ประชาไท | Prachatai3.info |
- ครม. อนุมัติให้ญี่ปุ่นยืมโรงไฟฟ้า 2 โรงขนาดรวม 244 เมกะวัตต์
- ที่ปรึกษาสาทิตย์ลงพื้นที่เขาคูหาเก็บข้อมูลเหมืองหินเสนอ ครม.
- เอ็นเอชเคเผยจนท.ท้องถิ่นประกาศเตือนภัยสึนามิถึงวินาทีสุดท้าย
- นักข่าวพลเมือง: ภาพแรงงานอังกฤษประท้วงค้านตัดงบสวัสดิการ
- 3 แนวทาง “ลดโทษอาญา-ไกล่เกลี่ยและเน้นโทษปรับ” เพิ่มประสิทธิภาพยุติธรรมไทย
- พิษเศรษฐกิจผลักคนเป็นแรงงานนอกระบบ แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับยังยากจนต่อเนื่อง
- ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดี พธม. ยึดรถเมล์เป็น 29 เม.ย.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: ชุมชนนิยมกับประชาธิปไตยแบบไทย
- "ต้าตึ้กเมือง" ผู้นำกองทัพแห่งชาติว้าถึงแก่กรรม
- นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นส่งซิก "เตรียมตัวระดับสูงสุด" รับมือปัญหานิวเคลียร์
- ธเนศวร์ เจริญเมือง: ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง
- ภาพยนตร์กับการเป็นอนุสาวรีย์ทางความคิด: กรณีภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- ทหารพม่าปะทะกับทหารกองทัพรัฐฉานเหนือต่อเนื่อง
ครม. อนุมัติให้ญี่ปุ่นยืมโรงไฟฟ้า 2 โรงขนาดรวม 244 เมกะวัตต์ Posted: 29 Mar 2011 02:48 PM PDT มติ ครม. ให้ กฟผ. ส่งมอบโรงไฟฟ้าพลังดีเซลขนาดรวม 244 เมกะวัตต์ เพื่อนำไปติดตั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 3-5 ปี ตามที่บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียวขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าหลังวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ โดยเป็นการให้ยืมไม่มีค่าตอบแทน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย ติดตั้ง บำรุงรักษาเอง และส่งคืนเมื่อเสร็จภารกิจ เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ให้บริษัท TEPCO ยืมเครื่องกังหันก๊าซจากโรงไฟฟ้าหนองจอก จำนวน 2 ชุด ในลักษณะความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยไม่มีค่าตอบแทน และให้บริษัท TEPCO เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย ติดตั้ง รวมทั้งค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการนำกลับมาติดตั้งคืนเมื่อเสร็จภารกิจ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่าประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ในภาวะวิกฤตที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ จากแผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้น จึงเห็นควรให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ขณะที่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยกับผู้สื่่อข่าวภายหลังเป็นประธานส่งมอบโรงไฟฟ้าให้ประเทศญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซหนองจอกไปติดตั้งที่ญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว 3-5 ปี จำนวน 2 เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 122 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 244 เมกะวัตต์พร้อมอุปกรณ์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 90 ล้านบาท โดยจะนำไปติดตั้งที่ประเทศญี่ปุ่นชั่วคราวประมาณ 3-5 ปี ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าโตเกียว (เทปโป้) ได้ขอความช่วยเหลือมายังไทยและอีกหลายประเทศ เพื่อขอให้ส่งเครื่องผลิตไฟฟ้ามาญี่ปุ่นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทปโป้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหว ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตามทางบริษัทเทปโป้จะเป็นผู้รื้อถอนและขนย้ายเครื่องผลิตไฟฟ้าไปยังญี่ปุ่น รวมถึงการเดินเครื่องทดสอบ บำรุงรักษา จัดหาเชื้อเพลิง ตลอดจนการขนย้ายและนำเครื่องกังหันก๊าซกลับคืนมายังไทยทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการรื้อถอนและขนส่งเครื่องผลิตไฟฟ้าประมาณ 2 เดือน เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทันในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นหรือประมาณเดือน ส.ค. 2554 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกโรงไฟฟ้าหนองจอก เนื่องจากไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า และ กฟผ.ได้ปลดอออกจากระบบผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศไปแล้ว เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซล เป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูง ซึ่งจะนำมาใช้งานเฉพาะกรณีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอเท่านั้น “โรงไฟฟ้าหนองจอกไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่เป็นโรงไฟฟ้าสำรองไว้กรณีฉุกเฉินเท่านั้น เนื่องจากใช้ดีเซลมีต้นทุนสูง ดังนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย ขณะเดียวกันทางเทปโป้จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายทั้งหมดเอง ส่วนระยะเวลาที่ให้ยืมนานถึง 3-5 ปีนั้น เพราะเห็นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นได้รับความเสียหายมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนาน ซึ่งความช่วยเหลือของไทยครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับญี่ปุ่นอย่างมาก” นายสุทัศน์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรงไฟฟ้าหนองจอก อยู่ในแผนปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564 ซึ่งมีการออกแผนฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม โดยในแผนพีดีพี มีการปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบในปี 2552 อาทิ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ เครื่องที่ 4-5 โรงไฟฟ้าลานกระบือ เครื่องที่ 1-11 โรงไฟฟ้าหนองจอก เครื่องที่ 1-3 และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี เครื่องที่ 1-2 และโรงไฟฟ้าอื่นๆ ทยอยปลดในอนาคต ทำให้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงไป 7,502 เมกะวัตต์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ที่ปรึกษาสาทิตย์ลงพื้นที่เขาคูหาเก็บข้อมูลเหมืองหินเสนอ ครม. Posted: 29 Mar 2011 12:17 PM PDT ที่ปรึกษาสาทิตย์ลงพื้นที่เก็บข้อมูล “เหมืองหินเขาคูหา” เสนอครม. แก้ปัญหาผลกระทบระบิดหิน ชาวบ้านเสนอเลิกประทานบัตร–ถอนประกาศแหล่งหิน–เอาผิดต่อประทานบัตรผิดขั้นตอน–ให้รัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ยื่นข้อเสนอ–กฤษณรักษ์ จันทสุวรรณ์ ยื่นข้อเสนอของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาต่อรัฐบาล ผ่านนายภูเบศ จันทนิมิที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 29 มีนาคม 2554 ที่โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา หมู่ที่ 9 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา นายภูเบศ จันทนิมิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงค์หนองเตย) พร้อมด้วยนายอุดมเดช นิ่มนวล อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ลงพื้นที่รับฟังปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหินเขาคูหา โดยมีสมาชิกเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาเข้าร่วมชี้แจงประมาณ 70 คน นายภูเบศ กล่าวกับสมาชิกเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาว่า ได้รับมอบหมายจากนายสาทิตย์ ให้มารับฟังข้อมูลความเดือดร้อนจากผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ตนไม่เคยทราบมาก่อนว่าเหมืองหินเขาคูหาอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B เหลือสภาพความเป็นป่าไม้ ซึ่งสมควรอนุรักษ์ไว้คู่กับวิถีชุมชน คิดว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องกลับมาเป็นของชุมชน ตนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติที่ไปละเมิดสิทธิชุมชน ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ขอยืนยันว่าการแก้ปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย “ผมได้ขอข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองหินเขาคูหาจากอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เก็บข้อเท็จจริงและรับฟังความเห็นของชาวบ้านที่นี่ หลังจากนี้จะเสนอรัฐมนตรีสาทิตย์ให้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” นายภูเบศ กล่าว นายภูเบศ กล่าวว่า ถึงแม้นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศจะยุบสภาต้นเดือนพฤษภาคม 2554 เหลือระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนเศษ ตนจะพยายามลงพื้นที่ 300 แห่ง ที่พีมูฟเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกรณีโฉนดชุมชนชาวบ้านภาคใต้ฝั่งอันดามัน นายกฤษณรักษ์ จันทสุวรรณ์ แกนนำเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา กล่าวว่า จากการที่ทางอำเภอรัตภูมิเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหาเพียงแค่ 3 วัน มีชาวบ้านไปร้องเรียนทั้งหมด 326 หลัง หากเปิดให้ร้องเรียนโดยไม่มีกำหนดคาดว่าน่าจะมีการจำนวนมากกว่านี้ ผู้ประกอบการเหมืองหินไม่ยอมรับว่าสร้างผลกระทบทำให้บ้านเรือนแตกร้าว ส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย “ชาวบ้านไปคุยกับผู้ประกอบการก็ไม่รับผิดชอบ คุยกับหน่วยงานรัฐก็ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รู้จะร้องเรียนค่าเสียหายจากใคร ปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 3 ปี” นายกฤษณรักษ์ กล่าว หลังจากนั้น นายกฤษณรักษ์ได้ยื่นข้อเรียกร้องของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาต่อรัฐบาลผ่านนายภูเบศ โดบขอให้เพิกถอนประทานบัตรเขาคูหาของบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด และประทานบัตรของนายมนู เลขะกุล, ขอให้เพิกถอนเขาคูหาออกจากประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2540, ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขอต่อใบอนุญาตผิดขั้นตอน ใช้เอกสารเท็จ และปกปิดข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจ และให้ประกาศเขาคูหาเป็นพื้นที่อนุรักษ์โดยให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังจากเครือข่ายพิทักษ์สิทธิเขาคูหา เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพีมูฟ มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นระยะ โดยวันที่ 7 มีนาคม 2554 พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้ามารับฟังความเดือดร้อนจากการทำเหมืองหินเขาคูหา และสำรวจบ้านเสียหาย ต่อมา วันที่ 8 มีนาคม 2554 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยตัวแทนกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เข้ารับลงทะเบียนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในชั้นศาล หลังจากที่ชาวบ้าน 2 คนโดนฟ้องจากบริษัทผู้ได้รับประทานบัตรเรียกค่าเสียหาบเป็นเงิน 5 ล้านบาท พร้อมกับให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมา จากนั้น วันที่ 10 มีนาคม 2554 ตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะ ลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 14–15 มีนาคม 2554 ตัวแทนจังหวัดสงขลาและคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านที่ได้รับความเสียหายทั้ง 326 หลัง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เอ็นเอชเคเผยจนท.ท้องถิ่นประกาศเตือนภัยสึนามิถึงวินาทีสุดท้าย Posted: 29 Mar 2011 11:41 AM PDT เมื่อวันอังคารนี้ สถานีวิทยุ "เรดิโอ เจแปน" ภาคภาษาไทย ของ NHK นำเสนอเรื่องของ "มิกิ เอ็นโด" เจ้าหน้าที่ประจำศาลาว่าการเมืองมินามิ ซังริขุ ซึ่งประกาศเตือนภัยสึนามิอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 11 มี.ค. จนถึงวินาทีที่สึนามิซัดไปถึงที่นั่น รายงานโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ NHK ภาคภาษาอังกฤษนำเสนอเรื่องของมิกิ เอ็นโด
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา สถานีวิทยุ "เรดิโอ เจแปน" ภาคภาษาไทย ของบรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น หรือ “NHK” ซึ่งรับฟังได้ในประเทศไทย และรับฟังได้ทางอินเตอร์เน็ต ได้นำเสนอเรื่องของ "มิกิ เอ็นโด" อายุ 24 ปี เจ้าหน้าที่ประจำศาลาว่าการเมืองมินามิ ซังริขุ ซึ่งประกาศเตือนภัยสึนามิอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองในวันที่ 11 มี.ค. จนถึงวินาทีสุดท้ายที่สึนามิซัดไปถึงที่นั่น และขณะนี้นางมิกิยังคงหายสาบสูญ "สึนามิกำลังใกล้เข้ามาแล้ว รีบอพยพไปที่สูง อยู่ให้ห่างจากชายฟังด้วย สึนามิกำลังใกล้เข้ามาแล้ว" มิกิ เอ็นโด เจ้าหน้าประจำศาลาว่าการเมืองมินามิ ซังริขุ อายุ 24 ปี และเพิ่งแต่งงานเมืองปีที่แล้ว มิกิปักหลักอยู่หน้าไมโครโฟน พร้อมกับประกาศเตือนให้ชาวเมืองอพยพไปยังที่ปลอดภัย จนถึงวินาทีที่คลื่นยักษ์สึนามิ ซัดมาถึงศาลาว่าการเมือง และเธอถูกสึนามิกลืนหายไป เซกิ และ มิเอโกะ เอ็นโด พ่อแม่ของมิกิยังออกพยายามตามหาบุตรสาว แม่ของมิกิกล่าวว่า "เพิ่งคุยกับมิกิคืนวันก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว เราคุยกันหลายเรื่อง อย่างเรื่องที่จะทำในอนาคต เป็นครั้งสุดท้ายที่ได้คุยกับเธอ" มิกิ เอ็นโด ทำงานที่ศาลาว่าการเมืองมินามิ ซังริขุ หลังเรียนจบวิทยาลัยอาชีวะ โดยเริ่มทำงานที่แผนกรับผิดชอบการจัดการภัยพิบัติเมื่อปีที่แล้ว เธออยู่ที่ศาลาว่าการเมืองตอนที่เกิดแผ่นดินไหว บ่ายวันที่ 11 มี.ค. และทันทีหลังจากนั้น เธอได้ประกาศเตือนให้คนในเมืองหนีไปยังที่สูง ด้วยการพูดผ่านไมโครโฟนบนชั้น 2 แต่สึนามิที่พัดถล่มเข้ามาสูงเกินอาคาร 3 ชั้นของศาลาว่าการเมืองเจ้าหน้าที่ศาลาว่าการเมืองส่วนหนึ่งรอดชีวิตได้ เพราะหนีขึ้นไปบนหลังคา และยึดเกาะสิ่งต่างๆ อย่างเช่นราวบันได สึนามิโถมซัดเข้ามาผ่านหน้าต่างและกำแพง กวาดเอาไปทุกอย่าง เหลือไว้แต่โครงสร้างของอาคารเท่านั้น มิเอโกะ เอ็นโด บอกว่า ลูกสาวของเธอรู้สึกถึงความรับผิดชอบอย่างแรงกล้า เพราะเธอมีหน้าที่ประกาศแจ้งเตือนชาวเมืองอพยพไปในที่ปลอดภัยเวลาที่เกิดเกิดภัยพิบัติ "ลูกสาวฉันเป็นเด็กเอาจริงเอาจัง เธอไม่ใช่คนประเภทที่จะละทิ้งหน้าที่ของตนเองจนกว่าจะได้รับคำสั่งค่ะ" ชาวเมืองจำนวนมากอพยพไปยังที่สูง เมื่อได้ยินเสียงประกาศแจ้งเตือนของมิกิผ่านทางเครื่องขยายเสียง เสียงที่เต็มไปด้วยความจริงจังเร่งเร้า ทำให้ชาวเมืองรู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนั้นเลวร้ายจริงๆ ชาวเมืองคนหนึ่งที่หนีรอดมาได้เล่าให้ฟังว่า "เสียงนั้นจริงจังมาก เราหลายคนเป็นหนี้ชีวิตประกาศเตือนภัยนี้ เรารู้สึกขอบคุณประกาศเตือนนี้จริงๆ" คนจำนวนมากแสดงความรู้สึกขอบคุณพ่อแม่ของมิกิ แต่พ่อแม่ของเธอหวังเพียงว่าเธอจะมีชีวิตอยู่เท่านั้น แม่ของมิกิ กล่าวว่า คิดว่าต้องน่ากลัวแน่ๆ หลายคนบอกว่ามิกิปักหลักประกาศเตือนภัยจนวินาทีสุดท้ายเราแต่หวังว่ามิกิจะรอดชีวิตเหมือนกัน หลายคนในเมืองนี้รอดชีวิตมาได้ก็เพราะมิกิ เธอเป็นเด็กดีจริงๆ" ส่วนพ่อของมิกิกล่าวว่า "ก็มันเป็นหน้าที่นี่ครับ คิดว่าเธอต้องรับผิดชอบต่องานของตัวเอง เราทำได้แค่บอกขอบคุณเธอเท่านั้น" ที่มาของข่าว: เรียบเรียงจาก "เรดิโอ เจแปน" ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นักข่าวพลเมือง: ภาพแรงงานอังกฤษประท้วงค้านตัดงบสวัสดิการ Posted: 29 Mar 2011 09:40 AM PDT นักศึกษาไทยในลอนดอน เผยแพร่ภาพการชุมนุมของสหภาพแรงงานในอังกฤษซึ่งเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่เมื่อ 26 มี.ค. คัดค้านนโนบายตัดงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งมีแผนจะตัดสวัสดิการสังคมมากกว่า 80,000 ล้านปอนด์ (29 มี.ค. 54) นักศึกษาไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เอื้อเฟื้อภาพการชุมนุมของสหภาพแรงงานในอังกฤษ (TUC) รวมทั้งครู พยาบาล และนักศึกษา นัดเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่กลางกรุงลอนดอน เมื่อ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งหวังลดงบประมาณขาดดุล โดยตัดงบสวัสดิการสังคมมากกว่า 80,000 ล้านปอนด์ (ราว 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ผู้ประท้วงเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทั้งยังทำให้ผู้คนต้องตกงานมากราว 500,000 ตำแหน่ง สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีผู้ชุมนุมราว 3 แสนคน มีทั้งประชาชนที่ต่อต้านแผนตัดเงินบำนาญผู้สูงอายุของรัฐบาล รวมถึงสมาชิกสหภาพแรงงานของกิจการรัฐวิสาหกิจและนักเรียน นักศึกษา ทั้งยังเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในรอบเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านการทำสงครามในอิรักเมื่อปี 2546 ทั้งนี้ การประกาศนัดชุมนุมครั้งใหญ่ของสหภาพแรงงานเกิดขึ้นหลังนายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษ เผยรายงานการประเมินผลและการพิจารณาตัดงบประมาณสวัสดิการประจำปี 2554 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
ที่มาของภาพ: นักศึกษาไทยในลอนดอน เอื้อเฟื้อภาพ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
3 แนวทาง “ลดโทษอาญา-ไกล่เกลี่ยและเน้นโทษปรับ” เพิ่มประสิทธิภาพยุติธรรมไทย Posted: 29 Mar 2011 07:24 AM PDT ต้นทุนของรัฐที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในระดับร้อยละ 1.26 ของ GDP สะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพราะโดยเปรียบเทียบแล้ว กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรมากกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศ ล่าสุด ทีดีอาร์ไอได้เสนอ 3 แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมไทย โดยยกเลิกโทษอาญาในกฎหมายบางฉบับ การไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และการใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีความผิดไม่ร้ายแรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้เกินกว่าปีละ 2 พันล้านบาท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ดำเนินการโครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อหาข้อเสนอแนะทางนโยบายในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมไทย การศึกษาพบว่า ระบบยุติธรรมทางอาญาของไทยประสบปัญหาการขาดประสิทธิภาพตลอดทั้งกระบวนการ เช่น ทุกๆ ปี ศาลยุติธรรมจะต้องรับคดีเข้าสู่การระบบมากเกินกว่าที่จะสามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นลงได้ จึงมีคดีคั่งค้างในศาลจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และการที่มีนักโทษอยู่ในคุกมากกว่าที่สามารถรองรับได้ร้อยละ 70 การขาดประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงต่อรัฐในรูปของการสูญเสียงบประมาณเท่านั้น แต่ยังสร้างต้นทุนที่สูงต่อสังคม และทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความยุติธรรมอย่างล่าช้า จนในบางกรณีถึงขั้นไม่ได้รับความยุติธรร ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการออกแบบกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท เช่นใช้โทษอาญากับการใช้เช็คแทนที่จะใช้กลไกทางธนาคารหรือกลไกอื่น และการกำหนดโทษปรับในกฎหมายต่ำเกินกว่าระดับที่เหมาะสมมาก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ศาลมักลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุกมากกว่าการปรับ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากกลไกในการกลั่นกรอง (screening) และเบี่ยงเบนคดีที่เข้าสู่ระบบ (diversion) ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอคณะผู้วิจัยได้จัดทำแบบจำลองเพื่อศึกษาต้นทุนของคดีอาญา พบว่า คดีอาญาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 7.7 หมื่นบาท และใช้แบบจำลองดังกล่าวศึกษาถึงความเหมาะสมของทางเลือกต่างๆ ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พบว่า แนวทางในการปฏิรูปที่มีผลในการลดต้นทุนของกระบวนการยุติธรรมได้มากที่สุดตามลำดับ คือ หนึ่ง การยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 และกฎหมายหมิ่นประมาท สอง การสนับสนุนการไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และสาม การใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง ทั้งนี้ แนวทางการปฏิรูปทั้ง 3 แนวทางจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมกันเกินกว่าปีละ 2 พันล้านบาท สรุปต้นทุนของรัฐที่ลดลงจากการปฏิรูปตามแนวทางต่างๆ
ที่มา: การประมาณการโดยคณะผู้วิจัย ในประเด็นการใช้โทษปรับในการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญานั้น คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า โทษปรับที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างเหมาะสม จะมีประสิทธิผลในการป้องปรามการกระทำความผิดได้ โดยไม่ก่อให้เกิดต้นทุนในระดับสูงต่อสังคม แนวทางหนึ่งในการเพิ่มบทบาทของโทษปรับในประเทศไทยคือการนำเอาโทษปรับตามรายได้ (day fines) มาใช้คดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้โทษปรับระหว่างคนรวยและคนจน และปัญหาการที่โทษปรับมีระดับคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับค่าครองชีพ ทั้งนี้ การใช้โทษปรับควรได้รับการหนุนเสริมด้วยโทษบริการสังคมในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ส่วนโทษจำคุกนั้นควรใช้เฉพาะในกรณีที่มีการทำความผิดร้ายแรงเท่านั้น. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
พิษเศรษฐกิจผลักคนเป็นแรงงานนอกระบบ แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับยังยากจนต่อเนื่อง Posted: 29 Mar 2011 07:21 AM PDT ผลวิจัยระดับโลกเผยการปลดพนักงานประจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2008 ทำให้มีผู้ผันตัวมาเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวแรงงานเหล่านี้ได้รับค่าแรงจากการทำงานต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต แรงงานรับงานมาทำที่บ้านในเมือง Malang ประเทศอินโดนีเซีย รับจ้างผลิตแร็คเก็ตแบตมินตันให้กับบริษัทส่งออกเครื่องกีฬา (ที่มาภาพ: Cecilia Susiloretno) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา Inclusive Cities องค์กรความร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาแรงงานยากจน เผยผลการสำรวจกลุ่มแรงงานนอกระบบ (Informal job sector) จากเก้าประเทศในแถบเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา พบว่าพวกเขายังคงดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากและยังไม่ได้รับอานิสสงค์หลังจากที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหลังวิกฤตปี ค.ศ. 2008 แต่แรงงานนอกระบบจำนวนมากยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะความยากจน เพราะไม่อาจหารายได้ได้เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ การว่างงานและอัตราการจ้างงานในระดับต่ำ ส่งผลผลักให้แรงงานต้องก้าวสู่ภาคการผลิตนอกระบบ (นอกอุตสาหกรรม ไม่มีนายจ้างและเงินเดือนประจำ) กลายเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ คนเก็บขยะ, หาบเร่แผงลอย, คนงานก่อสร้าง, คนทำความสะอาดบ้าน, และแรงงานจ้างรายชิ้น ที่รับงานไปทำตามบ้าน ให้กับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่เชื่อมโยงกับแบรนด์ดังระดับโลก โดยครึ่งหนึ่งของผู้ที่ถูกสำรวจระบุว่ารายได้ของพวกเขาลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปี ค.ศ. 2009 จนถึงปี ค.ศ. 2010 สำหรับแนวทางการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ในรายงานระบุว่ารัฐบาลควรมีโครงการต่างๆ เช่น การอนุมัติเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้ต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ขายสินค้าหาบเร่ จัดหาสถานที่ตลาดขายสินค้าถาวรที่มีค่าเช่าต่ำ รวมถึงสนับสนุนเรื่องการแยกขยะและส่งเสริมการรีไซเคิลขยะ เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนเก็บขยะ เป็นต้น งานศึกษาชิ้นนี้ได้ทำการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2010 ครอบคลุมในประเทศ โคลัมเบีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เคนย่า, มาลาวี, ปากีสถาน, เปรู, แอฟริกาใต้ และประเทศไทย และถึงแม้งานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอนของจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมดทั่วโลก แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่ามีคนว่างานกว่า 205 ล้านคนระหว่างช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และกว่า 1.54 พันล้านคนมีสภาพเป็นคนงานที่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ที่มาข่าว:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดี พธม. ยึดรถเมล์เป็น 29 เม.ย. Posted: 29 Mar 2011 06:26 AM PDT ศาลอาญาเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาคดีแนวร่วมพันธมิตรฯ 6 ราย ยึดรถเมล์ย่านบางลำพู เมื่อ 24 พ.ย. 51 เนื่องจาก 1 ในจำเลยป่วยโรคเบาหวาน-ความดันและกำลังรักษาตัว วันนี้ (29 มี.ค.) ศาลอาญามีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องนายธีรเดช วรรณา นายชัยวัฒน์ ทับทอง นายธานี อาจสว่าง นายสมชาย ทองเกียรติ นายพงษ์พันธ์ กาจันทร์ และนายสมชัย หงสา แนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐาน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะฯ ข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมกระทำการหรือไม่กระทำการใด, หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ และ มี และ ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490
ที่มา: เรียบเรียงจากไทยรัฐออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นิธิ เอียวศรีวงศ์: ชุมชนนิยมกับประชาธิปไตยแบบไทย Posted: 29 Mar 2011 05:54 AM PDT ประชาธิปไตยแบบไทยกำลังต้องการคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ใหม่ มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถกำกับให้ประชาชนสยบยอมได้ต่อไป และคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แบบใหม่ที่ถูกหยิบมาใช้คือ "ชุมชนนิยม" ในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ทุนไทยเติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว บางส่วนตั้งพรรคการเมืองของตนเอง บางส่วนให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง หรือการรัฐประหาร แล้วแต่พรรคการเมืองพรรคใด หรือการรัฐประหารครั้งใด จะให้ประโยชน์แก่ตนมากที่สุด อำนาจทางการเมืองนี้ นอกจากใช้เพื่อการครอบครองสัมปทานจากรัฐ และผูกขาดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นหลักประกันว่ารัฐจะดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจของตนตลอดไป ในช่วงเดียวกันนี้ ทุนยังบุกทะลวงเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรในชนบทมากขึ้น ทั้งเพื่อธุรกิจพลังงาน, การท่องเที่ยว และการตักตวงทรัพยากรใต้ดิน นับตั้งแต่น้ำ, เกลือ, จนถึงสินแร่อื่นๆ ทั้งหมดนี้ทำได้ภายใต้ระบบการเมือง ที่อาศัยกลไกและรูปแบบของประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม จะขยายอำนาจและผลประโยชน์ของตน ภายใต้กลไกและรูปแบบของการเมืองชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ยิ่งอำนาจและผลประโยชน์ของตนขยายออกไปมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความจำเป็นจะต้องหาเหตุผลทาง "ศีลธรรม" ให้แก่กลไกและรูปแบบของระบบการเมืองที่เอื้อต่ออำนาจและผลประโยชน์ของตนมากขึ้น ภาระนี้ทุนไทยไม่ได้ทำ หรือไม่สนใจจะทำ ดูเหมือนทุนไทยจะอาศัยแต่วิธี "ขู่กรรโชก" สังคม เพราะในช่วงนี้เป็นต้นมาเหมือนกันที่ทุนเอกชนจะเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่สุดของประเทศ ฉะนั้น เมื่อชนบทกำลังล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถเลี้ยงดูประชากรในชนบทได้ต่อไป สังคมจะอยู่สงบได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับกำลังการจ้างงานของทุนเอกชน ฉะนั้น หากทุนไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม กำลังการจ้างงานของทุนก็จะไม่เติบโตได้ทันการณ์กับจำนวนประชากรที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ในขณะเดียวกัน ทุนไม่สนใจจะอธิบายในเชิง "ศีลธรรม" กับค่าแรงราคาต่ำ, การปลดคนงานที่กินเงินเดือนสูงเกินไป, การไม่จัดสวัสดิการแรงงานอย่างเพียงพอ, การลดต้นทุนการผลิตด้วยการกันให้คนงานส่วนหนึ่ง (ที่ใหญ่มาก) ไปไว้นอกระบบ, การไม่ยอมลงทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน, การไม่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา, การติดสินบาทคาดสินบนเพื่อเลี่ยงกฎหมาย, ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมมากไปกว่าจ้างงาน (ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขอย่างไร) หากการจ้างงานลดลง สังคมก็จะปั่นป่วน ดังนั้น จึงเป็นการ "ขู่กรรโชก" ไม่ใช่ให้คำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แก่อำนาจและผลประโยชน์ของตนที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในกลไกและรูปแบบการเมืองนี้ น่าประหลาดที่ว่า ความชอบธรรมในการเอารัดเอาเปรียบของทุนไทยนั้น ยิ่งนับวันก็ยิ่งต้องผูกพันรัฐมากขึ้น สัมปทานนี้ได้มาจากรัฐ โครงการนี้ริเริ่มหรืออนุมัติโดยรัฐ โครงการรับจำนำพืชผลการเกษตรซึ่งให้ผลกำไรอย่างสูงแก่นายทุน ก็เริ่มมาจากรัฐเอง ฯลฯ และดูเหมือนจะเป็นความชอบธรรมเพียงอย่างเดียว กล่าวคือเมื่อรัฐอนุญาตแล้ว จะถอนคำอนุญาตนั้นไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าลงทุนในประเทศไทย ความชอบธรรมนี้ไม่เกี่ยวกับ "ประชาธิปไตย" หรือแม้แต่กลไกและรูปแบบของประชาธิปไตย ทุนไทยเป็นนักรัฐนิยม (statist) ขนานแท้ รัฐคือข้ออ้างทาง "ศีลธรรม" เพียงอย่างเดียวของทุน ไม่ว่ารัฐนั้นจะฉ้อฉล, เผด็จอำนาจ, หรือ "ตกยุค" อย่างใดก็ตาม (น่าเศร้าด้วยที่ว่า ทั้งความฉ้อฉล, อำนาจนิยม และความตกยุคของรัฐไทย กลับประสานเข้าหากันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสนิทแนบแน่น) ทุนไทยจึงไม่มีส่วนในการสร้างเสริมฐานทาง "ศีลธรรม" ของประชาธิปไตย อย่างที่พบได้ในหลายสังคมทั่วโลก ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐไทยเองเป็นผู้เผยแพร่อุดมการณ์ที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยแก่ประชาชนของตน หลังจากที่สรุปกันได้ว่า วิธีจัดการกับการแข็งข้อของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่น่าจะได้ผลที่สุด คือสถาปนาประชาธิปไตยแบบไทยขึ้นให้มั่นคง ราชการก็ได้ลงทุนกับการเผยแพร่อุดมการณ์นี้ในชนบท (ซึ่งเชื่อว่าเป็นฐานกำลังคนที่สำคัญของ พคท.) ตำรา "คู่มือประชาธิปไตย" หลายสำนวนที่ราชการพิมพ์แจกผู้นำหมู่บ้าน และในภายหลังแจกและเปิดอบรมประชาชนทั่วไปด้วย กลับเป็นผู้สร้างคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แก่ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของรัฐ หรือประชาธิปไตยที่มุ่งหมายให้เกิดความมั่นคงเป็นหลัก เช่น แม้จะยอมรับในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ย้ำเตือนว่าสิทธิเสรีภาพนั้นมีจำกัด คือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดความแตกแยก ทำลายความสามัคคีในชาติอันเป็นแหล่งที่มาของสิทธิประชาธิปไตยต่างๆ ในสำนวนหลังๆ ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของนักคิด กอ.รมน. ถึงกับระบุลงไปเลยว่า เสรีภาพมีอยู่ได้ก็แต่ในรัฐเท่านั้น ฉะนั้น บุคคลย่อมบรรลุเสรีภาพสูงสุดได้ก็ต่อเมื่อทำตามที่รัฐสั่ง ในด้านการปกครอง ราชการก็เน้นอย่างเดียวกันคือ "ระเบียบ" ด้วยเหตุดังนั้น การปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย จึงหมายถึงการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเองเท่านั้น ซ้ำยังมีผู้แทนที่มีมาโดยวัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม หรือแม้แต่กองทัพก็ตาม ย่อมเป็นตัวแทนของประชาชนด้วย เพราะต่างเป็นสถาบันที่เข้าถึง "เจตนารมณ์ทั่วไป" ของสังคมอยู่แล้วโดยประเพณี (ตามทฤษฎีรุสโซแบบเบี้ยวๆ) รัฐนิยม (statism) คือประชาธิปไตยแบบไทย เพราะการสยบยอมต่อรัฐต่างหากที่เป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตยแบบไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจ-สังคมไทยเปลี่ยนไป ประชาธิปไตยแบบสยบยอมเช่นนี้ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ชาวบ้านประสบอยู่ เช่น รัฐซึ่งควรเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองประชาชน กลับกลายเป็นเครื่องมือของทุนในการแย่งชิงทรัพยากร รัฐไม่ใช่คนนอกที่คอยเข้ามาสร้างความเป็นธรรม แต่รัฐกลับเป็นพื้นที่เปิดเฉพาะสำหรับอภิสิทธิ์ชน แม้แต่ในหมู่บ้าน ก็มีคนที่เข้าถึงพื้นที่นี้ได้เพียงไม่กี่คน และใช้อำนาจรัฐในการเบียดเบียนคนอื่น ประชาธิปไตยแบบไทยกำลังต้องการคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ใหม่ มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถกำกับให้ประชาชนสยบยอมได้ต่อไป และคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แบบใหม่ที่ถูกหยิบมาใช้คือ "ชุมชนนิยม" ที่จริงแล้ว แนวคิดชุมชนนิยมเกิดมานานแล้ว (ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เช่นกัน) ดูเหมือนในระยะแรก ไม่ได้ถูกใช้เป็นคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ให้แก่ประชาธิปไตยแบบสยบยอม ในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ดูเหมือนจะเป็นฐานของพลังให้แก่การต่อรอง ทั้งกับตลาดและกับรัฐ ชุมชนนิยมให้ความสำคัญแก่ฐานทาง "ศีลธรรม" ที่มีพลังสูงมาก เพราะมีความหมายแก่ทุกคน เช่น ฐานทรัพยากร, ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์, ความมั่นคงด้านอาหาร และแน่นอนความมั่นคงด้านสังคม ซึ่งได้จากความสัมพันธ์ในชุมชน ใครๆ ย่อมให้คุณค่าแก่สิ่งเหล่านี้เหนือกำไรของบริษัทเอกชน และเหนือเขื่อนไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่นับจากสมัยทักษิณเป็นต้นมา ผู้ต่อต้านทักษิณโน้มนำให้ชุมชนนิยมมีความหมายเชิงสยบยอมมากขึ้น จนดูประหนึ่งว่าชุมชนมีความกลมกลืนในตัวเอง และแข็งแกร่งในตัวเองเสียจนไม่ต้องพึ่งทั้งตลาดและรัฐ ทุกคนสามารถหันกลับไปผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง เพราะชุมชนมี "ภูมิปัญญา" ทำได้ ซ้ำยังมีระบบความสัมพันธ์ภายในที่ช่วยประกันความอยู่รอดของทุกคนด้วย การ "พึ่งตนเอง" กลายเป็นการ "พึ่งตนเอง" ในเงื่อนไขของสังคมที่ได้ล่วงเลยไปแล้ว และคงไม่มีวันหวนคืนกลับมา พระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของปี 2540 อาจเข้าใจได้เป็นสองอย่าง อย่างแรก เศรษฐกิจพอเพียง เป็นกลวิธีสร้างพลังต่อรองให้ตนเอง ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยเพิ่มสัดส่วนการผลิตของตนเพื่อการบริโภคในครัวเรือนให้มากขึ้น จึงมีพลังพอจะพึ่งพาตลาดน้อยลง และย่อมต่อรองได้มากขึ้น รัฐก็สามารถทำอย่างเดียวกัน โดยจัดระบบเศรษฐกิจของตนให้ต้องพึ่งพาต่างประเทศน้อยลง เช่น ทำให้เกิดตลาดท้องถิ่นที่ครบวงจร พอที่จะประหยัดค่าขนส่งได้ เป็นต้น ความเข้าใจอย่างแรกนี้ทำให้เห็นเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง ในการเพิ่มพลังต่อรองของผู้คนและประเทศชาติ ไม่ต่างไปจากจุดยืนของชุมชนนิยมในระยะแรก และต้องไม่ลืมด้วยว่า พลังต่อรองนั้นใช้ได้ทั้งกับตลาดและรัฐ เศรษฐกิจพอเพียง ในความหมายนี้ไม่ได้ปฏิเสธตลาด (หรือรัฐ) เพียงแต่จะเข้าตลาด (หรือรัฐ) โดยมีพลังต่อรองมากขึ้นได้อย่างไร นอกจากเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังมีกลวิธีอื่นอีกมาก เช่น สหกรณ์, การลงทุนด้านวิชาการของภาครัฐ, การจัดการทรัพยากรทั้งโดยชุมชนและรัฐ อย่างเป็นธรรม เพื่อเพิ่มพลังการผลิต, การมีสื่อของตนเอง, การมีพรรคการเมืองของตนเอง ฯลฯ ความเข้าใจอย่างที่สอง ซึ่งถูกชูขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นปรัชญา ซึ่งอาจนำไปใช้ได้กับทุกกรณีและในทุกเงื่อนไขของการประกอบการ ทั้งในทางเศรษฐกิจหรือสังคม ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ฐานทาง "ศีลธรรม" อย่างเดียวกับชุมชนนิยมในระยะเริ่มต้นได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงด้านอาหาร, ฐานทรัพยากร, หรือความเอื้ออาทรของคนในชุมชน แต่เศรษฐกิจพอเพียงในความเข้าใจอย่างนี้ กลับไม่ได้มุ่งจะเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะอำนาจต่อรองทางการเมือง เหมือนยกรัฐให้คนอื่นไปจัดการอย่างเป็นธรรมหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงและเป็นสุขได้ ไม่มียูทูบในเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้ ทั้งๆ ที่ยูทูบเป็นพื้นที่สำหรับการรวมกลุ่มและต่อรองที่มีพลังในโลกปัจจุบัน นี่คือการสยบยอมทางการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง ชุมชนนิยมซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชน กลายเป็นลัทธิที่จะปลดอำนาจของประชาชน ภายในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (หรือในชื่ออื่น)
......................
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
"ต้าตึ้กเมือง" ผู้นำกองทัพแห่งชาติว้าถึงแก่กรรม Posted: 29 Mar 2011 05:48 AM PDT "พ.อ.ต้าตึ้กเมือง" ผู้นำกองทัพแห่งชาติว้า WNA / WNO ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งลำคอ
มีรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 มี.ค. พ.อ.ต้าตึ้กเมือง วัย 59 ปี ผู้นำกองทัพแห่งชาติว้า (Wa National Army – WNA) ประธานองค์การแห่งชาติว้า (Wa National Organization – WNO) ได้ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบที่บ้ ประวัติพ.อ.ต้าตึ้กเมือง เป็นชาวว้าเกิดที่บ้านเสาหิ พ.อ.ต้าตึ้กเมือง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำกองทั โดยงานฌาปกิจศพของเขาจะมีขึ้ ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นส่งซิก "เตรียมตัวระดับสูงสุด" รับมือปัญหานิวเคลียร์ Posted: 29 Mar 2011 04:22 AM PDT บีบีซีรายงาน “นาโอโตะ คัง” นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเผยรัฐบาลเตรียมตัวระดับสูงสุดกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกิชิมา ยอมรับ สถานการณ์ขณะนี้ “ร้ายแรงมาก” พร้อมย้ำรัฐบาลพยายามอย่างที่สุดที่จะควบคุมความเสียหาย สำนักข่าวบีบีซีรายงานเช้าวันนี้ว่า นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมตัวระดับสูงสุดกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกิชิมา ทั้งนี้ มีการตรวจพบการรั่วไหลระดับสูงของแร่พลูโตเนียมและกัมมันตรังสีจากเตาปฏิกรณ์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวว่ายังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินการฉีดน้ำเพื่อให้เตาปฏิกรณ์เย็นลง อย่างไรก็ตาม นายรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวยอมรับต่อรัฐสภาว่า สถานการณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น “ยังคงไม่สามารถคาดการณ์ได้” ด้านนายยูคิโอะ เอดาโนะ โฆษกรัฐบาลกล่าวยอมรับในการแถลงข่าวว่าสถานการณ์ขณะนี้ “ร้ายแรงมาก” อย่างไรก็ตามเขาย้ำว่ารัฐบาล “พยายามอย่างที่สุดที่จะควบคุมความเสียหาย” สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกิชิม่า มีรายละเอียดดังนี้ เตาปฏิกรณ์ที่ 1: เกิดความเสียหายจากการลดอุณหภูมิ ตัวอาคารระเบิด ตรวจพบกัมมันตรังสีปนเปื้อนกับน้ำในระดับสูง เตาปฏิกรณ์ที่ 2: เกิดความเสียหายจากการลดอุณหภูมิ ตัวอาคารเกิดรูโหว่จากแรงระเบิดของก๊าซ มีข้อสงสัยว่าความเสียหายเกิดขึ้นกับอาคารครอบเตาปฏิกรณ์หรือไม่ พบกัมมันรังสีปนเปื้อนระดับสูงในน้ำภายในท่อและเตาปฏิกรณ์ เตาปฏิกรณ์ที่ 3: เกิดความเสียหายจากการลดอุณหภูมิ ตัวอาคารเป็นรูโหว่เนื่องจากแรงระเบิดของก๊าซ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่องกับอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ บ่อเชื้อเพลิงถูกเติมน้ำลงไป พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีระดับสูงในน้ำที่ตรวจพบในเตาปฏิกรณ์ เตาปฏิกรณ์ที่ 4: หยุดดำเนินการแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว เกิดไฟไหม้และการระเบิดในบ่อเชื้อเพลิง ระดับน้ำในเตามีการฟื้นฟูบางส่วน เตาปฏิกรณ์ที่ 5และ6 หยุดดำเนินการแล้ว อุณหภูมิในบ่อเชื้อเพลิงลดลงแล้วหลังจากที่สูงขึ้นก่อนหน้านี้ มีการตรวจพบแร่พลูโตเนียมปนเปื้อนในดินในพื้นที่ 5 แห่ง ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ บีบีซีรายงานด้วยว่า หนังสือพิมพ์เจิ่นเนียน (Thanh Nien) ในเวียดนามรายงานว่านักวิทยาศาสตร์ของเวียดนามตรวจพบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีในอากาศเล็กน้อย ขณะที่ สถาบันความปลอดภัยนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ ตรวจพบร่องรอยของไอโอดีน - 131 ในกรุงโซลและเจ็ดสถานที่อื่น ๆ ทั่วประเทศเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า ยังไม่มีการพบกัมมันตรังสีในปลาทั้งของเกาหลีใต้เองและที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนกล่าวว่า พบปริมาณของไอโอดีน 131 และกัมมันตรังสี ในระดับที่เล็กน้อยมาก ในแถบชายฝั่งของจีน ประกอบได้ด้วยมณฑลเจียงซู เซี่ยงไฮ้ อันฮุย กวางตุ้งและกวางสี มีการรายงานการตรวจพบแร่กัมมันตรังสีในอากาศทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดไห่หลงเจียง อย่างไรก็ตาม ปริมาณที่ตรวจพบนั้นเล็กน้อยมากและไม่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ ตัวแทนรัฐบาลกล่าว
ที่มา : แปลและเรียบเรียงจาก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ธเนศวร์ เจริญเมือง: ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง Posted: 29 Mar 2011 03:58 AM PDT เรื่องเด่นแห่งปีในล้านนา ปี 2554 เพิ่งผ่านไปได้เพียง 3 เดือน ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเรื่องราวหรือกิจกรรมใดที่มีความสำคัญในปีนี้สำหรับล้านนา แต่ข่าวการแถลงในวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2554 (ไทยรัฐออนไลน์ 24 มีนาคม 2554) ของ ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่จะให้งดการจัดงานรดน้ำดำหัวผู้ว่าฯ ต้องนับเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้นักข่าวและประชาชนจำนวนมากตกตะลึง เพราะนั่นหมายถึงงานประเพณีหนึ่งที่ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องทุกปีราว 50 ปีจะหายไป ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล แถลงว่าท่านมาทำงานในฐานะผู้ว่าฯเชียงใหม่ได้เกือบ 6 เดือนแล้ว เห็นว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลครอบครัว อยากให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และประชาชนได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในเทศกาลสำคัญนี้ ไม่อยากให้ต้องเสียเวลาถูกเกณฑ์มารดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แต่ท่านก็จะไม่ไปไหน แต่หากมีใครอยากมารดน้ำก็สามารถทำได้เพราะจะมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ที่หน้าประตูจวนผู้ว่าฯ ประชาชนสามารถมารดน้ำได้ตามสะดวก
แปรความไม่รู้หรือไม่ใส่ใจไปสู่การเรียนรู้ ทุกวันนี้ เราอยู่ในสังคมแห่งการบริโภค มีทุกอย่างในบ้านและทุกๆอย่างในศูนย์การค้า ชีวิตเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย อยากได้สิ่งใด ก็ซื้อหามาได้ขอเพียงมีเงินหรือมีเครดิต การที่ผู้ว่าฯคนหนึ่งประกาศว่าจะไม่มีพิธีรดน้ำดำหัวอีก หลังจากที่ปฏิบัติต่อเนื่องมา 50 ปี คำถามก็คือเรารู้หรือไม่ว่าป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองก่อนหน้านั้นเป็นเช่นไร คนล้านนาทำอะไรกันในการรดน้ำดำหัวและในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง และเมื่อไม่มีการรดน้ำดำหัวผู้ว่าฯ คนเชียงใหม่ควรจะทำอะไร รัฐบาลสยามส่งข้าหลวงเข้ามาปกครองล้านนาโดยตรงเริ่มในปี พ.ศ. 2416 หรือ 138 ปีที่แล้ว หลังจากนั้น ก็ได้เปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตามพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในปี พ.ศ. 2476 แต่ละจังหวัดในล้านนาและทั่วประเทศมีผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยจนถึงบัดนี้ (พ.ศ. 2554) รวม 78 ปี รัฐบาลจะแต่งตั้งผู้ใดมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ไม่เคยสอบถามความคิดเห็นของประชาชน คำว่า “พ่อเมือง” ที่ใช้เรียกผู้ว่าฯ ต่างกรรมต่างวาระก็เป็นคำยกยอที่ปลัดจังหวัด และรองผู้ว่าฯ หรือสื่อมวลชนบางประเภทใช้ แต่ถ้าไปสอบถามคนทั่วไป ก็คงยากที่จะหาคนสนใจว่าคำว่า ผู้ว่าฯ หรือพ่อเมือง มีความต่างกันอย่างไร สังคมล้านนาในอดีตถือว่าป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการมาของศักราชใหม่ สิ่งดีๆควรจะเกิดขึ้นกับชีวิตในปีใหม่ ประกอบกับเป็นช่วงหน้าร้อน การเก็บเกี่ยวในท้องทุ่งสิ้นสุดลงแล้ว การจัดงานต้อนรับศักราชใหม่จึงมีความคึกคักเป็นพิเศษ การนำเอาประเพณีของมอญและพม่ามาใช้ผสมผสานกับประเพณีในท้องถิ่นทำให้ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของล้านนามีความคึกคักหลากหลาย สร้างความตกตะลึงให้แก่พี่น้องคนไทยจากภาคอื่นๆที่อยู่ใกล้เขมร เทศกาลสงกรานต์ในภาคอื่นๆมีกิจกรรมน้อยกว่า ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเริ่มต้นด้วยการไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด บ้านของผู้คนในล้านนาในอดีตไม่มีประเพณีมีพระพุทธรูปในบ้าน เพราะถือว่าบ้านเป็นที่ที่ฆราวาสกระทำหลายสิ่งที่พระพุทธรูปและพระสงฆ์ไม่ควรได้ยินได้เห็น บนหิ้งพระของบ้านในล้านนามีเพียงดอกไม้ ธูปเทียน และปั๊บสา (ตัวอักษรล้านนาที่เขียนเกี่ยวกับพระศาสนา) รวมทั้งแก้วมณีมีค่าซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระพุทธวางไว้บนหิ้ง ต่อเมื่อข้าราชการจากสยามเข้ามาประจำการแบบถาวรเป็นครั้งแรกเริ่มในปี พ.ศ. 2416 มีการนำพระพุทธรูปมาไว้ในที่ทำงานและที่บ้านพัก (ควรบันทึกไว้ว่าชาวสยามมีห้องพระในบ้าน และให้ความเคารพนับถือห้องพระนั้นมาก ขณะที่คนล้านนามีหิ้งพระสูงติดหลังคาที่ไม่มีพระพุทธรูปแม้แต่องค์เดียว) นับแต่นั้น คนล้านนาซึ่งเริ่มตกอยู่ใต้อิทธิพลการปกครอง (และวัฒนธรรม) ของสยามมากขึ้นก็ทะยอยกันนำพระพุทธรูปเข้ามาไว้ในบ้าน หลายคนหันไปสร้างห้องพระในบ้านตามแบบชาวสยาม วัฒนธรรมเลียนแบบผู้ที่เหนือกว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในสังคมมนุษย์ ยังไม่นับกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าบังคับให้ผู้ด้อยกว่าทำตาม
ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของล้านนา ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการในระดับประเทศว่า “ตรุษสงกรานต์” หรือ “เทศกาลปีใหม่ไทย” เป็นประเพณีสำคัญของคนไทยมาช้านาน จะเห็นได้ว่าแม้ศกใหม่และเทศกาลฉลองปีใหม่ของคนไทย-ลาว-เขมร-พม่า-มอญจะตรงกันคือกลางเดือนเมษายน แต่ก็ต่างกันในกิจกรรมของแต่ละท้องถิ่น เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับมอญและพม่าในอดีต อิทธิพลด้านพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมจำนวนมากจากดินแดนทั้งสองแห่งจึงมีบทบาทชัดเจนในล้านนา เช่น วัดเป็นศูนย์กลางกิจกรรมแทบทุกด้านในชีวิตของประชาชน และการเล่นสาดน้ำกันอย่างสุดเหวี่ยงโดยเฉพาะในหมู่หนุ่มสาว ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของล้านนาเริ่มต้นวันแรกคือวันสังขานต์ล่อง (โดยทั่วไปตรงกับวันที่ 13 เมษา) ซึ่งไม่ใช่วันปีใหม่ เชื่อกันในอดีตว่าตั้งแต่เช้าวันนี้มีตัวสังขานต์ 2 ตัว (คือปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์) ทำหน้าที่นำเอาขยะและเสนียดจัญไรใส่กระบุงไปทิ้ง มีความหมายว่านำสิ่งเลวร้ายของปีเก่าไป จึงมีการยิงปืน จุดพลุหรือประทัดขับไล่ตัวสังขานต์ตั้งแต่เช้ามืด ดังนั้น วันนี้จึงมีการสรงน้ำพระ การทำความสะอาดวัด อาคารบ้านเรือน ตลอดจนเสื้อผ้าและเครื่องใช้ทุกอย่างในบ้าน หนึ่งในประเพณีของวันนี้คือ การ “ดำหัว” หรือสระผมให้แก่ตัวเองเพื่อเป็นสิริมงคล [1] ต่อมาคือวันเนา หรือวันเน่า หรือวันแต่งดา มีการหาซื้ออาหารและสิ่งของสำหรับนำไปวัดและการดำหัว สิ่งของเครื่องใช้สำหรับตนเองและครอบครัวในปีใหม่ การตระเตรียมอาหาร ในตอนบ่ายแกๆ คนหนุ่มสาวก็จะไปขนทรายเข้าวัด เพื่อถวายทรายให้วัด เนื่องจากตลอดปีที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนไม่สวมรองเท้าเข้าวัด จึงเดินออกจากวัดโดยมีทรายติดเท้าออกไป อันถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่นำเอาสิ่งของใดๆออกจากวัด นอกจากนั้น การไปขนทรายก็เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวที่ไปขนทรายที่ท่าน้ำและได้เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ในตอนค่ำและเช้าวันรุ่งขึ้น มีการนำอาหารที่เตรียมเสร็จแล้ว ให้ลูกหลานนำไป “ตานขันเข้า” แก่ปู่ย่าตายาย พ่อแม่หรือผู้ที่เคารพนับถือ โปรดสังเกตว่า ผู้คนในอดีตใช้แรงกายอย่างมากตลอด 2 วันนี้ โดยเฉพาะการสรงน้ำพระ การทำความสะอาดบ้านเรือน การเตรียมอาหาร การทำอาหารพิเศษ 4-5 อย่าง (เช่น แกงฮังเล แกงอ่อม ห่อนึ่ง จิ้นฮุ่ม) ในตอนบ่ายของวันเนาถือเป็นงานใหญ่โดยเฉพาะงานห่อขนมจ็อก (ขนมเทียน) ทั้งไส้เค็มและหวาน (บางบ้านทำข้ามต้มมัด) ที่ต้องระดมสมาชิกทั้งครอบครัวมาช่วยกัน ก่อนที่จะได้ไปขนทรายและเล่นสาดน้ำ สังคมล้านนาในอดีต แต่ละครอบครัวต้องทำเองทุกอย่าง ไม่อาจออกไปหาซื้อขนมใดๆมาบริโภคหรือนำไปวัด เงินมีบทบาทไม่มากนักในสังคมอดีต วันพญาวัน คือวันที่ 15 เมษาเป็นวันขึ้นปีใหม่วันแรก ไม่มีตลาด ไม่มีร้านค้าใดๆเปิดบริการ ทุกคนไปวัด นำอาหารหวานคาวไปถวายพระ นำอาหารไปทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่จากไป ไปถวายทานทรายและตุง ต่อจากนั้น จึงเริ่มการรดน้ำดำหัว พิธีรดน้ำดำหัวคือการไปดำหัว (สระผม) ผู้อื่น มีการนำเอาสิ่งของเครื่องสักการะ ได้แก่ หมากสุ่ม พลูสุ่ม หรือขนมหมาก ขนมพลู ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย (ฝักส้มป่อยแห้งขนาดเท่ากับฝักมะขาม เผาไฟพอไหม้ หักเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ พร้อมกับดอกไม้แห้งหลากชนิด การเผาส้มป่อยเพื่อให้มีกลิ่นหอม น้ำส้มป่อยสีเหลืองอ่อนๆ ส้มป่อยเป็นของแก้เสนียดจัญไร และถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีรดน้ำดำหัว) เสื้อผ้า (เสื้อ กางเกง ผ้าซิ่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพาดบ่า ผ้าขาวม้า) อาหารแห้ง เช่น ปลาแห้ง หอมแดง กระเทียม ขนม เช่น ข้าวแตน ข้าวเกรียบ ผลไม้ ได้แก่ มะปราง มะม่วง มะพร้าว ส้มโอ ขนุน อ้อย ฯลฯ ทั้งหมดนี้มาจากแรงงานของตนเอง ยกเว้นผ้าที่ระยะหลังๆซื้อจากตลาด และถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการรดน้ำดำหัว [2] ก่อนที่จะมีการรดน้ำดำหัว ผู้น้อยก็จะนำขันดอกไม้ธูปเทียนพร้อมถาดหรือตะกร้าที่ใส่เครื่องไหว้ทั้งหมด ไปประเคนให้ผู้ใหญ่พร้อมกับกล่าวขอสุมาอภัยหากมีสิ่งใดที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินในช่วงปีที่ผ่านไป และขอรับพรปีใหม่ การไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ คือ การไปขอขมา ไปแสดงกตเวทีตอบแทนบุญคุณผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ไปขออโหสิกรรม และไปขอพรจากท่าน และสำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ผู้น้อยจะเทน้ำลงบนร่างกายของผู้ที่เราเคารพตั้งแต่ศีรษะลงไป นี่เองจึงเรียกว่าดำหัว หมายถึงการ“สระเกล้าดำหัว” หรือสระผม สำหรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพ การดำหัวก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม เช่น รดตั้งแต่บ่าลงไป และในปัจจุบัน ก็เหลือเพียงการใช้มือวักน้ำขมิ้นส้มป่อยลูบผม เป็นสัญลักษณ์ของการใช้น้ำรดลงบนศีรษะแล้ว ผมยังจำได้ดีถึงช่วงปี พ.ศ. 2502-2506 ผมอายุ 8-12 ขวบ หลังวันพญาวัน มีลูกศิษย์ของพ่อกับแม่ 30-40 คนเรียกว่ามากันเต็มบ้าน เพื่อมารดน้ำดำหัวพ่อกับแม่ที่เป็นครู พวกเขาให้พ่อกับแม่นั่งที่ชานหน้าบ้าน (บ้านเป็นไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง) กลางแดดในช่วงบ่าย จากนั้นก็จะทะยอยกันเข้ารดน้ำดำหัวเทน้ำลงไปตั้งแต่หัวจรดเท้าของท่านทั้งสอง ต่อจากนั้น ก็ให้ใส่เสื้อผ้าใหม่เป็นการต้อนรับปีใหม่ ผมยังจำได้ เสียงขอสุมาอภัยจากศิษย์ และคำให้พรจากครู ตามด้วยคำว่าสาธุ และการสนทนาหยอกเอินและกินขนมด้วยกัน ก่อนที่ศิษย์หนุ่มสาวจะลงไปเล่นสาดน้ำกันที่หน้าบ้านอย่างสนุกสนาน การรดน้ำดำหัวมักเริ่มต้นที่พระสงฆ์ หลังจากเสร็จสิ้นการทำบุญที่วัดในวันพญาวัน ต่อจากนั้นก็จะรดน้ำดำหัวพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตลอดจนการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ที่จากไป เรียกว่า “ดำหัวกู่” (ที่เก็บอัฐิ) ซึ่งมักเป็นการชุมนุมของลูกหลานจากที่ต่างๆ หรืออีกอย่างหนึ่ง คือนำเสื้อผ้าเก่าและรูปถ่ายของผู้ที่จากไปมาทำพิธีรดน้ำดำหัว เนื่องจากต้องเดินทางไปหลายแห่งเพื่อรดน้ำดำหัว ทั้งต้องมีการนัดหมายให้ไปร่วมงานพร้อมเพรียงกัน พิธีนี้จึงใช้เวลาหลายวัน โดยทั่วไป มักสิ้นสุดภายในเดือนเมษายน จากที่กล่าวมาจะเห็นว่ากิจกรรมในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองมี 2 ลักษณะ คือ งานของครอบครัวและงานของส่วนรวม การทำความสะอาดอาคารบ้านเรือนเป็นการทำงานในหมู่สมาชิกครอบครัว การทำและทานอาหารร่วมกัน และพูดคุยกันหลังจากไม่ได้พบกันนาน ส่วนการรดน้ำดำหัวก็เช่นกัน ลูกหลานมานัดพบกันและรดน้ำดำหัวพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ลุงป้าน้าอาว์ของตนเป็นกิจกรรมในแต่ละครอบครัว แต่การไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ระดับเจ้าอาวาส พระสงฆ์ เจ้าคณะตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. นายกเทศมนตรี นายอำเภอ ครูใหญ่ ฯลฯ โดยทั่วไป ประชาชนก็จะรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ด้านหนึ่งเพื่อมิให้เป็นการรบกวนเวลาของผู้ใหญ่ที่ต้องรับแขกหลายๆครั้ง อีกด้านหนึ่งก็เพื่อแสดงความสามัคคี ความเป็นหมู่คณะ เป็นการผนึกกำลังกันทำงานของส่วนรวม ในอดีต ชุมชนแต่ละแห่งมีความเข้มแข็งเนื่องจากทุกคนมีส่วนร่วมในการออกความเห็นและตัดสินใจการบริหารจัดการท้องถิ่นในหลายๆเรื่อง การคัดสรรเจ้าอาวาสมาจากการปรึกษา หารือกันระหว่างพระสงฆ์และชาวบ้าน ชาวบ้านประชุมกันเพื่อเลือก “แก่เหมือง” และ “แก่ฝาย” เพื่อบริหารจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรอย่างทั่วถึงและยุติธรรม ครอบครัวมีการปรึกษาหารือกันเช่น ครอบครัวไหนมีลูกชายหลายคน คนไหนตั้งใจและจะเสียสละบวชเป็นพระสงฆ์ตลอดชีพ ฯลฯ ดังนั้น การที่สมาชิกของชุมชนไปรวมตัวกันเพื่อรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ ผู้อาวุโสและผู้ใหญ่ที่พวกเขาเคารพนับถือจึงเป็นกิจกรรมที่ทุกคนสมัครใจ ไม่มีการบังคับหรือเกณฑ์กัน หรือรู้สึกจำเป็นต้องเข้าร่วม เช่นในระยะหลังๆที่สังคมยุคใหม่มีระบบราชการ การบังคับบัญชาในกรมกอง และกระทรวงต่างๆ (ยกเว้นในสถาบันอุดมศึกษา) และในบริษัทหรือองค์กรเอกชนทั้งหลาย สังคมสมัยใหม่นำเอาพิธีรดน้ำดำหัวในอดีตไปใช้ หลายแห่งมีการเกณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชนไปร่วมงาน ผู้ว่าฯ ปนัดดา พูดว่าไม่อยากให้ประชาชนและข้าราชการเสียเวลามารดน้ำดำหัวผู้ว่าฯ อยากให้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เพราะตรุษสงกรานต์เป็นเทศกาลของครอบครัว นี่ก็พูดถูกครึ่งเดียว เพราะอีกครึ่งหนึ่งคือการไปรดน้ำดำหัวเป็นกลุ่มใหญ่ นั่นคืองานของชุมชน ท่านผู้ว่าฯ พูดอีกว่าไม่ต้องการให้ข้าราชการและประชาชนรู้สึกถูกบังคับกระทั่งถูกกะเกณฑ์ให้มาร่วมงาน ต้องเดินทางไกลมาจากทุกอำเภอ ถูกต้องครับ ข้อนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และขอปรบมือให้ สิ้นสุดกันที การเกณฑ์ข้าราชการ ประชาชนและพ่อค้าแม่ค้าไปรดน้ำดำหัวผู้ว่าฯ
วัฒนธรรมเชิงพาณิชย์กับการกะเกณฑ์แรงงาน ปลายทศวรรษที่ 2490 ต่อต้นทศวรรษที่ 2500 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นสองด้าน ด้านหนึ่ง คนเมืองกลุ่มหนึ่งจัดงานขันโตกดินเน่อร์ เป็นการนำเอาอาหารคนเมือง ขันโตกและการแต่งกายชุดพื้นเมืองขึ้นสู่งานของชนชั้นสูงของจังหวัดเป็นครั้งแรก สร้างความประทับใจและทำให้ข้าราชการหลายคนเรียกร้องให้จัดงานดังกล่าวขึ้นอีก อีกด้านหนึ่ง ความตื่นเต้นของชนชั้นนำในภาคกลางที่ได้มาเห็นตรุษสงกรานต์ที่คึกคักในล้านนา จึงเกิดการเล่าขาน หนังสือพิมพ์พาดหัวใหญ่ว่าคนนับหมื่นเที่ยวสงกรานต์เชียงใหม่ ที่พักโรงแรมไม่พอ ต้องไปพักตามวัด การโหมกระพือความยิ่งใหญ่ของสงกรานต์เชียงใหม่ทำให้ภาคราชการคิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ ด้วยการกำหนดให้นายอำเภอเมืองเชียงใหม่เป็นผู้นำขบวนสรงน้ำพระในตอนสายของวันสังขานต์ล่อง แทนที่จะพากันเดินไปวัดเพื่อสรงน้ำพระดังที่ทำกันในอดีต ก็นิมนต์พระพุทธรูปองค์สำคัญๆในเมืองเชียงใหม่มาเข้าขบวนแห่เพื่อให้ประชาชนสองข้างทางไม่ต้องเดินไปวัด แต่ยืนดูขบวนแห่พร้อมกับสาดน้ำขึ้นไปเพื่อสรงน้ำพระที่เคลื่อนผ่านไป วันเนา นักท่องเที่ยวก็จะไปชมและร่วมการขนทรายเข้าวัด ในอดีต มีท่าทรายมากมายริมสองฝั่งน้ำแม่ปิง พร้อมกับการเล่นสาดน้ำในแม่น้ำซึ่งตื้นเขินในหน้าร้อน มีประชาชนหลายหมื่นคนแออัดยัดเยียดกันบนสะพานนวรัฐและบริเวณหน้าพุทธสถาน และตลอดสายถนนท่าแพ ถึงวันพญาวัน ราว พ.ศ. 2504-5 ปลัดจังหวัดก็ระดมนายอำเภอเกณฑ์ข้าราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนจากทุกอำเภอ มาตั้งขบวนแห่ที่สนามกีฬาร.ร. ยุพราชวิทยาลัยและเดินไปยังถนนท่าแพเพื่อไปรดน้ำดำหัวที่จวนผู้ว่าฯ การที่ผู้ว่าฯมาจากการแต่งตั้งและแทบไม่มีใครที่เป็นคนท้องถิ่น แทนที่จะศึกษาประเพณีท้องถิ่น ปฏิบัติตาม “ฮีต” ของคนท้องถิ่น กลับถือตนเองเป็นใหญ่ บังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชานับหมื่นคนนำน้ำไปรดที่มือของผู้ใหญ่ตามประเพณีสงกรานต์ของคนภาคกลาง แน่นอน เครื่องไหว้ทั้งหมดในการรดน้ำดำหัว เช่น หอม กระเทียม มะพร้าว เสื้อผ้าและผลไม้จากทุกอำเภอ ก็คือการที่นายอำเภอสั่งให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนไปจัดหามา ในทศวรรษ 2500 ถนนจากอำเภอต่างๆยังไม่ดีพอ ประชาชนจากอำเภอที่ห่างไกลตัวจังหวัดเช่น อมก๋อย ดอยเต่า แม่แจ่ม สะเมิง แม่อาย ฝาง เชียงดาว พร้าว ใช้เวลาเดินทางนานถึง 5-6 ชั่วโมง นั่นคือต้องออกเดินทางตี 5 หรือ 6 โมงเพื่อให้ทันขบวนแห่ซึ่งเริ่มเวลาบ่ายโมง กว่างานจะเสร็จสิ้นในตอนบ่าย 5 โมงเศษ ก็ถึงบ้านราวตี 1-2 ในคืนนั้น นักท่องเที่ยวมาเที่ยวงานสงกรานต์เชียงใหม่ ใช้เวลากับขบวนแห่ในแต่ละวัน ที่เหลือก็คือนั่งรถออกไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น น้ำตกแม่สา ห้วยแก้ว ดอยสุเทพ น้ำตกแม่กลาง ดอยอินทนนท์ ออบหลวง หนองบัว บ่อสร้าง ฯลฯ รถยนต์ที่วิ่งเข้ามามากมายเริ่มในทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา เป็นของแปลกปลอมในสังคมล้านนา เมื่อการเล่นสาดน้ำของเด็กๆและหนุ่มสาวเผชิญกับยวดยานที่วิ่งไปมา ความคิดบรรเจิดก็เกิดขึ้นนั่นคือการเล่นสาดน้ำระหว่างคนริมถนนกับคนบนรถยนต์ ตอนนั้น รถมอเตอร์ไซค์ยังมาไม่ถึง รถยนต์มีกระจกด้านหน้าของคนขับ ผิดกับคนขี่มอเตอร์ไซค์ที่ถูกน้ำสาดเข้าหน้าเต็มที่ เกิดการประสานกันระหว่างน้ำสาดที่พุ่งเข้าใส่ใบหน้าที่พุ่งเข้าหา บนความสนุกสนานที่ไม่เคยมีใครพบมาก่อน นั่นคือการสาดน้ำใส่ผู้คนบนยวดยานที่วิ่งไปมา การใส่ถังน้ำขนาดใหญ่บนรถวิ่งที่คนบนรถมีกระสุนพร้อมที่จะสู้กับคนริมถนนและคนบนรถที่วิ่งไปมา ยังไม่มีใครวิจัยจนถึงบัดนี้ว่าเหตุใดภาครัฐจึงปล่อยปละละเลยให้เกิดสงครามน้ำ ที่กลายเป็น “โรคร้ายจากเชียงใหม่” สร้างความสุขสันต์ให้แก่ทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง (ซึ่งคงจะเป็นสาเหตุหลักมิให้ภาครัฐคนใดกล้าสั่งให้รถหยุดหากคิดจะเล่นน้ำ และลงโทษคนเล่นสาดน้ำริมถนน) กลายเป็นโรคระบาดที่ลุกลามไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา และได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทำลายชีวิตมากรายให้ต้องสูญเสียและบาดเจ็บทุกปี โดยที่สังคมยังไม่สนใจที่จะคิดแก้ไขปัญหานี้จริงจัง สงกรานต์เชียงใหม่กลายเป็นมนต์ขลังที่ดึงดูดคนทั้งประเทศให้มาร่วมเล่น เพลง “เสน่ห์เวียงพิงค์” “สาวเหนือก็มีหัวใจ” “สักขีแม่ปิง” ที่ออกวิทยุในช่วงนั้นกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยว สงกรานต์เชียงใหม่กลายเป็นสินค้าราคาดี เชียงใหม่ผงาดขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่ง โรงแรมและธุรกิจสาขาต่างๆที่ต่อเนื่องก็เกิดขึ้นราวดอกเห็ด นี่คือโอกาสทองของการทำวัฒนธรรมให้กลายเป็นการค้า
ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของคนล้านนา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เชียงใหม่มิใช่เพียงเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศ หากระบบการรวมศูนย์อำนาจได้ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การค้าขาย การเงินการคลัง การศึกษา การศาสนา หน่วยราชการของภาค ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์การค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ฯลฯ วันนี้ คนเชียงใหม่หลายคนยังงงงันเพราะพวกเขาเติบโตมากับขบวนแห่ต่างๆบนถนนท่าแพเพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นป๋าเวณีเชิงพาณิชย์ ขบวนแห่เกิดขึ้นเพื่อนักท่องเที่ยวไปยืนชมสองข้างทางเป็นหลัก เป็นป๋าเวณีแบบราชการ ก็เพราะถูกกำหนดขึ้นโดยข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อรับใช้ภาคธุรกิจ ที่พวกเขางงงันก็เพราะพวกเขาไม่เคยได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในสถาบันการศึกษา พวกเขาไม่มีโอกาสเรียนรู้ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองก่อนปี พ.ศ. 2500 แน่นอน โลกทุกวันนี้ก็มิใช่โลกในอดีต ประชาชนสามารถทำความสะอาดบ้าน วัด หรือหมู่บ้านได้ด้วยเครื่องมือทันสมัย และด้วยการจ้างแรงงานโดยอาศัยงบประมาณของหน่วยงานสมัยใหม่ การเสาะหาสินค้าจำนวนมากและการเตรียมอาหารในวันเนาก็สามารถทำได้ง่ายมากด้วยการไปที่ศูนย์การค้า รวมทั้งไปหาซื้ออาหารทุกชนิดในตอนค่ำวันเนาหรือตอนเช้าวันพญาวันก็ยังได้ เศรษฐกิจทุนนิยมเปิดบริการโดยไม่มีวันหยุดเพื่อสนองความต้องการทุกอย่างของคนมีเงิน ในแง่ดังกล่าว โอกาสของครอบครัวที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ก็คือการร่วมกันทำอาหารบางอย่าง การทานอาหารร่วมกันทั้งในหรือนอกบ้าน การไปเที่ยว ไปสรงน้ำพระที่วัด และไปรดน้ำดำหัวด้วยกัน ส่วนที่เหลือก็คือ การไปร่วมขบวนรดน้ำดำหัวของชุมชน เนื่องจาก การจัดขบวนแห่ต่างๆในอดีตเป็นแบบราชการที่มีการกะเกณฑ์และทำเพื่อให้นักท่องเที่ยวยืนชมสองข้างทาง มิใช่เกิดจากการจัดทำกิจกรรมโดยให้ประชาชนตัดสินใจ และประกอบกับจังหวัดต่างๆทั่วประเทศได้นำเอาวิธีการและกิจกรรมต่างๆในเทศกาลสงกรานต์ของเชียงใหม่ไปใช้หมดแล้ว ทำให้สงกรานต์ไม่มีจุดขายอีกต่อไป ข้อเสนอที่หนึ่ง แต่ละชุมชนตัดสินใจกันเองว่าจะไปสรงน้ำพระอย่างไร จะจัดขบวนแห่หรือไม่ แต่หากจะมีการนำพระพุทธรูปออกมาแห่ ก็ไม่ควรอนุญาตให้ประชาชนสาดน้ำใส่พระ โดยอ้างว่าเป็นการสรงน้ำพระ ข้อเสนอที่สอง แต่ละชุมชนตัดสินใจกันเองว่าจะขนทรายเข้าวัดแบบร่วมกันทำพร้อมๆกัน หรือใช้รูปแบบอื่นๆตามความเหมาะสมของชุมชนนั้น ข้อเสนอที่สาม แต่ละชุมชนทำกันเองอยู่แล้วในการจัดขบวนแห่ไปรดน้ำดำหัวผู้ที่สมาชิกของชุมชนเคารพนับถือ นั่นไม่เป็นปัญหา แต่ในกรณีที่เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่มีบุคคลสำคัญที่ชาวเมืองให้ความเคารพนับถือ (แต่ที่ผ่านมาตลอด 50 ปี ข้าราชการและประชาชนถูกกำหนดให้เข้าขบวนแห่เพื่อไปรดน้ำดำหัวผู้ว่าฯเท่านั้น) ดังนั้น นอกจากแต่ละชุมชนจะจัดขบวนรดน้ำดำหัวกันเอง หลายๆชุมชนทั่วทั้งจังหวัดหรือเฉพาะในเขตตัวเมืองและบริเวณรอบๆ อาจจัดขบวนรดน้ำดำหัวบุคคลที่สมาชิกของชุมชนเต็มใจไปรดน้ำดำหัว ไม่ถูกบังคับกะเกณฑ์ เนื่องจากดินแดนล้านนามีถึง 8 จังหวัดแต่ละเมืองและแต่ละจังหวัดมีบุคคลสำคัญที่ชาวเมืองชาวจังหวัดให้ความเคารพนับถือต่างกัน และคนรุ่นหลังๆไม่ทราบเนื่องจากไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผู้เขียนจึงขอเสนอบุคคลสำคัญของล้านนาเฉพาะที่มีบทบาทสำคัญต่อชาวเมืองเชียงใหม่ เพื่อประกอบการพิจารณาสำหรับการปรึกษาหารือร่วมกัน ดังนี้ 1. ครูบาศรีวิชัย (พ.ศ. 2421-2481) ตนบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวล้านนา ชีวิตและผลงานของท่านผู้นี้มีมากมาย ไม่จำเป็นต้องเสนอรายละเอียด ณ ที่นี้ จุดที่ไปรดน้ำดำหัวมีอย่างน้อย 2 จุดคือ ก. อนุสาวรีย์ที่ต้นทางขึ้นวัดดอยสุเทพ อันเป็นจุดที่ท่านวางจอบแรกเพื่อสร้างถนนขึ้นวัดดอยสุเทพ และกู่บรรจุอัฐิของท่านในวัดสวนดอก [3] 2. พระสิริมังคลาจารย์ (พ.ศ. 2020-2100) พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่ที่เคยไปศึกษาพุทธศาสนาที่ลังกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชอุปาธยายาจารย์ในสมัยพระญาแก้ว (พ.ศ. 2038-2068) แห่งราชวงศ์มังราย ท่านเป็นพระนักปราชญ์ ได้แต่งหนังสือพุทธศาสนาที่สำคัญมากมาย เช่น เวสสันดรทีปนี, จักรวาลทีปนี, สังขยาปกาสกฎีกา และมังคลัตทีปนี เล่มสุดท้ายอธิบายความในมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 38 ประการ มีผู้แปลเป็นภาษาไทยกลางและยังคงมีคนศึกษาถึงปัจจุบัน [4] อนุสาวรีย์ของท่านตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของพุทธสถาน ถนนท่าแพ 3. พระญามังราย (พ.ศ. 1782-1860) ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ได้รวบรวมอาณาจักรโยนกและหริภุญไชยเข้าเป็นอาณาจักรเดียวคือ ล้านนา เริ่มในปี พ.ศ. 1839 จุดที่ควรไปรดน้ำดำหัวท่านดีที่สุดคือ ศาลพระญามังราย อันเป็นจุดที่ท่านถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต ตั้งหลังร้านขายมอเตอร์ไซค์ บนถนนพระปกเกล้า ตรงข้ามร้านเจริญมอเตอร์ อยู่ระหว่างวัดดวงดีกับสี่แยกกลางเวียง 3. พระญาติโลกราช (พ.ศ. 1984-2030) กษัตริย์นักรบและผู้ส่งเสริมพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยราชวงศ์มังราย ท่านผู้นี้นำทัพไปโจมตีและยึดครองพิษณุโลก - หัวเมืองเอกทิศเหนือของรัฐอยุธยาหลายครั้งจนกระทั่งกษัตริย์อยุธยาต้องย้ายเมืองหลวงจากอยุธยามาที่พิษณุโลก จุดที่ควรไปรดน้ำดำหัวคือ กู่ (ที่ฝังอัฐิ) ของท่าน เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ในวัดเจ็ดยอด 4. พระญาพรหมโวหาร (พ.ศ. 2345-2430) หรือพระญาพรหมมินท์กวีเอกของล้านนาเป็นคนลำปาง มาบวชเรียนที่วัดเจดีย์หลวง มีผลงานกวีสำคัญถึง 9 ชิ้น ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความลึกซึ้งในเชิงปรัชญาและการเปรียบเปรยที่ลึกซึ้งกินใจ หลายชิ้นมีความไพเราะยิ่งกว่างานของสุนทรภู่ด้วยซ้ำ [5] อนุสาวรีย์ของท่านตั้งอยู่ที่ด้านซ้ายของประตูทางเข้าวัดสวนดอก นี่คือตัวอย่างของบุคคลสำคัญที่ชาวเชียงใหม่ควรไปรดน้ำดำหัว ยังมีบุคคลสำคัญท่านอื่นอีก แต่ในที่นี้จะขอยกเว้นไม่เสนอนาม (โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่) เพราะต้องการรับฟังความเห็นจากหลายๆฝ่าย อีกประการหนึ่ง ความเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่อาจแตกต่างกัน แน่นอน การไปรดน้ำดำหัวย่อมมีความหลากหลาย แต่ละขบวนย่อมมีจุดหมายที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในยามนี้ที่คนล้านนาจะก้าวสู่ยุคใหม่เริ่มจากป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองปีนี้เป็นต้นไปที่คนล้านนาจะเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่มีการบังคับกะเกณฑ์หรือการกำหนดจากส่วนกลาง โดยขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน การจัดขบวนรดน้ำดำหัวจึงควรเริ่มต้นที่บุคคลที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หลายคนไม่รู้จักชื่อเสียงและผลงานของบางท่านที่ได้เอ่ยนามข้างต้น (รวมทั้งบุคคลอื่นๆ) ก็ควรถือว่า นี่คือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกัน อันเป็นสิ่งที่คนท้องถิ่นไม่เคยมีโอกาสมาก่อน ดังนั้น เราจะต้องแปรจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งให้ได้ สุดท้าย ข้อเสนอที่สี่ ได้เวลายุติการเล่นสาดน้ำที่ไม่ถูกต้องในดินแดนล้านนา ให้ยุติการเล่นสาดน้ำใส่ยวดยานที่สัญจรไปมา ยุติการเล่นสาดน้ำระหว่างยวดยานด้วยกัน หรือระหว่างผู้คนบนยวดยานกับคนริมถนน มีการออกคำสั่งอย่างชัดเจนและลงโทษอย่างเด็ดขาด ผู้ใดต้องการเล่นสาดน้ำก็จะต้องจอดยวดยานให้เรียบร้อย ล้านนาเป็นดินแดนแห่งเทศกาลปี๋ใหม่เมืองที่ผู้คนทั้งประเทศมาศึกษา “โรคร้าย” ในอดีตเกิดขึ้นบนดินแดนนี้ ความสนุกสนานคึกคะนอง และความไม่ใส่ใจของภาครัฐในอดีตได้สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนเป็นจำนวนมาก คนในล้านนาเป็นผู้ก่อ ก็ต้องสรุปบทเรียนและลงมือแก้ไขโดยพลัน.
28 มีนาคม 2554.
เชิงอรรถท้ายบท [1] มณี พยอมยงค์, วัฒนธรรมล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2529 หน้า 47-49 [2] เล่มเดียวกัน, หน้า 50-51 [3] ธเนศวร์ เจริญเมือง, “ครูบาศรีวิชัย”, คนเมือง ประวัติศาสตร์ล้นนาสมัยใหม่ (พ.ศ. 2317-2553). ปรับปรุงพิมพ์ครั้งที่ 2 เชียงใหม่: สถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่, มกราคม 2554 หน้า 89-100 [4] มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. เล่ม 13 กรุงเทพฯ: บริษัทสยามเพรส แมเนจเม้นท์, 2542 หน้า 6919 [5] ธเนศวร์ เจริญเมือง, อ้างแล้ว หน้า 69-88, 207-218 และ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8 หน้า 4231-32 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ภาพยนตร์กับการเป็นอนุสาวรีย์ทางความคิด: กรณีภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช Posted: 28 Mar 2011 11:08 PM PDT
เมื่อพี่น้องลูมิแยร์สร้างกล้องบันทึกภาพยนตร์เครื่องแรกขึ้นในโลก หน้าที่ของมันในขณะนั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงแต่เป็นการเลือกเก็บบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ที่มีบทกำกับการแสดงเกิดหลังจากนั้นเป็นเวลาพอสมควร และหลังจากนั้นดูเหมือนว่าเมื่อเราพูดถึงคำว่า "ภาพยนตร์" การรับรู้ขั้นต้นของเราคือภาพยนต์ที่มีบทกำกับในการแสดงอย่างเช่นปรากฏในปัจจุบัน อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เคยตั้งคำถามในข้อสอบปลายภาคสำหรับนักเรียนภาควิชาประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งถึงภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่าเราควรมองภาพยนตร์เรื่องนี้ในบทบาทของอะไร? ผมจึงขอคัดย่อจากความทรงจำคร่าวๆ มาเรียบเรียง โดยผมมีความคิดเห็นดังนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการสร้างหน้าที่ใหม่ของภาพยนตร์(อย่างน้อยก็สำหรับประเทศไทย)นั่นก็คือ เป็นการ "สร้างอนุสาวรีย์" ทางความคิดให้เป็นมรดกของคนรุ่นต่อๆ ไป เหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของภาพยนตร์อิงประวัติศาตร์โดยเฉพาะในตะวันออกก็คือส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าแบบมุขปาฐะ ซึ่งไม่มีความชัดเจนเพราะไม่มีการจดบันทึกโดยละเอียด ถึงแม้จะมีการค้นคว้าและเก็บข้อมูลแต่ส่วนใหญ่ก็จะมีเพียงเค้าโครงเรื่องใหญ่ๆ ที่มีความเป็น Epic อยู่ค่อนข้างสูง[1] ปัญหาก็คือสิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาเติมเต็มจินตนาการที่ขาดหายสำหรับแบบเรียนประวัติศาสตร์ในการศึกษาภาคบังคับที่ยังคงเว้าแหว่งด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ โดยหยาบๆ และนำไปออกข้อสอบเพื่อทดสอบความจำในชั้นเรียน ถึงแม้ทีมงานจะมีการ "ออกตัว" ว่าเรื่องนี้มีการดัดแปลงจากเค้าโครงเรื่องและมีการค้นคว้าข้อมูลมาเป็นอย่างดี แต่ผู้รับสารย่อมได้รับการเติมเต็มตัวอักษรที่หายไประหว่างบรรทัดจากภาพที่ปรากฏบนหน้าจอ แน่นอนที่สุด อย่างน้อยภาพของพระนเรศวรที่คนรุ่นที่พ้นวัยศึกษาในรั้วสถาบันจะมีอยู่ในหัวก็คือภาพของผู้ชายหน้าไทย ใส่เสื้อผ้าสีดำและมีหมวกและเหล่าพลทหารที่ออกรบโดยมีโล่และผ้าประเจียดป้องกันตัว (หากคิดไม่ออกให้กลับไปหาธนบัตรชนิด 100 บาทรุ่นเก่า) ซึ่งเป็นภาพอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง ที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ที่ๆ เชื่อว่าเป็นจุดทำสงครามยุทธหัตถี แต่เมื่อมีภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้น ภาพของพระนเรศวรในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ภาพของพันโท วันชนะ สวัสดี ในบทพระนเรศวรทรงเกราะแบบยุโรป และประทับปืนแนบบ่าจากการโปรโมทผ่านสื่อต่างกลับเข้ามาแทนที่ และแย่งชิงการเป็นความรับรู้หลักของสังคมไปเสียแล้ว
เฉกเช่นเดียวกันกับเมื่อเราคิดถึงสมเด็จพระสุริโยทัย (ไม่ใช่ "สุริโยไท" ผมเคยถามเพื่อนที่จบโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ถึงเรื่องนี้เธอเคยเล่าว่าพอภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย หลายๆ คนบอกว่าชื่อโรงเรียนของเธอสะกดผิด ทั้งที่โรงเรียนของเธอมีอายุเก่าแก่กว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว) ภาพแรกที่คุณคิดถึงในจินตนาการย่อมเป็นภาพของหม่อมหลวง ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ในผมทรงกระทุ่ม จากความเชื่อเดิมที่ว่าผู้หญิงไทยไว้ผมยาว ในกรณีระดับโลกที่ฮือฮาก็จากภาพยนตร์เรื่อง "Braveheart” เมื่อ Mel Gibson ผู้สวมบทวีรบุรุษชาวสก็อตต์นาม William Wallace ได้ถูกขอให้เป็นแบบในการจัดทำอนุสาวรีย์ของวีรบุรุษคนดังกล่าว การเติมเต็มข้อความที่หายไปในหนังสือด้วยภาพจากภาพยนตร์นั้น ไม่น่าสนใจเท่ากับ "ข้อความ" และอุดมการณ์ที่ถูกแทรกและเติมเข้ามาระหว่างบรรทัดของบทภาพยนตร์ สิ่งที่น่าสนใจนั้นก็คือ "อนุสาวรีย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้" นั้นทรงพลังกว่าอนุสาวรีย์ที่เป็นสถานที่ให้นักท่องเที่ยวไปยืนถ่ายรูปเพื่อความบันเทิง เพราะมันเป็นการสถาปนาอำนาจนำทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ถูกฝังหัวมาโดยที่ผู้รับสารไม่รู้ตัวผ่านการบอกเล่าของตัวละครโดยทางตรงและทางอ้อม ข้อสังเกตที่น่าขบขันก็คือทำไมเราสามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับร้อยๆ ปีที่ผ่านไปได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างผ่านการศึกษาวิจัยของทีมสร้างภาพยนตร์ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านไปไม่นานอย่าง 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 ที่ยังคงมีพยานปากสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมากกลับไม่ถูกเลือกที่จะนำมาถ่ายทอด[2] สิ่งที่น่าสนใจก็คือเราไม่ค่อยจะมีภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย โดยเฉพาะหลังจากยุค 2475 ถ้าหากเราคิดถึงหนังพีเรียด เรามักจะมองย้อนกลับไปช่วงก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ หรือส่วนมากก็แค่อาศัยช่วงเวลาเป็นฉากหลังในการดำเนินเรื่องราว และส่วนใหญ่หนังประวัติศาสตร์ของไทยยังคงติดอยู่กับกรอบคิดของประวัติศาสตร์แบบ "ราชาชาตินิยม" ที่น่าสนใจคือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์ของไทยกลับไม่เคยมีการสร้างขึ้นอย่างจริงจัง หนำซ้ำอนุสาวรีย์ที่เป็นตัวแทนของการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน ยังถูกเตะถ่วงจนเวลาล่วงเลยเกือบ 30 ปีกว่าที่จะมีการสร้างขึ้น สิ่งเหล่านี้กำลังบอกอะไรเราอยู่ หากอนุสาวรีย์เป็นการบ่งบอกถึงความสำคัญของบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ ทำไมเรื่องเหล่านี้จึงถูกดึงไว้ทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและเป็นการต่อสู้ของ "ประชาชน"ไทย เพื่อประชาธิปไตยอันเป็นหลักสูงสุดของประเทศ หรือว่าจริงๆ แล้วเรามิได้ปกครองกันด้วยระบอบประชาธิปไตย? หรือว่าเรื่องราวเหล่านี้มันเป็นเสี้ยนหนามแทงตำใครหรือไม่?[3] เพราะอนุสาวรีย์นั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาในทุกยุคทุกสมัยในการถ่ายทอด "มรดกทางความคิด" ของผู้มีอำนาจยุคต่างๆ เรามีวีรชนบ้านบางระจันในยุคที่ผู้นำต้องการให้เรามีความสามัคคี เรามีศาลพันท้ายนรสิงห์เพื่อเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของนิติรัฐ[4] แล้วปัจจุบันใครเป็นผู้นำทางการเมืองของประเทศไทยที่ต้องการจะถ่ายทอดความคิดผ่านอนุสาวรีย์ในโลกเสมือนแห่งนี้? คำถามที่สำคัญก็คือ ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เข้าฉายในช่วงเวลานี้กำลังจะบอก "ข้อความ" อะไรกับเรา? ผู้กำกับต้องการจะสื่อสารระหว่างบบรรทัดอะไรกับเรา? "ผู้อำนวยการสร้าง" ต้องการอยากให้เรามีทัศนคติแบบใด? หากเรามองให้ลึกๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ใช่ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ธรรมดา แต่มันกำลังจะกลายเป็นอนุสาวรีย์ทางความคิดความเชื่อที่พยายามจะสร้างมายาคติแบบใหม่ให้กับสังคม โดยเฉพาะคนที่เข้าไปดูและไม่ตั้งคำถามและเชื่อทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ ถ้าคุณอยากรู้ ติดตามได้ทุกโรงภาพยนตร์ใกล้บ้านคุณ....
เชิงอรรถ [2] (ที่จริงมีอยู่ 2 เรื่องคือ 14 ตุลา สงครามประชาชน ซึ่งที่จริงแล้วดัดแปลงจากหนังสือ "คนล่าจันทร์" ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นมุมมองของเสกสรรค์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ และ "ฟ้าใสหัวใจชื่นบาน" ที่จงใจล้อเลียนกลุ่มนักศึกษาที่เข้าป่าในช่วงหลัง 6 ตุลา 19 ให้ลดความน่าเชื่อถือเรื่องอุดมการณ์ และบริษัทอำนวยการสร้างเป็นของทายาทคนหนึ่งของผู้บัญชาการทหารเรือของคณะ คมช. ฐิติพันธุ์ เกยานนท์ บุตรชายของ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์) [3] กรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจากภาพยนตร์สารคดี 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์นั้น มีการกล่าวว่าสาเหตุที่ท่านไม่สามารถกลับเมืองไทยได้จวบจนเสียชีวิตนั้น เพราะว่าผู้ปกครองและผู้มีอิทธิพลของประเทศเกรงกลัวท่าน เห็นได้จากความพยายามลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับท่านจากสังคมไทย แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของท่านเอง ชื่อถนนประดิษฐ์มนูญธรรม ซอยปรีดี พนมยงค์ หรือสถาบันปรีดี นั้นถูกตั้งขึ้นหลังจากการอสัญกรรมของท่าน [4] (ทั้งสองเรื่องที่กล่าวถึงถูกจัดทำเป็นภาพยนตร์แล้ว โดยเรื่องพันท้ายนรสิงห์กำลังจะถูกทำเป็นละครทางช่อง 3 โดยมีคุณหญิงหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ภรรยาของท่ายมุ้ย ควบคุมงานสร้าง และบทประพันธ์โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธ์ ยุคล)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ทหารพม่าปะทะกับทหารกองทัพรัฐฉานเหนือต่อเนื่อง Posted: 28 Mar 2011 03:31 PM PDT ทหารพม่ายื่นคำขาดให้ทหารกองทัพรัฐฉานเหนือวางอาวุธภายในสิ้นเดือนนี้ พร้อมเคลื่อนกำลังทหารประชิดที่มั่นของทหารกองทัพรัฐฉานเหนือ โดยล่าสุดการปะทะในพื้นที่ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ 13 มี.ค. ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามที่กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีที่มั่นของกองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA/SSPP) ในพื้นที่รัฐฉานตอนกลาง มาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยสั่งให้ทหารกองทัพรัฐฉานเหนือยอมแพ้และวางอาวุธภายในสิ้นเดือนนี้ รวมทั้งสั่งให้ถอนกำลังออกจากฐานที่มั่นของทหารกองทัพรัฐฉานเหนือภายในอาทิตย์นี้ด้วยเช่นกัน ล่าสุด วานนี้ (28 มี.ค.) สำนักข่าวฉาน รายงานว่า การปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับทหารกองทัพรัฐฉานเหนือยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่อำเภอต้างยาน ทหารพม่าปะทะกับทหารกองทัพรัฐฉานเหนือที่ลาดตระเวนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย วันที่ 26 มี.ค. ที่อำเภอเกซี ทหารพม่า กองพันทหารราบเบาที่ 758 ปะทะกับกองทัพรัฐฉานเหนือ กองพันที่ 1 ทำให้ทหารพม่าเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ในวันเดียวกัน ทหารกองทัพรัฐฉานเหนือ กองพันที่ 766 ปะทะกับทหารพม่าไม่ทราบสังกัดระหว่างลาดตระเวน ที่บ้านเมืองออด อำเภอเมืองสู้ ผลทหารพม่าเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 2 นาย วันที่ 27 มี.ค. ทหารกองทัพรัฐฉานเหนือ กองร้อยที่ 74 กองพันที่ 766 ปะทะกับทหารพม่าไม่ทราบสังกัดระหว่างลาดตระเวนที่ปางฮุง อำเภอเมืองสู้ และล่าสุดวานนี้ (28 มี.ค.) ทหารกองทัพรัฐฉานเหนือ กองร้อยที่ 36 ปะทะกับทหารพม่า ที่ดอยช้างกิ้ง อำเภอเมืองสู้ด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น