ประชาไท | Prachatai3.info |
- จากวิกฤต ‘บัตรเหลือง’ ถึงคำถามจำเป็นต้องมีบัตรประชาชนหรือ?
- พบศพ 200-300 ชายฝั่งนอกเมืองเซ็นได
- “มาร์ค” ประกาศนำเรื่องทูลเกล้ายุบสภาสัปดาห์แรกเดือน พ.ค.
- กสม.ยก 5 ปัญหาหลักสิทธิมนุษยชนไทย จี้รัฐฯ ปฏิรูประบบยุติธรรม
- ตรึกคิดจัดงาน 100 ปีสตรีสากล จากวันนั้นถึงวันนี้
- “สรส.-คสรท.” แห้วไม่มีคนมารับหนังสือค้านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
- นักปรัชญาชายขอบ: หลังรัฐประหารประเทศนี้จะเป็นอย่างไร?
- ทหารพม่ายิงถล่มชุมชน อ้างโจมตีกลุ่มต่อต้าน
- ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: ถึงชาวไพร่
- ธรรมาภิบาลกับการอภิบาลประชาชน
- ผู้ต้องขังเสื้อแดงเชียงใหม่ร่ำไห้วอนแกนนำช่วยประกันตัว
- แผ่นดินไหวญี่ปุ่น 8.9 ริกเตอร์ เสียหายหนัก
- บทวิเคราะห์การประท้วงในเยเมน: มีเพียงการปฏิวัติบางแห่งเท่านั้นที่โทรทัศน์จะนำเสนอ
- รวบหนุ่มขายวีซีดีหมิ่นฯ รับชื่นชอบ "สุรชัย แซ่ด่าน"
- นักข่าวพลเมือง: ทหารขึ้นป้าย “ใครใช้ให้พวกมึงเผาบ้านเมือง” เสื้อแดงบ่อนไก่ฮือปลด
จากวิกฤต ‘บัตรเหลือง’ ถึงคำถามจำเป็นต้องมีบัตรประชาชนหรือ? Posted: 11 Mar 2011 10:10 AM PST วิกฤตการณ์ “บัตรเหลือง” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2553–54 นี้ ได้นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดทำเอกสารสำคัญอย่างบัตรประจำตัวประชาชน ที่ตัวบัตรเกิดการขาดแคลนเป็นเวลาหลายเดือนอย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้ประชาชนที่ต้องทำบัตรประจำตัวใหม่นั้น ต้องถือใบรับที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนเป็นการชั่วคราว หรือที่เรียกว่าใบเหลือง เป็นเวลาหลายเดือน แต่หากเราพิจารณาประเด็นนี้แล้ว เราจะพบว่า ยังมีอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ได้รับการอภิปรายในวงกว้างเท่าที่ควร ที่จริงๆ แล้ว ก็อาจเรียกได้ว่ามีส่วนทำให้การขาดแคลนบัตรประจำตัวประชาชนนี้กลายเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง นั่นคือการให้ความสำคัญอย่างมากแก่บัตรประจำตัวประชาชนในกฎหมายของไทย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ชุมชนออนไลน์ที่ผมสิงสถิตอยู่ มีหลายคนพยายามจะชูประเด็นเรื่องความจำเป็นของการมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยมีการอ้างอิงถึงความ (ไม่) จำเป็นในลักษณะเดียวกันในรัฐอื่นๆ ทั่วโลก แต่ด้วยการหล่อหลอมของการศึกษาไทยที่ทำให้คนจำนวนมากนิยมแนวคิดอำนาจนิยม (authoritarian) ที่ให้รัฐมีอำนาจอย่างมากในการควบคุม ทำให้หลายคนนั้น เรียกได้ว่า dismiss แนวคิดการไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนโดยสิ้นเชิง ผมเองจึงสงสัยและอยากรู้ว่า แนวคิดและแนวปฏิบัติของการมีบัตรประจำตัวประชาชนนั้นแตกต่างการอย่างไรในแต่ละรัฐ และแนวทางของไทยนั้นเป็นอย่างไรในปัจจุบัน เปรียบเทียบนโยบายการมีบัตรประจำตัวของประเทศต่างๆ ในบรรดารัฐต่างๆ ที่มีอยู่ราวสองร้อยรัฐทั่วโลกในปัจจุบัน ต่างก็มีนโยบายเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนที่สรุปได้ออกมาเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่บังคับให้ประชาชนมีบัตรประจำตัว ตัวอย่างประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ได้แก่ เบลเยียม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย บราซิล อาร์เจนตินา เปรู เกาหลีใต้ มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมไปถึงประเทศไทยด้วย กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีการออกบัตรประจำตัว แต่ไม่บังคับว่าต้องมี ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ได้แก่ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดา เป็นต้น ลักษณะนโยบายของประเทศในกลุ่มนี้ก็คือ ประชาชนสามารถขอมีบัตรประจำตัวไว้แสดงตนได้ แต่ไม่จำเป็น เพราะอาจจะใช้เอกสารราชการรูปแบบอื่นแทนได้อยู่แล้ว เช่น ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ หรือหนังสือเดินทาง ซึ่งประชากรจำนวนมากในประเทศก็จะมีเอกสารอย่างน้อยหนึ่งรูปแบบ ทำให้ไม่จำเป็นต้องออกบัตรประจำตัวมาใช้แสดงตัวเป็นการเฉพาะอีก กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ไม่มีการใช้บัตรประจำตัวเลย ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น (ในกรณีของสหราชอาณาจักร เคยมีนโยบายที่จะมีบัตรประจำตัว แต่ก็ยกเลิกไป ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล) ในมุมมองของผมแล้ว หากเราพิจารณานโยบายหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัตรประจำตัวประชาชน เราจะพบว่า ประเด็นสำคัญไม่ใช่ว่า เราจะต้องมีเอกสารทางการที่ใช้ในการยืนยันตัวบุคคลหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแทบทุกประเทศในโลกก็จะมีการใช้เอกสารสำหรับยืนยันตัวบุคคลในรูปแบบหนึ่งอยู่ แต่ประเด็นที่จะพิจารณาคือ จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องมีเอกสารที่ออกมาจำเพาะเพียงเพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคล นอกเหนือไปจากเอกสารอื่นๆ ที่มีการใช้กันทั่วไปอยู่แล้ว กฎหมายบัตรประจำตัวประชาชนของไทย สำหรับประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัตรประจำตัวประชาชนคือพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ตามที่กล่าวไปข้างต้น ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่บังคับให้มีบัตรประจำตัวประชาชน ดังที่เขียนไว้ในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2526 ตามการแก้ไขในมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2542 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นอกจากจะบังคับว่าต้องมีแล้ว กฎหมายยังระบุให้ประชาชนพกติตตัวตลอดเวลาด้วย ตามที่ปรากฎในมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2526 ตามการแก้ไขในมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2542 ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่อาจแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท ถึงแม้ว่าโทษตามกฎหมายอาจไม่ได้รุนแรงนัก และไม่ได้มีการบังคับตรวจตรากันเคร่งครัดขนาดนั้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ประชาชนไทยจำเป็นต้องพกบัตรนี้ติดตัวตามกฎหมาย ในด้านหนึ่ง ข้อบังคับการมีบัตรประจำตัวของไทย ส่งผลให้บัตรประจำตัวประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนที่จะต้องพกเอกสารขนาดยักษ์ติดตัวตลอดเวลาเมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนบัตรประจำตัวอย่างที่เกิดขึ้น ความสำคัญของบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ได้มีเท่าที่ระบุในพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ยังเกี่ยวข้องกับกฎหรือระเบียบอื่นๆ ด้วย ผมขอยกตัวอย่างจากปัญหาข้อหนึ่งที่มีการเขียนไว้ในเว็บไซต์ของกรมที่ดิน ซึ่งมีกรณีว่า มีการขอซื้อที่ดิน ซึ่งตามกฎระเบียบที่มีอยู่ จะต้องใช้เอกสารยืนยันตัว ในกรณีนี้เป็นปัญหาว่า ผู้ขอซื้อที่ดินลืมนำบัตรประจำตัวประชาชนมา จึงขอใช้พาสปอร์ตที่มีอยู่แทน แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ใช้ คำตอบส่วนหนึ่งในเว็บไซต์ ระบุว่า ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ และระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. ๒๕๔๘ บัตรประจำตัวประชาชน กับหนังสือเดินทางเป็นเอกสารคนละประเภทและมีไว้เพื่อใช้ในกรณีที่ต่างกัน บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านทุกคนต้องมีไว้เพื่อใช้แสดงตนว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทย เว้นแต่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนหนังสือเดินทางเป็นเอกสารราชการซึ่งบุคคลสัญชาติไทยใช้ในการเดินทางในต่างประเทศ จึงไม่จำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องมีหนังสือเดินทาง และหนังสือเดินทางไม่ใช่เอกสารที่จะมีไว้แทนบัตรประจำตัวประชาชนได้ ขณะเดียวกันบัตรประจำตัวประชาชนก็ไม่ใช่เอกสารที่จะมีไว้แทนหนังสือเดินทางได้เช่นกัน … หากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิจารณาจากหนังสือเดินทางและสำเนาทะเบียนบ้านแล้วเชื่อได้ว่าผู้ซื้อเป็นผู้มีสิทธิและความสามารถตามกฎหมายที่จะทำการซื้อและถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ และไม่มีกรณีหลีกเลี่ยงกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ชอบที่จะรับจดทะเบียนให้ได้ แต่ถ้ามีข้อสงสัยใดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ชอบที่จะอาศัยอำนาจตามนัยมาตรา ๗๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เรียกให้ผู้ซื้อนำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงประกอบการจดทะเบียนได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป (เน้นคำโดยผู้เขียน) ในกรณีนี้ แม้เราจะเห็นว่า เจ้าพนักงานสามารถยอมรับการใช้หนังสือเดินทางในการยืนยันตัวได้ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ให้ถือว่าใช้เป็นเอกสารยืนยันได้ ในทางกลับกัน เจ้าพนักงานสามารถเลือกที่จะยืนยันให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนได้ เพื่อนของผมเองคนหนึ่งก็เคยประสบเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คือไปติดต่อทำธุระที่ธนาคาร โดยตั้งใจจะใช้หนังสือเดินทางเป็นเอกสารยืนยัน (เหตุผลก็เพราะวิกฤตการณ์ใบเหลืองนี่เอง) ด้วยคิดว่าก็น่าจะใช้แทนกันได้ไม่มีปัญหา (ตัวผมเองก็คิดเช่นนั้น) แต่เมื่อไปถึงแล้ว พนักงานธนาคารปฏิเสธที่จะยอมรับหนังสือเดินทางเป็นเอกสารยืนยันตัวบุคคล โดยยืนยันว่าจะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนหรือใบรับเท่านั้น ในกรณีนี้ จึงดูเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า มีความจำเป็นขนาดไหน ที่ประชาชนไทย จะต้องพึ่งพาบัตรประจำตัวประชาชนในฐานะหลักฐานยืนยันตัวบุคคลอย่างที่ไม่สามารถใช้เอกสารอื่นใดทดแทนได้ขนาดนี้ ในเมื่อเอกสารทางการอื่นอย่างหนังสือเดินทางหรือใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ก็เป็นเอกสารที่ราชการออกให้ มีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาชน (หลักๆ แล้ว หนังสือเดินทางก็ขาดแต่เพียงที่อยู่เท่านั้น ซึ่งก็ตั้งคำถามได้ว่า เป็นสิ่งจำเป็นขนาดไหน) เป็นไปได้หรือไม่ เอกสารชนิดอื่นที่รัฐบาลออกให้ จะสามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวบุคคลตามกฎหมาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเอกสารชนิดเดียวตลอดเวลา รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องบังคังให้มีเอกสารนี้ติดตัว และแนวคิดล่าสุดที่ต้องการจะตีตรานี้ลงไปในเด็กประถมอีกด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พบศพ 200-300 ชายฝั่งนอกเมืองเซ็นได Posted: 11 Mar 2011 09:51 AM PST จากกรณีแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทื ขณะที่นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ระบุว่า จากเหตุแผ่นดินไหว ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลี มีรายงานด้วยว่า คลื่นสึนามิซึ่งพัดกระหน่ำที่ ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่าเกิ ด้านสหประชาชาติระบุว่ามีเครื่ ทั้งนี้ ประเทศที่มีการเตือนภัยสึนามิ เรียบเรียงจาก: http://english.aljazeera.net/ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
“มาร์ค” ประกาศนำเรื่องทูลเกล้ายุบสภาสัปดาห์แรกเดือน พ.ค. Posted: 11 Mar 2011 09:30 AM PST “มาร์ค” ระบุเสียงของประชาชนจะเป็นสิ่งที่ชี้อนาคตของบ้านเมืองได้ ด้าน “สดศรี” เคาะวันหย่อนบัตรปลาย มิ.ย.ห่วง กม.ลูก 3 ฉบับ อยากให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง หากไม่ทันเตรียมประกาศ กกต.รองรับแล้ว วานนี้ (11 มี.ค.54) เมื่อเวลา 16.15 น.ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการจัดเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังที่จะประกาศยุบสภา ว่า เป็นการหารือสอบถามเรื่องของเทคนิคและปัญหาข้อกฎหมาย ทั้งนี้ กกต.สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในสัปดาห์หน้า แต่ถ้ามีความจำเป็นหรือมีความเหมาะสมจริงๆ ว่าต้องมีการเลือกตั้งโดยเร็ว เรื่องของการออกระเบียบตามบทเฉพาะกาลหรือตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ใน 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินนโยบายหลายด้านและมาคลี่คลายปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง ซึ่งเราได้เห็นความพึงพอใจของประชาชนต่อนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาล และเศรษฐกิจมีความมั่นคงมากขึ้น แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังมีอยู่ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลทำมาในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาคือการรักษาความเป็นนิติรัฐ และพร้อมจะพิจารณาการคืนอำนาจให้กับประชาชนในเวลาที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งวันนี้ตนคิดว่าตอนนี้สภาปัญหาเปลี่ยนไป โดยเป็นเรื่องปัญหาปากท้อง สินค้าราคาแพง ซึ่งตนต้องการเห็นประเทศเดินหน้าเมื่อมีคำตอบสำหรับประชาชน โดยตนไม่ต้องการให้ปัญหาของการเมืองมาเป็นอุปสรรคให้บ้านเมืองมีความอึมครึม ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เสียงของประชาชนจะเป็นสิ่งที่ชี้อนาคตของบ้านเมืองได้ ซึ่งตนมั่นใจว่าเสียงดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและดังที่สุด มากกว่าการปล่อยให้สภาพการเมืองเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อยแต่ส่งเสียงดัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องการยุบสภา ขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.นี้ เพื่อให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งเป็นลำดับต่อไป ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ตนมั่นใจว่าความชัดเจนเรื่องของกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งเขตการเลือกตั้งจะมีความเรียบร้อย ทั้งนี้ ตนได้เคยหารือเรื่องนี้กับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งจากการที่ตนหารือเองโดยตรงหรือผ่านทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตนก็ทราบดีว่ามีพรรคร่วมรัฐบาลหรือเพื่อน ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของตนในเรื่องนี้ แต่ตนตัดสินใจเพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ทั้งหมดว่าเราควรมีการเลือกตั้งก่อนที่สภาฯจะครบวาระเพื่อขจัดความไม่ชัดเจนและความอึมครึมต่างๆ กกต.เคาะเลือกตั้งปลายเดือน มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเตรียมทูลเกล้าฯยุบสภาภายในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.ว่า หากนายกฯ ประกาศเช่นนี้ก็ต้องจัดการเลือกตั้งในเวลาไม่น้อยกว่า45 วันแต่ไม่เกิน 60ตามรัฐธรรมนูญ คาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นภายใน มิ.ย.ซึ่ง กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ห่วงเพียงกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับเท่านั้นที่ต้องการให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้ทุกอย่างโปร่งใส ไม่เป็นที่ครหาให้เกิดการโต้แย้งในภายหลัง ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ ก็เห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมายลูกมาบังคับใช้ในการเลือกตั้ง มากกว่าการออกประกาศ กกต.มาบังคับใช้ “เรื่องการประกาศยุบสภาถือเป็นสัจจะของลูกผู้ชายคนหนึ่ง นายกฯ คงไม่ได้มีการยื้อเวลาอะไร เพราะภายหลังการหารือกับ กกต.แล้ว นายกฯ คงไปถามฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐสภา ว่าจะพิจารณากฎหมายลูกได้ทันหรือไม่ เชื่อว่านายกฯ คงไม่ได้ฟัง กกต.แต่เพียงฝ่ายเดียว จากนั้นจึงประกาศวันยุบสภาออกมา และแต่หากสภาพิจารณากฎหมายลูกเสร็จเพียง 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย พรรคการเมือง กกต.และหากมีการยุบสภาก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.แล้วเสร็จ กกต.ก็ยังสามารถออกกฎหมายนี้ได้ตามที่มาตรา 7 วรรคท้ายของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมเขียนไว้ แต่การออกประกาศนั้นกกต.ก็อาจจะต้องเขียนบทบัญญัติที่เหมือนกับมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมลงไปในท้ายประกาศ ว่า ‘การกระทำใดๆ ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศฉบับนี้ประกาศใช้ ให้การกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย’ ”นางสดศรี กล่าว ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กสม.ยก 5 ปัญหาหลักสิทธิมนุษยชนไทย จี้รัฐฯ ปฏิรูประบบยุติธรรม Posted: 11 Mar 2011 08:43 AM PST กสม.สรุปรายงานคู่ขนานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย ยก 5 ปัญหาหลักสำคัญให้รัฐแก้ด่วน ชี้สิทธิถูกละเมิดจากกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก พร้อมเร่งรัดให้มีการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ แถมจวก พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ ฉ.ใหม่ ขวางการตรวจสอบรัฐบาล วันนี้ (11 มี.ค.54) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พร้อมด้วย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชน นำเสนอสาระสำคัญของรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยที่ กสม.จัดทำขึ้น เพื่อส่งให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตามกระบวนการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ (Universal Periodic Review – UPR) ใน วันที่ 14 มี.ค.นี้ โดยเป็นข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ กสม.ที่ได้เคยมีการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนข้อร้องเรียนและการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. สรุปสาระสำคัญของรายงานว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นภาคีของสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนถึง 7 ฉบับ และมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่สังคมไทยยังคงมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในการ เข้าถึงโอกาสและทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน ในทางปฏิบัติ รัฐยังมีความล่าช้าในการออกกฎหมายหรือปฏิบัติตามหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม แม้แต่การดำเนินการพิจารณาและประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับใหม่ ก็เป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งยังมีบทบัญญัติห้าม กสม.เปิดเผยข้อเท็จจริงจากการปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดบทลงโทษหากฝ่าฝืน ซึ่งจะทำให้ กสม.ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ รายงานได้นำเสนอปัญหาสำคัญ 5 เรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศอย่างรุนแรงกว้างขวาง คือ 1) ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ปัญหาเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 3) ปัญหาสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน 4) ปัญหาการค้ามนุษย์ และ 5) ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ผู้อพยพ คนไทยพลัดถิ่น และผู้หนีภัยการสู้รบ แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่มีสภาพปัญหาร่วมกันที่สำคัญคือ สิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนถูกละเมิดจากกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกาศหรือใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎหมายพิเศษเหล่านี้ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างกว้างขวางมีกระบวนการการควบคุมตัวและสอบสวนที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขาดกลไกการตรวจสอบที่เหมาะสม รวมทั้ง ยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่มีการจับกุมคุมขัง การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ การซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย นอกจากนี้ ในกรณีสิทธิชุมชน รัฐได้เพิกเฉย ล่าช้าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้การคุ้มครองสิทธิชุมชน ทั้งยังมีการออกกฎหมายที่ละเมิดต่อวิถีชุมชน เช่น กรณีป่าชุมชน หรือการออกเอกสารสิทธิที่ทับซ้อนกับที่ทำกินของราษฎรแต่เดิม เป็นต้น ตลอดจนมีการข่มขู่ คุกคาม และสังหารผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และแกนนำชุมชน โดยรัฐบาลยังไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ประธาน กสม.กล่าวด้วยว่า หลังเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วง พ.ศ.2552-2553 เสรีภาพในการแสดงความเห็นได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายเพื่อควบคุม ตรวจสอบ จับกุมผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อควบคุมการเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจ ได้อย่างกว้างขวาง และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้สื่อมวลชนเซ็นเซอร์หรือควบคุมตัวเองในการเสนอข่าวสาร นอกจากนี้ รัฐบาลยังเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเน้นการควบคุมมากกว่าการรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ยังมีปัญหาข้ามชาติ คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นสตรีและเด็ก ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนกว่า 2 ล้านคนในประเทศไทย จำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาประโยชน์จากกระบวนการค้ามนุษย์ และ ขาดกฎหมายคุ้มครอง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับการจดทะเบียน รวมถึงกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ผู้อพยพ คนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลปี 2548 และแม้ว่าประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด แต่ยังมีการส่งกลับ หรือการผลักดันผู้หนีภัยเหล่านี้กลับไปในสภาวะที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต อันเป็นการขัดกับหลักกฎหมายจารีต ข้อเสนอของรายงานนี้ คือ ให้รัฐปฏิรูประบบความยุติธรรมให้เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน และผลักดันให้เกิดองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหากจำเป็นจะต้องมีกฎหมายดังกล่าว ต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่ง ยกเลิกหรือทบทวนกฎหมาย/ร่างกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบเร่งกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม ให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการปราบปรามการค้ามนุษย์ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาฯ กสม.กล่าวว่า กสม. แสดงความชื่นชมในการที่รัฐบาลสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยที่ริเริ่มและผลักดันโดยภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ กสม. สนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยดังกล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูป ที่ดินทำกิน การปฏิรูประบบภาษี การปฏิรูประบบความยุติธรรม ระบบการศึกษา ระบบสังคมสวัสดิการ และการปฏิรูปสื่อ ตลอดจนสนับสนุนการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง นายแพทย์ชูชัยฯ กล่าวด้วยว่า รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ กสม. ที่เสนอต่อสหประชาชาตินี้ จะเป็นรายงานคู่ขนานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับรายงานจากภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่สหประชาชาติจะนำข้อมูลไปพิจารณาร่วมกับรายงานของรัฐบาล เพื่อพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยในเดือนตุลาคม 2554 และรัฐบาลจะประกาศรับข้อเสนอจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่จะ ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องใดบ้าง ซึ่ง กสม. จะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบว่า ภาครัฐได้ ดำเนินการตามคำประกาศไว้หรือไม่ต่อไป เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้า รัฐบาลไทยก็จะต้องเสนอรายงานความก้าวหน้าตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ ต่อจากนั้น นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กสม.ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม. จัดทำรายงานฉบับนี้ เพื่อสะท้อนมุมมองในบทบาทของ กสม. รายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องสิทธิมนุษยชน กระบวนการที่เกี่ยวข้องจะพบว่าสถานการณ์การละเมิดหรือปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม มีหลายบริบท ด้วยข้อจำกัดบังคับไว้เพียง 5 หน้า แต่อย่างไรก็ตามประเด็นที่ กสม.ได้เข้าไปเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ราชการ และเอกชน ได้ประมวลไว้ในภาคผนวกไม่ให้ตกหล่น ความคิดเห็นจากการมีส่วนร่วม กสม. ถือเป็นหัวใจในกระบวนการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กสม. มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หากมีการปฏิบัติของหน่วยงานในเชิงละเมิดสิทธิ หรือละเลยการกระทำ ข้อเสนอมาจากหลายมุมมอง เช่น การปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปองค์กรและกระบวนการ จะทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นธรรมอย่างแท้จริง เช่น กรณีการทำแผนประกอบการรับสารภาพ จะกระทบต่อรัฐธรรมนูญ หรือกระทบต่อกฎหมาย ครอบครัว รูปคดี การวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ต้องทำด้วยใจเป็นกลาง และฟังข้อมูลรอบด้าน และดูมิติมาตรฐานสากล กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือในส่วนของการรวบรวมข้อมูลและระบบกลไกด้านกฎหมาย อ่านการตอบคำถามสื่อมวลชนเพิ่มเติมที่: http://www.nhrc.or.th/news.php?news_id=7744 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ตรึกคิดจัดงาน 100 ปีสตรีสากล จากวันนั้นถึงวันนี้ Posted: 11 Mar 2011 08:24 AM PST 3-8-11 วันสตรีสากลที่ 100 ก็ผ่านไปด้วยการเดินขบวนตามประเพณี ส่วนระบบ 3/8 ก็ต้องต่อสู้กันต่อไป เพียงแต่ไม่จำกัดที่แรงงานในโรงงาน คำถามคือมนุษย์เราโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ทำงานเพื่ออะไร? ในยุคไฮเทค คนมีโอกาสหลายคนกลายเป็น workaholic จนลืมดูแลสุขภาวะทั้งทางกาย จิตใจ จิตวิญญาณของตัวเองหรือไม่มีเวลากับครอบครัว ดูแลความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติ ในภาวะเช่นนี้ คนมีโอกาสก็ถูกคุกคามไม่น้อยไปกว่าคนด้อยโอกาสต่างกันเพียงที่คนด้อยโอกาส ทำเท่าไร ก็ไม่พอกิน หากยังติดในวัตถุ/บริโภคนิยมในด้านหนึ่ง ความไม่รู้จักพอเป็นเชื้อของความรุนแรงและการเบียดเบียนจากในสู่นอก อีกด้านหนึ่ง คือความไม่เป็นธรรมในสังคมคนรวย แม้มีเงินซื้อที่ดินมากมายเป็นกรรมสิทธิ์ แต่ก็ได้ถอนรากตัวเองไม่สามารถเป็นชาวนา "ติดดิน" ส่วนชาวไร่ชาวนาที่ "ติดดิน"ก็มักจะด้อยโอกาสเมื่อเทียบกับชาวเมือง…ในที่สุดก็กำลังถูกถอนราก เช่นกัน เมืองที่เจริญรุ่งเรือง กำลังจู่โจมคุกคามชนบท "ที่ล้าหลัง" มากยิ่งขึ้น ในภาวะวิกฤตโลกร้อน มาตรการแก้ไข เช่นคาร์บอนเครดิต กลับถูกบิดเบือน "แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน" กลายเป็นเครื่องมือ(ผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติและผู้บริหารใน ภาครัฐร่วมกันใช้กลไกอำนาจรัฐ)ลงโทษหรือสร้างความชอบธรรม ในการเบียดขับชาวบ้าน–หญิง ชาย เด็ก คนชราพิการ…ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์–ที่เคยอยู่อาศัยเคียงคู่ร่วมกับป่า … เพียงเพราะพวกเขาไม่เคยลงทะเบียน เพราะ "รัฐ"เข้าไม่ถึงพวกเขาในอดีต ในนามของ "ความมั่นคงของมนุษย์" "ความมั่นคงของอาหาร" และ "ความมั่นคง…ทุกๆ อย่าง"ได้กลายเป็นวาทกรรมที่สร้างความชอบธรรมเพื่อลิดรอนสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ได้ถูกรับรองด้วยวาทกรรมของ "สิทธิมนุษยชน" "สิทธิชุมชน" หรือ "อธิปไตยทางอาหาร" ฯลฯ ทั้งสองวาทกรรมรับรองโดยสหประชาชาติ สังคมเมืองติดหล่มไฮเทค ที่หิวพลัง "มักง่าย"เพื่อให้เกิดไฟฟ้าขับเคลื่อนตั้งแต่เครื่องจักร … จนถึงแอร์และหม้อหุงข้าว วัดถูกแทนที่ด้วยมหกรรมช้อปปิ้ง–สวรรค์นักบริโภค— ที่ไม่มีวันสิ้นสุดเพราะผลิตโดยเครื่องจักรที่ไร้มนุษยธรรม ไร้จิตวิญญาณ แต่ประสิทธิภาพสูง ด้วยเหตุนี้ เม็ดเงินจึงกลายเป็นเทพเจ้าสูงสุดและความหลงงมงายจึงไม่เจือจางไปจากสังคมไทย แรงงานของคนทำงานส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเพียงเชื้อเพลิงให้เครื่องจักรเดินต่อไปได้ ตลอดเวลาชาวเมืองจึงมีความสะดวกสบายในการบริโภค มีแต่สินค้าสำเร็จรูปอาหารจานด่วน ฯลฯ ที่สร้างขยะมหาศาล … และความหิวโหยทางจิตวิญญาณ 100 ปี สตรีสากล สังคมกำลังมุ่งหน้าไปทิศไหน? มันเป็นพิธีกรรมสัญลักษณ์ประจำปีที่พิเศษกว่าปีอื่นหรือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่ศตวรรษหน้าด้วยความหวัง 100 ปีที่แล้ว บรรดาย่า ยายทวดที่เป็นแรงงานหญิงต่อสู้เพราะถูกกดขี่จนตรอก เป็นหรือตายมีค่าเท่ากันจึงฮึดสู้ หวังว่าชีวิตแรงงานคงจะดีขึ้นในศตวรรษหน้า วันนี้เราร่วมรำลึกและฉลองพงศาวดารนั้น เรามองเห็นอะไรใน 10 ปีข้างหน้า? สำหรับดิฉัน ในภาพแรก เห็นแต่ความมืดมนเราทุกคนคลานออกมาจากครรภ์มารดา เมื่อตายแล้ว ก็คืนกลับสู่อ้อมกอดของพระแม่ธรณีแต่ที่ๆ เรามากับที่ๆ เราจะไป มันช่างดูไร้ศักดิ์ศรีเสียเหลือเกิน ครรภ์มารดา เป็นอู่ชีวิตที่หล่อเลี้ยงพวกเราแต่ละคนตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนอุปกรณ์ที่ ธรรมชาติมอบหมายให้เป็นสมบัติของสตรีเพศและพึงเป็นสิทธิ์ที่สตรีเพศจะบริหาร รักษา และใช้อุปกรณ์นี้ ทุกวันนี้ กลับถูกคุกคาม ย่ำยีอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การข่มขืน ค้ามนุษย์เพื่อการประเวณีจนถึงการอุ้มบุญมันไม่ใช่เป็นการประทุษร้ายแค่ปัจเจก แต่เป็นการลบหลู่แหล่งฟูมฟักมนุษยชาติ … จากตัวเรา จนถึงอนุชนต่อๆไป … และเมื่อเรากลับชาติมาเกิดเป็นคนในวัฏสงสารนี้อีก พระแม่ธรณี ในยุคของเรา เต็มไปด้วยขยะ สารเคมี ของเสียจากโรงงานและครัวเรือนเมือง … รวมทั้งจากบ้านและที่ทำงานของเราเองเราบริโภคเกินอัตภาพของเราหรือเปล่า? ในขณะเดียวกัน ป่าไม้ก็หดหายกลายเป็นหย่อมเรือนที่เหมือนเตาอบติดแอร์ผิวพื้นโลกปุปะด้วยรู เหมืองร้าง ขยะไม่เพียงเป็นมลพิษเจือปนไปในดิน น้ำ อากาศ แต่รวมถึงเสียงดัง และภาพโฆษณาอุดจาดในที่สาธารณะเมือง … นี่หรือคือความเจริญที่บรรดาย่ายาย ทวด ที่ต่อสู้เมื่อ 100 ปีก่อนอยากเห็น? เมื่อเราทำลายและทำร้ายครรภ์มารดาทั้งสองแห่งนี้ได้ ทำไมเราจะฆ่ากันเองไม่ได้? หากเทียบอัตราการตายในสงครามโลกทั้งสองครั้งกับสงครามการค้าเสรี…ความเจริญ…ที่กำลังเกิดขึ้น ตัวเลขคงน่าตกใจ ถึงกระนั้น การฉลอง 100 ปี วันสตรีสากลโดยมีกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีเป็นแกนนำครั้งนี้ก็ได้ฉายอีกภาพให้เห็น 1. การโอบผู้หญิงทำงานทุกภาคส่วน ให้เข้ามาร่วมฉลองโดยเปิดพื้นที่ให้ด้วยการเชิญเป็นวิทยากรขึ้นเวทีร่วมกัน ข้ามชนชั้น ข้ามสาขาอาชีพข้ามเพศและข้ามพรมแดน รวมทั้งมีผู้ชายร่วมในทุกระดับแต่ผู้หญิงร่วมกันตัดสินใจขั้นสุดท้าย เพราะเป็นงานฉลองของผู้หญิง 2. การจัดการกับวิกฤตและความขัดแย้ง ด้วยการใช้วิธีเจรจาต่อรอง เช่นกรณีคุณจิตรา 3. การปฏิสัมพันธ์แบบ "ร่วมคิดร่วมทำ" แม้จะดูเหมือนอ่อนแอในด้านการจัดการ การสื่อสารขาดการติดตามหรือบริการอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนแต่ก็มีการยื่นมือเข้าจัดการ ค้ำจุนตามกำลัง ในทุกๆ ช่องโหว่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การแถลงข่าว เตรียมงาน จัดสถานที่จนถึงการสิ้นสุดรอบแรกด้วยการเดินขบวนในวันที่ 8 มีนาคมงานจึงลื่นไหลไปได้ด้วยดี เพราะมีคนไม่นิ่งดูดายและยังเชื่อในเพลง "หญิงกล้า" หัวใจของงานฉลอง 100 ปีนี้ ที่เข้มข้นในวันที่ 6-7-8 มีนาคมเป็นเสมือนการมาบรรจบของแม่น้ำสามสาย อันมีสายแรงงานเป็นหลักเป็นวาระที่พบปะกับสายวรรณกรรม-ศิลปะและสาย การเมือง-การปกครองเป็นภาพของการผสมผสานของสายน้ำเป็นเกลียวที่มีพลังกระแทก เป็นคลื่นอย่างสนุกสนานรวมทั้งเกิดระลอกคลื่นกระทบฝั่ง…แสดงพลังและศักยภาพ ของหญิงไทย…ก่อนที่จะแยกกันไหลต่อไป การปฏิสัมพันธ์ของกระบวนผู้หญิงเช่นนี้เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทรที่มี พลวัตตลอดเวลา ของเสียที่แข็งทื่อในที่สุดก็จะถูกตีแยกให้ขึ้นฝั่งหรือติดกับกิ่งกอให้เน่า ผุกลายเป็นดินต่อไป ตราบเท่าที่ขบวนผู้หญิงยังคิดและเคลื่อน ไม่ใช่น้ำเน่าที่ขังเฉยแฉะพื้นที่เปิดนี้ ก็จะสามารถแยกแยะ ให้ของแข็งกลายเป็นดิน โคลนตมบัวที่เกิดจากโคลนตม คือ ปัญญาที่เกิดจากความกล้าหาญที่จะโอบ และเผชิญหน้ากับ "ความไม่มั่นคง" / ความเปราะบาง อย่างมีสติและไม่ใช้ความรุนแรง นี่เป็นภาพบวกหรือพลังบวกของผู้หญิงที่ดิฉันเห็นในการร่วมจัดงานฉลอง 100 ปีครั้งนี้ แสดงออกผ่านตัวพี่ๆน้องๆ ที่ร่วมมือร่วมใจ ให้อภัย ให้กำลังใจ ยืดหยุ่น เสียสละ ตามกาล ตามวาระ เพื่อส่วนรวม … หนทางเส้นนี้ ยังไม่สิ้นสุดมันเป็นเพียงก้าวแรกสู่การ "ต่อสู้" ร่วมกันในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ตราบเท่าที่ พี่ๆ น้องๆ หญิงทำงานทั้งหลาย ไม่หยุดที่จะเรียนรู้กลั่นกรอง นิยาม ตั้งคำถาม แสวงหาคำตอบ จากในสู่นอก และทบทวนความสัมพันธ์ที่มีชีวิตจากนอกสู่ในทุกลมหายใจ 10 ปีข้างหน้าก็ยังมีความหวัง เราเลือกได้ว่าจะเป็นน้ำเน่านิ่ง หรือน้ำหลากที่มีชีวิตและหล่อเลี้ยงชีวิต สตรี สร้างสรรค์ สันติ
หมายเหตุ: สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
“สรส.-คสรท.” แห้วไม่มีคนมารับหนังสือค้านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ Posted: 11 Mar 2011 05:42 AM PST ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นหนังสือค้านพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ถึงสภา เจอรปภ.ห้ามเข้า ขู่มาดีแต่ไม่มีใครต้อนรับ หากมากันมากอย่าหาว่าไม่เตือน วันนี้ (11 มี.ค.54) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่รัฐสภา ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ประมาณ 15 คน เดินทางมาขอยื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการในวาระแรกและอยู่ระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดินทางมาถึงตัวแทน สรส.ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้ามาในรัฐสภา โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแจ้งว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาไม่ได้อยู่ในรัฐสภา ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลซึ่งดูแลความเรียบร้อยบริเวณถนนอู่ทองในได้ตั้งแถวปิดประตูทางเข้าหน้ารัฐสภา ทำให้ผู้มาเรียกร้องไม่พอใจและแจ้งกับสื่อมวลชนว่า วันนี้ สรส.และ คสรท.มาโดยสงบ ประสานมาว่าจะมายื่นหนังสือ แต่กลับไม่มีใครต้อนรับและไม่ให้เข้าไป โดยยังได้รับแจ้งว่าขบวนของนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส.ถูกสกัดไม่ให้ผ่านเข้ามาทางลานพระราชวังดุสิต “เมื่อวันนี้พวกผมมาดีแต่ไม่มีใครต้อนรับ วันข้างหน้าหากมากันมากก็อย่าหาว่าไม่เตือนก็แล้วกัน” ตัวแทน สรส. กล่าว แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรื่อง “คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ” ตามที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. ในวันที่ 10 มีนาคม 2554 นั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานศูนย์กลางที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและสิทธิประโยชน์ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วยองค์กรสมาชิกในระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชน 30 องค์กร มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ มีสาระสำคัญที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนี้ 1. การละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะจะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้บัญชาการ ตำรวจนครบาล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่จัดการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง ก่อนเริ่มการชุมนุม หากแจ้งการจัดการชุมนุมน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่จำเป็นต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่รัฐ การชุมนุมของประชาชนและเครือข่ายประชาชนที่มีขึ้นเป็นประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแสดงออกถึงความเรียกร้องต้องการ การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากความพิกลพิการของระบอบรัฐราชการและระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่มองไม่เห็นหัวคนจน การแจ้งหรือขออนุญาตเพื่อจัดการชุมนุมจึงไม่เพียงเป็นการสร้างกันชนให้กับรัฐบาล เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการชุมนุมเท่านั้น ยังจะเป็นการสั่งสมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เกิดมากขึ้นไปอีก 2. ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นว่า การชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยอันพึงจะมีได้ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นข้อตระหนักสำคัญในการระดมความคิดเห็นการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึง แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับขาดการมีส่วนร่วมและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนและเครือข่ายประชาชนต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน หากแต่ไม่ปิดกั้นหากรัฐสภาจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง 3. การฉวยโอกาสควบคุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและเครือข่ายประชาชน การที่รัฐบาลออกกฎหมายการชุมนุม เพื่อควบคุมและจัดการกับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้มีรากฐานจากแนวคิดอำนาจนิยม ฉวยกระแสความไม่พอใจของมวลชนที่สนับสนุนตนเองจัดการกับกลุ่มต่อต้าน รวมไปถึงกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ ทรัพยากร ค่าแรง การเลิกจ้าง ฯลฯ การร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกลุ่มประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เป็นการกระทำที่ไม่เพียงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น ยังเป็นการกระทำที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชน นิสิตนักศึกษา ทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่มกิจกรรม ทุกองค์กร เข้าร่วมการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะในครั้งนี้ และช่วยกันออกแถลงการณ์ในนามองค์กรและเผยแพร่ในเครือข่ายทางสังคมทุกรูปแบบ แถลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่มา: มติชนออนไลน์, นักสื่อสารแรงงาน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักปรัชญาชายขอบ: หลังรัฐประหารประเทศนี้จะเป็นอย่างไร? Posted: 11 Mar 2011 05:17 AM PST ระยะนี้ข่าวลือเรื่องรัฐประหารเริ่มหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้สภาวการณ์ที่ 1) พันธมิตรฯ กดดันให้ทหารทำรัฐประหาร บนหลักการที่ว่า “รัฐบาลจะมาโดยวิธีใดก็ได้ ขอให้ตอบโจทย์ของพันธมิตรฯ เรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาให้ได้” 2) เสื้อแดงขู่ว่าถ้าเกิดรัฐประหารจะต้องถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนจำนวนมาก และ 3) ประชาธิปัตย์เสนอทางออกโดยการยุบสภาภายใต้เงื่อนไข “สังคมสงบ ไม่มีบรรยากาศของความขัดแย้งและความรุนแรง” ในขณะเดียวกันสภาวการณ์ดังกล่าวก็กำลังถูกท้าทายโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้นในกลางเดือนนี้ ว่ากันว่าจะเป็นการอภิปรายที่เปลือยให้เห็น “ตัวจริง” ที่สังหารประชาชน เผาเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น และแน่นอนว่า คนที่ “ออกอาการ” ไม่ใช่เพียงอภิสิทธิ์และสุเทพ หากเป็น ผบ.ทบ.ที่แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวพร้อมกับอ้างว่าตนเองมีหน้าที่ปกป้องศักดิ์ศรีทหาร ศักดิ์ศรีกองทัพบก อ้างความเป็น “ทหารของพระเจ้าอยู่หัวฯ” และหน้าที่ปกป้องสถาบัน ผมไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดรัฐประหารตามข่าวลือหรือไม่ รู้เพียงว่าหากเกิดรัฐประหารขึ้นอีก ประเทศของเราคงตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากอียิปต์ ลิเบีย หรืออาจจะแย่กว่านั้น หรืออย่างน้อยที่สุด ความรุนแรงนองเลือดที่เราเห็นเมื่อเมษา-พฤษภา 53 คงเทียบไม่ได้กับความรุนแรงนองเลือดที่อาจเกิดขึ้นหากเกิดรัฐประหารขึ้นอีก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตั้งแต่ 19 กันยา เป็นต้นมา ฝ่ายอำมาตย์และเครือข่ายสนับสนุนเดินหน้าด้วยความเชื่อมั่นว่าวิถีทางแก้ปัญหาแบบ “อำนาจนิยม” คือวิถีทางที่ถูกต้องหรือวิถีทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาอำนาจของพวกเขา อย่าลืมว่าวิถีอำนาจนิยมคือวิถีที่พวกเขาใช้มาโดยตลอด แม้อาจพูดไม่ได้ว่าวิถีนี้ทำให้พวกเขาประสบชัยชนะอย่างปราศจากความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนทุกครั้ง แต่ด้วยการใช้วิถีดังกล่าวนี้พวกเขา “ไม่เคยแพ้อย่างแท้จริง” เลย เพราะประวัติศาสตร์บอกเราว่า ไม่เคยมีผู้สั่งใช้กำลังสังหารประชาชนต้องขึ้นศาลและถูกลงโทษแม้แต่ครั้งเดียว โดยประสบการณ์เช่นนี้ จึงทำให้พวกเขาเดินหน้ากระชับอำนาจต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตั้งแต่ 19 กันยา เป็นต้นมาฝ่ายอำมาตย์เดินหน้ากระชับอำนาจโดยการออกแบบโครงสร้างอำนาจและจัดระบบสรรพกำลังที่ส่งผลให้อำนาจของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้นในเชิงรูปธรรมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 50 ตุลาการภิวัตน์ การให้อำนาจมากขึ้นกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เพิ่มงบประมาณให้กองทัพ จนมาถึงตั้งเพิ่มอีกสองกองพลในภาคเหนือและอีสาน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้น ทำให้ไม่ว่าใครหรือพรรคการเมืองใดก็ตามที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบัน หรือที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรที่ดีกับกองทัพหรือต้องพินอบพิเทาต่อกองทัพและอำมาตย์ แม้จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ “สั่ง” กองทัพไม่ได้ “อย่างแท้จริง” (ในเรื่องที่อำมาตย์และกองทัพไม่พอใจให้สั่ง) ในขณะที่คนเสื้อแดงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนามธรรม โดยการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง หลักการที่ถูกต้องของประชาธิปไตย ฯลฯ ทำให้สังคม “ตาสว่าง” มากขึ้น แต่ทว่ายังไม่ได้เสนอ “คำตอบเชิงระบบ” อย่างเป็นรูปธรรมว่า โครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีอำมาตย์เข้ามากำกับแทรกแซงรัฐบาลที่ประชาชนเลือกได้นั้น มีหน้าตาอย่างไร ต้องแก้ปัญหาระบบอำมาตย์ สองมาตรฐาน หรือจัดระบบกองทัพใหม่ให้เป็น “กองทัพของประชาชน” ได้อย่างไร เสื้อแดงต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ หรือเชิงนามธรรม ขณะที่ฝ่ายอำมาตย์สู้ด้วยการออกแบบโครงสร้างจัดระบบสรรพกำลังอย่างเป็นรูปธรรม และเดินหน้าตลอดเวลา อาศัยทั้งความเก๋าเกมและการมีประสบการณ์ทางการเมือง ประสบการณ์ในการ “จัดการอำนาจ” ที่ยาวนานกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ความคิดของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงเป็นเสรีนิยมไปมากแล้ว กับวิถีทางอำนาจนิยมที่เข้มข้นขึ้นอย่างผิดปกติ ต้องเผชิญหน้ากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต่างฝ่ายต่างไม่ลดราวาศอก จึงเป็นการยากที่จะคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีก! อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ระบบการปกครองแบบใดก็ตามที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ ย่อมเป็นระบบการปกครองที่ถูกท้าทาย และจำเป็นต้องถูกปรับเปลี่ยนหรือเลิกล้มไปในที่สุด ธรรมชาติของมนุษย์คือเสรีภาพและความเท่าเทียม ระบบการปกครองใดก็ตามที่ขัดแย้งหรือลดทอนเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นระบบการปกครองที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในโลกรวมทั้งในสังคมของเราเวลานี้ คือปรากฏการณ์ที่ประชาชนกำลังต่อสู้เพื่อ “ทวงความเป็นมนุษย์” ของตนเองจากระบบการปกครองที่ฉ้อฉลความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ปมปัญหาของการทวงคืนความเป็นมนุษย์ของประชาชนอยู่ที่ชนชั้นนำฝ่ายอำนาจนิยมที่ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่เข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว ไม่เข้าใจความหมายของ “ความเป็นคน” ที่ต้องมีอยู่ด้วยการมี “เสรีภาพและความเสมอภาค” เพราะพวกเขาอยู่ส่วนบนของโครงสร้างอำนาจที่ได้เปรียบ เสพสุขอยู่บนการสยบยอมของประชาชนมาแสนนาน จนยากที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เท่าทันต่อโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว การไม่ยอมปรับตัวของ “ฝ่ายอำนาจนิยมตกยุค” จึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมของหลายๆ ประเทศในโลก และสังคมไทย! แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ระบอบอำนาจนิยมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นมนุษย์ไม่ใช่ฝ่ายชนะตลอดไป อำนาจที่แท้จริงไม่ใช่อำนาจที่เชื่อว่าฝ่ายตนเองมี แต่เป็นอำนาจที่ประชาชนให้การยินยอมและเชื่อถือ การเดินหน้าใช้ “อำนาจที่เชื่อว่าตนเองมี” ในที่สุดจะนำมาซึ่งหายนะแก่ฝ่ายที่ใช้อำนาจนั้นเอง ผมได้แต่หวังว่า ปรากฏการณ์ “ลุแก่อำนาจ” ของฝ่ายอำนาจนิยมจะไม่เกิดขึ้นอีก ผมเชื่อว่าถ้าเพียงแต่ชนชั้นนำฝ่ายอำนาจนิยมเรียนรู้ที่จะเคารพการตัดสินใจของประชาชน ยอมให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อตามวิถีทางประชาธิปไตย ยอมรับ “ความเป็นมนุษย์” ของคนในชาติ และซื่อสัตย์ต่อ “ความเป็นคน” ของตนเองที่มีเท่าๆ กับเพื่อนร่วมชาติ ในที่สุด “ชนชั้นนำ” ที่มีมโนสำนึกถูกต้องแล้วนั้นเองจะได้รับการปกป้องโดยประชาชน และระบอบประชาธิปไตย! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทหารพม่ายิงถล่มชุมชน อ้างโจมตีกลุ่มต่อต้าน Posted: 11 Mar 2011 04:26 AM PST ทหารพม่าเมืองกึ๋ง รัฐฉานตอนใต้ ยิงปืน ค.ถล่มชุมชน อ้างโจมตีทหารกลุ่มต่อต้าน ชาวบ้านเชื่อก่อกวนงานพิธีกรรมฐานกลุ่มพระสงฆ์ ส่วนที่เมืองกาลิ ทหารพม่าออกยึดที่ดินนับพันเอเคอร์ เตรียมสร้างที่ตั้งกองทัพภาคใหม่ Khonkhurtai (11 มี.ค.54): มีรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 6.00 น. วันที่ 4 มีนาคม 2554 ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 514 ประจำเมืองกึ๋ง รัฐฉานตอนใต้ ใช้อาวุธปืน ค.ไม่ทราบขนาดยิงเข้าใส่ชุมชนในเมืองกึ๋ง 6 - 7 ลูก โดยไม่ทราบสาเหตุ โดยลูกปืน ค.ลูกหนึ่งตกใส่บ้านหญิงชาวพม่า ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ห่างจากเจดีย์นามเมืองประมาณ 1 กม. ทำให้คนงานลูกจ้างถูกสะเก็ดระเบิดที่เอวได้รับบาดเจ็บ 1 คน ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุทางทหารพม่าอ้างว่า ก่อนเกิดเหตุพบทหารกลุ่มต่อต้านบุกขึ้นเพื่อโจมตีฐานที่มั่น จึงได้ใช้ปืนค.ยิงไล่ตาม อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่คนหนึ่งเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 ทหารพม่าชุดเดียวกันได้ถูกทหารกลุ่มต่อต้านซุ่มโจมตี ขณะไปเฝ้าเวรยามดูแลความปลอดภัยบนเส้นทางเมืองกึ๋ง - เมืองลายค่า ตรงหลักไมล์ที่ 49 ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 1 นาย จึงอาจเป็นเหตุให้ทหารไม่พอใจและใช้ปืน ค.ยิงถล่มใส่ชุมชนครั้งนี้ ส่วนที่ทหารพม่ากล่าวอ้างว่ามีทหารกลุ่มต่อต้านบุกโจมตีนั้น เป็นไปไม่ได้เนื่องจากฐานของทหารพม่าตั้งอยู่ในตัวเมือง ขณะที่ชาวบ้านอีกรายกล่าวว่า การยิงถล่มใส่ชุมชนของทหารพม่าครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นการก่อกวนงานพิธีปฏิบัติธรรมกรรมฐานที่คณะพระสงฆ์ทั่วรัฐฉานและพุทธศาสนิกชนกำลังร่วมกันจัดขึ้นที่เมืองกึ๋ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 45 มีกำหนดเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 – 7 มีนาคม 2554 เนื่องจากงานพิธีนี้มีการรวมตัวกันของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก ทหารพม่ายึดที่ดินชาวบ้านสร้างกองทัพภาคใหม่ในรัฐฉาน Khonkhurtai (10 มี.ค.54): รายงานจากแหล่งข่าวว่า ทหารกองทัพพม่าออกปฏิบัติการยึดที่ดินชาวบ้านเมืองกาลิ รัฐฉานภาคใต้ นับพันเอเคอร์ใช้สร้างที่ตั้งกองทัพภาคใหม่ มีเพียงเจ้าของที่ดินบางส่วนได้รับค่าทดแทน ขณะที่เจ้าของที่ถูกยึดสร้างอาคารที่พักเจ้าหน้าที่ไม่ได้ค่าทดแทน ทั้งนี้ ที่ดินที่ถูกยึดส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่บ้านหนองเงิน รวมเนื้อที่ทั้งที่เป็นไร่ นา และที่ดินถูกทิ้งร้างกว่า 250 เอเคอร์ โดยเจ้าของที่ดินที่ถูกยึดสำหรับใช้ในทางทหารได้ค่าตอบแทนเฉลี่ย 2 แสนจั๊ต (ราว 7,000 บาท) ต่อที่ดิน 1 เอเคอร์ ส่วนชาวบ้านที่ถูกยึดที่สำหรับใช้สร้างอาคารที่พักข้าราชการไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เพียงจัดหาที่ดินใหม่ให้เท่านั้น "ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่บอกว่า จะให้ค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เป็นที่นา เอเคอร์ละ 3 แสนจั๊ต และที่ดินทำไร่ เอเคอร์ละ 2 แสนจั๊ต ส่วนที่ดินที่ถูกปล่อยรกร้างเจ้าของจะได้ค่าทดแทน 1 แสนจั๊ต ต่อ 1 เอเคอร์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้จ่ายค่าทดแทนตามที่กล่าวอ้าง มีชาวบ้านรายหนึ่งที่ถูกยึดที่ 12 เอเคอร์ ได้ค่าทดแทน 2.4 ล้านจั๊ต แต่เขาไม่มีที่ดินทำกินต่อไปแล้ว" แหล่งข่าวเผย กองทัพรัฐบาลทหารพม่ามีกำหนดจัดตั้งกองทัพภาคแห่งใหม่ที่เมืองกาลิ รัฐฉานภาคใต้ เรียกว่า "กองทัพภาคตะวันออกกลาง" ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา ได้มีเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบพื้นที่และมีการแจ้งยึดที่ดินของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ทางกองทัพกำลังมีการก่อสร้างอาคารที่ทำการต่างๆ อยู่ แหล่งข่าวชาวบ้านเผยว่า หลังจากกองทัพพม่าเข้ามายึดที่ดิน ทำให้ชาวบ้านอพยพออกนอกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกิน อีกทั้งหวั่นวิตกว่าจะถูกบังคับใช้แรงงานหากมีการก่อสร้างกองทัพภาคอย่างจริงจัง โดยขณะนี้มีชาวบ้านอย่างน้อย 30 - 40 ครอบครัว ได้อพยพมายังชายแดนไทย ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 11 Mar 2011 04:25 AM PST หมายเหตุจากผู้เขียน: เขียนเพลงและกวีไว้ในเรือนจำหลายชิ้นแต่ยังไม่มีโอกาสเผยแพร่เพราะติดขัดเรื่องการส่งชิ้นงานออกมา จะทยอยเผยแพร่เรื่อยๆ นะครับ
พอยืดอกยกมือว่าคือไพร่ สังคมไทยก็อื้ออึงซึ่งคำถาม ตั้งแต่ครั้งโบราณนานหนักหนา ยังรื้อมาให้สับสนคนรุ่นใหม่ แล้วทำไมรัฐธรรมนูญถูกเหยียบย่ำ ร่างแล้วฉีก! ฉีก! ฉีก! ซ้ำทำบัดสี เพราะไม่มีประชาชนที่เทียมเท่า มีเพียงฝุ่นใต้ฝ่าเท้าท่านเจ้าขา อำนาจอธิปไตยใน 3 ด้าน นิติบัญญัติ บริหารไขลานได้ ฆ่าแล้วนิรโทษกรรมทำง่ายๆ กี่บาดเจ็บกี่ล้มตายไม่เคยสน ก้มจนหัวติดตีนยังเหยียบย่ำ จึงต้องตั้งคำถามขึ้นข้อใหญ่ เรียกตัวเองว่าไพร่ใช่ต้อยต่ำ ใช่อ่อนแอเจ็บช้ำให้เย้ยหยัน สู้ด้วยกันเถิดประชาชนคนร่วมยุค ทั้งที่ผูกเนคไทใช้จอบเสียม สันติวิธีมีหลักคิดมิตรจัดตั้ง ใช้ปัญญานำทางสู่จุดหมาย ต้องไม่มีความรุนแรงแฝงยาพิษ จะเปิดทางอำมหิตให้ฆ่าซ้ำ เร่งสื่อสารเรื่องราวถึงชาวโลก ให้รู้ทุกข์รู้โศกรู้ทุกสิ่ง ใช่ไฟในนำออกนอกนำเข้า แต่ศึกใหญ่ของเราต้องวางแผน ต้องพร้อมใจไม่แตกแถวเป็นแนวร่วม คิดแตกต่างถือภาพรวมสำคัญกว่า นักต่อสู้ต้องเรียนรู้ในหลายสิ่ง หัวใจต้องแท้จริงและกว้างขวาง มิใช่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน แค่ทบทวนสักคราวเพื่อก้าวใหม่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 11 Mar 2011 02:45 AM PST ความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันเป็นไปอย่างฉาบฉวย หลากหลายและรวดเร็ว ทำให้ผู้คนในทุกมุมโลก ต้องปรับตัวเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างสมดุลต่อการดำรงชีวิตให้ทันกับเหตุการณ์ที่ก้าวไปด้วยความเร่งสูง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อการแสวงหาความสุข การมีชีวิตที่ดีขึ้น ดีกว่าหรือสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนไปตามอัตภาพ อัตกำลังของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละรัฐ หรือแม้กระทั่งแต่ละประเทศก็ตามที การอภิบาล การบริบาลช่วยเหลือและการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ส่วนราชการของแต่ละประเทศ จึงต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถเพื่อผลักดันให้หน่วยงานและบุคลากรของตนได้ปกป้องดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้การปกครองให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดเหมาะสมกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงและการแย่งชิงทรัพยากรกันของมวลมนุษยชาติในโลกโลกาภิวัตน์ยุคสมัยนี้ รัฐไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการนำเอาศาสตร์การบริหารจัดการในโลกสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือในการอภิบาลสังคมเพื่อตอบสนองต่อการให้บริการและความต้องการของประชาชนในประเทศ ระยะต้นมีเครื่องมือหลายๆ ตัวที่ได้นำมาใช้และสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีมีความสอดคล้องกันพอสมควร อีกทั้งมีการบูรณาการหลักการแห่งศาสตร์และวิธีการทางศิลป์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว เพิ่มระดับความสามารถต่อการอภิบาล และบริบาลประชาชน ตลอดจนการควบคุมการดำเนินงานของภาครัฐที่มีให้กับอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายได้อย่างน่าชื่นชม หนึ่งในเครื่องมือที่ถือว่าธรรมดาที่สุด แต่ถ้าใช้อย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จก็จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและทรงคุณค่าที่สุด นั่นคือ “หลักธรรมาภิบาล” (Good Governance) ที่เป็นแนวความคิดในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี มีหลักการเพื่อสนับสนุนการอยู่ร่วมกันในบ้านเมืองและสังคมอย่างมีความสงบสุข สามารถประสานประโยชน์ คลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี และนำสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ระบุว่าธรรมาภิบาลมี 6 ประกอบ คือ 1.หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เลือกปฏิบัติและสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมายและกฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจหรือตามอำนาจของตัวบุคคล 2.หลักความโปร่งใส (Accountability) ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกัน โดยมีการให้และการรับข้อมูลที่สะดวกเป็นจริง ทันการณ์ ตรงไปตรงมา มีที่มาที่ไปที่ชัดเจนและเท่าเทียมมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้ 3.หลักการมีส่วนร่วม (Participation) ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และร่วมคิด ร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่างๆ เช่น การแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการร่วมตรวจสอบ และร่วมรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้น 4.หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ (Responsibility) ได้แก่ ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้เป็นการสร้างกลไกให้มีผู้รับผิดชอบ ตระหนักในหน้าที่ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน 5.หลักความคุ้มค่า (Cost – effectiveness or Economy) ได้แก่ การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม 6.หลักคุณธรรม (Morality) ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงามสำนึกในหน้าที่ของตนเอง มีความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัยและเคารพในสิทธิของผู้อื่น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของการนำศาสตร์ธรรมาภิบาลมาใช้โดยการถ่ายทอดผ่านทางวิธีการปฏิบัติงานในระบบราชการ กระทำด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มาตรา 6 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน มาตรา 7-8 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มาตรา 9-19 การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ มาตรา 20-26 การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน มาตรา 27-32 การปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการ มาตรา 33-36 การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน มาตรา 37-44 และการประเมินผลการปฏิบัติราชการ มาตรา 45-49 การดำเนินการเริ่มตั้งแต่ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างได้รับการอบรมเรียนรู้ ถ่ายทอดกันเป็นระดับ จากนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการ การทำงาน การให้บริการ ตลอดจนการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ระเบียบกติกาและขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความกระชับและให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น บุคลากรของรัฐถูกบังคับให้ท่อง ให้จดให้จำ หวังเพื่อว่าจะสามารถแทรกซึมลึกลงไปในจิตสำนึกของการปฏิบัติหน้าที่ที่ดี มุ่งรับใช้ประชาให้สมกับเจตนารมณ์แห่งศาสตร์ที่ว่านั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนอุดมไปด้วยเทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย แต่ด้วยความเป็นจริงที่มิอาจก้าวข้ามไปได้ก็คือ ความเป็นรูปธรรมของการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในประเทศไทย เท่าที่เห็นต้องยอมรับว่ายังไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งการนี้จะโทษข้าราชการผู้ปฏิบัติงานก็ย่อมได้อยู่ แต่ต้องหลังจากที่กล่าวโทษผู้บริหารประเทศ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางในการอภิบาลประชาชนไปแล้วเท่านั้น ข้าราชการประจำจะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีเยี่ยมตามหลักธรรมาภิบาลได้ก็ต่อเมื่อได้รับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เอื้อต่อการปฏิบัติ การได้รับการช่วยเหลือและการอำนวยการที่ดีจากผู้กุมอำนาจอภิบาล เมื่อหัวไม่กระดิกแล้วหางจะสะบัดได้อย่างไรกัน เปรียบได้กับระบบเชิงกล ซึ่งถ้าสมองกลไม่สั่งไม่บังคับ ระบบอื่นก็ไม่ทำงาน..ตายทั้งระบบ หากเราสังเกตจะเห็นได้ว่าการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศ การกำกับดูแลและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กระทำรัฐอภิบาลนั่นแหละที่เป็นตัวการกีดกันการใช้ธรรมาภิบาลที่ดีของข้าราชการผู้ปฏิบัติ ให้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างที่พรรณนาไว้ในตัวบทกฎหมาย เป็นเหตุให้ธรรมาภิบาลทุกวันนี้ต้องติดอยู่กับหลัก เป็น "หลัก" ธรรมาภิบาลที่ไม่ยอมขับเคลื่อนเปลี่ยนย้ายไปสู่การบริการที่ดีแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง ผมใคร่นำสิ่งที่ตัวเองได้ประสบพบเจอมาเป็นตัวอย่างสักสองสามกรณี..กล่าวคือ กรณีเรื่องการทำบัตรประจำตัวประชาชน จากเดิมที่ใช้กระบวนการดำเนินงานอย่างยาวนาน ประชาชนผู้รับบริการต้องใช้ใบเหลืองซึ่งเป็นใบแทนไปก่อนจึงจะได้รับบัตรประชาชนตัวจริง สมัยผมทำบัตรประชาชนครั้งแรกจำได้ว่าต้องใช้เวลาประมาณ 45 วัน ผู้ใหญ่บ้านจึงจะรับจากอำเภอแล้วนำมาให้ที่บ้าน แต่ด้วยธรรมาภิบาลทำให้มีการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออก ขั้นตอนวิธีการใดที่ซ้ำซ้อนกันก็ให้รวมกัน สามารถเปลี่ยนกระบวนการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้รวดเร็วขึ้น เสร็จภายในหนึ่งวันโดยไม่ต้องรอ ไม่ต้องใช้ใบแทน แต่ ณ วันนี้ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลหรือรัฐอภิบาลในสมัยโลกาภิวัตน์ของประเทศเรา กลับเป็นการดำเนินการที่ไม่ได้สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับธรรมาภิบาลดังที่กำหนดไว้เลย กลายเป็นการเพิ่มระยะเวลาในกระบวนการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ยาวนานขึ้น..เกือบ 5 เดือน (ผมไปทำเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา..ระบุให้ผมไปรับบัตรตัวจริงในเดือนพฤษภาคม) ประชาชนเสียหายตรงไหน?..เสียเวลาและโอกาสในการทำมาหากิน และเสียค่าใช้จ่าย ที่เดินทางมาทำแล้วต้องมารับอีกครั้ง ซึ่งถ้ามาแล้วไม่ได้ก็ต้องมาครั้งต่อๆ ไป โดยไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากใครได้ ต้องจ่ายเอง เรื่องต่อมา คือ การเข้าแถวเพื่อรอซื้อสินค้าราคาแพง หายากและขาดตลาดอย่างน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไข่และอื่นๆ เป็นไปได้อย่างไร น้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช และไข่ไก่ ราคาสูง ขาดตลาด ทั้งๆ ที่เป็นปัจจัยภายในประเทศ เราเป็นประเทศผู้ผลิต เป็นประเทศเกษตรกรรม และแถมยังเป็นผู้ส่งสินค้าเหล่านี้ออกด้วยซ้ำ ประชาชนเสียหายตรงไหน?..เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม และที่สำคัญไม่แพ้กันคือเสียความรู้สึก..เสียสุขภาพจิตกันไปทั่วถ้วนหน้า เรื่องสุดท้าย เรื่องการดำเนินคดี การเร่งรัด การละเว้นการปฏิบัติ จะด้วยเหตุผลกลไดก็ตาม มันก็เกิดคำถามทั้งเรื่องของนิติธรรม คุณธรรมจนได้ รัฐกระทำเหมาะสม สมควร เป็นเหตุเป็นผลแล้วหรือยัง?.. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดคำถามแก่ประชาชนไปทั่ว และมีกรณีตัวอย่างให้เห็นอยู่ร่ำไป ถามว่าถ้าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนเอง ทำไมรัฐไม่สร้างความกระจ่างแก่ประชาชน ใช้หลักความโปร่งใสในการบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายจนมีคำพูดติดหู ติดใจประชาชนไปค่อนประเทศ กับคำว่า “สองมาตรฐาน” ประชาชนเสียหายตรงไหน?..สร้างความแตกแยกให้เกิดกับประชาชน ประชาชนบางกลุ่มบางก้อนใช้เป็นข้ออ้างว่าถูกเลือกปฏิบัติ และนำมาซึ่งความสับสนวุ่นวาย นำมาซึ่งการไม่ยอมรับระเบียบกติกาและกฎเกณฑ์ของสังคม..ใครเดือดร้อน?..ก็ชาวบ้าน ประชาชน สังคมส่วนใหญ่อีกนั่นแหละ นอกจากนี้ เข้าใจว่ายังมีเรื่องอื่นให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอีกไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าตราบที่ผู้อภิบาลของรัฐยังไม่ตระหนักและไม่มีการบังคับใช้ธรรมาภิบาลกันอย่างจริงจัง กรณีเทียบเคียงถ้าเป็นบริษัทเอกชน ผู้บริหารคงโดนเจ้าของ ผู้ถือหุ้นไล่ออก ยื่นซองขาว หรือไม่ก็กดดันให้เขียนใบลาออกไปตั้งนานแล้ว และไม่มีโอกาสได้แก้ตัวซ้ำซาก ไม่มีสิทธิใช้โวหารแก้ต่างให้ตัวเองเป็นแน่แท้ ซึ่งเท่านั้นยังไม่พอ ใบลาออก ใบผ่านงาน หรือแม้กระทั่งหลักฐานเกี่ยวกับที่เคยทำงานใดๆ ยังจะต้องถูกบันทึก สลักหลัง เพื่อป้องกันมิให้บุคคลนี้ไปสร้างความเสียหายให้กับบริษัทอื่นใดได้อีก แต่ก็นั่นแหละ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่านักอภิบาล นักบริหารจัดการของรัฐ ระดับประเทศ เมื่อออกไปแล้ว ก็ยังจะสามารถกลับเข้ามาได้อีก มาทำเรื่องอย่างเดิมเหมือนเดิมได้อีก ทั้งนี้เพราะ “ธรรมาภิบาล” คงไม่ใช่ตัวสะท้อนผลงานและไม่ได้เป็นตัวชี้วัดในสารบบหน่วยความจำของประชาชนคนไทยผู้ซึ่งเป็นหุ้นส่วนและเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ผู้ต้องขังเสื้อแดงเชียงใหม่ร่ำไห้วอนแกนนำช่วยประกันตัว Posted: 11 Mar 2011 02:17 AM PST เมื่อวานนี้ (10 มีนาคม 2554) เวลา 9.00น. แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” นำโดยธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. สมหวัง อัสราษี วรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ วรชัย เหมะ และรังษี เสรีชัย ร่วมด้วยแสวง บุตรดา ตัวแทนของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 พร้อมทั้งบรรดาญาติผู้ต้องขัง ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีเสื้อแดงกรณีร่วมกันฆ่านายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา บิดาของนายเทิดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา หรือ "โต้งวิหค" ดีเจแกนนำพันธมิตรในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงที่ทางเข้าหมู่บ้านระมิงค์เมื่อปลายปี 2551 (www.prachatai.com/journal/2008/11/19102) ซึ่งศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 8 เมษายน 2553 ตัดสินให้จำคุกจำเลยคนละ 20 ปี คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ แกนนำ นปช. ได้เข้าพูดคุยสอบถามจำเลยและญาติ ในบรรยากาศที่หดหู่ เต็มไปด้วยน้ำตาจากความคับแค้น ธิดากล่าวว่า แม้จะไม่ใช่คดีที่เกิดจากการสลายการชุมนุมเม.ย - พ.ค. 53 แต่แกนนำก็มาร่วมรับฟังเพื่อทราบปัญหา ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคดีโดยตลอด ไม่ได้ทอดทิ้ง รู้สึกเสียใจกับพี่น้องทุกคน สิ่งสำคัญที่สุดคือการต่อสู้คดีเพื่อความยุติธรรม คนเสื้อแดงสมควรต้องได้รับการประกันตัวทั้งสิ้น และรับปากว่าจะช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้แกนนำ นปช.ได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ต้องขังรายละ 2,000 บาทรวมทั้งสิ้น 6 ราย นพรัตน์ แสงเพชร หนึ่งในจำเลยผู้ต้องขังกล่าวว่า ศาลตัดสินคดีโดยใช้หลักฐานเพียงภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ ซึ่งขณะเกิดเหตุเสียชีวิตไม่ปรากฏภาพของตนแต่อย่างใด พร้อมทั้งยืนยันว่า นี่คือหนึ่งในคดีเสื้อแดง ปนัดดา แสงเพชร น้องสาวของนพรัตน์เล่าว่า แม่ต้องป่วยกระเสาะกระแสะเนื่องจากช้อกจากการที่ลูกชายถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปีทั้งที่พยานหลักฐานก็ไม่ชัดเจน ส่วนครอบครัวต้องถูกยึดบ้านและรถ ต้องนำทรัพย์สินเก่าที่เคยมีออกขายเพื่อดำรงชีวิต เนื่องจากนพรัตน์เป็นกำลังหลักในการหารายได้ให้ครอบครัว ปนัดดาได้กล่าวขอบคุณแสวง ในฐานะตัวแทนกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ช่วยเหลือจากกลุ่มด้วยดีตลอดมา แต่ก็อยากให้พี่น้องเสื้อแดงอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมกันช่วยพี่ชายตนด้วย สมศักดิ์ อ่อนไสว ผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งเล่าทั้งน้ำตาแสดงความน้อยใจว่า ขาดคนดูแลทั้งที่เวลาผ่านไปสองปีกว่าแล้ว ภรรยาจะมาเยี่ยมๆ บ่อยๆ ก็ไม่ได้เพราะลำพังการดำเนินชีวิตก็ลำบากขัดสนอยู่แล้ว ยืนยันได้ว่าตนไม่ใช่ผู้กระทำผิด อุดม เมฆขุนทดภรรยาสมศักดิ์ (www.prachatai.com/journal/2011/01/32675) ได้นำจดหมายของสมศักดิ์มาแสดงให้แก่แกนนำที่มาเข้าเยี่ยมด้วย พยอม ดวงแก้ว บุญรอด ไชยมโน และแดง ปวนมูล จำเลยในคดีเดียวกันอีกสามคน ได้แสดงความต้องการประกันตัวอย่างเร่งด่วนในระหว่างอุทธรณ์ โดยขอความช่วยเหลือจากแกนนำ นปช. และผู้เกี่ยวข้อง แสงทอง ดวงแก้ว ภรรยาพยอมเล่าว่า พยอมมีอาชีพขายน้ำแข็งไส ไปสมัครเป็นการ์ดแล้วเขาไม่รับ แต่ก็ยังไปขายของในที่ชุมนุมทุกครั้ง ตนและพยอมมีภาระต้องเลี้ยงดูหลานชายอายุ 7 ขวบ ซึ่งมีอาการลิ้นหัวใจรั่ว เคยผ่าตัดสมองมาก่อน ทั้งเด็กยังมีอาการออทิสม์หรือที่เรียกว่า "เด็กพิเศษ" อีกด้วย บัวจันทร์ ปวนมูล มารดาของแดง เป็นแม่ค้าขายผักริมทาง สุขภาพไม่ดีเนื่องจากอายุมากแล้วยังต้องมาคอยดูแลลูกชาย จึงไม่ค่อยได้ขายของ อยากให้ลูกชายได้ประกันตัวออกมา ส่วนประยุทธ บุญวิจิตร เป็นผู้ต้องขังรายเดียวที่ไม่มีญาติเข้าเยี่ยมด้วยในวันนี้เนื่องจากภรรยาประยุทธเป็นคนสติไม่สมประกอบและได้รับประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเดินไม่ได้ ก่อนหน้าจะถูกจับกุมประยุทธประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย อาศัยอยู่เพิงสังกะสีบริเวณหลังวัดโลกโมฬี และตัวประยุทธเองก็มีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ก่อนถูกจับกุมด้วยเช่นกัน ส่วนคดีเสื้อแดงที่เกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ (ชาย) แจ้งว่าได้รับการประกันตัวออกไปทั้งหมดแล้ว แต่บางรายยังไม่ทราบชัดว่าเป็นผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับเสื้อแดงหรือไม่ โดยเฉพาะรายที่ยิง m79 ใส่บ้านของคะแนน สุภา พ่อตาของเนวิน ชิดชอบ (www.prachatai.com/journal/2010/11/32026) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แผ่นดินไหวญี่ปุ่น 8.9 ริกเตอร์ เสียหายหนัก Posted: 11 Mar 2011 02:14 AM PST สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค รายงานว่า เมื่อเวลา 14.46 น. ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่นเกิดเหตุแผ่นดินไหว วัดแรงสั่นสะเทือนได้8.9 ริกเตอร์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และมีการประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิความสูง 6-10 เมตรในชายฝั่งแปซิฟิกหลังเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่าแผ่นไหว 8.9 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ รุนแรงที่สุดในรอบ 300 ปีของญี่ปุ่น พร้อมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ญี่ปุ่นได้เรียกประชุมฉุกเฉินแล้ว อย่างไรก็ตาม จากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้เกิดสึนามิสูง 10 เมตรถล่มเมืองเซนได จ.มิยากิ เกาะฮอนชู ซึ่งห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 400 กม. ท่าอกาศยานเมืองเซนไดน้ำไหลทะลักท่วมทั้งหมด ประชาชนราว 4 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย ทั้งนี้ เมืองมิยางิ และพื้นที่รอบใกล้ นั้น เป็นสถานที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมและการผลิตขนาดใหญ่ของประเทศ รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของโรงงานอีเล็คทรอนิคส์ และโรงงานเคมี ปิโตรเคมี ด้วย นอกจานี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่งเหนือเกาะฮอนชูได้หยุดทำงานแล้ว แรงสั่นสะเทือนยังยังส่งผลให้คลังน้ำมันในเมืองชิบะเกิดระเบิดมีไฟลุกไหม้ ส่วนที่กรุงโตเกียวเกิดอาคารถล่มขณะมีนักเรียนมากกว่า 600 คนกำลังร่วมพิธีสำเร็จการศึกษา มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีคำสั่งระดมทีมกู้ภัยเตรียมพร้อมเดินทางเข้าไปในญี่ปุ่นแล้ว 30 ทีม ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ทางการรัสเซียได้มีการอพยพคนกว่า 10,000 คนที่อยู่ใกล้กับเกาะคูริล หลังากมีการเตือนภัยว่าจะมีสึนามิเกิดขึ้น ขณะที่สำนักสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐรายงานว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อคแล้ว 4 ครั้ง โดยมีครั้งหนึ่งรุนแรงถึง 7.7 ริคเตอร์ส่วนกรมอุตุฯ ของไทยเปิดเผยว่า วันที่ 12 มี.ค. เวลา 05.00 น. อาจเกิดสึนามิที่จ.นราธิวาส แต่ไม่รุนแรง สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดทีเกิดเหตุขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้ เพราะการสื่อสารในพื้นที่ขัดข้องทั้งหมด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ กรมการกงสุล โทร 02-5751046-9, 02-6435000 เรียบเรียงจาก เว็บไซต์มติชน, ไทยรัฐ, กรุงเทพธุรกิจ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
บทวิเคราะห์การประท้วงในเยเมน: มีเพียงการปฏิวัติบางแห่งเท่านั้นที่โทรทัศน์จะนำเสนอ Posted: 11 Mar 2011 01:19 AM PST Jody McIntyre ผู้สื่อข่าว-บล็อกเกอร์ ของสำนักข่าวดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ เขียนบทวิเคราะห์สั้นๆ ถึงการประท้วงในตะวันออกกลาง ที่สื่อหลักมักจะเน้นแค่เหตุการณ์ในลิเบีย ขณะที่การประท้วงในเยเมนถูกเมิน แต่ขณะเดียวกันการใช้สื่อใหม่ก็ทำให้สื่อหลักอย่างบีบีซีไม่ใช่ผู้ผูกขาดการ รายงานอีกต่อไป
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2554 Jody McIntyre ผู้สื่อข่าว-บล็อกเกอร์ ของสำนักข่าวดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ เขียนบทวิเคราะห์สั้นๆ ถึงการประท้วงในตะวันออกกลาง ที่สื่อหลักมักจะเน้นแค่เหตุการณ์ในลิเบีย ขณะที่การประท้วงในเยเมนถูกเมิน แต่ขณะเดียวกันการใช้สื่อใหม่ก็ทำให้สื่อหลักอย่างบีบีซีไม่ใช่ผู้ผูกขาดการรายงานอีกต่อไป
การประท้วงของ "มวลชนนับล้าน" เกิดขึ้นในประเทศอาหรับอีกครั้ง เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณอาจจะคิดว่ามันจะได้ขึ้นหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ อย่างน้อยก็ที่อัลจาซีร่า? แต่ขณะนั้นเองสื่อต่างๆ ก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเหตุการณ์ในลิเบีย ขณะที่การเดินขบวนประท้วงในทางตอนใต้ของเยเมนถูกเมิน สำนักข่าวอัลจาซีร่าเป็นช่องสื่อที่มีบทบาทสำคัญท่ามกลางคลื่นปฏิวัติมวลชนที่แพร่กระจายไปทั่วแอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตกในช่วงนี้ แต่การ "เลือก" เจาะลึกแต่กับการประท้วงที่เดียวก็ทำให้สายตาของประชาชนที่จับตามองอยู่เกิดตั้งคำถาม ว่าการปฏิวัติโดยอาศัยแบบแผนวิธีการของอิยิปต์จะสำเร็จได้หรือไม่หากไม่ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างอัลจาซีร่า ในอีกด้านหนึ่ง สื่อใหม่เช่นอินเทอร์เน็ตทำให้พวกเราสามารถติดตามการลุกฮือเหล่านี้ได้ในแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อนในอดีต สำนักข่าวบีบีซีไม่สามารถผูกขาดความคิดเห็นของพวกเราได้อีกแล้ว สื่อบรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่ได้สามารถควบคุมการรับข้อมูลของพวกเราได้เหมือนแต่ก่อน ถ้าหากเราได้อ่านข้อความจากทวิตเตอร์ เราก็สามารถรับรู้สถานการณ์ได้นาทีต่อนาที พวกเราจะได้เห็นเหตุการณ์ในแบบที่ไม่เป็น ไม่ใช่ในแบบที่มันได้รับการรายงาน อาลี ซาเลห์ ประธานาธิบดีเยเมน ตอบสนองการชุมนุมต่อเนื่องด้วยการเสนอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 1 ปี เช่นเดียวกับการที่เขาวางแผนจะสละตำแหน่งภายในปี 2013 ซาเลห์ดูจะไม่ปลาบปลื้มไปกับความจริงที่ว่า แม้จะสามารถอยู่ในตำแหน่งมาจนถึง 32 ปีแล้ว แต่ก็ไม่สามารถมีอภิสิทธิ์ในการเลือกจะมีอำนาจต่อไปได้อีกหลายปี ข้อเสนอของเขาทำให้การปกครองประเทศหลุดจากมือเขาไปสู่มือของรัฐสภา เป็นการลดการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีในเชิงหลักการ แต่ก็สายไปหน่อย สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลโลกตะวันตกเริ่มแสดงความซาบซึ้งต่อความรวดเร็วและรุนแรงของปรากฏการณ์โดมิโน (domino effect) ที่เริ่มก่อขึ้นจากตูนีเซีย จากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามปิดบังการที่พวกเขาสนับสนุนเบน อาลี มาเป็นเวลานานด้วยการยอมรับการประท้วงต่อต้านในเบงกาลี (เมืองของลิเบีย) รัฐบาลสหรัฐฯ ร้องขอให้ประเทศพันธมิตรอย่างซาอุดิอาระเบียติดอาวุธให้กับผู้ประท้วงชาวลิเบีย และเดวิด คาเมรอน (นายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ก็เดินทางไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์พร้อมกับตัวแทนจากบรรษัทค้าอาวุธ BAE Systems พยายามมองหาผู้นำหุ่นเชิดรายอื่นๆ เพื่อจะขายอาวุธให้ กระบวนการแต่งตั้งเหวี่ยงกลับอย่างเต็มรูปแบบ ถ้อยแถลงของซาเลห์ที่กล่าวในขณะที่ประชาชนของเขาชูแขนประท้วงมีเป้าหมายเหมือนๆ กัน พวกเขาพยายามทำให้ผู้ประท้วงแตกแยกกันเอง ทำให้การปฏิวัติอ่อนแอลง แต่ประชาชนนับล้านในเยเมนก็แสดงท่าทีว่า แผนการนี้จะล้มเหลว
ที่มา: สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รวบหนุ่มขายวีซีดีหมิ่นฯ รับชื่นชอบ "สุรชัย แซ่ด่าน" Posted: 11 Mar 2011 01:05 AM PST เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 มีนาคม ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 แถลงข่าวจับกุมนายเอกชัย หรือเอก หงส์กังวาน อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 530 ซอยลาดพร้าว 109 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง และคดีจำหน่ายวีดิทัศน์โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน พร้อมด้วยของกลางเป็นวีซีดีกว่า 100 แผ่น เครื่องไรท์ซีดี 1 เครื่อง พร้อมด้วยเอกสารของวิกิลีกส์จำนวน 10 ฉบับ พล.ต.ต.วิชัยกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม จับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา ที่ท้องสนามหลวง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา หลังพบว่านำวีซีดีที่หมิ่นเบื้องสูงมาวางจำหน่ายจำนวนมาก ในราคาแผ่นละ 20 บาท เจ้าหน้าที่จึงจับกุมพร้อมดำเนินคดีทันที สอบสวนผู้ต้องหาเบื้องต้นให้การรับสารภาพว่ามีความชื่นชอบในตัวของนายสุรชัย แซ่ด่าน หัวหน้ากลุ่มแดงสยาม แต่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มด้วย ส่วนอัตราโทษเบื้องต้นต้องถูกจำคุก 3-15 ปี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: ทหารขึ้นป้าย “ใครใช้ให้พวกมึงเผาบ้านเมือง” เสื้อแดงบ่อนไก่ฮือปลด Posted: 11 Mar 2011 12:16 AM PST เจ้าหน้าที่ทหารขึ้นป้าย 2 ผืน ประณามเสื้อแดงเผาเมืองที่สะพานลอยย่านบ่อนไก่ พร้อมนั่งเฝ้าป้าย อ้างรับคำสั่งนายมาปฏิบัติการ ก่อนรีบเดินทางกลับ หลังเสื้อแดงในชุมชนขู่จะสมทบเพิ่ม ชาวบ้านเชื่อเป็นเรื่องทหารมาข่มขวัญหลังแดงบ่อนไก่จัดทำบุญเมื่อสัปดาห์ก่อน ล่าสุดคนเสื้อแดงช่วยกันปลดป้ายแล้ว
ป้ายผ้าของชาวชุมชนในวันจัดงานทำบุญรำลึกผู้เสียชีวิตย่านบ่อนไก่ (ถ่ายเมื่อค่ำของวันที่ 5 มีนาคม 54) ป้ายผ้า 2 ผืน ที่ถูกนำมาติดที่สะพานลอย เมื่อ 11 มี.ค. 54 ทหาร 2 คน ที่นำป้ายผ้ามาติดและคอยมาเฝ้าป้ายผ้าอยู่ตีนสะพานลอยอีกฝั่งหนึ่ง เสื้อแดงบ่อนไก่ช่วยกันเก็บป้ายผ้าออกหลังจากที่ทหารกลับไปแล้ว
วันนี้ (11 มี.ค. 54) เวลาประมาณ 10.00 น. "อาสาสมัครศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ (ศปช.)" รายงานว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนในชุมชนบ่อนไก่ว่า มีทหารนำป้ายผ้ามาติดตรงสะพานลอยด้านหน้าชุมชน บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพฯ สาขาบ่อนไก่ อันเป็นจุดที่เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมามีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยคืนวันที่ 5 มีนาคม ชาวเสื้อแดงชุมชนบ่อนไก่ ได้ใช้ปิดป้ายผ้าขนาดใหญ่ว่า “15 ศพ บ่อนไก่ เราไม่ลืม” เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบป้ายผ้า 2 ผืน เขียนข้อความว่า “เรียกร้องประชาธิปไตยทำไมต้องเผาด้วย” และ “แล้วใครใช้ให้พวกมึงเผาบ้านเมือง” ติดอยู่ตรงสะพานลอย โดยมีเสื้อแดงในชุมชนบ่อนไก่ราว 4-5 คนยืนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อยู่ทางด้านตีนสะพานลอย ขณะที่คนซึ่งอ้างว่าเป็นทหารที่มาติดป้ายจำนวน 2 คน คอยเฝ้าอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เมื่อผู้สื่อข่าวไปสอบถามถึงที่มาและเหตุผลในการติดป้ายนี้ เจ้าหน้าที่สองคนดังกล่าวบอกว่าเป็นทหาร แต่ไม่ยอมบอกสังกัด โดยอ้างว่า “ไม่สามารถที่จะบอกได้” โดยทั้ง 2 คนอธิบายว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำป้ายผ้าทั้ง 2 ผืนมาติดที่จุดนี้และคอยเฝ้าไว้ด้วย เมื่อถามว่า เขาเป็นคนนำป้ายผ้าในลักษณะเดียวกันนี้ไปติดบริเวณคลองเตยด้วยหรือไม่ เขาบอกว่าไม่ใช้ชุดของเขาแต่อาจจะเป็นชุดอื่น และกล่าวด้วยว่ามีคำสั่งให้ทหารกระจายกำลังกันทำในลักษณะนี้ในช่วงนี้ซึ่งจะมีการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ ทั่วกรุงเทพฯ อนึ่งชาย 2 คนที่อ้างว่าเป็นทหารนั้น ใส่ชุดทหารครึ่งท่อน และสวมเสื้อนอกคลุมเขียนข้อความว่า “รือเสาะ 51 หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” คนเสื้อแดงบ่อนไก่ที่เห็นเหตุการณ์ไม่พอใจและพยายามติดต่อเพื่อนในชุมชนให้ออกมาขับไล่ แต่ไม่ได้มีคนออกมาเพิ่มเติมเพราะในตอนกลางวัน ส่วนใหญ่จะออกไปทำงานข้างนอกกัน ต่อมามีสมาชิกในชุมชนที่ทำงานอยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่ทราบข่าวได้เดินทางมาถึง และเข้าไปถ่ายรูป และบอกว่า “น้องๆ กลับไปเถอะเดี่ยวพวกเสื้อแดงที่อยู่ในชุมชนกำลังจะออกมาไล่แล้ว” เจ้าหน้าที่ทหารทั้ง 2 คนจึงรีบออกไปทันที หลังจากที่ทหารกลับไป เวลาประมาณ 11.00 น. คนเสื้อแดงกลุ่มดังกล่าวได้ช่วยกันเก็บป้ายผ้าออก โดยคนเสื้อแดงในชุมชนรายหนึ่งอธิบายว่า “ไม่พอใจที่ทหารเอาป้ายผ้านี่มาติด ถ้าปล่อยไว้เท่ากับเรายอมรับว่าเรา คือ คนในชุมชนบ่อนไก่ เผาเมืองบ้านเมือง เราไม่ได้เผา และการเผาเกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากทหารใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมชุมแล้ว ดังนั้นมาว่าเรา เรียกร้องประชาธิปไตยแล้วเผาไม่ได้ ในชุมชนเราไม่มีการเผาเลย แล้วที่เผาที่อื่นก็เกิดขึ้นหลังจากพวกทหารใช้ความรุนแรงแล้ว ซึ่งอันนั้นเข้าใจว่าเป็นผลหรือเป็นการตอบโต้การใช้ความรุนแรงของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงเหตุการณ์แบบนั้นก็ไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ขณะที่อีกคนเห็นว่า “นี่อาจจะเป็นวิธีการข่มขวัญ ข่มขู่ให้พวกเรากลัว เนื่องจากเราได้ออกมาจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา พวกนี้เป็นวัวสันหลังหวะ กลัวความจริง เลยพยายามบิดเบือน ซึ่งไม่มีทางสำเร็จหรอก” "ผู้สื่อข่าวประชาไท" รายงานเพิ่มเติมว่า เคยเกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้มาก่อนแล้ว โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ปี 53 ช่วงที่มีการชุมนุมของ นปช. ในกรุงเทพมหานคร นายอนุสรณ์ ปั้นทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย เคยแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขน จับกุมเจ้าหน้าที่ทหารยศจ่าสิบเอกพร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. ซึ่งตระเวนกรีดป้ายผ้าของผู้ชุมนุม นปช. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา บริเวณใกล้กับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ย่านหลักสี่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวให้การสารภาพว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาที่อยู่ใน ศอ.รส. ให้มาทำลายป้ายดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายทหารคนดังกล่าวได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายทหารท่านหนึ่ง ก่อนที่จะเจรจากับทางเจ้าหน้าที่และปล่อยตัวไปในที่สุด เนื่องจากนายอนุสรณ์ไม่ติดใจเอาความ ขอเพียงแค่ให้ทางตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน (อ่านข่าวย้อนหลังที่นี่) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น