โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หรือ 'ทรัมป์แคร์' จะสะท้อนความย่ำแย่ของทัศนคติแบบอเมริกัน?

Posted: 30 Jun 2017 02:34 PM PDT

ในประเด็นที่วุฒิสภารีพับลิกันกำลังพยายามผลักดันกฎหมายใหม่มุ่งลิดรอนสิทธิด้านสวัสดิการสุขภาพของประชาชนอเมริกันหลายล้านคน คอลัมนิสต์ของวอชิงตันโพสต์ชวนเปรียบเทียบสวัสดิการสหรัฐฯ ว่ามาจากแนวคิดแบบใด มาจากการที่ชาวอเมริกันคิดว่าตัวเองไม่เหมือนใครในโลกจริงหรือไม่

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ที่มา: Gage Skidmore/Wikipedia/CC BY-SA 2.0)

30 มิ.ย. 2560 เมื่อไม่นานมานี้ในสหรัฐฯ มีประเด็นโต้แย้งกันอย่างหนักในเรื่องสวัสดิการสุขภาพหลังจากที่วุฒิสมาชิกพยายามออกบัญญัติใหม่เกี่ยวกับเรื่องการประกันสุขภาพที่เรียกกันว่า "ทรัมป์แคร์" ซึ่งจะจำกัดสิทธิผู้ประกันสุขภาพที่มีอยู่เดิมจนอาจจะทำให้ชาวอเมริกันนับ 10 ล้านคนเสียประกันสุขภาพไป

อย่างไรก็ตามหลังจากการประท้วง การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิจารณ์ รวมถึงการต่อต้านจากเหล่าวุฒิสภาบางส่วนเอง ก็ทำให้มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำวุฒิสมาชิกเสียงข้างมากจากพรรครีพับลิกันต้องพักแผนการโหวตลงมติกฎหมายนี้ไว้ชั่วคราวแล้วเลื่อนการโหวตออกไปเป็นหลังการหยุดวันชาติสหรัฐฯ 4 ก.ค.

ขณะเดียวกันอิชาน ธารูร์ นักเขียนเรื่องการต่างประเทศให้กับวอชิงตันโพสต์และบรรณาธิการอาวุโสแห่งไทม์ก็มีข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสวัสดิการสุขภาพในสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และตั้งคำถามว่าระบบสวัสดิการสุขภาพของสหรัฐฯ รวมถึงนโยบาย "โอบามาแคร์" เองว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนด้านแย่ๆ ของแนวคิดความเชื่อว่า "อเมริกันพิเศษกว่าชาติอื่นและไม่เหมือนชาติใดในโลก" (American Exceptionalism) จริงหรือไม่?

ธารูร์มองว่าสวัสดิการสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นกับทุกสังคม มีหลายประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างก็มีรัฐบาลที่จริงจังกับเรื่องสวัสดิการสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการพยายามลดราคาการเข้าถึงหรือเรื่องการให้บริการ แน่นอนว่าไม่มีประเทศใดที่มีระบบเดียวกันเหมือนกันหมดและแต่ละประเทศก็ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้กระทั่งคนให้ร้ายสวัสดิการสุขภาพอยู่ แต่จากมุมมองของธารูร์แล้วเขาเห็นว่าน้อยมากที่จะเห็นประเทศร่ำรวยใดๆ ในโลกที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้เกิดการแบ่งแยกฝักฝ่ายมากเท่าสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้นโยบายโอบามาแคร์เป็นความพยายามขยายประกันสุขภาพให้คนอีกหลายล้านคนในสหรัฐฯ ที่จนเกินกว่าจะซื้อเองหรือป่วยเกินกว่าจะจ่ายให้บริษัทประกันสามารถเข้าถึงได้ แต่สำหรับชาวยุโรปส่วนมากคงมองว่านโยบายนี้ก็ยังคงให้อำนาจบริษัทประกันของเอกชนอยู่ดีรวมถึงชาวอเมริกันเองก็ยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ชาวยุโรปส่วนมากจะมองว่าโอบาม่าแคร์ไม่ได้ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแต่เป็นสายกลาง หรืออาจจะจัดเป็นสายขวากลางๆ ที่มีการอะลุ่มอล่วยทางการเมือง และในความเป็นจริงแล้วก่อนหน้านี้แนวคิดของโอบามาแคร์ก็ได้รับการสนับสนุนมานานจากข้าราชการนโยบายสุขภาพสายอนุรักษ์นิยม

แม้ว่าโอบามาแคร์จะประนีประนอมกับฝ่ายขวาขนาดนี้แต่ชาวรีพับลิกันหลายคนก็มองว่าโอบามาแคร์เป็นพวก "สังคมนิยม" เลวร้ายที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องจ่ายเงินประกันที่พวกเขาไม่ได้ต้องการ รีพับลิกันพยายามเบี่ยงเบนความคิดเห้นของประชาชนมาเป็นข้ออ้างเรื่อง "ความรับผิดชอบส่วนตัว" ใช้วาทกรรมอย่างถ้าอยากได้บริการสุขภาพก็หางานทำและทำอะไรให้จ่ายค่ารักษได้เอง อ้างว่าตลาดเสรีก็มีทางเลือกให้เพียงพออยู่แล้ว ซึ่งขัดกับสภาพความเป็นจริงที่บริษัทประกันสรรหาทุกวิถีทางในการวางเพดานเรื่องเงินรักษาหรือทำโทษคนที่มีสภาพอาการต่างๆ อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันระบุว่าทรัมป์แคร์ที่จะมาแทนโอบามาแคร์นั่นเป็นเน้น "การแข่งขันแบบตลาดเสรี" นั่นหมายความว่าจะเป็นการยกระบบสุขภาพไปอยู่ใต้อำนาจการควบคุมของบริษัทและโรงพยาบาลที่แสวงหาผลกำไรทั้งหมด

แต่เรื่องนี้จะส่งผลดีต่อผลผลิตของประเทศจริงหรือ? จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าสหรัฐฯ ใช้จีดีพีร้อยละ 20 ไปกับด้านสุขภาพเปรียบเทียบได้ว่าประชาชนต้องใช้จ่ายในด้านนี้เกือบ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 330,000 บาท ต่อคน) มากกว่าชาวอังกฤษที่มีบริการประกันสุขภาพของรัฐราว 2 เท่า นั่นหมายความว่าชาวอเมริกันต้องจ่ายมากกว่าแต่ได้รับผลกลับมาน้อยกว่า

อลิซาเบธ โรเซนธาล หัวหน้ากองบรรณาธิการของสื่อด้านสาธารณสุขไคเซอร์เฮลท์นิวส์ กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ว่าบริการสุขภาพของสหรัฐฯ ราคาแพงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เท่านั้น การตั้งราคาสูงลิ่วในสหรัฐฯ ยังขัดกับกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องความถูกต้องเหมาะสมและสามัญสำนึกด้วย ในขณะที่ค่าพยาบาลต่างๆ ในสหรัฐฯ มีแต่จะสูงขึ้นมากแต่ค่าพยาบาลต่างๆ ในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ มีแต่จะลดลง

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากวัฒนธรรมและทัศนคติต่อชีวิตที่ต่างกันของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป จากปี 2554 ที่ศูนย์วิจัยพิวสำรวจพบว่าชาวอเมริกันักจะให้คุณค่าต่อเสรีภาพในระดับบุคคลมากกว่าชาวยุโรปที่มองบทบาทของรัฐในทางบวกมากกว่า จากการสำรวจในสหรัฐฯ มีร้อยละ 58 ที่เชื่อว่าการที่อนุญาตทุกคนควรจะได้รับอนุญาตให้ไล่ตามเป้าหมายในชีวิตของตัวเองโดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐถือเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ส่วนใหญ่ในยุโรปมองว่าการันตีว่าจะไม่มีใครต้องอดอยากยากแค้นเป็นเรื่องสำคัญกว่า

แต่ธารูร์ก็มองว่าการอ้างเรื่องวัฒนธรรมทางความคิดของอเมริกันที่ต่างจากชาติยุโรปคงเป็นคำตอบที่ "ขี้เกียจ" เกินไป โดยธารูร์ยกตัวอย่างระบบของแคนาดาประเทศที่อยู่ติดกับสหรัฐฯ ที่รับเอาความเชื่อเรื่องการทำงานหนักและการพึ่งตัวเองนำหน้าแต่ก็มีระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถ้วนหน้า

เคยมีแพทย์ของแคนาดาสองคนที่เขียนบทความในเรื่องนี้ไว้ในเอสทีเอทีนิวส์ว่าระบบแบบรัฐจ่ายอย่างเดียว (Single-Payer) แบบแคนาดาหรือระบบที่รัฐเป็นผู้ให้บริการอย่างเดียวอย่างอังกฤษหรือประเทศอื่นๆ ทำให้เป็นการนำการดูแลสุขภาวะทุกภาคส่วนเข้ามาอยู่ใต้ร่มเดียวกันอันสามารถตรวจสอบดูแลได้ หมอทั้งสองคนนี้ระบุอีกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สังคมนิยมหรือการโจมตีเสรีภาพระดับบุคคลใดๆ เลย มันเปรียบเสมือนการสร้างสัญญาร่วมกันว่าจะปกป้องพวกเรากันเองจากโรคภัย รวมถึงยอมรับในศักยภาพของพวกเราในการปกป้อง ถือเป็นมาตรการที่มีคุณค่าความหมายต่อสังคมเรา

ธารูร์ชี้ว่าการที่ชาวอเมริกันออกมาต่อต้านการที่พรรครีพับลิกันพยายามล้ม "โอบามาแคร์" ก็แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันจำนวนมากก็ตองการระบบที่ทำให้ผู้คนในสังคมต่างก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกันถ้วนหน้า แต่การที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ก็สะท้อนการแบ่งแยกในสังคมสหรัฐฯ ที่อาจลบเลือนได้

เรื่องนี้แวนน์ นิวเคิร์ก ทู คนเขียนบทความให้สื่อดิแอตแลนติคเขียนถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสวัสดิการที่คนดำเคยต่อสู้มาตั้งแต่ยุคคริสตทศวรรษ 60s เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกอีกกันพวกเขาเข้าถึงบริการ นิวเคิร์ก ทู ชี้ว่าสหรัฐฯใช้วิธีทำให้การประกันสุขภาพกลายเป็นระบบเอกชนที่แยกจากส่วนกลางเน้นบำนาญจากอาชีพที่กีดกันคนงานที่เป็นคนดำรายได้น้อยไม่ให้เข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ และถึงแม้ว่าพวกเขาจะเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันในความเป็นพลเมืองมาตั้งแต่ปี 2507 แล้ว แต่ก็เพิ่งมีโครงการสุขภาพที่ได้เงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากรัฐเมื่อไม่นานมานี้เอง และนโยบายสวัสดิการของรีพับลิกันก็กำลังจะขโมยสิทธิของพวกเขาไปอีกครั้ง

 

เรียบเรียงจาก

American health care is a bad case of American exceptionalism, Washington Post, 28-06-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐสภาเยอรมนีลงมติให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย

Posted: 30 Jun 2017 02:10 PM PDT

เยอรมนีกลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมายหลังการลงมติจากรัฐสภา สิ่งที่น่าสนใจคือนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล มักจะพูดคัดค้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันแต่เธอก็อนุญาตให้มีการลงมติตามกระบวนการประชาธิปไตย มีการวิเคราะห์ว่านี่อาจจะทำให้เธอได้คะแนนนิยมทั้งจากฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายเสรีนิยม

แฟัมภาพอาคารรัฐสภาเยอรมนี (ที่มา: Cezary Piwowarski/Wikipedia)

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 นักการเมืองเยอรมนีลงมติให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมายในการจัดประชุมลงมติด่วนหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แองเกลา แมร์เคิล เปลี่ยนใจจัดให้มีการลงมติในเรื่องนี้อย่างเสรี

จากที่ก่อนหน้านี้แมร์เคิลเคยมีจุดยืนต่อต้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันมาก่อนโดยอ้างว่ากังวลถึงสภาพความเป็นอยู่ของเด็ก แต่ถึงแม้จะมีจุดยืนไม่เห็นด้วยมาก่อนแมร์เคิลก็เปิดทางให้มีการลงมติในเรื่องนี้โดยบอกว่าให้ถือว่าเป็น "คำถามต่อมโนธรรมสำนึก" ของแต่ละคนเอง ซึ่งสื่อ ABC ระบุว่าแมร์เคิลจงใจจะหมายถึงให้ ส.ส. แต่ละคนโหวตตามความเชื่อส่วนบุคคลของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด

ในการโหวตครั้งนี้มีผู้โหวตสนับสนุน "การแต่งงานสำหรับทุกคน" เป็นเรื่องถูกกฎหมาย 393 เสียง มีผู้โหวตคัดค้าน 226 เสียง และมีผู้งดออกเสียง 4 ราย ส่วนแมร์เคิลเองเปิดเผยถึงจุดยืนส่วนตัวในเรื่องนี้ว่า "การแต่งงานควรเป็นเรื่องของชายกับหญิง" เธอจึงแสดงจุดยืนด้วยการโหวตคัดค้าน แต่พรรคร่วมรัฐบาลอนุรักษ์นิยมไม่จำเป็นต้องโหวตตามแนวทางของพรรคแต่ขอให้ใช้ความคิดของตัวเอง

ผลการโหวตสนับสนุนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเช่นนี้ทำให้เยอรมนีไล่ตามประเทศอื่นๆ ในยุโรปในประเด็นนี้ได้ทันอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน โดยที่กฎหมายดังกล่าวนี้จะทำให้คู่เกย์และเลสเบียนได้รับสิทธิตามสถานภาพสมรสเต็มที่รวมถึงสิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูลูกบุญธรรมด้วย

กลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิคนรักเพศเดียวกันหลายร้อยคนพากันแสดงความยินดีหน้าอาคารรัฐสภาบุนเดสถากพร้อมโบกธงสีรุ้ง นักกิจกรรมรายหนึ่งชื่อ ซอเรน ลันด์มันน์กล่าววว่าวันนี้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของเยอรมนี พรรคกรีนของเยอรมนีที่สนับสนุนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันอย่างแข็งขันก็เข้าร่วมการเฉลิมฉลองด้วย

 

การตระหนักถึงบาดแผลจากยุคเผด็จการ

ผลการลงมติในครั้งนี้ยังเป็นผลสะท้อนจากการที่เยอรมนียอมรับประวัติศาสตร์การเหยียดเพศชาวเกย์มาก่อน โดยเมื่อไม่นานมานี้รัฐสภามีมติให้ค่าชดเชยกับชาวเกย์หลายพันคนที่เคยถูกคุมขังจากกฎหมายต่อต้านชาวเกย์ที่เข้มงวดขึ้นในยุคเผด็จการนาซี การลงโทษชาวเกย์ในเยอรมนีเพิ่งจะลดลงเมื่อราวปี 2512 ที่เยอรมนีตะวันตกทำให้การรักเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอีกต่อไป

เยอรมนีให้การรองรับการอยู่ร่วมกันของคนรักเพศเดียวกันแบบการจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil partnerships) มาตั้งแต่ปี 2544 แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่อนุญาตให้มีการแต่งงาน โดยที่การอยู่ร่วมกันแบบคู่ชีวิตจะไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายมากเท่าการแต่งงาน

 

การเดินเกมที่ฉลาดของแมร์เคิล?

ถึงแม้แมร์เคิลจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวแต่เธอก็บอกว่าเธอหวังว่าการผ่านร่างกฎหมายนี้จะทำให้เกิด "สันติภาพและความสอดประสานกันในสังคม" รวมถึงก่อนหน้านี้แมร์เคิบอกว่าเธอมีประสบการณ์ที่ "เปลี่ยนชีวิต" ในเขตเลือกตั้งของเธออย่างการได้ทานอาหารเย็นกับคู่เลสเบียนที่ดูแลเด็กในอุปการะ 8 คน โดยที่บีบีซีตั้งข้อสังเกตว่าแมร์เคิลเป็นคนที่มักจะให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ อย่างระมัดระวัง

นอกจากนี้ในระดับประชาชนยังมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ผ่านแฮชแท็ก #EheFuerAlle (การแต่งงานสำหรับทุกคน) ที่เรียกร้องให้รัฐสภามีการลงมติในเรื่องนี้ ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลโซเชียลเดโมแครต (SPD) ที่เป็นฝ่ายซ้ายกลางมีคะแนนนิยมตามหลังพรรคคริสเตียนเดโมแครต (CDU) ของแมร์เคิลอยู่ก็เรียกร้องให้มีการลงมติในเรื่องนี้โดยเร็วซึ่งบีบีซีมองว่าเพื่อเป็นการเรียกคะแนนนิยม ประเทศเยอรมนีเองก็กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้

บีบีซีตั้งข้อสังเกตอีกว่าพรรคการเมืองหลายพรรคในเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นพรคซ้ายจัด พรรคกรีน พรรคสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ ต่างก็สนับสนุนกฎหมายการแต่งงานอย่างเท่าเทียมกันทุกเพศ มีแต่พรรคฝ่ายขวาเอดีเอฟกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมใน CDU ที่ต่อต้าน รวมถึงพรรคน้องของ CDU ในรัฐบาวาเรียอย่างคริสเตียนโซเชียลยูเนียน (CSU) ที่ต่อต้านด้วยเช่นกัน ขณะที่จากการสำรวจประชาชนพบว่าส่วนใหญ่ในเยอรมนีร้อยละ 83 ให้การสนับสนุนการแต่งงานของคนทุกเพศ

เจนนี ฮิลล์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีวิเคราะห์ว่านี่อาจจะเป็นการเดินเกมที่ฉลาดของแมร์เคิลเอง ในขณะที่เธอแสดงท่าทีต่อสื่อว่าเธอต่อต้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันซึ่งดูเป็นการเอาใจสายอนุรักษ์นิยมในพรรคของเธอเองที่เธอต้องการเสียงสนับสนุนจากพวกเขาในการเลือกตั้งปีนี้ ขณะเดียวกันเธอก็อนุญาตให้มีการลงมติจนฝ่ายเสรีนิยมเป็นฝ่ายชนะเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตนเองในหมู่ประชาชนว่าเป็นผู้คุ้มครองคุณค่าแบบเสรีนิยมไปพร้อมๆ กัน และอาจจะเป็นการไม่ให้มีคนยกเรื่องนี้มาโจมตีเธอในภายหลังได้

 

เรียบเรียงจาก

Merkel: Gay marriage could get 'question of conscience' vote, ABC News, 26-06-2017

Germany gay marriage approved by MPs in snap vote, BBC, 30-06-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.รพ.พรานกระต่ายชี้แยกเงินเดือนจากงบรายหัว รพ.ต่างๆ ปรับตัวจนไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว

Posted: 30 Jun 2017 12:14 PM PDT

ปมแก้บัตรทอง ผอ.รพ.พรานกระต่าย กำแพงเพชร ชี้แยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวจะกระทบกับโรงพยาบาลที่จ้างบุคลากรนอกระบบงบประมาณจำนวนมาก ย้ำตลอด 15 ปีของระบบบัตรทองโรงพยาบาลต่างๆ ปรับตัวไปไกลจนถึงจุดที่ไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว แนะยังมีอีกหลายวิธีบริหารจัดการที่ทำได้

 
30 มิ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ให้ความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในประเด็นเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวว่า การผูกเงินเดือนเข้ากับงบรายหัวเริ่มตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 15 ปีแล้ว ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆได้ปรับตัวไปพอสมควรจนถึงระดับที่ไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว และหากมีการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวจะทำให้เกิดปัญหาทันทีกับโรงพยาบาลที่มีข้าราชการน้อยและมีการจ้างบุคลากรโดยใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก
 
นพ.บัลลังก์ ขยายความว่า ในภาพใหญ่แล้วโรงพยาบาลที่มีข้าราชการมากแต่ประชากร UC น้อยและโรงพยาบาลที่มีข้าราชการน้อยแต่ประชากร UC มาก มี Labour Cost ไม่หนีกัน เพราะหากมีข้าราชการมากก็จะมีการจ้างบุคลากรนอกงบประมาณน้อย แต่ถ้ามีข้าราชการน้อยก็จ้างบุคลากรนอกงบประมาณมาก
 
"โรงพยาบาลที่ประชากร UC เยอะแต่บุคลากรน้อยก็มีเยอะเลยโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ถามว่าเขาทำงานอย่างไร เขาก็จ้างบุคลากรเพิ่มเอง เช่นลูกจ้างชั่วคราว พกส. ก็เอาเงินรายหัวที่ได้เยอะกว่าที่อื่นเนื่องจากเงินเดือนมันน้อยมาจ่าย เพราะฉะนั้นภาพใหญ่สถานการณ์การเงินไม่หนีกัน ถ้าถามว่าสมควรแยกหรือไม่แยกเงินเดือน มันมี 2 มุมเสมอ ถ้าผมจ้างนอกงบประมาณเยอะ ผมก็ตอบว่าไม่ควรแยกเพราะถ้าแยกแล้วจะเกิดปัญหาทันที ลูกน้องที่จ้างนอกงบประมาณจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล"นพ.บัลลังก์ กล่าว
 
นพ.บัลลังก์ กล่าวอีกว่า นอกจากการแยกเงินเดือนแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นๆในการปรับการบริหารจัดการ เช่น การจัดการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งการมีกรรมการ 7x7 การบัฟเฟอร์ การมีค่า K ในการจ่าย คิดว่ามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ถ้ายังไม่มีประสิทธิภาพมากพอก็เพิ่มค่า K เข้าไปอีก หรือหาเหตุผลไปอธิบายกับสำนักงบประมาณเพื่อของบรายหัวเพิ่มขึ้นสำหรับโรงพยาบาลที่มีวิกฤติ ซึ่งสามารถทำเป็นเคสเฉพาะได้ หรือจะใช้งบประมาณของ สธ.ไปช่วยก็ทำได้ หรือจะใช้วิธีช่วยค่าน้ำค่าไฟ Fixed Cost โดยใช้งบอีกก้อนของกระทรวงไปบัฟเฟอร์ก็ได้
 
"หรือโรงพยาบาลที่ประชากร UC น้อยแต่เจ้าหน้าที่มาก ก็ต้องพยายามใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ ไม่จ้างเพิ่มหรือถ้าจ้างเพิ่มก็ควรมีปริมาณงานรองรับ ถ้าพลิกวิกฤติเป็นโอกาสก็สามารถรับส่งต่อในเคสยากๆเพื่อหารายได้ หรือพัฒนาเป็น Excellence Center เพื่อฉีกแนวทางบริการไม่ซ้ำซ้อนกับโรงพยาบาลอื่น หรือกระจายทรัพยากรลงสู่พื้นที่ห่างไกล มันมีวิธีบริหารจัดการ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกแห่งก็ปรับตัวมาตลอด ส่วนปัญหาปลีกย่อยผมคิดว่าค่อยๆแก้ ไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา การแก้จุดหนึ่งแน่นอนว่ามีกลุ่มหนึ่งพอใจ อีกกลุ่มเสียเปรียบ ก็ต้องปรับไปเรื่อยๆสุดท้ายก็บาลานซ์ไปจนได้ และถ้าดูในภาพรวม โรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงเหลือเยอะหรือมีงบประมาณมากๆก็เริ่มลดลง หรือโรงพยาบาลที่ขาดทุดเยอะๆก็เริ่มดีขึ้น ฉะนั้นในภาพใหญ่มันเริ่มไปกันได้แล้ว" นพ.บัลลังก์ กล่าว
 
ขณะเดียวกันในเพจของชมรมแพทย์ชนบท ได้เรียกร้องให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดข้อมูลการจัดสรรงบประมาณนอกเหนือจากงบบัตรทองในส่วนของโรงพยาบาลต่างๆ แต่ให้เปิดเผยการจัดสรรงบประมาณ อีก 2 กองทุน ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข
 
"ไหนๆจะเปิดแล้ว ก็เปิดกันให้หมดขอเรียกร้องให้ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรงบประมาณ อีก 2 กองทุน ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข คือ งบกองทุนคืนสิทธิ์ตามมติ ครม.23 มีนาคม 2553 และ งบแรงงานต่างด้าวที่กันไว้ส่วนกลาง ว่าจัดสรรอย่างไร เอาไปใช้อะไรบ้าง? และต้องจัดการให้เอาขึ้นเวบไซด์ เป็นปัจจุบัน เหมือนงบกองทุนบัตรทอง" นพ.บัลลังก์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มพบ.ยื่นฟ้องแบบกลุ่ม กระทะโคเรียคิง เรียกค่าเสียหาย มากกว่า 1.6 พันล้าน

Posted: 30 Jun 2017 08:17 AM PDT

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ 74 ผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่งถนนรัชดาภิเษก เหตุจำหน่ายสินค้าคุณสมบัติไม่ตรงตามคำโฆษณา เรียกค่าเสียหายมากกว่า 1.6 พันล้าน

30 มิ.ย.2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแจ้งว่าวันนี้ (30 มิ.ย.60) เวลา 13.00 น. ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิฯ สิษฐวัศ ภาคินสกุลพัฒน์ ทนายความที่รับผิดชอบคดีนี้ อรกัลยา พุ่มพึ่ง กัลยทรรศน์ ติ้งหวัง โจทก์ทั้งสอง และตัวแทนผู้บริโภคที่ร่วมดำเนินคดีแบบกลุ่มกระทะโคเรียคิง เดินทางไปยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ต่อศาลแพ่ง เหตุบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระทะยี่ห้อโคเรีย คิง ซึ่งส่งมอบสินค้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามคำโฆษณา พร้อมเรียกค่าเสียหายมากกว่า 1,650 ล้านบาท ขอให้ศาลพิจารณาดำเนินคดีแบบกลุ่มและชดใช้ค่าสินค้าให้กับผู้บริโภคทุกราย

เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สคบ.มีมติว่า บริษัทโฆษณาผิดกฎหมายและสั่งเปรียบเทียบปรับสูงสุด 5 หมื่นบาท จำนวน 2 กรรมเป็นเงิน 1 แสนบาท พร้อมให้โฆษณาแก้ไขและให้คืนเงินคนที่ร้องเรียน แต่ไม่ได้คืนเงินทุกคนที่ซื้อสินค้า การฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action จะช่วยพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ทุกราย เพราะเมื่อศาลมีคำตัดสินแล้ว ผู้บริโภคทุกคนก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกันหมด ทางศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มอบหมายให้สิษฐวัศ ภาคินสกุลพัฒน์ เป็นทนายความผู้รับผิดชอบและติดตามคดีนี้

สิษฐวัศ ภาคินสกุลพัฒน์ ทนายความผู้รับผิดชอบคดี กล่าวว่า การยื่นฟ้องวันนี้ เป็นการฟ้องคดีผู้บริโภค เหตุจำหน่ายสินค้าไม่เป็นไปตามโฆษณา และได้มีการตรวจพิสูจน์คุณสมบัติสินค้าของบริษัทแล้วโดยนักวิชาการและหน่วยงานราชการไม่ได้เป็นไปตามที่มีการโฆษณาจำหน่ายสินค้า เป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยแบ่งกลุ่มผู้บริโภคเป็นสองกลุ่มหลัก ที่ใช้กระทะรุ่นไดมอนด์ และรุ่นโกลด์ และแบ่ง 3 กลุ่มย่อยเป็นผู้บริโภคที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 9,653,400 บาท ให้กับผู้บริโภคจำนวน 74 รายที่ฟ้องคดี และไม่น้อยกว่า 1,650 ล้านบาทกับผู้บริโภคทุกคนที่ซื้อกระทะทั้งสองรุ่นนี้

"ดิฉันซื้อกระทะยี่ห้อโคเรีย คิง รุ่นไดมอนด์ (Diamond Series) ในราคา 3,900 บาท ที่ตัดสินใจซื้อเพราะชื่นชมคุณวู้ดดี้ที่พูดถึงคุณสมบัติของกระทะว่าพิเศษและยังมีของแถมอีกมากมาย ซึ่งในโฆษณาบอกเราว่ากระทะนี้ไม่ต้องใช้น้ำมัน แต่พอนำกระทะไปทำอาหาร เอาเข้าจริงก็ต้องใช้น้ำมันอยู่ดี ไม่เห็นเหมือนกับที่บอกเราในหนังโฆษณาเลย" อรกัลยา พุ่มพึ่ง โจทก์ที่ 1 ผู้เสียหายกระทะโคเรียคิง รุ่นไดมอนด์ กล่าว 

"เหตุผลที่ลุกขึ้นมาร่วมฟ้องคดีเพราะตนเองทำงานคุ้มครองสิทธิอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าถูกเอาเปรียบหรือถูกละเมิดสิทธิ ก็ต้องปกป้องรักษาสิทธิของตนเองและอยากให้ผู้บริโภคท่านอื่นที่ได้รับความเสียหายลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองด้วยกัน" อรกัลยา กล่าว

กัลยทรรศน์ ติ้งหวัง โจทก์ที่ 2 ผู้เสียหายกระทะโคเรียคิง รุ่นโกลด์ กล่าวว่า "ที่บ้านมีร้านอาหาร ไม่ค่อยได้ทำอาหารทานเองที่บ้าน คิดว่าซื้อไว้ทำอาหารเล็กน้อย ซื้อมาในราคา 3,300 บาท แต่เมื่อทราบข่าว ว่ากระทะรุ่นนี้นำเข้ามาราคาเพียง 289 บาท ก็รู้สึกว่าโดนหลอก โดนต้ม เพราะตอนโฆษณาบอกชัดเจนว่าราคา 15,000 บาท คิดว่าเดิมราคาแพงแล้วนำมาขายราคาถูก ยิ่งมีนักวิชาการ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ข่าวกับผู้บริโภคและสาธารณะว่า สินค้าไม่ได้มี 8 ชั้น ไม่ตรงกับที่โฆษณา ไม่มีคุณสมบัติอย่างที่คุย ก็คิดว่าต้องฟ้องไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับรายอื่นๆ ในอนาคต วันนี้มาจากจังหวัดสตูลเพื่อมาฟ้องคดีโดยเฉพาะ อยากเห็นการฟ้องแบบกลุ่ม เพราะหากฟ้องคนเดียวค่าเครื่องบินที่มาฟ้องก็ไม่คุ้มแล้ว"

สาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "เรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคครั้งสำคัญ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อสร้างบรรทัดฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ชัดเจนว่า เป็นปัญหาการขายสินค้าหรือส่งมอบสินค้าที่ไม่เป็นไปตามการโฆษณาของบริษัทฯ คาดการณ์ว่า มีผู้บริโภคที่เสียหายมากกว่า 5 แสนคน หากพิจารณาจากตัวเลขการนำเข้ากระทะมาจำหน่ายไม่น้อยกว่า 1 ล้าน 3 หมื่นใบหรือพิจารณาจากงบโฆษณาอันดับหนึ่งที่มากถึง 1,651 ล้านบาทในปี 2559 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายของแต่ละรายจำนวนไม่มาก ผู้บริโภคไม่คุ้มที่จะดำเนินคดีด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค และมีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีมากกว่าการฟ้องคดีแต่ละรายของผู้บริโภค  มูลนิธิสนับสนุนการเดินหน้าฟ้องคดีแบบกลุ่ม นอกจากนี้ยังไม่มั่นใจว่าบริษัทฯ จะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง ของ สคบ. เพียงใด รวมทั้งถ้าชนะคดีจะสามารถคุ้มครองทุกคนที่ซื้อกระทะได้"

ทั้งนี้ มีผู้เสียหายจำนวน 74 ราย ที่ได้ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มในครั้งนี้ จากจำนวนที่ร้องเรียนกับมูลนิธิฯ 167 รายแต่มีรอส่งเอกสารมอบอำนาจ หลังจากการยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มในวันนี้แล้ว จะรอศาลนัดไต่สวนคำฟ้อง และคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป โดยผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายจากการซื้อกระทะยี่ห้อโคเรียคิงที่เพิ่งทราบข่าว สามารถติดต่อขอร่วมลงชื่อฟ้องคดีเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย 47 ถึงปัจจุบัน กองทุนบัตรทองช่วยบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหาย 51 ล้าน

Posted: 30 Jun 2017 06:46 AM PDT

สปสช.เผยข้อมูลการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นบุคลากรสาธารณสุข เช่น พยาบาล, ผู้ช่วยเหลือคนไข้, แพทย์, เจ้าพนักงานสาธารณสุข, เภสัชกร และคนงาน ที่ได้รับความเสียหายตั้งแต่ปี 47 ถึงปัจจุบัน 51 ล้านบาท

30 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข และผู้รับบริการหรือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย โดยผู้รับบริการมีมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สำหรับในส่วนของผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น เดิมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 18 (4) ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้การคุ้มครองดูแล เนื่องจากที่ผ่านมา มีบุคลากรสาธารณสุขได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข เช่น ติดเชื้อโรคจากผู้ป่วยด้วยเหตุสุดวิสัย การมีระบบช่วยเหลือเบื้องต้นดังกล่าว ก็เพราะบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุข เมื่อมีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ จึงต้องมีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นหลักประกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง ม.ค.2559 มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย 4,570 ราย รวมเป็นเงิน 51,086,850 บาท มีทั้ง พยาบาล, ผู้ช่วยเหลือคนไข้, แพทย์, เจ้าพนักงานสาธารณสุข, เภสัชกร และคนงาน ประเภทความเสียหาย เช่น ติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วย, เข็มตำ, ผู้ป่วยกระทำ, สัมผัสสารคัดหลั่ง, ของมีคมบาด และอุบัติเหตุรถส่งต่อ

โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า สาเหตุที่มีข้อมูลจนถึง ม.ค.59 เนื่องจาก บอร์ด สปสช.ต้องหยุดการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นอันเนื่องมาจากผลการตรวจสอบที่ระบุว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่อนุญาตให้ทำได้ โดยระบุว่าเป็นการดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ ภายหลังต่อมาจึงมีคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.59 ให้ดำเนินการได้จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย เพราะไม่ต้องการให้สร้างผลกระทบกับผู้ให้บริการ ซึ่งหลังจากมีคำสั่งก็มีการส่งคำร้องจากผู้ให้บริการเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามกระบวนการปกติ

ทั้งนี้อัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น มีดังนี้ .กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการ รักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต 240,000-400,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต 100,000-240,000 บาท และ 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาชี้ คำสั่ง คสช. เรื่องปิดเหมืองทองฟื้นฟูถูกใส่เกียร์ว่าง

Posted: 30 Jun 2017 06:39 AM PDT

วงเสวนาวิชาการ ข้อเท็จและความจริง: เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลยครั้งที่ 2 วิเคราะห์สถานการณ์การแก้ปัญหาเหมืองแร่ทองคำภายใต้ กฎหมายแร่ฉบับใหม่ และคำสั่งหัวหน้า คสช. พบ คำสั่งถูกใส่เกียร์ว่าง และไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

29 มิ.ย. 2560 ที่ห้องประชุมพันธุม ดิษยมณฑล ชั้น 2 เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้จัดงานสัมนาวิชาการ "ข้อเท็จและความจริง: เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลยครั้งที่ 2" โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญีปุ่น โดยภายในงานได้มีการนำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องการกรณีเหมืองแร่เมืองเลย ทั้งนี้ในช่วงท้ายของงานได้มีเวที วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ และการแก้ปัญหาพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยมีวิทยากรคือ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม และดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการระบุถึง สถานการณ์การเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนของ ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า ได้ได้รับการตอบรับเช่นการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และถูกฟ้องคดีจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่นำพาสังคมไทยไปสู่คำถามที่ว่า ในกรณีดังกล่าวจะมีการฟื้นฟู และเยียวยากระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร

"ทำไมผมถึงบอกว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ค่อนข้างก้าวหน้า เนื่องจากว่าในความคิด ในกฎหมาย และนโยบายของรัฐที่มีอยู่นี้มันไม่ก้าว เพราะมันไม่บทบัญญัติ หรือกฎหมายฉบับไหนเลยที่อยากจะฟื้นฟูเหมือง แม้กระทั้ง พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ก็ไม่มีบทญัติมาตราไหนที่ชัดเจนว่า จะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเหมือง หรือจะเยียวยาอย่าง จะชดเชยอย่างไร" เลิศศักดิ์กล่าว

เลิศศักดิ์ เห็นว่าสถานการณ์ปัจุบันนี้ ประชาชนมีความก้าวหน้ามากไปกว่ากฎหมายที่บัญญัติไว้ เพราะกฎหมายที่มี หรือนโยบายที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชน แม้จะมีสิ่งที่มีสถานะเป็นกฎหมายคือ คำสั่ง คสช. ฉบับ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ซึ่งมีสาระสำคัญคือการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการเหมืองทองทั้งสองแห่งคือที่ เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย และจังหวัดพิจิตร แต่ในทางปฏิบัติแล้วคำสั่งดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริงเพราะไม่มีกฎหมายปกติวางแนวทางในการดำเนินการต่างๆ ไว้

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปถึงข้อดีของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ว่า ไม่ได้มีแค่สถานะของกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่มีสถานะของความเป็นนโยบายรวมอยู่ด้วย เนื่องจากมีโครงสร้างใหม่ที่อำนาจคณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ออกแบบนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้เห็นแผนที่ทรัพยากรแร่ในประเทศ ว่าพื้นที่ไหนมีแร่ชนิดใดบ้าง และมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด และประชาชนจะรับรู้ว่ารัฐจะมีนโยบายกับแร่ชนิดนั้นๆ และจะนำทรัพยากรแร่ต่างๆ ไปใช้อย่างไร กล่าวคือ คณะกรรมชุดดังกล่าวจะไม่ได้เป็นเพียงแค่คณะกรรมการที่ทำหน้าที่อนุมัติการสำรวจ และอนุญาตการประกอบกิจการเหมืองแร่ แต่เป็นคณะกรรมการที่จะเขียนนโยบายซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เลิศศักดิ์กล่าวมา ยังเป็นเพียงความคิดในเชิงรูปแบบเท่านั้น ต้องรอดูต่อไปว่าในทางปฏิบัติจริงจะมีทิศทางในการดำเนินงานอย่างไรต่อไป

สำหรับส่วนอื่นๆ ของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่นั้น เลิศศักดิ์เห็นว่า ค่อนข้างแย่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งการให้สัมปทานออกเป็น 3 ประเภทคือ เล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อที่หลีกเลี่ยงการทำ EIA สำหรับการขอสัมปทานระดับเล็ก ซึ่งเขาเห็นว่าการจัดประเภทดังกล่าวจะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถแบ่งพื้นที่ขนาดใหญ่ออกเป็นพื้นที่เล็กหลายๆ แปลง เพื่อของสัมปทานโดยไม่ต้องทำรายงาน EIA ประกอบการของสัมปทาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกำหนดระยะห่างของเหมืองและชุมชน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร และการสร้างโรงประกอบโลหะกรรมในเขตเหมืองแร่ กฎหมายใหม่ได้กำหนดว่าไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณารายงาน EIA EHIA อีกต่อไป

"ฉะนั้นมันเลยมีคำถามว่า คำสั่งคสช. ที่บอกว่าให้ปิดและฟื้นฟูเหมือง แต่กฎหมายแร่ กฎหมายปกติ มันไม่แนวทางปฏิบัติเรื่องนี้ คำถามคือจะทำอย่างไร คำสั่ง คสช. เป็นคำสั่งที่ให้ปฏิบัติ แต่เมื่อปฏิบัติจริง หน่วยงานระดับปฏิบัติก็บอกว่าต้องไปดูกฎหมายปกติอีกทีว่ามีกฎหมายใดให้อำนาจหรือแนวทางปฏิบัติไว้บ้าง ซึ่งมันไม่มี และเมื่อไม่มีกฎหมายเที่จะมาใช้อ้างได้ มันก็ทำให้คำสั่ง คสช. มันเป็นหมั่น และพบทางตัน ไม่เป็นไปตามที่สั่ง" เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ เห็นว่าช่องว่างระหว่างคำสั่ง คสช. และกฎหมายปกติ กำลังมีปัญหาในเมื่อไม่มีกฎหมายใดบอกให้ฟื้นฟูเหมือง สิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายก็คือ การปล่อยให้เอกชนทำกิจการเหมืองแร่ทองคำต่อไป และตัวคำสั่ง คสช. เองก็ได้เปิดช่องว่าแม้จะมีการสั่งให้ปิดเหมือง และฟื้นฟู เว้นแต่ว่าในอนาคตคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น และสิ่งที่เห็นในเวลานี้ก็คือการใส่เกียร์ว่างของหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวของกับการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากกฎหมายแร่ จะประกาศใช้ในเดือน ส.ค. 2560 จึงทำให้หลายๆ หน่วยงานรอแนวนโยบายใหม่จาก คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 จะดูมีความก้าวหน้า แต่เมื่อดูคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 31/2560 ที่มีการอนุญาตให้นำที่ดินของ ส.ป.ก. ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้เช่นทำประโยชน์ในเรื่องการทำเหมืองแร่ การขุดเจาะปิโตรเลียม ทำโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์มในที่ดินของ ส.ป.ก. ได้ ซึ่งคำสั่งนี้นำมาซึ่งความสับสนว่าตกลงแล้วจะฟื้นฟูเหมืองแร่ หรือจะเปิดให้มีการทำเหมืองแร่ได้โดยง่ายกันแน่

ด้านดาวัลย์ ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ในข้อที่ 3 ระบุว่า ให้หยุดการให้ประทานบัตร แต่ผู้ประกอบการยังมีหน้าที่ในการฟื้นฟู ซึ่งหมายความว่าบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการีหน้าที่ในการฟื้นฟู ตามมาตราที่กำหนดไว้ ไม่ว่าพื้นที่ประทานบัตรจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตาม บริษัทที่ประกอบกิจการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบฟื้นฟูตามรายงาน EIA ส่วนในข้อที่ 4 ได้ระบุให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่กำกับดูแลการฟื้นฟูตาม ขณะที่ข้อ 2 ระบุให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ในข้อ 5 ระบุให้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยข้อเท็จจริง และปัญหา พร้อมทั้งเสนอมาตราการ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองทองคำ และโรงประกอบโลหะกรรมแร่ทองคำ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับแผนการฟื้นฟูของเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยที่ได้มีการยืนให้ กพร. เมื่อปี 2556 นั้น ดาวัลย์เห็นว่า มีลักษณะที่งบประมาณค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามต่อไปว่า ใครเป็นผู้รับรองได้ว่าแผนการฟื้นฟูที่มีการยื่นนั่นจะสามารถทำได้จริง ภายใต้งบประมาณที่มีการตั้งไว้ในจำนวนน้อยเกินไป

ส่วนการยื่นแผนฟื้นฟูในปี 2560 ดาวัลย์ ระบุว่าในแผนดังกล่าว กลับมีการปรากฎขึ้นของบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เนื่องจากการ EIA นั้นไม่ได้ระบุไว้ ซึ่งเมื่อดูจากแผนที่จะเห็นได้ว่าขุมเหมือง ได้ถูกเปลี่ยนเป็นบ่อกักเก็กกากแร่ ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ ใครเป็นผู้อนุญาตว่าสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ ทั้งนี้ดาวัลย์ ชี้ให้เห็นว่า การฟื้นฟูนั้นควรจะมีการฟื้นฟูในหลายระดับ และหลายจุด แต่นอกจากแผนการฟื้นฟูที่มีอยู่จะไม่ครอบคลุมแล้ว สิ่งที่ยังไม่มีให้เห็นอย่างชัดเจนคือ แผนการฟื้นฟูด้านสุขภาพ

ด้านสำนักข่าว Green NEWS ได้รายงานผลการศึกษาว่า อัครพล ตีบไธสง เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยตอนหนึ่งว่า จากผลศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักในตะกอนดินของพื้นที่รอบเหมืองทองคำ จ.เลย บริเวณร่องห้วยเหล็ก ห้วยผุก ลำน้ำฮวย และภูซำป่าบอน จำนวน 20 ตัวอย่าง ในปี 2559 พบว่ามีโลหะหนักปนเปื้อนที่สำคัญคือ สารหนู แคดเมียม และทองแดง โดยเฉพาะในบริเวณห้วยเหล็กใต้บ่อเก็บกากแร่ ทั้งฝั่งภูเหล็กและฝั่งตรงข้าม

ทั้งนี้ เมื่อนำผลการศึกษามาประเมินระบบความเสี่ยงทางสุขภาพ พบว่าสารหนูมีค่าความเสี่ยงหากเด็กได้รับอยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้และอาจมีปัจจัยเสี่ยง ส่วนในผู้ใหญ่นั้นอยู่ในระดับเฝ้าระวัง ขณะที่สารโลหะหนักประเภทแคดเมียนในเด็กและผู้ใหญ่ มีระดับความเสี่ยงทางสุขภาพอยู่ในระดับไม่ปกติ และมีความรุนแรง

อัฏฐพร ฤทธิชาติ ฝ่ายเทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ในส่วนของการสื่อสารความเสี่ยงของหน่วยงามรัฐแก่ประชาชนในพื้นที่ พบว่ามี 4 ประเด็น คือ 1.ไม่มีการรายงานผลการดำเนินโครงการเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ 2.ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเข้าไม่ถึงข้อมูลผลตรวจสุขภาพของตัวเอง 3.ขาดการวิจัยและการบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างอาการเจ็บป่วยกับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และ 4.ยังไม่มีมาตรการการเยียวยาและฟื้นฟูสุขภาพของประชาชนที่ชัดเจน

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย พบว่าได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อปี 2541 แต่ต่อมาเกิดข้อเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่ให้มีการตรวจสอบ จนพบว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอีไอเอ เช่น ปล่อยให้มีไซยาไนด์เจือปนในกากแร่สูงเกินกว่าค่าที่กำหนด เป็นต้น

ด้าน วิมลิน แกล้วทนง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญพิเศษ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คพ.ได้มีการร่างกรอบแผนปฏิบัติการลดและป้องกันการปนเปื้อนในพื้นทีลุ่มน้ำเลย บริเวณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยประเด็นสำคัญในการดำเนินงานภายใต้แผนฯ คือการควบคุมการแพร่กระจายมลพิษจากแหล่งกำเนิด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การถ่ายถอดความรู้ในการจัดการความเสี่ยง การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการแก้ปัญหา รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ศ.ทาคาชิ มิยากิตะ ผู้อำนวยการภาคสนาม ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทิศทางและการดำเนินงานที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ อ.วังสะพุง คือการนำทรัพยากรธรรมชาติและภูปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยทางศูนย์วิจัยฯ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับชุมชนในหมู่บ้าน บุคคลภายนอกทั้งในและต่างประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นทีอัดไม่ให้ค่าคำแถลง AIC ระบุ กูเกิล เฟซบุ๊กอยากรู้อะไรมาถามเอง

Posted: 30 Jun 2017 05:56 AM PDT

นทีอัด AIC ไม่ให้ค่าเพราะเป็นแค่ล็อบบี้ยิสต์ ถ้ากูเกิล เฟซบุ๊กสงสัยอะไรมาถามเอาเอง กำลังแปลแถลงผู้ประกอบการสิงคโปร์เรื่อง AIC ไปจุ้นจ้าน เสร็จแล้วจะส่งผ่านไลน์ กสทช.ให้ประชาชนอ่าน หากพ้น 22 ก.ค. นี้ยังไม่มาลงทะเบียนจะถือเป็นประกอบการผิดกฎหมาย จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งจำทั้งปรับ ปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาทตลอดเวลาฝ่าฝืน

พันเอก นที ศุกลรัตน์ (ที่มา:nbtc.go.th)

30 มิ.ย. 2560 สืบเนื่องจาก Asia Internet Coalition หรือ AIC เป็นองค์กรความร่วมมือ ที่มีสมาชิกคือ Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, LINE และ Rakuten ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2560 ต่อพลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต่อกฎระเบียบที่ กสทช. ออกมาเพื่อควบคุม OTT โดยระบุถึงปัญหาด้านความโปร่งใสของระเบียบ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ การนำระเบียบ ข้อบังคับมาใช้จริงท่ามกลางความคลุมเครืออาจทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้บริโภคและผู้ผลิตเนื้อหาในไทย เป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมและฉุดรั้งความตั้งใจของรัฐบาลที่จะเป็น Thailand 4.0 ทั้งยังไม่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

วันนี้ สำนักข่าว พีพีทีวี รายงานว่า พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. ออกมาให้แถลงการณ์ว่า กสทช.จะไม่ให้ค่ากับ AIC ซึ่งเป็นเหมือนล็อบบี้ยีสต์ ซึ่งเป็นเพียงตัวแทน และใช้รูปแบบนี้กับทุกประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

นที ระบุว่า หากกูเกิลและเฟซบุ๊กมีข้อสังสัยเกี่ยวกับกฎ กติกาหรือมีความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับ OTT ให้มาถามตน โดยตนอยากให้มาพบกันในฐานะบริษัทของกูเกิลและเฟซบุ๊ก อย่าใช้วิธีการล็อบบี้ยิสต์ ซึ่งในฐานะองค์กรกำกับดูแลพร้อมยินดีต้อนรับเสมอ

รองประธานกรรมการ กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ของ กสทช. แปลความเห็นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไอซีทีของสิงคโปร์ที่เป็นความเห็นกรณี AIC เข้าไปจุ้นจ้านกับการกำกับดูแลขององค์กรภายในประเทศ เมื่อแปลเสร็จแล้วจะส่งผ่านแอพพลิเคชั่น ของกสทช. Line Ofificial Account (@NBTC) ให้ประชาชนได้อ่าน
 
พันเอก ดร.นที ย้ำว่า เรื่องการกำกับดูแล OTT เป็นเรื่องที่มีผู้เสียประโยชน์จึงออกมาโวยวาย ถ้าไม่เสียประโยชน์คงไม่ออกมาโวยวาย

"ผมไม่ให้ค่า ไม่ให้ความสำคัญกับ AIC เพราะเป็นล็อบบี้ยีสต์ ซึ่งในองค์กรนี้มีไลน์เป็นของเอเชียบริษัทเดียว ที่เหลือเป็นบริษัทของอเมริกา" นที กล่าว

ทั้งนี้ หากพ้นวันที่ 22 ก.ค. 2560 กูเกิล เฟซบุ๊ก และเน็ตฟลิกซ์ ยังไม่แจ้งเข้าระบบ OTT จะถือเป็นการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน ก่อนหน้านี้ กสทช. ขอความร่วมมือกับสมาคมมีเดียเอเยนซีและสื่อดิจิทัลแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ระงับโฆษณาทุกประเภทบนเครือข่ายหรือแพลตฟอร์มที่ไม่แจ้งเข้าสู่ระบบ OTT 

ที่มา:พีพีทีวี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

15 ภาคปชช.ชี้รัฐฟังความเห็นร่าง ก.ม.แค่ทำตามแบบฟอร์ม-ขัดรธน.-ขู่ฟ้องศาลถอนมติ ครม.

Posted: 30 Jun 2017 05:32 AM PDT

15 องค์กรภาคประชาสังคมร่วมออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากการออกกฎหมายตามมาตรา 77 ชี้ที่ผ่านมาการเร่งดำเนินการรับฟังเพียงการทำตามแบบฟอร์ม ส่อขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 77

30 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า 15 เครือข่ายองค์ภาคประชาสังคมร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แถลงการณ์ฉบับนี้รวบรวมและสรุปความคิดเห็นจากนักวิชาการ และภาคประชาชน ในงานเสวนา "การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย กับ กรณีการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77" ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (แฟ้มภาพ)

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ระบุว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ออกเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 กำหนดแนวทางการประเมินผลกระทบของกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็นไว้แค่ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ อย่างน้อย 15 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับฟังประชาชนที่ต่ำมาก ทำให้การรับฟังความคิดเห็นกลายเป็นแค่เพียงพิธีกรรม
 
"ที่ผ่านมา การเร่งดำเนินการร่างกฎหมายหลายฉบับที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมากเป็นไปอย่างรวดเร็ว การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงการทำตามแบบฟอร์มตามมติคณะรับมนตรีและไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ" สุรชัย กล่าว

สุรชัย ยกตัวอย่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่า รัฐไม่สนใจการรับฟังความเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย การเปิดรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์จะเริ่มต้นเมื่อรัฐร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อย นอกจากนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่สะดวก ด้วยระยะเวลาจำกัดเพียง 15 วัน ทำให้เสียงของพวกเขาต้องตกหล่นไป 

หรือ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ที่จะส่งผลผูกพันกับอนาคตของคนไทยทั้งประเทศไปอีก 20 ปี ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีประชาชนมาแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ 8 คน เท่านั้น

ทั้งนี้ แถลงการณ์ขององค์กรภาคประชาชนต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 มีข้อเรียกร้องต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสองแนวทาง

ในระยะสั้น ให้ชะลอร่างกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และนำมารับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านเสียก่อน ส่วนร่างกฎหมายใหม่ในทุกลำดับชั้น รวมทั้งคำสั่งตามม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หากไม่เช่นนั้น ภาคประชาชนอาจจะหาช่องใช้สิทธิทางศาลคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองมากขึ้น 

ในระยะยาว ขอให้สำนักงานคณะกฤษฎีกาเปิดเผย ร่างพ.ร.บ.กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกฎหมาย ที่กำลังดำเนินการยกร่างกันอยู่ให้ประชาชนได้รับทราบถึงเนื้อหา และเปิดพื้นที่ที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างและแสดงความคิดเห็น" นายสุรชัย กล่าว

15 สำหรับองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมาย ตามมาตรา77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 อาทิ มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฯลฯ

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์ 15 องค์กรภาคประชาสังคม เรื่อง แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560

ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน โดยต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ตลอดเกือบสามเดือนหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ข้อเท็จจริงพบว่าการดำเนินการของภาครัฐตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการทำตามแบบฟอร์มตามมติคณะรัฐมนตรีและไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการรับฟังความคิดเห็นไว้ว่า ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ผลปรากฎว่าหน่วยรัฐจำนวนมากเร่งดำเนินการนำร่างพ.ร.บ.ของตนเองเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่

หลักเกณฑ์ดังกล่าวส่งผลต่อประชาชน เช่น การเปิดรับฟังความคิดเห็นของร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีวิถีชีวิตร่วมกับพื้นที่ป่า แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบกลับไม่สามารถมีปากมีเสียงกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ เนื่องจากขาดการรับฟังความเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยรัฐร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น และช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบ หรือ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ที่จะส่งผลผูกพันกับอนาคตของคนไทยทั้งประเทศไปอีก 20 ปี ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 8 คน ผ่านช่องทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นของภาครัฐเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น 

ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเพียงประเด็นหนึ่งของมติคณะรัฐมนตรีที่สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ทั้งนี้ยังมีประเด็นอื่นอีก เช่น หน่วยงานไม่มีการสรุปเนื้อหาของร่างกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจโดยง่าย ไม่บอกวัตถุประสงค์ในการยกร่างให้ชัด หรือการไม่มีหน่วยงานกลางในการดูแลควบคุมคุณภาพในการออกกฎหมาย
.
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้กระบวนการออกกฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีความโปร่งใส่ และให้ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองมากขึ้น เครือข่ายภาคประชาชนจึงมีข้อเรียกร้องต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในสองแนวทาง ดังนี้

ในระยะสั้น

1. ในทุกขั้นตอนของกระบวนการร่างกฎหมายหน่วยงานรัฐ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่าร่างกฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาของตนเองมีอะไรบ้าง การดำเนินการเป็นอย่างไร หรือถ้ากำลังมีแนวคิดในการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ก็ต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า

2. ร่างกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้ดำเนินการไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้ชะลอการร่างกฎหมาย และให้นำมาประเมินผลกระทบตามหลักการสากลและรับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านเสียก่อน

3. ร่างกฎหมายใหม่หลังจากนี้ในทุกลำดับชั้น รวมทั้งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามม.44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ สิทธิเสรีภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

4. ให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมาตรฐานสากล ซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย มีสถาบันวิชาการและนักวิชาการไทย ได้ศึกษาไว้เป็นตัวอย่างที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว

5. หากไม่มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ภาคประชาชนอาจจะหาช่องทางในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองมากขึ้น

ในระยะยาว

1. ให้สำนักงานคณะกฤษฎีกาเปิดเผย ร่างพ.ร.บ.กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกฎหมาย ให้ประชาชนได้รับทราบถึงเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

2. ให้มีการเปิดพื้นที่และช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายและแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

3. ให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ วางอยู่บนหลักการทางวิชาการและข้อเท็จจริงทางสังคมที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

องค์กรภาคประสังคมตามรายชื่อแนบท้ายจึงข้อเรียกร้องต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำเนินการออกกฎหมายที่เกิดขึ้นลดการเกิดผลกระทบต่อประชาชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมได้แสดงความเห็นในร่างกฎหมายที่จะกระทบต่ออนาคตของตนเอง และให้การออกกฎหมายเป็นไปตามมาตรฐานสากล และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

รายชื่อองค์กร

1. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 
2. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 
3. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
5. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
6. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
7. กลุ่มศึกษาตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
8. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
9. เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคใต้
10. สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออกและเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคตะวันออก
11. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน 
12. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
13. สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ดและศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด
14. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
15. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สะพานข้ามแม่น้ำบริษัทจีนสร้างในเคนยาถล่ม เจ็บ 28 ราย

Posted: 30 Jun 2017 05:06 AM PDT

สร้างโดยบริษัทลูกของบริษัททำทางรถไฟ อ้างการก่อสร้างตรงตามมาตรฐานแล้ว บริษัท รัฐบาลรับเยียวยาคนเจ็บ รัฐบาลเคนยาสั่งหยุดก่อสร้างสะพานเจ้ากรรม ฝ่ายค้านซัดรัฐบาลคอร์รัปชัน เร่งเอาผลงานก่อนเลือกตั้ง ถล่มที่แอฟริกาหนาวถึงอาเซียน พญามังกรหน้าตักใหญ่หวั่นกู้เงินจีนทำพิษหากไม่มีปัญญาใช้คืน

สะพานซิกิรีถล่ม (ที่มา:twitter/D.I.K.E.M.B.E)

สำนักข่าว เดอะ สตาร์ ของเคนยา รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา สะพานซิกิรี ที่เชื่อมเมืองบันยาลาตอนเหนือและตอนใต้ในเขตปกครองบูเซีย บริเวณทิศตะวันตกของเคนยา ความยาว 100 เมตร ถล่มลงในขณะที่ก่อสร้าง มีผู้บาดเจ็บ 28 ราย ส่วนมากเป็นคนงาน

สะพานซิกิรีเป็นโครงการของรัฐบาลเคนยา ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทไชน่า โอเวอร์ซี เอ็นจิเนียริง (COVEC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทไชนา เรลเวย์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. นี้ โดยทางบริษัทยังไม่แสดงความรับผิดชอบในเหตุสะพานถล่ม แต่จะส่งทีมลงไปสำรวจหาสาเหตุ และรับปากว่าจะเยียวยาผู้บาดเจ็บ

"ในส่วนงานวิศวกรรมของเรานับว่าเป็นเรื่องผิดปรกติ เพราะว่าการดำเนินงานต้องตามเกณฑ์มาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ พวกเราจะไปสำรวจถึงสาเหตุและเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ" เจโรม อชูฮา ผู้จัดการโครงการ กล่าว จากรายงานของสำนักข่าว แคปิตัล นิวส์ ของเคนยา

ในขณะที่อาบาบู นัมวัมบา สมาชิกสภานิติบัญญัติประจำท้องที่กล่าวว่า รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ทั้งยังระบุว่าถึงสาเหตุของการถล่มนั้นอาจเกิดจากอะไรก็ได้ รวมถึงความพยายามก่อวินาศกรรม เนื่องจากความสภาพการเมืองที่เลวร้าย

"เรื่องการก่อวินาศกรรมหรือเล่นนอกเกมไม่สามารถตัดออกไปจากความเป็นไปได้ เพราะสภาพเลวร้ายของการเมืองไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน" นัมวัมบา กล่าว

เหตุสะพานถล่มทำให้รัฐบาลเคนยาสั่งพักการก่อสร้างไว้ก่อน สะพานดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำเอ็นซอยอา หลังมีเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือแคนูล่มขณะข้ามแม่น้ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนเมื่อปี 2557 และเหตุการณ์สะพานถล่มเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตา จากพรรคจูบิลี มาลงพื้นที่ดูสะพานเพียง 12 วัน อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลได้จัดให้มีทีมสืบสวนลงหาสาเหตุของการถล่มแล้ว

 

 

ในขณะที่ เรลา โอดิงกา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาเคนยัตตาและพรรคว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเหตุสะพานถล่มจากการคอร์รัปชัน การดำเนินงานอย่างไม่เป็นมืออาชีพ โดยหวังเร่งโครงการให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 8 ส.ค. ที่จะถึง และถือเป็นเรื่องดีที่สะพานถล่มก่อนที่จะเปิดใช้ ไม่เช่นนั้นอาจจะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตอีกมากมาย

"(พรรค)จูบิลีควรได้รับการกล่าวโทษสำหรับความไม่เป็นมืออาชีพ เงินจำนวนมากไหลเข้าสู่กระเป๋าของคนหลายคน" "เป็นเรื่องโชคดีของพวกเราที่สะพานถล่มก่อนที่จะเปิดใช้งาน ไม่เช่นนั้นเราอาจจะสูญเสียชีวิตคนจำนวนมาก" โอดิงกา กล่าว

พญามังกรหน้าตักใหญ่ ใครๆ ก็เข้าหา หวั่นสัมพันธ์แนบชิดจีนทำพิษหากกู้เงินแล้วไม่มีคืน

จีนมีบทบาทในฐานะการเป็นผู้พัฒนาและผู้ลงทุนในระดับโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการลงทุนของจีนในต่างประเทศอย่างแข็งขันในหลายภาคส่วนทั่วโลก สำหรับในไทย ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่า ปี 2557 มีโครงการการลงทุนจากจีนในไทยถึง 74 โครงการ ได้รับอนุมัติแล้ว 40 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งหมด 33,707 ล้านบาท (ดูเอกสารตัวเต็ม)

การที่จีนให้ความสำคัญกับนโยบาย Belt Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ของจีน ทำให้บทบาททางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพิ่มมากขึ้นทั้งที่ยังไม่มีรูปแบบนโยบายที่ชัดเจน แต่ประเทศในอาเซียนก็เข้าหาแหล่งเงินกู้และเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างภายในจากจีนอย่างรวดเร็ว มีโครงการพัฒนาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงระหว่างลาว-จีน โรงไฟฟ้าพลังน้ำในกัมพูชา รถไฟความเร็วสูงแห่งแรกในอินโดนีเซียระหว่างเมืองจาการ์ตา-บันดุง  และแน่นอน โครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย

อย่างไรก็ดี ภายหลังภาพความหน้าตักใหญ่ของจีนยังมีอีกหลายโครงการที่ต้องพับหรืองดไปก่อน อันเป็นผลมาจากความล่าช้าในระบบราชการ การคอร์รัปชันและความล้มเหลวในการหาทุนรอนมาดำเนินโครงการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากบริษัทไชน่า เรลเวย์ เอนจิเนียริง คอร์ปอเรชัน (CREC) ไม่สามารถบรรลุข้อบังคับทางการเงินได้ รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจพักโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงจาการ์ตากับเมืองบันดุงเนื่องจากยังมีปัญหาด้านการเงินและที่ดิน โครงการพัฒนาต่างๆ ในอาเซียนยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่สำคัญก็คือ โครงการลงทุนของจีนจะเป็นจริงดังวาดหวังไว้ขนาดไหน เรื่อยมาจนถึงปี 2557 โครงการลงทุนของจีนในอินโดนีเซียนั้นเพิ่งเกิดขึ้นจริงเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ส่วนในฟิลิปปินส์ที่จีนเสนอว่าจะให้เงินสนับสนุนถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ยังได้รับเงินเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตขึ้นเถลิงอำนาจเมื่อปี 2559 นอกจากนั้น อิทธิพลและความสัมพันธ์ที่จีนมีต่ออาเซียนนั้นอิงอยู่กับการค้าและการลงทุนอยู่แต่เดิม ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น อิทธิพลของจีนในภูมิภาคก็ลดลงตาม แต่การรับเงินกู้และเงินสนับสนุนจากจีนทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า ถ้าหากประเทศที่กู้เงินจีนไม่สามารถจ่ายคืนได้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จีนจะใช้ปัจจัยดังกล่าวในการต่อรองกับประเทศในอาเซียนหรือไม่

แปลและเรียบเรียงจาก

Shanghaiist, Bridge in Kenya being built by Chinese company collapses 11 days after president's visit, 29 Jun. 2017

The Star, State suspends construction of collapsed Sigiri bridge, orders probe, 26 Jun. 2017

The Star, Sh1.2 billion Budalang'i Sigiri bridge collapses days after Uhuru inspection, 26 Jun. 2017

Capital News, Chinese firm to compensate victims of Sigiri bridge collapse, 27 Jun. 2017

The Diplomat, China's Southeast Asia Gambit, 31 May 2017

BOI, FDI by country in 2014, 28 Jan. 2015

 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมชาย' แถลงปิดคดีสลายพันธมิตรฯ 51 ระบุมอบ พล.อ.ชวลิต กำกับดูแลร่วมกับตำรวจ

Posted: 30 Jun 2017 04:36 AM PDT

'สมชาย' แถลงปิดคดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 51 ย้ำช่วงเกิดเหตุไม่ได้มีการกำชับคำสั่งใดเป็นพิเศษ ระบุมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต กำกับดูแลร่วมกับตำรวจ ได้สั่งห้ามใช้แก๊สน้ำตา ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคุมสถานการณ์อย่างละมุนละม่อม ไม่ให้เกิดความเสียหาย นัดฟังคำพิพากษา 2 ส.ค.นี้

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ www.ptp.or.th

30 มิ.ย. 2560 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แจ้งวัฒนะ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาแถลงปิดคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 โดย สมชาย กล่าวภายหลังด้วยว่า  การต่อสู้ตามขั้นตอนปกติ เพราะเชื่อมั่นว่าตนไม่ผิด ส่วนการสืบพยานดำเนินไปอย่างเรียบร้อย เพราะทีมกฎหมายทำงานเต็มที่ ท้ายสุดการวินิจฉัยเป็นอำนาจของศาล ขอยืนยันว่ากระบวนการดำเนินไปตามปกติ ไม่มีวิธีใดแตกต่างจากคดีอื่นเป็นพิเศษ ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายตนแสดงความบริสุทธิ์ตามพยานหลักฐาน และเชื่อมั่นในคำตัดสินของศาล ที่นัดพิพากษาในวันที่  2 ส.ค. นี้

รายงานระบุด้วยว่า หลังการไต่สวนพยานจำนวน 5 ปาก เสร็จสิ้น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อศาล ในคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทย์ยื่นฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 โดยได้ขอความเป็นธรรมต่อศาล ตนไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่ถูกกล่าวหา และไม่เคยคิดร้ายหรือเลือกปฏิบัติ ไม่มีคำสั่งใดที่ละเมิดต่อกฏหมายและสั่งให้สลายการชุมนุม

สมชาย ยังชี้แจงถึงเหตุการณ์ในวันที่  6-7 ต.ค. 2551 ว่า ได้เรียกประชุม  ครม. เพื่อประเมินสถานการณ์ในการเตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เนื่องจากประธานรัฐสภา ระบุว่าไม่สามารถเลื่อนวันหรือเปลี่ยนสถานที่แถลงนโยบายได้  โดยไม่ได้มีการกำชับคำสั่งใดเป็นพิเศษ แต่ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี กำชับดูแลเหตุการณ์ในขณะนั้น ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และระหว่างปฏิบัติงานได้สั่งห้ามใช้แก๊สน้ำตา ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาควบคุมสถานการณ์อย่างละมุนละม่อม  เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนไม่ได้รับรายงาน เนื่องจากการดูแลความเรียบร้อยเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของตำรวจ

สมชาย กล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. 51 ในช่วงเกิดสถานการณ์ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้สั่งการใด ๆ ทั้งสิ้น และหลังแถลงนโยบายเสร็จได้เดินไปกองบัญชาการกองทัพไทย ตนทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และรับราชการมาหลายปี เป็นทั้งตุลาการ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ไม่เคยมุ่งร้ายต่อฝ่ายใด มีแต่ทำงานด้วยความประนีประนอม ซึ่งเกิดเหตุการณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ต้องดูแลประชาชนทุกคนไม่คิดทำร้ายคนไทยด้วยกัน

ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2 ส.ค. เวลา 09.30 น. พร้อมกำชับจำเลยที่ 2  พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ให้มาฟังคำพิพากษาตามนัด ทั้งนี้การที่ศาลนัดฟังคำตัดสินเกิน 7 วัน เนื่องจากมีพยานและเอกสารจำนวนมากที่ต้องพิจารณา

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทย

Posted: 30 Jun 2017 03:56 AM PDT



ข่าวทีวีเมื่อเร็วๆ นี้บอกว่า มีความเห็นแย้งกันในสภาตรายางของ คสช. ว่า ควรอั้นเงินบริจาคพรรคการเมืองไว้เท่าไรดี ระหว่างเรือนหมื่นกับเรือนแสน

ผมเข้าใจว่าความคิดของคนที่ คสช. เลือกให้เข้ามาอยู่ในสภานี้ก็คือ หากไม่อั้นจำนวนเงินบริจาคไว้ นายทุนใหญ่ก็อาจใช้อำนาจเงินเอาพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือวางนโยบายสาธารณะให้ตนได้เปรียบฝ่ายเดียว

การทำให้ทุกฝ่ายทุกกลุ่มมีอำนาจทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันนั้นเป็นเรื่องยากมาก กฎหมายอย่างเดียวไม่เคยทำได้สำเร็จ เพราะการบริจาคทางการเมืองเป็นสิ่งที่ทั้งฝ่ายให้และฝ่ายรับต่างช่วยกันปิดบังมิให้จับได้เป็นธรรมดา ในประเทศที่เศรษฐีเลี่ยงภาษีเป็นปรกติเช่นไทย กฎหมายจำกัดจำนวนเงินบริจาคยิ่งมีอานุภาพน้อยลงไป

กติกาที่สำคัญกว่าการอั้นจำนวนเงินคือบังคับให้พรรคการเมืองต้องประกาศให้สาธารณชนรับรู้ (ซึ่งก็เลี่ยงได้อีกนั่นแหละ แต่ฝ่ายรับเป็นผู้รับผิดชอบต่อกฎหมายฝ่ายเดียว ฝ่ายให้ไม่ต้องรับผิดชอบ ฉะนั้น หากถูกสอบสวน ฝ่ายให้ย่อมรักษาตัวด้วยการยอมเปิดเผยหลักฐานง่ายกว่า) ข้อกำหนดแบบนี้คือการดึงเอาพลังทางสังคมเข้ามาตรวจสอบการบริจาคทางการเมือง มีเหตุให้สาธารณชนสงสัยมาแต่ต้นว่า นโยบายของพรรคการเมืองอาจเอื้อต่อผู้บริจาคอย่างไม่เป็นธรรมต่อส่วนรวม

ไม่ได้ผลเต็มร้อยหรอกครับ เพราะสังคมอาจวิเคราะห์ไม่ออกว่า นโยบายเอื้อต่อผลประโยชน์ของธุรกิจนั้นๆ อย่างไร หรือร้ายไปกว่านั้น คือสังคมลืมไปแล้วว่า ธุรกิจนั้นๆ ได้บริจาคช่วยพรรคการเมืองมาเท่าไร

แต่เหตุแห่งความล้มเหลวที่สำคัญกว่านั้นก็คือ โดยเนื้อแท้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองหรือนักการเมืองกับคนในสังคมก็คือการแลกเปลี่ยน แม้แต่นักการเมืองที่ใช้อาวุธเข้ามาถืออำนาจ ก็หนีไม่พ้นเนื้อแท้ของการเมืองในเรื่องการแลกเปลี่ยนไปได้

การแลกเปลี่ยนทางการเมืองในอุดมคติก็คือ แลกเสียงสนับสนุนกับนโยบายที่ผู้สนับสนุนได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างถ่องแท้แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและตนเองแน่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการแลกเปลี่ยนที่บริสุทธิ์อย่างนี้ที่ไหนในโลก มันมีการแลกเปลี่ยนอย่างอื่นแฝงอยู่ในการแลกเปลี่ยนตามอุดมคติเสมอ มากบ้างน้อยบ้าง ส่วนใหญ่แล้วก็มากกว่าการแลกเปลี่ยนตามอุดมคติทุกที

ในการเมืองไทย มักพูดกันเสมอว่าการแลกเปลี่ยนที่สำคัญและเป็นสัดส่วนที่มากกว่ามากในการแลกเปลี่ยนทางการเมือง คือการอุปถัมภ์หรือความความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

ผมจึงอยากชวนให้เราพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างละเอียดขึ้นหน่อย

ความเข้าใจทั่วไปมีว่าความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรขอรับความอุปถัมภ์จากคนที่เข้าถึง ร่วมกันสถาปนาความสัมพันธ์ในเชิงแลกเปลี่ยนระหว่างกัน อันนั้นก็ใช่ แต่ความสัมพันธ์เช่นนี้ดูจะเป็นสากล คือมีในทุกวัฒนธรรมเป็นธรรมดา

ในสังคมไทยและในบางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ถูกพัฒนาขึ้นเป็นระบบที่ใหญ่กว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เพราะเป็นความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย ที่สุดยอดของระบบอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจำนวนน้อย แต่เชื่อมโยงในเชิงอุปถัมภ์ลงไปสู่กลุ่มบุคคลกว้างขึ้น ทำให้กลุ่มบุคคลที่กว้างขึ้นนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ลงมาในท้องถิ่น รวมผู้คนอีกจำนวนมากไว้ในเครือข่ายเดียวกัน

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่เป็นระบบจึงมีลักษณะลำดับชั้น (hierachical) ในเครือข่ายเสมอ ที่ลำดับล่างสุดอาจดูเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (เช่น หัวคะแนนกับลูกบ้าน) แต่ที่จริงแล้วแยกไม่ออกจากเครือข่ายทั้งระบบ เพราะทรัพยากรที่หัวคะแนนนำมาแจกจ่าย ไม่ใช่ทรัพยากรส่วนตัว แต่เป็นทรัพยากรที่แบ่งปันมาจากเครือข่าย เพื่อแลกกับคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่เป็นระบบเช่นนี้คงมีในเมืองไทยมานานแล้ว รัฐโบราณใช้ประโยชน์จาก "ระบบอุปถัมภ์" ที่มีอยู่ เช่น สร้างเครือข่ายจากความสัมพันธ์ผ่านการสมรส, ผ่านการครอบงำ, ผ่านการใช้กำลังปราบปราม ฯลฯ ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นในเมืองไทย การเลือกตั้งย่อมมาใช้ประโยชน์ด้วย

แต่จะแปลกมากทีเดียว หากไปคิดว่า "ระบบอุปถัมภ์" ทำงานเฉพาะในการเลือกตั้ง นักการเมืองสร้างระบบเครือข่ายขึ้นเพื่อ "ขายตรง" (หรือซื้อตรง) เหมือนบริษัทยาทาขี้เต่าเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ทำงานในด้านอื่นมาตลอดเวลา "บริการ" หรือ "สินค้า" ที่เครือข่าย "ระบบอุปถัมภ์" นำมาแลกเปลี่ยน เป็นที่ต้องการของชาวบ้านเสียยิ่งกว่าเงินซื้อเสียงเสียอีก

นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงรายงานตรงกันว่า เงินซื้อเสียงเป็นแค่สัญลักษณ์ว่านักการเมืองพร้อมจะสมยอมไปกับระบบเท่านั้น ผมอ่านงานวิจัยแล้วอยากขยายความว่า เงินซื้อเสียงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงการยอมรับต่อ "พันธะ" ของผู้อุปถัมภ์ในความสัมพันธ์

ฉะนั้น จึงน่าสนใจที่จะดูว่า "พันธะ" ที่นักการเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้ง พึงมีต่อผู้คนในเครือข่ายอุปถัมภ์คืออะไร

รัฐในโลกสมัยใหม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนมากจนเกือบเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ เหตุผลสำคัญก็เพราะรัฐสมัยใหม่ควบคุมทรัพยากรได้กว้างขวางที่สุด นักการเมือง (ทั้งมาจากการเลือกตั้งและรัฐประหาร) คือคนที่เข้าถึงทรัพยากรของรัฐ พวกเขาจึงสามารถนำทรัพยากรนั้นมาแจกจ่ายในเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน หรือที่ตนสังกัดอยู่ได้มาก

ประชาชนเข้าไปอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของนักการเมือง ก็ด้วยจุดมุ่งหมายหลักคือเพื่อเจรจาต่อรอง (negotiate) กับรัฐอย่างได้ผลที่สุด ก็ในเมื่อรัฐคุมทรัพยากรไว้มาก ทั้งที่เป็นสินค้า, บริการ และอำนาจบังคับ ยิ่งกว่าผีในอดีตเสียอีก จะไม่ให้ผู้คนเข้าไปต่อรองกับรัฐเลยได้อย่างไร

ทรัพยากรที่อยู่ในมือของรัฐนั้น สรุปให้เหลือสั้นๆ ย่อมประกอบด้วย การอนุญาต (เช่น สัมปทาน ไปจนถึงการประกอบการทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่การเกษตรซึ่งกลายเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ไปแล้ว… เช่น ใช้ยาฆ่าแมลงที่รัฐประกาศห้ามใช้) การห้าม (กฎหมาย หรือถูกห้ามปรามจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งที่ถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ถูกต้อง) การให้ (จัดสรรงบประมาณ, จัดให้อยู่ในข้อยกเว้น เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ, หมู่บ้านในป่าของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย) ประชาชนเข้าไปอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์เพื่อ negotiate หรือเจรจาต่อรองกับรัฐในเรื่องการอนุญาต, การห้าม และการให้นี้ เพราะชีวิตของเขาสัมพันธ์กับสามเรื่องนี้อย่างแยกไม่ออก

ในขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐไทยนับตั้งแต่รัฐราชาธิราช, รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐที่มีรัฐธรรมนูญ ต่างไม่ได้ใช้ทรัพยากรในมือของตนอย่างเที่ยงธรรม เล่นพรรคเล่นพวก และเปิดให้มีการละเมิดสิทธิ์อยู่ตลอดมา ดังนั้น ผู้คนจึงพากันเข้าไปอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ เพราะการเจรจาต่อรองกับรัฐที่ได้ผลคือการรวมกลุ่มในเครือข่ายอุปถัมภ์ "ระบบอุปถัมภ์" จึงอยู่ในการเมืองการปกครองของรัฐไทยตลอดมา

ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า ทรัพยากรอีกมากไม่ได้อยู่ในมือของรัฐ และมีบางคนที่ครอบครองไว้เป็นสัดส่วนที่สูงมาก คนเหล่านี้ย่อมสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับคนอื่นได้มาก แต่จะพัฒนาขึ้นเป็นระบบ ผูกสัมพันธ์กันเป็นลำดับ กระจายลงมาถึงแต่ละคนในระดับล่างสุด เห็นจะไม่มี เพราะสิ่งที่เจ้าอุปถัมภ์เอกชนต้องการไม่ใช่คะแนนเสียง จึงไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น

ในส่วนของพรรคการเมืองและนักการเมือง การได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ย่อมทำให้สามารถทำหน้าที่ตัวกลางการเจรจาต่อรองระหว่างประชาชนกับรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งได้มีโอกาสร่วมรัฐบาลบ่อย ก็ยิ่งทำให้ทำหน้าที่นี้ได้ดีขึ้น เพราะนอกจากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลย่อมเข้าถึงทรัพยากรของรัฐได้มากกว่าฝ่ายค้านแล้ว ยังสามารถขยายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในเครือข่ายของตนเข้าไปในหมู่ข้าราชการระดับสูงได้ด้วย ข้าราชการระดับสูงนี่แหละย่อมมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มนโยบาย, ดำเนินนโยบาย และบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาล หรือไม่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาอย่างสม่ำเสมอ ก็ยังสามารถส่งมอบบริการที่เครือข่ายอุปถัมภ์ต้องการได้ต่อไป

หลายคนคงนึกถึงเจ้าพ่อแห่งการเลือกตั้ง ซึ่งครองตำแหน่ง ส.ส. ในพื้นที่มาเป็นทศวรรษ เช่น อยุธยา, สุพรรณบุรี, อ่างทอง, โคราช, นครปฐม หรือสุโขทัย จะว่าเป็นวงจรอุบาทว์หรือวงจรบารมีก็ได้ทั้งคู่นะครับ ยิ่งเป็น ส.ส. บ่อย ก็ยิ่งขยายเครือข่ายอุปถัมภ์ของตนไปได้กว้าง ยิ่งมีเครือข่ายกว้างก็ยิ่งได้รับเลือกตั้งบ่อย ความพยายามไปหยุดยั้งการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เป็นเพียงไปกวาดประตูหน้าบ้าน มีอะไรสลับซับซ้อนในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่หลังประตูอีกมาก

แต่เครือข่ายอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อเลือกตั้งยังถือว่ามีขนาดเล็ก เพราะเจ้าพ่อในฐานะเอกบุคคล แม้เคยเป็นรัฐมนตรีหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีมา ย่อมแผ่เครือข่ายอุปถัมภ์ของตนไปได้ไม่กว้างนัก อย่างเก่งก็เพียงแต่ดึงงบประมาณมาลงในพื้นที่เลือกตั้งของตนมากๆ ซึ่งทำให้เครือข่ายอุปถัมภ์ของตนแน่นแฟ้นขึ้น แต่กลายเป็นเรื่อง "อื้อฉาว" ในวงกว้าง ตรงกันข้ามกับนักการเมืองในฐานะเอกบุคคล หากศูนย์รวมของเครือข่ายอุปถัมภ์กลายเป็นพรรคการเมือง แทนที่จะเป็นนักการเมือง โอกาสที่จะพัฒนา "ระบบอุปถัมภ์" ให้ครอบคลุมชีวิตคนได้อย่างทั่วถึง หนาแน่น และประจักษ์ในชีวิตตลอดเวลา (prevalent) ก็เป็นไปได้

ครับ ผมกำลังพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ในท้องที่ภาคใต้

นับจากการเลือกตั้งใน พ.ศ.2517 เป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วมรัฐบาลบ่อยมาก ยังไม่พูดถึงว่าพรรคประชาธิปัตย์คุมที่นั่ง ส.ส.ภาคใต้ส่วนใหญ่ไว้ได้เสมอ งานวิจัยของ Marc Askew ในเรื่องนี้ (Performing Political Identity, The Democrat Party in Southern Thailand) ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อันสลับซับซ้อนของแกนนำพรรค และเครือข่ายที่กว้างขวางในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ Askew ชี้ให้เห็นว่าพรรคใช้ความสัมพันธ์นี้ไปสู่ความสำเร็จในการเลือกตั้งได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่าการเมืองเรื่องเลือกตั้ง ในฐานะ "พรรค" ซึ่งย่อมมีความแน่นอนมั่นคงกว่าบุคคลที่เป็นนักการเมือง พรรคสามารถเป็นตัวแทนประชาชนชาวใต้ในการเจรจาต่อรอง (negotiate) กับรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านการอนุญาต, การห้าม หรือการให้ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงพัก, อำเภอ, ศาลากลาง, ลงไปถึง อบต. และในบางครั้งอาจรวมไปถึง ศอ.บต. และกองบัญชาการกองทัพด้วย

(เคยสังเกตไหมครับว่า ระหว่างที่สำนักงานตำรวจฯ กำลังพิจารณาว่าจะฟ้องหมิ่นประมาท คุณวิทยา แก้วภราดัย ฐานที่กล่าวหาว่ามีการซื้อขายตำแหน่งในวงตำรวจ แต่กลับปรากฏว่ามีตำรวจหลายนายเข้าพบคุณวิทยาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซ้ำยังให้ถ่ายภาพมาออกทีวีด้วยซ้ำ… คิดดูเอาเองเถิดครับว่าทำไม)

นี่เป็นการพัฒนา "ระบบอุปถัมภ์" ให้เป็นระบบเสียยิ่งกว่าที่มันเป็นอยู่แล้ว คนใต้ซึ่งหลุดออกมาจากระบบเศรษฐกิจเลี้ยงตัวเองก่อนใคร ย่อมต้องเผชิญกับรัฐอย่างเข้มข้นก่อนใครไปด้วย และด้วยเหตุดังนั้น การเจรจาต่อรองกับรัฐจึงมีความจำเป็นแก่ชาวใต้มานานแล้ว และไม่มี "ระบบอุปถัมภ์" อะไรจะเป็นตัวกลางได้ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ การแพ้เลือกตั้งอย่างต่อเนื่องของพรรค จึงกระทบต่อชาวใต้อย่างมาก จนพร้อมจะเดินทางมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับพรรคในกรุงเทพฯ ได้ทันที

"ระบบอุปถัมภ์" ทางการเมือง ไม่ใช่ซากตกค้างจากอดีต แต่เป็นระบบความสัมพันธ์ที่ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของการเมืองและสังคมตลอดมา

ถ้าไม่อยากให้การเมืองถูกเจือปนด้วย "ระบบอุปถัมภ์" ก็ต้องทำให้การกระจายทรัพยากรของรัฐ (อันประกอบด้วยการอนุญาต, การห้าม และการให้) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, ตรวจสอบได้ และมีช่องทางในระบบให้ทุกฝ่ายสามารถเจรจาต่อรองได้อย่างเปิดเผย ถูกพิจารณาจากสังคมโดยรวมผ่านการอภิปรายที่เป็นสาธารณะต่างๆ

รัฐที่กระจุกอำนาจไว้ในมือคนกลุ่มน้อย ไม่อาจนำรัฐไปสู่สภาวะดังที่กล่าวได้แน่ ตรงกันข้าม กลับทำให้ "ระบบอุปถัมภ์" กลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ถึงพรรคการเมืองไม่อาจเป็นตัวกลางได้อีก ก็อาจเป็นกลุ่มอื่นเข้ามาเป็นแทน เช่น นายทหารบำนาญ หรือคนกะล่อนที่สามารถช่วงชิงอภิสิทธิ์ทางการเมืองจากทหารที่ทำรัฐประหาร ตัวกลางใน "ระบบอุปถัมภ์" นี่แหละที่จะทำให้รัฐยังคงฉ้อฉลต่อไปเหมือนเดิม

 

ที่มา: www.matichonweekly.com

ผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2560

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายประชากรข้ามชาติออกแถลงการณ์กรณีบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

Posted: 30 Jun 2017 03:46 AM PDT

30 มิ.ย. 2560 เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ด่วน ขอให้รัฐเร่งทบทวนรากเหง้าปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

แถลงการณ์ด่วน ขอให้รัฐเร่งทบทวนรากเหง้าปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะการป้องกันการขยายตัวของปัญหาที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานหรือการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์ต่อคนต่างด้าว โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 23 มิถุนายน 2560

หลังมีการประกาศใช้แล้ว ทางเครือข่ายสมาชิกประชากรข้ามชาติ ได้รับแจ้งจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างถึงกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมหลายประการจากกฎหมายเดิมได้แก่ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกำหนดโทษทั้งสำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่มิได้มีการจ้างงานหรือทำงานตามเงื่อนไขของกฎหมายในลักษณะที่สูงขึ้น จนนำสู่การสร้างความสับสนทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติในการแก้ไขปัญหากระบวนการจ้างงานทั้งระบบภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ โดยเครือข่ายฯพบว่า นายจ้างเริ่มละทิ้งลูกจ้างตัวเอง ลูกจ้างถูกกวาดล้างจับกุมโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการควบคุมตัวและส่งกลับเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการอาศัยช่องทางของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการพยายามเรียกรับเงินจากทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง ดังนั้น เครือข่ายประชากรข้ามชาติจึงขอเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการวางมาตรการด้านกระบวนการจ้างแรงงานแทนการปราบปรามแรงงาน อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนด้านนโนบายของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และไม่สอดคล้องกับสภาพรากเหง้าของปัญหาการจ้างงาน ดังต่อไปนี้

1.      การตราพระราชกำหนดฉบับนี้ อาศัยช่องทางตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติไว้ให้คณะรัฐมนตรีสามารถออกพระราชกำหนดได้ในกรณี"เพื่อ ประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ..." โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ "เป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้"

เครือข่ายประชากรแรงงานข้ามชาติเห็นว่า กรณีการจัดการแรงงานต่างด้าว มิได้เป็นหนึ่งใน "กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" ซึ่งจำเป็นต้องตราเป็นพระราชกำหนด ประกอบกับแนวทางการตราพระราชกำหนดภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า จะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีจะใช้ช่องทางนี้อย่างจำกัด เเละเป็นข้อยกเว้นเฉพาะประเด็นที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศด้านอื่น

ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆอย่างรอบด้าน รวมถึงการออกงานวิชาการออกมารองรับ เพื่อนำไปสู่กระบวนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐในการบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ทั้งระบบและการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเเท้จริง

2.      เครือข่ายประชากรเเรงงานข้ามชาติเห็นว่านิตินโยบายของกฎหมายฉบับนี้ มีบทลงโทษมากกว่ากฎหมายทุกฉบับที่ผ่านมา ซึ่งการที่รัฐมีมาตรการในการเพิ่มโทษ เช่น การเพิ่มจำนวนเงินค่าปรับ หรือโทษจำคุก อาจจะยิ่งเป็นช่องทางในการทำผิดกฎหมาย การทุจริตในวงราชการ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ในขณะที่แนวทางในการจัดการเพื่อให้เกิดการขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง เช่น การนำเข้า MoU จากประเทศต้นทางยังมีปัญหาการดำเนินการที่เอื้อต่อการจ้างงาน นอกจากนี้กระบวนการลงโทษระหว่างลูกจ้างและนายจ้างยังมีความแตกต่างกัน เช่น กรณีลูกจ้างทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับ กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืน กำหนดบทลงโทษไว้เฉพาะโทษปรับ อาจจะกลายเป็นประเด็นในการเลือกปฏิบัติอีกได้ด้วย เครือข่ายฯขอเรียกร้องให้รัฐทบทวนมาตราการบทลงโทษที่มีมาตรการรุนแรง โดยเฉพาะให้ยกเลิกจำคุกโดยทันที

3.      ยุติมาตรการของเจ้าหน้าที่ในการกวาดล้าง จับกุมแรงงานข้ามชาติ และกำหนดนโยบายและมาตการในการปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่ต่างๆปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ออกประกาศ แจ้งให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายพลเรือนที่เกี่ยวข้องระมัดระวังในการดำเนินการปราบปรามกลุ่มแรงานที่ขณะนี้กระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติมีความเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายยังมิได้มีการทำความเข้าใจถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และแรงงานจำนวนมากยังอยู่ในระหว่างปรับสถานะด้านการเข้าเมืองและสิทธิการทำงาน การอาศัยอยู่ จึงทำให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงอย่างมากในการถูกกวาดล้างและจับกุม  

4.      ออกมาตรการด่วนที่จะสร้างความมั่นใจต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการว่ามาตรการการจัดระบบแรงงานข้ามชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพื่อยับยั้งการไหลออกของแรงงาน สืบเนื่องจากมีกระแสข่าวการปิดล้อมจับกุมแรงงานข้ามชาติ ในหลายพื้นที่ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2557

5.      ขอให้พิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ซึ่งทางเครือข่ายฯได้รวบรวมไว้จากเวทีแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชกำหนด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ได้แก่ ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนลูกจ้าง สภาอุตสาหกรรม ฝ่ายวิชาการ ผู้นำแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน นักกฎหมาย 

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานมิถุนายน 2017

Posted: 30 Jun 2017 03:03 AM PDT

พนักงานในสิงคโปร์ถูกเลิกจ้างน้อยลง แต่อัตราว่างงานระยะยาวยังสูง

กระทรวงทรัพยากรมนุษย์สิงคโปร์ (MOM) ระบุว่ามีพนักงานที่ถูกปลดออกจากงานหรือเลย์ออฟน้อยลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2017 แต่ว่าอัตราการว่างงานระยะยาวจะไต่กลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี โดยมีแรงงานราว 4,000 คนที่ถูกเลย์ออฟในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งน้อยที่สุดในรอบมากกว่า 1 ปี ตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่าการประเมินเบื้องต้นของ MOM ที่ 4,800 คน และลดลงจากจำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 ที่ 5,440 คน ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวของชาวสิงคโปร์อยู่ที่ 0.8% นับจนถึงเดือนมีนาคม 2017 เพิ่มขึ้นจาก 0.7% เมื่อปี 2016 โดยคำนิยามของการว่างงานระยะยาวหมายถึงผู้ที่ไม่มีงานทำนานกว่า 25 สัปดาห์

ที่มา: todayonline.com, 12/6/2017

เกาหลีใต้เร่งอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมโดยเร็ว แก้ปัญหาว่างงาน

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เรียกร้องให้สมาชิกสภาเร่งอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในคนหนุ่มสาว พร้อมเตือนว่าปัญหาดังกล่าวอาจกลายเป็นภัยพิบัติของชาติได้หากไม่มีการออกมาตรการแก้ไข โดยประธานาธิบดีมุนได้เสนอของบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 11.2 ล้านล้านวอน ด้วยหวังที่จะแก้ปัญหาการว่างงานและสนับสนุนสวัสดิการด้านต่าง ๆ

ที่มา: news.cgtn.com, 12/6/2017

Sears ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 400 ตำแหน่ง

บริษัท เซียร์ส โฮลดิ้งส์ (Sears Holdings) ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศปลดพนักงานจำนวน 400 ตำแหน่ง โดยหวังว่าการลดค่าใช้จ่ายในครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจพลิกฟื้นกลับมาหลังจากประสบภาวะขาดทุนก่อนหน้านี้ โดยการปรับลดพนักงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวน 1.25 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

ที่มา: fortune.com, 13/6/2017

ออสเตรเลียเผยอัตราว่างงานต่ำสุดในรอบ 4 ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียรายงานว่าการจ้างงานเดือน พ.ค. 2017 ปรับตัวขึ้น 42,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 10,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานเดือน พ.ค. 2017 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2013 นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานออสเตรเลีย รายงานของสำนักงานสถิติระบุว่า การจ้างานเต็มเวลาปรับตัวขึ้น 52,100 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2017 ส่วนการจ้างงานพาร์ทไทม์ ลดลง 10,100 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. 2017

ที่มา: ft.com, 15/6/2017

UN เตือนห้ามผู้หญิงไปเป็นแม่บ้านในต่างประเทศยิ่งเสี่ยงเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เตือนว่าการที่รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกมาตรการห้ามผู้หญิงเดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านในต่างประเทศ จะทำให้พลเมืองของตนเองเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการการค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ผู้หญิงเอเชียซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวมีฐานะยากจนตัดสินใจออกเดินทางไปทำงานแม่บ้านในต่างประเทศเพื่อหารายได้ จุนเจือครอบครอบ โดยคิดเป็นเกือบครึ่งของจำนวนแรงงานแม่บ้านทั้งหมด 53 ล้านคนทั่วโลก แต่พวกเธอมักจะพบกับชะตากรรมที่โหดร้ายไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายและข่มขืนในประเทศปลายทาง

อินโดนีเซีย พม่า และกัมพูชา เคยออกมาประกาศห้ามไม่ให้แรงงานหญิงเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิพลเมืองของตนจากนายจ้างที่ต่างแดน แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เคยเผยแพร่ผลการศึกษาพบว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลให้บรรดาผู้หญิงที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของแก๊งค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่กัมพูชาออกคำสั่งห้ามเมื่อปี 2554 พม่าประกาศห้ามเมื่อปี 2557 ก็ส่งผลให้มีจำนวนผู้ลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้น

ที่มา: straitstimes.com, 15/6/2017

พบชุมชนแออัดชั้นใต้ดินตึกหรูในปักกิ่ง

ปัญหาที่พักราคาสูงในกรุงปักกิ่งของจีน ส่งผลให้คนจำนวนมากต้องจำใจใช้ชีวิตอยู่ชั้นใต้ดิน ล่าสุดทางการจีนตรวจพบว่าชั้นใต้ดินของอะพาร์ตเมนต์หรูแห่งหนึ่งในเมืองหลวงถูกดัดแปลงให้เป็นห้องเช่าราคาถูกที่มีผู้พักอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัดราว 400 คน และอยู่ในสภาพที่เสี่ยงอันตราย เพราะมีทางออกฉุกเฉินเพียงทางเดียวและไม่มีหน้าต่าง

ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ส่งเสริมให้มีการนำพื้นที่ชั้นใต้ดินไปใช้เป็นที่พักอาศัยและใช้ประโยชน์อื่น ๆ แต่ช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ทางการจีนได้เริ่มปราบปราม และหยุดอนุญาตการใช้พื้นที่ประเภทนี้ เพราะมีผู้นำไปทำห้องเช่าเล็ก ๆ ที่มีผู้อาศัยอยู่อย่างแออัดเป็นจำนวนมากจนก่อให้เกิดความวิตกกังวลด้านความปลอดภัย

ที่มา: bbc.com, 20/6/2017

Honda ระงับการผลิตที่โรงงานทางตอนเหนือของโตเกียว หลังถูกมัลแวร์เรียกค่าไถ่โจมตี

บริษัท ฮอนด้า (Honda) ออกแถลงการณ์ว่าได้ตัดสินใจระงับการผลิตที่โรงงานในเมืองซายามะ ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว เป็นการชั่วคราว หลังจากโรงงานดังกล่าวถูกโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry ซึ่งเป็นมัลแวร์ตัวเดียวกับที่โจมตีบริษัททั่วโลกเมื่อเดือนที่แล้ว มีรานงานข่าวระบุว่า ระบบควบคุมการผลิตของโรงงานแห่งนี้ถูกโจมตีด้วยมัลแวร์ จึงไม่สามารถเปิดไฟล์ได้ มัลแวร์ดังกล่าวยังขู่เรียกค่าไถ่จากผู้ใช้เพื่อแลกกับการปลดล็อกไฟล์ เป็นเหตุให้โรงงานต้องระงับการผลิต โดยโรงงานในเมืองซายามะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1,000 คันต่อวัน

ที่มา: threatpost.com, 21/6/2017

Google ปรับปรุงระบบข้อมูลหารายชื่อตำแหน่งงานที่ว่างพร้อมจัดอันดับคะแนนความน่าเชื่อของนายจ้าง

กูเกิ้ล (Google) กำลังพยายามปรับปรุงระบบการค้นหาข้อมูลให้เป็นระบบค้นหางานอย่างสมบูรณ์แบบได้ด้วยเริ่มตั้งแต่วันอังคารนี้ ผู้หางานจะสามารถใช้กูเกิ้ลในการค้นหารายชื่อตำแหน่งงานที่ว่าง ซึ่งกูเกิ้ลรวบรวมมาจากเว็บไซต์สมัครงานต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นคะแนนความน่าเชื่อถือของนายจ้างแต่ละราย ซึ่งมาจากความเห็นของลูกจ้างทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยกูเกิ้ลจับมือกับเว็บไซต์สมัครงานและการจัดอันดับบริษัทต่างๆ เช่น LinkedIn, Monster, WayUp, CareerBuilder, Glassdoor และ Facebook เพื่อพัฒนาบริการใหม่นี้ขึ้น

ที่มา: voathai.com, 21/6/2017

สมาคมฟุตบอลจีนเก็บภาษีซื้อแข้งต่างชาติ 100%

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศจีนออกกฎให้สโมสรทุกแห่งจ่ายภาษี 1 เท่าของค่าตัวนักฟุตบอลต่างชาติ หวังชะลอการทุ่มเงินซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์และให้หันมาสนับสนุนการพัฒนานักเตะภายในประเทศ สมาคมฟุตบอลประกาศว่าสโมสรใดก็ตามที่ซื้อนักเตะต่างชาติมูลค่าสูงกว่า 6.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะต้องจ่ายภาษีเท่ากับจำนวนเงินที่ซื้อเข้ากองทุนพัฒนาเยาวชนของสมาคม โดยให้มีผลบังคับใช้จนกว่าช่วงเวลาการซื้อขายนักเตะจะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 ก.ค. บรรดาสโมสรใน Chinese Super League ของจีนกลายเป็นที่จับตามองในวงการฟุตบอลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังแต่ละทีมมีการทุ่มงบมหาศาลเพื่อคว้าตัวนักเตะชื่อดังจากยุโรปมาร่วมทีม

ที่มา: si.com, 22/6/2017

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ปัดตอบจะลงเลือกตั้งหรือไม่ ชี้ตอบแล้วมีปัญหาเยอะและไม่ใช่เวลาที่จะมาตอบตอนนี้

Posted: 30 Jun 2017 02:16 AM PDT

ประยุทธ์ ปัดตอบจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ชี้ตอบแล้วมีปัญหาเยอะ และไม่ใช่เวลาที่จะมาตอบตอนนี้ ระบุบางปัญหาจำเป็นต้องใช้กม.พิเศษแก้ไข ผู้ร่วมโหวตกับประชาไทส่วนใหญ่กังวลว่าประยุทธ์จะอยู่ต่อหรือตั้งพรรคการเมือง

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

30 มิ.ย. 2560 จากกรณีนักการเมืองขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงความชัดเจนว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่นั้น ล่าสุดวันนี้ (30 มิ.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์  ว่า ไม่ตอบ ขี้เกียจตอบ เป็นเรื่องไร้สาระ และไม่ใช่เวลาที่จะมาตอบตอนนี้

ต่อกรณีคำถามว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจะตอบหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า ไม่ตอบ และว่า "ตอบแล้วมีปัญหาเยอะ ทำไมไม่สนใจการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชบ้าง มาสนใจแต่เรื่องการเมือง"

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เห็นเพจที่ใช้ชื่อว่า "เปรี้ยง" หรือไม่ เพราะเพจดังกล่าวมีการเผยแพร่กลอนของนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะเป็นข่าว พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า ไม่เห็น และที่มีกลอนออกมาก่อน อาจเป็นคนหวังดีทำให้

โดยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงผลโพลที่ประชาชนสนับสนุนให้มีการตั้งพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนงานของรัฐบาลชุดปัจุบันว่า ส่วนตัวยังไม่คิดถึงตรงนั้น แต่คิดเพียงว่าวันนี้จะแก้ไขปัญหาราชการแผ่นดินอย่างไร เรามีรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว วันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และคิดว่าหลายอย่างจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องการเมืองไม่ได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของแม่น้ำ 5 สายที่จะต้องช่วยกันทำออกมา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลูกและกฎหมายต่างๆ และมีองค์กรอิสระอีกมากมาย ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน ที่จะทำให้ได้รัฐบาลมีธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของกฎหมาย

"อย่ามากังวลกับผมว่าผมจะอยู่ต่อหรือเปล่า หรือตั้งพรรคการเมืองหรือเปล่า แต่จะทำวันนี้ให้ผ่านไปก่อน สถานการณ์จะเป็นตัวชี้ชัดต่อไปเอง ว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต โดยเราจะต้องคาดหวังแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ทำได้ ทำสำเร็จ อย่าไปคิดว่าจะต้องทำโน่นทำนี่ให้สมาธิเสีย วันหน้าก็อยู่ที่ประชาชนนั่นแหละ เรื่องโพลก็ขอบคุณผู้สนับสนุน ส่วนผู้ไม่สนับสนุนผมก็ขอบคุณเช่นกัน โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นทั้งสองทาง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้ร่วมโหวตกับประชาไทส่วนใหญ่กังวลว่าประยุทธ์จะอยู่ต่อหรือตั้งพรรคการเมือง

จากนั้นวานนี้ (29 มิ.ย.60) ประชาไท ได้ทำโหวตเพื่อสอบถามถึงความกังวลต่อผู้อ่านในเฟซบุ๊กแฟนเพจ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ต่อหรือตั้งพรรคการเมือง? มีผู้ร่วมโหวต 2.6 พันคน โดย 22 พันระบุว่ากังวล ขณะที่ 93 คนระบุไม่กังวล โดยมีผู้แสดงความเห็นประกอบการโหวตครั้งนี้ 400 กว่าความคิดเห็น

ระบุบางปัญหาจำเป็นต้องใช้กม.พิเศษแก้ไข

วันเดียวกัน(30 มิ.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะเยี่ยมชมศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบกรุงเทพ (TCDC) ที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาให้แยกออกจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเตรียมยกระดับเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์การมหาชน ซึ่งเปิดทดลองให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย TCDC ได้ย้ายมาจากศูนย์การค้าเอมโพเรียมและ พื้นที่บริการที่เพิ่มขึ้นเป็น 9000 ตารางเมตร เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งบ่มเพาะนักสร้างสรรค์และธุรกิจสร้างสรรค์ ให้สอดรับกับห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ หรือ Gov Lab เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย ภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 สู่อุตสาหกรรม

สำหรับ TCDC มีพื้นที่บริการ 5 ชั้น แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับการให้บริการด้านธุรกิจและพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับการทำงานเรียนรู้และสันทนาการ  พื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดนิทรรศการ การบรรยายและประชุมเชิงปฏิบัติการ  ทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือ วารสาร และสิ่งพิมพ์ด้านความคิดสร้างสรรค์และออกแบบ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับการจัดการประชุมและห้องปฏิบัติการพร้อมเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการเปลี่ยนไอดีให้กลายเป็นงานต้นแบบ มีศูนย์รวมวัสดุและนวัตกรรมการออกแบบจากไทยและต่างประเทศ และ ร้านค้าจำหน่ายสินค้าจากไอเดียของผู้ที่มารับคำปรึกษากับทางTCDC ด้วยขณะเดียวกันอยากให้จดทะเบียนวนัตกรรม และทำให้ได้มาตรฐานผ่านการรับรอง เพื่อที่จะให้รัฐบาลได้สนับสนุนนำไปใช้ในหน่วยงานของรัฐได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณ TCDC ที่ช่วยให้การเดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0 มีความชัดเจนและรัดกุม เพราะ TCDC คือผู้ประสานเชื่อมต่อระหว่าง ผู้ประกอบการและภาครัฐ ช่วยเติมปัญญาและเพิ่มวิธีให้ประชาชน ที่ผ่านมาไทยมีจิ๊กซอว์พร้อม แต่ไม่เคยต่อภาพให้สมบูรณ์  จึงขอให้ขยายแนวทางของ TCDC ไปยังภูมิภาคให้ครอบคลุมทั้ง 6 ภาค และกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ประเมินการทำงานในรอบ 1 ปี เพื่อปรับแก้ไขข้อบกพร่องให้ทันต่อเหตุการณ์ 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนแนวใหม่ โดยใช้ศาสตร์พระราชาคือการเข้าใจประชาชนและพื้นที่ เข้าถึงปัญหาของประชาชน และพัฒนาประชาชนตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ยังมีนักการเมืองที่ไม่เข้าใจคำว่ายุทธศาสตร์ และพยายามต่อต้าน ทั้งที่เป็นสิ่งที่สามารถปรับแก้ได้ แต่หากไม่ทำตามยุทธศาสตร์จะเกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมา คอยแต่จะคำนึงถึงแต่คะแนนนิยม จึง ขอให้ทุกคนตระหนักว่าประเทศชาติและประชาชนต้องมาก่อน

"นักออกแบบของ TCDC ได้ออกแบบเก้าอี้สำหรับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่นั่งไม่สบายนัก ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นก็อยากจะเป็นกันแต่นายกรัฐมนตรี หากนั่งสบายมากไปก็จะขี้เกียจ  ส่วนผม แม้ทำเนียบรัฐบาลจะมีเก้าอี้ให้ แต่ก็จัดหามาเอง เป็นเก้าอี้ตัวเล็กที่ไม่สบายมากนัก เพื่อจะได้ลุกไปทำงานอื่นได้ง่าย ทุกวันนี้นายกรัฐมนตรียังต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะการไม่ยอมรับกฎหมาย หรือบางครั้งเป็นปัญหาจากการบังคับใช้ ล่าสุด กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข เนื่องจากในช่วงเปลี่ยนผ่านยังส่งผลกระทบมากกับรายย่อย จึงอาจต้องใช้กฎหมายพิเศษบ้าง แต่เพื่อให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี จึงต้องขอความร่วมมือและความเข้าใจจากทุกคนด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, เฟซบุ๊กแฟนเพจประชาไท, สำนักข่าวไทยและผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสรรหา ผอ.พอช. ลาออกทั้งคณะ หลังบอร์ด พอช. พยายามแทรกแซงการทำงาน

Posted: 30 Jun 2017 02:16 AM PDT

สำนักข่าวชายขอบ รายงาน คณะกรรมการสรรหา ผอ.พอช. ประกาศลาออกทั้งคณะ หลังบอร์ด พอช. ส่งสัญญาณให้ชะลอการพิจารณาออกไปก่อน และทบทวนรายชื่อผู้สมัครอีกครั้ง ขณะที่คณะกรรมการสรรหายัน ดำเนินการตามระเบียบทุกขั้นตอน

30 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวชายขอบ (TransborderNEWS) รายงานว่า มีรายงานข่าวจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ว่า ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในการสรรหาผู้อำนวยการ(ผอ.)สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. จนทำให้คณะกรรมการสรรหา ผอ.พอช. ที่มีประสิทธิ์ ตันสุวรรณ เป็นประธาน ต้องประกาศลาออกกันทั้งคณะ เนื่องจากไม่สามารถทนแรงกดดันได้ ทั้งนี้การประกาศลาออกดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ได้ประชุมกันเครียดหลายชั่วโมง

รายงานข่าวแจ้งว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากภายหลังที่ได้มีการเปิดรับสมัคร ผอ.พอช. มาตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 10 ราย ซึ่งเป็นบุคคลภายในพอช. 2 คน ที่เหลือเป็นคนภายนอก อย่างไรก็ตามในการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครในนัดแรกๆ พบว่า มีผู้สมัคร 5 คนมีคุณสมบัติ และเอกสารไม่ครบ โดยในจำนวนนี้เป็นคนภายในพอช.ทั้ง 2 คนโดยพบว่าทั้งคู่ไม่มีเอกสารรับรองจากองค์กรเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นบุคคลภายในพอช.แล้วไม่ต้องใช้เอกสารรับรอง และบางคนก็ลงชื่อในเอกสารไม่ครบ ดังนั้นทั้ง 5 คนจึงไม่ผ่านการพิจารณาในเบื้องต้น ทำให้เหลือเพียงผู้สมัครที่เป็นบุคคลจากนอกองค์กร 5 คน

รายงานข่าวแจ้งว่า การที่ผู้สมัครที่เป็นบุคคลภายในพอช.สอบตกทั้ง 2 คน โดย 1 ในนั้นเป็นบุคคลที่ผู้มากบารมีในพอช.รายหนึ่งต้องการให้ดำรงตำแหน่งผอ.พอช.คนต่อไป แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดในเรื่องเอกสาร ทำให้รู้สึกไม่พอใจมาก ขณะเดียวกันผู้ที่สมัครและสอบตกของ พอช. ได้ทำหนังสือขออุทธรณ์เพื่อให้ตีความเรื่องการส่งเอกสารไม่ครบ แต่คณะกรรมการสรรหายังยืนยันความเห็นเดิม

ข่าวแจ้งว่าสุดท้าย ได้มีบุคลากรในพอช. และชาวบ้านที่เป็นสมาชิกซึ่งพอช. ให้งบประมาณสนับสนุนจำนวนหนึ่งร่วมกันลงชื่อทำหนังสือร้องเรียนถึงพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีพม. ซึ่งต่อมาพลตำรวจเอกอดุลย์ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(บอร์ด)พิจารณา และบอร์ดได้พยายามส่งสัญญาณให้คณะกรรมการสรรหาชะลอการพิจารณาออกไปก่อนและทบทวนรายชื่อผู้สมัครอีกครั้ง แต่คณะกรรมการสรรหายืนยันว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของพอช. ทุกประการ

โดยเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ได้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาผู้สมัครที่เหลือก่อนที่จะเปิดโอกาสให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 5 ก.ค. ทั้งนี้เสียงส่วนใหญ่ของกรรมการฯ ยังยืนยันมติเดิมคือเดินหน้าพิจารณาจากบุคคลทั้ง 5 ที่ผ่านการพิจารณาในรอบแรกแม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากหลายด้าน อย่างไรก็ตามท้ายสุดที่ประชุมได้รับแจ้งว่า ขณะนี้บอร์ดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ผู้สมัครที่มาจากพอช. ร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกตัดชื่อออกไปเนื่องจากเอกสารไม่ครบ ทำให้กรรมการสรรหาส่วนใหญ่รู้สึกว่าเป็นการประวิงเวลาเพื่อไม่ให้คณะกรรมการสรรหาได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในที่สุดส่วนใหญ่จึงเห็นว่าในเมื่อทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ต่อ จึงเห็นว่าควรลาออก

ข่าวแจ้งว่า ในแวดวงนักพัฒนาสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่บอร์ดพอช. ในครั้งนี้กันอย่างกว้างขวางเนื่องจากกำลังหมดวาระลงในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งปัจจุบันได้มีสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนบอร์ดชุดเก่าครบทุกคนแล้วและอยู่ในขั้นตอนเสนอชื่อให้ผู้บริหารกระทรวงนำเสนอตามลำดับ ดังนั้นจึงควรให้คณะกรรมการสรรหาทำงานอย่างเป็นอิสระและปล่อยให้บอร์ดชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง แต่บอร์ดชุดที่กำลังหมดวาระนี้กลับเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาจนในที่สุดคณะกรรมการสรรหาต้องลาออก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai