โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ผลสำรวจมูลนิธิเอเชีย: เหลือง-แดงมีราว 10 ล้าน นักวิชาการชี้สองขั้ว ‘ขัดแย้งเทียม’ ต่างค่านิยมตัวบุคคล

Posted: 28 Mar 2011 01:57 PM PDT

ผลสำรวจเผยเหลืองแดงรวมกันร้อยละ 12 ของประชากร ‘นงเยาว์’ ฟันธงอนาคตขัดแย้งระดับภูมิภาค นโยบายข้างหน้าต้องแก้ ชี้ปัจจุบัน ‘สงครามเย็น’ เลือกตั้งหนหน้าสงครามจริง ‘กวี’ จวกสื่อหลักไม่ทันปัญหา เร่งพัฒนาสื่อชุมชน

 
วานนี้ (28 มี.ค.54) ที่โรงแรมดุสิตธานี มูลนิธิเอเชียได้แถลงผลการสำรวจความคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยในระดับประเทศ “การสำรวจความคิดเห็นพลเมืองไทยระดับประเทศ: มติมหาชนและการเมืองระหว่างขั้วสี” ซึ่งทำการสัมภาษณ์ประชาชนไทยแบบตัวต่อตัว โดยการสุ่มตัวอย่างจากประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 1,500 คน กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17 กันยายน - 23 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา
 
 
สำรวจพบเหลือง-แดงราว 10 ล้านคน!
จากผลสำรวจพบว่า สังคมไทยในปัจจุบันไม่ได้แตกแยกออกเป็นสองขั้วทางการเมืองอย่างที่เข้าใจกัน จากข้อมูลระบุว่าจำนวนผู้ที่ยอมรับว่าเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงเป็นจำนวนร้อยละ 12 ของจำนวนประชากร ซึ่งหากแยกทั้งสองสีออกจากกันพบว่าเป็นเสื้อแดงร้อยละ 7 ในขณะที่เป็นเสื้อเหลืองร้อยละ 5 ส่วนอีกร้อยละ 76 ไม่เลือกอยู่ข้างสีใด ซึ่งอีกร้อยละ 12 เท่านั้นที่ยอมรับว่ามีความเอนเอียงไปทางสีใดสีหนึ่ง ทั้งยังพบว่าสมาชิกภายในกลุ่มเสื้อสีเดียวกันก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายไม่ได้ลงรอยกันเสมอไป ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่ากลุ่มการเมืองสองขั้วสียึดถืออุดมการณ์อะไร
 
มีผู้ตอบแบบสอบถามส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ระบุว่าเคยมีส่วนร่วมในการชุมนุมทางการเมืองในรอบสองปีที่ผ่านมา เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมหลายครั้งที่เกิดขึ้นในรอบสี่ปีที่ผ่านมา เสียงข้างมากสองในสาม (ร้อยละ 66) สะท้อนว่าควรสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ มีกลุ่มตัวอย่างย่อยเพียงกลุ่มเดียวคือคนเสื้อแดงที่เสียงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 54) เห็นว่าควรยอมให้มีการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ได้
 
เสียงส่วนใหญ่ต้านใช้กำลังสลายการชุมนุม – รัฐควรรับผิดชอบ
ในประเด็นการใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53 เชื่อว่าการใช้กำลังเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เมื่อให้ประเมินว่าฝ่ายไหนควรรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ร้อยละ 40 โทษฝ่ายรัฐบาล ร้อยละ 37 โทษฝ่ายผู้ชุมนุม และร้อยละ 4 โทษทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 82 เชื่อว่ายังจะมีความรุนแรงที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีกในปี 2554
 
ต่อคำถามที่ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้ตอบแบบสอบถามจะพิจารณาผู้สมัครที่สังกัดกลุ่มสีใดสีหนึ่งหรือไม่ ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ที่ตอบว่าจะพิจารณาเลือกผู้สมัครจากการสังกัดกลุ่มสี ขณะที่ร้อยละ 88 ตอบว่า จะพิจารณาเลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองมากกว่า
 
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองพาประเทศเดินผิดทิศทาง
ในภาพรวม แม้ประชาชนส่วนใหญ่ผู้ตอบแบบสอบถามจะมีทัศนะว่าสถานการณ์ของประเทศยังเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ทัศนะดังกล่าวก็เป็นไปในทางบวกมากขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสำรวจความเห็นครั้งแรกของมูลนิธิเอเชียเมื่อปี 2552 โดยจากการสำรวจในปี 2553 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 54 เชื่อว่าประเทศไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องนัก ลดลงจากตัวเลขร้อยละ 58 ในปีก่อนหน้านั้น
 
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจในปี 2552 เห็นว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยคะแนนร้อยละ 60 แต่ในปี 2553 ผู้ตอบแบบสำรวจกลับเห็นว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของคนไทย คือ ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยคะแนนร้อยละ 42
 
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 52 มีความเข้าใจว่าการแบ่งฝ่ายหรือแยกขั้วในสังคมปัจจุบันมีพื้นฐานมาจากอุดมการณ์และแนวคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามกัน ร้อยละ 18 เข้าใจว่าสาเหตุพื้นฐานของปัญหาการแบ่งฝ่ายมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และร้อยละ9 คิดว่ามาจากความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท
 
เมื่อถามว่าประเทศไทยมีการใช้มาตรฐานความยุติธรรมที่แตกต่างกัน (สองมาตรฐาน) สำหรับกลุ่มคนที่แตกต่างกันหรือไม่? ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 67 แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้สองมาตรฐาน
 
คนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นประชาธิปไตยคือรูปแบบการปกครองดีที่สุด
การสำรวจความเห็นครั้งนี้ยังพบว่า ประชากรผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 93 เห็นว่าประชาธิปไตยคือรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 97 ที่เห็นว่า ถึงแม้คนไทยจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็รวมตัวกันได้เพราะมีค่านิยมความเชื่อหลายประการเหมือนกัน
 
อย่างไรก็ตาม มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่แสดงความเห็นไม่ยอมรับผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 76 ในปี 2553 จากร้อยละ 68 ในปี 2552
 
ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง (ร้อยละ 59) ทั้งจากเขตเมืองและชนบท ยังเชื่อว่ารัฐบาลที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่มีตัวแทนหลากหลายจากทุกภาคส่วนของสังคมมากกว่ารัฐบาลของผู้นำที่มีตัวแทนจากเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูงสุด
 
สำหรับประเด็นการควบคุมตรวจสอบสื่อ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 48 ระบุว่า ควรปล่อยให้ประชาชนทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างอิสระ ขณะที่ร้อยละ 46 ระบุว่า บางครั้ง การควบคุมตรวจสอบสื่อก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยส่งเสริมความสงบและเสถียรภาพในสังคม
 
ศาลคะแนนตกแต่ยังนำความเชื่อมั่น ‘ซื่อตรง’ ส.ส.ต่ำสุด
ในส่วนคำถามเกี่ยวกับสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ศาลยุติธรรมเป็นเพียงสถาบันเดียว ที่ผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 59 ในปี 2553 เห็นว่ามีความซื่อตรง "สูง" แต่คะแนนที่ศาลได้รับก็ลดลงจากร้อยละ 64 ในปี 2552 ขณะที่สถาบันตำรวจ ได้รับคะแนนความซื่อตรงต่ำเพียงร้อยละ 17 เช่นเดียวกับสถาบันสื่อและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 14 และร้อยละ 11 ตามลำดับ ที่เชื่อว่าสื่อมวลชนและ ส.ส. มีความซื่อตรง "สูง" แต่มีถึงร้อยละ 85 และร้อยละ 88 ตามลำดับ ที่แสดงความไม่มั่นใจต่อความซื่อตรงของสื่อมวลชนและ ส.ส.
 
สำหรับปี 2553 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนความซื่อตรงในระดับ "สูง" แก่คณะกรรมการชุดนี้ เพียงร้อยละ 28 ขณะที่ร้อยละ 58 แสดงความไม่แน่ใจต่อความซื่อตรงของคอป.
 
ในประเด็นความเป็นกลาง ประชาชนร้อยละ 63 เห็นว่าศาลเป็นกลางและไม่มีอคติ โดยสถาบันกองทัพได้คะแนนมาเป็นอันดับสอง คือ ร้อยละ 38 เห็นว่ากองทัพเป็นกลาง แต่มีถึงร้อยละ 56 ที่เชื่อว่ากองทัพมีความลำเอียง "เป็นบางครั้ง" หรือ "บ่อยครั้ง" ทั้งนี้สถาบันตำรวจเป็นสถาบันที่ได้รับการจัดอันดับความเป็นกลางด้วยคะแนนต่ำที่สุด คือ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 83 ที่เชื่อว่าตำรวจมีความลำเอียง "บ่อยครั้ง" หรือ "บางครั้ง" เช่นกันกับสถาบันสื่อที่ถูกผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 80 มองว่ามีความเอนเอียง
 
เสียงส่วนใหญ่เห็นควรปรองดองลดขัดแย้งก่อนเลือกตั้ง
ส่วนทางเลือกเพื่อการปรองดอง เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 79 เชื่อว่าควรปรองดองลดความขัดแย้งให้ได้ก่อนจัดให้มีเลือกตั้ง ประชาชนในเขตเมืองร้อยละ 74 สนับสนุนแนวคิดนี้ต่ำกว่าผู้สนับสนุนจากเขตชนบท(ร้อยละ 82) ซึ่งน่าสนใจว่า เสียงของประชากรในกรุงเทพฯ ที่สนับสนุนให้เกิดการปรองดองก่อนจัดการเลือกตั้ง(ร้อยละ 62) ต่ำว่าเสียงสนับสนุนจากภูมิภาคอื่นๆ สำหรับกลุ่มเสื้อแดงและเสื้อเหลืองมีฉันทามติในระดับใกล้เคียงกันว่าควรสนับสนุนให้เกิดการปรองดองก่อนจัดการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27 ต้องการให้ใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันต่อไปโดยไม่ต้องแก้ไข ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศร้อยละ 12 ประสงค์จะให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ใหม่ (ลดต่ำลงจากร้อยละ 27 ในปี 2552) เมื่อถามว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเลือกตั้งก่อนมีการเลือกตั้งหรือไม่ ผู้ตอบแบบสำรวจมีความเห็นไม่ตรงกันหนึ่งในสี่(ร้อยละ 26) ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ร้อยละ 29 ต้องการให้รอจนกว่ามีการปฏิรูปผ่านไปก่อน และอีกร้อยละ 40 อยากให้รอจนกว่ารัฐบาลอยู่จนครบวาระตามรัฐธรรมนูญ
 
‘พิชาย’ ชี้สองขั้ว ‘ขัดแย้งเทียม’ ค่านิยมประชาธิปไตยไม่ต่าง
จากผลสำรวจดังกล่าว ‘ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าถ้าเป็นตัวเลขการอนุมานเปอร์เซ็นต์ไปสู่จำนวนประชากรพบว่า คนที่กล้ายอมรับว่าตนเองสังกัดสีใดมีหลักสิบล้านคน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นความกล้าหาญในการแสดงจุดยืนของตนเอง ซึ่งใน 10 ล้านคนนี้ตนมองในภาพรวมของประชากรแล้วพบว่าไม่มีความขัดแย้งรุนแรง มีเพียงบางจุดแล้วมีส่วนขยายเท่านั้น ซึ่งจากผลสำรวจยังพบว่าค่านิยมหลักไม่ได้ต่างกันเลย เช่น ค่านิยมยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ค่านิยมเสียงข้างมาก ฯลฯ ซึ่งค่านิยมหลักทางประชาธิปไตยไม่ต่างกัน แต่ที่ต่างคือมุมมองหรือทัศนะทางการเมืองที่แต่ละสีเผชิญหน้า เช่น การมองภาพรวมว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จะมีความแตกต่างเพราะรากฐานการสนับสนุน เช่น คนเสื้อเหลืองในสมัยที่ยังสนับสนุนประชาธิปัตย์มองว่าเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ในสมัยอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวชมองว่าไม่เป็น กลับกัน ในฝั่งของเสื้อแดงมองว่ายุคอภิสิทธิ์ไม่เป็น แต่ในยุคอดีตนายกฯ สมัครเป็นประชาธิปไตย ซึ่งตนยังมองว่าค่านิยมหลักการประชาธิปไตยในสังคมพหุวัฒนธรรมยังดีอยู่ แม้จะบูดๆ เบี้ยวๆ ไปบ้าง
 
“เหลืองแดงขณะนี้เป็นความขัดแย้งแบบเทียม เพราะขัดแย้งในเชิงประชาชนกับประชาชน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงหรือหลอมรวมกันได้ในอนาคต” นักวิชาการจากนิด้ากล่าวและว่า การขัดแย้งนี้เป็นกระแสความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งอาจนำไปสู่ความรู้สึกเบื่อหน่ายว่าประชาธิปไตยระบอบรัฐสภานี้ไม่สามารถแก้ปัญหาประชาธิปไตยในภาพรวมได้ ยิ่งผลสำรวจที่พบว่า ส.ส.มีคะแนนความซื่อตรงต่ำมาก อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าวขึ้นในอนาคตอันใกล้
 
นักวิชาการ มช.เผยอนาคตขัดแย้งภูมิภาค ถามนโยบายพรรคการเมือง-รัฐบาลข้างหน้าทำอย่างไร?
ด้าน รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า จากผลการสำรวจทำให้เห็นว่า ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของการล้มชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีลักษณะเป็นพหุสังคมมากขึ้น คือ คนที่มีความเห็นต่างกัน สามารถต่อสู้ ต่อรอง ขัดแย้งกันได้ ดังนั้น ประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงหมายถึงการประนีประนอมระหว่างเสียงส่วนใหญ่กับเสียงส่วนน้อย ซึ่งความหมายของประชาธิปไตยเช่นนี้เจริญเติบโตขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคมไทยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และยุคก่อนหน้านั้น
 
นักวิชาการผู้นี้กล่าวด้วยว่า ต่อไป ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยจะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนเมืองกับคนชนบทอีกแล้ว แต่จะเป็นความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค หรือ เป็นการเมืองของคนชนบทที่อิงกับสองแนวคิดหรือสองพรรคการเมือง เช่น คนใต้ปะทะกับคนเหนือและอีสาน โดยมีกรุงเทพฯเป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ความขัดแย้งแตกต่างดังกล่าวได้เข้ามาปะทะกัน ปัญหาคือ นโยบายของพรรคการเมืองและรัฐบาลในอนาคตจะทำอย่างไรกับความแตกต่างตรงจุดนี้
 
นางนงเยาว์กล่าวต่อว่า คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนราว 40 ล้านคน และโดยมากคนเหล่านี้ก็จะมาใช้สิทธิจริงๆ ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 20 ล้านคน ดังนั้น การที่ผลสำรวจนี้ระบุว่ามีคนไทยที่ประกาศตัวเป็นคนเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงอย่างชัดเจนประมาณร้อยละ 24 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือราว 10 ล้านคน จึงแสดงให้เห็นถึงจำนวนที่มิใช่น้อยของประชาชนผู้สนใจเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้น และจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนทางการเมือง รวมทั้งผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระดับคุณภาพในอนาคต
 
ชี้ปัจจุบัน ‘สงครามเย็น’ เลือกตั้งหนหน้าสงครามจริง
รศ.ดร.นงเยาว์กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ของตนในการทำวิจัยเรื่อง ′ผู้หญิงเสื้อแดง′ ในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าหลังจากคนเสื้อแดงกลับบ้านเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 สถานการณ์ในภาคเหนือก็เหมือนกับ ′สงครามเย็น′ และสงครามจริงจะเกิดขึ้นอีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า ในกรณีที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งที่ต่อสู้กันหนักมาก ดังนั้น ถ้าการเลือกตั้งคือเป้าหมายของสังคมไทย รัฐก็ต้องจัดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีหลายสายตาได้เข้าไปเกี่ยวข้องตรวจสอบตรงจุดนั้น และทุกฝ่ายจะได้มีความสบายใจกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ดำเนินการเช่นนั้น เราก็อาจจัดตั้งรัฐบาลกันไม่ได้ภายหลังการเลือกตั้ง
 
อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังกล่าวถึง สถาบันสื่อที่มีศักยภาพจะช่วยพัฒนาให้ระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้นได้ แต่จากผลสำรวจครั้งนี้กลับปรากฏว่าสื่อมวลชนได้รับความนิยมต่ำมากรองจาก ส.ส. โดยสื่อส่วนใหญ่ที่ประชาชนผู้ตอบแบบสำรวจเสพก็คือโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านไม่ไว้ใจและเบื่อสื่อโทรทัศน์ พวกเขาจึงไปค้นหาข้อมูลจากสื่อชนิดอื่นๆ ซึ่งทำให้ภาครัฐกล่าวหาว่าพวกเขาไปรับข้อมูลผิดๆ มาอีก
 
กวีฟันสื่อหลักไม่ทันปัญหา เร่งพัฒนาสื่อชุมชน
ส่วน ‘กวี จงกิจถาวร’ บรรณาธิการอาวุโส เครือเนชั่นเปิดเผยว่า จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นว่า 1.ประชาชนทั้งสองขั้วสีและคนส่วนใหญ่ต้องการ ‘เวที’ แต่ปัจจุบันสื่อสารมวลชนยังไม่เท่าทันกับประเด็นปัญหา สื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อหลักที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มก็กลายเป็นเวทีที่ “คนโง่ออกมาพูด ส่วนคนฉลาดไม่พูดออกโทรทัศน์” จึงนำมาสู่ข้อ 2.ต้องพัฒนาสื่อชุมชน (Community Media) แต่ปัจจุบันคุณภาพของสื่อวิทยุ โดยเฉพาะวิทยุชุมชนที่เข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุดยังมีคุณภาพต่ำมาก จะหาทางออกอย่างไร?
 
บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่นกล่าวอีกว่า เวลาพูดคำว่า ‘สื่อ’ คนมักจะมองแบบผ่านๆ ไม่ได้มองลึกลงไปในประเด็นปัญหา ซึ่งหากตนกล่าวตรงไปตรงมา ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องสื่อให้ได้ผลต้อง “ไล่ บ.ก.ข่าวออกให้หมด” เพราะยังมองปัญหาด้วยสายตาแบบเก่า วางประเด็นไม่ถูก จับประเด็นไม่ได้และลงไปเล่นด้วยกับความขัดแย้งก็มี ทั้งที่ควรเป็นตัวกลางในการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้พูดและเป็นผู้ให้ความรู้กับประชาชน 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

3 นักสหภาพแรงงาน ขึ้นศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

Posted: 28 Mar 2011 01:31 PM PDT

ทูตเบลเยี่ยม-สวิสร่วมฟังการพิจารณาคดีสิทธิการชุมนุม พร้อมติดตามเข้าร่วมการสังเกตการณ์พิจารณาคดี นัดต่อไป 15 พ.ย.นี้ สืบพยานโจทก์
 
 
วานนี้ (28 มิ.ย.54) เวลา 9.30 น ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาที่ 707 น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ น.ส.บุญรอด สายวงศ์ อดีตเลขาธิการสหภาพฯ และนายสุนทร บุญยอด เจ้าหน้าที่สภาศูนย์กลางแรงงาน ได้เดินทางมาพบศาล เพื่อประชุมคดีตรวจพยานหลักฐานในคดีที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดี "ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อการวุ่นวานขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สังการในการกระทำความผิดนั้น เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดนั้นให้เลิกแล้วไม่เลิก" ในคดีหมายเลขดำที่ อ.620/2554 ซึ่งมีพนักงานอัยการ สนง.อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สนง.อัยการสูงสุด เป็นโจทก์
 
โดยการประชุมคดีตรวจพยานหลักฐานในครั้งนี้ได้มีเจ้าหน้าที่จะสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ รวมถึงเจ้าหน้าด้านเศราฐกิจจากสถานทูตเบลเยียมประจำกรุงเทพฯ คือคุณ ดาเนียล เดอ วาก (Investment and Trade Commissioner) ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมนี้ พร้อมทั้งจะติดตามเข้าร่วมการสังเกตการณ์การพิจารณาคดีสืบพยานนัดต่อไปด้วย
 
ซึ่งนัดสืบพยานโจทก์นั้นจะเป็นวันที่วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2554 โดยให้โจทก์สืบพยานโดยโจทก์ขอสืบพยานจำนวน 6 ปาก และต่อเนื่องวันที่ 16-22 พฤศจิกายน 2554 จะเป็นนัดสืบพยานจำเลย จำนวน 14 ปาก
 
เอกสารคำฟ้อง
 
 
 
 
 

สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 นั้น เป็นการชุมนุมของคนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และ แม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ พร้อมองค์กรแรงงานและประชาชนกว่า 1,000 คน ไปยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากได้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้น

โดยในวันดังกล่าว มีการใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล หรือ LRAD กับผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งหลังจากนั้น นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งได้ทำหนังสือประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกร้องให้ถอนการออกหมายจับโดยทันที รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พระพุทธเจ้าเป็นคนไม่มีศาสนา

Posted: 28 Mar 2011 01:04 PM PDT

 
ภาพพจน์ของพระพุทธเจ้าที่เรารับรู้ผ่านคัมภีร์ทางพุทธศาสนานั้น มีสองภาพพจน์ที่ตรงข้ามกัน ภาพพจน์หนึ่งคือภาพของ “อภิมนุษย์” ที่บำเพ็ญบารมีมานับชาติไม่ถ้วน สุดท้ายไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต จากนั้นจึงมาเกิดเป็นมนุษย์และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การถือกำเนิดก็มีปาฏิหาริย์เดินได้ 7 ก้าว และสามารถพูดได้ทันที รูปร่างก็สง่างามสมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะ จะทำอะไรไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด ก็ประสบความสำเร็จเหนือสามัญมนุษย์
 
แต่อีกภาพพจน์หนึ่งพระพุทธเจ้าคือคนธรรมดาที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ผ่านความเจ็บปวดโศกเศร้า การดูหมิ่นเหยียดหยาม การเรียนรู้ลองผิดลองถูก ความล้มเหลวและความสำเร็จเยี่ยงสามัญมนุษย์ทั่วๆ ไป ต่างแต่ว่าเป็นผู้พัฒนาปัญญาจนสามารถดำเนินชีวิติย่างมีอิสรภาพทางจิตวิญญาณ
 
ในความเห็นของผม ชาวพุทธทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกนิยมภาพพจน์แบบไหนของพระพุทธเจ้าก็ได้ และสำหรับผมแล้ว ผมเลือกที่จะรักความเป็น “มนุษย์ธรรมดา” ของพระพุทธเจ้ามากกว่า เพราะผมรู้สึกว่าผมสามารถใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์ธรรมดาได้มากกว่า
 
พระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์ธรรมดาสอนสิ่งสำคัญสิ่งแรกแก่ผมคือ “เสรีภาพในการแสวงหาความจริง” ว่า ในการค้นพบความจริงนั้นเงื่อนไขข้อแรกเราต้องมีเสรีภาพจากความเชื่อทางศาสนาที่ถือปฏิบัติตามๆ กันมาก่อน (ดูเหมือนนวนิยายเรื่อง “สิทธารถะ” ของ เฮอร์มาน เฮสเส จะสะท้อนความเข้าใจประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง)
 
ดังที่เราเห็นได้จากเดิมทีพระพุทธเจ้าเคยนับถือศาสนาพราหมณ์ตามตระกูลศากยะ จนเรียนจบไตรเพท ต่อมาพระองค์ขบถต่อศาสนาของตระกูลอย่างถึงราก โดยการปลงผมออกบวชเป็นขอทานเลี้ยงชีพ ซึ่งตามจารีตของศาสนาตระกูลศากยะถือว่าการใช้ชีวิตเช่นนั้นต่ำต้อยเยี่ยง “จัณฑาล” ที่เป็นคนนอกวรรณะ
 
หลังจากนั้นพระองค์ก็มานับถือศาสนาแบบดาบสที่เชื่อว่าการบรรลุฌานสมาบัติคือคำตอบของความพ้นทุกข์ แต่เมื่อฝึกสมาธิจนได้สมาบัติ 8 แล้วพระองค์พบว่าสิ่งดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือหนีทุกชั่วคราวเท่านั้น จึงหันไปนับถือศาสนาใหม่อีกคือลัทธิบำเพ็ญทุกกรกิริยาที่เชื่อว่าการทรมานร่างกาย หรือเอาชนะความต้องการตามสัญชาตญาณทางกายภาพได้คือคำตอบของการมีอิสรภาพจากพันธนาการของกิเลสและความทุกข์
 
แต่ในที่สุดพระองค์ก็พบว่าเป็นไปไม่ได้ และเห็นว่าป่วยการที่จะเดินตามจารีตของลัทธิความเชื่อหรือศาสนาใดๆ อีกต่อไป จากนั้นก็กลายเป็น “คนไม่มีศาสนา” ไม่สมาทานหรือเดินตามความเชื่อใดๆ แต่หันมาใช้ปัญญาไตร่ตรอง “ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์” อย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้ค้นพบความจริงของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติแห่งการเกิดทุกข์และการดับทุกข์ ซึ่งเป็นความจริงตามกฎธรรมชาติที่ไม่ขึ้นกับลัทธิความเชื่อหรือจารีตทางศาสนาใดๆ
 
และเครื่องมือที่จะค้นพบความจริงดังกล่าว ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ถูกให้มาจากจารีตทางศาสนาหรือความเชื่อใดๆ หากแต่เป็น “ศักยภาพ” ที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกข์คน นั่นคือความสามารถในการใช้ปัญญาไตร่ตรองเพื่อทำความเข้าใจความทุกข์และการยุติความทุกข์ในชีวิตของตนเอง
 
สำหรับผมแล้ว ความน่าเคารพของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ความเปิดใจกว้างในการเรียนรู้ ความซื่อสัตย์ต่อความจริง (พิสูจน์ให้ชัดก่อนค่อยตัดสิน) บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ในความหมายที่ลึกสุดคือ “ความเป็นสัตว์ที่มีเสรีภาพ” ซึ่งในที่สุดพระองค์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เสรีภาพในการแสวงหาความจริงสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับอิสรภาพทางจิตวิญญาณ
 
แน่นอนว่าการยืนยันว่า “เสรีภาพในการแสวงหาความจริงสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับอิสรภาพทางจิตวิญญาณ” ย่อมเป็นการยืนยันความหมายของความเป็นมนุษย์ในฐานะเป็น “สัตว์ที่มีเสรีภาพ”
 
และโดยการยืนยันเช่นนี้ย่อมเป็นการปฏิเสธโดยปริยายว่า การดำเนินชีวิตที่ไม่เคารพเสรีภาพในการแสวงหาความจริงด้วยสติปัญญาของตนเองย่อมไม่ใช่การมีชีวิตที่พึงปรารถนา และสังคมที่ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงย่อมไม่ใช่สังคมที่พึงปรารถนาด้วยเช่นกัน
 
แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรตั้งคำถามอย่างจริงจังคือ ทำไมโดย “การกระทำ” หรือโดยแบบอย่างการปฏิบัติตัวของพระพุทธเจ้ามีลักษณะของการปลดปล่อยให้เราเป็นเสรีชน ชวนให้เราเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ในการแสวงหาความหมายของชีวิต แต่ทว่าศาสนาพุทธในรูปของจารีตประเพณีที่ตกทอดมาถึงเรากลับเป็นเครื่องมือสร้างพันธนาการที่ซับซ้อน
 
ทั้งพันธนาการในรูปอุดมการณ์แห่งรัฐ เช่น พุทธศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือค้ำยันอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ยกสถานะของพระมหากษัตริย์ให้เป็น “เทพ” (ทั้งที่พระพุทธเจ้าเองเป็น “คน”) ที่ศักดิ์สิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งสาระสำคัญแล้วอุดมการณ์ดังกล่าวขัดแย้งกับเสรีภาพในการแสวงหาความจริง
 
การปิดกั้นเสรีภาพในการแสวงหาความจริง หากพิจารณาจากความเป็นจริงที่ว่า “เสรีภาพในการแสวงหาความจริงสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับอิสรภาพทางจิตวิญญาณ” หรือความเป็นจริงที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเสรีภาพ” ย่อมถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
 
คำถามคือ สังคมที่ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างอุดมการณ์ซึ่งลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชน สมควรเรียกว่าเป็นสังคมพุทธหรือ? หากเราเป็นชาวพุทธและซื่อสัตย์ต่อความจริง (อย่างที่พระพุทธเจ้าทำเป็นแบบอย่าง) เราจะตอบคำถามนี้อย่างไร?
 
นอกจากนี้ โดยจารีตการใช้พุทธศาสนาสร้าง “คนดี” ในสังคมไทย คนดีที่เป็นผลิตผลของจารีตพุทธคือ “ผู้ปฏิบัติธรรม” ตามวิถีจริยธรรมเชิงปัจเจกที่ยึดอุดมคติว่า การปฏิบัติธรรมหมายถึงการปฏิบัติสมาธิ ทำบุญทำทาน เพื่อการมีชีวิตที่สุขสบายในโลกหนี้และโลกหน้า ได้ขึ้นสวรรค์ หรือบรรลุนิพพาน ซึ่งทั้งหมดนั้นมีลักษณะเป็นความดีส่วนตัวที่มุ่งประสงค์ต่อความสุขส่วนตัวเป็นที่ตั้ง เสร็จแล้วชาวพุทธก็อธิบายกันว่า ถ้าแต่ละคนเป็นคนดีโดยการทำความดีต่างๆ ที่ว่ามานี้แล้วสังคมก็จะดีเอง
 
ที่สำคัญคือ “คนดี” และ “ความดี” ในความหมายดังกล่าว ไม่ได้เชื่อมโยงกับการชี้ชวนให้เห็นความสำคัญของการไตร่ตรอง หรือตระหนักรู้ในคุณค่าความหมายของความเป็นมนุษย์ในฐานะเป็น “สัตว์ที่มีเสรีภาพ” และไม่ได้สร้างมโนธรรมสำนึกในการปกป้อง “เสรีภาพในการแสวงหาความจริง” แต่อย่างใด
 
เมื่อพุทธแบบจารีตไม่ได้สร้างวัฒนธรรมแห่งการรู้คุณค่าและปกป้องเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการแสวงหาความจริง และเสรีภาพในทางสังคมการเมือง คนที่คิดต่างจากพุทธแบบจารีต ตั้งคำถามกับพระ กับคัมภีร์ทางศาสนา คือ “คนบาป” และแน่นอนว่าชาวพุทธประเภทนักปฏิบัติธรรมตามแบบจารีตทั้งหลายก็ไม่แคร์ว่า ประชาชนจะถูกละเมิดเสรีภาพในทางสังคมการเมืองอย่างไรบ้าง
 
ฉะนั้น จึงอาจกล่าวรวมๆ ได้ว่า นักปฏิบัติธรรมหรือชาวพุทธผู้เคร่งศาสนาในสังคมไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ต่างเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ไม่มีศาสนาตามจารีตก่อนที่จะค้นพบ “ความจริง” และอิสรภาพ!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์ “การเมืองไทย” ต้องมองให้เห็น “ความจริง”

Posted: 28 Mar 2011 12:54 PM PDT

 
ชื่อบทความเดิม: สถานการณ์การเมืองไทย ต้องมองให้เห็นความจริง จึงจะขับเคลื่อนได้ถูกต้อง และสามารถ change ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติได้จริง
 
ก.*ประเทศไทยวิกฤตหนัก จากโครงสร้างและระบบที่ไม่เป็นธรรม สถาบันสำคัญของสังคม โดยเฉพาะกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่มีความเป็นธรรม ขาดประสิทธิภาพ ไม่ได้ประสิทธิผล ตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ไม่มีความเป็นอิสระ ตามไม่ทันและไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ปัญหาใหญ่ของชาติได้ และจมอยู่ในวังวนกับปัญหาของตนเอง เอาผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
 
คน สังคมไทยขาด ผู้นำที่มีบารมีระดับรัฐบุรุษที่สังคมทุกฝ่ายยอมรับ คนมีหน้าที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้นำทางการเมืองขาดความรู้ประสบการณ์อุดมการณ์และความเสียสละกล้าหาญเพื่อส่วนรวม จนปัญหาทุกเรื่องทุกด้าน มาบรรจบกันเป็นวิกฤตใหญ่ของประชาชนและประเทศ
 
ข.การมองเห็นความจริงของสังคมยากมาก เพราะโลกและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อยู่ในภาวะสับสนซับซ้อน (Complex system) และโกลาหล (Chaos) อีกทั้งองค์ความรู้ของสังคม มีไม่พอ หรือไม่ทันกับวิกฤตใหญ่ และคนก็ไม่สนใจศึกษาหาความรู้ความจริง แต่มองแค่ปรากฏการณ์และข่าวเท่านั้น
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม คือ สังคมไทยยังไม่มีทางออก ยังไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ได้ผลจริง, สถาบัน พรรค กลุ่มคน และปัจเจกชน มีวิธีคิด มุมมอง จากจุดยืนหน้าที่และผลประโยชน์ของตน ใจไม่ใหญ่มองไม่ไกลไปถึงอนาคต มัวแต่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ และขับเคลื่อนไป โดยไม่สนใจกับกลุ่มหรือคนอื่นๆ ขาดแนวคิดเรื่องการแสวงหาความร่วมมือกับฝ่ายอื่นคนอื่น ที่อยู่บนพื้นฐานของความเคารพและให้เกียรติกัน โดยผลที่เกิดขึ้น มักจะเป็นการทำลายตนเองมากกว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ ทั้งต่อองค์กรของตนเอง และการหาทางออกให้กับประชาชนและประเทศชาติ
 
การขาดความรู้และข้อเท็จจริง ทำให้ทุกฝ่ายเสนอทางออก มีลักษณะเอียงซ้ายป่ายขวา เชื่อคนและข่าวลือที่มีข้อมูลตรงกับความคิดและผลประโยชน์ของตน เอาข่าวตามสื่อมาวิจารณ์บอกเล่าต่อกลุ่มองค์กรและสาธารณะ ขณะเดียวกันคนในสังกัดหรือมวลชน มักจะเชื่อตามผู้นำที่ตนเชื่อถือศรัทธา และพร้อมจะทำตามโดยไม่คิด หรือขาดความรู้ข้อมูลที่จะคิด ลักษณะเช่นนี้ ทำให้สื่อมีอำนาจสูง และผู้นำทุกวงการมักจะใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อให้แก่ประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรม ขณะเดียวกับผู้นำหรือสื่อก็ขาดความรับผิดชอบและการสรุปบทเรียน ทำให้ความผิดถูกทำซ้ำ และความถูกต้องไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นยาก
 
ทัศนะการใช้ความคิดและผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ไม่ศึกษาหาความรู้และความเป็นจริง การเชื่อ และฟังแต่เรื่องที่ถูกจริตกับตน จากผู้คนและคนใกล้ชิดคนรอบข้างที่มักจะสรรเสริญเยินยอ และพร้อมที่จะรับฟังคำสั่งอย่างดุษฎีโดยไม่โต้แย้ง และการไม่รับฟังคนและความคิดที่แตกต่างจากตน รวมทั้งการขาดความเคารพผู้คน (มวลชน) เป็นเหตุแห่งความเสื่อมของผู้นำ และเป็นการปิดปัญญา ที่จะนำความจริงและทางออกมาสู่สังคม
 
ค.มาดูเรื่องและประเด็นสำคัญ ที่เกิดขึ้น และมองแตกต่างกันของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบัน
 
1.เรื่องการเลือกตั้ง
๑. มีหรือไม่มีการเลือกตั้ง
๒. การเลือกตั้งใหม่ จะเป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤตของสังคมได้หรือไม่
๓. การไม่มีการเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ทางใด กกต.ลาออกเหลือไม่ถึง 3 คน, กฎหมายลูกไม่ผ่านรัฐสภา, มาตรา 3, มาตรา 7 ฯลฯ
๔. การรัฐประหาร การปฏิวัติของประชามหาชน รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลพระราชทาน ผลดีผลเสีย
๕. การ Vote NO ควรทำหรือไม่ จะได้ผลจริงจังไหม ผลดีผลเสียที่เกิดขึ้น ใครได้ใครเสีย
๖. ผลของการเลือกตั้ง จะมีการยุบพรรค การให้ใบเหลืองใบแดง
 
2.ใครเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา
๑. พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย โดยมี นายอภิสิทธิ์ เป็นนายก
๒. พรรคเพื่อไทย กับพรรคขนาดกลาง sme โดยมี นอมินีทักษิณ หรือ เสธหนั่นฯ เป็นนายก
 
3.การปฏิรูปสังคมและการเมือง
๑. โอกาสและความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น
๒. จะเกิดหรือควรเกิดก่อน หรือ หลังการเลือกตั้ง
๓. ใครจะเป็นผู้ทำ พรรคการเมือง (เสนอเป็นสัญญาประชาคม) ผู้นำสังคม นักธุรกิจ ภาคประชาชน
 
4.กรณีความขัดแย้งเรื่องข้อพิพาทระหว่าง ไทยกับกัมพูชา
๑. ความเป็นเอกภาพของรัฐบาลพรรคร่วมและข้าราชการประจำ นายก. รมว.ต่างประเทศ รมว.กลาโหม
๒. ความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ฝ่ายค้าน พธม. ฯลฯ มีความเป็นไปได้ไหม และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
๓. จะจบลงอย่างไร และเมื่อใด พื้นที่ 4.6 ตร.กม (2880ไร่) พื้นที่ชายแดนอื่นๆ และพื้นที่ทางทะเล
๔. กรณีมรดกโลกและพื้นที่บริเวณมรกดโลก, การเป็นคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ฯลฯ
๕. กรณีคุณวีระ และ คุณราตรี จะได้รับการปล่อยจากคุก เมื่อใด และอย่างไร
๖. กรณีศาลกัมพูชา ตัดสินว่า7คนไทย มีความผิดรุกล้ำแดนดินแดนกัมพูชา จะมีผลต่อการเสียดินแดน?
 
5.การชุมนุมของ พธม., กลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ, กองทัพธรรม
๑. ผลสำเร็จ ผลดี ผลเสีย จะชุมนุมยาวแค่ไหน และจะหยุดเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง
๒. เป้าหมายที่แท้จริง คืออะไร ต่อต้านระบอบทักษิณ ปกป้องสถาบัน สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือผลประโยชน์ส่วนตน
๓. การสนับสนุนจากมวลชนเดิม พธม. ประชาชน มีมากน้อยแค่ไหน เพราะอะไร
๔. คดีของแกนนำ พธม.คดี 7ตุลาคม 2551 เกิดขึ้นเพราะอะไร และจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่
๕. จะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด
 
6.การเคลื่อนไหวของนปช. กลุ่มคนเสื้อแดงหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งนักวิชาการและสื่อแดง ฯ
๑. ผลสำเร็จ ผลดี ผลเสีย จะชุมนุมยาวแค่ไหน และจะหยุดเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง
๒. เป้าหมายที่แท้จริง คืออะไร เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ รับใช้ทักษิณ สร้างประชาธิปไตย หรือผลประโยชน์ส่วนตน
๓. การสนับสนุนจากมวลชนเดิม, ประชาชน มีมากน้อยแค่ไหน เพราะอะไร
๔. คดีของแกนนำ คดี 2552-3 เกิดขึ้นเพราะอะไร และจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่
๕. จะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด
 
ง.ข้อเสนอแนะ
 
1.สถาบันหลักที่สำคัญของสังคม จะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ให้ทันสมัย มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผล มีความเป็นอิสระ และมีศักยภาพเพียงพอ ที่จะแก้ปัญหาใหญ่ของชาติได้
 
2.คน สังคมไทยต้องพัฒนาให้มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบและเร่งพัฒนาสร้างความเป็นผู้นำในทุกระดับ
 
3.ผู้นำทางการเมือง ต้องมีความรู้ประสบการณ์อุดมการณ์และความเสียสละกล้าหาญเพื่อส่วนรวม
 
4.พรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคที่จะเป็นรัฐบาลสมัยหน้า ควรจะมีนโยบายปฏิรูปสังคมและการเมืองที่เป็นรูปธรรมทำได้จริง เสนอเป็น สัญญาประชาคม ให้กับประชาชนในการเลือกตั้ง
 
5.พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นพรรคสีขาว มีโอกาสมากกว่าทุกพรรค เพราะเน้นการประสานงานในสภาเข้ากับการเคลื่อนนอกสภา และการร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคม และประกอบด้วยคนมีอุดมการณ์ที่ได้ผ่านการพิสูจน์ จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนและสังคม และมีลักษณะทั่วประเทศ ควรจะมีการเสนอนโยบายหลักเฉพาะหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะการปฏิรูปสังคมการเมือง และการเลือกตั้ง ภาคประชาชนและกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์รักชาติรักประชาธิปไตย ควรจะให้การสนับสนุน
 
6.รัฐบาลทั้งรัฐบาลนี้ และรัฐบาลใหม่ ควรมีวาระแห่งชาติ เรื่องการแก้ปัญหาอธิปไตยไทย ทั้งต่อกัมพูชา และประเทศที่มีดินแดนติดกับไทย รวมทั้งเรื่องเขตแดนในทะเลด้วย
 
7.พรรคการเมือง และนักการเมือง นอกจากจะต้องยอมรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนนอกรัฐสภา เพราะเป็นเรื่องของประชาธิปไตยแล้ว ควรจะต้องมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้มแข็งอีกด้วย

8.ภาคประชาชนจะต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงตนเองอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และให้มีความเข้มแข็งและคุณภาพพอเพียงทั้งตัวองค์กรและบุคคล ที่จะเผชิญกับวิกฤตใหญ่ที่จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ปีที่จะมาถึง และต้องสามารถประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการทำงานแก้ไขวิกฤตใหญ่ของประชาชน และประเทศได้ โดยเฉพาะกับรัฐบาลและรัฐสภา รวมทั้งภาควิชาการสื่อต่างๆและภาคประชาชนด้วยกัน โดยเฉพาะกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) และคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.)  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ชาวสตูล’ จับมือนักศึกษาบุก มอ.จี้หยุดประชาสัมพันธ์ ‘ท่าเรือปากบารา’

Posted: 28 Mar 2011 11:32 AM PDT

เครือข่าวชาวสตูลจับมือนักศึกษาภาคใต้ บุกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จี้หยุดรับงานประชาสัมพันธ์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยันถ้ายังดื้อลงพื้นที่ เกิดอะไรขึ้นต้องรับผิดชอบ “รองอธิการบดีฯ” เผย อาจารย์ผู้รับงานถอดใจ ต้องการถอนตัว

 
 
 
นักศึกษาจับมือชาวสตูล เคลื่อนขบวนต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
จี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หยุดรับงานประชาสัมพันธ์โครงการฯ
 
 
ชาวสตูล–นักศึกษาบุก มอ.
28 มี.ค.54 เมื่อเวลา 13.00–16.00 น.เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ได้เดินรณรงค์คัดค้านการรับเป็นที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จากกรมเจ้าท่า พร้อมกับจัดแถลงข่าวบริเวณหน้าลานพระรูปพระบรมราชชนกฯ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้ร่วมประชุมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2 ครั้ง โดยเครือข่ายฯ ได้ขอให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยกเลิกสัญญารับจ้างเป็นที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยอมรับในหลักการที่ทางเครือข่ายฯ เสนอ จนได้ข้อยุติโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขอเวลาดำเนินการยกเลิกสัญญาเป็นที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จากกรมเจ้าท่าระยะหนึ่ง
 
จวกมหา’ลัยไม่รักษาคำพูด
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กลับทำหนังสือขอขยายเวลาสัญญา และขอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการจัดทำแผนป้องกันความปลอดภัยจากกลุ่มต่อต้าน หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการประชาสัมพันธ์ต่อไป กรมเจ้าท่าจึงได้ส่งหนังสือมายังผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ขอให้สนับสนุนวางแผนการจัดการป้องกันความปลอดภัยให้กับคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของที่ปรึกษา ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตกลงกับเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล จากการประชุมเมื่อวันที่ 7 และ 22 มี.ค.54
 
“ผลการประชุมต่อเนื่อง 2 ครั้งดังกล่าว ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับข้อเสนอและตกลงกับทางเครือข่ายฯ ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไม่สมควรรับงานประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เนื่องจากโครงการยังไม่ได้ข้อยุติ และยังปฏิบัติไม่ครบตามขั้นตอนกฎหมาย ประกอบกับงานประชาสัมพันธ์ไม่ใช่บทบาทของมหาวิทยาลัย ที่สำคัญยังเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ในขณะที่ยังมีความเห็นต่างระหว่างผู้สนับสนุนและคัดค้านโครงการฯ”
 
ยัน มอ.ต้องรับผิดชอบ
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล จัดกำลังรักษาความปลอดภัยให้กับคณะทำงานประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับกรมเจ้าท่า และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ส่งคณะทำงานประชาสัมพันธ์ต่อ เครือข่ายฯ จะยุติไม่ทักท้วงมหาวิทยาลัยวิทยาลัยสงขลานครินทร์อีกต่อไป หากคณะทำงานฯ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีปัญหากับคนในพื้นที่ หรือมีการนำกำลังตำรวจ ทหารเข้ามาคุ้มครองคณะทำงานฯ จนนำไปสู่ความรุนแรงและสร้างความขัดแย้งสูงขึ้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด
 
นศ.ประกาศยืนข้างผู้ได้รับผลกระทบ
ในการนี้ เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ได้แจกจ่ายแถลงการณ์มีเนื้อหาว่า เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ เป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคใต้ ที่ได้ศึกษารายละเอียดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้พบว่า รัฐบาลได้กำหนดให้จังหวัดสตูลมีโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจอ่าวไทย–อันดามัน โดยมีท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา
 
และกำหนดให้มีโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น นิคมอุตสาหกรรม คลังน้ำมัน เขื่อน ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจังหวัดสตูลโดยรวม โดยภาครัฐนำเสนอข้อมูลด้านเดียว พยายามปกปิด บิดเบือนข้อเท็จจริงตลอดมา
 
เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมฯ มีความเห็นร่วมกันว่า รัฐไม่สนใจต่อปัญหาผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไม่เคารพกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงไม่เคารพต่อชาวจังหวัดสตูล เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ยืนยันว่า จะร่วมต่อสู้เรียกร้องร่วมกับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ด้วยแนวทางสันติอย่างถึงที่สุด
 
เผยอาจารย์ถอดใจไม่อยากทำ ปชส.
รศ.ดร.ฉัตรไชย รัตนไชย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฝ่ายบริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราแต่อย่างใด การที่มีชื่อตนไปลงนามเอกสารที่ส่งถึงกรมเจ้าท่าเพื่อขอชะลอการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพราะเป็นหน้าที่ของรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการฯ เท่าที่ทราบขณะนี้คณะอาจารย์ที่รับงานโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม งานประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 จังหวัดสตูล ได้มาบอกกับตนว่า ต้องการยุติการทำงานประชาสัมพันธ์ อยากจะทำเฉพาะในส่วนของงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเท่านั้น
 
รศ.ดร.ฉัตรไชย กล่าวว่า จากการที่ชาวบ้านมาคุยกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2 ครั้ง ทางมหาวิทยาลัยเอง เข้าใจปัญหาของชาวบ้าน จึงได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกำกับการทำงานและตรวจรับงานที่ปรึกษาของกรมเจ้าท่า ด้วยการให้เหตุผลว่า ลงพื้นที่แล้วเจอการข่มขู่ คุกคาม เพราะต้องการยุติทำงานประชาสัมพันธ์โครงการฯ นี้ ซึ่งเป็นกระบวนการทางกฎหมาย ที่ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน แต่กรมเจ้าท่ากลับมีหนังสือตอบกลับมาว่าไม่เป็นเหตุสุดวิสัย และให้ลงพื้นที่โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และแจ้งมาทางมหาวิทยาลัยว่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเคลียร์พื้นที่แล้ว จะแจ้งให้คณะทำงานประชาสัมพันธ์โครงการฯ ลงพื้นที่ปฏิบัติงานต่อไป
 
นักศึกษาสตูลจัดขบวนต้านท่าเรือ
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. วันที่ 27 มี.ค.54 เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ร่วมกับชาวบ้านปากบารา บ้านตะโละใส บ้านท่ามาลัย ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล และเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลกว่า 300 คน รวมตัวกันที่โรงเรียนบ้านตะโละใส หลังจากโต๊ะอิหม่ามทำพิธีขอดุฮ์อา (ขอพร) แล้วเสร็จ ขบวนรถจักรยานยนต์และรถยนต์ รถจักรยานยนต์พ่วงข้างกว่า 100 คัน ใช้ธงเขียวมีข้อความว่า “หยุดท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา ร่วมรักษาเภตรา ตะรุเตา ทะเลบ้านเราเพื่อลูกหลาน”  และ “รักษ์สตูล ไม่เอาท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา” ได้เคลื่อนออกจากโรงเรียนบ้านตะโละใส ไปยังท่าเรือปากบารา เข้าสู่ตัวเมืองละงู พร้อมกับเปิดปราศรัยบนรถแห่เกี่ยวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาและโครงการต่อเนื่องไปตลอดเส้นทาง
 
จากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปยัง 3 แยกเขาขาว และเคลื่อนเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ก่อนจะกลับมาหยุดขบวนที่โรงเรียนบ้านตะโละใส โดยระหว่างการเคลื่อนขบวนมีประชาชนเข้าร่วมสมทบเป็นระยะ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยพบ “ศูนย์กลาง” แผ่นดินไหวในวันที่ 24 ที่ “เชียงราย-น่าน” ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อคจากพม่า

Posted: 28 Mar 2011 11:05 AM PDT

กรมอุตุฯ เผยผลตรวจย้อนหลังพบศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ “เชียงราย-น่าน” รวม 3 จุด เชื่อหลังเหตุแผ่นดินไหวหนักในพม่า กระตุ้นรอยเลื่อนเล็กๆ ในไทย เบื้องต้นอยู่ระหว่างตรวจสอบผลกระทบ แจง ปชช.อย่าตื่นตระหนก แต่อย่าประมาท
 
 
28 มี.ค.54 เวลา 11.00 น. นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้ากลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ และรองโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ได้ตรวจสอบย้อนหลังเพื่อตรวจรายงานการเกิดแผ่นดินไหวจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนืออย่างละเอียดอีกครั้ง และพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากว่า ในคืนวันที่ 24 มีนาคมที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7 ริกเตอร์ ศูนย์กลางรัฐฉาน ประเทศพม่า เพียง 1 ชั่วโมงหลังจากนั้น พบว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณรอยเลื่อนของประเทศไทยรวม 3 จุด ไม่ใช่การเกิดอาฟเตอร์ช็อคจากเหตุแผ่นดินไหวที่พม่าอย่างที่หลายฝ่ายคิด
 
“จุดแรกที่พบคือ เวลา 21.17 น. เกิดแผ่นดินไหวมีศูนย์กลางที่ อ.เวียงสา จ.น่าน ความแรง 4 ริกเตอร์ เพราะการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนปัว จุดที่สองเกิดเวลา 22.09 น. มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ความแรง 3.0 ริกเตอร์ เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน และจุดที่สาม เวลา 22.15 น. มีศูนย์กลางที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ความแรง 3.4 ริกเตอร์ เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน” นายอดิศร กล่าว
 
นายอดิศรกล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ และเชื่อว่าหลังเหตุแผ่นดินไหวอย่างหนักในพม่า น่าจะส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นรอยเลื่อนเล็กๆ ในประเทศไทย ทำให้เคลื่อนตัวเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอีกหลายจุดตามมา รายงานไปยังกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว เบื้องต้นอยู่ระหว่างตรวจสอบผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ขอแจ้งเตือนมายังประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือว่าอย่าตื่นตระหนก แต่อย่าประมาทขอให้เตรียมศึกษาวิธีปฏิบัติตัวป้องกันเพื่อรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวที่อาจมาถึง
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ธัญญ์วาริน” ยื่นศาลปกครองฟ้อง “บอร์ดหนัง-กก.เรตติ้ง” เรียก 4 แสน

Posted: 28 Mar 2011 10:39 AM PDT

เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม กรณี “Insects in the Backyard” ได้เรตห้ามฉาย เผยฟ้องเพื่อตีความ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แถม “ไม่อนุญาตให้ฉาย” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เสียสิทธิ์ทั้งคนทำและคนดู

 
28 มี.ค.54 เมื่อเวลา 13.00 น. ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Insects in the Backyard” ยื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ต่อศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมีนายทรงยศ สุขมากอนันต์ นายกสมาคมผู้กำกับ และนายพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับเรื่องมะหมาสี่ขาครับและไอ้ฟัก ร่วมให้กำลังใจ
 
สืบเนื่องจากกรณี “Insects in the Backyard” ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่งไม่อนุญาตให้ฉาย (ให้เรตห้ามฉาย) ด้วยเหตุผลว่า “เนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี” ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 และแม้ต่อสู้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งกับคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ก็ถูกยกคำร้องอีกครั้ง จนกระทั่งธัญญ์วารินได้จัดพิธีฌาปนกิจภาพยนตร์เรื่องนี้ของตัวเอง ในวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
 
ธัญญ์วาริน กล่าวว่า ตนและเครือข่ายคนดูหนัง ได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ให้ศาลปกครองส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.คำสั่ง “ไม่อนุญาตให้ฉาย” ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3.เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ขัดต่อศีลธรรมอันดี และ 4.การไม่อนุญาตให้ฉายเป็นการลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทั้งผู้สร้างและผู้ชม ขณะที่คนทำก็เสียรายได้ ตนได้เรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท ซึ่งเป็นค่าลงทุนสร้างภาพยนตร์
 
“จริงๆ แล้วอยากฟ้องเรียกบาทเดียว แต่เหมือนไปดูถูกสิทธิและเสรีภาพของคนดู เลยเรียก 4 แสนเป็นค่าโปรดักชั่นที่เราลงทุนไป หนังเราถูกสั่งห้ามฉาย ทั้งที่ยังไม่ได้เข้าฉาย แม้ว่าเราจะเสนอว่าเราเลือกฉายแค่โรงภาพยนตร์เดียว จำกัดรอบ และจำกัดคนดูต้องมีอายุเกิน 20 ปี แต่ก็ถูกห้าม เขาไม่ให้คนดูมีสิทธิ์ว่าจะเลือกดูหรือไม่ดู เป็นการเสียสิทธิ์ทั้งคนทำและคนดู”
 
ผู้กำกับเรื่อง “Insects in the Backyard” กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ไม่เคยให้เหตุผลจริงๆ ว่าถูกสั่งห้ามเพราะอะไร ไม่เหมาะสมในฉากใด บอกเพียงว่า “ผิดศีลธรรมอันดีงาม” แค่ประโยคเดียว จนปัจจุบันก็ยังไม่รู้ หวังว่าการฟ้องศาลครั้งนี้จะได้คำตอบว่าทำไมถึงไม่ได้ฉาย แต่ศาลปกครองคงยังไม่ตัดสินได้เร็วๆ นี้ เนื่องจากได้ยื่นเรื่องผ่านศาลปกครองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย
 
เมื่อถามว่า หากไม่ชนะคดีในชั้นนี้จะทำอย่างไรต่อไป ธัญญ์วาริน กล่าวว่า จะยื่นอุทธรณ์ที่ศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง และยืนยันจะสู้จนถึงที่สุด นอกจากนี้ ธัญญ์วารินยอมรับ มีหลายชาติสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้และติดต่อให้ไปฉาย ซึ่งงานต่อไปที่จะไปฉายคือ เทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยนนานาชาติ ที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี
 
ด้านนายทรงยศ กล่าวว่า มาสนับสนุนธัญญ์วารินที่ยื่นเรื่องนี้ เป็นการทำเพื่อวงการภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์ทุกคน นอกจากนี้ อยากรื้อฟื้นการแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ด้วย “เมื่อธัญญ์วารินเริ่มทำ ก็เหมือนนับ 1 และต้องมีต่อไปเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถพูดได้ว่าจะไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่”
 
เรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนสุรินทร์ผสานวัฒนธรรม “ตอม” ฟื้นลุ่มน้ำห้วยเสนง

Posted: 28 Mar 2011 09:12 AM PDT

วันนี้ ( 27 มี.ค.2554) เวลา 17.00 น. เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำห้วยเสนง ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสุรินทร์ ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ร่วมกับองกรภาคีจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดกิจกรรม “บอกตอมสตึงเสนง” ในงานศิลป์ในสวน ครั้งที่ 6 ขึ้น ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ หรือ สวนใหม่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยการตอม คือการละเว้นจากงานส่วนตัว แล้วไปทำงานส่วนรวม เป็นการปรับประยุกต์วัฒนธรรมเขมรมาใช้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำห้วยเสนง ซึ่งค้นพบจากการวิจัยของเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำห้วยเสนง นำโดย นายหัตถศึกษา สัญจรดี รองนายก อบต.ตาเบา หัวหน้าชุดโครงการวิจัย

 
งานในวันนี้เป็นการบอกตอมให้คนเมืองและเครือข่ายได้รู้ถึงการตอมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5, 8, 11 เมษายน 2554 ที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายลุ่มน้ำห้วยเสนง ซึ่งเป็นลำห้วยที่ไหลผ่าน 3 อำเภอ ในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ อำเภอปราสาท กาบเชิง และอำเภอเมือง
 
นายหัตถศึกษา กล่าวว่า แรกเริ่มการทำงานอนุรักษ์ป่าในชุมชนมีสมาชิกเพียง 16 คน เมื่อปี 2549 เริ่มทำงานแบบจริงจัง มีกิจกรรมทำบุญสายน้ำ หาข้อมูล ประชุมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้เฒ่า ผู้แก่ ให้เล่าประวัติความเป็นมาในหมู่บ้าน การเก็บข้อมูลจาก 8 หมู่บ้าน ต่อมามีชาวบ้านให้ความร่วมมือช่วยกันอนุรักษ์ ปลูกต้นไม้ ดูแลลำห้วยอย่างเป็นระบบ ซึ่งห้วยเสนงเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร และชาวบ้านทำมาหากินพึ่งพิงทรัพยากรริมห้วย คนเมืองใช้การอุปโภคบริโภค
 
ภายในงานประกอบไปด้วย นิทรรศการงานวิจัยลุ่มน้ำห้วยเสนง พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งการแสดงดนตรี ลานอ่านหนังสือ ลานระบาย การแสดงวัฒนธรรมเขมร กันตรึม และกลองยาวชุมชน ร้านจำหน่ายเสื้อ และโปสการ์ดที่ระลึกของกลุ่มหนุ่มสาวสุรินทร์
 



สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตี้ แถลงสถานการณ์ปี 53 ชี้เอเชีย-ตะวันออกกลางมีการประหารชีวิตมากที่สุด

Posted: 28 Mar 2011 08:49 AM PDT

 
 
สถานการณ์โทษประหารชีวิตในปี 2553: ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตกำลังโดดเดี่ยวตัวเองหลังจากทศวรรษแห่งความก้าวหน้าในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต
 
รายงานฉบับใหม่ว่าด้วย “คำพิพากษาประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2553” โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตกำลังโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้นหลังจากการรณรงค์ไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา
 
ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา 31 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ แต่ประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดิอาราเบีย สหรัฐอเมริกา และเยเมนยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก โดยที่หลายกรณีมีความขัดแย้งโดยตรงกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกตัวเลขของการประหารชีวิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี 2553 อย่างเป็นทางการ โดยสรุปได้ว่าจำนวนการประหารชีวิตได้ลดลง ในปี 2553 มีบุคคลถูกประหารชีวิตทั้งหมด 527 คน ขณะที่ในปี 2552 มีคนถูกประหารชีวิตทั้งหมด 714 คน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีประชาชนจีนหลายพันคนถูกประหารชีวิตในปี 2553 ในขณะที่ประเทศจีนได้ปิดบังข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตต่อสาธารณะ
 
“ประเทศส่วนน้อยของโลกยังคงใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นระบบในการประหารชีวิตคนหลายพันชีวิตในปี 2553 การกระทำนี้กำลังท้าทายกระแสการยกเลิกโทษประหารชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก” นายซาลิล เชตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเพิ่มว่า “แม้ว่าการประหารชีวิตกำลังลดน้อยลง แต่ประเทศกลุ่มหนึ่งยังมีคำพิพากษาประหารชีวิตกับโทษคดียาเสพติด อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ใหญ่ที่ยินยอมพร้อมใจกัน การหมิ่นศาสนา การประหารชีวิตนักโทษจากข้อหาเหล่านี้ขัดแย้งกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนห้ามไม่ให้มีการประหารชีวิตกับคดีอาชญากรรมที่ไม่ได้มีความร้ายแรงที่สุด”
 
ภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางเป็นสองภูมิภาคที่มีการประหารชีวิตมากที่สุด
 
ประเทศจีนในปี 2553 ได้ประหารชีวิตประชาชนหลายพันคนกับโทษที่หลากหลายรวมถึงอาชญากรรมที่ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง การประหารชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการไต่สวนทางศาลที่ไม่ได้ดำเนินไปตามหลักมาตรฐานสากล
 
อัตราส่วนจำนวนมากของการประหารชีวิตและการพิพากษาโทษประหารชีวิตในปี 2553 ในประเทศจีน อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน ลาว ลิเบีย มาเลเซีย ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาราเบีย และเยเมนมีความเกี่ยวโยงกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
 
ในปี 2553 ประเทศอิหร่าน ปากีสถาน ซาอุดิอาราเบีย ซูดาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมินเฉยกับข้อห้ามระหว่างประเทศ ที่ไม่อนุญาตให้ประหารชีวิตบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในช่วงเวลาที่บุคคลก่ออาชญากรรม
 
รายงานฉบับนี้เน้นให้เห็นถึงความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นในปี 2553 เมื่อมีหกประเทศและอาณาเขตดาเนินการประหารชีวิตหลังจากได้หยุดใช้มาเป็นเวลานาน โดยมีหนึ่งประเทศขยายขอบเขตการใช้โทษประหารชีวิตให้กว้างขวางมากขึ้น
 
“แม้ว่าสถานการณ์จะมีความเสื่อมถอยเกิดขึ้น แต่พัฒนาการหลายๆ ครั้งในปี 2553 ทำให้การยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ประธานาธิบดีของประเทศมองโกเลียได้ประกาศระงับการใช้โทษประหาร ซึ่งเป็นก้าวแรกของการยกเลิกโทษประหารชีวิต เนื่องจากมองโกเลียระบุให้การลงโทษประหารชีวิตเป็นข้อมูลที่เป็นความลับของทางการ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการระงับการใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลกเป็นครั้งที่สาม ในครั้งนี้มีแรงสนับสนุนมากกว่าครั้งก่อนๆ เป็นอย่างมาก” นายซาลิล เชตตี้กล่าว
 
ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ในบรรดาประเทศที่มีกฎหมายประหารชีวิตแต่ไม่ได้ประหารชีวิตนักโทษมาระยะเวลาหนึ่ง น้อยกว่าครึ่งหนึ่งได้กลับมาประหารชีวิตนักโทษอีกครั้ง โดย 1 ใน 3 ของประเทศเหล่านี้ได้ประหารชีวิตนักโทษทุกปีตลอดสี่ปีที่ผ่านมา
 
นายซาลิล เชตตี้กล่าวว่า “ประเทศใดๆ ก็ตามที่ยังคงการประหารชีวิตนักโทษอยู่เป็นการกระทำที่ขัดต่อเป้าหมายของกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่ยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นเป้าหมายที่สำคัญ”
 
“โลกที่ไร้โทษประเทศชีวิตไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้ คำถามคือจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลกจะเกิดขึ้น” นายซาลิลสรุป
 
บทสรุปสถานการณ์ภูมิภาคต่างๆ
 
ภูมิภาคอเมริกา
 ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังมีการประหารชีวิต ในปี 2553 สหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาประหารชีวิตทั้งหมด 110 คดี ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเพียงหนึ่งในสามของคำพิพากษาที่เกิดขึ้นกลางทศวรรษ 2530 ในเดือนมีนาคม 2554 มลรัฐอิลลินอยส์กลายเป็นมลรัฐที่ 16 ในสหรัฐอเมริกาที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต
 
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
 ในปี 2553 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถยืนยันตัวเลขอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในประเทศจีน มาเลเซีย เกาหลีเหนือ สิงคโปร์ และเวียดนามได้ แม้มีข้อมูลว่านักโทษในประเทศเหล่านี้ได้ถูกประหารชีวิต ตามข้อมูลที่มีจากอีกห้าประเทศในภูมิภาคสามารถยืนยันได้ว่าการประหารชีวิตได้เกิดขึ้น 82 ครั้งในภูมิภาคเอเชีย
 
 ประเทศจำนวน 11 ประเทศที่มีคำพิพากษาประหารชีวิตแต่ไม่ได้บังคับใช้ในปี 2553 คือ ประเทศอัฟกานิสถาน บรูไน-ดารุซาลาม อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มัลดีฟ พม่า ปากีสถาน เกาหลีใต้ ศรีลังกา และไทย
 
 หมู่เกาะแปซิฟิกไม่มีคำพิพากษาประหารชีวิตและการประหารชีวิต
 
 ในเดือนมกราคม 2553 ประธานาธิบดีประเทศมองโกเลียประกาศที่จะระงับการประหารชีวิตในประเทศ โดยทางการมองโกเลียมีความเห็นที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด
 
ภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง
 ปี 2552 เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นในทวีปยุโรปและในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียต แต่เดือนมีนาคม 2553 ทางการเบลารุสประหารชีวิตนักโทษสองคน เบลารุสมีคำพิพากษาการประหารชีวิตสามกรณีในปี 2553
 
ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
 ในปี 2553 คำพิพากษาประหารชีวิตและการประหารชีวิตลดน้อยลงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในปี 2552 แต่อย่างไรก็ตามโทษประหารชีวิตที่ถูกบังคับใช้มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งหลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและกับข้อหาที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “อาชญากรรมที่รุนแรงที่สุด” เช่น การค้ายาเสพติดหรือการคบชู้ คำพิพากษาเหล่านั้นจึงขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
 
 ทางการอัลจีเรีย จอร์แดน คูเวต เลบานอน โมรอคโค/ซาฮาร่าตะวันตก ตูนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พิพากษาลงโทษประหารชีวิตไว้แต่งดเว้นการดำเนินการประหารชีวิต
 
 ทางการอิหร่านยอมรับว่าในปี 2553 มีการประหารชีวิตนักโทษ 252 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงห้าคนและเยาวชนหนึ่งคน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่าอิหร่านมีการประหารชีวิตจำนวนมากกว่า 300 คน โดยที่รัฐบาลจะไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยกรณีส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่เรือนจำวาคิลาบัด ในเมืองมาชแฮด ซึ่งประชาชนเหล่านี้ถูกตัดสินว่ามีความเกี่ยวโยงกับยาเสพติด ประชาชน 14 คนถูกประหารชีวิตอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน คำพิพากษาประหารชีวิตยังคงถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก
 
ภูมิภาคแอฟริกาในเขตทะเลทรายซาฮาร่า
 ในปี 2553 กาบอนเป็นอีกหนึ่งประเทศในทวีปแอฟริกาที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ทำให้ในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในสหภาพแอฟริกาทั้งหมด 16 ประเทศ
 
 ในปี 2553 มีการประหารชีวิตทั้งหมดในสี่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาในเขตทะเลทรายซาฮารา คือ บอตสวานา (1 กรณี) อิเควทอเรียลกินี (4 กรณี) โซมาเลีย (อย่างน้อย 8 กรณี) และซูดาน (อย่างน้อย 6 กรณี)
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฎร์ ฉบับที่ 17: กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์: ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

Posted: 28 Mar 2011 08:46 AM PDT

ในประกาศนิติราษฏร์ฉบับที่ 16 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เขียนวิเคราะห์บทบัญญัติพร้อมทั้งชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ในแง่กฎหมายสารบัญญัติ และการใช้การตีความโดยองค์กรตุลาการไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพื่อสะท้อนภาพให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น ประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับมาตรา 112 ในมิติของกระบวนการทางคดี ซึ่งเป็นปัญหาในแง่มุมของกฎหมายวิธีสบัญญัติ ทั้งนี้นับตั้งแต่การกล่าวโทษ การสืบสวนสอบสวน ไปจนถึงการพิจารณาพิพากษาในชั้นศาล อนึ่ง ควรต้องกล่าวเสียก่อนว่า ความบิดเบี้ยวของลักษณะการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้ บางกรณีเป็นสิ่งสืบเนื่องมาจากตำแหน่งแห่งที่ในประมวลกฎหมายอาญา และปัญหาอันมีมาแต่ชั้นสารบัญญัติของมาตรา 112 เอง ในขณะที่บางกรณีก็เกิดจากทัศนคติ และความไม่เข้าใจอุดมการณ์การปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของผู้บังคับใช้กฎหมายในระดับต่างๆ โดยมิอาจโทษบทบัญญัติได้ ซึ่งหลักๆ พอสรุปปัญหาได้ 4 ประการ ดังนี้...

ประการแรก คือ บุคคลทั่วไปมีอำนาจกล่าวโทษการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ได้

อันที่จริงประเด็นนี้มีผู้กล่าวถึงไว้บ่อยครั้งแล้ว และถือเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงให้อำนาจบุคคลใดก็ได้ โดยไม่จำต้องเป็น "ผู้เสียหาย" ริเริ่มคดีหรือกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ได้ว่ามีบุคคลกระทำความผิดในฐานนี้ขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถริเริ่มคดีเองได้ แม้ไม่มีประชาชนคนใดดำเนินการกล่าวโทษเลยก็ตาม หลักการดังกล่าวนี้อาจไม่มีปัญหาใดๆ เลย หรือมีปัญหาน้อยมาก หากถูกนำไปใช้กับการกล่าวโทษการกระทำความผิดอาญาแผ่นดินฐานอื่นๆ ที่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนในตัวของมันเองในการพิจารณาความถูกผิดอย่างฐานฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกาย หรือลักทรัพย์ ฯลฯ ที่สามารถพิจารณาจากพยานหลักฐานได้อย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นความผิดหรือไม่ กล่าวอีกอย่างก็คือ ฐานความผิดดังกล่าวมานั้นเป็นความผิดที่ใช้วิธีพิจารณาอย่างเป็น "ภาวะวิสัย" ไม่ใช่เป็นเรื่องตาม "อัตวิสัย" ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่การให้อำนาจบุคคลใดกล่าวโทษก็ได้นี้จะเกิดปัญหาทันทีเมื่อนำมาใช้กับความผิดอย่างการหมิ่นประมาท หรือการดูหมิ่น เพราะล้วนเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการแสดงข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นโดยบุคคล ซึ่งการจะพิจารณาว่าถ้อยคำหรือท่าทางที่ถูกแสดงออกมานั้นเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ ย่อมผูกโยงอยู่กับทัศนคติ แนวคิด มุมมอง และความเชื่อของบุคคลแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกัน บางคนมองว่าพูดหรือทำอย่างไรในเรื่องนี้ก็เป็นความผิด ในขณะที่บางคนเห็นว่าถ้อยคำเช่นนั้นไม่มีทางเป็นความผิดได้เลย ฉะนั้น ในทางที่ถูกต้องตามหลักการแล้ว ผู้มีอำนาจในการพิจารณาเบื้องต้นว่าข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นความผิด และเสียหายถึงขนาดต้องนำความไปร้องทุกข์หรือไม่ จึงควรหมายเฉพาะ "ผู้เสียหาย" ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนั้นจริงๆ เท่านั้น แต่เมื่อมาตรา 112 มิได้วางอยู่บนหลักการที่ควรจะเป็นดังกล่าว ผลอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ ทั้งในแง่ของจำนวนคดีความ หรือการแจ้งความโดยขาดเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนจึงย่อมเกิดขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ด้วยสถิติจำนวนการแจ้งความคดีประเภทนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงยามที่เกิดความสับสนวุ่นวายทางการเมือง คงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ในที่สุดแล้ว มาตรานี้ได้ถูกกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ รัฐบาล หรือบุคคลอื่นใดผู้กุมอำนาจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม หรือของประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตน อันมีลักษณะของการใช้บทบัญญัติอย่างไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ประการที่สอง หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาในเรื่องต่างๆ ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มักถูกยกเว้น หรือไม่ได้รับการปฏิบัติโดยเคร่งครัดจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย หากปรากฎว่าผู้ต้องหาถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112

นับเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ปรัชญาการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาในประเทศไทยได้ถูกปรับเปลี่ยนจากการ มุ่งเน้นที่การปราบปรามอาชญากรรม ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างรวดเร็ว (The Crime Control Model) ไปสู่การให้น้ำหนักกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินคดีอาญาจนกว่าจะถูกพิพากษาตัดสิน (The Due Process Model) หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายเรื่องซึ่งขยายความมาจากหลักสากลที่ว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำความผิด“ (Presumption of Innocence) อาทิ หลักไม่รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย, ผู้ต้องหาต้องได้รับการแจ้งสิทธิต่างๆ ในการต่อสู้คดี, สิทธิในการมี พบ หรือปรึกษาทนายความ, สิทธิในการแจ้งข่าวให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบ หรือมาร่วมฟังการสอบปากคำ ฯลฯ ถูกเพิ่มเติมไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับปรากฎว่าผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการประกันสิทธิดังกล่าว หรือมิเช่นนั้นก็อาจถูกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกระบวนการที่ไม่ปรากฎอยู่ในตัวบทกฎหมาย

ในประเด็นนี้ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ คดีที่ไม่เป็นคดี โดยเหตุเกิดจากหญิงสาวคนหนึ่งถูกประชาชนกลุ่มหนึ่งจับและนำตัวส่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยเหตุแจกเอกสารที่น่าสงสัยว่าอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่ชัดเจนบางอย่าง หรือความอ่อนด้วยเหตุผลที่จะใช้สนับสนุนว่าเอกสารเหล่านั้นมีเนื้อหาเป็นความผิด ทั้งประชาชนผู้จับ และพนักงานสอบสวนจึงไม่ได้แจ้งข้อหาใดๆ แก่หญิงสาวที่ถูกจับ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า เธอได้ถูกพนักงานสอบสวนสอบถามเรื่องราว รวมทั้งตรวจสอบทัศนคติที่มีต่อสถาบันฯ อยู่ที่สถานีตำรวจนานกว่า 5 ชั่วโมง ภายหลังการสอบถามและทำบันทึกพนักงานสอบสวนแจ้งว่า เธอควรลงนามรับรองในใบบันทึกด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะขอตรวจสอบที่พักอาศัย แต่คำถามก็คือ พนักงานสอบสวนใช้อำนาจตามมาตราใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการ กักตัว สอบปากคำ หรือกระทั่งขอตรวจสอบที่พักอาศัยอันถือเป็นที่รโหฐานที่ตามปกติต้องมีหมายค้น ทั้งที่ไม่มีการแจ้งข้อหา เรื่องที่สอง คือ คดีหนึ่งที่เป็นคดี และจำเลยเพิ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ประกอบมาตราอื่นให้จำคุกถึง 13 ปี แต่น้อยคนที่จะทราบข้อเท็จจริงว่า ในชั้นสอบสวนของคดีนี้ ผู้ต้องหาใช้สิทธิร้องขอติดต่อญาติ หรือคนที่ตนเชื่อใจได้หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวน อีกทั้งยังมีการพูดกล่าวให้ลงนามรับรองเอกสารข้อกล่าวหาที่น่าสงสัยในเรื่องความสมัครใจของผู้ต้องหา เพราะในขณะถูกขอให้รับรองเอกสารเหล่านั้น บุตรชายของผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมดูแลของพนักงานสอบสวน

นอกจากที่ผ่านมา ผู้ต้องหาคดี 112 มักไม่ค่อยได้รับความคุ้มครอง หรือได้รับหลักประกันสิทธิอย่างเต็มที่และเสมอภาคในกระบวนวิธีพิจารณาในฐานะคดีอาญาปกติ แล้ว ปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาที่อยู่ในหมวดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ คดีที่มีข้อหาเกี่ยวด้วยมาตรานี้จำนวนมากจึงกลายเป็น "คดีพิเศษ" ที่มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และสามารถใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนแบบพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ได้ ซึ่งควรต้องทราบว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้มีบทบัญญัติยกเว้นหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่อีกหลายประการ

กรณีต่างๆ ดังกล่าวมา ยังมิพักได้กล่าวถึงสิทธิในการขอประกันตัว หรือขอปล่อยชั่วคราวซึ่งรับรองไว้ในกฎหมายมานานแล้วตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2540 ในฐานะ "หลักการ" ที่ควรต้องพิจารณาให้ประกันตัวเสมอหากไม่มีเหตุต้องด้วยข้อยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่ที่ผ่านมา การปล่อยชั่วคราวกลับถูกนำมาใช้แบบไม่เสมอภาค ใช้ในสถานะเสมือนเป็น "ข้อยกเว้น" นำมาใช้เพียงเท่าที่จำเป็น หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียได้กับผู้ต้องหาคดี 112 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องหาที่ไม่มีตำแหน่งสำคัญใดๆ หรือไม่ใช่บุคคลสาธารณะ มักไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หรือถ้าหากต้องการประกันตัวก็ต้องจ่ายหลักประกันจำนวนสูงมากกว่าคดีอื่นๆ ด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีที่มีความร้ายแรง เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์กว่าอย่างการฆ่า หรือทำร้ายร่างกายหลายคดี กลับได้รับอนุญาตให้ประกันตัวได้โดยไม่ติดด้วยเหตุผลดังกล่าวมา

ประการที่สาม มีเหตุอันชวนสงสัยว่า เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา 112 และของอุดมการณ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลังมาตรานี้แล้ว กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการข่มขู่ ประชาชน มากกว่าเป็นไปเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

ในช่วงที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ คงพบการแถลงข่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐบ่อยครั้งทำนองว่า ขณะนี้มีรายชื่อผู้กระทำความผิดอยู่ในข่ายว่าน่าจะกระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ (หรือถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าคดี "ล้มเจ้า") และทางการได้ออกหมายจับคนกลุ่มดังกล่าวไปจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ในที่สุดกลับไม่มีข้อเท็จจริงปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหมายนั้นกับใครอย่างจริงจัง คงตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับการแถลงข่าวเกี่ยวกับการออกหมาย ปรากฎการณ์เช่นนี้นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง คำถามก็คือ หมายจับที่ว่านี้ แท้ที่จริงแล้วมีหน้าที่อะไรกันแน่ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการที่เจ้าพนักงานไม่ดำเนินการตามหมาย ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วน่าจะดำเนินการได้ (ระบุตัวผู้กระทำความผิด) เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา "หมายจับ" คงมีผลบังคับอยู่ตลอดไปจนกว่าจะจับได้ หรือศาลถอนหมายคืน ดังนั้น ในทางกฎหมายย่อมไม่มีปัญหา หากเจ้าพนักงานผู้ปฎิบัติการตามหมายจะใช้เวลานานกับหมายนั้น ตราบใดที่คดียังไม่ขาดอายุความหมายจับในคดีนั้นก็ยังคงใช้บังคับได้ แต่ในทางปฏิบัติ(ที่ควรจะเป็น) ข้อขัดข้อง หรือความจำเป็นที่ต้องใช้เวลานานเพื่อกระทำการตามหมายในคดีอื่นๆ มักเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานหาตัวผู้ต้องหาเหล่านั้นไม่พบ อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจปฏิบัติการให้เป็นไปตามหมายได้โดยเร็ว หรือภายในเวลาอันเหมาะสม (ต่อปัญหาเรื่องนี้ เคยเขียนถึงบ้างแล้วกรณีการออกหมายจับ และการจับกุม จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท ณ สนามบินสุวรรณภูมิ) จริงอยู่ที่ว่า ปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดเป็นข้อบังคับว่า เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบหมายจับควรต้องปฏิบัติการตามหมายโดยไม่ชักช้า หรือดำเนินการจับในเวลาแรกที่กระทำได้ แต่หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการจับซึ่งมีเป้าหมายหลักสำคัญ 4 ประการ (ตามเหตุแห่งการออกหมายจับ) แล้ว คือ

1) เพื่อนำตัวผู้ที่มีหลักฐานน่าจะเป็นผู้กระทำความผิดมาควบคุมหรือส่งฟ้องต่อศาล

2) เพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นก่อเหตุร้ายหรือกระทำความผิด

3) เพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นไปข่มขู่พยาน หรือยักย้ายหลักฐาน และ

4) เพื่อดำเนินการแก่ผู้ต้องหาตามกฎหมายกำหนด (เช่น แจ้งข้อหา หรือสอบปากคำ ฯลฯ)

การปล่อยหมายให้เนิ่นช้าไปทั้งที่ทำได้ จึงไม่น่าจะชอบด้วยเจตนารมณ์แห่งการออกหมาย หากกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว การประกาศว่ามีหมายจับ แต่ไม่ยอมจับทั้งที่ทำได้ หรือการพยายามประโคมข่าวถึงการออกหมายจับ แทนที่จะแถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาตามหมาย และกระบวนการต่อไปภายหลังจับ จึงมิอาจคิดเป็นอื่นไปได้เลย นอกจากรัฐกำลังใช้กฎหมาย และบทบัญญัติว่าด้วยการออกหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ และสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ให้เกิดขึ้นทั้งกับคนที่คาดหมายได้ว่าตนอาจมีชื่ออยู่ในหมายจับ และทั้งประชาชนโดยทั่วไป

ประการที่สี่ นอกจากปัญหาในแง่การใช้การตีความของศาลที่ไม่ใคร่จะสอดคล้องกับระบอบการปกครองในยุคสมัยปัจจุบัน (ตามที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เขียนถึงไปแล้ว) แล้ว ปัญหาข้อถกเถียงอีกเรื่องหนึ่งในชั้นพิจารณาคดีของศาล ก็คือ ได้ปรากฎว่าคดี 112 จำนวนไม่น้อยถูกทำให้เป็นเรื่องลึกลับที่ประชาชนทั่วไปไม่อาจรับรู้หรือ ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของศาลได้ ทั้งที่อำนาจฟ้องก็ดี และทั้งเนื้อหาแห่งคดีก็ดี มีลักษณะของความสาธารณะ

หนึ่งในหลักการทั่วไปของการพิจารณาคดีอาญาในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การพิจารณาคดีในชั้นศาลต้องกระทำโดยเปิดเผย (มาตรา 172 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) คำว่า "เปิดเผย" ในที่นี้ หมายรวมทั้งเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปที่แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับคดีโดย ตรงเข้าฟังการพิจารณาคดีในศาลได้ และเปิดกว้างให้สื่อมวลชนรายงานข่าวหรือสรุปการพิจารณาคดีเพื่อเผยแพร่โดยทั่วไป เท่าที่ไม่ทำให้เกิดอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาล ทั้งนี้เพื่อแสดงความโปร่งใสของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานและการใช้ดุลพินิจของศาลได้ อย่างไรก็ตาม "เพื่อประโยชน์แห่งความสงเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน" ศาลไทยมีอำนาจสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับได้ ตามมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสั่งเช่นนี้อาจมาจากการร้องขอโดยคู่ความ หรือศาลสั่งเองโดยคู่ความไม่ได้ขอก็ได้ ที่ผ่านมา คดีที่มักพิจารณาลับ ก็อาทิ คดีข่มขืนกระทำชำเรา คดีครอบครัว คดีที่มีเด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย หรือที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ผลของการพิจารณาคดีลับนี้ นอกจากประชาชนทั่วไปเข้าฟังในศาลไม่ได้ และห้ามสื่อมวลชนโฆษณาหรือทำข่าวแล้ว ในคำพิพากษาฎีกาที่เผยแพร่ก็จะไม่มีการระบุรายละเอียดของคดีที่พิจารณาลับไว้ด้วย นั่นย่อมหมายความว่าการใช้ดุลพินิจโดยศาลในเรื่องนั้นมิอาจถูกตรวจสอบโดยประชาชนได้เลย

ข้อที่ควรพิจารณาในชั้นนี้ ก็คือ คดี 112 ควรหรือไม่ที่ให้มีการดำเนินการพิจารณาโดยลับ ดังกล่าวไปแล้วว่าการกระทำที่เกี่ยวกับการแสดงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับแนวคิด และทัศนคติส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ฉะนั้นเมื่อการกระทำนี้ถูกเสนอให้เป็นคดีความ จึงย่อมกลายเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาโดยเด็ดขาด เรื่องที่เป็นอัตวิสัยอย่างมากเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดที่มีความละเอียดอ่อน อีกทั้งมีอัตราโทษสูงมากอย่างกรณี 112 ผู้พิพากษาจึงยิ่งต้องแสดงความโปร่งใสว่าไม่ได้ใช้อำนาจไปอย่างอำเภอใจ หรือถือตามอคติส่วนตน ต้องระมัดระวังการใช้ดุลพินิจอย่างมาก การไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลในเรื่องนี้เลย จึงไม่น่าจะชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

กล่าวโดยสรุป ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า นอกจากสาเหตุในเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของมาตรา 112 กล่าวคือ บัญญัติอยู่ในส่วนความมั่นคงของรัฐ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับลักษณะความผิด และระดับความรุนแรงของผลจากการกระทำ แล้ว ปัญหาในประการต่างๆ ดังกล่าวมาอีกอย่างน้อย 3 ปัญหา (ยกเว้น ปัญหาการให้อำนาจบุคคลทั่วไปกล่าวโทษได้) เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยทัศนคติของบรรดาผู้บังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมในระดับชั้นต่างๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพราะหลักประกันสิทธิผู้ต้องหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยชั่วคราว การออกหมายจับตามเหตุแห่งกฎหมาย หรือการพิจารณาคดีต้องกระทำโดยเปิดเผย ล้วนเป็นหลักทั่วไปที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภายใต้ปรัชญาการดำเนินคดีอาญาด้วยความเป็นธรรมในทุกขั้นตอน (Due Process) ย่อมสามารถ หรือควรนำมาปรับใช้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยสำหรับความผิดทุกประเภทที่อยู่ในบริบทแวดล้อมแบบเดียวกัน แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หรือย่อหย่อนอย่างมากกับคดี 112

ดังนั้น ตราบใดที่ในระบบกฎหมายไทยยังคงความผิดในฐานหมิ่นประมาทสถาบันฯ หรือความผิดตามมาตรา 112 ไว้ในสถานภาพเช่นนี้ ตราบใดที่ทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้รับการปรับแก้ให้ถูกต้อง สอดคล้องกับอุดมการณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังมองเห็นผู้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นซึ่งถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 เป็นอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์ หรือถึงขั้นบ่อนทำลายชาติกระทบกระเทือนความมั่นคง หรือตราบใดที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ยังมีแนวคิดเหมือนอยู่ในยุคการปกครองในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้น้ำหนักกับการต้องแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีมากแบบเกินไปมากกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กระทั่งเสรีภาพในชีวิตร่างกายของประชาชน หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยสำหรับผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ก็คงเป็นเรื่องไร้ความหมายอยู่ต่อไป.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หนังสือ คือ จินตนาการ แนะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก

Posted: 28 Mar 2011 07:28 AM PDT

เนื่องในวันหนังสือเด็กแห่งชาติ และสัปดาห์แห่งการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนร่วมงานร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 1 – 3 เม.ย.54

 
 
มีคำกล่าวว่า “จินตนาการ ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต และหนังสือ คือการเปิดโลกแห่งความฝันและจินตนาการ” ฉะนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การอ่านหนังสือ ได้ประโยชน์และให้คุณค่ากับชีวิตมากมายโดยไม่จำกัดเพศและวัย บางคนสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเพราะได้แรงบันดาลใจจากหนังสือดีๆ เพียงเล่มเดียว
 
“หนังสือ คือ ชีวิต และความสุข ทุกครั้งที่เปิดหนังสืออ่าน คือ เปิดชีวิตที่มีความสุข” เป็นคำกล่าวของ คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและในฐานะนักแต่งนิทาน นักเล่านิทานและนักเขียน ที่ได้กล่าวแสดงความเห็นถึงประโยชน์จากการอ่านหนังสือไว้อย่างน่าสนใจ
 
คุณเรืองศักดิ์ เล่าว่า ชีวิตเติบโตมากับหนังสือ เพราะอิทธิพลที่ได้รับการปลูกฝั่งจากครอบครัว ด้วยนิสัยรักการอ่านของพ่อแม่ การได้ฟังแม่อ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นวนิยาย หรือการเล่านิทานให้ฟังตั้งแต่เด็กๆ เป็นประจำ ก่อให้เกิดจินตนาการไปกับตัวหนังสือที่ไม่รู้จบ และทำให้รู้จักหนังสือดีๆ มากมาย เช่น ผู้ชนะสิบทิศ และ ดาวลูกไก่ เมื่อโตขึ้นยังสนุกไปกับการอ่าน บางครั้งการได้อ่านซ้ำยังช่วยย้อนทวนบางสิ่งที่อาจพลาดไป และทุกครั้งที่ได้อ่านก็จะได้แง่คิดดีๆ ทุกครั้ง การอ่านจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หรือ อาจพูดได้ว่า การอ่านได้ให้ชีวิตทั้งชีวิต และชีวิตนี้ก็เป็นหนี้ตัวหนังสือ
 
“การได้ฟังแม่อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ฟังตอนเด็กๆ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก เมื่อได้มาทำงานร่วมกับเด็กๆ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี การได้เป็นผู้อ่านหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง นอกจากเด็กๆ จะมีความสุขแล้ว ตัวเราก็มีความสุขไปด้วย จะเห็นว่า ความสุขนั้นหาได้ไม่ยากเลย เมื่อเราได้เปิดหนังสือ”
 
สอดคล้องกับคุณนุสบา ปุณณกันต์ และ ภญ.ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล ดารานักแสดงและพิธีกรชื่อดัง ในฐานะตัวแทนพ่อแม่รุ่นใหม่ซึ่งเป็นอีกคนที่รักการอ่านตั้งแต่เด็ก และเห็นความสำคัญในเรื่องการอ่านอย่างมาก เมื่อวันนี้ที่มีลูกก็ได้ปลูกฝังการอ่านโดยเล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ตั้งครรภ์ และปัจจุบันก็ยังเล่านิทานให้ลูกฟังอยู่
 
คุณนุสบา บอกว่า การอ่าน คือพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ จึงต้องสร้างนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็กให้กับลูก ไม่เช่นนั้นเด็กจะไม่มีโอกาสที่จะเริ่มหยิบหนังสืออ่าน และไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กเข้าโรงเรียน แต่ควรเริ่มที่บ้าน และยอมรับว่านิสัยรักการอ่านของตนเกิดจากแม่ ทำให้ตนเองได้รับการถ่ายทอดการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน
 
“การอ่านทำให้เกิดภูมิปัญญาพื้นฐานที่เราจะนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ดีขึ้น มองอะไรลึกซึ้งขึ้น ไม่ว่าอาชีพใดก็ต้องอ่าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ นำมาคิด วิเคราะห์ได้ จะมากหรือน้อยต่างกันไป เรื่องการอ่านนั้น ไม่มีวันหยุด ไม่ว่าจะวัยเด็ก วัยทำงาน หรือวัยชรา เพราะการอ่านจะเป็นสิ่งที่จะเสริมสร้าง บูรณาการ ให้สมองมีการเคลื่อนไหว ได้คิด และมีจินตนาการที่ไม่หลับใหล โดยเฉพาะกับวัยชรา ไม่เสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ หรือ ความจำเสื่อม”
 
เช่นเดียวกับ ภญ ณัฐกานต์ พิธีกรรายการ ชูรักชูรส กล่าวว่า หนังสือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ให้คุณค่ากับชีวิตมากมาย เหมือนได้เปิดโลกอีกโลกหนึ่ง พร้อมแนะนำพ่อแม่รุ่นใหม่อ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง หรือ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงขวบปีแรก เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กนั้นมีนิสัยรักการอ่าน
 
ขณะที่คุณบรูไท พัลลภดิษฐ์สกุล ตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ จากเวทีการประกวด TK Young Writer Academy ครั้งที่ 2 ยอมรับว่า จุดเริ่มต้นรักการอ่านเพราะได้รับการซึมซับจากพ่อที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันจากนั้นก็เริ่มไปสู่การอ่านหนังสือประเภทอื่นๆ และการก้าวสู่เวทีประกวดการเขียนหนังสือประเภทสารคดี และชีวประวัติบุคคล ที่ TK park จัดขึ้นนั้น เกิดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต หันมาอ่านหนังสืออย่างจริงจังมากขึ้น
 
“หนังสือเล่มแรกที่ตั้งใจอ่านจนจบเพื่อการประกวดครั้งนี้ คือ หลายชีวิต ของ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ นำมาสู่การเข้าประกวดดังกล่าว ตอนแรกคิดหวังเพียงเงินรางวัลเท่านั้น แต่จากรางวัลชมเชยที่ได้ ก็ทำให้ได้รับโอกาสและเป็นใบเบิกทางให้กับชีวิต ได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักเขียนอย่างเต็มรูปแบบ และ ครีเอทีฟให้กับรายการสารคดีอีกหลายรายการ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก”
 
แม้การเข้าสู่เส้นทางนักเขียนอย่างมืออาชีพขณะที่อายุยังน้อย เมื่อเทียบกับสายงาน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้หล่อหลอมคุณบูรไทนั้น เริ่มต้นจากการอ่าน นำมาสู่การค้นหาข้อมูล การวิเคราะห์ และการเขียน ทำให้เรียนรู้ได้รวดเร็วกว่า จึงได้รับโอกาสมากกว่า .....และที่เป็นเช่นนั้น ได้ ก็เพราะ ‘หนังสือ’
 
ทั้งนี้ เพื่อช่วยสร้างกระแสการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้น เนื่องในวันหนังสือเด็กแห่งชาติ และสัปดาห์แห่งการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก อุทยานการเรียนรู้ TK park ขอเชิญร่วมงานร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2554 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน 2554 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หรือ สามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดกิจกรรมได้ที่ www.tkpark.or.th
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนักข่าวฉานขอรับบริจาคช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในรัฐฉาน

Posted: 28 Mar 2011 07:11 AM PDT

“คนเครือไท” ศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยของสำนักข่าว S.H.A.N. ขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่รัฐฉานภาคตะวันออก โดยจะมีการแจ้งยอดบริจาค และผลการดำเนินงานเป็นระยะ

 
ที่มาของภาพ: akm-kuntha.blogspot.com

(28 มี.ค. 54) "คนเครือไท" ศูนย์ข่าวภาคภาษาไทย ในสำนักข่าวฉาน S.H.A.N. (Shan Herald Agency for News) แจ้งผู้สื่อข่าวประชาไทว่า จากเหตุแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือน 6.8 ริคเตอร์ เมื่อคืนวันพฤหัสบดี 24 มี.ค.2554 มีจุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร บริเวณเทือกเขาในอำเภอท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานภาคตะวันออก ห่างจากชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 50 กม. นั้น ได้สร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนในพื้นที่นับร้อยหลัง มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตหลายร้อยคน ขณะที่มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภคนับพันคน

โดยเมืองและหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือ เมืองท่าเดื่อ, เมืองเลน, บ้านจากูหนี่, บ้านหลวง, บ้านหมากตาน, บ้านหมากเขือ, บ้านล้านตอง, บ้านโต้ง, บ้านหัวนา, บ้านหมากอ๋างขาง, บ้านนายาว ทั้งหมดอยู่ในกิ่งอำเภอท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก

ศูนย์ข่าวคนเครือไท ในสำนักข่าวฉาน จึงขอเรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกำลังศรัทธา โดยเงินที่ได้จากการบริจาคจะส่งมอบให้กับองค์กร หรือ กลุ่ม หรือ บุคคลในพื้นที่ที่ได้รับความไว้วางใจนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป โดยศูนย์ข่าวคนเครือไท จะประกาศแจ้งยอดบริจาครวมถึงการให้ความช่วยเหลือผ่านทางเว็บไซท์ (www.khonkhurtai.org) เป็นระยะๆ โดยสามารถบริจาคได้ที่ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี หางดง ชื่อบัญชี SHAN (ฉาน) เลขที่บัญชี 402-387907-6 หรือ บริจาคผ่านทางธนาณัติในชื่อ SHAN P.O.Box 15, Nong Hoi P.O., Chiangmai 50000, Thailand

โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 081-5312837 หรืออีเมล์ shan@cm.ksc.co.th หรือ shan_th@cm.ksc.co.th

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บล็อกเกอร์ในพม่าเผยภาพ "เมืองเล็น" หลังเหตุแผ่นดินไหว

Posted: 27 Mar 2011 04:07 PM PDT

บล็อกเกอร์ในพม่าลงภาพเมืองเล็น อยู่ห่างจากชายแดนไทย-พม่าที่เมืองท่าขี้เหล็กไปราว 60 กม. หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. นอกจากอาคารบ้านเรือนจำนวนมากจะทรุดตัวลงมาแล้ว พระธาตุที่วัดในเมืองเล็นก็พังเอียงลงมาทั้งองค์

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา บล็อกเกอร์ในพม่าใช้ชื่อว่า “Aung Kyaw Min” [1] , [2] ได้ลงภาพความเสียหายหลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 24 มี.ค. ในเว็บบล็อกของเขา โดยภาพชุดล่าสุดดังกล่าวเป็นภาพความเสียหายที่ตำบลเมืองเล็น ห่างจากกิ่งอำเภอต้าเหล่อ หรือท่าเดื่อ จ.ท่าขี้เหล็ก ในประเทศพม่า ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 20 กิโลเมตร

โดยนอกจากอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายแล้ว เจดีย์ที่วัดแห่งหนึ่งที่เมืองเล็น ก็ได้รับความเสียหายด้วย นอกจากนี้บล็อกเกอร์รายดังกล่าวยังเผยให้เห็นภาพเต็นท์พักชั่วคราวสำหรับผู้ ประสบภัยแผ่นดินไหว และภาพประชาชนในพื้นที่ขับรถกระบะตระเวนแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วย

โดยก่อนหน้านี้บล็อกเกอร์รายดังกล่าว ได้เผยภาพความเสียหายที่เมืองต้าเหล่อ หรือ ท่าเดื่อ หลังแผ่นดินไหวเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. โดยเมืองท่าเดื่อ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางจากเมืองท่าขี้เหล็ก ไปเมืองเชียงตุง ห่างจากเมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือราว 48 กิโลเมตร โดยสะพานข้ามแม่น้ำได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้สัญจรได้ ขณะที่อาคารบ้านเรือนในเมืองพังเสียหาย [ข่าวก่อนหน้านี้]

ทั้งนี้เมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริคเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ใกล้กับท่าเดื่อ-เมืองเล็น บริเวณรัฐฉานภาคตะวันออก ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ราว 48 กม. โดยหลังเกิดเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากทั้งที่เมืองท่าเดือ เมืองพะยาก เมืองเล็น และบ้านจากูนี่ 

สภาพเต็นท์พักชั่วคราว ของผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เมืองเล็น รัฐฉานภาคตะวันออก (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

ความเสียหายหลังแผ่นดินไหว ที่เมืองเล็น รัฐฉานภาคตะวันออก (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

ความเสียหายหลังแผ่นดินไหว ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองเล็น รัฐฉานภาคตะวันออก (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

สภาพบ้านเรือนที่เมืองเล็น ซึ่งเสียหายหลังแผ่นดินไหว (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)


สภาพบ้านเรือนที่เมืองเล็น ซึ่งเสียหายหลังแผ่นดินไหว (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

พิธีบำเพ็ญกุศลศพผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว ที่เมืองเล็น (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

เสาไฟฟ้าหักโค่น หลังเหตุแผ่นดินไหว ที่หน้าวัดหลวง ในเมืองเล็น รัฐฉานภาคตะวันออก (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

สภาพเต็นท์พักชั่วคราว ของผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เมืองเล็น รัฐฉานภาคตะวันออก (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

เจดีย์ที่วัดแห่งหนึ่งที่เมืองเล็น หักโค่นลงมาทั้งองค์ (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

ประชาชนที่เมืองเล็นช่วยกันแจกจ่ายสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

ประชาชนที่เมืองเล็นช่วยกันแจกจ่ายสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

ประชาชนที่เมืองเล็นช่วยกันแจกจ่ายสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ที่มาของภาพ: Aung Kyaw Min/akm-kuntha)

 

ที่มาของภาพ: บล็อกเกอร์ Aung Kyaw Min/akm-kuntha [1] , [2]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น