โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศศิวิมล | กรงในกะลา #8

Posted: 11 Jun 2017 12:35 PM PDT

อิสรภาพนอกคุก ไม่ใช่เพียงนักโทษเท่านั้นที่รอคอย แต่ครอบครัวของเธอก็นับวันรอครบกำหนดโทษในคดีตามมาตรา 112 ที่พลิกชีวิตของทุกคนรวมถึงเด็กน้อยที่รอคอยแม่ ติดตามได้ใน "ศศิวิมล" ผลงานของเรวดี งามลุน

ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เผยแพร่คลิปวิดีโอผลงานเยาวชนในประเด็น 'เสรีภาพออนไลน์ Online Freedom' ทั้งหมด 10 คลิป เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นักโทษการเมือง การอยู่ในโลกเสมือนจริง และ Single Gateway โดยก่อนหน้านี้มีการฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอบรางวัลให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ ภายใต้ชื่องาน "กรงในกะลา"

รับชมคลิปจากงาน "กรงในกะลา" ที่ https://goo.gl/UkDElt

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เรวัตร์-วีระศักดิ์' คว้ารางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง

Posted: 11 Jun 2017 08:23 AM PDT

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพรางวัลวรรณกรรมระดับนานาชาติในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง 'เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์-วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง' สองนักเขียนไทยคว้ารางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง

 
 
11 มิ.ย. 2560 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวและประกาศ "รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA)"  ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับคนวรรณกรรมในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงโดยมีสมาชิกชาติต่าง ๆ ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา  จีน (ยูนนาน) และไทย  รางวัลนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและมิตรภาพทางวรรณกรรมในภูมิภาคซึ่งเป็นไปตามแนวทางของการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ และการหารือระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมของสมาคมนักเขียนทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงอีกด้วย ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ "ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน" โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
          
โดยนักเขียนชาวไทย 2 ท่านที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในปีนี้ คือ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ นักเขียนและกวีชื่อดัง จากผลงานสร้างสรรค์ประเภทร้อยกรอง (poetry)และ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดีมือทองจากผลงานสร้างสรรค์ประเภทร้อยแก้ว (prose) 
          
นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA)" เป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับคนวรรณกรรมในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง จัดขึ้น โดยกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยความริเริ่มของสมาคมนักเขียนแห่งเวียดนาม  มีสมาชิกประกอบด้วย 6 ประเทศคือ เวียดนามลาว กัมพูชา  เมียนมา  จีน (ยูนนาน) และไทย โดยรางวัลดังกล่าวได้ยกย่อง ให้เกียรติ และส่งเสริมความรู้ ความสามารถของนักเขียน  ซึ่งแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำชาติ  ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักเขียนในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความปรารถนาดี มิตรภาพ และพัฒนาการทางวัฒนธรรมของภูมิภาคและของโลก โดยยึดมั่นในหลักการมนุษยธรรม รางวัลดังกล่าวมีการมอบรางวัลเป็นประจำทุกปี  ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานในปีนี้เป็นครั้งแรก
          
"หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้พิจารณาร่วมกันในทั้ง 6 ประเทศ คือนักเขียนต้องทำงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปะ ให้เกียรติแก่มนุษยชาติ มีความรักความศรัทธาในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชนกับโลก โดยปีนี้นั้น ในส่วนของประเทศไทย คณะกรรมการมีความคิดเห็นตรงกันในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลทั้ง 2 ประเภท คือร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยงานของ "คุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง" ซึ่งเป็นงานประเภทร้อยแก้วนั้น เป็นสารคดีที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนทั้งชุมชนคนต้นแบบ คนชายขอบ ชาติพันธุ์ คนพิการ คนด้อยโอกาส ทั่วทั้งสังคมของประเทศ อันสะท้อนถึงความจริง ความดีงาม ที่ช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดพลังและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงแก่นแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ ขณะที่ผลงานของ "คุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์" นั้น มีการผสานระหว่างน้ำคำและอารมณ์ที่น่าประทับใจ พลังแห่งงานที่ถูกกลั่นกรองออกมาคือเนื้อหาที่แยบยลอย่างเต็มไปด้วยคุณค่าทางศิลปะที่รุกเร้า แต่อ่อนโยนสู่การรับรู้ นับเป็นวิถีธรรมในความหมายของการประพันธ์" นางกนกวลีกล่าว
 
นางกนกวลีกล่าวอีกด้วยว่า หวังว่ารางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award : MERLA) นี้ จะช่วยกระตุ้นให้นักอ่านสนใจงานวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างก็จะสะท้อนภาพและเรื่องราวของแต่ละประเทศลุ่มแม่น้ำโขงผ่านงานวรรณกรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความร่วมมือ ความเข้าใจ และมิตรภาพระหว่างประเทศอีกด้วย
 
"เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สมาคมนักเขียนตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด และคิดว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนคือ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเอสซีจี (SCG FOUNDATION) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และจะมีพิธีมอบรางวัลทุกประเทศ ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560"
 
นายเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง ครับโดยเฉพาะในยุคสมัยที่งานเขียนถูกโดดเดี่ยวจากผู้อ่านหรือสังคมโดยรวม
 
"ผมมองว่างานวรรณกรรมก็คือการชำระประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน ประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลและความบาดหมางระหว่างประเทศร่วมภูมิภาค ดังนั้น รางวัลอาจทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปรแก้ไขความผิดพลาดต่างๆนานาที่เกิดขึ้นในอดีตได้ และยังส่งเสียงสะท้อนไปถึงประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่า ในกรณีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างเอาเปรียบ เช่น แม่น้ำ เป็นต้น"
นายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เปิดเผยว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ แม้จะตกใจบ้างก็ตามที เพราะปีก่อนหน้านั้น นักเขียนที่ได้รับส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ และอีกความรู้สึกคือขอบคุณสำหรับเกียรติที่มอบให้ เพราะงานเขียนแนวสารคดีที่ทำอยู่ ไม่ได้เป็นงานแนวกระแสที่มีคนอ่านกลุ่มใหญ่มากมาย แต่การที่มีคนมองเห็นทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของผลงานว่ามีคนมองเห็นในเนื้องานที่ทำ
 
"รู้สึกว่าตัวเองยังทำงานน้อยอยู่มากเมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนท่านก่อนๆที่รับรางวัลมา ซึ่งหลายท่านก็เป็นไอดอลของผมจริงๆในช่วงเริ่มหัดเขียนหนังสือ ผมได้แบบอย่างจากบุคคลเหล่านี้ เป็นต้นทางของผมก็ว่าได้ จึงเป็นเกียรติและภาคภูมิอย่างยิ่งและเป็นเสมือนพันธะสัญญาว่าจะต้องทำงานเขียน ที่จรรโลงสังคมในภูมิภาคนี้ ทั้งในแง่สังคมและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำสายนี้ต่อไป"
ในส่วนของนักเขียน 4 ประเทศที่ได้รับรางวัลมีดังต่อไปนี้
 
กัมพูชา ได้แก่ Dr. Khieu Kosal และ HE. Seang Chanheng
จีน (ยูนนาน) ได้แก่ Mrs. LIU Yuhong และ Mr. NA Zhangyuan
เมียนมา ได้แก่ Shwe Myanig Pyone lei Maw  และ Dr.Khin Yu Swe
เวียดนาม ได้แก่  Ms. Huynh Kim Huong และ Mr. Ngo Minh Khoi
 
ส่วนประเทศลาวนั้น จะได้ประกาศพร้อมกันในพิธีมอบรางวัล ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เส้นแดนของศิลปะในการนำเสนอชีวิตคน

Posted: 11 Jun 2017 08:22 AM PDT

ข้าพเจ้าจรดปลายนิ้วลงบนแป้นพิมพ์โดยที่ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ว่า ข้าพเจ้าจะลงมือพิมพ์มันในสถานะอะไร เหยื่อ ? วัตถุดิบ ? หรือ คนคนหนึ่ง?

ถ้าการที่ใครสักคนเอารูปของคุณไปสร้างผลงานศิลปะของเขาเองโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากคุณก่อน แล้วคุณอาจมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วมันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย  ภาพๆ นั้นอาจจะเป็นภาพที่ผู้คนถ่ายไว้ สื่อมวลชน หรือใครก็ตาม ที่ถ่ายไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สำหรับเหตุการณ์หนึ่ง ณ เวลานั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะควบคุมสิ่งใดได้ เพราะ สิ่งนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว"ไปแล้ว เป็น "สาธารณะ" ไปแล้ว

แต่หลังจากนั้นหากใครสักคนจะนำมันไปสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ"ของตัวเขาเอง" เพื่อจุดประสงค์อันดีงามหรืออย่างไรข้าพเจ้าไม่สามารถทราบได้ แต่ ถ้าหากไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากตัวข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าถือว่า เป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมข้าพเจ้า

เพราะมันคือการย้ำเตือนให้ข้าพเจ้ารับรู้แต่เพียงว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงวัตถุดิบของการสร้างสรรค์งานของเขา ข้าพเจ้าเป็นเพียง "สิ่ง" ที่ใครจะนำไปใช้อย่างไรก็ได้ แต่ความจริงแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิต ข้าพเจ้าไม่ใช่กระดาษ ไม่ใช่ผืนผ้าใบ ไม่ใช้ปากกา และไม่ใช่เพียงภาพถ่าย

และหากหากศิลปิน มองชีวิตของข้าพเจ้าและผู้คนในงานศิลปะของเขาในฐานะวัตถุดิบแล้ว เขายิ่งจะต้องให้เกียรติเรามากขึ้นเท่านั้นด้วย

บรรทัดฐานของสื่อมวลชน กับการนำเสนอข่าวและการใช้ภาพประกอบ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าไม่รู้ได้ นี่อาจจะเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน อาจจะต้องถกเถียงกันต่อไป แต่สำหรับสิ่งที่ข้าพเจ้าสะท้อนได้ ก็คือการเป็นคนที่มีชีวิต มีจิตใจ แล้วถูกนำไปใช้สร้างสรรค์เป็นงานศิลปะโดยคนที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก ไม่ได้รับการบอกเล่า หรือขอความยินยอมแต่อย่างใด ไม่แตกต่างจากคนที่ตายไปแล้วและไม่สามารถทำอะไรได้

ชีวิตในภาพถ่ายนั้น เป็นชีวิตของข้าพเจ้า ภาพถ่าย ภาพนั้นเป็นของข้าพเจ้า ต่อให้มันถูกถ่ายโดยคนอื่น แต่ชีวิตในภาพถ่ายนั้นก็ยังเป็นชีวิตของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าใจในความเป็นศิลปินเท่าใดนัก ข้าพเจ้าไม่รู้หรือไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าการเป็นศิลปินนั้น มีใบอนุญาตให้นำชีวิตของผู้อื่นมาใช้สร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่

ข้าพเจ้าเองยิ่งไม่ทราบว่า บรรทัดฐานของการสร้างผลงานศิลปะ โดยการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเหยื่อ  "ของคนที่พวกเขาเรียกว่า "เหยื่อ" " นั้น ควรจะมีความพอเหมาะ พอดีสำหรับเจ้าของเรื่องราวและผู้เล่าเรื่อง (ศิลปิน?) ตรงจุดไหน

การที่เรื่องราวของเราถูกบอกเล่าผ่าน "ข่าว" หรือ ข้อมูลใน "รายงาน" นั้นแปลว่าชีวิตของเราเป็นของสาธารณะชนหรือ ? ใครจะหยิบเอาเรื่องราวของเราไปสร้างสรรค์ผลงานของตนเองก็ได้หรือ

ข้าพเจ้าขอย้ำให้ชัดว่า มันไม่ใช่เลย

เพราะ ยิ่งคุณมองผู้คนเหล่านั้นเป็น "เหยื่อ" คุณ ก็ยิ่งจะต้องถนอมความรู้สึกของพวกเขา ยิ่งต้องช่วยกอบกู้ความเป็นมนุษย์ ของเขาไว้มิใช่หรือ

หรือหากศิลปินมีความเชื่อว่า ตนกำลังบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตผู้คน สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดไปกว่าความงามตามหลักศิลป์ คือการเคารพชีวิตของผู้คนที่เขากำลังเล่าเรื่อง

ถือเป็นความดีงามหากจะมีศิลปินสักคนหนึ่ง ในสังคมที่พยายามซ่อนเร้นความจริง ตีฝ่าวงล้อมของสังคมออกมาบอกเล่าเรื่องราวในอีกฝากฝั่งหนึ่ง

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ยิ่งตัวศิลปินมีความปรารถนาดีต่อการเผยแพร่ผลงาน และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมประเทศ มากเท่าใด เขาก็ยิ่งจะต้องเคารพ และ ให้เกียรติชีวิตทุกชีวิต ที่เขานำมาสร้างสรรค์ผลงานมากเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าหยิบเอาชีวิตของผู้อื่นมาเล่าเรื่องราว โดยที่ไม่สนใจว่าชีวิตเหล่านั้นจะดำเนินไปถึงจุดใดแล้ว เขามีความยินดีที่จะมอบชีวิตและมอบเรื่องราวของเขาให้ศิลปินท่านนั้นเป็นผู้บอกเล่าหรือไม่

ในแง่มุมของการรณรงค์ ใครจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบที่ของการรณรงค์นั้น ข้าพเจ้าเองรู้ดีว่าความจริงแล้วการรณรงค์หรือแถลงการณ์ต่างๆ นั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาลในประเทศนี้ได้ แต่การอยู่นิ่งเฉยก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ซ้ำยังกัดกินจิตวิญญานของผู้คนลงไปเรื่อยๆ

หากแต่การออกมาพร่างพรูความรู้สึกของข้าพเจ้าเองนั้น ก็ยังกำกึ่งและสับสนปนเปอยู่ ระหว่างสถานะใดกันแน่ ข้าพเจ้ามีเสียงที่ดังกว่าผู้อื่น ข้าพเจ้ามีไฟสาดส่องอยู่บ้าง เสียงและภาพของข้าพเจ้าจึงดังและชัดเจนกว่าผู้อื่น....เพราะว่าความจริงแล้ว เหยื่อจริงๆ นั้นไม่มีเสียง

บางคนเช่นข้าพเจ้า แม้จะมีเสียงและไฟสาดส่องแต่พวกเขาก็ถูกทำให้ชินชาไปกับการนำเรื่องราวไปหยิบใช้ หมายใจว่าจะช่วยให้ประเด็นการต่อสู้นั้นขยายวงกว้างออกไปสู่ผู้คนมากขึ้น หวังเพียงว่าข้อมูลที่ถูกบ้างผิดบ้างจะช่วยให้ใครสักคนตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น "ยังไงข้อมูลมันก็ออกไปกับสาธารณะไปแล้ว"

แต่กับผู้คนที่ ถูกเรียกว่าเหยื่อนั้น พวกเขาอาจจะไม่เคยรับรู้ เลยด้วยซ้ำว่า มีใครกำลังบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาอยู่ มีใครกำลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากการถูกจองจำของพวกเขาอยู่

พวกเขาไม่รู้แม้กระทั่งว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่คนอื่นกำลังนำเสนอนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรกับชีวิตของเขา ชีวิตของพวกเขามีความหมายในแง่มุมไหนของศิลปิน มีคุณค่าอย่างไรในแวดวงศิลปะ เส้นแบ่งบางๆของการเป็นแรงบันดาลใจกับการหยิบเอามาใช้ มันอยู่ที่ตรงไหน เพราะศิลปินเองอาจจะไม่ได้ต้องการที่จะรับรู้เรื่องราวจากปากของพวกเขา จากห้วงลึกในความรู้สึกของพวกเขามากไปกว่า การเอาเรื่องราวที่รับรู้อย่างฉาบฉวย มาทำให้เป็น "ภาพถ่ายที่ถูกจัดเรียงอย่างเก๋ไก๋" เพื่อจะได้แสดงเป็นผลงานศิลปะที่มีอุดมการณ์ และต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคน ????

แต่ถ้าจะพูดกันในฐานะ "วัตถุดิบแบบนี้" ต่อให้มันกลายสาธารณะไปแล้ว แต่มันถูกเอามาเล่าใหม่ในโครงสร้างการเล่าเรื่องของศิลปิน มันไม่ใช่คลิปที่เป็นแค่คลิป มันถูกเอามาตัดต่อ เรียบเรียง จัดแสดง  มันไม่ใช่ภาพที่เป็นแค่ภาพ มันถูกเอามาพิมพ์ใหม่ วางและจัดแสงตามโครงสร้างใหม่ที่ศิลปินออกแบบไว้ซึ่งต่อให้มันไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริงแต่ ปัญหาคือมันกลายเป็นงานชิ้นใหม่ เป็นงานศิลปะที่มีชื่อศิลปินคนนั้นๆ เป็นเจ้าของอยู่นั่นไง ฉะนั้นมันไม่ใช่วัตถุดิบสาธารณะที่ลอยอยู่ในอากาศที่ไหนและจะคว้าไปใช้เมื่อไรก็ได้

ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจของคนที่จะกลายมาเป็น "วัตถุบอกเล่า" นั้นด้วย

และถ้าจะพูดกันในนิยามของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งข้าพเจ้ามีความรู้เพียงน้อยนิดนั้น มันควรจะละเอียดอ่อนกับชีวิตและความรู้สึกของผู้คน (ที่ไม่ใช่เพียงผู้เสพ แต่หมายรวมถึงผู้ที่ถูกจัดวางในฐานะตัวแสดง) กว่าที่เป็นอยู่ไม่ใช่หรือ ?

"เรา" ข้าพเจ้าหมายถึง ทั้งผู้ทำงานศิลปะ งานรณรงค์ งานข้อมูล งานใดๆก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตของผู้คนในสังคมโกโรโกโสนี้ ควรจะต้องหันมา สร้างพลัง และความมั่นใจให้แก่เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ ให้พวกเขาสามารถบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาด้วยวิถีทางที่สากลจะเข้าใจได้ ด้วยปาก ด้วยร่างกาย ด้วยภาพ แทนที่จะมีใครต่อใครไปทำแทนพวกเขา เรามาสร้างการมีส่วนร่วมในการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น ร่วมกันกับเขา แทนการหยิบเอาส่วนหนึ่งที่เราต้องการจากเขามาใช้ ได้หรือไม่

เส้นแห่งความพอดีนั้นควรอยู่ที่ตรงไหน

มันอาจจะเป็นคำถามที่ไร้ค่ากว่าการจะฉุกคิดของใครหลายคน แต่ หากคำถามนี้จะสะท้อนสิ่งที่ค้างคาได้นั้นก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนใครจะหาว่าข้าพเจ้าจิตใจคับแคบ ก็ไม่เป็นไร หรือใครจะหาว่าข้าพเจ้ากำลังจะก่อเรื่องดราม่าขึ้นมา นั่นก็ยิ่งไม่เป็นไร




ป.ล. สืบเนื่องจากการถูกนำภาพถ่ายไปใช้ในการแสดงงานศิลปะงานหนึ่ง ของศิลปินคนหนึ่ง โดยที่ไม่ได้รับรู้มาก่อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ฉากเนียนๆ ของอีเว้นท์วิชาการในอเมริกา

Posted: 11 Jun 2017 07:53 AM PDT



ตั้งแต่ไหนแต่แล้วอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พอมีเครดิตในด้านต่างๆ อยู่บ้าง หนึ่งในนั้นก็คือเครดิตในเรื่องการศึกษา เรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดสมาคมศิษย์เก่าสถาบันการศึกษาอเมริกันในประเทศไทยขึ้นมานานหลายปีดีดักแล้ว แม้ว่าการทำงานของสมาคมดังกล่าว จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะลอยอยู่บนก้อนเมฆมากเพียงใดก็ตาม

การเกิดขึ้นของสมาคมดังกล่าวนัยว่าเป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่เคยศึกษาตามสถานศึกษาต่างๆ ในอเมริกามาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มตระกูลชนชั้นสูงในเมืองไทย ที่แทบจะไม่ยึดโยงอะไรเป็นการทั่วไปกับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเอาเลย

ด้วยเหตุที่อเมริกาพอมีเครดิตทางการศึกษาอยู่บ้างนี้เองนอกจากจะมีนักเรียนไทยอยู่จำนวนไม่น้อยตามสถาบันการศึกษาในอเมริกาในตอนนี้แล้ว ความมีเครดิตของสถาบันการศึกษาของอเมริกันได้ดึงดูดให้ผู้คนทางด้านการศึกษาหรือด้านวิชาการ เดินทางมาดูงานยังประเทศนี้ปีหนึ่งๆ จำนวนมาก และแน่นอนว่า มันได้สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศนี้

นั่นหมายความว่า แม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกมาเต้นจังหวะร็อค เอ็น โรลล์ ประณามด่าทอประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เป็นเหตุให้อเมริกาขาดดุลการค้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว รู้ๆ กันว่าอเมริกา ได้เปรียบดุลการค้าจากการค้าการศึกษามากที่สุดในบรรดาประเภทการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด 

มหาวิทยาลัย วิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งจากการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาต่างชาติ และจากการยกโขยงมาดูงานในอเมริกา ไม่รวมรายได้จากการท่องเที่ยวที่เป็นผลพลอยได้จากรายได้หลักในส่วนของการศึกษาหรือส่วนวิชาการ

และในบรรดาชนชาติที่นิยมยกโขยงกันมาดูงาน คือ ชนชาติไทย ที่นิยมมากันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ชนิดที่ไม่รู้ว่ามาเพื่ออะไร? เป้าหมายของการมานั้นอาจเพื่อการศึกษาหรืองานวิชาการ แต่ที่น่าสนใจกลับอยู่ที่ลูกหาบหรือพวกขุนพลอยพยักที่ติดตามมาด้วยเพื่อแสวงประสบการณ์นี่สิ เรียกว่า "กินฟรีเที่ยวฟรี" โดยใช้งบประมาณของรัฐไทยกันให้เปรมฯ ซึ่งก็มีให้เห็นตลอดระยะที่ผ่านมา เพราะเป็นที่รู้กันอย่างเป็นธรรมเนียมแล้วว่าสำหรับคนไทยแล้ว การดูงานต่างประเทศกับการเดินทางท่องเที่ยวไม่มีอะไรแตกต่างกัน

และที่ว่าเป็นธรรมเนียมก็เพราะว่าหน่วยงานต้นสังกัดหรือสังกัดนั้น ต่างยอมรับกันกลายๆ ไปแล้วว่า การดูงานคือการท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตาอย่างหนึ่ง การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือดูงานแบบไทยๆ โดยงบประมาณของรัฐ จึงไม่ถือเป็นการคอร์รัปชั่น มิหนำซ้ำยังช่วยให้การจัดการงบประมาณแต่ละปีเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น

จึงไม่แปลกที่หลังจากกลับจากการดูงานเมืองนอกแต่ละทริพแล้ว อย่าว่าแต่จะมีการประเมินผลจากการไปดูงาน แม้แต่รายงานใดๆ ก็ไม่ปรากฎให้เห็น และไม่จำเป็นต้องนำเสนอต่อหัวหน้าหน่วยหรือหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด  ยิ่งหัวหน้าหน่วยมาเองด้วยก็ยิ่งสบาย เพราะไม่ต้องกลับไปรายงานใคร

การดูงานแบบไทยๆ จึงมีความละม้ายคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับการเที่ยวไปกินไปหรือเที่ยวฟรีกินฟรี โดยใช้เงินงบประมาณของหลวง และไม่เรียกว่าทุจริตคอร์รัปชั่นอีกด้วย ซึ่งหากเป็นธรรมเนียมฝรั่งแล้ว ผู้ที่ไปดูงานต้องเสนอรายงานหรือเสนอสิ่งที่ได้จากการไปดูงานต่อหัวหน้าส่วนหรือหน่วยงานต้นสังกัดทุกครั้ง

การยกพวกยกโขยงกันมาดูงานในอเมริกาของหน่วยงานรัฐไทยจึงเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและสนุกสนาน ด้วยไม่มีใครในรัฐบาลให้ความสนใจติดตามตรวจสอบ โดยเฉพาะการดูงานด้านศึกษา ทุกอย่างมีเหตุผลให้ศึกษาได้หมด ยกโขยงกันมายอย่างสนุกสนานบันเทิง ถ้าเจ้านายมาก็มีลูกน้องหรือผู้ติดตามตามมาด้วยจำนวนหนึ่ง ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้านายทุกสถานที่ทุกกาลเวลา

ในแง่ของการศึกษานั้น นอกจากกลุ่มต่างๆ พากันยกโขยงมาดูงานที่ทำกันแบบไทยๆ ที่มีลักษณะเที่ยวฟรีกินฟรีแล้ว ในอเมริกาเองยังมีเรื่องของการนำเสนอ (present) งานวิชาการ ซึ่งในส่วนนี้ตอนหลังคือในขณะนี้เอง เป็นส่วนที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับเอกชนอเมริกันในฐานะของ "ผู้จัดอีเว้นท์งานวิชาการ" นับว่า "ธุรกิจผู้จัดอีเว้นท์" สร้างรายได้จำนวนมากให้กับเอกชนและมหาวิทยาลัยของอเมริกัน โดยเฉพาะรายได้จากนักวิชาการละสถาบันทางวิชาการของไทยที่นิยมมาใช้บริการกันเป็นจำนวนมากเรื่อยมา เชื่อกันว่าเป็นรายได้ทางการศึกษาที่ช่วยลดยอดการขาดดุลการค้าของอเมริกากับประเทศต่างๆ ที่ยังมีความเชื่อฝังหัวในเรื่องเครดิตการนำเสนองานวิชาการในอัสดงคตประเทศ อย่างอเมริกา

วิธีการก็คือ ผู้จัดอีเว้นท์ทางวิชาการในอเมริกาจะประสานงานกับมหาวิทยาลัยในอเมริกาบางแห่ง สร้างเวทีจำลอง เอาหน้าม้ามานั่งฟังการนำเสนองานวิชาการ โดยผู้ที่ต้องการมาโชว์งานวิชาการจากต่างประเทศต้องจ่ายค่าตอบแทนที่ถือเป็นค่าบริการให้ผู้จัดอีเว้นท์ ซึ่งแน่นอนว่าผู้จัดอีเว้นท์อเมริกันเองก็ต้องเข้าใจอย่างดีว่า ผู้นำเสนองานวิชาการต้องการอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงไม่พ้นภาพของการนำเสนอที่ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์ มีผู้สนใจฟังในห้องประชุมจำนวนหนึ่ง พอที่จะคุยได้ว่า "ล้นห้อง"

และนี่คือ ธุรกิจประเภทหนึ่งในอเมริกา ที่ทำรายได้ได้ดีในช่วงหลายปีมานี้  เพราะฉะนั้น ที่โชว์กันว่านักวิชาการไทยได้รับเชิญให้ไปพูดหรือเสนอผลงานในอเมริกา เผลอๆ หลายรายก็ใช้บริการของบริษัทจัดอีเว้นท์ทางวิชาการประเภทนี้ บริษัทสามารถเซ็ตฉากต่างๆ ได้ทั้งหมดตามที่ผู้จ้างคือนักวิชาการ (ผู้อยากได้ชื่อ อยากได้หน้า ได้ชื่อเสียง) ต้องการ

ไม่อยากกล่าวว่า ธุรกิจดังกล่าวต้มตุ๋นคนดูหรือไม่ เพราะธุรกิจนี้อาจมีประโยชน์กับบางมหาวิทยาลัยของไทยที่ต้องการโปรโมทมหาวิทยาลัยของตนให้มีชื่อในวงการ มันเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายในอเมริกาเหมือนธุรกิจล็อบบี้ยีสต์ เป็นเพราะผู้ทำธุรกิจมีความเข้าใจจุดโหว่ช่องว่างของธุรกิจการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาที่ให้ค่าปริญญาแบบสูงส่งประเสริฐสุด อเมริกา ก็เลยถูกทำให้เป็นแหล่งชุบตัวของนักวิชาการที่ต้องการชื่อเสียงจากการได้ชื่อว่านำเสนองานวิจัยของตนในเวทีอินเตอร์

นี่เป็นธุรกิจที่ได้กำลังไปได้สวยในอเมริกา จนมหาวิทยาลัยบางแห่งของไทยทนความเย้ายวนไม่ไหว ลงทุนโปรโมทสถาบันของตนผ่านองค์กรจัดอีเว้นท์ทางวิชาการนี้  สถาบันอุดมศึกษาของไทยน่าจะมาดูงานการสร้างฉากนำเสนองานวิชาการแบบนี้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังได้ชื่อว่าเคารพต่อความหลากหลายอีกด้วย

ในเมื่อการศึกษา 4.0 เองก็ต้องการให้ไทยแลนด์เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนแล้ว  การทำอีเว้นท์ด้านการนำเสนองานวิชาการก็น่าจะสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมการศึกษาแบบไทยๆ และวัฒนธรรมการศึกษาแบบอาเซียนได้ เพราะจะว่าไปแล้ว การเปิดให้มีเวทีทางวิชาการหรือด้านวิจัยก็ถือว่ามีคุณอยู่ในตัวแล้ว

อย่าไปเกี่ยงว่าเป็นการจัดฉากงานวิชาการเพื่อสนองต่อวัฒนธรรมจำอวดปริญญาเลย  อย่างน้อยก็ยังดีกว่าให้บริษัทจัดอีเว้นอเมริกันคาบไปกินอยู่ ดังที่เห็นเช่นทุกวันนี้...

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: ยุคแห่งความท้าทายของสื่ออเมริกันอันมี ‘ทรัมป์’

Posted: 11 Jun 2017 07:28 AM PDT

ภายหลังการสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2017สถานการณ์สื่อในยุคของ'ทรัมป์' และปรากฏการณ์ความน่าเชื่อถือต่อสื่อกระแสหลักที่ลดลง กลายเป็นประเด็นสำคัญที่วงการสื่อในอเมริกาให้ความสนใจ TCIJ ได้เข้าร่วมโครงการ International Visitor Leadership Program ในหัวข้อ Investigative Journalism พบปะแลกเปลี่ยนกับองค์กรสื่อในหลายมลรัฐ หลายแพลตฟอร์ม บทสนทนาและการแลกเปลี่ยนในแต่ละครั้งมุ่งประเด็นไปที่ความท้าท้ายต่อสื่อกระแสหลักและโอกาสของสื่อทางเลือก กับคำถามว่าทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อไปมากน้อยเพียงใด? TCIJ นำมารายงาน

 

บรรยากาศการประชุมโต๊ะข่าวของ The San Francisco Chronicles หลังการทวิตโจมตีสื่อกระแสหลักของทรัมป์

ทรัมป์-สั่นสะเทือนวงการสื่อทุกระนาบ

ย้อนกลับไปภายหลังเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ไม่กี่วัน เขาส่งสัญญาณเตือนไปยังนักข่าวทั่วประเทศแบบตรงไปตรงมาด้วยการกล่าวว่านักข่าวเป็น "มนุษย์ที่ไม่ซื่อสัตย์ที่สุดในโลก" (most dishonest human beings) เหตุการณ์นี้สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับนักข่าวเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุมาจากการถกเถียงเรื่องจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่ง ซึ่งทรัมป์เชื่อว่าสื่อพยายามนำเสนอข่าวบิดเบือนว่ามีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2009 ขณะที่ Sean Spicer โฆษกทำเนียบขาวและเป็นโฆษกประจำตัวของทรัมป์ เผยว่าพิธีของทรัมป์ มีผู้เข้าร่วมมากถึงหนึ่งล้านห้าแสนคน

บัญชีทวิตเตอร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน

ไม่เพียงเท่านั้น สื่ออเมริกายังคงเดินหน้าขุดประเด็นที่ทรัมป์ติดต่อรัสเซียในช่วงหาเสียง รวมถึงการปฏิบัติต่อสตรีของทรัมป์ที่ถูกสังคมตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา โดยสำนักข่าวหลายแห่งในอเมริการายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความบนบัญชีส่วนตัว @realDonaldTrump อ้างอิงถึงสื่อกระแสหลักของอเมริกาที่รวมถึง The New York Times, NBC, ABC, CBS และ CNN ว่าเป็น "ศัตรูของชาวอเมริกัน" (the enemy of the American people) ขณะเดียวกันก็มีรายงานด้วยว่า ทวีตดังกล่าวเป็นการแก้ไขทวีตก่อนหน้า ด้วยการเพิ่ม ABC และ CBS เป็นแบล็กลิสต์สื่อกระแสหลักที่กำลังจะเป็นศัตรูของทรัมป์

แม้จะเป็นเรื่องปกติที่ประธานาธิบดีสหรัฐและทำเนียบขาวจะวิจารณ์การทำงานของสื่อในประเทศ แต่สำหรับกรณีของทรัมป์ นักวิชาการสื่อหลายท่านเห็นว่า อยูในระดับร้ายแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา

รองศาสตราจารย์ ดร. Al Cross ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อวารสารศาสตร์ชนบทและประเด็นชุมชน (Institute for Rural Journalism and Community Issues ) มหาวิทยาลัยเคนตักกี้ กล่าวในกรณีที่สื่อมวลชนถูกท้าทายตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะนอกจากจะต้องรับมือกับรัฐบาลที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทำงานกับสื่อมวลชนแล้ว ยังต้องรับมือกับความ 'หยาบคาย' ของทรัมป์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เราเสียสมาธิมากๆ ประเด็นใหญ่ๆ ถูกทำให้เป็นเรื่องเล็ก แต่เรื่องเล็กๆ อย่างกริยามารยาทของทรัมป์กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สื่อกระแสหลักให้ความสนใจ

"เรา (สื่อกระแสหลัก) เป๋กันหมด สื่อใหญ่ๆ ยังเจาะเรื่องของทรัมป์สู้ Al Jazeera ไม่ได้เลย น่าเป็นห่วงว่าในระยะยาวเราจะสามารถยืนระยะเพื่อตรวจสอบทรัมป์ได้นานแค่ไหน เพราะทุกๆ วัน เราเหมือนเป็นฝ่ายที่ถูกทรัมป์โจมตีเสียมากกว่า" Al Cross กล่าว

Al Cross กล่าวต่อว่า การที่ ทรัมป์พยายามโจมตีสื่อมวลชน มีสาเหตุมาจากสื่อเหล่านี้มีอิทธิพลชี้นำความคิด ชี้นำทางการเมือง และนำเสนอข้อมูลตรงข้ามหรือขัดแย้งกับทรัมป์ ทำให้ทรัมป์และทีมรัฐบาลต้องออกมาบอกว่าสื่อเหล่านี้เชื่อถือไม่ได้ ตั้งใจทำลายภาพลักษณ์ของตน โดยที่รัฐบาลอาจไม่ได้คาดคิดว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมการเมืองของอเมริกาในทางอ้อม เพราะเหตุผลหนึ่งที่ประชาธิปไตยอเมริกาเข้มแข็งก็เพราะมีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลของทรัมป์กำลังทำลายวัฒนธรรมเหล่านี้

ด้านนาง Audrey Cooper บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The San Francisco Chronicles เผยว่า  องค์กรของเธอเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีสัญญาณชัดเจนว่าไม่สนับสนุนทรัมป์ ตั้งแต่เริ่มหาเสียงเมื่อต้นปี 2016 แต่อย่างไรก็ตาม เราก็รู้ว่าภายในองค์กรมีคนที่สนับสนุนอยู่เช่นกัน ที่ผ่านมาจึงปล่อยให้การรายงานเป็นไปอย่างอิสระ มีทั้งเสียงค้านและเสียงสนับสนุนรวมอยู่ด้วยกัน แต่ในความพยายามนี้ก็พบว่ามีผู้อ่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด เธอเผยว่ายอดผู้อ่านออนไลน์ของ The San Francisco Chronicles ในยุคของทรัมป์ลดลงน้อยกว่าในยุคของโอบามาถึง 20%

"ช่องทางการสื่อสารของทรัมป์น่ากลัวมาก สื่อใหญ่อย่าง The New York Times มีคนดูทีวีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 38 ล้านคนในยุคโอบามา แต่มีเพียง 30 ล้านคนในยุคทรัมป์ ทวิตเตอร์ของทรัมป์ที่มีผู้ติดตามกว่า 22 ล้านคน (เดือนกุมภาพันธ์) จะสื่อสารถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าสื่อกระแสหลักหรือไม่ เราต้องเร่งหาตำตอบ"

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ Wall Street Journal เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีชาวอเมริกันเพียง 26% เห็นด้วยกับสิ่งที่ทรัมป์สื่อสารทางทวิตเตอร์ แต่อีก 69% ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นความเห็นของทรัมป์เพียงคนเดียว ไม่ใช่ของคณะรัฐบาล แต่แม้ว่าผลสำรวจจะชี้ว่าชาวอเมริกันอยากให้ทรัมป์เลิกใช้ทวิตเตอร์ แต่รัฐบาลทรัมป์ก็ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า สื่อไม่รายงานความจริง ทวิตเตอร์จึงเป็นวิธีเดียวที่สามารถตอบโต้ เมื่อสื่อกระแสหลักสร้างข่าวปลอม และจะเลิกใช้ทวิตเตอร์ก็ต่อเมื่อสื่อรายงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนใส่ร้ายทรัมป์

Audrey Cooper เผยว่าสถานการณ์ในขณะนี้คือ สื่อกระแสหลักรายงานข่าวโดยเอาข้อความทวิตเตอร์ของทรัมป์มารายงาน  ซึ่งหากประชาชนได้รับข้อมูลเพียงแค่นี้ สื่อกระแสหลักอย่างเราก็คงไปทำข่าวอย่างอื่นดีกว่า นี่คือความแตกต่างสำคัญระหว่างการรับข่าวสารรัฐบาลจากสื่อทั่วไปกับการติดตามทวิตเตอร์ของทรัมป์ ซึ่งจะหาความเป็นทางการไม่ได้เลย

ในแง่นี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทรัมป์กำลังทำลายสื่อกระแสหลัก พยายามไม่ให้สังคมสนใจ ไม่ให้คุณค่ากับสื่อกระแสหลัก โดยเรียกร้องให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากจากทวิตเตอร์ของทรัมป์โดยตรง

ความน่าเชื่อถือและความคาดหวังของชาวอเมริกันต่อสื่อกระแสหลักลดลง

สัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนว่าสื่อกระแสหลักอเมริกันกำลังถูกท้าทายจากสังคม ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อผลสำรวจความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักต่อชาวอเมริกันพบว่า สื่อกระแสหลักมีความน่าเชื่อถือลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะแบ่งตามเกณฑ์อายุ หรือพรรคที่สนับสนุน (อ่านเพิ่มเติ่มที่ จับตา: ความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักต่อชาวอเมริกัน ลดลงต่อเนื่อง) โดยค่าเฉลี่ยความน่าเชื่อถือลดลงมาถึง 32 % ในปี 2016 จากที่เคยมีความน่าเชื่อถือในระดับ 40 % ในปี 2012 และ 50 % ในปี 2005 (อ่านเพิ่มเติมที่ Poll: Mainstream media continues to lose the public's trust)

กราฟแสดงผลสำรวจความน่าเชื่อถือของสื่อกระสหลักที่ลดลงอย่างมากในภาพรวม ที่มาภาพ: Gallup

นาย Lowell MacBain หนึ่งในที่ปรึกษารายงานชิ้นดังกล่าว และเป็นอาจารย์ประจำ UC Berkeley's Graduate School of Journalism เผยว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจ ที่ผลสำรวจออกมาในลักษณะนี้ เพราะตลอดระยะเวลาการเป็นนักข่าว เงื่อนไขในการประกอบอาชีพของคนที่ทำงานกับสื่อใหญ่ๆ ในอเมริกานั้นเยอะมาก เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาผันตัวมาเป็นอาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ในมหาวิทยาลัย

Mr. Lowell MacBain อาจารย์ประจำ UC Berkeley's Graduate School of Journalism

ผลสำรวจชิ้นดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรหลายองค์กร รวมถึงนักข่าวทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อท้องถิ่น Lowell MacBain เป็นผู้เก็บข้อมูลวิจัยในระหว่างปี 2001 – 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาผันตัวจากการเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ให้กับ CBS ด้วยคำถามหลายอย่าง รายงานชิ้นดังกล่าวนอกจากจะตั้งคำถามกับสื่อกระแสหลักแล้ว ยังตอบคำถามของตัวเขาเองด้วย

"ไม่เพียงแต่สื่อกระแสหลักที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนน้อยลง ตัวนักข่าวเองก็เหมือนกัน ทุกวันนี้นักศึกษาของผมเรียนจบออกไปถามว่าอยากไปทำอะไร ทุกคนก็มักจะตอบคล้ายๆ กันว่าไปเป็นนักข่าวที่นิวยอร์คบ้าง (The New York Times) ฟอกซ์บ้าง แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่พวกเขามักจะเรียนต่อเพื่อทำงานแบบวิชาการ หรือกลับบ้านไปทำงานกับสื่อทางเลือกเล็กๆ หรือไม่ก็ไปเป็น Youtuber หรือทำคอนเทนต์เอง อะไรแบบนี้เสียมากกว่า ทำให้ผมคิดว่าแม้แต่เด็กเองก็มีความคาดหวังต่อสื่อใหญ่ๆ น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด" Lowell MacBain กล่าว

Ms. Mindy Aronoff ผู้อำนวยการ Bay Area Video Coalition

ด้านนาง Mindy Aronoff ผู้อำนวยการอาวุโสขององค์กรผลิตสื่อสารคดีและวีดีโอ Bay Area Video Coalition เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการภาคประชาชนของเมืองซานฟรานซิสโกที่คอยตรวจสอบดูแลสื่อ และได้จัด Focus Group กับตัวแทนของประชาชนเรื่องความควาดหวังต่อสื่อใน Bay Area พบว่า ประชาชนใน Bay Area ลดค่าใช้จ่ายการบริโภคหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ๆ ลงไปถึงครึ่งหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา และความต้องการของการบริโภคเนื้อหาจากสื่อใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ก็ลดลงตามไปด้วย

Mindy Aronoff กล่าวว่า ความคาดหวังของผู้คนใน Bay Area ต่อสื่อกระแสหลักมีอยู่น้อยมากๆ เรามีทวิตเตอร์ เรามี Hoodline ภาคประชาชนเข้มแข็งกว่าที่สื่อใหญ่ๆ คิดเอาไว้มาก ช่องทางการรับสื่อของคนมันกระจัดกระจาย (scattered) มากเกินกว่าที่สื่อกระแสหลักจะเช็คเรตติ้งได้วันต่อวันอีกต่อไปแล้ว หรือพูดง่ายๆ คือ เขาเทียบสื่อใหญ่ กับสื่อเล็กๆ อย่างเราในระดับเดียวกันไปแล้ว ในแง่ความน่าเชื่อถือ

"คนที่ฉันทำ Focus Group ด้วย เคยเถียงกันเรื่องความเป็นทางการ ที่สื่อกระแสหลักเคยมีมากกว่า ซึ่งเชื่อมโยงกับความน่าเชื่อถือ แต่ข่าวใน Bay Area ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มันมาทางทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียช่องทางอื่นๆ หมดแล้ว ไม่มีความคาดหวังใดๆ ต่อสื่อกระแสหลักหลงเหลือ คนที่ยังตามหัวใหญ่ๆ เราต้องถามเป็นรายคนเลยว่า เขาตามอ่านข่าว หรือตามอ่านความคิดเห็นของคอลัมนิสต์" เธอกล่าว

กรณีศึกษา New American Media สื่อทางเลือกโดยกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับสื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ในอเมริกา (The Ethnic Media in America: The Giant Hidden in Plain Sight) ของ New California Media ร่วมกับ Center for American Progress Leadership และ Conference on Civil Rights Education Fund ที่เปิดเผยในเดือนมิถุนายน ปี 2007 พบว่า 45 % ของ แอฟริกันอเมริกัน, เอเชียนอเมริกัน, ฮิสแพนิค, ชนพื้นเมืองอเมริกัน และอาหรับอเมริกัน สนใจสื่อทุกๆ ช่องทางไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ที่เป็นสื่อของชาติพันธุ์ มากกว่าสื่อทั่วไป โดยสำรวจจากผู้คน 64 ล้านคน พบว่า 29 ล้านคนเลือกรับสื่อที่ถูกผลิตโดยชาติพันธุ์ นั่นหมายความว่า 13 % ของชาวอเมริกันเลือกที่จะบริโภคสื่อของชาติพันธุ์ และสื่อเหล่านี้เข้าถึงคนทำงานชาวอเมริกันมากกว่า 51 ล้านคน

ในห้วงเวลาดังกล่าว New American Media (NAM) ซึ่งเป็นสื่ออิสระในอ่าวซานฟรานซิสโก (Bay Area) รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำเว็บไซต์ข่าวและสื่อออนไลน์ที่เนื้อหาทั้งหมดถูกผลิตขึ้นจากนักข่าว นักสารคดี คอลัมนิสต์ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยในสหรัฐอเมริกา (Ethnic Minorities) ทั้งที่เกิดและเติบโตที่นี่ รวมถึงคนที่อพยพเข้ามาตั้งรกราก นอกจากนี้ยังพบว่าเกิน 40% ของพวกเขาเป็นมุสลิม โดยนอกจาก NAM จะไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐแล้วยังได้รับการตอบรับจากชุมชน Bay Area น้อยกว่าสื่ออื่นๆ ในช่วงแรกของการก่อตั้งในปี 1996 เมื่อเทียบกับสื่อในย่านเดียวกันอย่าง The San Francisco Chronicles, Hoodline หรือแม้แต่ Bay Area Video Coalition (BAVC) ที่ยึดพื้นที่สื่อด้านสารคดีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น อาจกล่าวได้ว่า NAM ไม่มีกลุ่มสนับสนุนหลักที่ชัดเจน จนกระทั่งประเด็นเรื่องอิสลามเริ่มเป็นที่สนใจของชาวอเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ยุคของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไล่มาจนถึงยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ทำให้เนื้อหาของ NAM เริ่มเป็นที่สนใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งล่าสุด วิกฤติการมาของทรัมป์ที่ทำให้สื่อหลายสำนักใน Bay Area เริ่มสั่นคลอน  NAM ใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสเพื่อผลักประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารไปยังผู้อ่าน

Ms. Honora Montano ผู้อำนวยการ New America Media เล่าประสบการณ์การทำงานภาคสนามกับกลุ่มชาติพันธุ์

 นาง Honora Montano ผู้อำนวยการ NAM ที่มีประสบการณ์การทำงานกับนักข่าวที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หรือผู้อพยพในอเมริกามากว่า 40 ปี เล่าว่า ผู้คนใน Bay Area เริ่มสนใจเนื้อหาของเรามากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะประเด็นที่ทำหาอ่านที่อื่นยาก โดยเฉพาะในสื่อกระแสหลัก นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับแหล่งข้อมูลเฉพาะทาง (ethnic media collaboration specialized sources) ที่ยิ่งจะสร้างประเด็นที่เราทำ ให้แข็งแรงและน่าเชื่อถือมากขึ้น 

"ความสำคัญของสื่อแบบเรา คือการที่แหล่งข่าวไม่อยากคุยกับนักข่าวทั่วไป เมื่อมีประเด็นทางสังคม จะนึกถึง Ethnic Reporter มาเป็นอันดับแรก อยากให้คนที่มีสถานะเดียวกันทำข่าวที่เกี่ยวโยงกับเรื่องของตัวเอง มากกว่าที่จะให้นักข่าวที่เป็นคนขาว มาเล่าเรื่องของเขา" Honora Montano กล่าว 

เมื่อ TCIJ ถามถึงงบประมาณที่ NAM ได้รับและโมเดลทางธุรกิจของสื่อเล็กๆ ในเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโก เธอตอบว่า งบส่วนใหญ่มาจากองค์กรที่สนับสนุนงบประมาณสื่อในอเมริกา ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มาจากรัฐบาล แต่แคมเปญที่เราทำเป็นประจำ และทำเงินให้เราจำนวนมากในบางครั้ง คือการออกไปทำกิจกรรมกับชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคัดสรรประเด็นปัญหาที่ควรจะหยิบยกมานำเสนอ แน่นอนว่า NAM ให้ความสำคัญกับประเด็นของชนกลุ่มน้อยในแคลิฟอร์เนียเป็นหลัก 

"สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือ เงินงบประมาณที่ถูกโอนมาจากผู้คนในซานฟรานซิสโกมีมากขึ้น แน่นอนว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะทรัมป์ หรือเปล่า แต่ที่เราค่อนข้างมั่นใจคือ ข้อมูลของเราที่ค่อนข้างจะมีความพิเศษหาจากที่อื่นไม่ได้ และถูกผลิตมาจากเจ้าของปัญหาที่แท้จริง ในซานฟรานซิสโก หรือแม้กระทั่งแคลิฟอร์เนีย คุณไม่สามารถอ่านบทความที่มาจาก Native American (อินเดียนแดง) ได้เลย ที่สำคัญ สัดส่วนของนักข่าวที่เป็นมุสลิมของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีมากกว่าคนขาวอีก" เธอกล่าว

ที่ผ่านมา NAM ถูกตั้งคำถามต่อความเป็นมืออาชีพในการรายงานข่าวหลายครั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการให้พื้นที่ต่อชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์มากเกินไป นาง Annita Key นักข่าวชาวอเมริกันที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามหลังจากแต่งงานกับสามีของเธอ เป็นหนึ่งในนักข่าวที่ถูกชาวอเมริกันใน Bay Area ข่มขู่ และเตรียมจะยื่นฟ้อง หลังเธอทำสารคดีรายงานปัญหาเด็กชาวมุสลิมถูกกลั่นแกล้ง (bully) ในโรงเรียนประถม โดยคู่กรณีหาว่าเธอพยายามจะสร้างความเท็จ และใส่ร้ายครูและเด็กในโรงเรียนว่ากลั่นแกล้งเด็กชาวมุสลิม

Ms. Annita Key นักข่าวชาวมุสลิมของ NAM ที่ถูกคุกคามโดยชาวอเมริกัน

Annita ถูกข่มขู่ผ่านจดหมาย และสามีของเธอถูกจับตาจากชาวอเมริกันในละแวกที่อยู่อาศัยอยู่หลายเดือน แต่ NAM ก็ยืนยันที่จะรายงานเรื่องนี้

"แม้จะยาก แต่เราก็พยายามระวัง ในฐานะสื่อที่เป็นชาติพันธุ์เอง (ethnic reporter) ต้องมองให้ขาด ข้ามพ้นอคติทั้งหลาย เล่าเรื่องที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ตัดสิน บอกบริบทให้หมด ใครทำอะไร รายงานให้หมด ใครทำอะไร (behavior of people) ต้องรายงานอย่างนั้น" Annita Key กล่าว

ตำแหน่งแห่งที่ของ "ข่าวเจาะ" ในอเมริกา ความท้าทายในยุคทรัมป์

'Spotlight' คือภาพยนตร์ที่เป็นตัวเก็งออสการ์หลายรางวัลในปี 2015 เป็นที่กล่าวถึงในวงการสื่อสารมวลชนทั่วโลก ชื่อ Spotlight มาจาก Section ข่าวสืบสวนสอบสวนในหนังสือพิมพ์ Boston Globe ที่โด่งดังจากกรณีการเปิดเผยเรื่องราวของนักบวชแห่งคริสตจักรนับสิบคน ล่วงละเมิดทางเพศเด็กๆ นับร้อยคนทั้งหญิงและชายในบอสตัน ประมาณ 20 ปีก่อน จนกลายเป็นประเด็นทางสังคมที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อคริสตจักรแห่งบอสตัน ก่อนที่จะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

Walter Robinson ซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการ Spotlight และเป็นที่ปรึกษาของทีมเขียนบทในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตในการเป็นนักข่าว และอีกกว่าสิบปีที่ดูแลหน้าข่าวสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์ Boston Globe  เขาเปิดเผยว่า มุมมองต่อข่าวสืบสวนในอเมริกา ควรเป็นเรื่องที่ให้พื้นที่กับผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อ (victimized people) เช่น มีข่าวหนึ่งที่เขาเคยรายงานเกี่ยวกับผู้หญิงสองคนที่โดนยึดรถกลางคืน และได้รับการอธิบายว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาจากบริษัทบัตรเครดิต แต่หลังการสอบสวนกลับพบว่ามีเหยื่ออีกจำนวนมากที่ถูกหลอกจากการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารผู้ให้บริการบัตรเครดิต เพราะฉะนั้นเรื่องข่าวสืบสวนควรกระทบคนจำนวนมาก เพราะนอกจากจะทำให้มีผลกระทบในวงกว้างแล้ว ในบางครั้งยังสามารถแสดงความบริสุทธิ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล (justification) ให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้อีกด้วย

Mr. Walter Robinson อดีตบรรณาธิการหน้าข่าวสืบสวน 'Spotlight' หนังสือพิมพ์ Boston Globe เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ จากรายงานเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กของบาทหลวง

"เท่าที่ผมทราบ เคยมีการสำรวจ ปี 2009  ที่อเมริกามีนักข่าวประจำถึง 25,000 คน แต่ในปี 2014 กลับลดลงมากถึง 40 % เหลือ 15,000 คน แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ ของข่าวเจาะคือในปีนั้นมีนักข่าวที่อยู่ใน Section ของข่าวสืบสวนกว่า 2,000 ตกงานในช่วงปี 2014 – 2015 เพราะหลายสำนักข่าวต้องการลดค่าใช้จ่าย  เนื่องจากข่าวสืบสวนแพง ใช้เวลานาน และใช้เงินเยอะ รวมถึงไม่ได้งานประจำวันออกมาด้วย ทำให้หนังสือพิมพ์หลายหัวตัด Section ข่าวสืบสวนออก แต่ที่น่าตลกคือ เมื่อหนังสือพิมพ์หลายหัวไปสัมภาษณ์ผู้อ่านว่าชอบอะไรในหนังสือพิมพ์ กลับได้คำตอบว่า ข่าวสืบสวน และข่าวที่สถาบันต่างๆ ไม่ต้องการให้คนนอกรู้  นี่แสดงให้เห็นว่าผู้คนก็เห็นคุณค่าของข่าวสืบสวน นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากให้เกิดหนังแบบ Spotlight"

Walter Robinson  เห็นว่านักข่าวทุกคนเป็นนักข่าวสืบสวนได้ เนื่องจากการทำข่าวสักชิ้น ต้องสืบสวน ต้องสืบค้น จะลึกแค่ไหนอันนั้นเป็นอีกเรื่อง แต่เนื่องจากเรามีเครื่องมือที่ดีมากอย่างอินเทอร์เน็ต นักข่าวทุกคนสามารถหาข้อมูลที่มีผู้ไม่อยากให้เปิดเผยได้และสามารถทำได้ในเวลาสั้นๆ ตัวอย่างเช่น ข่าวของบอสตัน ในปี 2000 ระหว่างการดีเบตก่อนการเลือกตั้ง (Presidential Debate) มีนักข่าวรายงานการโต้กันระหว่างจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กับ อัล กอร์  โดยบอสตันสามารถเสนอการตรวจสอบความจริงจากข้อมูลการดีเบตด้วยในวันเดียวกัน เพราะใช้อินเทอร์เน็ตเช็คข้อมูล (fact check) ทุกอย่างที่ทั้งสองคนพูดบนเวที นี่เป็นตัวอย่างข่าวประจำวัน (Routine) ที่มีกลิ่นอายของข่าวเชิงสืบสวนด้วย

"สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกคือ ช่วงที่โอบามาเป็นประธานาธิบดี จะมีข่าวรั่วน้อยมาก คนทำงานข้างในซื่อสัตย์มาก แต่ในยุคของทรัมป์ กลับกลายเป็นคนละเรื่อง เหมือนกับว่าเราได้สนทนากับคนในทำเนียบขาวด้วยทุกวัน เช่นเรื่อง Michael Flynn ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงจะถูกปลดจากตำแหน่ง แต่เหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นว่าสำนักข่าวในอเมริกาบางแห่ง ไม่สามารถกินบุญเก่าได้อีกต่อไปแล้ว ที่ๆ เคยมีข่าวสืบสวนดีๆ อย่าง FOX กลับลงข่าวที่ไม่ผ่านการตรวจสอบได้หน้าตาเฉย  ประเด็นของผมคือ บรรณาธิการ โดยเฉพาะคนที่ดูแล Section ที่เป็นข่าวสืบสวน ต้องทำให้ผู้อ่านรู้ว่าอันไหนคือข่าวดีมีการตรวจสอบ และข่าวใดไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือเข้านั้นข่าวปลอม (fake news) กรณีของ Michael Flynn นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังมีข่าวรั่ว สำนักข่าวใหญ่ๆ พร้อมกันลงข่าว โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลกันเลย"

อย่างไรก็ตาม เมื่อ TCIJ ถามถึงความแตกต่างระหว่างสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก ในมุมมองของคนที่เคยทำงานมาทั้งสองอย่าง  Robinson ตอบว่า มันแยกยากแล้ว ทุกวันนี้คนทำข่าวในบอสตันแทบจะใช้เครื่องมือของตัวเองทั้งหมด รายงานข่าว โดยไม่รอองค์กรของตัวเองแล้วด้วยซ้ำ

"สื่อกระแสหลักก็ใช้เนื้อหาของสื่อเล็กๆ ขณะที่สื่อเล็กก็รับงานของสื่อกระแสหลักมาทำอีกที ในกรณีของบอสตัน ไม่ว่าคุณจะทำงานให้ใคร สุดท้ายแล้วคุณต้องมีแพลตฟอร์มของตัวเอง นี่เป็นอีกสาเหตุที่ผมออกมาจากบอสตัน มาสอนเด็ก มาทำงานข่าวอย่างอิสระด้วยตัวเอง ถามว่าอยู่ยากไหม ก็ยาก แต่ช่องทางหาเงินก็ไม่น้อยเหมือนกัน และมันก็น่าขำตรงที่ว่าลูกทีมของผม หลังจากยุติการทำงานที่บอสตัน ทุกคนไปบรรยาย ไปสอน ไปทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ทุกคนมีรายที่เยอะกว่าเงินเดือนเดิมกันทุกคน"  Robinson กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีแล้วกระแสหลัก-กระแสรอง ชี้ห้องข่าวไร้พรมแดนคือคำตอบ

 หลังจากที่ The San Francisco Chronicle ปรับโมเดลธุรกิจมาเน้นการทำงานในสื่อออนไลน์ และช่วงชิงพื้นที่กับสื่อใหญ่ๆ ใน California มาเป็นเวลาหลายปี Audrey Cooper บรรณาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นบรรณาธิการหญิงคนแรก มีบทบาทสำคัญในการทำให้ 'Chronicle' ยืนหยัดท่ามกลางกระแสการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ ที่บางรายปิดตัวไปอย่างเงียบๆ หรือรายใหญ่ๆ ที่ลงมาสู้ใหม่ในสนามออนไลน์ The San Francisco Chronicle เป็นสื่อกระแสหลักเพียงเจ้าเดียวใน San Francisco ที่ยังมีหนังสือพิมพ์ 'รายวัน' ควบคู่ไปกับเนื้อหาบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย

Ms. Audrey Cooper บรรณาธิการ The San Francisco Chronicle ผู้หญิงคนแรกในรอบ 150 ปี

 Audrey Cooper เล่าประสบการณ์การทำงานเป็นบรรณาธิการตั้งแต่ทรัมป์เริ่มหาเสียงก่อนเลือกตั้งว่า หากจะพูดว่าสถานการณ์สื่อ ในยุคของทรัมป์มันแย่ลงก็พูดได้ แต่จริงๆ มันแย่มาเรื่อยๆ ไม่ใช่ขาลงในยุคของทรัมป์เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาหลายปี เราจะเห็นว่าข่าว โดยเฉพาะข่าวในทีวีนั้นแย่มาก ไม่มีความรับผิดชอบ ทั้ง FOX , CNN ช่องหลักๆ แทบจะทุกช่อง เช่นประเด็นที่ถกเถียงกัน บ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งนั้นชอบธรรมหรือไม่ ซึ่ง Audrey Cooper เห็นว่า ระบบมันจะถูกตรวจสอบด้วยตัวของมันเอง จึงไม่ชอบที่เห็นพิธีกรมาใช้เวลานั่งเถียงกันในประเด็นนี้ แต่ควรนำเสนอข่าวมากกว่า ว่าจะป้องกันอย่างไร และในฐานะพลเมือง จะ ทำอะไรได้บ้างหากตรวจสอบได้ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบธรรมจริงๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วประเด็นหลักอยู่ที่ว่าประธานาธิบดีจะบังคับใช้กฎหมายอย่างชอบธรรมหรือไม่ และถ้าหากใช้อำนาจมากเกินไป อันนี้เป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องตรวจสอบ แม้ว่าจะเป็นสื่อที่ เชียร์ทรัมป์ก็ตาม ซึ่ง Audrey Cooper ยังเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของสื่ออเมริกาว่า จะสามารถตรวจสอบการทำงานของทรัมป์อย่างตรงไปตรงมาได้ 

"จริงๆ ในซานฟราน ไม่มีสื่อกระแสหลักชัดเจนเหมือนอย่างนิวยอร์ค หรือวอชิงตัน นะ พูดอีกอย่างคือ สื่อเล็กๆ เองก็ไม่ใช่กระแสรอง เพราะมันมีคนอ่านเฉพาะกลุ่มเป็นจำนวนไม่น้อย สื่อเหล่านี้แหละที่พร้อมจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอเมริกัน แม้ห้วงเวลานี้เป็นเวลาที่น่ากลัวสำหรับนักข่าวมากๆ เพราะทรัมป์มักจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง (discredit) ไม่ชอบให้ตั้งคำถาม  แต่เราต้องพยายามเปิดพื้นที่ให้คนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาประเทศร่วมกันต่อไป ซึ่งถ้าทำให้เกิดไม่ได้ หน้าที่ของสื่อก็ทำได้ไม่สมบูรณ์" Audrey Cooper กล่าว 

ในสถานการณ์ดังกล่าว ทางออกของแต่ละสำนักข่าวอาจไม่เหมือนกัน จากการสัมภาษณ์กองบรรณาธิการ 'Chronicle'  TCIJ พบว่าพวกเขาค่อนข้างจะเน้นหนักที่การตรวจสอบการทำงานของตัวเองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะประเด็นของข่าวที่ไม่มีอคติ (unbiased news)  เพราะต้องการให้ข่าวสะท้อนความคิดของคนทุกฝ่าย แม้ใน 'Chronicle' เองก็มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนทรัมป์และฝ่ายที่พร้อมจะเขียนบทความโจมตีทรัมป์อยู่ตลอดเวลา แต่องค์กรจำเป็นต้องฟังเสียงของทุกฝ่าย และด้วยสถานการณ์ที่ข่าวปลอม  (fake news) มีมากขึ้น ผู้คนจึงหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของข่าวกันมากขึ้น

"สื่ออย่างเราทำไม่ได้ทุกอย่าง ไม่สามารถครอบคลุม (cover) ทุกข่าว จึงเลือกทำเรื่องที่ถนัด และทำในแบบที่สื่ออื่นทำไม่ได้ ด้วย เหตุนี้จึงทำให้ความกว้างของประเด็น (range) ข่าวมันแคบ ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าข่าวมันแคบ ประเทศใหญ่ก็ยังแคบ อาจเป็นเพราะนักข่าวในอเมริกาพยายามอย่างมากที่จะไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นนักข่าวจึงไม่ค่อยกล้าลองของใหม่ เพราะกลัว พลาด เช่น นักข่าวของเราทำเรื่องกัญชา เพราะช่องทางเยอะ และกัญชากำลังขยายหนักมาก และถูกกฎหมายแล้วในรัฐตะวันตกบางแห่ง แต่เราพูดถึงเฉพาะกัญชาในอเมริกา แม้จะเสนอข่าวว่ามาจากไหน แต่ไม่เคยมีเสียงของคนต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับ ธุรกิจนี้มากนัก หนำซ้ำยังไม่ต้องพูดถึงการไปเห็นด้วยตาตัวเองของนักข่าว แทบจะไม่มีเลย  ด้วยสาเหตุนี้เราจึงต้องร่วมมือกับ  นักข่าวภาคสนามที่ทำงานในพื้นที่ หรือแม้แต่นักข่าวท้องถิ่น ไม่เฉพาะระดับข้ามพรมแดนเท่านั้น แต่ต้องไปในระดับข้ามชาติ อย่างที่หลายๆ สำนักข่าวในอเมริกาได้เริ่มทำมาแล้วสักระยะ ปัญหาคือนักข่าวในอเมริกาส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง หรือพูดง่ายๆ ว่านักข่าวอเมริกัน โดยเฉพาะเมืองเล็กๆ ยังไม่กล้าออกไปข้างนอกนั่นเอง" Audrey Cooper กล่าว

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2016 การร่วมมือของนักข่าวแบบไร้พรมแดน ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่ชุดเอกสารลับกว่า   11.5 ล้านฉบับรั่วออกจากสำนักกฎหมายและผู้ให้บริการวางแผนธุรกิจสัญชาติปานามา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ 'Panama Papers'เอกสารลับการฟอกเงินและเลี่ยงภาษีคนดังทั่วโลก เกิดขึ้นจาก International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) ร่วมมือกับนักข่าวจำนวนมาก โดยใช้เวลาร่วม 1 ปี คลี่คลายข้อมูลกว่า 2.6 เทราไบต์ จนนำไปสู่การสั่นคลอนของวงการธุรกิจและการเมืองในระดับโลก

Sasha Chavkin หนึ่งในทีมงานที่จัดการข้อมูล และทำงานร่วมมือกับนักข่าวในหลายๆ ประเทศจากทั่วโลก เห็นว่าความสำคัญของการทำข่าวในยุคปัจจบัน ห้องข่าวควรให้ความสำคัญกับการข่าวต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอเมริกา ที่มีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจโลก ไม่เพียงแต่จะทำให้ข่าวที่ถูกนำเสนอออกไป มีเสียงจากผู้คนอื่นๆ แต่ยังขยายการรับรู้ (expand) ที่อาจช่วยเปิดพรมแดนความรู้ของชาวอเมริกัน ซึ่งนั่นเป็นคุณค่าข่าวที่เราควรตระหนักอยู่ตลอดเวลา

Sasha Chavkin นักข่าว International Consurtium of Investigative Journalists (ICIJ) หนึ่งในผู้ผลิตซีรีย์ "Panama Papers"

"เรามองด้วยสายตาของอเมริกันชน มองเท่าไหร่ก็ยังมองได้ในกรอบเดิม กรณีของ Panama Paper แสดงให้เห็นชัดว่า เราทำงานคนเดียวไม่ได้ เราต้องอาศัยความร่วมมือจากนักข่าว นักเจาะ โปรแกรมเมอร์ นักจารกรรมข้อมูล และอีกหลายๆ นัก ที่จะทำภารกิจสักชิ้น กรณีของผมมันสำเร็จได้ด้วยเหตุนี้ นักข่าวอเมริกันต้องคิดใหม่ได้แล้ว ถ้าทำประเด็นใหญ่ๆ แล้วทำกันเอง ก็อ่านกันเอง กรณีของเรา (Panama Papers) น่าจะเป็นบรรทัดฐาน (standard) ที่ดีให้กับสื่ออเมริกันว่าต้องร่วมมือกับนักข่าวแบบไร้พรมแดน (Cross-border Journalism) จึงจะได้ข่าวที่มีเนื้อหาหลุดไปจากข่าวแบบอเมริกันรูทีน"

 "ความท้าท้ายของสื่อทางเลือกอเมริกัน ท่ามกลางขาลงของสื่อกระแสหลัก แม้การมาของทรัมป์ จะไม่ได้สร้างปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกมากนัก แต่ความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลัก ก็ถูกตั้งคำถามไว้ไม้น้อย" Chavkin กล่าวทิ้งท้าย 

หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นจากคำสัมภาษณ์ในภาษาอังกฤษ จึงจำเป็นต้องวงเล็บคำสำคัญบางคำ เพื่อคงไว้ซึ่งความหมายตามที่ผู้ให้สัมภาษณ์ได้กล่าวไว้ รวมถึงกรณีที่คำในภาษาไทยอาจไม่ครอบคลุม

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 
จับตา: ความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักต่อชาวอเมริกัน ลดลงต่อเนื่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชัย ศรีสุทธิยากร

Posted: 11 Jun 2017 06:01 AM PDT

"ะการลงมติของ สนช.ในการเซ็ตซีโร่ กกต. คือ ตราบาปสำคัญกับการเมืองไทยที่ไม่ต่างอะไรกับการลงมตินิรโทษสุดซอยที่อาศัยอำนาจและเสียงข้างมากที่ฝ่ายตนมีกระทำการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน" 

กกต.ด้านบริหารกลาง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Srisutthiyakorn Somchai เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.60

หมายเหตุประเพทไทย #161 ความเป็นอนิจจังของโรงหนังสแตนด์อะโลน

Posted: 11 Jun 2017 04:21 AM PDT

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ พาไปชมกำเนิดวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในประเทศไทยซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มแรกมีการนำภาพยนตร์จากต่างประเทศโดยเฉพาะจากตะวันตก ยกเว้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เหลือแต่ภาพยนตร์จากญี่ปุ่น ก่อนที่หลังสงครามโลกจึงจะกลับมาเป็นยุคของ "หนังฮอลลีวูด" อีกครั้ง ส่วนภาพยนตร์ไทยมีการนำมาฉายบ้าง แต่เมื่อนำมาฉายก็มักถูกโห่จากผู้ชมในโรงเนื่องจากฉากไม่สมจริง เช่น ฉากเมืองจีนแต่ถ่ายที่สำเพ็ง หรือฉากวังแต่ถ่ายที่วัดโพธิ์ ฯลฯ และจากปัญหาการไม่รับหนังไทยมาฉายในโรง จึงนำมาสู่การตั้ง "สมาคมส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ไทย" ช่วง พ.ศ. 2499

ชานันท์ยังกล่าวถึงยุคขยายตัวของโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลน ทั้งยุคศาลาเฉลิมกรุง และศาลาเฉลิมไทย โดยการสร้างโรงภาพยนตร์ที่เริ่มจากในกรุงเทพฯ ได้ขยายตัวไปในจังหวัดหัวเมือง พร้อมๆ ไปกับการฉาย "หนังขายยา" ในพื้นที่ชนบท ก่อนที่ต่อมาโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนจะทยอยเลิกกิจการ แทนที่ด้วยโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ที่เปิดในห้างสรรพสินค้า รวมถึงการรับชมภาพยนตร์ผ่านเว็บไซต์อย่าง Netflix ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการชมภาพยนตร์ได้กลายเป็นมหรสพหนึ่งคู่สังคมไทย นับเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งในแง่มุมของประวัติศาสตร์สังคม

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หญิงชนพื้นเมืองเม็กซิโก ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ที่น่าจับตา

Posted: 11 Jun 2017 01:21 AM PDT

เม็กซิโกกำลังจะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีกันในปี 2561 ที่จะถึงนี้ หนึ่งในผู้ลงสมัครเป็นชนพื้นเมืองหญิงผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของชนพื้นเมือง สิ่งแวดล้อม และสิทธิสตรี ถึงแม้ว่าแนวทางต่อต้านทุนรุกคืบชุมชนของเธอจะไม่ได้รับความนิยมนักในการเมืองระดับสูงของเม็กซิกัน แต่การเลือกตั้งในหลายที่ก็เริ่มมีกระแสไม่ไว้ใจอำนาจนำดั้งเดิม รวมถึงเป้าหมายของเธอยังเน้นเพื่อให้กลุ่มชนพื้นเมืองได้มีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยมากกว่าจะเน้นเรื่องคะแนนเสียง

 
11 มิ.ย. 2560 เป็นครั้งแรกในรอบ 145 ปี ที่เม็กซิโกมีผู้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นหญิงชนพื้นเมือง เธอมีชื่อว่ามารีอา เดอ เฮซุส พาทริซิโอ หรือที่รู้จักในชื่อชนพื้นเมืองคือ "มารีชุย" เธอเป็นหมอชาวบ้านของชนพื้นเมืองนาฮัว อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฮาลิสโก ประเทศเม็กซิโก แต่สื่อวิทยุสาธารณะระหว่างประเทศ (PRI) ก็ระบุว่าสิ่งที่ทำให้เธอโดดเด่นออกมาจากผู้ลงสมัครเลือกตั้งรายอื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่การที่เธอเป็นผู้หญิงหรือการที่เธอเป็นชนพื้นเมืองเท่านั้น
 
พาทริซิโอไม่ได้มีพรรคการเมืองใดหนุนหลังแต่มีผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มสภาชนพื้นเมืองแห่งชาติเม็กซิโก (Indigenous National Congress) ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของหลายชนชาติและชนพื้นเมืองทั่วเม็กซิโก พาทริซิโอให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายของเธอหลักๆ แล้วเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ชุมชนชนพื้นเมืองของเธอเผชิญอะไรหนักๆ มาหลายปีแล้วทำให้เธอคิดว่าต้องหาวิธีทำให้กลุ่มชนพื้นเมืองอยู่รอด
 
อย่างไรก็ตามพาทริซิโอก็ไม่แค่มุ่งหวังทำไปเพื่อชนพื้นเมืองเท่านั้นแต่ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวเม็กซิกันจากทุกภาคส่วนของสังคมและพวกเขาจะร่วมกันเพื่อสามารถ "ทำลายระบบ" ที่ข่มเหงทำให้พวกเขาเข้าตาจน
 
พาทริซิโอยังได้รัการสนับสนุนจากกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตาที่เป็นขบวนการต่อต้านชื่อดังจากรัฐเชียปัสที่เคยเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มชนพื้นเมืองมาก่อน ลักษณะการหาเสียงเชิงนโยบายของพาทริซิโอก็เป็นไปในทางสนับสนุนกลุ่มคนระดับล่างทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของเม็กซิโกแบบเดียวกับซาปาติสตา คือการเน้นปรัชญาการบริหารระดับพื้นเมืองและแนวคิดแบบชุมชนนิยม แนวทางแบบนี้มาในช่วงที่กลุ่มชนพื้นเมืองกำลังต่อสู้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินตัวเองจากกลุ่มที่ต้องการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในผืนดินบรรพบุรุษของพวกเขา
 
มารีชุยมีบทบาทเป็นหมอชาวบ้านที่ใช้สมุนไพรในป่าและผืนดินของชนพื้นเมืองเพื่อรักษาผู้คนจึงเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และมองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมชนพื้นเมือง นอกจากนี้เธอยังเคยเข้าร่วมจัดตั้งกลุ่มสภาชนพื้นเมืองแห่งชาติเม็กซิโกซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากซาปาติสตาด้วย ในปี 2544 เธอเคยขึ้นพูดต่อหน้าสภานิติบัญญัติระดับชาติในเม็กซิโกซิตี้เกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้หญิงชนพื้นเมืองทั้วประเทศซึ่งสมาชิกสภาส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมเข้าประชุมเรื่องนี้
 
ตัวพาทริซิโอก็เรียกตัวเองว่าเป็น "โฆษก" มากว่า "ผู้แทน" เป็นการสะท้อนลักษณะส่งคนที่ผู้คนที่ส่วนร่วมกันทั้งหมดในชุมชนแทนลักษณะแบบพรรคการเมืองแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังนำปรัชญาแบบของสภาชนพื้นเมืองที่เน้นการรวมกลุ่มมากกว่าเน้นตำแหน่งของคนๆ เดียว และเน้นการทำงานจากระดับล่างแต่ไม่เน้นการปีนขึ้นไปอยู่เหนือคนอื่น
 
เบตตินา ครูซ สมาชิกกลุ่มสภาชนพื้นเมืองซึ่งเป็นชาวบินนีซาบอกว่าพวกเขาไม่ได้เน้นการได้รับคะแนนเสียง แต่ต้องการใช้เวทีเลือกตั้งเป็นฐานในการจัดตั้งรากหญ้าทั่วประเทศ และต้องการเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยมีข้อเสนอการกอบกู้ประเทศและอารยธรรมจากความเสียหายทั้งหลายที่มีคนเคยก่อไว้
 
ท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดครองพื้นที่ของชนพื้นเมืองโดยกลุ่มรัฐบาลเพื่อสร้างอาคารลำเลียงหรือให้อนุญาตการทำเหมืองโดยไม่ถามคนในพื้นที่ ทำให้การรณรงค์หาเสียงของพวกเขาแสดงการต่อต้านทุนนิยมอย่างเปิดเผยซึ่งมีความสำคัญเพราะถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการต่อต้านทุนนิยมจะไม่ได้รับความนิยมนักในการเมืองระดับบนของเม็กซิโก แต่เมื่อดูจากเทรนด์ความไม่พอใจในการเลือกตั้งหลายที่ในโลกเมื่อไม่นานมานี้แล้ว การหาเสียงต้านทุนนิยมก็อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นไม่ไม่ได้เสียทีเดียว
 
มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเม็กซิโกปี 2561 ฝ่ายซ้ายของเม็กซิกันอย่าง อังเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ อาจจะมาแรง หลังจากที่พรรคโมเรนาของเขากลายเป็นข่าวใหญ่ในการลงคะแนนระดับรัฐเมื่อปี 2559 นอกจากนี้เมื่อประเมินการที่ชาวเม็กซิกันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยเพียง 1 ใน 3 รวมถึงโหวตเพื่อประท้วงด้วยการทำบัตรเสียจำนวนมากแล้ว ก็เป็นไปได้ที่คนกลุ่มนี้อาจจะมาลงคะแนนให้พรรคที่ไม่เป็นกระแสหลักมากขึ้น
 
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Mexico has its first indigenous woman candidate for president, PRI, 02-06-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือยันแก้กฎหมายบัตรทองแล้วแย่อย่าแก้ดีกว่า

Posted: 11 Jun 2017 01:07 AM PDT

11 มิ.ย. 2560 เวลาประมาณ 11.30 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างกว่า 300 คนที่มาร่วมเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ภาคเหนือ ที่ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ....โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธาน พร้อมใจกันเดินออกจากห้องประชุม (Walkout) และร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืนคัดค้านกระบวนการแก้กฎหมายที่ทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) บริเวณหน้าห้องประชุมศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ 
 
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ตัวแทนกลุ่มคนหลักรักประกันสุขภาพภาคเหนือ กล่าวว่า จากการติดตามการแก้กฎหมายบัตรทองอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น เห็นได้ชัดว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์กับระบบ ไม่มีความชอบธรรมทั้งในแง่กระบวนการแก้ไขกฎหมายและเนื้อหาที่ทำลายหลักการของระบบบัตรทองและลิดรอนสิทธิประชาชนอย่างมาก
 
อีกทั้งกระบวนการเปิดรับฟังความเห็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการอธิบายในเชิงแนวคิดและลงลึกในเชิงสาระสำคัญของเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง กลับถูกจำกัดเวลาในการแสดงความคิดเห็นได้เพียงคนละ 3 นาทีเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการจัดเวทีเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้ครบกระบวนตามที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเชิงรายละเอียดใดใดเลย 
 
ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือจึงมีมติร่วมกันว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ "ต้องยุติ" และให้ "เริ่มต้น" กระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ทั้งหมด โดยต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายให้สมดุลและต้องมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
 
ที่สำคัญต้องจัดให้กระบวนการรับฟังความเห็นต่อการแก้กฎหมายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม และเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์
 
นางกิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ กลุ่มคนหลักประกันสุขภาพเครือข่ายชาติพันธุ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในการแก้ไขกฎหมายว่า ในมาตรา 5 ที่ระบุให้คนไทยทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยเข้าถึงหลักประกันสุขภาพนั้นดีอยู่แล้วในเชิงหลักการ แต่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความไว้เมื่อปี พ.ศ. 2545 ว่าคนไทยในที่นี้หมายถึงคนที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักที่มีสัญชาติไทย ทำให้คนไทยส่วนหนึ่ง เช่น คนไทยตกหล่น คนที่รอพิสูจน์สัญชาติ รอพิสูจน์สถานะบุคคลไม่ได้รับสิทธิตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
 
ถึงแม้ปัจจุบันกลุ่มคนดังกล่าวจะมีนโยบายให้สิทธิคืนสิทธิขั้นพื้นฐานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 อยู่แล้ว แต่กองทุนดังกล่าวเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีที่รัฐบาลจะยกเลิกเมื่อใดก็ได้ อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมกองทุนโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเมื่อผู้รับบริการได้รับความเสียหาย และไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทั้งที่คนกลุ่มเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงกับความเจ็บป่วย แต่ประเด็นดังกล่าวกลับถูกละเลยอย่างน่าเสียดาย
 
ส่วนประเด็นการนิยาม "สถานบริการ" ที่การแก้กฎหมายครั้งนี้มีความพยายามจะรวมศูนย์อำนาจด้านการจัดการสุขภาพไว้ที่หน่วยบริการเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำงานด้านสุขภาพไม่ใช่แค่การรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา และคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการด้านสุขภาพก็มีทั้งสถานบริการสุขภาพของรัฐ เอกชน สถานพยาบาลของชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรศาสนา และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เป็นการยกระดับให้ "งานสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน" การแก้กฎหมายครั้งนี้จึงเป็นการตัดทิ้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการส่งเสริมและร่วมจัดบริการสุขภาพอย่างชัดเจน 
 
นายวุฒิกร พุทธิกุล ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.น่าน ตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้มีความชอบธรรมมาตั้งแต่แรก เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่กระบวนการแก้ไขกฎหมายที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด 27 คน เป็นฝ่ายผู้จัดบริการ 7 คน ที่เหลือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ภาคประชาชนมีเพียง 2 คนเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน 48 ล้านคน และถึงแม้ภาคประชาชนจะเสนอให้ปรับสัดส่วนของคณะกรรมการให้สมดุลกันก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด 
 
สำหรับเนื้อหาในร่างกฎหมายไม่เห็นด้วยที่จะให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการทั้งในส่วนคณะกรรมการ (บอร์ด) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เช่น เสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาเป็นรองประธาน และมีคณะกรรมการจากหน่วยให้บริการเพิ่มมาอีก 7 ที่นั่ง แต่ภาคประชาชนมีจำนวนเท่าเดิมคือ 5 คน ตัวแทนท้องถิ่นถูกลดจำนวนลงในบอร์ดหลักประกันสุขภาพ เท่ากับเป็นการแทรกแซงและทำลายหลักการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการ (กระทรวงสาธารณสุข) และผู้ซื้อบริการแทนประชาชน (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ: สปสช.)  และไปเพิ่มอำนาจให้หน่วยบริการมาทำหน้าที่ "คิดแทน" ความต้องการของประชาชน 
 
นางนิตยา สิทธิหงส์ เครือข่ายผู้บริโภค จ.พิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการแก้กฎหมายควรใส่ใจกับหลักการที่ให้ประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน ด้วยการตัดวรรคสองในมาตรา 5 ออกไปทั้งหมด ไม่ให้มีการกำหนด "การร่วมจ่าย" ณ จุดบริการ เพราะจะลดทอนโอกาสในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชน ต้องกลับไปสู่ยุคก่อนมีบัตรทอง ใครมีเงินก็ได้รับการรักษา ส่วนคนไม่มีเงินก็ต้องรอสงเคราะห์หรือต้องขายทรัพย์สินเพื่อหาเงินมาเยียวยาตัวเองหรือคนในครอบครัว ทั้งที่การรักษาพยาบาลต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับจากรัฐอย่างถ้วนหน้าและมีมาตรฐาน ที่สำคัญประชาชนก็ร่วมจ่ายผ่านระบบการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว
 
นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่าก่อนมีระบบบัตรทองผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี เพราะโรงพยาบาลไม่ได้สำรองยาไว้เนื่องจากมีราคาแพง ต้องยืมยากันระหว่างโรงพยาบาลทำให้ผู้รับบริการบางรายต้องมารับยารายวัน รายสัปดาห์ เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางอย่างมาก
 
แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อยารวม โดยดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ต่อรอง เจรจา จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีราคาแพง เช่น ยารักษาโรคเรื้อรัง ยาละลายลิ่มเลือด ยากำพร้า ยาต้านพิษ ฯลฯ แล้วกระจายยาไปในหน่วยบริการที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้ผู้ป่วยไม่พบปัญหายาขาดแคลนเหมือนในอดีต อีกทั้งสปสช. ยังสามารถต่อรองราคายาได้ลดลงถึงร้อยละ 60 – 70 ของราคาขาย ทำให้ประเทศชาติประหยัดงบประมาณได้มาก ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขต่อรองราคายาได้ไม่เกินร้อยละ 5
 
อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายครั้งนี้กลับไม่ระบุอำนาจให้ สปสช. ทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งที่ประชาชนได้ประโยชน์จากการจัดซื้อยารวม อีกทั้งยังเคยมีหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบก็พบว่าโปร่งใส ต่างจากกระทรวงสาธารณสุขที่เคยมีปัญหาอดีตรัฐมนตรีทุจริตการจัดซื้อยา ดังนั้น ภาคประชาชนจึงกังวลว่าหากให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดำเนินการแทนแล้วจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนโดยตรงเหมือนในอดีต
 
อีกประเด็นหนึ่งคือการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครตำแหน่งเลขาธิการที่เดิมทีไม่เปิดโอกาสให้คู่สัญญา หรือมีประโยชน์ได้เสียกับ สปสช. (ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) ไม่สามารถสมัครเป็นเลขาธิการได้ แต่ตอนนี้กลับเปิดช่องให้ทั้งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกกรม กอง และภาคเอกชน องค์กรเอกชน สามารถเข้ามาสมัครได้ โดยไม่ขัดคุณสมบัติเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเข้ามายึดพื้นที่ของ สปสช. ในฐานะฝ่ายที่ให้บริการกับประชาชน จึงเห็นว่าถ้าแก้กฎหมายแล้วแย่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่าแก้ดีกว่า
 
หลังจากนั้นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือจึงแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความสงบ ในขณะที่การรับฟังความเห็นในห้องประชุมยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีใครขัดขวางการจัดเวทีแต่อย่างใด
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น