โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จรัส สุวรรณมาลา ‘พื้นที่ถูกยึดครองกับสันติภาพบนฐานความจริงที่ภาคใต้’

Posted: 20 Aug 2013 12:48 PM PDT

ปาฐกภาพิเศษของ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ในงาน STEPs TO PEACE อธิบายพื้นที่ที่ถูกยึดครองจากทั่วโลก ชีวิตที่ต้องถอยร่นหรือต่อสู้กับอำนาจที่กลืนกินอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสันติภาพบนฐานความจริงที่ชายแดนใต้

ปาฐกภาพิเศษของศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ "การส่งเสริมความเข็มแข็งและการบูรณาการความรู้ เพื่อก้าวสู่สันติภาพ" เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ในงานสัมมนา "บูรณาการความรู้ ก้าวสู้สันติภาพ" STEPs TO PEACE จัดโดยโครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย หรือ STEP Project ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีเนื้อหาน่าสนใจ ดังนี้

..............................

ผมอยากเริ่มต้นด้วยเรื่องชวนคิด เกี่ยวกับพื้นที่เมืองที่ถูกยึดครอง เราได้อ่านเรื่องราวทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองที่มักจะถูกยึดครองโดยกลุ่มคนที่บุกรุก

ชนพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตแบบดั่งเดิม  แบบที่เขาเรียกว่า  ล้าหลัง ยากจน ไม่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ย่อมเสี่ยงที่จะขาดความมั่นคง ถูกคนภายนอกเข้าไปกินรวบ ยึดครอง ผูกขาดทรัพยากร ทั้งผิดและถูกกฎหมาย โดยคนในพื้นที่สู้ไม่ได้ บ้างจึงยอมจำนน แต่ที่ทนไม่ไหว ก็ลุกขึ้นสู้กันไปตามมีตามเกิด

จนเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน (ขัดแย้งกันเอง เพราะเลือกกันไปคนละทาง บ้างก็สู้ บ้างก็ยอมจำนน) และขัดแย้งกับภายนอกกับพวกที่เข้ามายึดครองหรือปกครอง ทำให้อ่อนแอ ถดถอยลงไปเป็นลำดับ  จนในที่สุดก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

ประสบการณ์ที่เราพบก็คือ ชนพื้นเมืองทั่วโลก ไม่ว่าในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย จีนแผ่นดินใหญ่ จีนไต้หวัน เวียดนาม พม่า อินเดีย ฯลฯ มักถูกรัฐบาลของกลุ่มคนที่เข้ายึดครอง บังคับให้ถอยร่นไปอยู่ในดินแดนที่ลึกเข้าไป ขึ้นไปอยู่บนเขา หรือในเป็นที่ซึ่งทุรกันดารกว่า ถูกปล้นสิทธิพื้นฐานไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร และไม่ได้รับสิทธิทางการเมือง

จนเมื่อมีขบวนการประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ขึ้นในโลก เมื่อไม่นานมานี้ เขาจึงเริ่มคืนสิทธิความเป็นมนุษย์ให้แก่คนพื้นเมือง ให้ความเคารพในสิทธิของชนพื้นเมือง และกลับมาฟื้นฟูชนพื้นเมืองกันอย่างจริงจัง

ในขณะที่คนพื้นเมืองส่วนในใหญ่ถูกกลืน ถูกทำลายอัตลักษณ์  จนแทบค้นหาตัวเองไม่เจอไปแล้ว ชนพื้นเมืองที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพ "ประชาชนชั้นสอง" เพราะด้อยการศึกษา ติดยา ตกงาน ฐานะครอบครัวไม่สู้จะดี เด็กและเยาวชนมีปมด้อยติดตัวมาตั้งแต่เกิด เพราะสู้คนในพื้นที่อื่นไม่ได้

กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ของเรา ดูไปก็คล้อยกับกรณีชนพื้นเมืองในที่อื่นๆ ของโลก ที่ว่ามาข้างต้น อย่างน้อยก็มีประวัติศาสตร์ให้เราได้เรียนรู้กัน เราไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ความหลังเรื่องเหล่านั้น เพราะไม่มีประโยชน์อันใด แต่ที่จำเป็นต้องพูดกันก็คือ สภาพความเป็นจริงในวันนี้

ความจริงเรื่องแรก เราต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ความไม่สงบ การลอบวางระเบิด ฯลฯ ในพื้นที่จะยังคงอยู่ต่อไป ถึงแม้เราทุกคนไม่อยากให้มี และผมคิดว่าเราทุกคนในที่นี้เห็นด้วยและสนับสนุนการเจรจา เพื่อยุติเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง และทำลายล้างที่ว่านี้ให้เร็วที่สุด

วันนี้ผมจะไม่กล่าวถึงเรื่องที่ว่านี้ แต่จะพูดถึงความจริงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวัน ของประชาชน 3 จังหวัด และมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องข้างต้นเช่นเดียวกัน

ถ้าท่านมีโอกาสพลิกอ่านเอกสารการศึกษาของโครงการ STEP จะพบข้อมูลต่อไปนี้

1.    ประชากร 3 จังหวัดประมาณ 30 % อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ ความยากจน ซึ่งถือว่ามีจำนวนคนจนกระจุกตัวสูงที่สุดในประเทศไทย  ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.5% เท่านั้น (3 จังหวัดสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 3 เท่าตัว)

2.    ดัชนีคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเรียกว่า "Human achievement index" ของ 3 จังหวัด ถดถอยลงไปตามลำดับที่ 15 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันนี้ตกมาอยู่อันดับที่ 36

3.    ประชากร 3 จังหวัด โดยเฉพาะนราธิวาสและปัตตานี มีระดับการศึกษาต่ำ มีงานทำน้อยอยู่ในลำดับท้ายๆของประเทศไทย โดยเฉพาะเยาวชนใน 2 จังหวัดนี้ตกงานมากที่สุดในประเทศไทย

4.    กล่าวเฉพาะเรื่องการศึกษา เด็กนักเรียนทีมีโอกาสเรียนต่อระดับมัธยมหรือระดับอาชีวะน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยทั่วไป

5.    ภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดอ่อนแอ และมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ผลการจัดเก็บข้อมูล ของโครงการ STEP พบว่า กลุ่มสตรีใน 3 จังหวัดขาดโอกาสที่จะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ น้อยกว่าจังหวัดอื่นๆไม่เคยได้ยินว่า 3 จังหวัดนี้มี ส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ผู้หญิง?

6.    ฐานเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจชุดดั้งเดิม  พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน น้ำ แหล่งประมง ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง เป็นต้น ไม่คอยมีเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม-บริการ หรือเศรษฐกิจแปรรูป ขนาดเล็ก-ขนาดกลางในท้องถิ่น เพราะขาดผู้ประกอบการ จึงไม่คอยมีแหล่งการจ้างงาน

7.    มีสถานศึกษาทั้งระดับอาชีวะ และมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย แต่ผู้จบการศึกษาส่วนใหญ่หางานในพื้นที่ไม่ได้  เพราะหลักสูตรไม่สนองความต้องการของท้องถิ่น อีกทั้งตลาดแรงงานท้องถิ่นไม่คอยมี จะไปหางานที่อื่นก็ยาก ติดขัดกับเรื่องภาษาที่ใช้ เหล่านี้เป็นต้น

ผมเชื่อว่า ความจริงที่ว่านี้ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ทีทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดเกิดขึ้น ขยายตัว และดำรงอยู่จนทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าทั้งหลายเห็นด้วยกับผม

ดังนั้น ถ้าไม่ขจัดเงื่อนไขเหล่านี้ ให้บรรเทาบาบาง หรือหมดไป ความขัดแย้งและความไม่สงบ ก็จะดำเนินการต่อไป แม้จะใช้กำลังฉุดให้หยุดได้ ก็จะหยุดชั่วคราวเท่านั้น ผมจึงของสนับสนุนความพยายามของโครงการ STEP ที่มุ่งขจัดเงื่อนไขเหล่านี้


ประเด็นอยู่ที่ว่า ใครจะเป็นผู้ลงมือทำ

รัฐบาลทำอะไรลงไป รัฐบาลในอดีตที่เป็นรัฐเผด็จการ ทำอะไรลงไปกับพื้นที่นี้ เราทราบกันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงอีก

รัฐบาลในยุคประชาธิปไตย แม้จะไม่ได้ใช้วิธีการปกครอง 3 จังหวัดนี้ อย่างที่เคยทำในยุดเผด็จการทหาร แต่ก็ไม่ได้เร่งฟื้นฟูการพัฒนาให้ทัดเทียมจังหวัดอื่นๆ ที่เขาก้าวรุดหน้าไปแล้วอย่างจริงจัง

เพิ่งจะมาทุ่มงบประมาณลง 3 จังหวัดกันมากมายในช่วงหลังเกิดความไม่สงบนี่เอง เข้าใจว่างบลง 3 จังหวัด ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา (ไม่รวมงบของทหารและความมั่นคง) ประมาณกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าคำนวณต่อหัวประชากร ก็สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ กว่า 2 เท่าตัว ถ้านับงบทหารและงบความมั่นคงเข้ามาด้วย ก็มากกว่านี้อีก 2 เท่าตัว

แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้พื้นที่นี้ขึ้นมาได้มากนัก เพราะเหตุใดยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัด คงต้องทำ แต่คาดเดาได้ว่า เหมือนเทน้ำลงตะกร้า ตะกร้าขันน้ำไม่ได้ น้ำไหลผ่านไปหมด อะไรทำนองนั้น

เราไม่ถึงกับหมดหวังกับรัฐบาล ก็ยังอยากให้รัฐบาลจริงจังกับพื้นที่ 3 จังหวัดมากกว่านี้ แต่เราไม่ควรหวังพึ่งแต่รัฐบาลอยู่ร่ำไป เพราะเรารู้ๆกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการ STEP ซึ่งให้ความสนใจกับการเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่ ให้พื้นที่จัดการกับปัญหาของตนเอง และฟื้นตนเองได้มากที่สุด


พื้นที่จะทำอย่างไรดี

ในพื้นที่มีหน่วยงานของรัฐบาล ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ 3 จังหวัด หน่วยงานด้านความมั่นคง ที่มาปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ สถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัย) มีองค์กรส่วนท้องถิ่น มีหน่วยธุรกิจ สมาคมหอการค้า องค์กรภาคประชาสังคมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางศาสนา และกลุ่มอาชีพต่างๆ และหน่วยงานทางสังคมที่เล็กที่สุด และสำคัญที่สุดก็คือ สถาบันครอบครัว และตัวประชาชนในพื้นที่

สถาบันทางการเมืองการปกครอง และองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาชนเหล่านี้จะพลิกฟื้นชีวิตและความรุ่งเรืองของ 3 จังหวัดกลับคืนมาได้อย่างไร คิดว่าเราต้องมีจังหวะก้าว ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า STEP ตรงกับชื่อโครงการ STEPซึ่งเป็นผู้จัดงานในวันนี้พอดี (โดยบังเอิญ)

หนึ่ง เราตระหนักดีว่า บรรดาองค์กรในพื้นที่ส่วนใหญ่อ่อนแอ ดังนั้น เราต้องสร้างความเข็มแข็งให้กับองค์กรเหล่านี้ ต้องเริ่มต้นค้นหา สำรวจ องค์กรประเภทต่างๆทั้งหน่วยธุรกิจ สถาบันสังคม องค์กรชุมชน ให้รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร

สอง เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรประเภทต่างๆ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างเข็มแข็ง กว้างขวาง ให้องค์กรเป็นแหล่งสะสมพลัง ทำให้ความสามารถรวมตัวกันทำงานใหญ่ๆได้ ไม่ว่าจะเป็นทำธุรกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถระดมและแรงหนุนจากประชาชน ให้สามารถจัดบริการสาธารณะ หรือกิจกรรมพัฒนาชุมชนอื่นๆ ได้มากขึ้น

หรือให้สถานศึกษาในพื้นที่พัฒนาหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนที่สนองตอบปัญหาและความต้องการของพื้นที่ได้ตรงเป้ามากขึ้น สามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ สร้างนักประดิษฐ์คิดค้นสำหรับการผลิตในพื้นที่ได้มากขึ้น หรือเป็นแรงงานป้อนระบบการผลิตในพื้นที่ได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น เป็นต้น

อนึ่ง ดัชนีเพิ่มความสามารถขององค์กรในพื้นที่นี้ อาจจะเป็นต้องคิดถึงการออกแบบระบบการปกครองหรือการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมกับ 3 จังหวัดในระยะยาว เช่น การจัดตั้งเขตการปกครองตนเองพิเศษ ที่อาจารย์ศรีสมภพ (จิตร์ภิรมย์ศรี) เรียกว่า รูปแบบ ปัตตานีมหานคร หรือรูปแบบอื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

เพิ่มขีดความสามารถของครัวเรือนและประชาชน ด้วยการเพิ่มช่องทางให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาเล่าเรียนและพัฒนาทักษะผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ (สถานศึกษา) และผ่านสื่อสาธารณะอื่นๆ สร้างความมั่นใจในการงานอาชีพและรายได้ ดึงเยาวชนและแรงงานเข้าสู้ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มากที่สุด

สาม จัดระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ และครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ให้มีสวัสดิการเพียงพอ บนพื้นฐานศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

สติปัญญากับสันติภาพ (Intelligence and Peace) เป็นของคู่กัน ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพ สงครามและความขัดแย้ง เป็นของคู่กับการขาดสติปัญญา

สร้างสติปัญญา ได้ด้วยการเข้าถึงข้อเท็จจริง ทำความจริงให้ประจักษ์ ใช้ข้อเท็จจริง ความจริง ทำลายความไม่รู้ เมื่อคนหลุดพ้นจากพันธนาการความไม่รู้ คนย่อมมีปัญญา คนมีปัญญา ย่อมแสวงหาสันติภาพ ย่อมหวงแหนและรักษาสันติภาพไว้ยิ่งชีวิต

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาพักประชุมแก้ รธน. เรื่องที่มา ส.ว. หลังชุลมุน วิป 3 ฝ่ายกำหนดกรอบ ก่อนถกต่อพรุ่งนี้

Posted: 20 Aug 2013 11:19 AM PDT

ประชุมร่วมสองสภาแก้ไข รธน. เลิก ส.ว. สรรหาเป็น ส.ว. เลือกตั้ง เกิดการประท้วงเนื่องจากประธานสภาสั่งลงมติตัด 57 ส.ส. - ส.ว. ไม่ให้แปรญัตติ เนื่องจากเนื้อหาที่จะอภิปรายขัดหลักการของร่างแก้ไข และมีเสียงกรีดร้องของ ส.ส. ขณะเกิดชุลุมุนช่วงตำรวจควบคุม ส.ส.ฝ่ายค้านออกจากที่สภา สุดท้ายประธานสภาต้องพักการประชุม ให้วิป 3 ฝ่าย ไปหารือเรื่องกรอบเวลาและเนื้อหาการอภิปรายมาก่อน แล้วจะเริ่มใหม่ 21 ส.ค.

ตามที่ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ของวันที่ 20 ส.ค. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 ประเด็นที่มาของ ส.ว.

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... มาตรา 68 และมาตรา 237 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วนั้น

โดยกรอบการพิจารณาประเด็นที่มา ส.ว. ในวาระ 2 จะใช้เวลา 2 วัน คือ วันที่ 20-21 สิงหาคม เวลา 09.30 น. - 22.00 น. ซึ่งมีเนื้อหา ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน จากเดิมที่ ส.ว. มีที่มาจากการเลือกตั้ง และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา และให้ยกเลิกคุณสมบัติต้องห้ามตัดข้อห้ามที่เคยระบุว่าห้ามสังกัดพรรคการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี ออกไป รวมถึงตัดข้อห้ามเรื่องการเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไป พร้อมทั้งบัญญัติในท้ายร่างด้วยว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เลือกตั้ง ส.ว.แล้ว ส.ว.ชุดเดิมจะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่ง หรือถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมิได้ จนกว่าสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปตามร่างที่แก้ไขจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

ภาพบันทึกจากวิดีโอในช่วงที่ตำรวจพยายามเข้าไปควบคุมตัว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในสภา ในช่วงท้ายจะได้ยินเสียงร้องของนริศา อดิเทพวรพันธุ์ และพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ด้วย (ที่มาของภาพ: http://youtu.be/l1aaU02BO6c)

คลิปที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรครักประเทศไทย บันทึกในช่วงเกิดเหตุชุลมุนในสภา เมื่อ 20 ส.ค. โดยนายชูวิทย์โพสต์ด้วยว่ามี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถามด้วยว่า "ชูวิทย์ถ่ายคลิปไปทำไม? อย่าทำให้เพื่อนๆพรรคประชาธิปัตย์เขากังวล" (ที่มา: เพจชูวิทย์)

หลังเหตุชุลมุนในช่วงบ่าย ทำให้ทุกครั้งที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านประท้วง และเข้ามาใกล้ที่นั่งของประธานรัฐสภา ประธานจะสั่งให้ตำรวจเข้ามายืนล้อม (ที่มา: โทรทัศน์รัฐสภา)

 

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 13.50 น. ได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในสภา โดยหลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียง 339 ต่อ 15 คะแนนไม่ให้สมาชิกรัฐสภาจำนวน 57 คนอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา จากทั้งหมด 202 คน ที่ได้เสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขถ้อยคำในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 96 วรรค 3 กำหนดไว้ว่าการเสนอแก้ไขถ้อยคำที่ขัดกับร่างแก้ไขในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการขั้นตอนการรับหลักการจะกระทำไม่ได้

โดยนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "สมาชิกรัฐสภาทั้ง 57 คนได้เสนอคำแปรญัตติที่หลากหลาย เช่น การเสนอตัดบทบัญญัติทุกมาตรา และให้การได้มาซึ่ง ส.ว. กลับไปสู่ระบบสรรหาผสมกับการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาได้รับเอาไว้ โดยในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ที่รัฐสภารับหลักการไว้ คือ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การเสนอคำแปรญัตติเพื่อยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำได้"

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ทั้งนี้ระหว่างที่นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ดังกล่าว กำลังอ่านรายงานของคณะ กมธ.เพื่อเข้าสู่เนื้อหาเป็นรายมาตรา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ส่งเสียงโห่เป็นระยะ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้เรียกตำรวจรัฐสภาเข้ามาควบคุมตัว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  ที่ประท้วงไม่ยอมให้ประธานดำเนินการประชุม  ออกนอกห้องประชุม

โดย ส.ส. ที่ตำรวจเข้าไปควบคุมตัวได้แก่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส. พัทลุง นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส. อุทัยธานี นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยได้พากันยืนตะโกนว่า "สภาทาส" และ "ขี้ข้าทักษิณ"  และเกิดเหตุุชุลมุนขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามนำตัวนายกุลเดช ออกจากห้องประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์จึงช่วยกันเข้ามาแก้ไข โดยนายธานี เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาผลักเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ล็อกตัวนายกุลเดช ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับนายธานี เหตุการณ์เป็นไปอย่างชุลมุน อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ช่วยกันต่อว่าเจ้าหน้าที่ว่า "กล้าทำผู้แทนหรือ" ตำรวจจึงหยุดปฏิบัติดังกล่าว โดยมีรายงานด้วยว่าเมื่อออกห้องประชุมไปแล้วตำรวจได้พนมมือไหว้ ส.ส. กลุ่มดังกล่าว

โดยระหว่างที่มีการควบคุมตัว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีเสียงร้องของ ส.ส. ดังขึ้นมาในสภา ทราบชื่อภายหลังคือ น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ และ น.ส. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โดยช่วงเหตุการชุลมุนดังกล่าว สามารถชมคลิปได้ที่นี่

อนึ่ง ตลอดทั้งวันมีการพักการประชุมไปทั้งหมด 4 ครั้ง และต่อมาสำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่าหลังการอภิปรายของฝ่ายค้าน คือนายเทพไท เสนพงศ์ และนายวัชระ เพชรทอง ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 1 ชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 10 มาตรา ซึ่งเป็น มาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาของ ส.ว. เพราะไม่ผ่านการทำประชามติจากประชาชน ขณะเดียวกันระหว่างการอภิปราย ฝ่ายค้านได้ยกมือประท้วงการทำหน้าที่ของประธานฯ ตลอดเวลา เนื่องจากเห็นว่าควรให้สิทธิ นายธนา ชีระวินิจ ส.ส. ฝ่ายค้าน ได้อภิปรายเพราะสงวนคำแปรญัตติไว้แล้ว แต่ประธานยืนยันว่าไม่สามารถให้อภิปรายได้ เพราะแปรญัตติขัดต่อหลักการ

จากนั้นประธานจึงวินิจฉัยว่าไม่มีผู้ติดใจในมาตราที่ 1 จึงเดินหน้าเข้าสู่การพิจารณามาตราที่ 2 ทันที ท่ามกลางบรรยากาศที่วุ่นวาย ประธานจึงสั่งพักการประชุมอีก 10 นาที รวมเป็นการพักการประชุมครั้งที่ 5 และเมื่อเปิดการประชุมอีกครั้ง ที่ประชุมได้ลงมติผ่านความเห็นชอบมาตราที่ 1 ชื่อร่างแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 330 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง จากนั้นจึงเริ่มพิจารณามาตรา 2 ต่อทันที อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังคงความวุ่นวาย เมื่อฝ่ายค้านและ ส.ว. สรรหา ไม่พอใจการทำหน้าที่ของประธานฯ จึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน

โดย สำนักข่าวแห่งชาติรายงานว่า ในที่สุด นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอที่ประชุมให้เลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศการประชุมให้ราบรื่น และยุติความวุ่นวาย แล้วให้วิป 3 ฝ่าย ไปหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบเวลาและเนื้อหาการอภิปรายให้ชัดเจน ก่อนเริ่มประชุมต่อในวันที่ 21 ส.ค. พร้อมเสนอให้เพิ่มวันประชุมอีก 1 วัน คือ วันที่ 22 สิงหาคม 2556 ทำให้บรรยากาศการประชุมดีขึ้น เพราะเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่ขณะเดียวกันการประชุมยังคงต่อเนื่อง โดยสมาชิกทั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. ยังคงผลัดกันเสนอความเห็นเพื่อการประชุมวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.56) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากนั้นประธานสั่งพักการประชุมในเวลาประมาณ 21.40 น. แล้วนัดประชุมต่อพรุ่งนี้ในเวลา 09.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.อนุมัติหลักการกฎหมายคุ้มครองแรงงานทางทะเล

Posted: 20 Aug 2013 10:03 AM PDT

ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเลของไอแอลโอ โดยมีสาระเพื่อคุ้มครองผู้ที่ทำงานบนเรือเดินทะเล

20 ส.ค.56 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ก่อนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมาย กำหนดให้ผู้ที่ทำงานบนเรือหรือคนประจำเรือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเวลากลางคืน คนประจำเรือต้องแสดงใบรับรองแพทย์ และต้องผ่านการฝึกอบรมการทำงานบนเรือ

กำหนดชั่วโมงการทำงานรวมไม่เกิน 14 ชั่วโมงในรอบ 24 ชั่วโมง และชั่วโมงพักผ่อนไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงในรอบ 24 ชั่วโมง และให้มีวันหยุดประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 30 วัน

เจ้าของเรือต้องทำข้อตกลงการจ้างงานเป็นหนังสือ ห้ามเจ้าของเรือหักค่าจ้างและค่าล่วงเวลา คนประจำเรือมีสิทธิลาขึ้นฝั่ง มีสิทธิเดินทางกลับเมื่อสิ้นสุดข้อตกลงการจ้างงาน และให้เจ้าของเรือจัดทำหลักประกันทางการเงินเพื่อส่งตัวกลับ ในกรณีที่เรือเสียหายหรือเรือจม เจ้าของเรือต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่คนประจำเรือ

เจ้าของเรือต้องจัดที่พักอาศัย สถานที่สันทนาการบนเรือ และจัดเตรียมอาหาร น้ำดื่มที่มีคุณภาพแก่คนประจำเรือ และต้องมีการคุ้มครองสุขภาพ การรักษาพยาบาล สวัสดิการ และประกันสังคมแก่คนประจำเรือ ต้องมีห้องพยาบาลและอุปกรณ์พยาบาลบนเรือ โดยเจ้าของเรือเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและบาดเจ็บของคนประจำเรือ

การเป็นผู้จัดหาคนงานไปเป็นคนประจำเรือ ต้องได้รับอนุญาตและต้องวางหลักประกัน และห้ามเรียกเก็บค่าบริการจัดหางานจากคนประจำเรือ

นอกจากนี้ ร่าง พรบ.ยังกำหนดให้คนประจำเรือและเจ้าของเรือมีสิทธิรวมตัวกัน เพื่อเจรจาต่อรองหรือเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและสภาพการทำงานด้วย

โดยทั้งนี้ การยกร่าง พรบ.แรงงานทางทะเลฉบับดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 (Maritime Labor Convention, 2006 : MLC) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) หรือไอแอลโอ ซึ่งมีผลบังคับใช้กับสมาชิกทุกประเทศ แม้จะยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม โดยอนุสัญญาฉบับนี้ให้อำนาจกับรัฐเจ้าของท่าเรือที่ให้สัตยาบันสามารถตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงานของคนประจำเรือที่เข้ามาเทียบท่าในประเทศ และสามารถสั่งกักเรือหรือสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องบนเรือนั้นให้เป็นไปตามที่อนุสัญญากำหนดได้ โดยปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 ฉบับดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.สั่ง ทรูมูฟ-ดีพีซี ทำแผนเยียวยาลูกค้า 1800MHz

Posted: 20 Aug 2013 09:29 AM PDT

กสทช. เรียก กสท ทรูมูฟ ดีพีซี เตรียมดำเนินการตามประกาศเยียวยาคลื่น 1800 ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ให้รีบส่งแผนการดำเนินการ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้า 1800 ทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 15 กันยายนนี้

วันนี้ (20 ส.ค. 56)  ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้เชิญบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท) บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) มาประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยให้ทั้ง 3 บริษัทร่วมกันจัดทำแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการ ในช่วงมาตรการเยียวยา 1 ปี เพื่อนำเสนอ กทค. ภายใน 15 วันหลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้

โดยแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการ จะต้องมีเนื้อหาอย่างน้อย ดังนี้ 1. ข้อมูลการให้บริการ เช่น ข้อมูลผู้ใช้บริการ จำนวนคงค้างในระบบ 2. แผนงานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 3. แผนงานส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นไปอย่างทั่วถึง  4. ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ และภาระที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการลดลงตลอดเวลา

นอกจากนั้นยังให้ทั้ง 3 บริษัท เร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 1800 MHz ของตนทราบ ถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556 และประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสิทธิที่ผู้ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และสิทธิในการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนจนสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครองไม่เกิน หนึ่งปีตามประกาศดังกล่าว รวมถึงการแจ้งช่องทางการติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านการส่งข้อความสั้น (SMS) สัปดาห์ละสองครั้ง โดยการโทรสอบถามข้อมูลดังกล่าวผู้ใช้บริการจะได้รับยกเว้นค่าใช้บริการจากการโทรศัพท์

สิ่งสำคัญ คือ ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง สามารถติดต่อสื่อสารได้ตามปกติ และภายในระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ทราบสิทธิว่าสามารถบริการเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ตามที่ต้องการโดยตลอด

ฐากร กล่าวว่า ในช่วงเวลาของการคุ้มครองตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ที่จะมีผลบังคับใช้ผู้ประกอบการทั้ง 3 บริษัท นอกจากจะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขความคุ้มครอง กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครอง และบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่ได้กำหนดมาให้ กสทช. แล้ว ทั้ง 3 บริษัทจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ได้ ไม่มีสิทธิในการรับลูกค้าใหม่ และจะต้องให้บริการผู้บริโภคด้วยมาตรฐานการบริการเช่นเดิม โดยต้องดูแลคุณภาพสัญญาณบริการให้ได้คุณภาพดังเช่นการให้บริการปกติ ในขณะที่ต้องเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการตามแผนงาน และรับภาระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาช่องทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการโอนย้ายเลขหมาย รวมทั้งต้องรายงานจำนวนผู้ใช้บริการคงเหลือให้ กทค. ทราบภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน
         
ในส่วนเงินรายได้ที่จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามร่างประกาศฉบับนี้ ในช่วงเวลาเยียวยา รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือเป็นรายได้ของแผ่นดิน จะนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 3 ส่วน  คือ ค่าต้นทุนโครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมาย และต้นทุนรายจ่ายในการบริหารจัดการ ส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างมาตรการเยียวยา

ภายหลังการหารือ ฐากรระบุว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายชี้แจงว่าได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย กสท ได้ชี้แจงว่าได้มีการส่งหนังสือยังทรูมูฟ และดีพีซี ให้แจ้งเตือนลูกค้าแล้ว โดยดีพีซีได้ชี้แจ้งว่าได้ทำการส่งข้อความ (เอสเอ็มเอส) ไปยังลูกอย่างต่อเนื่องแล้วโดยตลอด และทางทรูมูฟ ได้ชี้แจงว่า ได้เริ่มส่งเอสเอ็มเอสบอกลูกค้าไปแล้วเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ในอัตราวันละ 1 ล้านข้อความ คาดจะส่งครบราว 17 ล้านเลขหมาย ราวต้นเดือนกันยายน

ในส่วนของสายด่วน (คอลเซ็นเตอร์) ซึ่ง กทค. มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการเปิดให้บริการฟรี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้า ทางทรูมูฟ ได้ชี้แจงแล้วว่า ได้ส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนแก่ลูกค้าแล้วว่าสามารถสอบถามในเรื่องดังกล่าวได้ฟรี ที่เลขหมาย 026479999 และทาง ดีพีซี ชี้แจงว่า กรณีเดียวกันลูกค้าสามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ 1175 ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

 

 

ที่มา: จดหมายข่าว กสทช. และ มติชนออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เผย 3 เดือนฉีดวัคซีนกันไข้หวัดใหญ่ได้กว่า 1.6 ล้านราย

Posted: 20 Aug 2013 08:15 AM PDT

สปสช.เผยหลังดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3 เดือน มีผู้ได้รับวัคซีนกว่า 1.6 ล้านราย 3 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสูงสุด คือ ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ และอำนาจเจริญ

20 ส.ค.56 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยผลการให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหลังดำเนินการ 3 เดือน โดยมีผู้ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 1.6 ล้านราย และ 3 จังหวัดที่มีการให้วัคซีนแก่ประชาชนสูงสุด คือ ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ และอำนาจเจริญ ทั้งนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีด เป็นวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ คือ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 (A H1N1) ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 (A H3N2) และชนิดบี (B)

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปี 2556 จำนวน 3,000,000 โด๊ส งบประมาณกว่า 360 ล้านบาท ฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาฟรี พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2556 ที่โรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั้น

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม – 18 สิงหาคม 2556 สามารถให้บริการประชาชนได้ทั้งสิ้น 1,651,349 คน คิดเป็นร้อยละ 55.04 ของวัคซีนที่จัดหาสำหรับประชาชน 3,000,000 โด๊ส ดังนี้

1. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และเบาหวาน จำนวน 1,651,349 คน
2. หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางสมอง บุคคลอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี และผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ จำนวน 61,215 คน
3.ให้บริการสำหรับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 181,423 คน

นายแพทย์วินัย กล่าวว่า ขณะที่ผลการให้บริการฉีดวัคซีนเทียบกับวัคซีนที่จัดหาสำหรับประชาชน พบว่า จ.ชัยนาท มีการให้บริการสูงสุด คือ ร้อยละ 94.08 จากจำนวนวัคซีนที่จัดหา 21,038 โด๊ส สามารถให้บริการฉีดได้ 19,793 โด๊ส อันดับ 2 คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 93.72 จากจำนวนวัคซีนที่จัดหา 21,947 โด๊ส สามารถให้บริการฉีดได้ 20,569 โด๊ส และอันดับ 3 คือ จ.อำนาจเจริญ ร้อยละ 90.43 จากจำนวนวัคซีนที่จัดหา 15,871 โด๊ส สามารถให้บริการฉีดได้ 14,353 โด๊ส และในระดับเขตนั้น พบว่า เขต 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ มีผลการดำเนินงานสูงสุด คือ มีกลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนร้อยละ 71.4 จากจำนวนวัคซีนที่จัดหา 226,844 โด๊ส สามารถให้บริการฉีดได้ 167,584 โด๊ส

"ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ได้จากลงบันทึกของหน่วยบริการเข้ามาที่ สปสช. แต่คาดว่าผลการดำเนินการจริงจะมากกว่านี้ เพราะยังมีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ลงบันทึกของหน่วยบริการ เยื่องจากยังอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของการให้บริการ และเหลือเวลาอีก 6 สัปดาห์ในการดำเนินการให้ครบตามกลุ่มเป้าหมาย" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นายแพทย์วินัย กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่เหลือ จะสามารถให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ครบตามจำนวนที่ตั้งไว้ เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดลดภาระการรักษาพยาบาลของภาครัฐลง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ดีแทค' แจงกรณีเก็บค่าบริการเกิน 99 สตางค์ จวกประกาศ กสทช.ไม่คุ้มครองผู้บริโภคจริง

Posted: 20 Aug 2013 07:26 AM PDT

สืบเนื่องจากวานนี้ กทค. พิจารณาเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคกรณีเก็บค่าโทรมือถือเกิน 99 สตางค์ โดยลงมติให้ ดีแทค ต้องคืนเงินส่วนที่เก็บเกินให้ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15  วันนี้ (20 ส.ค.) ดีแทคส่งจดหมายชี้แจง โดยระบุว่า การประกาศของ กสทช. นั้นบังคับให้กับผู้ให้บริการเฉพาะราย จึงไม่ใช่การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยดีแทคกำลังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาคำสั่งเหล่านี้

เนื้อความในจดหมายชี้แจงมีดังนี้ 

การปฎิบัติตามประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามกฏหมาย และกฏระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีรายการส่งเสริมการขายที่สอดคล้องกับประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงฯ และขณะเดียวกัน จัดให้มีรายการส่งเสริมการขาย (แพคเกจ) ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ผู้ใช้บริการแต่ละท่าน สามารถมีทางเลือกที่เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานของตน อาทิ ซิม 2499, ซิม 15-16 ใหม่, ซิม ปาท่องโก๋ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ดังที่ดีแทคได้ชี้แจงตลอดมา ว่าการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นบริการการสนทนา หรือการใช้ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (เดต้า) นั้น เป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะการใช้งานจริงในปัจจุบันของผู้บริโภค และพัฒนาการของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่าไรนัก เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักต้องการบริการที่ดีขึ้น มีความสะดวกขึ้น ในปริมาณที่มากขึ้น ในราคาที่ยุติธรรม มากกว่าค่าบริการที่ประหยัด แต่ใช้งานได้จำกัด และไม่มีความสะดวกในการใช้งาน ที่สำคัญคือ แพคเกจ เกือบทั้งหมดในปัจจุบัน จะเป็นการผสมผสาน (bundle) ระหว่าง การใช้งานเพื่อการสนทนา และใช้ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต แต่สัดส่วนน้ำหนักของบริการแต่ละด้านจะเป็นอย่างไร ก็ย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละท่าน ซึ่งผู้ให้บริการมีหน้าที่ในการจัดทำแพคเกจ ที่มีความหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค

ที่สำคัญที่สุดคือ ประกาศ กสทช. เรื่องอัตราบริการขั้นสูงฯ นั้น มีผลบังคับใช้เฉพาะกับบริษัทที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด (SMP) เพียง 2 รายเท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับต่อผู้ให้บริการทุกราย ดังนั้น ประกาศดังกล่าวจึงไม่ได้ให้การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีนี้ ดีแทคได้ร้องขอให้ศาลปกครองได้พิจารณาเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ด้วยความมุ่งหวังที่จะนำมาซึ่งการสร้างบรรทัดฐานที่ชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องอาจ คล้ามไพบูลย์ หวั่นแก้ไข รธน. เรื่องที่มา ส.ว. จะเป็นการกินรวบประเทศ

Posted: 20 Aug 2013 07:25 AM PDT

ส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุการประชุมสองสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มา ส.ว. จะกระทบโครงสร้างประเทศ จะเป็นการผูกขาดประเทศไทยไว้ในกำมือของผู้มีอำนาจเสียงข้างมากในสภา และวุฒิสภากลายเป็น "เผด็จการทาส"

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ว่าการแก้ไขที่มาส.ว.อาจกระทบต่อโครงสร้างของประเทศ โดยมีเป้าหมายกินรวบประเทศไทย หรือ ผูกขาดประเทศไทยไว้ในกำมือของผู้มีอำนาจมีเสียงข้างมากในสภา ซึ่งตนคิดว่าเป็นการวางแผนมาตั้งแต่ต้น เพราะร่างแก้ไขที่มา ส.ว. มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมเซ็นชื่อกับ ส.ว.บางส่วนเกือบทั้งพรรค เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา แสดงให้เห็นว่าเริ่มต้นก็มีการอำพรางแล้ว เป็นการวางแผนแบบผลัดกันเกาหลัง เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งหวังเอื้อประโยชน์กันและกันในรัฐสภา

นายองอาจ กล่าวว่า หากดูเนื้อหาให้ที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเห็นว่า เป็นรูปแบบที่เลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่เคยถูกตั้งฉายาว่า "สภาทาส" และหากผ่านแล้วก็จะหนักกว่า "สภาทาส" โดยจะเป็น วุฒิสภา "เผด็จการทาส" เพราะการแก้ไขในลักษณะนี้จะทำให้การดำเนินการของวุฒิสภาที่มีอำนาจทั้งการแต่งตั้ง ถอดถอนองค์กรอิสระ ถ้าเสียงข้างมากในวุฒิสภาใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจและสภาผู้แทนราษฎรก็จะฮั้วกัน เพื่อแต่งตั้งองค์กรอิสระเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ทำให้องค์กรอิสระที่ควรทำงานด้วยความเป็นกลางจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามวัตถุประสงค์ แต่จะเป็นแค่องค์กรทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจในการถอดถอนด้วย หากโครงสร้างเป็นเช่นนี้จะเป็นการผูกขาดประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดซึ่งเป็นอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.กว่า 100 คนแปรญัตติในเรื่องนี้ รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่พยายามดำรงรักษาความเป็นกลางของสมาชิกวุฒิสภาไว้ให้ได้มากที่สุด จึงอยากให้เสียงข้างมากรับฟังเสียงข้างน้อยอย่างของฝ่ายค้าน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อย่าใช้เสียงข้างมากลากไปสู่เป้าหมายอันเลวร้าย

นายองอาจ กล่าวว่า ทั้งนี้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และเราคงไม่ได้เห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เข้าร่วมประชุมเพราะนายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ ทั้งที่เมื่อดูภารกิจงานแล้วสามารถที่จะส่งรองนายกฯไปปฏิบัติราชการแทนได้ จึงขอตำหนินายกฯ ว่าไม่ควรละเลยการทำหน้าที่ในสภา และตนเองก็เคยพูดเสมอว่า การแสวงหาทางออกให้ประเทศควรใช้เวทีรัฐสภา ถ้ายังดำเนินการลักษณะนี้ก็เป็นการพูดอย่างทำอย่างไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การจัดตั้งแรงงานนอกระบบ: ดูการเคลื่อนไหวเพื่อนิยาม ‘นายจ้าง’ และให้ ‘กฎหมาย’ คุ้มครอง

Posted: 20 Aug 2013 06:06 AM PDT

ทำไมแรงงานนอกระบบต้องพยายามพิสูจน์ความเชื่อมโยงในการทำงานของตนกับ "นายจ้าง" และการเรียกร้องความคุ้มครองทาง "กฎหมาย" นั้นสำคัญต่อการจัดขบวนอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากแอฟริกาใต้, กานา และอินเดียกัน

 

 

Street Net เครือข่ายแรงงานนอกระบบที่สำคัญองค์กรหนึ่งของประเทศแอฟริกาใต้
(ที่มาภาพ:
www.facebook.com/pages/StreetNet/175851405831761)

 

อุปสรรคของการทำงานร่วมระหว่างองค์กรสหภาพแรงงานและแรงงานนอกระบบ

"แรงงานทั้งผองคือพี่น้องกัน" เป็นวลีที่เหมือนเป็นพันธะกิจให้องค์กรแรงงานตระหนักถึงปัญหาของแรงงานทุกกลุ่ม และต่อจากความตระหนักแล้ว การลงมือปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญตามมา แต่เมื่อมองในความเป็นจริงแล้ว การร่วมมือร่วมใจกันระหว่างองค์กรสหภาพแรงงานกับกลุ่มแรงงานนอกระบบก็ยังคงมีปัญหาหลายสิ่งหลายอย่างอยู่

และบ่อยครั้งสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมหรือกิจการขนาดเล็กอาจจะมีแนวคิดที่เป็น "ปฏิปักษ์" กับแรงงานนอกระบบด้วยซ้ำ (เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติและแรงงานชั่วคราว) เพราะมุมมองที่มองว่าแรงงานนอกระบบคือ "คู่แข่ง" หรือแรงงานนอกระบบเองก็มีความแคลงใจต่อการใกล้ชิดกับผู้ว่าจ้างผลิตของสหภาพแรงงานเอง

หน้าที่ที่สำคัญขององค์กรสหภาพแรงงานคือการทำงานร่วมกัน และต้องมองว่าการจ้างงานที่ไม่มั่นคงนั้นเป็นรูปแบบที่เป็นอันตรายสำหรับแรงงานทุกคน ไม่ใช่ผลักแรงงานด้วยกันหนึ่งออกไปเป็นฝ่ายตรงข้าม

ทั้งนี้ความนิยมในการจ้างแรงงานนอกระบบของภาคธุรกิจ ทำให้ยากต่อการจัดตั้งสหภาพในรูปแบบเดิม เพราะว่าแรงงานทำงานแบบชั่วคราว หรือตามฤดูกาล มีสัญญาระยะสั้นหรือไม่มีเลย นักสหภาพจึงต้องมองออกนอกกรอบความสัมพันธ์ของนายจ้างกับคนทำงานให้แบบเดิมหรือตามกรอบกฎหมาย โดยจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นของการรวมกลุ่มกันต่อรองของแรงงานเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในลักษณะการจ้างงานแบบใดก็ตาม

 

ทำไม "นายทุน" จึงไม่อยากเป็น "นายจ้าง"

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญของการรวมตัวขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองสิทธิของ "แรงงานนอกระบบ" เมื่อนำกรอบสหภาพแรงงานมาใช้นั้น นั่นก็คือการโต้แย้งในทางกฎหมาย ที่เหมือนๆ กันในหลายภูมิภาคของโลก ที่คำว่า "นายจ้าง" ในกฎหมายแรงงานมักจะไม่ครอบคลุมถึงการจ้างงานที่ใช้แรงงานนอกระบบ

ทั้งนี้ "ความไม่เป็นทางการ (informality)" ของเศรษฐกิจนอกระบบเกิดจากแรงงานจำนวนมากไม่มีนายจ้างที่ชัดเจน แรงงานเหล่านี้ต้องเสียสิทธิที่ควรได้รับ ถูกกีดกันออกจากสวัสดิการต่างๆ และการจ้างงานลักษณะที่ไม่มีนายจ้างชัดเจนก็ถือว่าเป็นการลดต้นทุนและหลีกเลี่ยงกฎหมายของนายทุนวิธีหนึ่ง

การลดต้นทุนที่ชัดเจนอีกแบบของนายทุนก็คือการขายวัตถุดิบให้กับแรงงานที่ทำงานที่บ้าน หรือแม้แต่แรงงานในโรงงานเองให้ไปทำที่บ้าน แรงงานเหล่านี้ซึ่งดูเหมือนเป็น "นายตัวเอง" หรือ "ผู้ประกอบการ" แต่เมื่อทำงานเสร็จก็ต้องขายคืนให้กับนายทุนผู้จ้าง นายทุนไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนเรื่องการทำงานล่วงเวลา และสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานต้องได้รับ ต้นทุนการจ้างงานรูปแบบนี้จึงมีราคาถูกกว่าการจ้างงานประจำ

รวมทั้งการนำกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดเล็กพลิกแพลงไปใช้ลดต้นทุน เช่น กรณีหนึ่งในโคลัมเบีย แรงงานประจำที่เป็นสมาชิกสหภาพถูกโยกย้ายไปยังหน่วยธุรกิจใหม่ของบริษัทที่ให้แรงงานร่วมกันเป็นเจ้าของ แต่แรงงานกลับพบว่าตนเองไม่มี "อำนาจ" ใดๆ ในหน่วยธุรกิจใหม่ที่บริษัทอยู่เบื้องหลัง และความสัมพันธ์ในการจ้างงานก็ยังคงเป็นเช่นเดิม

 

กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานนอกระบบต่อประเด็นการนิยามนายจ้าง และและให้กฎหมายคุ้มครอง

ในรายงาน "ความยุติธรรมถ้วนหน้า แนวปฏิบัติเพื่อสิทธิแรงงานยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์" (โซลิแดริตี้ เซ็นเตอร์, 2006) ได้ระบุถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการเคลื่อนไหวเพื่อการกำหนดนิยามสำหรับนายจ้างไว้คือ กรณีศึกษาของ StreetNet และ SEWU ในแอฟริกาใต้, การปฏิรูปกฎหมายแรงงานแห่งชาติในกานา รวมทั้งการขยายความคุ้มครองกฏหมายแรงงานแห่งชาติสู่แรงงานนอกระบบหญิงในอินเดีย

ในปี ค.ศ. 2000 Street Net ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้ค้าแผงลอยในแอฟริกาใต้ ได้ร่วมมือกับสหภาพแรงงานนอกระบบหญิงแห่งแอฟริกาใต้ SEWU (Self-Employed Womens' Union) ผลักดันให้เทศบาลท้องถิ่นของเมือง Durban เปิดเวทีสาธารณะให้พ่อค้าแม่ค้าได้แสดงความเห็นและเสนอนโยบายต่อเทศบาล ซึ่งผลปรากฏว่าเทศบาล Durban ได้ยอมรับว่าเทศบาลเป็น "นายจ้าง" ของกลุ่มผู้ค้าแผงลอยในเขตเทศบาล ส่งผลให้เทศบาล Durban ต้องกำหนดนโยบายขยายความคุ้มครองและการบริการให้กับแรงงานนอกระบบ (โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่แผงลอย) นี่เป็นตัวอย่างผลสำเร็จของการเจรจาต่อรองระหว่างแรงงานนอกระบบระบบ (กลุ่มหาบเร่แผงลอย) กับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น

ความเคลื่อนไหวนี้สะเทือนไปถึงระดับจังหวัด โดยผู้ว่าการจังหวัด KwaZulu-Natal ได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมคุ้มครองผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบขึ้นมาต่อยอดอีก โดยได้เปลี่ยนแปลงมุมมองที่เคยมองว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว มาเป็นผู้ร่วมร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้กับเมือง การเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้ได้สร้างภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถดึงดูดได้ทั้งนักท่องเที่ยว นักลงทุน และยกระดับชีวิตของแรงงานนอกระบบขึ้นมาอีกด้วย

ผลการรณรงค์ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ยังได้ทำให้แรงงานหญิงในภาคแม่บ้านและแรงงานในภาคการเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย รวมทั้งสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานอันนำไปสู่การเจรจาต่อรอง ยกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงาน (สวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้นรวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน) และการมีบทบัญญัติกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนทำงานบ้านและภาคเกษตร ในรายของของแรงงานที่ไม่มีการรวมตัวกันต่อรอง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ที่ประเทศกานา เมื่อสภาสหภาพแรงงานแห่งกานา (Trades Union Congress of Ghana - TUC) พิจารณาว่ากฎหมายแรงงานฉบับเก่าของประเทศ ไม่สามารถคุ้มครองแรงงานได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจ้างงานแบบไม่มั่นคงและการจ้างงานแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น จึงได้เรียกร้องให้มีการพูดคุยกันไตรภาคีระดับประเทศ ด้วยการนำภาคธุรกิจ รัฐ และสหภาพแรงงานมาหารือร่วมกัน

การหารือครั้งนั้นส่งผลให้กานามีกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งได้ขยายความคุ้มครองให้กับแรงงานนอกระบบอีกด้วย โดยมีบทบัญญัติสำหรับแรงงานชั่วคราวและแรงงานที่ไม่มีงานประจำ เพื่อให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน สำหรับงานที่เหมือนกัน (เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานประจำ) อีกทั้งยังได้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสวัสดิการอื่นๆ เช่นเดียวกับแรงงานประจำ รวมทั้งหากแรงงานได้รับการจ้างงานต่อเนื่องกันไปถึงหกเดือนหรือมากกว่า แรงงานเหล่านั้นก็จะได้รับการบรรจุเป็นแรงงานประจำทันที

ที่อินเดีย ในปี ค.ศ. 1999 คณะกรรมการแรงงานแห่งชาติของอินเดีย ได้เสนอแนวคิดบางประการเพื่อให้ครอบคลุมด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่แรงงานนอกระบบ เช่น ขยายคำนิยามคนงานภายใต้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ, การจ่ายค่าจ้างรายชิ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่จ่ายตามเวลาทำงานตามการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ, มีการเสนอแนวคิดให้แก้ไขกฎหมายการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน เพื่อใช้บังคับกับทุกกิจการ ทุกอุตสาหกรรม และทุกภูมิภาค, การให้ความคุ้มครองแก่แรงงานหญิงโดยทั่วถึง ตามโครงการประกันสุขภาพ รวมทั้งขยายสิทธิประโยชน์เรื่องการเลี้ยงดูลูกและแรงงานนอกระบบผู้มีรายได้น้อยกว่า 300 รูปี (ประมาณ 75 ดอลลาร์ในขณะนั้น) ต่อเดือน

คณะกรรมการแรงงานแห่งชาติของอินเดียได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2002 ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการแรงงานแห่งชาติของอินเดียหลายข้อที่ได้กล่าวไป ได้ถูกบรรจุอยู่ในร่างกฎหมายประกันสังคมของแรงงานที่ไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ร่างกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนโดย SEWA (อ่านเรื่อง SEWA เพิ่มเติม) และองค์กรแรงงานต่างๆ ในประเทศอินเดียอย่างกว้างขวาง.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานคดีพี่ฟ้องน้องหมิ่นสถาบันฯ ราชบัณฑิตเบิกความ อ่านแล้วบอกเจตนาไม่ได้

Posted: 20 Aug 2013 05:52 AM PDT

พี่ชายรับเคยมีปัญหาขัดแย้งกัน แต่น้องทำไม่เหมาะจริง ราชบัณฑิตแจงคำที่เขียนไม่มีในพจนานุกรม-ใช้เครื่องหมายไม่ถูกหลักภาษา ไม่สามารถบอกเจตนาได้ ภรรยาจำเลยชี้พี่-น้องทะเลาะกันบ่อย เผยหมาน้องเคยกัดพี่รุนแรง เล็งยื่นประกันตัวรอบ 7 พรุ่งนี้


(20 ส.ค. 56) ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา มีนัดสืบพยานคดีที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง ยุทธภูมิ (สงวนนามสกุล) ในความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา โดยพี่ชายของยุทธภูมิเป็นผู้กล่าวหาว่า ยุทธภูมิพูดถ้อยคำหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขณะดูโทรทัศน์ในบ้าน และเขียนถ้อยคำหมิ่นฯ ลงบนแผ่นซีดี 

ยุทธภูมิ ให้การต่อศาล ปฏิเสธว่าไม่ได้พูดและไม่ได้เขียนถ้อยคำลงบนซีดีตามที่ถูกกล่าวหา โดยเคยเห็นซีดีดังกล่าวเพียงหนึ่งครั้งที่หน้าตู้ไปรษณีย์หน้าบ้าน อีกทั้งยังรักและจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์
 

พี่ชายรับเคยมีปัญหาขัดแย้งกัน แต่น้องทำไม่เหมาะจริง
ต่อมา เป็นการสืบพยานโจทก์ พยานปากแรกคือ ธนะวัฒน์ พี่ชายของยุทธภูมิ ซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยเบิกความว่า ครอบครัวของตนเองและครอบครัวจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน โดยตนเองและจำเลยประกอบธุรกิจผลิตและค้าขายน้ำยาล้างรถร่วมกัน เคยมีปากเสียงทะเลาะกันบ้างเรื่องสัตว์เลี้ยง แต่ไม่เคยชกต่อยกัน

พยานระบุว่า ในวันเกิดเหตุ ราวปลายเดือนสิงหาคม 52 ประมาณเวลา 10.00น. ตนเองซึ่งมีแนวคิดเสื้อเหลือง หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และจำเลย ซึ่งมีแนวคิดเสื้อแดง หรือ นปช. ได้เถียงกันเรื่องการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่วัดไผ่เขียว ต่อมาในข่าวทีวีมีภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับรถเข็น จำเลยได้พูดดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 5 วันต่อมา จำเลยใช้ปากกาเมจิกเขียนบางอย่างลงบนแผ่นซีดีที่มีข้อความพิมพ์ว่า "หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว เนวินขอทักษิณ" ซึ่งต่อมาเขาเห็นว่าเป็นถ้อยคำหยาบคาย อันเป็นการดูหมิ่น จาบจ้วง ต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ระหว่างเกิดเหตุทั้งสองกรรม มีเพียงตนเองและจำเลยเท่านั้น ไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย

ธนะวัฒน์ ระบุว่า จากนั้น ตนเองและจำเลยทะเลาะกันรุนแรง เนื่องจากจำเลยอารมณ์ร้อน เมาสุรา ไม่เคารพตนเองซึ่งเป็นพี่ชาย จึงไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ตนเองและครอบครัวจึงย้ายออกมา ก่อนจะย้ายกลับเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยอีกครั้ง และมีปากเสียงกันอีก โดยจำเลยเมาและนำสุนัขมาป่วนตนเองถึงห้องนอน ตนเองได้ผลักอกจำเลยตรงบันได แต่จำเลยไม่ได้ล้ม ต่อมาจำเลยด่าทอตนเองด้วยถ้อยคำหยาบคายและพร้อมถือดาบ ท้าให้ชกต่อย จากนั้นมารู้ทีหลังว่าจำเลยไปแจ้งความว่าตนเองพยายามทำร้ายร่างกาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้จับกุมตนเองแต่อย่างใด หลังจากนั้น ตนเองได้ย้ายออกจากบ้านมาอีก เพราะน้องชายยังทำตัวแบบเดิม ตนเองจึงนำซีดีดังกล่าวไปแจ้งความที่กองปราบฯ เนื่องจากไม่พอใจพฤติกรรมของจำเลยที่ไม่เคารพตนเองและสถาบันกษัตริย์
 

ราชบัณฑิตแจงคำที่เขียนไม่มีในพจนานุกรม-ใช้เครื่องหมายไม่ถูกหลักภาษา ไม่สามารถบอกเจตนาได้
พยานโจทก์ปากที่สอง คือ กระลำภักษ์ แพรกทอง อาชีพรับราชการ เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยพนักงานสอบสวนส่งสำเนาหน้าแผ่นซีดีให้ราชบัณฑิตตรวจสอบการใช้เครื่องหมายวรรคตอนที่มีการเขียนด้วยปากกาเมจิก ซึ่งให้ความเห็นว่า การเขียนเครื่องหมายดังกล่าวซึ่งคือ นขลิขิต หรือวงเล็บ ไม่ได้ใช้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย จึงไม่สามารถบ่งชี้เจตนาของผู้เขียนได้ และไม่เข้าใจว่าสื่ออะไร ส่วนคำสองพยางค์ดังกล่าวนั้นไม่มีบัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีเพียงความหมายแยกกัน เป็นคำหยาบคายไหม บอกไม่ได้ เพราะไม่มีระบุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ส่วนเมื่อนำมารวมกันแล้วจะหยาบคายหรือไม่ ขึ้นกับบริบทและอารมณ์ของผู้พูด หากพูดในหมู่เพื่อนสนิทก็ไม่หยาบ แต่หากพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวก็อาจเป็นคำหยาบได้
 

ภรรยาจำเลยชี้พี่-น้องทะเลาะกันบ่อย เผยหมาน้องเคยกัดพี่รุนแรง
พยานปากที่สาม คือ จงกล คงถิ่น ภรรยาของจำเลย เบิกความว่า พี่น้องทั้งสองคนมักมีปากเสียงกันเรื่องสุนัขที่เลี้ยงกัดกัน และเรื่องธุรกิจ แต่ไม่เคยได้ยินการพูดคุยเรื่องการเมืองหรือสถาบันฯ ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันมา 5 ปี ทั้งนี้ มีครั้งหนึ่งที่สุนัขของจำเลยกัดนายธนะวัฒน์จนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และนายธนะวัฒน์เคยบ่นด้วยว่า จำเลยก้าวร้าว โผงผาง เสียเปรียบคน และว่าคนเลวต้องอยู่ในคุก

อนึ่ง ในวันพรุ่งนี้จะเป็นการสืบพยานโจทก์อีกสองปาก คือ พนักงานสอบสวนและพนักงานพิสูจน์หลักฐาน ตามด้วยพยานจำเลยหนึ่งปากคือ จำเลยเอง

หลังการสืบพยานวันนี้ จงกล คงถิ่น ภรรยาจำเลย ระบุว่าอยู่ระหว่างหาหลักทรัพย์ขอประกันตัวยุทธภูมิ ในวันพรุ่งนี้ โดยจะเป็นการยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 7 นับจากการถูกควบคุมตัวในชั้นศาลตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.ย.55 เป็นต้นมา


 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.ส.เชียงรายระบุไม่ได้ลงกลางทางที่ดอนเมือง หลังนักบินจอดพักเครื่องเพราะลงสุวรรณภูมิไม่ได้

Posted: 20 Aug 2013 05:08 AM PDT

"แหล่งข่าวการบินไทย" ให้ข่าวเครือผู้จัดการว่ามี ส.ส. โทรสั่งผู้ใหญ่การบินไทยขอลงที่ดอนเมือง หลังนักบินนำเครื่องลงสุวรรณภูมิไม่ได้เพราะอากาศแปรปรวนและจอดพักที่ดอนเมือง บอกไหนๆ ก็จอดพักเครื่องแล้ว ลงดอนเมืองก็ใกล้บ้านกว่า ขณะที่ "สามารถ แก้วมีชัย" ส.ส.เชียงราย โพสต์ในสเตตัสว่าเกิดเหตุเครื่องบินลงจอดดอนเมืองจริง แต่ตัวเขายังลงที่สุวรรณภูมิเพราะลูกสาวไปรอรับอยู่แล้ว

วันนี้ (20 ส.ค.) เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวภายในบริษัท การบินไทย จำกัด ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 56 ในเที่ยวบินทีจี 141 ต้นทางจากสนามบินจังหวัดเชียงราย ปลายทางที่สนามบินสุวรรณภูมิ ออกจากสนามบินจังหวัดเชียงรายเวลา 20.25 น. และถึงปลายทางที่สนามบินสุวรรณภูมิเวลา 21.45 น. นั้น ระหว่างที่เครื่องบินมาถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากสภาพอากาศบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิแปรปรวน และนักบินประเมินแล้วว่าการลงจอดอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ และมีน้ำมันไม่เพียงพอกับการบินวนเพื่อรอเวลานำเครื่องลง กัปตันจึงตัดสินใจนำเครื่องลงจอดที่สนามบินดอนเมืองเพื่อพักเครื่องชั่วคราว และรอคำสั่งจากหอบังคับการบินให้อากาศปกติปลอดภัยก่อนจึงจะนำผู้โดยสารไปลงที่ปลายทาง ณ สนามบินสุวรรณภูมิต่อไป

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ระหว่างที่เที่ยวบินทีจี 141 ดังกล่าวพักเครื่องอยู่ที่สนามบินดอนเมือง กลับมีสมาชิกรัฐสภาของไทยพร้อมผู้ติดตามรวม 7 รายได้เรียกร้องให้พนักงานต้อนรับและกัปตันเปิดประตูให้พวกตนลงที่สนามบินดอนเมืองแทนสนามบินสุวรรณภูมิ โดยอ้างว่าไหนๆ ก็ลงจอดพักเครื่องแล้ว และหากลงที่สนามบินดอนเมืองจะใกล้ที่พักของพวกตนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม คำขอดังกล่าวของสมาชิกรัฐสภากลุ่มดังกล่าว ทำให้นักบิน พนักงานต้อนรับ และพนักงานภาคพื้นรู้สึกลำบากใจมาก เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎการบิน เนื่องจากการถ่ายเทผู้โดยสารและสัมภาระนั้นมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่แน่ชัดว่าต้องกระทำที่ปลายทางเท่านั้น ทั้งมีผลกระทบต่อ Load Safety ของเครื่องบิน และต้องมีการจัดหาบริการภาคพื้น เนื่องจากการบินไทยไม่มีบริการภาคพื้นที่สนามบินดอนเมือง ทำให้ต้องประสานงานไปยังสายการบินนกแอร์ หรือแอร์เอเชีย นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังจะทำให้นักบินผู้ควบคุมเครื่องถูกสอบสวนได้

"จริงๆ การขึ้นเครื่องบินไม่เหมือนขึ้นรถทัวร์ หรือ บขส. ที่ผู้โดยสารจะขอขึ้น-ขอลงที่ไหนก็ได้ เพราะมีกฎระเบียบทางการบินอยู่ที่ควบคุมอยู่ และใช้ปฏิบัติกันในระดับสากล" แหล่งข่าวระบุ

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า กระนั้นหลังจากการต่อรองกันอยู่สักพัก โดยกลุ่มผู้โดยสารของสมาชิกรัฐสภาได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกับ "ผู้ใหญ่ในบริษัท" จึงมีคำสั่งระบุให้นักบินอนุญาตให้ผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวลงจากเครื่องบินที่สนามบินดอนเมืองได้ โดยมีผู้โดยสารเป็นสุภาพสตรีในชั้นธุรกิจขอลงอีก 1 คน ทั้งนี้ ผู้โดยสารหญิงคนดังกล่าวยังมีสัมภาระในโหลดใต้ท้องเครื่องอีก 11 กิโลกรัม ซึ่งต้องดำเนินการอย่างทุลักทุเล เนื่องจากมีสัมภาระของชาวต่างชาติบนเครื่องบางส่วนที่ต้องขึ้นเที่ยวบินอื่นต่อไปยังปลายทางในทวีปยุโรปด้วย

ทั้งนี้ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ อ้างข้อมูลจาก "แหล่งข่าวในบริษัทการบินไทย" ระบุว่า กลุ่มของสมาชิกรัฐสภาดังกล่าวประกอบไปด้วย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย และนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอีกด้วย

โดยผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเฟซบุคสเตตัสของนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส. จ.เชียงราย เมื่อคืนวันที่ 12 ส.ค. 56 ได้โพสต์ว่าเกิดเหตุเครื่องบินลงจอดสนามบินดอนเมืองเพื่อเติมน้ำมันจริง ส่วนตัวเขายังคงไปลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากลูกสาวรอรับอยู่ที่นั่น โดยเครื่องบินไปถึงในเวลา 00.10 น.

"คืนนี้มีเรื่องตื่นเต้น ผมนั่งเครื่องเดินทางไปกลับ กทม-ชร มาสิบกว่าปี เพิ่งเจอนั่ง การบินไทย จากเชียงราย เที่ยวบิน TG 141 ออกจากเชียงราย 20.40 กัปตันแระกาศว่าจะถึงสุวรรณภูมิประมาณ 21.45 น ปรากฏว่าลงไม่ได้ต้องวน กัปตันแจ้งว่าการจราจรแออัดต้องช้ากว่ากำหนดประมาณ 10 นาที วนสักพักเจอพายุฝนเครื่องสั่นโคลงเคลงนิดหน่อย จากนั้นกัปตันประกาศให้ลูกเรือเตรียมพร้อมนำเครื่องลง

ทุกคนโล่งใจเครื่องปลดล้อร่อนลง ปรากฏว่ากลับเร่งเครื่องเชิดหัวขึ้นใหม่ มีเสียงกัปตันแจ้งว่าลงยังไม่ได้รันเวย์ยังมีเครื่องที่กำลังจะบินขึ้น บินมาราวสิบนาที กัปตันบอกน้ำมันไม่พอที่จะวนกลับไปลงสุวรรณภูมิ จะไปลงดอนเมืองแทน ขณะนี้เครื่องลงจอดดอนเมืองแล้ว กำลังรอเติมน้ำมันแล้วจะบินกลับไปสุวรรณภูมิ ผู้โดยสารหลายท่านขอลงดอนเมือง เข้าใจว่าเจ้าหน้าทีกำลังบริหารจัดการอยู่ ส่วนผมคงจะไปลงสุวรรณภูมิเพราะให้ลูกสาวรอรับอยู่ที่นั่นผมไม่ได้กังวลอะไร คิดเสียว่าเป็นประสบการณ์ แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้น คงต้องหาสาเหตุที่แท้จริงว่า อนุญาตให้เครื่องร่อนลงแล้วรันเวย์ยังไม่เคลียร์ ต้องเชิดหัวขึ้นใหม่ เป็นไปได้อย่างไร" [1]
 
"เครื่องเติมน้ำมันพร้อมออกเดินทางจากดอนเมืองไปสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 23.53 น. ถึงสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ ย่างวันใหม่ 0.10 น กว่าจะถึงบ้านได้พักผ่อนคงเกือบตีสอง" [2] สเตตัสของนายสามารถ ระบุ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น