ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประชุมสงวนบ้านชุมชนป้อมมหากาฬไม่คืบ กทม. เผย เมื่อลงพื้นที่ยังมีบกพร่อง
- อดีตนักศึกษาจีนเปิดเผยภาพถ่ายชุมนุมเทียนอันเหมินหลังเก็บมานาน 28 ปี
- แนะคนไทยในฟิลิปปินส์เลี่ยงพื้นที่ชุมชน-พกพาสปอร์ต
- คนมั่นใจน้อยถึงน้อยที่สุดว่า รธน. จะแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
ประชุมสงวนบ้านชุมชนป้อมมหากาฬไม่คืบ กทม. เผย เมื่อลงพื้นที่ยังมีบกพร่อง Posted: 03 Jun 2017 06:03 AM PDT ทีมนักวิชาการ ผู้แทนชุมชน ยัน ชุมชนป้อมฯ เป็นห้องเรียนผังเมือง เหตุการณ์ในอดีตมีชีวิตแห่งสุดท้าย วอน กทม. อย่าสงวนบ้านอย่างเดียวให้เอาชุมชนไว้ด้วย กทม. ระบุ ต้องถามมุมมองคนภายนอกชุมชนด้วย ตอนลงพื้นที่ยังมีที่ต้องตักเตือน หนีตีความ ก.ม. ไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริงจึงจะสำเร็จ 3 มิ.ย. 2560 กลุ่มตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ ทางกรุงเทพมหานคร และนักวิชาการ มีการจัดประชุมหัวข้อ การพิสูจน์คุณค่าของบ้านในการพิจารณากรอบการอนุรักษ์ภายในชุมชนป้อมมหากาฬ ที่หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพฯ เป็นการประชุมต่อจากเมื่อวานนี้ (2 มิ.ย.) ที่เป็นการถกเถียงกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องข้อมูลกรรมสิทธิ์บนที่ดินและผู้อยู่อาศัยจริง และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าจะเลือกสงวนบ้านที่มีคุณค่าเอาไว้ โดยเมื่อวานอนุมัติให้สงวนไว้แล้ว 2 หลัง และวันนี้จะพิจารณาอีก 16 หลัง(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยข้อสรุปของที่ประชุมจะได้ให้ธีรพันธ์ มีชัย เลขานุการ กทม. นำไปให้ฝ่ายบริหาร กทม. พิจารณา มีผู้เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย ฝ่ายกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ธีรพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณัฐนันทน์ กัลยาศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่ากทม. เป็นต้น ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ ได้แก่ ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ผศ.สุดจิต สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต อุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ. สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกุล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง สานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ อภิชาติ วงสวัสดิ์ อาสาสมัครด้านกฎหมาย ทั้งนี้ยังมีอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เข้าร่วมประชุมด้วย แจงคุณค่าชุมชนป้อมฯ ชี้ เป็นห้องเรียนผังเมืองและเหตุการณ์ในอดีตมีชีวิตแห่งสุดท้ายสุดจิต สนั่นไหว พูดถึงเกณฑ์คุณค่าศิลปะ สถาปัตยกรรมว่า บ้านหลังที่ 75 ดูโดยลักษณะแล้วจะอยู่ร่วมสมัย ร.5-7 ลงมา มีปั้นหยาและช่องระบายอากาศ แต่ยังไม่ได้ทำรังวัดสำรวจ ในกลุ่มสีส้ม ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5-7 ต้องขอเข้าไปทำการสำรวจก่อน แต่ไม่สงสัยว่าทั้งหมดนั้นมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอยู่ อัชชพล กล่าวว่า 22 หลังที่เสนอให้อนุรักษ์ไว้เพราะมีคุณค่าเพียงพอเกิดจากการทำงานเป็นทีม ภายใต้การนำของ ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้วส่งเรื่องมายังสมาคมสถาปนิกฯ จากทั้งหมด 102 หลัง เสนอเบื้องต้นขึ้นมา 16 หลัง หลังเหตุการณ์สวรรคตของในหลวง ร.9 ก็ได้เร่งให้มีการสำรวจต่อ โดยสมาคมฯ สามารถเข้านำความชำนาญด้านทักษะและเทคโนโลยีไปช่วยเหลือ กทม. ในกรณีที่ต้องมีการก่อสร้างสิ่งที่ทุบไปใหม่ตามข้อมูลเก่าที่มี ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ กล่าวว่า ความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ผังเมืองว่า ชุมชนป้อมฯ เป็นยุทธภูมิของการมีชุมชนอยู่กับกำแพงพระนครผนวกกับคูคลอง ความสำคัญไม่ได้แยกตามแบบสถาปัตยกรรม แต่บ้านทุกหลังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ร่วมกันมา ทั้งในจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ ร.1 ถึงปัจจุบัน ชุมชนป้อมมหากาฬคือชุมชนเก่าแหล่งสุดท้าย แต่ในมุมผังเมือง พื้นที่ศิลปะวัฒนธรรม เป็นตรอกที่มีความสำคัญ เชื่อมต่อกับบ้านที่เป็นข้าราชบริพาร แต่เขตบ้านสีขาว (พื้นที่นอกพิจารณาที่เหลือ – ผู้สื่อข่าว) มีความสำคัญในลักษณะยุทธศาสตร์การตั้งเมืองและเป็นพื้นที่ค้าขาย ดังนั้นต้องดูว่ากิจกรรมการค้าของเขามีความสำคัญกับชุมชนอย่างไร เช่นการทำเศียรพ่อแก่ เป็นชุมชนมุสลิมที่ทำหน้าที่หลอมทอง ซึ่งในอนาคตกำลัง คุณค่าของการเป็นพื้นที่ป้องกันพระนครและเศรษฐกิจ อย่างไรเสีย การแก้ปัญหานี้ก็ต้องแก้ที่ตัวกฎหมาย ยกกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตาก พบว่ามีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการคัดแยกผู้เสียกรรมสิทธิ์ และแก้ไขนโยบายการชดใช้ รุ่งโรจน์ กล่าวว่า หลักฐานที่พบว่าชุมชนมีแนวโน้มมีร่องรอยการอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ คือการพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มาขยายตัวเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์และตั้งป้อมมหากาฬ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการตั้งเมือง เพราะติดคลองโอ่งอ่างอันเป็นพื้นที่สัญจรสำคัญสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และทางออกทางตะวันออก หลังสมัย ร. 5 เริ่มมีการนำระบบผังเมือง สิ่งปลูกสร้างตามแบบแผนตะวันตกขึ้น ซึ่งล้อมรอบชุมชนป้อมฯ ทำให้ชุมชนเหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ รวมถึงสภาพการจัดตั้งชุมชนที่เป็นพื้นที่ลาดลงสู่แม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันไม่มี ทำให้เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับภูมิปัญญาในอดีต รุ่งโรจน์ เห็นว่า เมื่อเรามองเรื่องศิลปะ สถาปัตยกรรม คนไทยมักมองไปที่วัด วัง แต่สภาพชุมชนของประชาชนไม่ค่อยมีใครนึกถึง แต่กลุ่มบ้านเหล่านี้สามารถเป็นห้องเรียนเรื่องเทคนิคงานช่างในอดีต แบบที่ญี่ปุ่นมีทักษะในการเลียนแบบของเ่กาได้เหมือน แต่ของเราทำไมไม่เหมือน เพราะว่าเรามักไม่เก็บของเก่าไว้ ปัจจุบัน ชุมชนชานพระนครเช่นนี้ได้หายไปเกือบจะหมดแล้ว อาจารย์จาก ม.รามคำแหง ระบุเพิ่มเติมว่า หลังสร้างกำแพงกรุงฯ แล้ว กิจกรรมใหญ่คือการสร้างภูเขาทอง ชุมชนใกล้เคียงจึงเป็นที่อยู่ของแรงงานด้วย ถือเป็นความเกี่ยวพันระหว่างชุมชนกับพื้นที่ตรงข้ามฝั่งคลองด้วยกัน ทั้งรูปแบบการอยู่อาศัยสามารถอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้หลายๆอย่าง เช่น เหตุผลของการเสียชีวิตเพราะโรคระบาดจำนวนมากในพระนคร สุพิชชา กล่าวว่า ชุมชนป้อมฯ ยังเชื่อมต่อกับคนภายนอกด้วย มีภาคีกับทั้งองค์กรอิสระด้านสิทธิที่ดิน ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคม และกลุ่มนักวิชาการทั่วประเทศ เพราะนักวิชาการเชื่อว่าที่ชุมชนมีสิ่งที่น่าสนใจ มีต้นทุนทางวิชาการอยู่ในชุมชน ชุมชนยังเป็นพื้นที่กรณีศึกษาให้กับอาจารย์ นักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์หรือทำการวิจัยหลายต่อหลายกรณีแล้ว เคยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้ามาทำวิจัยด้วย นักวิชาการชี้ ชุมชนยังเข้มแข็ง วอน กทม. ดันแก้ พ.ร.ฎ. ขอสงวนทัังบ้านทั้งคนอยู่สุพิชชา กล่าวว่า ในเชิงวิชาการจะให้ค่าความสำคัญกับความเข้มแข็งของชุมชนมาก มีสมการที่ว่า ความพินาศย่อยยับ = ภัยอันตราย หารด้วยความอ่อนแอ (Disaster = Hazard/Vulnerability) ตัวแปรของความย่อยยับคือความเข้มแข็ง และความสามารถในการปรับตัวของชุมชน ถ้าชุมชนมีการรวมตัวกัน จะทำให้มีความเข้มแข็งต่อเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้นการรวมกลุ่่มกันต้องมาจำแนกให้ดี ไม่ใช่เพราะทางกายภาพนั้นอาศัยอยู่หลังกำแพงพระนครด้วยกัน แต่รวมไปถึงความสนใจร่วมของคนในชุมชนด้วย สุพิชชาได้ยกคุณลักษณะของชุมชน 3 ประการในการระบุคุณค่าของชุมชนป้อมมหากาฬ ได้แก่ สภาพชุมชนที่มีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ชาติพันธุ์ สิ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษ สภาพชุมชนทางวิชาชีพ ในเรื่องภูมิปัญญา และสภาพชุมชนที่มีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ และพบว่า คุณค่าความเป็นชุมชนนั้นมีอยู่สูง เช่น การมีลานกลางชุมชน การไ้หว้ต้นไหม้ใหญ่ พิธีสมาพ่อปู่ ทางภูมิปัญญา ก็ยังมีคนที่สามารถเล่นดนตรีได้ ยังมีวิชาชีพการทำกรงนก การหลอมทอง การทำอาหาร หัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผา ในส่วนของสภาพชุมชนมีความสามารถในการร่วมกันเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ คือรวมกลุ่มกันเองและมีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน เด็กๆ มีการร่วมจัดการห้องสมุด ฝึกรำ เรียนรู้ระบบนิเวศ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสุขภาวะเมือง กลุ่มแม่บ้านมีความเหนียวแน่นเป็นพิเศษ มีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย มีการฝึกอาชีพ ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เคยมีกลุ่มดีไซเนอร์ ศิลปินมาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และกลุ่มออมทรัพย์ แสดงออกถึงความมีวินัยของคนในชุมชน ไม่ใช่อยากอยู่กันแบบไม่มีมาตรฐาน ไม่คิดถึงการมีเงินออม และเงินออมในสหกรณ์มีจำนวนนับแสนบาท ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นบรรษัทที่มีผู้ร่วมถือหุ้นได้ ในเวทีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก การรวมกลุ่มของชุมชนถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ที่เป็นตัวสร้างความเข้มแข็งให้บ้านแต่ละหลัง ชุมชนป้อมมหากาฬ รวมถึงพื้นที่ชุมชนใน กทม. ที่กำลังขยายตัวให้มองเป็นตัวแบบด้วย และยังทิ้งคำถามไว้ว่า พระราชกฤษฎีกา ซึ่งโดยธรรมชาติ เกิดจากมติ ครม. นั้นสามารถแนบรายละเอียดเรื่องการให้สิทธิ์การบริหารพื้นที่ชุมชน และบ้านที่สงวนไว้กับชาวชุมชนได้หรือไม่ ทั้งนี้ อภิชาติ ระุบว่า ควรคุยเรื่องข้อกฎหมายให้จบด้วย ต้องให้ทาง กทม. และฝ่ายชุมชน นักวิชาการ คุยเรื่องนี้ให้ตก เพราะการพิสูจน์คุณค่าของชุมชน หมายรวมถึงการให้สิทธิที่อยู่ กรรมสิทธิ์แก่ผู้อยู่อาศัยด้วย แต่ธีรพันธ์ กล่าวว่า ถ้าให้คุยกันในข้อกฎหมายตั้งแต่กฤษฎีกาเวนคืนคือต้องทำให้พื้นที่ป้อมฯ เป็นสวนสาธารณะก็ไม่ต้องพูดอะไรกันอีก แต่ว่าขณะนี้ พื้นที่ชุมชนยังมีอยู่ และมีการเรียกร้องการเวนคืน จึงควรมาถกกันบนกรอบเรื่องคุณค่าต่างๆ โดยไม่เอากฎหมายมานำ กทม. ระบุ ต้องถามมุมมองคนภายนอกชุมชนด้วย ตอนลงพื้นที่ยังมีที่ต้องตักเตือนธีรพันธ์ กล่าวว่า คุณค่าทางสังคมต้องให้คนข้างนอกชุมชนช่วยกันพิจารณาด้วย ว่ามีมุมมองต่อชุมชนป้อมฯ อย่างไร แต่วันนี้การเห็นพ้องว่าควรสงวนบ้านโบราณไว้ 2 หลัง เป็นสัญญาณว่า กทม. เองก็ให้ความสำคัญแล้ว แต่การปรับแก้ หรือการทบทวนพระราชกฤษฎีกาจะต้องมีต่อไปในอนาคต พร้อมทื้งโจทย์ให้กลุ่มนักวิชาการและชุมชนอธิบายให้คนภายนอกชุมชนป้อมฯ ที่มีมุมมองต่างออกไปอย่างไร สังคมโดยรอบได้อะไรจากการตัดสินใจเกี่ยวกับชุมชน คนในชุมชนได้อะไร ถ้าคนหมู่มากเห็นชอบแล้ว กฎหมายกฤษฎีกาก็จะถูกแก้ แต่ขอให้ที่ประชุม ตัวแทนฝ่ายชุมชน นักวิชาการคะนึงถึงข้อเสีย จุดอ่อนที่ชุมชนมีด้วยในความเป็นจริง เพื่อให้ตน ที่จะเป็นผู้แทนเข้าไปพูดคุยในที่ประชุมบริหารของ กทม. ได้ตอบคำถามต่างๆได้อย่างชัดเจน เลขานุการ กทม. กล่าวว่า เรื่องที่ต้องคุยต่อคือการเอารายละเอียดแต่ละแปลงพร้อมโฉนดที่ดินมาแจ้ง จะมีการปรับผังให้ตรงกับโฉนด ปรับผังบ้านให้ดูง่าย และจะคุยต่อเรื่องการระบุคุณค่าเชิงสังคมและวิถีชีวิต และประเด็นข้อกฎหมายที่ถ้าหากติดขัดก็ต้องหาทางออกกันต่อไป ทั้งนี้ ตอนที่ตนไปลงพื้นที่ ยังพบว่าบ้านเรือนหลายหลังยังมีสภาพทรุดโทรม ไม่สะอาด และยังมีประทัดขายอยู่ซึ่งตนได้ตักเตือนไปแล้ว ฝั่ง กทม. ชี้ หนีตีความ ก.ม. ไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริงจึงจะสำเร็จณัฐนันทน์ ระบุว่า เรื่องกฎหมายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ไม่ได้เป็นเรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลสมัยก่อนที่เห็นคุณค่าของป้อมมหากาฬ ขณะนั้นคือ ต้องการให้ป้อมโดดเด่น จึงยังไม่เห็นคุณค่าของบ้านไม้ ณ ขณะนั้น ประเด็นที่ละเอียดอ่อนคือ ไม่ใช่ที่บุกรุก แต่เป็นที่ๆต้องอยู่่ร่วมกัน กฎหมายนั้นระบุว่า ไม่จำเป็น ไม่เวนคืน เพราะถือว่าลิดรอนกรรมสิทธิ์ประชาชน ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีความสำคัญมากกว่าสิทธิในกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น สมัยนั้น รัฐบาลเห็นป้อมสำคัญกว่าชุมชน ที่ประชุมนี้เดินมาถูกทางตรงที่เราพูดคุยตรงการบรรลุถึงผลลัพธ์เชิงคุณค่า หลังจากนั้นหากจะไปติดขัดที่กฎหมายตรงไหนก็เสนอให้องค์กรที่มีอำนาจแก้ไขต่อไป ในสมัยอภิรักษ์ โกษะโยธิน ต้องการทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต จึงมอบหมายหน้าที่ให้กรมศิลปากรดูแล แต่การตีความตามกฎหมายนั้นหลีกหนีไม่ได้ ถ้าเราเอาคุณค่ามาคุยกันแล้วจะไม่ให้เสียเปล่า ให้เกิดการโน้มน้าว ก็ต้องให้ผู้มีอำนาจเข้าใจถึงคุณค่าเช่นว่าด้วย และต้องมีอำนาจที่ใหญ่กว่าอำนาจกฤษฎีกามาแก้ไข่ ทั้งนี้ การระบุคุณค่าในที่ประชุมนั้นควรพิจารณาให้ตกผลึก ได้คุณค่าที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการพิจารณาในฝ่ายบริหารของ กทม. สำหรับการนัดประชุมครั้งต่อไป เป็นวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2560 เวลา 10.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อดีตนักศึกษาจีนเปิดเผยภาพถ่ายชุมนุมเทียนอันเหมินหลังเก็บมานาน 28 ปี Posted: 03 Jun 2017 04:19 AM PDT เดวิด เฉิน อดีตนักศึกษาจีน ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เขาเคยร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 และถ่ายภาพในช่วงก่อนที่รัฐบาลจะปราบปราม เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย เขาจึงเก็บภาพเอาไว้โดยไม่ได้เผยแพร่มานานกว่า 28 ปี กระทั่งหลังจากเขาเดินทางไปสหรัฐฯ เมื่อปี 2555 และในโอกาสเหตุรำลึกปีนี้ เขาจึงนำรูปออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ 3 มิ.ย. 2560 นิวยอร์กไทม์เปิดเผยรูปถ่ายการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ที่เจ้าของภาพเก็บซ่อนเอาไว้ถึง 28 ปี โดยผู้ถ่ายภาพทคือ เดวิด เฉิน ภาพถ่ายของเขาเผยให้เห็นช่วงที่กลุ่มนักศึกษาในจีนยึดครองพื้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่งในปี 2532 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและประท้วงการทุจริตในภาครัฐ ในปีนั้น เฉินอายุ 25 ปี เขาเป็นนักศึกษาวิทยาลัยทางทะเลต้าเหลียน อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทีแรกเขาคอยสนับสนุนการประท้วงที่เทียนอันเหมินอยู่ห่างๆ แล้วก็เป็นผู้ช่วยจัดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองต้าเหลียนซึ่งเป็นเมืองท่าของจีน แต่ต่อมาเขาก็อดไม่ไหว จึงเดินทางไปเข้าร่วมการประท้วงที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเฉินได้พกกล้องไปชุมนุมด้วยในยุคสมัยนั้นที่น้อยคนในจีนที่จะกล้อง โดยที่เฉินได้รับกล้องมาจากลุงของเขาที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน นั่นทำให้เฉินคอยเก็บภาพจากสถานที่ชุมนุมตลอดเวลา1 สัปดาห์เอาไว้ด้วย หลังกลับจากชุมนุมที่เทียนอินเหมิน เฉินก็ทำการล้างาพแบบขาวดำแล้วแปะบนกระดานหน้าห้างสรรพสินค้าในต้าเหลียนเป็นเวลา 3 วันเพื่อขอเพิ่มแรงสนับสนุนและขอบริจาคให้กับผู้ชุมนุม แต่หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เฉินกลับต้าเหลียนกองทัพจีนก็ใช้ความรุนแรงเข้ายึดพื้นที่จัตุรัสคืนในวันที่ 3-4 มิ.ย. จนเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือดมีประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคน เฉินเก็บซ่อนฟิล์มเนกาทีฟของตัวเองไว้กับพ่อแม่ของเขาโดยไม่ได้แตะต้องมันอีกเลยเป็นเวลามากกว่าสองทศวรรษจนกระทั่งเขาทำให้มันกลายเป็นดิจิตอลและนำติดตัวเขาไปด้วยในช่วงที่เขาอพยพไปยังสหรัฐฯ ในปี 2555 ผ่านมาจนใกล้ครบวาระการปราบปรามผู้ชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2560 เฉินก็ยอมเปิดเผยภาพถ่ายของเขาให้ผู้คนได้ชมผ่านนิวยอร์กไทม์ ภาพถ่ายของเฉินเป็นภาพขาวดำหลายภาพประกอบด้วยภาพกลุ่มนักศึกษาเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาที่เทียนอันเหมินในหลายมุม ทั้งมุมที่มีแกนนำนักศึกษากำลังพูดกับฝูงชน รูปนักศึกษาเดินขบวนพร้อมป้ายประท้วงว่าระบุว่า "ข้อกล่าวหาต่อนักศึกษาไม่มีมูลความจริง" มีรูปรถประจำทางขนมวลชนและเสบียงมาร่วมชุมนุม รวมไปถึงรูปในช่วงที่รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค. 2532 และกำลังโปรยใบปลิวลงนบริเวณที่ชุมนุมให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ซึ่งนอกจากนักศึกษาแล้วยังมีรูปของคนงานคอปกน้ำเงินร่วมชุมนุมโดยมีป้ายเขียนว่า "สหพันธ์คนงานปักกิ่ง" อยู่หน้าเทียนอันเหมิน "เวลาผ่านมาแล้ว 28 ปี โลกควรจะได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น" เฉินกล่าว รับชมรูปของ เดวิด เฉินได้ที่ Hidden Away for 28 Years, Tiananmen Protest Pictures See Light of Day, New York Times, 01-06-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แนะคนไทยในฟิลิปปินส์เลี่ยงพื้นที่ชุมชน-พกพาสปอร์ต Posted: 02 Jun 2017 09:20 PM PDT สถานทูตไทย ณ กรุงมะนิลา แนะคนไทยเพิ่มความระมัดระวังและติดตามสถานการณ์ในฟิลิปปินส์ใกล้ชิด เลี่ยงพื้นที่เกิดเหตุ สถานที่คนพลุกพล่าน พกพาสปอร์ตติดตัวตลอดเวลา สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ค ระบุว่า ขอแจ้งคนไทยที่พำนัก/ทำงานอยู่ในฟิลิปปินส์ และคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางมาฟิลิปปินส์ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังและติดตามสถานการณ์ในฟิลิปปินส์จากเว็บไซต์และเฟซบุ๊คสถานเอกอัครราชทูตฯ รวมทั้งจากทางการและสื่อท้องถิ่นฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด หากไม่มีความจำเป็น ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเกาะมินดาเนา โดยเฉพาะเมืองมาราวีและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากพื้นที่เกาะมินดาเนาอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก และรัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างปฏิบัติการทางทหารเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายในเมืองมาราวีและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปใน Resort World Manila ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ หรือพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งสถานที่ที่ผู้คนพลุกพล่านหรือแออัดในกรุงมะนิลา หรือเมืองใหญ่ เช่น นครเซบู สถานทูตไทย กรุงมะนิลา ยังขอให้คนไทยในฟิลิปปินส์ให้ความร่วมมือกับทางการฟิลิปปินส์ เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นตามจุดตรวจต่าง ๆ โดยขอให้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวไว้ตลอด เพื่อแสดงตน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนมั่นใจน้อยถึงน้อยที่สุดว่า รธน. จะแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง Posted: 02 Jun 2017 09:10 PM PDT กรุงเทพโพลล์ระบุ 4 ข้อคำถามจากนายกฯ ประชาชนเห็นว่ามีนัยให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์บ้านเมืองก่อนการเลือกตั้งว่ามั่นคงหรือยัง โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 69.6 เห็นว่าควรจัดเลือกตั้งเมื่อสถานการณ์ประเทศอยู่ในภาวะเหมาะสม ทั้งนี้ร้อยละ 61.1 มั่นใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง จะแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 3 มิ.ย. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "4 ข้อคำถามจากนายกฯ สู่ โรดแมปการเลือกตั้ง" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,227 คน พบว่า จาก 4 ข้อคำถามของนายกรัฐมนตรี ที่ฝากไว้กับประชาชนในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ประชาชนร้อยละ 30.2 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมีนัยเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์บ้านเมืองก่อนการเลือกตั้งว่ามั่นคงหรือยังรองลงมาร้อยละ 29.4 มีนัยว่าหากบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยอาจจะไม่ได้จัดการเลือกตั้งตามโรดแมป และร้อยละ 26.6 มีนัยว่า หากไม่มีความสุจริตเที่ยงธรรมในการเมืองก็จะไม่มีการเลือกตั้ง ที่เหลือร้อยละ 13.8 มีนัยเพื่อส่งสัญญาณถึงนักการเมืองว่าได้จัดการปฏิรูปพรรคการเมืองและตนเองแล้วหรือยัง ทั้งนี้เมื่อถามถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.6เห็นว่าควรจัดเลือกตั้งเมื่อสถานการณ์ประเทศอยู่ในภาวะเหมาะสมขณะที่ร้อยละ 30.4 ระบุว่าควรจัดเลือกตั้งตามเวลาที่กำหนดไว้ในโรดแมป ส่วนความมั่นใจที่มีต่อรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงว่าจะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล นั้นประชาชนร้อยละ 61.1 มีความมั่นใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 38.9 มีความมั่นใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด สำหรับเรื่องที่มีความกังวลมากที่สุด ในช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งตามโรดแมป ประชาชนร้อยละ 40.8 กังวลเรื่องการสร้างสถานการณ์ต่างๆเพื่อสั่นคลอนบ้านเมืองเช่นวางระเบิดก่อกวนสร้างความไม่สงบฯลฯรองลงมาร้อยละ 38.7 กังวลเรื่องการระดมหัวคะแนนเพื่อเร่งหาฐานเสียงให้กับนักการเมืองด้วยวิธีที่ไม่ชอบธรรม และร้อยละ 20.5 กังวลว่าจะมีแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆไม่มีหน้าใหม่ๆเข้ามาลงสนามในการเลือกตั้ง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น