โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อรอนงค์ ทิพย์พิมล: การเมืองเรื่องกฎหมายชารีอะห์ในอาเจะห์

Posted: 05 Jun 2017 09:03 AM PDT

ที่มาของการใช้กฎหมายอิสลาม หรือชารีอะห์ ในดินแดนอาเจะห์ ทางตะวันตกของอินโดนีเซีย ที่เกิดจากบทบาทของกลุ่มอุลามาอฺ หรือผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางของอินโดนีเซียในยุคปฏิรูปอนุมัติข้อเรียกร้องนี้ และประเด็นกฎหมายอิสลามนี้เองที่กลายมาเป็นอาวุธทางการเมืองเล่นงานคู่ต่อสู้ในอาเจะห์ ในขณะที่กลุ่มเรียกร้องเอกราชอาเจะห์ หรือ GAM ที่มีข้อเสนอเรื่องสิทธิเหนือดินแดน รวมทั้งเรียกร้องการลงประชามติ กลับไม่เคยเรียกร้องได้สำเร็จจากรัฐบาลอินโดนีเซีย

Banda Aceh (ที่มาของภาพประกอบ: Arto Marttinen/Wikipedia)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการบทบาทของกลุ่มอุลามาอฺในอาเจะห์ ดินแดนที่เคยเป็นรัฐเอกราช ต่อมาถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ในวงเสวนาหัวข้อ "การเมืองเรื่องกฎหมายชารีอะห์ ในอินโดนีเซีย" ซึ่งจัดเมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อรอนงค์นำเสนออย่างเจาะลึกถึงบทบาทของกลุ่มอุลามาอฺต่างๆ เกี่ยวกับความพยายามในการประกาศใช้กฎหมายอิสลาม หรือ กฎหมายชารีอะห์ ตั้งแต่ยุคสุลต่าน ยุคอาณานิคมฮอลันดา ยุคอาณานิคมญี่ปุ่น ยุคช่วงเริ่มการถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ยุคระเบียบใหม่ ยุคการปฏิรูปประเทศ จนถึงยุคปัจจุบัน

อรอนงค์นำเสนอไว้ว่า จากหนังสือต่างๆ ที่ได้พูดถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเด็นนี้ ส่วนใหญ่จะสรุปเหมารวมว่าเป็นกลุ่มอุลามาอฺ ซึ่งมันไม่ชัดเจนว่าเป็นอุลามาอฺกลุ่มไหน เพราะกลุ่มอุลามาอฺในอาเจะห์ก็มีอยู่หลายกลุ่มที่ต่อมาได้ปรับตัวมาต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ โดยสลับอำนาจกันไปมาตามความสามารถและโอกาสทางการเมืองในช่วงยุคสมัยต่างๆ จนสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มอุลามาอฺที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์ คือ กลุ่มอุลามาอฺมัดราซะฮ์ ที่ผันตัวเองมาเป็นกลุ่มอุลามาอฺกัมปุสในที่สุด

 

ยุคสุลต่าน ช่วงศตวรรษที่ 17 - กฎหมายอิสลามกับกฎจารีต

ยุคที่มีการบันทึกว่าอาเจะห์มีการใช้กฎหมายอิสลาม หรือ กฎหมายชารีอะฮ์ (Syariah) คือ ช่วงปี ค.ศ.1607–1636 หรือยุคของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา (Sultan Iskandar Muda) กับช่วงปี ค.ศ.1636–1641 หรือสุลต่านอิสกันดาร์ ตานี (Sultan Iskandar Tani) หรือช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีหลักฐานที่เขียนโดยอุลามาอฺ ซึ่งเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม หรือ ผู้รู้ศาสนาอิสลาม และการบันทึกจากนักเดินทางชาวต่างชาติที่เข้ามาในอาเจะห์ในช่วงเวลานั้น โดยถูกค้นพบทั้งตำราด้านกฎหมายและศาสนา เช่น มีรูปวาดที่คนอาเจะห์ถูกตัดมือ ตัดขา หรือรูปแบบการลงโทษผู้ที่ลักขโมยด้วยกฎหมายอิสลาม

พบหลักฐานเกี่ยวกับโครงสร้างของศาลที่ใช้ในยุคดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ศาลส่วนกลางกับศาลท้องถิ่น โดยจะมีสุลต่าน (กษัตริย์) เป็นศูนย์กลางอำนาจและใช้อำนาจผ่านอูแลบาลัง (Uleebalang) กับอุลามาอฺ (Ulama) ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจในสังคมอาเจะห์ขณะนั้น โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี

มีบันทึกจากนักเดินทางชาวต่างชาติว่า ศาลที่อาเจะห์มีการดำเนินคดีต่อชาวต่างชาติด้วยข้อหาที่ไม่ยอมนับถือศาสนาอิสลามจึงถูกจับขัง ซึ่งเห็นได้ว่าในยุคนั้นมีการผสมผสานกับสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายจารีต หรือ อาดัต (Adat) เข้าไปด้วย เพราะในตัวบทกฎหมายอิสลามจะไม่มีบทลงโทษเกี่ยวกับการบังคับนับถือศาสนา

ในสังคมอาเจะห์ขาให้ความสำคัญต่อเรื่องจารีตนิยมมาก จนทุกวันนี้ยังเห็นได้ทั่วไปจากแผ่นป้ายริมถนน แสดงให้เห็นว่าที่อาเจะห์นอกจากด้านความเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดแล้ว กฎจารีตก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน

 

ยุคภายใต้อาณานิคมฮอลันดา - อุลามาอฺมัดราซะห์ - สร้างระบบการศึกษาใหม่

ระบบศาลและการลงโทษเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากอาณาจักรอาเจะห์ล่มสลายจากการแพ้สงครามที่ยาวนานถึง 30 ปี กับประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ ฮอลแลนด์ หรือ ฮอลันดา

สิ่งที่ฮอลันดาทำ คือ สร้างระบบศาลใหม่ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการทำลายโครงสร้างอำนาจเก่าระหว่างสุลต่าน อูแลบาลัง และอุลามาอฺ โดยเพิ่มบทบาทให้อูแลบาลัง ในขณะเดียวกันก็ลดบทบาทของอุลามาอฺเป็นเพียงที่ปรึกษา แต่ศูนย์กลางอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ฮอลันดา

อุลามาอฺถูกลดอำนาจลงเพราะเป็นกลุ่มอำนาจกลุ่มเดียวที่ต่อต้านและต่อสู้กับฮอลันดาอย่างหนักมาตลอด ในขณะที่อูแลบาลังยอมสยบต่ออำนาจของฮอลันดา ส่วนสุลต่านก็ถูกเนรเทศไป

วิธีการต่อสู้ของกลุ่มอุลามาอฺ คือ การลอบฆ่าชาวฮาลันดาเป็นรายบุคคล จนมีการเขียนบันทึกว่ากลุ่มอุลามาอฺมีความผิดปกติทางด้านจิตใจหลังจากสูญเสียอำนาจไป ทำให้ฮอลันดาทำการปรามปราม ควบคุม รวมไปถึงการเพ่งเล็งกลุ่มนี้อย่างหนัก ผลที่ตามมา คือ สถาบันปอเนาะ (สถาบันสอนศาสนาอิสลาม) ถูกเผา ถูกทำลาย และค่อยๆ เสื่อมลงไปในที่สุด

ในขณะเดียวกันฮอลันดาก็นำระบบการศึกษาแบบตะวันตกพร้อมเปิดโรงเรียนใหม่ขึ้นมาในอาเจะห์ และออกกฎหมายบังคับลงโทษพ่อแม่ที่ไม่ยอมส่งลูกไปโรงเรียนของเขา เพราะชาวอาเจะห์ไม่ยอมส่งลูกไปเรียน มีการต่อต้านระบบการศึกษาของฮอลันดาโดยใช้วาทกรรมโรงเรียนกาฟิร (นอกศาสนา) ในการรณรงค์ห้ามส่งลูกไปเรียน

ปี ค.ศ.1920 กลุ่มอุลามาอฺได้สร้างระบบการศึกษาแบบใหม่ เรียกว่า มัดราซะห์ (Madrasah) หรือ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่บูรณาการหลักสูตรจากการสอนวิชาศาสนาอย่างเดียว เป็นการสอนควบคู่กันระหว่างภาควิชาศาสนาและสามัญ ระบบการศึกษาแบบนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น มีการเปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนต่อมากลายเป็นกลุ่ม "อุลามาอฺมัดราซะห์ (Ulama Madrasah) "

 

ยุคอาณานิคมญี่ปุ่น - อุลามาอฺปูซา - ร่วมมือซูการ์โนขับไล่ฮอลันดา

ปี ค.ศ.1939 ผู้นำอุลามาอฺที่เป็นผู้บริหารตามโรงเรียนต่างๆ มีการนัดประชุมกันครั้งแรกหลังจากมีปัญหาเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนที่ต่างกัน ผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ คือ มติเห็นควรที่ต้องก่อตั้งองค์กรร่มในการขับเคลื่อน โดยใช้ชื่อว่า "สมาคมอูลามาอฺแห่งอาเจะห์ (Persatuan Ulama Seluruh Aceh - PUSA)" หรือ "อุลามาอฺปูซา" มีพันธกิจในการสร้างและควบคุมระบบการเรียนการศึกษาในรูปแบบมัดราซะห์ให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ ตึงกู ดาวูด เบอเรอเอะห์ (Tengku Daud Beureueh)

ต่อมาหลังการก่อตั้งองค์กรอุลามาอฺปูซา โดยการรวมกลุ่มของกลุ่มอุลามาอฺมัดราซะห์ ทำให้กลุ่มนี้ค่อยๆ มีอิทธิพลมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมอาเจะห์ อีกทั้งยังมีการก่อตั้งองค์กรฐานขึ้นมาอีกมากมาย เช่น องค์กรเยาวชนปูซา (Pemuda PUSA) และองค์กรสตรีปูซา (Pemudi PUSA) เป็นต้น

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มองค์กรอุลามาอฺปูซาได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีเจตนารมณ์เพื่อขับไล่อาณานิคมฮอลันดาออกจากอาเจะห์

ญี่ปุ่นตกลงเข้าไปหนุนเสริมจนทำให้อุลามอฺกลุ่มนี้มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น

ต่อมาซูการ์โน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซียคนแรกได้ทำข้อตกลงกับชาวอาเจะห์ในการร่วมกันขับไล่ฮาณานิคมฮอลันดา โดยแลกกับการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์หลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราช


 

ยุคซูการ์โน – ขบวนการดารุลอิสลาม - สัญญาสงบศึก

ปี ค.ศ.1949 สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์โดยการยอมรับจากฮอลันดา แต่ซูการ์โนกลับไม่ทำตามสัญญาอีกทั้งยังมีการผนวกอาเจะห์ให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซียอีกด้วย ทำให้อุลามาอฺมัดราซะห์จากองค์กรอุลามาอฺปูซาค่อยๆ สลายตัวไปพร้อมๆ กับอำนาจที่เคยมีอยู่

ปี ค.ศ. 1949 ชาวชวานำโดยเอส เอ็ม การ์โตซูวีโยร์ (S.M.Kartosoewirjor) ได้ก่อตั้ง "ขบวนการดารุลอิสลาม" (The Darul Islam Movement) ขึ้นมาในอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มที่ต้องการให้สาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลามแทนระบบปัจจุบัน

ปี ค.ศ.1953 กลุ่มอุลามาอฺมัดราซะห์ที่เคยมีบทบาทในองค์กรอุลามาอฺปูซาบางคนได้เข้าร่วมกับขบวนการดังกล่าว แต่บางคนกลับไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอุลามาอฺที่ชื่อว่า อาบูยา มูดา วาลี (Abuya Muda Wali) เพราะเขาถือว่าการต่อต้านผู้นำที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกันมันผิดต่อหลักการศาสนาอิสลามซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ขบวนการดารุลอิสลามในอาเจะห์ดำเนินการต่อสู้อยู่นานหลายปีและจบลงด้วยการเซ็นสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลจาการ์ตากับฮาซัน สาเละห์ (Hasan Saleh) ซึ่งเคยเป็นสมาชิกขององค์กรอุลามาอฺปูซาด้วย

แต่ ตึงกู ดาวูด เบอเรอเอะห์ ผู้นำองค์กรอูลามาอฺปูซา กลับสู้ต่อร่วมกับขบวนการดารุลอิสลามจนถึงปี ค.ศ.1962 หลังจากเอส เอ็ม การ์โตซูวีโยร์ ผู้นำขบวนการดารุลอิสลามอินโดนีเซียถูกรัฐบาลจาการ์ตาจับกุมและประหารชีวิต

ในสัญญาสงบศึกระบุว่า รัฐบาลจาการ์ตาให้การรับรองเรื่องสิทธิพิเศษโนใน 3 ด้าน คือ ด้านศาสนา จารีต และการศึกษา ซึ่งสัญญาฉบับนี้สามารถตีความถึงการอนุญาตการประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ด้วย

แต่เนื่องด้วยยุคประธานธิบดีซูการ์โนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมีความพยายามทำรัฐประหารยึดอำนาจของเขาด้วย จนมีการละเลยต่อสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาวอาเจะห์์อีกครั้ง ซึ่งชาวอาเจะห์์ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์การทรยศครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลจาการ์ตาทำกับอาเจะห์ มีการเล่าขานต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ข้อสังเกตก็คือ ทำไมองค์กรอุลามาอฺปูซา ไม่ช่วงชิงโอกาสใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์หลังจากปี ค.ศ.1945 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม เพราะในช่วงเวลานั้นกลุ่มอูลามาอฺกลุ่มนี้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลจาการ์ตาก็อ่อนแอมาก


 

ยุคซูฮาร์โต - อุลามาอฺดายาห์ - สภาอุลามาอฺ

ผลจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของรัฐบาลประธานาธิบดีซูการ์โน ทำให้ซูฮาร์โต ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปถือโอกาสนี้ในการกล่าวหาพรรคคอมมิวนิสต์โดยการรับลูกจากการฟัตวา หรือ การพิพากษาของกลุ่มอุลามาอฺดายาห์ (Ulama Dayah) หรือ กลุ่มอุลามาอฺที่สอนตามสถาบันปอเนาะต่างๆ ในอาเจะห์ว่า พรรคคอมมิวนิสต์เป็นองค์กรที่ผิดต่อหลักการศาสนาอิสลาม นำมาสู่การกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวาง

ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีซูฮาร์โตได้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอุลามาอฺดายาห์และมอบอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมสภาอุลามาอฺที่ก่อตั้งโดยกลุ่มอุลามาอฺกลุ่มนี้

ผลหลังจากนั้นมีการก่อตั้งสภาอูลามาอฺทั่วประเทศในอินโดนีเซียมีการทำงานเป็นเครือข่ายโดยมีสภาอุลามาอฺจาการ์ตาเป็นศูนย์กลาง

กลุ่มอุลามาอฺสายต่างๆ ในอาเจะห์ถูกควบคุมโดยสภาอูลามาอฺผ่านการให้งบประมาณ ฉะนั้นการดำเนินงานต่างๆ ก็จะอยู่ภายใต้การดูแลของสภาอูลามาอฺจาการ์ตาที่รับนโยบายจากรัฐบาลจาการ์ตาอีกทีหนึ่ง

ในขณะเดียวกันกลุ่มอูลามาอฺมัดราซะห์มีการพัฒนาศักยภาพกลุ่มตัวเองอย่างต่อเนื่องจนสามารถผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ จนกลายเป็นกลุ่ม "อุลามาอฺกัมปุส (Ulama Kampus)" ในเวลาต่อมา

กล่าวโดยสรุปในยุคระเบียบใหม่ รัฐบาลกลางสามารถคุมอุลามาอฺทั้งสองกลุ่มได้เบ็ดเสร็จผ่านโครงสร้างสภาอุลามาอฺและโครงสร้างสถาบันการศึกษาของรัฐ


 

ยุคการปฏิรูป - อุลามาอฺกัมปุส - ขบวนการอาเจะห์เอกราช (GAM)

แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์ (Gerakan Aceh Merdeka ; GAM) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1976 โดย ฮาซัน ดี ติโร (Hasan Di Tiro) ที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านองค์สุดท้ายของอาเจะห์

กลุ่ม GAM ชูข้อเสนอเรื่องสิทธิเหนือดินแดน ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีความประสงค์ที่จะแยกอาเจะห์ออกจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย แต่จะไม่เคยชูเรื่องกฎหมายอิสลามในการต่อสู้ อาจเป็นเพราะเขาต้องการเสียงสนับสนุนจากโลกตะวันตก

กลุ่ม GAM ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุลามาอฺดายาห์บางส่วน แต่กลุ่มอุลามาอฺกัมปุสไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนี้ โดยให้เหตุผลว่า GAM เป็นขบวนการที่ก่อความวุ่นวายด้วยการใช้ความรุนแรง

ช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลยุคการปฏิรูปได้ดำเนินนโยบายการการกระจายอำนาจทั่วทั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีการพิจารณาอนุมัติการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์ แต่ชาวอาเจะห์กลับต้องการสิ่งอื่นแทน คือ สิทธิเหนือดินแดน โดยการนำของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องการลงประชามติให้อาเจะห์ได้รับเอกราชจากสาธารณรัฐอินโดนีเซียแต่ไม่สำเร็จ

ปี ค.ศ.1999 รัฐบาลออกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 44 ความว่า "ให้เพิ่มบทบาทกับอุลามาอฺอาเจะห์อย่างเต็มที่" ซึ่งความหมายของคำว่า "อุลามาอฺ" ในตัวบทกฎหมายจากที่ได้การศึกษาจะหมายถึงอูลามาอฺดายาห์ หรือกลุ่มอุลามาอฺที่สอนตามสถาบันปอเนาะต่างๆ

แต่ปรากฎว่ากลุ่มอุลามาอฺที่เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายกลับเป็นกลุ่มอุลามาอฺกัมปุส หรือกลุ่มอุลามาอฺที่เป็นอาจารย์สอนตามมหาวิทยาลัย

ฉะนั้นสามารถสรุปได้ว่า ประเด็นเรื่องกฎหมายอิสลามในอาเจะห์เป็นเรื่องการเมืองที่ฝ่ายต่างๆ นำมาใช้หาเสียงหรือทำลายคู่ต่อสู้ หรือ ฝ่ายตรงข้าม

แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์เป็นผลจากการต่อสู้ของกลุ่มอุลามาอฺไม่ใช่กลุ่ม GAM ซึ่งกลุ่มอุลามาอฺที่ประสบความสำเร็จในการฉวยโอกาสตรงนี้คือ กลุ่มอุลามาอฺกัมปุส หรือกลุ่มอุลามาอฺที่เป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

เริ่มต้นจากการร่างตัวบทกฎหมายอิสลาม นำเสนอ และควบคุมการใช้กฎหมายอิสลามในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สรุป คือ กลุ่มอูลามาอฺดายาห์ หรือ อูลามาอฺที่เป็นครูสอนตามสถาบันปอเนาะต่างๆ ไม่เคยมีส่วนร่วมในการร่างและไม่มีตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้แต่องค์กรเดียว

ปัจจุบันกลุ่มอุลามาอฺดายาห์ได้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า "พรรคสันติภาพอาเจะห์ (Partai Damai Aceh)" โดยมีนโยบายหลักคือการใช้กฎหมายอิสลามที่สมบูรณ์แบบ แต่พรรคนี้กลับไม่เคยได้รับชนะแม้แต่ครั้งเดียว ในขณะพรรคที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง คือ "พรรคอาเจะห์ (The Aceh Party/Partai Aceh)" ซึ่งเป็นพรรคของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์ หรือ GAM นั่นเอง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์การทูตกาตาร์ อ้างเหตุอยู่เบื้องหลังกลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มการเมืองมุสลิม

Posted: 05 Jun 2017 08:32 AM PDT

ตะวันออกกลางระอุอีก 6 ชาติตัดสัมพันธ์การทูตกาตาร์ ปิดชายแดนบก เรือ อากาศ คนกาตาร์ ทูตกาตาร์ต้องออกจากประเทศภายใน 2 สัปดาห์ กาตาร์โอดพิษข่าวลือ หวั่น ปิดประเทศทำกาตาร์ช้ำ สายการบินขาดทุน หุ้นตก ข้าวยากหมากแพง สมองไหล

กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อปี 2555 (ที่มา: UNCTAD/Wikipedia)

5 มิ.ย. 2560 สำนักข่าว อัลจาซีรา ของกาตาร์ รายงานว่า ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ บาห์เรน เยเมน ลิเบียและมัลดีฟส์ ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยมีเหตุผลว่าเป็นการปกป้องความมั่นคงของรัฐ โดยสำนักข่าวของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ระบุต้นเหตุว่า เป็นเพราะกาตาร์ "ให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายและกลุ่มลัทธิต่างๆที่มุ่งหวังจะสร้างความไม่มีสเถียรภาพในภูมิภาค"

6 ชาติตัดสัมพันธ์ กาตาร์โอดข่าวลือทำพิษ นานาประเทศวอนมีอะไรค่อยพูดค่อยจา

ประเทศบนคาบสมุทรเปอร์เซียทั้ง 3 ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ประกาศให้ผู้เดินทางหรือผู้อยู่อาศัยชาวกาตาร์ที่พำนักอยู่ในประเทศทั้งสาม ออกจากประเทศภายในเวลา 2 สัปดาห์ บาห์เรนและซาอุดิอาระเบียยังได้ปิดชายแดนทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ซาอุดิอาระเบียยังเรียกร้องให้ "เหล่าประเทศพี่น้องทั้งหลายทำเช่นเดียวกัน"

ในขณะที่สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ของประเทศอังกฤษ ระบุว่า รัฐบาลลิเบีย มัลดีฟส์ แม้แต่รัฐบาลเยเมน ที่ทุกวันนี้สูญเสียเมืองหลวงไปจากสงครามกลางเมืองก็ได้ประกาศตัดสัมพันธ์กับกาตาร์แล้ว โดยให้เหตุผลว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) กลุ่มผู้ก่อการร้าย อัล เคดา กลุ่มรัฐอิสลามและกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่านในจังหวัดคาติฟของซาอุดิอาระเบีย

ในขณะที่บาห์เรน ให้เหตุผลการตัดสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าเป็นเพราะได้รับข้อมูลว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มในอิหร่านให้มาก่อความไม่สงบในบาห์เรน

ทางฝั่งอียิปต์ให้เอกอัครราชทูตจากกาตาร์ออกจากประเทศภายใน 48 ชั่วโมง และสั่งการให้ผู้แทนเอกอัครราชทูตอียิปต์ในบาห์เรนเดินทางกลับมายังกรุงไคโรภายในเวลา 48 ชั่วโมง เช่นเดียวกับบาห์เรนที่จะถอนนักการทูตและปฏิบัติการทางการทูตออกจากกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ภายในระยะเวลาเท่ากัน

ทางด้านซาอุดิอาระเบียแถลงว่า จะไม่นับกองทัพกาตาร์เป็นหนึ่งในพันธมิตรในปฏิบัติการทหารร่วม ในสมรภูมิที่สู้รบกับกลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่านในเยเมน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกาตาร์กล่าวว่า ตนเสียใจที่ชาติอาหรับมีมาตรการเช่นนั้น และกล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ "ไม่มีเหตุผล"

"มาตรการดังกล่าวไม่มีเหตุผลและอิงอยู่กับข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง" เป็นสิ่งที่ระบุในคำแถลงการณ์ ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่าการตัดสินใจดังกล่าว "จะไม่มีผลกับชีวิตประจำวันของประชาชนและผู้พำนักอาศัย"

"เป้าหมายในการบังคับให้มีการคุ้มครองรัฐของพวกเขานั้นชัดเจน แต่การกระทำเช่นว่าก็เป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตย [ของกาตาร์] ในฐานะรัฐเอกราชเช่นกัน" แถลงการณ์ได้ระบุเอาไว้

ถึงแม้กาตาร์จะปฏิเสธว่าได้ให้การสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรง แต่ว่ากาตาร์ก็เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินรายสำคัญของกลุ่มฮามาส กลุ่มการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์บนฉนวนกาซา ตั้งแต่ปี 2555

ในขณะที่ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ วอนให้ประเทศในอ่าวเปอร์เซียสามัคคีกันเอาไว้ "แน่นอนว่าเราสนับสนุนให้ทุกฝ่ายมานั่งจัดการความแตกต่างร่วมกัน" ทิลเลอร์สัน กล่าวขณะปฏิบัติภารกิจการเยือนซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

"ถ้าจะมีบทบาทที่เรา [สหรัฐฯ] จะเล่นได้ในฐานะที่จะช่วยเหลือ ผมคิดว่าการที่สภาความร่วมมือของอ่าว (GCC- Gulf Cooperation Council) คงไว้ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

"ทุกฝ่ายที่คุณกล่าวถึงนั้นค่อนข้างที่จะรวมกันเป็นหนึ่งในการต่อต้านการก่อการร้ายและต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งพวกเขาได้แสดงให้เห็นในการประชุมผู้นำที่เมืองริยาดห์" ทิลเลอร์สัน กล่าว

ในขณะที่ ฮามิต อาบูตาเลบี รองเสนาธิการของประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ทวีตว่า "ยุคของการตัดสายใยทางการทูตและปิดชายแดนมันจบแล้ว...มันไม่ใช่วิธีการแก้ไขวิกฤติการ ประเทศเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเริ่มต้นการพูดคุยกัน"

กาตาร์โดนกล่าวหาว่าจากประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานานแล้วในประเด็นการสนับสนุนกลุ่มศาสนาอิสลามต่างๆ ซึ่งกลุ่มที่ได้รับความกังวลที่สุดคือกลุ่มนิกายสุหนี่ชื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิม เป็นกลุ่มการเมืองที่ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มองว่าเป็นภัยคุกคามกับรัฐของตน

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียเคยเรียกเอกอัครราชทูตกลับจากกรุงโดฮาแล้วครั้งหนึ่งเม่อปี 2557 หลังได้รับข้อมูลว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนรัฐบาลที่จัดตั้งโดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี แปดเดือนหลังจากนั้นก็ได้ส่งเอกอัครราชทูตกลับไปประจำการตามเดิมเพราะกาตาร์จัดการให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมบางส่วนออกจากประเทศ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในปีดังกล่าวไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นปิดชายแดน

ตัดสัมพันธ์ทูตกระทบเศรษฐกิจหนัก กาตาร์เสี่ยงขาดทุน หุ้นตก อาหารแพง สมองไหล

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า จากการตัดสัมพันธ์ทางการทูตครั้งใหญ่ในภูมิภาค ได้ทำให้ตลาดหุ้นกาตาร์ร่วงลงไปถึงร้อยละ 8 และยังระบุว่าราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นหลังจากประเทศอ่าวประกาศตัดสัมพันธ์กับกาตาร์

สำนักข่าว บีบีซี ของอังกฤษ รายงานว่า การปิดชายแดนทางอากาศ ทำให้สายการบินเอติฮัด และสายการบินเอมิเรตส์สั่งยกเลิกเที่ยวบินไปโดฮา โดยจะเริ่มยกเลิกเที่ยวบินในวันพรุ่งนี้เช้า ซึ่งสายการบินฟลายดูไบ และแอร์ อราเบีย สั่งยกเลิกเที่ยวบินไปโดฮาเช่นกัน และคาดว่าสายการบินอื่น รวมไปถึง กัลฟ์ แอร์ ของบาห์เรนและ อียิปต์แอร์ของอียิปต์จะทยอยยกเลิกเที่ยวบิน

การปิดชายแดนยังส่งผลให้อากาศยานสัญชาติกาตาร์ไม่สามารถซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่าสิบเที่ยวต่อวัน สร้างความเสียหายให้กับสายการบินเป็นอย่างมาก ล่าสุด สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ได้ยกเลิกเที่ยวบินที่จะไป หรือเดินทางออกจากซาอุดิอาระเบียแล้ว โดยมีข้อเสนอให้ผู้โดยสารได้รับการคืนเงินเต็มจำนวน หรือให้จองเที่ยวบินไปที่หมายอื่นที่กาตาร์แอร์เวย์สมี

ในขณะเดียวกัน การปิดชายแดนสร้างอุปสรรคในการนำเข้าอาหารให้กับประเทศที่ปกคลุมไปด้วยผืนทะเลทราย บีบีซี รายงานว่า กาตาร์นำเข้าอาหารกว่าร้อยละ 40 ทางภาคพื้นดินผ่านดินแดนของซาอุดิอาระเบีย การปิดชายแดนจะทำให้กาตาร์ต้องเปลี่ยนวิธีนำเข้าอาหารจากภาคพื้นดินเป็นทางอากาศและทางเรือ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อชาวกาตาร์ ซึ่งถ้าเหตุการณ์ดำเนินต่อไปจนอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลถึงขั้นเกิดการเรียกร้องให้เปลี่ยนทิศทางนโยบายหรือการเปลี่ยนผู้นำเลยทีเดียว

การปิดชายแดนยังส่งผลให้การนำเข้าวัสดุก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้การก่อสร้างทั้งหลายหยุดชะงักลง ในที่นี้ โครงการก่อสร้างต่างๆที่กำลังจัดทำเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2565 ต้องพักการก่อสร้าง และการเรียกพลงเมืองของตนกลับถิ่นฐานอาจทำให้กาตาร์ขาดทรัพยากรมนุษย์ในหลายสาขาวิชาชีพ ยกตัวอย่างเช่น กาตาร์มีจำนวนพลเมืองสัญชาติอียิปต์ถึง 180,000 คน ตามรายงานล่าสุด ซึ่งจำนวนมากประกอบอาชีพในสายงานแพทย์ วิศวกรรม การก่อสร้างและกฎหมาย ถ้าหากอียิปต์จะเรียกพลเมืองชาวอียิปต์กลับจากกาตาร์ อาจทำให้บรรษัทที่ตั้งในกาตาร์เกิดภาวะสมองไหล

แปลและเรียบเรียงจาก

BBC, Qatar row: Economic impact threatens food, flights and football, 5 Jun. 2017

The Guardian, Gulf plunged into diplomatic crisis as countries cut ties with Qatar, 5 Jun. 2017

Aljazeera, Saudi Arabia, UAE, Egypt, Bahrain cut ties to Qatar, 5 Jun. 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.เบรก-ทหารไปถึงบ้านห้ามร่วมชุมนุมค้านแก้ ก.ม.บัตรทอง กับ 'คนรักหลักประกันสุขภาพ'

Posted: 05 Jun 2017 08:06 AM PDT

'คนรักหลักประกันสุขภาพ' เตรียมชุมนุมพรุ่งนี้ (6 มิ.ย.60) หน้าทำเนียบ ค้านแก้ ก.ม.บัตรทอง ตร.เบรกไม่ให้ชุมนุม พร้อมแนะให้ไปรวมตัวกันในสนามม้านางเลิ้งแทน  สมาชิกลุ่มฯ จ.สุรินทร์ เผยทหารไปถึงบ้านสมาชิก ตจว.สกัดไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม 

5 มิ.ย. 2560 จากกรณีที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ประกาศเตรียมยื่นหนังสือ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในวันพรุ่งนี้ (6 มิ.ย.60) เวลา 11.00 น. บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ประตู 5 โดยก่อนยื่นหนังสือตามกำหนดการจะมีกิจรรม  เวทีให้ความคิดเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว ต่อสาธารณะ พร้อมทั้งแถลงข่าวที่เวที

วันนี้ (5 มิ.ย.60) iLaw รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 2 มิ.ย. 2560 ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้แจ้งต่อ สน.ดุสิต ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯว่า จะจัดชุมนุมคัดค้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ หน้ากระทรวงศึกษาธิการค่อนไปทางน้ำพุ ใกล้คลองผดุงกรุงเกษม ถ.ราชดำเนินนอก โดยใช้รถปิคอัพพร้อมเครื่องเสียง 1 คัน  ต่อมา สน.ดุสิต มีหนังสือตอบกลับมาว่า ผู้รับแจ้งพิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมบริเวณดังกล่าว อยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมได้ ประกอบกับการชุมนุมดังกล่าวมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก อาจเป็นการกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการใช้สถานที่ของทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการหรือความสะดวกของประชาชน ซึ่งอาจขัดต่อมาตรา 7 และ 8 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

โดยในหนังสือตอบกลับของสน.ดุสิต ยังสั่งให้แก้ไขการชุมนุมให้ถูกต้องโดยการให้ไปจัดการชุมนุมในสนามม้านางเลิ้งแทน และส่งตัวแทนมายื่นจดหมายที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน และไม่ให้ใช้เครื่องขยายเสียง รวมถึงให้งดกิจกรรมที่อาจเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ด้วย ส่วนการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง ที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือไม่ จะประสานกับหน่วยงานความมั่นคงเพื่อพิจารณาและแจ้งให้ทราบต่อไป

iLaw รายงานด้วยว่า รัตนา ทองงาม สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เขต 9 จ.สุรินทร์ ยังเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย. 2560 มีเจ้าหน้าที่สันติบาลนอกเครื่องแบบเดินทางมาหาที่บ้านเพื่อต้องการจะทราบว่า จะไปร่วมกิจกรรมคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือไม่ และจะเดินทางอย่างไร ออกเดินทางเมื่อไร แต่ไม่ได้มีการห้ามไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม รัตนากับสมาชิกบางคนจากจ.สุรินทร์จึงตัดสินใจนั่งรถทัวร์มากรุงเทพล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่

รัตนา เล่าอีกว่า มีข่าวว่า ทหารเข้าไปหาสมาชิกคนอื่นๆ ที่บ้านในจ.สุรินทร์ และจ.บุรีรัมย์ รวม 5 จุด ซึ่งการเข้าไปจุดอื่นทหารได้สั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านไปร่วมกิจกรรม ทำให้มีสมาชิกหลายคนตัดสินใจไม่เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อร่วมกิจกรรม เพราะกลัวผลกระทบที่อาจจะตามมา

การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพในครั้งนี้ เจ้าภาพผู้จัดทำร่าง คือ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภาคประชาชนมีส่วนร่วมน้อยในกระบวนการจัดทำร่าง และกำลังอยู่ระหว่างเตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 ภาค ซึ่งภาคประชาชนก็เห็นว่า เปิดเวทีน้อยเกินไป ทำให้ประชาชนในหลายจังหวัดที่ไม่มีค่าเดินทางไม่สามารถไปร่วมได้ ส่วนความกังวลหลักๆ ของภาคประชาชนต่อการเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ คือ จะถ่ายโอนอำนาจการบริหารเงินเดือนบุคลากร การกำหนดวิธีการรักษา การต่อราคายาเฉพาะ รวมถึงงานส่งเสริมป้องกันโรค ที่เดิมเป็นของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้กลับไปเป็นของกระทรวงสาธารณสุข

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุบอกสื่อจับประเด็นไม่ถูกเรื่องเซ็ตซีโร่ กกต. เผยเหตุผลที่ต้องทำคือ กกต. มีการเปลี่ยนโครงสร้าง

Posted: 05 Jun 2017 07:12 AM PDT

รองนายกรัฐมนตรีระบุสาเหตุที่แท้จริงกรณีเซ็ตซีโร่ กกต. เพราะ กมธ.เห็นว่ามีการเปลี่ยนโครงสร้างกกต.จาก 5 เป็น 7 คน และกำลังจะมีคนขาดคุณสมบัติตามร่าง พ.ร.ป. จึงต้องการหาคนใหม่มาทำงาน ไม่ต้องการให้เป็นปลาสองน้ำ ด้านรองประธาน กมธ. เผย คนชงเซ็ตซีโร่คือ กรธ. เอง

แฟ้มภาพทำเนียบรัฐบาล

5 มิ.ย. 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติแก้ไขบทเฉพาะกาลให้กกต.ชุดปัจจุบันทั้งหมดพ้นวาระ(เซ็ตซีโร่) เมื่อประกาศใช้ร่างพ.ร.ป.นี้ แต่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีชุดใหม่มาแทน ว่า เรื่องนี้สื่อมวลชนยังจับประเด็นไม่ถูกและยังไม่เข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของกมธ.เสียงข้างมากต้องการให้เซตซีโร่กกต. การที่โฆษกกมธ.ชุดนี้ระบุว่าไม่อยากให้เกิดปัญหาการทำงานแบบปลาสองน้ำ คือเหตุผลที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงเรื่องคุณสมบัติเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนกรรมการกกต.จากเดิม 5 คนเป็น 7 คน ส่งผลให้โครงสร้างกกต.เปลี่ยนไป ซึ่งองค์กรอิสระอื่น ๆ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

"กรณีกกต.มีปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และจำนวนกรรมการที่เพิ่มขึ้น หากถามว่าทำไมไม่คงกรรมการเดิม 5 คนเอาไว้ แล้วสรรหามาใหม่ 2 คน เพราะ 2 คนที่มาใหม่ถือเป็นปลาอีกน้ำ ได้รับการสรรหามาอีกแบบหนึ่ง มีคุณสมบัติต่างกัน วาระการดำรงตำแหน่งไม่เท่ากับกรรมการชุดเดิม ขณะที่ในกรรมการ 5 คนมีบางคนที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งอยู่แล้ว แม้จะเซตซีโร่หรือไม่ก็ตาม ทุกคนจึงควรดูที่ประเด็นเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของกกต. ปัญหาเช่นนี้ถ้าเกิดในองค์กรไหนก็ต้องโดนอย่างเดียวกัน นี่คือสูตรของกรรมาธิการฯ ถ้าถามผมว่าเห็นด้วยหรือไม่ ผมไม่พูด แต่ผมอธิบายในสิ่งที่กมธ.ออกมาแถลง นี่คือคำนิยามของเซตซีโร่ที่เป็นการสรรหาใหม่เพื่อให้มีที่มาเหมือนกันทั้งหมด ไม่ได้พูดถึงคุณสมบัติ" วิษณุ กล่าว

วิษณุ ปฎิเสธตอบคำถามว่าเป็นธรรมต่อกรรมการที่มีคุณสมบัติถูกต้องหรือไม่เพราะจะกลายเป็นการพูดถึงคุณสมบัติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และว่าไม่ทราบเหตุผลที่กกต.บางคนคัดค้านการเซตซีโร่ในครั้งนี้

เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปได้ เพราะกกต.ที่ทำหน้าที่รักษาการระหว่างรอชุดใหม่อาจไม่สามารถใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในการจัดการเลือกตั้ง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด อย่างไรก็ตาม จะต้องมีกกต.ชุดใหม่ 7 คนภายในปีนี้ โดยการจัดทำพ.ร.ป. 2 ฉบับที่กำลังจะออกมาจะระบุว่าต้องสรรหากกต.ชุดใหม่ให้ได้ภายในกี่วัน ดังนั้น เหตุผลที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสนช. เพราะต้องการให้กกต.ชุดใหม่เป็นคนทำกฎหมายฉบับนี้ 

"การดำเนินงานทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบเวลา 8 เดือน โดยภาพรวมถือว่าทุกอย่างอยู่ตามกรอบเวลาเดิม ไม่ยืดเวลาออกไปแม้แต่วันเดียว โดยกกต.ชุดใหม่จะเป็นคนจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน แต่หากสนช.ไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโร่ กกต.ปัจจุบันนี้จะเป็นคนดูแลการเลือกตั้ง ต้องไปรอดูผลสนช.ตัดสินในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ว่าจะเป็นอย่างไร" วิษณุ กล่าว

ประธาน สนช. ปฏิเสธให้ความเห็นเรื่องเซ็ตซีโร่ หวั่นกลายเป็นการชี้นำ

ขณะที่พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิเสธให้ความเห็นกรณี เซ็ตซีโร่ กกต. หลังกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.  โดยมีมติเสียงข้างมากให้ กกต. ชุดปัจจุบันทั้งคณะ พ้นวาระหลังกฎหมายลูกดังกล่าวมีผลบังคับใช้  

โดยประธาน สนช. กล่าวเพียงว่า หากวิจารณ์จะกลายเป็นการชี้นำ อีกทั้งเรื่องนี้ยังมีความเห็นต่างอยู่  ดังนั้นต้องไปฟังความเห็นในการพิจารณาวาระ 2 และ3  ของที่ประชุมใหญ่ สนช. ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ พร้อมยืนยันว่าการแก้ไขร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ หากอยู่ในหลักการและไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่หากมีสมาชิก สนช. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ เห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้เช่นกัน ขณะที่ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ได้ขยายเวลาพิจารณา 5 วัน ประธาน สนช. ยืนยันว่า เป็นการขยายในกรอบการพิจารณาของกรรมาธิการ 45 วัน ที่ไม่กระทบกรอบใหญ่ของ สนช. ที่ต้องพิจารณาภายใน 60 วัน  แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ประธาน สนช.  ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561   ให้เตรียมฟังรายละเอียดในที่ประชุม สนช. ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้มาแถลงด้วยตนเอง ในวันพฤหัสบดีที่ 8 มิ.ย. นี้ และหลังการพิจารณาวาระรับหลักการจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 50 คน ขึ้นมาพิจารณา

รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.ป. กกต. ชี้ กรธ.เป็นคนชงเซ็ตซีโร่เอง

ด้านทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่า กมธ.ที่เสนอให้เซตซีโรกกต.ชุดปัจจุบัน คือ ตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เนื่องจากเห็นว่าจะทำงานไม่ราบรื่น โดยจะมีกกต. จำนวน 2-3 คน ที่ขัดคุณสมบัติ และอีก 1-2 คน ที่กำลังจะมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งเช่นกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการสรรหาหลายขยัก จึงเป็นเหตุผลให้กรธ.เสนอเซตซีโร่ ซึ่งกมธ.ก็เห็นด้วย

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย , เว็บข่าวรัฐสภา , มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

42 องค์กร ร้องประยุทธ์ เร่งปฏิรูปตำรวจ แยกงานสอบสวนออกจาก สตช.

Posted: 05 Jun 2017 06:49 AM PDT

เครือข่ายองค์กรประชาชน 42 องค์กร เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ เร่งรัดดำเนินการปฏิรูปตำรวจเป็นตำรวจจังหวัด และแยกงานสอบสวนเป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ที่มาเพจ Police Watch Thailand

5 มิ.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (5 มิ.ย.60) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่หน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล  เครือข่ายองค์กรประชาชน 42 องค์กร นำโดย สมศรี หาญอนันทสุข, เมธา มาสขาว ฯลฯ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้มีการเร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจโดยการกระจายอำนาจไปเป็นตำรวจจังหวัด และแยกอำนาจสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยมีรายละเอียดในจดหมายดังนี้

วันที่ 5 มิถุนายน 2560

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

เครือข่ายองค์กรประชาชน 42 องค์กรเรียกร้องเร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจเป็นตำรวจจังหวัด และแยกงานสอบสวนเป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางปฏิรูปตำรวจว่าควรปรับโครงสร้างเป็นตำรวจจังหวัด  และพิจารณาเรื่องการ แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจนั้น 

เครือข่ายองค์กรประชาชน 42 องค์กร เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  ถือเป็นการปฏิรูประบบอย่างมีนัยสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจทุกระดับและการรับส่วยสินบน สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้  เนื่องจากงานของตำรวจทั้งหมดดำเนินการให้จบสิ้นได้ภายในจังหวัด และต้องประสานการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายปกครองซึ่งมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ รวมทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักความสงบเรียบร้อยในตำบลและอำเภอ  หน่วยตำรวจจึงควรอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของหัวหน้าหน่วยการปกครองระดับจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัด  และระดับอำเภอคือนายอำเภอสอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาตรา 54 ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายต่างๆ ในจังหวัดและนายอำเภอเป็นหัวหน้าส่วนราชการอำเภอมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายต่างๆ ในอำเภอตามมาตรา 62 

นอกจากนั้น  ยังสอดคล้องกับประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 96/2557 ในการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด  โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ และตามข้อ 5  ให้มีอำนาจสั่งข้าราชการในจังหวัดให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีหัวหน้าหน่วยการปกครองระดับประเทศที่มีอำนาจกำกับสั่งราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ     

ส่วนงานสอบสวนคดีอาญา ควรได้รับการปฏิรูปโดยแยกเป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็น "สำนักงานสอบสวนคดีอาญา" เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานสอบสวนตามมาตรฐานวิชาชีพในลักษณะเดียวกับพนักงานอัยการเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก 

การดำเนินการในสองเรื่องดังกล่าวรวมทั้งการโอนตำรวจ 9 หน่วย ได้แก่  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  ตำรวจจราจร  ตำรวจทางหลวง  ตำรวจน้ำ  ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ  ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจท่องเที่ยว  ตำรวจรถไฟ  ตำรวจปราบปราบความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี  ไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่ตามกฎหมายตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2558  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 และส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร็ว  ถือว่า  เป็นการปฏิรูประบบตำรวจให้มีความเป็นสากล  และงานสอบสวนมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรภายนอก   แก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ  เช่น การรับส่วยสินบนของตำรวจผู้ใหญ่รวมทั้งการใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจผู้น้อยที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างร้ายแรงในปัจจุบันได้  

เครือข่ายองค์กรประชาชน 42 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการเรื่องดังกล่าว  ซึ่งบางเรื่องสามารถกระทำได้ตามอำนาจของรัฐบาล เช่น การตราพระราชกฤษฎีกาโอนหน่วยตำรวจ   หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการลงไปภายในจังหวัดได้  เมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัด  หรือคณะกรรมการตรวจสอบติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัด (กต.ตร.)ในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 เพื่อดำเนินการปฏิรูปตามแนวทางในมาตรา 258  นายกรัฐมนตรีควรพิจารณาบุคคลผู้จะแต่งตั้งเป็นประธานและกรรมการทุกคน   ต้องเป็นผู้ที่เห็นและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากระบบงานตำรวจในปัจจุบัน  รวมทั้งมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและแนวความคิดในการปฏิรูปตำรวจเป็นตำรวจจังหวัดและการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศด้วย 

องค์กรประชาชน 42 องค์กรตามรายนามท้ายจดหมายฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรีบดำเนินการปฏิรูปตำรวจตามแนวทางดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง

1. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)
2. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
3. มูลนิธิเพื่อนหญิง 
4. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
5.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
6.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 
7. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
8. สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย 
9. สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)
10. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 
11. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
12. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 
13. มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 
14. เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนนทบุรี 
15. มูลนิธิผู้หญิง
16. สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.)
17. มูลนิธิสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (มธ.สรส.)
18.เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ ภาคประชาชน 
19.เครือข่ายสตรี 4 ภาค
20.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN.) 
21.สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย
22.มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ 
23.สำนักงานสุขภาวะและพัฒนาสังคม 
24.สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy Think Tank)
25.เครือข่ายคุ้มครองสิทธิชุมชนและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จังหวัดสระแก้ว
26.เครือข่ายศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ
27.สหภาพเยาวชนแรงงาน (ํYoung Worker Union)
28.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
29.ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)
30.เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) 
31.มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์
32.เครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม
33.สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
34.วิทยุชุมชน ส่งเสริมเยาวชน ข่าวสารวัฒนธรรมและบันเทิง (99.25 และ 97.75)
35.เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กรุงเทพมหานคร (อพม.กทม.)
36.เครือข่าย ปปส. พัฒนาร่วมใจ กทม. 
37.คณะทำงานส่งเสริมบทบาทหญิงชายในการพัฒนาจังหวัดพะเยา 
38.เครือข่ายแม่หญิงพะเยา
39.สถาบันท้องถิ่นพัฒนาหรือ (LDI.)
40.มูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT.)
41.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR.)
42.เครือข่ายพลังทนายความเพื่อความเป็นธรรม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีต รก.เลขาฯ สปสช.ชี้ แก้ ก.ม.บัตรทอง จะสร้างความขัดแย้ง

Posted: 05 Jun 2017 05:19 AM PDT

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. ชี้ แก้ พ.ร.บ.30 บาท จะสร้างความขัดแย้ง เพิ่มปัญหาให้นายกฯ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมแต่แรก
 
 
5 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังผลักดันแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวม 14 ประเด็นที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่ตั้งแล้ว และจะเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ 4 ภาคในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ โดยเริ่มมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและนักวิชาการว่า เป็นร่างแก้ไข พรบ.ที่ริดรอนสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจถึงกับทำให้ระบบ 30 บาทอยู่ในอันตรายได้  ต่อการเคลื่อนไหวแก้ไข พ.ร.บดังกล่าว 
 
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดด้วยความเป็นห่วงว่าหลังแก้ไขแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจริงหรือไม่ หน่วยบริการขนาดเล็กทั้งของรัฐและเอกชนในระบบของ สปสช. นับหมื่นแห่งในพื้นที่ จะได้รับการแก้ไขปัญหาทางการเงินและกำลังคนที่ขาดแคลนได้จริงหรือ และรัฐบาลจะสามารถควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้พอเหมาะผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพไม่ให้บานปลายเหมือนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการได้หรือไม่ หรือยิ่งแก้ พรบ. จะยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความขัดแย้งของคนในสังคม และสร้างปัญหาทางการเมืองให้นายกรัฐมนตรีต้องแก้ไขมากขึ้น
 
นพ.ประทีป เปิดเผยต่อว่า พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 ที่ใช้อยู่นี้ และเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ปี 2559  เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน นักวิชาการในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ที่ค่อยๆพัฒนามาหลายปี ทดลองต่อยอดจากจุดแข็งของระบบสาธารณสุขของไทย และจัดระบบให้มีการถ่วงดุลระหว่างหน่วยบริการหรือผู้จัดบริการ และประชาชนหรือผู้ใช้บริการสาธารณสุข จัดระบบให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและการจัดบริการสาธารณสุขที่มีการประเมินการใช้เทคโนโลยี่ ยาราคาแพง ที่เหมาะสมคุ้มค่าเงิน เพื่อรองรับสังคมข้างหน้า ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างให้การยอมรับและชื่นชมความสำเร็จของไทย และเอาเป็นตัวอย่าง  แต่การแก้ไข พรบ.ครั้งนี้ มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างน้อย 3  ประการดังนี้
 
ประการที่หนึ่ง การแก้ไข พรบ. ในครั้งนี้ที่ทำกันอย่างรวดรัด ทำจริงๆเมื่อเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 27 คนที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานและประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่เพิ่งผ่านมา และมีลักษณะปิดลับ เพิ่งเปิดเผยว่ามี 14 ประเด็นที่จะแก้ไขเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม นี้เอง จึงขาดการมีส่วนร่วมกำหนดประเด็นการแก้ไขแต่แรกจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้การแก้ไขหรือออก พรบ.ใหม่ๆ ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของส่วนได้เสียอย่างกว้างขวาง จึงมีปัญหาความชอบธรรมของการยกร่างแก้ไข พรบ. และอาจสร้างปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อย่างกว้างขวาง
 
ประการที่สอง มีการเพิ่มเติมประเด็นการแก้ไขอีกหลายประเด็นนอกเหนือจากที่หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งชั่วคราวทำให้เกิดความชัดเจนของ พรบ. มากขึ้น ทำให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมทั้ง สปสช. สามารถบริหารกองทุนให้เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้มากขึ้น และมอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการแก้ไข พรบ.ตามประเด็นในคำสั่งของหัวหน้า คสช.ดังกล่าว แต่ 14 ประเด็นที่ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมส่วนใหญ่เป็นการดึงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพจากเดิมเป็นเรื่องของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มาจากหลายภาคส่วนในสัดส่วนที่ถ่วงดุลกัน ดึงกลับไปเพิ่มอำนาจให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการในสังกัดมากขึ้น ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื่องประโยชน์ทับซ้อน ผิดหลักการและเจตนารมณ์ใหญ่ของกฎหมายเดิม  
 
ประการที่สาม ขณะที่ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการเงินการคลัง และความเท่าเทียมในระบบประกันสุขภาพที่สรุปจากการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ทางวิชาการและความเห็นจากส่วนได้เสียต่างๆ จนได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นที่รู้จักกันทั่วว่า ข้อเสนอ SAFE ของคณะทำงานวิชาการที่มี ศ.ดร.อัมมาร์ สยามวาลา  และอีกคณะหนึ่งที่มี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุลเป็นประธาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แต่งตั้งขึ้นเอง และให้สัมภาษณ์กับสังคมหลายครั้งว่าเป็นข้อเสนอที่จะใช้ในการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น  แต่การแก้ไข พรบ.ในครั้งนี้กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อยู่ในประเด็นการแก้ไขทั้ง 14 ประเด็นเลย จึงทำให้ทิศทางการแก้ไขไม่ชัดเจนว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร และเป็นการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของประเทศให้ดีขึ้นได้ตามที่นายกรัฐมนตรีได้พูดและสัญญากับประชาคมโลกในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติและสัญญากับประชาชนไทยในรายการทุกเย็นวันศุกร์ได้อย่างไร ทำให้เกิดปัญหาความน่าเชื่อถือทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรีได้
 
"การแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ และเกี่ยวกับระบบบริการสาธารณสุขทั้งหมด รวมทั้งเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของแผ่นดินแสนกว่าล้านบาทต่อปี เป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องทำอย่างรอบคอบ ต้องเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นที่ประจักษ์ยอมรับในทางสากล และต้องใช้ความรับผิดชอบทางการเมืองที่มีจริยธรรมสูงส่ง จึงจะสำเร็จเป็นประโยชน์กับประเทศโดยรวม ตรงข้ามถ้าใช้วิธีลักหลับ ใช้อำนาจฉวยโอกาสอย่างรีบเร่ง ดังแต่จะสร้างความขัดแย้งในสังคม และสร้างปัญหาให้รัฐบาลเพิ่มมากขึ้น" อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวสรุป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก่อการร้ายเขย่าลอนดอนอีก ตาย 7 สาหัส 21 นายกฯ ย้ำ ไม่เลื่อนเลือกตั้งแน่

Posted: 05 Jun 2017 01:36 AM PDT

เหตุเมื่อวันเสาร์-บึ่งรถตู้ไล่ชนแล้วลงมาไล่แทง ตาย 7 บาดเจ็บสาหัส 21 เจ็บเกือบ 50 ตำรวจวิสามัญฯ พร้อมจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกหลายสิบคน รัฐอิสลาม (IS) อ้าง มือมีดเป็นคนของกลุ่ม นายกรัฐมนตรีอังกฤษเตรียมดัน ก.ม. ต้านก่อการร้ายใหม่ ปรับมาตรการ 4 ด้าน ประกาศชัด ไม่เลื่อนเลือกตั้งเพราะเหตุก่อการร้าย

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์  (ที่มา: Twitter/Billboard)

เมื่อคืนวันเสาร์ เวลาราว 21.58 น. ที่ผ่านมา (3 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น มีรถตู้เช่าสีขาวพุ่งชนคนบนทางเท้าที่สะพานลอนดอน จากนั้นรถตู้ได้วิ่งต่อไปยังตลาดโบโร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ผู้ก่อการทั้ง 3 คน โดยผูกระเบิดปลอมติดไว้กับตัว และลงมาใช้มีดไล่แทงคนในร้านอาหารและผับ

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งข่าว จึงนำกำลังติดอาวุธเข้าควบคุมพื้นที่ และทำวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายทั้งหมด การวิสามัญฯ ดังกล่าวมีการยิงปืนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสิ้น 50 นัด ทำให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์ 1 คน โดนลูกหลงถูกกระสุนเข้าที่ศีรษะ ขณะนี้ได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล รอแยล ลอนดอน

หัวหน้าหน่วยข่าวกรองระบุว่า กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ออกมาแสดงความรับผิดชอบผ่านเว็บไซต์สื่อ Amaq โดยโพสท์ว่า "หน่วยแยกของนักรบของรัฐอิสลามเป็นคนก่อการโจมตีที่ลอนดอน"

ตำรวจบุกค้นพื้นที่ต้องสงสัย จับแล้ว 5 คน ประชาชนเผยเคยแจ้งเบาะแส่ตำรวจแล้วแต่เงียบหาย

เมื่อวันอาทิตย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าค้นบ้านต้องสงสัยในย่านบาร์กกิง แถบ อีสต์ ลอนดอน หนึ่งในนั้นคือบ้านของผู้ก่อเหตุ และได้ควบคุมตัวผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 1 คน จากอพาร์ทเมนต์ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าผู้ก่อการคนหนึ่งเคยอาศัย ภายหลังตรวจค้นพื้นที่อีสต์ ลอนดอน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสิ้น 12 คน ผู้ช่วยสารวัตร มาร์ค โรว์ลีย์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของงานต่อต้านการก่อการร้ายแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังค้นหาว่าผู้ก่อการมีความเชื่อมโยง หรือได้รับการสนับสนุนจากใครหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เอริกา กาสปารี ผู้อาศัยอยู่ในย่านเดียวกับพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่บุกค้นกล่าวว่า ตนเคยแจ้งความกับตำรวจในท้องที่ไปแล้วว่าชายผู้ก่อเหตุมีแนวคิดหัวรุนแรง เพราะตนเห็นชายคนดังกล่าวกำลังปลุกระดมเด็กๆ ในสวนสาธารณะ

"ฉันถ่ายภาพเขาไปทั้งหมด 4 ภาพ และส่งให้ทางตำรวจ" "จากนั้นตำรวจโทรไปหาทางสกอตแลนด์ยาร์ด (สำนักงานใหญ่ตำรวจนครบาลที่มีหน้าที่รักษาความสงบในลอนดอนส่วนใหญ่) และบอกฉันว่าข้อมูลได้ถูกส่งต่อไปแล้ว จากนั้นพวกเขาบอกฉันให้ลบรูปออกเพื่อความปลอดภัย จากนั้นก็ไม่ได้ยินข่าวอะไรอีกเลย นั่นคือเมื่อสองปีที่แล้ว และก็ไม่มีใครติดต่อฉันกลับมา ซึ่งถ้าพวกเขาทำบางอย่างตั้งแต่ตอนนั้น ก็อาจจะกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ และรักษาชีวิตคนไว้ได้" เอริกา กล่าว

นายกฯ จะทบทวน แนวทางต้านก่อการร้าย หน. พรรคแรงงานจวกนโยบายลดจำนวนตำรวจสมัยนายกฯ เป็น รมว.มหาดไทยระบุ พิทักษ์สังคมในราคาถูกไม่ได้

สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ รายงานว่า เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร สัญญาว่าจะทบทวนยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้าย และควรมีข้อตกลงระหว่างประเทศแบบใหม่ที่ควบคุมอินเตอร์เน็ต ซึ่งเมย์ เห็นว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการฟูมฟักแนวคิดชนิดหัวรุนแรงเช่นว่า

เมย์ ระบุว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 4 ด้าน เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย หนึ่ง ประชาชนที่ถูกดึงดูดเข้าไปในแนวคิดสุดโต่งจะต้องถูกทำให้รู้ว่าคุณค่าของโลกตะวันตกนั้นยิ่งใหญ่กว่า สอง จะต้องมีการควบคุมอินเทอร์เน็ตไม่ให้เป็นพื้นที่ซ่องสุมของกลุ่มก่อการร้าย สาม เรียกร้องให้ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรแสดงปฏิริยากับการก่อการร้ายมากไปกว่าการอดทนอยู่กับมัน และสุดท้ายคือการทบทวนยุทธศาสตร์และกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายใหม่ ซึ่งเธอได้ให้ความเห็นว่าควรเพิ่มเวลาการติดคุกให้นานขึ้น

"เราและรัฐบาลของชาติประชาธิปไตยพันธมิตร ต้องร่วมกันสร้างข้อตกลงในการควบคุมพื้นที่ไซเบอร์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิสุดโต่งและการวางแผนการก่อการร้าย" เมย์ กล่าว

นายกฯ สหราชอาณาจักรยังระบุว่า นักรบอิสลามเป็นตัวเชื่อมระหว่างเหตุการณ์โจมตีที่ที่สะพานลอนดอน วิหารเวสมินสเตอร์ และแมนเชสเตอร์ อารีนา และยังระบุว่า ภัยก่อการร้ายที่พบเป็นเทรนด์ใหม่ที่เรากำลังพบเจอ อย่างไรเสีย เมย์ ย้ำชัดว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะยังคงเป็นวันพฤหัสที่ที่ 8 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ไม่เปลี่ยนแปลง และจะให้พรรคการเมืองออกมาเริ่มรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีกครั้ง ภายหลังจากที่หยุดมาแล้วเมื่อครั้งเหตุระเบิดพลีชีพที่เมืองแมนเชสเตอร์เมื่อ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน ตั้งข้อสงสัยถึงการตัดจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจใหม่ถึง 20,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ สมัยที่เมย์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยตนสัญญาว่าจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นอีก 10,000 ตำแหน่ง และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ตำแหน่ง

"คุณไม่สามารถปกป้องสาธารณชนได้ในราคาถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยความมั่นคงต้องได้รับทรัพยากรที่พวกเขาจำเป็น ไม่ใช่การลดจำนวนตำรวจลงถึง 20,000 ตำแหน่ง" คอร์บิน กล่าว

หัวหน้าพรรคแรงงานยังให้ความเห็นถึงแนวทางการตัดท่อน้ำเลี้ยงกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงว่า "เราจำเป็นต้องพูดคุยกับรัฐที่ให้การสนับสนุนลัทธิสุดโต่ง เริ่มจากซาอุดิอาระเบียและประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย"

แปลและเรียบเรียงจาก

The Guardian, Theresa May responds to London Bridge attack with anti-terror laws promise 5 Jun. 2017

The Guardian, London terror attack: what we know so far, 5 Jun. 2017

The Guardian, Islamic State claims responsibility for terror attack on London – as it happened 5 Jun. 2017

The Guardian, Police race to establish if London Bridge attackers were part of network 4 Jun. 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น