โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประวิตร ชี้ 'P-Move' เป็น NGO ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงไม่อนุญาตจัดกิจกรรมเกิน 5 คน

Posted: 15 Jun 2017 01:12 PM PDT

พล.อ.ประวิตร ชี้ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม เป็น NGO ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงไม่อนุญาตจัดกิจกรรมเกิน 5 คน ระดมความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ และร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า - ปัดสุรเชษฐ์เอี่ยวทำโผตร.ชงตั้งคกก.สอบซื้อเก้าอี้บชน. 

แฟ้มภาพ

15 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นและ Voice TV รายงนตรงกันว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีเครือข่ายขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เข้าปิดกั้นเวทีสัมมนาที่ภาคประชาชนร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อป้องกันผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ และร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า แม้กิจกรรมดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่หากมีผู้ร่วมงานเกิน 5 คน ก็ไม่อนุญาตให้จัดได้ เนื่องจากผิดคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ อีกทั้งกลุ่มดังกล่าวยังถือเป็นกลุ่ม NGO ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย

ปัดสุรเชษฐ์เอี่ยวทำโผตร.ชงตั้ง กก.สอบซื้อเก้าอี้บชน.

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวถึง กรณีที่มีคำกล่าวอ้างว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 เป็นคนกลางในการวิ่งเต้นในการซื้อขายตำแหน่งตำรวจนครบาล ว่า หากต้องการให้เกิดความโปร่งใสก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน จึงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้ 

ส่วนกรณีมีการพาดพิงว่า พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร และมีอำนาจเหนือกว่ายศพลตำรวจเอก รวมไปถึงอยู่เบื้องหลังการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจนครบาลนั้น ระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกันเพียงแค่เรื่องงาน แต่ไม่เกี่ยวกับการโยกย้ายตำรวจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนที่บอกว่าเป็น ผบ.ตร.น้อย นั้น ระบุว่าเป็นการคิดกันไปเอง และส่วนตัวไม่ทราบ ว่า ในองค์กรตำรวจมีความขัดแย้งภายในหรือไม่ โดยต้องดูกันเอง

พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกรณีการเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุไฟไหม้ ขณะมีการชุมนุมในปี 2553 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถูกหลังบริษัทประกันภัยอ้างเหตุก่อการร้าย และจลาจล ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน ว่า ให้ดูตามระเบียบ หากสามารถดำเนินการได้ก็จะดำเนินการช่วยเหลือ

สำหรับกลุ่มผู้เสียหายประกอบไปด้วย ร้านหนังสือดอกหญ้า ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และก่อนหน้านี้ ร้านหนังสือดอกหญ้าได้แพ้คดีไปในชั้นศาลฎีกา หลังบริษัทประกันภัย อ้างว่าเป็นเหตุจลาจล หรือ ก่อการร้าย ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาได้อีกแล้ว ส่วนศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แม้จะชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ก็มาแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ และกำลังรอผลการชี้ขาดจากศาลฎีกาอยู่ สำหรับศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเอง กำลังอยู่ระหว่างรอนัดวันฟังคำสั่งจากศาลฎีกา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] เปิดพรมแดนความรู้ล้านนาคดีใหม่ (1) : ศาสนาและความเชื่อ

Posted: 15 Jun 2017 12:53 PM PDT

เสวนาหัวข้อ "เปิดพรมแดนความรู้ล้านนาคดีใหม่ (1) : ศาสนาและความเชื่อ" วิทยากรโดย พิสิษฏ์ นาสี นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอหัวข้อ "ข้อสังเกตในกิจกรรมและปฏิบัติการทางศาสนาของครูบาสมัยใหม่" และธรรศ ศรีรัตนบัลล์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำเสนอหัวข้อ "ตำแหน่งทางศาสนา การเปลี่ยนผ่านจากยุคจารีตถึงปัจจุบัน" กรณีการนับถือพุทธศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ

โดยเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รับชมคลิปจากเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" ทั้งหมดที่ https://goo.gl/Ltzjrz

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] ท้าทายความคิดและวิธีวิทยา ด้านล้านนาคดี

Posted: 15 Jun 2017 12:28 PM PDT

เสวนาหัวข้อ "ท้าทายความคิดและวิธีวิทยา ด้านล้านนาคดี" อภิปรายโดย ชัยพงษ์ สำเนียง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รับชมคลิปจากเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" ทั้งหมดที่ https://goo.gl/Ltzjrz

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิวาทะ 'ประธาน บอร์ด สปสช. - คนรักหลักประกัน' กับการแก้ 'ก.ม.บัตรทอง'

Posted: 15 Jun 2017 12:02 PM PDT

ประธาน บอร์ด สปสช. ชี้ แก้ 'กม.บัตรทอง' เพื่อประโยชน์ ปชช. ระบุวอล์กเอาต์ถือเป็นประชาธิปไตย ขออย่าทำระส่ำ ย้ำร่วมจ่ายไม่มีการแก้ไข ด้านคนรักหลักประกันโต้ไม่ได้ยกเลิกร่วมจ่ายเข้าขึ้นทะเบียนคนจน ชี้ปรับสัดส่วนบอร์ด ทำตัวแทนภาค ปชช.เป็นเสียงข้างน้อยตลอด

 

15 มิ.ย. 2560 จากกรณีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยภาคประชาชนมองว่ากระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวเพียง 2 คน รวมถึงมีข้อกังวลจากภาคประชาชนว่าการแก้ไขจะเป็นการทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง จนเกิดการคัดค้านและวอล์กเอาต์จากเวทีประชาพิจารณ์ใน 2 ภาค คือ ภาคเหนือและภาคใต้ เหลืออีก 2 เวที คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 17 มิถุนายน และภาคกลาง กทม. วันที่ 18 มิ.ย.นี้

แฟ้มภาพ

ประธาน บอร์ด สปสช. ชี้ แก้ 'กม.บัตรทอง' เพื่อประโยชน์ ปชช. 

ล่าสุดวันนี้ (15 มิ.ย.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวระหว่างการแถลงเรื่อง "ความจริงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ว่า อยากให้คนที่ยกประเด็นคัดค้านต่างๆ ได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯที่มีการปรับปรุงแก้ไขจริงๆ บางคนยกประเด็นออกมามองถึงว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในร่าง พ.ร.บ.เองไม่ได้เขียนสิ่งนั้นไว้เลย เป็นการกลัวไปก่อนทั้งสิ้น หากเป็นแบบนี้คิดว่ามันคงจะลำบากในการจับประเด็นที่เกิดขึ้น

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯที่ตนเป็นคนแต่งตั้ง โดยบอกว่ามีผู้แทนภาคประชาชนเพียง 2 คนนั้น ซึ่งก่อนที่จะลงนามตั้งได้มีการสอบถามก่อนแล้วว่า ทุกคนอยู่ในสภาวะสมดุลหรือไม่ คณะกรรมการมีทั้งหมด 27 คน ที่เหลือใช่ภาคประชาชนหรือไม่ เช่น ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็เป็นตัวแทนประชาชน เพราะมาจากการเลือกของประชาชน หรือท่านอื่นๆ ก็เคยทำงานภาคประชาสังคมและประชารัฐ เป็นต้น คณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) จึงมีความสมดุลทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขผลกระทบให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และส่วนตัวไม่เคยเข้าไปละลาบละล้วงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และการทำหน้าที่ไม่มีข้อเคลือบแฝงแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น ต้องเชื่อและไว้ใจคณะกรรมการชุดนี้

วอล์กเอาต์ถือเป็นประชาธิปไตย ขอเพียงอย่าทำให้ระส่ำระสาย

"การวอล์กเอาต์ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ในภูมิภาคของเครือข่ายคนรักหลักประกัน จริงๆ ถือเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ขอเพียงอย่าทำให้เกิดความระส่ำระสาย แต่เวทีประชาพิจารณ์ไม่ได้ล่ม เพราะยังมีภาคประชาชนอื่นๆ เข้าร่วมอีก 300-400 คน แต่มีคนออกจากเวทีราว 80 คน ที่ประชุมก็ยังเดินหน้าต่อไปได้" นพ.ปิยะสกล กล่าว

ย้ำร่วมจ่ายไม่มีการแก้ไข

ต่อกรณีคำถามที่ว่ายังมีคนมองว่ามีการแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นการร่วมจ่ายนั้น นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ไม่เห็นมีอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขเลย แต่มีอยู่ข้อหนึ่งใน พ.ร.บ.หลักประกันฉบับเดิมที่มีอยู่แล้ว พูดถึงว่าอาจจะให้มีการจ่ายร่วมได้ ที่เห็นภาพชัด คือ คนใช้บริการจ่าย 30 บาท ซึ่งไม่ได้อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ เพียงแต่ไม่ได้มีการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ และร่าง พ.ร.บ.ใหม่ก็ไม่ได้มีสักคำเดียวว่าจะให้มีการจ่ายร่วม ทุกอย่างใน พ.ร.บ.ต้องมีความยืดหยุ่นได้ เพื่อให้อนาคตสามารถปรับได้ก็ปรับได้ เมื่อเห็นว่าประเด็นนี้ใน พ.ร.บ.เดิมมีการยืดหยุ่นดีอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ใหม่

"การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายทั้งหมด แก้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยตรง ถ้าทิ้งปัญหาเรื่องการใช้จ่ายงบหลักประกันสุขภาพบางอย่างที่ดำเนินการไม่ได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟของสถานพยาบาล แต่เป็นงบที่จำเป็นสำหรับ รพ. แต่ไม่ได้จ่ายโดยตรงในการรักษาพยาบาลประชาชน ซึ่งใน พ.ร.บ.เดิมบอกว่าทำไม่ได้ บางคนบอกว่าก็เลิกจ่ายให้ รพ.ทั้งหมด ก็จะทำให้ รพ.ทำงานไม่ได้ นี่คือผลที่ท่านอยากให้เป็นหรือ ก็ต้องแก้ใหม่เพื่อให้ดำเนินการได้ ถ้าไม่แก้แล้วปัญหาเกิดตามเดิมอีก ใครเดือดร้อน ที่แก้เพื่อความยั่งยืนโดยแท้" นพ.ปิยะสกล กล่าว

คนรักหลักประกันโต้ ไม่ได้ยกเลิกร่วมจ่าย เข้าทางการขึ้นทะเบียนคนจน

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ว่า กลุ่มฯ ได้โต้รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่อ้างว่าประเด็นที่แก้ไขเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรัฐมนตรียกเพียงประเด็นเรื่องการไม่ร่วมจ่ายซึ่งในกฎหมายไม่ได้มีการแก้ไข นั่นหมายว่า ไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ซึ่งเข้าทางการขึ้นทะเบียนคนจน เพราะต้องการให้ประชาชนชนร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการและยกเว้นเฉพาะคนที่ขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งเรื่องบริการสุขภาพ มีแนวคิดคนรวยช่วยคนจน คนไม่ป่วยช่วยคนป่วย คนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพด้วยตนเอง ขัดต่อหลักสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับทุกคน

ชี้ปรับสัดส่วนบอร์ด ทำตัวแทนภาค ปชช.เป็นเสียงข้างน้อยตลอด

กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ระบุอีกว่า ประเด็นสำคัญที่นอกเหนือจากนี้ที่รัฐมนตรีไม่ได้พูดก็คือการแก้ไขกฎหมายที่ปรับโครงสร้างสัดส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขซึ่งได้เพิ่มสัดส่วนในฝั่งของผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งในสองคณะ ซึ่งปัจจุบันการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากมีสัดส่วนของภาคประชาชนเพียงห้าคนและเป็นเสียงข้างน้อยตลอดเวลา รวมถึงการแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะดีและไม่ต้องกังวลกับบุคลากร แต่นั่นคือการกลับไปสู่การจ่ายเงินตามขนาดของโรงพยาบาลเหมือนก่อนมีระบบหลักประกันเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทำให้ไม่เกิดการกระจายบุคคลากรที่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล

ส่วนประเด็นที่สำคัญมากที่สุดที่รัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงเลยก็คือ ขณะนี้มีข้อถกเถียงเรื่องอำนาจของสปสช.ในการจัดซื้อยาราคาแพงสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยาซึ่ง สปสช. ได้มีการดำเนินการจัดซื้อยาจำเป็นราคาแพงเป็นระบบการจัดซื้อรวมซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ 50,000 ล้านบาท แต่การแก้กฎหมาย กลับไม่ถูกพูดถึง ว่า จะให้ดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร แต่การแก้ไขครั้งนี้ หากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร รัฐบาลจะนำเงินปี ละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมในการร่วมจ่ายของประชาชนในการใช้ยา

การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ระบบการบริหารจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประโยชน์มากขึ้นสำหรับประชาชน น่าเสียดายที่ไม่ได้ยินจากปากของรัฐมนตรีเลยในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ใช้ ม.44 ไฟเขียวจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง - เว้น ก.ม.วิศวกร ปมอนุญาตประกอบวิชาชีพ

Posted: 15 Jun 2017 09:51 AM PDT

หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ไฟเขียวจีนสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ – นครราชสีมา วิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรม พร้อมได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับ ม.45, 47,49 แห่ง พ.ร.บ.วิศวกร 2542 และม.45,47,49 แห่ง พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 กรณีการควบคุมการประกอบวิชาชีพ

แฟ้มภาพ

15 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 ลงนามโดย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา มีรายละเอียดระบุว่า โดยที่มีความจําเป็นต้องพัฒนาระบบคมนาคมให้ก้าวหน้า ทันสมัย และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางราง ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 แต่การดําเนินการดังกล่าวยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะข้อจํากัดตามกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนโครงการและกรอบระยะเวลาการดําเนินการ และด้วยเหตุที่การดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้เป็นการดําเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งโดยสภาพของข้อเท็จจริงย่อมจําเป็นต้องยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบบางเรื่อง ในขณะที่จะต้องดําเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถเร่งรัดการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จได้โดยเร็ว จึงจําเป็นต้องกําหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์วิธีการไว้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบคมนาคมของประเทศนําไปสู่การพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพการแขงข่ ัน และลดความเหลื่อมล้ําตามยุทธศาสตร์ของประเทศ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ในคําสั่งนี้"คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน" หมายความว่าคณะกรรมการบริหารร่วมฝ่ายไทย เพื่อกํากับดูแลการดําเนินการ ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565

"โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา" หมายความว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ที่ดําเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565

ข้อ 2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทําสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ดังต่อไปนี้ (1) งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา (2) งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา (3) งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร

รัฐวิสาหกิจตามวรรคหนึ่งและบุคลากรของรัฐวิสาหกิจนั้นทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลหากต้องดําเนินการในลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม ให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสมในการกําหนดมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง การจัดทําร่างสัญญาจ้างและเงื่อนไขอื่นในการทําสัญญาจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และผลประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน มาเป็นกรอบในการพิจารณา โดยจะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ ให้วงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติสําหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ถือเป็นราคากลางตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามวรรคสาม ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรายงานผลการดําเนินการ รวมทั้งสาเหตุของความล่าช้าไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา ในการนี้ นายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควรหากนายกรัฐมนตรีไม่พิจารณาให้มีการขยายระยะเวลาออกไปตามวรรคสี่ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยุติการดําเนินการ และให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดําเนินการไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปการดําเนินการตามข้อนี้ ให้คํานึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการดําเนินกิจการและการใช้ทรัพยากรของรัฐ ทั้งนี้ ให้นําหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 มาใช้กับการดําเนินการด้วย

ข้อ 3 ในการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา และการทําสัญญาจ้างตามข้อ 2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบดังต่อไปนี้ (1) กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา (2) กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (3) คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2560 เรื่อง การกํากับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 23 ก.พ. พ.ศ. 2560 (4) ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (5) ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (6) ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2544 (7) ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2544

ข้อ 4 เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทําร่างสัญญาจ้างตามข้อ 2 วรรคสาม เสร็จแล้วให้การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งข้อตกลงการจ้างและร่างสัญญาจ้างให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาเห็นชอบก่อนส่งให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาจ้างให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญาจ้าง และเมื่อสํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาจ้างเสร็จแล้ว ให้กระทรวงเจ้าสังกัดนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบกับร่างสัญญาจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องคืนไปยังรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาทบทวนและเสนอความเห็นประกอบเรื่องทั้งหมดต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาจ้าง ให้ส่งร่างสัญญาจ้างให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนําเสนอคณะรัฐมนตรีด้วย โดยให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยลงนามในสัญญาจ้างต่อไป

ข้อ 5 ในกรณีที่มีปัญหาหรืออุปสรรคในการดําเนินงานตามคําสั่งนี้และการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรายงานปัญหาหรืออุปสรรคดังกล่าวให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติต่อไป

หากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยปัญหาหรือสั่งการตามสมควร

ข้อ 6 ในกรณีเห็นสมควรหรือมีปัญหาขัดข้องในการดําเนินการ หรือกรณีมีข้อจํากัดทางกฎหมายอื่นใด นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้ คสช. แก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

ข้อ 7 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

 

สำหรับ ข้อกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย

พ.ร.บ.วิศวกร 2542

มาตรา 45 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนพร้อมจะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาใด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาวิศวกร
 
มาตรา 47 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็น ผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ทั้งนี้ รวมถึงการใช้ จ้างวานหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสาขานั้น ๆ จากสภาวิศวกรหรือสถาบันที่สภาวิศวกรรับรอง หรือผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
 
มาตรา 49 ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาวิศวกรและถ้าขาดจากสมาชิกภาพเมื่อใดให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง
ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีทุนเป็นของคนต่างด้าวจำนวนเท่าใด นิติบุคคลนั้นอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
( 1 ) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร
( 2 ) ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท หรือสมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการของบริษัท หรือผู้มีอำนาจบริหารแต่ผู้เดียวของนิติบุคคลเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัตินี้
 
พ.ร.บ.สถาปนิก 2543
 
มาตรา 45 หามมิใหผูใดประกอบวิชาชีพสถาปตยกรรมควบคุมหรือแสดงดวยวิธีใดๆ ใหผูอื่นเขาใจวาตนพรอมจะประกอบวิชาชีพสถาปตยกรรมควบคุมสาขาใดเวนแตจะไดรับใบอนุญาตในสาขา นั้นจากสภาสถาปนิก
 
มาตรา 47 หามมิใหผูใดใชคําหรือขอความที่แสดงใหผูอื่นเขาใจวาตนเปนผูมีความรูความ ชํานาญในการประกอบวิชาชีพสถาปตยกรรมควบคุม ทั้งนี้รวมถึงการใชจางวาน หรือยินยอมใหผูอื่น กระทําดังกลาวใหแกตน เวนแตผูไดรับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเปนผูมีความรูความชํานาญในการ ประกอบวิชาชีพสถาปตยกรรมสาขานั้นๆ จากสภาสถาปนิกหรือสถาบันที่สภาสถาปนิกรับรอง หรือผูไดรับ ใบอนุญาต ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กําหนดในขอบังคับสภาสถาปนิก
 
มาตรา 49 ผูขอรับใบอนุญาตตองมีคุณสมบัติและไมมีลักษณะตองหามตามที่กําหนดในขอบังคับสภาสถาปนิก
ผูขอรับใบอนุญาตที่เปนบุคคลธรรมดาตองเปนสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิก และถาขาดจากสมาชิกภาพเมื่อใดใหใบอนุญาตของผูนั้นสิ้นสุดลง
ผูขอรับใบอนุญาตที่เปนนิติบุคคลไมวาจะเปนนิติบุคคลซึ่งมีทุนเปนของคนตางดาวจํานวนเทาใด นิติบุคคลนั้นอยางนอยตองมีคุณสมบัติดังตอไปนี้
(1) มีสํานักงานใหญตั้งอยูในราชอาณาจักร
(2) ผูเปนหุนสวนของหางหุนสวน กรรมการของบริษัท หรือสมาชิกในคณะผูบริหารของนิติบุคคล จํานวนไมนอยกวากึ่งหนึ่งหรือหุนสวนของผูจัดการของหางหุนสวน กรรมการผูจัดการของบริษัทหรือผูมี อํานาจบริหารแตผูเดียวของนิติบุคคลเปนผูซึ่งไดรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป้ายคัดค้านการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพโผล่ที่ขอนแก่น ก่อนหน้าเวทีประชาพิจารณ์เพียง 2 วัน

Posted: 15 Jun 2017 08:11 AM PDT

มีผู้พบเห็นป้ายคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จังหวัดขอนแก่น ข้อความระบุว่า "แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า = ล้มบัตรทอง" ก่อนหน้าที่จะมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ระดับภูมิภาคที่ขอนแก่นเพียง 2 วัน

15 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ที่จังหวัดขอนแก่น มีผู้พบเห็นป้ายรณรงค์คัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง หรือกฎหมายหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ติดอยู่ที่บรเวณสะพานลอยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยในข้อความระบุว่า "การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน" และ "แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า = ล้มบัตรทอง"

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า ในวันที่ 17 มิ.ย. 2560 จะมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ ระดับภูมิภาค ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชาพิจารณ์เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ระบุให้การออกกฎหมาย หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใหม่จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนรับทราบ และร่วมแสดงความคิดเห็น สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ... นี้ ปรับปรุงแก้ไขจาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งประกาศบังคับใช้มาแล้ว 15 ปี จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอดีตถึงปัจจุบัน ส่งให้การปฏิบัติมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีของประชาชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้ การประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีจำนวน 14 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1. การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กร ที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย 2. กรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3. การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด 4. เงินเหมาจ่ายรายหัวกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้ 5. นิยาม "บริการสาธารณสุข" คือ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล 6. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ 7. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย 8. การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย 9. การร่วมจ่ายค่าบริการ 10. การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ 11. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 12. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข 13. แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนฯ 14. การใช้จ่ายเงินบริหารของ สปสช. ไม่ต้องส่งคืนคลังเพื่อความคล่องตัว และการปรับปรุงคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลภูเขียวเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีรุกป่า รอผลตรวจพิสูจน์หัวกะโหลกใช่ของเด่น คำแหล้ หรือไม่

Posted: 15 Jun 2017 06:44 AM PDT

ศาลภูเขียวเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีรุกป่า ที่เด่น คำแหล้ และภรรยาตกเป็นจำเลย เหตุรอผลพิสูจน์หัวกะโหลกใช่ของเด่น คำแหล้ หรือไม่ พร้อมส่งหนังสือไปกำชับตำรวจให้เร่งติดตามผลการตรวจสอบพิสูจน์ และนำมารายงานต่อศาล ก่อนวันนัด

15 มิ.ย. 2560 ถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า วันนี้ที่ศาลจังหวัดภูเขียวได้มีการนัดอ่านคำพิพากษาคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ซึ่งมีเด่น คำแหล้ เป็นจำเลยที่ 1 และสุภาพ คำแหล้ ผู้เป็นภรรยา เป็นจำเลยที่ 4 โดยศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 27 ก.ค.2560

ถนอมศักดิ์ ระบุว่า เหตุผลที่ศาลเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาเนื่องจาก พยานหลักฐานที่ได้พบเจอล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2560 ทั้ง 14 รายการ จากการตามหาร่องรอยการหาไปของเด่น คำแหล้ ซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2559 โดยพยานหลักฐานที่ 1-13 สุภาพ คำแหล้ ภรรยาของเด่น ยืนยันว่า เป็นสัมภาระของสามี เช่น กางเกง รองเท้า ถุงปุ๋ยสะพาย ขวดน้ำ เป็นต้น แต่หลักฐานลำดับที่ 14 ที่เป็นหัวกะโหลกมนุษย์ ยังรอทางเอกสารจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งยังไม่มีมาแสดงผลการตรวจพิสูจน์ทางดีเอ็นเอ ว่า หัวกะโหลกมนุษย์เป็นนายเด่น คำแหล้ ที่สูญหายไปหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการยื่นคำร้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป

ทั้งนี้ศาลแจ้งว่า จะมีหนังสือเพื่อกำชับไปทางพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้เร่งติดตามผลการตรวจสอบพิสูจน์ และนำมารายงานต่อศาล ก่อนวันนัด

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้านรวม 10 คน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม สำหรับคดีของเด่น กับพวกรวม 5 คน ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2556  โดยยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 คือนายเด่น และนางสุภาพ จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี ส่วนอีก 3 ราย ศาลยกฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน และศาลไม่อนุญาตฎีกา จำเลยทั้งสองต้องถูกคุมขัง

ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. 2556 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน( คปอ.)และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ได้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานภาครัฐ และร่วมเดินรณรงค์ไปยังศาลฎีกา พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้ศาลฎีกาปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ประกอบกับช่วงดังกล่าวทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลอนุมัติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท

ข้อเท็จจริงพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว

ทั้งนี้ข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ปี 2528 รัฐเข้ามาดำเนินโครงการ "หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์" ขับไล่ชาวบ้านโคกยาวอพยพออกจากที่ทำกิน และอ้างว่าจะจัดสรรที่ดินรองรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำยูคาลิปตัส เข้ามาปลูก  ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีเจ้าของถือครองทำประโยชน์อยู่แล้ว ทำให้เข้าไปทำกินได้ และเข้าที่เดิมก็ไม่ได้ เด่น คำแหล้ เป็นแกนนำร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินมานับแต่นั้น กระทั่งกระบวนการแก้ไขปัญหาเข้าสู่ปี 2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่โดยมีธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร เป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ มีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นการต่อไป

ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ลงตรวจสอบพื้นที่และได้รายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้เดือดร้อน และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ ให้ผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่องแถวของสวนป่าไปพลางก่อน

นอกจากนี้ พื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ผ่านความเห็นชอบดำเนินโครงการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนพื้นที่กว่า 830 ไร่ ตามมติ ครม.ปี 2553 และให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง หรือดำเนินคดีใดใดในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา แต่แนวทางปฎิบัติกลับสวนทางกัน และเกิดคดีความ

ความพยายามขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ได้เกิดขึ้นอีกในวันที่ 15 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.64/57 ให้ชุมชนโคกยาวอพยพออกจากพื้นที่ และวันที่ 6 ก.พ. 2558 เจ้าหน้าทหารเข้ามาปิดประกาศอีกรอบ หลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เด่น เป็นแกนนำชุมชนเพื่อยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และเข้าร่วมเจรจากับหน่วยงานภาครัฐในระดับนโยบาย มีมติให้ ชะลอการไล่รื้อออกไปก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ระบุ ผลเลือกตั้งออกได้ทุกหน้า กู้ศรัทธา ปชช. คืองานแรกนักการเมือง

Posted: 15 Jun 2017 05:39 AM PDT

อภิสิทธิ์ - ประสงค์ - นิยม ถกหลายประเด็น ปฏิรูปของ คสช. ทหารรวบอำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามส่อคอร์รัปชันหรือไม่ 4 คำถามชวนทะเลาะ ควรเปลี่ยนโจทย์ แนะแก้ไขปัญหาปากท้อง ให้ประชาชนตรวจสอบรัฐได้ อภิสิทธิ์เผย รัฐบาลร่วมควรมีอุดมการณ์เดียวกัน ชี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ไม่ว่ากติกาเลือกตั้งเป็นอย่างไร ไทยแลนด์ไร้ดุลยภาพ มีปัญหาทั้งองคาพยพ

จากซ้ายไปขวา: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นิยม รัฐอมฤต ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดิศักดิ์ ศรีสม

9 มิ.ย. 2560 วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเปิดตัวหนังสือ Thai Politics: Social Imbalance และเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ส่องเมืองไทย: ดุลยภาพทางการเมือง ดุลยภาพทางสังคม" โดยมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี รศ.นิยม รัฐอมฤต คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ประสงค์ เลิศรัตนวิทสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา เป็นแขกรับเชิญและวิทยากร โดยมีอดิศักดิ์ ศรีสม เป็นผู้ดำเนินรายการ

ปฏิรูป คสช. ทหารรวบอำนาจขัดรัฐธรรมนูญ  ดุลยภาพสังคมการเมืองซับซ้อน ย้อนแย้ง

ประสงค์กล่าวว่า การปฏิรูปต่างๆของ คสช. เป็นการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์การกระจายอำนาจในรัฐธรรมนูญ รวมศูนย์อำนาจงานสืบสวนสอบสวน ส่งทหารไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ อีกปัญหาหนึ่งคือปัญหาการคอร์รัปชัน ช่วงชิงผลประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรม เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งในทางเศรษฐกิจ ตั้งคำถามว่าทำไมเผด็จการหรือนักการเมืองที่เข้ามาแล้วร่ำรวยทุกคน สิ่งนี้ทำให้ดุลยภาพเสียไป คำถามคือจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร

ผอ. สถาบันอิศราระบุว่า ดุลยภาพทางการเมืองและสังคมเป็นเรื่องใหญ่ ซับซ้อน หาคำตอบในเวลาอันสั้นไม่ได้ เมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญปี  2540 ก็มีกรอบ มีวิธีคิดที่มุ่งสร้างดุลยภาพทางการเมือง สังคม ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและตรวจสอบได้ เกิดการสร้างองค์กรอิสระ การเมืองภาคประชาชน ให้พลเมืองมีอำนาจในการต่อรอง สิ่งที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคือการเกิดการเมืองบนท้องถนนที่ไร้ขอบเขต ซึ่งกดดันจนชนชั้นกลางที่เคยไม่เอาทหาร กลับบอกให้ทหารอยู่ต่อ เพราะรับไม่ได้กับความไม่สงบ

อภิสิทธิ์ระบุ จับมือกับพรรคอุดมการณ์เดียวกัน งานแรกนักการเมืองคือกู้ศรัทธาจาก ปชช.

อภิสิทธิ์กล่าวถึงแนวทางการเมืองในอนาคตว่า การเล่นการเมืองของพรรคขนาดกลางกับเล็กคงไม่ต่างกันเท่าใด จะเหลือก็แต่พรรคใหญ่ 2 พรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยนั้นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับกติกาที่เป็นอยู่ แต่ยังไม่ทราบว่ามีแผนการอะไร ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจน และร้องขอให้ สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้าเสียงข้างมากในสภาเกิน 250 คนก็ควรได้จัดตั้งรัฐบาล สำหรับกรณีการร่วมกลุ่มกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อตั้งรัฐบาลนั้น อภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์และความคิดเห็นตรงกัน เพราะถ้าไม่ตรงกันแล้วประชาชนจะตั้งข้อสงสัยว่ามีประโยชน์อื่นแอบแฝง

อดีตนายกฯ ระบุว่านักการเมือง ในฐานะของผู้เล่นมีหน้าที่เสนอประชาชนก่อนว่ามีแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลได้แบบไหนบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือประชาชนมีภาพลักษณ์แง่ลบกับนักการเมือง ดังนั้น เมื่อนักการเมืองมีอำนาจ ก็ต้องเข้าไปกอบกู้ศรัทธาของประชาชนต่อพรรคและนักการเมืองเสียก่อน แล้วจะแก้ไขอะไรค่อยทำหลังจากนั้น ส่วนประเด็นการเลือกตั้ง อภิสิทธิ์กล่าวว่า สังคม โดยเฉพาะสื่อ ต้องตั้งคำถามกับนักการเมือง แล้วประเด็นต่างๆ จะค่อยๆถูกตีแผ่ออกมา สำหรับกติกาการเลือกตั้งฉบับใหม่นี้ที่มีคนกะเก็งว่าถูกออกแบบมาเพื่อจะได้สัดส่วน ส.ส. เท่านั้นเท่านี้ อภิสิทธิ์ถามว่า แน่ใจได้อย่างไรว่าเลือกตั้งแบบนี้จะไม่ได้เสียงข้างมาก อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอด สุดท้ายถ้าจะตั้งต้นการสร้างดุลยภาพให้กับสังคมก็ต้องให้ประชาชนขับเคลื่อน

ทว่า ถ้อยคำของผู้มีอำนาจที่ได้สื่อสารกับประชาชนพยายามสื่อว่า ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นปัญหา ถ้าตั้งหลักกันแบบนี้ ประเทศเป็นปัญหาแน่ เพราะประเทศอื่นทั่วโลกที่ก้าวผ่านความไร้ดุลยภาพ เขาตั้งหลักบนหลักประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งด้วย การที่คนคิดไม่เหมือนกันไม่ใช่ปัญหา ปัญหาเกิดต่อเมื่อฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน กลุ่มการเมืองใช้อำนาจโดยล่วงละเมิดหลักประชาธิปไตย ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักการเมือง ประชาชน จึงต้องถ่วงดุลกันเอง ส่วนในหน่วยงานราชการก็มีปัญหา ระบบอุปถัมภ์ก็บ่อนเซาะจริยธรรม หลักการได้ดีด้วยผลงานของระบบราชการ ส่วนสื่อก็โดนจำกัดเสรีภาพจนมีอันดับเสรีภาพสื่อตกต่ำ

นิยม กล่าวในประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า การให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการคัดสรรของ คสช. 250 คนมีอำนาจเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน ทำให้คิดว่าการเลือกตั้งเป็นแค่การเปิดให้นักการเมืองเข้าไป แต่ในความเป็นจริงคงไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2514 ที่จอมพลถนอมไม่ลงเลือกตั้งแต่ก็ได้เป็นนายกฯ การเมืองไทยคงไม่ไปไหน แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทาง คสช. ว่ามีคนส่วนหนึ่งที่เรียกทหารเข้ามาแก้ไขวิกฤติบ้านเมืองจริง ส่วนแผนปฏิรูปที่กินเวลาถึง 20 ปี หมายความว่า ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำตามโรดแมปในรัฐธรรมนูญ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาล คสช. บอกว่าบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย ปรองดองก่อนถึงจะเลือกตั้ง จึงทำให้โรดแมปการเลือกตั้งไม่แน่นอน ขนาดยังไม่มีเลือกตั้งยังมีเหตุระเบิด ดังนั้นคนที่อยากเลือกตั้งก็ต้องทำใจหน่อย

4 คำถามชวนทะเลาะ ควรเปลี่ยนโจทย์ แนะแก้ไขปัญหาปากท้อง ให้ประชาชนตรวจสอบรัฐ

ต่อประเด็น 4 คำถามที่ ประยุทธ์ ตั้งให้ประชาชนตอบนั้นควรเปลี่ยนเป็นคำถามเดียวว่า ในเมื่อทุกคนต้องการธรรมาภิบาลหลังเลือกตั้ง คสช. และประชาชนควรทำอะไรก่อนเลือกตั้งให้บรรลุเป้าหมายนั้นในเวลาที่เหลืออยู่ อย่ามาตั้งคำถามให้คนทะเลาะกันว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ควรถามว่าควรทำอะไรให้มันดีในเวลาที่เหลืออยู่ "เวลาที่เหลือตอนนี้ท่านก็เป็นคนกำหนดของท่านเอง ไม่ว่าท่านจะยอมรับระบบประชาธิปไตย หลักการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ท่านยอมรับหรือไม่ว่าสังคมจะต้องกลับไปจุดนั้น เพราะไม่มิวิถีอื่นที่จะทำให้สังคมคืนสู่ดุลยภาพในระยะยาว" อดีตนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

อภิสิทธิ์กล่าวว่า นักการเมืองประเทศอื่นก็มีเรื่องโกง มีเรื่องอื้อฉาว แต่อยู่ไม่ได้ด้วยแรงเสียดทานจากสังคม ถูกเดินขบวนบ้าง โดนสื่อกัดไม่ปล่อยบ้าง โดยไม่ต้องมีทหารเข้ามาแทรกแซง ในสังคมไทยก็ต้องสร้างความเข้มแข็งแบบนั้นให้ได้ ต้องแก้ไขตั้งแต่รากฐานของสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ถ้ายิ่งถ่างออกก็ยิ่งบ่อนทำลายความศรัทธาต่อระบอบการเมืองการปกครอง ให้กลายเป็นสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย

อภิสิทธิ์ยังกล่าวอีกว่า อย่าจำกัดอำนาจประชาชนในเรื่องการเมือง ควรลดอำนาจรัฐแล้วเอาไปเพิ่มให้กับประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การมีแหล่งข้อมูลเป็น Big Data ให้ประชาชน สื่อมีข้อมูลตรวจสอบภาครัฐได้ เมื่อเข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบได้ก็จะเกิดการตื่นตัว ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมมากขึ้น

ไทยแลนด์ดินแดนไร้ดุลยภาพ แย่ทุกระบบ การเมือง ราชการ เศรษฐกิจ สังคม

นิยม กล่าวว่า หากดูจากช่องว่างทางเศรษฐกิจไทยจะพบว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุดขยายกว้างออกเรื่อยๆ แม้สมัยนี้จะมีคนอยู่ดีกินดีกว่าเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำกลับมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบการเมืองที่ยังเต็มไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ไม่สามารถมุ่งประเด็นไปสู่การเป็นการเมืองเพื่อปากท้องของประชาชน คำถามคือ ภาคการเมือง ภาคราชการประจำ เท่าที่ผ่านมาทำบทบาทในการดูแลบ้านเมืองดีไหม ส่วนข้าราชการก็ขาดอุดมการณ์ที่อยากรับใช้ประชาชนให้เขาได้ดีก่อน เพียงแต่เข้ามาสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมของตนให้ดีขึ้นผ่านการเข้ามาทำงานราชการ

ในทางสังคม ชาวไร่ ชาวนา แรงงาน  พ่อค้า ขาดการรวมตัวรวมกลุ่ม ไม่มีกำลังที่จะดูแลตัวเองให้เข้มแข็ง สามารถต่อรองกับฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำได้ ความไม่ได้ดุลของสังคมจึงมาจากปัจจัยเหล่านี้ รวมถึงความอ่อนแอในการหล่อหลอมสมาชิกของสังคมจากบ้าน วัดและโรงเรียนอ่อนแอ จึงเป็นผลให้สังคมอ่อนแอด้วย

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นว่ามีดุลยภาพทางการเมืองและสังคมไทย ปัญหาการเมืองและสังคมที่ขาดดุลยภาพนั้นมีอยู่ทั่วโลก หลายเรื่องเหมือนกับของเรา เคยได้ยินวลีที่ว่า เราต้องมี "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่าจะมีคนอธิบายว่ามีลักษณะอย่างไร สามารถแก้ปัญหาในไทยได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเลี่ยงคุณค่าประชาธิปไตยไปแค่นั้น

อภิสิทธิ์เชื่อว่า โครงสร้างการเมืองและกฎหมายไทยสามารถเป็นบทเรียนให้กับโลกได้ เพราะลองมาทุกอย่างแล้ว ตนยืนยันว่า ความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการตามกรอบเก่านั้นแก้ปัญหาไม่ได้ วันนี้แปลกใจบทเฉพาะกาลว่าด้วยการแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งเป็นความพยายามในการเอาวิธีในปี 2521 ที่ใช้ ส.ว. แต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ขึ้นมา ซึ่งตนคิดว่าในยุคนั้นกฎหมายดังกล่าวก็มีช่องโหว่อยู่แล้ว แต่การเอามาใช้ในสมัยนี้จะทำให้สังคมวุ่นวายแน่นอน ผนวกกับการนำประเด็นการผิดจริยธรรมมาตีความตามกฎหมาย ยิ่งจะทำให้มีความอันตรายขึ้นไปใหญ่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์ 6 ล้านไลก์ ประยุทธ์ ชี้อยู่ที่ ปชช.จะเชื่อแค่ไหนระหว่างกดไลก์กับผลการปฏิบัติ

Posted: 15 Jun 2017 05:23 AM PDT

กรณีเฟซบุ๊กแฟนเพจยิ่งลักษณ์ 6 ล้านไลก์ ประยุทธ์ ชี้ใครก็ทำได้ อยู่ที่ประชาชนจะเชื่อแค่ไหน ระหว่างกดไลก์กับผลการปฏิบัติ

15 มิ.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra' ขอบคุณแฟนเพจ เนื่องจากเพจดังกล่าวมียอด 6 ล้านไลก์  ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า เป็นของขวัญอันล้ำค่าสำหรับวันเกิดปีนี้และในยามนี้ที่ตนต้องการกำลังใจมาหล่อเลี้ยงให้มีความเข้มแข็ง อดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่มีเข้ามา โดยปีนี้จะขอมอบความสุขด้วยการทำบุญในวันเกิดเผื่อแฟนเพจทุกคนด้วย

ล่าสุดวันนี้ (15 มิ.ย.60) มติชนออนไลน์ และเฟซบุ๊ก 'Wassana Nanuam' ของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณี ยิ่งลักษณ์ โชว์ยอดไลก์ ถึง 6 ล้านไลก์ รวมถึงการลงพื้นที่หลายแห่ง ว่า ใครก็ทำได้ อยู่ที่ประชาชนจะเชื่อแค่ไหน ระหว่างกดไลก์กับผลการปฏิบัติ

แฟ้มภาพ

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการเปิดให้ประชาชนตอบ 4 คำถามของนายกรัฐมนตรี ว่า ทุกคนให้ความสำคัญกับ 4 คำถามของตนมากไปหรือเปล่า ตนไม่ได้บอกว่าประชาชนจะต้องมาไลก์ทั้ง 6 ล้านคน มันไม่ใช่ จะกี่ล้านตนไม่รู้ จะคนเดียวหรือ 10 คน ตนก็รับฟัง มี 100 คนก็รับฟัง 100 คน ว่าเขาว่าอย่างไร ทั้งนี้ ไม่ได้ถามว่าจะเลือกตั้งเร็วหรือไม่ ไม่ได้ถามแบบนั้น เลือกตั้งก็เป็นไปตามกระบวนการอยู่แล้ว ขั้นตอนกฎหมายมีอยู่ แล้วจะไปถามทำไม จะให้เลือกตั้งเร็วกกว่าเดิมอะไรนั้น ไม่ได้สนใจ 

"อย่าไปเป็นเครื่องมือของใครเขา นั่นแหละสำคัญ วันนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการทำโพล กดไลก์ เห็นหรือไม่ ที่มีการจับชาวต่างชาติที่ไปตั้งกันอยู่จังหวัดสระแก้ว เพื่อรับจ้างกดไลก์ ปัดโธ่ ฉะนั้นคุณไม่ต้องมาไลก์ให้ผม เพราะผมไม่เชื่อหรอก ในวันนี้เงินจ้างได้หมด เทคโนโลยีไปไกล ถ้าไปให้ความสำคัญในการสร้างความรับรู้ทางโซเชียลอย่างเดียวคงไม่ได้ มันต้องสร้างอย่างที่ผมพยายามจะพูด ซึ่งอาจจะไม่มีใครเขาพูดกัน อาจจะเข้าใจบ้างหรือไม่เข้าใจบ้าง ฟังไม่ครบหรือพูดไม่จบ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร แจ้งความ ม.112 เอาผิดเจ้าของปางช้างพูดพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

Posted: 15 Jun 2017 04:15 AM PDT

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ กรมอุทยานฯ แจ้งความ ม.112 เอาผิด ลายทองเหรียญ นักธุรกิจเจ้าของปางช้างแห่งหนึ่ง ปมพูดพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเวทีชี้แจ้งข้อเท็จจริงปมไม่พาช้างไทย 5 เชือกกลับประเทศ เมื่อเดือน ก.พ. 60

15 มิ.ย. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่และพันธุ์พืช เข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) แจ้งความดำเนินคดีกับ ลายทองเหรียญ นักธุรกิจเจ้าของปางช้างแห่งหนึ่ง ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยชัยวัฒน์อ้างถึงกรณี การจัดแถลงข่าวข้อเท็จจริงเรื่องการนำช้างไปจัดแสดงแล้วไม่ได้นำกลับประเทศตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2560 โดยในดังกล่าว ลายทองเหรียญ ได้ไปปรากฏตัวในงานและแสดงความไม่พอใจ ใช้ถ้อยคำในลักษณะพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อปี 2549 ลายทองเหรียญ นักธุรกิจเจ้าของปางช้างแห่งหนึ่ง ได้มาขออนุญาตกรมอุทธยานฯ เพื่อนำช้างจำนวน 5 เชือก ไปจัดแสดงโชว์ที่ต่างประเทศ โดยทำข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่านำไปโชว์ได้เพียง 1 ปี แล้วต้องนำช้างกลับมา ซึ่งขั้นตอนการนำช้างหรือสัตว์ต่างๆออกนอกประเทศต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยาน โดยวางเงินประกันไว้ 6 ล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าหลังจากนำช้างไปจัดแสดงแล้วไม่ได้นำกลับประเทศตามที่ตกลงกันไว้ จึงได้จัดแถลงข่าวข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2560 โดยในวันแถลงข่าวนักธุรกิจคนดังกล่าว ได้ไปปรากฏตัวในงานและแสดงความไม่พอใจ ใช้ถ้อยคำในลักษณะจาบจ้วงหมิ่นเบื้องสูง

ชัยวัฒน์ ระบุว่า นอกจากนี้จากแนวทางสืบสวนของตนยังพบว่าช้างทั้ง 5 เชือกที่ถูกนำไปแสดงที่ต่างประเทศ อาจถูกนำเชื้อไปผสมพันธุ์ เนื่องจากพบว่ามีช้างเกิดใหม่ 5 เชือก ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความผิด เนื่องจากตามกฎหมายและข้อตกลงไม่สามารถนำช้างไปผสมพันธุ์นอกราชอาณาจักรได้ ซึ่งในกรณีนี้สามารถพิสูจน์ได้โดยการนำช้างกลับมาตรวจ ดีเอ็นเอ ส่วนเงินประกัน 6 ล้านบาทก็ยังไม่ยอมให้กรมอุทยานยึด

พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. ได้ให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามสอบปากคำชัยวัฒน์อย่างละเอียด ก่อนประมวลเรื่องเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่มาจาก : มติชนออนไลน์ , CH7NEWS , ผู้จัดการออนไลน์ , คมชัดลึกออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร เผย จนท.คุมตัวผู้ต้องสงสัยวัย 62 เอี่ยวระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ ระบุยังไม่โยงทหารแตงโม

Posted: 15 Jun 2017 03:30 AM PDT

พล.อ.ประวิตร เผย จนท.คุมผู้ตัวต้องสงสัย อดีตวิศวกร วัย 62 ปี เอี่ยวระเบิด ห้องวงษ์สุวรรณ รพ.พระมงกุฎฯ ระบุยังไม่โยงทหารแตงโม ชี้รับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือ 'อิศรา' รายงาน พบไปป์บอมบ์-นาฬิกาหน้าทักษิณในห้อง

แฟ้มภาพ

15 มิ.ย. 2560 ความคืบหน้าเหตุระเบิดในช่วงสายวานนี้ (22 พ.ค.60) บริเวณที่เกิดเหตุเป็นห้องรับรองนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ หน้าห้องวงษ์สุวรรณ ภายใน รพ.พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี กทม. จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย นั้น

วันนี้ (15 มิ.ย.60) ผู้สื่อขาวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.53 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'Wassana Nanuam'  ของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า เจ้าหน้าที่ทหารสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยวัย 62 ปี เชื่อมโยงเหตุการณ์ระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พร้อมควบคุมตัวเข้าสอบสวนที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดย พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 นำกำลังพลตรวจสอบค้นบ้านแถวบางเขน พบวงจรระเบิดพร้อมอุปกรณ์ ขณะเดียวกันได้จับแยกคนในบ้านมาสอบสวนในอีกค่ายทหารแห่งหนึ่ง


       

ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยเปิดเผยว่าจบวิศวกรรมไฟฟ้า เคยทำงานการไฟฟ้า และยอมรับว่าไม่ชอบทหาร ไม่ชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนทางด้านทหารคุมสอบเครียด เชื่อไม่ได้ทำคนเดียว เผยอาจมี "ทหารแตงโม" ร่วมด้วยหลังสอบคนในบ้านและหลักฐานที่พบ

ประวิตร เผย จนท.คุมผู้ตัวต้องสงสัยวัย 62 เอี่ยวระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ ระบุยังไม่โยงทหารแตงโม

ต่อมาเวลา 15.45 น. โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่ห้องวงษ์สุวรรณ ภายในรพ.พระมงกุฎเกล้าได้แล้ว เป็นชายวัย 62 ปี โดยอยู่ในขั้นตอนกระบวนการสอบสวน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้ แต่ยังไม่เชื่อมโยงทหารแตงโม เพราะอยู่ระหว่างการขยายผลการจับกุมว่าจะมีใครร่วมวางแผนและก่อเหตุหรือไม่ 

"ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคนร้ายลอบวางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้แล้ว ตอนนี้กำลังเร่งสอบปากคำและขยายผลการจับกุม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถจับกลุ่มคนร้ายที่สร้างความวุ่นวายและส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย เขาเองก็ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุจริง" พล.อ.ประวิตร กล่าว 

เจอไปป์บอมบ์-นาฬิกาหน้าทักษิณ

ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ช่วงเช้าวันนี้(15 มิ.ย.60) ตำรวจ และทหารสนธิกำลังบุกค้นบ้านอดีตวิศวกรของการไฟฟ้าส่วนฝ่ายผลิต (กฟผ.) รายหนึ่ง อายุ 62 ปี ผู้ต้องสงสัยระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ พบวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำวัตถุระเบิด และระเบิดไปป์บอมบ์ จึงอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจตำรวจและทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ควบคุมตัวอดีตวิศวกรคนรายดังกล่าวไปที่กองร้อยกองบังคับการ กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน ร.มทบ. 11) เพื่อสอบปากคำ 7 วัน ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 หรือไม่ 

ที่มาภาพ : สำนักข่าวอิศรา

สำนักข่าวอิศรา รายงานด้วยว่า ทั้งนี้จากการค้นบ้านเพิ่มเติม นอกเหนือจากวัตถุทำระเบิด และระเบิดไปป์บอมบ์แล้ว ยังเจอนาฬิกาสีแดง ปรากฏรูปของนายทักษิณ ชินวัตร ติดอยู่ด้วย จึงอาจเชื่อได้ว่า อดีตวิศวกรรายดังกล่าวอาจมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อรัฐบาลชุดนี้ จึงจำเป็นต้องสอบปากคำให้ชัดเจนว่า มีใครเป็นผู้ร่วมขบวนการ และเกี่ยวข้องกับการระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอย่างไร 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรณิการ์ ชี้ย้ำกระบวนการต่อรองราคาวัคซีนเอชพีวีล้มเหลว ถูกแทรกแซง ได้ของแพงกว่า

Posted: 15 Jun 2017 02:36 AM PDT

กรรณิการ์ กก.หลักประกันสุขภาพฯ ภาคประชาชน ชี้การต่อรองราคายาระดับชาติ ไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่ตั้ง กก. ยกตัวอย่างการต่อรองวัคซีนมะเร็งปากมดลูกรูปธรรมความล้มเหลว ถูกแทรกแซง ได้ของแพงกว่า ครอบคลุมสายพันธุ์น้อยกว่า

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน

15 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า กลยุทธ์การต่อรองราคายาระดับชาตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่ตั้งคณะกรรมการต่อรองราคายาระดับชาติ แล้วให้ รพ.ต่างๆ ไปจัดซื้อตามราคานี้ ตัวอย่างการต่อรองราคาวัคซีนเอชพีวี (HPV) หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูกเป็นตัวอย่างชัดเจนที่แสดงถึงความล้มเหลวของเรื่องนี้ นั่นคือ ก่อนการต่อรองราคายาผู้บริหารตั้งแต่ รองนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการวัคซีน ต่างออกมาให้ข่าวว่าจะนำวัคซีนเอชพีวีเข้าอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ทั้งที่เทคนิคการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ที่มีสิทธิบัตรนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ยาและวัคซีนที่ยังติดสิทธิบัตร ทำให้ตลาดถูกผูกขาดโดยผู้ผลิตเพียงรายเดียว กรณีนี้ตลาดเป็นของผู้ขาย ผู้ซื้อทำได้แต่ตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ซึ่งเป็นอำนาจต่อรองเดียวที่มีอยู่ หากบริษัทไม่ยอมลดลงในระดับที่ต้องการ คณะอนุกรรมการฯ จะไม่ยอมรับรายการยาหรือวัคซีนนั้นๆ เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่งผลให้ผู้ขาย ขายได้เฉพาะผู้ที่สามารถจ่ายได้เองหรือผู้ที่มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการเท่านั้น

ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้ใช้กลยุทธ์นี้ในการต่อรองราคายาและวัคซีนที่มีการผูกขาดตลาดเพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำที่สุด ดังนั้น หากผู้บริหาร สธ.สั่งให้แยกการพิจารณายาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติออกจากกลไกการต่อรองราคา อาวุธชิ้นเดียวที่มีอยู่เพื่อใช้ต่อรองราคายาก็หมดไปทันที บริษัทยาจะลดราคาไปทำไม ในเมื่อเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ยังไงรัฐก็ต้องให้สิทธิประโยชน์นี้กับประชาชน จะขายราคาเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับการต่อรองราคาวัคซีนเอชพีวี หรือ HPV ที่ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ

กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า เมื่อให้ข่าวว่าจะบรรจุวัคซีนเอชพีวีในบัญชียาหลักแน่นอน ตั้งแต่ก่อนการเจรจาต่อรองราคาวัคซีนดังกล่าวจะเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้ราคาวัคซีนของ 2 บริษัทไม่ลดลงมามากเท่าที่ควร จนกระทั่งบริษัทที่แพ้การประกวดราคาตัดสินใจล้มกระดาน ด้วยการทุ่มตลาด ลดราคาลงมาอีก เพราะรู้แล้วว่าผู้ชนะเสนอราคาเท่าไร และด้วยความกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้ขายของ ทั้งที่ในการแข่งขันประกวดราคาในตอนแรกบริษัทเดียวกันนี้ประกาศว่าขอให้การประกวดราคาครั้งนั้นป็นที่สิ้นสุด

"ที่ผู้บริหาร สธ. อ้างว่าประหยัดไป 37 ล้านบาทนั้น จริงๆ แล้ว หากไม่มีการแทรกแซงนโยบายวัคซีนตั้งแต่ต้น คือ กรมควบคุมโรคและคณะกรรมการวัคซีนไม่ออกมาประกาศให้ฉีดวัคซีนนี้ ระหว่างการเจรจาต่อรองราคาโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ มีความเป็นไปได้ที่ราคาที่คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักฯ ต่อรองได้อาจต่ำกว่าเข็มละ 375 บาทนี้ก็ได้เพราะ Gavi (องค์กรจัดซื้อวัคซีนร่วมให้กับประเทศแถบละติน) และประเทศในแถบลาตินอเมริกาซึ่งรวยกว่าไทย ยังซื้อเพียง 150-180 บาทต่อเข็ม เรื่องนี้จึงไม่สมควรดีใจ" กรรณิการ์ กล่าว

กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า การที่เรายอมให้บริษัทที่พ่ายแพ้การต่อรองราคายาในรอบแรก มาล้มโต๊ะแบบนี้ได้ การต่อรองราคายาในอนาคตของเราคงไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ต้องไม่ลืมว่างบซื้อวัคซีน HPV ไม่กี่ร้อยล้านบาท ประหยัดได้ในครั้งนี่ไม่กี่สิบล้านบาท แต่งบซื้อยาอื่นๆ หลายพันล้านบาท หากเราเป็นบริษัทยา การต่อรองราคาครั้งหน้าคงทำเป็นพอพิธี ถ้าลดราคาลงเล็กน้อยแล้วรัฐบาลไทยตกลง บริษัทก็กำไรเยอะ หากรัฐบาลไม่เอายาเรา เราก็มาเสนอราคาใหม่ ให้ต่ำกว่าคนชนะ จะยากอะไร ในเมื่อเรารู้ราคาแล้ว

"เรื่องที่แปลกประหลาดของการต่อรองราคาวัคซีนเอชพีวีครั้งนี้ คือ ในตอนแรกที่แข่งขันกัน ได้วัคซีนที่ครอบคลุมมากกว่านั่นคือ 4 สายพันธุ์ในราคาถูกกว่า แต่ต่อมากลับคุยว่า ประหยัดงบได้มากกว่า แต่ได้วัคซีนที่ครอบคลุมแค่ 2 สายพันธุ์ ถูกกว่าตรงไหน นี่มันเป็นการเทียบกับของคนละอย่างมิใช่หรือ ที่สำคัญช่วงต้นปีนี้บริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรวัคซีนเอชพีวี 2 สายพันธุ์ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะถอนวัคซีนเอชพีวี 2 สายพันธุ์ออกจากตลาดออสเตรเลียภายในต้นปี 61 หลังจากก่อนหน้านี้ ต.ค.59 ถอนวัคซีนชนิดเดียวกันออกจากสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผลว่ามีความต้องการน้อย คือตลาดอื่นไม่มีใครใช้แล้ว แต่ไทยกำลังจะไปช่วยซื้อของที่คนอื่นไม่เอา" กรรณิการ์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมตั้งข้อสังเกต กรธ.ตั้งสเปคผู้ตรวจฯ สูงอาจสรรหายาก

Posted: 15 Jun 2017 01:29 AM PDT

สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 217 ต่อ 0 เสียง ด้านสมาชิก สนช.ระบุ ตั้งคุณสมบัติผุ้ตรวจการแผ่นดินสูงอาจหาผู้สมัครรับการสรรหายาก

15 มิ.ย. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... (พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน) ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 217 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 19 คน โดยมีสัดส่วนมาจาก กรธ. 2 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 คน และ สนช. 14 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 ระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 45 วัน

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า กรธ. ได้ปรับแก้สาระสำคัญของร่างที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอมาใน 3 ประเด็น คือ 1.การเปลี่ยนบทบาทของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการที่เคยเป็นผู้ตรวจจับและรายงานความผิด มาเป็นการปรึกษาหารือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติให้ถูกต้องทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย ความเที่ยง ธรรมและความไม่เหลื่อมล้ำ 2.เจ้าหน้าที่รัฐมักไม่ปฏิบัติตามการเสนอแนะของผู้ตรวจแผ่นดิน ทำให้ การแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อประชาชนไม่สามารถเดินหน้าได้ กรธ. จึงพยายามหาทางปรองดองคือ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพบว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายให้ดำเนินการปรึกษาหารือกับหน่วยงานและแนะนำให้ปฏิบัติ แต่หากหากเพิกเฉยจึงมีบทลงโทษ และ3.หลีกเลี่ยงการตั้งคณะบุคคลไปทำงานแทนผู้ตรวจการแผ่นดินให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อก่อให้เกิดความไว้วางใจและ ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง แต่หากจำเป็นก็สามารถตั้งคณะบุคคลทำงานแทนได้

ด้านสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่มุ่งเน้นอภิปรายในประเด็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ค่อนข้างสูง คล้ายกับจะเป็นการเซ็ตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งไม่เป็นธรรม และอาจหาผู้สมัครเข้ารับการสรรหาได้ยาก ขณะเดียวกันมองว่า ร่างดังกล่าวถือเป็นแนวทางการพัฒนาการทำหน้าที่ของทุกหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้มากขึ้น

มีชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเขียนบทเฉพาะกาลมีข้อเสนอ 3 แนวทาง คือ เซ็ตซีโร่ใหม่ทั้งหมด รีเซตบุคคลที่มีคุณสมบัติครบ และให้อยู่ต่อทั้งหมด โดย 2 แนวทางแรก กรธ. มั่นใจว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนแนวทางที่ 3 อาจส่อขัดรัฐธรรมนูญ แต่ กรธ. ไม่มีหน้าที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หาก สนช. เห็นด้วยกับแนวทางที่ 3 ก็สามารถยื่นศาลได้ ทั้งนี้ ผลการวินิจฉัยจะได้เป็นบรรทัดฐานให้ กรธ. พิจารณากฎหมายลูกฉบับอื่นด้วย พร้อมยืนยัน กรธ.เคารพความเห็นของ กมธ.วิสามัญฯ และ สนช.

อย่างไรก็ตาม มีชัย เชื่อว่า การเปิดโอกาสให้สรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างกว้างขวาง น่าจะได้คนที่มีคุณภาพ และการให้กรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสม แทนที่จะกำหนดว่าบุคคลที่เข้ารับการสรรหาต้องผ่านการทำงานทางสาธารณะ จะเป็นกรอบที่กว้างเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต

อ่านร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของ กรธ. เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560

ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย , เว็บข่าวรัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้ป่วย ชี้แก้ ก.ม.บัตรทองครั้งนี้ ทำประชาชนเสียประโยชน์

Posted: 15 Jun 2017 12:33 AM PDT

ประธานเครือข่ายผู้ป่วย Healthy Forum ชี้แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ชัดเจน จากปมแก้ไม่ให้มีการจ่ายเงินกองทุนฯให้องค์กรเอกชนเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุข สัดส่วนบอร์ดที่เพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการมากขึ้น

ธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ป่วย Healthy Forum

15 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ป่วย Healthy Forum เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายชุดที่ รมว.สาธารณสุขเป็นผู้แต่งตั้งนั้น มีหลายประเด็นที่จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ คือ 1. การปรับแก้ไม่ให้มีการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้องค์กรเอกชนเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุข ตรงนี้มีบางกลุ่มเข้าใจผิดว่าเป็นการจ่ายเงินให้เอ็นจีโอ และให้ข้อมูลมั่วว่า ที่ออกมาโวยวายเป็นเพราะเอ็นจีโอเสียประโยชน์ ซึ่งแสดงถึงความไม่รู้เรื่อง และมีความคิดคับแคบว่าการจัดบริการสาธารณสุขเป็นเรื่องของโรงพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว องค์การอนามัยโลกส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาร่วมจัดบริการสาธารณสุขด้วย เพราะเล็งเห็นประโยชน์สำคัญว่า สุขภาพเป็นเรื่องของประชาชน ผู้ป่วยและผู้ให้บริการต้องมีส่วนร่วม ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงจะมีประสิทธิภาพ ที่เห็นชัดเจนคือการที่ไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้รับรางวัลความร่วมมือจัดบริการเอดส์ระหว่างเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและภาครัฐ และเป็นต้นแบบที่หลายประเทศทำตาม

"สุขภาพเป็นเรื่องของประชาชน กฎหมายหลักประกันสุขภาพของเดิมส่งเสริมตรงนี้ และทำได้ดีด้วย เกิดการทำงานเป็นรูปธรรม คือ เครือข่ายผู้ป่วยที่ร่วมมือกับภาครัฐ ทำให้งานรักษาโรคและป้องกันเดินหน้าได้ดี แต่มีคนบางกลุ่มเข้าใจผิดและเอาไปบิดเบือน ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้เรื่องสุขภาพอยู่ในมือรัฐอย่างเดียว แบบนี้ทำไม่ถูก ถ้ายังยืนยันว่าจะแก้ตามนี้ ไม่ฟังเสียงท้วงติงจากประชาชน ประสิทธิภาพการให้บริการถดถอยลงแน่นอน" ประธานเครือข่ายผู้ป่วยฯ กล่าว

ธนพลธ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 คือการปรับสัดส่วนบอร์ดบัตรทองและบอร์ดควบคุมคุณภาพ เพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการมากขึ้น ทำให้บอร์ดกลายเป็นตัวแทนผู้ให้บริการ ขณะที่ฝั่งตัวแทนประชาชนมีน้อยกว่า เป็นสัดส่วนบอร์ดที่ไม่สมดุลกัน ขัดเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าชัดเจน หากสัดส่วนบอร์ดเป็นตามนี้จะเกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนในส่วนผู้ให้บริการ การพิจารณาต่างๆ ก็ยึดอยู่ในฐานคิดว่าหน่วยบริการจะต้องไม่เสียประโยชน์ แต่ประชาชนเสียประโยชน์แทน ทั้งที่งบประมาณที่ใช้มาจากภาษีประชาชนเพื่อให้รัฐจัดบริการสาธารณะที่ดีให้ประชาชน

ธนพลธ์ กล่าวว่า อีกข้อที่คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายบัตรทองชุดนี้จงใจละเลยไม่ดำเนินการ คือ แก้กฎหมายให้ สปสช.สามารถทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ เรื่องนี้ประหลาดมาก สตง. และ คตร.ที่ก่อนหน้านี้ตรวจสอบ สปสช.เรื่องการจัดซื้อยาก็บอกเองว่าเป็นการดำเนินการที่มีประโยชน์ แต่กฎหมายไม่ให้อำนาจทำได้ จนภายหลัง คตร.ต้องออกหนังสือให้ สปสช.ทำได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบผู้ป่วยที่เคยได้รับยา ในเมื่อแก้ไขกฎหมายก็ควรจะเดินหน้าเรื่องนี้ เพราะผู้ป่วยได้ประโยชน์จริงๆ แต่กลับไม่ทำ

"หน่วยงานรัฐพูดซ้ำๆ ย้ำๆ ว่าประชาชนไม่เสียประโยชน์แน่ ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ชัดเจน เราส่งเสียงเพื่อให้พวกท่านแก้ไข แต่ก็ยังคงเดินหน้าเหมือนเดิม แบบนี้จะให้เชื่อใจได้อย่างไร แล้วหน่วยงานตรวจสอบก็ประหลาดมาก เรื่องที่มีประโยชน์ แม้กฎหมายไม่ได้บอกชัดเจนให้ทำได้ ก็เป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อประชาชนและทำถูกตามระเบียบทุกอย่าง แต่กลับเป็นว่าถ้ากฎหมายไม่ให้ทำ ก็ไม่ต้องทำ ทั้งๆ ที่พิสูจน์ชัดเจนว่ามีประโยชน์ เมื่อแก้กฎหมายก็ยังไม่แก้เรื่องนี้อีก ทุกอย่างมันชัดเจนว่าแก้กฎหมายบัตรทองครั้งนี้ลิดรอนสิทธิประชาชนอย่างมาก" ธนพลธ์ กล่าว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ลำใย ไหทองคำ" กับเรื่องเล่าอีโรติกในวัฒนธรรมอิสาน

Posted: 14 Jun 2017 09:40 PM PDT

ข้อวิพากษ์ที่ถาโถมไปยังเด็กสาววัย 19 ปี ลำใย ไหทองคำ (คนที่ต่อสู้ทำงานอย่างสุจริตมาตั้งแต่วัยประถม) ทำให้ผมประหวัดถึงเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับหมอลำและวัฒนธรรมการพูดถึงเพศสัมพันธ์ของคนอิสาน. . .

สมัยเด็ก ๆ บรรดาผู้ใหญ่รวมทั้งพ่อผมเอง มักจะเล่านิทานที่หมิ่นเหม่ศีลธรรมให้ฟังเสมอ . . . .

เช่น นิทานก้อม (เรื่องสั้นขำๆ) เกี่ยวกับลูกเขยหลอกกินตับแม่ยายที่กระท่อมกลางทุ่งนา พี่เขยหลอกกินตับน้องเมีย หรือพระแอบไปขึ้นสาว แต่ถูกหลอกให้ไปเจอพระอีกรูปหนึ่งแทน เรื่องพวกนี้จบลงด้วยเสียงหัวเราะ แต่ไม่ค่อยมีใครคิดว่ามันจะเป็นเรื่องจริง มันถูกเล่าเพื่อความสนุกของเด็ก ๆ และมักจะพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมาเสมอ เห็นเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน

เมื่อมีงานบุญออกพรรษาหรืองานบุญเดือนสี่ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่มีเงินจ้างหมอลำหมู่ (คณะหมอลำ) ก็มักจะจ้างหมอลำคู่ โดยมีหมอลำสองคนถูกจ้างมาลำบนเวทีเดียวกันในลักษณะประชันขันแข่งความสามารถทางลำหรือด้นกลอสด เวทีแสดงหมอลำก็มักจะตั้งอยู่ภายในวัด (เพราะเป็นงานบุญประเพณี) หมอลำคู่จะเริ่มเปิดเวทีด้วยกลอนไหว้ครู ไหว้พระรัตนตรัย นิทานชาดกหรือพุทธประวัติ พรรณนาอานิสงส์การทำบุญ ในช่วงหัวค่ำตั้งแต่ 20.00-21.00 น. หรือดึกกว่านั้นหน่อย ช่วงเวลาดังกล่าวจึงไม่มีอะไรให้บรรดาพวกคนหนุมคนแก่คึกคักมีแต่ชักชวนให้ศรัทธาในศาสนาและการบุญ

แต่เมื่อถึงช่วงดึกอาจจะ 22.00 น.เป็นต้นไป แนวการลำก็จะเปลี่ยนเป็นเรื่องสองแง่สองง่าม การเกี้ยวกันระหว่างหนุ่ม (แก่) กับสาวหมอลำ การต่อสู้กันด้วยกลอนลำ (เรียกว่า แก้กลอนลำ -ถ้าไม่เข้าใจให้ลองนึกถึงการแก้ทางมวยของมวยไทย) จะสร้างความคึกคักในยามดึกดื่นเที่ยงคนไปจนเกือบสว่าง (แล้วแต่ความสามารถของหมอลำว่าจะดึงผู้ชมไว้ได้จนถึงสว่างหรือไม่) เรื่องส่วนใหญ่ที่ลำสลับกันไปมาระหว่างคู่ชายหญิงก็มีหลากหลาย แต่เรื่องที่เรียกความสนใจได้ดีที่สุดก็คือเรื่องเซ็กส์ เกือบทั้งสิ้นเป็นเรื่องใต้สะดือ

หมอลำคู่มักจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเซ็กส์ (Dirty Joke) อย่างตรงไปตรงมา เช่น ตอนที่ผมอายุ 11 ขวบ หมอลำเคน ดาเหลา ได้รับความนิยมมากด้วยกลอนลำ "แตงสังหารสาว" วิทยุทุกสถานีเปิดกลอนลำนี้ให้ได้ยินกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งในงานบ้านและในงานวัด พอมีงานบุญก็จะได้ยิน "แตงสังหารสาว"ของเคน ดาเหลา (ซึ่งต่อมาได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ)

"แตงสังหารสาว" เล่าเรื่องราวของหญิงสาว ที่ทุกเช้าจะไปรดน้ำผักสวนครัวที่ปลูกไว้ในสวนท้ายหมู่บ้าน วันเกิดเหตุ ขณะตักน้ำรดแปลงปลูกแตง หญิงสาวแลเห็นผลแตงกวารูปร่างคล้ายอวัยวะเพศชาย เธอเกิดอยากรู้ว่าการมีอะไรกับไอ้นั่นจะเป็นยังไง ด้วยความมันจนลืมตัว ผลแตงเกิดหักและติดอยู่ข้างใน เอาออกไม่ได้ จนกระทั่งได้เวลาพระฉันเพล

พ่อจึงออกตามหาเพราะด้วยความเป็นห่วงว่าลูกสาวของตนจะเกิดเหตุร้าย กลอนลำจบด้วยประโยคคำพูดของพ่อที่สาบส่งลูกสาวให้ไปตายซะ เพราะนางโง่แทั "แข้วมึงมีบ่แพ้ เอาหีหยั่ม หน่วยบักแตง" (ฟันก็มี แต่ดันเอาหอยเคี้ยวผลแตงซะงั้น) แน่นอน ทั้งหมดเป็นเรื่องอารมณ์ขัน ที่ทุกคนฟังแล้วก็หัวเราะสนุกสนานกันไป

นอกจากกลอนลำ ยังมีเรื่องทำนองนี้ในหนังสือเทศน์ของพระที่เทศน์ในงานบุญแต่ละปีอีกด้วย

ในงานบุญออกพรรษาของชาวอิสาน (และล้านนา) จะมีการเทศน์ออกพรรษาโดยนิมนต์ภิกษุสามเณรจากวัดต่าง ๆ ในเขตตำบลใกล้เคียงกันมาเทศน์ในวัดประจำหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน ตอนนั้นผมอายุ 11 ขวบ บวชเป็นสามเณรที่บ้านของตนเอง จำได้ว่า ปีนั้นชาวบ้านเห็นพ้องต้องกันว่าควรเทศน์ "นิทานเสียวสวาด" ซึ่งผมจำไม่ได้ว่าเนื้อหาทั้งหมดของนิทานเรื่องนี้สั่งสอนอะไรบ้างเกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่การเลือกเรื่องนี้มาเทศน์ในงานออกพรรษาของหมู่บ้านคงจะเป็นเพราะเป็นเรื่องที่สนุกสนาน (แต่ละปี หมู่บ้านจะเลือกนิทานหรือวรรณกรรมที่แตกต่างกันไป)

นิทานแบ่งเป็นผูกใบลาน ประมาณ 10-20 แผ่นต่อผูก แต่ละผูกจะต้องแบ่งย่อยเป็น 3-4 แผ่น (แผ่นละ 2 หน้า) แล้วแต่ว่าจะนิมนต์พระเณรมาเทศน์กี่มากน้อย จำได้ว่าคราวนั้นผมหนังสือเทศน์ที่มีเรื่องราวอีโรติกอยู่ด้วย จำไม่ได้ว่าเรื่องนี้ผู้ประพันธ์ต้องการให้ตัวละครคือเสียวสวาด (ผู้ฉลาดเฉลียว) ถกปริศนาธรรมกับฝ่ายตรงข้ามในเรื่องใด แต่ในตอนที่ผมได้รับมาเทศน์ให้โยมอุบาสกอุบาสิกาฟังนั้น เป็นตอนที่เสียวสวาดเล่านิทานเรื่องพระธุดงค์กับหญิงสาว

เรื่องมีอยู่ว่า หญิงสาวชาวบ้านไปขุดหน่อไม้ในชายป่าปลายห่างจากหมู่บ้านออกไป เมื่อเห็นหน่อไม้ นางก็มโนถึงอวัยวะเพศผู้ชายจนเกิดอารมณ์เพศ (เช่นเดียวกับ "แตงสังหารสาว") หน่อไม้อ่อน ๆ หักติดอยู่ข้างใน ไม่สามารถนำออกได้ด้วยตนเอง จนกระทั่งพระธุดงค์บังเอิญผ่านมาพบเข้า นางจึงขอร้องให้พระช่วยดึงหน่อไม้ออกจากช่องคลอดของตน โดยบอกว่าจะตอบแทนบุญคุณโดยยอมมีเพศสัมพันธ์กับพระ พระตกลง เมื่อพระนำหน่อไม้ออกจากช่องคลอดแล้วหญิงสาวจึงขอตัวกลับบ้านไปล้างเนื้อล้างตัวให้สะอาดเสียก่อน. . .

พระรออยู่ที่ชายป่า และเริ่มมโนถึงการมีอะไรกับหญิงสาว แต่รู้สึกว่าหญิงสาวล่าช้าเหลือเกิน พระธุดงค์รู้สึกกำหนัดพลุ่งพล่านจนทนรอไม่ไหวแล้ว เห็นที่ต้นไม้มีรูพอที่จะสอดอวัยวะเพศเข้าไปได้ จึงสอดอวัยวะเพศเข้ารูนั้น บังเอิญ มันเป็นรูตุ๊กแก ฝ่ายเจ้าตุ๊กแกเห็นอวัยวะเพศผุดเข้าผุดออก นึกว่างูจะเข้ามาทำร้ายตน จึงกัดอวัยวะเพศของพระธุดงค์นั้นทันที

เมื่อหญิงสาวมาถึง เห็นพระธุดงค์ร้องคร่ำครวญด้วยความเจ็บปวด ที่อวัยวะเพศมีตุ๊กแกติดอยู่ มันไม่ยอมปล่อยง่าย ๆ พระจึงขอให้หญิงสาวช่วยเอาตุ๊กแกออก หญิงสาวจึงหาวิธีทำให้ตุ๊กแกยอมปล่อยอวัยวะเพศของพระรูปนั้น

ทุกอย่างก็จบลงแบบเจ๊ากันไป หญิงสาวบอกว่านางไม่ต้องเสียตัวให้แก่พระเพื่อตอบแทนบุญคุณเพราะบุญคุณได้ถูกทดแทนเรียบร้อยแล้วต้ังแต่ช่วยพระรอดจากปากตุ๊กแก

เรื่องราวที่เหลือ. . . ผมก็จำไม่ได้แล้ว

ผมเคยลืมเรื่องราวที่ตนเองเคยเทศน์บนธรรมาสน์ที่มีฆราวาสญาติโยมผู้ถือศีลนั่งรายล้อมประนมมือรับฟังไปนานแล้ว จนกระทั่งเริ่มมีข้อวิพากษ์ท่าเต้นของลำใย และนามของค่าย "ไหทองคำ" จากหัวหน้า คสช.และระเบียบรัตน์ รวมทั้งผู้มีการศึกษา ที่รู้จักแต่วัฒนธรรมไทย (ภาคกลาง) ของตนเอง และพยายามตัดสินดีเลวของผู้อื่นอย่างมีอคติ ได้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวอันอยู่ในวัฒนธรรมที่ตนเคยสัมผัสมาก่อน เมื่อนานมาแล้ว

การพูดเรื่องเพศและการมีเพศสัมพันธ์ในวัฒนธรรมอีสานช่างตรงไปตรงมา เป็นวัฒนธรรมที่มีนิทานก้อมแบบหมิ่นเหม่ศีลธรรมเต็มไปหมด ได้ฟังตั้งแต่เด็กเล็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่คนในสมัยนั้นก็ไม่มีใครในหมู่บ้านของผมที่กระทำการหมิ่นเหม่ต่อเรื่องศีลธรรมทางเพศ ผมได้ยินแต่ผู้ใหญ่เขาพูดกับลูกหลานว่า เมื่อมีอะไรกันแล้ว ก็ต้องเลี้ยงดูเป็นผัวเป็นเมียกันไปตลอดชีวิต อย่าปล่อยปละละทิ้ง

ในวันนี้ คนไทยจำนวนหนึ่งกำลังใช้จริยธรรม (ที่ไม่ได้ที่รากฐานทางจริยธรรมอะไรนัก) ไปกดทับความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอ้างศีลธรรมอันดีงามเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ การรักนวลสงวนตัว วัฒนธรรมอันดีงามไทย ผมคิดว่า สิ่งที่คนเหล่านี้ขาดก่อนลงมือตัดสินจริยธรรมและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นคือ การเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ การตระหนักรู้ถึงความไม่รู้ของตนเอง การตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมที่ตนเองยึดถือ และการรู้จักเคารพในวัฒนธรรมที่ต่างออกไป พวกเขาควรจะตรวจสอบตนเองว่ามีอคติทางจริยธรรมเจือปนอยู่ในคำตัดสินทางจริยธรรมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

ผมไม่แน่ใจว่า ปัจจุบันเรายังจะเชื่อมั่นได้ว่ามีมาตรฐานทางจริยธรรมแบบไทย ๆ แบบเดียวที่สามารถใช้ตัดสินคนทั้งประเทศอยู่อีกหรือ ?

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น