ประชาไท | Prachatai3.info |
- นักข่าวพลเมือง: กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลเผยร่วมขบวนพีมูฟ แก้ปัญหาคืบหน้า
- กองทัพแจงตั้ง "พล.ร.7" งบ 2,300 ล้าน ลั่นไม่เกี่ยวข่มแดง แต่กลัวเพื่อนบ้านแซงหน้า
- "สุริยะใส" เผย "การเมืองใหม่" ส่ง ส.ส. ลงครบ 76 จังหวัด หวั่นเสื้อแดงป่วนอดเลือกตั้ง
- จี้ "สมชาย หอมลออ" เปิดข้อมูลสอบสวน 91 ศพ
- สมาคมสื่อฯ โต้ ครม.เจียดงบ 5 ล้าน จ้างพีอาร์แผนอพยพแรงงานไทยในลิเบีย
- “ประเวศ” แนะ “ปฏิรูปท้องถิ่น” ภูมิต้าน “รัฐประหาร”
- “วัชระ เพชรทอง” นำสาวเสื้อแดงร้องถูกข่มขืนช่วงชุมนุมแถลงข่าว
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "อย่างกเลยท่าน"
- ชาวนาอยุธยาเตรียมชุมนุมปิดศาลากลาง 4 มี.ค. ทวงสัญญาเพิ่มราคาจำนำข้าว
- เผยงบ 5 ล้าน ใช้พีอาร์ช่วยคนงานลิเบีย - มาร์คลั่นถ้าไม่สมเหตุสมผลตัดแน่
- พีมูฟร้องศาลฎีกาสมาชิกโดนจับ
- ความในใจกลุ่มประชาชนผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข
- พม่าเตรียมขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 380 เปอร์เซ็นต์
- ผลสำรวจเอแบคโพลล์ ลุ้นท้องถิ่นตั้ง ‘สมัชชา’ อิสระจากมหาดไทย
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล: สองสัญชาติของผู้ดี
นักข่าวพลเมือง: กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลเผยร่วมขบวนพีมูฟ แก้ปัญหาคืบหน้า Posted: 02 Mar 2011 12:36 PM PST กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลเผย ร่วมขบวนพีมูฟ มีการแก้ปัญหาคืบหน้า รมว.สาทิตตั้งกรรมการ กกพ.รับข้อมูลการศึกษากลุ่มอุบลฯ ประกอบการพิจารณา กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังจากปักหลักชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.54 มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา รัฐมนตรีสาทิต วงศ์หนองเตย ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กกพ. รับข้อมูลงานวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอุบลประกอบการพิจารณา ยันถ้าข้อมูลชาวบ้านมีน้ำหนักใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าไม่ออกแน่ เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 6 จังหวัด ได้เข้าร่วมปักหลักชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมซึ่งประกอบไปด้วย 4 เครือข่าย 3 กรณีปัญหา คือ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือปฏิรูปสังคมและการเมือง เครือข่ายสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งมีปัญหากรณีป่า ออป. ทับที่ อ.พิบูลมังสาหาร กลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต และกลุ่มกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เหมืองแร่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากร และความเป็นธรรมในสังคม ล่าสุด วันนี้ ( 3 มี.ค.54) กลุ่มกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้รวมตัวกันเดินทางเข้าพบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา โดยมีนายกวิน ทังสุพานิช เลขาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นตัวแทนพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งนายกวิน ทังสุพานิชกล่าวชี้แจงกับชาวบ้านว่า กกพ. เป็นองค์กรอิสระของรัฐที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจในการอนุญาตของกรมโรงงาน ซึ่งการอนุญาตทำไปตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งการอนุญาตประกอบไปด้วยใบอนุญาตสร้างโรงงานซึ่งทาง กกพ.ต้องขอความเห็นจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. กรมโรงงาน พ.ศ.2535 และใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าซึ่ง กกพ. เป็นผู้อนุญาต ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งทั้ง 2 ใบ แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับ แต่สามารถตัดขาดจากกันได้ เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน ซึ่งข้อมูลผลการศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณี โรงไฟฟ้า บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ณ บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี นั้น ตอนนี้ได้อยู่ในขั้นอุทธรณ์ซึ่ง ทาง กกพ. จะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากพบว่าการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้ามีผลกระทบกับชาวบ้าน ทาง กกพ. จะไม่ออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้กับบริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ซึ่งตนยืนยันว่าหน้าที่ของ กกพ. คือการถ่วงดุลอำนาจในการออกใบอนุญาตของกรมโรงงาน และต้องปกป้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ ในส่วนที่ชาวบ้านขอพบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตนจะประสานและแจ้งผลให้ชาวบ้านทราบภายในวันศุกร์ที่ 4 มี.ค. 54 ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.54 มีการประชุมแก้ไขปัญหาโดยมีนายสาทิศ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีการพูดคุยแก้ปัญหาของกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) กรณีป่า ออป. ทับที่ อ.พิบูลมังสาหาร กลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต และกลุ่มกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เหมืองแร่ ที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ประกอบไปด้วย ตัวแทนรัฐบาล ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมโรงงานอุตสหกรรม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ตัวแทนชาวบ้าน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก 5 จังหวัด ได้แก่ นางสาวสดใส สร่างโศรก จ.อุบลฯ นายวิชัณย์ เขตชำนิ จ.เชียงราย นางแน่งน้อย นิลขลัง จ.ตาก นายพัฒติกร เลสัก จ.ลำพูน และนายบุญมี โสภัง จ.สุรินทร์ โดยคณะทำงานมีหน้าที่ ตรวจสอบกระบวนการและขั้นตอนการออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล สามารถเรียกบุคคลหรือหน่วยงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาเพื่อประกอบกระบวนการพิจารณา ใน 5 พื้นที่คือ เชียงราย ตาก สุรินทร์ ลำพูน อุบลราชธานี ซึ่งได้รับความเดือดร้อน ดำเนินโครงการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าชีวมวลโดยใช้ แกลบ เศษไม้ วัสดุทางการเกษตร เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ด้วยกำลังการผลิตตั้งแต่ 0.99-9.9 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่มีข้อกำหนดที่มีกำลังผลิต 10 เมกกะวัตต์ สามารถแต่งตั้งบุคคลหรือคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบหรือดำเนินการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมได้ มีอำนาจเสนอให้ชะลอหรือหยุดโครงการที่พบ กระบวนการที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม และกำหนดกระบวนการชี้แจงข้อมูลและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รอบบริเวณที่ขออนุญาตตั้งโรงงาน ผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล(แกลบ) ในพื้นที่พบกระบวนการที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ส่วนกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมเพื่อศึกษา และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้านนายทองคับ มาดาสิทธิ์ ตัวแทนชาวบ้านกล่าวหลังเข้าพบ กกพ. ว่า พอทราบว่า กกพ. ไม่จำเป็นต้องออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้บริษัทบัวสมหมาย ก็รู้สึกโล่งใจ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของ กกพ. ต่อไป แต่ตนหวังว่า กกพ. ในฐานะเป็นองค์กรอิสระที่ดูแลการประกอบกิจการพลังงานให้มีความโปร่งใส และเป็นธรรม จะทำหน้าที่ช่วยติดตามแก้ไขปัญหา และรับข้อเสนอในการแก้ปัญหาของชาวบ้านไปพิจารณา เพราะตอนนี้ชาวบ้านกำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทดังกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
กองทัพแจงตั้ง "พล.ร.7" งบ 2,300 ล้าน ลั่นไม่เกี่ยวข่มแดง แต่กลัวเพื่อนบ้านแซงหน้า Posted: 02 Mar 2011 07:53 AM PST กองทัพแจงเสนอของบลับกว่า 2,300 ล้านบาทตั้ง พล.ร.7-พล.ม.3 ยันไม่เอี่ยวรับมือเสื้อแดง แค่ดูแลชายแดน เกรงกำลังรบชาติเพื่อนบ้านแซงหน้า 2 มี.ค. 54 - พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เสนอของบลับต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) กว่า 2,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งกองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร.7) และจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 (พล.ม.3) ว่า แนวคิดในการตั้ง พล.ร.7 มีมาตั้งแต่ปี 2541-42 โดยการตั้ง พล.ร.7 ในพื้นที่ภาคเหนือภายใต้การรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 เพื่อแบ่งเบาภาระกองกำลังชายแดนที่ต้องรับผิดชอบเป็นระยะทางถึง 3,000 กิโดเมตร ขณะนี้มีเพียง 2 หน่วยที่รับผิดชอบบ คือ กองกำลังผาเมืองจากกองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม. 1) กับกองกำลังนเรศวรจากกองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร.4) ดังนั้นถ้าพล.ร.7 ตั้งขึ้นได้จะช่วยให้การทำงานในพื้นที่มีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการ ป้องกันประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ครม.เป็นไปตามโอกาสและวาระที่รมว.กลาโหม ดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยใช้บประมาณของกองทัพบกผูกพัน 3 ปี หากใน 3 ปีทำไม่ทันอาจมีการขยายเวลาสิ้นสุดโครงการ”โฆษกทบ.กล่าว ที่มาข่าว: เดลินิวส์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
"สุริยะใส" เผย "การเมืองใหม่" ส่ง ส.ส. ลงครบ 76 จังหวัด หวั่นเสื้อแดงป่วนอดเลือกตั้ง Posted: 02 Mar 2011 06:46 AM PST "สุริยะใส กตะศิลา" เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่วาง 3 ยุทธศาสตร์ลุยเลือกตั้งใหญ่ ชูสร้างการมีส่วนร่วม-คัดหัวกะทิลงสมัคร เปิดตัวกลางเดือน มี.ค. ครบ 76 จังหวัด แต่ไม่วางใจ “เสื้อแดง” ป่วน เร่งเกิดเหตุไม่คาดฝัน อดเลือกตั้ง 2 มี.ค. 54 - นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ เปิดเผยถึงการเตรียมยุทธศาสตร์สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ ที่คาดว่า จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ ว่า พรรคการเมืองใหม่วางแนวทางไว้ 3 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือ 1.ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วม โดยการคัดสรรผู้สมัครลงสมัครในนามพรรค ทั้งในระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ ที่ออกแบบให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศ ศูนย์ประสานงานพรรค และสาขาพรรค เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร ซึ่งขณะนี้ก็เห็นตัวผู้สมัครแล้วในหลายพื้นที่ 2.ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้วยนโยบาย โดยพรรคได้จัดทำร่างนโยบายพรรค 10 กลุ่มนโยบาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการมอบหมายให้สาขา และศูนย์ประสานงานรับฟังความคิดเห็น รวบรวมปัญหาระดับท้องถิ่นมาแปรเป็นนโยบาย และ 3.ยุทธศาสตร์การเตรียมแคมเปญในระดับประเทศ โดยจะมีการตั้งวอร์รูมสำหรับการเลือกตั้งก็ในเร็วๆ นี้ “ผมมั่นใจว่า พรรคเล็กๆ อย่างพรรคการเมืองใหม่ จะต้องช็อกสังคมด้วยนโยบายที่ฉีกออกไปจากทุกพรรค เพราะพรรคเรากำหนดนโยบายโดยมวลชน ไม่ใช่นายทุนพรรค ทำให้เราได้นโยบายที่ค่อนข้างแหลมคม ไม่ลูบหน้าปะจมูก และจะเป็นทางเลือกให้สังคมอย่างแท้จริง” นายสุริยะใส กล่าว เลขาฯพรรคการเมืองใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับการคัดเลือกตัวผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกพรรคต้องส่งครบ 125 คน ซึ่ง 15 รายชื่อแรก คงเป็นกรรมการบริหารพรรคบางส่วน และบุคคลภายนอกพรรคบางส่วน ซึ่งได้เริ่มทาบทามผู้ที่มีจุดยืนและความคิดทางการเมืองคล้ายๆ กันไว้บ้างแล้วบางส่วน ในส่วนระบบเขต ทางพรรคตั้งใจว่าจะส่งทุกผู้สมัครทั้ง 76 จังหวัด แต่อาจไม่ครบ 375 เขต คงต้องกลั่นกรองเป็นพื้นที่ๆ ไป ซึ่งราวกลางเดือน มี.ค.เป็นต้นไป พรรคจะเริ่มเปิดตัวผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรค และสาขาพรรคแล้ว “อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ถึงสถานการณ์พิเศษที่อาจเป็นตัวแปรของการเลือกตั้ง หรือการยุบสภาอยู่ โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการเคลื่อนไหวคู่ขนานของพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง อาจทำให้สถานการณ์พลิกผัน หรือเหนือความคาดหมายได้เช่นกัน เนื่องจากเพราะการเมืองไทยยังเปราะบาง และไม่เป็นอย่างที่นายกฯวาดฝันว่าจะทำให้การเมืองนิ่งก่อนยุบสภาและมีการเลือกตั้ง” นายสุริยะใส กล่าว ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
จี้ "สมชาย หอมลออ" เปิดข้อมูลสอบสวน 91 ศพ Posted: 02 Mar 2011 06:14 AM PST "จตุพร" จี้ "สมชาย หอมลออ" กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดข้อมูลการสอบสวน 91 ศพที่เป็นจริง 2 มี.ค. 54 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายสมชาย หอมลออ กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ออกมาแสดงความเห็นว่าวิธีเยียวยาที่ดีที่สุดสำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 คือ การค้นหาความจริงและการแสดงคำขอโทษแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า ข้อเท็จจริงวันนี้แต่ละฝ่ายรู้กันเต็มอกว่าเป็นอย่างไร และเดิมพันด้วยชีวิต เพียงแต่ว่ารัฐบาลเองก็ใช้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความตายมาดำเนินคดีด้วย เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องยืนว่าเขาไม่ได้ทำ เพราะความผิดอันนี้ ก็ต้องโยนให้คนเสื้อแดง และคนเสื้อแดงก็จะต้องแสวงหาความจริง เพื่อจะบอกว่าความผิดทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาล เพราะหลักฐานทั้งหมดสอบสวนของดีเอสไอมันชัดอยู่แล้ว ดังนั้นข้อเสนอของนายสมชายนั้น ต้องถามว่าแต่ละฝ่ายพร้อมพูดความจริงกันหรือเปล่า คือ มีคนตาย 91 ศพ เป็นทหารส่วนหนึ่งและประชาชนส่วนใหญ่ บาดเจ็บ 2,000 กว่า ปัญหาคือพร้อมจะพูดความจริงกันหรือเปล่า นายจตุพรกล่าวว่า ดังนั้น นายสมชายย่อมรู้ดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นและใครควรจะขอโทษใคร เพราะรัฐบาลกำลังบิดเบือนความจริงทั้งสิ้น เท่าที่เห็นกันอยู่ในวันนี้ชัดยิ่งกว่าอะไรเสียอีก และไม่มีใครเชื่อ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักนิติวิทยาศาสตร์ (ผบช.สวน.) ที่ปรึกษากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะเขาได้เป็นกรรมการพิสูจน์ศพ แค่ดูภาพถ่ายตรัสรู้มากจากไหน อย่างนื้ถือว่าไม่มีมารยาทเลยด้วยซ้ำ ที่ออกมาพูดแบบนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการพิสูจน์ศพ ที่มาข่าว: มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สมาคมสื่อฯ โต้ ครม.เจียดงบ 5 ล้าน จ้างพีอาร์แผนอพยพแรงงานไทยในลิเบีย Posted: 02 Mar 2011 05:57 AM PST สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์โต้ มติ ครม.อนุมัติงบกว่า 700 ล้านบาท เพื่ออพยพแรงงานไทยออกจากลิเบีย โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ได้อ้างว่า ได้เจียดงบ 5 ล้านบาท ใช้เป็นค่าจ้างให้สมาคมสื่อวิทยุโทรทัศน์ ช่วยประชาสัมพันธ์ ชี้ถือเป็นภาระหน้าที่ต่อสังคม โดยไม่จำเป็นต้องรับค่าจ้างที่มาจากภาษีอากรของประชาชน พร้อมทั้งขอให้ ครม.ทบทวนการตั้งงบประมาณในหมวดนี้ด้วย วันนี้ (2 มี.ค.) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพด้านข่าว ได้ออกแถลงการณ์กรณีมีกระแสข่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 746 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศลิเบีย โดยกระทรวงแรงงาน แจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่าย ว่า จะใช้เงินส่วนหนึ่งของงบประมาณจำนวน 5 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจ้างเผยแพร่ข่าวความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานในลิเบีย ทางสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ จำนวน 10 ครั้งๆ ละ 5 แสนบาท ขอยืนยันว่า สื่อมวลชนทุกแขนงมีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต หรือสถานการณ์ที่คนไทยได้รับความเดือดร้อน หรือผลกระทบ เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของสื่อมวลชน ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน และเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่หน่วยงานของรัฐ/เอกชน หรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้เป็นข่าว เว้นแต่การจัดจ้าง เพื่อทำสื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงาน บุคคล หรือองค์กร ซึ่งไม่จัดเป็นเนื้อหาประเภทข่าวหรือเนื้อหาที่มีสาระ หรือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับข่าวสารอย่างแท้จริง ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
“ประเวศ” แนะ “ปฏิรูปท้องถิ่น” ภูมิต้าน “รัฐประหาร” Posted: 02 Mar 2011 04:20 AM PST วันนี้ (2 มี.ค.53) เวทีวิชาการ “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่น สู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” งานประชุมของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 53 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมเทค บางนา เปิดเวทีวันที่ 2 ด้วย ปาฐกถาพิเศษ เทศาภิวัฒน์: ปฏิรูปการบริหารประเทศ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ระบุว่า การปฏิรูปประเทศไทยที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปการบริหารประเทศจากการเอากรมเป็นตัวตั้งเป็นการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือ ‘เทศาภิวัฒน์’ เพราะการรวมศูนย์อำนาจรัฐกว่าร้อยปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความอ่อนแอที่มีผลร้ายแรงอย่างน้อย 7 ประการคือ 1) ชุมชนท้องถิ่นทั้งหมด ไม่สามารถจัดการตัวเองได้ 2)ความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นนำไปสู่ความรุนแรง เช่น สามจังหวัดภาคใต้ 3) รวมศูนย์อำนาจเรื่องการศึกษา 4) ระบบราชการอ่อนแอทางปัญญา เพราะใช้แต่อำนาจ เป็นระบบรัฐที่ล้มเหลว แก้ปัญหาไม่ได้ 5) คอร์รัปชั่นอย่างหนัก 6) การเมืองที่ไร้คุณภาพ เป็นคณาธิปไตย 7) รัฐประหารได้ง่าย น.พ.ประเวศกล่าวด้วยว่า การปฏิวัติรัฐประหารและการแก้ปัญหาประชาธิปไตยไทยแบบที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนยอดของอำนาจ แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ เป็นการแก้ไขที่ส่วนบน การปฏิรูปประเทศไทยจึงต้องปฏิรูปการบริหารประเทศจากกรมไปสู่การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะว่าพื้นที่มีองค์กร มีประชาชน พลังในชุมชนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปนั้นมีมหาศาลซึ่งสามารถทำได้โดยธรรม (หลักการที่ถูกต้องสมเหตุผล) และโดยรัฐธรรมนูญ จึงลงมือทำได้ทันที และต้องจัดการให้เกิดการบูรณาการอย่างน้อย 8 เรื่อง คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย ทั้งนี้ การพัฒนาควรมุ่งไปที่การสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เคารพความเป็นคนและเคารพความรู้ในตัวคน น.พ.ประเวศเสนอด้วยว่า ปัจจุบัน เรามีองค์กรท้องถิ่นเกือบ 8,000 แห่งคือ อปท.ทั้งระดับจังหวัด ภูมิภาค และท้องถิ่น ในกลุ่มจังหวัดที่ใกล้เคียงกันควรเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ และรวมตัวกันเป็น “สภาผู้นำท้องถิ่นแห่งชาติ” โดยทำงานร่วมกับองค์กรชุมชนทั้งหมด และเชื่อมโยงประชาชนทั้งหมดทุกภาค ซึ่งจะเป็นฐานอำนาจของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเพื่อเสนอและขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในอนาคต และหากทำได้เช่นนี้ ต่อไปประเทศไทยก็จะมีผู้นำระดับชาติที่จะมาจากผู้นำชุมชน “นี่คือการปฏิวัติประชาชนแบบใหม่ เป็นการปฏิวัติเงียบโดยประชาชนรวมตัวกัน ติดอาวุธด้วยปัญญา ใช้ความรู้ ใช้สันติวิธี ทั้งหมดเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” นพ.ประเวศกล่าวย้ำ โดยเสนอแนวทางการปฏิรูปมาจากฐานของท้องถิ่น 8 ประการคือ 1) การสื่อสารที่ทั่วถึงให้เกิดสัมมาทิฐิ ว่าประเทศต้องเปลี่ยนแปลงโดยเอาท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง 2) กรมปรับบทบาทไปสนับสนุนท้องถิ่นทางวิชาการและนโยบาย 3) หนึ่งมหาวิทยาลัยต่อหนึ่งจังหวัด และแต่ละจังหวัดควรมีการรวมตัวกันลงขันกันตั้งสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น 4) การศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่น ไม่รวมศูนย์อำนาจ 5) ภาคธุรกิจเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่น 6) การเงินการคลังเพื่อชุมชนท้องถิ่น เช่น ให้ท้องถิ่นเป็นผู้เก็บภาษีอากร และการสร้างธนาคารชุมชน 7) ต้องออกกฎหมายความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น เพื่อปลดพันธนาการ เพราะปัจจุบันมีกฎหมายกว่า 100 ฉบับที่ดึงอำนาจไว้ส่วนกลาง และ 8) เพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นทันที “คนไทยต้องสามารถสรรค์สร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดได้” น.พ.ประเวศกล่าวในท้ายที่สุดโดยเน้นย้ำให้ชุมชนทั้งหมดได้รวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ความลงตัวในระดับใหม่ สร้างฐานประเทศที่ใหญ่และแข็งแรงให้ประเทศไทยมั่นคง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
“วัชระ เพชรทอง” นำสาวเสื้อแดงร้องถูกข่มขืนช่วงชุมนุมแถลงข่าว Posted: 02 Mar 2011 04:01 AM PST 2 มี.ค. 54 – มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นำ น.ส.บี (นามสมมุติ) อายุ 40 ปี เดิมอาชีพค้าขายข้าวแกง แถลงข่าวยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อขอความเป็นธรรมเร่งรัดการดำเนินคดีที่ น.ส.บีได้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และถูกชายฉกรรจ์ ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารข่มขืนกระทำชำเราในพื้นที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ในเวลากลางคืน และขอทุนเพื่อประกอบอาชีพขายข้าวแกง เนื่องจากขณะนี้ต้องเก็บของเก่าเพื่อเลี้ยงดูบุตร 3 คนเพียงลำพัง ทั้งนี้ น.ส.บีได้นำแผ่นชาร์ทติดพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เป็นข่าวถูกเจ้า หน้าที่รัฐข่มขืนมาแสดงในการแถลงข่าวด้วยน้ำตานองหน้า โดยนายวัชระได้มอบเงินสด 3,000 บาท ให้เป็นการส่วนตัวด้วย นายวัชระกล่าวว่า น.ส.บีได้ถูกนางเอ (ไม่ทราบนามสกุล)ชวนให้เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยอ้างว่าจะได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท เมื่อไปร่วมชุมนุมก็ไม่ได้ค่าจ้าง และยังเคยเข้าร้องเรียนกับพรรคเพื่อไทยแต่คดีก็ไม่มีความคืบหน้าจึงได้มา ร้องเรียนผ่านตนเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งพร้อมจะช่วยเหลือทุกคนไม่ว่าจะเสื้อสีใด ในฐานะ ส.ส.ในพื้นที่ของ น.ส.บีตนจะนำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนไปยังนายกฯในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้เร่งรัดคดีเพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "อย่างกเลยท่าน" Posted: 02 Mar 2011 03:33 AM PST | |
ชาวนาอยุธยาเตรียมชุมนุมปิดศาลากลาง 4 มี.ค. ทวงสัญญาเพิ่มราคาจำนำข้าว Posted: 02 Mar 2011 03:15 AM PST 2 มี.ค. 54 - นายสมชัย ไตรถาวร แกนนำชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เครือข่ายชาวนาในภาคกลาง 22 จังหวัดเตรียมเคลื่อนพลตบเท้าแบบยิ่งใหญ่ มาปิดล้อมศาลากลาง จ.พระนครศรีอยุธยาวันที่ 4 มี.ค.นี้แน่นอน เพราะไม่พอกับการการวางเฉยของรัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแลปัญหาปากท้องของประชา ชนในจ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งผวจ.หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้การปิดล้อมครั้งนี้จะเป็นการมาท้วงสัญญาลมปาก ที่หน่วยงานในระดับจังหวัดรับปากว่าจะรีบนำเรื่องเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ชาวนาภายใน 7 วันนับจากวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ชาวนาจาก 22 จังหวัดภาคกลางเกือบ 1 พันคนปักหลักประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนสายเอเชียทั้งขาเข้าและขาออก กทม.หน้าศาลากลางจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา นายสมชัย กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ขอให้เพิ่งวงเงินประกันราคาข้าวเปลือกจาก 10,000 บาทต่อตัน เป็น 14,000 บาทต่อตัน 2. เพิ่มโควค้าจาก 25 ตันต่อครัวเรือน เป็น 40 ตันต่อครัวเรือน 3.ให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวต่างทั้งการเพาะปลูก การตลาดการส่งออก เพื่อทันต่อสถานการณ์ และ 4.ตั้งตัวแทนเกษตรกรเข้าไปเป็นกรรมการมีส่วนร่วมในการประชุมเกี่ยวกับนโยบาย ภาครัฐในการส่งเสริมการผลิตและการตลาด รวมถึงเร่งรัดการแก้ไขปัญหาปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้นทุกวัน "อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐมาขอร้องให้ยุติการปิดถนนในช่วงค่ำวันที่ 22 ก.พ.และรับปากว่าภายใน 7 วันจะเร่งทำตามข้อเรียกร้องแต่ชาวนาก็รอจนครบและพบว่าไม่มีการทำงานเพื่อ แก้ไขปัญหาของชาวนาในเชิงรุกแต่อย่างใดข้อร้องเรียนต่าง ๆ ไม่มีการนำไปพิจารณาออกมาตรการเพื่อมาช่วยเหลือ ถือว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผิดสัญญาที่รับปากกับชาวนาไว้ดังนั้น ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ชาวนาจึงมีความชอบธรรมที่จะลุกฮือออกมาท้วงสิทธิ์ของตนเองเพราะ ปัญหาปากท้องนี้เป็นปัญหาสำคัญของคนทั้งประเทศ" นายสมชัยกล่าว ที่มาข่าว: โพสต์ทูเดย์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เผยงบ 5 ล้าน ใช้พีอาร์ช่วยคนงานลิเบีย - มาร์คลั่นถ้าไม่สมเหตุสมผลตัดแน่ Posted: 02 Mar 2011 03:07 AM PST 2 มี.ค. 54 - รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี กระทรวงแรงงานได้รายงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือคนงานในลิเบีย ว่าแรงงานในไทยในลิเบียมีประมาณ 25,000 คน โดย 20,000 คนอยู่ในทริโปลี เบงกาซี บางส่วนกระจายอยู่รอบๆ ขณะนี้ทางกระทรวงเตรียมการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยโดยทางเรือ ซึ่งเช่าเหมาลำจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี เดินทางไปรับแรงงานไทยที่กรุงทริโปลี และเดินทางต่อไปยังประเทศกรีซ หรือตุรกี จากนั้นจะเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารกลับไทย นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยชั่วคราว ที่ประเทศอิตาลี กรีซ ตุรกี อิยิปต์ก่อนจะส่งกลับไทย พร้อมกันนี้ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางประจำปี 2554 จำนวน 343,489,000 บาท เพื่อใช้ในการช่วยเหลือแรงงานไทย รายข่าวแจ้งว่า รายละเอียดค่าใช้จ่ายที่กระทรวงแรงงานเสนอ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายสงเคราะห์แรงงานไทยที่กลับจากลิเบีย คนละ 15,000 คน จำนวน 20,000 คน เป็นเงิน 300 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอาหารสำหรับแรงงานที่กลับจากลิเบีย จำนวน 1 มื้อ และค่าพาหนะเพื่อกลับภูมิลำเนา ประเภทเหมาจ่าย คนละ 1,500 บาท จำนวน 20,000 คน เป็นเงิน 30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี ค่าจ้างเหมารถบัสขนาด 40 ที่นั่ง จำนวน 5 คันๆละ 20,000 บาท ระยะเวลา 30 วัน เป็นเงิน 3 ล้านบาท ค่าออกข่าวเผยแพร่ความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบียทางวิทยุ โทรทัศน์ จำนวน 10 ครั้งๆละ 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 5 ล้าน ค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศเพื่อติดต่อประสานงานแรงงานไทยในลิเบีย จำนวน 1,296,000 บาท ส่วนงบประมาณที่กระทรวงการต่าง ประเทศ ขออนุมัติจำนวน 403 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าเรือ และค่าเช่าเครื่องบินเอกชนขนส่งคนไทย นอกจากนั้นเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์พักพิงคนไทยเป็นการชั่วคราว ค่าใช้จ่ายสำหรับที่พักอาหาร เป็นต้น รวมงบประมาณสองกระทรวงเป็นจำนวน 746,489,000 บาท โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งให้ทั้งสองกระทรวงไปหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง "เฉลิมชัย" แจงใช้งบพีอาร์ 5 ล้าน ช่วยแรงงานไทยในลิเบียรับรู้สิทธิประโยชน์ ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวระบุว่า กระทรวงแรงงาน ใช้งบช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย 344 ล้านบาท โดยนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการออกสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ วงเงิน 5 ล้านบาท นั้น ว่า เป็นงบการประชาสัมพันธ์เบอร์โทรศัพท์ของกระทรวงแรงงาน ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้ญาติได้รับทราบเบอร์โทรศัพท์ช่วยเหลือ จะได้แจ้งข้อมูลและความเดือดร้อนของแรงงานไทยในลิเบียกลับมาที่กระทรวงแรง งาน รวมทั้งใช้เพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาแล้วด้วย ซึ่งงบนี้ เป็นงบฉุกเฉิน ที่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 5 วัน รวมทั้ง การทวงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แรงงานไทยควรได้รับจากบริษัทนายจ้างหรือบริษัทที่จัดส่งแรงงานไป ซึ่งตนคิดว่า ประเด็นเหล่านี้ คือ หลักใหญ่ๆ ที่กรมการจัดหางานต้องการสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมายว่า จะต้องทำอย่างไรที่จะประชาสัมพันธ์ให้รับทราบทั่วถึงและรวดเร็ว ส่วนงบการประชาสัมพันธ์ 5 ล้านบาท จะมีการเผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางใดบ้าง นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ได้ทราบในรายละเอียด เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เพิ่งเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และโดยหลักการจริงๆ นั้น ครม.ยังไม่ได้อนุมัติในเม็ดเงินทั้งหมด เป็นเพียงอนุมัติในหลักการว่า ให้สำนักงบไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการที่จะจัดสรรงบประมาณตรงนี้ แม้กระทั่งเงินที่เราขอไป 300 ล้าน เพื่อเป็นเงินชดเชยให้กับแรงงาน ก็เป็นการประมาณการจากตัวเลขแรงงาน 20,000 คน ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าแรงงานกลับมาแค่ 18,000 คน งบประมาณก็จะลดลงตามลำดับอยู่แล้ว มาร์คไฟเขียวตัดงบพีอาร์ช่วยแรงงานลิเบีย ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จริงๆแล้ววันที่นำเรืองเข้ามาพิจารณาใน ครม.นั้น มติครม.ยังไม่ได้อนุมัติรายละเอียด เป็นการอนุมัติรับทราบกรอบวงเงินซึ่งมีสองส่วน ส่วนแรกคือการอำนวยการความสะดวกในการเดินทางกลับซึ่งเป็นในส่วนของกระทรวง การต่างประเทศ และส่วนที่สองเป็นการดูแลโดยกระทรวงแรงงาน แต่ว่ารายละเอียดทั้งหมดต้องผ่านการกลั่นกรองของสำนักงบประมาณก่อน “ก็ไม่ได้อนุมัติตามที่มีการระบุตัว เลขตรงนั้นมาเพราะยังไม่มีเวลาในการ กลั่นกรอง ผมยังไม่ทราบเลยครับว่ามีรายการว่าอย่างนี้ เพราะเราบอกว่าให้สำนักงบประมาณให้เข้าไปช่วยดู เพราะการช่วยเหลือมีหลักเกณฑ์ของมันอยู่ แต่ถ้างบนั้นไม่มีความสมเหตุสมผลก็สามารถตัดออกได้ เพราะถ้าไม่มีเหตุผลก็ต้องตัดอยู่แล้ว สำนักงานงบประมาณยุคนี้ผมยืนยันนะครับว่าเข้มข้นพอสมควรในการกลั่น กรอง”นายกฯ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า ครม.ไม่ได้ผ่านตากับข้อเสนอนี้เลยหรืออย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีรายละเอียด แต่เราบอกว่าตรงนี้ทางครม.ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ เราพิจารณาในหลักการว่าความจำเป็นที่จะเข้าไปช่วยคืออะไร และให้สำนักงบประมาณเป็นผู้กลั่นกรองซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, แนวหน้า, คมชัดลึก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 02 Mar 2011 02:43 AM PST 2 มี.ค. 54 - กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอความเป็นธรรมจากศาลฎีกา หลังจากสมาชิกในเครือข่ายถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดิน ที่หน้าศาลฎีกา สนามหลวง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ความในใจกลุ่มประชาชนผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข Posted: 02 Mar 2011 02:33 AM PST หลายคนคงได้ทราบข่าว ของคุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ที่ถูกให้ออกจากพื้นที่หน้ารัฐสภา หลังจากไปประท้วงด้วยการนอนค้างคืน ร่วมกับเพื่อนผู้เสียหายหน้ารัฐสภา เพื่อผลักดันให้รัฐบาลพิจารณากฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ภายใน เดือนกุมภาพันธ์นี้ กฎหมายฉบับนี้ เริ่มต้นเหมือนกับกระบวนการออกกฎหมายฉบับอื่น ๆ ของประเทศไทย อาจจะพิเศษหน่อยตรงที่มีหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน อาทิเช่น การตั้งคณะทำงานจากเพื่อยกร่างกฎหมาย และการเสนอกฎหมายโดยกระทรวงสาธารณสุขผ่านคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการไปจัดทำรายละเอียดปรับปรุงกฎหมายในชั้นสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา (ซึ่งมีทุกฝ่ายและแน่นอนตัวแทนแพทยสภาเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง) มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มวิชาชีพประมาณ 300 คน ในสมัยรัฐมนตรีวิทยา แก้วภารดัย แต่เมื่อกฎหมายกำลังจะถูกพิจารณารับหลักการในชั้นสภา ผู้แทนราษฎร ได้ถูกคัดค้านจากแพทย์จำนวนหนึ่ง กลุ่มผู้ที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ หยิบยกประเด็นค้านไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ จะทำให้มีการฟ้องคดีอาญาแพทย์มากขึ้น แต่เมื่อมีการอธิบายว่า สาระที่เขียนไว้ในกฎหมายเป็นประโยชน์กับแพทย์ในคดีอาญา ก็ยกประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่ง น่าเสียดายที่ไม่มีใครเปิดเผยรายชื่อแพทยสภา หรือแพทย์จากส่วนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมในการทำกฎหมายฉบับนี้เป็นใครในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา [อาทิ นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยะกุล, นพ.เมธี วงศ์ศิริวรรณ ] และสุดท้ายประเด็นที่ “ขายได้” ในสังคมไทย คือ การปล่อยข่าวว่า มีผู้เสนอกฎหมายจ้องหาผลประโยชน์ในการบริหารกองทุน ทั้งที่กองทุนนี้อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข และ กรรมการเป็นเพียงกรรมการตามกฎหมายเหมือนกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งต่างจากข้อเสนอของกลุ่มประชาชนผู้เสนอกฎหมายที่ต้องการให้มีการบริหารกองทุนเป็นอิสระดีกว่าอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงเป็นเจ้าของโรงพยาบาลจำนวนมาก จึงอาจจะทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียหาย ข้อกล่าวหาเรื่องประชาชนผู้เสนอกฎหมายมีผลประโยชน์นอกจากจะไม่มีมูลแล้ว หากติดตามการทำงานจะเห็นผลงานของกลุ่มนี้ที่ช่วยตรวจสอบการทุจริตในสังคมมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อมีความเห็นต่างในกฎหมาย ภาคประชาชนทุกฝ่ายซึ่งเดินหน้าเต็มที่เรื่องนี้ก็เห็นว่า ก็ควรให้เวลาทำความเข้าใจกฎหมาย กระบวนการทำความเข้าใจ มีหลายทางทั้งทางสาธารณะซึ่งเกิดขึ้นมาก ผ่านคณะทำงาน ไม่ยอมรับคณะทำงาน ตั้งคณะทำงานใหม่ สุดท้ายได้ข้อสรุป 12 ประเด็นที่เห็นร่วมกัน ทำให้แพทย์และกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจำนวนมากหรือส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเห็นได้จากการคัดเลือกกรรมการแพทยสภา ที่กลุ่มแกนนำคัดค้านอย่างหัวชนฝาไม่ได้รับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่เราไม่เห็นความกล้าหาญของผู้ประกอบวิชาชีพสายสาธารณสุขมากพอในการออกมาสนับสนุนทั้งที่เห็นประโยชน์ ยกเว้นผู้คัดค้านซึ่งไม่ฟังเหตุฟังผลอย่างคงเส้นคงวา ไม่มีใครกล้าออกมาบอกว่าเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะ หากใครออกมาบอกว่าเห็นด้วยก็จะโดนเล่นงานทั้งทางตรงทางอ้อมในที่ลับและในที่แจ้ง ไม่เว้นแม้แต่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกเล่นงานเรื่องส่วนตัว ถึงแม้กลยุทธการถ่วงเวลากฎหมายของแพทย์กลุ่มหนึ่งจะประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ คิดว่า ปัจจุบันสังคมน่าจะได้เห็นถึงประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ หรือทั้งระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราการ ที่ไม่มีระบบช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อมีความเสียหาย กฎหมายฉบับนี้จึงจะทำหน้าที่เป็นระบบที่ช่วยรองรับผู้ได้รับผลกระทบ หรือความผิดพลาดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่าอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ถอนและเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้แน่นอน คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายต้องตัดสินใจสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เพราะทางกลุ่มคัดค้านมีกฎหมายเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อในการเสนอกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งรับประกันการมีส่วนร่วมในการทำกฎหมายที่เท่าเทียมกับภาคประชาชน ในฐานะกลุ่มภาคประชาชนที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ตัดสินใจกฎหมายฉบับนี้ ว่าจะดำเนินการไปข้างหน้าหรือถอยหลัง เพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานไทยในอนาคตที่อาจตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือเสียหายจากการบริการสาธารณสุข แล้วจนถึงขณะนั้นยังไม่มีระบบเยียวยาใดๆ หรือแม้แต่ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความตั้งใจในการทำงานแต่ไม่มีระบบใดมาช่วยปกป้องพวกเขาจากความผิดพลาดซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
พม่าเตรียมขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 380 เปอร์เซ็นต์ Posted: 02 Mar 2011 02:18 AM PST เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงต่างๆของพม่าในเนปีดอว์ ได้แจ้งให้กับข้าราชการว่า รัฐบาลเตรียมอนุมัติขึ้นเงินเดือนอย่างน้อย 380 เปอร์เซ็นต์ให้กับข้าราชการในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ขณะที่เงินเดือนของข้าราชการทั่วไปอยู่ที่ 21, 000 จั๊ต (745 บาท) เท่านั้น และหากมีการขึ้นเงินเดือนจริง ข้าราชการระดับล่างอาจได้รับเงินเดือนจำนวน 100,000 จั๊ต (ราว 3,546) ต่อเดือน แหล่งข่าวรายงานว่า เงินเดือนของข้าราชการในกระทรวงกลาโหมนั้นอาจขึ้นสูงถึง 520 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ได้เกิดกระแสข่าวลือเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการนับตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นผลให้ราคาสินค้าขยับขึ้นตามไปด้วย ด้านเจ้าหน้าที่พม่ากล่าวถึงในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลพม่ามีแผนที่จะให้เงินเดือนของข้าราชการในประเทศเท่ากันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอาเซียน อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์ชาวพม่าตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เงินเดือนของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนเองก็ยังคงมีช่องว่างที่ห่างไกลกันอยู่มาก ขณะที่นักธุรกิจรายหนึ่งกล่าว่า “รัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันได้เพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการมาหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่เข้ามามีอำนาจในปี 2531 แต่ทุกครั้งที่รัฐบาลพม่าขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก็มักจะส่งผลกระทบให้เกิดอัตราเงินเฟ้อและสินค้าแพงขึ้น” นักธุรกิจคนเดิมยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2531 อัตราแลกเปลี่ยนเงินอยู่ที่ 25 จั๊ต ต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันกลับอยู่ที่ 1,000 จั๊ตต่อ 1 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม แม้พม่าจะมีรายได้จากการขายพลังงานก๊าซและหยกกว่า 5 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา แต่พม่าก็ยังเป็นประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลก โดยประชากรส่วนใหญ่ของพม่ามีรายได้น้อยกว่า 1 ดอลลาร์ นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังทุ่มงบประมาณในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศน้อยมาก ทั้งในด้านสุขภาพและการศึกษา ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ สภาใหม่ของพม่าเห็นชอบให้งบประมาณเกือบ 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมดในปีนี้ให้กับกระทรวงกลาโหมของพม่า (Irrawaddy 1 มีนาคม 54) แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ผลสำรวจเอแบคโพลล์ ลุ้นท้องถิ่นตั้ง ‘สมัชชา’ อิสระจากมหาดไทย Posted: 02 Mar 2011 02:10 AM PST 2 มี.ค.54 - เวทีวิชาการ ‘ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่น อภิวัฒน์ประเทศไทย’ ที่ไบเทค บางนา นายเทวินทร์ อินทร์จำนง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจเรื่อง’ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น’ พบ ร้อยละ 30.5 อยากให้มี ‘องค์กรอิสระ’ กำกับดูแล อปท.แทนกระทรวงมหาดไทย เพื่อความสุจริตโปร่งใส และร้อยละ 64.9 เห็นด้วยให้มีการปฏิรูปยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อพัฒนา อปท.ให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมัชชาการปกครองท้องถิ่นในทุกระดับ เพื่อผลักดันการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้บรรลุผลอย่างจริงจัง ประชาชนร้อยละ 39.9 เห็นว่า อปท.มีความพร้อมในการบริหารจัดการท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 39.5 เห็นว่ายังไม่พร้อม ร้อยละ 41.7 เห็นว่าประชาชนมีความเข้มแข็งในการดูแลตรวจสอบการทำงานของ อปท.และ ร้อยละ 39.2 เห็นด้วยกับแนวคิดการกระจายอำนาจให้กับ อปท.มากขึ้น เพราะจะได้มีส่วนร่วมในการปกครอง ช่วยดูแลแก้ไขปัญหา มีเพียงร้อยละ11.6 ที่ไม่เห็นด้วย โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจมากขึ้น เมื่อถามถึงความพอใจการทำงานของ อปท. ร้อยละ 45.8 ตอบว่า พึงพอใจ โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพ ชุมชนมีการพัฒนา ขณะที่ร้อยละ 21.9 ไม่พึงพอใจเพราะเห็นว่าการทำงานไม่สุจริตโปร่งใส ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม อีกร้อยละ 32.3 ไม่มีความเห็น หน่วยงานที่ประชาชนต้องการให้โอนย้ายมาอยู่ในความดูแลของ อปท. มากที่สุด ได้แก่ สถานีอนามัย/ศูนย์บริการสาธารณสุขระดับชุมชน (ร้อยละ 40.1) หน่วยงานการเกษตรระดับตำบล/ชุมชน (ร้อยละ 39.9) และหน่วยงานสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ระดับชุมชน (ร้อยละ 38.1) ส่วนหน่วยงานที่ประชาชนไม่ต้องการให้โอนย้ายมากที่สุดได้แก่ โรงเรียนประถมศึกษา (ร้อยละ 29.3) และตำรวจที่ดูแลรับผิดชอบระดับชุมชน (ร้อยละ33.8) ทังนี้ ประชาชน ร้อยละ 85.9 อยากมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการทำงานของ อปท.มากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แร่ธาตุ ร้อยละ 24.7 เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีรายได้จากธุรกิจการค้าในพื้นที่มาสนับสนุน อปท. เพราะจะทำให้ได้เงินมาพัฒนาท้องถิ่น ความเห็นเรื่องการเลือกตั้ง อปท. ร้อยละ 47 เห็นว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ร้อยละ 28.9 เห็นว่าบริสุทธิ์ยุติธรรม ด้านการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประชาชนร้อยละ 46.5 ระบุว่าไม่มั่นใจ ขณะที่อีกร้อยละ 32 มั่นใจ โดยร้อยละ 58.3 ของกลุ่มตัวอย่างอยากให้องค์กรภาคประชาชนเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง อปท. การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 16-21 กุมภาพันธ์ 2554 โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ร่วมกับสมัชชาองค์กรท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย สำรวจความเห็นประชาชนอายุตั้งแต่ 18-60 ปี 1,565 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 13 จังหวัด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สมชาย ปรีชาศิลปกุล: สองสัญชาติของผู้ดี Posted: 02 Mar 2011 02:04 AM PST หลักการในการให้สัญชาติแก่บุคคลธรรมดาในการเกิดโดยทั่วไปในประเทศต่างๆ จะวางอยู่บนหลักการเรื่องหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิต หลักดินแดน (jus soli) จะเป็นการให้สัญชาติแก่บุคคลที่ถือกำเนิดขึ้นมาในดินแดนของรัฐ โดยถือว่าบุคคลที่เกิดในดินแดนของรัฐใดก็ควรจะต้องมีความเกี่ยวพันกับรัฐนั้น จึงสมควรที่จะสามารถถือสัญชาติของรัฐในห้วงเวลาที่เกิด รัฐส่วนใหญ่มักให้สัญชาติของตนแก่บุคคลภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หลักสืบสายโลหิต (jus sanguinis) จะเป็นการให้สัญชาติแก่บุคคลที่บิดามารดาถือสัญชาติของรัฐ กรณีนี้ถือว่าสัญชาติจะส่งผ่านจากบิดามารดาไปยังผู้เป็นบุตร หากบิดามารดาเป็นผู้ถือสัญชาติของรัฐใดเมื่อมีบุตรขึ้นมา ผู้เป็นบุตรก็ควรที่จะได้รับสัญชาติของบิดามารดาเพื่อสามารถเข้าถึงสิทธิในฐานะพลเมืองเช่นเดียวกับบิดามารดา หลักสืบสายโลหิตจะให้สัญชาติโดยพิจารณาจากสัญชาติของบิดามารดาเป็นหลักแม้จะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นภายในดินแดนแห่งรัฐที่บิดามารดาถือสัญชาติก็ตาม หากพิจารณาจากหลักการดังกล่าว สภาวะของการมีสองสัญชาติจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบัน การแต่งงานระหว่างผู้คนที่ถือสัญชาติต่างกันและหากรัฐทั้งสองนั้นยินยอมให้สัญชาติตามหลักสืบสายโลหิตแก่บุตรที่เกิดจากบุคคลซึ่งถือสัญชาติของตน เช่น ก. สัญชาติ X แต่งงานกับ ข. สัญชาติ Y และโดยที่รัฐ X, Y ต่างก็ให้สัญชาติด้วยหลักสืบสายโลหิต บุตรก็ย่อมถือสัญชาติทั้งของรัฐ Xและ Y หรือในกรณีที่บุคคลซึ่งเข้าเมืองไปในรัฐต่างๆ อย่างถูกกฎหมายและรัฐนั้นก็ให้สัญชาติตามหลักดินแดนแก่บุตรที่ถือกำเนิดขึ้น เด็กที่เกิดขึ้นมาในรัฐนั้นนอกจากจะได้สัญชาติของรัฐที่ตนเองเกิดแล้วก็ยังมีสิทธิที่จะได้สัญชาติตามบิดามารดาจากหลักสืบสายโลหิตเพิ่มเติมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเรื่องสัญชาติของบุคคลมักปรากฏความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลธรรมดาเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังที่ในปัจจุบันก็มีความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนบางประการปรากฏอยู่ ดังต่อไปนี้ ประการแรก การมีสัญชาติมากกว่าหนึ่งสัญชาติเป็นสิ่งที่ไม่ได้ “ผิดปกติ” และสามารถเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางในห้วงเวลาที่มีการข้ามรัฐอย่างกว้างขวางทั้งโดยสามัญชนและชนชั้นนำ คนสัญชาติไทยเป็นจำนวนมากที่ได้ทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานจนกระทั่งได้รับสิทธิการอยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา บุตรที่เกิดมาก็ได้สัญชาติทั้งของไทยและของสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่คนที่ได้สัญชาติในลักษณะนี้มักต้องการตั้งรกรากในดินแดนอีกแห่งซึ่งมักต้องแสดงออกให้เห็นด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกระทั่งสามารถเข้าเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้ได้สิทธิในการอาศัยและสัญชาติของรัฐนั้น ซึ่งก็สามารถสืบต่อมายังบุตรของตน และเนื่องจากกฎหมายไทยในเรื่องสัญชาติไทยไม่ได้บังคับให้บุคคลต้องมีสัญชาติไทยเพียงอย่างเดียวโดยห้ามถือสัญชาติอื่น บุคคลจึงถือสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นควบคู่กันไปได้ บรรดาลูกท่านหลานเธอจำนวนมากที่ไปบิดามารดาไปคลอดในต่างประเทศก็ด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้ลูกของตนสามารถมีอีกสัญชาติหนึ่งนอกไปจากสัญชาติไทยมิใช่หรือ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายต่อการยอมรับว่าตนเองจะมีสัญชาติมากกว่าหนึ่งสัญชาติ เฉพาะอย่างยิ่งการได้สัญชาติอันเป็นผลมาจากการเกิดเพราะเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการกระทำของบิดามารดา มิใช่เป็นการกระทำของตนแต่อย่างใด ประการที่สอง การไม่ได้ใช้สิทธิในสัญชาติของบุคคลใดๆ ก็ตามจะไม่ได้เป็นผลให้บุคคลนั้นสิ้นสิทธิความเป็นสัญชาติไปโดยปริยาย ดังเช่นหากมีคนสัญชาติไทยอพยพไปตั้งรกรากในประเทศอื่นเป็นระยะเวลายาวนาน และไม่ได้กลับมายังประเทศไทยอีกเลยทั้งไม่เคยใช้สิทธิในฐานะของคนสัญชาติไทยทั้งด้านการศึกษา การเดินทาง การรักษาพยาบาล เป็นต้น การไม่ใช้สิทธิในฐานะของพลเมืองที่ถือสัญชาติไทยไม่ได้มีความหมายว่าบุคคลดังกล่าวจะสละสัญชาติไปในทางพฤตินัย บุคคลดังกล่าวก็ยังคงมีสัญชาติไทยต่อไปตลอดชีวิต การจะสละสัญชาติจึงต้องดำเนินไปด้วยวิธีการที่ชัดเจน รัฐไม่มีอำนาจเพิกถอนสัญชาติของบุคคลด้วยหลักการที่ว่าบุคคลนั้นไม่ใช่สิทธิในสัญชาติของตนมาเป็นระยะเวลานาน ประการที่สาม ที่ผ่านมาหลายๆ ปัญหามักถูกอธิบายด้วยการผูกติดอยู่กับเงื่อนไขเรื่องสองสัญชาติ กรณีความรุนแรงที่ภาคใต้ก็มีคำอธิบายชุดหนึ่งออกมาว่าสาเหตุที่ไม่อาจดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้ก็เพราะบุคคลเหล่านั้นถือสองสัญชาติ เมื่อกระทำความผิดในดินแดนของรัฐไทยก็จะหลบเลี่ยงความผิดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น จึงควรจะต้องดำเนินการกับบุคคลที่มีสองสัญชาติหรือหลายสัญชาติด้วยการให้บุคคลนั้นเลือกถือสัญชาติแห่งใดเพียงแห่งเดียว แนวความคิดเช่นนี้ผูกติดความจงรักภักดีของบุคคลให้ขึ้นอยู่กับการถือสัญชาติเพียงแห่งเดียวว่าจะทำให้สามารถกรองบุคคลผู้ไม่จงรักภักดีออกไปได้ (รวมถึงบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงสัญชาติไทยได้) แต่เมื่อเกิดปัญหาเรื่องสองสัญชาติกับชนชั้นนำของสังคมไทยกลับไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวหาเรื่องความไม่จงรักภักดีกับชนชั้นแต่อย่างใด แน่นอนว่าการถือสัญชาติของบุคคลไม่ได้มีความหมายถึงความจงรักภักดีที่จะมีต่อสังคมแห่งใดแห่งหนึ่งได้อย่างแท้จริง แต่ในสังคมไทยนั้นในการพิจารณาเรื่องสัญชาติสำหรับสามัญชนจะมีความหมายแตกต่างไปอย่างสำคัญกับชนชั้นนำ สามัญชนควรมีเพียงหนึ่งเดียวเพราะหากมีหลายสัญชาติจะแสดงซึ่งความไม่ภักดี แต่สำหรับชนชั้นนำการมีหลายสัญชาติกลับเป็นเรื่องปกติที่สะท้อนให้เห็นถึง “อภิสิทธิ์” มากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป ดังนั้น ในทางนิตินัยการถือหลายสัญชาติมิได้เป็นการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายไทย ในแง่มุมทางสังคม สำหรับบุคคลสองสัญชาติในหมู่ผู้ดีเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นถึงความต่างไปจากสามัญชน เพราะมีคนจำนวนเพียงหยิบมือเดียวในสังคมแห่งนี้ที่จะสามารถือสัญชาติของบรรดาอารยะประเทศ รวมถึงการได้รับการศึกษาแบบที่เป็นผู้ดีจากตะวันตก มีสามัญชนในยุคปัจจุบันจำนวนเท่าไหร่ที่สามารถจะถือสองสัญชาติในลักษณะนี้ได้บ้าง เดาได้เลยว่าในบรรดาชนชั้นนำไทยจำนวนไม่น้อยก็ล้วนแล้วแต่น่าจะมีสัญชาติมากกว่าสัญชาติไทยเพียงอย่างเดียว ด้วยเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก วิธีการเดียวสำหรับสามัญชนที่จะทำให้บุตรของตนสามารถถือสัญชาติของประเทศอื่นได้ก็ด้วยการหาผัวฝรั่ง แต่สองสัญชาติของสามัญชนกับสองสัญชาติของผู้ดีก็ยังมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน แม้ลูกจะอาจได้สัญชาติอังกฤษตามผัวแต่ก็ยังคงต้องให้ ด.ช. บักเคน ฟาร์เมอร์สัน เรียนที่โรงเรียนห้วยกระโทกวิทยาเหมือนเดิม ไม่มีโอกาสจะได้ไปเรียนที่ออกซ์เฟิร์ดเหมือนบรรดาอภิสิทธิชนทั้งหลายอย่างแน่นอน เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์กฎเมืองกฎหมาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น