ประชาไท | Prachatai3.info |
- ศาลสั่งคดี 5 ศพกรงปินัง เสียชีวิตโดย จนท. ขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่
- ไต่สวนการตาย ‘สมชาย พระสุพรรณ’ เหยื่อกระสุน 16 พ.ค.53
- มติ 344 ต่อ 140 สภาฯ ผ่าน มาตรา 3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง
- การจัดตั้งแรงงานนอกระบบ: การหนุนช่วยจากสหภาพแรงงานและมาตรฐานแรงงานหลักสำหรับแรงงานนอกระบบ
- อวัตถุศึกษากับอธิป: เฟซบุ๊กเผยรัฐไทยขอข้อมูลผู้ใช้คนไทย 5 ราย
- คณิต ณ นคร
- ตัวแทนสวนยางเจรจา รมว.เกษตรฯ รับราคา 80 บ/ก.ก.ไม่ได้ เตรียมม็อบใหญ่ 3 ก.ย.
- ตัวแทนรัฐสภายุโรปจี้ลาวกรณีการหายตัว 'สมบัติ สมพอน'
- เปิด 10 เหตุผลไม่รับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. คุมเนื้อหาสื่อ
- นักศึกษา ‘ส่องไฟ-นอนตาย’ หน้าสถานทูตอียิปต์ ประณามปราบประชาชน
ศาลสั่งคดี 5 ศพกรงปินัง เสียชีวิตโดย จนท. ขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ Posted: 28 Aug 2013 12:11 PM PDT ญาติผู้ตาย 3 ใน 5 ศพกรงปินัง ร้องขอความช่วยเหลือทาง กม. ต่อองค์กรด้านสิทธิ์ ระบุผู้ตายทั้ง 3 ไม่ได้เป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลังศาลสั่งผู้เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พร้อมระบุน่าเชื่อว่าฝ่าย จนท.ไม่อาจแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร 27 ส.ค. 56 ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งในคดีชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดาที่ ช.7/2555 ตามคำร้องของพนักงานอัยการจังหวัดยะลา ที่ขอให้ศาลจังหวัดยะลาไต่สวนการตายของ นายสะกือรี จะปะกียา ผู้ตายที่ 1 นายอิสมาแอล แปเตาะ ผู้ตายที่ 2 นายตัซกีรี ยะยอ ผู้ตายที่ 3 นายลุกมัน ดือราแม ผู้ตายที่ 4 และนายซัมรี ดือราแม ผู้ตายที่ 5 เนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวัน 19 เม.ย. 55 ขณะเจ้าหน้าที่ตารวจและทหารสนธิกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านสะเอะ ตาบลสะเอะ อาเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา และได้ใช้อาวุธปืนยิงเสียชีวิต ซึ่งศาลมีคาสั่งโดยสรุปว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานต่างๆ ได้ความว่า ตามที่เกิดเหตุผู้ตายที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อยู่กลุ่มกับผู้ตายที่ 1 และที่ 3 และบุคคลอื่นที่หลบหนีไปได้ ในภาวะเช่นนี้ น่าเชื่อว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่อาจแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร ดังนั้นไม่ว่าผู้ตายที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติย่อมสามารถอ้างได้ว่าเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และมีคำสั่งว่านายสะกือรือ จะปะกียา ผู้ตายที่ 1 และนายอิสมาน แปเตาะ ตายโดยการกระทำของ ด.ต.ปรีชา หนูนุ่ม นายตัซกีรี ยะยอ ตายโดยการกระทำของ ส.ต.อ.วิรุจ ติ๊ปปาละ นายลุกมัน ดือราแม ตายโดยการกระทำของ จ.ส.ต.กฤษณกรณ์ เกือเจ นายซัมรี ดือราแม ตายโดยการกระทาของ ร.ต.ต.สุธน นราพงษ์ ขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ คดีนี้บิดามารดาของผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่นายอิสมาแอล แปเตาะ ผู้ตายที่ 2 นายลุกมัน ดือราแม ผู้ตายที่ 4 และนายซัมรี ดือราแม ผู้ตายที่ 5 ได้ร้องเรียนว่าผู้ตายทั้งสาม ไม่ได้เป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กล่าวหา โดยร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา ในฐานะทนายความที่ได้ให้ความช่วยเหลือคดีแก่ญาติผู้ตายทั้งสามดังกล่าวข้างต้น ให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีหลังจากฟังคำสั่งศาลว่า "ตามคำร้องศาลมีคำสั่งถึงเหตุผลและพฤติการณ์ที่ตายไว้ แต่ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ขณะเข้าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กล่าวคือการวางแผนเข้าปิดล้อม การแสดงตนเพื่อให้คนร้ายมอบตัว หรือการสกัดกั้นไม่ให้คนร้ายหลบหนี หรือการวิธีการที่สามารถไม่ให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิต การใช้ความระมัดระวังในการใช้อาวุธ ตามที่มีการไต่สวนในชั้นพิจารณา ทั้งนี้เพราะกระบวนการไต่สวนการตายเป็นกระบวนการเพื่อนำข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ปรากฏในสานวนคดี เพื่อส่งต่อแก่พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนพิจารณาสั่งคดีว่าสมควรเสนอฟ้องผู้ที่ทำให้เกิดความตายหรือไม่" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไต่สวนการตาย ‘สมชาย พระสุพรรณ’ เหยื่อกระสุน 16 พ.ค.53 Posted: 28 Aug 2013 11:49 AM PDT นัดพร้อมคดี 'เกรียงไกร คำน้อย' เหยื่อกระสุนรายแรก 10 เม.ย. 53 ไต่สวนนัดแรก 7 ต.ค.นี้ ขณะที่คดี สมชาย พระสุพรรณ เหยื่อกระสุน 16 พ.ค.53 ถูกยิงย่านบ่นไก่ พยานเบิกความผู้ตายและผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธยิงตอบโต้ทหารที่ใช้ M16 เบิกนัดหน้า 8 พ.ย. 26 ส.ค.56 ข่าวสดออนไลน์ รายงาน ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายสมชาย พระสุพรรณ ช่างซ่อมรองเท้า ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณเชิงสะพานลอยคนข้าม ใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ย่านชุมชนบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 นางอนงค์พร พระสุพรรณ ภรรยานายสมชาย เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ เวลา 06.00 น. เศษ สามีขอเงิน 500 บาท ไปซื้ออะไหล่รองเท้าที่คลองเตย ก่อนขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านในซอยลาดพร้าว 30 ต่อมาเวลา 08.00 น.เศษ สามีโทรศัพท์มาบอกลูกสาวว่าซื้อของเสร็จแล้ว แต่ขอดูเหตุการณ์การชุมนุมก่อน แล้วจะกลับไปกินข้าวที่บ้าน กระทั่งเวลา 09.00 น.เศษ พยานเห็นว่าสามียังไม่กลับ จึงโทรศัพท์ไปหา แต่ไม่มีคนรับ จึงเรียกรถแท็กซี่ไปตามหาที่บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 เนื่องจากมีการชุมนุมในบริเวณดังกล่าว นางอนงค์พรเบิกความ ต่อว่า เมื่อไปถึงก็เห็นเจ้าหน้าที่หลายนายสวมชุดลายพรางและถือปืน อยู่บริเวณสนามมวยลุมพินี และมีบังเกอร์ตั้งอยู่ สักพักได้ยินเสียงปืนดังมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ พยานวิ่งไปหลบกระสุนที่ป้อมตำรวจใต้ทางด่วนพระราม 4 ส่วนผู้ชุมนุมและประชาชนต่างก็วิ่งหลบกระสุนเช่นกัน ระหว่างนั้นพยายามโทรศัพท์ติดต่อสามี แต่ไม่มีคนรับสาย ผ่านไป 5 นาที มีโทรศัพท์จากเครื่องสามีเข้ามา แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ร.พ.เลิดสิน และบอกว่าสามีประสบอุบัติเหตุที่ขาเล็กน้อย พยานจึงนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไป ร.พ. พยานเบิกความอีกว่า เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสามีถูกยิงบริเวณศีรษะ นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง และมีผ้าก๊อซสีขาวพันอยู่ที่ศีรษะ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเพิ่งเสียชีวิต แต่ยังไม่สามารถนำศพกลับไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องชันสูตรพลิกศพก่อน ต่อมาวันที่ 17 พ.ค. 2553 พยานกลับไปดูศพสามีที่ห้องเก็บศพ พบว่าไม่มีผ้าก๊อซพันที่ศีรษะแล้ว และเห็นบาดแผลถูกยิงที่ขมับด้านซ้าย จึงถ่ายภาพไว้ ก่อนจะนำศพสามีกลับไปฌาปนกิจที่บ้านใน จ.ยโสธร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ส่วน นายฐาวร บุญณะสาร เบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เวลา 18.00 น. พยานพร้อมกับเพื่อนชวนกันไปดูเหตุการณ์การชุมนุม เห็นผู้ชุมนุมอยู่ใต้ทางด่วนพระราม 4 ประมาณ 200-300 คน เห็นเจ้าหน้าที่ชุดลายพรางใส่หมวกจำนวนมาก ถือปืนเอ็ม 16 เดินไปเดินมาอยู่ทั้ง 2 ฝั่งถนนพระราม 4 ตั้งแต่สนามมวยลุมพินี และสะพานไทย-เบลเยี่ยม มีบังเกอร์ตั้งอยู่ห่างจากกองยางของผู้ชุมนุมประมาณ 150 เมตร ระหว่างที่พยานอยู่บริเวณดังกล่าว ได้ยินเสียงปืนดังอย่างต่อเนื่องมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ นายฐาวรเบิกความต่อว่า กระทั่งรุ่งเช้า วันที่ 16 พ.ค. ก็ยังมีการยิงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และได้ยินเสียงระเบิดเอ็ม 79 ตกลงหน้าแนวกองยาง โดยผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการจุดประทัดใส่เจ้าหน้าที่ เวลา 09.00 น. เศษ ขณะที่พยานอยู่บริเวณปากซอยงามดูพลี ใกล้กับธนาคารกสิกรไทย ได้ยินเสียงคนตะโกนบอกว่าพวกเราถูกยิง จึงวิ่งข้ามถนนไปช่วยที่หน้าซอยปลูกจิต ตรงเชิงสะพานคนข้าม ใกล้กับธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นผู้บาดเจ็บมีบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะ พยานจึงร่วมกับเพื่อนนำผู้บาดเจ็บไปขึ้นรถพยาบาล และเดินทางกลับ ภายหลังทราบว่าผู้บาดเจ็บที่ช่วยเหลือคือนายสมชาย พระสุพรรณ จาก นั้นพนักงานอัยการถามพยานว่า ทราบได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่ถือปืนเอ็ม 16 พยานเบิกความว่าเคยเป็นทหารเกณฑ์มา 2 ปี จึงมีความรู้เรื่องอาวุธปืน ขณะที่ทนายญาติผู้ตายถามพยานว่า ผู้ตายและผู้ชุมนุมมีอาวุธยิงตอบโต้ เจ้าหน้าที่หรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่มี ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ในช่วงท้ายของการไต่สวน พนักงานอัยการขอนำพยานเข้าเบิกความ จำนวน 14 ปาก ส่วนทนายญาติผู้ตายขอนำพยานเข้าเบิกความ จำนวน 1 ปาก ศาลจึงนัดไต่สวนจำนวน 5 นัด ได้แก่ วันที่ 8, 13, 14, 19 และ 20 พ.ย. เวลา 09.00 น.
นัดพร้อมคดี 'เกรียงไกร คำน้อย' เหยื่อกระสุนรายแรก 10 เม.ย. 53 ไต่สวนนัดแรก 7 ต.ค.นี้ วันเดียวกันที่ศาลอาญา ศาลนัดพร้อม เพื่อกำหนดนัดพิจารณาไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของนายเกรียงไกร คำน้อย คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณทางเท้าถนนราชดำเนินนอก ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 โดยนายเกรียงไกรเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เมื่อถึง เวลานัด ศาลพิจารณาเห็นว่า คดีนี้ระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป ยังไม่สามารถแต่งตั้งทนายความได้ทัน จึงเลื่อนวันกำหนดนัดพิจารณาไต่สวนคดี เป็นวันที่ 7 ต.ค. โดยในเบื้องต้นมีพยานทั้งหมดที่จะขึ้นเบิกความ 53 ปาก และเน้นประจักษ์พยานเป็นหลัก นายถาวร คำน้อย อายุ 58 ปี บิดานายเกรียงไกร กล่าวว่า มีลูก 3 คน นายเกรียงไกรเป็นคนสุดท้อง ครอบครัวอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด นายเกรียงไกรมาขับรถตุ๊กตุ๊กอยู่ในกรุงเทพฯ กลับบ้านเดือนละครั้ง ไม่รู้ว่านายเกรียงไกรมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มนปช.ด้วยหรือไม่ กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 2553 เพื่อนลูกชายโทรศัพท์ไปบอกว่าลูกชายถูกยิงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์หน้า กระทรวงศึกษาธิการ ถามอาการก็ไม่บอก จึงให้ลูกสาวเดินทางมาหา หลังจากนั้นไม่นานลูกชายก็เสียชีวิต เสียใจมาก และ ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ จึงอยากให้นำคนสั่งการมาลงโทษให้ได้ พี่สาวมั่นใจไม่ใช่คนเสื้อแดงยิงกันเอง ส่วนน.ส.ธัญกมล คำน้อย อายุ 32 ปี พี่สาวนายเกรียงไกร กล่าวว่า ช่วงเย็นวันที่ 10 เม.ย. รีบเดินทางมาดูน้องชายที่ร.พ.วชิรพยาบาล เดิมทีเพื่อนของน้องบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่พอมาเห็นก็คิดว่าอาการแย่แล้ว เพราะถูกยิงที่สะโพก ตอนแรกเห็นรอยกระสุนปืนเพียงนัดเดียว แต่พอดูรายงานการชันสูตรศพ พบว่า มีแผลถูกยิงที่หน้าอกด้วย ขณะที่ไปถึง โรงพยาบาลน้องชายไม่รู้สึกตัวแล้ว และเสียชีวิตช่วงเวลา 03.00 น. วันที่ 11 เม.ย. 2553 พี่สาวนายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า สอบถามจากเพื่อนทราบว่าวันเกิดเหตุหลังจากส่งรถตุ๊กตุ๊กเสร็จแล้ว น้องชายกลับบ้านมาดูโทรทัศน์ เห็นว่าเจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุม จึงเข้าไปดูบริเวณที่เกิดเหตุ สักพักกลุ่มผู้ชุมนุมบอกให้ถอยกันออกมา น่าจะเพราะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแล้ว สักพักน้องชายก็ถูกยิง ทางญาติคิดว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพราะขณะถูกยิงน้องชายหันหน้าไปทางนั้น และไม่มีอาวุธ มีแค่ไม้ไผ่ที่ใช้เคาะ ขวดน้ำ และผ้าปิดจมูก แม้ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่จะปฏิเสธมาตลอด แต่ญาติมั่นใจว่าไม่ใช่คนเสื้อแดงยิงกันเอง เพราะเขาไม่มีอาวุธ และปกติแล้วน้องชายมีนิสัยสนุกสนาน ร่าเริง ไม่ใช่อันธพาล อยากให้ดำเนินคดีนี้จนถึงที่สุด และเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มติ 344 ต่อ 140 สภาฯ ผ่าน มาตรา 3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง Posted: 28 Aug 2013 11:17 AM PDT "อภิสิทธิ์"เสนอ เลือกตั้ง ส.ว.แบบแบ่งกลุ่มเขตละ 5 คน ปธ.กรรมาธิการ แจงเลือกแบบแบ่งกลุ่มเขต พื้นที่คนน้อยกว่าเสียเปรียบ สุดท้ายมติ 344 ต่อ 140 สภาฯ ผ่าน มาตรา.3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 28 ส.ค.56 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นพิเศษ มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 เป็นวันที่ 5 โดยยังคงพิจารณาอยู่ที่ มาตรา 3 ซึ่งเป็นการแก้ไขมาตรา 111 เพื่อให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และแก้ไขมาตรา 112 ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยการเลือกตั้ง และให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และหากในจังหวัดใดที่มี ส.ว.ได้มากกว่า 1 คน ให้ผู้ที่ลงเลือกตั้งซึ่งได้คะแนนสูงสุด เรียงตามลำดับจนครบจำนวน ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ได้มีการลงมติ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามร่างของคณะกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 344 ต่อ 140 งดออกเสียง 32 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง "อภิสิทธิ์"เสนอ เลือกตั้ง ส.ว.แบบแบ่งกลุ่มเขตละ 5 คน ก่อนหน้านั้น เดลินิวส์ออนไลน์ รายงาน เวลา 19.25 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า หลายคนสงสัยว่าทำไมการแก้ไขในมาตรา 3 ถึงยาวนานหลายวัน เพราะการแก้ไขมาตรานี้จะส่งผลสำคัญต่อการดุลยอำนาจ และโครงสร้างของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อย่างในต่างประเทศเขาไม่กล่าวหาว่า ส.ว. ที่มาจากการสรรหาไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะบทบาทหน้าที่มันคนละอย่างกับส.ส. อย่างประเทศอเมริกาที่ระบุชัดว่า ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชน สภาสูงเป็นตัวแทนมลรัฐ โดยขอเสนอให้มีการคัดเลือก ส.ว.ระบบเลือกตั้งแบบเลือกผู้แทน ซึ่งตนเห็นด้วยกับจำนวน ส.ว.200 คนแต่เราน่าจะกำหนดให้มีการแบ่งเเป็นกลุ่มเขตจังหวัด ซึ่งแต่ละเขตจะมี ส.ว.ทั้งหมด 5 คน 200 คนก็คือ 40 เขตทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถเลือกได้เพียงเสียงเดียว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับตัวจังหวัด ถ้าเราจะคิดแต่ยึดโยงประชาชนแล้วไม่เดินไปข้างหน้า เราจะทำอย่างไร รัฐธรรมนูญปี 40 ที่ผ่านมาทำลายระบบการถ่วงดุลอำนาจของประเทศจนทำลายองค์กรอิสระไปมากแล้ว แม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยระบุในปี 49 ว่าเราจะต้องรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่กรรมาธิการกลับนำสิ่งที่ล้มเหลวแล้วกลับมาใช้ใหม่ ตนจึงสงสัยว่ากรรมาธิการไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์บ้างหรืออย่างไร
ปธ.กรรมาธิการ แจงเลือกแบบแบ่งกลุ่มเขต พื้นที่คนน้อยกว่าเสียเปรียบ จากนั้นนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯชี้แจงว่า การที่จะใช้การแบ่งกลุ่มจังหวัด 40 กลุ่มเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละกลุ่มมีส.ว.ได้ 5 คนนั้น กรรมาธิการเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยเพราะคำนึงการปฏิบัติในการเลือกตั้งที่ ส.ว. 1 จะมีสัดส่วนต่อประชาชนประมาณ 1.6 แสนคน ต่างจากแบบแบ่งเขตจังหวัดที่ ส.ว. 1 คน จะมากจากประชาชน 325,000 คน หากใช้การเลือกตั้งแบบกลุ่มจังหวัด เช่น จ.เชียงราย มีประชากร 1.2 ล้านคน รวมกับ จ.พะเยา มีประชากร 4 แสนคน เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งอาจไม่ได้ ส.ว. จาก จ.พะเยา เลย เพราะพื้นที่ที่มีประชากรน้อยกว่าจะเสียเปรียบ และกรรมาธิการก็คิดว่าถ้าใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ว. 200 คน ก็จะมีความแตกต่างจากที่มาส.ส. ที่มีจำนวนผู้แทน 375 คนอยู่แล้ว
อภิสิทธิ์ย้อน เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "คนดีของจังหวัด แต่เป็นคนเลวระดับชาติหรือไม่" ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงอีกครั้งว่า คณะกรรมาธิการฟังในสิ่งที่ตนพูดไม่เข้าใจในเรื่องการจัดเขตเลือกตั้ง เพราะไม่จำเป็นว่าต้องแบ่งเป็นกลุ่ม แต่สามารถผ่าจังหวัดเพื่อเป็นเขตเลือกตั้งก็ได้ ส่วนตัวอย่างที่ นายสามารถ เสนอ นั้นเป็นการคิดแทนประชาชนใช่หรือไม่ และตรรกะในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งก็ผิด เพราะอยากถามว่าทำไมคน จ.ระนอง กับคนกรุงเทพ ถึงได้เลือก ส.ว. คนละรูปแบบกัน อีกทั้งของถามว่าเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "คนดีของจังหวัด แต่เป็นคนเลวระดับชาติหรือไม่"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
การจัดตั้งแรงงานนอกระบบ: การหนุนช่วยจากสหภาพแรงงานและมาตรฐานแรงงานหลักสำหรับแรงงานนอกระบบ Posted: 28 Aug 2013 11:14 AM PDT สำหรับขบวนการเรียกร้องสิทธิแรงงานนอกระบบที่เป็นการรวมตัวของแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะ และมีเครือข่ายในหลายประเทศทั่วโลกที่สำคัญๆ มีอาทิ Home Net, Street Net และเครือข่ายจัดตั้งผู้หญิงในเศรษฐกิจนอกระบบ (Women in Informal Employment: Globalizing and Organizing - WIEGO) เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มสหภาพแรงงาน (ในระบบ) ระดับโลก และกลุ่ม NGO ต่างๆ ที่ได้ช่วยกันพยายามประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้แรงงานนอกระบบ เช่น สหพันธ์แรงงานโลก (Global union federation - GUF) ก็เคยมีโครงการนำร่องในการขยายการเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ด้วยเช่นกัน เมื่อมาดูตัวอย่างการปฏิบัติที่จริงจังและต่อเนื่องของขบวนการแรงงานโลกในการเคลื่อนไหวประเด็นแรงงานนอกระบบนี้ ก็ต้องพูดถึงการทำงานอย่างจริงจังของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งแรงงานนอกระบบอย่างจริงจังในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 โดยโครงการที่ ITUC ได้ริเริ่มก็มีอาทิเช่น การส่งเสริมดำเนินการให้มีการประกันสุขภาพแก่แรงงานนอกระบบในเบนิน ส่วนในมอริเตเนียนั้นมีกองทุนดูแลและเลี้ยงดูบุตรของแรงงานนอกระบบหญิง และการจัดตั้งแรงงานนอกระบบหญิงให้เป็นนักสหภาพแรงงานอีกด้วย ในปี ค.ศ. 2002 ITUC ได้ร่วมมือกับพันธมิตรสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Co-operative Alliance - ICA) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) จัดตั้งโครงการ SYNDI – COOP ที่มีการฝึกอบรมและให้ทุนสนับสนุนสหกรณ์คนงานหลายแห่งในแอฟริกา เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ของสมาคมคนซ่อมและช่างขัดรองเท้าแห่ง Kampala ในประเทศอูกานดา, ให้ความช่วยเหลือสหกรณ์คนงาน Kagera ในประเทศแทนซาเนีย (สหกรณ์คนงานแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับชาวไร่กาแฟกว่า 90,000 คน) รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสหกรณ์คนงานขนาดเล็ก Wamumo ประเทศเคนย่า และในปี ค.ศ. 2007 ITUC ก็ได้รณรงค์ขยายสิทธิทางสังคมและกฎหมายให้กับแรงงานนอกระบบในบูร์กินา ฟาโซ อีกด้วย มาตรฐานสากลด้านแรงงานของแรงงานนอกระบบ ตามคำประกาศของ ILO เมื่อปี ค.ศ. 1998 ว่าด้วยหลักการพื้นฐานและสิทธิในที่ทำงานนั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการอภิปรายเรื่องสิทธิแรงงานนอกระบบ นอกเหนือกรอบความสัมพันธ์แบบมีนายจ้างชัดเจนเพียงอย่างเดียวเช่นเมื่อก่อน แม้ว่าอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐานที่น่าจะให้การครอบคลุมประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานที่สำคัญ แต่ก็มักจะเกิดช่องว่างด้านสิทธิที่เห็นได้ชัดระหว่างแรงงานในสถานประกอบการ กับแรงงานที่อยู่ข้างนอก ซึ่งรัฐบาลและนายจ้างมักจะปฏิเสธการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองของกลุ่มคนงานนอกระบบ เหมือนกับกรณีของกฎหมายแรงงานในหลายๆ ประเทศที่มักจะไม่คุ้มครองแรงงานที่ไม่มีนายจ้างอย่างชัดเจน นอกจากนี้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29, 105, 138, และ 182 ก็มีเป้าหมายที่จะขจัดแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานทั้งสองประเภทนี้ หากยังจะมีอยู่พวกเขาก็มักจะอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และการจ้างแรงงานเด็กและแรงงานบังคับก็เกิดมาจากสภาพความยากจนเกือบทั้งสิ้น ส่วนแรงงานข้ามชาติก็มีความเสี่ยงที่จะถูกกดขี่และสู่วงจรธุรกิจค้ามนุษย์ด้วยเช่นกัน อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 100 และ 111 ที่ส่งเสริม "การขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ" โดยอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 100 นั้นกำหนดให้รัฐที่ให้สัตยาบันปฏิบัติตามนโยบายค่าตอบแทนในการทำงานที่เท่ากันของชายและหญิง ซึ่งมีงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน และมีผลต่อแรงงานทั้งหมด รวมถึงแรงงานนอกระบบด้วย ส่วนอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยการรับงานไปทำที่บ้าน นับเป็นอนุสัญญาฉบับแรกของ ILO ที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองแรงงาน "ผู้รับงานไปทำที่บ้าน" สำหรับมาตรฐานแรงงานของ ILO ฉบับใหม่เอี่ยม ที่ดูจะเจาะจงครอบคลุมแรงงานนอกระบบที่สำคัญก็คือ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยแรงงานทำงานบ้าน (Convention on Domestic Workers, 2011) และข้อเสนอแนะ (Recommendation) ฉบับที่ 201 โดยมาตรฐานแรงงานของ ILO ฉบับใหม่นี้จะช่วยให้แรงงานทำงานบ้านทั่วโลกที่ช่วยดูแลครอบครัวและครัวเรือน ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานอื่นๆ ได้รับ อาทิ มีชั่วโมงการทำงานอันควร การได้พักผ่อนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน การจำกัดการชดเชยที่ไม่ใช่ตัวเงิน การระบุข้อมูลและเงื่อนไขการจ้างงานที่ชัดเจน และการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิในการทำงาน รวมถึงสิทธิในการสมาคม และสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ระบุว่าแรงงานทำงานบ้านคืองานที่ทำในบ้าน ครัวเรือน แม้ว่ามาตรฐานฉบับดังกล่าวจะครอบคลุมแรงงานทำงานบ้านทุกคน แต่จะมีมาตรการพิเศษเพื่อปกป้องแรงงานที่อายุน้อยหรือแรงงานต่างสัญชาติ หรือแรงงานที่พักในบ้าน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่า ทั้งนี้อนุสัญญาฉบับนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 2 ปี ต่อประเทศที่ให้สัตยาบัน ซึ่งก็คือในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2013 เรียบเรียงมาจาก: การประชุมใหญ่ ILO ครั้งที่ 100 ลงมติช่วยแรงงานทำงานบ้าน 53 ถึง 100 ล้านคนทั่วโลก ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงาน (ilo.org, 17/06/2011) ความยุติธรรมถ้วนหน้า แนวปฏิบัติเพื่อสิทธิคนงานยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ (โซลิแดริตี้ เซ็นเตอร์, 2006) http://www.ilo.org/asia/info/public/pr/WCMS_157951/lang--en/index.htm C189 - Domestic Workers Convention, 2011 (No. 189) (ilo.org, เข้าดูเมื่อ 27/08/2013) เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อวัตถุศึกษากับอธิป: เฟซบุ๊กเผยรัฐไทยขอข้อมูลผู้ใช้คนไทย 5 ราย Posted: 28 Aug 2013 10:45 AM PDT 'อธิป จิตตฤกษ์' นำเสนอข่าวสารด้านลิขสิทธิ์ทั่วโลก สัปดาห์นี้นอกจากเฟซบุ๊กจะเผยข้อมูลความโปร่งใสเป็นครั้งแรก ยังจ่ายค่ายอมความให้ผู้ใช้กว่า 9 ล้านดอลลาร์ฐานละเมิดข้อตกลงผู้ใช้โดยโฆษณาลงวอลล์ Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
31-08-2013 Lady Gaga เรียกร้องให้แฟนเพลงของเธอไล่ลบลิงค์ซิงเกิลใหม่ที่ "หลุด" มาก่อนกำหนดนี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่นักดนตรีออกมาเรียกร้องการปราบสำเนาเถื่อน "จากฝูงชน" ซึ่งก็คือแฟนเพลงของเธอเอง ซึ่งก็ดูจะได้ผลดีเสียด้วย เพราะก็มีแฟนเพลงจำนวนไม่น้อยไปรายงานความดีความชอบในการรายงานลิงค์สำเนาเถื่อน (ไปยังเว็บไซต์ของ Universal Music Group) ของตนบน Twitter คำถามที่หลงเหลืออยู่คือ Lady Gaga จะได้อะไรจากการเรียกร้องให้แฟนเพลงไปไล่รายงานลิงค์ของเพลงที่หลุดมานี้นอกจากความสะใจ เพราะนี่ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรยอดขาย และถ้าต้องการปิดเพลงที่หลุดมาเป็นความลับ ก็น่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่าแฟนเพลงของเธอจะอดใจไม่ฟังเพลงใหม่ของเธอไหวหรือไม่ก่อนที่จะแจ้งลบ อนึ่ง เพลงที่หลุดมานี้มานามว่า Applause และมีกำหนดออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 สิงหาคม 2013 News Source: http://torrentfreak.com/lady-gaga-applause-leak-sparks-fan-driven-anti-piracy-campaign-130812/ , http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130812gagawages
ผลการวิจัยของนักสังคมวิทยาอเมริกันพบว่าการที่นักการเมืองได้รับการกล่าวถึงถึงทั้งในแง่บวกและลบบน Twitter มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ได้ทั้งสิ้นกล่าวคือ การถูกพูดถึงใน Twitter นั้นเป็นผลดีต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งของนักการเมืองทั้งสิ้นไม่ว่าจะถูกพูดถึงว่าอย่างไร News Source: http://www.popsci.com/science/article/2013-08/political-candidates-twitter-all-tweets-are-good-tweets
มีผู้พบว่า WIFI ของ British Library บล็อคการเข้าไปอ่าน Hamlet ในเว็บไซต์ของ MIT ด้วยเหตุผลว่า "มีเนื้อหาที่รุนแรง"อย่างไรก็ดี หลังจากผู้คนพบทำการ Tweet ประจานการบล็อควรรณกรรมคลาสสิคของ Shakespeare ดังกล่าว ทางห้องสมุดก็ปลอดบล็อคอย่างรวดเร็วพร้อม Tweet กลับว่า "เราได้ปรับปรุงซอฟต์แวร์ตัวกรองแล้ว" ซึ่งก็น่ากังขาว่าตัวกรองประเภทไหนกันแน่ที่จัดว่าวรรณกรรมคลาสสิคของอังกฤษชิ้นนี้เป็นงานที่ "มีเนื้อหารุนแรง" จนต้องบล็อคด้วย นอกเหนือจากนี้ ยังมีรายงานมาในวันเดียวกันว่าเครือข่ายดังกล่าวยังมีการบล็อคภาพจิตรกรรมของจิตรกรยุโรปในยุคสมัยใหม่ตอนต้นด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนด้วยเช่นกัน News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130812/06393424143/british-library-network-blocks-hamlet-violent-content.shtml
16-08-2013 งานเทศกาลครบรอบ 10 The Pirate Bay ระดมทุนสำเร็จโดยผู้สนับสนุนรายใหญ่เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง MAGICในตอนแรก งานนี้มีวี่แววว่าจะล่มเนื่องจากระดมทุนจากฝูงชนได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี ผู้จัดก็ได้รับการช่วยเหลือจากสปอนเซอร์รายใหญ่อย่างเครื่องดื่มชูกำลัง MAGIC ซึ่งการระดมทุนก็เพียงพอจนมีการเสนอ "บัตรฟรี" จำนวนจำกัดให้ผู้สนใจเข้ารวมงานด้วยซ้ำ ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้รับบัตรฟรีต้องไปคลิก "Like" เพจบน Facebook ของเครื่องดื่มชูกำลัง MAGIC ทั้งนี้ งานได้ผ่านไปแล้วในวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ยังไม่พบภาพและรายงานใดๆ เกี่ยวกับงานครบรอบนี้ที่จัดไปแล้วแต่อย่างใด News Source: http://torrentfreak.com/pirate-bays-10-year-anniversary-festival-now-free-130807/
27-08-2013 Facebook จ่ายเงินกว่า 9 ล้านดอลลาร์เป็นค่ายอมความให้ผู้ใช้เฟซบุ๊คที่ร่วมกันฟ้องฐาน Facebook ทำการละเมิดเงื่อนไขของผู้ใช้และทำการลงโฆษณาบนวอลล์พวกเขา โดยสรุปแล้ว Facebook ต้องจ่ายค่ายอมความให้ผู้ใช้ทั้งสิ้นคนละ 15 ดอลลาร์ ซึ่งผู้มีสิทธิเคลมเงิน 15 ดอลลาร์นี้ก็คือผู้ที่ตอบรับการเป็นเจ้าทุกข์ในการฟ้องร้อง Facebook ในตอนแรก (ไปเคลมตอนนี้ไม่ทันแล้ว) รวมประมาณ 614,000 คน นอกเหนือแล้วค่ายอมความก็ยังมีมากกว่านั้นอีก 11 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินก็จะไปยังเหล่าทนายผู้ทำคดี และองค์กรไม่แสวงกำไรต่างๆ ที่ผลักดันการฟ้องร้องนี้อย่าง Electronic Frontier Foundation หรืออย่าง The Berkman Center for Internet and Society ทั้งนี้ มีผู้ใช้อีกกว่า 7,000 คนที่ไม่ยอมรับเงิน 15 ดอลลาร์และยอมความ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถจะฟ้องร้องกับ Facebook เองได้ แม้ว่าความเป็นไปได้ในการชนะคดีจะน้อยก็ตามเพราะผู้พิพากษาก็มีความเห็นว่าบรรดาผู้ใช้ก็ไม่ได้เสียอะไรเท่าไรในการที่ Facebook เพิ่มโฆษณามาบน Feed ของพวกเขา News Source: http://gigaom.com/2013/08/26/facebook-will-pay-15-per-user-after-judge-approves-final-20m-ad-settlement/
28-08-2013 Facebook เผยแพร่รายงานความโปร่งใสเป็นครั้งแรกแล้ว โดยเริ่มรายงานการขอข้อมูลจากรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปี 2013 นี้โดย Facebook ใช้สัญญาว่าจะเปิดเผยข้อมูลนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นการดำเนินตามรอย Google และ Twitter ที่มีรายงานความโปร่งใส่ออกมาอย่างสม่ำเสมอก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดีทาง Facebook ก็ไม่ได้แยกแยะประเภทการร้องขอข้อมูลของรัฐแบบที่ Google ทำ แต่รวมมาทีเดียว ในกรณีของไทย รัฐบาลไทยมีการเรียกร้องข้อมูล 2 ครั้ง เกี่ยวกับข้อมูลของผู้ใช้ Facebook 5 คนในช่วงครึ่งแรกของปี 2013 ที่ผ่านมานี้ ไปดูข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/about/government_requests
มีการสร้างระบบ "บริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัล" ใหม่ขึ้นมาเพื่อป้องกันการปริ๊นท์งานออกแบบ 3 มิติโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วแน่นอนว่านี่เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วและวงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนอีกครั้ง ราวกับว่าความล้มเหลวของระบบนี้ในอุตสาหกรรมบันทึกเสียงไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งนี้การพยายามใช้การบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัลหรือเรียกกันว่า DRM (digital rights management) ของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงก็จัดเป็นก้าวที่ล้มเหลวมากในการปรับตัวกับสถาวะแวดล้อมทางเทคโนโลยีใหม่ เพราะหากอุตสาหกรรมบันทึกเสียงไม่ทำแบบนั้น แล้วเปลี่ยนมาลงทุนในบริการฟังเพลงออนไลน์หรือ Streaming ทั้งหลาย รายได้ก็อาจไม่สูญเสียไปขนาดนี้ก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีระบบ DRM ของการปริ๊น 3 มิติก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะทำงานยังไง ซึ่งก็เนื่องจากภาพรวมของการผลิตแบบ 3 มิติยังไม่ชัดเจนนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่นักออกแบบ 3 มิติ ผู้ให้บริการแบบ 3 มิติ เว็บไซต์แจกแบบ 3 มิติ ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ผู้ขายหมึกพิมพ์ 3 มิติ ผู้บริโภค ไปจนถึงกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการพิมพ์ 3 มิติ News Source: http://torrentfreak.com/3d-printing-drm-aims-to-stop-next-gen-pirates-130827/
Jacob Appelbaum ผู้ถูกขนานนามว่า "ชายผู้อันตรายที่สุดในไซเบอร์สเปซ" จะให้การในศาลอุทธรณ์สวีเดนในคดี Gottfrid Svartholm ผู้ก่อตั้ง The Pirate BayAppelbaum เป็นอดีตโฆษกของ WikiLeaks ปัจจุบันเป็นแกนหลักของโครงการ Tor และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความนิรนามออนไลน์ระดับสูงที่ฝึกให้นักกิจกรรมเรียนรู้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างลับๆ และหายตัวไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่นานมานี้เขาก็ถูกเชื่อมโยงกับบทสัมภาษณ์ Edward Snowden ทางนิตยสาร Rolling Stones ตั้งฉายาเขาว่า "ชายผู้อันตรายที่สุดในไซเบอร์สเปซ" เขาจะมาให้การกับศาลสวีเดนในคดีเกี่ยวกับการแฮคเข้าไปในบริษัทที่ดูแลระบบให้หน่วยงานภาษีของสวีเดนของ Svartholm ในประเด็นเกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้เอาผิด Svartholm ซึ่ง Svartholm ก็ได้สู้คดีในศาลชั้นต้นว่าเขาถูกยัดหลักฐานเหล่านี้ไปในคอมพิวเตอร์ จนถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในที่สุด ทั้งนี้ นี่ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะในระบบศาลของสวีเดน ศาสอุทธรณ์จะไม่มีการรับพยานหลักฐานเพิ่มในการพิจารณาคดี News Source: http://torrentfreak.com/hacker-jacob-appelbaum-to-testify-at-pirate-bay-founder-appeal-130827/ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 28 Aug 2013 09:02 AM PDT การปล่อยชั่วคราวเป็นมาตรการหนึ่งในการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีคุณลักษณะ 2 ประการคือ เป็นกฎหมายที่มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ในการเรียนการสอนวิชากฎหมายเรามักเน้นแนวคิดอำนาจนิยม ไม่ค่อยเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเสรีนิยม มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 27 ส.ค.56 ประธานประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "การแก้ปัญหาสิทธิผู้ต้องหาในการได้รับการประกันตัว" |
ตัวแทนสวนยางเจรจา รมว.เกษตรฯ รับราคา 80 บ/ก.ก.ไม่ได้ เตรียมม็อบใหญ่ 3 ก.ย. Posted: 28 Aug 2013 06:00 AM PDT กป.อพช.ใต้วอน รบ.หยุดใช้ความรุนแรง-แก้ไขจริงจัง ขู่ร่วมม็อบ นายกสั่งรัฐมนตรีรายคนแก้ ด้านตัวแทนเครือข่ายสวนยางหารือ รมว.เกษตรฯ ยันรับราคา 80 บ./ก.ก.ไม่ได้ ขู่หากไม่มีข้อยุติจะม็อบใหญ่ 3 ก.ย.นี้ ย้ำไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง รพ.ชะอวดวอนม็อบเปิดถนน 28 ส.ค.56 ไทยรัฐออนไลน์ รายงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการเครือข่ายสวนยางพาราแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนชาวสวนยาง 4 ภาค นำโดย นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสวนยางพาราแห่งประเทศไทย เข้าหารือ กับนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หลังจากได้ยื่นข้อเสนอ ให้รัฐบาลไปพิจารณา โดยนายวีระศักดิ์ จันทิมา สินธุวงศ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา 6 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวถึง ข้อเสนอที่ยื่นต่อรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องรับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 92 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด 81 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วย หรือ ขี้ยาง 83 ยาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นรมควัน ชั้นสาม 101 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดระบบการซื้อขายให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งหากยางราคาต่ำมาก รัฐจะต้องเข้าไปแทรกแซงราคา ขณะเดียวกัน ระบุว่า การแปรรูปยางพารา ควรสนับสนุนให้มีการนำยางพารา ไปผสมกับสารเคมี เพื่อทำเป็นยางมะตอยเทพื้นถนน ซึ่งจะทำให้ได้ถนนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ส่วนกรณี ที่รัฐบาล ยื่นข้อเสนอ รับซื้อยางแผ่นดิบราคา 80 บาทต่อกิโลกรัมนั้น นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า เกษตรกรไม่สามารถรับข้อเสนอดังกล่าวได้ เนื่องจากขณะนี้ ราคายางแผ่นดิบชั้นสามอยู่ที่ 76 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ตลาดในจีน มีการรับซื้อยางล่วงหน้า 120 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อเปรียบราคาตลาดในไทย กับ ประเทศจีนแล้ว มีความแตกต่างกันมาก ทั้งนี้ นายเทอดศักดิ์ ยอมรับว่า ปัญหาราคายางพารา มีการสะสมมานาน และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดทำให้มี ปัญหาบานปลาย รวมถึงในรัฐบาลชุดนี้ มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึง 4 คน ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำทำให้เกษตรกรมีการนัดรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา และย้ำว่า การชุมนุมของเกษตรกรสวนยางพารา เป็นเรื่องของความเดือดร้อน ไม่มีการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากการหารือในวันนี้ ได้ข้อยุติการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 กันยายน ก็จะไม่เกิดขึ้น นายกสั่งรัฐมนตรีรายคนแก้ม็อบสวนยาง วันเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ (โฆษกเศรษฐกิจ) เปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องหามาตรการเยียวยาโดยด่วน โดยให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พิจารณามาตรการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ศึกษาแนวทางลดต้นทุนการผลิตยาง ทั้งในส่วนของปุ๋ยและการจัดเกษตรโซนนิ่ง เนื่องจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคา 120 บาทต่อกิโลกรัมเป็นไปได้ยาก ไม่เหมือนโครงการรับจำนำข้าว เพราะถ้ารัฐบาลอนุมัติตามข้อเรียกร้องอาจเกิดปัญหาในการนำยางจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ เพื่อเอาราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาด นายวิม กล่าวต่อว่า เพราะตอนนี้มีรายงานว่าในช่วงที่ราคายางตกต่ำ ผู้ประกอบการยางรายใหญ่ได้กว้านซื้อยางกักตุนเอาไว้จำนวนมาก และใช้วิธีนำมวลชนเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลประกันในราคาที่สูง หากรัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง ก็จะมีการเทขายทำกำไรกันออกมา ด้านคมนาคมขนส่งผลกระทบวงกว้าง ล่าสุดทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่าผู้โดยสารที่จะเดินทางไปทางภาคใต้ได้แจ้งยกเลิกตั๋วโดยสารทั้งหมด โดยนายกฯได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม รพ.ชะอวด ยาขาดแคลน-คนไข้เดินทางลำบาก วอนม็อบเปิดถนน แพทย์หญิง อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลชะอวดว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันปิดถนนสายเอเชียที่ 41 แยกควนหนองหงส์ ต.ควนหนองหงส์ และสามแยกควนเงิน ต.บ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ทำให้โรงพยาบาลชะอวดประสบปัญหาไม่ได้รับความสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ได้เนื่องจากถนนสายรองที่ใช้สัญจรไปมาเป็นถนนดินลูกรัง ผิวจราจรขรุขระ อาจจะทบกระเทือนต่อผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขโดยให้มีการต่อส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลพัทลุงแทน ซึ่งได้มีการประสานงานกันไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยาและเวชภัณฑ์บางตัวเริ่มขาดแคลน บริษัทขนส่งไม่สามารถนำไปส่งที่โรงพยาบาลได้ แต่อย่างไรก็ตามทางแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ยังพร้อมให้บริการผู้เจ็บป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ด้าน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชะอวด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม.อำเภอชะอวด ได้ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือจากผู้ชุมนุมเปิดเส้นทางจราจรด้วย โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า ความเดือดร้อนของโรงพยาบาลชะอวด และสาธารณสุขอำเภอชะอวด เราขอประกาศว่าการที่มีผู้ชุมนุมบางคนจากต่างอำเภอต่างจังหวัดได้เข้ามาปิดถนน ปิดทางรถไฟบ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เกิดความเดือดร้อนอย่างรุนแรง ดังนี้ 1.รถพยาบาลฉุกเฉินส่งผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชไม่ได้ 2. ขาดยาและเครื่องมือทางการแพทย์ และรถเข้ามาส่งไม่ได้ 3 คนไข้ที่แพทย์นัดหมายมาและไปตรวจตามกำหนดไม่ได้ และ 4 แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องเดินทางไป-กลับ ได้รับความเดือดร้อน. ชมรม อสม.ชะอวด แถลง สนับสนุนข้อเรียกร้อง แต่ไม่เห็นด้วยกับการปิดถนน เช่นเดียวกับชมรม อสม.ชะอวด ได้ออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่มีการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรพี่น้องประชาชนชาวอำเภอชะอวด และอำเภอ/จังหวัดใกล้เคียง ในอำเภอชะอวดจำนวน 2 จุด คือ สี่แยกบ้านควนหนองหงส์ และแยกทางข้ามรถไฟบ้านตูล และมีการปิดถนนบริเวณดังกล่าวนั้น ทางชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อำเภอชะอวด เห็นด้วยกับการเรียกร้องของผู้ชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลขึ้นราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันที่มีราคาตกต่ำในครั้งนี้ แต่ทางชมรม อสม. อำเภอชะอวด ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมแล้วมีการปิดถนนในเส้นทางที่มีการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเดือดร้อนในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจประจำวัน มีความเดือดร้อนในการเดินทางไปรับริการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ยามเจ็บป่วย หรือตามแพทย์นัด หรือกรณีส่งตัวผู้ป่วยไปรับบริการฉุกเฉิน ทางชมรม อสม. อำเภอชะอวด จึงขอความร่วมมือมายังแกนนำผู้ชุมนุมชาวอำเภอชะอวดและผู้ชุมนุมจาก อำเภอ/จังหวัดใกล้เคียงขอให้เปิดถนนเส้นทางจราจรในจุดที่มีการชุมนุมดังกล่าวด้วย พท.ซัด ปชป.หยุดชักใยม็อบสวนยางล้มรัฐบาล วันเดียวกัน 11.00 น. เนชั่นแชลแนล รายงาน ที่รัฐสภา นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และนายวรชัย เหมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์ อย่านำการเมืองเข้าไปสู่การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ปักหลักปิดถนน และทางรถไฟ ที่บ้านควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โดยนายก่อแก้ว กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวสวนยางพาราบางส่วนยอมรับข้อเสนอที่รัฐบาลจะประกันราคายางพาราอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ยอมรับและจะปิดถนนเพิ่ม ทั้งที่รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด และจะมาเทียบกับการแก้ปัญหาราคาข้าวไม่ได้ เนื่องจากยางพาราไม่ใช่สินค้าพรีเมียมกำหนดราคาตลาดโลกเองไม่ได้ และตนก็เป็นลูกชาวสวนยางคนหนึ่งคิดว่าราคา 80 บางต่อกิโลกรัมอยู่ได้สบาย ๆ นายวิภูแถลง กล่าวว่า จากการลงตรวจสอบในพื้นที่ อ.ชะอวด พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการใช้ม็อบสวนยางในการโค่นล้มรัฐบาล โดยการขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมของ 3 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายอภิชาต การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ประกาศว่าไม่ใช่ผู้อยู่เบื้องหลังแต่เป็นผู้อยู่เบื้องหน้าการชุมนุมครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลสถานการณ์ อย่าให้มีมือที่ 3 เพราะถ้าวันนี้เกิดเลือดตกยางออกมีคนเสียชีวิตก็จะเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ หยุดพฤติกรรมดังกล่าวอย่าให้การเมืองเข้าไปแทรกการชุมนุมไม่เช่นนั้นจะจบลำบาก เพราะทราบว่ามีการขนคนจากจังหวัดอื่นมาร่วมด้วย
ผวจ.นครศรีฯยันไม่คิดสลายม็อบสวนยาง วันเดียกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันภาคใต้ ที่ยังคงรวมตัวปิดถนนบริเวณสี่แยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ รวมทั้งที่บริเวณแยกบ้านตูล ทำให้รถยนต์ และรถไฟไม่สามารถผ่านได้ โดยนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าตำรวจออกหมายจับแกนนำ 15 รายว่า ตนเองยังไม่เห็นหมายจับ อย่างไรก็ตาม ตำรวจคงจะไม่รีบร้อนจับวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะคดีมีอายุความ และวันนี้ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้ง จ.นครศรีธรรมราช จะไปช่วยชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านชะอวด เจรจากับผู้ชุมนุมอีกรอบ เพราะชาวบ้านเดือดร้อน บุตรหลานไม่ได้ไปโรงเรียน ขณะที่โรงพยาบาลชะอวด นำส่งผู้ป่วยไปยังรพ.จังหวัดไม่ได้ การขนส่งต่างๆ รถไฟเป็นอัมพาต ผู้ว่าราชการ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวด้วยว่า ในการเจรจาก่อนหน้านี้ ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยอมรับราคายางพารา กก.ละ 80 บาท เพราะมองว่าเกินราคาต้นทุนแล้ว แต่มีบางส่วนที่ยังไม่ยอมรับ ซึ่งวันนี้ นายกฯสั่งการให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง 4 ภาค มาเจรจาที่ กทม. ทั้งนี้ ผู้ว่าฯนครศรีธรรมราชยืนยันว่า ไม่เคยคิดจะสลายการชุมนุม และคงต้องใช้การเจรจาแก้ปัญหา ส่วนภาพกระทบกระทั่งกัน ในวันที่ 23 ส.ค.นั้น ยอมรับว่า ต้องมีบ้าง เพราะมีการขัดขืนการจับกุม อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ถูกทำร้ายร่างกาย ขอมาแจ้งความ เจ้าหน้าที่พร้อมดำเนินคดีไม่ว่าผู้ที่ทำร้ายจะเป็นตร. หรือ อส ชาวสวนยางนครพนมแถลงเตรียมร่วมชุมนุมกทม. 3 ก.ย. 28 ส.ค. 56 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ พร้อมด้วย นายวิชิต สมรฤทธิ์ อายุ 53 ปี ประธานเครือข่ายยางพารา จ.นครพนม พร้อมด้วย นายสันต์ อยู่บาง อายุ 50 ปี นายกชาวสวนยางนครพนม พร้อมตัวแทน เกษตรกร ยางพาราจังหวัดนครพนม ร่วมกันแถลงข่าว ประกาศจุดยืน ที่จะยกระดับการชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายาง หลังเคยมีการเรียกร้องผ่านระดับจังหวัด ไปยังรัฐบาลหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยมีการประกาศจะระดมเกษตรกรชาวสวนยางนครพนม ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน เดินทางไปร่วมชุมนุมครั้งใหญ่ที่ กทม. ในวันที่ 3 ก.ย. 56 เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ทำให้ราคายางตกต่ำ แลปัจจุบันต้องขายยางพาราในราคาขาดทุน นายศุภชัย กล่าวว่า ในการออกมาประกาศจุดยืนในการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือปัญหาอื่น แต่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมหาศาล ที่รัฐบาลเคยสนับสนุนส่งเสริม แต่พอเกิดปัญหาราคาตกต่ำ กลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยทางคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติ มีการกำหนดราคายางแผ่น ต่ำกว่า 70 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ถือว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจกับเกษตรกร รวมถึงการเสนอจัดงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแก้ไข เป็นเรื่องอนาคต ที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา "ส่วนตัวเชื่อว่าในการแก้ปัญหาราคายาง ไม่สามารถจะดำเนินการเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ รัฐบาลต้องหันมาร่วมกันแก้ไขจริงจัง เพราะยางพาราไม่ใช่สินค้าที่บูดเน่า สามารถเก็บสต๊อกได้ ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ส่วนการที่จะเอาแนวทางรัฐบาลชุดเดิมมาแก้ไข ในส่วนที่เป็นประโยชน์ เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องเสียหาย อยากให้รัฐบาลแยกให้ออก ระหว่างการเมืองกับความเดือดร้อนของเกษตรกร" อดีต รมช.เกษตรฯ กล่าว ด้านนายสันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวสวนยางนครพนมมีความเดือดร้อนไม่แพ้พื้นที่อื่น เนื่องจาก จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่ปลูกยางพารามากเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน รองจากพื้นที่ จ.บึงกาฬ ปัจจุบันในพื้นที่ จ.นครพนม มีเกษตรกรชาวสวนยาง ประมาณ 15,000 ราย มีพื้นที่ปลูกราว 2.5 แสนไร่ มีการผลิต มูลค่าส่งขายประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง บางรายต้องเป็นหนี้สินจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันราคายางแผ่นตกกิโลกรัมละ 70 บาท ถือเป็นราคาต้นทุน เคยเรียกร้องให้รัฐบาลมาแก้ไข แต่ไม่ได้รับความจริงใจ ทั้งที่ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของอีสาน จึงอยากให้มีการแก้ไขเร่งด่วน หากไม่แก้ไข ก็ได้การประกาศจุดยืนที่จะระดมเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ไปร่วมชุมนุมที่ กทม.แน่ นายสันต์ กล่าวอีกว่า จากการหารือทางคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยาง ต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคายางพารา ดังนี้ ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 กิโลกรัมละ 101 บาท ยางแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคากิโลกรัมละ 93 บาท น้ำยางสด 100 เปอร์เซ็นต์ ราคากิโลกรัมละ 81 บาท และยางก้นถ้วย 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 83 บาท แต่มติแนวทางการแก้ไขคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติ ยังไม่ตรงตามความต้องการของเกษตรกร จึงไม่รับพิจารณา และยืนยันที่จะเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง
สวนยางเมืองเลยเตรียมเคลื่อนไหว 2,000 คน ร่วมกดดันรัฐบาล มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายชัยยุทธ พิศฐาน แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.เลย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เลยได้ประชุมแกนนำไปแล้วเพื่อจะหารือและรวมพลที่จะเดินทางไปยังอำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยจัดตัวแทนจากกลุ่มชาวสวนยาง จ.เลย กลุ่มละ 30 คน ซึ่งทางเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เลยมีกลุ่มทั้งหมด 80 กลุ่ม รวม 2,400 คน เดินทางไปยังอำเภอสีคิ้ว "อยากเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีว่าให้เข้ามาดูแลราคายางพารา ซึ่งไม่อยากจะให้ช่วยแต่ราคาข้าวในภาคกลาง ส่วนในภาคเหนือและอีสานก็เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ตนยอมรับว่าเป็นคนพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องยอมรับกับคนหมู่มากที่ปลูกยางพาราในพื้นที่เลย ซึ่งได้รับความเดือดร้อน ซึ่ง จ.เลยนั้นปลูกยางพาราลำดับ 2 ในภาคอีสาน รองจาก จ.บึงกาฬ ถึง 700,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนยาง จ.เลยนั้นเดือดร้อนจริงจากราคายางที่ตกต่ำ" นายชัยยุทธกล่าว นายชัยยุทธกล่าวยืนยันว่า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เลยกว่า 2,000 คนจะระดมพลเพื่อเข้าไปสมทบที่อำเภอสีคิ้วอย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรคใดก็ตาม ตนก็จะพาพี่น้องที่เดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำไปสมทบกับเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสานกว่า 60,000 คนอย่างแน่นอน
กป.อพช.ใต้ วอน รบ.หยุดใช้ความรุนแรง-แก้ไขจริงจัง ขู่ร่วมม็อบยาง 27 ส.ค.56 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้) ออกแถลงการณ์เรื่อง "หยุดใช้ความรุนแรง และหันมาแก้ไขปัญหาชาวสวนยางอย่างจริงจัง" โดยมีเนื้อหา ดังนี้ ปัญหาราคายางตกต่ำตลอดมาที่ขาดการเหลียวแลจัดการอย่างเป็นธรรม ทำให้มีการจัดชุมนุมของพี่น้องชาวสวนยางในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคายาง ถือเป็นการแสดงออกจากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง และเป็นไปตามสิทธิพื้นฐานของประชาชน รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และปราศจากอาวุธ โดยชาวสวนยางจำนวนหนึ่งต้องปิดถนนเพชรเกษม 41 บริเวณแยกควนหนองหงส์ อำเภอชะอวด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา และในวันเดียวกันนั้น นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม จนเกิดการปะทะระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รับบาดเจ็บนับสิบราย ถือเป็นเหตุการณ์ที่รับรู้โดยทั่วกันในสื่อกระแสหลัก และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมภาคใต้ เป็นผลให้ชาวสวนยางจากจังหวัดอื่นๆ เริ่มทยอยเดินทางเข้ามาชุมนุมสมทบกับกลุ่มดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่รวมตัวกันทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ มีความเห็นว่า การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อเรียกร้องถึงความเดือดร้อนของตัวเองถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าหากรัฐบาลสนใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้น ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้ 1. รัฐบาลต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อปัญหาของชาวเกษตรกรในภาคใต้ ทั้งเรื่องยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอื่นๆ โดยจัดตั้งคณะทำงานร่วมจากตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วม 2. ต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวสวนยางที่ได้เสนอในขณะนี้ รัฐจะต้องแสดงความจริงใจตั้งแต่ผู้มารับข้อเรียกร้องต้องเป็นผู้มีอำนาจ จนถึงการนำข้อเสนอดังกล่าวสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 3.รัฐต้องไม่สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความรุนแรงจากการชุมนุมของชาวสวนยางที่รวมตัวกันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการสลายมวลชน หากแต่ควรหาทางออกที่สร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขความเดือดร้อนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอดังกล่าว กป.อพช.ใต้ จะประสานให้เครือข่ายภาคีเข้าร่วม และสนับสนุนการเรียกร้องของพี่น้องชาวสวนยางต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตัวแทนรัฐสภายุโรปจี้ลาวกรณีการหายตัว 'สมบัติ สมพอน' Posted: 28 Aug 2013 05:37 AM PDT ตัวแทนสมาชิกสภายุโรปแถลงหลังไปเยือนลาวในภารกิจติดตามความคืบหน้าการหายตัวของนายสมบัติ สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว ชี้ยังไม่มีความคืบหน้า แต่จะยังคงกดดันรัฐบาลลาวต่อไปอย่างใกล้ชิด 28 ส.ค. 56 - ณ สมาคมนักข่าวต่างประเทศ ถนนเพลินจิต ตัวแทนรัฐสภายุโรป นายโซเรน ซอนเดอการ์ด พร้อมคณะ ประกอบด้วยนายพอล-เอมิล ดูเปรต์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนจากเบลเยี่ยม และนายมูกิยานโต้ ชาวอินโดนีเซีย ประธานสหพันธ์ต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหายแห่งเอเชีย ได้แถลงผลภารกิจการไปเยือนลาวเพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการหายตัวของนายสมบัติ สมพอน นักพัฒนาอาวุโส และผู้อำนวยการองค์กรด้านการศึกษาและพัฒนาของลาว PLADETC ซึ่งได้หายตัวไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยนายซอนเดอการ์ด ซึ่งได้เดินทางไปลาวเมื่อวันที่ 26-27 ส.ค. ที่ผ่านมา และได้พบกับตัวแทนรัฐสภา และปลัดกระทรวงต่างประเทศของลาว โดยระบุว่ารัฐบาลลาวอ้างว่ายังหาตัวนายสมบัติไม่พบ และยังไม่ทราบชะตากรรมว่าอยู่ที่ใด ทั้งนี้รัฐบาลลาวได้แต่ระบุว่าขอเวลาเพิ่มเติมในการสืบสวนกรณีนี้ การเดินทางของคณะรัฐสภายุโรป นับเป็นการไปเยือนลาวครั้งที่สามโดยคณะสมาชิกรัฐสภาประเทศต่างๆ หลังจากการหายตัวของนายสมบัติ สมพอน ทั้งนี้ นายสมบัติ ได้หายตัวไปในเวลากลางคืนของวันที่ 15 ธ.ค. ณ กรุงเวียงจันทร์ โดยหลักฐานเทปวีดีโอวงจรปิดได้บันทึกภาพว่า นายสมบัติถูกหยุดที่ด่านตรวจของตำรวจ จากนั้นถูกบังคับโดยชายนอกเครื่องแบบให้ขึ้นรถจี๊ปสีขาว และขับออกไป นับจากนั้นมา ไม่มีใครพบเห็นนายสมบัติอีกเลย "ข้อความหลักๆ ของเราที่อยากสื่อสารคือ มันเป็นไปไม่ได้ที่ในประเทศอย่างลาว จะยอมว่าบุคคลหายตัวไป โดยที่อยู่ห่างจากสถานีตำรวจไม่กี่เมตร ทุกอย่างทุกบันทึกอยู่ในกล้องหมดแล้ว และถึงแม้กระนั้น แปดเดือนก็ผ่านไปโดยไม่มีผลคืบหน้าจากการสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น" ซอนเดอการ์ดกล่าว สมาชิกรัฐสภายุโรปจากประเทศเดนมาร์คกล่าวด้วยว่า รัฐบาลลาวยังปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือในการสอบสวนจากต่างประเทศ เนื่องจากจากทางรัฐสภายุโรปได้เสนอว่าจะช่วยนำเทปดังกล่าวไปวิเคราะห์หาเลขทะเบียนรถด้วยเทคโนโลยีการสอบสวนที่ประสิทธิภาพมากกว่า แต่รัฐบาลลาวไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ทางตัวแทนคณะรัฐสภายุโรป ได้แถลงว่า จะยังจับตาความคืบหน้าการสอบสวนจากรัฐบาลลาวต่อไป และให้รัฐบาลลาวแจ้งผลความคืบหน้าต่อกรณีนี้ ก่อนที่คณะจากรัฐสภายุโรปจะเดินทางเยือนลาวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนตุลาคม ซอนเดอการ์ดระบุว่า หากลาวยังคงไม่มีผลสอบสวนที่คืบหน้าต่อกรณีการหายตัวของนายสมบัติ ทางสหภาพยุโรปอาจใช้มาตรการกดดันลาวให้ไม่ให้ได้รับที่นั่งในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีหน้า หรืออาจไม่ให้ลาวได้รับการเลื่อนสถานะจากประเทศที่ยังไม่พัฒนา (least developed country) ในอนาคต ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิด 10 เหตุผลไม่รับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. คุมเนื้อหาสื่อ Posted: 28 Aug 2013 03:40 AM PDT
ดูร่างประกาศที่ http://bit.ly/16ONhlk (28 ส.ค.56) ที่ห้องประชุม 1004 ชั้น 10 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาโต๊ะกลม : เรื่อง 10 เหตุผลที่ไม่รับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. กำกับสื่อ จัดโดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์
รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เข้าใจว่า เจตนาของประกาศคือการทำให้เรื่องที่ไม่ชัดชัดขึ้น แต่เมื่อดูประเด็นเรื่องลามกไม่ชัด ขึ้นเลย เช่น ข้อ 9 ห้ามเนื้อหาหยาบโลน น่ารังเกียจ ขัดศีลธรรม ถามว่า กรณีสไปร์ทใส่ถุง ซึ่งเป็นการป้องกัน เป็นเรื่องดีหรือไม่ ภาพออรัลเซ็กส์รับได้ไหม เห็นอวัยวะเพศให้เห็นได้แค่ไหน สมัยหนึ่ง อก ขาอ่อน ภาวนา ชนะจิต ดารารุ่นเก่าใส่กางเกงขาสั้น คนฮือฮา ปัจจุบัน ก็ใส่กันทั่วในมหาวิทยาลัย หรือเรื่องการยั่วยุทางเพศที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ถามว่ายั่วยุแบบไหนไม่เป็นประโยชน์ ยั่วแล้วฟินเป็นประโยชน์ไหม ถ้าไม่ฟิน แปลว่าไม่เป็นประโยชน์ใช่ไหม รุจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมคนไทยรังเกียจเรื่องเพศ ซึ่งไปโยงกับลามกอนาจาร ทำให้กลายเป็นห้ามพูดเรื่องเพศไปเลย คาดว่ามาจากการอยากควบคุมไม่ให้อะไรที่ผิดไปจากเพศวิถีกระแสหลัก เช่น เรื่องเพศสกปรกอันตราย เมื่อสไปร์ทใส่ถุง ทำให้เรื่องเพศสกปรก เป็นเรื่องสะอาดและไม่อันตราย แต่ กสทช.รับไม่ได้ เรื่องจะมีอะไรกันได้ต้องแต่งงาน ผัวเดียวเมียเดียว เพศสัมพันธ์เพื่อเจริญพันธุ์ ปรากฏว่า สไปร์ทขัดหมด แง่นี้ แรงเงาจึงรับได้ เพราะสุดท้ายถูกพิพากษา ผีอีเฟือง ผู้ชายมีเมียมาก ผีจึงออกอาละวาด แต่สไปร์ท มีเพศสัมพันธ์เพื่อความเพลิดเพลิน และมีสุขภาวะ สังคมไทยไม่ยอมรับ รุจน์ กล่าวว่า ถ้าจะห้ามไม่ให้มีเพศวิถีกระแส อื่น ถามว่าทำได้หรือไม่ เขามองว่าห้ามไม่ได้แล้ว โดยจะเห็นว่า สถิติแม่วัยใสที่ตั้งครรภ์ ซึ่ง WHO ระบุว่า ไม่ควรเกิน 10% ของการตั้งครรภ์ทั้งประเทศ ประเทศไทย อยู่ที่กว่า 13% เป็นที่หนึ่งในเอเชีย และที่สองของโลก ทางแก้คือ ต้องมีเพศวิถีแบบอื่นขึ้นมาสูสีกัน เช่น เพศวิถีแบบฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม หากร่างประกาศนี้ผ่าน จะทำให้เพศวิถีกระแสหลักคืนชีพ และหดเพศวิถีแบบอื่นไว้ใต้ดิน
'ประวัติศาสตร์' กับร่างประกาศคุมเนื้อหา: เมื่อประวัติศาสตร์ไม่ได้มีชุดเดียว จะตรวจสอบกันยังไง สุ เนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประกาศหรือข้อบังคับใดที่ออกมา ถ้าขาดความชัดเจน หรือที่แย่กว่านั้นคือขัดข้อเท็จจริง จะส่งผลต่อการใช้ในทางปฏิบัติ หรืออาจถูกนำไปใช้จับผิด กลั่นแกล้งกันด้วย สุเนตร กล่าวถึง ข้อ 23 ของประกาศ ที่ว่า "การนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาอ้างถึงข้อเท็จจริงในอดีต หรือข้อมูลประวัติศาสตร์ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เป็นจริง และต้องไม่มีลักษณะของการตัดทิ้ง ดัดแปลง แก้ไข หรือละเลยข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อบุคคลหรือองค์กรที่ถูกกล่าวอ้างถึง" โดยถามว่าอะไรคือความถูกต้องของ ข้อเท็จจริงในอดีต จะเอาอะไรเป็นบรรทัดฐาน เอาเฉพาะเรื่องคนไทยมาจากไหน ยังไม่ได้ข้อสรุปเลย ที่ซ้ำร้ายคือ พอพูดถึงข้อมูลประวัติศาสตร์ต้องถูก ต้องเป็นจริง ประหนึ่งว่ามีชุดเดียวแบบเดียว ถามว่ามีด้วยหรือ เช่น ถ้าอ่านข้อมูลฝ่ายไทย เรื่องความสัมพันธ์กับพม่า เราเป็นพระเอก อ่านของพม่า เราอาจเป็นผู้ร้าย เพราะข้อมูลประวัติศาสตร์เป็นของที่มนุษย์ทำ ขึ้นกับว่ามนุษย์คนไหนพูด ด้วยผลประโยชน์อะไร ก็ให้ข้อมูลที่ได้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีคำถามด้วยว่าข้อมูลประวัติศาสตร์จะกินความแค่ไหน จะดูจากข้อมูลเอกสารระดับต้น พงศาวดาร หรือรวมถึงการตีความของนักประวัติศาสตร์ด้วยหรือไม่ เพราะหลายครั้งการตีความ เช่น โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กลายเป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ไปแล้ว ทั้งที่บางเรื่องไม่มีข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เลย เช่น ที่บอกว่า สมเด็จพระนเรศวรกลับมา เพราะแลกตัวกับพระสุพรรณากัลยา ซึ่งไม่มีหลักฐานเลยแม้แต่น้อย การนำเสนอในสื่อต่างๆ อย่างสารคดี ละคร ไม่ได้มีแค่ข้อเท็จจริงและการตีความ แต่มีจินตนาการด้วย ซึ่งขาดไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นหนัง ละครไม่ได้ เพราะข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่ได้เล่า ละเอียดขนาดนั้น ว่าใครรู้สึกอย่างไร แต่ละครนำมาสร้างต่อ ยกตัวอย่างกรณีสุริโยทัย มีไม่กี่บรรทัดในประวัติศาสตร์ ถ้าทำตามประกาศข้อนี้ ก็คงทำหนังไม่ได้แน่ ในฐานะนักประวัติศาสตร์ มีข้อนี้คงลำบาก แม้จะเข้าใจเจตนาที่ดี แต่เจตนาที่ดีต้องมาพร้อมกับความรู้และปัญญา ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาอีกเยอะตามมา ต่อคำถามว่า การร่างประกาศข้อนี้ เป็นเพราะกลัวอะไรในประวัติศาสตร์ สุเนตร กล่าวว่า ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ส่วนมากจะอยู่ในกระแสหลัก มีกระแสย่อยประปราย แต่ไม่ขัดกับประวัติชาติหรือการ รักษาเอกราชของชาติ แต่เรื่องที่เป็นข้อขัดแย้ง (controversial) จะเป็นประวัติศาสต์ร่วมสมัย ตั้งแต่ 2475 หรือ 14 ต.ค.16 ซึ่งอาจกระทบถึงผู้ที่เกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่
10 เหตุผลไม่รับร่างประกาศฯ ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึง 10 เหตุผลที่ทำให้ไม่ยอมรับร่างประกาศนี้ ว่า 1. การมีร่างนี้ออกมา เป็นการเพิ่มความซ้ำซ้อนกับก ฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น กฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ร.บ.ว่าด้วยเด็กและเยาวชน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และยังย้ำถึงการควบคุมสิทธิเสรีภาพสื่อและความคิดความรู้ของประชาชน 2. ขัดเจตนารมณ์ปฏิรูปสื่อ ที่่ผ่านมา มีการต่อสู้เพื่อให้มี กสทช. เพื่อเปิดหูเปิดตา แต่ประกาศฉบับนี้กลับจะปิดหูปิดตาเรา 3. นิยาม เช่น ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี ยังคลุมเครือและคร่ำครึ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ออกประกาศไม่มีแนวคิดก้าวหน้าเรื่องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน 4. นิยามที่คลุมเครือนำไปสู่การวินิจฉัยที่คลุมเครือ ที่ผ่านมา ขนาดคำวินิจฉัยศาลเรายังไม่เชื่อ แล้วจะเชื่อ กสทช.หรือ 5. ข้อ 7 ของร่าง ซึ่งเขียนถึงเนื้อหารายการที่ห้ามออกอากาศ จะทำให้สื่อเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ปราศจากมลทิน และไม่ต้องแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมือง 6. อำนาจในการควบคุม ให้อำนาจซ้ำซ้อนตั้งแต่อำนาจ กสทช. อำนาจผู้ประกอบการ ในการควบคุมคนทำงานสื่อซึ่งส่วนใหญ่ก็ควบคุมตัวเองอยู่แล้ว 7. ข้อ 26 ของร่าง เป็นการให้อำนาจปากเปล่า คือให้กรรมการที่ได้รับมอบหมายหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจสั่งด้วยวาจาให้ระงับการออกอากาศได้ 8. เดิม กฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองกษัตริย์ และรัชทายาท แต่ในข้อ 7.1 ซึ่งพูดถึงเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศ เพิ่มคำว่า "สถาบันกษัตริย์" เข้าไปด้วย อาจทำให้ต่อไปแม้แต่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ก็ทำไม่ได้ เท่ากับเป็นการปิดปากอย่างเต็มที่ ซึ่งขัดกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีกลุ่มคนที่กำลังรณรงค์เรื่องการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 9. แทนที่ กสทช.จะส่งเสริมการทำงานของสื่อ กลับควบคุมเนื้อหาแทน 10. แม้มีข้อดีอย่างข้อ 8.1 ที่ห้ามการแสดงออกที่ก่อให้เกิดการดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความละเอียดในการร่าง แต่ในภาพรวมของร่างประกาศทั้งหมด นั้นลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเลวร้ายเกินกว่าจะยอมรับได้ ทั้งนี้ ธีระพล เสนอให้คว่ำร่างประกาศนี้ และสนับสนุนให้มีการจัดทำข้อบังคับจริยธรรม ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของนักวิชาชีพ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักศึกษา ‘ส่องไฟ-นอนตาย’ หน้าสถานทูตอียิปต์ ประณามปราบประชาชน Posted: 27 Aug 2013 10:04 PM PDT สนนท., สนมท. และ PERMAS แอ๊คชั่น 'ส่องไฟ-นอนตาย' หน้าสถานทูตอียิปต์ ประณามการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลรักษาการหลังจากการรัฐประหาร เผยทูตฯนัดชี้แจงแต่ไม่ทำตามที่ตกลงไว้ เตรียมเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อ 26 ส.ค.56 เวลา 10.00 น. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี(PERMAS) ชุมนุมหน้าสถานทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย ซ.เอกมัย ประท้วงการปราบปรามประชาชนอียิปต์โดยรัฐบารักษาการจากการรัฐประหาร พร้อมกับเตรียมเข้ารับฟังคำชี้แจงจากทูตฯ อียิปต์ ต่อกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามที่มีการนัดไว้เมื่อ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังกลุ่มนักษาศึกษาและนักกิจกรรมได้มายื่นหนังสือหรือชุมนุมประณามการกระทำของรัฐบาลรักษาการฯ นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษายังมีการทำกิจกรรมบริเวณหน้าสถานทูตด้วยการจำลองเหตุการณ์การเสียชีวิต พร้อมทั้งการใช้ไฟฉายส่องไปที่ผู้เสียชีวิตด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่มนักศึกษาถูกปฏิเสธการเข้าพบทูตทั้งหมด โดยอนุญาตเพียงตัวแทนเพื่อเขาพบเป็ฯการภายในเท่านั้น ทำให้นักศึกษาไม่พอใน โดย สุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สนนท. กล่าวด้วยว่า ทางสถานทูตอ้างว่าจะขอเชิญตัวแทนนักศึกษาขึ้นไปพูดคุยภายในสถานทูตเท่านั้นและไม่อนุญาตให้นำสื่อหรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ เข้าไปได้ ทางนิสิตนักศึกษาเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันในตอนแรกที่ประสานงานให้มารับฟัง และถือเป็นการไม่เป็นธรรมที่จะให้ตัวแทนแค่เข้าไปรับฟังการชี้แจงฝ่ายเดียวจากทางสถานทูต สุพัฒน์ เปิดเผยถึงกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปด้วยว่า เมื่อการเดินทางมารับฟังคำชี้แจงไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ทางนิสิตนักศึกษาจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น ทำเนีบยรัฐบาล สถานทูตประเทศต่างๆ รวมถึงสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์คัดค้าน และประณามปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลรัฐประหารอียิปต์ ตลอดจนเรียกร้องให้นานาประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างให้ออกมาตรการกดดันให้รัฐบาลรัฐประหารฯยุติปฏิบัติการทางทหารต่อประชาชนและดำเนินการคืนอำนาจแก่ประชาชนชาวอียิปต์อย่างเร็วที่สุด โดยการทบทวนความสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลือแก่รักษารัฐบาลรัฐประหารอียิปต์ต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น