โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักวิจัยทีดีอาร์ไอชี้ราคายางไม่ถือว่าตกต่ำ แนะรัฐบาลทบทวนนโยบายอุ้มภาคเกษตร

Posted: 29 Aug 2013 10:24 AM PDT

วิโรจน์ ณ ระนอง ชี้ราคายางไม่ได้ตกต่ำเมื่อเทียบกับอดีต แต่เกษตรกรรู้สึกราคาตกมากเนื่องจากที่ผ่านมาราคาถีบตัวสูงมากเพราะความผันผวนของราคาน้ำมัน แนะรัฐบาลทบทวนนโยบายแทรกแซงสินค้าเกษตร เพราะสู้กลไกราคาตลาดโลกไม่ได้

29 ส.ค.56 สถานีทีดีอาร์ไอ สัมภาษณ์วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงแนวทางการจัดการปัญหาราคายาง หลังจากที่เกิดกรณีชาวสวนยางในภาคใต้ออกมาประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนสายหลัก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อยางในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด โดยรัฐบาลเสนอรับซื้อยางแผ่นดิบที่ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 76 บาท นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเตรียมอนุมัติเงินกู้แก่เกษตรกรสวนยางเป็นวงเงิน กว่า 20,000 ล้านบาท และใช้ 50,000 ล้านบาทช่วยลงทุนในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณค่า และอีก 15,000 ล้านบาทลงทุนในการอัพเกรดอุปกรณ์

วิโรจน์ กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าราคายางพาราในปี 2554 นั้นอยู่ที่ 132 บาท ก่อนจะตกไปที่ 94 บาท และ 76 บาทในช่วง ส.ค.นี้

วิโรจน์ กล่าวว่า ตัวแปรหลักที่กำหนดราคายางมี 2 ตัว ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ราคาน้ำมัน เพราะยางรถยนต์ที่เราผลิตกันนั้นมีส่วนประกอบของยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน ไม่สามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่งล้วนๆ ได้ เมื่อราคาน้ำมันขึ้นสูงในช่วงปี 2552-2554 ราคายางก็วิ่งขึ้นไปด้วย เมื่อราคาน้ำมันลง ราคายางก็ตกลง ปัจจัยที่สองคือเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งสะท้อนผ่านความต้องการใช้ยางในประเทศจีนและอินเดีย

ตัวแปรที่ 3 คือ ราคายางที่เพิ่มสูงขึ้นผลักดันให้หลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศรอบประเทศไทยก็ขยายการปลูกยางเป็นจำนวนมาก ในอดีตจะมีประเทศหลักที่ปลูกยางเพียง 3 ประเทศคือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ระยะหลังไม่ว่าลาว กัมพูชา จีน ปากีสถานก็หันมาปลูกยางกันมากขึ้น ต้นยางใช้เวลาประมาณ 5-6 ปีจึงเริ่มกรีด พอราคายางเริ่มสูงขึ้นก็ปลูกกันมากขึ้น บางส่วนก็เริ่มออกมาในตลาดแล้ว ส่วนที่ยังไม่ออกก็ยังมี

"นี่เป็นอีกตัวแปรที่บอกว่าราคายางของเราอยู่ในช่วงขาลงและกำลังจะลงต่อ ส่วนการแทรกแซงราคายางไม่ได้เป็นปัจจัยแต่อย่างใด" วิโรจน์กล่าว

สำหรับสถานการณ์การประท้วงของเกษตรกรสวนยางที่เกิดขึ้นนั้น เขามองว่า รัฐบาลอาจมีส่วนช่วยเกษตรกรที่ยากจนหรือช่วยเกษตรกรรับมือกับราคาที่ตกต่ำกระทันหัน แต่รัฐบาลไม่ควรตั้งเป้าที่จะยกราคาในประเทศให้สูงกว่าตลาดโลก ยางพาราเป็นอีกตัวอย่างที่รัฐบาลมีมาตรการออกมาหลายอัน เช่น การที่รัฐบาลร่วมมือกับประเทศอื่นเพื่อพยายามจะกำหนดราคาสินค้าผ่านรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพารา หรือ International Tripartite Rubber Council: ITRC ของบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด หรือ IRCo (เออโก้) เป็นความร่วมมือระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ผลปรากฏว่า ปีที่แล้วที่ราคายางต่ำลง เออโก้ประชุมกันหาทางออกไม่ได้จึงตกลงกันว่าให้แต่ละประเทศกลับไปลดการส่งออกลงร้อยละ 10 แต่แล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง

ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าเลือกปฏิบัติอุ้มชาวนามากกว่าชาวสวนยางพารานั้น วิโรจน์กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่เกษตรกรจำนวนหนึ่งจะรู้สึกอย่างนั้น แต่หากจำกันได้ ปีที่แล้วรัฐบาลนี้มีมาตรการแทรกแซงตลาดยาง โดยการซื้อยางเข้ามาจนตอนนี้เรามีสต๊อกยางอยู่ที่ 200,000 กว่าตัน โดยซื้อกันที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท อย่างไรก็ตาม 200,000 ตันอาจฟังดูน้อยเมื่อเทียบกับสต๊อกข้าว แต่อย่าลืมว่าราคายาง 1 กก.เท่ากับเกือบ 10 กก.ของข้าว ปีที่แล้วรัฐบาลใส่เงินเข้าไป 15,00-20,000 ล้านบาทก็หายวับไปชั่วพริบตา ตอนหลังใส่เข้าไปอีกรอบหนึ่งแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลไม่กล้าเอามาขาย เพราะกลัวว่าเอามาขายแล้วราคายางจะตกลงไป

"ฉะนั้นรัฐบาลก็ได้พยายามทำ และเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองสู้กับตลาดไม่ได้ทั้งเรื่องข้าวและเรื่องยาง แต่เรื่องข้าว ผมว่ารัฐบาลก็พยายามหาทางลง ส่วนหนึ่งก็พยายามเจรจากับชาวนาอยู่ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจชาวนาด้วยว่า เมื่อมีโครงการของชาวนามันดึงให้ต้นทุนของชาวนาสูงขึ้นจริง ดังนั้น เวลาลง การปรับตัวก็ยากพอสมควร และเชื่อว่าเมื่อมีเรื่องข้าวที่กำลังหาทางลงแล้วมามีเรื่องยางขึ้นมาอีกทำให้รัฐบาลลังเลมากขึ้นในการที่จะเข้าไปทำแบบเดียวกับข้าว" วิโรจน์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ยางพารานั้นต่างจากข้าวอย่างหนึ่ง คือ สำหรับข้าว เราพูดว่าเราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่ผลผลิตเราคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 7 ของผลผลิตโลก แต่ยางพาราเราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 แล้วเรายังเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ด้วย จึงทำให้เห็นว่าแม้เราจะเป็นอันดับ 1 แต่เราไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาตลาดโลกได้จริง ผลผลิตยางของ 3 ประเทศรวมกันมีผลผลิตปริมาณถึงร้อยละ 70 แต่เวลามีประเทศอื่นผลิตออกมาก็มีผลกระทบ 3 ประเทศหลักเองก็ไม่สามารถคุมราคาในตลาดโลกได้

"ตัวอย่างของยางที่ดีอีกอันหนึ่งคือ การที่เราผลิตมาก มีผลว่าส่วนที่ใช้ภายในประเทศเพียงร้อยละ 15 ที่เหลือเราส่งออกหมด คนชอบพูดกันว่าเราควรหันมาใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น ในเมื่อเราส่งออกถึงร้อยละ 85 ถ้าเราใช้ยางเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือแม้กระทั่ง 4 เท่า โจทย์ของเราก็ยังไม่เปลี่ยน เพราะยางจำนวนมากยังคงต้องส่งออก และราคาของเราก็ยังต้องโยงกับราคาตลาดโลกเหมือนเดิม เรียกว่าแทบจะไม่ได้เปลี่ยนโจทย์เลยด้วยซ้ำ อันนั้นก็ไม่ใช่ทางออก" วิโรจน์กล่าว

นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอกล่าวต่อว่า คำถามต่อมาคือ รัฐบาลควรจะทำอย่างไร แล้วเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อนจะทำอย่างไร คำตอบคือ ต่างฝ่ายต่างควรพยายามถอยแล้วยึดหลักการที่จะไม่ไปสู้กับตลาด สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ ทำอย่างไรให้ราคาในประเทศผันผวนน้อยกว่าราคาตลาดโลก วิธีการหนึ่งที่ทำได้คือ รัฐบาลอาจจะมีมาตรการเก็บภาษีเวลาราคายางในตลาดโลกสูง แล้วเวลาที่ราคาตกต่ำก็เอามาอุดหนุนการส่งออกแทน วิธีนี้เป็นการแทรกแซงเมื่อจำเป็น ถามว่าแค่ไหนจึงเรียกว่า จำเป็น จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้มาก หลายคนพูดเรื่องต้นทุน แต่อยากชี้ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า ยางที่มีการกรีดกัน ณ วันนี้ ถอยหลังไป 5 ปีครึ่ง หรือนานกว่านั้นสำหรับภาคอีสาน ณ เวลาที่ปลูกกันตอนนั้น เชื่อว่าเกษตรกรแทบจะไม่มีใครเลยที่คิดว่าจะได้ราคาสูงเกิน 50 บาทต่อกิโลกรัม การตัดสินใจปลูกของเกษตรกรขณะนั้นคงคิดต้นทุนของตัวเองไว้แล้วแล้วจึงตัดสินใจ

"จริงๆ เกษตรกรไม่ได้คาดหวังราคาที่สูงมาก และต้นทุนเองก็คงพูดได้ว่าต่ำกว่า 50 บาท แต่หลังจากปลูกมาแล้วเกิดสถานการณ์ที่ยางขึ้นมาเป็น 70 บาท ถึงร้อยกว่าบาท แล้วก็ถึงร้อยปลายๆ ก่อนจะตกลงมา การที่ยางขึ้นไปเป็นร้อยปลายๆ ทำให้เกษตรกรฐานะดีขึ้นมาก ถ้าไปดูยอดขายรถปิคอัพในภาคใต้นั้นก็จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแง่หนึ่งอาจพูดได้ว่าช่วงนั้นเป็นลาภลอย เพราะมันไม่ใช่ฝีมือแต่เป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงนั้น สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรคาดหวังว่าราคาจะยืนอยู่ตรงนั้น แต่พอราคาตกลงมาก็อาจจะรู้สึกแย่ ถ้าจะทำระบบในการรักษาเสถียรภาพราคายางก็ต้องคำนึงด้วยว่า ราคาที่เกิน 100 บาทหรือใกล้ๆ 100 บาท เป็นราคาที่ไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะยาว แม้มีระบบที่รัฐจะช่วยในเวลาราคาตกต่ำก็ต้องพิจารณาให้ดี ผมถือว่าราคา ณ วันนี้ไม่ถือว่าเป็นราคาตกต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา" วิโรจน์กล่าว

เมื่อถามว่ารัฐบาลได้บทเรียนอะไรจากการแทรกแซงสินค้าเกษตร วิโรจน์ตอบว่า รัฐบาลอาจไม่ยอมรับเต็มปาก แต่จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลเองไม่สามารถไปสู้กับราคาตลาดโลกได้จริง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร ปัญหาที่รัฐบาลสร้างและอาจจะต้องพยายามหาทางลงคือจำนำข้าว ตอนนี้ก็พยายามจะแก้ปัญหาโดยการปรับนิดปรับหน่อย ปรับยอดจำนำลง ปรับราคาลง หวังว่าจะทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายลดลง ชักชวนชาวนาไปปลูกพืชอื่นบ้าง

"แต่ผมคิดว่าจะเอาตัวรอดจากตรงนี้ได้ต่อเมื่อไม่มีปัญหาอื่นแทรกเข้ามา และเราเห็นว่าอันนั้นมันไม่จริง ยางก็เริ่มเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว อันที่จริงตัวที่คิดว่าจะเป็นปัญหาก่อนคือ มันสำปะหลัง เพราะรัฐบาลทำเหมือนกับข้าวเป๊ะเลย แต่ขนาดเล็กกว่า ข้าวโพดก็เริ่มมีเกษตรกรออกมาร้องเรียนแล้วว่าไม่รับจำนำบ้างหรือเพราะราคาตกต่ำ ถ้ารัฐบาลสรุปบทเรียนยังมีโอกาสที่ดีที่จะทบทวนนโยบายสินค้าเกษตรโดยรวม  แล้วจะไม่ถูกข้อกล่าวหาด้วยว่าทำไมช่วยชาวนาอย่างเดียว น่าจะใช้โอกาสนี้ในการทบทวนกับนโยบายเกษตรโดยรวมเลย ในเมื่อลองแล้ว แล้วสู้กับตลาดไม่ไหวก็ควรเปลี่ยนแนวทางไปเลย" วิโรจน์กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนไทย-กัมพูชา ทอดผ้าป่าสามัคคี สานสัมพันธ์ 2 ประเทศ

Posted: 29 Aug 2013 10:18 AM PDT

กองกำลังสุรนารีร่วมกับราษฎรไทยและกัมพูชา กว่า 6,000 คน ทอดผ้าป่าสามัคคี ที่วัดคีรีมงคล ประเทศกัมพูชา เพื่อสานสัมพันธ์ 2 ประเทศ ได้เงินทำบุญกว่า 1.2 แสนบาท 1.8 แสน เรียล
 
วันนี้ (29 ส.ค.56) พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและราษฎร อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ จำนวน 1,700 คน เดินทางไปทอดผ้าป่าสามัคคี และถวายภัตตาหารเพลพระภิกษุ สามเณร ณ วัดคีรีมงคล ต.โอร์เสม็ด กรุงสำโรง จ.ดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา โดยมีนายฮอ จินวีระยุทธ ประธานช่องจุดผ่านแดนถาวรช่องโอร์เสม็ด พร้อมราษฎรชาวกัมพูชากว่า 5,000 คน ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อสานสัมพันธ์ 2 ประเทศ ได้เงินบริจาคร่วมทำบุญ 128,144 บาท และ 189,700 เรียล
 
ไทยและกัมพูชาได้จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และปฏิบัติตามโครงการหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานเมืองคู่มิตร โดย ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ คู่กับ ต.โอร์เสม็ด กรุงสำโรง จ.อุดรมีชัย หรือ จ.สุรินทร์กับ จ.อุดรมีชัย โดยได้มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมและความสัมพันธ์อันดีในพื้นที่ชายแดนให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา วัฒนธรรม การสาธารณสุข การพัฒนา การค้า เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งด้านความมั่นคง
 
 
พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี กล่าวว่า กิจกรรมทอดผ้าป่าสามัคคีกองกำลังสุรนารีร่วมกับราษฎรไทยและกัมพูชา เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก ในการสร้างเมืองคู่ขนานคู่ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อสร้างวันสัมพันธ์ที่ดีของราษฎรทั้ง 2 ประเทศ โดยการจัดทอดผ้าป่าสามัคคี สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธทั้งสองประเทศให้ได้มีกิจกรรมที่ดีร่วมกัน
 
นอกจากนั้นกองกำลังสุรนารี ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยโดยการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ส่งเสริมการปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ราษฎรชาวไทยและชาวกัมพูชาเป็นมิตรที่ดีต่อกันและมีสานสัมพันธ์ที่แนบแน่นในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนที่ดีขึ้น
 
ด้าน นายฮอ จินวีระยุทธ ประธานช่องจุดผ่านแดนถาวรช่องโอร์เสม็ด กล่าวว่า นโยบายของประเทศกัมพูชา ในการแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดน ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สุรินทร์ เน้นการเจรจาด้วยสันติวิธี โดยปราศจากการใช้อาวุธ ยึดหลักในการเจรจาหารือแก้ปัญหาร่วมกันระดับพื้นที่ระหว่าง กัมพูชาและไทย
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อานันท์ กาญจนพันธุ์: การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง

Posted: 29 Aug 2013 10:05 AM PDT

การปาฐกถา "การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง" โดยอานันท์ กาญจนพันธุ์ เมื่อ 24 สิงหาคม 2556 ในการประชุมวิชาการนานาชาติ: ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการปาฐกถาเปิด "การประชุมวิชาการนานาชาติ: ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก" (International Conference: Thai Studies through the East Wind) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ "การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง" 

สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2556 ที่โรงแรมฟูรามา จ.เชียงใหม่ โดยคณะมนุษยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ The Japanese society for Thai Studies 

000

โดยในการปาฐกถา อานันท์ เห็นว่าการพัฒนาการของการศึกษาด้านไทยศึกษา ด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวกับสังคมไทย ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของสังคมไทย ที่ตามไม่ทันเป็นเพราะสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก แต่มุมมองที่เกี่ยวกับข้องกับการอธิบายการเปลี่ยนแปลงยังอยู่กับที่

สาเหตุที่อยู่กับที่เป็นเพราะว่า เรามักจะมองสังคมไทยในลักษณะไทยแบบยึดติดว่าสังคมไทยมีความกลมกลืน ค่อนข้างชาตินิยม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาอย่างยิ่ง ทำให้เราคิดว่าเราต้องเป็นเหมือนๆ กัน แต่ในความเป็นจริงปัจจุบัน สังคมไทยมันมีความเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่หลากหลาย ซับซ้อนยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้มีคำพูดว่า "สังคมไทยคืบคลานไปสู่ลักษณะพหุวัฒนธรรมรวดเร็ว" ที่จริงสังคมไทยก็เป็นพหุวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ก็มีอัตราเร่งที่เร็วมาก

พหุวัฒนธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีความแตกต่างหรือหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา แต่เป็น "ลีลาชีวิต/Life style" อีรุงตุงนัง คือมีความเป็นพหุวัฒนธรรมหลายมิติ แต่คนยังเข้าใจความหลากหลายในความหมายแบบแคบ ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาว่า ทำให้เรามองข้าม หรือมองไม่เห็นกลุ่มคนที่แตกต่างจำนวนมากในสังคมไทยอย่างมหาศาล

ผมมักใช้คำว่า เวลานี้คนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งกลายเป็น "มนุษย์ล่องหน" เขาก็อยู่ในสังคม แต่เรามองไม่เห็นเขา ความสามารถในการมองเห็นคนที่แตกต่างไม่มี ทำให้เรามีมุมมองที่ค่อนข้างกระเดียดไปทางใดทางหนึ่ง และเมื่อเรามองอะไรทางเดียว ก็เหมือนเส้นผมบังภูเขา ที่ทำให้เรามองอะไรอย่างอื่นนอกจากที่เราจ้องมองนั้นไม่ได้

ตรงนี้ทำให้เป็นปัญหาอย่างมาก ยกตัวอย่าง ผมเดินทางไปศึกษาในหลายพื้นที่ เพื่อเรียนรู้จากคนอื่น สำรวจจากนักศึกษาบ้าง หรืองานวิจัยบ้าง ตอนนี้ไปถามคนในชนบทเขาบอก "ผมอยากเป็นเสี่ย" คืออยากรวยน่ะ แต่เรายังมองสังคมในชนบทว่า "ขอให้เหมือนเดิม" "ขอให้เป็นเกษตรกรเหมือนเดิม" แต่เขาบอกอยากเป็นเสี่ย แต่เรายังอยากให้เขาอยู่เหมือนเดิม ก็ลำบากที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตรงนี้

หรือคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย พยายามเสนอมาตรการที่จะช่วยคน เช่นมีเรื่องโฉนดชุมชน หรือมาตรการช่วยเหลือต่างๆ แต่ตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดคือ "เราอยากช่วยเหลือคนจน" ซึ่งเป็นศีลธรรม มโนคติที่ดี แต่มโนคติเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของลักษณะสังคมไทยปัจจุบัน สังคมไทยปัจจุบันติดอยู่ภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง แปลว่า เวลานี้คนไทยมีรายได้มากขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ก้าวไม่พ้นที่จะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง เพราะการจะก้าวไปได้ทางสังคม จำเป็นต้องมีกลไกรองรับทำให้ขับเคลื่อนไปได้ แต่เรายังยึดกลไกแบบเก่า และที่ผ่านมาก็ไม่มีการสร้างกลไกแบบใหม่ กินบุญเก่าใช้มรดกเดิมๆ มีปัญหาอะไรก็นึกถึงบ้าน วัด โรงเรียน หรือชุมชน คือใช้กลไกเก่าๆ จนพุพังไปหมดแล้ว ไม่มีสติปัญญาพอที่จะสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนสังคมรายได้ปานกลางไปสู่อีกระดับหนึ่งได้

และไทยศึกษาค่อนข้างติดอยู่กับการศึกษาในพรมแดนค่อนข้างมาก ทั้งพรมแดนของสาขาวิชา และพรมแดนของประเทศ ดังนั้นการที่เราไม่เข้าใจความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่กว้างไปกว่าพรมแดน เลยเกิดสภาวะที่ไร้น้ำยา คือความสามารถในการอธิบายด้านวิชาการต่ำ คืออธิบายไม่ครอบคลุมกับความเป็นจริงทางสังคมที่หลุดไปจากพรมแดนมากแล้ว ยังอธิบายว่าขอให้เหมือนเดิม มองอยู่แค่นี้ เลยทำให้ความสามารถในการอธิบายไม่เพียงพอ เมื่อไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมได้

ความสำคัญของวิชาการคือต้องเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมได้ทางหนึ่ง แต่อย่างหนึ่งที่ผมสะท้อนตัวเองมาคือเราไร้น้ำยาว่ะ เราไม่หลุดออกจากพรมแดนเก่าๆ ที่เราเคยยึดถือกันมานาน ถ้าหากเรายังมองความซับซ้อนหลากหลายของวัฒนธรรมไม่ได้ ไม่เคารพความแตกต่างของคนอื่น เห็นคนที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่คน ไม่เคารพศักดิ์ศรีของคนที่เห็นต่างจากเรา ถ้าสิ่งนี้ไม่เกิด พลังไม่มี พลังจะมีก็คือ ความเห็นใหม่นั้นต้องมาจากความแตกต่าง ไม่ใช่ความเหมือน แต่เราชอบของเดิม แล้วเราจะก้าวหน้าได้อย่างไร

ผมมานั่งนึกดู ทำไมเราถึงรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้มามาก ซึ่งที่เราก็ไม่ได้รู้ด้วยตัวเอง แต่เพราะเสือกกับเขาเรื่อยๆ ไปยุ่งกับคนนั้นคนนี้ เราถึงได้ความรู้ที่แตกต่างมาก เราถึงไม่เป็นตัวของเรา ไม่ใช่ยึดติดว่าเราคิดดีด้วยตัวเอง แต่ที่คิดได้เพราะเรียนรู้จากคนอื่น คนที่คิดไม่เหมือนกับเรามา การที่เราเคารพความแตกต่างของคนอื่น สามารถทำให้เราพัฒนาความคิดได้ แต่สภาวะไร้น้ำยาเกิดขึ้นเพราะเราคิดว่าคนอื่นไม่ดี ความคิดเราถูกคนเดียว ความคิดแบบนี้เลยมาบั่นทอนพลังทางวิชาการที่จะทำให้เราขับเคลื่อนไปได้

ส่วนความเป็นอัมพาตทางการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แก้ด้วยการมองทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นพื้นฐานมากกว่า จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมการเมืองเป็นอัมพาต เพราะสิ่งที่เป็นด้านสังคมเราไม่มีความเข้าใจเลย และประเด็นทางการเมืองที่เป็นมาตลอดเวลาก็ไม่ได้ยกระดับที่จะทำให้เกิดการคำนึงถึงปัญหาสังคมเหล่านี้เพียงพอ ทำให้การเมืองเป็นของคนเพียงบางกลุ่ม แต่ไม่สามารถตอบสนองของคนกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายได้เพียงพอ และพลังที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนกดดันให้การเมืองตอบสนองความแตกต่างหลากหลายนี้ยังไม่มี จึงทำให้เป็นอัมพาตกินอย่างที่เป็นอยู่

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหา เพราะมุมมองทางเศรษฐกิจปัจจุบันยังมองจากมุมการผลิต ถ้าแต่ละประเทศที่แยกกันอยู่ต่างคนต่างอยู่อาจไม่เป็นปัญหา หากเราใช้มุมมองทางเศรษฐกิจจากการผลิตมาเป็นกรอบอธิบาย เรามองแต่ละประเทศแยกจากการกัน แต่อย่างที่เราทราบ สังคมไทย ประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียว มีภาวะไร้พรมแดน และเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงนี้คือโลกาภิวัฒน์ มันมีการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมหาศาลเกินกว่าที่เราจะจินตนาการ อะไรเกิดในโลกก็รู้ได้ในวินาทีนั้น ความรวดเร็วนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอันใหม่อย่างมหาศาล คือการเปลี่ยนแปลงของการสื่อสาร หรือการเข้าใจในสารหรือความหมาย มันสื่อกันเร็วมาก ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อสถานการณ์มันเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ ทำให้ความสำคัญของเรื่อง "ความหมาย" มีมหาศาลขึ้น ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้พึ่งการขายสินค้าอย่างเดียว แต่การซื้อขายแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจมันขึ้นกับการขาย "ความหมาย" ซึ่งความหมายอาจจะสำคัญกว่าตัววัตถุที่ขาย เราซื้อเพราะความหมายของวัตถุที่เราจะซื้อ ดังนั้นการมองแต่กรอบการผลิตทางเศรษฐกิจจะไม่มีทางเข้าใจ เพราะเมื่อความหมายมีความสำคัญมากขึ้น เราวิธีการศึกษาต้องให้ความสำคัญในการมองทางเศรษฐกิจในกรอบของการบริโภคมากขึ้น ต้องเข้าใจว่าทำไมเขาบริโภคเช่นนั้น

ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ตรรกะของการทำงานทางเศรษฐกิจมันขึ้นกับอุดมการณ์บางอย่างที่เราเรียกว่า "เสรีนิยมใหม่" ที่ให้ความสำคัญกับตลาดเสรี ซึ่งทุกคนติดอยู่กับความเข้าใจหรือการครอบงำของความหมายแบบนี้ ที่เชื่อว่าตลาดทำงานได้ดีและจะทำให้เราดีขึ้นได้ แต่เราไม่เข้าใจว่าปัญหาที่เป็นทุกวันนี้เป็นเพราะตลาดด้วย อย่างเช่น วิกฤตปี 2540 หรือวิกฤตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาพร้อมๆ กับตรรกะของเสรีนิยมใหม่เชื่อในระบบตลาดจนมองไม่เห็นข้อผิดพลาด ทั้งที่เราเผชิญข้อผิดพลาดนั้นทุกวี่ทุกวัน บ่อยครั้ง และถี่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็คิดว่ามันเป็นทางออกทางเดียว พูดง่ายๆ ว่าเรามั่นใจในกลไกตลาดเกินไป ทั้งที่ตลาดมันทำงานได้เพราะรัฐสนับสนุนทั้งนั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมสหรัฐฯ จวกสื่อหลักไม่ตั้งคำถามรัฐบาล กรณีสงครามซีเรีย

Posted: 29 Aug 2013 09:58 AM PDT

ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อการข่าวที่เที่ยงตรงเขียนบทความเสนอว่า ในขณะที่สหรัฐฯ อ้างเรื่องการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซีเรียเพื่อทำสงคราม สื่อกระแสหลักก็มีเพียงแหล่งข่าวจากทางการสหรัฐฯ และไม่มีผู้เปิดโปงซึ่งนำเสนอข้อมูลอีกด้าน หลังรัฐบาลพยายามปราบปรามนักข่าวและผู้เปิดโปงหลายคน

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2013 นอร์แมน โซโลมอน ผู้ก่อตั้งสถาบันเพื่อความเที่ยงตรงต่อสาธารณะ  (Institute for Public Accuracy) และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Rootsaction.org เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างผู้เปิดโปงความลับของทางการสหรัฐฯ กับแผนการณ์โจมตีประเทศซีเรีย ลงในเว็บ Common Dreams

นอร์แมนกล่าวว่า ประธานาธิบดีทุกคนที่ต้องการทำสงครามไม่สามารถทนต่อการมีผู้คอยเปิดโปงเรื่องต่างๆ ได้ เพราะพวกเขาต้องคอยแทรกแซงเหตุการณ์อย่างระมัดระวัง มีการบิดเบือนและโกหกผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ โดยที่ต้องนำความจริงไป "กักขัง" ไว้ไม่ให้เล็ดรอดออกมา

"เมื่อไม่มีผู้เปิดโปงความจริงแล้ว สื่อกระแสหลักก็มักจะติดอยู่กับการบอกเล่าเรื่องราวจากฝั่งของรัฐบาล" นอร์แมนกล่าวในบทความ "และในช่วงเวลาเช่นนี้ เรื่องราวจากฝั่งรัฐบาล (ของสหรัฐฯ) คือการปั่นกระแสเรื่องสงครามในซีเรีย"

นอร์แมน ระบุว่า ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อหลายแห่งอ้างแหล่งข่าวระดับสูงบอกว่ามีความเป็นไปได้มากที่สหรัฐฯ จะโจมตีซีเรียด้วยจรวดมิสไซล์ ซึ่งไม่ทราบว่ามีจุดมุ่งหมายอะไร และถามว่า แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือแหล่งอื่นๆ ที่น่าจะมีข้อมูลที่เห็นในทางตรงกันข้ามกับฝ่ายรัฐบาลหายไปไหน

นอร์แมน กล่าวว่า ในช่วงเวลาใกล้ประกาศสงครามเช่นนี้เป็นเรื่องยากที่จะมีผู้เปิดโปงความลับออกมาให้ข้อมูล แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่ควรจะมีผู้เปิดโปงข้อมูล โดยเฉพาะคนที่นำเสนอข้อมูลด้านที่ต่างจากฝ่ายรัฐบาล ดังที่ผู้สื่อข่าวอิสระชื่อ ไอ.เอฟ. สโตน เคยกล่าวไว้ว่า "รัฐบาลทั้งหมดล้วนพูดโกหกและเราไม่ควรเชื่อในสื่งที่เขาพูด" ซึ่งเป็นคำเตือนว่าอย่าเพิ่งยอมรับข้ออ้างของรัฐบาลใดๆ โดยด่วนสรุป

บทความของนอร์แมนชี้ว่า รัฐบาลโอบามามีการสั่งลงโทษผู้เปิดโปงความจริงมากยิ่งกว่าประธานาธิบดีคนอื่นๆ รวมกัน และนอกจากนี้ยังมีการข่มขู่และสอดแนมนักข่าว เช่นในกรณีการดักฟังสำนักข่าวเอพีหรือกรณีพยายามสั่งจำคุกนักข่าวนิวยอร์กไทม์ เจมส์ ไรเซน จากการที่เขาไม่ยอมเปิดเผยแหล่งข่าวที่ทำให้ความลับของรัฐบาลรั่วไหล

ในบทความยังได้พูดถึงกรณีของการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ลงโทษเชลซี แมนนิ่ง และพยายามจับตัวเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน รวมถึงการดำเนินคดีกับโธมัส เดรก อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ที่เปิดโปงความลับ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการปิดกั้นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลไปสู่นักข่าว ทำให้เหลือแต่เรื่องจากทางการ

นอร์แมนยกตัวอย่างเรื่องการนำเสนอข่าวอย่างบิดเบือนในเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยเมื่อปี 1964 เพื่อผลักดันการสนับสนุนสงครามเวียดนาม และการสร้างเรื่องราวในปี 1990 อันนำไปสู่สงครามอ่าวกับอิรัก ทำให้มีผู้คนล้มตายและทุกข์ทรมานเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดนี้มาจากการที่ไม่มีผู้ออกมาเปิดโปง และความล้มเหลวในการที่ผู้สื่อข่าวจะออกมาท้าทายข้อมูลผิดๆ ของรัฐบาล

"พวกเราไม่มี 'วันคืนในอดีตที่ดี' ให้พูด ไม่มียุคไหนเลยที่จะมีผู้เปิดโปงและนักข่าวผู้เด็ดเดี่ยวออกมาเตือนประชาชนและลดทอนอำนาจการทำสงครามของทางการสหรัฐฯ" นอร์แมนกล่าวและว่า "แต่ในตอนนี้พวกเราอยู่ในยุคแห่งความกลัว ผู้เปิดโปงมีสิ่งที่ทำให้ต้องกลัวมากขึ้น และนักข่าวกระแสหลักก็มีน้อยคนที่ท้าทายการเสพติดการทำสงคราม"

"ทุกครั้งที่ประธานาธิบดีตัดสินใจทำสงครามกับอีกประเทศ แรงผลักดันเหล่านั้นไม่มีใครหยุดยั้งได้" นอร์แมนกล่าวในบทความ เขาบอกอีกว่าการที่ไม่มีใครต่อต้าน นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตจำนวนมากและการสูญเสียทรัพยากรที่สามารถช่วยเหลือผู้คนแทนที่จะนำมาทำลายผู้คน

นอร์แมนยังได้เรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามโจมตีซีเรียช่วยกันส่งอีเมลให้กับวุฒิสมาชิกและส.ส. ผ่านเว็บไซต์ Rootsaction.org เพื่อเป็นการต่อต้านแรงผลักดันสงครามและเป็นการสนับสนุนให้มีผู้เปิดโปงความจริง

"ในเชิงปฏิบัติแล้ว งานข่าวที่แท้จริงจะไม่สามารถดำเนินไปได้หากไม่มีผู้เปิดโปง ประชาธิปไตยก็ทำงานไม่ได้หากไม่มีงานข่าวที่แท้จริง และพวกเราก็ไม่สามารถหยุดยั้งการทำสงครามได้โดยไม่มีประชาธิปไตย หากพูดถึงในระยะยาว การต่อสู้เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องเดียวกัน"

 


เรียบเรียงจาก

What the Assault on Whistleblowers Has to Do With War on Syria, CommonDreams, 29-08-2013
http://www.commondreams.org/view/2013/08/28-0

เว็บไซต์เรียกร้องไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามซีเรีย
http://act.rootsaction.org/p/dia/action3/common/public/?action_KEY=8463

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบมะเร็งตับ-ท่อน้ำดี มากสุดในอีสาน เร่งพัฒนาเครือข่ายดูแลผู้ป่วย

Posted: 29 Aug 2013 08:53 AM PDT

สปสช.จับมือสธ.พัฒนาเครือข่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ลดรอคิวฉายแสงและเคมีบำบัด ยกย่องเขต 10 อุบลฯ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร จัดเครือข่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาเร็ว หลังพบมีคนเสียชีวิตด้วยมะเร็งอันดับหนึ่ง 

เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2556 ณ จ.อุบลราชธานี และจ.ศรีสะเกษ นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการจัดระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี และโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี พร้อมความร่วมมือกับเทศบาลเมืองศรีสะเกษในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี

นายแพทย์วินัย กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2542 ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 61,082 คน ไทยพบผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 150 คนต่อประชากรแสนคน มะเร็งที่พบบ่อยในเพศชายคือ มะเร็งตับ และมะเร็งปอด ในเพศหญิง คือ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับ ขณะที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ประเทศไทยในปี 2563 หรืออีก 7 ปี จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 148,729 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 95,804 ราย และอีก 17 ปี หรือปี 2573 จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 176,301 คน และมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิต 120,689 คน

ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษา สปสช.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาเครือข่ายโรคมะเร็ง เชื่อมโยงระหว่างรพ.เพื่อรักษาใกล้บ้านผู้ป่วยมากที่สุด ตั้งแต่การคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้น ส่งต่อ และการดูแลพักฟื้นเยียวยาระยะสุดท้าย ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการโรคมะเร็งในทุกจังหวัด โดยเฉพาะเคมีบำบัด มีอัตราการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร้อยละ 90 สำหรับรังสีรักษาสามารถส่งต่อและรอคอยการรักษาไม่เกิน 2 เดือน มีโรงพยาบาลระดับตติยภูมิด้านโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 35 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ
         
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหามะเร็งที่สำคัญ คือ มะเร็งท่อน้ำดี มีผู้ป่วยประมาณ 10,000 รายในแต่ละปี แต่สามารถให้การผ่าตัดได้เพียง 300 คนต่อปี เนื่องจากผู้ป่วย 1 รายใช้เวลาผ่าตัด 8 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้การจัดเครือข่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็งจึงมีความจำเป็น เพราะจะทำให้นำทรัพยากร และจุดแข็งของแต่ละรพ.มาเสริมแรงกันได้ ดังเช่นที่การดำเนินงานของเขต 10 ที่มีรพ.สรรพสิทธิประสงค์ และรพ.มะเร็งอุบลราชธานี เป็นรพ.ระดับตติยภูมิขั้นสูงเป็นแม่ข่ายร่วมกับรพ.ระดับอื่นในเขต
         
แพทย์หญิงกนกวรรณ มิ่งขวัญ แพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษ รพ.โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์และประธานคณะกรรมการดำเนินงานเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งเขตบริการสุขภาพที่ กล่าวว่า  จ.อุบลราชธานีอยู่ในเขตบริการสุขภาพที่ 10 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร) จากการวิเคราะห์อัตราการเสียชีวิตพบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง โดยพบมากคือมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากอัตราตาย 33.54 รายต่อแสนประชากรในปี 2550 เพิ่มเป็น 42.86 รายต่อแสนประชากรในปี 2553 ดังนั้นการจัดเครือข่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระดับจังหวัดและระดับเขตจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งในเขต 10 นี้ มีรพ.สรรพสิทธิประสงค์ และรพ.มะเร็งอุบลราชธานี เป็นรพ.แม่ข่าย

แพทย์หญิงกนกวรรณ กล่าวต่อว่า การรักษาแต่ละราย มีความซับซ้อน ยุ่งยาก ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง เครื่องมือและยาราคาแพง ใช้บุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รพ.สรรพสิทธิประสงค์ มีความพร้อมด้านการผ่าตัด เคมีบำบัด เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ส่วนรพ.มะเร็งอุบลราชธานี มีความพร้อมด้านเคมีบำบัด รังสีรักษา การรักษาประคับประคอง และการผ่าตัดบางโรค ดังนั้นเพื่อให้การรักษาครบถ้วนแล้วเสร็จภายในเขต จึงต้องอาศัยความร่วมมือการส่งต่อระหว่างรพ.ให้บริการแก่ผู้ป่วยในส่วนที่ขาด โดยได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายบริการด้านโรคมะเร็งครอบคลุมทั้งในจังหวัดตั้งแต่ปี 2547 และขยายในระดับเขตอีก 4 จังหวัด ผลการดำเนินงานพบว่าสามารถลดการส่งต่อผู้ป่วยนอกเขตลงได้ จากที่รพ.สรรพสิทธิประสงค์เคยส่งต่อนอกเขต 89 รายในปี 2554 ลดลงเหลือ 55 รายในปี 2555  และลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดจาก 7-14 วัน เหลือ 2-3 วัน โดยนำผู้ป่วยจากรพ.สรรพสิทธิประสงค์ ไปผ่าที่รพ.มะเร็งอุบลฯ ช่วยลดความแออัดในรพ. และผู้ป่วย

นายแพทย์พงศธร ศุภอรรถกร โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี รองประธานคณะกรรมการดำเนินงานเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งเขตบริการสุขภาพที่10 กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างรพ.สรรพสิทธิประสงค์นำผู้ป่วยและตามไปผ่าตัดที่รพ.มะเร็ง อุบลราชธานี) ทำให้ลดระยะเวลารอคอยผ่าตัดจาก 7-14 วัน เหลือ 2-3วัน ลดความแออัดที่รพ.ศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ (จำนวนผู้ป่วยผ่าตัด 1 ม.ค.56- 30มิ.ย.56 เท่ากับ 30 ราย) ผู้ป่วยสามารถเลือกผ่าตัดมะเร็งบางโรค เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ในรพ.ใกล้บ้าน ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนมารับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาที่รพ.สรรพสิทธิประสงค์ หรือรพ.มะเร็งอุบลฯได้

นายแพทย์พงศธร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีระบบส่งต่อเพื่อรับรังสีรักษาโดยผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินด้านมะเร็งได้รับการฉายรังสี ภายใน 1-3 วัน การรักษาด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์  มีระบบ fast tract หรือช่องทางด่วน ลดระยะเวลารอคอย จากเดิม 1 เดือน ลดเหลือ 7 ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีระบบส่งต่อเพื่อการดูแลประคับประคองใกล้บ้าน ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปี 2555 มีผู้ป่วยมะเร็งรักษาแบบประคับประคองประมาณ 900 ราย และมีการประสานความร่วมมือดูแลผู้ป่วยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เช่น การส่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลับบ้านโดยรถขององค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (โครงการพาคนรักกลับบ้าน) และประสานตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกับเทศบาลเมืองศรีสะเกษ เพื่อค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษาแต่ระยะเริ่มต้นก่อนจะลุกลามรักษายากและส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ รพ.พระมงกุฎฯ เตรียมแถลงผลตรวจร่างกาย พล.อ.เปรม

Posted: 29 Aug 2013 07:36 AM PDT

'วาสนา นาน่วม' โพสต์สเตตัสขอให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หายป่วยโดยเร็ว ด้านนายทหารคนสนิทยืนยันว่าเป็นการตรวจร่างกายปกติตามวงรอบ โดยแพทย์ตรวจพบความผิดปกติจึงขอตรวจอย่างละเอียด และจะมีการเตรียมแถลงข่าวอาการ 30 ส.ค. นี้

ตามที่เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้นำ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพเข้าอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิด 94 ปี ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์นั้น

ล่าสุดมีรายงานว่า พล.อ.เปรม ได้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ โดยวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร ได้โพสต์ในสเตตัสว่า พล.อ.เปรม รักษาตัวที่ชั้น 9 รพ.พระมงกุฏเกล้าฯ และระบุว่าแพทย์ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดและทำการรักษา และกล่าวด้วยว่านายทหารได้ปิดข่าว พร้อมอวยพรให้ พล.อ.เปรมหายป่วยโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม มีการชี้แจงมาจาก พล.ต.พิศณุ  พุทธวงศ์ นายทหารคนสนิท ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ว่า ในวันที่ 30 ส.ค. นี้ คณะแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ จะมีการแถลงอาการของ พล.อ.เปรม หลังจากที่ พล.อ.เปรม เดินทางมาตรวจร่างกายตามวงรอบเมื่อเย็นวันที่ 28 ส.ค. โดยแพทย์พบว่ามีอาการผิดปกติ  จึงขอให้นอนพักที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจอาการให้ละเอียด โดย พล.อ.เปรมพักรักษาอาการอยู่ที่ อาคารสมเด็จย่า ชั้น 9 ของโรงพยาบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัว 4 นักเขียนชายแดนใต้ ผู้ทันสมัยแต่ไม่ทิ้งอิสลาม

Posted: 29 Aug 2013 05:56 AM PDT

เปิดตัว 4 นักเขียนหน้าใหม่ชายแดนใต้ ผู้เขียนหนังสือให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ และนิยายรักฉบับทะเลทราย ที่มีเนื้อหาทันสมัย ได้รับการกดไลค์อย่างถล่มทลายในเฟสบุ๊คแต่ไม่ทิ้งสาระและหลักการของอิสลาม
 
วันที่ 24 ส.ค.56 ที่ร้านหนังสือบูคู อ.เมือง จ.ปัตตานี มีการจัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ 4 เล่มของนักเขียน 4 คน ภายใต้งานหนังสือเพื่อเธอ ผู้ทันสมัยแต่ไม่ทิ้งอิสลาม ได้แก่ มูสลีฮา มะแซ เจ้าของนามปากกา นูรีฮัน มาเลเซีย, จัสมิน ยามาอุ เจ้าของนามปากกาเพียงฉัน, อิบรอเฮ็ม อารง เจ้าของนามปากกา บูหรง, ฟูอัด ยีดาแม เจ้าของนามปากกา ฟูอัด ชีวิตวิทยา
 
มูสลีฮา มะแซ เจ้าของนามปากกา "นูรีฮัน มาเลเซีย" เปิดตัวหนังสือชื่อ "ผู้หญิงถึงผู้หญิง" โดยกล่าวว่า เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องที่ผู้เขียนสัมผัสด้วยตัวเองเกี่ยวกับผู้หญิง เกี่ยวกับสามีภรรยาและเรื่องราวของผู้หญิงที่พร้อมจะเผชิญกับปัญหา เป็นการแสดงถึงความอดทนของผู้หญิง
 
มูสลีฮา กล่าวด้วยว่า ตนเองเริ่มเขียนโดยโพสต์ในเฟสบุ๊คก่อน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่ เพื่อน การแต่งกายและเกี่ยวกับแฟน จากนั้นเมื่อดูผลตอบรับของแฟนคลับที่ติดตาม จากการคอมเมนท์และการกดไลค์แล้วจึงเริ่มเขียนเป็นหนังสือเล่มแรก ชื่อหนังสือ Love story1 "สาสน์รักฉบับผู้ศรัทธา"
 
ส่วน จัสมิน ยามาอุ เจ้าของนามปากกา "เพียงฉัน" เปิดตัวหนังสือชื่อ "ปล่อยวาง" ระบุว่า เนื้อหาหนังสือดังกล่าวเกี่ยวกับปรัชญาความคิดของชีวิตของมนุษย์ทุกคน ในการแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิต เราจะปล่อยวางในสถานที่แห่งใด
 
จัสมิน เล่าว่า ตนเองเป็นคนไม่ชอบอ่านแต่ชอบคิด และชื่อของหนังสือก็มาจากคำว่า "ปล่อยวางด้วยพลังที่ศรัทธา" ไปเจอในห้องสมุดจึงทำให้เกิดความรู้สึกชอบ จึงเกิดไอเดียร์ในการตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้
 
ขณะที่ อิบรอเฮ็ม อารง เจ้าของนามปากกา "บูหรง" เปิดตัวหนังสือ "ก่อการรัก" ซึ่งมีเนื้อหาเป็นเรื่องความรักของดินแดนอาหรับที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ร่วมอยู่ด้วย
 
อิบรอเฮ็ม เล่าว่า การเขียนของตัวเองเริ่มมาจากที่ตัวเองชอบอ่านนิยาย จึงทำให้รู้สึกว่านักเขียนนิยายอาหรับไม่ค่อยมีนักเขียนมุสลิมเป็นคนเขียน จึงทำให้ตัวเองเกิดความต้องการเขียนขึ้นมา ส่วนอุปสรรคของการเขียนนิยายทะเลทรายแบบใหม่ มีความกดดันจากการติดตามของแฟนคลับ แต่ยังดีที่มีกลุ่มอาจารย์ช่วยอ่านและคอมเมนท์
 
ในการเขียนนิยาย เราต้องรู้จากตัวบทและรายละเอียดในการอธิบายตัวบท อย่างนิยายเรื่องฟ้าจรดทรายที่คนเขียนไม่ใช่มุสลิมก็ย่อมมีการผิดพลาดในการเขียน และล่าสุดละครเรื่องฟ้าจรดทรายที่เป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ก็ทราบว่ามีการแก้เนื้อหาพอสมควรแล้ว
 
อิบรอเฮ็ม กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องการที่จะส่งเสริมให้คนรักการอ่านแนวศาสนา จึงทำงานเขียนเพราะเป็นสิ่งที่จูงใจให้คนมาอ่านงานเขียน
 
สำหรับ ฟูอัด ยีดาแม่ เจ้าของนามปากกา "ฟูอัด ชีวิตวิทยา" เปิดตัวหนังสือ "จุดประกายแห่งทางนำ" เปิดเผยว่า เขาเริ่มเขียนเนื่องจากได้เห็นสังคมเสื่อมโทรมจึงต้องการตักเตือนด้วยการเขียน เพื่อให้ทุกตัวอักษรเป็นตัวตักเตือนเยาวชน ซึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ มาจากหนังสือ Love story2 ของนูรีฮัน มาเลเซีย
 
ฟูอัด กล่าวด้วยว่า หนังสือจุดประกายแห่งทางนำเขียนมาแล้ว 1 ปี เป็นการเขียนแนวเรื่องสั้น ความรักและการเรียน โดยมีพื้นฐานเกี่ยวกับหลักศาสนาและเชื่อมโยงกับการเขียน ซึ่งจุดแข็งของตัวเองคือ การนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองมาเสริมเติมแต่ง และให้ข้อคิดเกี่ยวกับความรักที่สามารถทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสยิ่งขึ้น
 
ตัวเองเป็นศิษย์ที่ไม่มีครูที่คอยสอนและแนะนำ ต้องศึกษาด้วยตัวเองและได้กำลังใจจากการกดถูกใจของคนผ่านการโพสต์ในเฟสบุ๊ค แต่ท้ายสุดเมื่อท้อก็กลับดูเยาวชนที่เสื่อมโทรมในสังคมอีกครั้ง จึงสามารถทำให้ตัวเองมีกำลังใจในการสร้างผลงานเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป
 
 "หากผู้อ่านต้องการเพียงความเพลิดเพลินก็จะได้แค่ความเพลิดเพลิน แต่ผมต้องการให้ผู้อ่านใคร่ครวญในสิ่งที่ผมเขียนด้วยครับ" ฟูอัด กล่าวทิ้งท้าย
 
นูรีฮัน มาเลเซีย ผู้จัดตั้งสำนักพิมพ์ White Mind ในเฟสบุ๊ค กล่าวว่า สำนักพิมพ์ก่อตั้งเมื่อเดือน มิ.ย.56 เพราะต้องการขจัดความหวาดกลัวของนักเขียนที่ไม่กล้าออกหนังสือ ตอนนี้นักเขียนในสำนักพิมพ์ White Mind มี 5 คน ส่วนหนังสือที่ White Mind ตีพิมพ์แล้วมี 2 เล่ม คือ บทความรับเชิญและผู้หญิงถึงผู้หญิง ยังมีคิวตีพิมพ์หนังสือ ปล่อยวางของเพียงฉันและจุดประกายแห่งทางนำของฟูอัด ชีวิตวิทยา
 
นูรีฮัน มาเลเซีย กล่าวด้วยว่า ต่อไปจะเปิดสำนักพิมพ์ที่เป็นหลักเป็นแหล่ง ซึ่งจะเปิดขายหนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเองและจากสำนักพิมพ์อื่น โดยจะตั้งสำนักพิมพ์ที่นราธิวาส
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความพยายามที่จะยุติความรุนแรงในเดือนรอมฏอน (Inisiatif “Cease-fire”)

Posted: 29 Aug 2013 05:41 AM PDT

หลังจากที่ครบกำหนดสี่สิบวันของการพยายามที่จะลดความรุนแรงในห้วงเดือนรอมฏอน ที่หลายฝ่ายต่างให้ความคาดหวังไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไป ที่ต่างต้องการที่จะเห็นรอมฎอนปีนี้อยู่ในสภาวะแห่งความสงบ

การประเมินผลจากบรรดานักวิเคราะห์ออกมาหลายทัศนะด้วยกัน ซึ่งในความพยายามที่หาญกล้าของฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) ในครั้งนี้ ที่ออกมาประกาศแถลงการณ์เพียงฝ่ายเดียวเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 (วันที่ 3 รอมฏอน) โดยนักวิเคราะห์มีความเห็นที่หลากหลายต่อเรื่องนี้ บางคนถึงกับการันตีอย่างแน่วแน่ว่า อาจล้มเหลวตั้งแต่แรกเริ่มก่อนแล้ว บางคนก็บอกว่าความล้มเหลวได้เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สองของเดือนดังกล่าวไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ยังมีอยู่บ้างผู้ที่คิดว่ามันอาจเป็นพื้นฐานแรกเริ่มสำหรับกระบวนการสันติภาพปาตานีที่มีความเปราะบางยิ่งนี้ ว่ายังคงมีความหวังที่อาจมีโอกาสเดินหน้าอีกต่อไปได้ ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคการต่อต้านนานาจากหลายภาคส่วนก็ตาม

ตามทัศนะของผม การเจรจาเพื่อที่จะลดความรุนแรงลงในรอมฎอน เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของกระบวนการสันติภาพปาตานี ที่กำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ อย่างน้อยก็เป็นเพียงการชั่วคราวเฉพาะหน้า ความพยายามที่"เก่งกล้าแบบไม่ถูกที่ถูกเวลา" จากผู้อำนวยความสะดวกเช่นนี้ มันไม่ควรที่จะให้เกิดขึ้นเลย โดยพิจารณาจากระยะเวลาของกระบวนการสันติภาพยังอยู่ในช่วงของการตั้งไข่เท่านั้นเอง(เพิ่งแค่ห้าเดือน) ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันเท่านั้น (confidence-building)

หากมองถึง "ถนนแผนที่" (Road Map) ของกระบวนการสันติภาพปาตานี เราจะพบว่าความพยายามที่จะหยุดความรุนแรงชั่วคราว (Temporary Cease-fire) จะถูกหยิบยกขึ้นมาภายหลังจากที่ได้ผ่านช่วงเวลาของการสร้างความมั่นใจได้บรรลุถึงเป้าหมายก่อนเท่านั้น นั่นคืออย่างเร็วที่สุดจะต้องครบรอบ 1 ปี นับจากวันที่ลงนาม (28 / 2/2013) นั่นคือประมาณเดือนมีนาคม 2014

จะเห็นได้ว่าเป็นฝ่ายไทยเองที่ไม่มีความอดทน(รีบร้อน)ต่อสิ่งนี้มากกว่า ที่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาคุยในการเจรจารอบที่ 3 เมื่อ 13 มิถุนายน 2013 เหตุผลที่เป็นข้ออ้างก็คือมันเป็นความต้องการของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ตามมาด้วยข้อเสนอแนะที่มาจากท่านผู้รู้ที่ทรงอิทธิพลท่านหนึ่งในพื้นที่และได้รับเสียงสนับสนุนความเห็นจากนักวิชาการอื่น ๆอีกหลายท่าน

เราสามารถ "วิเคราะห์" ได้ว่า ที่ฝ่ายไทยได้หยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุย ก็ด้วยสองเหตุผลหลักด้วยกัน ประการแรกคือ มาจากแรงกดดันจากพวกเดียวกันเอง ที่ต้องการเห็น "ผล" จากการเจรจาพูดคุยกับพวกโจรใต้ พวกเขามีข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดยิ่งมีการเจรจาพูดคุย ยิ่งเกิดการโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธถี่ขึ้นเท่านั้น? ประการที่สอง ฝ่ายไทยเองต้องการที่จะพิสูจน์ให้แน่ใจว่า คณะพูดคุยที่ทำหน้าที่บนโต๊ะเจรจานั้น สามารถที่จะควบคุมกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในพื้นที่ได้หรือไม่?

ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ทางฝ่ายนักต่อสู้ของเราเอง ก็มีบางคนที่ได้แสดงทัศนะมุมมองเพื่อที่ว่า คงจะเป็นการดีหากว่าเดือนรอมฎอน(รอมฏอนที่ผ่านมา)จะลดปฏิบัติการทางทหารลง และจำกัดเป้าหมายให้เป็นการเฉพาะ นี่เป็นนิมิตรหมายที่ดีจากเราที่มีความอะลุ่มอล่วยและความเป็นมนุษยธรรมของเหล่านักต่อสู้ที่ออกมาในรูปแบบของการ "ลดปฏิบัติการทางทหารลง"

เมื่อผู้แทนจากฝ่ายไทยได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเมื่อ 2013/06/13 ในจังหวะที่ไม่มีความสมควร ก็ได้ถูกตอบรับโดยหลักการจากตัวแทนของเรา ภายใต้เงื่อนไขอีกหลายข้อที่ยื่นให้ภายหลังในเวลาต่อมา 


จุดนี้เองเป็นที่เข้าใจกันว่า ได้ผ่านการหารือกับฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่แล้ว และข้อเสนอที่ยื่นไปจำนวน 7 ข้อควบคู่กับอีก 4 เงื่อนไขจากนักต่อสู้ เพื่อเป็นการวิเคราะห์ถึงการลดเหตุความรุนแรงในเดือนรอมฎอนไม่ได้เป็นเพียงแค่ลดการก่อเหตุเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการหยุดปฏิบัติการณ์อย่างสิ้นเชิง( Total Suspension) นับจากสามสิบวันของเดือนรอมฏอนและอีกสิบวันของเดือนเชาวัลล์ รวมทั้งหมดสี่สิบวัน

เงื่อนไขต่างๆ (7+4) ได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ You Tube ไปแล้วก่อนหน้านี้ และได้ยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการไปยังหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย ผ่านทางผู้อำนวยความสะดวกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามที่ได้ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4551 ท่าทีจากฝ่ายไทยเองไม่ได้เป็นไปในทางบวกเลย ทั้งที่เขาเองเป็นฝ่ายแรกเริ่มที่นำเสนอก่อน อย่างเป็นทางการ มีรายงานจากแหล่งข้อมูลมาว่า ฝ่ายตัวแทนคณะพูดคุยของไทยเองไม่ได้หยิบยกเนื้อหา 7+4 ขี้นมาหารืออย่างเป็นทางการกับฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่านผู้บัญชาการทหารบก นอกจากว่าเป็นเพียงให้การรับรู้แก่ท่านแม่ทัพภาคที่สี่เท่านั้น

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายนักต่อสู้ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้อย่างสมบูรณ์ หลังจากที่คำประกาศหยุดยิงได้ออกมาในวันที่ 3 ของเดือนรอมฎอน ฝ่ายไทยคงอาจจะไม่สามารถที่จะยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวได้ เพราะเห็นว่าอาจเป็นเรื่องที่หนักเกินไปที่จะรับข้อเสนอได้ ส่วนทางฝ่ายนักต่อสู้เองก็ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องนี้เช่นกัน เพราะไม่มีการตอบสนองใดๆ ที่เป็นที่น่าพอใจจากรัฐบาลไทย

จากข้อสังเกตของเรา ยังมีจุดอ่อนบางอย่างในการเจรจาหยุดยิงรอมฎอนในครั้งนี้คือ:

1 เพราะถูกจัดให้มีขึ้นอย่างรีบร้อน (Ad-hoc) ก่อนจะถึงจังหวะที่เหมาะสม โดยที่ยังไม่ได้ผ่านช่วงระยะเวลาที่คู่ควร คือผ่านระยะเวลาการ"สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ" ก่อนเป็นอันดับแรก


2 ปราศจากการถกเถียง การเตรียมการและการวางแผมาเป็นนอย่างดี ในความพยายามที่จะหยุดยิงเหมือนปรกติที่อื่นๆ เขากระทำกันอย่างที่ควรจะเป็น


3 เป็นการประกาศโดยฝ่ายเดียว (ผู้อำนวยความสะดวก) เท่านั้น โดยปราศจากความยินยอมอย่างเป็นรูปธรรมจากทั้งสองฝ่ายในข้อตกลงและเงื่อนไขที่มีอยู่ใน "ข้อตกลงและเงื่อนไขแห่งสันติภาพในเดือนรอมฎอน 2103" ความหนา 7 หน้ากระดาษ


4 ไม่มีการตกลงอย่างเป็นทางการ และการลงนามจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นั่นหมายถึงฝ่ายที่มีความขัดแย้งกัน สามารถที่จะยอมรับและละเมิดข้อตกลงเงื่อนไขดังกล่าวได้เช่นกัน


5 ปราศจากกรรมการ(referee) และไม่มีผู้สังเกตการณ์ (Observer) ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (neutral) แม้กระทั่งทีมตรวจสอบ (monitoring team) ที่ประจำการในพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่คอยตรวจสอบว่าฝ่ายใดที่เป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลง


6 ไม่มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ ถึงรายละเอียดที่มีอยู่ในข้อตกลงและเงื่อนไข เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการคุ้มครองของพวกเขา(ประชาชน)และสถานที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ หากว่าสิทธิดังกล่าวถูกละเมิดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

อะไรที่ได้เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนและอีกสิบวันของเดือนเชาว์วัลที่ผ่านมา ซึ่งได้เป็นที่รับรู้กันมาแล้วโดยทั่วกัน เพียงช่วงแรกของเดือนรอมฏอน เหมือนเป็น "สัญญาณ"ที่ดีว่า การหยุดยิงเดือนรอมฏอนนั้นเสมือนว่าจะเป็นจริง แต่ "ความเงียบ" เพียงชั่วคราวนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ภาพลวงตาเท่านั้น ถึงที่สุดแล้วก็เข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกับก่อนถึงเดือนรอมฏอนมากนัก

ทางฝ่ายเราคาดว่าปฏิบัติการณ์ที่รุมเร้ายิ่งนี้ ได้เริ่มมานับตั้งแต่จากการที่ได้มีการลอบยิงผู้ต้องสงสัยที่ต่อต้านรัฐ หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการประกันตัว และผู้ที่ได้รับการยกฟ้องจากศาลไปแล้ว ในบรรดาพวกเขาได้ถูกฆ่าตาย ใครหรือเป็นผู้กระทำ? มีความเป็นไปได้สูงที่ฝ่ายรัฐเป็นผู้กระทำหรือโดยบุคคลที่ติดอาวุธ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ หรือฝ่ายรัฐที่อยู่นอกเหนือการควบคุมซึ่งพวกเขาเองก็รู้ตัวดี หลังจากนั้นก็มีการตอบโต้จากฝ่ายนักต่อสู้ ตามมาด้วยการปิดล้อมตรวจค้นและเกิดการปะทะกันโดยกองกำลังติดอาวุธของไทย และนักสู้ก็ตอบโต้ตามหน้าที่อีกครั้งหลังจากที่หมดความอดทน

ในที่สุดตัวแทนจากเหล่านักต่อสู้ที่นำโดยฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ ได้ออกมาประกาศผ่านยูทูปอีกครั้ง ที่ได้นำมติชี้ขาดจากสภาชูรา ถึงความล้มเหลวของรัฐไทยที่ทำการละเมิดข้อกำหนดและเงื่อนไขที่มีอยู่ในเอกสารการหยุดยิงรอมฎอน ที่ฝ่ายเขาเองเป็นผู้จุดประกายในเรื่องนี้ ทำให้การพูดคุยอย่างเป็นทางการกับรัฐไทยถูกระงับไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าฝ่ายไทยจะให้คำตอบต่อข้อเงื่อนไขเบื้องต้นทั้ง 5 ข้อที่ได้ยื่นเสนอไปก่อนหน้านี้

นั่นคือข้อสรุปที่ได้นำเสนอผ่านสื่อประจำวัน(สื่อกระแสหลัก)ไปยังพี่น้องประชาชนถึงความข่มชื่นที่จำต้องฝืนกลืนเข้าไป ว่ารอมฏอนปีนี้อาจมิได้เป็นไปอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ ในขณะเดียวกันมีบางส่วนได้ออกมาวิเคราะห์ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นการลอบยิง การฆ่ากัน การลอบวางระเบิด การโจมตีด้วยอาวุธ การลอบวางเพลิงและอื่น ๆ และได้มีการสรุปสถิติออกมาว่า ภึงแม้จำนวนเหตุการณ์จะลดลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้น สำหรับฝ่ายไทยเองก็เชื่อมั่นว่าการเจรจาหยุดยิ่งในเดือนรอมฏอนนี้โดยตัวของมันเองมีความสำคัญมากทีเดียว และเริ่มที่จะเชื่อมั่นว่า พวกเขา(รัฐไทย)กำลังพูดคุยกับตัวจริงที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเองยังไม่มีความมั่นใจ

สำหรับเราแล้วความพยายามที่จะยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนไม่ได้บรรลุผลอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งเพราะมันไม่ได้เป็นวาระเดิมของเราแต่อย่างใด อย่างน้อยเป็นแค่ในขั้นตอนนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตามบทวิเคราะห์ที่มาจากหลายๆ ฝ่ายไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของเราแต่ประการใด ที่ว่าการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันควรจะเป็นเป้าหมายและวาระแรกของเรามากกว่า ในที่นี้สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า การเสริมสร้างเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความเชื่อใจระหว่างกันและความจริงใจนั้น ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากเลยที่เดียว

ถึงแม้ว่าจะมีบทเรียนจากประสบการณ์เพื่อหยุดยิงในเดือนรอมฎอนในครั้งนี้ จะมีก็เป็นเพียงเรื่องที่น่าเศร้าเท่านั้น ในสถานการณ์ที่ฝ่ายนักต่อสู้ที่อยู่บนโต๊ะเจรจาจะสวมบทบาทเป็นผู้เฝ้ามองและสังเกตการณ์ และในขณะเดียวกันกองกำลังที่อยู่ในพื้นที่ก็จะทำหน้าเฝ้าระวังตรวจสอบความจริงใจของฝ่ายไทยอยู่ด้วยเช่นกัน ในฐานะเป็นฝ่ายที่ยื่นข้อเสนอการหยุดยิงนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ฝ่ายไทยเองกลับเป็นผู้ละเมิดข้อกำหนดที่มีอยู่ในข้อตกลงและเงื่อนไข "การหยุดยิงเพื่อสันติภาพรอมฏอน 2013" เสียเอง ตามที่เราได้รับรู้กันมาแล้ว การโป้ปดมดเท็จของฝ่ายไทยก็ได้ถูกโต้ตอบด้วยการติดป้ายผ้านับร้อยผืนที่ขับไล่ทหารออกจากพื้นที่ โดยประกาศอย่างประจักษ์ชัดว่าฝ่ายไทยนั้นคือจอมผู้ร้าย จอมทำลาย จอมหลอกลวง จอมใส่ร้าย

บัดนี้การพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพปาตานีในทางเปิด(ทางการ)จะถูกยุติไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าฝ่ายไทยจะตอบข้อเสนอเบื้องต้นทั้ง 5 ข้อ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ ในระหว่างนี้จะเป็นเพียงการประสานโดยผ่านฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น โดยจะไม่มีการเผชิญหน้ากันโดยตรงบนโต๊ะเจรจาอีกต่อไป หวังว่าการเจรจาหยุดยิงรอมฎอนครั้งที่ผ่านมา จะเป็นข้อเตือนใจว่าสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง หากมีความต้องการอย่างแน่วแน่ จะต้องมีการวางแผน หารืออย่างรอบคอบ ต้องเห็นพ้องต้องกันและได้รับการยอมรับร่วมกันก่อนที่จะดำเนินการต่อไป เรายังหวังว่าภายหลังจากนี้กระบวนการสันติภาพปาตานีจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้

 

Cuka dan Madu
Dari Luar Pagar Patani
Syawal /Ogos 2013

  (หมายเหตุบทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องจากบทแรกที่เผยแพร่ผ่านทาง http://www.deepsouthwatch.orgเมื่อ 28/07/2013)

 

ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงในยืนยัน BRN เดินหน้าพูดคุย ย้ำไม่เปลี่ยนชุดเจรจา

Posted: 29 Aug 2013 05:23 AM PDT

ยันการเจรจาสันติภาพยังคงเดินหน้า คาดมีอีกครั้ง ก.ย.นี้ ทั้งไม่เปลี่ยนชุดเจรจา ด้านที่ปรึกษา ศอ.บต.เผยข้อตกลงลดเหตุรุนแรงเดือนรอมฏอนเป็นความสำเร็จเบื้องต้นของการพูดคุยสันติภาพ ส่วนประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ย้ำการพูดคุยไม่ควรมีผลประโยชน์
 
 
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.56 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารเฉลิมพรเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีการเสวนาและอภิปรายร่วมในข้อหัว "ความหวัง บทเรียน และความสำเร็จต่อการเจรจาสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้" จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมีนักศึกษาและนักเรียนและประชาชนเข้าร่วมฟังประมาณ 300 กว่าคน
 
เผย BRN ยืนยันการพูดคุยสันติภาพมีอีกครั้งในเดือนกันยายน
 
นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานที่ปรึกษาสภาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) กล่าวระหว่างเสวนาว่าจากการพูดคุยทางเฟสบุ๊ค (Facebook) กับนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำ BRN ได้รับการยืนยันว่าการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับตัวแทน BRN จะมีอีกครั้ง คาดว่าน่าจะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้นายฮัสซัน ยืนยันมาตลอดว่าการพูดคุยสันติภาพคือแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายอาซิส กล่าวอีกว่า นายฮัสซัน ได้ยืนยันอีกว่าทางฝ่าย BRN จะยังคงใช้คณะตัวแทนในการเจรจาชุดเดิมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนของรัฐบาลไทย จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลแต่อย่างใด
 
นายอาซิส กล่าวต่อไปว่า การพูดคุยสันติภาพมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งจากตัวอย่างกรณีมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ประชาชนที่ทนไม่ไหวต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายถืออาวุธกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ประชาชนจึงมีการเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย ยุติการใช้ความรุนแรง และให้มีการเจรจาต่อกัน ซึ่งหากไม่มีการเจรจาประชาชนจะลุกขึ้นต่อต้านต่อทั้ง 2 ฝ่าย
 
"ข้อตกลงลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ในช่วงเดือนรอมฎอน ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นความสำเร็จเบื้องต้นของการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยกับตัวแทน BRN ถึงแม้ว่าในเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงจำนวนมากก็ตาม แต่เหตุส่วนใหญ่เกิดต่อเป้าแข็งโดยเฉพาะต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ส่วนเหตุความรุนแรงต่อเป้าอ่อนน้อยมาก" นายอาซิส กล่าว
 
การพูดคุยสันติภาพต้องปราศจากผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย
 
นายประสิทธิ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า  การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ ไม่ควรที่จะมีผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น ทาง BRN ต้องการเพียงแค่ได้เปรียบทางการเมือง ส่วนฝ่ายรัฐบาลไทยต้องการเพียงแค่ให้ทาง BRN ยุติบทบาทเท่านั้น การพูดคุยสันติภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อที่จะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่อย่างถาวรและต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
 
นายประสิทธิ กล่าวอีกว่า การปกครองรูปแบบพิเศษในพื้นที่ มีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบ 1.การกระจายอำนาจ 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองในพื้นที่ 3.ให้อำนาจเต็มที่ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการพูดคุยว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่จะให้มีความสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่
 
ผู้ว่าชี้ 10 ปี เยียวยาแล้ว 5,000 ล้าน
 
นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 27 ส.ค.56 มีผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 3,000 กว่าคนที่ได้รับรองจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในพื้นที่ ในจำนวนนี้ทั้งที่เป็นมุสลิมและไทยพุทธ สิ่งที่ค้นพบคือผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ นอกจากนี้มีมุสลิมเสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธเสียอีก ทั้งที่ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ อ้างว่าต่อสู้เพื่อพี่น้องชาวมลายูในพื้นที่ แต่ทำไมพี่น้องมุสลิมในพื้นที่เสียชีวิตจำนวนมากขนาดนี้
 
นายเดชรัฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางกลุ่มก่อความไม่สงบอ้างว่า ต่อสู้เพราะโดนเจ้าหน้าที่รัฐกดขี่ สิ่งที่ค้นพบคือเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิตทั้งหมดระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่โดนตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีพฤติกรรมทำร้ายประชาชนในพื้นที่
 
นายเดชรัฐ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 27 ส.ค.56 รัฐบาลได้ให้เงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่จำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐอยู่ในฐานะที่ต้องดูแลประชาชน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถหาผู้ที่กระทำความผิดได้
 
นายเดชรัฐ กล่าวด้วยว่า คิดว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองในพื้นที่จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปเป็นรูปแบบใหม่ในทันทีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดความรุนแรงจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากปรับเปลี่ยนเนื้อหาของโครงสร้างการปกครองที่อยู่แล้วให้มันดีขึ้นจากเดิม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
 
นักวิชาการยืนยันสันติภาพต้องคู่ความยุติธรรม
 
อ.มัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ใช่อยู่ที่ประชาชนอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย ที่จะต้องให้ความยุติธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากความยุติธรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่
 
อ.มัสลัน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐจะต้องมีการกระจ่ายอำนาจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนในพื้นทีเรียกร้องกันมานาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ 4 ใน 5 เลือก ‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’ เป็นตุลาการศาล รธน.คนใหม่

Posted: 29 Aug 2013 05:01 AM PDT

คณะกรรมการสรรหาฯ มีมติ 4 ใน 5 เสียง เลือก 'ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ' แกนนำกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เป็นตุลาการศาล รธน.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ แทน 'วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์' หลังถกร่วม 4 ชั่วโมง ลงมติ 8 ครั้ง
 
 
วันที่ 29 ส.ค.56 เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ห้องรับรองพิเศษ อาคารรัฐสภา ที่ประชุมกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาสรรหาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออกไป โดยมีนายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และมีกรรมการ 4 คน ประกอบด้วย นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
 
ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดก็ได้ลงมติเลือก นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 ซึ่งไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยขั้นตอนจากนี้ไปจะนำชื่อเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมต้องคัดเลือกถึง 8 รอบ โดยการคัดเลือกในรอบ 4 ขึ้นไปรายชื่อจึงเริ่มตรงกัน
 
สำหรับนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อายุ 60 ปี แกนนำกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์
 
วุฒิการศีกษา: ประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาอาญา) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย, Master of Law (LL.M., University of Pennsylvania) ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางกฎหมายอาญา (D.E.A. de sciences criminelles) และปริญญาเอกเกียรตินิยมทางกฎหมายอาญา (Doctorat en droit pe′nal mention tre′s honorable, I′Universite de Nancy II)
 
ทั้งนี้ การประชุมใช้วิธีการลงมติลับเพื่อเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ จากรายชื่อผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 9 คน คือ นายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่เป็นอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นางศุภลักษณ์ พินิจภูวดล ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
 
นางเปรมใจ กิตติคุณไพโรจน์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา นายไพรัช เกิดศิริ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดภูเก็ต พล.อ.สถาพร เกียรติภิญโญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ อดีตหัวหน้าสำนักตุลาการทหารและตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารสูงสุด นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา หลังมีการเปิดรับสมัครกันไปเมื่อ 6-13 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
อนึ่ง คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ เข้าดำรงเมื่อวันที่ 28 พ.ค.51 มีวาระการดำรงตำแหน่งรวม 9 ปี โดย นายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อนายชัชลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมคณะตุลาการฯเมื่อวันที่ 24 ส.ค.54 มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกนายวสันต์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายวสันต์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 26 ต.ค.2554
 
เมื่อนายวสันต์ลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.56 ทางประธานวุฒิสภาก็จะต้องจัดให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 206 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง โดยจะต้องเป็นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210(3) เนื่องจากนายวสันต์ได้รับการสรรหามาจากสายดังกล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปาฐกถา ‘อัมมาร’ อนาคตเกษตรกรรมไทยในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปร

Posted: 29 Aug 2013 04:24 AM PDT

อัมมารเน้นสถานการณ์เกษตรกรเปลี่ยน ทั้งการทำเกษตรปัจจุบันแง่ที่หนึ่งต้องต่อสู้กับธรรมชาติ -สู้กับการแปลงที่ดิน อีกแง่ร่วมมือกับธรรมชาติ เพื่อไม่ให้ธรรมชาติหันกลับมาสร้างทำลายตัวเอง ชี้ ในความเป็นจริงเราปฏิเสธตลาดโลกไม่ได้
 
 
 
วันนี้ (29 ส.ค.56) ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวปาฐกถา "อนาคตของภาคเกษตรกรรมไทยในสถานการณ์สากล" ใน "งานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน: เปลี่ยนเกษตรกรรม...สู่ความยั่งยืน" ระหว่างวันที่  29-30 ส.ค.56 ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม จัดโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โครงการสวนผักคนเมือง  มูลนิธิชีววิถี  ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และ แผนงานส่งเสริมการพัฒนาระบบเพื่อสุขภาวะของเกษตรกรและความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม
 
ดร.อัมมาร กล่าวเน้นประเด็นหลักซึ่งเป็นข้อสังเกตต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรในปัจจุบัน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่  1 ปัจจุบันเกษตรกรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการวิจัยในประเด็นเรื่อง จำนวนแรงงานในภาคเกษตรที่ทำงานมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แยกตามอายุ ระบุว่า ประชากรที่มีอายุในช่วง 25-34 ปี เป็นช่วงวัยที่หันหน้าออกจากภาคเกษตรมากที่สุด คนในวัยกลางคนที่มีอาชีพทำเกษตรต้องหารายได้เสริม เพราะอาชีพทำนาไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงคนในทั้งครอบครัว
 
ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า คนทำนายกเว้นชาวนาภาคกลาง มีรายได้ที่มาจากการทำนาต่ำกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว แต่ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้กลับยังบอกว่าตัวเองเป็นชาวนา ดังนั้น ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลทำนา กลุ่มคนวัยกลางคนเหล่านี้จะมุ่งหารายได้เสริมจากการประกอบอาชีพอื่นซึ่งมีหลากหลายมาก แต่พอถึงฤดูกาลทำนากลุ่มคนเหล่านี้จะต้องกลับมาทำนา แต่นี่ก็เป็นเพียงภาพในอดีต ซึ่งในปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว เนื่องจากว่า หลังจากที่กลุ่มคนเหล่านี้ออกจากชุมชนเพื่อไปหารายได้เสริม เขาก็ไม่อยากกลับมาทำนาอีกเลย ดังนั้นจึงสังเกตได้ว่า ในปัจจุบันคนทำนาคือกลุ่มคนสูงอายุ ซึ่งมักทำนาด้วยระบบการจ้างทำนา
 
ประเด็นที่ 2 ระบบเกษตร (รายย่อย) ในปัจจุบันมองได้ 2 ด้าน คือ ด้านที่ต้องต่อสู้กับธรรมชาติ ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นว่าในแต่แต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีสภาพที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความแห้งแล้วและร้อน แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนก็สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม และอีกด้าน คือ ด้านที่ต้องร่วมมือกับธรรมชาติ เพื่อไม่ให้ธรรมชาติหันกลับมาทำความรุนแรงหรือกลับมาทำลายเรา
 
ดร.อัมมาร ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า หลายอาชีพในปัจจุบันได้แยกตัวเราออกมาจากธรรมชาติ ยกตัวอย่างเรื่องการทำฟาร์มเลี้ยงไก่จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเลี้ยงที่ฝืนธรรมชาติ เมื่อฝืนธรรมชาติมากๆ ก็ทำให้โลกป่วย เมื่อโลกป่วยธรรมชาติก็ต้องแก้แค้นเรา แต่เกษตรกรรมยั่งยืนที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันเป็นระบบเกษตรกรรมที่ปกป้องโลก ปกป้องตลาดโลก
 
ดังนั้น สิ่งที่งานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืนกำลังทำอยู่ใน 2-3 วันที่จัดงานอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะ "ในความเป็นจริงแล้วเราปฏิเสธตลาดโลกไม่ได้ หรือหากจะปฏิเสธ เราก็ต้องมีทางออก"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาเลเซียทดลอง 7 วัน: ยืนเคารพเพลงชาติก่อนฉายหนัง

Posted: 29 Aug 2013 02:58 AM PDT

รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศของมาเลเซียปิ๊งไอเดียประเทศเพื่อนบ้าน "ไทย-อินเดีย" จัดรณรงค์ให้มีการบรรเลงเพลงชาติ-ยืนในโรงหนังเป็นเวลา 7 วันช่วงวันชาติมาเลเซีย และถ้าได้ผลดีจะขยายเวลาไปตลอดทั้งปี ขณะที่วันแรกของการรณรงค์มีโรงภาพยนตร์หลายแห่งไม่ได้เปิดเพลงชาติเนื่องจากยังไม่ได้รับซีดีจากทางกระทรวง

การบรรเลงเพลงชาติมาเลเซีย "เนการากู" ในวันได้รับเอกราชเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ที่สนามกีฬาเมอเดก้า ก่อนบรรเลงเพลงชาติและเชิญธงชาติ ตนกู อับดุล ระห์มัน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียได้นำประชาชนตะโกนว่า "เมอเดก้า" หรือเอกราช

มาเลเซียกินี 'KiniTV' สำรวจโรงภาพยนตร์ที่มิด วัลเลย์ ในกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตามมีหลายโรงภาพยนตร์ที่ไม่ได้บรรเลงเพลงชาติเนื่องจากยังไม่ได้รับซีดีในวันดังกล่าว

 

ทดลองยืนเมื่อเพลงชาติบรรเลงในโรงหนัง ช่วงวันชาติมาเลเซีย

สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซีย รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า อะหมัด ชาเบอรี ชีค รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและมัลติมีเดียของมาเลเซีย ตัดสินใจให้มีการบรรเลงเพลงชาติ "เนการากู" (Negaraku) หรือ "แผ่นดินของข้า" ก่อนฉายภาพยนตร์ เนื่องในโอกาสวันชาติปีที่ 56 โดยกำหนดให้มีการบรรเลงเพลงชาติเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. ถึง 3 กันยายน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ในโรงภาพยนตร์ 700 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ก่อนบรรเลงเพลงชาติจะมีการเปิด "คลิปโปรโมต" ด้วยเป็นเวลา 6 นาที ก่อนการบรรเลงเพลงชาติ

โดยรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและมัลติมีเดีย ของมาเลเซียผู้นี้หวังว่าผู้ชมภาพยนตร์จะยืนเมื่อมีการบรรเลงเพลงชาติ "เนการากู"

"การอุทิศเพื่อกองทัพมาเลเซียถือเป็นสิ่งมีความหมายที่สุด และการยืนเป็นเวลา 2 นาทีเมื่อมีการบรรเลงเพลงเนการากูเป็นการอุทิศเพียงเล็กน้อยเพื่อแสดงความชื่นชมต่อวีรชนของชาติที่เสียชีวิตในการปกป้องอธิปไตยของชาติ" รัฐมนตรีอะหมัด ชาเบอรี ชีค กล่าว

โดยในระเบียบปฏิบัติของกระทรวงระบุด้วยว่า เมื่อมีการฉายคลิปโปรโมตแล้ว และจะมีการเปิดไฟให้สว่างเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ชมในโรงภาพยนตร์จะยืนขึ้นเมื่อมีการบรรเลงเพลงชาติ

ทั้งนี้รัฐมนตรีอะหมัด ไม่ลืมที่จะกล่าวถึงตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยกล่าวว่า ประเทศไทยและอินเดียได้ริเริ่มธรรมเนียมการบรรเลงเพลงชาติ (และเพลงสรรเสริญพระบารมี) ในที่สาธารณะ และในโรงภาพยนตร์ทุกๆ วัน "นี่ไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร" รัฐมนตรีอะหมัดกล่าว

"เป็นความรับผิดชอบอย่างแท้จริงของชาวมาเลเซีย ที่จะยืนขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อเพลงเนการากู"

"เราจะมีการศึกษาว่าผู้ชมภาพยนตร์มีการตอบสนองอย่างไร ระหว่างมีการบรรเลงเพลงชาติ และจะพิจารณาว่าเราจะดำเนินการบรรเลงเพลงชาติไปตลอดทั้งปีเลยดีหรือไม่" เขากล่าว

 

เริ่มมาตรการยืนเคารพเพลงชาติก่อนฉายหนัง
พร้อมแก้ไขปัญหา 'ทางเทคนิค' กรณีโรงหนังไม่ได้รับซีดีเพลงชาติ

ล่าสุด The Star Online ของมาเลเซีย รายงานข่าวหลังเริ่มมีการรณรงค์ว่า จะมีการบรรเลงเพลงชาติมาเลเซียในโรงภาพยนตร์ 123 แห่ง จนถึงวันที่ 3 กันยายนนี้ โดยรัฐมนตรีมาเลเซีย รีอะหมัด ชาเบอรี ชีค กล่าวว่า "คนจำนวนมากยืนขึ้น บางคนก็รู้สึกไม่สะดวก แต่ก็ยืนขึ้นเมื่อเพลงบรรเลง สิ่งนี้จะจัดเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราจะทำได้เพื่อฉลองวันได้รับเอกราชปีที่ 56" เขากล่าวระหว่างแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ 28 ส.ค.

เขากล่าวด้วยว่า วิดีโอคลิปโปรโมตก่อนการบรรเลงเพลงชาติ เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะกับกองทัพสุลต่านซูลู ที่ละหัด ดาตู ในรัฐซาบาห์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ส่วนปัญหาที่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ไม่สามารถบรรเลงเพลงชาติและวิดีโดคลิปโปรโมตได้เนื่องจากไม่ได้รับซีดีจากรัฐมนตรีนั้น รัฐมนตรีอะหมัด ตอบว่า "พวกเขาจะฉายเร็วๆ นี้ นี่เป็นปัญหาเทคนิค ผมจะดูแลเรื่องนี้ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเพลงชาติมาเลเซีย "เนการากู" มาจากทำนองเพลง "ลา โรซาลี" (La Rosalie) ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงนี้คือ ปีแยร์-ฌอง เดอ เบรังเยร์ ชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2323 - 2400 ต่อมามีการนำทำนองไปแต่งเพลง "Terang Bulan" และเพลง "Allah Lanjutkan Usia Sultan" (God Bless His Majesty, the Sultan) ซึ่งเป็นเพลงประจำรัฐเปรัค ต่อมาถูกเลือกให้ใช้เป็นเพลงชาติของสหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2500

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟ้อง 112 คนขายหนังสือ ‘กงจักรปีศาจ’ ศาลนัดพร้อม 7 ต.ค.นี้

Posted: 29 Aug 2013 02:43 AM PDT


ภาพจากวิกิพีเดีย

 

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.56 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยชั่วคราว นาย อ. (จำเลยขอสงวนชื่อและนามสกุล) จำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หลังจากกองทุนยุติธรรมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 300,000 บาท โดยนาย อ. ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำวันเดียวกัน หลังจากควบคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.เหตุเพราะในวันดังกล่าวเอกสารการประกันตัวยังไม่สมบูรณ์จึงต้องทำการยื่นคำร้องใหม่ในวันรุ่งขึ้น และศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ต.ค.56 เวลา 9.00 น.ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้จำเลยได้ ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิรับบริการกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือด้านเงินประกันตัว ในชั้นต้นถูกปฏิเสธเนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าพฤติการณ์คดีร้ายแรง จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งและได้รับการอนุมัติในที่สุด

นายอ. อายุ 65 ปี มีอาชีพขายหนังสือและขายของเบ็ดเตล็ดตามสถานที่ต่างๆ เขาถูกตำรวจ สน.ลุมพินีจับกุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค.49 หลังจากไปตั้งแผงขายหนังสือบริเวณสวนลุมพินี ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยตำรวจได้ทำการยึดหนังสือกงจักรปีศาจและหนังสือฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2548)หรือที่เรียกกันว่า ปกโค้ก ไปอย่างละ 1 เล่ม ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 40,000 บาท จากนั้นอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ในคำฟ้องปรากฏ 6 ข้อความจากหนังสือกงจักรปีศาจเพียงเล่มเดียว ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของรพระบาทสมเด็จพระปรเมนมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8  

นายอ.กล่าวว่ามีอาชีพขายหนังสือและขายของเบ็ดเตล็ดตามตลาดนัดและที่ชุมนุม ที่ผ่านมาเคยไปขายทั้งในที่ชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง สำหรับหนังสือที่ขายนั้นมีหลากหลายประเภท โดยมีทั้งส่วนที่มีผู้นำมาฝากขายและรับซื้อหนังสือเก่า และไม่เคยอ่านเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว

หนังกงจักรปีศาจจัดเป็น 'หนังสือต้องห้าม' ตามคำสั่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ โดยเจ้าพนักงานการพิมพ์ ลงวันที่ 31 พ.ค.49 ลงนามโดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ในประกาศระบุว่า ด้วยปรากฏว่า สิ่งพิมพ์ ชื่อ "กงจักรปีศาจ" เขียนโดย Mr.Rayne Kurger แปลโดย เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ได้ลงโฆษณาข้อความอันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ห้ามการขาย หรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  

ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียระบุว่า กงจักรปีศาจตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 โดยสำนักพิมพ์แคสเซลล์ (Cassell) รัฐบาลไทยได้สั่งห้ามตีพิมพ์ในทันทีและตัวครูเกอร์เองก็ถูกห้ามเข้าประเทศไทยด้วยเช่นกัน จากนั้นหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ในปี พ.ศ. 2517 และมีการหมุนเวียนขายอยู่ในตลาดมืดในประเทศไทย โรงพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือฉบับภาษาไทยโดนเผาทำลาย  เนื้อหาของหนังสือเป็นแนวสืบสวนการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แบ่งเป็น 4 บท โดยบทท้ายมีข้อสรุปของผู้เขียนที่ว่าคำอธิบายที่น่าพอใจคือทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง เขาสนับสนุนทฤษฏีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและเพื่อนนักศึกษานิติศาสตร์ แมรีเลน เฟอร์รารี (Marylene Ferrari) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับในกลุ่มสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในสยาม

ส่วนหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยนั้น จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน วางจำหน่วยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.48 จากนั้นวันที่ 28 มี.ค.49 มีคำสั่งจากเจ้าพนักงานการพิมพ์กรุงเทพมหานครสั่งห้ามขายหรือจ่ายแจก โดยลงประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 เม.ย.49

วันที่ 29 มี.ค.49 ผู้ชุมนุม 'คาราวานคนจน' ที่ชุมนุมกันอยู่ที่สวนจตุจักรทำการเผาวารสารฟ้าเดียวกันฉบับดังกล่าวและเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ กล่าวหานายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ให้สัมภาษณ์ในวารดังกล่าว และนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการและบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาวารสารฉบับดังกล่าวว่ากระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

วันที่ 31 มี.ค.49 นายธนาพล ยื่นจดหมายอุทธรณ์คำสั่งห้ามการขายหรือจ่ายแจกฯ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วันที่ 1 เม.ย.49 เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ เดินทางไปที่ร้านหนังสือศึกษิตสยาม และทำการยึดวารสารฟ้าเดียวกันฉบับ "สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย" หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจฯ 4 นายได้เดินทางไปที่บ้านของผู้ลงทะเบียนเปิดใช้ตู้ ปณ.156 ปณจ.ยานนาวา ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเช่าไว้โดยเชิญบุคคลดังกล่าวไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจสำราญราษฎร์ ต่อมาวันที่ 4 เม.ย.นายธนาพลเดินทางไปแสดงตนและรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 กับพนักงานสอบสวน

ในอีกราว 1 ปีถัดมา หรือในวันที่ 25 พ.ค.50 นายธนาพลได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อีกครั้ง จากกรณีที่เขาร่วมกับผู้ขายหนังสือรายหนึ่ง จำหน่ายวารสารฟ้าเดียวกันฉบับดังกล่าวจำนวน 5 เล่ม เมื่อครั้งจัดงานขายหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับดังกล่าวในงานครบรอบ 4 เดือนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

รายชื่อหนังสือต้องห้ามจากฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[สาระ+ภาพ] งบประมาณสถาบันกษัตริย์เปรียบเทียบปี 2555

Posted: 29 Aug 2013 02:42 AM PDT

อินโฟกราฟิกด้านล่างแสดงงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ในประเทศต่างๆ ที่อยู่ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สเปน สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ค และไทย โดยเรียงลำดับจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 
 
ตัวเลขงบประมาณประจำปีของแต่ละแห่ง ได้มาจากรายงานประจำปีของสถาบันกษัตริย์ที่ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะทุกๆ ปีผ่านทางเว็บไซต์ที่เป็นทางการ ส่วนของไทยนั้นนำมาจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ในราชกิจจานุเบกษา 
 
 
สำหรับงบประมาณสถาบันกษัตริย์ในสเปน ได้ถูกตัดลดลงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาเนื่องจากประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในทวีปยุโรป โดยในปี 2555 สถาบันกษัตริย์สเปนได้รับเงินจัดสรรงบประมาณคิดเป็นราว 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 330 ล้านบาท และในปีนั้น กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส และสถาบันสเปน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังมีการเผยแพร่ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์เสด็จไปล่าสัตว์ที่ประเทศบอตสวานา โดยมีค่าใช้จ่ายในการล่าสัตว์อย่างน้อยเกือบแสนดอลลาร์ ซึ่งทำให้ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ราชวงศ์สเปนได้ประกาศว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงอีก 220,000 ดอลลาร์ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดงบประมาณต่างๆ ทั่วประเท​ศ 
 
ส่วนสถาบันกษัตริย์สหราชอาณาจักรปี 2555 ได้รับงบประมาณเพิ่มจากปีก่อนหน้าราว 9 แสนปอนด์ หรือราว 32 ล้านบาท ทำให้งบประมาณสำหรับราชวงศ์ปี 2555 อยู่ที่ 33.3 ล้านปอนด์ คิดเป็น 52 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เซอร์อลัน รีด ผู้ดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์ ได้กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับสถาบันได้ลดลงร้อยละ 24 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 
 
งบประมาณสำหรับสถาบันกษัตริย์ในแถบสแกนดิเนเวียในปี 2555 ทั้งนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ค ไม่มีประเทศใดที่ตัดลดงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับสถาบัน เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรฮิงยา ชีวิตภายใต้อำนาจ จากชายแดนพม่าถึงไทย

Posted: 29 Aug 2013 02:31 AM PDT

การเดินทางอพยพหนีความรุนแรงจากบ้านเกิดของชาวโรฮิงยา ในรัฐระคาย (Rakhine)[1] รัฐชายฝั่งตะวันตกของประเทศพม่า ใกล้ชายแดนบังคลาเทศ กลายเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดในโลกปัจจุบัน ความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่ากับรัฐบาล ถูกเสริมด้วยอคติ ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ และเพิ่มเติมด้วยความแตกต่างทางศาสนาระหว่างพุทธ กับมุสลิมโรฮิงยาจึงกลายเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกกระทำมากที่สุดในพม่า พวกเขาไม่ได้แม้แต่การยอมรับในฐานะของกลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในประเทศพม่า

ความรุนแรงระหว่างรัฐบาลพม่าและกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 การอพยพของกลุ่มชาติพันธ์หลายแสนคนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้นต่อเนื่อง คนกะเหรี่ยง ไทใหญ่ และอื่น ๆ อพยพเข้ามาในประเทศไทย เช่นเดียวกับชาวโรฮิงยาที่อพยพเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ จนกระทั่งรัฐบาลพม่าประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามผลการลงประชามติในเดือนพฤษภาคม ปี 2551 และให้มีการเลือกตั้งในปี 2553 แม้ว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มี ออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำเข้าร่วมในการเลือกตั้งซ่อมในเดือนเมษายน ปี 2555 ในอีกด้านรัฐบาลพม่าก็พยายามยุติความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ประเทศพม่าได้เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางของแผนการเพื่อสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ ขณะที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธ์เพื่อยุติความรุนแรงกำลังดำเนินไปในประเทศพม่า การจลาจลทางเชื้อชาติระหว่างผู้คนก็ปะทุขึ้นในรัฐระคาย ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐอีกต่อไป ความรุนแรงเกิดจากคนทั่วไปที่ได้รับอนุญาตจากรัฐในการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นทางการ ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นอย่างทั่วไป

บทความนี้ ผู้เขียนสนใจชาวโรฮิงยาในฐานะที่เป็นเป้าหมายของปฏิบัติการทางอำนาจที่หลากหลายที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าหลังสิ้นสุดการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ที่ได้ทำให้ดินแดนอาระกันและความสัมพันธ์กับพื้นที่ใกล้เคียงถูกขีดเส้นและแบ่งแยกเป็นดินแดนของพม่าและบังคลาเทศอย่างชัดเจน การอพยพหนีภัยความรุนแรง จากรัฐระคาย ประเทศพม่าสู่ประเทศไทย เพื่อนบ้านทางตะวันออกของพม่า ชาวโรฮิงยาก็ยังคงเป็นผู้ถูกกระทำจากอำนาจเหมือนเดิม แต่ความแตกต่างในสถานการณ์ และความหลากหลายของบรรดาองค์อำนาจ (sovererign bodie) [2] ในประเทศไทยต่างมีผลต่อชีวิตของชาวมุสลิมโรฮิงยาในประเทศ

 

ประวัติศาสตร์ของ โรฮิงยา การสร้างชาติพม่า ชีวิตที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

"โรฮิงยา" เป็นคำที่เรียกชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่อยู่ดินแดนอาระกัน หรือรัฐระคายในปัจจุบัน รัฐชายแดนทางตะวันตกของประเทศพม่า ติดกับชายแดนบังคลาเทศ มีลักษณะร่างกาย ภาษาที่ใช้ใกล้เคียงกับภาษาเบงกาลี ภาษาที่ถูกใช้ในบังคลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้านมุสลิมทางตะวันตก จากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางชาติพันธ์ที่ชัดเจน ชาวโรฮิงยาไม่เคยถูกยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า

คำว่า "โรฮิงยา" ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงถึงความเป็นมา สำหรับชาวโรฮิงยา พวกเขาอ้างถึงการสืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับ การก่อตั้งอาณาจักรโบราณที่ชื่อว่า มารุค อุ (Mrauk U) ในดินแดนอาระกัน รัฐระคายในปัจจุบัน พวกเขาคือคนพื้นเมืองบนดินแดนอาระกัน เป็นกลุ่มชาติพันธ์บนดินแดนอาระกันที่นับถืออิสลาม แต่สำหรับพม่า "โรฮิงยา" เป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่จากนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาระกันที่หมายถึงพวกที่อพยพเข้ามาจากบังคลาเทศอย่างผิดกฎหมายในช่วงเวลาที่พม่าอยู่ภายใต้อังกฤษในฐานะอาณานิคม โรฮิงยาจึงไม่ใช่กลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในพม่า (U Khin Maung Saw,1993) ข้อถกเถียงดังกล่าวไม่ได้ทำให้กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าชาวโรฮิงยาหายไป และไม่ว่าชาวโรฮิงยาจะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับ หรือผู้อพยพชาวบังคลาเทศที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนดินแดนอาระกัน แต่ชาวโรฮิงยาในปัจจุบันก็เป็นคนรุ่นที่สอง หรือสามที่ซึ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาในดินแดนอาระกัน มีพ่อ แม่ หรืออาจรวมถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เกิดและตายบนดินแดนอาระกัน

ประวัติศาสตร์ของโรฮิงยาจึงผูกพันกับดินแดนอาระกัน ที่ซึ่งมีประวัติเป็นของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในช่วงเวลาไม่นาน อาณาจักรมารุค อุ เป็นเอกราช เช่นเดียวกับอาณาจักรของชาวพม่า จนกระทั่งปี ค.ศ.1784 ที่อาณาจักรพม่าขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนอาระกัน ผู้คนจำนวนมากทั้งพุทธ และมุสลิมอพยพหนีกองภัยสงครามเข้าสู่จิตตะกอง ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในสมัยนั้น ขณะที่บางส่วนถูกกวาดต้อนไปยังดินแดนพม่าตอนใน ประชากรในดินแดนอาระกันจึงลดจำนวนลง ไร่นาถูกละทิ้งเป็นจำนวนมา ดินแดนอาระกันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าอยู่ 44 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1784 จนถึง 1828 (Aye Chan, 2005)        

ช่วงเวลาปี ค.ศ. 1823 -1828 อังกฤษเป็นฝ่ายชนะในสงครามครั้งที่ 1 กับพม่า ทำให้ดินแดนชายฝั่ง บริเวณอาระกัน รัฐเทนาเสริม อยู่ภายใต้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษ และในปี 1886 สงครามครั้งที่ 3 ระหว่างอังกฤษกับพม่าสิ้นสุด พม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ดินแดนพม่าตอนในทั้งหมดจึงกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ระหว่างการปกครองอาณานิคมของอังกฤษเหนือพม่า ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามครั้งที่ 1 ผู้คนจากอินเดีย และบังคลาเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่อาระกัน บางส่วนเป็นชาวอาระกันที่อพยพออกไปหลังกองทัพพม่าเข้ายึดครองอาระกัน บางส่วนก็คือชาวบังคลาเทศจากจิตตะกอง หรือคนอินเดียจากพื้นที่ใกล้เคียง (U Knin Maung Saw, 1993)

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและกลุ่มชาวโรฮิงยาแตกแยกมากขึ้น เมื่อช่วงต้นของสงคราม กองกำลังกู้ชาติของพม่าเลือกที่จะสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น ขณะที่กองทัพอังกฤษในพม่าก็ได้กองหนุนจากคนอินเดีย และโรฮิงยา ชาวพม่าเผชิญกับความรุนแรงจากกองกำลังอังกฤษและพันธมิตร แต่ความพ่ายแพ้ของอังกฤษในตอนต้นของสงคราม การถอยทัพอย่างรวดเร็วของอังกฤษได้ทิ้งให้ชาวอินเดีย ชาวโรฮิงยาเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่มาพร้อมกับกองทัพญี่ปุ่น และพันธมิตรที่เป็นกองกำลังกู้ชาติของพม่า เมื่อสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนไป กองทัพญี่ปุ่นเริ่มประสบกับความพ่ายแพ้ในสงคราม กองกำลังกู้ชาติของพม่าเปลี่ยนการสนับสนุน กลับมาเป็นพันธมิตรกับกองกำลังอังกฤษ  ชาวอินเดีย ชาวโรฮิงยาที่อดีตพันธมิตรของอังกฤษถูกละเลย และทิ้งให้เผชิญกับชะตากรรมของตนในพม่าแต่เพียงลำพัง จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชบนเงื่อนไขของการยอมรับของกลุ่มชาติพันธ์ตามข้อตกลงปางหลวง

แม้ว่าในภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวโรฮิงยาจะถูกรับรองในความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ในสมัยรัฐบาลของนายอูนุ ในการประชุมสภาเมื่อ 1950 แต่ภายหลังการยึดอำนาจของนายพล เน วิน ในปี 1978 พร้อมกับการนำสังคมนิยมแบบพม่ามาใช้ มีการสร้างความรู้สึกชาตินิยมพม่าพุทธขึ้นมา นำไปสู่ความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธ์ที่แตกต่างไปจากพม่า และกลุ่มชาติพันธ์ที่แตกต่างไปจากพม่ามากที่สุดคือผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาระกัน หรือระคายในปัจจุบัน ที่มีลักษณะภายนอก มีภาษา มีการแต่งกายใกล้เคียงกับผู้คนในบังคลาเทศ มากกว่าพม่า มีการนับถือทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดูและพุทธ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาต่อสู้เคียงข้างอังกฤษเจ้าอาณานิคมนับตั้งแต่เริ่มต้นและสิ้นสุดสงคราม ความเข้าใจที่แตกต่างในประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยากับชาวพม่า จึงเป็นการง่ายที่จะทำให้คนกลุ่มดังกล่าวเป็นชาว "โรฮิงยา" ที่เป็นผู้อพยพมาจากจิตตะกอง และพื้นที่ใกล้เคียงในยุคสมัยอาณานิคมอังกฤษ เป็นผู้คนซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองพม่าตามกฎหมายสัญชาติ (1982)

"สัญชาติ ดังต่อไปนี้ คะฉิ่น คะยา กะเหรี่ยง ชิน เบอร์มัน มอญ ระคาย หรือฉาน และกลุ่ม ชาติพันธ์ที่ได้ตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่อยู่ภายในรัฐเป็นการฐานเป็นการถาวรในช่วงเวลาก่อน ค.ศ. 1823 ให้ถือว่าเป็นพลเมืองของพม่า" ส่วนที่ 2 ความเป็นพลเมือง, มาตรา 3 กฎหมายสัญชาติพม่า ค.ศ.1982

ความสำคัญของปี ค.ศ.1823 คือการเริ่มต้นของสงครามครั้งแรกระหว่างอังกฤษและพม่า เนื่องมาจากความขัดแย้งในควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อังกฤษเป็นฝ่ายชนะทำให้มีอำนาจในการควบคุมแคว้มอัสสัม (Assam) มะนิปูร์ (Manipur) และดินแดนอาระกัน (Arakan) และ เทนาสเสริม (Tenaserim) ซึ่งเป็นทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่อยู่ในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษใกล้เคียง ผู้คนจากแคว้นเบงกอลเข้ามาในดินแดนที่ยึดครองใหม่หรือดินแดนอาระกัน

 

การเป็นผู้อพยพในประเทศบ้านเกิดตนเอง และประเทศอื่น

ภายหลังการเป็นอาณานิคม พม่าได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอูนุ ประกาศรับรองชาวโรฮิงยาให้เป็นกลุ่มชาติพันในรัฐอาระกัน ในปี ค.ศ.1954 และให้มีสิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1960 แต่การยึดอำนาจรัฐบาลอูนุใน ปี ค.ศ.1978 นายพลเนวิน ประกาศใช้นโยบายวิถีพม่าสู่สังคมนิยม (Burmese way to socialist) มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และได้เปลี่ยนชื่อจาก "รัฐอาระกัน - Arakan" เป็น "รัฐระคาย - Rahkine"  รัฐบาลเนวินใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อจัดการกับกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมที่ชื่อว่า มูจาหิต (Mujahid) ปฏิบัติการดังกล่าวได้ผลักดันให้ชาวมุสลิมอาระกัน ซึ่งส่วนใหญ่คือชาวโรฮิงยากว่า 250,000 อพยพเข้าสู่บังคลาเทศ ตามมาด้วยการประกาศใช้กฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ ปี ค.ศ.1982 กำหนดสิทธิของ 135 กลุ่มชาติพันธ์แห่งชาติ ซึ่งอยู่มาก่อน ปี ค.ศ.1823 ใน 135 กลุ่ม ไม่มีกลุ่มชาติพันธ์โรฮิงยา ชาวโรฮิงยาจึงกลายผู้มีสิทธิอยู่อาศัยชั่วคราวในประเทศพม่าเท่านั้น

ปฏิบัติการทางทหารถูกใช้กับชาวโรฮิงยาอีกครั้ง ใน ปี ค.ศ.1992 "ปฏิบัติการทำความสะอาดและสร้างความสวยงาม (Clean and Beautiful Nation Operation)  ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงยาอีกกว่า 250,000 อพยพไปบังคลาเทศ ขณะที่ชาวโรฮิงยาที่ยังอยู่ในรัฐอาระกันก็อยู่ภายใต้นโยบายการควบคุมของรัฐบาลพม่า การกำหนดให้ครอบครัวชาวโรฮิงยามีลูกไม่เกิน 2 คน ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน และการปฏิบัติที่รุนแรงจากเจ้าหน้ารัฐบาลและหน่วยตำรวจชายแดนของพม่า จนกระทั่งปัจจุบัน ชาวโรฮิงยากลายเป็นคนอื่นบนดินแดนบ้านเกิดของตนเอง เป็นคนที่ไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครองจากรัฐ ไม่ได้ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายสัญชาติ เช่นเดียวกับพลเมืองพม่า และกลุ่มชาติพันธ์อื่น ๆ

ชาวโรฮิงยาสำหรับรัฐบาลพม่าภายใต้นายพล เน วิน จึงถูกทำให้เป็นผู้อพยพจากเมืองจิตตะกอง บังคลาเทศที่เข้ามาในดินแดนอาระกันภายหลังสงครามอังกฤษพม่าครั้งที่หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่กลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในประเทศพม่า รัฐบาลทหารพม่ายังคงยืนยันถึงจุดยืนต่อชาวโรฮิงยาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศพม่าในปี ค.ศ. 1992 ที่ประกาศว่า  "จากข้อเท็จจริงที่ชัดเจน มี [135] กลุ่มชาติพันธ์แห่งชาติในประเทศพม่าปัจจุบัน กลุ่มที่ถูกเรียกว่า "ชาวโรฮิงยา" ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น ในทางประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยมีกลุ่มชาติพันธ์ที่เรียกว่า โรฮิงยา ในพม่าเช่นกัน" (Nyi Nyi Kyaw, 2008)

ด้วยกฎหมายสัญชาติของพม่า ปี ค.ศ. 1982 และการสร้างความรู้สึกชาตินิยมโดยอาศัยความเป็นพม่าและพุทธเป็นแกนกลาง ทำให้สถานะของชาวโรฮิงยาที่อาศัยอยู่ในรัฐระคาย กลายเป็นผู้อพยพที่ไม่ได้สิทธิใด ๆ รอเพียงการผลักดันให้ออกนอกประเทศ ซึ่งรัฐบาทหารพม่าก็ดำเนินการมาโดยตลอดและต่อเนื่องตั้งแต่การยึดอำนาจของนายพล เน วิน ในปี ค.ศ.1978 และในปี ค.ศ.1992 ที่ทำให้ชาวโรฮิงยาหลายแสนต้องอพยพหนีความรุนแรงไปประเทศบังคลาเทศ บางส่วนสามารถเดินทางต่อไปประเทศที่สาม อย่างซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และประเทศอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพบริเวณชายแดนพม่าบังคลาเทศจนถึงปัจจุบัน การถูกปฏิเสธจากรัฐบาลบังคลาเทศ การเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ทำให้ชาวโรฮิงยากลายเป็นคนไร้รัฐ  ไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่สามได้ จำเป็นที่ต้องอยู่อาศัยตามแนวชายแดนพม่า-บังคลาเทศ ความยากลำบากภายในค่ายที่พักทำให้บางส่วนมุ่งหน้าสู่ประเทศที่สามผ่านทางทะเล

การเดินทางอพยพหนีความรุนแรงของชาวมุสลิมโรฮิงยา ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากการอพยพหนีความรุนแรงของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในประเทศพม่าที่เข้าสู่ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผู้อพยพหนีภัยความรุนแรง หรือเป็นผู้อพยพด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และเป็นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายส่วนใหญ่ บางส่วนก็ได้รับการผ่อนปรนและการเจรจาเพื่อหาทางออกระหว่างรัฐบาลประเทศต้นทาง ซึ่งก็คือพม่า และรัฐบาลประเทศปลายทางอย่างไทย หรือมาเลเซียก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่สำหรับชาวโรฮิงยาที่อพยพหนีความรุนแรงเข้ามาประเทศไทยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้ถูกยอมรับว่าว่าเป็นพลเมืองของประเทศพม่า เป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศ แต่บังคลาเทศก็ไม่ยอมรับเช่นดัน ทางเลือกมีไม่มากภายใต้กฎหมาย แตกต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ จากพม่า นำไปสู่การดิ้นรน การเข้าสู่กระบวนการและพื้นที่นอกกฎหมายอย่างไม่มีทางเลือก การถูกบังคับให้อพยพเป็นสถานการณ์ที่ลำบาก แต่การไม่สามารถเลือกทำให้สถานการณ์ลำบากมากขึ้น

ชาวโรฮิงยาในค่ายพักพิงจำนวนหนึ่งจึงมุ่งหน้าสู่ทะเลเช่นเดียวกับชาวมุสลิมโรฮิงยาในพม่า ด้วยความหวังที่จะหาอนาคตที่ดีกว่าในประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย การเดินทางของชาวโรฮิงยาในทางทะเลจะใช้สองเส้นทาง เส้นทางแรกจะอ้อมหมู่เกาะอันดามัน ลงทางใต้ใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์ เลาะเลียบชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยในเขตจังหวัดระนอง พังงา อีกเส้นจะผ่านน่านน้ำอิรวะดี ชายฝั่งตะนาวศรี และรัฐมอญก่อนจะเข้าน่านน้ำไทยเขตจังหวัดระนองและพังงา เส้นทางนี้ใกล้ฝั่งและใช้เวลาน้อยกว่า แต่เสี่ยงที่จะเจอกับเรือของทางการพม่า ชาวโรฮิงยาจำนวนมากต้องการเดินทางเข้าสู่มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียในที่สุด แต่หากมีปัญหา ไม่สามารถล่องเรือต่อไปได้ก็ขึ้นบกและลักลอบเดินทางเข้ามาเลเซียทางบกจากประเทศไทย 

การอพยพของชาวโรฮิงยาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไมกี่ปีที่ผ่านมา การอพยพหนีความรุนแรงในพม่าของชาวโรฮิง เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อย ๆ อื่นที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี นายอับดุล การัม ซึ่งปัจุบันขายโรตี อยู่ย่านบางรัก และยังทำที่เป็นผู้ประสานงาน สมาคมโรฮิงยาสากลแห่งประเทศไทย ( วรลักษณ์ ศรีใย, 2556) เป็นชาวมุสลิมโรฮิงยาในพม่าที่เดินทางหนีเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ในช่วงเวลานั้น อับดุล การัมใช้เส้นทางเดินทางทางบกจากรัฐระคาย ชายแดนตะวันตกของพม่าผ่านเขตพะโค (Bago District) ซึ่งอยู่ตอนกลาง ก่อนเข้ารัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) และข้ามชายแดนเข้ามาในประเทศไทยทางชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บางคนก็อาศัยเส้นทางอื่นเข้ามาทางจังหวัดระนองเหมือนกับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ

 

แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย

ชาวมุสลิมโรฮิงยา ที่ถูกควบคุมตัวโดยทางการไทยในช่วงปลายปี 2555 คาดว่าจะถูกควบคุมไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือจนถึงเดือนมิถุนายน 2556 (กรุงเทพธุรกิจ, 25 มกราคม 2556) ก่อนที่จะมีแนวทางที่ชัดเจนผลักดันกลับ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับปฏิบัติการ แต่หน่วยงานความมั่นคงของไทยยืนยันว่าชาวโรฮิงยา กลุ่มนี้เป็นผู้อพยพเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่มีคุณสมบัติในการขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และจำเป็นที่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง และต้องถูกส่งกลับ ด้วยการยินยอมพร้อมใจของประเทศต้นทางในที่สุด

ขณะที่ชาวโรฮิงยาอีกหลายคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่าเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ได้การรับรองสถานะจาก UNHRC ซึ่งสามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ชั่วคราว แต่ก็มีจำนวนไม่มาก ประมาณ 100 คน จากชาวมุสลิมโรฮิงยาที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศประมาณ 10,000 คน

อีกจำนวนมากที่สามารถเข้าในประเทศไทยและไม่ถูกควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย แม้ชาวโรฮิงยาในประเทศไทยจะไม่ได้รับสถานะ หรือเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจาก UNHRC แต่พวกเขาสามารถอาศัยช่องทางนโยบายในการผ่อนผันแรงงต่างด้าว 3 สัญชาติ (สัญชาติพม่า กัมพูชา และลาว) ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายของรัฐบาลไทยให้มาขึ้นทะเบียนเพื่อรอกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ที่เกิดขึ้นจากความต้องการแรงงานไร้ฝีมือในภาคเศรษฐกิจจำนวนมากของไทยที่ทำให้รัฐบาลไทยผ่อนปรน และใช้นโยบายพิสูจน์สัญชาติของแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและความมั่นคงของรัฐ กลายเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยที่ผ่อนปรนให้อยู่อาศัยและทำงานได้ชั่วคราว ตั้งแต่ 2535 และพัฒนามาเป็นการทำบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือในการจ้างงาน ระหว่างไทยกับอีก 3 ประเทศคือ พม่า ลาว และกัมพูชา หรือ MOUในปี 2545 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ชาวโรฮิงยากลุ่มนี้จะเผชิญกับปัญหาในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่เป็นกระบวนการร่วมกันระหว่างรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย แต่แรงงานที่ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติ และแสดงหลักฐานว่าตนนับถือศาสนาอิสลาม หรือมารัฐระคายจะถูกปฏิเสธตั้งแต่การยื่นเอกสาร หากเอกสารได้รับการยอมรับ เอกสารดังกล่าวจะถูกส่งไปพิจารณาที่เมืองเนปิดอว์ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติของพวกเขาจะใช้เวลานานกว่าคนพม่าอื่น ๆ และผลการพิจารณาส่วนใหญ่จากทางรัฐบาลพม่าคือไม่ผ่านการพิสูจน์ ถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองของตน ชาวมุสลิมโรฮิงยา หรือพม่ามุสลิมจะไม่ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวและวีซ่าการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทยแม้จะพยายามทำตามกระบวนการทางกฎหมาย  การไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติทำคนกลุ่มนี้ก็ยังคงแรงงานที่ผิดกฎหมายต่อ แม้ว่ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลพม่าจะไม่ได้มีประสิทธิภาพ และมีบางส่วนที่สามารถหลีกเลี่ยงการพิสูจน์สัญชาติจากทางพม่าจนได้หนังสือเดินทางชั่วคราวเช่นเดียวกับชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ[3]

แม้ว่ามีช่องทางที่เป็นไปได้ แต่การได้สถานะของการเป็นแรงงานที่ได้รับการผ่อนผัน และถูกปฏิบัติเช่นคนที่เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายก็ดูเป็นไปได้ยากจากนโยบายของรัฐบาลพม่าที่จะไม่ได้ยอมรับชาวโรฮิงยาว่าเป็นพลเมืองของตน มีเพียงจำนวนไม่มากที่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบของรัฐบาลพม่าจนได้รับรองสถานะของการเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตของทุนนิยมโลก แต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่ไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และรวมถึงชาวมุสลิมโรฮิงยา ที่กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ของอำนาจนอกกฎหมายในประเทศไทยต่อไปดังที่เคยเป็นมาในอดีตที่ไม่นานและยังคงเป็นไปในอนาคต

 

จากผู้อพยพสู่ผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง

การปราบปรามกลุ่มกบฏชาวมุสลิมในดินแดนอาระกัน และการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยาของรัฐบาลพม่าที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 จนถึงปัจจุบัน ผลจากการปราบปราม และความรุนแรงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมโรฮิงยาจำนวนมากอพยพหนีภัยเข้าไปในบังคลาเทศ บางส่วนไปถึงประเทศปากีสถาน ชาวโรฮิงยากว่า 200,000 อพยพไปบังคลาเทศในปี พ.ศ. สหประชาชาติ ส่วนที่เหลืออาศัยอยู่ตามแนวชายแดนซึ่งมีสภาพที่แออัด ได้รับความช่วยเหลืออย่างจำกัดทำให้ผู้อพยพจำนวนมากตัดสินใจที่มุ่งหน้าไปประเทศอื่นโดยการเดินทางผ่านทะเลอันดามัน จำนวนชาวโรฮิงยาที่อพยพออกสู่ทะเลอันดามันมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา (Jonathan Head, BBC, 5 กุมภาพันธ์ 2552)

ความรุนแรงทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในรัฐระคายที่ปะทุขึ้นในระหว่างเดือนกรกฎาคม และพฤศจิกายน ธันวาคม ปี 2555 ระหว่างคนที่นับถือพุทธในพม่ากับคนมุสลิม ซึ่งรวมถึงชาวโรฮิงยา ทำให้การอพยพหนีความรุนแรงของชาวมุสลิมโรฮิงยามีจำนวนมากเพิ่มขึ้นมากจากอดีต ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกจับกุมกลุ่มแรก อย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในวันที่ 9 มกราคม 2556 จำนวน 307 คน (เกศริน เตียวสกุล, 2556) และก็พบอย่างต่อเนื่อง

ระหว่างที่ผู้เขียนลงพื้นที่ในจังหวัดพังงา เก็บข้อมูลแรงงานชาวพม่าในพื้นที่เมื่อ 23 มีนาคม 2556 ก็มีการพบชาวมุสลิมโรฮิงยาจำนวน 39 คนที่บ้านทับตะวัน ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ถูกควบคุมตัวไว้ชั่วคราวที่สถานีตำรวจภูธรทับตะวัน ผู้ชาย 37 คน ถูกแยกควบคุมอยู่สองห้อง ผู้หญิง 2 คนถูกแยกควบคุมไว้อีกห้อง เพื่อรอทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมารับตัวไปควบคุมในด่านตรวจคนเข้าเมือต่อไป

ในเช้าวันต่อมา ผู้เขียนขอไปกับทีมเฉพาะกิจพังงาขององค์กรพัฒนาเอกชนในพังงาเพื่อประสานความช่วยเหลือในเบื้องต้น มีโครงการผสานชาติพันธ์อันดามันเป็นหลัก มีทนายความอาสา มีน้องอาสาสมัครชาวมุสลิมที่ทราบข่าวตามมาสมทบ ทีมเฉพาะกิจขับรถออกจากสำนักงานที่ตำบลเขาหลักไปยังสถานีตำรวจภูธรตะกั่วป่า พวกเราไปถึงในเวลาใกล้เที่ยง ทางร้อยเวรได้แจ้งว่าล่ามที่ประสานไว้ จะมาประมาณเที่ยง และคงมีการสอบประวัติ หากเราจะขอสังเกตการณ์ ให้โทรไปคุยกับทางผู้กำกับเอง

หนึ่งในทีมที่ไปด้วยกันก็ได้โทรไปเพื่อขออนุญาตในการเข้าไปสังเกตกับทางผู้กำกับ เนื่องจากมีความสัมพันธ์อยู่บ้างแล้ว จึงทำให้ง่ายที่จะพูดคุยกับทางผู้กำกับ เบื้องต้นก็อธิบายความต้องการที่จะเข้ามาช่วยเหลือทั้งชาวมุสลิมโรฮิงยาให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม และแบ่งเบาภาระของทางเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้น

จากคำบอกเล่าภายหลังที่ได้โทรศัพท์ขออนุญาตจากผู้กำกับ

                "....... ไม่มีปัญหา ถ้ามีอะไรก็บอกผมและกัน .....

                ....... คงต้องรีบผลักดันให้หน่วยที่รับผิดชอบต่อ การดูแลตอนนี้เป็นภาระหนักของโรงพัก"

ต่อคำถามถึงการคัดแยก และความเป็นไปได้ที่จะเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

                "....... ผมก็ประสานได้แต่ทาง พม. จังหวัด (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) ละครับ ในตอนนี้ สำหรับทีมสหวิชาชีพ"

สำหรับการขออนุญาตเข้าสังเกต "....... ไม่มีปัญหา ถ้าหากจะสังเกตการณ์"

ล่าม 2 คนที่มาเป็นชาวพม่า ด้วยการประสานงานของบาทหลวงคาทอลิกที่บ้านทับตะวันมาถึงในเวลาประมาณเที่ยง การสอบสวนในเบื้องต้นจึงเกิดขึ้น แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นทันที ไม่ใช่ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่จับมาได้จะพูดพม่าได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะพูดภาษาเบงกาลี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการสอบสวนเลยต้องหาชาวมุสลิมโรฮิงยาที่สามารถแปลจากภาษาพม่าเป็นภาษาเบงกาลี จากกลุ่มชาวโรฮิงยาที่ถูกขังอยู่มาช่วยแปลอีกที

การสอบสวนในวันนั้นจึงเป็นกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสอบถามผ่านล่ามชาวพม่าที่สื่อสารกับชาวโรฮิงยาในกลุ่มที่พูดและฟังพม่าได้สอบถามกับชาวโรฮิงยาที่ไม่สามารถใช้ภาษาพม่า และกระบวนการดังกล่าวก็จะกลับกันเมื่อชาวโรฮิงยาให้ปากคำ

เพียงแค่สองคน กระบวนการสอบสวนใช้เวลากว่าชั่วโมงกว่าจนร้อยเวรให้ยุติ ความสับสน และเรื่องเล่าที่แตกต่างจากวันที่โดนควบคุม จำนวนที่ไม่แน่นอน เมื่อวันพบ ชาวมุสลิมโรฮิงยากลุ่มนี้บอกว่ามีเด็กสองคนมาด้วย แต่ตายไประหว่างทาง แต่วันนี้กลับบอกว่าไม่มี ทางร้อยเวรขอให้ทางล่ามชาวพม่าเข้าไปคุยในห้องขังเพื่ออธิบายให้เข้าใจก่อน พวกเราเดินตามล่ามชาวพม่าสองคนเข้าไปในห้องควบคุม

ล่ามสองคน กระจายไปคุยกับชาวโรฮิงยาคนละห้อง ในห้องแรกที่เรายืนสังเกต มีชาย สี่ ห้า คนยืนเกาะลูกกรงรับฟังสิ่งที่ล่ามพูด บางครั้งก็โต้ตอบกลับมา บางครั้งหันกลับไปพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่เหลือ บางคนพยายามสื่อสารกับพวกเราด้วยท่าทาง เพื่อบอกว่า มีการฆ่าตัดคอ มีการเผาบ้าน พวกเราหนีมา อยากไปมาเลเซีย

ล่ามพม่าบอกว่า

"ข้อมูลที่สอบถามมันสับสน ถ้าหากต้องการให้ยูเอ็นมาช่วยก็ต้องบอกความจริงทั้งหมด    เกือบทั้งหมดมาจากเมืองเดียวกัน คนขับเรือบอกว่า มาถึงมาเลเซียแล้วให้ขึ้นฝั่ง พอขึ้นฝั่งก็หลบอยู่ตามชายหาดจนมีชาวบ้านพบและแจ้งตำรวจ ไม่ใช่ทุกคนที่พูดพม่าได้ มีบางคนที่เรียนหนังสือก็จะพูดภาษาพม่าได้"

คำบอกเล่าคร่าว ๆ จากที่ล่ามหันมาคุยกับพวกเรา

 

ชีวิตในห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมือง

ประเทศไทยเช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่ได้การรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ.1957 และอนุสัญญาออกตามมาในปี ค.ศ.1967 ไม่ได้มีกลไกทั้งภายในประเทศ และกลไกในภูมิภาคในการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลผู้อพยพหนีภัย การปฏิบัติต่อผู้อพยพหนีภัยจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของรัฐบาลไทย ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการต่อผู้อพยพชาวโรฮิงยาที่เข้ามาเขตแดนอำนาจอธิปไตยของไทย และความช่วยเหลือส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ

ในระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2554  จำนวนชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกทางการไทยจับกุมได้ มีจำนวนกว่า 15,000 คน (กอ.รมน.ภาค 4 สย.1 ระนอง, 2555) ส่วนใหญ่เป็นชาย อายุระหว่าง 15 ถึง 40 ปี มีเด็กและผู้หญิงค่อนข้างน้อย (IOM, 2009) มาตรการที่ทางการไทยปฏิบัติไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอื่น ไม่อนุญาตให้มีการขอสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพของหน่วยงานช่วยเหลือของสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นผู้อพยพจากภัยเศรษฐกิจ และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

รัฐบาลไทยดำเนินการบนพื้นฐานหลักการว่ากลุ่มโรฮิงยาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (Illegal migration) ที่มิใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็นผู้อพยพ/ลี้ภัย (Refugee) แนวทางปฏิบัติของทางการไทยต่อชาวโรฮิงยาก็เป็นไปตามกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ลักลอบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การดำเนินการของไทยจะเป็นมาตรการสกัดกั้นใน 2 ลักษณะ คือ กรณี ชาวโรฮิงยาสามารถเข้าถึงแนวชายฝั่ง จะดำเนินการจับกุมโดยใช้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ กองกำลังป้องกันชายแดน ทหารเรือ และตำรวจน้ำ ก่อนที่จะส่งมอบให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินคดี และผลักดันต่อไป กรณี สามารถจับกุมได้ในขณะยังไม่ขึ้นฝั่ง จะใช้ วิธี การผลักดัน

แม้พวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมและอำนาจของรัฐไทย แต่กลับถูกปฏิบัติว่าไร้ตัวตนทางกฎหมาย รัฐบาลไทยก็เลือกที่ให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของระเบียบสังคมของรัฐ ไม่ได้ถูกรับรองสถานะความเป็นบุคคล และถูกควบคุมในพื้นที่สำหรับ "ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รอการผลักดันกลับ" ภายใต้การควบคุมของสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แต่เนื่องจากการถูกปฏิเสธจากทางการพม่า และการส่งกลับแบบที่เคยทำในช่วงเวลาก่อนปี 2555 ที่ไม่ได้ถูกยอมรับจากรัฐบาลพม่าก็เป็นไปไม่ได้ การควบคุมภายใต้ ตม.ในปัจจุบันเป็นไปเพื่อรอการส่งต่อไปยังรัฐชาติอื่น ๆ ที่ยอมรับสถานะของชาวมุสลิมโรฮิงยา

" Now, We do not know what happened oure about and than we do not know, we are how many days, Mouths and years this in staying us.

But we are no know are parans have what about now.

We are very diffecuelt for staying, sleep, exercise and walking and health."

บางส่วนของจดหมายที่เขียนอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ที่ Abdulla ชายหนุ่มชาวโรฮิงยา ที่ถูกควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจภูธรคลองแงะ จังหวัดสงขลายื่นให้ผู้เขียน ระหว่างการขอเยี่ยม วันที่18 สิงหาคม Abdulla ถูกขังร่วมกับชาวมุสลิมโรฮิงยาอื่นๆ อีก 20 คน เขาเป็นคนสูงกว่าคนอื่น ๆ เป็นชายหนุ่มที่ดูแข็งแรงกว่าคนอื่นแต่หน้าตาที่ซีดอย่างเห็นได้ชัด ก็ทำให้ดูไม่ต่างจากคนอื่น ๆ เขายื่นจดหมายที่เป็นกระดาษ 2 แผ่นให้ทีมงานของเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยา จังหวัดสงขลา ก่อนที่จะถึงมือผู้เขียน พวกเราแบ่งกันอ่าน แล้วเก็บใส่กระเป๋าก่อนที่จะมองกลับไปAbdulla เขาถอยออกไปยื่นด้านหลัง แต่ก็ยังพยายามทำท่าทางเหมือนกับจะขอกระดาษเพิ่ม เราทำท่ารับรู้ และรับปากว่าจะเอามาให้ในวันถัดมา

จดหมายที่เขียนอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ของ Abdulla ทำให้ผู้เขียนเข้าใจสิ่งที่เขาอยากบอกเราในวันนั้น ถ้ามันเป็นความจริง สิ่งที่เขากังวลในใจ นอกเหนือไปจากสภาพความเป็นอยู่ในภายในห้องกักที่ถูกออกแบบไว้ควบคุมชั่วคราว สำหรับ 20 - 30 คน ความไม่รู้ว่าตัวเองจะถูกควบคุมไว้อีกนานเท่าไหร่ และความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวของตนที่อยู่ที่บ้านและไม่ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ชาวโรฮิงยาก่อเหตุจลาจลขึ้นระหว่างที่ถูกกักตัวอยู่ภายในห้องกักของ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พวกเขาพยายามหนีออกจากห้องขัง บางส่วนใช้ของแข็งทุบช่องลมคอนกรีตของอาคารและโรยตัวหนีออกไป บางส่วนพยายามพังบานประตู ด้านหน้าเพื่อหนีออกมา แต่ความวุ่นวายก็ยุติลงได้ในเวลาไม่นาน แต่ในวันที่ 8 สิงหาคม เหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นอีกครั้งที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดพังงา

ทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องกักของทั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา และด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงา เป็นสองด่านตรวจคนเข้าเมืองมากกว่า 15 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่สงขลาถึงมุกดาหาร อุบลราธานี และเชียงราย และบ้านพักเด็กและครอบครัว ประมาณ 11 แห่ง ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงญูกว่า 2,000 คน แต่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดาได้ควบคุมตัวชาวโรฮิงยามากที่สุด ด้วยจำนวนเกือบ 300 คน ภายในห้องกักที่ถูกสร้างเพื่อการกักตัวชั่วคราวเพื่อรอการผลักดันออกนอกประเทศ แต่ไม่ได้ออกแบบสำหรับคนเกือบ 300 คนในระยะเวลายาวนานกว่า 8 เดือน

ผู้ชายชาวโรฮิงยาเกือบ 1,400 คน ถูกกักอยู่ในห้องกักในด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างน้อย 15 แห่ง ต้องกิน นอน อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ ทำละหมาด ในห้องที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถที่จะนอนพร้อม ๆ กันได้ พวกเขาต้องผลัดกันนอนในระหว่างกลางคืน คนที่ยังไม่สามารถนอนก็ต้องนั่งหลับ บางคนก็นั่งพิงผนัง บางคนก็เกาะเสาห้องกักหลับไป และด้วยสภาพทางกายภาพของห้องกักในด่านตรวจคนเข้าเมืองเหล่านี้ที่สร้างเพื่อการกักตัวชั่วคราวเพื่อรอการผลักดันออกนอกประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมืองหลายแห่งไม่มีพื้นที่โล่งที่จะสามารถจะนำพวกเขาออกมาทำกิจกรรมภายนอกได้ การมีชีวิตอยู่ภายในห้องกักที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากมาย ทำได้เพียงแค่การกิน นอน และไม่สามารถที่จะออกมาออกกำลังกายภายนอก ทำให้ผู้ชายชาวโรฮิงยาอย่างน้อย 8 คน (เกศริน เตียวสกุล, 2556) เสียชีวิต อีกจำนวนหนึ่งกำลังกลายเป็นผู้พิการเนื่องจากกล้ามเนื้อลีบเล็กลงเรื่อย ขณะที่จำนวนไม่น้อยคนพยายามหลบหนีออกจากห้องกักในด่านตรวจคนเข้าเมือง

ขณะที่ผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงยากว่า 300 คน ที่ถูกแยกคุมตัวอยู่ในบ้านพักฉุกเฉินเด็กและครอบครัว 12 แห่ง ก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการถูกล่อลวงจากนายหน้าขบวนการค้ามนุษย์ อาศัยช่องว่างที่พวกเขาโดนคุมแยกจากพ่อ สามี ผู้นำครอบครัว ความกังวล ความกลัว อาศัยความต้องการที่จะเจอหน้าสามี หน้าพ่อ คนในครอบครัวของตน และการขาดแคลนกำลังเจ้าหน้าที่ในการควบคุม จนทำให้มีการหลอกผู้หญิง และเด็ก หลบหนีออกจากบ้านพัก ฯ พังงา เพื่อเดินทางต่อ แต่สุดท้ายโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นที่ร่วมมือกับขบวนการค้ามนุษย์ข่มขืน

 

จากผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง สู่อาชญากร นักโทษ และผู้ก่อการร้าย

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม และด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม เป็นความพยายามของชาวโรฮิงยาที่มีชีวิตอยู่โดยที่ไม่รู้ว่าจะต้องมีชีวิตที่อยู่ภายในห้องกักจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมาการพยายามหลบหนีออกจากห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ชาวโรฮิงยาคนหนึ่งที่ถูกควบคุมในห้องขังของค่ายกองร้อย ตชด.อำเภอปาดังเบซาร์ คุยกับผู้เขียนว่า

"ให้เราไปไหนก็ได้ ปล่อยเกาะก็ได้ ไปปล่อยชายแดนก็ได้ แม่สอด ระนองก็ได้ แต่อย่าส่งกลับไปในประเทศพม่า ขอให้พระเจ้าเป็นผู้กำหนดชีวิตเราเถอะ"

จากเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงา ชาวโรฮิงยาในด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองแห่งถูกแยกควบคุมไปยังที่ต่าง ๆ ทั้งสถานีตำรวจภูธรใกล้เคียง ค่าย ตชด. การกระจายการควบคุมไปยังสถานที่อื่น ๆ นอกจากจะเป็นผ่อนคลายความแออัดที่เกิดขึ้นในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่ห้องขังในสถานีตำรวจแต่ละแห่ง ความรู้ ความเข้าใจ และการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับชาวโรฮิงยาที่ถูกย้ายมาชั่วคราวก็กลายเป็นปัญหาใหม่ เฉพาะด่านตรวจคนเข้าเท่านั้นที่มีการจ้างล่ามภาษาพม่า  เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องต่างคนต่างอยู่ ชาวโรฮิงยาก็อยู่กันในคุก เจ้าหน้าที่ก็อยู่กันข้างนอก และเนื่องจากเป็นการคุมตัวชั่วคราวระหว่างการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นในด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา  การควบคุมก็ไม่ได้เข้มงวด

ในคืนวันที่ 8 สิงหาคม ชาวโรฮิงยาที่ถูกส่งมาควบคุมตัวชั่วคราวที่สถานีตำรวจภูธรสะเดา ก็หลบหนีออกไปได้ทั้งหมด 30 คน วันที่ 10 สิงหาคม ชาวโรฮิงยา อีก 38 คนหนีออกจากห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต วันที่ 17 สิงหาคม หนีออกห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองระยอง และวันที่ 20 สิงหาคม ชาวโรฮิงยาอีก 86 คนหนีออกจากห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จากข้อมูลของเครือข่ายช่วยเหลือ โรฮิงยา จังหวัดสงขลา ชาวโรฮิงยาที่ถูกควบคุมเฉพาะในจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม เหลือ 429 คน ที่ถูกควบคุมกระจาย ไว้ที่ห้องกักตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ สถานีตำรวจคลองแงะ สถานีตำรวจหาดใหญ่ สถานีตำรวจปาดังเบซาร์ และบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดสงขลา

ชาวโรฮิงยาที่หลบหนีออกไปกว่า 146 คน มี 19 คนที่หลบหนีออกจากสถานีตำรวจภูธรสะเดาที่ถูกจับและส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดนาทวี ในข้อหาหลบหนีออกจากสถานที่กักกัน และทำให้ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย ศาลจังหวัดนาทวีพิพากษาให้จำคุกคนละ 1 เดือน ปรับ คนละ 500 บาท ส่วนอีก 30 คนที่ถูกจับมาได้ในวันที่ 21 สิงหาคม กำลังรอถูกส่งฟ้อง การถูกพิพากษาศาลทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงยากลุ่มนี้กลายเป็นนักโทษที่ย้ายสถานที่ควบคุมจากห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองไปยังเรือนจำ แต่ภายหลังการรับโทษสิ้นสุดพวกเขาก็ต้องกลับไปยังห้องกัก ของด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรอการดำเนินการต่อไป ถ้าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติ การส่งกลับยังไม่สามารถ การส่งต่อไปยังประเทศที่สามก็ทำไม่ได้ ก็เหลือเพียงแค่การอยู่ภายในห้องกักด้วยความอดทน รอคอยโอกาสในการหลบหนีออกไป และปล่อยให้ชีวิตของตนขึ้นอยู่พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่พวกเขาศรัทธา ตามที่พวกเขาต้องการ

การติดตาม จับกุมชาวมุสลิมโรฮิงยาที่หลบหนีของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความระมัดระวังเต็มที่ มีการสนธิกำลังจากหลายหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ติดอาวุธเต็มที่ พร้อมเสื้อกันกระสุน เพราะกังวลถึงการเชื่อมโยง หรือโอกาสที่ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่หลบหนีออกไปจะเข้าร่วมผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการให้สัมภาษณ์ของอดีตแพทย์หญิงที่มีชื่อเสียงทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าสามารถเชื่อมโยงชาวโรฮิงยากับขบวนการของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ในต่อมาเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องจะออกมาปฏิเสธ[4] แต่ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นไปได้ และแสดงออกผ่านการเตรียมตัวก่อนที่จะดำเนินการติดตามตัวกลับมาดำเนินคดีที่ไม่ต่างอาชญากร กลายเป็นคนอันตราย เจ้าหน้าที่ที่ติดตามได้รับคำสั่งให้ใส่เสื้อเกราะ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวหลายกลุ่มทั้งในอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรธรรมราชที่ออกมาคัดค้านความพยายามที่จะสร้างสถานกักกันชั่วคราม และในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรืออำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่เป็นที่ตั้งค่ายผู้อพยพอยู่ในปัจจุบัน ก็มีการคัดค้านการนำชาวโรฮิงยาเข้ามาในพื้นที่ รวมถึงการเคลื่อนไหวในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ตัวอย่างเช่น https://www.facebook.com/NORoHingya ที่มักนำเอาภาพ ข้อมูล เหตุการณ์ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นโดยชาวมุสลิม ซึ่งก็ไม่ได้มีหลักฐานที่ชัดเจน หรือมีการอธิบายบริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นเข้ากับความเป็นมุสลิม ที่ได้ขยายรวมไปถึงชาวมุสลิมโรฮิงยาในที่สุด

               

จากผู้อพยพสู่ผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง แรงงานผิดกฎหมาย อาชญากรและผู้ก่อการร้าย

เมื่อคนถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของรัฐ แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง แต่ก็เป็นชีวิตที่เป็นเป้าหมายของการใช้อำนาจมากกว่าจะเป็นผู้มีบทบาทางการเมืองและเมื่อปราศจากความสัมพันธ์ใด ๆ กับรัฐ การเผชิญหน้ากับอำนาจและปฏิบัติของของรัฐจึงกระทำลงบนชีวิตโดยตรง พวกเขากลายเป็นชีวิตที่ไร้การปกป้อง เป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า[5]  สิ่งที่พวกเขาทำได้ก็เป็นเพียงการพยายามหลบหนี หลีกเลี่ยงจากการเผชิญหน้าในฐานะของเป้าหมายของปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐ หน่วยงานความมั่นคงภายในรัฐ และรวมถึงคนธรรมดาที่ซึ่งมีสำนึกของการเป็นพลเมืองที่ดี พร้อมที่จะแบ่งปันภาระของอำนาจสูงสุด ด้วยการใช้ความรุนแรงในนามของรัฐ (Thomas Blom Hansen, Finn Stepputat, 2005) ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงอะไรที่รออยู่ ก็ดีกว่าการตกอยู่ภายใต้การกระทำ และการควบคุมของรัฐที่ซึ่งตนไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยายุคก่อนอาณานิคมสามารถที่จะเป็นได้ทั้งที่อยู่ดั้งเดิมตามการอ้างอิงของนักประวัติศาสตร์ ปัญญาชนชาวโรฮิงยา หรือเป็นผู้ที่เข้ามาใหม่ตามความเข้าใจของชาวพม่า แต่กระนั้นการอธิบายของทั้งสองแนวคิดไม่ได้ปฏิเสธการเคลื่อนย้าย การมีปฎิสัมพันธ์ที่หลากหลายของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความขัดแย้งระหว่างชาวพม่า กับกลุ่มชาวโรฮิงยาเกิดขึ้นมาในภายหลังยุคอาณานิคม

การสร้างชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้สร้างให้คนกลุ่มน้อยที่แตกต่างไปชนชั้นนำที่ครอบงำการสร้างชาติกลายเป็นคนอื่นที่ยังไม่พร้อมจะเป็นพลเมืองของรัฐ หรือในบางกรณีกลายเป็นศัตรูของชาติ กรณีของประเทศพม่า ชาวโรฮิงยาไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มชาติพันธ์ที่ขัดแย้งกับรัฐบาลพม่า แต่เป็นมากกว่าคนนอก เป็นคนนอกที่อพยพบนแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง เมื่อรัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะยอมรับและให้สถานะของการเป็นพลเมืองของพวกเขา พวกเขาการถูกทำร้าย ถูกทำลาย ถูกแย่งชิงทรัพย์สิน ถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเกิดของตนในพม่า ไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครองจากรัฐ และถูกบังคับให้อพยพหนีออกจากประเทศพม่า เป็นผู้อพยพที่มุ่งหน้าไปยังประเทศบังคลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย แต่สำหรับมาเลเซีย และประเทศไทย ที่ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมรับสถานะของการเป็นผู้อพยพ พวกเขาอยู่ในฐานะของผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง เป็นแรงานข้ามชาติผิดกฎหมาย บางคนอาจได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยชั่วคราว หลายคนก็อยู่อย่างผิดกฎหมาย แต่พวกเขาก็ยังมีความสามารถที่จะดิ้นรนท่ามกลางสนามปะลองของการอำนาจต่างๆ ของทั้งสองประเทศ แต่กรณีที่แย่ที่สุดคือการพวกเขาชาวโรฮิงยาที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกผูกขาด หรือถูกครอบงำโดยอำนาจได อำนาจหนึ่ง การถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และปฏิบัติการของรัฐในห้องกัก ของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ กลายเป็นแรงงานบนเรือประมงที่ไม่ได้มีโอกาสขึ้นฝั่งเป็นระยะเวลานาน หากทนได้ก็ทน หากทนไม่ได้ก็อาจถูกฆ่าและกลายเป็นศพลอยอยู่กลางทะเลหรือกลายเป็นอาชญากรที่ตัดสินใจฆ่าไต้ก๋งเรือเพื่อที่จะหลบหนีออกจากเรือ[6]

ท่ามกลางการดิ้นรนในสนามการแข่งขันของอำนาจต่าง ๆ ที่เอื้อให้ชาวโรฮิงยาสามารถดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดได้ การสร้างวาทกรรมของการเป็นผู้ก่อการร้าย ของชาวมุสลิม ที่รวมไปถึงการเป็นมุสลิมของชาวโรฮิงยาในประเทศไทย ที่ยังไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรง หรือนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยาโดยคนธรรมดาในสังคม อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ขยายตัวอย่างไร้การควบคุม และฝังลึกลงในสังคมไทย แม้ว่าสังคมไทยจะแตกต่างไปจากสังคมพม่า แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดก็ใช่ว่าไม่มี

 

บรรณานุกรม

พฤกษ์ เถาถวิล. 2554. "MoU การจ้างงานข้ามชาติ : เสรีนิยมใหม่ การจ้างงาน การคุ้มครองแรงงานและ

                การปรับยุทธศาสตร์การกำกับควบคุมของรัฐ", วารสารลุ่มน้ำโขง ปีที่ 7 ฉบับที่ 3,

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM). 2552. "รายงานการย้ายถิ่นข้ามชาติในประเทศไทย

                ปี 2552. กรุงเทพฯ.

                2008. "Situation Report on International Migration in East and Southeast Asia". Bangkok.

Agamben, Giorgio. 2005. "Homo Sacer: Soverign Power and Bare Life". Danial Heller-Roazen

                (trans.). California. USA.

                1998. "State of Exception"., Kewin Attel (trans.), Chicago.

Chan, Aye. 2005. "The Development of Muslim Enclave in Arakan (Rakhine) State of Burma

                (Myanmar)". SOAS Bullentin of Burma Research, Vol3, No.2.

Danish Immigration Service. 2011. "Rohingya refugees in Bangladesh and Thailand: Fact finding

                mission to Bangladesh and Thailand. Copenhagen.

Ong,  Aihwa. 2006 "Neoloberalism as Exception: Mutation in Citizenship and Sovereignty".

                Durham and London.

Macan-Markar, Marwaan, 2012 "Ethnic Cleansing of Muslim Minority in Myanmar?", Inter Press

                Service,

Schmitt, Carl. 2005. "Political Theology, Four Chapters on the Concept of Sovereignty".      

                George Schwab (trans.). Chicago: University of Chicago Press.

Singh, Bilveer. 2007. "The Talibanization of Southeast Asia : Losing the War on Terror to Islamist

                Extremists". Praegar Security International.

U Knin Maung Saw. 1993. "The Rohingya, Who Are They? The Origin of the Name Rohingya",

                International Conference. Berlin.

Tarling, Nichol. 1992. "The Cambridge History of Southeast Asia. Volume One From Early Times

                to c.1800" Cambridge University Press,

Thomas Blom Hansen and Finn Stepputat. 2005. "Sovereign Bodies Citizens, Migrants, and

                States in the Postcolonial World". New Jersey. Princeton university press.

เกศริน เตียวสกุล.2556 โรฮิงญา: ชีวิตที่ห้องกัก ตอนที่ 1 ตม. สงขลา เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม

                http://prachatai.com/journal/2013/05/46770

เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยา แห่งประเทศไทย. "ข้อมูลการบริหารจัดการ ของเครือข่ายจากหลายองค์กร

                ในการช่วยเหลือ การลี้ภัยของพี่น้องชาวโรฮิงยา ที่เข้ามาในประเทศไทย", เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์

                2556 https://www.facebook.com/เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยา-จังหวัดสงขลา

ไม่เอา โรฮิงยา เข้าประเทศ. เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2556. https://www.facebook.com/NORoHingya

พฤกษ์ เถาถวิล. "การเปลี่ยน (ไม่) ผ่านของการจัดการแรงงานข้ามชาติ", เข้าถึงเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2556

                http://prachatai.com/journal/2012/12/44353

Jonah Fisher. "Burmese refugees sold on by Thai officials",  เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2556

                http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-21115728

Jonathan Head. "What drives the Rohingya to sea?",เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2556

                http://news.bbc.co.uk/2/hi/7872635.stm

                "Displaced and divided in Burma's Rakhine", เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2556

                http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-20264279

อดิศร เกิดมงคล. 2556. สัมภาษณ์โดยผู้เขียนใ กรุงเทพฯ. 3 กุมภาพันธ์

อภิญญา ทาจิตต์. 2556. สัมภาษณ์โดยผู้เขียน. จังหวัดนครปฐม: 22 สิงหาคม

อิสมาแอน หมัดอะค้ำ. 2556. สัมภาษณ์โดยผู้เขียน. จังหวัดสงขลา: 18 สิงหาคม

 

 

 




[1] ชื่อรัฐระคาย ผู้เขียนใช้การเทียบเสียงมาจากคำ Rakhine ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกับคำว่า ยะใข่

[2] Thomas Blom Hansen และ Finn Stepputat (2005) เสนอแนวคิดอำนาจสูงสุด (Sovereignty) ในฐานะของอำนาจที่สามารถใช้ความรุนแรง ลงโทษ และควบคุมได้โดยไม่ต้องรับผิด ที่ซึ่งไม่ได้ผูกพันกับรัฐ (State) เท่านั้น แต่กระจายออกไปอย่างหลากหลาย และต่างเผชิญกับการแข่งขันระหว่างกัน

[3] อดิศร เกิดมงคล, Migrant Working Group สัมภาษณ์เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2556

[4] ผู้เขียนสัมภาษณ์ ตัวแทนของเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยาแห่งประเทศ จังหวัดสงขลาระหว่างการลงเก็บข้อมูลในพื้นที่อำเภอสะเดา อำเภอปาดังเปซาร์ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 18-19 สิงหาคม 2556

[5] Agamben อธิบาย "ชีวิตที่เปลือยเปล่า (Bare life)" ว่าหมายชีวิตทางกายภาพที่มีลักษณะแปลกแยกไปจากชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งในชน สังคมการเมือง แต่ถูกกันออกไปอยู่ในพื้นที่นอกชุมชน ในลักษณะ "การแบ่งแยกที่รวมด้วย (inclusive exclusion)" เป็นศัพท์ที่มาจากแนวคิด "Homo sacer" สมัยโรมัน

[6] ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ คุณอภิญญา ทาจิตต์ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลศรีราชา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ถึงปัญหาของแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น