โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ฮัสซันยันBRNไม่ทำลายเป้าอ่อนและพื้นที่เศรษฐกิจ คลิปปริศนาโผล่ล้มโต๊ะเจรจา

Posted: 07 Aug 2013 10:10 AM PDT

ฮัสซัน ตอยิบยืนยันการพูดคุยสันติภาพเดินทางหน้าต่อ ขอให้รัฐไทยและมาเลเซียจริงใจ ยืนยันบีอาร์เอ็นไม่ปฏิบัติการต่อเป้าอ่อนและพื้นที่เศรษฐกิจ หากได้อำนาจปกครองก็พร้อมเคารพความหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาในพื้นที่ คลิปปริศนาโผล่ล้มโต๊ะเจรจา

เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 6 สิงหาคม 2556 รายการโลกวันนี้ของสถานีวิทยุร่วมก้นช่วยกันสลาตัน (มีเดียสลาตัน) ออกอากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คลื่น 91.50 MHz ถ่ายทอดเสียงสัมภาษณ์บางส่วนของฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอารเอ็น (BRN) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย

โดยเป็นเสียงสัมภาษณ์ภาษามลายูใน 3 ประเด็น สรุปเป็นภาษาไทยได้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 นายฮัสซัน ตอยิบ ยืนยันว่า สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพและพร้อมจะเดินหน้าต่อไป เนื่องจากขบวนการบีอาร์เอ็นมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพึ้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องจบลงบนโต๊ะเจรจานอกจากนี้รัฐบาลไทย และมาเลเซียจะต้องมีความจริงใจจต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ด้วย

ประเด็นที่ 2 นายฮัสซัน ตอยิบ ยืนยันว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นจะปฏิบัติการต่อบุคคลที่ถือว่าอาวุธเท่านั้นหรือเป้าแข็ง เช่น ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน เป็นต้น ขบวนการบีอาร์เอ็นจะไม่ปฏิบัติการต่อเป้าอ่อน เช่น โต๊ะอิหม่าม ครู ครูตาดีกา และสถานที่ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ขบวนการบีอาร์เอ็นคิดว่าจะต้องมีการสืบสวนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเป้าอ่อนด้วย

"นอกจากนี้ทางขบวนการบีอาร์เอ็นขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานีที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556"

ประเด็นที่ 3 ขบวนการบีอาร์เอ็นมีเชื่อมั่นในความหลากหลาย การปกครองที่ยุติธรรม และยอมรับการเคารพผู้ที่นับถือศาสนาอื่น และอัตลักษณ์ในพื้นที่ ดังนั้นหากขบวนการบีอาร์เอ็นได้อำนาจการปกครองจากรัฐบาลไทย ขบวนการบีอาร์เอ็นจะปกครองในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วยความยุติธรรม ความเคารพในความหลากหลาย

"เราจะปกครองเหมือนกับครอบครัวของเรา เพราะฉะนั้นคนไทยพุทธและคนจีนในพื้นที่ อย่าได้กังวลขบวนการบีอาร์เอ็น ดังตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่สามารถปกครองประชาชนของเขาที่มีความหลากหลายได้อย่างลงตัว"

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการโลกวันนี้ แจ้งด้วยว่า ทางสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตันจะถ่ายทอดเสียงสัมภาษณ์นายฮัสซัน ตอยิบ ฉบับเต็มความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง ในรายการโลกวันนี้ในวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เวลาประมาณ 22.00 น. – 24.00 น. และทางเว็บไซต์ www.rdselatan.com

 

คลิปปริศนาโผล่ล้มโต๊ะเจรจา

วันเดียวกันมีผู้โพสต์คลิปวิดีโอที่ชื่อ Pengistiharan keputusan Majlis Thura BRN แปลว่า ประกาศมติสภาชูรอ (ที่ปรึกษา) BRN บนเว็บไซต์ยูทูป โดยผู้โพสต์ระบุชื่อว่า Angkatan Bersenjata-BRN แปลว่า ฝ่ายทหาร-บีอาร์เอ็น โดยในคลิปเป็นภาพที่ค่อนข้างมืดมาก มองเห็นลางๆ เป็นภาพชายฉกรรจ์ 3 คน สวมหมวกไหมพรม โดย 2 คนที่อยู่ด้านข้างถืออาวุธปืนยาว

ส่วนคนกลางได้อ่านข้อความเป็นภาษามลายู มีเนื้อหาสรุปว่า BRN คือขบวนการหนึ่งที่ต้องการปลดปล่อยชาวปาตานีจากการกดขี่ของนักล่าอาณานิคมสยาม มีเป้าหมายที่จะสถาปนาความยุติธรรม สันติภาพ และความสงบสุขแก่ชาวปาตานีในความหมายที่ว่า แผ่นดินที่ดีและได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า

"เมื่อพิจารณาข้อเสนอ  5 ข้อแรกและเงื่อนไข 7 ข้อหลัง เพื่อบรรลุข้อตกลง 30 วันเดือนรอมฎอน และ 10 วันเดือนเซาวาลพบว่า นักล่าอาณานิคมสยามมิได้ปฏิบัติตามเลยแม้แต่ข้อเดียว ในทางกลับกันนักล่าอาณานิคมสยามทำการบ่อนทำลาย โกหกและยังคงเผยแผ่การใส่ร้ายกับชาวปาตานี"

ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามมติสภาชูรอ (ที่ปรึกษา) BRN ตราบใดที่นักล่าอาณานิคมสยามยังมีจุดยืนดังกล่าว ดังนั้นนักล่าอาณานินิคมสยามไม่มีสิทธิที่สานต่อการสานเสวนาสันติภาพและไม่มีสิทธิอยู่ในพื้นแผ่นดินปาตานีและจะไม่มีตัวแทน BRN ในการสานเสวนาสันติภาพกับตัวแทนนักล่าอาณานิคมสยามตลอดไป

จากนั้นเสียงในคลิปส่งท้ายด้วยคำว่า สุขสันต์วันตรุษอีดิ้ลฟิฏรฺ เอกราช เอกราช เอกราช!

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบคลิปวิดีโอนี้ กับคลิปวิดีโอของขบวนการบีอาร์เอ็นในช่วงที่ผ่านมา พบความแตกต่างหลายประการตามที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้ เช่น ทำไมต้องปิดหน้า ทำไมภาพค่อนข้างมืด ทำไมต้องใช้ชื่อผู้โพสต์ว่าเป็นฝ่ายทหาร ที่สำคัญมีเนื้อหาที่สวนทางกับสิ่งที่นายฮัสซันยืนยันว่า การพูดคุยสันติภาพต้องเดินหน้าต่อไป และคลิปที่ผ่านมาไม่ปรากฏคำว่า Merdeka ที่แปลว่าเอกราช 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (2)

Posted: 07 Aug 2013 10:00 AM PDT

อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา

หลักฐานความเป็นมิตรน้ำหมึกที่ดีอย่างหนึ่งก่อนศรีบูรพาเดินทางไปจีนพร้อม สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็คือข้อเขียนของศรีบูรพาที่ได้เขียน "คำนิยม" ให้แก่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในหนังสือชื่อ "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" ซึ่งนับเป็นผลงานเด่นเล่มหนึ่งของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์

ศรีบูรพาได้กล่าวถึงผู้เขียนคือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ และหนังสือเล่มดังกล่าวว่า

"ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "อีสาน - ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เป็นนักหนังสือพิมพ์ และได้ถูกจับกุมคุมขังในคดีที่ตำรวจในสมัยรัฐบาลจอมพลพิบูลสงครามได้ถือเอาว่า การแสดงความรักสันติภาพและการดำเนินการเรียกร้องสันติภาพ และการสงเคราะห์ประชาชนอีสานเป็นการประกอบอาชญากรรมอย่างหนึ่ง อันสมควรนำบุคคลผู้ประพฤติเช่นนั้นไปคุมขังไว้ในคุกให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และไม่ยอมให้มีประกันตัวในระหว่างการดำเนินคดี อันกินเวลายืดยาวแรมปีในระหว่างที่ต้องคุมขังเป็นเวลาราวสี่ปีครึ่ง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เผชิญกับความทุกข์ยากของชีวิตในคุกอย่างเห็นเป็นของธรรมดาและไม่เคยปริปากบ่นถึงความทุกข์ยาก แม้ว่าชีวิตในคุกตะรางจะมิใช่ชีวิตอันผาสุก แต่ก็มิใช่ชีวิตที่ปราศจากคุณค่าอันสูงหากว่ารู้จักใช้ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นผู้หนึ่งที่ได้ใช้เวลาในคุกให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษา สิ่งที่ควรศึกษาและได้รับเอาความทุกข์ยากมาเป็นบทเรียนแก้ไขทรรศนะที่มีต่อชีวิตให้ถูกต้องยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมคุณค่าให้แก่ชีวิตยิ่งขึ้น ด้วยประการฉะนี้สี่ปีครึ่งในคุกตะรางของเขาจึงมิใช่ชีวิตที่ไร้ความหมาย หากเต็มไปด้วยความหมาย"

ศรีบูรพายังกล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นการปิดท้ายว่า

"ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวอีสานโดยเลือดเนื้อเชื้อไข หลังจากได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ.2500 ด้วยจิตใจที่มุ่งจะทำงานรับใช้พี่น้องชาวอีสานของเขา และประชาชนไทยทั่วไป เขาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในจังหวัดชัยภูมิอันเป็นบ้านเกิดของเขา แม้ว่าเขาจะมิได้รับเลือกในสมัยการเลือกตั้งเดือนธันวาคม แต่จิตใจที่มุ่งรับใช้พี่น้องชาวอีสานของเขาก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หนังสือเรื่อง "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" เป็นพยานอันหนึ่งที่แสดงถึงความคิดคำนึงและความเห็นอกเห็นใจที่เขามีต่อพี่น้องชาวอีสานอยู่เป็นนิจ"

และยังมีหลักฐานเอกสารจากหนังสือพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งในเวลานั้นที่สะท้อนความเป็น "มิตร" ร่วมต่อสู้ในหนทางแห่งสันติภาพระหว่างศรีบูรพากับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็คือ กระแสข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉลับที่โหมประโคมข่าวช่วงที่ทั้งสองท่านและคณะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งได้ไปเยือนจีนในระหว่างนั้น

คณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งประกอบด้วยนักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวทางสังคม มีจำนวน 12 คน ดังนี้
 

1. นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์ หัวหน้าคณะ

2. นายบรรจบ ชุวานนท์ อดีตบรรณาธิการ "สยามนิกร" รองหัวหน้าคณะ

3. นายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ อดีตบรรณาธิการ "อิสรภาพ" เลขานุการคณะ

4. นายทองใบ ทองเปาด์ นักหนังสือพิมพ์และนักกฎหมาย สมาชิกคณะ

5. นางอำพัน ไชยวรศิลป์ (อ. ไชยวรศิลป์) นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

6. นางถวัลย์ วรดิลก นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

7. นางเจือจันทร์ ฐาปโนสถ อาจารย์ศิลปากร สมาชิกคณะ

8. นายสมาน คำพิมาน นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

9. นายชวน รัตนวราหะ นักเคลื่อนไหว สมาชิกคณะ

10. นายประเวศ บูรณกิจ (เวศ บูรณะ) นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

11. นายเฉลิม คล้ายนาก นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

12. นายสุธน ธีรพงศ์ นักแปลและนักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

กระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ผู้ไปในนามของเลขานุการของคณะดังกล่าวนั้น นับว่าเป็นข่าวเกรียวกราวในประเทศไทยในเวลานั้นไม่น้อยทีเดียว ในฐานะที่เขาเพิ่งมีผลงาน "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา"

ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนังสือ "ต้องห้าม" เล่มหนึ่ง



สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร

นอกจากนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ยังเขียน "เกิดจากปัญญาของจีน" แปลจาก "THE WISDOM OF CHINA" ขณะอยู่ในคุกบางขวาง

โดยเฉพาะผลงานเล่มถัดมาของเขาคือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร" ซึ่งเขียนขึ้นในระหว่างใช้ชีวิตในจีนนั้นยิ่งสร้างกระแสให้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นที่กล่าวถึงมากยิ่งขึ้นในประเทศไทยในช่วงนั้น และอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ชื่อเสียงของเขาได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดตั้งแต่ที่ไปเยือนประเทศจีนเป็นต้นมา
 


แถลงการณ์ว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 โดยมี นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย ร่วมลงนาม
 

จากหนังสือพิมพ์เริงสาร ไม่ระบุนามผู้เขียน ฉบับปีที่ 9 ฉบับที่ 232 ประจำวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2525 ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้ว่า

"ไปติดค้างอยู่จีน ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ปฏิวัติ ปี 2503 พร้อม "ศรีบูรพา" หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นั่นคือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นักหนังสือพิมพ์เก่า ซึ่ง สุวัฒน์ วรดิลก เปิดเผยว่า สุชาติได้ใช้เวลาศึกษาภาษาจีนและอังกฤษจนแตกฉาน โดยเฉพาะภาษาจีนนั้นทำให้เขาได้หนังสือเกี่ยวกับเรื่องของคนไทยในเมืองจีนซึ่งคนไทยควรทราบกันอย่างยิ่งคือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร..."

จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย "กระชุ" ฉบับที่ 1 ปีที่ยี่สิบเก้า วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2525 รายงานว่า

"เขาคือผู้ที่เราต้องการ" คือคำนำที่ "สุวัฒน์ วรดิลก" เขียนให้กับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์" ผู้เขียนหนังสือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร..."

ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่เดินทางไปประเทศจีนในยุคสมัยที่จอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจและก็เลยไม่กลับมา เพราะนักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันครั้งนั้นที่กลับมาถูกย้ายบ้านเข้าไปอยู่ในคุก และผลงานการค้นคว้าก็เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น...

ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของจีน ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การทำงานรับใช้ประชาจนจีน หากอยู่ที่การทุ่มเทเวลาศึกษาค้นหาความจริงแท้ทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยเพื่อแสดงออกซึ่งความรักชาติที่เขามีอยู่เปี่ยมล้น โดยไม่จำเป็นต้องยืนระวังตรงเคารพธงชาติกันกลางถนนหนทาง...


ครั้งพำนักอยู่กรุงปักกิ่ง ผู้ใกล้ชิดเล่าว่า"ศรีบูรพา"ทำงานเขียนตลอดเวลา
ขณะที่ในไทยกลับไร้ร่องรอยข่าวสารจากเขา

 

สุวัฒน์ วรดิลก หรือนักประพันธ์นาม "รพีพร" ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งเพิ่งล่วงลับเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2550 และเป็นหนึ่งในอดีตนักโทษการเมือง ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2501 เป็นเวลา 4 ปี ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้ก่อนที่จะจบคำนำของเขาบทนั้นว่า "ผมคงคิดไม่ผิดที่จะกล่าวว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ คือคนที่เราต้องการ"

จากหนังสือ "บางกอกรายสัปดาห์" ฉบับปีที่ 25 ฉบับที่ 1261 ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2525 ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้เกี่ยวกับผลงานที่เขาเขียนจากประเทศจีนแล้วส่งไปพิมพ์ในประเทศไทยจนก่อกระแสตอบรับและวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างเวลานั้นว่า

"สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร" โดย สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ผู้เขียนเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หัวเห็ดที่ต่อสู้ชีวิตมาอย่างโชกโชน ซึ่ง สุวัฒน์ วรดิลก เขียนคำนำและแนะนำตัวเขาไว้อย่างแจ่มชัดในหนังสือเล่มนี้และสรุปว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ คือ "คนที่เราต้องการ"

เราเชื่อกันมานานเต็มทีแล้วว่า น่านเจ้าเป็นอาณาจักรของชนชาติไทยแต่โบราณ และ "เบ้งเฮ็ก" คือคนไทย สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไปน่านเจ้ามาด้วยตนเอง สอบหลักฐานมาอย่างแน่แก่ใจ แล้วจึงนำมาเขียน ในเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่อง "น่านเจ้า : เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยเราหรือ" ไปตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์ "น่านเจ้า", "เบ้งเฮ็กไม่ใช่คนไทย", จูกัดเหลียง(ขงเบ้ง)ไม่ใช่สกุล "จูกัด", ชนชาติไตเผ่าต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน", "ประเพณีการตั้งชื่อของไตลื้อ" เป็นต้น...

ถ้าคุณจะถามว่าแล้วรู้อย่างไรว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ รู้เรื่องนี้ดี เขียนเรื่องนี้ได้ถูกต้อง

คำตอบมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้อีกเช่นกัน เพราะเขาไม่ได้ไปเมืองจีนมาเพียงไม่กี่วัน เขาอยู่เมืองจีนมาแล้วกว่า 20 ปี (นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 50 ปี -ผู้เขียน) และศึกษาประวัติศาสตร์ หาหลักฐานต่างๆ มายันข้อเขียนของเขาอย่างละเอียดยิบ...

เขาคือผู้ที่เราต้องการ

จากหลักฐานบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยจำนวนหนึ่งเวลานั้น คงพอแนะนำภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทยอีกผู้หนึ่งในยุคนั้นคือ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" ได้ว่า เหตุใดเขาจึงได้รับการคัดเลือกให้ร่วมคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไปศึกษางานในประเทศจีนภายใต้การนำของศรีบูรพา

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มสวัสดิภาพสัตว์จัดตั้งพันธมิตรนานาชาติยุติการค้าสุนัขในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

Posted: 07 Aug 2013 09:37 AM PDT

ชี้การค้าสุนัขกระตุ้นความเสี่ยงต่อสุขภาพคนทั่วภูมิภาคเอเชียควรออกกฎหมายบังคับใช้ในวงกว้าง ระบุองค์การอนามัยโลกเผยถึงการค้าสุนัขเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงอหิวาตกโรคในประเทศเวียดนาม

7 ส.ค. 56 องค์กรพิทักษ์สัตว์ได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรพิทักษ์สุนัขเอเชีย (Asia Canine Protection Alliance - ACPA) เพื่อยุติการค้าสุนัขอย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งมีสุนัขที่ต้องถูกสังเวยเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านตัวต่อปี อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้กลุ่มพันธมิตรฯมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการค้าสุนัขระดับโลก ที่มีการลักลอบขนส่งข้ามแดนจากประเทศไทย กัมพูชา และลาวไปยังประเทศเวียดนามเพื่อการบริโภคเนื้อสุนัข

ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย มูลนิธิการเปลี่ยนแปลงเพื่อสัตว์  สมาคมมนุษยธรรมนานาชาติ มูลนิธิเพื่อสัตว์ประจำภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ร่วมผนึกกำลังปฏิบัติการครอบคลุมทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและในระดับนานาชาติ โดยระบุว่าการผลิตเนื้อสุนัขเริ่มมาจากการค้าขนาดเล็กในระดับครัวเรือน สู่การเป็นอุตสาหกรรมค้าสุนัขผิดกฎหมายที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และยังมีความเกี่ยวพันถึงการติดต่อแพร่กระจายของโรคพยาธิทริคิโนซิส อหิวาตกโรค รวมถึงโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเผยถึงการค้าสุนัขเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงอหิวาตกโรคในประเทศเวียดนาม การค้าสุนัขเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของทางการไทยก็มีการเข้มงวดตรวจตรามากขึ้น อีกทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ จะร่วมทำงานกับรัฐบาลไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในการปรับปรุงพัฒนาบทบัญญัติทางกฎหมายในแต่ละประเทศ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้การประชุมที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีสมาชิกจากกลุ่มพันธมิตรฯเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางการและองค์กรอื่นๆ ร่วมปรึกษาหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

โลล่า เว็บเบอร์ ประธานโครงการของมูลนิธิการเปลี่ยนแปลงเพื่อสัตว์ กล่าวว่า "เมื่อก่อนการบริโภคสุนัขมีสาเหตุอันเนื่องมาจากความยากจน แต่ปัจจุบันสุนัขได้กลายมาเป็นอาหารจานเด็ดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่มีการบริโภคด้วยความเชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางยา อย่างไรก็ตามการค้าสุนัขเพื่อการบริโภคก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่มีการควบคุม ซึ่งเป็นบ่อเกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพร่างกายและสวัสดิภาพสัตว์"

เคลลี่ โอ เมียร่า ผู้อำนวยการฝ่ายสัตว์เลี้ยงและการถือครองแห่งสมาคมมนุษยธรรมนานาชาติ กล่าวว่า "การสืบสวนสอบสวนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย มีหลักฐานที่ยืนยันได้ถึงความโหดร้ายในทุกขั้นตอนของการค้าสุนัข เริ่มตั้งแต่การต้อนจับ การขนส่ง การขาย และการฆ่าอย่างทรมาน บ่อยครั้งที่มีการเข้าใจผิดว่าการค้าสุนัขนั้นเป็นวิธีที่จะสามารถควบคุมปริมาณของสุนัขจรจัด กลุ่มพันธมิตรใหม่นี้จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปและรัฐบาล ถึงการค้าและการทำงานที่อันตรายในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าและโรคติดต่อชนิดอื่นๆที่สามารถถ่ายทอดมาสู่มนุษย์ได้"

การค้าสุนัขที่เกิดขึ้นในทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย เนื่องมาจากการที่หลายประเทศนั้นกำลังล้มเหลวจากการโอนอ่อนกับมาตรการป้องกันโรคจากสัตว์ระดับชาติ และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำสำหรับการควบคุมและการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า จากองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลก และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ

ต๋วน เบนดิกเซน ผู้อำนวยการมูลนิธิสัตว์แห่งเอเชียประจำประเทศเวียดนาม กล่าวว่า "การค้าสุนัขเพื่อการบริโภคสามารถกระตุ้นธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและการขนส่งสุนัขที่มีการติดเชื้อและการฉีดวัคซีนที่ผิดกฏหมาย และขัดขวางความพยายามที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปในภูมิภาค ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในการทำปฏิญญาซึ่ง ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดสิ้นในปี พ.ศ. 2563 ความพยายามในการควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าจะสำเร็จได้ หากปราศจากการค้าสุนัขเพื่อการบริโภคของมนุษย์"

จอห์น แดลลีย์ รองประธานมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย กล่าวว่า "มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหยุดยั้งทั้งอุปทานและอุปสงค์ในการบริโภคเนื้อสุนัข ดังนั้นเพื่อที่จะหยุดกระบวนการดังกล่าวต้องมีการจับกุมผู้ลักลอบค้าสุนัขให้ได้ การแก้ไขปัญหาการจัดการประชากรสุนัขอย่างมีมนุษยธรรมและยั่งยืน พร้อมกับการส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับบทลงโทษและความรับผิดชอบต่อเจ้าของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบัน เราสามารถจะยุติการค้าสุนัขอันเป็นสาเหตุของความทรมานของสุนัขที่ต้องสังเวยชีวิตกว่าหลายล้านตัวในแต่ละปี อีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคติดต่อที่อันตรายมาสู่มนุษย์อีกด้วย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับประเด็นอภิปราย: 7 ข้อไม่รับหลักการ VS 3 ข้อรับหลักการ (ร่างนิรโทษกรรม)

Posted: 07 Aug 2013 09:15 AM PDT

 

7 ส.ค.56 ในช่วงค่ำหลังการโหวตเดินหน้าอภิปรายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)  มีการอภิปรายในเนื้อหาสาระร่างดังกล่าว ในส่วนที่โดดเด่นดูเหมือนจะเป็นการนำเสนอเหตุผลตัวแทนฝ่ายค้าน "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์"  และฝ่ายรัฐบาล "ชาวลิต วิชยสุทธิ์"  

โดยนายจุรินทร์หยิบยกเหตุผล 7 ประการที่ไม่รับหลักการร่างกฎหมายนี้ และนายชาวลิตหยิบยก 3 เหตุผลที่รับหลักการร่างกฎหมายนี้

 

รายละเอียดโดยสรุปมีดังนี้

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึง เหตุผล 7 ประการที่จะขอไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.นี้  

ประการที่ 1 กฎหมายนี้มีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยการระบุรายละเอียดในเหตุผลและวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1. เหตุผลการร่างกฎหมายที่ระบุว่า เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะแตกแยกทางความคิด มีการแบ่งฝักฝ่ายในบ้านเมือง ไม่เคารพระบอบประชาธิปไตย มีการประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู่การยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 นั้นเป็นการบิดเบือนกล่าวข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน การประท้วงก่อนการรัฐประหารไม่ได้เกิดจากการไม่เคารพประชาธิปไตยแต่ประท้วงการบริหารของรัฐบาลทักษิณ โดยผู้ยึดอำนาจอ้างเหตุผล 4 ประการคือ 1) สังคมแตกแยก มีการแบ่งฝ่ายรุนแรง 2) มีการทุจริต คอรัปชั่นในคณะรัฐบาล 3) การบริหารราชการแผ่นดินมีการแทรกแซงทุกองค์กร 4) มีการปล่อยให้เกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างกว้างขวาง

2.เหตุผลในร่างพ.ร.บ.นี้ยังระบุอีกว่า จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว เพื่อการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรมอันเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง เนื้อหาดังกล่าวแปลความได้ว่า มีการอ้างเหตุผลนิรโทษกรรมเพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและสร้างความปรองดอง ทั้งที่การออกกฎหมายนี้ตรงข้ามกับเหตุผลที่กล่าวอ้างทั้งหมด

ประการที่ 2 มีการเขียน "หลักการ" หมกเม็ดอย่างน้อย 2 ประการ หมกเม็ดอันแรก ดูจากชื่อร่างกฎหมายเขียนว่า ร่างนิรโทษสำหรับผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน หลักการก็เขียนล้อไปเช่นนั้น แต่เมื่อพิจารณาที่เนื้อหากลับพบการหมกเม็ด เพราะรวมคดีก่อการร้าย โดยเฉพาะคดีก่อการร้ายที่มีบุคคลที่อยู่นอกประเทศเป็นผู้ต้องหารวมอยู่ด้วย อัยการได้สั่งฟ้องแล้วทั้งหมด 26 ราย จำเลยที่ 1 คือ บุคคลที่อยู่นอกประเทศกับพวกอีก 25 คน และมาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.นี้ เขียนครอบคลุมถึงบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ถือว่าได้รับการนิรโทษกรรมด้วย บุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ถูกส่งฟ้องก็คือ คนที่อยู่ต่างประเทศ

หมกเม็ดอันที่ 2 ผู้ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองนั้น มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ทำผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้มาชุมนุมแต่กล่าวด้วยวาจา ตามมาตรา 3 ของกฎหมายนี้แปลความได้ว่าบุคคลเหล่านี้เข้าข่ายการนิรโทษกรรมด้วย

ต่อไปหากไม่เข้าร่วมชุมนุมแต่ทำผิดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น โพสต์โจมตีสถาบัน คนเหล่านี้ก็ได้รับผลพวงจากกฎหมายนี้ด้วย ซึ่งอย่างน้อยที่สุดมี 4-5 คนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ประการที่ 3 กฎหมายฉบับนี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ยกตัวอย่าง มาตรา 30 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางการเมืองจะกระทำไม่ได้ แต่กฎหมายฉบับนี้เลือกปฏิบัติ เพราะระบุเงื่อนเวลาในการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจนว่า 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 เท่านั้น เพราะต้องการกีดกันบางคดีที่มีลักษณะทำนองเดียวกันออกไปเช่น กรณีม็อบเสธ.อ้าย ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

มาตรา 122 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ระบุว่า ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่กฎหมายฉบับนี้มีการขัดกันหลายกรณี เช่น ในบรรดาส.ส.ที่ลงชื่อเสนอร่างนี้ ปรากฏว่ามี 5 คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ก่อแก้ว พิกุลทอง, พายัพ ปั้นเกตุ นอกจากนั้นยังมีผู้มีตำแหน่งทางการเมืองอีกราว 10 คนตั้งแต่รมต. ส.ส. เลขา รมต. ที่จะได้รับผลพวงจากการนิรโทษกรรมรวมถึงคนนอกประเทศ

มาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญเป็นการกำหนดเกณฑ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินว่า ต้องมีการขอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อน กฎหมายนี้ฝ่ายค้านวินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะเกี่ยวกับการเงิน เนื่องจากจะมีผลนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเผาทรัพย์สินราชการ เช่น เผาศาลากลาง ซึ่งศาลพิพากษาจำคุกและปรับเป็นจำนวนเงินนับร้อยล้านบาท หากมีการนิรโทษจะกระทบทางการเงินของรัฐซึ่งเข้าข่าย ม.143  

ประการที่ 4 กฎหมายนี้ขัดหลักนิติรัฐ ซึ่งมีหลักการว่าใครผิดต้องได้รับโทษ กฎหมายนี้กำลังทำให้คนทำผิดคดีอาญาโทษอุจฉกรรจ์กำลังจะได้ล้างผิด ฐานความผิดที่ครอบคลุมการล้างผิดตามกฎหมายนี้คือ คดีฆ่า คดีเผาทั้งทรัพย์ราชการและเอกชน คดีก่อการร้าย คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่เขียนเปิดเผยและหมดเม็ด นอกจากนี้กฎหมายนี้ยังขัดหลักสิทธิมนุษยชนตามที่องค์กรระหว่างประเทศบางแห่งออกมาตั้งข้อสังเกต

ประการที่ 5 กฎหมายนี้ไม่ได้นิรโทษกรรมคนจำนวนมากเรือนหมื่นเรือนแสนดังกล่าวอ้าง เพราะตัวเลขจริงๆ มีไม่เท่าไร และเป็นเรื่องคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น ข้อมูลของ ปคอป. ระบุว่า นปช.ที่ถูกดำเนินคดีและอยู่ในชั้นอัยการและชั้นศาลมีทั้งหมด 124 คดี , ศูนย์ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ระบุ จำนวนนักโทษการเมืองมีประมาณ 30 คน

ประการที่ 6 หากมีการรับหลักการกฎหมายนี้ สุดท้ายจะกลายเป็นหัวเชื้อหรือบันไดขั้นแรกที่จะ "ล้างผิดคนโกงเต็มรูป" แบบในอนาคต สิ่งที่กังวลและไม่เห็นด้วยตั้งแต่นับหนึ่งเพราะไม่มีหลักประกันใดว่าถ้ารับหลักการในวาระหนึ่ง แล้วขั้นแปรญัตติวาระสองจะไม่มีความพยายามเปลี่ยนกฎหมายฉบับนี้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศเรียกร้องให้จัดตั้งสภาปฏิรูปจึงยิ่งเห็นชัดถึงเจตนาว่าสุดท้ายการประกาศตั้งสภาปฏิรูปเพื่อเดินคู่ขนานกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อจะล้างผิดยกเข่ง นอกนากนี้อดีตสอนเราว่าปฏิรูปการเมืองกี่ครั้งๆ ก็จบลงด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมาตรา 309 ที่เป็นก้างขวางคอการล้างผิดก็จะหายไป

ประการที่ 7 กฎหมายนี้ไม่ได้นำไปสู่การสร้างความปรองดองอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อในทางการเมือง เพราะแค่นับหนึ่งก็ถึงขั้นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง  สะท้อนให้เห็นว่าสุ่มเสี่ยงจะเป็นการเดินหน้าไปสู่วิกฤตรอบใหม่  

นอกจากนี้รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาหรือแนวทางที่ประกาศไว้ อย่างน้อยประกาศว่าจะปฏิบัติตามแนวทาง คอป.และสัญญากับสภาว่าจะปฏิบัติตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า

สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกฯ ชี้แจงว่านายกฯ มาตั้งแต่เช้าจนเที่ยง เมื่อยังมีการโต้แย้งไม่มีการอภิปรายจึงออกไปปฏิบัติราชการและส่งตนมาเป็นตัวแทน นอกจากนี้คดีการก่อการร้ายนั้นที่อ้างว่าอัยการฟ้องอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องใดๆ

 

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม กล่าวให้เหตุผลในการสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใน 3 ประเด็น คือ ตัวอย่างการนิรโทษในอดีต , ตัวอย่างจากต่างประเทศและการประยุกต์กับสถานการณ์ปัจจุบัน, การเสนอทางออกของแต่ละองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ประเด็นแรก ตัวอย่างในอดีตจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2475 ออกกฎหมายนิรโทษกรรม 22 ฉบับ ในจำนวนนี้ออกเป็น พ.ร.ก.4 ฉบับ และไม่นับรวมพ.ร.บ.ล้างมลทิน 8 ฉบับรวมถึงการพระราชทานอภัยโทษ เหตุผลของทั้ง 22 ฉบับเกือบทั้งหมดระบุว่าต้องการธำรงความสามัคคีของคนในชาติและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้ง 22 ฉบับ แบ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ตนเองและพวกพ้อง ส่วนใหญ่เป็นพวกทำรัฐประหารกว่าครึ่งหนึ่ง อีกส่วนเป็นการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ให้ครอบคลุมประชาชน นิสิตนักศึกษา เห็นชัดเจนในสมัยนายกฯ พระราชทาน สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่มีการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการบาดเจ็บล้มตาย เผาสน.นางเลิ้ง เผากรมประชาสัมพันธ์ เพราะพวกเขาไม่ได้มีเถยจิตเป็นโจร พวกเขาต้องการประชาธิปไตย ต้องการรัฐธรรมนูญ แต่เหตุการณ์เกิดจากแรงกดดันจากการถูกปราบ

จากการตรวจสอบการตรากฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหมด พบว่า มีหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ตรา พ.ร.บ./ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม โดยมีเหตุผลเพื่อสร้างความสามัคคีคนในชาติดังกล่าวคือ  1.พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฐานกบฏและจลาจล ปี 2488, พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำการรัฐประหาร ปี 2490  ผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทั้ง 2 ครั้งคือ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นและเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  

แถลงการณ์วันที่ 9 พ.ค.2488 ของกรมโฆษณาการระบุเหตุผลการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมปี 2488 ระบุว่า เป็นไปเพื่อส่งเสริมการปกครองแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ถาวรและเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ  ส่วน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปี 2490 นั้น เนื่องจากมีกลุ่มทหารนอกราชการนำโดย พ.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหารัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้วให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ แทน ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวระบุชัดเจนว่ารัฐประหารครั้งนี้คณะผู้ก่อการมิได้ปรารถนาเป็นอย่างอื่น นอกจากขจัดแก้ไขความเสื่อมโทรมของชาติ ขจัดความเดือดร้อนของประชาชน จึงเห็นเป็นการสมควรให้มีการนิรโทษกรรม  

อย่างไรก็ตาม ยังมีการนิรโทษกรรมครั้งสำคัญอีก 2 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่มิได้รวมไว้เนื่องเพราะคงเห็นว่าไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย แต่นับเป็นการนิรโทษกรรมครั้งสำคัญของไทย นั่นคือ คำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 66/23 นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ลงนามโดยพล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นการยุติสงครามกลางเมืองครั้งยิ่งใหญ่ หลักคิดของคำสั่งนี้คือปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หากดำเนินการแบบนั้นในสมัยนี้คงมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเต็มไปหมด ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อ้างไว้อย่างสวยหรูในรายงาน คอป. เหตุใดจึงไม่เอามาใช้แก้ปัญหาบ้านเมือง ผลพวงคำสั่งนี้ทำให้มีคนดีมีคุณภาพออกมาจากป่ามาประกอบสัมมาอาชีพ หลายคนเป็น ส.ส. ส.ว. รมต. รองนายกฯ

อีกฉบับคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 นี้เอง โดยมาตรา 309 ที่ประชาชนทั่วไปทราบดีว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารเองและพวกพ้องตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและรวมไปถึงอนาคต ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม เรื่องนี้จะหาทางออกได้แน่ถ้ายอมรับความจริงซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่สอง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศจะสามารถประยุกต์ใช้กับไทยได้อย่างไร จากที่เป็น กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติได้ศึกษาตัวอย่างหลายประเทศ ยกตัวอย่าง กรณีของเนลสัน แมนเดลลา การให้อภัยของท่านทำให้แอฟริกาใต้สงบสุขมาถึงทุกวันนี้ มีการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเยียวยา กรณีอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองมีการตั้งองค์กรฟื้นฟูเยียวยา, กรณีไอร์แลนด์เหนือ มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกคดีก่อการร้าย มีการฟื้นฟูเยียวยาทั้งตัวเงินและการฟื้นฟูอาชีพ ที่สำคัญ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ "อาทิตย์เลือด" อย่างเป็นทางการและสังคมก็ให้อภัย, กรณีประเทศรวันดา มีการสร้างกระบวนการทางวัฒนธรรมเพื่อรำลึกถึงการสูญเสียจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แลเพื่อไม่ให้ความรุนแรงหวนคืน อาทิ สร้างอนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ การประกาศวันหยุดแห่งชาติ มีการเยียวยาผู้เสียหาย

ประเด็นที่สาม บทบาทของแต่ละองค์กร จะเห็นว่าในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการตั้ง คอป.ขึ้น และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง ลงวันที่ 15 ก.ค.53 ระเบียบนี้มีถ้อยคำที่น่าสนใจต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งเพียงแต่เรายังไม่นำมาปฏิบัติ นั่นคือการระบุว่า ต้องมุ่งเน้นการใช้มาตรการเชิงสมานฉันท์รวมทั้งความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และความยุติธรรมทางสังคม กานฟื้นฟูและเยียวยาเหยื่อและผู้เสียหายเพื่อสมานบาดแผลทางสังคมและสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และยอมรับความแตกตางทางความคิดเพื่อส่งเสริมให้เกิดความปรองดองในประเทศไทย

หวังว่าเวทีปฏิรูปประเทศไทยของนายกฯ ยิ่งลักษณ์อาจจำแนวคิดนี้ไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความปรองดองต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระเบียบดังกล่าวมีศัพท์กฎหมาย 2 คำ คือ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และ ความยุติธรรมทางอาญา ทั้งสองหลักมีมาตรการลงโทษต่างกัน ผู้กระทำความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองหากนำหลักยุติธรรมทางอาญาที่ลงโทษแต่เพียงอย่างเดียวมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองคงไม่สอดคล้องต่อปรัชญาในการลงโทษและไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ การให้ความยุติธรรมทางกฎหมายต่อทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมนั้นรวมถึงการนำหลักวิชาเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาศึกษาและปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ในไทย โดยใช้หลักเมตตาธรรมให้โอกาสทุกฝ่ายในวิถีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย

ในอดีตเคยมีการใช้หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ชัดเจนคือ คำสั่ง 66/23 และพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหตุการณ์ปี  2516

มีการวิพากษ์กว้างขวางว่า ร่างกฎหมายนี้จะทำให้คดีตามมาตรา 112 จะหลุดไหม อยากทำความเข้าใจกับเพื่อนสมาชิกว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเพื่อปกป้องสถาบันหลัก กฎหมายนิรโทษกรรมไม่อาจครอบคุลมถึงมาตรา 112 ส่วนการจะขอพระราชทานอภัยโทษนั้นก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ในการเสนอให้มี กมธ.ศึกษาการปรองดองแห่งชาติ แต่ละพรรคการเมืองในขณะนั้นรวมถึงพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่าจงรักภักดีต่อพรรคมหากษัตริย์ พรรคยืนยันชัดเจนว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 

หากดูบทบาทของรัฐบาล ในสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ตั้ง คอป.มาถึงสมัยยิ่งลักษณ์ก็ยอมรับการดำเนินการของคอป.ซึ่งมีจัดทำรายงานผลการศึกษาแยกได้ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการค้นหาความจริง เม.ย.-พ.ค.53 ส่วนที่สองเป็นรายงานสาเหตุแห่งความขัดแย้งและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความปรองดอง มีข้อสังเกตในรายงานของคอป.ที่คนไม่กล่าวถึงมากนัก คือ การวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมิใช่ของบุคคลใด และระบุสาเหตุประการหนึ่งคือ การละเมิดหลักนิติธรรมทั้งก่อนและหลังรัฐประหร คอป.เสนอให้มีการเยียวยาอย่างทั่วถึง คืนความชอบธรรมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันขัดหลักนิติธรรม และเสนอแนะให้รัฐบาลออกมาขอโทษประชาชนที่เกิดเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตายและจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้ง ปคอป.ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป. และสถาบันพระปกเกล้า จัดให้มีเวทีสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย 108 เวที

สำหรับสภาผู้แทนราษฎรเองได้เห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน ผลการศึกษาได้รายงานสภาและครม.แล้ว  โดย กมธ.ฯ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้ารับไปศึกษาในหัวข้อ อะไรคือ รากเหง้าความขัดแย้งในปัจจุบันและมีกระบวนการใดที่จะทำให้คนกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ สถาบันพระปกเกล้าก็เสนอในระยะสั้นว่า ให้มีการจัดการความจริงของเหตุการณ์รุนแรง การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และนำรายงานของสถาบันไปจัดพูดคุยหาทางออกอย่างกว้างขวาง วันที่ 10 เม.ย.55 ครม.ก็รับไปดำเนินการต่อ โดยมีมติให้ ปคอป.ดำเนินการสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย และปคอป.ได้มอบต่อให้สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งไป ระหว่าง 10 มิ.ย.-28 ก.ค.56  มีเข้าร่วมเวทีทั่วประเทศ 101,683 คน เท่าที่สังเกตการณ์ไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายอื่น ดำเนินการตามหลักวิธีวิจัย ผลการสานเสวนามีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ข้อหนึ่งในหลายข้อ คือ ประชาชน 93.39% ขอให้คนไทยมีเมตตา ให้อภัย และปรารถนาดีต่อกันตามพระราชดำรัสของในหลวง

นอกจากนี้ชวลิตยังมีการหยิบยกคำพูดของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ระบุถึงความต้องการให้บ้านเมืองสงบ รวมไปถึงศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ที่ระบุว่าการชุมนุมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ ชี้แจงไม่ได้ถูกล็อกคอ-ไม่ได้ขึ้นปราศรัยที่สวนลุมพินี

Posted: 07 Aug 2013 07:52 AM PDT

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ชี้แจงว่าได้ไปตรวจพื้นที่ชุมนุมสวนลุมพินีเมื่อ 5 ส.ค. จริง ตามที่ได้รับการร้องเรียน แต่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยและถูกชายสวมเสื้อขาวล็อกคอตามที่ปรากฏเป็นข่าว

ตามที่สื่อบางฉบับ รายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ว่า เกิดเหตุ นายสุพรรณ ก้อนหิน อายุ 23 ปี ขึ้นไปล็อกคอ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่กำลังปราศรัยบนเวที "กองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ" ที่สวนลุมพินี จนเกิดการกอดปล้ำกัน ทำให้บรรดาการ์ดและผู้ร่วมชุมนุมตกใจกรูเข้าไปทำร้ายและพยายามจับตัว แต่ชายคนดังกล่าวกลับอาศัยความไวมุดลอดใต้เวทีวิ่งออกจากพื้นที่ชุมนุมหลบหนีเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี สามารถติดตามไปควบคุมตัวไว้ได้นั้น

ล่าสุด นพ.นิรันดร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยชี้แจงว่า ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพความเป็นจริงในพื้นที่การชุมนุม ตามที่มีการร้องเรียนมาว่่ามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เป็นการละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ขึ้นไปบนเวทีปราศรัย โดยรายละเอียดของการชี้แจงมีดังนี้

"1. การลงพื้นที่การชุมนุมที่สวนลุมพินี เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ รับผิดชอบกรณีร้องเรียนของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณที่ได้มาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในกรณีภาคประชาชนคัดค้านการประกาศและบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ซึ่งการตรวจสอบสภาพความเป็นจริงในพื้นที่การชุมนุมและรับฟังความเห็นจากประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและเพื่อการประสานงานหน่วยงานแห่งรัฐในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน"

"2. ผมไม่ได้ขึ้นไปปราศรัยบนเวทีการชุมนุม และมิได้ถูกชายสวมเสื้อขาวกางเกงขายาวสีดำล็อกคออย่างที่สื่อฉบับหนึ่งรายงานข่าวแต่อย่างใด โดยขณะเกิดเหตุชุลมุนอยู่นั้น ผมกำลังพูดคุยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวในเต๊นท์สื่อมวลชนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเวทีประมาณ 100 เมตร"

"ผมต้องขอแจ้งให้ทราบตรงตามความเป็นจริง และขอบคุณหลายภาคส่วนที่สอบถามมาด้วยความเป็นห่วง จึงเรียนมาเพื่อทราบและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง" คำแถลงของ นพ.นิรันดร์ ระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมนุมส่ง ส.ส.ประชาธิปัตย์เข้าสภา 'สุเทพ' บอก - ขอให้รอ "วาระ 3"

Posted: 07 Aug 2013 06:30 AM PDT

รวมตัวส่ง 'ชวน - สุเทพ - อภิสิทธิ์' เข้าสภา ด้าน ส.ส.ประชาธิปัตย์ขอผู้สนับสนุนกลับไปรอที่บ้าน ไม่ต้องรวมตัวรอจนประชุมสภาเสร็จ ด้าน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ขอให้รอ "วาระ 3" ส่วน "ผู้กองปูเค็ม" ถูกส่งไปควบคุมตัวที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี หลังผลักดันกับตำรวจปราบจลาจล โดยโพสต์ส่งท้ายเรียกร้องนักรบนิรนาม "โค่นล้มระบอบทักษิณให้จงได้"

ที่มาของภาพ: เพจ Abhisit Vejjajiva

ที่แยกราชวิถีเช้าวันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งปักหลักชุมนุมที่ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ มาตั้งแต่เมื่อคืนวานนั้น ได้เคลื่อนขบวนมาส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพื่อร่วมประชุมคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยแกนนำ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายชวน หลีกภัย รวมทั้งคณะ ส.ส. ได้ทยอยเดินทางเข้ามาบนถนนราชวิถี เพื่อเข้าประชุมสภา

ทั้งนี้ทาง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอบคุณผู้ชุมนุมที่มาส่ง และประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้าน โดยไม่ต้องรวมตัวรอจนประชุมสภาเสร็จ ขณะที่นายสุเทพ ได้ปราศรัยว่า "นี่ไม่ใช่นัดตัดเชือก รอผ่านวาระ 3 ก่อน" โดยขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านไปรอฟังข่าว

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ "ผู้กองปูเค็ม" อดีตนายทหารนอกราชการ ได้นำมวลชนผลักดันแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำมวลชนฝ่าเข้าไป ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ร.อ.ทรงกลด กับการ์ดผู้ชุมนุมอีก 4 คน ไปควบคุมไว้ที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี

โดย ร.อ.ทรงกลด ได้โพสต์สเตตัส ก่อนที่จะมอบเครื่องโทรศัพท์ให้ตำรวจว่า "นักรบนิรนามจงฟัง.. พี่น้องเสื้อแดงคือเพื่อนร่วมชาติของเรา..จงมอบความรัก ความเข้าใจให้กับพวกเขา.. แต่..จงปฏิบัติการ "รุก" ต่อสมุนทักษิณ ได้แก่ สส.พรรคเพื่อไทย โฆษกรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และแกนนำแดง.. นับแต่บัดนี้..เป็นต้นไป..จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง.."

และส่งท้ายยังโพสต์ด้วยว่า "ต้องฝากโทรศัพท์ให้กับตำรวจแล้ว.. เราจะขาดการติดต่อสื่อสาร.. ขอให้นักรบนิรนามจงดำรงความมุ่งหมาย..จนกว่าจะถึงเป้าหมายของเรา..โค่นล้มระบอบทักษิณให้จงได้.."

ส่วนเวทีการชุมนุมของ "กองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ" ที่สวนลุมพินีนั้น เมื่อเวลา 19.23 น. วอยซ์ทีวี รายงานว่า คณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนฯ ได้กล่าวกับผู้ชุมนุม ขอให้มวลชนทุกคนอดทนรอคอยเวลาในการเคลื่อนออกจากพื้นที่ โดยระบุว่าเป็นการคำนึงถึงยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว เพื่อให้บรรลุชัยชนะในที่สุด โดยมั่นใจว่าจะมีกำลังมวลชนมาเสริมสมทบอย่างแน่นอน

 

คุมเข้มรอบทำเนียบรัฐบาล ติดป้าย "ผู้กองปูเค็ม" บุคคลต้องห้าม

ขณะที่สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานด้วยว่า การรักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงค่ำวันนี้ (7 ส.ค.) เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยรอบพื้นที่อย่างเข้มงวดขั้นสูงสุด เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการสำคัญ และในสภามีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่รัฐสภา จำเป็นต้องตรึงกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวดมากกว่าทุกวันที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นพื้นที่หวงห้าม โดยเน้นตรวจสอบบุคคลและรถยนต์ที่เข้า-ออกทำเนียบรัฐบาลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเปิดให้บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลเดินทางเข้า-ออก ได้ 2 ทาง คือ ประตู 1 บริเวณสะพานอรทัย และประตู 5 , ประตูบริเวณน้ำพุ ขณะที่รถยนต์จะให้เข้า-ออกได้เพียงประตูเดียว คือประตู 1 บริเวณสะพานอรทัยเท่านั้น ยกเว้นบุคคลและรถยนต์ที่ไม่มีบัตร หรือสติ๊กเกอร์ห้ามเข้าโดยเด็ดขาด ต้องได้รับการตรวจตราและแลกบัตรเข้าพื้นที่ภายในทำเนียบรัฐบาลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนทุกครั้ง ส่วนบริเวณรอบนอกทำเนียบรัฐบาลที่มีการปิดถนน ตำรวจ ได้นำแท่งคอนกรีต และรั้วลวดหนามมาวางไว้ และติดป้ายประกาศ "ทำเนียบรัฐบาลเป็นพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด"

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานด้วยว่า ทุกวันจะมีการสับเปลี่ยนกำลังตำรวจที่รักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่อยู่ตลอดเวลา กรณีมีเหตุฉุกเฉินที่จุดใดตำรวจทุกนายที่สับเปลี่ยนกำลังต้องกลับมาประจำการตามจุดได้ทันทีภายในเวลา 30 นาที ซึ่งภาพรวมพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาลมีตำรวจจากหน่วยต่าง ๆ มาปฏิบัติหน้าที่ 12 กองร้อย หรือประมาณ 1,800 นาย โดยกรณีมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ติดตามการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่พอใจการลงมติรับหลักการร่างฉบับดังกล่าว อาจมีการเคลื่อนขบวนมวลชนเข้ามาในพื้นที่หวงห้ามได้ เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล กำลังสำรองทั้งหมดในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร เช่น นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี เมื่อมีการเรียกกำลังเสริมสามารถเสริมกำลังได้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ติดรูป "ผู้กองปูเค็ม" เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าพื้นที่หวงห้ามตามที่รัฐบาลประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI เสนอพัฒนารูปแบบเตือนภัยหนีน้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน

Posted: 07 Aug 2013 06:28 AM PDT

นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผยผลการสำรวจรูปแบบการเตือนภัยและพฤติกรรมของผู้ได้รับการเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน พบว่า การได้รับการเตือนภัยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพหนีภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญประกอบด้วย ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย สถานที่รองรับผู้อพยพในชุมชน ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพศ รายได้ ในขณะที่วิทยุสื่อสารเป็นสื่อเตือนภัยที่มีอิทธิพลต่อการอพยพของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดเหตุการณ์กระชั้นชิด ในส่วนของการตัดสินใจอพยพ ผู้หญิงมีโอกาสตัดสินใจอพยพมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีภาระหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน
 
ดร.กรรณิการ์  ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการ ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นบ่อยครั้งและดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีในหลายพื้นที่  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรและการที่มนุษย์ปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ เนื่องด้วยเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นโดยกระทันหันและรวดเร็ว การเตือนภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามดำเนินการเตือนภัยในรูปแบบต่างๆ แต่ยังต้องมีการพัฒนารูปแบบการเตือนภัยที่สามารถเข้าถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องคำนึงถึงลักษณะพื้นที่ประสบภัยที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การอพยพออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย

ดร.กรรณิการ์  ธรรมพานิชวงศ์ 

ทีดีอาร์ไอโดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก Economy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA) ทำการศึกษาปัจจัยและรูปแบบการเตือนภัยที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพของประชาชนในพื้นที่น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใน 10 จังหวัดภาคใต้ โดยเลือกพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นพื้นที่กรณีศึกษา ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนบพิตำ อำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากการจัดประชุมกลุ่มย่อยและเก็บแบบสอบถามจากประชาชนในพื้นที่

การสำรวจข้อมูลจากแบบสอบถามแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรก ถามเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพ  และส่วนที่สอง ถามเกี่ยวกับรูปแบบสื่อเตือนภัยที่ทำให้ตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย มีจำนวนตัวอย่างที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 332 คน จาก 166 ครัวเรือน แยกเป็นผู้ประสบภัยในอำเภอท่าศาลา 120 คน อำเภอสิชล 122 คน และ อำเภอนบพิตำ 90 คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละพื้นที่

ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 43 (144 คน) ของกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจอพยพ โดยเหตุผลของการตัดสินใจไม่อพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยได้แก่ เชื่อว่าอาศัยอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เป็นห่วงที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินว่าจะถูกโจรกรรม ถนนถูกตัดขาด ไม่มีพาหนะในการอพยพ มีเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องดูแล อยู่ช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้น จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอพยพประกอบด้วย การได้รับการเตือนภัย การมีสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผู้อพยพ  เพศ และ รายได้  โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเตือนภัย  กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับทราบข้อมูลของตำแหน่งและเส้นทางในการอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย หรือกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิง  มีโอกาสที่จะตัดสินใจอพยพมากกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่นๆ เนื่องจากการเตือนภัยจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาและความรุนแรงของภัยที่จะเกิดขึ้น และการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ปลอดภัยทำให้กลุ่มตัวอย่างมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการอพยพ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิง มีโอกาสตัดสินใจอพยพมากกว่าเพศชายเนื่องจากมีภาระหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างผู้มีรายได้สูง มีโอกาสตัดสินใจที่จะไม่อพยพออกจากพื้นที่มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่าบ้านและทรัพย์สินจะถูกโจรกรรมในระหว่างที่อพยพ

การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า การได้รับการเตือนภัยผ่านสื่อเตือนภัยต่างๆ มีความสำคัญแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความกระชั้นชิดของภัยที่เกิดขึ้นและปัจจัยอื่นๆ  โดยในระยะเวลากระชั้นชิดที่มีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นนั้น สื่อเตือนภัยที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดคือ วิทยุสื่อสาร เนื่องจากก่อนเกิดเหตุการณ์มักจะมีฝนตกหนักและไฟฟ้าดับร่วมด้วย  ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจึงไม่สามารถรับการแจ้งเตือนทางโทรทัศน์หรือวิทยุได้ นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ สัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจล่ม ติดต่อไม่ได้ และไม่สามารถชาร์ตแบตเตอรี่ได้  ดังนั้น สื่อเตือนภัยที่ดีที่สุด  ณ ขณะนั้น คือ วิทยุสื่อสาร ซึ่งการชาร์ตแบตเตอรี่แต่ละครั้งสามารถใช้ได้หลายวัน  อย่างไรก็ตาม ในยามฉุกเฉิน "เพื่อนบ้านหรือสมาชิกในครอบครัว" เป็นสื่อกระจายข่าวที่สำคัญเนื่องจากสามารถเข้าถึงตัวผู้รับการเตือนภัยได้ดีโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สำหรับการเตือนภัยผ่านทางโทรทัศน์หรือวิทยุนั้น พบว่ามีความเหมาะสมในกรณีที่เหตุการณ์ไม่กระชั้นชิด เป็นการเตือนภัยเพื่อให้ผู้ได้รับการเตือนภัยสามารถเตรียมตัวรับมือได้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบและความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าสิ่งที่ผู้ประสบภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันต้องการในการอพยพประกอบด้วย เชือก เสื้อชูชีพ และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านที่ให้การช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องข้ามลำคลองขณะที่อพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่ถนนหรือเส้นทางถูกตัดขาดซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถอพยพออกจากที่อยู่อาศัยได้ การเตรียมความพร้อมทางด้านเสบียงอาหารมีความสำคัญ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีบางหมู่บ้านเริ่มมีการจัดตั้งธนาคารอาหารประจำหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ ภาครัฐต้องมีช่องทางการในการให้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแก่ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และควรมีบทบาทในการจัดหาสถานที่รองรับผู้อพยพที่เหมาะสม ปลอดภัย และเพียงพอเพื่อรองรับผู้อพยพในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นสถานที่ที่คนในพื้นที่รู้จัก อาทิ โรงเรียน วัด ศาลาชุมชน ฯลฯ โดยจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับทราบโดยทั่วกัน และควรคำนึงถึงความสะอาดและความเพียงพอของเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรค หน่วยงานภาครัฐควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ชุมชนต้องเผชิญ ถ้าเป็นไปได้ควรสนับสนุนและจัดเวทีให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำแผนการอพยพของชุมชน เตรียมแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในชุมชน มีการซักซ้อมแผนอพยพเป็นระยะอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่  นอกจากนี้ ควรมีทางออกเพื่อลดข้อกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานที่ฝากสัตว์เลี้ยง และการจัดตำรวจออกตรวจพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยมั่นใจและยอมอพยพออกจากที่อยู่อาศัย   ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพสื่อเตือนภัย ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และวิทยุสื่อสาร  โดยเฉพาะบทบาทการให้ข้อมูลที่สร้างองค์ความรู้ให้ผู้รับสารสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างได้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน  สำหรับวิทยุสื่อสารซึ่งเป็นสื่อที่ผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุดในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ควรมีการกำกับดูแลให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ  ซึ่งผู้ใช้ต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต

น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก แต่หากมีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายลงได้  แต่สิ่งสำคัญคือหลังจากภัยนั้นผ่านไปแล้ว  ควรมีแผนฟื้นฟูและเตรียมพร้อมหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่งคือความเข้มแข็งของชุมชนและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในชุมชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: นิรโทษ “เอาชนะทางการเมือง”

Posted: 07 Aug 2013 05:36 AM PDT

พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย เหมะ ให้ผ่านวาระแรก และวาระแปรญัตติให้เร็วที่สุดเท่าจะทำได้ ไม่ว่าจะมีการต่อต้านคัดค้านรุนแรงสักเพียงใด โดยต้องยืนหยัดในหลักการ "นิรโทษเฉพาะประชาชน"

กระแสต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษในขณะนี้ มุ่งไปที่การนิรโทษทักษิณ นิรโทษเหมาเข่ง ซึ่งเป็นการ "มองข้ามช็อต" ไปจากตัวร่าง พ.ร.บ.ที่นิรโทษเฉพาะประชาชน
 
แน่นอน ผู้ที่หวาดระแวงก็ไม่ได้มองเกินเหตุ เพราะทักษิณแสดงเจตนาชัดเจน ทั้งร่างปรองดองและคลิปลับ ถ้ามีโอกาส ก็จะเหมารวมตัวเองเข้าด้วย แต่ในสถานการณ์ที่มีแรงต้านหนักหน่วงเช่นนี้ "โอกาส" ที่ว่าหมดไปแล้ว หากยังดึงดันก็เอากับเอาเสถียรภาพรัฐบาลไปเสี่ยง
 
ตรงกันข้าม หากพรรคเพื่อไทยยืนหยัดหลักการนิรโทษเฉพาะประชาชน ผลักดันร่างวรชัยผ่านวาระแรก โดยยืนยันว่าไม่เอา "ปรองดอง" มาแทรก กระแสต้านก็จะลดลง ถ้าแปรญัตติให้เร็ว โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่แปรญัตติไปสู่ทักษิณเลย เมื่อนำกลับเข้าสภาในวาระ 2 และ 3 เสถียรภาพรัฐบาลจะกลับมา โดยฝ่ายค้านจะเสียหายด้วยซ้ำ เพราะคัดค้านการนิรโทษคนยากคนจนตาดำๆ ที่รัฐบาลตัวเองกวาดจับ
 
ที่เทพเทือกประกาศจะนำม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษหลังผ่านวาระ 3 ทำได้อย่างเดียวเท่านั้นคือนิรโทษทักษิณด้วย ถ้าไม่นิรโทษทักษิณ นิรโทษเฉพาะประชาชน 2 ฝ่าย เทพเทือกจะนำม็อบต้านได้ไง มีแต่เสียหาย กลายเป็นผมหยิก หน้ากร้อ คอสั้น ตัวดำ แล้วยังใจดำ
 
ปชป.จึงต้องพลิกเกมมาต้าน พ.ร.บ.นิรโทษตั้งแต่ก่อนวาระแรก
 
อันที่จริง การต่อสู้ทางการเมืองเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษ พรรคเพื่อไทยจะต้องดึงสังคมออกจาก "ทักษิณ" มาถกเถียงกันว่า สมควรนิรโทษให้มวลชนทั้งสองฝ่ายหรือไม่ โดดเดี่ยวผู้คัดค้านให้กลายเป็นพวก "ใจดำ"
 
อันที่จริง ที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ถ่ายทอดสด พรรคเพื่อไทยก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร เพราะเป็นโอกาสให้อภิปรายถึงคดีความ ที่ศาลชี้ว่ามวลชนเสื้อแดงตายจากกระสุนทหาร สดๆ ร้อนๆ ก็คดี 6 ศพ อภิปรายถึงมวลชนแต่ละคนที่ติดคุก ที่ไม่ได้รับความยุติธรรม อภิปรายถึงคดีที่ศาลชี้แล้วว่ามวลชนเสื้อแดงไม่ได้ "เผาบ้านเผาเมือง" อภิปรายถึงคดีที่มีการกวาดจับมั่ว อภิปรายถึงความเลวร้ายสมัยรัฐบาล ปชป.จับกุมมวลชนใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วไม่ให้ประกัน อย่างน้อยก็จำต้องรับสารภาพความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุก 6 เดือน-1 ปี ฯลฯ
 
ถ้าไม่สันหลังหวะ คิดแต่จะสอดไส้ "ปรองดอง" ก็ไม่ต้องกลัวอะไร
 
ถ้าพรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ผ่านวาระ 3 โดยไม่แปรเนื้อหา นิรโทษเฉพาะประชาชน วุฒิสภาจะเอาอะไรมาค้าน ในเมื่อกระแสสังคมเช่นผลสำรวจดุสิตโพลล์ก็เห็นพ้อง (ให้นิรโทษเหมาเข่งด้วยซ้ำ) ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครร้องศาลรัฐธรรมนูญ คัดค้านว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเป็นฉันทามติของสังคม ศาลก็ต้องดูว่า "บ้านเมืองเดินต่อไปได้ไหม" เหมือนที่วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ พูดไว้
 
ทั้งหมดนี้อยู่ที่พรรคเพื่อไทยจะเข้าใจสถานการณ์และตัดสินใจได้มั่นคงแน่วแน่แค่ไหน เพราะถ้าแน่วแน่ ถอนร่างปรองดองออกไปแต่แรก ก็น่าจะทำความเข้าใจสังคมได้มากกว่านี้
 
ถ้ามั่นคง ตรงดิ่งไปสู่การนิรโทษเฉพาะมวลชน วิกฤติยังสามารถแปรเป็นโอกาส ทำให้เห็นว่าขบวนการจ้องล้มรัฐบาลไม่มีเหตุผล อย่าลืมว่านี่คือ "ยกแรก" ของการเปิดสมัยประชุม ซึ่งยังต้องเจอศึกหนักอีกเยอะ รวมทั้งเรื่องที่รัฐบาลทำอะไรแย่ๆ ไว้ยังจะตามมาอีกเยอะ ถ้า "เอาชนะทางการเมือง" ในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษได้ ก็จะส่งผลถึงบประมาณ และเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน ให้พวกต่อต้านเสียรังวัด
 
"โอกาส" ที่พูดถึงไม่ใช่แค่โอกาสของรัฐบาลเพื่อไทย แต่เป็นโอกาสของประชาธิปไตย เพราะถ้าพูดตามเนื้อหา "ม็อบแช่แข็งปี 2" หือขึ้นมาได้ด้วยความห่วยแตกของรัฐบาลเอง การบริหารขาดประสิทธิภาพ กลุ่มก๊วนการเมืองฉายโอกาสฉ้อฉล ความล้มเหลวเชิงนโยบาย ทำให้คะแนนตก
 
กระนั้น ม็อบแช่แข็งรอบ 2 ก็ยังจุดไม่ติด มีคนมาพีคสุดแค่ 4 พัน กิ๊กก๊อกกว่าม็อบเสธอ้าย กระจอกกว่าพันธมิตรหลายเท่า สะท้อนว่ากระแสสังคมไม่เอาพวกสุดขั้วสุดโต่ง ที่อะไรก็เรียกหารัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงนอกวิถี
 
เพียงแต่คนจำนวนมากก็เห็นว่ารัฐบาลไม่เอาไหน
 
ทั้งสองกระแสที่ดำรงอยู่เป็นนิมิตหมายอันดีของประชาธิปไตย เบื่อหน่ายเพื่อไทย สังเวชประชาธิปัตย์ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาตุลาการภิวัตน์ล้มรัฐบาลอีก สังคมไทยกำลังจะตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และยึดมั่นวิถีประชาธิปไตยมากขึ้น
 
ถ้าครั้งนี้กระแสสังคมสามารถ "ล้อมปราบทางการเมือง" พวกแช่แข็งไปได้ ทำลายความหวังของพวกสุดขั้วสุดโต่งที่อยากเห็นรัฐประหาร ศาลยุบพรรค ปปช.ถอดนายกฯ ฯลฯ ทำให้พวกนี้พ่ายแพ้และฝ่อไป การต่อสู้ทางการเมืองก็จะกลับสู่วิถี การตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลจะกลับสู่ความมีเหตุมีผลและมีน้ำหนักมากขึ้น
 
พูดง่ายๆ ว่าตราบใดที่พวกนี้ยังเป่านกหวีดปี๊ดๆ อยู่ การ Repositioning อย่างที่เกษียร เตชะพีระ เรียกร้อง ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
 
ปัจจัยสำคัญยิ่ง คือพรรคเพื่อไทยอย่าทำลายตัวเองก็แล้วกัน อย่าสอดไส้เรื่องทักษิณ ขืนยึกยัก นิดเดียวเท่านั้น เสียทั้งกระบวน
 
                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    7 สิงหาคม 2556
.............................................
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน. ยกคำร้อง "สมาน ศรีงาม" ขอยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ

Posted: 07 Aug 2013 04:34 AM PDT

ศาลรัฐธรรมนูญระบุการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจึงยกคำร้อง ขณะเดียวกันได้ยกคำร้องกลุ่ม กวป. ที่ฟ้องว่าการชุมนุมของ "กองทัพประชาชนฯ" ไม่ชอบรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่ายังไม่ปรากฏการกระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ด้าน "ถาวร เสนเนียม" เล็งฟ้องศาลแพ่งให้เลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุทำให้การสัญจรติดขัด ปิดกั้นสิทธิการเข้าฟังประชุมสภา

กรณีที่นายมาลัยรักษ์ ทองชัย แกนนำกลุ่มวิทยุสื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 68 เกี่ยวกับการชุมนุมของ "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)"  ว่าเป็นการชุมเพื่อล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากมีความพยายามเคลื่อนไหวไม่ให้มีการใช้อำนาจในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เกิดขึ้น และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้มีการยุติการชุมนุมนั้น

ล่าสุดวันนี้ (7 ส.ค. 56) สำนักข่าวไทย รายงานการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวของผู้ถูกร้องเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญ และยังไม่ปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวเพื่อเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางแห่งบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ขณะเดียวกันกรณีที่นายสมาน ศรีงาม แกนนำกลุ่มสภาประชาชนแห่งชาติและคณะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 ในพื้นที่กรุงเทพฯ บางส่วนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. จนถึงวันที่ 10 ส.ค. ว่า เป็นการทำลายเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และเป็นการข่มขู่คุกคามประชาชนให้กลัวจนไม่อาจจะใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ต่อไป และขอให้ยกเลิก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ร่วมกันประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ดังกล่าวนั้น

ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานวันนี้ (7 ส.ค. 56) ว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ และการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ด้านนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์เตรียมฟ้องศาลแพ่ง ในวันพรุ่งนี้ (8 ส.ค.) เพื่อฟ้องคณะรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เนื่องจากเห็นว่าการออกกฎหมายดังกล่าวมีผลทำให้การเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนเดือนร้อน ติดขัด อีกทั้งปิดกั้นสิทธิในการเข้ารับฟังประชุมของรัฐสภา และยังไม่เปิดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุม ถือว่าการเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาฯ ป่วน ถก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 07 Aug 2013 04:28 AM PDT

ประธานฯ ยันไม่ใช่กฎหมายการเงิน  ฝ่ายค้านจัดหนักไม่ให้เข้าสู่วาระ ด้าน "จ่าประสิทธิ์" ชูรองเท้าใส่ฝั่ง ปชป. "ขุนค้อน" ต้องพักประชุม  ยกสองรอบเย็น ผู้นำฝ่ายค้านเสนอเลื่อนประชุม ส.ส.โหวตเดินหน้าประชุมต่อ

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำ ความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

ทันทีที่เปิดประชุม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พยายามตัดบทเข้าสู่วาระทันที แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พากันประท้วงเกี่ยวกับอุปสรรคของส.ส.ที่จะเดินทางเข้ามายังสภา โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กล่าวว่าตำรวจ และเจ้าหน้าที่ได้กีดกันผู้ช่วยส.ส.ฝ่ายค้าน ไม่ให้เข้ามา ขณะที่การถ่ายทอดสด ก็ไม่สามารถทำได้ ขณะที่นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิช ส.ส.เพื่อไทย ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้กีดกันผู้ช่วยส.ส.ไม่ให้เข้าสภาแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องแสดงบัตรให้ชัด จึงจะเข้ามาได้

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับการถ่ายทอดสด โดยนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ระบุ มีสื่อมวลชนจำนวนมากอยู่ที่เขาดินก็เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสดผ่านไทยพีบีเอส และช่อง 11 ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงประธานฯ โดยตรงขอให้มีการถ่ายทอดสดทาง ช่อง 11 และวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อย่างทั่วถึง ขณะที่นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ช่อง 11 ว่าที่ไม่สามารถถ่ายทอดสดวันนี้ได้ เพราะมีผังรายการของช่องอยู่ โดยติดถ่ายทอดพระราชกรณียกิจพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จึงไม่สามารถตัดสัญญาณมาถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯ วันนี้ได้

จากนั้นนายสมศักดิ์พยายามนำเข้าสู่วาระ แต่เมื่อนายวรชัยเริ่มนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ กลับถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์โห่ฮา อ้างว่าหลักปฏิบัติที่ผ่านมา ประธานฯ ต้องให้ ส.ส.หารือถึงความเดือดร้อนประชาชนก่อน ท้ายที่สุดนายสมศักดิ์ก็ยินยอมและเปิดให้อภิปรายไปอีกกว่า 1 ชั่วโมง

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ขู่ว่าหากยังเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อไปตนก็คงต้องยื่นถอดถอนประธานฯ หลังจากก่อนหน้านี้ เคยยื่นไปแล้ว 2 เรื่อง เพราะเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เนื่องจากหากมีการนิรโทษกรรม รัฐบาลต้องนำเงินหลวงจ่ายคืนค่าปรับ รวมถึงรัฐบาลจะต้องเสียเงินเพื่อสร้างศาลากลางประจำจังหวัด โดยไม่สามารถฟ้องร้องเรียกเงินทางแพ่งจากผู้ที่กระทำผิดได้ ดังนั้นควรผ่านให้นายกรัฐมนตรี ลงนามก่อน ด้านประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน แต่หากนายถาวรยังเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจเข้าข่ายก็สามารถยื่นให้กรรมาธิการสามัญ 35 คณะพิจารณาได้ทันที

นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านทักท้วงว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 หรือไม่ว่า การพิจารณาว่าร่างกฎหมายใดเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยคือประธานสภาฯ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ แต่หากมีข้อขัดแย้งหรือสงสัยต้องอ้างอิงสาระของรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ทั้งนี้มีถ้อยคำระบุว่าหากมีเหตุที่สงสัยในที่นี้ คือ ประธานสภาฯ ดังนั้นหากประธานสภาฯ ไม่สงสัย ส.ส.จะบังคับให้สงสัยไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากท้ายสุดผลของกฎหมายดังกล่าวจะมีความเกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องใช้กฎหมายอื่นมาเทียบเคียง

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายทักท้วงว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะมีผลนิรโทษกรรมให้กับผู้มีความผิดในกรณีเผาศาลากลางจ.อุดรธานีด้วย และเมื่อพิจารณาในคำสั่งศาลต่อคดีดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคม 2555 จะพบว่าศาลมีคำสั่งตัดสินจำคุกและสั่งให้ชดใช้เงินค่าเสียหายจากผู้ที่มี ความผิด จำนวน 5 คน ได้แก่นายอาทิตย์ ทองสาย ถูกจำคุก 2 ปี 6 เดือน, นายเดชา คมขำ ถูกจำคุก 20 ปี 6 เดือน และ นายบัวเรียน แพงสา สั่งจำคุก 20 ปี 6 เดือน ศาลสั่งให้ชดใช้เงินรวม 143 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5, นายกิติพงษ์ ชัยกังจำคุก 11 ปี 3 เดือน และ นายวันชัย รักษาสงวนศิลป์ ถูกสั่งลงโทษจำคุก 20 ปี 6 เดือน รวมถึงให้ชดใช้ 57.7 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นรัฐต้องติดตามเอาคืนกับบุคลเหล่านี้ จึงถือว่าเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินที่ชัดเจน ดังนั้นตนขอให้นายสมศักดิ์วินิจฉัยให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นหากพิจารณาผิดเรื่องอาจถึงศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายซักถามในประเด็นดังกล่าวด้วย

ขณะที่ นายประเสริฐพงษ์ สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติขอเลื่อนวาระการประชุม โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ขึ้นมาแทน แต่นายสมศักดิ์ไม่อนุญาต เพราะเข้าสู่วาระไปแล้ว และตัดบทให้นายวรชัย นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกครั้ง นายสมบูรณ์จึงตะโกนคำว่า "สภาขี้ข้า" อยู่หลายรอบ และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ชี้หน้าไปทางประธานฯ พร้อมพูดว่า "ขี้ข้า" ท่ามกลางเสียงโห่ฮาของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รบกวนการอภิปรายของนายวรชัย ขณะที่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ยกรองเท้าชูขึ้นมาเป็นการตอบโต้ ทำให้บรรยากาศในห้องตึงเครียดขึ้น จนนายสมศักดิ์ต้องสั่งพักประชุม และเริ่มประชุมอีกครั้งราว 18.15 น.โดยนายอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านได้ขอให้เลื่อนการประชุมครั้งนี้เนื่องจากนายกฯ ไม่ได้เข้าร่วมรับฟังการอภิปราย

ทั้งนี้ ที่ด้านห้องโถงรัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้ออกไปรับหนังสือจากนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งออกหนังสือแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอให้สภาดำเนินการถ่ายทอดสดการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านทางช่องฟรีทีวี เนื่องจากสื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติงานท่ามกลางความขัดแข้งทางการเมืองหลายปีและเห็นว่าการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่ให้ประชาชนได้รับข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญ ย่อมเป็นผลเสียมากกว่าผลดี รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้สร้างความขัดแย้งและความแตกแยกในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อป้องกันข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือก่อให้เกิดความสับสนในสังคม จึงขอให้มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายสื่อสารไปยังประชาชนโดยตรง โดยขอให้สภาประสานกับรัฐบาลเพื่อถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีโดยด่วน ขณะที่นายวิสุทธิ์กล่าวยืนยันว่า สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีสามารถถ่ายทอดสัญญาณได้ตามปกติ ถ้าช่องไหนเกี่ยวสัญญาณถ่ายทอดสดห้องประชุมไม่ได้ ให้แจ้งตน ก็จะอำนวยความสะดวกให้เต็มที่

ในช่วงเย็น หลังมีการเปิดอภิปรายอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอให้ที่ประชุมลงมติเลื่อนการพิจารณากฎหมายนี้ โดยให้เหตุผลอ้างอิงคำแถลงของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนและฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้นอกจากนี้หลายภาคส่วนยังกังวลว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง

"การปรองดองไม่อาจเกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยัดเยียดแนวคิดให้แล้วลงมติด้วยเสียงข้างมาก" นายอภิสิทธิกล่าวและว่าพร้อมจะหาหรือพูดคุยหาทางออกประเทศทันทีหากถอนการพิจารณากฎหมายนี้ และหากรัฐบาลไม่ถอยก็สะท้อนถึงความไม่จริงใจในการตั้งโต๊ะปฏิรูป

สุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่มีคนกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์ แต่ประชาชนและผู้ไม่เกี่ยวข้องก็ได้ประโยชน์ การเสนอกฎหมายนี้เป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่งเนื่องจากมีการนำเสนอในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทยได้รับเสียงเกินครึ่ง  นอกจากนี้ยังโต้แย้งนายอภิสิทธิเรื่องคำแถลงขององค์กรระหว่างประเทศโดยระบุว่า เขาไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการปรองดองแต่วิตกว่าจะละเว้นการลงโทษผู้ที่เข่นฆ่าประชาชน

นอกจากนี้สุนัยยัง ยกประวัติศาสตร์ว่าเคยมีการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรม เช่น ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปี 2490 ที่ระบุให้มีคณะกรรมการพิจารณาคดีที่ศาลพิพากษาแล้วหรืออยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อให้ศาลสั่งปล่อยหรือถอนฟ้อง รวมถึง ในปี 2524 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังเคยลงนามในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจปกครองแผ่นดิน จากเหตุการณ์ที่มีการนำรถถังออกมายิงกองพล 1 มีนักข่าวบาดเจ็บ และมีคนเสียชีวิต แต่มาตรา 3 วรรค 2 ระบุว่าไม่นิรโทษกรรมแก่คนที่ไม่มารายงานตัว หลังจากนั้นมี พ.ร.บ.เพื่อยกเลิกวรรค 2 ดังกล่าว รวมไปถึงการหยิบยกนโยบาย 66/23 โดยพล.อ.เปรม ซึ่งไม่ใช่การออกกฎหมายแต่เป็นเพียงการออกนโยบายเท่านั้น รูปแบบเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้วเพื่อทำให้สังคมที่แตกแยกหนักมีการเข่นฆ่ากันกลับมาปรองดองกัน

เวลา 19.40 น. ประธานที่ประชุมได้เรียกสมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติว่าจะเลื่อนการพิจารณาพ.ร.บ.นี้หรือไม่  ผลการลงคะแนนปรากฏว่ามีส.ส.เห็นควรเลื่อนพิจารณา 160 คน  ไม่เห็นควรให้เลื่อน 301 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน จึงมีการประชุมต่อ

จากนั้นมีการอภิปรายกันอีกโดยนายจุรินทร์ ลักษณพิศิษฏ์ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่รับหลักการ่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพราะมีการหมกเม็ดให้กับคดีอุจฉกรรก์ เผาฆ่า ก่อการร้ายซึ่งรวมคนในต่างประเทศ และมาตรา 112  ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.เพื่อไทยยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.นี้ไม่รวมมาตรา 112 แน่นอนเนื่องจากเป็นกฎหมายพิเศษ คุ้มครองพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายนิรโทษกรรมจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในจริง โดยยกตัวอย่างว่าอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างนาย ควง อภัยวงศ์ ก็เคยลงนามในกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 2 ฉบับ รวมถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยมีนโยบาย 66/23 จากนั้นนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.ประชาธิปัตย์ แย้งว่าจะดูตัวอย่างในอดีตไม่ได้ เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหวางประชาชนด้วยกันเอง พร้อมหยิบยกประเด็นการตีดความคำว่า "คดีการเมือง" โดยระบุว่า คนที่อธิบายเรื่องนี้มีคนเดียวคือ อ.จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งอธิบายว่า ความผิดทางการเมืองคือความผิดที่ทำต่อองค์กรของรัฐหรือองค์การทางการเมือง ดังนั้น ใครล้อมทำเนียบฯ ใครปิดสนามบิน ใครล้อมรัฐสภา ตนพร้อมจะนิรโทษกรรมให้ แต่คนเห็นต่างไม่มีสิทธิทำร้ายนายกฯ ไม่มีสิทธิกระทบเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์ นั่นเป็นความผิดทางอาญา

การอภิปรายดำเนินไปจนกระทั่งเวลาราว 22.40 น.จึงมีมติปิดการประชุมและดำเนินการประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป
 



เรียบเรียงจาก เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา (ถ่ายทอดสด), เว็บไซต์ไทยรัฐ, เว็บไซต์ข่าวรัฐสภา, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหา (23.00 น. -7 ส.ค.)
======================

 

รายละเอียด ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนาย วรชัย เหมะ

 

 หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุม ทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554

เหตุผล

เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิดมี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบ ประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู้การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่ เคยปรากฏมาก่อนทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึก สับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้างจึงมี การชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง อันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความ ยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู้สังคมไทยในทุกระดับและ นำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของ ประชาชนทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้าน ความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทาง การเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาส แก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบ ประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมือง เพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัคร สมานสามัคคีร่วงแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่าง ยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการ เมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..."

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ เมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและ ความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัติ นี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญบัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียก ร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี

 

ดูฉบับเต็มได้ที่
http://ilaw.or.th/sites/default/files/%E0%B8%A3.%E0%B8%9A.%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%20%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%20%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B0.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิยบุตร แสงกนกกุล

Posted: 07 Aug 2013 04:17 AM PDT

"..บทบัญญัติข้อ ๖๘ ของระเบียบการประชุมสภาของไทย ที่อนุญาตให้สมาชิกยกมือเหนือศีรษะ และยืนขึ้น เพื่อขอประท้วง อาจแลดูดีมีอารยะ แต่ความอารยะเช่นว่าเป็นความอารยะจอมปลอม ถูก "บิดผัน" กลายเป็นเครื่องมือขัดขวางการดำเนินงานของสภา เท่าที่ผมสำรวจตรวจสอบประเทศอื่นๆ เขาไม่มีกันนะครับ ไม่มีการประท้วงขัด หากไม่พอใจ โห่ใส่เลย แล้วประธานก็จะสั่งให้อยู่ในความสงบ" 
 
7 ส.ค.56, โพสต์ในสถานะบนเฟซบุ๊ก

องค์กรสื่อเรียกร้องประธานสภาฯ สั่งถ่ายทอดสดประชุมสภาออกช่อง 11

Posted: 07 Aug 2013 04:04 AM PDT

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องประธานรัฐสภาสั่งถ่ายทอดสด การประชุมสภาฯ ผ่านช่อง 11 ระบุการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจะส่งผลเสียหาย มากกว่าจะเป็นผลดี

เว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันนี้ (7 ส.ค.) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง ขอให้ดำเนินการถ่ายทอดสดการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวาระการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ผ่านทางฟรีทีวี โดยมีรายละเอียดดังนี้

"ตามที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะนำวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ เข้าสู่การพิจารณา ในวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ซึ่งประเด็นดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศนั้น แต่ไม่ได้รับการสั่งการจากรัฐบาลให้ดำเนินการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญๆ ที่เป็นที่สนใจติดตามของประชาชน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งมีสมาชิกปฏิบัติงานรายงานข่าวในพื้นที่การชุมนุมและพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปีพิจารณาเห็นว่าการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญจะเป็นผลเสียหายมากกว่าจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ ทั้งนี้ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ได้สร้างความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมไทยในวงกว้างอีกครั้งหนึ่ง และเสี่ยงที่จะนำความรุนแรงกลับมาสู่ประเทศชาติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อน หรือก่อให้เกิดความสับสนในสังคม สมาคมนักข่าวทั้งสองเห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้เสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง. รับฟังเหตุผลของสมาชิกสภาทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในเนื้อหาสาระของร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่จะร่วมสร้างความๆ ไว้วางใจและบรรยากาศของการปรองดองที่คนไทยทั้งประเทศต้องการได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเสนอให้ประธานรัฐสภาใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมประสานไปยังรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีโดยด่วน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
7 สิงหาคม 2556"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

9 นักเขียน-กวี-นักข่าว ค้านพ.ร.บ.มั่นคง-ลงดาบโซเชียลมีเดีย

Posted: 07 Aug 2013 04:04 AM PDT

(7 ส.ค.56) "กลุ่มนักเขียน กวี และคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ" ซึ่งประกอบด้วยนักเขียน กวี และสื่อมวลชน 9 คน เผยแพร่คำประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก แสดงจุดยืนคัดค้านการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และการคุกคามเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนในโซเชียลมีเดีย

"ในนามของกลุ่มนักเขียน กวี และคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ ซึ่งมีความเชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงอิสระ มีเสรีภาพในการพูด คิด และชุมนุมทางการเมืองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงขอประกาศจุดยืนถึงความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฝักใฝ่ทางการเมืองฝ่ายไหน ย่อมได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพการชุมนุม และการแสดงความคิดเห็น จึงขอคัดค้าน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ประกาศใช้อยู่เพื่อปูทางไปสู่การประกาศใช้กฎหมายพิเศษอื่นเพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมต่อไป และร่วมประณามการคุกคามสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการข่มขู่คุกคามโดยการใช้กฏหมายเผด็จการในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับรัฐบาล และขอให้ยกเลิกการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยตนเอง" คำประกาศระบุ

นอกจากนี้ คำประกาศดังกล่าวระบุด้วยว่า หากมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนเกินกว่าเหตุ ขอเรียกร้องให้นักเขียน นักอ่าน ศิลปิน และคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ รวมทั้งประชาชนที่รักความเป็นธรรมแบบไม่แบ่งแยกฝักฝ่ายและสีเสื้อออกมาเคียงข้างกันบนท้องถนน ร่วมต่อสู้กับพี่น้องประชาชนต่อไป

 


คำประกาศ: ขอคัดค้าน พ.ร.บ.ความมั่นคง และการคุกคามเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนในโซเชียลมีเดีย


"ถ้าเชื่อว่าคนเท่ากัน เราต้องเรียกร้องอย่างเท่าเทียม"

จากกรณีที่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พุทธศักราช 2551 ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลเพื่อควบคุมและป้องกันเหตุร้ายแรงอันมาจากการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เดินทางมาร่วมเรียกร้องไม่ให้มีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาในสภา ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิทางการเมือง สิทธิเสรีภาพการแสดงออกซึ่งความคิดความเห็น ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน

อีกทั้งการแสดงความคิดความเห็นทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย ยังถูกข่มขู่คุกคามจากคนในฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ที่ออกมาประกาศเตือนว่าจะใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายเผด็จการอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ดำเนินคดีกับผู้แสดงความเห็นที่จะนำไปสู่ความปั่นป่วนในบ้านเมือง และมีการดำเนินคดีไปแล้วจำนวน 4 ราย ถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชน ก่อให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนกต่อการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตของรัฐบาล ทั้งยังมีความพยายามในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และบังคับให้ประชาชนรู้ในสิ่งที่รัฐบาลต้องการให้รู้เท่านั้น

ในนามของกลุ่มนักเขียน กวี และคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ ซึ่งมีความเชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงอิสระ มีเสรีภาพในการพูด คิด และชุมนุมทางการเมืองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงขอประกาศจุดยืนถึงความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฝักใฝ่ทางการเมืองฝ่ายไหน ย่อมได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพการชุมนุม และการแสดงความคิดเห็น จึงขอคัดค้าน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ประกาศใช้อยู่เพื่อปูทางไปสู่การประกาศใช้กฎหมายพิเศษอื่นเพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมต่อไป และร่วมประณามการคุกคามสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการข่มขู่คุกคามโดยการใช้กฏหมายเผด็จการในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับรัฐบาล และขอให้ยกเลิกการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยตนเอง

และหากมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนเกินกว่าเหตุ เราขอประกาศ และขอเรียกร้องให้นักเขียน นักอ่าน ศิลปิน และคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ รวมทั้งประชาชนคนไทยทุกคนที่รักความเป็นธรรมแบบไม่แบ่งแยกฝักฝ่ายและสีเสื้อออกมาเคียงข้างกันบนท้องถนน ร่วมต่อสู้กับพี่น้องประชาชนต่อไป

ประกาศในนามของนักเขียน ศิลปิน คนทำงานสร้างสรรค์อิสระผู้เชื่อว่ามนุษย์เท่าเทียมกันจริงๆ โดยไม่แบ่งแยกสีเสื้อที่สวมใส่
7 สิงหาคม 2556

(ลงชื่อ)
พิเชฐ แสงทอง / กวี/นักวิชาการ
ภาวินี อินเทพ /สื่อมวลชน
โก-กวินทร์ ขาวงาม /กวี
อองตวน เดอ ควนเคร็ง /กวี/สื่อมวลชน
ณรรธราวุธ เมืองสุข /นักเขียน/สื่อมวลชน
ปรเมศวร์ กาแก้ว /กวี
อังคาร จันทาทิพย์/กวี
วิทยากร อิสมาแอล /นักเขียน/บรรณาธิการ
สานิตย สีนาค/กวี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวียดนามประหารชีวิตนักโทษคนแรกในรอบ 18 เดือน

Posted: 07 Aug 2013 02:19 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่าการประหารชีวิตครั้งแรกในเวียดนามในรอบ18 เดือน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง และเป็นเหตุให้นักโทษในแดนประหารอีกหลายร้อยคนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกประหารเช่นกัน 
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่าการประหารชีวิตครั้งแรกในเวียดนามในรอบ18 เดือน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง และเป็นเหตุให้นักโทษในแดนประหารอีกหลายร้อยคนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกประหารเช่นกัน 
                
เหงียนอานตวน (Nguyen Anh Tuan) ต้องโทษประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2553 มีรายงานข่าวว่าเขาได้ถูกประหารชีวิตที่เรือนจำตำรวจกรุงฮานอย โดยใช้วิธีฉีดยา เป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในประเทศนับแต่เดือนมกราคม 2555
                
จากระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการส่งออกยาที่ใช้ฉีดเพื่อประหารชีวิต เป็นเหตุให้ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการประหารชีวิตในเวียดนาม แต่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 กฎหมายใหม่ของเวียดนามมีผลบังคับใช้ เป็นเหตุให้ในปัจจุบันเวียดนามสามารถใช้ยาที่ผลิตนอกสหภาพยุโรปหรือผลิตในประเทศเพื่อฉีดนักโทษประหารชีวิตได้
                
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่เวียดนามรื้อฟื้นการประหารชีวิต และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่โหดร้ายของทางการที่จะยังคงใช้โทษประหารต่อไป
                
"การประหารชีวิตที่เป็นการลงโทษจากรัฐต้องยุติลง รัฐบาลเวียดนามควรใช้ช่วงเวลาที่พักการประหารชีวิต (ไม่มีการประหารชีวิต) อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบการส่งออกของสหภาพยุโรป เพื่อทบทวนการใช้โทษประหารชีวิต และหาทางยกเลิกให้ได้ในที่สุด" 
                
ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชน ปัจจุบันมีนักโทษประหารชีวิตในเวียดนาม 586 คน และมีอย่างน้อย 116 คนที่ผ่านขั้นตอนการอุทธรณ์คดีในขั้นสุดท้ายมาแล้ว  ในขณะที่มีนักโทษจำนวนไม่น้อยที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงและอาจถูกประหารชีวิตในเร็ว ๆ นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลเวียดนามต้องยุติแผนการที่จะประหารชีวิตนักโทษเหล่านั้นทันที
                
"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นใจเหยื่ออาชญากรรมร้ายแรงเป็นอย่างมาก พวกเขาจะต้องได้รับความยุติธรรมเช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นมาตรการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุเช่นนั้นขึ้นอีก อีกทั้งโทษประหารชีวิตเป็นรูปแบบการลงโทษที่โหดร้ายและไร้ซึ่งมนุษยธรรมมากที่สุด และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน"
                
"เวียดนามกำลังปฏิบัติตนแตกต่างไปจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก ในกรณีที่นำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะในปี พ.ศ. 2555 มีเพียง 21 ประเทศที่ยังคงประหารชีวิตบุคคล และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พากันทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการประหารชีวิต และจำกัดการใช้โทษประหารชีวิต เวียดนามจึงควรพิจารณาทางเลือกเหล่านี้ แทนที่จะมุ่งประหารชีวิตชายและหญิงอีกหลายร้อยคน" อิสเบล อาร์ราดอนกล่าว
                
แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใดก็ตาม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิกิพีเดียวางแผนเสริมระบบความปลอดภัยหลังโปรแกรม XKeyscore ถูกเปิดโปง

Posted: 07 Aug 2013 01:59 AM PDT

วิกิพีเดีย และกลุ่มด้านสิทธิทางอินเทอร์เน็ตสนับสนุนให้เว็บไซต์ต่างๆ เปลี่ยนระบบเป็น HTTPS ซึ่งมีการเข้ารหัสข้อมูลทำให้มีการสอดแนมข้อมูลยากขึ้นและกล่าวอ้างว่าระบบของ XKeyscore ที่สามารถสอดแนมได้สารพัดกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตมีการตั้งเป้าที่วิกิพีเดียโดยเฉพาะ

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2013 เว็บไซต์ Commondreams เปิดเผยว่า มูลนิธิวิกิมีเดียได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อป้องกันไม่ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) แอบสอดแนมผู้ใช้เว็บ รวมถึงมีการปรับโครงสร้างของเว็บเพื่อรับกับระบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่าง 'HTTP Secure' (HTTPS) หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเปิดโปงเรื่องโปรแกรม XKeyscore ซึ่งทางวิกิมีเดียบอกว่าเน้นตั้งเป้าที่ผู้ใช้วิกิพีเดียโดยเฉพาะ

ทางวิกิมีเดียยังได้เข้าร่วมกับกลุ่มรณรงค์สนับสนุนสิทธิความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต เช่น โครงการ Tor และ กลุ่ม Electronic Frontier Foundation (EFF) ซึ่งสนับสนุนผลักดันให้เว็บไซต์ต่างๆ ให้มาใช้ระบบ HTTPS ซึ่งเป็นโปรโตคอลอินเทอร์เน็ตที่ทำให้มีการเข้ารหัสข้อมูล (encryption) ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยมากขึ้น

โดยก่อนหน้านี้เว็บไซต์เดอะ การ์เดียนได้เปิดโปงเอกสารที่ได้รับจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานด้านข่าวกรองให้ทางการสหรัฐฯ ซึ่งมีการกล่าวถึงโปรแกรม XKeyscore ที่อ้างสรรพคุณว่ามีความสามารถในการสืบค้นข้อมูลและกิจกรรมของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แทบทุกอย่าง

"มูลนิธิวิกิมีเดียมีความศรัทธาอย่างหนักแน่นในเรื่องการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อ่านและผู้เขียนบทความ" ไรอัน เลน วิศวกรปฏิบัติการประจำมูลนิธิวิกิมีเดียกล่าว "ข้อมูลที่รั่วไหลออกมาล่าสุดเกี่ยวกับโปรแกรม XKeyscore ของ NSA ยิ่งทำให้ประชาคมของเราผลักดันให้มีการใช้ระบบ HTTPS เป็นค่าตั้งต้นกับโครงการในเครือวิกิมีเดีย"

พาร์กเกอร์ ฮิกกินส์ จากองค์กร EFF กล่าวว่าหาก NSA มีช่องทางมากมายที่จะได้รับข้อมูล การปรับโครงสร้างของวิกิมีเดียจะทำให้ NSA ได้รับข้อมูลยากขึ้นอีกเล็กน้อย

"การที่เรื่องนี้ถูกเปิดโปงทำให้คนจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญกับสิทธิความเป็นส่วนตัวมาเป็นอันดับหนึ่ง" พาร์กเกอร์กล่าว "ในตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่จะมีปฏิบัติการ และเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นเว็บไซต์ใหญ่ๆ อย่างวิกิพีเดียเป็นผู้นำในเรื่องนี้"

วิกิพีเดียกำลังอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบให้เป็น HTTPS อยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรับทราบเรื่องโปรแกรม XKeyscore ที่ทำให้ NSA สามารถค้นข้อมูลได้ทั้งประวัติการเข้าเว็บ อีเมล และกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย ของคนนับล้านก็ย้ำให้วิกิพีเดียต้องเร่งการดำเนินการ

วิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ในเครือของมูลนิธิวิกิมีเดียซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เป็นหนึ่งในเว็บที่มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดของโลก โดยมีผู้เข้าชมราว 520 ล้านคนต่อเดือน โดยผู้เข้าใช้สามารถมีส่วนร่วมในการค้นคว้าและเขียนข้อมูลของเว็บไซต์

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา จิมมี่ เวลส์ ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย เรียกร้องให้องค์กรธุรกิจอื่นๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตร่วมมือกับพวกเขา "การเข้ารหัสข้อมูลถือเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน" จิมมี่กล่าว


 

แปลและเรียบเรียงจาก

Rejecting NSA Spying, Wikipedia Boosts Security after XKeyscore Revelations, CommonDreams, 05-08-2013
http://www.commondreams.org/headline/2013/08/05-2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น