โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักปรัชญาชายขอบ: อภิสิทธิ์ “เบี้ยที่ไร้คุณค่า” (?)

Posted: 04 Mar 2011 10:34 AM PST

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยข้ออ้างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตความแตกแยกของคนในชาติ นำสังคมกลับสู่ความสงบสมานฉันท์”

เหตุผลที่เขาย้ำอยู่เสมอว่าเขามีความชอบธรรมที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำสังคมกลับคืนสู่ความสงบสมานฉันท์ คือ “ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง ไม่ได้ทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่ทำเพื่อชาติเพื่อปกป้องสถาบัน”

จะเห็นได้ว่า วิธีอ้างเหตุผลของอภิสิทธิ์เป็นการอ้าง “คุณธรรมส่วนตัว” (เช่น ความซื่อสัตย์) เหนือ “หลักการ” ด้วยความดีส่วนตัวทำให้เขาเห็นว่า เขามีความชอบธรรมที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะก้าวขึ้นมาด้วยวิธีการผิดหลักการประชาธิปไตยก็ตาม เช่น ใช้ “เส้นสนกลใน” ไปฉก ส.ส.จากพรรคคู่แข่งมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไปฟอร์มรัฐบาลในค่ายทหาร หรือยอมเป็นรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม กระทั่งยอมเป็น “เบี้ย” ให้กับอำนาจเผด็จการจารีต

วิธีคิดที่ว่า ถ้าเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว (เช่น “สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด” ฯลฯ) ย่อมมีความชอบธรรมที่จะขึ้นมามีอำนาจรัฐ แม้ว่าการขึ้นมามีอำนาจนั้นจะผิดหลักการประชาธิปไตยก็ตาม ก็คือวิธีคิดเดียวกันกับถ้าเป็นคนเลวหรือไม่มีคุณธรรมแล้วก็สมควรถูกขจัดออกไปจากอำนาจรัฐแม้ด้วยวิธีรัฐประหารก็ตาม

วิธีคิดเช่นนี้คือวิธีคิดที่ยืนยันความชอบธรรมของรัฐประหารขจัดคนเลว และจัดหาคนดีมาปกครองประเทศ ทว่าคนทำรัฐประหารและมีอำนาจจัดหาคนดีคือกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่ในเครือข่ายของโครงสร้างหรือที่สนับสนุนโครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีตเท่านั้น !

และยิ่งวันเวลาผ่านไปกลุ่มชนชั้นนำดังกล่าวยิ่งแสดงอำนาจเหิมเกริมไม่เห็นหัวประชาชน ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านและเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยืนยัน “ระบบที่เป็นประชาธิปไตย” ที่ประชาชนมีเสรีภาพในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง ความสงบสมานฉันท์ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้

เมื่อมันเป็นความขัดแย้งในเชิงหลักการและอุดมการณ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นเรื่องความความโกรธกัน เกลียดกัน การที่ใครก็ตามเอาแต่อบรมประชาชนว่า เราเป็นคนไทยด้วยกันต้องรักกัน ต้องสามัคคีกัน ต้องเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ฯลฯ ย่อมเป็นการอบรมที่เพ้อเจ้อ

เพราะการสร้างความสงบสมานฉันท์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมทั้งระบบ คือโครงสร้างอำนาจจารีตจะต้องไม่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย กฎหมายหมิ่นฯ หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราใดๆ ที่ขัดกับหลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคตามกฎหมาย และเสรีภาพที่เท่าเทียมของประชาชน จำเป็นต้องถูกแก้ไขปรับปรุง

แต่ในเบื้องต้นต้องเริ่มการเปลี่ยนผ่านโดยการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยก่อนคือการเลือกตั้ง

ทว่าทั้งที่อภิสิทธิ์เป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้ง เพราะเขายอมตัวเป็น “เบี้ย” ของเครือข่ายอำนาจจารีตที่ทำรัฐประหารซึ่งถูกต่อต้านโดยประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย ฉะนั้น การคิดจะขึ้นมาเป็นนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตความขัดแย้งถ้าไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหลอกตัวเองสุดๆ ก็เป็นเรื่องของการแสดงละครน้ำเน่าสุดๆ

ยิ่งพูดเป็น “แผ่นเสียงตกร่อง” ว่า “พร้อมจะยุบสภาเมื่อบรรยากาศของบ้านเมืองสงบ ปรองดอง” ยิ่งเป็นการพูดที่ไร้สาระ เพราะตัวผู้พูดนั่นเองคือเงื่อนไขของความแตกแยก
อภิสิทธิ์ลงจากอำนาจเมื่อใดเท่ากับเงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกถูกแก้ไปเปราะหนึ่ง

การอยู่ในอำนาจของอภิสิทธิ์ไม่ว่าที่ผ่านมาหรือต่อไปไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าบ้านเมืองจะสงบสุข เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 คือข้อพิสูจน์ เพื่อรักษาอำนาจของคนที่บอกว่า “ผมไม่มีผลประโยชน์อะไรจากการเป็นนายกฯ” ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

จะว่าไปแล้วอภิสิทธิ์ก็แทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นนายกฯ เลยจริงๆ เพราะการก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ดูเหมือนจะง่ายกว่าการลงจากอำนาจ แค่เล่นเกมไม่กี่เกม เช่น ไม่ยอมลงเลือกตั้ง เสนอมาตรา 7 ส่งคนมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตร ยอมตัวเป็น “เบี้ย” ของโครงสร้างอำนาจจารีต ก็ได้เป็นนายกแล้ว

แต่การลงจากตำแหน่ง “นายกฯ 91 ศพ” จะลงอย่างไรถึงจะมีชีวิตอย่างปกติสุขในวันข้างหน้า และที่สำคัญกว่านั้นคือจะทำอย่างไรที่จะให้ตัวเองไม่ตกอยู่ในสถานะกลายเป็น “เบี้ยที่ไร้คุณค่า”

แน่นอนว่าอภิสิทธิ์คือ “เบี้ยที่ไร้คุณค่า” มานานแล้ว ในสายตาของประชาชนที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยหรือต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย

แต่ก็น่าฉงนว่า เขาเป็นเบี้ยที่มีคุณค่าจริงๆ ในสายตาของ “ผู้ใช้เบี้ย” หรือเปล่า?

รูปธรรมที่เห็นคือ ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ทำให้กองทัพมีอำนาจสุดๆ ตั้งเพิ่มสองกองพลในภาคเหนือและอีสานอย่างง่ายดาย ไม่ต้องพูดถึงอำนาจจัดการความมั่นคงภายใน การได้งบประมาณมหาศาล ปัญหาทุจริตโดยไม่มีการตรวจสอบและเอาผิดอย่างจริงจัง ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ทำให้อภิสิทธิ์เป็น “เบี้ยที่มีคุณค่า” ในสายตาของ “พวกเขา” จริงหรือ?

เกรงแต่ว่า การยืดเวลายุบสภาออกไปเรื่อยๆ โดยข้ออ้างทื่อๆ เดิมๆ จนเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้น ยิ่งมีโอกาสสูงที่จะทำให้อภิสิทธิ์กลายเป็น “เบี้ยสะบักสะบอม” และอาจกลายเป็น “เบี้ยที่ไร้คุณค่า” ในที่สุด

“เบี้ยอภิสิทธิ์” จึงเป็นบทเรียนของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่สอนให้รู้ว่า การยอมตัวเป็น “เบี้ย” ของโครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีต โดยอ้างความดีของตนเองอย่างฉาบฉวย ไร้มโนสำนึกรับผิดชอบอย่างจริงจังต่อการปกป้องหลักการประชาธิปไตย และไม่เห็นหัวประชาชนนั้น

สุดท้ายแล้ว ไม่ happy ending อย่างที่คิด !

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงเยือนดีเอสไอ เตือนสติ “ธาริต” ให้รับใช้ประชาชน

Posted: 04 Mar 2011 10:18 AM PST

4 มี.ค.54 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด พร้อมคนเสื้อแดงราว 100 คน เดินทางมาที่หน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ร่วมกันตะโกนข้อความ “หน้าที่ของราชการ คือรับใช้ประชาชน” เพื่อเตือนสตินายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ทำหน้าที่ให้เหมาะสม

นายสมบัติกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของข้าราชการที่จะต้องรับใช้ประชาชน ซึ่งนายธาริตเป็นข้าราชการคนแรกที่ประชาชนต้องเสียสละเวลามาเพื่อย้ำเตือนถึงบทบาทของข้าราชการ นายสมบัติตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะนายธาริตใกล้จะเกษียณแล้ว จึงทำให้หลงลืมหน้าที่ของข้าราชการไป

“หน้าที่ของราชการคือรับใช้ประชาชน คุณธาริตเป็นคนแรกที่ประชาชนเสียสละเวลามาย้ำเตือน เพราะว่าใกล้จะเกษียณแล้วหรือเปล่าไม่ทราบ อาจจะทำให้ลืมไปแล้ว มาย้ำเตือนคุณธาริตว่า เจียดเวลารับใช้คุณสุเทพ มารับใช้ประชาชนบ้าง” สมบัติกล่าว

นายสมบัติกล่าวด้วยว่า น่าจะมีการสั่งสอนเรื่องหน้าที่ของข้าราชการให้แก่ข้าราชการรุ่นใหม่ๆ ด้วย

Voice TV มีรายงานว่า กลุ่มคนเสื้อแดงยังได้เรียกร้องให้ดีเอสไอเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ศาลออกหมายจับคดีล้มเจ้าจำนวน 6 คนว่ามีใครบ้าง เพื่อให้ทั้ง 6 คนมีสิทธิ์ต่อสู้ข้อกล่าวหาได้ตามกฎหมาย ส่วนการดูแลความเรียบร้อย มีการส่งตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 และตำรวจปราบจราจลจากจังหวัดปราจีนบุรีรวม 300 นาย เข้าดูแลสถานการณ์ และนำแผงเหล็กมากั้นไม่ให้กลุ่มคนเสื้อแดงล่วงล้ำเข้าไปยังตัวอาคาร ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว คนเสื้อแดงได้ทยอยเดินทางกลับโดยไม่มีความวุ่นวายใดๆ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กกพ. ตั้งกรรมการจับตาโรงไฟฟ้าชีวมวล จ่อเลิกใบอนุญาต หากพบไม่โปร่งใส-กระทบชาวบ้าน

Posted: 04 Mar 2011 10:05 AM PST

กรรมการกำกับกิจการพลังงาน รับฟังปัญหาจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เผยพบบางบริษัทก่อสร้างไม่ได้รับอนุญาต พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานบริษัทโรงฟฟ้า เพื่อติดตามผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่รับพิจารณาโรงไฟฟ้าบ้านตาก จ.ตาก เพราะก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาต กรณีบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด จ.อุบลราชธานี ขุดบ่อน้ำทำชาวบ้านเดือดร้อน สั่งยกเลิกได้ ส่วนกรณีบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จ.เชียงราย เป็นงง ไม่ได้รับจดหมายแจ้งว่าไม่ให้สร้างจากจังหวัด ทั้งที่มีเอกสารแจ้งผลแล้ว พร้อมเดินหน้าตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หากพบว่าไม่โปร่งใส ทำชาวบ้านเดือดร้อน พร้อมยกเลิกใบอนุญาต

สืบเนื่องจากกรณีที่ชาวบ้านจาก “เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล” อันประกอบด้วยชาวบ้านจากจังหวัดเชียงราย ที่ประท้วงโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ที่บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า บริษัท จัสมิน กรีน เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์จี จำกัด อยู่ที่หมู่ที่ ๑๐ บ้านน้อยสนาม ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ชาวจังหวัดลำพูน ได้รับผลกระทบจากบริษัท สหโคเจนกรีน จำกัด สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ อยู่หมู่ที่ ๕ บ้านหนองปลาขอ ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน จังหวัดตาก ได้รับผลกระทบจากบริษัท โรงไฟฟ้าบ้านตาก จำกัด อยู่ที่หมู่ ๑๑ บ้านวังไม้สร้าง ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก ชาวประจวบคีรีขันธ์ ได้รับผลกระทบจากบริษัท พลังงานสะอาดทับสะแกจำกัด บ้านหมู่ที่ ๓ บ้านทุ่งยาว ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด กำลังก่อสร้างอยู่ที่ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ได้เข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม ปักหลักชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงมา เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา และเดินหน้าเข้าพูดคุยกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยเมื่อวันที่ 2 มี.ค.54 ทางเลขา กกพ. ได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้าน และผลักดันให้เกิดการพูดคุยหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่าง กกพ. และชาวบ้านที่เดือดร้อน

ล่าสุด วันนี้ (4 มี.ค.54) ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลได้เดินทางเข้าพบ กกพ. ณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตึกจามจุรี โดยมีนายศุภิชัย ตั้งใจตรง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เข้าร่วมพูดคุยกับชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพูดคุยครั้งนี้เริ่มต้นโดยตัวแทนเครือข่ายได้ให้ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งตัวแทนจาก จ.เชียงราย ได้กล่าวว่า ในพื้นที่มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น มีการดำเนินคดีกับชาวบ้าน และมีการส่งคนมายั่วยุก่อกวนชาวบ้านที่ชุมนุมหน้าบริเวณที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคณะกรรมการกลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานซึ่งมีมติว่าไม่สมควรให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีมวล ให้แก่ กกพ. ส่วนตัวแทน จ.ตาก ให้ข้อมูลกับว่า ปัจจุบันนายทุนนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว โดยที่ชาวบ้านไม่ทราบว่านายทุนได้ใบอนุญาตจาก กกพ. หรือไม่ ส่วนตัวแทนจาก จ.อุบลราชธานี กล่าวให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พบว่า การสร้างโรงไฟฟ้าจะทำให้ชาวบ้านสญเสียรายได้ถึงปีละ 14 ล้านบาท อาจเจ็บป่วยจากละอองฝุ่นแกลบ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วคือ ชาวบ้านซึ่งต้องใช้น้ำใต้ดินในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรต้องเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีน้ำใช้ เพราะนายทุนซึ่งได้ใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าได้ขุดบ่อขนาดใหญ่ ทำให้น้ำใต้ดินไหลไปรวมกันที่บ่อน้ำของนายทุน

หลังจากได้รับฟังข้อมูลแล้ว นายศุภชัย ตั้งใจตรง ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า กรณีของบริษัทโรงไฟฟ้าบ้านตาก หรือบริษัทสตาร์เพาเวอร์แพนท์ ถือว่าทำผิดกฎหมายเพราะยังไม่ได้ใบอนุญาตแต่ดำเนินการก่อสร้างแล้ว ส่วนกรณีของบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จังหวัดเชียงรายทาง กกพ. ไม่เคยได้รับหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่ระบุว่าไม่สมควรให้มีการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวลแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้ผู้รวบรวมเอกสารคือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนกรณีของบริษัทบัวหมาย ไบแมส จำกัด จ.อุบลราชธานี ถือว่าการขุดบ่อนั้นส่งผลกระทบต่อชุมชนแล้ว หากตรวจสอบแล้วพบว่าชาวบ้านเดือดร้อน ทาง กกพ. ก็สามารถสั่งระงับ และยกเลิกโครงการได้ สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ทาง กกพ.จะตั้งคณะกรรมการ่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนตามที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบฯ เสนอมา เพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงและความโปร่งใสในการออกใบอนุญาตให้กับนายทุนว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าการอนุญาตไม่โปร่งใส และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน กกพ.ก็สามารถสั่งยกเลิกการอนุญาต และไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้กับนายทุน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ:แผนที่มนุษย์

Posted: 04 Mar 2011 09:39 AM PST

ผมไม่รู้ว่าจะรู้สึกกับข้อเสนอเรื่องการทำ “แผนที่มนุษย์” ของนายแพทย์ประเวศ วะสี อย่างไรดี เพราะในด้านหนึ่งข้อเสนอนี้ไม่ประสีประสา ไม่เข้าใจว่าโลกแห่งความเป็นจริงสลับซับซ้อนเกินกว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นจริงได้ ขณะที่อีกด้านข้อเสนอดังกล่าววางอยู่บนความปรารถนาเดียวกับความต้องการจะควบคุมชีวิตผู้คนในระดับแยกย่อย ซึ่งหากนายอภิสิทธิ์รับลูกขึ้นมาก็น่าเป็นห่วง

นายแพทย์ประเวศเสนอผ่านทางนายอภิสิทธิ์ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่มีจำนวนกว่า 100 แห่งไปเก็บข้อมูลในหมู่บ้านทั่วประเทศประมาณ 80,000 หมู่บ้าน ว่า “ชาวบ้าน” มีความรู้ความเชี่ยวชาญอะไรบ้าง รวมทั้งมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลดีไม่เฉพาะกับตัวชาวบ้าน หากแต่ยังรวมถึงตัวนักศึกษาและประเทศไทยโดยรวม กล่าวในส่วนชาวบ้าน นายแพทย์ประเวศกล่าวว่าระบบการศึกษาไทยทำให้ชาวบ้านรู้สึกด้อยค่า ไร้เกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี ความรู้และทักษะที่พวกเขาสั่งสมมาจากชีวิตจริงไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหาร การก่อสร้าง หรือการเล่นดนตรี เทียบไม่ได้กับความรู้ในตำรา ฉะนั้น การที่มีผู้มีความรู้อย่างนักศึกษามาถามไถ่และบันทึกความรู้ที่สั่งสมอยู่ใน ตัวพวกเขา ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกได้รับเกียรติ เกิดความภูมิใจในความรู้ความชำนาญของตนและคิดอยากจะทำสิ่งดีๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่ในส่วนของนักศึกษา การได้มีโอกาสถามไถ่ความรู้จากชาวบ้าน นอกจากจะช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่หาไม่ได้ในตำรา ยังเกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อชาวบ้านว่าแท้จริงแล้วชาวบ้านมีคุณค่าและ ศักดิ์ศรี เกิดจิตสำนึกใหม่ที่ให้ความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนในระดับประเทศนั้น นายแพทย์ประเวศกล่าวว่าการทำแผนที่มนุษย์จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีความภูมิใจใน ตนเองและเป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม ปลูกฝังศีลธรรม และปฏิรูประบบการศึกษา อันจะนำไปสู่การ “อภิวัฒน์” ประเทศไทยในทุกด้าน

แต่ข้อเสนอดังกล่าวมืดบอดต่อความเป็นจริงในหลายด้าน เช่น ในโลกแห่งความเป็นจริงเส้นแบ่งระหว่างความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์กับความ รู้ในตำราไม่ได้มีความชัดเจนหรือเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังที่นายแพทย์ประเวศวาด เพราะปัจจุบันแทบไม่มีคนไทยคนใดที่ไม่ผ่านระบบการศึกษา และแทบไม่มีคนในเมืองไทยคนไหนที่ไม่แสวงหาความรู้เพิ่มเติมในการทำมาหากิน ไม่ว่าจะจากสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งอินเตอร์เน็ต ความรู้ติดตัวจึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างประสบการณ์จริงกับความรู้จากแหล่งต่างๆ ดังกล่าว และในทางกลับกัน ความรู้ที่บรรจุในตำราก็ไม่ได้มาจากสุญญากาศ แต่มาจากการศึกษาค้นคว้าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือจากประสบการณ์ของผู้คน การเข้าใจความรู้ที่ติดตัวผู้คนด้วยตรรกะขาวดำจึงบั่นทอนน้ำหนักหรือความ เป็นไปได้ของข้อเสนอดังกล่าวตั้งแต่ต้น (ทั้งนี้ยังไม่นับรวมลักษณะขัดกันเองของข้อเสนอที่ดูเหมือนจะต้องการชูความ รู้เชิงประสบการณ์ของชาวบ้าน แต่กลับเต็มไปด้วยศัพท์แสงที่ต้องมีภาษาอังกฤษกำกับในวงเล็บโดยไม่จำเป็น เช่น พลังมหาศาล (enormous energy) ความเห็นอกเห็นใจกัน (empathy))

ขณะเดียวกัน “ชาวบ้าน” ก็ไม่ได้เป็น “คนไม่มีความรู้สมัยใหม่” หรือว่า “ได้แต่ฟังคนอื่นที่มีอำนาจมากกว่า มีความรู้มากกว่า มีเงินมากกว่า” อย่างที่นายแพทย์ประเวศว่า (ซึ่งอันที่จริงการพูดเช่นนี้คือการดูถูกชาวบ้านในลักษณะหนึ่ง) เพราะนอกจากระบบการศึกษา ชาวบ้านเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในหลายลักษณะ ทั้งจากประสบการณ์ตรงและที่ผ่านทางสื่อต่างๆ คนอีสานซึ่งมักถูกวาดภาพให้เป็นแบบฉบับของชาวบ้านถือหนังสือเดินทางในสัด ส่วนสูงกว่าคนกรุงเทพฯ ที่มักเรียกกันว่าชาวเมืองเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ปัจจุบันแทบไม่มีชาวบ้านคนใดนิ่งเงียบต่อเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อได้รับความไม่ เป็นธรรม หรือไม่เถียงนักวิชาการหากไม่เห็นด้วย ดังสามารถพบเห็นได้ในการคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐโดยทั่วไป ขณะที่ “นายทุน” ก็ตกเป็นเป้าของการประณามทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยชาวบ้านมาเป็นเวลานาน แล้ว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชาวบ้านกับฝ่ายที่ดูเหนือกว่าไม่ว่าจะเป็นใน เชิงตำแหน่งหน้าที่ ความรู้ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นตลกร้ายที่นายแพทย์ประเวศชวนให้เชื่อว่าชาวบ้านยังก้าวไม่ทันโลกภาย นอกและสยบยอมต่อผู้ที่เหนือกว่าอย่างหมอบราบคาบแก้ว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงของข้อเสนอนายแพทย์ประเวศไม่ได้อยู่ที่ความมืดบอดต่อความเป็นจริงทางสังคมในลักษณะดังกล่าว เท่าๆ กับอยู่ที่ความปรารถนาที่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอที่ว่านี้ นายแพทย์ประเวศกล่าวว่าหากสามารถจัดทำฐานข้อมูลความรู้ในตัวคนไทยทั้งประเทศ ในรูปของระบบดิจิตอลจะเป็นประโยชน์มหาศาลเพราะจะได้รู้ว่าใครมีความรู้ความ เชี่ยวชาญเรื่องใดอาศัยอยู่ที่ไหน จะได้ไปหาถูกเมื่อต้องการจะรู้เรื่องใด แต่ปัญหาก็คือว่านี่คือความปรารถนาที่จะรู้คุณสมบัติของบุคคลในทำนองเดียว กับความต้องการที่จะรู้คุณสมบัติของแต่ละคนเพื่อการควบคุมตรวจตราในระดับแยก ย่อย ความปรารถนาและความต้องการเช่นนี้มักอาศัยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของบุคคล เป็นเหตุผลนำ แต่ซ่อนวัตถุประสงค์ข้อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐรวมทั้งองค์กรและสถาบัน เอาไว้เบื้องหลัง เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ และส่วนอื่นๆ ของร่างกายซึ่งเป็นไปเพื่อการรักษาหรือว่าป้องกันโรคของผู้ป่วยและคนปกติ สามารถถูกนำไปใช้ในการจำแนกและควบคุมผู้คนไม่ให้เป็นภัยคุกคามต่อรัฐรวมทั้ง สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการจับตาผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นอาชญากร หรือว่าการกักตัวผู้คนหรือปิดล้อมชุมชนในภาวะเกิดโรคระบาด นายแพทย์ประเวศกล่าวเฉพาะการแบ่งปันประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันในหมู่ประชาชน แต่ไม่กล่าวถึงรัฐซึ่งเป็นผู้ควบคุมตรวจตราอยู่ข้างหลัง คำถามก็คือว่าจะมีหลักประกันอะไรที่ข้อมูลดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้ในลักษณะ ที่ย้อนกลับมาเป็นภัยต่อบุคคลผู้เป็นเจ้าของโดยเฉพาะในกรณีที่ผลประโยชน์ของ บุคคลและรัฐขัดกันไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจหรือการเมือง (ทั้งนี้ยังมิพักต้องเอ่ยถึงการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจที่มักไปกันไม่ได้กับ การเปิดเผยสูตรเด็ดหรือกลเม็ดเคล็ดลับต่างๆ ให้บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะคู่แข่งได้รู้ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการแผนที่มนุษย์พับตั้งแต่ต้น) 

กล่าว อีกนัยหนึ่ง ข้อเสนอเรื่อง “แผนที่มนุษย์” ของนายแพทย์ประเวศเป็นตัวอย่างของความปรารถนาที่จะปกครองของอำนาจสมัยใหม่ ที่อยู่ในรูปของความรู้ รวมทั้งเป็นกลวิธีทางการเมืองร่วมสมัยที่ทำให้รัฐกับการปกครองเป็นคนละเรื่องกัน โดยอาศัยความกินดีอยู่ดีของประชากรเป็นฉากหน้า ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าผู้ที่อยู่ใต้การปกครองจะมีความตระหนักรู้หรือว่าเท่าทัน ปฏิบัติการอำนาจที่แฝงมาและหาทางเจรจาต่อรองด้วยได้หรือไม่เพียงใด เพราะแม้อำนาจในลักษณะนี้จะดูก้าวหน้ากว่าอำนาจดิบหยาบจำพวกปากกระบอกปืนและ กฎหมายล้าหลัง แต่ก็ยังปฏิบัติการอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอกันระหว่างร่างทรงของอำนาจ กับเป้าหมายของการควบคุมอยู่ดี

(บทความตีพิมพ์ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน คอลัมน์ คิดอย่างคน ประจำวันที่ 25 ก.พ.- 3 มี.ค. 2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: อุดมการณ์สื่อ Saga: สถาบันอิศรา 2

Posted: 04 Mar 2011 08:35 AM PST

มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อบทความชิ้นก่อน (คุณเป็ด) ว่าเหมือนผมจับแพะชนแกะ โยนขี้ให้ สสส.เกินไป เพราะการสนับสนุนให้อบรมนักข่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เรื่องน่าเกลียดเช่นการจัดกอล์ฟไปเที่ยวเมืองนอก หรือปัญหาโครงสร้างค่าตอบแทนของสถาบันอิศรา เป็นปัญหาของสมาคมนักข่าว ไม่ควรโทษแหล่งทุนอย่าง สสส.หรือหมอประเวศ จนทำให้ประเด็นของบทความอ่อนลง

ยินดีรับฟังนะครับ และยอมรับว่าผมเขียนโดยเอา 2 ประเด็นมาพัวพันกัน บางครั้งอาจสับสน ประเด็นแรกคือปัญหาในสมาคมนักข่าวและสถาบันอิศรา ซึ่งถ้าให้พูดกันตรงๆ ก็คือ มีแนวโน้มจะเกิดความไม่ชอบมาพากลและเล่นพรรคเล่นพวกแต่เนื่องจากผมอยู่ในฐานะกึ่งคนในกึ่งคนนอก คืออยู่ในวงการ แต่ไม่เคยเกี่ยวข้องสุงสิงกับสมาคม ก็เขียนถึงเท่าที่ได้รับฟัง

อันที่จริงมันมีหลายเรื่องที่พูดได้ไม่เต็มปาก มีข้อมูลข้อครหาที่พุ่งไปยังตัวบุคคลบางคน ในทำนองที่ว่ามันเกิดความไม่ชอบมาพากลขึ้นแล้ว ไม่ใช่แค่ แนวโน้ม แต่ผมไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจริงหรือไม่ ไม่มีพยานหลักฐานที่แน่ชัด จึงต้องเขียนถึงในภาพรวมแบบ นุ่มๆ เพื่อกระตุ้นเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องกับสมาคมว่าจะต้องมีการเข้มงวดตรวจสอบแล้วนะครับ เพราะเงินมันเยอะ ตั้งแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการลงมาถึงนักข่าวในพื้นที่ หรือโต๊ะข่าวแต่ละฉบับ ต้องรู้แล้วนะว่างานสมาคมมันไม่ใช่งานอาสาอีกต่อไป แต่มีผลตอบแทน ที่เคยให้นักข่าวมาช่วยงานสมาคมเพราะคิดว่าเป็นงานการกุศล ต้องคิดใหม่ และต้องช่วยกันตามติด เพราะถึงจะไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคม มันก็เป็นศักดิ์ศรีหน้าตาของวิชาชีพ (อย่าปล่อยให้เขาบล็อกโหวตกันอยู่ไม่กี่คน แบบล็อบบี้กันภายใน หรือยกทีมจาก นสพ.ฉบับเดียวมา 30-40 คน กรรมการสมาคมนักข่าวต้องได้รับเลือกจากนักข่าวตัวจริงที่ทำข่าวอยู่ในพื้นที่ทุกคน)

ผมจำเป็นต้องเขียนเรื่องนี้เพราะไม่งั้นก็ไม่มีใครเขียน เนื่องจากทุกคนมีความผูกพันมีเพื่อนพ้องน้องพี่มีต้นสังกัด มีพันธะหลายด้าน ทำให้ต้องเกรงใจกัน แต่ผมมีความผูกพันน้อย และอยู่ในสถานะที่ไม่ต้องเกรงใจใคร (ฉะนั้น ใครอยากแฉใครในวงการสื่อ ติดต่อมาได้ ใบตองแห้งยินดีรับงานทั่วราชอาณาจักร ฮิฮิ)

ประเด็นที่สอง เรื่องการให้ทุนของ สสส. ฟังดูอาจไม่ยุติธรรมที่ไปโทษคนให้เงิน คงเพราะผมไม่ได้เน้นว่าการให้เงินของ สสส.เข้าข่าย สิ้นเปลือง แม้ฟังดูอาจเข้าทีว่าให้เงินนักข่าวภูมิภาคไปทำข่าวเจาะคนละ 40,000 บาท คุ้มนะครับ ให้น้อยไปด้วยซ้ำ บางโครงการเช่น ราชดำเนินเสวนา ก็คุ้ม เพราะให้ข่าวที่ดีให้ความรู้ที่ดี แต่จะใช้เงินซักแค่ไหนเชียวกับการเชิญวิทยากรมาพูดที่สมาคมนักข่าว ไม่ต้องมีเงิน สสส.เราก็ทำได้ เลี้ยงกาแฟแก้วเดียวไม่ต้องมีค่าวิทยากร เราก็ทำกันมาเยอะแล้ว

ฉะนั้นถามว่าเงินตั้ง 14 ล้าน เอาไปใช้อะไร ตรงนี้ผมก็ไม่มีรายละเอียด นอกจากโครงการอบรม บสส. บสก.ที่ว่าใช้ 3 ล้านบาท แล้วอีก 11 ล้านล่ะ ผมอนุมานเอาว่าน่าจะเป็นการจ้างทำวิจัย จ้างนักวิชาการ ให้เงินไปจัดประชุม จัดอบรม จัดเวทีสาธารณะ เป็นค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ฯลฯ ตามสไตล์ สสส.ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมาจนบัดนี้ คงให้เงินทำวิจัยไปไม่น้อยกว่าพันล้าน แล้วก็เอาผลวิจัยไปกองไว้เป็นตั้งๆ

ขอคัดตรงนี้มาให้ดูดีกว่าว่า โครงการปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ มูลค่า 14 ล้านกว่าบาท มีเป้าหมายอย่างไรบ้าง 

๑)        เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์ทัองถิ่นทั่วประเทศกว่า ๓๐๐ ฉบับ และวิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า ๕๐๐ สถานี ภายในระยะเวลา ๑๒ เดือน

๒)         กลุ่มผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อมวลชน ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น และทั้งในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมทั้งภาคเครือข่ายอื่นๆ จากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จำนวน ๑๔๐ คน ได้รับการพัฒนาศักยภาพองค์ความรู้ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย เป็นระยะเวลา ๓ เดือน และ ๖ เดือน ตามแต่ระดับของผู้เข้ารับการอบรม

๓)         กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นจำนวน ๖๐ คนจะได้รับการเสริมสร้างศักยภาพด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ภายในระยะเวลา ๖ เดือน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในท้องถิ่นอีก ๒๐ คนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้การสื่อข่าวเชิงสืบสวนจากการปฏิบัติจริง โดยมีเป้าหมายให้เกิดเนื้อหาการรายงานข่าวเชิงสืบสวนอย่างน้อย ๒๐ เรื่องออกเผยแพร่ผ่านการพิมพ์เป็นหนังสือและเว็บไซต์

๔)        กลุ่มนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจำนวนประมาณ ๑๐ คนจาก ๑๐ มหาวิทยาลัยจะได้เข้ามาส่วนร่วมในกระบวนการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์ทัองถิ่น และวิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผ่านการประชุมและสัมมนาอีกไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน จาก ๕๐ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

๕)        กลุ่มนักสื่อสารภาคประชาชนและสื่อมวลชนท้องถิ่น จะได้รับประโยชน์จากเนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านวิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่นกว่า ๑,๐๐๐ สถานีทั่วประเทศและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกกว่า ๑๐๐ ฉบับทั่วประเทศ

๖)         กลุ่มองค์กรด้านประชาสังคมและสุขภาวะอื่นๆ จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างองค์ความรู้สื่อท้องถิ่น ผ่านการประชุมระดมความคิดเห็น และได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผ่านการประชุมและสัมมนาอีกไม่น้อยกว่า 200 คน จากทั่วประเทศ

๗)        กลุ่มประชาชนผู้รับสาร จะได้ข้อมูลข่าวสารจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้และทักษะทางด้านวิชาชีพต่างๆ พร้อมทั้งจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากข้อมูลข่าวสารที่ผลิตเพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านวิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ

ฟังดูสวยหรูไหมครับ แต่ถามว่าเห็นผลอะไรบ้าง จากการดำเนินโครงการระยะเวลา 18 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มาถึงเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นเฟสแรก แล้วยังต่อเฟสที่สองอีก 18 เดือน ตอนนี้เข้าเฟสที่ 3 ไปแล้วมั้ง

ผมก็เห็นแต่ตัวเลข แต่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ

นี่คือสไตล์การให้เงินของ สสส.และเครือข่ายหมอประเวศ ที่กลายเป็นสูตรไปแล้วว่า เอาเงินไปจัดเสวนา เอาชาวบ้านมาเสวนา ให้ค่าเบี้ยประชุม ค่าที่พัก ค่าเดินทาง จ้างคนมาเป็นผู้จัดการโครงการ จ้างทำวิจัย แล้วก็เขียนบทสรุปสวยหรูให้เข้ากับทฤษฎีชุมชนนิยม โดยไม่เคยตรวจสอบเลยว่าค่าใช้จ่ายเพื่อ งานนามธรรม เหล่านี้ มันได้มรรคผลที่แท้จริงอย่างไรหรือไม่

ถ้าเราเชื่อว่าวิธีการจ้างคนเสวนาสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ ทำไมกระทรวงศึกษาจัดอบรมเสวนาครู บังคับให้ครูทำรายงานประกอบการเลื่อนขั้นมา 20-30 ปีแล้วจึงปฏิรูปการศึกษา ยกระดับคุณภาพครูไม่สำเร็จ

ให้ตายเถอะ ไม่อยากทุบหม้อข้าวเพื่อนพ้องเลย แต่ผมจะบอกว่า ถ้าอยากพัฒนาคุณภาพนักข่าวให้ได้ผล ให้เงินแค่ปีละ 5-6 ล้านบาทแล้วเน้นโครงการเนื้อๆ ที่ได้ผลเป็นจริงก็พอ (ที่เหลือตัดมาให้ประชาไทดีกว่า ฮิฮิ)

แต่ความที่ สสส.มีเงินเยอะจนไม่รู้จะใช้อะไร และความที่ สสส.มักจะให้เงินเฉพาะองค์กรที่คุ้นเคยไว้วางใจกัน ก็เลยให้เงินตะบี้ตะบันโดยไม่ตรวจสอบผลลัพธ์อยู่อย่างนี้

ถ้ามันเป็นโครงการไกลปืนเที่ยง ไกลหูไกลตา แล้วมีปัญหาเรื่องการใช้เงิน ก็คงพูดได้ว่าอย่าโทษ สสส. แต่โครงการของสถาบันอิศราไม่ใช่อยู่ไกลหูไกลตา เพราะบอกแล้วว่าตัวตั้วตัวตีก็คือ รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.(และเป็นภริยารองผู้จัดการ สสส.อีกตำแหน่งหนึ่ง) ผู้คลุกคลีตีโมงกับสมาคมนักข่าวมาเนิ่นนาน

นอกจากนี้ โครงสร้างค่าตอบแทน ก็เป็นโครงสร้างที่ผ่านการอนุมัติของ สสส. การจ้างผู้จัดการโครงการเงินเดือนแพงทั้งที่มีงานประจำอยู่ ทำไม สสส.จะไม่รู้ แต่ สสส.ทำอย่างนี้กับหลายโครงการ (ได้ข่าวว่า Media Monitor ก็กำลังถูกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.เพ่งเล็งว่าค่าจ้างแพงเกินไป)

ผมยังได้ยินเรื่องเล่าอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสมาคมนักข่าวและสถาบันอิศรา บอกว่าโครงการรณรงค์ด้านสาธารณสุขของ สสส.โครงการหนึ่ง มีนักข่าว 5-6 คนรวมหัวรับไปทำ โดยตั้ง nominee ขึ้นมาเป็นผู้จัดการโครงการ ได้เงินไปแบ่งกัน โครงการนี้ประสบความสำเร็จมาก เป็นข่าวตลอด เพราะนักข่าวแต่ละสำนักช่วยกันผลักดันให้หัวหน้าลงข่าว อย่างน้อยก็ได้ลงเว็บไซต์

เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นบริษัทเอกชน ก็คือสื่อรับซอง แต่พอเป็น สสส.พอเป็นการรณรงค์เรื่องสุขภาพ มันกลับกลายเป็นรับทรัพย์อย่างชอบธรรม ถามจริงว่า สสส.ไม่รู้ หรือ สสส.เกรงใจนักข่าว

ผมจึงเรียกร้องมาหลายครั้งแล้วว่า สสส.ให้เงินใครไปทำอะไร ควรเปิดเผยตัวเลขให้ชัดเจนลงเว็บไซต์ และเชื่อมต่อไปถึงแต่ละองค์กร แจกแจงรายละเอียดว่าคุณใช้เงินทำอะไรบ้าง มีการประเมินผลไหม ได้ผลอย่างไร เช่น สถาบันอิศรา ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารว่าที่ได้เงินมา 2 เฟส เอาไปทำอะไรบ้าง แจกแจงให้ละเอียดยิบ เพื่อสาธารณชนและคนในวงการสื่อด้วยกัน ประเมินผลได้ว่ามันคุ้มค่าไหม

นอกจากนี้ การใช้เงินของ สสส.มันไม่ควรจะเป็นการเอาเงินไป สร้างเครือข่าย ที่มีความคิดเห็นเหมือนตัวเองหรือเหมือนหมอประเวศ แบบที่ทำให้สมาคมนักข่าวกลายเป็นกระบอกเสียงของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย แลกกับการให้เงินช่วยเหลือ หรือแบบที่เอาเงินไปซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ต่างๆ เพื่อให้ลงข้อเขียนสนับสนุนแนวคิดหมอประเวศ

สสส.ต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองว่า ไม่ว่าแมวสูบบุหรี่หรือไม่สูบบุหรี่ก็จับหนูได้เหมือนกัน คือถ้าใครเขาจะทำอะไรที่สร้างสรรค์ ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แม้คิดคนละแนวทาง แม้คิดไม่เหมือนหมอประเวศ ก็ต้องให้การสนับสนุน อย่าทำตัวแบบชินคอร์ปสมัยทักษิณเป็นนายกฯ ใครด่าพ่อกูก็ตัดงบโฆษณา

จุ๊ จุ๊ ข้อมูลใหม่

เขียนไปไม่ทันข้ามวัน งานเข้าอีกแล้ว มีผู้ประสงค์ดีส่งข้อมูลมาให้ทันที ว่าสถาบันอิศรากำลังเสนอ โครงการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย ที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือการอบรม บสส.บสก.และ บสต.ในเฟสที่สาม โดยครั้งนี้เสนอของบประมาณถึง 9 ล้านบาทเศษ เฉพาะโครงการนี้โครงการเดียว

แน่นอนว่างานนี้ไม่มีทัวร์นอกอีก เพราะความแตกแล้ว แต่ก็มีข้อท้วงติงจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.ว่าวงเงินสูงเกินไป ไอ้ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2551 ยังไม่มีการประเมินผลเลย ทั้งที่ปกติต้องประเมินผลแล้ว (อ้าว ไม่รู้จักฐานันดรที่สี่ซะแล้ว) นอกจากนี้ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเลือกผู้เข้าอบรมว่าเลือกใครและอย่างไร

ลืมบอกรายละเอียดไปนะครับว่า บสส.รุ่น 1 เขากำหนดคุณสมบัติไว้ว่า สื่อระดับหัวหน้าข่าวถึงบรรณาธิการ 25 คน นักวิชาการระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป 5 คน ผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชนตั้งแต่ผู้จัดการขึ้นไป 5 คน ผู้บริหารองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและเอกชนตั้งแต่ ผอ.ขึ้นไป 5 คน รวม 40 คน

ส่วน บสก.กำหนดว่า สื่อระดับรีไรเตอร์ถึงผู้ช่วยหัวหน้าข่าว 30 คน นักวิชาการอายุงานสิบปีขึ้นไป 5 คน ผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชนระดับหัวหน้าโครงการขึ้นไป 5 คน ผู้บริหารองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและเอกชนตั้งแต่หัวหน้าแผนกขึ้นไป ฝ่ายละ 5 คน รวม 50 คน

เฟสใหม่นี่ได้ข่าวว่าจะตัดพวก NGO ออก แต่ไปเพิ่มด้านไหนผมไม่รู้ จะเลือกคนเข้าอบรมด้วยวิธีไหนก็ไม่รู้ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นตัวปัญหา

เรื่องสำคัญคือ การอบรม บสส.บสก.ที่ผ่านมา กลายเป็นดาบทิ่มอก สสส.เข้าอย่างจัง เพราะสถาบันอิศราไปเอากรรมการแพทยสภาเข้ามาอบรมด้วย นั่นคือนาวาเอก (พิเศษ) น.พ.อิทธิพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เข้ามาอบรม บสก.และนาวาโท น.พ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ กรรมการแพทยสภา กรรมการผู้จัดการ ร.พ.ปิยะเวท อบรม บสส.รุ่น 2 เป็นเลขานุการรุ่นซะด้วย

ถามว่าเป็นคนของแพทยสภาผิดตรงไหน ไม่ผิดหรอกครับ แต่ไม่ใช่แพทยสภาหรือที่เป็นตัวตั้งตัวตีค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข ที่เครือข่ายหมอประเวศเองสนับสนุน โดยหมอธนาธิปและหมออิทธิพรเป็นตัวตั้งตัวตีมีบทบาทสำคัญ

การอบรม บสส.และ บสก.จึงสร้าง คอนเนคชั่น ระหว่างแพทยสภากับนักข่าว หมอสองคนนี้เดินเข้านอกออกในสมาคม สนิทสนมกับหัวหน้าข่าว บก.ข่าว ไปทั่ว

การอบรม บสก.ยังเกิดกรณีงามหน้า เมื่อชมรมผู้บริหารสื่อมวลชนระดับกลาง จัดสัมมนาหลักสูตร ผู้สื่อข่าวสาธารณสุขมืออาชีพ ครั้งที่ 1” ร่วมกับแพทยสภาและสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า พูดง่ายๆ ก็สมาคมบริษัทยานั่นละครับ แถมเป็นบริษัทยาข้ามชาติด้วย

งานนี้จัดที่บ้านผางามรีสอร์ท ปราจีนบุรี (ติดวังน้ำเขียว) วันที่ 18-20 มิ.ย.ปีที่แล้ว เขาบอกว่าจัดสัมนนาให้กับสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัทยาต่างๆ ที่มีความสนใจ (ใครไม่สนใจก็บ้าแล้ว)

การสัมมนาครั้งนิ้ นักข่าวทั้งหลายได้เข้ารับฟังข้อมูลจากแพทยสภา และตัวแทนบริษัทยา ซึ่งได้ข่าวว่ามีการอัดเครือข่ายประชาสังคมที่เสนอร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ไปหลายดอก รวมทั้งโจมตีเรื่องการทำ CL ยา ทั้งในและนอกรอบ

หลังจากนั้นเมื่อเดือนธันวาคมนี่เอง ชมรมผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ได้ร่วมกับพรีม่า และแพทยสภา เผยแพร่คู่มือสื่อมวลชนกับงานข่าวสุขภาพ 2553 ซึ่งมีเนื้อหาตามความต้องการของพรีม่าและเหล่าแพทย์พาณิชย์ เผยแพร่ให้ผู้สื่อข่าว องค์กรสื่อ คณะนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ต่างๆ


มีข่าวว่า พรีม่ายังเป็นสปอนเซอร์รายสำคัญช่วยควักกระเป๋าให้ผู้เข้าอบรม บสก.ไปทัวร์เกาหลีตามที่เล่าไปแล้ว จริงหรือไม่ สถาบันอิศราช่วยตอบที

บริษัทยาเข้าถึงนักข่าว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ แพทย์ชนบททราบแล้วเปลี่ยน

ใบตองแห้ง
5 มี.ค.54

ป.ล.มีคนถามว่ารู้เรื่องมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ส่งนักข่าว 3 คน นักวิชาการ 1 คนไปอบรมที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินไหม ทำไมต้องไปรับเงินอุดหนุน 3 แสนบาทจากชาตรี โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพ มีภาพมีข่าวลงในสื่อหลายฉบับราว 2 เดือนที่ผ่านมา

เรื่องนี้สอบถามให้แล้วนะครับ ‘จารย์ป๋อง พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิ ท่านเป็นตัวตั้งตัวดีในฐานะศิษย์เก่าวิสคอนซิน ติดต่อจนได้ทุนมา คนได้ไปก็เป็นนักข่าวที่ได้รับรางวัล ไม่มีข้อครหา แต่คำถามที่ว่าทำไมต้องรับเงินเอกชนและจะเป็นหนี้บุญคุณกันหรือไม่ ก็ตอบยาก เพราะเอกชนเหล่านี้ก็บริจาคเงินการกุศลผ่านสื่อต่างๆ ให้เห็นกันประจำ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกคำร้องพธม. –คนไทยหัวใจรักชาติ กรณีร้องถอนประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง

Posted: 04 Mar 2011 05:08 AM PST

ศาลแพ่งยกคำร้องของนายประพันธ์ คูณมี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติกรณีขอให้เพิกถอนประกาศตาม พ.ร.บ.มั่นคงฯ ชี้ยังไม่มีเหตุชัดแจ้ง ทนายเผยเตรียมส่งศาล รธน. ตีความ

เวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 612 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 630/2554 ที่นายประพันธ์ คูณมี กรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ยกฟ้องไปแล้ว)และพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการออกประกาศและข้อกำหนดตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศและข้อกำหนดทุกฉบับ และขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อระงับการดำเนินการใดๆ ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งได้มีการประกาศต่ออายุจนถึงวันที่ 25 มี.ค.

โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้องแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 2 ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องให้ศาลมีคำ สั่งคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์ทั้ง 2 เป็นการเร่งด่วน หากรอไว้จะเกิดความเสียหายและเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสองเกินสมควร และไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้แต่อย่างใด ทั้งยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พฤติการณ์แห่งคดียังไม่พอฟังได้ว่ามีเหตุสมควรอันแท้จริงในการยื่นคำร้อง

ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนในเหตุฉุกเฉิน และคำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ทั้ง 2 และให้นัดชี้สองสถานในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

วันและเวลาเดียวกัน ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ 663/2554 ที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทยและสมาชิกเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรัก ชาติ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และนายทศพล แก้วทิมา กรรมการเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ผู้ถูกออกหมายเรียกลำดับที่ 10 ข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-2 เรื่องละเมิด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ประกาศทุกฉบับที่ออกตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นโมฆะ

โดย ศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว คำขอในเหตุฉุกเฉิน และพยานหลักฐานในทางไต่สวนของโจทก์ทั้ง 3 และคำชี้แจงข้อเท็จจริงของจำเลยทั้ง 2 แล้ว ได้ความว่า จำเลยที่1ออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 และวันที่ 22 ก.พ.54 ประกาศเรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการ รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 และวันที่ 22 ก.พ.54 และกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 และเมื่อวันที่22ก.พ.54 ต่อมาวันที่ 9 ก.พ.54 จำเลยที่ 2 ออกประกาศฉบับที่ 1/2554 เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดฉบับที่2/2554เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือใช้ยาน พาหนะ โดยออกในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยรักษาความสงบเรียบร้อยตามประกาศของจำเลย ที่ 1 ข้างต้น ซึ่งประกาศของจำเลยที่1กล่าว ถึงว่ามีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม บุคคลคลบางกลุ่มได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนโดยการปิดการจราจร และมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวตามเส้นทางรวมทั้งมีการปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ ราชการสำคัญใน กรุงเทพฯลฯ ซึ่งได้ความอีกว่าโจทก์ทั้ง3และกลุ่มเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ ได้ร่วมชุมนุมบริเวณประตู4 ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก ตั้งแต่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ถึงแยกมิสกวัน นับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 53 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการปักปันเขตแดน เห็นว่า จำเลยที่1 ได้ออกประกาศเมื่อวันที่8 ก.พ.54โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 9 ก.พ.54ถึงวันที่ 23 ก.พ.54 ทั้งยังได้ออกประกาศต่อมาในวันที่ 22 ก.พ.54 โดยให้มีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 24 ก.พ. 54 ถึงวันที่ 25 มี.ค.54 ซึ่งมีเนื้อความต่อเนื่องกับเหตุการณ์ตามประกาศฉบับแรกเพื่อให้มีผลใช้ บังคับต่อเนื่องกัน แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้ง 3 และกลุ่มเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ ไม่ได้ยื่นคำฟ้อง คำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา และคำร้องขอในเหตุฉุกเฉินนับตั้งแต่ประกาศฉบับแรกมีผลใช้บังคับไม่ แต่กลับยื่นคำฟ้อง คำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา และคำร้องในเหตุฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 ก.พ.54 หลังจากที่ประกาศฉบับแรกใช้บังคับแล้ว 16 วัน กรณียังไม่มีเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 3 ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งประกาศของจำเลยที่1 เป็นโมฆะและห้ามไม่ให้จำเลยที่2 ออกคำสั่งใดๆ ที่อาศัยอำนาจตามความในประกาศที่ออกและประกาศโดยจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 และ วันที่ 22 ก.พ.54 อีกต่อไป เห็นว่า เมื่อศาลยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าประกาศของจำเลยที่1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สามารถบังคับใช้ได้อีกต่อไป ประกาศที่ออกนั้นจึงยังมีผลบังคับใช้ตามที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ให้อำนาจไว้ ดังนั้น การที่ศาลจำมีคำสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งใดๆที่อาศัยอำนาจตามความในประกาศที่ออกและประกาศโดยจำเลยที่1ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าประกาศของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะมีผลเสมือนว่าศาลได้วินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสามชนะคดีตั้งแต่ในชั้นขอให้ใช้ วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา กรณียังฟังไม่ได้ว่ามีเหตุสมควรอันแท้จริงที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 และมาตรา 267

ให้ยกฟ้องคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน และคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ทั้งสาม และให้นัดชี้สองสถานในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ เปิดเผยหลังศาลมีคำสั่งว่า ตนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศและ ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ทั้ง 6 ฉบับของรัฐบาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยืนยันจะเดินหน้าชุมนุมต่อไป แม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งยกคำร้องก็ตาม

 

ที่มา: www.manager.co.th

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฉนดชุมชน ไม่ใช่ทางออกการแก้ปัญหาที่ดิน

Posted: 04 Mar 2011 04:19 AM PST

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบโฉนดชุมชนให้แก่ชาวบ้านคลองโยง นครปฐม อย่างไรก็ตามโฉนดชุมชน ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาและจะสร้างความเสียหายต่อระบบเอกสารสิทธิ์ในระยะยาวของประเทศไทย ข้อสังเกตที่สาธารณชนพึงทราบก็คือ

1. ป่าเสื่อมโทรมนั้น ไม่ควรให้ใครไปอ้างสิทธิ์เอาแผ่นดินของส่วนรวมไปครอบครองเป็นส่วนตัว ไม่ควรอ้างความจนมาครอบครองแผ่นดิน รัฐพึงเอาป่าเสื่อมโทรม มาปลูกป่าในเชิงพาณิชย์เพื่ออนาคตของประเทศชาติในอีก 50-100 ปีข้างหน้า

2. คนจนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ควรทำไร่-นา เพราะไม่มีระบบชลประทาน น้ำท่าก็ไม่สมบูรณ์ ปกติคนชนบทส่วนมากก็มีรายได้จากเกษตรกรรมเป็นรอง รายได้นอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว การจับจองตามอำเภอใจคงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร

3. ถ้าคนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ค่อยมีรายได้และยากจน รัฐบาลก็ควรหาทางสร้างงานทางอื่น ซึ่งอาจเป็นงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่น ๆ การอยู่อย่างกระจัดกระจายไม่สมควร สาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น โรงเรียนประถม สถานีอนามัย ก็ต้องขยายออกไปอย่างไม่สิ้นสุดเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร

4. กรณีป่าสงวนออกมาทับซ้อนกับที่ดินของผู้ที่ครอบครองไว้ก่อน ก็เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการพิสูจน์สิทธิ์ ให้ชัดเจน แต่ผู้ที่มาบุกรุกภายหลัง ถือว่าเป็นผู้บุกรุก ไม่ควรให้อยู่ หาไม่ใครต่อใครก็จะมาอ้างสิทธิ์ไม่สิ้นสุด
5. มีการอ้างว่า คนจนที่บุกรุกอยู่ในเมือง ก็ควรจะได้รับโฉนดชุมชนเช่นกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดส่วนมาก ไม่ได้เป็นคนจน ชุมชนประเภทบุกรุกก็อยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ มานาน
6. ในการแก้ไขปัญหานั้น ควรแก้เป็นจุด ๆ ไม่ใช่เหวี่ยงแหออกกฎหมายใช้ไปทั่ว ในพื้นที่ที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องแก้ไขเป็นกรณีไป เช่น กรณียายไฮ กรณีออกกฎหมายคลุมไปทั่วนั้น อาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบได้ คล้ายกรณี สปก.4-01 ที่ถือโอกาสแจกที่ดินให้คนรวยไปด้วย

7. แม่น้ำหนองบึงในย่านชุมชน ก็ล้วนเป็นของส่วนรวม แต่ไม่ใช่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เพราะถ้าเช่นนั้น ชุมชนอื่น ก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ในการใช้สอยด้วย กลายเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา ของหลวงหรือของส่วนรวม คือสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ให้ใครอยู่ใกล้ทรัพยากร ได้รับไป

8. การให้คนมีที่ดินเป็นของตนเอง ควรพ้นสมัยได้แล้ว มีที่ดีก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป บางคนพอได้ที่ดินเป็นของตนเอง ก็เอาไปขาย เพราะพวกเขาไม่เคยอาบเหงื่อต่างน้ำจนหาซื้อมาเองได้ แต่ได้จากการแจก พวกเขาจึงขาด Sense of Belonging จึงขายไป แสดงว่าเราไม่ควรแจกที่ดินให้ใคร และการแจกที่ดินไม่ใช่ทางออกของปัญหา และขนาดที่ดินของตนเองยังรักษาไว้ไม่ได้ โฉนดชุมชนก็คงหาคนรักษาได้ยาก

9. เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แทบไม่มีหมู่บ้านชาวเขาอยู่บนเขาเลย แต่เดี๋ยวนี้มีมากมาย บุกรุกกันเพิ่มอยู่เสมอปี จึงคงเป็นไม่ได้ได้ที่จะให้ขยายตัวอย่างนี้ ประเทศควรจัดหาที่อยู่ให้ใหม่แทนการบุกรุก ในเวียดนามเมื่อปลายเดือนกันยายน 2552 ก็อพยพย้ายคนนับแสน ๆ เพื่อหนีพายุ คนนับล้านที่อาจต้องย้ายออกจากป่า ถ้าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อนแบบหนีพายุ ก็น่าจะสามารถทำได้ เชื่อว่า ในจีน ลาว เขมร เวียดนามหรือมาเลเซีย เขาคงไม่ปล่อยให้มีการบุกรุกป่ากันตามอำเภอใจเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา

10. ในการจัดการปัญหาของชาตินั้น ทางราชการต้องดำเนินการโดยเด็ดขาดโดยไม่เลือกปฏิบัติ จะย่อหย่อนจนปัญหาลุกลามเช่นนี้ต่อไปไม่ได้

การแก้ปัญหาด้วยโฉนดชุมชน อาจเป็นเพียงแค่การหาเสียงทางการเมือง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าจี้ย้ายอีกหมู่บ้านในรัฐฉาน อ้างเป็นที่พักพิงกลุ่มต่อต้าน

Posted: 04 Mar 2011 04:08 AM PST

ทหารพม่าในรัฐฉานยังไม่เลิกนโยบายบังคับโยกย้ายหมู่บ้าน ล่าสุดสั่งย้ายอีก 3 หมู่บ้าน กำหนดแล้วเสร็จภายใน 15 วัน อ้างเป็นที่พักพิงกองกำลังต่อต้าน

มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 66 ประจำเมืองโขหลำ รัฐฉานตอนใต้ ได้มีคำสั่งโยกย้ายหมู่บ้านในพื้นที่อีก 3 หมู่บ้าน รวมบ้านเรือนเกือบ 200 หลัง โดยอ้างว่าทั้งสามหมู่บ้านเป็นแหล่งที่พักพิงของกองกำลังต่อต้านและมีชาวบ้านให้การสนับสนุน ซึ่งกองกำลังกลุ่มต่อต้านได้ก่อเหตุโจมตีทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง

โดยหมู่บ้านที่ถูกสั่งย้าย ประกอบด้วย บ้านป่างสา มี 25 หลังคาเรือน บ้านผาซ่อน ประมาณ 60 หลังคาเรือน และบ้านเก็งคำ มีประมาณ 100 หลังคาเรือน ทั้งหมดอยู่ในตำบลดอยละ เขตเมืองโขหลำ โดยทหารพม่าได้สั่งให้ชาวบ้านอพยพไปอยู่ใกล้ตัวเมืองและกำหนดระยะเวลาการโยกย้ายข้าวของให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคมนี้

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การสั่งโยกย้ายหมู่บ้านครั้งนี้อาจเป็นแผนการของทหารพม่า ที่ต้องการยึดพื้นที่ใช้เป็นที่ตั้งกิ่งอำเภอใหม่ที่มีกำหนดตั้งอีกแห่งใน รัฐฉานตอนใต้ ขณะที่ชาวบ้านระบุ อาจมีสาเหตุจากการที่ทหารพม่าถูกทหารกลุ่มต่อต้านโจมตีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีแพทย์ทหารพม่าถูกทหารกลุ่มต่อต้านจับตัวไป และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 54 กองกำลังไทใหญ่ SSA ได้บุกโจมตีฐานกองกำลังอาสาสมัครปะโอ กลุ่มของนายอ่องคำถี่ ซึ่งอยู่ใต้กำกับของทหารพม่า ในเขตพื้นที่เมืองน้ำจ๋าง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโขหลำ ส่งผลให้ฝ่ายอาสาสมัครปะโอเสียชีวิต 6 นาย และฝ่าย SSA ตรวจยึดอาวุธปืนได้หลายรายการ พร้อมกับยาเสพติดน้ำหนัก 160 กก.

ทั้งนี้ ตลอดช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา กองทัพพม่าในรัฐฉานได้ใช้ยุทธการตัดสี่ (4 cuts) ตัดการสนับสนุนกองกำลังกลุ่มต่อต้านที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ ได้แก่การตัดเสบียง ตัดเงินสนับสนุน ตัดกำลังพล และตัดการติดต่อสื่อสาร โดยมีการบังคับโยกย้ายหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน SHRF ระบุ ระหว่างปี 2539 – 2541 มีหมู่บ้านในรัฐฉานภาคใต้ถูกบังคับโยกย้ายกว่า 1,478 แห่ง ใน 11 อำเภอ ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 3 แสนคนจาก 55,957 ครอบครัวต้องไร้ที่อาศัย และส่วนใหญ่ได้อพยพเข้าในประเทศไทย 

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส.ว.เผยผู้บริหาร "เซ็นทรัลเวิลด์" แฉเหตุเผาห้าง กลุ่มไม่ทราบฝ่ายถืออาวุธบีบรปภ.จนทำสำเร็จ

Posted: 04 Mar 2011 04:03 AM PST

กมธ.ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา เผยตัวแทนกรรมการผู้จัดการเซ็นทรัลเวิลด์ให้ข้อมูล ระบุมีกลุ่มคนพยายามเผาเซ็นทรัลเวิลด์หลายครั้ง ยันเหตุเกิดหลังแกนนำเสื้อแดงมอบตัวแล้ว

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา เปิดเผยถึงกรณีการวางเพลิงเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ว่า กมธ. เชิญตัวแทนกรรมการผู้จัดการเซ็นทรัลเวิลด์ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการ ได้รับทราบว่า มีกลุ่มคนหนึ่งพยายามเผาเซ็นทรัลเวิลด์มาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากมีหน่วยรักษาความปลอดภัยคอยป้องกันเหตุจำนวนหลายร้อยคน หลังจากนั้นกลุ่มคนดังกล่าว ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน ได้เพิ่มจำนวนคนมากขึ้น พร้อมกับถืออาวุธครบมือเข้ามาภายในเซ็นทรัลเวิลด์ จนสามารถบีบให้หน่วยรักษาความปลอดภัยยอมจำนน และสามารถเผาได้สำเร็จ

"ตัวแทนกรรมการผู้จัดการเซ็นทรัลเวิลด์ ให้ข้อมูลกับเราว่า การพยายามลอบวางเพลิง ไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างที่กลุ่มเสื้อแดงชุมนุม แต่เกิดขึ้นหลังจากที่แกนนำกลุ่มเสื้อแดงเข้ามอบตัวแล้ว และตลอดเวลาที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณดังกล่าว ผู้ชุมนุมก็มีความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ด้วยดีกับทางห้าง โดยทางห้างได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเข้าห้องน้ำด้วย นอกจากนี้ ตัวแทนของห้างยังระบุว่า มีวีดีโอที่บันทึกภาพของกลุ่มคนที่วางเพลิงไว้ด้วย แต่จนถึงขณะนี้ทางห้างยังไม่ได้ส่งมาให้ทางคณะกรรมการ" นายจิตติพจน์กล่าว

นายจิตติพจน์ กล่าวต่อว่า การประชุมคณะกรรมการฯ วันที่ 10 มีนาคม ทางคณะกรรมการฯ เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) เข้าชี้แจงถึงความคืบหน้าของคดีกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงจะเชิญนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำกลุ่มนปช. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. ว่าต่อจากนี้จะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฏร์ ฉบับ 15: การดำเนินคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศและปัญหาสองสัญชาติ

Posted: 03 Mar 2011 10:39 PM PST

บทนำ

ตามข่าวที่มีความพยายามจะฟ้องนายกรัฐมนตรีและ ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ให้พิจารณากรณีที่มีการสลายผู้ชุมนุมประท้วงที่ราชประสงค์จนเกิดการสูญเสีย จำนวน 91 ศพนั้น ได้มีประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวข้องทั้งเรื่องเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศและ ประเด็นเรื่องสัญชาติของนายกรัฐมนตรีที่ควรกล่าวถึง ดังนี้...

1. หลักการเสริมเขตอำนาจศาลภายในประเทศ (Complementarity)

ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลที่มีลักษณะถาวร หรือประจำซึ่งต่างจากศาลอาญาระหว่างประเทศแบบเฉพาะคดี (ad hoc) อย่างที่คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาอาชญากรรม ร้ายแรงที่กระทำขึ้นในยูโกสลาเวียและในรวันดา วัตถุประสงค์หลักของศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งสะท้อนในอารัมภบทของธรรมนูญ กรุงโรมก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศก็คือ เป็นศาลที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนศาลภายในของรัฐภาคีที่จะพิจารณาความผิด อาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีเขตอำนาจก็ต่อเมื่อมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ศาลภายในของรัฐ ไม่เต็มใจ” (unwilling) หรือ ไม่สามารถ” (unable) ที่จะฟ้องดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาได้เท่านั้น

การไม่เต็มใจนี้อาจหมายถึง รัฐนั้นไม่ยอมที่จะดำเนินคดีหรือรู้เห็นใจกับผู้ถูกกล่าวหา หรือต้องการช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหา เป็นต้น

ส่วน การไม่สามารถที่จะดำเนินคดีนั้น หมายถึงกรณีที่กระบวนการยุติธรรมภายในของรัฐนั้นล้มเหลว ตกอยู่ในสภาพที่ไม่อาจทำงานได้ เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาคอร์รัปชั่น หรือเกิดสงครามกลางเมือง เป็นต้น

ในแง่นี้ เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศจึงมีลักษณะเป็นเขตอำนาจเสริมศาลภายในเท่า นั้นที่เรียกว่า Complementarity การก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศจึงมิได้มีความมุ่งหมายที่จะมาแทนที่ ลบล้าง หรือตัดเขตอำนาจของศาลภายในของรัฐ ในทางตรงกันข้าม ในอารัมภบทของธรรมนูญกรุงโรมกลับย้ำว่า เป็นหน้าที่ของทุกรัฐที่จะต้องใช้เขตอำนาจของตนเหนืออาชญากรรมระหว่างประเทศ ที่ได้กระทำขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ศาลภายในของรัฐมีความผิดชอบเบื้องต้นที่จะต้องใช้เขตอำนาจของตนในการพิจารณา บรรดาอาชญากรรมร้ายแรงที่อยู่ภายในเขตอำนาจของตนก่อน ต่อเมื่อรัฐนั้นไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาได้ ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงจะเข้ามาพิจารณาคดี

ดังนั้น หากจะมีการส่งเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณากรณีของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น ก็จะต้องมีการฟ้องที่ศาลของประเทศอังกฤษเสียก่อน ต่อเมื่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศอังกฤษ ไม่เต็มใจหรือ ไม่สามารถที่จะดำเนินคดีได้ จึงจะมีการส่งเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาต่อไปได้

2. ประเด็นเรื่องสองสัญชาติ

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องสองสัญชาติ ซึ่งยังมีประเด็นย่อยๆ อีกอย่างน้อยสามประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก

การที่นายกรัฐมนตรีได้ยอมรับว่าตนเองถือ สัญชาติอังกฤษนั้น จะมีผลต่อความเป็นไปได้ที่จะเสนอเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่นั้น เรื่องนี้นักกฎหมายระหว่างประเทศเห็นเป็นสองแนว

กลุ่มแรกเห็นว่า สัญชาติของผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างแท้จริงกับรัฐเจ้า ของสัญชาติที่รียกว่า “genuine link” กล่าวคือ หากผู้ถูกกล่าวหามีสองหรือมากกว่าสองสัญชาติ ก็จะต้องมีการพิสูจน์ว่า สัญชาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากที่สุด โดยอาจพิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบกัน เช่น ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ ฯลฯ

ส่วนกลุ่มที่สองเห็นว่า ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะถือสองสัญชาติหรือมากกว่าสองสัญชาติก็ตาม แต่ในเรื่องของการดำเนินคดีอาญานั้น ทุกสัญชาติมีความเท่าเทียมกันหมด กลุ่มนี้ใช้หลักความเท่าเทียมกันของสัญชาติที่เรียกว่า “the principle of equality

ประเด็นที่สอง

ตามข่าวที่ว่า นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ทำนองว่าในกรณีที่กฎหมายสัญชาติขัดกันนั้น ให้ถือกฎหมายสยามนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีกำลังกล่าวถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสี่ที่บัญญัติว่า  

 

ในกรณีใดๆที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่กฎหมายแห่งประเทศสยาม

 

ประเด็นที่สมควรทำความเข้าใจอย่างยิ่งก็คือ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับเรื่องนี้

ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายขัดกันอธิบายว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 เป็นกฎหมายที่ให้ศาลไทยเลือกใช้กฎหมายต่างประเทศได้ถูกต้องหากว่านิติ สัมพันธ์ทางแพ่งหรือพาณิชย์มีองค์ประกอบต่างประเทศพัวพันเข้ามา กล่าวอีกนัยหนึ่ง พระราชบัญญัตินี้ จำกัดเฉพาะเรื่องทางแพ่งหรือพาณิชย์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาและกฎหมายมหาชนแต่ประการใด ดังจะเห็นได้จากโครงสร้างการจัดหมวดหมู่ของพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นมีเรื่อง สถานะและความสามารถของบุคคล หนี้ ทรัพย์ ครอบครัวและมรดก

นอกจากนี้ คำว่า กฎหมายแห่งประเทศสยามในมาตรา 6 ของพระราชบัญญัตินี้ ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า หมายถึง พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ไม่ใช่กฎหมายอะไรก็ได้ที่เป็นกฎหมายไทย

ประเด็นที่สาม

เรื่องการมีสองสัญชาติ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และกฎหมายสัญชาติของนานาประเทศ รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ โดยหลักไม่ห้ามให้บุคคลมีสองสัญชาติ (dual nationality) หรือมากกว่าสองสัญชาติ (multi nationality) เพียงแต่กฎหมายได้เปิดช่องให้บุคคลที่มีสัญชาติมากกว่าหนึ่งสัญชาติมีสิทธิ ที่จะสละสัญชาติได้ โดยการสละสัญชาตินั้นเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะสละหรือไม่สละก็ได้ ซึ่งต่างจากการถูกถอนสัญชาติ และขั้นตอนวิธีการสละสัญชาติใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาตินั้น ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีมีสัญชาติอังกฤษด้วยนั้นเหมาะสมมากน้อยเพียงใดหรือ ไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

บทส่งท้าย

เรื่องเขตอำนาจศาล (Jurisdiction) และการรับข้อเรียกร้องไว้พิจารณา (Admissibility of the claim) นั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องพิจารณาในเบื้องต้นเสียก่อนด้วยความรอบ และเป็นประเด็นเทคนิคทางกฎหมายที่จะอาศัยความเข้าใจทั่วๆไปของคนธรรมดามา อธิบายไม่ได้ และที่สำคัญ ต้องแยก ประเด็นทางกฎหมายกับ ประเด็นทางการเมืองออกจากกันให้ชัด มิฉะนั้นแล้ว การนำเรื่องการเมืองไปปนกับกฎหมายจะทำให้หลักกฎหมายหรือเหตุผลทางกฎหมายไขว้เขวได้

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่นิติราษฎร์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น