โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วรรณภา ติระสังขะ: รัฐธรรมนูญกับการรับรองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม

Posted: 25 Jun 2017 02:04 PM PDT

เวทีเสวนา Direk's Talk "วรรณภา ติระสังขะ" นำเสนอเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นสิทธิโดดๆ แต่เกี่ยวพันกับสิทธิด้านอื่น หากประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของอากาศ น้ำ พลังงาน ก็จะมีส่วนร่วมในเกณฑ์ต่ำ ยกตัวอย่างฝรั่งเศสเอาจริงเรื่องสิ่งแวดล้อมจนมีบทบาทโดดเด่นในโลก ขณะที่ไทยเจอผลพวง "มาตรา44" นอกจากทำลายระบบการเมือง-ยังกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะใช้ ม.44 ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมือง และยกเว้น EIA บางกรณี

วรรณภา ติรสังขะ นำเสนอในประเด็น "รัฐธรรมนูญกับการรับรองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม" (ที่มาของภาพ: วิดีโอจากเพจ Backpack Journalist)

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2560 ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาวิชาการ Direk's Talk ในหัวข้อ "ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ" ตลอดทั้งวันมีการจัดเสวนาวิชาการหลายเวทีหลายประเด็น โดยในช่วงบ่าย ผศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอในประเด็น "รัฐธรรมนูญกับการรับรองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม"

ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อหา วรรณภาได้ยกคำกล่าวของ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ที่ว่า "การดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ จะส่งผลให้เกิดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากธรรมชาติในรูปแบบของความเป็นอยู่ที่ดีและมีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้มีแหล่งอาหารสำหรับ คนรุ่นนี้ละรุ่นต่อๆ ไป และมีน้ำ ที่อยู่อาศัย และสุขภาพดีที่ดี มีสิทธิด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่อย่างเป็นระบบของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ"

 

สิทธิพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเป็นสิทธิเดี่ยวๆ โดดๆ แต่เกี่ยวพันกับสิทธิด้านอื่น

สิทธิพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมคือการใช้อำนาจ ในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายความว่า ในแต่ละประเทศ ในแต่ละรัฐ ในแต่ละสังคมมันมีวิธีการจัดการกับการใช้อำนาจโดยผ่านการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เวลาเราพูดถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราอาจจะนึกถึง น้ำ ป่า อากาศ แต่จริงๆแล้วยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ไปไกลกว่านั้นเช่น คลื่นความถี่ พลังงาน เป็นต้น

นี่จึงเป็นการพูดถึงการใช้อำนาจในรัฐนั้นๆว่ามีวิธีการจัดการอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดในด้านสิ่งแวดล้อมนั้นคือ การดำรงอยู่หรือมีอยู่ของสิทธิมนุษยชนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี หมายความว่า เราถือว่าในทางกฎหมายระหว่างประเทศและในระดับสากล มนุษย์ทุกคนมีสิทธิตามธรรมชาติ และถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่จะดำรงอยู่ในการมีน้ำ มีอากาศ มีสภาพแวดล้อมที่ดีอันนี้คือสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งและเป็นเรื่องสำคัญ การจะทำอย่างไรให้คนในรัฐนั้นหรือคนในประเทศนั้นมีมีพื้นฐานการดำรงชีวิตผ่านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันนี้คือหัวใจสำคัญที่เราต้องจัดการ

อีกแนวคิดหนึ่งคือสิทธิพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมมันเกิดขึ้นหรือว่ามันมีอยู่พร้อมๆ กับแนวคิดเรื่องสมบัติสาธารณะ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน คลื่นความถี่มันคือสมบัติของชาติ เพราะเมื่อเราบอกว่ามันเป็นสมบัติของชาติ มันมีวิธีคิดที่ว่า เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรนั้น เราเป็นเจ้าของในการจัดการทรัพยากรนั้นผ่านกระบวนการหลายๆกระบวนการ เพราะฉะนั้นแนวคิดเรื่องสมบัติสาธารณะจึงผูกติดกับเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐมีหน้าที่ต้องจัดสรรให้ประชาชน แนวความคิดเรื่องสมบัติสาธารณะในสังคมไทยเรายังมีความอ่อนด้อยในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพราะในความเป็นจริงเรามักไม่มีความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของอากาศ น้ำ พลังงาน เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าไปจัดการหรือเข้าไปมีอำนาจในการบริหารจัดการหรือมีส่วนร่วม มันจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

 

วิธีคิดและการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีหรือเราเป็นเจ้าของสมบัติสาธารณะ

การมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การจัดการทางทะเล ทะเลก็เป็นสมบัติสาธารณะ ทำอย่างไรให้เราในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจ เจ้าของสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ เข้าไปมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ผ่านรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ดีในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การมีสิทธิมนุษยชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมถูกโยงเข้ากันกับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะในเมื่อประชาชนจำเป็นต้องดำรงอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ประชาชนก็มีโอกาสหรือมีส่วนร่วมในการเข้าไปจัดการ และบอกว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีในแบบที่เราต้องการนั้นมันคืออะไร

ทำได้อย่างไรนั้นคือ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ในทางระหว่างประเทศ สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน และสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิทธิที่เชื่อมและสัมพันธ์กันโดยไม่แยกจากกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นข้อมูลที่คนทุกคนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมควรจะต้องมี ข้อมูลจึงเป็นอาวุธที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนสามารถต่อรอง เข้าไปมีส่วนร่วม เข้าไปบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้

สิทธิการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นสิทธิอีกขั้นหนึ่งที่บอกว่า การมีสิ่งแวดล้อมที่ดีสามารถผ่านรูปแบบอย่างไรได้บ้าง โดยการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแนวคิดที่ไม่ได้ใหม่มากนัก แต่มีการพูดถึงในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นควบคู่ไปกับ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้การมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีสามารถดำรงอยู่ได้ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

อีกเรื่องที่เป็นเรื่อที่สำคัญ ที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือสิทธิพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมนั้นได้รับการตรวจสอบ สิทธิทางศาล หรือกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมนั้น จะทำให้สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการตรวจสอบ

 

บทบาทพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส

การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในฝรั่งเศส ฝรั่งเศสถือว่าเป็นผู้นำในด้านด้านสิ่งแวดล้อมประเทศหนึ่ง นั้นก็มาจากเหตุผลบางประการเกี่ยวกับการที่ฝรั่งเศสปล่อยมลพิษมหาศาล ซึ่งบรรดาประเทศที่เป็นผู้นำสิ่งแวดล้อมนั้นต่างก็เป็นผู้ที่สร้างมลพิษอย่างมหาศาลด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีแนวความคิดด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมในฝรั่งเศสนั้นน่าสนใจตรงที่ เรื่องสิ่งแวดล้อมในฝรั่งเศสถูกจำกัดด้วยการเป็นฮีโรในด้านการเป็นผู้นำของโลก เช่น ในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP 21 ที่มีการพูดถึงกรณีที่ สหรัฐอเมริกาที่นำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ถอนตัว ซึ่งผู้นำของฝรั่งเศสก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ ซึ่งท่าทีดังกล่าวทำให้ฝรั่งเศสถูกมองว่าเป็นผู้นำในการดูแล จัดการ และพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และรวมถึงการให้สัตยาบรรณในทางระหว่างประเทศในหลายๆ เรื่อง ฝรั่งเศสก็พยายามที่จะทำเป็นผู้นำในด้านนี้ นอกจากนี้ฝรั่งเศสมีเรื่องหนึ่งที่ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรมนั้นคือ กฎบัตร ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยกฎบัตรนี้เขียนขึ้นแนบเป็นส่วนท้ายของรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเสมือนหนึ่งรัฐธรรมนูญ

ซึ่งในความเป็นจริงประเทศไทยมีสิทธิด้านนี้ก่อนด้วยซ้ำในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ฝรั่งเศสมีความเป็นรูปธรรมมากกว่า โดยเป็นการเขียนหลักการพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้คนในสังคมเข้าใจสิทธิในด้านสิ่งแวดล้อมมันเกี่ยวโยงกับเรื่องอะไรบ้าง เช่น ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้ชดใช้ หลักป้องกันล่วงหน้า หลักการมีส่วนร่วม หลักการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น ซึ่งหลักการที่มีศักดิ์เทียบเท่ารัฐธรรมนูญนี้ส่งผลต่อการสร้างสิ่งต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็งผ่านการตรวจสอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เนื่องจากฝรั่งเศสใช้ระบอบ รูปแบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการควบคุมกฎหมายที่ออกมาขัดต่อสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการบัญญัติเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญนี้ก็จะต้องถูกยกเลิกไป ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าฝรั่งเศสได้ดำเนินการสิทธิเหล่านี้ให้มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

กรณีประเทศไทย ผลพวง "มาตรา 44" กระทบต่อนโยบายสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยเขียนกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้ก่อนหลายๆประเทศ รวมถึงฝรั่งเศส เช่น สิทธิชุมชน เป็นต้น แต่จริงๆแล้วสังคมไทยเราไปไม่ถึงการดูแลทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ แม้ว่าจะปรากฏในรูปแบบลายลักษณ์อักษร

เราอาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ คนส่วนใหญ่ในสังคมคิดว่าสิทธิเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญมอบให้ แต่จริงๆแล้ว สิทธิพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมมันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ โดยรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ผู้รับรอง ซึ่งมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการอย่างไร และรัฐจะดำเนินการอย่างไร

ในประเทศไทยกฎหมายสิ่งแวดล้อมนั้นกระจัดกระจายและไร้ระเบียบ บางประกาศบางระเบียบของแต่ละกระทรวง ล้วนแล้วแต่ขัดแย้งกันเอง บางเรื่องไม่มีเจ้าของงานก็จะเกิดการถกเถียงกัน ซึ่งมันคือปัญหาในการประมวลกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการรวบรวมกฎหมายในการบริหารเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นการจัดทำประมวลกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้สิทธิพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยสามารถเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ได้การจะไปให้ถึงนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายๆเรื่อง อย่างในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีหลายมาตราที่พูดเกี่ยวกับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 52, มาตรา 54, มาตรา 58 เป็นต้น ซึ่งหากจะให้มีประสิทธิได้นั้นจำเป็นต้องให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่รัฐแต่ประชาชนก็ควรร่วมมือด้วย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่กรุงเทพ คุณก็มีสิทธิในการเป็นเจ้าของต้นไม้ที่เขาใหญ่

แต่อย่าลืมว่าเราก็มีอุปสรรคบางอย่าง ที่ทำให้การบังคับใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมหยุดชะงักลง หากพิจารณาจากคำสั่งคสช.นั้น มีหลายคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 และไปกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น

คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ (การชุมนุมทางการเมืองไม่เกิน 5 คน)

คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สําหรับการประกอบกิจการบางประเภท 

คำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ส่งผลต่อการยกเว้นการทำ EIA บางเรื่อง)

สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือ สิทธิทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ในการปกป้องหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในด้านสิ่งแวดล้อมมันถูกคำสั่งและเหตุยกเว้นเหล่านี้ เข้ามาเป็นอุปสรรค ซึ่งมันกระทบกับการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน

ซึ่งก็กลายเป็นว่า มาตรา 44 นอกจากจะทำลายระบบการเมืองกระแสหลัก ยังกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม จึงอาจกล่าวได้ว่าดูเหมือนประเทศไทยจะ "ไปไม่ถึง" เพราะโดนอุปสรรคสำคัญจากกฎหมาย ตามมาตรา 44 วรรณภากล่าวตอนหนึ่ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สไปเดอร์แมนภาคใหม่ปรากฏฉากพระบรมฉายาลักษณ์ ร.9

Posted: 25 Jun 2017 10:26 AM PDT

แฟนเพจ 'Marvel Studio Thai' โพสต์ภาพ Spider-Man : Homecoming ฉากพระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 ในร้านอาหารไทยที่ป้าเมย์รับประทานกับปีเตอร์ นอกจากนี้ยังมีเบียร์ช้างบนโต๊ะอาหารด้วย

26 มิ.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Marvel Studio Thai' โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า "ในภาพยนตร์ Spider-Man : Homecoming ได้มีฉากที่จะทำให้ชาวไทยได้ปลื้มปิติ เพราะเราจะได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย ในฉากที่ป้าเมย์ได้รับประทานอาหารในร้านอาหารไทยกับปีเตอร์ ซึ่งทางผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการน้อมรำลึกและให้เกียรติแก่พระองค์ท่านผู้เป็นกษัตริย์ของปวงประชาอย่างแท้จริง"

เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Marvel Studio Thai'  ยังเชิญชวนให้ติดตามชมภาพยนตร์พร้อมฉากความประทับใจได้ทุกโรงภาพยนตร์ 6 ก.ค.นี้

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #133 ศิลปะ สถาปัตยกรรม และความทรงจำคณะราษฎร

Posted: 25 Jun 2017 07:52 AM PDT

85 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับ ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พูดถึงความทรงจำ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร และการเกิดขึ้นของสำนึกทางประวัติศาสตร์ของสามัญชน

ทั้งนี้มีสิ่งก่อสร้างที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหมุดคณะราษฎร ในด้านศิลปะในช่วง 15 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานศิลปกรรมในช่วงนี้ ต้องการแสดงภาพคนในลักษณะกำยำ แข็งแรง มองเห็นกล้ามเนื้อ ซึ่งมาพร้อมกับความต้องการปลูกฝังอุดมการณ์ใหม่ "รัฐธรรมนูญนิยม" หรือในภาษาปัจจุบันคือแนวคิด "ประชาธิปไตย" ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชน แต่หลังจากยุคคณะราษฎร ความนิยมด้านศิลปกรรมก็เปลี่ยนไปโดยศิลปะแบบประเพณีนิยมก็กลับมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเก็บบันทึกทางประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ ที่เริ่มการให้ความสำคัญกับคนธรรมดา สามัญชน และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยจะเห็นได้จากการปักหมุด "Blue plaque" บ้านนักเขียนหรือบุคคลที่สร้างคุณูปการในอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยนอกจากการที่เอกชนบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างสาธารณูปโภคเช่นโรงเรียน สะพาน โรงพยาบาล เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงบุคคลแล้ว ในระยะหลังมีก็มีการติดตั้งหมุดหมายของคนธรรมดาด้วย เช่น หมุดที่ทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงจุดที่ "สมาพันธ์ ศรีเทพ" เสียชีวิตที่ซอยรางน้ำในช่วงสลายการชุมนุมปี 2553 หรือหมุดรำลึกถึงจุดที่ "ชัยภูมิ ป่าแส" ถูกวิสามัญฆาตกรรม

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: วันนี้ 85 ปี 2475

Posted: 25 Jun 2017 07:23 AM PDT

         
กาลเวลาเที่ยงตรงและแม่นยำเสมอ

เมื่อวันนี้เวียนมาแล้วจะวนจากไปเช่นเคย?

วันนี้ที่ครั้งหนึ่งมีมนุษย์ลุกขึ้นยืนเย้ยฟ้าประกาศคำมั่นสัญญาหยั่งดิน

ในแดนแสนง่อนแง่นและจักแหลกสลายสูญหายไปกับสายน้ำหลากใบไม้

การก่อเกิดจากธุลีไร้ค่าทว่าเปี่ยมชีวาว่ายวิญญาณ์เสรีวาดหย่อมหญ้าระยับขุนเขา

ดวงตะวันถูกเรียกขาน มิใช่ศูนย์กลางจักรวาลอีกต่อไป


ใช่แล้ว

วันนี้เคยมีคนยืนยันตัวตนเป็นอิสระ จะไม่เป็นทาสใคร ในนามผู้รักษาความเป็นเอกราช

วันนี้เคยมีคนมั่นคงดำรงสันติภาพ จารึกวาจาขอรักษาความปลอดภัย ไม่ยอมให้ผู้ใดประทุษร้ายกัน

วันนี้เคยมีคนขันอาสาเติมเต็มปากท้อง เรียกร้องรัฐบาลต้องจัดหางานอาชีพและห้ามปล่อยประชาชนอดอยาก

วันนี้เคยมีคนกู่ก้องเสียงประชาชนผู้จำเป็นต้องมีสิทธิเสมอภาค ไม่แบ่งเราเจ้าข้าร่วมผืนดินเดียว

วันนี้เคยมีคนเอ่ยคำให้เสรีภาพแก่ประชาชน สร้างสำนึกร่วมกันด้วยตัวตน สันติ เลี้ยงชีพ มีสิทธิเท่าเทียม

และวันนี้เคยมีคนบอกว่าประชาชนต้องได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่


ใช่สิ

วันนี้มีคนภูมิใจในความเป็นทาสที่เป็น "ไทยไม่เคยเป็นทาสใคร"

วันนี้มีคนเคร่งศีลธรรมโลกแบนกำลังสร้างสันติภาพในไหทองคำของลำไย

วันนี้ 30 บาทรักษาทุกโรค กำลังกลายพันธุ์ทำลายโลกของคนจนและคนด้อยโอกาส

วันนี้ความเป็นคนยังล่องหนในกำเนิดชาติตระกูล

วันนี้ไผ่ดาวดินถูกคุมขังได้ครึ่งปีแล้ว

และวันนี้ครูไถหัวนักเรียน ผู้อาวุโสมิรู้จักปลง


ใช่ไหม?

เมื่อวันนี้เวียนมาแล้วจะวนจากไปเช่นเคย

กาลเวลาเที่ยงตรงและแม่นยำเช่นนั้น

 


หมายเหตุ: อ่านในงานเสวนาวิชาการ "24 มิถุนายน 2475 : 85 ปี หมุดหมายประชาธิปไตยไทย?" จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับรังสิมันต์ โรม นอนคุก 1 คืนคดีประชามติปี 59 เตรียมส่งฟ้องศาลทหารพรุ่งนี้

Posted: 25 Jun 2017 06:48 AM PDT

รังสิมันต์ โรม ถูกจับกุมเหตุไม่ไปรายงานตัวกับศาลทหาร คดีประชามติปี 2559 ก่อนหน้าไปยื่นหนังสือขอข้อมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน 1 วัน ล่าสุดนอนคุก 1 คืน ก่อนนำตัวขึ้นศาลทหารส่งฟ้องพรุ่งนี้

25 มิ.ย. 2560 เมื่อเวลา 16.40 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงคราม ได้เข้าจับกุมตัว รังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่หอสมุด กรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับ จากกรณีการไม่ไปรายงานตัวกับศาลทหารในคดี แจกใบปลิวรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่บางเสาธง เมื่อปี 2559

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้พารังสิมันต์ มาที่ สน. ชนะสงคราม เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยขณะนี้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนได้เดินทางไปถึงแล้ว

อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์ โรม ได้กล่าวกับเพื่อนที่ติดตามไปที่สถานีตำรวจว่า ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรเจ้าหน้าที่จึงมาจับตนในวันนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็พบเจอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นปกติ โดยรังสิมันต์ ตั้งข้อสังเกตว่าการจับกุมครั้งนี้ อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตัวเองจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลแสดงรายละเอียดข้อมูลของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ต่อมาเวลา 17.35 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังนำตัวรังสิมันต์ไปยัง สภ.บางเสาธง ซึ่งเป็นเจ้าของคดี ทั้งนี้รังสิมันต์ยังไม่แน่ใจว่าจะยื่นประกันตัวหรือไม่

19.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางเสาธง จะควบคุมตัวรังสิมันต์ 1 คืน ก่อนจะนำตัวส่งศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อส่งฟ้องในเช้าวันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.)

สำหรับหมายจับที่ สน. บางเสาธงนั้น คือคดีที่รังสิมันต์ถูกจับกุมจากการแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 (1 ปีที่แล้ว) โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภารกิจเยี่ยมพ่อแม่นักศึกษา: ปรากฏการณ์กลัว 24 มิถุนาฯ การวางเงื่อนไข และความอึดอัด

Posted: 25 Jun 2017 06:45 AM PDT

ช่วงสองสามวันที่ผ่านมา (22-23 มิถุนายน) ตำรวจสันติบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "นายสั่งให้มาเยี่ยม" และขอร้องไม่ให้บุตรหลานของท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 24 มิถุนายน นี้ เพราะเกรงว่าอาจจะเข้าร่วมกิจกรรมครบรอบ 85 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งกลัวว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ากรุงเทพฯจริงๆในช่วงนี้ ก็ขอห้ามไม่ให้ไปที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า

ปรากฏการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปเยี่ยมพ่อแม่ผู้ปกครองนิสิตนักศึกษาพร้อมกันในหลายๆพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ พัทลุง และอีกในหลายจังหวัดเกือบจะทั่วประเทศในครั้งนี้ ดูผิดแปลกไปมาก แม้ที่ผ่านมามีการเข้าเยี่ยมหรือบุกค้นบ้านของผู้นำนักศึกษาที่เคลื่อนไหวหรือสนใจประเด็นทางการเมือง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ หรือเรียกง่ายๆว่า "ปรับทัศนคติผ่านพ่อแม่" จนเกือบจะกลายเป็นเหตุการณ์ปกติที่เห็นได้ทั่วไปไปแล้วหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557

แต่ปรากฏการณ์ในครั้งนี้กลับต่างไป เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือห้ามเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมครบรอบ 85 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 และที่สำคัญคือในจำนวนทั้งหมดของนักศึกษาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปเยี่ยมพ่อแม่ผู้ปกครองดังกล่าวนั้น บางคนเพียงเพราะแค่กดติดตามเพจอีเว้นท์เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น บางคนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวอะไรเลย (เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าเพราะกดติดตามเพจอีเว้นท์เข้าร่วมกิจกรรม นายเลยให้มาเยี่ยมและปรามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม)

เมื่อผมลองทบทวนเพื่อจะอธิบาย "ความกลัว" จากปรากฏการณ์นี้ กลับพบว่ามีความเชื่อมโยงกันถึงการพยายามสร้างเงื่อนไขในทางจิตวิทยาแบบ "การวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ" (Operant Conditioning) ซึ่งมีความหมายในเบื้องต้นคือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้รับอิทธิพลจากผลที่เกิดตามมา ตัวอย่างคือ สุนัขเรียนรู้ที่จะยกขาหน้า ถ้ามันได้รับผลที่ตามมาอย่างแน่นอน เช่น ได้รับอาหารทุกครั้งที่มันยกขาหน้า ทำนองเดียวกันกับแมวน้ำที่สามารถเรียนรู้ที่จะทำให้ลูกบอลอยู่บนจมูกของมัน ถ้าผลที่ตามมาของพฤติกรรมนี้คือปลาทูคำโตแสนอร่อย

ซึ่งในปรากฏการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามเข้าไปเยี่ยมพ่อแม่ผู้ปกครองนิสิตนักศึกษาพร้อมกันในหลายๆ พื้นที่นี้นอกจากจะ "ปรับทัศนคติผ่านพ่อแม่ เรื่องครบรอบ 85 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เสียใหม่" แล้ว ยังเป็นการพยายามสร้าง "การวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ" โดยมีผลที่ตามมาของพฤติกรรมในกรณีนี้คือ "ความปลอดภัย" เรียกง่ายๆว่า ซื้อเอง ชงเอง กินเอง เลยทีเดียว กล่าวคือ สร้างความกลัว ความเชื่อ และความปลอดภัย ทำให้อย่างครบวงจร หากเชื่อฟังในสิ่งที่นายสั่งมา

สกินเนอร์ (B.F.Skinner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เชื่อว่าเราจะเข้าใจและควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เรารู้เงื่อนไขของการเสริมแรงเพียงใด และบุคคลจะแสดงพฤติกรรมเช่นใดขึ้นอยู่กับว่าเขาได้รับผลเช่นไรในอดีต ดังนั้น ถ้าเรารู้เงื่อนไขของการเสริมแรงของบุคคลเหล่านั้นได้ก็จะสามารถจูงใจได้

โดยพฤติกรรมแบบลงมือกระทำ (Operant Behavior) เป็นพฤติกรรมโดยส่วนใหญ่ของมนุษย์ และกระทำต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างโดยตั้งใจและมีเจตนาจะกระทำนั้นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "การวางเงื่อนไขเพื่อเป็นเครื่องมือ" (Instrumental Conditional)

หากผู้มีอำนาจในปัจจุบันอยากจะสร้าง "อนาคต" แบบที่ตนอยากให้เป็น และหากบุคคลจะแสดงพฤติกรรมเช่นใดขึ้นอยู่กับว่าเขาได้รับผลเช่นไรในอดีต เป็นจริงอย่างที่สกินเนอร์กล่าวอ้าง ก็จำเป็นที่จะต้องพยายามวางเงื่อนไขบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องมือในการ "ดัดพฤติกรรม" กลุ่มคนที่เชื่องได้ยากที่สุดในปัจจุบันดีๆ ซึ่งหวังว่าคงจะทำให้เกิดอนาคตในแบบที่ตนต้องการได้ โดยการกระทำที่คิดว่าง่ายที่สุด คือ "การดัดพฤติกรรมผ่านพ่อแม่" ดังเช่นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้

ผมนั่งคิดทบทวนตัวเองอยู่พักใหญ่ๆ น้ำตาแทบจะไหลออกมาด้วยความอึดอัด วัยของพวกเราตอนนี้ (ผมตอนนี้แค่ 21 ปี) ควรได้เรียนรู้ ปลดปล่อยความคิดออกมา และน่าจะได้สร้างสรรค์อะไรออกมามากกว่านี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง …ไม่เลย…ไม่ได้เป็นอย่างภาพฝัน

"อยู่ๆไปเถอะ" คือคำตอบที่ได้จากเหล่าผู้ใหญ่ ที่อ้างว่าเคยเป็นเยาวชนอย่างเราๆมาก่อน เข้าใจพวกเราดี แต่ไม่เลย… ไม่อนุญาตให้เราคิด ไม่อนุญาตให้เราฝัน ประมวลความสำเร็จ ความผิดหวัง ความล้มเหลว และความแพ้-ชนะของตัวเอง แล้วมายัดเยียดความเป็นไปให้กับเรา มีบทบัญญัติว่าเราควรเป็นอย่างไรออกมาชัดเจน ตลกดี ตอนมัธยมผมอ่านนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ก็เกิดคำถามว่า มันจะเกิดเรื่องอย่างในนิยายได้อย่างไรกัน? ตอนนี้ได้คำตอบแล้วว่า ก็คงเป็นแบบที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้นี่แหละ?

ย้อนนึกไปถึงเมื่อครั้งหนึ่งผมเคยถูกรังแกจาก "อำนาจเถื่อน" ของการเมืองท้องถิ่น จนตัดสินใจย้ายโรงเรียน เลยพอจะเข้าใจสภาวะการอึดอัด หวาดระแวง สับสน และเต็มไปด้วยคำถาม ที่ถามหรือพูดกับใครไม่ได้ เพราะตัวผมเองก็ไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้น "กลัวคำถาม" หรือ "กลัวคำตอบ" กันแน่ แต่ก็ต้องขอบคุณเขานะเพราะได้สร้าง "จุดตัดสินใจ" ให้ผมได้เป็นอย่างดี โชคดีหน่อยที่ผมบังเอิญได้หยิบมันมาเป็นพลัง แต่ก็ไม่คิดไม่ฝันว่าวันหนึ่ง "อำนาจเถื่อน" จะสามารถครองเมืองได้กว้างขวาง เฉกเช่นตอนนี้

ที่ผ่านมานักศึกษาอย่างพวกเราได้แต่ชวนเพื่อนๆพูดคุยโต้เถียงเรื่องแบบนี้กันมาโดยตลอด ทั้งวงเปิดและวงปิด ไม่ใช่เพื่อโน้มน้าวใจให้เชื่อตามผมอย่างสิ้นเชิง แต่เพื่อทบทวน และตอกย้ำ ถึงความเป็นมนุษย์ที่ทำกับเพื่อนมนุษย์ได้ลงคอ เราไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลางที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นนั่นหรอก เราเชื่อ "ความยุติธรรม" ต่างหาก ไม่ต้องมาปรับ "ทัศนคติ" ให้เสียเวลาหรอก

"อะไรก็เกิดขึ้นได้" กับสังคมที่คาดการณ์ความปลอดภัยอะไรไม่ได้เลยในการใช้ชีวิตแต่ละวัน เฉกเช่นปัจจุบันนี้ เหลือเพียงแต่ว่า เราเลือกจะ "สู้" หรือเราเลือกจะ "เชื่อง" กับอนาคตของพวกเราเอง…ที่เขาวางให้

ผมอยากเขียนจดหมายสักฉบับถึงตัวผมเองในอนาคตว่า…

"มึงไม่ต้องคิดไปถึงขั้นที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อลูกหลานของเรา แต่เราต้องสร้างลูกหลานของเราเพื่อเปลี่ยนแปลงยุคของเขาเอง ให้เขามีที่ยืน และสร้างทางเลือกของเขาเอง มึงเป็นแค่กรณีศึกษาของเขาเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดว่าจะร่างกฎหมายหรือสร้างโลกเพื่อเขา โลกในจิตนาการของเขาสวยงามกว่าของมึงตอนแก่เยอะ"

ฝากถึงผมในอนาคต เพื่อเตือนสติไม่ให้หลงระเริงในอำนาจ หากวันหนึ่งอำนาจมันต้องอยู่ในมือผม จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ภาวนาอย่าให้อำนาจอยู่ในมือผมเลย หากอยู่แล้วผมจะต้องเป็นเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราปัจจุบัน (2017)


23 มิถุนายน 2560 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / สมาชิกกลุ่มลานยิ้ม (LANYIM creative group)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจรวบ 'รังสิมันต์ โรม' ก่อนขึ้นเวทีอภิปราย

Posted: 25 Jun 2017 05:41 AM PDT

25 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์วอยซ์ทีวี รายงานว่านายรังสิมันต์ โรม เผยกับกองบรรณาธิการออนไลน์วอยซ์ทีวี ว่าขณะนี้อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้รับแจ้งว่ามีหมายจับอยู่ที่ สภ.บางเสาธง จากกรณีแจกใบปลิวไม่รับร่างรธน. เมื่อปีที่แล้ว เจ้าตัวยังไม่ตัดสินใจ หากต้องถูกส่งขึ้นศาลทหารจะขอประกันตัวหรือไม่ 
 
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดการจับกุมครั้งนี้มากนัก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงโดยอ้างถึงหมายจับของ สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ในคดีประชามติเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่ากระบวนการต่อไปคือต้องส่งตัวเขาไปที่ สภ.บางเสาธง และส่งให้อัยการ เพื่อฝากขังต่อไป ส่วนจะขอประกันตัวหรือไม่นั้น เขายังไม่ตัดสินใจ เพราะคิดว่ากระบวนการจับกุมครั้งนี้มีความไม่ถูกต้อง
 
นายรังสิมันต์กล่าวด้วยว่าก่อนหน้านี้ เตรียมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการที่ทำเนียบ ขอเปิดข้อมูลรถไฟไทย-จีน ในวันพรุ่งนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการจับกุมครั้งนี้อาจจะทำให้เขาไม่สามารถไปยื่นหนังสือเพื่อขอคำชี้แจงจากรัฐบาลได้ 
 
เหตุจับกุมนายรังสิมันต์ นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เกิดขึ้นที่หน้าหอสมุด กทม. เมื่อเวลา 16.30 น. ก่อนที่ขึ้นเวทีทอล์กโชว์ในงาน Start up people start up talk ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ตามกำหนดในช่วงเย็น โดยมีทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนไปด้วย  
 
สำหรับหมายจับที่ สน. บางเสาธงนั้น คือคดีที่รังสิมันต์ถูกจับกุมจากการแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 (1 ปีที่แล้ว) โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน
 
ความคืบหน้าล่าสุด เวลา 17.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายรังสิมันต์ โรม ไปยัง สน. บางเสาธง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: ตามดู 'อาหารกลางวัน' ในโรงเรียน พบ สพฐ.-อปท. สู้ ตชด.ไม่ได้

Posted: 25 Jun 2017 05:16 AM PDT

รายงานพิเศษจาก TCIJ การจัดการ 'อาหารกลางวัน' โรงเรียนในชนบทยังมีปัญหา พบ มท.กำหนดเพดานให้ อปท.อุดหนุนงบ 'นม-อาหารกลางวัน' ต่ำเตี้ย ครูและผู้รับเหมาต้องประกอบอาหารด้วยงบจำกัด งานศึกษา 1,619 โรงเรียน ชี้ว่าอาหารกลางวันโรงเรียนสังกัด สพฐ.-อปท. คุณค่าโภชนาการสู้โรงเรียนสังกัด ตชด. ไม่ได้ 

<--break- />

ที่มาภาพประกอบ: สพป.นครปฐม เขต 1

เมื่อไม่นานนี้ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข ได้ทำการเก็บข้อมูลสุ่มเลือกจังหวัดเพื่อสังเกตพฤติกรรมการบริโภค 'นม' และ 'อาหารกลางวัน' ของนักเรียน พบว่าเด็กไทยบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมเพียง 194.7 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน จากเกณฑ์ขั้นต่ำที่เด็กต้องดื่มนมอย่างน้อย 200 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน รวมทั้งข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพโดยการตรวจร่างกายในประเทศไทย ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2539-2540) ได้สำรวจเด็กวัยเรียน 4,238 คน พบว่าเด็กร้อยละ 9.6 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุ, ร้อยละ 13.5 คอนข้างผอม, ร้อยละ 19.3 มีภาวะผอม-ขาดสารอาหาร และยังพบว่าเด็กนอกเขตเทศบาลมีภาวะทุพโภชนาการมากกว่าเด็กในเขตเทศบาล  ต่อมาในการสำรวจสภาวะสุขภาพโดยการตรวจร่างกายในประเทศไทย ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2551-2552) พบว่าเด็กไทยอายุ 1-14 ปี ร้อยละ 4.4 (520,000 คน) มีภาวะเตี้ย, ร้อยละ 4.1 (480,000 คน) มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ และข้อมูล 'รายงานอาหารเป็นพิษระหว่างปี 2550-2554' ที่รวบรวมโดยสำนักระบาดวิทยา พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 375 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้ 107 เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์อาหารเป็นพิษที่เกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็กจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคุณภาพของ 'อาหารกลางวัน' ที่เด็กรับประทานโดยตรง ซึ่งถ้าหากเป็นโรงเรียนของรัฐที่อยู่ในเขตเมือง โรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนนานาชาติ คงจะไม่เกิดขึ้น ต่างกับโรงเรียนในแขตชนบทที่ยังคงมีอุปสรรคในการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพอาหารกลางวัน ดังที่ TCIJ จะนำเสนอในรายงานนี้

อปท. แม้มีเงินก็อุดหนุนเพิ่มเกินเพดานไม่ได้

ปัจจุบันพบว่า การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างเข้มงวด ได้ส่งผลต่อโรงเรียนในชนบทที่ต้องการการอุดหนุนในด้านต่าง ๆ จาก อปท. อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้กระทั่งเงินอุดหนุน 'อาหารกลางวัน' และ 'นม' ก็มีกฎระเบียบตั้งเพดานงบประมาณไว้อย่างต่ำเตี้ย จากเอกสาร แนวทางประมาณการรายรับและจัดทำงบประมาณรายจ่ายรองรับเงินอุดหนุนทั่วไป ด้านการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย แนบท้ายหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท. 0893.3/ว 3149 ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2558 (ซึ่งยังคงใช้เป็นหลักเกณฑ์การให้เงินอุดหนุนด้านการศึกษาของ อปท. แก่โรงเรียนในพื้นที่ ในช่วงเวลาที่รายงานพิเศษชิ้นนี้เผยแพร่ ณ เดือน มิ.ย. 2560) ได้กำหนดเพดาน เงินอุดหนุนนม จัดสรรสำหรับเด็กเล็ก, เด็กอนุบาล และเด็ก ป.1-ป.6 ให้พิจารณาตั้งงบประมาณรองรับในอัตราคนละ 7.37 บาท ส่วน เงินอุดหนุนอาหารกลางวัน จัดสรรสำหรับเด็กเล็ก, เด็กอนุบาล และเด็ก ป.1-ป.6 ให้พิจารณาตั้งงบประมาณรองรับในอัตรามื้อละ 20 บาท ต่อคนเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติม 'จับตา: อปท. อุดหนุนค่า 'นม-อาหารกลางวัน' ให้โรงเรียนเท่าไร ?')

สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก อาจจะไม่มีปัญหาเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มีระดับชั้นมัธยมศึกษา 1-3 เพิ่มเติมมาจากระดับเด็กอนุบาล-ป.6 แต่ในหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ อปท. จัดสรรสำหรับงบอุดหนุนอาหารกลางวันให้เพียง เด็กเล็ก, เด็กอนุบาล และเด็ก ป.1-ป.6 เท่านั้น โดยไม่พิจารณาว่านักเรียนชั้น มัธยมศึกษา 1-3 ที่เข้าเรียนต่อในโรงเรียนขยายโอกาสก็เป็นเด็กที่ยากจนอยู่แล้ว หลายโรงเรียนพยายามช่วยเหลือด้านอาหารกลางวันแก่เด็กมัธยมเหล่านี้ โดยมักจะใช้วิธีเกลี่ยค่าอาหารกลางวันจากเด็กเล็ก, เด็กอนุบาล และเด็ก ป.1-ป.6 ซึ่งจะยิ่งทำให้ค่าอาหารกลางวันต่อหัวของนักเรียนทุกคนในโรงเรียนลดลงไปอีก ส่งผลต่อคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารกลางวันโดยตรง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หลาย อปท. มีศักยภาพที่จะอุดหนุนเงินค่านมและอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนในพื้นที่ของตนเพิ่มได้มากกว่า 7.37 บาทและ 20 บาทต่อหัว แต่ก็ไม่สามารถอุดหนุนเงินได้เกินกว่าระเบียบที่บังคับไว้ หลาย อปท. จึงใช้วิธีการอื่น ๆ ในการโยกงบประมาณไปให้โรงเรียนเพิ่มเติมงบประมาณอาหารกลางวัน เช่น การให้เงินอุดหนุนด้านการศึกษาต่าง ๆ ที่มีระบุไว้ในระเบียบ แต่ให้เกินเพื่อให้มีส่วนต่างหักไว้สำหรับเพิ่มเติมค่าอาหารกลางวัน, การระดมทุนผู้ปกครอง, การทอดผ้าป่า ฯลฯ แต่วิธีการเหล่านี้ก็ไม่สามารถรับประกันว่าผู้บริหารของโรงเรียนจะนำเงินที่ได้มา ไปใช้เสริมในเรื่องของอาหารกลางวันเสมอไป เพราะไม่มีหลักฐานเอกสารอะไร นอกจากนี้ยังพบว่าหลายโรงเรียนไม่มีคณะกรรมการอาหารกลางวัน ที่ปกติควรมีตัวแทนผู้ปกครอง โรงเรียน และท้องถิ่น ช่วยดูแลเรื่องอาหารกลางวันให้นักเรียนอย่างเป็นระบบ

อนึ่ง อปท. สามารถให้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ ในพื้นที่ของตนได้ดังนี้ (1) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) (2) โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (3) โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) (4) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่ อปท. จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน (5) สถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง) และ (6) สถานศึกษาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

อาหารกลางวันเด็กและเสียงผู้รับเหมา

ตัวอย่างอาหารกลางวันของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่ อปท. ให้เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันหัวละ 20 บาท โดยจ้างผู้รับเหมาภายนอกมาประกอบอาหาร

ตัวอย่างอาหารอาหารกลางวันของโรงเรียนสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง) แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่ อปท. ให้เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันหัวละ 20 บาท โดยใช้บุคลากรของโรงเรียนประกอบอาหารเอง

อำนาจในการจัดหาและคัดเลือกผู้ประกอบอาหารกลางวัน อยู่ในดุลยพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียน โดยรูปแบบการจัดอาหารกลางวันมีทั้งการใช้บุคลากรของโรงเรียน เช่น ครูและนักเรียน, การจ้างแม่ครัว (จ่ายเป็นค่าแรงรายวัน แต่โรงเรียนเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ) และการจ้างผู้รับเหมาภายนอก (จ่ายเหมาต่อหัวรวมทั้งค่าแรงและค่าวัตถุดิบ) เป็นต้น ซึ่งในการใช้บุคลากรของโรงเรียน พบว่ายังขาดแคลนครูที่จบการศึกษาทางด้านโภชนาการโดยตรง รวมทั้งครูที่มีประสบการณ์ในการจัดอาหารกลางวันนั้นก็มีน้อยมาก

แน่นอนว่า การใช้บุคลากรของโรงเรียนหรือการจ้างแม่ครัวมาทำอาหาร จะทำให้ความคุ้มทุนต่อหัวมีมากกว่าการจ้างผู้รับเหมา แต่หลายโรงเรียนครูต้องแบกภาระหน้าที่หลายอย่าง ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเรื่องอาหารกลางวันได้ รวมทั้งไม่มีคณะกรรมการอาหารกลางวันที่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง การจ้างผู้รับเหมาจากภายนอก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่โรงเรียนต่าง ๆ นิยมใช้

ผู้ประกอบการรับเหมาอาหารกลางในโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคเหนือระบุว่า เธอเคยเป็นแม่ครัวรับจ้างทำอาหารกลางวันให้โรงเรียนได้วันละ 300 บาท มาก่อนในโรงเรียนอีกแห่ง แต่หลังจากนั้นครูในโรงเรียนแห่งนั้นก็รับเหมาเองแล้วให้คนในครอบครัวมาประกอบอาหาร  ต่อมาเธอได้รับการติดต่อให้เป็นผู้รับเหมาทำอาหารกลางวันจากผู้อำนวยการโรงเรียนปัจจุบันที่เธอรับเหมาอยู่ ทางโรงเรียนจ่ายเงินต่อหัวที่ได้รับการอุดหนุนมาหัวละ 20 บาท (เงินที่ได้รับการอุดหนุนจาก อปท. ในพื้นที่) ให้เธอเป็นรายวัน และโรงเรียนแห่งนี้ยังมีนักเรียนมัธยมที่เป็นนักเรียนขยายโอกาส ผู้อำนวยการได้ขอความร่วมมือเธอให้จัดอาหารกลางวันให้นักเรียนมัธยมกลุ่มนี้ด้วยงบประมาณจำนวนเดิมที่ได้รับการจัดสรรมาจาก อปท. ซึ่งเมื่อมาเกลี่ยเงินต่อหัวกันจริง ๆ แล้ว นักเรียนทุกคนในโรงเรียน (เด็กเล็ก-ม.3) ก็จะได้ไม่ถึงหัวละ 20 บาท

เธออธิบายว่า วัตถุดิบในการทำอาหารกลางวันเพิ่มขึ้นทุกปี โรงเรียนที่เธอรับเหมาทำอาหารกลางวันอยู่นั้น ก็ไม่มีโครงการเลี้ยงสัตว์หรือเพาะปลูกพืชผัก เพื่อให้เธอซื้อมาเป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันในราคาถูก  วัตถุดิบต่าง ๆ เธอต้องซื้อจากตลาดทั่วไปในราคาปกติ เธอระบุว่าหากโรงเรียนยังเหมาจ่ายหัวละ 20 บาทอยู่แบบนี้ ปีต่อ ๆ ไปก็อาจจะมีปัญหาขึ้นมาได้ เพราะปัจจุบันราคาสินค้าขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้รายได้อีกส่วนหนึ่งก็คือการได้ขายขนมและเครื่องดื่มในโรงเรียนพ่วงไปด้วย จึงทำให้เธอพออยู่ได้

"สมมติเราเหมามาหัวละ 20 เราอาจจะเอากำไรหัวละ 2-3 บาท ก็พออยู่ได้ แต่นี่ยังต้องเกลี่ยเงินต่อหัวไปให้เด็กมัธยมอีก ก็แทบจะอยู่ไม่ได้ ถ้าจะเอากับข้าวมากกว่า 1 อย่าง เราจึงต้องต่อรองทางโรงเรียนขอให้เราได้ขายขนมและเครื่องดื่มในโรงเรียนด้วย จะได้กำไรจากส่วนนั้นมาช่วย" ผู้รับเหมารายนี้กล่าว

 

เมื่อ CSR ของ CPF รุกสู่มื้อกลางวันในโรงเรียน

นักเรียนในโครงการ 'ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต' ที่มาภาพ: CP E-NEWS

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ก็มีโครงการเพื่อสังคมด้านอาหารกลางวัน 'ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต' ในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ ยกตัวอย่างโรงเรียนวัดธรรมโชติ ตำบลโรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่จากเดิม โรงเรียนมีปัญหาเรื่องภาวะโภชนาการ และประสบปัญหาพื้นที่อยู่ในเขตน้ำเค็ม โครงการสามารถช่วยให้โรงเรียนพึ่งพาตนเองในการผลิตวัตถุดิบเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันได้ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยสร้างรายได้เข้ากองทุนโรงเรียนต่อยอดการผลิตวัตถุดิบอาหารกลางวัน ตลอดจนยังเป็นการสอนทักษะอาชีพให้กับเด็กนักเรียน 152 คนควบคู่ไปด้วย โดยโรงเรียนวัดธรรมโชติ เป็น 1 ใน 77 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่ CPF ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ริเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2558 เพื่อสร้างโภชนาการที่ดีในเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายปี 2562 เด็กนักเรียนในพื้นที่รอบโรงงานและฟาร์มของบริษัทฯ รวมกว่า 17,000 คน ในโรงเรียนมากกว่า 77 แห่ง มีภาวะโภชนาการที่ดี และสามารถยกระดับโรงเรียน สู่แหล่งเรียนรู้ต้นแบบในสร้างอาหารมั่นคงของชุมชนและโรงเรียนอื่น ๆ

 

โรงเรียนสังกัด สพฐ.-อปท.  อาหารกลางวันสู้โรงเรียนสังกัด ตชด. ไม่ได้

จากงานศึกษาโรงเรียนจำนวน 1,619 โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) พบว่าโรงเรียนสังกัด ตชด. สามารถจัดบริการอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าสังกัดอื่น ที่มาภาพประกอบ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

จากงานศึกษาเรื่อง 'ปัจจัยที่มีผลต่อการจัดอาหารในโรงเรียนประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เลย นนทบุรี และภูเก็ต' โดย จิราพร ขีดดี, ทักษพล ธรรมรังสี และวิลาวัลย์ เอื้อวงศ์กูล เผยแพร่เมื่อปี 2557 ได้ทำการสำรวจโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ใน 4 จังหวัดตัวอย่างจำนวน 1,619 โรงเรียน พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ชุมชน ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในด้านค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าอาหารกลางวันพบว่าเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 13.50 ± 1.58 บาท/คน ต่ำสุด 10 บาท/คน สูงสุด 20 บาท/คน โดยมีงบประมาณที่สมทบเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13 บาท ต่อคน (ข้อมูลปี 2556)

ในด้านบุคลากรที่ทำการจัดอาหารกลางวัน พบว่าผู้รับผิดชอบจัดการเรื่องอาหารในโรงเรียนทั้ง 3 สังกัดส่วนมากเป็นครูเพศหญิง โรงเรียนสังกัด สพฐ. เป็นครูเพศหญิง ร้อยละ 88.24 สังกัด อปท. ร้อยละ 96.77 และสังกัด ตชด. ร้อยละ 62.50 ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่าร้อยละ 80 แต่จบการศึกษาทางด้านโภชนาการโดยตรง ในสังกัด สพฐ. และ อปท. ไม่ถึงร้อยละ 10 ส่วนบุคลากรที่ทำการจัดอาหารกลางวันในสังกัด ตชด. ไม่มีบุคลากรจบการศึกษาทางด้านโภชนาการโดยตรงเลย แต่เมื่อพิจารณาในเรื่องการอบรมด้านอาหารและโภชนาการและประสบการณ์การจัดหาอาหารในโรงเรียน พบว่าบุคลากรสังกัดโรงเรียน ตชด. กลับมีประสบการณ์เฉลี่ยมากที่สุด 9 ปีส่วนบุคลากรสังกัด อปท. มีประสบการณ์เฉลี่ยน้อยที่สุด 5.5 ปี

งานศึกษายังพบว่า สังกัดและขนาดของโรงเรียนมีความสัมพันธ์กับคุณค่าอาหารกลางวันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยโรงเรียนสังกัด ตชด.อาหารกลางวันจะมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ.และ อปท. เพราะว่าโรงเรียนในสังกัด ตชด. มีการจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบ ภายใต้ 'โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน' ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีโครงสร้าง ระบบ นโยบาย และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในทุกระดับ มีหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการระบบ มีการบริหารการจัดงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ มีการให้ความรู้บุคลากร การผลิตวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้เอง รวมทั้งมีกระบวนการถ่ายทอดนโยบายและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

ในด้านขนาดของโรงเรียนนั้น พบว่าโรงเรียนเล็กจัดอาหารกลางวันมีคุณค่ามากกว่าโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ อาจเนื่องมาจากโรงเรียนสังกัด ตชด. ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก อีกทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ (สังกัด สพฐ. และ อปท.) เป็นโรงเรียนขยายโอกาสซึ่งมีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษารวมด้วย ซึ่งงบประมาณในการบริการอาหารกลางวันนั้นจะสนับสนุนเฉพาะเด็กประถมศึกษาเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมให้เด็กทั้งหมดในโรงเรียนขยายโอกาส นอกจากนี้ยังพบว่า โรงเรียนส่วนน้อยที่มีการสำรวจความต้องการของนักเรียนในการจัดเมนูอาหาร และมีโรงเรียนส่วนน้อยที่มีคู่มือแนวทางโปรแกรมโภชนาการในการช่วยจัดอาหาร

เมื่อพิจารณาในด้านคุณค่าทางโภชนาการที่ได้จากอาหารกลางวันและอาหารว่างจากตาราง 'ค่าเฉลี่ยคุณค่าทางโภชณาการและค่าเฉลี่ยร้อยละของเป้าหมายอาหารกลางวันและอาหารว่างในโรงเรียน' และ 'ค่าเฉลี่ยคุณค่าทางโภชนาการอาหารกลางวันของโรงเรียนแยกตามสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด.' พบว่าเป้าหมายคุณค่าทางโภชนาการ มีความสัมพันธ์กับสังกัดโรงเรียนและการใช้วัตถุดิบในการประกอบอาหารในพื้นที่อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ในภาพรวมพบว่าโรงเรียนสังกัด ตชด. สามารถจัดบริการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าสังกัดอื่น และสามารถเป็นต้นแบบที่ดีได้ แต่ว่าโรงเรียนสังกัด ตชด. ควรปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยของอาหาร

ซึ่งในประเด็นความปลอดภัยของอาหารนั้น แม้โรงเรียนส่วนมากมีการจัดการเรื่องความปลอดภัยของอาหารในโรงเรียน แต่จากงานศึกษาฯ พบว่าประมาณ 2 ใน 3 มีการจำหน่ายอาหารที่มีไขมัน น้ำตาลและโซเดียมสูง และโรงเรียนที่มีการจัดการความปลอดภัยของอาหาร ก็เป็นเพียงเรื่องการใช้ภาชนะที่ปลอดภัยและการตรวจสุขภาพบุคลากรประกอบอาหารเท่านั้น มีเพียงโรงเรียนส่วนน้อยที่มีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีด้วยชุดตรวจสอบ เช่น ชุดตรวจสอบขององค์การอาหารและยา (อย.) หรือการตรวจสอบการปนเปื้อนจุลินทรีย์ด้วยชุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง

จับตา: อปท. อุดหนุนค่า 'นม-อาหารกลางวัน' ให้โรงเรียนเท่าไร?
'เปิดเส้นทาง 'งบโครงการอาหารกลางวัน' ใกล้ปิดเทอม-แต่เงินยังไปไม่ถึง'โรงเรียน' คลังประเมิน 4 ด้านไม่ผ่านเกณฑ์มาแล้ว 3 ปี'

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช. กลัวอะไร? จึงต้องขวางคนไปขอข้อมูลรถไฟไทย-จีน

Posted: 25 Jun 2017 05:06 AM PDT

จากที่เมื่อเย็นวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) โดยอ้างหมายจับคดีแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 หรือก็คือเมื่อ 1 ปีที่แล้ว และนำตัวไปยัง สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

การควบคุมตัวครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่รังสิมันต์ได้ประกาศจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อให้มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงรถไฟไทย-จีนทั้งหมด ในวันพรุ่งนี้ (26 มิถุนายน 2560)

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ที่เพิ่งมาควบคุมตัวเอาในวันนี้ ทั้งที่คดีนี้ศาลได้สั่งปล่อยตัวตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว และตลอดเวลา 1 ปี ก็ไม่เห็นจะทำอะไร ก็เพื่อขัดขวางไม่ให้รังสิมันต์ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้นั่นเอง

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG จึงอยากถาม คสช. ว่า...

คสช. กลัวอะไร จึงต้องขัดขวางการไปยื่นหนังสือของประชาชนคนหนึ่ง เพื่อขอเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟไทย-จีน? มีอะไรเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ คสช. ไม่อยากให้ประชาชนรับรู้?

กลัวประชาชนจะรู้ว่า ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงอาจจะแพงกว่าโครงการของรัฐบาลที่แล้ว?

กลัวประชาชนจะรู้ว่า การเจรจาที่ผ่านมาไทยเสียเปรียบจีนมาโดยตลอด ถูกวางเงื่อนไขให้ต้องพึ่งพาจีนฝ่ายเดียวมาโดยตลอด?

หรือกลัวประชาชนจะรู้ว่า มีผลประโยชน์ได้เสียอื่นๆ แฝงอยู่ในโครงการนี้มากกว่าที่ควรจะเป็นด้วย?

(ทั้งนี้ เราขอยืนยันว่าการรณรงค์ประชามติเมื่อปีที่แล้ว เป็นเสรีภาพอันชอบธรรมที่ประชาชนพึงกระทำได้ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ใช้ตั้งข้อหานั้น ไม่ใช่กฎหมายอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เสนอกลับสู่ประชาธิปไตยต้องเลิกแซะ เหลือง-แดงต้องเข้าใจอีกฝ่าย

Posted: 25 Jun 2017 04:36 AM PDT

ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ 2560 "ประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน" สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เผยสถิติ "ประชาธิปไตยกินได้" รัฐบาลพลเรือนสร้างสวัสดิการให้คนธรรมดามากกว่าช่วงเผด็จการ แต่ก็ต้องระวังความไม่เข้าใจข้อจำกัดของประชาธิปไตย-ที่จะส่งผลทำลายประชาธิปไตย แนะทั้งสองฝ่ายเหลือง-แดง อยากกลับสู่ประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และเข้าใจความคับข้องใจของกันและกัน แทนที่จะหาวิธีแบ่งเขาแบ่งเราแบบที่เกิดขึ้นในหมู่ปัญญาชนทั้ง 2 ฝ่ายที่มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทก

เสนอการปรับปรุงทิศทางและบทบาทรัฐไทยอย่างน้อย 4 ทิศทาง "ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ" "ให้สังคมช่วยลงทุน" "ให้ธุรกิจมีส่วนร่วม" "ให้ภาครัฐปรับบทบาทตัวเอง" เผยมิติความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทุนใหญ่ผูกขาด และที่น่ากลัวทุนโลกาภิวัตน์ก็คือทุนชาติ ที่แทรกแซงรัฐอย่างไม่เกรงใจ

พร้อมแนะปรับทิศทางทุนนิยมไทย ลด "ทุนนิยมโดยรัฐ" และ "ทุนนิยมพวกพ้อง" หันมาส่งเสริม "ทุนนิยมผู้ประกอบการ" และ "ทุนนิยมธุรกิจใหญ่ที่มีนวัตกรรม" สร้างเศรษฐกิจ-การเมืองที่โปร่งใส ใช้รัฐวิสาหกิจเท่าที่จำเป็น ใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ

"รัฐและทุน เศรษฐกิจและประชาธิปไตย มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง เราอยากเห็นเศรษฐกิจเปิด อยากสืบสานปณิธานท่านอาจารย์ปรีดี อยากเห็นการเมืองเป็นประชาธิปไตย ถ้าเราจะแกะปมด้านการเมือง เราต้องแกะปมเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ถ้าเราจะแกะปมเศรษฐกิจก็ต้องแกะปมการเมืองไปพร้อมกัน โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากที่ต้องการ การรวมพลังกันของภาคสังคมทั้งหมด ไม่ใช่การแบ่งแยกพวกเรา ซึ่งมีกำลังความสามารถน้อยอยู่แล้ว ให้แตกแยกไปเรื่อยๆ เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ"

000

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2560 ครบรอบ 82 ปี การอภิวัฒน์สยาม หัวข้อ "ประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน" โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

โดยตอนหนึ่งของปาฐกถา สมเกียรติชวนหาทางออกกลับไปสู่ประชาธิปไตย ชี้ว่าผ่านมา 85 ปี ยังห่างไกลจากความฝันของปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎรอยู่มาก การเมืองถดถอยเคยเป็นประชาธิปไตยหลายครั้ง แต่ก็กลับอยู่สู่ระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำอีก เศรษฐกิจมีปัญหาต่อไปจะมีปัญหามากขึ้น ยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัย

ทั้งนี้เมื่อใดที่การเมืองมีปัญหา ย่อมส่งผลต่อสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะทั้ง 2 ส่วนนี้ ต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างหนาแน่น เพราะการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เป็นระบบการปกครองจากโครงสร้างส่วนบน เพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างส่วนล่าง เมื่อประชาชนเดือดร้อน จำเป็นต้องพึ่งพาระบบการเมือง

พร้อมชี้เผยสถิติ "ประชาธิปไตยกินได้" รัฐบาลช่วงประชาธิปไตยสร้างสวัสดิการให้กับคนธรรมดามากกว่ารัฐบาลเผด็จการ เช่น ช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย มีนโยบายทั้งสวัสดิการแรงงาน บำเหน็จบำนาญ การศึกษา ประกันสังคมต่างๆ กองทุนเงินทดแทน การรักษาพยาบาล แต่หากเป็นช่วงรัฐบาลเผด็จการ อาจมีนโยบายพวกนี้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสวัสดิการเพื่อข้าราชการ หรือหรือถึงขึ้นลดสวัสดิการเพื่อประชาชนของประเทศก็มี และหากมองเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายเพื่อประชาชนให้เห็นบ้าง คือ นโยบายอุดหนุนเด็กแรกเกิด และอาจจะมีอีก 1-2 นโยบายออกตามมาทีหลัง แต่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ เมื่อเทียบกับยุคประชาธิปไตย ที่ให้สวัสดิการประชาชนมากกว่า จึงถือว่าประชาธิปไตยทำให้ประชาชนกินได้

แต่ทั้งนี้ ประชาชนเองต้องเข้าใจระบอบประชาธิปไตย และต้องระวังความไม่เข้าใจข้อจำกัดของประชาธิปไตย มิฉะนั้นจะส่งผลกลับไปทำลายประชาธิปไตย

พร้อมเสนอทางออกถ้าจะกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย ทหารกลับกรมกอง 2 สีเสื้อ เหลือ-แดง ควรต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ ความคับข้องใจของอีกฝ่าย เช่น เสื้อเหลือง ควรเรียนรู้ว่าคนเสื้อแดงคับข้องใจจากการไม่ได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม การถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน

ในเวลาเดียวกันคนเสื้อแดงควรเข้าใจคนเสื้อเหลืองว่าเขาไม่อยากเห็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของเสียงข้างมาก ชี้สังคมไทยมีโครงสร้างเหลื่อมล้ำสูง คนมีโอกาสจะโหวตแบบคนเสื้อแดงมากกว่าแบบคนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มเป็นเสียงข้างน้อยยาวนาน เพราะฉะนั้นความขับค้องใจคือ เลือกตั้งกี่ครั้งเขาก็ไม่ชนะ ถ้าเสียงข้างมากไปใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบก็จะหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ ถ้าทั้งสองฝ่ายอยากกลับไปสู่ประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ และเข้าใจความคับข้องใจของกันและกัน แทนที่จะหาวิธีแบ่งแยกพวกเราพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนของทั้งสองฝ่าย มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทกคนอีกฝั่ง

ถ้าทั้งสองฝั่งอยากเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องเข้าใจ ให้เกียรติ และเห็นอกเห็นใจคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองต่างจากตนมากขึ้น และหา "จุดร่วม" ร่วมกันเพื่อกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย และสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบที่สมบูรณ์มากขึ้น

"ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเปลี่ยนเข้าสู่ประชาธิปไตยไม่ได้ เราเคยผ่าน 14 ตุลา พฤษภา 35 แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือการรักษาประชาธิปไตย" สมเกียรติ กล่าวตอนหนึ่ง

ในช่วงท้ายเขากล่าวว่า วัตถุประสงค์ของปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าถ้านายปรีดี มีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้นายปรีดีคงเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยไม่สามารถไปถึงจุดเป้าหมายได้ เพราะการจัดความสามารถของไทยโดย WEF โดยด้านที่ต่ำเห็นเด่นชัด คือ กฎกติกาของภาครัฐ ทำให้อันดับคุณภาพของรัฐบาลไทยต่ำกว่าคุณภาพของรัฐบาลมาเลเซีย จีน แม้กระทั่งแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รัฐไทยไม่มีความสามารถมากมายอย่างที่เราคาดหวังได้

"รัฐไทยอาจจะมีความสามารถมากพอที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน จับประชาชนไปปรับทัศนคติได้ แต่รัฐไทยกระจอกเกินไปที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศได้"

เพราะรัฐไทยรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากเหลือเกิน แต่เมื่อรวมศูนย์ในเวลาเดียวกัน ก็กลับทำงานแยกส่วนกัน เป็นแท่งๆ กระทรวงใครกระทรวงมัน กรมใคร กรมมัน หรือแม้แต่กองใครกองมัน ไม่ทำงานแบบเชื่อมโยงกัน แนวคิดแบบ One size fits all ที่ออกจากกรุงเทพ แต่กลับใช้ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มไม่เปิดกว้างให้เอกชนและสังคมมีส่วนร่วม ในขณะเดียวกันรัฐพยายามรวบอำนาจเข้ามา ข้าราชการกลับมีคุณภาพน้อยลงทุกที

ข้อเสนอของสมเกียรติเสนอการปรับปรุงทิศทางและบทบาทรัฐไทยอย่างน้อย 4 ทิศทาง คือ 1. "ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ" ถ้ารัฐส่วนใดไม่สามารถบริหารได้ ต้องกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น 2. "ให้สังคมช่วยลงทุน" เปิดส่วนร่วมให้สังคมมีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหาให้ดียิ่งขึ้น3. "ให้ธุรกิจมีส่วนร่วม" โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม 4. "ให้ภาครัฐปรับบทบาทตัวเอง" โดยลดบทบาทผู้เล่นควบกรรมการ แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

ทั้งนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหลายมิติ มิติแรก ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายได้ เมื่อดูการถือครองที่ดินก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำสูง มิติที่ 2 ยังเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากผลตอบแทนของทุน เงินทุน และความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากแรงงานและค่าจ้างแรงงาน คือในขณะที่ผลตอบแทนของทุนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด แต่ผลตอบแทนจากค่าจ้างแรงงานเกิดขึ้นน้อยมาก และยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างทุนใหญ่และทุนเล็ก ถ้าดูข้อมูลตลาดหลักทรัพย์บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ 100 แห่ง มีกำไร 2.7 แสนล้านบาท และในปีนี้แค่ไตรมาสแรกก็ได้กำไรก้าวกระโดด และบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ 10 แห่งแรกทำกำไรได้ 50% ของทั้งหมด และบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยอยู่ในสาขาธุรกิจผูกขาด หรือกึ่งผูกขาด หรือได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐประเภทใดประเภทหนึ่ง ในความรู้สึกของผมที่น่ากลัวกว่าทุนโลกาภิวัตน์ก็คือทุนชาติ

ปรับทิศทางทุนนิยมไทย เพราะทุนนิยมมีหลายประเภท แต่ไทยมี "ทุนนิยมโดยรัฐ" และ "ทุนนิยมพวกพ้องมาก" โดยเสนอให้ส่งเสริม "ทุนนิยมผู้ประกอบการ" และ "ทุนนิยมธุรกิจใหญ่ที่มีนวัตกรรม" สร้างเศรษฐกิจ-การเมืองที่โปร่งใส ใช้รัฐวิสาหกิจเท่าที่จำเป็น ใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ

ปรับความร่วมมือของรัฐและทุน ปรับจากความร่วมมือเพื่อ "แบ่งเค้ก" สู่ "ขยายเค้ก"ปรับจากร่วมงานกับ "เจ้าสัว" สู่ร่วมงานกับ "องค์กรตัวแทนธุรกิจ" ปรับจากรัฐ "ขอเงิน" มาสู่ "ขอคำแนะนำ" จากเอกชน และให้สังคมตรวจสอบความร่วมมือของรัฐและทุน

รัฐและทุน เศรษฐกิจและประชาธิปไตย มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง เราอยากเห็นเศรษฐกิจเปิด อยากสืบสานปณิธานท่านอาจารย์ปรีดี อยากเห็นการเมืองเป็นประชาธิปไตย ถ้าเราจะแกะปมด้านการเมือง เราต้องแกะปมเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ถ้าเราจะแกะปมเศรษฐกิจก็ต้องแกะปมการเมืองไปพร้อมกัน โจทย์จึงเป็นโจทย์ที่ยาก ที่ต้องการ การรวมพลังกันของภาคสังคมทั้งหมด ไม่ใช่การแบ่งแยกพวกเรา ซึ่งมีกำลังความสามารถน้อยอยู่แล้ว ให้แตกแยกไปเรื่อยๆ เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำรวจมรดกคณะราษฎร การเมือง-ศาสนา-เพศ-ศิลปะ-เรื่องเล่าจากความทรงจำ

Posted: 24 Jun 2017 11:15 PM PDT

เสวนา ขุดราถอนโคนโค่นมรดกคณะราษฎร์ บางอย่างถอนได้ บางอย่างไม่ สุลักษณ์-อุดมคติคณะราษฎรกับคนรุ่นใหม่, สุรพศ -การปฏิรูปศาสนา ยกเลิกมหาเถรฯ พ.ร.บ.สงฆ์ 2484, ปกป้อง-สิทธิสตรี ความก้าวหน้าของผู้หญิงที่ไม่ถูกจำ, ธนาวิ-การรื้อถอนศิลปะโมเดิร์นแบบคณะราษฎร, เอกชัย-มรดกทางกฎหมาย ประชาธิปไตย และสวัสดิการ

คลิปเสวนา 'ขุดรากถอนโคนโค่น มรดกคณะราษฎร' ช่วงแรกเป็นการนำเสนอดังนี้  (1) "การอภิวัฒน์ 2475 ในทรรศนะปัญญาชนสยาม" โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ [รับชมคลิปนาทีที่ 00.00] (2) "มรดกคณะราษฎรในความทรงจำ" โดย พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุเสนา ทายาท พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา [รับชมคลิปนาทีที่ 36.00] และ (3) "มรดกคณะราษฎรด้านกฎหมาย" เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการกฎหมาย [รับชมคลิปนาทีที่ 56.56]

คลิปจากวงเสวนา "ขุดรากถอนโคน โค่นมรดกคณะราษฎร" ช่วงที่สองเป็นการนำเสนอดังนี้ (4) "มรดกคณะราษฎรด้านศิลปกรรม" โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ [รับชมคลิปนาทีที่ 00:00] (5) "มรดกคณะราษฎรด้านการปฏิรูปพุทธศาสนา" โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ [รับชมคลิปนาทีที่ 29:55] (6) "มรดกคณะราษฎรด้านสิทธิสตรี" โดย ชานันท์ ยอดหงษ์ [รับชมคลิปนาทีที่ 53:35] และช่วงอภิปรายถาม-ตอบกับผู้ร่วมฟังเสวนา

 

24 มิ.ย.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนา 'ขุดรากถอนโคนโค่น มรดกคณะราษฎร' โดยมีวิทยากรนำเสนอประเด็นต่างๆ ดังนี้

"การอภิวัฒน์ 2475 ในทรรศนะปัญญาชนสยาม"

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

"ผมเคยพูดเรื่องการหาข้อเท็จจริงของพระนเรศวรมหาราชซึ่งเสวยราชย์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว ผมถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ต้องประกันตัวมา 300,000 บาท หวังว่าคราวนี้จะไม่โดนอีก ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงเขียนมาและจะก็อปปี้ให้ตำรวจไปเลย" สุลักษณ์กล่าว

เขากล่าวว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญที่สุดของคนไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะคนที่ถือว่าสาระของประชาธิปไตยเป็นหัวใจของสังคมสมัยใหม่ แต่สำหรับปฏิกิริยาขวาสุดนั้นถือว่าวันดังกล่าวคณะราษฎรแย่งชิงพระราชอำนาจไปจากพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงทศพิธราชธรรมและพร้อมจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว การที่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างร้ายแรง

รัฐไทยอยู่ใต้อารักขาของอเมริกาตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 เป็นต้นมา และชนชั้นนำของเราสนิทแนบแน่นกับอเมริกา ที่น่าตั้งคำถามคือ เราเข้าใจสาระความเป็นประชาธิปไตยแบบของสหรัฐอเมริกาแค่ไหน โดยขอหยิบยกคำกล่าวของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในตอนตอบโต้ปฏิบัติการ 9/11 นั่นคือ (ผู้ก่อการร้าย) พวกเขาเกลียดเสรีภาพต่างๆ ของเรา เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา เสรีภาพในคำพูด เสรีภาพในการออกเสียงเลือกตั้ง เสรีภาพในการรวมตัว และรับความคิดเห็นที่แตกต่าง นี่ถือได้ว่าวาทกรรมที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยและความทันสมัย

ข้อความของบุชเป็นหัวใจของการอภิวัฒน์สยามหรือไม่ โดยที่ก่อนหน้านี้พวกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ยอมรับสิทธิดังกล่าวของราษฎร แม้ ร.5 ทรงทำให้ไทยหันไปทางตะวันตกมากแล้ว แต่ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของราษฎรกลับไม่อาจดำรงอยู่ในสังคมไทย ยกตัวอย่าง ร.ศ.103 มีการกราบบังคับทูลให้ใช้ธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่ได้ลดทอนอำนาจกษัตริย์ แต่ ร.6 ทรงปฏิเสธ คนธรรมดาสามัญอย่างเทียนวรรณ เสนอให้มี "ปาเลียเม้นต์" เพื่อให้เจ้ากับไพร่หาทางปกครองบ้านเมืองร่วมกัน แต่เขากลับถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกจำคุก 14 ปี

ทั้งนี้ พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของ ร.5 สามารถทำให้ใครๆ เห็นคล้อยตามพระราชกระแสได้ไม่ยาก  สายชล สัตยานุรักษ์ ศึกษาบทบาทปัญญาชนกระแสหลักตั้งแต่ ร.5 เป็นต้นมา แล้วพบว่า พวกเขาพยายามสร้างความเชื่อว่า การแบ่งคนเป็นลำดับนั้นเป็นการปกครองแบบไทย การรวมศูนย์อำนาจที่คนคนเดียวก็เป็นการปกครองที่ดี ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็คืออภิชน การให้อำนาจสูงสุดเด็ดขาดแก่คนดีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และชาติกำเนิดกับพุทธศาสนาทำให้ผู้ปกครองเป็นผู้มีคุณธรรม มีอุดมคติจึงใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตรวจสอบ ถ้าจะมีก็ให้พระมหากษัตริย์ทำหน้าที่แทนราษฎร

นอกจากนี้ปัญญาชนกระแสหลักยังเน้นความยุติธรรม แต่เป็นความยุติธรรมที่ไม่เสมอภาค ความเท่าเทียมกันสำหรับพวกเขาจำกัดเพียงระหว่างคนชั้นเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนในสังคม เสรีภาพก็ไม่ใช่ทางความคิด หรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแต่เน้นว่าในความเป็นไทยมีเสรีภาพอยู่แล้ว คือ เสรีภาพทางใจ เป็นผลมาจากการบรรลุธรระชั้นสูงของศาสนา วิธีคิดแบบนี้ยังเป็นกระแสหลักจนปัจจุบัน ปัญหาที่น่าคิดคือ พุทธศาสนาแบบคนที่คนกลุ่มนี้หวัง คนที่สูงเมตตากับคนในที่ต่ำยังมีพลังไหม การที่สังคมไทยฝากความหวังไว้กับคนเดียว สถาบันเดียว ทำหน้าที่ปกครองดูแลคนไทยถูกต้องและเพียงพอหรือไม่

สำหรับผู้ที่ต้องการให้การอภิวัฒน์เป็นความจริงให้ได้ จำต้องเรียนรู้จากอดีตและประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ในเรื่องความนึกคิดภายในต้องฝึกใจให้กล้าหาญ กล้าเผชิญความจริง แสวงหาความงามและความดี สถาบันการศึกษาก็ไม่ฝึกสอนในเรื่องนี้  เยาวชนควรหากัลยาณมิตรให้ได้ อาจเป็นครูที่ยอมรับคำติชมของศิษย์อย่างจริงใจ อ่อนน้อมถ่อมตนกับศิษย์ หรือกัลยาณมิตรอาจเป็นกลุ่มเพื่อนด้วยกันเอง เพราะกัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของชีวิตอันประเสริฐ และเมื่อกล้าคิดก็ต้องกล้าพูด กล้าพูดกับผู้มีอำนาจ เป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกให้เขา ไม่ควรเกลียดเขา แต่ควรสงสารเขาเหมือนที่เราสงสารสุนัขที่บ้านเรา ให้เขาแลเห็นสัจธรรม แต่ก่อนจะกล้าพูดกับผู้มีอำนาจ ควรฝึกในหมู่เราเองก่อน ฝึกแสวงหาความจริง ความงาม และความดี ยอมรับถ้อยคำที่เห็นต่างจากเรา ถ้าเป็นคนชั้นกลางต้องออกไปสัมผัสกับคนชั้นล่างให้มาก ไม่ใช่ไปสั่งสอนหรือรู้สึกเหนือกว่าแต่ต้องไปอยู่อย่างเข้าใจ เรียนรู้จากพวกเขา

ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเปลี่ยนทัศนคติผู้คน ใช้ธรรมะเป็นศาตราที่แหลมคม ตอนนี้มหาวิทยาลัยยังทำบทบาทนั้นไหม การที่อธิกาบดีทุกมหาลัยสยบยอม คสช.น่ารังเกียจหรือไม่ แม้เผด็จการจะทำลายสาระของประชาธิปไตย แต่เรายังคงต้องแสวงหากัลยาณมิตรและดำเนินแนวทางนั้นต่อ ถ้าเรามีเจตจำนงอันมุ่งมั่น จะเป็นพลังให้เราก้าวข้ามเผด็จการ ทุนนิยม บริโภคนิยม เข้าถึงสาระของประชาธิปไตย ความฝันและความหวังก็จะเป็นจริงตามหนทางสันติประชาธรรม

"มรดกคณะราษฎรในความทรงจำ"

พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุเสนา ทายาท พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา

"ผมไม่ใช่นักการทูต ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่นักการทหาร แต่เคยเป็นทหาร เมื่อก่อนแต่งเครื่องแบบทหาร แต่เวลานี้ไม่ได้เป็นเลยมีเครื่องแบบของผมเอง เป็นเครื่องแบบของนักรักประชาธิปไตย" พ.ต.พุทธินาถกล่าว

เขากล่าวว่า หมุดนี้เป็นจุดที่พ่อยืนประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองฉบับแรก เป็นตัวแทนคณะราษฎรทั้งหลายที่เอาชีวิตเข้าแลกเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ที่ผ่านมาเคยไปอ่านงานคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่คุยกับพ่อว่า ท่านเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำประชาธิปไตยมานั้นทำใจได้อย่างไร คุณพ่อบอกว่า ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพราะรู้ว่าถ้าไม่สำเร็จก็มีโทษถึงเจ็ดชั่วโคตร กว่าจะทำใจได้ว่าถึงจะต้องตายก็จะยอมจึงใช้เวลาถึง 3 เดือน หลังจากทานข้าวเย็นจะนั่งสมาธิ คิดตั้งคำถามว่าถ้าทำอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น ชีวิตจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นมีลูกสาวแล้วอายุยังไม่ถึงขวบ เรื่องนี้แม้เป็นความลับแต่พ่อบอกแม่ และแม่ก็ยินดีที่จะให้พ่อทำทั้งที่แม่เกิดในดงทหาร ทำให้ภาคภูมิใจในพ่อและคณะราษฎรที่กล้าเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำประชาธิปไตยมาให้คนไทยทั้งหลาย

การใช้คำว่า มรดก นั้นอาจไม่ถูกต้องนัก คณะราษฎรไม่ได้เป็นเจ้าของระบอบประชาธิปไตย แต่มันเป็นของประชาชน เพียงแต่อะไรที่เกิดมาทีหลังเขาก็ต้องมีล้มลุกคลุกคลาน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน คณะราษฎรไม่ได้อยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมพายเรือแจกใบปลิวในแม่น้ำเจ้าพระยา นายควงและกลุ่มก็ตัดสายโทรเลขโทรศัพท์ ขณะที่บางส่วนไปอันเชิญสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์พินิตเป็นองค์ประกัน ขณะที่ทหารทั้งหลายไปรวมกันตรงนั้นเพราะคณะราษฎรต้องหลอกลวงอ้างว่ามีการฝึกพิเศษ หลังจากนั้นจึงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พ่อของเขาได้พบกับกรมพระนครสวรรค์พินิต เมื่อพ่อเข้าไปกราบและบอกท่านว่าเป็นหัวหน้าคณะราษฎร ท่านก็บอกว่าไม่อยากจะเชื่อ ทำไมจึงอกัตญญูต่อราชวงศ์ที่ชุบเลี้ยงมา ไม่ว่าท่านจะด่าว่าอย่างไร คุณพ่อก็พนมมืออย่างเดียว ในที่สุดจึงได้อธิบายสิ่งประสงค์ซึ่งเป็นไปเพื่อประชาชน กระนั่นท่านก็บอกว่าไม่ควรด่าว่าเจ้าเช่นนั้น คุณพ่อตอบว่าการรบก็ต้องเอาชนะกัน แต่เมื่อจบการรบก็จะมีการขออภัยกันตามธรรมเนียมไทย การที่รับเป็นหัวหน้าคณะราษฎรนั้นเพราะบอกกับทุกๆ คนว่าไม่ว่าจะอย่างไรประเทศก็ต้องต้องมีกษัตริย์อยู่แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรไม่ต้องการทำลายทำร้ายใครทั้งสิ้น กรมพระนครสวรรค์พินิตบอกว่าใครมาพูดก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าคุณพ่อพูดนั้นเชื่อ จึงยินดีที่จะลงนามรับรองในหนังสือที่คณะราษฎรกราบบังคับทูลให้รัชกาลที่ 7 เสด็จมาเป็นมิ่งขวัญปวงชนชาวไทย มันจึงเป็นการปฏิวัติที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด

"ผมรับรู้เรื่องราวเหล่านี้จากคุณแม่ คุณแม่รู้เรื่องเยอะ"  

"มรดกคณะราษฎรด้านกฎหมาย"

เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการกฎหมาย

สิ่งสำคัญที่สุดของอภิวัตน์ คือ การทำคนให้เป็นคน จากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เป็นเป็น ข้าราช จนเป็น ราษฎร เปลี่ยนการกำหนดชีวิตคนโดยคนคนเดียว โดยสมบูรณ์ มาเป็นประชาธิปไตยปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่ตามอำเภอใจ

อย่างไรก็ดี มีความเห็นว่า องค์กรตุลาการเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของราษฎรที่ยังไม่ยึดโยงกับประชาชน เป็นองค์กรในระบอบเก่าที่มีการเปลี่ยนระบอบแต่องค์กรยังไม่เปลี่ยน กฎหมายเป็นเครื่องมือให้ความชอบธรรมของอุดมการณ์ ของระบอบเท่านั้น กฎหมายไม่ใช่ มรดก ของคณะราษฎร แต่อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาต่างหากที่เป็นมรดกและคณะราษฎรจะทำสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับอำนาจตุลาการ จะทำอย่างไรให้อำนาจนี้มีสำนึกว่า อำนาจที่ใช้มาจากประชาชน สร้างความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์

ประเด็นต่อมาขอนำเสนอความเชื่อมโยงของแนวคิด ภราดรภาพนิยม ของปรีดี พนมยงค์ กับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แนวคิดสำนักภราดรภาพนิยมโดย ศ.ชาร์ลส์ จิ๊ด อธิบายว่า การกระทำของเราแต่ละคนนั้นมีผลกระทบทั้งในแง่ดีและแง่ร้ายต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ..ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสังคมของมนุษย์ทั้งมวลไปสู่ความเป็นชุมชนใหญ่ที่มุ่งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ...โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจึงนับเป็นแนวคิดที่สืบต่อมาจากปรีดีที่ต้องการเห็นสังคมที่ทุกคนไม่อดตาย มีงานทำ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ล้มละลายทางสุขภาพ คนร่ำรวยช่วยเหลือคนที่รวยน้อยกว่า

คณะราษฎรไม่ใช่กลุ่มคน 115 คน แต่เป็นแนวคิดของ "คนเท่ากัน" อยู่ด้วยกัน กฎหมายที่มาจากคนเท่ากัน ตัดสินด้วยคนที่คนเท่ากันเลือกมา ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และมีพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันโดยสันติและยอมรับในความแตกต่างบนพื้นฐานของการเลือกตั้งและเสียงข้างมาก

 

"มรดกคณะราษฎรด้านศิลปกรรม"

ธนาวิ โชติประดิษฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

ครอบคลุม สถาปัตยกรรม อาคาร อนุสาวรีย์ โดยพูดถึงชิ้นหลักๆ เริ่มที่ หมุดกำเนิดรธน.หรือ หมุดคณะราษฎร เป็นอนุสรณ์สถานประเภทหนึ่ง ระลึกถึงความทรงจำการปฏิวัติ 24 ลักษณะเป็นหมุดทองเหลืองติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ปี 2479 และหายไปแล้วและแทนที่ด้วยหมุดใหม่ในปีนี้ แต่หมุดคณะราษฎร ไม่ได้เป็นวัตถุเพียงชิ้นเดียวในยุคนั้นที่เปลี่ยนแปลง แต่หลายชิ้นก็เปลี่ยนแปลง อีกที่คือ ศาลาเฉลิมไทย ถนนราชดำเนิน เป็นโรงมหรสพที่เปิด 2483 สมัยจอมพลป. ทุบทิ้ง 2532 พล.อ.ชาติชายเพื่อเปิดให้เห็นพื้นที่ด้านหลัง คึกฤทธิ์เขียนในคอลัมน์ซอยสวนพลูว่า สนับสนุนการรื้อศาลาทิ้งเพื่อเปิดให้เห็นสิ่งสวยงามกว่าคือ วัดราชนัดดา และโลหะปราสาท สร้างในสมัยร.3 การรื้อทำให้เกิดพื้นที่ว่าง รบ.สร้างลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ นอกจากนั้นยังมีอีกหลังที่สร้างช่วงใกล้กันแต่ไม่ได้สร้างโดยคณะราษฎร ศาลาเฉลิมกรุง ร.7 ดำริให้สร้างเพื่อมอบให้ราษฎรเป็นที่ระลึกสำหรับการเฉลิมฉลองพระนคร 150 ปี ปี 2473 จะครบในปี 2475 สถาปัตยกรรมคล้ายกันมาก เป็นแบบสมัยใหม่ กล่องสี่เหลี่ยม หลังคาตัด สร้างโดยคอนกรีต แต่สิ่งที่น่าสนใจเมื่อรบ.จะรื้อเฉลิมไทย คึกฤทธิ์บอกรื้อไปเถอะเพราะไม่สวยงาม อัปลักษณ์ทำลายภูมิทัศน์กรุงเทพฯ แต่ข้อวิจารณ์เดียวกันกลับไปถูกใช้กับศาลาเฉลิมกรุง

กลุ่มอาคารศาลฎีกา คณะราษฎรสร้าง 2482 ระลึกการได้เอกราชทางการศาล เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับศาลาเฉลิมไทย เป็นคอนกรีตไม่ได้ประดับประดาแบบไทยประเพณี และยังมีสัญลักษณ์ต่างๆ เชื่อมคณะราษฎร เช่น การมีเสาหกต้นอ้างอิงถึงหลักหกประการของคณะราษฎร แต่ก็ถูกรื้อทิ้ง 2555 แทนที่ด้วยหลังใหม่ที่กลับไปสู่สถาปัตยกรรมแบบประเพณี หลังคาซ้อนชั้นยอดแหลมทรงจั่ว เปลี่ยนจากหลังคาตัดที่เป็นสมัยใหม่เป็นที่นิยมในสมัยคณะราษฎร แต่การรื้อและสร้างศาลใหม่ ไม่ไดมีแต่ฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับคณะราษฎรเท่านั้นที่คัดค้านแม้แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับการรื้อ เนื่องจากตามโมเดล หลังใหม่จะมีความสูงมากกว่าพระบรมมหาราชวัง

ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพประติมากรรมนูนต่ำอยู่ที่ฐานอนุสาวรีย์ เล่าเรื่องไล่ตามเวลา อันแรก คณะราษฎรกำลังวางแผนทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามด้วยภาพการเคลื่อนพลเข้าดำเนินการ ภาพประชาชนประกอบสัมมาอาชีพ ภาพประชาชนมีชีวิตในอุดมคติ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ตรงกลางเป็นพานรัฐธรรมนูญ เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองอันใหม่ เราอาจตีความได้ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นทั้งสาเหตุและผลพวงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ความพิเศษหรือความประหลาดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือ ชื่อไม่ได้บ่งบอกเหตุการณ์เฉพาะ ไม่เชื่อมกับคณะราษฎร แต่เป็นชื่อของอุดมการณ์ทางการเมืองเฉยๆ แม้ว่าสัญลักษณ์ทั้งหมดเชื่อมกับ 24 มิถุนายน 2475 ทำให้มันเปิดโอกาสให้คนไปเชื่อมโยงอนุสาวรีย์นี้เข้ากับประชาธิปไตยในการตีความของตัวเองโดยไม่สัมพันธ์กับคณะราษฎรก็ได้

นอกจากนี้ มันเคยเกือบถูกรื้อตรงกลางแล้วแทนด้วยพระบรมราชานุสาวรีย์ของ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญแทน ให้มีลักษณะเป็นบิดาของประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ไปตั้งที่รัฐสภา

ทำให้ความหมายของอนุสาวรีย์ไม่ได้นิ่ง ความหมายสามารถเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยเป็นไปตามกิจกรรมต่างๆ ที่นำอนุสาวรีย์ไปใช้งาน มันจึงมีทั้งความหมายที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎร แต่เสื้อเหลืองที่ไม่หนุนคณะราษฎรก็ใช้ที่นี่เหมือนกัน

 

"มรดกคณะราษฎรด้านการปฏิรูปพุทธศาสนา"

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา

การปกครองนั้นใช้อำนาจกองทัพ ข้าราชการอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องใช้อำนาจนำ ความจงรักภักดีของผู้ปกครองด้วย ศาสนาก็ถูกนำมาใช้สนับสนุนอุดมการณ์ของผู้ปกครอง ในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการตั้งศาสนาจักรหรือมหาเถรสมาคม รวบอำนาจสู่ส่วนกลางเหมือนระบบราชการ ถ้าพระสงฆ์กระด้างกระเดื่องก็ต้องถูกจัดการ เช่น ครูบาศรีวิชัย ช่วงรัชกาลที่ 6 มีการนำศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปกติกษัตริย์แต่ละองค์จะสร้างวัดประจำรัชกาล แต่ ร.6 สร้างอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวาทกรรมนี้มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาอยู่ในการศึกษาแบบทางการ กลายเป็นความถูกต้อง ความจริงสูงสุดสำหรับอุดมการณ์นี้ พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรปฏิรูปศาสนา ผลของการปฏิรูปท้าทายอุดมการณ์นี้หรือไม่

จุดเริ่มคือ ปี 2477 มีคณะภิกษุหนุ่มชื่อ คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองสงฆ์จากแบบเดิมที่มีมหาเถรสมาคมเป็นแบบใหม่ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยให้เหตุผลว่า ในวงการพระรู้สึกอึดอัดเพราะไม่มีความยุติธรรมระหว่างนิกาย พอบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงก็รู้สึกว่ามีเวทีจึงออกมาเรียกร้อง เรื่องนี้มีการหารือกับปรีดี พนมยงค์จนเกิดพ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2484 มีการยกเลิกมหาเถร และตั้งระบบที่คล้ายประชาธิปไตยคือแบ่งอำนาจสามฝ่าย บริหาร นิติ ตุลาการ ในหมู่สงฆ์ แต่ที่มาของผู้เข้าตำแหน่ง สังฆนายก สังฆมนตรี สมาชิกสังฆสภามาจากการคัดเลือกโดยสมเด็จพระสังราชและรมว.ศึกษาธิการ แต่อย่างน้อยมีสภาสงฆ์และมีการถ่วงดุล คณะราษฎรต้องการให้คณะสงฆ์ปรับตัวให้เข้ากับการปกครองบ้านเมือง

ผลที่เกิดคือ มีองค์การเผยแพร่พุทธศาสนา โดยมีพระสงฆ์ที่จะเทศน์สอนชาวบ้านตีความพุทธศาสนาเข้ากับประชาธิปไตย คนมีบทบาทมากคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านเป็นผู้บรรยายให้ชาวบ้นาจนถึงพระธรรมทูตฟังเรื่องนี้ ตอนนั้นท่านตีความพุทธศาสนาเข้ากับประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ พูดเรื่องหลักการ โดยไม่พูดเรื่อง "คนดี" เลย แต่ตอนหลังที่พูดเรื่องเผด็จการโดยธรรม ท่านพูดถึงเรื่อง "คนดี" มาก

สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างการปกครองสงฆ์ในเวลานั้นคือ พระพิมลธรรม ท่านส่งลูกศิษย์ไปเรียนอภิธรรม และวิปัสสนาที่พม่าแล้วนำกลับมาเผยแพร่ มันเป็นการขยายอำนาจการตีความคำสอนศาสนาไปสู่ฆราวาส ให้กลายเป็นคู่แข่งกับพระในการที่จะเชี่ยวชาญอภิธรรม ผู้หญิงก็ด้วยมีความเท่าเทียมกับพระมากขึ้นในการตีความพระพุทธศาสนาด้วย ในแง่นี้จึงเป็นท้าทายจารีตแบบเก่า พระพิมลธรรมสนิทปรีดีและจอมพล ป. สุดท้ายท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกจับศึกแล้วก็ขังคุก 5 ปี ท้ายที่สุดศาลฎีกาตัดสินว่าไม่ผิด แต่ก็ระบุทำนองว่า ในฐานะที่ท่านก็ศึกษาศาสนามาอย่างดีแล้วก็ถือเสียว่าเป็นกรรมเก่าก็แล้วกัน แต่ไม่คืนสมรณศักดิ์ หลัง 14 ตุลาฯ พระฝ่ายซ้ายเรียกร้องให้คืนสมรณศักดิ์พระพิมลธรรมในปี 2517 แล้วก็เรียกร้องให้ยกเลิกมหาเถรสมาคม หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ นำมหาเถรสมาคมกลับมาในปี 2505 และเรียกร้องให้มีการนำพ.ร.บ.สงฆ์ 2484 มาปรับปรุง โดยให้มีการเลือกตั้งสงฆ์มาอยู่ในสภา สมเด็นพระสังฆราชเป็นประมุขสูงสุดแต่ไม่มีอำนาจปกครอง น่าเสียดายที่มันถูกโค่น ถอนทิ้งตั้งแต่ยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา

"ในมุมมองผม ถามว่าชนชั้นนำฝ่ายรัฐราชการ เขาสนใจให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไหม ผมว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ในอดีตสมัย ร.5 สมัยคณะราษฎร์ คณะสงฆ์ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างอำนาจนำทางวัฒนธรรม ปัญญาชนยังอยู่ในวงแคบ ชาวบ้านฟังพระมาก แต่ปัจจุบันเนติวิทย์ (หมายถึง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อาจเข้าถึงชาวบ้านได้มากกว่าพระ แต่เขาแค่ไม่ได้ต้องการให้คณะสงฆ์กระด้างกระเดื่องกับรัฐราชการ" สุรพศ กล่าว

 

"มรดกคณะราษฎรด้านสิทธิสตรี"

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

หากเราดูสมาชิกคณะราษฎรจะพบว่าทั้ง 115 คนเป็นชายทั้งหมด โดยเป็นทั้งทหารและพลเรือน จะเห็นได้ว่าทหารในสมัยนั้นก็มีบทบาทสร้างประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญที่ดังขึ้นมากในช่วงหลังคือ ผู้หญิงหายไปไหน? ทำไมการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่มีผู้หญิงเลย เป็นเพราะผู้หญิงไม่มีบทบาทสำคัญนักหรือเพราะประวัติศาสตร์นิพนธ์ละเลยผู้หญิงไป และเน้นศึกษาที่เป็นส่วนบุคคล เช่น แต่งงานกับใคร เป็นภรรยาใคร

จนกระทั่งมีงานศึกษาพบว่า ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นยุคที่ผู้หญิงอ่านออกเขียนได้ และมีนิตยสารสตรีที่บทความแนววิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้ง นิตยสารสตรีนิพนธ์ ปี 2458 สตรีสารปี 2465 และยังมี สตรีไทย สยามยุวดี ฯลฯ นิตยสารเหล่านี้มักตั้งคำถามถึงชนชั้นปกครองและระบอบการปกครองที่ไม่ศิวิไลซ์ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างฎีกาของผู้หญิงถึงรัฐบาล โดยแจ้งว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งถูกทำร้ายโดยสามีเพราะสามีเริ่มเบื่อเมีย และสรุปว่าระบบผัวเดียวหลายเมียของชนชั้นสักดินาไทยเป็นบ่อเกิดความรุนแรงต่อผู้หญิง

กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนจำนวนมากดีใจ มีการส่งจดหมายว่าจะสามารถร่วมพัฒนาประเทศได้อย่างไรบ้าง ช่วงกบฏบวรเดชประชาชนจำนวนมากก็จับอาวุธร่วมต่อสู้ด้วย เรียกว่าประชาชนพร้อมที่จะพัฒนาระบอบใหม่พร้อมกับคณะราษฎร มีกระทั่งผู้หญิงที่บริจาคแหวนแต่งงานให้เอาไปปราบกบฏบวรเดช

ความก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังสังเกตเห็นได้จากมาตรา 4 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกโดยคณะราษฎรซึ่งระบุว่า ราษฎรไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ เรื่องนี้ไม่มีการเลือกปฏิบัติเหมือนประเทศอื่นๆ ที่แม้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ไม่ให้สิทธิผู้หญิง เช่น สหรัฐอเมริกา ต้องมีการต่อสู้กันอีกนานกว่าผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกตั้ง

ในส่วนสิทธิพลเมืองที่ผู้หญิงได้รับก็ได้เท่าเทียม ภายใต้หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ทำให้ผู้หญิงชายได้เรียนเท่ากัน ก่อนปี 2475 ถ้าผู้หญิงจะเรียนก็เพียงให้พออ่านออกเขียนได้ แต่พอเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีการเปิดให้เรียนได้เท่าๆ กัน เรื่องผัวเดียวหลายเมียนั้น ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองผู้ชายนิยมมีเมียมาก โดยเฉพาะชนชั้นศักดินานิยมมีเมียมากเพื่อเป็นการประกาศศักดา ผู้หญิงมองว่าเป็นการกดขี่ มีความพยายามเปลี่ยนแปลงร้องเรียนให้เห็นเป็นหลักฐานบ้างเช่นกัน แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีการใช้กฎหมายว่าด้วยครอบครัว ให้ผู้หญิงมีอำนาจจัดทรัพย์สินของตนเองได้ ฟ้องหย่าได้ และผู้ชายเมื่อจดทะเบียนแล้วไม่สามารถจดซ้อนได้อีก ขณะที่ยุคจอมพล ป.ก็เร่งสร้างวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวด้วย

หากดูในด้านการประกอบอาชีพ ก่อนปี 2475 อาชีพครูนั้นก็เหมือน ตำรวจ ทหาร นั่นคือเป็นผู้ชายเสมอ โรงเรียนฝึกหัดครูมักเป็นผู้ชาย งบประมาณแผ่นดิน 39 ล้าน มีเพียง 2.9% ที่ทุ่มเทให้การศึกษา ซึ่งถือว่าน้อยมาก ในรายงานกระทรวงศึกษาสมัยนั้นบอกว่าเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์มากสำหรับการจัดการศึกษาสำหรับผู้หญิง แต่ราชการชั้นเล็กๆ ก็พยายามร่างหลักสูตรสอนครูผู้หญิง นำไปสู่การผลิตครูผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มักถูกมองว่าเป็นคนรับใช้กระทรวงเท่านั้น เงินเดือนต่ำ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการยกร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน 2479 ปรับปรุงอัตราเงินเดือนใหม่ยกระดับข้าราชการครูผู้หญิงให้เท่าครูผู้ชายทั้งหมด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีหมุดคณะราษฎร: ข้อเสนอยุทธศาสตร์คนเสื้อแดง

Posted: 24 Jun 2017 10:12 PM PDT

หากคุณเคยอ่านนิยายสามก๊ก สิ่งสำคัญในการทำสงครามนอกจากกองทัพที่เกรียงไกร ยังต้องมีแม่ทัพที่เก่งกล้า, ผู้นำที่เข็มแข็ง และกุนซือที่ชาญฉลาด

กว่า 10 ปีแห่งความขัดแย้งทางการเมือง คนเสื้อแดงมักหลงตนเองมีผู้สนับสนุนมากมาย นึกว่ากองทัพเสื้อแดงเป็นกองทัพที่เกรียงไกรที่สุดจนมองข้ามแกนนำที่เก่งกล้า, ผู้นำที่เข็มแข็ง และกุนซือที่ชาญฉลาด

หลายปีที่ผ่านมาแกนนำหลายคนนำคนเสื้อแดงต่อสู้อย่างไร้ยุทธศาสตร์ แกนนำเสื้อแดงมักต่อสู้อย่างไร้ "ประเด็น" จนเป็นเหตุให้กองทัพเสื้อแดงต้องพ่ายแพ้ตลอด

แกนนำหลายคนต้องประสบชะตากรรม บางคนอยู่ในเรือนจำ บางคนหลบหนีไปต่างประเทศ บางคนต้องเก็บตัว บางคนมีคดีจ่อคอเป็นหางว่าว

ด้วยเหตุนี้แกนนำเหล่านี้จึงแทบหยุดการเคลื่อนไหว ขณะที่แกนนำรุ่นใหม่ เช่น นักศึกษา เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

อย่างไรก็ตามแกนนำเหล่านี้ยังขาดบารมี-ประสบการณ์จึงทำให้ชะตากรรมของพวกเขาไม่ต่างจากแกนนำรุ่นแรก

หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ทหารควบคุมอำนาจรัฐทุกอย่าง และพยายามข่มขู่แกนนำ-ประชาชนให้อยู่ในความหวาดกลัวเพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง

ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าเรือนจำไปศึกษาวิชา ม.112 ถึง 2 ปี 8 เดือนเต็ม วิชานี้สอนให้ผมรู้ว่า การต่อสู้จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์มากกว่ากำลังคน

ด้วยเหตุนี้ชีวิตหลังออกจากเรือนจำของผมจึงเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวของผมจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์มากขึ้น เราไม่ควรคาดหวังกองทัพเสื้อแดง

หลังความพลาดพลั้งของฝ่ายตรงข้ามใน "ประเด็น" หมุดคณะราษฎร-หมุดหน้าใส ผมเห็นว่า นี่คือยุทธศาสตร์ใหม่ของคนเสื้อแดง

คณะราษฎรเป็นสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามเกลียดชัง และต้องการทำลายล้าง แต่สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถออกกฎหมายเพื่อปิดปากได้ นี่คือ "ประเด็น" ที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของฝ่ายตรงข้าม

ต้นเดือนเมษายน หมุดคณะราษฎรสูญหายอย่างไร้ร่องรอยจนกลายเป็นประเด็นฮือฮาในสื่อมวลชน-เครื่อข่ายสังคม คนเสื้อแดงหลายคนจับ "ประเด็น" นี้ในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม

ขณะที่ฝ่ายทหารไม่มีกฎหมายที่จะปิดปาก "ประเด็น" นี้จึงใช้วิธีการข่มขู่สารพัด แทนที่คนเสื้อแดงจะยืดหยัดต่อสู้ พวกเขากลับหวาดกลัวอย่างไร้เหตุผล

ด้วยเหตุนี้ผมจึงทำหนังสือเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนหมุดหน้าใสออกจากลานพระบรมรูปทรงม้าช่วงปลายเดิือนเมษายน

ทหาร-ตำรวจบุกมาเยี่ยมผมถึงบ้านของผมเพื่อห้ามผมไปยื่นหนังสือนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ผมยืนกรานที่จะไป

ในวันที่ผมไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล ทหาร-ตำรวจกว่าสิบคนล้อมจับผม ผมถูกส่งตัวมาที่ มทบ.11

ทหารพยายามโน้มน้าวให้ผมเปลี่ยนใจ วิธีนี้อาจใช้ได้ผลกับผู้ที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอ แต่ไม่ใช่ผม

สุดท้ายทหารต้องปล่อยผมในช่วงเย็นโดยไม่สามารถตั้งข้อหาใดๆกับผม นี่คือจุดอ่อนที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถปิดปากของผม

หลายวันที่ผ่านมาทหาร-ตำรวจคุกคามแกนนำหลายคนไม่ให้เคลื่อนไหวในวันชาติ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา แกนนำเหล่านี้จึงเลือกที่จะไม่เคลื่อนไหวที่ลานพระบรมทรงม้า

ลานพระบรมทรงม้าเป็น "ประเด็น" ที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถหาเหตุผลมาปิดปาก แต่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ผมจึงเลือกที่จะเคลื่อนไหวที่จุดยุทธศาสตร์นี้

ผมนำหมุดเลียนแบบคณะราษฎรที่ได้รับมาพร้อมปูนซีเมนต์เพื่อฝัง ณ จุดที่ตั้งของหมุดหน้าใส เหตุุการณ์เป็นไปตามที่ผมคาด ตำรวจกว่าสิบคนรุมล้อมผม ผมถูกส่งตัวมาที่ มทบ.11 อีกครั้ง

ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา ตำรวจพยายามซักผมถึงที่มาของหมุดเลียนแบบนี้ แต่ผมเล่าว่า ผมได้รับมาทางพัสดุไปรษณีย์ โดยผมจำชื่อผู้ส่งไม่ได้

ตำรวจใช้ยุทธวิธีหลายอย่างเพื่อถามถึงชื่อผู้ส่ง บางคนเกลี้ยกล่อม บางคนข่มขู่จะยัดข้อหาให้กับผม บางคนขึ้นเสียงใส่ผม แต่ผมยังคงยืนกรานคำตอบเดิม

ดูๆไปแล้วไม่ต่างจากสามก๊กเวอร์ชั่นที่กำลังฉายอยู่ที่ช่อง 3 ตอนที่โจโฉพยายามเค้นถามโจผีถึงผู้ที่ฆ่าโจฉอง (น้องชายของโจผี) สุมาอี้แนะนำให้โจผียืนกรานปฏิเสธสถานเดียว โจผีจึงยืนกรานปฏิเสธโดยตลอด

หัวหน้าตำรวจพยายามตั้งข้อหาผมเพื่อขอหมายค้นจากศาล บางคนขู่จะยัดข้อหาบุกรุกเขตพระราชฐาน แต่ผมโต้ว่า บริเวณนั้นเป็นถนนที่รถยนต์แล่นขวักไขว่ ตำรวจจึงต้องอึ้ง

เวลาแห่งการสอบสวนผ่านไปกว่า 5 ชั่วโมง ตำรวจไม่สามารถเปลี่ยนใจผม สุดท้ายพวกเขาก็ต้องปล่อยผมโดยไม่สามารถตั้งข้อหาใดๆ

การต่อสู้จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ คณะราษฎรเป็น "ประเด็น" ที่จี้ใจดำของฝ่ายตรงข้ามที่สุด โดยที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตั้งข้อหาใดๆได้

หากคนเสื้อแดงไม่รู้จักใช้ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ การต่อสู้ก็จะไม่ต่างจากการเอาหัวไปโขกกำแพงซึ่งมีแต่เจ็บตัวเปล่า

หากคนเสื้อแดงรู้จักใช้ยุทธศาสตร์ให้เป็น นอกจากไม่มีความเสี่ยงในคดีความ ยังทำให้ฝ่ายตรงข้ามเจ็บแค้นมากขึ้นจนอาจเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียเองในอนาคต

 

 

หมายเหตุ: ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจกลุ่ม Realframe
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

9 จุดเช็คอินคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

Posted: 24 Jun 2017 09:08 PM PDT

สำรวจ 9 จุดเช็คอิน สถานที่และความทรงจำรำลึก ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงแม้ว่าบริเวณที่ในอดีตเคยเป็นจุดฝัง "หมุดคณะราษฎร" ปัจจุบันกลายเป็นจุดเปิดวาร์ปเรียกตำรวจ-ทหารมาสอบสวนหากคิดจะนำ "หมุดคณะราษฎรจำลอง" ไปติดตั้งคืนที่เดิม [1] หรือถูกซักถามทั้งโทรศัพท์หรือมาประกบถึงตัวหากบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะไปรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ บริเวณนั้น [2] ก็ตาม แต่ก็ยังมีจุดเช็คอินอื่นๆ ที่จะขอแนะนำรวมเป็น 9 สถานที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคณะราษฎรและเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ชนิดที่ใกล้ตัวคุณผู้อ่านอย่างคาดไม่ถึง

000

หมุดคณะราษฎร

จุดอ่านคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 (ล่าสุดหายแบบไร้ร่องรอย)

การเดินทาง: รถเมล์สาย 70, 72, 503 | รถไฟฟ้า BTS สถานีพญาไท ห่างออกไป 2.87 กม.

พิกัด N 13.769234 E 100.512216

หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ หรือ "หมุดคณะราษฎร" เป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อ่านประกาศคณะราษฎรเมื่อรุ่งสางวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ที่หมุดมีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย มีพีธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ฝังหมุด โดยตอนหนึ่งกล่าวสุนทรพจน์ว่า

"ข้าพเจ้าขอถือโอกาสวางหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ณ ที่นี้ ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จงสถิตย์เสถียรอยู่คู่กับประเทศชาติชั่วกัลปาวสาน เทอญ"

ปัจจุบันหมุดคณะราษฎรหายไปแล้วตั้งแต่หลังวันที่ 5 เมษายน 2560 โดยต่อมาในวันที่ 8 เมษายน นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำวิจัยเรื่องหมุดคณะราษฎรพบว่ามีหมุดใหม่มาแทนที่โดยในหมุดใหม่ดังกล่าวได้เขียนข้อความว่า "ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน" และ "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง"

 

อ่านประกอบ

สุเจน กรรพฤทธิ์, เหตุการณ์ในวันวาง "หมุดคณะราษฎร" เว็บไซต์สารคดี, 22 เมษายน 2560

000

ตำบลนัดพบ

จุดนัดพบของพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะราษฎรสายทหาร

การเดินทาง: รถเมล์ สาย 3, 90 97, 117, 524 | เรือด่วนท่าเกียกกาย ห่างออกไป 2.03 กม. | BTS สถานีสะพานควาย ห่างออกไป 1.84 กม.

พิกัด N 13.792453 E 100.535218

ไม่ไกลจากแหล่งทำเลฮิปสเตอร์อย่างย่านถนนประดิพัทธ์นั้นมีสถานที่ซึ่งเป็นรหัสเรียกขานของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า "ตำบลนัดพบ" คือเป็นจุดนัดหมายในเวลา 05.00 น. เช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายทหาร โดย "ตำบลนัดพบ" ที่ว่าก็คือจุดที่ทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์

ในบทความ "หัวมุมที่ถนนประดิพัทธ์ตัดทางรถไฟสายเหนือ" ของ นรนิติ เศรษฐบุตร ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า เสนอว่า จุดนัดพบที่ว่านี้ห่างจากบ้านพระยาทรงสุรเดช ที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของ ถ.ประดิพัทธ์ เมื่อยืนอยู่บน ถ.ประดิพัทธ์และหันหน้าไปทางทิศตะวันตกด้านทางรถไฟ ประมาณ 200 เมตร และจากจุดนี้จะไปสู่จุดเป้าหมายของคณะผู้ก่อการที่จะเข้าไปจู่โจมยึดกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์และขนกำลังพลก็อยู่บนถนนทหารที่อยู่เบื้องหน้าต่อจากถนนประดิพัทธ์

"เมื่อ 82 ปีก่อน บริเวณนี้น่าจะเปลี่ยวมาก แต่ถึงวันนี้ก็ไม่ได้มีบ้านเรือนชาวบ้านทั่วไปเพิ่มขึ้นมากแต่อย่างใด เพราะถนนทหารทั้งถนนก็มีหน่วยงานของทหารไปทั้ง 2 ฝั่งถนนไปตลอดผ่านสะพานแดงจนถึงเกียกกายที่อยู่ปลายถนนทางด้านตะวันตก"

โดยตั้งแต่เวลา 04.30 น. พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ขับรถไปรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่บ้านพักย่านบางซื่อก่อนจะเดินทางไปยังตำบลนัดพบ โดยพระยาพหลพลหยุหเสนาจิบเพียงโกโก้ร้อนรองท้องก่อนออกจากบ้านเท่านั้น

ส่วน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ตื่นตั้งแต่เวลา 04.00 น. และรับประทานข้าวผัดที่เหลือจากเมื่อคืน ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับ ร.อ.หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) ที่มารับถึงบ้าน โดยเดินเท้าไปยังจุดนัดหมายที่ห่างจากบ้านไป 200 เมตร

ที่จุดนัดหมายนั้นยังมี พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ร.ท.ขุนปลดปรปักษ์ (ปลด ภานุสะวะ) ร.ท.ขุนเรืองวีรยุทธ (บุญเรือง วีระหงส์) ร.ท.ไชย ประทีปเสน

เมื่อมาถึงที่นัดหมายพระยาทรงสุรเดช ได้สั่งดำเนินการตามแผนคือบุกยึดคลังอาวุธที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) แยกเกียกกาย เพื่อลวงเอากำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้ โดยต้องทำการก่อนเวลาเป่าแตรปลุกทหารเวลา 05.30 น.

หลังจากนั้น พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป. 1 รอ.) ซึ่งถือเป็นผู้เดียวในวันนั้นที่มีกองกำลังพลในบังคับบัญชา เป็นผู้ออกคำสั่งให้ทหารปืนใหญ่ในบังคับบัญชาตนเองรวมพลกับกำลังทหารและอาวุธที่มาจาก ม.1 รอ. และนำกำลังหลักมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้าในเวลา 06.05 น.

นอกจากนี้ยังมีกองทหารที่รออยู่ก่อนแล้ว นำโดยกองพันพาหนะทหารเรือ นำโดย น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. และกำลังจากนักเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยมี พ.ท.พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก ส่วนกองพันทหารราบที่ 11 ของ พ.ต.หลวงวีระโยธา ซึ่งฝึกทหารอยู่ที่สนามหลวง ถูกลวงให้ตาม พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธตามมาภายหลัง

หลังจากนั้น พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้รับคำสั่งให้จับตัวผู้นำฝ่ายระบอบเก่า ได้แก่ (1) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต "ผู้รักษาพระนคร" ในช่วงที่รัชกาลที่ 7 ไปประทับที่หัวหิน และยังเป็นประธานอภิรัฐมนตรี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ฯลฯ (2) พล.ท.พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก และ (3) พล.ต.พระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ใช้เวลา 55 นาทีก็สามารถควบคุมตัวได้ทั้งหมดมากักไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม มีเพียง พล.ต.พระยาเสนาสงคราม ที่ต่อสู้ขัดขืน จึงถูกยิงได้รับบาดเจ็บต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล

โดยหลังจัดเตรียมกำลังและจับตัวผู้นำฝ่ายระบอบเก่าได้แล้ว เวลาประมาณ 07.00 น. พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งรอใต้ต้นโศกบริเวณสถานกาแฟนรสิงห์ หน้าสนามเสือป่า ก็อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1

 

อ่านประกอบ

นรนิติ เศรษฐบุตร. "หัวมุมที่ถนนประดิพัทธ์ตัดทางรถไฟสายเหนือ", สถาบันพระปกเกล้า https://goo.gl/fZtJi9

ปรามินทร์ เครือทอง. นาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕: "ย่ำรุ่ง" คือกี่โมง, พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศตรงไหน, อ่านอะไร? , มติชนออนไลน์, 23 มิถุนายน 2555

000

ไปรษณียาคาร

ควง อภัยวงศ์ นำคณะผู้ก่อการตัดสายโทรศัพท์-โทรเลข

การเดินทาง: รถเมล์สาย 8, 12, 53, 60, 73, 73ก | เรือด่วนท่าสะพานพุทธ

พิกัด N 13.740032 E 100.499807

ไปรษณียาคาร หรือชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบ เป็นอาคารที่ตั้งเดิมของกรมไปรษณีย์และที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร ทางด้านทิศใต้ของสะพานพุทธ ในเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อาคารไปรษณียาคารเป็นสถานที่แรกๆ ซึ่งผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะต้องบุกยึด เพื่อตัดการสื่อสารโทรศัพท์และโทรเลข

โดยคณะราษฎรสายพลเรือนกลุ่มที่นำโดย หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ซึ่งต่อมาจะเป็นนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เขาเป็นผู้รับหน้าที่ตัดสายโทรศัพท์และโทรเลขที่ชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบร่วมกับ วิลาศ โอสถานนท์, ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี และทหารเรืออีกจำนวนหนึ่ง ที่นำโดย ร.อ.หลวงนิเทศกลกิจ ร.น. (กลาง โรจนเสนา)

โดยในหนังสือ "การต่อสู้ของข้าพเจ้า นายควงอภัยวงศ์" เขาบันทึกถึงความรู้ทรงจำในเวลานั้นว่า "เราถอนหายใจยาวพร้อมกัน 4 น. ครึ่งผ่านไปแล้ว ข้าพเจ้ายกมือขึ้นเป็นสัญญาณ อันเป็นฤกษ์งามยามดีของเรา แล้วสัญญาณแห่งการปฏิวัติก็อุบัติขึ้น สายโทรศัพท์ทางด้านนอกได้ถูกตัดลงแล้ว แล้วพวกเราก็กรูกันเข้าไปในที่ทำการชุมสายวัดเลียบ เพื่อตัดสายจากหม้อแบตเตอรี่ อันเป็นการตัดอย่างเด็ดขาดและสิ้นเชิง"

ทั้งนี้แม้ผู้ก่อการจะสามารถกระทำการได้สำเร็จ แต่มีพนักงานไปรษณีย์หนีไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจจึงทราบเรื่องจากเหตุนี้เอง จึงรุดเข้าวังบางขุนพรหมเพื่อถวายรายงานแด่กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการ แต่คณะราษฎรโดย พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็เข้าพบกรมพระนครสวรรค์วรพินิตอยู่ก่อนแล้ว

อนึ่งใกล้กับไปรษณียาคาร ยังมีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยด้วย โดยไม่นานมานี้มีบทความของ "สมเกียรติ โอสถสภา" อ้างว่าคณะราษฎรจับเด็กนักเรียนเป็นตัวประกัน ทั้งนี้ได้มีผู้ชี้แจงเผยแพร่อยู่ในเพจ "นักเกรียน สวนกุหลาบ" ว่าคณะราษฎรไม่ได้จับเด็กเป็นตัวประกัน และต้นเรื่องที่อ้างกันนั้นมาจากหนังสือที่จัดทำขึ้นในปี 2538 ที่ชื่อ "ตำนานสวนกุหลาบ" ซึ่งเขียนขึ้นจากหลายกลุ่มหลายฝ่าย และมีกระบวนการเรียบเรียงจัดทำไม่เป็นระบบ

นอกจากนี้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือมีทั้งโรงเรียนเสาวภา (โรงเรียนช่างฝีมือ) โรงเรียนเพาะช่าง (โรงเรียนศิลปะ) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อาคารสามัคยาจารย์สมาคม ที่ตั้งอยูในรั้วสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นทั้งที่พบปะสังสรรค์ เป็นอาคารทำงานของกระทรวงธรรมการ รวมถึงสนามฟุตบอลสวนกุหลาบในยุคนั้นก็เทียบเคียงกับสนามกีฬาแห่งชาติ มีสนามเทนนิสหลัก อีกทั้งในแง่การเป็นจุดยุทธศาสตร์ ตรงนั้นก็ใกล้โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบ และ กรมไปรษณีย์โทรเลข (ปากคลองโอ่งอ่าง) รวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่

"การนำรถถังเข้ามาควบคุมพื้นที่ในบริเวณนี้ หากไม่ได้มองด้วยสายตาแบบสวนกุหลาบคือแกนกลางเขาพระสุเมรุแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่า การควบคุมกรมไปรษณีย์โทรเลข โรงไฟฟ้า และสะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อป้องกันกำลังรบนอกฝั่งพระนคร ย่อมเป็นเหตุเป็นผลกว่าการทึกทักว่านำรถถังออกมาโดยมีเป้าประสงค์จับกุมคุมตัวนักเรียนคนใดคนหนึ่งเป็นตัวประกันมากนัก"

สำหรับอาคารไปรษณียาคาร ถูกทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2525 เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานอยู่ทางทิศใต้ของสะพานพุทธ โดยต่อมาอาคารไปรษณียาคารถูกสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม ในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิม เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์กิจการไปรษณีย์ไทย

 

อ่านประกอบ

ไปรษณียาคาร. วิกิพีเดีย

000

วัดแคนอก

สถานที่ประชุมลับคณะราษฎรก่อนร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การเดินทาง: รถเมล์สาย 69, 191 | รถสองแถวท่าน้ำนนท์-สนามบินน้ำ | MRT สายสีม่วง สถานีสะพานพระนั่งเกล้า

พิกัด N 13.879587 E 100.482364

วัดแคนอก อยู่ที่หมู่ 2 ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี ตั้งอยู่บนถนนสนามบินน้ำ หรือถนนนนทบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2367 สมัยรัชกาลที่ 3 เดิมมีชื่อเรียกว่า "วัดแคร่เบ็ญจ้น" เป็นวัดที่พระยารามัญมุนี ผู้นำชาวมอญสร้างขึ้น ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดแค

ภายในวัดแคนอก มีอุโบสถหลังเก่าซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และหน้าอุโบสถยังมีเจดีย์ทรงรามัญ 2 องค์ และมีหอพระไตรปิฎกโบราณด้วย

โดยในปี 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนาผู้นำคณะราษฎรได้นำคณะมาหารือที่นี่ และกราบสักการะพระประธานในอุโบสถ ปัจจุบันคืออุโบสถหลังเก่า พระยาพหลพลหยุหเสนาเกิดความเลื่อมใสที่เห็นพระประธานหันหน้าลงทางทิศตะวันตกและสถานที่ปกคลุมไปด้วยต้นโพธิ์ใหญ่มีอายุหลายร้อยปี คิดว่า สถานที่นี้น่าจะเป็นสถานที่สถิตของเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ จึงพากันอธิษฐานจิตถวายต่อพระพุทธศาสนา ถ้าแม้กระทำการปฏิวัติสำเร็จ จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่ตรงนี้ให้เจริญ และแม้ละโลกนี้ไปแล้วก็ขอให้เอาอัฐิ มาบรรจุ ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อให้เป็นการบูชา เมื่อท่านได้ละโลกนี้ไปแล้ว ลูกหลานตระกูล "พหลโยธิน" ได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ ณ วัดแคนอกแห่งนี้ และให้ลูกหลานได้บำรุงวัดแห่งนี้ให้เจริญต่อไป

ทั้งนี้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มาสร้างหอระฆังรูปทรงดอกบัวตูมถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยมีความดำริว่า "เราเคยชนะคนอื่นด้วยหอกด้วยดาบ อีกไม่ช้านานหอกและดาบนั้นคงคืนสนอกแก่เรา" จึงสร้างซุ้มทั้ง 4 ทิศ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันหอระฆัง และสร้างโรงเรียนให้แก่ชุมชนชื่อว่า โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง 1 (โรงเรียนวัดแคนอก)

สำหรับซุ้มบัว 4 ทิศนั้น บริเวณซุ้มบัวด้านทิศเหนือ มีพระพุทธรูปที่พระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับเป็นที่ระลึกในโอกาสเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดคือวันพฤหัสบดี โดยบรรจุอัฐิที่ฐานรองและผนึกด้วยซีเมนต์นำไปประดิษฐานที่ซุ้มบัวดังกล่าว

อนึ่งหลังการอสัญกรรมของพระยาพหลพลพยุหเสนาในปี พ.ศ. 2490 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 เปลี่ยนชื่อ "ถนนประชาธิปัตย์" ที่เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังดอนเมือง และไปถึง จ.ลพุบรี ว่า "ถนนพหลโยธิน" และเมื่อขยายเส้นทางไปทางทิศเหนือเรื่อยๆ ในที่สุดก็รวมถนนสายลำปาง-เชียงราย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของถนนพหลโยธินด้วย

 

อ่านประกอบ

"วัดแคนอก" ที่ประชุมลับคณะราษฎร ก่อนก่อการปฏิวัติสยาม, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, 9 มิถุนายน 2560

วัดแคนอก, เทศบาลนครนนทบุรี, 23 มิถุนายน 2017

000

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตลาดวิชาและมหาวิทยาลัยเปิดยุคคณะราษฎร

การเดินทาง: รถเมล์สาย 1, 3, 15, 32, 53, 60, 65, 70, 82, 91, 503, 524 | เรือด่วนท่าช้าง

พิกัด N 13.757419 E 100.490035

ทั้งนี้หลัก 6 ประการในคำประกาศฉบับที่ 1 ของคณะราษฎรนั้น ประการที่ 6 ในคำประกาศระบุว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" ในเวลาต่อมาจึงมีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นโดยมีชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.) มหาวิทยาลัยนี้ถือกำเนิดมาจากความคิดริเริ่มของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.2475 ประเทศชาติ มีความจำเป็นต้องมีบุคคล ที่มีความรู้ ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน

จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 เพื่อเปิดสอนในวิชาแขนงดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้มีพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก เสด็จในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ ที่ตั้งเดิมของโรงเรียนกฎหมาย ริมถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา

โดยปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กล่าวในโอกาสก่อตั้งมหาวิทยาลัยว่า "การตั้งสถานศึกษา ตามลักษณะมหาวิทยาลัย ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัย ในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยาม จะเจริญในอารยธรรมได้ ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น การที่จะอำนวยความประสงค์ และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษา ให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น"

และ "มหาวิทยาลัย ย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร เห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น"

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นตลาดวิชา และเป็น มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย โดยให้สิทธิแก่ผู้ที่เคยศึกษาในโรงเรียนกฎหมายผู้สำเร็จประโยคมัธยมศึกษา และเปิดกว้างให้ถึงผู้ที่เป็น ข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทนฯ ผู้แทนตำบล ครู ทนายความ เข้าเรียน ได้ด้วย ปรากฏว่าในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง 7,094 คน และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2479 ได้ย้ายมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งเดิมป็นที่ของทหาร โดยมีการปรับปรุงอาคารเดิมพร้อมทั้งสร้างตึกโดม

ครูที่นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญใช้เรียก ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอนวิชาคำนวณ และภาษาฝรั่งเศส มีรายได้เดือนละ 40 บาท แบ่งให้แม่ 30 บาท

ในช่วงที่เปิดตลาดวิชานี้เอง ทำให้คนธรรมดาสามัญมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อย่างเช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พลพรรคเสรีไทยและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลานั้นเพิ่งจบชั้นมัธยมและเป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศส ก็ได้สมัครเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรก โดยในเวลานั้นทางมหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์คำบรรยายออกจำหน่ายในราคาถูก วิชาละประมาณ 2 บาท เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่กำลังทำงานอยู่สามารถศึกษาเองได้ โดยป๋วยใช้เวลาในตอนค่ำและวันหยุดเรียนอยู่ 4 ปี ก็สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางกฎหมาย การเมืองและเศรษฐการ (หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต, ธ.บ.) และในเวลาต่อมา ป๋วยสอบชิงทุนรัฐบาลได้ไปเรียนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่ London School of Economics & Political Science (LSE) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน

อนึ่งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกเปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ตำแหน่ง "ผู้ประศาสน์การ" ถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นอธิการบดี หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิตถูกเปลี่ยนแปลงเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไป ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคหลังตลาดวิชายังคงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ โดยเป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนเมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณประตูทางออกด้านถนนพระอาทิตย์ บริเวณที่ปัจจุบันเป็นสำนักงานของกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ในอดีตคือ "ทำเนียบท่าช้าง" เป็นที่พัก ที่ทำการของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในระหว่างปี พ.ศ. 2485-2490 โดยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีภายใต้รหัสลับว่า "รูธ" ยังตั้งกองบัญชาการเสรีไทยอยู่ที่ทำเนียบท่าช้างและภายในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอีกด้วย

 

อ่านประกอบ

ประวัติมหาวิทยาลัย, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ป๋วย อึ๊งภากรณ์, วิกิพีเดีย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิกิพีเดีย

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. 100 ปีของสามัญชนนามปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี, เมษายน 2543

000

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หมุดหมายประชาธิปไตยและพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง

การเดินทาง: รถเมล์สาย 2, 12, 15, 44, 60, 70, 79, 82, 203, 503, 511 | เรือด่วนคลองแสนแสบ ท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

พิกัด N 13.756667 E 100.501667

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อันเป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ การออกแบบได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย

โดยในส่วนของครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อม กลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน เนื่องจากในขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี โดยมิถุนายนเป็นเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก ปากกระบอกปืนฝังลงดิน โดยรอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ พ.ศ. 2475 ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ

ลายปั้นนูนที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร

อ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึง ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง หรือ ปีงูใหญ่

หลังยุคของคณะราษฎรไปแล้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงเป็นพื้นที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญหลายครั้ง อาทิ การเคลื่อนขบวนผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปี 2551 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติปี 2553 และการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปี 2556-2557 เป็นต้น

 

อ่านประกอบ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, วิกิพีเดีย

000

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

สถานที่รำลึกการปราบกบฎบวรเดชที่ถูกยกย้ายบ่อยครั้ง

การเดินทาง: รถเมล์สาย 26, 34, 51, 59, 95, 107, 114, 185, 503, 522, 524, 543

พิกัด N 13.875736 E 100.597110

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีการบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายในรวม 17 นาย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารยกกำลังทหารมาจากหัวเมืองเรียกตัวเองว่า "คณะกู้บ้านกู้เมือง" เข้ามายึดพื้นที่ดอนเมือง ส่วนฝ่ายรัฐบาลตั้งกองอำนวยการปราบกบฏขึ้นที่สถานีรถไฟบางซื่อข้างโรงงานปูนซีเมนต์ไทย โดยการสู้รบเป็นไปตลอดแนวเส้นทางรถไฟจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2476 ฝ่ายกบฏที่ตั้งกำลังอยู่ที่สถานีรถไฟหลักสี่ ได้รุกไล่จนฝ่ายรัฐบาลถอยร่นและเข้ายึดคลองบางเขนไว้ได้ แต่พอถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2476 ฝ่ายรัฐบาลได้หนุนกำลังพร้อมอาวุธหนักขึ้นรถไฟ จนประชิดแนวหน้าฝ่ายกบฏ จนต้องถอยกลับไปตั้งหลักที่ปากช่อง โดยฝ่ายกบฏถูกฝ่ายรัฐบาลตามไปปราบถึงสถานีรถไฟหินลับ-ทับกวาง และปากช่อง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก พระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีลี้ภัยไปไซ่ง่อน และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายกบฏได้ในที่สุด โดยนักโทษจากเหตุกบฏบวรเดชถูกส่งตัวไปขังที่เกาะตะรุเตา จ.สตูล

ภายหลังปราบปรามกบฏบวรเดช รัฐบาลได้จัดให้มีรัฐพิธีแก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คนคราวปราบกบฏบวรเดช โดยจัดสร้างเมรุชั่วคราวที่ท้องสนามหลวง ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือ "อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช แต่ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเพียงตามแหล่งที่ตั้งว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่"

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญออกแบบลักษณะเป็นเสา และสื่อถึงหลักทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐธรรมนูญ เสาของอนุสาวรีย์มีลักษณะคล้ายลูกปืน สื่อความหมายถึงกองทัพ ประดับกลีบบัว 8 ซ้อนขึ้นไป 2 ชั้น บนฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งหมายถึงทิศทั้งแปดตามคติพราหมณ์ ฐานของอนุสาวรีย์มี 4 ทิศ มีบันไดวนรอบฐาน ส่วนบนสุดของเสาอนุสาวรีย์เป็นพานรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญ

ผนังของเสาแต่ละด้านของอนุสาวรีย์มีการจารึกและประดับในเรื่องราวที่ต่างกันไป โดยผนังด้านทิศตะวันตกหรือผนังที่อยู่ด้านหน้าของถนนพหลโยธินมีการจารึกรายนามของทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิต ด้านทิศใต้เป็นรูปแกะสลักของครอบครัวชาวนาคือ พ่อ แม่ และลูก โดย ผู้ชายถือเคียวเกี่ยวข้าว ผู้หญิงถือรวงข้าว และเด็กถือเชือก ซึ่งสื่อถึงชาติและประชาชนในชาติ ด้านทิศเหนือเป็นรูปธรรมจักรซึ่งหมายถึงศาสนา และด้านทิศใต้เป็นแผ่นทองเหลืองจารึกโคลงสยามานุสติ ซึ่งเป็นโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อนึ่งบริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญมีการปรับปรุงบ่อยครั้ง โดยในปี 2536 กรมทางหลวงได้ปรับปรุงทางจราจรบริเวณอนุสาวรีย์โดยทุบพื้นที่โดยรอบเหลือเพียงแต่เสาอนุสาวรีย์ ทำเป็นสี่แยก ต่อมาได้ยกเลิกการใช้สี่แยกดังกล่าวเนื่องจากได้ขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์แทน

ในปี พ.ศ. 2553 กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแยกเพื่อเชื่อมถนนแจ้งวัฒนะ-รามอินทรา จึงมีการเคลื่อนย้ายตัวอนุสาวรีย์ออกไปจากบริเวณเดิม ท่ามกลางการคัดค้านของนักโบราณคดีและชาวบ้าน

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์

และล่าสุดเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และผู้เกี่ยวข้องได้ทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนทหารหาญก่อนที่จะย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมไปทางทิศเหนือ 45 องศา ไปทางถนนพหลโยธินฝั่งขาออกไปทางสะพานใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายมาจากรถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต

 

อ่านประกอบ

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ, วิกิพีเดีย

ย้ายกลางดึกอนุสาวรีย์วงเวียนหลักสี่ หลีกทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว, ข่าวสด, 4 พฤศจิกายน 2559

ย้ายแล้วเงียบๆ 'อนุสาวรีย์หลักสี่' สัญลักษณ์ปราบกบฏบวรเดช, มติชนออนไลน์, 4 พฤศจิกายน 2559

000

วัดพระศรีมหาธาตุ

ชื่อเดิม "วัดประชาธิปไตย" และสถานที่เก็บอัฐิสมาชิกคณะราษฎร

การเดินทาง: รถเมล์สาย 26, 34, 51, 59, 95, 107, 114, 185, 503, 522, 543

พิกัด N 13.873833 E 100.594180

ใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยังมีวัดพระศรีมหาธาตุ หรือ "วัดประชาธิปไตย" ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็น พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขออนุมัติเงินเพื่อสร้างวัด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยและประสงค์จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ คือ 24 มิถุนายน 2484 สถานที่ที่จะสร้างนั้นควรอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ โดยให้เหตุผลว่าชาติกับศาสนานั้นเป็นของคู่กัน จะแยกจากกันมิได้ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรสร้างวัดขึ้นใกล้กับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้จารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปราบกบฏบวรเดช และประสงค์จะให้วัดดังกล่าวตั้งชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย"

และในระหว่างดำเนินการนั้น รัฐบาลอินเดียซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้จักรวรรดิอังกฤษได้มอบพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ทำให้รัฐบาลไทยในเวลานั้นอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่วัดสร้างใหม่แห่งนี้ และนำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาปลูก จึงตั้งนามวัดว่า "วัดพระศรีมหาธาตุ"

นอกจากนี้ผนังด้านในของเจดีย์ประธานยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของสมาชิกคณะราษฎรผู้ล่วงลับอีกด้วย โดยแทบทุกปีในวันที่ 24 มิถุนายน ลูกหลานของคณะราษฎรจะนัดหมายเพื่อทำบุญในวันดังกล่าวที่วัดพระศรีมหาธาตุ

 

อ่านประกอบ

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร, วิกิพีเดีย

 

000

ถนนทองหล่อ

นามระลึกถึงหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร-เยี่ยมสถาบันปรีดี พนมยงค์

การเดินทาง: รถเมล์สาย สาย 2, 25, 38, 40, 48, 98, 501, 508 | BTS สถานีทองหล่อ

พิกัด N 13.723736 E 100.579533

จุดเช็คอินลำดับที่ 9 ที่จะขอแนะนำในโอกาสนี้คือถนนทองหล่อ หรือ ซอยสุขุมวิท 55 ซึ่งปัจจุบันเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญ โดยที่มาของชื่อถนน ถนนสายนี้ตั้งชื่อตามชื่อเดิมของ ร.ท.ทองหล่อ ขำหิรัญ (ร.น.) หรือต่อมาเปลี่ยนชื่อและมียศสูงสุดคือ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ เจ้าของที่ดินในซอยแต่เดิม

ในเวลานั้น ร.ท.ทองหล่อ ขำหิรัญ มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกองร้อยที่ 3 กองพันพาหนะ มีที่ตั้งอยู่หน้าเรือนจำกลางทหารเรือ ปัจจุบันย้ายไปอยู่บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรจากการชักชวนของ พล.ร.ต.สังวรณ์ สุวรรณชีพ เพื่อนทหารเรือและมีศักดิ์เป็นญาติกัน ซึ่งทางทหารเรือมีความจำเป็นต้องใช้กำลังนาวิกโยธิน ซึ่งชำนาญการรบบนบกมากกว่าทหารเรือพรรคอื่น จึงเข้าร่วม

โดยมีบทบาทนำทหารจากกองพาหนะจำนวน 400 นายเศษ พร้อมด้วยอาวุธปืนรวมทั้งกระสุน และเฟ้นหานายทหารนาวิกโยธินอีก 4 นายเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยลวงว่าจะนำไปรวมพลในตอนเช้าตรู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อจะไปปราบการจลาจลจีนอั้งยี่ย่านสำเพ็ง และวัดเกาะ จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงการครองลุล่วงไปด้วยดี

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2478 พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารเรือ เสนอให้มีการปรับปรุงกิจการของนาวิกโยธิน โดยในเวลานั้น พล.ร.ต.ทหาร ได้เป็นผู้บังคับบัญชา ได้ให้นายทหารนาวิกโยธินเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในปี พ.ศ. 2479 เป็นรุ่นแรก นอกจากนี้ยังได้ส่งไปเรียนเหล่าทหารราบ ทหารช่าง ทหารม้า และทหารปืนใหญ่ ในส่วนของกองทัพบก ส่วนนักเรียนจ่าและจ่าสำรองพรรคนาวิกโยธิน ได้ส่งไปศึกษาในโรงเรียนนายสิบทหารบกเหล่าต่างๆ และเพื่อที่จะให้ทหารนาวิกโยธินได้มีที่ตั้งใหม่ ในอัตราการจัดกรมผสม จึงได้เตรียมพื้นที่ที่บริเวณทุ่งไก่เตี้ย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2479–พ.ศ. 2481 และเป็นที่ตั้งของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินในปัจจุบัน

ในช่วงกรณีพิพาทไทย-อินโดจีน ระหว่าง พ.ศ.2483-2484 น.ต.ทองหล่อ ขำหิรัญ ในเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการกองพลจันทบุรี 1 ใน 5 กองพลของกองทัพบูรพา ได้สนธิกำลังรบระหว่างทหารหน่วยต่างๆ ผสมกับตำรวจสนาม อาสาสมัครพลเรือนชาวจันทบุรี ปะทะกับกองกำลังอินโดจีนฝรั่งเศส และในวันที่ 28 ม.ค.2484 ได้เข้ายึดพื้นที่ข้าศึกได้สำเร็จถึง 12 ตำบลในวันเดียวกัน ต่อมาญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย เพื่อยุติสงครามอินโดจีน

ในทางการเมือง พล.ร.ต.ทหารได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวง หรือรัฐมนตรีลอย ในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง

ต่อมาหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีต้องออกนอกประเทศ หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2492 ปรีดีและทหารเรือบางส่วนเป็นแกนนำก่อกบฎที่เรียกว่า กบฎวังหลวง โดย พล.ร.ต.ทหาร ได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ เป็นผู้นำกองกำลังทหารเรือและนาวิกโยธินจากชลบุรีเข้าสู่พระนคร แต่ก่อการไม่สำเร็จ และต่อมายังเข้าร่วมกบฏแมนฮัตตันซึ่งเป็นการก่อกบฎของทหารเรือในปี พ.ศ. 2494 อีกด้วย

ทั้งนี้ พล.ร.ต.ทหาร ลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย ในพื้นที่จังหวัดธนบุรีและกรุงเทพมหานคร คือในการเลือกตั้งปี 2500, การเลือกตั้งปี 2512 และการเลือกตั้งปี 2518

อนึ่งในรายงาน "ประวัติศาสตร์ 'ประชาธิปไตย' จากอนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร" ในมติชนออนไลน์เมื่อ 15 มิถุนายน 2560 ซึ่งนำเสนองานของนริศ จรัสจรรยาวงศ์ เขียนถึงหนังสืออนุสรณ์งานศพของสมาชิกคณะราษฎร 50 เล่มเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนมิถุนายน 2560 โดยส่วนหนึ่งในอนุสรณ์งานศพ "กุหลาบ(กำลาภ) กาญจนสกุล" พล.ร.ต.ทหาร เขียนคำรำลึกอุทิศและแสดงความคิดเห็นต่อชาติบ้านเมืองไว้ว่า

"ในทรรศนะของข้าพเจ้า กล่าวตามภาวะทางการเมืองงานของคณะราษฎรสิ้นสุดยุติลง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งควรจะถือว่าคณะราษฎรต้องประสบความปราชัยทางการเมือง แต่ความรับผิดชอบในส่วนตัวบุคคลยังไม่สิ้นสุด เปรียบด้วยหนี้สินบุคคลชาวคณะราษฎรยังชำระหนี้ไม่หมด คงเป็นลูกหนี้ประชาชนอยู่ จนกว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ คุณกำลาภจากไปแล้ว คนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องรับสนอง

ชาวคณะราษฎรที่ยังมีชีวิตอยู่นับว่าเป็นผู้โชคดี ที่ได้เห็นผลงานของตนซึ่งช่วยกันสร้างสรรค์เอาไว้ ทิ้งปัญหาที่เป็นบทเรียนอันควรแก่การศึกษาวิจัยวิจารณ์กันหลายบท ที่นับว่าสำคัญมี ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยนานหลายสิบปีแล้ว เพราะเหตุใดจึงยังมีความเห็นกันว่า เข้าไม่ถึงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง..."

นอกจากนี้ภายในถนนทองหล่อ ห่างจากตั้นซอยราว 380 เมตร ยังเป็นที่ตั้งของ "สถาบันปรีดี พนมยงค์" ก่อเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ปรีดี พนมยงค์ โดยที่ดินซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถาบัน "ครูองุ่น มาลิก" ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไชยวนา ได้อุทิศให้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2526 โดยอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2538

โดยนับตั้งแต่เปิดดำเนินการเป็นต้นมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่องในด้านวิชาการ ได้จัดปาฐกถา ปรีดี พนมยงค์ เป็นประจำทุกปีในช่วงวันชาติ 24 มิถุนายน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมหลากหลายแขนงอีกด้วย โดยสามารถติดตามกิจกรรมซึ่งจัดที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ที่เว็บไซต์ของสถาบันปรีดี พนมยงค์

 

อ่านประกอบ

รองผู้บัญชาการนาวิกโยธิน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมงาน รำลึก "76 ปี วันกองพลจันทบุรี", New Delight, 28 มกราคม 2017

ประวัติศาสตร์ 'ประชาธิปไตย' จากอนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร, มติชนออนไลน์, 15 มิถุนายน 2560

ทหาร ขำหิรัญ, วิกิพีเดีย

เกี่ยวกับสถาบันปรีดี พนมยงค์, เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขนส่งสั่งห้ามแท็กซี่ล้อมรถต้องสงสัยเป็น UBER

Posted: 24 Jun 2017 08:40 PM PDT

กรมการขนส่งทางบกเดินหน้าแก้ปัญหาการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลรับจ้างผิดกฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือผู้ขับรถแท็กซี่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ หากพบรถต้องสงสัยเป็น UBER หรือ Grab car ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ฝ่าฝืนลงโทษทั้งผู้ขับและผู้ประกอบการ

 
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงเหตุการณ์กลุ่มคนขับแท็กซี่ทำการรุมล้อมรถยนต์คันหนึ่งที่เชื่อว่าเป็น UBER หรือ Grab Car ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบตามแนวทางปกติและเป็นไปตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยทั่วไปตามหลักสากล เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า รถคันดังกล่าวไม่ได้นำมาใช้บริการลักษณะรับจ้าง จึงแจ้งวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ พร้อมกล่าวขอโทษผู้ขับรถและผู้โดยสารด้วยความสุภาพ 
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันระหว่างสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ การท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมผู้ประกอบการรถเเท็กซี่ รถบริการสนามบิน รถตู้ปรับอากาศประจำทาง โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถสาธารณะงดเว้นพฤติกรรมรุมล้อมรถที่ต้องสงสัยว่าเป็นรถ UBER หรือ Grab car หากพบรถยนต์ที่สงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อทำการตรวจสอบจับกุมและลงโทษผู้ขับรถตามข้อหาความผิดอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ หากตรวจพบพฤติกรรมรุมล้อมรถอีกสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่จะพิจารณาลงโทษทั้งผู้ขับรถและผู้ประกอบการอย่างเข้มงวดเช่นกัน
 
สำหรับผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น กรมการขนส่งทางบกยืนยันว่าสามารถกระทำได้แต่ต้องเป็นการเรียกรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มทางเลือกและประโยชน์สูงสุดของประชาชน ส่วนผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น UBER หรือ Grab Car กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดแนวทางนำแอพพลิเคชั่นมาใช้กับระบบการขนส่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อทำการศึกษารูปแบบ แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการในรูปแบบรถแท็กซี่ผ่านการให้บริการโดยแอพพลิเคชั่น 
 
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลยกระดับคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยจัดทำโครงการ TAXI OK  และ TAXI VIP เป็นการยกระดับการให้บริการแท็กซี่ปัจจุบัน โดยการติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์ส่วนควบอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเลือกใช้บริการรถแท็กซี่ในระบบ โดยเสนอแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับรถแท็กซี่ทั้ง 2 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 และอยู่ขั้นตอนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งเรื่องให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณายืนยันก่อนส่งให้กระทรวงคมนาคมลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายในเดือนมิถุนายน 2560 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนตุลาคมนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางการจีนเตรียมออกมาตรฐานการแปลภาษาอังกฤษหลังพบ Chinglish มากมาย

Posted: 24 Jun 2017 08:08 PM PDT

สื่อรัฐบาลจีนรายงานถึงเรื่องที่ทางการจีนเริ่มเล็งเห็นว่าการใช้ภาษาที่ผิดพลาดตามที่สาธารณะในประเทศจีนเป็นกลายเป็นปัญหา และพยายามออกคู่มือภาษาอังกฤษมาตรฐานสำหรับชาวจีนเพื่อแก้ปัญหา "ภาษาอังกฤษวิบัติ" ที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศ แก้ปัญหาภาพลักษณ์และพยายามปรับตัวกับโลกาภิวัตน์

 
 
 
 
 
24 มิ.ย. 2560 "ชิงลิช" (Chinglish) หรือ "ภาษาอังกฤษแบบจีนๆ" กลายเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับรัฐบาลจีน และกลายเป็นเรื่องตลกสำหรับชาวต่างชาติ เมื่อป้ายภาษาจีนในสถานที่บางแห่งมีคำแปลภาษาอังกฤษที่สื่อความตลกๆ เช่น "Big Fuck Hall" หรือ "Civilization go to the toilet thanks to everyone" (ที่อารยธรรมไปห้องน้ำ เป็นเพราะพวกคุณ) หรือรูปสุนัขตรวจหาระเบิดก็มีข้อความว่า "Explosive Dog" (สุนัขระเบิดได้) หรือป้ายต่างๆ ที่อาจจะมีความหมายแต่ไม่เข้ากับบริบทของสิ่งที่ต้องการจะอธิบาย
 
ทางการจีนมีแผนการออกมาตรฐานการแปลภาษาอังกฤษภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 เพื่อเพิ่มคุณภาพในการแปลภาษาอังกฤษตามที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมวดการขนส่งมวลชน ความบันเทิง หรือการแพทย์ นอกจากนี้ยังจะมีบัญชีการแปลแบบมาตรฐานสำหรับคำและวลีที่มักจะได้ใช้โดยทั่วไปประมาณ 3,500 รายการ
 
สื่อพีเพิลเดลีของรัฐบาลจีนมีการนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับ "ชิงลิช" โดยเฉพาะ โดยระบุว่าการแปลแย่ๆ ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศและฉุดรั้งจีนไม่ให้พัฒนาไปเป็นสังคมที่มีหลายภาษา ทำให้มีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานมาตรฐานการบริหารและหน่วยงานการบริหารงานทั่วไปที่เกี่ยวกับการควบคุม ตรวจสอบ และคัดกรองคุณภาพ เพื่อดำเนินมาตรการในเรื่องนี้ รองรับกับการที่จีนเปิดรับโลกาภิวัตน์มากขึ้น
 
มาตรการดังกล่าวระบุให้การแปลภาษาอังกฤษควรเน้นการใช้ไวยากรณ์ที่ถูกต้องและออกเสียงอย่างเหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงคำหรือการแสดงออกที่ไม่ค่อยพบเห็นทั่วไป ไม่ควรใช้ภาษาอังกฤษพร่ำเพื่อมากเกินไปในภาคส่วนราชการ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้คำที่พวกเขาคิดเอาเองว่ามัน "เหยียด" อย่างเช่นป้ายที่เขียนว่า "Racist Park" (สวนเหยียดเชื้อชาติ) ซึ่งสำหรับชาวต่างชาติมันคงแค่ฟังดูตลกและไม่ได้คิดว่ามันเหยียดอะไร
 
สำหรับชาวต่างชาติแล้วการใช้ภาษาผิดๆ เหล่านี้อาจจะถูกมองว่าเป็น "เสน่ห์" อย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตในจีนก็ได้ ไม่รู้ว่าถ้าป้ายเตือนตลกๆ อย่าง "อันตราย โปรดจมน้ำอย่างระมัดระวัง!" หายไปพวกเขาจะคิดถึงมันหรือไม่
 
 
 
เรียงเรียงจาก
 
China to introduce national standard for English translations in attempt to rid country of Chinglish, Shanghaiist, 22-06-2017
 
China to standardize use of English on public signs, People Daily, 21-06-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น