โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กวีประชาไท: วิถีไทย!

Posted: 04 Jun 2017 12:29 PM PDT


 

อู้หูอ้าหาฆาตกรรมฆาตกร
ไม่เคยสอนไม่เคยสนคนแบบไหน
จริงเท็จดีชั่วตัวกูไม่สนใจ
วิถีไทยวิถีคนแห่ตามกัน

มือถือมีทุกอย่างไปทุกที่
ขอให้มีวายฟายดื่มด่ำฝัน
จะไปไหนทำอะไรรู้ถึงกัน
ไม่มีฉันไม่มีแกขอแชร์เลย

วิถีชีวิตโนลิมิตไร้สติ
สมาธิแสนสั้นใจนิ่งเฉย
ดำเนินชีวิตตามคุ้นเคย
ใจชาเฉยเดี๋ยวก็ผ่านผ่านไป

เรื่องหนึ่งมาเรื่องหนึ่งไปก็ช่างแม่ง
ขันแข่งเสพกินดิ้นรนทำตามใจ
สุขนิยมทุกข์ขื่นขมรับไม่ได้
วิถีไทยวิถีโลกวิถีเดียว.


4 มิถุนายน 2560

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แด่คืนวันอันเปราะบาง

Posted: 04 Jun 2017 12:18 PM PDT


 

พวกเขาถูกกล่าวหา  ว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ขายชีวิตปลิดวิญญาณต้านกระแส
ท่ามกลางยุคปั่นป่วนโลกปรวนแปร
สบตาแลความโศกเศร้าและเปล่าดาย

ฟังสิ เสียงหัวเราะ  แห่งยุคสมัย
ใครเล่าใครมองความตายในวิถี
ว่าคือความบันเทิง...แห่งปี
มหรสพชั้นดี...ของผู้คน

ฟังสิ  คนคิดต่าง  คือคนผิด
ไม่มีสิทธิ์เหยียบย่างกลางถนน
ขับเบียดวิถีเสรีชน
ให้หลุดพ้นหายหน้าจากป่าเมือง

อุดมการณ์ของพวกเขาที่เฝ้าฝัน
ยังยืนยันมัคคาตราบฟ้าเหลือง
ดอกไม้แห่งความเศร้าไม่เปล่าเปลือง
เมื่อย่างเยื้องแห่งความตื่นปลุกคืนวัน

คารวะหัวใจของขบถ
งามงด  วาบไหว  ด้วยไฟฝัน
พวกเขาโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์
เพื่อเติบโตเหนือคืนวัน...อันเปราะบาง

พวกเขายังโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์
เพื่อเติบใหญ่ในคืนวันอันเปราะบาง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ News ไม่ New /วารสารศาสตร์ล่มสลาย/ความตายของ Reporter

Posted: 04 Jun 2017 11:58 AM PDT

เครื่องมือทันสมัยและเชื่อมต่อโลกกว้างขึ้น แต่เนื้อหาของสื่อออนไลน์รุ่นใหม่กลับหดแคบลง ตอบสนองแค่ชนชั้นกลางมีความรู้และมีกำลังซื้อในเมือง

มีบางคนพยายามบอกว่าเทรนด์ของสื่อออนไลน์จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ The Matter หรือ The Momentum และล่าสุดอย่าง The Standard ที่เริ่มเปิดตัวอย่างคึกคัก แต่ให้ลองมองย้อนกลับไปในยุคที่ a day ก่อร่างขึ้นในบรรณพิภพนิตยสารไทย ก็มีคนบอกว่า นั่นเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการนิตยสารไทย แล้วยังไงต่อ? เราก็เห็นแล้วว่า a day ก็แค่ดึงกลุ่มคนมีรสนิยมเฉพาะซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีกะตังค์ไปเป็นลูกค้าประจำ โดยสร้างภาพให้วงศ์ทนงค์เป็นตัวแทนของคนหนุ่มขบถแห่งยุคสมัย แต่ถามว่านั่นคือเทรนด์ที่วงการนิตยสารเมืองไทยต้องปรับตัวรับกับยุค a day หรือเปล่า?... ก็แค่มีนิตยสารบางหัวที่พยายามปรับเนื้อหาไปสู้แย่งลูกค้ากับ a day แต่มันก็ยังไม่ใช่เทรนด์ที่นิตยสารไทยทั้งหมดต้องปรับตัวตามทั้งหมด ต่างสื่อต่างรักษาฐานคนอ่านของตัวเองเข้มแข็งขึ้น ยิ่งลูกค้ากลุ่มใหญ่ของ a day เป็นคนรุ่นใหม่ นักศึกษา ที่มีแนวโน้มความไม่มั่นคงในการควักกระเป๋าซื้อจึงไม่มีเหตุผลให้ต้องไปแย่ง (เอาเรื่องความนิยม ยังไม่ต้องพูดถึงความอยู่รอดทางธุรกิจที่เราก็เห็นกันอยู่ว่า a day เจียนอยู่เจียนไปหลายครั้ง และสุดท้ายต้องไปพึ่งร่มโพธิ์ของนายทุนใหญ่ หุ้นตั้งต้นเป็นแค่การสร้างเรื่องราวดราม่าให้แบรนด์เข้มแข็ง)

วันก่อนเห็นคนระดับบรรณาธิการของหนึ่งในสื่อออนไลน์รุ่นใหม่กล่าวในเชิงเหยียดหยันคนทำสื่อเก่าทำนองว่าไม่ทันโลก เขียนภาษาเยิ่นเย้อ ขาดการสังเคราะห์ คิดไม่เป็น (ราวๆ นั้น) พร้อมกับกล่าวว่า ไม่อยากแยกสื่อเก่า-ใหม่ เพราะมาจากฐานเดียวกัน แต่ใบสมัครที่ส่งเข้าไปไม่น่าสนใจพอ สำหรับผมมองว่านั่นคือข้อเขียนที่ทำให้เห็น "จุดแยก" กันอย่างชัดเจน ระหว่าง สื่อเก่า และ สื่อใหม่ ซึ่งสิ่งที่เขากล่าวอย่างผิดพลาดมาก คือเรื่องฐานเดียวกัน จะบอกว่าสื่อเก่ามีฐานระบบความคิดและการทำงานจากวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ แต่สื่อใหม่ไม่ใช่ กลุ่มคนทำสื่อใหม่ในระดับบรรณาธิการน้อยคนที่จะมีพื้นฐานจากการจบวารสารศาสตร์หรือสิ่งพิมพ์ (มีส่วนน้อยเท่านั้น) ไม่ได้เป็นนักข่าวเก่า ส่วนใหญ่เป็นคอลัมนิสต์บทความ บทวิจารณ์ ทำนิตยสาร เป็นนักเคลื่อนไหว หรืออาจเอกอุทางข้อเขียนด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่ใช่นักข่าวในความหมายของคนทำข่าว ลงพื้นที่ เกาะติดปัญหา ผลักดันประเด็นให้บรรลุจุดมุ่งหมายของข่าว

ทำให้เห็นภาพชัดว่า สื่อเก่า-ใหม่จากคนละฐาน ดูเหมือนจะยึดมั่นกฎหมายและจริยธรรมสื่อคนละฉบับ ยิ่งสื่อออนไลน์รุ่นใหม่ดังที่กล่าวอาจให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มากกว่าจริยธรรมสื่อด้วยซ้ำ เพราะมุ่งผลทางธุรกิจมากกว่าการเปิดพื้นที่สื่อสารมวลชนจริงๆ

เพียงแค่มีคำว่า "สำนักข่าว" ปะหน้า ไม่ได้หมายความว่าจะมีฐานเดียวกัน มิติที่ลึกลงไปจนกลายเป็นคำถามสำคัญ เช่น กลุ่มผู้รับสารที่จำกัดเนื้อหาเฉพาะแคบเกินไปหรือไม่ (ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือพ่วงอินเตอร์เน็ตแล้วจะ "เข้าถึง" เนื้อหานั้นๆ ได้ทั้งหมด มีข้อจำกัดอีกมากมายที่ต้องนำมาพิจารณา เช่นภูมิความรู้ของผู้รับสาร มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นข่าว ประเด็นหลักของพื้นที่ของผู้รับสาร ฯลฯ เพราะประเด็นต่อมาคือ เนื้อหาดังกล่าว รับใช้ประชาชนผู้รับสารอย่างไร?)

อีกคำถามที่สำนักข่าวออนไลน์อาจคำนึงถึงน้อยเกินไป เช่น อะไรคือข่าว เนื้อหาตรงไหนเป็นข่าว ตรงไหนเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน เพราะทุกข้อเขียนล้วนเป็นการสังเคราะห์ใหม่ขึ้นทั้งสิ้น มีการเขียนโปรยนำให้น่าสนใจดึงดูดคนอ่าน มีการชี้นำในบางประเด็น เช่นในคำถามบทสัมภาษณ์ หรือเขียนบทสรุป เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการถอดแบบรูปแบบการนำเสนอมาจากนิตยสารมากกว่าจะเรียกว่าสำนักข่าว

และที่น่าสนใจกว่านั้น คือคำถามว่าพวกเขาเอาเนื้อหาข่าวเหล่านั้นจากไหนมาสังเคราะห์ หยิบฉวยมาจากในหน้าเว็บสำนักข่าว "สื่อเก่า" หรือมีการส่งนักข่าวลงในสนามจริงๆ

เท่าที่ผมอ่านวิธีการทำงานของกองบรรณาธิการ The Momentum เก่า (หรือที่ยกคณะมาทำ The Standard ในปัจจุบัน) ก็เป็นการหยิบฉวยเอาข่าวในอินเตอร์เน็ตมาสังเคราะห์หรือเขียนขึ้นใหม่ในรูปแบบของตัวเอง และเมื่อมองโครงสร้างการทำงานของ The Standard ปัจจุบันที่อัดแน่นไปด้วย editor in chife ปราศจาก Reporter คือการสร้างเนื้อหาเพื่อหวังผลการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบสนองผลทางธุรกิจ แต่ประโยชน์ของมวลชนคือใคร กว้างแค่ไหน แล้วได้อะไร?

สำนักข่าวของสื่อเก่าลงทุนไปเยอะในโครงสร้างองบรรณาธิการ เครื่องมือ การจ่ายเงินค่าข่าวและภาพข่าวของสตริงเกอร์ รวมทั้งข่าวและภาพข่าวของต่างประเทศ แต่ผมไม่แน่ใจว่าสัดส่วนเงินลงทุนของสำนักข่าวออนไลน์ส่วนไหนมากกว่ากันระหว่างการทำตลาด คนหาโฆษณา กับโครงสร้างกองบรรณาธิการ ค่าเนื้อหา แต่ผมมั่นใจว่าการจ้างกราฟิกมือดีมาทำภาพประกอบแทนคุ้มค่ากว่าการซื้อภาพข่าว

หากเทรนด์ของสื่อใหม่ไปในทิศทางที่สำนักข่าวออนไลน์พยายามกำหนด หากสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ไม่ปรับตัวก็อาจล่มสลายหายไปในไม่ช้า (มหาวิทยาลัยเดิมของผมเป็นตัวอย่าง เพราะยุบภาควิชาวารสารศาสตร์ไป แล้วตั้งหลักสูตรการสื่อสารมวลชนและนวัตกรรมสื่อขึ้นมาแทน)

แต่หากเทรนด์นั้นสนับสนุนให้มีการผลิตสื่อแบบ "เด็ดยอด" สังเคราะห์เนื้อหาที่ไม่ได้สร้างขึ้นเอง ไม่ได้ผลิตผู้สื่อข่าวขึ้นมา อนาคตเนื้อหาของสื่อจะวิ่งวนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ไม่มีการลงพื้นที่ ไม่มีการลงไปพบปะแหล่งข่าวชั้นต้น การหยิบเนื้อหาที่ถูกนำเสนอมาแล้ว เป็นเพียงข่าวมือสองที่ขาดมิติของพื้นที่โดยสิ้นเชิง

เป็นการฆ่าตัดตอน Reporter ให้ตายลงช้าๆ แต่มองเห็นอนาคตว่า News ก็ไม่ New อีกต่อไป

ผมเห็นด้วยว่า สื่อเก่าต้องปรับตัว ปรับรูปแบบและกลยุทธ์สู้กับยุคสมัยของเทคโนโลยีและผู้คนในโซเชียลมีเดีย แต่พื้นฐานเดิมยังเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้ข่าวเป็นข่าว คำนึงถึงประโยชน์ของมวลชนผู้รับสารและประชาชน ส่วนผู้สื่อข่าวต้องรู้เท่าทัน มีความรู้ที่ลึกและกว้างขวางขึ้น รู้ภาษา รู้วิธีการเขียนเพื่อให้เหมาะสมกับการกระจายข่าวในโลกโซเชียล

มีคนถามผมว่า สื่อเก่าจะตายหรือไม่ เพราะผู้คนพากันฝากความหวังไว้ที่สื่อใหม่และบรรดาเพจรับร้องทุกข์สายดาร์กที่ใช้ทุกวิถีทางแม้แต่ละเมิดกฎหมายเพื่อดำรงความยุติธรรมในสังคม เรื่องสื่อใหม่ดังที่ผมเขียนไปแล้ว แต่สำหรับเพจรับร้องทุกข์ ผมมองว่า หากไม่ใช่เพจที่คนในวงการข่าวทำขึ้นมาเอง แล้วปราศจากการรับช่วงต่อมานำเสนอของสื่อให้เป็นข่าวดัง การผลักดันให้การแก้ปัญหาบรรลุผลโดยสื่อ เพจเหล่านั้นจะมีคุณค่าแค่การนำเสนอประเด็น การระดมทุนช่วยเหลือเหยื่อเท่านั้นเอง อาจมีความดีอยู่ในเรื่องดังที่กล่าวและการอาทรต่อความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ แต่ต้องดูวิธีการเป็นกรณีเฉพาะไปจึงจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่(มีบางกรณีที่ละเมิดกฎหมาย เช่น การหมิ่นประมาท เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่น การพิพากษาคนผิดโดยยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ) ฉะนั้นการดูแคลนสื่อเก่าของบรรดาผู้คนที่ติดตามเพจเหล่านั้น คือคนที่ไม่เข้าใจอะไรเลย

ผมเขียนทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว หากไม่เห็นด้วยก็สามารถแย้งได้ ผมเขียนขึ้นเพื่อชี้ว่าสื่อเก่ายังมีความสำคัญ เรายังต้องการอ่านข่าวสดใหม่ไร้ปรุงแต่งและอคติ ต้องการเสพสกู๊ปดีๆ เข้าถึงพื้นที่และประชาชน ในยุคที่ประเด็นสำคัญยังกระจายอยู่ทั่วประเทศ เราต้องพึ่งพา Reporter ที่ดีและเท่าทันโลก ยังต้องการ Gatekeeper ที่ดี และประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ

ตราบจนกว่าเรามองไม่เห็นความสำคัญ นั่นคือถึงกาลล่มสลายของวารสารศาตร์ และการตายของ Reporter จะปรากฎอย่างแท้จริง.

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก ณรรธราวุธ เมืองสุข

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรงเรียน “สาธิต”กับการฝึกฝนระเบียบวินัยโดยทหาร

Posted: 04 Jun 2017 11:36 AM PDT

ราวสองสามวันก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับมิตรสหายนักจิตวิทยาการศึกษาท่านหนึ่งต่อประเด็นร้อนในแวดวงการศึกษาว่าด้วยเรื่อง "วินัย" (Discipline) เลยได้มีโอกาสเปิดดูพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.2542 พบการให้ความหมาย คำวินัย ว่าเป็น ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ข้อปฏิบัติ  น่าสนใจ คิงส์เบอรี่ (Joseph Vingsbury) อธิบายว่า "วินัย" หมายถึงการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลซึ่งอาจทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การใช้กฎ ข้อบังคับ คำสั่ง และการบังคับโดยใช้การลงโทษเป็นเครื่องหนุน หรือ โดยการสั่งสอน ฝึกอบรม เพื่อให้เกิดประสบการณ์ในการมีความพร้อมรับผิดชอบ       

ผู้เขียนอ่านแล้วจึงเข้าใจได้ว่า "การฝึกวินัยในเด็กและพลเมือง" นั้นเป็นเรื่องการฝึกกายให้อยู่ในวิถีและพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อตนเองและชีวิตรวมหมู่เมื่ออยู่ในสังคมร่วมกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อกัน อันจะนำไปสู่การเกิดความงอกงามในหมู่ชนเหล่านั้น   คิงส์เบอรี่เองยังระบุว่า การสร้างวินัยมีทางเลือกอยู่สองวิธีเป็นอย่างน้อย ในวิธีที่สองก็อาจออกแบบได้ว่าใครจะเป็นผู้อบรมและอบรมสั่งสอนด้วยวิธี ไหน           

นักจิตวิทยาการศึกษาสมัครเล่นชี้ให้เห็นมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ความคิดและภูมิปัญญาด้านการศึกษาว่าพวกสำนักคิดพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)  ซึ่งไม่ค่อยให้คุณค่าต่อสิทธิเสรีภาพและการเคารพกันบนฐานความเท่าเทียมอย่างเต็มใจ ทว่ากลับเน้นการฝึกโดยการลงโทษแล้วให้รางวัล ด้วยการทำซ้ำๆๆ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย หากแต่ก็ไม่อาจทำให้เข้าใจถึงความหมายว่า เหตุใดต้องมีกิริยาและวิถีปฏิบัติตามที่ถูกฝึกอบรมมา แม้วินัยที่ถูกสร้างผ่านกฎหมายในสังคมทั่วไปที่อยู่นอกเหนือไปจากสังคมโรงเรียนนั้นก็อาจไม่บรรลุผลได้เช่นกัน กล่าวคือ การสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในหมู่ชนที่จะสร้างสรรค์หรือประคับประคองสังคมให้เกิดความรับผิดชอบต่อตนเองและชีวิตรวมหมู่เมื่ออยู่ร่วมกัน สิ่งที่มักพบเจอบ่อยครั้ง เช่น เมื่อใช้รถบริการโดยสารสาธารณะอย่างเช่นแท็กซี่ เราค้นหาสายคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับคนนั่งเบาะหลัง คนขับแท็กซี่ก็มักอาจจะบอกว่า ไม่ต้องคาดเข็มขัดก็ได้ ตำรวจไม่มี หรือคนขับรถจำนวนมากในบ้านเราก็บอกว่าไม่ต้องคาดก็ได้ ตำรวจไม่มีแถวนี้   การบังคับให้คาดเข็มขัด ซึ่งเป็นวินัยการขับขี่รถยนต์กับความรับผิดชอบต่อชีวิตตนและคนอื่น หรือต่อทรัพย์สินและอื่นๆ ในสังคมเมือง หรือสังคมที่ไม่มีการเดินทางด้วยเท้านั้น จึงไม่ค่อยเกิดมรรคผลเท่าที่ควร

ความหมายการฝึกวินัยของสำนักคิดอื่นๆ อาทิ แนวมนุษยนิยม (Humanism) ซึ่งให้ค่ากับความเป็นธรรม เสรีภาพของมนุษย์และเคารพเจตจำนงอิสระของปัจเจก จึงเน้นสร้างให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่นำไปสู่ความรับผิดชอบในตัวเด็กหรือผู้เรียนในพื้นที่ทางการศึกษา ผ่านการชวนคุย หรือสร้างสภาพแวดล้อม ทั้งยังหาแบบอย่างมาเป็นตัวแบบ (model) ในการปฏิบัติ และสิ่งสำคัญยังได้เน้นว่า วินัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กเข้าใจว่าพวกเขานั้นต้องรับผิดชอบต่อตนเองและคนหมู่มาก พวกเขาก็จะค่อยๆสร้างวินัยที่เกิดจากในตัวตนของพวกเขาเองขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย   

ครูจิตวิทยาในโรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง ได้แจงว่า เมื่อโรงเรียน ได้มีการสร้างข้อตกลงร่วมกันที่เน้นการมีวินัยในตัวเด็กนักเรียนบนฐานคิดมนุษยนิยม ด้วยการไม่บังคับหรือบอกว่าต้องทำตามคำสั่ง ครูฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่กวดขันระเบียบวินัยจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมี ทว่ากลับให้คุณค่าไปที่ครูฝ่ายแนะแนวแทน ครูแนะแนว จะทำหน้าที่ปกครองเชิงชีวญาณในด้านบวกกับตัวเด็กผ่านการชวนคุย พูดคุย ชี้นำค่านิยมในทางบวกและให้คำปรึกษา เช่น เมื่อเด็กวิ่งเล่นบนระเบียงโรงเรียน ในขณะที่ห้องเรียนอื่นกำลังเรียนอยู่นั้นหรือพื้นระเบียงอาจไม่ปลอดภัยแล้วอาจทำให้เด็กหกล้มหรือได้รับบาดเจ็บ ครูจะไม่เลือกที่จะสร้างวินัยผ่านการออกคำสั่งว่า "ห้ามวิ่งบนระเบียง ใครวิ่งจะจับตีก้น" หากแต่ครูจะชวนเด็กมาพูดคุยเรื่องการรบกวนการเรียนของห้องเรียนอื่นซึ่งต้องการความเงียบ หรือชี้ให้เห็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็ก เมื่อทำให้เด็กเข้าใจในเหตุผลของการห้าม ครูจะให้เด็กเป็นผู้เสนอวิธีการลงโทษคนที่ฝ่าฝืน เด็กคนหนึ่งเสนอโทษว่า เขาจะเดินกลับไปยังที่เดิมและจะเดินมาหาครูใหม่ และที่สำคัญต้องให้เด็กเผยว่าทำไมจึงไม่ทำตามข้อตกลง บางคนบอกว่า ดีใจที่เห็นครู เลยรีบวิ่งมาหา บางคนบอกว่าลืม แต่ที่ไม่ลืมคือการขอโทษต่อเพื่อนห้องอื่นและกลับไปเดินมาใหม่

ตัวอย่างอันเป็นแนวทางอย่างง่ายที่กล่าวยกไปในข้างต้นนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า การสร้าง "วินัย" นั้นมิใช่เพื่องเพื่อก่อให้เกิดวินัยที่ไร้รากของความรับผิดชอบร่วมต่อตนเองและสังคมหมู่มาก วินัยของหมู่เหล่าที่เคยได้รับการปฏิบัติจนเคยชิน ทั้งยังถูกมองว่าเป็นความงามและอารยธรรมก็กลายเป็นสิ่งล้าสมัยต้องปรับเปลี่ยนไปก็มากโขเมื่อวิธีคิดการอยู่ร่วมกันเปลี่ยนไป

คนสยามในอดีต โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง ผู้หญิงจะมีกิริยาท่าทางที่สุภาพงดงามก็ต่อเมื่อนั่งพับเพียบ ผู้ชายต้องนั่งขัดตะหมาด แต่เมื่อสยามต้องเผชิญกับผู้มีอำนาจทางตะวันตก ซึ่งมองว่าการหมอบกราบ หมอบคลาน เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความศิวิไลช์ มีแนวโน้มเอียงไปทางป่าเถื่อนและปฏิเสธที่จะแสดงความสุภาพนบน้อมตามจารีตท้องถิ่นต่อองค์พระประมุข โดยที่อ้างว่าเป็นจารีตซึ่งมองคนไม่เท่ากัน ในที่สุดสยามก็ปรับเปลี่ยนให้ขุนนางที่เข้าเฝ้า เริ่มนั่งเก้าอี้ มีเรื่องเล่าว่า คนสยามนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบส่วนผู้ชายขึ้นไปนั่งขัดตะหมาดบนเก้าอี้ เป็นที่ขำๆๆ ของพวกฝรั่งและพวกหัวนอก จนร้อนถึงล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ที่ต้องออกประกาศถึงวิธีการนั่งเก้าอี้ที่ถูกต้อง กล่าวคือ ให้เอาก้นเท่านั้นอยู่บนเก้าอี้ ขาต้องห้อยลงมาข้างล่าง ส่วนในสถานศึกษานั้น นับตั้งแต่มีโรงเรียนสมัยใหม่ก่อตั้งขึ้นมา การจัดการศึกษาและโรงเรียนสำหรับทวยราษฎร์เท่านั้นที่เน้นให้สอนวินัย มีการอ้างว่าเด็กๆ จากครอบครัวชนชั้นเลว คือ ต่ำศักดิ์ไม่ได้สอนวินัยให้ลูกหลานมีความเชื่อฟังต่อรัฐและมีความเข้าอกเข้าใจต่อการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ ซึ่งต่างจากครอบครัวชนชั้นสูงที่สอนเด็กมาแล้วเป็นอย่างดี เด็กในโรงเรียนชนชั้นสูงจึงไม่ต้องเน้นการสร้างวินัยมากนัก (อาจไม่จริงเสมอไปในกรณีของ วชิราวุธวิทยาลัยและโรงเรียนในลักษณะใกล้เคียง) เพียงแต่เน้นให้สร้างความเข้มวิชาการอย่างเดียว 

ยกจากกรณี "โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยบางแห่ง"  อันมีสภาพคล้ายคลึงโรงเรียนของชั้นชั้นนำในอดีต ที่เน้นการสอนวินัยในแบบทหารจึงดูมีความแปลกประหลาด ทั้งในเรื่องไปดูหมิ่นหาความว่าชนชั้นสูงและชนชั้นกลางไทยในปัจจุบันสอนวินัยลูกไม่เป็น มิหนำซ้ำลูกๆยังถูกฝึกแบบชนชั้นไพร่ทาสเสียอีก ซึ่งวินัยแบบนี้ในอดีตนั้นมุ่งแต่ให้กับราษฎรต่ำศักดิ์เท่านั้น กล่าวคือ การศึกษาที่เน้นวินัยนั้นประสงค์มุ่งสร้างราษฎรสามัญให้มีคุณลักษณะเชื่องๆ  มิได้มุ่งเน้นที่จะให้มีความคิดความอ่าน หรือหาความแตกฉานในสิ่งที่เล่าเรียนแต่อย่างใด  

อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจของผู้เขียนนั้น การเกิดขึ้นของ "โรงเรียนสาธิต" ในประวัติศาสตร์การศึกษาของประเทศที่สังคมมีอารยะและมีลักษณะเสรีประชาธิปไตยนั้น มิได้ถูกก่อตั้งมาด้วยปรัชญาที่แปลกๆปลอมๆหรือไทยๆอย่างที่ได้เสนอไปในข้างต้น แท้ที่จริงแล้วกลับตั้งขึ้นมาเพื่อจะอบรมบ่มเพาะหรือสอนเด็กให้ตื่นรู้และก้าวพ้นจากจารีตข้างต้นต่างหาก  ตามปรัชญาการศึกษาแนวก้าวหน้า อาทิ สำนักคิดพิพัฒนาการนิยม (progressivism ที่เน้นเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการการลงมือทำ หรือสำนักคิดปฏิรูปนิยม (reconstructionism) หรือแม้การจัดการเรียนการสอนที่อิงอยู่ตามกรอบทฤษฎีการเรียนรู้ในแนวการสร้างสรรค์ความรู้ (constructivism) ทั้งในแนวปัญญานิยมของเพียเจย์หรือในแนวสังคมและวัฒนธรรมของไวก๊อตสกี้

ที่เขียนมายืดยาวนั้น ก็เพียงต้องการแสดงจุดยืนและมีความเห็นว่า การสร้างวินัยที่ดีในพื้นที่ทางการศึกษานั้น ต้องเป็น "วินัยเชิงบวก"  อีกทั้งในทางทฤษฎีการศึกษานั้น ก็ควรวางอยู่ฐานคิดทางปรัชญาการศึกษาแบบมนุษยนิยม (Humanism) ที่เชื่อเน้นในศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์ความรู้ (construction of knowledge) ให้เกิดการเติบโตทางปัญญาได้อย่างก้าวหน้า  แต่ก็คงเป็นที่น่าเสียดาย หากข้อเสนอว่าด้วย "การสร้างวินัย" ดังกล่าวนี้ ดำเนินไปคนละทิศละทางกับรูปแบบวิธีคิดที่แฝงฝังอยู่กับระบบอำนาจนิยมในสังคมของการจัดการศึกษาที่หล่อหลอมบางลักษณะวิธีให้เราปฏิบัติต่อเด็กในเรื่องการสร้างวินัย ที่กระทำกันอยู่ในวิถีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกลำดับชั้น 

วิธีคิด แนวทางหรือความเชื่อที่ว่าการนำเอาทหารมาสอนระเบียบวินัยในสถานศึกษาบางแห่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วนั้น จึงเป็นเพียงตัวอย่างเชิงประจักษ์ของความคิดที่ผิดฝาผิดตัวของเหล่าบรรดานักการศึกษา รวมทั้งคนในแวดวงวิชาการสายศึกษาศาสตร์-ครุศาสตร์ คือมีความย้อนแย้งของบางมหาวิทยาลัยในประเทศไทย  ที่มีต่อทั้งหลักวิชา ปรัชญาแนวคิดพื้นฐานและทฤษฎีทางการศึกษาที่พวกเรามักประกาศก้องว่าเรากำลังจัดการเรียนรู้บนฐานการสร้างสรรค์ความรู้ มุ่งสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 หรือการศึกษาแบบ 4.0 แต่ทว่าสถานศึกษาหรือบุคคลากรในสถาบันการผลิตครูและบุคคลากรทางการศึกษาบางแห่งกลับเห็นดีเห็นงามและเลือกยืนยันที่จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในพื้นที่สถานศึกษาที่มีลักษณะของกิจกรรมอันเคลือบผ่าน "หลักสูตรแฝง" (Hidden Curriculum) ต่อตัวผู้เรียนให้ได้เรียนรู้วินัยภายใต้อุดมการณ์แบบอำนาจนิยม

 



เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม  ม.เชียงใหม่

 

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าวถกบทเรียนความไม่เป็นธรรมในการใช้กฎหมายปิดปากสื่อ

Posted: 04 Jun 2017 08:45 AM PDT

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดถก "ราชดำเนินเสวนา" ถอดบทเรียนความไม่เป็นธรรมในการใช้กฎหมายปิดปากสื่อ หวั่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เปิดช่องยัดข้อหาเล่นงานสื่อ แนะปฏิรูปกระบวนการสอบสวนชั้นต้น

 
 
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2560 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตรงข้ามวชิรพยาบาล ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ถอดบทเรียนความไม่เป็นธรรมในการใช้กฎหมายปิดปากสื่อ" โดยมีนายทธิยง ลิ้มเลิศวาที นักจัดรายการสถานีโทรทัศน์ช่องนิวส์วัน ว่าที่พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง สภาทนายความ พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายณัชปกร นามเมือง จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นคณะผู้บรรยาย
 
นายยุทธิยง กล่าวว่า ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะมีชีวิตที่ถูกออกหมายจับหรือออกหมายเรียก ก็บอกครอบครัวว่าเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพแล้วกัน ตัวเองก็ต้องพิสูจน์ความจริง แต่ก็เรียนรู้ได้ว่าในชีวิตสื่อก็ต้องเอาหัวใจในวิชาชีพไปแลกมา เพื่อมาเล่าเรื่องในสู่สังคม โดยใช้กรณีนี้เป็นบทเรียนให้น้องๆ และเป็นพัฒนาการเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งการรับรู้ข่าวสารเป็นลมหายใจที่สะอาด ส่วนเรื่องการส่งอาหารเข้าเรือนจำที่ตนมีคดี ก่อนหน้ามีเคยนำเสนอมาหลายสื่อแล้ว แต่ทางชาวบ้านพบเหตุการณ์แบบนี้ในนามผู้ค้าอาหารดิบในแต่ละจังหวัด แต่วันหนึ่งมีใครใครได้สัมปทานโดยอ้างว่าใช้สิทธิสหกรณ์ครอบคลุมหลายจังหวัด คนที่ได้สัมปทานก็บอกว่าถ้าอยากจะมาค้าก็ต้องมาจ่ายเงิน ตนก็ตรวจสอบก็พบว่าเป็นเรื่องจริง ก็บอกกับชาวบ้านไปว่ามาร้องเรียนสถานีเพื่อออกอากาศได้ ในเรื่อง "อาหารคนมีกรรมทำไมคนบาปต้องมาแย้งกิน" แต่สุดท้ายทุกคนก็ถูกจับข้อหาหมิ่นประมาทและผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
 
"มีการออกหมายเรียกไม่ถึงเดือนก็ออกหมายจับในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ศาลจ.อ่างทอง คืนนั้นเมื่อไปถึงกองปราบฯก็ถูกจับถ่ายรูปเป็นอาชญากร จากนั้นพาตนไปส่งมอบที่จ.อ่างทองถึงเวลาเที่ยงคืน และได้ประกันตัวเวลาตี 1 ก็เป็นชีวิตของสื่อคนหนึ่งที่เจอแบบนี้"นายยุทธิยง กล่าว 
 
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า การที่ประชาชนถูกกระทำเป็นความรู้สึกไม่ดีมานานมาก แต่ไม่มีใครพูดอะไร แต่มีคนเดือดร้อนจากกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ตนแทบพูดอะไรไม่ออกกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในขณะนี้ เพราะตำรวจเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของไทย มีความสำคัญมากกว่าหลายประเทศ เพราะตำรวจมีอำนาจกล่าวหาและสอบสวนด้วยตัวเอง ทั้งที่ตำรวจประเทศอื่นไม่มีอำนาจสอบสวน ซึ่งต่างจากเดิมในอดีตที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายอำเภอเป็นผู้สอบสวน ทำให้มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจในตอนนี้ ตำรวจในเครื่องแบบและพนักงานสอบสวนในนิติบุคคลเป็นคนๆเดียวกัน จึงเป็นที่มาของปัญหาสารพัดที่แก้ไขไม่ได้ ทั้งที่ต้องใช้ความจริงใจในการแก้ปัญหา เมื่อถึงโอกาสปฏิรูปตำรวจก็ไม่มีใครพูดถึง ปัญหาจึงเกิดจากระบบและคน 
 
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า พนักงานสอบสวนที่เคยสัมผัสได้ว่าไม่ได้เป็นตัวของเขาเอง แต่มีใครชักใยเขาอยู่ คุณยุทธิยงถูกข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งที่ถ้าสิ่งไหนพบว่าเป็นความเท็จถึงจะต้องเอาเข้าระบบได้ แต่ปัญหาปัจจุบันมีคนเจตนาใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือ เพื่อปิดปากกลั่นแกล้งกับสื่อ โดยยัดข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้ปัญหาก็มาอยู่ที่พนักงานสอบสวน ซึ่งในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีโทษจำคุกถึง 5 ปี จึงนิยมใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นเครืองมือ แต่ปัญหาอยู่ที่วิธีปฏิบัติของพนักงานสอบสวน ทั้งที่ปัจจุบันบางเรื่องมีความเสียหายชัดเจน แต่กลับไม่รับแจ้งความก็เคยมี จึงเป็นปัญหาของการใช้กฎหมายที่เกิดจากระบบและบุคคล 
 
"ถ้าคนสุจริตไปศาลเขาไม่ได้กลัว แต่เขาเดือดร้อนจากกระบวนการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น หรือจากการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวน แต่ถ้ามีการตรวจสอบแล้วก็ไม่ควรไปแจ้งข้อกล่าวหา หรือถ้ามีการยกฟ้องใครมารับผิดชอบตรงนี้ จึงต้องดูด้วยว่ากล่าวหาได้อย่างไร อัยการฟ้องได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องไม่ลอยตัวเรื่องนี้ จะมีใครรับผิดชอบถ้ายกฟ้องแล้วคนนั้นเสียหาย จึงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนหรือไม่ โดยให้กระบวนการสอบสวนแยกออกมาให้เป็นอิสระเหมือนอัยการ"พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว 
 
ด้านว่าที่พ.ต.สมบัติ กล่าวว่า เรื่องการพูดต้องพูดด้วยความระมัดระวัง กฎหมายบอกว่าเรื่องจริงพูดไม่ได้ ถ้ากล่าวข้อความที่ไปกล่าวหาคนอื่นแม้เป็นเรื่องจริงก็พูดไมได้ สื่อมวลชนเรียกตัวเองว่าเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เวลามีสัญญาณอะไรก็ปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มีคนบอกว่าสื่อมวลชนก็ใช้ปากเหมือนหน้าที่ที่ทำ แต่ก็ต้องดูว่าสื่อมีเจตนาอะไรหรือไม่ หากไม่เจตนาทำผิดองค์ประกอบเจตนาก็หลุดไป ซึ่งการทำหน้าที่ของสื่อไม่มีเจตนาก็ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบการกระทำความผิด หากอยู่ในขอบเขตที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยใช้หลักสุจริตในการทำหน้าที่ ทำเพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่งในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุดมีโทษถึง 5 ปี ใช้ขั้นตอนออกหมายจับได้เลย โดยไม่ต้องออกหมายเรียก ดังนั้นเมื่อใดที่ใช้กฎหมายผิดประเภท เพราะเขาต้องใช้โทษที่รุนแรง จึงถือว่าเป็นการใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ 
 
"เมื่อถูกดำเนินคดีแล้วขอให้นึกถึงทนายความทันที เพื่อให้ทนายเข้าไปสังเกตการณ์เพื่อช่วยปกป้องสิทธิ์ของท่านได้เช่นกัน เพราะกฎหมายเป็นตัวหนังสือ การอ่านกฎหมายต้องตีความจากลายลักษณ์อักษร การที่ไปแปลอะไรมากกว่าที่แปลไว้ก็จะเป็นประเด็นมาใช้งานหรือไม่ ก็เป็นข้อกังขาที่เกิดขึ้น"ว่าที่พ.ต.สมบัติ กล่าว 
 
ขณะที่นายณัชกร กล่าวว่า ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 2550 ในมาตรา 14 วงเล็บ 1 ระบุว่านำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอม หรือเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จแล้วเกิดความเสียหายแก่ผู่อื่นและประชาชน ซึ่งจากเดิมนั้นกฎหมายฉบับนี้ออกแบบเพื่อมาใช้กับการป้องกันการปลอมแปลงไฟล์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีข้อความที่กำกวมที่ได้ครอบคลุมเนื้อหาไปด้วย จึงมีการใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นจำนวนมากจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีการนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ตามหลักการใช้ฎหมายต้องดูเจตนารมณ์ด้วย เพราะถ้าดูเจตนาข้อหาและหมายจับที่ยังไม่เกิดขึ้น จึงเป็นความล้มเหลวในจุดนี้ ดังนั้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมที่คับแคบทำให้มีปัญหาออกมา ซึ่งสื่อก็ต้องมีการรณรงค์ว่ามีการใช้กฎหมายผิดวัตถุประสงค์จากการร่างกฎหมายนี้อย่างไร
 
"การมีเสรีภาพย่อมดีกว่าอยู่แล้ว สุดท้ายกฎหมายปิดปากสื่อมีแค่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จริงหรือไม่ เพราะการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกมีหลายรูปแบบ มีการใช้อำนาจกับสื่อ ซึ่งสื่อควรมีความรับผิดชอบที่จะนำเสนออยู่แล้ว แต่ถ้าทุกคนมีเสรีภาพเท่ากัน ทั้งรัฐและเอกชนก็มีสิทธิที่จะอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นที่ต้องใช้การฟ้องร้องได้"นายณัชกร กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #160 ส้วมรวมเพศ ขจัดการเลือกปฏิบัติจริงไหม?

Posted: 04 Jun 2017 07:47 AM PDT

Subscribe เพื่อติดตามประชาไทที่

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ ประภาภูมิ เอี่ยมสม และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับแขกรับเชิญ เคท ครั้งพิบูลย์ ในประเด็นความหลากหลายทางเพศและการใช้ห้องน้ำ พร้อมโจทย์ที่ว่าเราควรใช้ห้องน้ำตามเพศสรีระโดยกำเนิด หรือตามเพศสภาพ ผู้ความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT มีพื้นที่การใช้ห้องน้ำอย่างไรในสังคมไทย แก้ไขสถานการณ์อย่างไรเมื่อถูกเลือกปฏิบัติเวลาใช้ห้องน้ำ

รวมทั้งสำรวจประสบการณ์ห้องน้ำสำหรับทุกเพศในสหรัฐอเมริกาว่าช่วยขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศและเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้อย่างไร "เราจะเข้าห้องน้ำตามกายของตัวเอง หรือใจของตัวเอง?" ค้นหาคำตอบได้ในรายการ

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉลาดเกมส์โกง: หนังดี เพื่อสังคมที่ดี

Posted: 04 Jun 2017 02:13 AM PDT

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับเชิญโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ACT ซึ่งมีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธานให้ไปดูหนังเรื่อง "ฉลาดเกมส์โกง" รอบพิเศษที่จัดขึ้นสำหรับเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการโกงข้อสอบทั้งในระดับในประเทศและระหว่างประเทศ  ซึ่งเค้าโครงเรื่องมาจากการโกงข้อสอบ SAT ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีผลทำให้มีการยกเลิกผลการสอบของผู้เข้าสอบจากทวีปเอเชียจำนวนมากในปีที่แล้ว

ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่มีลูกแทบจะไม่ได้เข้าโรงหนังมากว่า 10 ปีแล้ว และหนังที่เลือกดู (ในเครื่องบิน) ก็มักมิใช่หนังสไตล์วัยรุ่นแบบนี้  ตอนไปก็ยังเดาไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่พอดูเสร็จแล้วต้องบอกว่าประทับใจกับหนังเรื่องนี้มาก เพราะสามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยได้อย่างดี โดยทำให้ผู้ดูไม่รู้สึกว่านี่เป็นหนังที่ต้องการสั่งสอนว่าอะไรถูกอะไรผิด  หากแต่เป็นหนังที่ต้องการจะสื่อสารว่าชีวิตของคนเรานั้นมีทางเลือกที่เราต้องตัดสินใจเลือกเดิน และเมื่อเราเลือกทางเดินใดแล้ว เราจะต้องรับผลที่เกิดจากการตัดสินใจของตนเองทั้งที่คาดหมายและที่ไม่ได้คาดหมาย และรวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องแบกรับในแง่บวกและลบ

แต่ประเด็นที่ดิฉันให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เยาวชนอาจจะยังไม่รู้ว่าพฤติกรรมแบบไหน คือ การทุจริตหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ "โกง"  ตัวอย่างเช่น ตัวละครเอกที่ชื่อ "ริน" กล่าวว่าเธอไม่เข้าใจว่าการช่วยเพื่อนในการบอกข้อสอบที่ทำให้เพื่อนได้คะแนนดีๆ ไปเรียนต่อที่ดีๆ นั้นเป็นความผิดอย่างไรในเมื่อเธอเองก็ไม่ได้เสียอะไร และบางครั้งได้เงินเป็นค่าตอบแทนเสียอีก ไม่มีใครเดือดร้อน หรือที่เราชอบเรียกกันว่าเป็น "วินๆ" เธอไม่ได้คิดในเชิงระบบว่า การช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ไม่ได้โกงที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าอาจถูกเบียดตกไป ไม่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาหรือไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีๆ หรือว่า การโกงของเธอในระดับนานาชาติหากถูกจับได้จะทำให้ภาพพจน์ของทั้งประเทศเสียหาย

ในขณะเดียวกัน หนังก็ฉายภาพให้เห็นว่าการตัดสินใจในการทุจริตอาจเกิดจากสถานการณ์ที่บีบคั้น ถึงแม้ไม่อยากทำก็ต้องทำเพราะความจำเป็นทางการเงิน ตัวละครที่เป็นเด็กเรียนเก่งทั้งสองคน คือ ริน กับ แบ๊งค์ เป็นเด็กที่มีความกตัญญู รับผิดชอบต่อครอบครัวที่ขัดสน ดังนั้น เยาวชนอาจไม่เข้าใจว่า การช่วยพ่อแม่หาเงินโดยการบอกข้อสอบเพื่อนเพื่อแลกกับเงินจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากสังคมเรามักตอกย้ำให้เด็ก 'กตัญญู รู้คุณคน" หากแต่ไม่ค่อยได้ให้ความรู้ว่า เมื่อไหร่ควรจะต้องมี "อุเบกขา" หรือการวางตัวเป็นกลาง ยึดมั่นในหลักการหรือความถูกต้อง ในหนังเรื่องนี้ การโกงที่แม้มีเจตนาที่ดีสุดท้ายแล้วกับกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายและทำลายตนเองและพ่อแม่ที่ต้องการจะช่วยเหลือซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เยาวชนยังมองไม่ทะลุ

นอกจากค่านิยมเรื่องความกตัญญูแล้ว  หนังเรื่องนี้ยังมีค่านิยมเรื่องการช่วยเหลือพวกพ้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมอุปถัมภ์ ในหนัง "แบ๊งค์  " ซึ่งเป็นเด็กยึดมั่นในหลักการที่นอกจากจะไม่ยอมให้ใครลอกข้อสอบของตนแล้ว ยังไม่ยอมให้มีการลอกข้อสอบในห้องสอบอีก โดยการไปฟ้องครู กลับถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่เอาเพื่อน ขี้ฟ้อง ถูกโดดเดี่ยว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การยึดมั่นในหลักการนั้นมีต้นทุนสูงมากในสังคมพวกพ้อง

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้แสดงว่า การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยจะไม่มีหวัง  ในทางตรงกันข้าม ดิฉันเห็นว่าเราเริ่มมาถูกทาง คือ เราเริ่มให้ความสำคัญแก่การสร้างความตระหนักในกลุ่มเยาวชนดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ "โตไปไม่โกง" จากเดิมที่ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่จำกัดเฉพาะในแวดวง การเมือง ข้าราชการ สื่อ และนักวิชาการเท่านั้น และที่ผ่านมา ก็มักจะพูดในภาษาที่เยาวชนไม่เข้าใจหรือไม่น่าสนใจ ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้คือ อนาคตของประเทศ

แต่การที่จะให้เยาวชนลุกขึ้นมาสนใจประเด็นเรื่องคอร์รัปชันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย  เด็กวัยรุ่นไม่ชอบการสั่งสอนแบบคุณพ่อรู้ดี โดยเฉพาะการใช้วิธีท่องจำคุณธรรม จริยธรรม 10 ประการ ฯลฯ ที่ระบบการศึกษาเรามักใช้  หากจะต้องสอดแทรกไว้ในกิจกรรมที่เยาวชนรู้สึก "สนุก" ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ บอร์ดเกมส์ หรือ เกมออนไลน์  หนังสือการ์ตูน  ตลอดจนละครโทรทัศน์ ฯลฯ

หากผู้อ่านท่านใดสนใจรูปแบบการรณรงค์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ "โดนใจเยาวชน" สามารถลองเข้าไปดูเว็บไซต์ของ ICAC หน่วยงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของฮ่องกงที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้  ท่านจะพบคลิปวิดีโอและซีรี่ส์หนังละคร เกมที่เด็กเล่น เกมทายปัญหาที่กี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ จำนวนมากที่มีจำนวนผู้ไปเข้าชมนับแสน

การสร้างค่านิยมที่ดีในเยาวชนเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมปลอดคอร์รัปชันที่เราใฝ่ฝัน ผู้เขียนจะตั้งหน้ารอคอยผลงานดีๆ อย่างนี้อีก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยพระราชบัญญัติด้านบำเหน็จบำนาญ

Posted: 04 Jun 2017 01:59 AM PDT




ในขณะนี้มีกฎหมายสำคัญสองฉบับที่เกี่ยวข้องกับบำเหน็จบำนาญของคนไทย เป็นกฎหมายที่กระทบคนไทยทุกคนเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ถึงแก่วัยชรา และคาดว่าตนเองจะมีชีพอยู่รอดไปถึงยามชราภาพ ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ การมีบำเหน็จบำนาญที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

กฎหมายฉบับแรกเป็น พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยหลักการและเหตุผล คือ เรามีระบบบำเหน็จบำนาญที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็ดูแลประชาชนคนละกลุ่มอาชีพ เช่น อาชีพข้าราชการ ลูกจ้างเอกชน แรงงานนอกระบบ แต่ละกลุ่มอาชีพต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่แตกต่างกัน ในที่สุด เมื่อถึงเวลาชราภาพ ประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพเหล่านี้ก็มีความมั่นคงทางการเงินที่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้ การเปลี่ยนอาชีพของคนวัยทำงาน ก็ติดข้อจำกัดว่าต้องไปเริ่มต้นออมกับระบบใหม่และหน่วยงานใหม่ ทรัพย์สมบัติที่เคยออมไว้กับระบบเดิมก็อาจจะไม่สามารถนำติดตัวมาด้วยได้ การมีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะช่วยให้เกิดการดูแลความมั่นคงทางการเงินของประชาชนเมื่อเข้าสู่วัยชราในภาพรวม มีความครอบคลุมและเป็นธรรม โดยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ นับว่าได้ว่าพระราชบัญญัตินี้ได้เล็งเห็นประโยชน์ที่จะตกแก่ประชาชนทุกคนและทุกกลุ่มเป็นหลัก

กฎหมายอีกฉบับที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... หรือ กบช. เรียกได้ว่ากฎหมาย กบช. นี้เราเคยได้ยินมาตั้งแต่รัฐบาลชุดปี พ.ศ.2544 แต่ฉบับนี้ก็มีความแตกต่างกับฉบับเดิมอย่างมากมาย

หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติ กบช.คือ ประชาชนวัยแรงงาน (โดยเฉพาะลูกจ้าง) มีการออมไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายกับช่วงวัยชราภาพ เพื่อป้องกันปัญหาความยากจนของคนสูงอายุที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต จึงเสนอให้มีการบังคับออม โดยที่นายจ้างและลูกจ้างต้องสมทบเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ร.บ.นี้ได้บังคับใช้แก่สถานประกอบการขนาดใหญ่ 100 คนขึ้นไป (รวมถึงมหาวิทยาลัยของรัฐ และสถานประกอบการอื่น ที่กำหนดในกฎหมาย) ในปีที่ 1 แล้วขยายไปยังสถานประกอบการขนาด 10 คนในปีที่ 4 และสุดท้ายขยายไปยังสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปในปีที่ 6

กล่าวได้ว่าหลังจากปีที่ 6 แล้วลูกจ้างทุกคนจะได้ออมเงินร้อยละ 7 ของค่าจ้างเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และอีกร้อยละ 3 เข้ากองทุนประกันสังคม ลูกจ้างเอกชนจำนวนหนึ่งก็สมทบเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

หลักการของพระราชบัญญัติ กบช. เป็นหลักการที่ดี มีเจตนาที่จะป้องกันปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้สูงอายุ แต่แนวทางปฏิบัติกลับไม่เป็นมิตรแก่ลูกจ้าง อย่างน้อยสองประการ

ประการแรก เหตุใดลูกจ้างต้องมีทั้ง กองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มาจัดการเรื่องบำเหน็จบำนาญของลูกจ้าง (แต่ข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการอย่างเดียว) เงินของลูกจ้างไม่จำเป็นต้องเสียไปมากมายกับการบริหารจัดการกองทุนสองกองทุน ถ้าเรามีแค่กองทุนเดียวมันน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า การมีกองทุนเดียวทำได้สองทางเลือก คือ ทางเลือกแรกมีกองทุนประกันสังคม อย่างเดียว แล้วให้เก็บเงินสมทบและจ่ายบำเหน็จบำนาญตามแบบที่ กบช. จะทำ กับทางเลือกที่สอง ให้มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติอย่างเดียว โดยโอนเงินจากกองทุนประกันสังคมในส่วนบำนาญชราภาพมาไว้ที่กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติทั้งหมด (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) แล้วเพิ่มเติม พรบ. ให้ กบช. ดำเนินการด้านบำเหน็จบำนาญของลูกจ้างแทนสำนักงานประกันสังคมด้วย

ทางเลือกที่สอง เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ถ้าเรายึดถือประโยชน์ของลูกจ้างเป็นหลัก

บำเหน็จบำนาญเรียกว่าเป็นผลประโยชน์ระยะยาวของประชาชน การบริหารจัดการไม่ควรไปรวมกับประโยชน์ระยะสั้นเช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร หรือว่างงาน การบริหารจัดการประโยชน์ระยะสั้นและยาวต้องการความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน เรื่องบำเหน็จบำนาญควรได้รับการกำกับดูแลจากกระทรวงการคลัง มากกว่าที่จะเป็นกระทรวงแรงงาน

การแก้ไข ร่าง พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกจ้างก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ โดยเพิ่ม มาตรา 8 ให้กองทุนมีทรัพย์สิน ที่เป็นเงินสมทบเพื่อการชราภาพจากกองทุนประกันสังคม และให้เพิ่มมาตรา เกี่ยวกับการจ่ายเงินบำนาญตลอดชีพ ดังที่เคยประกาศใช้กับกองทุนประกันสังคมอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นบำนาญพื้นฐานที่ลูกจ้างทุกคนจะได้รับ

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุ ลูกจ้างก็จะได้รับบำนาญจากแหล่งเดียวคือ จากกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ผู้สูงอายุไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาไปติดต่อขอรับเงินจากหลายกองทุน การเดินทางในวัยสูงอายุมีความยากลำบาก หู ตา ก็ไม่ค่อยดี เรื่องง่ายๆ ก็เวียนศรีษะได้ ถ้ายากเกินไปก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินตกหล่นไปจากระบบได้ ถ้าเจ็บป่วยมีโรคเรื้อรังเดินทางไม่ไหวก็ดูเหมือนจะไปกันใหญ่

ประการที่สอง ร่าง พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ นี้สามารถปรับปรุงให้เป็นมิตรแก่ประชาชนได้ดีขึ้น ถ้าให้สามารถมีการโอนย้ายเงินระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญอื่นๆ ได้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนเพื่อบำเหน็จบำนาญอื่นๆ

หลักคิดคือ ประชาชนสามารถเปลี่ยนอาชีพเมื่อตนปรารถนาได้ แต่การออมเพื่อการชราภาพ กลับไม่สามารถตามเจ้าของไปได้เมื่อเปลี่ยนอาชีพ ต้องคงไว้ที่กองทุนเดิม และทำให้ต้องไปเริ่มต้นออมใหม่กับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งใหม่ ในที่สุดก็อาจเสียประโยชน์ที่พึงได้จากการออมของตน สร้างปัญหาในการติดต่อเพื่อขอรับเงินในยามเกษียณ เป็นความเสียหายที่ตกแก่ประชาชนทั้งๆ ที่มิได้กระทำผิดใดๆ เลย เป็นเด็กดีอดออมมาตลอด แต่ถึงเวลาจะได้ประโยชน์กลับต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

เราควรทำให้การออมเพื่อการชราภาพนั้นง่าย (ไม่ต้องใช้ความพยายาม) ในขณะเดียวกันตอนจะรับบำนาญก็ต้องง่าย สะดวก รวดเร็ว ด้วยเช่นกัน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ เป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ Low Love เปิดโหวต ทักษิณ นำ ตามมาด้วย ประยุทธ์ อภิสิทธิ์ และ สุเทพ

Posted: 03 Jun 2017 11:28 PM PDT

เฟซบุ๊กแฟนเพจ Low Love เปิดโหวต 2 ชั่วโมง อยากให้ใครเป็นนายก? ผลทักษิณ ได้ 34,595 โหวต, ประยุทธ์ 15,940 โหวต, อภิสิทธิ์ 1,769 โหวต ขณะที่สุเทพ 771 ได้โหวต

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ Low Love 

4 มิ.ย. 2560 จากกรณี เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 9.14 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'YouLike (คลิปเด็ด)' ซึ่งมียอดผู้ติดตาม 13 ล้าน ได้แชร์โพสต์ตั้งคำถาม "ถ้าประเทศนี้ไม่มีตระกูลชินวัตรคุณจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี?" โดยมีตัวเลือก 4 ตัวเลือกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และไม่เลือกใครเลยสักคน ผ่านไปประมาณ 5 ชั่วโมง มีผู้โหวตประมาณ 1.16 แสน  ผู้โหวตไม่เลือกใครเลยสักคน 9.2 หมื่น โหวตประยุทธ์ 1.4 หมื่น โหวตอภิสิทธิ์ 5.2 พัน ขณะที่โหวตสุเทพ 1.8 พัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

ล่าสุดวานนี้ (3 มิ.ย.60) เฟซบุ๊กแฟนเพจ Low Love ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 9 แสน ได้เปิดโหวตเช่นกัน แต่มีตัวเลือกเพิ่มเติมคือ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งการโหวตมีการแสดผลเป็นการถ่ายทอดสดประมาณ 2 ชั่วโมง ผลปรากฎว่ามีผู้รับชมการโหวตครั้งนี้ 655K ครั้ง โหวตให้ทักษิณ 34,595 โหวตให้ประยุทธ์ 15,940 โหวตให้ อภิสิทธิ์ 1,769 และโหวตให้สุเทพ 771

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (4 มิ.ย.60) 13.00 น. ผ่านมา 18 ชั่วโมง มีผู้โหวตในโพสต์ดังกล่าวเพิ่มเติม โดย ทักษิณได้เพิ่มไปเป็น 46K ประยุทธ์ ได้ไป 20K ขณะที่อภิสิทธิ์ ได้ 2.4K และสุเทพได้ 1K

เกี่ยวกับ นายกรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ นอกจากประชาชนไม่สามารถเลือกได้โดยตรงแล้ว iLaw เคยวิเคราะห์ถึงปรากฎการณ์ "นายกฯ คนนอก" ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่า พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีล่วงหน้า และเมื่อผ่านการเลือกตั้งมาจะเลือกใครนอกรายชื่อที่เสนอมาไม่ได้ เว้นแต่ 1) ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา 2) รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ และ 3) ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน ซึ่งทั้งหมดนี้คือที่มาหรือขั้นตอนของการเปิดทางไปสู่ "นายกฯ คนนอก" นั่นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: ปี 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินรับร้องเรียน 3,616 เรื่อง แต่ตัวเองไม่แจงการใช้งบก็ได้

Posted: 03 Jun 2017 10:09 PM PDT

รายงานพิเศษจาก TCIJ พบปี 2559 'สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน' (สผผ.) รับเรื่องร้องเรียน 3,616 เรื่อง มีหน้าที่ครอบจักรวาลตั้งแต่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปจนถึงการแก้ปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ ทั้งนี้พบมีกฎหมายระบุ สผผ. ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณในการทำงานต่อรัฐสภาก็ได้

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (หรือคำย่อ สผผ.)  มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา สอบสวน และแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ในกรณีที่มีข้าราชการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมถึงพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรือประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (อ่านเพิ่มเติม จับตา: 'บทบาท อำนาจ หน้าที่' ของ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน')

ทั้งนี้จาก รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ระบุว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 6,217 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ยื่นเรื่องเข้ามาในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 3,616 เรื่อง และเรื่องร้องเรียนที่ค้างจากปีงบประมาณก่อนหน้า 2,601 เรื่อง ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาจนแล้วเสร็จ 3,417 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 54.96) เมื่อพิจารณาจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2543 (ปีที่ก่อตั้ง) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 39,911 เรื่อง มีการดำเนินการแก้ปัญหาจนแล้วเสร็จแล้ว 37,211 เรื่อง (ร้อยละ 93.23) และยังมีเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา 2,700 เรื่อง (ร้อยละ 6.77) ในด้านการจัดทำประมวลจริยธรรมไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการพบว่ามีประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 15,709 หน่วยงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 14,606 หน่วยงาน (ร้อยละ 92.39) ของประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกประเภทที่ต้องดำเนินการ และประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท มีจำนวน 8,022 หน่วยงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 7,626 หน่วยงาน (ร้อยละ 95) ของประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทที่ต้องดำเนินการ

เมื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ สผผ. รับไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำแนกตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำร้องเรียนมากที่สุด 10 อันดับแรก อันดับ 1 ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (811 เรื่อง) ตามมาด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (651 เรื่อง), องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (609 เรื่อง), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (272 เรื่อง), กระทรวงศึกษาธิการ (233 เรื่อง), กระทรวงคมนาคม (210 เรื่อง), กระทรวงยุติธรรม (184 เรื่อง), กระทรวงการคลัง (124 เรื่อง), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (123 เรื่อง) และกระทรวงสาธารณสุข (76 เรื่อง) ตามลำดับ  

หน้าที่ครอบจักรวาล: แก้ปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลการเกษตร (ก็ได้ด้วย?)

รู้หรือไม่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถแก้ไขปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรได้ด้วย? ที่มาภาพ: รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 

หนึ่งในผลงานสำคัญที่ประชาชนอาจจะพิศวงสงสัยว่า 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' เข้ามาเกี่ยวข้องอะไร? นั่นก็คือการแก้ไขปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย โดยเรื่องนี้เกิดจากการที่ผู้ร้องเรียนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของผู้ร้องเรียนและเกษตรกรในพื้นที่เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดของอุทยานแห่งชาติดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย จากการประสานงานของผู้ตรวจการแผ่นดินส่งผลให้หน่วยงานหาแนวทางแก้ไขปัญหาและได้ชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปได้ว่ากรณีช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชผลของชาวบ้านนั้น เป็นช้างป่าตามธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 530,000 ไร่ และมีพื้นที่ติดกับพื้นที่ที่ราษฎรใช้อยู่อาศัยซึ่งมีช้างป่าบางตัวที่ถูกจ่าฝูงไล่ออกจากโขลง จะลงมาใช้พื้นที่ป่าแนวกันชนนี้อาศัยหลบหนีภัย ซึ่งเดิมประชาชนสมัยก่อนทำการเกษตร พอหมดฤดูกาลทำนาก็จะไปหางานทำในเมือง จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับช้างป่า แต่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การปลูกยางพารา ปลูกอ้อยส่งโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นป่าแนวกันชนเพื่อเศรษฐกิจดังกล่าว จึงทำให้ช้างป่าที่ถูกจ่าฝูงขับไล่ออกมาต้องมาเผชิญหน้ากับประชาชนที่บุกรุกป่าแนวกันชนเหล่านั้น เมื่อป่าแนวกันชนถูกบุกรุกทำลายจนหมดสิ้น ประชาชนก็จะนำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ไปแย่งอาหารและโป่งเทียมของช้างป่า รวมถึงการบุกรุกแผ้วถางและเผาป่าทำให้ทำลายความสมบูรณ์ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนทำให้แหล่งอาหารของช้างป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถรองรับจำนวนช้างป่า ที่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 154 ตัว จากการสำรวจและติดตามช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยปกติแล้วช้างป่ามีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทึบในช่วงเวลากลางวัน และเริ่มหากินจากป่าสู่ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่โล่งในเวลากลางคืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่าทุกวันทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะช้างป่าออกมาหากินทุกวัน จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่คอยไล่ผลักดันกลับสู่เขตป่า ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดูแลทรัพย์สินของราษฎรนั้น ในบางครั้งจะถูกช้างป่าทำร้ายบาดเจ็บสาหัส บางรายต้องพิการและเสียชีวิต แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังมีหน้าที่รับผิดเข้าไปขับไล่ช้างป่าและปกป้องทรัพย์สินของประชาชน อย่างไรก็ดี จากการประสานงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและการทำความเข้าใจร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหาแนวทางการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตและเพื่อเป็นการบรรเทาและเยียวยาความทุกข์ร้อนของประชาชนทั้งที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดจ้างเจ้าหน้าที่ในการออกปฏิบัติงานลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่า จัดสรรงบประมาณปลูกพืชอาหารช้างป่าและสัตว์ป่า จัดทำแหล่งน้ำและโป่งเทียมให้ช้างป่า รวมถึงได้เสนอ 'โครงการอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า' และกิจกรรมปักเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง (เก่า) เป็นเพนียดป้องกันช้างป่าไม่ให้ออกมานอกเขตป่าดังกล่าว และกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อนำเงินบริจาคที่ได้รับมาเป็นกองทุนช่วยเหลือกรณีช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินค่าความเสียหายในพื้นที่ เพื่อพิจารณาเรื่องรายงานช้างป่าออกมาทำลายพืช สวน ไร่ นา และทรัพย์สินของประชาชนแล้วส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนฯ ช่วยเหลือแต่ละรายเพื่อทำการเบิกจ่ายตามรายชื่อของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจำนวน 108 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 174 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 409,570 บาท

นอกจากนี้ ในรายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ยังระบุผลงานเด่น ๆ รอบปีไว้อาทิเช่น การลักลอบนำขยะพิษและกากอุตสาหกรรมทิ้งในพื้นที่บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำสาธารณะ, การเร่งรัดมาตรการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์, ตรวจสอบสำนักงานที่ดินจังหวัดออกเอกสารสิทธิให้แก่เอกชนทับซ้อนพื้นที่บึงสาธารณประโยชน์, ตรวจสอบองค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งขุดดินในทางสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อการใช้ทางสาธารณประโยชน์และทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน, ตรวจสอบข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องในการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของรัฐ กรณี ตัดและขายผลปาล์มน้ำมันที่ปลูกอยู่ในที่ดินของรัฐ, แก้ปัญหาผลกระทบต่อผู้ประกอบการซึ่งเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าประจำภายในอาคารศูนย์ราชการจากการจัดกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐ, ตรวจสอบความไม่โปร่งใสการพิจารณาจ้างเหมาปรับปรุงศูนย์เฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยและปฏิบัติการฉุกเฉินโดยระบบกล่องโทรทัศน์, ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการให้เอกชนประมูลเช่าช่วงอาคารตลาดสดเทศบาล และตรวจสอบหน่วยของของรัฐไม่ดำเนินการกับเอกชนในกรณีการจัดสรรที่ดินไม่มีทางผ่านเข้าออกตามคำโฆษณา, จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นจากธุรกิจย้อมผ้าของกลุ่มทอผ้าในชุมชน เป็นต้น

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ต้องแจงการใช้งบประมาณก็ได้

ทั้งนี้ใน 'เอกสารประกอบการพิจารณารายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2559' โดยกลุ่มงานติดตามผลการดำเนินงาน สำนักกำกับและตรวจสอบ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอ 'บทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2559' ได้สรุปการวิเคราะห์ว่า

"ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องกับภารกิจที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดตั้งหน่วยงาน แต่อย่างไรก็ตามในรายงานประจำปี 2559 ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการจัดสรรและรายการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ในขณะที่รายงานประจำปีขององค์กรอิสระอื่นปรากฏรายละเอียดในส่วนนี้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเรื่องดังกล่าวมิได้ถูกกำหนดไว้ในรายงานการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องนำเสนอไว้ในรายงานประจำปีตามบทบัญญัติมาตรา 43 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552"

หมายความว่า สผผ. ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณในการทำงานต่อรัฐสภาก็ได้ ซึ่งอาจสวนทางกับการเป็นองค์กรที่คอยตรวจสอบผู้อื่นหรือไม่ ?

อนึ่ง รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ได้รับการรับรองจากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ตามบทบัญญัติมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

จับตา: 'บทบาท อำนาจ หน้าที่' ของ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัดใส่ความเห็น กก.เสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทอง

Posted: 03 Jun 2017 09:45 PM PDT

ฝ่ายเลขาฯ งัดกรรมการแก้กฎหมายบัตรทองเสียงส่วนน้อย ปัดใส่ข้อคิดเห็นเสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ประกอบการประชาพิจารณ์

 
4 มิ.ย. 2560 การจัดทำเอกสารประกอบการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ได้เกิดข้อถกเถียงเกิดขึ้นระหว่างกรรมการเสียงส่วนน้อยและฝ่ายเลขานุการ เนื่องจากกรรมการเสียงส่วนน้อยต้องการให้เพิ่มเติมข้อคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยเข้าไปในเอกสารแนวคิดการแก้ไข (Concept Paper) ด้วย แต่ฝ่ายเลขานุการไม่ยินยอม โดยนำไปใส่ในตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตราเพียงฉบับเดียว
 
ทั้งนี้ เอกสารประกอบการประชาพิจารณ์จะมี 3 ส่วนหลักคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่มีการปรับปรุงแก้ไข 2.เอกสารแนวคิดการแก้ไข 14 ประเด็น และ 3.ตารางการเปรียบเทียบการแก้ไขรายมาตรา
 
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ… สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การประชาพิจารณ์จะมีเอกสาร 3 ฉบับที่นำขึ้นเว็บไซต์ หนึ่งในนั้นเป็น Concept Paper ซึ่งไม่ได้ใส่ความคิดเห็นของกรรมการเสียงส่วนน้อย จึงมีการถกเถียงว่าน่าจะใส่เข้าไปในเอกสารฉบับนี้ด้วย แต่ทางกองเลขาฯ ไม่เห็นด้วย โดยนำไปใส่ไว้ในเอกสารอีกฉบับซึ่งว่าด้วยรายละเอียดการแก้ไขกฎหมายว่าแก้ในมาตราไหน ด้วยเหตุผลอะไร ในส่วนนี้จะมีทั้งเหตุผลของกรรมการเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย
 
"การใส่หรือไม่ใส่เหตุผลของกรรมการเสียงส่วนน้อยใน Concept Paper ก็มีผลกับการตัดสินใจ เพราะมันชี้ให้เห็นว่านี่เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มันจึงจำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์และการทำประชาพิจารณ์ก็ต้องเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คิดอะไร เสียงส่วนน้อยคิดอะไร คนที่มาแสดงความคิดเห็นจะได้รู้ว่ามีข้อถกเถียงอะไรอยู่บ้าง แล้วคิดต่อจากตรงนั้น" น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
 
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่กรรมการเสียงส่วนน้อยต้องการให้ใส่ไปใน Concept Paper นั้น เป็นเรื่องเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายที่เขียนในเชิงลบ เช่น มีอธิบายว่ามีความพยายามที่จะเอาเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้จ่ายให้องค์กรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น
 
"ใช้คำว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ อย่างกระทรวง กรม กองต่างๆ ที่มารับเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตีความว่าไม่ใช่หน่วยบริการ เพราะฉะนั้นกรมควบคุมโรคมารับเงินไปทำเรื่องป้องกันโรคไม่ได้ แต่จริงๆ ก็รู้กันอยู่ว่ากรมควบคุมโรคทำงานเรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็ควรเขียนในเชิงบวกหน่อย เรื่องนี้คณะกรรมการประชาพิจารณ์ก็เสนอให้ทีมเลขาฯ ไปปรับแก้ภาษาใน Concept Paper ไม่ให้มีอคติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าตอนนี้ไม่เห็นเอกสารแล้วเพราะต้องให้อำนาจประธานเป็นคนตัดสินใจเนื่องจากต้องรีบเอาขึ้นเว็บไซต์ ทีนี้พอเราบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เติมเสียงส่วนน้อยเข้าไปด้วย เขาก็ไม่ยอม" น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
 
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีความเป็นเอกภาพมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การเลือกประเด็นในการแก้ไขกฎหมายเพราะถูกล็อกมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นเอกสารที่จะอธิบายว่าเหตุผลหรือหลักการในการแก้กฎหมายครั้งนี้ว่าทำเพราะอะไร จึงควรเขียนเหตุผลที่มาที่ไปอย่างแท้จริงและไม่มีอคติจึงจะเป็น Concept Paper ที่ใช้ได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองปลัดยุติธรรมแจงเหตุผลในการยกเลิกโทษประหารชีวิต

Posted: 03 Jun 2017 07:05 PM PDT

'ธวัชชัย ไทยเขียว' รองปลัดและโฆษกกระทรวงยุติธรรมระบุผลการวิจัยชี้การประหารชีวิตไม่ได้มีผลต่อการยับยั้งอาชญากรรมที่รุนแรงทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ส่งผลกระทบต่อสังคมกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาดได้ ชี้หากไทยไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกันทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต

 
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2560 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจากผลการวิจัยทั่วโลกการประหารชีวิตไม่ได้มีผลต่อการยับยั้งอาชญากรรมที่รุนแรง หรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้นได้ แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ เพราะย่อมมีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาดได้ เนื่องจากไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอโดยที่ไม่มีข้อบกพร่องได้ เพราะอาจมีแพะที่ถูกประหารชีวิตไปแล้ว ย่อมไม่อาจสามารถเรียกชีวิตกลับคืนมาได้ ทั้งนี้ยังมีข้อค้นพบว่านักโทษที่ถูกประหารชีวิตส่วนใหญ่จะคนยากจน และคนด้อยโอกาส ซึ่งไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถเพื่อให้ความรู้และแก้ต่างให้กับตนเองได้ นอกจากนี้นักมนุษยวิทยาเห็นว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การประหารชีวิตทุกวิธีก่อให้เกิดความทรมานต่อนักโทษอย่างแสนสาหัส ถึงแม้ว่าผู้กระทำผิดเหล่านี้จะได้ก่อเหตุรุนแรงมาแล้วก็ตาม
 
ฉะนั้น หลักของการลงโทษนั้นต้องไม่ควรเป็นไปเพื่อการแก้แค้นทดแทน แต่ต้องเป็นไปเพื่อการแก้ไขและเยียวยาทั้งตัวผู้กระทำความผิดและเหยื่อน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม
 
จากข้อมูล ณ เมษายน 2560 มีนักโทษต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมด 447 ราย จำแนกเป็น
 
1) คดียาเสพติดให้โทษ ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นนักโทษชาย 105 ราย หญิง 51 ราย, ชั้นฎีกา เป็นชาย 12 ราย หญิงไม่มี และในชั้นเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นชาย 55 ราย หญิง 13 ราย
 
2) คดีความผิดทั่วไป เช่นคดีฆ่าคนตาย อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นชาย 110 ราย หญิง 6 ราย, ชั้นฎีกาเป็นชาย 6 ราย ส่วนหญิงไม่มี และนักโทษชั้นเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นชาย 85 ราย และหญิง 4 ราย 
จากสถิติดังกล่าวพบว่าโทษประหารชีวิตในคดีทั่วไปมีจำนวนมากกว่าคดียาเสพติดให้โทษ
 
นักโทษประหารจะถูกควบคุมจำแนกตามเรือนจำต่าง ๆ ดังนี้ 
 
1. เรือนจำกลางบางขวาง 275 คน 
 
2. เรือนจำกลางคลองเปรม 2 คน 
 
3. เรือนจำกลางเขาบิน 19 คน 
 
4. เรือนจำกลางสงขลา 31 คน 
 
5. เรือนจำกลางพิษณุโลก 6 คน 
 
6 เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช 46 คน 
 
7. ทัณฑสถานหญิงกลาง 57 คน
 
8. ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 4 คน 
 
9. ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 7 คน
 
การประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้านักโทษประหารชีวิตรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2545 ส่วนการประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดสารพิษตามกฎหมายใหม่ มีจำนวน 6 ราย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 เป็นชาย 4 ราย นักโทษคดียาเสพติด 3 ราย คดีความผิดต่อชีวิต 1 ราย และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 เป็นนักโทษเด็ดขาดและต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติด 2 ราย หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการประหารชีวิตอีกเลย รวมเวลา 7 ปี 9 เดือน ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์วิจารณ์กรณีตำรวจอินโดนีเซียบุกจับกลุ่มชาวเกย์ อ้างกฎหมาย 'สื่อลามก'

Posted: 03 Jun 2017 06:52 PM PDT

สถานการณ์ด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในอินโดนีเซียน่าเป็นห่วงหลังจากที่ตำรวจออกจับกุมพื้นที่รวมกลุ่มของคนรักเพศเดียวกันสองแห่งโดยอ้างกฎหมายต่อต้านสื่อลามกซึ่งเป็นกฎหมายที่ชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง ถึงแม้ว่าผู้นำอินโดนีเซียจะเคยเรียกร้องไม่ให้มีการเหยียดเพศ แต่สังคมอินโดฯ ยังมีฝ่ายรัฐและกลุ่มผู้นำศาสนาใช้วาจาทำให้เกิดความเกลียดชังต่อ LGBT

 
4 มิ.ย. 2560 ฮิวแมนไรท์วอทช์ส่งจดหมายถึง พล.ต.อ. ติโต คาร์นาเวียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องให้พวกเขาเลิกจ้องปราบปรามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในแบบที่ทำให้เกิด "อุปาทานหมู่ในการต่อต้านเกย์" หลังจากที่ทางตำรวจบุกเข้าไปจับกุมตัวผู้คนในงาน "เกย์ปาร์ตี" ที่สุราบายาและสปาเฉพาะผู้ชายในกรุงจาการ์ตา ทำให้มีคนถูกจับกุมรวมแล้ว 141 ราย
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เป็นผู้ปฏิบัติการบุกจับกุมในสองกรณีดังกล่าวที่เป็นข่าวในอินโดนีเซีย ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้คาร์นาเวียนสืบสวนกรณีการบุกจับกุมเหล่านี้โดยทันที โดยแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าการบุกจับกุมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินโดนีเซียเป็นรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พยายามทำให้กลุ่มชุมชนของคนที่เป็นชายขอบอยู่แล้วเกิดความหวาดกลัว
 
คนที่ถูกจับกุมในสุราบายาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมาก็ถูกจับตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยที่ไม่มีการขอความยินยอมจากพวกเขาก่อน ส่วนในการจับกุมที่ "แอตแลนติสสปา" ในจาการ์ตาก็มีการนำผู้ถูกจับกุมแห่ประจานแบบเปลือยครึ่งท่อนต่อหน้าสื่อ ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังสงสัยอีกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนพวกเขาในขณะที่พวกเขายังไม่ได้ใส่เสื้อผ้า
 
แม้ว่าในอินโดนีเซียจะไม่มีกฎหมายห้ามคนรักเพศเดียวกันแต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เริ่มตกเป็นเป้าหมายของทางการมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา มักจะมีการอ้างใช้กฎหมายต่อต้านสื่อลามกมาใช้จับกุมพวกเขาโดยที่กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมอินโดนีเซีย ซึ่งอดัมส์วิจารณ์ว่าการใช้ที่ตำรวจอ้างใช้กฎหมายนี้ในการบุกเข้าจับกุมการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นส่วนตัวของผู้คนแสดงให้เห็นว่าการกระทำของพวกเขาเป็นความคับแคบที่ดิบเถื่อน
 
อดัมส์ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียหยุดการบุกจับกุมเหล่านี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในหมู่ประชาชนและควรทำหน้าที่ปกป้องประชาชนอินโดนีเซียทุกคน โดยที่สถานการณ์ผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินโดนีเซียเลวร้ายลงตั้งแต่เดือน ม.ค. 2559 เป็นต้นมา ไม่เพียงแค่การจับกุมของตำรวจที่บางครั้งตำรวจก็สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มติดอาวุธเคร่งอิสลามในการปราบปรามการร่วมกลุ่มกันของชาวเกย์ หรืองานร่วมตัวกันของคนข้ามเพศ นอกจากนี้ยังมีการโจมตีกลุ่มนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย
 
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ต.ค. 2559 ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ประกาศวาไม่ควรจะมีการเหยียดหรือกีดกันผู้คนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเป็นการออกมาพูดเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและประกาศให้ตำรวจต้องทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้ หลังจากที่หลายเดือนก่อนหน้าคำประกาศของวิโดโดมีการใช้โวหารแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจากเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรศาสนา
 
แต่อดัมส์ก็ชี้ว่านอกจากจะเตือนตำรวจในเรื่องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว วิโดโดก็ควรจะทำอะไรลงไปเพื่อปกป้องพวกเขาด้วย
 
ในกฎหมายต่อต้านสื่อลามกปี 2551 ของอินโดนีเซียระบุห้ามไม่ให้มีการร่วมเพศของคนรักเพศเดียวกันซึ่งรวมถึงหญิงรักหญิงด้วย ซึ่งถือเป็นการเหยียดกลุ่มเกย์และเลสเบียน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านสุขภาพจิตในระดับโลกจะยอมรับแล้วว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติและจัดเป็นเพศวิถีรูปแบบหนึ่งของมนุษย์
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Indonesia's LGBT police raids promoting 'anti-gay hysteria' – watchdog, Asian Correspondent, 02-06-2017
 
Indonesia President Jokowi Defends LGBT Rights, Human Rights Watch, 20-10-2016
 
Indonesia: Police Raids Foster Anti-Gay Hysteria, Human Rights Watch, 02-06-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 พ.ค.-3 มิ.ย. 2560

Posted: 03 Jun 2017 06:44 PM PDT

 
ส่งทหารปลดประจำการ ไปฝึกงานญี่ปุ่น
 
กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำให้ทหารกองประจำการ นำร่องโครงการฝึกปฏิบัติงานที่ญี่ปุ่น ฝึกฟรี มีรายได้ตลอดการฝึกงาน พร้อมเตรียมขยายผลจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ซึ่งเป็นความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย
 
นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทหารกองประจำการเป็นกำลังพลที่มีคุณภาพ เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังมีความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ มีระเบียบวินัย ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับทหารกองประจำการ เพื่อให้มีทักษะฝีมือ สามารถประกอบอาชีพได้ตามความถนัด สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานภายหลังปลดประจำการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ประสานกองทัพบกส่งเสริมการมีงานทำแก่ทหารที่จะปลดประจำการไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านองค์กร IM Japan โดยประชาสัมพันธ์โครงการให้กับทหารและฝึกอบรมทักษะภาษาญี่ปุ่นที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา พล ม.2 รอ.สนามเป้า ปตอ.พัน 1 ทุ่งสีกัน และกรมการทหารสื่อสารสะพานแดง ซึ่งมีทหารกองประจำการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 38 คน ผ่านการสอบคัดเลือก จำนวน 24 คน เป็นศูนย์สอบกรุงเทพมหานคร 13 คน และศูนย์สอบจังหวัดนครราชสีมา 11 คน และได้เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิค ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 จังหวัดปทุมธานีระยะเวลา 4 เดือน จำนวน 6 คน 2 รุ่นๆ ละ 3 คน รุ่นที่ 1 อบรมระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม – 24 มีนาคม 2560 รุ่นที่ 2 วันที่ 30 มกราคม – เมษายน 2560 สำหรับรุ่นที่ 1 ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 2 คน ซึ่งได้เดินทางไปญี่ปุ่นแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนรุ่นที่ 2 อยู่ระหว่างการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น
 
การฝึกปฏิบัติงานที่ญี่ปุ่นตามโครงการ IM Japanมีระยะเวลา 1 ปี หรือ 3 ปี โดยตลอดระยะเวลา ในการฝึกปฏิบัติงาน จะได้รับเบี้ยเลี้ยง หรือค่าจ้างตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น เมื่อฝึกปฏิบัติงานครบจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และรับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งยังมีโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบการญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยอีกด้วย มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว จำนวน 6,665 บาท เช่น ค่าตรวจสุขภาพก่อนเข้าอบรม ค่าหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น
 
นายธนากร วิชพล อายุ 23 ปี จากจังหวัดชัยภูมิ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2559 ที่กองพันทหารขนส่ง 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 สังกัดทหารบกค่ายสุรนารี ได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานที่บริษัท UNION MAEDA CO.,LTD) ประเภทกิจการ การแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 43,400 บาท กล่าวว่า การเป็นทหารกองประจำการทำให้มีระเบียบวินัย ฝึกความอดทน และมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งการไปฝึกงานครั้งนี้จะได้นำความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยี และภาษาญี่ปุ่นกลับมาใช้ในการประกอบอาชีพเมื่อกลับมาประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายจะทำงานในสถานประกอบการของญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือเป็นล่าม และจะเก็บรวบรวมเงินเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัวต่อไป
 
ด้านนายบุญนาค พันธ์สะอาด อายุ 24 ปี จากจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2557 สังกัด ทบ.2 จทบ. กท. (กรมการทหารสื่อสาร กรุงเทพมหานคร) ได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานที่บริษัท OZAWA SEISAKUSHO LTD. ประเภทกิจการการแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 41,000 บาท โดยบุญนาคฯ คาดหวังว่าจะนำความรู้ ทักษะและเทคนิคที่ได้จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านภาษามาประกอบธุรกิจส่วนตัวประเภทจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์
 
นายวรานนท์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานยังมีเป้าหมายในการจัดส่งทหารกองประจำการไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ซึ่งเป็นความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1186 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 28/5/2560
 
เครือข่ายลูกจ้างทวงถาม ก.ม.ลูกประกันสังคมอืด
 
วันที่ 28 พ.ค.60 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเปิดอภิปรายเวทีสาธารณะ "2 ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มาตรา 63(2) ผู้ประกันตนได้อะไร" ว่า หลังการแก้พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ปัญหาของผู้ประกันตนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ยังจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ดีขึ้น สำนักงานประกันสังคมจึงได้จัดชุดสิทธิประโยชน์ในการตรวจสุขภาพป้องกันโรคขึ้นมา แต่จนถึงตอนนี้ยังมีผู้ประกันตนไปใช้สิทธิน้อย ดังนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มาก โดยสำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแพทย์คลินิกโรคจะต้องเข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ
 
ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายผู้ประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่าเกือบจะครบ 2 ปี แล้วที่พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ประกาศใช้ แต่กฎหมายลูกต่างๆ ที่ต้องดำเนินการกลับทำได้ช้ามาก และสิ่งสำคัญตอนนี้ มีหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บางรายการมีการกำหนดช่วงอายุในการได้รับสิทธิตรวจสุขภาพ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว
 
ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการปรับปรุงจัดโปรแกรม บริการตรวจให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสถานประกอบการ ลักษณะงาน และตั้งกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคในระดับพื้นที่หรือระดับนิคมอุตสาหกรรม โดยการมีส่วนร่วมของนายจ้าง และผู้ประกันตนนอกจากนี้ ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนทดแทนบางส่วนมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่เกิดจากการทำงาน อีกประการผู้ประกันตนต้องเข้าถึงการฝากครรภ์ตามมาตรฐาน และควรเป็นการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการคลอด โดยใช้งบเหมาจ่ายรายหัวเช่นเดียวกับความเจ็บป่วยอื่นๆและให้ได้รับสิทธิเงินค่าชดเชยเหมือนเดิม
 
นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่กระทรวงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมเมื่อปี 2559 เพื่อส่งเสริมให้ทหารกองประจำการให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งมีทหารกองประจำการสมัครเข้าร่วมโครงการ 38 คน ผ่านการสอบคัดเลือก 24 คน และได้เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14จ.ปทุมธานี 2 รุ่น รุ่นที่ 1 ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น แล้ว 2 คน และเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนรุ่นที่ 2 ซึ่งอบรมวันที่ 30ม.ค.– เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี หรือ 3 ปี นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว กรมการจัดหางานยังมีเป้าหมายส่งทหารกองประจำการไปทำงานที่เกาหลีใต้ด้วย
 
ด้าน นายธนากร วิชพล อายุ 23 ปี จากจ.ชัยภูมิ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2559 ที่กองพันทหารขนส่ง 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 สังกัดทหารบกค่ายสุรนารี กล่าวว่า ตนได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานประเภทกิจการการแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 43,400 บาท ขณะเดียวกันก็จะนำความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยีและภาษาที่ได้จากฝึกงานครั้งนี้กลับมาใช้ในการประกอบอาชีพเมื่อกลับมาประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายจะทำงานในสถานประกอบการของญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือเป็นล่าม และจะเก็บรวบรวมเงินเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัวต่อไป
 
 
7 สหวิชาชีพเสนอเลิก "ลูกจ้างรายวัน" ยกระดับเป็น พนง.สธ.
 
(29 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่า ภายหลังเครือข่าย 7 สหวิชาชีพทางการแพทย์ เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเสนอและรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาการบรรจุข้าราชการและการแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังคนในการปฎิบัติหน้าที่ของ 7 สหวิชาชีพ
 
ล่าสุด นายสมคิด เพื่อนรัมย์ นักภายภาพบำบัด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายออกมาระบุว่า การพูดคุยในวันนั้นทางเครือข่ายฯ ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ข่าวที่ระบุว่าจะมีการอนุมัติเพิ่ม 308 อัตรา "บรรจุตำแหน่งบุคลากรการแพทย์" ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเป็นอัตราเดิมที่ 7 สหวิชาชีพได้รับการจัดสรรไว้ตั้งแต่ต้นปี 2560 รวมกับวิชาชีพพยาบาล ที่ได้รับการจัดสรร 8,792 ตำแหน่ง
 
"7 สหวิชาชีพ ขอเพียงกระทรวงสาธารณสุขทำตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้ คือ สหวิชาชีพได้รับการบรรจุ 75% พยาบาล 95% แพทย์ ทันตแพทย์ 100% ของจำนวนกรอบอัตรากำลังที่ควรมี"
 
สำหรับประเด็นที่ผู้บริหาร สธ.อ้างว่าจะทยอยบรรจุตำแหน่งให้กับ 7 สหวิชาชีพนั้นก็ไม่มีกรอบเวลาและรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น เงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร สิทธิที่เพิ่มมีอะไรบ้างแค่ไหนอย่างไร ที่สำคัญจะเริ่มใช้ได้ช่วงไหน ดังนั้นจึงอยากจะขอความชัดเจนตรงนี้ เพราะมีน้องๆ ลูกจ้างฯ ที่ตกค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ร่วมเกือบ 3,000 คน แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เหมือนบางวิชาชีพที่รู้แน่ว่าจะได้ครบภายใน 3 ปี
 
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งยกเลิก "ตำแหน่งลูกจ้างรายวัน" เปลี่ยนเป็น "พนักงานกระทรวง" ไว้ก่อนทั้งหมด เพื่อความชัดเจนเรื่องปัญหาลูกจ้างรายวัน ควบคู่ไปกับการเก็บฐานข้อมูลลูกจ้างรายวันทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุข
 
"ทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกจ้างรายวันจะรู้สึกสงสารพวกเขามากๆ เพราะเขาจะได้รับค่าตอบแทน 500-600 บาท/วัน หากวันไหนเขาป่วยหรือมีธุระไม่สามารถมาทำงานได้ก็จะไม่ได้รับเงินเลย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคง ถือเป็นความเดือดร้อนที่แสนสาหัส ขณะที่เงินเดือนของลูกจ้างอยู่ที่ 11,230 บาท/เดือน หักประกันสังคมแต่ละเดือนจะเหลือเงินน้อยมาก ในขณะที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 15,960 บาทต่อเดือน พร้อมสิทธิข้าราชการต่างๆ ซึ่งแม้จะไม่สูงมากนักแต่ก็ยังมีสวัสดิการถือเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตคนเหล่านี้ได้บ้าง นี่คือความทุกข์ใจที่ 7 สหวิชาชีพต้องเจอมาอย่างยาวนาน ทั้งที่การทำงานของพวกเราก็หนักและเหนื่อยไม่น้อยกว่าหมอและพยาบาล จึงอยากขอความเป็นธรรมให้มีการเปิดตำแหน่งราชการเพื่อเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตบุคลากรวิชาชีพอย่างเราบ้าง"
 
นายสมคิดยังยกตัวอย่างวิชาชีพกายภาพบำบัดว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด เป็นวิชาชีพเราที่มีข้าราชการน้อยนิดเท่าเศษเม็ดฝุ่น ก่อตั้งกายภาพบำบัดมาได้ 50 กว่าปีมีข้าราชการแค่ 1,445 คน จะเอาตำแหน่งเกษียณที่ไหนไปให้น้องๆ ได้ เป็นเรื่องที่คนในวิชาชีพท้อมาก จึงอยากให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงมีการเกลี่ยตำแหน่งราชการให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะเทียบกับพยาบาลถือว่าห่างไกลกันมาก เพราะมีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการกว่า 83,000 คน จนพวกเรารู้สึกเหมือนเป็นคนชายขอบไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ในกระทรวงเลย
 
"สำหรับผมที่เป็นตัวแทนน้องๆ กายภาพบำบัดและเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ รู้สึกผิดหวังท้อแท้มากที่สุด คือ การให้พวกเรารอตำแหน่งว่างจากคนที่เกษียณอายุราชการ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนคนที่เกษียณอายุราชการ ปี 2560-2570 ของนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ มีเพียง 65 ตำแหน่งเท่านั้น เอาแค่มีคนที่ตกค้างถึงปัจจุบันก็ 1,327 คนรวมอนาคตอีกเท่าไหร่ น้องๆ ต้องรอคนเกษียณอายุไปอีกกี่ร้อยปีกี่พันปีถึงจะได้บรรจุครบกันทุกคน"
 
 
กอช.อ้อนคลังแก้กฎหมาย ดึงเงินรัฐอุดหนุนเพิ่มขึ้น หลังยอดสมาชิกใหม่อืด
 
กอช. เต้นวอนคลังเร่งแก้กฎหมาย หลังจำนวนสมาชิกใหม่อืด เล็งเพิ่มวงเงินการออมเป็น 25,000 บาท/ต่อปี พร้อมขอรัฐสนับสนุนเพิ่มเป็น 2.5 พันบาท แถมเปิดกว้างรับสมาชิกตั้งแต่แรกเกิด
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กอช. ได้เห็นชอบการแก้ไขกฎหมาย กอช. เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบ จำนวน 24-25 ล้านคน เข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น โดยได้เสนอการแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ซึ่งอยากให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบัน กอช. มีสมาชิก 5.4 แสนราย และการสมัครสมาชิกลดลงเหลือเดือนละ 1-2 พันรายเท่านั้น ซึ่ง กอช. ได้เร่งพยายามทำประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนมากขึ้น และได้ตามเป้า 1 ล้านราย ในปีนี้
 
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายคือ การส่งเงินสมทบของสมาชิกจากเดิมไม่เกิน 1.32 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่จำและอธิบายให้สมาชิกเข้าใจได้ยาก จึงขอเพิ่มเงินสมทบของสมาชิกไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อปี เป็นตัวเลขที่จำได้ง่ายและมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สมาชิกที่ออกจำนวนมากๆ จะได้มีเงินเพื่อใช้การดำรงชีวิตหลังเกษียณเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังเสนอให้แก้ไขเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลสูงสุดไม่เกิน 1.2 พันบาท เป็น 2.5 พันบาท โดยสัดส่วนการสมทบของรัฐบาลยังยึดตามช่วงอายุของสมาชิกเหมือนเดิมคืออายุ 15-30 ปี รัฐบาลสมทบ 50% อายุ 30-50 ปี รัฐบาลสมทบ 80% และอายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐบาลสมทบ 100%
 
นายสมพรกล่าวอีกว่า หากกระทรวงการคลังเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายและบังคับใช้ได้ทันในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก กอช. มากขึ้น เพราะเห็นว่ารัฐบาลจ่ายสมทบให้มากขึ้น โดยภาพรวมของการใช้งบประมาณกรณีที่เพิ่มเงินสมทบเป็น 2.5 พันบาทต่อปี ถ้าคิดจากฐานสมาชิกที่ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านราย เท่ากับรัฐต้องจ่ายเงินสมทบเป็นปีละ 2.5 พันล้านบาท เทียบจากปี 2559 ที่ใช้รูปแบบการจ่ายสมทบปัจจุบัน รัฐต้องจ่ายเงินสมทบราว 600-700 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ ในอนาคตต่อไป กอช.ยังมีแนวคิดให้แก้ไขกฎหมายให้ทุกคนทุกวัยเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้ตั้งแต่แรกเกิดและอายุเกิน 60 ปี ก็ยังเป็นสมาชิกได้ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนการออมให้พอมีพอใช้หลังเกษียณอายุ ซึ่งควรทำตั้งแต่แรกเกิดโดยให้พ่อแม่เป็นผู้ทำธุรกรรรมให้ก่อน
 
"การออมของ กอช. เป็นการออมเพื่อมีกินตอนแก่เท่านั้น ไม่ได้เป็นการออมเพื่อให้เกิดความร่ำรวย กองทุนจึงกำหนดเพดานการออมว่าไม่ให้เกินเท่าไร ส่วนที่ปัจจุบันกำหนดสมาชิกต้องเป็นอายุ 15-60 ปี เพราะถือเป็นวัยแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคตไม่มีความจำเป็นควรเปิดให้ทุกคนทุกเพศทุกวันทุกอายุเป็นสมาชิกของกองทุนได้หมด" นายสมพรกล่าว
 
 
อาชีวะเล็งตั้งศูนย์ประสานงาน EEC ภาคตะวันออก
 
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ประชุมหารือการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ณ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชลบุรี จำกัด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามข้อสั่งการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล สอศ. จึงเตรียมความพร้อมในการจัดการอาชีวศึกษา โดยพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการในสถานประกอบการ ทั้งหลักสูตรสำหรับนักศึกษาและหลักสูตรต่อเนื่องสำหรับพัฒนากำลังคน เพื่อการรองรับอุตสาหกรรมเป้าเหมายในพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติในด้านความพร้อมของบุคลากรและกำลังคนของประเทศไทย โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) สอศ. จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดชลบุรี สอศ. ได้ตรวจเยี่ยมความพร้อมของสถานที่เพื่อใช้ในการจัดตั้งศูนย์ คือวิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี สำหรับพื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สอศ. ได้เตรียมความพร้อมไว้ที่วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง เตรียมความพร้อมไว้ที่วิทยาลัยเทคนิคระยอง รวมถึงการขยายพื้นที่จัดตั้งศูนย์ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการกำลังคนอย่างถูกต้องเป็นลำดับต่อไป
 
 
Gallup ระบุไทยเป็นชาติที่เปิดให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมกับองค์กรมากที่สุดในอาเซียน
 
บริษัทวิจัยด้านการบริหารจัดการองค์กรชื่อดังเปิดเผยผลสำรวจ การเปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร โดยสำรวจจากประเทศภาคพื้นทวีปเอเชีย พบในกลุ่มประเทศอาเซียนฟิลิปปินส์เป็นผู้นำด้านการเปิดให้ลูกจ้างเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรมากที่สุด ส่วนไทยเป็นประเทศที่กีดกันการมีส่วนร่วมน้อยที่สุด
 
โดยในโพลแบ่งข้อมูลสำคัญเป็น 3 ส่วนคือ การมีส่วนร่วมองค์กร ไม่มีส่วนร่วมกับองค์กร และถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในองค์ร โดยกลุ่มประเทศผู้นำในการเปิดให้มีส่วนร่วมในเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์และศรีลังกา ด้านไทยและสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 2ร่วม ในกลุ่มประเทศอาเซียน
 
ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออก มีแนวโน้มกับการมีส่วนร่วมในองค์กรที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งในฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน โดยเฉพาะในฮ่องกงนั้นถือว่าเป็นจุดที่มีการกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมของลูกจ้างสูงที่สุดในอาเซียน แต่ที่น่าสนใจคือประเทศไทยกลับกลายเป็นประเทศที่มีการกีดกันให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมน้อยที่สุดในประเทศที่ได้รับการสำรวจ
 
น่าสนใจว่าข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกอะไรในการบริหารจัดการองค์กรในแต่ละประเทศ เมื่อประเทศที่เปิดให้มีส่วนร่วมน้อยอย่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกกลับมีความก้าวหน้าเชิงเศรษฐกิจที่มากกว่า ซึ่งอาจจะสะท้อนความสามารถในการบริหารของผู้นำองค์กรด้วย
 
 
ก.แรงงาน จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่ม 200 บาทต่อหัว เมื่ออบรมลูกจ้างเกิน 70 เปอร์เซ็นต์
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 -นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 (พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ) กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้าง หากไม่จัดหรือจัดฝึกอบรมแต่ไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนด ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากยิ่งขึ้น
 
โดยการใช้มาตรการจูงใจ ด้านการยกเว้นและลดหย่อนภาษีอากร รวมทั้งการให้สิทธิและประโยชน์ในด้านต่างๆ และจากนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้แรงงานไทยมีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงแรงงาน ที่มีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็น "Productive Manpower" ภายใน 5 ปี และในปี 2560 ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ อบรมและพัฒนาพนักงานแล้วกว่า 2.9 ล้านคน นำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีกว่า 1,500 ล้านบาท
 
"กพร. มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการ ผู้ประกอบอาชีพ หรือผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้ความสนใจในการพัฒนากำลังแรงงานให้มากขึ้น ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้เห็นชอบ ให้จ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 200 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน แก่ผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างในปี 2560 ในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด ตัวอย่างเช่น สถานประกอบกิจการมีลูกจ้างทั้งหมด 1,000 คน ฝึกอบรมพนักงานในปี 60 จำนวน 850 คน ซึ่งจัดอบรมพนักงานเกินกว่าร้อยละ 70 จำนวน 150 คน (ร้อยละ 70 ของลูกจ้างเท่ากับ 700 คน) มีสิทธิขอรับเงินอุดหนุนจำนวน 30,000 บาท เป็นต้น ซึ่งจะประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน 2560 นี้"อธิบดี กพร. กล่าว
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า การให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนที่จ่ายให้สถานประกอบกิจการนั้น เป็นการส่งเสริมและสร้างมาตรการจูงใจที่นอกเหนือจากการลดหย่อนภาษีร้อยละ 100 สำหรับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการฝึกอบรม โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการร่วมกันพัฒนากำลังแรงงาน ช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง มีพนักงานที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถตรงกับความต้องการ และพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไป
 
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละกรณี สามารถติดต่อสถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2643 6039 หรือ 0 2245 4035
 
 
นายจ้างยังต้องการแรงงาน "ปวช.-ปวส.-อนุปริญญา" มากที่สุด 82,022 อัตรา
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2560-นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวถึงกรณี ตัวเลขจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า อัตราการว่างงานเดือนเมษายน 2560มีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน หรือคิดเป็น 1.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2559 อยู่ที่ 0.97% และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งทำให้เกิดการแสดงความเห็นเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยชี้แจงว่า ในความเป็นจริง ตลาดแรงงานมีความต้องแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงแรงงานมีข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงาน ตั้งแต่ตุลาคม 2559 - เมษายน 2560 ที่พบว่า นายจ้าง/สถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานมายังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 219,896 อัตรา เฉลี่ย 31,414 อัตรา/เดือน
 
"มีความต้องการแรงงานมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 37,491 อัตรา ซึ่งกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือกลุ่มอาชีพงานพื้นฐาน จำนวน 74,981 อัตรา รองลงมาได้แก่ กลุ่มอาชีพพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด จำนวน 40,540 อัตรา กลุ่มอาชีพเสมียน เจ้าหน้าที่ จำนวน 38,101 อัตรา กลุ่มงานช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 24,638 อัตรา และกลุ่มงานผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ จำนวน 13,718 อัตรา"โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ปวช. – ปวส./อนุปริญญา มากที่สุด 82,022 อัตรา รองลงมาได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา 71,759 อัตรา ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 36,476 อัตรา และระดับปริญญาตรีและสูงกว่าจำนวน 29,639 อัตรา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังมีตำแหน่งงานว่างรองรับผู้ที่ต้องการทำงาน
 
"พร้อมกันนี้ กระทรวงแรงงานยังจัดให้มีบริการฝึกทักษะอาชีพ ให้แก่กำลังแรงงานในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการอีกเป็นจำนวนมาก โดยจัดบริการให้ทุกกลุ่มทั้งทหารปลดประจำการ คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงได้ร่วมกับสถานประกอบการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา โดยการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้กับนักเรียน/นักศึกษาในสถานประกอบการก่อนที่จะจบการศึกษาเพื่อให้มีประสบการณ์และความถนัด"โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอ้วยว่า นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างงานเร่งด่วนในช่วงหน้าแล้งเพื่อรองรับแรงงานในพื้นที่ เช่น การจ้าง ขุดลอกคูคลองในพื้นที่การปรับภูมิทัศน์ในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรช่วงรอฤดูเก็บเกี่ยวอีกด้วย
 
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการว่างงาน รายเดือนตั้งแต่ ปี 2555 – 2560 (เม.ย.) พบว่า จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยในช่วงต้นปี (ปลายไตรมาส 1) เป็นช่วงนอกฤดูการเกษตร และปลายฤดูการท่องเที่ยว อาจเป็นเหตุทำให้จำนวนผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจะเพิ่มสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2 และจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับภาวการณ์จ้างงาน
 
ในตลาดแรงงาน เดือนเมษายน 2560 ตัวเลขในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,523,934 คน มีอัตราการขยายตัว 1.80% (YOY) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,338,067 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 185,867 คน
 
"ทั้งนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดำเนินการวางแผนรับมือ ตลอดจนปรับบทบาทของกระทรวงให้สามารถพัฒนาแรงงานตามความต้องการของตลาดได้ในทุกมิติต่อไป "นายอนันต์ชัย กล่าว
 
 
เผยภาพสุดทรุดโทรม อ.สถาปัตย์ลาดกระบังฯ ห่วงคุณภาพชีวิตพนักงานนิคมรถไฟ
 
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปริญญา ชูแก้ว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เผยแพร่ภาพชุด "นิคมรถไฟ" ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยเสนอแนะให้การรถไฟแห่งประเทศไทยวางแผนการพัฒนานิคมรถไฟ อย่างตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของพนักงาน เนื้อหาระบุดังนี้
 
"ตลอดระยะเวลาผ่านมา นิคมรถไฟยังคงรักษาบทบาทสำคัญในการบรรเทาการขาดแคลนที่พักอาศัยให้กับพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยบางส่วนและครอบครัว และสามารถดำรงรักษาบ้านพักซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและการใช้สอย รวมทั้งมีความงดงามในลักษณะพื้นถิ่นอีกด้วย
 
ปัจจุบัน นิคมรถไฟหลายๆ แห่ง มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ สภาพบ้านพักทรุดโทม และมีผลกระทบต่อสภาพสังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งคุณภาพการพักอาศัยของพนักงานและครอบครัวในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ดังนั้น รัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดทำแผนการพัฒนานิคมรถไฟ โดยควรตระหนักถึงความสำคัญของนิคมรถไฟและคุณภาพชีวิตของคนรถไฟเป็นสำคัญ"
ทั้งนี้ นายปริญญา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านการรื้ออาคารสถานีรถไฟเก่า เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า โดยเคยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการยุติการรื้อสถานีในเส้นทางรถไฟทางภาคอีสาน
 
 
การท่าเรือแห่งประเทศไทย เตรียมพัฒนาอาคารแฟลต 26-29 เป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน กทท. เข้าพักอาศัย
 
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้พนักงานกทท. เข้าพักอาศัยในอาคารแฟลต 26-29 เป็นการชั่วคราว โดยฝ่ายบริหารเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเคหะชุมชนคลองเตยระยะที่ 3 ซึ่งเดิม ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 วงเงิน 1,159.372 ล้านบาท สร้างแฟลตรองรับชุมชน 5 ชั้น 11 หลัง จำนวน 1,168 หน่วย ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 584.392 ล้านบาท หลักจากจัดชาวชุมชนเข้าอยู่อาศัยในอาคารแฟลตแล้ว ยังเหลือแฟลต 26-29 จำนวน 620 หน่วย ผู้ได้สิทธิเลือกขึ้นอาคารแฟลต อ้างว่าไม่ประสงค์จะเข้าพักอาศัย โดยอ้างว่ามีขนาดเล็ก (28.8 ตารางเมตร) จึงว่างมาถึงปัจจุบัน
 
โดย กทท. จะนำอาคารแฟลตดังกล่าว มาบริหารจัดการ และพัฒนาให้เป็นที่พักอาศัยของพนักงาน กทท. โดยไม่กระทบต่อการบริหารจัดการด้านที่พักอาศัยให้กับชาวชุมชนแออัด เนื่องจาก กทท. ได้มีนโยบายในการพัฒนา และบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบบริเวณนอกเขตรั้วศุลกากร ทกท. การพัฒนาที่พักอาศัยชุมชนคลองเตยสมัยใหม่ (Smart Community) บริเวณองค์การฟองหนังที่ กทท. ได้รับคืนจากกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ซึ่งจะใช้แนวทางการก่อสร้างอาคารสูงบริเวณชุมชนดินแดงเป็นต้นแบบในการดำเนินการ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ ตลอดจนการดำเนินชีวิตของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี
 
​สำหรับการพัฒนาอาคารแฟลต 26-29 นั้น กทท. จะดำเนินการซ่อมแซมอาคารแฟลตให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และให้ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ตรวจสอบพนักงานที่แจ้งตามประสงค์ไว้และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของ กทท. จัดพนักงานเข้าพักอาศัยและบริหารจัดการ โดยจัดทำสัญญาให้พนักงานผู้พักอาศัยต้องดำเนินการตามรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเช่าอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงาน กทท. คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินโครงการฯ ประมาณ 6 เดือน หลังจากที่ได้รับงบประมาณและผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว
 
 
กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการฯ จ.พัทลุง ร้องไม่ได้รับเงินเดือนถึง 2 เดือน พร้อมยื่น 4 ข้อเรียกร้องจี้นายกฯ
 
(30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุง ว่า ที่สำนักงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพัทลุง ศาลากลางจังหวัดพัทลุง ตัวแทนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 1 จำนวน 24 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 1 จำนวน 52 ราย และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 2 จำนวน 72 ราย เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม ผ่านศูนย์ดำธรรมจังหวัดพัทลุง ถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ยังไม่ได้รับเงินเดือน จำนวน 2 เดือน อีกทั้งยังมีแนวโน้มถูกปรับลดอัตราตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ว่างงานในทันทีเป็นจำนวนมาก
 
ดังนั้น กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ขอยื่นเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จำนวน 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้ปรับลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนต่อสัญญาทุก 6 เดือน เป็นต่อสัญญาทุก 1 ปี 2.ค่าครองชีพขอให้ปรับตามวุฒิการศึกษาที่ใช้ในการสมัคร 3.ให้โอกาสพัฒนาตนเองในสายงานที่ปฏิบัติ เพื่อความเจริญก้าวหน้า และ 4.ขอพิจารณาเกณฑ์ในการจัดสรรพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เนื่องจากเกณฑ์ที่ประกาศล่าสุดเป็นเกณฑ์ที่สูง และไม่สอดคล้องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้มีผลกระทบ
 
นางเปมิกา มูสิกะปาละ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ซึ่งเป็นตัวแทนยื่นหนังสือฯ กล่าวทั้งน้ำตาว่า คณะนี้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตอนนี้ยังไม่รับเงินเดือน จำนวน 9,000 พันบาทต่อเดือน มาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว อีกทั้งล่าสุดมีการประกาศเกณฑ์ที่สูง และไม่สอดคล้องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้มีผลกระทบจะถูกปรับลดอัตราตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม มีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังไม่ได้รับความมั่นคง ทั้งที่เป็นตำแหน่งสนับสนุนด้านการศึกษา ในการช่วยเหลือ และพัฒนากลุ่มผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ทางสมอง และทางการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้ได้อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข และยังพัฒนาความสามารถนักเรียนผู้พิการให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
 
 
อนุมัติตำแหน่ง-อัตราเงินเดือน บรรจุ ขรก.พยาบาลรอบแรก 1,200 อัตรา
 
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาการบรรจุแต่งตั้ง "ตำแหน่งพยาบาล" ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.) ได้พิจารณาและอนุมัติการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน เพื่อบรรจุตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพรอบแรกจำนวน 1,200 อัตรา พร้อมทำหนังสือไปยังเขตสุขภาพให้ดำเนินการบรรจุให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 30 มิถุนายน 2560 โดยให้ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพที่รอบรรจุมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ส่วนตำแหน่งที่เหลืออีก 1,000 อัตรา บวกอีก 2,992 อัตรา ตามมติของ คปร.จะนำเข้า อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข จะรีบจัดสรรและสำรวจว่าจะไปอยู่จังหวัดใด
 
สำหรับในส่วนตำแหน่งอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแนวทางการดำเนินงาน โดยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
 
1.จัดทำแผนกำลังคน เป็นการกำหนดความต้องการว่าโรงพยาบาลหรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอต้องการคนเท่าไหร่ เป็นวิชาชีพอะไรบ้าง ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
 
2.กำหนดว่าแต่ละวิชาชีพจะจ้างงานอย่างไร เป็นข้าราชการกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละวิชาชีพแตกต่างกันไป โดยสายงานสนับสนุนจะถูกกำหนดสัดส่วนให้เป็นข้าราชการตามที่ ก.พ.กำหนด ส่วนสายงานหลักกำหนดให้เป็นข้าราชการได้ร้อยละ 90 ขึ้นไป
 
"สำหรับ 7 วิชาชีพที่มาพบผม ได้มีการพูดคุยกันและตกลงกำหนดให้เป็นข้าราชการร้อยละ 75 ต้องไปดูว่าขณะนี้เป็นข้าราชการแล้วเท่าไหร่ ยังขาดอยู่อีกเท่าไหร่ เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูอัตรากำลังแผนอัตรากำลังด้านสาธารณสุข"
 
นอกจากนี้ ในส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการจะจ้างด้วยวิธีการใด เช่น พนักงานราชการ ให้แก้ไขระเบียบให้สามารถลาไปเรียนต่อได้หรือเพิ่มสวัสดิการด้านอื่นๆ ใกล้เคียงข้าราชการ หรือเป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอัตราค่าจ้าง เช่น ได้รับเงินเดือนมากกว่า 1.2 เท่า
 
ทั้งนี้ ในการจ้างงานได้กำหนดทุกจังหวัดดำเนินการให้เป็นไปตามแผนกำลังคนตามความต้องการและเงินงบประมาณที่มี โดยมติ คปร.ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขหลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขต้องขอเงินงบประมาณมาใช้ในการจ้างงานเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราว โดยจะเร่งดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด
 
3.กำหนดกติกาในการบรรจุพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ เช่น กรณีโรงพยาบาลมีผู้เกษียณอายุ ลูกจ้างชั่วคราวหรือพนักงานราชการที่จะบรรจุไปเป็นข้าราชการ จะมีสิทธิประโยชน์ ควรนับเวลาราชการ เงินเดือนอย่างไร ต้องมีกำหนดพูดคุยกับคณะกรรมการและนำไปหารือกับ ก.พ. อีกครั้ง
 
 
กระทรวงแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างก่อสร้างสู่ Green Jobs รองรับการขยายตัวตลาด อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึง การลงนามความร่วมมือกับ นายณัฐพงศ์ สิงห์ศิลารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคและผลิตภัณฑ์ บริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด ในการพัฒนาช่างก่อสร้างป้อนตลาดแรงงาน เพื่อบริการประชาชนและสังคม พร้อมปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม Green Jobs โดยระบุว่าจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ส่งผลให้สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น กพร.ได้ร่วมมือกับบริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาช่างก่อสร้างป้อนตลาดแรงงาน เพื่อบริการประชาชนและสังคม พร้อมปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม Green Jobs
 
ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้ดำเนิน "โครงการปั้นช่างปูกระเบื้อง การก่ออิฐมวลเบาและทำกันซึมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยกระดับฝีมือช่างไทย" จัดฝึกอบรมสาขาการปูกระเบื้อง โดยใช้วัสดุกาวซีเมนต์และวัสดุยาแนวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสาขาการก่ออิฐมวลเบาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในปี 2560 จะดำเนินการฝึกอบรมในพื้นที่หน่วยงานสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 แห่ง ได้แก่ ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี จันทบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี เป็นต้นตั้งเป้าหมายดำเนินการ 300 คน
 
 
"เครือข่าย 7 สหวิชาชีพ" แย้ง ปลัดสธ. 308 ตำแหน่งที่อนุมัติให้คือ ตัวเลขเก่าที่อนุมัติไว้แล้ว จี้ยกเลิกระบบลูกจ้างรายวัน
 
"เครือข่าย 7 สหวิชาชีพ" แย้ง ปลัดสธ. 308 ตำแหน่งที่อนุมัติให้คือ ตัวเลขเก่าที่อนุมัติไว้แล้ว จี้ยกเลิกระบบลูกจ่างรายวัน เพราะเดือดร้อนสาหัส อยากมีความมั่นคงในชีวิตบ้าง เพราะทำงานหนักเหมือนกัน ระบุอยากให้เกลี่ยตำแหน่งเป็นธรรมมากกว่านี้ เพราะให้รออัตราเกษียณคงไม่ไหว คงต้องรอเป็นพันปีแน่ ชี้นักกายภาพบำบัดอีก 10 ปีมีเกษียณแค่ 65 คน แต่คนตกค้างนับพันคน วอนผู้ใหญ่ในกระทรวงจริงใจแก้ปัญหา ไม่ซื้อเวลา เพราะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น
 
นายสมคิด เพื่อนรัมย์ นักภายภาพบำบัด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย 7 สหวิชาชีพทางการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการเข้าพบ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารสุข เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ผ่านมานั้น การพูดคุยในวันนั้น ทางเครือข่ายฯไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบรรจุข้าราชการและการแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังคนในการปฎิบัติหน้าที่ของ 7 สหวิชาชีพแต่อย่างใด
 
"ที่สำคัญที่มีข่าวว่ามีการอนุมัติ 308 อัตรานั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นอัตราเดิมที่จะมีการจัดสรรไว้แล้ว ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นการจัดสรรพร้อมกันกับวิชาชีพพยาบาล ที่ได้รับการจัดสรร 8,792 ตำแหน่ง หรือเกือบหมื่นตำแหน่ง โดย7 สหวิชาชีพได้รับการจัดสรรเพียงแค่ 308 ตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอย้ำว่าการอนุมัติดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า ไม่ใช่ความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาตามที่สื่อมวลชนและสังคมเข้าใจแต่อย่างใด จีงอยากขอความจริงใจในการแก้ปัญหาและไม่ควรซื้อเวลา เพราะปัญหามีอยู่นานแล้ว จึงไม่เป็นผลดีกับใครทั่งสิ้น " นายสมคิด กล่าว
 
นายสมคิด กล่าวต่อไปว่า ทางเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ ไม่ได้มีปัญหาหรือความกังวล เรื่องการบริหารตำแหน่งว่างของวิชาชีพต่างๆ เป็นอำนาจที่กระทรวงฯ สามารถนำไปปรับเกลี่ยหรือบริหารได้ ขอเพียงกระทรวงฯทำตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้ คือ สหวิชาชีพได้รับการบรรจุ 75% พยาบาล 95% แพทย์ ทันตแพทย์ 100% ของจำนวนกรอบอัตรากำลังที่ควรมี
 
อย่างไรก็ตามเรื่องการจ้างบุคลากรแบบใหม่ที่ปลัดและผู้บริหารออกมาพูด รวมถึงเรื่องที่ผู้บริหารระบุว่าจะทยอยบรรจุตำแหน่งให้กับ 7 สหวิชาชีพนั้น ก็ไม่มีกรอบเวลาและรายละเอียดที่ชัดเจน อาทิเช่น เงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร สิทธิที่เพิ่มมีอะไรบ้างแค่ไหนอย่างไร ที่สำคัญจะเริ่มใช้ได้ช่วงไหน ดังนั้น จึงอยากจะขอความชัดเจนตรงนี้ด้วย เพราะมีน้องๆลูกจ้างฯ ที่ตกค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ร่วมเกือบ 3,000 คน แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เหมือนบางวิชาชีพที่รู้แน่ว่าจะได้ครบภายใน 3 ปี
 
ผู้ประสานงานเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ อยากให้กระทรวงมีความชัดเจนเรื่องปัญหาลูกจ้างรายวัน โดยออกคำสั่งยกเลิก ตำแหน่งลูกจ้างรายวันเปลี่ยนเป็นพนักงานกระทรวงไว้ก่อนทั้งหมด โดยทำควบคู่ไปกับการเก็บฐานข้อมูลลูกจ้างรายวันทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุข
 
"ทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกจ้างรายวันจะรู้สึกสงสารพวกเขามากๆ เพราะเขาจะได้รับค่าตอบแทน 500-600 บาท/วัน ถ้าหากวันไหนเขาป่วยหรือมีธุระไม่สามารถมาทำงานได้ก็จะไม่ได้รับเงินเลย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคง ถือเป็นความเดือดร้อนที่แสนสาหัส ขณะที่เงินเดือนของลูกจ้างอยู่ที่ 11,230 บาท/เดือน หักประกันสังคม แต่ละเดือนจะเหลือเงินน้อยมาก ในขณะที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 15,960 บาทต่อเดือน พร้อมสิทธิข้าราชการต่างๆ ซึ่งแม้จะไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังมีสวัสดิดการถือเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตคนเหล่านี้ได้บ้าง นี่คือความทุกข์ใจที่ 7 สหวิชาชีพต้องเจอมาอย่างยาวนาน ทั้งที่การทำงานของพวกเราก็หนักและเหนื่อยไม่น้อบกว่า หมอ และ พยาบาล จึงอยากขอความเป็นธรรม ให้มีการเปิดตำแหน่งราชการ เพื่อเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตบุคลากรวิชาชีพอย่างเราบ่าง"
 
นายสมคิด กล่าวว่า วิชาชีพกายภาพบำบัด เป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด เป็นวิชาชีพเราที่มีข้าราชการน้อยนิดเท่าเศษเม็ดฝุ่น ก่อตั้งกายภาพบำบัดมาได้ 50 กว่าปีมีข้าราชการแค่ 1,445 คน จะเอาตำแหน่งเกษียญที่ไหนไปให้น้องๆได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในวิชาชีพท้อมาก จึงอยากให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงมีการเกลี่ยตำแหน่งราชการให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะเทียบกับพยาบาลถือว่าห่างไกลกันมาก เพราะมีการบรรจุพยายาบาลเป็นข้าราชการกว่า 83,000 คน จนพวกเรารู้สึกเหมือนเป็นคนชายขอบไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ในกระทรวงเลย
 
" สำหรับผมที่เป็นตัวแทนน้องๆกายภาพบำบัดและเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ รู้สึกผิดหวัง ท้อแท้มากที่สุด คือ การให้พวกเรารอตำแหน่งว่างจากคนที่เกษียญอายุราชการ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนคนที่เกษียญอายุราชการ ปี 2560-2570 ของนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ มีเพียง 65 ตำแหน่งเท่านั้น เอาแค่มีคนที่ตกค้างถึงปัจจุบันก็ 1,327 คนรวมอนาคตอีกเท่าไหร่ น้องๆต้องรอคนเกษียณอายุไปอีกกี่ร้อยปีกี่พันปีถึงจะได้บรรจุครบกันทุกคน"
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุรถยนต์พุ่งชนผู้คนบนทางเท้าในกรุงลอนดอน

Posted: 03 Jun 2017 06:18 PM PDT

4 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าเกิดเหตุรถตู้แล่นขึ้นบนทางเท้าและพุ่งชนผู้คนจำนวนมากบนสะพานลอนดอนบริดจ์ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เมื่อช่วงก่อน 23.00 น.คืนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ตำรวจพร้อมอาวุธไปถึงที่เกิดเหตุแล้ว ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่ารถตู้สีขาวแล่นบนสะพานลอนดอนบริดจ์ด้วยความเร็ว ก่อนปีนขึ้นบนทางเท้าและพุ่งชนผู้คนที่กำลังเดินบนทางเท้าจำนวนมาก เบื้องต้นพบผู้ได้รับบาดเจ็บกำลังได้รับการปฐมพยาบาลบริเวณที่เกิดเหตุอย่างน้อย 5-6 คน ผู้เห็นเหตุการณ์บอกด้วยว่าน่าจะมีคนอย่างน้อย 3 คน ถูกปาดคอ รวมถึงได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดด้วย ก่อนที่รถตู้ที่ก่อเหตุจะหลบหนีมุ่งหน้าไปทางใต้ของแม่น้ำเทมส์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งปิดการจราจรทั้ง 2 ด้าน และกำลังติดตามรถตู้คันที่ก่อเหตุแล้ว เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นการก่อการร้าย ล่าสุดมีรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 1 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น