โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผู้ร่วมโหวตกับประชาไทส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นด้วย ใช้ ม.44 ดันรถไฟ - แก้ ก.ม.บัตรทอง

Posted: 19 Jun 2017 10:17 AM PDT

เฟซบุ๊กแฟนเพจประชาไทตั้งโหวตต่อการใช้ ม.44 ผลักดันการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากจีน พบคนร่วมโหวต  8.4 พัน  ไม่เห็นด้วย ขณะทีเห็นด้วยเพียง 211 - ส่วน 1.3 พัน โหวตไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแก้ กม.บัตรทอง โดยมีเพียง 28 ที่โหวตเห้นด้วย

19 มิ.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม กับการออกคำสั่งดังกล่าวภายใต้อำนาจตาม มาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  โดยเฉพาะการยกเว้นการใช้กฎหมายหลายมาตราที่เกี่ยวข้องนั้น

ล่าสุด วันนี้ (19 มิ.ย.60) เฟซบุ๊กแฟนเพจประชาไทได้ตั้งกระทู้ขึ้นมาเพื่อให้แฟนเพจและผู้ที่สนใจเข้ามาโหวตแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการใช้ ม.44 ผลักดันการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากจีน?" ผลปรากฎว่าขณะนี้ เมื่อเวลา 23.40 น. ของวันที่ 19 มิ.ย.60 มีผู้ร่วมโหวต 9.3 พัน โดย 8.4 พัน โหวตไม่เห็นด้วย ขณะที่ 211 โหวตเห็นด้วย ที่เหลือเป็นกดในแบบอื่นๆ ที่ประชาไทไม่ได้ใส่ว่าหมายถึงอะไรไว้ เช่นกดถูกใจ กดว้าว กดเสียใจ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นในกระทู้ดังกล่าวจำนวนมากกว่า 2.3 พัน ความคิดเห็น ส่วนมากเป็นการแสดงความเห็นประกอบตัวเลือกที่แต่ละคนโหวต ตัวอย่างดังนี้ 

Jongrak Lausansook กล่าวว่า จะทำไปถาม สุพจน์ ไข่มุกด์ หรือยังว่าทำได้เปล่า เพราะประเทศยังมีถนนลูกรังอยู่เลย เราช้ามามากแล้ว จะรอให้ฝ่ายประชาธิปไตยมาทำก็ยังได้อยู่ ระหว่างนี้ก็ให้เผด็จการใช้ ม.44 ทำให้ลูกรังหมดไปก่อน

สมชัย นิธิกาญจนธาร  กล่าวว่า น่าจะใช้ ม.44 ปิดประเทศ ซะจบเรื่อง แล้วกลับสู่การปกครองแบบ พ่อปกครองลูก ใช้เกวียนในการเดินทางแทน ไม่ต้องเน้นการค้า จะได้ไม่เน้นการเดินทาง ไม่ต้องใช้เงินมาพัฒนาประเทศมาก พวกคุณคนดี จะได้มีเงินเยอะๆ

Wiroj Lakkhanaadisorn กล่าวว่า บางคนบอกว่า ทำไมถึงคิดในเชิงลบ ที่ยังไม่มีข้อเท็จจริง จะว่าไปมันก็ถูก จึงขอเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยรายละเอียดของสัญญารถไฟความเร็วปานกลาง ไทย-จีน ครับ

Return If Possible กล่าวว่า โดยส่วนตัวผมไม่สนหรอกครับใครจะเป็นคนออกนโยบายหรือใครจะเป็นคนอนุมัติ ผมติดใจและไม่เห็นด้วยกับการที่จะต้องใช้เงินมากกว่าที่รัฐบาลของนายกยิ่งลักษณ์ตั้งงบไว้
 
สรรชัย แสนขุรัง กล่าวว่า ถ้าจีนได้มาทำจริงเราต้องเสียพื้นที่รอบๆ รางรถไฟฟ้าให้เป็นของจีน 90 ปีเหมือนการเช่า 
 
คิดถึงไกล เพราะคนใกล้ ไม่มี กล่าวว่า เขาทำไรดีๆ ให้ก็มัวแต่คัดค้านงี้ไง เลยตามหลังเขา ชอบแบบไม่เจริญ ก็กลับไปขี่ล้อล้อควาย เหอะ พวกโลกแคบ มองไม่เห็นสิ่งดีๆ มองหาแต่ข้อเสีย ว่างมากก็ไปช่วยเขาเก็บขยะ ตามถนน ที่ทิ้งกันเองโน่น
 
โคราชา ราชสีห์มา กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะพัฒนาระบบขนส่ง แต่การใช้เอกสิทธิ์พลักดันให้ผ่านโดยไม่คำนึงถึงผลใดๆ แบบนี้ไม่เห็นด้วย แล้วไอ้โครงการที่มีคนค้านบอกทางลูกรังยังไม่หมดมันแตกต่างจากโครงการนี้อย่างไร
 
เป็นต้น
 

ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแก้ ก.ม.บัตรทอง

 
จากกรณีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยภาคประชาชนมองว่ากระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวเพียง 2 คน รวมถึงมีข้อกังวลจากภาคประชาชนว่าการแก้ไขจะเป็นการทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง จนเกิดการคัดค้านและวอล์กเอาต์จากเวทีประชาพิจารณ์นั้น
 
วันนี้เฟซบุ๊กแฟนเพจประชาไทก็ได้ตั้งกระทู้เพื่อชวนแฟนเพจและผู้สนใจเข้ามาโหวตภายใต้คำถามที่ว่า "ท่านเห็นด้วยกับกระบวนการแก้กฎหมายบัตรทองขณะนี้หรือไม่?" ผลปรากฎว่าขณะนี้ เมื่อเวลา 23.40 น. ของวันที่ 19 มิ.ย.60 มีผู้ร่วมโหวต 1.5 พัน ในจำนวนนี้ โหวตไม่เห็นด้วย 1.3 พัน ขณะที่โหวตเห็นด้วยมี 28 เท่านั้น  ที่เหลือเป็นการโหวตตัวเลือกอื่นที่ไม่ได้กำหนดความหมายไว้  โดยในกระทู้นี้มีผู้แสดงความเห็น 355 ความคิดเห็น ส่วนมากเป็นความเห็นสนับสนุนตัวเลือกที่แต่ละคนโหวต 
 
ทั้งนี้ประชาไทนับผลจากจำนวนคนกดในโพสต์ เนื่องจากวิดีโอไลฟ์กระทู้โหวตรถไฟฯ นั้นการแสดงผลค้าง ส่วนกระทู้บัตรทองมีข้อผิดพลาดในการวิดีโอไลฟ์ส่งผลให้ไลฟ์ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทั้ง 2 กระทู้จึงนับจากจำนวนกดแสดงความเห็นจริงผ่านโพสต์ดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านไทย-ข้ามชาติ เปิดแอปเข้าถึงข้อมูลด้านแรงงาน

Posted: 19 Jun 2017 09:17 AM PDT

เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย รณรงค์เนื่องในวันเฉลิมฉลองวันลูกจ้างทำงานบ้านสากล  พร้อมประสัมพันธ์ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลด้านแรงงานผ่าน Application ที่ชื่อว่า Smart Domestic Workers

 
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านคนไทย (Network of Thai Domestic Workers in Thailand -NTDW) ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 350 คน และ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านข้ามชาติ (Network of Migrant Domestic Workers in Thailand -NMDW) มีสมาชิกก่อตั้งประมาณ 30 คน ปัจจุบันสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 140 คน ได้จัดให้มีกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันครอบรอบ "วันเฉลิมฉลองวันลูกจ้างทำงานบ้านสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิ.ย.ของทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นวันหยุดของกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านในเมืองไทย
 
รายงานข่าวระบุว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นวานนี้ (18 มิ.ย.60) คือการให้กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านได้มีโอกาสเข้าไปพบปะพูดคุยและให้ข้อมูลเรื่องกฎกระทรวงแรงงานและช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานกับคนทั่วไป 4 จุดพร้อมๆกันคือ สยามเซ็นเตอร์ แยกอโศกมนตรี สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสจตุจักร และสวนรถไฟ กรุงเทพ
 
พรรณี โทวกุลพานิชย์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet Thailand) กล่าวว่า การรณรงค์ครั้งนี้มีขึ้นเพื่อให้กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านได้ออกมาประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลทั้งกับลูกจ้างทำงานบ้านด้วยกันเอง นายจ้าง และสาธารณะทั่วไป ทราบและเห็นความสำคัญเกี่ยวกับกฎกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นที่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงฉบับปัจจุบันเกี่ยวกับวันหยุด-วันลา ของลูกจ้างทำงานบ้าน นอกจากนี้แล้ว การออกมารณรงค์ครั้งนี้ ยังเป็นการออกมาประสัมพันธ์ถึงช่องทางการเข้าถึงข้อมูลด้านแรงงานผ่าน Application ที่ชื่อว่า Smart Domestic Workers ซึ่งเป็น Application ที่ให้ข้อมูลด้านแรงงานซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นคนไทยและคนเมียนมาร์ 
 
เพชรียา คำยอด สมาชิกเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายช่วงจบงานรณรงค์วานนี้ว่า การรณรงค์ครั้งนี้ ทำให้สรุปได้ว่า จำนวนลูกจ้างทำงานบ้านและคนทั่วไปที่สามารถเข้าถึงและทราบข้อมูลของกฎกระทรวงแรงงานมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ารัฐเองอาจจะต้องทำงานด้านการประสัมพันธ์ให้คนในประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและมากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี 'ส่องโกงราชภักดิ์' ศาลทหารสั่งตัดพยานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ อ้างไม่เกี่ยวกับคดี

Posted: 19 Jun 2017 08:48 AM PDT

นัดตรวจพยานหลักฐานคดี 'ส่องโกงราชภักดิ์' ศาลทหารสั่งตัด 4 พยาน ที่เกี่ยวพิสูจน์มีทุจริตในการก่อสร้างหรือไม่ และตัดพยานเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง-ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ 2 ชุดที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบ  โดยศาลอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ดังนั้นตรวจพยานหลักฐานเลื่อนไป 21 ก.ย. นี้

ที่มา : เฟซบุ๊ก Chanoknan Ruamsap

19 มิ.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (19มิ.ย. 60) ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ 175/2559 ของ กรกช แสงเย็นพันธ์ และคดีหมายเลขดำที่256/2559 ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งรวมคดีทั้งสองกับคดีหมายเลขดำที่ 97/2559 สิรวิชญ์ เสริวัฒน์ และพวกรวม 6 คน โดยให้เรียก กรกช แสงเย็นพันธ์ เป็นจำเลยที่ 7 และชนกนันท์ รวมทรัพทร์ เป็นจำเลยที่ 8 ในกรณีที่จำเลยทั้งหมดถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนชุมนุม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมกันทำกิจกรรม "นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" เมื่อ 7 ธ.ค.2558

ก่อนเริ่มการตรวจพยานหลักฐานอัยการทหารซึ่งเป็นโจทก์แถลงศาลว่าทั้งสามคดีเป็นคดีที่มีบัญชีพยานชุดเดียวกันจึงให้จำเลยตรวจพยานหลักฐานเพียงชุดเดียว ทนายจำเลยที่ 1-5,7-8 แถลงว่าพยานหลักฐานที่จะส่งตรวจเป็นพยานหลักฐานที่มีการระบุพยานเหมือนกันจึงส่งตรวจเพียงชุดเดียว

ทั้งนี้ศาลได้แจ้งแก่จำเลยว่ามีคำสั่งตัดพยานบุคคลในลำดับที่ 9-12 ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และพยานซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้ง 2 ชุด และศาลยังตัดพยานเอกสารในลำดับที่ 15-19 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารสรุปการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพบก สำเนาเอกสารจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ และสำเนาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 2 ชุด เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานบุคคลและเอกสารในลำดับดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี ประเด็นในคดีนี้อยู่ที่ว่าจำเลยชุมนุมมั่วสุม ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่3/2558 ไม่ได้มีประเด็นเรื่องทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

อานนท์ นำภา ทนายความของจำเลยที่ 1 แถลงว่า พยานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีโดยตรง การที่ศาลทำการตัดพยานโดยไม่ได้สอบถามทนายจำเลยก่อนว่าพยานแต่ละอันดับนั้นจำเลยจะนำสืบในประเด็นใดนั้น และทำการตัดพยานไปก่อนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลแจ้งว่าหากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลให้จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้

ทนายจำเลยทั้งหมดจึงแถลงค้านคำสั่ง พร้อมให้เหตุผลว่าพยานที่จำเลยระบุนั้นเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญในการต่อสู้คดี เพราะจำเลยและทนายความตั้งประเด็นต่อสู่คดีตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนว่าสาเหตุที่เดินทางไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์นั้นมาจากข่าวทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ศาลควรให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ถ้าศาลจะไม่ออกหมายเรียกพยานพยานบุคลดังกล่าวนั้น ให้โจทก์รับข้อเท็จจริงว่ามีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และ พล.เอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เคยแถลงต่อนักข่าวว่าโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีการทุจริต ด้านโจทก์แถลงไม่รับข้อเท็จจริงดังกล่าว ทนายความจำเลยยืนยันให้หมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารตามบัญชีระบุพยานที่จำเลยยื่นต่อศาล

ด้านจำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่าการที่ศาลตัดพยานของจำเลยโดยที่ไม่ถามจำเลยนั้นเป็นการตัดสิทธิการต่อสู้คดีของจำเลย และขอให้ศาลชี้แจงเรื่องที่ตัดพยานของจำเลย ศาลได้ชี้แจงว่าพยานดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีหรือเกี่ยวกับฟ้องของโจทก์

ส่วน อานนท์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ แถลงขอทราบเหตุผลที่ตุลาการพระธรรมนูญ ไม่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี หรือลงลายมือชื่อในคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยอื่น ไม่ทราบว่าใครคือตุลาการพระธรรมนูญที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและเป็นตุลาการพระธรรมนูญจริงหรือไม่ ทางด้านศาลแจ้งว่าถ้าอยากทราบว่ามีตุลาการท่านใดเป็นผู้พิจารณาคดีให้ไปดูที่ตารางนัดหน้าบัลลังค์ และการที่ศาลทหารไม่ได้ระบุชื่อตุลาการนั้นเป็นระเบียบที่ปฏิบัติกันมาอยู่แล้ว นายอานนท์จึงแถลงค้านและไม่ลงชื่อในบันทึกกระบวนพิจารณาคดีของวันนี้

ศาลจึงมีคำสั่งขอรวมการพิจารณาคดีทั้ง 3 คดีก่อน ส่วนการตรวจพยานหลักฐานนั้น ให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในนัดหน้า วันที่ 21 ก.ย. 2560 เพื่อให้โอกาสจำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

คดีนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 11 คน แต่มี 1 คนที่ถูกแยกฟ้องคือ ธเนตร อนันตวงษ์ ซึ่งได้รับสารภาพและศาลพิจารณาพิพากษาไปเมื่อ 25 ม.ค.2560 ให้จำคุกจำเลย 6 เดือน โดยมีการเพิ่มโทษตาม ม.92 (กระทำผิดซ้ำภายในห้าปี) อีก 2 เดือน เป็น 8 เดือน จากการที่จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาในคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำให้เสียทรัพย์ แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดเหลือ 4 เดือน

ทั้งนี้ ในคดีนี้จำเลยนอกจาก กรกช  ชนกนันท์ และสิรวิชญ์ แล้ว ยังมี อานนท์ นำภา กิตติธัช สุมาลย์นพ วิศรุต อนุกูลการย์ กรกนก คำตา และวิจิตร์ หันหาบุญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แสนยานุภาพจีนศตวรรษ 21 และบทบาทในระดับนานาชาติ: จุลชีพ ชินวรรโณ

Posted: 19 Jun 2017 07:55 AM PDT

ใช้ทูตทหารประจำสถานทูตนับร้อยแห่ง ใช้ทหารซ้อมรบร่วมเป็นเครื่องมือการทูต กำลังปฏิรูปเพิ่มอำนาจบังคับบัญชาสู่ศูนย์กลาง คาด ช่วงปรับผังโครงสร้างคงยังไม่ใช้กำลังบนพื้นที่พิพาท เพียงโชว์แสนยานุภาพให้ยำเกรง

ศ.จุลชีพ ชินวรรโณ

19 มิ.ย. 2560 ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาวิชาการ Direk's Talk ในหัวข้อ "ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ" มีการจัดเสวนาวิชาการหลายเวที หลายประเด็น หนึ่งในนั้นมี ศ.จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ มาพูดในประเด็น "แสนยานุภาพทางทหารและบทบาทของกองทัพจีนกับกิจการระหว่างประเทศ"

บทบาทกองทัพในการต่างประเทศมีสูง คาดช่วงปฏิรูปใช้ทหารแค่ข่มขู่

บทบาทของกองทัพจีนในกิจการระหว่างประเทศมีค่อนข้างมาก ดังที่เห็นว่าจีนส่งทูตทหารประจำตามสถานทูตต่างๆ ด้วย จากเดิมมีเพียงไม่กี่ประเทศ ตอนนี้จีนส่งทูตทหารไปประจำอยู่ตามสถานทูตร้อยกว่าแห่งทั่วโลก โดยทูตทหารส่วนใหญ่เป็นสายงานข่าวกรอง

ภารกิจอีกอันหนึ่งคือภารกิจการเยือนระดับสูง มีการส่ง รมว. กระทรวงกลาโหม หรือคณะทหาร ประธานเสนาธิการทหาร มีการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน มีการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่กัน กับไทยก็มีการซ้อมรบทางบกตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ต่อมาก็มีการซ้อมรบทางเรือและทางอากาศ นอกจากนั้นยังมีการซ้อมรบกับอาเซียนและขายอาวุธให้กับมิตรประเทศเช่นกัน จีนยังส่งกองกำลังหลายพันคนไปร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และผนึกกำลังกับนานาชาติในการต่อต้านโจรสลัดในโซมาเลียด้วย

จุลชีพตั้งข้อสงสัยว่า แล้วจีนจะใช้กำลังทหารในพื้นที่พิพาทของจีนกับชาติอื่น ได้แก่ ช่องแคบไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนตอนใต้หรือไม่ โดยสรุปว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2015 จีนมีการปรับโครงสร้างกองทัพใหม่หลังปรับอาวุธยุทโธปกรณ์ บุคลากรและหลักนิยมใหม่ไปแล้ว โดยปรับใหม่ทั้งหมด ด้วยการให้คณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางมีอำนาจสูงสุด แล้วสร้างเหล่าทัพขึ้นมาใหม่เป็นทัพบก เรือ อากาศ จรวด และหน่วยสนับสนุน เป็นการแบ่งงานเพื่อลดอำนาจของกองทัพบก โดยใช้วิธีการ Joint Operation หรือปฏิบัติการร่วมแบบสหรัฐฯ ที่ใช้ตัวแบบนี้กับกองทัพที่มีทั่วโลก จีนต้องการลอกแบบสหรัฐฯ ที่ยุบมณฑลทหารที่ยึดกับกองทัพบกออกไป แล้วแยกเป็นยุทธภูมิทั้ง 5 ได้แก่ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และส่วนภาคกลาง

อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ระบุว่า นโยบายต่างประเทศจีนในยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น แม้ทางการจีนบอกว่าจีนต้องการการพัฒนาอย่างสันติ แต่สีจิ้นผิงก็ได้ระบุเพิ่มเติมว่า การพัฒนาอย่างสันตินั้น ไม่ใช่ว่าจีนจะต้องประนีประนอมเรื่องอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนซึ่งเป็นคุณค่าหลักที่สำคัญของจีน

จีนให้ความสำคัญกับกองทัพมากขึ้น บทบาทของจีนที่มีความขัดแย้งกับไต้หวัน ญี่ปุ่น บางประเทศในอาเซียนตอนใต้ สรุปได้ว่า ปฏิรูปกองทัพจีนทำให้อำนาจศูนย์กลางมากขึ้น การปราบคอร์รัปชัน นำไปสู่การเพิ่มอำนาจทหารในมือ ในส่วนของนโยบายต่างประเทศจะใช้กำลังมากขึ้นในเชิงการป้องปราม ไม่ใช้กำลังเอาชนะแต่เพื่อแสดงแสนยานุภาพให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ไม่เหมือนชาติตะวันตกที่คิดว่าต้องใช้กำลังอย่างไรถึงจะชนะ

กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างกองทัพ ใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี ให้การปฏิบัติการร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นไร้รอยตะเข็บ ในห้วงนี้เชื่อว่าจีนคงยังไม่ใช้กำลัง จะใช้ก็เพียงแสดงแสนยานุภาพเป็นนัยในเรื่องที่สำคัญกับจีน

เปิดปฏิรูปกองทัพจีน 4 ด้านทันสมัย

กองทัพจีนหรือกองทัพปลดแอกประชาชนถูกก่อตั้งในปี 1 สิงหาคม 1928 โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเพื่อทำสงครามปฏิวัติ แต่โครงสร้างกองทัพมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2015 หลังจากปี 1945 เพื่อทำให้มีความทันสมัยมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง ตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ให้เศรษฐกิจมาก่อน เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ

การพัฒนาเกิดในหลังยุคสงครามเย็น ด้วยปัจจัยหลายประการ ภายนอก ได้แก่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมืองในยุโรปตะวันออก หลังคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกล่มสลายในปี 1989 ทำให้จีนกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการมีเสถียรภาพของจีนภายใต้บริบทที่อเมริกามีอิทธิพลบนเวทีโลกสูง และมีแสนยานุภาพทางทหารที่ยิ่งใหญ่เป็นเอกอัครมหาอำนาจ ผนวกกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่รับหน้าที่เป็นตัวคานอำนาจกับสหรัฐฯ ทำให้กองทัพจีนต้องมีการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น

ปัจจัยภายในได้แก่ ความล้าหลังของขีดความสามารถในการรบ การรบที่ชายแดนกับเวียดนามเป็นการพิสูจน์ได้อย่างดีถึงข้อด้อยดังกล่าว ประการที่สอง จีนมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจได้รับการปฏิรูปตามนโยบาย 4 ทันสมัยประสบความสำเร็จ ประการที่สาม ผู้นำจีนได้รับการยอมรับจากบรรดานายพลทั้งหลายในยุคของเจียงเจ๋อหมินผ่านการสนับสนุนงบประมาณทหาร บรรจุนายพลขึ้นมา ประการสุดท้าย ผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเปลี่ยนไปในกลางทศวรรษที่ 1990 โดยขยายออกไปพร้อมการค้า การลงทุนที่กระจายไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ผลประโยชน์มีลักษณะข้ามชาติมากขึ้น ผู้นำจีนจึงต้องตัดสินใจพัฒนากองทัพจีน โดยเน้น 4 ด้าน ได้แก่ หลักนิยม อาวุธ โครงสร้างและบุคลากรให้ทันสมัย

ในด้านการพัฒนาหลักนิยมใหม่ หลักนิยมสมัยก่อนคือสงครามประชาชน ตั้งรับแบบแข็งขัน หรือตั้งรับแบบรุก คือตั้งรับแบบเป็นผู้กระทำ เพื่อให้สภาพทางยุทธศาสตร์เป็นประโยชน์กับตนเอง มีการปรับยุทธศาสตร์เกือบทุกๆ 10 ปี เริ่มมีการปรับให้เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทพัฒนากองทัพมากขึ้น

จีนซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากหลายชาติ โดยซื้อแล้วเอามาศึกษา ทำ Reverse Engineering ถอดประกอบ สร้างใหม่ แล้วพัฒนาซึ่งจีนสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จนตอนนี้จีนปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ที่ทำจากเทคโนโลยีของจีนเอง และกำลังสร้างลำที่ 3 และ 4 โดยลำที่ 4 ที่จะสร้างในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ จะเห็นว่าจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกลำ ปัจจุบันสหรัฐฯ มีเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ อีก 10 ปีคงจะมีเพิ่มอีกหนึ่งลำ แต่จีนมีใหม่ทุก 5 ปี

ด้านแสนยานุภาพของทหารอากาศหรือนภานุภาพก็ได้รับการพัฒนา ปัจจุบันจีนใช้เครื่องบินรุ่นที่ 4 ที่ใช้ระบบดิจิตัลเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และตอนนี้ก็ได้พัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ Stealth Bomber คือเครื่องบินที่ตรวจจับด้วยเรดาร์ลำบาก โดยทางจีนกำลังปรับปรุงให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ทางด้านนิวเคลียร์ จีนพัฒนาขีปนาวุธหลายรูปแบบทั้งระยะใกล้ กลาง ไกล พัฒนาขีดความสามารถทางสารสนเทศทั้งงานข่าวกรอง การสอดแนม และได้ส่งจานดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้แล้ว ขณะนี้ จีนมีความพร้อมมากขึ้นที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสนับสนุนสงครามถ้ามีความจำเป็น

งบประมาณทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นจากปี 1994-1995 อย่างต่อเนื่อง นักวิชาการตะวันตกเชื่อว่ามีมากกว่านั้น โดยวิเคราะห์ว่า ความแตกต่างในการประเมิน เพราะจีนและตะวันตกมีระเบียบทางงบประมาณไม่เหมือนกัน หรืออาจเป็นเพราะจีนทำตัวเลขให้ดูไม่สูงและไม่ต่ำจนเกินไปเพื่อลดความหวาดระแวงในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและมหาอำนาจ

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'แพทย์ชนบท' จี้หยุดก่อไฟขัดแย้ง หยุดทำลายระบบบัตรทอง

Posted: 19 Jun 2017 05:54 AM PDT

ชมรมแพทย์ชนบทขอนัดเครือข่ายบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และเครือข่ายผู้ป่วยโรคต่างๆ เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นในระบบบริการสาธารณสุข ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ. ที่เป็นปัญหาขัดแย้งในขณะนี้

19 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกแถลงการณ์ชมรมฯ ฉบับที่สอง เรื่อง หยุดก่อไฟความขัดแย้ง หยุดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน โดยระบุว่า ตามที่ชมรมฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่หนึ่ง(อ่านรายละเอียด) คัดค้านกระบวนการและร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและทีมงานพยายามผลักดันอย่างรีบเร่ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านและประท้วงของประชาชน และนักวิชาการ ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายเป็นความขัดแย้งในสังคมเป็นวงกว้าง 

โดยชมรมแพทย์ชนบท ให้เหตุผลว่า ข้อ 1. เป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ที่ซ่อนเนื้อหามุ่งล้มหลักการใหญ่แยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้จัดบริการสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ.2545  ข้อ 2. มีเนื้อหาซ่อนเงื่อน วางระบบที่จะริดรอนสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการมีส่วนร่วมของประชาชนในอนาคต หวังพาระบบหลักประกันสุขภาพและระบบบริการสาธารณสุขของไทยให้อ่อนแอ ถอยหลังย้อนยุคก่อนมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ช.(4)  และ ข้อ 3. กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.มีลักษณะรีบเร่ง ปิดลับ และจัดทำประชาพิจารณ์แบบพิธีกรรม เพราะมีการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 14 ประเด็นไว้เรียบร้อยแล้ว อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77

กระบวนการที่ไม่โปร่งใส ผิดขั้นตอนสาระสำคัญของกฎหมาย และเนื้อหาการแก้ไข พ.ร.บ.ที่ซ่อนแร้น แอบแฝง เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมที่กำลังก่อตัวขึ้น และจะขยายเป็นประเด็นการเมืองเพิ่มขึ้นให้กับรัฐบาล ถ้าไม่มีการตัดไฟแต่ต้นลม หยุดยั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.เฉพาะประเด็นที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์กับประชาชน และหน่วยบริการสาธารณสุขตามประเด็นต่างๆในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2559 ทั้ง 6 ข้อ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการปลดล๊อกให้กับระบบหลักประกันสุขภาพสำเร็จไปแล้ว

ชมรมแพทย์ชนบท ระบุอีกว่า เข้าใจถึงปัญหาใหญ่ที่สะสมรอการแก้ไข ปฏิรูปจากรัฐบาล และไม่ประสงค์ให้ประเด็นการแก้ไข พ.รงบ.ครั้งนี้เป็นการขยายความขัดแย้งในสังคม ไม่ต้องการให้เป็นประเด็นทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ และทราบว่าท่านนายกรัฐมนตรีมีภาระหนักที่ต้องดำเนินการมาก อาจได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ถูกต้องจากกระทรวงสาธารณสุข 

เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ชมรมแพทย์ชนบท จึงใคร่ขอโอกาสนัดหมายเครือข่ายบริการสาธารณสุขในพื้นที่ (รพ.ชุมชน และ รพ.สต.) และเครือข่ายผู้ป่วยโรคต่างๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นในระบบบริการสาธารณสุข ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ. ที่เป็นปัญหาขัดแย้งในขณะนี้ รวมทั้งข้อเสนอทางออกที่จะยุติความขัดแย้ง และสามารถพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ยั่งยืนเป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้นกับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลและคำมั่นสัญญาที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้พยายามทำอยู่ให้ประชาชนเห็นประจักษ์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่เชื่อป่วยโรคบ้านหมุน ศาลออกหมายจับ 'สมเกียรติ' หลังเบี้ยวฟังคำพิพากษาคดีบุกทำเนียบ

Posted: 19 Jun 2017 04:36 AM PDT

ศาลออกหมายจับ 'สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์' หลังไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลปี 51 โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่น่าเชื่อว่าป่วยคล้ายโรคบ้านหมุนจริง เลื่อนฟังคำพิพากษาเป็นต่อไปในวันที่ 24 ก.ค.นี้ 

ภาพ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ เพจ Banrasdr Photo)

19 มิ.ย. 2560 หลังจากเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์เลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกรุกทำเนียบรัฐบาลปี 51 เนื่องจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ใน 6 จำเลย ป่วยเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ รพ.วชิระ มาเป็นวันนี้ (19 มิ.ย.60) นั้น

ล่าสุดวันนี้ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.เศษ ที่ห้องพิจารณา 710 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 82 ปี, สนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 69 ปี, พิภพ ธงไชย อายุ 71 ปี, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 67 ปี, สมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 71 ปี อดีตแกนนำ พธม. และสุริยะใส กตะศิลา อายุ 44 ปี อดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365

โดยวันนี้ศาลได้เบิกตัว สนธิ จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกคุมขังในคดีผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาจากเรือนจำคลองเปรม ส่วน พล.ต.จำลอง จำเลยที่ 1, พิภพ จำเลยที่ 3, สมศักดิ์ จำเลยที่ 5 และสุริยะใส จำเลยที่ 6 ซึ่งได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์และทนายความ เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา ซึ่งวันนี้เป็นการนัดอ่านคำพิพากษาครั้งที่ 2 หลังจากเลื่อนมาเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก พล.ต.จำลอง จำเลยที่ 1 ป่วย ส่วนสมเกียรติ จำเลยที่ 4 ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่มอบอำนาจทนายความมาแถลงขอเลื่อนนัด

โดยทนายความของ สมเกียรติ จำเลยที่ 4 ได้แถลงต่อศาลว่า ช่วงก่อนวันนัดสมเกียรติมีอาการป่วยลักษณะคล้ายโรคบ้านหมุน ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยทนายได้ยื่นสำเนาใบรับรองแพทย์ ขณะที่ศาลได้สอบถามทนายความจะให้นำแพทย์มาไต่สวนเพื่อศาลจะสอบถามรายละเอียดภายในวันนี้ได้หรือไม่ ซึ่งทนายความแจ้งว่าไม่สามารถนำแพทย์มาไต่สวนได้ภายในวันนี้ และไม่ทราบว่าแพทย์จะวินิจฉัยอาการอย่างไร

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 จะมีอาการป่วยจริง จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 4 เพื่อมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป พร้อมให้ปรับนายประกันเต็มจำนวน 200,000 บาท และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไปในวันที่ 24 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น. โดยศาลได้กำชับคู่ความด้วยว่าในนัดหน้าหากจำเลยคนใดป่วยอีกให้นำแพทย์มาไต่สวนด้วย 

สำหรับคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้พิพากษา เมื่อวันที่ 28 พค. 58 ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้ คนละ 2 ปี ต่อมาจำเลยทั้งหกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ความเสื่อมของซีเอ็นเอ็น

Posted: 19 Jun 2017 02:43 AM PDT

หากเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เอ่ยชื่อซีเอ็นเอ็น (CNN) สำนักข่าวนานาชาติสัญชาติอเมริกัน น้ำหนักและความหนักหน่วงของชื่อนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์กันดีในวงการสื่อมวลชนทั่วโลก นับแต่ "สงครามอ่าว" สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นต้นมา

ทว่า วันนี้ อยู่ในช่วงขาลงของซีเอ็นเอ็นอเมริกา

ขาลงเหมือนกับสื่อสำนักอื่นๆ ในอเมริกา ทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์จากยอดรายได้ที่ลดลง ยิ่งซีเอ็นเอ็นด้วยแล้ว ไม่เป็นสื่อทีวีที่ป็อพปูล่า สำนวนไทยก็คือ ไม่ขลังอีกต่อไป ในยุคที่สื่อต่างๆ ทั่วโลกต่างตะเกียกตะกายนำองค์กรเข้าสู่โลกออนไลน์กันอย่างขะมักเขม้น เพื่อประคับประคองตัวเองให้รอดไปวันๆ

ซีเอ็นเอ็นเองไม่ต่างจากสื่ออื่นๆ เหล่านั้น แม้ภาพภายนอกของสถานีทีวีข่าวช่องนี้ของอเมริกันจะดูเข้มแข็งเหมือนสื่อทีวีช่องอื่นโดยทั่วไป แต่ทว่าลึกๆ แล้ว มันได้ซ่อนความอ่อนแอไว้ภายใน จากคู่แข่งธุรกิจแนวเดียวกันที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยที่ผลของการแข่งขันดังกล่าวอาจทำให้องค์กรข่าวยาวนานของอเมริกันแห่งนี้ ปลาสนาการไปจากสาระบบสื่อโลกก็เป็นได้

เป็นที่ทราบกันดีว่าวัฒนธรรมสื่อมวลชนอเมริกันหรือสื่อมวลชนใดในโลกก็ตามนั้น การนำเสนอข่าวหรือข้อมูลมักเน้นข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเทศของตัวเองเป็นหลัก ซีเอ็นเอ็นก็เช่นกัน การนำเสนอข่าวและข้อมูลส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่ผลประโยชน์ของอเมริกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านใดหรือผลประโยชน์ในภูมิภาคใดของโลกก็ตาม ดังเป็นที่ทราบกันว่า ซีเอ็นเอ็นคืออเมริกัน อเมริกันคือซีเอ็นเอ็น ภาพของซีเอ็นเอ็นผูกติดกับสังคมอเมริกัน จึงยากที่สำนักข่าวของอเมริกันแห่งนี้จะสร้างเครือข่ายหรือพันธมิตรนอกประเทศได้ง่ายเหมือนที่บีบีซีของอังกฤษทำ เพราะหากว่าไปแล้ว บีบีซีนั้นให้ภาพของความเป็นสากลมากกว่าซีเอ็นเอ็นเสียด้วยซ้ำ  แม้สำนักข่าวของอังกฤษแห่งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยู.เค.ก็ตาม

การที่ซีเอ็นเอ็นหมกมุ่นอยู่กับข่าวที่คาบเกี่ยวกับผลประโยชน์ของอเมริกันเป็นหลักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะนำเสนอประเด็นเชิงลึกได้ดีแต่ปัญหาคือ การสร้างพันธมิตรทางด้านการข่าวและข้อมูลที่ยากมากขึ้น คือ ยากที่จะมีสำนักข่าวต่างประเทศ สำนักใดผูกพันทำเงื่อนไขธุรกิจการค้าข่าว (Business Dealing)  กับซีเอ็นเอ็น เพราะสื่อของแต่ละชาติเองส่วนใหญ่จะนำเสนอเนื้อหาเชิงผลประโยชน์ของชาตินั้นๆ เช่น สื่อมวลชนไทยก็นำเสนอข่าวและข้อมูลของไทยหรือคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ในไทยเป็นหลัก ดังนั้น ปัญหาตรงนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ซีเอ็นเอ็นไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของสื่อนอกอเมริกาได้ หากซีเอ็นเอ็นยังคงเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับอเมริกันมากกว่าเนื้อหาของภูมิภาคอื่นของโลกเหมือนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสื่อนานาชาติแต่อย่างใด หากจะเผอิญมีแมงเม่าสื่อนานาชาติชาติใด บินเข้าไปให้ไฟซีเอ็นเอ็นลนก้นบ้างก็นับว่าเป็นโชคของซีเอ็นเอ็น เป็นความฟลุ๊คทางธุรกิจของสื่อทีวีอเมริกันช่องนี้เสียมากกว่า

ทั้งนี้ ต้องทราบก่อนว่าในอเมริกาเองนั้น มีสื่อมวลชนนานาชาติเข้ามาทำงานกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ทำเนียบขาว มีสื่อมวลชนเฝ้าอยู่โยงประจำ 24 ชม. ทุกๆ วัน ไม่มีวันหยุด มีกล้องทีวีจับจ้องทำเนียบตลอดเวลา สื่อมวลชนเหล่านี้เป็นสื่อมวลชนหลากหลาย เป็นสื่อนานาชาติทั่วไป เช่น สื่อญี่ปุ่น สื่ออินเดีย สื่อสัญชาติอาหรับ เป็นต้น

แน่นอนว่าสื่อสัญชาติต่างๆ เหล่านั้น ต่างได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการ ให้ถามแหล่งข่าวฝ่ายอเมริกันในประเด็นสำคัญของประเทศตนที่ผู้ชมของตนสนใจ เช่น สื่อญี่ปุ่นอาจถามทรัมป์ เรื่องกรณีพิพาทหมู่เกาะญี่ปุ่นกับรัสเซียหรือท่าทีของรัฐบาลอเมริกันต่อการทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ที่กระทบต่อญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่สื่อใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็น ย่อมมุ่งประเด็นไปในส่วนผลประโยชน์ของอเมริกัน หรือส่วนที่คาบเกี่ยวกับอเมริกันมากกว่าประเด็นของชาติอื่น

เป้าหมายของสื่อใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็น ที่มุ่งตอบสนองผู้บริโภคสื่อชาวอเมริกันมากกว่าอย่างอื่น จึงไม่ตรงกับเป้าหมายของสื่อสัญชาติอื่น เช่น ไม่ตรงกับสื่อญี่ปุ่น สื่ออินเดีย หรือสื่ออาหรับ การผูกดีลทางการข่าวหรือข้อมูลระหว่างซีเอ็นเอ็นกับสื่ออื่น จึงเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย เพราะเป้าหมายไม่ตรงกัน ขณะที่สื่อสัญชาติอื่นที่ไม่มิใช่สื่อสัญชาติอเมริกันก็มีโอกาสในการแสวงหาข่าวและข้อมูลในอเมริกา ไม่น้อยกว่าซีเอ็นเอ็น มิหนำซ้ำบางสื่อเหล่านี้มีความคล่องตัวมากกว่าซีเอ็นเอ็นเสียอีกด้วยซ้ำ

ด้วยองคาพยพที่ใหญ่ของซีเอ็นเอ็น ทำให้สำนักข่าวแห่งนี้เคลื่อนไหวได้ช้ากว่าสื่อนานาชาติ ไม่รวมถึงสื่อกระแสรองที่ เช่นสื่อออนไลน์ที่มีการขยับปรับบทบาทของตัวเองให้จริงจังเป็นมืออาชีพมากขึ้น สื่อกระแสรองเหล่านี้ บางสื่อกลายเป็นแหล่งข้อมูลของสื่อกระแสหลักแบบเดียวกับซีเอ็นเอ็น ทั้งยังเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายมากกว่าซีเอ็นเอ็นที่เป็นองค์กรอุ้ยอ้าย ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิมอีกต่อไป

ในส่วนการแข่งขันกับนานาชาติ ซีเอ็นเอ็นเองมีปัญหาเช่นกัน เป็นปัญหาเดียวกับที่บริษัทอีคอมเมิร์ชของอเมริกันอย่างอีเบย์ และแอมะซอน เคยปะทะกับอาลีบาบาดอทคอมของ แจ็ค หม่า จนในที่สุดบริษัทเหล่านี้ ต้องพ่ายให้กับอาลีบาบาเจ้าถิ่นในจีน สำหรับซีเอ็นเอ็นนั้น พวกเขาต้องสูญเสียพื้นที่ด้านข่าวและข้อมูลที่เคยถือครองมาก่อนให้กับ CCTV ของจีน Al Jazeera ของอาหรับ (มีฐานอยู่ในการ์ต้า) NHK ของญี่ปุ่น  Australia Plus ของออสเตรเลีย  RUSSIAT ของรัสเซีย หรือแม้แต่ Channel News Asia ของสิงคโปร์ ซ้ำยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่ยาวนานอย่าง BBC ของอังกฤษอยู่เช่นเดิม หนักไปกว่าเดิม คือ สื่อโทรทัศน์กระแสหลักในอเมริกา เช่น CBS ABC และ Fox ล้วนใช้ Platform  การทำงานแบบเดียวกันหมด

ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่สื่อนานาชาติจะต้องพึ่งซีเอ็นเอ็นเหมือนที่ผ่านมา แม้ผู้บริหารของซีเอ็นเอ็นจะตระหนักถึงปัญหาอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่เกิดจากสื่อที่มีรูปแบบ (Platform) เดียวกับซีเอ็นเอ็น แต่ประเด็นสำคัญคือ สื่อนานาชาติเหล่านี้ต่างมีตัวแทนของตนทำงานอยู่มากมาย กระจายอยู่แทบทุกพื้นที่ในอเมริกา เพราะฉะนั้นข้อมูลที่สื่อนานาชาติได้มาจึงไม่แตกต่างจากซีเอ็นเอ็นแต่อย่างใด จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า สินค้าซีเอ็นเอ็นเริ่มขายไม่ออกมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะเกิดปัญหากับองค์กรแห่งนี้ ไม่เร็วก็ช้า

ผู้บริหารของซีเอ็นเอ็นเองพยายามหาทางออกแต่ดูเหมือนไม่ทันการณ์ เพราะโลกของสื่อมวลชนในยุคโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก พวกเขาพยายามหาข้อมูลและสร้างระบบที่เร้าใจผู้ชม  เช่น การวิเคราะห์ หรือการแปรสาส์นแบบที่น่าสนใจ เป็นต้น แต่นับว่าไม่ง่าย หนทางอยู่รอดขององค์กรข่าวอเมริกันที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแบบอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับสื่อมวลชนโทรทัศน์ทั่วโลก วันนี้อนาคตช่างดูเลือนลางเสียเหลือเกิน

นอกเหนือจากความอืดช้า และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลในระดับนานาชาติ ที่กลายเป็นข้อด้อยของซีเอ็นเอ็นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับข่าวสารในโลกอาหรับไม่มีใครคิดว่าซีเอ็นเอ็นจะเร็วและเข้าถึงข้อมูลได้มากเท่า Al jazeera หรือในโลกเอเซียที่อาจเป็น CCTV ของจีนมากกว่าซีเอ็นเอ็น

แค่นี้ก็ทำให้ซีเอ็นเอ็นอยู่อย่างยากลำบาก สามารถหลุดออกไปจากวงโคจรในยุคสื่อสมัยใหม่เมื่อไหร่ก็ได้.

    

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: รักษาพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติ

Posted: 19 Jun 2017 02:28 AM PDT


อ่าน "แผ่นดินจึงดาล : การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ" ซึ่งเป็นหนังสือนำเสนอบทสัมภาษณ์ของ 9 นักวิชาการผู้เกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เรากำลังเผชิญร่วมกันมายาวนานกว่าทศวรรษ ได้เห็นมุมมองตรงกันว่า สังคมไทยต้องเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในอนาคตแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะใช้เวลายาวนานเพียงใด และจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้หรือไม่

เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ชัดว่าเป็นผลผลิตของระบอบการปกครองแบบไหน และเขียนไว้ในลักษณะที่แทบจะ "ปิดประตู" การแก้ไข ประกอบกับปัญหาวัฒนธรรมชนชั้นกลางที่มีทัศนะทางการเมืองและผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ปัญหาความอยุติธรรมอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจ กองทัพ และสถาบันหลักต่างๆ ทางสังคมที่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทางความคิด โครงสร้างอำนาจ วัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก ทั้งหมดนี้ทำให้ยากที่จะเชื่อมั่นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะไม่เกิดการสูญเสียซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มา

จะว่าไปแล้ว วิกฤตการเมืองก่อนรัฐประหาร 2549 หรือแม้แต่ก่อนรัฐประหาร 2557 ที่เด่นชัดจริงๆ คือการชุมนุมทางการเมืองของมวลชนจำนวนมาก ซึ่งที่จริงแล้วยังอยู่ในสภาวะที่สามารถควบคุมสถานการณ์และแก้วิกฤตนั้นๆ ได้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ เช่นรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ปัญหาทางความคิดและอุดมการณ์แม้จะเริ่มเห็นชัดขึ้นโดยลำดับ แต่ก็ยังไม่ชัดแจ้งมากเท่ากับเวลานี้

ในหนังสือแผ่นดินจึงดาลฯ หน้า 108 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ชี้ให้เห็นรูปธรรมของของปัญหาทางความคิดและอุดมการณ์ อันเป็นที่มาของความไม่ชัดเจนว่าเรากำลังอยู่ในระบอบการปกครองอะไรว่า

" จริงๆ น่าสนใจว่าตอนนี้เราอยู่ในระบอบไหน เราอาจรู้ว่าเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารแน่ๆ ในเวลานี้ แต่เมื่อรัฐบาลทหารไปแล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกมามันพูดยากว่าเราอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะเขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ใช้อยู่ (ในขณะสัมภาษณ์) ก็เขียนแบบนี้เหมือนกัน แล้วขณะเดียวกันก็มีบทบัญญัติแบบมาตรา 44 ที่อำนาจสูงสุดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมกันไปด้วย จะหาสิ่งที่ย้อนแย้งระดับนี้จากรัฐธรรมนูญในโลกนี้และอาจจะโลกอื่นด้วย น่าจะไม่ง่ายเลย "

ในมุมมองของวรเจตน์ รัฐธรรมนูญที่จะวางโครงสร้างอำนาจปกครองและให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นเหตุเป็นผลลงรอยกันได้อย่างแท้จริง ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นบนระบอบประชาธิปไตย คือเราต้องชัดเจนก่อนว่าสังคมเราจะต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (อย่างสังคมอารยะ) เราถึงจะออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นจากหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยได้

เมื่อไม่ชัดเจนว่าเราออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นบนระบอบอะไร จึงทำให้ข้อความที่เขียนขึ้นในรัฐธรรมไร้ความหมาย หรือ "ไม่สามารถมีความหมาย" ตามที่เขียนไว้จริง เช่นข้อความว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ย่อมไม่สามารถมีความหมายได้จริงภายใต้มาตรา 44 เป็นต้น

นอกจากนี้ข้อความที่เราพูดๆ กันทุกวันนี้ เช่นนิติรัฐ ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย ความยุติธรรม เสรีภาพการแสดงออก สิทธิมนุษยชน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นข้อความที่ไม่มีความหมายเช่นนั้นจริงๆ เนื่องจากว่า "ความหมายที่ถูกต้อง" ของข้อความเหล่านี้ยึดโยงอยู่กับระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ เมื่อมีระบอบประชาธิปไตยจึงมีนิติรัฐได้ และจึงทำให้ข้อความอื่นๆ ที่สอดคล้องกันมีความหมายที่ถูกต้องได้ในทางปฏิบัติ

ที่น่าวิตกคือ ภายใต้สภาวะที่สังคมเราไม่ชัดเจนว่ากำลังอยู่ในระบบการปกครองแบบไหน การเถียงกันตั้งแต่เรื่องลำไย ไหทองคำ ไปจนถึงปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ความหมายของประชาธิปไตย เผด็จการ ปัญหาทางศาสนา และอื่นๆ แทบทุกเรื่องมักถูกทำให้มี "ความเป็นการเมือง" แล้วก็เถียงกันบนพื้นฐานของการเลือกข้างตาม "สี" ของฝ่ายตน มากกว่าที่จะยึดหลักการ และใช้เหตุผลโต้แย้งอย่างสอดคล้องกับหลักการ กลายเป็นว่าแทบทุกเรื่องอาจถูกทำให้กลายเป็นการเมืองเรื่องความขัดแย้งได้แทบทั้งหมด

จึงมีบางคนเสนอว่า เราควรจะสร้าง "พื้นที่การพูดคุยเพื่ออยู่ร่วมกันทางสังคม" ให้ได้  โดยให้แต่ละคนวางเรื่องเอาประชาธิปไตย เอาสังคมนิยม ไม่เอาเอาคอร์รัปชัน ฯลฯ ลงก่อน แล้วเปิดอกคุยกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่มีเจตนาดี

แต่เมื่อเห็นข้อเสนอนี้แล้ว ผมนึกถึงที่เคยเข้าไปห้องพักอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งช่วงที่ยังมีการชุมนุมทางการเมือง เห็นมีข้อความแปะผนังห้องว่า "งดคุยเรื่องการเมือง" เมื่อสอบถามจึงรู้ว่าในห้องนี้มีหลายสี ถ้าคุยการเมืองจะขัดแย้งกัน แต่ชีวิตการทำงานประจำวันและอื่นๆ ไม่มีปัญหาอะไร ทุกคนทำงานร่วมกันได้ อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ ผมจึงคิดว่าการอยู่ร่วมกันทางสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชน หรือสังคมวงกว้างมันไม่ได้มีปัญหาที่ต้องสร้างพื้นที่คุยกัน

แต่ที่จำเป็นต้องสร้างพื้นที่คุยกันคือ "พื้นที่พูดคุยปัญหาทางการเมือง" ซึ่งทุกฝ่ายจะวางความต้องการทางการเมืองของตนเองลงไม่ได้ จำเป็นต้องนำสิ่งที่ตัวเองต้องการมาคุยกัน เพื่อให้เข้าใจเหตุผลของกันและกัน และนำไปสู่การสร้างฉันทามติหรือข้อตกลงร่วมกันให้ได้ว่า สังคมเราควรอยู่รวมกันภายใต้ระบบการปกครองและกติกาที่ยุติธรรมกับทุกคนอย่างไร

แน่นอนว่า ในภาวะปัจจุบันการสร้างพื้นที่พูดคุยทางการเมืองแบบนี้ย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีคำถามตามมาอีกมาก เช่น ใครหรือกลุ่มไหนคือตัวแทนของสีต่างๆ กลุ่มไหนเป็นกลาง เรามีพื้นที่พูดคุยการเมืองกันได้ภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมหรือไม่ คุยปัญหาได้ทุกเรื่องหรือเปล่า เป็นต้น

แต่ถ้ายังไม่สามารถสร้างพื้นที่พูดคุยทางการเมืองเพื่อหาฉันทามติร่วมกันได้ เราควรจะทำอย่างไร ผมคิดว่าคำตอบสำคัญหนึ่งคือคำตอบที่เกษียร เตชะพีระ อธิบายไว้ในหนังสือแผ่นดินจึงดาลฯ หน้า 217 ว่า

" ...เราต้องรักษาสิทธิมนุษยชนไว้ให้ได้ ...ทุกฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ในความเชื่อทางการเมืองแบบไหน อยู่ค่ายอะไร ต้องมีสิทธิมนุษยชน ...เพราะการรักษาสิทธิมนุษยชนคือการรักษาพื้นที่ต่อสู้สันติวิธีไว้ให้ทุกฝ่าย...ถ้าไม่รักษาตรงนี้ พื้นที่การต่อสู้แบบสันติมันจะหดลงเรื่อยๆ "

ผมคิดว่าข้อเสนอเช่นนี้สำคัญมาก ถ้าสังคมเราตระหนักร่วมกันว่า ไม่ควรมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อประชาชนอีกแล้ว เพราะเราจ่ายด้วยราคาแพงมามากเกินพอแล้วในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านๆ มา แต่การสูญเสียก็ไม่ใช่หลักประกันใดๆ ให้เกิดประชาธิปไตยได้จริงเสียที

ข้อเสนอ "การรักษาพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติ" นี้ อาจเห็นเป็นรูปธรรมได้ ถ้าแต่ละฝ่ายลด ละ เลิกการแสดงความสะใจเมื่อเห็นอีกฝ่ายถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะขยับเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ถ้าวันหนึ่งฝ่ายเสื้อแดงแสดงออกถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพเมื่อเห็นฝ่ายเสื้อเหลืองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือฝ่ายเสื้อเหลืองแสดงออกถึงการยืนยันและปกป้องสิทธิมนุษยชนของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ตกเป็น "นักโทษทางความคิด" อย่างไผ่ ดาวดิน เป็นต้น

เมื่อพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติอยู่บนฐานของการรักษาสิทธิมนุษยชน จึงไม่ใช่พื้นที่สันติวิธีที่เลื่อนลอย แต่เป็นพื้นที่สันติวิธีที่ยืนยันการเคารพ เรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นไปอีก เมื่อทุกฝ่ายที่เชื่อในการรักษาพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติบนฐานสิทธิมนุษยชนร่วมกันเรียกร้องความยุติธรรมแก่นักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดที่ถูกขังลืมในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา

กล่าวโดยสรุป การต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง และการแสวงหาฉันทามติร่วมกันว่าเราทุกคน ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาทางสังคมการเมืองแบบใด คงจะใช้เวลาอีกนาน ฉะนั้น การรักษาพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติ จึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญแรกสุดที่ทุกฝ่ายควรตระหนักและยึดถือร่วมกัน

  

หมายเหตุ: สั่งซื้อหนังสือ แผ่นดินจึงดาล การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ ได้ที่ www.prachataistore.net หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 02 6902711 หรือ 0970178060

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลิปทหารจับแกร็บแท็กซี่ขู่ปรับทั้งคนขับผู้โดยสาร - ขนส่งทางบกแจงไม่ผิดกฎหมาย

Posted: 19 Jun 2017 02:18 AM PDT

คลิปทหารจับ Grab Taxi  ขู่ปรับทั้งคนขับผู้โดยสาร หวิดวางมวย ทหารแจ้งไม่ก้าวก่ายหน้าที่การพิจารณาโทษ ชี้แท็กกซี่จอดที่ห้ามจอด อธิบดีกรมขนส่งทางบกระบุ Grab Taxi ไม่ผิดกฎหมาย แต่ที่ผิดกฎหมายคือการนำแอพพลิเคชั่นไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร

ภาพจากวิดีโอคลิปของผู้ใช้เฟซบุ๊ก  'May Natsupa'

 19 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (18 มิ.ย.60) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'May Natsupa' โพสต์วิดีโอคลิปพร้อมข้อความว่า เมื่อสักครู่ Grab Taxi มารับที่หน้า zpell ขึ้นรถได้ไม่ถึงนาทีทหารมาเคาะกระจกแท็กซี่ แล้วได้คุยกับแท็กซี่ ทหารเค้าบอกว่าใช้แอพพลิเคชันผิดกฎหมายทั้งๆ ที่กฎหมายรองรับแล้ว พร้อมจะปรับ 5,000บาท ทั้งคนขับผู้โดยสาร แล้วทหารได้บอกอีกว่าจะให้แท็กซี่ไปคุยกับนายกให้ไปหาขนส่งไม่ยอมคุยเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด เมื่อเวลา 19.50 น.(19 มิ.ย. 60) โพสต์ดังกล่าวของ May Natsupa ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

'May Natsupa' โพสต์ด้วยว่า พอแท็กซี่โทรไปร้องเรียนกับทางบริษัท Grab ทหารเลยบอกว่าไม่จับแล้วไปเลย แต่จะขอถ่ายรูปไปฟ้องนายแท็กซี่ก็ขอถ่ายรูปทหารบ้างทหารง้างหมัดจะต่อยแท็กซี่พอแท็กซี่โวยวายก็เอามือลงแล้วยังพูดอีกเหมือนตัวเองไม่ผิด ไม่ได้ทำร้ายทั้งๆที่ง้างหมัด พยานมีเป็นสิบ ยอมเลยจริงๆ

ทหารแจ้งไม่ก้าวก่ายหน้าที่การพิจารณาโทษ ชี้แท็กกซี่จอดที่ห้ามจอด

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า พ.ท.กฤษณพล โภชนดา ผู้บังคับกองทัพทหารปืนใหญ่ที่ 12 รักษาพระองค์ (ผบ.ป.พัน.12 รอ.) ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว แต่คนขับรถแท็กซี่อ้างว่าใช้แกร๊บแท็กซี่ ทำให้จอดที่ใดก็ได้ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าปรับเงินจำนวน 5,000 บาทนั้นไม่เป็นความจริง เพราะในขณะนั้นลูกน้องพูดคำว่า "ว่าวันนี้เจอไป 5 คันแล้ว" ซึ่งการพิจารณาโทษปรับนั้นได้ให้คนขับรถแท็กซี่ไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมการขนส่งทางบก ที่อยู่ในป้อมให้เป็นผู้พิจารณา ซึ่งปรับไม่เกิน 1,000 บาท
       
"ขอเรียนว่า ทหารไม่ก้าวก่ายหน้าที่การพิจารณาโทษ แต่ที่ต้องนั่งไปด้วยเพราะที่ผ่านมาหลายคนก็ตีขวา หลบหนีไปเลย และได้แจ้งความผิดไปแล้วว่า คนขับแท๊กซี่ จอดในที่ห้ามจอดด้วยแล้ว ซึ่งในคลิปมีการบันทึกไว้ทั้งหมด ส่วนเรื่องกระทบกระทั่งกันนั้นเรียนว่า ต้องขออภัยจริงๆ แต่ถ้าสังเกตดีๆ ทหารกำลังส่ง ไลน์รายงานเหตุการณ์ทันที หันมาเจอโทรศัพท์จ่อที่ใบหน้า พร้อมคำพูดกดดันสารพัด ก็เลยปัดลงด้วยความไม่ตั้งใจ และไม่มีเจตนามีเรื่องด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ยังเดินไปถ่ายทะเบียนหน้ารถ ในขณะที่คนขับแท๊กซี่ก็ยังโวลวายเสียงดังอยู่ใกล้ๆ เมื่อถ่ายภาพเสร็จก็เดินออกไป" พ.ท.กฤษณพล ระบุ
       

กรมขนส่งทางบกระบุ Grab Taxi ไม่ผิดกฎหมาย

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า Uber และ Grab car เป็นบริการที่เพิ่มความสะดวกในการเดินทางมากกว่าการให้บริการรถโดยสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบกได้มีการชี้แจงไปยังผู้ประกอบการโดยตรงและผ่านทางสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดว่า แอพพลิเคชั่นในการเรียกใช้บริการแท็กซี่นั้น สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ประเด็นที่ผิดกฎหมายคือ การนำแอพพลิเคชั่นไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย และกรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์เป็นอันตรายต่อความปลอดภัย ภาครัฐจะไม่สามารถติดตามรถหรือคนขับรถมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้

ในส่วนของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นที่ยังไม่ถูกกฎหมาย กรมการขนส่งทางบกพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ทันสมัยภายใต้กรอบของกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้เพื่อเพิ่มทางเลือกและประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันมีรถแท็กซี่ในระบบเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นเป็นสื่อกลางในการบริการ เช่น Grab Taxi, All Thai Taxi ซึ่งกรมการขนส่งทางบกพร้อมให้การสนับสนุนในทุกมิติ
 

จับมือแล้ว คนขับแท็กซี่แจงเข้าใจผิดกัน-ขอโทษกับทหารแล้ว

เมื่อเวลา 16.27 น. ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อเย็นวันที่ 18 มิ.ย. 60 ด้าน พ.ท.กฤษณพล  กล่าวว่าจากกรณีที่เกิดขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้เชิญ ยุทธนา พิศาภาคย์ คนขับรถแท็กซี่ส่วนบุคคลสีเขียว-เหลือง หมายเลขทะเบียน 1มก 7239 กรุงเทพมหานคร และเป็นบุคคลที่อยู่ในคลิปพร้อมด้วย พลทหารอนุชิต ดาหลวงมาตร เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในคลิปมานั่งทำความเข้าใจกันที่ ที่ว่าการอำเภอธัญบุรี ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทหารไม่ก้าวก่ายหน้าที่การพิจารณาโทษ แต่ที่ต้องนั่งไปด้วยเพราะที่ผ่านมาหลายคนก็ตีขวา หลบหนีไปเลย และได้แจ้งความผิดไปแล้วว่า คนขับแท็กซี่ จอดในที่ห้ามจอดด้วยแล้ว ซึ่งในคลิปมีการบันทึกไว้ทั้งหมด ส่วนเรื่องกระทบกระทั่งกันนั้นเรียนว่า ต้องขออภัยจริงๆ แต่ถ้าสังเกตดีๆ ทหารกำลังส่ง ไลน์รายงานเหตุการณ์ทันที หันมาเจอโทรศัพท์จ่อที่ใบหน้า พร้อมคำพูดกดดันสารพัด ก็เลยปัดลงด้วยความไม่ตั้งใจ และไม่มีเจตนามีเรื่องด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ยังเดินไปถ่ายทะเบียนหน้ารถ ในขณะที่คนขับแท็กซี่ก็ยังโวยวายเสียงดังอยู่ใกล้ๆ เมื่อถ่ายภาพเสร็จก็เดินออกไป ส่วนเรื่องการเรียกรถแท็กซี่โดยใช้แอพพลิเคชันแกร็บแท็กซี่นั้น ตนก็ขอให้คนที่เรียกใช้บริการกับคนขับรถแท็กซี่นั้นนัดหมายกันให้ถูกจุดที่รับเพราะจะได้ไม่มีปัญหากับรถแท็กซี่คันอื่นได้

ยุทธนา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันและตนก็ได้ขอโทษกับเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว พร้อมทั้งบอกให้เจ้าของเฟซบุ๊กลบโพสต์ ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - นครราชสีมา

Posted: 19 Jun 2017 01:50 AM PDT

คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ในเรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะทำให้มีการเริ่มต้นการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโครงการนี้อย่างเร็วที่สุด

โดยมีเนื้อหาคือ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจของจีนในงานออกแบบรายละเอียด งานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล  ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและสถาปนิก และให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุ

ถ้าเราดูประเด็นมาตรา 44 ที่ออกมานั้น จะพบว่ามีความพยายามของรัฐบาลในการเร่งรัดโครงการ โดยมีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการส่งสัญญาณเป็นระยะๆ จากการเจรจากับฝ่ายจีนมาเกือบ 3 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรจากการเจรจาที่ผ่านมา ซึ่งมาตรา 44 นี้ สร้างข้อกังวลให้กับหลายภาคส่วน อย่างเช่น สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับ เรื่องการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น  เป็นข้อท้วงติงที่รัฐบาลควรรับฟัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตได้

ปัญหาเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น และการใช้ มาตรา 44 นี้ คงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเพียงบางส่วน แต่ปัญหาหลักที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ คือความพยายามที่จะดำเนินโครงการโดยใช้ขั้นตอนการทำงานที่ไม่เคยใช้ในไทยมาก่อน คือ อนุมัติให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีรายละเอียดทั้งหมดในการพิจารณา

ปกติแล้ว การพิจารณาอนุมัติให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการ โครงการต้องมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว ทั้งในเรื่องของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเงิน การออกแบบรายละเอียดส่วนใหญ่ (อาจจะไม่ทั้งหมด) และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จึงสามารถนำรายละเอียดทั้งหมดมาประกอบการจัดสรรงบประมาณ และเริ่มต้นก่อสร้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ผ่านมา เช่น การลงทุนรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการเหล่านี้มาโดยตลอด

การตัดสินใจอนุมัติโครงการโดยที่ยังไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด มีโอกาสที่จะทำให้การตัดสินใจผิดพลาด และถ้ามีปัญหาเมื่อเริ่มดำเนินโครงการทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการจัดการเดินรถในอนาคต การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะเกิดความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหานั้นๆ มากกว่าปกติ

ในกรณีของโครงการนี้ ปัญหาที่น่าจะยังไม่ได้ข้อสรุป คือ การทับซ้อนของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างช่วง กรุงเทพฯ (บางซื่อ) ถึงอยุธยา ซึ่งจะมีทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระบบของจีน (กรุงเทพ-นครราชสีมา) และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระบบญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการใช้โครงสร้างพื้นฐาน (ราง) ร่วมกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ามีการอนุมัติให้เริ่มก่อสร้างโครงการ โดยที่รายละเอียดของโครงการยังไม่แล้วเสร็จ

จากสัญญาณที่รัฐบาลส่งผ่าน มาตรา 44 ในครั้งนี้ รวมถึงข้อตกลงที่ทางรัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลญี่ปุ่น หมายถึง ประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูง อย่างน้อย 2 ระบบ นั่นคือระบบของจีน และระบบของญี่ปุ่น โดยในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์นั้น การมีเทคโนโลยีทั้งสองระบบในประเทศ จะมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงกว่าการมีระบบเดียว รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายในอนาคต จะทำได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น จนสุดท้าย อาจจต้องมีการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเดียวในอนาคต ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ไม่ควรที่จะเสียตั้งแต่ต้น

คำถามที่ต้องการคำตอบก่อนจะมีการอนุมัติโครงการให้เริ่มมีการก่อสร้างโครงการนี้ คือ

1) ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงจริงหรือไม่  ทั้งนี้ การจะตอบคำถามนี้จะเกี่ยวข้องกับคำถามอื่นๆ ที่จะตามมาด้วย

2) ถ้าประเทศไทยจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูง เราควรมีรถไฟความเร็วสูงถึง 2 ระบบหรือไม่ หรือจะเหมาะสมกว่าที่มีรถไฟความเร็วสูงเพียงระบบเดียว

3) มีการศึกษารายละเอียดต่างๆ พร้อมแล้วหรือไม่ ทั้งในส่วนของการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรฐษกิจและการเงิน การออกแบบรายละเอียด และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการอนุมัติให้เริ่มก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีรายละเอียด จะมีปัญหาหรือไม่

4)  การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและการเงินที่ผ่านมา มีผลเป็นอย่างไร มีจำนวนคาดการณ์ผู้โดยสารอย่างไร รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการทางการเงิน และเงินอุดหนุนของภาครัฐในอนาคตสำหรับโครงการนี้ และ 5) มีการพิจารณาความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมือง รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่มีสถานีรถไฟความเร็วสูงผ่าน โดยมีโครงการรองรับหรือไม่อย่างไร

แม้ว่ารัฐบาลจะส่งสัญญาณผ่านการใช้มาตรา 44 แต่มาตรา 44 นี้ เป็นเพียงการเร่งรัดโครงการโดยการยกเว้นกฎระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรค  ไม่ได้หมายถึงการตัดสินใจดำเนินโครงการ  รัฐบาลควรพิจารณาตอบคำถามข้างต้นก่อนที่จะอนุมัติโครงการและเซ็นสัญญาว่าจ้างต่างต่อไป   นอกจากนี้ รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่างๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการยิ่งขึ้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เสกสรรค์’ประเมิน ‘ชนชั้นนำภาครัฐ’ อยู่ยาว 10 ปี อะไรคือความหวังการเปลี่ยนแปลง

Posted: 19 Jun 2017 12:41 AM PDT

อ่านปาฐกถาฉบับเต็ม 'เสกสรรค์ ประเสริฐกุล' มองอนาคตไทยแลนด์ 4.0 (หลังรัฐประหาร) ประเมิน "ชนนั้นนำภาครัฐ" จะสืบทอดอำนาจไปอีกอย่างน้อย 10 ปี อะไรคือโจทย์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงในยุคที่อำนาจเก่า-รัฐราชการแข็งแกร่ง นักการเมืองถูกทำให้อ่อนแอ คนต่างจังหวัดถูกกดให้เงียบ คนชั้นกลางระดับบนชื่นชมเผด็จการเปิดเผย และปัญญาชนขาดสำนึกเรื่ององค์รวม-การสร้างขบวน-การต่อเชื่อมกับประชาชน

คลิปเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปาฐกถา "การเมืองไทยกับสังคม 4.0"

หมายเหตุ - ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถา เรื่อง "การเมืองไทย กับ สังคม 4.0" ในงานเสวนา "Direk's Talk ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ" จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้อง ร.103 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 19 มิถุนายน 2560

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

 

3-4 ปีที่ผ่านมา มักพูดถึงการเมืองโดยโยงนัยมาที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น
ทำให้เข้าใจกันผิดๆ ว่ามีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่เล่นการเมืองฝ่ายอื่นไม่ได้เล่นการเมือง
คำพูดรวบรัดดังกล่าวเมื่อบวกกับเรื่องคนดีคนไม่ดีก็จะกลายเป็นข้อสรุปว่า
นักการเมืองที่กุมอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี
ส่วนคนอยู่บนเวทีอำนาจโดยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง

วันนี้รู้สึกยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาพูดคุยกับท่าน หลายปีที่ผ่านมาผมใช้วัยชราอยู่ในความเงียบสงัดไม่ได้พบปะผู้คน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่คิดถึงวงการที่คุ้นเคย และยิ่งไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่คิดถึงคณะและมหาวิทยาลัยที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ถึง 30 ปี การพบกันครั้งนี้ผมขอคารวะท่านด้วยแง่คิดบางประการต่อบ้านเมืองของเรา อย่างไรก็ดี คงต้องขอยืนยันตั้งแต่ต้นว่าหัวข้อนี้เป็นหัวข้อวิชาการ การวิเคราะห์เป็นแบบวิชาการซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้ หวังว่าจะไม่มีผู้ใดตีความไปในทางอื่น และไม่มีผู้ใดมาทำให้วัยชราของผมเงียบสงัดไปกว่านี้ ในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์และมาพูดในคณะรัฐศาสตร์ ผมคงพูดเรื่องอื่นไม่ได้นอกจากเรื่องการเมือง

ความหมายของการเมืองที่ใช้ในวันนี้ เป็นความหมายในระดับกว้างสุด จึงกินความทั้งนักการเมืองในระบบและนักการเมืองนอกระบบ ทั้งพวกที่แสวงหาชัยชนะโดยเลือกตั้งและพวกที่แสวงหาอำนาจโดยการแต่งตั้ง เพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมามักพูดถึงการเมืองโดยโยงนัยมาที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้เข้าใจกันผิดๆ ว่ามีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่เล่นการเมืองฝ่ายอื่นไม่ได้เล่นการเมือง คำพูดรวบรัดดังกล่าวเมื่อบวกกับเรื่องคนดีคนไม่ดีก็จะกลายเป็นข้อสรุปว่า นักการเมืองที่กุมอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนอยู่บนเวทีอำนาจโดยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นคนดี วาทกรรมเช่นนี้ไม่เพียงขัดกับหลักวิชาแต่ยังขัดกับธรรมชาติของความจริงเพราะที่ไหนมีอำนาจที่นั่นย่อมมีการเมือง จะว่าไปคนที่เกี่ยวกับการแข่งขันชิงอำนาจหรือการใช้อำนาจก็มีดีมีชั่วปะปนกันไป

ที่พูดเรื่องนี้เพราะมันช่วยอธิบายบ้านเมืองในช่วง 3-4ปี ตั้งแต่การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเลือกตั้งของมวลชนคนเสื้อเหลือง จนมีรัฐประหาร จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ใช่หรือไม่ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะมีคนเชื่อว่า ตัวเองกำลังทำความดี การเอาคนไม่ดีลงจากอำนาจ จากนั้นเขียนกติกาใหม่ ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจแล้วยกอำนาจให้กับฝ่ายคนดี พูดแค่นั้นอาจง่ายไป ถ้าจะพูดให้ยากขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพราะการชูธงความดีเท่านั้น แต่การชูธงดังกล่าวยังทำให้เห็นว่าใครขัดแย้งกับใคร เพราะอะไร พวกถูกกล่าวหาเป็นคนไม่ดีนั้นล้วนผูกติดกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ส่วนพวกถือตนเป็นคนดี ตอนแรกก็เป็นมวลชนคนชั้นกลางในเมืองกับแกนนำที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จากนั้นก็ส่งไม้ต่อไปยังชนชั้นนำภาครัฐให้ช่วยลงดาบสุดท้าย

ความขัดแย้งที่ผ่านมาสะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย
นำไปสู่การเบียดขับแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบอบ
ความขัดแย้งที่ลงลึกขนาดนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ
ด้วยวิธีการจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำเหลืองแดง
ในขณะที่ตัวละครเอกถูกจัดไว้นอกสมการ
การเป็นคู่กรณีของชนชั้นนำภาครัฐนั้นสังเกตได้จากการที่นับวันอคติของพวกเขา
ยิ่งขยายจากการรังเกียจนักการเมืองบางตระกูลไปสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยรวม

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 2556-2557 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งจากมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกัน แต่อาจกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนนั้นนำเก่าภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชนที่ขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกกุมกลไกรัฐราชการฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน ถ้าเราวางคอนเซ็ปท์ไว้เช่นนี้ก็จะเห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวใหญ่โตเกินบุคคลและคณะบุคคล เป็นความขัดแย้งที่สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย นำไปสู่การเบียดขับแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบอบ แน่นอน ความขัดแย้งที่ลงลึกขนาดนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำเหลืองแดง ในขณะที่ตัวละครเอกถูกจัดไว้นอกสมการ การเป็นคู่กรณีของชนชั้นนำภาครัฐนั้นสังเกตได้จากการที่นับวันอคติของพวกเขายิ่งขยายจากการรังเกียจนักการเมืองบางตระกูลไปสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยรวม ความรังเกียจต่อคู่ชิงอำนาจเคยแสดงออกมาแล้วในปี 2534 และ 2549 

นอกจากนี้เรายังสังเกตได้ว่า หลังรัฐประหารปี 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างการเมืองเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน การทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเอง และประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ 2560 ก็สะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร อีกทั้งจำกัดพื้นที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ให้กุมอำนาจนำอีกต่อไป นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาแต่เป็นข้อสังเกตที่ยืนยันได้จากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญนั้นสามารถเห็นเจตจำนงของผู้ร่างได้จากบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ประการแรก ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเดิมเป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมโอกาสพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ระบบดังกล่าวจะทำให้การได้เสียงข้างมากของพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก รัฐบาลที่ตั้งขึ้นอาจต้องเป็นรัฐบาลผสม ไม่มีเสถียรภาพ พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ตามระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบบเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ถูกดัดแปลงให้ขึ้นต่อการเลือกตั้ง ส.ส.เขต โดยประชาชนใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว จากนั้นเอาคะแนนรวมของแต่ละพรรคจากเขตเลือกตั้งทั่วประเทศมาคำนวณหาจำนวนของผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคควรจะมีและจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ พรรคไหนชนะเลือกตั้งส.ส.เขตเต็มโควตาแล้วก็จะไม่มีสิทธิมีส.ส.บัญชีรายชื่อเลย หนทางอ้อมของระบบเลือกตั้งเช่นนี้ ทำให้การเสนอนโยบายระดับชาติของพรรคการเมืองถูกลดความสำคัญลง เพราะถ้าเราดูจากประสบการณ์เลือกตั้งที่ผ่านมา การเลือกตั้ง ส.ส.เขตนั้นผู้ลงคะแนนมักเลือกตัวบุคคลมากกว่าพรรค ส่วนการเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นมักเลือกพรรคที่มีนโยบายโดนใจ

ประการต่อมา ในขณะที่อำนาจของนักการเมืองพรรคการเมืองถูกจำกัดลงทั้งโดยตรงโดยอ้อม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ให้ชนชั้นนำภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้ข้าราชการชั้นสูงเป็นทั้งกรรมการสรรหาและเป็นผู้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและกลไกควบคุมต่างๆ และที่น่าสนใจคือ ในกระบวนการดังกล่าวบทบาทและอำนาของตุลาการถูกยกระดับให้สูงขึ้นและแผ่ขยายอำนาจออกไปมาก ประเด็นสำคัญที่สุดดังที่ทุกท่านทราบดี คือ บทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ส.ว.ชุดแรกมาจาการแต่งตั้งโดย คสช. และกำหนดให้มีอำนาจร่วมกับ ส.ส. ในการรับรองหรือไม่รับรองผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้เมื่อบวกกับบทบัญญัติที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นบุคคลนอกรายชื่อของพรรคการเมืองได้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน

ประการสุดท้าย ถ้าดูบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะเห็นว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ กับ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีส่งร่างเข้าสภาแล้ว ต้องออกมาภายใน 4 เดือน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นี่หมายถึงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายเพิ่มไม่ได้เลยและอาจต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบายของ คสช.เสียเอง  ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญ2560 ยังมีบทบัญญัติต่างๆ ที่ทำให้แก้ไขได้ยาก จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน ดังนั้น เมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี แน่ล่ะ ถ้าพูดถึงตัวบุคคลหรือแม้แต่ คสช. การสืบทอดอำนาจอาจไม่เป็นเส้นตรงขนาดนั้น แต่ถ้าพูดถึงชนชั้นนำภาครัฐแล้วการต้องการพื้นที่ถาวรและอำนาจนำทางการเมืองเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ทำไมชนชั้นนำและพันธมิตรทางสังคมจึงกล้าร่างรัฐธรรมนูญที่เอียงข้างตัวเองมาได้ขนาดนี้
เป็นไปได้ที่พวกเขารู้สึกว่าฐานะชนชั้นนำของตนที่มีมาแต่เดิมกำลังถูกกัดกร่อนคุกคาม
ทั้งจากนักการเมืองที่โตมาจากภาคเอกชนและโดยระบอบประชาธิปไตย
ที่ผนวกมวลชนชั้นล่างเข้ามาสู่ระดับกำหนดนโยบาย
ยิ่งไปกว่านั้นระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็กำลังแปรรูปรัฐชาติให้เป็นเพียงแค่ผู้จัดการตลาด
ซึ่งเป็นตลาดที่ในแต่ละวันมีแต่จะย่อยสลายวัฒนธรรมจารีต
และทุบทำลายคุณค่าที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยึดถือ
ด้วยเหตุดังนี้ ชนชั้นนำภาครัฐจึงต้องการกลับมามีฐานะนำในการกำหนดความสัมพันธ์
ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลกในแนวทางที่ตัวเองยังมีบทบาท มีที่อยู่ที่ยืนครบถ้วน

ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก คือ ทำไมชนชั้นนำและพันธมิตรทางสังคมจึงกล้าร่างรัฐธรรมนูญที่เอียงข้างตัวเองมาได้ขนาดนี้ ถ้าเราพักเรื่องผิดถูกดีชั่วไว้ก่อนเพราะอาจวิจารณ์ได้ในหลายทาง ในทัศนะส่วนตัวของผมคิดว่า เป็นไปได้ที่พวกเขารู้สึกว่าฐานะชนชั้นนำของตนที่มีมาแต่เดิมกำลังถูกกัดกร่อนคุกคาม ทั้งจากนักการเมืองที่โตมาจากภาคเอกชนและโดยระบอบประชาธิปไตยที่ผนวกมวลชนชั้นล่างเข้ามาสู่ระดับกำหนดนโยบาย ยิ่งไปกว่านั้นระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็กำลังแปรรูปรัฐชาติให้เป็นเพียงแค่ผู้จัดการตลาดซึ่งเป็นตลาดที่ในแต่ละวันมีแต่จะย่อยสลายวัฒนธรรมจารีตและทุบทำลายคุณค่าที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยึดถือ ด้วยเหตุดังนี้ ชนชั้นนำภาครัฐจึงต้องการกลับมามีฐานะนำในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลกในแนวทางที่ตัวเองยังมีบทบาท มีที่อยู่ที่ยืนครบถ้วน ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องคงฐานะทางการเมืองของรัฐชาติกึ่งจารีตไว้ให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ด้วยเหตุดังนี้ วาทกรรมเรื่องความดีจึงผูกติดกับวาทกรรมเรื่องความเป็นไทย และด้วยเหตุดังนี้จึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความวิตกกังวลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราคงต้องยอมรับว่าการยึดอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐครั้งนี้มีมวลชนสนับสนุนไม่น้อย รัฐประหาร 2557 ได้รับการเรียกร้องและนำร่องด้วยการเคลื่อนไหวมวลชน ซึ่งขยายตัวเป็นยุทธการที่โจมตีนักการเมืองจากการเลือกตั้งและล้มกระดานประชาธิปไตยไปในคราเดียวกัน แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งคณะรัฐประหารและขบวนนำร่องบอกว่าต้องการสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า แต่โดยไม่เป็นทางการถ้าเราติดตามข่าวสารทั้งในสื่อหลักและในโซเชียลมีเดียก็จะพบว่า มีคนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยมากขึ้น และเท่าที่มีการแสดงออก บรรดากลุ่มทุนใหญ่และคนชั้นกลางในเมืองดูจะมั่นคงสบายใจกับรัฐบาลอำนาจนิยมมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน แม้ว่าท่านเหล่านี้จะเป็นผู้ได้เปรียบในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แต่ก็อดรู้สึกถูกคุกคามไม่ได้ เมื่อฐานะได้เปรียบของพวกเขาถูกท้าทายโดยระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยการเคลื่อนไหวมวลชนชั้นล่างๆ เป็นฐานเสียง พวกเขาจึงขานรับเรื่องคนดีและความเป็นไทยด้วยความเต็มอกเต็มใจ ทำให้เสียงยืนยันที่ว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษและไม่จำเป็นต้องเหมือนฝรั่งดังกระหึ่มขึ้นมาพอสมควร โดยเฉพาะในหมู่ชนที่มีการศึกษาสูงกระทั่งผู้ที่เรียนหนังสือกับฝรั่งมาหลายๆ ปี ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับว่าพลิกทฤษฎีรัฐศาสตร์เก่าๆ ที่ว่าคนชั้นกลางเป็นฐานของระบอบประชาธิปไตยไปเลย

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะรู้สึกอึดอัดกับรัฐธรรมนูญนี้แค่ไหน ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ได้รับการยอมรับโดยเสียงข้างมาก โดยมีคนเห็นชอบราว 16.8 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบราว 10.5 ล้านเสียง แน่ล่ะ  โดยหลักการแล้วต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้โดยผ่านความเห็นชอบ แต่ในโลกความเป็นจริง คน 10 ล้านไม่ใช่คนหยิบมือเดียวที่จะมองข้ามได้ โดยยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าในช่วงรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีพื้นที่น้อยมากในการนำเสนอทัศนะของตน และยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าถอยไปต้นปี 2557 ประชาชนที่มาลงคะแนนเลือกตั้งโดยเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกจากวิกฤตที่ดีกว่ารัฐประหารก็มีจำนวนมากถึง 20 ล้านคน ทั้งที่มีความพยายามที่จะขัดขวางการเลือกตั้งครั้งนั้นในหลายๆ แห่ง

การที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลที่คิดต่าง
ด้วยเหตุดังกล่าว การวางแผนผังจัดสรรอำนาจโดยไม่สอดคล้องกับดุลอำนาจทางสังคมที่เป็นอยู่
โดยผลักดันฐานะครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์มากเกินจริง
จึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทานหรือกระทั่งระเบิดเวลาไว้ตั้งแต่ต้น
อะไรเล่าทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกล้าทำอะไรที่เกินดุลกำลังเปรียบเทียบ
ระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำ
คำตอบอยู่ที่นโยบายสองประการ หนึ่ง คือ นโยบายไทยแลนด์ 4.0
สอง คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าวด้วยกลไกประชารัฐ

ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามเนื้อหา การที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลที่คิดต่าง ด้วยเหตุดังกล่าว การวางแผนผังจัดสรรอำนาจโดยไม่สอดคล้องกับดุลอำนาจทางสังคมที่เป็นอยู่โดยผลักดันฐานะครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์มากเกินจริงจึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทานหรือกระทั่งระเบิดเวลาไว้ตั้งแต่ต้น เช่นนี้แล้วอะไรเล่าทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกล้าทำอะไรที่เกินดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำ โดยบัญญัติให้เสียงของประชาชนมีผลน้อยที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลและกำหนดนโยบาย ในความเห็นส่วนตัวของผม คำตอบอยู่ที่นโยบายสองประการ หนึ่ง คือ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยยกประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือที่เรียกกันว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 สอง คือ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าวด้วยกลไกประชารัฐ

แม้ดูภายนอกแล้วเหมือนนโยบายทั้งสองอย่างดังกล่าวเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่านี่เป็นมาสเตอร์แพลนในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก มันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำซึ่งมีการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน  แน่ล่ะ กล่าวสำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลชุดนี้ยังยึดโยงกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ซึ่งดำเนินไปในแนวทางของเสรีนิยมใหม่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 10 แห่ง รวมทั้งการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ล้วนเป็นโครงการที่จะใช้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติหรือทุนในประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคิดเป็นงบประมาณถึง 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มเส้นทางขนส่งในระบบราง สร้างสนามบินและท่าเรือน้ำลึก ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มความโยงใยอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับทุนนิยมโลกทั้งสิ้น ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ถอด 19 ธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพื่อเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ได้โดยเสรี ซึ่งบรรดาธุรกิจทั้ง 19 ประเภท มีธุรกิจการนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่า หรือธุรกิจที่มีส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นคู่สัญญาด้วย

แต่ก็อีกนั่นแหละ หากอาศัยระบบทุนนิยมที่ไร้ชาติมาสนองผลประโยชน์แห่งชาตินั้นนับเป็นเรื่องที่มีปัญหาย้อนแย้งกันอยู่ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดในรัฐบาลนี้แต่เป็นปัญหามาพักใหญ่แล้ว จริงอยู่การลงทุนของต่างชาติอาจเป็นหัวรถจักรฉุดลากเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอัตราที่สูงขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้นำไปสู่การกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำโดยอัตโนมัติ กระทั่งสวนทางกันในหลายๆ กรณี การที่รัฐไทยต้องลดภาษีนิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเวลา 5 ปี อนุญาตให้เช่าที่ดินและใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นได้ในระยะยาว ลดเงื่อนไขหลายๆ อย่างให้นักลงทุนพอใจ ย่อมหมายถึงว่าผลประโยชน์สูงสุดต้องตกเป็นของฝ่ายทุนอย่างแน่นอน ใช่หรือไม่ว่า โดยสภาพดังกล่าวย่อมขัดแย้งกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำหรือการปรับโครงสร้างรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น

พูดแบบตรงไปตรงมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นสะสมตัวมาหลายทศวรรษแล้ว ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่ทราบกันดีว่า คนรวย 10% แรกของประชากรไทยมีรายได้สูงกว่าคนจนที่สุด 10% ล่างถึง 35 เท่า และคนรวย 10% นี้เป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 79% ล่าสุด จากการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐกิจของนิตยสารฟรอบส์ปรากฏว่าเศรษฐี 500 กว่าคนที่รวยที่สุดในโลก มีคนไทยถึง 4 คน บางคนถึงขนาดติดอยู่ในร้อยชื่อแรก มีทรัพย์สินมากกว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนประเทศไทยนั้นถูกจัดเป็นประเทศเหลื่อมล้ำอันดับ 3 ของโลกรองจากรัสเซียและอินเดีย ทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในไทยได้เป็นอย่างดีคือ ที่ดิน เราจะเห็นได้ว่าเกษตรกร 40% ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง ขณะที่คนไทยมากกว่า 3 ใน 4 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆ เลย นักธุรกิจบางตระกูลกลับถือครองที่ดินถึง 6.3 แสนไร่ โฉนดที่ดิน 60% ของไทยอยู่ในมือประชากร 10% แน่นอน ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินย่อมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางการศึกษาและทางเลือกในการประกอบอาชีพ ตลอดจนการปรับตัวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์

สภาพดังกล่าวทำให้การเปลี่ยนสถานะทางชนชั้นของผู้เสียเปรียบเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้โครงสร้างทางชนชั้นของสังคมไทยมีลักษณะแข็งตัว และสร้างรอยแยกอย่างถาวรให้กับสังคม ความเหลื่อมล้ำสุดขั้วนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงของชนทุกชั้น ด้วยเหตุดังนี้ทุกฝ่ายจึงแสวงหาอำนาจการเมืองมาดูแลตน หรือใช้มันเปลี่ยนเกมที่ตนกำลังเสียเปรียบ ซึ่งอาจเป็นอำนาจเผด็จการก็ได้ในกรณีของชนชั้นสูงและคนชั้นกลางส่วนบน หรืออาจเป็นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้อย่างในกรณีเกษตรกรรายย่อยในชนบท จริงอยู่การใช้อำนาจทางการเมืองมาคุ้มครองผลประโยชน์ทางชนชั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ของมนุษยชาติ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ความปั่นป่วนผันผวนในเรื่องนี้ยิ่งทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นทั้งในสังคมไทยและยุโรป สหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ ฯลฯ

กลับมาเรื่องประเทศไทย 4.0 มันอาจเร็วไปที่จะประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายนี้ แต่ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้นมีความมุ่งหมายที่ดีในการพาประเทศไทยออกจากประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้โดยลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแล้วหันมาโฟกัสที่การค้าและการบริการ อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเปลี่ยนกระบวนการผลิต การทำงานอาศัยระบบดิจิตัล และอาศัยนวัตกรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแกนหลักของการสร้างรายได้

ตามนโยบายประชารัฐ รัฐราชการเสนอตัวเป็นแกนนำผสานความร่วมมือ
ระหว่างทุนใหญ่กับธุรกิจรายย่อยหรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่น
โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อน
ด้วยเหตุดังนี้ ประชารัฐ จึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก
เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน
ไหลลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง
ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้

แต่ก็อีกนั่นแหละ คนไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับการก้าวไปสู่การทำงานในระบบ 4.0 ในเรื่องนี้ประเด็นความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นอุปสรรค ถ้าดูตัวเลขผู้มีงานทำ 37.4 ล้านคน แรงงานในระบบอายุ 40 ปีขึ้นไปมีถึง 46% และสัดส่วนแรงงานในระบบ 50.5% เรียนหนังสือไม่เกินชั้นประถม ในจำนวนนี้มีถึง 1.2 ล้านคนที่ไม่มีการศึกษาเลย ในเมื่อแรงงานครึ่งหนึ่งอายุมากและมีการศึกษาน้อย การปรับตัวและยกระดับให้เป็นแรงงาน 4.0 คงทำได้ยากทีเดียว ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นไปได้ที่อำนาจการต่อรองของคนงานจะลดลงมากเพราะการผลิตการค้าและการบริการนับวันจะมีการใช้แรงงานน้อยลง โดยมีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ คนงานที่จะปรับทักษะให้สอดคล้องกับหุ่นยนต์และนวัตกรรมใหม่ๆ คงมีจำนวนน้อย คนที่จะตกงานมีมาก กลายเป็นสินค้าล้นตลาดราคาตกต่ำ ล่าสุด อีคอนไทย หรือสภาองค์การนายจ้างและผู้ประกอบการไทยได้ประเมินว่าจะมี 8 อาชีพที่เสี่ยงตกงานเพราะเทคโนโลยี 4.0 นั่นคือ พนักงานขายปลีกหน้าร้านในห้างและพนักงานขายตรง พนักงานโรงแรม พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน พนักงานในภาคอุตสาหกรรม แรงงานในภาคลอจิสติกส์ บุรุษพยาบาลและคนดูแลผู้ป่วย คนขับรถยนต์และรถบรรทุก คนทำงานเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในบรรดากลุ่มเสี่ยงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมถือครองสัดส่วน 80% ของมูลค่าส่งออก แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุค 2.0-2.5 ซึ่งในสัดส่วนนี้มี 25% เปราะบางมาก

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายผู้ประกอบการดูจะมีความพร้อมมากกว่าในการเข้าสู่ยุค 4.0 ดังที่จะเห็นผู้ประกอบการและหอการค้าไทยยืนยันว่าปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่มีความพร้อมแล้ว นโยบายของหอการค้าเองก็ผลักดันให้ผู้ประกอบการประมาณ 1 แสนรายทั่วประเทศเข้าสู่การค้าและการบริการแบบ 4.0 โดยตั้งเป้าไว้ในแผนงาน 2560-2561 ว่าจะยกระดับผู้ประกอบการ 50,000 รายให้มีศักยภาพสูงขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น 30%  หรือราว 20,000-30,000 ล้านบาท ปัจจุบันสัดส่วนจีดีพีในภาคการค้าและการบริการคิดเป็น 52% ของจีดีพีประเทศ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า การใช้ทุนข้ามชาติมาช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทยก็ดี ความสับสนอลหม่านด้านแรงงานในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ดี ล้วนแล้วแต่จะนำกลับมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การลดช่องว่างระหว่างรายได้จะเป็นแค่ความฝันระยะไกล

ผมคิดว่าผู้บริหารปัจจุบันคงรู้ปัญหาดีอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐราชการจึงหันมาใช้ระบบสวัสดิการอ่อนๆและระบบสังคมสงเคราะห์ เพื่อลดแรงกดดันจากชนชั้นล่าง ในการนี้รัฐบาลปัจจุบันเตรียมงบประมาณไว้ 80,000 ล้านบาทในการช่วยเหลือดูแลคนจนที่มาลงทะเบียนไว้ 14 ล้านคน

นโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก
โดยทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ
หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
แต่ที่แน่ๆ ในทางนโยบายแล้ว มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง
...การหวังให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อนการยกระดับฐานะของธุรกิจ SMEs และธุรกิจชั้นล่างๆ
จะไม่สวนทางกับคำว่า "ชาติ" ของระบบทุนหรอกหรือ
เป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาใหญ่จะไม่กินปลาเล็ก

นอกจากนี้ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้อาศัยการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเศรษฐกิจ 4.0 แต่อย่างเดียว  แต่ยังคิดยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "กลไกประชารัฐ" ขึ้นมาเป็นเครื่องจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จุดที่น่าสนใจที่สุดก็คือ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเติบโตของจีดีพีเท่านั้น หากแต่ยังมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ไปพร้อมกัน ตามนโยบายประชารัฐ รัฐราชการเสนอตัวเป็นแกนนำผสานความร่วมมือระหว่างทุนใหญ่กับธุรกิจรายย่อยหรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่น ทั้งนี้โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อน ด้วยเหตุดังนี้ ประชารัฐ จึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน ไหลลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ มันคือความพยายามที่จะแปรความขัดแย้งทางชนชั้นที่หลายท่านเกลียดและกลัว มาเป็นความร่วมมือทางชนชั้นภายใต้การนำของรัฐราชการ ดังนั้นกลไกประชารัฐจึงมีกลิ่นอายของความรักความสามัคคีของคนในชาติพอสมควร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงลัทธิ corporatism กับนิยามเรื่องรัฐของเฮเกล สิ่งที่เราไม่รู้คือ นโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก โดยทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ ในทางนโยบายแล้ว มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง ดังจะเห็นจากคำพูดของผู้นำเครือข่ายประชาสังคมท่านหนึ่งซึ่งกล่าวว่า "ประชานิยมคือการเอาเงินของรัฐไปแจกชาวบ้าน นักการเมืองเอาบุญคุณ ชาวบ้านอ่อนแอเรื่อยไปไม่หายจน ประชารัฐคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชนคนรากหญ้าให้พ้นความยากจน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ สามารถควบคุมนักการเมืองทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง"

แน่นอน ถ้าตัดเรื่องเจตนาออกไปแล้ว การหวังให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อนการยกระดับฐานะของธุรกิจ SMEs และธุรกิจชั้นล่างๆ จะไม่สวนทางกับคำว่า "ชาติ" ของระบบทุนหรอกหรือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาใหญ่จะไม่กินปลาเล็ก อาจจะเร็วเกินไปที่จะมีข้อสรุปแบบฟันธงเรื่องนี้ออกมา แต่ที่น่าสนใจก็คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้เศรษฐกิจแบบไหน แต่เน้นว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและยั่งยืน อันนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยืนยันว่าประเทศไทยต้องใช้เศรษฐกิจเสรีและอาศัยกลไกตลาดเท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว จะทำให้รัฐเข้าไปไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างทุนใหญ่กับผู้ผลิตรายย่อยได้ง่ายขึ้น และบางทีอาจจะมีผลประโยชน์นอกกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เที่ยวนี้ชนชั้นนำภาครัฐไม่ได้เข้ามากุมอำนาจอย่างเฉื่อยเนือย
หรือแค่รักษาผลประโยชน์เดิมๆ ไปวันๆ
ตรงกันข้ามพวกเขาเปิดฉากรุกทางการเมืองอย่างเข้มข้น เป็นระบบ
ถึงขั้นมีมาสเตอร์แพลนในการสถาปนาอำนาจนำของตนให้มั่นคง ยั่งยืน และอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัตน์

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดคงเห็นแล้วว่า เที่ยวนี้ชนชั้นนำภาครัฐไม่ได้เข้ามากุมอำนาจอย่างเฉื่อยเนือย หรือแค่รักษาผลประโยชน์เดิมๆ ไปวันๆ ตรงกันข้ามพวกเขาเปิดฉากรุกทางการเมืองอย่างเข้มข้น เป็นระบบ ถึงขั้นมีมาสเตอร์แพลนในการสถาปนาอำนาจนำของตนให้มั่นคง ยั่งยืน และอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัตน์ พูดอีกแบบคือ 3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในเมืองไทยไม่ได้สะท้อนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่ากับเครือข่ายการเมืองของนายทุนบางกลุ่ม หากแต่ยังสะท้อนความพยายามของชนชั้นนำภาครัฐที่จะสร้างสังคมตามแนวคิดอนุรักษ์นิยมคู่ขนานกับการเกี่ยวร้อยกับทุนนิยมโลก มันเป็นความพยายามที่จะดำรงฐานะนำของรัฐราชการในการบริหารระบบทุนไร้พรมแดน แต่ประเด็นมีอยู่ว่า อุดมการณ์และวาทกรรมแบบรัฐชาติของระบบราชการนั้นโดยเนื้อแท้แล้วก็ไปกันไม่ได้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ขับเคลื่อนทุนไร้ชาติไร้พรมแดน ด้วยเหตุดังนี้เราจึงเห็นสภาพขัดแย้งกันเองระหว่างนโยบายเศรษฐกิจที่แลไปข้างหน้า กับนโยบายทางสังคมการเมืองที่แลไปข้างหลัง เช่น การศึกษาแบบท่องจำกับเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรม ดังที่นอม ชอมสกี้ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นถือปัจเจกชนเป็นตัวตั้งและใช้กลไกตลาดกร่อนสลายสังคม ชุมชน ชาติ หรือองค์รวมใดๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจมาก ในขณะที่รัฐราชการของไทยสมาทานลัทธิ neoliberal ซึ่งมีทั้งแนวคิดและการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับคอนเซ็ปท์ผลประโยชน์แห่งชาติหรือรัฐชาติ รัฐนี้จะยังคงใช้วาทกรรมรัฐชาติกึ่งจารีตขับเคลื่อนสังคมไทยให้หมุนตามศูนย์อำนาจได้แค่ไหน

กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว สิ่งที่ คสช.เสนอนับเป็นการ challenge ครั้งใหญ่ต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองตลอดจนนักทฤษฎีฝ่ายประชาธิปไตยครั้งใหญ่ ซึ่งถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับผังอำนาจและแนวทางบริหารประเทศแบบ Top-Down ก็คงต้องมีข้อเสนอในระดับที่ Grand พอๆ กัน ไม่ใช่พูดแค่หลักการลอยๆ เรียนตรงๆ ถ้าพรรคการเมืองใดคิดอะไรไม่ได้มากไปกว่าชนชั้นนำภาครัฐ หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ ก็ป่วยการที่จะมีพรรคเหล่านั้น เพราะพวกเขาจะกลายเป็นแค่กลุ่มแสวงหาอำนาจและเป็นแค่ส่วนตบแต่งพลังอำนาจที่ขับเคลื่อนรัฐราชการและควบคุมสังคมไทยอยู่แล้ว แต่ก็อีกนั่นแหละ

สิ่งที่ คสช.เสนอนับเป็นการ challenge ครั้งใหญ่ต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง
ตลอดจนนักทฤษฎีฝ่ายประชาธิปไตยครั้งใหญ่
ถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับผังอำนาจและแนวทางบริหารประเทศแบบ Top-Down
ก็คงต้องมีข้อเสนอในระดับที่ Grand พอๆ กัน ไม่ใช่พูดแค่หลักการลอยๆ
เรียนตรงๆ ถ้าพรรคการเมืองใดคิดอะไรไม่ได้มากไปกว่าชนชั้นนำภาครัฐ
หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ ก็ป่วยการที่จะมีพรรคเหล่านั้น

เรื่องนี้มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งล้วนเติบโตมาจากช่วงระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 จึงคุ้นเคยกับการร่วมมือกับชนชั้นนำภาครัฐในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกฯ คนนอก ดังนั้น ฉากหนึ่งที่อาจเกิดคือ พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งอาจผนึกกำลังกันหนุนผู้นำทางกองทัพทั้งที่เคยกีดกันพวกเขามาในการเลือกตั้งหลายครั้งมาก และชิงส่วนแบ่งอำนาจมาไว้กับตนแม้จะต้องเล่นบทพระรองก็ตาม การดูถูกหมิ่นหยามนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำภาครัฐแสดงออกอย่างเปิดเผยตลอดมา เพราะมันเป็นวาทกรรมหรือฐานคิดที่ลดฐานะนำของสถาบันในระบอบประชาธิปไตยอย่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3  ปีที่ผ่านมาคณะรัฐประหารและมวลชนที่สนับสนุนมักจะใช้วาทกรรมต่อต้านคอร์รัปชันพุ่งเป้าใส่นักการเมือง ตอนแรกอาจหมายถึงพรรครัฐบาลที่ถูกโค่น ต่อมากลับออกไปในทางเหมารวมทั้งหมด ทั้งที่ความจริง ข้าราชการกับพ่อค้านักธุรกิจต่างหากที่เป็นต้นแบบการคอร์รัปชั่น และมันก็ไม่ได้หายไปไหนในการปกครองแบบอำนาจนิยมนี้ จากการประกาศค่าดัชนีชี้วัดจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ต้นปี 2560 ไทยได้คะแนนเพียง 35 จาก 100 คะแนน ทำให้อออยู่ในอันดับ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ คะแนนดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 43 คะแนน ก่อนหน้านี้ในปี 2557 ไทยเคยได้ 38  อยู่อันดับที่ 85 ปี 2558 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 76 แต่คะแนนยังอยู่ที่ 38 เหมือนเดิม สาเหตุที่ทำให้คะแนนลดลงในคะแนนปีล่าสุด เพราะมีการนำข้อมูลความเป็นประชาธิปไตยเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องคอร์รัปชัน ยังเป็นประเด็นการเมืองที่มีนัยสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสังคมไทย ดังเราจะเห็นได้จากคำถาม 4 ข้อเรื่องธรรมาภิบาลที่ฝ่ายรัฐตั้งขึ้นแล้วรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันตอบ ใช่หรือไม่ว่า คำถามเหล่านั้นแท้จริงแล้วคือการเปิดฉากรุกทางการเมืองต่อบรรดานักการเมืองอีกระลอกหนึ่ง โดยผู้กุมอำนาจช่วงชิงเป็นฝ่ายกระทำก่อนเลือกตั้งจะเกิดขึ้น แต่อย่าเข้าใจผิด ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการกระทำระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลายท่านอาจมองว่าต้องการส่วนอำนาจ หากเป็นการต่อสู้ระดับชิงระบอบของ state elite ซึ่งต้องการสถาปนาความชอบธรรมของตนและลดทอนความชอบธรรมของคู่แข่ง ถ้าเรามองในระดับนี้จะพบว่า ฝ่ายชนชั้นนำเก่ามีสำนึกและยุทธศาสตร์ในการต่อสู้มากกว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองซึ่งมักมุ่งหวังชัยชนะที่แคบกว่ากันมากเพียงในระดับบุคคลหรือพรรคของตนเท่านั้น

ในสายตาของผม โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับพรรคราชการได้ คือ
ต้องร่วมมือกันเองอย่างเหนียวแน่น แล้วตอบคำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องตอบคำท้าใหญ่เรื่องการพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย
ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริงและเป็นธรรมมากกว่า

อันที่จริง ประเด็นธรรมาภิบาลตามความหมายสากล ไม่ใช่เรื่องศีลธรรม จริยธรรมหรือเรื่องคนดีแบบฉาบฉวย หากเป็นกระบวนการบริหารจัดการที่นำไปสู่ประสิทธิภาพ สะอาดปราศจากข้อกังขา กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วม และหลักฉันทามติเป็นสำคัญ ดังนั้น ถ้ากล่าวในเชิงคอนเซ็ปท์ล้วนๆ ระบอบประชาธิปไตยย่อมสร้างธรรมาภิบาลได้มากกว่าระบอบอำนาจนิยม อย่างไรก็ดี ไม่ทราบเป็นเพราะมีแผลกันอยู่มากหรือด้วยเหตุผลใด บรรดานักการเมืองจึงไม่ออกมาโต้แย้งเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีท้วงติงบ้างก็เป็นรายบุคคล ในสายตาของผม โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับพรรคราชการได้ คือ ต้องร่วมมือกันเองอย่างเหนียวแน่น แล้วตอบคำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องตอบคำท้าใหญ่เรื่องการพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริงและเป็นธรรมมากกว่า

ดังนั้น การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทางคือ ทางแรก นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่ได้กุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย กลายเป็นการเมืองแบบที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบเกี้ยเซียะ ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจผนึกกำลังทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ มีข้อเสนอแนะข้อโต้แย้งที่แตกต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศเรา

ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 แวดวงวิชาการเคยพูดถึงการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด
ปัจจุบันคนเหล่านี้คือเป้าหมายหลักที่นโยบายประชารัฐต้องการช่วงชิงเป็นภาคี
ดังนั้นจึงน่าสนใจมากว่าจากนี้ไปกลไกของฝ่ายอนุรักษณ์
จะสลายความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวนาเสื้อแดงได้หรือไม่
การเลือกตั้งครั้งหน้าฐานมวลชนกลุ่มนี้จะย้ายค่ายหรือไม่

กล่าวสำหรับภาคประชาชนโดยทั่วไป ฐานะของพวกเขาจะเป็นเช่นไรภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 และกลไกประชารัฐ ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน อันดับแรก หากพูดเรื่องเลือกตั้ง เสียงของพวกเขาจะมีน้ำหนักลดลง เพราะระบบเลือกตั้งใหม่และอำนาจของ ส.ว.จากการแต่งตั้ง จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองไหนจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้นทางเลือกในระดับนโยบายก็จะหายไปด้วย จะว่าไปแม้แต่ในเรื่องนี้ชนชั้นนำภาครัฐและมวลชนห้อมล้อมก็ขับเคลื่อนวาทกรรมดักหน้าไว้แล้วว่า การเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย วาทกรรมดังกล่าวใช้ประโยชน์ได้สองทาง คือลดทอนเครดิตของการเมืองแบบเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็คล้ายจะหันเหความสนใจของประชาชนจากประเด็นที่เสียงของพวกเขามีน้ำหนักน้อยลง กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมาเสียงประชาชนเคยมีน้ำหนักมากในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนโยบายที่พวกเขาพอใจ คนเหล่านี้ถูกทำให้เงียบสนิทมาตลอด 3 ปี ถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าเขาคิดอย่างไร จะแสดงออกทางการเมืองแบบไหนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทุกท่านคงนึกออกว่าในอดีตชาวนาไทยถูกทิ้งให้จมปลักกับความเสียเปรียบและไม่ถูกนับในทางการเมืองมาเป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้ เมื่อพรรคหนึ่งเสนอแนวทางประชานิยมช่วยเรื่องหนี้สินและราคาผลผลิต บรรดาเกษตรกรจึงสนับสนุนอย่างท่วมท้นและกลายเป็นผู้ตื่นตัวแบบฉับพลัน ก็น่าสนใจว่าเมื่อแนวทางแบบประชานิยมถูกปิดกั้นชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นไร

ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 แวดวงวิชาการเคยพูดถึงการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันคนเหล่านี้คือเป้าหมายหลักที่นโยบายประชารัฐต้องการช่วงชิงเป็นภาคี ดังนั้นจึงน่าสนใจมากว่าจากนี้ไปกลไกของฝ่ายอนุรักษณ์จะะสลายความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวนาเสื้อแดงได้หรือไม่ การเลือกตั้งครั้งหน้าฐานมวลชนกลุ่มนี้จะย้ายค่ายหรือไม่

อันดับต่อมา การเมืองภาคประชาชนจะมีสภาพเป็นเช่นใดกติกาการเมืองชุดล่าสุด พื้นที่สำหรับการเมืองภาคประชาชนยังมีเหลือหรือมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ถ้าพูดกับตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว เราอาจจะมองโลกในแง่ดีได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ยังยืนยันสิทธิเสรีภาพประชาชนในด้านต่างๆ ไว้โดยละเอียด ในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 49 อีกทั้งยังมีมาตรา 77 ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรากฎหมายแต่ละฉบับ และมาตรา 133 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเพื่อเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพได้  

คำมั่นสัญญาในรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรม 
สิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นดูจะมีเงื่อนไขมากเหลือเกิน
โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเอื้อต่อการตีความครอบจักรวาล
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเล็กกฎหมายน้อย
สิทธิเสรีภาพของชาวบ้านย่อมขัดแย้งประสางากับความจริงทางเศรษฐกิจสังคมในไทย
ซึ่งสรุปได้ด้วยคำสองคำ คือ เหลื่อมล้ำ และ อยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาในรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นดูจะมีเงื่อนไขมากเหลือเกิน โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเอื้อต่อการตีความครอบจักรวาล ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเล็กกฎหมายน้อย นอกจากนี้สิทธิเสรีภาพของชาวบ้านย่อมขัดแย้งประสางากับความจริงทางเศรษฐกิจสังคมในไทย ซึ่งสรุปได้ด้วยคำสองคำ คือ เหลื่อมล้ำ และ อยุติธรรม

ดังนั้น ลำพังมีกฎหมายคุ้มครองก็ไม่ได้หมายความว่าช่องว่างนี้จะหดแคบโดยพลัน เรามีตัวอย่างมากมายที่สิทธิชุมชนถูกละเมิดโดยทุนใหญ่หรือไม่ก็โครงการของรัฐเอง อีกทั้งตัวบุคคลที่เป็นผู้นำชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าการเมืองภาคประชาชนนั้นมักจะเป็นเรื่องปากท้องและฐานทรัพยากรของชุมชน เราก็คงมองเห็นว่านโยบายสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ดี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็ดี สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังได้ เช่น ในกรณีท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ปัญหาที่ดินทำกินที่แม่สอด และกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เป็นต้น

แม้ว่านโยบายประชารัฐโดยกองทุนหมู่บ้าน จะมีโครงการเปิดร้านค้าชุมชน 2 หมื่นแห่ง ตลาดประชารัฐอีก 1,300 แห่ง แต่ถ้ายังคงเต็มไปด้วยปัญหาที่ดินทำกิน ถูกรุกล้ำฐานทรัพยากร การพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าในแนวนี้ก็คงไม่อาจราบรื่น

แน่นอน ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ภาคประชาชนเองก็อาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเช่นกัน ในระยะหลังพวกเขาใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ต่างๆ มาสนับสนุนการต่อสู้ของตนในปกป้องฐานทรัพยากรตนเอง ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้การเมืองข้างถนนเป็นการเมืองคีย์บอร์ดมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีอาจเป็นเพราะเหตุนี้ ผนวกกับสภาพการชุมนุมล้นเกินก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ตลอดจนความรู้สึก insecure อ่อนไหวในเรื่องอุดมการณ์ของรัฐ ชนชั้นนำที่กุมอำนาจจึงต้องการจำกัดขอบเขตของประชาธิปไตยทางตรงไปพร้อมกับประชาธิปไตยตัวแทน กล่าวคือ นอกจากกลไกคุมนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ยังมีการคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อที่ผลักดันกันอยู่  

นอกจากกลไกคุมนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ยังมีการคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน
เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ
อันนี้ไม่ทราบว่าตรงกับนักวิชาการบางท่านเรียกว่า สภาวะ deep state หรือ รัฐพันลึกได้หรือไม่
กล่าวคือ จะมีเลือกตั้งหรือรูปแบบภายนอกเป็นประชาธิปไตยก็มีไป
แต่เบื้องลึกรัฐยังควบคุมสังคมผ่านสารพัดกลไก

อันนี้ไม่ทราบว่าตรงกับนักวิชาการบางท่านเรียกว่า สภาวะ deep state หรือ รัฐพันลึกได้หรือไม่ กล่าวคือจะมีเลือกตั้งหรือรูปแบบภายนอกเป็นประชาธิปไตยก็มีไป แต่เบื้องลึกรัฐยังควบคุมสังคมผ่านสารพัดกลไก

กลุ่มสุดท้ายที่ผมอยากจะเอ่ยถึงด้วยความเกรงใจ คือ ปัญญาชนและนักวิชาการ ชนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการเมืองสูงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพียงแต่วิวัฒน์จากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิต สมณะ มาเป็น ผศ. รศ. คอลัมนิสต์ หรือนักวิชาการอิสระเท่านั้นเอง

เท่าที่สังเกตเห็น ซึ่งอาจมองผิด ผมรู้สึกว่าปัญญาชนที่ถือตนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่ค่อย connect  กับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ส่วนใหญ่พอใจอยู่กับการออกความเห็นในเฟซบุ๊ก กระทั่งบางส่วนออกจะรังเกียจการเมืองภาคประชาชนโดยเห็นว่าแกนนำบางคนเคยต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

สำหรับเรื่องนี้ผมเองค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจ เพราะในอดีตทศวรรษ 1960 และ 1970 บรรดานักศึกษา ปัญญาชน นักวิชาการพากันเข้าหาประชาชนจนไม่เป็นอันอยู่ในห้องเรียน ครั้นเติบโตมีประสบการณ์มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในการพ่ายแพ้ ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่าดุลกำลังเปรียบเทียบทางการเมืองนั้นเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าสังคมกำลังมีปัญหาอะไร ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเกี่ยวร้อยกับพลังที่เป็นคุณในแต่ละช่วงสถานการณ์ผู้นั้นย่อมโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน

การเมืองเป็นเรื่องของฉันทามติ นักเคลื่อนไหวจึงต้องเอาสิบสู้สิบเสมอ เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างเดียวกับตน ไม่ใช่เอาหนึ่งสู้สิบแล้วนั่งภูมิใจท่ามกลางความพ่ายแพ้

แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมสงสัยว่าปัญญาชนรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ได้คิดอะไรในแนวนี้อีกแล้ว และสำหรับหลายคนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจเป็นความคิดก็ได้ หรือโดยไร้ความคิดก็ได้ นับเป็นจุดหมายสูงสุดในตัวมันเอง

ดุลกำลังเปรียบเทียบทางการเมืองนั้นเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าสังคมกำลังมีปัญหาอะไร
ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเกี่ยวร้อยกับพลังที่คุณเป็นคุณในแต่ละช่วงสถานการณ์
ผู้นั้นย่อมโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน การเมืองเป็นเรื่องของฉันทามติ
นักเคลื่อนไหวจึงต้องเอาสิบสู้สิบเสมอ เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างเดียวกับตน
ไม่ใช่เอาหนึ่งสู้สิบแล้วนั่งภูมิใจท่ามกลางความความพ่ายแพ้

มันเป็นไปได้หรือไม่ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ neoliberalism นั้นซึมลึกมาในสังคมมากกว่าที่เราคิด  แม้แต่ในหมู่ปัญญาชนที่ถือตนว่าหัวก้าวหน้า หรือปัญญาชนประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมสุดขั้วยังเข้ามาครอบงำอย่างหนาแน่น

ระบบเฟซบุ๊กก่อให้เกิดสภาพหนึ่งคนเป็นหนึ่งสำนัก และเมื่อเกิดหลายสำนักสิ่งที่หายไปคือสำนึก โดยเฉพาะสำนึกเรื่ององค์รวม หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังเป็นกลุ่มก้อน ขบวนการ บางท่านใช้เวลาในการวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกัน มากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลัง

และถ้าจะให้พูดตรงๆ ยกเว้นนักวิชาการอาวุโสที่เป็นผู้นำทางความคิดกับนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ในท้องถิ่นแล้ว ผมเห็นว่า ปัญญาชนจำนวนมากเกินไป แทบจะไม่พยายามไปเกี่ยวร้อยกับความทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนกลุ่มต่างๆ เลย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงยังไม่สามารถทำให้ความคิดของตน matter ในสังคมไทย ศักยภาพทางการเมืองของพวกเขายังคงเป็นแค่ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริงแต่ไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริง 

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมหวังว่าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้คงไม่ใช่การมองโลกเชิงลบมากเกินไป ผมเพียงแต่ชวนท่านมองความเป็นจริงโดยไม่หลบตา เพราะมีแต่มอบตัวให้กับความจริงเท่านั้นจึงจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ตรงตามเงื่อนไขเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น และหวังว่าแง่คิดที่นำมาเสนอจะมีส่วนจดประเด็นให้ท่านไปทำวิจัยต่อได้บ้าง ไม่มากก็น้อย สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ยังขาดองค์ความรู้มาประกอบการพิจารณาเป็นอย่างมาก ส่วนตัวผมเองก็ทำได้แค่ตั้งข้อสังเกตผ่านสายตาชายชรา

ในวันนี้ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตน
และฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ
แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ
...แน่นอน ที่ไหนมีการเมืองทีนั่นก็มีการแข่งขันชิงอำนาจ ที่นั่นก็มีความขัดแย้ง
และความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองก็เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง

นับจากพ.ศ.2475 มาถึงวันนี้ เราคงต้องยอมรับว่าเส้นทางวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยไม่ใช่เส้นตรง หากยักเยื้องแบบ dialectical หรือเป็นลักษณะวิภาษ หลายปีที่ผ่านมาการเมืองการปกครองไทยเปลี่ยนไปตามความขัดแย้งระหว่างพลังอำนาจนิยมกับพลังประชาธิปไตย ซึ่งด้านหลักเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่จากนอกระบบราชการ โดยมีประชาชนหลายชั้นชนเป็นตัวแปรสำคัญ

แต่ในกระบวนการคลี่คลายของความขัดแย้งทุกรอบ ก็ยังมีความขัดแย้งอื่นๆ เข้ามาแทรก เช่น ความขัดแย้งระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางเก่ากับคนชั้นกลางใหม่ หรือ ความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับคนงาน ความขัดแย้งระหว่างชาวชนบทกับคนเมืองหลวง กระทั่งความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นปกครองและในหมู่ประชาชนด้วยกัน

ความขัดแย้งที่ทาบซ้อนกันเหล่านี้เป็นแหล่งที่มาของการจัดกำลังเผชิญหน้ากันในยามที่สถานการณ์ดำเนินมาถึงช่วงวิกฤต ซึ่งฝ่ายไหนมีดุลกำลังเปรียบเทียบที่เหนือกว่าและมีแนวทางการต่อสู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเฉพาะหน้ามากกว่า ฝ่ายนั้นก็ชนะไป

ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ มักตกค้างในภาวะ antithesis นานเกินไป จนหา synthesis ไม่เจอ

ในวันนี้ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ

การที่รัฐธรรมนูญ 2560 จัดผังอำนาจโดยขยายบทบาทของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนไว้มาก อันนี้เท่ากับนำระบบราชการเข้ามาซ้อนทับและครอบงำปริมณฑลทางการเมือง ซึ่งในด้านหนึ่งนับเป็นการลดทอนบทบาทของประชาชนในกระบวนการคัดสรรและควบคุมผู้กุมอำนาจ แต่ในอีกด้านหนึ่งย่อมจะทำให้ภาคราชการมีการเมืองมากขึ้น ข้าราชการระดับสูงกลายเป็นนักการเมืองไปโดยปริยาย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าระบบวุฒิสภาแต่งตั้งจะยิ่งทำให้นักการเมืองนอกระบบผุดขึ้นเต็มไปหมด

แน่นอน ที่ไหนมีการเมืองทีนั่นก็มีการแข่งขันชิงอำนาจ ที่นั่นก็มีความขัดแย้ง และความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองก็เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง

ผมรบกวนเวลาท่านทั้งหลายมามากแล้ว ขอบคุณที่ให้เกียรติรับฟัง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไฟไหม้โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง หลังปิดตัวเมื่อปีใหม่

Posted: 19 Jun 2017 12:18 AM PDT

เหตุเพลิงไหม้ภายในโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง จนท.ควบคุมเพลิงได้แล้วเวลา 08.30 น. โดยไม่มีผู้ใดเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ผบช.น. เตรียมประสาน กทม.เข้าตรวจสอบอาคารยังมีความปลอดภัยหรือไม่  ผู้จัดการเผยพื้นที่เกิดเหตุเคยใช้เป็น กอง บ.ก. หนังสือพิมพ์ ปิดตัวไปเมื่อ 1 ม.ค.

19 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์ไทยพีบีเอส รายงานว่า วันนี้ (19 มิ.ย.60) เมื่อเวลา 07.11 น. รับแจ้งจากสายด่วน 199 เหตุเพลิงไหม้ภายในโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ซอยวิภาวดีรังสิต 38 พื้นที่เขตจตุจักร เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงลาดยาวกำลังไปที่เกิดเหตุ โดยควันไฟดำทะมึนที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ที่สัญจรบริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต และอยู่บนโทลเวย์ มองเห็นควันไฟได้ชัดเจน

ล่าสุด สำนักข่าวบ้านเมืองออนไลน์ รายงานวา่า คืบหน้าเวลา 11.00 น. หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ซอยวิภาวดีรังสิต 38 ในเวลา 07.10 น. และเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้วเวลา 08.30 น. โดยไม่มีผู้ใดเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ

เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานด้วยว่า เบื้องต้นทราบว่าได้เกิดเสียงดังขึ้นที่บริเวณ ชั้น 3 จากนั้น รปภ.ได้ตามพนักงานที่มาทำงานตอนเช้าขึ้นไปช่วยกันดับไฟ แต่เนื่องจากควันไฟที่เกิดจากเพลิงไหม้มีจำนวนมาก พนักงานที่มาพร้อมถังดับเพลิงได้พยายามทุบกระจกเพื่อเข้าไปดับไฟ แต่ดับได้แค่บางส่วน ขณะที่ควันไฟจำนวนมากเพิ่มมาขึ้น จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ต้นเพลิงได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาถึงพื้นที่ได้ฉีดไฟล้อมจำกัดวงเพลิงลงและสามารถเข้าไปดับไฟได้ในที่สุด เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมาจากไฟฟ้ารัดวงจร ขณะที่ กทม.สั่งปิดพื้นที่ 3 วัน รอผู้เชี่ยวชาญ กทม. มาสำรวจโครงสร้างของอาคารก่อนว่ามีความแข็งแรงมั่นคงหรือไม่

ผบช.น. เตรียมประสาน กทม.เข้าตรวจสอบอาคารยังมีความปลอดภัยหรือไม่ 

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุเหตุเพลิงไหม้ อาคารสำนักพิมพ์บ้านเมือง ถนนวิภาวดี แขวงลาดยาว เขตจตุจักร โดยเปิดเผยว่า เพลิงได้ลุกไหม้บริเวณชั้น 3 ด้านหลังของอาคาร และลุกลามมาด้านหน้า เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เตรียมประสานกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อปิดและเข้าตรวจสอบ พร้อมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจว่า อาคารยังมีความมั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยหรือไม่ ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดจาเหตุใด

ผู้จัดการเผยพื้นที่เกิดเหตุเคยใช้เป็น กอง บ.ก. หนังสือพิมพ์ ปิดตัวไปเมื่อ 1 ม.ค.

ด้าน พลฑิตย์ พุกพิบูลย์ ผู้จัดการทั่วไป สำนักพิมพ์บ้านเมือง เปิดเผยว่า ชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เคยใช้เป็นกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ แต่ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ปิดตัวลงแล้ว เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา เหลือแต่ส่วนงาน หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ซึ่งอยู่บริเวณชั้น 2 ขณะเกิดเหตุ พนักงานยังเข้ามาทำงาน จึงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

ขณะที่ นิบูลย์ แสงสว่าง หัวหน้าฝ่ายบุคคลสำนักพิมพ์บ้านเมือง เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุได้ยินเสียงระเบิด 2-3 ครั้ง จากด้านหลังอาคาร จากนั้นเกิดเพลิงลุกไหม้ ไม่มั่นใจว่า เสียงดังคล้ายระเบิดนั้น มาจากคอมเพรสเซอร์ แอร์ หรือไม่ ต้องรอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง

เป็นพื้นที่ว่างเปล่า 

สำนักข่าวบ้านเมืองออนไลน์ รายงานด้วยว่า พื้นที่ชั้น 3 ที่เกิดเพลิงไหม้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า เนื่องจากหลังจากหยุดผลิตหนังสือพิมพ์บ้านเมืองแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้ปรับย้ายพนักงานทั้งหมดจากชั้น 3 มาปฏิบัติงานชั้น 2 ในการนำเสนอข่าวทางเว็บไซต์ 'สำนักข่าวบ้านเมืองออนไลน์' ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรและมีพนักงานบางส่วนที่ต้องเลิกจ้าง ก็ได้มีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้อาคาร นสพ.บ้านเมือง มี 3 ชั้น โดยชั้น  1 เป็นพื้นที่ของแท่นพิมพ์หนังสือพิมพ์ และฝ่ายซ่อมบำรุง ส่วนชั้น 2 เดิมเป็นฝ่ายงานทางธุรการ ฝ่ายบุคคล การเงิน บัญชี ฝ่ายโฆษณา รวมทั้งห้องทำงานผู้บริหาร ส่วนขั้น 3 เดิมเป็นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านเมือง แต่หลังจากหยุดผลิตหนังสือพิมพ์บ้านเมืองแล้ว ได้ปรับย้ายพนักงานมาลงปฏิบัติงานชั้น 2 ทั้งหมดแล้วเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว ส่วนชั้นใต้ดินเป็นคลังเก็บสต๊อกกระดาษได้รอพิมพ์งานรับจ้างทั่วไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น