ประชาไท | Prachatai3.info |
- คนงานจีนเหยื่อสารพิษ "ไอแพด" ขอค่ารักษาพยาบาลจาก "สตีฟ จ็อบส์"
- รายงาน: วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ประเทศไทยควรเรียนรู้อะไร
- เสวนา: การหายตัวของทนายสมชายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนไทยทุกคน
- จีนสั่งระงับโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
- สัญญาโทรศัพท์ 3G ระหว่าง กสท.-ทรู: สัมปทานจำแลงในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- พม่าปราบหนักกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ล่าสุดต้องสละฐานหลายแห่ง
- ได้ประกัน ผู้ต้องหาขายซีดีหมิ่นฯ พ่อชราหอบเงิน 5 แสนเป็นหลักทรัพย์
- ศาลยกฟ้อง ‘เคทอง’ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีถูกกล่าวหาโพสต์คลิปขู่บึ้ม
- ประกายทุนเสวนา“น้ำมันปาล์มและน้ำตาลทราย กับการบิดเบือนกลไกตลาด”
คนงานจีนเหยื่อสารพิษ "ไอแพด" ขอค่ารักษาพยาบาลจาก "สตีฟ จ็อบส์" Posted: 18 Mar 2011 10:38 AM PDT คนงานจีนที่ตกเป็นเหยื่อสารพิษจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนไอแพดของบริษัทแอปเปิ้ลยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชย และค่ารักษาจากรัฐบาลปักกิ่งและสตีฟ จ็อบส์ ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทแอปเปิ้ล 18 มี.ค. 54 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า คนงานชาวจีน ซึ่งเป็นแรงงานอพยพจากชนบทกว่า 100 คนของโรงงาน ยูไนเต็ต วิน เทคโนโลยี (United Win Technology) ในเมืองซูโจว, มณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นของบริษัทวินเท็ก (Wintek) ของไต้หวัน ล้มป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้อลีบ และระบบประสาทถูกทำลายในระหว่างปี 2551-2552 หลังจากทางโรงงานมีการใช้สารเฮกซิล ไฮไดรด์ (hexyl hydride) หรือที่รู้จักกันว่า เอ็น-เฮกเซน (n-hexane) เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิต ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงาน: วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ประเทศไทยควรเรียนรู้อะไร Posted: 18 Mar 2011 08:17 AM PDT จากกรณีการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.54 ที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ สร้างความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อชาวญี่ปุ่นรวมทั้งประชาคมโลก ในส่วนของประเทศไทยเองกรณีดังกล่าวก็ได้รับการพูดถึงในวงกว้างทั้งในเรื่องเหตุการณ์เฉพาะหน้า และแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 15 มี.ค.54 กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในประเทศไทย จาก 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น” ณ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และแถลงจุดยืนต่อกรณีการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภาพเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่่ปุ่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ญี่ปุ่น วิฑูรย์กล่าวให้ข้อมูลจากข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในญี่ปุ่นด้วยว่า วิศวกรผู้ออกแบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เกิดปัญหา ได้ตอบคำถามของนักข่าวต่างประเทศเรื่องอายุการใช้งานว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเก่าหรือไม่ เพราะแม้แต่โรงที่ใหม่ที่สุดหากเจอสถานการณ์แบบเดียวกันก็จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกันนี้ ความหมายตรงนี้ก็คือว่าทุกเครื่องที่มีอยู่ในญี่ปุ่นได้มีการเช็คความพร้อมแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงก็มีระบบหล่อเย็นรองรับอยู่อีก 2 ระบบหลังจากที่ระบบแรกเกิดขัดข้อง วิฑูรย์กล่าวอธิบายว่าเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว เป็น “ปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (Boiling Water Reactor: BWR)” โดยในเตาปฏิกรณ์ชั้นในจะมีแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เมื่อแท่งเชื้อเพลิงทำงาน จะเกิดปฏิกิริยาที่ปล่อยความร้อนและรังสีออกมา ส่วนน้ำที่อยู่โดยรอบแท่งเชื้อเพลิงคือน้ำบริสุทธิ์ ซึ่งเมื่อได้รับความร้อนก็จะกลายเป็นไอน้ำและเกิดแรงดันที่จะไปหมุนกังหันเพื่อปั่นไฟฟ้า จากนั้นไอน้ำจะถูกส่งไปตามท่อเพื่อเข้าสู่ระบบหล่อเย็นที่นำน้ำจากทะเลมาช่วยลดอุณหภูมิให้ไอน้ำเกิดการควบแน่นจนกลายเป็นน้ำ เพื่อกลับไปในระบบต่อไป
ภาพระบบการทำงานในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทำให้ “ระบบหยุดทำงานอัตโนมัติ” ทำงานโดยทันทีเพื่อยุติปฏิกิริยานิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์ชั้นใน โดยมีตัวหน่วงปฏิกิริยา (แท่งสีดำระหว่าง แท่งสีชมพูเข้ม) ใส่ลงไป ซึ่งปฏิกิริยาจะไม่ได้หยุดลงทันทีทันใด แต่จะค่อยหยุดๆ ดังนั้นแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องมีน้ำหล่อเย็นอยู่ตลอดเวลาไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงร้อนจนละลายและทำให้สารกัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายออกมา แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ระบบหล่อเย็นหยุดทำงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว แม้จะมีระบบหล่อเย็นที่ 2 ทำงานทันทีหลังจากนั้น ด้วยการเดินเครื่องยนต์ดีเซลปั่นกระแสไฟฟ้าให้ระบบทำงานได้ แต่เครื่องยนต์ดีเซลก็ได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิที่โถมเข้าใส่โรงไฟฟ้าหลังเกิดแผ่นดินไหว จนไม่สามารถทำงานได้ จากนั้น ระบบที่ 3 ซึ่งใช้แบตเตอรี่ก็ทำงานต่อทันที เพื่อให้มีไฟฟ้าเดินเครื่องในระบบหล่อเย็นแต่ก็เกิดความล้มเหลว ในขณะที่แท่งเชื้อเพลิงร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอ จนแท่งเชื้อเพลิงโผล่พ้นน้ำซึ่งทำให้แท่งเชื้อเพลิงร้อนเร็วขึ้น วิธีการขั้นต่อมาจึงมีการลดความดันโดยปล่อยไอน้ำออกมา ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสินใจยอมให้สารปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีโดยตรงหลุดออกไปในชั้นบรรยากาศ แต่ก็ยังแก้ปัญหาความร้อนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ ต่อมาได้มีการใช้สารบอแร็กซ์ (Borax) ใส่ลงไปเพื่อลดปฏิกิริยาแต่ก็เอาไม่อยู่ สุดท้ายจึงเป็นการตัดสินใจเอาระบบสูบน้ำทะเลเข้าไปท่วมในเตาปฏิกรณ์ “การตัดสินใจเลือกที่จะเอาน้ำทะเลไปคุม เขาบอกว่ามันเป็นการตัดสินใจที่หมดหวังแล้ว เพราะหลังจากนี้เครื่องจะใช้ต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องเลิก และก็ไม่รู้ว่าน้ำทะเลที่เอาเข้าไปในขณะนี้จะหยุดได้ไหม เพราะแท่งปฏิกรณ์ก็ยังคงร้อนต่อไป” วิฑูรย์กล่าว การระเบิดของไฮโดรเจน ที่ทำให้กัมมันตภาพรังสี เช่น ไอโอดีน-131 และ ซีเซียม-137 แพร่กระจายออกมา
หากแท่งเชื้อเพลิงร้อนจนหลอมละลาย จะทำให้สารรังสีแพร่กระจายลงมาสู่ดินและปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน ขณะที่ด้านบนก็มีการแพร่กระจายทางอากาศ
แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว และข้อกังวลที่ยังไม่ถูกอธิบาย “ขั้นตอนมันสะท้อนว่า เขาคุมไม่ได้ ปัญหาที่มีการวางไว้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ หนึ่ง แก้สอง สาม สี่ มันหลุดไปทีละเปลาะ และก็เกิดตามกัน 3 โรง โรงที่ 1 นำหน้าแล้วโรงที่ 2 ที่ 3 ตามมาเรื่อยๆ แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ทั้ง 3 โรงมาอยู่ในสถานะที่เกือบใกล้เคียงกันแล้ว คือเอาน้ำทะเลฉีดเลี้ยงไว้ทั้งหมด นี่คือสภาพที่เป็นอยู่” ส่วนเรื่องที่มีการระเบิด ก็ยังมีคำอธิบายที่ไม่กระจ่างชัดในการแถลงข่าวของบริษัทผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าไฮโดรเจน(Hydrogen) ที่มารวมตัวกับออกซิเจน (Oxygen) จนทำให้มีการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ทั้ง 3 เครื่อง มาจากไหน และคำถามสำคัญคือ การระเบิดของไฮโดรเจนนั้นมีการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีออกมาหรือไม่ เพราะถือเป็นการระบายออกที่รุนแรง เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ได้มีการปล่อยแรงดันไอน้ำออกมา ซึ่งก็มีการยอมรับแล้วว่ามีการปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาด้วย นอกจากนั้นยังมีคำถามเกี่ยวกับการเอาน้ำทะเลฉีดเข้าไปเพื่อคุมความร้อนของแท่งเชื้อเพลิงโดยตรง ซึ่งน้ำจำนวนมากเหล่านี้มีจะมีการปนเปื้อนและถูกระบายออกไป ตรงนี้จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำในดินและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งอาจจะน่ากลัวกว่าการปนเปื้อนในอากาศ อีกทั้งประสิทธิภาพของการใช้น้ำทะเลเพื่อคุมความร้อนนี้จะทำได้นานหรือประสบความสำเร็จมากแค่ไหน
ชี้แม้ไม่กระทบโดยตรง แต่ผลทางอ้อมก็ไม่ควรมองข้าม “ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเมื่อใดที่มีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี รัฐหรือผู้ที่รับผิดชอบควรจะต้องมีกระบวนการติดตามมาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบทเรียนของเชอร์โนบิล (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในสหภาพโซเวียต ระเบิดเมื่อ ค.ศ.1986) มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เกิดเหตุการณ์ตรงนั้นแล้วก็จบ แจกไอโอดีนก็ป้องกันได้แล้ว คนที่โดนรังสีก็เอาเสื้อผ้าออกแล้วอาบน้ำ แล้วก็จบ พูดอย่างนี้มันง่ายเกินไป” วิฑูรย์ให้ความเห็น วิฑูรย์กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลโดยทั่วไป มีอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีความรุนแรง ระดับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (ค.ศ.1979) คือความรุนแรงระดับ 5 เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นับจากกรณีของเชอร์โนบิลเป็นต้นมา และทุกวันนี้ทั่วโลกต้องใช้เงินกว่า 300 ล้านเหรียญเพื่อจัดการกับเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้สถาบันเทคโนโลยีแมสสาชูเสตต์หรือเอ็มไอที ได้มีการศึกษาและคาดการณ์ว่าหากการเพิ่มของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นเช่นในปัจจุบัน คาดว่าภายในปี 2555 จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในระดับเชอร์โนบิลจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย และหลังการแถลงผลการศึกษาไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ขึ้น เรื่องผลกระทบต่อประเทศไทย เป็นคำถามที่ไม่อาจตอบได้ว่าในขณะนี้ว่ามีหรือไม่มี เพราะเรื่องการปนเปื้อนนั้นจากเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิล มีการห้ามไม่ให้เด็กๆ บริโภคนมที่มาจากเขตนั้นนานอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่าขอบเขตของปัญหานี้มันเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร เพราะฉะนั้นไม่สามารถบอกได้ด้วยเงื่อนเวลา แต่คำพูดที่คาดการณ์เป็นสิ่งที่มองเห็นในแง่กายภาพ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่มองเห็นยังไม่น่ากลัวเท่ากับสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะเราไม่รู้ว่าผลกระทบทางอ้อมของมันจะเป็นอย่างไร “เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาบอกว่าไม่โดนหรอกไทย แล้วเราก็โล่งอกไป ผมว่าคงไม่ใช่ เราจำเป็นที่จะต้องดูในเชิงที่เป็นทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และดูทั้งทางตรง-ทางอ้อม ต้องดูว่าสิ่งที่ไม่ได้ถูกระบุให้ชัด อย่าไปวางใจว่าไม่มีปัญหาอะไร” วิฑูรย์กล่าว ด้านธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงกรณีการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ว่ามีความน่าสนใจ เพราะเตาปฏิกรณ์ตัวนี้ใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างธาตุพลูโตเนียม และธาตุยูเรเนียม เนื่องจากแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วจะสามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งตรงนี้จะมีอันตรายมากกว่าแท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียมปกติ พร้อมโชว์ภาพสไลด์แบบจำลองที่คาดการณ์การแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีหากเกิดการระเบิด เมื่อคำนวณจากทิศทางลมและความรุนแรงของการระเบิด
ขณะที่ สันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กล่าวว่ากรณีการปล่อยไอน้ำเพื่อลดแรงดันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำแต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากแรงดันในแกนปฏิกรณ์เพิ่มมากขึ้นอาจเกิดการระเบิด ดังนั้นจึงต้องลดแรงดัน แต่การปล่อยไอน้ำไปในอากาศ กัมมันตภาพรังสีก็จะถูกปล่อยออกมาด้วย ส่วนคำถามที่ว่าไฮโดรเจนที่เกิดระเบิดนั้นมาจากไหน ความจริงคือมาจากแท่งเชื้อเพลิงปฏิกรณ์ความร้อนสูงที่อยู่ในน้ำ และตัวโครงครอบที่ระเบิดไปแล้วนั้นวัตถุประสงค์คือเพื่อป้องกันไม่ให้ไฮโดรเจนแพร่กระจายออกไป สันติกล่าวถึงข้อสังเกตด้วยว่า จากการรายงานข่าวเชื่อได้ว่าการระเบิดหลักจากนั้นมีการแพร่กัมมันตภาพรังสีออกมาด้วย เพราะหลังจากที่มีการระเบิดมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยมีการอพยพคนหลายหมื่นออกห่างจากพื้นที่ 10 กิโลเมตร และขยับออกมาเป็น 20 กิโลเมตร ระหว่างนั้นเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ก็เกิดระเบิด จึงได้มีการประกาศให้คนหลายร้อยคนที่ยังอพยพออกจากพื้นที่ไม่หมดรีบกลับเข้าไปในตัวอาคาร ทั้งนี้ รังสีที่แพร่กระจายออกมามีหลายชนิดมาก แต่ที่ถูกให้ความสำคัญมี 2 ตัว คือ ไอโอดีน-131 กับซีเซียม-137 และวิธีการแก้ปัญหาด้วยการกินไอโอดีนก็คือร่างกายจะได้เอาไอโอดีนที่กินเข้าไปไปสะสมอยู่ที่ต่อมไทรอยด์ เมื่อร่างกายได้รับสารไอโอดีน-131 ก็จะไม่มีที่สะสมและจะถูกขับออกจากร่างกาย ตรงนี้เป็นวิธีป้องกันแต่ผลกระทบชนิดเดียวคือมะเร็งต่อมไทรอยด์ ส่วนซีเซียม-137 นั้นจะส่งผลกระทบต่อกระดูก และยังมีสารตัวอื่นๆ อีก สันติแสดงความเห็นด้วยว่า สถานการณ์ขณะนี้อาจไปไกลกว่าการลดแรงดัน เพราะทางบริษัทออกมายอมรับว่าแท่งเชื้อเพลิงบางส่วนอาจกำลังหลอมละลายเพราะไม่มีใครรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในเตาปฏิกรณ์ ทั้งนี้การหลอมละลายหมายถึงว่าตัวแท่งเชื้อเพลิงซึ่งมีลักษณะเป็นแท่ง (แท่ง Zircaloy มีจุดหลอมเหลว 2,200 องศาเซลเซียส) ที่บรรจุแคปซูลที่ห่อหุ้มธาตุยูเรเนียมเอาไว้ หากท่อตรงนี้หลอมละลาย แคปซูลยูเรเนียมก็จะหล่นลงมาและหลอมละลายผนังโลหะเตาเผาปฏิกรณ์ ทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วออกมาภายนอก ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งถือว่าน่ากลัวมาก “เรื่องการรั่วไหลของรังสีในญี่ปุ่นนั้นเกิดอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ แล้วแต่ละครั้งทางบริษัทและทางรัฐบาลจะพูดในเสียงเดียวกันในการประกาศต่อประชาชน พอปิดไม่ได้ก็จะยอมรับว่ามีการรั่วไหลของรังสี แต่อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ส่วนครั้งนี้ที่น่าสนใจ คือมีคำพูดเพิ่มเติมมานิดหนึ่งว่า อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายในทันใด ก็หมายความว่าต้องรอดูต่อไปในอนาคต นี่คือสิ่งที่พูดตั้งแต่ก่อนเครื่องหมายเลข 1 ระเบิด” สันติกล่าว
การคัดค้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น วิฑูรย์กล่าวถึงการเริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นว่า หลังจากญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณูโดยสหรัฐฯ และกลายเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม สหรัฐฯ ได้เข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองในญี่ปุ่น และมีการร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของนิวเคลียร์ แต่ในอีกทางหนึ่งสหรัฐฯ ก็ต้องการใช้นิวเคลียร์ โดยสร้างภาพในมุมตรงกันข้ามว่าเป็นนิวเคลียร์เพื่อสันติ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ ทำก็คือการไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นไม่มีใครค้านได้เนื่องจากญี่ปุ่นอยู่ในภาวะผู้แพ้สงคราม แต่เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้เริ่มและเกิดการขยายตัวมากขึ้น คนญี่ปุ่นก็มีการออกมาคัดค้าน ต่อคำถามที่ว่าทำไมต้องมีนิวเคลียร์ วิฑูรย์กล่าวว่าคำตอบมักมีการอ้างเหตุผลเรื่องความต้องการไฟฟ้า แต่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1969-2009 พบว่า ตั้งแต่ปี 1995 ความต้องการไฟฟ้าของญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่บางปีกลับลดลง ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบของไทยด้วยต่อการบอกว่าความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความจริงแล้วถึงจุดหนึ่งมันจะไม่เป็นอย่างนั้น ตรงนี้จึงเกิดคำถามอะไรคือเหตุผลของการก่อสร้าง ซึ่งคำตอบก็คือเรื่องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมพลังงานที่ทำให้ต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องของความต้องการไฟฟ้าจริงๆ วิฑูรย์ยังได้ตัวอย่างของอุบัติเหตุและเหตุขัดข้องในญี่ปุ่นปี 2009 ว่ามีถึง 360 กรณี ภายในปีเดียว อุบัติเหตุครั้งสำคัญเช่น ปี 1989 ที่ฟุจิยามะ กลุ่มที่ 2 เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เคยเกิดระบบปั๊มน้ำหล่อเย็นมีปัญหา และเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2007 ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับโรงไฟฟ้าคาชิวาซากิ คาริวะ (Kashiwazaki.Kariwa) ก็ทำให้ประชาชนออกแถลงการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “จริงๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์ทางธรรมชาติที่เราไม่รู้เรื่อง แต่มันมีการทำให้เห็นแล้วว่าอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นกี่ครั้งและเกิดตรงจุดไหนได้บ้าง” วิฑูรย์กล่าว
ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อบทเรียนปัญหานิวเคลียร์ นอกจากนั้นยังมีในเรื่องผลกระทบที่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญไทยบางส่วนพยายามจะออกมาบอกว่าไม่มีการรั่วไหลของรังสี ทั้งที่มีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นออกมายอมรับในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการคิดไปว่ากลุ่มผู้ที่ไม่เอานิวเคลียร์จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ทั้งนี้โดยส่วนตัวคิดว่าท่าทีดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะสังคมควรที่จะมีการเรียนรู้ประสบการณ์และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่การปิดกั้นข้อมูล ซึ่งเขาพบว่าเว็บไซต์หนึ่งซึ่งติดตามและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนิวเคลียร์ถูกบล็อคซึ่งคาดว่าน่าจะโดยกระทรวงไอซีที เนื่องจากเข้าไม่ได้และขึ้นคำว่า mict.go.th ตรงนี้สอดคล้องกับคำเตือนที่ได้รับก่อนหน้านี้ว่าอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ระดับโลก มีการเข้าไปบล็อคเว็บไซต์บางแห่ง ซึ่งอาจโยงมาถึงประเทศในเอเชียด้วย “กระบวนการเรียนรู้ ทำไมเราถึงไปคิดว่าประชาชนโง่ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ต้องมีการกรองและจำกัดการรับรู้ข้อมูล ซึ่งผมติดว่าตรงนี้มันไม่น่าจะถูกต้อง” นายวิฑูรย์แสดงความเห็น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสวนา: การหายตัวของทนายสมชายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนไทยทุกคน Posted: 18 Mar 2011 05:06 AM PDT วานนี้ (17 มี.ค.54) มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (The Justice for Peace Foundation-JPF) และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists –ICJ) จัดกิจกรรมสาธารณะเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านหลักการทางกฎหมายและข้อกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับคดี ของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนมุสลิม ผู้ซึ่งกลายเป็นผู้ที่ "ถูกทำให้หายไป" เป็นเวลานานกว่าเจ็ดปี โดยงานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้น ณ อาคารมณียา เซ็นเตอร์ นำเสวนาโดย นางอังคณา นีละไพจิตร นายโรเจอร์ นอร์มันด์ ศาสตราจารย์วิฑิต มันตราภรณ์ และ นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาเป็นวันที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งห้านายจากความผิดฐานลักพาตัวบุคคล บังคับสูญหาย และทำให้เสียชีวิตในคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร และในวันที่ตัดสินคดีดังกล่าวก็เป็นวันครบรอบการหายตัวไปเจ็ดปีของทนายสมชาย การตัดสินพิจารณาคดีในครั้งนี้จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง หลังจากที่คนรอบข้างต่างก็รอความหวังจากกระบวนการยุติธรรมมานานถึงเจ็ดปี ก่อนการเสวนา ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงลำดับเหตุการณ์ ”ถูกทำให้หายตัวไป" ของทนายสมชาย นีละไพจิตร ตั้งแต่การเริ่มหายตัวไปในวันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 และตัดสินว่า โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจเข้ามาในการพิจารณาของศาล จากนั้นผู้ดำเนินรายการได้เปิดประเด็นโดยชวนผู้เข้าร่วมเสวนาตั้งคำถามต่อคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่มีความเป็นคดีที่ไม่ปกติ โดยเกี่ยวข้องถึงการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ เกี่ยวโยงกับปัญหาทางการเมืองของสามจังหวัดภาคใต้ และรวมถึงรัฐบาลแต่ละสมัยที่ล้วนแต่แสดงความเพิกเฉยต่อคดี จากนั้นจึงเริ่มการอภิปราย
แฉพยานถูกคุมคาม มาตรการคุ้มครองพยานล้มเหลว นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่านายสมชายต้องการเป็นทนายความเพราะต้องการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในสังคม คุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ และการเอารัดเอาเปรียบในสังคม โดยเชื่อมั่นและไม่เคยท้อถอยต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นจุดเริ่มต้นในการทำคดีที่เกี่ยวข้องกับระหว่างชาวมุสลิมกับภาครัฐ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก่อนการเสียชีวิตมักจะมีเหตุการณ์คุกคามต่างๆ เช่น การข่มขู่ทางโทรศัพท์ สำหรับความคืบหน้าในคดีทนายสมชายที่ผ่านมานั้น ศาลเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ พยานกับประจักษ์พยานไม่สอดคล้องกัน ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงยกฟ้องทั้งหมด "พยานหลักฐานที่สำคัญได้ถูกทำลาย” นางอังคณากล่าวถึงหลักฐานการโทรศัพท์และพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏพบก่อนหน้านี้ ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าเหตุมใดในเวลาต่อมาจึงมีผลออกมาว่าไม่พบหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ใดๆเลย ขณะที่ประจักษ์พยานซึ่งเป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด นางอังคณาได้ย้ำทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพยานหลักฐานและพยานบุคคลในคดีการหายตัวของนายสมชาย นำไปสู่คำถามว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กระทำผิด เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งศาล สุดท้ายประชาชนจะได้ความเป็นธรรมได้อย่างไร
ชี้คดีทนายสมชายมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง นายโรเจอร์ นอร์มันด์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย- แปซิฟิค คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า กรณีทนายสมชาย นับว่าเป็นกรณีสำคัญของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ถ้ากรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นกับทนายสมชายได้ ก็สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้เช่นกัน พร้อมตั้งคำถามว่า “มีใครยังเชื่ออยู่บ้างไหมว่าทนายสมชายยังมีชีวิตอยู่” และ “คุณเชื่อหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เบื้องหลัง” นอร์มันด์เห็นว่า คดีทนายสมชาย เป็นตัวอย่างของพลเมืองไทยที่ไร้การคุ้มครองจากรัฐ และก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย นายนอร์มันด์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเมืองของไทย มีส่วนอย่างสัมพัน์กับผลของคดีในหลายกรณี เช่น กรณี การเสียชีวิตของชาวมุสลิมที่ตากใบ กรณีกรือเซะ และกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภาคใต้ นายนอร์มันกล่าวว่า องค์กรนิติศาสตร์สากลเป็นกังวลกับเหตุการณ์เหล่านี้มาก ถ้าหากรัฐไทยไม่สามารถสร้างความยุติธรรม โดยเฉพาะกับคนเชื้อไทยเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ รัฐก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้
‘วิฑิต’ วิพากษ์ไร้ความโปร่งใสในการสอบสวนคดี นายวิฑิต มันตราภรณ์ ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และอดีตผู้แทนพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในว่า การแสวงหาความยุติธรรมในไทยตกอยู่ในสถานการณ์มีความมืดมัว ขาดความโปร่งใส และไม่ชัดเจนอยู่มาก นายวิฑิต กล่าวว่า "การอุ้ม" เป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลในระดับที่รุนแรง เป็นความผิดที่มีผลต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเปิดเผยว่าคนที่ถูกทำให้หายไปนั้นอยู่ที่ไหน กรณีการอุ้มนี้ควรถือเป็นความผิดและควรมีกฏหมายรองรับเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ดำเนินการ ประเด็นต่อมาคือ อนุสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้เคยลงนาม หรือกำลังจะลงนามกับองค์การสหประชาชาติว่า ไทยจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในประเด็นเรื่องความผิดที่ควรมีช่วงอายุเวลาที่ยาวนานพอ การสอบสวนต้องอิสระ และต้องครอบคลุมถึงการควบคุมตัวและการโดนบังคับขืนใจ นอกจากนั้นผู้เสียหายจะต้องได้รับการชดใช้ค่าเสียหายอย่างเป็นธรรม และต้องมีการจัดตั้งกรรมการจากสหประชาชาติเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่มีความเป็นสากล สำหรับอนุสัญญาที่ไทยลงนามนั้น หากไทยได้เป็นภาคี ก็จะต้องปรับปรุงกฎหมายอย่างจริงจังเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาที่ลงนาม และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คดีทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองด้วย นายวิฑิตย้ำว่า คดีทนายสมชายไม่ใช่แค่คดีทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองในสามจังหวัดภาคใต้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสอบสวนคดีอย่างอิสระและเอกเทศ โดยไม่มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลของคดี เพราะที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ล้วนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ทั้งสิ้น
เชื่อ "คนหาย" ต่อเนื่อง หลังผู้กระทำผิดคดีทนายสมชายยังลอยนวล นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาวของทนายสมชาย กล่าวว่า การลอยนวลของผู้กระทำความผิดในกรณีนี้ ส่งสัญญาณมาถึงคนทั้งประเทศว่า การทำให้บุคคลสูญหายจะยังคงไม่ยุติลง หลังจากที่ทนายสมชายหายไปเมื่อปีพ.ศ. 2547 หลังจากนั้นประเทศไทยเกิดบุคคลสูญหายเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เธอเพียงแต่หวังว่าหากทำให้คดีของทนายสมชายเกิดความก้าวหน้าได้บ้าง ก็น่าจะยุติหรือหยุดตัวเลขของผู้สูญหายในประเทศไทยได้ แต่วันนี้เธอพบแล้วว่าไม่ใช่อย่างนั้น ประทับจิตกล่าวทิ้งท้ายว่า เรามักจะพูดถึง "สันติภาพ" แต่เธอเห็นว่าสันติภาพต้องไม่ใช่แค่เรื่องของความสามัคคี แต่ต้องเป็นสันติภาพที่คำนึงถึงความหลากหลาย สันติภาพที่มีคุณภาพ และมีความเป็นธรรม และหวังว่าประเทศไทยจะเร่งรัดลงสัตยาบันเป็นภาคีว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยบุคคลสูญหาย เพื่อยุติการทำให้บุคคลสูญหายได้จริงๆ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จีนสั่งระงับโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Posted: 18 Mar 2011 04:54 AM PDT กรณีมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุ ชิมาไดอิจิ หลังเกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์และสึนามิ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิภาคคันโตของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด (16 มี.ค.) นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหารือในกรณีดังกล่าว ที่ประชุมระบุว่า จากการตรวจสอบรังสีในอากาศในประเทศจีน ไม่พบว่ามีการฉายรังสีผิดปกติ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย จากการวิเคราะห์ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการประสานงานเหตุการณ์ฉุกเฉินนิวเคลียร์แห่งชาติ ระบุว่า สารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาเมื่อผ่านอากาศและมหาสมุทรจะเจือจางลง ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศจีน ที่ประชุมเน้นว่า การพัฒนาพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรกและอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า 1.ให้ตรวจสอบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่อย่างถี่ถ้วน ทันที รวมถึงตรวจสอบความเสี่ยงที่อาจมีและเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสม 2.เพิ่มมาตรการจัดการความปลอดภัยอย่างเข้มข้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังดำเนินงานอยู่ 3.ตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังสร้างอยู่ ประเมินความปลอดภัยต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังสร้างอยู่ทั้งหมดโดยต้องใช้มาตรฐานที่ทันสมัยที่สุด ถ้ามีความเสี่ยงต้องปรับปรุงทันที และหากการก่อสร้างไม่ตรงตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยต้องหยุดการสร้างทันที 4.ระงับการอนุมัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนกว่ามาตรการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์จะได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้ ที่ประชุมสั่งว่า จะต้องตรวจสอบปริมาณรังสีในอากาศอย่างเข้มข้น รวมถึงรายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ รวมถึงต้องให้ช่วยเหลือชาวจีนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยรุนแรงในญี่ปุ่น ให้ย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด สำหรับผู้ประสบภัยในญี่ปุ่นนั้น เมื่อวันที่ 17 มี.ค. สถานทูตจีนรายงานข้อมูลยืนยันว่า มีชาวจีนเสียชีวิตในเหตุการณ์สีนามิที่เกิดขึ้นวันที่ 11 มี.ค. 1 ราย ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในอำเภออิกิกาตะของญี่ปุ่น ได้จัดพื้นที่พักและของใช้ที่จำเป็นแก่คนที่ย้ายออกจากพื้นที่ประสบภัยโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่นของญี่ปุ่น ในการจัดรถบัสจากท้องถิ่นไปรับคนจีนในพื้นที่ประสบภัยรุนแรงราว 6,000 คนใน 4 อำเภอ คือ อำเภอมิยากิ อำเภอฟุกุชิมะ อำเภออิบารากิ และอำเภออิวะเดะ เพื่อไปส่งที่สนามบินนาริตะและสนามบินอิกิกาตะ พร้อมช่วยติดต่อสายการบินจีนส่งพวกเขาเดินทางกลับประเทศ โดยในจำนวนนี้มีกว่า 2,000 คนเดินทางถึงประเทศจีนแล้ว แปลและเรียบเรียงจาก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สัญญาโทรศัพท์ 3G ระหว่าง กสท.-ทรู: สัมปทานจำแลงในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ Posted: 18 Mar 2011 04:38 AM PDT
ในช่วงปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา กสท. โทรคมนาคม ได้ทำสัญญาในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G หลายฉบับกับบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น หากดูผิวเผิน อาจเกิดความรู้สึกว่า สัญญาเหล่านี้จะทำให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่ถ้าศึกษาให้ดีจะพบว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกำลังจะถลำเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งความด้อยพัฒนาและปัญหาหมักหมมไปอีกนาน แม้สัญญาที่เกี่ยวข้องจะมีหลายฉบับ สาระสำคัญส่วนใหญ่ก็อยู่ในสัญญาเพียง 2 ฉบับหลักที่เรียกว่า “สัญญาเช่า” และ “สัญญาขายส่ง” ในส่วนของสัญญาเช่านั้น กสท. จะ “เช่า” อุปกรณ์โทรคมนาคมจาก บีเอฟเคที ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ทรู มาติดตั้งบนเสาโทรคมนาคมที่ กสท. จะสร้างขึ้น ในขณะที่สัญญา “ขายส่ง” นั้น กสท. ก็จะนำเอาโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดที่มีคือ เสา และระบบสื่อสัญญาณที่สร้างขึ้น และอุปกรณ์ที่เช่ามาจากทรู นำมา “ขายส่ง” ให้ เรียลมูฟ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ทรู อีกแห่งหนึ่ง โดยเรียลมูฟ จะมีสิทธิในการใช้โครงข่ายดังกล่าว 80% ของความจุ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือของตน (ดูภาพประกอบ)
ในความเห็นของผู้เขียน สัญญาต่างๆ เหล่านี้มีปัญหาใหญ่ 2 ประการคือ ความชอบด้วยกฎหมายในการทำสัญญา และเนื้อหาของสัญญาที่ กสท. น่าจะเสียเปรียบ ทรู เป็นอย่างมาก ในส่วนของข้อกฎหมายนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า สัญญาดังกล่าวเมื่อดูในภาพรวมแล้ว น่าจะเข้าข่ายเป็นสัญญาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (“กฎหมายร่วมทุน”) เนื่องจากมีสาระสำคัญแทบไม่แตกต่างจากสัญญาสัมปทานโดยทั่วไป หากเป็นเช่นนั้นจริง การทำสัญญานี้ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดเช่น โครงการต้องผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ การคัดเลือกเอกชนคู่สัญญาต้องมีการแข่งขันเปิดกว้าง ไม่ใช่การคัดเลือกทรู มาเพียงรายเดียว เราอาจมองได้ว่า การที่สัญญาระหว่าง กสท. และทรู ถูกแบ่งซอยออกเป็นสัญญาย่อยๆ หลายฉบับนั้น เป็นความพยายามของคู่สัญญาในการหลีกเลี่ยงกลไกการตรวจสอบตามกฎหมายร่วมทุน ทั้งนี้ ผู้บริหารของ กสท. อ้างว่าสัญญาดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่ต้องทำตามกฎหมายร่วมทุน ทั้งที่หลายฝ่ายรวมทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตั้งข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว แต่กลับไปอ้างว่าอัยการให้ความเห็นชอบกับสัญญาต่างๆ แล้ว ทั้งที่อัยการเองก็ยังไม่น่าจะได้เห็นสัญญาครบทั้งหมด และในส่วนของสัญญาที่อัยการได้เห็น ก็ได้ตั้งข้อสังเกตและให้คำเตือนต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ในส่วนของ “สัญญาเช่า” ยังมีเนื้อหาที่กำหนดให้ กสท. ต้องนำเอาคลื่นความถี่ของตนไปใช้กับอุปกรณ์ของเอกชนที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งน่าจะผิดบทบัญญัติของกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (กฎหมาย กสทช.) ที่ห้ามผู้ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ นำเอาคลื่นความถี่ไปให้ผู้อื่นใช้ต่อ ยิ่งไปกว่านั้น สัญญาดังกล่าวยังมีเงื่อนไขหลายข้อที่น่าจะขัดต่อบทบัญญัติเรื่องการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามกฎระเบียบในการประกอบกิจการโทรคมนาคมอีกด้วย ที่น่าพิศวงอีกประการหนึ่งก็คือ กสท. กล้าทำสัญญาเช่าดังกล่าวกับทรู เป็นเวลาถึง 14.5 ปีทั้งที่โครงการยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์และยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนนตรีเลย โดยผู้บริหาร กสท. อ้างว่า กำลังดำเนินการคู่ขนานกันไป ซึ่งน่าจะหมายความว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎระเบียบ นอกจากความเสี่ยงที่จะขัดกับกฎหมาย 4-5 ฉบับดังกล่าวมาแล้ว ในส่วนของเงื่อนไขข้อสัญญา ผู้เขียนก็เห็นว่า ฝ่ายรัฐคือ กสท. เสียเปรียบฝ่ายเอกชนอย่างชัดแจ้งหลายประการ เช่น จังหวะก้าวในการลงทุนทั้งหมด จะถูกกำหนดมาจากความต้องการของทรูเป็นหลัก ซึ่งผิดกับลักษณะการ “ขายส่ง”โดยทั่วไป ที่เจ้าของโครงข่ายจะเป็นผู้ตัดสินใจลงทุนขยายโครงข่ายตามความต้องการของตนเอง ที่สำคัญ ผลตอบแทนที่ กสท. จะได้รับจากการทำสัญญาครั้งนี้ ไม่น่าจะคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ตนจะต้องลงทุนไป เพราะแม้แต่ในการประมาณการกรณีที่ดีที่สุด (best scenario) สำหรับ กสท. กสท. จะได้ผลตอบแทนจากการทำสัญญาดังกล่าวเพียง 1.4 หมื่นล้านบาท ตลอดเวลา 14.5 ปี ผลตอบแทนดังกล่าวน้อยมาก เมื่อพิจารณาว่า ลำพังมูลค่าของคลื่นความถี่ที่ กสท. จะต้องนำมาให้ทรูใช้ ก็มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.28 หมื่นล้านบาทแล้ว หากประเมินตามราคาที่ กทช. เคยตั้งไว้ ทั้งนี้ การคิดผลตอบแทนดังกล่าวยังน่าจะไม่ได้รวมภาระด้านเงินต่างๆ ที่ กสท. จะต้องแบกรับไว้ด้วยเช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่ต้องจ่ายให้ กทช. ประมาณ 2% และค่าบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บที่อัตรา 4% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ตลอดจนต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงานและค่าบริหารจัดการ การทำสัญญานี้ ยังส่งผลให้ กสท. หมดสภาพความเป็น “ผู้รับใบอนุญาตประเภทที่มีโครงข่ายโทรคมนาคม” ไปโดยปริยาย เพราะจะมีสภาพแทบไม่แตกต่างจาก “ผู้รับเหมาก่อสร้างเสาโทรคมนาคม” เนื่องจากการดำเนินการตามสัญญาจะทำให้ กสท. ไม่มีแม้แต่อุปกรณ์ 3G เป็นของตนเอง และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวลาไม่นาน ในเวลาเดียวกัน ทรู จะได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการทำสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญที่สุดก็คือ จะได้สิทธิในการประกอบการต่อไปอีก 14.5 ปี โดยไม่ต้องห่วงว่าสัมปทานที่มีอยู่จะหมดอายุลงภายใน 2 ปี และจะได้คลื่นความถี่ฟรี โดยไม่ต้องไปประมูลแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้ ทรูจะยังสามารถย้ายลูกค้าตามสัมปทานปัจจุบันไปใช้โครงข่ายใหม่ โดยไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ กสท. อีกต่อไป ทั้งหมดนี้ จะทำให้ทรูได้สิทธิในการเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์ 3G ก่อน และมีต้นทุนในการให้บริการต่ำกว่าคู่แข่ง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การผูกขาดตลาดการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สายในระยะยาว นอกจากการสร้างการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมแล้ว “สัมปทานจำแลง” ระหว่าง กสท. และ ทรู นี้ยังจะทำให้ระบบสัมปทานซึ่งเป็นต้นตอของความล้าหลังและความฉ้อฉลในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย คงอยู่ต่อไปอีกเกือบ 15 ปี และจะทำให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่สามารถแยกออกจากการเมืองได้ ไม่น่าแปลกใจว่า สัมปทานโทรคมนาคม เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลที่มีภาพพจน์แปดเปื้อนไปด้วยคราบไคลของการคอร์รัปชั่นเมื่อสองทศวรรษก่อน แต่ที่น่าสลดใจก็คือ สัมปทานจำแลงกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรี ซึ่งย้ำอยู่เสมอว่า ตัวท่านไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และรัฐบาลของท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างธรรมาภิบาล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พม่าปราบหนักกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ล่าสุดต้องสละฐานหลายแห่ง Posted: 18 Mar 2011 03:57 AM PDT กองทัพรัฐบาลพม่าเริ่มปราบกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” SSA-N ตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ โดยล่าสุดสามารถยึดที่มั่นของทหารกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” ได้หลายแห่ง โดยทหาร SSA-N ได้สละฐานบ้านน้ำเลา และหลังจากทหารพม่าได้เข้ายึดพื้นที่และมีการเผาบ้านเรือนชาวบ้านกว่า 200 หลัง และมีผู้อพยพไปอยู่เมืองสู้แล้วกว่า 800 คน แฟ้มภาพกองทัพรัฐฉาน “เหนือ” หรือ Shan State Army 'North' ซึ่งเดิมคือกองพลน้อยที่ 1 ของกองทัพรัฐฉานเหนือ SSA-N อย่างไรก็ตาม กองพลน้อยที่ 1 ดังกล่าวไม่ยอมเปลี่ยนสถานะจากกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภายใต้กองทัพพม่า เมื่อกลางปีที่ผ่านมา และตั้งกองทัพ “SSA-N” ขึ้นใหม่ และมีองค์กรทางการเมืองของตนคือพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน หรือ Shan State Progress Party - SSPP ล่าสุดกองทัพพม่าเริ่มทำการปราบปรามกองกำลังดังกล่าว (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/สำนักข่าวฉาน) มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า หลังจากกองทัพรัฐบาลทหารพม่ามีการเสริมกำลังทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ ปืนใหญ่ และรถถัง เข้าประชิดพื้นที่เคลื่อนไหวกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" หรือ กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" Shan State Army 'North' อดีตกองกำลังหยุดยิงที่ปฏิเสธจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะนี้กองทัพรัฐบาลได้ปฏิบัติการทางทหารต่อกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" อย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยการโจมตีอย่างเต็มแบบซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการเปิดสงครามต่อกองทัพไทใหญ่ "เหนือ" ได้ปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2554 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้การสู้รบของทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือดและเกิดขึ้นในหลายจุดพร้อมกัน ทั้งทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศตะวันออกของพื้นที่บ้านไฮ ที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่กองทัพรัฐฉานเหนือ SSA 'North' โดยฝ่ายทหารกองทัพรัฐบาลพม่าได้ใช้อาวุธหนัก ปืนใหญ่ ในการโจมตีเป็นหลัก โดยทำการยิงจากที่ไกลถล่มเข้าใส่ฐานที่ตั้งของ SSA 'North' พร้อมกันนั้นได้ส่งกำลังทหารภาคพื้นซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากกองกำลังอาสาสมัครในพื้นที่เข้าโจมตีอีกทาง ส่งผลให้ทางฝ่าย SSA 'North' ไม่สามารถต้านทานการโจมตีและต้องสละทิ้งฐานที่ตั้งสำคัญแล้วหลายแห่ง ปฏิบัติการกองทัพรัฐบาลทหารพม่าในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ต้องสละละทิ้งบ้านเรือนอพยพไปออกอยู่นอกพื้นที่นับร้อย ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนถูกทหารพม่าบังคับเป็นลูกหาบ และถูกเกณฑ์ยานพาหนะใช้สำหรับลำเลียงกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ ขณะทีมีบ้านเรือนชาวบ้านหลายหลัง และศาสนสถานของวัดถูกกระสุนปืนใหญ่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ มีชาวบ้านถูกทหารยิงเสียชีวิตหลายคน “สำนักข่าวฉาน S.H.A.N.” ได้ติดตามสถานการณ์และรายงานลำดับเหตุการณ์ดังนี้ ทหารพม่าเริ่มโจมตี SSA "เหนือ" การโจมตีกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ของทหารกองทัพพม่า เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 13 มี.ค. จุดแรกเริ่มขึ้นที่บริเวณใกล้วัดหนองเฮว บ้านหลวงเมืองออด เขตอำเภอเมืองสู้ ต่อมาเวลาประมาณ 6.30 น. ของวันที่ 14 มี.ค. ทหารพม่าได้เปิดฉากโจมตีกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" อีกบริเวณระหว่างบ้านม้าแห่ และ บ้านหัวน้ำ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเมืองออด ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือด ขณะที่ฝ่ายทหารพม่าได้ใช้ปืนใหญ่ยิงโจมตีพื้นที่ที่เชื่อว่ามีกำลังทหารกองทัพรัฐฉานประจำอยู่หลายแห่งพร้อมกัน โดยมีรายงานว่า มีชาวบ้านถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บอีก 6 คน ในจำนวนมีเด็กอายุระหว่าง 7 – 10 ขวบ 2 คน ขณะนี้กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองสู้ นอกจากนี้ เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. วันที่ 13 มี.ค. กองทัพพม่าได้เสริมกำลังทหารเข้าประชิดพื้นที่กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA 'North' จากเมืองลายค่า ไปเมืองหนอง (อยู่ตอนใต้ บก. SSA 'North') ด้วยบรรทุกทหารจำนวน 15 คัน ขณะนี้ในพื้นที่โดยรอบพื้นที่เคลื่อนไหวของกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" มีกำลังทหารพม่าจากหลายกองพันเคลื่อนไหวอยู่ไม่ต่ำกว่า 2,000 นาย ก่อนเที่ยงวันของวันที่ 15 มี.ค. ทหารพม่าได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเมืองก๋าว ไปแจ้งทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ที่ประจำอยู่ที่บ้านน้ำเลา (เขตเมืองต้างยาน อยู่ทางทิศเหนือเมืองสู้) โดยให้ถอนกำลังทหารออกนอกพื้นที่ทั้งหมด แต่ทางฝ่าย SSA 'North' ปฏิเสธและให้เหตุผลว่า พื้นที่ดังกล่าวทหาร SSA 'North' ได้ประจำอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว จากนั้นในเวลาประมาณ 13.40 น. ทหารพม่าได้เปิดฉาก ยิงใส่ฐานทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA 'North' ที่บ้านน้ำเลา ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือดตลอดทั้งวัน โดยทหารพม่าใช้ปืนใหญ่ยิงใส่ฐานดังกล่าว กว่า 100 ลูก กระสุนปืนใหญ่ตกใส่วัด พระเณรเจ็บ 4 รูป การสู้รบกันที่บ้านเลา เขตเมืองต้างยาน เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ทำให้มีกระสุนปืนใหญ่ของทหารพม่าตกใส่บริเวณวัดจองห่อง ซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่สู้รบกว่า 30 ลูก ทำให้วิหารของวัดที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2553 ได้รับความเสียหาย และมีพระเณรถูกสะเก็ดระเบิด 4 รูป นอกจากนี้บริเวณวัดจองจาน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนักก็ถูกกระสุนปืนใหญ่ทหารพม่าตกใส่ 4-5 ลูก ทำให้ศรัทธาญาติโยมซึ่งกำลังไปทำบุญถูกสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บสาหัส 1 คน ฐาน SSA 'North' ถูกยึดหลายแห่ง มีรายงานว่า หลังจากทั้งสองฝ่ายสู้รบกันที่บ้านน้ำเลา อย่างหนักตลอดทั้งวันของวันที่ 15 มี.ค. ในที่สุดทางฝ่ายทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ได้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ และทหารพม่าได้เข้ายึดฐานได้สำเร็จ โดยการถอนกำลังออกจากฐานบ้านน้ำเลา ซึ่งเป็นฐานใหญ่อีกแห่งของกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ทางเจ้าหน้าที่กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหากเกิดการสู้รบต่อเนื่องอาจทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีรายงานยังไม่ยืนยันว่า หลังจากทหารพม่าเข้ายึดฐานน้ำเลา ได้มีการเผาทำลายบ้านเรือนชาวบ้านในพื้นที่เสียหายกว่า 200 หลัง มีชาวบ้านอพยพไปอยู่ทางเมืองสู้ กว่า 800 คน และในวันเดียวกันนี้ ได้เกิดการสู้รบกันของทหารทั้งสองฝ่ายอีกที่บ้านน้ำม้า-หมอกตอง อยู่ระหว่างเมืองล่าเสี้ยวและเมืองไหย๋ การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด เมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) มีรายงานว่า ทหารพม่าสามารถเข้ายึดฐานของทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ในพื้นที่บ้านน้ำม้า-หมอกตอง ได้แล้ว นอกจากนี้ ทหารพม่ายังสมารถยึดฐานทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ได้อีกแห่งที่ตั้งอยู่บนดอยเขียว บนเส้นทางสู่ท่าข้ามแม่น้ำสาละวิน "ท่าวึนแกง" ซึ่งการยึดฐานแห่งนี้ เชื่อว่า เป็นการตัดกำลังสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐว้า UWSA ที่มีพื้นที่ครอบครองอยู่ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นกลุ่มสัมพันธมิตรของกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ทหารพม่าเสริมกำลัง / เกณฑ์ลูกหาบ เช้าวันที่ 16 มี.ค. มีผู้พบเห็นรถบรรทุกทหารพม่าราว 9 – 10 คัน บรรทุกทหารเต็มทุกคันจากเมืองสู้มุ่งขึ้นไปทางบ้านเลา เชื่อว่าเข้าไปเสริมกำลังในพื้นที่เพื่อกดดันปราบปรามทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ที่ยังมีเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ทหารพม่าได้มีการเกณฑ์ชาวบ้านในพื้นที่เป็นลูกหาบสำหรับการลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงในการลาดตระเวนด้วย มีรายงานอีกว่า กองทัพพม่ามีคำสั่งให้ทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำป๋าง ให้ถอนกำลังกลับบ้านไฮ ที่ตั้ง บก.สูงสุด ภายในวันที่ 20 มี.ค. นี้ และยื่นคำขาดให้วางอาวุธภายในวันที่ 1 เม.ย. 2554 หากไม่วางอาวุธให้ถอนกำลังทั้งหมดออกจากพื้นที่ครอบครอง โดยขณะนี้ทุกด้านของบ้านไฮ มีกำลังทหารพม่าประจำอยู่เป็นจำนวนมาก เผย รบ.พม่ามุ่งทำลายสหภาพ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA 'North' ได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ระบุ กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA 'North' ยึดมั่นความเป็นชาติสหภาพ สิทธิเท่าเทียม สันติภาพ และมุ่งร่วมพัฒนาสหภาพให้เจริญก้าวหน้า ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยก ต้องการแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยวิธีเจรจาทางการเมือง โดยเรื่องนี้ กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA 'North' เคยยื่นเสนอต่อรัฐบาลทหารพม่าหลายครั้ง แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ให้ความสำคัญ มุ่งแต่สร้างความแตกแยกและกำจัดกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยังคงยึดนโยบายตัด 4 ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวรัฐฉานต่อเนื่อง และยังส่งกำลังทหารเข้ากดดันกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" จนเกิดการสู้รบกัน สำหรับกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" (SSA 'North') มี พล.ต.ป่างฟ้า เป็นผู้นำสูงสุด เป็นกองทัพตั้งขึ้นใหม่จากกองพลน้อยที่ 1 ของกองทัพรัฐฉาน SSA ภายใต้การนำของ พล.ต.หลอยมาว ที่เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน (BGF) เมื่อกลางปีที่ผ่านมา กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ปัจจุบันมีองค์การเมืองชื่อ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progress Party - SSPP) มีกำลังพลราว 3,000 นาย เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐฉานตอนกลาง และตอนบน มีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่บ้านไฮ เขตเมืองเกซี โดยกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" เป็นกลุ่มสัมพันธมิตรกับกองทัพสหรัฐว้า UWSA กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย (เมืองลา) NDAA และกองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA นอกจากนี้ กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" ยังเป็นแนวร่วมกลุ่มคณะกรรมการเพื่อการฉุกเฉินแห่งสหพันธรัฐสหภาพ (Committee for the Emergency of a Federal Union – CEFU) ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วม
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ได้ประกัน ผู้ต้องหาขายซีดีหมิ่นฯ พ่อชราหอบเงิน 5 แสนเป็นหลักทรัพย์ Posted: 18 Mar 2011 02:29 AM PDT 18 มี.ค.54 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา รายงานข่าวแจ้งว่า นายเจริญ ผลสมบูรณ์ อายุ 82 ปี พ่อของนายเอกชัย หงส์กังวาน ผู้ต้องหาขายวีซีดีเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง ได้นำเงินสด 500,000 บาทมาเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว และศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. หลังจากวานนี้ (17 มี.ค.) ได้นำโฉนดที่ดินมาวางเป็นหลักทรัพย์แต่มูลค่าไม่ถึง 500,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงไม่รับพิจารณา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายเอกชัย หรือเอก หงส์กังวาน อายุ 35 ปี ในวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมาบริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาข้างสนามหลวง โดยทำการล่อซื้อวีซีดีที่เขาขายแผ่นละ 20 บาท แล้วแจ้งข้อหาคดีหมิ่นเบื้องสูง และคดีจำหน่ายวีดิทัศน์โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน พร้อมด้วยของกลางเป็นวีซีดีกว่า 100 แผ่น เครื่องไรท์ซีดี 1 เครื่อง พร้อมด้วยเอกสารของวิกิลีกส์จำนวน 10 ฉบับ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาลยกฟ้อง ‘เคทอง’ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีถูกกล่าวหาโพสต์คลิปขู่บึ้ม Posted: 18 Mar 2011 01:44 AM PDT 18 มี.ค.54 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ถรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1342/2553 ที่ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายพรวัฒน์ ทองธนบูรณ์ หรือเคทอง อายุ 50 ปี คนสนิท พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง เป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ จากกรณีที่จำเลยประกาศผ่านแคมฟร็อกเมื่อ 26-27 ก.พ.53 ซึ่งโจทก์ระบุว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่ใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริต หรือวิจารณ์โดยความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ จะสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและการก่อการร้าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 392 ศาลพิเคราะห์แล้ว จำเลยเบิกความนำสืบถึงวันและเวลาในการทำงานของจำเลยโดยละเอียดหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ขณะที่โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอมานำสืบว่าจำเลยกระทำความผิดพิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกข้อกล่าวหา ทั้งนี้ นายพรวัฒน์ยังคงเหลือคดีอาวุธปืนอีกหนึ่งคดี สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ประกายทุนเสวนา“น้ำมันปาล์มและน้ำตาลทราย กับการบิดเบือนกลไกตลาด” Posted: 17 Mar 2011 09:27 PM PDT วานนี้ 17 มีนาคม 2554 เวลา 14.00 -16.00 น. กลุ่มประกายทุนจัดงานเสวนาในหัวข้อ “น้ำมันปาล์มและน้ำตาลทราย กับการบิดเบือนกลไกตลาด” ที่ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน คือ รศ.ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์ และ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยากรได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงต้นตอปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกษตร 2 ชนิดในท้องตลาดวันนี้ ซึ่งก็คือ น้ำมันปาล์ม และน้ำตาลทราย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ รศ.ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์ แจงปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มในท้องตลาดว่า เกิดจากสองปัจจัยหลักได้แก่ การแทรกแซงจากรัฐ และปัญหาตามธรรมชาติที่ปริมาณผลผลิตปาล์มดิบลดลงเนื่องจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 ในปัจจัยแรกนั้น รัฐบาลแทรกแซงบิดเบือนกลไกตลาดโดยร่วมมือกลุ่มคนบางกลุ่มที่เป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์แบบผูกขาดในประเทศไทย ซึ่งมีรายใหญ่อยู่ 6 ราย ทำการควบคุมปริมาณสินค้าน้ำมันปาล์มไม่ให้ออกสู่ท้องตลาดอย่างเพียงพอเพื่อให้เกิดภาวะน้ำมันปาล์มขาดตลาด แล้วราคาก็จะสูงขึ้นจากนั้นก็ค่อย ๆ ทะยอยปล่อยน้ำมันปาล์มที่กั๊กไว้ออกมาเป็นช่วง ๆ ทำให้สามารถกินกำไรส่วนต่างของราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับมีนโยบายจากรัฐคอยสนับสนุนหลายด้าน เช่นการห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์ม (แต่ไม่ห้ามส่งออก) มาภายหลังที่สถานการณ์ขาแคลนสุกงอมจึงมีการให้โควต้านำเข้าน้ำมันปาล์ม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มรายใหญ่นั่นเองที่เป็นผู้นำเข้า นอกจากนี้รัฐบาลยังกดราคาน้ำมันปาล์มให้อยู่ที่ขวดละ 47 บาท ในขณะที่ยกราคาปาล์มดิบขึ้นไปสูงสุดถึงราว 10.5 บาทต่อกิโลกรัม ในหลักเศรษฐศาสตร์ที่ราคาน้ำมันปาล์มกับราคาปาล์มดิบไม่สมดุลกันเช่นนี้จะทำให้เกิดตลาดมืดขึ้น ซึ่งขายน้ำมันปาล์มกันสูงถึงขวดละ 70 บาท ทำให้น้ำมันปาล์มส่วนหนึ่งหายไปจากตลาดสว่าง ส่วนในปัจจัยหลังคือช่วงไตรมาสที่สี่ของปีที่ผ่านมา เกิดภาวะที่ผลผลิตปาล์มลดน้อยลงจริง หรือที่เรียกว่า ”ช่วงปาล์มขาดคอ” คือปาล์มต่อต้นให้ลูกน้อยลงอันเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ขาดปุ๋ย ขาดการบำรุงรักษา และน้ำท่วมพื้นที่ปลูกปาล์มจำนวนหนึ่ง ทำให้ปาล์มดิบขาดแคลนบวกกับการห้ามนำเข้าปาล์ม จึงทำให้ราคาปาล์มดิบสูง เรื่องนี้ทางโรงงานแปรรูปปาล์มก็รู้ จึงไปแย่งซื้อผลปาล์มดิบ เกษตรจึงได้ราคาดี และน้ำมันปาล์มอีกส่วนหนึ่งก็ถูกนำไปทำไบโอดีเซลด้วย ทว่าปัจจัยนี้ไม่ใคร่สำคัญเท่าปัจจัยแรกอันทำให้เกิดวิกฤตน้ำมันปาล์มขึ้น กล่าวโดยสรุปของเหตุการณ์ในครั้งนี้คือ กลุ่มคนบางกลุ่มร่วมมือกับคนจากภาครัฐทำให้น้ำมันปาล์มขาดแคลนเพื่อฟันกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการแทรกแซงแล้วมาแบ่งกัน กระบวนการทั้งหมดนี้มีการวางแผนล่วงหน้ามาแล้วระยะหนึ่งและดำเนินไปตามขั้นตอนที่วางไว้ครบถ้วนกระบวนการ งานนี้จึงมีบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ไปเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลักให้ประชาชนผู้บริโภครับกรรมไปเต็มที่เช่นกันด้วยการแย่งกันซื้อน้ำมันปาล์มในราคาที่แพงมาก และติดอยู่ในภาวะวิตกกังวลต่อการขาดสินค้าบริโภค รศ.ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์ ได้เสนอแนะทางแก้ปัญหานี้ว่า ควรปรับราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มขึ้นแล้วปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มจะอยู่ที่ราวขวดละ 50 – 60 บาท อย่าไปแทรกแซงแต่ว่าการเมืองชอบแทรกแซงเพื่อจะได้มีคนได้เสียผลประโยชน์ เพราะว่าราคาสินค้าเกษตรแต่ละชนิดมีขึ้น-ลงตามธรรมดา ช่วงที่ราคาสูงก็จะชดเชยช่วงที่ราคาต่ำ แต่ตอนนี้ไปกดราคาไม่ให้สูงมันก็ไม่ได้ชดเชยกันจึงเกิดปัญหา เพราะพอช่วงที่ราคาต่ำก็ไปชดเชยให้ไม่ได้ อีกประการหนึ่งสินค้าเกษตรมีการทดแทนกันอยู่แล้ว เช่น ถ้าเนื้อหมูแพงคนก็หันไปกินไก่ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไก พ่อค้าต่าง ๆ ก็สามารถคาดการณ์ทิศทางการค้าขายได้ ส่วนในเรื่องของน้ำตาลก็ใกล้เคียงกัน รศ.ดร.ประยงค์ และ รศ.ดร.พิชิต ยืนยันว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ควรวิตกว่าน้ำตาลจะขาดแคลน เพราะราคาในตลาดโลกยังคงปกติ ส่วนที่ห่วงกันว่าการเอาอ้อยไปทำเอทานอลแล้วอ้อยจะขาดแคลนทำให้ราคาน้ำตาลสูงนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงงานมีทางเลือกที่จะไปผลิตจากมันสำปะหลังได้ สิ่งหนึ่งที่จะยืนยันเสถียรภาพของน้ำตาลในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีก็คือความสัมพันธ์ระหว่างสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทสไทยกับสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ที่ต่างก็เป็นผู้ผูกขาดด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายแรกผูกขาดการขายส่วนฝ่ายหลังผูกขาดการซื่อและการผลิต ทั้งสองฝ่ายต่างมีอำนาจการต่อรองที่ใกล้เคียงกันและต่อรองกันอยู่ตลอดเวลา สหพันธ์ชาวไร่อ้อยกับโรงงานมีระบบแบ่งปันผลประโยชน์กันแบบ 70-30 ตามลำดับ ระบบนี้จะกำหนดทั้งปริมาณและราคาที่ขายในประเทศ (โควต้า ก.) ในกรณีที่ชาวไร่อ้อยกับโรงงานตกลงกันไม่ได้ เมื่อนั้นรัฐบาลก็จะเข้ามาเป็นกรรมการคนกลางช่วยตกลงผลประโยชน์โดยการบอกให้โรงงานรับซื้ออ้อยทั้งหมดบ้าง เป็นต้น นี่ก็ถือเป็นการแทรกแซงจากรัฐบาลเพื่อจะอ้างการันตีว่าผู้บริโภคจะมีปริมาณน้ำตาลบริโภคเพียงพอ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือชาวไร่อ้อยและโรงงานต่างก็จะได้ประโยชน์สูงสุดด้วยการพยายามทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงไว้ เพราะราคามันจะไม่ลง แต่ราคาในตลาดโลกจะขึ้น-ลงตามกลไก พอราคาโลกสูงก็จะมีการลักลอบส่งออกไปขาย ช่วงท้ายของการเสวนาพูดคุย วิทยากรตั้งข้อสังเกตเชิงสรุปว่า กลไกตลาดมักถูกรัฐบาลแทรกแซงโดยมีเรื่องการเมืองและผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง คนที่สูญเสียคือผู้บริโภคที่แบ่งเบาความเสียหายกันไปคนละเล็กคนละน้อยเพราะเป็นคนทั้งประเทศ แต่ละคนจึงไม่ค่อยรู้สึกเสียหายอะไร แต่ผลประโยชน์ไปตกที่คนไม่กี่คนที่รับไปเต็ม ๆ.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น