ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประพันธ์ลั่นไม่เอา “เลือกตั้ง” แต่ขอระบอบอะไรก็ได้ให้ “คนดีๆ” ปกครองบ้านเมือง
- “ประกวดเทพธิดาแรงงานไทย” การย่ำยีศักดิ์ศรีแรงงานหญิงและลดความยิ่งใหญ่ของวันกรรมกร
- รายงาน : เมื่อชนเผ่ารวมตัวเปิดสำนักงานทนายความพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์
- เผยทหารกว่า 900 นายเตรียมไล่รื้อบ้านโนนดินแดง 170 ครอบครัว ตามแผนพิทักษ์ป่าดงใหญ่
- นักปรัชญาชายขอบ: "ม.112" ขัดต่อหลักความยุติธรรมอย่างไร
- เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อุบลฯ จี้รมว.พลังงานล้มโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
- ความเห็นและข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะจากกรรมการสิทธิฯ
- จีนสั่งนำเข้าเกลือจากพม่าเพิ่ม เหตุหวั่นกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่น
- ทนายชาวคริสต์ไม่ได้รับอนุญาตให้ว่าความในศาลอิสลามที่มาเลเซีย
- กรีนพีซและเอแบคโพลล์เผยคนไทยร้อยละ 80 ต้องการทราบข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่แหล่งน้ำ
- 5 คำถามกับระเบิดตูมตามที่ชายแดนใต้
- ไม่ให้ประกันผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ – นัดสืบพยานเดือน ก.ย.คดีลุง 61 ปีส่ง SMS หมิ่นฯ
- อดีตนายทหารขึ้นเวที พธม. อ้างคนในรัฐบาลเป็นผู้สั่งยิงสนธิ
- กวีประชาไท: ทับ “ธรรม” แหละ...
ประพันธ์ลั่นไม่เอา “เลือกตั้ง” แต่ขอระบอบอะไรก็ได้ให้ “คนดีๆ” ปกครองบ้านเมือง Posted: 21 Mar 2011 02:12 PM PDT “ประพันธ์ คูณมี” ปราศรัยเวที พธม. ชี้วิธีไหนก็เอาทั้งนั้น ขอให้ได้คนดีปกครองบ้านเมือง ย้ำเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่ต้องการระบอบการปกครองที่ดีกว่าทุกวันนี้ พร้อมไล่อภิสิทธิ์และนักการเมืองไปลงนรก ลั่นในวันที่ พธม. ระดมพลขอให้ทุกคนออกมาเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ให้ออกมาช่วยเหลือตัวเองก่อน แล้ว “เทวดา พระเจ้า จะช่วยพวกเรา” ประพันธ์ชี้ประเทศเสียหายจากนายกฯ เลือกตั้ง มากกว่านายกฯ ปฏิวัติ ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เวลาประมาณ 20.50 น. วานนี้ (21 มี.ค.) นายประพันธ์ คูณมี แกนนำพันธมิตรฯ ได้ปราศรัยว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปีพุทธศักราช 2475 เราเดินมาถึงวันนี้ 79 ปี ของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่มีการเลือกตั้งระบอบตัวแทน ประเทศไทยฉิบหายมากกว่าระบอบที่นายกฯ มาจากการแต่งตั้งและการปฏิวัติ ตนดูหมดแล้วนายกฯที่มาจากการปฏิวัติ รัฐประหาร ไม่ต้องเลือกตั้ง ได้แก่ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดร.ปรีดี พนมยงค์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายอานันท์ ปันยารชุน หรือแม้กระทั่งพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็ต้องถือว่าเป็นนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทั้งหมดนี้รวมกันทำความเสียหายให้บ้านเมือง โกงทุจริต ยังน้อยกว่านายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งคนเดียว นี่คือความระยำบัดซบของการเมืองระบอบเลือกตั้ง ยกตัวอย่างสารพัดผู้นำแต่งตั้ง ชี้สมัยเปรมไม่มีการเลือกตั้ง แต่บ้านเมืองมีความสุข บรรดาเหล่านี้ ปรากฏว่ายุคที่นายกฯ มาจากการแต่งตั้งบ้านเมืองกลับเจริญมากกว่าการเลือกตั้ง โดยนักการเมืองโสโครกสกปรกพวกนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนา ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นยุควางรากฐานการเมือง และระบอบเศรษฐกิจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการสร้างกองทัพ พัฒนาบ้านเมือง เปลี่ยนแปลงประเพณีหลายสิ่ง แม้บางสิ่งไม่ดีแต่ก็ฝ่าฟันมา ความเสียหายที่เกิดขึ้น โกงทุจริต เสียชาติเสียแผ่นดิน ไม่มี มาถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ยุคนั้นมีการพัฒนาประเทศอย่างมาก เรียกว่าน้ำไหล ไฟสว่าง มีการตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็มีการแก้ไขปฏิรูปกฎหมายมากมาย มีกฎหมายแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำเกิดในยุคนี้ มีการคุ้มครองแรงงาน ส่วนชาวไร่ชาวนา ก็มีปฏิรูปที่ดิน สปก. 4-01 ก็เกิดในยุคนี้ นายอานันท์ มาจากปฏิวัติโดย พล.อ.สุจินดา ก็มีการปรับปรุงภาษี พัฒนาการคมนาคม ประมูลระบบโทรศัพท์ มีการวางพื้นฐานให้ประชาชนสะดวกสบาย ส่วน พล.อ.เปรม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตอนนั้นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลัวอำนาจทหาร จึงตั้ง พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ยุคนี้จากการบริหารประเทศ 8 ปี พล.อ.เปรม ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง เงินคลัง ทุนสำรอง เหลือมากมาย ขุดพบแหล่งพลังงาน เป็นยุคที่โชติช่วงชัชวาล ข้าราชการไปดูงานเงินเหลือต้องคืนคลัง จัดเลี้ยงที่ทำเนียบก็ประหยัดให้ดื่มน้ำ ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การโกงทุจริตไม่มี มีจับได้ก็ไล่ออก และแม้จะเต็มไปด้วยคอมมิวนิสต์ โจรแบ่งแยกดินแดน ท่านก็ใช้ความรู้ความสามารถแก้ไขปัญหาได้หมด บ้านเมืองมีแต่ความสุข โดยไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง ชี้ยึดทรัพย์ทหารได้น้อยกว่านักการเมืองปัจจุบันโกง ทีนี้มาดูตลอดยุครัฐประหารมีการยึดทรัพย์ 2 ครั้ง ครั้งแรกจอมพลสฤษดิ์ ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ก็ยึดทรัพย์กว่า 604 ล้านบาท หนที่ 2 จอมพลถนอมและพวกก็ยึดไม่ถึง 100 ล้านบาท น้อยมากถ้าเทียบกับการโกงในยุคปัจจุบัน หลังจากยุคพลเอกเปรม นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเริงร่าเลย พล.อ.ชาติชาย ยุคนี้เรียกว่าบุฟเฟ่ต์คาบิเนต แดกด่วน มือใครยาวสาวได้สาวเอา โกงมโหฬาร จากนั้นพล.อ.สุจินดาก็ทำการปฏิวัติ ยึดทรัพย์พล.อ.ชาติชายถึง 1,600 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมคณะรัฐมนตรียุคนั้นที่ร่วมกันโกง รวมกันแล้วเป็นหมื่นล้านบาท มายุค พล.อ.ชวลิต มีการลดค่าเงินบาท เศรษฐกิจล่มสลาย เงินคงคลังเกลี้ยง เหตุการณ์นี้คนที่รวยที่สุดก็คือคนที่ไปอยู่มอนเตรเนโกร เพราะแบบนี้นักเลือกตั้งมันถึงอยากเลือกตั้ง มาถึงยุคนายชวนรอบแรก การทุจริตไม่มาก แต่พอมาเป็นนายกฯรอบ 2 มีการเซ็นกฎหมาย 11 ฉบับ กู้ไอเอ็มเอฟ เซ็นเอ็มโอยู 2543 การออกกฎหมาย 11 ฉบับ ทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาประมูลหนี้สินคนไทยถูกๆ ทำกำไรอย่างมหาศาล เป็นยุคแรกของการขายชาติ ประชาธิปัตย์ถูกตราหน้าว่าขายชาติ อัดโกงทั้งทักษิณ-อภิสิทธิ์ ส่วนพวกแต่งตั้งหน้าบางกว่าพวกมาจากการเลือกตั้ง ต่อมานายบรรหาร การทุจริตก็ฉาวโฉ่ อยู่แค่ปีเดียวก็ลงจากอำนาจ ต่อมาเลวร้ายสุดคือยุคนายทักษิณ ศาลฟ้องว่าร่ำรวยผิดปกติ 7.6 หมื่นล้าน ผลงานวิจัยของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ก็ชี้ว่าสามารถทำธุรกิจตัวเองร่ำรวยขึ้น 6 หมื่นล้าน ถึงเกือบแสนล้านบาท คตส.ก็พบการทุจริตเฉพาะ 13 โครงการเกือบ 3 แสนล้าน นี่ไงระบอบเลือกตั้ง ประชาธิปไตยจอมปลอม ที่สำคัญยุคทักษิณ ได้สร้างวัฒนธรรมการโกงแบบใหม่ คือโกงคำโต เป็นมรดกตกทอดมายังไอห้อย ไอ้โหน ไอเตี้ย ไอหน้าดำ แดกทีเป็นหมื่นๆล้าน มาดูนายอภิสิทธิ์ ไม่น้อยหน้า ไม่ว่าเมล์เอ็นจีวี ฟิลลิป มอร์ริส ไทยเข้มแข็ง ถนนปลอดฝุ่น รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ นี่อยู่ไม่ถึง 5 ปี รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านแล้ว เจาะไปกระทรวงไหนก็โกงทั้งนั้น เห็นหรือยังมาจากการเลือกตั้งกับการรัฐประหารแต่งตั้ง อันไหนชั่ว อันไหนเลวกว่า มาดูเรื่องสปิริต และความรับผิดชอบทางการเมือง พวกแต่งตั้งก็หน้าบางกว่าพวกเลือกตั้งมาก อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม การคุกคามเสรีภาพประชาชน ก็ปรากฏให้เห็นแล้วว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งสร้างปัญหามากกว่า ลั่นถ้าไม่เอาการเลือกตั้ง ก็เอาระบอบอะไรก็ได้ให้คนดีๆ มาปกครองบ้านเมืองวิธีไหนก็เอา นายประพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า พวกแม่ยกชอบถามว่าถ้าไม่เอานายอภิสิทธิ์ แล้วจะเอาใคร คำตอบคือเอาใครก็ได้ที่ไม่ใช่พวกนักการเมืองที่มีอยู่ทุกวันนี้ แล้วถ้าถามว่าไม่เอาเลือกตั้งจะเอาระบอบอะไร ก็เอาระบอบอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องมีพวกโจรห้าร้อยมามาปกครองบ้านเมือง ให้คนดีๆ มาปกครองบ้านเมืองมาวิธีไหนก็เอาทั้งนั้น "เราไม่ได้แสวงหาระบอบการปกครองที่จะเป็นอันตรายต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่เราต้องการระบอบการปกครองที่ดีกว่าทุกวันนี้" นายประพันธ์ กล่าว นายประพันธ์ กล่าวว่า ขอบอกเลยวันนี้นายอภิสิทธิ์ และโจร 500 ไปลงนรกได้แล้ว เราไม่รับอำนาจการปกครองของพวกนี้อีกต่อไป เราต้องลุกขึ้นมาสามัคคีกันให้มากที่สุด ขอเพียงถึงวันที่เราระดมกำลังเราต้องมากันให้เต็มแผ่นดิน ฝากถึง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ควรมีจุดยืนที่เห็นแก่บ้านเมือง ถึงวันนั้นต้องบอกทุกคนให้ออกมาช่วยเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองด้วยตัวของเราเอง ขอแค่ร่วมมือกันออกมาช่วยตัวเองก่อน เทวดา พระเจ้า จะช่วยพวกเรา ที่มา: เรียบเรียงจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
“ประกวดเทพธิดาแรงงานไทย” การย่ำยีศักดิ์ศรีแรงงานหญิงและลดความยิ่งใหญ่ของวันกรรมกร Posted: 21 Mar 2011 11:35 AM PDT ชื่อบทความเดิม: ผ่าน ๘ มีนาไม่กี่วัน กระทรวงแรงงานย่ำยีศักดิ์ศรีแรงงานหญิงเสียแล้ว และเท่ากับลดความยิ่งใหญ่ของวันกรรมกร ๑ พฤษภาด้วย การจัดงานวันเมย์เดย์ “วันแรงงาน” ๑ พฤษภา มีแรงงานบางส่วนที่เป็นองค์กรใหญ่ๆ ตามกฎหมาย รับเงินมากมายจากรัฐบาล มาจัดงานแบบสนุกๆ ไม่มีพลังแห่งการต่อสู้และการสร้างอำนาจต่อรองของพลังแรงงานมายาวนานหลายปี จนขบวนแรงงานหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มย่าน และสหภาพ สหพันธ์ จำนวนไม่น้อย แยกจัดงานวันแรงงานหลายปี ปีนี้ เริ่มได้ยินข่าวว่า ขบวนแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งหญิงชาย พยายามจะลดความขัดแย้งในการแยกกันจัด เพื่อหวังมาร่วมกันขับเคลื่อนให้รัฐบาลและรัฐสภารับรองอนุสัญญา ๘๗ และ ๙๘ และบางประเด็นหลักที่สำคัญ โดยเฉพาะการขยายระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น และครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ แต่..ผ่าน ๑๐๐ ปีวันสตรีสากลไม่กี่วัน คณะจัดงาน ๑๐๐ ปีสตรีสากล ประกาศเจตนารมณ์ “ผู้หญิงทำงาน ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” และข้อเรียกร้องหลัก ๔ ประการ แทนที่กระทรวงแรงงาน รัฐบาล ประกันสังคม จะเร่งรัดไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาสวัสดิการ ค่าจ้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานเกษตร คนรับใช้ตามบ้าน คนรับเหมาค่าแรงฯลฯ และยังสอดคล้องกับวัน ๑ พฤษภาที่กำลังจะมาถึง กลับมีมติ “ประกวดเทพธิดาแรงงานไทย ๒๕๕๔” ที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนทำงานหญิง ดังนี้ ระเบียบการประกวดเทพธิดาแรงงานไทย ๒๕๕๔ “เพื่อค้นหาสุภาพสตรีแรงงานไทย เป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์องค์กร และเป็นหนึ่งในกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ” คุณสมบัติ สัญชาติไทย อายุ ๑๘-๓๕ ปี กำลังทำงาน ใบสมัครกำหนด “น้ำหนัก ส่วนสูง สัดส่วนรอบอก สัดส่วนรอบเอว สัดส่วนรอบสะโพก อาหารโปรด บริษัท ห้างร้านที่ส่งเข้าประกวด??” การแต่งกายรอบที่ ๑ ชุดทำงาน รอบที่ ๒ ชุดไทย รอบที่ ๓ ชุดราตรี รองเท้าส้นสูงไม่เกิน ๔ นิ้ว ผู้ได้ตำแหน่ง และรองอีก ๒ คน จะมีภาระผูกพันกับกองประกวดเป็นระยะเวลา ๑ ปี วันนี้ องค์กรจัดงาน ๑๐๐ ปีสตรีสากลนับสิบองค์กร หารือกันเบื้องต้น คัดค้านเรื่องนี้ คัดค้านการลดศักดิ์ศรีผู้หญิงทำงาน การเบี่ยงเบนเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค และการต่อสู้เพื่อค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สวัสดิการที่ครอบคลุมทั้งสังคม ทั้งหญิงชาย และขจัดการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งให้ผู้หญิงมีส่วนในการตัดสินใจทุกระดับอย่างกว้างขวาง มีข่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยการสนับสนุนเงินจากกองทุนประกันสังคม?? อ้างว่า จะอาศัยมาเป็นผู้รณรงค์เรื่องประกันสังคมตามมาตรา ๔๐ สำหรับแรงงานนอกระบบจำนวนมาก แค่ “สุจิน รุ่งสว่าง” แรงงานนอกระบบตัวจริง ออกทีวีบ่อยๆ หรือ ป้าสวาท คนตาบอดที่คอยสู้เพื่อสิทธิของคนทำงานที่ตาบอดและพิการ รวมถึงคนขับแท็กซี่... มาพูดรณรงค์ให้ก็พอแล้ว เนื้อหาและระบบที่รัฐบาลจะสนับสนุนอย่างจริงใจต่างหาก คือ “แก่นแท้” และ “ภาพที่สวยงาม” ของรัฐบาล เชิญชวนแรงงานทั้งในและนอกระบบ เครือข่ายผู้หญิง ภาคประชาสังคม ทั้งหญิงชาย ร่วมกันคัดค้านการลดทอนความยิ่งใหญ่และเนื้อหาการต่อสู้ และพลังอำนาจต่อรองของคนทำงาน ในวันเมย์เดย์ ร่วมกันคัดค้านการลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าของผู้หญิงทำงาน ร่วมกันคัดค้าน "การประกวดเทพธิดาแรงงานไทย ๒๕๕๔"
หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชาไทเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงาน : เมื่อชนเผ่ารวมตัวเปิดสำนักงานทนายความพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ Posted: 21 Mar 2011 11:21 AM PDT
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีกลุ่มชนเผ่าหลากหลายชาติพันธุ์ อาทิ คะฉิ่น ดาระอั้ง ลีซู ปกาเกอะญอ ลาหู่ ไทยใหญ่ ฯลฯ ได้ร่วมกันเปิดสำนักงานทนายความพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กันขึ้น โดยมีตัวแทนหน่วยงานทั้งรัฐและองค์กรเอกชนเข้าร่วมกันคับคั่ง ที่น่าสนใจก็คือ สำนักงานทนายความดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากตัวแทนเครือข่ายชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา เพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตน โดยมีนักกฎหมาย ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคอยเป็นพี่เลี้ยงและหนุนช่วยอยู่ข้างหลัง “จงเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ที่ไม่มีโอกาส...สำนักงานทนายความแห่งนี้ จึงมีเป้าหมายคือการเรียกร้องสิทธิในความเป็นมนุษย์ คือมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น จงตัดสินเขาอย่างยุติธรรม ให้มีความเที่ยงธรรมแก่เขา โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์” อาจารย์เกียรติยศ หิรัญรัตน์ ตัวแทนเครือข่าย ได้กล่าวหนุนใจเปิดสำนักงานทนายความ ในวันนั้น “การมีสำนักงานทนายความชนเผ่า เป็นสิ่งดี เพราะจะช่วยเปิดหูเปิดตา ได้ความรู้เรื่องสิทธิ เพราะเมื่อพูดถึงความเป็นธรรม บ่อยครั้งที่พวกเราไม่ได้รับความเป็นธรรม” นายบุญลือ เตโม ชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอะญอบ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าว นายสุมิตร วอพะพอ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ (คพสช.) บอกเล่าถึงที่มาของการก่อตั้งสำนักงานทนายความพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ นี้ขึ้นมาว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายชนเผ่า ได้มีการทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิให้กับพี่น้องชนเผ่ากันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ก็เจอกับปัญหาละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมพี่น้องชนเผ่าดาระอั้ง หรือปะหล่อง เมื่อปีพ.ศ. 2540 และปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้รู้ว่าพี่น้องชนเผ่าล้วนถูกละเมิดสิทธิ ถูกจับกุม ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา รวมทั้งเรื่องของการจำกัดสิทธิในการออกนอกพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง “ปัญหาดังกล่าว ทำให้พี่น้องชนเผ่าได้ตระหนัก กระทั่งในปี 2549-2550 ได้เริ่มมีการจัดอบรมกฎหมาย เรื่องของการละเมิดสิทธิ โดยนำตัวแทนพี่น้องชนเผ่านแต่ละเผ่า จำนวน 42 คน มาเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายในชุมชน กระทั่งเมื่อวันที่ 16-17 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสมัชชาใหญ่ ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ มีผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ จากหลายๆ ชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน และได้มีการรวมตัวเป็น ‘เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์’ (คพสช.) ขึ้นมา โดยในที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งให้ พะตีจอนิ โอ่โดเชา เป็นประธาน พะตีมูเสาะ เป็นรองประธาน นายสุมิตรชัย หัตถสาร เป็นเลขานุการ และผมเป็นผู้ประสานงาน หลังจากนั้น ทุกคนเห็นชอบให้มีการตั้งสำนักงานทนายความเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ นี้ขึ้นมา” ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ภารกิจหลักของสำนักทนายความชนเผ่านี้ ก็เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำในเรื่องของการอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ลึกไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย หลักการประนีประนอม การเจรจาต่อรอง ซึ่งที่ผ่านมา พี่น้องชนเผ่ายังมีปัญหาเรื่องศักยภาพของการเจรจาต่อรองกับหน่วยงาน ส่วนใหญ่เขาทำไม่ได้ ไม่กล้าพูด ไม่รู้ว่าจะเอาตรงไหนมาอ้าง “อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องการตรวจสอบ การปกป้องสิทธิ การละเมิดสิทธิในชุมชน นี่เป็นเรื่องของเราที่ทำเป็นประจำ และยังเป็นภารกิจหลักอยู่แล้ว และเราต้องการขยายพื้นที่ของเครือข่ายในเรื่องสิทธิให้ขยายไปทั้งในระดับชุมชน รวมทั้งหน่วยงาน องค์กรอื่นๆที่เป็นภาคีและเครือข่ายร่วมกันต่อไปด้วย” เมื่อสอบถามประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กล่าวว่า ในมุมมองของตน ภาพรวมของประเทศในเรื่องของสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ คิดว่าการละเมิดสิทธิของชุมชนค่อนข้างจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต แม้ว่าเรื่องของสัญชาติ การศึกษา สุขภาพนั้นอาจคลี่คลาย มีความสบายใจในระดับหนึ่ง แต่เรื่องของสถานะบุคคลก็เป็นประเด็นค่อนข้างที่จะถูกละเมิดสิทธิ และชุมชน ชาวบ้านอาจจะเข้าไปไม่ถึงสิทธินั้น “อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือประเด็นเรื่องสิทธิในการปกป้องรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของป่า ซึ่งจะมีกระแสของความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างเรื่องของสภาวะโลกร้อน ที่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการปราบปราม ซึ่งมีการตั้งกฎระเบียบเพิ่มมากขึ้น เช่น คดีป่า คดีโลกร้อน และคดีต่างๆ เหล่านี้ ในมุมมองของตน คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านมักจะเป็นแพะ ต้องถูกจับ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว” อย่างที่รู้ๆ กันนั่นแหละว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนๆ นโยบายของรัฐมักขัดแย้งและสวนทางกับกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เนืองๆ ซึ่งทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ ก็รู้สึกวิตกกังวล ยิ่งใกล้ถึงวันยุบสภาและมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง “ในแง่ของคนทำงานในเรื่องของสิทธิมนุษยชน มองว่าหากรัฐบาลจะมีมุมมองตั้งแง่ อคติที่ไม่ดีกับพี่น้องชนเผ่า ก็เป็นเรื่องที่ลำบากเหมือนกัน แต่อยากจะฝากให้กับทางรัฐบาล คือ คิดว่ารัฐก็มีบทบาทในการเป็นคนที่ปกครองประเทศ แต่ขณะเดียวกัน การเป็นนักปกครองประเทศ ก็ต้องมองเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย เราจะต้องเคารพ ซึ่งมีการเคารพในความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิของประชาชนด้วย การที่ตัวเองมีบทบาทแล้วมีอำนาจ แต่การใช้อำนาจที่ผิดก็อาจจะนำไปสู่ความไม่เป็นธรรม” ในขณะ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ และเป็นเลขาธิการเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ ได้กล่าวถึงเป้าหมายของการตั้งสำนักงานทนาความครั้งนี้ว่า ต้องการสร้างอาสาสมัครนักกฎหมายของพี่น้องชนเผ่า โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเด็กที่จบมาใหม่ๆ ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ติดตามเฝ้าระวังในเรื่องของสิทธิมนุษยชนชนเผ่า 2.การช่วยเหลือในกระบวนกลไกยุติธรรม และ 3.เพิ่มศักยภาพในการสร้างผู้นำและอาสาสมัครชุมชน “ซึ่งในการทำงาน เรามีการประสานงานกันทุกระดับ ทั้งในพื้นที่ การทำงานกับชุมชนเรื่องประสานงานกับองค์การหน่วยงานด้านยุติธรรม รวมทั้งการระวังการละเมิดสิทธิ เราก็สามารถที่จะนำกรณีปัญหาแต่ละเรื่องนี้ นำไปเพื่อขอความช่วยเหลือโดยการใช้กลไกการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นี่เป็นการทำงานที่จะประสานหลายภาคส่วนเข้ามาอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน ปัจจุบัน มีสมาชิกเครือข่ายทั้งหมด 40 กว่าพื้นที่ จากทั้งหมด 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ส่วนประเด็นเรื่องของการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น นายสุมิตรชัย หัตถสาร มองว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธินั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นัก ก็ยังมีการละเมิดสิทธิอยู่เหมือนกับที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าไม่เป็นประเด็นกรณีใหญ่ๆ เหมือนกับคดีปางแดง คดีลำพูน แต่ว่าจะมีการละเมิดสิทธิเป็นรายกรณีอีกมาก “ดังนั้น เป้าหมายของเรา เมื่อมีการรวมตัวแล้ว มีตัวตน มีสำนักงานทนายความ มีความเป็นเครือข่ายที่ชัดเจน เราก็จะใช้หัวเครือข่ายในการขับเคลื่อน หมายถึงว่า ต้องมีการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ ต้องทำในเรื่องของการเรียกร้อง การยื่นข้อเสนอ กับฝ่ายรัฐ และเอาปัญหาออกมาตีแผ่ให้ทุกคนได้เห็นว่าปัญหามันคืออะไร มีการสื่อสารกับรัฐ นโยบายต่อสังคมมากยิ่งขึ้น เพราะว่าที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหานั้นเป็นปัจเจก รายกรณี เป็นเรื่องที่ลำบากมาก มันไม่มีผลในการปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะแก้ปัญหาพื้นที่นี้ได้ ก็ยังมีพื้นที่อื่น มีรายอื่นต่อไปที่ตามมา ฉะนั้น ถ้าเป็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เราต้องนำมาสู่การรวมตัว การมีส่วนร่วม เผยแพร่ต่อสาธารณะ และผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาทางนโยบายที่ชัดเจน” เลขาธิการเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เผยทหารกว่า 900 นายเตรียมไล่รื้อบ้านโนนดินแดง 170 ครอบครัว ตามแผนพิทักษ์ป่าดงใหญ่ Posted: 21 Mar 2011 10:43 AM PDT เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ อีสาน ร้องทหารเตรียมใช้กำลังรื้อถอนบ้านชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ ตามแผนปฏิบัติพิทักษ์ป่าดงใหญ่ “ดร.ศรีศักร” ชี้ คปร.รับเรื่องแล้ว พร้อมแนะรัฐเร่งแก้ปัญหา ดำเนินการจัดการที่ดินตามแนวทางปฏิรูป วันที่ 21 มี.ค.54 นายเหมราช ลบหนองบัว ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้เปิดเผยข้อมูลว่า จากการประชุมของหน่วยงานราชการที่กองทัพภาคที่ 2 และหน่วยงานความมั่นคง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านที่อาศัยทำกินใน ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์กว่า 170 ครัวเรือนออกจากพื้นที่ภายในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นได้เข้าทำกินตามนโยบายเปิดป่าของรัฐตั้งแต่ปี 2526 โดยคำสั่งรื้อถอนดังกล่าวเป็นการยื่นคำขาดกับชาวบ้านว่า หากไม่ออกจากพื้นที่ก็จะใช้กำลังรื้อถอนตามแผนปฏิบัติพิทักษ์ป่าดงใหญ่ที่มี กำลังทหารกว่า 900 นายร่วมปฏิบัติการณ์ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนหน่วยงานของรัฐ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นำพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นโฉนดชุมชนจำนวน 1,900 ไร่ เพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจำนวน 2,830 ไร่ ที่หมดสัญญาเช่าของบริษัทเอกชนในการปลูกป่ายูคาลิปตัสก็ควรดำเนินการฟื้นฟูให้เป็นป่าธรรมชาติต่อไป “ระหว่าง ที่กระบวนการทุกอย่างกำลังทำงาน ทหารกลับจะมาทำแบบนี้ ถือว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน เสมือนหนึ่งเป็นการกดดันชาวบ้านให้ออกนอกพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้นายทุน เข้ามาเช่าช่วงปลูกไม้ยูคาลิปตัสต่อ เพราะบริษัทเอกชนที่เช่าสัมปทานอยู่ก่อนหน้านี้กำลังจะหมดสัญญาลงเร็วๆ นี้ แต่กลับไม่เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ ในทางตรงกันข้ามทหารกลับข่มขู่และคุกคามชาวบ้าน ผมมองว่าหากทหารยังอยู่ในพื้นที่ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงเสนอให้ทหารควรออกไปจากพื้นที่และปล่อยให้หน่วยงานอื่นเข้ามา ดำเนินการโดยฟังเสียงชาวบ้าน” ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าว นายศรีศักร วัลลิโภดม อนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ ในกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) กล่าวว่า คปร.เคยรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมาจากชาวบ้านแล้ว โดยตนได้แนะนำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่นและหยัดยืนสู้กับความไม่ชอบธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ คปร.จะเร่งผลักดันเรื่องราวของชาวบ้านที่ จ.บุรีรัมย์และชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐต่อ สังคมต่อไป ทั้งนี้ เสนอให้คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานควรเร่งแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างเร่งด่วน เพราะได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านไว้แล้ว “สิ่งแรกที่รัฐบาลควรต้องทำ คือ ชะลอการเข้าไปของทหารและดำเนินการในการจัดการที่ดินทำกินตามแนวทางปฏิรูปที่ดินให้ชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะทำการไล่รื้อ ทั้งนี้ คปร.ก็จะหาทางช่วยเหลือความเดือดร้อนนี้อีกทางหนึ่ง” นายศรีศักร กล่าว ที่มา: มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นักปรัชญาชายขอบ: "ม.112" ขัดต่อหลักความยุติธรรมอย่างไร Posted: 21 Mar 2011 10:39 AM PDT ไม่ว่าจะมองจากหลักความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย หรือหลักการ “พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม” มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ย่อมสมควรถูกยกเลิก หรือแก้ไขปรับปรุงให้ไปกันได้กับหลักเสรีภาพและความเสมอภาค ความตอนหนึ่งในข้อเขียนชื่อ “พลิกตำนาน-เบื้องลึก รัฐบุรุษอาวุโว ปรีดี พนมยงค์” (คอลัมน์ ข้างหลังเซียน มติชนรายวัน 20 มีนาคม 2554) อ้างถึงคำพูดของ "ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล" ทายาทลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 6 คนของ "ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์" ระบุว่า "ดุษฎี" เริ่มน้ำตาคลอเมื่อต้องพูดถึงความรู้สึกของผู้เป็นพ่อหลังเกิดกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ว่า "ทุกคนชอบถาม แต่คุณพ่อไม่เคยบอกอะไรกับลูกหรือแม้แต่คุณแม่ คุณพ่อเคยพูดกับนักเรียนไทยในอังกฤษบอกว่าประวัติศาสตร์เมื่อถึงเวลาแล้วประวัติศาสตร์จะบอกเองว่าได้เกิดอะไร นี่คุณพ่อพูดแค่นี้ คุณพ่อมีความดีอยู่อย่างคือไม่เคยใส่ร้ายใคร คุณพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคมและเป็นคนไม่พูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีหลักฐานยืนยันไม่ใส่ร้ายใคร" ยิ่งหากให้สรุปถึงเหตุการณ์ที่ "รัฐบุรุษอาวุโส" เคยเสียใจที่สุดนั้น "ดุษฎี" พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า "คุณพ่อไม่ได้พูด...แต่พวกเราพูด แต่ละไว้จุด จุด จุด บอกแล้วว่าไม่พูดย้อนหลังพูดแต่ข้างหน้า" คำถามที่เราควรถามต่อ “ความเป็นมนุษย์” ของตนเองคือ หากเราเป็นคนในตระกูล “พนมยงค์” เราจะรู้สึกคับแค้นใจเพียงใดที่ “จำเป็นต้องไม่พูดความจริง” ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าการพูดความจริงนั้นมันยุติธรรมต่อความเป็นมนุษย์ของเราในแง่ที่ว่า “ทุกคนควรมีเสรีภาพในการพูดความจริงเพื่อปลดเปลื้องตนเองจากการเข้าใจผิดของสังคม หรือจากการถูกลงโทษ (ทางสังคม ฯลฯ) ที่ไม่เป็นธรรม” และหากมองในมิติทางสังคม-การเมืองในสังคมเสรีประชาธิปไตย เราจะตอบได้อย่างไรว่า สังคมที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนพูดความจริงด้านลบของบุคคลสาธารณะใดๆ เป็นสังคมที่มีความยุติธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (ชนชั้นปกครอง) กับประชาชน ! นี่คือหัวใจของปัญหาแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่นิยมเรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ” และบทบัญญัติมาตรา 8 วรรค 1 แห่งรัฐธรรมนูญที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ในทางนิติปรัชญา กฎหมายคือเครื่องมืออำนวยความยุติธรรม ซึ่งหมายความว่ากฎหมายจะต้องบัญญัติขึ้นบน “หลักความยุติธรรม” (principle of justice) บางอย่าง เช่นในสังคมเสรีประชาธิปไตยกฎหมายต้องบัญญัติขึ้นบนหลักความยุติธรรมพื้นฐาน 2 ประการ คือ หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ คือกฎหมายที่ขัดกับหลักความยุติธรรมพื้นฐานทั้งสองประการโดยตรง เพราะเป็นกฎหมายที่วางระบบความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนอย่างอยุติธรรม หากมองในระดับลึก สังคมที่ยอมรับกฎหมายที่ขัดต่อหลักความยุติธรรมเช่นนั้น ย่อมเป็นสังคมที่ยอมรับระบบอันอยุติธรรมต่อ “ความเป็นมนุษย์” ของตนเอง ! กรณีชะตากรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์และครอบครัวก็ดี กรณีนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ก็ดี หรือประชาชนทุกคนที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการพูดความจริงคือผู้ที่ได้รับความอยุติธรรมจากกฎหมายดังกล่าว เพราะโดยความเป็นมนุษย์ในแง่มโนธรรมสำนึก ไม่ยุติธรรมเลยที่มนุษย์เราจะถูกบังคับหรือกำหนดโดยกฎหมายให้ต้องเคารพสักการะบุคคลใดๆ ก็ตาม เพราะการเคารพสักการะหรือความศรัทธาเชื่อถือเป็นอิสระทางจิตใจของแต่ละบุคคล และไม่ยุติธรรมเลยที่ประชาชนต้องถูกจำกัดเสรีภาพในการพูดถึงความจริงทั้งด้านบวกและลบของบุคคลสาธารณะใดๆ ที่ยังชีพด้วยภาษีของประชาชน และยิ่งเป็นความโหดร้ายต่อจิตใจมนุษย์หากชีวิตเขาต้องยอมจำทนไม่พูดความจริงที่ควรจะพูด (อย่างที่ครอบครัวปรีดี พนมยงค์ประสบ) นอกจากมาตรา112 และรัฐธรรมนูญมาตรา 8 จะขัดกับหลักความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวแล้ว ยังขัดแย้งโดยตรงต่อระบบความเชื่อที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม” หรือ “ปกครองแผ่นดินโดยธรรม” เพราะหากปราศจากเสรีภาพในการตรวจสอบแล้วประชาชนจะ “รู้” (ไม่ใช่ “เชื่อ”) ได้อย่างไรว่า พระมหากษัตริย์ปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมหรือปกครองแผ่นดินโดยธรรมจริงหรือไม่? นี่คือประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง หากเรายอมรับว่าระบบความเชื่อที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม” เป็นระบบความเชื่อที่มาจากพุทธศาสนา เราจำเป็นต้องยอมรับต่อไปว่า “คุณธรรมหรือความดีงามตามกรอบคิดของพุทธศาสนานั้นสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับการตรวจสอบ” เพราะตามหลักกาลามสูตร สัจจะและความดีงามทางศีลธรรมม่อาจถูกยืนยันได้ด้วย “อำนาจ” และ “การสร้างความเชื่อ” แต่ถูกยืนยันหรือรับรองด้วย “เสรีภาพในการตรวจสอบ” อย่างเต็มที่ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองจากหลักความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย หรือหลักการ “พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม” มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ย่อมสมควรถูกยกเลิก หรือแก้ไขปรับปรุงให้ไปกันได้กับหลักเสรีภาพและความเสมอภาค จึงเป็นเรื่องสมเหตุผลอย่างยิ่งที่คนเสื้อแดงรณรงค์ยกเลิก ม.112 และที่จริงแกนนำ แกนนอน และพรรคการเมืองที่คนเสื้อแดงสนับสนุน ควรมีวาระที่ชัดเจนและจริงจังมากขึ้นในการรณรงค์เรื่องนี้ ! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อุบลฯ จี้รมว.พลังงานล้มโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Posted: 21 Mar 2011 10:00 AM PDT อุบลราชธานี - เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองดอกบัว บุกโรงแรมจี้ “วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” รมว.พลังงานล้มโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้าน รมว.พลังงานรับเป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ ยังไม่มีโครงการสร้างแต่อย่างใด ระบุขณะนี้ไทยมีทางเลือกใช้พลังงานด้านอื่นอีกมาก โดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่มีผู้สนใจลงทุนเกินเป้าที่รัฐตั้งไว้ วันนี้ (21 มี.ค.) ที่โรงแรมลายทอง จ.อุบลราชธานี น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.กระทรวงพลังงาน บรรยายพิเศษเรื่องบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ประจำเขต 5 ที่ให้บริการประชาชนในการออกใบอนุญาต การให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการด้านพลังงาน ไฟฟ้าในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานใต้ ประกอบด้วย ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และอุบลราชธานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและผู้ประกอบการด้านกิจการพลังในเขต 8 จังหวัดร่วมรับฟังหลายร้อยคน ขณะเดียวกันที่บริเวณหน้าโรงแรม กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประมาณ 100 คน นำโดย น.ส.สดใส สร่างโศก จับกลุ่มถือป้ายประท้วงไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายจะมาสร้างในพื้นที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าสำรอง หรือพีดีพี 2010 ของกระทรวงพลังในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งเนื้อหาของจดหมายได้ชี้เหตุผลของการความเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 ประการ คือด้านมิติสิ่งแวดล้อม สารกัมมันตภาพรังสีสมารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้หลายทาง เช่น ในรูปฝุ่นละอองและก๊าซ นำไปสู่การปนเปื้อนทางการเกษตร น้ำทั้งปนเปื้อนรังสี สะสมในสัตว์น้ำเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร คนกิน ปลา กินผัก ดื่มนม กินเนื้อ เข้าสู่ร่างกายโดยทางผิวหนัง สัมผัสรังสีโดยตรง ฯลฯ มิติ ด้านเศรษฐกิจ ต้นทุนไม่ได้ถูกจริง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีปัญหาต้นทุนบานปลาย การตั้งงบประมาณไว้ 1แสนล้าน สร้างจริงอาจต้องใช้งบไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้าน ซึ่งประชาชนก็จะตกเป็นผู้แบกรับภาระอย่างแน่นอน เช่นกรณี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Olkiluoto 3 ประเทศฟินแลนด์ เริ่มก่อสร้างปี 2548 ขณะนี้ล่าช้ากว่ากำหนด 3 ปี งบประมาณบานปลายจาก 3,200 เป็น 5,500 ล้านยูโร หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Framanville 3 ประเทศฝรั่งเศส เริ่มก่อสร้าง ธ.ค. 2550 เกิดปัญหาล่าช้าและต้นทุนบานปลายเช่นกัน ด้านการพึ่งตนเองซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นโรงงานที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ต้องนำเข้าเทคโนโลยี่ และนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งหมดตลอดอายุการใช้งาน และมิติทางด้านสังคม นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม พร้อมทั้งเสนอทางเลือกในการจัดการด้านพลังงานคือ ต้องยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย และควรเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงาน ซึ่งให้ลดการใช้พลังงานให้ได้ 13 % ภายใน พ.ศ. 2573 ประเทศไทย จะสามารถลดการใช้พลังงาน 45,200 ล้านหน่วยหรือ 7,300 เมกะวัตต์ เท่ากับการหยุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ 5 โรง ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงมารับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมระบุว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาเป็นเพียงแผนการศึกษาความเป็นไปได้ แต่เมื่อเกิดเหตุร้ายกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้แผนการจัดหาพลังงานด้านนี้ ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เพราะการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ยังต้องมีการศึกษาด้านความปลอดภัยอีกมาก นพ.วรรณรัตน์ระบุต่อไปว่า สำหรับแผนการพัฒนากำลังไฟฟ้าสำ รองในประเทศไทยขณะนี้ มีทางเลือกหลายทาง โดยเฉพาะพลังงานทดแทนด้านชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนเกินเป้าหมายไปมาก โดยพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตั้งเป้าไว้ราว 500 เมกะวัตต์ภายใน 15 ปี แต่ขณะนี้มีผู้เสนอมา 2,900 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม รมว.พลังงานยังเรียกร้องให้คนไทยเรียนรู้ในการใช้พลังงานอย่างประหยัด และคุ้มค่าที่สุด เพื่อไม่เป็นปัญหากับประเทศในการจัดหากำลังไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ต่อไปในอนาคต ด้าน น.ส.สดใสกล่าวว่า แม้รัฐบาลชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะนี้ไปก่อน แต่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังคงอยู่ในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าสำรองในอนาคตต่อไป กลุ่มก็ยังเดินหน้าให้ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้านหนึ่งที่หน่วยงานยังไม่เปิดเผยความจริงให้ประชาชนทราบต่อไปด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ความเห็นและข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะจากกรรมการสิทธิฯ Posted: 21 Mar 2011 09:55 AM PDT ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมาธิการในกระบวนการนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร นั้น โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 257 (5) และ พ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 (3) บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และในการประชุม กสม. ครั้งที่ 7/2554 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554 ได้มีความเห็นและข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... (ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี) โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ประเด็นที่ 1 คำนิยาม
ประเด็นที่ 2 การกำหนดให้ “ศาล” เข้ามามีบทบาทและอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ
ประเด็นที่ 3 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่สำคัญ ควรบัญญัติให้ครอบคลุมถึงองค์การระหว่างประเทศ เช่น ที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งควรได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับสถานทูต ประเด็นที่ 4 รัฐธรรมนูญได้กระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดการบริการสาธารณะโดยอิสระ ดังนั้น การกำหนดให้ อปท. เข้ามามีบทบาทในการจัดการเกี่ยวกับสถานที่ การอำนวยความสะดวก และดูแลรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ จัดการชุมนุมสาธารณะได้สะดวก จึงควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ อปท. ประเด็นที่ 5 การกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ แจ้งการชุมนุมเป็นหนังสือล่วงหน้าก่อนเริ่มการชุมนุม หากไม่ได้ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาลหรือผู้ว่าราชการจังหวัด นั้น เห็นว่า ควรกำหนดให้แจ้งโดยวิธีอื่นได้ เช่น โทรสาร หรือ E-mail ส่วนการกำหนดให้ชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าต้องขออนุญาต ถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่ 6 อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
ประเด็นที่ 7 การชุมนุมที่ถูกห้ามหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขกฎหมาย เป็นเรื่องการขัดคำสั่งทางปกครอง การลงโทษควรเป็นโทษทางปกครอง (ปรับทางปกครอง) ไม่ใช่โทษอาญา (จำคุก) จึงไม่ควรกำหนความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญาไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ประเด็นที่ 8 ร่างกฎหมายนี้ควรกำหนดกลไกรองรับการชุมนุมสาธารณะ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
กล่าวโดยสรุป หากพิจารณาการชุมนุมเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากการที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยา ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐได้จัดการแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างรวดเร็วแล้ว การชุมนุมก็จะไม่เกิดขึ้นหรือหากเกิดขึ้นก็จะยุติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายดังกล่าวขึ้นใช้บังคับ กสม. ขอให้มีเจตนารมณ์ที่จะรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ อนึ่ง หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่เป็นไปตามความเห็นและข้อเสนอในประเด็นข้างต้น กสม. ก็ไม่อาจยอมรับกฎหมายที่จะตราขึ้นมาใช้บังคับได้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
จีนสั่งนำเข้าเกลือจากพม่าเพิ่ม เหตุหวั่นกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่น Posted: 21 Mar 2011 09:46 AM PDT ชาวจีนทั่วประเทศต่างวิตกกังวลต่อสารกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่นจะแผ่ขยายมายังประเทศจีน ทำให้ชาวจีนเป็นจำนวนมากต่างแห่ซื้อเกลือมากักตุน เพราะเชื่อว่า เกลือไอโอดีนจะสามารถช่วยป้องกันรังสี ในขณะเดียวกัน ชาวจีนได้สั่งซื้อเกลือจากพม่าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาเกลือในเมืองใหญ่ๆในพม่าพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ค้าเกลือทั้งในกรุงย่างกุ้งและในจังหวัดมัณฑะเลย์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคาเกลือไอโอดีนเริ่มขยับสูงขึ้นนับตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (18 มีนาคม 54) ที่ผ่านมา หลังจีนสั่งนำเข้าเกลือจากพม่าเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ ราคาเกลือขายส่งอยู่ที่ถุงละ (34 กิโลกรัม) 6,500 จั๊ต (230 บาท) จากราคาเดิมอยู่ที่ 1,800 จั๊ต(63 บาท) ส่วนราคาเกลือตามร้านขายของชำทั่วไปในย่างกุ้ง ขยับขึ้นจากถุงละ (1.6 กิโลกรัม) 300 จั๊ต(ราว 10 บาท) เป็น 800 จั๊ต (ราว 28 บาท)ทั้งนี้ ประชาชนในย่างกุ้งเองก็เริ่มกักตุนเกลือบ้างแล้ว เนื่องจากกังวลว่า เกลืออาจขาดตลาด ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพม่าได้ออกแถลงการณ์ลงในหนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ว่า ฝนที่ตกในพม่านั้นไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ในขณะเดียวกัน ที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้งก็เริ่มมีการตรวจเช็คสารกัมมันตรังสีจากผู้โดยสารที่เดินทางมาจากญี่ปุ่นแล้วด้วยเช่นเดียวกัน ที่มา: Irrawaddy 21 มีนาคม 2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ทนายชาวคริสต์ไม่ได้รับอนุญาตให้ว่าความในศาลอิสลามที่มาเลเซีย Posted: 21 Mar 2011 08:12 AM PDT บีบีซีรายงานว่า ผู้พิพากษาในมาเลเซียไม่อนุญาตให้ทนายความคริสเตียนว่าความในศาลชารีอะห์ ซึ่งเป็นศาลในระบบกฎหมายอิสลาม โดยทนายความผู้นี้เตรียมอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว ขณะที่ทนายความมุสลิมยืนยันว่า “เป็นเรื่องเข้าใจผิด” ว่าผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะไม่สามารถหาความยุติธรรมได้ในศาลชารีอะห์ สำนักข่าวบีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ความพยายามของทนายความคริสเตียนในมาเลเซียเพื่อขออนุญาตเป็นทนายในศาลชารีอะห์ ของศาสนาอิสลาม ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยนางวิคตอเรีย จายาซีลี มาร์ติน ทนายความชาวคริสเตียน กล่าวว่า เธอต้องการทำงานเพื่อลูกความที่ไม่ใช่มุสลิมต่อสู้คดีในศาลชารีอะห์ เพื่อให้พวกเขามีผู้แทนทางคดีที่ยุติธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ ในมาเลเซีย มีคดีความในศาลมุสลิมมากขึ้น โดยมีคู่ความทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม โดยศาลแพ่งใช้ตัดสินคดีสำหรับพลเมืองที่ไม่ใช่มุสลิม ขณะที่ใช้ศาลระบบอิสลามตัดสินคดีความให้กับชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ผู้พิพากษาในกัวลาลัมเปอร์คัดค้าน คำร้องของจายาซีลี มาร์ติน โดยให้เหตุผลว่า ทนายความในศาลอิสลามต้องเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ด้านนางจายาซิลี มาร์ติน กล่าวว่า คำตัดสินของผู้พิพากษาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเธอมีแผนจะอุทธรณ์คำตัดสินของศาล ส่วนทนายความของนางมาร์ติน รันจิต ซิงห์ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะหาที่ทนาย เพราะทนายมักไม่ต้องการแก้ต่างทางคดีซึ่งขัดแย้งกับความศรัทธาทางศาสนาของทนาย ขณะที่หนึ่งในทนายความของสภาสหพันธรัฐอิสลาม นายอัมดุล ราฮิม ซินวาน กล่าวว่าเรื่องนี้ “ไม่เป็นปัญหา” สำหรับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจะหาทนายความมุสลิมเพื่อแก้ต่างให้ตน “มันเป็นเรื่องที่มากกว่านั้นก้าวหนึ่ง เพราะมันเป็นคำถามต่อเรื่องความศรัทธา เพราะว่าเมื่อมุสลิมยึดถือข้อคิดเห็นที่มาจากผู้พิพากษา มันคือคำถามเกี่ยวกับความศรัทธา ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมไม่มี” เขากล่าว ผู้สื่อข่าวบีบีซี เจนนิเฟอร์ ปาก กล่าวด้วยว่า ทนายผู้นี้ยังบอกด้วยว่า “มีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนว่า ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมไม่สามารถหาความยุติธรรมได้ในศาลชารีอะห์” ซึ่งเขาบอกว่าเป็น “ความเข้าใจผิด” ทั้งนี้ มีคดีความจำนวนมาก ระหว่างคู่ความที่นับถือคนละศาสนา เช่น มีคู่สมรสคู่หนึ่งที่แต่งงานกัน และอีกฝ่ายไม่ยอมเปลี่ยนเป็นมุสลิม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องสิทธิในการดูแลบุตร เมื่อปีก่อน รัฐบาลมาเลเซียเห็นชอบให้ มีการตั้งผู้พิพากษาหญิง สำหรับศาลอิสลามเป็นครั้งแรก ซึ่งกลุ่ม ภราดรหญิงในอิสลาม (the Sisters in Islam - SIS) เรียกร้องมาหลายปี โดยกลุ่มดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายอิสลาม ซึ่งพวกเขาเห็นว่าไม่ได้เป็นทุกครั้งที่มีการจัดการและการใช้ปฏิบัติกฎหมายดังกล่าวด้วยความเหมาะสมและยุติธรรม ขณะที่ศาลแพ่งมีผู้พิพากษาหญิงมานานแล้ว โดยเขตอำนาจของศาลแพ่งจะครอบคลุมในคดีแพ่งหลักๆ ขณะที่ศาลชารีอะห์ในระบบอิสลาม จะมีเขตอำนาจศาลอยู่ที่กฎหมายครอบครัว และมักตัดสินคดีในเรื่องการหย่า การมีภรรยาหลายคน และการร้องขอสิทธิในการดูแลบุตร ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
กรีนพีซและเอแบคโพลล์เผยคนไทยร้อยละ 80 ต้องการทราบข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่แหล่งน้ำ Posted: 21 Mar 2011 08:10 AM PDT 21 มีนาคม 2554 เนื่องในวันน้ำโลก กรีนพีซและเอแบคโพลล์เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อมลพิษทางน้ำในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 80.2 ต้องการกฎหมายกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดทำและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหนึ่งมาตรการส่งเสริมการลดมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามแม่น้ำเจ้าพระยาและแหล่งน้ำที่สำคัญต่างๆ ของประเทศ ผลการสำรวจความคิดเห็นยังระบุว่า ร้อยละ 83.8 ของกลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่ามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและควรเร่งแก้ไข และประเมินการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังคงล้มเหลวในการปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษ การสำรวจเริ่มขึ้นในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนมีนาคมปีนี้ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,550 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและชุมชนที่อาศัยใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และนิคมอุตสาหกรรมบางชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร “ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่าชาวไทยอยากเห็นรัฐบาลลงมือแก้ไขมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาคุกคามแหล่งน้ำของประเทศ ความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการและการเปิดเผยข้อมูลเป็นแนวทางที่จะสามารถนำสู่การแก้ไขปัญหามลพิษได้ในระยะยาว ทั้งนี้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรคำนึงถึงสิทธิการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับสารพิษอันตรายที่ใช้และปล่อยจากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม โดยควรเร่งออกกฎหมายกำหนดให้อุตสาหกรรมจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “กรีนพีซเชื่อว่าความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลด้านมลพิษนี้จะต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม การปิดบังข้อมูลการใช้และการปล่อยสารพิษอันตรายนั้นจะยิ่งนำไปสู่ความคลุมเครือโดยเฉพาะในยามที่เกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกับที่เราได้เรียนรู้จากอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะภัยได้” นายพลายกล่าว จากผลสำรวจพบว่า 3 ประเด็นแรกที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเด็นอื่นๆคือ 1. ปัญหามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและควรเร่งป้องกันแก้ไข (ร้อยละ 83.8) 2. ควรมีกฎหมายกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ (ชนิดและปริมาณ) สู่สิ่งแวดล้อมและให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสิ่งแวดล้อมได้ (ร้อยละ 80.2) และ 3. โรงงานอุตสาหกรรมควรใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเท่านั้น (ร้อยละ 79.6) จากประเด็นปัญหาต่างๆที่ทำการสำรวจ พบว่า 5 ประเด็นแรกที่คนส่วนใหญ่มีความกังวลมากถึงมากที่สุดคือ
มากกว่าครึ่งหนึ่งถึง 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างกังวลต่อการประสบปัญหามลพิษของแม่น้ำ 4 สายหลักในภาคกลาง พบว่าร้อยละ 74.5 มีความกังวลมากถึงมากที่สุดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา รองลงมาคือ แม่น้ำบางปะกง คิดเป็นร้อยละ 58 แม่น้ำแม่กลอง คิดเป็นร้อยละ 52.2 และแม่น้ำท่าจีนคิดเป็นร้อยละ 52 “ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา คุณภาพแม่น้ำในประเทศไทยได้เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น ตัวอย่างเช่น มีการตรวจสอบพบสารพิษอันตรายในคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งรองรับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม (1) ผลการสำรวจครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังปฏิบัติไม่เพียงพอในการปกป้องแหล่งน้ำของเรา การปล่อยสารพิษจากอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าสารพิษจะถูกปล่อยออกมามากหรือน้อยก็สามารถสะสมอยู่ในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารได้ และการเปิดเผยข้อมูลด้านมลพิษเป็นแนวทางพื้นฐานที่สำคัญให้รับรู้ข้อมูลและกระตุ้นสู่การลดการใช้สารพิษอันตราย” นายพลาย ภิรมย์ กล่าวสรุป อ้างอิง: เพิ่มเติม:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
5 คำถามกับระเบิดตูมตามที่ชายแดนใต้ Posted: 21 Mar 2011 07:56 AM PDT "ผมบอกตลอดว่าไม่มีไพร่พลเลว มีแต่แม่ทัพนายกองที่เลว 5 เดือนที่ผ่านมา นราธิวาสมีคาร์บอมบ์ 3 ลูก ผู้การจังหวัดต้องรับผิดชอบ ปี 2548 ถึง ปี 2551 เคยคุมสถานการณ์ได้ ทำไมตอนนี้คุมไม่ได้ ผู้บังคับหน่วยมัวแต่ติ๊ดชึ่งไม่ได้ ต้องอยู่ในพื้นที่ ต้องปิดล้อม ต้องรุก ต้องลุย จากนี้ผมจะลงมาติดตามเอง" เป็นคำกล่าวของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) รับผิดชอบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2554 ในที่ประชุมบรรยายสรุปคดีคนร้ายจุดชนวนระเบิด "คาร์บอมบ์" บริเวณแฟลตข้าราชการตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส จับความรู้สึกของ พล.ต.อ.อดุลย์ จากถ้อยคำระหว่างบรรทัดข้างบนนั้น ต้องบอกว่า "ฟิวส์ขาด" จริงๆ เพราะการเกิดระเบิดระดับ "คาร์บอมบ์" ถึงในบ้านพักตำรวจ ก็ถือว่าถูก "ลูบคม-เหยียบจมูก" ไม่ต่างอะไรกับทหารถูกโจมตีค่ายนั่นแหละ ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจก็คือ คำพูดอีกตอนหนึ่งของ พล.ต.อ.อดุลย์ เกี่ยวกับการตัดวงจรคาร์บอมบ์และระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้... "สถานการณ์ตอนนี้ตัวละครน้อยลงแล้ว (หมายถึงกลุ่มก่อความไม่สงบลดจำนวนลง) แต่เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น ศชต. (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้) จึงต้องตัดวงจรคาร์บอมบ์ให้ได้ ต้องลงไปดูเต็นท์รถ อู่ดัดแปลง แหล่งดินระเบิดต้องสกัดให้ได้ เพราะอยู่เฉยๆ ไม่มีทางสกัดได้ คนเป็นนายไม่ทำ มัวแต่สวดมนต์ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เวลานี้ ศชต.ต้องริเริ่ม ต้องทำลายคาร์บอมบ์ให้ได้" ฟังจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แล้ว น่าสนใจว่าสิ่งที่เขาพูดทั้งหมดนั้น จะว่าไปก็เป็น "งานประจำ" หรือ "งานรูทีน" ของตำรวจอยู่แล้ว แต่เหตุใดถึงปล่อยกันหละหลวมขนาดนี้ และนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดสินใจ "เด้งฟ้าผ่า" พล.ต.ต.ชัยทัต อินทนูจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (ผบก.ภ.จว.นราธิวาส) แทบจะทันควันภายหลังปล่อยให้เกิด "คาร์บอมบ์" ใต้แฟลตตำรวจ สภ.ศรีสาคร เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2554
ชำแหละ "กับระเบิดราคาถูก" อย่างไรก็ดี ข้อข้องใจลักษณะนี้ไม่ใช่มีแต่ พล.ต.อ.อดุลย์ เท่านั้นที่ตั้งคำถาม แต่อดีตนายตำรวจที่เคยดูแลงานด้านวัตถุระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัจจุบันก็ยังช่วยงานอยู่ก็เคยตั้งคำถามเอาไว้กับ "ทีมข่าวอิศรา" เช่นกัน เมื่อครั้งที่ "กับระเบิดแบบเหยียบ" ระบาดอย่าง หนักในพื้นที่เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะวันที่ 25 ต.ค.2553 หรือวันครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งคนร้ายวางกับระเบิดแบบเหยียบในสวนยางพาราทั่วทั้งสามจังหวัดไม่น้อยกว่า 26 จุด และระเบิดตูมตามขึ้นถึง 17 จุด มีเจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้รับบาดเจ็บรวมทั้ง "เสียขา" ไปถึง 16 คน ครั้งนั้น "ทีมข่าวอิศรา" ตั้งคำถามกับอดีตนายตำรวจท่านนี้ โดยเฉพาะเรื่อง "กับระเบิดแบบเหยียบ" และแนวทางการป้องกัน (ซึ่งหลายฝ่ายเข้าใจว่าเป็นรูปแบบการวางระเบิดที่มีความซับซ้อนและพัฒนาเทคนิคการประกอบระเบิดขั้นสูง) "มันไม่ได้ทำยากอะไรเลย กับระเบิดแบบนี้ต้นทุนไม่ถึง 30 บาท แค่ไปซื้อท่อพีวีซีมา ปิดปลายด้านหนึ่ง แล้วยัดดินระเบิดเข้าไป ต่อสวิทช์ปิด-เปิดแบบสวิทช์ไฟ เอาไปวางไว้ ใครเหยียบก็ตูม มันเป็นระเบิดที่ง่ายมากๆ ไม่ได้ใช้เทคนิคพิสดารอะไร แต่ปัญหาก็คือทำไมเราป้องกันไม่ได้" อดีตนายตำรวจท่านนี้ บอกว่า "กับระเบิดแบบเหยียบ" ประกอบขึ้นจากวัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งน่าจะหาแหล่งที่มาได้ไม่ยาก "ท่อพีวีซีที่คนร้ายใช้ประกอบระเบิดมันเป็นชนิดเดียวกันหมด ยี่ห้อเดียวกัน แสดงว่าคนร้ายต้องซื้อมาทีละเยอะๆ แล้วไปตัดแบ่ง เราก็น่าจะตามเช็คได้ว่าซื้อมาจากที่ไหน ร้านขายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่มีกี่ร้าน ร้านไหนที่ขายไอ้ท่อนี่ไปจำนวนมาก หรือสั่งซื้อจำนวนมากก็ไปสอบสวนดู ที่ผ่านมาผมบอกไม่รู้จะบอกอย่างไรแล้ว แต่ก็ไม่มีใครทำ" ดูเหมือนปัญหาที่ทำให้ พล.ต.อ.อดุลย์ ฟิวส์ขาดกรณี "คาร์บอมบ์" ก็เป็นปัญหาเดิมและเรื้อรังมาตั้งแต่สมัย "กับระเบิดแบบเหยียบ" แล้ว
เปิดสถิติ "คาร์บอมบ์" อาละวาด ปี 2554 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ปรากฏสัญญาณร้ายของสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเปิดศักราชมายังไม่เต็ม 3 เดือน ก็เกิดระเบิดรุนแรงระดับ "คาร์บอมบ์" ไปแล้วถึง 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 7 มี.ค. บริเวณใต้ถุนแฟลตตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ทำให้รถยนต์เสียหายนับสิบคัน นอกจากนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. ยังเกิดเหตุ "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" บน ถนนรัฐคำนึงตัดกับถนนระนอง ใกล้กับห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ในเขตเทศบาลนครยะลา ห่างจากจุดเกิดเหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กพ.เพียง 300 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 14 ราย ก่อนหน้านั้น ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คือวันพุธที่ 29 ธ.ค.2553 ยังมีคาร์บอมบ์ที่หน้าสำนักงานหมวดการทาง อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ห่างจากโรงพัก สภ.บาเจาะ เพียง 150 เมตรอีกด้วย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย และยังมีเหตุลอบวางระเบิดที่ ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อเช้าวันที่ 1 ม.ค.2554 ซึ่งเป็นวันแรกของศักราชใหม่ แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี สังกัด ตชด.447 เสียชีวิตพร้อมกับตำรวจ สภ.สุไหงปาดี และยังมีอาสารักษาดินแดน (อส.) กับชาวบ้านได้รับบาดเจ็บอีก 9 คน สถิติที่เก็บรวบรวมโดย "ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด" หรือ Bomb Data Center ของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) พบว่า รูปแบบการวางระเบิดที่รุนแรงที่สุด ใช้ดินระเบิดจำนวนมากที่สุด คือระเบิดที่ติดตั้งมาในรถยนต์ หรือ "คาร์บอมบ์" ซึ่งตลอดกว่า 7 ปีไฟใต้ เกิดมาแล้วทั้งสิ้น 24 ครั้ง นราธิวาสมากที่สุดถึง 16 ครั้ง
5 คำถามกับระเบิดตูมตามที่ชายแดนใต้ ประเด็นที่ยังคงเป็นคำถาม "คาใจ" ของนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาและประชาชนทั่วไปที่วิจารณ์กันแซ่ดตามร้าน น้ำชาทุกซอกมุมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ เหตุใดระเบิดถึงยังเกิดขึ้นได้ถี่ยิบขนาดนี้ ทั้งๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงบอกว่าได้ระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ และใช้กำลังพลมากกว่าครึ่งแสน "ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมคำถามและข้อสังเกตจากทุกฝ่ายได้ดังนี้ 1.ขบวนการลอบวางระเบิด โดยเฉพาะ "คาร์บอมบ์" ต้องเป็นขบวนการใหญ่โตพอสมควร เพราะ "คาร์บอมบ์" แต่ละครั้ง ต้องระเบิดทำลายรถยนต์ซึ่งใช้งบประมาณไม่น้อย ขณะที่ข้อมูลจากตำรวจยะลาระบุว่า คาร์บอมบ์ที่หน้าสำนักงานหมวดการทางบาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2553 คือรถกระบะยี่ห้อมาสด้าคันเดียวกับที่คนร้ายใช้เป็นพาหนะในการดักยิงทหารชุด รักษาความปลอดภัยพระสงฆ์เสียชีวิต 2 นาย ขณะพระออกบิณฑบาตในตัวเมืองยะลาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ปีเดียวกัน แต่คนร้ายนำไปเปลี่ยนสีใหม่ นั่นเท่ากับว่ากลุ่มคนร้ายต้องมีอู่ทำสีรถยนต์ด้วย! คำถามก็คือเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่เอ็กซเรย์และขึ้นทะเบียนอู่ซ่อมรถ และทำสีรถยนต์ทั้งที่มีชื่อและไม่มีชื่อในพื้นที่ หรือใช้มาตรการทางปกครองเรียกเจ้าของอู่ซ่อมรถทั่วสามจังหวัดมาแสดงตัวหรือ มอบนโยบาย? 2.รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้ทำ "คาร์บอมบ์" และ "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" ในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นรถที่กลุ่มคนร้ายโจรกรรมมาทั้งจากในสามจังหวัดชายแดนเองและจังหวัดภาคใต้นอกสามจังหวัดชายแดน แสดงว่าขบวนการโจรกรรมรถต้องใหญ่โตพอสมควร เพราะนอกจากจะขโมยรถได้บ่อยครั้งและจำนวนมากแล้ว ยังมีความสามารถลำเลียงเข้าพื้นที่เพื่อนำไปติดตั้งระเบิด รวมทั้งเคลื่อนย้ายเพื่อนำไประเบิดไปวางได้ตามจุดที่ต้องการด้วย คำถามก็คือเหตุใดตลอด 7 ปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถทะลายแก๊งโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในภาคใต้ได้ ทั้งๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มีศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่ทำงานในพื้นที่อื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร? 3.เมื่อมีการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือซื้อรถมือสองมาประกอบระเบิด กลุ่มคนร้ายจึงต้องมี "แหล่งพักรถ" ซึ่งข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยังเป็นอธิบดีอยู่นั้น ได้เคยสืบสวนจนทราบข้อมูลของ "เต็นท์รถ" ที่ร่วมหรือให้การสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบด้วยการเป็น "แหล่งพักรถ" ให้กับกลุ่มขบวนการด้วย อีกทั้งบางกรณีก็นำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เก่าที่ "โอนลอย" มาจากเจ้าของเดิมในการก่อเหตุด้วยเช่นกัน ประเด็นนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งคำถามและข้อน่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ให้ความสนใจตรวจสอบข้อมูลความเคลื่อนไหวของ "เต็นท์รถ" ซึ่งเปิดกันเกลื่อนในพื้นที่มากแค่ไหนและอย่างไร? 4.ระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทั้งหมดเป็น "ระเบิดแสวงเครื่อง" ซึ่งก็คือระเบิดที่คนร้ายใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประกอบเป็นระเบิด วัสดุหลายชนิดสามารถตามแกะรอยเพื่อหา "ที่มา" ได้ ดังเช่น "ท่อพีวีซี" ที่อดีตนายตำรวจเคยให้แนวทางเอาไว้ หรือ "ดินระเบิด" ที่เป็นยุทธภัณฑ์ต้องแจ้งการนำเข้า ถือครอง และเคลื่อนย้าย คำถามก็คือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการ "แกะรอยหลักฐาน" ได้ดำเนินการเรื่องนี้จริงจังและต่อเนื่องขนาดไหน บูรณาการกับหน่วยงานข้างเคียงอย่างไร? 5.จากการที่กลุ่มก่อเหตุระเบิดต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีเครือข่ายขนาดใหญ่ในการขนย้ายอุปกรณ์ประกอบระเบิด รวมทั้งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่โจรกรรมมา จึงต้องมีกลุ่มอิทธิพลหรือคนในวงการธุรกิจใต้ดินสนับสนุน คำถามก็คือ ขณะนี้ในพื้นที่รวมทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงเองก็พูดถึง ปัญหากลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ขบวนการประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย และยาเสพติด ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาได้มีนโยบายจัดการกวาดล้างอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน? โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากขบวนการนี้อยู่! แถมท้ายอีกนิด คือมีหลายคนสงสัยกันว่า การสั่งย้าย พล.ต.ต.ชัยทัต อินทนูจิตร จากตำแหน่งผู้การนราธิวาสไปช่วยราชการที่ ศชต.เพราะปล่อยให้เกิดคาร์บอมบ์ถล่มใต้แฟลตตำรวจ รวมทั้งมีเหตุรุนแรงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานั้น เหตุใดเมื่อครั้งที่คนร้ายปาระเบิดเอ็ม 67 เข้าใส่บริเวณหน้าโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี ขณะตำรวจกำลังเข้าแถวเคารพธงชาติ แล้วจุดระเบิดคาร์บอมบ์ซ้ำในอีก 2 ชั่วโมงถัดมา จนมีกำลังพลเสียชีวิตและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บกว่าครึ่งร้อยเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2553 เหตุใดจึงไม่มีการโยกย้ายผู้การปัตตานี แต่คนที่โดนลงโทษกลับเป็น พ.ต.อ.มนัส ศิกษมัต ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี ที่ถูกย้ายด่วนแทน (และล่าสุดก็กลับมาดำรงตำแหน่งเดิมแล้ว) ทั้งหมดนี้คือข้อมูล ข้อสังเกต และคำถามคาใจผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวนมาก ท่ามกลางเสียงระเบิดที่ตูมตามไม่เว้นวัน! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ไม่ให้ประกันผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ – นัดสืบพยานเดือน ก.ย.คดีลุง 61 ปีส่ง SMS หมิ่นฯ Posted: 21 Mar 2011 07:00 AM PDT 21 มี.ค.54 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือหนุ่ม เรดนนท์ จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเวปไซต์ และโพสต์ข้อความอันมีลักษณะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 13 ปี โดยให้เหตุผลว่า “จำเลยถูกจับพร้อมของกลาง และได้รับสารภาพในชั้นสอบสวน ทั้งคดีมีอัตราโทษสูงหากปล่อยไปเกรงจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกคำร้อง” คดีนี้ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 1.3 ล้านบาท เพื่อวางเป็นประกันภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งทีมทนายกำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป อย่างไรก็ตาม ทีมทนายความระบุว่าจะเตรียมยื่นประกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้ พร้อมเพิ่มหลักทรัพย์และแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม อันได้แก่ จากเหตุผลตามคำสั่งศาลว่า 1.จับพร้อม “ของกลาง” คือ คอมพิวเตอร์ และได้ทำการตรวจฮาร์ดดิสของจำเลยแล้ว ในรายงานการตรวจของกลาง ซึ่งตรวจโดยกลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง กลับปรากฎว่า “ไม่พบแฟ้มซึ่งเป็นข้อความที่มีลักษณะหมิ่นฯตามฟ้อง และไม่พบการ รับ- ส่ง แฟ้มข้อมูลไปยังเวปไซด์ นปช.ยูเอสเอ” 2. คำสารภาพในชั้นสอบสวน จำเลยอ้างว่ารับสารภาพเพราะถูกบังคับ และเกรงจะเกิดอันตรายกับลูกชาย เพราะพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวน้องเวป ลูกชายวัย ๑๐ ขวบของจำเลยไปที่ทำการสอบสวนด้วย รวมทั้งไม่ให้ติดต่อกับญาต หรือทนายความเพื่อเข้าร่วมการรับฟังการสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนในคดีนี้ก็ได้เข้าเบิกความรับว่า ได้ควบคุมตัวลูกชายของจำเลยไปจริง ศาลไม่ให้ประกันลุงวัย61 ปีผู้ต้องหาส่ง SMS หมิ่นให้เลขาฯ นายกรัฐมนตรี วันเดียวกัน ศาลอาญา รัชดา นัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายคดีอาญาพิเศษ 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอำพล ตั้งนพกุล ชายวัย 61 ปี เป็นจำเลยในฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท (มาตรา 112 ประมวลกฏหมายอาญา) และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความั่นคงแห่งราชอาณาจักร (มาตรา 14 (2),(3) พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550) โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23 ,27 - 28 กันยายน 2554 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 29-30 กันยายน 2554 ทั้งนี้ นายอำพล ตั้งนพกุล ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 และคุมขังที่เรือนจำจนได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 กระทั่งเมื่ออัยการส่งฟ้อง จึงถูกคุมตัวยังเรือนจำอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังถูกขังอยู่ระหว่างการรอพิจารณาทั้งที่มีอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งช่องปาก ก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์เพิ่งมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยเห็นว่า “ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้อง กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง คดีอยู่ระหว่างพิจารณา หากผลการพิจารณามีหลักฐานมั่นคง จำเลยอาจหลบหนี เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล” อย่างไรก็ตามทนายความของนายอำพลได้เตรียมยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่อีกครั้งในสัปดาห์นี้เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และไม่เคยมีพฤติการณ์จะหลบหนีตามที่ศาลกล่าวอ้างแต่อย่างใด ที่มาบางส่วน: เว็บไซต์สำนักทนายความราษฎร์ประสงค์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
อดีตนายทหารขึ้นเวที พธม. อ้างคนในรัฐบาลเป็นผู้สั่งยิงสนธิ Posted: 20 Mar 2011 10:19 PM PDT หนุนข้อเสนอปิดประเทศของสนธิ “พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจารักษ์” กล่าวหาคนในรัฐบาลสั่งยิงสนธิ แต่มาร์คช่วยเหลือพวกพ้องเอาไว้ ลั่นความจริงรอวันเปิดเผย ด้านสุริยะใสเชื่อการเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือของเพื่อไทยและ นปช. เพื่อไปสู่ปลายทางอำนาจใหม่ที่ออกแบบไว้แล้ว
“ชุดความเชื่อทางการเมืองที่ออกแบบโดยพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. เช่นนี้จะยังทำให้การเมืองแบบเลือกตั้ง เป็นแค่เครื่องมืออันหนึ่งสู่ปลายทางอำนาจใหม่ที่ออกแบบไว้แล้ว ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะแพ้หรือชนะหลังเลือกตั้งจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ พรรคเพื่อไทยก็ไม่สนใจ เช่นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินแล้วบอกว่า นปช.มองไกลกว่าผลเลือกตั้ง ซึ่งพอจะคาดการณ์สัญญาณทางการเมืองในอนาคตได้ว่า ความขัดแย้งแตกแยกจะยังไม่คลี่คลาย ซ้ำร้ายยังไม่เห็นแม้แต่หนทางด้วยซ้ำ” นายสุริยะใสกล่าว และว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ หลังการอภิปรายครั้งนี้ปรากฏการณ์ที่ประชาชนไม่ไว้วางใจต่อระบบรัฐสภา หรือการเมืองแบบตัวแทนเริ่มก่อตัวสูงขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลจากระบบและโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่เราปล่อยให้ประชาธิปไตยใน เชิงรูปแบบครอบงำมานานเกินไป แต่ประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหากลับถูกปล่อยปละละเลยและกลายเป็นเรื่องของเสียง ส่วนน้อยไป เลขาธิการ ก.ม.ม.เชื่อว่าสัญญาณแบบนี้ หากนักการเมืองไม่ปรับตัวและประเมินตัวเองใหม่ และเร่งรัดปฏิรูประบบการเมืองอย่างเข้มข้นก็น่าเป็น ห่วงเพราะไม่ว่าจะเลือกตั้งช้าหรือเร็ว รัฐบาลหลังเลือกตั้งก็ยังไม่เป็นคำตอบที่แท้จริง วิกฤติของชาติที่เรื้อรังก็จะยังไม่คลี่คลาย และมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นจุดนับหนึ่งของความ รุนแรงรอบใหม่ ที่หนักหน่วงกว่าเดิม เพราะระดับของความขัดแย้งในขณะนี้มีการจัดขบวน ซ่องสุมกำลัง สร้างฐานมวลชน เพื่อเกมช่วงชิงอำนาจที่ใหญ่กว่าผลแพ้ชนะในการเลือกตั้ง ฉะนั้น ถ้าหลายฝ่ายยังคิดว่าการเลือกตั้งเป็นคำตอบเดียวและคำตอบสุดท้ายนั้น ถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง และจะวิ่งตามหลังความขัดแย้งหลายก้าว
พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ ยังกล่าวถึงคดีลอบยิงนายสนธิว่า “เช่นเดียวกับกรณีนายสนธิ ถูกลอบยิงเมื่อเดือนเมษายน ปี 52 นายอภิสิทธิ์ได้มอบให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้น เดินหน้าสอบสวนจนทราบตัวผู้ต้องหาไม่ยังสามารถจับกุมใครได้เลย แถมคดีกลับเงียบหายไปเฉยๆ คดีนี้ก็เปรียบเสมือนมวยล้มต้มคนดู แต่ความจริงไม่สามารถปกปิดพันธมิตรฯ เพราะเรารู้แน่ชัดว่าคนในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์เป็นผู้สั่งยิง แต่นายกฯ ขี้ขลาด กลับปกปิดช่วยเหลือพวกพ้องเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง เรื่องนี้เหมือนฝีในท้องสักวันต้องระเบิดออกมา ความจริงอยู่ในมือหมดแล้ว และรอวันที่จะเปิดเผยออกมา ซึ่งวันนั้นคือจุดจบชีวิตทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์” พล.อ.อ.เทอดศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: เรียบเรียงจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ [1], [2] สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
กวีประชาไท: ทับ “ธรรม” แหละ... Posted: 20 Mar 2011 10:13 PM PDT
กว่าสองพันห้าร้อยปีที่ล่วงผ่าน ในจิตที่มีความปริสุทธิ์ พุทธองค์ทรงประกาศความเทียมเท่า พระธรรมเอกพุทธองค์ทรงสอนสั่ง โลกุตฯ โลกิฯ มิแยกไม่แปลกดอก พระพม่าต้านปฏิวัติหยุดการฆ่า หากทว่า “ทับธรรม” ไทยในวันนี้ ไม่อยู่ข้างชั้นชนคนทุกข์ยาก สันตินั้นอยู่ไหน กรูไม่รู้ หมายเหตุจากผู้เขียน: บทกวีนี้เขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนหน้าปกมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21-27 มกราคม 2554 ที่พาดหน้าปกว่า "ทับ 'ธัมมั้ง' ?" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น