โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

10 ภาคีด้านสิทธิฯ ร่วมแถลงร้องรัฐคืนประชาธิปไตย หยุดใช้อำนาจสร้างความกลัว

Posted: 31 Mar 2017 09:49 AM PDT

10 ภาคีด้านสิทธิฯ ร่วมแถลงร้องรัฐคืนประชาธิปไตย หยุดใช้อำนาจสร้างความกลัว ชี้สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการเคลื่อนไหวของพลเมือง คือวิถีทางที่ชอบธรรม ในการประคับประคองสังคมไทยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเชิงคุณภาพ มี สันติ มั่นคง และ ยั่งยืน ในระยะยาว

31 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และองค์กรภาคี ได้ร่วมกันจัดโครงการสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 5 : สิทธิมนุษยชนบนความเคลื่อนไหว ในระหว่างวันที่ 27 - 31 มี.ค. 2560 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยได้ออกแถลงการณ์ ในวันนี้ (31 มี.ค. 60) ณ ห้องประชุมสัมมนา 3 (13218) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

โดยองค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน 10 องค์กรที่ออกแถลงการณ์ร่วม ประกอบด้วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย และสงขลาฟอรั่ม

รายละเอียดดังนี้

 

แถลงการณ์ร่วม

"หยุดการใช้อำนาจที่สร้างความหวาดกลัว - คืนประชาธิปไตยสู่สังคมไทย"

โดย องค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน 10 องค์กร

ภายใต้การปกครองประเทศโดยการควบคุมของรัฐบาลทหาร ได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มงวด ด้วยข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย/ความมั่นคง มีการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้ประชาชนหรือผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้าน เห็นต่างถูกจัดการด้วยอำนาจพิเศษที่ไร้การตรวจสอบ มีการดำเนินคดีโดยที่กระบวนการยุติธรรมและระบบตุลาการอันเป็นเสาหลักค้ำจุนความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลับไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น

ยิ่งในสถานการณ์ของการเร่งรุกคืบดำเนินนโยบายทางการเมืองและการพัฒนาประเทศ ภายใต้วาทกรรมประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในระดับชุมชน ท้องถิ่น และสังคมไทยในภาพรวม ไม่ว่านโยบายทวงคืนผืนป่าในภูมิภาคต่างๆ โครงการพัฒนาภาคใต้ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น จะยิ่งเป็นการกรุยทาง-สร้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรงและการสร้างความหวาดกลัวทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ดังที่ปรากฏอยู่เนืองๆว่า ในขณะที่มีการผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ รัฐได้พยายามปิดกั้นการมีส่วนร่วมและกีดกันประชาชนที่ไม่เห็นด้วยให้ออกไปจากกระบวนการ ประชาชน พลเมืองถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนและสังคมไทยตกอยู่ในสภาวะ"สังคมแห่งความหวาดกลัว" มากขึ้นเรื่อยๆ การขึงตรึงสังคมไทยไว้ด้วยความกลัว การทำให้ยอมจำนน การไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และความเป็นประชาธิปไตย ไม่เพียงเป็นชนวนสำคัญที่จะนำพาสังคมไทยดำดิ่งไปสู่ความขัดแย้งอันรุนแรงและร้าวลึกมากขึ้นเท่านั้น หากยังมีความเสี่ยงสูงที่จะโน้มนำไปสู่การ "กัดกร่อนความชอบธรรม" และ "วิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐและกลไกรัฐ" ในระยะยาว

องค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน 10 องค์กร ประกอบด้วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย และสงขลาฟอรั่ม จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะ ดังนี้

1.      เร่งสร้างบรรยากาศทางสังคมการเมืองให้เข้าสู่ "สภาวะปกติ" โดยเร็ว เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตนที่พึงมีตามหลักสากล โดยรัฐต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นวิถีประชาธิปไตยเยี่ยงอารยะ

2.      สร้างหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวของประชาชน-พลเมืองกลุ่มต่างๆ โดย "คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล"

3.      การเคลื่อนไหวเรียกร้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนในปัจจุบัน ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปกป้องฐานทรัพยากร สิทธิชุมชน อันเกี่ยวพันกับวิถีการดำรงชีวิต และการมีชีวิตสาธารณะที่เข้มแข็ง ดังนั้น "รัฐต้องโอบอุ้ม ปกป้อง คุ้มครอง และตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง" อย่างจริงจัง ที่สำคัญต้องไม่ลดทอน แบ่งแยก หรือผลักประชาชนให้เป็นคู่ตรงข้าม ภายใต้ปรากฏการณ์ผิวเผินของการเมืองเสื้อสีแบบที่ผ่านมา

4.      การปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่อาจเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมใหม่ที่พึงปรารถนาร่วมกันได้ เพราะสังคมประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเท่านั้น คือ หนทางที่ควรจะเป็นการคืนอำนาจแก่ประชาชน การเร่ง "คืนความเป็นประชาธิปไตย" แก่สังคม เป็นสิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วนเพื่อประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และได้"ผนึกพลัง" ร่วมกันผลักดัน เคลื่อนไหว และเรียกร้องการเข้าสู่สังคมที่ให้คุณค่าในสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความเป็นพลเมือง อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

5.   กระบวนการยุติธรรมและระบบตุลาการ ซึ่งเป็นหลักค้ำจุนความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายที่ให้คุณค่ากับหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม

องค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน ทั้ง 10 องค์กร ตระหนักว่าสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการเคลื่อนไหวของพลเมือง คือ วิถีทางที่ชอบธรรม ในการประคับประคองสังคมไทยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเชิงคุณภาพ มี สันติ มั่นคง และ ยั่งยืน ในระยะยาว และจักร่วมมือกันภายใต้พันธกรณีนี้อย่างมุ่งมั่นและเปี่ยมด้วยความหวัง

ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น

แถลง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิตชี้แดงล่มสลายไม่ใช่เพราะฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว แต่เพราะขาดสรุปบทเรียนทักษิณ

Posted: 31 Mar 2017 09:12 AM PDT

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แดงล่มสลายไม่ใช่เพราะกำลังเข้มแข็งกว่าของฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว แต่เพราะขาดสรุปบทเรียนเกี่ยวกับ ทักษิณ แนะเลิก "ก้าวข้ามทักษิณ" ด้วยการไม่พูดถึง แต่ต้อง "วิพากษ์ทักษิณ" อย่างตรงไปตรงมา และเดินหน้าต่อไปได้

แฟ้มภาพ ประชาไท

31 มี.ค.2560 หลังจากวันนี้ ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ระบุว่าตัวเอง หยุดแล้ว พร้อมตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจว่าไม่ควรใช้อภินิหารและกระทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดตนเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความขัดแย้ง ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 20.38 น.ที่ผ่านมา พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ ถึงทักษิณและขบวนเสื้อแดง โดยระบุว่า ความล่มสลายของขบวนเสื้อแดง เป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามมีกำลังเข้มแข็งกว่านั้นเป็นความจริง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะสาเหตุหนึ่งคือการไม่ยอมสรุปบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทเรียนเกี่ยวกับ ทักษิณ โดยยกตัวอย่าง กรณีทักษิณใช้มวลชนไปกดดันแลกกับการเกี้ยเซี้ยจากอีกฝ่าย จากการประกาศสลายขบวนคนเสื้อแดงกลางราชประสงค์เมื่อ พ.ค. 55 หรือการพยายามอีกครั้งด้วย พ.ร.บ.ปรองดองฉบับลักหลับปี 56 ก่อให้เกิดความแตกแยกรุนแรงภายในขบวนคนเสื้อแดง

"วันนี้ จึงไม่ใช่ก้าวข้ามทักษิณ ด้วยการไม่พูดถึง แต่ต้องวิพากษ์ทักษิณอย่างตรงไปตรงมา ถอดถอนบทเรียน จึงจะเดินหน้าต่อไปได้"  พิชิต ระบุท้ายโพสต์ดังกล่าว

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

หลายคนเชื่อว่า ความล่มสลายของขบวนเสื้อแดงเป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามมีกำลังเข้มแข็งกว่าอย่างเทียบไม่ได้ ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ไม่ทั้งหมด

สาเหตุสำคัญอีกข้อที่ทำให้ขบวนเสื้อแดงพ่ายแพ้คือ การไม่ยอมสรุปบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทเรียนเกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณ มีฝีมือบริหารอย่างมาก สร้างประโยชน์แก่ประชาชนไว้หลายเรื่อง แต่หลังรัฐประหารปี 2549 ถึงปัจจุบัน ทักษิณ เข้าขั้น "ห่วยแตกและทรยศต่อประชาชน" คือ ใช้ประโยชน์จากมวลชนที่สู้จนติดคุกบาดเจ็บล้มตายหลายพันคนเมื่อปี 53 เอาพลังมวลชนไปกดดันให้อีกฝ่ายจำยอมเกี้ยเซี้ย โดยนึกไม่ถึงว่า อีกฝ่ายจะใช้กำลังฆ่าปชช.ตายเป็นเบือ ก็เพราะนึกไม่ถึง แกจึงได้กล้าพูดว่า "ถ้าเมื่อไหร่เสียงปืนแตก ทหารยิงประชาชน ผมจะเข้าไปนำพี่น้องเดินเข้ากรุงเทพฯทันที!"

แต่พอแพ้ปี 53 ทักษิณก็กลับลำ จากเอามวลชนไปกดดัน ก็เปลี่ยนเป็นเอามวลชนไปขาย แลกกับการเกี้ยเซี้ยจากอีกฝ่าย ประกาศสลายขบวนคนเสื้อแดงกลางราชประสงค์เมื่อ พ.ค.55 ("พี่น้องไม่ต้องแบกเรือมาขึ้นบกตามผม") ไปแลกกับการประนีประนอมจากฝ่ายนั้นในรูป พ.ร.บ.ปรองดอง ครั้งที่หนึ่ง ซึ่งล้มเหลว

แต่ก็พยายามอีกครั้งด้วย พ.ร.บ.ปรองดองฉบับลักหลับปี 56 ก่อให้เกิดความแตกแยกรุนแรงภายในขบวนคนเสื้อแดง ก็เพื่อแลกกับการเกี้ยเซี้ยจากฝ่ายนั้นอีกครั้ง พอเกิด กปปส. ก็ระดมคนเสื้อแดงซึ่งกำลังแตกแยกออกมาปกป้องรัฐบาลยี่งลักษณ์อีก แต่ไม่คิดจะปกป้องคนเสื้อแดงเหล่านั้น จนมีคนบาดเจ็บและตายเพิ่มอีกที่สนามกีฬาราชมังคลา

สำหรับทักษิณ มวลชนเสื้อแดงก็เป็นเพียง "เบี้ยในมือ" เอาไว้บลัฟ เอาไว้ต่อรองกับอีกฝ่าย และถ้าได้ "ดีล" เหมาะ ๆ มีสิ่งแลกที่คุ้มค่า ก็พร้อมที่จะ "โยนไปแลก" เหมือนกับวิธีต่อรองทางธุรกิจนั่นแหละ

วันนี้ บ้านเมืองกลายเป็นเผด็จการทหารที่เลวร้ายที่สุด ประเทศถอยหลังตกต่ำเสียหายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีนักโทษการเมืองและคดีการเมืองเพิ่มเป็นทวีคูณ ทักษิณมีส่วนรับผิดชอบอย่างสำคัญและปฏิเสธไม่ได้

วันนี้ จึงไม่ใช่ "ก้าวข้ามทักษิณ" ด้วยการไม่พูดถึง แต่ต้อง "วิพากษ์ทักษิณ" อย่างตรงไปตรงมา ถอดถอนบทเรียน จึงจะเดินหน้าต่อไปได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรผู้บริโภค เตือน กทค.ทบทวนมติแพคเกจวินาที 50% ผิดกฎหมาย เอาเปรียบผู้บริโภค

Posted: 31 Mar 2017 06:39 AM PDT

กก.อิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และเครือข่ายเตือน กทค. กรณีทบทวนมติให้ผู้ประกอบการมือถือคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงโดยไม่ปัดเศษวินาทีทั้งระบบ เปลี่ยนเป็นให้มีการคิดได้ทั้งแบบนาทีและวินาที ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและกระทำการผิดกฎหมาย จี้ทบทวน มิเช่นนั้นจะดำเนินการต่อไป

31 มี.ค.2560 รายงานข่าวจาก องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แจ้งว่า คอบช. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เรียกร้อง กทค. ให้ทบทวนมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 ที่ได้มีการทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ซึ่งมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบการให้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ให้มีการคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย และมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้รับทราบแนวทางการตรวจสอบและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด โดย คอบช. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า มติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ดังกล่าว เป็นไปตามประกาศการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 18000 MHz และ 900 MHz  เงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นทั้งสองย่านดังกล่าว รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง การประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนเป็นไปตามข้อเสนอที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ต้นปี 2558 เรื่องการคิดโทรแบบไม่ปัดเศษ หรือคิดตามการใช้งานเป็นหน่วยวินาที ดังนั้น การทบทวนมติที่ถูกต้องตามกฎหมายนี้จึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

ชลดา บุญเกษม กรรมการ คอบช.ตัวแทนเขตภาคกลาง กล่าวว่า คอบช. เห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในระดับของหน่วยนับย่อยของบริการประเภทต่างๆ กล่าวคือ สำหรับบริการเสียงก็คิดในหน่วยวินาที และบริการข้อมูลคิดในหน่วย kb เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมกับผู้บริโภค และเมื่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นำเสนอรายการส่งเสริมการขายที่คิดอัตราค่าบริการเป็นวินาทีออกสู่ตลาด คอบช. ก็ได้ติดตามตรวจสอบและพบว่า อัตราค่าบริการที่ทำออกมาเป็นทางเลือกนั้นไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากต้องจ่ายราคาแพงขึ้น แต่สิทธิประโยชน์ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับรายการส่งเสริมการขายเดิมที่คิดค่าบริการแบบปัดเศษจากวินาทีเป็นนาที

"สิ่งที่ สปช. และผู้บริโภคเรียกร้องต่อ กสทช. และอุตสาหกรรมมือถือคือ ขอให้เลิกคิดค่าบริการแบบปัดเศษ โดยเปลี่ยนเป็นคิดตามหน่วยการใช้ที่วัดได้จริง เช่น การโทรในครั้งนี้มีระยะเวลา 1.04 นาที ก็คิดเป็น 1.04 นาที มิใช่ 2 นาที ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของวิธีการนับปริมาณการใช้งานตามหน่วยวัดย่อยที่วัดได้จริง ไม่เกี่ยวกับการออกรายการส่งเสริมการขายแบบวินาทีหรือนาที ดังนั้น มติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 ที่ กทค. อ้างว่าเป็นการมีมติเพิ่มเติมให้ในตลาดมีทั้งรายการส่งเสริมการขายแบบวินาทีและนาที เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค นั้นไม่เป็นความจริง เพราะรายการส่งเสริมการขายแบบวินาทีมีการคิดค่าบริการในอัตราที่สูงกว่าแบบนาทีมาก ผู้บริโภคย่อมฉลาดพอที่จะไม่เลือก" ชลดา กล่าว

มณี จิรโชติมงคลกุล อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คอบช. กล่าวเสริมว่า การออกรายการส่งเสริมการขายแบบวินาทีผสมกับแบบนาทีไม่ได้ทำให้ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนวิธีการนับหน่วยวัดตามที่สังคมเรียกร้อง ในขณะที่มติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ที่ให้ตรวจสอบรายการส่งเสริมการขายทั้งหมดในตลาดให้มีการคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที นั้นเป็นมาตรการที่ถูกต้องแล้ว การที่ กทค. ทบทวนเปลี่ยนมติดังกล่าว โดยให้ผู้ประกอบการออกรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการเสียง ทั้งในรูปแบบการคิดค่าโทรเป็นนาทีและเป็นวินาที โดยมีรูปแบบวินาทีไม่น้อยกว่า ๕๐% ของรายการส่งเสริมการขายทั้งหมด หรือมาเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ นั้น จึงเป็นเพียงการเล่นละครเพื่อหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนระบบการปัดเศษ หรือทำให้ระบบการปัดเศษยังคงดำเนินต่อไปนั่นเอง

กรรณิการ์ กิตติเวชกุล อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คอบช. กล่าวว่า มติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 ถือได้ว่าเป็นมติที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่านความถี่ 1800  MHz ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่านความถี่ 895 – 905 MHz / 940– 950 MHz เงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการฯ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2559 เรื่องการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ดังนั้น คอบช. จึงขอเรียกร้องให้ กทค. ทบทวนการทบทวนมติ กทค. ในการประชุมครั้งที่ 1/2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย และส่งผลในทางที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค มิเช่นนั้น ทาง คอบช. อาจต้องดำเนินการในทางอื่นๆ เพื่อเอาผิด กทค. ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กงสุลไทยเมืองดูไบโพสต์เตือนชายแต่งหญิงที่นั่นผิดกฎหมาย ตรวจพบส่งกลับทันที

Posted: 31 Mar 2017 05:56 AM PDT

31 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 3.20 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Royal Thai Consulate-General, Dubai' ของ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ โพสต์ข้อความเตือนว่า สถานกงสุลฯ ขอประกาศเตือนคนไทยว่า ยูเออีถือว่าการแปลงเพศ หรือการที่ชายแต่งตัวเป็นหญิงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่ผ่านมา หาก ตม ยูเออีตรวจพบจะกักตัวที่สนามบินและส่งกลับประเทศไทยโดยทันที แต่หากตรวจพบในภายหลัง มักถูกกักขังไว้ในสถานีตำรวจหรือเรือนจำชั่วคราวเพื่อส่งกลับประเทศ จึงขอให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่พำนักในยูเออีทุกท่านโปรดระมัดระวังการแต่งตัวหรือลักษณะท่าทางที่อาจเสี่ยงต่อการถูกจับกุม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดข้อเสนอแนะคณะกรรมการ ICCPR ต่อรัฐบาล คสช.ว่าด้วยสิทธิการเมืองสิทธิพลเมือง

Posted: 31 Mar 2017 05:23 AM PDT


ภาพจาก ICCPR Center

31 มี.ค. 2560 สืบเนื่องจากที่ทางรัฐบาลไทยส่งชุดผู้แทนไปเข้าร่วม "การประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)"คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระประจำการประชุมได้มี "ข้อสรุปเชิงเสนอแนะ(Concluding Observation)" เมื่อต้นสัปดาห์นี้ แสดงความกังวลต่อพฤติกรรมของรัฐบาลไทยหลายประการ ประชาไทได้คัดใจความสำคัญในแต่ละประเด็นออกมา ดังนี้ (อ่านเอกสารตัวเต็ม ที่นี่)

การประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินและการงดใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ

-       รัฐควรให้ความสำคัญกับบทบัญญัติในข้อตกลง มาตราที่ 12(1) 14(5) 19 และ 21 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพของการเดินทาง เลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีและโทษที่ได้รับจากศาล เสรีภาพการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม ตามลำดับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกรัฐบาลไทยจำกัดตั้งแต่ประกาศกฎอัยการศึก

กรอบโครงสร้างทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญในอนาคต

-       รัฐควรทบทวนมาตรการทั้งหมดที่บังคับใช้ภายใต้มาตราที่ 44 47 และ 48 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ให้อำนาจคำสั่งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ คสช. ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ต้องรับผิดในภายหลัง นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลไทยที่จะดำเนินต่อไปหลังได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมไปถึงการใช้มาตราที่ 279 (ทำให้คำสั่งของ คสช. เปลี่ยนสถานะเป็นกฎหมาย และจะถูกเพิกถอนได้ด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ. ใหม่เท่านั้น) จะต้องสอดคล้องกับหลักการของ ICCPR เพื่อเอื้อต่อการเยียวยาเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสงบ

-       รัฐควรสนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทุกรูปแบบ ไม่ควรทำให้การหมิ่นประมาทเป็นอาชญากรรม การดำเนินคดีทางอาญากับคดีหมิ่นประมาทควรใช้ในกรณีที่มีความร้ายแรงสูงเท่านั้น

-       รัฐไม่ควรใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. การชุมนุม เพื่อกีดกันการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความไม่พอใจจากพลเมือง

-       รัฐควรใช้ทุกมาตรการที่มีเพื่อยกเลิกคดีความของผู้ที่ออกมารณรงค์ในช่วงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559

-       รัฐควรทบวนกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักการข้อที่ 19 ของข้อตกลง ICCPR ว่าด้วยเสรีภาพของการแสดงออก ทั้งนี้ คณะกรรมการได้เน้นย้ำว่าการคุมขังบุคคลที่แสดงความเห็นอย่างเสรีนั้นเป็นการละเมิดหลักการ ICCPR ข้อที่ 19

-       รัฐควรปกป้องเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบและไม่ควรกักขังผู้ที่แสดงความเห็นอย่างเสรีที่ไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและสังคมโดยรวม

โทษประหาร การซ้อมทรมาน การอุ้มหาย และการวิสามัญฆาตกรรมเกินอำนาจที่กฎหมายระบุ

-       รัฐบาลไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิต ในกรณีที่จะยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต รัฐบาลควรจำกัดเอาไว้ให้ใช้กับคดีอุกฉกรรจ์ที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม

-       รัฐควรห้ามไม่ให้มีการทรมาน การวิสามัญฆาตกรรมที่เกินกว่าอำนาจกฎหมายบัญญัติและการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญด้วยกระบวนการนอกกฎหมาย เมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการสอบสวนอย่างถึงที่สุด

-       รัฐควรเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสาเหตุและชะตากรรมของผู้ที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญ แจ้งข่าวคราวและความเคลื่อนไหวแก่ญาติของเหยื่อ ควรเยียวยาเหยื่อ และทำให้เหยื่อมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำรอย

-       จัดตั้งกลไกอิสระที่มีหน้าที่ป้องกันการอุ้มหาย การทรมาน และสนับสนุนให้มีการฝึกฝน อบรมด้านสิทธิมนุษยชนและหลักการใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและทหาร เพื่อขจัดการทรมาน ทั้งนี้ การฝึกฝน อบรม จะต้องสอดคล้องกับข้อตกลง ของ ICCPR และหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยหลักของการใช้กำลัง

การเลือกปฏิบัติ ความเสมอภาคระหว่างบุรุษและสตรี และบุคคลไร้รัฐ

-       ถึงแม้จะมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในสังคมยังมีการเลือกปฏิบัติต่อเพศสภาวะและรสนิยมทางเพศอยู่บนฐานของศาสนา และความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น รัฐบาลไทยควรป้องกันการเลือกปฏิบัติ รวมถึงทำลายข้อจำกัดในการป้องกันดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ชนกลุ่มน้อย คนไร้รัฐ ผู้อพยพ รวมถึงกลุ่มเพศสภาวะต่างๆ (LGBTI) ได้รับความเสียหายจากการเลือกปฏิบัติ

-       รัฐบาลไทยควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีให้ดำรงตำแหน่งในงานด้านการบริหารจัดการทั้งในภาครัฐ เอกชน และการเมือง และควรมีมาตรการลดอคติทางเพศในสังคม

-       รัฐควรมีมาตรการลดสภาวะบุคคลไร้รัฐ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

-       ทำให้คนในชนบทและพื้นที่ห่างไกลรับทราบถึงกระบวนการเข้าถึงการได้รับสัญชาติที่มี

-       ปกป้องสิทธิมนุษยชนของบุคคลไร้รัฐ ให้การศึกษาขึ้นพื้นฐานกับเด็กและปกป้องไม่ให้มีการค้ามนุษย์

-       รัฐควรประกันสิทธิและเสรีภาพของของคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงปกป้องพวกเขาจากการถูกเลือกปฏิบัติจากการไม่มีสถานะพลเมือง การเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ และสิทธิในที่ดิน การตัดสินใจต่างๆ ที่กระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องได้รับการยินยอมผ่านการพูดคุยตกลงกันเสียก่อน

สิทธิการได้รับการไต่สวนและการขึ้นศาลทหาร

-       การนำประชาชนขึ้นไต่สวนในศาลทหารควรเป็นการกระทำในสภาวะที่ไม่ปรกติเท่านั้น และต้องกระทำในเงื่อนไขข้อตกลงของ ICCPR มาตราที่ 14 ว่าด้วยสิทธิการเป็นผู้บริสุทธิ์และความเสมอภาคของพลเมืองต่อหน้ากระบวนการยุติธรรม และควรโอนทั้งคดีที่ตัดสินแล้ว และคดีที่ยังค้างในศาลทหารตั้งแต่ 12 กันยายน 2559 ให้ศาลพลเรือนดำเนินการต่อ

ความรุนแรงต่อสตรี

-       รัฐบาลไทยควรแสดงความพยายามมากขึ้นในด้านการพิทักษ์สตรีจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงแนะนำให้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะต่อไปนี้

-       สนับสนุนให้สตรีกล้าออกมาแจ้งความ สร้างกลไกการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การสืบสวนสอบสวนดำเนินไปจนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามความเหมาะสม ทั้งยังสามารถเยียวยา ปกป้องตัวเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

-       จัดให้มีการยอมความได้ถ้าทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดยินยอม

-       ให้มีการรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ รวมถึงจัดให้มีการฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการและผู้พิพากษาในเนื้อหาดังกล่าว

การค้ามนุษย์และการบังคับให้ขายแรงงาน

-       รัฐควรต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังผ่านมาตรการป้องกันและระบบการจัดการตัวบุคคล เช่นการระบุตัวตนเหยื่อ พัฒนาระบบคัดกรองและการยืนยันตัว การสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิด รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาและปกป้องเหยื่อ

-       รัฐควรปล่อยตัวเหยื่อที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและเยียวยารักษาตัวเหยื่อโดยเร็ว

สิทธิของคนต่างด้าว

-       รัฐไม่ควรส่งคนต่างด้าว  ผู้ลี้ภัยจากการถูกคุกคามกลับไปสู่ที่ที่จากมา และควรมีมาตรการคัดกรองและช่วยเหลือโดยเร็ว

-       ไม่ควรกักขังผู้ลี้ภัย แต่ถ้าใช้มาตรการดังกล่าวควรเป็นไปตามความเหมาะสมแห่งเหตุผลเป็นกรณีไป รวมทั้งต้องให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

-       ไม่ควรกักขังหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพของเด็ก เว้นแต่จะเป็นมาตรการสุดท้ายที่ต้องทำและต้องมีระยะเวลาสั้นที่สุด รัฐควรจะให้ความสำคัญกับเป้าประสงค์ของตัวเด็กเป็นหลัก รวมทั้งไม่กักขังไว้กับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัว

-       สถานที่กักขังควรเอื้อให้มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตในระดับที่ข้อตกลง ICCPR กำหนด

สภาพการถูกคุมขัง

-       รัฐควรมีมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังและสถานคุมขังด้วยการลดจำนวนผู้ถูกคุมขัง หรือการมีโทษทัณฑ์อย่างอื่นแทนการคุมขัง ทั้งนี้ควรมีมาตรการประกันว่าผู้ต้องขังได้รับการเคารพตามสิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์พึงได้รับตามมาตรฐานของสหประชาชาติ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

-       รัฐควรสนับสนุนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ ให้สอดคล้องกับหลักการในข้อตกกรุงปารีส ในการประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ 48/134 ว่าด้วยหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาระหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

 

คณะกรรมการยังได้ระบุไว้ในรายงานข้อสรุปว่า รัฐบาลไทยควรเผยแพร่พิธีสารทั้งสองตัวของ ICCPR รายงานสถานการณ์ครั้งที่ 2 และรายงานข้อสรุปจากคณะกรรมการอย่างกว้างขวางสู่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและสาธารณชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิที่ได้ระบุเอาไว้ในข้อตกลง ทั้งนี้ รัฐไทยควรจัดทำรายงานสถานการณ์ส่งอีกครั้งในรอบต่อไป วันที่ 29 มีนาคม 2564

ทำความรู้จัก ICCPR คร่าวๆ

ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights) เป็นชุดสนธิสัญญาพหุภาคีส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีเนื้อหามุ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองและสิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิในการชุมนุม การกำหนดเจตจำนงของตนเอง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ICCPR กำหนดให้รัฐเคารพและประกันสิทธิของบุคคล โดยห้ามการเลือกปฏิบัติ ห้ามมิให้บังคับใช้กฎหมายอาญาย้อนหลัง ไทยเป็นภาคีและกติกานี้มีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่ปี 2540 กติกานี้กำหนดให้รัฐภาคีต้องส่งรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีในปีแรกหลังเป็นภาคี จากนั้นต้องส่ง รายงานทบทวน (Periodic Report) ทุกๆ 5 ปี อ่านเพิ่มเติม ที่นี่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สํานักทะเบียนกลาง เผยจำนวนราษฏรสิ้นปี 59 มี 65.9 ล้าน ชาย 31.9 ล้าน หญิง 33.1 ล้าน

Posted: 31 Mar 2017 04:53 AM PDT

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสํานักทะเบียนกลาง เรื่อง จํานวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2559  ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 65,931,550 คน สัญชาติไทย 65,096,905 คน แบ่งเป็น ชาย 31,923,786 คน หญิง 33,173,119 คน ไม่ได้สัญชาติไทย 834,645 คน แบ่งเป็น ชาย 434,022 คน และหญิง 400,623 คน

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟ จับตารัฐบาลแก้ปัญหาผลกระทบจากนโยบาย“ทวงคืนผืนป่า”

Posted: 31 Mar 2017 04:07 AM PDT

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)  ติดตามผลประชุมแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย เสนอธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน กองทุนยุติธรรมและสิทธิชุมชน ชาวบ้านเดือดร้อนหลังรัฐบาลทวงคืนผืนป่า ที่ทำกินไม่พอเกิดปัญหาปากท้อง ถูกดำเนินคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.)เวลาประมาณ 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจัดเวทีประชุมร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและประชาชน (ขปส.) หรือ P-Move หัวข้อการแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่า เขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการอื่นๆ ของรัฐบาล  ขปส. ระดมคนจาก 25 จังหวัดร่วมชุมนุมเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหา ระหว่างตัวแทนเข้าร่วมการเจรจากับรัฐบาล

สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า ในที่ประชุม ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. กล่าวว่า ปัญหาที่พีมูฟนำเสนอมาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาในแต่ละขั้นตอน หลังจากนี้สำนักนายกฯ จะเร่งประสานงานและทำหนังสือชี้แจงถึงหน่วยงานต่าง ๆ

เสนอ สนช. แก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน

"กรณีทวงคืนผืนป่าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องประชุมก่อนกลางเดือนเมษายน ส่วนเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับจะเร่งส่งหนังสือถึงประธาน สนช. ให้พิจารณา กรณีเขตเศรษฐกิจแม่สอด จังหวัดตาก ที่ชาวบ้านทั้ง 6 รายเดือดร้อนและถูกคุกคามก็จะนำไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางกันที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน" ออมสินกล่าว

กลุ่มพีมูฟรายงานรายละเอียดหลังการประชุมซึ่งได้ข้อสรุปว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นจะมีการประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้ชะลอการปฏิบัติใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน เช่น การทวงคืนผืนป่าที่ไปไล่รื้อและตัดฟันต้นไม้ของชาวบ้าน ขณะที่ ผู้แทน กอ.รมน. กล่าวในที่ประชุมว่า แผนแม่บทป่าไม้ที่กอ.รมน.เขียนนั้นไม่ได้เป็นปัญหาต่อชาวบ้าน การตัดไม้และจับกุมชาวบ้านเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ดำเนินการก็จะถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีก

หากแก้ไขปัญหาไม่ได้ ต้องเสนอนายกฯ ทบทวนคำสั่ง คสช.

นอกจากนี้ ออมสินให้สัมภาษณ์พีมูฟเพิ่มเติมว่า ความเดือดร้อนของชาวบ้านพีมูฟต้องเร่งรัดแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เพราะหลายกรณีก็น่าเห็นใจ ปัจจุบันมีการตั้งคณะคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องแล้ว 8 ชุด หลังจากนี้เรื่องใดที่พิจารณาแล้วจะนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อไป คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา หากแก้ปัญหาไม่ได้อาจต้องเสนอนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนหรือแก้ไขคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง

จำนงค์ จิตนิรัตน์ เครือข่ายสลัมสี่ภาคและสมาชิกพีมูฟ ชี้แจงผลประชุมกับชาวบ้านว่า การประชุมได้ผลตอบรับที่ดีจากประธานคณะการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ มีการรับปากว่าจะเร่งรัดแก้ปัญหาโดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน เช่น ผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่า ทั้งนี้ หลังประชุมจะโทรหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือแจ้งให้ชะลอการดำเนินการตัดฟันต้นไม้หรือยึดที่ดินชาวบ้าน ส่วนชาวบ้าน 19 คนที่ถูกดำเนินคดีเรื่องที่ดินจะให้คณะอนุกรรมการเข้าไปช่วยแก้ปัญหา เรื่องปัญหาเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะมีการกันที่ดินให้ชาวบ้าน

จำนงค์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้น่าจะมีความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทางกลุ่มจะกลับมาติดตามการแก้ปัญหาอีกครั้งในปลายเดือนพฤษภาคม

 

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560

ขอให้เร่งรัดการแก้ปัญหา และเปิดประชุมกรรมการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

ตามที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ดำเนินการผลักดันการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จนนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมขึ้นมาคณะหนึ่ง  แต่ปัญหายังไม่สามารถแก้ไขให้คืบหน้าไปได้ ทั้งที่คณะกรรมการได้แต่งตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมา ๘ คณะ เพื่อให้ศึกษาแนวทาง และแก้ปัญหาให้เกิดรูปธรรม  แต่ในความเป็นจริง ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งยังมีอนุกรรมการที่ไม่ให้ความสำคัญกับการติดตามการแก้ปัญหา  และปัญหายิ่งเพิ่มมากขึ้น รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม แสดงจุดยืนต่อสาธารณะชัดเจน ว่าจะมาติดตามการแก้ไขปัญหา โดยมีการยื่นขออนุญาตการชุมนุม ตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ แม้ว่าจะมีการประสานนัดแนะ ให้เกิดการประชุมแก้ปัญหาเร่งด่วนของสมาชิก ขปส. กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นาย ออมสิน ชีวพฤกษ์ ) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และได้ทำตามขั้นตอนในการขออนุญาตการชุมนุม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเรียบร้อยมากที่สุด

การเตรียมตัวเดินทางของสมาชิกชุมชนต่างๆของ ขปส. ที่จะเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้เดือดร้อนตัวจริง โดยได้ตกลงกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไว้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กอรมน. ตำรวจสันติบาล และอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้ลงไปพยายามขัดขวางการเดินทางของสมาชิกทั่วทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามหาเหตุใส่ร้าย โดยได้นำถุงบรรจุยาทิ้งลงบนพื้นที่สำนักงานเครือข่าย โดยอ้างว่าเป็น "ยาบ้า" เพื่อจะกล่าวโทษแกนนำ เป็นเหตุเพื่อใส่ร้ายแกนนำเมื่อเช้าวันที่ 29 มีนาคม 2560 เพื่อสร้างความผิดไม่ให้สามารถเดินทางเข้าร่วมประชุมได้ การกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ล้ำเส้นคุณธรรม จริยธรรม ของความเป็นข้าราชการอย่างร้ายแรง ไม่ควรให้อภัยใดๆทั้งสิ้น มันเป็นการส่อว่าในกรณีอื่นๆ พื้นที่อื่นๆ เจ้าหน้าที่อาจได้ทำแบบนี้มากี่ครั้งแล้ว ....ความจน เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของประเทศนี้ คนจนยังอดทน ผลักดันให้เกิดกลไกคณะกรรมการขึ้น เพื่อแก้ปัญหาซึ่งเป็นหนทางที่สร้างสรรค์ สันติที่สุดแล้วทำไม...รัฐจึงมีทัศนคติกับคนจน อย่างเลวร้าย ถึงขนาดจะป้ายสีให้เป็นนักค้ายาเสพติด จะบีบ ตัด เส้นความอดทนของคนจนให้สั้นลงกระนั้นหรือ เพื่อคืนความสุขประชาชนตามสัญญา และเดินหน้าแก้ปัญหาความจน ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาลให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1.       ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเอาผิด กับการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จังหวัดตรัง ที่กระทำการอันเป็นการหักหาญน้ำใจต่อคนจน อย่างถึงที่สุด โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานและเครือข่ายปฏิที่ดินเทือกเขาบรรทัดมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ

2.       ให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าประกาศใช้ พรบ.ธนาคารที่ดิน ที่ตอบโจทก์การแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

3.       ให้รัฐบาลเดินหน้าการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ตามนโยบายที่ดินแปลงรวม ในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งประธานกรรมการประสานงาน เพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนในการดำเนินการส่งมอบพื้นที่อย่างเร่งด่วน

4.       ให้รัฐบาล ยุติ การกระทำใดๆ ที่ส่งผลกกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตปกติสุข ของชุมชนสมาชิก ขปส. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติตามแผนทวงคืนผืนป่า การดำเนินคดี ต้องยุติไว้ก่อน เพื่อให้คณะกรรมการได้ดำเนินการ หาข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

5.       ให้รัฐบาล ชะลอนโยบายใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนไว้ก่อน จนกว่าจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาและเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก , โครงการรถไฟรางคู่ สุราษฎร์-หาดใหญ่

6.       ให้รัฐบาลใช้กลไกคณะกรรมการที่มี ให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความจน ปัญหาที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมกับคนจนอย่างเร่งด่วน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลยังยืนยันตามที่แสดงเจตนาต่อนานาอารยะประเทศ ว่าจะคืนความสุขให้คนจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ได้จริง ต่อเมื่อ รัฐบาลได้สร้างรูปธรรมการแก้ปัญหาตามข้อเสนอทั้ง 6 ข้อนี้ได้ ซี่ง ขปส. จะเกาะติด ติดตาม อย่างใกล้ชิด จนกว่า..ปัญหาจะได้รับการแก้ไข

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ออกกฎกระทรวงเว้นภาษีบุคคลธรรมดาได้รับพระราชทานจากบุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์

Posted: 31 Mar 2017 02:29 AM PDT

กําหนดให้เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์-สิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนของบุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่าย ในพระองค์จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี ให้แก่บุคคลธรรมดาและเงินได้ที่บุคคลธรรมดาได้รับพระราชทาน จากบุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษี

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง ฉบับที่ 327 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้ไว้ ณ วันที่ 24 มี.ค. 2560 โดยมี อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ลงนาม

พร้อมทั้งมีหมายเหตุท้ายประกาศด้วยว่า เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกําหนดให้เงินได้จาก การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนของบุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่าย ในพระองค์จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี ให้แก่บุคคลธรรมดา และเงินได้ที่บุคคลธรรมดาได้รับพระราชทาน จากบุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

รายละเอียด กฎกระทรวงฉบับนี้ระบุว่า

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กําหนดให้เงินได้ดังต่อไปนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

(1) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ของบุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี ให้แก่บุคคลธรรมดา

(2) เงินได้ที่บุคคลธรรมดาได้รับพระราชทานจากบุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์ จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี

ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสําหรับเงินได้พึงประเมินประจําปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทักษิณโพสต์ขอตัดตนออกจาก 'สมการปรองดอง' อัดผู้มีอำนาจหยุดเลี้ยงไข้ความขัดแย้ง

Posted: 31 Mar 2017 01:51 AM PDT

ทักษิณ โพสต์เฟซบุ๊ก ขอให้ทุกฝ่ายโปรดตัดตนออกจากสมการปรองดอง ยันไม่ต้องการให้ใครมาเสนอเพื่อช่วย พร้อมอัดผู้มีอำนาจก็ไม่ควรใช้อภินิหาร-ทำทุกทางเพื่อขจัดตนเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความขัดแย้ง ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป

31 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.57 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Thaksin Shinawatra' ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความ ระบุตอนหนึ่งถึง กระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ว่า ขอให้ทุกฝ่ายโปรดตัดตนออกจากสมการไปได้เลย ตนไม่ต้องการให้ใครมาเสนออะไรเพื่อช่วยตัวตน และในทางกลับกัน ผู้มีอำนาจก็ไม่ควรใช้อภินิหารและกระทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดตนเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความขัดแย้ง ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ดังเช่นที่หลายๆ คนรู้สึกได้อยู่ทุกวันนี้

โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

เรียน พี่น้องที่เคารพรัก

ผมตั้งใจที่จะหยุด โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ รวมทั้งไม่ต้องการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่จะถูกมองหรือถูกอ้างว่าไปขัดขวางการทำงานของรัฐบาลทหารมานานมากแล้ว มิใช่เพราะกลัวรัฐบาลทหาร แต่เพราะผมตระหนักดีว่า พี่น้องร่วมชาติเรากำลังลำบาก โดยเฉพาะปัญหาปากท้องที่มีแต่จะย่ำแย่ลงทุกวัน จึงอยากให้รัฐบาลทหาร ได้ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเต็มที่

แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมือง รัฐบาลกลับพยายามป้ายสี โดยพูดให้คนเข้าใจว่า ตัวผมอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ หรือลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิดตรงแยกราชประสงค์บริเวณพระพรหม หรือเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในเขตจังหวัดภาคใต้ ก็จะโยนบาปมาให้ผมทันที ซึ่งทุกครั้งความจริงก็ปรากฏในภายหลังว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวผมเลย

ไม่เพียงแต่ตัวผมคนเดียว ครอบครัวของผมก็ตกเป็นเหยื่อของการกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสี และถูกกระทำมาโดยตลอด ล่าสุดคือเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ป ซึ่งหากมีการกระทำผิดจริงแล้ว รัฐบาลที่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร 2-3 รัฐบาลที่ผ่านมา ย่อมต้องเอาผิดผมไปนานแล้ว คงไม่ปล่อยไว้จนกระทั่งหมดอายุความ จึงค่อยใช้ "อภินิหารทางกฎหมาย" มาเล่นงานผมแบบนี้ ซึ่งผมขอเรียนว่า ในหลักการของกฎหมายสากล จะต้องไม่มีการใช้อำนาจหรืออภินิหารใดๆ นอกเหนือไปจากการใช้ "ความเที่ยงตรงและเป็นธรรม" ในการสั่งฟ้องหรือตัดสินคดีเท่านั้น

ครั้งนี้ ผมจำเป็นต้องออกมาพูดอีกครั้ง เนื่องจากมีความพยายามที่จะสร้างภาพว่า ตัวผมเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับขบวนการล้มล้างระบอบการปกครองของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมยอมรับไม่ได้ ตัวผมขอยืนยันว่าผมมีความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเคยถวายงานเจ้านายทุกพระองค์ ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดีมาตลอด และมีความเชื่อมั่นที่แน่วแน่มั่นคง ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง และผมเชื่อว่า ระบอบการปกครองของไทยเรานี้ ประกอบกับพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ คือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยของเรารักษาเอกราชและความเป็นไทยมาได้ตราบจนทุกวันนี้

ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย คือการปฏิวัติรัฐประหารมากกว่า และการรัฐประหารตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ ใช้ข้ออ้างที่แทบไม่เคยเปลี่ยน คือความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น แต่ทั้งนี้ ภายใต้การปกครองของทหาร ประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการรัฐประหารครั้งใดที่ไม่ใช้หลักนิติธรรมในการแก้ปัญหา ก็จะยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจและความเห็นต่างกลับบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งที่จะแก้ไขได้ยากขึ้นทุกที

ผมต้องจากประเทศไทยที่ผมรักสุดชีวิตมาร่วมสิบเอ็ดปีแล้ว ต้องจากบ้านที่เคยอยู่ จากครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่ง เนื่องจากการรัฐประหาร จากนั้นแล้ว ยังถูกใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงถูกกลั่นแกล้งด้วยการตั้งคณะบุคคลซึ่งเป็นปฏิปักษ์ขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่ใช้หลักนิติธรรม ซึ่งผมอยากให้พี่น้องได้รับทราบว่า ผมยินดีแบกรับความเจ็บปวดและความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้ไว้ทั้งหมด ขอเพียงบ้านเมืองมีความปรองดอง สามารถเดินไปข้างหน้าได้ และพี่น้องหายทุกข์ยาก ผมก็พอใจและมีความสุขแล้ว

สำหรับกระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ผมขอให้ทุกฝ่ายโปรดตัดผมออกจากสมการไปได้เลยครับ ผมไม่ต้องการให้ใครมาเสนออะไรเพื่อช่วยตัวผม และในทางกลับกัน ผู้มีอำนาจก็ไม่ควรใช้อภินิหารและกระทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดผมเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความ "ขัดแย้ง" ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ดังเช่นที่หลายๆ คนรู้สึกได้อยู่ทุกวันนี้

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานี้ คนไทยทุกคนอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้หัวใจของเราทุกคนแตกสลาย พวกเราจึงควรใช้เวลานี้ มาร่วมกันทำสิ่งดีๆ ให้เกิดแก่บ้านเมือง รู้รักสามัคคี จริงใจในการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะส่งผลให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เพื่อเป็นการส่งเสด็จพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้ายให้สมพระเกียรติ ด้วยความจงรักภักดีอย่างแท้จริง

สุดท้ายผมอยากจะบอกว่า "ผมคือคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เติบโตจากครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง และวันนี้ก็ยังเป็นคนธรรมดาคนเดิม ผมถือว่าผมโชคดีมากแล้ว ที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมี ได้สนองงานรับใช้สังคมไทยในฐานะต่างๆ มาไม่น้อยกว่า 35 ปี และจะขอรับใช้ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผมรักนับถือ เคารพ และเทิดทูน ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่ว่าผมจะอยู่ ณ หนใดบนพื้นพิภพนี้"

ผมหยุดแล้วครับ ท่านล่ะ เมื่อไหร่จะหยุดสักที อย่ารักชาติ รักสถาบันฯ เพียงแค่คำพูดกันเลยครับ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากร นำหนังสือแจ้งประเมินภาษีจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปฯ ของ ทักษิณ เมื่อปี 2549 รวมเป็นเงินกว่า 17,629.58 ล้านบาท ไปติดไว้ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งเป็นบ้านพักของ ทักษิณ โดย เอกสารดังกล่าว ระบุว่า การประเมินภาษีครั้งนี้ เป็นการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.12 ประจำปี 2549 อาศัยอำนาจตามมาตรา 20, 22 ,27 และ 61 แห่งประมวลรัษฎากร โดยทักษิณมีเงินได้พึงประเมิน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,899.27 ล้านบาท เมื่อรวมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งคำนวณถึงวันที่ 31 มี.ค. 2560 รวมเป็นระยะเวลา 120 เดือน ทำให้มีเงินภาษีซึ่งทักษิณต้องจ่ายทั้งสิ้นรวม 17,629.58 ล้านบาท โดยให้ไปชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางพลัด

ทั้งนี้ ตามกฎหมายทักษิณสามารถยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าว ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หรือภายในวันที่ 27 เม.ย. นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ถอนปมตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไปไว้ในข้อสังเกตแทน

Posted: 31 Mar 2017 01:22 AM PDT

สนช. มีมติ 227 เสียงผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใน 1 ปี ไว้ในข้อสังเกต  ขณะที่ ประยุทธ์ ยันต้องศึกษาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ยันรับฟังทุกความเห็น ขออย่าปิดล้อมสถานที่ราชการ โดยวานนี้ คปพ. ร้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เสร็จ ก่อนประมูลผลิตปิโตเลียม

31 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. ....  ด้วยคะแนน เห็นด้วย  227 เสียง  ไม่เห็นด้วย 1 และงดออกเสียง 3 ทั้งนี้  ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม  สมาชิกสนช. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง  ในประเด็น มาตรา 10/1 เกี่ยวกับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นมาใหม่ โดยสมาชิก สนช. หลายคน  เสนอให้มีการตัดมาตราดังกล่าวออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องสุ่มเสียงให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบบรรษัทผิดเพี้ยนไปและเสนอให้ใส่ไว้ในข้อสังเกต โดยเห็นว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วันเพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป ทำให้คณะกรรมาธิการฯ  ได้ขอถอนประเด็นดังกล่าวที่กำหนดไว้ใน มาตรา 10/1 ออกไป โดยจะให้ไปใส่ในข้อสังเกตของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แทน

สำหรับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะใส่ไว้ในข้อสังเกตว่า "การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มให้มีการนำระบบสัญญาสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจัดจ้างบริการ มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบ มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการตามระบบสัมปทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือระบบอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่ จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว ครม.จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป"

ประยุทธ์ ยันต้องศึกษาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ให้สัมภาษณ์กรณี สนช. ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  โดยให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (Nation Oil Company) หรือ NOC ภายใน 1 ปี ไว้ในข้อสังเกต ว่า ในนามของรัฐบาลต้องรับมาปฏิบัติทั้งหมด เพราะเมื่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศบังคับใช้ ต้องปฏิบัติตามข้อสังเกต ส่วนผลการศึกษาจะออกมาอย่างไร เหมาะสมหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางพลังงานของประเทศไทย โดยได้นำแบบอย่างจากต่างประเทศมาศึกษาควบคู่ไปด้วย

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำงานไม่สามารถทำตามความรู้สึก หรือความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ จึงต้องสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะเรื่องพลังงานเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน มีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด หากจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าดี ก็จะส่งผลดีไป แต่หากไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบตามมาทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องใช้แนวทางแก้ปัญหาทีละขั้นตอน และแก้ปัญหาทุกระดับ ซึ่งจะทำให้ปัญหาดีขึ้น หากยังประท้วง หรือล้มโครงการทั้งหมด ต้องคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจทั้งหมดจะเดินไปอย่างไร 

ยันรับฟังทุกความเห็น ขออย่าปิดล้อมสถานที่ราชการ

"การเสนอความคิดเห็น หรือต้องการให้รัฐบาลรับทราบความเดือดร้อนในเรื่องใด สามารถยื่นหนังสือมาได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม อย่ามาปิดล้อมสถานที่ราชการ หรือเขตพระราชฐาน เพราะจากนี้ ผมจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ได้ขู่ แต่ต้องรักษาระเบียบวินัยของบ้านเมือง ขณะนี้ประเทศไม่ได้มีปัญหาเรื่องพลังงานเรื่องเดียว แต่มีอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา ขอให้เชื่อใจกัน หากสิ่งไหนไม่ดี ขอให้บอก พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นในช่องทางที่ถูกต้อง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีความระมัดระวังในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานให้สำเร็จ โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก และไปกระทบกับงานอื่นๆ ที่ทำอยู่ ตนเป็นห่วงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการค้า การลงทุน เพราะประเทศไทยมีด้านอื่นๆ ที่ต้องขับเคลื่อน และวันนี้รัฐบาลกำลังวางอนาคตให้กับประเทศ ทุกคนจึงต้องช่วยรัฐบาลพัฒนาประเทศ การจะศึกษาเรื่องใด จะต้องเป็นไปตามขั้นตอน

"ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ตามระเบียบวิธีการขั้นตอน ผมส่งเอกสารขั้นตอนให้ดูแล้วเมื่อวานนี้ ขั้นตอนก็เป็นแบบนั้น รัฐบาลรับทราบ เห็นชอบให้ดำเนินการศึกษาได้ เพราะเมื่อมีการพูดคุยพบปะกับประชาชนมาแล้ว ก็ว่ามา ถ้าทำได้ ก็ทำไป ผมไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับท่าน แต่ทำอย่างไรจะไม่ไปมีผลกระทบเดิม ก็ต้องไปหาวิธีการให้ได้ ถ้าจะทำ แต่ต้องระมัดระวัง อย่าให้ธุรกิจใหญ่เสียหาย ขอแค่นั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

คปพ. ร้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เสร็จ ก่อนประมูลผลิตปิโตเลียม

โดยวานนี้ (30 มี.ค.60) พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. เข้ารับหนังสือจาก ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยขอให้ สนช.ถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตเลียม ออกจากการพิจารณาของที่ประชุม สนช.ก่อน  เพื่อขอให้แปรญัตติ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายฯ โดยก่อนที่จะมีการประมูลผลิตปิโตเลียมในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ การจ้างผลิตให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพื่อดำเนินการบริหาร และขายปิโตรเลียมในส่วนของรัฐให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมแก้ไขเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับให้สอดคล้องกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 และต้องระบุให้ชัดเจนในระบบแบ่งปันผลผลิต ว่า หากใช้วิธีการประมูลแข่งขันการเสนอส่วนแบ่งปิโตรเลียมรัฐต้องได้ประโยชน์สูงสุดเป็นเกณฑ์ แต่หากเป็นระบบการจ้างผลิตให้ใช้เกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำในการพิจารณา พร้อมกันนี้ต้องมีมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้วย 

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ห้ามผู้แทนอนามัยโลก WHO พูดเวทีประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย สสส. หวั่นรุกล้ำอธิปไตย

Posted: 31 Mar 2017 12:43 AM PDT

ผู้แทนองค์การอนามัยโลก WHO ร่วมเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับใหม่ แต่เมื่อจะเริ่มแสดงความเห็น ก็ถูก พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภาเบรกไว้เสียก่อน อ้างว่าการแสดงความเห็นขององค์กรระหว่างประเทศจะรุกล้ำอธิปไตยไทย กระทบความมั่นคงประเทศ WHO ไม่ใช่พ่อ เราไม่จำเป็นต้องฟัง

แดเนียล เอ. เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A. Kertesz) ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก

31 มี.ค. 2560 ที่เวทีประชาพิจารณ์ ร่าง พระราชบัญญัติ สสส. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่โรงแรมมิราเคิล แกรน์ด คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีกระทรวงวาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดรับฟังความเห็น ภายในงานมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมทั้งจากองค์กรเอกชน หน่วยงานรัฐและภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้แทนจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) เข้าร่วมรับฟังความเห็นพร้อมให้ข้อเสนอแนะ

อย่างไรก็ตามเมื่อ ดร.แดเนียล เอ. เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A. Kertesz) ผู้แทนจาก WHO เริ่มกล่าวแสดงความเห็น กลับมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา หนึ่งในคณะกรรมการแพทยสภา กล่าวโต้ถึงความกังวลใจต่อการแสดงความเห็นขององค์กรระหว่างประเทศก่อนที่จะได้ฟังว่า หาก WHO แสดงทัศนะต่อร่าง พ.ร.บ. สสส. แล้วนั้น ตนเกรงกว่า จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของคนไทย

"WHO ไม่ใช่พ่อ เราไม่จำเป็นต้องฟัง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นผลกระทบของคนในชาติ หากให้ต่างชาติเข้ามาเสนอความเห็น อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้" พญ.เชิดชู กล่าว

ทั้งนี้ ผู้แทน WHO กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าทางองค์กรจะทำหนังสือถึงที่ประชุมเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. สสส. เข้ามาภายหลัง 

 

หมายเหตุ : ประชาไทได้แก้ชื่อจาก 'อรพรรณ เมธาดิลกกุล' เป็น 'เชิดชู อริยศรีวัฒนา' เมื่อเวลา 16.45 น. 31 มี.ค.2560 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชวนดู '17' หนังสั้นของผู้กำกับรุ่นใหม่ ต่อกรณีวิสามัญฯ ชัยภูมิ ป่าแส

Posted: 31 Mar 2017 12:23 AM PDT

ชวนดู '17' หนังสั้นความยาว 2 นาที กำกับโดยณฐพล บุญประกอบ ซึ่งกำลังเป็นกระแสในโลกออนไลน์ เนื้อหาเกี่ยวกับกรณีวิสามัญฆาตรกรรมนักกิจกรรมชาวลาหู่ ชัยภูมิ ป่าแส ขณะที่ในวันที่ 1 เมษายนนี้ มีงาน "ชัยภูมิสุดท้าย" ที่ The Writer's Secrets แสดงผลงานภาพยนตร์ ศิลปะ และดนตรี เพื่อรำลึกถึงชัยภูมิ

ภาพประกอบจากหนังสั้นเรื่อง 17

ภาพประกอบจากหนังสั้นเรื่อง 17

เมื่อวานนี้ (30 มีค.) หนังสั้นเรื่อง '17' ความยาว 2 นาที ได้เผยแพร่และเป็นกระแสในโลกออนไลน์ โดยหนังสั้นดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีของนักกิจกรรมชาวลาหู่ ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) ดำเนินเรื่องด้วยภาพของกล้องวงจรปิด 2 ตัว

หนังสั้นเรื่องดังกล่าวเป็นฝีมือการกำกับของ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับและนักเขียนบท มีผลงานเป็นที่รู้จักเช่น เป็นผู้ร่วมเขียนบทในภาพยนตร์ "เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ" และ "SuckSeed ห่วยขั้นเทพ" ที่กำกับโดย ชยนพ บุญประกอบ ร่วมทั้งเป็นทีมงานเบื้องหลังหนังเรื่อง "ฟรีแลนซ์ฯ" และซีรีส์ "ฮอร์โมน"

ณฐพล บุญประกอบ ได้เผยแพร่หนังสั้นนี้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวพร้อมทั้งเขียนข้อความว่า


ยิ่งโตขึ้น ยิ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องจำเป็น ที่เราต้องตั้งคำถามต่อสังคมที่เราอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อบทบาทของเราเองในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่ 'บทบาท' แต่ผมคิดว่าเป็น 'หน้าที่' การได้มีโอกาสประกอบอาชีพทำงานสร้างสรรค์ ผมถือว่าเป็นอภิสิทธิ์ที่ยืนอยู่บนความเสียสละของชนชั้นอื่นๆ เพราะต้นทุนชีวิตของเราไม่เท่ากัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องบาปบุญจากชาติก่อน แต่เป็นเพราะโครงสร้างและทัศนคติของคนในสังคมที่ไม่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียม จึงเกิดคำถามว่าแล้วเราซึ่งมีสิทธิพิเศษนั้น ควรทำหน้าที่อย่างไรเพื่อไม่ให้เรื่องของชัยภูมิจางหายไปกับกระแสข่าวร้ายอื่นๆ เพื่อไว้เตือนตัวเอง ว่าเราเป็นพยานที่เย็นชาต่อความชิบหายทางสามัญสำนึกที่เกิดขึ้นตรงหน้า

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์วิสามัญฯ ในครั้งนี้มีการเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้ดำเนินการสอบสวนอย่างโปร่งใส รวมถึงเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลจากกล้องวงจรปิดที่ด่านตรวจค้นซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ แต่แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่าภาพจากกล้องวงจรปิดทางกองทัพได้ส่งมอบให้กับตำรวจเพื่อใช้เป็นพยานในชั้นศาลเรียบร้อยแล้ว จึงไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ ซึ่งต้องให้ศาลเป็นผู้อนุญาตว่าจะเผยแพร่ได้หรือไม่ เพราะต้องใช้ในการต่อสู้ชั้นศาล (อ่านต่อได้ที่นี่)

อนึ่ง ในวันที่ 1 เมษายนนี้ มีการจัดงาน "ชัยภูมิสุดท้าย" เพื่อรำลึกถึงจะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่วัย 17 ปีที่ได้จากไปอย่างคลุมเครือ เวลาห้าโมงเย็นถึงสองทุ่ม ณ The Writer's Secrets ถนนนครสวรรค์ ใกล้ สน.นางเลิ้ง ภายในงานมีการแสดงดนตรีและศิลปะต่าง ๆ

ผู้สนใจสามารถร่วมส่งผลงานกวี ดนตรี ศิลปะ การแสดง ภาพยนต์สั้น และผลงานประเภทอื่น ๆ (ไม่จำกัดรูปแบบ) เพื่อร่วมรำลึกถึงชัยภูมิในงาน ตามวันและเวลาดังกล่าว ส่งทาง parit.chiw@gmail.com . และร่วมสนับสนุนกิจกรรมได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 024-8-26700-3 นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เงินทุนหลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้แก่ครอบครัวของจะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองชี้บัวแก้วเลือกปฏิบัติต่อ 'จาตุรนต์ ฉายแสง' สั่งคืนหนังสือเดินทาง 3 ฉบับ

Posted: 30 Mar 2017 11:47 PM PDT

ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทาง 3 ฉบับ ให้มีผลย้อนหลัง ศาลปกครองกลางระบุ 'จาตุรนต์ ฉายแสง' แม้ถูกห้ามออกนอกประเทศตามคำสั่ง คสช. และศาลทหาร ก่อนเดินทางต้องขออนุญาตทุกครั้ง จึงถือว่าถูกจำกัดเสรีภาพการเดินทางอยู่แล้ว ที่ผ่านมาไปต่างประเทศก็กลับมาตามกำหนด นอกจากนี้ยังไม่เคยถอนหนังสือเดินทางกับผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และ ม.116 กรณีที่เกิดขึ้นกรมการกงสุล-อธิบดีกรมการกงสุล จึงปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

31 มี.ค. 2560 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ มีการอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 57/2559 ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ, กรมการกงสุล, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, อธิบดีกรมการกงสุล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1-7 ขอให้ศาลเพิกถอนคำร้องและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดที่ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของนายจาตุรนต์ ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดี ระบุว่า กระบวนการยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีเร่งรีบผิดปกติ ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

จาตุรนต์ ฉายแสง (ที่มา: เพจจาตุรนต์ ฉายแสง)

ในรายงานของมติชนออนไลน์ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 และ 23 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอหรือแก้ไขหนังสือเดินทาง รวมทั้งยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือเดินทางไปแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาผู้กระทำความผิดคดีอาญา ซึ่งกำลังรับโทษอยู่ หรือตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในศาลและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวได้ 

แต่ข้อเท็จจริงรากฏแต่เพียงว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ไปรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกเพียงไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนข้อหากระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

จากกรณีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ผู้ฟ้องคดีได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก กรณีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งว่า การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2558 ที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยและเป็นการทำลายหลักการเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามอย่างร้ายแรง ซึ่งเรื่องการถอดถอนนี้สาระสำคัญอยู่ในมาตรา 253 กับมาตราอื่นที่เชื่อมโยงกันนั้น ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิเสธข้อหานี้และอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี เพียงแต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น

ดังนั้น ถึงแม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2557 และศาลทหารกรุงเทพก็ตาม

แต่ที่ผ่านมานายจาตุรนต์เคยได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปประเทศจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี รวมหลายครั้ง

กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ที่ศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ เนื่องจากได้รับอนุมัติให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรอยู่เป็นประจำ ประกอบกับหากผู้ฟ้องคดีมิได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและศาลทหารกรุงเทพตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้เสียก่อน ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องเป็นบุคคลที่ต้องห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ฟ้องคดีถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรอยู่แล้ว

และช่วงที่ผ่านมานายจาตุรนต์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรบ่อยครั้ง และก็เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งที่ได้รับอนุมัติทุกครั้ง โดยไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีคดีอาญาออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด จึงไม่เป็นภาระหน้าที่แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 จะต้องกังวลในการสืบหา ระบุถิ่นที่อยู่เพื่อใช้เป็นข้อมูลหลักฐานประกอบคำร้องขอให้ส่งตัวผู้ฟ้องคดีเข้ามาดำเนินคดีหรือรับโทษทางอาญาในฐานะที่เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีโดยมีเจตนาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจอ้าง ชี้ให้เห็นชัดเจนว่ามาตรการในการยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้

กรณีจึงยังมิอาจถือได้ว่ามาตรการยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีมีความเหมาะสมหรือสมควร ตรงกันข้าม มาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการใช้สิทธิ มีและใช้หนังสือเดินทางเพื่อการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ฟ้องคดีอย่างรุนแรง จึงเท่ากับว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้มาตรการดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี

อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 ได้ใช้มาตรการยกเลิกหนังสือเดินทางกับบุคคลอื่นที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกับผู้ฟ้องคดีที่ฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกันกับผู้ฟ้องคดี กรณีจึงถือได้ว่ากรมการกงสุลและอธิบดีกรมการกงศุลใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี

พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยอธิบดีกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ที่ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่มีคำสั่งยกเลิก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

8 เรื่องทั่วไทย ชาวบ้านเจอกับอะไรในยุค “ทวงคืนผืนป่า” “เขตเศรษฐกิจพิเศษ”

Posted: 30 Mar 2017 09:39 PM PDT

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับกลุ่ม Focus on the Global South จัดเวทีเสวนา "นำเสนอและทบทวนสถานการณ์สิทธิในที่ดินและป่าไม้ และการเข้าถึงความยุติธรรม"  เพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิที่ดินและป่าไม้ รวมถึงให้นักกฎหมายสะท้อนคดีความในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นในอดีต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานมีนักกฎหมาย นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน สื่อมวลชนและผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนจากหลายหน่วยงานมารายงานสถานการณ์ในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มคนสลัมในเมือง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าภาคเหนือ

ตัวแทนนักกฎหมายที่มาร่วมสะท้อนผลการตัดสินคดีสิทธิที่ดินและป่าไม้ ได้แก่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน  

1.

ถูกไล่รื้อ เผลอๆ ยังต้องจ่ายค่ารื้อด้วย

นุชนารถ แท่งทอง กลุ่มคนสลัมในเมือง

คนจนและคนสลัมในเมืองได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ เช่น จัดการน้ำ แผนเมกะโปรเจคท์ ถูกไล่ที่กลายเป็นคนไร้บ้าน ซ้ำร้ายสังคมมองเป็นคนไม่ดี มองสลัมเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากร แหล่งเสื่อมโทรม

โครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ที่ดินแพงขึ้น เจ้าของที่ดินมักไล่ที่ชาวบ้านเพื่อขายที่ดิน ส่งผลให้มีคนได้รับผลกระทบหลายกลุ่ม เช่น ชุมชนย่านพระราม 3 มีการเช่าที่เรียบร้อย ชาวบ้านกู้เงินสร้างบ้านแล้ว แต่โดนไล่ที่เพราะเกิดเขตเศรษฐกิจใหม่พระราม3   เจ้าของที่ดินจะนำที่ดินไปสร้างคอนโด เมื่อมีเหตุขึ้นโรงขึ้นศาล นายทุนก็ไล่พังบ้านตั้งแต่คดียังไม่ไปถึงไหน ชาวบ้านไม่มีช่องทางต่อสู้บนพื้นฐานกฎหมาย

กรณีที่ดินริมคลอง มีการนำประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 (ปว. 44) เป็นกฎหมายตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมาใช้กับที่ดินคลองย่อย 2,000 กว่าแห่งในกรุงเทพฯ การไล่ที่ริมคลองทำให้เกิดปัญหาคนไร้บ้าน ถึงแม้มีการย้ายพวกเขาไปนอกเมือง แต่ถ้าตกงาน ไม่มีที่อยู่ คนก็ต้องเข้ามาบุกรุกกันในเมืองอยู่ดี

 ปว. 44 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร สามารถรื้อถอนบ้านเรือนที่อยู่ในที่ดินสาธารณะได้โดยไม่ต้องขึ้นศาลไต่สวนแต่อย่างใด สามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อบ้านเรือนกับทางเจ้าของบ้านได้ด้วย หากไม่มีเงินในการชำระสามารถยึดทรัพย์สินแทนได้

2.

ติดไวนิลหรา "คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557" ไล่ที่ชาวบ้าน

อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

คำสั่ง คสช. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ครอบครอง ทำลายป่า ติดตามผลคดีป่าไม้และฟื้นฟูสภาพป่าที่สมบูรณ์ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดตามผลการดำเนินงานให้ คสช. ทราบต่อเนื่อง

ที่ผ่านมามีการตรวจยึดพื้นที่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายในการติดป้ายตรวจยึดพื้นที่ที่อ้างว่ามีการบุกรุก มีการไปตรวจยึดพื้นที่ทำการผลิตร่วมกันของชาวบ้าน

รูปแบบการดำเนินการมีทั้งฟ้องดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย บังคับออกจากพื้นที่ หลายแห่งพบว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดฟัน ทำลายสินทรัพย์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตัดฟันยางพาราของชาวบ้าน ด้วยเหตุผลว่ามีความสามารถในการทำสวนยางได้ จึงไม่ใช่คนจน

ถ้าชาวบ้านไม่ยินยอมให้สำรวจ ก็จะถูกขู่ดำเนินคดี บางกรณีเจ้าหน้าที่ยังได้บังคับชาวบ้านเซ็นยินยอมให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ยังไม่ได้สำรวจการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว

3.

เขตเศรษฐกิจพิเศษ กับคำพูด "ขึ้นศาลแล้วจะไม่ได้อะไรเลย" ชาวบ้านยอมรับค่าชดเชย

พรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น

พื้นที่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก กินอาณาบริเวณ 3 อำเภอ 14 ตำบล โดนคำสั่ง 17/2558 เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดนประกาศเป็นที่ราชพัสดุโดยใช้คำสั่ง ม. 44  แต่ภาครัฐไม่เคยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดอะไร มีทหารตำรวจเข้ามาในพื้นที่ ผู้นำชาวบ้านถูกติดตามตลอด เจ้าหน้าที่ขู่ว่า "ขึ้นศาลจะไม่ได้อะไรเลย" ชาวบ้านกลัว หลายคนจึงเซ็นรับเงินค่าทดแทนไป 82 ราย ได้ค่าทดแทนไปประมาณ 37 ล้าน จาก 82 ราย เฉลี่ยแล้วได้รับเงินทดแทน 4 แสนบาทต่อคน

4.

คนไร้ที่ดินนับหมื่น คดีความ และที่ทำกิน 5 ไร่

สุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ติดกับป่าสงวน จากการตรวจสอบพบคนไร้ที่ดินราว 10,000 คน ถูกฟ้องขับไล่ในปี 2550 ผ่านมา 10 ปีมีหลายบริษัทแพ้คดีในศาลฎีกา รัฐจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้านครอบครัวละ 5 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ นโยบายดังกล่าวไม่มีตัวแทนของชาวบ้านเข้าร่วม  ถูกกำหนดโดยนักการเมืองและข้าราชการ และเสี่ยงที่ชาวบ้านเดือดร้อนในระยะยาว  เนื่องจากที่ดินที่รัฐกำหนดให้เป็นที่ทำกินนั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้เป็นปัญหาปากท้อง

5.

โค่นยางชาวบ้านทิ้ง ไม่มีเงินส่งลูกเรียน

กันยา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด

ในพื้นที่มีคนถูกฟ้องคดีเพราะโค่นต้นยางเก่าเพื่อปลูกยางใหม่ ทั้งที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่แล้ว รัฐมองคนมีสวนยางเป็นนายทุนหมด ยกตัวอย่างที่ดินนางเรียง คงพุ่ม โดนคำสั่ง 64/2557 โดนฟันทำลายไปทั้งหมด 359 ไร่  โดยหาว่าเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นนายทุน แต่ว่าในความเป็นจริงมีคนใช้ที่ดินดังกล่าว 30 กว่าครัวเรือนซึ่งก็โดนไปด้วยกันหมด

ตอนนี้ครัวเรือนทั้งหมดต้องไปรับจ้าง ทำทุกอย่างที่ได้เงิน เข้าไปใช้ที่ดินไม่ได้ ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นคือไม่มีที่ทำกิน และระยะยาวคือไม่มีเงินส่งลูกเรียน

คำสั่งจากรัฐบาลระบุว่า คนจนต้องมีที่ดินไม่เกิน 25 ไร่ แล้วต้องดูการใช้ประโยชน์ด้วย แต่ปฏิบัติการในพื้นที่เป็นอีกแบบ มีการตีความคำสั่งไปเป็นการเรียกให้ชาวบ้านมาแสดงตัวว่าเป็นผู้ใช้พื้นที่แล้วจับดำเนินคดี ถ้าไม่มาแสดงตัวก็จะเข้าไปฟันทำลายสินทรัพย์เสีย

มาตรฐานผู้ยากไร้ของรัฐบาลกำหนดรายได้ว่าปีหนึ่งต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งถ้าเฉลี่ยแล้วตกวันละไม่ถึง 100 บาทด้วยซ้ำ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นกรอบความจนที่คับแคบมาก

ชาวบ้านเป็นผู้ร้าย เป็นผู้ต้องหาตลอด ถูกทำลายเครื่องมือทำกิน พวกเขาจะชุมนุมก็ทำไม่ได้เพราะติด พ.ร.บ. การชุมนุม จะเข้า กรุงเทพฯ ก็ลำบาก

6.

หลังสึนามิ กลุ่มทุนยึดที่

หนูเดือน แก้วบัวขาว เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่จังหวัดพังงา ถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ทำกิน บางพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์สึนามิ ไม่สามารถอพยพย้ายถิ่นกลับเข้าพื้นที่เดิมได้ เพราะมีกลุ่มทุนออกเอกสารสิทธิทับที่ป่าไม้ เมื่อดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบข้อมูลพบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พอยื่นเรื่องถึงอธิบดีกรมป่าไม้กลับไม่มีการดำเนินการต่อ ส่งผลให้กลุ่มทุนฟ้องชาวบ้านข้อหาบุกรุกที่ ทั้งที่ชาวบ้านอยู่กินกันมาก่อนจะมีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินนั้น

นอกจากนี้ผลจากการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับอังกฤษบริเวณชายแดนพม่าทำให้เกิดปัญหาคนไร้สัญชาติที่ทุกวันนี้พม่าไม่ยอมรับ ไทยก็ไม่ยอมรับ กลายเป็นคนไม่มีสถานะ เข้าถึงสิทธิ์อะไรไม่ได้ ที่ผ่านมาชาวเลหาดราไวย์โดนคดีไล่รื้อที่ดินเป็น 100 คดี แม้ตอนนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข แต่เอาจริงๆ ก็ไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นหัวเรือใหญ่

7.

ธนาคารที่ดิน ความหวังที่ล้มเหลว?

ฤกษ์รบ อินทะวงค์ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

ในจังหวัดลำพูน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินของเอกชน ประสบปัญหาด้านที่ดินไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ มีรายได้ไม่พอต่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เกิดการกู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียนบุตร  สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้เรียกร้องให้มีธนาคารที่ดิน ปัจจุบันมีการพัฒนาจนกระทั่งมีผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้นำในการดำเนินการและติดตามผล มีพื้นที่นำร่องในการทดลองเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ จ.ลำพูนและเชียงใหม่ ผลการดำเนินการในเบื้องต้นชาวบ้านยังมีความกังวลเรื่องการกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อที่ดินของเอกชนว่า สถาบันบริหารฯเสนอร่างกฎหมายด้านธนาคารที่ดินเป็นไปในทิศทางแสวงหากำไร ไม่ได้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนยากไร้ โดยธนาคารมีแนวคิดจะเก็บดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 บาท ทั้งที่ชาวบ้านได้เสนอดอกเบี้ยในอัตรา 0.5 - 3 บาท ซึ่งเป็นค่าผ่อนชำระให้ธนาคารที่ชาวบ้านพอที่จะลืมตาอ้าปากในระยะยาวได้

8.

ไม่เซ็นชื่อถูกดำเนินคดี

พฤ โอโด่เชา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าภาคเหนือ

กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าถูกทำให้กลายเป็นคนอื่น รัฐกันชุมชนออกจากเขตป่า ทั้งที่ชนเผ่าพื้นเมืองอยู่มาก่อน อีกทั้งยังทีทัศนคติหลักของความเป็นอื่น

เจ้าหน้าที่รัฐบุกรุก "ขอคืนพื้นที่" ถ้าชาวบ้านไม่เซ็นชื่อจะถูกดำเนินคดี ถ้าเซ็นชื่อก็จะเสียที่ดิน การแก้ไขปัญหาของรัฐคือการแจกของเพื่อซื้อใจ แจกเสร็จก็มายึดพื้นที่วันหลัง

มองว่าความรู้ด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองกับรัฐ ส่วนความสนใจจากประชาสังคมเอ็นจีโอ สื่อมวลชน ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ

สิทธิที่ดินต้องมี รัฐต้องจริงใจ ช่วยเหลือต้องจริงจัง ชุมชนต้องสตรอง

หลังจากนำเสนอปัญหาในระดับพื้นที่ของกลุ่มต่างๆ แล้ว มีการเปิดให้วิทยากรและผู้มีเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

-          โจทย์ที่ต้องตีให้แตกคือ ทำให้สิทธิการเข้าถึงที่ดินมีผลทางนโยบายจริงๆ ได้อย่างไร และคนที่โดนจับ เสียที่ดิน หรือถูกไล่ออกไป จะมีกระบวนการชดใช้เยียวยาอย่างไร

-          ที่ดิน ที่อยู่อาศัยไม่ควรเป็นสินค้า ควรเอื้อกับการดำรงชีวิตของคน ควรหาแนวทางที่ทำให้มีบ้านที่ประกอบอาชีพได้ แต่เรื่องด่วนคือคนจนต้องเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน รวมถึงดินแดน เขตแดนของบรรพชนที่เคยครอบครองมาก่อนของกลุ่มชาติพันธุ์

-          ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน น่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงที่ดินได้ในราคาที่เป็นธรรม ทั้งนี้ต้องผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

-          ควรคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์พิสูจน์สิทธิ์ออกมา

-          เสนอให้รัฐบาลถอดร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ สัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าจากคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วนำกลับมาเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย

-          ต้องให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับชาวบ้าน รวมทั้งลดการทำร้าย ลดการคุกคามนักเคลื่อนไหวการละเมิดสิทธินักปกป้องสิทธิมนุษยชน

-          บัญญัติหลักการสิทธิชุมชนลงในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็ขับเคลื่อนให้เกิดร่างกฎหมายสิทธิชุมชนให้ได้ ทั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในชั้นศาลต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าชุมชนอยู่ในพื้นที่มาก่อน

มุมมองนักกฎหมาย หวั่นคำตัดสินศาลบิดเบี้ยวสร้างบรรทัดฐานใหม่

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ตั้งข้อสังเกตในกรณีของเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดว่า ทำไมกรมธนารักษ์ออกโฉนดบนที่หลวงได้ เพราะกระบวนการไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามคำสั่งที่ 17/2558 ที่ไม่มีเนื้อหาว่าต้องออกโฉนด เขตเศรษฐกิจพิเศษสร้างความไม่เป็นธรรม เพราะที่ของหลวงยังกลายเป็นโฉนดไว้จำหน่ายให้เอกชน แต่ชาวบ้านขอโฉนดที่ดินเพื่อทำกินมานานแต่กลับไม่ได้สักที รัฐเองก็พยายามหลบเลี่ยงการจัดหาที่ดินใหม่ให้ชาวบ้านด้วยการจะยัดเยียดค่าชดเชยให้แทน

ภายในกลุ่มมีคนที่ไม่อยากสู้แล้ว รับเงินไปแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่สู้อยู่ การที่ยังมีคนสู้คดีสะท้อนว่ารัฐไม่เป็นธรรม ตรงนี้คิดว่าสามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจา และสามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานความเป็นธรรมต่อสังคมได้ด้วย

สุมิตรชัย ยกตัวอย่างคดีป่าไม้จากชุมชนบ้านแม่อมกิ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมนายดิ๊แปะโพ และ นางหน่อเฮมุ้ย เวียงวิชชา ชาวปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) เมื่อ 9 ปีที่แล้วฐานบุกรุกพื้นที่ป่า ปัจจุบันศาลเพิ่งตัดสินชั้นฎีกาโดยชี้ว่าไม่ผิด เพราะกะเหรี่ยงอยู่มาก่อน แต่ต้องออกจากพื้นที่ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)  พฤติการณ์ของคำสั่งศาลฎีกาเช่นนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานการตัดสินต่อไป แต่ก่อนชั้นฎีกาเมื่อตัดสินว่าไม่ผิด ก็ไม่สามารถไล่ออกมาได้ แต่ด้วยบริบททางสังคมในขณะนี้ บริบททางกฎหมายเช่นนี้ เรื่องสิทธิชุมชน โฉนดชุมชน ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ได้เลย

ประยงค์ ดอกลำไย นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินชื่อดังกล่าวว่า รัฐตีความโฉนดชุมชนคือการจัดเป็นแปลงรวม ดังนั้นเมื่อพูดถึงโฉนดชุมชน จึงเท่ากับรัฐไม่มีระเบียบอนุญาตให้ ทั้งแนะนำองค์กรภาคประชาชนว่า ควรใช้กระบวนยุติธรรมเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะถึงขั้นนั้นมันอิงกับวิจารณญาณของผู้พิพากษา อีกทั้งยังกินเวลายาวนาน ต้องสงวนคำวิพากษ์วิจารณ์และท่าทีต่างๆ เมื่อคดียังไม่สิ้นสุด

ประยงค์สนับสนุนให้กลุ่มภาคประชาชนเคลื่อนไหวข้างนอกไปพร้อมกับกระบวนการทางกฎหมายที่ทนายความต้องทำหน้าที่ในชั้นศาลไปพร้อมกัน ทั้งยังกล่าวว่าในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งยังพอมีช่องทางให้ประชาชนคุยกับรัฐบาลได้ด้วยเหตุผล แต่ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มี แถมยังเอาการเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ดินไปโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก จึงขอเรียกร้องให้ภาคประชาชนรวมกลุ่มกัน กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวให้ชัดเจน

จำนงค์ หนูพันธ์ จากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ปัญหาการไล่รื้อที่ดินคืนจากคนจนเมืองที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ เอกชนและการรถไฟ เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้วิธีข่มขู่เป็นรายบุคคลและระดับชุมชน อีกทั้งยังใช้ ปว. 44 บังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไว้สำหรับสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และรถไฟรางคู่ เช่น ปัญหาการไล่รื้อที่อยู่อาศัยชุมชนบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านประสบความเดือดร้อนประมาณ 350หลังคาเรือน ตอนนี้มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง เครือข่ายได้เสนอให้รัฐบาลเปิดเวทีเจรจาร่วมกัน และให้ชะลอการบังคับคดีในวันที่ 31 มี.ค. 2560 นี้

สมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การที่ศาลพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมนั้นต้องพัฒนาความคิดของคนในกระบวนการยุติธรรม ความน่ากลัวในอนาคตคือ คำพิพากษาในศาลฎีกาจะเป็นบรรทัดฐานการตัดสิน ในขณะเดียวกันผู้พิพากษาคือข้าราชการ มีวัฒนธรรมองค์กร มีรุ่นพี่รุ่นน้อง การแหกกรอบอาจส่งผลต่อหน้าที่การงาน นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรเสียกฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้กฎหมายเป็นธรรมที่สุดในสังคมปัจจุบัน จะให้ประชาชนเข้าไปพัฒนากฎหมายร่วมกับรัฐบาลได้อย่างไร

ชัยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า รัฐเชื่อว่ารัฐเองและทุนบริหารทรัพยากรได้ดีกว่าประชาชนจึงยึดครองทรัพยากรเอาไว้ ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของวิชาการที่ต้องเชื่อมต่อความรู้การบริหารทรัพยากรให้กับประชาชนให้ได้ รัฐยังมีทัศนคติว่ามลภาวะที่ย่ำแย่เกิดจากประชากรเพิ่มจำนวนขึ้น และคนจนเป็นต้นตอปัญหา กระแสสีเขียวของชนชั้นกลางที่มองว่าป่าต้องเป็นป่า ป่าต้องไม่มีคน ชนชั้นกลางดีใจที่มีคำสั่งคสช.ที่ 64 /2557 ออกมาไล่คนจากป่าทั้งที่มันไม่ถูกต้อง มีคนที่ใช้ชีวิตกับป่าอยู่มานานแต่พวกเขาไม่เคยรับรู้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บรรษัทพลังงานแห่งชาติ: เมื่อรัฐจะทวงคืนความเป็นเจ้าของพลังงาน

Posted: 30 Mar 2017 05:56 PM PDT



 

บรรษัทพลังงานแห่งชาติ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเสนอเพื่อการจัดการพลังงานปิโตเลียมที่มีในประเทศไทย ปฏิกิริยาที่มีต่อข้อเสนอดังกล่าวอาจแยกให้เห็นอย่างง่ายๆ ได้เป็น 2 กลุ่มกล่าวคือ กลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยมีเหตุผลสนับสนุนหลักคือ ผลประโยชน์แห่งชาติ ผลประโยชน์แห่งรัฐ หรือผลประโยชน์สาธารณะที่รัฐในฐานะตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ควรเป็นผู้มีอำนาจกำกับทรัพยากรทางพลังงานนั้น และแจกจ่ายความมั่งคั่งจากทรัพยากรพลังงานไปสู่ประชาชน หากจะกล่าวในทางทฤษฎี เหตุผลของกลุ่มผู้สนับสนุนบรรษัทพลังงานแห่งชาติวางอยู่บนแนวคิด "ชาตินิยมทางพลังงาน (Energy nationalization)"ที่ไม่ไว้วางใจกลุ่มทุน หรือกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่มีฐานทรัพยากรทางอำนาจอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีกลุ่มทุนเข้ามาครอบครองทรัพยากรทางพลังงานแล้ว มีแนวโน้มที่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าแบ่งปันผลประโยชน์ทางพลังงานไปสู่สาธารณะ  

สำหรับความเห็นอีกกลุ่มเป็นความเห็นต่อต้าน หรือไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยพื้นฐานความคิดของผู้ต่อต้านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ มาจากเหตุผลด้านการบริหารจัดการ ที่หวาดกลัวความไม่โปร่งใส่ การทุจริต การเอื้อผลประโยชน์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ หากรัฐจะมีอำนาจเต็มในการควบคุมและกำกับบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เหตุผลที่สำคัญอีกประการสำหรับการต่อต้านบรรษัทพลังงานแห่งชาติคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูองค์กรทางธุรกิจซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการผลประโยชน์ที่ถูกคาดการณ์ว่ามีเป็นจำนวนมากโดยให้รัฐเป็นผู้บริหารจัดการ อาจหมุนวงล้อประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ 2500 ให้หวนกลับคืนมาสู่สังคมไทย โดยในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐมักจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเป็นหน่วยงานที่ทำการผลิตในตลาด อย่างไรก็ตามรัฐวิสาหกิจที่บริหารโดยหน่วยงานรัฐในช่วงดังกล่าวแม้ผูกขาดแต่กลับขาดทุน ส่งผลให้สูญเสียงบประมาณของภาครัฐไปเป็นจำนวนมาก การเปรียบเทียบภาพของรัฐวิสาหกิจในช่วงทศวรรษที่ 2500 กับภาพของบรรษัทพลังงานแห่งชาติในทศวรรษที่ 2560 ดูจะเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว ด้วยเงื่อนไขเสรีนิยมทางเศรษฐกิจได้ผลักดันให้การบริหารจัดการองค์กรทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะอยู่ในกำกับของรัฐหรือเอกชน เดินทางมาไกลจากบริบทในห่วงเวลาทศวรรษที่ 2500 มากแล้ว อย่างไรก็ดีแนวคิดพื้นฐานที่แสดงออกถึงการต่อต้านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ กลับมีความน่าสนใจตรงที่ความเห็นคัดค้านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ล้วนสะท้อนให้เห็นความไม่ไว้วางใจในรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ ในการบริหารจัดการหน่วยงานทางธุรกิจ 

ข้อถกเถียง 2 กลุ่มข้างต้นจึงขับเน้นให้เห็นความคิด 2 กระแสที่กำลังปะทะกันในการบริหารจัดการพลังงานของสังคมไทย หากจะพิจารณาปรากฏการณ์บรรษัทพลังงานแห่งชาติจากมุมมองทฤษฎีการเมืองพลังงาน (Energy politics) อาจทำความเข้าใจได้อย่างรวบรัดผ่านแนวคิดที่เรียกว่า การทำให้พลังงานหวนกลับมาเป็นของรัฐ (Energy re-nationalization) David Hall นักวิชาการด้านพลังงานจากมหาวิทยาลัย Greenwich ได้อธิบายว่า การทำให้พลังงานหวนกลับมาเป็นของรัฐ คือ กระบวนการที่ทำให้รัฐสามารถเข้าไปมีบทบาท มีอำนาจควบคุม ดูแล กิจการด้านพลังงานได้อีกครั้ง ภายหลังการแปรรูปกิจการพลังงานไปแล้ว นอกจากนี้นักวิชาการคนดังกล่าวยังได้ทำการสำรวจสถานการณ์ที่รัฐทวงคืนความเป็นเจ้าของในการกำกับ และบริหารจัดการพลังงานของประเทศผ่านงานวิจัยที่ชื่อว่า Energy liberalization, privatization and public ownership (2013) โดยชี้ให้เห็นว่า การทำให้พลังงานหวนกลับมาเป็นของรัฐ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและกระจายตัวไปทั่วทุกมุมโลก หากแต่สถานการณ์ดังกล่าววางอยู่บนเงื่อนไขและเหตุปัจจัยที่ต่างกันออกไป ทั้งในแง่ที่เป็นปฏิกิริยาโต้กลับของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ต่อบรรษัทพลังงานข้ามชาติ รวมไปถึงการตอบโต้ต่อความล้มเหลวจากการป้องกันผลกระทบในการผลิตพลังงาน

หากจะทำความเข้าใจการทำให้พลังงานหวนกลับมาเป็นของรัฐ อาจต้องเริ่มทำความเข้าใจจากการทำให้พลังงานกลายเป็นของรัฐ (Energy nationalization) เสียก่อน กล่าวคือ การทำให้พลังงานกลายเป็นของรัฐอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 รูปแบบ ในรูปแบบแรก รัฐเป็นผู้สร้างความเป็นเจ้าของเสียเอง รูปแบบนี้เริ่มขึ้นในราวทศวรรษที่ 1920 โดยกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส สเปนและอิตาลี เริ่มจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้น (Compagnie Francaise des Petroles, Campsa และ AGIP) เพื่อดำเนินการทางธุรกิจด้านพลังงานในนามของรัฐ อย่างไรก็ดียังมีคำอธิบายในแนวทางอื่นๆ เช่น คำอธิบายบางกระแสมองว่าการทำให้พลังงานกลายเป็นของรัฐนั้นเริ่มต้นที่การเกิดขึ้นของสหภาพโซเวียต ซึ่งเข้าไปบริหารจัดการแหล่งน้ำมันในประเทศสืบต่อจากยุคสมัยของพระเจ้าซาร์ สำหรับรูปแบบที่สอง รัฐเข้าไปยึดครองความเป็นเจ้าของ รูปแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโกราวทศวรรษที่ 1930 เมื่อรัฐบาลของเม็กซิโกในขณะนั้นทำการยึดคืนอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศจากบรรษัทข้ามชาติ และตามติดมาด้วยประเทศโบลิเวียที่ยึดแหล่งน้ำมันในท้องถิ่นคืนจากบริษัท Exxon (Robert Mabro, 2007) 

การทำให้พลังงานกลายเป็นของรัฐได้ขยายตัวและกลายเป็นรูปแบบที่รัฐต่างๆ นิยมใช้กันในการบริหารจัดการพลังงานภายในประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ขยายตัวไปในประเทศที่มีทรัพยากรทางพลังงานอย่างมั่งคั่ง โดยบริษัทพลังงานแห่งชาติมักดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานในประเทศผู้ส่งออกพลังงาน อาทิ กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รวมถึงบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางกลับกันประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรทางพลังงานมักละทิ้งบริษัทพลังงานแห่งชาติผ่านการขายความเป็นเจ้าของบริษัทพลังงานแห่งชาติไปให้แก่เอกชน ทั้งในรูปแบบการขายหุ้นของบริษัทพลังงานแห่งชาติในตลาดหลักทรัพย์ การประมูลซื้อหุ้นของบริษัทพลังงานแห่งชาติ รวมถึงการขายบริษัทพลังงานโดยตรงกับผู้ซื้อ (รายละเอียดในเรื่องนี้มีความน่าสนใจและจำเป็นต้องใช้การอธิบายในรายละเอียดจึงขอละไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้)

การแปรรูปพลังงาน (Energy privatization) ได้กลายเป็นคลื่นถาโถมแนวคิดการทำให้พลังงานกลายเป็นของรัฐ และสามารถเอาชนะแนวคิดการทำให้พลังงานกลายเป็นของรัฐได้ในราวทศวรรษที่ 1990 ที่กระแสการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานเติบโตและถูกนำไปใช้ทั่วทุกมุมโลก ทั้งโดยการบังคับขององค์การการเงินระหว่างประเทศ หรือโดยความเต็มใจของรัฐบาลในแต่ละประเทศก็ตาม ในราวทศวรรษที่ 2010 การแปรรูปพลังงานในหลายประเทศถูกต่อต้านอย่างหนักทั้งจาก สหภาพแรงงาน ผู้บริโภคพลังงาน นักเคลื่อนไหวนักสิ่งแวดล้อม นักการเมืองฝ่ายค้าน ประชาชนในท้องถิ่นที่ครอบครองแหล่งพลังงาน ฯลฯ ในบางประเทศตัวแสดงที่เป็นรัฐเองก็ได้แสดงบทบาทต่อต้านการแปรรูปพลังงาน เช่น ศาลในประเทศฝรั่งเศส และอินโดนีเซีย ทหาร ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ตัวแสดงดังกล่าวได้ผนึกกำลังเพื่อสร้างพันธมิตรในการต่อต้าน และยับยั้งการแปรรูปพลังงาน จากปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงนำมาสู่การเกิดขึ้นของ "การทำให้พลังงานหวนกลับมาเป็นของรัฐ"

ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 2010 โดยเฉพาะประเทศในแทบลาตินอเมริกา ทั้งในอาเจนตินา บราซิล โบลิเวีย โดมินิกัน เวเนซุเอลา รวมไปถึงรัสเซีย อียิปต์ ฟินแลนด์ ลิธัวเนีย และญี่ปุ่น (David Hall, 2013) ประเทศเหล่านี้ล้วนได้แปรรูปบริษัทพลังงานแห่งชาติในประเทศของตนไปเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือนัยหนึ่งคือ บริษัทพลังงานแหล่งชาติในประเทศดังกล่าวล้วนมีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งปันอำนาจเพื่อการบริหารจัดการ แต่รัฐบาลในประเทศดังกล่าวได้พยายามนำบริษัทพลังงานแห่งชาติกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุม บังคับ และบริหารของรัฐบาลอีกครั้ง โดยรัฐบาลในประเทศข้างต้นใช้ 3 เครื่องมือหลักเพื่อการทำให้พลังงานหวนกลับมาเป็นของรัฐ กล่าวคือ การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ ผ่านการนำเงินงบประมาณเข้าไปซื้อหุ้นคืนจากเอกชนผู้ถือหุ้น เครื่องมือชนิดนี้ถูกใช้ในประเทศแถบลาตินอเมริกา รัสเซีย และฟินแลนด์ การใช้เครื่องมือทางนโยบายเข้าไปแทรกแซง เครื่องมือในรูปแบบนี้รัฐบาลจะออกนโยบาย หรือแผนงาน หรือมาตรการที่เปิดช่องทางให้รัฐเข้าไปมีอำนาจในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และสั่งการบริษัทพลังงานที่ดำเนินการโดยเอกชนได้มากขึ้น ตัวอย่างของประเทศที่ใช้เครื่องมือนี้คือ ประเทศญี่ปุ่นภายหลังเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ-ไดอิจิ และเครื่องมือด้านการบริหารองค์การ โดยรัฐบาลพยายามจัดโครงสร้างองค์กรด้านพลังงานขึ้นมาใหม่ ผ่านการยุบรวมหน่วยงานของรัฐให้เข้าไปอยู่กับองค์กรด้านพลังงานที่ถูกแปรรูปไปแล้ว เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองในบริษัทพลังงานให้แก่รัฐมากขึ้น เครื่องมือในรูปแบบนี้ถูกใช้โดย ประเทศลิธัวเนีย และโบลิเวีย  

สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ารูปแบบที่รัฐบาลทั้งหลายใช้เพื่อสร้างการทำให้พลังงานหวนกลับมาเป็นของรัฐนั้นก็คือ เมื่อรัฐจะเรียกคืนความเป็นเจ้าของเหนือการบริหารจัดการพลังงาน รัฐจะมีหรือให้คำอธิบายที่สะท้อนถึงตรรกะและเหตุผลที่ชอบธรรมอย่างไร จากประเทศตัวอย่างข้างต้นอาจจะสรุปอย่างคร่าวๆ ได้ว่า การทำให้พลังงานหวนกลับมาเป็นของรัฐ เกิดขึ้นจากเหตุผลประการแรกคือ รัฐบาลต้องการควบคุมการเข้าถึงพลังงาน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมทางพลังงาน ทั้งราคา เชื้อเพลิงที่จะใช้เพื่อการผลิตพลังงาน และผลประโยชน์จากแหล่งพลังงาน ประการที่สอง รัฐบาลต้องการเข้าไปควบคุมผลกระทบภายนอกที่เกิดจากกระบวนการผลิตพลังงาน ซึ่งมักหาผู้รับผิดชอบได้ยาก หรืออาจหาผู้รับผิดชอบได้ แต่ความรับผิดชอบก็เกินกำลังของเอกชน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ จึงไม่ควรจะเป็นเพียงแค่ สิ่งตกค้างทางอารมณ์จากความต้องการปฏิรูปพลังงานที่หาทางออกที่ดีกว่าไม่ได้ การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติจึงไม่ควรเป็นแค่เพียง ภาพของความหวาดกลัวกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมือง รวมไปถึงการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติจึงไม่ใช่เรื่องแค่รัฐ และระบบราชการจะเข้ามาดำเนินการทางธุรกิจเสียเอง หากแต่เป็นภาพที่ควรจะจินตนาการร่วมกันถึงแนวทางในการบริหารจัดการพลังงานเชิงสถาบัน อาทิ เมื่อมีบริษัท ปตท. อยู่แล้ว หากมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 องค์กรจะดำเนินไปในรูปลักษณ์อย่างไร เป้าหมายหลักของการมีบรรษัทแห่งชาติ สามารถถ่ายโอนมาให้บริษัท ปตท. ดำเนินการได้หรือไม่ เพื่อลดความเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน ปตท. มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามการตอบคำถามว่า บรรษัทพลังงานแห่งชาติจะสามารถกระจายผลประโยชน์จากทรัพยากรทางพลังงานให้แก่เพื่อนร่วมชาติในฐานะผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึงและเสมอหน้า หรือดีกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร คำตอบของคำถามดังกล่าวน่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการเกิดขึ้นของบรรษัทพลังงานแห่งชาติ  

 

อ้างอิง:

- David Hall. Energy liberalization, privatization and public ownership. London: Public Services International Research Unit, 2013.

- Robert Mabro. Oil Nationalism, the oil industry and energy security concerns in Area: International Economy and Trade 114/ 2007, 2007. 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai