โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ถกปัญหารถพยาบาลฉุกเฉินฝ่าไฟแดงเกิดอุบัติเหตุซ้ำ

Posted: 18 Jun 2017 08:53 AM PDT

หลายหน่วยร่วมถกปัญหารถพยาบาลฉุกเฉินฝ่าไฟแดง สพฉ.เผยสถิติปี 59 รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุ 42 ครั้ง ย้ำมีมาตรฐานชัดฝึกอบรมพนักงานขับรถ พร้อมประสานตำรวจเปิดสัญญาณไฟเขียวนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตทั่วประเทศ ด้านร่วมกตัญญูนำร่องประกาศไม่ฝ่าไฟแดงอีกต่อไป

18 มิ.ย.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ฝ่าไฟแดงได้ไหม เร็วอีกนิดแล้วไง ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หมดอายุความ"  โดยมีผู้แทนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิร่วมกตัญญู โรงพยาบาลศิริราช หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุบนท้องถนนเข้าร่วมประชุม

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ.ซึ่งเป็นผู้จัดงานหลักกล่าวว่า อุบัติเหตุเกี่ยวกับรถพยาบาลฉุกเฉินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดพนักงานในมหาวิทยาลัยต้องเสียชีวิตจากการถูกรถพยาบาลฉุกเฉินขับชน ทั้งๆ ที่ผู้เสียชีวิตปฏิบัติตามกฎจราจรทุกอย่าง แม้เข้าใจเจตนารมณ์ของรถฉุกเฉินในการช่วยชีวิตคน แต่ก็เป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้การกู้ชีพเป็นการช่วยชีวิตคนโดยไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย ส่วนพ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ศ. 2522 ก็เป็นเรื่องน่าถกเถียงเพราะมีการระบุว่า รถฉุกเฉินสามารถไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรได้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่แล้วแต่กรณีไป อยากเสนอให้มีการแก้กฎหมายนี้ โดยเฉพาะห้ามการฝ่าไฟแดง พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันดูแลรถพยาบาลฉุกเฉินให้ได้มาตรฐานทั้งด้านคนขับและคุณภาพรถ

ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา จากภาควิชาการวางแผนภาพและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ปัญหานี้ต้องจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ โดยภาพใหญ่มิติของการออกแบบถนนในกรุงเทพฯ ถือว่ามีน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วโลก ซึ่งเกณฑ์การออกแบบถนนให้เพียงพอกับเมืองต้องมีอย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่เมือง ในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกามีถนนร้อยละ 38 ของพื้นที่ แต่กรุงเทพฯ มีเพียงร้อยละ 3.76 เท่านั้น โดยถนนเหล่านี้จะต้องถูกนำมาใช้สำหรับ รถยนต์ ยานพาหนะขนาดใหญ่ โดยไม่สามารถรองรับคนเดินเท้า คนขี่จักรยานได้เพียงพอ จึงอยากเสนอให้มีการทำเส้นทาง คนเดินเท้ากับเส้นทางรถจักรยานแยกออกมาต่างหาก และเมื่อมีจุดตัดบนทางแยกถนนต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้รถยนต์ช้าลง ก่อนถึงทางข้าม 100 เมตร รวมทั้งเรื่องการจัดการจราจร ต้องมีการจัดสัญญาณไฟสู่ศูนย์กลาง มีเจ้าหน้าที่จราจรคอยควบคุมดูแลทั้งระบบ เพราะในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีการจัดการไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีเพียง 28 จุด จากทั้งหมด 72 จุดเท่านั้น  นอกจากนี้เสนอให้มีช่องทางเฉพาะของรถฉุกเฉินทั้งรถพยาบาลและรถดับเพลิง คาดว่าน่าจะสามรถแก้ปัญหาได้

ทศพล สุวารี หัวหน้าฝ่ายสัญญาณไฟจราจร กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมทีอุปกรณ์การควบคุมสัญญาณไฟจราจรอยู่กับกองบังคับการตำรวจแห่งชาติ เมื่อแยกเป็นท้องถิ่นก็แบ่งงานให้ กทม.มีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์สัญญาณ และตำรวจก็จะมีหน้าที่อำนวยการจัดการจราจร ซึ่งกทม.เองพยายามทำให้สมบูรณ์ แต่การจัดระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรแบบเป็นพื้นที่ Area Traffic Control (ATC) ใช้งบประมาณจำนวนมากจึงไม่สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ และตำรวจจราจรเองก็ไม่ยอมรับ จึงทำให้ระบบสัญญาณไฟเป็นแบบแยกเดี่ยว และตำรวจจราจรเองก็กลับมาใช้ระบบอนาล็อกหรือระบบวิทยุสื่อสารเพียงอย่างเดียว

นพ.สัญชัย  ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สถิติในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ออกไปปฏิบัติการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านระบบสายด่วน 1669 ประมาณ 1.5 ล้านครั้ง คิดเฉลี่ยประมาณ 100,000 ครั้งต่อเดือน เป็นการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนร้อยละ 80 ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ เวลาเป็นเรื่องสำคัญต่อโอกาสการรอดชีวิต ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นการนำส่งผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วน

การนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนจัดเป็นกลุ่มพิเศษที่ควรได้รับการให้ทาง เปิดช่องทางพิเศษ หรือเปิดสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้เมื่อผ่านแยกต่างๆ ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนไม่ควรฝ่าสัญญาณไฟจราจรสีแดง โดย สพฉ. ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของรถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ใช้ถนน ไม่น้อยไปกว่าความเร่งด่วนของการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล และพร้อมที่จะเป็นหน่วยประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการเปิดสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้กับรถฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วประเทศ  

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ ประมาณเกือบ 400,000 ครั้งต่อปี พบว่า ในปี 2559 มีการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 42 ครั้ง โดย 30 ครั้งเป็นการเกิดอุบัติเหตุขณะส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลถึงโรงพยาบาล และอีก 12 ครั้ง เป็นการเกิดอุบัติเหตุขณะนำส่งผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาล ทั้งนี้ การเกิดอุบัติเหตุจากการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลถึงโรงพยาบาลสูงกว่า อาจเป็นเพราะระยะทางและระยะเวลาที่มากกว่า

นพ.สัญชัย กล่าวต่อว่า รถฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ออกไปรับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุส่งถึงโรงพยาบาลมี 2 ระดับ คือ ระดับพื้นฐานและระดับขั้นสูง ซึ่งบุคลากรที่ปฏิบัติงานระดับพื้นฐานต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 40 ชั่วโมง และได้รับการขึ้นทะเบียนตามระบบของ สพฉ. ทั้งตัวรถและตัวบุคคล  ขณะนี้ สพฉ. ได้นำร่องโครงการติดตั้งเครื่อง GPS ที่ส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่หากความเร็วเกินกว่าที่กำหนด เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและความระมัดระวังในการขับรถ และมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทางรถบริการฉุกเฉินทางการแพทย์  ภายใต้ชื่อว่า "รถคันนี้มีน้ำใจ หลีกทางให้รถพยาบาล" พร้อมทั้งขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวด้วย และกล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบรถฉุกเฉินทางการแพทย์ดังกล่าวว่าได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น EMS Certified โดยกรอกข้อมูลทะเบียนรถหรือแสกนคิวอาร์โค้ดด้านข้างรถฉุกเฉินทางการแพทย์ทุกคัน 

พล.ต.อ.อาคม จันทนลาช รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า  ภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีมากมายหลายอย่าง ซึ่งเมื่อเราดูว่าเรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ทุกคนก็จะยกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนทำ ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถทำได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งยังติดขัดเรื่องงบประมาณและสถานที่ สำหรับวิทยากรที่จะให้ความรู้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ทุกอย่างที่ทำต้องใช้เวลาในการเรียนการสอน ระบบความเข้มงวดก็ยังไม่ค่อยมี เบื้องต้น บก.จร.จะมีการจัดทำโครงการ "ตระหนักความปลอดภัยสร้างวินัยจราจร"  โดยจะนำคนทำผิดกฎหมายจราจรให้เข้ารับการอบรมผ่านเนื้อหาการเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ ผ่าน DVD รวมทั้งการขับรถแบบถูกกฎจราจรโดยจะเปิดอบรมในวันหยุดจำนวน 2 รอบทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย ซึ่งถ้าคนอบรมแล้วยังทำผิดกฎจราจรซ้ำอีกก็จะถูกปรับด้วยจำนวนเงินที่แพงขึ้น

เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ หัวหน้าทีมกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูกล่าวว่า การแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากรถพยาบาลฉุกเฉินในส่วนของมูลนิธิร่วมกตัญญูเบื้องต้นตนได้พยายามกำชับและบอกกล่าวอาสาสมัครทุกคนว่าจะไม่มีการผ่าไฟแดงอีกต่อไป ถ้ามีเหตุจำเป็นจะให้เจ้าหน้าที่ห้องวิทยุประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นทางออกสำคัญในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยวิธีการเมื่อมีเจ้าหน้าที่ขับรถพยาบาลฉุกเฉินผ่านเส้นทางไหนก็จะแจ้งไปยังตำรวจจราจรทางท้องที่นั้นเป็นสำคัญ รวมทั้งจะแจ้งไปยัง จส. 100 เพื่อเป็นกระบอกเสียในการประชาสัมพันธ์อีกแรงหนึ่ง พร้อมกันนี้ในเรื่องของการไม่ฝ่าไฟแดงของรถพยาบาลฉุกเฉินก็จะมีการกำชับไปยังมูลนิธิเครือข่ายทั่วประเทศอีกด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรต้านคอร์รัปชันตั้งคำถามใช้ ม.44 ยกเว้นกฎหมายฮั้วประมูลรถไฟความเร็วสูงโคราช

Posted: 18 Jun 2017 08:28 AM PDT

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ตั้งคำถาม คสช.ใช้ม.44 โครงการรถไฟความเร็วสูงกทม.-โคราช พร้อมเทียบสมัยชัชาติ อดีต รมว.คมนาคมที่ทำเรื่องความโปร่งใส แต่คสช.ไม่ทำ 3 ประเด็น 

18 มิ.ย.2560  เพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันโพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีการใช้มาตรา 44  ยกเว้นการบังคับใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (หรือที่มักเรียกว่า กฎหมายฮั้วประมูล)  พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีสิ่งสำคัญที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคมทำแล้วแต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำ ข้อความมีดังนี้

"โครงการรถไฟความเร็วสูง"

น่าสนใจมากว่า ทำไมรัฐบาลจึงใช้มาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฮั้วประมูล เพราะการทำผิดตามกฎหมายนี้ต้องมีพฤติกรรมและเจตนาที่ทุจริตในการจัดซื้อฯ ซึ่งเป็นการคอร์รัปชัน

และมีสิ่งสำคัญที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว. คมนาคมในรัฐบาลชุดที่แล้วทำ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำ คือ

1. ยอมรับกลไกการตรวจสอบตามกฎหมายทุกประการเพื่อความโปร่งใส

2. ให้จัดซื้อโดยการประมูลแบบ International Bidding เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี เปิดรับเทคโนโลยีและข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ

3. ประกาศแผนแม่บทของโครงการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศให้ประชาชนทราบ

การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่ต้องมีการศึกษาและบริหารโครงการด้วยความรอบคอบโปร่งใสเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปขัน (ประเทศไทย)

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา สรุปเนื้อหาได้ว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวมีอุปสรรคหลายประการโดยเฉพาะข้อจำกัดตามกฎหมาย ด้วยเหตุที่การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงนี้เป็นการดำเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยสภาพข้อเท็จจริงย่อมจำเป็นต้องยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบบางเรื่อง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission ของจีน เพื่อดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ในด้าน 1. การออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา 2.งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา 3. ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลลากร โดยในการทำสัญญาจ้างดังกล่าว ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาและระเบียบ 1. กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา 2.กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 3. คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 11/2560 เรื่อง การกำกับการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ 4.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม 5. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 6.ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ.2544 7.ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2544

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.พร้อมหารือ กรธ.'ไพรมารีโหวต' 21 มิ.ย. อลงกรณ์หนุน-จาตุรนต์ค้าน

Posted: 18 Jun 2017 07:42 AM PDT

จับตาประเด็น 'ไพรมารีโหวต' ใน ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง กรธ.-กตต.เตรียมหารือปัญหาทางปฏิบัติ หลัง กกต.ฟังพรรคการเมือง อลงกรณ์ระบุเป็นหนทางปฏิรูปพรรค จาตุรนต์หวั่นสร้างความแตกแยกในพรรค ไม่สอดคล้องความต้องการประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ 

จากกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านการพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะในประเด็นไพมารีโหวตว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่นั้น ทางกกต.ได้รับการประสานเป็นการภายในาก กรธ.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาและได้แจ้งว่าวันที่ 19 มิ.ย.ไม่สะดวกเดินทางไปหารือเนื่องจากติดภารกิจจัดประชุมคณะทำงานทำร่างระเบียบหรือประกาศตาม ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีการเชิญพรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนา ภูมิใจไทย มาหารือเพื่อขอความเห็นว่าร่างระเบียบที่ กกต.ยกร่างขึ้นจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งการจะหารือประเด็นปัญหากับ กรธ. ทาง กกต.ต้องรายงานและขอมติจากที่ประชุม กกต.ในวันที่ 20 มิ.ย.ก่อน คาดว่าการหารือกับ กรธ.น่าจะเป็นวันพุธที่ 21 มิ.ย. เบื้องต้นมีประเด็นปัญหาที่ต้องหารือ 5-6 ประเด็น

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อให้สาขาพรรคและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวผู้สมัคร หรือระบบไพรมารีโหวต (Primary Vote) ว่า เป็นการเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.ขั้นต้น โดยให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ร่วมกับคณะกรรมการบริหารพรรคในการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.อย่างเปิดกว้าง เสมอภาค และโปร่งใส เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองที่วางหลักการสำคัญ นั่นคือพรรคการเมืองต้องเป็นของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่ของคนใด ตระกูลใดกลุ่มใด ไม่ว่ากลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพลระดับชาติและท้องถิ่น

ส่วนที่พรรคการเมืองกังวลว่าจะทำได้ยาก หรืออาจเกิดความขัดแย้งในการคัดเลือกผู้สมัครหรือทาบทามผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจะเกิดระบบเครือญาติและกลุ่มทุนครอบงำพรรคนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ความจริงสิ่งที่กังวลทั้ง 4 ประการ คือปัญหาที่เกิดในทุกพรรคการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเพราะระบบไพรมารี่ ในทางตรงข้ามระบบไพรมารี่กลับจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริง

"ผมเป็นคนเสนอให้นำระบบไพรมารีมาใช้เป็นเครื่องมือการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรค โดยทดลองระบบไพรมารีที่จังหวัดอยุธยาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มั่นใจว่าถ้านำมาใช้จะเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน จึงได้เสนอให้บรรจุในแผนปฏิรูปการเมืองของสภาปฏิรูปแห่งชาติตั้งแต่ปลายปี 2557 สืบต่อมาจนถึงยุคของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและเห็นด้วยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติบัญญัติไว้ในพ.ร.ป.พรรคการเมือง" นายอลงกรณ์ กล่าว

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นเรื่องนี้เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) ว่า  กติกาอย่างที่ สนช.เห็นชอบจะทำลายระบบพรรคการเมืองทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน อ่อนแอ ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เว้นพรรคใหญ่ พรรคขนาดเล็กอาจเอาตัวไม่รอด ส่วนพรรคใหม่จะเกิดยากมาก การทำงานของพรรคการเมืองโดยรวมจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้สงสัยว่าวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งของ กมธ.วิสามัญคือต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป

แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ขณะที่การกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสาขาและตัวแทนพรรคในทุกเขตเลือกตั้ง และให้สมาชิกในแต่ละเขตมีอำนาจอย่างมากในการกำหนดตัวผู้สมัครได้ฟังดูเหมือนดี แต่จะเกิดปัญหาการขัดแย้งแก่งแย่งกันหาสมาชิกที่สนับสนุนนักการเมืองเป็นตัวบุคคลมากกว่าสนับสนุนพรรค นักการเมืองที่เคยหาสมาชิกไว้ก่อนจะได้เปรียบเกิดความขัดแย้งระหว่างสาขาพรรคและสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งต่างๆ กับคณะกรรมการบริหารพรรค สุดท้ายอาจจะได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเพียง 100 คนที่จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น ขณะที่คนที่ประชาชนสนับสนุนอาจไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง

จาตุรนต์กล่าวอีกว่า สำหรับการให้ตัวแทนสาขาพรรคและสมาชิกในเขตเลือกตั้งต่างๆ เลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อโดยให้แต่ละคนเลือกผู้สมัครได้ 15 คน จะทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วนตามจังหวัดหรือภูมิภาค นักการเมืองที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศอาจได้เปรียบอยู่บ้าง แต่ก็จะเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะได้ผู้สมัครที่เหมาะจะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มเล็กๆ อย่างกระจัดกระจายมากกว่าจะเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการมีระบบบัญชีรายชื่อ

จาตุรนต์กล่าวด้วยว่า กฎหมายพรรคการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมือง รวมทั้งการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่ถึงแม้สนใจการเมืองและพร้อมจะไปออกเสียงเลือกตั้ง แต่ก็ไม่อยากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็ไม่ต้องการมีสมาชิกมากๆ เพราะถ้าสมาชิกไปทำผิดกฎหมายเข้าพรรคก็จะถูกยุบ แนวโน้มพรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงจะมีสมาชิกน้อย หลายพรรคอาจหาสมาชิกให้ได้ทั่วทุกเขตไม่ได้ด้วยซ้ำ การเอาระบบที่ให้สมาชิกจำนวนน้อยมากำหนดตัวผู้สมัคร จึงไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนและจะสร้างปัญหาทำให้พรรคการเมืองต่างๆ อยู่ในสภาพพิกลพิการกันไปหมด หากกติกาออกมาเช่นนี้ พรรคการเมืองจำนวนมากโดยเฉพาะพรรคการเมืองใหม่ๆ จะทำตามกติกานี้ไม่ทันเพราะต้องใช้เวลามากและอาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกนาน ซึ่งอาจเป็นวัตถุประสงค์ของ กมธ.วิสามัญมาตั้งแต่ต้นก็ได้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมซึ่งจะเกิดการแก้ไขให้ดีขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่แน่ แต่ไม่ว่าแบบไหนก็จะเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ใหญ่หลวงกว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็คือการทำลายระบบพรรคการเมืองที่จะทำให้การเลือกตั้งลดความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนน้อยลง 

 

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์มติชน  เว็บไซต์สำนักข่าวไทย เว็บไซต์ผู้จัดการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #162 เลสเบี้ยนอยู่ตรงไหนในหนัง-ละครไทย

Posted: 18 Jun 2017 06:53 AM PDT

ลงทะเบียนเพื่อรับชมคลิปใหม่ๆ ที่

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ประภาภูมิ เอี่ยมสม และชานันท์ ยอดหงษ์ สำรวจตำแหน่งแห่งที่ของเลสเบี้ยนในภาพยนตร์และสื่อบันเทิงไทย ทั้งนี้เมื่อเทียบกับกระเทยและเกย์ที่อาจมีพื้นที่และตัวตนอยู่ในภาพยนตร์อยู่ก่อน ขณะที่เลสเบี้ยน หรือแม้แต่ทอมดี้ อาจจะแทรกเป็นตัวละครต่างๆ อยู่ในภาพยนตร์แต่ไม่ได้มีบทบาทเด่น จนกระทั่งในปี 2547 มีภาพยนตร์ "อาถรรพณ์แก้บนผี" และในปี 2549 "ผีคนเป็น" ที่นำเสนอเรื่องราวของเลสเบี้ยน แต่ก็นำเสนอภาพความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงแบบซับซ้อนซ่อนเงื่อน หรือทำให้เป็นเรื่องลึกลับ

กระทั่งในปี 2553 เริ่มมีภาพยนตร์เลสเบี้ยนแบบโปรเกรสซีฟอย่างเรื่อง " Yes or No อยากรัก ก็รักเลย" ปี 2555 "She เรื่องรักระหว่างเธอ" นอกจากนี้ในละครชุดอย่างเช่น "Hormones วัยว้าวุ่น Season 2" ก็มีตัวละคร "ดาว-ก้อย" หรือ คลับฟรายเดย์เดอะซีรี่ส์ 8" ตอน "รักแท้หรือแค่..ความหวัง ที่มีคู่ "วุ้นเส้น-พอลล่า" รวมทั้งบางคู่ตัวละครใน "สงครามนางงาม 2" ฯลฯ

ทั้งนี้ประภาภูมิหวังว่าในอนาคตจะมีผู้ผลิตภาพยนตร์/ละครไทยที่ผลิตพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ พูดถึงวิถีชีวิตและสิทธิของ LGBT มากขึ้น ส่วนชานันท์กล่าวด้วยว่าเป็นอีกหมุดหมายก้าวสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทยจะยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ มองเห็นรายละเอียดจุดเล็กจุดน้อยมากขึ้น โดยในอนาคตคาดหวังจะเห็นภาพยนตร์เลสเบี้ยนมากขึ้นเช่นกัน

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ชุมนุมในอังกฤษเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีไฟไหม้ตึก 24 ชั้น เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์

Posted: 18 Jun 2017 06:33 AM PDT

ผู้ประท้วงหลายร้อยแสดงความไม่พอใจรัฐบาลหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารที่พักเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ในอังกฤษ ที่มีผู้อาศัยเป็นกรรมาชีพจำนวนมาก พวกเขาไม่พอใจที่ฝ่ายรัฐปล่อยปละละเลย ไม่แก้ปัญหา อนุญาตการออกแบบอาคารที่ดูดีในสายตาคนรวยแต่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้พักอาศัย นักการเมืองพรรคแรงงานวิจารณ์ไปถึงเรื่องการตัดงบประมาณเอื้อต่อชีวิตที่ไม่ปลอดภัยของประชาชนด้วย

 
เจเรมี คอร์บิน ทวีตวิดีโอการประท้วงเหตุการณ์เพลิงไหม้เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ (ที่มา: ทวิตเตอร์/jeremyforlab)
 
18 มิ.ย. 2560 หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ร้ายแรงในกรุงลอนดอนที่ทำให้อาคารที่พักเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ สูง 24 ชั้น เสียหายทั้งหลัง ก็มีกลุ่มผู้ที่เคยพักอาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าวพากันออกมาประท้วง เนื่องจากพวกเขามองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการปล่อยปละละเลยของรัฐบาล รวมถึงการปล่อยให้มีข้อเสียด้านการออกแบบเพียงเพราะต้องการให้ภาพลักษณ์ดูดีในสายตาของคนรวย
 
ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนออกมาชุมนุมบนท้องถนนเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วกว่านี้ต่อเหตุเพลิงไหม้ที่อยู่อาศัยเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยที่เกรนเฟลล์ตั้งอยู่ในนอร์ทเคสซิงตัน กรุงลอนดอน เป็นสถานที่อยู่อาศัยที่คนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงานที่มาจากหลายสัญชาติ เชื้อชาติ และศาสนา
 
กลุ่มผู้ชุมนุมเปล่งคำขวัญออกมาขณะชุมนุมว่า "พวกเราต้องการความยุติธรรม!" พวกเขาพยายามเข้าไปในสำนักงานเทศบาลเมืองเคสซิงตันเพราะต้องการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางมาตรฐานความปลอดภัยของตัวอาคารดังกล่าวออกมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
ในขณะที่มีการชุมนุม นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เทเรซา เมย์ ก็อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นด้วย แต่เธอรีบหลบไปพร้อมกับการคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรวดเร็วในขณะที่ผู้ชุมนุมพากันตะโกนไล่และประณามเธอ
 
มุสตาฟา อัลมานซูร์ ผู้จัดการชุมนุม และผู้ที่สูญเสียเพื่อนของเขาไปในเหตุเพลิงไหม้เขาบอกว่า จนถึงตอนนี้การตอบรับของรัฐบาลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ อัลมานซูร์ยังได้กล่าวปราศรัยด้านนอกสำนักงานเทศบาลว่า เหตุใดถึงต้องจัดการประท้วงในครั้งนี้ เขาบอกว่าการประท้วงในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีประชาชนทั่วไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตั้งแต่การเรี่ยไรเงินไปจนถึงการออกมาบนท้องถนนเพื่อช่วยเหลือผู้คน ช่วยค้นหาเหยื่อโศกนาฏกรรม แต่สภาเมืองกลับล้มเหลวในการทำอะไรสักอย่างเพื่อประชาชน สภาเมืองไม่ได้ออกแถลงการณ์หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เลย มีแค่ถ้อยแถลงที่เบาหวิวและคำสัญญาลอยๆ ที่ไม่มีอะไรยืนหยัดหนักแน่นว่าพวกเขาจะช่วยเหลือผู้คน
 
ก่อนหน้านี้มีนักการเมืองบางส่วนในอังกฤษที่เน้นถึงปัญหาว่ามาจากนโยบายรัดเข็มขัดคือการตัดงบประมาณประชาชนและช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยกับคนจนที่มีมากขึ้น ส.ส. จากพรรคแรงงาน เดวิด แลมมี กล่าวว่าเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้เป็นการ "ฆ่าคนตายโดยความประมาทของพวกบรรษัท"
 
แลมมีวิจารณ์ว่าอาคารที่พักของชนชั้นแรงงานแห่งนี้ไม่มีทางหนีไฟที่สะดวก ไม่มีสปริงเกอร์ฉีดน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่จะมีคนอังกฤษต้องมาเสียชีวิตแบบนี้ ควรจะต้องมีคน
 
คอมมอนดรีมรายงานว่าผู้คนในท้องถิ่นเคสซิงตันพยายามทำให้เสียงของตัวเองเป็นที่รับรู้ พวกเขาเรียกร้องทั้งความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม มอยรา ซามูเอลส์ ครูในเคสซิงตันกล่าวว่าการประท้วงในครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึง "ความรู้สึกโกรธของประชาชน" เธอบอกว่าความโกรธนี้สั่งสมมาโดยตลอดในช่วงที่พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษปกครองประเทศมาหลายปี ทำให้ต้องมีการระบายความโกรธนี้ไปยังที่ใดที่หนึ่ง
 
เรียบเรียงจาก
 
'We Want Justice': Prime Minister Forced to Flee as Londoners Protest Deadly Fire, Common Dreams, 16-06-2017
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นอนขวางให้ข้ามหัว ประท้วงเวทีฟังความเห็นร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

Posted: 18 Jun 2017 04:24 AM PDT

การรับฟังความเห็นครั้งสุดท้าย ครั้งที่ 4 ใน กทม.ยังคงมีความปั่นป่วน หลังจากถูกประท้วงจนเวทีล้มที่อีสาน เครือข่ายคนรักประกันสุขภาพประท้วงหน้าห้อง นอนขวางให้ข้ามหัวเข้าประชุม ระบุขาดความชอบธรรมทุกมิติทั้งกระบวนการและเนื้อหากฎหมาย หวั่นกระทบคนทั้งประเทศ

18 มิ.ย.2560 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาชนราว 300 คน รวมตัวร่วมจับตาเวทีรับฟังความคิดเห็น การแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สุดท้ายที่โรงแรมเซ็นทารา แจ้งวัฒนะ โดยในงานนี้ผู้ที่จะเข้าร่วมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางออนไลน์ สแกนบัตรประชาชนเพื่อเข้างานและมีเวลาให้แสดงความเห็นคนละ 3 นาที

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายปฏิเสธจะเข้าร่วมเวทีโดยระบุว่ากระบวนการร่างและรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น จึงได้รวมตัวกันปราศรัยถึงปัญหาของร่างกฎหมายใหม่อยู่หน้าห้องประชุม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้วางกำลังอยู่โดยรอบ และได้ตรวจยึดป้ายกระดาษ ป้ายผ้าที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาด้วย

เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ThaiPBS รายงานว่าเวลาประมาณ 09.00 น. เกิดความชุลมุนขึ้นเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เข้าประชิดเพื่อจะควบคุมตัวแกนนำ แต่ไม่สามารถคุมตัวใครได้ และมีการเจรจาให้รวมตัวอย่างสงบ ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง และชูป้ายข้อความใดๆ ผู้ชุมนุมจึงใช้โทรโขงขนาดเล็กในการปราศรัยกันอยู่ที่หน้าห้องประชุม โดยมีการสื่อสารข้อมูลอย่างต่อเนื่องผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่าย

เพจโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ รายงานว่า  ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุวุ่นวายเล็กน้อย ขณะกลุ่มประชาชนเริ่มใช้เครื่องเสียงปราศรัย มีชายไม่แต่งเครื่องแบบสองคนเข้ารวบแผ่นป้ายข้อความ และมีหญิงไม่แต่งเครื่องแบบเข้าล็อคคอหนึ่งในผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ประชาชนหลายคนกรูเข้าช่วยเหลือ ชายสองคนถูกตำรวจพาออกไป และต่อมาพบว่าถูกพาเข้าไปในห้องประชุมที่ชั้น 1 ซึ่งมีตำรวจนั่งอยู่ภายใน ต่อมาประชาชนที่อยู่หน้าห้องประชุมนั่งขวางประตูทางเข้า โดยตำรวจคล้องแขนกันยืนล้อมรอบ ตำรวจพยายามใช้กำลังเข้ายึดไมโครโฟนจากผู้ปราศรัย ต่อมามีการเจรจากันให้ใช้เพียงโทรโข่งตัวเล็กๆ จากนั้นประชาชนได้ทำการประท้วงโดยนอนลงหน้าประตูทางเข้า และประกาศว่า "ถ้าเวทีจะเริ่มขึ้นก็ให้ข้ามหัวประชาชนแล้วเดินเข้าไป" อย่างไรก็ตามเวทีรับฟังความคิดเห็นในห้องประชุมของโรงแรมเดินหน้าไปได้ โดยมีคนเข้าร่วมไม่ถึงครึ่งของเก้าอี้ที่ว่าง

เวลาประมาณ 10.20 ตำรวจได้ขอให้แกนนำไปที่สถานีตำรวจเพื่อคุยกับผู้กำกับ โดยสารี อ๋องสมหวัง เป็นตัวแทนเดินทางไปกับตำรวจ ต่อมามีรายงานว่า ตำรวจยังไม่ตั้งข้อหาดำเนินคดีในวันนี้ เวลาประมาณ 11.20 ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แถลงข่าวชี้แจงว่า เหตุที่ต้องคัดค้านการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เพราะกระบวนการขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ข้อเสนอการแก้ไขมาจากความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว จึงขอให้เริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น หลังจากนั้นผู้มาเข้าร่วมงานจะทยอยแยกย้ายกันกลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากเรื่องกระบวนการจัดทำกฎหมายและรับฟังความคิดเห็นที่เครือข่ายฯ ต้องการให้เริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ยังมีข้อเรียกร้องในการปรับปรุงในประเด็นเนื้อหาของร่างกฎหมายด้วย ได้แก่

1. การแก้ไขกฎหมายต้องยึดหลักการ "ประชาชนได้ประโยชน์" เป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน

2. "ยกเลิกการร่วมจ่าย" เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้จัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน ไม่ว่าคนชนชั้นใดก็มีสิทธิล้มละลายได้ ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง

3. "ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์" ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้ สปสช.จัดซื้อยาและอุปกรณ์เองได้ รัฐบาลต้องเพิ่มงบอีกปีละ 5,000 ล้านบาท แล้วรัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมพรางในการให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย ทั้งที่ในปัจจุบัน สปสช. ใช้งบประมาณจัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้ประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปี ได้เกือบ 50,000 ล้านบาท

4. "เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม" ต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล จากการแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ที่ดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวล

5. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันควร "เพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น" และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขควรมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนหน่วยรับเรื่องเรียนตามมาตรา 50(5) ทั้งในหน่วยบริการและนอกหน่วยบริการที่ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ทั้งสองคณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อีสานล้มเวทีรับฟังความคิดเห็น 'เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง' ระบุมีธงแต่ต้น

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2560 กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมอวานี จังหวัดขอนแก่น

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ตื่นรู้ที่สนใจ (ร่าง) พ.ร.บ. ได้มาแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะทำหน้าที่รวบรวมความเห็นทั้งหมด เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป

"การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ จากที่ทำมาแล้ว ๒ ครั้ง ที่ภาคใต้และภาคเหนือ ทำให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นรู้และสนใจในเรื่องของ ร่างพ.ร.บ.จำนวนมาก มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางทั้งที่ผ่านแบบฟอร์มรับการแสดงการคิดเห็น และผ่านทางระบบออนไลน์ที่ทางคณะผู้จัดงานได้จัดเตรียมอำนวยความสะดวกระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไว้ให้"

นพ.พลเดชกล่าวอีกว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มและเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพที่รวมกลุ่มกันกว่า 100 คน ชูป้ายคัดค้าน และแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.นั้น เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้เพราะเป็นการเคารพทั้งความเห็นเหมือนและเห็นต่าง ซึ่งทางคณะอนุกรรมการยืนยันว่าจะนำทุกความคิดเห็นที่ทางกลุ่มและเครือข่ายฯ ที่ได้นำเสนอ รวบรวมส่งยังคณะกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงคัดค้านก็ต้องมีขอบเขต ไม่ขัดขวางหรือกระทำการจนไม่สามารถดำเนินการจัดประชุมตามขั้นตอนได้ ควรคำนึงถึงการเปิดใจรับฟังและสิทธิการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นๆ เช่นกัน

ปรียานุช ป้องภัย ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ตนและทางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุงร่างดังกล่าว เนื่องจาก พ.ร.บ.ที่ปรับปรุงให้สิทธิและอำนาจแก่กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการ โดยไม่มีการถ่วงดุลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการ จึงอาจจะทำให้ประชาชนต้องสูญเสียสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่จำเป็น รวมถึงการจัดการซื้อยาและเวชภัณฑ์ก็อาจจะมีการทุจริตกันมากขึ้น

"ทางกลุ่มคิดว่าที่มาของเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ องค์ประกอบของคณะกรรมการไม่มีความสมดุล เพราะมีภาคประชาชนเพียงแค่ ๒ คนที่ไม่สามารถออกเสียงคัดค้านเพื่อปกป้องสิทธิประชาชนด้วยกันเองได้ ดังนั้น จึงอยากให้มีการยุติกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และกลับไปเริ่มต้นการยกร่างพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เสียใหม่ให้มีความชอบธรรมมากกว่านี้"

เบญญาภา มะโนธรรม ผู้แทนจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ให้มีความทันสมัยขึ้น ครอบคลุมทุกหน่วยของผู้ให้บริการทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน  และวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นๆ อาทิ การแพทย์แผนไทย เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถึงการบริการมากขึ้น ไม่เพียงแต่ต้องพึ่งการใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

"เหตุที่เกิดการคัดค้านของกลุ่มประชาชน อาจเพราะขั้นตอนและระยะของการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ถือว่าสั้นมาก เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่มีการเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายร้อยเวที ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตกผลึกความคิดเห็น ใช้เวลา 3-4 ปี กว่าเสร็จสิ้น และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปรับปรุงใน ร่างพ.ร.บ. หัวใจสำคัญ คือ เหตุผลและเนื้อหา ที่จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ได้รับประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่เพียงคิดถึงจำนวนและองค์ประกอบการของคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง)ฯ หรือออกข้อบังคับตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เท่านั้น"

เบญญาภา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามตนยังมีบางประเด็นของการปรับปรุงแก้ไข ร่างพ.ร.บ. ที่ไม่เห็นด้วย คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่นอกจากจะมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ และผู้ซื้อบริการแล้ว ตัวแทนจากภาคประชาชนในผู้รับบริการไม่ควรลดน้อยลงไปกว่าเดิม และอย่างน้อยครอบครบเครือข่าย 9 ด้าน อาทิ ด้านผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ ผู้ใช้แรง สตรี เป็นต้น

เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ThaiPBS รายงานว่า อย่างไรก็ดีระหว่างกาประชุมนดำเนินไปนั้นปรากฏว่า มีประชาชนที่ใช้ชื่อว่า 'เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง' กว่า 200 คน ที่ไม่เห็นด้วยต่อการแก้กฎหมายได้รวมตัวกันประท้วงยึดเวทีดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเช้า ส่งผลให้ไม่สามารถจัดประชุมต่อได้

นอกจากนั้นกลุ่มประชาชนยังมีการแสดงจุดยืนว่าถ้ายังมีการแก้กฎหมายจะทำการล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อคัดค้าน และถ้ายังยืนยันจะแก้อีกอาจมีการไปยืนยันจุดยืนถึงที่ทำเนียบรัฐบาล

เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง อ่านแถลงการณ์ "แก้กฎหมายบัตรทอง บิดเบือนเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชน" ระบุว่า คำสั่ง มาตรา 44 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 ระบุให้มีการ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 10/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ทางคณะกรรมพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้จัดตั้งอนุกรรมการจัดทำประชาพิจารณ์ 4 ภูมิภาค และจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จำนวน 3 ช่องทาง โดยได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ถูกคัดค้านจากประชาชนที่เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กระบวนการ ไม่มีความเป็นธรรมและละเมิดหลักการการมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ การจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของ คณะทำงานฯ เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อสร้างภาพให้สาธารณะชนเห็นว่าประชาชน มีส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงนั้น ในเนื้อหาการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีการตั้งธงไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้น โดยคนในกระทรวงสาธารณสุขที่มีอคติต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แม้ว่าประชาชนที่รักความเป็นธรรมจะแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ก็จะไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงธงหรือเนื้อหาที่คณะกรรมการร่างไว้ได้ โดยเฉพาะกระบวนการออกแบบเวทีรับฟังความคิดเห็นทำให้ไม่เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียม

ดังนั้น เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงมีความเห็นต่อการจัดเวทีประชาพิจารณ์ แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ดังนี้

1. ให้ยุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

2. กระบวนจัดทำประชาพิจารณ์ ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และในเนื้อหาการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ทำลายเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนไม่อาจจะรับได้

3. องค์ประกอบของคณะทำงานแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งขึ้นมานั้นไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยโน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากสัดส่วนของคณะทำงาน 26 คน มีตัวแทนของภาคประชาชนเพียง 2 คน

4. การแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การเลือกปฏิบัติกับเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยและเป็นการกีดกันกลุ่มคนที่กำลังรอพิสูจน์สัญชาติในประเทศซึ่งมีมากกว่าสี่แสนคน

เครือข่ายฯ ยังยืนยันในหลักการที่ว่า "ประชาชนต้องมีสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องถือปฏิบัติและรัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ต้องร้องขอ" 

(อ่านรายนามองค์กร 76 แห่งที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ได้ด้านล่าง) 

ขณะที่เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่า  พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งถูกภาคประชาชนบุกไปยึดเวทีจนไม่สามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็นได้ว่า ได้ชี้แจงถึงเรื่องร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพไปหมดแล้ว จึงอยากให้ประชาชนลองศึกษารายละเอียดในร่างดังกล่าวก่อนว่าเป็นอย่างไร มีส่วนที่สูญเสียสิทธิจากเดิมหรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนการที่มีกลุ่มคนไปล้มเวทีประชาพิจารณ์นั้น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง แต่การกระทำที่บ่งบอกว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นนั้นก็ไม่สมควรทำเช่นกัน

พล.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า การออกกฎหมายแต่ละฉบับ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและถือเป็นองค์ประกอบหลักในการออกกฎหมาย ดังนั้นประชาชนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และที่ผ่านมามีการเรียกร้องอยากเห็นประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจหลักคือการแสดงความเห็นคิด ดังนั้นการใช้กำลังล้มเวทีประชาพิจารณ์ ก็เป็นการบอกว่าไม่ได้เป็นการฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วยเหมือนกัน
 
"ขอให้ดูให้ดีว่ากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ จริงๆ หรือมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เสียรังวัดว่าของใหม่ดีกว่าของเดิม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ล้มเวทีประชาพิจารณ์ เพราะถือว่ากระทำความผิด" พล.ท.สรรเสริญกล่าว 

ทั้งนี้รายชื่อเครือข่ายผู้สนับสนุนและลงชื่อในแถลงการณ์ "แก้กฎหมายบัตรทอง บิดเบือนเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชน" 76 องค์กร ประกอบด้วย

1) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน 2) ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) 3) ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 4) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล – ดูนสาด 6) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดงมูล 7) กลุ่มตนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย 8) กลุ่มตนบ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ 9) กลุ่มฮักบ้านฮั่นแนว 10) ขบวนการอีสานใหม่ 11) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม 12) เครือสตรีจังหวัดสุรินทร์ 13) เครือข่ายคนพิการจังหวัดนครราชสีมา 14)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต 15) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ 16) เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา 17) กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส 18) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแววล้อมโคกหินขาว 19) กลุ่มปุกฮัก 20) ชมรมคนสร้างฝัน

21) เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ 22) กลุ่มเด็กฮักถิ่นใหม่ ม.ราชภัฏสกลนคร 23) เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า 24) กลุ่มกวีเถื่อน ม.ราชภัฏมหาสารคาม 25) เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย 26) ศูนย์พิทักษ์จัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนบน 27) กลุ่มชาวบ้านฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำชีตอนล่าง 28) เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน 29) กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง 30)ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมลุ่มน้ำโขง(ศพส.) 31)คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.อีสาน) 32)กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ (Herb for Peace) 33)กลุ่มเถียงนาประชาคม 34)กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) 35)สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ 36.)สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ 37)กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน 38)คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ภาคอีสาน 39)เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน 40)สถาบันชุมชนอีสาน

41)สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม 42)ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 43)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดขอนแก่น 44)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น 46)เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น 47)เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น 48)เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น 49)เครือข่ายเกษตร จังหวัดขอนแก่น 50)เครือข่ายคนพิการจังหวัดขอนแก่น 51)ชมรมเพื่อนโรคไตจังหวัดขอนแก่น 52)สื่ออาสาปันใจจังหวัดขอนแก่น 53)กลุ่ม M-CAN ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายจังหวัดขอนแก่น 54)มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น 55)เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดมหาสารคาม 56)มูลนิธิไทยอาทร จังหวัดขอนแก่น 57)โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น (LDP) จังหวัดชัยภูมิ 58)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน 59)ชมรมต้นกล้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัว จังหวัดมุกดาหาร 60)สมาคมวิถีธรรมชาติ จังหวัดอุบลราชธานี

61)มูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 62)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 63)สมาคมศิษย์เก่านักเรียนทุน ไอ เอฟ พี ประเทศไทย 64)สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา (กลุ่มก่อการดีเลย) จังหวัดเลย 65)สมาคมไทบ้าน จ.มหาสารคาม 66)ตลาดเขียวขอนแก่น 67)สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน 68)ศูนย์ส่งเสริมสิทธิศักยภาพประชาชนนครราชสีมา 69)สภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 70)เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน 71)คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 72)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดมหาสารคาม 73)กลุ่มพิราบขาว จ.ขอนแก่น 74)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด 75)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์(ข่ายผู้หญิง) 76)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานโจทก์ศาลแพ่ง ร.ต.สนานจมน้ำระหว่างฝึกหลักสูตรมหาดเล็กฯ แพทย์ยันจม 10 นาที

Posted: 18 Jun 2017 03:11 AM PDT

ศาลแพ่งสืบพยานโจทก์ 4 ปาก แพทย์ระบุผู้ตายจมน้ำนานกว่า 5 นาที คดีมารดา-ภรรยา ร.ต.สนาน ทองดีนอก ฟ้องกองทัพบกเรียกค่าเสียหายกรณี ร.ต.สนาน เสียชีวิตระหว่างทดสอบว่ายน้ำ หลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่น 11

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งความคืบหน้า กรณีที่ครอบครัวของร.ต.สนาน ทองดีนอก ฟ้องกองทัพบกเรียกค่าเสียหายเหตุที่ร.ต.สนานจมน้ำเสียชีวิตระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11 โดยเมื่อวันที่ 13-15 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาศาลแพ่งสืบพยานโจทก์ ในคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ พ.2580/2559) โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและภรรยา ร.ต.สนาน ฟ้องว่า หลักสูตรดังกล่าวได้จัดให้มีการทดสอบความสามารถโดยการว่ายน้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่ในสังกัดของกองทัพบกเป็นครูฝึกและมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการฝึก ขณะเกิดเหตุผู้ตายถูกบังคับให้ว่ายน้ำไป-กลับภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบ ซึ่งเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะรับได้ เป็นเหตุให้ร้อยตรีสนานจมลงไปก้นสระเป็นเวลานาน โดยที่ครูฝึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้เข้ารับการฝึกกลับปล่อยปละละเลยไม่เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

โดยในนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 13 มิ.ย. มีพยานคือ แพทย์โรงพยาบาลทหารผ่านศึกซึ่งเป็นแพทย์รับตัวผู้ตายซึ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินในวันเกิดเหตุ โดยมีแพทย์สนามและผู้บังคับบัญชานำส่งที่โรงพยาบาล ขณะนั้นตรวจพบว่าร้อยตรีสนานฯ ไม่มีสัญญาณชีพ แพทย์จึงทำการกดนวดหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ และให้ยากระตุ้นหัวใจ แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ ในขณะใส่ท่อหายใจปรากฏว่ามีน้ำและเศษอาหารจำนวนมากอยู่บริเวณหลอดลมและกล่องเสียงของผู้ตาย และตามเวชระเบียนในส่วนบันทึกแรกรับของพยาบาลระบุว่าผู้ตายจมน้ำ 10 นาที

ในนัดสืบพยานวันที่ 14 มิ.ย. โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาและภรรยาของร้อยตรีสนาน ผู้ตาย ขึ้นเบิกความเป็นพยาน ได้ความว่า ขณะผู้ตายมีชีวิตอยู่ผู้ตายเป็นทหาร สังกัดกองทัพบก ในช่วงเวลาว่างหรือวันหยุดราชการได้ช่วยกิจการเลี้ยงสุนัขของโจทก์ที่ 2 และกิจการก่อสร้างของมารดาโจทก์ที่2 รายได้จากการที่รับราชการและรายได้จากช่วยเหลือกิจการต่างๆ นั้นได้ส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองตลอดมา เมื่อร้อยตรีสนานเสียชีวิตทำให้โจทก์ทั้งสองขาดผู้อุปการะ ภรรยาร้อยตีสนานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่ได้รับฟังจากทหารเพื่อนผู้ร่วมฝึกกับผู้ตายว่า ในวันเกิดเหตุมีการทดสอบว่ายน้ำตามหลักสูตร ร้อยตรีสนาน ซึ่งมีความสามารถต่ำในการว่ายน้ำเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่น ได้ว่ายน้ำจนบุคคลอื่นสามารถเห็นได้ว่าไม่สามารถว่ายน้ำต่อได้แล้ว และร้อยตรีสนานพยายามขอครูฝึกขึ้นจากน้ำ แต่ครูฝึกไม่ยอมให้ขึ้นเพราะยังไม่ครบจำนวนรอบ และบังคับด้วยการใช้เชือกที่ร้อยเครื่องชูชีพฟาดที่ร่างกายร้อยตรีสนาน กระตุ้นให้ว่ายน้ำต่อ อีกทั้งครูฝึกได้ลงไปในสระว่ายน้ำและอยู่ข้างตัวผู้ตายเพื่อบังคับให้ผู้ตายว่ายน้ำต่อไปในขณะผู้ตายพยายามจะคว้าตัวครูฝึกไว้เพื่อพยุงตัว แต่ครูฝึกก็ถอยออกไม่ให้เข้าใกล้และบังคับให้ว่ายน้ำต่อไป  จนกระทั่งต่อมาร้อยตรีสนานว่ายน้ำไปไม่ไหวจมลงในสระว่ายน้ำ  ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยืนยันว่าการตายของสามี เกิดจากการกระทำของครูฝึกและปล่อยให้จมน้ำเป็นเวลานาน ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ในนัดสืบพยานวันที่ 15 มิ.ย. เป็นการเบิกความของแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ผ่าและจัดทำรายงานตรวจศพของผู้ตายขึ้นเบิกความ โดยพยานปากดังกล่าวเบิกความว่า เขาเป็นหนึ่งในคณะแพทย์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้ผ่าพิสูจน์ศพร้อยตรีสนาน ภายหลังจากมีการผ่าพิสูจน์โดยแพทย์นิติเวชของโรงพยาบาลตำรวจมาแล้ว ผลการผ่าพิสูจน์พบว่าผู้ตายมีรอยซ้ำเลือดอยู่บริเวณใต้หนังศีรษะขนาด 5X7 เซนติเมตร ซึ่งเกิดจากการถูกกระแทกโดยของแข็งไม่มีคม จากประวัติการรักษาของแพทย์โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ประกอบกับผลการผ่าพิสูจน์โดยละเอียดแล้ว ระบุได้ว่าร้อยตรีสนานเสียชีวิตจากสาเหตุการจมน้ำเป็นเวลาเกินกว่า 5 นาทีขึ้นไป ส่งผลให้ระบบหัวใจล้มเหลว สมองขาดออกซิเจน และทำให้เกิดภาวะคั่งเลือดที่สมอง ตับ และไต  และคนปกติทั่วไปก่อนจะจมน้ำจะมีท่าทางซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้คนภายนอกสังเกตเห็นได้ว่าบุคคลนั้นไม่สามารถว่ายน้ำต่อไปได้

ในวันสืบพยานโจทก์ดังกล่าวโจทก์ยังคงติดใจต้องการสืบพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารผู้เข้ารับการฝึกและสิบเวรพยาบาลในวันเกิดเหตุ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้ออกหมายเรียกพยานปากดังกล่าวแล้ว แต่พยานไม่ได้รับหมายและไม่มาศาล ทนายความโจทก์ทั้งสองจึงทำคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานปากดังกล่าวอีกครั้ง ให้มาเบิกความต่อศาล โดยมีนัดสืบพยานโจทก์จำนวน 3 ปาก ในวันที่ 14 และ 15 พฤศจิกายน 2560  และนัดสืบพยานจำเลยจำนวน 2 ปาก ในวันที่ 16 พฤศจิกายน  ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก

 

ติดตามรายงานการสืบพยาน

อ่านข่าวเก่าที่เกี่ยวข้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: สวัสดิการถ้วนหน้าที่ถูกและดีมีจริงได้

Posted: 17 Jun 2017 04:21 PM PDT

 

เรามักคุ้นเคยกับคำอธิบายที่ว่า "ทำงานมาหนักแค่ไหน เก็บเงินเท่าไร สุดท้ายก็มาลงกับการรักษาพยาบาล" "ต้องซื้อประกันไว้เพื่อคนที่เรารัก เมื่อแก่ตัวจะได้ไม่เป็นภาระ" "เพื่อลูก เพื่อพ่อแม่ จ่ายไม่อั้นเพื่อซื้อสุขภาพที่ดี" เรามีแนวโน้มที่จะยอมรับกับเงื่อนไขนี้เหมือนกับเป็นเรื่องปกติที่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องส่วนตัวที่เราต้องรับผิดชอบ เป็นชีวิตของเราเอง เราใช้เอง และเราต้องจ่ายเอง เมื่อสุขภาพถูกทำให้เป็นเรื่องของปัจเจกชนถูกตัดสินใจบนความเสี่ยงส่วนบุคคล ภายใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ที่รัฐบาลพยายามผลักภาระให้ปัจเจกชนรับผิดชอบทุกอย่างในชีวิตด้วยตัวเอง เช่นเดียวกันกับหลายอย่างในชีวิตของมนุษย์ที่ไม่เคยเป็นของต้องซื้อขาย ไม่ว่าจะการศึกษา ธรรมชาติที่สวยงาม การพักผ่อน สุดท้ายการดูแลสุขภาพถูกทำให้กลายเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์ กลุ่มธุรกิจขยายตัวการสะสมทุนผ่านธุรกิจการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้กลุ่มทุนประกันชีวิตก็เข้ามาอุดช่องว่างของราคาการให้บริการและเวชภัณฑ์ แต่นั่นยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายของการบริการด้านสุขภาพสูงเกินจริงและเกินการเอื้อมถึงสำหรับปัจเจกชน บทความนี้จะพูดถึงภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจในปัจจุบันสวัสดิการด้านสุขภาพของโลกนี้อยู่ในรูปแบบใดบ้าง และไทยยืนอยู่บนพื้นที่ใดของตัวแบบสวัสดิการและเราควรพัฒนาต่อไปในรูปแบบใด


วงจรความยากจนของ Rowntree

Seebohm Rowntree  นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษซึ่งทำวิจัยในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 19-20 โดยศึกษาวงจรชีวิตของประชาชนในเมืองยอร์คประเทศสหราชอาณาจักรพบว่าความยากจนของคนมีแนวโน้มที่จะมีการผันแปรตามวันในลักษณะเส้น W โดยความยากจนมีแนวโน้มที่จะลดลงเมื่อคนก้าวเข้าสู่วัยทำงานแต่ไม่นานเมื่อเริ่มมีครอบครัวอัตราความยากจนก็เพิ่มสูงขึ้น กระทั่งเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 50 เมื่อลูกหลานออกไปมีครอบครัวของตัวเองภาระน้อยลงอัตราความยากจนก็ลดลงอีกครั้งแต่ไม่นานก็เข้าสู่วัยเกษียณรายได้ลดลงอยู่กับเงินเก็บหรือพึ่งพิงลูกหลาน เรื่องน่าเศร้าคือความยากจนของพวกเขากลับมาอยู่ในระดับเดียวกับตอนที่พวกเขาเป็นเด็กไม่มีรายได้ นี่คือภาพสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1900 ปัจจุบันเวลาผ่านไปมากกว่า 100 ปีคำสำคัญอยู่ที่ว่า เส้น W ยังคงอยู่หรือไม่ เหตุใดเรายังคงคุ้นชินกับวงจรชีวิตความยากจน


ภาพจาก Olli Kangas (2015) A Recipe for a Better Life: Experiences from the Nordic Countries.

แผนภาพข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของ เส้น W เมื่อเวลาผ่านไป กว่า หนึ่งร้อยปี เส้นสีน้ำเงินคือเส้นการวิจัยของ Rowntree เมื่อปี 1900 เส้นสีเขียวคือลักษณะการเปลี่ยนแปลงในอังกฤษ-สหรัฐอเมริกาเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 100 ปี จะพบว่าวงจร W ยังคงอยู่ คือเกิดจนค่อยๆมีเงินมีครอบครัวแล้วจนลูกหลานแยกตัวสบายขึ้นแต่ไม่นานก็เกษียณ  สิ่งที่ต่างไปคืออัตราความยากจยลดลง คำถามคือ ถ้าเช่นนั้นวงจรความยากจนสามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ เมื่อเราพิจารณาเส้นสีแดงคือวงจรความยากจนของประชาชนในกลุ่มประเทศนอร์ดิก จะพบว่าชีวิตของประชาชนในแต่ละวัยไม่มีความยากจนแตกต่างกันนักสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคนนอร์ดิกมีความแตกต่างจากประเทศอื่นนั่นคือระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร มันเป็นเหตุผลง่ายๆเมื่อพิจารณาแค่ปัจจัยด้านสวัสดิการสาธารณสุข เมื่อเราเกิดเราไม่เจ็บป่วยหนักเพราะมีการตรวจสุขภาพต่อเนื่อง พ่อแม่ไม่ยากจนจากการเลี้ยงดูเรา เมื่อเราทำงานเราไม่เสียเงินซื้อประกันสุขภาพ เงินของเราถูกใช้ในการเก็บออมและใช้ชีวิต และเมื่อเกษียณอายุเราก็จะไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย เช่นเดียวกับที่ลูกหลานของเราไม่ต้องแบ่งเงินส่วนนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายแก่พ่อแม่ที่สูงวัย ก็ส่งผลให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามมาเช่นกัน โมเดลแบบนอร์ดิกไม่มีความซับซ้อนนั่นคือรัฐบาลจัดสรรเงินเพื่อสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรให้แก่ประชาชน
 

ว่าด้วยเฉพาะสวัสดิการสาธารณสุข ทำไมรัฐต้องจัด ทำไมต้องให้ทุกคน? ทำไมไม่จ่ายร่วม ? ทำไมไม่ให้ประกันเอกชนเข้ามาดูแล?

Gosta Esping Andersen ได้จำแนกลักษณะสวัสดิการในระบบทุนนิยมออกเป็นสามประเภทคือ รูปแบบประกันสังคม (บรรษัทมีส่วนจ่ายสมทบสูง) รูปแบบตลาด (ปัจเจกชนลงทุนด้วยตัวเอง) และ รูปแบบรัฐสวัสดิการที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแทนประชาชน โดยเขาระบุว่าตัวแบบ "รัฐสวัสดิการ"ที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงนั้นมีผลทำให้ คนในสังคมสูญเสียความเป็นมนุษย์น้อยที่สุด ขณะที่สวัสดิการแบบอิงตลาดหรือให้ปัจเจกชนรับผิดชอบชีวิตตัวเองเป็นรูปแบบที่ทำลายความเป็นมนุษย์มากที่สุด อย่างไรก็ตามนับจากปี 1990 ด้วยกระแสเสรีนิยมใหม่ที่ชนชั้นนายทุนพยายามตัดสวัสดิการของประชาชนภายใต้ข้ออ้างเรื่อง "วินัยทางการคลัง" "เพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน" "สังคมผู้สูงอายุคนเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นภาระ" "เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ต้องการคนทำให้เก็บภาษีไม่ได้" "แรงงานยืดหยุ่นทำงานชั่วคราวมากขึ้น" ข้ออ้างเหล่านี้ล้วนเป็นอรรถาธิบายเพื่อหาทางตัดสวัสดิการและลดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าคนที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการตัดสวัสดิการคือชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้น และพวกเขาพยายามที่จะใช้ตัวแบบอื่นๆเพื่อทดแทนรูปแบบรัฐสวัสดิการที่โลกทางวิชาการและโลกทางนโยบายยอมรับร่วมกันว่าเป็นตัวแบบพื้นฐานที่ดีที่สุด โดยพยายามนำตัวแบบเน้นกลไกตลาดเข้ามาใช้ให้ปัจเจกชนรับผิดชอบตัวเอง เช่น สวัสดิการระบบพิสูจน์ความจน ระบบอาสาสมัคร ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ระบบสัมปทานสวัสดิการ ฯลฯ แต่ในภาพรวมแล้วผู้ที่แบกรับต้นทุนด้านสวัสดิการที่สูงคือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือนี่คือความพยายามร่วมกันของฝ่ายเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาดและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ[1]

แล้วระบบพวกนี้ดีจริงหรือ ผู้เขียนขอยกประเด็นหลักที่รัฐและทุนมักจะใช้อ้างเพื่อยกเลิกระบบสวัสดิการที่จัดโดยรัฐ (30 บาท รักษาทุกโรคของไทยก็เป็นหนึ่งในระบบสวัสดิการที่จัดโดยรัฐ) คือ 1.ระบบแบบร่วมจ่าย 2.ระบบพิสูจน์ความจนเพื่อรับสิทธิ์ 3.ให้ประกันอกชนเข้ามาดูแล โดยใช้ระบบต่อไปนี้เข้าแทนที่

1.ระบบร่วมจ่าย เป็นภาพสะท้อนวิธีการแก้วินัยทางการคลังโดยผู้บริหารแนวเสรีนิยมที่มองว่าค่าใช้จ่ายของสวัสดิการสาธารณสุขเกิดจากประชาชนมาใช้บริการโดยไม่จำเป็น[2] โดยมองการรับ-ให้บริการสาธารณสุขเหมือนสินค้าปกติ ที่หากราคาถูกหรือฟรีผู้คนจะแห่มาใช้ รัฐบาลนิยมกลไกตลาดของประเทศเยอรมนีพยายามใช้ระบบร่วมจ่ายเข้ามาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ด้วยเหตุข้างต้น การร่วมจ่ายใช้เฉพาะผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปและคนที่ไม่มีประกันเอกชน อย่างไรก็ตามเมื่อผลสำรวจออกมาพบว่าการร่วมจ่ายกลับไม่มีผลในการลดปริมาณคนไข้ไม่ให้พบแพทย์ (เป็นการยืนยันว่าเมื่อคนป่วยพบแพทย์ก็ด้วยเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ) ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกลับเป็นผลเสียที่ไม่คาดคิดคือ คนซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการจ่ายร่วม บริษัทประกันเอกชนพยายามเอื้อประโยชน์แก่บริษัทยา การวิจัยนวัตกรรมการรักษาต่างๆถูกย้ายไปอยู่ในกรรมสิทธิ์เอกชน ผลที่ตามมาคือค่ายาแพงมากขึ้น และรัฐบาลก็ต้องจ่ายแพงมากขึ้นในการสนับสนุนค่ายาในภาพรวม โดยสรุปแล้ว การร่วมจ่ายไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้บริการเกินจริง (ซึ่งไม่มีแบบมีนัยยะสำคัญกับการให้บริการสาธารณสุข) นอกจากนี้กลับสร้างปัญหาตามมาในภาพรวม จนรัฐสภาเยอรมนีประกาศยกเลิกนโยบายดังกล่าวในปี 2012

2.ระบบพิสูจน์ความจนเพื่อรับสิทธิ์ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้เป็นข้ออ้างในการปรับนโยบายสวัสดิการให้ต่ำลงโดยอ้างว่าเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้นที่ควรได้รับสิทธิ์ ในลักษณะการสงเคราะห์ ระบบนี้พยายามสร้างตัวแบบว่าสวัสดิการไม่ใช่ของทุกคนการรับสิทธิสวัสดิการคือเรื่องของผู้ตกยากเสียเกียรติ คนที่มีรายได้เพียงพอสมควรร่วมจ่าย แม้กระทั่งการพยายามกระตุ้นให้ปัจเจกชนอาศัยช่องทางอื่นๆเช่นครอบครัว องค์กรศาสนา ชุมชน ในการช่วยเหลือเบื้องต้น การเข้ารับสวัสดิการจากรัฐให้เป็นเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ระบบนี้นอกจากเป็นกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพื่อพิสูจน์ความจนเช่นนักสังคมสงเคราะห์ต่างๆ แทนที่งบบุคลากรเหล่านี้จะถูกแปรเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พึ่งการพึ่งพิงชุมชนจารีตนิยม ทำให้ปัจเจกชนขาดความมั่นคงและมีชีวิตที่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังทำให้ปัจเจกชนไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ทันท่วงที ติดอยู่ในกับดักความยากจน และผู้ได้ประโยชน์คือบริษัทประกันเอกชน และผลักดันให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลโดยรวมสูงขึ้นเข้าไปอีก

3. ระบบประกันเอกชน เป็นอีกความพยายามในการใช้ระบบนี้ก้าวเข้ามาแทนที่ การจัดสวัสดิการสาธารณสุขแบบถ้วนหน้าโดยอธิบายว่า ระบบนี้ทำให้รัฐบาลรับความเสี่ยงน้อยและกระจายความเสี่ยงให้บริษัทเอกชนเป็นผู้รับ ซึ่งบริษัทเอกชนเหล่านี้ก็จะมีการคำนวณต้นทุนที่เหมาะสมในการเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันจากประชาชน ปัญหาใหญ่คือบริษัทเหล่านี้เป็นทุนการเงินความชำนาญของพวกเขาคือการลดต้นทุน และสุดท้ายคนที่จ่ายกับความเสี่ยงคือประชาชน ดังในกรณีสหรัฐอเมริกาที่ประชานส่วนมากอยู่ภายใต้การประกันของบริษัทประกันเอกชน ผู้ป่วยเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงก็จะถูกปฏิเสธการทำประกัน บริษัทประกันมีความสัมพันธ์กับบริษัทยาอย่างใกล้ชิดที่จะทำให้ค่ายาสูงขึ้นคู่ขนานกับทุนประกันสุขภาพ ความมั่งคั่งของบริษัทยาและบริษัทประกันในระบบนี้จะสวนทางกับความมั่นคงในชีวิตของคนที่ท้ายสุดแล้วคนจนที่สุดจะถูกกันเข้าสู่ระบบผู้ป่วยอนาถาในท้ายสุด และสิ่งที่ตามมา สหรัฐอเมรากลับกลายเป็นประเทศที่ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขสูงมาก แต่การคุ้มครองกลับต่ำ เพราะหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่ไม่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่ายกับบริษัทยา และบริษัทประกันชีวิต ขณะที่ประชาชนกลับไม่ได้ประโยชน์อะไรจากงบประมาณมหาศาลจากระบบประกันเอกชน


บทสรุป 30 บาทอยู่ที่ไหน เราไปต่อได้หรือไม่

30 บาทรักษาทุกโรคเป็นระบบที่ก้าวหน้า ถ้วนหน้าครบวงจรโดยไม่ต้องพิสูจน์ความจน นับเป็นระบบที่แสดงให้เห็นว่าประเทศยากจนอย่างไทยสามารถพัฒนานโยบายสวัสดิการขึ้นมาได้ โดยใช้เงินน้อยกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบและได้รับการยกย่องจากองค์การระหว่างประเทศอย่าง WHO ตลอดหลายปีรัฐบาล คสช.พยายามหาทุกหนทางในการปรับเปลี่ยนนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยวิธีการข้างต้นมาโดยตลอด ซึ่งจะพบว่าจากประสบการณ์หลายที่นอกจากทำให้ปัจจัยด้านการคลังแย่ลงแล้วยังทำให้การดูแลด้านสาธารณสุขแย่ลงด้วยเช่นกัน

การเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งไทยยังสามารถเพิ่มงบประมาณได้อีกถึง ร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันโดยวัดจากมาตรฐานของประเทศที่มีรายได้ประชาชาติใกล้เคียงกัน หากไม่สามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ทันท่วงที รัฐอาจนำเข้าบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ รวมถึงการขยายตัวของโรงเรียนแพทย์ที่เพิ่มสัดส่วนการระยะเวลาใช้ทุนให้มากขึ้นโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีศักยภาพจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่การเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของไทยเพิ่มมากขึ้น พร้อมปรับโครงสร้างค่าตอบแทนของแพทย์ที่เป็นธรรมต่อบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับในอัตราที่แข่งขันกับเอกชนได้เพื่อให้แพทย์มีเวลาในการใช้ในการรักษาคนไข้ในสัดส่วนที่เหมาะสมตรงตามมาตรฐาน

ควรก้าวออกจากมายาคติเรื่องวินัยทางการคลัง สิ่งที่ควรควบคุมมิใช่ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยแต่คือค่ายารักษาโรคที่สูงขึ้นจากการผูกขาดสิทธิบัตรยาของบริษัทเอกชน รัฐควรเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเหล่านี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลด้วยเงื่อนไขที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น หากจะมีภาษีที่ควรเก็บเพิ่มเติมคือภาษีอัตราก้าวหน้าที่ระบุชัดเจนว่าเป็นภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงมากกว่า 5 ล้านบาทต่อปีต้องเสียภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 10% เข้าสู่สวัสดิการสาธารณสุขโดยตรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบจากการกอบโกยในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ

30 บาทรักษาทุกโรคมีอนาคตรออยู่การปฏิรูปอย่างเดียวที่ควรทำคือการเก็บภาษีจากคนรวยให้มากขึ้นเพื่อมาสนับสนุนระบบนี้มันคือระบบไม่กี่อย่างที่เราสามารถพูดได้ว่ามันคือความภาคภูมิใจของคนไทย เป็นระบบที่เกิดในสังคมประชาธิปไตย เป็นเครื่องรับรองความเป็นมนุษย์ไม่กี่อย่างของคนประเทศนี้ที่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่มีความชอบธรรมใดๆที่จะพูดถึงเรื่องการปฏิรูป ยกเลิก แก้ไข!

 

ดูเพิ่มเติม

Olli Kangas (2015) A Recipe for a Better Life: Experiences from the Nordic Countries.

Esping-Andersen, Gøsta (1990). The three worlds of welfare capitalism. Princeton, New Jersey: Princeton University Press.

Borger C, Smith S, Truffer C, et al. (2006). "Health spending projections through 2015: changes on the horizon". Health Aff (Millwood). 25 (2): w61–73. PMID 16495287. doi:10.1377/hlthaff.25.w61.

 

เชิงอรรถ

[1] ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่พรรคสังคมนิยม หรือพรรคการเมืองของชนชั้นล่างถูกลดบทบาทลงอย่างต่อเนื่องและไร้พลังในการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสนับสนุนจุดยืนเรื่องรัฐสวัสดิการแม้จะมีจุดเปลี่ยนอยู่บ้างในการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรที่คนรุ่นใหม่เริ่มลงคะแนนให้พรรคแรงงานที่ชูประเด็นรัฐสวัสดิการแม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งแต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

[2] ซึ่งเป็นเรื่องผิด! และขัดกับหลักสังคมวิทยาพื้นฐานที่ต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีใครอยากป่วยและเสียเวลาในโรงพยาบาลแม้จะฟรีก็ตาม


เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เป็นอาจารย์ผู้สอนที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยลำใย ไหทองคำ ..อีกสักรอบ..ก่อนแบกไหกลับบ้าน

Posted: 17 Jun 2017 04:01 PM PDT

ผมไม่ใช่คนจริยธรรมสูงมากมาย แต่ก็ไม่ใช่พวกจิตต่ำ กรณีลำใยผมจึงเฉยๆ ผมเคยดูลำใยในยูทูป มาหลายครั้ง ดูไลฟ์สด จาก อ.สัญญาลักษ์ ดอนศรี ตอนที่ลำใยไปอัดเพลงบ้านแก ก็หลายหน ..ที่ผมเฉย เพราะลำใย ดูหวามหวิว..เรื่องแต่งตัว และท่าเต้น ก็ตอนแสดงอยู่บนเวที ส่วนการแต่งตัว การแสดงออกทางสังคมทั่วๆ ไป ก็ปรกติ ก็โอเค

ที่ผมดูการแสดงของลำใย บนเวทีแล้วเฉยๆ เพราะผมถือว่าเป็นพื้นที่เฉพาะ..คือ บนเวทีคนที่ดูก็ต้องเสียเงินเข้าไปดู ลำใยไม่ได้แต่งตัวหวามหวิว หรือเต้นยั่วยวนออก ทีวี ..อ่อ จะมีอยู่บ้างตอนมาออก "กิ๊กดู๋ สงครามเพลง" เพราะลุงกิ๊ก ขอให้เต้น ที่ผมว่าพื้นที่เฉพาะ ก็เห็น นางแบบถ่ายนู๊ดตามนิตยสารผู้ชาย หรือเวทีนางแบบ  เวทีประกวดนางงามมิสต่างๆ

คนเดินแบบ คนถ่ายแบบหวามหวิว ขึ้นปก หรือภาพสีภายใน ขนาดบางทีไม่มีผ้าปิดกายอย่างกับจะ เตรียมร่วมเพศ..ก็ยังดูกันว่ามันเป็นศิลปะ ..ที่น้องลำใย แต่งตัว เต้นแบบที่เห็น ทำไม ไม่มองเป็น "วัฒนธรรมประยุกต์ " คริๆๆ...

มาในแนวนักร้อง ผมเห็น ค่ายอากู๋ ค่ายอาเฮีย ค่ายอาเสีย เวลาเปิดการแสดงบนเวที ก็ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ กับน้องลำใย ไหทองคำ หรอก...ยิ่งหมอลำซิ่งบางคณะที่บันทึกลงแผ่นขาย..ยิ่งซี๊ดเข้าไปใหญ่ ..ไม่เชื่อ..ลองถามคนที่ดู " บัวผัน ทังโส - ศรีจันทร์ วีสี " แสดงซิ  (เข้าดูยูทูป..ตอนนี้เลย ) ..หรือคณะอื่น ก็ไม่ต่างกัน

บางคนอาจถามว่าอ้าวแล้ว ที่เผยแพร่ภาพเวลาแสดงสดอ่ะ ออกมาไง "สื่อ"เฮงซวย " นำเสนออีกซิ...ฮา เปล่า สื่อเข้ามีต่อมจริยธรรมด้านนี้พอ..ไอ้คนที่เสนออ่ะ ก็พวกที่ซื้อตั๋วเข้าไปดูไง ใช้มือถือถ่ายไลฟ์สด ถ่ายบันทึกขึ้นยูทูป...และทางค่ายเองก็ทำแผ่นแสดงสดขาย

อย่าบอกว่า..เด็กเอาเยี่ยงเอาอย่าง ลำไย..ถ้ามองในด้านนักร้อง ก่อนมีลำใย มี จ๊ะ คันหู อันนั้น หญิงระเบียบรัตน์ ออกมาจัดการ ไม่ต้องถึงนายกฯ จากจ๊ะ คันหู มาเป็น จ๊ะ อาร์สยาม..ฮา และตามด้วย ใบเตย อาร์สยาม และ บัวผัน ท็อปไลน์ .อ้อเจ๊ฮาย คนงาม เชฟบ๊ะ ท่าเต้นบนเวที ก็ไม่ธรรม ด. ดา นะครับ..

แต่อีกมุม ที่ผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาอาจจะไม่มีข้อมูล คือ ในแต่ละปี ทางโรงเรียน แต่ละโรงเรียน เขา จะจัดกินโต๊ะจีน หาทุนการศึกษา ทาสีห้องผอ. ติดแอร์ห้องผอ.บ้าง บางที ก็ทำที่จอดรถครูในโรงเรียน เขาก็จะขายโต๊ะจีนให้ผู้ปกครอง บางโรงเรียนบนเวทีมีการแสดงของนักเรียนเล็กน้อย แต่ที่แสดงยาวก็คือ อีเล็คโทน หมอลำซิ่ง ที่บรรดาน้องนางผู้ร้อง หรือหางเครื่องแต่งตัวหวามหวิว..สยิวกิ้วๆ มาก เต้นเร่าๆ ท่ารูดเสา อยู่บนเวที โดยมีผู้ปกครองชายบางคน ยืนผงหัวหงึก อยู่หน้าเวที ชูใบละร้อยว่อนไปมา  ส่วนนักเรีย ป.6 ม.1 ม. ม.3 ก็แต่งชุดนักเรียนมาเป็นเด็กเสิร์ฟ ให้ผู้ปกครองที่มางาน อยู่ตามโต๊ะต่างๆ ...เห็นภาพทั้งบนเวที ทั้งภาพพ่อ ลุง พี่ อา ของตัวเอง ที่แสดงออก

ผมไม่ได้เห็นว่า "ปรากฎการณ์ลำใย ไหทองคำ " คือ สิ่งที่ดีงาม แต่ผมอยากให้ดู และแก้ กันทั้งระบบ โดยหน่วยงาน ทางวัฒนธรรม ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด ภาค และ กระทรวงฯ..(ลำดับที่ผมว่ามา มีหน่วยงานประจำทั้งนั้นนะครับ)

ทำให้จริงจัง ทำให้สังคมยอมรับ..แล้วมันจะดีงาม ไม่งั้นจะเจอ "ประชาสัมพันธ์โต้กลับ" ที่น้องลำใย ใช้อยู่ขณะนี้...ได้ทั้งคะแนนสงสาร ได้ทั้งงานแสดงเพิ่มขึ้น.....

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น