โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ประกวดเทพธิดาแรงงาน : การช่วงชิงความหมาย ‘คนงาน’ ด้วย ‘ความงาม’

Posted: 27 Mar 2011 12:46 PM PDT

 
 
การปรับโครงสร้างของระบบทุนนิยมโลกปัจจุบันก่อให้เกิดความพร่าเลือนต่อโลกของแรงงานหลายประการ ภาพของแรงงานในยุคปัจจุบันมิได้มีองค์ประกอบของแรงงานในระบบการผลิตแบบโรงงานเป็นกลุ่มหลักเพียงกลุ่มเดียว หากประกอบด้วยแรงงานในระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น อาทิ งานเหมาช่วง งานชั่วคราว งานที่รับไปทำที่บ้าน เป็นต้น รวมทั้งแรงงานในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการอีกจำนวนมาก ซึ่งมีแรงงานหญิงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังนั้น การจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับแรงงานหญิงย่อมส่งผลต่อความคิด และแนวทางการปฏิบัติของผู้ใช้แรงงาน ขบวนการแรงงานจะจัดขบวนในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างไรในสภาวการณ์ดังกล่าว ?
 
แรงงานหญิงในสังคมไทย
ในอดีตที่ผ่านมา แรงงานเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมากกว่าพลังอื่นๆ โดยเฉพาะแรงงานหญิง หากมองพัฒนาการของแรงงานในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าผู้หญิงเป็นองค์ประกอบสำคัญของแรงงานในประเทศไทย ทั้งในมิติของปริมาณและมิติของการเป็นพลังเคลื่อนไหวในอดีตที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทำงานจำนวนมาก ย้อนอดีตไปเมื่อต้นทศวรรษที่ 2530 การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของแรงงานหญิงภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทโดยเฉพาะสิ่งทอ ทั้งในองค์กรที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้ การเรียกร้องของคนงานหญิงในภาคอุตสาหกรรมประสพความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมให้มีหลักประกันสำหรับประชาชนคนทำงานทั่วไปที่ไม่ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย การเรียกร้องที่สำคัญในอดีต อาทิ สิทธิการลาคลอด 90 วันสำหรับลูกจ้างเอกชนและการเรียกร้องกฎหมายประกันสังคม และการเรียกร้องอื่นๆที่เกี่ยวกับกระบวนการใช้กฎหมายรวมทั้งสิทธิและสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ
 
การเคลื่อนไหวของแรงงานหญิงในระยะแรกได้รับการหนุนเสริมจากหลายส่วนทั้งจากองค์กรแรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และต่อมามีพัฒนาการการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งเป็นองค์กรตัวแทนของแรงงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ออกกฎหมายและแนวปฏิบัติในด้านแรงงานหลายเรื่อง รวมทั้งการสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจปัญหาแรงงาน กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงและการปรับโครงสร้างในระบบสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานหลายเรื่องเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มแรงงานหญิง อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ความเข้มแข็งของการเคลื่อนไหวของแรงงานลดถอยลงด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอกขบวนการแรงงานเองได้ถูกผนวกเข้ากับกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมือง แนวคิดและเป้าหมายในการเคลื่อนไหวจึงมีการเปลี่ยนแปลง และมีแนวทางแตกต่างกันตามเป้าหมายของแต่ละองค์กร
 
 
 
ประกวดเทพธิดาแรงงาน : การช่วงชิงความหมายบนเรือนร่างแรงงานหญิง
มติที่ให้มีการประกวดเทพธิดาแรงงานในวันแรงงานแห่งชาติที่จะมาถึง เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนอะไรในโลกของแรงงาน ? การประกวดเทพธิดาแรงงาน มีนัยอย่างไรต่อแรงงานหญิง? แนวคิดในเรื่องการประกวดเทพธิดาแห่งความงาม ย้อนรอยไปถึงจุดกำเนิดของความคิดในเรื่องความงามในตำนานอารยธรรมกรีกโบราณ และมีการนำมาพัฒนารูปแบบการคัดเลือก และมอบรางวัลให้ผู้ที่มีความงามสูงสุด ซึ่งมีความผันแปรของความหมายและสัญลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย การจัดประกวดซึ่งมีความงามเข้าไปเกี่ยวข้องได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคการขยายตัวของอุตสาหกรรมเพื่อความบันเทิง ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 การจัดงานวันแรงงานในสหรัฐอเมริกามีผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมายของกิจกรรมเพื่อให้เป็นจุดสนใจของการจัดงาน ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ
 
การจัดประกวดความงาม มีลักษณะทั่วไปของการแข่งขัน ด้วยการวัดเรือนร่างของผู้เข้าประกวด ซึ่งวางอยู่บนฐานการพิจารณาเรื่องมาตรฐานของความงาม ความสมบูรณ์ด้านใดด้านหนึ่ง การกำหนดสัดส่วนในเรือนร่างของผู้หญิงที่เข้าประกวดจึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานเบื้องต้น ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่ว่า เป็นการหนุนเสริมค่านิยมที่มองคุณค่าของผู้หญิง(โดยเฉพาะวัยรุ่น) ที่เรือนร่าง ความสวยงาม ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้ผู้หญิงต้องทำตัวให้สวย และต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในเรื่องการแต่งตัว เสริมสวย ทำศัลยกรรม ตลอดจนการอดอาหารเพื่อให้ร่างกายสวยงาม นอกจากนั้นยังเป็นการลดทอนความสำคัญของแรงงานหญิงซึ่งมีบทบาทเรียกร้อง ในสิทธิ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมและสวัสดิการสังคม
 
การจัดประกวดเทพธิดาแรงงานมีนัยของความหมายแตกต่างจากการประกวดทั่วไปที่จัดกันอย่างไร ? แรงงานในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมนั้น ผู้ใช้แรงงานเป็นเจ้าของแรงงานกายและแรงงานสมองของตัวเองในการทำงาน และเข้าสู่กระบวนการใช้แรงงานในการผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าจ้างในการดำรงชีพ บนพื้นฐานความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของความสัมพันธ์ในสังคมทุนนิยม โดยในกระบวนการผลิต ศักยภาพแรงงานกายจะถูกดึงมาใช้เพื่อให้เกิดมูลค่าในการผลิต คนงานหญิงสัมพันธ์กับทุนนิยมสองมิติ ทั้งในมิติการผลิตและมิติของการบริโภคที่แรงงานหญิงเองก็กลายมาเป็นผู้บริโภคสินค้าทุนนิยม การเป็น ‘คนงาน’ ในกระบวนการผลิตของทุนนิยมอุตสาหกรรม เรือนร่างของคนงานอยู่ภายใต้กระบวนการผลิตที่เคร่งครัด ขาดอิสระทั้งทางร่างกายและกระบวนการคิด ในขณะที่ชนชั้นกลางถึงแม้จะทำงานรับค่าจ้างแต่ก็มีอิสระ ไม่ต้องอยู่ในสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาดเพื่อการบริโภค และไม่ต้องใช้แรงงานกายอย่างเข้มข้น ชนชั้นกลางจึงมีเวลาว่างมากกว่าและมีศักยภาพในการบริโภคสูงกว่าคนงาน การที่แรงงานจะบริโภคได้มากน้อยเพียงใดเป็นผลมาจากสถานะการเป็นผู้ผลิตว่า จะต่อรองกับทุนและได้รับค่าตอบแทนในการยังชีพมากน้อยเพียงใด
 
ขณะเดียวกันในปริมณฑลของการบริโภค ผู้ใช้แรงงานก็เป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของสินค้าทุนนิยมเฉกเช่นมวลชนทั่วไปในสังคม การประกวดประชันกันในเรื่อง ‘ความงาม’ ของเรือนร่าง จึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแรงงานหญิง หากเงื่อนไขในสถานะของผู้ผลิตนั้นยังด้อยคุณภาพ ค่าจ้างต่ำ แล้วยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อปรุงแต่งเรื่องความสวยงาม
 
ในอดีตที่ผ่านมา แรงงานหญิงในสังคมไทยถูกนำเสนอในพื้นที่สาธารณะด้วยภาพลักษณ์การทำงานของผู้หญิง รวมทั้งการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของแรงงานหญิง อันเป็นภาพลักษณ์ของ ‘คนงาน’ ที่เป็นเจ้าของแรงงานกายและแรงงานสมองของตัวเองในการทำงาน เป็นภาพลักษณ์ซึ่งเปิดเผย ‘ความงาม’อันแท้จริงบนเรือนร่างของแรงงานหญิง แต่ในกระบวนการประกวดเทพธิดาแรงงาน ความหมายของความงามดังกล่าวกำลังถูกช่วงชิงด้วยปฏิบัติการของการสร้างความหมายด้วยวิธีการอันแยบยลบนความซับซ้อนของระบบการผลิตและความสัมพันธ์การจ้างแรงงาน ที่ตัวตนของคนงานเองจะถูกนิยามความหมายไปในรูปแบบอื่นซึ่งลดทอน ความหมายของเรือนร่างที่เป็นจุดกำเนิดของแรงงานในการสร้างผลผลิต และการเรียกร้องสิทธิในฐานะที่เป็นเจ้าของร่างกาย ถูกสร้างความหมายให้กลายเป็นวัตถุที่ต้องปรุงแต่งเพื่อความสวยงาม สร้างความพร่าเลือนในตัวตนของคนงาน ให้อยู่ในโลกของจินตนาการที่ผิดไปจากความเป็นจริง เป็นความคลุมเครือระหว่างโลกของการทำงานในกระบวนการผลิตและโลกของจินตนาการในปริมณฑลของการบริโภค
 
การสร้างมาตรวัดของการประกวดด้วยการให้คุณค่ากับความสวยงามบนเรือนร่างยังไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างค่านิยมที่ส่งเสริมสถานภาพของผู้ที่มีความงามสูงสุดด้วยการให้รางวัลและอภิสิทธิ์ทางสังคม เป็นการสร้างนิยามของความงามที่ตายตัวและไม่ยั่งยืน ทั้งยังลดทอนความแตกต่างหลากหลายทางกายภาพของมนุษย์ซึ่งเป็นความงามตามสภาพธรรมชาติ ความหมายของความงามนั้นควรถูกสร้างขึ้นโดยสัมพันธ์กับบริบทในชีวิตจริงของคนในสังคม และมีเกณฑ์วัดที่หลากหลาย เป็นมิติความงามบนฐานของการยอมรับความความแตกต่าง และความเท่าเทียมกันของมนุษย์
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดตัว“เสียงผู้หญิงชายแดนใต้” ปีที่2 รายการวิทยุเน้นคนทำงานภาคประชาสังคม

Posted: 27 Mar 2011 12:33 PM PDT

 
27 มี.ค.54 เวลา 09.00 น. วันที่ ทีโรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมและภาคีต่างๆ ได้เปิดตัว รายการวิทยุ “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Oxfam GB และ สหภาพยุโรป โดยนายสมศักด์ เหล่าเจริญสุข ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง เปิดงาน
 
นางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มอ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ที่มาของโครงการมาจากความต่อเนื่องของการจัดรายการวิทยุของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงปีที่ 1 ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ที่ผู้หญิงและคนในชุมชนได้รับผลกระทบ
 
“แต่ปีที่ 2 ของการจัดรายการวิทยุเน้นการนำเสนอเนื้อหาของผู้หญิงและคนทำงานภาคประชาสังคม ที่กำลังขับเคลื่อนงาน เพื่อที่จะร่วมกันก้าวข้ามสถานการณ์ความยากลำบาก” นางโซรยา กล่าว
 
นางสาวอัสรา รัฐการันณย์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า ผู้หญิงที่จัดรายการมีทั้งผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เคยจัดรายการปีแรกและผู้หญิงจากภาคประชาสังคม ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการจัดรายการวิทยุมาก่อน
 
“คาดหวังว่า การจัดรายการวิทยุ จะช่วยเสริมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ ในการใช้เสียงและใช้สื่อวิทยุในการสื่อสารกับสาธารณะภาใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง” นางสาวอัสรา กล่าว
 
นางสาวอัสรา กล่าวอีกว่า สำหรับสถานีวิทยุต่างที่ร่วมภาคี ในการออกอากาศประกอบด้วยสถานีวิทยุหลักและสถานีวิทยุชุมชนรวม 13 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่การออกอากาศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อเว็บไซต์ www.civicwomen.com และ http://exten.pn.psu.ac.th โดยจะเริ่มออกอากาศทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 เป็นต้นไป
 
นายสมศักด์ กล่าวว่า ทางสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่องมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ มีการเก็บตัวเลขสถานการณ์ความรุนแรงและวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อมองเห็นสถานการณ์ที่ชัดเจน โดยมีสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (cscd) ส่วนผู้หญิงในภาคประชาสังคมจะต้องมาดูแลผู้หญิงในสังคม 2 ประเด็น คือ ความทุกข์สุขของผู้หญิงในชุมชน และประสานความช่วยเหลือกับองค์กรภาคอื่นๆ
  
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘บัณฑิตพยาบาลชายแดนใต้’ คืนถิ่น สาธารณสุขบรรจุเต็มพื้นที่ 5 จังหวัด

Posted: 27 Mar 2011 12:21 PM PDT

 
 
 
 
คืนถิ่น – บัณฑิตพยาบาลจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,848 คน ที่เรียนจบจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ถูกส่งตัวกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
 
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.54 สถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) จัดประชุมวิชาการโครงการบัณฑิตคืนถิ่นเพื่อสร้างสุขภาพและสันติสุขชาวใต้ ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการ และให้โอวาทแก่พยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ที่ประชุมมีการอภิปรายในหัวข้อ “ข้อคิดบัณฑิตใหม่กับการทำงานในพื้นที่” โดยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายพระนาย สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาณุ อุทัยรัตน์ รักษาการเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) ดำเนินรายการโดยนายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์
 
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า โครงการนำคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาศึกษาวิชาชีพพยาบาล เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) ร่วมกันดำเนินการโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
“พยาบาลซึ่งเป็นคนในพื้นที่สามารถทำงานได้สะดวก มีความเข้าใจระหว่างพยาบาลกับคนไข้ เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอย่างตรงจุด” นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
 
นายพระนาย กล่าวว่า จากโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้คนจังหวัดอื่นว่าเป็นเด็กเส้น อันที่จริงผู้เข้าศึกษาจะต้องผ่านกระบวนการสอบเข้า มีผู้สมัครสอบหลายพันคน แต่มีโควตาแค่ 3,000 คน จบมาได้เลือดตาแทบกระเด็นต้องอาศัยความวิริยะ อุตสาหะมาก ต้องกระจายเรียนตามวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข 25 สถาบันทั่วประเทศ การสื่อสารภาษาระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ก็เป็นอุปสรรคพอสมควร
 
นายพระนาย กล่าวต่อไปว่า ทุนการศึกษา 3,000 คนนั้น เมื่อจบมาแล้วต้องทำงานชดใช้ทุนการศึกษา ในพื้นสถานพยาบาลในตำบลที่ตนอาศัยจำนวน 8 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐได้ประโยชน์มาก บัณฑิตประกอบอาชีพในพื้นที่ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน บุคลากรทางด้านการพยาบาล เพราะคนนอกพื้นที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปในพื้นที่
 
พลโทอุดมชัย ธรรมาสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ตนดีใจที่ต่อไปจะมีพยาบาลวิชาชีพเชื้อสายมลายู ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถให้บริการและสื่อสารกันอย่างเข้าใจ รู้จักขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ศาสนาและวัฒนธรรมของอิสลาม
 
สำหรับสถานที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนของพยาบาลวิชาชีพในโครงการฯ นี้  ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายสถานที่ครอบคลุมสถานบริการทุกระดับ แยกเป็น จังหวัดปัตตานี 914 คน จังหวัดยะลา 551 คน จังหวัดนราธิวาส 929 คน จังหวัดสตูล 158 คน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ, เทพา, นาทวี และสะบ้าย้อย 271 คน โดยร้อยละ 37 ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 39 ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 23 ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสุขภาพตำบล
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: เปิดเสรีอาเซียนปี 2558 ผลกระทบต่อการพัฒนาการกฎหมายไทย

Posted: 27 Mar 2011 12:14 PM PDT

 
25 มี.ค.54 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดเสวนาเรื่อง "การเปิดเสรีอาเซียน พ.ศ. 2558: ผลกระทบต่อการพัฒนาการของกฎหมายในประเทศไทย" ปาฐกถานำโดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ร่วมเสวนาโดย นายพรชัย ด่านวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ดร.ธเนศ สุจารีกุล ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดำเนินรายการโดย รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรืออาเซียน (ASEAN) วางเป้าหมายสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ และนโยบายการเปิดเสรีก็เป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวเป็นประชาคมในครั้งนี้ด้วย การเปิดเสรีของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบนั้น เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาเป็นเวลานาน และส่งผลต่อกฎหมายของชาติสมาชิกอาเซียนรวมทั้งกฎหมายของประเทศไทย
 
กฎหมายต้องปรับให้สอดคล้องกับความเป็นประชาคมอาเซียน
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในฐานะเลขาธิการอาเซียนได้กล่าวเปิดประเด็นว่า "อาเซียนเป็นเสมือนแกนหลักในการปรับตัวสู่สังคมโลกยุคใหม่" นายสุรินทร์เห็นว่าสิ่งที่ท้าทายไทยในตอนนี้คือ การแข่งขันที่มีมากขึ้น ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่าการแข่งขันที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลอย่างไรต่อกฎหมายของไทย ทั้งนี้นายสุรินทร์เห็นว่าข้อตกลงต่างๆของอาเซียนนั้น ผูกโยงกับประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ และผูกมัดประชากรกว่า 600 ล้านคน เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายก็ต้องวางอยู่บนพันธะที่ผูกพันอยู่กับความเป็นอาเซียน
นายสุรินทร์ยังกล่าวเปรียบเทียบอาเซียนกับอียูด้วยว่า การก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้นไม่สามารถเดินตามแบบของสหภาพยุโรปหรืออียูได้ เพราะจุดเริ่มต้นของอาเซียนกับสหภาพยุโรปนั้นต่างกัน นายสุรินทร์กล่าวว่า อียูมีสถานะเป็น "สหภาพ" (union) ที่ประเทศสมาชิกเป็นไปในทางเดียวกัน ส่วนอาเซียนนั้นเป็น "ประชาคม" (Association) ที่ประเทศสมาชิกล้วนมีความหลากหลายทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรม นายสุรินทร์เห็นว่าสมาชิกอาเซียนต้องปรับตัวเข้าหากัน จึงจะสามารถเริ่มต้นเดินไปในทางเดียวกันได้ และจะนำไปสู่การปรับระบบและเงื่อนไขต่างๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับกฎหมายก็ต้องมีการปรับและทำให้สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของกันและกันในมาตรฐานของอาเซียนได้
 
มาตรา 190 เป็นปัญหาโดยตรงต่อไทยกับอาเซียน
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และนายพรชัย ด่านวิวัฒน์เห็นตรงกันว่า มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน ที่ระบุว่าการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและต้องชี้แจงต่อรัฐสภานั้น เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยนายสุรินทร์เห็นว่านับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ การดำเนินการต่างๆ ของไทยกับอาเซียนนั้นเดินหน้าไปได้ช้ามาก เพราะฉะนั้นกฎหมายตัวนี้ก็ต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับการก้าวสู่การเปิดเสรีอาเซียน
นายพรชัย ด่านวิวัฒน์กล่าวในช่วงเสวนาเช่นกันว่า มาตราดังกล่าวเป็นปัญหาสำหรับไทยในการทำข้อตกลงของรัฐบาลไทยในเวทีระหว่างประเทศ นายพรชัยเห็นว่า กฎหมายต้องมีขอบเขตระบุให้ชัดเจนกว่านี้ว่า ข้อตกลงใดบ้างที่จำเป็นต้องผ่านมาตรา 190 หรือต้องมีการตีความอย่างไรจึงจะถือว่าไม่ขัดกับมาตราดังกล่าว นายพรชัยยังได้กล่าวถึงข้อจำกัดของนักกฎหมายไทยอีกว่า มักจะตีความโดยไม่ดูให้แน่ใจก่อนว่าแท้จริงแล้วขัดกับกฎหมายหรือไม่
 
ระบบการศึกษายังผลิตนักกฎหมายระหว่างประเทศไม่เพียงพอ
เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า การผลิตบุคลากรผ่านระบบการศึกษาในปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถตอบสนองต่อการแข่งขันได้ นายสุรินทร์เห็นว่า ภาษาอังกฤษเป็นภารกิจสำคัญของโรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการปรับเพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดยขยายความต่อว่า เราต้องรู้กฎหมายและข้อตกลงต่างๆ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ นายสุรินทร์กล่าวเปรียบเทียบถึงคุณครู 2 คนว่า "ครูคนหนึ่งสอนในตำราเล่มเดียวตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งเกษียร ในขณะที่ครูอีกคนรับข่าวจาก CNN, BBC แล้วนำมาสอนเด็กเพื่อพาเด็กไปสู่โลกภายนอก" นายสุรินทร์ย้ำว่าการผลิตนักกฎหมายต้องผ่านระบบการศึกษาที่พาไปสู่โลกภายนอกด้วย
เช่นเดียวกับนายพรชัยที่กล่าวในช่วงเสวนาว่า การเรียนกฎหมายนั้นไม่ได้เรียนเพียงเพื่อแค่ไปสอบเนติบัณฑิตเท่านั้น หากแต่ต้องขยายวงไปยังด้านอื่นด้วย พรชัยกล่าวว่านักกฎหมายระหว่างประเทศกับนักกฎหมายภายในประเทศนั้นมีความเข้าใจในเรื่องกฎหมายต่างกัน พร้อมทั้งเห็นว่า นักกฎหมายระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันนั้นยังมีไม่เพียงพอ จึงต้องมีการเรียนรู้กฎหมายระหว่างกันและปรับเข้าหากันเพื่อการเดินไปข้างหน้าต่อ ส่วนนายธเนศ หนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายเห็นว่า ต้องหาคนที่มีความสนใจในเรื่องกฎหมายระหว่างเทศอย่างแท้จริง และต้องมีพื้นฐานในการทำความเข้าใจอาเซียนได้พอสมควร เพื่อผลิตนักกฎหมายระหว่างประเทศรองรับกับอาเซียน
  
 
กฎหมายไทยต้องรองรับช่องโหว่ที่มากับการแข่งขันเสรี
ดร.สุรินทร์ เห็นว่าการเปิดเสรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 นั้น จะส่งผลให้เกิดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากขึ้น และไม่สามารถเลี่ยงได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงการเปิดเสรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้การเปิดเสรีจะทำให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาเอาประโยชน์จากสมาชิกอาเซียนมากกว่าบรรษัทจากอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในระดับกลางและระดับย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs)
นอกจากนี้การข้ามประเทศอย่างเสรีก็อาจเกิดปัญหาในเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และแรงงานข้ามชาติ เพราะฉะนั้นนักกฎหมายก็ต้องมีการทำการศึกษาโดยคำนึงถึงช่วงโหว่และข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นกับไทย เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวด้วยว่า อาเซียนไม่ได้สร้างมาเพื่อคนรุ่นตน การเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่ได้หมายความว่าเปิดทีเดียวแล้วจบ แต่เป็นการเปิดทีละขั้นตามขั้นตอน พร้อมทั้งต้องให้โอกาสในการปรับตัว เรียนรู้ และส่งเสริมกัน
 
กฎบัตรอาเซียนก็ต้องมีการพัฒนาด้วยเช่นกัน
ดร.ธเนศ สุจารีกุล เห็นว่าแม้ปัจจุบันอาเซียนจะมีการประกาศใช้กฎบัตรแล้ว แต่การบังคับใช้นั้นก็ยังไม่มีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน นายธเนศขยายความต่อไปว่า กฎบัตรอาเซียนประกอบด้วยประเด็นสำคัญ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน การเคารพอธิปไตย การระงับข้อพิพาท เป็นต้น แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็ยังไม่ได้มีกรอบการดำเนินการตามข้อตกลงของอาเซียนที่ชัดเจน เช่น เรื่องปัญหาเขตแดน การส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายธเนศเห็นว่า รายละเอียดของกระบวนการระงับข้อพิพาทและรายละเอียดของการดำเนินการต่างๆในกฎบัตรอาเซียนนั้น ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนกว่านี้
นายธเนศกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับข้อตกลงทางเศรษฐกิจว่า ต้องมีการระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่าอะไรที่เป็นข้อกำหนดทางเศรษฐกิจโดยตรง และยังกล่าวทิ้งท้ายเป็นคำถามให้ชวนคิดต่อไปว่า อาเซียนจะเป็นตลาดเสรีได้จริงหรือ โดยขยายความว่า การเปิดตลาดเสรีและความสามารถในการแข่งขันนั้น จะส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติหรือไม่ จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศอย่างเสรีได้จริง หรือจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างสินค้าจากต่างประเทศกับสินค้าภายในประเทศ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดตัวกลุ่ม ‘อาร์ติเคิล112’ รณรงค์เพื่อตื่นรู้ – หลายกลุ่มรณรงค์ยกเลิก ม.112

Posted: 27 Mar 2011 12:00 PM PDT

 
27 มี.ค.54 ภายหลังการเสวนาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกลุ่มนิติราษฎร์ มีการแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่มกิจกรรม “มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้” หรือ Article 112: Awareness Campaign” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้สังคมไทย ร่วมกันสร้างพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นฯ” โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกับการณรรงค์เรื่องนี้กว่าร้อยชื่อประกอบไปด้วย บุคคล หลากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักเขียน ศิลปิน นักสหภาพแรงงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกฎหมาย ข้าราชการ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ (รายชื่อดูในไฟล์แนบด้านล่าง)
 
ทั้งนี้ ชื่อโครงการดังกล่าวมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
 
นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ระบุว่า ปัจจุบันมักพบว่าการฟ้องคดีหมิ่นฯ หรือที่เรียกกันว่า ข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มักพบในความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ข้อหานี้มีความร้ายแรง ทั้งร้ายแรงด้วยอัตราโทษ และร้ายแรงเพราะมักถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความ “ไม่จงรักภักดี” ต่อพระมหากษัตริย์ และ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง เพราะกฎหมายถูกนำไปไว้ในหมวด ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเปิดช่องให้ใครก็ได้สามารถแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีข้อหานี้ได้ ส่งผลให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพง่ายต่อการถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยเห็นได้จากสถิติที่มีการกล่าวหาและจับกุมผู้ต้องหา ในคดีหมิ่นฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ จากเดิมที่มีคดีเฉลี่ยราว 10 คดีต่อปี แต่นับแต่ปี 2548-2552 กลับมีคดีจำนวนมากถึง 547 คดี ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
 
 
นอกจากนี้ในหลายคดีผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หลายคดีถูกฟ้องเพราะเป็นตัวกลางทางอินเทอร์เน็ต หรือเป็นสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวตามหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ามีการใช้กฎหมายและตีความกฎหมายไปในลักษณะที่กว้างขวาง ผิดต่อหลักการของกฎหมายอาญา ที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ระหว่างกรณีการวิพากษ์วิจารณ์กับการดูหมิ่นนั้นแตกต่างกันอย่างไร การหมิ่นประมาทกับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แตกต่างกันอย่างไร ส่งผลให้สังคมไทยโดยรวมตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ  เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายหวาดกลัว ที่จะอนุญาตให้ผู้ถูกจับกุมได้รับสิทธิในการประกันตัว หลายคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐโน้มน้าวให้ผู้ต้องหาทำเรื่องให้เงียบโดยไม่ให้แจ้งข้อมูลกับสื่อมวลชน ทั้งยังโน้มน้าวให้ยอมรับสารภาพโดยข่มขู่ว่าคดีลักษณะนี้สู้ยากแต่หากยอมรับก็จะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง  หลายครั้งการดำเนินคดีและกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยลับ  ทำให้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการได้
 
โครงการ มาตรา112 เห็นถึงความละเอียดอ่อนของความสัมพันธ์ของกฎหมายมาตรานี้กับสังคมไทย และด้วยเหตุนี้ สมาชิกของเครือข่ายจึงมุ่งรณรงค์ในเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตราว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สอง ส่งเสริมให้เกิดการถกเถียงถึงผลกระทบที่รอบด้านจากกฎหมายหมิ่นฯ เป็นประเด็นสาธารณะ และประการสุดท้าย เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มและผู้สนใจร่วมกันหาทางออก บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย  โดยมีบุคคลต่างตามรายชื่อแนบท้ายนี้ร่วมลงนามในแถลงการณ์” ปราบกล่าว
 
 
“เวทีนี้อาจมีคนเห็นปัญหาแล้วว่ากระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่างไร บางคนโดนขโมยเวลาในชีวิตไปเป็นสิบปี แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่แค่ในรั้วธรรมศาสตร์ ในรั้วเองหลายคนก็ยังไม่รับรู้ หลายคนยังเข้าใจว่าการพูดเรื่องนี้ การยกเลิกมาตรานี้ เป็นการกระทำการหมิ่น ยกเลิกสถาบัน นี่คือข้อกล่าวหาและทัศนคติในสังคมโดยรวมที่มีอยู่ จึงไม่อยากให้เราจำกัดสิทธิองคนที่ยังไม่รับรู้ต่อปัญหานี้ วิธีการควรค่อยๆ คุยกัน มาตรานี้มีปัญหาอย่างไร มีคนได้รับผลกระทบอย่างไร เปิดโอกาสให้เขาได้พูดในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เราโดนปิดปากแล้ว เราเองก็จะไม่ไปปิดปากบุคคลอื่น” จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บประชาไท หนึ่งในคณะรณรงค์กล่าว
 

ภาพโดย กอล์ฟ ประกัน
 
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 18.00 น.  กลุ่ม 24 มิ.ย. แดงสยาม สนนท. วงดนตรีท่าเสาร์ จิตรา คชเดช เดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมตะโกนคำว่า "ยกเลิก 112" ไปตลอดเส้นทางเพื่อไปรวมกัน ณ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศจุดยืนให้มีการยกเลิกมาตรา 112  เนื่องจากถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ลิดรอนสิทธเสรีภาพของประชาชน โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์ฯ ในงานนี้ นางสุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ แม่ของนายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน 2553 ได้ประชาสัมพันธ์งานฌาปณกิจศพลูกชายที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 เมษายนที่จะถึงนี้ หลังจากเก็บรักษาศพลูกไว้เพื่อรอให้มีการชันสูตรตามกฎหมายอาญา แต่ศาลยกคำร้อง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านข้อเสนอแก้กฎหมาย 112 และคำอภิปรายของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

Posted: 27 Mar 2011 10:18 AM PDT

 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นตัวแทนกลุ่มนิติราษฏร์ในการนำเสนอประเด็นในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่าโดยหลักการแล้วสามารถสรุปได้เป็น 7 ประการ (อ่านรายละเอียดเหตุผล และการปรับแก้โดยละเอียดได้ด้านล่างสุด) ทุกข้อมีเหตุผลรองรับในทางวิชาการ โดยที่ทางกลุ่มฯ ไม่ประสงค์จะเคลื่อนไหวในทางการเมือง แต่หากใครจะนำไปรณรงค์ต่อก็ยินดี นอกจากนี้ข้อเสนอนี้ยังเป็นข้อเสนอประนีประนอมที่สุด แม้จะไม่แก้ปัญหาให้หมดไป แต่ก็น่าจะทำให้ปัญหาบรรเทาเบาบางได้ นอกจากนี้การนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ยังเป็นการรับฟังความเห็นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งยังจะรับฟังข้อถกเถียงทางวิชาการต่อไปอีกในครั้งหน้า ที่สำคัญ อยากเรียกร้องต่อนักวิชาการต่างๆ ให้มีปฏิกริยาต่อข้อเสนอนี้และแสดงข้อคิดเห็นไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง  
 
ข้อเสนอ 7 ประการ สรุปได้ดังนี้
1.ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปี 2519 ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
2.เพิ่มเติมลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แทนที่จะเอาไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ เช่น การปลงพระชนม์ การประทุษร้าย
 
4.โทษจากเดิมให้จำคุก 3-15 ปีให้เปลี่ยนเป็นไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระมหากษัตริย์, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดให้การติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด
 
6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี การพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์
 
7.ผู้มีอำนาจกล่าวโทษเปลี่ยนจากบุคคลทั่วไปเป็นสำนักราชเลขาธิการ
 
 
คำอภิปรายของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ในที่สุดแล้วตัวบทกฎหมายเป็นสิ่งที่ขึ้นกับอุดมการณ์ทางการเมือง การตีความของศาลก็ไม่ได้แยกกันอยู่แบบโดดๆ ต่อให้เราแก้กฎหมายทั้งหลายแหล่ได้เอง ศาลจะตีความแบบให้เสรีภาพไหม ก็ไม่ ซึ่งเป็นความเห็นตรงกัน แต่มีปัญหาว่าการเสนอกฎหมายที่เป็นรูปธรรมอาจเกิดปัญหา สมมติ ถ้าใครดูหนัง JFK คงจะรู้ว่าโอลิเวอร์ สโตน มองว่ารองประธานาธิบดีเป็นคนวางแผนฆ่า โดยการปะติดปะต่อเหตุการณ์เชื่อมโยงเอาเอง เคสแบบนี้เป็นการเสนอความเป็นจริงที่เป็นข้อยกเว้นความผิดหรือเปล่า ถ้ามีการเสนอกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ในทิศทางเดียวกัน นี่จะเป็นขอยกเว้นหรือไม่ แน่นอนว่าในสหรัฐถือว่เป็นการแสดงความเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง
ประเด็นการเสนอบทลงโทษ ยังเป็นระดับที่เท่ากันกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์นั้นได้รับการคุ้มครองในฐานะประมุขของรัฐ แต่กฎหมายที่คณะนิติราษฎร์เสนอนี้ให้ความคุ้มครองพระราชินี รัชทายาทด้วย ซึ่งต้องถือเป็นสามัญชน
กลับมาถึงประเด็นที่สำคัญมากๆ ลำพังตัวกฎหมายไม่มีความหมายโดยตัวเอง กฎหมายโดยตัวมันเองไม่มีอะไรหรอก ฝรั่งก็มีบทบัญญัติแบบนี้ แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสนอแก้โดดๆ ไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อสรุปของอาจารย์วรเจตน์ด้วยซ้ำ ต้องแก้กฎหมายไปพร้อมอุดมการณ์ ข้อเสนอของผมคือให้ยกเลิกอุดมการณ์ไปพร้อมๆ กัน ดังที่ก่อนหน้านี้ตัวเองเคยนำเสนอข้อเสนอ 8 ข้อไว้แล้ว เพราะกฎหมายหมิ่นไม่ได้อยู่ด้วยตัวเอง แต่อยู่ในระบบคิดที่ใหญ่โตมาก
ตัวกฎหมายนั้นเสนอได้ แต่ต้องเสนอให้ยกเลิกอย่างอื่นไปพร้อมๆ กันด้วย กรณีญี่ปุ่นเป็นกรณีที่น่าศึกษามาก จริงๆ แล้วในบรรดาประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็มักจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ หรือไม่ก็ละเมิดไม่ได้ แต่ไม่เคยใช้สองคำนี้ด้วยกัน กรณีญี่ป่นที่เป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญที่ไทยลอกมานั้นเคยเขียนไว้เช่นนั้น แต่ตอนนี้ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นไม่มีคำนี้อยู่เลย แต่ใช้คำกลางๆ คือคำว่าสถาบันกษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของประชาน
ไทยมาถึงจุดที่ว่าการใช้อำนาจที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์นั้น มาถึงจุดที่ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่อาจะบรรลุเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอประนีประนอมที่คณะนิติราษฎร์เสนอนี้ มีความเสี่ยง คือภายใต้อุดมการณ์หรือระบอบคิดทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ หรือไม่เป็นประโยชน์นัก ข้อเสนอแบบนี้จะไม่ช่วยให้การอภิปรายกรณสวรรคตรัชกาลที่ 8 หรือกรณี 6 ตุลา ทำได้มากกว่านี้ ตราบใดที่ทุกสองทุ่มยังมีรายการข่าวแบบนี้ ตราบใดที่ทุกโรงเรียนยังมีการสั่งสอนแบบเดิม ต่อให้เกิดปาฏิหาริย์ทำให้แก้ไขกฎหมายได้ ก็ไม่มีผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ที่ตนเสนอแนวทาง 8 ข้อไว้นั้น ประเด็นคือ อำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยสะสมมาถึงจุดที่ว่าหากไม่เลิกก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันได้
การนำเสนอของตนเองตลอดมานั้นอยากเสนอคนกลุ่มหนึ่งอยากให้ฟัง คือนักวิชาการ แต่กลับไม่มีผลอะไรเลย ผลสะเทือนกลับไปอยู่ที่มวลชนต่างๆ และตนรู้สึกผิดที่การที่ผมพูดเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. (2553) มันทำให้คนทั่วไปกล้าพูด นำไปพูดและส่วนหนึ่งถูกจับ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้พูดอะไรซับซ้อนลึกลับ คนทั่วไปก็รู้และคิดได้ เราเป็นเสียงให้คนที่ไม่มีเสียงเราเพียงแต่พูดแทนเขาออกมา แต่ปัญหาคือ คนจำนวนมากพอฟังแล้วรู้สึกว่าพูดได้ เวทีเล็กทั้งหลายแหล่ก็เลยมีผลสะเทือนมาก และทำให้วงเสวนากลายเป็นม็อบไป
อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงกลุ่มที่จะรณรงค์ต่อจากนี้ไปว่า ประเด็นสถาบันกษัตริย์นั้น ขอเสนอ2 ข้อ คือ 1.เรื่องสองมาตรฐานเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าเอาวิธีการแบบที่ทำกับสถาบัน มาใช้กับนักการเมือง เช่น มีข่าวทุกๆ สองทุ่ม และห้ามวิจารณ์นักการเมือง คุณจะทนได้แบบนี้ไหม ทำไมหมู่ปัญญาชนจึงสามารถทนเรื่องนี้ได้มากและนาน
อีกประเด็นคือ บทความใบตองแห้งซึ่งเพิ่งเขียนลงในเว็บไซต์ประชาไท คือ การเคารพสิทธิของคนที่รักในหลวง วิธีคิดพวกนี้มันผิดตรงที่ว่าเราไม่ได้จะละเมิดสิทธิเขา (คนที่รักในหลวง) เคยมีคนเสนอให้ลงประชามติ ซึ่งตนยินดีมาก แต่คำถามคือ การลงประชามติจริงๆ คืออะไร ถ้ามีรัฐบาลหนึ่งมีกฎหมายห้ามหมิ่นรัฐบาล มีการอบรมสั่งสอนประชาชนให้รักรัฐบาลมาเป็นสิบๆ ปี แล้วให้ลงคะแนนเสียง แล้วจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆ ไหม ตนเองยินดีให้มีการลงประชามติ แต่ขอให้ทำตามแนวทางที่ตนเคยเสนอไว้8 ข้อ ลองใช้เป็นเวลาห้าปี แล้วมาลองลงประชามติกันดู
สิ่งที่แสดงออกกันตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิรักหรือเคารพในหลวงเลย อยากให้ตั้งคำถามกันดีๆ ว่าทำไมจึงเกิดการฆ่ากลางเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม (2553) คำถามง่ายมาก อภิสิทธิ์ไม่อยากลงจากตำแหน่ง ทั้งที่ ปชป. เคยยุบสภาด้วยเรื่องที่เล็กกว่านี้ ทุกคนยุบสภาด้วยเรื่องเล็กกว่านี้และกลับมาไม่ได้ รัฐบาลที่ยุบสภาแล้วกลับมาได้คือรัฐบาลทักษิณ ทำไมอภิสิททธิ์ไม่ยอม สุเทพ อนุพงษ์ไม่ยอม คำตอบง่ายๆ คือ กลัวพรรคเพื่อไทยชนะ ก็เพราะกลัวทักษิณขึ้นมา คำตอบก็คือกลัวว่าอำนาจความนิยมของทักษิณจะขึ้นมาเทียบกับสถาบันกษัตริย์ นี่คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด สมมติว่าวิกฤตการณ์การเมืองที่ผ่านมา การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราชวงศ์เลย แต่ปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็ยังเป็นปัญหาใจกลางของเรื่องอยู่ดี เพราะคนจะไม่มีทางมาฆ่ากันถ้าสถาบันไม่ดำรงสถานะขนาดนี้ วิธีการแกก็คือต้องยุติสถานะนี้ คือเปลี่ยนให้เป็นองค์กรประมุขธรรมดาแบบญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ ที่สำคัญ อยากขอร้องไปถึงปัญญาชนทุกคน ขอร้องว่าอย่าหลบซ่อนตัวเองไว้เบื้องหลังการรณรงค์เรื่องการตื่นรู้ในมาตรา112 เพราะมันไม่เพียงพอ อย่าหยุดแค่นี้ การเสนอให้ตื่นรู้ มันเหมือนกับตอนนี้ไฟกำลังไหม้บ้าน แล้วเรามาสอนกันว่าวิธีใช้ไม้ขีดไฟคืออะไร
 
นอกจากนี้การที่บอกว่าตนเสนออะไรใหญ่โต มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่เพราะตน แต่เป็นเพราะสภาพการณ์ปัจจุบันนี้ต่างหาก
 
ตอบประเด็นอภิปราย
วรเจตน์:  ในส่วนของความคิดเห็นของอาจารย์สมศักดิ์ เราก็เห็นประเด็นนี้ แต่ปัญหาคือเวลาเสนอตัวบทที่เป็นรูปธรรมก็มีข้อจำกัด ถูกรัดรึงอยู่โดยโครงสร้างของกฎหมายอาญาปัจจุบัน ลักษณะจึงออกมาแบบนี้ แต่ไม่ได้แปลว่ากลุ่มฯ พอใจกับการแก้ไขในลักษณะนี้ แต่ประเด็นเรื่องอัตราโทษเป็นประเด็นที่อภิปรายกันได้
ปัญหาใหญ่กลับไปที่ปัญหาเดิมคือ ปัญหาในแง่อุดมการณ์ว่าเรื่องนี้ต้องทำเป็นชุดใหญ่ ซึ่งก็มีเรื่องกฎหมายที่ต้องพูดถึง เช่น สถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญในหมวดนี้ แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยังบกพร่องอยู่ และต้องพูดเรื่ององคมนตรี แต่ถือว่านี่คือการนับหนึ่งในการขับเคลื่อนต่อไปในทางวิชาการ
ทางกลุ่มฯ จะพยายามทำงานวิชาการในลักษณะนี้ต่อไปอีก แต่ก็มีปัญหาในแวดวงวิชาการ ผมรู้สึกและประเมินว่ามันมีความมืดมนอยู่ ผมไม่คิดว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับในวงกว้าง ผมคิดว่าแวดวงวิชาการเองก็ไม่ต่างกับแวดวงอื่นๆ มันมีเครือข่าย มีผลประโยชน์ การจะให้ออกมาพูดในเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้น แม้แต่การคัดค้านก็ตาม
ปิยบุตร: ตอบ อ.สมศักดิ์ ว่า คนเราไม่ควรติดคุกด้วยคำพูด ถ้าทำได้ทั้งระบบคือเหลือแค่โทษปรับ ก็น่าจะเป็นไปได้ ส่วนเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิก ถ้าจะยกเลิกม.112 ก็ง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องมาคิดอะไรสลับซับซ้อน แต่สิ่งที่เสนอเราอยู่ในกรอบคือ เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุดแล้ว
ข้อเรียกร้องถึงกลุ่มคนอื่นๆ คือคนที่ดำรงสถานะแบบผม หรืออาจารย์สมศักดิ์ มีอภิสิทธิ์บางประการ มีข้อได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ อยู่ อาจจะไม่ใช่ข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ แต่ได้จากความเคารพนับถือ เสรีภาพทางวิชาการ เอาเงินส่วนรวมไปเรียนต่างประเทศ เมื่อได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ ก็ยิ่งต้องมีพันธะผูกพันต่อสังคมมากยิ่งกว่าปกติ
ผมสังเกตว่าหลังการเสวนาเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2553 ก็มีการพูดประเด็นเหล่านี้มาก ผมคิดถึงคนอย่างคุณดา ตอร์ปิโด ก็คือคนที่เขาอยากพูดแต่พูดไม่ได้ แต่เมื่อมีคนที่ไปส่งเสริมให้เขาพูด พอพูดแล้วก็โดนทุบอีก ภายใต้สังคมปัจจุบัน ไม่มีทางอื่นใดอีกเลยที่เราจะรักษาให้คนสามัญชนคนธรรมดาให้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างสอดคล้องกับประชาธิปไตย มันมีทางเดียวคือปัญญาชนทั้งหลายต้องออกมาช่วย ไม่ต้องไปผูกผ้าเป็นแกนนำหรอก ปัญญาชนคนหนึ่ง คนเดียวมันไม่พอ มันต้องพึ่งเป็นหลักร้อยหลักพัน และต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณ สถานการณ์ตอนนี้เขากำลังทยอยล่าเหยื่อ 112 ไม่ต้องกลัวว่าออกมาแล้วจะกลายเป็นลูกน้องสมศักดิ์ หรือกลายเป็นการ endorse (รับรองความชอบธรรม) ของขบวนการทางการเมือง
สำหรับรอยัลลิสม์ ต่อให้พวกท่านหลอกตัวเองอย่างไรก็ตาม แต่ด้วยมันสมองของท่าน ท่านสามารถประเมินได้อยู่แล้วว่า สถานการณ์แบบที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้จะดำเนินต่อไปอย่างนี้ได้ในอนาคตหรือ
มนุษย์อยู่ที่ไหนก็เป็นมนุษย์ มันมีสิทธิเสรีภาพ สักวันเขาก็จะรู้ว่าไม่มีใครมาอ้างสิทธิความชอบธรรมเหนือกว่าคนอื่น ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ฝ่านรอยัลิสม์ทั้งหลายกังวลใจ แต่ได้โปรดเถิด แทนที่ท่านจะเอาพลังพวกนี้ไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังอะไรก็ได้เพื่อรักษาสถานะพิเศษ ท่านเอาพลังเหล่านี้มาปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยไม่ดีกว่าหรือ ในโลกปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ตกยุคสมัยไปแล้ว วิธีเดียวที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอดต่อไป คือการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย สอดคล้องกับประชาธิปไต
 
 
000000000000000000000
 
 
ข้อเสนอ
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำาเร็จราชการแทนพระองค์
 
 
โดยตระหนักว่ามนุษย์ ไมว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างและในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้
 
กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำาเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต
มาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้
 
 
ประเด็นที่ 1
การดำรงอยู่ของมาตรา 112
 
ข้อเสนอ
ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
 
เหตุผล
1. มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 วันที่ 21 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร บทบัญญัติในมาตรานี้จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
 
2. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่างๆ ในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะ .../... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
 
ประเด็นที่ 2
ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของ
พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
ข้อเสนอ
1. เพิ่มเติมลักษณะ .../... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
 
2. นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระ
มหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปบัญญัติไว้ในลักษณะ .../...
 
เหตุผล
โดยลักษณะของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำารงอยู่ ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
 
 
ประเด็นที่ 3
ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครอง
ข้อเสนอ
แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้
 
มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...”
 
มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...”
 
เหตุผล
เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ
 
· ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา 107)
 
· ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาทและความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 109)
 
· ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา 108)
 
· ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 110)
 
 
ประเด็นที่ 4
อัตราโทษ
 
ข้อเสนอ
1. ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ
 
2. ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
 
3. ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำาหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
เหตุผล
1. ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีการกำาหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว
 
2. เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี
 
3. เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำาแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม
 
4. โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษขั้นสูงให้แตกต่างกัน
 
หมายเหตุ : อัตราโทษสำหรับการหมิ่นประมาทในกรณีอื่น ๆ จะต้องปรับให้รับกับข้อเสนอนี้ต่อไป
 
 
ประเด็นที่ 5
เหตุยกเว้นความผิด
 
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้
 
มาตรา ... “ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา ... และมาตรา...”
 
เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว ไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา
 
 
ประเด็นที่ 6
เหตุยกเว้นโทษ
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้
 
มาตรา ... “ความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
 
ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์
 
เหตุผล
แม้การกระทำานั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ
 
 
ประเด็นที่ 7
ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ
 
ข้อเสนอ
1. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำาความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
2.ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำาความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
เหตุผล
1. เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำาบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต
 
2.โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ จึงสมควรให้ทำาหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, 27 มีนาคม 2554.
 
นิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร www.enlightened-jurists.com
 
 
ท่านสามารถดาวน์โหลดข้อเสนอ+ร่างพระร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ ฉบับเต็มได้ที่

http://www.enlightened-jurists.com/blog/27

 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘หมอตุลย์’ เห็นควรแก้ ม.112 ป้องกันกลั่นแกล้งทางการเมือง

Posted: 27 Mar 2011 04:43 AM PDT

น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี ให้สัมภาษณ์ต้องมีมาตรา 112 อยู่ แต่เห็นด้วยแก้ไข เพราะถูกใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง เสนอให้หน่วยพิเศษฟ้อง-ลดโทษขั้นต่ำ เพื่อให้มีหมายเรียก มีการประกันตัว

27 มี.ค.54 น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี เดินทางมาร่วมงานเสวนาเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จัดโดยกลุ่มนิติราษฎร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ หรือมาตรา 112 ว่า โดยส่วนตัวเห็นว่ากฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ยังต้องมีอยู่ เนื่องจากกษัตริย์ควรมีสถานะที่สังคมให้ความเคารพสักการะ แต่กระบวนการดำเนินคดีที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันนั้นเห็นว่าเกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณี อย่างไรก็ตาม ควรจะมีการแก้ไขในขั้นตอนเริ่มต้นการดำเนินคดี จากที่เปิดกว้างให้ผู้ใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ควรมีกระบวนการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง เช่นอาจให้อัยการพิเศษ หรือหน่วยงานพิเศษเป็นผู้พิจารณาและดำเนินการฟ้องคดี

ในส่วนของอัตราโทษที่ถูกวิจารณ์ว่าสูงเกินไปนั้น น.พ.ตุลย์เห็นว่าบทลงโทษที่สูงก็แปลว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้ผู้ใดกระทำ ต่อให้มีโทษถึงประหารชีวิต ถ้าไม่มีการกระทำผิดก็ไม่มีใครถูกประหาร อย่างไรก็ดี การออกหมายจับทันทีโดยไม่ออกหมายเรียก หรือการไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากโทษหนักเกินกว่า 3 ปีนั้นก่อให้เกิดปัญหา ดังนั้นจึงอยากให้แก้ไขโทษต่ำสุดที่อาจเริ่มต้นที่ 6 เดือน เพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกและผู้ต้องหามีสิทธิประกันตัว อีกทั้งในบางกรณีที่ไม่ใช่การดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายอย่างชัดเจนก็ไม่ควรต้องโทษถึง 3 ปี เช่น การกล่าวกระทบกระเทียบ หรือการไม่ยืนในโรงหนัง

“โจทย์หลักของผมคือเห็นว่ามีการกลั่นแกล้งกันจริง แต่ไม่ทุกเคส และทำอย่างไรให้คนที่ถูกกลั่นแกล้งไม่โดนอีก หรือไม่เกิดการกลั่นแกล้งกันอีก” น.พ.ตุลย์กล่าว

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดของนักวิชาการจากกลุ่มนิติราษฎร์ที่เคยเสนอว่าการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ควรจะกระทำได้ตามกรอบของกฎหมาย สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตย น.พ.ตุลย์ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าควรมีการวิจารณ์ได้ แต่เส้นแบ่งก็เบาบางมากระหว่างการวิจารณ์หรือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท จึงอยากให้มีหน่วยงานพิเศษพิจารณาเรื่องนี้ และหน่วยงานนั้นก็ควรนำแนวคิดนี้มาพิจารณาด้วย

เมื่อถามเห็นอย่างไรที่ในปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่อง มาตรา 112 หลายรูปแบบ ทั้งเสนอให้แก้ไขรวมถึงเสนอให้ยกเลิก นพ.ตุลย์ กล่าวว่า แต่ละกลุ่มก็คงมีเหตุผลแตกต่างกันไป

“ผมเอา แต่ขอแก้ไข เพราะเห็นข้อดีและข้อเสียในตัวกฎหมาย หลายคนก็คงเห็นตรงกันว่าสมควรปรับปรุง ในทางกลับกัน ถ้ากลุ่มรณรงค์อยากให้ยกเลิกทำเพื่อจะได้หมิ่นโดยไม่ถูกลงโทษ อันนี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม”

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่นำเอาสถาบันกษัตริย์มากล่าวหาบุคคลต่างๆ จนเป็นกระแสหลังรัฐประหาร นพ.ตุลย์กล่าวว่า ถ้าไม่มีผู้กระทำการให้เป็นประเด็นก่อน อีกฝ่ายก็ไม่สามารถยกประเด็นมากล่าวหากันได้ ตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดึงสถาบันกษัตริย์มาพูดบนเวทีทางการเมืองด้วย เพียงเพราะ ‘ความเชื่อ’ ว่าสถาบันกษัตริย์เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงและมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม มีการโต้เถียงระหว่างน.พ.ตุลย์กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาฟังสัมมนาครู่หนึ่ง และระหว่างที่น.พ.ตุลย์เดินทางกลับมีเสียงโห่จากกลุ่มคนที่ร่วมมาร่วมงานและอยู่บริเวณลานโล่งของคณะนิติศาสตร์จำนวนหนึ่ง
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานเสวนา ‘นิติราษฎร์’ : ปัญหามาตรา 112

Posted: 27 Mar 2011 04:32 AM PDT

กลุ่มนิติราษฎร์ วิพากษ์ปัญหากฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งในแง่ตัวบท กระบวนการบังคับใช้ และอุดมการณ์เบื้องหลัง วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ระบุ เป็นปัญหาอุดมการณ์เบื้องหลังพอๆ กับตัวบท

 

วันที่ 27 มีนาคม 2554 กลุ่มนิติราษฎร์ จัดเสวนาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ธีระ สุธีวรางกูร, สาวตรี สุขศรี และปิยบุตร แสงกนกกุล

วรเจตน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า นิติราษฎร์จัดการเสวนามาหลายครั้งโดยพูดเรื่องรัฐประหาร กษัตริย์ กองทัพ ตุลาการ และที่ผ่านมาก็เป็นที่ทราบว่าบทบัญญัติมาตรา 112 เป็นปัญหาที่พูดถึงกันอยู่มาก  มีการจัดเวทีวิชาการเป็นระยะๆ ในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่ปรากฏข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมจากปัญหาที่มีการพูดกันไว้ คณะนิติราษฎร์เห็นว่าเพื่อให้ลงลึกในแง่ของของเสนอที่เป็นรูปธรรมจึงจัดการเสวนาครั้งนี้ นี่ไม่ใช่การดำเนินการทางการเมืองแต่เป็นการดำเนินการทางวิชาการ ซึ่งจะมีคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง แม้ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะมีผลทางการเมืองต่อไปก็ตาม แต่การเสวนาครั้งนี้เป็นเวทีวิชาการและต้องได้รับการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการด้วย แต่ผลของการเสวนาจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับการตอบสนองในวงกว้างของสาธารณะต่อไป ยืนยันว่าการจัดเสวนาเป็นการแสดงจุดยืนทางวิชาการ

สาวตรี อธิบายความรู้พื้นฐานมาตรา 112 ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อความว่า ผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

มาตรานี้ มีโทษ 3 ประการคือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่คำถามคือ เข้าใจหรือไม่ว่าคำเหล่านี้มีความหมายอย่างไร

ความหมายในการหมิ่นประมาทและการดูหมิ่นที่เกิดกับบุคคลธรรมดาอยู่ที่มาตรา 326 คือ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับคำว่าหมิ่นประมาท ในมาตรา 112

ส่วนความผิดเรื่องดูหมิ่น ถูกระบุในบทลหุโทษ มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน

ส่วนว่าอะไรคือการหมิ่นประมาทนั้น ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก คือ

หนึ่ง ใส่ความ คือ การกล่าวร้ายด้วยข้อเท็จจริงที่อยู่ในอดีต หรือในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือเท็จ ไม่ใช่การพูดถึงลอยๆ เช่นการกล่าวร้ายกว่านาย ก. คอร์รัปชั่น

สอง ต้องกระทำกับบุคคลที่ 3 ไม่ใช่กับตัวผู้ถูกใส่ความเอง

สาม เจาะจงตัวผู้ถูกใส่ความได้ ต้องระบุตัวตนได้ ถ้าระบุไม่ได้ ความผิดฐานหมิ่นประมาทยังไม่เกิด เช่น การเดินเข้ามากล่าวหาว่าคนในห้องเสวนาทั้งหมดมีการกระทำผิดฐานล้มเจ้า ถือเป็นการหมิ่นประมาทเป็นหมู่คณะ

สี่ การกระทำนั้นน่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความได้รับความเสียหาย เช่น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเรื่องหมิ่นประมาทไว้ใน มาตรา 326, 134, 133, และมาตรา 112

ความผิดฐานดูหมิ่นไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงข้อเท็จจริง แค่เพียงการพูดแสดงความคิดเห็นลอยๆ ก็ผิดได้ ถ้าเป็นการแสดงความดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท ไม่จำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงประกอบ กฎหมายถือว่าเป็นการลดหรือดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องรับโทษ

การดูหมิ่น ถูกบัญญัติใน 133, 134, 198, 393, และมาตรา 112

สมมติมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นให้นายน้ำเงิน และนางเหลือง ได้ร่วมกันหรือจ้างวานนายเขียวให้ไปฆ่านายแดง  แล้วมีการพูดว่า คุณนายน้ำเงินกับนายเหลืองจ้างวานไปฆ่านายแดง ถามว่ามีการดูหมิ่นแล้ว มีการประกาศไปยังบุคคลที่สาม เจาะจงบุคคลชัดเจน อย่างนี้ครบองค์ประกอบหมิ่นประมาทชัดเจน

แต่ถ้าเซ็นเซอร์ เช่น......กับ......สั่งฆ่า เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เมื่อเจาะจงไม่ได้ ไม่เป็นหมิ่นประมาท

ส่วนการอาฆาตมาดร้าย เป็นการขู่เข็ญด้วยกริยา หรือวาจาว่าจะทำให้เกิดภยันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสิทธิเสรีภาพด้วยวิธีการใดๆ บัญญัติไว้ในมาตรา 112, 134 และ 133

ความต่างอย่างสำคัญของหมิ่นประมาทกับดูหมิ่นคือ หมิ่นประมาท ส่งผลต่อชื่อเสียงเกียรติยศ ขณะที่การดูหมิ่น ถูกลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในด้านความชัดเจนของบทบัญญัติ กรณีหมิ่นประมาทชัดเจนพอสมควร แต่มีปัญหากับคำว่าดูหมิ่น เป็นการใช้อัตวิสัยล้วนๆ ปัญหา 112 อยู่ที่ถ้อยคำ ดูหมิ่น ที่เน้นอัตวิสัยเป็นสำคัญ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวถึงปัญหาเชิงอุดมการณ์ที่กำกับในมาตรา 112 ว่าตัวบทมาตรา 112 พูดถึงการกระทำในสามลักษณะ คือหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย มาตรา 112 ใช้ถ้อยคำเชิงตำแหน่งชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาทและผู้แทนพระองค์

ปัญหาของตัวบทที่เห็นได้ง่ายที่สุด คืออัตราโทษ เป็นปัญหาที่ต้องยอมรับว่าโทษที่กำหนดในมาตรา 112 มีความรุนแรงจริง เมื่อเปรียบเทียบกับโทษที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้แตกต่างกันอย่างมาก ดังเช่น พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ร.ศ. 118 มาตรา 4 โทษปรับหนึ่งพันห้าร้อยบาท จำคุกไม่เกินกว่าสามปี

ต่อมาบทบัญญัติมาตราดังกล่าวถูกนำไปเขียนในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 98 โทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง

มาตรา 100 การหมิ่นประมาทพระราชโอรส ราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัว จำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง  มาตรานี้ยกเลิกโดย พ.ร.บ.อาญา พ.ศ. 2477

ประมวลกฎหมายอาญา 112 เดิมต้องระวางโทษไม่เกินเจ็ดปี ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ ต่อมาถูกแก้ไขโดยเป็นไปตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หลัง 6 ตุลาคม 2519 กำหนดให้ระวางโทษตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี

บทบัญญัติที่ใช้ในปัจจุบันบัญญัติโทษขั้นต่ำไว้ ต้องลงโทษจำคุกอย่างน้อยสามปี ก่อนหน้านั้นไม่มีโทษขั้นต่ำคือจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ แต่การบัญญัติใหม่มีช่วงกว้างของโทษ 12 ปี ศาลจึงมีดุลพินิจกว้าง

ปัญหาคือ โทษที่กำหนดลักษณะแบบนี้พอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ในขณะที่คนธรรมดาจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่มาตรา 112 แม้ศาลจะเห็นว่าเป็นความผิดจริงแต่ไม่มาก ก็ต้องลงโทษอย่างน้อยสามปี เพราะอัตราโทษที่บัญญัติไว้รุนแรง

นี่คือปัญหาประการแรกของมาตรา 112 และความไม่สมเหตุสมผลคือ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำคุกไม่เกินสามปีและเจ็ดปี แต่ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญกลับกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

ปัญหาประการต่อมาคือ การกำหนดโครงสร้างความผิดเรื่องพระมหากษัตริย์นั้น ในโทษอื่นๆ จะแยกระหว่างกษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ไว้ต่างหากจากกัน เช่น การประทุษร้าย ในขณะที่การหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย กำหนดโทษเท่ากันในทุกส่วน นี่คือปัญหาความไม่สมเหตุสมผล

ปัญหาประการถัดมา คือการไม่มีเหตุยกเว้นความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา กฎหมายเปิดช่องให้มีเหตุยกเว้นความผิด คือ การติดชมด้วยความเป็นธรรม แปลว่าถ้าได้กระทำไปด้วยความชอบธรรมเป็นวิสัยพึงกระทำได้ไม่เป็นความผิด แต่ขณะที่การหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 แม้จะเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมก็ไม่ได้กำหนดเหตุยกเว้นความผิดเอาไว้

ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ด้วยว่าบทบัญยัติยกเว้นความผิดหมิ่นบุคคลธรรมดาเอามาใช้กับการหมิ่นกษัตริย์ รัชทายาทไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเข้าองค์ประกอบ 112 แล้วไม่มีเหตุยกเว้นความผิด

นี่คือปัญหาเชิงสารบัญญัติ

ปัญหาในวิธีสบัญญัติ คือกรณีที่มีการดำเนินคดีนั้นกฎหมายเปิดช่องให้บุคคลใดก็ได้เป็นผู้กล่าวโทษ เช่น วันนี้ใครมาฟังผมพูดก็ไปแจ้งความว่าผิดม.112ได้ ทั้งๆ ที่ผมเองไม่ได้พูดเข้าข่ายเลยและแม้องค์กรของรัฐจะไม่ต้องการดำเนินการก็ตาม อย่างไรก็ตาม การแจ้งความเช่นนั้นก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จ

เวลาที่ไปดำเนินคดีต่อศาล ศาลเองใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 117 คือพิจารณาลับ เพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ เรารู้จักกันดีในคดีของคุณดา ตอร์ปิโด ใช้หลักการดำเนินคดีเป็นความลับ เพื่อประโยชน์แห่งศีลธรรมอันดีของประชาชน ความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อความปลอดภัยของประเทศ ทำให้การตรวจสอบการดำเนินคดีของศาลในลักษณะนี้เป็นไปได้ยาก

และมิหนำซ้ำ ทนายความของคุณดา ตอร์ปิโด ได้ยกเอาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาใช้ว่า การพิจารณาโดยลับขัดต่อรัฐธรมนูญและมาตรา 211 เมื่อมีการหยิบประเด็นนี้มาโต้แย้งในศาล รธน. ซึ่งบังคับให้ศาลต้องส่งประเด็นนั้นไปให้ศาลรธน. พิจารณาเสียก่อน แต่ปรากฏว่าศาลในคดีดังกล่าวไม่ดำเนินการ และเมื่อมีคำพิพากษาแล้วได้มีการอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าต้องส่งไปให้ศาลรธน. พิจารณาเสียก่อน จึงให้ยกคำพิพากษานั้นเสียก่อน แต่ปัจจุบันคุณดา ตอร์ปิโด ยังถูกขังอยู่ แม้ว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่บกพร่องของศาล

นี่คือปัญหาในระดับตัวบท ซึ่งอยู่ในกระบวนการในกระบวนการยติธรรม

ปัญหาที่สำคัญกว่าคือปัญหาในระดับอุดมการณ์  และหลายๆ กรณีเป็นปัญหาเรื่องการใช้และการตีความของศาลด้วย วันนี้ถ้าถามว่าเราปกครองระบอบไหน ก็บอกว่าเราปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมเติมให้อีกก็ได้ว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ตัวกฎหมายมันเกิดขึ้นจากภาษา ตัวกฎหมายไม่มีชีวิตแต่ถูกใช้โดยองค์กรที่ใช้กฎหมาย ศาลมีอำนาจในการตีความ ซึ่งสำคัญ รุนแรงและอาจจะร้ายกาจได้ด้วย

หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หมายความว่าอย่างไรในแง่ของคนทั่วๆ ไป แต่การให้ความหมายมันสัมพันธ์กับสำนึกด้วยว่า เป็นการให้ความหมายในการปกครองแบบใด  การปกครองต่างระบอบกัน ผลที่เอาไปใช้ไม่เหมือนกัน ในระบอบสมบูรณ์อาจหมายถึงการไม่แสดงความเคารพ เพราะว่ากษัตริย์ในระบอบนั้นมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่คำๆ เดียวกันเมื่อเอามาใช้ในอีกระบอบหนึ่ง การให้ความหมายอาจจะไม่เหมือนกัน คือ คนธรรมดหมายความว่าอย่างไร กษัตริย์ก็ต้องเหมือนกัน ไม่เหมือนไม่ได้ เพราะกฎหมายเป็นแบบดียวกันใช้ถ้อยคำเดียวกัน

 

แต่ในเชิงอุดมการณ์นั้นมีผลมาก เมื่อเราไม่ได้เข้าใจระบอบ สำนึกก็เป็นระบอบเดิม แนวโน้มของการตีความของมาตรานี้มันอาจจะกว้าง เซ้นซิทีฟ แตะต้องได้ยาก หรือแตะต้องไม่ได้ แล้วทำไมจึงเกิดระบอบหรืออุดมการณ์แบบนี้

เรื่องนี้อาจย้อนกลับไปถึงการเสวนาวันที่ 10 ธ.ค.2553 เมื่อ รธน. เองก็สื่ออุดมการณ์บางอย่างผ่านตัวบท แม้จะมีอุดมการณ์หลักคือการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การอภิปรายในสภาสมัยรัชกาลที่ 7 เรื่องการวีโตของกษัตริย์นั้น มีการอภิปรายโต้แย้งเรื่องการใช้อำนาจวีโต้ของกษัตริย์ว่าแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่การอภิปรายในสภาที่เพิ่งผ่านไป เห็นว่าทำไม่ได้ ไม่สมควรจะพูดถึงเลย นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนอุดมการณ์ของรัฐ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงพูดถึงเฉพาะเรื่องตัวบทกฎหมายไม่ได้ แต่ต้องพูดถึงอุดมการณ์ด้วย

ซึ่งรื่องนี้ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยกล่าวโยงถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 8 คือ พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

ผมจะอธิบายว่าบทบัญญัติในมาตรา 8 เป็นบทบัญญัติในกรอบของหลักประชาธิปไตย การบัญญัติให้เป็นที่เคารพสักการะ คือ ต้องพ้นไปจากการเมือง การพ้นไปจากการเมืองเท่านั้นที่จะเป็นที่เคารพสักการะได้ เพราะการเมืองมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ  รธน. ต้องการให้กษัตริย์พ้นไปจากการเมือง ดังนั้นการใช้มาตรา 112 ต้องไม่พันกับมาตรา 8 ถ้าสำนึกของคนใช้กฎหมายเป็นไปในทิศทางนี้จะลดปัญหาลง แต่ในทางปฏิบัติยังคงเป็นแบบเดิม

การปรับเปลี่ยนทางอุดมการณ์เป็นเรื่องใหญ่และยาก

บางคดีที่เกิดขึ้นในศาลปกครอง คดี JTEPA ที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคนไปฟ้องศาลปกครอง ศาลบอกว่าฟ้องไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ แต่ในคดีลงนามความเข้าใจร่วมไทย-กัมพูชา กรณีคุณนพดล ปัทมะ ศาลปกครองรับพิจารณา และสั่งระงับชั่วคราว ต่อมาคดี JBC ศาลปกครองตัดสินตามคดี JTEPA ท่านจะเห็นว่าคดีที่คล้ายคลึงกันผลของการตัดสินไม่เหมือนกัน สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือวิธีคิด ทำอย่างไรให้สำนึกทางนิติศาสตร์ขยับเข้าใกล้ไอเดียของประชาธิปไตยมากที่สุด ถ้าทำได้ก็จะรับกันกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ปัญหา 112 จะลดลง

การพูดประเด็นนี้มันหลีกเลี่ยงเรื่องการพูดในแง่อุดมการณ์ไม่ได้

กล่าวโดยสรุป ปัญหาของมาตรา 112 เป็นปัญหาสองระดับซ้อนกันคือ ตัวบท สารบัญญัติและสบัญญัติ และอีกประการคืออุดมการณ์ที่เป็นตัวกำกับการตีความ การแก้ปัญหาต้องไปด้วยกัน พร้อมๆ กัน

ปิยบุตร แสงกนกกุล ยกคำกล่าว “การขัดขวางมิให้ประชาชนได้ก่อตั้งทางเลือกของพวกเขาเอง ถือเป็นอาชญากรรมฐานหมิ่นมนุษยชาติ” เป็นคำกล่าวของแม็กซีมิเลียน ขณะที่หลุยส์ อังทูซแซ เคยกล่าวซึ่งอาจสรุปโดยย่อว่า การยึดครองอำนาจรัฐทำไม่ได้หากไม่ได้ยึดครองอุดมการณ์ด้วยและการต่อสู้ทางอุดมการณ์เป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ผลัดกันแพ้ชนะมายาวนาน

กฎหมายคือภาษาหรือวาทกรรมที่ถูกทำให้เป็นเรื่องในทางกฎหมายโดยอาศัยอำนาจทางการเมือง

กฎหมายคือภาษา คือ กฎหมายผันแปรเลื่อนไหลไปได้เรื่อยๆ ตามแต่บริบทและสถานที่ เป็นไปได้ที่จะถูกแอคเตอร์ใช้ กฎหมายไม่มีวัตถุประสงค์ในตัวเอง แต่เป็นอดุมการณ์ของแอคเตอร์ที่ทำให้กฎหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์

สอง กฎหมายยึดโยงกับอำนาจทางการเมือง ซึ่งอุดมการณ์ทำหน้าที่เป็นตัวเรียก เช่น หากมีคนเชื่อมั่นเรื่องพระเจ้า อุดมการณ์ในเรื่องพระเจ้า ท่านจะดำเนินกิจกรรมของท่านโดยคิดว่าตัวเองมีเสรีภาพในการสร้างจิตสำนึกของท่านเอง แต่จริงๆ ไม่ใช่ เช่นการเชื่อในพระเจ้า ไปร่วมในโบสถ์ ในศาสนพิธี รู้สึกผิดบาป หรือเมื่อมีความเชื่อในเรื่องกฎหมาย ความยุติธรรม เป็นอุดมการณ์กำกับ ท่านก็จะมีวัตรปฏิบัติโดยเชื่อว่าตัวเองเป็นประธานของกิจกรรมของท่านเอง

คนที่เชื่อเรื่องกฎหมาย คือท่านเชื่อว่ากฎหมายคือแหล่งที่มาของความชอบธรรมในการใช้อำนาจ เป็นกลาง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง อุดมการณ์ไปครอบตัวกฎหมายเอง เมื่ออุดมการณ์เหล่านี้ไปครอบงำตัวกฎหมาย บรรดา แอคเตอร์กระทำการทางกฎหมายก็จะกระทำไปโดยสอดรับกับอุดมการณ์เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

เมื่อสองมุมนี้มาผสมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

หนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ และผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายอุดมการณ์กษัตริย์นิยม

สอง ผู้พิพากษาเจ้าหน้าที่ตลอดจนองค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดต่างมีอุดมการณ์ ราชาชาตินิยม กำกับ

ขณะที่ความเป็นกฎหมาย สร้างอุดมการณ์ที่ว่าผู้พิพากษาดำรงตนอย่างปราศจากอคติและตัดสินอย่างเป็นธรรม การจตัดสินของศาลถือเป็นที่สุด ทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพ “กฎหมาย” มีความเป็นกลาง และเมื่อสิ่งใดที่มาตามกฎหมายย่อมถือว่าชอบธรรม

ผลที่ตามมาคือ การตัดสินคดีก็มีโอกาสที่จะไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหา และคำพิพากษาต้องเป็นที่ยุติ

ฉะนั้นอุดมการณ์จึงมีความสัมพันธ์กับกฎหมาย

ท่านจะไม่มีทางเห็นเลยที่สมาชิกสภานิติบัญญัติจะเสนอให้แก้กฎหมายหมิ่น และไม่เห็นการพิจารณาลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักพระราชวัง จะไม่มีทางเห็นว่าศาลจะยกฟ้องจำเลยหรือลงโทษจำเลยเพียงเล็กน้อยหรือรอลงอาญาในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

การเสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 ถ้ารณรงค์เสร็จแล้ว เสรีภาพในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นทันทีหรือไม่ ก็ย่อมไม่ แต่เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์อันหนึ่งท่ามกลางกระแสการต่อสู้ระหว่างอุดมกาณณ์ประชาธิปไตยกับรอยัลลิสม์ และการเสนอนี้เสนอประกอบกับการพิจารณาจากเพดานของกฎหมายไทยปัจจุบัน

เรื่องต่อไปคือ เหตุผล 9 ข้อที่ต้องแก้ 112

1 บรรดารอยัลลิสม์ไทยบอกว่า ประเทศอื่นๆ ก็มีกฎหมายนี้ ซึ่งก็ถูกต้อง บางประเทศที่มีประธานาธิบดีก็มีกฎหมายห้ามหมิ่นประมุขของประเทศ แต่เขาไม่ได้เอามาใช้หรือเอามาใช้แค่โทษปรับ บางประเทศเคยมีและยกเลิกแล้ว ฉะนั้น ม. 112 ที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกในระบอบประชาธิปไตยก็ถูก แต่ที่เขามีไม่เหมือนเรา

2 บุคคลทั่วไปยังมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทคุ้มครองเลย แล้วจะไม่ให้มีกฎหมายคุ้มครองกษัตริย์เลยหรือ คำตอบคือ ถูกต้อง มีได้ แต่กฎหมายลักษณะแบบนี้ต้องไม่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลธรรมดา หรือบางประเทศต้องการปกป้องกษัตริย์เป็นพิเศษ ก็ควรมีได้ แต่ต้องไม่แตกต่างจากบุคคลธรรมดามากเกินไป

3 แนวคิดตะวันตก อย่าเอาไปเปรียนบเทียบกันเพราะสถาบันของเรามีบารมีแตกต่าง สมมติพวกเรายอมรับตรงกัน สถาบันกษัตริย์เรามีบารมีอย่างยิ่ง เราจงรักภักดีมาก แต่เรื่องเฉพาะแบบนี้ไม่ใช่เหตุปัจจัยในการกำหนดโทษสูง หรือกำหนดให้ใครก็ได้ไปริเริ่มกล่าวโทษไปทำลายล้างกันทางการเมือง เพราะตัวเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นน่จะต้องใหญ่กว่า และอีกประการหนึ่งคือเมื่อมีบารมีเป็นที่รักและเคารพกันอย่างยิ่งแล้วจะมีกฎหมายแบบนี้ทำไม

4 ต่อให้ถูกลงโทษ สุดท้ายก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่คำตอบคือจริงในบางคดี และไม่จริงในบางคดี เป็นกรณีๆ ไป และถามว่าสมควรหรือที่ต้องให้คนติดคุกก่อนแล้วค่อยพระราชทานอภัยโทษ

5 ในเรื่องสถิติ มักบอกว่ามีน้อยมากที่จะมีคำพิพากษาถึงศาลฎีกา อธิบายอย่างนี้ไม่ได้ เพราะคดีแบบนี้ผู้ต้องหาสู้น้อยมาก ส่วนมากยอมติดคุกแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ จึงเป็นเรื่องปกติที่ตัวเลขในศาลฎีกาจะน้อยมาก ท่านไปดูศาลชั้นต้นสิว่ามีกี่คดี

5 มาตรา 112 ต้องเขียนอย่างนี้เพราะเกี่ยวพันกับความมั่นคงของราชอาณาจักร ในความเห็นผม ถ้าเป็นเรื่องลอบปลงพระชนม์ ลอบประทุษร้าย เป็นเรื่องความมั่นคงเพราะประมุขของรัฐสัมพันธ์กับรูปแบบของรัฐ แต่การที่กระทบความเสื่อมเสียชื่อเสียงของผู้นำของรัฐมันกระทบความมั่นคงของรัฐหรือไม่ ถ้าใช่ เหตุผลแบบวิญญูชนก็จะตอบได้

6 จะเดือดร้อนทำไม ก็รู้อยู่แล้ว ก็อย่าแกว่งปากหาเสี้ยนสิ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าปัญหาตัวมาตรา 112 มีปัญหาในตัวเอง สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ในตัวมันเอง

7 ต้องเข้าใจว่าแต่ละประเทศมีเรื่องต้องห้ามที่แตกต่างกัน ปัญหาคือ เรื่องต้องห้ามของต่างประเทศยืนอยู่บนพื้นฐานศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค

8 ในเมื่อสังคมไทย สถาบันกษัตริย์สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าไม่มี ม. 112 ก็จะทำให้เกิดความรุนแรง ประชาชนลงโทษกันเอง ให้กระบวนการยุติธรรมจัดการดีกว่า แต่ประเด็นคือกระบวนการยุติธรรมต้องทำให้คนไม่กระทืบกันสิ ไม่ใช่เอาคนไปไว้ในคุก เพื่อป้องกันเขาโดนกระทืบ

9 มันเป็นอุดมการณ์ของรัฐตามาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าคุ้มครองตัวพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ถ้ากระทำการอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ก็คุ้มกัน แต่ถ้าทำออกนอกแถว มาตรา 8 ก็ไม่คุ้มกัน เช่นกรณีฆวน คาร์ลอส ลงนามรับรองการรัฐประหาร มีนักศึกษาไปประท้วง ในฐานะที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองรัฐธรรมนูญแล้ว

ประเด็นที่สาม กรณีของยุโรป การทำให้องค์อธิปัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งฝ่ายศาสนจักรก็ใช้ ฝ่ายอาณาจักรก็ใช้ จนเกิดกลุ่ม Enlightenment เริ่มวิจารณ์ว่ากฎหมายแบบ Lese Majeste มีปัญหา

มองเตสกิเยอร์ เขียนเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมาย บทหนึ่งเขียนเรื่อง Lease Majeste ว่าการที่ความผิดฐานนี้ค่อนข้างกว้างจะทำให้รัฐบาลใช้อำนาจนี้โดยไม่ชอบ กดขี่ผู้อื่น มันจะอันตรายขนาดไหน ถ้ารัฐๆ หนึ่งลงโทษคนด้วยความผิดฐานนี้จำนวนมาก

ในยุคที่ Enlightenment เติบโตขึ้นก็มีการหลบเลี่ยงไปใช้ละคร วรรณกรรม สมุดปกขาว ข่าวฉาวคาวโลกีย์ต่างๆ  

ปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มยกเลิกฎหมายนี้ไป สุดท้ายความผิดฐาน Lese Majeste คนที่ชี้ดขาดจะต้องบาลานซ์สองสิ่งคือ ชื่อเสียงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

รัฐในยุโรปให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากกว่า แต่ของเราอาจจะให้เรื่องชื่อเสียงมากกว่า ซึ่งอาจแบ่งลักษณะการใช้กฎหมาย Lese Majete ได้สามกลุ่มคือ

กลุ่มแรก ประเทศที่มีกฎหมาย แต่ไม่เอามาใช้ มีหลายประเทศในยุโรป เช่น เดนมาร์ก ให้ไปใช้แบบหมิ่นคนธรรมดา มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 เดือน แต่มีม. 115 ในกฎหมายอาญาว่าโทษดับเบิ้ลเป็นสองเท่าถ้าคนที่ถูกหมิ่นเป็นกษัตริยและราชวงศ์ แต่ไม่มีการนำมาใช้เลย จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กลุ่มกรีนพีซบุกเข้าไปที่งานเลี้ยงที่พระราชินีเป็นเจ้าภาพ และอาจจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกใช้มาตรา 115

สอง มีแต่เอามาใช้เป็นครั้งเป็นคราว และเมื่อนำมาใช้ก็มักลงโทษปรับ เช่น เนเธอแลนด์ ล่าสุด คือไปเรียกควีนเบียทริซว่า กะหรี่ หรือกรณีของสเปน ศาลสั่งปรับนักเขียนการ์ตูนรายหนึ่งเนื่องจากเขียนการ์ตูนล้อเลียนเจ้าชายฟิลิเปกำลังมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าหญิงเลติเซีย โดยเขียนว่าต้องรีบมีลูกเพื่อจะได้รับค่าเลี้ยงดูบุตรเพิ่มจากรัฐบาล

ล่าสุดสเปน มีคนถูกตัดสินจำคุก 1 ปี และศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินว่า การตัดสินจำคุก 1 ปีเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นมาตรการที่ไม่จำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย เพราะการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำไม่ได้ และยิ่งเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะยิ่งไปห้ามแสดงความเห็นไม่ได้ บุคคลสาธารณะต้องอดทนอดกลั้นกว่าบุคคลทั่วไป แน่นอน และการพูดถึงกษัตริย์เป็นการพูดถึงตัวสถาบัน

แม้ประมวลกฎหมายอาญาของสเปนเขียนปกป้องสถาบันกษัตริย์ต่างหากจากบุคคลทั่วไป แต่การกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐแตกต่างไปนั้นไม่ชอบ การอ้างว่าสถาบันกษัตริย์เป็นกลางทางการเมืองก็ป้องกันการวิจารณ์ไม่ได้ และแม้ รธน. เขียนป้องกันไว้ก็ไม่ได้ห้ามคนวิจารณ์กษัตริย์ และโทษ 1 ปี นั้นมากเกินไปเมื่อเทียบกับการกระทำความผิด

กลุ่มประเทศที่สาม มีกฎหมาย Lese Majeste และนำมาใช้ลงโทษจำคุกบ่อยๆ เช่น โมร็อกโก โทษจำคุกต่ำสุดสามปี สูงสุดห้าปี หรือประเทศตุรกี ห้ามหมิ่นประมุขที่ตายไปแล้วด้วย อิหร่านก็ห้ามหมิ่นผู้นำสูงสุดด้วย

สาวตรี นำเสนอภาพรวมคดีความผิดมาตรา 112 โดยอ้างข้อมูลขจากเดวิด สเตรคฟัส นักวิชาการอิสระว่า

ระหว่าง พ.ศ. 2535-2547 มีคดีม. 112 เฉลี่ยมีการฟ้องคดี 0.8 คดีต่อปีเท่านั้น รวมแล้วน้อยกว่า 10 คดี

พ.ศ. 2548-2552 มีคดี 547 เฉลี่ยปีละ 109 คดี ถ้าพิจารณาพบว่าเพิ่มขึ้น 13,000 เปอร์เซ็นต์ หรือ 131 เท่า และมีคดีที่ศาลตัดสินว่าผิดแล้วจำนวน 247 คดี และปัจจุบัน จะมีการพยายามเอามาตรา 112 ไปผนวกกับกฎหมายคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมี 31 คดี

ปัญหาแรก

กฎหมายของไทยมี 2 แบบคืออาญาแผ่นดินกับอาญาส่วนตัว คดีลักษณะนี้คือคดีอาญาแผ่นดิน ถ้าใช้หลักการใครฟ้องก็ได้นี้ ถ้าเราใช้หลักนี้กับกฎหมายอาญาอื่นที่มีความชัดเจน ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในเชิงภาววิสัย ก็จะไม่มีปัญหา ใครฟ้องก็ได้ ใครกล่าวโทษก็ได้

แต่ในทางกฎหมายอาญาที่ใช้หลักใครฟ้องก็ได้ นำไปใช้กับคดีมาตรา 112 ที่ขึ้นกับอัตวสิสัยของแต่ละบุคคล ประชาชน 108 คนมีความเห็น 108 อย่าง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นเครืองมือทางการเมือง

ปัญหาข้อ 2 หลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันอย่างแท้จริง มีหลักประกันอะไรบ้าง เช่น การมีสิทธิมีทนายความในการต่อสู้ แต่ปรากฏว่าหลายๆ ครั้ง ผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันสิทธิ เรื่องแรกคือ คดีที่ไม่เป็นคดี กรณีหญิงสาวท่านหนึ่งเอาเอกสารไปเผยแพร่ แล้วโดนประชาชนด้วยกันจับส่งตำรวจ แต่ไม่มีการตั้งข้อหา แล้วบอกตำรวจว่าช่วยดูหน่อย เพราะมีการแจกเอกสารบางอย่างที่หมิ่นเหม่ ตำรวจรับตัวไว้ ตำรวจไม่แจ้งข้อหา หญิงสาวคนดังกล่าวถูกกักตัวเอาไว้ที่สถานีตำรวจ 5 ชม. และต้องลงนามรับรองเอกสารที่ให้ปากคำด้วย คำถามคือใช้อำนาจอะไรทั้งๆ ที่ไม่มีการแจ้งข้อหา

สอง เป็นคดีความที่เพิ่งตัดสินคือ คดีคุณหนุ่ม นปช.ยูเอสเอ ถูกตัดสินลงโทษทั้งหมด 13 ปี มีคนน้อยนักที่จะทราบว่าช่วงที่หนุ่ม นปช. ถูกจับและสอบสวน เขาพยายามร้องขอจากเจ้าพนักงานเพื่อโทรศัพท์หาญาติให้มาร่วมรับฟังด้วยแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง นั่นหมายความว่าสิทธิเหล่านี้ไม่ได้รับการประกันเลยในผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดม.112

สาม มีเหตุอันควรเชื่อว่า ทุกวันนี้ด้วยเหตุผลที่ต้องการดำรงคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา 112 มีการใช้การพิจารณาคดีอย่างไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย ล่าสุดคือคุณธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอประกาศว่า มีการออกหมายจับไปแล้ว 50 ราย แต่คำถามคือ ออกหมายจับแล้วทำไมไม่จับ เพราะหลักในการออกหมายจับมี 4 องค์ประกอบคือ

1 เมื่อผู้กระทำผิดมีหลักฐานชัดเจน

2 ป้องกันไม่ให้ผู้นั้นไปก่อเหตุร้ายได้อีก

3 ป้องกันการข่มขู่พยานหรือยักย้ายหลักฐาน

4 เพื่อแจ้งข้อหา ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

แม้ ป.วิอาญา จะไม่ได้บอกให้รีบจับ และบอกว่าใช้ได้ตลอดจนกว่าจะจับตัวได้ แต่ด้วยเจตนารมณ์ของการจับสี่ข้อที่ว่าไป เราตีความอย่างอื่นไม่ได้เลยสำหรับการออกหมายจับแล้วมาแถลงว่ามีการออกหมายจับ แต่ไม่จับ นี่คือการใช้กฎหมายในลักษณะข่มขู่มากกว่าป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด การข่มขู่ทำได้หมด ทั้งการข่มขู่ประชาชนโดยทั่วไปให้เกิดความเกรางกลัว เป็นการใช้กฎหมายที่ขัดกับเจตนารมณ์ทั้งสิ้น

ปัญหาที่ 2 คือการพิจารณาคดีแบบลับ ซึ่งมีปัญหาว่า

1 ประชาชนทั่วไปตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่ได้

2 สื่อทำข่าวไม่ได้

3 รายละเอียดของคดี ที่ถูกถือว่าพิจารณาลับนั้นจะไม่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกา

4 ขัดกับหลักการพิจารณาคดีทั่วไปที่ต้องเปิดเผยและทำต่อหน้าจำเลย

 

ติดตามอ่านข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 จากกลุ่มนิติราษฎร์โดยละเอียดและคำอภิปรายจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ที่นี่

 

 

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เยอรมันชนและคนอิตาลีประท้วงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

Posted: 26 Mar 2011 11:46 PM PDT

ประชาชนราว 200,000 คนเดินขบวนตามท้องถนนสายต่างๆ ทั่วเยอรมนีประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กดดันให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญ ส่วนที่อิตาลีประชาชนหลายพันคนเคลื่อนไหวในกรุงโรม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่

27 มี.ค. 54 -  ประชาชนราว 200,000 คนเดินขบวนตามท้องถนนสายต่างๆทั่วเยอรมนีวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีในช่วงก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญ

หนึ่งในกลุ่มผู้ จัดการประท้วงแถลงว่า ประชาชน 250,000 คนมาร่วมชุมนุมตามเมืองใหญ่ 4 แห่งที่เมืองฮัมบวร์ก โคโลญจน์ มิวนิค และกรุงเบอร์ลิน พร้อมเดินขบวนถือแผ่นป้ายที่มีข้อความระบุว่า วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ แสดงให้เห็นว่าไม่ควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกต่อไป  การประท้วงดังกล่าวมีขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในรัฐบาเดน-เวิร์ทเท มเบิร์กวันอาทิตย์ ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นประเด็นสำคัญ  ตำรวจกล่าวว่า ที่กรุงเบอร์ลินมีผู้ประท้วงกว่า 100,000 คน  ส่วนที่เมืองมิวนิคมีจำนวน 30,000 คน  ฮัมบวร์ก 50,000 คน และเมืองโคโลญจน์ 40,000 คน เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุติการเดินหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

นอก จากนี้ที่อิตาลี ประชาชนหลายพันคนเคลื่อนไหวในกรุงโรม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ หลังจากรัฐบาลประกาศแผนรื้อฟื้นการใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้าภายใน ประเทศ และจำเป็นต้องปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เดิมที่ใช้งานมานานกว่า 20 ปี เพื่อความปลอดภัย ซึ่งผู้ประท้วงกลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายเช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลกระจายไปทั่ว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, เดลินิวส์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพแรงงานอังกฤษระดมพลประท้วงนโยบายตัดสวัสดิการของรัฐบาล

Posted: 26 Mar 2011 11:10 PM PDT


 

สหภาพแรงงานอังกฤษโดยองค์กรนำอย่าง Trades Union Congress (TUC) ระดมคนประท้วงในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 54 ที่ผ่านมาร่วม 300,000 คน

นโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลที่นำโดยพรรคอนุรักษ์นิยม หวังที่จะลดงบประมาณขาดดุลในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพเศรษฐกิจถดถอย โดยมีแผนตัดลดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมลงกว่า 80,000 ล้านปอนด์ ซึ่งอาจจะทำให้มีผู้ตกงานงานราว 500,000 ตำแหน่ง

ซึ่งผู้ประท้วงเห็นว่าไม่เป็นธรรม นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุด นับแต่การประท้วงต่อต้านสงครามอิรักเมื่อปี 2546 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1 ล้านคน

ทั้งนี้ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้จัดการประท้วงต้องการเคลื่อนไหวอย่างสันติแต่มีกลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนพยายามก่อความรุนแรง จนเกิดการปะทะกับตำรวจ รวมถึงมีการบุกยึดสถานที่ต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง เช่นโรงแรมและธนาคาร โดยกลุ่มผู้ประท้วง ทั้งนี้มีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 35 คน เป็นตำรวจ 5 นายและผู้ประท้วง 30 คน และมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 202 คน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ศิวิไลซ์" ใน "หายนะ"

Posted: 26 Mar 2011 09:49 PM PDT

ความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ “สึนามิ” โศกนาฏกรรมที่เพิ่งเกิดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น หรือ เขต Tohoku มีความรุนแรงถึงระดับ 9.0 ริกเตอร์ นับเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และเป็นอันดับ 5 ของโลก คลื่นสึนามิครั้งนี้ความเร็วถึง 800 กม.ต่อชั่วโมง ความสูงถึง 10 เมตร ส่งผลให้จังหวัดมิยางิและจังหวัดฟุคุชิมาได้รับความเสียหายอย่างหนัก รายงานล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นกว่า 10,000 คน  ประกอบกับรายชื่อผู้สูญหายอีก 17,541 คน

สึนามินับเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากอำนาจทางธรรมชาติก่อให้เกิดหายนะเป็นภัยคุมคามที่ร้ายแรงที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้างรองลงมาจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุไซโคลน

ความเสียหายครั้งมโหฬารนี้นอกจากทรัพย์สินอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง โทรศัพท์ ประปา ไฟฟ้า  โรงกลั่นน้ำมัน รถยนต์ เรือโดยสาร รถไฟฟ้า เครื่องบินฯลฯจะพังพินาศยับเยินแล้ว แรงกระแทกจากแผ่นดินไหวทำให้ระบบทำความเย็นและดักจับธาตุซีเซียมของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาพังใช้การไม่ได้เกิดระเบิด

แรงระเบิดทำให้เตาปฏิมากรณ์ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการหลอมละลายซึ่งนั่นจะนำไปสู่การแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณมหาศาล   ระดับสารกัมมันตภาพรังสีในอากาศบริเวณภายในรัศมีรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ-ไดอิจิ อยู่ในขั้นเป็นอันตรายยิ่งต่อร่างกายมนุษย์

ธนาคารโลกประมาณการณ์ว่า มูลค่าความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิครั้งนี้จะสูงถึง 2.35 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าต้นทุนความเสียหายของเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบเมื่อปี 2538 ที่ระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าบริษัทประกันจะมีต้นทุนในการจ่ายค่าชดเชยเป็นวงเงินสูงถึง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ภาพโศกนาฏกรรมที่เต็มไปด้วยความหดหู่เศร้าสร้อยของญี่ปุ่นถูกแพร่ทางสื่อต่างๆ ใครเลยจะคิดว่าประเทศซึ่งก้าวล้ำนำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจะต้องประสบชะตากรรมอันเลวร้ายเช่นนี้

นอกจากภาพปรักหักพังของอาคาร ถนน เรือลำใหญ่ รถยนต์ เครื่องบินถูกลากซัดดูดกลืนจากคลื่นยักษ์พังพินาศย่อยยับแล้ว สื่อมวลชนได้แพร่ภาพชาวญี่ปุ่นเข้าคิวซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในภาวะหนีตาย ภาพการเข้าคิวรับถุงยังชีพของบริจาคอย่างเป็นระเบียบ และภาพขบวนรถหนีตายเรียงเป็นทิวแถวยาวเหยียดโดยไม่มีใครเอะอะโวยวาย ไม่มีรถคันไหนขับแซงกันเลยทั้งที่เลนส์ข้างๆ ก็โล่งว่าง เป็นภาพที่น่านำมาเป็นแบบอย่างด้านการบ่มเพาะประชากรด้านการรักษาระเบียบวินัยยิ่งนัก

คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ที่ได้ชื่อว่ามีระเบียบวินัย และตรงต่อเวลาเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะซื้อของ หรืออะไร คนญี่ปุ่นจะเข้าแถวกันอย่างเป็นระเบียบ ช่วงเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิยิ่งทำให้เราได้เห็นภาพเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ในสถานการณ์ลำบากเดือดร้อนขนาดนี้  ก็ไม่ได้ทำให้ระเบียบวินัยของเขาหย่อนยานลงเลยแม้แต่น้อย หากเป็นในประเทศอื่นเราอาจเห็นภาพความวุ่นวายของผู้คนที่เห็นแก่ตัวต้องการเอาชีวิตรอด หรือข่าวในบางประเทศเมื่อคราน้ำมันปาล์มขาดตลาดยังปรากฏข่าวประชาชนบางส่วนยิ่งกันซื้อแค่น้ำมันปาล์มคนละไม่กี่ขวดถึงขั้นทะเลาะชกต่อยกันให้ชวนหัว  และในหลายประเทศเวลาเกิดภัยพิบัติแบบนี้ เราจะได้ยินข่าวการปล้นสะดม ลักเล็กขโมยน้อยอยู่บ่อยๆ แต่เหตุการณ์เช่นว่านี้ไม่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น

คุณสมบัติอีกประการหนึ่งของคนญี่ปุ่นที่น่ายกย่องคือ "ความเป็นชาตินิยม" ชาวญี่ปุ่นจะรักชาติ รักวัฒนธรรมของตนเอง เราจะเห็นว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีอันก้าวหน้าทันสมัย ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมเก่าแก่แต่ครั้งโบร่ำโบราณก็ยังคงได้รับการอนุรักษ์สืบทอดแก่อนุชนตามลำดับ

ชาวญี่ปุ่นต้องช่วยตัวเองให้อยู่รอดท่ามกลางภัยพิบัติมาหลายพันปี ทั้งจากสภาพอากาศเหน็บหนาว พายุถล่ม แผ่นดินไหว น้ำท่วม เขาสั่งสอนให้ลูกหลานเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติเนื่องจากทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ครั้งบรรพชนว่าใต้พื้นพิภพที่ตนอาศัยอยู่มีสภาพแปรปรวนเช่นไร  เด็กญี่ปุ่นต้องเรียนรู้วิธีหลบภัยทั้งเวลาเกิดเหตุขณะอาศัยอยู่ภายในตัวอาคารหรือเวลาที่ควรวิ่งสู่ที่สูงเมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัย  และถูกบ่มเพาะระเบียบวินัยที่ควรปฏิบัติในกิจวัตรประจำวัน

เหตุสะเทือนขวัญจากภัยพิบัติที่คนญี่ปุ่นต้องประสบครั้งนี้   นอกจากได้เรียนรู้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  ได้เห็นความน่าสะพรึงกลัวอันโหดร้ายที่มนุษย์ต้องยอมศิโรราบให้กับพลังอำนาจของธรรมชาติแล้ว ยังได้ประจักษ์ถึงความศิวิไลซ์ของชาวญี่ปุ่นที่ควรค่าแก่การยกย่องยิ่งนัก
     
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บก.ลายจุด แนะใช้โอกาสบรรยากาศเปิด-ปชช.ตื่นตัว สร้างประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรม

Posted: 26 Mar 2011 08:43 AM PDT

เปิดตัวหนังสือ "ประชาธิปไตย...เข้าใจไหม" บก.หนังสือชี้เป็นจดหมายเหตุบันทึกการถกเถียงช่วงการต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้น บก.ลายจุด วิจารณ์การต่อสู้สองสี ทั้งเหลือง-แดง พูดเรื่องประชาธิปไตยน้อย จ้องทำสงคราม แนะใช้โอกาสบรรยากาศเปิด-ประชาชนตื่นตัว สร้างประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 54 โครงการเวทีเปิดเพื่อการสนทนาเรื่อง ประชาธิปไตย ภายใต้มูลนิธิศักยภาพชุมชน จัดงานเปิดตัวหนังสือ "ประชาธิปไตย...เข้าใจไหม?" ที่ห้อง 103 อาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"จดหมายเหตุสังคมการเมืองไทย"
พิณผกา งามสม บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ แนะนำว่า หนังสือ “ประชาธิปไตย เข้าใจไหม? บทเสวนาว่าด้วย สิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค, การเมืองภาคประชาชน, ธรรมาภิบาล และนิติรัฐ” ประมวลแนวคิด และคำนิยามจากประชาชนคนธรรมดา จากการทำกิจกรรมของมูลนิธิศักยภาพชุมชน 3 ส่วนคือ การจัดเวทีเสวนาวิชาการ โดยมีทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม ใน 4 ประเด็นหลักๆ ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลักของแต่ละบทในหนังสือเล่มนี้ ส่วนที่ 2 คือคำสัมภาษณ์จากเวทีประชาคมในจังหวัดต่างๆ รวมถึงที่บ่อนไก่ในช่วงหลังการสลายการชุมนุม และกลุ่มคนพิการ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งผู้จัดทำได้โคว้ทเอาถ้อยความหลักๆ ของผู้แสดงความเห็นแต่ละเวทีไว้ในหน้าแรกของแต่ละบท และส่วนที่ 3 คือ เวทีเสวนาของประชาคมในจังหวัดต่างๆ

บรรณาธิการหนังสือกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวคิดของผู้จัดทำโครงการที่พยายามหาคำนิยามของ "ประชาธิปไตย" จากประชาชนทั่วไป ไม่ใช่จากนักวิชาการหรือคนดัง ทั้งนี้ ในการต่อสู้ทางการเมืองมักมีการใช้คำใหญ่ๆ ซึ่งน่าสนใจว่า จริงๆ ประชาชนเข้าใจแบบไหน แต่ก็นำมาซึ่งความยากลำบากในการประมวลเนื้อหาให้กระชับรัดกุม นอกจากนี้ มองว่า การจัดทำโครงการนี้ในช่วงที่การต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง บางเวทีแลกเปลี่ยนซึ่งจัดหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงไม่นาน แม้ผู้รวบรวมข้อมูลจะตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เข้าร่วมระวังตัวและไม่พร้อมจะแลกเปลี่ยน แม้ว่ารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ก็ถือเป็นการสะท้อนทัศนคติและเหตุการณ์ หนังสือเล่มนี้จึงนับเป็นจดหมายเหตุอย่างหนึ่ง

แนะสร้างการเรียนรู้ "ประชาธิปไตย" ให้กลมกล่อม
สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นภาวะแย่งชิงนิยามของคำว่า "ประชาธิปไตย" ต่างอ้างประชาธิปไตยกันหมด อ.จรัล ดิษฐาอภิชัยเคยบอกว่านี่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องมีการดีเบตกันอย่างรุนแรง เนื่องจากมีความคลุมเครืออยู่นาน ทั้งนี้ สมบัติยกตัวอย่างว่า เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์เป็นประมุข ในที่ชุมนุมก็มีเสียงต่อท้ายว่า "โดยอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน" นี่คือการช่วงชิงนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" และดีเบตกัน ซึ่งเชื่อว่า วันหนึ่งมันจะคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม สมบัติตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมองไปที่กิจกรรมที่ผ่านมาของทั้งเสื้อเหลือง ที่บอกว่าเป็นพันธมิตรประชาชน "เพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งเรียกร้องให้ถวายคืนพระราชอำนาจ และเสื้อแดง ที่บอกว่าต้องคืนอำนาจให้ประชาชนนั้น พบว่า ต่างก็พูดถึงประชาธิปไตยน้อยมาก โดยเสื้อเหลืองจัดการศึกษาว่าด้วยความเลวร้ายของทุนสามานย์ ขณะที่ปีกเสื้อแดงใช้เวลาอธิบายความไม่ดีของระบอบอำมาตยาธิปไตย ของพันธมิตรฯ และเครือข่าย ความล้มเหลวหรือความไม่ดีของพรรคประชาธิปัตย์ และพูดเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสุดท้าย

สมบัติเสนอว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ที่ประชาชนทั้งสองฝ่ายตื่นตัว ระบบเปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยน ควรฉกฉวยโอกาสทำการศึกษาและสร้างประชาธิปไตย แทนการใช้ความโกรธเกลียดในการขับเคลื่อนและออกรบ จนกลายเป็น "สงคราม"

สมบัติย้ำว่า หากเราไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะชิงอำนาจทางการเมือง แต่เป็นการสร้างและพัฒนาประชาธิปไตย จะต้องดึงเรื่องนี้และบรรยากาศเปิดแบบนี้ให้ยาวที่สุด ทั้งนี้ มองว่า สิ่งที่ยังขาดคือ การออกแบบการศึกษาประชาธิปไตยที่กลมกล่อมสำหรับคนทุกระดับ และทำให้พัฒนาจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำไมโรงเรียนวัดไทยไม่ชอบฮิญาบ

Posted: 26 Mar 2011 07:30 AM PDT

โรงเรียนวัดหนองจอกเป็นที่สนใจของสาธารณะและสื่อมวลชนเพราะได้ปฏิเสธข้อ เรียกร้องของเด็กนักเรียนหญิงมุสลิมที่ต้องการสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมศีรษะภาย ในโรงเรียนอย่างแข็งขัน โดยหลังจากอ้างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ กฎระเบียบของวัดหนองจอก และมติคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโรงเรียนวัดหนองจอกได้อ้างมติมหา เถรสมาคมที่ว่า “ให้โรงเรียนวัดทั่วประเทศที่อยู่ภายในพื้นที่ของธรณีสงฆ์ต้องยึดวิถีพุทธ ทำตามจารีตประเพณีไทย โดยการห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ชัดเจน หากครูหรือนักเรียนไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิด” ในการไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบภายในโรงเรียน และถึงแม้ดูเหมือนว่าต่อมาทางวัดและโรงเรียนจะยอมผ่อนปรนภายใต้การเจรจาของ รัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูง แต่เงื่อนปมทางวัฒนธรรมและการเมืองอันเป็นที่มาของการปฏิเสธฮิญาบของ โรงเรียนวัดหนองจอกไม่ได้หายไปไหน ยังพร้อมจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เมื่อเงื่อนไขต่างๆ มาบรรจบกัน 

ที่ผมพูดเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับการสวมฮิญาบในสถาน ศึกษารวมทั้งสถานที่ราชการอื่นๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่ในสังคมไทย ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีมีกระแสเรียกร้องการสวมฮิญาบของนักเรียนนักศึกษาหญิงมุสลิมในสถานศึกษา ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งความขัดแย้งมีความ แหลมคมเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันนี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะสังคมไทย หากแต่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ทั่วโลกซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นพลเมืองส่วนน้อย โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสที่ความขัดแย้งแฝงนัยทางการเมืองอย่างสำคัญ โดยในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลฝรั่งเศสโดยความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ได้ผ่านกฎหมายห้ามนักเรียน โรงเรียนรัฐสวมใส่เสื้อผ้าที่แสดงสังกัดทางศาสนาที่เด่นชัด (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิม) แม้จะมีกระแสต่อต้านจากมุสลิมจากทั้งในประเทศฝรั่งเศสและทั่วโลกก็ตาม อะไรคือเงื่อนปมทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ทำให้การสวมฮิญาบในสถานศึกษาเป็นปัญหา 

นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน John R. Bowen เขียนหนังสือ “Why the French don’t like Headscarves: Islam, the State, and Public Space” (“ทำไมคนฝรั่งเศสจึงไม่ชอบผ้าคลุมศีรษะ: อิสลาม รัฐ และพื้นที่สาธารณะ”) เพื่ออธิบายว่าเหตุใดคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับดัง กล่าว เขาเสนอว่าผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิมไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง แต่สาเหตุที่มันกลายเป็นปัญหาก็เพราะว่ามันเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของ อันตรายต่อสังคมฝรั่งเศสและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นภัยคุกคามหลักการความ เป็นทางโลก (laïcité ในภาษาฝรั่งเศสหรือ secularism ในภาษาอังกฤษ) และความเป็นสาธารณรัฐ (Republicanism) ที่ชาวฝรั่งเศสยึดถือ เพราะขณะที่หลักการทั้งสองเน้นเรื่องการเคลื่อนย้ายศาสนาออกจากพื้นที่ สาธารณะและการเมือง รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเสมอภาคระหว่างเพศและภราดรภาพระหว่างพลเมือง ฮิญาบถูกวาดภาพให้มีนัยของความเป็นศาสนาอิสลามสุดขั้ว การแตกแยกเป็นหมู่เหล่า และการกดขี่สตรี จึงไปกันไม่ได้กับหลักการดังกล่าว และเพราะเหตุดังนั้นจึงไม่สามารถอนุญาตให้สวมใส่ในพื้นที่สาธารณะได้

สาเหตุที่โรงเรียนวัดหนองจอกไม่อนุญาตให้นักเรียนหญิงคลุมฮิญาบในโรงเรียนก็ วางอยู่บนเงื่อนปมทางวัฒนธรรมและการเมืองเช่นกัน เพียงแต่เป็นอีกลักษณะ เพราะรัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐทางโลกที่แยกขาดจากศาสนาอย่างเด็ดขาดอย่างเช่น ฝรั่งเศสหรือประเทศตะวันตกอื่นๆ หากแต่มีความสัมพันธ์กับศาสนาอย่างใกล้ชิดแม้จะไม่ได้เป็นรัฐศาสนา (ในความหมายเคร่งครัด) ก็ตาม เพราะนอกจากโดยพฤตินัยหนึ่งในอุดมการณ์รัฐไทยจะเป็นพุทธศาสนา กษัตริย์ไทยปกครองด้วยคติธรรมราชารวมทั้งมีพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ในพุทธศาสนาเป็นแหล่งของความชอบธรรม ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกรณีที่รัฐไทยอาศัยสถาบันพุทธศาสนาเป็นช่องทางในการ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น เหตุผลทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ทำให้โรงเรียนวัดหนองจอกห้ามไม่ให้เด็กนัก เรียนสวมฮิญาบจึงไม่ใช่เพราะฮิญาบละเมิดหลักการความเป็นทางโลกและความเป็น สาธารณรัฐ (ซึ่งชนชั้นปกครองไทยต่างพากันหวาดกลัว) ที่กีดกันศาสนาออกจากพื้นที่สาธารณะอย่างที่เกิดในกรณีประเทศฝรั่งเศส หากแต่เป็นเพราะว่าฮิญาบละเมิดหรือว่าท้าทายการจัดระเบียบชีวิตทางศาสนาใน พื้นที่สาธารณะที่รัฐไทยอาศัยสถาบันพุทธศาสนาเป็นกลไกในการควบคุมตรวจตรา 

ดังจะเห็นได้จากมติมหาเถรสมาคมในกรณีนี้ที่ 1) การทำให้ “วิถีพุทธ” และ “จารีตประเพณีไทย” เป็นสิ่งเดียวกันบ่งนัยว่าวิถีศาสนาอื่นซึ่งในที่นี้คืออิสลามไม่นับเป็น ส่วนหนึ่งของ “จารีตประเพณีไทย” ที่รัฐไทยให้การรับรองและส่งเสริม และเหตุดังนั้นจึงไม่สามารถแสดงออกในพื้นที่สาธารณะเช่นโรงเรียนได้ และ 2) การ “ห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ชัดเจน” ในโรงเรียนวัดที่อยู่ในธรณีสงฆ์ประการหนึ่ง กับการกำหนดให้ทุกคนยึด “วิถีพุทธ” ในเขตดังกล่าวที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และวิธีปฏิบัติของพุทธศาสนาอีกประการ ไม่ได้แสดงความขัดกันเองของมติมหาเถรสมาคม เท่าๆ กับชี้ให้เห็นว่าในกรณีนี้สัญลักษณ์และวิธีปฏิบัติของพุทธศาสนาไม่ถูกนับ เป็น “เรื่องทางธรรม” ที่มีความจำเพาะหรือผูกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป หากแต่กลายเป็น “เรื่องทางโลก” ที่มีลักษณะทั่วไปและดังนั้นจึงสามารถใช้บังคับได้กับทุกคนที่อยู่ในเขตแดน ของรัฐไทย 

อย่างไรก็ดี การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับพุทธศาสนาในลักษณะเช่นนี้มีปัญหา เพราะนอกจากไม่สามารถลดหรือหลีกเลี่ยงความตึงเครียดระหว่างศาสนากับรัฐชาติ ในฐานะที่เป็นแหล่งยึดโยงผู้คนแหล่งใหม่แทนศาสนาและสถาบันกษัตริย์ (ดังที่รัฐทางโลกมักประสบจากการพยายามเคลื่อนย้ายศาสนาออกจากพื้นที่สาธารณะ และการเมือง) หากแต่ยังเป็นกลืนกลายหรือว่าเบียดขับศาสนาและระบบความเชื่ออื่นให้อยู่ใน สถานภาพที่ด้อยกว่าซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในกรณีของศาสนาอิสลาม เพราะศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นเพียงระบบความเชื่อหรือระเบียบศีลธรรมกว้างๆ หลวมๆ หากแต่เป็นวิธีปฏิบัติที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้านอย่างเคร่งครัดและใน ระดับแยกย่อย คล้ายคลึงกับระเบียบกฎเกณฑ์ที่รัฐสมัยใหม่กำหนดให้พลเมืองต้องปฏิบัติตามใน ชีวิตประจำวัน ฉะนั้น โอกาสที่ระเบียบรัฐและระเบียบศาสนาอิสลามจะบรรจบกันจึงเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป และจะก่อให้เกิดความตึงเครียดหากระเบียบทั้งสองชุดขัดแย้งหรือไปด้วยกันไม่ ได้ ดังที่เกิดกับรัฐทางโลกเช่นฝรั่งเศสในกรณีการสวมฮิญาบ ขณะที่ในกรณีรัฐกึ่งทางโลกกึ่งศาสนาเช่นรัฐไทยปัญหามีความซับซ้อนและแหลมคม ยิ่งขึ้น เพราะระเบียบทางโลกของรัฐไทยในเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะขัดกับวิธีปฏิบัติของ ศาสนาอิสลาม หากแต่ยังแยกไม่ออกจากระเบียบทางธรรมของพุทธศาสนา ทางเลือกหนึ่งของรัฐไทยในกรณีนี้จึงอยู่ที่ว่าจะจัดระเบียบทางโลกที่ไม่ วางอยู่บนพุทธศาสนาเพียงประการเดียวได้อย่างไร และจะทำอย่างไรที่จะให้ระเบียบทางธรรมของศาสนาและระบบความเชื่ออื่นมีที่ทาง ในระเบียบทางโลกในรัฐไทยยิ่งขึ้น 

 


(จาก คอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 18-25 มีนาคม 2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนธิพยากรณ์เกิดแผ่นดินไหวถี่ขึ้น หวั่นน้ำทะเลหนุนทำกรุงเทพจมบาดาล

Posted: 26 Mar 2011 07:06 AM PDT

“สนธิ ลิ้มทองกุล” ชี้จะเกิดวิกฤตน้ำมันแพงอาจถึงลิตรละ 50 บาท แถมวิกฤตอาหาร ภัยพิบัติโลกร้อน แผ่นดินไหว สึนามิ กำลังจะเป็นชีวิตประจำวัน ถ้ามีนักการเมืองเลวอย่างนี้ประเทศจะฉิบหาย เมืองไทยต้องมีผู้นำยุคใหม่ พร้อมกล่าวหา “อภิสิทธิ์” รับงานฝรั่งมาเฉือนแผ่นดินไทยเพราะถือสัญชาติอังกฤษ อัดตอนรับราชการไม่ได้แจ้งว่าถือสองสัญชาติจะถือว่าแจ้งเท็จหรือไม่

สนธิพยากรณ์จะเกิดวิกฤตน้ำมัน โลกร้อน แผ่นดินไหว สึนามิกำลังเป็นชีวิตประจำวัน
เมื่อเวลาประมาณ 20.50 น. วันที่ 24 มี.ค.นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยบนเวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดนนายสนธิ ได้กล่าวถึงปัญหาวิกฤติของโลกที่จะส่งผลกระทบทำให้ประเทศไทยได้รับความเสีย หายว่า วิกฤติแรกคือน้ำมันมีแต่จะขึ้นราคาเพราะมีการสูบขึ้นมาใช้จนใกล้จะหมดแล้ว ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันมีมากขึ้น เพราะคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นทั่วโลก ประเทศที่ส่งออกน้ำมันก็ต้องเก็บน้ำมันไว้ใช้ในประเทศของตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้โรงกลั่นน้ำมันและท่อส่งน้ำมันในประเทศต่างๆ ที่ใช้มา 30 ปี ถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนโดยใช้เงินประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะถูกนำมาบวกในราคาน้ำมัน เพราะฉะนั้นราคาน้ำมันมีแต่จะสูงขึ้น และมีโอกาสแตะลิตรละ 50 บาทในปีหน้า  

นอกจากนี้เมื่อดูสถิติการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทั่วโลก ปี ค.ศ.1000 – 1700 เกิดขึ้น 7 ครั้ง เฉลี่ยทุกๆ 100 ปี เกิดขึ้น 1 ครั้ง ช่วงปี ค.ศ.1700-1800 ช่วง 100 ปี เกิด 6 ครั้ง ค.ศ.1900-1950 เพียง 50 ปี เกิดขึ้น 7 ครั้ง ค.ศ.1950-2000 ช่วง 50 ปีต่อมาเกิด 12 ครั้ง และ ค.ศ.2000-2011 เพียง 10 ปี เกิด 8 ครั้งแล้ว แปลว่าภัยพิบัติโลกร้อน แผ่นดินไหว สึนามิ กำลังจะเป็นชีวิตประจำวันของพวกเรา เพราะมันจะเกิดขึ้นในปริมาณที่ถี่ขึ้นกว่าเดิมมาก ขณะเดียวกันก็มีความแปรปรวนของฝน อุทกภัยก็รุนแรงขึ้น ภัยแล้งก็รุนแรงขึ้น น้ำทะเลก็ท่วมและกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น กรุงเทพฯ จมลง ถ้ามีน้ำเหนือหลากเหมือนปี 2538 กรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำอย่างน้อย 6 เดือน    

ชี้ถ้ามีนักการเมืองเลวประเทศจะฉิบหายต้องมีผู้นำยุคใหม่

นายสนธิ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันอาหารทั่วโลกจะขาดแคลน เพราะการใช้พลังงานมากทำให้เกิดภัยพิบัติมากขึ้น พื้นที่การเกษตรลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้คือวิกฤติที่จะมาซ้ำเติมประเทศชาติ ถ้าเรามีนักการเมืองหรือระบบการเมืองที่เลวอย่างนี้ประเทศไทยมีแต่จะฉิบหาย อย่างเดียว เมืองไทยจำเป็นต้องมีผู้นำยุคใหม่ ต้องมีระบบการปกครองที่ไม่มัวแต่ด่ากันในสภา ต้องขุดแก้มลิงทุกเมือง ขุดคลองระบายน้ำลงทะเล ให้ทุกหมู่บ้านทุกตำบลมีสระเก็บกักน้ำของตนเอง ซึ่งนักการเมืองปัจจุบันไม่ทำ ถึงจะทำก็เพื่อทำมาหากินบนภัยพิบัติความทุกข์ยากของประชาชนเหมือนเดิม ไม่มีวันแก้ภัยพิบัติได้เลย  

นายสนธิ กล่าวต่อว่า ในเมื่อโลกจะเกิดวิกฤติอาหาร ทำไมไม่ให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกอย่างจริงจัง อย่ามีแต่ฝีปาก แต่ไปส่งเสริมอุตสาหกรรม เพราะมันหากินได้ง่าย โกงได้ง่าย ปีที่แล้วปตท.มีกำไร 1.5 แสนล้าน ปีนี้จะได้กำไรเหยียบ 2 แสนล้าน ถ้ากำไรส่วนนี้เข้าประเทศหมดเราไม่ว่า แต่ต้องแบ่ง 49 เปอร์เซ็นต์ไปเข้ากระเป๋านักการเมืองที่ถือหุ้นอยู่ นอกจากนี้ มันกระทืบซ้ำพี่น้อง ส่งออกก๊าซธรรมชาติแล้วก็บวกราคาแล้วส่งกลับเข้ามาขายให้พวกเราทันที ซึ่งบริษัทที่ส่งออกไปและน้ำเข้ามาก็เป็นของนักการเมือง มันหากินกับเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน น้ำมันปาล์ม แก๊สหุงต้ม จึงเหมาะสมกับที่ตั้งฉายาว่าสัตว์นรก    

เมืองไทยต้องเป็นประเทศเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม ดังนั้นเลือกตั้งครั้งหน้าต้องโหวตโน

นายสนธิ กล่าวว่า เมืองไทยต้องการผู้นำที่จะมาแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองที่ได้รับผลกระทบจากภัย พิบัติทั่วโลก และทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องลงสู่ประชาชน ทำให้ประเทศน้ำไม่ท่วม พืชผลออกมามาก กำหนดทิศทางไปสู่การเกษตร ไม่ใช่อุตสาหกรรม เมืองไทยทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้ามีนักการเมืองแบบนี้อยู่ เพราะฉะนั้นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าต้องโหวตโน คือไม่เลือกพรรคไหน เพื่อประท้วงนักการเมือง ให้โหวตโนทุกพรรค ไม่ว่าพรรคไหน  

วันนี้สังคมไทย ถูกนายทุนครอบงำหมด พวกเราต้องรับใช้นายทุน แล้วนายทุนก็ไปครอบงำรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง นั่นคือคณาธิปไตย เป็นการเมืองของหมู่คณะ คนจะเล่นการเมืองต้องมีพรรค และทุกคนต้องสังกัดพรรคเหมือนบริษัท ซึ่งจะทำให้สามารถใช้เงินซื้อได้ง่าย กลายเป็นธนาธิปไตย คือเอาเงินมาครอบ และก็จะจบลงด้วยโจราธิปไตย คือการเมืองของพวกโจร  

นายสนธิ กล่าวว่า ภัยพิบัติของโลกที่ใกล้ตัวเราเข้ามามากขึ้น ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นมากขึ้น ถูกกดขี่จากนายทุนมากขึ้น เราจะยังทนนักการเมืองสัตว์นรกได้อย่างไร นี่ไม่นับการเฉือนดินแดนขายชาติอีก เพราะฉะนั้นเราต้องแสดงออกด้วยการโหวตโน บอกทุกคนว่าวิธีการที่จะประท้วงนักการเมืองสัตว์นรกคือการโหวตโน ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองเดียว เมืองไทยจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ถ้าไม่มีผู้นำที่เก่ง และเอาส่วนรวมเป็นตัวตั้ง นายอภิสิทธิ์วันนี้ ทักษิณเมื่อวาน นายสมัครเมื่อวาน ไม่เอาส่วนรวมเป็นตัวตั้ง แต่เอาส่วนตัวและอัตตาของตัวเองเป็นตัวตั้ง ประเทศจึงเสียหายมาทุกวันนี้    

สงสัย “อภิสิทธิ์” รับงานฝรั่งมาเฉือนแผ่นดินไทยเพราะมีสองสัญชาติ

นายสนธิกล่าวว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 อังกฤษและฝรั่งเศสคิดจะแบ่งแผ่นดินไทยกันคนละครึ่ง แต่ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นเสียก่อน ตอนนี้กำลังสงสัยว่านายอภิสิทธิ์จะรับงานต่อจากฝรั่งยุคนั้นมาเฉือนแผ่นดิน ไทยหรือไม่ เรื่อง 2 สัญชาติของนายอภิสิทธิ์ลึกซึ้งกว่าการมาด่ากัน 2-3 คำ กรณีนายอภิสิทธิ์นั้น เมื่อพ่อแม่ไปแจ้งสถานทูตไทยที่อังกฤษเพื่อแจ้งเกิดและได้สัญชาติไทยแล้วก็ ไม่ได้ไปยกเลิกสัญชาติอังกฤษ นายอภิสิทธิ์จึงน่าจะรู้ว่าตนเองมี 2 สัญชาติมาโดยตลอด แต่เวลาเข้ารับราชการ ไม่ได้แจ้งว่าตัวเองมี 2 สัญชาติ จะถือว่าแจ้งเท็จหรือไม่ โดยเฉพาะเวลาเข้ารับราชการทหารหรือราชการการเมือง ช่องสัญชาติจะต้องกรอก แต่นายอภิสิทธิ์กรอกสัญชาติไทยอย่างเดียว ไม่บอกว่ามีสัญชาติอังกฤษด้วย นี่คือการทำผิดกฎหมายอาญา  

นอกจากนี้ ยังผิดหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อมารับตำแหน่งทางการเมือง ต้องซื่อสัตย์เปิดเผยต่อประชาชน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจเวลาชาติไทยกับอังกฤษมี ปัญหาขัดแย้งกัน หรือถ้าต้องทำสัญญาทางราชการระหว่างไทยกับอังกฤษ นายอภิสิทธิ์จะยืนอยู่ข้างไหน นายอภิสิทธิ์อาจจะตอแหลว่ายืนอยู่ข้างไทย แต่ก็มีคำถามว่าทำไมยังไม่ถอนสัญชาติอังกฤษ หรือเมื่อถึงเวลาต้องประกาศสงครามกับอังกฤษ นายอภิสิทธิ์จะกล้าหรือไม่ นายสมัครพ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ส่วนทักษิณต้องมีความผิดคดีอาญาเพราะให้เมียซื้อที่ดินจาก บสท. ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ กรณีนายอภิสิทธิ์ถือสัญชาติอังกฤษก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ระเบียบราชการยังระบุว่าข้าราชการต้องเป็นสัญชาติไทยเท่านั้น แต่นายอภิสิทธิ์แอบซ่อนมาตลอด เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก    

อภิสิทธิ์ทำผิดไม่ต่างจากสมัคร-ทักษิณ แถมถือสัญชาติอังกฤษ จึงไม่มีสำนึกความเป็นไทย

สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ทำผิดจึงไม่ต่างจากที่เขาอภิปรายนายสมัคร โดยพูดว่านักการเมืองต้องมีจริยธรรมที่สูงกว่าคนธรรมดา และนายอภิสิทธิ์ไม่ต่างจากทักษิณที่ซุกหุ้น ออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองทำให้ประเทศเสียหายเป็นแสนล้าน ทั้งสองคนจึงเลวเหมือนกัน  

นายสนธิ กล่าวต่อว่า การที่นายอภิสิทธิ์ยังถือสัญชาติอังกฤษ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการฉ้อฉลขี้โกงปัญหากัมพูชาก็เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ยักษ์ใหญ่ในอังกฤษ เช่น บริติช ปิโตรเลียม หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ยังไม่โผล่ขึ้นมาแต่มีฐานจากการซ่อนสัญชาติอังกฤษเอาไว้ สรุปการถือ 2 สัญชาติของนายอภิสิทธิ์ผิด 1.ผลประโยชน์ขัดกัน 2.ปกปิดแจ้งเท็จเรื่องที่นักการเมืองต้องเปิดเผยเพื่อไม่ให้มีการซ้อนเร้นผล ประโยชน์อันมิควร 3.รัฐสนับสนุนให้คนไทยถือสัญชาติเดียวเท่านั้น ตอนที่ทักษิณถือสัญชาติมอนเตเนโกร คนในพรรคประชาธิปัตย์ก็บอกว่าในเมื่อเป็นคนมอนเตเนโกรไปแล้วจึงไม่ควรมายุ่ง เกี่ยวกับการเมืองไทยต่อไป ดังนั้นนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ควรมายุ่งกับการเมืองไทยเพราะถือสัญชาติอังกฤษ 4.การถือสัญชาติใดเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ทำให้คนๆ นั้น ผูกพันกับชาตินั้นๆ เพราะฉะนั้นกรณีกัมพูชานายอภิสิทธิ์ก็ใช้ความเป็นชาติอังกฤษมาพิจารณา จึงไม่มีสำนึกความเป็นชาติไทย นี่เป็นจุดตายของนายอภิสิทธิ์ที่ไม่มีนายกประเทศไหนทำ   ที่มา:

เรียบเรียงจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บล็อกเกอร์ในพม่าเผยภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่เมืองท่าเดื่อ

Posted: 26 Mar 2011 06:53 AM PDT

บล็อกเกอร์ในพม่าลงภาพเมืองท่าเดื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางสายเชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. โดยมีบ้านเรือนจำนวนมากทรุดตัว ขณะที่ถนนและสะพานในเมืองได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะสะพานท่าเดื่อขณะนี้ใช้สัญจรไม่ได้ 

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 54) บล็อกเกอร์ในพม่าใช้ชื่อว่า “akm-kuntha” ได้ลงภาพความเสียหายหลังเหตุแผ่นดินไหวโดยศูนย์กลางอยู่ใกล้เมืองต้าเหล่อ หรือ ท่าเดื่อ เมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา สำหรับเมืองดังกล่าวตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางจากเมืองท่าขี้เหล็ก ไปเมืองเชียงตุง ห่างจากเมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือราว 48 กิโลเมตร โดยสะพานข้ามแม่น้ำเดื่อได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้สัญจรได้ ขณะที่อาคารบ้านเรือนในเมืองพังเสียหาย

โดยมีรายงานด้วยว่า หลังเหตุแผ่นดินไหวมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากที่เมืองดังกล่าวและหลายเมืองในรัฐฉาน

รายงานของด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระบุสะพานท่าเดื่อดังกล่าว เป็นเส้นทางสำคัญในการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังเมืองเชียงตุง และเมืองลา โดยสินค้าจากไทยที่ส่งออกด้านท่าขี้เหล็กมีมูลค่าในปี 2553 จำนวน 6,700 ล้านบาท โดยประมาณครึ่งหนึ่งต้องผ่านเส้นทางดังกล่าว ขณะที่อีกร้อยละ 50 สินค้าที่ส่งออกจากไทยจะกระจายใช้ในแนวชายแดนเมืองท่าขี้เหล็ก โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นวัสดุก่อสร้าง, อาหารแห้ง และผลไม้

ที่มาของภาพ: บล็อก akm-kuntha.blogspot.com
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น