โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

อนุฯ คอป.ลงพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่ครั้งแรก ขอข้อมูลชาวบ้านค้นปม 15 ศพบ่อนไก่

Posted: 25 Mar 2011 12:17 PM PDT

25 มี.ค.54 เวลาประมาณ 14.30 น.คณะอนุกรรมการชุดที่ 4 ตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ  บริเวณบ่อนไก่-สีลม สวนลุมพินี-ซอยรางน้ำ-สามเหลี่ยมดินแดงและการเผาอาคารใน กทม. ภายใต้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เป็นครั้งแรก โดยมีชาวบ้านในชุมชน 30-40 คนเข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงแรกของการแนะนำตัวของคณะอนุกรรมการ ชาวชุมชนบางส่วนได้เริ่มต้นด่าทอรัฐบาล ทหาร รวมถึงต่อว่าและแสดงความไม่ไว้วางใจคณะอนุกรรมการฯ โดยตั้งคำถามถึงความล่าช้าเกือบ 1 ปีกว่าจะมีการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ทางอนุกรรมการฯ ได้ชี้แจงเหตุผลว่ามีการเก็บข้อมูลจากทุกฝ่ายมาโดยตลอดแล้วจึงลงพื้นที่เก็บข้อมูล แล้วสุดท้ายจะประมวลข้อมูลที่ได้ส่งคณะกรรมการชุดใหญ่ จากนั้นชาวชุมชนจึงยอมเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเชื่อว่าทหารเป็นผู้ยิงประชาชนจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย 

ทั้งนี้ มีการกระจายตัวเก็บข้อมูลกลุ่มย่อยโดยอาสาสมัครนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ เอแบค เซนจอห์น ราชภัฏ ราว 20 คน จากนั้นตัวแทนอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมนายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง วัยกว่า 50 ปีอาศัยอยู่ในแฟลตชุมชนบ่อนไก่ ซึ่งถูกยิงหน้าชุมชนบ่อนไก่ขณะรอรถเมล์จะไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 จนเป็นอัมพาต จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงให้ชาวบ้านชี้จุดที่เชื่อว่ามีสไนเปอร์อยู่บนตึกริมถนนพระราม 4

ระหว่างการให้ข้อมูล นายสมพงษ์ บุญธรรม กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตที่บ่อนไก่มีจำนวน 15 คน ไม่ใช่ 9 คนอย่างที่อนุกรรมการฯ เข้าใจ ซึ่งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นบางส่วนเป็นคนในชุมชนที่ไปซื้อของที่เซเว่นอีเลฟเว่น ไม่ได้ใส่เสื้อแดง เช่น นายบุญมี เริ่มสุข ที่ถูกยิงและรักษาตัวอยู่เกือบ 2 เดือนก่อนเสียชีวิต และการยิงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ช่วงบ่าย

ขณะที่นางนารี แสนประเสริฐศรี มารดานายมานะ แสนประเสริฐศรี หน่วยกู้ชีพที่ถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิตขณะเข้าไปช่วยคนเจ็บได้นำรูปศพของลูกชายมาด้วย และเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองต้องคอยหลบลูกกระสุนเมื่อออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นหน้าชุมชน และเมื่อรู้ข่าวว่าลูกชายถูกยิงเธอออกไปรับศพลูกและไม่สามารถกลับเข้าชุมชนได้เพราะมีการยิงตลอดเวลา ขณะที่ชุมชนก็ถูกตัดน้ำตัดไฟหลายวัน

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการชุดนี้เป็นคณะที่ 4 ในจำนวน  5 ชุดที่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีต่างๆ ได้แก่ ชุดที่ 1 รับผิดชอบเรื่องภาพรวมความขัดแย้ง สุรปตัวเลขผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย รวมถึงผู้ต้องหาในคดีที่เกิดขึ้น ชุดที่ 2 รับผิดชอบตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ 6 ศพวัดปทุมฯ และเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 รวมถึงการปะทะกันที่สถานีไทยคม ชุดที่3 รับผิดชอบตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของนักข่าวญี่ปุ่น นักข่าวอิตาลี และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ชุดที่ 5 รับผิดชอบตรวจสอบกรณีการเผาสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด นำโดยนายรัษฎา มนูรัษฎา ประธานอนุกรรมการฯ และคณะ ลงพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่เพื่อสอบถามและบันทึกข้อเท็จจริงจากประชาชนในชุมนุมที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนพฤษภาคม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ชาวชุมชนตั้งวงถก 'ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ' ที่อยากเห็น

Posted: 25 Mar 2011 10:48 AM PDT

ความเป็นมา

จากความพยายามของทางจังหวัดโดยการบัญชาของผู้ว่าราชการฯ ที่จะนำกองกำลังเข้าไปรื้อถอนอาคารเพื่อดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงตลาดชาวเขาดอยมูเซอ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 นั้น ชาวบ้านชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ดอยมูเซอกว่า 5 หมู่บ้าน ซึ่งคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานดังกล่าว ได้รวมตัวกันขัดขวางมิให้มีการเข้ามารื้อถอนอาคาร จนเกือบจะมีการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับคำสั่งให้เข้าปฏิบัติภารกิจรื้อถอน

            กระทั่งทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ลงพื้นที่มาพบปะพูดคุยกับแกนนำชาวบ้าน ซึ่งทำให้ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะความบกพร่องและไม่ถี่ถ้วนในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าฯ ด้วยเหตุดังกล่าวผู้ว่าฯ จึงได้กล่าวขอโทษแกนนำแทนเจ้าหน้าที่ พร้อมกับนัดแกนนำชาวบ้านไปหารือร่วมกันอีกครั้งที่ศาลากลางจังหวัดตากในวันรุ่งขึ้น

ในวันที่ 23 มีนาคม 2554 ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ราว 500 คน จาก 6 หมู่บ้าน ได้รวมตัวกันเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดตาก และได้ส่งตัวแทนราว 10 คน เข้าร่วมประชุมหารือกับทางจังหวัด ทั้งนี้มีตัวแทนผู้ค้าขายในตลาดเก่าบางส่วนซึ่งเป็นชาวพื้นราบที่ขึ้นมาทำการค้าขายและชาวม้งบางส่วนที่เห็นด้วยกับการดำเนินงานกับทางจังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย

อย่างไรในการประชุมร่วมกันนั้น ก็ไม่ได้ข้อยุติที่จะให้มีการดำเนินงานปรับปรุงตลาดต่อ เนื่องจากยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันหลายประการระหว่างผู้ที่สนับสนุนและผู้คัดค้าน ที่ประชุมจึงเสนอให้มีการจัดประชุมในพื้นที่อีกครั้งเพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมหารือ ทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนกลุ่มผู้ค้าในตลาด ทั้งนี้มีการเสนอรายชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมในคราวเดียวกันนี้ ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านได้รับมติไปหารือกับชาวบ้านและจะแต่งตั้งตัวแทนชาวบ้านเพื่อเข้าร่วมประชุม ในวันที่ 25 มีนาคม 2554 เวลา 10.00 . ณ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ (ใหม่)

การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเข้าร่วมประชุม

หลังจากการประชุมร่วมกับทางจังหวัด ชาวบ้านได้เดินทางกลับและรวมตัวกันที่ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ แห่งใหม่ และแต่ละกลุ่มบ้านได้ส่งตัวแทนกลุ่มบ้านละ 2 คน เพื่อหารือเพื่อสรุปความคิดเห็นก่อนเข้าประชุมร่วมกับทางจังหวัดอีกครั้ง

ที่ประชุมได้เลือกให้นายจักรพงษ์ มงคลคีรี เป็นประธานดำเนินการประชุม ในฐานะประธานที่ประชุมได้กล่าวกับชาวบ้านว่า

            ...ผู้เข้าร่วมประชุมนี้มาจากตัวแทนชาวบ้านแต่ละกลุ่มบ้านคัดเลือกให้มาเป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน ในเบื้องต้นนี้มีภารกิจร่วมกันในการขับเคลื่อนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงตลาดชาวเขาดอยมูเซอ สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านในการปรับปรุงตลาดที่ทางจังหวัดจะเข้ามาดำเนินการ แต่ในระยะยาวเราก็ต้องรวมตัวกันไว้ เพราะเราพึ่งพาหน่วยงานที่ไหนไม่ได้ เราต้องรวมตัวช่วยเหลือพึ่งพากันเอง เราไม่เคยมีการรวมตัวแบบนี้มาก่อน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก จึงขอให้รวมตัวกันไว้ จึงเสนอให้จัดตั้งตัวแทนที่ชาวบ้านคัดเลือกให้มาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เป็นคณะกรรมการที่จะดูแลและช่วยเหลือกันต่อไป...”

จากนั้น นายไพรัช กีรติยุคคีรี ตัวแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านห้วยปลาหลด เสนอให้แต่งตั้งผู้ที่มาเข้าร่วมประชุมเป็นคณะกรรมการพัฒนาดอยมูเซอ จากนั้นที่ประชุมได้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการฯ จำนวนทั้งสิ้น 22 คน โดยเสนอให้ นายจักรพงษ์  มงคลคีรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งกรรมการชุดนี้จะเป็นตัวแทนชาวบ้านเข้าประชุมร่วมกับทางจังหวัดต่อไป

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวขอมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของทางจังหวัด

เกี่ยวกับเหตุผลการขอมีส่วนร่วมในการปรับปรุงตลาดชาวเขาดอยมูเซอ นั้น ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็น สรุปได้ว่า

            “...ปัจจุบันชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่ทำกินมีเท่าเดิม และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช การบุกรุกป่าเพื่อทำไร่แบบในอดีตไม่สามารถทำได้ การออกไปทำงานนอกพื้นที่ก็ไม่มีความมั่นคง เนื่องจากเรียนไม่สูงและไม่สามารถแข่งขันกับคนเมืองได้ คนที่ออกไปทำงานข้างนอกส่วนใหญ่จึงต้องกลับมาอยู่บ้าน ชาวบ้านในปัจจุบันจำนวนมากที่ปลูกพืชผักแล้วนำมาขายที่ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ บ้างก็นำมาวางขายเอง บ้างก็นำมาฝากญาติและเพื่อนบ้านขาย บ้างก็นำมาขายส่งให้กับผู้ที่มีแผงขายในตลาด ฯลฯ ทำให้มีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว ส่งลูกหลานเรียนหนังสือ สร้างบ้านเรือน ผ่อนรถ ฯลฯ ตลาดชาวเขาดอยมูเซอแห่งนี้ จึงเสมือนเป็นที่พึ่งเกือบจะสุดท้ายของชาวบ้านที่พอจะหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากจะไปประกอบอาชีพอย่างอื่นก็ไม่รู้จะไปทำอะไร...”

การกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้จะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงตลาด

สำหรับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงตลาด นั้น นายจักรพงษ์  กล่าวว่า ทางจังหวัดมุ่งที่จะแก้ปัญหาตลาดโดยจะให้สิทธิชาวบ้านที่เป็นผู้ค้าขายเดิมเท่านั้นที่จะเข้าไปทำการค้าขายในอาคารแห่งใหม่ที่จะจัดสร้างขึ้น ซึ่งชาวบ้านผู้เข้าร่วมประชุม เสนอว่า

            “...ปัจจุบันชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก ครอบครัวหนึ่งมีลูกหลานแยกครอบครัวออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประกอบอาชีพปลูกพืชผักแล้วนำมาขายที่ตลาด นอกจากนั้นยังมีชาวเขาที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาเป็นลูกจ้างของหน่วยงานราชการในพื้นที่ แต่ก็ถูกเลิกจ้างแล้วไม่มีอาชีพรองรับ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อยซึ่งเคยเป็นลูกจ้างหน่วยงานก็ถูกเลิกจ้าง ชาวเขาเหล่านี้ล้วนเป็นเครือญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น เป็นชาวบ้านในพื้นที่ดอยมูเซอ แม้จะเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ค้าขายเดิมจะได้รับสิทธิ แต่มีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังเดือดร้อนอยู่ ตลาดจะเป็นที่พึ่งที่จะเป็นช่องทางทำมาหากินต่อไป จึงเห็นว่าต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับผู้ค้าขายรายเดิมอย่างเดียว...”

ในประเด็นนี้ชาวบ้านมีความเห็นแย้งกับทางจังหวัดที่มุ่งจะใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาทแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าเพียง 200 กว่ารายที่มีการสำรวจรายชื่อไว้ โดยไม่สนใจแก้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่

ความคิดเห็นเกี่ยวกับแบบอาคารที่ทางจังหวัดออกแบบและข้อเสนอการดำเนินงาน

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับแบบอาคารที่ทางโยธาธิการ จ.ตาก ออกแบบกำหนดไว้นั้น นายจักรพงษ์ ได้กล่าวให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอาคารดังกล่าว ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม เสนอความคิดเห็น สรุปได้ดังนี้

            1.  ลักษณะอาคารที่ออกแบบมานั้น แม้จะมีความสวยงาม แต่ก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนั้นการสร้างอาคารตามแบบดังกล่าวนั้นมีประสบการณ์จากหลายพื้นที่ว่าไม่สามารถทำให้การจำหน่ายสินค้าดีขึ้น ในหลายแห่งสร้างไว้ต้องทิ้งร้างไป ทำให้สูญเสียงบประมาณของแผ่นดินเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาคารเหล่านั้นโดยมากไม่เป็นที่ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว ชาวบ้านที่มีประสบการณ์ค้าขายมากว่า 20 ปี กล่าวว่า นักท่องเที่ยวไม่ชอบเข้าไปเดินซื้อของในอาคาร แต่จะชอบเดินจับจ่ายซื้อของตามแผงภายนอกอาคารมากกว่า

            2.  จำนวนแผงจำหน่ายสินค้าที่กำหนดไว้ในตัวอาคารมีไม่ถึง 250 แผง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ค้า ซึ่งเดิมมีถึง 384 ราย และรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 100 ราย

            3.  ขนาดแผงสินค้าที่ทางจังหวัดออกแบบมานั้น มีขนาดเล็กและแคบเพียง 1 x  1.20 เมตร พื้นที่ขนาดนี้ไม่เพียงพอต่อการวางจำหน่ายสินค้า

ที่ประชุมมีข้อเสนอในการดำเนินงานปรับปรุงตลาดชาวเขา ดังนี้

            1.  การปรับปรุงอาคารตลาดเก่า ให้รื้อหลังคาด้านหน้าที่ อบต.ด่านแม่ละเมามาทำการต่อเติม แต่หลังคาที่ชาวบ้านได้ก่อสร้างมายังอยู่ในสภาพดีและใช้งานได้ให้คงไว้เพื่อประหยัดงบประมาณ โดยให้เทพื้นปูนซีเมนต์ทับทั้งบริเวณ เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด

            2.  สำหรับแผงจำหน่ายสินค้าในอาคารเดิม ไม่ต้องจัดทำ การดำเนินการเพียงแค่ตีเส้นกำหนดเขตพื้นที่ค้าขายของผู้ค้าแต่ละราย โดยกำหนดพื้นที่ 4 ตารางเมตร (2 x 2 เมตร)

            3.  ให้หาพื้นที่จัดสร้างตลาดแห่งใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ค้าที่ไม่มีพื้นที่ ทั้งนี้ไม่ต้องทำเป็นตัวอาคาร ดำเนินการเพียงเทพื้นปูนซีเมนต์ทั้งบริเวณ แล้วตีเส้นสำหรับพื้นที่ของผู้ค้าแต่ละราย โดยมีพื้นที่จำนวน 4 ตารางเมตร  (2 x 2 เมตร) ต่อผู้ค้า  1 ราย ทั้งนี้แผงจำหน่ายสินค้าและร่มกางนั้นผู้ค้าแต่ละรายจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาด้วยตนเอง

ความคิดเห็นเกี่ยวกับแกนนำชาวบ้าน

นายจักรพงษ์ กล่าวกับที่ประชุมว่า ตามที่ทางจังหวัดได้กล่าวหาแกนนำชาวบ้านว่าได้ทำการยุยงชาวบ้านให้ต่อต้านโครงการปรับปรุงตลาดฯ ของทางจังหวัด ไม่ให้ชาวบ้านร่วมมือกับทางราชการ บางคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดแต่ต้องการจะเข้าไปมีพื้นที่ขายของในพื้นที่ที่จะปรับปรุงใหม่ มีผลประโยชน์แอบแผง มีการเรียกร้องประโยชน์จากชาวบ้าน จึงได้สอบถามความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

นางสาวณัฐชา  เลิศสินพนากุล ชาวบ้านจากบ้านมูเซอบ้านใหม่ บอกว่า พวกเขาเรียนหนังสือไม่มาก บางคนก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เวลาพูดกับเจ้านายพูดไม่รู้เรื่อง บางทีก็ไม่เข้าใจ ต้องมีแกนนำช่วย ถ้าไม่มีแกนนำมาช่วยใครจะเป็นคนช่วยพวกเรา

นางนะมู  เลิศสินพนากุล ชาวบ้านจากหมู่บ้านมูเซอบ้านใหม่ กล่าวว่า แกนนำเหล่านี้ไม่ใช่คนอื่น ทั้งหมดเป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน เป็นเครือญาติพี่น้องกันทั้งนั้น ญาติพี่น้องจะช่วยเหลือกันมันผิดตรงไหน ไม่ช่วยกันต่างหากจึงจะเป็นสิ่งผิด

นายจักรพงษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำที่ถูกกล่าวหา กล่าวกับที่ประชุมว่า ที่ทางจังหวัดกล่าวหาว่าการขับเคลื่อนของตนเองมีผลประโยชน์ ซึ่งก็มีประโยชน์จริง แต่ประโยชน์นั้นเป็นการรักษาผลประโยชน์ของญาติพี่น้อง ของชาวบ้านในพื้นที่

นายไพรัช กีรติยุคคีรี ชาวบ้านจากหมู่บ้านห้วยปลาหลด กล่าวว่า ในฐานะที่แกนนำมาช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน ต้องเสียสละและเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย พวกเราต้องช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องและช่วยกันปกป้องแกนนำของเราด้วย

สรุป

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านจากหลายกลุ่ม/หมู่บ้าน ในพื้นที่ดอยมูเซอ เกิดการรวมตัวกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งแม้จะมีเป้าหมายเฉพาะหน้าในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและดำเนินการปรับปรุงตลาดชาวเขาดอยมูเซอ แต่ในระยะยาวจะเป็นการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือและพึ่งพากันเองในพื้นที่ การรวมตัวนี้เป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาดอยมูเซอ ซึ่งกรรมการชุดนั้นจะเป็นตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมประชุมหารือกับทางจังหวัดต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โวยบ่อโรงไฟฟ้าบัวสมหมาย เมืองดอกบัว ทำชาวบ้านเจ๊ง

Posted: 25 Mar 2011 10:22 AM PDT

ชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมสจำกัด สุดทน บ่อน้ำโรงไฟฟ้าทำข้าวและมะม่วงหิมพานต์ตาย บุกพบผู้ว่าให้ลงตรวจสอบในพื้นที่ ด้านจังหวัดพอทราบข่าวถึงกับเต้น เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

สืบเนื่องจากกรณีที่ชาวบ้าน 6 ชุมชน ในพื้นที่ ต.ท่าช้าง และ ต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ได้รวมตัวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 9 เมกะวัตต์ ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด เนื่องจากกระบวนการอนุญาตไม่โปร่งใส และเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองแกลบ รวมทั้งปริมาณน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภคอาจจะขาดแคลนเนื่องจากโรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำใต้ดินในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านนั้น

ล่าสุด วันนี้ (25 มี.ค. 54) ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 10 คน ได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับถือป้ายข้อความที่ระบุว่าการก่อสร้างของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ได้ส่งผลกระทบทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำ โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อขอให้นายสรุพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี มีคำสั่งให้บริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัดหยุดขุดบ่อน้ำและหยุดการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยมีนายสุรสิทธิ์ เกิดผล รองป้องกันภัยจังหวัดอุบลราชธานีรับหนังสือแทน

นางทองคับ มาดาสิทธิ์ ชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ตอนนี้ทางบริษัทได้ขุดบ่อน้ำขนาดประมาณ 15 ไร่ เพื่อทำเป็นบ่อเก็บและบำบัดน้ำเสียของโรงไฟฟ้า น้ำใต้ดินของชุมชนไหลไปร่วมกันในบ่อน้ำดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านในหมู่ที่ 13 บ้านคำนกเปล้า และหมู่ที่ 18 บ้านคำสร้างไชย ขาดน้ำในการทำนาปรัง ซึ่งมีชาวบ้านเดือดร้อนทั้งหมด 26 ราย เนื้อที่ร่วมกันแล้วกว่า 97 ไร่ นอกจากนี้ดอกมะม่วงหิมพานต์ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านถึงปีละไม่ต่ำกว่า 22,050,000 บาท ก็ดอกแห้งแล้วดำเนื่องจากขาดน้ำ ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก อยากขอให้ผู้ว่าราชการช่วยยับยั้งการขุดบ่อน้ำของบริษัทอย่างเร็วที่สุด

ด้าน น.ส.สดใส สร่างโศรก กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การก่อสร้างไม่ได้หมายถึงการสร้างตัวโรงงานเท่านั้น แต่การขุดบ่อเพื่อทำบ่อน้ำเสีย หรือการถมดิน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้าง และทำให้ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูแล เพราะถือว่าทางบริษัทไม่ได้ทำตามมติที่ตกลงกันไว้ และควรลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่

หลังจากได้รับทราบข้อมูล นายสุริสิทธ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดได้มีมติให้บริษัทฯ หยุดดำเนินการใดๆ ไว้ก่อนจนกว่าปัญหาจะมีข้อยุติ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอาจจะมีการลงไปตรวจสอบในพื้นที่ตามที่ชาวบ้านเสนอ โดยตนจะทำการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ และแจ้งให้ชาวบ้านทราบผลภายในวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคมนี้
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ควันหลง .... ไข่ชั่งกิโล : การแก้ปัญหาแบบนักการเมือง

Posted: 25 Mar 2011 09:59 AM PDT

นโยบายขายไข่ชั่งกิโล ภายใต้โครงการประชาภิวัฒน์ของรัฐบาล ฯพณฯ (ทั่น) อภิสิทธิ์ ต้องพับฐานไปค่อนข้างแน่แล้วนั้น เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่า การตีโจทย์ไม่ทะลุอาจนำมาซึ่งอาการ “หน้าแตก” ชนิดที่ “หมอไม่รับเย็บ” ได้ง่ายๆ เลยทีเดียว

สาเหตุของความล้มเหลวมาจาก การพยายามที่จะทำให้ราคาไข่ไก่ลดลง โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ปรัชญาของนโยบายนี้ก็คือ ถ้าตัดขั้นตอน “การคัดไข่” ออกไป ไข่ไก่ก็จะมีราคาถูกลงฟองละ 10 ถึง 20 สตางค์ทันที ดังนั้นแม่ค้าไข่ไก่ตามตลาดสดหรือตลาดนัด จึงต้องเปลี่ยนวิธีขายไข่มาเป็นแบบชั่งกิโล โดยรัฐบาลกำหนดราคาให้เสร็จสรรพที่กิโลกรัมละ 50 – 52 บาท

แต่ถ้านำเอาหลักเกณฑ์ทางการตลาด (Marketing Principle) มาจับ ไม่ว่าจะมองใน Segment ใด ก็ล้วนไม่สอดรับกับทฤษฎีไข่ชั่งกิโลนี้ด้วยกันทั้งนั้น กล่าวคือ ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่ม “ครัวเรือน” มักจะเน้นที่ความสะดวกสบาย (Convenience) หากต้องการน้อยก็จะซื้อน้อยฟอง มีไข่ไก่ให้เลือก (ซื้อ) หลากหลายบรรจุภัณฑ์และหลากหลายราคา ตามคุณภาพที่ตนเองพึงพอใจ ขณะที่กลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรมจะต้องการไข่ที่มีขนาดมาตรฐาน เช่น เมนูไข่ดาวอาหารเช้า ควรต้องมีขนาดฟองเท่าๆ กัน เป็นต้น อันหมายถึงต้องผ่านการคัดแยกเบอร์มาแล้วนั่นเอง

เมื่อเป็นดังนี้ เขาจะซื้อไข่ “ชั่งกิโล” ไปเพื่อ Benefits อะไร ?

ความจริงมีอยู่ว่าไข่ไก่ไม่ว่าที่ใดในโลกก็ล้วนมีการคัดขนาดกันแทบทั้งสิ้น ในประเทศไทยแบ่งไข่ไก่ออกเป็น 7 ขนาด โดยเบอร์ 0 จะฟองใหญ่สุด เบอร์ 1 ขนาดเล็กลงมา และไข่ไก่เบอร์ 6 จะมีขนาดเล็กสุด อย่างไรก็ตามในท้องตลาดนิยมขายไข่ไก่แค่เบอร์ 5 เท่านั้น ขณะที่ในอีกหลายประเทศอาจมีการแบ่งขนาดไข่ไก่แตกต่างกันไป แต่ก็มักอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 ขนาด วิธีการแบ่งทำโดยชั่งน้ำหนักบนเครื่องคัดไข่ (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ประเทศไทย)

นโยบายไข่ชั่งกิโลจึงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากรัฐบาลต้องการที่จะรักษาภาพของตนเองเอาไว้ ด้วยว่าราคาไข่ไก่ได้ถูกนำไปเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะค่าครองชีพของชาวบ้านไปเสียแล้ว เป็นการแก้ปัญหาในมุมมองของนักการเมืองที่คำนึงถึง “คะแนนนิยม” มากกว่า “ต้นตอ” ของปัญหานั้น

หากมองในแง่การจัดการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) นโยบายนี้นับว่าเดินสวนทางกับแนวคิด “การเพิ่มมูลค่า – High Value Adding” ชนิด 180 องศาเลยทีเดียว ด้วยว่านักบริหารร่วมสมัยล้วนมุ่งให้องค์กรที่ตนดูแลมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งนั้น (โดยผ่านตัวชี้วัดที่เรียกว่า EVA Economic Value Added /EVA – ผู้เขียน)

กรณีไข่ไก่นี้รัฐบาลจึงต้องมองให้ออกว่านี่คือ “ผลิตภัณฑ์อาหาร – Food Product” ไม่ใช่ “สินค้าคอมมอดิตี้” ที่ได้มาอย่างไรก็ขายไปอย่างนั้น

ไข่ไก่ในฟาร์มยุคใหม่ต้องผ่านการทำความสะอาดด้วยเครื่องอัตโนมัติ มีการคัดแยกไข่ไก่ที่บุบแตก หรือมีคุณภาพเปลือกไม่ดี (สีซีด ผิวขรุขระ) ก่อนที่จะทำการคัดแยกขนาด และใส่ในบรรจุ-ภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่งและสะดวกในการซื้อหา มีการพ่นข้อมูล (Inkjet) ลงไปบนฟองไข่ ระบุวันหมดอายุ ตลอดจนที่มาของไข่ไก่อันสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้

ผู้ประกอบการต้องทำกันถึงขนาดนี้ จึงจะได้ “มูลค่าเพิ่ม”
ต้องทำให้ได้ถึงเพียงนี้ จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ “มีฝีมือ”
อันเป็นคนละเรื่องกับ การนำเอาไข่มา “คละ” แล้ว “ชั่งกิโลขาย” โดยสิ้นเชิง !

ดังนั้น ... การออกนโยบายไข่ชั่งกิโลของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ นอกจากจะไม่ได้รับการตอบรับจากสังคมภาคส่วนต่างๆ แล้ว ยังได้มองข้าม “ยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่า” ในผลิตผลทางการเกษตร อันเป็นวาระระดับชาติของพี่น้องชาวไทยอีกโสดหนึ่งด้วย

เรื่อง Grading หรือการจัดชั้นมาตรฐานผลิตผลเกษตรนั้น นักวิชาการเกษตรของไทยได้ทดลองวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านพืชและสัตว์ จนมีพัฒนาการก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ยังผลให้ผลิตผลเกษตรของไทยเราเป็นที่ยอมรับไปทั่วทั้งโลก

• มะม่วง เบอร์ 14 คือ 1 กล่อง ต้องมี 14 ผล ซึ่งต้องได้มาตรฐานทั้งน้ำหนักและขนาดของผล เป็นการล็อค 2 ชั้น เลยทีเดียว
• กล้วยไม้ 60 เซ็นติเมตร มีดอก 12 ดอก ต้องบานหมด ถ้าผิดจากนี้ถือว่าตกสเปค
• สตรอเบอรี่ หากจัดการให้แต่ละลูกมีขนาดเท่าๆ กันได้ ก็จะมีมูลค่าเพิ่ม ขายได้ราคาแพง
• กุ้งขาววานาเมย์ และ กุ้งกุลาดำ ต่างขนาด ราคาก็จะแตกต่างกัน (กุ้งขนาด 30 ตัว/กก. ราคากิโลกรัมละ 230 บาท ขณะที่ขนาด 100 ตัว/กก. ราคากิโลกรัมละ 122 บาท - ราคา ณ. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ตลาดทะเลไทย จ. สมุทรสาคร)
• มังคุดคัดขนาด ลอง search ในกูเกิ้ลดูก็จะพบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้เป็น list ยาวเหยียด
ฯลฯ

สำหรับเรื่องไข่ไก่นี้ รัฐบาลควรถือเป็นบทเรียน (Lesson Learned) ราคาแพง และโปรดอย่าได้คิดเอาของที่เขาทำมาดีแล้ว ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นไปชั่งกิโลขายอีกเป็นอันขาด !
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำวินิจฉัยศาลแพ่ง: ระบุ พธม. ทำให้การท่าฯ เสียหายสั่งชดใช้ 522 ล้าน

Posted: 25 Mar 2011 09:30 AM PDT

กรณีการท่าฯ ยื่นฟ้องแกนนำ พธม. คดีชุมนุมในสุวรรณภูมิ ศาลชี้ พธม. กลุ่มแรกที่เข้าพื้นที่สวมหมวกหรือผ้าปิดบังใบหน้า ถือไม้ ท่อนเหล็ก มีดดาบ หน้าไม้ ส่งเสียงโห่ร้องอื้ออึง การชุมนุมกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประโยชน์สาธารณะ ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย จำเลยจะอ้างความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ม.63 ย่อมมิได้ สั่งชดใช้ 522 ล้านพร้อมดอกร้อยละ 7.5

ที่มา: เรียบเรียงจาก เว็บไซต์เดลินิวส์ 

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีที่ที่ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.โดยนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต. จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายนรัณยู หรือศรัณยู วงศ์กระจ่าง นายสำราญ รอดเพชร นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันเป็น จำเลยที่ 1 – 13 เรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหาย โดย เว็บไซต์เดลินิวส์ เผยแพร่รายละเอียดคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวดังนี้  

โจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่าเมื่อระหว่างวันที่ 24 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2551 พวกจำเลย ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรนำผู้ชุมนุมบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ทำให้การให้บริการต่างๆภายในท่าอากาศยานทั้งสองแห่งต้องหยุดลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และขอให้พวกจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7. 5 ต่อปีด้วย

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ และให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และ จำเลย มิได้ละเมิดโจทก์ เพราะการชุมนุมของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย

ในชั้นพิจารณา โจทก์นำพยานเข้าสืบ 24 ปาก และอ้างส่งเอกสารรวม 164 ฉบับ วัตถุพยาน 9 อันดับ ส่วนจำเลย นำพยานเข้าสืบ 15 ปาก และอ้างส่งเอกสารรวม 28 ฉบับ

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาล ปกครอง ที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่มีเจตนาฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์กล่าวหาจำเลยร่วมกันกระทำละเมิด จึงย่อมใช้สิทธิอันพึงมี ฟ้องศาลได้ จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริต

มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลย ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า ผู้ร่วมชุมนุมมาโดยสมัครใจและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และนาย เสรีรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เป็นผู้ออกคำสั่งให้หยุดบริการสนามบินเอง เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีภาพถ่ายและเทปบันทึกภาพการชุมนุมทั้งสองสนามบินและภาพพวก จำเลย ขึ้นเวทีชุมนุมกล่าวปราศรัย และถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ เรียกร้อง และระดมให้ผู้ชุมนุมออกมาให้มากเพื่อกดดันรัฐบาล ทำให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก

แม้เป็นการเข้าชุมนุมโดยสมัครใจ แต่เกิดจากการเรียกร้องปราศรัยของพวกจำเลย และการเข้าไปในท่าอากาศยานทั้งสองแห่ง แม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่จะต้องเข้าไปใช้บริการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่จำเลยกลับใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมกดดันรัฐบาล อีกทั้งกลุ่มพันธมิตรชุดแรกที่เข้าไปในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนมากสวมหมวกหรือผ้าปิดบังใบหน้า บางคนถือไม้ ท่อนเหล็ก มีดดาบ และหน้าไม้ ส่งเสียงโห่ร้องอื้ออึง มีการปิดกั้นถนนสาธารณะทางเข้าออกของท่าอากาศยายทั้งสองแห่ง ตรวจค้นรถยนต์ทุกคันที่จะผ่านก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อบุคคลอื่นว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย

นอกจากนี้ฝ่ายโจทก์ยังมีพยานและภาพถ่ายเป็นหลักฐานว่า เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ หนึ่งในผู้ชุมนุมได้นำกลุ่มพันธมิตรเข้ายึดหอบังคับการบิน ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม อันเป็นการแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่า ต้องการให้การบริการด้านการบินและการพาณิชย์หยุดชะงักลง ถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์ต้องยึดถือความปลอดภัยของผู้โดยสาร ลูกเรือ เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินและสาธารณชนเป็นอันดับแรก

การกระทำของจำเลยทั้งหมด และกลุ่มพันธมิตร ทำให้โจทก์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาการบินได้ จนเป็นเหตุให้ให้นายเสรีรัตน์ ออกคำสั่งหยุดให้บริการ เนื่องจากเกรงว่าพนักงานและประชาชนจะไม่ได้รับความปลอดภัย

ทั้งนี้ การชุมนุมที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ม.63 นั้น ศาลแพ่งเห็นว่า หมายถึงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตาม ม.63 วรรคหนึ่ง แต่การชุมนุมของพวกจำเลย มิได้เป็นไปตามหลักการ และยังส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประโยชน์สาธารณะ ละเมิดสิทธิและเสรีภาพการประกอบอาชีพและการคมนาคมของประชาชน ซึ่งการชุมนุมจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีตาม ม.28 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชุมนุมจะต้องตั้งอยู่บนหลักแห่งความสมดุลกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อื่นและมิใช้สิทธิเด็ดขาดที่พวกจำเลย เป็นผู้จัดการชุมนุม หรือผู้เข้าร่วมชุมนุมจะสามารถกระทำการใดๆก็ได้โดยไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติ แห่งกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆทั้งสิ้น

คดีนี้การเข้าไปชุมนุมในพื้นที่สนามบินทั้งสองแห่งของจำเลยกับพวกมีวัตถุประสงค์ปิดท่าอากาศยานทั้ง สองแห่งให้หยุดให้บริการ เพื่อยกระดับการกดดันรัฐบาลนายสมชาย ให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เป็นผลให้ท่าอากาศยานทั้งสองแห่งไม่สามารถให้บริการได้ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหมู่ผู้โดยสารทั้งชายไทยและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ เสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง จึงเป็นวัตถุประสงค์ให้เกิดความไม่สงบภายในบ้านเมือง ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้วยังเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพการชุมนุมที่เกินสัดส่วน พวกจำเลยจะอ้างความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ม.63 ย่อมมิได้

การกระทำของจำเลยทั้ง 13 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ศาลเห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามมูลค่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับทางกายภาพเช่น ประตู กระจก เครื่องสุขภัณฑ์ กล้องวงจรปิด เครื่องหมายบอกทางจราจร อุปกรณ์ต่างๆ และค่าเสียหายเชิงพาณิชย์ อาทิ ค่าเสียหายจากการหยุดให้บริการการบิน ค่าธรรมเนียมการใช้เส้นทาง ค่าเช่าพื้นที่ต่างๆ จึงเห็นควรให้จำเลย ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จากการบุกยึดสนามบินดอนเมือง 12 ล้านบาทเศษ และชดใช้ค่าเสียหายจากการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิรวม 510 ล้านบาทเศษ และเมื่อคำนวณวามเสียหายของสนามบินทั้งสองแห่งแล้วเป็นเงิน ทั้งสิ้น 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2551จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งให้จ่ายค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงินจำนวน 80,000 บาทด้วย

ส่วนที่โจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลัง จากการชุมนุม ซึ่งโจทก์นำสืบว่ายังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและได้รับความเสียหาย จำนวนมากจนถึงช่วงปี 2552 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและไม่ได้ขอให้จำเลยชดใช้ในคำขอบังคับคดีนี้ ศาลจึงไม่อาจบังคบตามคำขอของโจทก์ได้เพราะถือว่าเกินคำขอของโจทก์ตาม ป.วิธี แพ่ง ม.412 วรรคแรก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: เอาเจ้า แต่ไม่เอา 112 ได้ปะ?

Posted: 25 Mar 2011 09:22 AM PDT

ขยายความนิด เอาเจ้า: คือเอาระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ใช่นิยมระบอบกษัตริย์หรือ Ultra Royalist

ไม่เอา 112: คือไม่ต้องยกเลิกทั้งหมด แต่แก้ไขให้อยู่ในภายใต้หลักการประชาธิปไตย ดังที่ (เข้าใจว่า) คณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์จะนำเสนอ

ทำไมถึงต้อง “เอาเจ้า” สิ่งสำคัญที่สุดในทัศนะผมคือ ความรักเป็นเสรีภาพ คนที่บอกว่า “ไม่เอาเจ้า” ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของคนที่เขา “รักในหลวง” ความรัก ความเคารพ สักการะ เป็นสิทธิเสรีภาพ เหมือนเสรีภาพในการนับถือศาสนา คนที่คิดว่าจะ “ไม่เอาเจ้า” ต้องยอมรับว่าคนไทยที่ “รักในหลวง” จำนวนมากมีความจริงใจ และเอาความเคารพรักนั้นมาเป็นพลังในการสร้างสรรค์ความดีงาม

ถึงแม้เราจะไม่ใช่พวกคลั่งอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” แต่เราก็ต้องยอมรับว่าถ้าใช้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมในระดับที่เหมาะสม ก็ย่อมมีคุณูปการ อุดมการณ์ชาตินิยมถ้าใช้ในแง่ของการต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบ ชาติใหญ่รังแกชาติเล็ก มันก็สอดคล้องกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่ใช่ใช้เพียงเพื่อปลุกความเกลียดชัง บ้าคลั่งกับสัญลักษณ์และดินแดนเท่ากระแบะมือ

พูดไปทำไมมี พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะได้ก็เพราะชูอุดมการณ์ชาตินิยมทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็ชูชาตินิยมต่อสู้กับฝรั่งเศสมาตั้งแต่ต้น

อุดมการณ์ราชานิยมมีคุณูปการอย่างสูงต่อสังคมไทยตลอดมา ในแง่ที่เป็นสัญลักษณ์ของความรักผูกพันกันของคนในชาติ เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิต “ความเป็นไทย” (ซึ่งเราคงไม่ปฏิเสธว่ามีข้อดีอยู่ในความเป็นไทย)

แต่อุดมการณ์ราชานิยมจะส่งผลร้ายแรงเมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่เอากรณีสวรรคตมาเป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร 2490 จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่ผู้เดียว” เชิดชูสถาบันเพื่อกลบความฉ้อฉลไม่ชอบธรรมของตนเอง หรือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งบิดเบือนแต่งเติมภาพอ้างความจงรักภักดีมาฆ่าฟันนักศึกษาประชาชนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ตลอดมาจนการรัฐประหารของ รสช.เมื่อปี 2534 และรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ซึ่งยังผลให้เกิดวิกฤตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

โจทย์ปัญหาร่วมกันระหว่างผู้รักประชาธิปไตย และผู้จงรักภักดีที่แท้จริง ขอเน้นว่า “ร่วมกัน” คือทำอย่างไรจะแยกอุดมการณ์ราชานิยมออกไปดำรงอยู่อย่างบริสุทธิ์ ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ให้อุดมการณ์ราชานิยมเปล่งประกายแห่งคุณูปการ เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม ความรักความผูกพัน ส่งเสริมคุณธรรม และเป็นแบบอย่างของการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม

ซึ่งทางออกมีทางเดียวเท่านั้นคือ ทำให้อุดมการณ์ราชานิยมอยู่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ภายใต้หลักการสิทธิเสรีภาพ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เปิดใจกว้างเข้าสู่สังคมยุคไอทีที่มิอาจปิดกั้นความเห็นหลากหลาย

ทรงเป็นประมุข

ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ก็คือทรงเป็นประมุขของประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่มีพระมหากษัตริย์แล้วไม่ใช่ประมุข ไม่ว่าอังกฤษ ญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ สวีเดน ฯลฯ แต่ในบ้านเรา คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถูกตีความเสียจนไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยแต่ไม่สมบูรณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกทำให้คลุมเครือด้วยการอ้าง “พระราชอำนาจ” มาอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ดังหนังสือเบสต์เซลเลอร์ของประมวล รุจนเสรี

หนังสือเล่มนี้ทั้งอ้างมั่ว และอ้างโดยมิบังควร โดยเฉพาะตอนที่อ้างว่าในหลวงทรงมีกระแสรับสั่งผ่านผู้อื่นมาชื่นชมหนังสือของตน ซึ่งถือเป็นการอาจเอื้อมมิบังควรอย่างยิ่ง คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนด่าเปรม ติณสูลานนท์ สมัยยังเป็นนายกฯ อ้างกระแสรับสั่งส่วนพระองค์ เรื่อง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” โดยคึกฤทธิ์ชี้ว่าไม่ว่าพระองค์ท่านทรงมีกระแสรับสั่งจริงหรือไม่ก็ตาม เปรมก็ไม่ควรเอามาอ้างในทำนองที่ว่าในหลวงทรงสนับสนุน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพื่อค้ำเก้าอี้ของตน

เราจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอ้างสถาบัน มักมาจากการอ้างของผู้ที่อ้างว่าใกล้ชิด จงรักภักดี แต่อ้างเพื่อประโยชน์ของตน หรือเพื่อยกคุณค่าสถานะของตน ในสังคมไทย พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนสูงส่ง อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง เมื่อมาอ้างเช่นนี้ก็เท่ากับเอาสถาบันไปอยู่ข้างตนเอง

ต้องเข้าใจด้วยว่าเมื่อเกิดการอ้างขึ้น สถาบันซึ่งเปรียบเหมือนพระต้องอยู่ในที่สูงมีเมตตาต่อพสกนิกรทุกคน ก็ตกอยู่ในภาวะลำบาก จะยอมรับหรือจะปฏิเสธ ก็กลายเป็นเข้าข้างใดข้างหนึ่งทั้งสิ้น พระองค์ท่านจึงต้องวางเฉย เพราะสมมติในหลวงมีพระราชดำรัสต่อสาธารณะ ว่าไม่ได้มีกระแสรับสั่งอย่างที่ประมวล รุจนเสรี เอาไปอ้าง ประมวลก็ต้องทำหนังสือกราบบังคมทูลลา ขอพระราชทานอภัยโทษ เอาเชือกคล้องเพดาน แล้วขึ้นไปยืนบนเก้าอี้ ลูกเมียร้องไห้ระงม

ฉะนั้น ถ้าต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงสถานะอันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนต่อไปตลอดกาลนาน ก็ต้องยุติการอ้างสถาบัน และถ้าจะยังคงความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ก็ต้องเอาผิดผู้ที่แอบอ้างด้วย

คนไทยต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า เราจะยึดถือพระราชดำรัสของในหลวงเท่านั้น เป็นท่าที จุดยืน หรือทัศนะของสถาบัน ผู้ที่อ้างว่าใกล้ชิด ผู้ที่อ้างว่าจงรักภักดี หรือแม้แต่ผู้ที่ถวายงาน กระทั่งองคมนตรี ต้องปิดปากให้สนิท ไม่แสดงทัศนะหรือท่าทีใดๆ โดยอ้างในหลวง อ้างพระบรมวงศานุวงศ์

โดยเฉพาะผู้มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ใกล้ชิด ยิ่งไม่สมควรแม้แต่จะแสดงทัศนะของตัวเองในเรื่องการเมืองการปกครองหรือแนวทางพัฒนาประเทศ (เว้นแต่จะพูดเรื่องน้ำพริกเผาตราพันท้ายนรสิงห์ ก็แล้วไป) ซึ่งจะทำให้เข้าใจว่าสถาบันสนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ถ้าพิเคราะห์จากพระราชดำรัสของในหลวง โดยเฉพาะพระราชดำรัสเรื่องมาตรา 7 จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีอยู่อย่างจำกัด ดังที่ตรัสว่า ไม่เคยทำอะไรตามอำเภอใจ การโปรดเกล้าฯ ทุกเรื่องจะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พวกที่อ้าง “พระราชอำนาจ” มักอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีอำนาจชี้ขาดทุกสิ่งทุกอย่าง การลงพระปรมาภิไธยไม่ใช่เพียง “พิธีกรรม” แต่ถ้าศึกษาแนวทางที่ในหลวงทรงปฏิบัติมา 60 กว่าปี จะเห็นได้ว่าทรงใช้พระราชอำนาจในด้าน “กระบวนการ” เท่านั้น การลงพระปรมาภิไธย ไม่ได้แสดงว่าพระองค์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เช่น การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคล เป็นความรับผิดชอบของผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา หรือประธานศาล ซึ่งเลือกสรรหรือแต่งตั้งกันมาตามกระบวนการ ไม่ได้แปลว่าในหลวงท่านจะเอาคนนั้น ไม่เอาคนนี้

ตัวอย่างเช่น กรณีคุณหญิงเป็ด ตอนที่มีปัญหาตำแหน่งผู้ว่า สตง.ที่วุฒิสภาทูลเกล้าฯ แล้วทางวังตีกลับ ก็มีคำอธิบายชัดเจนว่า เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ขาดว่าคุณหญิงเป็ดพ้นจากตำแหน่ง บอกแต่ว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบซึ่งยังไม่เป็นเหตุให้พ้นตำแหน่ง นี่คือเรื่องกระบวนการกติกา ไม่ใช่เรื่องที่ในหลวงทรงเข้าข้าง “คนดี” ตามที่บางคนบางพวกพยายามจะให้สังคมเชื่อ

รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจ “วีโต้” พระราชบัญญัติได้ นั่นเป็นเรื่องเดียวที่เปิดให้พระมหากษัตริย์แสดงความเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แปลว่านอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นายกฯ ประธานสภา ประธานวุฒิสภา ทูลเกล้าฯ เรื่องใด พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยทั้งสิ้น จะแต่งตั้งใครเป็น ผบ.ทบ.ในหลวงไม่เกี่ยว เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล จะแต่งตั้งนักการเมืองชั่วแค่ไหนมาเป็นรัฐมนตรี ก็เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี อย่ามาอ้างว่าในหลวงโปรดเกล้าฯ คนเลว เพราะในหลวงไม่เกี่ยว

ยกเว้นอย่างเดียวคือทำมาผิดขั้นตอนกระบวนการ พระมหากษัตริย์จึงเป็นด่านสุดท้ายที่จะกลั่นกรอง

ในรัฐบาลทักษิณ ในหลวงทรงตีกลับกฎหมาย 2 ฉบับ แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจวีโต้ เป็นเรื่องการกลั่นกรอง เพราะสภาทำกฎหมายไปมั่ว เนื้อความผิดพลาดเลอะเทอะไปหมด ส่วนการวีโต้โดยทรงไม่เห็นด้วยจริงๆ ดูเหมือนจะยังไม่เคยเกิดในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งผมเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้กรณีที่เป็นกฎหมายซึ่งสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม มีคนไม่เห็นด้วยถวายฎีกาเป็นแสนเป็นล้านคน พระมหากษัตริย์จึงเป็นด่านสุดท้ายที่จะให้มีการทบทวน แต่พระมหากษัตริย์จะไม่วีโต้ด้วยความเห็นส่วนพระองค์ หรือด้วยผลประโยชน์ของสถาบัน

เพราะเท่าที่ผ่านมา ผมเชื่อว่ามีพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา หรือการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลจำนวนไม่น้อย ที่ในหลวงอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เอ้า ตัวอย่างเช่นพระราชกฤษฎีกาเอา กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่สหภาพรัฐวิสาหกิจคัดค้านกันโครมๆ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกนี่ครับว่าทรงวีโต้ได้ รัฐบาลทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงลงพระปรมาภิไธย ในกรณีเช่นนี้เราจะเห็นว่าพระราชอำนาจเท่ากับศูนย์ แต่ถ้ามีการทักท้วงกันว่า มติคณะรัฐมนตรีองค์ประชุมไม่ครบ หรือกฤษฎีกายังไม่ได้ตรวจแก้ให้เรียบร้อย อย่างนั้นในหลวงจะไม่ลงพระปรมาภิไธย

ที่ผมอธิบายมาทั้งหมด ก็เพื่อจะชี้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่แท้จริงนั้น ออกแบบมาเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจจำกัดที่สุด เพื่อให้สถาบันอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง เพราะ Spider-Man สอนว่า อำนาจอันยิ่งใหญ่ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งยึดหลักนิติรัฐ ผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบ และต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจ การใช้พระเดชให้คุณให้โทษ ให้มากที่สุด ดังจะเห็นได้ว่าแม้ศาลตัดสินพิพากษาประหารชีวิตบุคคลในพระปรมาภิไธย แต่เราก็ถือกันว่าผู้พิพากษาคือผู้รับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้น ขณะที่นักโทษยังสามารถถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้

ในบางประเทศเช่นอังกฤษ แม้แต่พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีอังกฤษ เมื่อเปิดประชุมรัฐสภา ก็ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลร่างให้แถลง ไม่มีความเห็นส่วนพระองค์ เป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน โดยหลังเสด็จฯ กลับ ฝ่ายค้านก็จะเปิดฉากอภิปรายนโยบายนั้น

แต่ถามว่าพระมหากษัตริย์ทรงรับรู้การบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ ถ้าศึกษาจากหนังออสการ์ทั้ง The King Speech และ The Queen จะพบว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานอยู่เสมอ และจะทรงให้คำปรึกษาในฐานะผู้รอบรู้มีประสบการณ์มามากมายหลายรัฐบาล ของไทยก็เช่นกัน แต่คำปรึกษานั้นจะต้องไม่ถูกนำมาอ้างอย่างมีนัยทางการเมือง

สถาบันพระมหากษัตริย์จะหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นทางการเมืองหรือทางสังคมที่มีผู้คนเห็นต่างเป็นสองหรือหลายฝ่าย เพราะความเห็นต่างนั้นไม่สามารถยุติได้ด้วยอำนาจหรือด้วยความเคารพศรัทธา ต้องปล่อยให้มีการต่อสู้ความคิดกันตามวิถีประชาธิปไตยจนมีข้อยุติ

ที่ผ่านมาผมจำได้ว่ามีครั้งเดียว คือสมัยร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงขอให้ยุติการเคลื่อนไหวให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ผมตีความว่าพระองค์ท่านกระทำไปในฐานะที่พระมหากษ้ตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา ไม่สามารถปล่อยให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบ “คลั่งพุทธ” กระทั่งก่อความแตกแยกระหว่างพสกนิกรศาสนาต่างๆ

ข้อดีของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์พ้นไปจากการใช้อำนาจ ใช้พระเดช มีแต่พระคุณ มีแต่ด้านที่ให้คุณ ให้อภัย ด้านการกุศล หรือยกย่องส่งเสริมผู้กระทำคุณงามความดี เช่น การให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระมหากษัตริย์มีพระบารมี ยิ่งมีและใช้พระราชอำนาจน้อย ก็ยิ่งมีพระบารมีมาก ต่างกับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่เป็นเหตุให้ถูกโค่นล้มจากอำนาจในที่สุด

“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จึงเป็นระบอบ The King can do no wrong เพราะ The King ไม่ได้มีพระราชอำนาจที่จะ do เรื่องใด การตัดสินใจทุกเรื่องมาจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ผ่านรัฐสภา ผ่านคณะรัฐมนตรี ตามกรอบกติกาที่กำหนดไว้ องค์พระประมุขเพียงกลั่นกรองให้เป็นไปตามกระบวนกติกา

พระบารมี

นักทฤษฎี “พระราชอำนาจ” มักอ้างว่าในหลวงทรงใช้พระราชอำนาจแก้ไขวิกฤตของบ้านเมือง ในกรณี 14 ตุลา 16 หรือพฤษภา 35 อันที่จริงไม่ใช่พระราชอำนาจ แต่เป็นเรื่องของพระบารมี เมื่อบ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ไม่มีรัฐบาล หรือมีแต่ปกครองไม่ได้ ไม่มีรัฐสภา กลไกทุกอย่างเป็นอัมพาต เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ อย่าง 14 ตุลา ธรรมชาติของสังคมก็ต้องมองหาบุคคลซึ่งมีบารมีเป็นที่เคารพนับถือที่สุด เข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

หรืออย่างกรณีพฤษภา 35 เมื่อฉันทามติของสังคมปะทะกับรัฐบาลและกองทัพ เห็นได้ว่าจะต่อสู้กันจนเกิดวิกฤตไม่รู้จบ ในหลวงทรงมีพระบารมีที่ทุกฝ่ายยอมรับ จึงต้องเป็นคนกลาง เป็นผู้ไกล่เกลี่ย

แต่พอเกิดวิกฤตไล่ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งสังคมแตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งคนที่รักและเกลียดทักษิณ แล้วคนที่เกลียดไปดึงเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือ อ้างว่าทักษิณไม่จงรักภักดี กระทั่งเกิดรัฐประหารโดยตั้งข้อหา “หมิ่นเหม่” (ซึ่งในที่สุดก็เอาผิดไม่ได้) ใช้อำนาจรัฐประหารตุลาการภิวัตน์โดยอ้างสถาบัน มากำราบปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วย จนวิกฤตยืดเยื้อมา 5 ปี

ตลอดเวลา 5 ปี ในหลวงไม่เคยมีพระราชดำรัสหรือแสดงท่าทีว่าพระองค์เลือกข้าง แต่พฤติกรรมของผู้มีอำนาจหน้าที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ได้ทำให้สถาบันถูกดึงลงมาอยู่ในความขัดแย้ง จนกระทั่งทำหน้าที่คนกลางผู้ไกล่เกลี่ยได้ยากลำบาก มิหนำซ้ำ เมื่อมีการตอบโต้จากฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ซึ่งบางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพาดพิงในเชิงเนื้อหาหลักการ ก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงครอบกบาล จนเกิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน 65 ปีของรัชกาลปัจจุบัน

คำถามสำหรับผู้จงรักภักดีที่แท้จริงคือ ควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ เดินหน้าฆ่ามัน? ปราบเสี้ยนหนามพวกที่มีแนวโน้มว่าจะไม่จงรักภักดีบังอาจวิพากษ์วิจารณ์ให้หมดสิ้น

คำถามนี้ต้องย้อนถามว่า พระบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในหลวงรัชกาลปัจจุบัน เกิดจากอะไร เกิดจากพระเดชหรือพระมหากรุณาธิคุณ เกิดจากอำนาจหรือทรงเป็นหลักของคุณธรรมความดีงาม

ถ้าต้องการยุติวิกฤตครั้งนี้ ถ้าต้องการ “ปกป้องสถาบัน” จริงๆ ไม่ใช่อ้างเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกตัว สิ่งแรกเลยที่ต้องทำ ก็คือช่วยกันเอาสถาบันออกไปจากวิกฤต ยุติการอ้างสถาบันในการต่อสู้แบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง และการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้แสดงความเห็นโดยสุจริต และใช้หลักเมตตาธรรมแทนที่จะใช้กฎหมายเป็นอาวุธ โดยผู้อยู่ใกล้ชิดสถาบันควรยอมรับผิดว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะพวกตน “ดึงฟ้าลงต่ำ”

นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการ “ปฏิรูป” กำหนดอำนาจบทบาทที่จำกัดและชัดเจนของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการเมืองการปกครอง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่กล่าวข้างต้น เพื่อให้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของพสกนิกรทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะต่อสู้ขัดแย้งกันแค่ไหน

ทั้งยังต้องจำกัดอำนาจบทบาทของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสถาบัน ไม่ว่าองคมนตรี หรือผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ก็ไม่ควรขับเฟอร์รารีไปเที่ยวแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างเลือกข้าง

ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าทักษิณจะล้มสถาบัน หรือต่อให้คิดจริงก็ทำไม่ได้ ตราบใดที่สถาบันอยู่เหนือความขัดแย้งและมีแต่พระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรทุกฝ่าย ผมเชื่อว่าตอนนั้นทักษิณอยากจะ “โหน” สถาบันต่างหาก แล้วก็ขัดแข้งขัดขากันกับคนอื่นๆ ที่ต้องการ “โหน” สถาบันเช่นกัน โดยคนเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากทักษิณ ที่ต่างมุ่งหวังลาภยศสรรเสริญ ความเจริญก้าวหน้า หรือกระทั่งผลประโยชน์ แม้อาจมากน้อยต่างกัน

ความเคารพสักการะ สร้างขึ้นจากเสรีภาพ

พระบารมีของในหลวง ความเคารพรักที่ประชาชนมีต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ได้สร้างขึ้นจากกฎหมาย แต่สร้างขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ พระราชกรณียกิจ ที่พระองค์ทรงเสียสละเพื่อประชาชน

บทบัญญัติมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” จึงไม่ถูกต้อง เพราะความเคารพสักการะ ความ “รักในหลวง” ไม่ได้มาจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่มาจากพระราชจริยวัตรของพระองค์

เช่นเดียวกับมาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ไม่ใช่สิ่งเสริมสร้างพระบารมี โดยเฉพาะเมื่อถูกใช้ในทางการเมือง

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นทองแท้ไม่กลัวไฟ จึงไม่กลัวการแสดงความเห็นต่างหรือท้วงติง แม้โดยหลักธรรมชาติ ไม่ว่าใครทำความดีแค่ไหนก็จะต้องมี “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” แต่ถ้าใครมีอคติ มีเจตนาไม่ซื่อ ก็ต้องแพ้ภัยตัวเอง

เราจึงต้องทำให้ความเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย และต้องเปิดใจกว้างว่า การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้มาจากผู้ที่ต่อต้านเสมอไป ผู้ที่เคารพรักบางครั้งก็จะเสนอแนะให้ความเห็นหรือท้วงติงเช่นกัน

เอ้า ยกตัวอย่าง ส.ศิวรักษ์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้จงรักภักดีแถวหน้า แต่โดนคดีหมิ่นฯ มาไม่รู้กี่ครั้ง (แล้วก็หลุดทุกครั้ง แปลกไหม) ผมเคยสัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ลงไทยโพสต์แทบลอยด์ คนอ่านร้องว่า โห! ช่างกล้า หารู้ไม่ว่ารีไรท์ไปเหงื่อแตกไป แตกพลั่กๆ แต่ใครจะปฏิเสธว่าอาจารย์ ส.แกพูดด้วยความปรารถนาดี นึ่คือคน “ปกป้องสถาบัน” ตัวจริง

การเปิดกว้างไม่ใช่สิ่งที่จะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าคิดว่าจะต้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในกรอบอุดมการณ์จารีตนิยมตลอดไป ก็อาจคิดว่าการเปิดให้มีสิทธิเสรีภาพจะบ่อนทำลายสถาบันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพเทิดทูน แต่ความเป็นจริงสถาบันพระมหากษ้ตริย์ทุกประเทศ แม้แต่ประเทศไทย ต่างก็ปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ โลกแห่งเสรีภาพของการเสนอข่าวสาร และสร้างความเคารพศรัทธาขึ้นจากวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เหลือเพียงพันธนาการสุดท้ายคือมาตรา 112 เท่านั้น

เอ้า ดูง่ายๆ คนชั้นกลางข้างมากติดสติกเกอร์ “รักในหลวง” ทั้งที่คนชั้นกลางนี่แหละ คือพวกปากหอยปากปู หูยาว ขาเมาธ์ ชอบฟังข่าวเล่าลือ ได้ดูคลิปดู YouTube ก่อนใคร นั่นแสดงว่าความ “รักในหลวง” ของคนชั้นกลางได้ผ่านการต่อสู้ในสงครามข้อมูลข่าวสารมาระดับหนึ่งแล้ว

สถาบันกษัตริย์ในโลกตะวันตก ยกตัวอย่างอังกฤษ ระบอบที่ใกล้เคียงกับเรามากที่สุด ดำรงความเคารพรักศรัทธาอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย อังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่เปิดเพลง God Save the Queen ในโรงหนังมาตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว แต่เมื่อปลายปี 2552 ผมอ่านข่าวดีเจคนหนึ่ง ปิดเทปเสียงควีนอลิซาเบธพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกร แล้วบอกว่าไร้สาระ ผลคือชาวบ้านโทรไปด่ากันตรึม และดีเจคนนั้นก็ถูกไล่ออก

สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษไม่เพียงปรับตัวได้ในวัฒนธรรมประชาธิปไตย แต่ปรับตัวได้กระทั่งวัฒนธรรมป๊อป จากเจ้าหญิงไดอานาถึงเจ้าชายวิลเลียมส์ ทั้งเป็นที่เคารพเทิดทูน เป็นที่รักและนิยม ผสมความเท่ cool และเซ็กซี่อยู่หน่อยๆ แบบเซเลบส์ เจ้าชายวิลเลียมส์จะเข้าพิธีอภิเษก คนอังกฤษเป็นปลื้ม กระทั่งคนอเมริกันยังอิจฉา ว่าทำไมประเทศตูไม่มีกษัตริย์อย่างเขามั่ง

แต่โพลล์คนอังกฤษก็ออกมาน่าทึ่ง คือทั้งปลื้มปิติต่อพิธีอภิเษก เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์จะรุ่งเรืองยืนยง แต่ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับพวก republic ว่าไม่ควรเอางบประมาณของรัฐไปจัดพิธีอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งสถาบันก็รับฟัง เจ้าชายวิลเลียมส์จัดพิธีอภิเษกอย่างเรียบง่าย เชิญแขกทุกชนชั้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีบทบาททำงานเพื่อสังคม

ผมไม่คิดว่าการยกเลิกมาตรา 112 จะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งถ้าเป็นการแก้ไขตามที่กลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์เสนอ (ผมคาดเอาจากที่เคยคุยกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มาบ่อยครั้ง) คือไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด แต่เปิดช่องให้ยกเว้นการติชมโดยสุจริต คงเอาผิดเฉพาะผู้ที่ลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะถึงอย่างไรเราก็ต้องปกป้องประมุข ไม่ให้ถูกลบหลู่ดูหมิ่น นี่เป็นข้อยกเว้น จะอ้างความเสมอภาคโดยเฉลี่ยสัมบูรณ์ไม่ได้ ต้องปกป้องสูงกว่าคนทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาท

แต่ประเด็นนี้ก็มีเรื่องเกี่ยวเนื่องกันคือ ควรยกเลิกโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญามาตรา 326 ให้เหลือแต่ความผิดทางแพ่งเท่านั้น เพราะอารยะประเทศหลายๆ ประเทศเขายกเลิกกันหมดแล้ว นี่ผมไม่ได้พูดเอง แต่ครูพักลักจำเขามา ตอนที่ทักษิณกับชินคอร์ปฟ้องหมิ่นไทยโพสต์ ฟ้องสื่อฟ้องใครต่อใครทั่วไปหมด พวกสภาทนายความพวกนักสิทธิมนุษยชนเขาร้องแรกแหกกระเฌอว่าควรยกเลิกโทษจำคุกได้แล้ว เพราะกลายเป็นอาวุธปิดกั้นเสรีภาพสื่อ แต่พอรัฐบาลสมัคร ศาลตัดสินว่าสมัครหมิ่นรองผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งอาจมีผลต่อการดำรงตำแหน่งนายกฯ (ถ้าไม่ถูกปลดเสียก่อนเพราะทำกับข้าวออกทีวี) ผมตามหาตัวคนเรียกร้องให้ยกเลิกโทษจำคุก ตามเท่าไหร่ก็ไม่เจอ

คือถ้ายกเลิกโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป เหลือเพียงโทษจำคุกสถานเบากับผู้ลบหลู่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยยกเว้นการติชมโดยสุจริต ก็จะเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจนทั้งระบบ

ผมไม่คิดว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะมีผลต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์โดยตรง เพราะทรงเป็นที่เคารพรักของคนไทยด้วยพระราชจริยาวัตร ถ้าจะมีพวกนิยม Republic ก็คงมีแค่หยิบมือหนึ่ง อย่าประเมินสถานการณ์ผิด แบบที่คิดว่าคนเสื้อแดงนับล้านๆ “ไม่เอาเจ้า” ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ใกล้ชิดสถาบันมีพฤติกรรมที่ทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ตรงข้ามพวกเขา ถ้าพ้นจากสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ไป ถ้าดึงสถาบันออกจากความขัดแย้งได้ คนส่วนใหญ่ก็จะกลับมาอยู่ในสภาพปกติ

การแก้ไขมาตรา 112 จะมีผลโดยตรงกับผู้อยู่รอบข้างที่อ้างอิงสถาบันต่างหาก เพราะผู้ที่เห็นต่างจะสามารถตอบโต้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ พูดกันถึงหลักการของระบอบ อำนาจ บทบาท ที่ชัดเจน ขจัดความคลุมเครือที่เปิดช่องให้มีการอ้างโน่นอ้างนี่เพื่อเข้ามาใช้อำนาจพิเศษโดยไม่ชอบธรรม ขณะที่สถาบันก็จะได้ฟังความโดยตรงจากผู้ที่อยู่ห่างไกล ทั้งผู้ที่จงรักภักดีและผู้ที่มีความเห็นตรงข้าม

เรียนว่าที่เขียนมาทั้งหมด ผมไม่ได้เสแสร้งเป็นผู้จงรักภักดี เพราะผมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา และเคยเข้าป่า แต่ประสบการณ์ชีวิตสอนให้เราใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ (แม้บางช่วงจะอดมีอารมณ์ไม่ได้ก็ตาม) นักประชาธิปไตยที่มีเหตุผลย่อมมองเห็นว่า บนพื้นฐานของสังคมไทย ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์มีข้อดีมากกว่าไม่มี (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการต่อสู้ฆ่าฟันกันเลือดนองเพื่อไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ) นี่คือจุดร่วมกับผู้จงรักภักดี โดยสิ่งสำคัญที่ต้องแสวงจุดร่วมก็คือการเอาสถาบันออกจากความขัดแย้ง ไม่ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ เป็นที่เคารพรักศรัทธาอย่างยั่งยืน ภายใต้อุดมการณ์สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐ

ใบตองแห้ง
25 มี.ค.54
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: โวย กฟผ.นำเจ้าหน้าที่ รุกที่ดินชาวบ้าน สำรวจตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง

Posted: 25 Mar 2011 09:21 AM PDT

 

กฟผ.นำกำลังเจ้าหน้าที่ กว่า 60 คน พร้อมเครื่องสำรวจขุดเจาะบุกที่ดินชาวบ้าน จ.อุดรธานี ปักเสาไฟฟ้าแรงสูงและวางแนวสายส่งไฟฟ้า ที่ไทยจะรับซื้อจากเขื่อนน้ำงึมในลาว ขณะที่ยังเป็นคดีอยู่ในชั้นศาลปกครอง

 

 

 
 
 
จากการติดตามกรณีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.พยายามลงพื้นที่สำรวจที่ดิน เพื่อทำการก่อสร้างเสาและวางแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 ที่ไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม สปป.ลาว ซึ่งแนวสายส่งดังกล่าวพาดผ่านที่นาของชาวบ้านใน อ.เมือง และอ.กุมภวาปี ทำให้เกิดการคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยขณะนี้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 55 ราย ได้ยื่นฟ้องคดีขอให้ กฟผ.เพิกถอนการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวต่อศาลปกครองขอนแก่น และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอุดรธานี โดยมีการโอนคดีจากศาลปกครองขอนแก่นมายังศาลปกครองอุดรธานี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ กฟผ.พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ อปพร.จากท้องที่ อ.เมือง อ.กุมภวาปี และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ช่างรังวัดและขุดเจาะสำรวจดิน จำนวนทั้งหมดกว่า 60 คน โดยมีอุปกรณ์ช่างและอาวุธพร้อมมือ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายยังได้เหน็บอาวุธปืนพกสั้นที่เอว ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ได้เดินทางไปที่บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ในบริเวณที่นาของนายสง่า บุญโยรัตน์ และนางเคียม สุวรรณะ จากนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้กรูลงไปในที่นาของชาวบ้าน โดยมีชาวบ้านที่เฝ้าระวังพื้นที่อยู่พยายามทักท้วงและกั้นขวางไว้ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ แต่ก็ไม่เป็นผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยกันให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.และหน่วยช่างเข้าไปดำเนินการสำรวจพื้นที่จนแล้วเสร็จ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นายสง่า ซึ่งอยู่ในวัยเกือบ 70 ปี เป็นลมล้มฟุบลงไป ทำให้ลูกหลานต้องรีบนำไปปฐมพยาบาล ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆ ได้แต่ต่อว่าเจ้าหน้าที่ บ้างก็ร้องห่มร้องไห้
 
จากนั้น เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้ยกกำลังพลจากบ้านเหล่ากล้วย ไปยัง บริเวณที่นาของนายบุญเลี้ยง โยทะกา ที่บ้านแม่นนท์ หมู่ 2 ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยนายบุญเลี้ยง และกลุ่มชาวบ้านที่เฝ้าระวังอยู่ได้ช่วยกันขัดขวาง ไม่ให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ด้วยเช่นกัน จึงเกิดการเข้าเจรจา ระหว่างทางเจ้าหน้าที่ กฟผ.กับชาวบ้าน โดย เจ้าหน้าที่ กฟผ.บอกว่าการเข้าสำรวจพื้นที่เป็นการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนการฟ้องร้องเป็นเรื่องของศาลนั้นก็จะมีการดำเนินการจะทำควบคู่กันไป แต่นายบุญเลี้ยงยืนยันไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินของตน และระบุว่า กฟผ.และเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในพื้นที่เป็นผู้บุกรุก
 
“คุณกำลังขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานมีความผิดตามกฎหมาย” เจ้าหน้าที่ กฟผ.คนหนึ่ง กล่าว ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้นายบุญเลี้ยงออกไปเพื่อจะได้ขุดเจาะสำรวจดิน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างที่กลุ่มชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้มีการผลักดันกันอยู่นั้น ได้มีกลุ่มชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอีกประมาณ 50 คน เดินทางมาช่วยนายบุญเลี้ยง โดยได้ช่วยกันด่าทอ และขับไล่ อยู่เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง จึงสามารถผลักดันให้เจ้าหน้าที่ออกจากที่นาของนายบุญเลี้ยง แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการขุดเจาะสำรวจดิน โดยขยับออกห่างจากจุดเดิมที่จะตั้งเสาไฟฟ้าในที่นาของนายบุญเลี้ยงไป ประมาณ 50 เมตร ขณะที่เจ้าของที่นาในแปลงดังกล่าวไม่ได้อยู่ในบริเวณ
 
ผู้สื่อข่าวให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้มีหนังสือแจ้งมายังกลุ่มชาวบ้านที่ถูกเสาไฟฟ้าและแนวสายส่งพาดผ่านจำนวน 10 ราย ในพื้นที่บ้านแม่นนท์ หมู่ 2 ต.หนองไผ่ อ.เมือง และบ้านเหล่ากล้วย หมู่ 3 ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี ว่าจะลงมาทำการก่อสร้างเสาและขอเข้าพื้นที่ โดยเริ่มเข้ามาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.53 แต่เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 มี.ค.54 เจ้าหน้าที่ กฟผ.ก็ได้เดินทางเข้าไปในที่ดินของนายบุญเลี้ยง เพื่อเข้าสำรวจดินก่อนทำการก่อสร้างเสาไฟฟ้า แต่นายบุญเลี้ยง ได้ออกมาขัดขวาง และใช้เวลาเจราจาเกือบ 1 ชั่วโมง จนชาวบ้านข้างเคียงหลายสิบคน ทนดูพฤติกรรมของ เจ้าหน้าที่ กฟผ.ไม่ไหว จึงออกมาช่วยเหลือและให้กำลังใจนายบุญเลี้ยง จากนั้นเจ้าหน้าที่ กฟผ.จึงถอยกลับไป
 
ช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้นกลุ่มชาวบ้านจึงทำหนังสือส่งไปถึง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงาน กฟผ. ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ กฟผ. ยุติการลงพื้นที่เพื่อเข้ามาดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงในบริเวณที่ดินของชาวบ้านในรายที่ยังไม่ยินยอม จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครอง และขอให้เลิกพฤติกรรมข่มขู่ชาวบ้าน หลังจากนั้นในวันที่ วันที่ 22 มี.ค.54 กกพ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำบันทึกถ้อยคำชาวบ้าน ส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ลดความตึงเครียดลง แต่ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์การเผชิญหน้าดังกล่าวขึ้นอีก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธรณีพิโรธในรัฐฉาน เจ็บ-ตายนับร้อย อาคารบ้านเรือนพังราบ

Posted: 25 Mar 2011 07:05 AM PDT

เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในภาคตะวันออกของรัฐฉาน สหภาพพม่า ทำอาคารบ้านเรือนในหลายเมืองพังยับ มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตนับร้อย มีคนเจ็บทยอยส่ง รพ.ท่าขี้เหล็ก-แม่สาย อยู่เรื่อยๆ เผยสมาชิกครอบครัวนักร้องดัง "จายหาญแลง" ถูกบ้านพังทับดับ 6 ชีวิต 

 

ภาพความเีสียหายของทางหลวงไปเมืองท่าเดื่อ รัฐฉาน หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. สำหรับเมืองท่าเดื่ออยู่ระหว่างเส้นทางจากเมืองท่าขี้เหล็กไปยังเมืองเชียงตุง รัฐฉาน (ที่มาของภาพ: สำนักข่าว S.H.A.N./mongloi)

ผู้บาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. ถูกส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ที่มาของภาพ: สำนักข่าว S.H.A.N./mongloi)

แหล่งข่าวในรัฐฉานหลายแห่งแจ้งว่า จากเหตุเกิดแผ่นดินไหวเมื่อคืนวันพฤหัสบดี 24 มี.ค. แรงสั่นสะเทือน 6.8 ริคเตอร์ มีจุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร บริเวณเทือกเขาในอำเภอท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานภาคตะวันออก ห่างจากชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 48 กม. นั้น ได้สร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก และมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตนับร้อยคน

โดยในพื้นที่กิ่งอำเภอท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก มีสิ่งปลุกสร้างทั้งอาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม โรงเรียน ถนน ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก บ้านสองชั้นที่ตั้งอยู่สองฟากถนนพังราบกว่า 70 – 80 หลัง และเฉพาะเมืองท่าเดื่อขณะนี้พบมีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ราย บาดเจ็บกว่า 100 ราย ขณะที่ในเมืองเลน ซึ่งอยู่ในกิ่งอำเภอท่าเดื่อมีผู้เสียชีวิตกว่า 50 ราย เจ็บกว่า 100 นาย และที่บ้านจากูหนี่ หมู่บ้านชาวลาหู่ มีผู้เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 54 ราย โดยผู้บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมืองท่าขี้เหล็กอย่างต่อเนื่อง และมีผู้บาดเจ็บหลายรายถูกนำตัวส่งข้ามเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้มีผู้ติดค้างอยู่ในซากปรักหักพังเป็นจำนวนมาก

ขณะที่มีรายงานว่า สะพานท่าเดื่อ อยู่บนเส้นทางสายท่าขี้เหล็ก-เชียงตุงได้ เกิดรอยแยกขนาดใหญ่ระหว่างถนนกับตัวสะพาน รถยนต์ไม่สามาารถวิ่งผ่านได้ นอกจากนี้ อาคารโรงพยาบาลเมืองท่าเดื่อได้รับความเสียหายด้วย ส่วนในตัวเมืองท่าขี้เหล็ก มีอาคารบ้านเรือน ร้านค้าเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยตลอดทั้งคืนประชาชนต่างไม่กล้าเข้านอนภายในบ้าน เนื่องจากเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีทหารพม่าในค่ายกองพันทหารราบเบาที่ 526 เสียชีวิต 2 นาย จากเหตุถูกอาคารที่พักพังทับ ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ชาวบ้านเมืองยอง วัย 50 ปี คนหนึ่ง เปิดเผยกับแหล่งข่าวว่า ตลอดชีวิตยังไม่เคยพบมีความรุนแรงมากขนาดนี้

นอกจากนี้ ที่หมู่บ้านหมากอ๋างขาง ตำบลเมืองเล็น ซึ่งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด มีบ้านเรือนพังราบนับสิบหลัง และมีผู้เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บอีกนับสิบราย ส่วนใหญ่หัวแตก แขนขาหัก มีบ้านหลังหนึ่งพังถล่มลงมามีผู้เสียชีวิตคาที่ 8 ราย โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตที่หมู่บ้านหมากอ๋างขางมีสมาชิกครอบครัวของจายหาญแลง ศิลปินนักร้องชื่อดังไทใหญ่ ซึ่งมีพ่อและญาติพี่น้องถูกบ้านพังถล่มทับเสียชีวิตถึง 6 คน ส่วนตัวจายหาญแลงปลอดภัยเนื่องจากขณะเกิดเหตุพำนักอยู่ที่อำเภอแม่สาย

ทั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้เชื่อว่าเฉพาะในจังหวัดท่าขี้เหล็ก และจังหวัดเมืองพยาก อาจมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยราย โดยมีรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (25 มี.ค.) ที่ร้านขายโลงศพแห่งหนึ่งในเขตหมากก่าหัวคำ จังหวัดท่าขี้เหล็ก มีคนไปซื้อโลงศพไปแล้วกว่า 60 โลง และที่วัดหมากก่าหัวคำ มีผู้ไปขอรับโลงศพอีกกว่า 10 โลง

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ชัดเจนขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะระบบการสื่อสารยัง ไม่เข้าถึงพื้นที่ อีกทั้งทางการพม่าไม่มีการแจ้งเตือนหรือรายงานความสูญเสียอย่างเร่งด่วน ขณะที่เมื่อคืนวานนี้ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารพม่าในอำเภอท่าเดื่อได้มีคำสั่งไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ทำการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลความเสียหายรวมถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/



"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.orgและภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สมศักดิ์” เปิดสาขา กมม. ที่ชลบุรี ยันพร้อมส่งผู้สมัครลง ส.ส.

Posted: 25 Mar 2011 06:18 AM PDT

“ไทยโพสต์” เผยแกนนำ พธม. และสุริยะใส หารือเรื่องไม่ส่งผู้สมัครแล้ว คาดได้ข้อยุติในการประชุมพรรค 24 เม.ย. ขณะที่ “สมศักดิ์ โกศัยสุข” เดินทางไปเปิดสาขาพรรคการเมืองใหม่ที่ชลบุรี ลั่นพรรคพร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส. ในชลบุรี 6 เขต รวมทั้งหลายพื้นที่ใน กทม.

ตามที่เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 54 นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยว่า ที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ มีมติว่า ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเราจะ เชิญชวนประชาชนทุกคนให้โนโหวตทั้งประเทศ และจะแจ้งให้นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรค และนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ทราบอย่างเป็นทางการว่า แกนนำพันธมิตรฯ มีมติเสนอให้พรรคการเมืองใหม่ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง พร้อมกับขู่ว่าถ้า กมม.จะส่งคนลงเลือกตั้ง เราจะประชุมกันอีกครั้งว่าจะยังมีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองใหม่อยู่หรือตัดพรรคให้ขาดออกไปเลยนั้น [อ่านข่าวย้อนหลัง]

 ไทยโพสต์ อ้างที่ประชุม กมม. จะส่งคนลงเลือกตั้ง

ล่าสุด หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 มี.ค. 54 ได้อ้าง "รายงานข่าว" ซึ่งแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา กมม.ได้มีการประชุมกรรมการบริหาร และได้มีมติอย่างเป็นทางการว่าจะส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับการเมืองตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มสาขาพรรคต่างยืนยันที่จะลงสมัครเลือกตั้ง ซึ่งมติดังกล่าวสวนทางกับความต้องการของนายสนธิที่ได้ส่งสัญญาณเรื่องนี้มา ยัง กมม.อย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายอมร อมรรัตนานนท์ กก.บห.การเมืองใหม่ ซึ่งเป็นโฆษกบนเวที พธม. ได้ลาจากกรรมการบริหารแล้ว

ไทยโพสต์อ้างว่า มีรายงานด้วยว่าในการประชุมกรรมการบริหารวันนั้น  นายสุริยะใสได้ประกาศในที่ประชุมว่า หากไม่ให้พรรคการเมืองใหม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ตนก็จะลาออกจากตำแหน่งเลขาฯ อย่างไรก็ตามไม่มีการยืนยันถึงข่าวดังกล่าวจากสื่อสำนักอื่น

แหล่งข่าวกลุ่มพันธมิตรฯ แจ้งกับไทยโพสต์ว่า ในสถานการณ์การเมืองในขณะนี้พรรคการเมืองใหม่ยังไม่พร้อมที่จะลงสมัครรับ เลือกตั้ง ทั้งเรื่องการบริหาร โครงสร้าง และเรื่องเงินทุนภายในพรรค และหากยุติพรรคไว้ก่อน สถานการณ์การต่อสู้ของประชาชนขณะนี้ก็จะถูกยกระดับ ต้องหยุดเพื่อโนโหวต แล้วล้มรัฐบาลในอนาคต พรรคการเมืองใหม่ก็จะโต เห็นฐานที่ชัดเจนจากการเลือกโนโหวต เป็นการรอเวลาเพื่อสะสมพลัง

ไทยโพสต์ ยังรายงานความเห็นของ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก พธม.  ซึ่งระบุว่า จากผลสำรวจของโพลล์ต่างๆ เช่น เอแบคโพลล์ ที่ประชาชนถึงกว่าร้อยละ 58 ไม่ตัดสินในการเลือกพรรคการเมืองใด แสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองทั้งระบบมีคะแนนนิยมลดน้อยลง โดยประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก

 เผยแกนนำ พธม. + สุริยะใส หารือเรื่องไม่ส่งผู้สมัครแล้ว คาดได้ข้อยุติ 24 เม.ย.

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับเดียวกันนี้ ยังรายงานว่า ช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (24 มี.ค. 54) ที่บ้านพระอาทิตย์ แกนนำพรรค กมม.ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา กับแกนนำพธม. อาทิ นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย หารือถึงกรณีไม่ให้ กมม.ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง โดยได้ข้อสรุปว่าจะมีข้อยุติในการประชุมสมาชิก กมม.ในวันที่ 24 เม.ย.นี้

ขณะเดียวกัน ช่วงบ่าย กรรมการบริหารพรรค กมม.ได้หารือนอกรอบถึงแรงกระเพื่อมดังกล่าว

ด้านนายสุริยะใสออกคำแถลงว่า ความเห็นของพันธมิตรฯ ที่ส่งสัญญาณไม่เอาลัทธิเลือกตั้งนั้น ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสามารถแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งสังคมวงกว้างไม่ควรมองข้ามกระแสนี้ เพราะนับวันความไม่ไว้วางใจต่อระบบรัฐสภายิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น

ส่วน จุดยืนของพรรค กมม. เช้าวันนี้ได้มีการประชุมของแกนนำรุ่นพันธมิตรฯ ทั้ง 2 รุ่น และเห็นตรงกันว่าวิกฤตการณ์ของชาติในขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเลือก ตั้งเท่านั้น

"พันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่มีเป้าหมายไม่ต่างกัน คือการสร้างการเมืองที่สะอาดและสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและประชาชนได้ อย่างแท้จริงและยั่งยืน แต่เนื่องจากพรรคการเมืองใหม่  ต้องดำเนินกิจกรรมภายใต้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีกฎหมายควบคุมกำกับตลอดเวลา จึงต้องระมัดระวังในการแสดงบทบาท เพราะอาจถูกมองว่าต่อต้านระบบการเมืองการปกครองจนเป็นเหตุให้มีการกลั่น แกล้งเพื่อยุบพรรคได้"

เลขาธิการ กมม.ระบุว่า ในวันที่ 24 เมษายน พรรคจะจัดประชุมใหญ่ระหว่างกรรมการบริหารพรรค กรรมการสาขา กรรมการศูนย์ประสานงาน และสมาชิกพรรค เพื่อกำหนดจุดยืนต่อการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ มั่นใจจะได้ข้อยุติที่ดีและเป็นเอกภาพในวันนั้น

 สมศักดิ์เปิดสาขาพรรค กมม. ที่ชลบุรี ลั่นคนเข้าพรรคต้องไม่คอรัปชั่นและเทิดทูนสถาบัน

ขณะเดียวกัน ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันนี้ (25 มี.ค.) ว่า นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เดินทางมาเป็นประธานเปิดที่ทำการพรรคการเมืองใหม่ สาขาจังหวัดชลบุรี ที่บริเวณตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็น สาขาที่ 10 หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสาขา พรรคการเมืองใหม่ จำนวน 13 คน โดยมีนาย สุนทร สุทธิธาทิพย์ เป็นประธานสาขา

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเมืองประเทศไทยอยู่ในขั้น วิกฤต โดยเฉพาะในรัฐบาลชุดปัจจุบันมีการคอร์รัปชั่นสูงมาก เป็นเสมือนธุรกิจการเมืองไปแล้ว ทุกคนเข้ามาเล่นการเมือง เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่ น้องประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมต้องการที่จะลบภาพการเองอดีตให้หมดไป ซึ่งเราจะส่งเสริมให้คนดีที่มีประวัติศาสตร์ตรวจสอบได้มาเป็นผู้ปกครองเรา เพราะว่าบ้านเมืองทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นสูงมาก

ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาทำงานตรงนี้จะต้องมีประวัติศาสตร์ทีดี นอกจากจะไม่คอร์รัปชั่นแล้ว จะต้องเป็นคนที่เกลียดคอร์รัปชั่น และต่อต้านการคอร์รัปชั่น และจะต้องมีการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และรักษาชาติ ศาสนา และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 หวังให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีความเสมอภาค

นายสมศักดิ์ ยังกล่าว่า นอกจากนั้น เราก็จะให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางตรงให้มากขึ้น ในการตรวจสอบการ ตัดสินใจในการดำเนินการในด้านปัญหาเศรษฐกิจ ในด้านสิ่งแวดล้อม อะไรก็ตามที่กระทบกับประชาชน คือ ให้เป็นไปตามเจตจำนงในการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง และที่สำคัญก็คือ จะต้องทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับองค์ความรู้ด้านข้อมูลข่าวสารได้อย่าง ทั่วถึง เท่าเทียม เสมอภาค รวมทั้งการกระจายรายได้และผลประโยชน์ที่เป็นทรัพยากร และที่ผลิตได้ ให้กับสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นี่คือเป้าหมาย ทิศทางที่จะนำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเมืองใหม่อย่างไร ไม่ใช่แบบเก่าๆ อย่างแน่นอน

 ยันพรรคพร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส. หลายเขตรวมทั้งชลบุรี- กทม. ไม่คาดหวังเรื่องเก้าอี้

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากมีการเลือกตั้งในเร็วนี้ๆ พรรคการเมืองใหม่ของเราก็พร้อมในการส่งตัวผู้สมัครลงแข่งขัน แต่เราไม่ได้คาดหวังว่า พรรคของเราจะได้เข้ามานั่งในสภากี่คน เพราะ มันเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่หากพรรคการเมืองใด ที่บอกว่า จะสามารถกวาดเก้าอี้ได้เท่านั้น เท่านี้ แสดงว่าการได้มาไม่โปร่งใสอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นมีการซื้อ สิทธิขายเสียงกัน สำหรับพรรคเราทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชน ที่จะพิจารณาว่าอะไรดี อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง

สำหรับผู้สมัครของเรานั้น จะเน้นที่พื้นที่มีความพร้อม และประชาชนในพื้นที่จะต้องเป็นผู้เสนอว่าพวกเขาควรจะเอาใครลงไป ซึ่งในขณะก็มีหลายจังหวัดที่มีความพร้อม โดยเฉพาะ จังหวัดชลบุรี ก็มีความพร้อมในการส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือก ถึง 6 เขต นอกจากนี้ยังมีกรุงเทพฯ และ จังหวัดจันทบุรี และอีกหลายจังหวัด ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้งเมื่อถึงเวลา 

ที่มา: เรียบเรียงจาก ไทยโพสต์ และ ASTVผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ระงับประชาสัมพันธ์‘ท่าเรือปากบารา’‘เจ้าท่า’โยนผู้ว่าฯสตูลเคลียร์พื้นที่รปภ.

Posted: 25 Mar 2011 06:06 AM PDT

มอ.ขอขยายเวลาประชาสัมพันธ์ท่าเรือปากบารา อ้างถูกชาวบ้านขู่ กรมเจ้าท่าแจ้งผู้ว่าฯสตูล จัดทีมดูแลความปลอดภัย กลุ่มต้านท่าเรือน้ำลึก เตรียมร้องสภามหาวิทยาลัย มอ. ชาวบ้านพิทักษ์สิทธิชุมชน

ยืดเวลา–มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เจอแรงต้านจากชาวบ้านปากบารา ต้องหยุดลงพื้นที่ ทำหนังสือถึงกรมเจ้าท่าขอขยายเวลาทำงาน

ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล ผู้จัดการโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ 1 จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำหนังสือขอสงวนสิทธิ์ในการขอขยายการทำงาน และแจ้งเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาโครงการฯ ถึงนายสมชาย สุมนัสขจรกุล ประธานคณะกรรมการกำกับการทำงานและตรวจรับงานที่ปรึกษา

ผศ.ดร.ธนิยา เปิดเผยต่อไปว่า สาเหตุที่ขอขยายเวลา เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะการลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อยระดับชุมชน และหัวหน้าส่วนราชการ และสำรวจเก็บข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง ในอำเภอละงู จังหวัดสตูล มีชาวบ้านจำนวนมากเข้ามาข่มขู่ขัดขวางการปฏิบัติงาน และแจ้งให้ออกจากพื้นที่ทันที
ผศ.ดร.ธนิยา กล่าวว่า กรมเจ้าท่ากำลังประสานงานให้จังหวัดสตูลช่วยรักษาความปลอดภัยให้คณะทำงานในโครงการฯ ที่จะลงสำรวจพื้นที่ ตอนนี้กำลังรอตอบหนังสืออย่างเป็นทางการจากกรมเจ้าท่าว่า จะสามารถลงพื้นที่ปฏิบัติงานได้เมื่อไหร่

“กรมเจ้าท่าตอบกลับมาว่า การขอขยายเวลาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ถ้าขอยุติโครงการฯ มอ.จะต้องชำระค่าปรับเป็นเงินจำนวนมาก” ผศ.ดร.ธนิยา กล่าว

นายวินัย คุรุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับหนังสือขอความอนุเคราะห์จัดกำลังรักษาความปลอดภัยให้กับคณะทำงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ 1 จังหวัดสตูล จากกรมเจ้าท่า ถ้าคณะทำงานฯ พร้อมลงพื้นที่เมื่อไหร่ สามารถลงได้เลย ตนพร้อมจะจัดกำลังรักษาความปลอดภัยให้กับคณะทำงาน จนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ตอนนี้ทางเครือข่ายฯกำลังร่างหนังสือและจัดเตรียมเอกสาร ข้อมูลเพื่อร้องเรียนต่อสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ยุติการประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา

“การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับงานโฆษณาชวนเชื่อจากกรมเจ้าท่า มาลงพื้นที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเกิดความระแวงต่อกัน จึงทำให้ชาวบ้านออกมารวมตัวขัดขวางการทำงานของคณะทำงานโครงการฯ เพื่อปกป้องและพิทักษ์สิทธิชุมชน ชาวบ้านไม่ได้ข่มขู่คณะทำงานประชาสัมพันธ์โครงการฯ แต่อย่างใด” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปฏิรูปประเทศไทย: ”ความเพ้อเจ้อ”ของนายประเวศ วะสี

Posted: 25 Mar 2011 05:06 AM PDT

นายประเวศ วะสี ประธาน คสป. แถลงว่า วันที่ 24-26 มีนาคมนี้ จะมีการจัดสมัชชาปฏิรูปเป็นการประชุมสุดยอดทางสังคมที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อร่วมจัดทำฉันทามติแก้ทุกข์ของชาติซึ่งไม่มีรัฐบาลใดอดีต ปัจจุบัน และอนาคตจะแก้ไขได้ เพราะเกิดจากโครงสร้างที่ทำให้คนส่วนน้อยเอาเปรียบชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย

โดยกล่าวว่า จะมีการขอ ฉันทามติ เรื่องการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น กระจายการที่ดิน พลังศิลปเยียวยาการชิงชังและทอนกำลังกัน

แน่นอนว่า ณ ปัจจุบันนี้ นายประเวศ ก็ยัง ไม่มีการพูดถึง การล้อมปราบการสังหารประชาชน 91 ศพ ในเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต ทั้งที่ปากเขาชอบพ่ำบ่นถึงความยุติธรรม

นายประเวศ มักกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เป็นแนวคิดหน้าที่ว่าด้วยการสมานฉันท์ การปรองดอง การที่แต่ละส่วนมีหน้าที่ในการผลักดันให้องคาพยพเคลื่อนตัวไป

เหมือนดั่งกับว่า สังคมในโลกนี้ไม่มีความขัดแย้ง

เป็นทฤษฎีเดียวกับฮิตเลอร์เผด็จการนิยมใช้กล่าวอ้างในการควบคุมประชากรไม่ให้กระด้างกระเดื่องต่ออำนาจผู้ปกครอง

แท้จริงแล้ว ปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปัญหากระจายการถือครองที่ดิน และ การปฏิรูประเทศไทยนั้น ย่อม เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทย ที่โยงใยกับปัญหาการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่? อย่างไร?
ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรในการเคลื่อนไหวแค่ไหน? ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีหรือไม่?

ปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งนายประเวศเสนอ ก็ไม่ได้ฟันธงว่า คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่? ยังพูดลอยเพ้อๆอยู่ และการเลือกตั้งผู้ว่าที่มีการเสนอมีนาน ก็มักถูกขัดขวางจากระบบราชการส่วนสำคัญของระบอบอำมาตยาธิปไตย

นายประเวศ อาจจะพูดถึง การกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แต่นายประเวศไม่ได้ทบทวนบทเรียนว่า อุปสรรคสำคัญในการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นก็มักเป็นหน่วยงานระบอบราชการที่มีวิธีคิดแบบรวมศูนย์อำนาจนั่นเอง

นายประเวศ พูดถึงการกระจายการถือครองที่ดิน แม้แต่การเปิดเผยข้อมูล ว่าใครถือครองที่ดิน เท่าไร ที่ไหน ก็ยังมิอาจกระทำได้จริง

ดูเหมือนนายประเวศ จะเพ้อๆว่า ปัญหาโครงสร้าง ถ้าทุกคนรู้ก็จะประเทืองปัญญา ตรัสรู้ได้ก็สามารถแก้ปัญหาได้ในทันทีทันใด ซึ่งนายประเวศทำประจำมาทุกรัฐบาล

นายประเวศ แถลงว่าจะมีประชาชนและหลายองค์กรมาร่วมประชุมในครั้งนี้จำนวนมาก แต่นายประเวศก็ไม่ได้บอกว่า ใครจ่ายงบประมาณ มีเบี้ยเลี้ยงไหม ใช้งบประมาณอย่างพอเพียงไหม?

หรือว่า “กูมาเอง ไม่มีใครจ้างกูมา” หรือว่า “กูต้องมาเพราะไม่มาสสส. สกว. พอช. จะตัดทุนโครงการกู” นายประเวศก็ควรชี้แจงให้โปร่งใสด้วย มิฉะนั้น “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

ผู้เขียนเอง มีความคิดว่า มีแต่สังคมประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำเปิดทางให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่มสร้าง อำนาจอย่างเสรีต่อรอง กดดัน สร้างพลัง เพื่อให้ชนชั้นที่เอาเปรียบ ยอมกระจายการกระจุกตัวของที่ดินที่ตนเองครอบครองอยู่ ยอมที่จะจ่ายภาษีก้าวหน้า เพื่อกระจายความมั่งคั่งที่ตนเองเสพสุขอยู่บนความทุกข์ของคนจำนวนมาก ฯลฯ

ปัญหารากเหง้าในเงื่อนไขสภาพทางการเมืองที่สำคัญใน ช่วงประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน คือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย มีปรัชญาความเชื่อว่า คนยังโง่อยู่ ไม่มีความรู้ จึงต้องเป็นพลเมืองชั้นสอง จึงต้องมีคนที่เหนือกว่าปกครองดูแล จึงเป็นเพียงไพร่ ที่มูลนายต้องบังคับควบคุมดูแล เหมือนเฉกเช่นสมัยในอดีตสังคมศักดินาไทย

ข้อเสนอของนายประเวศ เป็นการบิดเบือนหลอกลวง การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง เนื่องเพราะว่า การปฏิรูปประเทศไทย ที่สำคัญคือการปฏิรูปกองทัพและองคมนตรี ซึ่งล้วนเป็นจักรกลของระบอบอำมาตย์ทั้งสิ้นที่คอยขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า เช่น การรัฐประหาร การแทรกแซงทางการเมือง เป็นต้น

การปฏิรูปประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ด้วยไม่เพียงต้องสร้างนโยบายและกฎหมาย เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยในหลายมาตรา การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยต้องลดอำนาจนอกระบบ เช่น การให้อำนาจกับกระบวนการตุลาการมากเกินไปโดยไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งถึง 74 คน ฯลฯ และอื่นๆที่ต้องช่วยคิดช่วยผลักดัน

การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม (เหมือนสูตรที่นายประเวศท่องจำตลอดเวลา แต่กลับไม่นำมาใช้มาปฏิบัติ) ซึ่งต้องมีกระบวนการจากล่างสู่บนเหมือนเช่นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 40 ต้องมีการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนสาขาอาชีพต่างๆ มิใช่เพียงภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เพียงน้อยนิดของนายประเวศและเหล่าอำมาตย์เอ็นจีโอทั้งหลายเท่านั้น

การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้มีความยุติธรรมเท่าเทียมกันไม่ใช่ระบบสองมาตราฐานอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ต้องปฏิรูปความคิดจิตสำนึกให้คนในสังคมไทยรักประชาธิปไตย เคารพหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง เคารพกติกาประชาธิปไตย ฯลฯ และอื่นๆอีกมากมายที่ต้องช่วยคิดช่วยผลักดัน
ดังนั้น การปฏิรูปประเทศไทย จึงมิเป็นเพียงของนายประเวศและคณะ เท่านั้น
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายลุ่มน้ำทั่วประเทศ แถลงจากเวทีปฏิรูปฯ จี้รัฐทบทวนโครงการเขื่อน

Posted: 25 Mar 2011 03:34 AM PDT

 
วันนี้ (25 มี.ค.54)เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) อีสาน (ชี มูล สงคราม) ใต้ (ลุ่มน้ำท่าแซะ-รับร่อ ลุ่มน้ำคลองกราย ลุ่มน้ำสายบุรี) ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาละวิน ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ประสานความร่วมมือปฏิรูปการจัดการน้ำ ปฏิรูปประเทศไทย” จากเวทีปฏิรูปประเทศไทย อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพฯ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง รวมทั้งโครงการเขื่อนในประเทศไทย เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี
 
พร้อมให้รัฐบาลดำเนินการทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยหันมาสนับสนุนและผลักดันการจัดการน้ำชุมชน โดยใช้แนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นวางแผนการจัดการน้ำชุมชน โดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน และแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ เป็นต้น
 
“พวกเราขอให้รัฐทบทวนการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งให้รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ แล้วหันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” แถลงการณ์ระบุ พร้อมลงท้ายว่าจะร่วมมือกันติดตาม ตรวจสอบและเสนอแนะทางออกในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการจัดการน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อไป
 
 
 
แถลงการณ์
 
เครือข่ายลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน
 
ประสานความร่วมมือปฏิรูปการจัดการน้ำ ปฏิรูปประเทศไทย
 
กว่าร้อยปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รวมศูนย์การจัดการน้ำไว้ที่กรมชลประทาน ซึ่งได้ใช้แนวคิดการจัดการน้ำแบบตะวันตกโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในการจัดการน้ำ แต่บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าเขื่อนขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมได้ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอดมา
 
เมื่อคืนที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2554) ได้เกิดแผ่นดินไหว 6.7 ริกเตอร์ในประเทศพม่าใกล้กับจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ซึ่งรับรู้ได้ถึงตึกสูงในกรุงเทพฯ ห่างจากเขื่อนจิงหงในประเทศจีน 168 กิโลเมตร
อีกทั้ง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ได้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศลาว ใกล้กับจุดที่จะสร้างเขื่อนไซยะบุรี 4.6 ริกเตอร์ นี่คือสัญญาณเตือนภัยที่บอกให้เราต้องเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติและต้องทบทวนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเสี่ยงต่อหายนะภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
พวกเราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) อีสาน (ชี มูล สงคราม) ใต้ (ลุ่มน้ำท่าแซะ-รับร่อ ลุ่มน้ำคลองกราย ลุ่มน้ำสายบุรี) ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อปกป้อง รักษา และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้สรุปบทเรียนและเห็นถึงหายนะภัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทย ได้สร้างปัญหาให้กับดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก บทเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้บอกให้เราเห็นว่า ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนได้สิ้นสุดลงแล้ว มนุษยชาติพึงร่วมกันตระหนักถึงภัยของการสร้างเขื่อน และต้องบอกกล่าวกับรัฐบาลรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองของตนให้ตระหนักถึงภัยที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้น ในนามเขื่อน
 
พวกเราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน รู้สึกห่วงใยในแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีแผนการที่จะสร้างเขื่อนขึ้นบนแม่น้ำสาละวิน ในจีน 13 เขื่อน ในพม่าอีก 5 เขื่อน เขื่อนบนแม่น้ำโขง ในจีนสร้างไปแล้ว 4 เขื่อน และมีแผนที่จะสร้างในจีนอีก 4 เขื่อน ในแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนล่างอีก 12 เขื่อน อาทิ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนดอนสะฮอง ในลาว เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม พรมแดนไทยลาว เขื่อนซำบอ ในเขมรฯลฯ รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทยที่กำลังผลักดันกันอยู่ อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช, เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี เป็นต้น
 
พวกเราขอให้รัฐทบทวนการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งให้รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ แล้วหันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พวกเราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
 
     1.ยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน
     2.ยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง
     3.ยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนในประเทศไทย เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี
     4.ให้รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยหันมาสนับสนุนและผลักดันการจัดการน้ำชุมชน โดยใช้แนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นวางแผนการจัดการน้ำชุมชน โดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
     5.ให้รัฐ แสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ, เป็นต้น
 
พวกเราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน จะร่วมมือกันติดตาม ตรวจสอบและเสนอแนะทางออกในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการจัดการน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนสืบต่อไป
 
ด้วยจิตรคารวะ
เครือข่ายลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน
25 มีนาคม 2554 ณ เวทีปฏิรูปประเทศไทย อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพฯ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คาดมีผู้เสียชีวิตนับร้อยจากเหตุแผ่นดินไหวรัฐฉานเมื่อคืนวานนี้

Posted: 25 Mar 2011 03:04 AM PDT

"สำนักข่าวฉาน" ระบุมีการจำหน่ายโลงศพแล้ว 80 โลงที่เมืองท่าขี้เหล็กตรงข้าม อ.แม่สาย ช่วงเช้านี้ ขณะที่มีรายงานความสูญเสียจำนวนมากในเมืองต้าเหล่ิอ เมืองเลน เมืองพยาก โดยบ้านเรือนจำนวนมาก รวมทั้งโรงพยาบาลและสะพานที่เมืองต้าเหล่อได้พังเสียหายด้วย ขณะที่สื่อรัฐบาลพม่าระบุมีผู้เสียชีวิตแล้ว 41 ราย

(25 มี.ค. 54) มีรายงานการจำหน่ายโลงศพไปแล้วกว่า 80 โลงในช่วงเช้าวันนี้ที่เมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ระหว่างเมืองต้าเหล่อ (ท่าเดื่อ) - เมืองเลน ห่างจากจุดผ่านแดนเมืองท่าขี้เหล็ก-แม่สายเพียง 48 กิโลเมตร สำนักข่าวฉานรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวชายแดนวันนี้

ทั้งนี้มีบ้านเรือนหลายร้อยหลังที่เมืองต้าเหล่อ เมืองเลน เมืองพยาก รวมทั้งโรงพยาบาลต้าเหล่อพังเสียหายหลังเหตุแผ่นดิน "บ้านสองชั้น กว่าครึ่งพังหมด" แหล่งข่าวซึ่งอยู่ในพื้นที่ระบุ

สำนักข่าวฉาน ในระหว่างที่รายงานนี้ (10.30 น.) ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน และอาจเกินกว่า 100 คน

โดยสะพานที่เมืองต้าเหล่อ ซึ่งจีนเป็นผู้ก่อสร้าง ขณะนี้ไม่สามารถใช้งานได้ รวมทั้งมีรายงานว่าตลิ่งสองฟากแม่น้ำพังทลายด้วย ขณะที่ประชาชนในเมืองท่าขี้เหล็กส่วนใหญ่ต้องออกมานอกภายนอกบ้าน ทั้งนี้ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเมืองท่าขี้เหล็ก

ทั้งนี้แรงสั่นสะเทือนยังสามารถรับรู้ได้ถึง เมืองยอง เมืองลา เมืองปางซาง และเมืองน้ำคำ ทางตอนเหนือของรัฐฉาน รวมทั้งเมืองสาด และเมืองโต๋น ในทางตะวันตกของรัฐฉาน "ฉันไม่เคยเจอแผ่นดินไหวหนักขนาดนี้มาก่อนในชีวิต" ชาวเมืองยองกล่าวกับสำนักข่าวฉาน

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวของจีน ยังอ้างรายงานจากสถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการพม่า ซึ่งระบุในช่วงข่าวด่วนว่า มีผู้เสียชีวิต 41 ราย บาดเจ็บ 48 ราย จากเหตุแผ่นดินดังกล่าว มีบ้านเรือน 244 หลัง วัด 14 แห่ง และอาคารที่ทำการของรัฐบาล 9 แห่งได้รับความเสียหาย

ขณะที่สำนักข่าวอิระวดี ซึ่งเป็นสื่อพลัดถิ่นภายนอกประเทศพม่า รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวท้องถิ่นว่า ที่กองพันทหารราบเบาที่ 316 ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐฉาน มีรายงานอาคารได้รับความเสียหาย และมีทหารและสมาชิกครอบครัวเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรวมทั้งหมด 17 ราย

ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก
Quake death toll could reach 100 and more, S.H.A.N., Friday, 25 March 2011 11:36 http://www.shanland.org/index.php?option=com_content&view=article&id=3529

41 killed, 48 injured in Myanmar quake so far: state TV, English.news.cn   2011-03-25 13:20:15 http://news.xinhuanet.com/english2010/world/2011-03/25/c_13797980.htm

Earthquake Devastation Reported in Shan State, By THE IRRAWADDY, http://www.irrawaddy.org/highlight.php?art_id=21008

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกิดอาฟเตอร์ช็อคอีกรอบ หลังเหตุแผ่นดินไหวใกล้ชายแดนไทย-พม่า

Posted: 25 Mar 2011 02:21 AM PDT

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริการายงานว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ริคเตอร์อีกรอบในช่วงเช้านี้ ทำให้ขณะนี้เกิดอาฟเตอร์ช็อคแล้ว 3 ครั้งในรอบ 24 ชั่วโมง และมีรายงานผู้เสียชีวิตและความสูญเสียจำนวนมากเกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่าด้วย

เมื่อเวลา 7.22 น. ตามเวลาในประเทศไทยวันนี้ (6.52 น. ตามเวลาในพม่า) เว็บไซต์สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา รายงานว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.0 ริคเตอร์ ศูนย์กลางแผ่นดินไหว อยู่ในรัฐฉาน ห่างจาก จ.เชียงราย ไปทางเหนือ ละติจูดที่ 20.724 องศาเหนือ ลองติจูดท่ 99.873 องศาตะวันออก อยู่ลึกจากผิวโลก 10 กิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาหลังเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริคเตอร์ ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อคขึ้นสองรอบ ขนาด 4.8 ริคเตอร์ ในเวลา 21.23 น. และ ขนาด 5.4 ริคเตอร์ ในเวลา 22.54 น. ตามเวลาในประเทศไทย รวมกับเหตุอาฟเตอร์ช็อคช่วงเช้านี้แล้ว ทำให้มีอาฟเตอร์ช็อคเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 3 ครั้งในรอบ 24 ชั่วโมงที่เกิดแผ่นดินไหวดังกล่าว

นอกจากนี้ มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตและความสูญเสียจำนวนมากในรัฐฉาน สหภาพพม่า หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อคืนที่ผ่านมาด้วย โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลแพ่งสั่ง "พันธมิตรฯ" ชดใช้ ทอท. 522 ล้าน คดียึดสนามบิน

Posted: 25 Mar 2011 01:00 AM PDT

ศาลแพ่งสั่ง "จำลอง-แกนนำ พธม." ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 522 ล้านบาท ให้บริษัทการท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กรณีชุมนุมสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ศาลชี้กระทำผิดฐานละเมิดทำให้เสียหายทั้งกายภาพ-พาณิชย์

วันนี้ (25 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 603 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท การท่ากาศยานไทยจำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พธม. กับพวกที่เป็นแกนนำร่วม รวม 13 คน ในความผิดฐานละเมิดและขับไล่ พร้อมเรียกค่าเสียหาย 245,790,774 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีนำกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรฯ ชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ช่วงเดือน พ.ย.ปี 2551

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมของจำเลยและพวกเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขตตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ทำให้กระทบสิทธิของผู้อื่น ทำให้สนามบินทั้งสองแห่งได้รับความเสียหาย ทั้งขณะที่มีการชุมนุมที่สนามบินและหลังจากที่ผู้ชุมนุมได้เลิกการชุมนุมไปแล้ว จึงพิพากษาให้จำเลยทั้ง 13 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์เป็นค่าเสียหายทั้งทางกายภาพและเชิงพาณิชย์ เป็นเงินรวม 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 3 ธ.ค. 51 ที่จำเลยนำกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าฤชาทนายความแก่โจทก์เป็นเงิน 8 หมื่นบาท

ก่อนหน้านี้ ในการสืบพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.53 นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เป็นพยานขึ้นเบิกความสรุปว่า เป็นผู้สั่งการให้ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกเข้ามาภายในท่าอากาศยาน เมื่อวันที่ 25 พ.ย.51 โดยเป็นการสั่งปิดให้บริการชั่วคราวในเวลา 21.00 น. และแจ้งปิดอย่างเป็นทางการในเวลา 23.00 น.เนื่องจากพนักงานของสนามบินตื่นตระหนก ไม่กล้าทำงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่าคำสั่งปิดสนามบินเป็นการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพราะหากเปิดให้บริการต่ออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้โดยสาร

นอกจากนี้ นายเสรีรัตน์ ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เป็นพี่ชายแท้ๆ ของนางศรีวิไล ประสุตานนท์ ภรรยา นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำคนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ไม่ทราบว่า นายวีระ เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเข้าประเทศ และอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มพันธมิตรฯ

ขณะที่เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.53 นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยที่ 2 ในคดี ขึ้นเบิกความเป็นพยานจำเลยปากสุดท้าย สรุปว่า ก่อนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เข้าไปชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการหารือ และถกเถียงกันใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ โดยสุดท้าย พล.ต.จำลอง ซึ่งมีความอาวุโสที่สุดเป็นผู้ตัดสินใจพากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง เพื่อเรียกร้องและกดดันรัฐบาลในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งขณะนั้น ครม.อยู่ระหว่างพิจารณาโครงการรถเมล์เอ็นจีวี นอกจากนี้ ยังทวงถามรัฐบาลถึงความคืบหน้าคดียิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตหลายราย

นายสนธิกล่าวอีกว่า ที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ เห็นตรงกันว่า การชุมนุมที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ไม่ได้สร้างเสียหายให้กับธุรกิจการบินทั้งในและนอกประเทศ เพราะไม่ใช่เป็นการปิดสนามบิน โดยเครื่องบินสามารถขึ้นลงได้ตามปกติ เพราะผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่บริเวณ “แลนด์ไซด์” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของเครื่องบิน และแกนนำเองก็กำชับไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่บริเวณ “แอร์ไซด์” เพราะทราบดีว่าหากล่วงล้ำเข้าไปยังพื้นที่การบินจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทันที นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังเปิดให้บุคคลทั่วไปเดินทางเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ได้โดยสะดวก อีกทั้งยังช่วยเจรจาให้ชาวมุสลิมได้เดินทางไปร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียด้วย

นายสนธิยังเบิกความตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่เป็นนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ที่เป็นผู้สั่งการ แต่คำสั่งของนายเสรีรัตน์จะเป็นไปตามอนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไม่ตนไม่ทราบ ซึ่งทราบเพียงว่าคณะกรรมการ ทอท.ตำหนินายเสรีรัตน์ที่สั่งปิดสนามบินโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า

ส่วนเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น ไม่มีความเสียหายที่เป็นรูปธรรมถึงขั้นต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซม ซึ่งมีเพียงห้องน้ำเท่านั้นที่มีความสกปรก ซึ่งในการส่งมอบพื้นที่คืนคณะกรรมการ ทอท.ก็ยืนยันว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ และ ผู้จัดการออนไลน์ ข่าว 1, ข่าว 2, ข่าว 3

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น