ประชาไท | Prachatai3.info |
- มาร์คลงพื้นที่ประสบอุทกภัยที่นครศรีธรรมราช
- นักข่าวพลเมือง: กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าเชียงราย ดึงนักวิชาการลงพื้นที่ตรวจสอบ
- แกนนำพันธมิตรฯ ยันไม่แตกแยก "พิภพ" แจง "สมศักดิ์" ปราศรัยไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมาย
- ไล่รื้อชุมชนพระราม 6 ชาวบ้านต่อต้านเกิดปะทะตำรวจ ทำบาดเจ็บหลายราย
- สธ.เดินหน้าเพิ่มจุด “คอนดอม พ้อยท์” ลดชายรักชายติดเอดส์เพิ่ม
- นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านร้องตำรวจขอความเป็นธรรม หลังคดีเด็ก 5 ขวบถูกฆ่าไม่คืบ
- รายงาน: เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ (ตอนที่ 1)
- วงเสวนาประเทศไทยจะไปทางไหน เชื่อไม่มีรัฐประหาร เลือกตั้งแน่ ความแตกแยกไม่จบ
- ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเริ่มขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด
- จดหมายถึงสารคดี “ประเด็นอยู่ที่จรรยาชีพ” ครับท่านบรรณาธิการ
- มาแล้ว! พ.ร.บ.ชุมนุมผ่านกรรมาธิการ เสนอเพิ่มเพียบ
- ดิ ไอริช ไทมส์ สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี้: การโจมตีจะเป็นปรปักษ์กับหลายชาติในโลกอาหรับ
- รายงาน: Neighbour Never Be A Part อย่าลืมแผ่นดินไหวที่พม่า
- ใบตองแห้งออนไลน์: ขอบคุณความเห็นต่าง
- เตรียมอนุมัติงบ 20 ล. ซื้อถุงยังชีพแจกผู้ประสบภัยน้ำท่วม 'มาร์ค' ปล่อยคาราวานช่วยเหลือวันนี้
มาร์คลงพื้นที่ประสบอุทกภัยที่นครศรีธรรมราช Posted: 30 Mar 2011 03:08 PM PDT "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ลงพื้นที่แหลมตะลุมพุกมอบถุงยังชีพ พร้อมเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต และกำชับเจ้าหน้าที่เร่งแจ้งเตือนภัยประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล ศูนย์สื่อทำ้เนียบรัฐบาล รายงานว่า เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพงัน และอำเภอท่าศาลาเพื่อแจกถุงยังชีพ และมอบเงินเยียวยาให้กับญาติผู้เสียชีวิตครอบครัวละ 50,000 บาท นายกรัฐมนตรี กล่าวกับประชาชนว่า ขอให้ประชาชนติดตามการเตือนภัยของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา พร้อมชี้แจงถึงความล่าช้าที่ยังจ่ายค่าเงินชดเชยเงินจำนวน 5,000 บาทให้กับครอบครัวที่ประสบอุทกภัย ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า เนื่องจากมีปัญหาเรื่องรายชื่อที่ซ้ำซ้อน จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ยืนยันว่าจะเร่งรัดช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และเท่าที่ได้รับรายงาน ได้มีการจ่ายไปแล้วร้อยละ 70 - 80 ทั้งนี้ ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีและคณะได้ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วม มีชาวบ้านแหลมตะลุมพุกฝั่งทะเล ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ให้เร่งแก้ปัญหา เนื่องจากมีชาวบ้านกว่า 250 ครัวเรือน ได้รับความเดือนร้อนจากการถูกน้ำทะเลกัดเซาะ โดยต้องการขอย้ายไปอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับเรื่องไว้และจะนำไปหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เพราะต้องผ่านการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และต้องขอยกเว้นในการใช้พื้นที่โดยขอมติคณะรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ได้รับรายงานว่าเกิดเหตุดินโคลนถล่ม เนื่องจากน้ำป่าไหลหลาก ลงมาจากเขาพนม ที่จังหวัดกระบี่ และมีผู้เสียชีวิต โดยพบแล้ว 4 ศพ และยังมีผู้สูญหาย จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้กองทัพเรือกองทัพบก ระดมกำลังในการช่วยเหลือและเร่งค้นหาผู้สูญหายโดยด่วน และกำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งการเตือนภัยและการอพยพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะบริเวณที่ราบเชิงเขา เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมามาก หากพื้นดินอุ้มน้ำมากเกินไป และเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนอาจจะถล่มซ้ำลงมาได้ จึงขอเน้นเรื่องย้ำในเรื่องของความปลอดภัย เพราะขณะนี้สถานการณ์เกิดขึ้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จึงต้องมีการแจ้งเตือนภัยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม น่าเป็นห่วงมากกว่าพื้นที่ฝั่งทะเล ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด ส่วนที่มีรายงานการขึ้นราคาสินค้านั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า จะไม่ยอมเด็ดขาด แต่ขณะนี้ต้องดูแลข้าวของเครื่องใช้ที่ประชาชนประสบปัญหา จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูสภาพพื้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก ที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากน้ำทะเลกัดเซาะจนถึงผิวถนน ทำให้ถนนทรุดตัวลง แม้จะนำกระสอบทราบมากั้นไว้ก็ไม่สามารถต้านทานได้ ก่อนเดินทางต่อโดยรถยนต์ไปไปยัง ศาลาประชาคม อ.ท่าศาลา เพื่อพบปะกับประชาชน และมอบสิ่งของช่วยเหลือหลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปยัง โรงพยาบาลท่าศาลา โดยมี นพ. กิตติ รัตนสมบัติ ผอ.รพ.ท่าศาลา นำตรวจสอบพื้นที่เสียหาย ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยที่นอนพักรักษาอยู่ในโรง พยาบาล ก่อนเดินทางกลับ สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช มี 23 อำเภอ 165 ตำบล 1,551 หมู่บ้าน ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 ทำให้เกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว 23 อำเภอ 159 ตำบล 1,290 หมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำบริเวณเขาหลวง มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น และท่วมกระจายเป็นบริเวณกว้างทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ที่ราบเชิงเขาและที่ลุ่มได้รับความเดือดร้อนประมาณ 90,000 ครัวเรือน 285,000 คน เสียชีวิต 8 ราย เป็นราษฎรจมน้ำ 6 ราย และเป็นพระธุดงค์จากอำเภอขนอม ถึงแก่มรณภาพ 2 รูป นอกจากนี้ สิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหายเป็นถนน 935 สาย พื้นที่การเกษตร 500,000 ไร่ และความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น ประมาณ 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและได้บูรณาการทำงานร่วมกับทหาร ตำรวจ กาชาดจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ ภาคเอกชน อาสาสมัคร โดยเฉพาะสมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้คำแนะนำและประสานการปฏิบัติกับจังหวัดอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วย เหลือพี่น้องประชาชน และได้กำชับให้นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครพื้นที่เฝ้าระวัง เตรียมการอพยพ ให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงที และแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
ที่มา: เรียบเรียงจาก ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
นักข่าวพลเมือง: กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าเชียงราย ดึงนักวิชาการลงพื้นที่ตรวจสอบ Posted: 30 Mar 2011 03:00 PM PDT กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าที่ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ยันโรงไฟฟ้าจะเกิดปัญหาฝุ่นละออง แย่งน้ำกับชุมชน พบบริษัทที่จะก่อสร้างเชื่อมโยงกับบริษัทโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ซึ่งถูกศาลปกครองสั่งระงับโครงการ เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) กลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่อำเภอเวียงชัย ซึ่งเตรียมก่อสร้างโดยบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ได้จัดเวทีสัมมนาร่วมกับ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำโดยนายศุภกิจ นันทะวรการ บริเวณโบราณสถานพระเจ้ากือนา บ้านไตรแก้ว เพื่อรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านและเตรียมศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน นายศุภกิจ กล่าวว่าปัจจุบันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก มีประชาชนทั่วทุกจังหวัดรวมตัวกันออกมาคัดค้าน โครงการ ทั้งนี้โดยส่วนมากมาจากปัญหาการจัดทำประชาคม ที่ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมและได้รับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว อีกทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหาฝุ่นละออง และการแย่งชิงแหล่งน้ำในชุมชน เป็นต้น ซึ่งตนมองว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลในปัจจุบันที่มีขนาดเกิน 1 เมกกะวัตต์ ขึ้นไปไม่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน และสร้างปัญหามากกว่า ในขณะชาวบ้านในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูลความเป็นมาตั้งแต่ตนจนนำมาสู่การคัดค้าน โดยระบุการจัดทำประชาคม โดยวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น มีการนำรายชื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมมาแอบอ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการ ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เห็นชอบ ตลอดจนคดีความต่างๆที่ถูกบริษัทฟ้องร้องก็ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาท ที่นายก อบต.ฯ นำเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไปยื่นต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อยากถามศาลว่าลักษณะเช่นนี้เป็นการหมิ่นประมาทตรงไหนกัน ด้านแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้ากล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด เป็นกลุ่มทุนเดียวกัน กับโรงไฟฟ้าของ บริษัท พลังงานสะอาดทับสะแก ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มี นายชัยณรงค์ มหาวีรวัฒน์ นายสุเทพ เหล่าสายเชื้อ นายสุทรรศน์ สืบวงศ์ เป็นกรรมการบริษัท ที่ถูกชาวบ้านฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองรับฟ้องและมีคำสั่งให้ระงับโครงการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบการทำผิดหลายประเด็น โดยเฉพาะการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อขอเพิ่มกำลังวัตต์ แกนนำกล่าวเพิ่มเติม ข้อมูลตรงนี้อยากย้อนถาม บริษัทฯ ที่ขอให้ศาลไกล่เกลี่ยให้ยอมสร้าง แล้วจะสร้างให้เหมืองโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญ ที่สุรินทร์ จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ยังถูกฟ้อง หลังจากสัมมนาและรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน นายศุภกิจ ได้เดินทางตรวจสอบพื้นที่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้า และพื้นที่โดยรอบ เพื่อนำไปศึกษาผลกระทบ และใช้เป็นข้อมูลในการนำเสนอต่อ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่แต่งตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มี นาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธานกรรมการต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
แกนนำพันธมิตรฯ ยันไม่แตกแยก "พิภพ" แจง "สมศักดิ์" ปราศรัยไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมาย Posted: 30 Mar 2011 01:57 PM PDT “จำลอง” ยันแกนนำไม่แตกแยก แตกกันแล้วจะมาชุมนุมทำไม “พิภพ” ลั่นเชื่อมั่นในพรรคการเมืองใหม่ และสมศักดิ์ โกศัยสุข “สนธิ” ลั่นต้องยุติการเป็นตัวประกันให้ ปชป. โหวตโนคือปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ใครบอกไม่ใช่ประชาธิปไตยให้เอารองเท้าตบหน้า ชี้ในอนาคตจะเกิดภัยพิบัติหนัก รอบก่อนปราศรัยเรื่องแผ่นดินไหวไม่ทันขาดคำก็เกิดขึ้นจริง
สนธิยันชุมนุมนี้เป็นงานผู้รักชาติ ไม่ต้องเป็นพันธมิตรฯ ก็เข้าร่วมได้ บรรยากาศการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อคืนวานนี้ (30 มี.ค.)นั้น แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วยนายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย ได้ขึ้นเวทีพร้อมกัน ขาดแต่เพียงนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข โดยมีการเปิดเพลงเทียนแห่งธรรมก่อนที่จะมีการกล่าวปราศรัย โดยนายสนธิ ได้ปราศรัยก่อน โดยกล่าวว่า วันนี้ตนไปร่วมงานเผาศพบิดาของเพื่อนมา ชื่อหนิวเหล่า หรือผู้เฒ่าหนิว ก็มีข่าวอัปมงคลจากคนอัปมงคล ข่าวแรกบอกว่าวันที่ 6 เมษายนนี้ พันธมิตรฯ จะเดินขบวนไปถวายฎีกาแล้วสลายการชุมนุม ข่าวที่ 2 กล่าวหาว่ามีการแตกแยกระหว่างการแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งที่จริงแล้วการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่งานของพันธมิตรฯ แต่เป็นงานของประชาชนผู้รักชาติ ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรฯ ขอให้รักชาติก็เข้ามาร่วมได้ นายสนธิกล่าวต่อว่า พันธมิตรฯ เริ่มต้นเมื่อตอนปลายปี 2548 ซึ่งจุดเริ่มต้นในการรวมตัวของพันธมิตรฯ ก็คือความถูกต้องในสังคม หมายถึงจริยธรรม คุณธรรม ไม่ได้หมายถึงอย่างอื่น ความผูกพันระหว่างเรากับพี่น้องนั้นอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการหลงในตัวบุคคล เรื่องอะไรที่เป็นปัญหาของชาติบ้านเมืองแล้ว เราพร้อมที่จะออกมาต่อสู้และเชิญชวนพี่น้องอีกหลายกลุ่มหลายฝ่ายแม้ไม่ใช่ พันธมิตร ให้ออกมาร่วมต่อสู้ เหมือนกรณีเขมรและเขาพระวิหาร
ชี้ต้องยุติการเป็นตัวประกันพรรคประชาธิปัตย์ โหวตโนคือปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ เราพูดมาตลอดเวลาว่าการเมืองครั้งนี้เป็นการเมืองที่สกปรก อัปรีย์ไปจัญไรมา เราต้องยุติการเป็นตัวประกันให้พรรคประชาธิปัตย์ที่เอาไปพูดว่าไม่เลือกเรา เขามาแน่ ทั้งที่จริงๆ แล้วถึงเลือกเราเขาก็มา เพราะมันเลวทั้งคู่ พวกเราถึงรณรงค์ให้โหวตโน ซึ่งนัยของมันคือการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เราจะโหวตโนหมด ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองใหม่ เพราะเราได้พูดที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วว่า การตั้งพรรคการเมืองก็เพื่อหวังให้การเมืองดีขึ้น พรรคการเมืองใหม่ต้องเป็นเครื่องมือของพันธมิตรฯ ไม่ใช่เจ้านายของพันธมิตรฯ ถ้าพี่น้องเห็นว่าการเมืองแบบนี้เป็นการเมืองน้ำเน่า พรรคการเมืองใหม่ไม่ควรจะส่งคนลงเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหม่ก็ควรจะฟังปรัชญานี้ ในฐานะที่พันธมิตรฯ เป็นเจ้าของพรรคการเมืองใหม่ หากกติกานี้ สมาชิกพรรคการเมืองใหม่คิดว่าไม่ยอมรับ แต่ไปยอมรับกติกาของ กกต.พรรคการเมืองใหม่กับพันธมิตรก็ต้องแยกทางกันเดิน
ใครบอกโหวตโนไม่ใช่ประชาธิปไตย พี่น้องถอดรองเท้าตบหน้าซะ “โหวตโนคือสิทธิทางประชาธิปไตย อ้ายอีคนไหนบอกว่าโหวตโนไม่ใช่ประชาธิปไตย พี่น้องต้องถอดรองเท้าตบหน้ามันซะ” นายสนธิกล่าว และว่า เหมือนการเอากับข้าวมาวางบนโต๊ะ แล้วให้เราเลือกว่าจะกินอะไร เราเลือกไม่กินก็ได้ เพราะเรารู้ว่าคนทำมันเกลียดเรามันแอบถุยน้ำลายใส่กับข้าว และมันทำกับข้าวสกปรก อุปมาอุปมัยเหมือนการเมืองขณะนี้ที่มันเลวหมด อัปรีย์ไปจัญไรมา เราไม่เอา เราต้องการอาหารบนโต๊ะที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ นายสนธิ กล่าวต่อว่า ความผูกพันระหว่างตนกับแกนนำแต่ละคน สัมพันธ์กันด้วยจิตวิญญาณ แต่เมือไหร่ที่ตนทำผิด พล.ต.จำลองหรือคนอื่นๆ ก็ไม่คบกับตน เพราะฉะนั้นแล้วคนที่เขียนเรื่องความแตกแยกของแกนนำพันธมิตรฯ คงไปฟังคำพูดของคนบางคนที่ต้องการให้พันธมิตรฯ แตกแยกมา
“พิภพ” แจง “สมเกียรติ” มาไม่ได้เพราะป่วย “สมศักดิ์” ติดข้อกฎหมาย ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 21.40 น. นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นปราศรัยว่า วันนี้แกนนำขึ้นเวทีพร้อมกัน ขาดนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เพราะป่วย แต่ก็ได้โทรศัพท์มาบอกว่าเอาอย่างไรก็เอาด้วยหมด ส่วนนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ก็ยินดีมาแต่ติดเงื่อนไขข้อกฎหมาย อันนี้เข้าใจเพราะถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ นายพิภพ กล่าวว่า นายสุริยะใส ก็เป็นเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ใครก็รู้ว่าตนรักนายสุริยะใสมากเพียงใด ไม่ว่าพรรคการเมืองใหม่จะมีมติเรื่องโหวตโนอย่างไร พันธมิตรฯก็เคารพประชาธิปไตยในพรรค สมาชิกพรรคการเมืองใหม่ก็คือพันธมิตรฯ ย่อมเข้าใจว่าพันธมิตรฯคิดอะไร และแน่นอนความเป็นพันธมิตรฯ กับความเป็นพรรคการเมืองใหม่ กฎกติกาย่อมต่างกัน แต่จิตใจไม่ต่างกัน การเมืองใหม่เกิดจากพันธมิตรฯ ดังนั้นพันธมิตรฯไม่มีวันทำลายพรรคการเมืองใหม่เด็ดขาด
ลั่นเชื่อมั่นในพรรคการเมืองใหม่ และสมศักดิ์ โกศัยสุข ทางการเมืองอาจมีช่วงจังหวะที่ความคิดทางการเมืองไม่เหมือนกัน การแยกก็แยกเฉพาะช่างที่คิดไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ไปสู่จุดเดียวกันคือสร้างการเมืองสะอาด "เราเคารพประชาธิปไตยพี่น้องพันธมิตรฯที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ เราต้องพิสูจน์ว่าพรรคเกิดจากพันธมิตรฯ แต่ก็มีกฎหมายเฉพาะ และพิสูจน์ให้เห็นว่าการเมืองใหม่มีความเป็นประชาธิปไตย และสมาชิกพรรคต้องใช้ความเป็นประชาธิปไตยบนปัญญา ความรู้ และความสะอาด ผมเชื่อมั่นในเรื่องพรรคการเมืองใหม่ เชื่อมั่นในตัวสมศักดิ์ด้วย" นายพิภพ กล่าว
ชี้ความมหัศจรรย์ 5 ประการของพันธมิตรฯ ร่วมเป็นร่วมตาย เห็นพ้องกันไม่เคยแตกแยก นายพิภพ กล่าวอีกว่า การต่อสู้ร่วมกันมาในการเป็นพันธมิตรฯ สิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ของพันธมิตรฯ คือ 1.เรามีมวลชนที่หนาแน่นยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ 2.สามารถสร้างแกนนำที่มาจากความหลากหลาย มีประวัติต่างกัน แต่รวมกันได้ 3.ในการต่อสู้ที่ยาวนานความเห็นอาจต่างกันบ้าง นี่เป็นประชาธิปไตยในแกนนำ และผู้ประสานงาน แต่จุดยืนไม่ต่างกัน เมื่อจุดยืนไม่ต่างกันความเห็นต่างมันก็กลายเป็นแค่เรื่องปลีกย่อย 4.เรามีฉันทามติทุกครั้งที่ประชุมกัน จนเห็นพ้องต้องกัน ไม่เคยแตกแยก 5.เรายืนอยู่ร่วมเป็นร่วมตาย แกนนำ 4 ราย อาจไม่ได้ถูกกระสุนแบบนายสนธิ แกนนำรุ่นสองไปยืนรับกระสุนที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลา แกนนำคนอื่นยืนอยู่กับพี่น้องที่ทำเนียบ 193 วัน ไม่รู้ว่าวันไหนเอ็ม 79 จะลงเมื่อไหร่ วันนี้นายอภิสิทธิ์ก็ไม่เคยคิดเข้าไปตรวจสอบกรณีที่พันธมิตรฯ โดนระเบิดเลย แม้แต่นิดเดียว
ลั่นพันธมิตรฯ ปกป้อง 7.5 หมื่นล้าน ปรับ 500 ล้านได้อย่างไร ลั่น พธม. ไม่มีวันแตกแยก นายพิภพ กล่าวอีกว่า พันธมิตรฯถูกดำเนินคดี ทางแพ่งโดนไป 500 ล้านบาท ถามว่าคุ้มหรือไม่ คุ้ม ต่อให้โดนอีก 500 ล้านบาท ก็คุ้ม นี่คือ 5 แกนนำ ผู้ประสานงาน รวมทั้งพี่น้องพันธมิตรฯ ที่โดนฟ้องร้อง แพ้คดีแพ่งก็จะอุทธรณ์ต่อ เพราะเชื่อมั่นว่าทำถูก พันธมิตรฯออกมาเพื่อปกป้อง 75,000 ล้าน จะมาปรับ 500 ล้าน ได้อย่างไร ยอมรับคำพิพากษาและชะตากรรมแต่ไม่มีวันท้อถอย "พี่น้องพันธมิตรฯ และแกนนำ ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาขนาดนี้ จะแตกแยกได้อย่างไร วันนี้พี่น้องบางส่วนอาจไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง ไม่เข้าร่วมในบางประเด็น สุดท้ายจิตวิญญาณรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ไปไหน วันหนึ่งมันจะกลับมาบรรจบกัน การโหวตโน การต่อสู้เรื่องดินแดน มันมาถึงจุดที่สังคมเริ่มเข้าใจมากขึ้น รัฐสภาก็เริ่มโลเล อภิสิทธิ์ก็แกว่งไปแกว่งมา อาการเหมือนทักษิณตอนปลายสมัย ทักษิณช่วงเป็นรัฐบาลครั้งที่ 2 เสียงมากมายชี้เป็นชี้ตายประเทศได้เลย แต่ประมาทพันธมิตรฯ หลงระเริงกับอำนาจ สุดท้ายอาการแกว่งของทักษิณนำไปสู่การยุบสภาเหมือนอภิสิทธิ์วันนี้ไม่มีผิด" นายพิภพ กล่าว นายพิภพ ยังกล่าวอีกว่า ตนดีใจ แกนนำดีใจ ที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องมา เราไม่ได้เป็นแกนนำที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่อยู่กับพ่อแม่พี่น้อง ให้มั่นใจว่าแกนนำกับพันธมิตรฯไม่มีวันแตกแยก เพราะภารกิจยังไม่สิ้นสุด และต่อให้ภารกิจสิ้นสุดก็ไม่แตกเพราะเราหลอมรวมกันมา ไม่ใช่พี่น้องก็เป็นพี่น้องกันแล้ว ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน ไม่ใช่พ่อแม่เดียวกัน ก็เหมือนพ่อแม่เดียวกันแล้ว ขอให้มั่นใจว่าแกนนำ 5 คน ไม่มีวันแตกแยก และจะร่วมต่อสู้กับพี่น้องพันธมิตรฯ จนกว่าการเมืองจะสะอาด
จำลองยันแกนนำไม่แตกแยก แตกกันแล้วจะมาชุมนุมทำไม ต่อมา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เขาลือว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแตกกัน หากพี่น้องจำกันได้ช่วงก่อนที่เราจะมาชุมนุมครั้งนี้ เขาก็ลือว่า พล.ต.จำลอง กับ สมณะโพธิรักษ์ แตกกัน เนื่องจากเขาเห็นว่ากองทัพธรรม กับ สันติอโศก ออกมาแล้ว แล้วจำลองอยู่ไหน ในความเป็นจริงตนเสนอจะชุมนุมวันที่ 11 ธ.ค.2553 ต่อมาเราประชุมกันเห็นควรเลือนไปวันที่ 25 มกราคม ซึ่งตนก็เป็นคนออกมาประกาศเอง แล้วอยู่ๆ ตนออกมาก่อนวันที่ 25 ก็เลยทำให้คนงง อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ สมณะโพธิรักษ์ เข้าใจดีเรื่องนี้ก็เลยจางไป พล.ต.จำลอง กล่าวต่อว่า ช่วงเราชุมนุม 193 วัน เวลา 20.30 บรรดาแกนนำฯจะออกมาพร้อมกันเพื่อร้องเพลงเทียนแห่งธรรม คราวนี้มาทีละคนสองคน เขาก็เลยเอาไปเป็นประเด็นใส่ความว่าต้องแตกกันแล้วแน่ๆ ทั้งนี้ตนเห็นว่าหากปล่อยให้ข่าวนี้แพร่ออกไปโดยไม่ออกมาชี้แจง ดังนั้นจะไม่เป็นผลดีทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่แตกกัน “ขอให้พี่น้องมันใจไม่แตกกัน แตกกันแล้วจะมาชุมนุมทำไม แต่เรามีการพัฒนาการชุมนุม แกนนำพันธมิตรฯชุมนุมมีมติเป็นเอกฉันท์ สำหรับการชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผนดิน ได้ตั้งกรรมการขึ้นมา 16 คน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย นี่คือความเป็นมา แต่ไม่ได้มีความแตกแยกกัน คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่กำหนดนโยบายชุมนุม ปรึกษากันทำอย่างไรไม่ให้เสียดินแดนมากกว่าเก่า ทำอย่างไรนำไปสู่ชัยชนะให้ได้ โดยในบางครั้งก็ประชุมกันทั้งสองคณะ ทั้งสองคณะรู้เห็นเป็นใจกันตลอด เพียงแต่แบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อเขาไม่รู้และต้องการทำให้เราแตกกันจริงๆ ก็เลยโฆษณาว่าเราแตกกันเพื่อต้องการตัดกำลัง แต่เป็นไปไม่ได้พี่น้องมีความเหนียวแน่นมาก พล.ต.จำลอง กล่าวด้วยว่า เรามาชุมนุมครั้งนี้โชคดีมาก เจอ 3 ฤดูเลย ร้อน หนาว ฝน ที่บอกยังไม่ต้องเฮโลกันมาเยอะๆ มีมากก็ดีแต่แค่นี้ก็ชนะแล้ว ไม่ได้หมายถึงไม่ต้องมามากๆกันเลย หากรัฐบาลเปานกหวีดเมื่อไรต้องมาทันที่ ต้องขอขอบคุณพี่น้องที่มีความหนักแน่น แม้เข้าจะลือแล้วลืออีก พี่น้องก็ไม่หลงเชื่อ คงมาชุมนุมอย่างเหนียวแน่น แม้ภาคใต้เสียหายไปเพราะน้ำท่วมหนัก ก็ยังพยายามผลัดเปลี่ยนกันมา ขอยืนยันเราจะทำอย่างนี้เราจะสามัคคีกลมเกลียวเหนียวแน่น จนกว่าจะได้รับชัยชนะ
สนธิปราศรัยอีกรอบ ลั่นรอบก่อนพูดเรื่องแผ่นดินไหวยังไม่ทันขาดคำก็ไหวจริง หลังจาก พล.ต.จำลอง ปราศรัยเสร็จ นายสนธิขึ้นปราศรัยว่า เกิดเป็นพันธมิตรสู้มาแล้ว 2-3 ศึก และคงต้องตายในฐานะพันธมิตรฯ เมื่อได้สู้มาแล้ว เมื่อคุณธรรมจริยธรรมมาอยู่ข้างหน้าแล้ว มันปฏิเสธไม่ได้ เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป เหมือนที่ตนเคยบอกว่า พล.ต.จำลองได้มาพบแล้วบอกว่า การต่อสู้เรื่องเสียดินแดนนั้นตนยอมไม่ได้ สนธิจะไม่ร่วมก็ไม่เป็นไร แต่ตนบอกว่าจะร่วมต่อสู้ด้วย เพราะสิ่งที่ พล.ต.จำลองสู้นั้นเป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง ตนต้องเข้าร่วม นี่คือจิตวิญญาณที่เราจะทำเพื่อส่วนรวม ไม่จำเป็นต้องมีสนธิสัญญา ถ้าเป็นการทำเพื่อส่วนรวม เราต้องเข้าร่วม นายสนธิ กล่าวต่อว่า พี่น้องจำได้ใช่ไหมฮะ ว่าผมพูดเมื่อ 2-3 ครั้งที่แล้ว ผมพูดเรื่องภัยพิบัติ แผ่นดินไหว พูดไม่ทันขาดคำแผ่นดินไหวจริง และผมบอกว่าน้ำท่วมหาดใหญ่และเมื่อน้ำหายท่วมทั้งนายกเทศมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้ทำอะไร น้ำท่วมนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้ทำอะไร เห็นหรือยังว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ และการเมืองเมืองไทยในระบบนี้จะแก้ปัญหาภัยพิบัติไม่ได้เด็ดขาด เพราะนักการเมืองคิดแต่หน้าตาชื่อเสียง และจะเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
เตรียมช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ อัด ปชป. ไม่มีงบช่วยน้ำท่วม แต่มีงบพันล้านใช้โฆษณา ผมอยากให้พี่น้องชาวใต้สบายใจ คราวที่แล้วที่มีการช่วยเหลือน้ำท่วม พี่น้องบริจาคมา 10 ล้านกว่าบาท เราใช้ไปใช้มา ยังเหลืออยู่ 7 ล้านบาท ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายมีหลักฐานหมด จึงมีเงินเหลือที่จะนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้โดยที่ไม่จำเป็นต้อง รบกวนพี่น้องอีก แต่จะใช้เงินที่เหลืออยู่ให้หมดก่อน โดยเงินที่ได้รับบริจาคมาทุกบาททุกสตางค์ถึงมือพี่น้องผู้ประสบภัย มีหลักฐานการใช้เงินและมีภาพถ่ายการช่วยเหลือให้เห็นชัดเจน ไม่เหมือนนักการเมืองที่ลงไปช่วยต้องรอให้ทีวีมาถ่ายก่อนค่อยแจกของ นายสนธิกล่าวต่อว่า วันนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ บอกว่า เงินที่จะไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมไม่มีแล้ว รัฐบาลต้องไปหามาจากที่อื่น แต่ป้ายโฆษณาพรรคประชาธิปัตย์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้งบประมาณถึง 1 พันกว่าล้านบาท เพราะการเมืองเป็นแบบนี้ เราจึงต้องโหวตโน พรรคการเมืองไหนเราไม่เอาทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเดือดร้อนมาโจมตีเราว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่นายกฯ ก็เคยพูดไว้เมื่อก่อนหน้านี้ว่าการโหวตโนเป็นสิทธิของประชาชน
ย้ำอีก 3-4 ปีข้างหน้าถ้าไม่มีผู้บริหารเพื่อส่วนรวม น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ นายสนธิย้ำว่า จากนี้ไปอีก 3-4 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่มีผู้บริหารประเทศที่กล้าหาญ ซื้อสัตย์ ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวม ประเทศ น้ำจะต้องท่วมกรุงเทพ วันนี้แทนที่นายสุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. จะเห็นว่าภัยพิบัติเริ่มมาแล้ว จะต้องรีบขุด ลอกคู ปรับสถานที่กันไม่ให้น้ำท่วม สนใจอยู่อย่างเดียว คือการสร้างสกายวอล์ก 50 กิโลเมตรรอบกรุงเทพมหานคร ในราคากิโลเมตรละ 300 ล้านบาท เพียงเพื่อต้องการไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าเกะกะ นี่คือการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นพี่น้องจะเห็นได้ชัด ว่าถ้าเราไม่หาทางเปลี่ยนแปลง เอาคนที่มีความกล้าหาญ ผู้บริหารประเทศที่มีความซื่อสัตย์แล้วพร้อมที่จะทำงานเพื่อส่วนร่วมเข้ามา แผ่นดินจะต้องไหว นี่แผ่นดินไหวทางอีสาน
อ้างคำผู้เฒ่าจีน เมืองไทยทางใต้จะหาย ส่วนพม่าจะหายครึ่งประเทศ กัมพูชาจะหายไปหมด เห็นหรือยังพี่น้อง ผมลืมเล่าให้ฟังว่าผู้เฒ่าหนิวเหล่าเคยเล่าให้ผมฟังว่าแผ่นดินจะไหวมาก เล่าให้ฟังหลายปีแล้ว หนิวเหล่าบอกว่าที่เมืองจีนท่านได้สร้างสร้างเจดีย์ไว้ 5 จุด เพื่อตรึงประเทศจีน เพื่อไม่ให้แผ่นดินประเทศจีนไหวตามพื้นโลก แล้วท่านก็บอก ท่านบอกเมืองไทยก็สร้างเจดีย์ แต่ท่านพูดอย่างนี้ ท่านดูแล้วจะตรึงไว้ได้เฉพาะอีสาน เหนือ ลงมากระทั่งถึงภาคกลาง ทางใต้จะตรึงไม่ได้ ท่านบอกอย่างนี้ ท่านพูดของท่านนะ เชื่อไม่เชื่อให้รอดูต่อไป ให้ระวังเอาไว้ เมืองไทยทางใต้จะหายไป ผมเรียนให้ทราบอย่างนี้ ขอให้รับทราบไว้ก่อนนี่คือคำพูดของคนแก่คนหนึ่ง ซึ่งศึกษาทั้งวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณทุกอย่าง พม่าจะหายไป พม่าจะหายไป ที่สำคัญที่สุด พม่าจะหายไปครึ่งประเทศ ที่สำคัญที่สุด เขมรจะหายไปทั้งประเทศ (ผู้ชุมนุมโห่ร้อง) เขมรจะหายไปทั้งประเทศ นี่คือคำพูดของหนิวเหล่า ผู้เฒ่าหนิวอเมริกานั้น แคลิฟอร์เนียทั้งภาคจะหักและจมลงทะเลไปหมด (ผู้ชุมนุมปรบมือ) ยุโรปจะแบ่งออกเป็นเกาะ เกาะอังกฤษจะไม่เหลือ เหลือเป็นจุดๆ คำพูดคำทำนายทายทักล่วงหน้าไม่เป็นไร แต่ข้อเท็จจริงมี เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ ไม่เคยเจอวันที่ 30 มีนาคม อากาศเย็นแบบนี้ ไม่เคยเจอ (ผู้ชุมนุมปรบมือ) ธรรมดาแล้ววันที่เริ่มมีงานกาชาดมันร้อนจนเหงื่อไหลรอดรักแร้ออกมาตลอดเวลาเลยใช่ไม่ใช่ พี่น้อง เพราะฉะนั้นพี่น้องอย่าประมาทภูมิอากาศ และภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น
ที่มา: เรียบเรียงจาก ASTV [ไฟล์เสียง] และ ASTVผู้จัดการออนไลน์ [1] , [2] , [3] สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ไล่รื้อชุมชนพระราม 6 ชาวบ้านต่อต้านเกิดปะทะตำรวจ ทำบาดเจ็บหลายราย Posted: 30 Mar 2011 01:46 PM PDT ชาวชุมชนพระราม 6 ขวางไม่ให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีเข้ารื้อถอนบ้านเรือน จนเกิดการปะทะต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บ ร้องจู่ๆ จะให้ชาวบ้านย้ายออกทันทีแต่ไม่มีที่อยู่ให้ แล้วชาวบ้านกว่า 40 หลังคาเรือนจะไปอยู่ที่ไหน เมื่อวันที่ 30 มี.ค.54 มติชนออนไลน์ รายงานว่าได้รับแจ้งว่ามีการรื้อถอนบ้านเรือนประชาชนที่ชุมชนพระราม 6 ถนนประชาราษฎร์ 1 แขวงและเขตบางซื่อ กทม. จึงไปตรวจสอบพบชาวบ้านภายในชุมชนกว่า 100 คน ยืนรวมตัวประท้วงบริเวณภายในชุมชน ไม่ให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีเข้ารื้อถอนบ้านเรือน โดยมี พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบก.น.2 เดินทางมาดูความเรียบร้อย ระหว่างนั้นนายอินทร์ ดุลพินิจธรรมา นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบังคับคดี ได้เจรจาและนำเอกสารจากกรมบังคับคดีมาชี้แจงให้ชาวชุมชนทราบว่าจะต้องรื้อถอนบ้านเรือน แต่ผลการเจรจายังไม่เป็นที่น่าพอใจและก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ กระทั่งเกิดเหตุปะทะกันทำให้ชาวบ้านและตำรวจได้รับบาดเจ็บ นายอินทร์กล่าวว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ฐานะโจทก์ได้ยื่นฟ้องผู้อาศัยอยู่ภายในชุมชนพระราม 6 ประมาณ 40 หลัง ฐานะจำเลย เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 และศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 เป็นต้นมา ซึ่งทางกรมบังคับคดีได้มีการแจ้งกับทางชาวบ้าน และได้มีการนำหมายมาติดประกาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งก็ล่วงเลยมาเป็นปีแล้ว วันนี้กรมบังคับคดีจึงได้ร้องขอไปยังทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยดูแลและป้องกันเหตุความรุนแรง ด้านเจ้าหน้าที่บริษัทยูนิคฯ กล่าวว่า ทางบริษัทจะแจ้งกับชาวบ้านว่า หากบ้านใดมีความประสงค์ที่จะย้ายออกพร้อมกับให้เจ้าหน้าที่รื้อถอน ทางบริษัทจะยินดีชดเชยเรื่องค่าขนย้าย ค่าที่อยู่อาศัยให้ตามลักษณะของบ้าน ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนหลายหลังคาเรือนที่มาเซ็นรับทราบกับทางเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของชาวบ้านที่ไม่ยินยอมทางเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการรื้อถอนตามคำสั่งศาล นางพัชรี ชาญชูเกียรติ อายุ 50 ปี ชาวบ้านชุมชนพระราม 6 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้ามารื้อถอนบ้านเรือนประชาชนโดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ทั้งที่ได้มีการตกลงกันไว้แล้วว่าชาวบ้านจะย้ายออกในวันอาทิตย์ แต่กลับมารื้อโดยไม่บอกกล่าวทำให้พวกเราไม่พอใจอย่างมาก จึงรวมตัวกันไม่ให้รื้อถอนและได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตนได้รับบาดเจ็บที่ปากเลือดออก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังชกเข้าที่ปากและผลักล้มลงกับพื้น นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีกเป็นจำนวนมากบาดเจ็บและถูกจับกุมไป อยากให้ทางเจ้าหน้าที่เตรียมสถานที่รองรับให้กับชาวบ้าน เพราะจู่ๆ จะให้ชาวบ้านย้ายออกทันทีแต่ไม่มีที่อยู่ให้ แล้วชาวบ้านกว่า 40 หลังคาเรือนจะไปอยู่ที่ไหน ที่มา: มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
สธ.เดินหน้าเพิ่มจุด “คอนดอม พ้อยท์” ลดชายรักชายติดเอดส์เพิ่ม Posted: 30 Mar 2011 01:30 PM PDT เปิดจุดบริการ “คอนดอม พ้อยท์” เพิ่ม หวังลดการติดเชื่อเพิ่มในกลุ่มชายรักชาย กระจายตามสถานที่ท่องเที่ยวใน 48 จังหวัด ปี 55 ครอบคลุมทั่วประเทศ สธ.คาดปี 54 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่ม 10,097 ราย สธ.เดินหน้าเพิ่มจุด “คอนดอม พ้อยท์” คมชัดลึก รายงานว่า วานนี้ (30 มี.ค.54) เวลา 13.00 น.นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายกิตตินันท์ ธรรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวจุดบริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นหรือคอนดอม พ้อยท์ (Condom point) ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 13 ที่ อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เมืองทองธานี นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ในปี 2553 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 10,853 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชายรักชายมากถึงร้อยละ 33 หรือ เกือบ 1 ใน 3 หากมีพฤติกรรมเสี่ยงคือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยคือไม่ใช้ถุงยางอนามัยจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 50 ได้ในอนาคต ดังนั้น กระทรวงสาธารณะสุขจึงมีนโยบายเชิงรุกโดยลดอันตรการติดเชื้อคือ มีโครงการที่ทำให้กลุ่มชายรักชายเข้าถึงถุงยางอนามัย โดยจัดจุดบริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นฟรี หรือ คอนดอม พ้อยท์ กระจายลงในพื้นที่ที่กลุ่มชายรักชายนิยมไปเที่ยวหรือพบปะกัน เช่น ดิสโก้เธค คาราโอเกะ ฟิตเนส ซาวน่า และร้านเสริมสวย ซึ่งในปี 2553 ได้นำร่องโครงการแล้วว่า 30 จังหวัด โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 188 แห่ง และในปี 2554 จะขยายพื้นที่เพิ่มอีก 18 จังหวัด รวมเป็น 48 แห่ง และคาดว่า ในปี 2555 จะสามารถครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่าจากดำเนินโครงการดังกล่าวในปีที่ผ่านมา สามารถเข้าถึงกลุ่มเกย์ในพื้นที่เป้าหมายถึง 13,000 คน สาวประเภทสอง 10,000 คน โดยแจกถึงยางอนามัยไปแล้วกว่า 500,000 ชิ้น และสารหล่อลื่น 270,000 ชิ้น ร้อยละ 50 ของกลุ่มที่เข้าถึงอายุประมาณ 16 -25 ปี สำหรับคอนดอมพ้อยท์จะสังเกตได้ง่ายคือเป็นกล่องสีม่วง มีรูปร่มสีรุ้ง บรรจุถุงยางและสารหล่อลื่น โดยมีถุงยางอยามัย 3 ขนาด คือ 49 52 และ 54 มม. สามารถให้เลือกใช้ได้ตรงตามขนาด แต่ละกล่องบรรจุถุงยางอนามัยประมาณ 300 ชิ้น และตั้งไว้ในบริเวณที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้สะดวก สถานประกอบการใดอยากเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป้าหมาย 48 แห่ง และและสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข ด้านนายกิตตินันท์ ธรรมธัช นายยกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมีจุดให้บริการถุงยางอนามัยเป็นสิ่งที่ดีและสามารถช่วยลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีได้ และเชื้อว่าคนส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะใช้ถุงยางอนามัย แต่สาเหตุที่ยังทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเข้าไม่ถึงถุงยางอนามัย หรือไม่ได้พกถุงยางอนามัยเพื่อเตรียมพร้อมในการมีเพศสัมพันธ์ และการมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้นหากมีจุดให้บริการดังกล่าวก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ในระดับหนึ่ง และอยากให้รัฐบาลทำถุงยางอนามัยแบบแบ่งขาย ราคาเพียงชิ้นละ 1 บาท เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงถุงยางอนามัยเพิ่มมากขึ้น คาดปีนี้มีผู้ติดเอดส์รายใหม่ถึงหลักหมื่น คนไทยติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 27 คน เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.54 นพ.เฉวตสรร นามวาท หัวหน้ากลุ่มระบาดวิทยาโรคเอดส์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 13 ว่า ในปี 2553 คาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สะสม 1,161,244 ราย เสียชีวิต 644,128 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 522,548 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,853 ราย หรือวันละ 27 ราย ในปี 2554 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 10,097 ราย กลุ่มที่มีการติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดคาดว่าคงจะเป็นกลุ่มชายรักชายติดเชื้อประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด รองลงมาคือแม่บ้านที่ติดเชื้อจากสามีหรือคู่นอน กลุ่มชายที่ติดจากหญิงบริการ กลุ่มสามีที่ติดจากภรรยา กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด อย่างไรก็ตามจากการวิจัยพบว่า ตัวเลขชายรักชายที่ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ คิดเป็นประมาณ 30% ต่างจังหวัดประมาณ 5% ด้าน นพ.ชัยยศ คุณาสนธิ์ ผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า แม้จะมีถุงยางอนามัย แต่ก็มีความพยายามในการวิจัยวัคซีนป้องกัน วิจัยสารทำลายเชื้อเอชไอวี ที่เรียกว่าไมโครบีไชด์ ที่มีส่วนผสมของยาทีโนโฟเวีย 1% ใช้ทาช่องคลอด โดยผลการวิจัยที่ออกมาในปี 2553 พบว่า สามารถทำลายเชื้อเอชไอวีได้ 39% แต่ทั้งวัคซีนและเจลฆ่าเชื้อก็ยังไม่ผลิตออกสู่ตลาด ส่วนการรับประทานยาต้านไวรัสพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อจะมีปริมาณเชื้อลดลง เมื่อกินยาต้านไวรัสดังนั้นโอกาสจะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นก็น้อย แต่ก็ยังเป็นกลไลในการป้องกันที่ไม่ดีนัก ตนเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุนคือการเข้าถึงถุงยางอนามัยราคาถูกออกจำหน่าย 5-10 บาท นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ต้องการอยากให้ฟื้นนโยบายถึงถุงยางอนามัย 100% เพราะขณะนี้นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงแค่เงาไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะจ่ายถุงยางอนามัยให้เฉพาะคนที่ได้รับยาต้านไวรัสเท่านั้น อีกทั้งงบประมาณในการจัดซื้อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ 1 ใน 3 ของโลก ส่วน นพ.สมยศ กิตติมั่นคง สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันทุกสิทธิการรักษาพยาบาลให้ประชาชน สามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนไปใช้บริการน้อยมาก เนื่องจากไม่รู้สิทธิ โดยในส่วนของหญิงตั้งครรภ์นั้นมีการใช้สิทธิตรวจเอดส์ฟรีประมาณ 1 ล้านคนอยู่แล้ว แต่ในคนทั่วไปมีการมาใช้บริการประมาณ 3-4 แสนคนเท่านั้น และในจำนวนที่มาตรวจเลือดพบว่ามีประมาณ 7% ที่ติดเชื้อเอชไอวี นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลยังพบว่า มีข้าราชการใช้สิทธิรับยาต้านไวรัสเอชไอวี ประมาณ 2 หมื่นคน สิทธิประกันสังคมประมาณ 5 หมื่นคนและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 1.4 แสนคน “สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีข้อมูลที่น่าตกใจคือ จากการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 53% ที่รายงานเข้ามาในปีนี้ ยกตัวอย่างทางภาคเหนือพบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินครึ่งให้ข้อมูลว่าติดจากภรรยาหรือสามีของตนเองซึ่งแสดงให้เห็นว่า สามี หรือ ภรรยา อาจมีกิ๊กแล้วมีอะไรกันโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ อีกทั้งไม่ได้ป้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก” นพ.สมยศ กล่าว จี้กรมควบคุมโรคแจก'เข็ม-ถุงยาง'ลดติดเชื้อเอดส์ เว็บไซต์ไทยรัฐ วันที่ 29 มี.ค.54 น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) แถลงข่าวในการสัมมนาระดับชาติ เรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 13 “สิทธิด้านเอดส์ คือ สิทธิมนุษยชน ร่วมพิทักษ์สิทธิ ร่วมรับผิดชอบ” ว่า จากการระดมความคิดเห็นของผู้ทำงานด้านเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีใน 4 ภูมิภาค จำนวน 400 คน มีข้อเสนอวาระเอดส์ภาคประชาชน ประกอบด้วย 3 วาระ คือ วาระที่ 1 การปฏิรูปสังคมแลการเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดปัญหาเอดส์ มุ่งหน้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ โดยควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย อย่างน้อย 4 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.ยาเพสติดให้โทษ พ.ศ.2522 2.พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2547 3.พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และ 4. พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 รวมถึง ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ล้าสมัย เช่น พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพื่อให้คนได้เข้าถึงและขจัดอุปสรรคในการได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และเสริมสร้างหลักประกันสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม วาระที่ 2 การป้องกัน ดูแล รักษา ลดผลกระทบและขจัดการตีตราการเลือกปฏิบัติ หนึ่งในยุทธศาสตร์ คือ ต้องจัดให้มีและแจกจ่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งไวรัสตับอักเสบบีและซี อย่างเช่น การแจกถุงยางอนามัย ถุงอนามัยสตรี เข็มฉีดยา ที่สะอาดและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆ ที่มีความจำเป็นในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจกเข็มฉีดยาที่สะอาดให้กับผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ซึ่งมติคณะกรรมการเอดส์ชาติเมื่อวันที่ 1 พ.ย.53 เห็นชอบให้มีการดำเนินการได้ควบคู่กับการดำเนินการในเรื่องอื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้ออีก 9 รูปแบบ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องเป็นเจ้าภาพ โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น 1 คน จะต้องได้รับการแจกเข็มสะอาด 300 เข็มต่อปี ทั้งนี้ จากการดำเนินการของกลุ่มเอ็นจีโอในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นได้ประมาณ 4 พันคนและแจกเข็มสะอาดไปบางส่วน ซึ่งในความเป็นจริงมีจำนวนมากกว่านี้ น.ส.สุภัทรา กล่าวด้วยว่า วาระ 3 ทบทวนโครงสร้างและกลไกการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน วาระเอดส์แห่งชาติและกระบวนการทำงานของภาคประชาสังคม โดยควรจะต้องมีการแก้ไขให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทนกรมควบคุมโรค สธ. เพื่อให้การสื่อสารสั่งการงานด้านเอดส์กับกระทรวงอื่นๆ เกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจาก งานด้านเอดส์ไม่ได้มีเพียงมิติด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของชีวิต เผยคนไทยไม่รู้สิทธิตรวจเอดส์ฟรี 2 ปีครั้ง ด้านคมชัดลึกรายงานเมื่อวันที่ 29 มี.ค.54 ว่า นพ.สมยศ กิตติมั่นคง สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันทุกสิทธิการรักษาพยาบาลให้ประชาชนสามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนไปใช้บริการน้อยมาก เนื่องจากไม่รู้สิทธิ โดยในส่วนของหญิงตั้งครรภ์นั้นมีการใช้สิทธิตรวจเอดส์ฟรีประมาณ 1 ล้านคนอยู่แล้ว แต่ในคนทั่วไปมีการมาใช้บริการประมาณ 3-4 แสนคนเท่านั้น และในจำนวนที่มาตรวจเลือดพบว่ามีประมาณ 7% ที่ติดเชื้อเอชไอวี นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลยังพบว่า มีข้าราชการใช้สิทธิรับยาต้านไวรัสเอชไอวีประมาณ 2 หมื่นคน สิทธิประกันสังคมประมาณ 5 หมื่นคนและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 1.4 แสนคน “สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีข้อมูลที่น่าตกใจคือ จากการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 53% ที่รายงานเข้ามาในปีนี้ยกตัวอย่างทางภาคเหนือพบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินครึ่งให้ข้อมูลว่าติดจากภรรยาหรือสามีของตนเองซึ่งแสดงให้เห็นว่า สามี หรือ ภรรยา อาจมีกิ๊กแล้วมีอะไรกันโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ อีกทั้งไม่ได้ป้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก” นพ.สมยศ กล่าว นายจีรศักดิ์ ศรีประมงค์ ผู้จัดการศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยา กล่าวว่า ทางเครือข่ายผู้ใช้ยาได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลยุตินโยบายบังคับการบำบัดยาเสพติดเนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า วิธีการดังกล่าวไม่สามารถช่วยลดอันตรายจากการใช้ยาได้อีกทั้งเป็นการทรมานผู้ติดยาเสพติด เนื่องจากมีการนำผู้ติดยาไปเข้าค่ายปรับพฤติกรรม 45 วันถึง 6 เดือน แต่ไม่ได้ช่วยลดการติดยาและการติดเชื้อเอชไอวีลงได้ ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (สวพอ.) จะดำเนินการจัดจุดบริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น หรือ “คอนดอม พอยท์” กระจายลงในสถานบันเทิงชายที่ผู้ชายนิยไปเที่ยวและจุดที่มีการรวมกลุ่มของชายรักชายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัยว่า มันคงถึงเวลาแล้ว ภาพกิจกรรมเมื่อวันที่ 29 มี.ค.54: สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านร้องตำรวจขอความเป็นธรรม หลังคดีเด็ก 5 ขวบถูกฆ่าไม่คืบ Posted: 30 Mar 2011 11:02 AM PDT ชาวบ้านแม่รำพึงรวมตัวกันที่หน้าโรงพักบางสอบถามความคืบหน้าคดีฆ่าเด็กหญิงวัย 5 ขวบ เกิดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2552 แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ เมื่อ 09.30 น.วันที่ 30 มีนาคม 2554 ชาวบ้านชุมชนตำบลแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์กว่า 200 คน รวมตัวกันที่หน้า สภ.อ.บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดีเด็กหญิงวัย 5 ขวบ เล่นซ่อนหากับเพื่อนแล้วหายตัวไป ก่อนถูกฆาตกรรม สภาพศพเปลือยในป่าโกงกางคลองแม่รำพึง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2552 เนื่องจากเวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ โดยมี นางปนัดดา วงษ์เนตร ชาวบ้านตำบลแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มารดาของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 21 ธ.ค. 52 ในหมู่บ้าน และได้จับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้ แต่การทำสำนวนในชั้นสอบสวนเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องหาจนอัยการแทบไม่สามารถสั่งฟ้องได้ แต่ก็ได้สั่งฟ้องในที่สุด ล่าสุดศาลชั้นต้นยกฟ้อง ทั้งๆ ที่เบาะแส พยานหลักฐานต่างๆ มากมาย แต่ร้องเวรเจ้าของคดีคือ ร.ต.อ.ณัฐพล ทับทิม ผู้เป็นเจ้าของคดีทำสำนวนมีปัญหามาก ตั้งแต่วันเกิดเหตุก็มีการบอกให้เอาเสื้อผ้าของลูกสาวที่อยู่ในจุดเกิดเหตุไปซัก และไม่พยายามค้นตัวหรือบ้านผู้ต้องหา ณ วันเกิดเหตุ ทั้งที่ได้ชี้เบาะแสชัดเจน น่าจะผิดวิสัยของเจ้าพนักงานสอบสวนสืบสวนที่กระทำต่อหลักฐาน “วันนี้เท่าที่ทำได้ก็อยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับดวงวิญญาณ ลูกสาวคนเดียวของหนู และจะเดินหน้าเรียกร้องให้ถึงที่สุด เท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้” นางปนัดดากล่าว หลังจากนั้น นางปนัดดา วงษ์เนตร พร้อมกับญาติพี่น้องในชุมชนได้ยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ธนา ขาวเจริญ รอง ผกก.สส.ปรท.ผกก.สภ.บางสะพาน ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนร้อยเวร ร.ต.อ.ณัฐพล ทับทิม ต่อไป ด้าน ร.ต.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยจะสอบสวนพยานแวดล้อมอีกอย่างน้อย 3 ปาก และจะนำตัวเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์มาสอบสวนเพิ่มเติม แต่ในขั้นตอนการสอนสวนพยานที่เป็นเด็กนั้น จะต้องสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ นักจิตวิทยา และผู้ปกครองของเด็ก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
รายงาน: เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ (ตอนที่ 1) Posted: 30 Mar 2011 10:17 AM PDT “ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน” รายงานเนื้อหาจากเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง “ประชาไท” นำเสนอเป็นตอนแรก หมายเหตุจากประชาไท: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 104 (28 มีนาคม 2554) รายงานเนื้อหาจากเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง “ประชาไท” แบ่งนำเสนอเป็น 2 ตอน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เวลา 09.00-13.00 น. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย (SDSU-CCT) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ราชเทวี กรุงเทพฯ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทยได้ทำงานร่วมกับพี่น้องเเรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด โดยไม่เเบ่งเเยกว่าเป็นเเรงงานไทยหรือเเรงงานข้ามชาติ ทำงานกับทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ เเละเเรงงานข้ามชาติ สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดการเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ (1) เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจในเรื่องการดำเนินชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ผ่านการเสวนาและนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจและสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมทั้งเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน เพื่อสร้างสังคมที่เปี่ยมสุข (2) เพื่อเอื้ออำนวยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งองค์กรต่างๆ เช่น คริสตจักรได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานแรงงานข้ามชาติแก่สาธารณะชนและสร้างความตระหนักให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) เพื่อหนุนเสริมบทบาทและศักยภาพของสื่อมวลชนและองค์กรต่าง ๆ ในการนำเสนอภาพและประเด็นต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ให้มีการนำเสนอโดยปราศจากอคติและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น และ (4) เพื่อเป็นเวทีสื่อสารสาธารณะในการนำเสนอความเคลื่อนไหว การขับเคลื่อน การติดตามและผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในมุมมองของคนทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ ทั้งนี้ ขอเเสดงความชื่นชมที่ช่างภาพมีความสนใจเรื่องสิทธิ สังคมการเมือง และยังเป็นโอกาสที่ดีของเเรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการนำเสนอประเด็นเพื่อความเท่าเทียมเเละเป็นธรรมในการทำงาน ผมหวังว่านิทรรศการเเละการเสวนาวันนี้จะประสบความสำเร็จเเละเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐ สังคม ประชาชน เเละสื่อ เข้าใจว่าเเรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานสร้างสังคมและควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเเรงงานไทย ทั้งนี้การเสวนามีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมงานกว่า 150 คน
ด้าน ดร.รุ่ง เริงสันติ์อาจิณ รองประธานสภาคริสตจักรในประเทศไทย กล่าวเปิดงานเสวนาและงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายว่า การจัดนิทรรศการในครั้งนี้มีความมุ่งหวังเพื่อให้สังคมเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันในลุ่มน้ำโขง โลกได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีความเจริญก้าวหน้า มนุษย์อยู่อย่างสุขสบาย เเรงขับเคลื่อนสำคัญเกิดจากหยาดเหงื่อเเรงกายของเเรงงานข้ามชาติ ดังนั้นจึงเห็นชัดว่าเเรงงานข้ามชาติจึงมีความสำคัญต่อสังคมไทย วันนี้ประเทศไทยมีแรงงานที่จดทะเบียนกว่า 900,000 คน ยังไม่นับที่ไม่จดทะเบียนอีก คาดการณ์ว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน คนเหล่านี้เป็นเบื้องหลังความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำงานที่ไม่มีใครมองเห็น ทั้งสกปรก อันตราย เเละยากลำบาก แน่นอนแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายเพื่อคุ้มครองเเรงงานข้ามชาติเเละการจัดการเเรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ เเต่พบว่ายังมีเหตุการณ์ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ เช่น อุบัติเหตุจากการทำงาน การเข้าถึงการบริการสุขภาพ การศึกษา สถานะบุคคล สิทธิเเรงงาน นี้เป็นประเด็นที่จะนำมาเเลกเปลี่ยนในวันนี้ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยได้ทำงานในประเด็นเเรงงานข้ามชาติ ผ่านการส่งเสริมความรู้เเก่โบสถ์เเละคริสเตียนตามเเนวชายเเดนให้มีการยอมรับเเรงงานข้ามชาติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือ มองเขาในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่ามีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับเรา ดังนั้นการกระทำใดๆ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความรักก็เหมือนการกระทำต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นเอง
อดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล กล่าวเปิดงานเป็นคนต่อมาว่า ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก เเต่การพัฒนากลับเข้าไม่ถึงคนในพื้นที่ คนจนกลายเป็นคนที่ไม่มีโอกาสในการพัฒนา อย่างไรก็ตามคนจนในลุ่มเเม่น้ำโขงก็ไม่เคยยอมเเพ้ เเม้โอกาสการเข้าถึงเศรษฐกิจจะถูกปิดกั้น แต่พวกเขากลับมองการพัฒนาที่เกิดขึ้นผ่านความพยายามในการตอบโต้เอาตัวรอดเพื่อดำรงชีวิตได้ต่อไป ทางเลือกหนึ่งที่พบ คือการเดินทางข้ามเส้นสมมติเส้นพรมเเดนเพื่อเเสวงหาชีวิตเเละโอกาสที่ทำให้คนที่บ้านมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป แม้การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรค เจอเจ้าหน้าที่รัฐเอารัดเอาเปรียบ เจอนายหน้าผู้เเสวงหาประโยชน์ พบเจอความยากลำบากตลอดการเดินทางข้ามพรมแดน ดังเช่นกรณีที่แรงงานข้ามชาติที่จังหวัดระนองเสียชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์ พวกเขาและเธอก็มองเพียงแค่เป็นอุปสรรคที่ไม่ได้ทำให้ต้องยอมเเพ้ เมื่อมาถึงปลายทางชีวิตก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก การถูกดูถูก ถูกมองว่าเป็นอื่น ถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องการทำงาน แน่นอนทำให้เขาเห็นว่าชีวิตในประเทศไทยไม่ง่ายเเต่ไม่ได้ทำให้เขายอมเเพ้ คนข้ามชาติในลุ่มเเม่น้ำโขงนอกเหนือจากประเทศไทยมีประมาณสามถึงห้าล้านคน เปอร์เซ็นต์ไม่มาก เเต่เป็นฐานสร้างชีวิตในภูมิภาคหลายสิบหลายร้อยล้านคน เขาข้ามมาพร้อมความหวังเเละชีวิตที่ดีขึ้น ในฐานะคนเบื้องหลังเขาทำให้สภาพชีวิตคนในประเทศไทยหลายล้านคนดีขึ้น ไม่ว่าจะถูกมองในฐานะอะไรก็ตาม สิ่งที่คุณจอห์นได้ทำคือนำเสนออีกหน้าหนึ่งของทางเลือก นำเสนอภาวะของความเป็นมนุษย์ เป็นชีวิตที่คนทั่วไปเป็นอยู่ เช่น เเม่ลูกมารอสามี ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เด็กหนุ่มรองานทำ ความรู้สึกอย่างนี้คนงานไทย คนไทยก็รู้สึก มีภาพของเเรงงานที่กำลังมีรอยสัก เหมือนวัยรุ่นไทยที่ตามเกาหลี มนุษย์ต้องการภาวะอย่างนี้ ทำให้ผมรู้สึกถึงหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างทหารอเมริกากับหนุ่มญี่ปุ่น เมื่อทหารอเมริกามองเข้าไปในดวงตาของหนุ่มญี่ปุ่น ภาวะความเป็นศัตรูหายไป เป็นความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสิ่งที่ภาพนำเสนอ อยากให้มองตาเเละจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งอยู่ติดตัวเราตั้งเเต่เกิดจนตาย ขอขอบคุณคุณจอห์นที่เป็นมากกว่าช่างภาพ เป็นคนที่บอกเล่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่นให้คนได้รู้ ทั้งด้านที่งดงามเเละไม่งดงาม ขอบคุณผู้จัดงานที่ทำให้เรื่องเเรงงานข้ามชาติได้รับการเผยเเพร่อีกครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อความเข้าใจในประเด็นเเรงงานในลุ่มเเม่น้ำโขงต่อไป
Mr.John Hulme ช่างภาพ กล่าวขอบคุณ คพรส. ที่มอบโอกาสให้เเสดงภาพ เพื่อนำเสนอเรื่องสิทธิเเรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาที่จะถ่ายทอดให้คนทั่วไปเข้าใจ พร้อมกล่าวว่า สำหรับเเรงบันดาลใจนี้ ครั้งเเรกได้ไปที่เเม่สอด ตอนเเรกตั้งใจเพื่อถ่ายภาพในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งเข้าถึงยากมาก เเละเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ไทยเฝ้าระวังอยู่ เเละมีความเข้มงวดเรื่องการเข้าถึง จึงได้ศึกษาสถานการณ์ที่ชายเเดนหลายปี เดินทางไปหลายครั้ง ช่วงนั้นผมสังเกตว่ามีเเรงงานข้ามชาติทำงานในโรงงาน มีเเรงงานมากจนเเทบจะเป็นเมืองพม่ามากกว่าเมืองไทย ผมเริ่มสนใจชีวิตเเรงงาน เเละวิถีชีวิตทั่วไปของคนในเเม่สอด ผมจึงได้ถ่ายรูปเด็กเก็บขยะ ต่อมาผมได้ไประนองเเละได้พบเเรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง ช่วงเดียวกันผมเริ่มเห็นว่าประเด็นเเรงงานข้ามชาติไม่ใช่ประเด็นเฉพาะของประเทศไทย เเต่เป็นประเด็นนานาชาติ ทั่วโลกมีเเรงงานกว่า 192 ล้านคน ทั้งยุโรป อเมริกา ผมเริ่มศึกษาเรื่องการย้ายถิ่นข้ามพรมเเดนในภูมิภาค ผมจึงไม่ได้เป็นเเค่นักรณรงค์เรื่องเเรงงานที่ต้องการทำงานเฉพาะประเด็นพม่าที่ประสบความยากลำบาก เเต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงประเด็นการย้ายถิ่น ในฐานะปัญหาที่คนทั่วโลกต้องตระหนักมากกว่าร่วมด้วย ถ้าถามว่ามีภาพไหนที่ประทับใจเป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะการจะเลือกรูปใดรูปหนึ่งนั้นเลือกยาก เพราะผมรู้สึกผูกพันกับภาพต่างกันไปตามเวลาเเละสถานการณ์ ที่ชอบตอนนี้เป็นรูปที่ชุมชนกองขยะ เป็นรูปที่เเม่ลูกกำลังหาเลี้ยงชีพจากกองขยะ เพราะเเรงงานจะนึกว่ามาเมืองไทยเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ผมไม่เข้าใจว่ามันดีกว่าอย่างไร เพราะเขาต้องไปใช้ชีวิตบนกองขยะ ผมพบเห็นครอบครัวพยายามเลี้ยงลูกหกคนบนกองขยะ ก็เลยสงสัยว่าเป็นชีวิตที่ดีกว่าในพม่าจริงหรือ เเล้วดีกว่าอย่างไร รูปอีกรูปที่ชอบคือแรงงานข้ามชาติที่อยู่อย่างทุกข์ระทมในเมืองไทย เห็นวิถีชีวิตเเรงงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ห้องน้ำ น้ำสะอาดไม่ค่อยมี นอกจากนั้นแล้วยังชอบภาพเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าเป็นการดิ้นรน เอาชนะความยากลำบาก จะเห็นภาพเเรงงานประท้วงขณะที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างก็เลยประท้วงนัดหยุดงาน ความพยายามในการเจรจาต่อรองกลับถูกมองว่าเป็นภัย เเรงงานต้องหนีไปอาศัยที่วัดอยู่ชั่วคราว เเรงงานเป็นผู้หญิงก็ต้องหนีไปโดยไม่ได้เก็บของ ต่อมาเเรงงานเเละเเกนนำถูกเเจ้งจับหาว่าคุกคามนายจ้าง สุดท้ายแรงงานทั้งหมดถูกส่งกลับพม่า นี้ถือเป็นความเลวร้ายอย่างหนึ่ง แม้ว่าแรงงานจะพยายามดิ้นรนก็กลับถูกรังเเกซ้ำ เรื่องการต่อสู้อาจไม่ได้สร้างรอยยิ้มหรือชัยชนะ เเต่เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้เพื่อเเก้ปัญหาเเต่ละวันกันไป ในความยากลำบาก เราพบเห็นคนพม่า เเรงงานพม่าพยายามสนับสนุนซึ่งกันเเละกัน เพื่อให้ชีวิตต้องเดินต่อไป เช่นกรณีหมอซินเธียที่มาเปิดคลินิกที่เเม่ตาว ให้บริการรักษาพยาบาลทั้งคนพม่าข้ามมาเพราะบริการสาธารณสุขไม่ดีเเละช่วยรักษาเเรงงานพม่าในไทย หรือศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติเป็นความพยายามสอนลูกหลานพม่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดตากก็สนับสนุนให้เด็กเรียนหนังสือ ให้ได้วุฒิการศึกษาและไม่โดนจับ ในระหว่างที่ผมถ่ายภาพแต่ละภาพๆ นั้น ผมไม่ค่อยพบความเสี่ยงในการทำงาน เเต่มักเจอสถานการณ์ความยากลำบากมากกว่า มีเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่ง เช่น ภรรยาแรงงานข้ามชาติอายุ 20 กว่าๆ สามีทำงานอยู่ในเรือประมง นานๆ จะมาขึ้นฝั่ง วันหนึ่งเขาถูกซ้อมแล้วหายไป เเต่ภรรยายังมารอท่าเรือ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับ บางครั้งก็มีเหตุการณ์ที่นักข่าว ช่างภาพมักโดนข่มขู่ เช่น การประท้วงที่เเม่สอด ตอนที่ไปถ่ายที่วัด ทั้ง ตม. ตำรวจ ฉก. มาที่วัดเพื่อผลักดันกลับ ตอนนั้นผมเป็นฝรั่งคนเดียว สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไม่พอใจที่ผมพยายามถ่ายรูป พยายามส่งสัญญาณว่าถ้ามีข่าว มีรูปหลุดสู่สาธารณะ จะเป็นเรื่อง มีคนข่มขู่ไม่ให้เรื่องออกไปสู่สาธารณะ แน่นอนเราคงไม่สามารถเปลี่ยนเเปลงโลกด้วยภาพถ่ายนิทรรศการ หรือเปลี่ยนเเปลงสังคมเเบบพลิกฝ่ามือ แต่อย่างน้อยผมหวังว่านี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตเเรงงานข้ามชาติว่าเป็นอย่างไรบ้าง เปิดประตูให้คนได้ใส่ใจรับรู้ประเด็นเเรงงานย้ายถิ่น เปิดให้เห็นประเด็นที่ถูกลืมและละเลยไปจากสังคม
ชมภาพของ John Hulme ได้ที่ http://johnhulme.net/?page_id=29 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
วงเสวนาประเทศไทยจะไปทางไหน เชื่อไม่มีรัฐประหาร เลือกตั้งแน่ ความแตกแยกไม่จบ Posted: 30 Mar 2011 09:54 AM PDT 30 มี.ค.54 เวลา 13.00 น. กลุ่มจับกระแสเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Siam Intelligence Unit (SIU)จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยจะไปทางไหนกัน” ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการกล่าวรายงาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาร่วมเสวนาโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารกองทัพไทย, อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ต้นเหตุปัญหาการเมืองไทยต้องแก้ทั้งที่ “คน” และ “ระบบ” พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ กล่าวว่า ต้นตอปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันเกิดจากคนในสังคมแตกแยกกันไปหลายทิศหลายทางโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันว่าในท้ายที่สุดแล้วประชาชนต้องได้อยู่ดีกินดี มีศักดิ์ศรี และประเทศชาติมั่งคั่ง คนที่จะร่วมกันขับดันประเทศได้ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน แต่ตอนนี้หลายฝ่ายขับเคลื่อนกันไปคนละทาง บางฝ่ายไม่ยอมฟังคนอื่นแต่ชอบพูดให้คนอื่นฟัง ประเทศที่เจริญก้าวหน้าแล้วเขาสามัคคีและมีเอกภาพกันมากกว่าเรา ขณะที่เรากำลังชักเย่อกันอยู่ ทางแก้ปัญหาคือเราต้องเตรียมคนให้เหมาะให้มีคุณภาพต่อระบอบการปกครอง โดยต้องให้การศึกษา ให้คนมีความรู้เรื่องประชาธิปไตย หน้าที่พลเมือง และศีลธรรมจรรยา ด้านอุทัย พิมพ์ใจชน มองว่า ปัญหาการเมืองในปัจจุบันเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในทิศทางประชาธิปไตย จึงเกิดการกลับไปสู่จุดเริ่มที่การยึดอำนาจวนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่คณะราษฎร์ปฏิวัติเมื่อ 2475 ถือเป็นหมุดหมายว่าเราจะเดินไปในเส้นทางประชาธิปไตย แต่บางช่วงก็เกิดความไม่มั่นใจในประชาธิไตยจึงปล่อยให้เกิดการรัฐประหาร เช่น 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ถ้าเราอดทนและปล่อยให้กระบวนการประชาธิไตยเยียวยาตัวมันเอง เราก็คงผ่านช่วงนั้นมาได้โดยไม่เกิดการรัฐประหาร “เราไม่เอาอะไรสักอย่าง ประชาธิปไตย เผด็จการ คอมมิวนิสต์ จะเอาอะไรก็เอาไปให้มั่นคงไปเลย แล้วจะเอาดีได้อย่างไร ถ้าจะรัฐประหารก็เอาอำนาจเลย อย่าคืนมานะ แต่ถ้าเอาประชาธิปไตยก็ต้องทน” อุทัยกล่าว ทางออกจากปัญหานี้คือ สังคมต้องแน่วแน่ในหนทางการปกครองประชาธิปไตย ต้องปูทางไปให้ถึงโดยการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพโดยให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตย เศรษฐกิจ การเมือง ศีลธรรม วินัย ตั้งแต่เด็ก ๆ เหมือนที่ญี่ปุ่นทำ ผ่านไปสิบปีจะได้คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ส่วน รศ.ดร.โคทม อารียา เสนอว่า ปัญหาอยู่ที่ความคิดความเชื่อสองชุดของคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯที่ขัดแย้งกัน คือ ฝ่ายหนึ่งว่าราชาธิปไตยดี อีกฝ่ายก็ว่าประชาธิปไตยดี ทะเลาะกันมา 79 ปีก็ยังไม่ลงตัว ยังหาจุดพอดีไม่เจอ เพราะว่าฝ่าย “เก่าไม่อยากเปลี่ยน” “ใหม่ไม่ค่อยอยากปรับ” นี่คือลักษณะพหุนิยมของสังคม และตอนนี้สังคมกำลังเผชิญกับวาทกรรมสองอย่างได้แก่ “ประชาธิปไตยขาดคุณธรรม” ใช้อธิบายถึงวงจรอุบาทว์ของนักการเมืองไทย อีกวาทกรรมหนึ่งก็คือ “การเมืองไทยเป็นการเมืองเรื่องอำมาตย์” ซึ่งวาทกรรมสองฝ่ายนี้เป็นปัจจัยนำมาสู่การขัดแย้งทางความคิดที่สำคัญในปัจจุบัน ความขัดแย้งนี้ไม่มีวันจบ เราต้องแก้ปัญหาที่ระบบ เพราะแก้เป็นคน ๆ ไปมันก็เท่านั้น ด้าร รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ เสริมประเด็นนี้ในด้านเศรษฐกิจว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจของไทยคือยังไม่สามารถเลื่อนชั้นไปสู่เศรษฐกิจภาคบริการ (Service economy) เนื่องจากการเมืองดิ่งลึกเข้าสู่ระบบครอบครัวผ่านทายาททางการเมือง ซึ่งในทางพฤตินัยคืออำนาจอยู่ในมือคนจำนวนน้อย เศรษฐกิจจึงอยากที่จะเกิดพลวัตเลื่อนชั้นไปสู่ภาคบริการ ถ้าคนมีคุณภาพ พลวัตการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองก็เคลื่อนไปได้ง่าย พร้อมเสนอแนะรัฐบาลในอนาคตควรมี Good Governance Policy ที่จะพัฒนามาตรฐานระบบการเงินไทย เพื่อรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งอาเซียนจะเป็นสมรภูมิที่จีนและญี่ปุ่นจะเข้ามาแข่งขันกันอย่างดุเดือดด้วย รัฐประหารไม่ใช่ทางออก จากการร่วมอภิปรายของวิทยากร มีความเห็นตรงกันประการหนึ่งต่อสภาพการเมืองไทยว่า รัฐประหารไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา โดย พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า โดยเหตุโดยผลแล้วคิดว่าไม่น่าจะมี และไม่ควรมีรัฐประหาร ที่ผ่านมาการเมืองไทยอยู่ในสภาพพายเรือในอ่างมานานแล้ว เกิดรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง ขัดแย้งแล้วก็จบที่รัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้สังคมแย่ เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องมุ่งแก้ไปตามวิธีการของระบอบนั้น ๆ ทันที เช่นเดียวกับนายอุทัย พิมพ์ใจชน มีความเห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยมีหลักการอยู่ตรงที่การวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบถ่วงดุลผู้ใช้อำนาจทั้งจากในสภาและจากภาคสังคม ใครจะชั่วดีอย่างไรสังคมก็รู้และตรวจสอบได้ แต่ถ้ารัฐประหารไปแล้วอำนาจมันจะทำให้ปิดเงียบ สังคมไม่รู้ ด้าน รศ.ดร.โคทม อารียา เพิ่มเติมว่า สื่อมวลชนไม่ควรมีปฏิกิริยามากต่อกระแสข่าวรัฐประหาร ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิด ควรเปิดกว้างแนวทางประชาธิปไตบแบบถกแถลง ยอมรับความแตกต่างของคนอื่น และควรปิดประตูรัฐประหารเสีย เลือกตั้งมีแน่ ความแตกแยกยังไม่จบ สำหรับประเด็นเรื่องการเลือกตั้งครั้งใหม่หลังการยุบสภาต้นดือนพฤษภาคมนี้เวทีเสวนาเห็นว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างแน่นอน แม้จะมีข่าวลือว่าไม่มีการเลือกตั้งออกมาเป็นระยะ ซึ่งความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายก็ยังคงดำรงอยู่ เพราะแน่นอนว่าย่อมมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะและฝ่ายตรงข้ามก็จะประท้วงคัดค้าน อาจมีความรุนแรงบ้างประปรายจากลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่พอใจ การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายยังมีการทะเลาะกันอยู่เพราะนี่คือพหุนิยม แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน ต้องเคารพกันและกัน ที่ผ่านมาสังคมไทยมีบทเรียนจากความเสียหายจากความขัดแย้งมาแล้ว คงจะเกิดการเรียนรู้ และอยู่ที่ประชาชนทุกคนเอง ที่จะร่วมมือกันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความโปร่งใสเที่ยงธรรม ให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือพัฒนาประชาธิปไตยของเราให้ก้าวไปข้างหน้า สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเริ่มขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด Posted: 30 Mar 2011 09:45 AM PDT มีรายงานว่า ผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกของรัฐฉานเริ่มขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด ขณะที่ทหารพม่าในพื้นที่ได้พยายามกีดกันความช่วยเหลือจากข้างนอก ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ตามเขตชนบทห่างไกลออกไปยังขาดแคลนอาหาร น้ำดื่มและสิ่งของจำเป็นอีกจำนวนมาก ชาวบ้านจากพื้นที่ห่างไกลหลายหมู่บ้าน อย่างเช่นชาวบ้านในหมู่บ้านจากูหนี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลาหู่นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือในด้านอาหารและสิ่งของจำเป็น รวมถึงยารักษาโรค ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากหมู่บ้านจากูหนี่เพียงแห่งเดียวพุ่งเป็น 85 ศพ มีเพียง 31 ศพที่ได้รับการเก็บกู้และประกอบพิธีกรรม ด้านนาย Chris Herink โฆษกมูลนิธิศุภนิมิตในรัฐฉานกล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประสบภัยต้องการมากในขณะนี้ก็คือ น้ำดื่มสะอาดและศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ขณะนี้ มีชาวบ้านกว่า 96 คน ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงมากที่สุดกำลังเผชิญกับโรคท้องร่วง สื่อพม่ารายงานว่า ขณะนี้มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 305 หลัง โรงเรียน11 แห่ง และสถานที่ทางศาสนาอีก 31 แห่ง ด้านชาวบ้านในพื้นที่ประเมินว่า ความเสียหายและจำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับสำนักข่าวอิรวดีที่ประเมินไว้ว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน ส่วนประชาชนทั่วไปยังไม่กล้าบริจาคสิ่งของให้กับผู้ประสบภัยผ่านทางทหารพม่า เนื่องจากไม่มั่นใจว่า สิ่งของที่บริจาคจะไปถึงมือผู้ประสบภัยหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวอิรวดีในภาคภาษาพม่ารายงานว่า ทหารพม่าที่ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่ประสบภัยส่วนใหญ่หวังค้นหาสิ่งของมีค่าของชาวบ้านมากกว่าการค้นหาผู้รอดชีวิตหรือช่วยเก็บกู้ซากปรักหักพัง อีกทั้งมีกระแสข่าวออกมาว่า ทหารพม่าได้สั่งให้คนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวไปอยู่ในค่ายทหาร เพราะไม่อยากให้เป็นข่าวครึกโครมว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ทางการพม่าพยายามปิดข่าวตัวเลขทหารพม่าและครอบครัวที่เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วยเช่นกัน (ที่มา: Irrawaddy 29 มีนาคม 54)
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
จดหมายถึงสารคดี “ประเด็นอยู่ที่จรรยาชีพ” ครับท่านบรรณาธิการ Posted: 30 Mar 2011 08:51 AM PDT อ้างถึงบทบรรณาธิการในสารคดีฉบับที่ 313 เดือนมีนาคม 2554 หน้า 14-15 ผมรู้สึกสลดใจกับบทบรรณาธิการในฉบับดังกล่าว ซึ่งเข้าใจว่าเขียนโดยอ้างอิงกับการที่มีนักเขียนของสารคดีส่งจดหมายท้วงติงและลาออกประท้วงการลง Advertorial ให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) โดยไม่แจ้งให้ผู้อ่านทราบในฉบับก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่านบทบรรณาธิการดังกล่าว ที่ใช้ชื่อว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” มีเนื้อหาสรุปโดยสั้นว่า บรรณาธิการเหมารวมว่าทุกคนคงเคยปั้นน้ำเป็นตัว ท่านได้ยกตัวอย่างนักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง หรือแม้แต่สมองของคน คนมักจะเชื่อเรื่องเล่าของแหล่งที่น่าเชื่อถือ และในสังคมมนุษย์ปัจจุบันก็เต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่โกหก ดังนั้น บรรณาธิการจึงประกาศว่า ‘โปรดอ่านทุกหน้าใน สารคดี ด้วยความใคร่ครวญ และอย่าเชื่อมั่นว่ามีแต่ความจริงอันเป็นที่สุด ไม่ว่าหน้านั้นจะมีคำว่า “พื้นที่ประชาสัมพันธ์” หรือไม่ก็ตาม’ อ่านบทบรรณาธิการฉบับนี้แล้ว เหมือนโดนตีแสกหน้า ถึงอยากจะยกประโยชน์ให้จำเลยในแง่ที่ว่า บรรณาธิการอาจจะมีความตั้งใจจริงที่จะให้ผู้อ่านระมัดระวังและใช้วิจารณญาณในการอ่านสารคดีและเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวให้มากขึ้น แต่นัยที่แสดงออกอย่างเด่นชัด ไม่ว่าบรรณาธิการจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามคือ “การแก้ตัวอย่างขาดความรับผิดชอบ” อันเนื่องมาจาก “ความไม่สำนึกว่าได้กระทำความผิด” เหตุผลและตัวอย่างที่พยายามยกมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำรงอยู่ของบทโฆษณา ปตท. ในสารคดีฉบับก่อนหน้านั้น ก็มีตรรกะที่บิดเบี้ยว ซึ่งจะขออธิบายยกตัวอย่างในภายหลัง นัยของบทบรรณาธิการ พยายามจะเตือนทุกท่านด้วยความหวังดีว่า เราอยู่บนโลกแห่งความลวง ดังนั้น ระวังให้ดี แต่ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เราอยู่บนโลกแห่งความลวงหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่เรื่อง “จรรยาชีพ” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ความลวงของโลกไม่ได้มาเกี่ยวอะไรกับการลงบทโฆษณาดังกล่าวแม้แต่น้อย สิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญคือ จรรยาชีพของคนทำหนังสือสารคดี และความรับผิดชอบต่อสังคม ในแง่ของการตระหนักรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายของการลงโฆษณาด้วยวิธีดังกล่าวของบริษัท ซึ่งตามหลักวิชาชีพได้มีทางออกไว้ให้แล้วด้วยการยินยอมให้รับเงินจากบริษัทเพื่อลงโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยอิงกับความน่าเชื่อถือและของนิตยสาร แต่ต้องแจ้งให้ผู้อ่านรับทราบล่วงหน้าด้วยข้อความว่า “พื้นที่โฆษณา” หรือ “พื้นที่ประชาสัมพันธ์” ไม่ว่ามันจะเขียนด้วยตัวอักษรที่ใช้สีกลมกลืนกับพื้นหลังและด้วยขนาดตัวอักษรที่เล็กเพียงใดก็ตาม บรรณาธิการทราบดีอยู่แล้วว่ามนุษย์มักจะเชื่อโดยง่าย หากได้ข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ จึงสมควรจะทราบต่อไปอีกด้วยว่าบทความใน “สารคดี” คือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือด้านสิ่งแวดล้อมการลงโฆษณาด้วยวิธีดังกล่าว โดยไม่แสดงข้อความเตือน ทำให้อาจตีความได้ว่าเป็นความ “จงใจ” ที่จะหลอกลวงผู้สนับสนุนนิตยสาร “เพื่อหวังอามิสสินจ้าง” โดยไม่คำนึงถึงหลักการทางวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสังคม แน่นอนว่า ผู้อ่านควรจะรับข้อมูลอย่างระมัดระวัง รอบคอบ ไม่ด่วนเชื่อ ไม่ยึดถือว่าสิ่งที่ได้อ่านเป็นความจริงแท้ แม้ว่าโลกจะเต็มไปด้วยความลวง แต่สังคมไม่สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน ด้วยข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เช่น เวลา ประสบการณ์ การเข้าถึงข้อมูล ฯลฯ จึงต้องมีการสร้างสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่เสมือนผู้รับรองความน่าเชื่อถือเบื้องต้นของข้อมูลเหล่านั้น และสารคดีเองก็เป็นสถาบันหนึ่งที่สังคมเชื่อว่าสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ การละเว้นไม่ทำหน้าที่อย่างจงใจของสารคดีจึงมีผลต่อสังคม หากใช้ตรรกะของบรรณาธิการที่ว่า เราอยู่บนโลกแห่งความลวง นักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ อาจจะลวงเราได้ แล้วสังคมจะอยู่อย่างไรครับ? การที่เราไม่เชื่อ สถาบันที่ทำหน้าที่รับรองความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในระดับหนึ่ง (ผมไม่ได้หมายความว่าให้เชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม แต่หมายถึงหากไม่เชื่ออย่างสุดโต่งและสงสัย ตรวจสอบตลอดเวลา) แต่สังคมจะวุ่นวายและกลียุคกว่านั้น หากสถาบันเหล่านั้นไม่ทำหน้าที่คัดกรอง และตรวจสอบความจริง และปัดภาระด้วยการบอกว่า เราอยู่บนโลกแห่งความลวง ดังนั้น ทุกคนระวังให้ดีก็แล้วกัน!!! ลองนึกภาพเราไปหาหมอ แล้วหมอก็จ่ายยาให้เราโดยไม่สนว่าจะถูกกับโรคหรือไม่ แต่เน้นจ่ายยาที่บริษัทยาให้ค่าคอมมิสชั่นแพง ๆ คนไข้จะกินยานั้นหรือไม่ หรือไปหายาอื่น ก็แล้วแต่วิจารณญาณดูก็แล้วกัน
ก่อนจะจบจดหมายฉบับนี้ ผมขอกลับไปที่เรื่องตรรกะของบรรณาธิการสักนิด หลักคิดและตัวอย่างที่บรรณาธิการพยายามยกมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองนั้น มันไม่ตรงกับประเด็นเรื่องโลกแห่งความลวง ในกรณีของนักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ ชัดเจนว่า เขาพูดในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งตามธรรมเนียมของวัฒนธรรมของฝรั่ง ถือเป็นวันโกหก ดังนั้นในวันนี้ หากมีอะไรแปลกประหลาด ทุกคนจะระวังไว้ก่อนว่า อาจมีการอำครั้งใหญ่เกิดขึ้น วันที่ 1 เมษายน นี่ล่ะครับ คือ ข้อความ “พื้นที่ประชาสัมพันธ์” ที่จะทำให้ผู้รับสารระแวดระวังข้อมูลข่าวสารที่กำลังจะรับฟัง และควรจะตระหนักไว้ด้วยว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จะไม่มีวันโกหกแบบนี้ในวันอื่น ๆ และต่อให้เป็นวันที่ 1 เมษายน พวกเขาก็จะไม่โกหกเพื่อหาประโยชน์ใส่กระเป๋าตนเอง แต่จะอำ เพื่อกระตุ้นให้คนได้ไปคิดต่อ กรณีของการทดสอบยาก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทดสอบทางการแพทย์ ไม่ใช่การโกหก สิ่งที่เป็นการโกหกเพียงอย่างเดียวน่าจะเป็นการที่คนเรามักจะเคยปั้นน้ำเป็นตัวตอนเด็ก ที่เกิดขึ้นเพราะความเยาว์ ความเขลา และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ท้ายนี้ หวังว่าสารคดีคงจะรับฟังเสียงหนึ่ง (และคาดว่าจะไม่ใช่เสียงเดียว) ที่พยายามทำตัวเป็น “ป้ายเตือน” โค้งอันตราย ด้วยความไม่อยากเห็นสารคดีแหกโค้งสิ้นชีพลงไปด้วยวัยไม่เต็มสามสิบ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
มาแล้ว! พ.ร.บ.ชุมนุมผ่านกรรมาธิการ เสนอเพิ่มเพียบ Posted: 30 Mar 2011 08:26 AM PDT กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ.การชุมนุ หลังจาก "ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.… " ผ่านวาระแรกเข้าสู่สภาเมื ร่างกฎหมายนี้มีผู้แปรญัตติ 2 ค ประเด็นสถานที่ห้ามชุมนุมนั้น ไม่มีกรรมการหรือผู้แปรญัตติ ประเด็นที่สอง เรื่องการขออนุญาตชุมนุม นายอภิชาต การิกาญจน์ ขอแปรญัตติโดยเสนอให้ตัดมาตราที ประเด็นเรื่องการสลายการชุมนุม นายบรรพต ตันธีรวงศ์ กรรมาธิการ ขอเสนอให้เพิ่มความว่า เมื่อมีการประกาศให้เลิกชุมนุ เมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่
ที่มา: iLaw http://ilaw.or.th
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||
ดิ ไอริช ไทมส์ สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี้: การโจมตีจะเป็นปรปักษ์กับหลายชาติในโลกอาหรับ Posted: 30 Mar 2011 02:28 AM PDT
"การแทรกแซงทางทหารในลิเบียนั้นถือเป็นข้อผิดพลาดอย่างรุนแรง" นอม ชอมสกี้ นักเคลื่อนไหว กล่าวต่อ ซานดร้า แซทเทอลี นอม ชอมสกี้ เขียนถึงสงครามกลางเมืองสเปนในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนซึ่งตอนนั้นเขามีอายุเพียงแค่ 10 ขวบ เขาเคยถูกจองจำด้วยกันกับ นอร์แมน เมลเลอร์ในปี 1967 จากการประท้วงต่อต้านสงครามในเวียตนามที่เพนตาก้อน และเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาเขาถูกกักตัวโดยชาวอิสราเอลในขณะที่เขาพยายามจะเข้าไปในเวสต์แบงค์โดยใช้เส้นทางผ่านประเทศจอร์แดน นักวิชาการชื่อก้องโลก และศาสตราจารย์ปลดเกษียนด้านภาษาศาสตร์แห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT) เขายังคงเป็นนักเคลื่อนไหวที่ยังมีความกระตือรือร้นอยู่ในวัย 82 ปี และเป็นนักวิจารณ์นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯด้วย ชอมสกี้เตือนว่าการแทรกแซงทางทหารในลิเบียนั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ “เมื่อสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสเลือกการแทรกแซงทางทหารแล้ว เราต้องตระหนักด้วยว่าประเทศเหล่านี้จะเป็นที่รังเกียจในภูมิภาคนี้ด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนักมาก พวกคนรวยและผู้มีอำนาจนั้นสามารถพูดได้ว่าให้อยู่กับปัจจุบันไม่ใช่อดีต แต่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่โชคดีอย่างนั้น” ชอมสกี้ กล่าว “การขู่แบบนี้ ผมมั่นใจว่ามันจะนำมาซึ่งความทรงจำที่เลวร้ายในภูมิภาคนั้น และผู้คนหลายคนในแอฟริกา และโลกอาหรับนั้นจะเป็นปฏิปักษ์กับการแทรกแซงทางทหาร” ชอมสกี้ยังกล่าวต่ออีกด้วยว่าในโพลความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในอียิปต์นั้นแสดงให้เห็นว่า 90% ของประชากรทั้งหมดเห็นว่า สหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดที่เขาเคยเจอ เขายังย้ำอีกด้วยว่าในลิเบียนั้นเป็นปัญหาทางด้านมนุษยธรรม “มันคือสงครามกลางเมือง และการเข้าไปแทรกแซงสงครามกลางเมืองนั้นยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นไปอีก” เขากล่าวเสริมอีกว่า “เราอาจไม่เห็นด้วยกับมัน แต่มันก็มีคนที่สนับสนุนกัดดาฟี่” พูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปาเลสไตน์ สถานการณ์ในแอฟริกาเหนือนั้นดูท่าจะไม่ดีขึ้น หากรายงานข้อเรียกร้องของรัฐบาลอิสราเอลต่อสหรัฐฯ เพื่อเงินสนับสนุนจำนวน 2 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อรักษาความมั่นคงในภูมิภาค (ทางทหาร) “นี่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามันจะถูกนำมาใช้เพื่อให้อิสราเอลยังคงควบคุมสิ่งที่ยังพอจะเหลืออยู่ในปาเลสไตน์ได้มากขึ้น และเพื่อรักษาความสามารถในการใช้กำลังของอิสราเอล นี่ไม่ได้หมายความว่าอิสราเอลจะประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งเงินจำนวนนี้จากสหรัฐฯ แต่เจตนานั้นชัดเจน” ชอมสกี้กล่าว เขายังมองเห็นการเปลี่ยนไปของอำนาจของสหรัฐฯ ที่มีในแถบแอฟริกาเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอียิปต์ เขาเชื่อว่าข้อสังเกตของ Wall Street Journal นั้นยังถูกต้องอีกด้วยที่ว่าชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ตอนนี้กำลังประสบปัญหา “ขณะนี้ยังไม่มีใครคิดออกว่าจะควบคุมปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ สมมติฐานนั้นแน่นอนว่าเราจะต้องควบคุมมันให้ได้” ชอมสกี้ กล่าว เกี่ยวกับการผกผันของพันธมิตรในโลกตะวันตกกับระบอบเผด็จการ ชอมสกี้ยกตัวอย่างและกล่าวว่ามันกลายเป็นว่าโลกตะวันตกในขณะนี้ เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะสนับสนุนผู้นำเผด็จการที่ตนต้องการ “ณ ตอนนี้มีแผนการที่ได้มีการนำไปปฏิบัติแล้ว โดยจะเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ ที่มีการกำจัดผู้นำเผด็จการต่อเมื่อไม่สามารถสนับสนุนผู้นำเผด็จการนั้นได้อีกต่อไปแล้ว จึงทำการชูความรักในระบอบประชาธิปไตยแทน” เขากล่าว ซาอุดิอาระเบียนั้นเป็นตัวอย่างของความขัดกันของนโยบายในโลกตะวันตก ชอมสกี้ กล่าวว่า “ซาอุดิอาระเบียเป็นศูนย์กลางของอิสลามหัวรุนแรง อีกทั้งยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ และอังกฤษที่สนับสนุนอิสลามหัวรุนแรงให้แตกกันกับพวกชาตินิยมที่ไม่เคร่งศาสนา (secular nationalism) ซาอุดิอาระเบียเป็นเผด็จการที่โหดเหี้ยมทีเดียว ดูจากก่อนที่จะมีความวุ่นวายครั้งล่าสุด รัฐบาลกล่าวชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และแล้วมันก็เป็นจริง” (หมายความว่าใช้รัฐฯ ใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง-ผู้แปล) ดังที่เราได้เห็นแล้วว่าทหารของซาอุฯ นั้นถูกส่งเข้าไปในบาห์เรน จากนั้นก็มีผลตามมาที่น่ากลัว ฮิลลารี คลินตัน เลขาธิการแห่งสหรัฐฯ แคทเทอรีน แอชตัน ประธานการต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป และวิลเลี่ยม เฮค เลขาธิการการต่างประเทศแห่งอังกฤษ ประชุมกันที่เจนีวาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อทำการสนับสนุนคดีในดำเนินการฟ้องร้องกัดดาฟี่โดยศาลโลก(International Criminal Court (ICC) “คำถามหนึ่งก็คือมันจะไปขัดกับแนวทางที่ดีกว่า นั่นคือ ทำการเอากัดดาฟี่ออกไปจากประเทศ” “นอกจากนั้นแล้ว สำหรับจุดยืนของศาลโลกนั้นเราไม่สามารถมองข้ามความจริงที่ว่าสำหรับหลายประเทศแล้ว ศาลโลกนั้นถูกให้ชื่อว่าเอนเอียงเข้าทางกับโลกตะวันตก” ชอมสกี้ กล่าว ชอมสกี้ สงสัยว่าทำไม จอร์จ บุช และ โทนี่ แบลร์นั้นไม่ถูกนำขึ้นศาลโลกจากกรณีบุกรุกอิรัก “นี่คือการที่คนรวย และมีอำนาจนั้นพยายามละเว้นโทษของตัวเอง และนั่นไม่ได้หมายความว่าศาลโลกนั้นไม่มีประโยชน์ใดๆ แต่มันก็เป็นการลดทอนความเป็นบูรณภาพของตัวมันเอง” ชอมสกี้ กล่าว พูดถึงเรื่องน้ำมัน และเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในแถบแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ชอมสกี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรื่องของผลประโยชน์โดยมีอำนาจในการควบคุมน้ำมันนั้นเป็นแนวทางของนโยบายของอังกฤษมากว่าทศวรรษ อีกทั้งยังเป็นแนวทางของนโยบายของสหรัฐฯ มาเกือบจะนานเท่ากัน และแน่นอนมันก็ยังคงเป็นอยู่” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
รายงาน: Neighbour Never Be A Part อย่าลืมแผ่นดินไหวที่พม่า Posted: 30 Mar 2011 01:27 AM PDT สหัสชัย ปิ่นมณี ผู้ริเริ่มกิจกรรมบริจาคนี้เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากความคิดที่ว่าอยากช่วยเพื่อนบ้านที่ประสบภัยแผ่นดินไหวบ้างเท่านั้นเอง ไม่มีใครผิดที่ตอนนี้ทุกคนไปช่วยญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นเองมีความสามารถที่พอจะช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่สำหรับชาวไทใหญ่ที่รัฐฉานพวกเขาถูกรัฐบาลพม่าปิดล้อม แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ว่าของบริจาคต่าง ๆ ทหารพม่ากักเอาแต่ ชิ้นดี ๆ ไว้หมด และของส่วนใหญ่ก็ยังไปไม่ถึงมือผู้ประสบภัยจริง ๆ ซ้ำยังมีเรื่องที่น่าหมั่นไส้เกิดขึ้นกับการบริจาคช่วยเหลือญี่ปุ่น มีคนหาผลประโยชน์แอบแฝงเป็นช่องทางการตลาดเพื่อการโปรโมตห้างร้านตัวเองจากสถานการณ์ตรงนี้ จึงรวมกันคิดกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ช่วยเหลือชาวบ้านรัฐฉานที่เดือดร้อนเท่าที่เราพอจะทำกันได้ เพราะเขาคือคนข้างบ้านอยู่ติดกันแท้ ๆ “งานนี้ถือเป็นงานการ - กู – สน มากกว่านะ เพราะคิดว่าประเทศเพื่อนบ้านคนไทยเรามักหลงลืมที่จะช่วยเหลือ เราจัดการช่วยได้เท่าที่พอทำได้” สหัสชัยกล่าว สิ่งของที่อยากรับบริจาคตอนนี้ก็ได้แก่ เสื้อผ้า อาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน ผ้าอนามัย กางเกงใน และแผ่นพลาสติกสำหรับปูนอนเพราะได้ข่าวว่าตอนนี้ที่โน่นฝนตกมาก และสามารถบริจาคเป็นเงินได้เช่นกัน เท่าที่ทราบขณะนี้มีผู้ประสบภัยราวแปดพันคน แต่รัฐบาลพม่าปิดข่าว และชาวบ้านส่วนหนึ่งก็อพยพมายังฝั่งไทยแต่ก็ยังถูกกักไว้บริเวณชายแดนอำเภอแม่สาย สหัสชัย กล่าวว่าสำหรับสิ่งของที่ได้รับบริจาคจากกิจกรรมครั้งนี้ก็จะพยายามส่งให้ถึงมือผู้ประสบภัยให้มากที่สุด โดยการประสานผ่านองค์กรเช่นหน่วยกาชาด เพราะถ้าเราส่งของไปตรง ๆ รัฐบาลพม่าก็จะห้ามและอาจไปตกอยู่ในมือทหารคัดเอาแต่ของที่ดี ๆ ไปหมดอีก ท่านที่สนใจสามารถร่วมบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายนนี้ ที่ร้าน Pedalicious ซอยเอกมัย 12 สุขุมวิท 63 โทร. 02-713-3377 ตั้งแต่เวลา 5 โมงเย็นถึงเที่ยงคืนทุกวัน และร่วมบริจาคเงินได้ที่ ชื่อบัญชี นิรมล ธัญยาธีรพงษ์ เลขที่บัญชี 968-2-04025-1 ธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์ ลาดพร้าว. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ใบตองแห้งออนไลน์: ขอบคุณความเห็นต่าง Posted: 29 Mar 2011 09:25 PM PDT หมอตุลย์โผล่ไปนิติราษฎร์ โดนเสิ้อแดงโห่ไล่! ถ้าฟังพาดหัวข่าว บางคนก็อาจสะใจ แต่พอฟังหมอตุลย์ให้สัมภาษณ์ประชาไท เห็นด้วยกับการแก้ไขไม่ให้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง บางคนก็สับสน บ้างก็หาว่าแกยืนอยู่กลางกลุ่มคนเสื้อแดง เลยต้องทำเป็นเห็นด้วยไปงั้น แต่ถ้าเราไม่มองในมุมของข้างใดเลย มองเฉพาะปรากฏการณ์ที่ผู้มีความเห็นแตกต่างกัน (แทบจะสุดขั้วด้วยซ้ำถ้ามองจากที่ผ่านมา) กล้าเดินเข้าไปรับฟังการอภิปรายของคนอีกข้าง และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น โดยไม่วิตกต่อการแสดงปฏิกิริยาใดๆ ถามว่านี่ก็คือบรรยากาศประชาธิปไตยที่เราต้องการไม่ใช่หรือ นี่ก็คือท่าทีที่ควรชื่นชมไม่ใช่หรือ ไม่ใช่ว่าผมรู้จักหมอตุลย์จึงชื่นชม ต่อให้ไม่รู้จักก็ชื่นชม แต่เมื่อผมรู้จักทั้ง อ.วรเจตน์และหมอตุลย์ ก็เลยโทรไปคุยกับ อ.วรเจตน์ ซึ่งดีใจที่หมอตุลย์ไปฟัง และอยากให้แสดงความเห็นหน้าเวทีด้วยซ้ำ เพราะ อ.วรเจตน์ต้องการความเห็นหลากหลาย ต้องการให้โต้แย้งกันอย่างมีเหตุผล และหวังว่าจะได้เสวนากับหมอตุลย์หรือนักวิชาการนักกฎหมายที่เห็นต่าง ในบรรยากาศเอื้ออำนวยกว่านี้ ผมโทรไปคุยกับหมอตุลย์ หมอตุลย์ย้ำว่าฟังกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์แล้ว ฟังขึ้น แต่ก็บอกว่าคนที่คิดแก้ไข ม.112 มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนที่บริสุทธิ์ใจ มีหลักวิชาการ กับกลุ่มคนที่ต้องการโจมตีโค่นล้มสถาบัน คนกลุ่มแรกต้องระวังจะตกเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มหลัง หมอตุลย์ย้ำความเห็นว่า ม.112 ควรจะแยกกำหนดโทษหลายระดับ เช่น สำหรับผู้ที่อาฆาตมาดร้ายหรือต้องการโค่นล้มราชบัลลังก์ ให้กำหนดโทษสูงสุด แต่กรณีที่เป็นการกล่าวกระทบกระเทียบ ตัวอย่างเช่นกรณีวีระ มุสิกพงศ์ ควรมีโทษสถานเบา หรือกรณีที่ไม่ยืนในโรงหนัง น่าจะมีโทษเบาโดยศาลสามารถตัดสินเพียงรอลงอาญาเท่านั้น ในส่วนขั้นตอนของการดำเนินการ หมอตุลย์เห็นว่าควรให้อัยการหน่วยพิเศษเป็นผู้พิจารณาและฟ้องคดี โดยในกรณีที่เป็นความผิดซึ่งมีโทษสถานเบาสามารถให้ประกันตัวได้ นั่นคือความเห็นหมอตุลย์ ซึ่งไม่ใช่ผมเห็นด้วย แต่ก็ถือเป็นความเห็นเชิงบวก และยังดีกว่าพวกขวาคลั่ง ที่บางรายยังเอาหมอตุลย์ไปด่าในบล็อกอย่างสาดเสียเทเสีย หาว่าหมอตุลย์ “หลงป่า” ช็อกความรู้สึกประชาชน ตกหลุมพวกนักวิชาการเสื้อแดงล้มเจ้า หรือจะมีแนวคิดไปทางแดงล้มเจ้าก็บอกมาตรงๆ (นิสัยพันธมิตร ใครไม่เห็นด้วยกลายเป็นศัตรู ต่อให้เคยเป็นพวกกันเอง) การที่หมอตุลย์ถูกโห่เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะมวลชนสั่งสมความไม่พอใจมานาน โดยเฉพาะบทบาทหมอตุลย์ในช่วงพฤษภา 53 แต่บางส่วนก็มีความเข้าใจผิดและขยายความเกลียดชังกันจากข่าวร่ำลือ เช่น บอกว่าหลังสลายม็อบหมอตุลย์ไปสนามศุภฯ คอยชี้ให้ทหารจับพวกเสื้อแดง (ยังกะหมอตุลย์เป็นหน่วยข่าวกรอง) หรือลือว่าไม่ยอมรักษาคนไข้เสื้อแดง ซึ่งหมอตุลย์ยืนยันกับผมว่าไม่จริง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นจรรยาแพทย์ จะปฏิเสธไม่รักษาใครใม่ได้ ก่อนหน้านี้เคยมีหมอจุฬ่าฯ ประกาศไม่รักษาตำรวจ แต่ก็ไม่ใช่แก ที่ผ่านมาแกบอกว่ารักษาคนไข้ตั้งหลายคน ที่เห็นเปิดทีวีเสื้อแดงดูในห้องคนไข้เฉยเลย ผมเห็นด้วยว่าเรื่องนี้เหลวไหล เพราะระบบโรงพยาบาล เราไปเข้าคิวทำบัตร พยาบาลข้างล่างเขาก็จะส่งขึ้นไปหาหมอตามอาการ หมอเลือกไม่ได้หรอกว่าใครเสื้อเหลืองเสื้อแดง หมอบางแผนกตรวจคนไข้วันละเป็นร้อย แทบไม่ได้เงยหน้าดูสีเสื้อคนไข้เลยด้วยซ้ำ ใครไม่เชื่อก็ลองดู ลองไปทำบัตรแล้วเจาะจงขอพบหมอตุลย์ ใส่เสื้อแดงเข้าไปในห้อง ดูซิว่าหมอตุลย์จะรักษาไหม แต่ถ้าเป็นผู้ชาย แกคงไม่รับรักษา เพราะหมอตุลย์เป็นหมอสูตินรีเวช เชี่ยวชาญโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งไอ้การปลุกความเกลียดชังกันจากข่าวร่ำลือเนี่ย ที่ผ่านมาก็โดนกันหมดนะครับ ไม่ว่าแกนนำเสื้อเหลืองเสื้อแดง นักวิชาการ ไปถาม อ.วรเจตน์ดูสิ โดนมาสารพัด ผมมองหมอตุลย์ว่าเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางคนกรุงเทพฯ ที่เพิ่งตื่นตัวทางการเมือง เมื่อเกิดกระแสไล่ทักษิณ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร กับความเกลียดทักษิณในยุคนั้น ผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมากรวมทั้งหมอเหวง ก็เคยไล่ทักษิณ เพียงแต่เราอาจเป็นคนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน เคยต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมาก่อน จนสั่งสมอุดมการณ์ประชาธิปไตยไว้มั่นคง แต่หมอตุลย์คือตัวแทนของคนที่ไม่เคยมีพื้นฐานทางการเมือง เป็นคนรุ่นอายุสี่สิบกว่า ซึ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปลายทศวรรษ 2520 ถูกตัดขาดจากผลสะเทือนของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยยุค 2516-2519 โดยสิ้นเชิง คนรุ่นนี้เรียนจบก็ทำงานตามสาขาอาชีพของตัว ยึดถือการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด “ตามแนวพระราชดำรัส” สัมผัสการเมืองอยู่ห่างๆ สั่งสมความเกลียดชังนักการเมือง ไม่มีอุดมการณ์อะไรให้เขายึดมั่นนอกจากความ “รักในหลวง” และยกย่องคนดีมีคุณธรรมในทัศนะของคนชั้นกลาง (ผมรู้จักหมอตุลย์เพราะไปสัมภาษณ์คัดค้านการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งหมอตุลย์เห็นว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพาณิชย์ นิสิตนักศีกษาต้องจ่ายแพง) หมอตุลย์ในมุมมองของผมจึงเป็นตัวแทนคนชั้นกลางผู้ “บริสุทธิ์” ที่ถูกดึงเข้ามาในกระแส ได้รับข่าวสารแบบคนชั้นกลาง ที่มีหลากหลายทั้งจากสื่อ อีเมล์ ซุบซิบ คำร่ำลือปากต่อปาก จนเกิดความเกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” ทั้งด้านที่มีเหตุผลและด้านที่ต่อเติมจนไร้เหตุผล โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบัน คนเหล่านี้เคยเป็นมวลชนพันธมิตรอย่างแข็งขัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นมวลชนเฟซบุค ที่สนับสนุนการปราบม็อบเสื้อแดง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจุดที่เห็นต่างกันอย่างตรงข้าม เพราะในมุมมองของนักประชาธิปไตยนักสิทธิมนุษยชน แม้เราไม่ได้เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเสื้อแดงทั้งหมด แต่ก็คัดค้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ขณะที่ในมุมมองของคนชั้นกลางคนกรุงเทพฯ เขามองว่านั่นคือการสนับสนุน “รัฐ” ให้ใช้อำนาจเพื่อคืนความสงบสู่สังคม (นี่เป็นมุมมองที่มีหลายมิติซ้อนกันอยู่ คือผู้ที่สนับสนุนให้ปราบม็อบ มีทั้งผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์และสนับสนุน “รัฐ” พูดง่ายๆ ว่ามีตั้งแต่คนเกลียดทักษิณ เกลียด “แดงถ่อย” รักอภิสิทธิ์ ไปกระทั่งคนที่ไม่ได้ชอบรัฐบาลนักหรอก แต่เห็นว่า “รัฐ” ต้องทำหน้าที่รักษาความสงบ) นั่นเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ความคิดกันต่อไป แต่จุดที่น่าสนใจคือ พลังของคนชั้นกลางแบบหมอตุลย์ จะก้าวต่อไปทางไหน เพราะถึงวันนี้ ท่าทีของพวกเขาไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์เต็มตัวเหมือนก่อน เพราะโดยพื้นฐานความคิด พวกเขาเกลียดนักการเมืองอยู่แล้ว แม้ช่วงแรกๆ ยอมรับได้กับการผสมพันธ์มาร์ค-เนวิน แต่นานวันเข้าก็เริ่มผิดหวังกับอภิสิทธิ์ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถอยห่างจากพันธมิตร ซึ่งไปไกลเสียจนสุดขั้วสุดโต่ง ดังจะเห็นได้ว่าหมอตุลย์ไปยื่นคัดค้าน JBC แต่หมอตุลย์ก็เลี่ยงๆ ไม่ขึ้นเวทีพันธมิตรซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่าไปไม่รอด ปฏิรูปสถาบัน การที่หมอตุลย์สนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 112 แม้เห็นต่างจากนิติราษฎร์ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะในทัศนะของผู้จงรักภักดีอย่างหมอตุลย์ ก็มองเห็นว่าถ้าปล่อยให้มีการใช้กฎหมายพร่ำเพรื่อ กลับเป็นผลเสียต่อสถาบัน ซึ่งสั่งสมบารมีมาด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ใช่พระเดช อันที่จริงเราจะเห็นได้ว่า ผู้ต้องโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้รับโทษสูงสุดตามคำพิพากษา เพราะเมื่อคดีสิ้นสุด และขอพระราชทานอภัยโทษ ก็มักได้อภัยโทษ เช่นกรณีสุวิชา ท่าค้อ นั่นแสดงว่าสถาบันเข้าใจดีว่า การใช้กฎหมายลงโทษรุนแรงไม่ใช่เรื่องดี ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องคดีเอง จึงเหมาะสมแล้ว หมอตุลย์ให้สัมภาษณ์ว่า การดึงสถาบันกษัตริย์มาพูดบนเวทีทางการเมือง เป็นเรื่อง “ความเชื่อ” ว่าสถาบันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ผมคิดว่าหมอตุลย์เข้าใจดี ในฐานะผู้ที่เคยเดินเข้าบ้านพลเอกเปรมมาแล้ว ว่า “ความเชื่อ” นั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มันมีที่มาจากบทบาทของผู้ใกล้ชิดสถาบัน ตั้งแต่พลเอกเปรม พลเอกสุรยุทธ์ ไปจนปีย์ มาลากุล หรือองคมนตรีที่เรียงหน้าออกมาด่าทักษิณ ประเด็นที่ผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริงควรคิดต่อยอดไปจากวิกฤตครั้งนี้คือ ทำอย่างไรจะเอาสถาบันออกไปจากวิกฤต และทำอย่างไรจะให้สถาบันธำรงอยู่อย่างยั่งยืน เป็นทึ่เคารพเทิดทูนของพสกนิกร ซึ่งคำตอบคือต้องทำให้สถาบันปลอดพ้นจากความเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่เป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งมันไม่เข้าใครออกใคร ใครเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องตกเป็นที่ครหาทั้งสิ้น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ออกแบบมาเพื่อให้สถาบันปลอดจากการเมือง ดังที่ผมกล่าวไปแล้ว แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจน ยังมีความคลุมเครือ ในหลายๆ ด้าน ซึ่งจะต้องแก้ไขทั้งตัวบทกฎหมายและการทำความเข้าใจร่วมกันของสังคม ในเรื่องของพระราชอำนาจ พระบารมี สถานะบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องพระราชอำนาจ ต้องทำให้ชัดเจนว่า การลงพระปรมาภิไธยเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ผู้มีอำนาจที่แท้จริงคือผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพียงแต่ทรงมีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งในบางกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่น ยับยั้งพระราชบัญญัติ หรือยับยั้งในกรณีที่กระบวนการพิจารณามีปัญหา เพราะการใช้อำนาจเรื่องหนึ่งเรื่องใดในทางการเมืองการปกครอง ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์เสียประโยชน์ มีผู้พึงพอใจมีผู้ไม่พอใจ นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาให้สถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างการแต่งตั้งบุคคล ก็ต้องมีทั้งผู้สมหวังผิดหวัง จึงต้องทำให้ชัดเจนว่าการโปรดเกล้าฯ เป็นเพียงสัญลักษณ์ สถาบันไม่มีส่วนแม้กระผีกในการเลือกใคร ซึ่งบางเรื่องก็เข้าใจกันชัดเจน เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 108 เขียนว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการที่จะยุบสภา คงไม่มีไอ้บ้าที่ไหนเชื่อว่าในหลวงท่านสั่งให้ยุบสภา เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่านายกฯ เป็นคนยุบสภา แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นเชิงสัญลักษณ์ แต่บางเรื่องก็มีความคลุมเครือ เช่น การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ซึ่งปรากฏเป็นข่าวเสมอว่า ต้องให้พลเอกเปรมพิจารณากลั่นกรองโผทหารก่อน มีข่าว “เด็กป๋า” คนนั้นคนนี้ได้ดี ต่อไปหมดพลเอกเปรมก็คงเป็นพลเอกสุรยุทธ์ ทั้งที่ความจริงแล้ว พลเอกเปรมไม่มีอำนาจใดๆ เลย ที่จะมาเกี่ยวข้องกับโผทหาร แต่อย่าโทษสื่อนะครับ ไม่มีไฟก็ไม่มีควัน ฉะนั้นเรื่องแบบนี้ต้องทำให้ชัดเจน สมมติเช่นอาจต้องประกาศรายชื่อก่อนทูลเกล้าฯ ยกเลิกประเพณีที่ว่ายังไม่เปิดเผยโผจนกว่าจะทูลเกล้าฯ ซึ่งถ้าทำมาตามระบบ เช่นปัจจุบันที่มีสภากลาโหมกลั่นกรองก่อน การเปิดเผยชื่อก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ถ้าสภากลาโหมเสนอชื่อโดยเปิดเผย แล้ว รมว.กลาโหมจะเปลี่ยนโผ คุณก็ต้องมีเหตุผล ว่าทำไมถึงเปลี่ยนโผ ถามว่าถ้าทูลเกล้าฯ ไปแล้ว สถาบันยับยั้งได้ไหม อาจได้ ในกรณีที่สภากลาโหมและรัฐมนตรีดึงดันใช้อำนาจไม่ฟังใคร สมมติตั้งพลเอกคนนี้เป็น ผบ.ทบ.แล้วมีอดีต ผบ.ทบ.กับนายพลเกษียณนับร้อยคนเข้าชื่อกันถวายฎีกาเป็นหางว่าว แบบนั้นยับยั้งได้สิครับ เพราะมันแสดงว่าคุณไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างความขัดแย้งแตกแยก แต่โดยหลักแล้ว นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อประชาชน ในฐานะที่ประชาชนเลือกเขามา นี่คือหลักนิติรัฐ ผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบ พลเอกเปรมไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และสถาบันก็อยู่เบื้องสูง ไม่อยู่ในสถานะที่จะให้มารับผิดชอบต่อประชาชน ทำความคลุมเครือให้กระจ่าง ผมเคยสัมภาษณ์องคมนตรีมาหลายท่าน พล.อ.สุรยุทธ์ 2 ครั้ง อ.เกษม วัฒนชัย 2 ครั้ง พล.อ.พิจิตร 1 ครั้ง แถม ดร.สุเมธอีกครั้ง บอกได้ว่าทุกท่านเป็นคนที่ผมชื่นชม และพูดได้เต็มปากว่าเป็น “คนดี” แม้จะเห็นต่างกันบางเรื่อง สมมติเช่น “บิ๊กเสือ” ท่านคือนายทหารที่มีเกียรติประวัติสูงส่ง เป็นสุภาพบุรุษทุกกระเบียดนิ้ว กล้าหาญ เสียสละ รักลูกน้อง ลองไปถามทหารรุ่นหลังดู ไม่เคยมีใครนินทาไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง มีกิตติศัพท์ในความสัตย์ซื่อ ตรงไปตรงมา โผงผาง ขวานผ่าซาก ไม่เคยพัวพันเรื่องผลประโยชน์ใดใดในกองทัพแม้แต่น้อย แต่ถ้าพูดเรื่องทัศนะประชาธิปไตย กล่าวได้ว่า “บิ๊กเสือ” 0% เพราะท่านมีแต่จะเอ็กเซอร์ไซด์สถานเดียว ดร.สุเมธก็เป็นคนดี ที่ยกมือไหว้ได้สนิทใจ ถึงจะดู “แอ๊บแบ๊ว” บางเรื่อง ที่ผมแซวว่าท่านขี่เฟอร์รารีไปพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ผมค้านเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่านควรเข้าใจว่า ในประเทศนี้ 60 กว่าล้านคนไม่มีใครไม่ชอบรถเฟอร์รารี แต่จะมีซักกี่คนที่เขาเอาเฟอร์รารีมาขายให้ในราคาถูก ถ้าไม่ได้อยู่ในสถานะอย่างท่าน (แบบเดียวกับ พล.อ.สุรยุทธ์ซื้อบ้านสนามกอล์ฟในราคาลดพิเศษ พิเศษมาก) ฉะนั้นการพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องพูดไปพร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างสังคม การสร้างความเท่าเทียม ไม่ใช่พูดแล้วมีผลค้ำจุนโครงสร้างเดิม พลเอกเปรมก็เป็นคนดี ตามที่ได้ฟังคำเล่าขาน ทั้งวงนอกวงใน แม้มีบางคนไม่พอใจแต่คนชื่นชมมากกว่า กระนั้นพลเอกเปรมมีสายสัมพันธ์ที่กว้างขวาง “เพื่อนป๋า” “ลูกป๋า” มีตั้งแต่คนดีที่โลกยกย่อง ไปจนบิ๊กทหารที่ตายแล้วมีมรดกมหาศาลโดยไม่รู้ว่าเอามาจากไหน พลเอกเปรมมีเพื่อนพ้องเป็นกลุ่มนักธุรกิจระดับชาติ พลเอกเปรมมีมูลนิธิรัฐบุรุษ ที่ผู้รับสัมปทานรายใหญ่ เช่นเสี่ยเจริญโรงเหล้า หรือคิงพาวเวอร์ฯ บริจาคสม่ำเสมอ ถามว่าถ้าพลเอกเปรมเป็นแค่อดีตนายกฯ อดีต ผบ.ทบ.จะมีบารมีขนาดนี้ไหม ในสังคมไทย หรืออาจกล่าวได้ว่าสังคมตะวันออก สายสัมพันธ์ น้ำใจ น้ำมิตรไมตรี กับอำนาจและผลประโยชน์ พัวพันกันอย่างแยกไม่ออก ตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่างสุด สมมติคุณเป็นตำรวจจราจร ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา แต่ไอ้คนที่ขับรถฝ่าไฟแดงดันเป็นเพื่อนบ้านกัน ถ้าคุณเขียนใบสั่งปรับตามพิกัด ก็ถูกด่ามองหน้ากันไม่ติด หรือตำรวจบุกจับบ่อน เจอครูสมัยมัธยมเป็นหนึ่งในนักพนัน ยกมือไหว้ผู้มีพระคุณ เอ้า ช่วยครูหน่อยเหอะ ถ้ามีชื่อเป็นผู้ต้องหาจะถูกไล่ออกจากราชการ เราจึงต้องยึดหลักการทำให้อำนาจนั้นชัดเจน มีการถ่วงดุลได้ และตรวจสอบได้ ป้องกันการวิ่งเต้นเข้าหาสร้างความผูกพันกับ “ขั้วอำนาจ” ที่ตรวจสอบไม่ได้ การทำให้พระราชอำนาจเป็นที่ชัดเจน และมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อปลอดพ้นจากความเกี่ยวข้องพัวพันกับการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ อันเป็นปกติวิสัยโลกย์ โดยเฉพาะในสังคมทุนนิยม จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในอันที่จะธำรงสถาบันให้เป็นที่เคารพสักการะ โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญ (เหมือนไม่จำเป็นต้องเขียนว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะความเคารพนับถือเป็นเสรีภาพ) นั่นคือสาระเดียวกันที่ผู้จงรักภักดีสามารถเห็นพ้องกับข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบัน” ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งก็รวมถึงการจำกัดบทบาทหรือยกเลิกองคมนตรี อันที่จริงการเขียนเรื่ององคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องตลกนะครับ ต่อให้มองจากมุมของผู้จงรักภักดี เพราะองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาในหลวง พระองค์ท่านควรจะเลือกใครก็ได้ตามพระราชอัธยาศัย และเป็นการส่วนพระองค์ ไม่จำเป็นต้องให้ประธานรัฐสภาไปเกี่ยวข้องรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่จำเป็นต้องกำหนดจำนวน ไม่จำเป็นต้องคุณสมบัติ ก็เรื่องของในหลวง รัฐธรรมนูญไปยุ่งอะไรด้วย ไม่ต้องมีคำว่า “องคมนตรี” พระองค์ท่านก็สามารถตั้งที่ปรึกษาส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย ยิ่งรัฐธรรมนูญ 50 ยิ่งแล้วใหญ่ ไปแอบเขียนไว้ในมาตรา 196 วรรคสอง ให้มีบำเหน็จบำนาญขององคมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่ง บ้าไปแล้ว เพราะในทางปฏิบัติองคมนตรีอยู่ในตำแหน่งจนตาย หรือถ้าองคมนตรีคนไหนในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ออก (ซึ่งไม่เคยมี) ถามว่ายังควรจะให้บำเหน็จบำนาญอยู่ไหม การทำให้ “เคลียร์-คัท” ในหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งจำเป็น ที่ผู้จงรักภักดีที่แท้จริงควรยอมรับ อย่างเช่นที่สำนักข่าวต่างประเทศไปลงว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แล้ว ดร.สุเมธท่านออกมาโต้ว่าไม่จริง เพราะสำนักงานทรัพย์สินไม่ใช่สมบัติของพระองค์ กระทรวงการคลังดูแล ความจริงเรื่องนี้ก็มีปัญหาอยู่ มีปัญหาซับซ้อนด้วย เพราะสำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่ในสถานะที่ไม่ชัดเจนอย่างยิ่ง ว่าเป็นหน่วยงานอะไร กฤษฎีกาเคยตีความหลายครั้ง ก็ตีความกลับไปกลับมา ว่าเป็นส่วนราขการหรือเป็นเอกชน (ดูเหมือนครั้งหลังสุดตีความเป็นส่วนราชการ) แม้จะมี รมว.คลังเป็นประธาน อย่าง ดร.สุเมธพูด แต่กฎหมายก็เขียนไว้ว่าสามารถนำไปใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งมันลักลั่นกัน จริงไหมครับ บอกว่าไม่ใช่สมบัติส่วนพระองค์ แต่สามารถนำไปใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย มันจึงลักลั่นว่าจะเป็นหน่วยราชการก็ไม่เชิง จะเป็นสมบัติส่วนพระองค์ ดร.สุเมธก็ว่าไม่ใช่ มันมีเรื่องทับซ้อนคลุมเครืออยู่เยอะ เช่น ท่านบอกว่า รมว.คลังเป็นประธาน แต่ถามว่า รมว.คลังมีอำนาจเปลี่ยนบอร์ด หรือเปลี่ยนแปลงแต่งตั้งผู้อำนวยการไหม ผมก็ไม่เคยเห็น นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังมีปัญหาอีกว่าจะดำเนินกิจการอย่างไร เพราะมีทั้ง 2 บทบาท คือช่วยเหลือประชาชน เช่นให้ที่ดินเช่าพักอาศัยราคาถูก กับการต่อสู้แข่งขันทางธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งต้องแสวงกำไรสูงสุด ฟาดฟันแข่งขันกับกลุ่มทุนทั้งหลาย ซึ่งตอนหลังๆ บทบาท 2 ด้านก็เริ่มขัดแย้งกัน เช่น ทรัพย์สินฯ ไล่ที่ชาวบ้านมาสร้างคอมเพล็กซ์ ซึ่งทำให้สับสนอีก เพราะถ้ามองตามมาตรฐานของธุรกิจเอกชน ก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นความชอบธรรมในระบบทุนนิยม ที่ต้องบริหารจัดการให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่พอเป็นทรัพย์สินฯ มันยังไงก็ไม่รู้ แต่ผมเห็นด้วยกับ ดร.สุเมธนะครับ ที่ว่าในหลวงท่านทรงใช้จ่ายน้อยที่สุด ท่านประหยัด จนเป็นต้นแบบของความพอเพียง เพราะฉะนั้น ที่กฎหมายเขียนว่านำไปใช้จ่ายได้ตามพระราชอัธยาศัย ก็เขียนไว้เปล่าๆ เท่านั้นเอง ควรจะแก้ไขเสียให้เกิดความชัดเจน ใบตองแห้ง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
เตรียมอนุมัติงบ 20 ล. ซื้อถุงยังชีพแจกผู้ประสบภัยน้ำท่วม 'มาร์ค' ปล่อยคาราวานช่วยเหลือวันนี้ Posted: 29 Mar 2011 04:14 PM PDT สาทิตย์เรียกประชุมศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) ประเมินสถานการณ์พร้อมมาตรการเยียวยาสถานการณ์น้ำท่วมภาคใ้ต้ เผยถนนใช้การไม่ได้แล้ว 5 แห่ง ด้านนายกฯ เตรียมปล่อยคาราวานความช่วยเหลือ 7.00 น. วันนี้ คาดหากไม่มีฝนเพิ่ม อีก 5-7 วันสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ ศูนย์สื่อทำ้เนียบรัฐบาล รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (29 มี.ค.) ณ ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายวิทเยนทร์ มุตตามุระ รองผู้อำนวยการ ศชอ. ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับทราบความคืบหน้าของสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ ที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม โดยสถานการณ์ขณะนี้ สภาพอากาศ หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงยังคงปกคลุมบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกและคาดว่าจะเคลื่อนตัว ลงสู่ทะเลอันดามันในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค. 54) แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ต่อ ไปอีก 1-2 วัน จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะ นี้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วง 2-3 วันนี้ไว้ด้วย อนึ่งในช่วง 1-2 วันนี้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาพื้นที่เฝ้าระวัง ชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง และจังหวัดสตูล ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ปริมาณน้ำฝน มีบริเวณที่มีฝนสะสมมากใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยมีน้ำป่าไหลหลากจากที่ลาดเชิงเขาเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายพื้นที่ ซึ่งได้แก่ นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสุราษฎร์ธานี สถานการณ์อุทกภัย สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2554 ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง 7 จังหวัด 64 อำเภอ 371 ตำบล 2,763 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 310,406 ครัวเรือน 979,665 คน ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฏร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา และกระบี่ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย (จ.นครศรีธรรมราช 6 ราย จ.พัทลุง 1 ราย) ขณะที่โรงพยาบาลท่าศาลาระดับน้ำลดแล้ว สามารถให้บริการผู้ป่วยโดยตั้งเต็นท์บริการหน้าโรงพยาบาลท่าศาลา สถานการณ์อ่างเก็บน้ำ ขณะนี้มีน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ได้แก่ ห้วยน้ำใส คลองกระทูน คลองดินแดง เสม็ดจวน (จ.นครศรีธรรมราช) ป่าพะยอม ป่าบอน (จ.พัทลุง) และคลองท่างิ้ว (จ.ตรัง) ด้านการจราจร ศชอ. รายงานว่า ผ่านไม่ได้ 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ทางหลวงหมายเลข 4186 โรงเหล็ก-กรุงชิง ท้องที่ อ.นบพิตำ สะพานขาดที่ กม.5 ไม่มีสายทางทดแทน 2. ทางหลวงหมายเลข 4189 ท่าพุทธ-เขาหลวง ท้องที่ อ.นบพิตำ กม.1-4 เป็นแห่งๆ ทางขาดที่ กม.5 3. ทางหลวงหมายเลข 4270 ห้วยยอด-พัทลุง ท้องที่ อ.ห้วยยอด ดินสไลด์ปิดทับคันทาง ที่ กม. 29-30 ให้ใช้ทางหลวงชนบทแทน 4. ทางหลวงหมายเลข 4006 ราชกรูด-หลังสวน ท้องที่ อ.หลังสวน น้ำท่วมสูง 100 ซม. ที่ กม. 54-55 ไม่มีสายทางทดแทน 5. ทางหลวงหมายเลขที่ กะเปอร์-คลองกำพวย ท้องที่ อ.กะเปอร์ น้ำกัดเซาะทางที่ กม.670 ให้ใช้ถนนหมู่บ้านนางหินแทน โดยสรุปการประชม ศชอ. มีมาตรการดังนี้คือ หนึ่ง ได้เตือนให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขาพื้นที่เสี่ยงภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มเฝ้าระวังและฟังข่าวสารจากทางราชการ เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำสะสมอยู่ในที่สูงอยู่เป็นจำนวนมากและยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปอีก 1-2 วัน สอง ขณะนี้มีการแจ้งให้อพยพประชาชนเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือ ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบ้านคลองเหนือ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สาม พื้นที่เตือนให้เฝ้าระวังดินโคล่นถล่มเพิ่มเติม ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอวิภาวดี อำเภอกาญจนดิพ อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี สี่ สนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังปิดให้บริการ สนามบินสมุยแจ้งปิดให้บริการถึงเที่ยงวันนี้ รอประกาศเพิ่มเติม ห้า เตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเกาะต่างๆ โดยเฉพาะในฝั่งอันดามัน ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วง 1-2 วันนี้ และเตือนชาวประมงให้ระมัดระวังและคอยฟังข่าวสาร หก ศชอ. ยังแจ้งว่า บ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกฯ และประธาน คชอ. จะเสนอขออนุมัติงบประมาณเบื้องต้น 20 ล้านบาท เพื่อซื้อถุงยังชีพ และของจำเป็น จัดส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในวันพรุ่งนี้ เจ็ด ประสานงานให้สำนักงาน ปภ. เขต 18 จังหวัดภูเก็ต และเขต 4 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งเรือท้องแบนไปช่วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี และประสานขอให้สำนักงาน ปภ. ที่จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดชัยนาทส่งเรือท้องแบนลงไปช่วยพื้นที่ประสบภัยภาคใต้ในวันพรุ่งนี้ แปด พรุ่งนี้เวลา 07.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานส่งคาราวานความช่วยเหลือออกจากทำเนียบรัฐบาล เก้า ศชอ. คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะมีต่อไปอีก 5-7 วันจึงเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่มีการก่อตัวของฝนกลุ่มใหม่ ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น