โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'เฟซบุ๊ก' เปิดรายงานคำขอข้อมูลผู้ใช้จากรัฐทั่วโลก ครั้งแรก

Posted: 27 Aug 2013 12:26 PM PDT

เฟซบุ๊ก โซเชียลเน็ตเวิร์กยอดนิยม เผยแพร่รายงานความโปร่งใสเป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (27 ส.ค.) โดยรายงานดังกล่าว ประกอบด้วยจำนวนครั้งที่รัฐบาลทั่วโลกขอข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กและจำนวนครั้งที่เฟซบุ๊กยอมให้ข้อมูลตามคำร้องขอ

รายงานดังกล่าว ครอบคลุมระยะเวลาหกเดือนแรกของปี 2013 จนถึง 30 มิ.ย. โดยพบว่ามีการร้องขอข้อมูลผู้ใช้จำนวน 37,954 - 38,954 ราย จากรัฐบาล 71 ประเทศทั่วโลก โดยสาเหตุที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขที่แน่นอนได้ เพราะเฟซบุ๊กไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยจำนวนครั้งที่ขอและจำนวนบัญชีผู้ใช้ (แอคเคาท์) ที่ให้ตามการร้องขอจากรัฐบาลสหรัฐฯ

คอลิน สเตรทช์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของเฟซบุ๊ก อธิบายว่า บริษัทได้รายงานตัวเลขของการร้องขอที่เกี่ยวกับอาชญากรรมและความมั่นคงของชาติมากที่สุดเท่าที่กฎหมายจะอนุญาตให้เปิดเผยได้ พร้อมระบุด้วยว่า บริษัทจะพยายามผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสมากขึ้น โดยจะรวมถึงจำนวนครั้งที่เฉพาะเจาะจงและประเภทของคำขอที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในด้วย

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเคยเปิดเผยข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับการร้องขอข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโครงการ PRISM ซึ่งเป็นการสอดส่องประชาชนของสภาความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยเก็บข้อมูลจากบริษัทอินเทอร์เน็ตต่างๆ อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์และแอปเปิล โดยนี่เป็นครั้งแรกที่เฟซบุ๊กเปิดเผยรายงานฉบับเต็ม ขณะที่กูเกิลทำมาก่อนแล้วหลายปี ตามด้วยทวิตเตอร์และไมโครซอฟท์ ตามลำดับ ทั้งนี้ มีรายงานว่า บริษัทไอทีเหล่านี้ต่างก็ขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้เปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงของคำร้องขอที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติที่พวกเขาได้รับ

จากรายงานดังกล่าว สหรัฐฯ มีการร้องขอข้อมูลผู้ใช้มากที่สุด คือ คำขอราว 11,000-12,000 ครั้ง ต่อผู้ใช้ราว 20,000-21,000 ราย ตามด้วย อินเดีย มีการร้องขอ 3,245 ครั้งต่อผู้ใช้ 4,144 ราย และสหราชอาณาจักร มีคำขอ 1,975 ครั้งต่อผู้ใช้ 2,337 ราย โดยเฟซบุ๊กให้ข้อมูลตามคำขอของสหรัฐฯ คิดเป็น 79% อินเดีย 50% และสหราชอาณาจักร 68% ของคำขอทั้งหมด

สำหรับประเทศไทยนั้น เฟซบุ๊กระบุว่ามีคำขอ 2 ครั้ง ต่อผู้ใช้ 5 ราย โดยเฟซบุ๊กไม่เคยเปิดเผยข้อมูลต่อรัฐบาลไทย

ด้าน เควิน แบงสตัน อัยการประจำศูนย์ประชาธิปไตยและเทคโนโลยี (Center for Democracy and Technology) แสดงความพอใจกับรายงานดังกล่าว โดยบอกว่า แสงอาทิตย์เป็นยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุด และตัวเลขเบื้องต้นเกี่ยวกับขอบเขตการสอดส่องผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้จะเป็นการแจ้งเตือนล่วงหน้าถึงการตรวจสอบที่ไม่ถูกต้องหรือมากเกินไปของทางการในการขอข้อมูลผู้ใช้  

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กระบุด้วยว่าจะมีรายงานออกมาอีกอย่างสม่ำเสมอในอนาคต

ดูรายงานความโปร่งใสที่ https://www.facebook.com/about/government_requests

 

เรียบเรียงจาก
Facebook Releases First Transparency Report
http://mashable.com/2013/08/27/facebook-transparency-report/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw: 'เสรีภาพสื่อ' ซีรีส์ดัง 'ฮอร์โมน' กับร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ กสทช.

Posted: 27 Aug 2013 12:00 PM PDT

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 56 เวลา 13.00 น. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานเสวนาเรื่อง สิทธิเสรีภาพสื่อกับพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์: เสรีภาพสื่อในวันที่ไร้ฮอร์โมนส์ เพื่อวิพากษ์ถึงปัญหาในร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....(ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ) และจัดทำข้อเสนอเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข

 



อ.กุลนารี เสือโรจน์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

อ.กุลนารี อธิบายก่อนว่า ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ขยายความความกำกวมของมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยร่างนี้ประกอบด้วยสามหมวด หมวดแรกว่าด้วยการนิยามเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศ หมวดที่สองว่าด้วยแนวทางของเนื้อหาที่กสทช.จะเข้ามาควบคุมรายการข่าว หมวดสุดท้ายเป็นเรื่องมาตรการการกำกับดูแลที่อ้างอิงมาตรา 37 และ 38 ที่จะให้ผู้รับใบอนุญาตคุมเนื้อหา และกสทช.ควบคุมเนื้อหาอีกชั้นหนึ่ง

อ.กุลนารีกล่าวว่า จากร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯฉบับนี้พบปัญหาเรื่องความกำกวมในการใช้คำ ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อแล้ว คนที่จะมากำกับดูแลสื่อยังมีกลุ่มทุน กลุ่มการเมือง หากกฎเกณฑ์มีความกำกวม คนย่อมตีความไปในทางที่ตนได้ประโยชน์

ตัวอย่างความกำกวมในร่าง เช่น การกำหนดห้ามเนื้อหาที่ "ล้มล้างอำนาจประชาธิปไตยไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน" "การแสดงออกที่จงใจให้เกิดการเกลียดชังหรือลดคุณค่า" "การห้ามนำเสนอเรื่องน่ารังเกียจและขัดต่อศีลธรรม" คำเหล่านี้เป็นคำที่ต้องใช้ดุลพินิจ และเป็นเรื่องอัตวิสัยมาก

อ.กุลนารีเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกฎเกณฑ์ในต่างประเทศ จะกำหนดเนื้อหาที่ห้ามเสนอโดยมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ชัดเจนด้วย "คำที่ไม่เหมาะสม" บางกรณีก็สามารถระบุออกมาเป็นคำได้ อย่างคำว่า fuck มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่าจะพูดออกสื่อไม่ได้เฉพาะในบริบทที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ แต่พูดได้ในกรณีที่เป็นการสบถ นอกจากนี้ มีกลุ่มคำที่ให้ออกอากาศทางวิทยุได้ แต่ห้ามออกอากาศทางโทรทัศน์ หรือคำคำเดียวกัน บางครั้งออกอากาศในรายการข่าวได้แต่ออกอากาศในรายการบันเทิงไม่ได้

อ.กุลนารียังเห็นว่า ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับนี้เน้นควบคุมมากกว่ากำกับ ซึ่งกสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล มีหน้าที่กำกับดูแลการออกอากาศให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์ภายใต้บรรยากาศที่ดี แต่เห็นได้จากร่างฉบับนี้ว่า กสทช.ข้ามอำนาจมาคุมเนื้อหาสื่อมากเกินไป

อ.กุลนารียังให้ความเห็นถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า กระบวนการของกสทช.ที่ผ่านมามักให้การมีส่วนร่วมอยู่ที่ปลายทาง แค่การทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ควรเปิดกระบวนการมีส่วนร่วมให้ประชาชนตั้งแต่ขั้นต้นของการยกร่าง

นักวิชาการจากคณะวารสารศาสตร์เสนอว่า กสทช.ต้องระมัดระวังการใช้อำนาจขององค์กรกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ หากการออกระเบียบเกี่ยวกับการกำกับดูแลสามารถผลักอำนาจไม่ให้อยู่เพียงแค่องค์กรใดองค์กรเดียว น่าจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น


รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า วันนี้คนที่อยู่ในสังคมไทยน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าความพยายามจะสร้างกติกาไม่ว่าจะเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่ลำบากสุดๆ กติกาในที่นี้หมายถึงว่าเราจะทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง มันยากเพราะคนมีความเห็นต่างกันไม่เห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่อง และคนที่ไม่เห็นพ้องต้องกัน ก็มีทั้งพื้นที่และเครื่องมือในการแสดงความไม่เห็นพ้องต้องกันที่ว่านี้ด้วย

ความไม่เห็นพ้องต้องกันทำให้ไปไหนค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะกติกาว่าอะไรบ้างสมควรนำเสนอในที่สาธารณะผ่านสื่อได้ เพราะมันกระทบหลักใหญ่ว่าด้วย "เสรีภาพในการแสดงออก" เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จะต้องมีการลุยกันอย่างหนักหนาสาหัสเป็นธรรมดา

การใช้คำแต่ละคำในร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ พอเอาไปใช้จริงก็ยากหมด เช่น คำว่า "ความมั่นคง" ตีความได้ต่างกันมากขึ้นอยู่กับว่าคนตีความโฟกัสไปที่ไหน ความมั่นคงที่ว่านี้คือความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของระบบการเมือง หรือความมั่นคงของมนุษย์ เพราะคำตอบที่ได้จะเป็นคนละเรื่อง หรือแม้โฟกัสไปที่เรื่องเดียวกันก็ยังคิดเห็นต่างกันได้ "ความสงบเรียบร้อย" "ศีลธรรมอันดีงาม" คำต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่โตมาก จะยิ่งเห็นต่างกันเยอะมาก เพราะฉะนั้น มันก็จะเกิดการโต้เถียง เพราะคนมีพื้นและก็มีข้อมูลในการโต้เถียง ในที่สุดเรื่องเหล่านี้จะไม่มีทางนิ่ง และจะอันตรายที่จะทำให้มันนิ่ง

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เชื่อว่า ถ้าจะตัดสินว่าอะไรควรหรือไม่ควรปรากฏ ในที่สุดจะตัดสินไม่ได้ทุกอย่าง แท้ที่จริงแล้วมันคลุมเครือ และต้องอาศัยการตีความของคน ซึ่งบังเอิญคนที่ใช้อำนาจรัฐไทยในขณะนี้ช่วยคิดแทนเรา เอารสนิยมของท่านมาบอกเราว่าอะไรที่เราควรดูไม่ควรดู เพราะฉะนั้น ซีรียส์เรื่อง "ฮอร์โมน" จึงโดนไปด้วยเต็มๆ

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมดในเรื่องเพศก็คงไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าเรื่องไหนๆ คนก็คิดไม่เหมือนกัน สุดท้ายเมื่อหลักมันคลุมเครือ จึงต้องอาศัยการตีความ แต่จะเอาการตีความของใครเป็นตัวตั้งก็คงจะต้องถกเถียงกันอย่างมาก เรายินดีหรือไม่ที่จะให้คนบางคนมาตีความแทนเรา ซึ่งเดาว่าชนชั้นกลางจะไม่เอา จะขอเลือกเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องถกเถียงกันไปอีกยาวไกลมาก

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ยังเห็นว่า สิ่งที่น่ากลัวมากก็คือวิธีคิดของพวกเราที่ว่าอะไรควรหรือไม่ควร จะทำให้เราจะหลีกเลี่ยงเรื่องบางเรื่องเพราะเรารู้สึกว่าคนอื่นเขาไม่ชอบ ในที่สุดจะมีบางเรื่องหรือบางความคิดเห็นที่ตายไปเองโดยไม่ต้องถูกนำเสนอเลย

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เชื่อว่า คนที่ควรจะต้องตัดสินว่าอะไรควรจะได้เผยแพร่ต่อไป อะไรจะตายคือพวกเรา ไม่ใช่กำหนดมาตรการว่าอะไรควรจะถูกกันออกเลยตั้งแต่แรกหรือไม่ สิ่งที่ดีที่สุดคือปล่อยให้คนได้เถียงกันอย่างที่เป็นอยู่นี้

"เราเถียงกันมันหยดในเรื่องต่างๆ ทั้งในสภาและนอกสภา เรื่องความสวยความแก่และอื่นๆ อีกมาก เพราะฉะนั้นปล่อยให้เราได้เถียงกันไหม ปล่อยให้เราตัดสินได้ไหมว่าอะไรลามกอานาจารอะไรกระทบความมั่นคงอะไรกระทบความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงาม เราต้องเชื่อมั่นว่าคนในสังคมนี้จะโตขึ้นได้จะเถียงกันได้ และในที่สุดจะเถียงกันไปเรื่อยๆ ว่าอะไรเหมาะและไม่เหมาะ อะไรต่างๆที่เป็นความคิดเห็น เป็นความเชื่อมันจะได้ไม่ถูกกันออกไปจากพื้นที่นี้โดยคนบางคนหรือความเชื่อบางชุดตั้งแต่แรก" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ในระหว่างที่บางเรื่องยังเถียงกันไม่สะเด็ดน้ำ แต่คนใช้อำนาจจะต้องใช้อำนาจแล้ว จะมีข้อเสนอยังไง รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ตอบว่า ก็คืนอำนาจให้ประชาชนสิคะ ให้เราเป็นคนตัดสิน เปิดพื้นที่ให้มากที่สุดให้คนได้ตัดสิน ให้คนที่พอใจได้พูดให้คนที่ไม่พอใจได้พูด ในที่สุดการตัดสินจะอยู่ที่เรา นั่นไม่ใช่หรือที่จะทำให้สังคมนี้นั้นเติบโตขึ้น

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า แปลว่าก็ยังควรให้ซีรียส์เรื่องฮอร์โมนยังฉายไปเรื่อยๆ ได้ ใช่หรือไม่ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ตอบคำถามว่า "อะไรที่มันไม่เหมาะ พี่ไม่ชอบพี่ก็ไม่ต้องดู คือในที่สุดมันจะ screen ออกไปเองว่าอะไรจะตาย มันต้องเชื่อมั่นในการเลือกของประชาชน คืออย่าคิดว่าคนเป็นอะไรที่โง่บัดซบอยู่ตลอดเวลา"

 

ปฏิวัติ วสิกชาติ กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ปฏิวัติประกาศว่า ในนามของสี่สมาคมวิชาชีพสื่อ ยืนยันแล้วว่าเราจะทำสงครามต่อร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯฉบับนี้ ร่างนี้สาหัสและโหดเหี้ยมมาก หากร่างนี้ประกาศใช้ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ จะต้องฉีกตำราทิ้งได้เลย และเอาร่างนี้มาเรียนกันแทนหากใครทำตามได้รายการก็ได้ออกอากาศ 

ปฏิวัติ ซึ่งเป็นอดีตกบฎไอทีวีสะท้อนภาพปัญหาในอดีตว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนมีความพยายามของผู้ประกอบการที่จะเข้าแทรกแซงเนื้อหา ลักษณะไม่ต่างจากที่ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ของกสทช. เขียนเอาไว้ ที่มีทั้งความกำกวมและก้าวก่ายกัน

"ผมเป็นห่วงว่าร่างนี้จะทำให้ผู้รับใบอนุญาต (เจ้าของสถานี) เป็นผู้ตัดสินในเรื่องทั้งหมดทีเกี่ยวข้องกับกฎหมาย จากนี้ไปจะเกิดการกระทบกระทั่งกันแน่ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพกับผู้รับใบอนุญาต ร่างนี้จะทำให้รายการคุยข่าวหายไปเลย อย่าลืมนะครับ รายการคุยข่าวเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด มันเป็นเส้นทางหนึ่งของวิชาชีพ" นายปฏิวัติกล่าว

ตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพเสนอว่า การดูแลเนื้อหาสื่อเป็นเรื่องที่ควรให้องค์กรวิชาชีพกำกับดูแลกันเอง ไม่ใช่ให้กสทช.มากำกับเนื้อหา แต่ร่างฉบับนี้โยนทุกอย่างกลับไปที่เจ้าของสถานี จะเซ็นเซอร์กลางอากาศก็ยังทำได้

 

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวเนชั่นแชนแนล

นภพัฒน์จักษ์ กล่าวว่า ในฐานะคนทำงาน ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับนี้ก็เป็นกฎที่ดี แต่การทำงานข่าวมีความท้าทายคือต้องแข่งกับเวลาเพราะต้องออกอากาศ 24 ชั่วโมง กฎนี้่เหมือนกฎที่วางไว้ให้นักศึกษาปริญญาตรีที่มีเวลาทำสัก 4 เดือน ซึ่งต้องครบถ้วนมากในทุกๆ อย่าง

สำหรับประเด็นเรื่องการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง นภพัฒน์จักษ์มองว่า คำว่า "ครบถ้วน" มีปัญหาคือ เวลาตรวจสอบรายงานข่าว 1 ชิ้นจะตรวจสอบเวลาไหน บางครั้งนำเสนอข่าวออกไปแล้วสถานการณ์เปลี่ยน เราอาจจะมีรายงานข่าวชิ้นอื่นเพื่อมาให้ความเป็นธรรมในภายหลัง แต่ผู้บังคับใช้กฎจะเลือกใช้เฉพาะจุด บางกรณีออกอากาศรายงานข่าวผ่านไป 1 ปีมีคนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเราก็ค่อยออกอากาศใหม่ก็ได้

สำหรับประเด็นเรื่องการนำเสนอข่าวด้วยความเป็นกลาง นภพัฒน์จักษ์มองว่า คำว่า "เป็นกลาง" มีปัญหาคือ เป็นคำที่ยากว่าคืออะไร ถ้าเป็นเรื่องของการเมืองสองพรรคก็พอจะมีเส้นแบ่งได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่องน้ำมัน เรื่องพระ เรื่องทางเพศ เรื่องตัดผม ก็อาจจะยาก การกำหนดว่าต้องไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่อันตรายเพราะถึงเวลาจริงอาจมีการเลือกปฏิบัติ ฝ่ายที่นำเสนอข่าวช่วยกันก็ไม่ทำอะไร พออีกฝ่ายหนึ่งนำเสนอทางตรงกันข้ามก็เอากฎไปบังคับใช้ ซึ่งกลัวว่าคนที่มีอำนาจจะเป็นคนเลือกข้างเสียเอง

สำหรับประเด็นเรื่องการห้ามผู้ดำเนินรายการมีความเห็นส่วนตัว นภพัฒน์จักษ์มองว่า ก็เป็นเรื่องยากอีก เรื่องที่ไม่เป็นภัยต่อสังคม เช่น วันนี้ฝนตกไม่อยากขับรถไปเที่ยวเลย จะเป็นความเห็นส่วนตัวที่ต้องห้ามด้วยหรือเปล่า ในทางปฏิบัติจริงๆ สถานีก็ต้องดูรสนิยมของคนดูไม่ได้ให้ผู้ดำเนินรายการออกความเห็นส่วนตัวเยอะๆ ปัญหาที่เรากลัวกันมากไม่น่าจะใช่เรื่องความคิดเห็นส่วนตัวแต่น่าจะเป็นเรื่องของ Hate Speech มากกว่า ซึ่งกระบวนการต่างๆ ก็จัดการตัวเองอยู่ได้โดยไม่ต้องมีกฎ คนทำข่าวก็ตรวจสอบกันเองได้ และไม่ใช่ว่า Hate Speech จะได้ผลตลอดเวลา

สำหรับประเด็นเรื่องการห้ามนำเสนอความเห็นทางการเมือง นภพัฒน์จักษ์มองว่า บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายเรื่องทรงผม เรื่องเพศ ก็เป็นเรื่องการเมืองได้ สามารถตีความได้เยอะแยะ เขาเคยนำเสนอเรื่องของน้องตุ๊ดคนหนึ่งที่จะฆ่าตัวตายเพราะอาจารย์ห้ามเป็นตุ๊ด สุดท้ายก็โดนเรื่องมองว่ามันเป็นเรื่องการเมืองและเรื่องความมั่นคงว่าไม่ควรนำเสนอเรื่องนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการเป็นตุ๊ดจะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศนี้

สำหรับประเด็นเรื่องการระมัดระวังไม่ให้นำรายการไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองใดๆ นภพัฒน์จักษ์มองว่า ถ้ารายงานการทุจริตของนักการเมืองไป แล้วอีก 3 เดือนพรรคฝ่ายค้านเอาไปเปิดในรัฐสภาแปลว่าผิดด้วยหรือไม่? ซึ่งสุดท้ายก็ต้องดูที่ความจริงอยู่ดี ต่อให้นักข่าวเชียร์ข้างหนึ่งข้างใดจริงก็เป็นสิ่งที่น่าจะนำเสนอได้ คนร่างกฎข้อนี้คงนึกถึงช่วงการเมืองปี 52-53 แต่หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ก็จะมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือพ.ร.บ.ความมั่นคง ทำให้ร่างกำกับดูแลเนื้อหาของกสทช.กลายเป็นแค่หนูตัวเล็กๆ ไม่รู้ว่าจะบังคับใช้ได้หรือเปล่า

สำหรับประเด็นเรื่องการต้องจัดให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้นำเสนอ นภพัฒน์จักษ์มองว่า อุปสรรคของทีวีก็คือความเร็ว บางครั้งข่าวออกมาตอนบ่ายสาม รายการพูดคุยเริ่มสองทุ่ม จะเชิญแขกรับเชิญมาทุกฝ่ายได้อย่างไร? สุดท้ายก็จะต้องเกิดการเซ็นเซอร์ไม่นำเสนอเรื่องนั้นๆ เลย อย่างเช่นเรื่องน้ำมันรั่ว จะเชิญปตท.ได้ยากมาก ก็ต้องเชิญนักวิจารณ์หรือนักสิ่งแวดล้อมมาก่อน

นภพัฒน์จักษ์ กล่าวโดยรวมว่า การวางกฎแบบนี้ก็ดี แต่ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความสามารถมาก แต่ถ้ามีกฎแบบนี้คนที่มีความรู้ก็คงไม่ทำสื่อแล้วเพราะมันแน่นเกินไป อย่างเรื่องการเมืองถ้าห้ามออกทีวีมากๆ ก็จะไปโผล่ที่อื่น สุดท้ายคนก็ไปดูทางอินเทอร์เน็ตเอาซึ่งก็ควบคุมยาก และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เรื่องบางเรื่องที่อยู่ใต้ดินพอเรายกมาพูดบนจอโทรทัศน์แล้วก็เปิดเผยสู่สาธารณชนและมีการพูดคุยถกเถียงกัน แต่พอปิดเลย คนก็จะไม่พูดถึงเรื่องการเมืองเลย เพราะมันพูดอะไรก็ไม่ได้ พูดข้างเดียวก็ไม่ได้ ก็จะหันไปหาสื่อที่มีความรุนแรงมากกว่านี้ แล้วสุดท้ายข่าวบนโทรทัศน์ก็จะเต็มไปด้วยข่าวขี้หมูราขี้หมาแห้ง เช่น กิ้งก่าออกลูกแปดตัว ต้นไม้ขูดหวย และข่าวพีอาร์ ดารามา เกาหลีมา นักฟุตบอลมา ประกาศแต่งงาน เพราะมันไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อความมั่นคง

เวลาพูดถึงช่องที่เลือกข้างคนอาจจะนึกถึงช่องอย่าง ASTV, Bluesky, Asia update แต่เดี๋ยวนี้คนก็เริ่มตีความแล้วว่า มติชน หรือเนชั่น ก็เลือกข้างเหมือนกัน แล้วถึงเวลาที่กสทช.ตีความจะใช้มาตรฐานอะไร การเลือกข้างบางทีก็ห้ามไม่ได้ การแสดงสีหน้านิดเดียวก็อาจเป็นการแสดงออกได้

"ไม่รู้ว่าจะกลัวอะไรมากมายเพราะถ้ามันได้ผลจริงๆ Bluesky ที่ออกอากาศ 24 ชั่่วโมงแล้วก็สนับสนุนให้มีการชุมนุมที่สวนลุมฯเยอะแยะ ถ้าหากได้ผลจริงคนคงจะไปเป็นหมื่นแล้ว แต่ผมไปทำข่าวก็ไม่มีคน หรือในทางกลับกันที่บอกว่า Asia update น่ากลัวมากเพราะแท็กซี่ฟังกันเยอะ แต่เวลาเราขึ้นแท็กซี่ก็ไม่ได้ว่าจะแดงมากหรือเกลียดอภิสิทธิ์มาก เค้าก็เลือกสื่อที่จะอ่านเหมือนกันเราก็ต้องให้เกียรติเค้าเหมือนกัน ไม่ใช่ไปกลัวอะไรมากมาย ถ้าช่องเหล่านี้มันออกอากาศมากๆ เป็นการดีเสียอีกที่เราจะได้รู้จักการเมืองและนักการเมืองมากขึ้นว่าเค้ากำลังพยายามทำอะไรอยู่" ผู้สื่อข่าวเนชั่นกล่าว

นภพัฒน์จักษ์ ให้ความเห็นถึงกสทช.ด้วยว่า กลัวว่าถ้ากฎที่ออกมาเป็นแบบนี้ ส่วนมากเคสหนักๆ คนที่บังคับใช้กฎหมายก็จะใช้กฎอื่นมากำกับดูแล ส่วนกฎนี้ก็จะใช้กับเคสเล็กๆ หรือการกลั่นแกล้งกัน สุดท้ายคนที่จะได้รับผลกระทบคือ กสทช. เองจะกลายเป็นเสือกระดาษที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ

 

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch กล่าวว่า มีข้อวิจารณ์ว่า กสทช.ทำตัวเป็นกบว. ตัวร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ สร้างความคลุมเครือและไม่ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นจากมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ และไม่ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 39 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ

ถ้าดูหลักเกณฑ์สากลของการกำกับดูแลเนื้อหา ต้องหาสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพกับประโยชน์สาธารณะ เงื่อนไขที่จะเป็นข้อยกเว้นที่จะมาละเมิดเสรีภาพต้องมีความชัดเจนมาก เช่น ความหมายของลามกก็ต้องชัดเจนกว่าการเขียนว่าเนื้อหานั้นๆ จะทำให้เสียประโยชน์สาธารณะ แต่ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ของกสทช.ฉบับนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร

ตัวอย่างเช่น การแสดงความเห็นทางการเมืองก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง ผ่านการห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่จะกระทบต่อความมั่นคง กำหนดห้ามดูหมิ่นประเทศชาติ คำถามคือ การห้ามเช่นนี้มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงหรือเปล่า ในขณะเดียวกัน ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ก็ยังไม่คุ้มครองผู้ที่ต้องมุ่งให้ความคุ้มครอง เช่น เด็กและเยาวชน

"เนื้อหาที่จะละเมิด ต้องชัด กำหนดล่วงหน้า และไม่เปิดให้เกิดการใช้ดุลพินิจมากเกินไป เพราะถ้าไม่ชัด ผู้รับใบอนุญาตจะไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าต้องกังวลอะไรแล้วมันจะทำให้เกิดการตัดสินแบบกว้างๆ ไว้ก่อน" อ.วรพจน์กล่าว

อ.วรพจน์เสนอว่า นอกจากการกำหนดห้ามเนื้อหาบางประเภท ยังมีกลไกอื่นที่ทำได้อีก เช่น  watershed หรือการกำหนดช่วงเวลาการออกอากาศสำหรับเนื้อหาบางประเภท เช่น สังคมห่วงใยเด็กและต้องการป้องกันเด็กจากเนื้อหาเรื่องเพศ แต่ก็ไม่สามารถกีดกันผู้ใหญ่ทั้งหมดได้ ก็อาจทำให้รายการเหล่านี้ไปอยู่ในเวลาค่ำแทน

อ.วรพจน์กล่าวว่า โดยหลักแล้ว การกำกับเนื้อหาสื่อนั้น รัฐควรมีบทบาทในขั้นตอนสุดท้าย แต่ไม่ควรเข้าแทรกแซงในกระบวนการ ซึ่งข้อกำหนดที่มีในร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ มีลักษณะเหมือนหลักจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งควรให้คนในวิชาชีพเป็นคนกำหนดไม่ใช้ให้กสทช.เขียนให้ แต่ในร่างนี้กลับไม่กำหนดถึงกระบวนการกำกับดูแล

อ.วรพจน์เสนอว่า เมื่อสื่อเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าลักษณะต้องห้าม การแทรกแซงและลงโทษโดยรัฐควรเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม นั่นคือ รัฐต้องมีวิธีการลงโทษหลายระดับ คือ มีทั้งการเตือน การปรับ การระงับการออกอากาศ จนถึงการยกเลิกใบอนุญาต ดังนั้น กว่าจะไปถึงขั้นนั้นก็ต้องมีกระบวนการที่่ค่อยเป็นค่อยไป และต้องมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ และพิจารณาลงโทษ ซึ่งประกาศนี้ไม่ได้พูดถึงเลย

อ.วรพจน์ย้ำหลักการว่า เมื่อเกิดกรณีใดๆ ต้องยึดหลักว่าผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน แล้วค่อยดำเนินการตรวจสอบ ไม่ใช่รีบดำเนินการซึ่งเป็นการละเมิดไปก่อน และรัฐจะเข้าแทรกแซงสื่อได้เมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขสามประการ คือ การแทรกแซงต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ต้องมีความชอบธรรมเพียงพอ และการแทรกแซงนั้นมีความจำเป็นและสังคมส่วนมากก็คิดว่าจำเป็นต้องระงับ แต่เมื่อเอาเกณฑ์เหล่านี้มาวิเคราะห์แล้วก็จะพบว่า ร่างฉบับนี้เปิดอำนาจให้กสทช.ใช้อำนาจสั่งระงับด้วยวาจาได้ทันที ซึ่งขัดกับหลักเรื่องการสมมติฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเอื้อให้กสทช.ใช้อำนาจที่ไม่ชัดเจนและโปร่งใส

อ.วรพจน์ยกตัวอย่างกรณีกสทช.เรียกผู้ผลิตซีรียส์เรื่องฮอร์โมนไปสอบถาม จู่ๆ ก็เรียกมาคุยเฉยๆ กรณีนี้เกิดผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อแน่นอน เพราะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและใช้อำนาจเกินเลย


 

ขณะนี้กสทช. กำลังเปิดให้ ผู้ประกอบกิจการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคประชาชน หน่วยงานเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง)ประกาศกำกับดูแลเนื้อหาฯ ดังกล่าว ระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็น 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2556 - วันที่ 22 กันยายน 2556

ดังกล่าว โดยผู้สนใจสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตรง ผ่านช่องทางของกสทช.

1. ทางอีเมล์ regulation.content@gmail.com โดยตั้งชื่อเรื่อง "แสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ..."

2. นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ที่ สำนักงาน กสทช. เลขที่ 87 ถนนพหลโยธิน ซอย 8 (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

3. ทางโทรสารหมายเลข 02-2718-4426

ดูรายละเอียดและวิธีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของกสทช. คลิกที่นี่

 

 ที่มา: http://ilaw.or.th/node/2910

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ต้องขัง112ร่วมองค์กรประชาธิปไตยยื่น จม.ถึงยิ่งลักษณ์ เสนอรายชื่อนักวิชาการ กวี เข้าร่วมสภาปฏิรูปฯ

Posted: 27 Aug 2013 11:56 AM PDT

สมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม24มิถุนา และองค์กรประชาธิปไตย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเสนอตัวอย่างการบริหารจากผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน เสนอ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ,ปิยบุตร แสงกนกกุล , สมศักดิ์ เจียมฯ , สุดา รังกุพันธุ์ ,วัฒน์  วรรลยางกูรและพวงทอง ภวัครพันธุ์  เข้าร่วมสภาปฏิรูป

27สิงหาคม 2556 เวลาประมาณ 11.00น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นาย ทรงชัย  วิมลภัตรานนท์ กลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย นายพรส  เฉลิมแสน กลุ่มคณะราษฎร 2555 นายทรงรัก  นิตยาชิด เครือข่าย แดง กทม. 50 เขต และ นางสาวเยาวภา  ดอนเส  ตัวแทนองค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย พร้อมคณะประมาณ 20คนได้เข้ายื่นจดหมายถึง นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยกิจกรรมouhได้มี พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ออกมารับจดหมาย

ในจดหมายเนื้อหาให้นายกรัฐมนตรี นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชิญผู้นำประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศเข้าสู่ครรลองประชาธิปไตย เคารพในสิทธิ์เสรีภาพของประชาชนได้แก่ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง (Thein Sein)และนางอองซาน  ซูจี (Aung  San Suu Kyi) จากประเทศพม่า  นายฮุนเซน (Hun Sen) นายกรัฐมนตรีจากประเทศกัมพูชา และบาทหลวง เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการค้นหาความจริง และการปรองดองในปี 1994 จากแอฟริกาใต้ มาบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์ให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ

ใน จม. ยังได้เสนอให้ แต่งตั้ง อ.วรเจตน์  ภาคีรัตน์ และ อ.ปิยบุตร  แสงกนกกุล จากคณะนิติราษฎร์ , อ.สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์,อ.สุดา  รังกุพันธ์ จากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ,นายวัฒน์  วรรลยางกูร ศิลปินอาวุโส และนักเขียน ,  อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬา เข้าร่วมในสภาการปฏิรูปการเมือง และได้ทิ้งท้ายโดยเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่เกิดจากการชุมนุม และความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา   

 

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร  (แดน 1)

33  ถนนงามวงศ์วาน  ลาดยาว

จตุจักร  กรุงเทพฯ  10900

 

วันที่  27  สิงหาคม  2556

 

เรื่อง      ข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง

เรียน     ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร

 

ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์  ชินวัตร ดำเนินการสร้างการปรองดอง ให้เกิดความสงบสันติสุข เพื่อประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้  ด้วยการเชิญทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม  ทุกสี  ทุกขั้วความขัดแย้งมาพูดคุยกันในสภาปฏิรูปการเมือง  กระผมเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นเหยื่อจากความขัดแย้งทางการเมือง ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากกระบวนการยุติธรรม  จึงขอเสนอบุคคลที่เป็นแบบอย่าง และประสบผลสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง โดยขอให้รัฐบาลเชิญบุคคลต่อไปนี้มาร่วมนำเสนอความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังรายชื่อต่อไปนี้

1.     ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง (Thein Sein) ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นต่อการปฏิรูปการเมืองในพม่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารที่เคยแช่แข็งประเทศพม่ามายาวนานกว่า 50 ปี ให้มาเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าอิทธิพลทหาร และจารีตนิยมฝังรากลึกในพม่า แต่ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ทำการปลดปล่อยนักโทษการเมือง แม้จำนวนมากจับอาวุธสู้กับรัฐบาลยังปล่อยตัวให้ออกมามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเจรจายุติการสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธบริเวณชายแดนไทย – พม่า ยอมรับให้อองซาน ซูจี มีเสรีภาพทางการเมือง จึงเหมาะสมที่รัฐบาลไทยจะได้เรียนรู้จากพม่า

2.     นางอองซาน  ซูจี (Aung  San Suu Kyi) ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในพม่า แม้ถูกคุมขังยาวนาน เมื่อได้รับอิสรภาพเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ มุ่งมั่นประชาธิปไตย และต่อสู้อย่างสันติวิธี ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่ค้านหัวชนฝา ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก แบบของไทย จึงสมควรนำมาถ่ายทอดประสบการณ์ เป็นแบบอย่างฝ่ายค้าน และการต่อสู้สันติวิธี

3.     นายกรัฐมนตรีฮุนเซน (Hun Sen) จากประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้เสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษให้นายสม รังสี (Sam Painsy) ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศได้กลับประเทศ มารณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น 55 ที่นั่ง จากทั้งหมด 123 ที่นั่ง ทำให้ฝ่ายพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ฝ่ายรัฐบาลที่เคยได้เสียงข้างมากเด็ดขาด 90 ที่นั่งเหลือเพียง 68 ที่นั่ง นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใจกว้าง เป็นผู้สร้างสันติภาพ ยุติสงครามในกัมพูชา

4.     บาทหลวง เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) จากแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการค้นหาความจริง และการปรองดองในปี 1994 หลังจากแอฟริกาใต้ยกเลิกระบบการเหยียดสีผิว (Apartheid) ทำให้นายเนลสัน มันเดลา คนผิวดำได้เป็นประธานาธิบดี เป็นแบบอย่างการแก้ไข ไม่แก้แค้น ด้วยการนิรโทษกรรมปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่เคยต่อต้านการเหยียดสีผิวหมดทุกคน นำมาสู่การปรองดองระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาว

5.     สำหรับประเทศไทย เนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำลายนิติธรรม และประชาธิปไตย และยังวางกลไกแทรกแซงการเมือง บ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพประชาชน จนถึงทุกวันนี้

ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลเชิญคณาจารย์  ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายวรเจตน์  ภาคีรัตน์,  นายปิยบุตร  แสงกนกกุล,  นายสมศักดิ์  เจียมธีรสกุล,  นางสาวสุดา  รังกุพันธ์,  นายวัฒน์  วรรลยางกูร,  นางสาวพวงทอง ภวัครพันธุ์  เข้าร่วมสภาการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ด้วย      

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จะต้องปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่เกิดจากการชุมนุม และความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา โดยไม่มีการแบ่งแยก กีดกันใด ๆ ทั้งสิ้น

            ข้าพเจ้าฯ และรายนามต่อท้าย จึงเรียนนำเสนอมาเพื่อการปฏิรูปการเมืองได้เดินหน้าเพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย   และความปรองดองสันติสุขต่อไป

 

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 

นช.สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

ผู้ต้องหาในคดี มาตรา 112

 

       นายทรงชัย  วิมลภัตรานนท์                                     นายพรส  เฉลิมแสน

รักษาการกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย                                  คณะราษฎร 2555

 

             นางสาวเยาวภา  ดอนเส                                      นายทรงรัก  นิตยาชิด

ตัวแทนองค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย                      แดง กทม. 50 เขต

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดวงถก 'สิทธิประกันตัว' ผ่านมุม คณิต ณ นคร-ศาล-ตำรวจ-กรมคุ้มครองสิทธิ

Posted: 27 Aug 2013 10:54 AM PDT



27 ส.ค.56  ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์  มีการจัดเสวนาเรื่อง "การแก้ปัญหาสิทธิผู้ต้องหาในการได้รับการประกันตัว" โดยนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. มีวิทยากรได้แก่ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.), ดล บุนนาค ผู้พิพากษารองหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรสาคร, รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ., ผศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มธ., นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และพล.ต.ต.ประสิทธิ เฉลิมวุฒิศักดิ์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

คณิต ณ นคร  ประธาน คปก. กล่าวโดยสรุปว่า  ปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ถูกคุมขังอยู่ประมาณ 240,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีถึงร้อยละ 37 หากมีการปล่อยชั่วคราวตามหลักของกฎหมายจะสามารถลดปัญหาความแออัดภายในเรือนจำได้มาก รวมทั้งไม่ต้องเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น

การปล่อยชั่วคราวเป็นมาตรการหนึ่งในการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีคุณลักษณะ 2 ประการคือ เป็นกฎหมายที่มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ในการเรียนการสอนวิชากฎหมายเรามักเน้นแนวคิดอำนาจนิยม ไม่ค่อยเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเสรีนิยม มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

แม้ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกจำกัดสิทธิบางประการ แต่สภาพ "ประธานในคดี" และความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยต้องมีตลอดเวลา การที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยมีสภาพเป็นประธานในคดีหมายความว่าจะใช้อำนาจรัฐกับเขาได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจ แต่ในทางปฏิบัติเรามักยึดหลักว่า หากไม่มีกฎหมายห้ามถือว่ากระทำได้

นอกจากนี้การใช้มาตรการบังคับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียก การจับ การค้น การควบคุม การขัง การปล่อยชั่วคราว ทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบ เช่น การออกหมายต้องขอศาล เมื่อเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหมายแล้วต้องรายงานศาลทันที แต่ในทางปฏิบัติเราก็ไม่มีการรายงานผลปฏิบัติมายังศาล

ส่วนเหตุของการจับหรือขังนั้นมีทั้งเหตุหลักและเหตุรอง เหตุหลักคือเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยาน และอาจก่ออันตรายประการอื่น ส่วนเหตุรองคือ ความร้ายแรงของความผิด เหตุที่เป็นเหตุรองนั้นอาจมีการปล่อยชั่วคราวได้ตามสิทธิที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพราะตามกฎหมายผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติดูกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะยกเหตุรอง (ความร้ายแรงของคดี) ให้กลายเป็นเหตุหลักในการไม่ปล่อยชั่วคราว ยกตัวอย่าง กรณีการฆ่าคนตาย แม้เป็นคดีร้ายแรง แต่ไม่จำเป็นต้องเอาตัวผู้ต้องหาไว้ในอำนาจรัฐหากไม่พฤติการณ์ผู้ต้องหาไม่เข้าเหตุหลัก เช่น ไม่หลบหนี

"ความผิดร้ายแรงไม่ใช่ประเด็น แต่ของเรากลับทำให้มันเป็นประเด็น"

นอกจากนี้กฎหมายก็ไม่ได้เรียกร้องหลักประกัน และในระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวก็มีหลายข้อที่เอื้อต่อการปล่อยชั่วคราว แต่ที่ปฏิบัติมักไม่ตรงหลักกฎหมาย เป็นที่มาของการทำมากินของนายประกันอาชีพ

ดล บุนนาค ผู้พิพากษารองหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวโดยสรุปว่า เรื่องการประกันตัว ในอดีตมักถูกมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง แต่ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมก็พยายามปรับตัวโดยตลอด ปัจจุบันนั้นการปล่อยชั่วคราวมีอยู่ 3 หลักใหญ่ คือ ไม่มีประกันใดๆ, มีประกัน ซึ่งอาจเป็นเพียงคำมั่นสัญญาหรือการกำหนดเงื่อนไขจากศาล, มีประกันและหลักประกัน โดยอาจเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาล หรือบุคคล ซึ่งในส่วนของบุคคลนั้นเป็นการเปิดช่องให้คนจนมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาในการเปิดช่องให้เกิดอาชีพนายประกัน ปัจจุบันได้มีการกำหนดให้นายประกันเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนกับศาลเพื่อกำกับดูแลไม่ให้เรียกหลักประกันสูงเกินไป

ในส่วนข้อสงสัยเรื่อง double standard นั้นในอดีตเรื่องนี้ไม่เป็นประเด็น จนเมื่อสภาพการเมืองแบ่งแยกฝักฝ่ายชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้กระทบวงการยุติธรรมอยู่พอสมควร สังคมเกิดความไม่ไว้วางใจ ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการของรัฐสภาก็มีการเรียกฝ่ายวิชาการของศาลยุติธรรมไปตอบคำถามเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งก็ตอบไปตาหลักการ เราเชื่อว่าปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก แต่หากพิจารณาดูจะไม่พบกฎหมายสักฉบับที่เขียนเรื่องนี้ เป็นแต่เพียงความเข้าใจ

หลักคิดหรือทฤษฏีเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนที่ตกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นมีสิทธิเสรีภาพแตกต่างจากคนธรรมดา เป็นคนที่ถูกตั้งข้อสงสัยโดยมีหลักฐานพอสมควรแล้ว เราต้องยอมรับความจริงว่าสิทธิเสรีภาพของเขาย่อมต้องลดลงแน่ มันจึงมีคำว่า "สันนิษฐาน" ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หากถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์เลยก็จะไม่สามารถกระทำการอะไรได้เลยไม่ว่าการคุมขังหรือจับกุม ส่วนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยจะลดลงแค่ไหนย่อมขึ้นกับที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งกฎหมายบ้านเรากำหนดให้ต้องสืบพยานต่อหน้า เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงต้อง "มีตัว" (ผู้ต้องสงสัย/จำเลย) ไม่อย่างนั้นก็ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้

กรณีมาตรา 112 ที่มักไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าเป็นคดีร้ายแรง ซึ่งมีผู้เข้าใจว่าเป็น "เหตุรอง" นั้น คิดว่าศาลพิจารณาเรื่องพฤติการณ์แห่งคดีว่ากระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหรือไม่ สังคมจะวุ่นวายหรือไม่ มากกว่าจะดูเรื่องความร้ายแรงแห่งคดี นอกจากนี้ยังพิจารณาประกอบกับการเกรงว่าจำเลยจะหลบหนีด้วย ดังตัวอย่างกรณีหนึ่งที่จำเลยเป็นไกด์ถูกจับกุมขณะกำลังจะข้ามแดนไปยังกัมพูชา แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการนำคณะทัวร์ไปเที่ยวตามปกติ ก็น่าคิดว่าหากท่านเป็นศาลจะเห็นกรณีนี้อย่างไร

นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงที่มาและการดำเนินการของกองทุนยุติธรรมว่า กองทุนนี้เกิดขึ้นจากระเบียบกระทรวงยุติธรรม เริ่มต้นมีงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนเรื่องการประกันตัว ค่าจ้างทนาย ค่าทำเนียมศาล ฯ เพียง20 ล้านบาท จนกระทั่งเพิ่มมาเกือบร้อยล้านบาทในปัจจุบัน กฎเกณฑ์ในตอนแรกค่อนข้างเคร่งครัดจนมีประชาชนมารับบริการน้อย ปี2551-2552 มีเพียงหลักร้อย เพราะกำหนดว่าจะต้องชนะคดี ต้องมีฐานะยากจนมีเงินเดือนไม่เกิน 8,900 บาทต่อเดือน จนเมื่อปี 2553 มีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้ยืดหยุ่นขึ้นคือ ไม่จำเป็นต้องชนะคดี เพียงแต่ไม่ใช่ผู้ไปทำละเมิด และไม่กำหนดฐานเงินเดือน เพียงระบุว่าฐานะทางเศรษฐกิจไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ทำให้มีผู้มาขอใช้บริการกองทุนเพิ่มเป็น 2,000-3,000 คน อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนยังคงมีจำกัดและส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการประกันตัวซึ่งแพงมาก ในช่วงที่ผ่านมามีการช่วยเหลือด้านการประกันตัวประมาณ 500 กรณี และมีผู้ที่หนีประกันเพียง 4 กรณี ซึ่งนับว่ากองทุนฯ มีความน่าเชื่อถือพอสมควร

ในปี 2554 กรมคุ้มครองสิทธิฯ พยายามหาทางออกในการบริหารเงินกองทุนที่มีอยู่ไม่มากเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น โดยทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาเพื่อขอใช้หนังสือรับรองของกองทุนยุติธรรมแทนการวางเงินประกัน ซึ่งประธานศาลฎีกาก็ตอบรับจะให้การสนับสนุน โดยกองทุนยุติธรรมจะดำเนินการสร้างกระบวนการหลังปล่อยชั่วคราว ใช้เครือข่ายยุติธรรมชุมชนในการดูแลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราว ที่ผ่านมามีการประชุมเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศไปแล้ว 2 ครั้งซึ่งชุมชนก็ตอบรับอย่างดีและมีการวางแนวปฏิบัติร่วมกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศาลยุติธรรมยังอยู่ระหว่างการหารือกันภายในว่าจะทำเรื่องนี้ในลักษณะใด ต้องออกเป็นข้อบังคับหรือเพียงทำหนังสือเวียนแจ้งหัวหน้าผู้พิพากษา

อีกทางหนึ่งที่กองทุนยุติธรรมกำลังดำเนินการคือ การจัดทำร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านบาทเพื่อตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน "1 ตำบล 1 ยุติธรรมชุมชน" ซึ่งจะมีคลินิกกฎหมายคอยรับเรื่องจากประชาชนอย่างใกล้ชิด

พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี กล่าวโดยสรุปว่า แนวทางของตำรวจในการให้ประกันตัวผู้ต้องหานั้นยึดหลักการไม่ให้ประกันเป็นข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความเห็นต่างในกรณีการให้ประกันคดีร้ายแรงว่า ตามหลักกฎหมายนั้นทำได้ แต่หากมองในมุมผู้เสียหาย เช่น กรณีฆ่าคนตาย ญาติผู้ตายอาจมองการอนุญาตให้ประกันตัวว่าเจ้าพนักงานมีนอกมีใน หรือกรณีกล่าวถึงนายประกันอาชีพว่าเป็นพวกเข้ามาทำมาหากินกับระบบยุติธรรม แต่หากฟังเสียงสะท้อนจากพวกเขาจะเห็นว่าเขามีความเสี่ยงที่จะถูกยึดหลักทรัพย์ที่วางไว้เป็นหลักประกันหากผู้ต้องหาหลบหนีเช่นกัน

นอกจากนี้กรณีเงินประกันหรือหลักทรัพย์ก็ยังมีปัญหาลักลั่น เช่น การลักทรัพย์มูลค่า 20 ล้าน ตามหลักเกณฑ์แล้วเรียกหลักทรัพย์ในการประกันได้เพียง 50,000 บาท กรณีกลับกันมีคดีขโมยของเพื่อนบ้านมูลค่าเพียงไม่กี่สิบบาท ในการประกันตัวญาติไม่มีเงินสดจึงนำโฉนดที่ดินที่อาศัยอยู่มาค้ำประกัน สุดท้ายผู้ต้องหาหลบหนี จึงถูกยึดหลักทรัพย์นำไปขายทอดตลาดทำให้ไม่มีที่อยู่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นจึงควรพิจารณาเรื่องหลักทรัพย์เป็นกรณีๆ ไป  

ในส่วนของหลักทรัพย์ที่ยึดนั้น หากผู้ต้องหาหลบหนีก็จะมีการยึดหลักทรัพย์เป็นของแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ควรจะนำเงินดังกล่าวไปเยียวยาผู้เสียหาย เพราะหากยึดเข้าแผ่นดินก็เท่ากับผู้เสียหายไม่ได้อะไรเลย

สำหรับการไม่ให้ประกันตัวโดยพิจารณาจากหลักว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานนั้น อันที่จริงในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ติดตามตรวจสอบภายหลังแต่อย่างใด ในการพิจารณาก็ใช่แต่เพียงการสันนิษฐานเท่านั้น

ส่วนสถิติของผู้ต้องหาที่หลบหนีหลังได้รับการประกันตัวนั้นไม่มีการรวมอย่างเป็นระบบ แต่หากพิจารณาจากกรณีที่อัยการไม่รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนซึ่งมีได้ 2 กรณีคือ หลักฐานไม่เพียงพอหรือผู้ต้องหาหนีประกัน เราจะพบว่าตั้งแต่ราวปี 2551 มีกรณีที่อัยการไม่รับสำนวนอยู่ประมาณ 12,000 คดี จากราว 260,000 คดี

ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวโดยสรุปว่า  หลักที่ต้องชั่งในการปล่อยชั่วคราวมี 2 เรื่องคือ  1.กระบวนการยุติธรรมต้องการตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี ความต้องการตัวนี้กฎหมายเขียนชัด ศาลจึงต้องห่วงใยว่าหากไม่มีอะไรผูกมัดไว้เลยจะทำให้กระบวนการเดินต่อไม่ได้ 2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่นอกการควบคุมของเจ้าพนักงาน หลักฐานสำคัญอาจเสียหาย ทั้งสองส่วนนี้ผู้ที่พิจารณาไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะมีการหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานไหม พนักงานสอบสวนหรือศาลจึงเลือกที่จะมีหลักประกัน เพราะถ้ามั่นใจว่าไม่หนีก็จะไม่มีการควบคุมตัวแต่แรกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีพัฒนาการมากขึ้นหลังจากมีการแก้ไขให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขภายหลังให้ประกันตัวได้ว่า ห้ามออกนอกประเทศ ฯ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างคน 2 ฐานะ หากเป็นข้าราชการหรือผู้มีตำแหน่งสูง ผู้บังคับใช้กฎหมายมีแนวโน้มเชื่อว่าจะไม่หลบหนี แต่หากเป็นคนชายขอบ คนจน ก็มีแนวโน้มเชื่อว่าหากไม่ควบคุมตัวไว้จะ "ไม่มีตัว"

ที่สำคัญ หลังการปล่อยชั่วคราวเรายังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานอะไรที่จะเข้าไปดูผู้ต้องหาหรือจำเลยว่าเป็นอย่างไร จึงน่าจะมีหน่วยงานตรงนี้ หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประกอบ หรือกรณีที่ศาลไม่แน่ใจ เป็นไปได้ไหมที่จะไม่ต้องเข้าเรือนจำแต่มีชุมชนคอยดูแล หรือการหาข้อมูลของศาลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาคดี จะสามารถให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้ข้อมูลได้ไหม

ดล กล่าวเสริมว่า น่าจะมีการทำวิจัยต่อยอดเรื่องการยกเลิกเรื่องเงินประกันตัว โดยอาจใช้เรื่องการดูแลโดยชุมชน หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวเข้ามาช่วย การอุดช่องว่างโดยกองทุนยุติธรรมอย่างที่เป็นอยู่แม้ทำได้ผลดีแต่ก็เป็นเหมือน "อัฐยาย ขนมยาย" เพราะเงินกองทุนก็มาจากภาษีอยู่ดี ส่วนเรื่องการผิดสัญญาประกันนั้น ในอดีตศาลไม่ยุ่ง ราว 10 ปีที่ผ่านมาเราพบว่า เฉพาะศาลแขวงพระนครเหนือ ไม่ได้บังคับคดีนายประกันเป็นมูลค่าราว 400 ล้านบาท หากดูภาพรวมทั่วประเทศมีมูลค่าราว 5,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ขณะนี้มีความพยายามแก้กฎหมายให้ ผอ.ศาลบังคับคดีกับนายประกัน ทั้งที่ไม่เคยทำหน้าที่นี้ ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วยที่ศาลจะมีบทบาทตรงนี้เพราะต่อไปอาจมุ่งบังคับคดีกันจนไม่มีเวลาพิจารณาคดี

ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวโดยสรุปว่า หลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนกว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์นั้นเป็นหลักสากลของทั่วโลก และได้รับการยอมรับจากกฎหมายไทยโดยสมบูรณ์แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ค่อยตรงกับหลักกฎหมาย  ที่สำคัญยังนำหลักการดังกล่าวมาใช้เพียงครึ่งเดียวกับคนที่ฐานะหรือมีเส้นสายเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่แยก คนดี-คนไม่ดี เช่น หากมีพฤติกรรมที่มารายงานตัวทุกครั้งก็ถือว่ามีพฤติกรรมดี ไม่ควรเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว การไม่แยกตรงนี้ทำให้ศาลต้องเรียกหลักประกัน และเมื่อเรียกหลักประกันก็ไม่แยกระหว่าง คนมี-คนไม่มี การปฏิบัติเหมือนกันหมดเป็นความเสมือภาคแบบตื้น เพราะบุคคลนั้นไม่เหมือนกันโดยสภาพ ต้องปฏิบัติต่างเพื่อให้เขาได้รับโอกาสเท่ากัน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โอบามา' สั่งเผยแพร่หลักฐานการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย ก่อนโจมตีทางทหาร

Posted: 27 Aug 2013 10:53 AM PDT

หลังจากการประชุมของทางการสหรัฐฯ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปธน.โอบามา สั่งให้เผยแพร่หลักฐานการใช้อาวุธเคมีโดยทางการซีเรีย เพื่อให้ความชอบธรรมในการโจมตีซีเรียด้วยกำลังทหาร หวังทำลายแหล่งอาวุธเคมี ด้าน จอห์น เคอร์รี่ รมต.ต่างประเทศ ส่งสัญญาณไปในทางเดียวกัน


เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว CBS News กล่าวถึงการที่สหรัฐฯ เชื่อว่ารัฐบาลซีเรียอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ใช้อาวุธเคมีโจมตีจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ หลังจากที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ประชุมกับหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยอธิบดีหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ เจมส์ แคลปเปอร์ ได้นำเสนอบทการวิเคราะห์หลักฐานโดยละเอียด ทำให้ทางการสหรัฐฯ เชื่อว่ารัฐบาลซีเรียอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

โอบามายังได้สั่งการให้มีการเผยแพร่รายงานวิเคราะห์หลักฐานต่อสาธารณชนก่อนที่จะมีการดำเนินการโจมตีทางทหาร ซึ่งจะมีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังจากนี้ โดยในที่ประชุมวันเสาร์ไม่มีการโต้แย้งใดๆ ในเรื่องการใช้กำลังทหาร โดยประธานาธิบดีโอบามากล่าวให้ความชอบธรรมในการใช้กำลังทหารของสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงเหตุการณ์ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณา โดยความชอบธรรมที่อ้างถึงคือการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา และอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี

ทางด้านจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกล่าวถึงกรณีนี้เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ว่าหลักฐานต่างๆ ชี้ให้เห็นชัดว่ามีการใช้อาวุธเคมีในซีเรียและกล่าวว่าโอบามาได้พูดส่งสัญญาณเรื่องการใช้กำลังทหารกับรัฐบาลอัสซาด

"สิ่งที่พวกเราเห็นในซีเรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วควรจะทำให้คนทั่วโลกรู้สึกสะเทือนใจ" เคอร์รี่กล่าว เขาบอกอีกว่า การสังหารคนบริสุทธิ์รวมถึงผู้หญิงและเด็กด้วยอาวุธเคมีเป็นการละเมิดหลักการทางศ๊ลธรรมร้ายแรงและเป็นเรื่องไม่อาจให้อภัย แม้ผู้กระทำจะมีข้ออ้างใดๆ ก็ตาม

"ประธานาธิบดีโอบามาเชื่อว่าต้องมีผู้รับผิดชอบจากการใช้อาวุธร้ายแรงต่อประชาชนที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูงที่สุดในโลก" เคอร์รี่กล่าว

CBS ระบุว่ามีเรือรบของสหรัฐฯ 4 ลำเตรียมประจำการอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งพร้อมจะยิงจรวดมิสไซล์ หากได้รับคำสั่งจากโอบามา นอกจากนี้ยังมีเรือดำน้ำของอังกฤษเตรียมประจำการอยู่ด้วย

CBS กล่าวว่าทางการสหรัฐฯ น่าจะเริ่มโจมตีในช่วงกลางคืนที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ตามท้องถนน ซึ่งการโจมตีด้วยจรวดมิสไซล์ที่มีจำกัดนี้อาจไม่หนักขนาดช่วงปฏิบัติการ "โจมตีกระทันหันเพื่อสร้างความตื่นกลัว" (Shock and Awe) ในสงครามอิรัก แต่ทางการสหรัฐฯ เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายต่อกองทัพซีเรียมากพอจนทำให้ไม่สามารถจู่โจมด้วยอาวุธเคมีได้อีก

สงครามกลางเมืองของซีเรียดำเนินมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่หลังการลุกฮือของประชาชนในช่วงต้นปี 2011 มีขบวนการกบฏต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของบาชาร์ อัล-อัสซาด เกิดขึ้นหลายขบวนการ แต่บางกลุ่มก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัล-เคด้า ขณะที่บางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์อื้อฉาวจากการโจมตีด้วยอาวุธเคมีล่าสุดซึ่งมีการกล่าวอ้างจำนวนผู้เสียชีวิตแตกต่างกันไป

 

 

เรียบเรียงจาก

Obama orders release of report justifying Syria strike, CBS, 26-08-2013
http://www.cbsnews.com/8301-18563_162-57600171/obama-orders-release-of-report-justifying-syria-strike/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ยุติธรรมสั่งศึกษาเรื่องใบกระท่อม หวังใช้ทดแทนสารเสพย์ติดรุนแรง

Posted: 27 Aug 2013 07:59 AM PDT

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ศึกษาวิจัย และนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายยกเลิกใบกระท่อมเป็นยาเสพย์ติด หวังลดจำนวนผู้เสพย์ยาบ้า ขณะที่ กมธ.วุฒิสภาปี 2546 เคยทำรายงานเสนอให้เลิกใบกระท่อมจากการเป็นพืชเสพย์ติด เพราะสหประชาชาติก็ไม่เคยกำหนดให้เป็นพืชเสพย์ติด

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า นายชัยเกษม  นิติสิริ  รมว.ยุติธรรม  เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้ พ.ท.นพ.เอนก ยมจินดา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และพล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ไปเร่งศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับใบกระท่อมซึ่งมีงานวิจัยว่าไม่น่าจะเป็นยาเสพติด  ไม่ออกฤทธิ์รุนแรงเพราะเป็นพืชท้องถิ่น  ดังนั้นจึงต้องการให้ทั้ง 2 สถาบันนี้ลองนำไปศึกษาข้อมูล อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหายาเสพติดและแนวโน้มจำนวนผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากปัญหาครอบครัว  ดังนั้นหากมีตัวเลือกอื่นที่สามารถเบี่ยงเบนจากการยาบ้าหรือยาเสพติดที่รุนแรงกว่าได้  บางครั้งครอบครัวและสังคมอาจยอมรับได้ดีกว่า เช่น บางคนที่เครียดแล้วมาดื่มสุรา สูบบุหรี่  หรือในอดีตที่กินหมากแต่เมื่อยกเลิกก็ค่อยๆหายไป เหลือแต่หมากฝรั่ง  หรือเช่นประเทศเนเธอแลนด์ที่อนุญาตให้สูบกัญชาได้ในร้านกาแฟได้

นายชัยเกษม กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะดูแลผู้เสพยาเป็นผู้ป่วย เน้นการบำบัด  หากมีใบกระท่อมมาทดแทนการเสพยาเสพติดที่รุนแรงกว่า ก็เชื่อว่าจะผ่อนคลายปัญหาลงและแก้ปัญหาคนล้นคุกและที่สำคัญน่าจะเป็นการแยกผู้เสพออกมาบำบัดดูแลในลักษณะผู้ป่วยได้ดีขึ้น   อย่างตนโตมาก็เห็นใช้ใบกระท่อมแล้ว ที่เป็นพืชท้องถิ่น เชื่อว่าสากลไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแต่ขึ้นอยู่กับการกระแสยอมรับของสังคมว่าจะเห็นด้วยอย่างไร

"ปัจจุบันมีการระบุให้ใบกระท่อมเป็นยาเสพติด ทำให้มีราคาสูงถึงใบละ 3-5 บาท  ซึ่งก็ยังมีการปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จ.สงขลา รวมทั้งพื้นที่กทม. เขตมีนบุรี  หนองจอก หากยกเลิกไม่ให้กระท่อมเป็นยาเสพติดอาจช่วยลดจำนวนผู้ที่จะเสพยาบ้าได้" รมว.ยุติธรรม กล่าว

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ตนต้องการให้สื่อเสนอความเห็นนี้เพื่อรับฟังเสียงตอบรับจากสังคมด้วย  หากได้รับการยอมรับจากสังคมและมีผลวิจัยสนับสนุนว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าตนก็จะเสนอให้รัฐบาลผลักดันต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2546 "คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอว่าควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่" ของวุฒิสภา ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาพืชกระท่อม โดยระบุว่า

"จากการศึกษาหางานทางวิชาการ การเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพืชกระท่อมมาชี้แจง แสดงความคิดเห็นและตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญ การตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ปรากฏว่าทางองค์การสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด และจากการศึกษาข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่บริโภคและไม่บริโภคใบกระท่อม เจ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ แพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนปัจจุบัน และอื่น ๆ สรุปโดยภาพรวมไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการเมือง และด้านกฎหมายแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า "ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับผลดีตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่งจากการนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์"

"มีข้อสังเกตบางประการของคณะกรรมาธิการฯ พบว่าตั้งแต่ได้พิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว ไม่พบว่ามีสื่อมวลชนแขนงใดวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ฝ่ายปกครองก็ต้องการให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษเช่นกัน เนื่องจากมิอาจทวนกระแสข้อเท็จจริงในสังคมได้"

"ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะประโยชน์ในการที่จะทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาให้ใช้เป็นยารักษาโรคทั้งแผนโบราณ และแผนปัจจุบัน ผลการวิจัยใช้เป็นประโยชน์เพื่อการประกอบอาชีพ คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นสมควรที่จะให้ยกเลิก "พืชกระท่อม" ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ โดยเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ในมาตรา 7 (5) มาตรา 75 วรรค 2 มาตรา 76 วรรค 2 มาตรา 76/1 วรรค 3 และวรรค 4 และมาตรา 92 วรรค 2 และแก้ไขบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ" (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

 

 

ที่มาของภาพประกอบ: กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานอาหารและยา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกายกฟ้องหมอศิริราช คดีไฟใต้

Posted: 27 Aug 2013 07:45 AM PDT

ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องนายแพทย์โรงพยาบาลศิริราช คดีไฟใต้ข้อหาฆ่าชาวบ้านในตัวเมืองยะลาตาย 1 เจ็บ 1 เหตุเกิดปี 2549 ถูกจับขณะเป็นนักศึกษาแพทย์มหิดล

27 ส.ค.56 เวลา 09.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลจังหวัดปัตตานี ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ นพ.สุกรี กาเดร์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราช ตกเป็นจำเลยข้อหาร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า และอีกหลายข้อหา ซึ่งเป็นคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คำพิพากษาเลขที่ 3573/2556 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2556 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาสรุปว่า คดีนี้ นพ.สุกรีถูก พล.ต.ต.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด(ผบก.จ.)ยะลา สั่งการให้เข้าจับกุมนายสุกรี กาเดร์ อยู่บ้านเลขที่ 97 หมู่ 2 ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตามหมายจับของศาลจังหวัดยะลาที่ จส.464/2549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 สืบเนื่องจากเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายชัยกร อุดหนุน ได้รับบาดเจ็บและนายธนากร ขันดำ ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดหน้าร้านขายของชำ ซ.วิฑูรอุทิศ 10 ตลาดเก่า ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549

โดยนายสุกรี ถูกจับกุมข้อหาร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจับกุมได้ที่โรงอาหารกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

คำพิพากษาศาลฎีการะบุสรุปว่า ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย

"แม้จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธติดตัวในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ข้อเท็จจริงก็รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกันฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหาย"

"คำฎีกาของจำเลยฟังขึ้น จึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ยกฟ้อง"

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต โดยขณะถูกจับกุม นายสุกรีเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

ในช่วงอ่านคำพิพากษา มีเพียงแม่และพี่ชายของนายแพทย์สุกรีที่มาร่วมฟังเท่านั้น ต่อมาเวลา 19.00 น. ญาติได้ไปรอรับตัวนายแพทย์สุกรี ที่เรือนจำกลางปัตตานี โดยมีเพื่อนๆ กลุ่มแพทย์มารอรับจำนวนหนึ่งด้วย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์' ค้านการก่อสร้างขนานใหญ่ในสวนโมกข์

Posted: 27 Aug 2013 07:44 AM PDT

กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์เขียนจดหมายเปิดผนึกแสดงความห่วงใยที่มีการก่อสร้างขนานใหญ่ในสวนโมกข์ และยังถูกดูดกลับเข้าสู่มหาเถระสมาคม ไม่ใช่สังฆะอิสระอย่างที่เคยเป็น พร้อมเชิญชวนสาธารณะร่วมกันยับยั้งการเปลี่ยนแปลง 'อย่างเอิกเริก' ที่เกิดกับสวนโมกข์

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ในเพจ Tilopahouse ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก "จากเพื่อนสวนโมกข์ถึงเพื่อนสวนโมกข์" แสดงความห่วงใยที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสวนโมกขพลาราม พร้อมเชิญชวนให้มีการคัดค้านการนำเนินการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

จากเพื่อนสวนโมกข์ถึงเพื่อนสวนโมกข์
25 August 2013 at 10:03
เรียน เพื่อนสวนโมกข์ทุกท่าน

จดหมายถึงเพื่อนสวนโมกข์ฉบับนี้ เขียนถึงกัลยาณมิตรของสวนโมกขพลาราม เพื่อแจ้งข่าวให้ทราบถึงทิศทางของสวนโมกข์ที่กำลังเดินออกไปจากสิ่งที่ท่านพุทธทาสได้วางไว้ในอดีต....

สถานการณ์ภายในวัดสวนโมกข์ทุกวันนี้ไม่สู้ดีนัก สงฆ์แตกออกเป็นสองกลุ่มจากการตั้งเจ้าอาวาสคนใหม่มาแทนเจ้าอาวาสคนเก่า  แม้ท่านสุชาติ เจ้าอาวาสคนใหม่ จะเป็นที่ชื่นชอบและเคารพนับถือของคนจำนวนไม่น้อย แต่เนื่องจากท่านออกจากวัดไปเป็นเวลานาน อีกทั้งยังไม่มีทักษะความเป็นผู้นำและความสามารถในการเข้ามาบริหารจัดการวัด หลังจากท่านเข้ามารับตำแหน่งแทน อ.โพธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สวนโมกข์เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยท่านทองสุข ธมมวโร พระมหาเถระซึ่งมีบทบาทในการสร้างงานหลายๆ ชิ้นของสวนโมกข์ในอดีต หลังจากที่ไม่มีส่วนร่วมกับวัดเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสวนโมกข์ ในฐานะเจ้าอาวาสเงาผู้อยู่เบื้องหลังท่านสุชาติ

งานแรกของสวนโมกข์ในยุคของเจ้าอาวาสคนใหม่ คือ การเข้ามาควบคุมจัดการเรื่องเงิน โดยต้องการแยกบัญชีวัดออกจากธรรมทานมูลนิธิ มีการตั้งข้อกล่าวหาว่าคุณเมตตา พานิช ซึ่งดูแลเงินวัดในนามประธานธรรมทานมูลนิธิมาตั้งแต่สมัยท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ นำเงินวัดไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว การบริหารเงินของธรรมทานมูลนิธิโดยมีคุณเมตตาเป็นผู้ดูแลหลักอยู่เพียงคนเดียวถูกมองว่าไม่โปร่งใส  ระบบการเงินของสวนโมกข์ถูกเซ็ตขึ้นใหม่ โดยสวนโมกข์ขอกลับไปสู่ความเป็น "วัดธารน้ำไหล" ภายใต้มหาเถรสมาคม วัดมีบัญชีแยกจากธรรมทานมูลนิธิ และพระสามารถบริหารเงินและนำเงินมาใช้ได้อย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากธรรมทานมูลนิธิ

ต่อมาท่านจ้อย พระประจำเคาน์เตอร์รับบริจาคเงิน ถูกบีบให้ออกจากการทำหน้าที่ดังกล่าว โดยมีการส่งหนังสือทางการแจ้งปลดท่านจ้อยอย่างสายฟ้าแลบ พร้อมทั้งยังปลดท่านออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วย

ต่อมาเป็นคิวของท่านสิงห์ทอง พระอุปัฏฐากย์ ผู้อยู่ใกล้ชิดกับอ.พุทธทาสเป็นเวลาเกือบ ๒๐ปี เช่นเดียวกัน มีความพยายามจะปลดท่านสิงห์ทองออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส ถึงขนาดจะจับท่านสึก โดยตั้งข้อหาซุกซ่อนเงินบริจาคตั้งแต่สมัยพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ จนท่านสิงห์ทองต้องลี้ภัยออกจากสวนโมกข์เป็นระยะเวลาหนึ่ง

เมื่อพระรุ่นเก่าๆ ที่เคยมีบทบาทในยุคเจ้าอาวาสคนก่อนถูกขับออกไป สวนโมกข์ก็มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานตรงเคาน์เตอร์รับเงินบริจาคใหม่ โดยมีการให้พระพรรษาน้อยๆ เข้ามาทำหน้าที่แทน มีการติดกล้องวงจรปิด ๒ ตัวตรงจุดรับเงินบริจาค  มีการเชื่อมความสัมพันธ์กับโครงสร้างคณะสงฆ์ภายนอกอย่างเจ้าคณะอำเภอ เพื่อให้ "วัดธารน้ำไหล" กลับสู่ระบบสงฆ์ของรัฐ ไม่ใช่ระบบลอยและเป็นสังฆะอิสระอย่างที่เคยเป็นมา

และล่าสุดมีการริเริ่มโครงการ "ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเขาพุทธทอง"  โดยท่านทองสุขเป็นผู้ควบคุมจัดการเบ็ดเสร็จโดยที่เจ้าอาวาสคนปัจจุบันและพระมหาเถระรูปอื่นๆ ภายในสวนโมกข์แทบไม่รู้เห็น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการขุดถมดิน ลงฐานรากคอนกรีตขนานใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลง "โบสถ์ธรรมชาติแบบสวนโมกข์" ให้ทันสมัย ดูดียิ่งขึ้น

กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ในฐานะคนนอก และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับสวนโมกขพลาราม นอกเสียจากนับตนเป็นกลุ่มบุคคลผู้ปรารถนาดีต่อสวนโมกขพลาราม รู้สึกห่วงใยและกังวลต่อสภาพการณ์ดังกล่าวบนยอดเขาพุทธทอง  ด้านหนึ่งเรายังเชื่อมั่นในระบบสังฆะ และเห็นว่าเป็นเรื่องของสงฆ์เองที่ควร "คุยกัน" "ประชุมกัน" เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย  ทว่าในขณะที่ยังไม่พบทางออก ทางกลุ่มรู้สึกเป็นห่วงกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดซึ่งกำลังกระทบต่อจิตวิญญาณความเป็นสวนโมกข์อย่างยากที่จะนำกลับคืนมา

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนำไปสู่คำถามสำคัญว่า "ใครเป็นเจ้าของสวนโมกข์?"  สวนโมกข์ที่เปรียบเสมือนห้องทดลองของพุทธทาส ซึ่งได้เปิดจินตนาการของผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัส แน่นอนว่ามันคืออดีต หาใช่ปัจจุบันและอนาคตของสวนโมกข์ ทว่าใครกันเล่าคือผู้รับผิดชอบการสืบทอด รักษา และต่อยอดผลงานดังกล่าวที่อ.พุทธทาสได้ฝากไว้...  ในทัศนะของกลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ พุทธทาสไม่ได้สร้างสวนโมกข์ขึ้นเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง สวนโมกข์นั้นไม่ใช่เป็นทรัพย์สินของวัดหรือของรัฐ ที่ใครคนใดคนหนึ่งคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้หากมีอำนาจ งานแต่ละชิ้นที่พุทธทาสสร้างขึ้นมีความหมายและจิตวิญญาณในแบบของมัน และหลายอย่างคงไม่สามารถเอากลับคืนมาได้อีกแล้วหากถูกทำลายไป

สวนโมกข์ควรรักษาในฐานะแบบอย่างของความเรียบง่าย ยืนยันความเป็นสังฆะทางสติปัญญาที่เป็นอิสระจากอำนาจคณะสงฆ์ของรัฐ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ใดๆ เกิดขึ้นกับสวนโมกข์ โดยเฉพาะกับทิศทางการดำเนินงานที่ผิดไปจากแนวทางที่พุทธทาสได้วางไว้ เราขอเสนอว่า ควรเกิดขึ้นจากการประชุมทำความตกลงกันในหมู่สงฆ์และสื่อสารกับสาธารณชนในวงกว้างอย่างโปร่งใส มีการถกเถียง เสวนา แลกเปลี่ยนทัศนะที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญพระประจำสวนโมกข์ทุกรูปควรรับรู้และรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นร่วมกัน โดยเฉพาะพระที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดท่านพุทธทาส การเปลี่ยนแปลงไม่ควรเกิดขึ้นโดยพลการจากเจ้าอาวาส หรือพระที่ถืออำนาจเพียงคนเดียวอย่างที่เป็นอยู่  

ดังนั้นการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และการก่อสร้างอย่างเอิกเริกบนยอดเขาพุทธทอง ณ ตอนนี้ เราเห็นว่าควรถูกยับยั้งโดยเร็วที่สุด หากพระในวัดไม่สามารถทัดทานการกระทำครั้งนี้ได้ สาธารณชนก็ควรออกมาช่วยกันแสดงความไม่เห็นด้วย ร่วมกันคัดค้านการดำเนินงานโดยพลการ และขอให้คณะสงฆ์ในสวนโมกข์คลี่คลายความขัดแย้งภายใน หันหน้าเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนและประชุมกัน เพื่อบรรลุมติที่เห็นชอบร่วมกันของหมู่คณะ ก่อนจะมีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อทิศทางของสวนโมกขพลารามในปัจจุบันและอนาคต  

ด้วยความนับถือ
กลุ่มเพื่อนสวนโมกข์

000

โดยท้ายจดหมายยังมีความเห็นของบุคคลในวงการต่างๆ โดยจั่วหัวว่า "ความปรารถนาดีจากเพื่อนสวนโมกข์" โดยมีความเห็นต่างๆ ได้แก่

 

"อยากให้สวนโมกข์ยุคใหม่ ไม่ทิ้งแนวคิดเดิมของสวนโมกข์ยุคท่านอาจารย์พุทธทาส ที่เน้นความสำคัญของธรรมชาติในฐานะที่เป็นสิ่งแวดล้อมช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้สงบและเปิดใจให้เห็นธรรมะ แม้ท่านอาจารย์จะจากไปแล้ว แต่ก็ยังมีธรรมชาติที่สอนธรรมอันลึกซึ้งแทนท่านได้ ขณะเดียวกันสิ่งใหม่ที่ควรเพิ่ม (หรือที่จริงเป็นของเก่าที่ควรรื้อฟื้นกลับมา)ก็คือ ความเป็นหมู่สงฆ์ ที่ร่วมคิดร่วมทำ มิใช่เพื่อเสริมสร้างสามัคคีธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างผู้นำร่วม (collective leadership) ซึ่งจำเป็นสำหรับสวนโมกข์ยุคใหม่ที่ไร้ท่านอาจารย์พุทธทาส"

พระไพศาล วิสาโล
เจ้าอาวาสวัดป่าสุคโต

 

"ขอให้นึกถึงสวนโมกข์และอ.พุทธทาสนอกเหนือไปจากการคิดสั้นเพื่อสถาบันหลัก และขอให้นึกถึงความเป็นทาสของพระพุทธเจ้าเพื่อการหลุดพ้นต่อการครอบงำต่างๆ ให้สมกับชื่อของท่านและสวนแห่งนี้"

สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ปัญญาชนสยาม/ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป

 

"สวนโมกขพลารามเป็นสถานที่อันวิเศษที่ให้ความชุ่มเย็นแก่จิตวิญญาณ ท่ามกลางความแห้งแล้งของโลกวัตถุนิยมที่กำลังแผ่ขยายตัวอยู่ทั่วโลก สวนโมกขพลารามเป็นเหมือนแหล่งชุ่มน้ำกลางทะเลทรายที่ผู้คนที่หิวกระหายได้และดื่มลิ้มชิมรสของสายน้ำอันเยือกเย็น เพื่อนำพาชีวิตให้เติบโตงอกงามจากความแห้งผากสู่ความชุ่มชื้นฉ่ำเย็น ข้าพเจ้าไม่เคยลืมหลวงพ่อพุทธทาส ท่านอาจารย์โพธิ์และพระสงฆ์รูปอื่นๆ ซึ่งช่วยโปรยละอองไปของสายน้ำที่ฉ่ำเย็นนั้น ขอให้สวนโมกขพลารามดำเนินไปอย่างมุ่งมั่นในวิถีทางของสายน้ำที่ฉ่ำเย็นชั่วอนันตกาล ขอให้มุ่งมั่นส่งเสริมความเติบโตทางจิตวิญญาณและแสดงอออกถึงความมุ่งมั่นนั้นด้วยการวางใจอยูเหนือความนิยมในวัตถุทั้งปวง"

อ.ดร.โสรีย์ โพธิ์แก้ว
อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ อดีตนายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย

 

"โปรเจค "สวนโมกขพลาราม" จริงๆ แล้วเป็นโปรเจคที่เป็นคนละส่วนกับความเป็นวัดธารน้ำไหล  สวนโมกข์คือจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าหาญในการทวนกระแสคณะสงฆ์ของรัฐสู่ความเรียบง่ายตามธรรมชาติ ความเป็นตัวของตัวเองของสวนโมกข์คือสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจคนหนุ่มสาวมากมายที่ปรารถนาจะค้นหาคุณค่าพุทธธรรมซึ่งไปพ้นกรอบ  สวนโมกขพลารามสัมพันธ์กันอยู่อย่างแนบแน่นกับธรรมทานมูลนิธิ เสมือนสายสัมพันธ์อันไว้วางใจกันระหว่างพุทธทาส-ธรรมทาส-และกัลยาณมิตรของสวนโมกข์  เห็นสภาพความเปลี่ยนแปลงของสวนโมกข์โดยเฉพาะตรงเคาน์เตอร์วัดและบนยอดเขาพุทธทองในตอนนี้แล้วรู้สึกสะท้อนใจ  คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากรากฐานสำคัญที่ท่านพุทธทาสฝากไว้ถูกมองข้ามไปในคณะผู้บริหารของสวนโมกข์ยุคนี้"

วิจักขณ์ พานิช
นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ชัชชาติ' เล็งยกปรับสุขารถไฟจากแบบธรรมชาติเป็นระบบปิดมีถังเก็บ

Posted: 27 Aug 2013 06:55 AM PDT

หลังได้รับร้องเรียนเรื่องการทิ้งสิ่งปฏิกูลลอดใต้สะพานรถไฟ ทำประชาชนด้านล่างกระเจิง รมว.คมนาคมรุดไปตรวจงานที่ราชบุรี พร้อมเสนอยกเลิกสุขาบนรถไฟระบบปล่อยสิ่งปฏิกูลลงตามราง เปลี่ยนมาเป็นระบบปิดมีถังเก็บ 

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เดินทางมาตรวจงานที่สะพานรถไฟ จ.ราชบุรี เพื่อตรวจผลกระทบจากระบบห้องสุขารถไฟที่เป็นระบบเปิด หรือการปล่อยสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่ายลงสู่รางรถไฟ โดยโพสต์ข้อความในเฟซบุคว่า

"เช้าวันนี้ ผมชวนผู้ว่าประภัสร์ มาราชบุรี เพื่อดูปัญหาที่มีเพื่อนเรา post มา กรณีรถไฟทิ้งสิ่งปฏิกูล ลอดสะพานรถไฟ ลงมาทำความเดือดร้อนให้กับประชาชน ผู้สัญจร บนถนนด้านล่าง

ปัญหาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆครับ ห้องน้ำบนรถไฟปัจจุบันเป็นระบบเปิด คือ ทิ้งสิ่งปฏิกูลตามทาง และให้ย่อยสลายโดยสายฝน สายลมและแสงแดด (ฟังดูโรแมนติกมาก) ซึ่งข้อดีคือห้องน้ำรถไฟไม่เคยเต็ม แต่ข้อเสียก็มีเยอะ โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย และ ความเดือดร้อนของประชาชน เหมือนในกรณีนี้"

นายชัชชาติ ระบุว่าได้แจ้งให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศว่า "ในเบื้องต้น คุยกับท่านประภัสร์แล้วต้องดำเนินการสองเรื่องครับ 1) ในสะพานที่ข้ามชุมชน ถนน ต้อง ทำระบบที่รองที่ถูกสุขลักษณะ ในทุกจุด

2) พิจารณาปรับปรุงห้องน้ำในรถไฟให้เป็นระบบปิด (มีถังเก็บและดูดไปจัดการ) โดยต้องคิดให้รอบคอบถึงการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา (ส้วมเต็ม ดูดไปจัดการไม่เหมาะสม)

เหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ครับ" รมว.คมนาคม กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กันตนาเตรียมเปิดโรงภาพยนตร์ชุมชนพันแห่งทั่วประเทศ เก็บค่าชม 30 บาท

Posted: 27 Aug 2013 04:17 AM PDT

กันตนากรุ๊ปเปิดตัวโรงภาพยนตร์ชุมชน ตั้งเป้าหาผู้ลงทุนในระดับอำเภอ เพื่อเปิดโรงภาพยนตร์ขนาด 50 ที่นั่ง 1,000 แห่ง เก็บค่าชม 30 บาท และจะใช้ระบบจัดการเบ็ดเสร็จจากส่วนกลาง เพื่อให้ผู้ประกอบการฉายหนังแบบไม่เปลืองแรงงาน พร้อมเล็งขยายตลาดฉายหนังสู่อาเซียน

เว็บไซต์ของบริษัทกันตนา กรุ๊ป รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่สตูดิโอ กันตนา เขตห้วยขวาง บริษัทกันตนา ได้เปิดตัวโรงภาพยนตร์ชุมชน "กันตนา ซีนีเพล็กซ์" (Kantana Cineplex) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีนายจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแนวคิด "โรงภาพยนตร์ชุมชน– One Frame, One Culture" เปิดเผยว่าได้จัดตั้งบริษัท เอเชีย ซีนีม่า เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ ACN สรรหาผู้ร่วมลงทุนในท้องถิ่นระดับอำเภอทั่วประเทศ ตั้งเป้าโรงภาพยนตร์ 1,000 แห่ง จากปัจจุบันที่มีโรงภาพยนตร์สนใจเข้าร่วมแล้ว 500 แห่ง

ทั้งนี้นายจาฤก ระบุว่าโครงการโรงภาพยนตร์ชุมชนแรกของไทย "กันตนา ซีนีเพล็กซ์" จะเป็นโครงการโรงภาพยนตร์ชุมชน (Community Cinema) ครั้งแรกของประเทศไทย เข้าร่วมลงทุนกับเอกชนในท้องถิ่นต่างๆ สร้างโรงหนังขนาดเล็ก 50 ที่นั่ง ราคาตั๋วเพียง 30 บาท ให้เป็นศูนย์รวมของประชาชนในท้องถิ่นแบบ Community Center คาดหมายเชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่นระดับอำเภอทั่วประเทศ และก้าวสู่ทั่ว AEC ในไม่ช้า

นายจาฤก กล่าวด้วยว่า "แนวคิด โรงภาพยนตร์ชุมชน 'One Frame, One Culture' มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าภาพยนตร์หรือหนัง เป็นสื่อเร้าการรับรู้ของมนุษย์ที่มีอิทธิพลสูงมาก จึงสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อสร้างเสริมการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ได้ดียิ่ง"

โดยโครงการโรงภาพยนตร์ชุมชน กันตนา ซีนีเพล็กซ์ มีเป้าหมายการดำเนินการในเบื้องต้นที่การสรรหาผู้ร่วมลงทุนภาคท้องถิ่น เพื่อกระจายการก่อสร้างให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศ และคาดหมายเปิดดำเนินการพร้อมกันภายในต้นปี 2557

"เรามองว่าโรงภาพยนตร์ชุมชนเหล่านี้ จะช่วยกระจายความเจริญ ลดช่องว่างระหว่างคนเมืองกับคนในชุมชนชนบท เพราะนอกจากจะมอบโอกาสให้คนชนบทได้รับความบันเทิงในมาตรฐานคุณภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นโครงการช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เกิดเป็นศูนย์ชุมชนอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นแหล่งให้ประชาชนในท้องถิ่นมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ เช่น นำสินค้าพื้นเมืองและผลผลิตต่างๆในชุมชนมาขาย หรือใช้เป็นสถานที่จัดงานจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ของท้องถิ่น ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่การประชุม ไปจนถึงการรับชมการถ่ายทอดภาพงานกิจกรรมต่างๆ" นายจาฤกกล่าว

นอกจากนี้ยังมองว่า "โครงการโรงภาพยนตร์ชุมชนนี้ จะช่วยขยายฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้คนในชนบทได้ชมภาพยนตร์ในโรงได้ง่ายและบ่อยครั้ง อันจะทำให้วัฒนธรรมแบบ "ยกพวก-ยกครอบครัวมาดูหนังร่วมกัน" กลับมาอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคผลิตภัณฑ์ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงเป็นอย่างมาก เกิดเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เติบโตได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ดีขึ้นด้วย"

เว็บไซต์ของบริษัทกันตนา กรุ๊ป ระบุด้วยว่า โรงภาพยนตร์ชุมชน กันตนา ซีนีเพล็กซ์ จะมีรูปแบบเหมือนกันหมด คือเป็นโรงขนาดเล็ก 50 ที่นั่ง ราคาตั๋วเข้าชมเพียง 30 บาทต่อที่นั่ง เพราะมีต้นทุนต่ำ คือค่าการก่อสร้างเพียง 1.2 ล้านบาท และใช้เนื้อที่เพียง 200 ตารางวา และเพื่อให้เป็นโรงภาพยนตร์ที่มีคุณภาพเต็มรูปแบบแม้จะมีต้นทุนต่ำ กันตนาได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบจัดการเบ็ดเสร็จ คือ "Kantana Intelligent One Touch" ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินการฉายภาพยนตร์ได้อย่างง่ายดายไม่เปลืองแรงงาน ด้วยการกดเพียงปุ่มเดียว ระบบการฉายภาพยนตร์จะเริ่มปฏิบัติการแบบอัตโนมัติไปตามขั้นตอนต่างๆ เช่น ไฟหรี่ลง ฉายภาพยนตร์ตัวอย่าง ฉายภาพยนตร์โฆษณา และดับไฟเข้าสู่การฉายภาพยนตร์หลัก เป็นต้นโดยการปฏิบัติการทั้งหมดจะเป็นการรับส่งสัญญาณจากส่วนกลางผ่านดาวเทียมไปสู่ทุกโรงภาพยนตร์เพื่อฉายภาพยนตร์ในระบบภาพดิจิตอลและระบบเสียง Surround 5.1 และ 7.1 ทั้งยังมีระบบ "Watermark" ช่วยตรวจสอบและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์จากการลักลอบถ่ายภายในโรงได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ทั้งนี้ ในการเปิดตัวดังกล่าวยังมีการเชิญนายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมมาเป็นประธานในพิธีเปิด และมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่โครงการนี้เป็นการเชื่อมโยงวัฒนธรรมอาเซียนด้วย

บริษัทกันตนา กรุ๊ป ระบุว่า เบื้องต้นมีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุน 500 โรงทั่วประเทศ และได้รับการตอบรับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม พม่า เขมร และลาว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ ครม.พักหนี้เกษตรรายย่อย ผู้มีรายได้น้อย เห็นชอบความร่วมมืออาเซียน–สหรัฐฯ

Posted: 27 Aug 2013 04:10 AM PDT

ครม.มีมติเห็นชอบโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท และเห็นชอบการดำเนินโครงการหุ้นส่วนอาเซียน–สหรัฐ ด้านธรรมาภิบาล การพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียม และความมั่นคง

27 ส.ค.56 ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท ผ่านสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยวางงบประมาณระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2558 จำนวน 3,684.714 ล้านบาท แยกเป็น

งบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ปี พ.ศ. 2556 จำนวน 1,966.960 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่พักหนี้หรือลดภาระหนี้ให้สมาชิก จำนวน 1,445.821 ล้านบาท และจัดสรรให้สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรเป็นเงินอุดหนุนจ่ายขาดเพื่อฟื้นฟูอาชีพแก่สมาชิกจำนวน 521.139 ล้านบาท และงบประมาณในการจ่ายชดเชยดอกเบี้ย โดยให้กับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรปีที่ 2 และปีที่ 3 ปีละ 858.877 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,717.754 ล้านบาท โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ประสานกับสำนักงบประมาณ ในการขอตั้งงบประมาณ

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบในการดำเนินโครงการหุ้นส่วนอาเซียน–สหรัฐฯ ด้านธรรมาภิบาล การพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียม และความมั่นคง (ASEAN-U.S. Partnership for Good Goverence, Equitable and Sustainable Development and Security : ASEAN-U.S. PROGRESS) และโครงการความเชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียนผ่านการค้าและการลงทุน (ASEAN Connectivity through Trade and Investment : ACTI) โดยเห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อตอบรับข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา

โครงการหุ้นส่วนอาเซียน–สหรัฐฯ ด้านธรรมาภิบาลการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียม และความมั่นคง (ASEAN-U.S. PROGRESS) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะขององค์กรเฉพาะสาขาของอาเซียนภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน อาทิ การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล ความร่วมมือด้านอาชญากรรมข้ามชาติ การรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและเด็ก ความร่วมมือด้านแรงงาน การจัดการภัยพิบัติและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างสาขาที่มีความคาบเกี่ยวกัน ตลอดจนการส่งเสริมสมรรถนะของสำนักเลขาธิการอาเซียนในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ส่วนโครงการความเชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียนผ่านการค้าและการลงทุน (ACTI) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนความร่วมมือทางการค้าการลงทุนตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมทั้งเกื้อกูลความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน–สหรัฐฯ เช่น การพัฒนาสมรรถนะอาเซียนด้านระบบพิธีศุลกากร ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) การอำนวยความสะดวกด้านการค้า การพัฒนาพลังงานสะอาด การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

โดยทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาจะจัดสรรงบประมาณภายใต้องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development : USAID) เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับการดำเนินโครงการ ASEAN-U.S. PROGRESS จำนวน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการ ACTI จำนวน 16.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.ยันประกันสังคม ข้าราชการ ใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ตามปกติ แม้ยังไม่ได้เงินคืนจากการสำรองจ่าย

Posted: 27 Aug 2013 03:15 AM PDT

สปสช.แจงสำรองจ่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ประกันสังคมและข้าราชการ แม้ยังไม่ได้เงินคืนแต่ไม่กระทบงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสังคมและข้าราชการใช้บริการของ รพ.ได้ตามปกติ

27 ส.ค.56 สืบเนื่องจากกรณีที่มีการรายงานข่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำหน้าที่สำรองจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวให้กับสิทธิข้าราชการและสิทธิประกันสังคม แต่ทั้ง 2 กองทุนยังไม่มีการคืนเงินให้ สปสช.นั้น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวนั้น รัฐบาลได้มอบให้สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบบข้อมูลต่างๆ (Clearing House) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2555 ที่ให้ สปสช.ทำหน้าที่ Clearing House ในการให้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิตามนโยบายรัฐบาล และการดำเนินการเป็นไปตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า เมื่อประชาชนเข้ารักษา รพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุด ด้วยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย รพ.รักษาทันทีแล้วจึงบันทึกข้อมูลการให้บริการ ส่งมาที่หน่วยงานเบิกจ่ายกลางซึ่ง  สปสช.รับหน้าที่นี้ หลังจากนั้น สปสช.จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับ รพ.ไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและให้ รพ.ที่รับการรักษาได้รับเงินภายใน 15 วัน ผลการดำเนินการ 1 ปี 4 เดือน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการ 26,587 ราย หรือ 30,025 ครั้ง เป็นสิทธิข้าราชการสูงสุด 16,648 ครั้งหรือร้อยละ 55.4 สิทธิหลักประกันสุขภาพ 11,359 ครั้ง หรือร้อยละ 37.8 สิทธิประกันสังคม 1,955 รายหรือร้อยละ 6.5

นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับการเรียกเก็บเงินนั้น ทั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลางยังคงติดขัดในเรื่องระเบียบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งต้องมีการแก้ไขและดำเนินการก่อน จึงจะเบิกเงินคืนให้กับ สปสช.ได้ แต่ยืนยันว่า จำนวนเงินที่ สปสช.สำรองจ่ายไปก่อนนั้น จะได้รับเงินคืนอย่างแน่นอน และไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณในการให้บริการกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่อย่างใด รวมถึงประชาชนในสิทธิสวัสดิการข้าราชการและสิทธิประกันสังคม หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับบริการตามขั้นตอนปกติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รถไฟสายใต้หยุด 5 ขบวน ตำรวจเมืองคอนฯ เล็งยื่นศาลขอผู้ชุมนุมยางพาราเปิดทางจราจร

Posted: 27 Aug 2013 02:29 AM PDT

รฟท. ประกาศหยุดเดินรถไฟสายใต้ 5 ขบวน หลังผู้ชุมนุมชาวสวนยางพาราปิดถนนและทางรถไฟที่ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเล็งยื่นคำร้องต่อศาลขอเปิดช่องทางจราจรหากยังเจรจาไม่สำเร็จ

หลังจากผู้ชุมนุมเรียกร้องการขึ้นราคารับซื้อยางพาราชุมนุมปิดทางรถไฟสายใต้ ช่วงสถานีบ้านตูล และสถานีชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โดยมีการนำรถบรรทุก 18 ล้อ ปิดกั้นถนนและรางรถไฟ และมีการวางแผนกั้นนั้น ล่าสุดเว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานวันนี้ (27 ส.ค.) ว่า "ฝ่ายการปกครองและผู้เกี่ยวข้องได้มีการประชุมหารือ ถึงสถานการณ์ดังกล่าวดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางสัญจรในเส้นทางรถไฟและทางถนนให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง การรถไฟฯ จึงจำเป็นต้องประกาศหยุดการเดินรถขบวนรถสายใต้จากกรุงเทพ อีกจำนวน 5 ขบวน เนื่องจากไม่มีขบวนรถหมุนเวียนกลับมาจากสายใต้ ดังนี้"

1. ขบวนรถเร็ว 171 กรุงเทพ-สุไหงโกลก ออกจากกรุงเทพ เวลา 13.00 น.
2. ขบวนรถด่วนพิเศษ 35 กรุงเทพ-บัตเตอร์เวร์ธ ออกจากกรุงเทพ เวลา 14.45 น.
3. ขบวนรถด่วนพิเศษ 37 กรุงเทพ-สุไหงโกลก ออกจากกรุงเทพ เวลา 15.10 น.
4. ขบวนรถเร็ว 169 กรุงเทพ-ยะลา ออกจากกรุงเทพ เวลา 15.35 น.
5. ขบวนรถด่วนพิเศษ กรุงเทพ-ยะลา ออกจากกรุงเทพ เวลา 22.50 น.

รปท. ระบุด้วยว่า ยินดีคืนเงินค่าโดยสารให้เต็มราคา โดยติดต่อขอคืนเงินได้ที่สถานีรถไฟ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ นสพ.ข่าวสด รายงานคำให้สัมภาษณ์ พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการจัดทีมเจรจาเพื่อลงไปเจรจากับชาวสวนยาง และมีการนัดหมายเจรจากันที่บริเวณโรงเรียนบ้านควนเงิน ซึ่งเป็นจุดที่ปิดทางรถไฟและหากการเจรจาสำเร็จก็ถือว่าดีแต่หากการเจรจาไม่สำเร็จ ขั้นตอนต่อไปก็จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ขอให้มีการรื้อถอนเปิดเส้นทางการจราจร หากยังไม่สำเร็จก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช. เผยบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 'พงศ์เทพ เทพกาญจนา' มากสุด 3 พันล้าน

Posted: 26 Aug 2013 11:42 PM PDT

ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่และผู้พ้นตำแหน่ง โดยนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากสุด 3 พันล้านบาท พ้อง ชีวานันท์ รมช.คมนาคม มีน้อยสุด 10 ล้านบาท

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (27 ส.ค.) ว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่และพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีทรัพย์สิน รวม 601 ล้านบาท
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีทรัพย์สินรวม 137 ล้านบาท
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินรวม 394 ล้านบาท
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีทรัพย์สินรวม 171 ล้านบาท
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีทรัพย์สินรวม 43 ล้านบาท
ขณะที่ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีที่ร่ำรวยที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ มีทรัพย์สินรวม 3,085 ล้านบาท
ด้านนายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีทรัพย์สินน้อยที่สุด 10 ล้านบาท

ส่วนบัญชีแสดงทรัพย์สินของผู้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ มีทรัพย์สิน 17.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากก่อนเข้ารับตำแหน่ง 2,789,631 บาท

ทั้งนี้ การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินครั้งนี้ เป็นการเปิดเผยบัญชีของผู้เข้ารับตำแหน่งใหม่ 18 คน 19 ตำแหน่ง และบัญชีของผู้พ้นจากตำแหน่ง 16 คน 17 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภิญญา กลางณรงค์

Posted: 26 Aug 2013 11:13 PM PDT

"..ถ้าใช้ ม.37 พร่ำเพรื่อ ก็เหมือนใช้ยาพาราเซตามอลแบบติดต่อกันทุกวัน ในที่สุด ม.37 ก็จะไร้ความหมาย แต่กว่าจะถึงวันนั้น กสทช.คงโดนรุมจนเละ.."

26 ส.ค.56, หนึ่งใน กสทช. กล่าวถึงมติพิจารณาบทลงโทษ 'แกงค์การ์ตูน' กรณีฉาย 'เคนชิโร่ ภาค 2' ขัด พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ม.37 ว่าด้วยเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น