โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

“เตงเส่ง” สาบานตนเป็นประธานาธิบดีพม่าแล้ว “ตานฉ่วย” ประกาศสิ้นสุด SPDC

Posted: 31 Mar 2011 12:33 PM PDT

สภาพม่าตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแล้ว ด้าน “เตงเส่ง” ปธน.คนใหม่กล่าวสุนทรพจน์ย้ำความแข็งแกร่งทางการเมือง-เศรษฐกิจ-การทหารจำเป็นสำหรับพม่า พร้อมเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ขณะที่ “ตานฉ่วย” ประกาศสิ้นสุด “สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ” ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่สมัยใช้ชื่อ “สลอร์ก” ในปี 2531 ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่ากองทัพพม่ายังมีอำนาจ-บทบาททางการเมือง


เตงเส่ง (คนกลาง, ยืนหันหน้า) ระหว่างพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีพม่า ที่สภาแห่งสหภาพที่เนปิดอว์ เมื่อ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ซ้ายมือคือ ถิ่น อ่อง มินต์ อู และ ดร.นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดี (ที่มา: หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 31 มี.ค. 2011 หน้า 1)



ประกาศของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) ฉบับที่ 5/2011 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2011 ลงนามโดย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ประกาศสิ้นสภาพของ SPDC (ที่มา: หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 31 มี.ค. 2011 หน้า 8)


“เตงเส่ง” สาบานตัวเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่าแล้ว

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลพม่า ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 31 มี.ค. รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมสภาแห่งสหภาพ (Pyidaungsu Hluttaw) เป็นวันที่ 18 ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า โดยในวันนี้มีการแต่งตั้งและมีพิธีสาบานตนประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของพม่า คือนายเตงเส่ง เป็นประธานาธิบดี ส่วนรองประธานาธิบดีคนที่ 1 และคนที่ 2 ตามลำดับคือ นายถิ่น อ่อง มินต์ อู และ ดร.นพ.จายหมอกคำ

ในพิธีดังกล่าว พล.ท. มินต์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพม่า และอดีตแม่ทัพภาคสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า แทนที่ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนด้วย

หลังการสาบานตัว ประธานาธิบดีพม่าได้กล่าวสุนทรพจน์หลังรับตำแหน่ง ใจความตอนหนึ่ง กล่าวว่า ประเทศพม่ามี 3 สิ่งที่จำเป็นในการสร้างประเทศ คือ ความแข็งแกร่งทางการเมือง ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และความแข็งแกร่งทางการทหาร

ในคำกล่าวสุนทรพจน์ เตงเส่งยังประกาศว่าพม่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี “เราจะเอาผลประโยชน์ชาติไว้ข้างหน้า จะควบคุมเข้มงวดตลาดแต่เพียงน้อยที่สุด” อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะพัฒนาด้านเกษตร ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรม และจะเปิดประตู ทำการปฏิรูป และต้อนรับการลงทุน ซึ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาประเทศชาติและประชาชน


พล.อ.อาวุโสตานฉ่วยประกาศยุบสภารัฐบาลทหาร

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับเดียวกัน ยังมีการเผยแพร่ประกาศของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (The State Peace and Development Council - SPDC) ฉบับที่ 5/2011 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2554 โดยประกาศของคณะรัฐบาลทหารที่ปกครองพม่า ลงนามโดย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ดังกล่าว ระบุว่า ผู้แทนการใช้อำนาจของสหภาพทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รับการรับรองโดยสภาแล้ว ทั้งสภาแห่งสหภาพ (Pyidaungsu Hluttaw) อันประกอบด้วยสภาผู้แทนประชาชน (Pyithu Hluttaw) หรือสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนแห่งชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือวุฒิสภา ซึ่งเป็นรูปแบบตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐสหภาพพม่า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 54 นั้น

เมื่ออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งใช้โดยสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ได้เปลี่ยนผ่านมายังคณะบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและระเบียบดังกล่าว และได้รับการรับรองโดยสภาสหภาพในวันที่ 30 มีนาคม 2554 แล้วนั้น สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐจึงสิ้นสภาพลงตามที่ระบุมาข้างต้น

นอกจากนี้ SPDC ยังมีการออกประกาศหลายฉบับ เพื่อถ่ายโอนอำนาจไปยังคณะผู้ปกครองชุดใหม่ โดยประกาศฉบับที่ 6/2011 มีผลให้สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ในระดับภูมิภาคและรัฐชนกลุ่มน้อยมีผลสิ้นสภาพ และแทนที่ด้วยสภาแห่งภูมิภาคและสภาแห่งรัฐ (Region or State Hluttaw) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา


บทบาททางการเมืองของกองทัพพม่าที่ยังไม่สิ้นสุด
สภาเพื่อสันติภาพหรือการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) หรือที่รู้จักก่อนหน้านี้ในชื่อว่า คณะกรรมการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) ได้เข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2531 แทนที่ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Programme Party) หรือ BSPP ซึ่งทำรัฐประหารครองอำนาจในพม่ามาตั้งแต่ปี 2505 โดยในปี 2540 คณะกรรมการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ กระทั่งมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย. 2553 มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่คณะผู้ได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งชุดใหม่ นำมาสู่การประกาศสิ้นสภาพของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐดังกล่าว

การประกาศของ SPDC ดังกล่าว ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองอย่างยาวนานของ SPDC อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่ากองทัพพม่ายังมีบทบาทหลักในการเมืองการปกครองของพม่า ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 ที่ระบุว่า สัดส่วนร้อยละ 25 ของที่นั่งทั้งหมดในสภาทั้งสาม ต้องจัดไว้ให้กับกองทัพพม่า โดยผู้แต่งตั้งคือผู้บัญชาการกองทัพพม่า โดยสภาทั้งสามได้แก่ สภาผู้แทนประชาชน (Pyithu Hluttaw) หรือสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนแห่งชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือวุฒิสภา และสภาแห่งรัฐและภูมิภาค ซึ่งเป็นสภาบริหารท้องถิ่นในพื้นที่ 7 ภาคและ 7 รัฐชนกลุ่มน้อยของพม่า

โดยการที่รัฐธรรมนูญพม่าออกแบบให้กันโควตาในสภาร้อยละ 25 สำหรับทหาร เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จะต้องใช้เสียงในสภาผู้แทนประชาชน และสภาผู้แทนแห่งชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ของพม่าได้

นอกจากนี้ โควตาในสภาร้อยละ 25 ของทหาร ยังทำให้ทหารพม่าสามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียงสนับสนุน จากสมาชิกสภาที่มาจากพลเรือน ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญพม่า กำหนดให้การเสนอแก้ไขกฎหมายในสภาใช้เสียงอย่างน้อยร้อยละ 20 ในสภาอีกด้วย

ที่มาของข่าว:
แปลและเรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 31 มีนาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปภ.เผยอุทกภัยในภาคใต้ เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 181 รายแล้ว

Posted: 31 Mar 2011 12:25 PM PDT

 

จากกรณีความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแพร่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ลมตะวันออกพัดปกคุมอ่าวไทย และภาคใต้กำลังแรง ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุด (31 มี.ค.54) เวลา 18.00น. เว็บไซต์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สรุปสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ 8 จังหวัด (จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ และจังหวัดพังงา) 87 อําเภอ 568 ตําบล 4,615 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 294,097 ครัวเรือน 998,867 คน

ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 21 ราย (นครศรีธรรมราช 9 ราย, สุราษฎร์ธานี 4 ราย พัทลุง 2 ราย กระบี่ 6 ราย) บาดเจ็บ 181 คน

ส่วนสภาพอากาศนั้น หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนกลาง มีกําลังอ่อนลงอีก แต่ยังคงทําให้ภาคใต้มีฝนชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ได้ จึงขอให้ประชาชนบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ยังคงต้องระวังอันตรายจากสภาวะน้ำป่าไหลหลากต่อไปอีก

ด้านการคมนาคม ทางหลวงแผ่นดิน มีน้ำท่วม 61 สาย 71 แห่ง ผ่านไม่ได้ 27 แห่ง และที่จังหวัดระนอง สะพานคลองบางหิน ตําบลบางหิน อําเภอกะเปอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ขาดนั้น แขวงการทางจังหวัดระนอง ได้ดําเนินการติดตั้งสะพานเหล็กชั่วคราวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เปิดให้รถที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 18 ตัน สัญจรผ่านได้ ส่วนรถบรรทุกขนาดใหญ่ให้ใช้เส้นทางสายเอเชียผ่านทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร ขณะที่สนามบินนครศรีธรรมราชปิดให้บริการ ส่วนสนามบินเกาะสมุยเปิดให้บริการเป็นบางช่วงเวลาตามสภาพอากาศ รถไฟสายใต้ให้บริการได้ถึงสถานีรถไฟท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริษัทขนส่ง (บขส.) ยังให้บริการเป็นปกติ เว้นแต่จังหวัดที่สถานีขนส่งถูกน้ำท่วม จะจัดจุดรับ-ส่ง ณ ที่ที่เหมาะสม ด้านเรือเฟอร์รี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติแล้ว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เขื่อนจีน แผ่นดินไหว และเขื่อนไซยะบุรี: ฤาจะกลายเป็นความวัวกับความควายที่สายเกินแก้?

Posted: 31 Mar 2011 11:48 AM PDT

 

มหันตภัยจากกัมมันตภาพที่รั่วไหลจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้กระแสความตื่นตัว ตระหนก และต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์กำลังแพร่สะพัดไปในหมู่ประชาชนทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

มองย้อนกลับมาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งประกอบด้วยภาคใต้ของจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แม้ความรู้สึกร่วมในความหวาดหวั่นต่อพลังงานนิวเคลียร์ของสังคมโลกจะปรากฎให้เห็น ซึ่งแม้แต่จีนยังสั่งระงับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างในอนาคต จนกว่าจะมั่นใจได้ว่ามาตรการเรื่องความปลอดภัยนั้นดีพอ ทว่าด้วยความกระหายพลังงานเพื่อหล่อเลี้ยงจีดีพีที่ไม่มีวันสิ้นสุด เวียดนามยืนยันเดินหน้าแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนไทย พลังงานนิวเคลียร์กระเด็นออกจากแผนเพื่อรอวันกลับมา เมื่อเสียงประชาชนเริ่มเบาลง อย่างไรก็ดี ปัญหาที่กำลังตั้งเค้าทะมึน และน่าห่วงไม่น้อยกว่ากันในขณะนี้สำหรับภูมิภาคแม่น้ำโขง แต่กลับไม่ได้รับการพูดถึงมากเท่าที่ควร คือผลกระทบของสถานการณ์แผ่นดินไหวต่อเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำอันไพศาลนี้

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นไม่เพียงสร้างคลื่นยักษ์สึนามิ และกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังทำให้เขื่อนฟูจินูม่าในจังหวัดฟูกูชิม่าพังทะลายลง คร่าทั้งชีวิตผู้คนและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นอีก หายนภัยแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น ตามมาติดๆ มาด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพม่าและลาว* ส่งผลให้ข่าวลือเรื่องเขื่อนร้าวในประเทศไทยไม่กี่วันก่อนกลายเป็นข่าวร้อนบนหน้าหนังสือพิมพ์ สร้างกระแสความหวาดหวั่นให้กับจังหวัดและชุมชนท้ายเขื่อน จน กฟผ. ต้องออกมาตอบคำถามรายวันเพื่อสร้างความมั่นใจ

ทว่าสิ่งนี้ไม่มีคำตอบ เนื่องจากยังไม่มีแม้แต่คำถามดังๆ ออกมาสู่สาธารณะ แม้สิ่งนั้นอาจกลายเป็นสถานการณ์ที่ชวนหวาดวิตก หรืออาจถึงขั้นน่าพรั่นพรึงได้เสียยิ่งกว่าสถานการณ์เขื่อนในประเทศไทย นั่นก็คือ คำถามถึงเรื่องผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อเขื่อนที่สร้างแล้วบนแม่น้ำโขงตอนบน และที่กำลังจะสร้างทับอยู่บนรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่อีกหลายเขื่อน

บนสายน้ำโขงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ขณะนี้มีเขื่อนที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วสามแห่ง คือเขื่อนม่านวาน (1,500 เมกะวัตต์) ต้าเฉาซาน (1,350 เมกะวัตต์) และจิ่งฮง (1,500 เมกะวัตต์) และเขื่อนที่สี่คือเขื่อนเสี่ยววาน (4,200 เมกะวัตต์) ซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เขื่อนทั้งสี่แห่งนี้ (จากแผนการสร้างทั้งหมดแปดถึงสิบห้าแห่ง) มีปริมาณความจุอ่างเก็บน้ำรวมกันแล้วถึง 17,603 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นกลุ่มเขื่อนที่ล้วนแต่กระจุกตัวอยู่ในจุดที่ไม่ห่างจากจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในประเทศพม่าและลาว ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ที่ประเทศพม่า ในวันพฤหัสที่ 24 มีนาคม ซึ่งทำความเสียหายอย่างมหาศาลต่อพม่า และทำให้ยอดพระธาตุเจดีย์หลวงในอำเภอเชียงแสน ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวในระยะทาง 280 กิโลเมตรถึงกับหักโค่นลงมา อีกทั้งสร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ ของไทยนั้น แท้ที่จริงแล้ว จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว อยู่ใกล้กับเมืองจิ่งฮง มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนจิ่งฮงมากกว่าระยะทางถึงอำเภอเชียงแสนเสียอีก คือเป็นระยะทางเพียง 168 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนในวันที่ 26 มีนาคม ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ริกเตอร์ทางภาคเหนือของประเทศลาวก็อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกระบุว่าอยู่ห่างจากจังหวัดจิ่งฮงไปเพียง 153 กิโลเมตรเท่านั้น

ในขณะที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้สร้างความหวาดวิตกให้หลายฝ่ายที่ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของเขื่อนจีนบนแม่น้ำโขงและเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่จนกระทั่งบัดนี้ ไม่ปรากฎว่ามีองค์กรภาครัฐใดๆ ของไทยออกมาแสดงความเห็นที่ชัดเจนในประเด็นนี้ ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่า หากมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับเขื่อนจีน ด่านแรกที่จะเป็นผู้รับเคราะห์ ย่อมจะเป็นชุมชนท้ายน้ำโดยเฉพาะชุมชนริมน้ำโขงในภาคเหนือของลาวและไทย นับตั้งแต่ที่อำเภอเชียงแสนเป็นต้นมา และหากอุบัติภัยใดๆ ทำให้โครงสร้างเขื่อนเกิดชำรุดเสียหายขั้นรุนแรง ความหายนะนั้นจะยิ่งใหญ่เป็นร้อยพันเท่า เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นในปี พ.ศ. 2538 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบยี่สิบปีในพื้นที่อำเภอเชียงแสนและเชียงของเกิดในจังหวะเวลาที่สอดคล้องกับการเปิดเขื่อนจิ่งฮงเพื่อระบายน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเมื่อปีที่แล้ว (2553) เหตุการณ์น้ำแห้งเป็นประวัติการณ์ที่เชียงแสนและเชียงของ ก็พอดิบพอดีกับที่เขื่อนเสี่ยววานเริ่มกักเก็บน้ำอีกเช่นกัน

นอกจากที่ประชาชนของประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างจะไม่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานะความเสี่ยงของเขื่อนแล้ว ข่าวที่ออกมาในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา กลับการที่จีนอนุมัติอย่างเป็นทางการให้สร้างเขื่อนนัวจาตู้ เป็นเขื่อนที่ห้าบนแม่น้ำโขง เขื่อนนี้มีความสูง 216.5 เมตร หรือเท่ากับความสูงของสำนักงานใหญ่ 42 ชั้นของธนาคารกสิกรไทยบวกอีก 9 เมตร มีอ่างเก็บน้ำขนาด 22,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ นักวิชาการวิเคราะห์กันว่า เมื่อเขื่อนเสี่ยววานและนั่วจาตู้ ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่ยักษ์ลำดับต้นๆ ของโลกสร้างเสร็จ การไหลของแม่น้ำโขง จะกลายเป็น "ลูกไก่ในกำมือ" ของจีนอย่างแน่นอน และนั่นย่อมหมายความว่า หากเกิดปัญหากับเขื่อนเหล่านี้ ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลที่กักเก็บอยู่ในเขื่อนบนลำน้ำโขงตอนบนของจีน อาจกลายเป็นหายนะที่อยู่นอกเหนือจินตนาการของประชาชนริมน้ำโขงโดยสิ้นเชิง

ในขณะนี้ที่ข้อเท็จจริงหลายประการและข้อมูลสำคัญของเขื่อนจีนยังไม่เป็นที่เปิดเผย เขื่อนทั้งหลายเหล่านั้นจึงไม่อาจหลุดจากฐานะจำเลยในข้อหาว่าเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงอย่างผิดธรรมชาติของสายน้ำโขง และ จากกรณีอ่อนไหวของแผ่นดินไหวที่กำลังรุมเร้า เขื่อนจีนจึงถูกเพ่งเล็งและจะสร้างความหนักใจให้ประชาชนท้ายน้ำมากยิ่งไปกว่าเก่า อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ “ความวัว” จากเขื่อนจีนยังไม่ทันหาย ‘ความควาย’ ในกรณีการเสนอสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของลาวโดยรัฐบาลลาว ซึ่งอยู่ห่างไปทางตอนเหนือของจังหวัดเลยไปเพียง 200 กิโลเมตรก็กำลังเข้ามาซ้ำเติมความเดือดเนื้อร้อนใจของชุมชนริมน้ำโขงอย่างรุนแรง

ช.การช่าง บริษัทของไทยซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้ประกาศก้องว่า ภาคเอกชนที่จะร่วมลงขันเพื่อค้ากำไรจากเขื่อนนี้ ได้แก่ บริษัทลูกของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) บริษัททางด่วนกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ บริษัทและธนาคารทั้งหลายดังกล่าว ล้วนกำลังมีโครงการเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางสังคม (ซีเอสอาร์) ที่โฆษณากันอย่างครึกโครมอยู่ตามหน้าสื่อต่างๆ กำลังจับมือกันเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ถูกชี้ชัดไว้ในรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่เสนอออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ว่าเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง หมายรวมถึงเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกำลังถูกเสนอให้เป็นเขื่อนตัวแรกในแม่น้ำโขงสายประธานในทางตอนล่าง จะทำให้ระบบนิเวศพังพินาศ และทำให้ความยากจนในภูมิภาคสาหัสสากรรจ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ผลกระทบของเขื่อนบนแม่น้ำโขงและความไม่ชอบมาพากลของเขื่อนไซยะบุรีถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นข่าวในประเทศแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในเวียดนามและไทยที่มีการถกกันอย่างเผ็ดร้อน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์แบบความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกนี้ ยังเป็นที่สงสัยว่าประชาชนไทยริมน้ำโขง จะฝากความหวังไว้กับนายกรัฐมนตรีของไทยได้หรือไม่ ในเมื่อนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีท่าทีราวกับเพิ่งเคยได้ยินชื่อเขื่อนไซยะบุรีเป็นครั้งแรก เมื่อถูกนักข่าวชาวต่างชาติถามถึงเจตนารมณ์ของไทยในการสร้าง และซื้อไฟจากเขื่อนนี้ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้แต่อ้ำอึ้ง ตอบคำถามแบบถูสีข้าง เลาะเลี้ยวไปพูดถึงเขื่อนบ้านกุ่มแทน โดยเขื่อนบ้านกุ่มนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และพรรคประชาธิปัตย์เคยยกประเด็นดังกล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายสมัคร คำตอบเรื่องเขื่อนบ้านกุ่มต่อคำถามเรื่องเขื่อนไซยะบุรีจึงยังความงงงวยแก่นักข่าวต่างประเทศที่ช่วยกันเอ่ยย้ำชื่อเขื่อนไซยะบุรีถึงสามครั้ง

ฐานะของเขื่อนไซยะบุรีนั้นไม่ใช่เพียงเขื่อนในลาวหรือเขื่อนของลาว แต่เป็นเขื่อนที่จะชี้ชะตาแม่น้ำโขงตอนล่างตลอดสาย การตัดสินใจเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรีจึงเป็นตัวชี้วัดจิตสำนึกของผู้ประกาศตัวเป็นผู้ซื้อไฟรายใหญ่ที่สุด คือประเทศไทยด้วย ในฐานะประธาน กพช. ที่ตัดสินใจอนุมัติการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี นายกรัฐมนตรีของไทยจึงไม่สามารถจะกลับไปทำตัวประหนึ่งฝ่ายค้านได้อีกต่อไป แต่ควรจะต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในขณะที่ภาวการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในนาทีนี้ ซึ่งกำลังเป็นอย่างที่หลายคนให้ข้อสรุปว่าเป็นช่วง “ธรรมชาติเอาคืน” และสิ่งนี้กำลังเริ่มทำให้มนุษย์ตระหนักว่า หายนภัยทางธรรมชาติอาจเกิดได้อย่างเกินคาดเดา สมควรแล้วหรือ ที่รัฐบาลในภูมิภาคแม่น้ำโขงยังคงผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเขื่อนขนาดมหึมาที่ขวางลำน้ำนั้นมีความสามารถในการทำลายล้างอย่างมหาศาล เขื่อนไซยะบุรีจะนำความย่อยยับมาสู่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นทั้งหัวใจ และสายเลือดของภูมิภาคในการคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อมที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์

และท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีไทยอาจจะต้องเริ่มทำความเข้าใจอย่างจริงจังว่า การเป็นผู้นำของประเทศในยามหน้าสิ่วหน้าขวานนั้นไม่ใช่เพียงการสาละวนแสดงความเสียใจกับวิกฤติที่เกิดขึ้นแล้ว หรือตามแก้ในอุบัติภัยเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องมีวิสัยทัศน์ยาวไกลพอที่จะมองเห็นว่าปัญหาใดอาจจะเกิดขึ้นได้ และดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อป้องกัน

บทเรียนที่สำคัญจากนิวเคลียร์ คือ ผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีนั้นไม่สามารถกักกันให้อยู่ในเขตแดนของจังหวัดพรมแดนประเทศ หรือแม้แต่ภายใต้น้ำมือมนุษย์ผู้ชาญฉลาด ข่าวร้ายก็คือ มิได้มีแต่เพียงนิวเคลียร์เท่านั้นสามารถสร้างหายนะอย่างกว้างไกล ไร้เขตแดน แต่ยังมีผลกระทบจากโครงการทำลายล้างอีกหลายอย่างในนามของการ ‘พัฒนา’ โดยเฉพาะจากสิ่งที่ใกล้ตัวและเฉพาะหน้ากว่าเฉกเช่น ผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำนานาชาติเช่นแม่น้ำโขง

 

 

เชิงอรรถ
* 23 กุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.6 ริคเตอร์ที่แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว แรงสั่นสะเทือนทำให้สิ่งก่อสร้างใน 7 จังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานเกิดรอยร้าว ความเสียหาย และความสั่นสะเทือนถึงขนาดต้องลงมาจากอาคาร ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม แผ่นดินไหวขนาด 5.8 ริคเตอร์ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีผู้เสียชีวิต 26 คน บาดเจ็บ 313 คน ในจำนวนนั้น 113 คนบาดเจ็บสาหัส บ้านพังเสียหาย 1200 หลัง, ในวันที่ 24 มีนาคม เกิดแผ่นดินไหวที่พม่าขนาด 6.8 ริคเตอร์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 150 คนและประชาชนได้รับผลกระทบเกินหมื่นคน ในวันเดียวกันที่ประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวอีก 3 จากรอยเลื่อนแม่จัน กำลังขนาดไม่เกิน 4 ริคเตอร์ ซึ่งตอนแรกถูกเสนอข่าวว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อคจากแผ่นดินไหวที่พม่า ล่าสุด ในวันที่ 26 มีนาคม เกิดแผ่นดินไหวที่ลาว กำลังขนาด 4.8 ริคเตอร์ เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: แผนพัฒนาปักษ์ใต้ภาคประชาชน ภารกิจชิ้นใหญ่ของเครือข่ายคนใต้

Posted: 31 Mar 2011 10:16 AM PDT

หลากทัศนะถึงแผนพัฒนาปักษ์ใต้ภาคประชาชน ภารกิจชิ้นใหญ่ของเครือข่ายคนใต้ กับอภิมหาโปรเจ็กต์ที่ต้องเผชิญ

ถึงขณะนี้ “แผนพัฒนาภาคใต้” กลายเป็นคำฮิตติดตลาดในหมู่นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวในภาคใต้

ด้วยเพราะแต่ละโครงการภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ ล้วนแล้วแต่เป็น “อภิมหาโปรเจ็กต์” ที่พร้อมจะก่อผลกระทบต่อผู้คนในภาคใต้ในระดับพลิกเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา

หลากหลายเวที หลากหลายวงสนทนา ในหลายๆ วาระ จึงมีหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ติดอยู่ในวาระของการพูดคุย พร้อมๆ กับพูดถึง “แผนพัฒนาภาคประชาชน”

 

กิตติภพ สุทธิสว่าง
กิตติภพ สุทธิสว่าง

นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้แทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น วิเคราะห์ถึงปัญหาการขับเคลื่อนของเครือข่ายประชาชนภาคใต้เกี่ยวกับแผนพัฒนาว่า มาจากความไม่มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เห็นว่าบ้านของตัวเองด้อยพัฒนา จำเป็นต้องดึงโครงการของรัฐเข้ามาในจังหวัดของตน

“อีกอย่างหนึ่งที่ชี้ถึงชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของอำนาจและทุนนิยม คือการมองปัญหาเชิงเดี่ยวชาวบ้านไม่สามารถเชื่อมโยงภาพใหญ่ได้ ตรงนี้กลายเป็นจุดอ่อนทำให้มวลชนทะเลาะกันเอง เรื่องเอาไม่เอาโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ นับเป็นชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากความร่วมมือระหว่างอำนาจกับทุน” นายกิตติภพ กล่าว

 

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

ภายใต้สภาพดังกล่าว จึงไม่แปลกที่นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเป็นอีกผู้หนึ่งที่พยายามกระตุ้นให้คนภาคใต้ ซึ่งกำลังเผชิญกับอภิมหาโปรเจ็กต์เกือบทุกจังหวัด ลุกขึ้นมาทำแผนพัฒนาของตัวเอง ถึงขั้นบรรจุให้การสนับสนุนประชาชนจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ฉบับภาคประชาชน ไว้ในแผนปฏิบัติงานหลักของคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน

พร้อมกับกำหนดให้ภารกิจการลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เป็นภารกิจหลักของอนุกรรมการสิทธิชุมชนด้วย โดยจะเชิญหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มาเปิดเผยรายละเอียดข้อเท็จจริงของแต่ละโครงการ เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสรับข้อมูลแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของภาครัฐ

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีโครงการอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผมอยากให้มีตัวแทนภาคประชาชนในแต่ละจังหวัดเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เบื้องต้น หากมีการละเมิดสิทธิประชาชน หรือประชาชนถูกคุกคาม สามารถติดต่อโดยตรงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทันที ขณะเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็สามารถแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ลงปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ด้วย เวลามีเรื่องเร่งด่วนเกิดขึ้นมา จะได้สามารถลงสู่พื้นที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว

 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี

ตามด้วยเสียงตอกย้ำจากนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี อนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่บอกว่า โจทย์ที่จะระดมความคิดร่วมกันคือ จะยกระดับการต่อสู้ของเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ จนนำมาสู่การร่างแผนพัฒนาภาคใต้ฉบับประชาชนได้อย่างไร ทำอย่างไรที่จะทำให้ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน มีกลไกในการประสานเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ในแต่ละจังหวัด

 

สมบูรณ์ คำแหง
สมบูรณ์ คำแหง

อันไม่แตกต่างจากข้อเสนอของนายสมบูรณ์ คำแหง จากเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ที่กล่าวว่า แต่ละพื้นที่จะต้องมีกระบวนการการให้ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมกับยกกรณีตัวอย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ในสถานการณ์คับขัน จำเป็นต้องตรึงพื้นที่ พร้อมกับดึงประชาชนจากส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เพราะส่อเค้าว่าน่าจะเป็นการต่อสู้ระยะยาว

“เราจะยกระดับให้แต่ละพื้นที่ สามารถมองปัญหาเชื่อมโยงเป็นองค์รวมได้อย่างไร เราควรจะจัดให้มีการพบปะกันภายในพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาของภาครัฐ เพื่อนำมาสู่การเคลื่อนไหวร่วมกัน พัฒนาขึ้นเป็นเครือข่ายประสานงานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละพื้นที่ให้ชัดเขจนยิ่งขึ้น ประเด็นสำคัญก็คือ เราควรจัดทำข้อมูลของแต่ละพื้นที่ โดยดึงอาจารย์และนักวิชาการในพื้นที่ เข้ามาช่วยศึกษาและรวบรวมข้อมูล” นายสมบูรณ์ กล่าว

สำหรับแผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชนของจังหวัดสตูล นายสมบูรณ์ระบุว่า จะยึดเศรษฐกิจ 3 ขา คือ การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการประมงพื้นบ้าน แม้แผนพัฒนาภาคใต้ของประชาชนจะยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่มีแนวโน้มจะเป็นไปตามวิถีชีวิตคนภาคใต้ นั่นคือภาคการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และประมงพื้นบ้าน

 

วันชัย พุทธทอง
วันชัย พุทธทอง

ส่งผลให้ข้อเสนอจากนายวันชัย พุทธทอง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ มุ่งตรงไปที่การจัดระบบการติดต่อประสานงานของเครือข่ายภาคประชาชนที่ควรจะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อให้แกนหลักคือเครือข่ายประชาชนจังหวัดสตูล, สงขลา และนครศรีธรรมราช ได้เชื่อมต่อกับสุราษฎร์ธานี อาทิ เครือข่ายคัดค้านโครงการผันน้ำตาปี–พุมดวง, เครือข่ายสมุย–พะงันที่ออกมาต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย เหมือนกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดชุมพรบ่อยครั้ง

“แผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชน เป็นโจทย์ที่แต่ละพื้นที่จะต้องร่างขึ้นมา จากความต้องการของตัวเอง โดยความช่วยเหลือของนักวิชาการในพื้นที่ และภาคีเครือข่าย แล้วนำมาถกกันระหว่างเครือข่ายจังหวัดต่างๆ เพื่อนำเนื้อหามาเรียบเรียงต่อเชื่อมกันให้เป็นภาพรวมของแผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรม”

เป็นข้อสรุปในการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชน จากของนายวันชัย พุทธทอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกฟ้องคดี 3 ส.ว.ฟ้องสื่อ ฐานหมิ่นประมาท

Posted: 31 Mar 2011 09:37 AM PDT

ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดี 3 ส.ว. ฟ้องสื่อมวลชนหลายแห่ง ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ระบุโจทก์เบิกความยอมรับเองว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ จำเลยจึงมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของโจทก์ทั้งสามได้

วันนี้ (31 มี.ค. 2554) เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา บัลลังก์ 901 ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล และ พลตำรวจตรีเกริก กัลยาณมิตร และพลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ 1, บริษัท วัชรพล จำกัด ที่ 2,นายสุนทร ทาซ้าย บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ และสื่อมวลชนอื่นๆ รวม 8 คน เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 จำเลยที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 8 ได้นำเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์

โดยเฉพาะเว็บไซต์ไทยรัฐ พาดหัวข่าว “เรืองไกร เล่นแรง ยื่น ป.ป.ช.-กกต. สอย ก๊วนรสนา” และรายงานข่าวต่อไปว่า กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญ....นายเรืองไกร จึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการกระทำของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และ ส.ว.คนซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย มีการกระทำใดๆ ไม่ว่าทางตรง หรือ ทางอ้อมอันเป็นการขัดขวาง หรือ แทรกแซงการเสนอข่าว หรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 วรรคหนึ่งหรือวรรคสองหรือไม่ และถือเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 วรรคสามหรือไม่...ทำให้เข้าใจว่าได้ใช้สถานะ หรือ ตำแหน่งการเป็น ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ... อันเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสามต่อบุคคลที่สามและสาธารณชนโดยทั่วไป โดยประการที่ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือ ถูกเกลียดชัง

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 ถึงกรณีที่ตนยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.และ กกต. ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทั้งสามว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งคำว่า “หรือไม่” นั้น เป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงความสงสัยและไม่ยืนยันว่าโจทก์ทั้งสามกระทำผิดจริงหรือไม่ อีกทั้งปรากฏจากคำถามค้านของทนายจำเลยและโจทก์เองก็ได้เบิกความยอมรับว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของโจทก์ทั้งสามได้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาไม่สุจริตและหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสาม นอกจากนี้ ปรากฏจากคำถามค้านของทนายจำเลยถึงคำว่า “ก๊วน” ที่โจทก์อ้างในฟ้องหมายความว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ดี โจทก์เองก็มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าไม่ดีอย่างไร ทั้งโจทก์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านก็ไม่ทราบว่า คำว่า “ก๊วน” ไม่มีบัญญัติไว้ในพจนานุกรม แสดงว่าที่โจทก์อ้างว่าคำว่า “ก๊วน” ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายนั้นเป็นความเข้าใจของโจทก์เอง และโจทก์ก็ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของเว็บไซต์ไทยรัฐหรือไม่ คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลพอที่ศาลจะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง

เรียบเรียงจาก ไทยรัฐออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จิตรา คชเดช เทพธิดาแรงงาน และขบวนการแรงงานไทย

Posted: 31 Mar 2011 09:28 AM PDT

ไม่นานมานี้ “ดีแต่พูด” “มือเปื้อนเลือด” ได้กลายเป็นวาทกรรมที่ทิ่มแทงหัวใจและเปลือยตัวตนของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อย่างตรงเป้า โดยความกล้าหาญของผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

ไม่นานมานี้เช่นกัน ผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่ง ได้แถลงวิพากษ์วิจารณ์การเตรียมจัดงานวันที่ 1 พฤษภาคม “วันกรรมกรสากล” (ที่ถูกรัฐไทยและผู้นำแรงงานอนุรักษ์นิยมรับใช้รัฐได้บิดเบือนให้กลายเป็นวันแรงงานแห่งชาติ) ของกระทรวงแรงงานฯ ที่ต้องการให้มีการจัดประกวดเทพธิดาแรงงาน โดยมีผู้นำแรงงานบางส่วนขานรับรับใช้รัฐ

ปรากฏการณ์ทั้งสอง เป็นสิ่งที่นำมาสู่การทบทวนขบคิดถึงแนวทางการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานไทยปัจจุบัน และความหมาย “ขบวนการแรงงานไทย” ซึ่งมักเป็นขบวนการของ “ผู้นำ” มากกว่า “ผู้ใช้แรงงาน” โดยรวม หรือจัดองค์กรที่สถาปนาตนเองเป็นผู้นำโดยสมาชิกจำนวนไม่มาก ไม่มีส่วนร่วม หรือแม้มีจำนวนสมาชิกจำนวนมากแต่เป็นการจัดตั้งองค์กรแบบราชการ เพื่อต้องการเข้าเป็น “คณะกรรมการไตรภาคี”

อย่างไรก็ตาม ขบวนการแรงงานไทยนั้น เป็นขบวนการที่ไม่เป็นเอกภาพ มีทิศทางแนวทางหลัก อย่างน้อย 4 ประการ คือ

หนึ่ง เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในระดับโรงงานหรือบริษัทที่ตนเองทำการผลิตอยู่ มักเป็นเรื่องสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่สนใจด้านนโยบายของรัฐ และด้านการเมืองแต่อย่างใดหรือเน้นลัทธิเศรษฐกิจหรือลัทธิสหภาพเท่านั้น

สอง เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนทั้งปัญหาระดับโรงงาน และขับเคลื่อนด้านนโยบาย เช่น พรบ.คุ้มครองความปลอดภัยในสถานประกอบการ การผลักดันให้รัฐบาลลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ILO ฯลฯ และยังเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติในฐานะขบวนการอนุรักษนิยมขบวนการหนึ่งที่สนับสนุนการรัฐประหาร และ/หรือนิยมระบอบอำมาตยาธิปไตย มีผู้นำสำคัญ เช่น สมศักดิ์ โกสัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (เป็นกรรมการพรรคการเมืองใหม่ด้วย) ตลอดทั้งบางส่วนมีแหล่งทุนสนับสนุนที่สำคัญคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษนิยมของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่มีกลุ่มอำมาตย์หมอครอบงำอยู่

สาม เป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนทั้งปัญหาระดับโรงงาน ระดับนโยบายเหมือนกัน แต่กลับเป็นขบวนการประชาธิปไตย สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำนาจนอกระบบของอำมาตยาธิปไตย เช่น กรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มอดีตสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ หรือกลุ่มนี้เป็น “กรรมกรเสื้อแดง”

สี่ ขบวนการแรงงานที่ขับเคลื่อนเสมือนเป็นตัวแทนของรัฐ แม้จะอ้างชื่อเป็นขบวนการแรงงานก็ตาม และพร้อมจะรับใช้ทุกรัฐบาล ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนขึ้นมามีอำนาจ หรือมาจากรัฐประหารก็ตาม เช่น กลุ่มที่เห็นด้วยกับการจัดงานประกวดเทพธิดาแรงงาน ทั้งๆ ที่เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง มองผู้หญิงเป็นเพียงสินค้าประกวดนิยามความงามของคณะกรรมการประกวดเท่านั้นเอง มากกว่าเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานจำนวนมากและสำคัญต่อการสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนอาจจะคัดค้านการประกวดเทพธิดาแรงงาน เช่น สุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฯลฯ แต่มิได้หมายความว่า จักสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่กลับสนับสนุนรัฐประหารที่ผ่านมา และหลายคนกลับรับไม่ได้กับการที่ จิตรา คชเดช ถือป้ายประท้วง “ดีแต่พูด” “มือเปื้อนเลือด” เพราะทำให้เจ้าภาพจัดงานเชิญนายกรัฐมนตรีเสียหน้าไปด้วย ทั้งๆ ที่ “อุดมการณ์ความเสมอภาพหญิงชาย” ควรควบคู่กับ “อุดมการหลักประชาธิปไตย” แต่กลับตาลบัตร

ดังนั้นขบวนการแรงงานไทย จึงไม่มีอุดมการณ์และการขับเคลื่อนที่เป็นเอกภาพ เป็นคำถามที่มวลคนงานพื้นฐาน ที่มิใช่ ผู้สถาปนาตนเองเป็นผู้นำ ควรตรวจสอบอย่างยิ่ง และแน่นอนว่าผู้เขียนสนับสนุน “กรรมกรคนเสื้อแดง” เนื่องเพราะเสรีภาพและประชาธิปไตยสำคัญยิ่งต่อขบวนการแรงาน เหมือนเช่นบทเรียนในยุคอำมาตย์และทหารครองเมือง ที่ จิตรา คชเดช เคยปาฐกถาเรื่อง “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” ไว้ว่า

“...ในปี 2550 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่คนงานไทรอัมพ์กำลังจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อปากท้องของตัวเอง พวกเราไม่สามารถจัดให้มีการประชุมสมาชิกได้ พวกเรามีทหารมาแจ้งว่าไม่ให้จัดการประชุม และเราก็มีทหารมาตั้งเต๊นที่หน้าโรงงานเพื่อตรวจบัตรคนงานที่ทำโอทีและถามว่าพวกเราจะไปไหนกัน…”

ขบวนการกรรมกรคนเสื้อสีแดง จงเจริญ /////

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มิจฉาคติในการปรับปรุงตลาดชาวเขาดอยมูเซอ

Posted: 31 Mar 2011 08:16 AM PDT

ตลอดการประชุมร่วมกันทั้ง 3 ครั้ง ระหว่างนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กับแกนนำและชาวเขาผู้ประกอบการค้าในตลาดชาวเขาดอยมูเซอ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการปรับปรุงตลาดฯ นั้น ทางผู้ว่าฯ ได้แสดงจุดยืนอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

ประการแรก เหตุผลในการดำเนินงานปรับปรุงตลาดฯ ของทางจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบของตลาด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมุ่งไปที่การตอบสนองนักท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเข้าใจว่าการก่อสร้างอาคารใหญ่โตสวยงามตามที่ทางจังหวัดออกแบบมานั้น จะตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว

ประการที่สอง ทางจังหวัดตั้งเป้าไว้แล้วว่าอย่างจะต้องดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ให้ได้ เนื่องจากงบประมาณตกมาแล้ว การไม่ดำเนินการตามโครงการฯ ที่กำหนดไว้ เป็นความเสียหายแก่ทางจังหวัด รวมทั้งการขัดขวางคัดค้านก็จะทำให้จังหวัดอับอายไปทั้งประเทศ ทั้งนี้ได้กล่าวว่าการดำเนินการดังกล่าวได้จัดทำประชาคมมาแล้ว 4 ครั้ง

ประการที่สาม การกำหนดกลุ่มผู้ค้าให้เข้าไปดำเนินการค้าขายในพื้นที่ใหม่ที่จะปรับปรุงนั้น ทางจังหวัดได้กำหนดให้เป็นผู้ค้ารายเก่า เฉพาะที่มีรายชื่อจากการสำรวจของทางจังหวัดเท่านั้น มิได้สนใจผู้ค้ารายใหม่ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีความเดือดร้อนในการทำมาหากิน ซึ่งการค้าขายในตลาดเกือบจะเป็นเพียงช่องทางเดียวที่ชาวบ้านสามารถมีอาชีพและรายได้เลี้ยงครอบครัว

ประการที่สี่ การรวมตัวคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ต่อโครงการปรับปรุงตลาดฯ ของทางจังหวัด เกิดจากการยุยงของแกนนำซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องในตลาด มีพฤติกรรมที่เคลือบแคลงน่าสงสัยในการกระทำดังกล่าว

ประการที่ห้า ตัดตอนการแก้ปัญหาตลาดฯ เฉพาะช่วงปัจจุบัน ไม่สนใจพัฒนาการ ความเป็นมาและบทบาทของตลาดที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอ

จากการติดตามความเคลื่อนไหวการดำเนินงานมาระยะหนึ่ง มีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการประชุมทั้ง 3 ครั้ง ได้พูดคุยกับทั้งแกนนำและชาวบ้านที่ทำมาค้าขายในตลาด พบว่าทัศนะและความเห็นของชาวบ้านไม่สอดคล้องต้องกันกับทางจังหวัด ดังนี้

ประการแรก จริงอยู่ว่าตลาดชาวเขาดอยมูเซอ ที่จะดำเนินการปรับปรุงนั้น ในปัจจุบันมีสภาพที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยและกีดขวางการจราจร การเข้าจอดรถของนักท่องเที่ยวค่อนข้างลำบาก เนื่องจากถูกปิดบังไปด้วยแผงขายสินค้าของชาวบ้าน ชาวบ้านเล่าว่า ที่ชาวบ้านต้องออกมาตั้งแผงข้างถนนกีดขวางการจราจรนั้นเป็นเพราะพวกเขาถูกผู้ค้าขายชาวพื้นราบที่ขึ้นมาตั้งแผงขายสินค้าบังหน้า กีดขวางมิให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปซื้อสินค้าในอาคารที่พวกเขาตั้งแผงอยู่ พวกเขาจึงจำเป็นต้องย้ายแผงขายสินค้าออกมาทางด้านนอก

ส่วนประเด็นการก่อสร้างอาคารถาวรใหญ่โตของทางจังหวัดซึ่งใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 7 ล้านนั้น ชาวบ้านสะท้อนว่า อาคารในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า ประสบการณ์การค้าขายของพวกเขากว่า 10 ปี ชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวนิยมเดินจับจ่ายสินค้าในลักษณะแผงลอยมากกว่า สีสันที่หลากหลายของร่ม การแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า การพูดจาด้วยสำเนียงชนเผ่า สินค้าเป็นพืชผักที่ปลูกในพื้นที่ซึ่งสะอาดและปลอดภัย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต่างหากเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว พวกเขายังได้ยกตัวอย่างอาคารต่างๆ ที่ทางราชการสร้างไว้แล้วในที่สุดก็ไม่ได้ใช้สอย ถูกปล่อยทิ้งร้าง ทำให้สูญเสียงบประมาณของแผ่นดินเป็นจำนวนมาก เช่น การสร้างอาคารที่ตลาดชาวเขาดอยมูเซอแห่งใหม่ ตลาดชาวเขาซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้บริเวณทางเข้าศูนย์พัฒนาสังคมที่ 16 จ.ตาก จุดชมทิวทัศน์ บริเวณ ก.ม.32 บนเส้นทางตาก-แม่สอด ตลาดลอยฟ้าที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นต้น

ประการที่สอง จากที่ทางจังหวัดกล่าวว่าการดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงตลาดฯ นั้น ได้มีการประชุมและทำประชาคมมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งก็ผ่านการเห็นชอบ สำหรับในประเด็นนี้ชาวบ้านกล่าวว่า ชาวบ้านได้เข้าร่วมประชุมประชาคมเพียงครั้งเดียว คือที่ศูนย์พัฒนาสังคมที่ 16 จ.ตาก ที่ผู้ว่าฯ ขึ้นมาพบปะพูดคุยด้วย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ก็มิได้มีข้อสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วย ชาวบ้านเกือบทั้งหมดแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยหลายประการ เช่น รูปแบบอาคาร ขนาดและจำนวนแผงจำหน่ายสินค้าฯ รวมทั้งจำนวนและรายชื่อผู้ค้าที่ทางจังหวัดสำรวจมาก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง ฯลฯ

สำหรับในการจัดประชุมอีก 3 ครั้งที่ทางจังหวัดกล่าวอ้างนั้น ตัวแทนผู้ค้าขายที่ไปร่วมประชุมนั้น เป็นกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับโครงการปรับปรุงตลาดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นราบที่ขึ้นมาค้าขาย รวมทั้งชาวม้งบางส่วนที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นหากมีการดำเนินการ ชาวบ้านตัวจริงเสียงจริงในพื้นที่ที่ทำการค้าขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม

ชาวบ้านได้พยายามท้วงติงมาตลอดทั้งการส่งหนังสือชี้แจงไปยังบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเข้าชี้แจงในที่ประชุม แต่ข้อเสนอของชาวบ้านก็มิได้รับความใส่ใจจากทางจังหวัด

ประการที่สาม ทางจังหวัดสนใจเพียงการแก้ปัญหาให้กับผู้ค้าขายรายเดิมที่ทางจังหวัดสำรวจรายชื่อไว้ ในประเด็นนี้ชาวบ้านมีความคิดเห็นว่า ปัจจุบันชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก ครอบครัวหนึ่งมีลูกหลานแยกครอบครัวออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประกอบอาชีพปลูกพืชผักแล้วนำมาขายที่ตลาด นอกจากนั้นยังมีชาวเขาที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาเป็นลูกจ้างของหน่วยงานราชการในพื้นที่ แต่ก็ถูกเลิกจ้างแล้วไม่มีอาชีพรองรับ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อยซึ่งเคยเป็นลูกจ้างหน่วยงานก็ถูกเลิกจ้าง ชาวเขาเหล่านี้ล้วนเป็นเครือญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น เป็นชาวบ้านในพื้นที่ดอยมูเซอ แม้จะเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ค้าขายเดิมจะได้รับสิทธิ แต่ชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังเดือดร้อนอยู่ ตลาดจะเป็นที่พึ่งที่จะเป็นช่องทางทำมาหากินต่อไป จึงเห็นว่าต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับผู้ค้าขายรายเดิมอย่างเดียว ซึ่งชาวบ้านมีความเห็นแย้งกับทางจังหวัดที่มุ่งจะใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาทแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าเพียง 200 กว่ารายที่มีการสำรวจรายชื่อไว้ โดยไม่สนใจแก้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่

ประการที่สี่ การกล่าวหาแกนนำของทางจังหวัดว่าได้ทำการยุยง โดยแกนนำไม่มีความเกี่ยวข้องในตลาด มีพฤติกรรมที่เคลือบแคลงน่าสงสัย ซึ่งชาวบ้านสะท้อนประเด็นนี้ว่า พวกเขาจำเป็นต้องมีแกนนำเป็นตัวแทนในการเจรจาเรียกร้องกับทางราชการ เนื่องจากพวกเขาเรียนมาน้อย ไม่รู้จัดวิธีการเจรจาต่อรองกับทางราชการ แกนนำที่ออกมาช่วยเหลือพวกเขาล้วนเป็นเครือญาติพี่น้องพวกเขาทั้งสิ้น บุคคลเหล่านี้มีประสบการณ์เพียงพอที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ และที่สำคัญเป็นบุคคลที่พวกเขาเชื่อมั่น ให้ความศรัทธาและไว้วางใจ เป็นที่พึ่งสำหรับชาวบ้านได้ และยืนยันว่าแกนนำเหล่านี้ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากชาวบ้านนอกจากปัญหาของชาวบ้านจะได้รับการบรรเทาจัดการแก้ไข

หากทางจังหวัดพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน จะพบว่าการกล่าวหานั้นเกินเลยไปมาก โดยเฉพาะนายจักรพงษ์ มงคลคีรี ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับทางจังหวัดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นแกนนำชาวบ้านในการดูแลรักษาป่าจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศที่มอบให้กับชุมชนที่มีผลงานการดูแลรักษาป่าเป็นที่ประจักษ์ และยังถูกใช้เป็นพื้นที่นำร่องการจัดทำโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ หรือการได้รับเลือกเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการน้ำของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) รวมทั้ง “กาแฟมูเซอ” ซึ่งเป็นแบรนด์กาแฟสดจากดอยมูเซอของสหกรณ์การเกษตรบ้านห้วยปลาหลดจำกัด ที่จักรพงษ์ เป็นแกนนำซึ่งเป็นที่รู้จักในวงที่กว้างขวางมากขึ้น

ประการสุดท้าย การตัดตอนการแก้ปัญหาตลาดฯ เฉพาะช่วงปัจจุบัน ไม่สนใจพัฒนาการ ความเป็นมาและบทบาทของตลาดที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวเขาในพื้นที่

ชาวบ้านสะท้อนประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่ทำกินมีเท่าเดิม และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช การบุกรุกป่าเพื่อทำไร่แบบในอดีตไม่สามารถทำได้ การออกไปทำงานนอกพื้นที่ก็ไม่มีความมั่นคง เนื่องจากเรียนไม่สูงและไม่สามารถแข่งขันกับคนเมืองได้ คนที่ออกไปทำงานข้างนอกส่วนใหญ่จึงต้องกลับมาอยู่บ้าน ชาวบ้านในปัจจุบันจำนวนมากที่ปลูกพืชผักแล้วนำมาขายที่ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ บ้างก็นำมาวางขายเอง บ้างก็นำมาฝากญาติและเพื่อนบ้านขาย บ้างก็นำมาขายส่งให้กับผู้ที่มีแผงขายในตลาด ฯลฯ ทำให้มีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว ส่งลูกหลานเรียนหนังสือ สร้างบ้านเรือน ผ่อนรถ ฯลฯ ตลาดชาวเขาดอยมูเซอแห่งนี้ จึงเสมือนเป็นที่พึ่งเกือบจะสุดท้ายของชาวบ้านที่พอจะหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากจะไปประกอบอาชีพอย่างอื่นก็ไม่รู้จะไปทำอะไร

ความแตกต่างในจุดยืนระหว่างชาวบ้านกับทางจังหวัดเป็นเหตุที่ไม่ทำให้การเจรจาร่วมกันประสบผลความสำเร็จ การดำเนินงานต่อไปจึงเป็นการเลือกระหว่าง จะทำเพื่อตอบสนองชาวบ้านในพื้นที่หรือตอบสนองความต้องการของทางจังหวัด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่ ‘น้องเบิร์ด’ โวย อนุฯ คอป.สอบข้อเท็จจริง ถามปรองดองได้ไหม เรียกค่าเสียหายเท่าไร

Posted: 31 Mar 2011 08:13 AM PDT

 
 
31 มี.ค.54 นางนารี แสนประเสริฐศรี แม่ของนายมานะ แสนประเสริฐศรี หรือ ‘เบิร์ด’ อาสากู้ภัยมูลนิธิปอเต็กตึ๊งที่ถูกยิงที่ศรีษะเสียชีวิตบริเวณปากซอยงามดูพลี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ (31 มี.ค.) ได้รับการติดต่อให้เข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของลูกชายคนเล็กกับอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณบ่อนไก่ ภายใต้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่า คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้มาลงพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา และวันนี้ได้ติดต่อมาให้ตนเข้าไปเล่าข้อเท็จริง โดยถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังสอบถามด้วยว่าจะสามารถปรองดองได้หรือไม่ สามารถคำนวณเป็นค่าเสียหายได้หรือไม่ หากคำณวนเงินเดือนปัจจุบันนับจนถึงอายุ 60 จะเป็นที่พอใจไหม ซึ่งตนปฏิเสธไปทั้งหมด
 
“เราบอกเราไม่พอใจ ชีวิตลูกเราทั้งคน เอาคืนไม่ได้ ชีวิตคนไม่ใช่ผักปลา จะมาพูดง่ายๆ อย่างนี้ได้ยังไง แล้วเราก็มีเพื่อนอีกเยอะแยะ อีก 91 ศพ มันไม่ใช่เราคนเดียวจะตอบได้ คนเจ็บที่นอนอยู่อีก คนติดคุกที่ไม่ได้ออกอีกล่ะ จะปรองดองได้ไหมก็ต้องไปถามพวกนี้ด้วย” นางนารีกล่าว
 
“เขาแค่ถาม แล้วก็จดเอาไว้ เราก็บอกว่าไปทำให้ถูกต้องก่อนแล้วค่อยมาคุย” นางนารีกล่าว
 
ทั้งนี้ นางนารีกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค.53 ว่า เบิร์ดได้ออกจากบ้านไปช่วยดับไฟที่ไหม้ตู้โทรศัพท์หน้าซอยงามดูพลีก่อนแล้วในช่วงบ่าย แล้วกลับมากินข้าว จากนั้นเมื่อทราบว่ามีคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บก็ออกจากบ้านไปอีก เขาถูกยิงที่ศรีษะหลังจากเข้าไปช่วยเหลือคนเจ็บออกจากพื้นที่กระสุนได้ 2 คนในจำนวน 3 คน โดยขณะปฏิบัติงานนั้นมีเครื่องแบบกู้ภัย รวมถึงถือธงสัญลักษณ์กาชาดด้วย
 
สำหรับประวัติของเบิร์ดนั้น ผู้เป็นแม่เปิดเผยว่า เบิร์ดเป็นลูกชายคนเล็กในบรรดาลูก 4 คน และมีนิสัยชอบช่วยงานอาสาสมัครมาตั้งแต่ยังเล็ก อายุ 10 กว่าปีก็ไปนั่งเฝ้าดูรถดับเพลิงที่สถานีดับเพลิงใกล้บ้าน และเมื่อโตขึ้นก็มักติดตามไปช่วยงานดับเพลิงเป็นประจำ รวมทั้งงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจนกระทั่งเรียนหนังสือไม่จบ และออกมาทำงานรับจ้างขนของ ขายขนมปัง ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ขับแท็กซี่ ในช่วงเหตุการณ์สึนามิเบิร์ดก็ลงพื้นที่ไปเป็นอาสาสมัคร และเมื่อสอบเข้าเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิปอเต๊กตึ๊งเต็มตัวเบิร์ดรู้สึกภูมิใจมาก
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.ตีกลับร่างกฎกระทรวง ชงขยายอำนาจดีเอสไอ

Posted: 31 Mar 2011 06:15 AM PDT

ที่ประชุม ครม. ให้ ก.ยุติธรรม-ดีเอสไอ นำร่างกฎกระทรวงซึ่งจะเพิ่มอำนาจดีเอสไอเทียบเท่าตำรวจ สอบได้อีก 24 ความผิด กลับไปทบทวน-สอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนกลับมาเสนอใหม่

เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.54 กรณีที่นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่างกฏกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฏหมาย ว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยที่ประชุมได้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและกระทรวงยุติธรรมนำร่างดังกล่าวที่มีการเพิ่มฐานความผิดอีก 24 คดีกลับไปทบทวนและสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสร็จแล้วค่อยนำกลับมาเสนอใหม่

รายงานข่าวแจ้งว่า ร่างกฏกระทรวงดังกล่าวเสนอโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ซึ่งได้นำนายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอมาคอยชี้แจงด้วย โดยกระทรวงยุติธรรม ให้เหตุผลการขอเพิ่มอำนาจของดีเอสไอในเอกสารที่เสนอต่อที่ประชุม ครม.ว่า เนื่องจากคดีความ ผิดอาญาบางประเภทมีความซับซ้อนมีความเสียหายต่อประเทศ มีลักษณะการทำความผิดข้ามชาติ จึงเห็นควรให้แก้กฏกระทรวง เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการคดีพิเศษ มีอำนาจสอบสวนคดีความผิดเพิ่ม อีก 24 ความผิด เช่น ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ความผิดเรื่องการค้าประเวณี ความผิดตามประมวลกฏหมายที่ดิน ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายเป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องดังกล่าวได้มีความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการหลายแห่งมีทั้งคัดค้านและเห็นด้วย แต่ที่สำคัญคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือ สตช.ได้ให้ความเห็นประกอบว่า การแก้กฏกระทรวงเพิ่มอำนาจดีเอสไอจะทำให้ดีเอสไอมีการทำงานซับซ้อนกับหน่วยงานในสังกัด สตช. เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดยที่ตำรวจนั้นมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว อีกทั้งแย้งว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเองก็มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และได้ขอกำลังตำรวจไปช่วยงาน ดังนั้นถ้ามีการกำหนดเพิ่มคดีพิเศษมากขึ้นเช่นนี้ จะทำให้เกิดความล่าช้า และเสียหายได้ อีกทั้งหากออกกฏที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่คดีพิเศษมากเกินไปจะกระทบกันเสรีภาพของประชาชน

นอกจากนั้น สำนักอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การออกกฏดังกล่าวเพื่อเพิ่มคดีพิเศษขึ้นต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ ในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งแตกต่างจากอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทั่วไป ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา

รายงานข่าวจากที่ประชุมรายงานว่า รัฐมนตรีหลายคนนั้นไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจให้ดีเอสไอ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ระบุในกรณีนี้ว่า ขอมามากขนาดนี้ตนก็ตายแล้ว หลายคดีที่ขอมา สตช.ก็รับผิดชอบอยู่ หากดีเอสไอไปทำงานซับซ้อนกัน จะเกิดปัญหาได้ ดังนั้นควรต้องยึดหลักตั้งแต่ต้นในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ให้ทำคดีที่แตกต่างจากตำรวจ ไม่ใช่ไปทำซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีบางคน เช่น นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว อีกทั้งรัฐมนตรีหลายคนบอกว่าก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ก่อน คณะรัฐมนตรีก็ได้ตีกลับกรณีที่ดีเอสไอขอเพิ่ม 11 คดี มาคราวนี้ขอถึง 24 คดีเลย

รายงานแจ้งว่า นายพีระพันธุ์ได้พยายามชี้แจงว่า การเข้าทำคดีของดีเอสไอ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไม่ได้ซ้ำซ้อนอะไรกับตำรวจ แต่นายธาริตก็ไม่ได้ชี้แจงใดๆ ต่อข้อท้วงติงหลายๆ คน จนสุดท้ายนายพีระพันธุ์ จึงถอนเรื่องดังกล่าวออกจากที่ประชุม โดยบอกว่าจะไปหารือกันอีกครั้งกับคณะกรรมการคดีพิเศษ

อนึ่ง คดีพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 24 คดี ประกอบด้วย 1.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า 3.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 4.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต 5.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย 6.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 7.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 8.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 9.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ 10.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ

11.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ 12.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน 13.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ 14.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน 15.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ 16.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 17.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 18.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 19.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 20.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง 21.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย 22.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา 23.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร 24.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายและคดีความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทความอัลจาซีราห์: จับตาท่าทีบราซิลต่อนโยบายตะวันออกกลางของสหรัฐฯ

Posted: 31 Mar 2011 04:30 AM PDT

 

 

Greg Grandin อาจารย์วิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขียนบทความในอัลจาซีราห์ กล่าวถึงท่าทีของบราซิลที่มีต่อนโยบายสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายตะวันออกกลาง การบุกโจมตีลิเบีย หลังจากที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิลให้การต้อนรับการมาเยือนประเทศของโอบามาอย่างดี

เนื้อหาบทความมีดังนี้

หลังจากที่บารัค โอบามา เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนละตินอเมริกา ซึ่งรวมถึงการไปเยือนบราซิล ชิลี และเอล ซัลวาดอร์ สื่อของสหรัฐฯ นำเสนอข่าวการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในครั้งนี้โดยเน้นไปที่ ดิลมา รุสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีของบราซิล

วอชิงตันโพสต์ นิวยอร์กไทมส์ สถานีวิทยุของรัฐบาล รวมถึงหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ นักวิจารณ์สถานการณ์ตามช่องเคเบิลทีวี และเว็บล็อก ต่างทำนายว่าโอบามาซึ่งเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก และ รุสเซฟฟ์ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิล ต่างก็มีความเห็นที่ลงรอยกันได้ ซึ่งเป็นการพลิกโฉมความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่สมัยของ ลูอิซ อิกนาซิโอ ลุลา ดา ซิลวา

ความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นเมื่อลุลาปฏิเสธที่จะรับฟังรัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู บุช และโดดเดี่ยวฮูโก้ ชาเวซ ผู้นำประชานิยมของเวเนซุเอล่า ไม่นานนัก บราซิลแสดงท่าทีต่อต้าน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือเสนอทางเลือกให้สหรัฐฯ ในจุดยืนประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องโลกร้อน การต่อต้านการทำรัฐประหารในฮอนดูรัส เรื่องคิวบา การค้า และเรื่องภาษี

ลุลา ไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์อิหร่าน และเปิดช่องทางในการเจรจาแยกออกมา ซึ่งเป็นช่องทางที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลของสหรัฐฯ และทำให้พวกเขาไม่ชอบใจ ในการเปิดช่องเจรจากับอิหร่านในเรื่องนิวเคลียร์


ต่างความเห็นเรื่องตะวันออกกลาง

อดีตประธานาธิบดีบราซิลยังได้ให้การต้อนรับมาห์มูห์ อับบาส์ ผู้นำทางการปาเลสไตน์มาเยือนบราซิล โน้มนำให้ละตินอเมริกาทั้งหมดยอมรับรัฐปาเลสไตน์และเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างกลุ่มฮามาส กับเฮซโบลาห์

สื่อสหรัฐฯ ให้คำอธิบายมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมของลุลา ซึ่งสำหรับผู้นำละตินอเมริกาแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ละตินอเมริกามีบทบาทเป็นผู้รับใช้รัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่ลุลาแข็งข้อต่อสหรัฐฯ นั้นมีการอธิบายว่าเป็นอาการโรคบุคลิกภาพบกพร่อง มีอาการชอบเรียกร้องความสนใจในเวทีโลก แต่ในเวลาต่อมาก็มีการอธิบายว่าลุลาจำเป็นต้องเล่นบทบาทผู้นำของพรรคซึ่งมักจะคอยดึงจมูกสหรัฐฯ เล่นมาโดยเสมอ

ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตามการที่โอบามาไปเยือนบราซิลภายหลังการเลือกตั้งของดิลมาทันทีนั้นเป็นโอกาสในการคืนบทบาทเดิม จากรายงานเปิดเผยว่ารุสเซฟฟ์ก็ต้องการใช้การมาเยือนครั้งนี้ในการผลักตัวเองออกห่างจากผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองอย่างลุลา แม้ในช่วงทศวรรษ 1970 ที่เธอยังเป็นคนหนุ่มสาว เธอจะเคยเป็นสมาชิกองค์กรมาร์กซิสท์-เลนินนิสท์ ที่ต่อต้านเผด็จการซึ่งมีสหรัฐฯหนุนหลังอยู่ก็ตาม

ประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์โกลด์แมน แซส บอกว่าดิลมามีบุคลิกและสไตล์ที่แตกต่างออกไป

เธอเป็นคนที่ "อบอุ่น" และจะต้อนรับโอบามาอย่างเป็นมิตร (หรือว่านี่จะถึงระดับที่สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อก่อนเคยทำตัวเป็นผู้ครอบงำประชาสังคมนานาชาติ แต่ในตอนนี้แค่ผู้นำต่างชาติไม่หยาบคายใส่เมื่อประธานาธิบดีไปเยี่ยมก็ดีใจแล้ว) สื่อใหญ่และแหล่งความเห็นหลายแหล่งคาดว่าเธอจะเล่นบทตามสหรัฐฯ มากกว่าผู้นำก่อนหน้านี้ในละตินอเมริกา โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องตะวันออกกลาง

เป็นที่น่าเสียดายสำหรับสหรัฐฯ ที่ความจริงไปเป็นไปตามเนื้อเรื่องแบบที่คาดไว้ บราซิลภายใต้การนำของรุสเซฟฟ์ยังคงเดินตามหลักการเดิมในด้านการต่างประเทศ
 

 

ลิเบีย และสหประชาชาติ
แม้กระทั่งก่อนหน้าที่โอบามาจะมาถึงบราซิลในฐานะสมาชิกชั่วคราวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บราซิลได้ร่วมกับจีนและเยอรมนีงดลงคะแนนเสียงในการลงมติ "การใช้มาตรการทุกอย่างที่เป็นไปได้" กับมุมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบีย

ตั้งแต่นั้นมา การต่อต้านการทิ้งระเบิดก็เข้มข้นขึ้น จากการรายงานของสำนักข่าวไอพีเอส รัฐมนตรีต่างประเทศของบราซิลโดยส่วนใหญ่แล้วยังเป็นนักการทูตจากยุคของลุลา ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็ออกแถลงการณ์ประณามการสูญเสียชีวิตของพลเรือนและเรียกร้องให้มีการเจรจาสองฝ่าย

ตัวลุลาเองก็สนับสนุนจุดยืนของดิลมาในกรณีของลิเบีย โดยการกล่าวประณามการแทรกแซงของสหรัฐฯ "การรุกรานเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเพราะสหประชาชาติอ่อนแอ" เขากล่าว "ถ้าหากพวกเรามีตัวแทนของศตวรรษที่ 21 (ในคณะมนตรีความมั่นคง) แทนการส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิด ทางสหประชาชาติก็จะส่งเลขาธิการไปเจรจาแทน"

การประกาศกร้าวนี้ถูกตีความว่าหากบราซิลเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งเป็นตำแหน่งที่บราซิลอยากได้มานานแล้ว บราซิลก็คงโหวตคัดค้านการสั่งทิ้งระเบิดแทนที่จะเพียงแค่งดเว้นการออกเสียง

ความเห็นเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าอดีตประธานาธิบดีผู้ยังคงมีอิทธิพลและความนิยมสูงในบราซิล จะเดินหน้าชี้นำนโยบายต่างประเทศให้กับประธานาธิบดีชุดปัจจุบันต่อไป

ทั้งอาร์เจนตินาและอุรุกวัยเองก็แข็งขันแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของสหรัฐฯ ในระดับหนึ่ง การโต้แย้งนี้สะท้อนถึงของแนวคิดยึดมั่นของละตินอเมริกาในเรื่องการไม่แทรกแซงและเอกาธิปไตย แต่ในอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นระดับที่ดูใกล้กับสามัญสำนึกทั่วไปมากกว่า คือมันได้สะท้อนความเชื่อว่ากลุ่มการทูตควรจะกลับไปสู่มาตรฐานว่าสงครามควรเป็นมาตรการสุดท้ายแทนที่จะเป็นวิธีการจัดการปัญหาเป็นอย่างแรก

"การโจมตี (ลิเบีย) แสดงให้เห็นการเสื่อมถอยของระเบียบนานาชาติ" ประธานาธิบดีอุรุกวัย โฮเซ มูจิกา กล่าว "การเยียวยากลายเป็นสิ่งที่เลวร้ายกว่าตัวโรคภัยเองเสียแล้ว การปฏิบัติการช่วยชีวิตคนด้วยการทิ้งระเบิดช่างฟังดูขัดแย้งกันในตัวเองอย่างบอกไม่ถูก"


รับมือ "เจ้าพ่อเงินกู้"

ไม่เพียงแค่เรื่องตะวันออกกลางเท่านั้น บราซิลยังได้ผลักไสสหรัฐฯ ในประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่นประเด็นด้านการเงิน ซึ่งแม้ไอเอ็มเอฟจะพยายามให้บราซิลรักษา "วินัยทางการเงิน" แต่บราซิลซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเจริญเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็แสดงความเป็นอิสระจากสหรัฐฯ มาก อีกทั้งบราซิลยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ และยุโรปลดภาษีสินค้าจากประเทศที่เจริญแล้ว และแม้รุสเซฟฟ์จะต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นอย่างดี แต่ก็วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ อย่างหนักว่าแม้จะพร่ำพูดถึงเรื่องการค้าเสรี แต่ก็ทำตัวเป็นลัทธิกีดกันการค้า (Protectionism) เสียเอง และเรียกร้องให้สหรัฐฯ เปิดตลาดสินค้านำเข้าของบราซิลเช่น เอธานอล เหล็ก และน้ำส้ม

แม้ดิลมาจะ "อบอุ่น" "ปฏิบัตินิยม" และ "นอบน้อม" แต่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิล ก็ไม่ใช่ใครที่จะกินกันได้ง่ายๆ หากเป็นเรื่องของสงคราม สันติภาพ และเศรษฐกิจ

 

ที่มา:
Brazil stares down the US on Libya
, Greg Grandin, 30-3-2554
http://english.aljazeera.net/indepth/opinion/2011/03/201133014435832732.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเอสไอแจง 'ทูตญี่ปุ่น' ยังไม่มีหลักฐานชี้ จนท.รัฐยิง 'ฮิโรยูกิ'

Posted: 31 Mar 2011 03:47 AM PDT

ทูตญี่ปุ่นเข้าพบดีเอสไอ ติดตามความคืบหน้าการเสียชีวิตนักข่าวญี่ปุ่น 'ธาริต' แจงไม่มีหลักฐานบ่งชี้เจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยว

(31 มี.ค.54) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายโนบุอากิ อิโตะ อัครราชทูตฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นเดินทางเข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อสอบถามความคืบหน้าการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ในเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายน 2553 โดยใช้เวลาหารือร่วมกันประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ

นายธาริต เปิดเผยว่า ดีเอสไอได้แจ้งความคืบหน้าของสำนวนการสอบสวนการเสียชีวิตของช่างภาพญี่ปุ่นที่ ดีเอสไอได้ส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งตำรวจได้ส่งสำนวนกลับมายังดีเอสไอแล้ว และสรุปความเห็น มีสาระสำคัญหลักว่า ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าการตายของนักข่าวญี่ปุ่นว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐใดอ้างว่าเป็นผู้ทำให้ช่างภาพชาวญี่ปุ่นถึงแก่ความตาย หลังจากนี้ ดีเอสไอ จะนำสำนวนการชันสูตรพลิกศพของตำรวจ เข้าประชุมหารือกับอัยการสูงสุดต่อไป สำหรับอัครราชทูตญี่ปุ่น ก็ไม่ได้มีท่าทีอย่างไร เพียงแต่รับทราบความคืบหน้าของคดี และได้แสดงความเป็นห่วงเนื่องจากสถานทูตมีหน้าที่ต้องดูแลคนญี่ปุ่นในไทย

นายธาริต กล่าวต่อว่า กรณีนี้เป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ต้องมีการส่งกลับให้ตำรวจทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพ ดังนั้นจึงต้องรอผลการหารือร่วมกับอัยการ ยังไม่สามารถระบุถึงแนวทางได้ ทั้งนี้ สำนวนชันสูตรพลิกศพที่ตำรวจส่งกลับมายังดีเอสไอ มีข้อมูลเพิ่มเติมทั้งการสอบพยานหลักฐานทั้งบุคคล วัตถุและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าการตายของช่างภาพชาวญี่ปุ่นเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ

 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สันติอโศก: ศาสนาการเมืองแบบ Dogmatism

Posted: 31 Mar 2011 12:41 AM PDT

ความคิดที่ว่า “ศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” เป็นความคิดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงนัก เพราะตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของศาสนาใหญ่ๆ เช่น คริสต์ อิสลาม พุทธ ไม่มีศาสนาใดเลยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองในมิติใดมิติหนึ่ง

แต่ทว่าโลกเราก็ได้เรียนรู้แล้วว่า การที่ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองจนเกินขอบเขตทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี !

ฉะนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่จึงแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างชัดเจน คือให้ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่การเมืองเป็นเรื่องของสังคมส่วนรวม

ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หมายความว่า การนับถือศาสนาเป็นเสรีภาพของแต่ละบุคคล และบทบาทของศาสนาจำกัด “ขอบเขต” อยู่เพียงการแนะนำสั่งสอนให้คนเห็นคุณค่าของศีลธรรมหรือความสงบทางจิตใจเท่านั้น ศาสนาไม่ควรมีบทบาทเรียกร้องหรือกดดันให้รัฐออก (หรือไม่ออก) กฎหมายบังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติโดยอ้างอิงความเชื่อหรือหลักศีลธรรมทางศาสนานั้นๆ

เป็นไปได้ที่ศาสนาอาจเห็นว่า การออกกฎหมายอนุญาตการทำแท้ง การมีหวยบนดิน หรือเปิดบ่อนเสรีเป็นการขัดต่อหลักศีลธรรมทางศาสนา แต่บทบาทที่ศาสนาควรทำในกรณีเช่นนี้คือ การวิจารณ์ผลเสียของการออกกฎหมายเช่นนั้น และชี้ให้สังคมเห็นคุณค่าของการปฏิบัติตามศีลธรรมทางศาสนา ไม่ใช่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องกดดันหรือบีบบังคับให้รัฐหรือสังคมต้องทำตามหลักศีลธรรมทางศาสนาชนิดที่ว่า “ไม่ชนะไม่เลิก”

เพราะโดยหลักการแล้ว ศีลธรรมทางศาสนาไม่ใช่เรื่องของการบังคับ แต่เป็นเรื่องของการแสดงเหตุผลชี้แนะให้คนคล้อยตาม หากหลักความเชื่อทางศีลธรรมของศาสนามีพลังของเหตุผลเพียงพอ และรัฐหรือประชาชนเห็นว่ามีประสิทธิภาพแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของสังคมปัจจุบันได้จริง รัฐและประชาชนย่อมคล้อยตามเอง ไม่จำเป็นที่ศาสนาต้องออกมาประท้วงกดดัน

แต่ไม่ได้หมายความว่า ศาสนาหรือพระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ได้ ศาสนาหรือพระสงฆ์ควรเกี่ยวข้องกับการเมืองในบทบาทการแนะนำทางศีลธรรม ดังความเห็นของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า

“...พระควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างยิ่ง แต่ยุ่งเกี่ยวเพื่อนำเอาธรรมะเข้าไปสู่การเมือง เช่นเดียวกับพระควรยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจ, การสื่อสาร, การบริโภค, การพลังงาน, การศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม, กามารมณ์ หรือความสัมพันธ์ทางสังคมทุกชนิด ฯลฯ เพราะทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีมิติทางศีลธรรมที่เราควรพิจารณาทั้งสิ้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งเหล่านั้นในเมืองไทยนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราตัดมิติทางศีลธรรมออกไปโดยสิ้นเชิง และพระไม่ค่อยยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเอาเลย” [1]

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ศาสนาหรือพระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับการเมืองในรูปแบบอื่นๆ ไม่ได้ เช่นการออกแถลงการณ์หรือเดินขบวน พระสงฆ์ก็ย่อมสามารถทำได้หากไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของพระสงฆ์หรือทางศาสนาโดยเฉพาะ แต่ทำเพื่อสันติภาพของสังคมเช่น ออกมาเรียกร้องสันติวิธี บิณฑบาตความรุนแรง คัดค้านไม่ให้รัฐเข่นฆ่าประชาชน ฯลฯ (เรื่องบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพที่พระสงฆ์จะเสนอเหตุผลต่อสาธารณะได้ แต่ไม่ควรออกมาเดินขบวนกดดันให้รัฐหรือสังคมต้องทำตาม)

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง สิ่งที่พึงระวังคือการสร้างความเชื่อสุดโต่งจนมีลักษณะเป็น “ศาสนาการเมืองแบบ Dogmatism” ดังความเชื่อของชาวสันติอโศกที่ยึดถือว่า “ศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน”

ความเชื่อเช่นนี้มีปัญหาอย่างน้อยสองประการ คือ

ประการแรก ข้อความ “ศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน” มีความหมายเช่นเดียวกับ “A = B” ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะธรรมชาติหรือเนื้อหาของศาสนากับธรรมชาติหรือเนื้อหาของการเมืองไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ศาสนามุ่งตอบสนองต่อความต้องการทางจิตวิญญาณ ความสงบทางจิตใจ หรือความพ้นทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก หรือที่พุทธศาสนาพูดถึง “ประโยชน์สุขของมหาชน” ก็มีความหมายเจาะจงประโยชน์สุขตามนิยามหรือตามกรอบศีลธรรมทางพุทธศาสนาเป็นหลัก

ส่วนประโยชน์สุขในทางการเมือง มีลักษณะเป็นสากลกินความกว้างครอบคลุมถึงความเป็นมนุษย์ในทุกมิติมากกว่า เช่น เสรีภาพที่จะทำตามกิเลสเป็นเสรีภาพที่ขัดต่อหลักศีลธรรมหรืออุดมคติทางศาสนา แต่เป็นเสรีภาพที่การเมืองยอมรับอย่างปกติหากไม่ไปละเมิดเสรีภาพคนอื่น

ประการที่สอง นิยาม “ศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน” นำไปสู่ความเชื่อในหลักการของกลุ่มตนเองแบบหัวชนฝา (Dogmatism) และนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองแบบ “ไม่ชนะไม่เลิก” แม้ว่าเป้าหมายการต่อสู้นั้นเป็นการล้มระบบสากลที่จำเป็นต้องปกป้องเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกของสังคมทุกคน ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดหรือไม่ หรือเห็นต่างจากเราอย่างไรก็ตาม

เช่น การต่อสู้ที่เรียกร้อง “คนดีมีศีลธรรม” แลกกับการล้ม “ระบบการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการทำลายกระบวนการประชาธิปไตย เป็นการผูกขาดการนิยาม การตัดสินใจเลือก “คนดีมีศีลธรรม” ไว้ที่กลุ่มตนหรือกลุ่มชนชั้นนำที่ฝ่ายตนสนับสนุน ซึ่งเท่ากับปฏิเสธอำนาจและวิจารณญาณของประชาชนที่จะร่วมกันนิยามหรือเลือก “คนที่เหมาะสม” มาทำงานการเมืองแทนตามสิทธิที่พวกเขามี

หรือพูดในแง่การใช้เสรีภาพ การปฏิเสธการเลือกตั้งและเรียกร้องรัฐประหาร หรือเรียกร้องอำนาจพิเศษ ย่อมเป็นการใช้เสรีภาพที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการใช้เสรีภาพเรียกร้องการล้มหลักการ และ/หรือระบอบที่เป็นประชาธิปไตย !

(สังคมไทยนั้นแปลกประหลาดกว่าประเทศใดในโลก ตรงที่ประชาชน “ไม่มีเสรีภาพในการพูดความจริง” เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเรียกร้องรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย !)

ฉะนั้น ท่วงทำนองของ “ศาสนาการเมืองแบบ Dogmatism” ของสันติอโศก จึงเป็นท่วงทำนองของการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่าง “เกินขอบเขต” แห่งบทบาทหน้าที่ของศาสนาและพระสงฆ์

และนำไปสู่การใช้เสรีภาพทางการเมืองอย่างเลยเถิดเพื่อล้มหลักการ และ/หรือระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีความหมายเป็นการทำลายเสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชน !

อ้างอิง
[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์.พระกับการเมือง.มติชนรายสัปดาห์ 24, 1251 (6 สิงหาคม 2547), หน้า 36.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: บันทึกเปิดผนึก เรียน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ว่าด้วย "ความยุติธรรม"

Posted: 31 Mar 2011 12:04 AM PDT

ผมทราบว่า ในราชาศัพท์ การ "แอ๊ดเดรส" เจ้านายระดับ "เจ้าฟ้า" นั้น ใช้คำประเภท "ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท" และ "ใต้ฝ่าพระบาท" และคำเรียกตัวเองว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" แต่ว่า (1) นี่เป็นบทความสำหรับการอภิปรายสาธารณะ ที่ต้องการให้อ่านกันสะดวก และ (2) "ใต้ฝ่าพระบาท" เอง ทรงมีหลายสถานะ รวมทั้งสถานะความเป็น "นักวิชาการ/อาจารย์" แบบเดียวกับผม ผมเลือกทีจะพูดในสถานะแบบนี้ เพื่อความสะดวก ในส่วนอื่นๆของบทความนี้ ผมก็เลือกที่จะใช้ราชาศัพท์เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพ แต่ไม่ได้ใช้ในทุกๆประโยค ทุกๆกรณีเพื่อความสะดวก

 

ผมรู้สึกสนใจอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ออกทีวีในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ตามที่มีรายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะทาง "ข่าวสด" ที่ผมใช้อ้างอิงในบทความนี้ (http://goo.gl/vv3Rb)

อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญพื้นฐานเกี่ยวกับคำสัมภาษณ์นี้ ที่ผมเห็นว่า ควรจะได้แลกเปลี่ยนกับพระองค์และสาธารณะ

ตามรายงานข่าว พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

ใจจริงของฉันอยากจะขอเวลาจากรายการทีวีช่วงสั้นๆ แค่ 5 นาที 10 นาที ฉายพระราชกรณียกิจที่ท่านทำ สงสารท่านเถอะ ท่านทุ่มเทเต็มที่ เอาใจใส่ทุกรายละเอียดทุกงานที่ทำทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องความสามัคคีของคนไทย อยากให้กลมเกลียว คนไทยต้องเข้มแข็ง ชาติจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไป ฉันอยากให้ทั้ง 2 พระองค์ได้รับความยุติธรรมตามที่ท่านควรจะได้รับ

เรื่องที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถนี้ได้เป็นประเด็นหลักที่หนังสือพิมพ์ที่รายงานเรื่่องการพระราชทานสัมภาษณ์นี้ นำไปพาดหัว

ในความเห็นของผม ปัญหามีอยู่ว่า การให้สัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับ 2 พระองค์ นี้ โดยการให้สัมภาษณ์เอง เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม หรือพูดง่ายๆคือ ไม่แฟร์ ถ้าถือตามความหมายของคำนี้ตามที่ยอมรับกันทั่วไป

กล่าวคือ ในขณะที่พระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) ไม่ได้ทรงอยู่ภายใต้การคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เรียกกันว่ากฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ก็จริง

แต่โดยประเพณีของการตีความกฎหมายนี้ในลักษณะครอบจักรวาลที่ผ่านๆมา และในปริบทของการที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะพลเมืองตั้งแต่เด็กๆแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ไม่ว่าระดับใด (รวมทั้งฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) โดยที่การประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะดังกล่าว ไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง ได้

ผลก็คือ แม้แต่การให้สัมภาษณ์ของพระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) เช่นนี้ ก็ยากที่จะมีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อเนื้อหาของการให้สัมภาษณ์นี้ เกี่ยวพันถึงในหลวงและพระราชินี ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอาญามาตรา 112 การจะวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพาดพิงถึง 2 พระองค์ด้วย (เช่น ทรงไม่ได้รับ "ความยุติธรรม" หรือไม่อย่างไร เป็นต้น)

ตามหลักการที่ทั่วโลกอารยะถือกันในปัจจุบัน การที่บุคคลสาธารณะ แสดงความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องที่เป็นสาธารณะ เช่นที่ทรงให้สัมภาษณ์นี้ จะต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความไม่เห็นด้วย หรือกระทั่งโต้แย้งได้ การไม่เปิดโอกาสเช่นนั้น ย่อมถือเป็นการ "ไม่แฟร์" หรือ "ไม่ยุติธรรม"

ในปริบทสังคมไทยทั้งทางกฎหมายและทางการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะดังกล่าว ทำให้การพระราชสัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" นี้ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ ที่ตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ ซึ่ง "ไม่ยุติธรรม" ไปโดยปริยาย

 

..........

 

ผู้ "นิยมเจ้า" จำนวนไม่น้อย มักจะโต้แย้งว่า การมี "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ตรวจสอบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นเพราะ พระราชวงศ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะมาโต้แย้งหรือตอบโต้การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ (มักจะพูดกันทำนองว่า "พระองค์ท่านไม่สามารถตอบโต้ได้" จึงต้องให้รัฐทำการ "ตอบโต้" ด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงในระดับที่ไม่มีประเทศอารยะที่ไหนอนุญาตให้มี)

ความจริง "เหตุผล" หรือข้อโต้แย้งนี้ ไม่มีน้ำหนัก ไม่เป็นเหตุผลแต่แรก เพราะ เป็นการให้เหตุผลแบบกลับหัวหลับหาง เอาปลายเหตุมาอ้างเป็นต้นเหตุ

การที่มีผู้เรียกร้องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (accountability) เกี่ยวกับพระราชวงศ์นั้น เริ่มมาจากการที่พระราชวงศ์ได้เข้ามามีบทบาททางสาธารณะในทุกด้านอย่างมหาศาล โดยมีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียว เป็นเครื่องพยุงส่งเสริมบทบาทเหล่านั้น ซึงตามบรรทัดฐานที่ยอมรับกันทั่วไปในโลกอารยะ (รวมทั้งในประเทศไทยในกรณีอื่นๆ) บทบาทสาธารณะทุกอย่างของบุคคลสาธารณะและการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะทีเป็นสาธารณะในลักษณะนี้ จะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโต้แย้งกระทั่งเสนอให้เอาผิดได้แต่แรก

ถ้าไม่มีบทบาทและระบบการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์แต่แรก ก็ไม่มีความจำเป็นหรือการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอเอาผิด (accountability) แต่แรก

พูดง่ายๆคือ ถ้าไม่ต้องการให้มีการเรียกร้องเรื่อง accountability ไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระราชวงศ์ ก็ต้องไม่มีบทบาทอันมหาศาลและระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ แต่แรก

การมีสิ่งเหล่านี้แต่แรก แล้วเมื่อมีคนเรียกร้องเรื่อง accountability ต่อสิ่งเหล่านี้ แล้วฝ่าย "นิยมเจ้า" กลับมาอ้างว่าห้ามไม่ให้ทำ เพราะพระราชวงศ์ "ไม่สามารถออกมาตอบโต้เองได้" จึงเป็นการอ้างที่ภาวะปลายเหตุ อันเป็นภาวะที่เกิดจากการทำผิดหลักการเรื่องนี้แต่แรก

การที่ประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศที่ยังมีพระราชวงศ์เป็นประมุข ไม่อนุญาตให้มีบทบาทสาธารณะของพระราชวงศ์และไม่อนุญาตให้มีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว อบรมบ่มเพาะพลเมืองด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ในลักษณะที่ประเทศไทยมี นับแต่สมัยเผด็จการสฤษดิ์ ก็เพราะถือกันว่า การมีบทบาทสาธารณะและระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะพลเมืองเกี่ยวกับเรื่องใดๆก็ตามนั้น จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเอาผิดของสาธารณะได้แต่ต้น

พวก "นิยมเจ้า" ของไทย ยอมให้มีการทำผิดหลักการเรื่องการมีบทบาทสาธารณะและประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะซึงเป็นเรื่องสาธารณะ เกี่ยวกับพระราชวงศ์ โดยไม่มีการวิพากษ์ตรวจสอบแต่ต้น ซึ่งการยอมให้มีภาวะนี้ (ถ้ายืมคำที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงใช้) ต้องถือเป็นความไม่ "ยุติธรรม" แต่เมื่อมีคนเรียกร้องให้ปฏิบัติให้ถูกตามหลักการนี้ ให้ยุติภาวะ "ไม่ยุติธรรม" นี้ พวกเขาก็มาอ้างเรื่อง "พระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ซึ่งเป็นการอ้างในลักษณะที่ ต้องการรักษาภาวะที่ "ไม่ยุติธรรม" ที่เกิดขึ้นก่อน จึงไม่สามารถเอาเรื่อง "ความยุติธรรม" มาอ้างได้

พูดง่ายๆคือ พวกเขากำลังอ้างว่า "ไม่ยุติธรรม ที่จะให้คนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ความจริงที่มีคนต้องการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เกิดจากการที่สังคมไทยยอมให้มีความ "ไม่ยุติธรรม" เกิดขึ้นก่อน คือการยอมให้มีบทบาทสาธารณะอย่างมหาศาลของราชวงศ์และมีระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวมาพยุงบทบาทนั้น อย่างไม่มี accountability ก่อน ซึ่งไม่มีประเทศอารยะที่ไหน ยอมให้มี "ความไม่ยุติธรรม" เช่นนี้ เกิดขึ้นแต่แรก เป็นการผิดหลักการทีสังคมไทยเองใช้กับเรื่องสาธารณะทั้งหลายแต่แรก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนักข่าวฉาน: สถานการณ์หลังเหตุแผ่นดินไหวในรัฐฉาน

Posted: 30 Mar 2011 05:05 PM PDT

ทีมข่าวสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) รายงานหลังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยหลังเหตุแผ่นดินไหว เผยสถานการณ์ขณะนี้แม้จะผ่านมาแล้วหลายวัน แต่ความช่วยเหลือยังไม่ทั่วถึง และหลายหมู่บ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลเลือกปฏิบัติ และมีหลายพื้นที่ยังไม่สามารถเข้าไปสอบความเสียหายได้

ประชาชนออกมายืนรอรับสิ่งของบนท้องถนนในเมืองท่าเืดื่อ

 

ผู้สื่อข่าว "สำนักข่าวฉาน" ลงสำรวจพื้นที่เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ผ่านไป 3 วัน แม้จะมีสิ่งบรรเทาสาธารณภัยที่ส่งเข้ามาจากทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อจะช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ เมืองท่าเดื่อ และเมืองเลน จังหวัดท่าขี้เหล็ก ในรัฐฉาน แต่ชาวบ้านทั้งที่อยู่ในที่ราบและบนพื้นที่สูงนอกเมืองยังคงต้องการความช่วย เหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านในเมืองยังต้องรอรับสิ่งของที่กองรวมอยู่ที่ศูนย์สงเคราะห์ของ หน่วยงานรัฐบาล

ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2554 ทางการได้ตั้งศูนย์สงเคราะห์ขึ้นสองแห่งที่ท่าเดื่อและอีกหนึ่งแห่งที่เมือง เลน ชาวบ้านในพื้นที่และองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้นำเอาของบริจาคและสิ่ง บรรเทาทุกข์ไปกองรวมกันที่ศูนย์ช่วยเหลือเพื่อรอรับการอนุญาตนำไปแจกมอบผู้ ประสบภัย โดยศูนย์ช่วยเหลือที่ท่าเดื่อ ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณก่อนขึ้นสะพานท่าเดื่อ อยู่ตรงข้ามกับค่ายทหารพม่า มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารคอยดูแลอย่างเข้มงวด

นายลุง (สงวนนามสกุล) ผู้ประสบภัยจากเมืองท่าเดื่อ วัย 65 ปี กล่าวถึงขั้นตอนการรับสิ่งของว่า “เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะบอกให้พวกเรานั่งรอในคิว จากนั้นก็ถ่ายรูปพวกเรา ผมต้องไปรอที่ศูนย์สงเคราะห์ทุกวันตั้งแต่แปดโมงเช้ายันบ่ายสาม และผมได้รับแจกมาม่า 1 ซองและน้ำดื่ม 1 ขวด”

ขณะที่หญิงอีกคนเล่าว่า เจ้าหน้าที่ทหารจะประกาศสองสามครั้งในแต่ละวันให้พวกเราไปรับความช่วยเหลือ ฉันไปรอตั้งแต่หัวรุ่งยันบ่ายสาม พวกเขาบอกว่าเพราะต้องรอคำอนุมัติก่อน เราต้องไปเสียเวลาเข้าคิวรอแต่ไม่ได้อะไรเลย และยังคงกังวลว่าจะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก

ผู้สื่อข่าวแจ้งว่า ชาวบ้านเผ่าอาข่าที่อยู่นอกเมืองเลนและท่าเดื่อ ต่างประสบความลำบากเนื่องจากบ้านเรือนของพวกเขาเสียหายอย่างหนัก แต่ไม่มีใครแม้แต่ราชการหรือเจ้าหน้าที่เข้าไปถึง  พวกเขาออกไปยืนที่ถนนเพื่อรอรับสิ่งของบริจาค และพาผู้บริจาคเข้าไปที่หมู่บ้านของพวกเขาที่อยู่บนภูเขา ที่อยู่ห่างไกลจากถนนใหญ่ ทำให้การรับความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก

มีเด็กหนุ่มชาวอาข่าคนหนึ่งถูกน้ำร้อนลวกและบาดเจ็บสาหัสแต่ไม่ได้รับการรักษา อย่างเร่งด่วน เพราะแพทย์ไม่เข้าถึงในพื้นที่ โดยชาวบ้านช่วยพาเขาลงมาที่ถนนใหญ่ เชื่อมระหว่างเมืองเลนกับท่าเดื่อ เพื่อขอความช่วยเหลือจากผุ้เดินทางผ่านไปมานำไปส่งโรงพยาบาล

ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหน่วยกาชาดพม่าในเมืองท่าเืดื่อ

ผู้ประสบภัยไร้ที่อาศัย / การพยาบาลขาดประสิทธิภาพ

การบรรเทาเรื่องที่อยู่อาศัย มีการการแจกผ้าพลาสติกเพื่อทำเป็นเต้นท์พักพิงที่ท่าเดื่อ แต่ก็ยังไม่มีเพียงพอ ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ต้องนอนกันข้างถนนใหญ่  สนามฟุตบอล และในโรงเรียน ในช่วงที่มีฝนตกหนักตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำวันที่ 27 มีนาคม ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องหาเสื่อปูนอนตามที่ร่มที่พอหาได้ ขณะที่กองทัพพม่ามีการส่งหน่วยเสนารักษ์ของทหารสองหน่วยจากเมืองเชียงตุงมา ประจำที่สะพาน (ใกล้กับที่ตั้งของศูนย์สงเคราะห์และค่ายทหาร) ที่ท่าเดื่อและเมืองเลน

การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ มีหน่วยแพทย์ทหารทำการปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บและแจกยาแก้ปวด ทางศูนย์สงเคราะห์ได้ร้องขอรับบริจาคเวชภัณฑ์ รวมทั้งยานอนหลับเนื่องจากชาวบ้านได้รับความกระทบกระเทือนด้านจิตใจมากจนนอน ไม่หลับ หลายคนสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปจนหมด และพวกเขากลัวเหตุแผ่นดินไหวซ้ำ เนื่องจากยังคงมีอาฟเตอร์ช็อคจนถึงวันนี้ (27 มีนาคม) แพทย์ในพื้นที่คนหนึ่งก็ให้ความช่วยเหลือพื้นฐานกับชาวบ้าน ในพื้นที่มีความขาดแคลนเวชภัณฑ์พื้นฐานอย่างมาก ไม่มีแม้แต่น้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทำแผล

ทางการเร่งซ่อมถนน / การช่วยเหลือองค์กรระหว่างประเทศ

มีรายงานว่า หน่วยก่อสร้างของรัฐบาลเริ่มลงมือซ่อมแซมถนน โดยขุดเอาทรายและหินกรวดมาจากเขตท่าเดื่อ (ริมฝั่งแม่น้ำเลน) ถมจุดที่เป็นรอยแยกลึกระยะทางหลายร้อยเมตร เช่น ช่วงทางหลวงเชื่อมกับสะพาน ขณะที่องค์การสหประชาชาติและองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศพื้นที่ไม่สามารถ ให้ความช่วยเหลือและแจกจ่ายข้าวของให้ชาวบ้านโดยตรง โดยต้องเอาสิ่งของบริจาคไปไว้ที่ศูนย์สงเคราะห์ของทางการเพื่อรอคำอนุญาตจาก เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ก่อนส่งมอบแก่ผู้ประสบภัย ส่วนทางด้านองค์การยูนิเซฟได้ให้ความช่วยเหลือบางส่วนทั้งที่เมืองเลนและท่า เดื่อ และองค์กรศุภนิมิต (World Vision) เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งที่บ้านบ้านโต้ง และที่เมืองเลนและท่าเดื่อ และหมู่บ้านจากูหนี่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวลาหู่

ทหารพม่าทำหน้าที่ตรวจตรารักษาการณ์ใกล้ศูนย์ช่วยเหลือของหน่วยกาชาดพม่าในเมืองท่าเดื่อ

 

สถานการณ์ล่าสุด จำนวนผู้เสียชีวิต (29 มี.ค.)

มีรายงานล่าสุดว่า จากเหตุแผ่นดินไหวคืนวันที่ 24 มี.ค. ในรัฐฉานภาคตะวันออก เมืองท่าเดื่อ มีผู้เสียชีวิตรวม 42 ราย บ้านเรือนเสียอย่างหนัก 60 หลัง เมืองเลน มีผู้เสียชีวิต 30 ราย บานจากูหนี่ (หมู่บ้านชาวอาข่า) พบผู้เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 55 ราย บ้านเรือนเสียหาย 146 หลัง บ้านหมากอ๋างขาง 16 ราย และมีทหารพม่าในค่ายกองพันทหารราบเบาที่ 572 เสียชีวิต 7 นาย ในพื้นที่เมืองท่าเดื่อมีบ้านเรือนเสียหายรวมกว่า 220 หลัง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในอีกหลายหมู่บ้านยังไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากมีหลายหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากถนนสายหลัก และเชื่อว่ายังมีผู้เสียชีวิตใต้ซากปรักหักพังอีก ขณะที่มีผู้บาดเจ็บรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเมืองพยาก ท่าขี้เหล็ก และที่แม่สาย กว่า 100 คน   

ทางการเลือกปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ผู้สือข่าวรายงานอ้างคำเปิดเผยชาวบ้านว่า การช่วยแหลือจากทางการพม่าเป็นไปอย่างจำกัดและเลือกปฏิบัติ โดยหากเป็นหมู่บ้านครอบครัวกองกำลังอาสาสมัครจะได้รับความช่วยเหลือมากเป็น พิเศษ ซึ่งได้รับการแจกจ่ายข้าวสารเป็นกระสอบๆ ขณะที่หมู่บ้านน้อยใหญ่ทั่วไปมีการตวงแจกแบบนับกระป๋อง นอกจากนี้ ที่บ้านโต้ง ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเป็นอดีตทหารขุนส่าและให้การช่วยเหลืออย่าง จำกัด ขณะที่เมืองเลน ทางเจ้าหน้าที่ได้ไปตั้งเต้นท์สำหรับผู้ประสบภัย 5 หลัง แต่มีการสั่งกำชับห้ามไม่ให้เต้นท์ชำรุดเสียหายโดยระบุจะมาเก็บคืนภายหลัง

วันที่ 27 มี.ค. พล.ต.ตานทุนอู แม่ทัพภาคสามเหลี่ยม (เชียงตุง) ตรวจเยี่ยมพื้นที่เสียหายในกิ่งอำเภอท่าเดื่อ เมืองเลน ระหว่างนั้นได้เรียกพบหัวหน้ากองกำลังอาสาสมัครลาหู่และได้ช่วยเหลือเงิน จำนวน 15 ล้านจั๊ต (ราว 525,000 บาท) สำหรับบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย 206 หลัง โดยเฉลี่ยเงินช่วยเหลือ 72,815 จั๊ต (ราว 2,548 บาท) ต่อบ้าน 1 หลัง

สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้ประสบภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภคที่ผู้ประสบภัยต่างต้องการกันมากในขณะนี้ คือ เต้นท์ ผ้ากันฝน ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว เนื่องจากมีฝนตกและอากาศหนาว นอกจากนี้ มีไฟฉาย ยากันยุง น้ำดื่ม ยาแ้ก้ปวด ขณะที่หลายคนบอกกว่า หากเป็นไปได้ต้องการรถแบคโฮสำหรับขุดคุ้ยหาข้าวของทรัพย์สินมีค่าซึ่งเชื่อ ว่าอาจมีบางส่วนไม่เสียสามารถนำกลับมาใช้ได้ ขณะที่ความช่วยเหลือจากกลุ่มบุคคลและองค์กรที่เล็ดลอดเข้าไปช่วยเหลือยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือแบบซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่และสิ่งของที่นำไปช่วยเหลือซึ่งส่วนใหญ่คือ มาม่า ปลากระป๋อง อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลเมืองและถนนสายหลักยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.orgและภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"พสิษฐ์" มอบตัวสู้คดีแพร่คลิปศาล รธน. แล้ว

Posted: 30 Mar 2011 03:38 PM PDT

"พสิษฐ์ ศักดาณรงค์" อดีตเลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาเผยแพร่คลิปศาลรัฐธรรมนูญ เดินทางเข้ามอบตัวกับกองปราบ พร้อมสู้คดีตามความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14

นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาในคดีลักลอบบันทึกคลิปวิดีโอการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมา ได้เดินทางเข้ามอบตัวพร้อมทนายความกับ พันตำรวจเอก นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายจับศาลอาญา หลังจากการสอบสวนเสร็จสิ้น นายพสิษฐ์ พร้อมกับ นายประชุม ทนายความ ได้เดินทางกลับโดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดย นายพสิษฐ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาไปแล้ว รายละเอียดต่างๆ ขอให้สอบถามจากทางทนายความ 

ด้านพันตำรวจเอกนัยวัฒน์ กล่าวว่า เปิดเผยว่า นายพสิษฐ์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยไม่ขอให้การใดๆ เกี่ยวกับคดี ส่วนสาเหตุที่เข้ามอบตัวในขณะนี้ เนื่องจากคิดว่าจะได้รับความปลอดภัย โดยช่วงก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปพักอาศัยอยู่ที่ฮ่องกง และระบุว่า มีความรู้สึกกดดันอย่างมาก จึงยังไม่คิดจะเดินทางกลับมาต่อสู้คดี สำหรับช่วงที่กลับเข้าประเทศไทย ก็ได้ช่องทางพิเศษไม่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบพบ สำหรับการพิจารณาให้ประกันตัวนั้น เพราะเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง หรือเป็นคดีความมั่นคงของชาติ 

อย่างไรก็ตาม ได้ประสานทางทนายความ เพื่อติดต่อให้ นางสาว ชุติมา หรือ พิมพิจญ์ แสนสินรังสี อายุ 29 ปี ข้าราชการระดับ 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาในคดีอีกราย ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ก่อนจะเร่งสรุปสำนวนคดีดังกล่าว โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะสามารถส่งให้อัยการพิจารณาดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ นายพสิษฐ์ และน.ส.ชุติมา หรือพิมพิจญ์ แสนสินรังสี อายุ 29 ปีข้าราชการระดับ 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถูกศาลอาญาออกหมายจับที่ 2568 และ 2569/2553 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการกระทำการใดๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 มาตรา 14

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก วอยซ์ทีวี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper