ประชาไท | Prachatai3.info |
- คำปราศรัย ‘อภิสิทธิ์’ ในโอกาส ‘วันสตรีสากล’
- พม่าห้ามสื่อในประเทศเสนอข่าวประท้วงในลิเบีย
- กระทรวงเผยแก้ปัญหาแรงงาน 3 กลุ่มสำเร็จ เตรียมดัน “แรงงานสัมพันธ์ระดับชาติ”
- ใบตองแห้งออนไลน์ : อุดมการณ์สื่อ (ใบแทรก) เรื่องหวิดงามหน้าที่สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์
- จรรยา ยิ้มประเสริฐ: 100 ปีสตรีสากล ผู้หญิงอยู่ตรงไหน? ขับเคลื่อนอย่างไรในปี 2554?
- ศอ.รส.ประกาศห้ามใช้ถนนรอบบ้านพัก "อภิสิทธิ์" ชี้ไม่กระทบการจราจร
- 100 ปีวันสตรีสากล: ทัศนะผู้หญิงในขบวนการแรงงาน-ชาวบ้าน
- กลุ่มกรรมกรแดงออกแถลงการณ์วันสตรี เสนอตั้งพรรค ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิก ม.112
- สฤณี อาชวานันทกุล: กลไกกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต และปัญหาในไทย (1)
- นักกฎหมายเบรคหัวทิ่ม ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุม ชี้ขัด รธน.
- นักข่าวพลเมือง: “พีมูฟ” ลุ้น รัฐฯ รับปาก 10 ประเด็นเข้า ครม.
คำปราศรัย ‘อภิสิทธิ์’ ในโอกาส ‘วันสตรีสากล’ Posted: 08 Mar 2011 01:37 PM PST หมายเหตุ: เว็บไซต์ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาลเผยแพร่ คำปราศรัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาส “วันสตรีสากล” ประจำปี 2554 วันที่ 8 มีนาคม 2554 โดยออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรักทั้งหลาย องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อให้ประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสตรี ร่วมเฉลิมฉลองและแสดงความภาคภูมิใจในความสำเร็จของสตรี และเพื่อให้ประเทศสมาชิกแสดงความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านสตรี ตลอดจนส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างสตรีกับบุรุษ โดยประเทศสมาชิกถือเป็นพันธกรณีดำเนินการในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การ สหประชาชาติ และโดยที่ปี 2554 นี้ เป็นวาระครบรอบ 100 ปี การเฉลิมฉลองวันสตรีสากล จึงนำไปสู่แนวคิดการจัดงานวันสตรีสากลในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “ศตวรรษใหม่ สตรีสากล เพื่อสังคมเสมอภาค” ในการสร้างความเสมอภาคระหว่างสตรีและบุรุษสตรีในสังคมไทยนั้น รัฐบาลมุ่งสร้างความเท่าเทียมและความเอื้ออาทร เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีได้รับการศึกษา มีงานทำ เข้าถึงทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร สวัสดิการสังคม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงบทบาทความสามารถด้านต่างๆ ในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญแก่ประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้คนในสังคมตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของสตรี มีเจตคติที่ดีต่อสตรี และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรีและบุรุษอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคมไทยสืบต่อไป วันสตรีสากลได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ในวันนี้ รัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินภารกิจสำคัญในการสร้างความเสมอภาคระหว่างสตรีกับบุรุษร่วมกับทุก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้ทั้งสตรีและบุรุษตระหนักในคุณค่าของตน เข้าใจในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพื่อให้ทุกคนไม่ว่าสตรีหรือบุรุษมีบทบาทร่วมกันในการแก้ไข ปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง มีส่วนในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีความสามัคคี กัน เป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทรตามวิสัยทัศน์อาเซียน พุทธศักราช 2563 และตามเป้าหมายการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ เนื่องในโอกาส “วันสตรีสากล” ประจำปี 2554 นี้ ผมขออวยพรให้พี่น้องสตรี ผู้ทำงานด้านสตรี และพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ประสบความสุข ความเจริญ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเป็นพลังในการพัฒนากิจการสตรีและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า มีความมั่นคงยั่งยืนตลอดไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พม่าห้ามสื่อในประเทศเสนอข่าวประท้วงในลิเบีย Posted: 08 Mar 2011 01:32 PM PST 7 มี.ค.2554 มีรายงานว่าสื่อในพม่าถูกทางการเข้มงวดและสั่งห้ามนำเสนอข่าวการประท้วงในประเทศลิเบีย เนื่องจากหวั่นว่าจะกระตุ้นให้ประชาชนออกมาลุกฮือประท้วงรัฐบาล ขณะที่นักข่าวในย่างกุ้งเปิดเผยว่า ทางการพม่าเริ่มเข้มงวดกับสื่อในประเทศเป็นเวลากว่า 2 อาทิตย์แล้ว “เราถูกเข้มงวดอย่างหนัก เราไม่สามารถเขียนเกี่ยวกับประเทศอาหรับ หรือไม่สามารถพูดถึงนายมูอัมมาร์ กัดดาฟีได้เลย หรือเราสามารถนำเสนอข่าวได้เพียงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องเป็นข่าวที่สั้นมากๆ แต่เราไม่สามารถนำเสนอผ่านบทความวิเคราะห์หรือไม่สามารถบอกว่า ผู้นำเผด็จการกำลังปราบปรามผู้ประท้วงเป็นต้น” นักข่าวในกรุงย่างกุ้งรายหนึ่งกล่าว ก่อนหน้านี้ในปี 2550 ได้มีการพาดหัวข่าวไปทั่วโลกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รัฐบาลพม่าปราบปรามพระสงฆ์และกลุ่มผู้ประท้วง จนรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนต่างตั้งคำถามว่า ทำไมการประท้วงในประเทศตูนีเซียและอียิปต์ จนนำมาสู่การโค่นล้มผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศมาหลายสิบปีได้เป็นผลสำเร็จถึงยังไม่เข้ากับสถานการณ์ในพม่า ที่มา : สำนักข่าว DVB สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กระทรวงเผยแก้ปัญหาแรงงาน 3 กลุ่มสำเร็จ เตรียมดัน “แรงงานสัมพันธ์ระดับชาติ” Posted: 08 Mar 2011 01:29 PM PST เมื่อวันที่ 7 มี.ค.54 นายพงศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รองประธานคณะทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับทราบและสั่งการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงาน โดยได้ข้อยุติแล้วตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยแรงงานจากทั้ง 3 แห่งได้บรรลุข้อตกลงกับทางบริษัท และได้รับความช่วยเหลือจากทางกระทรวงแรงงาน ดังนี้ พนักงานจากบริษัท พีซีบี จำนวน 492 คน ที่โรงงานประสบเหตุเพลิงไหม้จนต้องเลิกกิจการ ได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่ายจำนวนรวม 6.5 ล้านบาท เฉลี่ยคนละประมาณ 13,000 บาท และได้รับเงินค่าชดเชยจำนวนหนึ่งจากกองทุนสงเคราะห์ลุกจ้าง โดยเริ่มรับเงินประกันการว่างงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 สำหรับข้อพิพาทระหว่างบริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล ประเทศไทย จำกัด กับทางสหภาพแรงงานฟูจิตสึฯ ได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้าง ยกเลิกการปิดงานและนัดหยุดงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ โดยมีการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงาน เช่น จ่ายเงินโบนัสให้ 4.2 เท่า และเงินพิเศษอีก 5,000 บาท โดยประเมินจากความร่วมมือของพนักงานและเป้าหมายการผลิต ในส่วนของบริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กับสหภาพแรงงาน แม็กซิสฯ ได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้างให้พนักงานกลับเข้าทำงานภายใน 10 มีนาคม 2554 โดยได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญเช่น การเปลี่ยนสภาพการทำงานจากเดิมสองกะเป็นสามกะ โดยได้รับเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ค่าทำงานกะบ่าย 40 บาท กะดึก 55 บาท เบี้ยขยัน เริ่มตั้งแต่ 600 บาท 700 บาท 800 บาท และ 900 บาท ค่ารถเดือนละ 850 บาท ค่ากับข้าววันละ 35 บาท และอื่นๆ โดยได้รับโบนัสปี 2553 เฉลี่ยคนละ 19,500 บาท นายพงศักดิ์ กล่าวว่า ถึงแม้การชุมนุมของผู้ใช้แรงงานยุติลงแล้วก็ตาม งานที่รอกระทรวงแรงงานเข้าไปดำเนินการจะเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการได้รับก็คือ การยกระดับระบบแรงงานสัมพันธ์จากระดับกระทรวงแรงงาน เป็นยุทธศาสตร์แรงงานสัมพันธ์ “ระดับชาติ” ที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ ตลอดจนมีหน่วยงานทั้งภายในกระทรวงแรงงาน และกระทรวงอื่นร่วมภารกิจด้วยกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงนั้น สถานประกอบกิจการราว 3.8 แสนแห่ง มีสหภาพแรงงานเพียง 1,284 แห่ง เท่านั้น ดังนั้นกลไกคณะกรรมการสวัสดิการซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับผิดชอบดูแลแต่ละสถานประกอบกิจการจำเป็นต้องขับเคลื่อนเพื่อยกระดับแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ตลอดทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน โดยที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เห็นชอบในหลักการตลอดทั้งนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่จะให้กระทรวงแรงงานจัดสมัชชาแรงงานเพื่อระดมความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อผลักดันงานแรงงานสัมพันธ์ โดยคณะทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์จะได้ดำเนินการต่อไป รวมทั้งการผลักดันการแก้ไขปัญหาการรับเหมาค่าแรงที่ทำให้เกิดหลายมาตรฐานในการจ้างงาน ทำให้เกิดความอ่อนแอในระบบการผลิตมีผลกระทบต่อการกระจายรายได้และความยุติธรรม ตลอดทั้งการดูแลการใช้แรงงานต่างด้าวบางประเภทกิจการส่งเสริมการลงทุนซึ่งไม่ได้รับอนุญาต ที่มา: http://www.mol.go.th/anonymouse/content/infocus/14384 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ใบตองแห้งออนไลน์ : อุดมการณ์สื่อ (ใบแทรก) เรื่องหวิดงามหน้าที่สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ Posted: 08 Mar 2011 11:55 AM PST สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพิ่งจะเป็นพระเอก เมื่อร่วมกับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ทักท้วงกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 746 ล้านบาทให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย โดยในจำนวนนี้มีงบ 5 ล้านบาท เป็นค่าจ้างเผยแพร่ข่าวความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานทาง สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ 10 ครั้งๆ ละ 5 แสนบาท ซึ่งสมาคมและสภาทักท้วงว่า เป็นภารกิจของสื่อที่จะต้องเสนอข่าวอยู่แล้ว หน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย เว้นแต่จะเป็นการจ้างทำพีอาร์บุคคลหรือองค์กรซึ่งไม่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผลของการทักท้วงดังกล่าวทำให้อภิสิทธิ์สั่งตัดงบ 5 ล้านบาทออก (ซึ่งก็น่าสนใจติดตามว่างบ 5 ล้านนี้คิดจะเอาไปใช้อย่างไร จ้างสื่อสำนักไหน) นั่นคือเรื่องที่ต้องปรบมือให้ และยังมีอีกเรื่องที่ต้องปรบมือให้บางคน กับชูนิ้วกลางให้บางคน เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ๆ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็มีมติให้ส่งตัวแทนเข้ารับการสรรหาเป็นวุฒิสมาชิก ที่องค์กรต่างๆ กำลังส่งชื่อให้ กกต.กันขาขวิด เพื่อคัดเลือกโดย 7 อรหันต์ผู้วิเศษไร้กิเลสตัณหาไม่มีโลภะโทสะโมหะไม่เคยมีพรรคพวกเพื่อนพ้องไม่มีลูกน้องญาติมิตรไม่มีบุญคุณความแค้นกับใคร (บางรายก็นับถือโกเอนก้า) สั่งไม่ได้ ฝากไม่ได้ ล็อบบี้ไม่ได้ แต่ 74 ส.ว.ชุดแรกก็เห็นๆ กันอยู่ อ้าว ชักนอกเรื่อง แต่แค่นั้นก็พอแล้ว เป็นเรื่องแล้ว เพราะในบรรดาองค์กรสื่อทั้งหลาย ซึ่งมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็น 3 องค์กรหลัก 2 องค์กรแรกที่เป็นพี่ใหญ่ เขายังไม่ส่งเลย ไหงสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์มีมติให้ส่งคนเป็น ส.ว. กรณีนี้ยังมีประวัติศาสตร์ ที่หลังรัฐประหาร 3 องค์กรสื่อได้มีมติเสนอชื่อ ภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ สมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ “เจ๊หยัด” บัญญัติ ทัศนียเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนถูกนักข่าวด้วยกันล่าชื่อค้าน เป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต กระทั่งทั้ง 3 คนต้องลาออก เพื่อไปเป็น สนช. (สงสารเจ๊หยัด ต่อสู้เผด็จการมาตลอดชีวิต กลับมาเสียประวัติตอนแก่) ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มี ส.ว.สรรหา องค์กรสื่อก็ไม่เกี่ยวข้อง สมชาย แสวงการ, คำนูณ สิทธิสมาน ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรอื่น เช่น สมชาย แสวงการ ได้รับการเสนอชื่อจากมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด อันมีบุญชัย เบญจรงคกุล เป็นประธานกรรมการ สนธิญาณ (หนูแก้ว) ชื่นฤทัยในธรรม เป็นรองประธานกรรมการ สมชายเป็นกรรมการร่วมกับ ดร.ประกอบ จิรกิติ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมีมติให้ส่งตัวแทนเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ บิ๊กค่ายเนชั่น (แขนขวาของหยุ่น) เขียนบทความเรื่อง “เสียงบ่น 'เสียงข้างน้อย' ในองค์กรสื่อ เว้นระยะห่าง-ระยะเห่า-สรรหา ส.ว.” ลงกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ เปิดเผยว่าคณะกรรมการมีเสียงก้ำกึ่ง จึงเชิญที่ปรึกษาไปแสดงความเห็น อดิศักดิ์เป็นที่ปรึกษาคนหนึ่ง เขาไม่เห็นด้วย แต่เขาเป็น “เสียงข้างน้อย” มากๆ ของคณะที่ปรึกษา เสียงส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทางสนับสนุน แม้หลายคนเคยไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อเป็น สนช.แต่ครั้งนี้กลับเห็นว่าการนั่งอยู่ข้างนอกทำอะไรไม่ได้มากเท่ากับการเข้าไปอยู่ข้างใน ทำให้สามารถต่อสู้แทนสื่อและประชาชนได้มากกว่า อดิศักดิ์เห็นว่าสมาคมนักข่าวควรรักษาระยะห่างกับการเข้าไปข้องแวะตำแหน่งทางการเมือง เพื่อมีอิสระในการตรวจสอบการทำงานของ ส.ว. และยังกังวลในกระบวนการสรรหาของ กกต.ที่เริ่มเสียงหึ่งๆ ว่า มีการล็อบบี้กันหนักมากเงินทองสะพัดแน่นอน แม้จะมั่นใจกับ 7 อรหันต์ (ก็ธรรมดา เพราะอดิศักดิ์เชียร์รัฐประหารตุลาการภิวัฒน์มาตลอด) เรื่องนี้คงจะวิพากษ์วิจารณ์กันหึ่งในวงการนักข่าววิทยุโทรทัศน์นั่นแหละครับ กระทั่งในที่สุด นายกสมาคมคือ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ คงคิดได้ว่าถ้าขืนปล่อยให้มีมติออกไปอย่างนี้ ก็จะโดนพชร สารพิมพา อำตลอดชาติ จึงตัดสินใจใช้อำนาจนายกสมาคมฯ ยกเลิกมติเสีย ซึ่งก็ทำให้ใครบางคนกินแห้ว ถามว่าเรื่องนี้ใครอยู่เบื้องหลัง ใครอยากเป็นจนตัวสั่น จนมาผลักดันมติ โดยหวังจะให้สมาคมเสนอชื่อตัวเองเป็น ส.ว.สรรหา ผมไม่รู้ แต่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 8 มีนาคม เขียนไว้ในคอลัมน์ซุบซิบการเมือง ไปหาอ่านกันเอง ใบตองแห้ง 9 มี.ค.54 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จรรยา ยิ้มประเสริฐ: 100 ปีสตรีสากล ผู้หญิงอยู่ตรงไหน? ขับเคลื่อนอย่างไรในปี 2554? Posted: 08 Mar 2011 11:34 AM PST
สิ่งที่อาจจะจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนในทศวรรษใหม่ เพื่อความเสมอภาคหญิงชาย คนเลือกเพศต่าง รวมทั้งสิทธิวิถีเพศในสังคมไทย เรียบเรียงจากข้อคิดเห็นเพื่อแนวทาง ในปี 2554 พวกเราจำเป็นต้องระลึกถึง และย้ำเตือนความจำถึงศตวรรษแรกแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ในสังคมไทยและสังคมโลก พวกเราจำต้องย้อนมองประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงในรอบร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อที่เราจะได้สามารถวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อการสร้างสังคมเท่าเทียมในศตวรรษใหม่ แง่มุมทางประวัติศาสตร์ (Historical Context) เมื่อมองย้อนไปในอดีต เราได้ผ่านการต่อสู้มาอย่างหนักหน่วง เริ่มตั้งแต่การต่อสู้เพื่อ “ขนมปังและดอกไม้” และ “สิทธิสตรีในการมีสิทธิเลือกตั้ง” การประท้วงและเยียวยาผู้เสียหายจากความโหดร้ายป่าเถือนของสงครามโลก มาสู่การรณรงค์เพื่อสันติภาพ ต่อต้านสงครามนิวเคลียร์ และสงความเหยียดผิว - ทั้งนี้และทั้งนั้นเพื่อเป็นการต่อสู้ที่ฐานรากของการยืนหยัดซึ่งสิทธิสตรี ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อสิทธิเจริญพันธุ์และการเลี้ยงดู และสิทธิทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ซึ่งต่างก็อยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่หนักหน่วงและยากลำบากเพื่อหยุดการกดขี่ ขูดรีดแรงงานหญิง ที่ถูกส่งป้อนอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ที่พากันย้ายตัวจากโลกเหนือมายังโลกใต้ ภายใต้วิถี “ต้นทุนต่ำสุด-กำไรสูงสุด” แห่งวิถีการค้าเสรีตามทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ ที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงจนทำให้พวกเรา ต้องมาต่อสู้และรับมือกับผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม เมื่อมองย้อนไปในรอบร้อยปีที่ผ่านมา มันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในทางทีดีขึ้นให้้ เห็นอยู่มากมายเช่นกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความจริงที่ประจักษ์ต่อหน้าต่อตาของพวกเรา คือการทำลายล้างอย่างรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อโลกอันสวยงามแห่งนี้ ช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 60 ปี มันได้สร้างความเสียหายต่อโลกอย่างที่ไม่มีทางฟื้นคืน ความสวยงามและความหลากหลายของธรรมชาติจำนวนมากมหาศาลได้สูญหายไปตลอดกาล ไม่มีทางที่จะฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป เราต้องอยู่กับผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัวและการแพร่ขยายเป็นวงกว้างของผลกระทบจากพิมพ์เขียวแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจักรวรรดินิยม เราไม่สามารถหรือไม่ควรจะลบเลือนความโหดร้ายที่เกิดจากสงครามจิตวิทยาของยุคสงครามเย็น รวมทั้งไม่ควรประมาณการความเสียหายและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมต่ำเกินกว่าความเป็นจริง เพราะความเสียหายมากมายได้เกิดขึ้นทั้งต่ออากาศและต่อพื้นผิวดิน ปัญหามากมายที่เกิดจากการปฏิบัติตามพิมพ์เขียวการพัฒนาของสถาบันแบรทตันวูดส์ (IMF และ ธนาคารโลก) ยังคงเป็นตัวบั่นทอนและสร้างความสับสนต่อทิศทางการพัฒนาประเทศของหลายประเทศในโลกใต้ แต่ไม่ใช่กับประเทศโลกใต้เท่านั้น! แนวนโยบายของสถาบันแบรทตันวูดส์ ยังคงให้การอุดหนุนระบอบเผด็จการ และคงความเป็นไปได้ของความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลเผด็จการกับประชาชนในประเทศของตัวเอง - ซึ่งบ่อยทีเดียวมักอ้างว่า ปราบปรามประชาชนในนามเพื่อประชาธิปไตย หรือในนามเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจหรือเพื่อการค้าเสรี เป็นต้น ตลาดผู้บริโภคในประเทศโลกเหนือ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการแข่งขันทางการค้า ดำรงระบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่กดทับสิทธิสตรี และก็ยังคงพึงพิงต่อการต่อสู้เพื่อได้ “ควบคุมการเข้าถึง” แหล่งทรัพยากรธรรมชาติในโลกใต้ และก็ยังคงเป็นพลังที่สามารถมีอำนาจทำลายล้างสรรพสิ่ง (ไม่ได้เป็นผลพวงมาจากแรงพลักของตลาดผู้บริโภคในโลกเหนือเท่านั้น แต่จากกลุ่มผู้บริโภคในโลกใต้ที่ขยายเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน) ผ่านทางการส่งเสริมเกษตรพาณิชย์ตามแนวปฏิวัติเขียว รวมทั้งการตรึงค่าจ้างขั้นต่ำในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น พวกเรายังคงต้องเผชิญกับการทำลายพื้นที่ป่าและการล่มสลายของเกษตรกร ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากทั้งในประเทศและไปยังต่างประเทศ และการสั่งสมความมั่งคั่งในหมู่คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น การวิเคราะห์การเมือง (Political analysis) ในการค้นหาเส้นทางเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าในทศวรรษที่สองแห่งการสร้างความเข้ม แข็งให้กับผู้หญิง เราจำเป็นจะต้องไม่ละเลยถึงความจำเป็นที่จะต้อง . . จัดการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม การศึกษาที่เคารพและให้คุณค่าต่อความหลากหลายในทุกแง่มุมของสรรพชีวิต และตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงมิติของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเข้าด้วยกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำพาประเทศไปสู่่การพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจจะเริ่มได้จากหลากหลายแง่มุม แต่บทบาทของพวกเราคือการสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่สังคมจะต้องยกระดับของความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ต่อมุมมองและทัศนคติต่อเชื้อชาติ และศาสนาที่แตกต่างของคนในสังคม เป็นต้น เป้าหมายของพวกเราคือมุ่งสู่การมีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมผู้หญิงในการมีส่วนรร่วมทางการเมือง และการสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเท่าเทียมกับชาย เสรีภาพในการพูดและสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมขบวนการสิทธิสตรีจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของพวกเราอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับกลุ่มผู้หญิงรากหญ้ามากขึ้น เพื่อที่ผู้หญิงรากหญ้าทั้งหลายจะได้มีโอกาสยื่นข้อเรียกร้องที่แสดงความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง พวกเราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะช่วยเปิดพื้นที่ทางการเมือง และสร้างความเข็มแข็งให้กับผู้หญิงมากขึ้น? ปัจจุบันนี้ โลกไม่ได้มีวิถีเศรษฐกิจเดี่ยวแต่ยังมีวิถีเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่หลากหลาย จึงจำเป็นที่ขบวนการผู้หญิงและภาคประชาชนเปิดพื้นที่ความคิด ความรู้ เพื่อมุ่งสร้างความสมานฉันท์กับกลุ่มคนที่มีการร่วมกลุ่มเพื่อที่จะเป็นอิสระจากการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติ และการถูกผนวกรวมเข้าสู่วัฎจักรของการผูกขาดทางการค้า พวกเราจำต้องตระหนักรู้เท่าทันและกระตุ้นให้เกิดวิถีเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนที่ดำรงอยู่บนการเคารพในจริยธรรมการผลิต ในวิถีการใช้ชีวิตร่วมกัน ในการจัดโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดูแลคนทั้งสังคม ส่งเสริมเศรษกิจอินทรีย์ และเศรษฐกิจสมานฉันท์ และเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจนิเวศน์ เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น การประชุมขององค์กรผู้หญิงควรจะโฟกัสไปยังการใช้พลังของพวกเรา เพื่อเปิดพื้นทางการเมืองและการต่อรองให้กับกลุ่มผู้หญิงรากหญ้าต่างๆ เพื่อให้รูปแบบเศรษฐกิจแบบใหม่ได้มีการนำเสนอสู่สาธารณชน และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับผู้หญิงและเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อที่การค้าที่ยุติธรรม (Fair Trade) จะเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปนี้เป็นสถิติและข้อมูลที่รวบรวมเพื่อนำเสนอสถิติข้อมูลที่มีการศึกษาถึงความก้าวหน้าของผู้หญิงในหลายๆ ประเทศ เพื่อนำมาเปรียบเทียบและเป็นกระจกสะท้อนถึงความก้าวหน้าหรือล้าหลังของผู้ หญิงไทยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงในบริบทโลก ประชากรโลก ณ ขณะนี้อยู่ที่ 7,092 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2513 เกือบเท่าตัว (3,912 ล้านคน) และจำนวนผู้คนอยู่กระจุกตัวอยู่ตามเมือง หลวงที่แออัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวน 195 ประเทศ 140 ประเทศปกครองด้วยระบบรัฐสภาพที่มาจากการเลือกตั้ง มีจำนวนประชากรที่อยู่ในกลุ่มยากจน 1.3 พันล้านคน ในจำนวนนี้ 70% เป็นประชากรเพศหญิง 75-80% ของประชากร 27 ล้านคน ที่ต้องเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองในโลกนี้เป็นผู้หญิง ผู้หญิงและกำลังประชากร เกือบทุกประเทศนี้มีสัดส่วนประชากรเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชายระหว่างปี 2513 – 2535 อายุเฉลี่ยของผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ระหว่าง 54-63 ปี และในประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ระหว่าง 74-79.4 ปีภายในปี 2568 ผู้หญิงอายุ 60 ปี ขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ลาติน อเมริกา คาริเบี้ยน และอาฟริกาเหนือ ในประเทศโลกเหนือ จำนวนการมีบุตรโดยไม่แต่งงานเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ประมาณ 25% ของหัวหน้าครัวเรือนในโลกนี้เป็นผู้หญิง ผู้หญิงและการจ้างงาน คนงานหญิงได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชายประมาณ 25% ในงานประเภทเดียวกัน ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะอยู่ในประเทศโลกเหนือและประเทศโลกใต้ (นอกภาคเกษตร) สัดส่วนผู้หญิงที่ทำงานในการจ้างงานประจำมีเพียง 31% ในประเทศโลกใต้ และ 47% ในประเทศโลกเหนือ ผู้หญิงเป็นกำลังแรงงานที่ผลิตอาหารในสัดส่วน 55% ในประเทศโลกใต้ ผู้หญิงที่ต้องรับภาระงานบ้านและงานในชุมชมที่ไม่มีค่าจ้างมีสัดส่วนในแง่ทาง เศรษฐกิจสูงถึง 10-35% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หรือคิดเป็นมูลค่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ สัดส่วนของแรงงานหญิงและชายในประเทศอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเท่ากันในเกือบทุกประเทศในโลกนี้ การสมทบแรงงานในนงานที่ไม่มีค่าจ้าง (งานดูแลบุตร ครอบครัว และงานบ้าน) ผู้หญิงทำมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าตัว ผู้หญิงกับสุขภาพ ประมาณการว่าทุกปีจะมีผู้หญิงกว่า 20 ล้านคนที่ต้องทำแท้งในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ทุกปีจะมีผู้หญิง 600-700,000 เสียชีวิต (ประมาณ 1,600 คน/วัน) จากสาเหตุอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ในเขตซาฮาร่าของอาฟริกา ผู้หญิง 1 ใน 13 คน เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร ต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วน 1 ใน 3,300 คน ของสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน 51% ของผู้ที่ต้องอยู่กับเชื้อโรคเอดส์ (มากกว่า 20 ล้านคน) เป็นผู้หญิง (UNIFEM, 2003) ทั่วโลก สัดส่วนผู้ติดเชื้อ HIV เกิดขึ้นในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 60% ของเยาชนที่มีเลือด HIV + ระหว่างอายุ 15-24 ปี คือผู้หญฺง (UNIFEM, 2003) ผู้หญิงกับความรุนแรง ทุกปีเด็กหญิงกว่า 2 ล้านคนต้องทุกข์ทรมาณจากการคลิบอวัยะเพศ ผู้หญิง 20 – 50% ต่างก็ต้องทนกับความรุนแรงในครอบครัวในหลายระดับตลอดช่วงอายุการแต่งงาน ในปาปัว นิวกีนี ผู้หญิง 60-70% ต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายในครอบครัว ในสหรัฐอเมริกา ทุก 8 วินาทีจะมีผู้หญิงถูกทำร้าย และผู้หญิงถูกข่มขืนทุก 6 นาที ในอินเดีย จะมีผู้หญิง 5 คน ถูกเผาทั้งเป็นทุกวัน การข่มขืนถูกใช้เป็นอาวุธทำร้ายประชาชนในประเทศที่มีสงคราม ในราวันดาระหว่างปี 2534-2538 มีเด็กสาวและผู้หญิงถูกข่มขืนโดยมีตัวเลขประมาณการระหว่าง 15,700 คน ถึง 250,000 คน ขึ้นอยู่กับว่าถามข้อมูลจากใคร ผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรมอาจจะมีสัดส่วนสูงถึง 70% ที่ถูกสังหารโดยคู่รักหรือคู่ครอง (WHO 2002) ในเคนย่า มีผู้หญิงไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ หนึ่งคนที่ถูกฆาตกรรมโดยคู่ครอง (Joni Seager, 2003) ในอียิปต์ 35% ของผู้หญิงรายงานว่าถูกสามีทำร้ายทุบตี (UNICEF 2000) ผู้หญฺิง 47% ที่ถูกทำร้ายไม่เคยปริปากบอกเรื่องนี้กับใคร (WHO 2002) ทุก 15 วินาที จะมีผู้หญิงถูกทำร้ายโดยคู่ครองหรือคนรัก ในสหรัฐอเมริกา (UN Study on the World’s Women, 2000) ในบังคลาเทศ 50% ของคดีฆาตกรรมคือผู้หญิงที่ถูกฆ่าโดยสามีของตัวเอง (Joni Seager, 2003) ในปากีสถาน 42% ของผู้หญิง จำต้องก้มหน้ายอมรับว่าการถูกทำร้ายร่างกายเป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 33% ปิดปากเงียบ 19% ลุกขึ้นประท้วงการทำร้ายร่างกาย และ 4% แจ้งความดำเนินคดี(Government study in Punjab 2001) ในอาฟริกาใต้ ผู้หญิงถูกข่มขืน 147 คนทุกวัน (South African Institute for Race Relations 2003) ในตุรกี 35.6% ของผู้หญิงถูกข่มขืนโดยสามีของตัวเอง (WWHR Publications: Istanbul, 2000) ในอินเดีย มีการประมาณการว่ามีผู้หญิงถูกฆ่าเพื่อสินสอดประมาณปีละ 15,000 คน ส่วนใหญ่ถูกทำให้เหมือนกับการตายจากอุบัติเหตุไฟลวกตายในครัว (Injustices Studies. Vol. 1, November 1997) ในประเทศจีนมีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเพียง 3% ที่กล้าแจ้งความ ผู้หญิงกับการศึกษา 2 ใน 3 ของสัดส่วนผู้ไม่รู้หนังสือในโลกนี้ เป็นผู้หญิง 2 ใน 3 ของเด็กกว่า 130 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือเป็นผู้หญิง ผู้หญิงและสงคราม 80% ของผู้สี้ภัยการเมืองคือผู้หญิงและเด็ก (UNHCR, 2001) 85% ของการค้าหญิงและเด็กเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง (Save the Children 2003) ในรวันดา ผู้หญิง 250,000 ถึง 500,000 หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผู้หญิงถูกข่มขืนในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2537-2538 (International Red Cross report, 2002) ในอิรัก อย่างน้อยมีผู้หญิงและเด็กหญิงอายุตั้งแต่ 8 ขวบขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 400 คน รายงานว่าถูกข่มขืนในแบกแดดระหว่างและช่วงหลังสงคราม (Human Rights Watch Survey, 2003) ผู้หญิงชาวเขมร 250,000 คนในหมู่บ้านต่างๆ ถูกบังคับให้แต่งงานในช่วงเขมรแดงระหว่างปี 2518-2521 (UNIFEM) ในบอสเนีย และเฮอร์ซาโกวินา ผู้หญิง 20,000 – 50,000 คน ถูกข่มขืนในช่วงห้าเดือนของการสู้รบในปี 2535 (IWTC, Women’s GlobalNet #212. 23rd October 2002) ในบางหมู่บ้านในโคโซโว 30%-50% ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ถูกข่มขืนโดยกองกำลังเซอร์เบีย (Amnesty International, 27 May 1999). การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประเทศแรกในโลกนี้ที่ให้สิทธิผู้หญิงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือนิวซีแลนด์ในปี 2436 ตามมาด้วยฟินแลนด์ ในปี 2449 อัลบาเนีย ในปี 2453 มองโกเลียในปี 2467 เอกวาดอร์ ในปี 2471 ตุรกี ในปี 2474 สำหรับในอาเซีย ประเทศไทยให้สิทธิเป็นประเทศแรกในปี 2475 ฟิลิปปินส์ในปี 2480 เวียตนามในปี 2489 สิงคโปร์ในปี 2490 กัมพูชาในปี 2498 และมาเลเซียในปี 2500 ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีเพียง 28 ประเทศเท่านั้นที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศหรือผู้นำรัฐบาล สัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรีทั่วโลกมีเพียง 18% สัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาทั่วโลกมีเพียง 19% ในสหรัฐฯ มีสัดส่วนของสมาชิกสภารัฐสภาเพายง 16%. อัยการหญิง 24% มีผู้ว่าการรัฐที่เป็นผู้หญิงเพียง 8 มลรัฐ จากจำนวน 50 มลรัฐ หน่วยงานของสหประชาชาติ มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงเพียง 9% ตำแหน่งนักบริหารอาวุโส 21% และ 48% ดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไป ผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการในประเทศโลกเหนือจะมีประมาณ 33% ในอาฟริกามี 15% และในเอเชียและแปซิฟิกมีเพียง 13% ทั้งนี้สัดส่วนของอาฟริกาและเชียแปซิฟิกถือว่าได้เพิ่มขึ้นมาแล้วเป็นเท่า ตัวจากเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงในรัฐสภาของประเทศต่างๆ Women in national parliaments (Situation as of 30 November 2008 ) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศอ.รส.ประกาศห้ามใช้ถนนรอบบ้านพัก "อภิสิทธิ์" ชี้ไม่กระทบการจราจร Posted: 08 Mar 2011 03:17 AM PST พร้อมเพิ่มกำลังตำรวจสันติบาลและตำรวจท้องที่ดูแลรอบทำเนียบรัฐบาล-สถานที่ที่นายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติภารกิจ ส่วนการถือป้ายแสดงความคิดเห็นต่างๆ หากพบว่าหมิ่น เข้าข่ายผิดกฎหมายจะจับกุมดำเนินคดีต่อไป วันนี้ (8 มี.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่ประชุม ศอ.รส.ได้ออกประกาศ ศอ.รส.ฉบับที่ 4/2554 เรื่อง ห้ามการใช้เส้นทางการคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ (เพิ่มเติม) รายละเอียดในประกาศ ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในเส้นทางถนนสุขุมวิท จากปากซอยสุขุมวิท 39 ถึงปลายซอยสุขุมวิท 39 ตัดถนนเพชรบุรี บริเวณถนนสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 33 ถนนสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 31 ตั้งแต่ปากซอยถึงปลายซอยสวัสดี และทางลัดซอยสุขุมวิท 39 ตั้งแต่แยกพร้อมศรี ถึงแยกโรงเรียนสวัสดี โดยให้มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้สื่อข่าวถามว่า ศอ.รส.จะมีประกาศห้ามบุคคลเข้าถึงตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและนายกรัฐมนตรี ทาง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งกำชับให้ตำรวจในพื้นที่ ที่นายกฯ จะเดินทางไปเพิ่มความเข้มงวด ส่วนจะสามารถเข้าถึงตัวนายกฯ ได้หรือไม่นั้น จะมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น รปภ.นายกฯ และทีมงานเลขานุการทำหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง ในส่วนตำรวจได้เพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัย โดยในทำเนียบรัฐบาลได้สั่งการให้ตำรวจสันติบาลเพิ่มความเข้มงวดตรวจตราบุคคลเข้าออกและการดูแลรักษาความปลอดภัย ส่วนกรณีมีประชาชนถือป้ายแสดงความคิดไม่เห็นด้วยกับนายกฯ นั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็จะมีการพิจารณาว่าเป็นข้อความที่หยาบคายและเหมาะสมหรือไม่ โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป หากมีการถือป้ายที่หมิ่นเข้าข่ายผิดกฎหมายก็จะดำเนินการจับกุมเพื่อดำเนินคดีต่อไป เมื่อถามอีกว่า การประกาศห้ามใช้พื้นที่รอบบ้านนายกฯ จะกระทบกับภาคเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประขาชนโดยรวมหรือไม่ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวยืนยันว่า รถทุกคันยังสามารถวิ่งผ่านเข้าออกบริเวณดังกล่าวได้ ทาง ศอ.รส.ไม่ได้ห้าม แต่จะกั้นและจำกัดพื้นที่ในบางโอกาส เช่น กรณีมีบุคคลต้องสงสัยอาจจะเข้ามาก่อความไม่สงบ หรือมีมูลเหตุไม่น่าไว้วางใจ กรณีนี้ทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะใข้ดุลยพินิจพิจารณาอีกครั้ง เมื่อถามต่อว่า ในอนาคตหากนายกฯ จะเดินทางไปที่ใด จะต้องประกาศเป็นพื้นที่หวงห้ามไว้รองรับใช่หรือไม่ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นเพียงการควบคุมพื้นที่บ้านพักของนายกฯ ในฐานะประมุขฝ่ายบริหารของประเทศเท่านั้น ประกอบกับทางเข้าบ้านพักของนายกฯเป็นซอยที่มีขนาดเล็ก ถ้าหากมีบุคคลเข้าไปก่อกวนหรือสร้างความวุนวายก็อาจกระทบกับบุคคลที่พักอาศัย ดังนั้นจึงต้องมีการออกประกาศเพิ่มเติมดังกล่าว จับตาการชุมนุมเสื้อแดง 12 มี.ค.นี้ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเป็นการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ซึ่งจะมีการรวมพลประชาชนจากต่างจังหวัดเข้ามาด้วย ทางตร.ได้ตั้งศูนย์ติดตามความเคลื่อนไหวตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันที่ 12 มี.ค. และใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 26 กองร้อย ซึ่งเพิ่มเติมจากปกติอีก 6 กองร้อย ซึ่งนำมาจาก บช.ภ. 1,2และ7 โดยทั้งหมดจะกระจากกำลังดูแลพื้นที่รอบอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และพื้นที่รอบการชุมนุมกลุ่มพธม. ยืนยันว่า เจ้าหน้าหน่วยควบคุมฝูงชนไม่มีอาวุธ มีเพียงแต่อุปกรณ์ป้องกันตัวเช่นโล่ สนับแข้งและสนับขา สำหรับการชุมนุมที่อาจจะขยายพื้นที่ออกไป จะมีตำรวจจราจร สายสืบ คอยดูแล พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ประชาชนที่ใช้เส้นทางการจราจรทราบ ดูแลความปลอดภัยและเหตุกระทบกระทั่งต่าง ๆ เมื่อถามว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวจะการตรวจสอบการปราศรัยของแกนนำที่ได้รับการประกันตัวออกมาว่าอาจจะขัดเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า หลังจากแกนนำคนเสื้อแดงได้รับการประกันตัวออกมา ก็ไม่มีพฤติกรรมที่จะส่อไปในทางรุนแรง แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงจับตาดูอยู่ ยันจ่ายเบี้ยเลี้ยงตำรวจวันละ 400 บาท คุมม็อบ เมื่อถามว่า มีการขอคืนพื้นที่จากกลุ่ม พธม.ก่อนงานกาชาดจะเริ่มวันที่ 30 มี.ค.นี้หรือไม่ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า สำหรับงานกาชาดที่จะมีขึ้น เราจะให้เวลาเจ้าหน้าทีในการจับซุ้มและร้านค้า ซึ่งคงต้องใช้เวลาก่อนงานจะเริ่ม2สัปดาห์ ส่วนกรณีที่กลุ่มพธม. กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ในการดูแลการชุมนุมของกลุ่มพธม.นั้น ขอยืนยันว่างบที่ได้มาทั้งหมดเป็นงบประมาณที่ให้เบี้ยเลี้ยงตำรวจวันละ 400 บาท เท่านั้น ซึ่งคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณมากขนาดนั้น ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, โพสทูเดย์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
100 ปีวันสตรีสากล: ทัศนะผู้หญิงในขบวนการแรงงาน-ชาวบ้าน Posted: 08 Mar 2011 02:53 AM PST 8 มี.ค. 54 - เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิงและโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้จัดทำบทสัมภาษณ์พิเศษ “ร้อยปีสตรีสากล ร้อยเรียงการต่อสู้ของขบวนการแรงงานหญิงในประเทศไทย” โดยการพูดคุยกับผู้หญิงในขบวนการแรงงานและขบวนการชาวบ้าน อรุณี ศรีโต อดีตผู้นำสหภาพแรงงานไทยเกรียง / อดีตประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี “อรุณี ศรีโต” หรือ “ป้ากุ้ง” นักสหภาพแรงงานหญิงที่ผ่านประสบการณ์การต่อสู้มาตั้งแต่ในสมัย 14 ตุลาคม 2516 เธอเป็นนักสหภาพแรงงานจากสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง ย่านพระประแดงและใกล้เคียง ป้ากุ้งเกิดที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2496 อาชีพดั่งเดิมของครอบครัวก็ทำนา พอป้ากุ้งอายุได้ 17 ปี ก็ออกเดินทางมาทำงานยังพระประแดง ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหลักในขณะนั้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งป้ากุ้งได้เดินทางเข้ามาทำงานยังโรงงานไทยเกรียง “พี่เป็นแรงงานอพยพ รุ่นแรกในหมู่บ้านเลย คนอื่นไม่มีใครออกมาเลย มีคนที่อยู่พระปะแดงมาช่วยไปทำงานกันเถอะ ได้วันละ 10 สมัยนั้น ค่าจ้างปี พ.ศ.2514 เขาก็ว่าลองไปทำดู ลองซักสามเดือน ก็ลองชวนกันมาทำดู สามคนเป็นผู้หญิงหมด ญาติที่พระประแดงเขาก็พาไปสมัคร สมัครวันนี้ พรุ่งนี้ให้ทำแล้ว” ป้ากุ้งเล่าว่าตอนแรกตั้งใจว่าจะทำ 3-4 เดือนแล้วจะก็กลับบ้าน แต่เอาเข้าจริงแล้วก็อยู่นานทำงานยาว พอทำงานได้ 2 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ขึ้น “ตอนที่อยู่ที่บ้านสตุ้งสตางค์มันก็ไม่ค่อยมีนะ เงินทองไม่ค่อยมี แต่อาหารการกินไม่อดนะ สมัยนั้น ในชนบท แต่เรื่องเงินทอง ไปขายมะพร้าว นานๆ ที จะได้ซะ 20 30 บาท แต่พอมีคนมาชวนให้ไปทำ ได้วันละ 10 บาท ได้ทุกวัน ก็มาเลยตอนแรกก็ตั้งใจจะอยู่ สั้นๆ แต่ทำไปทำมาก็อยู่นาน พออยู่ได้สองปี มันก็มีเรื่อง 14 ตุลา 16 เขาก็บอกว่ากรรมกร ช่วยกัน ไทยเกรียงก็ปิดโรงงานมาเลย” ป้ากุ้งเล่าถึงสถานการณ์ช่วงนั้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานและนักศึกษาที่มีพลังมาก โดยหลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตยสำเร็จ เราก็ได้ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 ส่วนคนงานไทยเกรียงก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่เรื่อยมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยในปี พ.ศ. 2523 สหภาพแรงงานไทยเกรียงจึงได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ทั้งนี้คนงานหญิงในไทยเกรียงยังเคยต่อสู้เรื่องประเด็นเท่าเทียมทางเพศด้วยเช่นกัน “หลังจากนั้นเราก็มีการนัดหยุดงานเฉยๆ สอง สาม ครั้ง ในโรงงาน หลัง 14 ตุลา ปี 16 ผู้ชายเขาจะเป็นคนนำ แต่เรามาจดทะเบียนสหภาพจริงๆ ปี พ.ศ. 2523 ปี พ.ศ. 2520 ผู้หญิงไทยเกรียงเขาสไตรค์กัน ด้วยเหตุผลว่าโรงงานจ่ายแต๊ะเอียไม่เท่ากันกับผู้ชาย คือผู้หญิงได้ 10 แรง ค่าจ้าง 20 บาท ก็จะได้ 200 บาท ผู้หญิงเขาก็บอกว่าทำไมโรงงานถึงให้แต๊ะเอีย ผู้ชาย 50 แรง ของค่าจ้าง แต่เขาก็ให้แบบนี้มาแต่ดั่งเดิม ตั้งแต่สร้างโรงงาน เมื่อปี พ.ศ. 2503 แต่เรามารู้สึกไม่พอใจ สุดทนแล้วเนี่ยปี พ.ศ. 2520 คือมันน้อยใจ และก็มีคนมาแนะแนว ว่าตั้งสหภาพเป็นยังไง ความเหลื่อมล้ำเป็นยังไง ก็เริ่มรู้หน่อยๆ แล้วก็เป็นการหยุดงานเฉยๆ ผู้หญิง 2,000 คน หยุดงานหมด มีผู้ชายประมาณ 600 ที่ไม่หยุดงาน” จากนั้นป้ากุ้งได้เริ่มเป็นตัวแทนลูกจ้างในการยื่นข้อเรียกร้องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ร่วมเป็นกรรมการสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 – 2528 และในปี พ.ศ. 2528 ได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง นอกจากนี้ป้ากุ้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ คณะกรรมการสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานฯ ฝ่ายสตรีและเยาวชน ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ประสบการณ์การเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของป้ากุ้งก็คือการร่วมเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายประกันสังคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ซึ่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2533 จากนั้นก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวประเด็นของแรงงานหญิงโดยเฉพาะ ผ่านยุคสมัยเผด็จการ รสช. แล้วก็ต่อมาด้วยเรื่องสิทธิลาคลอดของแรงงานหญิง 90 วัน ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของกลุ่ม “บูรณาการแรงงานสตรี” “แล้วก็มารัฐบาลชวนหลังจากไล่ รสช. ไปแล้ว แล้วก็มีเลือกตั้ง ตอนนั้นเราก็โหมเลยเคลื่อนไหวหนัก ตอนที่พี่เป็นประธานสหพันธ์ฯ ก็พยายามเอาชื่อของสหพันธ์เป็นแกนในการเคลื่อนเรื่องลาคลอดเก้าสิบวัน แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านโหวต กรรมการผู้ชายหลายคน เขาบอกว่าเรื่องลาคลอดเก้าสิบวัน มันยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน ไม่ใช่เรื่องปากท้อง เอาเรื่องอื่นดีกว่า เราไม่สามารถเอาชื่อสหพันธ์ออกหน้าได้ พี่เลยมาตั้งกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เพราะว่าเราไปสู้ในแวดวงผู้ชายไม่ได้ เวลาเราเป็นประธานก็จริง แต่พอเราไป โหวตว่าเราจะสู้ประเด็นนี้ ผู้ชายเขาก็บอกว่าอย่างเอาเลยมันไม่เกี่ยวกับปากท้องเอาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเถอะ คือเขาก็มองเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการอย่างอื่นเป็นหลัก ก็เกิดการมานั่งคุยกันในปี พ.ศ. 2535 มาคุยกันสี่คนเท่านั้นนะ ว่าจะผลักดันกันอย่างไร ในเมื่อสหพันธ์ฯ เขาไม่เห็นด้วย และในที่สุดก็สรุปว่าใช้ชื่อเคลื่อนไหวในครั้งนั้นว่า คณะกรรมการผลักดันการลาคลอดเก้าสิบวัน ที่ใช้ชื่อกลุ่มนี้ก็เพราะว่าองค์กรอื่นๆ เขามารวมด้วย และกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ก็มาตั้งด้วยเงื่อนไขตรงนี้ ว่าจะไปดันลาคลอดจะเอาอย่างไรกันดี ให้เป็นเวทีสำหรับผู้หญิง ให้สำหรับผู้นำผู้หญิงที่อาจจะไม่มีเวทีที่ไหนให้คุยมันอาจจะต้องมีเวทีเฉพาะผู้หญิง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีตอนตั้งใหม่ๆ ผู้ชายก็มาช่วยนะ นี่คือจุดเริ่มต้นและเราก็ประสบความสำเร็จ ในการผลักดันการลาคลอดเก้าสิบวันโดยได้รับค่าจ้าง แต่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จมีทั้งผู้หญิงผู้ชายช่วยกันนะ สภาแรงงานฯ ก็มาช่วย สหพันธ์สิ่งทอก็มาเป็นเสาหลัก” จากการต่อสู้ของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2536 จึงมีประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานในประเด็นสิทธิการลาคลอดของลูกจ้างหญิง ซึ่งลาคลอดได้ 90 วัน โดยได้รับเงินจากนายจ้าง 45 วัน และได้รับเงินจากประกันสังคม 45 วัน ปัจจุบันป้ากุ้งได้เกษียนตัวเองจากการทำงานในโรงงาน กลับมาทำงานในชุมชนของเธอ แต่ก็ยังคงเป็น “ที่พึ่ง” ของนักสหภาพรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องให้คำปรึกษาด้านข้อมูล ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนงาน ที่เธอเคยผ่านมา ทั้งตามเวทีเสวนา การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับแรงงาน รวมถึงให้คำปรึกษาส่วนตัวกับนักสหภาพรุ่นใหม่ๆ ป้ากุ้งยำว่าสำหรับผู้นำแรงงาน โดยเฉพาะผู้นำแรงงานหญิงนั้น จะต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีจิตใจที่แน่วแน่ในการทำงานด้านสหภาพแรงงาน รวมถึงบุคลิกที่เป็น “ผู้ประสาน” เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องสมานฉันท์การต่อสู้ทั้งชายและหญิงเข้าด้วยกันถึงจะประสบความสำเร็จ “ถ้าคิดว่าเราอยากเป็นผู้นำ เราจะต้องเตรียมเพื่อฝึกฝนตัวเองให้มีความรู้ความสามารถ คือมันต้องมีการพัฒนาตนเอง ให้มีเหตุมีผล รู้เรื่อง รู้ข้อมูล ผู้นำที่แท้จริง ต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ ฝึกฝนทางภูมิปัญญาเข้าไว้ เวลาเจรจากับนาย เจรจากับรัฐบาล ไม่ด้อย และไม่ถูกผู้นำกลุ่มอื่นๆ เขามองว่า แค่นี้เองเหรอ ต้องพยายามที่ต้องอ่อนนอกแข็งใน ในอดีตของการต่อสู้แรงงานหญิง พี่ก็ไปขอความช่วยเหลือจากผู้ชาย พี่บอกว่าเราแย่แล้ว ถ้าผู้ชายไม่มาช่วย เรายอม มาหมดเลยนะ ถ้าเราขอความร่วมมือนะ ถ้าทีที่อ่อนน้อมมันจะได้ใจคน” วิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หากได้ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงานในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ เชื่อได้ว่าชื่อของ “วิไลวรรณ แซ่เตีย” ย่อมเป็นที่ปรากฏอยู่ตามหน้าข่าวเหล่านั้นอยู่เนืองๆ ในฐานะผู้นำแรงงานหญิงคนสำคัญในปัจจุบัน “วิไลวรรณ” หรือ “ป้าวิ” ที่คนในขบวนการแรงงานเรียกขานด้วยความนับถือนั้น ชีวิตของเธอได้ผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชนกว่า 30 ปี วิไลวรรณ เป็นชาวขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2499 เธอจบการศึกษาแค่ชั้น ป. 4 เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดเข้ากรุงเทพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ซึ่งการเข้ามายังเมืองกรุงในครั้งนั้นก็มีความมุ่งหวังที่จะหาเงินส่งกลับไปให้แม่และน้องที่อยู่ทางบ้านได้ใช้จ่าย โดยเธอเริ่มเป็น “กรรมกรก่อสร้าง” ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในโรงงานของบริษัทนครหลวงถุงเท้าไนลอนจำกัด ย่านอ้อมใหญ่ จ.นครปฐม “เหตุที่เขามาทำงานในโรงงาน ก็เพราะที่บ้านทำนา เราก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีรายได้ มันจำเป็นต้องผันตัวเองเข้ามาทำงานในโรงงาน เพื่อให้พ่อ แม่ มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายบ้าง เข้ามากับพี่สาว แรกๆ ก็ไปทำงานก่อสร้างกับญาติ ที่เป็นผู้รับเหมาก่อน ไปขัดกำแพงอยู่ประมาณอาทิตย์หนึ่ง หลังจากนั้นก็ไปทำงานร้านอาหาร ประมาณเดือนนึง หรือสองเดือน ได้ค่าแรงสามร้อยบานต่อเดือน ก็ไปทำงานเป็นแม่บ้านอยู่สองสามเดือน พอดีพี่สาวรู้จักกับคนขับรถโรงงาน ก็เลยเอามาฝากที่โรงงานทำงานทอผ้า” และเหมือนชะตาชีวิตของเธอได้ถูกกำหนดให้ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมสหภาพแรงงาน เมื่อในปี พ.ศ. 2524 ที่โรงงานที่เธอทำงานมีการประท้วง และมีการนัดหยุดงาน เนื่องจากการกดขี่แรงงานของนายจ้าง เช่น การเลิกจ้างคนท้อง รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร โดยหลังจากนัดหยุดงานติดต่อกัน 10 วัน ก็สามารถเจรจากันได้ จึงกลับเข้าทำงานตามปกติ ซึ่งสหภาพแรงงานที่วิไลวรรณทำงานก็เริ่มก่อตั้งในช่วงนั้น และเธอก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงานในต้นปี พ.ศ. 2525 ล่วงมาในปี พ.ศ. 2526 เธอก็ได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ทำกิจกรรมอย่างขันแข็งจนได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพแรงงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง ในปี พ.ศ. 2529 ในปีช่วง พ.ศ. 2531 - 2533 วิไลวรรณได้ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ในการผลักดันเรื่องการยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น และการผลักดันกฎหมายประกันสังคม ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จ โดยมีการยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น ช่วงปลายปี พ.ศ. 2532 และเป็นรอยต่อมาปี พ.ศ. 2533 ก็จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องเรื่องประกันสังคม ซึ่งวิไลวรรณได้ร่วมการอดข้าวประท้วงในครั้งนั้นด้วย “กลุ่มอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ไปเยอะมากในช่วงนั้น ก็เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงาน นักศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน ก็ประสบความสำเร็จในช่วงนั้น มีการเคลื่อนไหวอย่างเข็มข้น มีการอดข้าวประท้วงในช่วงนั้น พี่ก็ไปอดข้าวประท้วงด้วย ก็อดอยู่สองวัน วันที่สามก็ประกาศ” วิไลวรรณทำกิจกรรมร่วมกับขบวนการแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลักดันการลาคลอดเก้าสิบวัน ร่วมกับกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานในกรณีโศกนาฏกรรมโรงงานเคเดอร์ ขับเคลื่อนเรื่องประเด็นสุขภาพและความปลอดภัย และอื่นๆ จนในปี พ.ศ. 2536 เธอก็ได้รับเลือกเป็นผู้ประสานงานกลุ่มย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ รวมถึงได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีในเวลาต่อมา และหลังจากที่กลุ่มบรูณาการแรงงานสตรีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในปี พ.ศ. 2544 วิไลวรรณก็ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในปี พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2548 เธอก็ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเป็นขบวนการแรงงานที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน (วิไลวรรณดำรงตำแหน่งประธานถึงต้นปี พ.ศ. 2554) บทบาทในตำแหน่งหน้าที่ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ถือว่ามีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเรื่อง การตรวจสอบการใช้เงินประกันสังคม, สิทธิประโยชน์ของประกันสังคม (ล่าสุดสามารถผลักดันเรื่องร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับบูรณาการแรงงานได้เป็นรูปธรรม) รณรงค์เรืองค่าจ้างที่เป็นธรรม, การทำงานรณรงค์เรียกร้องสิทธิกับเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการผลักดันให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ปัจจุบันวิไลวรรณก็ยังคลุกคลีอยู่กับวงการแรงงานอยู่ โดยที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลุ่มอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เป็นกรรมการของสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง และยังดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย “แรงบันดาลใจในการทำงานกับขบวนการแรงงานคือสิ่งที่สำคัญเราก็จะเห็น พอเรามาทำงาน มันสัมผัสด้วยตัวเองเห็นปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยความเป็นพี่น้องเป็นน้อง มันได้สัมผัสกับปัญหาที่มันเกิดขึ้น พอมันเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องเรา ก็ทำมาโดยตลอด มันก็ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันเราก็ทำงานมาโดยตลอดไม่ได้เว้นวรรค” “ที่บ้านแม่มีลูกสามคน แต่เราก็ไม่ได้เรียนทุกคน น้องชายก็แต่งงานไป น้องสาวก็อยู่กับแม่ ที่บ้านเราก็อยู่แบบธรรมดา เราก็หาเช้ากินค่ำ ค่าใช้จ่ายเราก็ต้องส่งให้แม่ทางบ้านบ้าง อาจจะมีบ้างที่ค่าใช้จ่ายมันอาจจะไม่พอ การที่เรามาทำงานตรงนี้ เราก็ต้องจัดเวลาให้มันเหมาะสม เช่น เคยให้แม่ เคยส่งให้เขา จะมากจะน้อยเราก็ต้องให้ ต้องจัดสรรเวลาให้ครอบครัว พ่อแม่ ก็เป็นคนบ้านนอก ก็อยู่แบบธรรมดา ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไร แต่แม่ก็เป็นห่วงบ้าง ธรรมดาของความเป็นแม่ เราก็ต้องบอกตลอดว่าเรามาทำอะไร เอาซีดี งานที่เราทำไปให้เขาดูบ้าง ตอนหลังเราก็ต้องโทรศัพท์บอกเขาตลอดว่าเราไปทำโน้น ทำนี่นะ” ประเด็นความเสมอภาคหญิงชายในขบวนการแรงงานและการทำงานของขบวนการนั้น วิไลวรรณให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาผู้หญิงก็มีบทบาทการต่อสู้มาทุกยุคทุกสมัย ส่วนสังคมไทยในปัจจุบันผู้หญิงก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และการสร้างขบวนการแรงงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น จะต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวม คลุกคลีกับปัญหา มีความเสียสละทุ่มเท และจะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากชนชั้นผู้ถูกกดขี่ด้วยกันเอง “ถ้าพูดถึงอดีตที่ผ่านมาก็คือว่าเป็นร้อยปีนะเราจะเห็นการต่อสู้ชอง คลารา เซตกิน (Clara Zetkin) ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ที่เขาเสียสละ แล้วก็ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง คนงานถูกกดขี่เรื่องค่าจ้าง เรื่องชั่วโมงการทำงานหลังจากนั้นมามันทำให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น ถามว่าพอยุคประเทศไทยเรามันก็มีการเปลี่ยนแปลง แล้วก็ผู้หญิงก็เข้ามามีบทบาทในขบวนการแรงงานมากขึ้น จากประสบการณ์และจากบทเรียนที่ผ่านมา เราก็บอกว่าถ้าเราจะทำงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือจะแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้น มันจะคิดเองลอยๆ ไม่ได้ มันจะต้องสัมผัสด้วยตัวเอง เห็นปัญหาด้วยตัวเอง เขามาช่วยเหลือพี่น้องด้วยตัวเอง ต้องตั้งใจในการทำงาน ต้องทุ่มเท ในการทำงาน ต้องเสียสละ ต้องยึดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ต้องไม่มองตัวเองเป็นตัวตั้ง ต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากการทำงานของพวกเรา” อารายา แก้วประดับ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม อารยา แก้วประดับ เข้าทำงานในองค์การเภสัชกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เริ่มรู้จักกับกิจกรรมของสหภาพและเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานในช่วงเริ่มต้นของการทำงานเช่นกัน ทั้งนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 มีเป้าประสงค์เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับสมาชิกสหภาพและพนักงาน ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง รายได้จากการทำงาน ผ่านการยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และสหภาพยังคอยสอดส่องดูแลการบริหารงานของผู้บริหาร รวมทั้งดูแลให้กำลังใจให้ความรู้กับสมาชิกใหม่ของสหภาพฯ อย่างอบอุ่น ทั้งนี้สหภาพเคยมีการประท้วงนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในช่วงปี พ.ศ. 2522 – 2523 ปูมหลังในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น อารยาเล่าว่าเนื่องจากเธอเข้ามาทำงานที่มีลักษณะงาน จ่ายค่าจ้างเป็นจำนวนชิ้น ที่เรียกว่าลูกจ้างตามผลงาน ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน รู้สึกไม่มีความมั่นคง และในช่วงนั้นสหภาพแรงงานก็ได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่มลูกจ้างตามผลงาน จึงรู้สึกมีความศรัทธาในกิจกรรมของสหภาพแรงงาน “ปี ๒๕๒๒ มันมีเรื่องการปรับเพิ่มเงินเดือน ๑๘ เปอร์เซ็นต์ แต่ในส่วนลูกจ้างกลุ่มของพี่จะไม่ได้ เขามองว่าเป็นลูกจ้างอีกกลุ่ม ก็มีการเรียกร้องโดยสหภาพแรงงาน เรียกร้อง ๑๘ เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มลูกจ้างประเภทพี่” เธอสะท้อนการทำงานของสหภาพแรงงานว่าอาจจะมีคนมองว่าสหภาพแรงงานใช้ความรุนแรงในการพูดคุย แต่ในมุมของอารยาที่ได้คลุกคลีกับกิจกรรมสหภาพ กับได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขูดรีดแรงงาน การหาทางแก้ไขปัญหา ยุทธวิธี และเทคนิคการปรึกษาหารือต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ “พี่มองว่านักสหภาพไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเสมอไป เราสามารถใช้การเจรจาได้” อารยา เริ่มทำงานสหภาพแรงงาน จากการเป็นสมาชิก เป็นอนุกรรมการ และได้ลงสมัครเป็นกรรมการสหภาพในช่วงปี พ.ศ. 2532 ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิก ได้เป็นคณะกรรมการบริหาร ร่วมทีมเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้างนั่งโต๊ะเจรจากับฝ่ายบริหาร ทั้งนี้อารยามักจะเล่าและปลูกฝังถึงเรื่องการทำกิจกรรมสหภาพกับสมาชิกใหม่ๆ เสมอ ว่าสิทธิประโยชน์ที่แรงงานได้รับส่วนใหญ่นั้นล้วนแล้วแต่ผ่านการต่อสู้ในกรอบสหภาพแรงงานมาแล้วทั้งนั้น “พี่ก็จะบอกกับน้องๆ อยู่เสมอว่าตั้งแต่ปี 2519 หลังจากได้รับการจดทะเบียน ข้อเรียกร้องทั้งหมดทั้งปวง หรือสวัสดิการทั้งหมดทั้งปวง มันมาจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงาน” ในช่วงปี พ.ศ. 2533 มีนโยบายจากผู้บริหารที่จะเปลี่ยนระบบการจ้างงานจากลูกจ้างตามผลงาน ปรับให้เป็นพนังงานประจำเป็นรายเดือนที่มีระดับซี ผู้บริหารบอกว่าจะให้สตาร์ทเงินเดือนแรกรับตามวุฒิการศึกษา (ระดับ ม.3) ซึ่งอารยามองว่ามันไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่ทำงานมา 20 - 30 ปี แล้วทำไมต้องมีรายได้เท่ากับคนที่เข้ามาใหม่ เธอจึงได้เป็นปากเป็นเสียงต่อรองประเด็นนี้กับผู้บริหาร เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานกลุ่มดังกล่าว แต่การต่อสู้ครั้งนั้นทำให้อารยาได้บทเรียน เพราะผู้บริหารก็ได้โต้กลับด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจกใบสมัครใหม่ ให้ลูกจ้างตามผลงาน และถูกผู้บริหารเรียกเข้าไปเจรจา แต่ทั้งนี้สมาชิกสหภาพส่วนใหญ่กลับเห็นด้วยกับแนวทางของผู้บริหาร เพราะความกลัวในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกไล่ออก หรือการกลั่นแกล้ง ซึ่งผลในการต่อสู้และความล้มเหลวครั้งนั้น ทำให้อารยาได้รับบทเรียนที่ว่าถึงแม้จะมีผู้นำสหภาพที่เข็มแข็ง ประเด็นถูกต้อง แต่เมื่อสมาชิกสหภาพไม่เอาด้วยมันก็ไม่ประสบผลสำเร็จ “มันเป็นบทเรียนอันหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการต่อสู้ ถึงแม้มีผู้นำที่เข้มแข็งแต่สมาชิก ไม่เอาด้วย มันทำให้การต่อสู้ไม่บรรลุเป้าหมาย และพี่ก็เห็นว่า เออ ปลายทางแล้วทุกคนก็เห็นมาระลึกถึงการต่อสู้ของพี่ เพราะว่าอะไรรู้รึเปล่า เพราะทุกคนที่เกษียณอายุไปหลังจากการต่อสู้ในครั้งนั้น พี่คนหนึ่งที่ตอนนั้นเขาทำงานอยู่ประมาณสี่สิบปี เขาเกษียณอายุด้วยเงินเดือนแปดพันกว่า ทั้งๆ ที่อายุงานสี่สิบกว่าปี ซี่งกระทรวงการคลังส่งหนังสือมาถามว่าทำไม ทำงานมาตั้งสี่สิบห้าปี เงินเดือนได้เท่านี้ เพราะเขาอยู่ในสายการจ้างงานแบบเหมางาน แล้วมาสตาร์ทสองพันแปด เท่ากับเด็กเข้าใหม่ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราสู้เราสู้ถูกทิศ แต่เขาไม่ฟังเรา” หลังจากที่องค์การเภสัชฯ เขาปิดรับลูกจ้างทำงานตามผลงาน แต่ก็นำระบบการจ้างงานแบบใหม่เข้ามา เรียกว่า การจ้างงานตามโครงการ อารายา มองว่า “มันเป็นการจ้างงานแบบเอาเปรียบเพราะ สวัสดิการไม่เท่ากัน โบนัสไม่ได้ แต่การทำงานก็ไม่แตกต่างจากคนที่อยู่ประจำ ไม่สามารถใช้สิทธิเบิก ลูก เมีย สามีได้ สหภาพแรงงานฯ ก็ได้เข้าไปเรียกร้อง เพื่อให้องค์การเภสัชกรรม ให้สิทธิและสวัสดิการต่างๆ สามารถเบิกได้ เช่น สามี ภรรยา บุตร แต่พ่อแม่เบิกไม่ได้ เพราะระเบียบขององค์การเขียนเอาไว้ เพราะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งคำว่าโครงการก็คือ ต้องเริ่มต้น และสิ้นสุด แต่ที่องค์การจ้าง มันเป็นโครงการรายปี สองปี สามปี จนกระทั่งโครงการสิบกว่าปี ก็มี” หลังจากสหภาพสามารถรียกร้องให้ลูกจ้างตามโครงการสามารถได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้นแล้ว แต่สหภาพแรงงานก็ยังมองว่าคนงานกลุ่มนี้ ยังเป็นลูกจ้างชั้นสองอยู่ จึงได้เรียกร้องเพื่อให้คนงานกลุ่มนี้ได้เข้าเป็นพนักงานประจำ ล่วงมาถึงในปี พ.ศ. 2545 ลูกจ้างกลุ่มนี้มีประมาณ 200 – 300 คนซึ่งอารยามองว่าตนในฐานะนักสหภาพ มันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เป็นธรรมกับเพื่อนคนงานด้วยกัน จึงมีการพูดคุยในสหภาพเพื่อผลักดันให้พวกเขามีสิทธิเป็นพนักงานประจำโดยเริ่มเจราจาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 สามารถเจรจาบรรจุคนงานเหล่านี้เป็นพนักงานประจำได้เกือบหมด “ปี ๒๕๔๕ ลูกจ้างกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ คน พี่มองว่าในฐานะที่เราเป็นนักสหภาพ มันไม่ยุติธรรมกับลูกจ้าง กลุ่มนี้ เหมือนเป็นลูกจ้างขั้นสอง เราก็หารือกันในสหภาพฯ เพื่อเรียกร้องให้พนักงานกลุ่มนี้เป็นพนังงานประจำ” ต่อมาผู้บริหารกลับใช้กลยุทธ์ใช้คนงานซับคอนแทรค (sub-contract) ผ่านบริษัทเอาท์ซอร์ส (out source) ที่เราเรียกว่าคนงานเหมาช่วง-เหมาค่าแรง ซึ่งสหภาพก็มองว่ามันไม่เป็นธรรมกับคนงานเหมาช่วง-เหมาค่าแรง เหล่านี้ เพราะไม่มีความมั่นคง สวัสดิการต่างๆ ก็เทียบไม่ได้กับลูกจ้างขององค์การเภสัชโดยตรง สหภาพก็ผลักดันเจรจาต่อรองว่าต่อไปนี้จะต้องจ้างเป็นลูกจ้างขององค์การเภสัชโดยตรงไม่ผ่านบริษัทอื่น จนปัจจุบันเราเรียกร้องคนงานเหล่านี้เมื่อต่อสัญญาจ้างได้สองปีแล้ว จะต้องรับเขาเป็นลูกจ้างประจำ คติประจำใจในการทำงานสหภาพแรงงานของอารยาก็คือ เน้นเรื่องการปรึกษาหารือร่วมและการเจรจาพูดคุย มากกว่าการใช้วิธีการที่รุนแรง “หลักการต่อสู้ของพี่ใช้หลักการเจรจาต่อรอง ให้หลักเหตุผล ไม่ได้ใช้ กำลัง ก่อนจะใช้กำลังมันต้องทำอย่างอื่นให้เรียบร้อยก่อน พี่มองว่านักสหภาพไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเสมอไป เราสามารถใช้การเจรจาได้” ทั้งนี้ในเรื่องของผู้หญิงกับกิจกรรมสหภาพแรงงานนั้น อารยาให้ความเห็นว่า ปัจจุบันนี้ผู้นำและนักสหภาพแรงงานยังมีจำนวนน้อยเกินไป รวมถึงการพยายามทำลายสหภาพแรงงานทั้งฝ่ายรัฐและทุนที่หนักหน่วงขึ้นทุกวัน ถ้าหากไม่สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา อีกไม่นานกิจกรรมสหภาพแรงงานไทยก็คงต้องถึงกาลล่มสลาย “พี่เป็นห่วงว่าตอนนี้ผู้นำแรงงานหญิงมีน้อย และที่มีอยู่ซักวันก็ต้องแก่ไปหมดไป พี่วิตกมาหลายปีแล้ว เป็นความห่วงใยต่อขบวนการแรงงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงผู้ชาย พี่มองอย่างนี้นะ และก็เป็นห่วงยาวไปอีกว่า คำว่า ‘สหภาพแรงงาน’ มันจะลดลง นายจ้างก็จะทำลายสหภาพ รัฐบาลเองก็ทำลาย นักสหภาพต้องหันมามองคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว เพื่อสร้างให้มาเป็นนักสภาพรุ่นใหม่ ส่งเสริม ให้ความสำคัญ มาสานต่องานเราให้เพิ่มขึ้น” สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจาการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมบุญเล่าถึงการจัดตั้งสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจาการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของคนงานที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงาน ในโรงงานทอผ้าปั่นด้าย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 โดยตัวดิฉันเองที่เป็นนักสหภาพแรงงาน และเคยดำรงตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานมาก่อนได้ผ่านการอบรมสัมมนาทั้งจากฝ่ายรัฐและเอกชนมามากมาย แต่ก็ต้องมาป่วยซะเองเมื่อปี 2536 และเมื่อป่วยขึ้นมา สังคมและครอบครัวก็รังเกียจ และต้องรู้สึกท้อแท้มากๆ เพราะไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร และเกิดมาจากสาเหตุใด ต่อมาเมื่อได้ไปตรวจวินิจฉัยรักษาตัวที่ รพ.ราชวิถี กับ พ.ญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล พบว่า ตัวเองป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสจากการทำงาน ที่สูดหายใจเอาฝุ่นฝ้ายเข้าไปในปอดจำนวนมากเป็นระยะเวลาหลายปีมาแล้ว และเมื่อแวะเวียนไปตรวจกับคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ รพ.ราชวิถี ดิฉันพบว่า มีผู้ป่วยจากการทำงานด้วยโรคและอาการต่างๆจำนวนมากซึ่งมันไม่ใช่เรื่องตัวดิฉันเองคนเดียวแล้ว ดิฉันจึงได้คิดและเริ่มก่อตั้งองค์กรขึ้นมาโดยใช้ชื่อ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (The Council of Work and Environment Related Patent’s Network of Thailand (WEPT)) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1. รวบรวมคนป่วยและประสบอันตรายจากการทำงาน รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาก มลพิษอุตสาหกรรม 2. เกิดการให้กำลังใจ เกิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหา เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 3. ช่วยเหลือให้คนป่วยประสบอันตรายได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฏหมาย 4. ผลักดันให้จัดตั้งหน่วยงานและผลิตแพทย์เชี่ยวชาญสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม 5. เผยแพร่ป้องกันและรณรงค์ ปัญหาสุขภาพความปลอดภัยที่เกิดจากการทำงาน สารพิษ และสิ่งแวดล้อม 6. ผลักดันให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 7. ประสานความร่วมมือกับสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานชุมชนและองค์กรที่มีนโยบาย คล้ายคลึงกันผลักดันในเชิงนโยบาย โดยมีคณะกรรมการและคณะที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯซึ่งมีโครงสร้างอย่างสหภาพแรงงาน ปี 2537 ตั้งเป็นสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย การรวมตัวของกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรค “บิสสิโนซิส”และผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆจากโรงงานต่างๆ หลายพันคนในช่วงนั้น ซึ่งรวมจนถึงปัจจุบัน ได้ก่อตั้งกลุ่มมาแล้วเป็นเวลา 16 ปี เพื่อที่ร่วมกันผลักดัน แก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยดีขึ้น และเพื่อต่อสู้กับความจริงว่า มีแรงงานไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคจากการทำงานงาน พร้อมทั้งต้องการเคลื่อนไหวให้มีการปรับปรุงแก้ไข และป้องกันปัญหาไม่ใช่ที่นายจ้างบางแห่ง ที่ พยายามปฏิเสธการเจ็บป่วยของคนงาน หรือ ปัดความรับผิดชอบ และอีกทางหนึ่งคือการต่อสู้คดีในศาล ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยโรคบิสซิโนซิส ได้ต่อสู้คดีกับนายจ้างมานานถึง 15 ปีแล้ว ยังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาฎีกาอีกทางหนึ่ง แรงบัลดานใจในการก่อตั้งองค์กร ก็เพราะว่าโรคจากการทำงานเมื่อคนงานป่วยแล้ว ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ไม่ได้สิทธิในการรักษาวินิจฉัยกับแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่มีการต่อสู้ใดๆเกิดขึ้นการรวมกลุ่มและจัดตั้งองค์กร ถึงจะทำให้เกิดพลัง เกิดการรับรู้ของสังคม ดังเช่น การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายของกลุ่มผู้ป่วย(สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ที่เข้าร่วมเรียกร้องในนามของสมัชชาคนจน โดยการแนะนำคุณจะเด็จ เชาน์วิไล มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้ร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนเป็นเวลา 99 วัน ที่หน้าทำเนียบฯ เมื่อปี 2538 ผลจาการชุมนุม ซึ่งสมัชชาคนจน ก็มีผู้ถูกผลกระทบจาก เรื่อง ป่าไม้ ที่ดิน เขื่อน ประมงพื้นบ้าน ที่สาธารณะประโยชน์ สลัม 4 ภาค ผู้ป่วยจากการทำงาน การชุมนุมได้ผลตอนนั้น คือ ผู้ป่วยได้รับสิทธิค่าทดแทน และค่ารักษาพยาบาล ที่เรียกร้องจำนวน 100 คน คิดเป็นเงิน 11 ล้านบาท และยื่นข้อเรียกร้องในระดับนโยบาย เพราะคิดว่าเราจะมาเรียกร้องสิทธิเป็นรายบุคคล ก็คงทำไม่ได้หมด ขอเรียกร้องเช่น 1. เรียกร้องให้ล้มเลิกเกณฑ์การวินิจฉัยที่ไม่เป็นธรรมแก่คนงาน 2. เรียกร้องให้รัฐ ออกกฎหมาย พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 3. เรียกร้องให้ผลิตแพทย์และหน่วยงานแพทย์ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในช่วงชุมนุมคนป่วยทุกคนได้รับสิทธิ และสามารถล้มเลิกเกณฑ์การวินิจฉัยโรคที่ไม่เป็นธรรมแก่คนงานได้ และครม. ยอมรับหลักการให้จัดตั้งสถาบันคุ้มครองคนงานใบเบื้องต้น กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 7 เดือน แต่รัฐก็เสนอยื่นร่างของรัฐเพื่อให้ ครม.รับรอง ทางสมัชชาคนจน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ จึงคัดค้านยับยั้ง และทำการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเสนอกฎหมาย การเรียกร้องสิทธิของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ ร่วมเป็น 1 ใน 7 กรณีปัญหา ในสมัชชาคนจน ได้แก่ เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายป่าไม้ เครือข่ายที่ดิน เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน ได้เรียกร้องการแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้กับผู้ใช้แรงงาน การยื่นข้อเรียกร้องในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และการแก้ไขปัญหาของพี่น้องคนงานที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงาน ในนามสมัชชาคนจน ปี 2545 ได้เข้าร่วมกับขบวนการแรงงานในนามคณะกรรมการสมานแรงงานไทย ผลักดันให้ขบวนการแรงงาน เสนอข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล วันสตรีสากล วันความปลอดภัยแห่งชาติ เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (โดยเสนอเป็น พ.ร.บ.) เป็นข้อเรียกร้องแรกๆของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก็จนถึงปัจจุบัน ยังอยู่ในขบวนการเรียกร้องเคลื่อนไหว และทำการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายตอนนี้เข้าชื่อได้ครบ 10,000 กว่ารายชื่อแล้วรายชื่อ ช่วง สิงหาคม-พฤศจิกายน 2552 รวมพลังกับ เครือข่ายสนับสนุนและร่วมผลักดันการจัดตั้งองค์กรอิสระสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานองค์กรภาคี สนับสนุน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อนหญิง ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เครือข่ายภาคประชาชน กทม.แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ได้รวมตัวกันและเคลื่อนไหวผลักดัน พรบ.สถาบันฯ โดยการขอความร่วมมือสนับสนุนจาก สส.สถาพร มณีรัตน์ พรรคเพื่อไทย สส.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท พรรคประชาธิปัตย์ ให้รวบรวมเพื่อน สส .20 คนเสนอกฎหมาย พรบ.สถาบัน ฯ และไปหน้ารัฐสภา เพื่อให้สภา รับร่าง พรบ.สถาบันฯ ดังกล่าว ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2552 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ ได้พิจารณาเห็นชอบรับหลักการวาระ 1 แห่งร่างราชบัญญัติความปลอดภัยฯ ในคราวเดียวกันจำนวน 7 ฉบับ กลุ่ม 1. ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ซึ่งมีร่าง พ.ร.บ. ที่ชื่อเหมือนกันและมีสาระสำคัญคล้ายกันอีกจำนวน 4 ฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ ที่เสนอโดย สส.สุชาติ ลายน้ำเงิน กับคณะ สส.เจริญ จรรย์โกมลกับคณะ, สส.นิติวัฒน์ จันทร์สว่างกับคณะ และ สส.วรศุลี สุวรรณบริสุทธิ์ กับคณะ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... จำนวน 2 ฉบับ เสนอโดย สส.สถาพร มณีรัตน์ พรรคเพื่อไทย กับคณะ และ สส.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กับคณะ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบรับหลักการกฎหมายความปลอดภัยฯ ทั้ง 7 ร่าง และให้ยึดร่าง พ.ร.บ.ของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก และแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรวมจำนวน 36 คนโดยมี รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ และดิฉัน คุณสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ ได้รับเสนอเป็นกรรมาธิการวิสามัญในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบันรอกฎหมายพิจารณาเข้า วาระที่ 2-3 ต่อไปซึ่งก็ต้องทำการ สร้างความเข้าใจให้ สส .และวุฒิเพื่อไม่ให้ตัดหมวด 6(1)ที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ตั้งเป็นองค์กรมหาชน กลุ่มผู้ป่วย (สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ)สร้างความเข้มแข็งและพลังในการเรียกร้อง โดยได้ทำงานเชื่อมประสานเครือข่าย ผู้ใช้แรงงาน จากหลายพื้นที่อุตสาหกรรม ผู้นำสหภาพแรงงานพื้นที่ ภาคตะวันออก ชลบุรี รังสิต-ปทุมธานี อ้อมน้อยอ้อมใหญ่-นครปฐม-สมุทรสาคร พระประแดง สมุทรปราการ สระบุรี นนทบุรี ด้วยวิธีการนำเอาประสบการณ์ทำงานและการดูงานต่างประเทศ ร่วมกับเครือข่าย อาจารย์นักวิชาการ NGOs พัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมผู้นำให้เป็นวิทยากรด้านสุขภาพความปลอดภัย อบรมผู้นำสหภาพแรงงาน จป. คปอ. ไปแล้ว 4 รุ่นจำนวน 160 คน และทำงานปฏิบัติงานได้จริงในการเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือคนงานที่เจ็บป่วยประสบอันตรายจากการทำงาน และ เสนอให้สถานประกอบการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงทำงานประสานกับภาครัฐมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือให้คนงานที่ป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานได้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและกฏหมายกองทุนเงินทดแทน ผลสำเร็จจากการทำงาน นอกจากคนงานหลายพันคนได้เข้าถึงสิทธิแล้ว ผลจากการผลักดันเรื่องการคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน ทำให้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในปี 50 รัฐธรรมนูญไทยจึงได้บรรจุบทบัญญัติ ไว้ในมาตรา 44 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานรวมทั้งหลักประกันในการดำรงชัพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ผลจากการผลักดันได้มีมติครม. 11 ธันวาคม 2550 ได้มีนโยบาย ยกให้เรื่อง สุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน เป็นวาระแห่งชาติ “คนงานปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี” - ด้านนโยบาย สามารถผลักดันให้รัฐโดยกระทรวงสาธารณสุข มีแผนและแนวนโยบายในการผลิตแพทย์ทางดานอาชีวเวชศาสตร์ปีละ 10 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี - และผลักดันให้มี รพ.ที่มีคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ 25 แห่งทั่วประเทศในปี 50-52 ที่เป็นการให้คนงานได้เข้าถึงการวินิจฉัยในคลินิกที่มีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม 25 รพ. แบบการส่งตัวเข้ารับการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน โดยไม่ต้องเสียเงินค่าวินิจฉัยใดๆ ซึ่งจะแบ่งคลินิกโรคจากการทำงานเป็น 2 ระดับ คือ 1.) ระดับทุติยภูมิ โดยในปี 2551 ได้จัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงานในโรงพยาบาลนำร่องสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 24 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ 2. โรงพยาบาลราชบุรี จ.ราชบุรี 3. โรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 4. โรงพยาบาลลำปาง จ.ลำปาง 5. โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น 6. โรงพยาบาลมหาราช จ.นาครราชสีมา 7. โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ 8. โรงพยาบาลปทุมธานี จ.ปทุมธานี 9. โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี 10. โรงพยาบาลระยอง จ.ระยอง 11. โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย 12. โรงพยาบาลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ 13. โรงพยาบาลพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก 14. โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี 15. โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 16. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต 17. โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี 18. โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี 19. โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี 20. โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา 21. โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 22. โรงพยาบาลสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 23. โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี 24. โรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี จ.สุราษฏร์ธานี 2.) ระดับตติยภูมิ จัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงานที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กรมการแพทย์ และในปี 2553 กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน เพิ่มอีก 13 แห่งรวมเป็น 37 แห่งในปัจจุบัน อยากฝากข้อความอะไรเพื่อเฉลิมฉลอง 100 ปีวันสตรีสากล ปัญหาของคนทำงานแล้วได้รับผลกระทบยังมีอีกมากมายที่ยัง เข้าไม่ถึงสิทธิ คนงานยังไม่มีความรู้ เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ ก็ทำให้คนงานยังเข้าไม่ถึงสิทธิการบริการทางการแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือการทำงานในที่ปลอดภัยหรือการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย เพราะหน่วยงานของรัฐก็ยังมีบุคลากรไม่เพียงพอ ต่อการก่อเกิดของโรงงานอุตสาหกรรม จึงคิดว่ารัฐควรมีการส่งเสริมพัฒนางานด้านอาชีวอนามัยความปลอดภัยในการทำงาน ให้ทันสมัย เพื่อป้องกันคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ ผู้ใช้แรงงานน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งการให้รัฐเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ส่งเสริมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างจริงจังรวมทั้ง. การพัฒนาศักยภาพ และการมีส่วนร่วมผู้ถูกผลกระทบ, ลูกจ้าง และองค์กรแรงงาน ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ในมิติต่างๆ ส่งเสริมและพัฒนาระบบบริการการรับแจ้งการประสบอันตรายจากการทำงาน เพื่อให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิประโยชน์เงินทดแทนอย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม บูรณาการภาคีและหน่วยงาน ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อการทำงานที่มีเอกภาพ และประสิทธิภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รัฐบาลต้องสนับสนุนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนที่เชื่อมโยงมิติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม และอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานที่ยั่งยืนเพื่อสุขภาวะที่ดี ของแรงงานที่มีแรงงานหญิงกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนทั้งหมด จันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (ส่งเสริมโอกาสผู้หญิง) เอ็มพาวเวอร์ ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๒๘ ภายใต้ชื่อ ศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์(ส่งเสริมโอกาสผู้หญิง) ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยคุณแมกซ์ เอดิเกอร์ และ คุณจันทวิภา อภิสุข โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมโอกาสให้"พนักงานบริการ"ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม เรียกร้องต่อสู้ให้งานบริการมีความปลอดภัย ยุติธรรม มีมาตรฐาน อีกทั้งพยายามผลักดันให้มีส่วนร่วมทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ฯลฯ “พี่ไม่ใช่อยู่ดีๆ หล่นมาจากฟ้าแล้วเข้ามาทำงานเอ็มพาวเวอร์” จันทวิภา อภิสุข หรือพี่น้อย ที่ใครๆ รู้จัก เกิดเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๙๐ เธอเริ่มต้นการเป็นนักกิจกรรม ตั้งแต่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงที่เขาเรียกกันว่า “ยุคสายลมแสงแดด” “ตอนที่พี่เรียนที่ธรรมศาสตร์ก็เป็นนักกิจกรรม แต่กิจกรรมที่ทำสมัยก่อนมันไม่มีเรื่องการเมือง แต่จะเป็นกิจกรรมนักศึกษาที่แสดงบทบาทต่างๆ ของตนเอง เช่น กลุ่มศิลปวัฒนธรรม กลุ่มเล่นโขน กลุ่มนักเขียน กลุ่มเชียร์กีฬา เพราะเป็นช่วงก่อน ๑๔ ตุลา พอหลัง ๑๔ ตุลาแล้ว ถึงได้มีกิจกรรมนักศึกษาที่มีทัศนะทางด้านสังคม การเมือง ก็เกิดมีกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องสังคม ในธรรมศาสตร์ มีหนังสือพิมพ์กำแพง” หลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ภายใต้บรรยากาศ ประชาธิปไตยแบ่งบาน กระแสสังคมในช่วงนั้น คนก็หันมาสนใจปัญหาสังคมกันมากขึ้น พี่น้อย ก็เป็นหนึ่งคนที่ได้รับกระแสนั้น “พอเรียนจบ และหลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ก็มีเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดขึ้นเยอะแยะ และประชาชนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เขาก็สนใจปัญหาเรื่องแบบนี้เหมือนกัน ส่วนมากผู้หญิงที่สนใจเรื่องสังคม ก็จะสนใจเรื่องผู้หญิงอยู่แล้ว” ประมาณปี ๒๕๒๘ เป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยว เกิดย่านท่องเที่ยวตอนกลางคืน เช่น พัฒน์พงศ์ พัทยา ผสมกันการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีโรงงานทอผ้าเกิดขึ้นในหลายแห่งในกรุงเทพและชานเมือง มีแรงงานคนหนุ่มสาวจากชนบท เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพจำนวนมาก “ ในยุคนั้นก็จะมีหนุ่มสาวในต่างจังหวัด เข้ามาหางานทำในกรุงเทพ จากลูกหลานชาวนา ก็มาเป็นกรรมกรโรงงาน คนส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าโรงงานก็มาอยู่แถวพัฒน์พงศ์ แถวพัทยา” พี่น้อยมองว่าการเกิดขึ้นขององค์กรที่ทำงานกับผู้หญิงอย่างเอ็มพาวเวอร์ ในยุคนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด เป็นมันยุคที่คนหันมาสนใจปัญหาสังคม มีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในยุคนั้น เช่น กลุ่มศาสนาเพื่อสังคม หรือมูลนิธิผู้หญิง ที่ทำงานในเรื่องของผู้หญิง ก็เกิดขึ้นแล้วในช่วงนั้น “แนวคิดของเราที่จะทำงาน มันเกิดจากการที่เราไปใช้ชีวิตปกติ พี่ก็เดินไปบนถนน แล้วก็นั่งกินเหล้า กินเบียร์ เมาเหล้าทุกคืน มีเพื่อนที่มาจากต่างประเทศ เราก็พาเขาไปเที่ยว ไปบ่อยๆ ก็เริ่มรู้จักคนในพัฒน์พงศ์ เขาก็รู้สึกว่าคุยกับเราได้ ช่วยเหลือกันได้ ก็ถามเขา เอามั้ย พี่แปลจดหมายให้ และมันก็น่าสนใจ คือ คนที่อยู่ในพัฒน์พงศ์ ลูกสาวมาเต้นอะโกโก้ แม่มาขายบุหรี่พีเอ็ก น้ามาขายส้มตำ พี่ชายไปขับรถตุ๊กตุ๊ก มาจากหมู่บ้านเดียวกัน แล้วก็เริ่มต้นจากที่ว่า ทุกคนอยากจะเรียนหนังสือ อยากจะอ่านจดหมายที่ลูกค้าฝรั่งเขียนมา แล้วอยากจะเขียนเอง เขาอยากจะไปธนาคาร เข้าไปกรอกแบบฟอร์มบ้าๆ ของธนาคาร เขากรอกไม่เป็น มันเกิดจากชีวิตที่รู้จักกันเหมือนเพื่อนมนุษย์ แล้วก็ช่วยเพื่อนที่รู้จักกัน แล้วตอนหลังก็กลายมาเป็นโรงเรียน มานัดเจอกันทุกสี่โมงเย็น เขาทำงานกันตอนหกโมงเย็น เราก็ไปสอนภาษาไทย สอนภาษาอังกฤษ สอนไปธนาคาร ไปไปรษณีย์ ไปเขียนพวกจ่าหน้าซองจดหมาย มันเป็นพัฒนาการในฐานะเพื่อนมนุษย์ตอนหลังๆ เกิดมีคนมาเห็น เขาก็เอาเงินมาให้ แล้วก็เลยกลายเป็นโครงการขึ้นมา ทำเกิดภาระผูกพันไม่ใช่ทำแค่คนรู้จักแล้ว แต่เราต้องมองกว้าง ว่านี่คือปัญหาสังคม” การทำงานย่อมมีปัญหา ยิ่งต้องทำงานในประเด็นที่อ่อนไหว ในสังคมที่อ้างศีลธรรมสำคัญกว่าชีวิตคนด้วยแล้ว ดูเหมือนจะยากเย็นแสนเข็นสำหรับบุคคลภายนอกที่มองเข้ามา การต้องเผชิญกับแรงกดดันในสังคมย่อมเป็นเรื่องยากจะปฏิเสธ แต่อะไรเล่า ที่ทำให้เธอและงานของเธอสามารถยืนหยัดฝ่าฟันอุปสรรคมาได้จนถึงทุกวันนี้ “งานที่พี่ทำมันไม่ยากหรอก คุณรักตัวคุณอย่างไร คุณก็ทำอย่างนั้น แนวคิดของพี่คือมีปัญหาเข้าไปแก้ปัญหา นั่นคือมีงานให้คุณทำ พอเราทำงานเราเจอปัญหา เราไม่ถือว่าอันนั้นเป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรค เราเจอปัญหาเราดีใจ ว่าเออ เรามีงานทำแล้ว คนอ่านหนังสือไม่ออก ทำไมคน อายุ ๒๐ แล้วอ่านหนังสือไม่ออก แล้วทำไมคนอย่างเราทำไมอ่านหนังสือออก เราก็สอนหนังสือ มีความรู้อะไร เราก็เผื่อแผ่ แล้วมันก็เกิดเป็นโครงการขึ้นมา คนไม่รู้จะไปโรงพยาบาลยังไง แต่ทำไมเราไปเองได้ บางคนเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะสุข ก็เกิดเป็นโครงการ ทุกอย่างที่เกิดปัญหาขึ้นมา ก็เหมือนว่าเขาสอนให้เราได้ทำงาน มันมีปัญหาเราก็เข้าไปแก้ พี่มาทำงานเอ็นจีโอ เริ่มต้นก็ทำคนเดียว ตอนนี้มี ๓๕ คน มี ๑๑ จังหวัด จะเห็นว่ามันขยายออก มันคือความก้าวหน้าของชีวิต การทำงานเอ็นจีโอ มีความก้าวหน้า มีความมั่นคง มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร มีชุมชนเป็นนายจ้างเรา ถ้าเขาไม่บอกให้เราไปเขียน เราก็เขียนโครงการไม่ได้ เราถือว่าอันนี้เป็นงานที่มีเกียรติ เป็นงานที่ก้าวหน้า และก็เป็นงานที่ให้ความรู้ให้สติปัญญา การทำงานเอ็นจีโอ พี่ไม่คิดว่าเป็นงานอาสาสมัคร แต่เป็นงานอาชีพ ที่มีเกียรติ อาชีพที่มั่นคง” พี่น้อยอธิบายต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน ได้ให้บทเรียนหลายอย่าง แต่บทเรียนที่ได้รับมาตลอดคือการทำงานกับภาครัฐ การปรึกษาหารือกัน เรื่องการประสานงานมันมีช่องว่างเยอะ มันเหลื่อมล้ำกันเยอะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราอยากแก้ปัญหาให้ชุมชนเร็วๆ ประสานกับภาครัฐไม่เคยสำเร็จเลย “ปัญหาตั้งแต่ทำจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ กลุ่มคนที่พี่ทำงานด้วยถูกตีตราจากสังคม ว่าเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ใช้ประโยชน์มหาศาล ไม่ว่าหุ้นขึ้นหุ้นตก สถานบริการไม่เคยปิด เพราะฉะนั้นแรงงานภาคบริการต้องได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกับอาชีพอื่น แต่กฎหมายยังผิดอยู่ สังคมก็ยังรังเกียจอยู่ แต่ขณะเดียวกันสังคมก็ปิดหูปิดตา แล้วก็เอามือไปกอบโกยผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นมันต้องคิดใหม่ งานอาชีพนี้ใช้กฎหมายแก้ปัญหาไม่ได้ ประเพณีวัฒนธรรมไม่สามารถจะเอามาเป็นฐานแนวคิดได้ เราทำงานกับชุมชนที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ขณะเดียวกันก็มีนักการเมือง หรือผู้หลักผู้ใหญ่เป็นเจ้าของสถานบริการ คุณดูซิ แถวรัชดาเจ้าของเป็นของใคร และธุรกิจอันนั้น ไม่ใช่ ๑๐ หรือ ๒๐ ล้าน มันเป็นพันๆ ล้าน แล้วเขาขายอะไรกัน ขายอ่างน้ำเหรอ แล้วทำไมธุรกิจมันอยู่ได้ เพราะคนไปใช้บริการมีเงินที่จะจ่าย และคนที่ทำงานเขาก็เป็นคนทำงาน เขามีความผิดเพราะเขาทำงาน คนที่ไปซื้อบริการไม่มีความผิดเพราะไปซื้อ แต่กิจกรรมก็คือการร่วมเพศ ไอ้คนเดียวมันไม่เรียกร่วม ต้องสองคนมันถึงจะร่วม ธุรกิจอันนี้เป็นธุรกิจพันล้าน เป็นธุรกิจใหญ่มาก แล้วคนที่ทำงานเราไม่ดูแลเหรอ เขามีความผิดเหรอที่เขามาทำงาน ดังนั้นต้องคิดใหม่ว่า คนที่ทำงานสถานบริการทั้งหลาย ก็คือเป็นแรงงานภาคบริการ ทีนี้ถ้าเราคิดอย่างนี้ ไอ้เรื่องผิดกฎหมาย เรื่องผิดศีลธรรมมันก็หมดไป” เอ็มพาวเวอร์เรียกตนเองว่า เป็นแรงงานภาคบริการ ดังนั้น วันที่ ๘ มีนา วันสตรีสากล ที่เกิดมาจากการต่อสู้ของแรงงานหญิง ที่เรียกร้องระบบ สาม ๘ คือ ทำงาน ๘ ชั่วโมง พักผ่อน ๘ ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ ๘ ชั่วโมง เขาจึงให้ความสำคัญ และเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี “เราไปร่วมทุกปี แต่ปีนี้เป็นปีแรก ที่เข้าไปเป็นขณะทำงานเพราะว่ามันเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล เราคิดว่าเราเป็นแรงงานกลุ่มหนึ่ง คือแรงงานภาคบริการเราก็เข้าไปร่วม นอกจากนี้พี่ก็เห็นว่ากลุ่มผู้หญิงที่เขาไปรวมกลุ่ม ไม่ใช่มีแต่กลุ่มแรงงาน มีกลุ่มศิลปินด้วย มีกลุ่มที่มาจากสิ่งแวดล้อมอะไรด้วย เพราะฉะนั้นมันเป็นการรวมพลังที่เยอะที่สุด การรวมพลังอันนี้เราจะต้องเห็นความแตกต่าง เราจะต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่าง ไม่ต้องมาทำเหมือนกัน คุณไม่ต้องมาทำเหมือนกลุ่มแรงงาน มาทำเหมือนกับกลุ่ม แต่ความแตกต่างมันทำให้เกิดการพูดคุย เกิดการลับสมอง เกิดการขับเคลื่อน ในมุมมองที่มันแตกต่างกัน พี่คิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ” ประทิน เวคะวากยานนท์ ที่ปรึกษา เครือข่ายสลัม 4 ภาค “เครือข่ายสลัม 4 ภาค” เป็นขบวนการคนจนในเมืองที่ขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสลัม และแสวงหาความยุติธรรมทางสังคม ผ่านกระบวนการสร้างดุลอำนาจต่อรองกับภาครัฐ โดยมีการดำเนินงานที่เป็นอิสระปราศจากการครอบงำแทรกแซงจากอำนาจการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ก่อตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2541 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 ชุมชน โดยมีเป้าหมายคือสร้างความเป็นธรรมแก่สังคมในด้านที่อยู่อาศัย ประทิน เวคะวากยานนท์ (อายุ 59 ปี) ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เล่าประสบการณ์ทำงาน ในฐานะผู้นำหญิงคนสำคัญของขบวนการ ประทินเริ่มเล่าปูมหลังชีวิตก่อนที่จะเข้าร่วมกับขบวนการคนจนเมืองแห่งนี้ ที่เธอเองก็มีประสบการณ์ตรงในการเป็น “เหยื่อ” ของความไม่เป็นธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำในประเด็นที่อยู่อาศัย “เมื่อก่อนที่ยังไม่เข้าขบวนการก็อยู่ที่ดิน ของญาติๆ กัน อยู่ตรงโพธิ์สามต้น ก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะถูกเขาไล่ ตรงนั้นมันเป็นที่ของพี่น้องกัน ที่นี่เราก็อยู่กันมา แต่พอรุ่นพ่อ รุ่นแม่ เขาตาย พอรุ่นลูกเขาก็ขายที่หมด เราก็ต้องออก คนที่ปลูกอยู่ในนั้น บางคนก็เช่า ผลสุดท้ายก็ไล่หมด เราก็โดน ประมาณปี พ.ศ. 2535 – 2536 พอออกมาแล้วเราก็ไปเช่าบ้านอยู่ก่อน พอเช่าบ้านอยู่ก็มีพี่น้อง มีคนที่เขาชักจูงมาก็มาอยู่ที่ที่รถไฟ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เช่า แต่ก็มาเสียค่าหน้าดินให้กับคนที่เขาจับจองไว้ก่อนดั่งเดิม และก็เสียค่าเช่ารถไฟอยู่สองปี หลังจากนั้นรถไฟก็ไม่ได้เก็บเลย ตอนที่เราอยู่ที่รถไฟนะ เราขอทะเบียนบ้านไม่ได้ ไปขอน้ำ ขอไฟ ก็ไม่ได้ เราก็อยู่แบบนั้น ไปขอต่อน้ำ ต่อไฟ จากที่เอกชนเขาเข้ามา” ที่นี่เองที่ประทินเริ่มรู้จักช่องทางและวิธีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เมื่อมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ในช่วงปี พ.ศ. 2540 เธอได้เข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมต่างๆ และในปี พ.ศ. 2541 ประทินก็ได้เข้าร่วมกลุ่มเครือข่ายฯ และในปี พ.ศ. 2542 ก็เกิดการชุมนุมใหญ่ของเครือข่ายสลัม 4 ภาคเป็นครั้งแรก “พออยู่มาก็มีเอ็นจีโอ นักพัฒนาเอกชน เข้ามา เขาก็ไปเดินสำรวจดู เขาก็ ไปชักจูงคนที่ยังไม่มีทะเบียนบ้านให้ไปทำทะเบียนบ้าน ไอ้เรา นี่รุ่นที่หลังเลย เพราะเราค้าขาย เราไม่ค่อยได้อยู่บ้าน พอจังหวะพอดีวันนั้นไม่ได้ค้าขาย พอดีกับเอ็นจีโอ เขาก็เดินมา เขาก็มาบอกว่าใครที่ยังไม่ขอทะเบียนบ้าน ยังตกหล่นอยู่ก็ให้ไปถ่ายเอกสารมา แล้วก็จะพาไปทำ เราก็ไปทำว่ะ เพราะว่าก็ไม่ต้องเสียอะไร สะตุ้งสตางค์อะไรเขาก็ไม่เรียกร้อง เสียแค่ค่าถ่ายเอกสารแค่สองใบ พอไปเสร็จปั๊บ เราก็ได้ทะเบียนบ้าน พอได้ทะเบียนบ้านมา ตั้งแต่นั้นก็มามั่วอยู่ในเนี่ย พอได้มาเขาก็มาช่วยไปประชุม ไปชวนทำกิจกรรม ก็เป็นเทคนิคของเอ็นจีโอเขานะ แล้วก็ไอ้ลึกๆ ของเรานะ เราก็คิดว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทางรัฐนะ ว่าทำไมเราถึงมีทะเบียนบ้านไม่ได้ อะไรไม่ได้ แล้วเราก็ไม่ชอบการกดหัวของราชการนะ พอจะไปทำอะไรเราก็ต้องไปยืนหงอ พอเขาดุอะไรมาเราก็นั่นเลย พอมาตรงนี้ปุ๊บเราทำได้นี่หว่า ทะเบียนบ้านเราขอได้นี่หว่า เราสามารถไปคุยได้ เรามีปากมีเสียง พอไปประชุม เทคนิคของนักพัฒนาเขานะ พอเห็นใครพูดนั่นนี่หน่อย เขาก็ชวนไปตรงนั้นตรงนี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราก็เลยเขามาเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้พูดเก่งนะ แต่พอมีพื้นที่ที่ทำให้เราได้แสดงออก เราก็เริ่มตรงนั้นเลยว่า เราสามารถเข้าไปเจรจากับรัฐได้ สามารถจะไปทำอะไรได้ ทำได้ พูดได้ ก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองเข้ามาโดยวิธีการที่พี่เลี้ยง เขาก็มีการอบรมสอนเทคนิคอะไรให้ เราก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองด้วย หลังจากที่เรารวมกลุ่มกันได้ ซักประมาณปีหนึ่ง คือร่วมกลุ่มตอนปี พ.ศ. 2541 แล้วมันมีกระแสของการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟ ทั่วประเทศ ตอนนั้นมันเป็นนโยบายของการรถไฟ เขาไล่รื้อทั่วประเทศตอนปี พ.ศ. 2541 ตอนนั้นทางพี่เลี้ยงหลายคนเขาก็ เรียกหลายๆ ส่วนมาคุยกัน ว่าจะทำยังไงกัน ก็เลยคุยกันกับพวกที่เขามีองค์กรมีเครือข่ายอยู่แล้ว ในภาคเหนือเขาก็มีองค์กรอยู่แล้ว ในภาคใต้เขาก็มีองค์กร ในภาคอีสานก็มีทางอุบล ก็มาคุยกัน ที่เป็นชุมชนริมทางรถไฟเหมือนกัน พอคุยกันเสร็จแล้วก็คิดกันว่า มันต้องต่อสู้ ให้มันเป็นนโยบายออกมาว่าเราจะใช้ที่ดินรัฐ ที่ดินการรถไฟ โดยการเช่า ก็เลย มารวมตัวกันแล้วก็มีการลงสำรวจชุมชนกันทั่วประเทศ พอสำรวจตอนนั้นมันก็ได้ประมาร 160 กว่าชุมชน พอเสร็จแล้วเราก็มาคุยกัน คนที่เขาเห็นด้วยกับเราก็มี คนที่ไม่เห็นด้วย ไม่อยากเช่า ไม่อยากอะไรเนี่ย เราก็ว่างั้น เราก็มาขึ้นทะเบียนกันไว้ ว่ามีชุมชนอะไรที่อยู่ร่วมกัน ก็มีทั้งหมด 61 ชุมชนที่จะร่วมต่อสู้กันในที่ดินการรถไฟ ขอเรียกร้องแรก คือขอนโยบายการใช้ที่ดินของการรถไฟ คือเราขอเช่า เราก็อ้างอิงว่าทำไมเอกชนเช่าได้ ทำไมเราเช่าไม่ได้ที่ไล่รื้อทั้งหมดก็เพื่อจะเอาไปให้ที่เอกชนเช่านั่นแหละ เรายื่นข้อเสนอว่าเราจะขอเช่า เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมันไม่แพง ก็มีขบวนการเจรา ต่อรอง และก็ชุมนุมกัน ชุมนุมครั้งแรกที่กระทรวงคมนาคม ตอนปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรกของเครือข่ายสลัมสี่ภาค” การต่อสู้ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค นอกจากจะเคลื่อนไหวช่วยเครือข่ายของชาวสลัมในพื้นที่ต่างๆ แล้ว เครือข่ายก็ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนโยบาย เช่น การผลักดันนโยบายโฉนดชุมชนในพื้นที่สาธารณะริมคูคลอง ทั้งนี้เพื่อให้ชาวสลัมริมคลองสามารถปรับปรุงที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมและได้สิทธิความมั่นคงในรูปของโฉนดชุมชนจากกรุงเทพมหานครและหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ได้ , การผลักดันให้ออกกฎกระทรวงเพื่อผ่อนปรนในเรื่องการปลูกสร้างอาคาร และการผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติงบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของโครงการบ้านมั่นคง เป็นต้น สำหรับประทิน การทำกิจกรรมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาคทำถือว่าเป็นแรงบันดาลใจว่าการที่คนเล็กๆ เมื่อรวมกลุ่มกันแล้วต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม มันก็มีพลัง และมีความภาคภูมิใจที่สามารถเจรจาต่อรองกับหน่วยงานภาครัฐได้อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ใช่เป็นการขอความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์อีกต่อไป และเธอมีความหวังว่าขบวนการชาวบ้านจะต้องก้าวไปในหนทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในลักษณะที่มี “ศักดิ์ศรี” แบบนี้ ส่วนในประเด็นผู้หญิงกับการทำงานด้านสังคมประทินมองว่าเมื่อก่อนผู้หญิงอาจจะดูไม่ค่อยมีบทบาท แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะคุณสมบัติพิเศษในเรื่องของความละเอียดอ่อนและใจเย็นมากกว่าผู้ชาย “เมื่อก่อนนี้มันจะมีเรื่องความเหลื่อมล้ำกันระหว่างผู้หญิง ผู้ชายแต่มาตอนหลังนี้ แต่จากประสบการณ์ที่เราทำงานในเรื่องของที่อยู่อาศัย มันจะมีผู้หญิงออกมามาก เราก็คิดสิ่งที่ขบวนการมันจะเดินได้ ผู้หญิงต้องขึ้นมาเป็นผู้นำ ผู้หญิงจะละเอียดอ่อนและใจเย็น จะเหนือกับผู้ชายได้หน่อยก็คือเรื่องใจเย็น” ในส่วนตนนั้น ประทินมีกำลังใจที่สำคัญคือแม่ที่ทั้งคอยให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงาน เพราะแม่ของประทินนั้นก็ไม่ชอบเรื่องการกดขี่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และในการทำงานหากท้อแท้ ประทินก็มองว่าภาระหน้าที่ที่เธอแบกรับมันไม่ใช่เรื่องของเธอเพียงคนเดียว แต่การทำงานแบบนี้มันมีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่เบื้องหลัง “อาชีพของพี่ก็ค้าขาย แต่ก็ไม่ค่อยได้ขายเท่าไรแล้ว ไม่ค่อยมีเวลาเลย ออกทำงานเยอะ ส่วนใหญ่ก็ช่วยกันทำกับแม่ แต่แม่จะเป็นคนเอาออกไปขาย แต่ตอนนี้แม่ไม่ไหวแล้ว 80 กว่าแล้ว ก็ขายพวกข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ ขายอยู่ละแวกบ้าน แม่สนับสนุนนะ เวลามาทำงาน แม่ก็บอกว่า มึงไปเลย แม่ก็ไม่ชอบเรื่องการถูกกดขี่อยู่แล้ว แต่พอออกมาบ่อยๆ เขา แกทำคนเดียวก็เริ่มบ่นบ้าง” “พี่เคยท้อหลายหน แต่ก็บอกตัวเองว่าถอยไม่ได้ เวลาทำงานมันก็มีปัญหากันบ้าง มันก็จะทำให้ท้อๆ บ้าง แต่เราก็ถอยไม่ได้ เวลาท้อ ถ้าเราเราท้อกับชาวบ้าน เราก็ไม่เข้าไปยุ่งกับชาวบ้าน แต่พอหายละ เราก็กลับไปทำงานใหม่ แต่ถ้าท้อกับแกนนำด้วยกัน เราก็อยากจะถอยเลย แต่เรามามองถึงปัญหาชาวบ้านอีกเยอะแยะเลย แล้วถ้าเราไม่ลุกออกมาทำ แล้วใครล่ะจะมาทำ เราก็คิดว่าจะทำจนกว่าจะทำไม่ไหวเราก็คิดแบบนี้” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กลุ่มกรรมกรแดงออกแถลงการณ์วันสตรี เสนอตั้งพรรค ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิก ม.112 Posted: 08 Mar 2011 02:33 AM PST 8 มี.ค.54 กลุ่มกรรมการแดงเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากล มีเนื้อหา ดังนี้ แถลงการณ์กรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย วันสตรีสากล กรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย พวกที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีส่วนหนึ่ง อาจทำให้เราหลงเชื่อว่าผู้ชายคือต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง และผู้หญิงต้องลุกขึ้นปลดแอกจากการกดขี่ของผู้ชาย แต่ลองมองดูความเป็นจริงสิ! มีแต่ผู้หญิงที่ต้องขายแรงงานหรือเปล่า? มีเฉพาะผู้หญิงที่ถูกเลิกจ้างหรือเปล่า? มีแต่เฉพาะผู้ชายที่เป็นนายจ้างหรือเปล่า? มีแต่เฉพาะผู้ชายที่อยู่ในรัฐบาลอยู่ในรัฐสภาหรือเปล่า? เปล่าเลย! ชนชั้นกรรมาชีพผู้ถูกขูดรีดมีทั้งผู้หญิง มีทั้งผู้ชาย และรวมถึงเพศอื่นๆ ขณะเดียวกันชนชั้นผู้เอาเปรียบก็ประกอบด้วยผู้หญิง ผู้ชาย และรวมถึงเพศอื่นๆเช่นกัน ดังนั้นปัญหามันจึงไม่ใช่เรื่องเพศ แต่มันเป็นเรื่องของชนชั้นต่างหาก นายทุนไม่ว่าเพศใด เชื้อชาติใด สัญชาติใด หรือศาสนาใด ก็ขูดรีดกรรมาชีพโดยไม่เลือกหน้าว่ากรรมาชีพคนนั้นจะสังกัดเพศใด เชื้อชาติใด สัญชาติใด หรือศาสนาใด ซึ่ง คลาร่า แซทคิน ผู้นำกรรมกรสตรีที่ให้กำเนิดวันสตรีสากลก็ยืนยันเช่นนี้ ปัจจุบัน ท่ามกลางวิกฤติทุนนิยมที่เป็นระบบซึ่งเติบโตมาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากชนชั้นกรรมาชีพอย่างพวกเรา การดำรงชีพของพวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมกลับลำบากมากขึ้น ชนชั้นนายทุนผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตได้ฉวยโอกาสนี้ลดสวัสดิการหรือไม่ก็ปลดพวกเราออกจากโรงงานที่พวกเราสร้างมากับมือ รวมทั้งเปลี่ยนระบบการจ้างงานโดยนำเอาการจ้างงานแบบเหมาช่วงซึ่งขูดรีดหนักกว่ามาแทนระบบที่ขูดรีดอยู่เดิม เพียงเพื่อรักษาไว้ซึ่งกำไรสูงสุดที่พวกเขาทำมาโดยตลอดไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจแบบไหน แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลแทบทุกชุด ไม่ว่าที่อ้างความชอบธรรมจากการเป็นตัวแทนของประชาชน หรือที่อ้างคุณธรรมอันสูงส่ง ต่างก็ออกนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนรวย ของชนชั้นนายทุนโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจ แทนที่จะออกนโยบายมาเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของคนส่วนใหญ่ พวกเขากลับมองชีวิตที่ไร้หลักประกันของพวกเราว่าเป็นเพียงความโชคร้าย เป็นกรรมเก่า ดังนั้นด้วยความเอื้ออาทรพวกเขาจึงพร้อมที่จะถ่มเศษชิ้นเนื้อที่ติดตามซอกฟันของเขามาให้พวกเราเพื่อการสงเคราะห์กันตายไปวันๆเท่านั้น ทั้งๆที่ชีวิตที่ไร้ซึ่งความมั่นคง ไร้ซึ่งหลักประกันของพวกเราแท้จริงแล้วเป็นผลมาจากการขูดรีดของพวกเขาอย่างเป็นระบบนั่นเอง ดังนั้น แท้จริงแล้วรัฐบาลหาใช่ตัวแทนพวกเราไม่ แต่เป็นตัวแทนของเหล่าชนชั้นนำ ชนชั้นนายทุนมาโดยตลอด รวมถึงวิกฤติทุนนิยมครั้งนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมไร้น้ำยาที่จะสร้างความสุขให้กับคนส่วนใหญ่ ดังนั้น เพื่อให้พวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมมีความมั่นคงในชีวิต เศรษฐกิจและสังคม เพื่อความเป็นธรรม ความเสมอภาค เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง เพื่อให้พวกเราได้ในสิ่งที่พวกเราถูกขูดรีดไปกลับคืนมา และเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเรา ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงขอใช้โอกาสวันสตรีสากลวันแห่งความเสมอภาคและความเป็นธรรมนี้ประกาศว่า “พอกันที”
สังคมใหม่ที่เท่าเทียมพวกเราคนส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ร้องขออีกต่อไป รวมพลังสร้างประชาธิปไตย สร้างรัฐสวัสดิการ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สฤณี อาชวานันทกุล: กลไกกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต และปัญหาในไทย (1) Posted: 08 Mar 2011 02:16 AM PST ในยุคที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนทั่วไปจนแทบจะจินตนาการไม่ได้ว่าชีวิตที่ขาดกูเกิล วิกิพีเดีย เฟซบุ๊ก และอีเมลนั้นเป็นฉันใด และในเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นทั้งสังคม เทคโนโลยี สื่อ และพื้นที่ส่วนตัวที่เป็นสาธารณะ (ตามการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว) คำถามหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ใช้เน็ต คือคำถามที่ว่า เราควรกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตอย่างไร เพื่อให้มันเป็นสังคมที่เราอยากเห็น สร้างประโยชน์และลดโทษให้เหลือน้อยที่สุด ลอว์เรนซ์ เลสสิก (Lawrence Lessig, http://www.lessig.org) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและอินเทอร์เน็ต นักรณรงค์ “วัฒนธรรมเสรี” และผู้คิดค้นสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ อธิบายว่ากลไกที่กำกับดูแลสังคมอะไรก็ตามไม่ได้มีแต่กฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีกลไกอื่นที่เราอาจมองไม่เห็นหรือไม่รู้สึกว่ามีอยู่ เขาบอกว่ามีกลไก 4 ประเภทที่กำกับอินเทอร์เน็ต ได้แก่ กฎหมาย (law) – หมายรวมตั้งแต่กฎหมายไปจนถึงระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยมากรัฐเป็นผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย แต่บางกรณีกฎหมายอาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกำกับดูแล เช่น กฎหมายอินเทอร์เน็ตของมาเลเซียมอบหมายให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) มีอำนาจจัดการกับเนื้อหาเอง (self-regulation) โดยใช้ชุดหลักเกณฑ์เดียวกันทุกค่ายที่โปร่งใสและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ต กลไกตลาด (market) – หมายถึงกลไกตลาดที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอินเทอร์เน็ต รวมถึงธรรมเนียมธุรกิจ (business norms) ด้วย เช่น โครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สภาวะการแข่งขันในธุรกิจโฮสติ้ง นโยบายการเก็บข้อมูลผู้ใช้ของไอเอสพีแต่ละราย ฯลฯ ค่านิยม (social norms) – หมายถึงค่านิยมและจารีตในสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้เน็ตที่ชอบโพสข้อความ “หาเรื่อง” คนอื่นโดยไม่มีเหตุผล (หรือที่เรียกกันว่า “เกรียน”) บนกระดานสนทนา (เว็บบอร์ด) อาจถูกสมาชิกคนอื่นรุมประณามหรือขับไล่ออกจากเว็บบอร์ดนั้นๆ ได้ สถาปัตยกรรม (architecture) – เลสสิกอธิบายว่าหมายถึง “โค้ด” (code) คอมพิวเตอร์ทุกชนิดที่ถูกเขียนขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ เงื่อนไขหรือข้อจำกัดทางเทคนิค เช่น ซอฟต์แวร์ปิดกั้นเว็บไซต์ หรือโปรโตคอลทีซีพีไอพี (TCP/IP คือชุดเกณฑ์ทางเทคนิคสำหรับการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต) ประเด็นหลักของเลสสิกที่เขาพยายามชี้ให้เห็นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 สมัยที่เว็บยังไม่ได้รับความนิยมมหาศาลอย่างในปัจจุบัน คือข้อเท็จจริงที่ว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต เนื่องจากธรรมชาติ “เปิด” ของอินเทอร์เน็ตสนับสนุนการส่งข้อมูลอย่างเสรี ไม่สนับสนุนอะไรก็ตามที่กีดขวางการส่งข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น ต่อให้ศาลออกหมายศาลให้ปิดกั้นเว็บ เจ้าของเว็บไซต์ก็สามารถไปสร้างที่อยู่ (URL) ใหม่ได้ภายในเสี้ยวนาที ส่วนผู้ใช้ก็สามารถเข้าถึงเนื้อหาเดิมได้ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์หลบเลี่ยงต่างๆ หรือพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ ทำให้คำสั่งปิดกั้นของศาลแทบไม่เป็นผลเลย อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมมติว่าเราอยากเปลี่ยนวิธีการคุยกันผ่านเน็ต เพราะกลัวว่าอีเมลจะถูกสกัดกั้น หรือเพราะอยากลองของใหม่ เราก็สามารถติดตั้งโปรแกรมอีเมลใหม่ หรือใช้บริการอย่างสไกป์ (Skype) ซึ่งทำให้เราได้ยินเสียงกันได้ด้วย เท่ากับว่าการที่เรามีสิทธิเลือกวิธีและช่องทางการสื่อสาร ทำให้เรามีเสรีภาพในการแสดงออก ไม่มีใครสามารถบังคับให้เราต้องใช้โปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งได้ เลสสิกชี้ว่า กลไกกำกับดูแลประสิทธิภาพสูงที่เข้ามาทดแทนความด้อยประสิทธิภาพของกฎหมาย คือสถาปัตยกรรมหรือโค้ด ด้วยเหตุนี้เขาจึงประกาศว่า “code is law” (โค้ดคือกฎหมาย) และในเมื่อโค้ดคือกฎหมาย เราจึงต้องติดตาม ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงทั้งตัวโค้ดและตัวบทกฎหมายที่แท้จริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ใครเขียนโค้ดที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ต สิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตควรมีความแตกต่างจากสิทธินอกเน็ตหรือไม่? แดนนี โอไบรอัน (Danny O’Brien) ผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ตจาก Electronic Frontier Foundation (http://www.eff.org/) องค์กรที่รณรงค์เสรีภาพอินเทอร์เน็ต (ปัจจุบันเขาย้ายไปอยู่ Committee to Protect Journalists – ติดตามได้จากบล็อก http://www.cpj.org/internet/) เคยกล่าวในงานสัมมนาของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ปี 2552 ว่า “ในแง่หนึ่ง สิทธิในการใช้อินเทอร์เน็ตก็ไม่ควรจะแตกต่างจากการใช้สื่ออื่นๆ ที่เราเคยใช้กันมา ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ เพราะถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกผ่านสื่อ ดังนั้นจึงควรถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเหมือนกัน แต่ถ้ามองเฉพาะลงไปในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) จะเห็นว่าประเด็นเรื่องเสรีภาพมีสองเรื่องหลัก คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพที่จะปลอดภัยจากการเฝ้ามอง (surveillance) ของรัฐ ซึ่งถ้าเสรีภาพทั้งสองเรื่องนี้ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม ก็จะนำไปสู่เสรีภาพในด้านอื่นๆ เช่น เสรีภาพในการคิด การพูด เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ” ด้วยกรอบคิดของเลสสิก เราอาจมองวิธี “จัดการ” กับผู้ใช้เน็ตที่โพสเนื้อหาหมิ่นประมาทได้ดังต่อไปนี้ กฎหมาย – เราอาจระบุให้เนื้อหาหมิ่นประมาทเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย (ซึ่งปกติก็ผิดกฏหมายอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะเขียนขึ้นเป็นพิเศษในกฎหมายคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด) กลไกตลาด – ถ้าเว็บมาสเตอร์มีค่าใช้จ่ายสูงมากในการจัดการกับเนื้อหาหมิ่นประมาท เว็บมาสเตอร์ก็อาจปิดบริการเว็บบอร์ดเพราะไม่คุ้ม เช่น ถ้าหากกฎหมายระบุว่าตัวกลางต้องร่วมรับผิดตามกฎหมายด้วย เว็บมาสเตอร์ต้องจ้างคนเป็นกองทัพมากลั่นกรองเนื้อหาของผู้ใช้ก่อนที่จะปรากฏบนเว็บ ค่านิยม – สมาชิกคนอื่นๆ บนเว็บบอร์ด “เพื่อน” บนเฟซบุ๊ก และ “ผู้ตาม” บนทวิตเตอร์ร่วมกันประณามหรือเลิกคบคนที่ชอบโพสข้อความหมิ่นประมาทคนอื่น กดดันให้เขาปรับปรุงตัวเองเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น สถาปัตยกรรม – ไอเอสพีอาจเขียนโค้ดสั้นๆ เปลี่ยนคำทุกคำที่สุ่มเสี่ยงว่าจะถูกฟ้องหมิ่นประมาทให้กลายเป็นคำอื่น เช่น xxx ก่อนที่เนื้อหาของผู้โพสจะปรากฎ กรอบคิดของเลสสิกช่วยเราได้มากในการประเมินสถานการณ์กำกับดูแลเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้าง (user-generated content) ในประเทศไทย ซึ่งยังห่างไกลจาก “อินเทอร์เน็ตในอุดมคติ” ที่เราทุกคนอยากเห็น นั่นคือ พื้นที่เปิดซึ่งทุกคนสามารถแสดงออกและแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันอย่างเสรี และมีกลไกคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ในกรณีที่ถูกละเมิด สถานการณ์ในไทยยังห่างไกลจากอุดมคติเนื่องด้วยสาเหตุหลักสองประการดังต่อไปนี้ นิยามของเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายคลุมเครือ และผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตเพียงพอ – พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (“พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์”) มีมาตราที่คลุมเครือหลายมาตรา เนื้อหาที่ทำให้ผู้ใช้เน็ตถูกดำเนินคดีขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไอซีทีเป็นหลัก โดยเฉพาะข้อหา “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” (การจับกุมโดยอ้างข้อหานี้หลายครั้งที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะเป็นภัยต่อ “รัฐบาล” มากกว่า “ชาติ”) ความคลุมเครือของตัวบทกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีปัญหาตลอดมา เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในแวดวงตัวกลาง ตั้งแต่เว็บมาสเตอร์ ไปจนถึงโฮสติ้งและไอเอสพี นักกฎหมายหลายคนก็มองว่าการปิดกั้นเว็บหลายกรณี “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ยกตัวอย่างเช่น คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท ที่ปรึกษากฏหมายไพบูลย์ จำกัด อดีตกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวในงานเสวนา “คลี่ปมกระบวนการบล็อกเว็บ : ปัญหาบังคับใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน” ซึ่งชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์จัดขึ้นในปี 2553 ว่า “สาเหตุหลักที่ทำให้คำสั่งปิดบล็อกเว็บไซต์เกิน 50% ในประเทศไทยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือการขาดผู้รับผิดชอบดูแลกระบวนการบล็อกเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีทีอย่างจริงจัง ทำให้มาตรฐานการดำเนินงานเป็นไปอย่างสับสน หลายมาตรฐาน และไร้ความน่าเชื่อถือ” (อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ http://www.manager.co.th/cyberBiz/viewNews.aspx?newsid=9530000135417) นอกจากกฎหมายในส่วนของเนื้อหาจะคลุมเครือและการบังคับใช้ยังขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้ว ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐยังดูเหมือนจะไม่เข้าใจธรรมชาติเน็คเพียงพอ เช่น กรณีที่ ศอฉ. ประกาศแผนผัง “ขบวนการล้มเจ้า” ซึ่งมีข้อมูลที่ผิดพลาดและลากเส้นโยงผู้ใช้เน็ตหลายคนว่ารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน ราวกับเป็นขบวนการที่มีเป้าประสงค์เดียวกันและเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ ทั้งที่บุคคลเหล่านี้ในความเป็นจริงหลายคนเพียงแต่ชอบตั้งวงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเว็บบอร์ดเท่านั้น อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในธรรมชาติเน็ต คือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตีความ “ร่องรอย” ต่างๆ ที่เราทิ้งในคอมพิวเตอร์หรือบนอินเทอร์เน็ตโดยอัตโนมัติ คือเราไม่รู้ตัว เช่น ไฟล์ attachment ที่โปรแกรมอ่านอีเมลดาวน์โหลดมาในเครื่อง, cookie ในเครื่อง หรือ history ของบราวเซอร์ ว่าเป็น “หลักฐาน” ที่ “พิสูจน์” ว่าเจ้าของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นๆ มี “เจตนา” ที่จะกระทำผิด ทั้งที่เนื้อหาพวกนี้มีลักษณะ ตรงกันข้าม กับหลักฐานที่ใช้ในคดีอาญาทั่วไป นั่นคือ ของอย่าง cookie หาง่ายแต่พิสูจน์เจตนายาก เพราะโปรแกรมอาจบันทึกโดยอัตโนมัติ ขณะที่หลักฐานในคดีอาญา เช่น ดีเอ็นเอของคนร้ายในที่เกิดเหตุ มักจะหายากแต่เมื่อพบแล้วก็พิสูจน์เจตนาง่ายกว่า (ว่าผู้ต้องสงสัยตั้งใจกระทำผิด) สถาปัตยกรรม – ไอเอสพีไทยบางราย “ให้ความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการกับภาครัฐ (ซึ่งพอไม่เป็นทางการ ก็ไม่มีใครรู้หรือตรวจสอบได้ว่ากระบวนการนี้มีมาตรฐานหรือไม่) ปิดกั้นเว็บไซต์หลายต่อหลางครั้งโดยที่ไม่มีหมายศาลตามกฎหมาย วิธีปิดกั้นแบบ “เนียนๆ” คือเขียนโค้ดหลอกผู้ใช้เน็ตให้เชื่อว่าหน้าเว็บที่ต้องการจะเข้าถูกลบไปแล้ว (ขึ้นข้อความว่า “404 Not Found”) หรือที่แย่กว่านั้นคือเขียนโค้ดที่ละเมิดสิทธิของเว็บอื่น เช่น หลอกให้คนเชื่อว่ายูทูบ (YouTube) ลบวีดีโอที่ต้องการจะดูไปแล้ว วิธีหลังนี้เท่าที่ผู้เขียนประสบด้วยตัวเองมี 2 กรณี คือคลิปแฉศาลรัฐธรรมนูญ กับคลิปคำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน (ผู้เขียนเป็นลูกค้าของ TRUE Internet แต่ได้รับทราบจากผู้ใช้ CS Loxinfo ว่าโดนหลอกแบบเดียวกัน) ปกติคลิปวีดีโอที่ยูทูบลบเองจะแสดงข้อความพื้นสีดำ อธิบายสาเหตุที่ลบ (ปกติเป็นเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์) ส่วนข้อความ “หลอก” ของ TRUE กับ CS Loxinfo นั้นจะมีข้อความคล้ายกัน แต่เป็นพื้นขาวและใช้ฟอนต์แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังภาพด้านล่างนี้ –
(อ่านคำอธิบายโค้ดหลอกที่ใช้ได้ที่บล็อก Random Thoughts – http://tewson.com/true-court-clip-censorship) ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุหลักของการละเมิดสิทธิผู้ใช้เน็ต โดยเฉพาะการละเมิดแบบเนียนๆ คือ ตัวกลางอินเทอร์เน็ตยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้ต้องยอมร่วมมือกับภาครัฐมากกว่าจะคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภค (ผู้ใช้เน็ต) ซึ่งไอเอสพีมีหน้าที่พิทักษ์ตามเงื่อนไขการให้บริการและตามรัฐธรรมนูญ “ความจริงจากโลกเสมือน” ตอนนี้พูดถึงปัญหาในไทยจากมุมมองของกลไกกำกับดูแลสองชนิด คือกฎหมายกับสถาปัตยกรรมไปแล้ว ตอนหน้าจะมาว่ากันต่อถึงกลไก “ค่านิยม” ว่าช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันประโยชน์และโทษของกลไกนี้ในสังคมอินเทอร์เน็ตไทยมีอะไรบ้าง.
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://thainetizen.org/thai-internet-regulations-problems สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักกฎหมายเบรคหัวทิ่ม ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุม ชี้ขัด รธน. Posted: 08 Mar 2011 01:56 AM PST 8 มี.ค.54 หลายองค์กรร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 9 มี.ค.นี้ ระบุ ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และไม่แก้ปัญหาการชุนุมทางการเมืองดังที่รัฐต้องการ รายละเอียดของแถลงการณ์มี ดังนี้ แถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ตามที่สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…..ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอรวม 5 ฉบับในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2554 นั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อแนบท้าย เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะของรัฐบาล มีสาระสำคัญที่อาจขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทยหลายประการ จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรสิทธิมนุษยชนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและคัดค้านการออกกฎหมายเพื่อควบคุมจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมฉบับนี้ เพราะเชื่อว่าสังคมสามารถเรียนรู้ จัดการและพัฒนาการใช้เสรีภาพในการชุมนุมร่วมกันได้ ผู้ชุมนุมมีหลักการและกฎกติการ่วมกันในการชุมนุม คือสงบ ปราศจากอาวุธและไม่กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการออกกฎหมายไม่สามารถแก้ปัญหาได้เสมอไป แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความเป็นจริงน่าจะเป็นทางออกที่สังคมสามารถจัดการและเรียนรู้ร่วมกันได้ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ในทางกลับกันหากกฎหมายออกมาโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงย่อมก่อให้เกิดปัญหาและไม่สามารถบังคับใช้ ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: “พีมูฟ” ลุ้น รัฐฯ รับปาก 10 ประเด็นเข้า ครม. Posted: 08 Mar 2011 12:44 AM PST "อภิสิทธิ์" รับปากนำข้อเรียกร้อง "พีมูฟ" 10 เรื่อง เข้า ครม.มีกรณีเปิดเขื่อนปากมูล 5 ปีเข้าด้วย ส่วนเรื่องอื่นให้ตั้งกรรมการร่วมแก้ปัญหา หลังพีมูฟบุกประชิดประตูทำเนียบ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2554 ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ได้เดินทางไปร่วมเจรจากับนา วานนี้ (7 มี.ค.54) เวลาประมาณ 09.30 น. ขบวนพีมูฟ จำนวน 1,500 คน ได้เดินทางจากที่ชุมนุม บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ไปยังทำเนียบรัฐบาล ฝั่งสะพานผดุงกรุงเกษม เพื่อเจรจาขอพบนายกรัฐมนตรี นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า ได้หารือกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วและขอนั ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 13.30น.ตัวแทนพีมูฟ จำนวน 12 คน เข้าเจรจากับ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐม สำหรับเรื่องที่เสนอให้ ครม.มีมติเห็นชอบมี 5 เรื่อง ได้แก่ 1.กรณีเปิดเขื่อนปากมูล 5 ปี 2.กรณีบ้านมั่นคงคนไร้บ้าน พิจารณาอนุมัติงบประมาณ 52.7 ล้าน โดยไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์บ้าน ในส่วนเรื่องที่เสนอให้ ครม.มีมติรับทราบมี 5 เรื่อง 5 พื้นที่ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอ หลังจากนั้น ประมาณ 15.00 น. ตัวแทนพีมูฟได้เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้ ด้านนางสาวนพพรรณ พรหมศรี ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และที่ปรึกษาพีมูฟ ได้พูดถึงกิจกรรมในวันนี้ว่ ทั้งนี้ ขบวนพีมูฟ ประกอบด้วยกลุ่มคนจนประมาณ 70,000 ครัวเรือน ใน 36 จังหวัด จาก 4 เครือข่าย 1 กรณีปัญหา ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น