณะเดียวกันมั่นใจว่าเวทีสภาปฏิรูปจะไม่กลายเป็นชนวนความขัดแย้งและไม่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์คาดการณ์ไว้ เพราะดูจากรายชื่อของผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัวอย่าง เช่น นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นนักประชาธิปไตย ที่ไม่มีใครสามารถมาเปลี่ยนแนวคิดได้ นอกจากนี้ยังมีทั้งนักธุรกิจ และนักวิชาการ ร่วมเป็นกรรมการด้วย แต่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วน
 
พล.อ.สนธิ ยังระบุว่า สาเหตุที่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นั้น เพราะมีแนวทางเดียวกันกับเนื้อหา พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ตนเองเคยเป็นประธานกรรมาธิการ แต่ครั้งนี้ไม่สามารถเป็นประธานกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้ เนื่องจากผิดหลักการ เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ประธานวิปรัฐบาล คาดว่า สภาผู้แทนราษฎรจะสามารถลงมติวาระ 3 ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ได้ไม่เกินเวลา 12.00 น. ของวันที่ 16 ส.ค.นี้
 
14 ส.ค. 56  –   ประธานวิปรัฐบาล ระบุ จะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 57 อย่างเต็มที่ พร้อมเผย วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตกลงเพิ่มวันอภิปรายอีก 1 วัน คาดว่าจะสามารถลงมติวาระ 3 ได้ไม่เกินเวลา 12.00 น. ของวันที่ 16 ส.ค.นี้
 
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรอบเวลาในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ว่า  มีความชัดเจนอยู่แล้ว และเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เนื่องจากได้ประสานให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายเนื้อหาภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ส่วนเรื่องเวลาการอภิปรายนั้นวิปฝ่ายค้านและได้ตกลงกันให้ขยายเวลาอภิปรายเพิ่มอีก 1วัน คือวันที่ 16 สิงหาคม คาดว่าจะสามารถลงมติวาระ 3 ได้ไม่เกินเวลา 12.00 น. ทั้งนี้ยืนยันว่า มีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง 11 ตามปกติ โดยจะเริ่มต้นการพิจารณางบประมาณกลางเป็นเรื่องแรก
 
นายอำนวย ยังกล่าวถึงเรื่องการประท้วงว่า ได้พูดคุยกับวิปฝ่ายค้านแล้ว เพราะหากประท้วงมากอาจจะเสียเวลาเปล่า ขณะที่ทางพรรคไม่ได้ห้าม จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ประท้วง เพียงแต่ขอวางตัวให้เหมาะสมเท่านั้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ประธานรัฐสภา ให้การต้อนรับอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย
 
14 ส.ค. 56  –   ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับศาสตราจารย์เจีย  อี้หมิน  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณารัฐประชาชนจีน และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นทิศทางเดียวกันที่จะสนับสนุนให้คนไทยมีโอกาสเรียนรู้ภาษาจีนมากขึ้น
 
นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์เจีย  อี้หมิน  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณารัฐประชาชนจีน และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เนื่องในการเดินทางเยือนประเทศไทย และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยในโอกาสนี้ประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงโครงส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยของมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ด้วยว่า ที่ผ่านมาทราบว่ามหาวิทยาลัยได้สนับสนุนให้ข้าราชการไทยมีโอกาสเดินทางไปศึกษาภาษาจีนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้หน่วยงานราชการไทยมีบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า โครงการดังกล่าวยังจำกัดอยู่เพียงหน่วยงานราชการเท่านั้น ยังไม่ได้ขยายสู่ภาคประชาชน ทั้งนี้ในอนาคตภาษาจีนจะเป็นภาษาที่สำคัญอย่างมาก และหากคนไทยสามารถสื่อสารภาษาจีนได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีทั้งในด้านการพัฒนาประเทศไทยเอง รวมถึงการยกระดับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับประเทศจีน ทั้งนี้หากเป็นไปได้ ตนจึงอยากเสนอให้ทางรัฐบาลกลางของจีนนั้นช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีโอกาสได้เรียนภาษาจีนโดยการให้ทุนการศึกษาสำหรับคนไทยได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาภาษาจีนเพิ่มขึ้น เพื่อขยายจำนวนผู้รู้ภาษาจีนในประเทศไทยมากขึ้นต่อไป
 
ด้านศาสตราจารย์เจีย อี้หมิน ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นยินดีที่จะสนับสนุนทุนการศึกษาแก่คนไทยที่จะไปศึกษาภาษาจีนในประเทศจีน และพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐสภาไทยส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีความรู้ความสามารถในการสื่อสารภาษาจีนด้วย 
 
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.ระยอง เรียกร้อง บ.พีทีที แสดงความจริงใจรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากน้ำมันรั่วตามที่ประกาศไว้
 
14 ส.ค. 56 - ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้อง พีทีที แสดงความจริงใจรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากน้ำมันรั่วตามที่ประกาศไว้ หลังพบชาวบ้านเข้าถึงการเยียวยาได้ยากและไม่ครอบคลุมขณะชี้ รัฐบาลมีความพยายามช่วยเหลือบริษัทมากกว่าประชาชน จี้ตั้ง 3 กองทุน ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในระยะยาว
 
นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องความจริงใจจากบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ดแล้วประกาศจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ขณะนี้กลับมีความพยายามชดเชยเยียวยาค่าเสียหายให้น้อยที่สุด เร่งสรุปความเสียหายแต่ละกรณีโดยเร็วซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยยกตัวอย่างกรณีประมงพื้นบ้านที่ชดเชยให้ในอัตราวันละ 1 พันบาทเป็นเวลา 1 เดือน แต่ในผู้เสียหายบางรายยังไม่ทราบถึงผลกระทบในระยะยาว จึงยังไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ในทันที แต่ทางพีทีทีกลับระบุหากไม่พอใจให้ยื่นอุทธรณ์ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าการอุทธรณ์ชาวบ้านจะเข้าถึงได้ยาก จึงยากที่จะได้รับการชดเชย ตนขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลอย่าทำตัวเป็นผู้รับใช้หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยการเร่งให้สรุปความเสียหายแต่ละกรณีเพื่อจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนรวมน้อยที่สุดและยังเรียกร้องไม่ให้มีการฟ้องร้อง ปตท.เกิดขึ้น
 
นายสาธิต กล่าวด้วยว่า ตนยังเป็นห่วงถึงความพยายามสร้างภาพเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวจากกรณีที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ลงเล่นน้ำที่อ่าวพร้าว ทั้งที่กรมควบคุมมลพิษระบุถึงปริมาณสารปรอทที่มีในบริเวณดังกล่าวสูงเกินมาตรฐาน 29 เท่า จึงเป็นห่วงว่าความพยายามฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นสิ่งดี แต่จะต้องโปร่งใส สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ตนไม่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้เสร็จในเวลาสั้น ๆ เพียงเดือนเดียว และการแก้ปัญหาในระยะยาวยังมีความจำเป็นอย่างมาก ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้รัฐบาลสั่งการให้ ปตท. ตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์จำนวน 3 กองทุน เพื่อเป็นกองทุนสิ่งแวดล้อมด้วยเงินเริ่มต้น 100 ล้านบาท กองทุนประมงพื้นบ้าน 20 ล้านบาท และกองทุนสำหรับเป็นงบประมาณให้หน่วยงานกลางใช้เพื่อพิสูจน์ความเสียหายของทรัพยากรทางทะเล ทั้งหมดนี้เพื่อพลิกฟื้นระบบนิเวศน์ทางทะเลและนำไปสู่การฟื้นฟูการท่องเที่ยว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการจัดซื้อนาฬิกาดิจิตอลโปร่งใสและช่วยให้การบริหารเวลาของสภาผู้แทนราษฎรราบรื่น
 
14 ส.ค 56 - รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันการจัดซื้อนาฬิกาดิจิตอลที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาขณะนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้การบริหารเวลาในการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ติดขัด เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องเวลาในแต่ละห้องประชุมไม่ตรงกัน  จนเกิดความผิดพลาดในการทำงาน พร้อมเผยราคา 15 ล้านบาทรวมระบบการติดตั้งทั้งระบบที่ต้องเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมและอินเตอร์เน็ตเพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน
 
นายนุกูล สัณฐิติเสรี รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่โฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกี่ยวกับการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดซื้อนาฬิกาแขวนผนังจำนวน 200 เรือน มูลค่า 15 ล้านบาท เฉลี่ยเรือนละ 7 หมื่น 5 พันบาท ว่า ขอยืนยันว่าความเข้าใจดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากความจริงแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการควบคุมเวลาและการบริหารเวลาภายในรัฐสภาทั้งระบบ  โดยก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรประสบปัญหาในการนัดหมายเวลากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากนาฬิกาในห้องประชุมแต่ละห้องเดินไม่ตรงกันและบางเรือนไม่เดิน ทำให้การบริหารเวลาเกิดความผิดพลาด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการระบบนาฬิกาของรัฐสภาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า งบประมาณ 15 ล้านบาทสำหรับการติดตั้งระบบนาฬิกาของรัฐสภา ไม่ใช่มูลค่าของนาฬิกาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์ที่เป็นตัวแสดงผล ที่มีความเที่ยงตรงตลอดเวลา  มีการเชื่อมต่อกับดาวเทียมและระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อส่งสัญญาณเวลาให้กับนาฬิกาเครื่องลูกข่ายทั้งหมด รวมถึงมีการ Back Up ระบบเวลาให้กับชุดควบคุมนาฬิกาหลักให้สามารถรักษาเวลาต่อเนื่องในกรณีไฟฟ้าดับได้ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง นอกจากนี้งบประมาณดังกล่าวยังรวมถึงคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชั่น และระบบการเชื่อมต่อกับมาตรฐานเวลาในระบบของสำนักมาตรวิทยา กระทรวงวิทยาศาสตร์  อุปกรณ์และระบบการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพโดยใช้สายใยแก้วนำแสง Fiber Optic สำหรับเชื่อมโยงระหว่างอาคารที่มีความเสถียรสูง ระบบการติดตั้ง ระบบไฟฟ้าและสายสัญญาณ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวด้วยว่า ระบบนาฬิกาดังกล่าวมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศ ในกลุ่มทวีปยุโรป กลุ่มทวีปอเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีการใช้ที่สถาบันมาตรวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ
 
สำหรับนาฬิกาที่จัดซื้อและติดตั้งทั้งหมดมีจำนวน 240 เครื่อง  และมีการดำเนินการที่โปร่งใสตามระเบียบของราชการทุกประการ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา  ศรีเพ็ญประภา   ข่าว/เรียบเรียง
 
 
ส.ส.ตรัง เรียกร้อง ศธ. – สธ. เร่งจัดสรรงบฯ พัฒนาสถาบันการศึกษาในจังหวัด
 
15 ส.ค. 56 - ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้อง กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบก่อสร้างอาคารวิทยบริการให้กับวิทยาลัยการอาชีพกันตัง และขยายระบบประปาภูมิภาคให้กับวิทยาลัยสารพัดช่าง   ขณะที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ตรัง ยังขาดหอพักนักศึกษา  ฝากกระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดสรรงบก่อสร้าง
 
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการ กรมอาชีวศึกษา ช่วยจัดสรรงบประมาณให้กับวิทยาลัยการอาชีพกันตัง เพื่อก่อสร้างอาคารวิทยบริการ เพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันขอให้จัดสรรงบประมาณเพื่อขยายระบบประปาภูมิภาคและก่อสร้างโรงยิมให้กับวิทยาลัยสารพัดช่างด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง พบว่าอาคารหอพักสำหรับนักศึกษามีไม่เพียงพอ  ตนจึงขอฝากไปยังกระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารหอพักให้กับนักศึกษาโดยเร็วด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในมาตรา 3 โดยไม่มีการแก้ไข
 
15 ส.ค. 56 – สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบยอดรวมงบปี 57 ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก หลังจาก การอภิปรายมาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 โดยไม่มีการแก้ไขด้วยคะแนน 287 ต่อ 107 คน งดออกเสียง 3 คะแนน         
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2,525,000 ล้านบาท (2 ล้าน 5 แสน 2 หมื่น 5 พันล้านบาท) ในมาตรา 3 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวกับภาพรวมการจัดทำงบประมาณ โดยฝ่ายค้านอภิปรายขอตัดงบลงร้อยละ 5-10 โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณโดยไม่คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง  ทั้งนี้นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายขอปรับลดงบลงร้อยละ10 โดยย้ำโครงการของรับบาลส่อไม่โปร่งใส่ โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเห็นว่า รัฐบาลไม่เอาจริงกับการปราบปรามการทุจริต ตามที่ประกาศไว้
 
ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ชี้แจงว่า การพิจารณางบประมาณทั้งหมดคณะกรรมาธิการได้เชิญส่วนราชการทั้งหมดมาชี้แจงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องคงงบประมาณไว้ในจำนวนดังกล่าว
 
สำหรับเรื่องความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ แม้คณะกรรมาธิการจะไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง แต่ตลอดการพิจารณาคณะกรรมาธิการก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยได้สอบถามกับส่วนราชการ ทั้งนี้ยังชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องปรับแผนของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการจัดสรรงบประมาณให้ทั่วถึง เพื่อพัฒนา ยกระดับการศึกษาของไทย จำนวน 210 ล้านบาท เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
หลังอภิปรายจบมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2,525,000 บาท ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบยอดรวมงบปี 57 และเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยไม่มีการแก้ไขด้วยคะแนน 287 ต่อ 107 เสียง งดออกเสียง 3 คะแนน หลังจากนั้น ประธานรัฐสภาสั่งพักการประชุมในเวลา 01.30น. และเริ่มประชุมวันนี้ (15 ส.ค. 56) เริ่มมาตรา 4 งบกลางโดยเริ่มประชุมเวลา 9.00 น.
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.ปชป. จี้ กรมทางหลวง เร่งปรับปรุงถนนสายควนขนุน หนองชุมแสง หลังหารือผ่านสภาฯ ไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
 
15 ส.ค. 56 -  ส.ส.สมบูรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ จี้ กรมทางหลวง เร่งปรับปรุงถนนสายควนขนุน  หนองชุมแสง   ที่ยังไม่ได้ลาดยางให้เรียบร้อย หลังหารือผ่านสภาฯ ไปไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข พร้อมฝากกรมเจ้าท่าเร่งสร้างเขื่อนเกาะกลางแม่น้ำตรังโดยเร็ว
 
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงปัญหาที่พบในพื้นที่ว่า จนถึงขณะนี้ถนนสายควนขนุน  หนองชุมแสง ซึ่งเป็นถนนในสังกัดของแขวงการทางกระบี่ ยังไม่ได้รับการลาดยางให้เรียบร้อย ซึ่งปัญหานี้ตนได้หารือผ่านสภาฯ ไปยังกระทรวงคมนาคมไม่ต่ำกว่าสิบครั้งแต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตนจึงขอฝากให้ทางกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง เร่งแก้ไขด้วย เพราะขณะนี้ประชาชนได้ทวงถามและสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้วยการปลูกต้นกล้วยบนถนนแล้ว   ขณะเดียวกันขอฝากให้กรมเจ้าท่าเร่งสร้างเขื่อนเกาะเนรมิต หรือเกาะกลางแม่น้ำตรัง โดยเร็วด้วย หลังจากที่ทางจังหวัดได้จัดสรรงบฯ ถึง 18 ล้านมาให้แล้ว  
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
ประธานวิปรัฐบาล พอใจภาพรวมการอภิปรายงบประมาณปี 57 พร้อมคาดที่ประชุมสภาฯ จะลงมติวาระ 3 ได้ในวันที่ 16 ส.ค. นี้
 
15 ส.ค. 56  –  ประธานวิปรัฐบาล พอใจภาพรวมการอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 เชื่อว่าการอภิปรายวันนี้ (15 ส.ค.) จะเป็นไปด้วยความราบรื่น และสามารถลงมติวาระ 3 ได้ในวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.)         
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ว่า พอใจภาพรวมการอภิปรายที่ผ่านมา โดยเห็นว่าทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอภิปรายอยู่ในเนื้อหา ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ลงมติผ่านความเห็นชอบ ในมาตรา 3 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557  และพักการประชุมเวลา 01.30 น. และในวันนี้ (15 ส.ค.) จะอภิปรายต่อในมาตรา 4 เกี่ยวกับการพิจารณางบกลางกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้เชื่อว่าการอภิปรายจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น
 
อย่างไรก็ตาม ตนได้ประสานงานกับวิปฝ่ายค้านตลอด เพื่อขอความร่วมมือควบคุมให้ผู้อภิปรายไม่ให้เนื้อหาซ้ำซ้อน และในวันนี้ (15 ส.ค.) จะกำชับให้ทั้ง 2 ฝ่าย อภิปรายอยู่ในประเด็นเพื่อรักษาเวลา เพื่อที่จะให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติในวาระ 3 ให้แล้วเสร็จ ในเวลาเที่ยงของวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.)
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.กทม.ปชป. เรียกร้อง รฟม. และ กระทรวงคมนาคม ศึกษาแบบก่อสร้างรถไฟฟ้าให้รอบคอบ หวั่นกระทบกับประชาชน
 
15 ส.ค. 56 - ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้อง รฟม. และ กระทรวงคมนาคม ศึกษาแบบก่อสร้างรถไฟฟ้าให้รอบคอบ หวั่นกระทบกับประชาชน พร้อมขอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้บอกเล่าปัญหา เพื่อนำไปปรับแก้ให้เหมาะสม
 
ดร.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำเงินที่พบว่า ทาง รฟม. ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะนำเสาตอม้อเสาไฟฟ้าลงบริเวณใด เพราะกระทบพื้นที่และประชาชน ทั้ง ๆที่ได้มีการศึกษากันมาแล้ว  วันนี้ประชาชนบริเวณสี่แยกบางพลัดกำลังกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าจะเบี่ยงไม่ให้ตรงกับแนววางท่อระบายน้ำและท่อประปา ก็ต้องเวนคืนบ้านเรือนประชาชนกว่า 80 หลังคาเรือน  ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ ที่อยากจะฝากให้ทางรฟม. และกระทรวงคมนาคมต้องรอบคอบ ถึงการสร้างรถไฟฟ้าอีก10 สาย ทั้งนี้ ตนขอฝากให้ปรับปรุงแบบการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วง กระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด  พร้อมขอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้บอกเล่าถึงปัญหาต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไปด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ นายกรัฐมนตรีขาดประสิทธิภาพในการใช้งบกลาง
 
15 ส.ค. 56 - นายสาธิต ปิตุเตชะ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์  ขอปรับลดงบกลางร้อยละ 15 พร้อมชี้ นายกรัฐมนตรีใช้งบกลางโดยขาดประสิทธิภาพ
 
นายสาธิต ปิตุเตชะ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในมาตรา 4 งบกลาง วงเงินกว่า 345,000 ล้านบาท โดยนายสาธิต ได้อภิปรายถึงการใช้งบกลางกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรี ว่าขาดประสิทธิภาพการใช้งบกลาง และได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวของเกาะเสม็ด แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตนไม่เห็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด มีเพียงบริษัทเอกชน และกองทัพเรือเท่านั้นที่เข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้งบกลางที่ตั้งไว้เป็นงบประมาณที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้น แต่จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดระยองนั้น ตนยังไม่เห็นนายกรัฐมนตรีใช้งบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งที่จังหวัดระยองนั้นเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจากทั้งเรื่องอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวปีละกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ในทางกลับกันนายกรัฐมนตรีเคยอนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเหลือเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ตนจึงเห็นว่านายกรัฐมนตรีใช้งบกลางขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงขอปรับลดงบกลางร้อยละ 15 ของจำนวนเงินที่ตั้งไว้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหารุกที่สาธารณะเมืองคูคต
 
15 ส.ค. 56 -  ส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหารุกที่สาธารณะเมืองคูคต หลังพบมีการตั้งแผงลอยกีดขวางทางเข้าออกเมืองเอกหลายกิโลเมตร และก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์รุกพื้นที่บริเวณคลอง2
 
นายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง ส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่าข้าราชการในพื้นที่ปล่อยปะละเลย จนเกิดการบุกรุกพื้นที่สาธารณะมีการตั้งแผงลอยขายสินค้ากีดขวางตลอดทางเท้าบริเวณถนนปากทางเข้าเมืองเอก เข้าไปหลายกิโลเมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรอย่างมาก อีกทั้งพบว่า ถนนลำลูกกาหน้าสถานีตำรวจเมืองคูคต มีการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตนจนเสียช่องทางการจราจรไปหนึ่งช่องทาง  และมีการก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์รุกพื้นที่ลงไปในบริเวณคลอง2  ตนจึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ปลัดเทศบาลเมืองคูคต ผู้อำนวยการสำนักงานโยธาคูคต และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคูคต เร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และกำกับดูแลพื้นที่สาธารณะที่เกิดปัญหาบุกรุกให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู  เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
มวลชนประชาธิปัตย์ เข้าให้กำลังใจ กมธ.เสียงข้างน้อยพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
 
15 ส.ค. 56 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำทีม ส.ส.ประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รับดอกไม้ให้กำลังใจจากกลุ่มประชาชนผู้ติดตามกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิด ขณะเดียวกันกลุ่มฯ ได้เข้ายื่นข้อเสนอต่อนายสามารถ แก้วมีชัย ให้เปิดเผยการประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณานิรโทษกรรมทุกนัด และเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าให้ข้อมูลอย่างเป็นธรรม
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทีม ส.ส.ประชาธิปัตย์ อาทิ นายสาธิต วงศ์หนองเตย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายเทพไท เสนพงศ์ รับดอกไม้ให้กำลังใจจากกลุ่มประชาชนผู้ติดตามกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิด นำโดยนายธีมะ กาญจนไพริน โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา ในฐานะที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ทำหน้าที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ(วาระที่2) ซึ่งมีการประชุมวันนี้เป็นนัดแรก (15 ส.ค 56) ขณะที่กลุ่มประชาชนมีข้อเรียกร้องต่อประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้เปิดเผยการประชุม เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ารับฟัง พร้อมให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงตลอดการประชุมทุกนัด อีกทั้งจะต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครอบครัวผู้สูญเสียทุกฝ่าย ประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร มาให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนในการพิจารณา และต้องมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกับคณะกรรมาธิการอย่างเป็นธรรม  ทั้งนี้ ตัวแทนของกลุ่มประชาชนฯ จำนวน 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอดังกล่าวต่อ นายสามารถ แก้วมีชัย ตัวแทนของคณะกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย
 
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กลุ่มประชาชนฯ มาชุมนุมให้กำลังใจ ส.ส.ประชาธิปัตย์ นายวรชัย เหมะ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้เฝ้ายืนสังเกตการณ์อยู่ใกล้ ๆ ภายในรั้วรัฐสภา ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดง กวป. ซึ่งตั้งเวทีปราศรัยอยู่ด้านหน้าสวนสัตว์เขาดินฝั่งตรงข้ามกับรัฐสภาได้กล่าวโจมตีถึงการทำหน้าที่ของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เช่นกัน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของตำรวจนครบาลเพื่อป้องกันการปะทะของมวลชนทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
 
กรรมาธิการส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ห่วงโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่
 
15 ส.ค 56 -  คณะกรรมาธิการส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร แนะคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติหาข้อสรุปวงเงินรับจำนำข้าวให้ได้ก่อนเริ่มดำเนินการรอบใหม่
 
คณะกรรมาธิการส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีนายวิชัย ล้ำสุทธิ เป็นประธานกรรมาธิการ   เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมประชุมประเด็นการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2556/2557  โดยภายหลังรับฟังคำชี้แจง คณะกรรมาธิการได้เสนอแนะให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติหาข้อสรุปในส่วนของการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2556/2557 ทั้งเรื่องวงเงินการรับจำนำข้าวต่อราย คุณสมบัติของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและชนิดพันธุ์ข้าวที่จะรับจำนำก่อนเริ่มดำเนินการตามโครงการรับจำนำเพื่อให้เกษตรกรทราบถึงหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น  ขณะเดียวกันได้เสนอแนะให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการคิดต้นทุนการผลิตข้าวโดยแยกประเภทตามพันธุ์ข้าวและคิดต้นทุนการผลิตโดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณแยกตามพื้นที่ในและนอกชลประทาน และให้จัดทำโซนนิ่งในการปลูกข้าวให้เหมาะสมตลอดจนตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ รวมทั้งขอให้กรมส่งเสริมการเกษตรตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่แจ้งแก่หน่วยงานเข้าไปไว้ในฐานข้อมูลบัตรประชาชนของกระทรวงมหาดไทยให้ถูกต้อง
 
คณะกรรมาธิการส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม ยังได้เสนอแนะให้กรมการค้าภายในจัดหาตลาดในการขายข้าวให้มากขึ้นและต้องร่วมมือกับกรมการค้าต่างประเทศในการระบายสต๊อกข้าวก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตรอบใหม่ และให้องค์การคลังสินค้าบริหารจัดการโครงการจำนำข้าวให้มีความโปร่งใสมีประสิทธิภาพและจัดหาคลังสินค้าให้เพียงพอเพื่อรองรับผลผลิตที่จะเข้าสู่โครงการ  ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมกับกระทรวงการคลังหาข้อสรุปวงเงินการรับจำนำข้าวและวงเงินที่กระทรวงการคลังจะค้ำประกัน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา   ศรีเพ็ญประภา   ข่าว/เรียบเรียง
 
 
ส.ส.นราธิวาส จี้รัฐบาลชี้แจงการตั้งงบประมาณ 20 ล้าน เชิญอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แก้ปัญหาความขัดแย้งการเมืองไทย
 
15 ส.ค. 56 - ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายปรับลดงบกลาง มาตรา 4 ลงร้อยละ 10 พร้อมจี้รัฐบาลชี้แจงกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หลังพบ ตั้งงบประมาณรับรองสูงถึง 20 ล้านบาท
 
นายเจะอามิง โตะตาหยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในมาตรา 4 งบกลาง วงเงินกว่า 345,000 ล้านบาท โดยนายเจะอามิง กล่าวว่าขอปรับลดงบประมาณในมาตรา 4 ร้อยละ 10 โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณที่เป็นงบกลางไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณลับที่ใช้ในการเจรจาสันติภาพกับ กลุ่ม BRN นั้น ก็ไม่เกิดผลสำเร็จแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ยังเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
 
นอกจากนี้ นายเจะอามิง ยังเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงถึงกรณีการใช้งบประมาณเพื่อเชิญ นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้เข้าร่วมการปาฐกถาพิเศษเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย ที่มีกระแสข่าวว่า ใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาทนั้น จริงหรือไม่และใช้งบกลางของ ปี 2556 หรือ 2557 เพราะถ้าหากเป็นเรื่องจริงถือว่าเป็นการใช้งบประมาณที่สูงเกินไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผ่านมาตรา 4 งบกลาง ด้วยคะแนน 291 ต่อ 126 เสียง
 
15 ส.ค. 56 - ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 มาตรา 4 งบกลาง ด้วยคะแนน 291 ต่อ 126 งดออกเสียง 14 และไม่ลงคะแนน 2 เสียง
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในวาระ 2 ซึ่งพิจารณามาตรา 4 งบกลาง วงเงิน 343,131 ล้านบาท โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการในที่ประชุม ทั้งนี้หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายตามขอแปรญัตติไว้แล้ว เมื่อเวลา 13.50 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านความเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียง 291 ต่อ 126 เสียง งดออกเสียง14 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
 
โดยประเด็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายในมาตรา 4 งบกลางนั้น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบกลางจำนวน 343,131 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่สูงเกินจำเป็น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า งบดังกล่าวรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำนโยบายประชานิยม และนายกรัฐมนตรีนำไปใช้ไม่จำกัด และไม่มีการตรวจสอบ โดยเฉพาะการลงพื้นที่ตรวจราชการ หรือและการเดินทางเยือนต่างประเทศ ที่เห็นว่าควรปรับเปลี่ยนให้นายกรัฐมนตรีเยือนต่างประเทศเฉพาะกรณีหรือการประชุมสำคัญ ๆ เท่านั้น
 
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ได้ชี้แจงกรณีตั้งงบประมาณฉุกเฉินว่า จะมากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความจำเป็นให้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย เช่น กรณีภัยพิบัติ ส่วนการเดินทางไปเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้อยู่ในงบกลางแต่อยู่ในมาตรา 5 งบของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเบิกจ่ายนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือสำนักงบประมาณด้วย ขณะที่การเดินทางไปต่างประเทศจะพิจารณาตามความเหมาะสมและมุ่งเน้นที่ภารกิจหลักในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเข้าร่วมประชุมตามพันธกรณี ขณะเดียวกันในส่วนของสื่อมวลชนและภาคเอกชนที่ร่วมเดินทางไปกับคณะได้เสียค่าใช้จ่ายเอง ไม่ได้เบิกจ่ายจากงบประมาณส่วนนี้ พร้อมยืนยันว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวตรวจสอบได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.ปชป. เรียกร้อง นายกฯ มีความจริงใจบริหารราชการแผ่นดิน
 
15 ส.ค. 56 - ส.ส.ปชป. เรียกร้อง นายกรัฐมนตรีมีความจริงใจบริหารราชการแผ่นดิน หลังไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายสำคัญของประเทศ พร้อมชี้ การจัดเวทีสภาปฏิรูปฯของรัฐบาลเป็นเพียงการจัดอีเวนท์ที่ต้องใช้งบมหาศาลให้ผู้นำต่างประเทศเดินทางมาไทย
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรียกร้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความจริงใจในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะจากการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับที่ผ่านมาทั้งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในขณะนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสำคัญในการเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพื่อรับฟังความเห็นของฝ่ายค้านแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะสภาฯ เป็นผู้อนุญาตให้รัฐบาลสามารถนำเงินงบประมาณของประชาชนไปใช้จ่าย แต่อำนาจการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ซึ่งนายกฯ ถือเป็นผู้บริหารสูงสุด แต่การที่นายกฯ ไม่ให้ความใส่ใจในการบริหารภาษีของประชาชน ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงเรื่องวุฒิภาวะของนายกฯ เป็นอย่างยิ่งที่ทำตัวอยู่เหนือปัญหาและความรับผิดชอบทั้งที่เป็นหน้าที่ และยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่านายกฯ ไม่มีความจริงใจและไม่ต้องการเห็นประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ความปรองดองที่แท้จริง ตลอดจนสะท้อนไปถึงเวทีสภาปฏิรูป ที่กระทรวงการต่างประเทศเชิญผู้นำต่างประเทศหรือผู้มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมเวทีซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลนั้น ตนขอถามกลับไปยังรัฐบาลว่าจ่ายงบประมาณขนาดนี้ไปเพื่ออะไร ซึ่งตนเชื่อว่าเงินไม่สามารถซื้อความปรองดองและความสามัคคีได้จนกว่านายกฯ จะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ พร้อมยืนยันพรรคฝ่ายค้านให้ความร่วมมือในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทุกครั้ง แต่ภาพที่เห็นคือเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ว่างเปล่ามาตลอด 2 สัปดาห์ และไม่ทราบว่าติดภารกิจอะไรที่สำคัญกว่าการพิจารณาเรื่องงบประมาณ ซึ่งถือว่าขณะนี้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคารพต่อระบบรัฐสภาแต่อย่างใด
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
 
รองโฆษกปชป. พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงกับดีเอสไอกรณีโพสต์รูปนายกฯ ยืนคู่กับป้ายอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
 
15 ส.ค. 56 - รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยัน  พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงกับดีเอสไอกรณีโพสต์รูปนายกฯ ยืนคู่กับป้ายอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมฝากถึงอธิบดีดีเอสไอ ข้าราชการทุกคนต้องเป็นกลาง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน
 
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่รัฐสภาว่า กรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีการกล่าวอ้างว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประมุขประเทศว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคำพูดที่ไม่บังควร เพราะประมุขประเทศมีเพียงองค์เดียว ซึ่งพรรคจะพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป ส่วนกรณีดีเอสไอเตรียมสอบสวน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่โพสต์ภาพนายกรัฐมนตรี ยืนคู่กับป้ายอุทยานแห่งชาติกุยบุรีนั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ถึงจะอ้างว่าเป็นหนึ่ง 1ใน 9มูลฐานความผิดในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่การที่ดีเอสไอออกหน้าอย่างชัดเจนแบบนี้ ทั้งๆ ที่การขึ้นรูปนายกรัฐมนตรี กับป้ายข้อความตีความหมายได้หลายทาง หากเทียบกับกรณีคนที่หมิ่นพระมหากษัตริย์และสถาบันที่ยังทำต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ ดีเอสไอได้ทำให้เห็นถึงความจงรักภักดีมากแค่ไหน
 
 ด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธปัตย์ ยืนยันว่า  พร้อมจะชี้แจงข้อเท็จจริงกับดีเอสไอ แต่ก่อนหน้าดีเอสไอแถลงข่าวนั้น ตนได้มีการสอบถามกับ ปอท.และกองปราบปราม ก็ไม่มีหน่วยงานไหนติดใจและเห็นว่าไม่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันเมื่อตนทราบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพไม่จริง ก็ได้ลบออกและลงข้อความขออภัย  พร้อมกล่าวฝากไปถึงอธิบดีดีเอสไอว่า การทำหน้าที่ของข้าราชการทุกคนมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน มาตรา 74 ควบคุมข้าราชการทุกคนอยู่ ว่าจะต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
กมธ.คมนาคม สผ. ติดตามความคืบหน้าโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV
 
15 ส.ค. 56 - กมธ.คมนาคม สผ. ติดตามความคืบหน้าโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV แนะต้องกำหนดรายละเอียด TOR ที่เป็นมาตรฐานความปลอดภัยและเปิดเผย TOR อย่างกว้างขวาง พร้อมตั้งคำถาม  ปตท. จัดเตรียมสถานีไว้รองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นแล้วหรือไม่
 
คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายเจือ ราชสีห์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้ประชุมพิจารณาติดตามความคืบหน้าโครงการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) จำนวน 3,183 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หลังรับฟังข้อมูลจากประธานคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและรองผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฝ่ายเดินรถองค์การ) เรื่องของ ร่างขอบเขตงาน  (TOR) วัตถุประสงค์ของการจัดซื้อรถ ความคิดเห็นของสาธารณาชน รับฟังข้อมูลด้านปัญหาการให้บริการ ค่าใช้จ่ายและหนี้สินจำนวนมากของ  ขสมก. จากที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานดำเนินงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรับฟังคำชี้แจงเรื่องการจัดทำแผนงานเพื่อขยายสาขาสถานีก๊าซ NGVจาก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท  ปตท. จำกัด (มหาชน) กมธ.เห็นว่า ร่างขอบเขตของงาน (TOR) ต้องกำหนดรายละเอียดที่เป็นมาตรฐานความปลอดภัยและต้องเปิดเผย TORอย่างกว้างขวาง การที่ TORกำหนดให้ผู้เสนอราคารับผิดชอบการซ่อมบำรุงเพียง 3 ปี หลังจากนั้นหน่วยงานใดจะเข้ามาซ่อมแซมบำรุงรักษา หากจะให้ ขสมก.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการซ่อมแซมถือว่าเป็นภาระหนักและต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และการที่ร่าง TORกำหนดให้ผู้เสนอราคา เสนอแนวทางด้านเทคนิคและต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ใช้เกณฑ์มาตรฐานใดมากำหนดการให้คะแนนดังกล่าว นอกจากนี้ได้ตั้งคำถามไปยังหน่วยงานข้างต้นว่า เหตุใด ขสมก.จึงเปลี่ยนเป็นการซื้อรถโดยสารประจำทาง สภาพันฒน์สนับสนุนให้ซื้อหรือไม่ และสถานีบริการก๊าซ NGVมีอยู่จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จัดเตรียมสถานีไว้รองรับหรือไม่ หากในอนาคตก๊าซ NGV หมด ขสมก. ได้เตรียมการในเรื่องดังกล่าวอย่างไร
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
 
ประธานวุฒิฯ รับยื่นเรื่องแสดงเจตจำนงค์ขอเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อถอดถอน กสทช.ทั้งคณะ จากตัวแทนรัฐวิสาหกิจไทย 49 แห่ง
 
15 ส.ค. 56 - ประธานวุฒิสภา รับยื่นเรื่องแสดงเจตจำนงค์ขอเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อถอดถอน กสทช. ทั้งคณะ จากตัวแทนรัฐวิสาหกิจไทย 49 ด้านตัวแทนรัฐวิสาหกิจฯ เผยเหตุยื่นเรื่อง เนืองจาก กสทช. มีพฤติกรรมส่อให้เห็นว่า อาจไม่ได้ปฏิบัติงานในการปกป้องรักษาผลประโยชน์แก่ประเทศชาติ
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา รับการยื่นเรื่องเพื่อแสดงเจตจำนงค์ขอเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งคณะ จากตัวแทนรัฐวิสาหกิจไทย 49 แห่ง นำโดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า 1.มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายมือถือ 3 Gประเภทที่ 3 ให้กับบริษัทเอกชนสามราย ให้สามารถสร้างโครงข่ายมือถือ 3Gเองได้ ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ 2.ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูและกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กรณีพบการร่วมมือระหว่างบริษัทภายใต้สัญญาสัมปทานและบริษัทลูก กระทำการถ่ายโอนลูกค้าจากเดิมที่เคยใช้บริการโทรศัพท์ภายใต้สัญญาสัมปทานไปสู่การให้บริการลูก กระทบรายได้นำส่งรัฐภายใต้สัญญาสัมปทาน ส่งผลทำให้รัฐเสียหาย 3.การที่คณะกรรมการ  กสทช. ออกใบอนุญาตประเภทที่ 3 ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง แก่ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 3Gได้ แถมด้วยการออกประกาศการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน เพื่อหวังให้บริษัทลูกที่ชนะการประมูล สามารถใช้โครงข่ายอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ที่มอบให้บริษัทแม่ที่มารับงานตามสัญญาสัมปทาน ไปแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้ และ 4.การออกประกาศ คณะกรรมการ กสทช. ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 14 ส.ค. 56 ระบุ ขั้นตอนวิธีการประมูลคลื่นในกิจการวิทยุโทรทัศน์ ให้เลือกผู้ชนะการประมูลที่มีราคาสูงสุดเรียงตามลำดับ ในกรณีที่ชนะการประมูลด้วยราคาที่เท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก ก่อให้เกิดคำถามว่า การจับสลากเป็นวิธีการประมูลที่ดีที่สุดหรือไม่และจะมีหลักประการใดที่ประชาชนจะได้สถานีโทรทัศน์ที่มีความพร้อมให้บริการมากที่สุด จากพฤติกรรมข้างต้นแสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ กสทช.จงใจใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ขัดต่อบทบัญญัติของ รธน.50 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งจึงเห็นตรงกันและเข้ายื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนต่อไปตามที่กฎหมายกำหนด
 
ประธานวุฒิสภา กล่าวหลังรับหนังสือว่า ขอให้รวบรวมรายชื่อยื่นถอนถอนมาไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นรายชื่อ จากนั้นจะตรวจสอบความถูกต้องภายใน 30วัน ก่อนดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
 
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แสดงความยินดีกับนายกสโมสรรัฐสภาคนใหม่
 
15 ส.ค. 56 - เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าแสดงความยินดีกับ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะนายกสโมสรรัฐสภาคนใหม่ โดยนายชูวิทย์ ย้ำ บริหารงานเพื่อรองรับประชาชนและสมาชิกพร้อมอดีตสมาชิกให้ได้รับความสะดวกเข้าใช้บริหาร ควบคุมราคาอาหารภายใต้มาตรฐานคุณภาพ
 
นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าแสดงความยินดีกับ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรรัฐสภาคนใหม่ หลังผู้ดำรงเดิมหมดวาระ โดยนายชูวิทย์ กล่าวถึงนโยบายในการบริหารงานสโมสรรัฐสภาว่า จะเน้นให้บริการประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกและอดีตสมาชิกรัฐสภาที่มีจำนวนกว่า 3 พันคนได้เข้าใช้บริการ พร้อมกับได้แบ่งสัดส่วนไว้ให้เป็นห้องทำงานรองรับอดีตสมาชิกที่จะเข้ารับเงินเดือนและสวัสดิการตามกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภา  ขณะเดียวกัน เน้นควบคุม ปรับปรุงแผงค้าอาหารที่มีอยู่ให้เป็นร้านอาหารอร่อย สะอาด มีคุณภาพ ส่วนที่มีผู้กล่าวว่าร้านอาหารในสโมสรรัฐสภาขายอาหารเกินราคานั้น ตนยืนยันราคาอาหารมีความสอดคล้องกับคุณภาพ มีมาตรการควบคุมราคาและได้เน้นต่อผู้ค้าให้ขายแบบกำไรน้อย แต่ขายได้บ่อย
 
นายกสโมสรรัฐสภา กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่การตั้งข้อสังเกตเรื่องห้องเก็บขยะนั้น ยืนยันห้องขยะมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ และได้เน้นให้มีการบริหารจัดการอย่างสะอาดตาและถูกสุขลักษณะ เพื่อรองรับขยะทั้งหมดของรัฐสภา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
 
ส.ว.มณเฑียร แนะ รัฐสภาและรัฐบาลปฏิรูปเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรม
 
15 ส.ค. 56 - ส.ว.มณเฑียร แนะ รัฐสภาและรัฐบาลเร่งปฏิรูปเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรม หวังลดการใช้เอกสารกระดาษได้อย่างแท้จริง
 
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึง แนวคิดการลดใช้กระดาษในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแทนการใช้กระดาษเป็นจำนวนมาก แต่การใช้กระดาษกลับไม่ลดลง เนื่องจากยังไม่มีการปฏิรูปเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ยกตัวอย่าง เช่น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาใช้งบประมาณปีละไม่น้อยกว่า 27 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อกระดาษสำหรับจัดทำเอกสาร และยังไม่มีการปฏิรูปเอกสารระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ตามมาตรฐานสากลตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 ข้อ 187 ว่าด้วยการจัดทำ จัดเก็บหรือเรียกเอกสารใดๆ เพื่อการพิจารณาหรือเผยแพร่ของวุฒิสภาให้อยู่ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมาตรฐานเปิดให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยคนทุกกลุ่มในสังคม ตนเห็นว่าการใช้เอกสารกระดาษก็ยังคงมีต่อไป ดังนั้นจึงขอให้รัฐสภาและรัฐบาลเร่งปฏิรูปเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่มาตรฐานสากลโดยเร็ว เพื่อลดการใช้เอกสารกระดาษได้อย่างแท้จริง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
 
กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีมติตั้งนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เพื่อไทย เป็นประธาน
 
15 ส.ค. 56 -  ที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีมติตั้ง นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน นัดประชุมทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 น. ระบุจะถ่ายทอดการประชุมให้สื่อมวลชนฟังเพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจมาก
 
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... นัดแรกวันนี้(15 ส.ค. 56) ที่ประชุมมีมติเลือก นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ เป็นรองประธานคนที่ 1 นายชาดา  ไทยเศรษฐ์   เป็นรองประธานคนที่ 2   และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ เป็นรองประธานคนที่ 3 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เป็นเลขานุการ  พร้อมเลือก นายสุชาติ ลายน้ำเงิน และนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม เป็นโฆษกกรรมาธิการ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการจำนวน 2 คน คือ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ส่วนอีกตำแหน่งให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธโดยระบุเหตุผลเพราะทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการอยู่แล้ว จึงต้องการให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาร่วมทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อรับความคิดเห็นในทางวิชาการหรือจากผู้มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ ส่วนกรอบเวลาการประชุมนั้น ได้กำหนดให้มีการประชุมทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 น. เริ่มต้นในสัปดาห์หน้า
 
ขณะเดียวกันที่ประชุมมีความเห็นตรงกับข้อเสนอของ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ที่ต้องการให้สื่อมวลชนและประชาชนได้เข้าถึงการประชุมดังกล่าวเพราะเป็นที่สนใจของสังคมอย่างกว้างขวาง จึงเสนอให้มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อของรัฐสภา แต่ติดขัดที่เป็นเวลาเดียวกับการถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  เบื้องต้นจึงมีแนวทางให้ถ่ายทอดสดการประชุมไปยังห้องสื่อมวลชน เพื่อติดตามและเผยแพร่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ นายบุญยอดได้ฝากให้ นายสามารถ ทำหน้าที่ประธานอย่างเป็นกลางในที่ประชุม เปิดโอกาสให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่
 
นอกจากนี้ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอให้มีการตั้งตัวแทนกระบวนการยุติธรรมจากทุกหน่วยงานเข้าร่วม ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาล อัยการสูงสุด กรมราชทัณฑ์ เพื่อที่จะหาคำตอบเรื่องจำนวนนักโทษที่กำลังถูกดำเนินคดี หรือถูกกุมขัง ให้ชัดเจน และนายศุภชัย ใจสมุทร เสนอให้นำข้อมูลก่อนเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ประกอบการพิจารณา รวมถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดี ด้าน นายอภิสิทธิ์ เสนอเพิ่มเติมให้ที่ประชุมพิจารณาเหตุการณ์ หลังวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 จนถึงปัจจุบันเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ถอนตัวออกจากคณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ และนายสุทิน คลังแสง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
 
กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทย คาด พิจารณาแล้วเสร็จ มีผลบังคับใช้ได้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน
 
15 ส.ค. 56 - กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ พรรคเพื่อไทย คาด พิจารณาแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน แม้ ส.ส.ประชาธิปัตย์จะขอแปรญัตติทุกบรรทัด ยืนยัน พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ขอรับอานิสงค์  พร้อมระบุ เห็นด้วยสภาปฏิรูปการเมืองของนายกฯ
 
นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาว่า ที่ประชุมกรรมาธิการน่าจะมีการพิจารณาเนื้อหาในประเด็นหลักอยู่ที่มาตรา 3 ที่จะคลอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลใดบ้าง แต่ในหลักการแล้วจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมยืนยันกฎหมายดังกล่าวไม่เหมารวมผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล พร้อมยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี จะไม่ขอรับอานิสงค์จากกหมายดังกล่าว จึงขอให้พรรคประชาธิปัตย์สบายใจในเรื่องนี้ ส่วนที่มีการระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์จะแปรญัตติทุกบรรทัดนั้น เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะได้หารือในรายละเอียดอย่างเต็มที่ในเนื้อหา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงก่อนปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญให้กับพี่น้องประชาชน
 
นายเชิดชัย กล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่าหากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาในวาระ 3 จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านทั้งในและนอกสภา ว่าถือเป็นเรื่องปกติ เพราะ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศพรรคประชาธิปัตย์ยังออกมาคัดค้าน นอกจากนี้ นายเชิดชัย ยังกล่าวสนับสนุนแนวทางสภาปฏิรูปการเมืองของนายกรัฐมนตรีว่าเป็นสิ่งที่ดีในการนำไปสู่ความปรองดอง มีการเชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเข้าร่วม ส่วนที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปฯ นั้นมองว่าเป็นเรื่องไม่สมควรเพราะควรให้เกียรติในฐานะผู้ผู้ใหญ่
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, พิเชษฐ์ ศิริเพ็ญ/ ข่าว ลักขณา เทียกทอง / เรียบเรียง
 
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ พิจารณางบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
16 ส.ค. 56 - สภาผู้แทนราษฎร เริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในวาระ 2 ต่อเป็นวันที่ 3 โดยเริ่มพิจารณาต่อที่ มาตรา 10 งบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วงเงินกว่า 10,300 ล้านบาท
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2,525,000 ล้านบาท (2 ล้าน 5 แสน 2 หมื่น 5 พันล้านบาท) ในวาระ 2 วันนี้ (16 ส.ค.) ซึ่งนับเป็นวันที่ 3 ของการประชุม เริ่มเวลา 09.00 น. มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ภาพรวมการพิจารณาเมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน เน้นอภิปรายให้ปรับลดงบกลาง เนื่องจากเห็นว่าตั้งไว้สูงเกินความจำเป็น และเปิดช่องให้รัฐบาลนำไปใช้ในโครงการประชานิยม และนายกรัฐมนตรีนำไปใช้ไม่จำกัดและไม่มีการตรวจสอบ โดยเฉพาะการเดินทางเยือนต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเน้นถึงการจัดสรรงบประมาณที่กระจุกตัวบางพื้นที่ และการผิดพลาดล้มเหลวในการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อเวลา 24.15 น. ประธานในที่ประชุมได้สั่งพักการประชุม หลังจากที่ประชุมได้พิจารณาสิ้นสุดลงที่ มาตรา 9 งบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
 
ขณะที่วันนี้เริ่มพิจารณาต่อที่ มาตรา 10 งบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วงเงินกว่า 10,300 ล้านบาท
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ขอปรับลดงบประมาณกระทรวงเกษตรฯ 10%
 
16 ส.ค. 56 - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ปรับลดงบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลง 10% ชี้ ที่ผ่านมาใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรไม่เป็นธรรม ระบุ ใช้งบ 7 แสนล้านบาทในโครงการรับจำนำข้าว แต่ใช้เงินเพียง 2 หมื่นล้านบาทแก้ราคายางพาราตกต่ำ ทั้งที่มีพื้นที่สวนยางถึง 57 จังหวัดทั่วประเทศ
 
นายสาคร  เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในวาระ 2 ในมาตรา 11 ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินงบประมาณกว่า 77,276 ล้านบาท ในภาพรวมลดร้อยละ 10 จากวงเงินงบประมาณทั้งหมด เนื่องจากตนเห็นว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่มีความชัดเจนที่จะนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งจะเห็นจากการใช้งบประมาณในโครงการรับจำนำข้าวมากถึง 7 แสนล้านบาท ในขณะที่ใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางพาราจากกรณีราคายางพาราตกต่ำ เพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาท ทั้งนี้ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางพารามากถึง 57 จังหวัด
 
นายสาคร ยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องแสดงความจริงใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกรทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และต้องมีนโยบายชัดเจนเพื่อดูแลราคาพืชเศรษฐกิจทุกชนิด เพื่อให้เกษตรกรทุกภาคส่วนได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเป็นธรรม
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
รมต.ต่างประเทศ ระบุ พร้อมสำหรับการอพยพคนไทยจากเหตุวุ่นวายทางการเมืองในอียิปต์
 
16 ส.ค. 56 - รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงไคโร ประเทศอิยิปต์ ยังไม่ไต่ถึงระดับ 4 แต่พร้อมสำหรับการช่วยเหลืออพยพไทยไปยังประเทศที่ 3 หากมีการยกระดับความรุนแรงสถานการณ์ พร้อมตั้งผู้ประสานข้อมูลช่วยเหลือคนไทยทั้งที่อิยิปต์ และในประเทศไว้แล้ว
 
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงที่รัฐสภา ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศอียิปต์ จากกรณีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอซี่ ที่กรุงไคโร ว่า จากการประเมินสถานการณ์ตามหลักสากล ที่แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ขณะนี้ความรุนแรงอยู่ในระดับที่ 3 กระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมแผนรองรับ พร้อมตั้งคณะทำงานติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้มั่นใจว่าจะสามารถอพยพคนไทยได้ทันหากความรุนแรงสถานการณ์เข้าสู่ระดับ 4 โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงไคโร ได้ประสานแจ้งไปยังกลุ่มคนไทยให้เตรียมสิ่งของจำเป็นให้พร้อม เช่น ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม สำหรับการอพยพ รวมถึงสำรองเงินสกุลท้องถิ่น เงินดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมมีตัวแทนประสานในแต่ละจุดนัดพบซึ่งประกอบด้วย หอพักนานาชาติ ที่ทำการสมาคมนักศึกษา ที่ทำการชมรมศาสนวิทยา โดยมีผู้รับผิดชอบประสานงานในแต่ละจุด
 
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ได้ประสานสายการบินอียิปต์แอร์ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับคนไทยตามจุดนัดหมายบริเวณนอกเมืองที่มีการรวมพลกันมาและอพยพไปยังประเทศที่สาม อาทิ ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะขอความร่วมมือประเทศเหล่านี้ยกเว้นการตรวจลงตราข้ามชายแดน และให้จุดพักพิงเพื่อรอเครื่องบินเที่ยวพิเศษและเครื่องบินจากกองทัพอากาศไทย การบินไทยไปรับ ทั้งนี้ ญาติของคนไทยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมการกงสุล โทร. 0-2575-1047 และสถานเอกอัครราชทูต ประจำกรุงไคโร +20101-940-1243 ตลอด 24 ชม.
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันด้วยว่าขอให้มั่นใจว่าทางการไทยสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันอย่างแน่นอน เนื่องจากมีประสบการณ์การอพยพคนไทยจากเหตุความรุนแรงที่ประเทศซีเรียมาแล้ว แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในอียิปต์ต้องปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่สถานทูตแนะนำ เช่น ห้ามเข้าพื้นที่ชุมนุม ไม่ออกนอกบ้านยามวิกาล ซึ่งทั้งหมดนี้กระทรวงการต่างประเทศไม่ประมาท เนื่องจากสถานการณ์สามารถพัฒนาระดับความรุนแรงอย่างรวดเร็วได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
 
ประธานรัฐสภานัดประชุมร่วมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20 สิงหาคม นี้
 
16 ส.ค. 56 - ประธานรัฐสภา นัดประชุมวันที่ 20 สิงหาคม ถกแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ประธานวิปรัฐบาล เผย ยังไม่กำหนดวันประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณา ระบุ ต้องหารือกับวิปรัฐบาลก่อน
 
นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภา มีคำสั่งนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1(สมัยสามัญทั่วไป) ในวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2556 โดยการประชุมร่วมรัฐสภาจะเริ่มในเวลา 09.30 น. ซึ่งมีระเบียบวาระเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
 
ทั้งนี้นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนในการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 ซึ่งจะต้องมีการหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาลก่อน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
 
วุฒิสภา เตรียมมอบเสื้อสามารถและเงินอัดฉีดให้น้องเมย์ แชมป์โลกแบตมินตันหญิงเดี่ยว วันจันทร์ นี้
 
16 ส.ค. 56 - คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา เชิญ น้องเมย์ แชมป์โลกแบดมินตัน เข้าเยี่ยมคารวะประธานวุฒิสภา พร้อมมอบเสื้อสามารถและเงินอัดฉีดประมาณ 5 แสนบาท ในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคมนี้
 
การประชุมคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ที่มี นายจรัญ จึงยิ่งเรืองรุ่ง เป็นประธานได้มีการเสนอขอความร่วมมือกับทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดงานฉลองตำแหน่งแชมป์โลกแบตมินตัน   ให้กับนางสาวรัชนก อินทนนท์ (น้องเมย์) นักแบดมินตันหญิงมือวางอันดับ 2 ของโลกชาวไทย หลังสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกที่คว้าตำแหน่งแชมป์โลก จากการแข่งขันประเภทหญิงเดี่ยว ในการแข่งขัน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2013 ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน และยังเป็นแชมป์โลกในรายการดังกล่าวที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ประสานกับ คุณหญิง ปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย เพื่อให้เข้าพบ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ พร้อมมอบเสื้อสามารถและเงินอัดฉีดประมาณ 5 แสนบาท นอกจากนี้ที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องการเดินทางเข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม นี้ ด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิชชุลดา โพธินาม / ข่าว ลักขณา เทียกทอง / เรียบเรียง
 
 
ที่ประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 เข้าสู่การพิจารณามาตรา 17 กระทรวงมหาดไทย
 
17 ส.ค. 56 - การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 เข้าสู่วันที่ 4 พิจาณาไปแล้ว 17 มาตรา จากจำนวนทั้งหมด 35 มาตรา
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว(วาระ2) เข้าสู่วันที่ 4 ของการประชุม ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากวานนี้ตลอดทั้งคืน โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน ยังเน้นที่การใช้จ่ายงบประมาณแบบไม่โปร่งใสในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในมาตรา 16 งบกระทรวงพาณิชย์ วงเงินกว่า 7,788 ล้านบาท ที่ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวประโยชน์ไม่ตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง รวมถึงการปล่อยให้สินค้าราคาแพงส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชน และขณะนี้เป็นการอภิปรายในมาตรา 17 งบของกระทรวงมหาดไทยมาตรา 17 วงเงินกว่า 328,755 ล้านบาท ซึ่งนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้สงวนคำแปรญัตติขอปรับลด 10 เปอร์เซ็นต์ อภิปรายในประเด็นความรอบคอบการตรวจสอบงบประมาณเวทีเสวนาการปรองดองฟื้นฟูประชาธิปไตย และตั้งข้อถามถึงการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองของนายกฯ  ใช้งบประมาณจากส่วนใด และได้ฝากให้เป็นเวทีที่จัดเพื่อประโยชน์บ้านเมืองอย่างแท้จริง
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 08.45 น. ประธานในที่ประชุมได้สั่งพักประชุม 5 นาที หลังสมาชิกต่างฝ่ายต่างประท้วงกันไปมา  ขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาถึงรัฐสภาเมื่อเวลา 08.45 น. แต่ไม่มีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา เทียกทอง / ข่าว / เรียบเรียง
 
 
วิปรัฐบาล ยืนยัน พิจารณางบ 57 ล่าช้าไม่ส่งผลต่อการใช้งบ
 
17 ส.ค. 56 -    วิปรัฐบาล ระบุ การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 57 เกิดความล่าช้า กว่าปีก่อนๆ แต่ยืนยัน ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งบเนื่องจากยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 105 วัน เผยอาจประชุมต่อปลายสัปดาห์หน้า
 
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ว่า ถือว่าการอภิปรายครั้งนี้เกิดความล่าช้า เพราะหากเทียบกับปีที่ผ่านมาจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 47-48 ชั่วโมง แต่ปีนี้กว่า 50 ชั่วโมงแล้วยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อการใช้งบประมาณ เพราะถือว่าการพิจารณายังอยู่ในกรอบเวลา 105 วัน คือ ภายในวันที่ 26 สิงหาคม 2556 ทั้งนี้ยืนยันว่า ได้ประสานกับวิปฝ่ายค้านถึงการกำหนดกรอบเวลาการอภิปรายอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยสมาชิกไม่ควบคุมเวลาจึงทำให้การอภิปรายเกิดความยืดเยื้อ
 
ต่อข้อถามว่าจะประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 57 ต่อวันไหน นายอำนวย กล่าวว่า คาดว่าน่าจะประชุมในวันที่ 23 สิงหาคม และสามารถต่อเนื่องไปในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ได้ เนื่องจากวันจันทร์มีการประชุมวุฒิสภาและวันอังคารประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา คาดว่าน่าจะใช้เวลา 3 วัน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา,  วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
 
วิปฝ่ายค้าน คาด พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ต่อได้ในวันศุกร์นี้
 
17 ส.ค. 56 - ประธานวิปฝ่ายค้าน คาด จะมีการนัดประชุมพิจารณาร่างงบประมาณปี 57 ต่อในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. นี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจประธานสภา พร้อมโต้อภิปรายไม่วกวนอย่างที่มีการกล่าวหา ยืนยัน ทันกรอบเวลา 105 วัน ตามรัฐธรรมนูญ
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการ ประธานสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ภายหลังสภามีมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ในมาตรา 17 ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 และประธานสั่งเลื่อนการประชุมโดยยังไม่มีกำหนดวันประชุมต่อว่า ประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าจะมีการนัดหมายอีกครั้ง ซึ่งตนคาดว่าจะนัดประชุมได้ใหม่ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม นี้ หลังการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานรัฐสภานัดประชุมไว้แล้วในวันอังคารที่ 20 สิงหาคม ส่วนในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม เป็นการประชุมของวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นกับดุลพินิจของประธานสภา แต่ในส่วนของวิป 2 ฝ่ายยังไม่มีการหารือกัน พร้อมกันนี้ ขอยืนยันการประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งเพราะยังมีกรอบเวลาการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญจำนวน 105 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดเวลาได้ถึงวันที่ 26 สิงหาคม การที่ฝ่ายรัฐบาลมีความพยายามรีบรวบรัดจนเกินความจำเป็นในที่สุดจึงต้องจำนนต่อข้อเท็จจริง  
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่เดินหน้าอภิปรายและปฏิเสธไม่วกวนอย่างที่มีการกล่าวหา ขณะที่การพิจารณาล่วงมาถึงครึ่งหนึ่งแล้วคือ 17 มาตรา และยังมีมาตราที่ต้องการเน้นอภิปรายอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะงบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม และงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง 
 
 
ชง 'กมธ.กิจการสภาฯ' สอบ ส.ส.ใช้ไอแพด
 
17 ส.ค.56 - นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีภาพ สส.คนหนึ่งกำลังดูรูปหวิว ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 เมื่อคืนวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ รู้แล้วว่า สส.คนดังกล่าวเป็นใคร โดยเห็นชัดเจนจากแว่นตา นาฬิกา สร้อยข้อมือแสตนเลส สส.คนนี้เป็นกรรมาธิการงบประมาณฯ ด้วย อักษรย่อ "พ" เป็น สส.อีสาน พรรคเพื่อไทย แต่ยังเปิดเผยชื่อไม่ได้ ต้องรอให้เจ้าตัวออกมายอมรับก่อน ขณะที่ นั่งและโต๊ะที่นั่งเป็นโต๊ะหินอ่อน ซึ่งในห้องประชุมจะมีเฉพาะในส่วนที่คณะกรรมาธิการฯ ใช้นั่งเพื่อชี้แจงเท่านั้น
                
"หลังจากนี้ผมจะหารือเรื่องในที่ประชุมสภาฯ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ กิจการสภาผู้แทนราษฎร ในสัปดาห์หน้านี้ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นถือว่าหนักมาก หากจะเทียบกับการเล่นเกมหรือพูดคุยผ่านแอพพลิเคชันไลน์ของ สส.บางคน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คงต้องมีการทักท้วงและตักเตือน สส.ให้ใช้ไอแพดที่สภาฯ จัดซื้อให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้" นายบุญยอด กล่าว
                
นายบุญยอด กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ที่มีการพิจารณาข้ามคืนว่า เนื่องจากในเบื้องต้นยังไม่สามารถชัดเจนในเรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายได้ และสส.ฝ่ายรัฐบาล ก็มักจะทำงานเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาล ซึ่งไม่ถูกเพราะเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นกรรมาธิการ และต้องเข้ามาตรวจสอบแทนประชาชน แต่ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และรัฐมนตรี อยากให้สภาฯ เป็นเพียงตรายางคือ ทำงานน้อยๆ แล้วไม่ต้องพูดอะไร เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายก็ใช้เสียงข้างมากลงมติ และยังคิดว่าเสียงข้างมากคือ ความถูกต้องซึ่งในแง่ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ถ้าเสียงข้างมากทำอะไรผิดก็คือผิด อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสิ่งที่ สส.จะต้องปรับตัวคือ ต้องกลับมาทำหน้าที่ของสภาอย่างแท้จริง
                
นายบุญยอด กล่าวต่อว่า การพิจารณางบประมาณในครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มาชี้แจงเลย ขณะที่ข้าราชการประจำต้องมาให้ข้อมูลหากกระทรวงไหนถูกพาดพิงถึง แต่ครั้งนี้คงคิดว่าหวานหมูไม่มีอะไร เสียงข้างมากอยู่แล้วจะทำอะไรก็ได้ ดังนั้น เมื่อคืนที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามต่อรองว่า ให้หยุดการประชุมแล้วมาพิจารณาต่อในเช้าวันเสาร์อีก 1 วัน ก็สามารถจบทุกมาตราได้ แต่รัฐบาลไม่ยอมคิดว่าถ้าหากลากเราไปทั้งคืนคงจะไม่มีคนพูด แล้วก็จะยอมไปเอง แต่ปรากฎการณ์ที่รัฐบาลทำกับเราหนักกว่าเราอีกคือ ไม่อยู่ในที่ประชุมเลย พรรคประชาธิปัตย์มี สส.160 กว่าคน แต่ก็ยังนั่งอยู่ในห้องประชุมกว่า 120 คน ผู้ใหญ่ของพรรค เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคก็ยังนั่งอยู่ไม่เคยทิ้งสภา
                
"ความจริงแล้วการพิจารณาทุกครั้งควรต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจน แต่สำหรับรัฐบาลแล้วคงยากเนื่องจากมีธงไว้อยู่แล้ว หลายคนกลัวตำแหน่งจะหลุดแต่ไม่นึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ส่วนกระทรวงที่เหลือที่จะต้องมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง คือ กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งงบประมาณของรัฐสภาเองที่มีปัญหาอยู่หลายเรื่องในขณะนี้ ปีนี้จะโดนถล่มหนักแน่ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายค้านต้องซักถาม" นายบุญยอด กล่าว
 
นายบุญยอด กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่อยู่ร่วมการพิจารณาโดยอ้างว่าติดภารกิจว่า นายกรัฐมนตรีจะอ้างว่า ติดภารกิจทั้งวันไม่ได้เพราะหลัง 18.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีภารกิจนายกฯแล้ว และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น สส.และยังเป็นนายกฯ ที่ยื่นร่าง พรบ.ฉบับนี้มาให้สภาฯพิจารณา จึงเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
                
"วันนี้สภาเพี้ยนว่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ สส.คุยกับคณะกรรมาธิการเท่านั้น อยากถามว่า สส.จะคุยกันเองได้อย่างไรในเมื่อ ครม.ส่งเรื่องนี้เข้ามา ดังนั้น ครม.จึงต้องใช้เวทีนี้เข้ามาอธิบาย และต้องแสดงความรับผิดชอบว่าจะใช้ทุกเม็ดเงินอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร ครม.จะเป็นฝ่ายกำหนดเองทั้งหมดไม่ได้ เรื่องนี้ประชาชนต้องตรวจสอบได้ด้วย ผมจึงเห็นว่า ทุกอย่างเพี้ยนมาก ทั้งวิธีการพิจารณามุมมองในการทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไปหมด รีบรวบรัดไม่อธิบายไม่คุยกันไม่แก้ไข หรือถูกติติงก็ไม่สนใจ ที่ผ่านมานายกฯบอกว่าให้ความสำคัญกับสภาฯ แต่ก็เป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น เป็นแค่คำพูดหวาน ๆ สร้างภาพตัวเองว่าเป็นคนเข้าใจเรื่องในสภาแต่พฤติกรรมฟ้อง" นายบุญยอด กล่าว
 
ที่มา: คม ชัด ลึก
 
 
เพื่อไทยป้องนายกฯ ชิ่งเวทีงบ 57 แจงการอภิปรายในสภาวาระ 2 และ 3 เป็นเรื่องของกรรมาธิการวิสามัญ 
 
18 พ.ค. 56 - นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการประชุมพรรคเพื่อไทยวันที่ 19 ส.ค.จะหารือเรื่องการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วาระสอง ที่ยังค้างอยู่ เบื้องต้นกำหนดว่าจะพิจารณาต่อในวันที่ 23 ส.ค. จึงต้องทำความเข้าใจกับส.ส.ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว หลังจากฝ่ายค้านพยายามเตะถ่วง ยื้อเกม แปรญัตติซ้ำซากเหมือนการอภิปรายวาระ 1  ถือเป็นการใช้เวทีงบประมาณปี 57 มาหาเสียง และโจมตีรัฐบาล ถ้างบประมาณปี 57 มีความล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องรับผิดชอบ และยืนยันว่า รัฐบาลเปิดโอกาสให้อภิปรายงบประมาณปี 57 อย่างเต็มที่ ไม่ได้ใช้สภาฯเป็นตรายางเร่งรัดให้ผ่านงบ โดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านตรวจสอบ ตามที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา 
 
ส่วนการกล่าวหาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่มาร่วมฟังการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557  นั้น การอภิปรายวาระ 2-3 เป็นเรื่องของกรรมาธิการวิสามัญที่ต้องมาชี้แจง ไม่ใช่หน้าที่นายกฯมาชี้แจง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ก็เข้าใจแต่แกล้งโง่ เพื่อนำเรื่องนี้มาโจมตีนายกฯ เป็นการค้านแบบขี้อิจฉา.
 
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
 
 
ปชป.เรียกร้องรัฐบาลเปิดให้ฝ่ายค้านอภิปรายงบประมาณอย่างเต็มที่
 
18 ส.ค. 56 - นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 วาระ 2-3  ว่า การพิจารณาเกิดความล่าช้า เพราะรัฐบาลต้องการเร่งรัดให้ปิดการประชุมโดยเร็ว แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรา 15 ซึ่งถือเป็นการพิจารณาเพียงครึ่งทาง จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลไม่ควรใช้วิธีการประชุมข้ามคืน เพราะเชื่อว่าจะไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ควรให้การประชุมเป็นไปตามปกติ หวังว่ารัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายอย่างเต็มที่
 
นายองอาจ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา แสดงภาวะความเป็นผู้นำในการเร่งตรวจสอบการส่อทุจริตในสภาหลายโครงการ โดยไม่ต้องรอถึงการพิจารณาในห้องประชุม เพื่อให้เชื่อมั่นว่าทุกโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส จึงควรทำความจริงให้กระจ่าง ที่จะได้ไม่เป็นที่ครหาของหลายๆ ฝ่าย
 
นายองอาจ ยังกล่าวถึงสภาปฎิรูปการเมืองที่จะเริ่มหารือวันที่ 25 สิงหาคมว่า จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะบุคคลที่เข้าร่วมคือผู้ที่อยู่ฝั่งเดียวของรัฐบาล ควรทำตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไป ส่วนพรรคประชาธิปัตย์พร้อมพูดคุยกับรัฐบาล หากมีการยุติการพิจารณาร่างดังกล่าว
 
ขณะที่ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไปตามองค์กรระหว่างประเทศแล้ว เพื่อยืนยันจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเต็มที่ ทั้งในและนอกสภา รวมถึงการจับมือกับภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยตามกรอบรัฐธรรมนูญ
 
ที่มา: สำนักข่าวไทย
 
 
"พงศ์เทพ" ย้ำเปิดเวทีสภาปฏิรูป 25 ส.ค. ไม่ยืนยัน "อานันท์" เข้าร่วม
 
18 ส.ค. 56 - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการประชุมสภาปฏิรูปการเมืองนัดแรก จะมีขึ้นในวันที่ 25 ส.ค.เวลา 09.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล ตามที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ แต่ไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขแน่ชัดว่าบุคคลที่ตัวแทนรัฐบาลเชิญมาร่วมพูดคุยหาทางออกให้ประเทศ จะเข้าร่วมประนัดแรกมีจำนวนเท่าใด แต่ทุกท่านก็บอกว่ายินดีและเต็มใจที่จะมาร่วม ดังนั้นเชื่อว่าส่วนใหญ่จะมาร่วมประชุมนัดแรกได้ รวมถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะทำหน้าที่ประธานการประชุมนัดแรกด้วย
 
ส่วนเนื้อหาน่าจะเป็นการรับฟังความเห็นและข้อห่วงใยของแต่ละท่าน อย่างไรก็ตามกรณีที่มีรายงานข่าวว่านายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองนั้น นายพงศ์เทพ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น โดยระบุว่าขอตรวจสอบรายละเอียดก่อนแล้วจะแจ้งให้ทราบเป็นทางการภายหลัง.
 
ที่มา: เดลินิวส์
 
 
ประชาธิปัตย์ย้ำจุดยืนต้านนิรโทษกรรมทุกรูปแบบร่อนหนังสือถึงสถานทูตต่างประเทศในไทย-องค์กรนานาชาติ ประจานรัฐล้างผิดให้พรรคพวก
 
18 ส.ค. 56 - นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคในการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกรูปแบบจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องทั้งในสภาและการต่อสู้นอกสภา การจับมือกับภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตรฯหรือองค์กรอื่น ที่เห็นตรงกันว่าต่อต้านกฎหมายล้างผิดก็พร้อมร่วมต่อต้านอย่างถึงที่สุดภายใต้อขอบเขตของกฎหมาย ตามสิทธิที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่ต้องตื่นตระหนก จึงขอย้ำตัวเลขของคนที่จะได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมที่มีการกล่าวอ้างว่าจะมีประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้ประโยชน์จำนวนมาก ทั้งที่ความจริงตอนนี้อยู่ในคุกแค่ 30 คน และอีก 137 คนกำลังสู้คดี รวมแกนนำเสื้อแดงและผู้ก่อการร้ายด้วย เท่ากับว่ามีคนได้ประโยชน์เพียง 167 คนเท่านั้น จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาให้ประชาชนแต่เป็นการออกกฎหมายล้างผิดให้ตัวเอง พรรคจะไม่ยอมให้กฎหมายนี้ผ่านมามีผลบังคับใช้ได้
 
ทั้งนี้พรรคจะจัดทำจดหมายเปิดผนึกส่งไปยังสถานทูตต่างประเทศในไทยทุกแห่งและองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรประชาธิปไตยระหว่างประเทศ สมาคม พรรคการเมืองในเอเชีย และองค์กรระดับนานาชาติเช่น สหประชาชาติ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมถึงบุคคลที่มีชื่อจะเข้ามาร่วมสานเสวนาจอมปลอมด้วย เนื้อหาจะกล่าวถึงปัญหาที่เกิดในประเทศไทยว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากการออกกฎหมายล้างผิดให้คนทำผิดกฎหมายอาญา มีการประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงในระหว่างการออกกฎหมายดังกล่าว
 
"พรรคยืนยันว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นรัฐบาลจงใจผลักดันกฎหมายล้างผิดโดยไม่ฟังภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทย ไม่นำรายงาย คอป.มาดำเนินการ ไม่ดำเนินการตามรายงานของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรรคจึงยืนยันว่ากระบวนการที่รัฐบาลพยายามทำจึงเป็นเพียงแค่การฟอกขาวให้คนที่ทำผิดอาญาให้พ้นผิดเท่านั้น นอกจากนี้ในจดหมายจะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลละเลยที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสุดท้ายจะชี้ให้เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่ศาลชี้ว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายในปี 2553 จึงออกกฎหมายล้างผิดให้กับพรรคพวกตัวเอง ไม่เช่นนั้นต่อไปก็จะมรการใช้ความรุนแรงเพื่อช่วงชิงอำนาจเมื่อเป็นรัฐบาลก็มาออกกฎหมายล้างผิดให้ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้"นายชวนนท์กล่าว
 
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธานส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองทีรัฐบาลจะประชุมในสัปดาห์หน้านั้น เช่ือว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้เพราะองค์ประกอบมีแต่พวกเดียวกัน จึงเป็นสภาพวกปรบมือข้างเดียวไม่น่าจะก่อให้เกิดผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นการดำเนินการในเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากไม่เข้าร่วมเพราะไม่อยากเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมสร้างปาหี่ทางการเมืองของรัฐบาล เพราะไม่ใช่ปฏิรูปการเมือแต่เป็นการปฏิลวงทางการเมืองมากกว่า ส่วนคนที่เข้าร่วม เช่น อุทัย พิมพ์ใจชน และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่บอกว่าเข้าร่วมเพื่อบอกให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไปก่อนนั้น ตนเห็นว่าพรรคพร้อมที่จะพูดคุยด้วยเพียงแต่พักการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ก่อน แต่ถ้ายังเดินหน้าต่อไปก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความไม่จริงใจของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เพราะการพักการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีความเสียหายใด ๆ
 
"หวังว่าถ้าอยากให้สภาปฏิรูปการเมืองเป็นทางออกของสังคมควรจะให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม จึงควรพักการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไปก่อนแ แต่ถ้าเดินสองทางคงไม่มีใครเอาตัวเองไปเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะนายกไม่มีความจริงใจมีการเรียกร้องให้ใช้สภาแก้ปัญหาแต่การแสดงออกของนายกทั้งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 นายไม่ได้เข้าไปรับฟังแสดงความเห็นในที่ประชุมแต่อย่างใด แสดงว่าไม่มีความจริงใจอย่างแท้จริงในการตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เพราะพฤติกรรมคือพูดอย่างทำอย่าง ไม่เคยใช้เวทีรัฐสภาหาทางออกให้ประเทศ จึงขอให้หยุดพฤติกรรมพูดอย่างทำอย่าง ต้องทำเป็นตัวอย่างพูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงเป็นการแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่ดี แต่ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงสภาปฏิรูปการเมืองจะไม่ใช่ทางออกของประเทศได้"นายชวนนท์กล่าว
 
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
 
 
"อภิสิทธิ์" รับ "นิพิฏฐ์" คุย พธม.ร่วมแนวทางค้านพ.ร.บ.นิรโทษฯ ลั่น ปชป.เดินหน้าเต็มที่
 
18 ส.ค. 56 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงจุดยืนพรรคที่จะเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านการปราศรัยเวทีผ่าความจริงเกี่ยวกับร่างพรบ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมมะ สส.สมุทราการ พรรคเพื่อไทย ว่า ผู้กระทำผิดร้ายแรงไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม   แต่รัฐบาลกลับสร้างมูลเหตุความขัดแย้งมากขึ้น จากการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก การข่มขู่ทำร้ายสื่อมวลชน โดยเชื่อว่า อาจเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง หรือแม้แต่การนำมวลชนกดดันฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อ ถึงสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีตำแหน่งใดในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.นิรโทษกรรมว่า  ไม่ได้เป็นปัญหาในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน พร้อมย้ำจะทำหน้าที่ในชั้นกรรมาธิการเต็มที่  แต่มีความกังวลที่รัฐบาลได้บรรจุวาระ 2 ร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ในสัปดาหน้าแล้ว อาจทำให้กระทบกับเวลาในการพิจารณาร่างนิรโทษกรรม
 
"ส่วนการที่นายนิพิฐฏ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปพูดคุยกลับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น เห็นว่า การพูดคุยมีแนวทางและทิศทางเดียวกันสามารถทำได้ เพราะยังมีมวลชนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนการจะผนึกกำลังออกมาต่อสู้ ยังไม่อยากให้มองถึงขั้นนั้น   ส่วนตัวไม่ทราบว่านายนิพิฐฏ์ จะลาออกจากการเป็น ส.ส.เพื่อร่วมกับมวลชน" นายอภิสิทธ์กล่าว
 
 
พรรคเพื่อไทยจ่อเรียกประชุม ส.ส.19 ส.ค.นี้ หารือปมอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำ 20 ส.ค.ถกร่างเดียว ที่มา ส.ว.
 
18 ส.ค. 56 - เมื่อเวลา 10.00 น. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเพื่อไทยจะเรียกประชุม ส.ส.ในวันที่ 19 ส.ค.เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดตัวผู้อภิปรายกรณีที่ประธานรัฐสภาจะเรียก ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 20 ส.ค.เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่มาของ ส.ว. ซึ่งในช่วงเช้าวันที่ 19 ส.ค.วิปรัฐบาลจะคุยกันเพื่อวางกรอบระยะเวลาการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนส่งข้อสรุปให้ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยรับทราบ เท่าที่วิปรัฐบาลได้หารือกัน ขอยืนยันว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 20 ส.ค.จะอภิปรายเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.เพียงร่างเดียว เท่านั้น
 
ส่วนที่มีการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรา 190 มาตรา 68 และ 237 พ่วงมาด้วยนั้น เป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ส่งเรื่องที่พิจารณาเสร็จแล้วมายังประธานสภาฯ จะต้องบรรจุเรื่องเข้าสู่วาระภายใน 7 วัน ส่วนมาตรา 190 มาตรา 68 และ 237 จะพิจารณาได้เมื่อใด ต้องหารือกันอีกครั้ง แต่ไม่ใช่วันที่ 20 ส.ค.แน่นอน.
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความอึดอัดของวัยรุ่นชนชั้นกลางไทยที่แสร้งว่าขบถ แต่อยากเป็นอนุรักษ์นิยมจนตัวสั่น

Posted: 17 Aug 2013 11:25 PM PDT

บันทึกสั้นๆ จาก Filmsick ที่ตั้งข้อสังเกตจากละครซีรี่ส์ที่เป็นกระแสพูดคุยอยู่ในปัจจุบัน HORMONES วัยว้าวุ่น SEASON1

 


 

จริงๆประเด็นทั้งหมดของมันอยู่ใน Ep 1 มันคือเรื่องของวัยรุ่นแสร้งขบถเพื่อให้ใครสักคนมายืนยัน มาอธิบายว่าทางเลือกที่เขาอึดอัดขัดข้องต่อมันนั้นอันที่จริงถูกอยู่แล้ว เขาอยากเป็นอนุรักษ์นิยมแต่เป็นวัยรุ่นมันต้องขบถ หนังไม่ได้ขบถ แต่ตั้งคำถามว่าความเป็นขบถเป็นเพียงการหาคำอธิบายใหม่ๆ สำหรับการเป็นอนุรักษ์นิยม เอาจริงๆ ตัวละครที่ขบถที่สุดอาจจะคือวิน และแน่นอนเขาต้องถูกลงโทษ เพราะการขบถของวินไม่ได้ถูกทำให้เป็นการตั้งคำถามต่อระบบ แต่คือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนี่คือวิธีที่อนุรักษ์นิยมมองขบถ
 
หนังไม่ได้พูดปัญหาอะไรของวัยรุ่นเลยสักอย่าง อันที่จริงโฟกัสของหนังคือความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่ การเลือกปิดซีซั่นแรกด้วยภาพ insert เด็กกับครอบครัว คือการตอกย้ำว่าทางแก้คือครอบครัว อย่าลืมว่าถึงที่สุดตัวละครแทบทุกตัวกลับมาประนีประนอมกับครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เด็กๆ ในหนังจึงไม่ใช่ภาพแทนของเด็กวัยรุ่นกับปัญหาหนักอกของเขาแต่เป็นภาพแทนของลูกแกะหลงทางที่ทุกปัญหาแก้ไขได้ในครอบครัว ตัวละครอย่างขวัญจึงพบทางออกง่ายๆ หรือแม้แต่เต้ยที่เป็นตัวละครที่ลึกที่สุดในหนังยังสามารถมีแม่และคัพเค้กเป็นที่พึ่งทางจิตใจ หมอกกับตาร์เป็นภาพรางๆ ของเด็กอินดี้ที่เข้ากับสังคมได้และออกจะเท่ (อินดี้จริงๆ ในเรื่องคืออ้อยใจกับสมพงษ์ ทำไมสองคนนี้โดนเรียกด้วยชื่อจริงล่ะ)
 
ตัวละครสไปรท์กับไผ่ที่ดูเหมือนจะถูกผลักไปสุดทั้งหญิงชาย (แรด/เกเร) ถึงที่สุดมีแบ็คอัพเป็นครอบครัวที่ดีอยู่ดี พวกเขาสามารถผ่านปัญหาไปได้  ถ้าแม่สไปรท์จะเป็นแม่ค้า พ่อไผ่ขี้เหล้าชีวิตคงจะพลิกไปอีกด้านหนึ่ง มันเลยกลายเป็นหนังสอนพ่อแม่ที่อยู่ใน safe zone อยู่แล้ว มันสบายตาสำหรับพ่อแม่ที่ทำตัวเหมือนครูอ้อ  ที่ไม่ได้มาตบตีลูกเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังอยากควบคุมลูกอยู่ดี หนังทำตัวเป็นนิยายสาธกของวัยรุ่นที่ทำตัวเหลวไหล แต่ไม่ได้บอกว่าชีวิตแกต้องฉิบหายอีกแล้ว แค่ตบหลังไหล่บอกว่า ลองดูให้ถึงที่สุดพอโตขึ้นลูกจะเข้าใจเอง แม่อีดาวเลยกลายเป็นคนหลุดยุคที่สุดในเรื่องที่ควบคุมลูกด้วยวิธีเดิมๆ (และแน่นอนโดนด่า)
 
ตัวละครที่หนักที่สุดเลยเป็นครูอ้อที่เป็นภาพแทนพ่อแม่ทั้งหมด ฉากครูอ้อเมินของขวัญลอกข้อสอบเป็นฉากที่อันตรายมาก คิดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นอ้อยใจ สไปรท์ สมพงษ์หรือไผ่ ชะตากรรมคงต่างไปจากนี้มากๆ การตัดสินคนจากความดีงามในอดีตมากกว่าตัวบททำคนชิบหายมาเยอะมาก เพราะทุกอย่างพิจารณาตามตัวบทเท่านั้น ถ้าคิดว่ากฎไม่ยุติธรรม เราต้องแก้ที่กฏไม่ใช่แก้โดยบอกว่าเด็กมันดีมาก่อน ถ้าคิดว่าการลงโทษมันแรงไปต้องตีกันตรงนั้น ฉากนี้เลยเป็นฉาก safe zone ที่ทุกคนพร้อมจะเอาใจช่วย ทั้งที่จริงมันอันตรายสุดๆ
 
ดูเหมือนในฮอร์โมน การเป็นเกย์ไม่ผิดอีกแล้ว แต่การเป็นไบเซ็กส์ช่วลอาจจะเป็นปัญหา อย่างไรก็ดี คิดว่าหนังเล่าตัวละครสองตัวนี้ดีทีเดียว ในแง่ของความสับสนทางเพศ แต่อย่างที่บอก ภูมีแม่เป็นแบ็คอัพ เหมือนเดิม
 
สิ่งที่เจ็บปวดในหนังที่มีทุกอย่างยกเว้นความเจ็บปวดเรื่องนี้จึงคือ การเลิกแรดของสไปรท์ และการเลิกตีกันเพื่อแม่ (ผ่านทางความช่วยเหลือของศาสนา) ของไผ่  สไปรท์อาจจะโชคดีที่มีฐานคิดเรื่องสิทธิเหนือร่างกายตนเองจากแม่ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุดของหนัง) แต่นั่นแหละ จะแรดหรือเกเรยังไง เด็กสองคนก็อยู่ใน safe zone ที่มีพ่อแม่เป็นผู้วิเศษมาช่วยชีวิต ในตอนจบ (ถ้าสไปรท์ไปอยู่ในหนังของดารืแดนน์ Jean-Pierre Dardenne ชีวิตเธอจะลำบากมาก) และการแรด เลิกแรดของเธอดำเนินไปเองโดยไม่ต้องมาต่อสู้กับตัวสังคมอื่นๆ เธอต่อสู้แค่ในตัวของเธอเองเท่านั้น เธอโชคดีที่โลกไม่รู้ว่าหนูแรด การต่อสู้ของเธอก็เลยสบายๆ  ตัวละครที่น่าสนใจอีกตัวคือดาว ที่เลิกจิ้นหลังจากโดนฟัน จริงๆ หนังยังไม่คลี่คลายตัวละครตัวนี้แต่มันน่าสนใจว่า วัฒนธรรมจิ้นถูกมองอย่างไร้เดียงสามากกว่าที่จะเป็นวิธีการระบายความปรารถนาทางเพศ
 
กล่าวโดยรวม ฮอร์โมนจึงเป็นหนังวัยรุ่นสำหรับสอนพ่อแม่ในอาณาเขตที่ปลอดภัย เป็นนิทานชาดกสมัยใหม่สำหรับขบถหัวอ่อน  ที่มีทุกอย่างยกเว้นความเจ็บปวดของการเป็นวัยรุ่น อย่างไรก็ดี เราก็รับหนังได้มากทีเดียว
 
สุดท้ายๆ เราไม่มีปํญหาที่หนังไม่มีตัวละครคนชั้นล่างเลย ไม่มีเด็กแว๊นซ์สาวสก๊อยซ์ ไม่มีเด็กที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจเลย เพราะเราเห็นกันอยู่ว่ากลุ่มเป้าหมายมันเป็นใคร แล้วมันก็ไม่ได้ผิดเลยที่จะนำเสนอปัญหาของคนชั้นกลางเพราะไม่ว่าจะรวยหรือจน ทุกชนชั้นก็มีปัญหาของตัวเองทั้งนั้น
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองกำลังในอียิปต์เคลียร์พื้นที่มัสยิดใกล้ลานประท้วงหลังการเผชิญหน้า 2 วัน

Posted: 17 Aug 2013 10:45 PM PDT

หลังเกิดเหตุรุนแรง ผู้ชุมนุมที่จัตุรัสรัมเซสหนีไปหลบอยู่ในมัสยิดอัล-ฟาติฮ์ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ท่ามกลางความโกลาหลจากข่าวเรื่องบุคคลติดอาวุธที่ปะปนกับกลุ่มผู้ประท้วงด้านนอกและที่หลบอยู่บนหออะซาน ด้านนายกฯ จากรัฐบาลชั่วคราวของอียิปต์เสนอยุบองค์กรภราดรภาพมุสลิม

17 ส.ค. 2013 - หลังจากสองวันที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทางการอียิปต์ได้เข้าเคลียร์พื้นที่มัสยิดอัล-ฟาติฮ์ ใกล้กับจัตุรัสรัมเซสที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารถูกต้อนเข้าไปอยู่ในนั้นจากเหตุรุนแรงภายนอก

ก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมได้พากันหลบหนีเข้าไปในมัสยิดอัล-ฟาติฮ์ ที่จัตุรัสรัมเซสเมื่อเกิดเหตุรุนแรงในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมาและไม่ยอมออกจากสถานที่ เนื่องจากกลัวว่าจะถูกโจมตีจากกลุ่ม "อันธพาล" ที่แฝงตัวอยู่ตามฝูงชน โดยผู้คนได้ถูกเคลื่อนย้ายออกมาในวันเสาร์ แต่ก็ยังมีอีกราว 100 คนที่ติดอยู่ในอาคารโดยมีนักบวชจากสถาบันศาสนา อัล-อัซชาร์มาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างตำรวจกับผู้ที่ติดอยู่ด้านใน

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีราในกรุงไคโรกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ที่ออกจากมัสยิดจะถูกตำรวจหรือทหารนำตัวไปจากคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาอยากไต่สวนคนที่อยู่ข้างในว่ามีส่วนในการโจมตีอาคารโดยรอบหรือไม่ ต่อมาสื่อรัฐบาลอียิปต์รายงานว่าพวกเขากำลังทำการสอบสวนผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม 250 คน

คำสั่งให้เคลียร์พื้นที่มัสยิดมีขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าถูกโจมตีโดยมือปืนที่ซ่อนตัวอยู่ที่หออะซาน ภาพข่าวโทรทัศน์แสดงให้เห็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ยิงจู่โจมไปที่หออะซานหลายครั้ง ขณะที่ฝ่ายผู้ประท้วงปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการยิงโจมตีตำรวจ โดยบอกว่าไม่มีทางเชื่อมต่อขึ้นบนยอดหออะซานจากภายในอาคารมัสยิด

มีผู้ประท้วงรายหนึ่งชื่อ วาลีด อัตตาร์ สามารถหลบหนีจากอาคารได้ในขณะที่มีการยิงกันบอกว่าพวกเขาไม่รู้ว่ากระสุนมาจากฝั่งไหน เขาบอกว่าเขาหนีรอดพ้น "อันธพาล" ข้างนอกได้โดยการหลบอยู่ระหว่างรถและวิ่งหนีด้วยความกลัวถูกยิง มีผู้ที่ติดอยู่ในอาคารจำนวนมากถูกโจมตีโดยกลุ่ม "อันธพาล"

ก่อนหน้านี้ผู้ประท้วงโอไมมา ฮาลาวา ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราทางโทรศัพท์ว่ามีการยิงกันทั้งด้านในและด้านนอกอาคาร โดยระหว่างที่ให้สัมภาษณ์มีเสียงปืนกลและเสียงกรีดร้องได้ยินอยู่เบื้องหลัง และในเวลานั้นมีผู้อยู่ในมัสยิดราว 700 คน รวมถึงผู้หญิงและเด็กด้วย

ผู้ประท้วงได้หลบเข้าไปอยู่ในมัสยิดหลังเกิดเหตุรุนแรงช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประชาชนทั้งหมดทั่วอียิปต์เสียชีวิต 173 ราย และผู้บาดเจ็บ 1,330 ราย จากคำประกาศของโฆษกรัฐบาล

ทางด้านนายกรัฐมนตรีจากรัฐบาลรักษาการของอียิปต์ ฮาเซ็ม เอล-เบบลาวี เสนอให้มีการออกกฎหมายยุบกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งทางรัฐบาลอียิปต์กำลังศึกษาแนวคิดของนายกฯ ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวแก่รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ

กลุ่มภราดรภาพมุสลิมก่อตั้งขึ้นในปี 1928 และจดทะเบียนพรรคการเมืองฟรีดอมแอนด์จัสติสในปี 2011 หลังจากการปฏิวัติโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีมูบารัค และได้ชนะการเลือกตั้งในปี 2012 โดยก่อนหน้านี้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเคยถูกยุบโดยผู้นำทหารอียิปต์ในปี 1954 และมีการจดทะเบียนในสังกัดองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม หลังจากที่ฝ่ายตรงข้ามทักท้วงเรื่องความถูกต้องทางกฎหมาย

 

 

เรียบเรียงจาก

Cairo mosque cleared of most protesters, Aljazeera, 17-08-2013
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/08/2013817144949638218.html

Egypt PM suggests dissolution of Brotherhood, Aljazeera, 17-08-2013
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/08/2013817125725348916.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น