โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทันตแพทยสภาให้ข้อมูลบอร์ดนิวเคลียร์ จำเป็นยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟัน ออกจาก พ.ร.บ.นิวเคลียร์

Posted: 01 Jun 2017 12:20 PM PDT

ทันตแพทยสภาเข้าให้ข้อมูลกับ คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติในประเด็นข้อเรียกร้องให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมออกจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา 

1 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ทันตแพทยสภาและคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติในประเด็นข้อเรียกร้องให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมออกจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ทั้งนี้ก่อนการเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง นายกทันตแพทยสภา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 6 ท่าน และผู้แทนทันตะอาสา เพื่อประชุมเตรียมการก่อนการเข้าให้ข้อมูลกับบอร์ดพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จุดยืนของทันตแพทยสภาคือ การเสนอให้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม intra oral และ Cephalometeric & Panoramic ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขณะที่แทนผู้แทนทันตะอาสาเสนอให้ Cone Beam CT ออกจาก พ.ร.บ.นี้ด้วย ที่ประชุมได้อภิปรายกันถึงประเด็นความจำเป็นในการเสนอ Cone Beam CT ให้ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ในการหารือได้ข้อสรุปว่า นายกทันตแพทยสภายังคงยืนตามมติของกรรมการทันตแพทยสภาที่จะเสนอให้ออกจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฯ เฉพาะ intra oral และ Cephalometeric & Panoramic ส่วนคณบดีท่านใดจะเสนอให้ Cone Beam CT ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล

หลังจากนั้นจึงได้เข้าให้ข้อมูลต่อบอร์ดพลังงานนิวเคลียร์ ทางบอร์ดนิวเคลียร์ได้อนุญาตให้แต่ละหน่วยงานเข้าให้ข้อมูลได้เพียงหน่วยงานละ 1 คน ดังนั้นจึงมี นายกทันตแพทยสภา, นายกทันตแพทยสมาคม และคณบดีหรือตัวแทนคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์อีก 6 ท่านเท่านั้น โดยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้กล่าวนำว่า เคยสรุปเรื่องกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมไปแล้วว่า ยกเว้นให้เฉพาะเครื่องที่มีปริมาณรังสีต่ำกว่า 5kev แต่ทันตแพทยสภาก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้นในวันนี้จึงเชิญนายกทันตแพทยสภามาให้ข้อมูลอีกครั้ง พร้อมคณบดีคณะทันตแพทย์และผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ

นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการต้องขอยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม intra oral และ Cephalometeric & Panoramic ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิได้ซักถามและโต้แย้งหลายประเด็น ขณะที่ รมว.วิทยาศาสตร์เสนอให้กรรมการสถานพยาบาลไปแก้กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ให้ตรวจ-ขึ้นทะเบียนเครื่องทุก 2 ปี ได้หรือไม่ เพื่อที่ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จะได้เอาเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมออกจาก พ.ร.บ.นี้ แต่ทางสำนักงานกฤษฏีกาแย้งว่า ปส.ไม่สามารถมอบอำนาจให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นทะเบียนและตรวจเครื่องแทนได้ เนื่องจากกฎหมายให้ ปส.ทำหน้าที่นี้ และในอดีต ปส.เคยมอบอำนาจให้กรมวิทยศาสตร์การแพทย์ทำแทน แต่ปัจจุบันนี้ทำไม่ได้เพราะขัด พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ที่ทำได้คือให้กรมวิทยศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานตรวจเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมให้แล้วส่งข้อมูลมาให้ ปส.ขึ้นทะเบียน-ออกใบอนุญาตให้

"ทันตแพทยสภายังคงยืนยันหลักการและเหตุผลที่ชัดเจนให้มีการยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม intra oral และ Cephalometeric & Panoramic ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งกรรมการนิวเคลียร์บอกว่าจะทำได้ ต้องมีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน หากยอมให้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมออกจาก พ.ร.บ.นี้ด้วยเงื่อนไขหนึ่งๆ เช่น ค่าพลังงาน 60-95 Kvp แล้ว จะต้องยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันนี้ออกให้หมดเช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์จำนวนมากที่มีลักษณะคล้ายกับ Cephalometeric & Panoramic ซึ่งถ้ายกเว้นเฉพาะเอกเรย์ทางทันตกรรมแล้วทางบอร์ดนิวเคลียร์เพื่อสันติจะทำผิดกฎหมาย ดังนั้นในเรื่องนี้จึงต้องรอดูมติของคณะกรรมการพลังงานนิเวคลียร์เพื่อสันติว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"  นายกทันตแพทยสภา กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมสวัสดิการฯ เดินหน้าหนุนนายจ้างดูแลลูกจ้างติดเชื้อ HIV ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลิกจ้าง

Posted: 01 Jun 2017 12:03 PM PDT

กรมสวัสดิการฯ ลงพื้นที่ส่งเสริมให้นายจ้างปฏิบัติตามแนวทางป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่กีดกันการจ้างงานและไม่เลิกจ้างแรงงานที่ติดเชื้อเอดส์ ก.แรงงาน แนะเรียนอาชีวะ ตลาดแรงงานต้องการสูง

1 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวจากกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า สุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กรมสวัสดิการฯ ได้กำชับให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดและ 10 พื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าส่งเสริม ให้นายจ้างปฏิบัติตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง แนวทางการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ป่วยเอดส์และติดเชื้อเอชไอวีมิให้ถูกตีตราและไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้ส่งเสริมให้นายจ้าง ผู้บริหาร ลูกจ้างมีความรู้เกี่ยวกับเอดส์ มีการอบรม ปรึกษาแนะนำ และให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องเอดส์ที่ถูกต้องเพื่อลดโอกาสเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี รับสมัครงานและการจ้างงานต้องไม่มีการตรวจหรือแสดงหลักฐานว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี ส่งเสริมสิทธิในการรักษาความลับส่วนบุคคลและมีผู้รับผิดชอบงานด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงให้ความคุ้มครองผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ให้สามารถทำงานและมีความก้าวหน้า ให้ความเสมอภาคในการพิจารณาสิทธิประโยชน์และสวัสดิการแก่ลูกจ้างทุกคน  ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้เป็นเหตุในการเลิกจ้างเพียงเพราะเป็นผู้ป่วย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ที่ไม่สามารถทำงานและผู้ได้รับผลกระทบให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามความเหมาะสมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้าง  

อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าวต่อไปว่า ลูกจ้างที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยเอดส์ สามารถอยู่ร่วมกันผู้อื่นในสถานประกอบกิจการได้ แต่นายจ้างจะต้องส่งเสริมและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับลูกจ้างทุกคนเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเพื่อให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีได้รายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ตลอดจนมีความมั่นคงในการทำงานบนพื้นฐานแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในสังคม และสถานประกอบกิจการ

ก.แรงงาน แนะเรียนอาชีวะ ตลาดแรงงานต้องการสูง

วันเดียวกัน รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งด้วยว่า สุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เผยจาการสำรวจความต้องการแรงงานของกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่ตุลาคม 2559 - เมษายน 2560 ที่พบว่า นายจ้างหรือสถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานมายังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 219,896 อัตรา เฉลี่ย 31,414 อัตรา/เดือน โดยมีความต้องการแรงงานมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 37,491 อัตรา ส่วนใหญ่ สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ปวช. – ปวส. หรืออนุปริญญา มากที่สุด 82,022 อัตรา รองลงมาระดับมัธยมศึกษา 71,759 อัตรา ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 36,476 อัตรา และระดับปริญญาตรีและสูงกว่าจำนวน 29,639 อัตรา

ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน  ระบุว่า จากตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความต้องการของตลาดแรงงาน ณ ปัจุบันมีความต้องการผู้ที่จบการศึกษาระดับปวช. – ปวส. หรืออนุปริญญา ที่มีทักษะด้านวิชาชีพมากที่สุด จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่กำลังศึกษาระดับมัธยมต้นมองสายอาชีวะหรือสายอาชีพเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะศึกษาต่อ เนื่องจากสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วไม่ตกงาน มีตำแหน่งงานว่างรองรับ อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งไทยและต่างประเทศ และยังสามารถเพิ่มรายได้ ด้วยการเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีอัตราค่าจ้างสูงสุดอยู่ที่ 815 บาทต่อวัน ซึ่งดีกว่าจบสูงแต่ตกงาน และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ครอบครัวเป็นสุข และได้ร่วมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศพร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 

ก.แรงงาน แนะเรียนอาชีวะ ตลาดแรงงานต้องการสูง

 

กระทรวงแรงงาน ชวนผู้ที่กำลังศึกษาระดับมัธยมต้นมองสายอาชีวะหรือสายอาชีพเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะศึกษาต่อ จากความต้องการของตลาดแรงงานมากสุด จบแล้วไม่ตกงาน มีตำแหน่งงานว่างรองรับ สามารถเพิ่มรายได้ด้วยการเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

 

1 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า สุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เผยจาการสำรวจความต้องการแรงงานของกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่ตุลาคม 2559 - เมษายน 2560 ที่พบว่า นายจ้างหรือสถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานมายังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 219,896 อัตรา เฉลี่ย 31,414 อัตรา/เดือน โดยมีความต้องการแรงงานมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 37,491 อัตรา ส่วนใหญ่ สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ปวช. – ปวส. หรืออนุปริญญา มากที่สุด 82,022 อัตรา รองลงมาระดับมัธยมศึกษา 71,759 อัตรา ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 36,476 อัตรา และระดับปริญญาตรีและสูงกว่าจำนวน 29,639 อัตรา

ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน  ระบุว่า จากตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความต้องการของตลาดแรงงาน ณ ปัจุบันมีความต้องการผู้ที่จบการศึกษาระดับปวช. – ปวส. หรืออนุปริญญา ที่มีทักษะด้านวิชาชีพมากที่สุด จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่กำลังศึกษาระดับมัธยมต้นมองสายอาชีวะหรือสายอาชีพเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะศึกษาต่อ เนื่องจากสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วไม่ตกงาน มีตำแหน่งงานว่างรองรับ อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งไทยและต่างประเทศ และยังสามารถเพิ่มรายได้ ด้วยการเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีอัตราค่าจ้างสูงสุดอยู่ที่ 815 บาทต่อวัน ซึ่งดีกว่าจบสูงแต่ตกงาน และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ครอบครัวเป็นสุข และได้ร่วมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศพร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 มิถุนายนนี้ไม่มีคอนเสิร์ตคาราบาว-มาลีฮวนน่าที่ ม.แม่โจ้

Posted: 01 Jun 2017 11:25 AM PDT

เผยภาพคัตเอาท์ "คอนเสิร์ตพี่ให้น้อง" โผล่ ม.แม่โจ้ ที่แท้ไม่มาทั้ง "คาราบาว" และ "มาลีฮวนน่า" มีแต่รุ่นพี่จะพาไปรับน้อง เมื่อตรวจสอบคิวแสดง "คาราบาว" พบว่าศุกร์นี้จะไปหาดใหญ่ไม่ได้มาแม่โจ้ ด้านผู้จัดการวง "มาลีฮวนน่า" ไม่เห็นด้วยหากมีผู้อ้างชื่อวงไปเชิญชวน เพราะเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ทำคนเข้าใจผิด และแฟนเพลงอาจผิดหวังเมื่อไปในงานแล้วไม่มีการแสดงตามที่ขึ้นป้ายโฆษณา

2 มิถุนายนนี้ คาราบาวจะไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ไหนระหว่าง "คอนเสิร์ตพี่ให้น้อง" ที่ ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ (ซ้าย) หรือไปร้านอาหารที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บัตรเข้าชมโต๊ะละ 3,000 บาท (ขวา)

คัตเอาท์ "คอนเสิร์ตพี่ให้น้อง" ระบุว่าจะมีการแสดงวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ตั้งแต่เวลา 19.00 น. แต่ในคืนเดียวกัน "คาราบาว" มีกำหนดจัดคอนเสิร์ตที่ร้านอาหาร "กินดื่ม" ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บัตรเข้าชมโต๊ะละ 3,000 บาท

"คาราบาว" มีกำหนดจัดคอนเสิร์ตที่ร้านอาหาร "กินดื่ม" ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คืนวันที่ 2 มิถุนายน 2560 บัตรเข้าชมโต๊ะละ 3,000 บาท

กรณีที่มีผู้ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิพหัวข้อ "คุณหลอกดาว คอนเสิร์ตคาราบาว ที่แม่โจ้....(มีภาพหลุด)" พร้อมโพสต์ภาพคัตเอาท์ระบุข้อความว่า "คอนเสิร์ต พี่ให้น้อง พบกับ... คาราบาว มาลีฮวนน่า" "วันที่ 2 มิถุนายน 2560 ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ณ ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก รัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยแม่โจ้" โดยผู้ตั้งกระทู้ยังโพสต์ภาพระบุด้วยว่า คาราบาวมีกำหนดไปแสดงคอนเสิร์ตที่ร้าน "กินดื่ม" ที่ จ.สงขลาในวันที่ 2 มิถุนายน วันเดียวกับที่จะมีคอนเสิร์ตตามคัตเอาท์ดังกล่าวระบุนั้น (อ่านกระทู้เว็บไซต์พันทิพ)

ล่าสุดผู้สื่อข่าวตรวจสอบในเพจของร้าน "กินดื่ม" อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ปรากฏว่ามีการลงโฆษณาคอนเสิร์ตคาราบาวที่ร้าน โดยเก็บค่าบัตรชมคอนเสิร์ตโต๊ะละ 3,000 บาท ซึ่งหากมีการแสดงคอนเสิร์ตที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ในวันเดียวกัน ก็เป็นไปได้ยากที่นักดนตรีจากวงคาราบาวจะบินด่วนไปแสดงต่อที่ร้านอาหารที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในคืนเดียวกัน

แหล่งข่าวที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า การติดป้ายประชาสัมพันธ์ว่าจะมีคอนเสิร์ตคาราบาวนั้น มีการทำต่อเนื่องทุกปี แต่ไม่มีการแสดงจริง เป็นเพียงการหลอกให้นักศึกษาปีหนึ่งมาเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องของมหาวิทยลัยเพียงเท่านั้น และทางวอร์นเนอร์ มิวสิก ต้นสังกัดของวงคาราบาวได้ติดต่อกับกองกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้นำป้ายโฆษณาดังกล่าวออกทั้งหมดแล้ว

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า การเขียนป้ายคัตเอาท์ว่าจะมีคอนเสิร์ตคาราบาว หรือวงดนตรีชื่อดังนั้น มีการกระทำมาหลายปีโดยรุ่นพี่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยบางปีรุ่นพี่ก็ถึงกับลงทุนพิมพ์บัตรเข้าชมคอนเสิร์ตด้วย แต่เมื่อถึงเวลาตามกำหนดจัดคอนเสิร์ตกลับกลายเป็นกิจกรรมรับน้อง

ภาพคัตเอาท์ในปี 2558 ระบุว่าจะมี "คอนเสิร์ตเพื่อน้อง" แสดงโดยวงคาราบาว ในวันที่ 2 สิงหาคม เวลา 18.00 น. จัดโดยองค์การนักศึกษา ม.แม่โจ้ และสมาคมศิษย์เก่า ม.แม่โจ้ แต่ในวันจริงกลับไม่มีการจัดคอนเสิร์ตอย่างที่ระบุ

ในปี 2557 นอกจากคัตเอาท์แล้ว ยังมีการพิมพ์บัตรเข้าชมคอนเสิร์ตด้วย โดยในภาพเป็น "คอนเสิร์ตเพื่อน้อง" โดยระบุว่าจะมีการแสดงของ "คาราบาว" และ "บิว กัลยาณี" ระบุว่าแสดงในวันที่ 5 สิงหาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 18.30 น. แต่เมื่อถึงเวลาจริงก็ไม่มีคอนเสิร์ตแต่อย่างใด

แฟ้มภาพรับน้องมหาวิทยาลัยแม่โจ้เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2558 (ซ้าย) ภาพจากวิดีโอคลิปที่เผยแพร่ใน YouTube ตั้งชื่อว่า "รับน้อง" ในคลิปตั้งแต่วินาทีที่ 55 จะเห็นรุ่นพี่บางคนใช้มือทั้งสองข้างอุดหู และต่อมาจะเกิดเสียงตะโกนว่า "หมอบ พวกเราหมอบ" และติดตามด้วยดังกึกก้องของประทัดยักษ์ 1 ครั้ง (ขวา) ภาพสนามกีฬาอินทนิล ภายในศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถานที่จัดกิจกรรมรับน้อง (ที่มา: Google Maps) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ขณะที่ ภูมินทร์ ประทุมมาศ ผู้จัดการวงมาลีฮ่วนนา วงดนตรีที่ถูกพาดพิงอยู่ในคัตเอาท์ด้วย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เบื้องต้นทางวงดนตรีได้รับทราบแล้วว่าว่ามีการแอบอ้างชื่อวงดนตรีเพื่อเชิญชวนให้นักศึกษาไปเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องแล้ว อย่างไรก็ตามทางวงยังไม่ได้มีการประสานเพื่อพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีภาระกิจหลายเรื่องที่ต้องทำ

ภูมินทร์ ยังระบุด้วยว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการนำชื่อวงดนตรี ไม่ว่าจะวงไหนก็ตามไปใช้เชิญชวนในลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการหลอกหลวงประชาชน และอาจจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าจะมีการแสดงจริงและทำให้แฟนเพลงผิดหวังเมื่อเข้าไปในงานแล้วพบว่าไม่มีการแสดงตามที่ได้มีการขึ้นป้ายโฆษณา ทั้งนี้เขาระบุด้วยว่า หากมีนักศึกษาคนใดที่รู้สึกว่า เป็นผู้เสียหายก็สามารถเข้าไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ และจะแจ้งความกับทางวงมาลีฮวนนาด้วยก็ได้ โดยทางวงจะไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกแอบอ้างชื่อ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เงินเฟ้อพ.ค.เพิ่มขึ้น 0.15% จากราคาอาหารสด ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าการศึกษา

Posted: 01 Jun 2017 10:00 AM PDT

เงินเฟ้อพ.ค.เพิ่มขึ้น 0.15% จากราคาเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าการศึกษา ขณะที่ดัชนีธุรกิจกรุงไทยไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2

1 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า สุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนพฤษภาคม 2560 ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 100.64  เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 100.49 แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.04 

สาเหตุเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2560 ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าปรับสูงขึ้น 151 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 422 รายการ โดยเฉพาะ จากราคาเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าการศึกษา  สินค้าที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นได้แก่  เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ นมสด ผักสด หัวหอมแดง ผลไม้สด ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเจาะเลือด โฟมล้างหน้า รถจักรยานยนต์ ค่าเล่าเรียนซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงได้แก่ ข้าสารเจ้า ปลาทู กุ้งขาว กระเทียม น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป(แพมเพิส) น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซยานพาหนะ(LPG) ค่าทัศนาจรต่างประเทศ

ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ประเมินว่า จะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8-0.9 เพราะในช่วง  5 เดือนแรกปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ  0.81 สำหรับในเดือนพ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงประเมินว่า  อัตราเงินเฟ้อปี 2560 จะยังคงขยายตัวในระดับที่มีเสถียรภาพที่ร้อยละ 1.5-2.2 บนสมมุติฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.5 จากรายได้ส่งออกสินค้าที่มีทิศทางขยายตัวอย่างชัดเจน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่่ค้า รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เป็นผลดีต่อเนื่องอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน ราคาน้ำมันดิบดูไบบาร์เรลละ 55 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทอยู่ในช่วง 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุุนายนที่จะถึงนี้ กระทรวงพาณิชย์จะประเมินอัตราเงินเฟ้อปี 2560 ใหม่้อีกครั้ง จากปัจจัยความผันผวนของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและทิศทางแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า

ดัชนีธุรกิจกรุงไทยไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น

พูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการจัดทำดัชนีธุรกิจกรุงไทย ซึ่งธนาคารสำรวจความเชื่อมั่นของลูกค้านักธุรกิจกว่า 2,200 รายทั่วประเทศ โดยสำรวจทุกไตรมาสนั้น ปรากฏว่าไตรมาสที่ผ่านมาดัชนีเพิ่มขึ้นเหนือระดับปกติต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการขยายตัวของจีดีพีไตรมาสแรก โดย 4 กลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นและอยู่เหนือระดับปกติ ได้แก่ ธุรกิจการเงินและประกันภัย  ธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาโครงการภาครัฐ  ธุรกิจพาณิชยกรรม ได้แก่ ธุรกิจขายรถยนต์ในประเทศ ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ขายปลีกน้ำมันและเชื้อเพลิง ธุรกิจอุตสาหกรรม ประกอบด้วยอุตสาหกรรมเหมืองหิน ทราย ผลิตวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตอาหาร ผลิตยางแผ่น และยางแท่ง โดยธุรกิจเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยอดขายเพิ่มขึ้น หรือได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากจำแนกตามภูมิภาคพบว่าความเชื่อมั่นของนักธุรกิจเพิ่มขึ้น 4 ภูมิภาค ได้แก่  กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งได้รับผลบวกจากการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมากที่สุด  ภาคกลางและภาคตะวันตกความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ปัจจัยบวกมาจากการส่งออกสินค้าและการค้าชายแดนฝั่งตะวันตก โดยการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล และเครื่องดื่มช่วยหนุนธุรกิจในภูมิภาค  ภาคเหนือ ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปลูกอ้อยและยางพารา อย่างไรก็ดี  ผลกระทบจากน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ และความซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความเชื่อมั่นในภาคตะวันออกและภาคใต้ลดลง 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ. มีมติเซ็ตซีโร่ กกต. ด้านสมชัย ยังหวัง 9 มิ.ย. สนช. จะให้ กกต.อยู่ต่อครบวาระ

Posted: 01 Jun 2017 09:55 AM PDT

กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มีมติเซ็ตซีโร่ กกต.ใหม่ทั้งหมด เพราะต้องการคนใหม่มาทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ ขณะที่สมชัย หวังว่า สนช. จะแปรญัตติให้ กกต. เดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ ด้านมีชัยไม่แสดงความเห็นใดๆ

1 มิ.ย. 2560 ตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับประเด็นคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ว่า กรรมาธิการมีความเห็นด้วยเสียงข้างมากให้เซ็ตซีโร่ กกต. ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นกลไกใหม่ และเป็นการปฏิรูปองค์กร กกต. เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่เขียนให้อำนาจ กกต. มากขึ้น รวมทั้งการที่ไม่มีกกต. จังหวัด จึงต้องการให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ภายใต้กฎหมายใหม่

ตวง กล่าวว่า ในเรื่องวาระกกต. ยังมีมีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้อีกหลายคน ดังนั้นในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 เรื่องนี้ คงจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าว และขึ้นอยู่กับที่ประชุมในการพิจารณา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า คงจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หาก สนช. รับในมติดังกล่าวจะส่งผลถึงอนาคต กกต.ชุดปัจจุบันต้องทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ครบ 7 คน ซึ่งความเห็นนี้จะถูกนำเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาอีกครั้งวันที่ 9 มิ.ย.

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ทำให้กระทบต่อคณะกรรมการ กกต.ชุดปัจจุบัน 2 คน คือประวิตร รัตนเพียร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่า 10 ปี และสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่จะต้องพิสูจน์ว่าเคยทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรไม่น้อยกว่า 20 ปี อีกทั้งต้องทำการสรรหา กกต.เพิ่มเติมให้ครบ 7 คน

ในขณะที่ กกต.อีก 2 คนจะหมดวาระลง เนื่องจากอายุครบ 70 ปี คือ บุญส่ง น้อยโสภณ ในปีหน้า ส่วนศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. จะหมดวาระเดือน ก.พ. 2562 ขณะที่ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ได้ถูกตั้งกรรมการสอบเรื่องจริยธรรม ดังนั้นจึงทำให้มีข้อห่วงใยว่าจะทำให้ กกต. ที่จะต้องรับบทบาทสำคัญในศึกเลือกตั้ง ปี 2561 สั่นคลอน จึงเป็นที่มาของความเห็นในการแปรญัตติร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ในชั้นกรรมาธิการ ทั้งโละสรรหาใหม่ทั้งชุด หรือให้ กกต.ชุดปัจจุบันอยู่จนครบวาระ

ทั้งนี้มีรายงานจากที่ประชุมกรรมาธิการว่า ได้ถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่ที่สุดแล้วกรรมาธิการมีความเห็นให้เซ็ตซีโร่ กกต.ใหม่ทั้งหมด และเตรียมแถลงรายละเอียดในวันพรุ่งนี้

ภาพจาก: สำนักข่าวไทย

สมชัย เชื่อ 9 มิ.ย. สนช.จะยึดแนวทางตามรัฐธรรมนูญปี 50 ให้ กกต.ปัจจุบันอยู่จนครบวาระ

ในวันเดียวกันนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งกล่าวตอนหนึ่ง ในการจัด เสวนา "เดินหน้าเลือกตั้งกับ กกต." ที่โรงแรมธารามันตรา ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่า ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ซึ่งจะชี้ชัดเรื่องคุณสมบัติของ กกต. ทำให้ขณะนี้มีภาพ 3 ภาพ 

สมชัย กล่าวว่า 1. ภาพเลวร้ายที่สุด คือ สนช. ยืนตามร่างของคณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง (กรธ.) หมายความว่า จะมี กกต. ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประวิช รัตนเพียร จะไปเป็นคนแรก เพราะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อน และพ้นจากตำแหน่งทางการการเมืองไม่ถึง 10 ปี ส่วนตนต้องยื่นหลักฐานการทำงานภาคประชาสังคมให้ครบ 20 ปี ซึ่งได้เตรียมหลักฐานไว้ 21 ปี 9 เดือน หากกรรมการสรรหาไม่รับฟัง ก็จะพ้นจากตำแหน่งทันทีในวันรุ่งขึ้น

สมชัย กล่าวว่า หลังจากนั้น กกต.จะเหลือ 3 คน และในเดือน ก.ค.61 บุญส่งจะหมดวาระ อายุครบ 70 ปี และเดือน ก.พ.62 ศุภชัยจะหมดวาระลง อายุครบ 70 ปีเช่นกัน ก็จะเหลือธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านพรรคการเมือง เพียงคนเดียว แต่ถ้าธีรวัฒน์ มีอุบัติเหตุ เนื่องจากขณะนี้กำลังตรวจสอบด้านจริยธรรม หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังเดือน ก.พ.62 การเลือกตั้งจะอยู่ในมือ กกต.ใหม่ทั้ง 7 คน

สมชัย กล่าวว่า ภาพที่ 2 ภาพดีสุด คือ วันที่ 9 มิ.ย. สนช.ยึดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเดิม ให้ กกต.อยู่ต่อจนครบวาระ ก็ทำงานไป 3 ปีครึ่ง และภาพที่ 3 ภาพที่เป็นไปได้ จากการประเมินส่วนตัว เชื่อว่า สนช.น่าจะยึดหลักให้ กกต.ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ เพราะถ้าใช้หลักการดังกล่าว จะเป็นต้นแบบกับองค์กรอิสระอื่นๆ

มีชัยปัดแสดงความเห็น กรณี สนช. อาจแปรญัตติให้ กกต.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อได้

ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจมีการแปรญัตติปรับแก้ร่างกฎหมายในวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ กกต.ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้จนครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนด ว่า กรธ. คงไม่สามารถทำอะไรได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อน

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย 1 , 2 , 3 , เว็บข่าวรัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐประหาร 3 ปีกับ 4 คำถามจาก ปชช. ที่รอคำตอบจากประยุทธ์และ คสช.

Posted: 01 Jun 2017 07:37 AM PDT

ขอประชาชนถามบ้าง 4 คำถามจากประชาชนและนักกิจกรรมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำถามที่ 5 คือจะกล้าตอบคำถามประชาชนหรือเปล่า

เมื่อพลเอกประยุทธ์ ตั้งคำถาม 4 ข้อเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ประชาชนช่วยกันตอบคือ

1.เลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3.การเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตประเทศและเรื่องอื่นๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่

4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่

น่าจะตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกเสียจากโยนหินถามทางเพื่ออยู่ในอำนาจต่อและเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

มีผู้คนตอบคำถาม 4 ข้อนี้ไปมากเกินพอแล้ว 'ประชาไท' จึงเชิญชวนให้ถามกลับพลเอกประยุทธ์ และ คสช. 4 ข้อบ้าง ซึ่งไม่รู้ว่าจะกล้าตอบหรือไม่

…….

ขบวนการอีสานใหม่

1.หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คืออะไร

2.รู้หรือไม่ว่าการรัฐประหารคือการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

3.เมื่อรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนไปบริหารประเทศ แล้วเกิดความเสียหายกับประเทศ เช่น ทางเศรษฐกิจ ใครเป็นคนรับผิดชอบ การใช้จ่ายเงินภาษีเพื่อพวกพ้อง คสช. เองใครรับผิดชอบ

4.หากในอนาคตเกิดการรัฐประหารอีก เป็นการกระทำผิดข้อหากบฏหรือไม่ บทลงโทษที่เหมาะสมสำหรับการทำลายประชาธิปไตยและดูถูกประชาชนคืออะไร

…….

ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับและนักเขียนบท

1.นานแล้วเหมือนกันนะครับ เห็นคุณต้องตอบคำถามแทบทุกเรื่อง ในโอกาสนี้ผมเลยขอฝากคำถามไปให้คนอื่นๆ นอกจากคุณด้วยได้มั้ยครับ (อ้าว ฮ่วย เปลืองไปหนึ่งคำถาม)

2.คุณคิดว่าความสามารถในการเป็นผู้นำที่ดีถ่ายทอดผ่านทางสายเลือดโดยอัตโนมัติหรือไม่

3.คุณเคยห้ามลูกไม่ให้ตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้สำเร็จหรือไม่

4.ตามหลักความเชื่อของศาสนาบางศาสนาและหลักฐานทางประวัติศาสตร์และชีววิทยา ซึ่งบ่งบอกว่าพวกเราทุกคนล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสืบเชื้อสายมาจากต้นกำเนิดเดียวกันทั้งหมดทั้งสิ้น จึงอยากเรียนถามคุณว่า พวกเราเป็นบุตรหรือธิดาของคุณใช่หรือไม่

…….

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

1.รัฐบาล คสช. เรียกตัวเองว่ามีธรรมาภิบาลได้อย่างไรในเมื่อหลักการตรวจสอบได้ หลักการความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วมยังไม่สามารถทำได้

2.อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้แล้วและกติกาโครงสร้างการเมืองได้ถูกวางไว้แล้ว โดยองค์อิสระต่างๆ จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาลใหม่ ทั้งที่องค์กรเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนยึดโยงกับประชาชน เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าองค์กรที่จะคุมให้รัฐบาลมีธรรมมาภิบาล มีธรรมาภิบาลจริง

"เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง"

3.คสช. พูดราวกับว่ายุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปที่ตนเองวางไว้เป็นสิ่งที่ดี แต่กังวลว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ปฏิบัติตาม คำถามที่น่าสนใจคือ หากแผนการปฏิรูปฯ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้วางไว้นำพาประเทศไปสู่ความล้มเหลว ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

4.ดูเหมือน คสช. จะกังวลว่า การเลือกตั้งจะทำให้ได้คนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาปกครอง ทั้งที่มีกติกาอยู่แล้วในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ทำไมไม่เดือดร้อนที่ระบอบเผด็จการเลือกบุคคลที่ไม่เหมาะสมเข้าไปมีอำนาจหน้าที่โดยที่ไม่เคยยึดโยงกับประชาชนเลย

…….

ศรีไพร นนทรีย์ นักสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง

1.การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหหมาย เป็นการทำถูกหลักธรรมาภิบาลเช่นนั้นหรือ?

2.3ปี ของการยึดอำนาจของ คสช. ทำให้เศรษฐกิจแย่ ของแพง ค่าแรงต่ำ คนว่างงานมีเพิ่มมากขึ้น ขึ้นภาษี มีการละเมิดสิทธิมากขึ้น คิดว่านี่คือผลงานความภาคภูมิใจของ คสช. เช่นนั้นหรือ

3.เมื่อไหร่จะคืนอำนาจให้ประชาชน ด้วยการให้สิทธิเลือกตั้ง และแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ควรมาจากประชาชนจริงๆ

4.สิ่งที่คนงานอย่างพวกเราเห็นตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คสช. ส่งคนของตนเข้าแทรกแซงทุกปัญหา อย่างปัญหาของคนงานก็เช่นกัน เวลาเกิดการพิพาทแรงงาน คนของ คสช. จะเข้ามานั่งร่วมวงประชุมตลอด ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นไม่รู้กฎหมายแรงงานและรู้สิทธิแรงงานใดๆ เลย หรือหลักการเจรจาต่อรองสักนิดก็ไม่รู้ สิ่งเดียวที่คนงานเราได้ยินคือให้คนงานหยุดการเคลื่อนไหว อดทน ให้รอ หลายครั้งที่เราได้ยินคำพูดเชิงขู่ อ้างถึงคำสั่ง คสช. ม.44 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คนงานอย่างเราไม่ได้รับความสุขอย่างที่ คสช. อ้างว่าพยายามจะให้ ไม่ได้หน้าใสอย่างที่ คสช. คิด คำถามสุดท้ายคือเมื่อไหร่ คสช.จะไป ต้องรอให้ผู้คนออกมาขับไล่เช่นนั้นหรือ?

…….

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มโรงน้ำชา ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางเพศ

1.จะดำเนินการกับข้อคลางแคลงใจกับการทุจริตในยุค คสช. อย่างไร

2.ถ้าในอนาคตมีการไต่สวน ตรวจสอบ ทั้งในและต่างประเทศ แล้วพบว่าการทำหน้าที่และการกระทำต่าง ๆ ของท่าน กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิประชาชน การเลือกปฎิบัติ และการกระทำที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ พร้อมจะรับผิดชอบหรือไม่ ถ้าไม่ ทำไม?

3.เสียงของผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ กะเทย ทอม ดี้ และคนทุกคนเท่ากันหรือไม่ เสียงของประชาชนทุกคนเท่ากันหรือไม่ ถ้าไม่เท่า เสียงของคนกลุ่มไหนสำคัญกว่า

4.เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง

......

แล้วคุณอยากถามอะไร คสช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาธิต มศว ยกทหารฝึกวินัยดีสุด โซเชียลแนะสร้าง ‘ทางเลือก’ นอกระบบโรงเรียน

Posted: 01 Jun 2017 06:09 AM PDT

ผู้ปกครอง โต้สาธิต มศว ประสานมิตร ฝึกทหารไม่น่าช่วยพัฒนาการศึกษา-ความคิดสร้างสรรค์ โซชียลฯ วิจารณ์เหตุ ผู้ปกครอง-ครูถูกทำให้เชื่อว่า การเรียนต้องเรียนในโรงเรียน แนะสร้างทางเลือกการศึกษา

ภาพบรรยากาศ ปฐมนิเทศนักเรียน ระดับชั้น ป.3 - ป.4 ประจำปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม' รวมทั้งเว็บไซต์ของโรงเรียน)

จากกรณีมีภาพทหารปรากฏในวันปฐมนิเทศนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 และ 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดได้มีการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งในด้านของผู้ปกครองนักเรียน คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว และในโซเชียลมีเดีย

โดยผู้ปกครองของเด็กหญิงนักเรียน ป.3 รายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับรายการ Overview ทางช่อง Voice TV เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560 ถึงความคาดหวังที่ส่งให้ลูกเรียนในโรงเรียนนี้เพราะอยากให้ลูกกล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นศักยภาพการศึกษาที่ดี ซึ่งลูกที่เป็นนักเรียนสาธิต มศว บอกกับตนว่า ไม่ชอบเพราะมีการใช้คำที่ไม่สุภาพกับเด็ก  ส่วนจุดประสงค์ที่โรงเรียนทำโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของการฝึกวินัยนั้น ผู้ปกครองรายนี้เห็นว่า เป็นความเข้าใจวินัยคนละความหมาย วินัยที่ต้องใช้กับการศึกษานั้นไม่น่าเกี่ยวกับระเบียบทหาร  และกิจกรรมนี้ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อการศึกษาและไม่ช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์  ที่ผ่านมาไม่เคยทราบว่ามีโครงการลักษณะนี้มาก่อน เข้าใจว่า เป็นกิจกรรมนอกวาระที่เพิ่มเข้ามาใหม่ และไม่ได้มีการชี้แจงมาก่อน จะมีก็แต่การเข้าค่ายลูกเสือ ซึ่งหากเป็นกรณีแบบนั้นพอเข้าใจได้  และเท่าที่สอบถามท่านอื่นๆ หลายคนก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่า เด็กคงไม่เข้าใจว่าให้ทำอะไร ผู้ปกครองท่านนี้ยังย้ำด้วยว่า วินัยเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยในกระบวนการศึกษา แต่วินัยลักษณะนี้ไม่น่าจะช่วยด้านการศึกษาหรือพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้

ด้าน รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว. ให้สัมภาษณ์กับรายการ Overview ในช่วงเวลาเดียวกันว่า ทางโรงเรียนจัดกิกรรมลักษณะนี้มากว่า 30 ปีแล้ว โดยให้ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่เฉพาะอาชีพทหาร เพื่อทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพนั้นๆ รวมทั้งทัศนคติด้านเพศ  หรือศาสนาในทางที่ดี  กิจกรรมนี้ทำให้เด็กได้เลือกและตัดสินใจ ที่ผ่านมาตนมองว่าเด็กอ่อนแอ เพราะผู้ปกครองสอนให้นักเรียนอ่อนแอ เช่น มารยาทเข้าคิวรับอาหาร ซึ่งผู้ที่จะฝึกระเบียบวินัยได้ดีที่สุดคืออาชีพทหาร และทหารที่มาก็คือ ทหารสาธิต หรือทหารที่เป็นดารา เพื่อให้นักเรียนรู้ว่า ทหารไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด กิจกรรมนี้เรานำมาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เพราะเห็นว่า การฝึกระเบียบเป็นเรื่องที่เด็กควรเรียนรู้ เพื่อใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีวินัย ซึ่งผู้ปกครองต้องขอบคุณโรงเรียนที่สอนวินัยให้ลูก และให้ได้รู้จักอาชีพทหาร เด็กผู้หญิงเองก็ต้องเรียนรู้ เพราะผู้หญิงที่มีอาชีพทหารก็มีเยอะ การจัดการเรียนรู้ลักษณะนี้ คุณครูก็สอนได้ไม่ดีเท่าทหาร การใช้วิทยากรที่มีทักษะตรงมันดีกว่า อาจยังทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่เด็กจะเข้าใจว่า การเข้าแถวอย่างมีระเบียบนั้นสง่างามอย่างไร ถือเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อเด็กเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ต่อไป

ภาพกิจกรรมดังกล่าว ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ อดีตบรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยเปิดสถานะเผยแพร่กับสาธารณะ โดยวิจารณ์คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว ว่า  แม้ในบางเรื่องจะพูดมีเหตุผล เช่น ผู้ปกครองสอนลูกให้อ่อนแอ ไม่มีระเบียบวินัย กลายเป็นปัญหาสังคม จึงควรปลูกฝังวินัยเหล่านี้ในโรงเรียน และคนฝึกสอนวินัยได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นทหาร พิภพจึงเห็นว่า ไม่ควรไปตำหนิโรงเรียน หรือตำหนิคณบดีท่านนี้

พิภพ ยังเห็นว่า พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หลายคน เชื่อหรือถูกทำให้เชื่อว่า "พ่อแม่ไม่มีปัญญาสอนลูกได้หรอก" "เด็กจะดีได้ยังไงถ้าไม่เข้าโรงเรียน" "เด็กจะรู้จักวินัยได้อย่างไรถ้าไม่มีครู" ซึ่งความเชื่อแบบนี้มีมานานตั้งแต่เรามีระบบการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกที่โตขึ้นทุกวัน ถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อถูกทำให้เชื่อในระบบโรงเรียนมาแต่เกิด ก็ต้องส่งลูกเข้าระบบโรงเรียนไป

"สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือ การสร้างทางเลือก หรือ 'choices' และต้องให้ความรู้และกำลังใจกับคนที่เป็นพ่อแม่ เพื่อให้เห็นว่าระบบโรงเรียนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และถ้าไม่ต้องการเลือก "ชอยส์โรงเรียน" จะมีชอยส์ไหนอีกให้เลือก" พิภพ เสนอ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2559 มีกรณีของเด็กอนุบาล โรงเรียนชุมชนดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น คอสเพลย์ชุดทหารทุกวันพฤหัสฯ โดยโรงเรียนให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างสีสัน และการเรียนรู้ระเบียบวินัย จากการเก็บขยะ เน้นความเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ ยิ้ม ไหว้ ทักทาย จิตอาสา และปลูกฝังความเป็นระเบียบวินัยให้กับเด็ก โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมากว่า 4 ปี 

ปีเดียวกัน วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กภาพกิจกรรม "อนุบาล เขียว" โดยระบุว่า "เข้าค่ายทหาร พล.ร.9 ซึมลึก ปลูกฝัง รักขาติ รักสถาบัน ยึดค่านิยม 12 ประการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อเรียนรู้รู้ภารกิจ การปฏิบัติของทหาร และยังเป็นการปลูกฝังความรู้รัก สามัคคี และความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยระบุด้วยว่า คุณครู ต่อคิว พาเด็กๆ อนุบาล มาทัศนศึกษา ในค่ายทหาร ร.29 พัน1 ค่ายสุรสีห์ กันยาวเลย"

ล่าสุด แม้จะไม่ได้เกิดกับเด็กนักเรียนและเยาวชน แต่เป็นประเด็นดังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือกรณี 'อบรมข้าราชการที่ดี' สาธารณสุขเขต 5 ประกอบด้วยจังหวัด สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และนครปฐม ซึ่งภายในการอบรม มีการเข้าฐานเหมือนฝึกทหาร อาทิ การใช้น้ำมันราดบนเส้นเล็กๆ บนถนนดิน แล้วจุดไฟ จากนั้นผู้เข้าอบรมวิ่งผ่านพร้อมจุดประทัด โดยบางส่วนได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กว่า "นี่ไม่ใช่การฝึก แต่เป็นการทารุณกรรม"  หรือการโพสต์ลงทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นการอบรมว่า "ไทยแลนด์ 4.0 แต่อบรมข้าราชการแบบ 0.1" รวมถึงการออกมาโพสของผู้เข้าอบรม เผยว่า กิจกรรมการอบรมไม่ได้ทำให้เกลียดชังทหาร แต่ไม่ชอบที่เจ้าหน้าที่ทหารบางคนพูดจาดูถูกเหยียดหยามในอาชีพอื่นๆ อีกทั้งการฝึกไม่มีหน่วยรักษาพยาบาลที่รอรักษายามฉุกเฉิน ความปลอดภัยในการฝึกน้อย และการเข้าฐานก็อันตราย การแต่งกายของผู้เข้าอบรมหญิงบางคนก็เป็นกระโปรงซึ่งไม่เหมาะที่จะทำกิจกรรมลักษณะนี้ โดยที่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดของกิจกรรมดังกล่าวให้ทราบล่วงหน้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ญาติอนัน' เบิกความคดีไต่สวนการตายระหว่างควบคุมของตำรวจ พบความผิดปกติก่อนตาย

Posted: 01 Jun 2017 05:55 AM PDT

มารดาและน้องสาวสองคนของอนัน เกิดแก้ว ขึ้นเบิกความ คดีไต่สวนการตายในระหว่างการควบคุมของตำรวจ พบความผิดปกติก่อนตาย กังวลและหวาดกลัวมากรวมทั้งบาดเจ็บปากแตกเล็กน้อย ศาลนัดอ่านคำสั่งวันที่ 27 ก.ค.นี้ 

 

1 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่าเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมาออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานฝ่ายมารดาผู้ตาย (ผู้ร้องคัดค้าน) ในคดีหมายเลขดำที่ ช.3/2559 คดีไต่สวนการตาย อนัน เกิดแก้ว ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนชุดปราบปรามยาเสพติดตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา

โดยในวันดังกล่าว มารดาและน้องสาวสองคนของ อนัน ผู้ตาย เป็นพยานขึ้นเบิกความ ต่อศาล ซึ่งทั้งสามได้เบิกความตอบคำถามทนายความมารดาผู้ตาย (ผู้ร้องคัดค้าน) ไปในทำนองเดียวกันได้ความว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2554 อนัน ผู้ตาย เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของ ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะจับกุมและควบคุมตัวจากเหตุเกี่ยวกับยาเสพติด ภายหลังจากอนัน พ้นโทษจากการถูกจับกุมและควบคุมตัวจากเหตุดังกล่าวก็ได้ดำเนินการร้องเรียนต่อสำนักงานและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขอความยุติธรรมให้กับตน จากเหตุการณ์ที่ตนถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้มารดาอนัน ได้เบิกความต่อศาลระบุรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปรากฏในบันทึกการจับกุม เพื่อเป็นหลักฐานที่แสดงว่าการตายของอนัน ซึ่งสภาพศพมีร่องรอยถูกทำร้ายอย่างหนัก มีเหตุมาจากความโกรธแค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมและควบคุมตัวไปสอบสวน เนื่องจากเจ้าหน้าที่สืบสวนชุดปราบปรามยาเสพติด ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ที่จับกุมและควบคุมตัวอนัน ผู้ตาย เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 มีจำนวน 2 นาย เป็นคนเดียวกันกับชุดที่ทำร้ายร่างกายอนัน เมื่อปี พ.ศ. 2554 และถูกอนัน ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอความเป็นธรรมและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดดังกล่าว 

น้องสาวของอนันทั้งสองคนเป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันอีกว่า พวกตนได้ทราบว่า อนัน ผู้ตาย ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนชุดปราบปรามยาเสพติด ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2558  โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมนายหนึ่งโทรศัพท์มาแจ้งน้องสาวอนัน และเมื่อได้ทราบข่าว น้องสาวคนหนึ่งของ อนัน ได้ไปเยี่ยม อนัน ณ สถานที่ควบคุมตัว แต่ได้พูดคุยโดยตรงกับอนัน เพียงไม่กี่คำ เพราะส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมตัวอนันอยู่หลายคนนั้นเป็นคนพูดให้ฟังในเรื่องสาเหตุการจับกุมอนัน สำหรับสถานที่ควบคุมตัวอนัน นั้น มีลักษณะเป็นบ้านพักข้าราชการตำรวจ และน้องสาวอนันพยายามขอประกันตัวอนันออกมา แต่ได้รับการปฏิเสธ และเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าหากอนันช่วยให้ตำรวจขยายผลไปถึงคนขายยาเสพติดให้อนัน ก็จะเป็นเหตุให้ลดโทษได้

น้องสาวอนัน สังเกตเห็นความผิดปกติของพี่ชายว่า อนัน พูดน้อยมากและเมื่อจะพูดอะไรก็ต้องหันไปดูเจ้าหน้าที่ตำรวจในลักษณะกังวลและหวาดกลัวมาก เห็นอนัน ได้รับบาดเจ็บปากแตกเล็กน้อย

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรแจ้งน้องสาวอนัน ว่า อนัน ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา น้องสาวทั้งสองคนของอนัน จึงไปเยี่ยมพี่ชายในวันดังกล่าวทันที และเห็นว่าตามเนื้อตัวร่างกายของพี่ชายตนนั้นปรากฎรอยฟกช้ำและบาดแผลทั่วทั้งร่างกาย เปลือกตาของอนัน บวมช้ำมาก และนัยน์ตาแดงมาก จนทำให้อนัน ไม่สามารถลืมตาได้ ไม่รู้สึกตัว ต้องใช้เครื่องหายใจ น้องสาวอนัน ได้โทรศัพท์แจ้งให้มารดาซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีทราบ

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2558 มารดาของอนัน ได้เดินทางจากจังหวัดชลบุรีมายังโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา มาเยี่ยมอนัน บุตรชายของตน ซึ่งเมื่อตนได้เห็นสภาพของบุตรชายก็คิดว่าบุตรชายของตนน่าจะถูกทำร้ายร่างกาย แพทย์เจ้าของไข้อนัน ได้พูดคุยกับมารดาอนัน ว่า อนันไม่อาจมีชีวิตรอดต่อไปได้ เนื่องจากศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนมีเลือดคั่งในสมอง ต่อให้มีการผ่าตัดก็ไม่อาจช่วยให้อนัน กลับมาได้เหมือนเดิม  ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2558 เวลาประมาณ 11.00 น. อนัน ได้เสียชีวิตลง ภายหลังจากที่อนัน เสียชีวิต พยานทั้งสามเบิกความว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ติดต่อกับครอบครัว มอบเงินช่วยเหลือค่าปลงศพจำนวน 10,000 บาท และติดต่อนัดหมายให้มารดากับน้องสาวอนัน ไปพบถึง 3 ครั้ง เพื่อเจรจา โดยจะขอมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับครอบครัวและให้ครอบครัวเซ็นชื่อในหนังสือแสดงเจตนาว่าไม่ติดใจเอาความกับตนและพวกที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของอนัน  แต่ครอบครัวอนัน ไม่ตกลงยินยอมตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเสนอ และต่อมาบิดามารดาอนันได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้

เมื่อพยานทั้งสามเบิกความตอบคำถามทนายมารดาผู้ตาย (ผู้ร้องคัดค้าน) จนแล้วเสร็จเป็นการไต่สวนหรือสืบพยานในคดีครบถ้วนแล้ว ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมาจึงได้กำหนดวัน นัดอ่านคำสั่งคดีดังกล่าว ในวันที่ 27 ก.ค. 2560 เวลา 13.30น.  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.กฎหมายพรรคการเมืองมีมติแก้ร่าง 3 ประเด็น ‘เงินประเดิมฯ ค่าสมาชิกรายปี การสรรหาผู้สมัคร ส.ส.’

Posted: 01 Jun 2017 05:53 AM PDT

กมธ.ร่างกม.พรรคการเมือง มีมติปรับแก้ 3 ประเด็น เรื่องเงินประเดิมพรรคยังไม่ต้องจ่ายทันทีที่ตั้งพรรค ระบุให้เป็นไปตามที่ กกต. กำหนด เรื่องการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ระบุให้มีการคัดเลือกจากสมาชิกพรรค ส่วนค่าสมาชิกรายปีกำหนดปีแรก 50 บาท ปีถัดไปไม่น้อยกว่า 100 บาท

1 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมด้วยแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นัดสุดท้ายว่า ที่ประชุมมีมติปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นเงินทุนประเดิมการจัดตั้งพรรคการเมือง จากเดิมต้องจ่ายเงินพร้อมการจัดตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท กรรมาธิการฯ ปรับแก้เป็นการจ่ายเงินทุนประเดิมให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากประเมินแล้ว เงินทุนประเดิมปัจจุบันจะอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท สามารถจัดตั้งพรรคได้โดยยังไม่ต้องจ่ายทุนประเดิมในทันที แต่จะต้องจ่ายเมื่อพรรคส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เงินเป็นเงื่อนไขการจัดตั้งพรรค 

"ส่วนวิธีการคัดเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต ปรับแก้โดยยึดหลักว่าสมาชิกพรรคจะมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้สมัคร โดยจะกำหนดให้ประกาศรับสมัคร ผู้มีคุณสมบัติ แล้วส่งรายชื่อไปยังสาขาพรรคหรือตัวแทนจังหวัด เพื่อให้สมาชิกคัดเลือกจนได้ชื่อ 2 ลำดับแรกในแต่ละเขต ก่อนส่งให้คณะกรรมการสรรหา จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณา ซึ่งหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เลือกชื่อลำดับแรก ต้องชี้แจงเหตุผล แต่หากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เลือกทั้ง 2 ลำดับจะต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น" วัลลภ กล่าว

สำหรับการเลือกส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ นายวัลลภ กล่าวว่า พรรคจะประกาศรับสมัครสมาชิกที่มีคุณสมบัติ จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะต้องจัดทำรายชื่อ 150 คน โดยชื่อแรกจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น และต้องส่งชื่อทั้ง 150 คนให้สาขาพรรคและตัวแทนจังหวัดคัดเลือกด้วยวิธีลงคะแนน โดยสมาชิก 1 คนสามารถลงคะแนนได้ 15 รายชื่อ เมื่อสมาชิกลงคะแนนแล้ว จะส่งกลับมาให้คณะกรรมการสรรหาจัดลำดับชื่อตามคะแนนที่ได้รับจากสมาชิก กรณีที่ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเท่ากัน ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณา ซึ่งวิธีนี้จะแก้ปัญหาเรื่องนายทุนส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น.ส. ได้ นอกจากนี้ กรรมาธิการฯยังปรับสัดส่วนของกรรมการบริหารพรรค โดยเพิ่มให้มีเลขาธิการพรรคเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย 

วัลลภ กล่าวว่า สำหรับประเด็นค่าสมัครสมาชิกพรรค ที่ประชุมมีมติให้ยืนตามร่างของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยกำหนดให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกพรรคต้องเสียค่าสมัครในปีแรกไม่น้อยกว่า 50 บาท และปีถัดไปไม่น้อยกว่า 100 บาท อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่คณะกรรมาธิการเสนอปรับแก้ครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ฝั่งกรธ.สงวนคำแปรญัตติทั้งหมด จึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 11 คน ประกอบด้วยสนช. 5 คน กรธ. 5 คน และผู้แทนจากศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน เพื่อพิจารณาหาทางออกอีกครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมการจัดการธุรกิจฯ เผยความสามารถในการแข่งขันไทยขยับดีขึ้นเป็นปีที่ 2 มาอยู่ที่ 27

Posted: 01 Jun 2017 03:44 AM PDT

สมาคมการจัดการธุรกิจ เผยอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 27 จาก 63 ประเทศทั่วโลก ชี้ภาครัฐและเอกชนยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเริ่มปรากฎผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ

1 มิ.ย. 2560 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ทีเอ็มเอ (TMA) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า TMA เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2560 ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 63 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลสำรวจฯ ในปี 2560 ฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ยังคงครองอันดับที่ 1 และ 2 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่สิงคโปร์เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ทำให้สหรัฐอเมริกาตกไปเป็นอันดับที่ 4

ทั้งนี้ ในปี 2560 ผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ โดยคะแนนภาพรวมในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80.095 เปรียบเทียบกับ 74.681 ในปี 2559 และมีอันดับเลื่อนขึ้นจาก 28 ในปี 2559 เป็น 27 ในปี 2560 ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้น ในขณะที่มาเลเซียมีอันดับลดต่ำลง

เมื่อพิจารณาคะแนนที่ประเทศไทยได้รับ ในระยะตั้งแต่ปี 2556 - 2560 จะเห็นได้ว่ามีคะแนนสูงขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา และเริ่มมีแนวโน้มสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของทุกประเทศที่ได้รับการจัดอันดับตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีคะแนน 80.095 ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยของ 63 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเท่ากับ 77.033 อันแสดงให้เห็นว่าความพยายามของรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เริ่มส่งผล ซึ่งหากมีการเร่งดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะทำให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถที่สูงขึ้นจนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำได้อย่างแน่นอน

เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า "การที่ ผลการจัดอันดับในปีนี้ดีขึ้นทั้งคะแนนและอันดับ โดยเป็นปีแรกที่มีคะแนนรวมเกินกว่า 80 คะแนนและสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมของทุกประเทศ เป็นการยืนยันว่าการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นสิ่งที่ทั้งรัฐและเอกชนต้องมีจุดหมายร่วมกันและลงมือขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวไปหลายเรื่อง ผลการจัดอันดับ ทำให้เห็นว่าเรามาถูกทางแล้วและจะต้องพยายามร่วมมือกันต่อไป"

ในการจัดอันดับฯ ของ IMD มีการพิจารณา 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ปรากฏว่า ปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีที่สุดคือ สภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 63 ประเทศ โดยมีอันดับดีขึ้นถึง 3 อันดับจากปี 2559 ในขณะที่ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้น 3 อันดับเช่นเดียวกัน ทำให้อยู่ในอันดับที่ 20ในปีนี้ ส่วนปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีอันดับที่ 25 และ 49 ตามลำดับในปี 2560 

ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า "ผลการ จัดอันดับชี้ว่าสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐอันดับดีขึ้นถึง 3 อันดับ สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ส่งสัญญาณดีขึ้น และการปรับปรุงในด้านกฎระเบียบและกฎหมายธุรกิจที่ส่งผลดีให้ดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น อาทิ การเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ การดำเนินการด้านศุลกากรสำหรับการค้าขายข้ามพรมแดน นักธุรกิจจึงมีความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการบริหารจัดการนโยบายของรัฐบาลมากขึ้นเช่นเดียวกัน"

เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวด ด้านสภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นถึง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 33 จากอันดับที่ 37 ในปี 2559 การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) อยู่ในอันดับที่ 3 จากอันดับที่ 6 ในปี 2559 ราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่อันดับดีขึ้นมากจากอันดับ ที่ 45 เป็นอันดับที่ 28 ในขณะที่ด้านการจ้างงาน (Employment) ยังอยู่ในอันดับที่ดีมากคืออันดับที่ 3 เช่นเดียวกับปีก่อน เรื่อง ที่มีอันดับลดลงคือ การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) จากอันดับที่ 28 ในปี 2559 เป็นอันดับที่ 37 ในปีนี้ จุดเด่นของประเทศไทยในหมวดนี้ยังคงเป็นด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน รายได้จากการท่องเที่ยว และความมั่นคงของบัญชีเดินสะพัด ส่วนประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไปคือ รายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรที่อยู่ในอันดับที่ 54 ด้านค่าครองชีพ ความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต และด้านการลงทุนทางตรงทั้งจากต่างประเทศและการออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นต้น

ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีล่าสุด ปัจจัยย่อยมีอันดับที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ กฎหมายด้านธุรกิจ (Business Legislation) ที่ดีขึ้นถึง 6 อันดับจากปี 2559 โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 38 จากอันดับ  ที่ 44 ในปีก่อนหน้า และกรอบการบริหารด้านสังคม (Institution Framework) ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 30 จาก 33 ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ นโยบายการเมือง (Tax Policy) นั้นยังคงได้อันดับที่สูงกว่าเดิมจากที่เคยสูงอยู่แล้ว โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 ในปี 2560 อีกด้วย 

ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของประเด็นที่ใช้ในการจัดอันดับในหมวดนี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในภาคธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่มีอันดับที่สูงขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการเช่น การแก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐให้มีความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การปรับตัวของนโยบายภาครัฐ รวมถึงความคล่องตัวในการดำเนินนโยบาย ได้รับการยอมรับจากผู้ตอบแบบสำรวจ ส่วนประเด็นที่ยังต้องปรับปรุง ในหมวดนี้ ได้แก่ ต้นทุนการปลดออกจากงาน (Redundancy Costs) กำแพงภาษี (Tariff barriers) และ ระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ (Start-up days) เป็นต้น 

ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ปัจจัยย่อยที่อันดับดีขึ้น 2 ปัจจัย ได้แก่ ด้านการจัดการ (Management Practices) และ ด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ในขณะที่ด้านตลาดแรงงาน และด้านการเงิน มีอันดับลดลง ส่วนด้านทัศนคติและค่านิยมมีอันดับคงเดิม ด้านการจัดการ (Management Practices) ปรับตัวดีขึ้น 6 อันดับโดยขึ้นมาอยู่ที่ 20 ในปีนี้ มีผลมาจากการดีขึ้นของตัวชี้วัดต่างๆ เช่น การคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า (Customer satisfaction) การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และ ความน่าเชื่อถือของผู้จัดการ (Credibility of managers) เป็นต้น   ส่วนในด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ถึงแม้จะมีอันดับดีขึ้น 2 อันดับจากปีที่ผ่านมาโดยมาอยู่อันดับที่ 41 อันเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราเพิ่มของผลิตภาพ (Overall Productivity – real growth) ซึ่งอยู่ในอันดับ 3 จาก 63 ประเทศ แต่ยังคงเป็นประเด็นที่ประเทศไทยควรเร่งปรับปรุง เนื่องจากผลิตภาพของแรงงานทั้งในภาพรวมและในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ยังคงอยู่ในอันดับต่ำ อาทิ ผลิตภาพในภาพรวม (Overall Productivity) ที่อยู่ในอันดับที่ 58 จาก 63 ประเทศ 

โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ปัจจัยย่อย 2 ด้านที่อันดับดีขึ้น ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) ที่ปรับตัวดีขึ้น 6 อันดับ และ โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป (Basic Infrastructure) ที่ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ 

ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 36 ดีขึ้น 6 อันดับ โดยตัวชี้วัดที่ส่งผลต่อการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ การมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ตอบสนองภาคธุรกิจและความเชื่อมโยงต่างๆ ความเร็วอินเตอร์เนต การส่งออกสินค้าไฮเทค และ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน และรัฐกับเอกชน (Public-private partnerships) เป็นต้น 

ด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปได้รับการจัดอันดับที่ 34 ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ โดยมีตัวชี้วัดที่ปรับตัวดีขึ้นได้แก่ การเข้าถึงแหล่งน้ำ (Access to water) ที่ปรับตัวดีขึ้น 6 อันดับ การเข้าถึงสินค้าบริโภคพื้นฐาน (Access to commodities) ซึ่งมีอันดับดีขึ้น 3 อันดับ และ คุณภาพของการขนส่งทางอากาศ (Quality of air transportation) ซึ่งอันดับดีขึ้น 3 อันดับ เช่นเดียวกัน

แม้ว่าผลการจัดอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในภาพรวมยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าตัวชี้วัดย่อยเกี่ยวกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาและบุคลากรด้านวิจัยมีอันดับดีขึ้นในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ตัวชี้วัดในเชิงมูลค่าปรับตัวดีขึ้นถึง 4 อันดับ และสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้าน R&D ของภาคธุรกิจ ต่อ GDP (Business expenditure on R&D (%)) ปรับตัวดีขึ้นถึง 10 อันดับ นอกจากนั้น ความเห็นของภาคธุรกิจต่อความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (Innovation Capacity) ของประเทศก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยปรับตัวดีขึ้นถึง 9 อันดับจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากคือด้านที่เกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตร ทั้งจำนวนการขอจดสิทธิบัตร และจำนวนสิทธิบัตรที่ได้รับการจด และสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้

ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และการศึกษา ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยยังอยู่ในอันดับต่ำทั้งสองหมวด ประเด็นสำคัญที่ต้องปรับปรุงในด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมได้แก่ การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร และการประหยัดพลังงาน ในขณะที่ด้านการศึกษา ต้องเร่งพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษของบุคลากร รวมทั้งความสามารถทางวิชาการโดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และการปรับปรุงอัตราส่วนของครูต่อนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เป็นต้น 

โดยสรุปแล้ว ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความเข้าใจและการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเริ่มปรากฎผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ IMD ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเทศที่มีพัฒนาการสูงขึ้นมากในปีนี้ว่าล้วนเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพของภาครัฐและภาคเอกชน และการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ

สำหรับประเทศไทย ผลที่ดีขึ้นนี้ยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งคุณเทวินทร์กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าเราจะมีอันดับที่ดีขึ้นในปีนี้ แต่ประเทศอื่นๆ ในโลกต่างก็เร่งพัฒนาตนเองไปเช่นเดียวกับเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามทำให้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยประเด็นท้าทายที่เราต้องขับเคลื่อนให้ก้าวหน้าไปให้ได้ คือการพัฒนาคนให้มีความรู้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ และการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม" 

นอกจากนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนี้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องและประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น "รัฐบาลได้มอบหมายให้มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบตัวชี้วัดแต่ละตัวอย่างชัดเจน ในช่วงต่อไปหน่วยงานเหล่านี้ จะต้องทำงานร่วมกับสศช. TMA  และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้มีการปรับปรุงระบบข้อมูลตัวชี้วัดให้ครบถ้วน ถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะแผนงาน/โครงการ/มาตรการที่ชัดเจน สำหรับการปรับปรุงตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันทุกมิติ และที่สำคัญคือการที่รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินแผนงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน รวมทั้งในเรื่องพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น" ดร. ปัทมาสรุปทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ในวันที่ 20 – 21 ก.ค. 2560 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จะมีการจัดสัมมนา "Thailand Competitiveness Enhancement Program: Reinforcing the Foundation for Competitiveness" มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการสร้างรากฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับทีเอ็มเอ (TMA) สศช. คณะ กพข. และ IMD

เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่ TMA มีบทบาทในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยร่วมเป็น Partner Institute กับ World Competitiveness Center แห่งสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาตั้งแต่ปี 2540 และได้ดำเนินการโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการได้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

ปัจจุบันทีเอ็มเอ (TMA) และ สศช.  ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) โดย คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพข. และประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภัทรพร ภู่ทอง: ไปไม่ถึงเดือนตุลา (2) เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า?

Posted: 01 Jun 2017 03:40 AM PDT

ภัทรพร ภู่ทอง นักวิจัยโครงการบันทึก 6 ตุลา นำเสนอหัวข้อ 'ไปไม่ถึงเดือนตุลา' กล่าวถึงข้อมูลและเรื่องราวของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยังไม่ได้ถูกเล่า และการทำงานผ่าน 'โครงการบันทึก 6 ตุลา' ที่เป็นหนึ่งในการต่อสู้กับความพยายามอีกด้านที่ต้องการให้ผู้คนลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

การนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนา เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า? เสวนาวิชาการเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์สากล จัดโดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย และ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช สถาบันไทยคดีศึกษา ชั้น 9 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ธนาวิ โชติประดิษฐ์: 2475 ประวัติศาสตร์บาดใจ | เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า #1

ภัทรพร เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง "โครงการบันทึก 6 ตุลา" ว่าเริ่มทำงานตั้งแต่เมื่อปี 2559 ในวาระครบรอบ '40 ปี 6 ตุลาคม 2519' สาเหตุที่ทำให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการ ความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ในสังคมยังมีข้อจำกัดหลายประการ และที่สำคัญที่สุดคือ เหตุการณ์นี้ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์ โครงการบันทึก 6 ตุลา ได้ทำหอจดหมายเหตุออนไลน์ ทำให้เอื้อต่อการค้นคว้าได้ง่ายขึ้น อีกทั้งก็ยังมีความพยายามที่จะค้นหาข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มารวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุออนไลน์ เธอกล่าวด้วยว่า การทำโครงการบันทึก 6 ตุลา ขึ้นมาเป็นการต่อสู้กับความพยายามอีกด้านที่ต้องการให้ทุกคนลืมเหตุการณ์ 6 ตุลา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2559 แต่การทำงานเพื่อค้นคว้า และรวบรวบข้อมูลนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่วาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา แล้ว โดยในเวลานั้นมีการตั้งคณะกรรมการสืบค้นความจริงขึ้นมาหนึ่งชุด และได้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ 62 ราย โดยเป็นความพยายามที่จะต่อสู้กับแนวคิดที่ว่านักศึกษาประชาชนเป็นฝ่ายที่กระทำความผิด โดยความพยายามดังกล่าวสุดท้ายได้ข้อมูลต่างๆ ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ 2 เล่มคือ 'อาชญากรรมรัฐ' ตีพิมพ์ใน และ 'กรีดแผล กลัดหนอง กรองความจริง 6 ตุลา'

ส่วนกิจกรรมหลักภายในปีนี้ เธอระบุว่า จะมีการรวบข้อเอกสาร ภาพ หรือฟุตเทจต่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยพยายามที่จะทำการลงทะเบียนให้ข้อมูลต่างๆ กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ง่ายสำหรับผู้ที่มีความสนใจ โดยในเดือนกรกฎาคม จะมีการเปิดตัวเว็บไซต์ต่อไป

สำหรับคำถามที่ว่า เพราะอะไร 6 ตุลา จึงไม่เคยถูกพูดถึงในพิพิธภัณฑ์นั้น เธอเห็นว่า คำตอบก็น่าจะเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่เหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อจำกัดบ้างอย่างที่ทำให้ไม่สามารถพูดได้เท่าที่ควร และนอกจากจะไม่มีการพูดถึงในพิพิธภัณฑ์แล้ว การรับรู้ของสังคมที่มีต่อเรื่องดังกล่าวก็ยังอยู่มีอยู่น้อยเช่นกัน ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

"แต่คำถามคือ ในการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์และผู้คนหายไปไหน เรารู้อะไรเกี่ยวกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับ 6 ตุลาบ้าง เราคิดว่าแม้แต่ตัวเราเองที่ทำงานวิจัยข้อมูล เราคิดว่าเหมือนกับเรามีส่วนที่ทำให้เหตุการณ์ หรือผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหายจากความทรงจำ และหายไปจากการรับรู้ไม่น้อยเลยทีเดียว"ภัทรพร กล่าว

เธอกล่าวต่อไปว่า ข้อมูลที่ได้จากการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยได้มีการหยิกยกออกมาพูถึงเท่าไหร่นัก รวมทั้งผู้คนอยู่ในเหตุการณ์แต่ยังไม่เคยได้บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่สาธารณะ สำหรับเรื่องราวของเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะมีการรับรู้กันเป็นอย่างดีในหมู่ผู้ที่สนใจว่า เกิดอะไรขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บริเวณสนามหลวงยังเป็นเรื่องราวที่ถูกรับรู้อยู่น้อย เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เธอกล่าวต่อไปว่า ระหว่างทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูล ได้มีผู้ส่งรูปเหตุการณ์ต่างๆ มาให้โดยทีมทำงานพยายามที่จะลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลาใดบ้าง โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากการยิงปืนเข้าไปในธรรมศาสตร์ในช่วงเช้ามืด และทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน แต่จากการทำข้อมูลทำให้ทราบว่ามีการเข้าไปทำร้ายนักศึกษาในหลายจุดซึ่งเป็นข้อมูลที่มากไปกว่าที่เคยรับรู้กันมากก่อน และจากการลำดับเหตุการณ์จากภาพถ่าย และตัวผู้ถ่ายภาพเอง ทำให้รู้อีกอย่างหนึ่งว่าหลังจากที่มีการเข้าควบคุมพื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว โดยมีการจับกุมนักศึกษาจำนวนมาก แต่เหตุการณ์แขวนคอที่สนามหลวงยังไม่จบ รวมทั้งพบว่ามีการนำศพที่ถูกนำขึ้นรถของมูลนิธิร่วมกตัญญู กลับลงมาเผา โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถที่ห้ามปรามได้ อีกทั้งเมื่อมีการกลับไปขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิในภายหลังระหว่างที่มีความพยายามรวบรวมข้อมูลของผู้เสียชีวิตในวันนั้น กลับพบว่าหลังจากที่มีการย้ายที่ตั้งของมูลนิธิ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องก็หายไปด้วย

"เราพบว่ามันเป็นความล่มเหลวของหอจดหมายเหตุ หรือพิพิธภัณฑ์หลายที่ ซึ่งไม่ได้พยายามที่จะทำงานเชิงรุกกับคนในสังคม หรือคนที่อยู่ในแวดวงพิพิธภัณฑ์ที่จะทำให้เขาเห็นว่า หากเขามีข้อมูลบางอย่าง หรือมีเอกสารบางอย่าง เขาจะสามารถนำไปมอบให้กับที่ไหน แต่เมื่อไม่รู้ข้อมูลที่เขามีอยู่ เอกสาร ภาพถ่ายที่เขามีอยู่ก็หายไป หรือไม่ก็ทิ้งไปเหมือนเพียงขยะ"ภัทรพร กล่าว

เธอเล่าต่อไปถึง การได้ไปพบกับหมอที่ทำงานชันสูตรศพ ซึ่งเป็นหมอที่โรงพยาบาลศิริราช โดยในเวลานั้นได้มีการขอให้เจ้าหน้าที่นิติเวชทำสำเนาภาพถ่ายของผู้เสียชีวิต เพื่อเก็บไว้ ซึ่งเธอเห็นว่าเอกสารชุดดังกล่าวอาจจะมีประโยชน์ต่อไปสำหรับการทำข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ หรือดำเนินการต่อไปในกระบวนการยุติธรรม

"แต่เราได้ถามคุณหมอว่า ทำไมจึงเก็บเอกสารชุดนี้ไว้ถึง 40 ปี ทำไมไม่เอาไปให้หนังสือหรือวารสาร หรือเอาไปให้กับนักวิชาการที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่ คุณหมอก็ตอบสั้นๆ ว่า ก็ไม่มีใครมาถามนี่ อันนี้มันก็สะท้อนกลับไปถึงกรณีของเจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูเหมือนกันว่า เราควรจะคิดถึงเรื่องการเก็บข้อมูล การหาข้อมูลเอกสารมากขึ้นด้วยหรือเปล่า"ภัทรพร กล่าว

เธอกล่าวต่อไปว่า ระหว่างเก็บข้อมูลก็ได้มีการติดต่อกับหลายครอบครัว และได้พบกับทั้งคำขอบคุณ และการตำหนิจากครอบครัว ซึ่งมีคนหลายคนถามว่าเวลาที่เราโทรไปคุยกับครอบครัวทำไมจึงไม่มีการอัดเทปเอาไว้ เพราะเสียงของครอบครัวก็เป็นเสียงของประวัติศาสตร์ ว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไร คิดอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นกรณีหนึ่งมีการโทรไปหาครอบครัว และได้รับการตอบกลับมาว่า ไม่ต้องโทรมาแล้วนะ อย่ามาเซ้าซี้ เรื่องมันจบไปแล้ว คุณไม่รู้หรอกว่าเราเจออะไรมาบ้าง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Big Data & Danger to Privacy | กรงในกะลา #3

Posted: 01 Jun 2017 02:20 AM PDT

ในยุคที่ข้อมูลออนไลน์แต่ละวันมีมากมายมหาศาล ความปลอดภัยของข้อมูลไม่มีอยู่จริง องค์กรใหญ่ๆ ไม่สามารถป้องกันการขโมยข้อมูล คนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ โดนขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ข้อมูลส่วนตัวได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เปิดบราวเซอร์ท่องอินเทอร์เน็ต คุณจะรับมือกับโลกออนไลน์ที่ระบบขโมยเก่งกว่าระบบป้องกันได้อย่างไร ติดตามได้ใน "Big Data & Danger to Privacy" ผลงานของ "กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์"

ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เผยแพร่คลิปวิดีโอผลงานเยาวชนในประเด็น 'เสรีภาพออนไลน์ Online Freedom' ทั้งหมด 10 คลิป เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นักโทษการเมือง การอยู่ในโลกเสมือนจริง และ Single Gateway โดยก่อนหน้านี้มีการฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอบรางวัลให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ ภายใต้ชื่องาน "กรงในกะลา" ที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด รัชดา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานพฤษภาคม 2017

Posted: 01 Jun 2017 02:20 AM PDT

สมาคมผู้เขียนบทแห่งอเมริกานัดเจรจา หากไม่บรรลุผลจะมีการหยุดงานประท้วง

สมาคมผู้เขียนบทแห่งอเมริกา (WGA) ที่มีสมาชิก 9,000 คน และสมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ ใช้เวลาส่วนใหญ่เมื่อสุดสัปดาห์ในการเจรจากันก่อนสัญญาที่ทำไว้จะสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่น (2 พ.ค.) ทั้งนี้หากการทำข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายยังไม่ชัดเจน อาจมีการหยุดงานประท้วงหรือยืดเวลาเจรจาออกไป

(bbc.com, 2/5/2017)

เกาหลีใต้กำลังจะขาดแคลนแพทย์และพยาบาล

สถาบันด้านสุขภาพกิจการสังคมเกาหลี (Korea Institute for Health and Social Affairs) เผยแพร่รายงานมุมมองสถานการณ์บุคลากรให้บริการทางการแพทย์ในระยะยาว โดยประเมินว่า เกาหลีใต้จะเผชิญปัญหาขาดแคลนพยาบาล 110,000 คนภายในปี 2020 และตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 158,000 คนภายในปี 2030 นอกจากนี้ ประเทศยังต้องการแพทย์เข้ามาทำงานเพิ่ม 1,800 คนและเภสัชกรอีก 7,000 คนภายในปี 2020 ขณะที่ในปี 2030 จำนวนแพทย์และเภสัชกรที่ต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,600 คนและ 10,000 คนตามลำดับ ทั้งนี้พยาบาลและการบริการด้านสุขภาพเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและประชาชนหันมาเอาใจใส่สุขภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ชาวต่างชาติยังเดินทางมาเข้ารับการบริการทางการแพทย์ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นด้วย

(yonhapnews.co.kr, 3/5/2017)

Facebook มีแผนจ้างพนักงานเพิ่ม 3,000 คน ตรวจสอบเนื้อหาวิดีโอไลฟ์ไม่เหมาะสม

เฟซบุ๊ก (Facebook) มีแผนที่จะว่าจ้างพนักงานเพิ่มอีก 3,000 คนในปี 2018 เพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจากการส่งวิดีโอ หรือการส่งข้อความที่ผู้ใช้บริการโพสต์ลงในเพจของตน  หลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการถอดวิดีโอที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมในบริการของเฟซบุ๊ก การจ้างพนักงานอีก 3,000 คนดังกล่าว ถือเป็นการเพิ่มจำนวนพนักงานนอกเหนือจาก 4,500 คนที่เฟซบุ๊กมีในขณะนี้เพื่อตรวจสอบเนื้อหาเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ

(theguardian.com, 3/5/2017)

Ford Motor เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 130 ตำแหน่ง ในสหรัฐฯ

ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor Co.) เตรียมเลิกจ้างพนักงานจำนวน 130 ตำแหน่งเป็นการชั่วคราว ในโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ หลังความต้องการรถกระบะและรถบรรทุกซบเซาลงโดยจะมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ มาตรการระยะสั้นดังกล่าวจะใช้ถึงประมาณเดือน ก.ย. 2017 เพราะในช่วงนั้นฟอร์ดจะเปิดตัวรถกระบะรุ่น F-650 และ F-750 ซึ่งรถกระบะตระตู F-Series เป็นรุ่นขายดีและสร้างกำไรให้กับบริษัท

(detroitnews.com, 5/5/2017)

นักวิเคราะห์ระบุนายจ้างในเมืองใหญ่เอาเปรียบลูกจ้างด้านค่าแรงรวม 15,000 ล้านดอลลาร์ฯ

นักวิเคราะห์จากหน่วยงานแนวทางเสรีนิยม Economic Policy Institute กล่าวว่านายจ้างอเมริกันเอาเปรียบลูกจ้างเป็นเงินรวม 15,000 ล้านดอลลาร์ จากการไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงาน Economic Policy Institute ซึ่งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า "การโกงเงินเดือนลูกจ้าง" ในลักษณะนี้ กระทบแรงงานที่ได้ค่าแรงอัตราต่ำจำนวนหนึ่งในห้าของภาคแรงงานใน 10 รัฐใหญ่ของอเมริกา นักวิเคราะห์กล่าวว่า ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบสูญเสียรายได้เฉลี่ย 64 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ หรือ 3,300 ดอลลาร์ต่อปี ในรายรับที่พวกตนได้น้อยอยู่แล้ว

(voathai.com, 10/5/2017)

Ford Motor เตรียมลดพนักงานในอเมริกา-เอเชีย 10%

ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor Co.) ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ มีแผนลดจำนวนพนักงานในสหรัฐ อเมริกาเหนือ และเอเชียลง 10% เพื่อเพิ่มผลกำไรและกระตุ้นราคาหุ้นของฟอร์ดที่ตกต่ำลง โดยจะมีโครงการให้พนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนดโดยสมัครใจ และจะเริ่มลดพนักงานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2017 ที่จะถึงนี้ปัจจุบันฟอร์ดมีพนักงานประจำอยู่ในสหรัฐฯ 30,000 คน และมีพนักงานทั่วโลก 200,000 คน แผนการลดพนักงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตัดลดค่าใช้จ่ายของฟอร์ดจำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งฟอร์ดเพิ่งประกาศไปในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณว่าจะลดลงภายหลังเติบโตติดต่อกันมานาน 7 ปี

(foxbusiness.com, 17/5/2017)

คนงานสร้างสนามบอลโลกหัวใจวายตายอีกคน

มีรายงานข่าวว่าคนงานชาวอินเดียวัย 54 ที่ถูกจ้างมาทำสนามสำหรับการแข่งฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

(ibtimes.co.uk, 19/5/2017)

นักศึกษาจบใหม่ในสหรัฐฯ ปีนี้มีโอกาสได้งานสูงขึ้นเนื่องจากอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ รายงานว่าอัตราการว่างงานสำหรับคนที่มีปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้นในสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.5% เมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานโดยรวมซึ่งอยู่ที่ 4.5% ในขณะที่คนที่เรียนจบระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่านั้น มีอัตราการว่างงานที่ 6.8% นักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์การศึกษาและแรงงานแห่งมหาวิทยาลัย Georgetown ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่าปีนี้เป็นปีที่ดีและเหมาะแก่การเรียนจบ เพราะอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีจะช่วยให้นักศึกษาที่เรียนจบในปี 2017 นี้ มีโอกาสดีมากที่จะได้งานทำ โดยผลการสำรวจชิ้นล่าสุดโดย National Association of Colleges and Employers ชี้ว่าการมีศึกษาสูงจะช่วยให้มีโอกาสได้งานทำสูงขึ้น และความต้องการแรงงานที่เรียนจบระดับประกาศนียบัตร ปริญญาตรีและปริญญาโทมีสูงมาก โดยเฉพาะทางสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์

(voathai.com, 22/5/2017)

Cathay Pacific ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 600 คน

คาเธ่ย์ แปซิฟิก แอร์เวย์ (Cathay Pacific Airways) ประกาศปลดพนักงานกว่า 600 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงตำแหน่งงานด้านบริหาร 190 ตำแหน่ง โดยการปรับลดพนักงานครั้งนี้เป็นไปตามแผนปรับโครงสร้างองค์กร หลังจากผลประกอบการของสายการบินซบเซาลง ผู้บริหารคาเธ่ย์ แปซิฟิก ระบุว่าการปรับโครงสร้างในครั้งนี้จำให้บริษัทสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเต็มที่มากขึ้น ทั้งนี้พนักงานที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการแจ้งเตือนในช่วงเดือนหน้า ขณะที่พนักงานในตำแหน่งนักบินและลูกเรือจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างครั้งนี้

(scmp.com, 21/5/2017)

ฝรั่งเศสขาดแคลนแรงงานทักษะฝีมือสูง สวนทางอัตราการว่างงานสูงลิบลิ่วแตะระดับ 10%

ฝรั่งเศสประสบปัญหาด้านกำลังแรงงานที่เรื้อรังมานานหลายปี จากอัตราการว่างงานที่สูงลิ่วเกือบ 10% ตอนนี้มีชาวฝรั่งเศสลงทะเบียนหางานมากกว่า 3 ล้าน 5 แสนคนแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่โจทย์ใหม่ที่เกิดขึ้นกลับเป็นการขาดแรงงานที่ตรงตามคุณสมบัติที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะแรงงานในสายอาชีพและช่างฝีมือ นักวิเคราะห์กลับมองว่า ต้นตอของการขาดกำลังแรงงานในฝรั่งเศส คือ ตัวบทกฏหมายแรงงานที่เข้มงวดและการขาดการฝึกอาชีพที่เพียงพอ

(voathai.com, 31/5/2017)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาเผย ใช้เกม และความสนุกแก้ปัญหา-พัฒนาสังคมได้แล้ว การเรียนรู้ยุคใหม่ปฏิเสธเกมไม่ได้

Posted: 01 Jun 2017 01:35 AM PDT

เกมเป็นพื้นที่จำลองให้แก้ปัญหาด้วยความสนุก สังคมสมัยใหม่นำไปใช้ตั้งแต่ตีแผ่ปัญหาสิ่งแวดล้อมยันค้นพบโครงสร้างเอนไซม์ไวรัส แม้แต่สหประชาชาติยังเอาไปใช้ เกมจะดีหรือไม่ดี สังคมเป็นคนตัดสิน ตีแผ่เทรนด์ปัจจุบัน เกมกำลังเป็นภาษาใหม่ สังคมกับเกมแยกจากกันไม่ได้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญชี้ สังคมอนาคตต้องให้เยาวชนกำหนดวันนี้

31 พ.ค. 2560 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัทบ้านปู จำกัด มหาชนจัดเวทีเสวนาสาธารณะ "ออกแบบเกม ออกแบบสังคม" ณ หอศิลปะและวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร โดยมี สฤนี อาชวานันทกุล นักเขียน กรรมการผู้จัดการบริษัทป่าสาละ จำกัด และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ชายขอบ วิศรุต นุชพงษ์ ผู้ดูแลและประเมินผลโครงการ Saturday school และพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) เป็นวิทยากร และวารินทร์ สัจเดว เป็นผู้ดำเนินรายการ

จากซ้ายไปขวา: วิศรุต นุชพงษ์ สฤนี อาชวานันทกุล พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์

ในงานนี้มีการนำเสนอตัวอย่างเกมต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความบันเทิงและเสริมสร้าง พัฒนาทักษะต่างๆ โดยได้รับความสนใจจากนักเรียน และประชาชนจำนวนมาก งานนี้จะจัดออกไปเป็นโรดโชว์ตามจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ในอนาคตหลังจากโรดโชว์ครั้งนี้

โลกยุคใหม่ใช้เกมและความสนุกระดมสมองแก้ปัญหา สหประชาชาติยังเอาไปใช้ เกมจะดี ไม่ดีต้องให้สังคมตัดสิน

สฤนี ระบุว่า เอกลักษณ์ของเกมคือ การมีกติกาทั้งที่อาจมองเห็นหรือมองไม่เห็น มีความท้าทาย สนุก มีความไม่แน่นอน ไม่รู้ผลลัพธ์ล่วงหน้า และสิ่งสำคัญคือ การมีลักษณะเป็นโลกเสมือน การตัดสินใจในเกมไม่มีผลใดๆต่อชีวิตจริง ด้วยความเป็นโลกเสมือนจริงทำให้เกมเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองแก้ปัญหา ดังนั้น เกมหลายเกมจึงเป็นพื้นที่ให้ผู้เล่นทดลองระบุ นิยามและวิเคราะห์ปัญหา สำรวจทางเลือก แก้ไขปัญหาร่วมกัน และสรุปบทเรียน โดยยกตัวอย่างเกมช่วยส่องสภาวะปัญหา ได้แก่ ABZU ซึ่งเป็นเกมที่บ่งชี้ถึงระบบนิเวศที่ถูกทำลาย This War of Mine ที่จำลองผู้เล่นเป็นคนบริสุทธิ์ที่ตกอยู่ในสภาวะสงครามที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ และ Orwell ที่สมมติให้ผู้เล่นเป็นเหยื่อการสอดแนมแบบเหวี่ยงแหจากฝีมือของรัฐบาลสหรัฐฯ

เกม Minecraft มีผู้เล่นหลัก 100 ล้านคน ถูกจัดให้เป็นเกมที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเกม Tetris โดยนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2559 (อ่านบทความต้นฉบับ) Minecraft จึงเหมือนเป็นตัวต่อดินน้ำมันสำหรับเด็กรุ่นที่เกิดมาก็เจอเทคโนโลยีแล้ว ด้วยลักษณะเกมที่เป็นการจินตนาการบนพื้นที่อิสระ ทำให้โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติหรือ UN Habitat ร่วมมือกับบริษัท Mojang ซึ่งตอนนี้ถูกบริษัท Microsoft ซื้อไปแล้ว ทำโครงการ Block by Block ให้คนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ มาออกแบบพื้นที่สาธารณะร่วมกัน โดยโครงการได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 และได้ลงพื้นที่ในหลายประเทศทั่วโลก

  

เกม Foldit ที่ผู้เล่นกว่า 50,000 คนเข้ามาเล่นเพื่อไขปริศนา (ที่มา: flickr/Rosenfeld Media)

เกม This War of Mine จำลองผู้เล่นเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ตกอยู่ในวงล้อมสงครามกลางเมือง (ที่มา: Flickr/The_JIFF)

โปรแกรมชื่อ Foldit เป็นเกมปริศนา ให้คนมาระดมสมองออกแบบโครงสร้างโปรตีน ในปี 2554 ผู้เล่น Foldit ช่วยแก้ปริศนาโครงสร้างคริสตัลของไวรัสในลิง Mason-Pfizer (M-PMV) ได้สำเร็จ ไวรัสตัวนี้ทำให้มนุษย์มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง นำไปสู่โรค HIV/AIDS ซึ่งเป็นปริศนาในวงการแพทย์มาตลอด 15 ปี แต่ผู้เล่น Foldit ร่วมกันแก้ได้ในเวลาเพียง 3 สัปดาห์

ทั้งนี้ ในงาน พิรุณ น้อยอิ่มใจ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้จัดการศูนย์พักพิงเด็ก มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย แนะนำเกม Child Protection Card Game เป็นเกมการ์ดที่ใช้สอนเด็กในพื้นที่แออัด แคมป์แรงงานต่างด้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการถูกล่อลวงโดยผู้ใหญ่ ออกแบบเกมจำลองสถานการณ์ แบ่งฝั่งเป็นผู้ใหญ่กับเด็ก (เด็กกับเด็กเล่นด้วยกัน) เพื่อให้รู้ว่ารูปแบบการล่อลวงของผู้ใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง วิธีปฏิเสธ ช่องทางขอความช่วยเหลือ โดยได้เริ่มเผยแพร่ในชุมชนพัทยาแล้ว

สฤนี กล่าวว่า ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เกมอะไรก็ได้จะช่วยแก้ปัญหาอะไรก็ได้ แต่ควรจะมีความเหมาะสมกับปัญหาสังคมที่เป็นโจทย์ หากเป็นประเด็นปัญหาที่กว้าง มีผลกระทบเยอะ มีคนเกี่ยวข้องเยอะเช่นความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเมือง เกมต้องให้อิสระแก่คนเล่น เล่นง่าย เข้าถึงคนได้กว้างขวางที่สุด เป็น universal design ถ้าประเด็นแคบ ต้องตีโจทย์อย่างชัดเจน วางกรอบโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน เช่นการออกแบบโปรตีน แปลงโจทย์เป็นกติกาเกมอย่างถูกต้องตามหลัก แต่ไม่ว่าแบบไหน ความสนุกต้องมาก่อนเสมอ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีคนเล่นตั้งแต่ต้น

ต่อประเด็นแนวโน้มของการมีกฎหมายควบคุมเกม สฤนี กล่าวว่า คนที่จะออกกฎหมายควบคุมเกมมีภาระที่ต้องพิสูจน์ความอันตรายของเกม ประโยชน์ของเกม ทุกวันนี้ก็มีการควบคุมเช่นการเซ็นเซอร์ไม่ให้ขายเกม Tropico ด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาเกมมีลักษณะเสียดสีรัฐบาลเผด็จการ หรือความพยายามในการควบคุมการเล่นเกม Pokemon GO ก็เคยพบมาแล้ว จึงต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตีแผ่ข้อดีข้อเสียต่างๆนานาของเกม

เกมกำลังเป็นภาษาใหม่ สังคมกับเกมแยกจากกันไม่ได้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญชี้ สังคมอนาคตต้องให้เยาวชนกำหนดวันนี้

วิศรุต นุชพงษ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะดูว่าเยาวชนเข้ามาในฟันเฟืองการแก้ปัญหา ขอให้ดูว่าทุกวันนี้ ครู คนรุ่นก่อน อยากทำความเข้าใจกับเกมที่เด็กเล่นมากขึ้น ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงทัศนคติจากอดีต

ในปี 2533 มีปฏิญญาจอมเทียน ครั้งแรกที่ 155 ประเทศทั่วโลกมาคุยกันเรื่องการศึกษา ออกมาตรการเร่งด่วนด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพด้านการศึกษา และให้มนุษย์เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น จนกระทั่งปี 2554 เกิดการทบทวน ติดตามผลการดำเนินงานบนปฏิญญาจอมเทียน พบว่า สภาวการณ์ปัจจุบันสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จึงเริ่มต้นปรับปรุงปฏิญญาใหม่ นำไปสู่การตีความผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาว่าต้องมีทักษะสังคม มีความคิดที่เป็นระบบ ตนจึงคิดว่าต้องใช้เครื่องมือด้านไอซีทีเข้ามาเกี่ยวข้อง และคิดว่าไม่มีอะไรง่ายไปกว่าเกม

แม้ในปี 2551 มีเวทีสาธารณะเกี่ยวกับภาวะติดเกมขึ่้น มีเหตุเสียชีวิตจากเกมมากมาย ทัศนคติเกี่ยวกับเกมติดลบมาก แต่ในทุกวันนี้บริบทหลายอย่างเปลี่ยนไป ถ้ายังปฎิเสธว่าเกมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของเยาวชนได้ ก็ำเท่ากับว่าเราไม่สามารถเข้าหาเยาวชนได้เลย คนที่ทำงานเพื่อสังคมคงไม่มีใครปฏิเสธการเล่นเกมแล้ว เดี๋ยวนี้ร้านบอร์ดเกม (เกมที่เล่นบนแผ่นกระดาน เช่น เกมเศรษฐี บันไดงู เป็นต้น – ผู้สื่อข่าว) กลายเป็นพื้นที่พูดคุย ถกประเด็นปัญหา ภาพเกมกับสังคมมันแยกจากกันไม่ได้แล้ว

วิศรุตกล่าวถึงการออกแบบสังคมโดยไม่ฟังเสียงของอนาคตของชาติจะนำไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น "จริงๆแล้วสังคมต้องการเยาวชนให้เป็นแบบไหน เรากล้าให้เยาวชนนำเสนอไอเดียมาพัฒนาประเทศหรือไม่ ถ้าวันนี้เยาวชนต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่เขาไม่มีส่วนออกแบบ ก็ไม่ต้องจินตนาการเลยว่าปัญหาในอนาคตจะซับซ้อนขนาดไหน ดังนั้นต้องเปิดกว้าง เคารพในการมีส่วนร่วมของกันและกัน"

ต่อประเด็นแนวโน้มของสังคมที่มีต่อเกม ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ชายขอบกล่าวว่า ตอนนี้ตัวเขาเองมีอายุเกิน 40 ยังมีคนรุ่นตัวเองครึ่งต่อครึ่งที่ไม่เล่นเกม แต่ยิ่งนานวันยิ่งจะเห็นผู้ใหญ่ที่โตมากับเกม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะได้ผู้ใหญ่จำนวนมากที่โตมากับเกมที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่า นี่คือภาษาของคนรุ่นเรา มีคนเล่น Minecraft กว่าร้อยล้านคน ดังนั้นจะมีคนอีกจำนวนมากที่เติบโตมาพร้อมกับการเล่นเกม สื่อเองก็ควรนำเสนอด้านดีของเกมด้วย ไม่ใช่เสนอแต่ข้อเสียอย่างเดียว มีคนที่เล่นเกมแล้วมีผลดีกับชีวิตประจำวัน ประสบความสำเร็จก็มี แต่ไม่เป็นข่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกนัฏ โพสต์ขอบคุณ 'ลุงตู่-ลุงกำนัน-ท่านอภิสิทธิ์' พาประเทศออกจากวิกฤต สู้กับระบอบทักษิณ

Posted: 01 Jun 2017 01:18 AM PDT

อดีตโฆษก กปปส.โพสต์เฟซบุ๊ก ขอบคุณ ประยุทธ์ ที่สู้เพื่อรักษาความสงบ ปูทางสู่ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ สุเทพ เป็นหลักประคองบ้านเมืองจนได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ อภิสิทธิ์ ที่นยึดมั่นในอุดมการณ์ ปฏิรูปและต่อสู้กับระบอบทักษิณ

1 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (31 พ.ค.60) เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และอดีตโฆษก กปปส. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ขิง)' ในหัวข้อ 'ปฏิรูปประเทศไทย คือเป้าหมายสูงสุด'

โดยมีรายละเอียดดังนี้ :


พวกเรามวลมหาประชาชนได้ช่วยกันกอบกู้นำพาประเทศออกจากวิกฤต เราได้ช่วยกันระงับความเสียหายจากการออกกฏหมายล้างผิดนิรโทษกรรม จากการโกงกินจนเป็นระบบ เราได้สยบการสบประมาทจากรัฐบาลหุ่นเชิดที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ดูถูกสิทธิ์และเสียงของประชาชน

ต้องขอบคุณนายกฯลุงตู่ ที่ตั้งใจทำงาน อดทนต่อแรงเสียดทาน อุปสรรคทั้งภายในและภายนอก ต่อสู้เพื่อรักษาความสงบ ปูทางสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

ต้องขอบคุณลุงกำนัน ที่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ คอยเป็นหลักประคับประคองบ้านเมืองจนกระทั้งได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฝั่งรากการปฏิรูปไว้เป็นหลักประกัน ยึดมั่นสานต่อเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน

ต้องขอบคุณท่านอภิสิทธิ์ ที่ยืนยันยึดมั่นในอุดมการณ์ ปฏิรูปประเทศไทย ต่อสู้กับระบอบทักษิณ

การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริง โดยจะพึ่งแค่เพียงกติกาใหม่อย่างเดียวคงไม่ได้... จะต้องอาศัยพลังและความสามัคคีของพวกเราทุกคน คิดเรื่องใหญ่ตั้งใจทำเพื่อชาติบ้านเมือง สวมวิญญานของนักสู้ผู้ไม่ถอยเดินหน้าผลักดันการปฏิรูปต่อไป

ช่วยกันส่งกำลังใจให้ลุงตู่ปฏิรูปตำรวจให้สำเร็จ กวาดล้างทุจริตคอรัปชั่น ช่วยลุงกำนันปฏิรูปการศึกษายกระดับอาชีวะให้เด็กโตไปมีงาน มีอนาคต ช่วยท่านอภิสิทธิ์ปฏิรูปพรรคให้เป็นพรรคของประชาชน ให้เป็นพรรคต้นแบบในการเมืองยุคใหม่ในอนาคต

 

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Democrat Party, Thailand

โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา (30 พ.ค.60) เอกนัฏ พร้อมด้วย ถาวร เสนเสียม แกนนำ กปปส. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นกลุ่ม กปปส. ได้เข้าพบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพรรค เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที จากนั้น เปิดเผยว่า กปปส. ทุกคนที่ไปทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่มีใครลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค จะยังคงร่วมมือกันเหมือนเดิม คือ ลงสมัครรับเลือกตั้งตามโรดแมป และผลักดันให้การปฏิรูปประเทศสำเร็จตามที่เคยเรียกร้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น