โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สปสช.ยันบอร์ดจัดสรรงบกองทุนบัตรทองให้ความสำคัญทั้งป้องกันโรคและรักษา

Posted: 14 Jun 2017 11:12 AM PDT

14 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตยืนยาวขึ้น ช่วยลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงอนุมัติการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนับตั้งแต่เริ่มแรกของการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการการควบคู่กับการจัดบริการรักษาพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2560 บอรด์ สปสช.ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ยังคงเดินหน้าจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้โดยตรงแก่บุคคลสำหรับประชาชนไทยทุกคนอย่างต่อเนื่อง 301.88 บาท ต่อประชากรไทยทุกคน จำนวน 65.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ 175 บาทต่อประชากร โดยดำเนินการภายใต้ประกาศประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข ฉบับที่ 10 ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2559

"นอกจากนั้นยังมีงบที่แยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เป็นงบสำหรับการบริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดย โดยเน้นการควบคุมป้องกันระดับทุติยภูมิ จำนวน 910 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการทุกปีตั้งแต่ปี 2553 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะนำไปสู่โรคค่าใช้จ่ายสูงอื่นๆ ตามมา"  

ทั้งนี้งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปี 2560 บอร์ด สปสช.ได้กระจายงบประมาณตามการดำเนินงาน คือ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ, ระดับชุมชน, ระดับเขต/จังหวัด บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน และบริการที่จ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ โดยนำปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นตัวตั้ง

"งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง สสส. อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการดำเนินงาน กำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมป้องกันที่เป็นมาตรฐานมีประสิทธิผลตรงกลุ่มเป้าหมายจริงตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งลดอัตราการเจ็บป่วยและยกระดับสุขภาพของคนไทยตามนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมป้องกันโรคเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล และการรักษาโรคเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร่งด่วน จึงเป็นภารกิจเฉพาะหน้า ประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมีมากขึ้น งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลจึงมากกว่า" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยยื่นจดทะเบียนสัตยาบันสาร ฉ.111 ต่อ ILO ว่าด้วยขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน

Posted: 14 Jun 2017 11:05 AM PDT

รมว.แรงงาน เข้าพบผอ.ใหญ่ ILO ยื่นจดทะเบียนสัตยาบันสารอนุสัญญา ฉบับ 111 ขจัดการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ พร้อมพิจารณาเพิ่มอีก 2 ฉบับ คือ อนุสัญญา ฉ. 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และ ฉ. 188 ว่าด้วยงานประมง

14 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เข้าพบ Mr.Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยกล่าวว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 111 ในครั้งนี้เป็นการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศโดยการให้พันธะสัญญาต่อประชาคมระหว่างประเทศที่จะดำเนินการเพื่อส่งเสริมโอกาสอันเท่าเทียมกันด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในมิติต่างๆ ของการจ้างงานให้หมดไป อันเป็นหนทางไปสู่การบรรลุวาระงานที่มีคุณค่าและวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ อนุสัญญาฉบับที่ 111 กำหนดให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ โดยมีสาระสำคัญ มุ่งเน้นการขจัดการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สถานะทางสังคม สำหรับความหมายของการจ้างงานและการประกอบอาชีพตามอนุสัญญานี้จะครอบคลุมถึงการเข้าถึงการฝึกพัฒนาฝีมือแรงงาน การจ้างงานและการประกอบอาชีพบางประเภท รวมทั้งเงื่อนไขและสภาพการจ้าง

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับหลักการความเท่าเทียมและการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบอย่างแท้จริง โดยกำหนดไว้ในแนวนโยบายแห่งชาติและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 รวมทั้งมีการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ กรอบการทำงานในภาคปฏิบัติที่ประจักษ์ว่าแรงงานในประเทศทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเต็มที่ ตามปณิธานที่มุ่งหวังให้คนทำงานดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและเกิดความเท่าเทียมในสังคม สำหรับการพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาของ ILO เพิ่มเติมนั้น ขณะนี้กำลังศึกษาวิเคราะห์ และประชุมหารือถึงความพร้อมที่จะให้สัตยาบันเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ คือ พิธีสาร ค.ศ.2014 แนบท้ายอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 และอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยงานประมง ค.ศ.2007

รมว.แรงงาน ยังกล่าวต่อว่า ด้วยความมุ่งมั่นของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 3 ปี สะท้อนให้เห็นโดยตัวแทนประเทศสมาชิก ILO ลงมติโหวตให้เราได้เข้ามาเป็นผู้แทนถาวรของ GB ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นับแต่นี้ต่อไปซึ่งถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ที่เรามีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก  และเรายังได้เตรียมความพร้อมเรื่องอนาคตของงาน (Future of Work) เพื่อรองรับตลาดงานแห่งอนาคต โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาคนไทย เยาวชนไทยให้มีทักษะความรู้ความสามารถอย่างเท่าทันต่อความเป็นไปของโลกปัจจุบันด้วย  โอกาสเดียวกันนี้  ยังได้แสดงความยินดีกับ Mr.Guy Ryder ที่ได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ILO อีก 1 วาระ และพร้อมที่จะทำงานกับ ILO ในฐานะสมาชิกประจำของคณะประศาสน์การ  เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่มุ่งหวังและก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซาอุฯ ปัดปิดล้อมกาตาร์แค่ไม่ให้เข้าประเทศ บาห์เรนจับจริงคนสนับสนุนกาตาร์

Posted: 14 Jun 2017 11:05 AM PDT

ประมวลสถานการณ์วิกฤติการณ์กาตาร์ นานาชาติคัดค้านโดดเดี่ยวกาตาร์ สหรัฐฯ คุยกับทูตพบสัญญาณดี ซาอุฯ ปัดปิดล้อมแค่ห้ามเข้าประเทศ อียิปต์ผ่อนปรนการปิดน่านฟ้า กาตาร์แอร์เวย์ระบุ ธุรกิจโดยรวมราบรื่น บาห์เรนคุมขังประชาชนแสดงความเห็นใจกาตาร์เพิ่ม นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนถูกจับกุมข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายห้ามสนับสนุนกาตาร์หลังไปศาลเพื่อฟ้อง ครม. บาห์เรน

แผนที่แสดงประเทศที่ร่วมวงในความขัดแย้งทางการทูตกับกาตาร์ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

15 มิ.ย. 2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่กลุ่มประเทศอาหรับ แอฟริกาและหมู่เกาะมัลดีฟส์ ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยอ้างว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มคตินิยมแบบสุดโต่ง รวมถึงกลุ่มการเมืองมุสลิมอย่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) หลายชาติปิดเส้นทางเข้า-ออกระหว่างตนกับกาตาร์ทั้งทางบก เรือ อากาศ แม้มีหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศร่วมภูมิภาคอย่างจอร์แดนและคูเวตพยายามลดความตึงเครียดผ่านโต๊ะเจรจา แต่ความขัดแย้งยังคงไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด ในขณะที่ตุรกีส่งทหารเข้าประจำการในฐานทัพของตุรกีที่กาตาร์แล้ว

ล่าสุด รายชื่อประเทศที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์แล้ว ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ บาห์เรน เยเมน รัฐบาลลิเบียตะวันออก, มัลดีฟส์, มอริเตเนีย และเซเนกัล ส่วนจอร์แดนและจิบูติลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ลงมา แต่ยังไม่ตัดความสัมพันธ์

นานาประเทศคัดค้านโดดเดี่ยวกาตาร์ สหรัฐฯ คุยกับทูตเห็นสัญญาณดี ซาอุฯ ปัดปิดล้อมกาตาร์แค่ไม่ให้เข้าประเทศ

ฮีเธอร์ เนาเอิร์ท โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า ความพยายามในการแก้ไขวิกฤติการณ์การทูตระหว่างกาตาร์ และกลุ่มชาติพันธมิตรที่นำโดยซาอุดิอาระเบียมี "แนวโน้มไปในทิศทางบวก" หลัง รมว. ต่างประเทศของสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน เข้าพบกับ รมว. ต่างประเทศของซาอุฯ อเดล อัล จูเบร์

เนาเอิร์ทระบุว่าการพูดคุยกันระหว่างนักการทูตระดับสูงเกี่ยวกับสถานการณ์บนอ่าวเปอร์เซียนั้น "มีความหวัง" 

"พวกเขาพูดคุยกันถึงเรื่องความจำเป็น...ความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน ท่าทีและบรรยากาศที่มีต่อสถานการณ์นั้นเป็นท่าทีที่มีความหวังบนความเชื่อว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดได้ผ่านไปแล้ว" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ กล่าว

อย่างไรก็ดี ก่อนการประชุมดังกล่าว จูเบร์ ของซาอุฯ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มาตรการการปิดล้อมกาตาร์นั้นต่างจากการปิดล้อม โดยระบุว่ารัฐบาลซาอุฯ ใช้สิทธิของอธิปัตย์ในการไม่ให้กาตาร์ใช้น่านฟ้า น่านน้ำและเขตแดนของซาอุฯ

"ไม่มีการปิดกั้นกาตาร์ กาตาร์มีอิสระในการเดินทาง ท่าเรือก็เปิด สนามบินก็เปิด" จูเบร์กล่าวในขณะที่อยู่กับทิลเลอร์สันที่ไม่ได้พูดอะไร

"ข้อจำกัดการใช้น่านฟ้าของซาอุฯ ถูกจำกัดอยู่แค่กับสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ หรืออากาศยานสัญชาติกาตาร์ ไม่ใช่กับคนอื่น"

"ท่าเรือของกาตาร์ก็เปิด ไม่มีการปิดล้อมพวกเขา กาตาร์สามารถขนส่งสินค้า เข้า-ออกตอนไหนก็ได้ พวกเขาแค่ใช้น่านน้ำของพวกเราไม่ได้" จูเบร์ กล่าว

เมื่อ 13 มิ.ย. เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกาน ประธานาธิบดีตุรกียังร้องขอให้กษัตริย์ซัลมานทบทวนมาตรการโดดเดี่ยวกาตาร์ และให้ผันตัวเป็นผู้นำในการแก้ไขวิกฤติการณ์บนอ่าวเปอร์เซีย โดยระบุว่ากาตาร์และตุรกีล้วนมีท่าทีต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม "กาตาร์และตุรกีมีความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านองค์กรการก่อการร้ายของกลุ่มรัฐอิสลาม" เออร์โดกาน กล่าว

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับกษัตริย์ซัลมานของซาอุฯ โดยมีใจความว่า การปิดล้อมกาตาร์โดยซาอุฯ และชาติพันธมิตรจะทำให้ความพยายามสร้างสันติภาพในสงครามกลางเมืองซีเรียมีความยากยิ่งขึ้น เพราะการรุมโดดเดี่ยวกาตาร์เป็นการลดทอนความเข้มแข็งในการร่วมกันสร้างสันติภาพในซีเรียและต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ในขณะที่เอกอัครราชทูตกาตาร์ประจำประเทศรัสเซีย ฟาฮัด บิน โมฮัมเหม็ด อัล อัตติยาห์ กล่าวกับสำนักข่าว อัล จาซีราในกรุงมอสโคว์ ในประเด็นการโดนปิดล้อมว่า "มันไม่ใช่ความร้าวฉานทางการทูตอย่างที่หลายคนพยายามนำเสนอ แท้จริงแล้วนี่คือการปิดล้อมอย่างผิดกฎหมาย"

"ถ้า(วิกฤติการณ์) ไม่ได้รับการแก้ไขผ่านการพูดคุย ผมคิดว่าเราควรไปที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งผมคิดว่า ณ ที่นั้น เหล่าสมาชิกอาจจะต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อแก้ไขการประทุษร้ายเสียก่อน โดยเริ่มจากการประณาม จากนั้นก็ถอนคำประณาม แล้วขอให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมคุยกันบนโต๊ะเจรจา" อัล อัตติยาห์ กล่าว

สำนักข่าว KUNA ของคูเวตรายงานว่า กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ได้เสด็จเยือนคูเวตเมื่อ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อพูดคุยกับเจ้าครองนครคูเวต เอมีร์ ชีค ซาบาห์ อัล อาหมัด อัล จาเบร์ อัล ซาบาห์  ในประเด็นการร่วมกันสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาค กษัตรย์จอร์แดนได้ทรงแต่งตั้งคณะผู้แทนพระองค์ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี ฮานี อัล มัลคี และหัวหน้าสำนักงานศาลจอร์แดน ฟาเยซ อัล ทาราวเนห์ และ อัยมาน อัล ซาฟาดี รมว. กระทรวงการต่างประเทศจอร์แดน

อียิปต์ผ่อนปรนการปิดน่านฟ้า กาตาร์แอร์เวย์ระบุธุรกิจโดยรวมราบรื่นแม้โดนปิดล้อม

กระทรวงการบินพลเรือนของอียิปต์ระบุว่า อียิปต์จะอนุญาตให้สายการบินและอากาศยานที่ไม่ได้จดทะเบียนในอียิปต์หรือกาตาร์ ใช้น่านฟ้าของอียิปต์บิน เข้า-ออก กาตาร์ได้ แต่ยังคงไม่ให้อากาศยานสัญชาติกาตาร์บิน เข้า-ออก อียิปต์

อัคบาร์ อัล บาเกอร์ กรรมการผู้จัดการสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์  กล่าวว่า ปฏิบัติการของสายการบินส่วนใหญ่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นแม้จะพบเจอการปิดน่านฟ้าจากชาติอาหรับ 4 ชาติ ทั้งนี้ อัล บาเกอร์ ยังได้ย้ำข้อร้องขอไปทางองค์การกรบินพลเรือนนานาชาติหรือ ICAO ให้ประกาศให้การปิดน่านฟ้าที่กำลังดำเนินอยู่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย "เราไม่ใช่กลุ่มก้อนทางการเมือง พวกเราคือสายการบิน และการปิดล้อมนี้ได้ปลดสิทธิซึ่งพึงมีพึงได้" กรรมการผู้จัดการกาตาร์ แอร์เวย์ กล่าว

กาตาร์ แอร์เวย์เป็นสายการบินที่รัฐเป็นเจ้าของกิจการ มีจำนวนเส้นทางการบินทั้งสิ้นกว่า 150 จุดหมายปลายทางทั่วโลก ขณะนี้ถูกอียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบียและบาห์เรนปิดเส้นทางการบินไม่ให้เข้า-ออกน่านฟ้าของรัฐดังกล่าว

บาห์เรนจับกุมทนายสิทธิฯ หลังฟ้องรัฐบาลกรณีปิดล้อมกาตาร์

14 มิ.ย. อิสซา ฟาราจ อรามา อัล บูร์เชด นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนถูกจับกุมตัวหลังฟ้องร้องคณะรัฐมนตรี รมว. กระทรวงมหาดไทยและ รมว. กระทรวงการต่างประเทศของบาห์เรน ที่ศาลปกครองสูงสุด ในกรุงมานามา เมืองหลวงของบาห์เรน หลังจากที่รัฐบาลบาห์เรนได้ออกกฎหมายห้ามสนับสนุนกาตาร์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อัล จาซีรารายงานถ้อยแถลงของบูร์เช็ด โดยเจ้าตัวระบุว่า มาตรการการปิดล้อมกาตาร์ของบาห์เรนนั้นเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เนื่องจาก "การปิดล้อมได้ทำลายสายสัมพันธ์ของครอบครัวและสร้างความเจ็บปวดให้กับครอบครัวชาวบาห์เรนทุกคน" "การตัดสินใจตัดสัมพันธ์ทางการทูตละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญของบาห์เรน" ซึ่งระบุเอาไว้ว่าบาห์เรนต้องรักษาเอกภาพทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มสภาความร่วมมืออ่าว (GCC) ด้วยกัน

นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนยังระบุว่า ข้อกล่าวหาที่ว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้ายนั้นต้องได้รับการดูแลจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่ใช่กลุ่มประเทศไม่กี่ประเทศ

นอกจากนั้น อาเหม็ด อัล ฮามมาดี อัยการสูงสุดของบาห์เรนระบุว่า กรมอาชญากรรมไซเบอร์ได้ส่งคดีกรณีประชาชนผู้หนึ่งซึ่งแสดงความเห็นใจกาตาร์ให้กับส่วนงานที่รับผิดชอบด้านการดำเนินคดีแล้ว โดย "เป็นผู้ที่โพสท์คอมเมนท์บนโซเชียลเนตเวิร์คซึ่งไปละเมิด" การห้ามแสดงความเห็นใจกาตาร์

แปลและเรียบเรียงจาก

Aljazeera, Qatar-Gulf crisis: All the latest updates, 15 Jun. 2017

Aljazeera, Bahrain lawyer arrested for suing over Qatar blockade, 14 Jun. 2017

Aljazeera, US: Gulf crisis trending in a positive direction, 14 Jun. 2017

Aljazeera, Qatar Airways: Services largely unaffected by Gulf ban, 14 Jun. 2017

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ตร.ให้ ฝ่าย ก.ม. เช็ค 'วิทยา' หมิ่นประมาทหรือไม่ หลังแฉปมซื้อขายตำแหน่ง ตร.

Posted: 14 Jun 2017 10:56 AM PDT

ป.ป.ช.เผยสามารถตรวจสอบกรณีซื้อขายตำแหน่งตำรวจได้โดยไม่มีผู้ร้อง Police Watch ร้องประยุทธ์ เร่งแก้ปัญหาทุจริตในวงการตำรวจ-กระจายอำนาจให้สังกัดจังหวัด

แฟ้มภาพ

14 มิ.ย. 2560 ช่อง 7 รายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงชี้แจงกรณีที่ วิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และอดีตแกนนำ กปปส. ที่ออกมาเปิดเผยถึงการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกล่าวพาดพิงว่าในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีการซื้อขายตำแหน่งสูงกว่าในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ถึง 2 เท่าว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าทำไม วิทยา ถึงมีข้อมูลมาพาดพิงในพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งในเรื่องนี้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้รับความเสียหาย ส่วนตัวมองว่า พล.ต.ทศานิตย์เป็นบุคคลตรงไปตรงมา เบื้องต้นได้พูดคุยกันแล้ว และจะดำเนินการตรวจสอบ ยืนยันว่าในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลไม่มีการซื้อ-ขายตำแหน่งแน่นอน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กองกฎหมายและคดีไปพิจารณาว่า วิทยา จะเข้าข่ายการหมิ่นประมาทหรือไม่ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายยืนยันว่าทำเพียงคนเดียว ไม่มีใครจัดทำโผให้

ส่วนการย้าย พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากมีหนังสือร้องเรียนเข้ามาหลายฉบับ จึงต้องมีการย้าย เพื่อให้จเรตำรวจแห่งชาติเข้าไปตรวจสอบลดข้อครหาจากประชาชน

ป.ป.ช.เผยสามารถตรวจสอบกรณีซื้อขายตำแหน่งตำรวจได้โดยไม่มีผู้ร้อง

สำนักข่าวไทย รายงานว่า สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการเสนอข้อมูลผ่านสาธารณะและมีเหตุควรสงสัยว่า มีการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงตำรวจเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ป.ป.ช. สามารถเชิญ วิทยา ผู้ที่เปิดประเด็นนี้ มาให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช.ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้อง  และหากป.ป.ช.เก็บข้อมูลแล้ว พบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ก็เดินหน้าตามขั้นตอนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ได้ทันที

Police Watch ร้องประยุทธ์ เร่งแก้ปัญหาทุจริตในวงการตำรวจ-กระจายอำนาจให้สังกัดจังหวัด

ขณะที่วันเดียวกัน (14 มิ.ย.60) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ(คป.ตร.) (Police Watch) ว่าทาง Police Watch ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในวงการตำรวจและกระจายอำนาจให้สังกัดจังหวัด โดยระบุว่า ตามที่ วิทยา  แก้วภราดัย  อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)และอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาให้ข้อมูลต่อประชาชนว่า การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจประจำปี 2559 มีการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้น  และมีพยานหลักฐานพร้อมแสดงต่อนายกรัฐมนตรีหากต้องการนั้น

เครือข่าย Police Watch และเครือข่ายประชาชน 42 องค์กร เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาที่ประชาชนโดยเฉพาะข้าราชการตำรวจได้รับรู้กันมานานแล้ว  แต่ไม่เคยมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดหรือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรงตลอดมา กรณีดังกล่าว ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ไม่มีมูลการกระทำผิดตามที่ วิทยา ให้ข้อมูลต่อประชาชน รวมทั้งแจ้งว่า ได้สั่งการให้จเรตำรวจตำรวจแห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งการที่ ผบ.ตร.ให้สัมภาษณ์เช่นนั้น เท่ากับสรุปล่วงหน้าว่า ไม่การกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้น  การตรวจสอบข้อเท็จจริงของจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร.จึงไม่มีความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด

เครือข่าย Police Watch  จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการดังนี้ 1. สั่งการให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/60 เรื่อง การปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยเชิญ วิทยา แก้วภราดัย ไปให้ข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับปัญหาการซื้อขายตำรวจตามที่ได้รับทราบมา  และชี้แจงผลการตรวจสอบเบื้องต้นรวมทั้งการดำเนินการตามกฏหมายให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน  โดยการดำเนินการให้อยู่ภายใต้การควบคุมของ ดร.วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(ฝ่ายกฎหมาย)

2. เร่งแก้ปัญหาตำรวจดังกล่าวด้วยการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรในลักษณะของการกระจายอำนาจให้สังกัดจังหวัดโดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับผู้กำกับลงไปภายในจังหวัดได้  เพื่อป้องกันมิให้ตำรวจวิ่งเต้นย้ายข้ามจังหวัด  หรือ แม้กระทั่งภูมิภาค ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแม้กระทั่งการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้น

3. กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจทุกระดับไม่ว่าจะโดยท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุด หรือเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่จะจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญให้ พิจารณาตามอาวุโส สายงาน และพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมที่จะส่งผลเป็นการฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของตำรวจส่วนใหญ่ให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด  

4. เร่งปฏิรูประบบงานสอบสวน โดยให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาสำคัญหรือคดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าการสอบสวนไม่ได้เป็นไปด้วยความยุติธรรมตามกฎหมาย

และสุดท้าย Police Watch เห็นว่าปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในวงการตำรวจ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง มีสายการบังคับบัญชาแบบกองทัพ จึงต้องปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และรัฐบาลควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง: การปริวรรต ตีความ และเปรียบเทียบฯ

Posted: 14 Jun 2017 09:58 AM PDT

เสวนาหัวข้อ "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับเชียงรุ่ง : การปริวรรต ตีความ และเปรียบเทียบ เครือข่ายพุทธศาสนาในเขตวัฒนธรรมล้านนา" โดย รศ.สมหมาย เปรมจิตต์ อาจารย์ศรีเลา เกษพรหม และ ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว

การเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] อานันท์ กาญจนพันธุ์: ล้านนาในศตวรรษที่ 21

Posted: 14 Jun 2017 09:25 AM PDT

คลิปจากเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในช่วงเช้าเป็นการปาฐกถาหัวข้อ ล้านนาในศตวรรษที่ 21 โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่: 3 นักวิชาการเปิดประเด็น

Posted: 14 Jun 2017 09:13 AM PDT

คลิปจากเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยช่วงแรกเป็นการเปิดประเด็นการเสวนา "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" โดย ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์แสวง มาละแซม และ ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาศาลนัดตัดสินคดีเด่น คำแหล้ และภรรยารุกพื้นที่ป่า ภรรยาเผยสามีหายตัวไปไม่เคยคิดหนีคดี

Posted: 14 Jun 2017 05:44 AM PDT

ศาลภูเขียวนัดฟังพิพากษาศาลฎีกา กรณีเด่น คำแหล้และภรรยาถูกฟ้อง รุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม หลังเลื่อนฟังคำพิพากษาครั้งก่อนเนื่องจากข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า เด่นเสียชีวิตแล้ว และการที่จำเลยไม่มาศาลถือว่าหลบหนีคดี

14 มิ.ย. 2560 สำข่าวข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ซึ่งมีเด่น คำแหล้ เป็นจำเลยที่ 1 และสุภาพ คำแหล้ ผู้เป็นภรรยา เป็นจำเลยที่ 4 โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ศาลจังหวัดภูเขียวได้มีหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาและฟังคำสั่งของศาลฎีกา แต่เด่นได้หายตัวไปตั้งแต่ 16 เม.ย. 2559 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 (เด่น คำแหล้) เป็นบุคคลที่เสียไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีบุคคลรู้แน่ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย การที่เด่นไม่มาฟังคำพิพากษานั้น ศาลถือว่าเด่นหลบหนี จึงไม่ระงับคดีอาญา และให้ศาลจังหวัดภูเขียวดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าว ศาลจังหวัดภูเขียวจึงได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 และปรับนายประกัน ได้มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ออกไปเป็นวันที่ 15 มิ.ย.2560

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้านรวม 10 คน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม สำหรับคดีของเด่น กับพวกรวม 5 คน ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2556  โดยยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 คือนายเด่น และนางสุภาพ จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี ส่วนอีก 3 ราย ศาลยกฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน และศาลไม่อนุญาตฎีกา จำเลยทั้งสองต้องถูกคุมขัง

ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. 2556 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน( คปอ.)และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ได้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานภาครัฐ และร่วมเดินรณรงค์ไปยังศาลฎีกา พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้ศาลฎีกาปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ประกอบกับช่วงดังกล่าวทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลอนุมัติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท

สุภาพ คำแหล้ ระบุว่า เหตุที่ศาลได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับสามี  เพราะศาลแจ้งว่ายังรับฟังไม่ได้ว่า ถึงแก่ความตายหรือหายสาบสูญ และได้มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลมาเป็นวันที่ 15 มิ.ย.2560 เธอยืนยันข้อเท็จจริงว่า สามีไม่เคยคิดหลบหนีคดี และเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาก็เคยถูกคุมขังในเรือนจำภูเขียวมาด้วยกันเป็นเวลา 16 วัน อีกทั้งสามีก็เป็นนักต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกินอยู่แล้ว กล้าเผชิญหน้าตลอด ไม่เคยคิดหลบหนีคดีไปไหน ถ้าจะหนีก็คงหนีไปกันหมดทั้งชุมชนโคกยาว และถ้าจะติดคุกก็ต้องติดด้วยกัน เพราะอยู่กินทั้งมาตั้งแต่ปี 2525 ไม่เคยทิ้งกัน และไม่เคยหนีหายไปไหนปล่อยให้ภรรยาอยู่ลำบากคนเดียวแบบนี้ แต่สามีหายไปในป่า 1 ปีกว่าแล้ว คิดว่าตายไปแล้วแน่นอน

สำหรับเด่น คำแหล้ เป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และเป็นแกนนำนักต่อสู้สิทธิที่ดินทำกิน ได้หายตัวไปในวันที่ 16 เม.ย.2559 ภายหลังจากเข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และหายไปนับจากวันดังกล่าว

ข้อเท็จจริงพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว

ทั้งนี้ข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ปี 2528 รัฐเข้ามาดำเนินโครงการ "หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์" ขับไล่ชาวบ้านโคกยาวอพยพออกจากที่ทำกิน และอ้างว่าจะจัดสรรที่ดินรองรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำยูคาลิปตัส เข้ามาปลูก  ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีเจ้าของถือครองทำประโยชน์อยู่แล้ว ทำให้เข้าไปทำกินได้ และเข้าที่เดิมก็ไม่ได้ เด่น คำแหล้ เป็นแกนนำร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินมานับแต่นั้น กระทั่งกระบวนการแก้ไขปัญหาเข้าสู่ปี 2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่โดยมีธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร เป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ มีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นการต่อไป

ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ลงตรวจสอบพื้นที่และได้รายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้เดือดร้อน และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ ให้ผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่องแถวของสวนป่าไปพลางก่อน

นอกจากนี้ พื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ผ่านความเห็นชอบดำเนินโครงการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนพื้นที่กว่า 830 ไร่ ตามมติ ครม.ปี 2553 และให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง หรือดำเนินคดีใดใดในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา แต่แนวทางปฎิบัติกลับสวนทางกัน และเกิดคดีความ

ความพยายามขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ได้เกิดขึ้นอีกในวันที่ 15 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.64/57 ให้ชุมชนโคกยาวอพยพออกจากพื้นที่ และวันที่ 6 ก.พ. 2558 เจ้าหน้าทหารเข้ามาปิดประกาศอีกรอบ หลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เด่น เป็นแกนนำชุมชนเพื่อยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และเข้าร่วมเจรจากับหน่วยงานภาครัฐในระดับนโยบาย มีมติให้ ชะลอการไล่รื้อออกไปก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสอบ ชี้ปม 7 สนช.ขาดประชุมบ่อย ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรม-เป็นไปตามข้อบังคับ

Posted: 14 Jun 2017 03:15 AM PDT

รองประธาน สนช. เผยผลสอบ 7 สนช. ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรมเนื่องจากการลา เป็นไปตามข้อบังคับ และมีภารกิจของหน่วยงานที่ตนเองเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม

14 มิ.ย. 2560  จากกรณีต้นปีที่ผ่านมาโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่พบสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (14 มิ.ย.60) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 15 มิ.ย. นี้ จะมีวาระการพิจารณาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ที่มีตนเป็นประธาน กรณีการตรวจสอบข้อร้องเรียน 7 สนช. ที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสนช. เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสนช.พ.ศ. 2557 ได้แก่ 1. พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 2. สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 3. ดิสทัต โหตระกิตย์ 4. สุพันธุ์ มงคลสุธี 5.พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา 6.พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง 7.พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ

ทั้งนี้หลังจากที่คณะกรรมการจริยธรรมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ของการประชุมสนช.ในรอบ 90 วัน ของสนช.ทั้ง 7คน แล้ว ทางคณะอนุ กรรมการฯ ได้ส่งผลสอบมาว่า ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรมเนื่องจากการลาประชุมของ 7 สนช. เป็นไปตามข้อบังคับ และมีภารกิจของหน่วยงานที่ตนเองเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม

"คณะกรรมการจริยธรรมได้ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบตามมติที่คณะอนุกรรมการเสนอมา โดยในการประชุมสนช.ในวันที่ 15 มิ.ย.นายกล้านรงค์ จันทิก สนช. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการจริยธรรม จะรายงานผลสอบของคณะกรรมการจริยธรรมว่า 7 สนช.ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรมให้ที่ประชุมสนช.รับทราบ แต่ไม่จำเป็นต้องมีการลงมติโหวตตัดสินจากที่ประชุมสนช." พีระศักดิ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อคำแปลก COVFEFE ในทวิตเตอร์ของทรัมป์กลายเป็นร่างกม.ใหม่ในสหรัฐฯ

Posted: 14 Jun 2017 03:05 AM PDT

ก่อนหน้านี้ประธานาบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เคยโพสต์ทวิตเตอร์พร้อมด้วยคำแปลกๆ ที่ไม่มีความหมายตามพจนานุกรมอย่างคำว่า 'covfefe' จนถูกผู้คนนำไปแซะไปล้อเลียนหรือบ้างก็ไขปริศนากันว่าเขาหมายถึงอะไรกันแน่ ล่าสุด ส.ส. พรรคเดโมแครตรายหนึ่งก็เสนอกฎหมายใหม่ที่มีคำย่อชื่อกฎหมายคือ COVFEFE

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 สื่อวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นพีอาร์นำเสนอว่าทั้งชื่อและเป้าหมายของกฎหมาย COVFEFE นี้มีไว้สำหรับช่วงเวลาทางการเมืองของชาวอเมริกัน ผู้เสนอกฎหมายนี้คือ ไมค์ ควิกลีย์ ส.ส. พรรคเดโมแครต จากรัฐอิลินอยส์ โดย COVFEFE ในแง่ที่เป็นชื่อกฎหมายนี้ย่อมาจาก Communications Over Various Feeds Electronically for Engagement หรือแปลตรงตัวคือ กฎหมาย "การสื่อสารผ่านฟีดหลายรูปแบบทางอิเล็กโทรนิคเพื่อภาระผูกพันทางกฎหมาย"

ชื่อกฎหมายนี้มีชื่อย่อที่เสมือนจะร่วมล้อเลียนประชดประชันข้อความทวิตเตอร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะเดียวกันมันก็มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตโดยผู้นำประเทศ โดยที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยมีกฎหมายที่ชื่อ "กฎหมายระเบียนเกี่ยวกับประธานาธิบดี" (Presidential Records Act หรือ PRA) อยู่แล้ว ซึ่งกฎหมาย PRA มีมาตั้งแต่ปี 2521 ระบุให้ต้องมีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และระบุนิยามว่าใครเป็นเจ้าของและสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้บ้าง

องค์การบริหารจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า PRA จะมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของในทางกฎหมาย ให้เข้าของระเบียนอย่างเป็นทางการจากเดิมที่เป็นของส่วนตัวของประธานาธิบดีหลายเป็นสมบัติสาธารณะรวมถึงจัดวางโครงสร้างตามกฎหมายให้ประธานาธิบดีสามารถจัดการกับระเบียนเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม PRA ก็เป็นกฎหมายเก่าที่ไม่ได้ระบุนิยามรวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียว่าเป็นถ้อยแถลงทางการของประธานาธิบดีเข้าไปด้วย ทำให้ควิกลีย์เสนอร่างกฎหมาย COVFEFE เพื่อระบุถึงการใช้โซเชียลมีเดียให้รับเป็นสิ่งที่ควรบันทึกเก็บรักษาไว้อย่างเป็นทางการด้วย

ตัวชื่อย่อของกฎหมายนี้เองก็นำมาจากกระแสล้อเลียนการใช้โซเชียลมีเดียของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมาทรัมป์เคยระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า "แม้ว่าจะมีการสื่อนำเสนอในแง่ลบตลอด covfefe" (Despite the constant negative press covfefe) ทำให้ผู้คนรีทวิตข้อความนี้มากกว่า 100,000 ครั้ง กลายเป็นกระแสทางอินเทอร์เน็ต มีทั้งผู้สงสัยและพยายามหาคำตอบว่าคำปริศนาที่ไม่มีความหมายตามพจนานุกรมอย่าง covfefe เป็นสิ่งที่ทรัมป์ต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ หรือบ้างก็มองว่าเขาพิมพ์ผิดและนำมาแซะ มาล้อเลียนกันจนกลายเป็นมีม ส่วนทรัมป์ก็ลบข้อความนี้ในเวลาต่อมาแล้วก็โพสต์ในเชิงท้าทายว่าใครจะรุ้ความหมายที่แท้จริงของ covfefe บ้าง

มีบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าคำว่า covfefe น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า coffee ที่แปลว่ากาแฟ แต่บางส่วนก็มองว่าเป็นการทรัมป์พยายามจะพิมพ์คำว่า coverage ที่แปลว่า "การรายงานข่าว" แต่พิมพ์ผิด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามมันได้ถูก ส.ส. พรรคเดโมแครตฉวยมาเป็นคำย่อของร่างกฎหมายใหม่แล้ว และร่างกฎหมายใหม่นี้ก็อาจจะส่งผลต่อประธานาธิบดีจอมทวีตอย่างทรัมป์ด้วย

"เพื่อทำให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ เจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเขาทำอะไรหรือพูดอะไรไป นี่รวมถึงการทวีตข้อความ 140 ตัวอักษรด้วย" ควิกลีย์กล่าว

"การที่ประธานาธิบดีทรัมป์มักจะใช้บัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวอยู่เป็นประจำในการสื่อสารอย่างเป็นทางการโดยไม่มีการกลั่นกรองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าหากว่าประธานาธิบดีจะใช้โซเชียลมีเดียในการประกาศนโยบายสาธารณะอย่างกระทันหัน พวกเราก็ควรทำให้แน่ใจว่าจะมีการบันทึกถ้อยแถลงเหล่านี้และเก็บรักษาไว้เพื่ออ้างอิงในอนาคตด้วย" ควิกลีย์กล่าว

ในแง่การนิยามว่าข้อความทวิตเตอร์จากประธานาธิบดีควรนับเป็น "ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ" หรือไม่นั้น ฌอง สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าข้อความทวิตเตอร์ของทรัมป์ควรนับเป็นถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ

จากที่ทรัมป์เคยทวีตข้อความทั้งจาก @POTUS ซึ่งเป็นทวีตเตอร์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และ @realDonaldTrump ที่เป็นทวิตเตอร์ของทรัมป์เอง โดยที่ @POTUS จะมีการเก็บรักษาข้อความเอาไว้ ขณะที่ @realDonaldTrump จะไม่มีการเก็บรักษาข้อมูลจากทางการ แต่ร่างกฎหมาย COVFEFE ถ้ามีผลบังคับใช้ก็อาจจะทำให้ต้องมีการเก็บรักษาข้อความจากทั้งสองบัญชี

สื่อ Quartz ระบุว่าการออกกฎหมายในสหรัฐฯ มีการใช้คำย่อที่อาจจะฟังดู "ฉลาด" สำหรับคนออกกฎหมาย แต่ฟังดู "แย่" สำหรับพวกเขามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสตาร์ทอัพที่มีตัวย่อว่า JOBS (ที่แปลว่า "งาน") หรือ กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยจากผู้สะกดรอยตามที่มีตัวย่อว่า STALKERS (ที่แปลว่า "ผู้สะกดรอยตาม")

 

เรียบเรียงจาก

The Covfefe Act Has A Silly Name — But It Addresses A Real Quandary, NPR, 12-06-017

http://www.npr.org/sections/thetwo-way/2017/06/12/532651827/the-covfefe-act-has-a-silly-name-but-it-addresses-a-real-quandary

Rejected possible full names for the Congressional COVFEFE Act, Quartz, 12-06-2017

https://qz.com/1003875/covfefe-act-rejected-names-for-what-the-covfefe-act-might-do/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://knowyourmeme.com/memes/covfefe

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมเด็จช่วง-หลวงพี่แป๊ะ' พร้อมให้อภัย หลังอัยการไม่ฟ้อง คดี 'รถโบราณ'

Posted: 14 Jun 2017 02:36 AM PDT

วัดปากน้ำ ขอให้ ดีเอสไอ รับผิดชองและออกมาแถลงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เหตุทำให้ 'สมเด็จช่วง-หลวงพี่แป๊ะ' รวมถึงวัด เสื่อมเสียชื่อเสียง ให้เวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา หากยังนิ่งเฉย จะดำเนินการฟ้องกลับ 

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ 

14 มิ.ย.2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อธิบดีอัยการพิเศษ สำนักคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งในคดีการนำเข้ารถเบนซ์โบราณหรูหมายเลขทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ โดยที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องพระมหาศาสนมุนี หรือหลวงพี่แป๊ะ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเป็นเลขานุการสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ต้องหาคนที่ 7 ซึ่งถูกตั้งข้อหามีไว้ในครอบครองโดยไม่รู้ว่าของนั้นไม่ได้เสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตร โดยอัยการชี้ว่า เพราะไม่มีหยานหลักฐานใดพิสูจน์ว่าพระมหาศาสนมุนี รับรถยนต์ไว้โดยรู้ว่า วิชาญ เสียภาษีสรรพสามิตรไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็ให้ยุติการดำเนินคดีในคดีนี้ด้วย เนื่องคดีขาดอายุความ

วานนี้ (13 มิ.ย.60) TNN รายงานว่า สุรพงษ์ สิทธิกรณ์  ทนายความ พระมหาศาสนมุนี เปิดเผยกับทีมข่าว TNN ว่า หลวงพี่แป๊ะ คือคนสุดท้ายในการซื้อรถ มีการจ่ายภาษีถูกต้องเต็มจำนวน กับกรมการขนส่งทางบก มาตลอด 5 ปี และ วัดปากน้ำ ได้ส่งข้อมูลต่างๆให้กับ ดีเอสไอ ทั้งหมด แต่ไม่ทราบว่าทำไมดีเอสไอถึงส่งฟ้องในช่วงแรก

สุรพงษ์ ระบุด้วยว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และ หลวงพี่แป๊ะ พร้อมให้อภัยกับบุคคลและเจ้าหน้าที่ ที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ แต่ทางวัดปากน้ำได้ประชุมร่วมกันและเห็นว่า ดีเอสไอ ควรรับผิดชองและออกมาแถลงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เนื่องจากทำให้ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และ หลวงพี่แป๊ะ รวมถึงวัดปากน้ำ เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยให้เวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา หากยังนิ่งเฉย จะดำเนินการฟ้องกลับ ดีเอสไอ ทั้งทางแพ่งและอาญา

ขณะที่บรรยากาศภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีอาการอาพาธไม่สะดวกให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ส่วน หลวงพี่แป๊ะ ติดกิจนิมนต์ที่ต่างจังหวัด ขณะที่ตลอดทั้งวัน มีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาทำบุญไหว้พระ ตามปกติ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบถึงคดีความก่อนหน้านี้  แต่บางส่วนที่เป็นลูกศิษย์วัดปากน้ำและผูกพันกับวัด บอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้หมดศรัทธา และรู้สึกโล่งใจ ที่วัดหมดมลทิน

โดยก่อนหน้าที่ ดีเอสไอ ออกมาระบุว่า แม้อัยการสุงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง หลวงพี่แป๊ะ  แต่ก็ยังมีผู้ต้องหารายอื่น ที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นสั่งฟ้อง และอัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้องด้วย โดย ไทยพีบีเอส รายงานด้วยว่า อัยการมีคำสั่งให้ฟ้องเอกชน 3 ราย ผู้นำเข้ารถโบราณ ได้แก่ พิชัย วีระสิทธิกุล ผู้ต้องหาคนที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.ที.ออโต้ พาร์ท โดย วสุ จิตติพัฒนกุลชัย และเกษมศักดิ์ ภวังคนันท์ ฐานร่วมกันนำของที่ไม่ได้เสียภาษี หรือที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมสั่งฟ้องผู้ต้องหาอีก 2 คน ฐานแจ้งให้พนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ เยียวยาผู้รับผลกระทบชุมนุมการเมืองปี 56-57

Posted: 14 Jun 2017 12:42 AM PDT

ครม.เห็นชอบปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ เยียวยาผู้รับผลกระทบชุมนุมการเมืองปี 56-57 โดยให้เงินยังชีพรายเดือนจนจบปริญญาตรีใบเดียว และมีอายุไม่เกิน 25 ปี พร้อมมอบเงินช่วยเหลือวีรชน 14 ตุลา ที่ค้างจ่ายตั้งแต่ปี 52

แฟ้มภาพ : ประชาไท

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ดังนี้ 1. ยกเลิกมติครม. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2556 เรื่อง ข้อเสนอเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม สำหรับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 2. ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556-2557 ตามมติ ครม. เมื่อ วันที่ 8 ก.ย. 2558

และ 3. ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2555 รวมทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556-2557 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2558 และมอบหมายให้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ ให้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้ดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ โดยตรงต่อไป

ทั้งนี้ ให้ สำนักงบประมาณ ดำเนินการดังนี้ 1) ให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยาให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตามหลักเกณฑ์อย่างแท้จริง 2) ให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของ มติคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เช่น มติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และวันที่ 6 มี.ค. 2555 และหากพิจารณาแล้วเห็นว่า มติ ครม.หมดความจำเป็นแล้ว ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณายกเลิกต่อไป และ 3) ให้กระทรวงการคลังเร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบเงื่อนไข และวิธีการในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมในทุกกรณี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2559 (เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทาง เรื่องค่าบริการทางการแพทย์และเงินเหมาจ่ายช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล กรณีผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์เหตุระเบิดแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 ของกระทรวงสาธารณสุข) ให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ครม.เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ว่า 1. เงินยังชีพรายเดือนที่จะให้แก่บุตรผู้เสียหายกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพที่ได้รับเงินยังชีพรายเดือนจนกระทั่งจบการศึกษาปริญญาตรี ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้เบิกจ่ายนั้น ในครั้งนี้ขอเปลี่ยนให้ได้รับเงินยังชีพรายเดือนจบปริญญาตรีใบแรกใบเดียว โดยอายุไม่เกิน 25 ปี  และ 2. เงินทุนการศึกษารายปี ต่อเนื่องที่ให้เด็กกำพร้าหรือเด็กที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบิดา มารดาหรือผู้อุปการะเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ที่กำลังศึกษาอยู่ในสิทธิได้รับจนจบปริญญาตรีหลักสูตรแรก หลักสูตรเดียว อายุไม่เกิน 25 ปี  อย่างไรก็ตามให้นำหลักการดังกล่าวไปใช้กับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาในปี 2555 ด้วย ขณะเดียวกันมีการสำรวจพบว่า ผู้ที่มีผลกระทบมีอยู่ประมาณ 100 ราย คิดเป็นวงเงินเยียว 6 ล้านกว่าบาท

ช่วยเหลือวีรชน 14 ตุลา ที่ค้างจ่ายตั้งแต่ปี 52

ครม.ยังมีมติเห็นชอบในหลักการการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ ดังนี้ 1. กรณีค่าจัดการศพ ให้ความช่วยเหลือแก่วีรชนในกรณีที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รายละ 20,000 บาท

และ 2. ให้ความช่วยเหลือเงินดำรงชีพแก่วีรชนและญาติวีรชนในอัตราเดียวกัน โดยให้ความช่วยเหลือในอัตรารายละ 3,000 บาทต่อเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต  ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2560 และให้ พม. จัดทำหลักฐานว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมแล้ว และจะไม่ขอเรียกร้องขอรับเงินช่วยเหลืออื่นใดจากทางราชการอีก

โดย สำนักกข่าวไทย รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ขณะที่การให้ความช่วยเหลือเงินดำรงชีพให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งที่ผ่านมามีการช่วยเหลือแล้วในปี 2549-2550  โดยผู้เสียชีวิตมีทั้งสิ้น 43 ราย ได้เงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 740,000 บาทต่อราย และผู้ที่บาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ จิตฟั่นเฟือน มี 47 คน ได้รับเงินช่วยเหลือ 4,900,000 บาทต่อคน ซึ่งจำนวนเงินค่อนข้างแตกต่าง เนื่องจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต

"ทั้งนี้การช่วยเหลือต่าง ๆ มีจนถึงปี 2550 และยังติดค้างการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ดังนั้นวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติจ่ายเงินจัดการศพแก่วีรชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว รายละ 20,000 บาท  และเงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่วีรชน และญาติวีรชน รายละ 3,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต" พล.ท.สรรเสริญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียว ทบ.ช็อป 'รถเกราะจีน' 2.3 พันล้าน ผบ.ทบ.รับ ยุค คสช.ซื้อปท.ตะวันตกค่อนข้างลำบาก

Posted: 13 Jun 2017 11:36 PM PDT

ครม.อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จำนวน 34 คัน จากจีน 2,300 ล้าน ผูกพัน ปี 60-63 ผบ.ทบ.แจงมีหลายปัจจัย พร้อมยอมรับสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การบริหารงาน คสช. ซื้อยุทโธปกรณ์จากประเทศตะวันตกค่อนข้างจะลำบาก

14 มิ.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (13 มิ.ย.60) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 (VN1) จำนวน 34 คัน จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน งบประมาณ 2,300 ล้านบาท ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำเข้า ครม. โดยอนุมัติงบผูกพัน ปี 2560-2563 และอนุมัติให้กองทัพบก(ทบ.)เดินทางไปเซ็นสัญญาจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ทั้งนี้ สำหรับโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง (ระยะที่ 2) เพื่อทดแทนรถยานเกราะ วี150 และรถสายพาน เอ็ม 113 เอ3 ที่ใช้งานมาแล้ว 40- 50 ปี เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ คือ ทบ. ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กมย.ทบ.) มี 3 ประเทศ ที่ยื่นแบบ คือ 1.ยานเกราะล้อยาง บีอาร์ที-4 อี ประเทศยูเครน 2.ยานเกราะล้อยาง บีทีอาร์-82 เอ สหพันธรัฐรัสเซีย 3.ยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จากจีน ทั้งนี้ คณะทำงานพิจารณารับรองแบบและเตรียมการจัดหายานเกราะล้อยาง ได้ให้คะแนนความพอใจ อันดับที่ 1 ยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 ของจีน โดยเบื้องต้นรถยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จะเข้าประจำการที่กองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม.1 ) ที่กองพันทหารม้าที่ 10 (ม.พัน.10) ค่ายสุริยพงษ์ จ.น่าน และกองพันทหารม้าที่ 7 (ม.พัน.7) ค่ายพิชัยดาบหัก จ.อุตรดิตถ์

สำหรับ การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทบ.ที่ผ่านมา เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติโครงการซื้อรถถัง วีที-4 (VT-4) สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระยะที่ 2 จำนวน 10 คัน วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านั้น ปี 2559 ทบ.ได้ลงนามซื้อรถถัง วีที-4 จากประเทศจีนไปแล้ว 28 คัน วงเงิน 4,900 ล้านบาท เพื่อเสริมศักยภาพและทดแทนรถถังรุ่นเก่า

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าว่า สำหรับการเดินทางไปลงนามการซื้อขายโครงการดังกล่าวกับประเทศจีนนั้นเป็นหน้าที่ของ พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ซึ่งได้วางแผนไว้ ไม่แน่ใจว่าจะเดินทางไปภายในต้นเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า ถือเป็นการจัดหายานเกราะล้อยาง VN 1 ที่เคยชี้แจงไปแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามกรอบงานของกองทัพในปี 2560 ถึง 2564

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดถึงต้องซื้อจากประเทศจีน เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ในการจัดหายุทโธปกรณ์จะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดก็คือความเหมาะสมในการใช้งานกับกองทัพไทย รวมถึงราคา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ คสช. การซื้อยุทโธปกรณ์จากประเทศตะวันตกค่อนข้างจะลำบากและในสภาวะที่ประเทศมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่า และคุ้มค่ากับการใช้งานถือเป็นจังหวะเวลาและโอกาสที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเราจะซื้อของจีนเพียงอย่างเดียว ในการพิจารณายานเกราะล้อยาง เราดูทั้งของจีน รัสเซีย และยูเครน มีการส่งคณะกรรมการเดินทางไปดูและเปรียบเทียบ ในทุกๆด้านทั้งราคาคุณภาพ และการส่งกำลังบำรุง ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดได้สรุปว่าของจีนเหมาะสม

ที่มา : มติชนออนไลน์ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ฐานทางสังคมของเผด็จการ

Posted: 13 Jun 2017 10:42 PM PDT

มีข้อสังเกตมานานแล้วว่า พลังประชาธิปไตยกำลังอ่อนลงทั้งโลก ไม่ใช่เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลที่ไม่ประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ประชาชนไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนักที่หลักการประชาธิปไตยถูกละเมิด นักการเมืองที่แสดงท่าที "ไม่ประชาธิปไตย" อย่างออกหน้า กลับได้รับการเลือกตั้งบางครั้งอย่างท่วมท้นด้วย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ จนอื้อฉาวไปทั่วโลก แต่คะแนนนิยมในประเทศกลับสูงขึ้น ฯลฯ

ในสมัยหนึ่ง เมื่อประชาธิปไตยดูยังเป็นคำตอบแก่ประชาชนส่วนใหญ่ มีคำอธิบายว่าประชาธิปไตยอาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ในสังคมใด ก็ต้องมีฐานทางสังคม, ทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรมรองรับ บัดนี้เมื่อประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบแก่คนจำนวนมากในโลกเสียแล้ว เราจะมองเห็นต้นสายปลายเหตุได้ ก็น่าจะต้องกลับไปมองที่ฐานทางสังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญซึ่งเกิดในระยะกว่าหนึ่งชั่วอายุคนที่ผ่านมาทั่วทั้งโลก คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้น งานศึกษาของ Thomas Piketty (Capital in the Twenty-First Century) ชี้ให้เห็น ไม่แต่เพียงในปัจจุบัน ไม่แต่เพียงในประเทศตะวันตกซึ่งมีฐานข้อมูลให้ศึกษาได้ละเอียดเท่านั้น ที่ทรัพย์ถูกกระจุกอยู่ในมือคนจำนวนน้อยลง แต่ในอนาคต (ศตวรรษที่ 21) ก็จะกระจุกยิ่งขึ้น และในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีฐานข้อมูลแคบกว่า ก็มีแนวโน้มอย่างเดียวกัน

สถานการณ์เป็นอย่างเดียวกับที่เกิดในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งนำโลกไปสู่วิกฤตที่รุนแรงและโหดร้าย (สงครามโลกครั้งที่ 1-เศรษฐกิจตกต่ำ-สงครามโลกครั้งที่ 2) กว่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทุเลาลงมาสู่สภาวะที่พอรับได้แก่คนส่วนใหญ่

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะมีผู้พูดไว้มากแล้ว

เราทุกคนในโลกนี้ ต่างมีชีวิตอยู่ในสองประเทศ สองสังคม ประเทศหนึ่งสังคมหนึ่งรวยล้นฟ้า อีกประเทศหนึ่งสังคมหนึ่ง ผู้คนหาเช้ากินค่ำ มีแรงเท่าไรก็ต้องหมดไปกับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยไม่มีโอกาสเลี้ยงจิตใจ, เลี้ยงสมอง, เลี้ยงอารมณ์, เลี้ยงเพื่อน หรือแม้แต่เลี้ยงลูก

ดังนั้น ต่างจึงมีวิถีชีวิต, วิถีคิด, วิถีรสนิยมที่แตกต่างกัน ถึงแม้ต่างฝ่ายต่างก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่ปัญหาของแต่ละฝ่ายต่างกันอย่างลิบลับ ว่ากันที่จริงแล้ว ไม่มีอะไรเหลือที่จะหล่อเลี้ยงสำนึกร่วมกันระหว่างผู้คนในประเทศต่างๆ ได้อีก นอกจากทีมฟุตบอล แม้แต่ "ชาติ" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างสำนึกร่วมกันอย่างเข้มแข็งก็ค่อนข้างจะไร้ความหมายไปแล้ว

ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดกู่เช่นนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่ทุกชนชั้น ที่น่าประหลาดก็คือแม้แต่ชนชั้นที่ได้เปรียบจากความเหลื่อมล้ำ ก็มีความไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุของความไม่พอใจนั้นมาจากความเหลื่อมล้ำ ว่ากันไปแล้ว ถึงชนชั้นอื่นก็เหมือนกัน มีเหตุให้รู้สึกอึดอัดขัดข้องอยู่มาก แต่ยกสาเหตุไปให้แก่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำ (อย่างน้อยในหมู่คนชั้นกลางระดับล่างก็เป็นเช่นนั้น ในงานวิจัยเกี่ยวกับคนเสื้อแดงของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรมัย พบว่า คนเสื้อแดงไม่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นปัญหาแต่อย่างใด)

คนรวยระดับคณาธิปัตย์และคนชั้นกลางระดับบน มีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัว เพราะถูกแวดล้อมด้วยคนที่อยู่ต่างประเทศต่างสังคมตลอดเวลา อาจเรียกได้ว่าเป็น "คนแปลกหน้า" เขาอาศัยอยู่ในบ้านที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือที่ต่ำลงมาก็ในบ้านของโครงการบ้านจัดสรรซึ่งมีประตูทางเข้าโดยเฉพาะ (gated community) ชุมชนเช่นนี้แบ่งแยก "คนแปลกหน้า" ออกไปให้ห่าง ด้วยราคา, ยามที่ตรวจตราการเข้าออกอย่างรัดกุม, และฝ่ายจัดการโครงการ

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะรังเกียจคนจน แต่เพราะระแวงคนแปลกหน้า และไม่ต้องการใช้ชีวิตในชุมชนซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างมากเกินไป อาจรบกวนความสงบสุขของเขาได้ เช่นเปิดเพลงที่เขาไม่ชอบดังเกินไป

คนรวยระดับนี้ต้องการรัฐที่ปกป้อง "เสรีภาพ" ของพวกเขาให้มั่นคง นั่นคือเสรีภาพที่จะแก้กฎหมาย, เขียนกฎหมาย และข้ามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยในการมีชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วย "คนแปลกหน้า" ได้ ดังนั้นจึงต้องแน่ใจว่ารัฐต้องอยู่ฝ่ายเขาเสมอ ความสูงเด่นของคนรวยระดับนี้ ทำให้เขาสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมความกลัวเช่นนี้ออกไปในสังคมวงกว้างได้

คนชั้นกลางระดับกลาง แม้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีแต่ก็ไม่มั่นคงนัก หากเป็นเจ้าของทุนเอง กิจการนั้นก็มีขนาดไม่ใหญ่ และต้องเผชิญความผันผวนด้วยสายป่านที่ไม่ยาวนัก หากเป็นลูกจ้างขายทักษะระดับสูงแก่ผู้อื่น ก็อาจตกงานได้ไม่ทันรู้ตัว เพราะความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่แต่เพียงอนาคตของตนเองเท่านั้นที่ขาดความแน่นอน อนาคตของลูกหลานก็สุ่มเสี่ยงพอๆ กัน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่การศึกษาไม่แน่นอนตายตัวเหมือนเดิม

คนเหล่านี้ยังต้องใช้ชีวิตในสังคมที่เขาเห็นว่าเสื่อมโทรมลง เช่นการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งทั่วโลก อากาศเป็นพิษ ส่วนใหญ่ของเมืองใหญ่ในโลกที่ไม่สามารถจัดการปัญหาขยะได้ คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าตนทำให้เมืองไร้ระเบียบ เช่นขายของตามทางเท้า, จอดรถไม่เป็นที่เป็นทาง, ขับแท็กซี่อย่างไม่ปลอดภัย ฯลฯ

คนชั้นกลางระดับล่าง ยิ่งมีปัญหาในชีวิตมากขึ้น นับตั้งแต่รายได้ไม่พอกับความคาดหวังในชีวิต ทางมาของรายได้อ่อนไหวต่อแรงกระทบจากเรื่องต่างๆ ได้ง่าย (ฝนตกหนักน้ำท่วม ก็ไม่ได้ขายก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระบนทางเท้าไปแล้ว) อนาคตของตนเองและครอบครัวยิ่งขาดความมั่นคงเสียกว่าคนชั้นกลางระดับกลาง

ทั้งคนชั้นกลางระดับล่างและกลาง ต่างต้องการรัฐเหมือนกัน เพราะปัญหาที่เผชิญอยู่จะแก้ได้ก็ด้วยอำนาจขนาดใหญ่อย่างที่รัฐมี คนทั้งสองกลุ่มเรียกร้องการปฏิรูป ทำอะไรก็ได้เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น ยกเว้นอย่าแตะต้องผลประโยชน์ของตนเท่านั้น กีดกันคนอพยพอย่าให้เข้ามาแย่งงานก็พึงทำ แต่ในขณะเดียวกันการเพิ่มรายได้ของแรงงานระดับกลางและระดับสูงควรเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น จะทำได้ก็ต้องกดราคาของแรงงานระดับล่างลงไว้ให้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่การกีดกันแรงงานต่างชาติก็เป็นผลให้จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างแก่แรงงานระดับล่างภายในที่ไม่เพียงพอ

คนจนระดับล่างสุด ย่อมไม่พอใจกับสภาพที่ต้องเผชิญอยู่เป็นธรรมดา เพราะเขาคือผู้รับน้ำหนักของคนข้างบนทั้งหมด

ความอึดอัดขัดข้องในชีวิตของคนหลากหลายชนชั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำที่ทบทวีขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ไม่ได้ทำให้พวกเขาเรียกร้องต้องการประชาธิปไตย คณาธิปัตย์และคนชั้นกลางระดับบนอาจเรียกร้องเสรีนิยมใหม่ ซึ่งบางคนเรียกอย่างสะใจว่า market fundamentalism (ซึ่งผมขอแปลว่าศาสนาตลาดสุดโต่ง) ซึ่งมีธรรมชาติเป็นอริกับประชาธิปไตยอย่างยิ่ง คนชั้นกลางระดับล่างอาจเรียกร้องประชานิยม ซึ่งโดยตัวของมันเองอาจไม่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย แต่หากทำโดยไม่มีเป้าหมายอื่นมากกว่าคะแนนเสียง ก็หาได้ลดความเหลื่อมล้ำลงแต่อย่างไร เกือบทั้งหมดในทุกชนชั้นอยากได้พระศรีอาริย์ คือขอให้บุคคลผู้มีบารมีมา "โปรด" บางกลุ่มหันไปหาความดีในทางศาสนาเพื่อทดแทนสิทธิเสรีภาพของระบอบประชาธิปไตย บางกลุ่มโหยหาโลกในอุดมคติซึ่งสมมุติกันว่ามีอยู่ในอดีต

รัฐซึ่งทุกชนชั้นเรียกร้องคือรัฐที่มีอำนาจเด็ดขาด ไม่ใช่รัฐที่มีความชอบธรรม แม้สองอย่างนี้อาจไม่ได้ขัดแย้งกันโดยตรง แต่กลับถูกมองว่าความเข้มแข็งเด็ดขาดกับความชอบธรรมไปด้วยกันไม่ได้ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หลายอย่างที่ทรัมป์ประกาศก่อนและหลังเป็นประธานาธิบดี ทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญอเมริกัน หรือทำไม่ได้ง่ายๆ ภายใต้กระบวนการทางการเมืองแบบอเมริกัน แต่ไม่เป็นไร ทรัมป์กำลังนำรัฐที่เข้มแข็งมาแทนที่รัฐที่ชอบธรรม หรือการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาอะไรก็ตาม จะทำได้ผลก็ต่อเมื่อรัฐต้องมีกลไกที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งไทยและฟิลิปปินส์ไม่มี ความเข้มแข็งเด็ดขาดในสองประเทศจึงไม่เคยให้ผลสำเร็จอะไร

(ผมอยากเห็นใครประเมินระหว่าง paternalism กับ despotism ว่าอย่างไหนให้ผลสำเร็จแก่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มากกว่ากัน แม้ไม่ปฏิเสธว่าหากปราศจากเงื่อนไข despotism ของเขา ก็อาจทำให้เขาดำเนินนโยบาย paternalism ไม่สำเร็จ)

ผลของความเหลื่อมล้ำที่เกิดแก่ชนชั้นต่างๆ นั่นแหละคือฐานทางสังคมของเผด็จการ (ในหลายรูปแบบ)

คงมีคำอธิบายได้หลายอย่างเกี่ยวกับปัจจัยภายในประเทศไทยว่า เหตุใด คสช.ซึ่งสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้น จึงสามารถครองอำนาจได้ยาวนานเช่นนี้ คงล้วนเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องทั้งสิ้น แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงก็คือปัจจัยที่เป็นสากล ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ประชาธิปไตยจะยังเป็นอุดมคติทางการเมืองของมนุษย์ต่อไปได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาธิปไตยจะสามารถยุติและบรรเทาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น