ประชาไท | Prachatai3.info |
- "อภิสิทธิ์" ยันเดินหน้า "เลือกตั้ง" ไม่หวั่นเกมมาตรา7-โนโหวต
- ตร.ติดป้ายห้ามม็อบเข้าพื้นที่รัฐสภา ด้าน ส.ส.-ส.ว. ประชุมร่วมรับรองเจบีซีวันนี้
- เวทีปฏิรูปประเทศไทย... จะแก้ปัญหาได้อย่างไร เมื่อเราไม่มีสิทธิพูด
- ดีเจอ้อม มอบตัวดีเอสไอคดีหมิ่นสถาบัน ประกันตัว 3 แสน
- ศาลอาญาอนุญาตลดเงื่อนไขประกัน 'วีระ' อดีต ปธ.นปช.
- ศาลยกฟ้อง "ปิญช์ มาลากุลฯ" ไม่ผิดปลอมเอกสารราชการ-หมิ่นเบื้องสูง
- นักข่าวพลเมือง: “ภาคประชาชนไทย” ขู่พร้อมประท้วงใหญ่ หาก รบ.ไทยปล่อย “เขื่อนไซยะบุรี” สร้าง
- การปฏิบัติธรรมที่ไม่มีเนื้อหา
- สุริยะใสมั่นใจเคลียร์กับ พธม. เรื่องคว่ำบาตรเลือกตั้งได้
- แผ่นดินไหว 6.8 ริคเตอร์ศูนย์กลางอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.เชียงราย
- โต้งานวิจัยจุฬาฯ คนกรุงเอา “ซุปเปอร์สกายวอล์ก” ชี้กลุ่มตย.แคบ-คำถามชี้นำ
- แรงงานลั่น จุดยืน 5 ข้อปฏิรูปประกันสังคม “ถ้าไม่ได้ เราไม่เอา”
- นักข่าวพลเมือง: หนุน นายก อบต.สู้คดี บ.โรงไฟฟ้าแกลบ ฟ้องหมิ่นประมาท
- เสวนา: "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจได้ 'ได้' หรือ 'เสีย'"
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แผ่นดินหูลา"
"อภิสิทธิ์" ยันเดินหน้า "เลือกตั้ง" ไม่หวั่นเกมมาตรา7-โนโหวต Posted: 24 Mar 2011 01:30 PM PDT "สดศรี" อึดอัดการเมือง จ่อไขก๊อก กกต. ดอดสมัคร กก.ปฏิรูปกฎหมาย เคืองเรื่อง กม.ลูก 3 ฉบับ "นายกฯ" ไม่หวั่น "สนธิ" เดินเกมให้ใช้ มาตรา 7-ปลุกโนโหวต ชี้เป็นสิทธิตามระบอบ เชื่อทุกอย่างอยู่ที่ประชาชนตัดสินใจ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ได้ไปสมัครเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแล้ว เนื่องจากเบื่อหน่ายการเมือง หากได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปก็จะลาออกจากการเป็น กกต.ทันที ทั้งนี้ไม่ได้หวังว่าจะได้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แต่ในเมื่อมีช่องทางที่ดีกว่า ก็ต้องดิ้นรนกันไป สำหรับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายน่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤษภาคม เรื่องนี้น่าจะเร็ว โดยตนไปสมัครเองในวันสุดท้าย และหากไม่ได้รับการสรรหาตนก็จะยังทำหน้าที่ กกต.ต่อไป "ตอนนี้เราก็คิดแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เราเหมือน กกต.ชุดที่สองหรือไม่ เพราะกฎหมายก็ไม่เรียบร้อย และลักษณะการเมืองครั้งนี้ก็ดูแปลกๆ เหมือนกับจะโยนลูกให้ กกต.รับทั้งหมด ไม่ใช่จะกลัว มาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ต้องทำทุกอย่าง เบื่อตรงนี้ ถ้าหากดิฉันออกก็คงจะมีคนดีใจอีกเยอะ ที่ผ่านมาทุกวันนี้โดนโจมตีทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรหนักหนาสาหัสไปกว่านี้แล้ว หากจะโดนโจมตีเรื่องไปสมัครเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็คงจะไม่เป็นไร แต่ที่ไม่สบายใจขณะนี้คือเรื่องของกฎหมายลูก 3 ฉบับที่เขาพยายามจะไม่ให้เสร็จเพื่อให้ กกต.ต้องออกประกาศ กกต.แทน ดิฉันเป็นคนเดียวที่ออกมาตีโพยตีพายและติงในเรื่องนี้คนเดียว ต่อจากนี้ไปหากมีองค์กรอิสระไหนเปิดรับสมัครก็จะไปสมัครทุกองค์กร จะไม่หยุดแค่นี้" นางสดศรีกล่าว ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนางสดศรี สัตยธรรม จะลาออกจาก กกต. หากได้รับการพิจารณาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายว่า ยังไม่ทราบ แต่เท่าที่จำได้ เรื่องของกฎหมายไม่น่าจะมีปัญหาอะไร สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไปได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก กกต.เหลือคณะกรรมการ 4 คน สามารถจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าอย่างนั้น ดูตามกฎหมายแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เมื่อถามว่า บรรยากาศขณะนี้ใกล้การเลือกตั้งแล้ว การลาออกเหมือนกวนน้ำให้ขุ่นหรือเปล่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีเหตุผลที่จะไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็เป็นสิทธิ ทุกอย่างต้องว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย ทั้งนี้ยืนยันว่าทางการเมืองไม่ได้ไปกดดันอะไรเลย เพราะทุกคนต่างก็มีหน้าที่ของตนเอง ตนไปสนทนากับ กกต. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทุกฝ่ายไม่มีอุปสรรคปัญหาในการทำหน้าที่ ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า หาก กกต.ทั้ง 5 คน ลาออกพร้อมกัน การเลือกตั้งจะดำเนินได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อันนี้เป็นเหตุผลเฉพาะตัว เมื่อถามว่า สัญญาณที่เกิดขึ้นทั้งหมดในขณะนี้ จะสอดรับกับกระแสข่าวที่จะไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ ต้องไปถามท่าน เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังมีกระแสว่าน่าจะไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีแล้วจะไปทำอะไรกัน ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า บนเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนมองว่าเราได้ประคับประคองบ้านเมืองให้ผ่านสถานการณ์หลายอย่างมา ประชาคมโลกเขาจับตาดูอยู่ เศรษฐกิจเราก็เริ่มฟื้นตัว แต่ประชาชนมีความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ดีที่สุด เราควรยืนยันให้ประชาคมโลกเขาเห็นว่าประเทศไทยสามารถเดินไปตามระบบ ตามกติกาปกติได้ดีที่สุดสำหรับประเทศ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แต่ว่าอาจจะมีบางกลุ่มเท่านั้นเองที่คิดเป็นอย่างอื่น แล้วไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเดินไปอย่างไร เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายพยายามสร้างแรงกดดันไปที่ กกต. ว่าเป็นกลไกหนึ่งในการเลือกตั้ง หาก กกต.ลาออกแล้วจะนำไปสู่วิธีการพิเศษได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะพิเศษอย่างไร ก็กลับมาสู่การเลือกตั้ง หนีไม่พ้นหรอก ต่อข้อถามที่ว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศว่า ต้องการนายกฯพระราชทานให้มาบริหารงาน 3 ปี โดยไม่มีการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในรูปแบบไหนอย่างไร ตนเรียนว่ากระบวนการต้องเดินไปตามรัฐธรรมนูญ จะไปช่องทางไหนก็ต้องกลับมาสู่การเลือกตั้ง ตนคิดว่าเราผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมาแล้ว มีบทเรียนมาเยอะแล้ว เวลานี้ประชาชนล้ากับกระบวนการทางการเมืองที่ไม่เป็นปกติ ถึงเวลาที่จะกลับเข้าสู่ภาวะความเป็นปกติทุกอย่าง ฉะนั้นเราน่าจะช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า นายสนธิออกมาระบุว่า ให้พรรคการเมืองใหม่คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยจะออกรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิในช่องไม่ลงคะแนนหรือโนโหวต นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่ทำได้ แล้วก็ถ้าไปรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิไม่ลงคะแนนให้ใคร ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการเลือกตั้งในกระบวนการประชาธิปไตย เมื่อถามว่า คิดว่าจะส่งผลจนเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับการรณรงค์ และการตอบรับของประชาชน
ที่มา: มติชนออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ตร.ติดป้ายห้ามม็อบเข้าพื้นที่รัฐสภา ด้าน ส.ส.-ส.ว. ประชุมร่วมรับรองเจบีซีวันนี้ Posted: 24 Mar 2011 12:38 PM PDT สำนักข่าวไทยรายงานว่า เมื่อเวลา 15.20น. วันที่ 24 มี.ค. ที่หน้ารัฐสภา ร.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล สารวัตรประชาสัมพันธ์ นำป้ายจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่มีข้อความห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางการประชุมสภา (อำนาจนิติบัญญัติ) จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและห้ามเข้าพื้นที่บริเวณโดยรอบรัฐสภา เนื่องจากเป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาติดไว้ที่รั้วหน้ารัฐสภา รวมไปถึงติดที่รั้วเหล็กที่นำมาวางบริเวณฟุตบาท นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังนำป้ายดังกล่าวไปติดบริเวณแยกราชวิถี แยกการเรือน แยกขัตติยานี และบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าอีกด้วย อนึ่ง วันที่ 25 มี.ค.นี้จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณารับรองบันทึกผลการประชุมกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี รวม 3 ฉบับ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เวทีปฏิรูปประเทศไทย... จะแก้ปัญหาได้อย่างไร เมื่อเราไม่มีสิทธิพูด Posted: 24 Mar 2011 12:36 PM PDT จากเหตุการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างรุนแรง รัฐบาลได้นำเสนอกระบวนการ “ปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อเป็นหนทางในการจัดการกับความขัดแย้งและนำสังคมไทยกลับคืนสู่ภาวะสันติสุข โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เข้ามาร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย และก็ได้มีการทำการประชุมของคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยมาหลายต่อหลายครั้ง จากการสังเกตและเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นได้ว่าการปฏิรูปประเทศไทยนั้นไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง งบประมาณที่รัฐบาลให้มาจำนวนมากนั้นไม่ได้สนองตอบต่อการแก้ปัญหาที่แท้จริง ในวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2554 ได้มีการจัดงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 ณ อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คนจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ “การปฏิรูปประเทศไทย เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจ และมองเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน เพื่อการขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างเป็นธรรมชาติและหลากหลาย ไปสู่ทิศทางใหญ่เดียวกัน คือ การสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” นี่คือข้อความแนะนำเพื่อทำความรู้จักกับการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระดับชาติ ครั้งที่ 1 [1] ด้วยความคาดหวังในการเชื่อมประสานให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานของปัญญาและสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่มาเข้าร่วมประชุมนั้นไม่หลากหลาย เพราะส่วนใหญ่ก็มากจากเครือข่ายที่เกณฑ์คนเข้ามาร่วมประชุม ภายในงานมีการออกแบบอย่างสวยงาม ดูหรูหรา แต่ในทางกลับกันมันก็ดูฟุ่มเฟือยจนเกินไปกับงบที่ทุ่มทุนสร้างลงไป นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งกลุ่มกันอย่างจัดเจน โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งสีที่แสดงออกมานั้นมันหมายถึงอะไร ทำไมต้องแบ่งแยก และในการประชุมก็มีการจำกัดการแสดงความคิดเห็น คนที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้นั้นต้องเป็นคนที่เป็นตัวแทนจากเครือข่าย และคนที่ไม่ใช้ตัวแทนของเครือข่ายหละ เขาไม่มีสิทธิพูดหรือ! นี่คือ บัตรของคนที่ไม่มีสิทธิพูด จากคำบอกเล่าของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มาเข้าร่วมงานเค้าพูดว่า “ปัญหาของพวกเรานั้น ไม่รู้ว่ารัฐจะนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ไม่มีอะไรหรือไม่มีใครรับรองว่า ในการร่วมงานของชาวบ้านในแต่ละครั้งนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ มากี่ครั้งกี่ครั้งก็มีแต่การเขียนข้อเสนอ แต่ไม่มีการตอบรับจากข้อเสนอนั้นแม้แต่ครั้งเดียว พอมีการประชุมเมื่อไหร่ก็ต้องเสนอใหม่กันทุกครั้ง แล้วข้อเสนอที่ผ่านมาละ หากไม่มีใครสนใจแล้วจะให้มีการเสนอไปเพื่ออะไร” แล้วสิ่งเหล่านี้นะหรือที่เค้าเรียกว่าการปฏิรูปประเทศไทย การมีส่วนร่วมที่แท้จริงละอยู่ที่ไหน สุดท้ายของบทความนี้ก็ขอเชิญผู้ที่สนใจ เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยวันสุดท้ายของการประชุมจะเป็นการรับรองร่างมติที่ผ่านการพิจารณาแล้ว ผู้เข้าร่วมการประชุม... ............................................................................................................................................................. [1] เว็บไซต์สำนักงานปฏิรูป http://reform.or.th/assembly-reform หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: แนวคิดการปฏิรูปประเทศไทย... จะแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ดีเจอ้อม มอบตัวดีเอสไอคดีหมิ่นสถาบัน ประกันตัว 3 แสน Posted: 24 Mar 2011 10:58 AM PDT 24 มี.ค.54 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า นางกัญญาภัค มณีจักร หรือ ดีเจอ้อม ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา อายุ 51 ปี เดินทางเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดย นางกัญญาภัค ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมขอเวลา 20 วัน ในการเตรียมพยานหลักฐาน เพื่อแก้ข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 3 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอไว้นั้น พนักงานสอบสวนจะเดินหน้าสอบสวนและติดตามผู้กระทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ที่มา: ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาลอาญาอนุญาตลดเงื่อนไขประกัน 'วีระ' อดีต ปธ.นปช. Posted: 24 Mar 2011 10:33 AM PDT
(24 มี.ค.54) นายวีระกานต์ หรือ วีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยในคดีก่อการร้าย มอบอำนาจให้นายปกาสิต ไตรยสุนันท์ ทนายความ ยื่นคำร้องขอให้ศาลลดวงเงินประกัน และ เงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราวของ นายวีระ จากวงเงิน 6 ล้านบาท และ ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ห้ามให้ข่าวต่อสื่อมวลชน ให้เหลือวงเงินประกัน 6 แสนบาทและเงื่อนไขเช่นเดียวกับ 7 แกนนำ นปช. ต่อมาเวลา 18.00 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ลดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของนายวีระกานต์ จากวงเงิน 6 ล้านบาท เป็น 6 แสนบาท ส่วนเงื่อนไขที่สั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ รวมทั้งออกนอกพื้นที่กรุงเทพ ฯ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น และห้ามไม่ให้ร่วมชุมนุมกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล จำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เว้นแต่จะเป็นการรวมตัวกลุ่มญาติ อีกทั้งห้ามเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะ โดยให้เข้ารายงานตัวทุก 15 วันตามวัน - เวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดด้วย ศาลพิจารณาแล้วกำหนดเงื่อนไขให้ลดเหลือเพียงสั่งห้ามไม่ให้จำเลย กระทำการอันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือ กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือให้ประชาชนล่วงละเมิด กฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น ขณะที่นายวีระกานต์ กล่าวภายหลังจากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ลดวงเงินและเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวว่า ตนเองรู้สึกดีใจต่อคำสั่งศาลเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งยืนยันว่าจะยังคงมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจน ขณะที่นายวีระกานต์ไม่ได้ตอบปฏิเสธแนวทางการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม นปช.แต่อย่างใด
ที่มา: เนชั่นทันข่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาลยกฟ้อง "ปิญช์ มาลากุลฯ" ไม่ผิดปลอมเอกสารราชการ-หมิ่นเบื้องสูง Posted: 24 Mar 2011 10:30 AM PDT เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลพิพากษายกฟ้อง นายปิญช์ มาลากุล ณ อยุธยา อายุ 48 ปี อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และประชากรไทย จำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นพระราชินีและรัชทายาท ปลอมและใช้เอกสารปลอม ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาเป็นโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยทำหนังสือ มีตราประจำพระองค์ และลายพระหัตถ์ ส่งให้พนักงานสอบสวน สน.บางเขน โดยอ้างว่า น.ส.จุฬาลักษณ์ ฟอสเตอร์ หรือหม่อมอุ๋มอิ๋ม สั่งให้นำมาให้ ตำรวจตรวจดูแล้วเป็นหนังสือไม่ปิดผนึก และมีข้อความทำนองว่าให้ตำรวจช่วยเหลือ น.ส.จุฬาลักษณ์ เกี่ยวกับคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งต่อมา น.ส.จุฬาลักษณ์เดินทางมาพบตำรวจเพื่อวิ่งเต้นเคลียร์แผงจำหน่ายสินค้าละเมิด ลิขสิทธิ์ ซึ่งตำรวจ สน.บางเขนไม่เชื่อว่าเป็นจดหมายจริง จึงตรวจสอบไปยังตำรวจประจำสำนักพระราชวัง พบว่าไม่เคยมีหนังสือฉบับดังกล่าว และ น.ส.จุฬาลักษณ์ก็ไม่ใช่ ม.ล.จุฬาลักษณ์ ไม่ใช่ราชนิกูล แต่เป็นผู้ต้องหารับของโจรของสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ตำรวจจึงจับกุมคนทั้งสองไว้ได้ จำเลยให้การปฏิเสธไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับ น.ส.จุฬาลักษณ์ ศาลพิเคราะห์ว่า โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับ น.ส.จุฬาลักษณ์ ปลอมหนังสือฉบับนี้อย่างไร และจำเลยเพียงนำจดหมายมาส่งแทน น.ส.จุฬาลักษณ์แล้วก็ไม่ได้กระทำอย่างใดต่อไปอีก ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำและใช้เอกสารปลอม อีกทั้งไม่มีพิรุธว่าได้รับประโยชน์จากการใช้หนังสือปลอมแต่อย่างใด และจำเลยก็ไม่ได้เป็นกลุ่มผู้ต้องหาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยแอบอ้างและดูหมิ่นฯตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ น.ส.จุฬาลักษณ์ ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานแอบอ้างและดูหมิ่นเบื้องสูง ในกรณีเดียวกันนี้รวม 2 สำนวน โดยสำนวนแรกศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 2 เดือน สำนวนที่สองลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน ที่มา: มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: “ภาคประชาชนไทย” ขู่พร้อมประท้วงใหญ่ หาก รบ.ไทยปล่อย “เขื่อนไซยะบุรี” สร้าง Posted: 24 Mar 2011 09:33 AM PDT สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) จาก 4 ประเทศแม่น้ำโขงคือกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือเอ็มอาร์ซี) ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (25 มีนาคม) ที่ประเทศกัมพูชา โดยหัวข้อพิจารณาสำคัญที่เข้าใจว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือข้อเสนอของรัฐบาล สปป.ลาวให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีขนาด 1,280 เมกกะวัตต์ในภาคเหนือของลาว เป็นเขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง โดยคณะกรรมการร่วม จะต้องให้ความเห็นอันเป็นจุดยืนของแต่ละประเทศ แม้จะไม่มีสิทธิยับยั้งไม่ให้รัฐบาลลาวสร้างก็ตาม ทั้งนี้ เขื่อนไซยะบุรีได้รับการคัดค้านอย่างเข้มแข็งจากภาคประชาชนของทุกประเทศ รวมทั้งในเวทีภาคประชาชน “พญานาค ปลาแดก คนลุ่มน้ำโขง: กับเขื่อนไซยะบุรี” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่สกลนคร ซึ่งประชาชนไทยกว่าห้าร้อยคน ร่วมยืนยันคัดค้านเขื่อนไซยะบุรีและเรียกร้องให้ตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำของไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการร่วม และเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยมีจุดยืน โดยต้องใช้กฎหมายไทยในการพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรี และยืนยันพร้อมประท้วงใหญ่ หากยังมีการผลักดันให้ก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกรมทรัพยากรน้ำกลับยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนในประเด็นจุดยืน ในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ไทยจะเป็นทั้งผู้ลงทุน และผู้ซื้อไฟเกือบทั้งหมดแห่งนี้ จากสถานการณ์การรณรงค์ของภาคประชาชนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในประเด็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่มีข้อเสนอสร้างทั้งหมด 12 เขื่อน ทั้งนี้ 8 เขื่อนในเขตประเทศลาว 2 เขื่อนระหว่างพรมแดนไทย-ลาวและอีก 2 เขื่อนในประเทศกัมพูชา อันก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวคัดค้านในกลุ่มภาคประชาชน ทั้งในแต่ละประเทศและทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้ มีรายชื่อบุคคลหลายหมื่นรายชื่อ และองค์กรจากหลายสิบประเทศ ส่งผ่านไปยังผู้นำของประเทศแม่น้ำโขง และกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กลับยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนใดๆ ที่จะสนับสนุนความห่วงใยของประชาชนในลุ่มน้ำ ทั้งที่ประเทศไทย คือผู้ที่จะซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด จากเขื่อนแม่น้ำโขงสายประธานทั้ง 12 เขื่อน โดยเฉพาะในกรณีเขื่อนไซยะบุรี บริษัท ช.การช่างของไทยจะเป็นผู้ลงทุนสร้างเขื่อนโดยมีเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงไทย กรุงเทพ และกสิกรไทย ไทยจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่อยู่ในระดับเทียบเท่ากับรัฐบาลลาวได้ “ความกังวลหลักของประชาชนในตอนนี้ คือ ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าข้อคิดเห็นต่อเขื่อนไซยะบุรีที่แสดงออกไปแล้วนั้นจะได้รับการนำเสนอในระดับนโยบาย สิ่งที่เราเรียกร้อง คือให้มีการศึกษาข้อมูลด้านผลกระทบอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของเขื่อนไซยะบุรี ยังมีอีก อย่างน้อย 10 ประเด็นที่ขาดความชัดเจน และหากเกิดผลกระทบจริง ผู้สร้างย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวในที่ประชุมเวทีภาคประชาชน “พญานาค ปลาแดก คนลุ่มน้ำโขง: กับเขื่อนไซยะบุรี” เช่นเดียวกับนายเหลาไท นิลนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำโขง สกลนคร ที่กล่าวว่า “ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ในเวทีนี้เป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของไทยในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ทว่าวันนี้ โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงมีความท้าทายและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรีที่เป็นของนายทุนไทย ไฟฟ้ารับซื้อโดยประเทศไทย แต่เขื่อนตั้งอยู่ในประเทศลาว ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่มหาศาลและชัดเจน จะข้ามพรมแดนกลับมาสู่ชาวไทย การเรียกร้องของเรา เป็นการขับเคลื่อนในนามคนลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ โดยเฉพาะประชาชนลาวที่ไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ก่อนที่เขื่อนไซยะบุรีจะนำไปสู่การสร้างอีก 11 เขื่อนที่เหลือ” ทั้งนี้ แม้จะมีการเปิดเวทีให้ข้อมูลในประเทศไทยในกรณีเขื่อนไซยะบุรีทั้งใน อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนมในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นายไชยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวกับประชาชนในที่ประชุมที่จังหวัดสกลนครในวันเสาร์ที่ผ่านมาเพียงว่า กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะกองเลขาจะต้องทำความเห็นส่งสำนักเลขาธิการของเอ็มอาร์ซี โดยตนเองรับรู้ว่าความเห็นจากประชาชนทั้งสามเวที คือโครงการเขื่อนไซยะบุรียังเปิดเผยข้อมูล และทำการศึกษาไม่เพียงพอ โดยเฉพาะไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเสนออย่างชัดเจน ว่าตนเองพร้อมคณะ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย จะมีความเห็น หรือมีท่าทีอย่างไรต่อประเด็นการสร้างเขื่อนดังกล่าว “ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลไทยรับรู้หรือไม่ว่า การตัดสินใจเรื่องเขื่อนไซยะบุรีกำลังเป็นตัวชี้บอกระดับความรับผิดชอบ และสำนึกของไทยต่อประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามประเทศ และอนาคตของไทยในเรื่องพลังงานในภูมิภาคนี้ การที่ตัวแทนรัฐบาลไทยพยายามไปยึดโยงการตัดสินใจของตัวเองเข้ากับกรอบของเอ็มอาร์ซี ซึ่งไม่มีเสียงของประชาชนมาตั้งแต่แรก นับเป็นเรื่องน่าอับอาย แทนที่จะยืนยันว่าเขื่อนไซยะบุรีจะกระทบกับไทย และเราต้องสามารถใช้กฏหมายรัฐธรรมนูญ กรอบกฏหมายสิ่งแวดล้อมของไทย และเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่พูดชัดเจนว่าเราไม่ต้องการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักเป็นตัวตัดสิน แต่กลับให้ตัวแทนระดับกรม ซึ่งไม่กล้าแม้แต่จะพูดว่าประชาชนไม่เอาเขื่อน ไปเป็นตัวแทนตัดสินใจในโครงการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของแม่น้ำโขงและภูมิภาค ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า กลไกเอ็มอาร์ซีนั้นล้มเหลวมาตั้งแต่แรก” นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าว ทั้งนี้ หลังจากการประชุมคณะกรรมการร่วม ภาคประชาชนกำหนดให้มีท่าทีร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเพื่อพิจารณาตามที่มีข้อเสนอให้มีการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งที่ธาตุพนม จังหวัดนครพนม และการไปเยี่ยมเยียนสถานทูตลาว
สรุปข้อคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี กุมภาพันธ์ 2554 การจัดเวทีตามกระบวนการ PNPCA ของประเทศไทย โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งจัดขึ้น 3 ครั้ง ประกอบด้วย เวที อ.เชียงของ จ.เชียงราย วันที่ 22 มกราคม 2554 , เวที อ.เชียงคาน จ.เลย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 และเวที จ.นครพนม วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 (การจัดเวทีที่ อ.เชียงของใช้ชื่อว่าเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ได้ปรับเป็นเวทีให้ข้อมูลในเวทีที่ อ.เชียงคาน และ จ.นครพนม) ในแต่ละเวที มีผู้เข้าร่วมโดยประมาณ 100 คน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งสามเวทีรวมกัน 202 ข้อคิดเห็น สรุปได้ 16 ประเด็น (บันทึกและสรุปโดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย) ทั้งนี้ มีประเด็นใหญ่ๆ สําคัญ ที่ประชาชนหยิบยกขึ้นมามากที่สุด ดังนี้
ทั้งนี้ ภาคประชาชนไทยจะจัดเวทีเพื่อประกาศจุดยืนต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมด ในวันที่ 19 มีนาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎ จังหวัดสกลนคร และยื่นข้อเสนอถึงบริษัทผู้ลงทุน ธนาคารผู้ให้เงินกู้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และรัฐบาล สปป.ลาวต่อไป
เอกสารประกอบ:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 24 Mar 2011 08:34 AM PDT เมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เล่าให้ผมฟัง (ระหว่างสนทนากันที่โต๊ะอาหารที่บ้านผม) ว่า “สมัยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีนักศึกษาที่ถูกแฟนทิ้งแล้วรู้ภายหลังว่าตนเองตั้งครรภ์ มาขอคำปรึกษาว่าการทำแท้งเป็นบาปมากหรือไม่ ถ้าเป็นบาปเป็นกรรมมาก จะมีวิธีแก้บาปกรรมอย่างไร” “แล้วอาจารย์ตอบอย่างไรครับ?” ผมถาม อาจารย์ประมวล: “ผมไม่สามารถพูดเรื่องศีลธรรมหรือบาปกรรมอะไรได้เลย ในสถานการณ์แบบนี้ผมไม่อำมหิตพอที่จะนำความเชื่อทางศีลธรรมสำเร็จรูปมาซ้ำเติมความทุกข์ของเด็กได้ ผมเพียงแต่ขอให้เขาเล่าปัญหาทั้งหมดให้ผมฟัง แล้วก็นั่งฟังอย่างใส่ใจ จนผมรู้สึกได้ว่าจิตใจผมซึมซับความทุกข์ของเด็กคนนั้นเสมือนเป็นความทุกข์ของผมด้วย เธอเล่าไปร้องไห้ไป ผมก็ร้องไห้ไปด้วย สุดท้ายผมก็บอกว่าหนูคือผู้ที่แบกรับความทุกข์อันหนักหน่วงนี้และเป็นผู้ที่เข้าใจได้ดีที่สุดว่า ระหว่างความทุกข์จากการทำแท้งกับทุกข์ที่ต้องไม่ทำแท้ง หนูมีพลังเพียงพอจะแบกรับความทุกข์แบบไหนได้มากกว่า” และในระหว่างบรรยายให้นักศึกษาฟังในห้องประชุม มีนักศึกษาถามว่า “อาจารย์เข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นประจำหรือเปล่า?” อาจารย์ประมวลตอบว่า “ตั้งแต่ผมลาออกจากราชการและเดินเท้าจากเชียงใหม่ถึงบ้านเกิดที่เกาะสมุยแล้ว ผมไม่เคยเข้าวัดปฏิบัติธรรมที่ไหนอีกเลย ผมคิดว่าการมีชีวิตที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปฏิบัติธรรม แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจความหมายของชีวิตอย่างไรและมีชีวิตอยู่ในแต่ละวันกับงานที่เราทำ กับคนรอบข้าง คนที่เราพานพบ กับความเป็นไปของสังคมของเรา หรือโลกของความเป็นจริงอย่างไร” คำพูดของอาจารย์ประมวลข้างต้น ผุดขึ้นมาในความทรงจำของผมอีกครั้ง เมื่อผมได้รับหนังสือจากวัดใหญ่แห่งหนึ่งเชิญชวนไปปฏิบัติธรรมเพื่อ “พักกายพักใจ” โดยมีโปรโมชั่นส่วนลดพิเศษ จากเดิมค่าลงทะเบียน 2,500 บาท เหลือเพียง 1,500 บาทเท่านั้น ผมวางหนังสือนั้นลงและมีคำถามตามมาจนอยากระบายความในใจต่อไปนี้ (ขออภัยหากจะทำให้บางท่านอารมณ์เสีย) ผมพยายามนึกถึงที่อ่านมาในพระไตรปิฎก นึกอย่างไรก็ไม่พบว่า พระพุทธเจ้าเคยชวนพระสงฆ์ หรืออุบาสกอุบาสิกาที่เข้ามาหาพระองค์แล้วบอกว่า พวกเรามานั่งสมาธิกันเถอะ มานั่งเพ่งลูกแก้ว หรือเพ่งอะไรต่อมิอะไรให้จิตนิ่งแล้วจะเห็นภาพนรก สวรรค์ เห็น “นิพพาน” หรือเกิดปัญญาดับทุกข์หรือแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ แต่ข้อมูลที่เห็นมากมายในพระไตรปิฎกคือ พระพุทธองค์มักพิจารณาว่าวันนี้พระองค์จะไปคุยเรื่องอะไรกับใคร หลังจากสนทนาแล้วเกิดผลอย่างไร เช่น พระองค์เดินทางด้วยเท้ากว่า 200 กิโลเมตรเพื่อไปเล่ารายละเอียดการตรัสรู้ของพระองค์ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง และหลังจากสนทนาครั้งแรก โกณทัญญะก็บรรลุโสดาบัน และเมื่อสนทนาธรรมครั้งที่สองนักบวชทั้งห้าก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เรื่องราวในพระไตรปิฎกโดยมากเป็นไปทำนองนี้ คือมีตัวอย่างจำนวนมากที่คนฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบหรือสนทนากันจบลงแล้วบรรลุธรรม แต่พระอรรถกถาจารย์ก็เขียนอธิบายว่า ที่คนเหล่านั้นฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุทันที เพราะว่าชาติก่อนเคยบำเพ็ญบารมีเอาไว้มาก จะเห็นว่าข้อมูลที่ผมกล่าวมามีสองส่วนคือ ส่วนแรกคือข้อเท็จจริงที่ว่ามีการสนทนา การอธิบายให้ฟังแล้วผู้ฟังไตร่ตรองตามจนเข้าใจแจ่มแจ้ง และผลจากความเข้าใจแจ่มแจ้งนั้นทำให้ดับทุกข์ได้ ส่วนที่สองคือข้อมูลที่อธิบายว่าที่คนเหล่านั้นฟังแล้วบรรลุได้ (โดยไม่ต้องไปนั่งสมาธิ) เป็นเพราะผลของ “บุญเก่า” ในชาติปางก่อน ข้อมูลส่วนแรกเป็นคำบรรยาย “ข้อเท็จจริง” ข้อมูลส่วนหลังเป็นคำบรรยาย “ความเชื่อ” สำหรับผมแล้วสนใจคำบรรยายข้อเท็จจริงมากกว่า เพราะ “ความเชื่อ” อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ (เช่นอธิบายไม่ได้ว่าเรารู้ได้อย่างไรว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างบุญเก่าแต่ชาติปางก่อนกับการฟังคำอธิบายความทุกข์ในชีวิตในชาติปัจจุบันแล้วเข้าใจและดับทุกข์ได้) แต่ “ข้อเท็จจริง” อธิบายด้วยเหตุผลได้ว่า เมื่อเราไม่เข้าใจเรื่องใดหรือปัญหาใด หากพบคำอธิบายหรือมีผู้อธิบายเรื่องนั้นหรือปัญหานั้นอย่างแจ่มแจ้ง ย่อมทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งได้ (ประสบการณ์จำนวนมากบอกเราได้ในเรื่องนี้) หรือพูดอีกอย่างว่า การที่เราบอกว่ารู้หรือเข้าใจเรื่องใด ปัญหาใด ก็หมายความว่าเราสามารถอธิบายเรื่องนั้นปัญหานั้น (หรือมีประสบการณ์ตรงต่อสิ่งนั้น) อย่างชัดแจ้ง ฉะนั้น โดยการทำสมาธิให้จิตนิ่งเห็น “ดวงใสสุกสว่าง” ในร่างกาย ประสบการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นประสบการณ์ที่ไม่มี “เนื้อหา” ที่ทำให้เราเข้าใจโลกและชีวิตอะไรเลย ไม่ช่วยให้เราเข้าใจความทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคมใดๆ เลย ถามว่าวิธีปฏิบัติธรรมที่ไม่มี “เนื้อหา” ให้เราเข้าใจชีวิตและสังคมเช่นนี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในชีวิต ปัญหาทางสังคม หรือนำไปสู่การเป็นคนดีมีคุณธรรมที่มีความหมายเชิงสร้างสรรค์แก่ตนเองและสังคมได้อย่างไร? จริงอยู่แม้ว่าในกิจกรรมเข้าค่ายปฏิบัติธรรม จะมีการบรรยายธรรมอยู่ด้วย แต่ในที่สุดแล้วผู้บรรยายก็จะสรุปว่า ต้องปฏิบัติธรรมจึงจะได้ผล ซึ่งการปฏิบัติธรรมที่ปลูกฝังกันก็คือ “การทำสมาธิ” ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่ปราศจากเนื้อหา หรือมีรูปแบบเฉพาะที่ไม่เกี่ยวกับการไตร่ตรองปัญหาชีวิตและสังคมอย่างลึกซึ้งจริงจัง (รวมทั้งไม่มีการพูดถึงจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นธรรมหรือน่าอยู่มากขึ้นแต่อย่างใด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องการเมืองเป็นเรื่องทางโลกที่ตรงข้ามกับเรื่องทางธรรม) เพราะเข้าใจผิดว่า “การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติสมาธิ” นี่เอง จึงทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมสายธรรมกายมองว่า ท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) แม้จะเป็นปราชญ์อ่านมากรู้มากแต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติน้อย คำถามคือ ถ้าการปฏิบัติธรรมหมายถึงการปฏิบัติสมาธิ ทำไมพระพุทธองค์จึงเดินหันหลังให้แนวทางดังกล่าว ทั้งที่เคยฝึกสมาธิจากดาบสสองรูปจนได้สมาบัติ 8 แล้วหันมาใช้วิธีใช้ปัญญาไตร่ตรอง (วิปัสสนา) ให้เข้าใจทุกข์และวิธีดับทุกข์ และอ้างอิงวิธีนี้ชวนคนอื่นๆ ให้ใช้ปัญญาของตนเองไตร่ตรองทำความเข้าใจความทุกข์ที่เกิดกับตนเองและดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งหมายถึงให้เรากลับไปหาความเป็นมนุษย์ของตนเองมากกว่าที่จะให้สมาทานหรือเดินตามความเชื่อหนึ่งใด ทว่าปัจจุบันชาวพุทธต่างหันหลังให้วิถีการใช้ปัญญาเรียนรู้ปัญหาที่ซับซ้อนของชีวิตและสังคม ไม่มีวัฒนธรรมแห่งการเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กักขังตัวเองเองอยู่ในโลกแคบๆ ของสิ่งที่ตนเองยึดถือว่าคือ “การปฏิบัติธรรม” ของสำนักใครสำนักมันที่ปราศจากเนื้อหาที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง การปฏิบัติธรรมในความหมายดังกล่าว ต่อให้ปฏิบัติแล้วเหาะได้ก็ไม่มีความหมายอะไรต่อการช่วยให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น ! ฉะนั้น สำหรับผม หากจะให้เสียเวลาไปกับการนั่งเพ่งลูกแก้วหรือปฏิบัติธรรมตามประเพณีที่ไม่มีเนื้อหาให้เข้าใจความหมาย/คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ผมขอใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือดีๆ สนทนากับเพื่อน หรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่มีเนื้อหาชวนไตร่ตรองความหมายของการมีชีวิตอยู่
หมายเหตุ : ผมได้แง่คิดในการเขียนบทความนี้จากการอ่าน “วารสารปัญญา” (ฉบับ ก.พ.54) ของ ศ.ดร.สมภาร พรมทา วารสารออนไลน์ที่ให้ดาวโหลดฟรีทั้งบทความวิชาการ เรื่องสั้น นวนิยาย และเล่มหนังสือปรัชญา/พุทธศาสนา ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ผู้สนใจโปรดเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/index.html สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สุริยะใสมั่นใจเคลียร์กับ พธม. เรื่องคว่ำบาตรเลือกตั้งได้ Posted: 24 Mar 2011 08:17 AM PDT ลั่นการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการคลี่คลายวิกฤตการบ้านเมือง วอนสังคมควรรับฟังข้อเสนอโนโหวตของ พธม. ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ “การเมืองใหม่” ต้องระมัดระวังในการแสดงบทบาท หวั่นถูกกลั่นแกล้งว่าต่อต้านระบบการปกครองจนต้องยุบพรรค เผยเตรียมประชุม 24 เม.ย. เพื่อกำหนดจุดยืนเรื่องเลือกตั้ง มั่นใจได้ข้อยุติ
สุริยะใสยันการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบเดียวในการคลี่คลายวิกฤต นายสุริยะใส กล่าวว่า ความรู้สึกที่ไม่เชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาที่พิกลพิการ และลัทธิเลือกตั้ง ที่เริ่มเป็นกระแสสูงในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนทั่วไป ก็เป็นผลจากความล้มเหลวของระบบตัวแทน และการเอาปัญหาของชาติไปผูกไว้กับการเลือกตั้งมากเกินไป ซึ่งเป็นเพียงประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบเท่านั้น
สังคมควรรับฟัง ข้อเสนอไม่เอาการเลือกตั้งของ พธม. ยันเป็นสิทธิตาม รธน. ส่วนจุดยืนของพรรคการเมืองใหม่ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ผ่านมา กรรมการบริหารพรรคก็ประเมินและหารือกันภายในพรรคเป็นระยะๆ และเช้าวันนี้ก็ได้มีการประชุมของแกนนำรุ่นพันธมิตรฯ ทั้ง 2 รุ่น เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและความเห็นต่อบทบาทและอนาคตของพรรคการเมืองใหม่ ในสถานการณ์วิกฤตการเมืองในขณะนี้ ก็เข้าใจกันดีและเห็นตรงกันว่า วิกฤตการณ์ของชาติในขณะนี้ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น
ยันประชุมใหญ่พรรค 24 เม.ย. เพื่อกำหนดจุดยืนเลือกตั้ง มั่นใจได้ข้อยุติ “ส่วนตัวของผมในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรค จะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องเอาความเห็นของพี่น้องพันธมิตรฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศมาร่วมพิจารณาด้วย เพราะพรรคเกิดจากขบวนการต่อสู้ของพันธมิตรฯ มันแยกกันไม่ออก ซึ่งต้องคุยกันให้มากและลึกขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการมองทิศทางของชาติบ้านเมืองร่วมกัน” นายสุริยะใส กล่าวว่า ในวันที่ 24 เมษายน เดือนหน้านี้ พรรคจะจัดประชุมใหญ่ระหว่างกรรมการบริหารพรรค กรรมการสาขา กรรมการศูนย์ประสานงาน และสมาชิกพรรค เพื่อกำหนดจุดยืนต่อการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ผมมั่นใจว่าความเห็นที่แตกต่าง ภายใต้เป้าหมายเดียวกันในขบวนพันธมิตรฯ จะได้ข้อยุติที่ดี และเป็นเอกภาพในวันนั้น ที่มา: เรียบเรียงจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แผ่นดินไหว 6.8 ริคเตอร์ศูนย์กลางอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.เชียงราย Posted: 24 Mar 2011 07:27 AM PDT เมื่อเวลา 20.55 น. ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริคเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้านรัฐฉาน ห่างจาก จ.เชียงรายไปทางเหนือ ขณะที่สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ทั่วภาคเหนือ ล่าสุดเกิดอาฟเตอร์ช็อคอย่างน้อย 2 รอบ ขนาด 4.8 และ 5.4 ริคเตอร์ แผนที่จากเว็บไซต์สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา แสดงศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงหัวค่ำ ของวันที่ 24 มี.ค. โดยศูนย์กลางอยู่ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ไปทางทิศเหนือ
เว็บไซต์สำนักงานสำรวจธรณีัวิทยาสหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.55 น. วันนี้ (24 มี.ค.) เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริคเตอร์ โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้านรัฐฉาน ห่างจาก จ.เชียงรายไปทางทิศเหนือ ละติจูดที่ 20.705 องศาเหนือ และลองติจูดที่ 99.949 องศาตะวันออก โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวลึกลงไปจากเปลือกโลก 10 กม. ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โดยในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว โดยแผ่นดินไหวเกิดขึ้นราว 1 นาที นอกจากนี้เมื่อเวลา 21.50 น. สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้ตัดเข้าสู่ช่วงข่าวและรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว โดยมีรายงานว่าสามารถรับรู้แรงสั่นสะ้เทือนได้ถึงตึกสูงในกรุงเทพมหานครรวมถึงอาคารมาลีนนท์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ด้วย เมื่อเวลา 21.57 น. สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว โดยที่ ต.เวียงพานคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้เกิดเหตุหลังคาบ้านได้พังถล่มทับร่างนางหงส์ คำปิง อายุ 55 ปี ขณะอยู่ในบ้าน จนเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า เกิดเหตุกระแสไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และที่ รพ.แม่สาย ภายหลังเหตุแผ่นดินไหวมีการอพยพผู้ป่วยออกจากอาคารของโรงพยาบาลด้วย ล่าสุด สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา ยังรายงานการเกิดอาฟเตอร์ช็อคด้วย โดยเมื่อเวลาประมาณ 21.23 น. ตามเวลาในประเทศไทย เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ริคเตอร์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้านรัฐฉาน ห่างจาก จ.เชียงรายไปทางทิศเหนือ ละติจูดที่ 20.595 องศาเหนือ และลองติจูดที่ 99.862 องศาตะวันออก โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวลึกลงไปจากเปลือกโลก 10.2 กม. เวลาประมาณ 20.30 น. น.ส.ณัฐฐา โกมลวาทิน ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาพม่า ซึ่งสัมภาษณ์ผู้อาศัยในเมืองเชียงตุง เมืองหลักของรัฐฉานภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยผู้อาศัยในเมืองเชียงตุงระบุว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นเวลา 4-5 นาที และสิ่งของที่ไว้ข้างบน และของบนหิ้งพระตกลงมา แต่ขณะนี้ยังประเมินความเสียหายไม่ได้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 22.54 น. เกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง กินเวลาประมาณ 10 วินาที โดยสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเว็บไซต์สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา รายงานว่า แผ่นดินไหวดังกล่าววัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.4 ริคเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ ละติจูดที่ 20.682 องศาเหนือ และลองติจูดที่ 99.739 องศาตะวันออก ทั้งนี้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวล่าสุด ยังคงอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้านรัฐฉาน ห่างจาก จ.เชียงรายไปทางทิศเหนือ
ที่มาของข่าว: เรียบเรียงบางส่วนจาก the United States Geological Survey’s (USGS) [1] , [2] , [3] สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
โต้งานวิจัยจุฬาฯ คนกรุงเอา “ซุปเปอร์สกายวอล์ก” ชี้กลุ่มตย.แคบ-คำถามชี้นำ Posted: 24 Mar 2011 04:13 AM PDT แกนนำกลุ่มค้านซุปเปอร์สกายวอล์กในเฟซบุ๊กโต้งานวิจัยจุฬาฯ ที่ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ต้องการ “ซุปเปอร์สกายวอล์ก” ชี้กลุ่มตัวอย่างแคบ คำถามชี้นำ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะแกนนำกลุ่มค้านซุปเปอร์สกายวอล์กในเฟซบุ๊ก วิจารณ์การสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ต่อโครงการซุปเปอร์สกายวอล์ก ของนางสาวศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่า คนกรุงเทพฯร้อยละ 68 เห็นควรให้สร้างซุปเปอร์สกายวอล์กว่า คำถามที่ใช้เป็นคำถามชี้นำ กลุ่มตัวอย่างก็เป็นกลุ่มที่แคบไม่กระจาย แต่กลับนำเอาข้อสรุปมาอ้างว่าเป็นความเห็นส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณระบุว่า งานวิจัยที่ดีต้องกระจายกลุ่มเป้าหมายไปทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ เจ้าของตึกแถว พ่อค้า แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถยนต์ รถสาธารณะ คนเดินดินกินข้าวแกงทุกพื้นที่ทั้ง 50 เขตของ กทม. ทั้งคนที่อยู่ในกรุงเทพชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอกแถบชานเมืองด้วย ไม่ใช่เลือกถามเฉพาะคนที่ชอบใช้ทางเดินเท้าลอยฟ้าเป็นประจำ เพราะคำตอบที่ได้ของคนกลุ่มนี้ก็ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับคำถามชี้นำอยู่แล้ว นอกจากนั้นคำถามที่ใช้ต้องเป็นคำถามลักษณะกลางๆ ไม่ใช่โอนเอียงไปในทิศทางที่ต้องการให้ตรงกับคำตอบที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว นายศรีสุวรรณ ยกตัวอย่างคำถามใหม่ อาทิ การมีโครงการทางเท้าลอยฟ้าเป็นเพราะ กทม.ไร้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยใช่หรือไม่, ถ้ามีทางเดินเท้าลอยฟ้าแล้วจะมีหาบเร่แผงลอยตามขึ้นไปวางขายด้วยจะเอาหรือไม่, งบประมาณการก่อสร้างทางเดินเท้าลอยฟ้าราคา 300 ล้านบาทต่อกิโลเมตรมาจากภาษีประชาชน ท่านว่าถูกหรือแพง และท่านจะเอาหรือไม่, การมีทางเดินเท้าลอยฟ้าสร้างเต็มคลุมไปทุกถนนหนทางกลายเป็นอุจาดทัศน์ของเมือง (Visual Pollution)ไว้อวดแขกบ้านแขกเมืองท่านจะเอาหรือไม่ ฯลฯ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แรงงานลั่น จุดยืน 5 ข้อปฏิรูปประกันสังคม “ถ้าไม่ได้ เราไม่เอา” Posted: 24 Mar 2011 03:51 AM PDT คนงานยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยันสำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ ย้ำถ้าไม่ได้ ก็ไม่ต้องการ พ.ร.บ.ฉบับนี้ วันนี้ (24 มี.ค.54) เวลา 10.30 น. แรงงานประมาณ 200 คน ภายใต้การนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) รวมตัวกันบริเวณตรงข้ามอาคารรัฐสภา เพื่อแสดงพลังยืนยันข้อเสนอของคนงานต่อการปฏิรูปประกันสังคม และยื่นหนังสือผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเพื่อผลักดันให้คณะกรรมาธิการฯบรรจุข้อเสนอของ คสรท. ที่มีหัวใจสำคัญ คือต้องการให้ปรับปรุงสำนักงานประกันสังคมจากหน่วยราชการเป็นองค์กรอิสระ ไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ที่กำลังพิจารณาอยู่ เนื่องจากขณะนี้ คสรท.เห็นว่าหลักการและเจตนารมณ์ของการปฏิรูประบบประกันสังคมที่เสนอไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือ “ฉบับบูรณาการแรงงาน” ที่เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานร่วมกันยกร่างขึ้น ไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรถือเอาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติที่กำลังพิจารณาอยู่จึงยังไม่ตอบโจทย์การปฏิรูประบบประกันสังคมให้ไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิกผู้ประกันตนกว่า 9.4 ล้านคนที่เป็นเจ้าของทุนประกันสังคม ต่อมาเวลา 12.30 น. นางผุสดี ตามไท รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ออกมารับหนังสือจากนางสาวธนพร วิจันทร์ คณะกรรมการอำนวยการสมานฉันท์แรงงานไทยในฐานะตัวแทนกลุ่มแรงงาน โดยนางผุสดี ได้กล่าวตอบต่อกลุ่มแรงงานที่มาแสดงจุดยืนว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาเดือดร้อนของแรงงาน ในฐานะที่ทำงานฝ่ายนิติบัญญัติก็อยากทำกฏหมายให้ดีและอยากให้ผ่านเร็วที่สุด แต่ผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ฟ้าและดิน เพราะเราต่างก็มีข้อจำกัดในการทำงานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ยืนยันว่าสภาจะหาที่ลงให้ข้อเสนอของแรงงาน แต่คงไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงขอเสนอให้เรียงลำดับความสำคัญสิ่งใดอยากได้ก่อนได้หลัง ขณะที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสงคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ในฐานะรองประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ถ้าประเด็นของเราไม่ได้รับพิจารณา เราก็ไม่เอา เรารับไม่ได้ และจะเคลื่อนไหวต่อ แต่ถ้ารัฐบาลเอาข้อเสนอ 5 ข้อ เราก็จะสนับสนุน สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อเพื่อการปฏิรูประบบประกันสังคมของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีดังนี้ กลุ่มแรงงานได้กล่าวปราศรัยทิ้งท้ายก่อนแยกย้ายว่า หวังว่าคณะกรรมาธิการฯจะนำข้อเสนอของเราไปพิจารณา และถ้าไม่ได้เราจะกลับมาใหม่อย่างแน่นอน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: หนุน นายก อบต.สู้คดี บ.โรงไฟฟ้าแกลบ ฟ้องหมิ่นประมาท Posted: 24 Mar 2011 03:31 AM PDT ประชาชนกว่า 300 คนเดินทางไปยังศาลจังหวัดเชียงราย เพื่อให้กำลังใจ นายก อบต.เวียงเหนือ ในการต่อสู้คดี
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ประชาชนจาก 3 ตำบลในจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย ต.เวียงเหนือ ต.ทุ่งก่อ ต.ริมกก เดินทางมายังศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อให้กำลังใจ นางอุบลรัตน์ ปิยะโกศล นายก อบต.เวียงเหนือ จำเลยที่ 1 ในคดีหมิ่นประมาทและแจ้งความเท็จ ซึ่งถูกบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัดยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทและแจ้งความเท็จ จากการที่นำเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านกว่า 4 พันกว่าคนที่ยื่นคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า(แกลบ) ส่งไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกล่าวหาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยมีมติสั่งให้มีการยุติการก่อสร้าง ด้านนางอุบลรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่หนักใจกับคดีดังกล่าวและเชื่อมั่นในความถูกต้องและกระบวนการยุติธรรม พร้อมระบุว่า การที่ตนเป็น นายก อบต. มีหน้าที่ต้องดูแลและรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ การที่มีประชาชนมายื่นหนังสือ และร่วมลงชื่อในการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ กว่า 4 พันคน มา อบต. ตนในฐานะนายกฯ ก็ต้องทำตามหน้าที่ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงความต้องการของประชาชน และเอกสารต่างๆ ที่ยื่นก็เป็นเอกสารหลักฐานจริงจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน พร้อมย้อนถามบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัดว่า “มันหมิ่นประมาทตรงไหนกัน” ถ้าตนไม่ส่งเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหากถึงจะมีความผิดโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ นางอุบลรัตน์ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาว่าตนแจ้งความเท็จนั้น เป็นเรื่องที่บริษัทพูดไม่จริง โดยบริษัทฯกล่าวว่า นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น ไม่มีมติให้มีการยุติการก่อสร้าง ทั้งที่นายสุเมธได้มีมติจริง ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 และตัวแทนของบริษัทคือ นายนพดล ธานีรักษ์ ยังได้ลงชื่อรับทราบอีกด้วย โดยนายอำเภอเวียงชัยก็ได้ทำหนังสือแจ้งมติดังกล่าว มาที่ อบต.เวียงเหนือ ว่าไม่สมควรให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในหมู่ 8 บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ต่อมาในเวลาประมาณ 15.00 น. ประชาชนที่ได้เดินทางมาให้กำลังใจและติดตามคดีดังกล่าว ได้ออกมายืนรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าศาลจังหวัดเชียงราย พร้อมชูป้าย "หนังสือแจ้งผลการพิจารณาคณะกรรมการกลั่นกรอง" ที่มีมติว่า ไม่สมควรให้มีการก่อสร้าง และลงนามเห็นชอบโดยนายสุเมธ แสงนิ่มนวล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ในวันดังกล่าว มีหน่วยงานจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอรมน. ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อสอบถามประชาชนที่ชุมนุมประท้วงบริเวณด้านหน้าสถานที่ก่อสร้าง พร้อมรับปากให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ประชาชนในพื้นที่ให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานของรัฐเลย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่แสดงเจตนารมณ์มาตั้งแต่ต้น ว่าไม่ให้มีการก่อสร้าง จนผู้ว่าฯ มีมติออกมาแล้ว แต่ท้ายที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้งที่เป็นเพียงคนแค่ 6-7 คน และไม่ใช่คนเชียงรายโดยกำเนิดด้วยซ้ำ แต่กลับยัดเยียดและสร้างปัญหาให้คนกว่า 7 พันคนใน 3 ตำบล พร้อมย้อนถามทางบริษัทฯ ให้ศาลมาไกล่เกลี่ยขอให้เรายอมให้สร้าง จะทำให้เหมือนโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญ ที่จังหวัดสุรินทร์ แล้วทำไม โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดทับสะแกของท่าน ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่ทำให้เหมือนที่มุ่งเจริญก่อน ทั้งๆ ที่เจ้าของเดียวกัน ทำไมปล่อยให้เกิดฝุ่นควัน จนชาวบ้านต้องฟ้องศาลปกครอง จนศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการ ทั้งนี้ ย้ำด้วยว่า จะปักหลักสู้จนกว่าบริษัทฯ จะยอมยุติการก่อสร้าง โดยจะไม่ยอมให้โครงการที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นในชุมชนอย่างเด็ดขาด เพราะเท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ ไว้ให้คนรุ่นหลัง และเท่ากับเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ และการปกครองของชุมชนที่มีมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าจะถูกยัดเยียดคดี หรือจำเป็นจะต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็พร้อมสูญเสีย เพื่อปกป้อง และรักษาชุมชนของเราเอาไว้ให้ลูกหลาน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสวนา: "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจได้ 'ได้' หรือ 'เสีย'" Posted: 24 Mar 2011 01:31 AM PDT ปธ.กก.ไทยเบฟฯ เชื่อ "ปากบารา" ยุทธศาสตร์ทางน้ำสำคัญ เชื่อมตะวันออก-ตะวันตก นายกสมาคมฯเรือกรุงเทพ เห็นต่าง ท่าเรือปากบาราไม่มีประโยชน์ด้านธุรกิจ ด้านอธิการบดี มอ. แจงแค่ตัวกลาง ไม่ได้รับจ้างโฆษณาชวนเชื่อ ที่ปรึกษา ปธ.หอการค้าจังหวัด เตือนไม่รีบพัฒนา ไทยจะเสียโอกาส ชาวบ้านชี้ ต้องลงทุนมหาศาล ควรคิดให้รอบคอบ เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 22 มีนาคม 54 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดเสวนาหัวข้อ "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจได้ 'ได้' หรือ 'เสีย'" ณ ชั้น3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เพื่อติดตามโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ในโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน โดยมีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่า พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมทั้งเครือข่ายประชาชนที่ติดตามแผนพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเสวนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม บรรยายพิเศษในหัวข้อ “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา: มิติใหม่ฝั่งอันดามัน” โดยกล่าวว่า การสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกที่บ้านปากบารา เพื่อพัฒนาชายฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลของภาคใต้ ที่เชื่อมโยงกับการขนส่งหลายรูปแบบ และเพื่อส่งเสริมการลงทุนและกระจายความเจริญ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาให้ความสำคัญในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไว้ในแผนยุทธศาสตร์สะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล ในช่วงต่อมา เป็นการเสวนาของตัวแทนแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงโครงการนี้ว่ามีความเป็นมา 5 ปีแล้ว โดยในตอนแรกคาดว่าจะเสร็จภายใน 5 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป และตั้งประเด็นคำถามต่อวิทยากรว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ในมุมของการส่งออกท่าเรือน้ำลึกหรือท่าเรือชายฝั่งประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีท่าเรือน้ำลึกเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ประเทศไทยมีท่าเรือน้ำลึกอยู่หลายที่ ทั้งทางฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เช่น ท่าเรือกรุงเทพ ภูเก็ต แหลมฉบัง สงขลา ปัจจุบันรัฐบาลเองก็มีแนวคิดที่จะหยุดการก่อสร้างที่บ้านปากบารา โดยไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรืออื่นแทน ถามว่าท่าเรือปากบารายังจำเป็นอยู่หรือไม่ ยันไทยต้องมีท่าเรือน้ำลึก “ท่าเรือน้ำลึกควรจะมี เป็นสิ่งที่ควรพูดไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่รอสินค้าให้เต็มก่อน ผมเคยพูดไว้หลายครั้งว่า การมีท่าเรือเราจะต้อง 'ตบยุง' ไปก่อนประมาณสี่ห้าปี กว่าที่จะมีคนมาใช้อย่างเต็มที่ ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีท่าเรือ” นายจักรมณฑ์กล่าว ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ความจริงแล้ว ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันของเราไม่มี เราจำเป็นต้องอ้อมไปทางสิงคโปร์ ทำให้เสียเวลา จึงเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนถ้าจะให้เราไปใช้ที่ทวาย เปรียบเหมือนเราจะไปยืมจมูกพม่าหายใจไม่ได้ ณ ขณะนี้เรามีเส้นทางคอริดอร์ (ทางเชื่อมเศรษฐกิจ) จากจีนลงมา และมีแผนเส้นทางจากภาคตะวันตกของไทยไปสู่เวียดนาม มีลักษณะเป็นกากบาท เราจึงต้องการให้ภาคใต้มีกากบาทอีกหนึ่งอัน เชื่อ "ปากบารา" ยุทธศาสตร์ทางน้ำสำคัญ เชื่อมตะวันออก-ตะวันตก นายวันชัยกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีชายฝั่งยาว 2,000 กิโลเมตร แต่เราใช้ประโยชน์จากชายฝั่งน้อยมาก ปัจจุบันที่ใช้อยู่ คือ แหลมฉบังกับมาบตาพุด และท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือดังกล่าวเกิดขึ้นจากความเจริญเติบโตในอดีต ที่ต้องมีการขยายตัว ส่วนในภาคใต้นั้นมีแนวคิดที่จะสร้างท่าเรือสงขลา ซึ่งการสร้างท่าเรือนั้นต้องมาพร้อมกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการนำเข้าและส่งออก ขณะที่ท่าเรือที่ระนองนั้นก็ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ ยุทธศาสตร์ของประเทศพยายามหาท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันตกมาตลอด การสร้างท่าเรือมีขีดจำกัด ต้องเป็นสถานที่เหมาะสมจริงๆ ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่าง เส้นทางกระบี่-ขนอม (จ.นครศรีธรรมราช) ได้สร้างถนน ก่อนสร้างท่าเรือ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีท่าเรือ นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญว่า การสร้างท่าเรือต้องดูจุดที่จะสร้างก่อน โดยจุดที่ปากบาราเป็นจุดที่มีความเหมาะสมที่สุด ซึ่งสามารถขนส่งสินค้าทางบนจากอันดามันสู่ฝั่งอ่าวไทยได้ โดยการตัดถนนและรางรถไฟ ส่วนท่าเรือสงขลา ปัจจุบันมีขีดจำกัด ในเรื่องร่องน้ำ ที่ไม่สามารถนำเรือใหญ่เข้าได้ มีเฉพาะเรือขนาดกลางและเล็กเท่านั้น การสร้างท่าเรือปากบาราจึงเป็นยุทธศาสตร์ทางน้ำที่สำคัญ ในการเชื่อมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก
ส่วนที่สงขลามีปัญหาคือ เป็นท่าเรือเล็ก ร่องน้ำตื้น ใช้เรือใหญ่เข้าไปขนสินค้าไม่ได้ ต้องใช้เรือเล็ก ที่บรรจุได้เพียงร้อยกว่าตู้ ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าแพง ที่เหลือจึงไปออกที่ปีนังเพราะสามารถทำราคาได้ถูกกว่า ส่วนสินค้าที่ภาคใต้ตอนบนจะมาส่งออกที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยใช้เส้นทางรถไฟ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการขนส่งโดยใช้เรือเล็ก มาที่แหลมฉบัง เพราะที่สุราษฎ์ธานี ก็มีปัญหาร่องน้ำตื้นจึงต้องใช้เรือเล็ก ทำให้ต้นทุนแพง ไม่ได้ถูกกว่ารถไฟ หรือรถยนต์ นายสุวัฒน์กล่าวว่า เขาไม่ได้มองที่ยุทธศาสตร์ แต่มองแบบคุ้มทุน ภายใน 4-5ปี ทั้งนี้ เขามองว่า การสร้างท่าเรือใหม่ไม่คุ้มค่า และควรให้ความสำคัญกับท่าเรือที่มีอยู่แล้ว โดยปรับปรุงให้ดีขึ้น นายสุวัฒน์เสนอด้วยว่า ควรเร่งก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 ก่อน เพราะลักษณะมีร่องน้ำลึก จะทำให้สินค้าไทยที่ไปออกทางปีนังกลับมา โดยมองว่า ผู้ส่งออกไทยก็ไม่ได้อยากไปใช้เรือที่มาเลเซีย เพราะไม่สะดวกในการขนส่ง ส่วนที่สุราษฯ ชวนคิดว่าทำอย่างไรที่จะขยายร่องน้ำให้เรือขนาดใหญ่ในแม่น้ำตาปีเข้าไปได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ส่วนกรณีปากบารา นายสุวัฒน์ให้ความเห็นว่า เราคาดหวังมากเกินไป โดยสินค้าไทยในภาคใต้มีประมาณสามแสนตู้ต่อปี สินค้าหลักคือ ยางพาราผู้ซื้อรายใหญ่คือ จีน กับญี่ปุ่น และส่งออกที่ท่าเรือสงขลา จึงต้องออกทางฝั่งตะวันออก ยางพาราควรออกที่สงขลาเพราะจะได้ค่าระวางที่ถูกกว่า เพราะฉะนั้นสินค้าภาคใต้เองก็จะเหลือน้อยที่จะมาออกทางปากบารา อาจจะเหลือสักแสนกว่าตู้ ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ นายสุวัฒน์ กล่าวว่าเนื้อหาฟังดูดีแต่ค่าใช้จ่ายสูง เพราะว่า เป็นการขนส่งเป็นแบบซ้ำซ้อน เส้นทางรถไฟมีความยาวร้อยกว่ากิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อตู้สูง แพงเกินไปในแง่ของผู้ประกอบการคงไม่ใช้ ฉะนั้นค่าถ่ายลำที่มาเลเซียจะถูกกว่า ถ้ามองในแง่ระยะเวลาอาจจะลดลงจริง แต่ถ้ามองในแง่ธุรกิจไม่น่าจะเป็นประโยชน์มากนัก
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.บุญสม กล่าวเพิ่มเติมว่า อาจจะยังไม่สรุปว่าต้องเป็นที่ปากบารา อาจเป็นที่อื่น พร้อมเสนอว่า เราต้องหายใจด้วยจมูกของเราเอง การมีท่าเรือจะนำไปสู่การพัฒนา การกระจายรายได้สู่พื้นที่อื่นๆ การจ้างงานเพิ่มขึ้น ในสามจังหวัดภาคใต้ รศ.ดร.บุญสม ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการที่ถามถึงข้อครหาว่า มอ. เอียงข้าง ว่า ในช่วงแรกโครงการปากบารา ไม่มีการสื่อสารกันเท่าที่ควร ขาดการทำความเข้าใจกับชุมชน ทางโครงการโดยกรมเจ้าท่า จึงดำเนินงานหาคนกลางซึ่งสามารถคุยได้กับทั้งชุมชนและโครงการ มอ. จึงทำหน้าที่เสมือน “ไปรษณีย์” แต่กลับมีคนกล่าวหาว่า มอ. รับจ้างโฆษณาชวนเชื่อ เตือนไม่รีบพัฒนา ไทยจะเสียโอกาส ทั้งนี้ นายนาวีกล่าวยืนยันว่า ท่าเรือน้ำลึกที่ปากบาราเป็นความต้องการของคนสตูล “เพราะคนสตูลเจ็บใจที่เห็นแผนที่ว่าทำไมต้องไปอ้อมสิงคโปร์ เราต้องมองว่าท่าเรือ เป็นทุนธรรมชาติ ถ้าเราไม่รีบพัฒนาเราจะเสียโอกาสให้เพื่อนบ้าน เมื่อ 4-5 ปี เราคิดสร้างท่าเรือ แต่พอมาเลเซียรู้ว่าไทยกำลังจะสร้าง มาเลเซียจึงรีบสร้างตาม และกำลังจะเสร็จ ซึ่งมีการสร้างหลายท่า” นายนาวีกล่าวว่า ประเทศไทยมีทุนธรรมชาติ เช่น อยู่ห่างจากร่องน้ำสากลเพียง 150 ไมล์ทะเล ทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก จะมีสักกี่ประเทศที่ติดอันดามันและอ่าวไทย โอกาสอันนี้เป็นสิ่งที่ไทยต้องตระหนัก
นายสมบูรณ์ตอบกรณีผู้ดำเนินรายการถามว่า โครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(อีไอเอ) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงหน่วยงานราชการแล้ว มั่นใจหรือไม่ว่าหากมีการก่อสร้างท่าเรือแล้วจะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม โดยย้ำว่า เขาไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่เป็นกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายสมบูรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางอีไอเอให้ข้อมูลว่ามีกิจกรรมทางการประมงน้อยมากในพื้นที่ปากบารา แต่ที่จริงแล้วพื้นที่บริเวณนั้นเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ไม่ใช่เฉพาะปากบาราเท่านั้น หากกินพื้นที่ผลกระทบไปทั้งอำเภอระงู การสูญเสียพื้นที่ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวสตูลว่า ต่อไปจะอยู่อย่างไร โดยระบุว่าที่ปลัดกระทรวงฯ บอกว่า “ท่าเรือไม่ได้อยู่บนฝั่ง ไม่ได้รบกวนพื้นที่ของชาวบ้าน” นั้น ไม่ตรงกับความจริงที่กระทบชาวบ้าน นายสมบูรณ์กล่าวว่า ชายฝั่งอันดามันเป็นขี้เลน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของตะกอนดินจำนวนมาก ฉะนั้นน้ำทะเลจึงตื้น การสร้างท่าเรือจึงต้องขูดขี้เลนทิ้งไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปะการังโดยรอบ ด้านกิจกรรมอื่นๆ นายสมบูรณ์กล่าวว่า จะมีเรือ น้ำมัน ตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาจำนวนมาก ท้งนี้ ย้ำว่าผู้รับผิดชอบโครงการต้องบอกความจริงมาให้หมด ต้องพูดถึงเรื่องเขตอุตสาหกรรมที่จะมีเพิ่มเติมในสตูล แลนด์บริดจ์ พร้อมตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใช่หรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้ว่า สตูลมีเพียงท่าเรือไม่คุ้ม ทั้งนี้ เมื่อสอบถามว่าจะมีโครงการอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ ก็มักได้รับคำตอบว่าไม่มี ทั้งที่ในเอกสารมีการวงพื้นที่เอาไว้ชัดเจนว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะที่จะเป็นเขตอุตสาหกรรม นี่เป็นข้อค้างคาที่ยังหาคำตอบไม่ได้และทำให้คนสตูลสงสัย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แผ่นดินหูลา" Posted: 23 Mar 2011 11:13 PM PDT |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น