โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ดิอิโคโนมิสต์'วันเดอร์วูแมน'ฉบับภาพยนตร์-สตรีนิยมที่ยังไม่เข้มข้นเท่าฉบับการ์ตูน

Posted: 08 Jun 2017 11:28 AM PDT

ดิอิโคโนมิสต์เขียนถึงภาพยนตร์วันเดอร์วูแมนในฉบับภาพยนตร์ว่าถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ชวนเสริมพลังให้ผู้หญิงและมีการท้าทายภาพเหมารวมทางเพศอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่เข้มข้นมากเท่าระดับฉบับหนังสือการ์ตูนที่พูดถึงประเด็นต่างๆ ที่ผู้หญิงถูกกดขี่รังแกอย่างจริงจัง กระนั้นก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างว่าภาพยนตร์โลกอาจจะมีประเด็นแบบนี้มากขึ้น

8 มิ.ย. 2560 ในขณะที่ภาพยนตร์วันเดอร์วูแมนเปิดตัวด้วยเสียงตอบรับเชิงบวกจากนักวิจารณ์หลายสำนัก ไม่ใช่แค่ในแง่ของความเป็นภาพยนตร์แต่ยังพูดถึงในแง่ของบทบทไดอานาหรือวันเดอร์วูแมนที่นำแสดงโดยกัล กาด็อท เป็น "แสงสว่างแห่งความหวังในโลกสีเทา" สื่อบางแห่งก็ระบุถึงในแง่ที่บทบาทนี้ดูจะเสริมพลังให้กับผู้หญิงจากบทบาทที่วันเดอร์วูแมนทั้งวางแผน ต่อสู้ และช่วยเหลือกอบกู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการยกย่องทั้งความแข็งแกร่ง ความเป็นหญิง และการเข้าถึงหัวอกคนอื่น

แต่บทความในดิอิโคโนมิสต์ก็ระบุว่าวันเดอร์วูแมนก็ยังคงมีสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่แบบเดิมๆ อยู่ดี เช่นเรื่องด้านมิดที่แฝงอยู่ในมนุษย์แบบแบทแมน ส่วนที่ทำให้แตกต่างไปบ้างคือการท้าทายเรื่องภาพเหมารวมทางเพศอย่างจริงจังจากคำวิจารณ์ของตัวละครไดอานาเองที่ชี้ให้เห็นความน่าหัวร่อของจารีตในสังคม แม้กระทั่งชุดที่ให้ผู้หญิงสวมก็ถูกตั้งคำถาม ถึงขั้นวิพากษ์ว่าบางอย่างในวัฒนธรรมของรัฐเธอมันถือว่าเป็น "การใช้ทาส"

อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมิสต์ก็มองว่าฉบับภาพยนตร์ยังเป็นแค่เงาของเนื้อเรื่องฉบับหนังสือการ์ตูนที่ได้รับการชื่นชมจาก จิลล์ เลอปอร์ นักประวัติศาสตร์อเมริกัน ซึ่งฉบับหนังสือการ์ตูนเคยถึงขั้นถูกคนคนกล่าวหาว่าเป็น "โฆษณาชวนเชื่อของพวกนักสตรีนิยม" หรือบางส่วนก็มองว่าเป็น "ภาพฝันของขบวนการสตรีนิยม" ซึ่งวันเดอร์วูแมนฉบับการ์ตูนเองก็เคยนำเสนอภาพแบบที่อ้างอิงกับขบวนการเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งมาก่อนด้วย ตัวผู้แต่งคือเลอปอร์เองก็เคยบอกว่าวันเดอร์วูแมนเป็นผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

เนื้อหาของวันเดอร์วูแมนมีลักษณะต่อต้านใครก็ตามที่จะแย่งชิงเสรีภาพของผู้หญิงไป เธอช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นทาสหรือคนที่ถูกปฏิเสธสิทธิในการทำงาน การ์ตูนวันเดอร์วูแมนในช่วงยุคคริสตทศวรรษที่ 60s-70s ยังมีทั้งภาพเธอต่อสู้กับคนที่ข่มขืนและลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อยับยั้งแผนการของพรรคการเมืองที่จะสร้างโลกเฉพาะของผู้ชายอย่างเดียว และตอนอื่นๆ ที่ต่อสู้กับคนที่ต่อต้านแนวคิดสตรีนิยมอย่างแก๊งอาชญากรที่เข้าไปพังคลินิคทำแท้งเพราะปฏิเสธไม่อยากให้ผู้หญิงมีสิทธิในการทำแท้ง

ซึ่งดิอิโคโนมิสต์มองว่าถึงพวกเขาจะไม่ถึงขั้นคาดหวังให้ฉบับภาพยนตร์ทำเรื่องหนักๆ ชวนให้เกิดความเห็นแตกเป็นสองขั้วอย่างการทำแท้ง แต่โดยรวมแล้วจิตวิญญาณในแบบของฉบับการ์ตูนก็ขาดหายไปในฉบับภาพยนตร์ ตรงที่ละทิ้งประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงไปหลายๆ ประเด็นซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าฝ่ายบริหารที่ดูแลการผลิตภาพยนตร์ตัดประเด็นไม่ให้ดูสตรีนิยมจัดหรือเอาประเด็นผู้หญิงมายุ่งกับเนื้อเรื่องมากเกินไป

อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมิสต์ก็มองในแง่ดีว่า วันเดอร์วูแมนถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญบนจอภาพยนตร์ จากที่ก่อนหน้านี้มีซูเปอร์ฮีโรผู้หญิงที่ได้รับการโหวตว่าเหมาะกับการมีเนื้อเรื่องเดี่ยวของตัวเองอยู่เป็นส่วนน้อยทั้งจากฝั่งดีซีและฝั่งมาร์เวล การที่วันเดอร์วูแมนประสบความสำเร็จทั้งจากรายได้และจากคำวิพากษ์วิจารณ์ทางบวกก็จะเปิดโอกาสให้เรื่องที่เลยถูกละเลยไม่มีการเล่าในภาพยนตร์มาก่อนถูกนำมาเล่าได้ด้วย เป็นไปได้ว่าในวันเดอร์วูแมนเรื่องถัดๆ ไปเราอาจจะได้เห็นเธอแสดงพลังทางกายภาพไปพร้อมๆ กับการพูดความจริงเกี่ยวกับอำนาจของเพศชาย

วันเดอร์วูแมนเป็นตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ของค่ายดีซีคอมิคส์ มีตัวตนอีกชื่อหนึ่งคือไดอานา ปรินซ์ ผู้ที่สร้างตัวละครนี้ขึ้นมาคือนักจิตวิทยาอเมริกันชื่อวิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน และนักวาดแฮรริส จี ปีเตอร์ โดยที่มาร์สตันบอกว่าหญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครนี้คือภรรยาของเขา อลิซาเบธและผู้ร่วมชายคากับภรรยาเธอชื่อโอลีฟ เบิร์น วันเดอร์วูแมนในฉบับการ์ตูนมีภาพลักษณ์เป็นหญิงที่ดูเข้มแข็งที่พร้อมสู้และในขณะเดียวกันก็เป็นนักการทูตที่อยากเน้นใช้คำโต้ตอบกันมากกว่าใช้กำลัง โดนนอกจากจะเป็นไอคอนเฟมินิสต์แล้วเธอยังเป็นไอคอนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ด้วย จากที่ตัวละครวันเดอร์วูแมนมีเพศวิถีแบบรักได้ทั้งสองเพศ (Bisexual) จากคำประกาศของผู้เขียนการ์ตูนเมื่อปี 2559

เรียบเรียงจาก

No damsel in distress : "Wonder Woman" is bold but doesn't quite live up to the comics, The Economist, June 5, 2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Wonder_Woman

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ้าวเฮ้ย! งานแต่งรถติด ถ.มิตรภาพ เจ้าบ่าวแจงขอปิดแค่ 1 ช่อง แต่โฆษก ทบ. ยันไม่ได้ปิดถนน

Posted: 08 Jun 2017 11:23 AM PDT

ปมงานแต่งทำรถติด ถ.มิตรภาพ จ.ขอนแก่น  เจ้าบ่าว ขอรับผิดเพียงคนเดียว แจงขออนุญาตปิดแค่ 1 ช่องจราจร โฆษก ทบ. ยันไม่ได้ปิดถนน แค่คนร่วมแห่ขันหมากเยอะ ขณะที่แม่เจ้าสาว แจงแขกมาแค่ 40-50 ท่านเท่านั้น 

ภาพจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก เจ้าน้อย เมืองเก่า

8 มิ.ย. 2560 จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักบนโลกโซเชี่ยล พร้อมระบุจุดโลเคชั่นในเฟซบุ๊ก เจ๊เล็ก ขอนแก่น "จำหน่ายอาหารทะเลสด และสินค้าแช่แข็งทุกชนิด" ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดงานแต่งงานจนส่งผลให้รถติดขัดอย่างหนัก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา บนเส้นทางถนนมิตรภาพ ใน เขต ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะในช่วงของการแห่ขันหมากและการประกอบพิธีมงคลสมรส 

เจ้าบ่าว ขอรับผิดเพียงคนเดียว แจงขออนุญาตปิดแค่ 1 ช่องจราจร 

ล่าสุด เมื่อเวลา 23.52 น. ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ได้สอบถามไปยัง  พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือเสธพีท หัวหน้าชุดปฎิบัติการ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น (กกล.รส.จ.ขอนแก่น) ซึ่งเป็นเจ้าบ่าว เล่าว่า เมื่อเช้านี้ได้จัดให้มีพิธีสู่ขอตามประเพณีไทย โดยได้ทำหนังสืออขออนุญาตอย่างถูกต้องไปยังเทศบาล ต.ท่าพระ และ สภ.ท่าพระ โดยในช่วงของการแห่ขันหมากนั้นได้กำหนดไว้ในเวลา 08.29 น. โดยตั้งขบวนห่างจากบ้านเจ้าสาวเพียง 100 เมตร และใช้เวลาแห่ขันหมากเพียง 8 นาทีเท่านั้น จากนั้นก็เข้าสู่พิธีการภายในบ้านโดยทั้งหมด

"ผมขออนุญาตปิดช่องทางการจราจร 1 ช่องทาง ประมาณ 100 เมตร โดยมีผู้มาร่วมงานประมาณ 50 คน พอแห่ขันหมากเสร็จก็เปิดช่องทางการจราจรตามปกติ ซึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่างานมงคลของผมทำให้รถติด ผมก็ขอโทษทุกท่านด้วย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเจ้าสาว และครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาว เรื่องนี้ผมขอรับผิดเพียงคนเดียว ผมขอโทษทุกๆ ท่านจากใจครับ" พ.ท.พิทักษ์พล กล่าว

โฆษก ทบ. ยันไม่ได้ปิดถนน แค่คนร่วมแห่ขันหมากเยอะ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 23.08 น. มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก(ทบ.) กล่าวชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า  ว่า การจราจรติดในช่วงเช้า ในพิธีงานแห่ขันหมาก เพราะบ้านเจ้าสาวอยู่ติดถนนมิตรภาพพอดี อีกทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวมีเพื่อนจำนวนมากและมาร่วมงานในช่วงเช้ามากกว่าที่ประเมินไว้

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบไม่ได้มีการสั่งปิดถนน แต่เพราะมีแขกมาร่วมงานจำนวนมากเกินที่ประเมินไว้ ซึ่งตามปกติแขกมักจะไปร่วมงานเลี้ยงช่วงเย็นจัดที่ที่โรงแรม ในพิธีช่วงเช้าจะมีก็แต่ญาติๆ โดยแขกที่มาจอดริมถนน พอต่อกันไปไกล บางคนมาทีหลัง แต่กลับมาจอดซ้อนสองตรงหัวแถว คนมาจอดรถทีหลังก็ต่อแถวเข้าไปอีก ทำให้ช่องจราจรเหลือน้อยลง นอกจากนี้ ภายหลังจากทราบเหตุการจราจรติดขัด เจ้าภาพไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะโดยธรรมชาติแล้วงานแต่ง ทุกคนอยากจะมีแต่เรื่องบวกๆ อีกทั้งเจ้าบ่าวเป็นนายทหารเอาการเอางาน จากประวัติไม่ได้มีลักษณะ อวดแบ่ง ส่วนตัวเป็นคนสุภาพเรียบร้อยและขี้เกรงใจ ดังนั้นเหตุดังกล่าวไม่น่าเป็นความตั้งใจหรือเจตนาจะสร้างความเดือดร้อนให้บุคคลอื่น ทางเจ้าภาพคงจะขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น

พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า ส่วนเจ้าของเฟซบุ๊กที่ลงข้อความเชิงตำหนิทหาร สามารถทำหนังสือบอกกล่าวกรณี พูดคุยแล้วพบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่เหมาะสมมาที่ ทีมงานโฆษกกองทัพบกได้ ยินดีจะเป็นตัวกลาง ประสานความเข้าใจให้ได้ โดยบางท่านที่ตำหนิอาจเป็นข้าราชการที่ทำงานเพื่อสาธารณะเหมือนกันกับทหาร สามารถพูดคุย ทางเจ้าภาพสามารถขออภัยกับความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจได้

แม่เจ้าสาว แจงแขกมาแค่ 40-50 ท่านเท่านั้น 

ขณะที่เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงาน เจ๊เล็ก ขอนแก่น เจ้าของร้านอาหารทะเลสดและอาหารแช่แข็งทุกชนิด หรือในฐานะแม่ของฝ่ายเจ้าสาว เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "เจ๊ก็ยังง เจ๊งงมากว่าทำไมเขาถึงบอกว่ารถติด เพราะฝ่ายเจ้าบ่าวตั้งขันหมากบริเวณหน้าบ้าน ห่างจากหน้าบ้านไม่ถึงเมตร เดินแห่เข้ามาแค่ 5 นาทีก็ถึงบ้านแล้ว ส่วนแขกที่มาในงานก็ประมาณ 40-50 ท่านเท่านั้น เจ๊ไม่ได้จัดงานใหญ่อะไร เจ๊กราบขอโทษเลย เจ๊ไม่คิดว่าจะเป็นแบบนี้จริงๆ และตอนที่จัดงานอยู่ด้านใน เจ๊ก็ไม่รู้เลยว่า สถานการณ์ด้านนอกเขาเกิดอะไรขึ้น"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาตุรกีอนุมัติส่งทหารเข้าประจำการกาตาร์แล้ว ชาติอาหรับยังปิดล้อมเข้ม มีตัดสัมพันธ์เพิ่ม

Posted: 08 Jun 2017 09:50 AM PDT

นักวิเคราะห์ชี้ ส่งทหารสะท้อนกาตาร์สำคัญกับตุรกี ไม่ใช่ท้าต่อยตีซาอุฯ แน่นอนเพราะยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การทูต สถานการณ์ปัจจุบันยังระอุ มีรัฐตัดสัมพันธ์กาตาร์เพิ่ม บาห์เรนห้ามประชาชนสนับสนุนกาตาร์ 

รัฐสภาตุรกี (ที่มา: วิกิพีเดีย)

8 มิ.ย. สืบเนื่องจากความตึงเครียดบนภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อชาติอาหรับพากันคว่ำบาตรกาตาร์ด้วยข้ออ้างว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยมีการปิดชายแดนทั้งทางบก เรือ อากาศ ทำให้กาตาร์ต้องระงับเส้นทางการบิน เข้า-ออก ประเทศคู่กรณีทั้งหลาย ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียเพิกถอนใบอนุญาตสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ไม่ให้ทำงานในซาอุฯ ปิดสำนักงานสำนักข่าว อัลจาซีรา ของกาตาร์ในซาอุฯ และให้ธนาคารท้องถิ่นขายเงินสกุลริยาลของกาตาร์อีกด้วย ทำให้ความตึงเครียดทวีขึ้น

อ่าน 6 ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์การทูตกาตาร์ อ้างเหตุอยู่เบื้องหลังกลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มการเมืองมุสลิม

อ่าน วิกฤตบิ๊กชาติอาหรับคว่ำบาตรกาตาร์-โดนัลด์ ทรัมป์ทวิตหนุนปิดล้อม

สำนักข่าว อัลจาซีรา ของกาตาร์ รายงานว่า เมื่อวาน (7 มิ.ย.) รัฐสภาตุรกีอนุมัติให้ส่งกองทัพเข้าไปประจำในกาตาร์ ด้วยเสียงเห็นชอบ 240 เสียง โดยเป็นเสียงสนับสนุนทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคยุติธรรมและการพัฒนาหรือ 'เอเคพี' (AKP) และฝ่ายค้านพรรคขบวนการชาตินิยมหรือ 'เอ็มเอชพี' (MHP) นอกจากการอนุมัติให้ส่งทหารเข้าไปแล้ว รัฐสภายังอนุมัติให้มีการซ้อมรบร่วมกันระหว่างสองรัฐด้วย

ตุรกีเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญกับกาตาร์ ได้สร้างฐานทัพในกาตาร์ไว้แล้วตามข้อตกลงที่ได้เซ็นไว้เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นฐานทัพของตุรกีแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง และในปัจจุบันมีทหารตุรกีประจำการอยู่กว่า 200 นาย

อาเหม็ด เดมิรอค เอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศกาตาร์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในปี 2558 ว่า ที่ฐานทัพแห่งนี้จะมีทหารตุรกีประจำการราว 3,000 นาย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการฝึกซ้อมรบร่วมกัน

นักวิเคราะห์ชี้ ส่งทหารช่วยกาตาร์ไม่ใช่ท้าตีซาอุฯ เพราะยังมีประโยชน์ทาง ศก. การทูต

คาน คาซาโปกลู นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากศูนย์ศึกษานโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ (EDAM) ของตุรกีกล่าวกับอัลจาซีราว่าการส่งทหารเข้าไปในกาตาร์สะท้อนความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของกาตาร์ที่มีต่อตุรกี "แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้บ่งชี้ถึงมุมมองของตุรกีต่อกาตาร์ ในฐานะเสาหลักของยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เสียไปไม่ได้" "มันยังสะท้อนว่า รัฐบาลอังการา(ตุรกี) จะไม่เปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ในระยะยาวอย่างฮวบฮาบเมื่อเจอความไม่แน่นอนในภูมิภาค"

นักวิเคราะห์คนเดิมระบุว่า ไม่ควรตีความการส่งทหารเข้าไปในกาตาร์เป็นการ "เลือกข้าง" ถึงแม้การส่งทหารเข้าไปจะแสดงถึงการสนับสนุนกาตาร์อย่างชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าตุรกีพร้อมจะมีปัญหากับซาอุดิอาระเบีย

"การลงนามในสนธิสัญญาการทหารไม่ใช่ท่าทีของการต่อต้านซาอุฯ เลย" "ตุรกียังคงยึดหลักนโยบาย 'ฉันไม่อยากมีปัญหาจากเพื่อนรักทั้งสองฝั่ง' "

"ถึงแม้มาตรการนี้จะไม่ใช่ท่าทีของการต่อต้านซาอุฯ แต่ก็เป็นการสนับสนุนกาตาร์แน่นอน รัฐบาลอังการาให้ความสำคัญกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และแสดงให้เราเห็นแล้วด้วยการตรึงกำลังทหารเอาไว้ (ในกาตาร์) บนวิกฤติการณ์ทางการทูตที่เกิดขึ้น"

อาติลลา เยซิลาดา นักวิเคราะห์ด้านการเมืองระบุว่า ตุรกีไม่ต้องการมีข้อพิพาทกับซาอุดิอาระเบียแน่นอน เพราะตุรกีได้ผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการทูตจากซาอุฯ

ในทางการทูต รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลกรุงริยาดห์มากขึ้นเรื่อยๆ และตุรกีต้องการสร้างช่องทางการพูดคุยกับสหรัฐฯ ผ่านซาอุฯ ซึ่งพ้องกับท่าทีของตุรกีที่ต้องการให้สถานการณ์คลี่คลายบนโต๊ะเจรจาของสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย (GCC) ที่ทั้งกาตาร์และชาติอาหรับบนอ่าวเปอร์เซียเป็นสมาชิก

"ขณะนี้ ตุรกีไม่ต้องการให้มีผู้ชนะเกิดขึ้นในความขัดแย้งที่กำลังฉีกสภาความร่วมมืออ่าวเป็นชิ้นๆ...ตุรกีต้องการให้ GCC แก้ปัญหาในภูมิภาคอย่างรวดเร็วและแสดงให้โลกและศัตรูร่วมของพวกเขาเห็นว่า GCC เป็นแนวรบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" คาซาโปกลู กล่าว

ในทางเศรษฐกิจ คาซาโปกลูระบุว่า ตุรกีมีเป้าหมายจะขยายส่วนแบ่งในตลาดการค้าอาวุธ และกำลังจะมีการเซ็นสัญญาขายเรือลาดตระเวนของตุรกีให้ซาอุฯ อยู่ในอนาคตอันใกล้  "อังการาเชื่อว่านี่เป็นโอกาสในการเป็นมหาอำนาจโลก และตุรกีก็เห็นซาอุฯ เป็นตลาดที่ยั่งยืนและหิวโหย...ถ้าดีลการค้านี้ออกดอกออกผลก็จะเป็นดีลการส่งออกอาวุธที่มีมูลค่าสูงที่สุดของตุรกีเท่าที่มีมา และรัฐบาลอังการาคงไม่อยากจะทำลายโอกาสนี้ไป"

ตุรกีและกาตาร์มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน โดยทั้งคู่อยู่ฝั่งเดียวกันในหลายประเด็นความขัดแย้ง ทั้งสองรัฐให้การสนับสนุนการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในอียิปต์ และประณามการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนและจัดตั้งอับเดล ฟัตตาห์ อัล ซีซี ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ทั้งคู่ยังเห็นตรงกันว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และกลุ่มฮามาส กลุ่มการเมืองและกองกำลังติดอาวุธของปาเลสไตน์ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย นอกจากนั้น ทั้งกาตาร์และตุรกียังสนับสนุนกลุ่มกบฏในซีเรียต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลของบาชาร์ อัล อัสซาดอีกด้วย 

สถานการณ์ยังระอุ บางรัฐสั่งห้ามประชาชนเห็นใจกาตาร์ ตัดสัมพันธ์เพิ่มอีก 2 

สถานการณ์ของความขัดแย้งในภูมิภาคยังคงไม่ดีขึ้น โดยสถานการณ์ล่าสุดสำนักข่าว กัลฟ์ นิวส์ของ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รายงานว่า บาห์เรนมีมาตรการห้ามประชาชนแสดงความเห็นใจหรือสนับสนุนนโยบายของกาตาร์ ในขณะที่ชาดและเซเนกัลประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์อีกประเทศ

เจ้าผู้ครองนครคูเวต ชีค ซาบาห์ อัล อาหมัด อัล ซาบาห์ ได้เดินทางไปพูดคุยกับเจ้าผู้ครองนครของยูเออี ก่อนที่จะมาพูดคุยกับเจ้าผู้ครองนครของกาตาร์ โดยคูเวตมีความประสงค์จะเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความตึงเครียด

อย่างไรก็ตาม บริษัทเอ็กซ์ซอนโมบิลออกมาประกาศว่า การผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ และรัฐบาลปากีสถานยังยืนยันว่าจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์ตามสัญญามูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เซ็นไปเมื่อปีที่แล้ว โดยกาตาร์เป็นผู้เล่นที่สำคัญของตะวันออกกลางในฐานะผู้ส่งออกก๊าซเหลวที่ใหญ่ที่สุด เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2565

แปลและเรียบเรียงจาก

Aljazeera, Qatar diplomatic crisis: All the latest updates, 8 Jun. 2017

Aljazeera, Turkish parliament approves troop deployment to Qatar, 8 Jun. 2017

Aljazeera, Analysis: Why is Turkey deploying troops to Qatar?, 8 Jun. 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

The Prisoner: นักต่อสู้/นักโทษทางความคิด ที่เราอยากชวนพวกเขาเขียน

Posted: 08 Jun 2017 09:21 AM PDT

เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีสมัยสลายการชุมนุมปี 53 ผู้ที่ไม่ได้รับผิดอาญาใดๆ สัมภาษณ์ประเดิมให้สำนักข่าวออนไลน์ พูดเรื่องปรองดองบอกให้น้ำหนักกับอนาคตมากกว่าอดีต ในขณะที่ผู้มีอำนาจทั้งแผงใช้กฎหมายหุ้มปืนเพื่อปิดปาก คุกมีไว้ขังเสรีภาพ ความตายถูกหยิบยื่นเพื่อพรากจากคนที่เรารัก วิกฤตทางการเมืองที่กินเวลานับทศวรรษจึงทำให้ชีวิตของผู้คนแทบกลายเป็นศูนย์ในทุกมิติ เราจึงล้วนแต่เป็นนักโทษทั้งเป็นถูกจองจำอยู่ในคุกนอกคุกนั่นก็คือประเทศไทยทั้งผืน

เพื่อทวงถามเสรีภาพและความยุติธรรม "The Prisoner" ฉบับเฉพาะกิจนี้เราขอแนะนำรายชื่อ 7 นักต่อสู้/นักโทษทางความคิด ที่เราอยากชวนพวกเขาเขียน พวกเขาบางคนในขณะนี้ยังคงถูกจองจำ โดยแทบเข้าไม่ถึงสิทธิการประกันตัวตลอดการสู้คดี พวกเขาบางคนกำลังถูกคดีความเล่นงานเพียงเพราะเรียกร้องเสรีภาพ พวกเขาบางคนถูกพรากชีวิตคนรัก หรือกระทั่งชีวิตของเขาเอง หากพวกเขามีโอกาสเขียน บอกเล่าเรื่องราวของเขาบ้าง พวกเขาฝันหรือต้องการเขียนถึงสิ่งใด ติดตามได้ต่อจากนี้

000

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
7 ปีของการทวงถามความยุติธรรม
และคอลัมน์ "คนที่คุณก็ไม่รู้ว่าใคร"

นักเขียนคนแรกที่เราอยากแนะนำให้รู้จักคือ "พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ" อาชีพปัจจุบันเป็นคนขับรถแท็กซี่ และยังทำกิจกรรมการเมืองร่วมกับกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อนเขายังเป็นหนึ่งในผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 โดยที่สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ ลูกชายของเขากลายเป็นเด็กหนุ่มที่ถูกหยุดอายุไว้เพียงแค่ 17 ปี โดยเขาเสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าที่บริเวณศีรษะในวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลอภิสิทธิ์สั่งให้มีการสลายการชุมนุมและปิดล้อมบริเวณโดยรอบของย่านราชประสงค์

หลังจากเฌอ เสียชีวิตได้ไม่นานนัก พันธศักดิ์ได้เขียนสเตตัสลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเล่าถึงความทรงจำของเขากับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ตอนที่พบกันครั้งแรกในห้องน้ำที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

ตอนนั้นคือปี 2546 เฌอยังมีอายุเพียง 10 ปี พันธ์ศักดิ์เล่าว่า เขาไปดูคอนเสิร์ต Coldplay วงดนตรีร็อกแห่งยุคสมัยซึ่งเดินทางมาจัดแสดงสดในเมืองไทยเป็นครั้งแรก เขาพบกับนักการเมืองหนุ่มไฟแรงจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่อีก 2 ปีถัดมานักการเมืองหนุ่มคนนี้จะย่างก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค

ขณะที่กำลังยืนฉี่อยู่ในห้องน้ำ พันธ์ศักดิ์พบว่าอภิสิทธิ์กำลังเดินเข้ามา ในขณะที่โถปัสสาวะเหลืออยู่หลายโถ แต่ดูเหมือนว่าอภิสิทธิ์เลือกที่จะมายื่นฉี่ข้างๆ เขา จากนักการเมืองผู้ไม่วางมาดก็หันมาถามเขาว่า "เป็นไงบ้างครับคอนเสิร์ต Coldplay มันส์ไหม"

พันธ์ศักดิ์ บอกกับเราว่า ตอนนั้นเขารู้สึกถูกใจอภิสิทธิ์อยู่พอสมควรเพราะเห็นว่า "ไอ้นี่มัน แฟรงค์ดีว่ะ" การเขียนถึงอภิสิทธิ์ในครั้งนั้นเขาบอกว่า อภิสิทธิ์กับทักษิณต่างก็เหมือนกันตรงที่มีความเป็นมนุษย์ แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีมันมีความมนุษย์เป็นไม่ได้ อย่างไรก็ตามความทรงจำที่เขามีกับอภิสิทธิ์ และอีกหลายคนก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการเสียชีวิตของลูกชาย

พันธ์ศักดิ์ ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียทางการเมืองในปี 2553 อยู่หลายครั้งแต่ถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 7 ปีความยุติธรรมที่ตามหาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมองเห็น

นอกจากนั้นเขายังถูกจับกุมดำเนินคดี 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดจากการจัดกิจกรรมโปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรมกับศาลประชาชน ร่วมกับกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ครั้งนั้นเขาถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรา 10 และ มาตรา 56 ใน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว

การถูกจับกุม ครั้งที่ 2 เกิดจากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ครั้งนั้นเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขณะนี้คดีอยู่ในกระบวนการของศาลทหารกรุงเทพฯ

และครั้งที่ 3 เกิดจากการจัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เพื่อตามหาความยุติธรรมและเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนที่ศาลทหาร เขาถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีก 3 ข้อหา คือ ข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 เขาร่วมจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 7 ปีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่วัดปทุมวนาราม โดยร่วมกับกลุ่มญาติผู้สูญเสียแต่งหน้า แต่งตัวเป็นผี และแสดงละครใบ้ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว และเข้าควบคุมตัวเขาและผู้แสดงละครรวม 7 คนไปสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ก่อนจะทำบันทึกประจำวันยืนยันว่าทั้งหมดไม่ได้นัดหมายกันมาเพื่อชุมนุมทางการเมือง และสุดท้ายได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ

เมื่อตั้งคำถามชวนให้พันธ์ศักดิ์ลองจินตนาการว่า เมื่อได้ลบล้างเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นผลกระทบกับชีวิตอันเนื่องมาจากการเมืองออกไป แล้วลองคิดดูว่าหากวันนี้เขามาเป็นคอลัมนิสต์ เขาอยากจะเขียน หรือบอกเล่าเรื่องอะไร

คำตอบที่ได้รับ ไม่ใช่เรื่องฟุตบอลหรือเพลงร็อกอย่างในอดีต หากแต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดาทั่วไป โดยเขาจะตั้งชื่อคอลัมน์ว่า "คนที่คุณก็ไม่รู้ว่าใคร"

เขาคิดว่า การเขียนเล่าเรื่องของคนทั่วไป แต่ทำเป็นเหมือนบทสัมภาษณ์บุคคลมีชื่อเสียงน่าจะเหมาะกับอาชีพปัจจุบันของเขา ซึ่งได้พบเจอได้ผู้คุยกับผู้คนอยู่ตลอดเวลา

"ผมอยากเล่าเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจ เช่นเรื่องของแม่ค้าขายลูกชิ้น อยากรู้ว่าชีวิตเขาเป็นไงบ้าง มันมีความเดือดร้อน มีความยากลำบากอย่างไร" พันธ์ศักดิ์กล่าว

 

พะเยาว์ อัคฮาด
เขียนถึงปี 2553 ในแง่มุมที่ผู้คนยังไม่รู้

พะเยาว์ อัคฮาด นักเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีการเสียชีวิตของลูกสาวจากเหตุสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ The Prisoner เห็นว่าเป็นผู้ที่มีเล่าราวมากมายที่เขาต้องการจะบอกเล่าสู่สาธารณะ

พะเยาว์เป็นที่รู้จากกรณีการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาว "กมนเกด อัคฮาด" พยาบาลอาสาซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

มีหลากหลายกิจกรรมที่เธอทำเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาว รวมทั้งผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ตั้งแต่การพูดบอกเล่าเรื่องราวในเวทีเสวนาในตามโอกาสต่างๆ การยื่นหนังสือเรียกร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเดินเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำเสื้อทหารมาซัก และพูดเพียงสั้นๆ ว่า ซักเท่าไหร่ก็ไม่ขาว

สำหรับการเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาถึง 7 ปีแล้ว แต่เธอยังเห็นว่าคนผิด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากยังไม่ได้รับผิด และยังไม่มีท่าทีที่จะแสดงความรับผิดชอบ หรือแม้แต่คำขอโทษเธอเองก็ยังไม่เคยได้ยิน แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งว่ากมนเกด และอีก 5 ศพที่วัดปทุมวนาราม เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีกระบวนการที่นำมาซึ่งการรับผิดชอบของผู้กระทำผิด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม '6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร')

มากไปกว่านั้น การออกตามหาความยุติธรรมที่ยากจะมองเห็นกลับนำมาซึ่งการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐแทน โดยล่าสุดในวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 วันครบรอบ 7 ปีการเสียชีวิตของลูกสาวเธอได้ออกไปทำกิจกรรมแสดงละครใบ้ที่วัดปทุมวนาม โดยแต่งหน้าเป็นผี แต้มเครื่องหมายกาชาดที่หน้าผาก แต่ยังไม่ทันได้แสดงจบ เธอและกลุ่มนักแสดงรวม 7 คนกลับถูกสั่งให้ยุติการจัดกิจกรรม และนำตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี โดยที่หลังจากนั้นอีกหลายชั่วโมง เธอและกลุ่มนักแสดงจึงได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

อย่างไรก็ตาม มีเหตุคุกคามเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด โดยหลังเกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ลูกชายของเธอซึ่งไปขึ้นเวทีของกลุ่มคนเสื้อแดงถูกทหารควบคุมตัวเป็นเวลา 5 วัน โดยในช่วงที่ถูกควบคุมตัวนั้น เธอไม่รู้เลยว่าลูกชายถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน

The Prisoner ตั้งคำถามกับเธอว่า หากมีพื้นที่เขียนบทความเพื่อสื่อสารกับผู้คนในสังคม เธออยากจะเขียนเรื่องราวแบบไหน พะเยาว์บอกว่า "อยากเขียนความจริงที่เกิดขึ้นในปี 2553" เธอเห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2553 เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในที่อับ ซึ่งผู้คนจำนวนมากในสังคมไม่เคยได้รับรู้

นอกจากความจริงที่เธออยากเล่าแล้ว ยังมีเรื่องราวหลังจากนั้นของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุทางการเมืองอีกมากมายที่ไม่ได้รับความสนใจ รวมไปถึงเรื่องราวของการสลายการชุมนุมเวทีคนเสื้อแดงที่ย่านถนนอักษะหลังรัฐประหารไม่กี่ชั่วโมงด้วย

"ฉันอยู่ข้างเวทีในวันที่เขาทำรัฐประหารกัน เห็นทีวีจอใหญ่เขาฉายว่ามีรัฐประหารแล้ว สักพักก็เป็นภาพของทหารผู้คนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกำลังขึ้นรถบัสกลับบ้าน ตอนนั้นก็คิดว่าเดี๋ยวอีกสักพักเขาก็คงพาคนเสื้อแดงกลับบ้านแบบที่เราเห็นในทีวี แต่ความจริงที่เราเจอคือเสียงปืน"

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม '6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร', ประชาไท, 7 สิงหาคม 2556
https://prachatai.org/journal/2013/08/48057

 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เสียงจากแดนตาราง

นักเขียนอีกคนหนึ่งที่ The Prisoner อยากแนะนำให้รู้จักก็คือ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิแรงงาน อายุ 55 ปี เขาเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 นอกจากการเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและการส่งเสริมการรวมตัวของกรรมกรแล้ว ในทศวรรษที่ 2530 ในช่วงที่ขบวนการกรรมกรและนักศึกษาเรียกร้อง "ระบบประกันสังคม" ที่เราใช้กันทุกวันนี้ เขาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทอันโดดเด่นนั้น

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้นำทำนองเพลงเกาหลี "March for the beloved" ที่ใช้รำลึกถึงผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกวางจู มาประกอบเนื้อเพลงภาษาไทยในชื่อ "Solidarity" เพื่อเป็นเพลงปลุกใจขบวนการต่อสู้ของประชาชนในช่วงเวลานั้นด้วย

ในปี 2549 เขายังมีบทบาทต่อต้านการรัฐประหารของ คมช. เคยเป็นแกนนำ นปช. รุ่น 2 หลังแกนนำ นปช. รุ่นแรกถูกจำคุกจากเหตุชุมนุมในเดือนเมษายนปี 2552 และหลังจากนั้นไม่นานเขาก่อตั้งกลุ่ม "24 มิถุนาประชาธิปไตย" ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นเขายังเป็นพิธีกรรายการ "เสียงกรรมกร" ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม DTV ด้วย

สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 หรือ 5 วันหลังจากที่มีการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อให้รัฐสภายกเลิกมาตรา 112 โดยในระหว่างสู้คดี เขาถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว แม้ "ปณิธาน" ลูกชายของเขาเคยอดอาหารประท้วงหน้าศาลอาญาในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับพ่อ แต่ก็ไม่เป็นผล

นอกจากนี้ ระหว่างไต่สวนคดี สมยศยังถูกนำตัวไปขึ้นศาลยังจังหวัดต่างๆ ถึง 4 แห่งตามที่อยู่ของพยานโจทก์ ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว สงขลา ซึ่งทำให้ครอบครัวเพื่อนของเขาต้องเดินทางไปเยี่ยมด้วยความลำบาก เพราะจะมีการย้ายตัวจำเลยไปก่อน 2-4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นศาล

โดยข้อกล่าวหาต่อเขาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาจากการที่เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin มีการตีความว่าบทความ 2 ชิ้นของผู้ใช้นามปากกา "จิตร พลจันทร์" มีลักษณะเสียดสีและเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 112 โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าเขาไม่ใช่ผู้เขียนบทความ เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 มีคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งตัดสินว่า ที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี

ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้โทษจำคุกลดเหลือ 6 ปี โดยเมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี ทำให้สมยศต้องจำคุกรวมเป็นเวลากว่า 7 ปี

ทั้งนี้ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความตั้งข้อสังเกตเรื่องความชอบด้วยหลักกฎหมายอาญาที่ใช้ตัดสินคดีของ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ในประเด็นที่ว่าแทนที่ศาลจะพิจารณาว่าสมยศ "รู้ หรือไม่รู้" ถึงเนื้อหา ที่อยู่ในบทความ เพื่อพิจารณาว่า "สมยศ มีเจตนากระทำผิด" ฐานนี้หรือไม่ ศาลกลับเอาการตีความ "เนื้อหา" ของบทความตาม "เจตนาของผู้เขียน" คือ "จิตร พลจันทร์" มาใช้เพื่อลงโทษสมยศ ซึ่งเป็นคนละเรื่องและทั้งไม่เกี่ยวกับประเด็น "เจตนา" หรือ "ความรู้ หรือไม่รู้" เนื้อหาของบทความของตัวสมยศเลย

พร้อมตั้งคำถามด้วยว่าหลักการ "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" รวมทั้ง "บุคคลต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อมีเจตนาเท่านั้น" ยังคงใช้การได้อยู่หรือไม่ รวมทั้งเรื่อง "เจตนา" ที่สอนในวิชากฎหมาย ยังตีความแบบเดิมหรือไม่ (อ่านบทความ)

ปัจจุบันนี้ สมยศ ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นอกจากการเป็นบรรณาธิการประจำห้องสมุดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว เขายังคงเขียนบทความและแสดงความคิดเห็นต่อสังคมเป็นระยะ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เขาแสดงทัศนะต่อข้อเสนอปรองดองด้วยว่า "การปรองดองที่นำเสนอกันอยู่นี้เหมือนเรื่องราวของหมาป่าที่เสนอตัวแก้ปัญหาให้กับวัวควายเรื่องการกินหญ้า ตัวเองกลายเป็นพระเอก ทั้งที่มีจุดมุ่งหมายอีกแบบ จะว่าไปก็เหมือนการเล่นละคร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

และในช่วงที่ถูกจองจำ เขายังได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่องประจำปี 2555 จากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร และในเดือนพฤศจิกายนปี 2559 เขายังได้รับรางวัลชุน แต อิล จากสมาหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี KCTU โดย "ประกายดาว" ลูกสาวของสมยศเดินทางไปรับรางวัลแทนพ่อผู้ถูกคุมขัง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ผู้อ่านยังสามารถติดตามงานเขียนของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ใน คอลัมน์ "เสียงจากแดนตาราง" ภายใต้สโลแกน "ห้ามฉันพูด ฉันก็จะพิมพ์ ห้ามฉันพิมพ์ ฉันก็จะเขียน ห้ามฉันเขียน ฉันก็จะยังคิด หากห้ามฉันคิด ก็ต้องห้ามลมหายใจฉัน" ได้ที่ Blogazine ประชาไท https://blogazine.pub/blogs/somyot-redpower

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม, ประชาไท, 23 กุมภาพันธ์ 2560
http://prachatai.org/journal/2017/02/70236

ข้อสังเกตบางประการต่อคำพิพากษาคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข นับแต่ศาลชั้นต้นถึงชั้นฎีกา, สาวตรี สุขศรี, 24 กุมภาพันธ์ 2560 https://prachatai.org/journal/2017/02/70247

สมยศ พฤกษาเกษมสุข: เสียงจากแดนตาราง 
https://blogazine.pub/blogs/somyot-redpower

 

อำพล ตั้งนพกุล
เผยอัปลักษณะของมาตรา 112

คอลัมนิสต์อีกรายที่ The Prisoner อยากแนะนำก็คือ อำพล ตั้งนพกุล หรือที่รู้จักในนาม "อากง" ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้นหรือ SMS ไปยังเบอร์มือถือของสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จำหนวน 4 ข้อความในเดือนพฤษภาคม

เมื่อถูกจับกุมเขาถูกควบคุมรอบแรกในเรือนจำกินเวลา 63 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวออกมาเป็นเวลาสั้นๆ และภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง เขาก็ไม่ได้รับการประกันตัวอีก โดยเขาถูกจองจำในระหว่างไต่สวนยาวนานเกือบปี ต่อมามีคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำคุก 20 ปีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 และเขาตัดสินใจถอนการอุทธรณ์เพื่อเข้าสู่กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ อย่างไรก็ตามในวันที่ 8 พฤษภาคม 2553 อำพลก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังจากรอรักษาตัวเพราะปวดท้องอย่างหนักเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 แต่ก็ไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพราะติดช่วงพ้นเวลาทำการและติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

คดีและความตายของ "อากง" ทำให้เกิดการตั้งคำถามและการถกเถียงต่อกระบวนการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และขั้นตอนในการพิจารณาคดี ทั้งเรื่องที่จำเลยคือ "อากง" ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี แม้ทนายฝ่ายจำเลยจะชี้ให้เห็นว่าพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ขัดแย้งกันเองหลายประการ มีพิรุธ น่าสงสัย และมีน้ำหนักน้อย อาจกระทบกระเทือนถึงการที่จำเลยอาจต้องโทษทั้งที่มิได้กระทำความผิด และยังชี้ให้เห็นว่าการใช้หมายเลขเครื่อง(อีมี่) ในการเชื่อมโยงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้ รวมทั้งโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดที่จะชี้ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กดพิมพ์ข้อความ และส่งข้อความดังกล่าว

แต่ในคำพิพากษา ศาลเห็นว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี โดยชี้ว่าหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์น่าเชื่อว่าส่งจากเครื่องโทรศัพท์ที่จำเลยใช้ และจากย่านที่พักของจำเลย

นอกจากนี้ศาลยังไม่รับฟัง คำให้การที่จำเลยอ้างว่าโทรศัพท์มือถือของจำเลยเสียจึงนำไปซ่อมที่ร้านค้าในห้างอิมพีเรียลสำโรง โดยศาลเห็นว่าจำเลยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะแจ้งเวลาที่นำไปซ่อม ในชั้นจับกุมกับแจ้งในชั้นศาลไม่ตรงกัน และจำร้านที่นำไปซ่อมไม่ได้ ศาลจึงไม่เชื่อถือข้อมูลนี้

ในเดือนสิงหาคม 255 Blognone เว็บไซต์ด้านไอทีชื่อดังเปิดเอกสารข้อมูลการโทรของเบอร์มือถือที่เกี่ยวข้องกับคดีพร้อมตั้งข้อสังเกตมีการส่งข้อความจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่นาที เช่นในวันที่ 22 พฤษภาคม มีข้อความถูกส่งออกไป 8 ข้อความภายในเวลาเพียง 2 นาที และล็อกของหมายเลข -4627 ของอำพล ก็มีล็อกการรับ SMS จำนวนมาก แต่ไม่มีล็อกการส่ง SMS ออกไปแต่อย่างใด (อ่านข้อสังเกต)

คดีที่เกิดขึ้นกับ "อากง" ทำให้เกิดการตื่นตัวของสาธารณชนโดยประชาชนและนักวิชาการหลายกลุ่มได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเดิน "อภยยาตรา" หรือ Fearlessness walk ในเดือนธันวาคม 2554 โดยมีข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งการรณรงค์ออนไลน์ "ฝ่ามืออากง" หลังจากนั้นยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มของ "คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112" หรือ "ครก.112" ที่เริ่มต้นในเดือนมกราคม 2555 รวบรวมรายชื่อผู้ขอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่งให้กับประธานรัฐสภาในวันที่ 29 พฤษภาคม 2555

แม้เราจะไม่มีโอกาสได้อ่านข้อเขียนจากอำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" อีกต่อไปแล้ว ในหนังสือ "รักเอย" หนังสือบันทึกความทรงจำของ "ป้าอุ๊" รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาคู่ชีวิตของอากง ซึ่งเนื้อหาในเล่มนอกจากจะประกอบด้วยชีวิตของ "อากง" ซึ่งสะท้อนผ่านเรื่องราวของชีวิตคู่ ความเป็นอยู่ในครอบครัวแล้ว ยังมีส่วนของชะตากรรมที่ทุกคนในครอบครัวต้องเผชิญ

สำหรับหนังสือ "รักเอย" พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน พิมพ์ครั้งแรกเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจ "อำพล ตั้งนพกุล" และมีการพิมพ์ซ้ำเพื่อจำหน่ายในเดือนกันยายน 2555 โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 (อ่านรายละเอียด)

อนึ่ง ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวคำไว้อาลัยในวันฌาปนกิจ "อากง" ที่วัดลาดพร้าวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 ตอนหนึ่งว่า "แม้อากงจากไปแล้ว ร่างกายอากงจะไม่หลงเหลืออะไรอีกนอกจากเถ้าถ่าน แต่มาตรา 112 ยังคงอยู่ อัปลักษณะของมาตรา 112 ยังคงอยู่ คำพิพากษาคดีของอากงก็ยังดำรงอยู่ต่อไปเสมือนเป็นอนุสรณ์ ส่วนจะเป็นอนุสรณ์แห่งความดีงาม หรืออนุสรณ์แห่งความเลวร้าย วิญญูชนทุกท่านในที่นี้ย่อมพิจารณากันได้เอง"

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฐานข้อมูลคดี: อากงเอสเอ็มเอส, iLaw https://freedom.ilaw.or.th/th/case/21

 

สมอลล์ บัณฑิต อานียา
Mr.ZERO และแพ็กเกจคดี .112

 

สมอลล์ บัณฑิต อานียา เป็นนามปากกาของนักเขียนใหญ่หัวใจหนุ่มน้อย วัย 76 ปี

ในปี พ.ศ. 2508 เขาเคยไปกางมุ้งอยู่หน้าสถานทูตสหภาพโซเวียตเพื่อรอทำวีซ่าหวังเดินทางไปโลกหลังม่านเหล็ก

"It is better to die in Moscow than to stay in Thailand"

นี่คือข้อความที่เขาเขียนติดกำแพงสถานทูตสหภาพโซเวียต

แต่ตำรวจก็จับกุมเขาเสียก่อนเพราะเห็นว่าคิดก่อกวนรัฐบาล และจับเขาส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา ทำให้เขาต้องอยู่ที่นั่นนาน 42 วัน ก่อนที่จะออกมาได้เนื่องขัดขืนการรักษาด้วยการเอาแก้วแทงขา และไม่ยอมเปิดปากให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลนำไม้พันผ้าเข้าไปอุดในปากของเขา เพื่อป้องกันการกัดลิ้นขณะทำการช็อตไฟฟ้า

ปัจจุบัน สมอลล์ บัณฑิต อานียา ถูกจับ/ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว 4 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2518 ถูกจับกุมเพราะแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ไม่ถูกดำเนินคดีต่อ ครั้งที่ 2 ในปี 2546 ซึ่งเขาถูกควบคุมตัว 98 วันระหว่างพิจารณาคดี ก่อนได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท และในที่สุดเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาให้รอลงอาญา 3 ปี และให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี

และครั้งที่ 3 ปลายปี 2557 ภายหลังการรัฐประหาร เขาถูกจับกุมเพราะแสดงความเห็นในวงเสวนาเรื่องการปฏิรูป โดยเขาได้รับการประกันตัว และคดีอยู่ในการพิจารณาที่ศาลทหาร (อ่านข่าวที่นี่)

และล่าสุดครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 หลังจากเขาแสดงความเห็นในการเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเขาเสนอให้บัญญัติสิ่งที่สำคัญ 5 เรื่องในรัฐธรรมนูญ และข้อหนึ่งในนั้นระบุถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่ามีส่วนที่พาดพิงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ต่อมาศาลออกหมายจับ และตำรวจ สน.ชนะสงคราม มาควบคุมตัวเขาไปดำเนินคดีเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2559 ก่อนได้รับการประกันตัวในช่วงฝากขัง โดยคดีที่ 4 นี้ยังไม่มีการสืบพยาน

"อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ตัวเองถูกดำเนินคดีมาแล้ว 4 คดี เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิตของคนทั้งประเทศ เกี่ยวกับเสรีภาพของคนไทยทั้งประเทศ"

"นี่ยังอยากให้มาถ่ายวิดีโอเก็บไว้เลย จะพูดให้สักชั่วโมงเลย แล้วยังไม่เผยแพร่ เก็บไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็ให้เผยแพร่ เพราะเราไม่ได้พูดในสิ่งที่ผิดกฎหมาย" ลุงบัณฑิตบอก

ซึ่งการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 แบบนี้ไม่ยุติธรรม แม้แต่พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ก็ไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน พระองค์มีพระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคม 2548 แต่หลังจากที่พระองค์มีพระราชดำรัสในปี 2548 จนกระทั่งสวรรคตปี 2559 ก็ไม่มีใครในรัฐบาลทำตามที่พระองค์แนะนำ ที่ผ่านมาผมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจ ให้ฟ้องฟ้องคนในรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี จนถึงประธานศาลฎีกา ที่ไม่ทำตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แต่ไปดำเนินคดีร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจก็ไม่มีความคืบหน้า

เมื่อถามถึงงานเขียนที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน? ลุงสมอลล์ บัณฑิต อานียา บอกว่ามีหนังสือที่เคยพิมพ์ไปแล้ว แต่เหลือต้นฉบับกับตัวอยู่เล่มเดียว จึงนำมาถ่ายเอกสารเพื่อวางจำหน่ายใหม่ชื่อ "เด็กหญิงแมวเป็นนายกรัฐมนตรี" เป็นเรื่องสั้นที่มีสาระ อ่านได้ทุกวัย ตัวละครเอกก็เป็นเยาวชนนักเรียนมัธยมชื่อเด็กหญิงแมว ในเล่มก็มีเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง นอกจากนี้ก็มีพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เขาถูกดำเนินคดี

ทั้งนี่ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เพจของลุงสมอลล์ บัณฑิต อานียา

 

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ "จ่านิว"
ชีวิตยุ่งยากเพราะคดีการเมือง
แต่ห่วงมากกว่าคือคดีที่เกิดกับแม่

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม "ประชาธิปไตยศึกษา" ผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องร่วมกับกลุ่มต่างๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องใกล้ตัววัยเรียนอย่างยกเลิกระบบรับน้อง ปฏิรูปการศึกษา ไปจนถึงประเด็นทางสังคม อย่างการต่อต้านรัฐประหาร จนถึงการบุกตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ จนทำให้เขาถูกตั้งข้อหาสารพัด ต้องขึ้นศาลทหาร

ร้ายที่สุดก็คือในเดือนมกราคม 2559 เขาถูกทหารบุก "อุ้ม" กลางดึกที่ด้านประตูเชียงราก หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก่อนนำตัวไปส่งสถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียง โดยอ้างว่าเพื่อให้นำไปตัวไปดำเนินคดีกรณีนั่งรถไฟไปตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ถึงกับเอ่ยปากว่าเมื่อไหร่จะเรียนจบ รวมทั้งบอกให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปตรวจสอบสถานภาพนักศึกษา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะพูดแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะสิรวิชญ์เพิ่งเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเตรียมตัวศึกษาต่อ โดยกิจวัตรหนึ่งของเขาช่วงนี้คือการเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม

ปัจจุบันนี้เขายังต้องต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาร่วมรณรงค์เคลื่อนไหว โดยกรณีที่เขาจัดกิจกรรม 'โพสต์–สิทธิ' เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองเมื่อ 1 พฤษภาคม 2559 นั้นต่อมาศาลแขวงพระนครใต้ สั่งปรับเงิน 1,000 บาท ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ โดยคดีนี้อยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์

และผลจากการร่วมกิจกรรม "เลือกตั้งที่รัก" เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2558 นอกจากเขาและเพื่อนนักกิจกรรมรายอื่นจะถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 แล้ว ตัวสิรวิชญ์เองยังถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งถือเป็นความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากร่วม

ส่วนคดีตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เมื่อ 9 ธันวาคม 2558 ที่เขารวมทั้งเพื่อนนักศึกษาและประชาชน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 จะมีการตรวจสอบพยานที่ศาลทหารในวันที่ 19 มิถุนายนนี้

และคดีล่าสุดคือข้อหาละเมิดอำนาจศาลที่เขา รวมทั้งนักศึกษาและอาจารย์ 7 ราย ถูกดำเนินคดีหลังจากเดินทางไปเยี่ยม "ไผ่ ดาวดิน" และทำกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2560 โดยคดีนี้มีการเลื่อนไต่สวนพยานจาก 31 พฤษภาคม 2560 ไปเป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2560

ทั้งนี้ "จ่านิว" หรือสิรวิชญ์บอกว่าคดีที่เกิดกับเขาไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะคดีความเหล่านี้เป็นคดีการเมือง แต่ที่วิตกและห่วงมากกว่าคือคดีซึ่งพุ่งเป้าไปที่แม่ของเขา กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำบทสนทนาที่มีผู้ส่งข้อความมาที่โทรศัพท์มือถือของแม่จ่านิว มาฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยสิรวิชญ์เห็นว่าคดีความเหล่านี้ ทำให้เขาประสบความยุ่งยากในการใช้ชีวิต ทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสที่จะดำเนินการเรื่องต่างๆ เพราะต้องไปต่อสู้เรื่องคดีความ

เมื่อชวนเขียนบทความ สิรวิชญ์บอกว่า อยากเขียนเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง และบทเรียนการต่อสู้ทางความคิดในต่างประเทศ เขาอยากชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่โดดเดี่ยว ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่ทุกสังคมก็เคยเผชิญปัญหาแบบนี้และก็สามารถแก้ไขคลี่คลายให้ผ่านไปได้ โดยเขาอยากชี้ให้สังคมไทยเห็นตรงนี้

"ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อย กลัวว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ตก ไม่รู้ว่าเราจะหลุดออกจากปัญหานี้อย่างไร นึกว่าเป็นปัญหาเฉพาะ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทุกสังคมเคยผ่านปัญหานี้เช่นเดียวกัน"

ด้วยความที่ตัวเขาเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ โดยตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม วันไหนที่ว่างเขาก็จะนั่งรถเมล์ไปหอสมุดแห่งชาติ เพื่อไปนั่งอ่านหนังสือ อีกเรื่องที่เขาอยากเขียนคือเรื่องปฏิรูปศึกษา โดยเขาอยากนำเสนอประสบการณ์ด้านแก้ไขปัญหาการศึกษาของต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ว่าประเทศเหล่านี้บางประเทศประสบความล้มเหลวทางการศึกษา แต่พวกเขามีวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

และอีกประเด็นที่เขาอยากเขียนบทความก็คือ การสอนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยที่ล้มเหลว ซึ่งตัวเขาเองก็เคยประสบปัญหานี้ จึงอยากถ่ายทอดประเด็นความไม่ถูกที่ถูกทางของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยด้วย

 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
อีกผู้ต้องขัง 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัว
และการท่องโลกวรรณกรรม

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ไผ่ ดาวดิน' เขาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมทางสังคม/การเมือง เขาเป็นที่รู้จักอย่างเผยหลายจากการทำกิจกรรมช่วยชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ที่ จ.เลย ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ

ภาพนักศึกษานั่งคุกเข่าท่ามกลางสายฝน ขณะที่เบิ้องหน้าเต็มไปด้วยชายสวมชุดเจ้าหน้าที่คุมควมฝูงชนยืนเผชิญหน้าซ้อนกันราว 2-3 แถว อาจจะเป็นภาพแรกที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จักเขามากขึ้น จนกระทั้งปลายปี 2556 ไผ่รวมทั้งนักศึกษากลุ่มดาวดินได้รับการมอบรางวัล 'เยาวชนต้นแบบ' โดยรายการคนค้นฅน ก่อนหน้าการรัฐประหารราว 6 เดือน

อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐประหารปี 2557 ผ่านไป ไผ่และเพื่อนๆ ยังคงทำงานเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและทุนต่อไป และนั่นอาจจะส่วนที่ทำให้เขามองเห็นว่าปัญหาเรื่องต่างๆของชาวบ้าน ต้องการแก้ที่โครงสร้างอำนาจทางการเมือง เพราะหลังจากรัฐประหารได้ไม่นานผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกๆ คือ ชาวบ้าน อันเนื่องมาจากความเร่งรีบในการจัดการโครงการพัฒนา และโครงการขนาดใหญ่ให้ประสบความสำเร็จ จนไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอให้เสียงของผู้คนที่อาจได้รับผลกระทบได้ปรากฎอย่างมีความหมาย ภายใต้รัฐบาลทหาร

และนั่นนำไปสู่การที่เขาและเพื่อนรวม 5 คน ไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการชูสามนิ้วต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะตรวจราชการที่ศาลากลาง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 และในวันเดียวกันกลุ่มดาวดินได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "เราไม่ต้อนรับเผด็จการ" มีเนื้อหาระบุถึงปัญหาที่รัฐบาลเผด็จการจับมือกับทุน ละเมิดสิทธิของชาวบ้าน

จากนั้นเขาและเพื่อนออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร และช่วงวันที่ 24 มิถุนายน 2558จนในที่สุดถูกดำเนินการจับกุมฐานยุยงปลุกปั่นและถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 12 วัน ก่อนที่จะมีการปล่อยตัวเขาและเพื่อนร่วม 14 คนออกมาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่คดีความดังกล่าวยังคงอยู่ในที่ศาลทหารกรุงเทพฯ

ไผ่เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงปี 2559 ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยการแจกเอกสาร ใบปลิว และจัดเวทีเสวนา จนในที่สุดเขาถูกจับกุมก่อนวันทำประชามติเพียง 1 วัน เพราะไปเดินแจกเอกสารรณรงค์โหวตโนที่ตลาดสดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง

รายงานข่าวระบุว่า เขาเดินแจกเอกสารไม่ไม่ถึง 500 เมตรก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าแสดงตัวเพื่อจับกุม จากนั้นถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำภูเขียวอีก 12 วันก่อนจะขอประกันตัวออกมา เพราะระหว่างที่ถูกควบคุมตัวเขาอดอาหารประท้วงการจับกุม

ไผ่ถูกจับกุมและถูกนำตัวเข้าเรือนจำอีกครั้งในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 จากการแชร์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai ซึ่งมีคนแชร์เหมือนกับเขาราว 2,800 คน แต่มีเพียงเขาคนเดียวที่ถูกจับกุม เขายื่นขอประกันตัวรวมทั้งหมด 9 ครั้ง และอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนสิทธิประกันตัวอีก 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวอีกเลย โดยพ่อแม่ของเขาต้องเดินทางไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจูประจำปี 2017 ที่เกาหลีใต้แทนลูกชาย และนำมามอบให้เมื่อลูกชายต้องเดินทางมาขึ้นศาลทหารที่ จ.ขอนแก่น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ไผ่เคยเล่าว่า กิจกรรมหลักที่เขาทำระหว่างถูกจองจำอยู่คือการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะงานวรรณกรรม เข้าใจว่าตลอดระยะเวลา 169 วัน (8 มิถุนายน 2560) ไผ่อ่านจบไปหลายเล่ม เท่าทีทราบเขาอ่าน ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา ปีกหัก ของคาลิล ยิบราน พันธุ์หมาบ้า ของชาติ กอบจิตติ บุกคนสำคัญ ของนิ้วกลม และงานอีกหลายเล่มของรงค์ วงษ์สวรรค์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

แม้จะไม่ได้ทาบทามไผ่โดยตรงให้มาเขียนคอลัมน์ และก็คงเป็นเรื่องยากที่ผู้ที่ถูกคุมขังจะส่งงานเขียนออกมาจากเรือนจำขนาดเล็กสู่เรือนจำแดนใหญ่ซึ่งมีชื่อเรียกว่า 'เรือนจำพิเศษประเทศไทย' แต่ "The Prisoner" เชื่อว่า ไผ่ น่าจะมีเรื่องที่อยากเล่าอีกมากมาย ทั้งเรื่องราวต่างๆ ในเรือนจำ และเรื่องความอยุติธรรมที่เขาเผชิญอยู่ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้อ่านงานเขียนที่ดี โดยผู้เขียนที่ชื่อ "จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา" ก็ได้ ขอเพียงแค่เขาได้สิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของการตกเป็นจำเลยในคดีอาญา นั่นคือการได้รับสิทธิการประกันตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิพากษาคดี 112 อีก 2 คดี 'วิชัย-เฉลียว' 9 มิ.ย.นี้

Posted: 08 Jun 2017 05:04 AM PDT

 
8 มิ.ย. 2560  ไอลอว์ รายงานว่า วันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย.60) จะมีการตัดสินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามมาตรา 112 จำนวน 2 คดีด้วยกัน คือ ที่ศาลทหารกรุงเทพ คดีของ วิชัย อดีตพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และ ศาลอาญารัชดา คดีของ เฉลียว ช่างตัดเสื้อ โดยจะเป็นการเข้าฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ไอลอว์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ที่ศาลทหารกรุงเทพ ชะตากรรมของชายอายุ 33 ปีชาวจังหวัดเชียงใหม่จะถูกตัดสิน วิชัย อดีตพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามมาตรา 112 ด้วยการสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมด้วยชื่อและภาพของบุคคลอื่น โพสต์ข้อความหรือเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 รวม 10 ครั้ง
 
วิชัย ถูกจับกุมในช่วงเดือนธันวาคม 2558 เบื้องต้นเขาให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี แต่ต่อมากลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เพราะเห็นว่า การต่อสู้คดีใช้เวลานานเกินไป ศาลทหารกรุงเทพนัดวิชัยฟังคำพิพากษาในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 โดยตลอดระยะเวลาที่วิชัยต่อสู้คดีเขาถูกจองจำที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
วันเดียวกันที่ศาลอาญารัชดา เฉลียว เป็นอีกคนหนึ่งจะต้องเข้าฟังคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถือเป็นคำพิพากษาสุดท้ายที่ไม่อาจโต้แย้งได้อีกแล้ว เฉลียวซึ่งเป็นช่างตัดเสื้อคือหนึ่งในบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวหลังการรัฐประหารตามคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557
 
ระหว่างถูกควบคุมในค่ายทหารเฉลียวถูกสอบสวนโดยใช้เครื่องจับเท็จ และถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าอัพโหลดคลิปเสียงของ "บรรพต" ซึ่งมีเนื้อหาผิดกฎหมายขึ้นเว็บฝากไฟล์เพื่อให้คนอื่นโหลดไปฟัง ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเฉลียวไม่ได้รับการประกันตัว
 
ไอลอว์ ระบุด้วยว่า เฉลียว ยังโชคดีอยู่บ้างเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือนโดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้สองปี หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา อัยการยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษเฉลียวสถานหนักและไม่ให้รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์แก้โทษเฉลียวในเวลาต่อมาโดยเพิ่มโทษจำคุกจาก 1 ปี 6 เดือน เป็น 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เฉลียวได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นฎีกา โดยเฉลียวมีกำหนดเข้าฟังคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งเป็นที่สุดวันศุกร์นี้
 
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ ได้รวบรวมรายละเอียด 2 คดีไว้ดังนี้
 
คดีวิชัย --> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/722
 
คดีเฉลียว--> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/636

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลือกตั้งทั่วไปสหราชอาณาจักรมาตามนัด โพลคาด 2 พรรคใหญ่สูสี เปิดนโยบายพรรค

Posted: 08 Jun 2017 04:21 AM PDT

เลือกตั้งมาตามนัด เปิดหีบวันนี้แล้ว โพลระบุ 2 พรรคใหญ่แนวโน้มยังสูสีแต่พรรคอนุรักษ์นิยมยังภาษีดีกว่า เปิดนโยบายหลักของพรรคต่างๆพร้อมผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

(ซ้าย) เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม (ขวา) เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงาน (ที่มา: UK Home Office/Li from London/Wikipedia)

8 มิ.ย. การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรได้เริ่มเปิดหีบแล้วตั้งแต่ 7.00 น. และจะปิดหีบเพื่อทำการนับคะแนนเวลา 22.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยพรรคที่มีจำนวนผู้แทนราษฎรมากในรัฐสภามากที่สุด จะได้รับเกียรติให้จัดตั้งคณะรัฐบาล และหัวหน้าพรรคจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งรัฐ

โพลระบุ 2 พรรคใหญ่เบียดสูสี แต่อนุรักษ์นิยมยังภาษีดีกว่า

ค่าเฉลี่ยความนิยมจากโพลหลายสำนักที่ประกาศอยู่ในเว็บไซต์ Huffington Post ระบุว่า ความนิยมเฉลี่ยของพรรคอนุรักษ์นิยมอยู่ที่ร้อยละ 37.5 ในต้นเดือนมิถุนายน ครองความนิยมเป็นอับดับหนึ่ง ส่วนพรรคแรงงานตามมาเป็นอันดับสองด้วยปริมาณความนิยมร้อยละ 33.1 ตีตื้นมาจากช่วงเดือนพฤษภาคมถึงร้อยละ 11.2 ที่เหลือเป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย พรรคเพื่ออิสรภาพแห่งสหราชอาณาจักร และพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ ที่มีความนิยมอยู่ที่ร้อยละ 6.4 3.6 และ 3.5 ตามลำดับ

ผลโพลโดยสรุปนับตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมาพบวา มีเพียงผลโพลของ YouGov เท่านั้นที่มีผลสำรวจค่าความนิยมของพรรคแรงงานมากกว่าพรรคอนุรักษ์นิยม โดยมีค่ามากกว่าเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ทำความรู้จักหัวหน้าพรรคและนโยบายเด่น

 พรรคอนุรักษ์นิยม - เทเรซา เมย์

เทเรซา เมย์ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

  1. ทำให้การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเป็นไปอย่างราบรื่น ออกจากระบบตลาดเดียวและสหภาพศุลกากรของอียู และหาทางจัดตั้งการเป็นหุ้นส่วนที่ "พิเศษและลุ่มลึก" กับอียูแทน

  2. ผ่าน พ.ร.บ. ที่จะเปลี่ยนกฎหมายของอียูให้เป็นกฎหมายของสหราชอาณาจักร

  3. สร้างบ้านเพิ่มอีก 160,000 หลังบนที่ดินที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และออกกฎหมายแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน

  4. ลดจำนวนผู้อพยพเหลือ 100,000 คน

  5. แก้ปัญหาเงินรายได้ผู้เกษียณ ให้มีรายได้เท่ากับค่าแรงมาตรฐาน หรืออย่างน้อยเทียบเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ ภายในปี 2564

  6. ใช้เงินร้อยละ 2 ของงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศ  และร้อยละ 0.7 สำหรับเป็นเงินสนับสนุนในระดับนานาชาติ

  7. เรียกเก็บค่าทักษะแรงงานต่างชาติเป็นสองเท่าในบริษัทที่จ้างงานแรงงานข้ามชาติ และปรับเงื่อนไขการขอวีซ่านักเรียน นักศึกษาใหม่ให้สูงขึ้น พร้อมแก้กฎเรื่องให้บุคคลกลุ่มนี้ทำงานในขณะที่อาศัยในสหราชอาณาจักรให้ทำได้ยากขึ้น

  8. เพิ่มภาษีรายบุคคล ลดภาษีภาคธุรกิจ

พรรคแรงงาน - เจเรมี คอร์บิน

เจเรมี คอร์บิน (ที่มา: วิกิพีเดีย)

  1. เพิ่มการลงทุนในบริการสาธารณะ แก้ปัญหาภาวะการรัดเข็มขัดอันเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจ

  2. เจรจาเงื่อนไขการออกจากอียูด้วยการยกประเด็นเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตขึ้นเป็นตัวชูโรง

  3. ควบคุมการขึ้นค่าเช่าบ้าน

  4. การเรียนในระดับอุดมศึกษาไม่เสียค่าเล่าเรียน

  5. มีสวัสดิการขึ้นรถโดยสารฟรี และสวัสดิการเชื้อเพลิงในหน้าหนาวให้ผู้เกษียณอายุ

  6. เพิ่มอัตราการจ้างงานและเงินสนับสนุนอีกสัปดาห์ละ 30 ปอนด์

  7. ใช้เงินร้อยละ 2 ของงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศ และร้อยละ 0.7 สำหรับเป็นเงินสนับสนุนในระดับนานาชาติ

  8. ลดเกณฑ์อายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็น 16 ปี

  9. คืนสิทธิกองทุนผลกระทบของผู้อพยพในพื้นที่ๆ ผู้อพยพต้องพึ่งพาบริการสาธารณะมาก ไม่นับนักเรียนเป็นผู้อพยพ และบรรจุตำรวจตระเวนชายแดนเพิ่มขึ้นอีก 500 ตำแหน่ง

พรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ - นิโคลา สเตอร์เจียน

นิโคลา สเตอร์เจียน (ที่มา: วิกิพีเดีย)

  1. ทำประชามติขอแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรเมื่อจบกระบวนการออกจากอียู

  2. ให้สิทธิ์การอาศัยในสหราชอาณาจักรแก่ผู้ถือสัญชาติสมาชิกอียู

  3. ยกเลิกสภาขุนนาง หรือระบบสภาสูงที่สมาชิกเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด ทำหน้าที่พิจารณาผ่านร่างกฎหมายร่วมกับสภาล่างที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา

  4. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่าชั่วโมงละ 10 ปอนด์ภายในปี 2565

  5. สนับสนุนการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีสำหรับผู้มีรายได้มากกว่า 150,000 ปอนด์

  6. ไม่เสียค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา

  7. หาแนวร่วมปลดหัวรบนิวเคลียร์ให้เร็วและปลอดภัยที่สุด

  8. ค้านการทิ้งระเบิดที่ซีเรีย โดยมุ่งหาทางออกผ่านการเมือง หยุดขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบีย

  9. ลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และผลักดันให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรทำเช่นเดียวกัน

  10. สานต่อกองทุนการจัดหาบ้านให้พื้นที่แออัดของสกอตแลนด์

พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย - ทิม ฟาร์รอน

ทิม ฟาร์รอน (ที่มา: วิกิพีเดีย)

  1. จัดประชามติเรื่องการออกจากอียูอีกรอบพร้อมมีตัวเลือกให้ยังอยู่กับอียู

  2. คงไว้ซึ่งเสรีภาพการเดินทางระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู

  3. คัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์

  4. เพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีเพื่อนำไปสนับสนุนภาคสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์

  5. รับผู้อพยพชาวซีเรียจำนวน 50,000 คนในเวลา 5 ปี

  6. มุ่งสร้างบ้านปีละ 300,000 หลัง

  7. ใช้เงินร้อยละ 2 ของงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศ  และร้อยละ 0.7 สำหรับเป็นเงินสนับสนุนในระดับนานาชาติ

  8. งดขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบีย

  9. เพิ่มจำนวนพื้นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมากอีกในพื้นที่ 10 เมือง

พรรคเพื่ออิสรภาพแห่งสหราชอาณาจักร - พอล นัตทาล

พอล นัตทาล (ที่มา: วิกีพีเดีย)

  1. จบกระบวนการออกจากอียูภายในปี 2562 โดยไม่เสียสตางค์ให้อียู

  2. ลดจำนวนผู้อพยพในสหราชอาณาจักรลงครึ่งหนึ่ง และตัดระดับการอพยพเข้ามาให้เป็นศูนย์

  3. ฟื้นฟูการควบคุมเบ็ดเสร็จบนพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะในทะเลของสหราชอาณาจักร

  4. ยกเลิกศาลกฎหมายมุสลิม (ศาลชาริอะห์) และยกเลิกการสวมเครื่องปกปิดใบหน้าในพื้นที่สาธารณะ

  5. ยกเลิกเสรีภาพการเดินทางระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู

  6. ห้ามการจ้างงานแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือเป็นเวลา 5 ปี

  7. ขยายโรงเรียนสายอาชีพ

  8. ซื้อที่ดินบราวน์ฟิลด์  ที่ดินที่มีหรือเคยมีอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมที่ถูกปล่อยปละละเลย ใช้งานไม่สมค่าหรือถูกทิ้งร้างมาสร้างบ้าน (ที่มา: วิกิพีเดีย) มาสร้างบ้าน

  9. เพิ่มกองกำลังติดอาวุธในสหราชอาณาจักร และใช้สถานะด้านกลาโหมในการเจรจาเรื่องการออกจากอียู

  10. สนับสนุนการร่วมมือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ

  11. ยกเลิกกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แปลและเรียบเรียงจาก

Huffington Post, POLL CHART: 2017 United Kingdom General Election, 6 Jun. 2017

BBC,General election 2017: Manifesto guide on where the parties stand, 5 Jun. 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ ตั้ง 'พล.ร.อ.พงษ์เทพ' เป็นองคมนตรี

Posted: 08 Jun 2017 03:47 AM PDT

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ" เป็นองคมนตรี พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ 'พระองค์โสม' แทนพระองค์บำเพ็ญกุศลคล้ายวันสวรรคต ร.8

8 มิ.ย. 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ แต่งตั้งองคมนตรี  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่าตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 23 ธ.ค. พ.ศ. 2559 แล้วนั้น บัดนี้ ทรงพระราชดําริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ เป็น องคมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

ประกาศ ณ วันที่ 8 มิ.ย. พ.ศ. 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน  ผู้รับสนองพระราชโองการ  พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ทรงแต่งตั้งองคมนตรีมาแล้ว 15 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี 2.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  3. เกษม วัฒนชัย 4. พลากร สุวรรณรัฐ 5. อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ 6. ศุภชัย ภู่งาม 7. ชาญชัย ลิขิตจิตถะ 8.พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข 9.พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ 10.พลเอกธีรชัย นาควานิช 11.พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา 12. วิรัช ชินวินิจกุล 13. จรัลธาดา กรรณสูต 14.พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ และ 15.พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ

วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวที่เกาะติดข่าวเกี่ยวกับกองทัพ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Wassana Nanuam ว่า พล.ร.อ.พงษ์เทพ รองปลัดกลาโหม  เป็น ตท.16 เพื่อน พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ รองสมุหราชองครักษ์ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบทบ. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคลปลัดกห.‬และพลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. เป็นนักเรียนนายเรือ รุ่นที่ 73 และปี 2553 เป็น เจ้ากรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ 54 เป็นเสนาธิการโรงเรียนนายเรือ ปี 55 ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ ปี 56 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ ปี 57 ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ปี 58 ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ก่อนที่จะโยกย้ายตุลาคมปี 2559 เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม

โปรดเกล้าฯ 'พระองค์โสม' แทนพระองค์บำเพ็ญกุศลคล้ายวันสวรรคต ร.8

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า เลขาธิการพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 และพระราชกุศลทักษิณานุปทาน พระบรมอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พุทธศักราช 2560 มีรายการดังนี้

วันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์

เวลา 16 นาฬิกา เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม เสด็จเข้าพระวิหาร ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระศรีศากยมุนี และทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จออกจากพระวิหารไปทรงวางพวงมาลา และทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร แล้วเสด็จจากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระบรมมหาราชวัง เทียบรถยนต์พระที่นั่งพระทวารเทเวศรรักษา เสด็จเข้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ ถวายบังคมพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบรมอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสนครินทร์ พระสงฆ์ 20 รูปสวดพระพุทธมนต์จบ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ค่าคนตาย

Posted: 08 Jun 2017 03:08 AM PDT

เธอรู้จัก ฆ่าคนตาย เรี่ยรายวัน
ข่าวกระชั้น สื่อกระชอก บอกคนฆ่า
มีไอ้นั่น อีนี่ พร้อมตีตรา
โฉดชั่วช้า สารพัด กว่าสัตว์ใด

ไม่ต้องรอ ลงโทษ ตามกฎหมาย
เรามีศาล มากมาย วินิจฉัย
ศาลโซเชียล เกรี้ยวโกรก โลกออนไลน์
สื่อทันใจ ใช้ประเด็น เล่นอารมณ์

เหมือนประเทศ ตระหนักค่า ของคนตาย
ยุติธรรม ฟ่องฟาย คล้ายเหมาะสม
หนึ่งชีวิต หรือมีค่า แค่สิ้นลม?
เหมือนระงม หลังเกิดเหตุ เมื่อเภทภัย

แล้วคุณค่า ชีวิต ของคนเป็น
เธอเคยเห็น กระจ่าง เส้นทางไหม
ตอนยังมี ชีวิต คิดอะไร?
มองเขาเป็น ยังไง คนใกล้ตัว

เคยเอารัด เอาเปรียบ เพื่อนมนุษย์
หรือแย่งยุทธ์ เป็นของตน อย่างคนชั่ว
หลงระเริง ขลาดเขลา อย่างเมามัว
อบายมุข ลุกทั่ว ครัวเรือนใจ

แล้วคุณค่า ชีวิต ของคนเป็น
ที่ต่อสู้ ขื่นเข็ญ ยุคสมัย
ค่าของคน ที่เรี่ยราย ที่ตายไป
ที่สาบสูญ สิ้นไร้ ในทะเบียน

ขณะคนฆ่า ยังลอยหน้า ในประเทศ
หลังเกิดเหตุ รัฐ-ชาติ อำนาจเปลี่ยน
ประชาชนตาย บรรจุไว้ ในแบบเรียน
เราก็ต่าง ลืมเทียน ที่จุดไฟ

ค่าคนตาย ที่หยัดสู้ ทรราช
ที่ยืนท้า อำนาจ ไม่หวาดไหว
อย่าลืมค่า วีรชน คนตายไป
ด้วยการไม่ ทำอะไร ในวันนี้!

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยื่นฟ้อง 2 หน่วยงานรัฐไทย ปมสร้างเขื่อนปากแบงบนในลาว

Posted: 08 Jun 2017 03:05 AM PDT

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และกลุ่มรักษ์เชียงของยื่นฟ้องหน่วยงานของไทย กรณีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ที่จัดทำโดยรัฐบาลลาว หวั่นปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน ชี้ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

8 มิ.ย. 2560 ที่ศาลปกครอง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มรักษ์เชียงของได้ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบง

โดยในรายละเอียดคำฟ้องที่ขอให้ศาลพิจารณาระบุว่า

1.ขอให้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามตามฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทย และขอให้เพิกถอนความเห็นต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ทั้งสิ้น

2.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมาย ที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชน ในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะรัฐบาลสปป.ลาวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และ/หรือก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

3.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย

4.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นให้ครบคลุมทุกจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขง

5.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดำเนินการทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบง ต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง และต่อสปป.ลาว

6.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว จนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่า โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทย

ด้าน นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุว่า  ต้องการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะเขื่อนปากแบง โดยขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทยและให้มีการพิจารณาขั้นตอนต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรหมแดน และจะต้องชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง

นิวัฒน์กล่าวว่า กระบวนการมีส่วนร่วม การศึกษาผลกระทบของโครงการ ยังมีความละหลวมเหมือนกับกระบวนการสร้างเขื่อนก่อนหน้านี้ เช่น การสุ่มเรื่องพันธุ์ปลาก็ทำเพียงเล็กน้อยไม่ทำอย่างจริงจัง โดยต้องการให้รัฐทำหน้าที่ให้เต็มที่กว่าเดิม  "หากปล่อยไป เขื่อนก็เต็มแม่น้ำโขง" ซึ่งกระบวนการศึกษาและการมีส่วนร่วมเป็นส่วนที่อ่อนที่สุด เพราะต้องศึกษาอย่างจริงจัง ละเอียด และควรให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูล 4  ครั้ง ใน 3 จังหวัด ซึ่งผลที่ได้คือข้อมูลนั้นไม่เพียงพอ และไม่ชัดเจนในเรื่องปัญหาข้ามพรหมแดน

"ยุคนี้การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนหรือองค์กรทั่วไปที่มีผลกับรัฐนั้นยากลำบาก ยิ่งในปัจจุบันรัฐบาลทหารไม่เคยทำงานร่วมกันกับประชาชนจึงขาดความคุ้นเคยกัน ซึ่งต้องคุยกันและทำงานร่วมกัน เพราะการพัฒนาต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมต้องรับฟังผู้ที่มีผลกระทบ" นิวัฒน์กล่าว

นิวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า เข้าใจเพื่อนบ้านอย่างลาวในการทำนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล เพื่อต้องการสร้างเขื่อน แต่ว่าสิ่งที่เป็นการทำผิดหลักการ ผิดกระบวนการก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด และชาวบ้านต่อต้านการพัฒนาจากรัฐนั้น เป็นเพราะได้รับผลการทบจริงๆ แต่สายตาคนภายนอกมักจะมองว่าชาวบ้านเอาแต่ต่อต้าน คนที่ไม่เคยได้เจ็บปวดรู้ร้อนรู้หนาวจะไปรู้อะไร มันเป็นเรื่องของวาทกรรม สำคัญที่สุดคือเราจะทำอย่างไรให้สังคมได้รับรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำงานของคนเหล่านี้

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าว รายงานว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Bang Dam) เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River) ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตร ในแม่น้ำโขง ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดือนเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566 ทั้งนี้ EGCO บริษัทลูกของ กฟผ. ถือหุ้นในโครงการนี้ 30%

ขั้นตอนในปัจจุบัน โครงการดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538  โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 และกำหนดครบวาระ  6 เดือน ในวันที่ 19 มิ.ย. 2560 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้ง ซึ่งประชาชนเห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอ และไม่สามารถอธิบายผลกระทบข้ามพรมแดนได้ เนื่องจากเขื่อนอยู่ห่างจากชายแดนไทย ที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงราว 92 กิโลเมตรเท่านั้น

ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเห็น ว่าการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นข้อมูลเก่าไม่มีการเก็บข้อมูลในปัจจุบัน และข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการพัฒนาลุ่มน้ำโขงมากนมาย อาจทำให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: คำถามของประยุทธ์

Posted: 08 Jun 2017 02:32 AM PDT


 

หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และบ้านเมืองไทยกำลังจะต้องก้าวไปสู่กระบวนการของการเลือกตั้ง ในข้ออ้างที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ดูเหมือนฝ่ายเผด็จการทหารของไทย ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในกระบวนการ ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. จึงได้กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลและ คสช. ยืนยันว่า การเป็นประชาธิปไตยของไทย จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลซึ่งยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลนำพาให้ชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้ศาสตร์พระราชาให้จงได้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ จึงขอฝากประเด็นคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป

คำถามทั้ง 4 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ 1. .ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้ จะทำอย่างไร 3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ 4. ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร พล.อ.ประยุทธ์แสดงความจริงจังกับคำถามดังกล่าว โดยย้ำว่า ขอให้ประชาชนส่งคำตอบและความคิดเห็น มาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวมรวมส่งมาที่นายกรัฐมนตรี จะยินดีรับฟัง

คำถามทั้ง 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นประเด็นแห่งความสนใจไปทันที หลายฝ่ายได้แสดงความเห็นตอบโต้คำถามดังกล่าว และยังตั้งข้อสังเกตว่า คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนหรือไม่ว่า ฝ่ายทหารและ คสช. ต้องการที่จะรักษาอำนาจต่อไป โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ปัญหาสำคัญที่เห็นได้จากคำถามนี้ ก็คือ ความเข้าใจผิดในบทบาทของตนเอง และความอ่อนของฝ่ายทหารในความรู้เรื่องการเมืองแบบประชาธิปไตย

เริ่มจากการพิจารณาคำว่า "ธรรมาภิบาล" ซึ่งเป็นคำสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาตั้งโจทย์ คำนี้ มาจากภาษาอังกฤษว่า  (Good Governnance) หมายถึง ระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ในความถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งหลักสำคัญ ในเรื่องนี้ เช่น เรื่องหลักนิติธรรม (The Rule of Law) หลักคุณธรรม (Morality) หลักความโปร่งใส (Accountability)  หลักการมีส่วนร่วม (Participation)  และ หลักความรับผิดชอบ (Responsibility) เป็นต้น

ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีการแสดงหลักฐานยืนยันได้เลยว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะมีหลักธรรมาธิบาลมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลคณะ คสช.ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เราก็จะเห็นได้ว่า มีการใช้อำนาจที่ไม่ได้ยึดหลักธรรมาภิบาลเสมอ เช่น การใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ก็เป็นการละเมิดหลักนิติธรรม ข่าวคราวเรื่องทุจริตคอรัปชันของฝ่ายทหาร เรื่องกินค่าหัวคิว ก็ละเมิดหลักคุณธรรม การใช้อำนาจรัฐควบคุมห้ามการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลและกองทัพ ก็ละเมิดหลักความโปร่งใส นอกจากนี้ การใช้รัฐสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ก็ละเมิดหลักการมีส่วนร่วม

นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ระบอบธรรมาภิบาลจะไม่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร แต่การเลือกตั้งที่เป็นธรรม และกระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างรัฐที่มีธรรมาภิบาล อย่างน้อยในด้านการแสดงความเห็นวิพากษ์และการตรวจสอบ รัฐประชาธิปไตยย่อมทำได้ง่ายกว่ารัฐเผด็จการ นี่เป็นประเด็นแรกที่เผด็จการทหารไทยแสร้งทำเป็นไม่รับรู้

หลักการของระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ให้หลักประกันในด้านที่จะได้รัฐบาลบริหารที่ดีหรือไม่ดี แต่ให้หลักประการในด้านที่มาของอำนาจว่า จะได้รัฐบาลบริหารที่มาจากเสียงของประชาชน ส่วนการบริหารจะมีหลักธรรมาภิบาลอย่างไร ขึ้นกับกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล ดังนั้น เราจะพบว่า แม้แต่ในประเทศที่มีกระบวนการประชาธิปไตย เช่น ในสหรัฐ ฝรั่งเศส หรือ ประเทศอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งจะนำมาซึ่งรัฐบาลที่บริหารได้ดีทุกครั้ง แต่ข้อดีของประชาธิปไตยที่เหนือกว่าเผด็จการทหารก็คือ การมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยสันติวิธีและใช้เสียงประชาชนตัดสิน ซึ่งนานาประเทศเขาก็ใช้วิธีการเช่นนี้ การรัฐประหารจึงกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในโลกสากล ดังนั้น ถ้าตอบคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ในข้อที่ 2 ก็คือ ต่อให้การเลือกตั้งนำมาซึ่งรัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย และประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่พวกนายทหารหลงยุคทั้งหลายไม่มีความรู้ เห็นเพียงแต่ว่า การรัฐประหารเป็นทางแก้ปัญหาทางการเมือง นายทหารหลงยุคเหล่านี้ จึงเป็นผู้ที่นำประเทศไปสู่ความล้าหลัง

ในคำถามที่ 3 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องตอบว่า การเลือกตั้งและกระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยนั่นเอง เป็นการดำเนินการอย่างคำนึงอนาคตของประเทศ เพราะระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่า ประเทศภายใต้เผด็จการทหารนั้นไม่มีอนาคต ถ้าหากต้องการปฏิรูปประเทศ กระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้มีอะไรที่จะไปขัดขวางการปฏิรูป  แนวคิดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และแช่แข็งประเทศเพื่อการปฏิรูป เป็นแนวคิดแบบฝ่าย กปปส. ที่ดำเนินการและสร้างความเสียหายยับเยินกับประเทศชาติมาแล้วจนถึงขณะนี้

สำหรับในข้อที่ 4 ในประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย ถ้านักการเมืองหรือใครก็ตาม ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็มีกฎหมายปกติที่จะดำเนินากรลงโทษอยู่แล้ว แต่ถ้าบุคคลที่ไม่ได้ทำความผิด ก็อย่าไปสร้างกฎหมายพิเศษ หรือเงื่อนไขพิเศษ ที่จะไปจ้องเล่นงานหาทางลงโทษโดยขัดหลักนิติธรรมดังที่เป็นอยู่ในระยะทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น กระบวนการทางการเมืองต้องเปิดสำหรับสุจริตชนตามกฎหมายทุกคนให้มีส่วนร่วมได้ มิใช่ให้อำนาจแก่บุคคลที่ถือปืนเหนืออื่นใดเช่นระบอบที่เป็นอยู่

แต่คำถามทั้งหมดตลอดจนถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สะท้อนความวิตกข้อใหญ่ในกลุ่มชนชั้นนำที่กลัวการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาไม่สามารถบังคับหรือเปลี่ยนใจประชาชนไทย ที่ต้องการจะเลือกฝ่ายพรรคเพื่อไทยให้กลับคืนมา การคาดหมายและการสุ่มตัวอย่างเสียงประชาชนทุกครั้ง แสดงให้เห็นเสมอว่า ถ้ามีการเลือกตั้ง ฝ่ายพรรคเพื่อไทยมีโอกาสมากที่สุด ที่จะได้รับเสียงมากที่สุด แม้ว่าจะใช้มาตรการทางรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจเถื่อนสกัดขัดขวางทุกทางแล้วก็ตาม ในระยะที่ผ่านมา กระบวนรัฐประหารเพื่อทำลายประชาธิปไตยในประเทศ ก็มาจากความต้องการที่จะจัดการกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยให้เด็ดขาดทั้งสิ้น ความขัดแย้งและความวุ่นวายในประเทศ จึงมาจากปัญหาเรื่องความอับจนปัญญาของชนชั้นนำที่จะบังคับเสียงประชาชน

ความจริงกระบวนการทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่ายที่สุด ถ้าหากยอมรับที่จะเล่นการเมืองตามกติกา และปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปเช่นปกติ หมายความว่า ถ้าชนชั้นนำต้องการจะเอาชนะฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ควรจะต้องเอาชนะด้วยประชาธิปไตย ทำให้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณแพ้การเลือกตั้ง และประชาชนเสื่อมศรัทธาไปเอง การเมืองไทยก็จะพัฒนาในลักษณะเดียวกับนานาประเทศ และหลักธรรมาภิบาลก็จะเกิดขึ้นได้

กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยจะพัฒนาไปข้างหน้าได้ กลุ่มนายทหารในยุคต่อไปต้องเลิกคิดแบบเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ ที่เชื่อว่า มีแต่ฝ่ายทหารเท่านั้น ที่สามารถเป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ แต่ต้องคิดเสียใหม่ว่า ประชาชนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย จะได้ไม่ต้องมาติดพ้อว่า "ถ้าประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร"


 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 619 วันที่ 3 มิถุนายน 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก่อนตอบนายกฯ: ธรรมาภิบาลคืออะไร

Posted: 08 Jun 2017 02:20 AM PDT



 

พลันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. โยนคำถาม 4 ข้อที่เน้นในเรื่องของ ธรรมาภิบาลให้ประชาชนไปขบคิดและให้แสดงความเห็นผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม โดยถามว่า 1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2) หากไม่ได้จะทำอย่างไร ฯลฯ ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็นทั้งโต้แย้งและสนับสนุน แต่มีประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจทั้งผู้ถามคือ พล.อ.ประยุทธ์และประชาชนที่เป็นผู้ตอบก็คือประเด็นที่ว่าธรรมาภิบาลคืออะไรเสียก่อน

ธรรมาภิบาล หรือในชื่ออื่น "การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี" "หลักธรรมรัฐ"ฯลฯ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Good Governance  นั้น ไม่ใช่แนวความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เป็นการสั่งสมความรู้ที่เป็นวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของมวลมนุษย์มาเป็นพันๆปี ซึ่งเป็นหลักการเพื่อการอยู่ร่วมกันในบ้านเมืองและสังคมอย่างมีความสงบสุข สามารถประสานประโยชน์และคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งโดย    สันติวิธีและพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืน


ความหมาย

ธรรมาภิบาล คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ฯลฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในภาคต่างๆ อาทิ ภาครัฐ ธุรกิจ(corporate governance หรือ บรรษัทภิบาล) ประชาสังคม ปัจเจกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ

ธรรมาภิบาลเป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานอย่างแพร่หลายเพราะธรรมาภิบาลช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ อาทิ พนักงานต่างทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร ทำให้ผลประกอบการขององค์กรธุรกิจนั้นขยายตัว นอกจากนี้แล้วยังทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องศรัทธาและเชื่อมั่นในองค์กรนั้น ๆ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรที่โปร่งใส ย่อมได้รับความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ, รัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชน, ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เป็นต้น

ธรรมาภิบาลเป็นทั้งหลักการ กระบวนการและเป็นเป้าหมายไปในตัว การมีธรรมาภิบาลจะนำมาสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ในที่สุดและการมีประชาธิปไตยก็นำมาสู่การมีผลทางสังคมคือการมีการพัฒนาประเทศไปในทางที่สร้างความสงบสุขอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตลอดจนนำมาสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้โดยสันติวิธี


องค์ประกอบ

1) UNESCAP ได้กำหนดว่าหลักธรรมาภิบาล ประกอบด้วย 8 หลักการ คือ การมีส่วนร่วม (participatory) ,นิติธรรม (rule of law),ความโปร่งใส(transparency),ความรับผิดชอบ (responsiveness),ความสอดคล้อง(consensus oriented),ความเสมอภาค (equity and inclusiveness),การมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (effectiveness and efficiency) และการมีเหตุผลอธิบายได้ (accountability)      

2) สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดไว้โดยได้เสนอเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าหลักธรรมาภิบาลนั้นประกอบด้วย 6 หลักการ คือ หลักคุณธรรม(ethics),หลักนิติธรรม(rule of law),หลักความโปร่งใส(transparency),หลักความมีส่วนร่วม(participation),หลักความสำนึกรับผิดชอบ(accountability),       หลักความคุ้มค่า(value for money)

ซึ่งต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ออกมา

3) สำนักงาน ก.พ.ร.ได้กำหนดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  (GG Framework) ซึ่ง ครม.เห็นชอบเมื่อ 24 เม.ย.55 ประกอบด้วย 4 หลักการสำคัญ และ 10 หลักการย่อย ดังนี้

3.1 การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ประกอบด้วยหลักประสิทธิภาพ  (Efficiency),หลักประสิทธิผล (Effective) และหลักการตอบสนอง (Responsive)

3.2 ค่านิยมประชาธิปไตย (Democratic Value) ประกอบ ด้วยหลักภาระรับผิดชอบ/สามารถตรวจสอบได้ (Accountability),หลักความเปิดเผย/โปร่งใส  (Transparency), หลักนิติธรรม (Rule of Law) และหลักความเสมอภาค (Equity)

3.3 ประชารัฐ (Participatory State) ประกอบด้วยหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) และหลักการมีส่วนร่วม/การมุ่งเน้นฉันทามติ (Participation/Consensus Oriented)

3.4 ความรับผิดชอบทางการบริหาร (Administrative Responsibility) ประกอบด้วยหลักคุณธรรม/จริยธรรม (Morality/Ethics)

จะเห็นได้ว่าหลักของUNESCAP กำหนดนั้นไม่ได้มีเรื่องของหลักคุณธรรมหรือศีลธรรมจรรยาไว้เป็นการเฉพาะตามที่ไทยเราโดยสำนักงาน ก.พ.และสำนักงาน ก.พ.ร.กำหนดแต่อย่างใดเพราะหลักที่ใช้ในการบริหารงานตามหลักที่เป็นสากลนั้น มีความหมายที่กว้างขวางกว่าคุณธรรมหรือศีลธรรมจรรยาโดยหมายถึงความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวงที่วิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ

แต่จะเป็นหลักการใดก็ตาม หลักการทั้งหลายล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษา "ความสมดุล" ในมิติต่างๆไว้ เช่น การรักษาสมดุลระหว่างตนเองกับผู้อื่น คือไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือตัวเองจนเดือดร้อน,การที่มีความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมตรวจสอบก็เพื่อมุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความสมดุลดังกล่าวว่าอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้,ส่วนหลักความรับผิดชอบก็ต้องสมดุลกับเสรีภาพที่เป็นสิ่งที่สำคัญของทุกคน และหลักความคุ้มค่าก็ต้องสมดุลกับหลักอื่นๆ เช่น บางครั้งองค์การอาจมุ่งความคุ้มค่าจนละเลยเรื่องความเป็นธรรมหรือโปร่งใสหรือบางครั้งที่หน่วยงานโปร่งใสมากจนคู่แข่งขันล่วงรู้ความลับที่สำคัญในการประกอบกิจการ ฉะนั้น ความสมดุลหรือความเป็นธรรมจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของธรรมาภิบาล

จากที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าหากทั้งผู้ถามหรือผู้ตอบไม่เข้าใจในความหมายและหลักการของ  ธรรมาภิบาลที่แท้จริงแล้วก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดการ "ตอบไม่ตรงคำถาม"หรือ "ถามไม่ตรงคำตอบ" ขึ้น และในทำนองกลับกันหากเข้าใจความหมายและหลักการของธรรมาภิบาลที่แท้จริงแล้วก็ย่อมเกิดคำถามหรือคำตอบที่ถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

แน่นอนว่านอกจากจะเป็นคำถามหรือคำตอบถึงรัฐบาลในอนาคตที่จะมาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ย่อมเป็นคำถามหรือคำตอบถึงรัฐบาลในปัจจุบันด้วยความเป็นธรรมหรือสมดุลว่า 1) ท่านคิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้ เราได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2) หากไม่ได้จะทำอย่างไร ฯลฯ ได้เช่นกัน

 

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 มิ.ย.60

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติเตรียมเข้าที่ประชุม สนช.วาระ 2-3 ด้านสปท.เตรียมพิจารณารายงานปฏิรูปการเมือง

Posted: 08 Jun 2017 01:54 AM PDT

โฆษก กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาตร์ชาติ เผยพิจารณากฎหมายเสร็จแล้ว ยันได้มีการรับฟังความเห็น ปชช. ตามมาตรา 77 ใน รธน. ระบุเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเดิม เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมสนช. พิจารณาวาร 2-3 22 มิ.ย. ด้าน สปท. ระบุเตรียมนัดพิจารณารายงานปฏิรูปการเมือง เสนอให้มี พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

8 มิ.ย. 2560 พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ... แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ขณะนี้ ได้พิจารณาร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้มีการรับฟังความเห็นประชาชนตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

พลเรือเอกพัลลภ ระบุด้วยว่า ในสัปดาห์หน้า จะส่งร่าง พ.ร.บ ให้คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) พิจารณาก่อนจะเสนอให้ประธาน สนช. บรรจุเข้าสู่การพิจารณาเป็นรายมาตราในวาระ 2 และวาระ 3 ในวันที่ 22 มิ.ย. นี้ ส่วนการปรับเนื้อหาส่วนใหญ่ ไม่แตกต่างจากเนื้อหาในวาระรับหลักการ แต่จะมีเพียงการปรับเพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จาก 14 คน เป็น 17 คน เพื่อสำรองจำนวนให้มีมากขึ้นสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่ในด้านอื่นๆ

พลเรือเอกพัลลภ ยังได้กล่าวถึงกรณีข้อทักท้วงว่าควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยระบุว่า ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้วในสัดส่วนประธานสภาของภาคส่วนต่างๆ ในขณะที่ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมโดยตรงในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้าน

"การปรับเนื้อหาส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากเนื้อหาที่พิจารณาในวาระแรกรับหลักการ เพียงปรับเพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจาก 14 คน เป็น 17 คน เพื่อเพิ่มจำนวนในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้ระบุด้านไว้หรือที่เรียกว่าด้านอื่นๆ สำหรับข้อทักท้วงว่าควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วย ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้วในสัดส่วนประธานสภาต่างๆ และมีส่วนร่วมโดยตรงในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้านอยู่แล้ว" พลเรือเอกพัลลภ กล่าว

สปท.เตรียมดัน พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เร่งการปฏิรูปการเมือง 27 วาระ

วันเดียวกันนี้ คำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงข่าวถึงการประชุม สปท.ในสัปดาห์หน้าว่า ในวันที่ 12 มิ.ย. ประชุม สปท.จะพิจารณารายงานการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง "การปฏิรูปประเทศด้านการเมือง : ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ...ที่เสนอตามรายงานของ สปท.ด้านการเมืองและตามวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน (27 วาระ) ในปี 2560 เพื่อให้การปฏิรูปเกิดผลสำเร็จ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองฯ เป็นวาระแห่งชาติและเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีสำนักเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองฯ เป็นส่วนราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสนับสนุนและรองรับภารกิจของคณะกรรมการการขับเคลื่อนแผนแม่บท และจัดตั้ง "กองทุนเพื่อการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย" เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการดำเนินการของสำนักเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองฯ

ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย, เว็บข่าวรัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เงิบ : เพจ 'bectero.tv' โพสต์ขอโทษ นพ.อภิวัฒน์ แจงหมอไม่ได้พูดอย่างที่โควทปมบัตรทอง

Posted: 08 Jun 2017 01:54 AM PDT

ทีมงานรายการดีเบต โพสต์ขอโทษ นพ.อภิวัฒน์ กรรมการแพทยสภา ยันหมอไม่ได้พูดปมแก้ 'ก.ม.บัตรทอง' อย่างที่โควทว่า "บางคนไม่ได้ป่วยอะไร ก็มานอนเล่นที่โรงพยาบาล" 

8 มิ.ย. 2560 จากกรณี ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภา และ อภิวัฒน์ กวางแก้ว แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมดีเบตในรายการ "เรื่องเด่นเย็นนี้" ช่วง "ดีเบต (Debate) โต้เหตุผล ค้นความจริง" ดำเนินรายการโดย สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) ออกอากศทางช่อง 3 วานนี้ (7 มิ.ย.60) ต่อมาเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'bectero.tv' ได้ทำภาพของ นพ.อภิวัฒน์ ประกอบคำพูดในข้อความว่า บางคนไม่ได้ป่วยอะไร ก็มานอนเล่นที่โรงพยาบาล เพราะมีที่พัก มีอาหารฟรี ต่อมาภาพดังกล่าวถูกแชร์ต่อและวิพากษ์วิจารณ์กับคำพูดนี้จำนวนมาก 

วิดีโอเต็ม

อย่างไรก็ตามหากดูจากวิดีโอคลิปในรายการจะพบว่า ผู้ดำเนินรายการถามถึงปัญหาที่ทำให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า มีบางรายไม่มีแรง ไม่มีแรงทุกวันเลย แล้วก็ได้นอนโรงพยาบาล อันนี้เป็นคำบอกเล่าของผม

ต่อมาพิธีกรกล่าวเสริมว่า คุณหมอจะบอกว่ามีคนที่ไม่ป่วย แต่ไปใช้สิทธิ
       
ขณะที่แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้กล่าวแย้งว่า คิดว่าเป็นเรื่องมโนเกินไปหน่อย โรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว การที่ไปโรงพยาบาลแสดงว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นไปไม่ได้ที่จะไปพักอาศัย 

ทีมรายการขอโทษ พร้อมแจ้ง หมอไม่ได้พูด

ล่าสุดวันนี้ (8 มิ.ย.60) เมื่อเวลา 8.52 น. ที่ผ้านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ  'bectero.tv' โพสต์ข้อความระบุเป็นของ ทีมงานรายการดีเบต ถึง ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ว่า เนื่องจากทีมงานรายการดีเบต ได้นำเสนอข้อความ โดยระบุว่าเป็นคำพูดของท่านในรายการ ทั้งที่ท่านไม่ได้พูดประโยคดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และ อาจสร้างความเสียหายกับท่านได้
 
"รายการฯขอแสดงความขอโทษ และเสียใจ รวมทั้งได้ลบภาพและข้อความที่คลาดเคลื่อนออกไปจากเพจของรายการแล้ว จึงเรียนมาเพื่อขออภัยท่าน และขอชี้แจงกับสาธารณะว่าท่านไม่ได้เป็นผู้พูดประโยคดังกล่าว" ทีมงานรายการดีเบต ระบุ

ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 6.10 น. นพ.อภิวัฒน์ โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Apiwat Mutirangura' ในลักษณะสาธารณะ ว่า ขอใช้โอกาสนี้อธิบายว่าทำไมปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข 

นพ.อภิวัฒน์ โพสต์ด้วยว่า ตนรู้ว่ากำลังถูกดีสเครดิตผมเข้าใจดี ถ้าฟังคลิป จะพบว่ามีปัญหาสำคัญ ๆ ที่กระทบพี่น้องประชาชนมาก แต่ตนไม่มีความสามารถในการดีเบต แบบการเมือง ตนทำได้แค่พูดตามที่รู้ ที่ฟังมา เพราะคนอื่นไม่กล้าพูด รู้ทั้งรู้ว่าจะโดนเล่นงาน แต่ไม่มีใครพูดถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขเลย 
 
ถามว่าปัญหาของชาติของประชาชนที่จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่กลายเป็นว่า ไม่มีใครพูดถึงเลย เห็นไหมครับ เป็นไปไม่ได้หรอก ที่การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้น  เวลาพูดว่าการล้างไตของ สปสช. ละเมิดสิทธิ ผมนึกว่า เขาคงจะรีบแก้ไข นี่แก้ด้วยคำพูด แล้วจบได้ ประหลาดมาก เวลาบอกมีงานวิจัยว่าอัตราการตายสูง ที่ไหนที่ไหนก็รีบแก้ นี่ก็แก้ได้ด้วยคำพูดอีกเช่นกัน  ผมพูดต่อไปผมเจ็บตัวไม่สำคัญหรอกครับ แต่ดูแล้วว่าคงไม่สามารถทำให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นปัญหาและมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ปัญหา จริงๆ ใช่ไหมครับ"  นพ.อภิวัฒน์ โพสต์
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นพ.อภิวัฒน์ ก็ถูกโจมตีหนักมากมาก่อน จากประโยคที่บอกว่า "ความฟรีทำลายสุขภาพคนไทย โดยการที่คนเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นจากที่เห็นว่าการรักษาพยาบาลเป็นของฟรี" จากบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ "คมชัดลึก" (www.komchadluek.net/news/edu-health/279956
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตัวเลขว่างงานกับอนาคตอาชีพคนไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

Posted: 08 Jun 2017 01:39 AM PDT



ถึงแม้ว่าในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของ คสข. ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้งและถ้าจะเปรียบเทียบกับสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจจะยังคงไม่ดีนักถ้าเทียบกับบางประเทศในอาเซียน เช่นในปี 2559 คาดว่า GDP ของประเทศไทยขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งไทยเรามองว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวพ้นจุดต่ำสุดแต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาขยายตัว 7%  ลาว 7.2% เวียดนาม 6.5% ฟิลิปปินส์ 6.0% อินโดนีเซีย 5.1% และ มาเลเซีย 4.4% เป็นต้น  การที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ย่อมจะมีผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานในตลาดแรงงานซึ่งไทยมีกำลังแรงงานในเดือนมกราคม 2560 ประมาณ 37.8 ล้านคน มีขนาดตลาดแรงงานเป็นลำดับที่ 4 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ตลาดแรงงานของไทยเริ่มมีกำลังแรงงานลดลง โดยปี 2559 มีกำลังแรงงาน 38.7 ล้านคน ปีปัจจุบันเหลือ 37.8 ล้านคน หายไปจากตลาดประมาณ 1 ล้านคน แต่ประเทศในอาเซียนที่กล่าวถึงข้างต้น กลับมีจำนวนกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น การที่กำลังแรงงานลดลงแต่ความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานแบบเข้มข้น ทำให้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3 แสนคน แต่จำนวนดังกล่าวไม่สามารถตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงานได้ครบถ้วนทำให้ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มากกว่า 1.8 แสนคนต่อปี

การขาดแคลนกำลังแรงงานเรื้อรังมานานเป็นผลจากการที่ภาคการผลิตที่แท้จริง (real sectors) ยังคงปรับเปลี่ยนโครงสร้างช้ามากเนื่องจากสามารถใช้นโยบายพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เกือบ 3 ล้านคน กระจายอยู่แทบทุกสาขาการผลิตและบริการของสถานประกอบการของเอกชน โดยแรงงานคนไทยเข้าไปแทนที่ (replacement) น้อยมากเนื่องจากกำลังแรงงานของไทยไม่ชอบงานหนัก งานยากลำบาก และงานสกปรก แต่กลับเลือกตกงานมากกว่าจะไปทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าวหรือเลือกเดินต่อไปในสายปริญญา โดยเชื่อว่าจะมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนที่ดี จะมีอนาคตที่ดีกว่า

จากการประเมินของ TDRI พบว่า ตลาดแรงงานในช่วง 10 ปีข้างหน้า แรงงานระดับกลางในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างปี 2558 ถึงปี 2568 เติบโตค่อนข้างช้ามากจาก 7 แสนคนเป็น 1 ล้านคนหรือเติบโตเพียงปีละ 3 หมื่นคน ขณะที่แนวโน้มแรงงานไทยในระดับ ปวส. และอนุปริญญา เติบโตจาก 1 ล้านคนเป็น 1.1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์และสถิติ) ซึ่งเป็นแรงงานพื้นฐานของเศรษฐกิจตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับภาพที่ปรากฏในตลาดแรงงานสายที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีความแตกต่างกับสาย S&T ที่กล่าวมาคือ ความต้องการบุคลากรในสายธุรกิจและบริการและสาขาอื่นๆ ในระดับ ปวช. เพิ่มสูงมากจากประมาณ 0.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคนในช่วงเวลา 1 ทศวรรษประมาณปีละ 1.2 แสนคน แต่ความต้องการของตลาดแรงงานในระดับ ปวส. และอนุปริญญาในสาขาที่ไม่ใช่ S&T กลับมีแนวโน้มลดลงจากประมาณ 0.8 ล้านคนเหลือ 0.6 ล้านคน ผลจากการที่อุปสงค์เพิ่มน้อยกว่าอุปทานก็คือจะทำให้ ปวส. และอนุปริญญาสายที่ไม่ใช่ S&T ว่างงานจำนวนมากก็เป็นไปได้

คำถามคือ กำลังคนส่วนที่หายไปในตลาดแรงงานไปไหน คำตอบคือ ไม่ได้หายไปไหนแต่ได้ผันตัวเองไปเรียนในระดับปริญญาตรี (ตามนโยบายเพิ่มจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย) โดยไม่ได้เรียนผ่าน ปวส. ซึ่งทำให้แนวโน้มของแรงงานเพิ่มจาก 3.01 ล้านคน เป็นเกือบ 6 ล้านคนในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกันกับผู้เรียน ปวช. สาย S&T บางส่วนผันตัวเองไปเรียนระดับปริญญาตรี ทำให้จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 1.15 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.4 ล้านคนในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

ถ้าดูจากผลการพยากรณ์ดังกล่าวนี้ จะพบว่าขณะที่ภาคเศรษฐกิจมีการเติบโตไปในทิศทางที่ต้องใช้กำลังคนด้าน STEM มากขึ้น นักศึกษาที่จบสาย S&T จึงมีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานมากกว่าผู้เรียนสาย Non-S&T ความหวังจึงอยู่ที่การขยายตัวของภาคบริการของประเทศทั้งในส่วนของบริการขายส่ง ขายปลีกและซ่อมบำรุง และงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ (ถ้าไม่เลือกงาน) น่าจะเป็นโอกาสให้คนไทยได้เข้ามาสมัครงานมากขึ้น

ความหนักใจของผู้กำหนดนโยบายการผลิตกำลังคนของประเทศคือ อุปสงค์ในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งมีพลวัตสูง มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วส่งผลให้อุปสงค์ของตลาดแรงงานผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามไปด้วย ขณะที่การผลิตกำลังคนไม่ง่ายเหมือนการผลิตสินค้าเนื่องจากต้องใช้เวลาในการปรับตัวหลายปี ทุกครั้งที่โครงสร้างตลาดแรงงานด้านอุปสงค์เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ ผลสำรวจ ภาวะการมีงานทำของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนมกราคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง (หลังเก็บเกี่ยว) จำนวนกำลังแรงงานหดตัวเกือบ 2 แสนคนมาอยู่ที่ 37.94 ล้านคน ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มค่อนข้างสูงถึง 1.2% เทียบกับ 0.9% ของเดือนเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้มีจำนวนผู้ว่างงานเกิน 4.4 แสนคน สูงขึ้น 1 แสนคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น คำตอบมีหลายสาเหตุคือ (1) การว่างงานของเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (Y-o-Y) ถึง 0.9 แสนคน (2) ถ้าพิจารณาตามระดับการศึกษาแล้วจะพบว่า ผู้จบอุดมศึกษาว่างงานมากที่สุดถึง 1.6 แสนคนหรือประมาณ 0.6 แสนคนเทียบ Y-o-Y ขณะที่ผู้จบประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมัธยมปลายเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2-0.4% จากปีก่อน และ (3) ผู้ที่ว่างงานมากถึง 2.59 แสนคน เคยทำงานมาก่อนเทียบกับ 1.9 แสนคน ผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ที่ว่างงานเกิน 1 แสนคนมาจากภาคการผลิตและภาคบริการ

กล่าวโดยสรุปคือ ที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการไม่สามารถดูดซับแรงงานทั้งแรงงานเก่าและใหม่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากภาคการผลิตและส่งออกของทั้ง 2 สาขานำของประเทศเผชิญกับปัญหาการขยายตัวต่ำต่อเนื่องมาหลายปีอีกทั้งการลงทุนจากต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปถึงสาขาการผลิตย่อย จะเห็นว่ามีการจ้างงานทั้งลดลงและเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบ Y-o-Y

จ้างลดลง จ้างเพิ่มขึ้น
- อุตสาหกรรมการผลิต - ค้าส่ง ค้าปลีก และซ่อมบำรุง
- การก่อสร้าง - โรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร- 
- การเกษตร - กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
  - การศึกษา

สิ่งที่ควรจะห่วงตอนนี้คือ ภาค real sector ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง และการเกษตร ควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันได้ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นรูปธรรม

คำถามที่ท้าทายคือ การที่เรามีปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับกลางสาย S&T และมีแรงงานส่วนเกินในระดับปริญญาตรีจำนวนมาก ถ้าประเทศต้องปรับทิศทางใหม่ไปในทิศทางของ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมนำการพัฒนา ซึ่งตามแนวทางของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ให้ทิศทางการพัฒนาเอาไว้หลายเรื่องเกี่ยวกับตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ เช่น เน้นไปที่สิ่งที่ไทยมีทรัพยากรเป็นของตนเองคือ เกี่ยวกับอาหาร การเกษตรสมัยใหม่ (อาทิ เกษตรแม่นยำ) และไบโอเทคโนโลยี  ถ้าด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตควรมุ่งสู่นวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ Wellness และเวชภัณฑ์ต่างๆ หรือถ้าออกไปทางอุตสาหกรรม 4.0 คงหนีไม่พ้นนวัตกรรมอัจฉริยะ โรบอท และด้าน mechatronics หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น smart enterprises หรือ startups อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการสนับสนุน high value tourism ต้องปรับการบริการให้เป็นบริการคุณภาพสูงที่สอดแทรกความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบ และเหนืออื่นใดนวัตกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยุคดิจิทัล internet of things (IoT) และพวกเทคโนโลยีฝังตัวทั้งหลายซึ่งความรู้ชั้นสูงเช่นนี้กำลังคนที่มีอยู่ (stock) มีจำนวนไม่มากที่มีความพร้อม

ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาคนของประเทศไปในทิศทางที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาดังกล่าวให้เร็วที่สุดคือ ต้องเตรียมคนให้เป็นกำลังแรงงานที่ฉลาดและความสามารถพิเศษ(Talent) และแข่งขันได้ ต้องพัฒนากำลังแรงงานที่มีผลิตภาพสูง โดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยต้องวางแผนผลิตกำลังคนในระดับชาติไว้อย่างชัดเจน โดยมีจุดเน้นว่าจะทำอย่างไรกับกำลังแรงงานในปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีความสามารถพิเศษเก่งบ้างไม่เก่งบ้าง เราจะบริหารจัดการกระแส (flow) คนเก่งบ้างไม่เก่งบ้าง ผลิตไม่ตรงสาขาที่ต้องการบ้าง ที่ออกสู่ตลาดแรงงานหลายแสนคนทุกปีด้วยระบบการผลิตกำลังคนแบบเดิมๆความฝันที่จะใช้กำลังแรงงานแบบเดิมๆไทยแลนด์ 4.0 คงไม่ไปถึงไหน เราควรจะต้องสร้างตลาดแรงงานคนที่ฉลาดและมีความสามารถพิเศษขึ้นมาต่างหากดีหรือไม่

คำตอบเห็นทีจะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่านในเวลาอันสั้น สำหรับกำลังแรงงานกลุ่มแรกที่มีอยู่ (stock) เป็นแรงงานจบ ม. ต้นหรือต่ำกว่าประมาณร้อยละ 68 ของกำลังแรงงานทั้งหมด จะมีส่วนที่มีงานทำเป็นส่วนใหญ่ จะว่างงานรวมกันในตอนนี้ประมาณ 2 แสนคน คงจะปรับให้เป็นคนฉลาดและมีสมรรถนะสูงเพื่อนำมาใช้ใน Thailand 4.0 ได้ยากคงต้องสนับสนุนให้พวกเขาทำในสิ่งที่ถนัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น คนว่างงานระดับสายวิชาชีพ และมัธยมปลายประมาณ 1 แสนคน อาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราคัดเลือกกลุ่มที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์หรือ S&T ก็น่าจะสามารถนำมาฝึกอบรมยกระดับได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งผู้ตกงานระดับอุดมศึกษาอีก 1.6 แสนคน ทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถทำการคัดเลือกมาฝึกโปรแกรมเพิ่มขีดความสามารถได้ (capacity buildings) โดยสถาบันฝึกอบรมชั้นสูง เพื่อนำเข้าสู่ตลาดแรงงานความสามารถสูงเพื่อตอบสนอง ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไปได้

ส่วนแรงงานที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบันที่จะจบการศึกษา (flow) ควรจะมีวิธีเข้าไปปรับ talents ให้ตรงกับความต้องการของ talent market ด้วยการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นประมาณ 1 ปีหรือจนกว่าจะทดสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานสมรรถนะที่กำหนด โดยวิธีการรับสมัครจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล ในลักษณะที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน (MOU) โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณต่อหัวอย่างเต็มที่ มีการฝึกฝนการปฏิบัติงานจริงร่วมกับทางสถานประกอบการที่มีความพร้อม ซึ่งคาดว่าจะผลิต talent workforces ได้ปีละหลายหมื่นคน เพื่อนำไปใช้ในไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งแน่นอนคงเน้นไปที่เด็กนักเรียนหรือนักศึกษาระดับมัธยมปลายจนถึงปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับไทยแลนด์ 4.0

หัวใจที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นแรงจูงใจผู้ปกครองและเด็กนักศึกษาก็คือ ต้องการันตีการมีงานทำ ต้องการันตีค่าตอบแทนที่สูงกว่าตลาดแรงงานตามปกติอย่างน้อย 1 เท่า บวกกับสวัสดิการอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างอนาคตให้กับเยาวชนกลุ่มพิเศษนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติสูงที่ทั้งเก่งฉลาดและเป็นคนดีเช่นนี้จะแยกตัวออกมาบรรจุไว้ในฐานข้อมูลของ talent market เป็นการเฉพาะโดยมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ในแต่ละช่วงเวลา

สำหรับระยะยาว (5-10 ปี) การเตรียมคนเพื่อให้ได้เพียงพอตามเป้าหมายนี้ กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่สำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สวทช. สวทน. จะต้องสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็กดี เด็กเก่งมีความสามารถ ด้วยการสอบคัดเลือก และจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรที่ดี ครูที่เก่งทั้งจากไทยและต่างประเทศ เสริมด้วยการส่งไปเรียนและฝึกงานยังต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าประเทศไทยจะมี talent workforces เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ ไทยแลนด์ 4.0 เดินหน้าต่อไปได้จนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม stock ของแรงงานที่มีจำนวนมากยังคงต้องตอบสนองตลาดแรงงานระดับล่างและระดับกลางต่อไป เนื่องจากยังมีเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ 2.0 หรือ 3.0 โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ Thailand 4.0 ได้แต่จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อความอยู่รอด

การยกระดับขีดความสามารถกำลังแรงงานส่วนใหญ่ให้เป็น productive workforce ยังจำเป็นอยู่มาก บางคนโชคดีมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดอาจจะปรับตัวให้เข้าสู่เส้นทางของ competitive workforce และในที่สุดเข้าสู่ innovative workforce ได้ก็สามารถช่วยกันทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวข้ามประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้ภายใน 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะเป็นได้ ขอให้ทุกฝ่ายอย่าทอดทิ้งกำลังแรงงานที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งแรงงานด้อยโอกาส แรงงานสูงอายุและแรงงานพิการ เปิดโอกาสให้เขาได้มีส่วนร่วมในการนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ เผย 57.0 % ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าการเซ็ตซีโร่กกต. แล้วเลือกตั้งจะโปร่งใส ไร้ซื้อเสียง

Posted: 08 Jun 2017 01:03 AM PDT

กรุงเทพโพลล์ เผยคนไทย 45.0 % ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการเลือกตั้งของ กกต. แต่หากมีการเซ็ตซีโร่ กกต. ประชาชน 47.3% ไม่เห็นด้วย  โดย ส่วนใหญ่ 57.0 % ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าการเซ็ตซีโร่กกต. แล้วการเลือกตั้งจะโปร่งใส ไร้การซื้อเสียง และ 55.7% ไม่กังวลหากเซ็ตซีโร่ กกต. แล้ว การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไป

 

8 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "เซ็ตซีโร่ กกต. การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร?" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,205 คน พบว่า

เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อการเตรียมการขับเคลื่อนการจัดการเลือกตั้งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตามโรดแมปกำหนดจัดการเลือกตั้งในต้นปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.0 ไม่เห็นการเตรียมการใดๆเลย ขณะที่ร้อยละ 30.6 เห็นการเตรียมการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเชื่องช้าไม่เร่งรีบ ส่วนร้อยละ 18.8 เห็นการเตรียมการเลือกตั้งที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ที่เหลือร้อยละ 5.6 ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการเซ็ตซีโร่ กกต. หรือให้ กกต. ชุดปัจจุบันทั้งหมดพ้นวาระ ตามเจตนารมณ์ของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.3 ระบุว่า "ไม่เห็นด้วย"เพราะน่าจะผสมระหว่าง กกต. ชุดเก่า ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน กับ กกต. ชุดใหม่ เพื่อจะได้สานงานต่อได้เลย ขณะที่ร้อยละ 44.6 ระบุว่า "เห็นด้วย" เพราะจะได้เป็น กกต. ชุดเดียวกันมีที่มาเหมือนกันทั้งหมด ไม่ทำงานแบบปลาสองน้ำ ส่วนที่เหลือร้อยละ 8.1 ไม่แน่ใจ

ด้านความเชื่อมั่นต่อการเซ็ตซีโร่ กกต. แล้ว จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส  ไร้การซื้อเสียง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.0 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 35.3 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ส่วนที่เหลือร้อยละ 7.7 ไม่แน่ใจ

สุดท้ายเมื่อถามว่ากังวลมากน้อยเพียงใดว่าการเซ็ตซีโร่ กกต.  แล้วจะทำให้การเลือกตั้งตามโรดแมปถูกเลื่อนออกไป ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.7 กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 38.6 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ที่เหลือร้อยละ 5.7 ไม่แน่ใจ

 

โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถาม ดังต่อไปนี้

1. ความเห็นต่อการเตรียมการขับเคลื่อนการจัดการเลือกตั้งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตามโรดแมปกำหนดจัดการเลือกตั้งในต้นปี 2561

ไม่เห็นการเตรียมการใดๆเลย       

ร้อยละ

45.0

เห็นการเตรียมการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเชื่องช้าไม่เร่งรีบ

ร้อยละ

30.6

เห็นการเตรียมการเลือกตั้งที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

ร้อยละ

18.8

ไม่แน่ใจ

ร้อยละ

5.6


2. ข้อคำถาม "เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการเซ็ตซีโร่ กกต. หรือให้ กกต. ชุดปัจจุบันทั้งหมดพ้นวาระ ตามเจตนารมณ์ของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.)"

ไม่เห็นด้วย  เพราะน่าจะผสมระหว่าง กกต. ชุดเก่า ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน กับ    

                    กกต. ชุดใหม่ เพื่อจะได้สานงานต่อได้เลย

ร้อยละ

47.3

เห็นด้วย  เพราะจะได้เป็น กกต. ชุดเดียวกันมีที่มาเหมือนกันทั้งหมด

             ไม่ทำงานแบบ ปลาสองน้ำ

ร้อยละ

44.6

ไม่แน่ใจ

ร้อยละ

8.1


3. ความเชื่อมั่นต่อการเซ็ตซีโร่ กกต. แล้วจะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส  ไร้การซื้อเสียง

ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 26.5 และน้อยที่สุดร้อยละ 30.5)

ร้อยละ

57.0

ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างมากร้อยละ 28.4 และมากที่สุดร้อยละ 6.9)

ร้อยละ

35.3

ไม่แน่ใจ

ร้อยละ

7.7


4. ความกังวลต่อการเซ็ตซีโร่ กกต.  แล้วจะทำให้การเลือกตั้งตามโรดแมปถูกเลื่อนออกไป  

ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 26.4 และน้อยที่สุดร้อยละ 29.3)

ร้อยละ

55.7

ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างมากร้อยละ 28.6 และมากที่สุดร้อยละ 10.0)

ร้อยละ

38.6

ไม่แน่ใจ

ร้อยละ

5.7

 

รายละเอียดการสำรวจ

วัตถุประสงค์การสำรวจ

1)      เพื่อสะท้อนความเห็นต่อการขับเคลื่อนการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตามโรดแมปกำหนดจัดการเลือกตั้งในต้นปี 2561

2)      เพื่อสะท้อนความเห็นต่อการเซ็ตซีโร่ กกต. ตามเจตนารมของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.)

3)      เพื่อสะท้อนความเชื่อมั่นต่อการเซ็ตซีโร่ กกต. แล้ว การเลือกตั้งจะโปร่งใส  ไร้การซื้อเสียง

4)      เพื่อสะท้อนกังวลต่อการเซ็ตซีโร่ กกต.  แล้วจะทำให้การเลือกตั้งตามโรดแมปถูกเลื่อนออกไป

ประชากรที่สนใจศึกษา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล     :  6 –7 มิถุนายน 2560

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ           :  8 มิถุนายน 2560

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น