โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เสวนา ชำแหละ ยุทธศาสตร์มหาอำนาจต่อภูมิภาคอาเซียน 2011

Posted: 26 Aug 2011 09:38 AM PDT

วันที่ 25 ส.ค.2554 กลุ่มอุษาคเนย์ที่รัก และโครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน จัดเสวนาอุษาคเนย์ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ ‘ชำแหละ ยุทธศาสตร์มหาอำนาจต่อภูมิภาคอาเซียน 2011’ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปราย

 

สุรชัย ศิริไกร เสวนา ชำแหละ ยุทธศาสตร์มหาอำนาจต่อภูมิภาคอาเซียน 2011

ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

จีนใช้เวลาเพียง 30 ปีในการพัฒนาเศรษฐกิจจนมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา ในขณะที่อเมริกากำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมาจีนเพิ่มงบประมาณด้านการทหารและพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธสงครามเป็นจำนวนมาก งบประมาณที่ปิดลับและเป็นจำนวนมหาศาลนี้ สร้างความกังขาให้กับหลายประเทศโดยเฉพาะอเมริกาและญี่ปุ่นว่า เป็นไปเพื่อการป้องกันตัว หรือเพื่อขยายผลประโยชน์ของตัวเองออกไป

ในปี 2007 จีนสามารถยิงจรวดขึ้นไปทำลายดาวเทียมที่ไม่ใช้งานแล้วของตัวเองได้ และสามารถสร้างเครื่องบินขับไล่ J-10 ที่มีสมรรถนะเหนือกว่าเครื่องบิน F-16 ของอเมริกาได้ตั้งแต่ก่อนปี 2009 นอกจากนั้น ยังสร้างและทำการบินทดสอบเครื่องบินจารกรรม เพิ่มจำนวนเรือดำน้ำ และยอมรับว่ามีจรวดยิงเรือ (Anti-Ship Missiles) ที่มีพิสัยการยิงในระยะ 1,500 ไมล์ รวมถึงมีโครงการร่วมกับรัสเซียในการส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารอีกด้วย

เหตุผลในการเพิ่มศักยภาพทางการทหารของจีน เป็นผลจากการแทรกแซงของอเมริกาในการรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยนับจากที่สภาคองเกรสของอเมริกาออกกฎหมาย Taiwan Relations Act ในปี 1979 ทำให้อเมริกาสามารถขายอาวุธให้กับไต้หวันได้ และหลังสงครามเกาหลีจบลง อเมริกาได้นำกองเรือรบเข้ามาให้ความคุ้มครองกับไต้หวัน เป็นเหตุให้จีนไม่สามารถรวมไต้หวันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน พฤติกรรมการทำอะไรตามอำเภอใจของอเมริกานั้น ทำให้จีนมองอเมริกาด้วยความรู้สึกหวาดกลัว

นับตั้งแต่จีนรบแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่นและพ่ายแพ้ในสงครามต่อๆ มากับต่างชาติ จากปี 1840 จนถึงปี 1947 จีนถือว่าเป็นหนึ่งร้อยปีแห่งความอัปยศ เนื่องจากความอ่อนแอในด้านการทหารและการปกครองรัฐบาลราชวงศ์ชิง ทำให้จีนยุคใหม่ต้องพัฒนาการทหารและการปกครองที่เข้มแข็ง

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน ยังมีปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์ ระหว่างจีนกับเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ เนื่องจากหมู่เกาะทั้งสองเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปพบว่าจีนให้ความสำคัญกับบริเวณดังกล่าวมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แล้ว

 

ประภัสสร์ เทพชาตรี เสวนา ชำแหละ ยุทธศาสตร์มหาอำนาจต่อภูมิภาคอาเซียน 2011

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการครองโลก ยุทธศาสตร์ของอเมริกามีหลายชั้น มีความลึกล้ำ ซับซ้อน การจะเข้าใจยุทธศาสตร์ของอเมริกาจึงเป็นเรื่องยาก

ยุทธศาสตร์ของอเมริกา ใช้การปิดกั้น ป้องกันไม่ให้มีคู่แข่งในการครองความเป็นใหญ่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์ “Hub and Spokes” โดยอเมริกาเป็นดุมล้อ และประเทศต่างๆ เป็นซี่ล้อที่หมุนตามอเมริกา

การผงาดขึ้นสู่เวทีโลกของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้กับอเมริกาเกี่ยวกับการแย่งชิงความเป็นผู้นำโลก ในอดีตอเมริกาสนใจเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบทวิภาคี และยุทธศาสตร์ใหญ่ของอเมริกาคือ การป้องกันไม่ให้ประเทศในภูมิภาคต่างๆ รวมกลุ่มกันโดยที่ไม่มีอเมริการ่วมอยู่ด้วย

การที่อาเซียนสามารถรวมกลุ่มกันได้โดยไม่มีอเมริกา เนื่องจากอเมริกาไม่ได้ให้ความสำคัญหรือให้ความสนใจกับกลุ่มประเทศอาเซียน ต่างจากจีนซึ่งพยายามเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของอาเซียน โดยเปิดเจรจาการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับหลายประเทศ ในปี 2009 จีนทำข้อตกลงการลงทุนกับอาเซียน และมีนโยบายให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่อาเซียน ปัจจุบันจีนขยายบทบาทขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียนแทนที่ญี่ปุ่น

การผงาดขึ้นมาของอาเซียน ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญและเป็นแกนกลางของภูมิภาค จึงเป็นเรื่องที่อเมริกาจะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป อเมริกาจึงปรับเปลี่ยนนโยบายต่อภูมิภาคนี้ใหม่เพื่อแข่งขันกับจีน โดยพยายามสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนในหลายระดับ ทั้งทวิภาคี ไตรภาคี สิ่งที่อเมริกากำลังผลักดันอย่างหนักคือ การเจรจาการค้าเสรีที่จะประกาศในที่ประชุมเอเปคที่ฮาวาย

ในสมัยของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช อเมริกาปรับนโยบายต่ออาเซียนใหม่ จาก ASEAN เป็น ASEAN+1 ในปี 2009 อเมริกาเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2005 มีเอกสารสำคัญที่สุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและอาเซียนคือ Joint Vision Statement on ASEAN-US Enhanced Partnership

เมื่อมาถึงรัฐบาลโอบามา มีการดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อแข่งขันกับจีน มีการเตรียมประชุมระหว่างอเมริกาและอาเซียนหลายเวที รวมถึงการยอมปรับเปลี่ยนท่าทีต่อพม่า และแสดงความต้องการที่จะส่งทูตมาประจำอาเซียนในอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก นอกจากนั้นยังต้องการเพิ่มความเข้มข้นทางการทูตและการซ้อมรบทางทหารร่วมกับอาเซียน และผลักดันเอฟทีเอในระดับทวิภาคี เพื่อป้องการการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชีย ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีพลังทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก และจะเป็นการท้าทายอเมริกาเป็นอย่างมาก

อเมริกาย้ำอยู่เสมอว่า การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคจะต้องมีอเมริการ่วมอยู่ด้วย และอเมริกาเป็นมหาอำนาจที่มีบ้านอยู่ที่เอเชีย

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช เสวนา ชำแหละ ยุทธศาสตร์มหาอำนาจต่อภูมิภาคอาเซียน 2011

ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธรรมศาสตร์

ในปี 2011 มีมหาอำนาจมากมายที่มีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาติแรกคืออเมริกา การจะทำความเข้าใจอเมริกาทางการทหาร ต้องเข้าใจเรื่องอำนาจทางทะเล ซึ่งพิสูจน์มาแล้วในบทบาทของราชนาวีอังกฤษที่คุมแดนแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เมื่อถึงยุคของอเมริกาก็ทำเช่นนั้น สิ่งที่น่าจับตามองคือ อำนาจที่พุ่งทะยานอย่างไม่หยุดยั้งของจีน และการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ทำให้จีนตัดอเมริกาออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และกันไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สะดวก ในอนาคตหากจีนอ้างสิทธิ์เหนือเกาะทั้งสองได้สำเร็จ มีกองเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ และพัฒนากองกำลังทางทะเลได้ดีแล้ว ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับอเมริกา

ประเด็นแหลมคมอันหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ สายสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจระดับกลาง เริ่มแพร่กระจายอาวุธร้ายแรงไปในบางรัฐของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักการทูตและนักนโยบายต่างประเทศของอเมริกามีความกังวลอยู่

สัมพันธภาพที่แนบแน่นของพม่าและเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือถ่ายทอดเทคโนโลยีการขุดอุโมงค์ การจัดตั้งกองกำลังขีปนาวุธ สิ่งที่อเมริกากังวล คือการติดตั้งขีปนาวุธสกั๊ดรุ่นต่างๆ ที่เกาหลีเหนือให้พม่า ซึ่งยิงได้ไกลมาก อาจพัฒนาให้ยิงไปไกลถึงดีเอโก้ กลาเซียร์ ฐานส่งกำลังของอเมริกาที่ไม่ไกลจากชายฝั่งของอินเดียและพม่ามากนัก

ผมคิดว่าทางฝั่งจีน ค่อนข้างกังวลกับการขยายอำนาจของอเมริกา แต่จีนก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอันสำคัญกับอาเซียนคือ ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภูมิรัฐศาสตร์ จีนให้ความสำคัญกับอาเซียน อย่างน้อยมีกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) จีนกำลังสร้างโลจิสติกส์เชื่อมอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปเกือบทั้งหมด การจะทำความเข้าใจหรือชำแหละยุทธศาสตร์ของจีนนั้น ต้องชำแหละยุทธศาสตร์ของมณฑลยูนนานและยุทธศาสตร์สิบสองปันนา

มณฑลยูนนาน ผู้ปกครองหรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของยูนนาน ให้ความสำคัญกับการย่นระยะทางการเดินเรือ หนึ่งในทางลัดที่สำคัญคือ การออกทะเลที่เมืองย่างกุ้ง โดยการใช้ถนนสายโบราณปรับแต่งเป็นถนนลาดยางอย่างดี จากคุนหมิง เข้ารัฐฉาน มีเส้นทางทั้งทางรถ ทางรถไฟ และแม่น้ำอิรวะดี ซึ่งกว้างกว่าแม่น้ำเจ้าพระยามากในการลำเลียงสินค้ามาที่เมาะตะมะหรือมะตะบัน ทำให้จีนไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา

จุดการค้าชายแดนที่คึกคักที่สุดในอุษาคเนย์คือ การค้าชายแดนจีน-พม่า ที่หมู่เจกับลุ่ยลี่ทางพม่าตอนบน สิ่งสำคัญคือเป็นยุทธศาสตร์ที่แยบคายทางวัฒนธรรม ถ้าไปเชียงรุ่งจะพบวัดไทยที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทยมากมาย และมีคนไทใหญ่และไตลื้ออาศัยอยู่ในเขตปกครองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา แต่สิ่งสำคัญคือ ภาพมาร์เก็ตติ้งที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้ขึ้นมาเที่ยว

ขณะนี้เริ่มมีกระแสต่อต้านจีนจากกลุ่มประเทศอาเซียน โครงการสร้างแนวรถไฟจากตอนใต้ของจีนเข้าสู่ประเทศลาว ผ่านหลวงน้ำทา หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ยังตกลงกันไม่ได้ และส่อเค้าว่าจะล่ม เพราะจีนขอให้คนจีนห้าพันครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่สองข้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นการตัดลาวขาดสะพายแล่ง เปิดช่องโหว่ให้อิทธิพลจีนไหลเข้าไป ยังไม่นับถนนจากคุนหมิงสู่มันดาเลย์ของพม่า ซึ่งมันฑะเลย์ตอนนี้เปรียบประดุจไชน่าทาวน์ไปแล้ว ตามแนวถนนคนพม่าเริ่มต่อต้านจีนมากขึ้น เพราะรุกทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และการตลาด

มหาอำนาจที่จะพูดถึงต่อไปคือ อินเดีย ปัจจุบันอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศขนานใหญ่ การเข้ามาของจีนไม่ได้เข้ามาที่พม่าอย่างเดียว แต่เข้ามาที่บังคลาเทศด้วย ทำให้อินเดียหวั่นไหวมาก เพราะกองทัพจีนจะเข้ามาตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการทหารของอินเดียได้ ตรงนี้อินเดียให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ตั้งแต่ปี 1992 นโยบายมุ่งสู่ตะวันออก (Look East Policy) เป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การทหารของอินเดีย ส่วนหนึ่งเพื่อคัดค้านนโยบายมองลงใต้ (Look South Policy) ของจีนนั่นเอง

ประเด็นที่น่าจับตามองที่สุดของอินเดีย คือ เรื่องความมั่นคงทางทะเล อินเดียวาดภาพอ่าวเบงกอลเป็นศูนย์กลาง ซึ่งโลกทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของอินเดียที่สัมพันธ์กับอาเซียน ต้องมองในลักษณะของปีกด้านซ้ายรอบอ่าวเบงกอล จะเป็นอู่เมืองยุทธศาสตร์ชายทะเลของอินเดีย แล้วตีตลบไปบังคลาเทศและอ้อมรัฐอาระกันของพม่า และลงภาคใต้ของไทย ไปช่องแคบมะละกา ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย การใช้อ่าวเบงกอลเป็นศูนย์กลาง ความมั่นคงทางทะเลหรือแสนยานุภาพทางเรือเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ

อินเดียห่างจากพม่าแค่ไม่กี่สิบกิโลเมตรจากเกาะโคโค่ของพม่า จีนได้เข้ามาสร้างรันเวย์ที่เกาะโคโค่ และมีการติดตั้งสถานีข่าวกรองทางการสื่อสารเพื่อจะเผยรัศมีหรือมณฑลการตรวจจับให้คลุมช่องแคบมะละกา และมอนิเตอร์ทดลองขีปนาวุธในอ่าวเบงกอลของอินเดีย ทำให้อินเดียต้องขยับยุทธศาสตร์ด้วยการสถาปนากองกำลังนาวีภาคตะวันออกไกล (Far Eastern Command) เพื่อจะถ่วงดุลกับจีน และควบคุมช่องแคบมะละกาด้วย เพราะรัฐทางช่องแคบมะละกา ไม่ว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย เริ่มให้ความสำคัญกับการซ้อมรบทางเรือกับทหารอินเดีย ทหารอินเดียที่เข้ามามากขึ้น มาในรูปของความมั่นคงแบบใหม่ คือ มาช่วยบรรเทาสาธารณภัย ซึนามิ นากีส หรือปราบปรามโจรสลัดในช่องแคบมะละกา นี่คือการขยับตัวที่น่าสนใจของอินเดีย

การขยับของอินเดีย มีนัยสำคัญ หนึ่งคือ การคานอิทธิพลของจีน สอง อินเดียไม่ได้กระทำหรือดำเนินนโยบายฝ่ายเดียว ดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาขยับความสัมพันธ์กับอินเดียมากขึ้นด้วย เพื่อจะคัดคานอิทธิพลของจีน

ในอนาคต อินเดียจะเริ่มสำคัญมากขึ้นในการรวมกลุ่ม หรือเข้ามาสัมพันธ์กับอาเซียน ที่สำคัญคือรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่ติดกับพม่า เป็นจุดอ่อนไหวของความมั่นคงทั้งของพม่าและอินเดีย เพราะพรมแดนพม่าและอินเดียประมาณ 1,400 กิโลเมตร นั้น บางจุดเป็นแหล่งเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเพื่อเอกราช เช่น กลุ่มอาระกัน กลุ่มนากา แต่ในอนาคตอินเดียพยายามพลิกฟื้นรัฐชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นประตูการค้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตัดถนนผ่านพม่า ซึ่งเป็นเครือข่ายหนึ่งของถนนสายเอเชีย ในอนาคตเราจะเห็นยุทธศาสตร์พัฒนาที่มากขึ้นในรัฐหิมาลัยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อัสสัม มณีปุระ และจะมีโลจิสติกส์โยงกับเนปาล ภูฐาน บังคลาเทศ ไทย พม่า ในกรอบของความร่วมมือพิเศษรอบอ่าวเบงกอล การขยับของอินเดียจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจในศตวรรษที่ 21

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กานดา นาคน้อย

Posted: 26 Aug 2011 08:27 AM PDT

เมื่อวัดผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อต่อผู้บริโภคและผู้ออมเงินแล้ว ผู้บริโภคและผู้ออมเงินเสียหายจากอัตราเงินเฟ้อในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มากกว่ารัฐบาลทักษิณ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียงครึ่งเปอร์เซ็นต์ต่อปีสามารถถ่ายเทกำไรจากผู้ออมเงินไปสู่สถาบันรับฝากเงินได้ถึง 4.4 หมื่นล้านบาทต่อปี

อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจริง "รัฐบาลทักษิณ vs. รัฐบาลอภิสิทธิ์", 26 ส.ค. 2554

สัมมนาอุบัติเหตุ ดันแผน ‘ลงมือทำ’ ลดอุบัติเหตุถนนลงครึ่งหนึ่ง

Posted: 26 Aug 2011 08:19 AM PDT

22 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ศวปถ.ร่วมกับภาคีลดอุบัติเหตุทั่วประเทศ ได้จัดให้มีการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time For Action” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานภาคีเครือข่าย และก่อให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการเปิดงานโดยการปล่อยขบวนจักรยานยนต์ร่วมรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ณ ลานเอนกประสงค์

ดร.มัวรีน อี.เบอร์มิ่งแฮม ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก กล่าวบรรยายตอนหนึ่งถึงสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบ 1.3 ล้านคน และบาดเจ็บ 20-50 ล้านคน อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนอายุ 15-29 ปี และจากจำนวนการเสียชีวิตบนท้องถนนทั้งหมดนี้ เป็นการเสียชีวิตที่มาจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ถึง 49 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ของการตายและบาดเจ็บ ก็เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีจำนวนยานยนต์ที่ขึ้นทะเบียนเพียง 48 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนยานยนต์ที่ขึ้นทะเบียนทั่วโลกฃ

ดร.มัวรีน เปิดเผยด้วยว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนนั้น เคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ในปี 2547 และด้วยอัตราการเติบโตของจำนวนยานยนต์ที่เป็นอยู่ จะทำให้ในปี 2573 อุบัติเหตุทางท้องถนนจะเลื่อนขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 5 ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา จึงมีการประชุมระดับรัฐมนตรี ณ กรุงมอสโก และเป็นที่มาของปฏิญญามอสโก กระทั่งในเดือนมีนาคม 2553 องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2534-2563 โดยเป้าประสงค์ของทศวรรษนี้คือ การทำให้จำนวนคนตายจากการจราจรทางถนนทั่วโลกไม่เพิ่มขึ้น หรือลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่งใน พ.ศ. 2563

ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ได้เสนอยุทธศาสตร์หลักเพื่อการลงมือทำและผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายว่า ลำดับแรกต้องจัดการความปลอดภัย ในรูปแบบการเสริมสร้างสมรรถนะของหน่วยงานที่ดำเนินการให้ปฏิบัติตามข้อตกลงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน โดยจัดตั้งหน่วยงานหลักและจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยปลอดภัยทางถนน รวมถึงทำให้ถนนและจราจรปลอดภัย โดยแผนที่ว่านี้ เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย การออกแบบ การก่อสร้าง การจัดการถนน และการประเมินความปลอดภัยของถนนอย่างสม่ำเสมอ โดยค้นหาแบบแผนการจัดการในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมมาใช้

นอกจากนี้ยังต้องจัดให้ยานพาหนะมีความปลอดภัย โดยยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล ให้รถยนต์ใหม่ทุกคันอย่างน้อยต้องมีระบบความปลอดภัยพื้นฐาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ โดยนำกฎหมายความปลอดภัยมาใช้ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อลดการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหลังเกิดเหตุ ต้องพัฒนาระบบการดูแลผู้ประสบเหตุก่อนนำส่งโรงพยาบาล จัดให้มีหมายเลขโทรศัพท์รับแจ้งเหตุทั่วประเทศเป็นระบบเดียว จัดให้มีการฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยที่บาดเจ็บบนท้องถนนอย่างรวดเร็ว รวมถึงสร้างระบบและกระบวนการสอบสวนอุบัติเหตุ

ด้านนายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด โดยถือเป็นนโยบายสำคัญและบรรจุไว้ในนโยบายด้านสังคมที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติได้จัดทำแผนปฏิบัติการทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนขึ้นมา และไทยก็ได้เข้าร่วมโดยยึดหลักปฏิบัติภายใต้ 5 เสาหลัก คือ ลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างสภาพแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดยานพาหนะที่ปลอดภัย สร้างวินัยจราจร และการตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะช่วยลดความสูญเสียได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า คือ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยจะต้องไม่เพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้.-

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปัตย์กับ “ประเด็นสถาบัน” และ “คำรำพึงประจำพรรค”

Posted: 26 Aug 2011 07:57 AM PDT

“...การใส่ร้ายเอาสถาบันเบื้องสูงมาใช้ไม่เป็นส่วนดีต่อใครเลย แม้แต่สถาบันเอง เป็นเรื่องที่ทำลายทุกคนทุกฝ่าย นายกฯที่ได้รับเสียงเลือกตั้งสูงสุดในประเทศก็ล้มเพราะข้อกล่าวหานี้ และที่ตนเจ็บปวดที่สุด คือข้อกล่าวหานี้ใช้ออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน ไม่อยากให้คนตายเพิ่มเติมอีก”

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314200777&grpid=03&catid=&

 

นี่คือข้อความบางส่วนที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.ระบบบัญชีรายเชื่อพรรคเพื่อไทยอภิปรายตอบโต้สุเทพ เทือกสุบรรณ อันเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงทั้งจากสุเทพ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนเป็นเหตุให้ต้องพักการประชุมชั่วคราว และหลังจากนั้นก็มีอันต้องปิดประชุมสภาไปเมื่อคืนวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

ผู้อ่านที่ติดตามการอภิปราย จะทราบว่า ณัฐวุฒิพูดย้อนไปถึง (สรุปได้) ว่า ข้ออ้างเรื่องสถาบันได้ทำลายผู้นำที่ดีหรือคนดีของประเทศมามากพอแล้ว ตั้งแต่ปรีดี พนมยงค์ จนต้องระหกระเหินไปสิ้นชีวิตที่ต่างประเทศ กลับคืนประเทศได้เมื่อเหลือเพียงเถ้าอัฐิแล้ว แม้จะได้รับยกย่องว่าเป็นถึงรัฐบุรุษก็ตาม เหตุการณ์ 6 ตุลา เรื่อยมาถึงพฤษภา 53 ก็ยังใช้ข้ออ้างเดิมๆ ทั้งในการทำรัฐประหารทักษิณและเป็นข้อกล่าวหาล้อมปราบประชาชน

ฉะนั้น ณัฐวุฒิจึงเสนอว่า เราควรเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาอดีต และถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกอ้างเรื่องสถาบันในการต่อสู้ทางการเมืองเสียที เพราะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ประเด็นคือ ข้อกล่าวหาเรื่องล้มล้างสถาบันได้ถูกใช้ “ออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน” หรือไม่? แน่นอนว่า อภิสิทธิ์และสุเทพปฏิเสธประเด็นนี้ และนายอภิสิทธิ์ยังกล่าวย้ำว่า “การบอกว่าใช้สถาบันออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน นอกจากจะทำให้พวกผมเสียหายแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย”

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า มีการอ้างสถาบันเพื่อทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณจริง มีการแสดง “ผังล้มเจ้า” และกล่าวหาว่ามี “ขบวนการล้มเจ้า” ในกลุ่มคนเสื้อแดงจริง โดยเฉพาะมีการประโคมข่าวนี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลในการตอบโต้ทักษิณกับฝ่ายเสื้อแดง ทั้งในช่วงก่อนการสลายการชุมและในระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อ เมษา-พฤษภา 53

นอกจากนี้ในการชุมนุมของพันธมิตร การเสนอข่าวทาง ASTV ก็มีการยกประเด็นสถาบันมาโจมตีทักษิณและคนเสื้อแดงตลอดมา ถามว่าประชาธิปัตย์รู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่? เราอาจต้องย้อนไปดูคำปราศรัยของประพันธ์ คูณมี สมาชิกคนสำคัญของพันธมิตรที่ว่า

“ก่อนการชุมนุมพันธมิตรฯ ปี 49 คนที่เรียกผมไปพบ คือ พี่ชวน หลีกภัย ให้ไปพบในห้องทำงาน ถ้าพูดเท็จเอาตีนมาเหยียบหน้าได้เลย นายชวนเอาเทปมาเปิดให้ดู ปรากฏว่าในเทปด่าป๋า ด่าสถาบัน ของพวกกลุ่มเสื้อแดง นายชวนเปรยด้วยความเศร้าใจว่า ทำไมบ้านเมืองเป็นแบบนี้ และบอกให้ตนออกไปช่วยพูดเพราะรู้ทันคนพวกนี้ พูดแล้วมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ให้ออกไปสู้หน่อย ตนก็บอกไปว่าสู้ตลอดชีวิตอยู่แล้ว กับคนที่ไม่จงรักภักดี” [1]

ประพันธ์ยังกล่าวอีกว่า “เพราะพันธมิตรฯ ออกมาสู้รัฐบาลถึงได้พลิกขั้ว อภิสิทธิ์ถึงได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ถ้าไม่มีพันธมิตรทหารจะไปบังคับพวกพรรคร่วม ให้พลิกขั้วหรือไม่” ขณะที่ก่อนหน้านั้น สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เคยพูดระหว่างการต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลทักษิณว่า

“...พลเอกสุรยุทธ์ โทรมา พลเอกสนธิ ให้คนใกล้ชิดโทรมา ในวังมีเยอะ เส้นสายในวัง ทุกคนสนิทหมด ผมถึงเลย คุณไม่ต้องพูดว่าถึงไม่ถึงคุณมีอะไรก็พูดมา รับรองถึงหูพระกรรณ...จนกระทั่งมีสัญญาณบางสัญญาณมาถึงผม จู่ๆ ผมสู้อยู่ก็มีของขวัญมาจากราชสำนักผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบาซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี ปรากฏว่าผมได้รับแค่วันเดียว ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา โทรศัพท์มาหาผมเต็มเลย ป๋าเปรมให้คนสนิทโทรมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ทุกคนโทรมาหมดถามว่าจริงหรือเปล่า...” [2]

ฉะนั้น เรื่องประเด็นสถาบันกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในระยะกว่า 5 ปีที่ผ่านมา การเปิดประเด็น “มือที่มองไม่เห็น” ของทักษิณจะไม่มีน้ำหนักใดๆ เลย หากสังคมไม่รับรู้ “เรื่องราว”อย่างที่สนธิพูด หรือย่างที่ประพันธ์พูด มันจึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ ทักษิณและคนเสื้อแดงจะ “กุขึ้นมาลอยๆ” แล้วทำให้สังคมคล้อยตามได้

แต่กระนั้นก็ตาม หน้าฉากประชาธิปัตย์ก็ยังพยายามเบี่ยงเบน ดังที่นิพิษฏ์ อินทรสมบัติ เขียนจดหมายตอบโต้บรรดานักเขียนที่ออกแถลงการณ์ให้แก้ไข ม.112 ว่า “ตน (นิพิษฏ์)ไม่เห็นมีการใช้สถาบัน หรือใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทำลายศัตรูทางการเมือง” ดังที่เราทราบกัน

การที่ประชาธิปัตย์พยายามบอกประชาชนว่า ข้ออ้างเรื่องสถาบันไม่เกี่ยวกับการทำลายศัตรูทางการเมือง ไม่เกี่ยวใดๆ กับการปราบปรามประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย มันไม่ต่างจากที่อภิสิทธิ์เคยยืนยันในเฟซบุ๊คผ่าน “จดหมายถึงคนไทยทั้งประเทศ” ว่า “ในความขัดแย้งที่เป็นมา ประชาธิปัตย์ไม่ใช่เงื่อนไขของความขัดแย้ง เป็นเพียงฝ่ายที่เข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยกของบ้านเมืองให้คืนสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง”

“วิธีอธิบาย” ของอภิสิทธิ์เป็นวิธีอธิบายแบบเดียวกับวิธีอธิบายของ นางผุสดี ตามไท ส.ส.ประชาธิปัตย์ในรายการตอบโจทย์ ทีวีไทยตอนหนึ่ง เมื่อ ส.ส.เพื่อไทยกล่าวว่า “นายสุเทพเคยให้สัมภาษณ์ว่า ประชาธิปัตย์จับมือกับพันธมิตรในการขนคนมาชุมนุมล้มรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย” แล้วนางผุสดีก็โต้ทันทีว่า “ไม่ได้จับมือ ไม่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นธรรมดา เมื่อชาวบ้านเขาจะออกมาชุมนุม มาเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาก็ไปขอความช่วยเหลือจาก ส.ส.ในพื้นที่เรื่องค่าเดินทางบ้าง ค่าอาหารบ้าง เมื่อชาวบ้านเขามาขอความช่วยเหลือ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในพื้นที่ก็ต้องให้ความช่วยเหลือไป”

ถามว่าตามวิธีอธิบายของนายอภิสิทธิ์ที่ว่า “ประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่เข้ามาแก้ความขัดแย้ง” แล้ววิธีแก้ความขัดแย้งด้วยการบอยคอตการเลือกตั้ง เสนอนายกฯมาตรา 7 ยอมรับการนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร แต่อ้างว่าการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหารขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐ สนับสนุนประชาชนมาชุมนุมกับพันธมิตร บอกว่าไม่เคยเห็นการอ้างสถาบัน การใช้ ม.112 ทำลายศัตรูทางการเมือง แต่กลับใช้ผังล้มเจ้า ใช้ข้อกล่าวหาเรื่องขบวนการล้มเจ้าทำลายความน่าเชื่อถือในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ฯลฯ

การกระทำดังกล่าวนี้เป็นต้น ไม่ใช่เงื่อนไขของความขัดแย้งอย่างไรไม่ทราบ และวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวนี้นำไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดองภายในชาติอย่างไรไม่ทราบ!

ยังไม่ต้องพูดถึงว่า “รัฐบาลปู” ยังไม่ทันแถลงนโยบายเลย ยังไม่ได้ทำอะไรตามนโยบายเลย แต่ประชาธิปัตย์จะถอดถอนนายกฯ และยื่นเรื่องยุบพรรคเพื่อไทยแล้ว นี่คือ “อีกความหมาย” ของคำอธิบายที่ว่า “ไม่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง” หรือครับ!

และยิ่งเป็นเรื่องตลกร้ายมากเมื่อประชาธิปัตย์ประเมินตนเองหลังเลือกตั้งว่า นโยบายเราก็ดีแต่ทำไมไม่ได้ใจประชาชน เป็นเพราะเราเป็นสุภาพบุรุษเกินไปหรือไม่ พูดแต่หลักการเหตุผล พูดเป็นวิชาการเกินไปจนชาวบ้านฟังไม่เข้าใจหรือไม่ ต่อไปต้องให้ ส.ส.ของเรามีลีลาการพูดดึงดูดความสนใจ ต้อง Acting ให้มากขึ้น ฯลฯ

ผมฟังแล้วก็ได้แต่ปลงๆ ถามว่ามีใครเข้าใจ “วิธีอธิบาย” ตามตัวอย่างที่ผมยกมาข้างต้นบ้าง ในเมื่อการพูดและการกระทำของคุณขัดแย้งกันเองอยู่แทบจะทุกเรื่อง ฉะนั้น ชาวบ้านเขาจึงเข้าใจกันเกือบทั้งประเทศว่า “ความหมายที่แท้จริง” ของวิธีอธิบายแบบประชาธิปัตย์นั้นคือ “ดีแต่พูด”

เช่นเดียวกันกรณีตอบโต้ณัฐวุฒิจนเป็นเหตุให้ต้องปิดการประชุมสภา ในเรื่องเกี่ยวกับประเด็นการอ้างสถาบัน และในวันก่อนนั้นอภิสิทธิ์ก็เรียกร้องให้รัฐบาลรับปากว่า “จะไม่แก้ไข ม.112” นี่คือการสะท้อนวิธีอธิบายว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่เงื่อนไขความขัดแย้ง และสะท้อนหลักคิดในการปกป้องสถาบันด้วยการปกป้อง ม.112 ซึ่งสะท้อนลงลึกถึง “ก้นบึ้ง” แห่งจิตวิญญาณและอุดมการณ์ประชาธิปไตยในทัศนะของประชาธิปัตย์ได้อย่างชัดแจ้งยิ่ง

เป็นความชัดแจ้งในยุคสมัยที่นักวิชาการ นักคิดนักเขียน และประชาชนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยที่ยืนยันหลักเสรีภาพและความเสมอภาค และเรียกร้องให้แก้ปัญหาการอ้างสถาบันและการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทำลายกันในทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการเรียกร้องการสร้างมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหาร และการนองเลือดเพราะความขัดแย้งจากการอ้างสถาบันขึ้นในประเทศนี้อีก

เมื่อประชาธิปัตย์ยังคงตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวของนักวิชาการ นักคิดนักเขียนและประชาชนฝ่ายก้าวหน้าในท่วงทำนองดังกล่าวมานี้ คำรำพึงที่ว่า “นโยบายเราก็ดี แต่ทำไมไม่ได้ใจประชาชน” จะยังคงเป็น “คำรำพึงประจำพรรคประชาธิปัตย์” ไปอีกนาน!

 

อ้างอิง:

  1. คำต่อคำประพันธ์ คูณมีเผย “ชวน” เคยหนุนร่วมพันธมิตร
  2. เกษียร เตชะพีระ.รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 กับการเมืองไทย. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29 ฉบับ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2551), หน้า 51.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกับนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ที่เคยสัญญาไว้

Posted: 26 Aug 2011 07:46 AM PDT

ยังจำภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใส่ผ้าคลุมผมสีแดง อุ้มเด็กและแวดล้อมด้วยสตรีมลายูมุสลิมชายแดนใต้ และคณะ อาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายนิติภูมิ นวรัตน์ เดินทางไปหาเสียงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรกและประกาศนโยบายให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษคล้ายกับกรุงเทพฯหรือเมืองพัทยา ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยจะไม่เน้นเรื่องความรุนแรง จะใช้วิธีพูดคุย ส่งเสริมและพัฒนามากกว่า

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกับนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ที่เคยสัญญาไว้

แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า คนของพรรคเพื่อไทยไม่ผ่านการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียวในสนามการเลือกตั้งภาคใต้ ทำให้เกิดวาทกรรมว่า พรรคเพื่อไทยไม่ชอบธรรมที่จะนำนโยบายเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษมาใช้เป็นนโยบายการเมืองนำการทหารโดยเฉพาะถูกต่อต้านจากฝ่ายความมั่นคง ข้าราชการ และพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างประชาธิปัตย์

สำหรับผู้เขียนมองว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่ชอบธรรมที่จะนำนโยบายการกระจายอำนาจดังกล่าว มาใช้ในภาคใต้ที่เคยสัญญาไว้ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ชอบธรรมในทุกนโยบายที่จะมาใช้ในภาคใต้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ค่าแรงงานขั้นต่ำเริ่มที่ 300 บาทต่อวัน ข้าวเปลือกขาวเกวียน 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิเกวียนละ 20,000 บาทและอื่นๆ

เพียงแต่การเดินหน้านำนโยบายการกระจายอำนาจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดังกล่าวควรให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการนำเสนอโมเดล (รูปแบบ) การปกครองก่อนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ก็ควรกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนด้วยเช่นกัน

ในขณะที่การบริหารภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์คุยนักคุยหนา ว่าเป็นการกระจายอำนาจให้คนพื้นที่มีอำนาจในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเสนอ ร่วมอนุมัติจากคนในพื้นที่ ก็ให้ดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษดังกล่าว รัฐบาลควรนำองค์ความรู้มาศึกษาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากนักวิชาการที่ได้ศึกษาในโมเดลต่างๆ โดยเฉพาะร่างของคณะทำงานการศึกษาการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กร/ เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น/ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้/ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี/ คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง/ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เพราะร่างดังกล่าวผ่านกระบวนการทางวิชาการและการลงพื้้นที่กว่า 50 เวทีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อันจะเป็นการสร้างความชอบธรรมยิ่งขึ้นต่อรัฐบาลในการนำนโยบายมาใช้หากเกิดความผิดพลาดประชาชนในพื้นที่จะช่วยเป็นเกราะกำบังให้กับรัฐบาล

ในขณะเดียวกันการอธิบายให้กับคนภายนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ หรืออยู่ภายแนวคิด “ท้องถิ่นดูแลตัวเอง” ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

อันเนื่องมาจาก แนวคิด “ท้องถิ่นดูแลตัวเอง” ไม่ใช่การปฏิเสธอำนาจรัฐ และไม่ใช่ก้าวแรกของการแบ่งแยกดินแดน การให้ท้องถิ่นดูแลหรือปกครองตนเองนั้น หมายถึงการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินกิจการของท้องถิ่นให้เป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้แต่ละท้องถิ่นสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โดยที่สามารถ “ออกแบบบ้านของตัวเอง” ได้บนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้

เพราะหัวใจของประชาธิปไตย คือ การที่ประชาชนได้ปกครองตนเอง (Self Government) มิใช่เป็นเพียงผู้ถูกปกครองเท่านั้น

การจะหวนกลับคืนสู่สาระสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย เพื่อมิให้อำนาจของประชาชนมีเพียง 4 วินาทีใน 4 ปีที่คูหาเลือกตั้งนั้น จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทในการปกครองตนเองมากขึ้น ซึ่งแนวคิดการปกครองตนเองนี้มิได้ปฏิเสธนักการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎร หากแต่โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะให้คนในท้องถิ่นมีโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำในการดูแลบ้านเมืองของตนเองให้มากขึ้น มิใช่ทำหน้าที่เพียงเป็นผู้รอรับบริการหรือรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง อันมีความหมายรวมถึงการมีอำนาจในการต่อรองและการตัดสินใจเพื่อให้คนในท้องถิ่นสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม การสาธารณสุข หรือการพัฒนาชุมชน

ที่สำคัญหลักการปกครองตนเองได้ถูกประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดเจนในมาตรา 281 ว่า

“ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ระบุให้รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีอิสระในการดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นภายใต้หลักบูรณภาพแห่งดินแดนอันแบ่งแยกไม่ได้ โดยราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะต้องไม่แทรกแซงการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ รัฐจะต้องกระจายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ อำนาจการตัดสินใจ และอำนาจการบริหารจัดการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปรับลดบทบาท ตลอดจนลดการกำกับดูแลของราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลง เพื่อให้เป็นไปตามหลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะคงไว้ก็แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การพิจารณาพิพากษาคดี การต่างประเทศ และการเงินการคลังของประเทศโดยรวมเท่านั้น

ในทางปฏิบัติ รัฐจะต้องจัดให้มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจหน้าที่ให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งระหว่างส่วนต่างๆ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้อง “ก้าวให้พ้นไปจากการควบคุมกำกับ ไปสู่ความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน ต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์แนวตั้งระหว่างรัฐและภูมิภาคที่อยู่ในฐานะควบคุม กำกับ สั่งการ มาเป็นความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาที่มีความเท่าเทียมกันในแนวนอนแทน โดยจะต้องแก้กฎหมาย กฎระเบียบใหม่” โดยกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นและของประเทศชาติ แต่จะกระทบต่อสาระสำคัญแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้ ซึ่งหากขัดต่อหลักการปกครองตนเอง รัฐก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งระบุว่าหลักเกณฑ์ของการกำกับดูแลควรต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แตกต่างกันในหลายรูปแบบ เพื่อให้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเลือกไปปฏิบัติเองตามความเหมาะสม

หรือ การกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว ควรทำไปพร้อมกับจังหวัดจัดการตนเองอื่นๆที่พร้อมอย่างเช่นเชียงใหม่มหานครที่กำลังเรียกร้องอยู่เช่นกัน

ท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจในแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างบริสุทธิใจของรัฐบาลใหม่ และขอให้ทุกคนสุขสรรค์ในเดือนรอมฎอนและวันตรุษอิดิลฟิตร์ ของชาวมุสลิมทุกท่าน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

Posted: 26 Aug 2011 07:33 AM PDT

"ผมเป็นอำมาตย์ 100% ในชีวิตไม่เคยทำอะไร นอกจากเป็นข้าราชการ อำมาตย์ก็คือข้าราชการ มียศ มีศักดิ์ ใช่...แล้วไง แล้วตอนบ้านเมืองจนมุม ก็มีแต่พวกอำมาตย์กู้ชาติ ถ้าผมตายก็ตาย ไม่รู้จะเตือนอย่างไร จำนวนคนอวิชชามันเยอะ ถ้าเขาฟังก็ฟัง เขาด่าเราก็ไม่ด่าตอบ ทำตามบทบาทหน้าที่ ทำได้เท่านี้ แล้วก็ทำไม่เคยหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก็ทำงาน" [1]

สุเมธ ตันติเวชกุล นับเป็นบุคคลสำคัญของป้อมค่ายฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ชีวิตมีสีสันอย่างมาก เขาเรียนระดับปริญญาตรีที่เวียดนาม มีประสบการณ์ที่ฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาลุยงานต่อสู้คอมมิวนิสต์ และคุมโครงการในพระราชดำริ ว่ากันว่าเขาทำงานไม่หยุด แม้อายุจะเลยวัยเกษียณมาแล้วก็ตาม ด้วยความที่เขาเป็นคนทำอะไรจริงจัง เป็นผู้ใหญ่เสียงดังโผงผาง พูดจาขวานผ่าซาก แต่ก็เปี่ยมไปด้วยบารมีอันเป็นที่เกรงใจแก่ผู้น้อยทั้งหลาย

ระยะหลังพบว่า เขามีพฤติกรรมที่น่ากังขา และมีความลักลั่นไม่สมเหตุสมผลในคำเทศนา ดุจจะสวนทางกับสิ่งที่เขากระทำ แต่ด้วยขนบของสังคมไทยที่ยังคงรักษาลำดับชั้นของสังคม มักจะละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ “ผู้อาวุโส” “คนดี” นี่จึงทำให้ “ผู้อาวุโส” “คนดี” จึงทำหน้าเคร่งขรึมลอยหน้าลอยตาเข้ามามีบทบาทสำคัญในสถาบันทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยความเกรงใจหรือเกรงกลัวก็ตาม ขณะที่หากเป็นคนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมและอยู่ในวัยเยาว์ กลับต้องเผชิญกับคำปรามาส และดูถูก การอ้างเหตุผลและถกเถียงกันอย่างอิสระ เป็นหนทางที่น้อยครั้งที่จะนำไปสู่การหาคำตอบ ขณะที่ข้ออ้างของการอาบน้ำร้อนมาก่อน ประสบการณ์ เส้นสายและการอุปถัมภ์ กลับเป็นยาสามัญประจำบ้านในการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาของชาติ

สุเมธจึงเป็นอีกหนึ่งในคนดีและผู้อาวุโสที่ผู้เขียนเห็นว่า ควรถูกตั้งคำถามจากพฤติกรรมและปรากฏการณ์ที่ผ่านมา การที่ใครคนใดคนหนึ่งผลิตข้อเขียนและอุดมการณ์ อันส่งผลกระทบต่อสังคมสาธารณะ โดยไร้การตรวจสอบและการตั้งคำถามนั้น มิใช่สัญญาณที่ดีของสังคมประชาธิปไตย มิใช่หนทางของสังคมแห่งความหวังและจินตนาการ ผู้เขียนเชื่อว่าการที่เราจะปิดตาแกล้งทำตาบอดข้างเดียวให้กับ “การเมืองของคนดี” อาจทำให้เรามืดบอดไปจริงๆ กับหนทางการไปข้างหน้า และนั่นคือ ความฉิบหายที่เราต้องแบกรับ

บทความนี้ตั้งใจเสนอ เนื่องในโอกาสที่ครบ 6 รอบนักษัตรชีวิตของสุเมธใน วันที่ 26 สิงหานี้ โดยใช้ข้อมูลหลักมาจากหนังสือ 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่จัดทำโดยคณะทำงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุไว้ว่าจัดทำ “เพื่อระลึกถึงคุณูปการที่ท่านได้ผลักดันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มั่นคง และต่อเนื่อง” [2]

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
จัดทำโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ถือกำเนิดในตระกูลอำมาตย์

สุเมธ เกิดในตระกูลโบราณที่เคยเป็นเจ้าเมืองและคหบดีเมืองเพชรบุรีมาก่อน เขาลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2482 สุเมธเล่าว่า เขาได้รับการสอนมาเป็นอย่างดีในคุณสมบัติที่ต้องนอบน้อมถ่อมตน ถึงขนาดว่า เวลาทวดพาไปตลาด เจอแม่ค้าทวดสอนให้ยกมือไหว้แม่ค้า สุเมธเข้าใจว่า “ถูกเลี้ยงดูและโตขึ้นมาอย่างแบบนั้น คือไม่ลืมตัว ถ่อมตน ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันในสังคม” [3]

เขาเล่าว่า เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมของบ้านเรือนไทยหมู่ที่มีอยู่ด้วยกัน 5 หลัง ขณะที่มารดาคือ ประสานสุข ตันติเวชกุล ที่มีคำนำหน้าเป็นท่านผู้หญิง ทำงานเป็น “ต้นเครื่อง” ในวังสวนจิตรลดา เป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [4] ขณะที่บิดาคือ อารีย์ ตันติเวชกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลถนอม กิตติขจร [5] ในปี 2501 เป็นรัฐบาลที่ 2 หลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพิบูลสงครามในปี 2500 อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์ได้ระบุว่า พ่อและแม่ของเขาแยกทางกันอยู่ตั้งแต่เขายังอายุ 5 ปี ได้ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาด้วย [6] นั่นคือ

“โชคดีที่มีแม่เป็นหลัก แม่แทนทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าสังเกตให้ดีกิริยามารยาทของผมบางทีเป็นผู้หญิง เพราะถูกแม่สอนมาตลอด เดินดังก็ไม่ได้ต้องโดนเอ็ด" แม้เขาจะไม่ได้ตัดพ้อและฟูมฟาย แต่ก็ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่ดีงามรายล้อมตัวเขาอยู่ ถึงขนาดกล่าวว่า “หากเกิดมาในสลัมแล้วชีวิตต้องแก่งแย่งปากกัดตีนถีบ เพื่อความอยู่รอด เมื่อโตมาก็ต้องมีชีวิตแบบนั้น ฉันใดก็ฉันนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม”

ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความเท่าเทียมในสายตาของสุเมธนั้นเป็นอย่างไรกันแน่?

ชีวิตของสุเมธในวัยเรียน ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาที่เพชรบุรีเพื่อหลบไฟสงคราม พอจบสงครามโลกครั้งที่ 2 สุเมธก็กลับไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก [7] จากนั้นเขาได้ศึกษาต่อ ณ โรงเรียน “ผู้ดี” วชิราวุธวิทยาลัย ราวๆปี 2497-2498 คนดังร่วมรุ่นก็คือ อดิศัย โพธารามิก, พล.อ. แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ฯลฯ [8] และในสถาบันแห่งนี้เองที่เป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรก

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

สุเมธ ตันติเวชกุล ในเครื่องแบบโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

 

เล่าเรียนถึงเวียดนาม ลาว ฝรั่งเศส

หลังจากจบวชิราวุธวิทยาลัย สุเมธมีโอกาสไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศเวียดนาม ในขณะนั้นยังอยู่ในสถานการณ์สงครามที่เวียดนามต้องการจะปลดปล่อยตนเองจากประเทศเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ทำให้เขาต้องย้ายเข้าไปเรียนต่อในลาว และฝรั่งเศสตามลำดับ [9] สุเมธบันทึกว่า ในครั้งนั้นได้โอกาสรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ที่ทั้งสองพระองค์เสด็จเวียดนามเมื่อ วันที่ 18-21 ธันวาคม 2502

หลังจากที่ได้อนุปริญญาตรีทางปรัชญาที่ลาวแล้ว จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกรอนอบ ปริญญาโทและเอกทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมองเปลิเอ วิทยานิพนธ์ของสุเมธทำเรื่อง ระบบการปกครองแบบทหาร เป็นตัวจบการศึกษาในปี 2512 [10] วิทยานิพนธ์นี้ได้รับพิจารณาให้เป็นวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม พร้อมคำสดุดีจากคณะกรรมการ สำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสนั้น เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากสังคมไทย ทำให้ได้พบเจอประสบการณ์ที่เขาไม่อาจหาได้ สุเมธเล่าว่าเมืองที่เขาเคยอยู่ Lyon มีการนัดหยุดงานประท้วงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นเขายังเคยทำงานพิเศษเป็นกรรมกรในโรงงานน้ำแร่ Evian ที่นั่นทำให้เขาเห็นความแตกต่างจากสังคมไทยอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ การที่ประธานบริษัทที่เข้ามาตรวจงาน หากเห็นว่างานล้นก็จะเข้ามาช่วย [11] สุเมธเลือกอธิบายว่า นั่นคือการปกครองบริหารคนอย่างเข้าถึงจิตวิทยา ว่า “อย่าสั่งอย่างเดียวต้องร่วมทำ” ด้วย นั่นคือวิธีคิดแบบคนที่ถูกฝึกมาให้เป็นเจ้าคนนายคน ขณะที่โอกาสการทำงานของสุเมธนั้น มาจากโครงสร้างระบบการหมุนเวียนแรงงานที่เปิดโอกาสให้กรรมกรหยุดพักร้อน และเป็นช่วงที่รับนักศึกษาเข้ามาทำงานแทน

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ขณะศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

 

อย่างไรก็ตามประสบการณ์กรรมกรครั้งนั้นสุเมธถือว่า ได้สอนอะไรหลายอย่างให้กับเขา “ให้ความรู้สึกมากมาย รู้สึกถึงความเหนื่อยยากของชีวิตกรรมกร เงินแต่ละสิบแต่ละร้อยต้องแลกกับหยาดเหงื่อท่วมกาย รู้สึกและรู้ค่าของเงินอีกมาก” [12] ขณะที่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 พรรคการเมืองอย่าง เพื่อไทย นำเสนอนโยบายค่าแรง 300 บาท รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆเสนอนโยบายประชานิยม สุเมธกลับชี้ว่า

“ผมเหมือนอยู่ในความฝันเวลาขับรถไป เห็นทุกป้ายสร้างความฝันให้ผมว่าแรงงานระดับล่างกำลังจะได้รับเงิน 300 บาทต่อวัน และจะปลดหนี้ไม่มีหนี้แล้ว...แต่เผลอแป๊บเดียวความฝันผมก็หายไป นโยบายต่างๆ กำลังบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่มองว่าจะส่งผลเสียนานัปการไม่เหลืออะไรเลย คนไทยแม้แต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ตามบ้านนอกมีคนเอาของไปล่อ เกิดความอยากได้ กลายเป็นคนหิวกระหายและนิสัยเสียไปหมด” [13]

 

กลับเมืองไทย การเข้าเฝ้า และชีวิตที่ถูกลิขิต

สุเมธกลับมาอยู่เมืองไทยในปี 2512 ด้วยความที่จบรัฐศาสตร์การทูตจึงได้งานที่กระทรวงต่างประเทศ เข้าใจว่าก่อนจะเข้าทำงาน ได้ไปกราบในหลวงที่หัวหินด้วย ในฐานะที่สุเมธเป็นลูกข้าราชบริพาร การเข้าเฝ้าครั้งนั้น ในหลวงรับสั่งถามเรื่องการศึกษาและสถานที่ทำงาน เมื่อทรงทราบว่าเป็นกระทรวงต่างประเทศพระองค์ก็ทรงเฉยและไม่ทรงคุยต่อ ในเวลาต่อมา ก่อนที่สุเมธจะเข้าทำงาน ณ กระทรวงต่างประเทศ ก็ได้ข่าวจากเพื่อนว่า ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องการคนเรียนจบปริญญาเอก และได้ชักชวนสุเมธให้มาทำงานร่วมกัน สุเมธจึงกลับไปเข้าเฝ้าในหลวงอีกครั้ง และกราบบังคมทูลเรื่องดังกล่าว ในครั้งนี้พระองค์ทรงรับสั่งว่า “ดีนะสภาพัฒน์ฯ ช่วยเหลือประเทศที่นี้ดีๆ” จากนั้นก็มีพระกระแสรับสั่งคุณหญิงมณีรัตน์ บุนนาค [14] ว่า “ส่งสุเมธไปพบคุณหลวงเดชสนิทวงศ์ พรุ่งนี้”

นั่นคือ ความเป็นมาของงานแรกที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในตำแหน่ง วิทยากรโท กองวางแผนกำลังคน เมื่อปี 2512 [15] ปีต่อมาเขาได้ย้ายไปสังกัด กองวางแผนเตรียมพร้อมทางเศรษฐกิจ ในบันทึกยังระบุว่า กองวางแผนเตรียมพร้อมนั้นมีไว้เตรียมรับกับสงคราม จนคลอดออกมาเป็น “แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ” ไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเขาแสดงความเห็นว่า แผนดังกล่าวเมื่อเสร็จแล้วก็เก็บอยู่ในตู้มิได้มีปฏิบัติการใดๆ สุเมธได้โต้เถียงกับพวกนายทหารที่ดูแลนโยบายด้านความมั่นคง เกี่ยวกับยุทธวิธีทางทหาร สุเมธไม่เห็นด้วยในการประเมินว่าจะต้องใช้สงครามเต็มรูปแบบต่อสู้กับการรบแบบกองโจรของคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามในครั้งนั้น เขาถือว่า ได้รับการดูถูกว่าเป็นเพียงความเห็นของข้าราชการพลเรือน จึงทำให้เขามีมานะในการเรียนต่อที่วิทยาลัยการทัพบก ปรากฏว่าเขาสำเร็จการศึกษาในรุ่น 23 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ประมณฑ์ พลาสินธุ์ (อดีตผู้บัญชาการทหารบก) ศิรินทร์ ธูปกล่ำ ฯลฯ [16]

หลัง 6 ตุลาคม 2519 ยุครัฐบาลหอย ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขณะนั้นสุเมธ อยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 6 และรักษาการหัวหน้ากองวางแผนเตรียมพร้อมและพัฒนาเพื่อความมั่นคง เขาเล่าว่า ได้เข้าพบเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สิทธิ เศวตศิลา ในยศพลอากาศเอก เพื่อนำเสนอแนวทางการต่อสู้ว่า ควรเปลี่ยนเป็นแนวทางการพัฒนาในพื้นที่สีแดง ใช้การต่อสู้ทางความคิด ครั้งนั้น สิทธิ รับปากว่าจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เงื่อนไขของสุเมธในการแก้ไขปัญหาก็คือ จะต้องมีอำนาจและงบประมาณอยู่ในมือ ส่วนอำนาจในระดับชาติ ใช้อำนาจของคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติอนุมัติแผนและโครงการ แล้วนำเรื่องขออนุมัตินายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ขณะที่อำนาจเชิงปฏิบัตินั้น ขอให้แต่งตั้งเขาเป็นเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพภาคทั้ง 4 ภาค โดยมีแม่ทัพภาคเป็นประธาน โดยที่อำนาจก็ยังอยู่ใน อำนาจสั่งการของแม่ทัพภาคในฐาน ผู้บัญชาการกองอำนวยการรักษาความมั่่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค [17]

ในที่สุด นายกรัฐมนตรีก็อนุมัติ การดำเนินการครั้งนั้นมี บุญญรักษ์ นิงสานนท์ เป็นมือขวา และพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต เป็นมือซ้าย ครั้งนั้น สุเมธเองก็ได้บรรจุเป็นกำลังพลของ กอ.รมน. ความหมายของ การบรรจุ นั้นหมายถึง เป็นบุคลากรที่ต้องปฏิบัติการในพื้นที่สู้รบ [18]

 

สู้สงครามคอมมิวนิสต์ อ้างตัวว่าเป็นต้นตอคำสั่งที่ 66/23

สุเมธกล่าวอย่างภูมิใจว่า ตั้งแต่ได้รับงานนี้จนถึงปี 2524 เขาได้ลงสนามรบทั่วประเทศที่มีการก่อการร้ายในทุกภาค ลงไปวางแผนวางโครงการโดยการเมืองนำการทหาร ซึ่งเขาอ้างว่า เป็นต้นตอของคำสั่งที่ 66/23 การลงพื้นที่เพื่อประสานกับแม่ทัพภาคต่างๆ ทำให้เขาเจอกับ เปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่2 [19] เขายังเล่าต่อไปว่า “ชีวิตนอนกลางสนามรบ สะพายปืน โดดร่ม ถูกยิง เฉียดกับระเบิด เฮลิคอปเตอร์ตกกลางป่าที่อุทัยธานี”

สุเมธพยายามบ่ายเบี่ยง กอ.รมน. ที่ได้เสนอบรรจุเป็นกำลังพล แต่ก็ไม่ยอม ซ้ำยังย้อนกลับไปว่า “ป้องกันชาติบ้านเมืองต้องจ้างกันด้วยหรือ” ผู้อ่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ในสถานการณ์สงครามเช่นนี้ พวกข้าราชการเหล่านี้จะมีเบี้ยเลี้ยงพิเศษและวันราชการนับทวีคูณ การปฏิเสธคงแค่เป็นการแก้เกี้ยว เพราะในที่สุด กอ.รมน.ก็ตั้งการเบิกจ่ายน้ำมันให้เดือนละ 80 ลิตร เบี้ยเลี้ยงประมาณ 1,000 บาท และได้วันทวีคูณมา 9 ปี [20] ซึ่งกรณีสุเมธ เขาได้อายุราชการเพิ่มตอนเกษียณอีกต่างหาก

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

แม่ทัพภาคที่ 2 เปรม ติณสูลานนท์

 

แก้ไขแบบไม่ตามก้นฝรั่ง ก็ชนะคอมมิวนิสต์ได้

การทยอยเข้ามามอบตัวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หลังนโยบาย 66/23 แสดงให้เห็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของรัฐไทย สุเมธบันทึกโดยไม่พูดให้หมดถึงปัจจัยสาเหตุความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างจริงจัง นั่นคือ สถานการณ์แตกหักระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียตรัสเซีย ความคุกรุ่นของความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ขณะเดียวกันภายใน พคท.เองก็ประสบปัญหาการแตกแยกทางความคิดภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเอง โดยเฉพาะระหว่างคณะนำกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่เข้าไปพยายามมีบทบาทในพรรค [21] สุเมธสรุปเอาเองอย่างไร้บริบททางประวัติศาสตร์ว่า ทฤษฎีโดมิโน่อันเป็นการอธิบายถึงการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ฝรั่งเสนอ มาหยุดที่เมืองไทย เพราะ “เราแก้แบบไทยไม่ตามฝรั่งเขาที่ใช้อาวุธมากมายมหาศาล แต่สุดท้ายต้องแก้ไข ‘คนและความคิดอุดมการณ์’ ” ชัยชนะที่ได้มาจากภาวะที่ง่อนแง่นของพคท. ทำให้ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะสุเมธย่ามใจในการนิยามความสำเร็จอย่างพิลึกพิลั่น เช่นการพูดว่า “เรา(ทำ)ให้สงครามมาร์กซิสต์ ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง”คนมีกับคนไม่มี” มาเป็นการทำให้ “คนไม่มีเป็นคนมี”” [22]

ขณะที่การอธิบายว่า “เราชนะศึกโดยไม่ได้ใช้อาวุธ เราใช้แทรกเตอร์แทนรถถัง เราใช้จอบเสียมแทนเอ็ม 16 เราใช้ สทก. (หนังสือสิทธิทำกิน ในเขตป่าสงวน) ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของแผ่นดิน” [23] ก็เป็นการละเลยที่จะไม่พูดถึงการใช้อาวุธสงครามหนักถล่มฐานที่มั่นของ พคท. ซึ่งเป็นการกสกัดกั้นเชิงยุทธวิธีที่ต้องทำงานควบคู่กัน

 

ข้าราชการ ซี 22 รับงานโครงการในพระราชดำริควบสภาพัฒน์

หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเปรม ในปี 2523 ก็ได้มีการตั้ง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งเคยเป็นหน่วยงานหนึ่งในกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [24] เปรมได้ทาบทามสุเมธให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วย ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [25]

สุเมธวิเคราะห์ว่า โครงการพระราชดำริมีลักษณะสนับสนุนยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงภายในของฝ่ายทหาร ด้วยการรุกทางยุทธศาสตร์การเมือง เพื่อช่วงชิงพื้นที่เดิมใต้อิทธิพลคอมมิวนิสต์กลับมา และฟันธงว่า โครงการพัฒนาของโครงการพระราชดำริมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงได้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการพัฒนาตามแนวทางของรัฐบาล ซึ่งแน่นนอนว่าโครงการฯ มีเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบททุรกันดาร ในลำดับความสำคัญต่ำที่รัฐบาลมองข้ามไป [26]

ต่อมาในปี 2531 สุเมธก็ได้รับตำแหน่งเลขามูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมูลนิธิมีวัตถุประสงค์เพื่อ “เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว” มูลนิธินี้ในหลวงทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน [27] สุเมธได้รับความไว้วางใจในเรื่องการเงิน จนได้รับฉายาจากในหลวงว่า “ถุงเงิน” [28]

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ตำแหน่งสำคัญในมูลนิธิชัยพัฒนา

 

ภารกิจอันหนักหนาของสุเมธ ทำให้เกิดที่มาของคำว่า ข้าราชการ “ซี 22” ได้มาจากการทำงานควบ 2 ตำแหน่งงาน นั่นคือ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกปร. ที่อยู่ในระดับ ซี 11 ทั้งคู่ และวลี ซี 22 ก็ยังปรากฏการอ้างอิงอยู่เสมอในหมู่คนรู้จักของสุเมธ ซี 22 จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของสุเมธว่า เป็นคนทุ่มเททำงานหนักและเอาจริงเอาจัง และมีความสำคัญเพียงใดในแวดวงราชการ

เดือนมีนาคม 2535 ก่อนเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ที่มาจากการรัฐประหาร อนุมัติหลักการแยก กปร. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยยกฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามมีผลทางกฎหมายก็เมื่อ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2536 มีผลบังคับใช้ในเดือน กันยายน 2536 แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของหน่วยงานกปร.ที่โตเกินจะอยู่ในสภาพัฒน์แล้ว

 

งานเขียน และการสัมมนา การผลิตซ้ำทางอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมโดยสุเมธ

หากเราจะดูพัฒนาการทางความคิดและการปฏิบัติผ่านร่องรอยที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกที่เขาลงสนามรบกับคอมมิวนิสต์จะมีงานเขียนไม่มาก เท่าที่พบก็คือ การพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติ (2521) การศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการพัฒนาหมู่บ้านยากจนเพื่อความมั่นคง (2525) “การพัฒนาชนบทตามระบบ กชช.” ใน ชนบทไทย 2527 (2527) “บทบาทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการสนับสนุนความมั่นคงของชาติในพื้นที่ชนบทของประเทศ” (2529) สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องที่ชนิดา ชิดบัณฑิตได้นำเสนอว่า อุดมการณ์ด้านการพัฒนาของไทยมีความเชื่อมโยงกับสงครามเย็น [29]

โดยเฉพาะเมื่อเขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาในปี 2531 ทำให้เกิดงานเขียนแนวเทิดพระเกียรติในด้านการพัฒนาขึ้น ได้แก่ ในหลวงนักเศรษฐศาสตร์ (2530) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับงานพัฒนา (2531) ในปี 2536 เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) [30] จึงทยอยมีงานทางด้านวิชาการที่เป็นระบบมากขึ้น นั่นคือการจัดสัมมนาดังนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาการเกษตรยั่งยืน (2536 : ฉะเชิงเทรา) การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2537 : ราชบุรี) บทความ “มูลนิธิชัยพัฒนา : พระราชดำริเพื่อนำปวงไทยให้บรรลุถึง “ชัยชนะแห่งการพัฒนา” “ ใน จิตวิทยาความมั่นคง (2538) “แนวพระราชดำริและการพัฒนาชนบท” ใน การประชุมวิชาการเรื่อง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเทคโนโลยีชนบท (2538) การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ครั้งที่ 3 : 2542 : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) แม้กระทั่งการหนังสืออนุสรณ์งานศพในนาม โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2539) [31]

กระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ทำให้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ (ขณะที่สุเมธอ้างว่า ในหลวงตรัสเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2517) ด้วยความใกล้ชิดกับในหลวงและภารกิจงานที่เขารับผิดชอบมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับชุดความคิดนี้ สุเมธจึงถือว่า เป็นอรรถกถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการเผยแพร่ความคิดนี้ออกสู่สาธารณะมากที่สุดคนหนึ่ง

 

คนดี มือสะอาด สมถะ ทำงานหนัก มีผลงาน

“การทำความดีนั้นน่าเบื่อ ประการถัดไป การทำความดีนั้นมันยาก ทำไมมันยากเพราะมันไปสวนกระแสชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์คือสัตว์อย่างหนึ่งที่ถูกกระตุ้นโดยแรงตัณหา แรงอาฆาต กิเลส ความอยาก” [32] นี่คือ นิยามความดีของสุเมธที่ได้เรียนรู้มาจากในหลวง ความดีเหล่านี้เป็นความบริสุทธิ์ที่อยู่ตรงข้ามกับกิเลส ตัณหา แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่า จะมุ่งให้ทุกคนละกิเลสได้หมด แต่การจะเป็นคนดีนั้นหัวใจสำคัญก็คือ ขอเพียงควบคุมกิเลสให้ได้

คำสรรญเสริญที่เป็นรูปธรรมของสุเมธ ก็คือ การได้รับรางวัลการันตีความเป็น “คนดี” จากสถาบันต่างๆ ได้แก่ รางวัลบุคคลตัวอย่าง ประจำปี 2537 จาก มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ [33] รางวัลผู้บริหารราชการดีเด่น (ครุฑทองคำ) ปี 2538 จากสมาคมข้าราชการพลเรือน และได้รับโล่ห์รางวัลเชิดชูเกียรติ บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จากสำนักงาน ป.ป.ป. ปี 2540 [34] ที่น่าสนใจก็คือ สุเมธระบุว่า รางวัลนี้ไม่มีใครได้มานานมากแล้วเพราะคนที่ได้ล่าสุดคือ สิทธิ จิระโรจน์ ซึ่งมีอายุห่างจากสุเมธกว่า 20 ปี [35]

แน่นอนว่า “คนดี” นั้นจะต้องเอาใจใส่พุทธศาสนา ฝักใฝ่ต่อการขัดเกลาทางธรรมของตน สุเมธบันทึกเอาไว้ว่า เขาผ่านการบวชมา 4 ครั้ง เณร 1 ครั้ง และบวชพระ 3 ครั้ง โดยสองครั้งหลังเป็นการบวชวัดป่า เขาเล่าต่อไปว่า ครั้งล่าสุดคือเมื่ออายุได้ 65 ปี หากเทียบแล้วก็อยู่ราวๆปี 2547 ครั้งนั้นบวชอยู่ที่สกลนคร ในสายอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ของพระป่านิกายธรรมยุตในยุคปัจจุบัน [36]

“การบวชครั้งล่าสุดนี้ทำให้รู้สัจธรรมว่าร่างกายต้องการอาหารน้อยนิด กินแบบอดอยาก มีน้ำตาลน้อยลง ไขมันก็ไม่อุดตัน ร่างกายก็แข็งแรงแม้ว่าน้ำหนักจะหายไปถึง 8 กก. ไม่ต้องมาอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี มีผ้านุ่งเพียง 4 ผืน กับบาตรเท่านั้น ทำให้ซึ้งสัจธรรมอีกข้อว่า ชีวิตเราเกิดมาจากการขอ อยู่ได้ด้วยความเมตตา มีความสุขที่สุดจากคนที่ไม่มีอะไร...ไม่ต้องรับรู้ในสิ่งที่ไร้สาระ นั่งสมาธิกระทั่งพบพลังจิตอันว่างเปล่า อันเป็นพลังบริสุทธิ์" [37]

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

บรรยายพิเศษเรื่อง “ตามรอยเท้าพ่อ”
โครงการบวชพุทธสาวิกาภาคฤดูร้อน 2553
ณ เสถียรธรรมสถาน

 

ปีที่บวชครั้งสุดท้ายยังตรงกับการที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด 2547 [38] ในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ระบุว่า “เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมีจริยธรรม มีคุณธรรม รังเกียจการทุจริต ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีความใสสะอาด” และ “เพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย” [39] นั่นจึงมิใช่เรื่องแปลกอันใดที่ สุเมธยังมีตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ และกรรมการธรรมาภิบาล ในบริษัทเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ด้วยในปัจจุบัน [40]

ดังนั้นคนดีในเชิงการเมือง จึงมิได้เป็น “ความดี” ด้วยตัวของมันเอง แต่การเป็นคนดีเช่นนี้จะมีความสามารถในควบคุมกิเลสให้อยู่หมัดทั้งในกิเลสส่วนตัว และครอบคลุมไปถึงกิเลสของสังคมด้วย การอธิบายเช่นนี้เข้ากันได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับแนวคิด “เผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาส ที่เชื่อมั่นในตัวบุคคลที่มีศีลธรรมและความดีอยู่เต็มเปี่ยม ว่า เมื่อทุกอย่างเริ่มต้นด้วยคนดีแล้วปัญหาทุกอย่างก็ไม่ต้องห่วงแล้วว่าแก้อย่างไร ซึ่งทัศนะเช่นนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา และที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ตำแหน่งบริหารในองค์กรสำคัญในประเทศไทย เมื่อชีวิตเริ่มต้นที่ 60

ภารกิจงานจำนวนมากที่สุเมธได้ทุ่มเท ตลอดชีวิตราชการ นอกจากจะสร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการทำงานอุทิศให้กับในหลวงเรื่อยมา จึงไม่เรื่องแปลกที่สุเมธเป็นบุคคลต้นแบบที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ (เมื่อเดือนเมษายน 2554 เขาได้ออกรายการ The Idol คนบันดาลใจ ทางช่อง Modern Nine ด้วย) ข้าราชการ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม เขาถือเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่ายิ่งสำหรับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการเขาไปเป็นส่วนหนึ่ง สุเมธครบวาระเกษียณอายุเมื่อปี 2542 แต่เราพบว่าก่อนหน้านั้นสุเมธดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในส่วนที่เป็นหน่วยงานของรัฐได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2537-2539) กรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (2537-2539) ประธานกรรมการ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (2540-2541)

ในส่วนของธุรกิจเอกชน ได้แก่ กรรมการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (2537-2544) กรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (2539-2540) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (2540-2541) กรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (2540-2543)

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “รวมใจ รวมไมล์ เพื่อชัยพัฒนา” ซึ่งการบินไทยจัดขึ้น เพื่อขอรับการบริจาคไมล์จากสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส เพื่อมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา 24 มิถุนายน 53

 

ที่พึ่งของสถานศึกษา กับ 6 ปี ในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การทำงานมาตลอดชีวิตราชการ ทำให้เขาเป็นที่กว้างขวาง ดังที่พบว่าเขาได้รับเชิญให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนั้น เดิมเป็นเพียงตำแหน่งทางเกียรติยศ ถือได้ว่าเป็นสภาเกียรติยศ หรือสภาตรายางที่ไม่มีอำนาจ [41] ที่น่าสนใจก็คือ หลังการปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี 2542 สภามหาวิทยาลัยได้รับการกระจายอำนาจการบริหารจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษา (กพอ.) ได้โอนอำนาจบริหารให้มาอยู่กับสภามหาวิทยาลัย ยกเว้นแต่ การของบประมาณจากรัฐบาล และการแต่งตั้งที่ต้องสู่ระบบโปรดเกล้าฯ ก็คือ การแต่งตั้งตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และศาสตราจารย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาตรายาง มาเป็น “สภารับผิดชอบ” ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นทางกฎหมาย [42] ดังนั้นตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญมากขึ้นหลังปี 2542 ผลของการกระจายอำนาจ ทำให้แต่ละสถานศึกษา ปรับตัวในการดึงบุคลากรที่มีบารมี ความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้น ผู้ที่จะมาอยู่ในสภายิ่งจำเป็นก็ต้องมีพลังขับเคลื่อนมากพอสำหรับมหาวิทยาลัยนั้นๆด้วย

ประจวบเหมาะกับที่ช่วงสุเมธ เกษียณอายุราชการในปี 2542 เขาได้รับตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง บางแห่งก็เป็นกรรมการตั้งแต่ก่อนเกษียณ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2541-2543) กรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ (2542-2544) กรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา (2544-?) กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร (2549-2551) เชื่อได้ว่า สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยจากการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการกระจายอำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว การได้รับการเชิญไปเป็นกรรมการสภา คาดว่าเนื่องมาจากการที่เป็นคนที่มีทุนทางสังคมสูงและมีเครือข่ายที่น่าจะเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยต่างๆได้ โปรดสังเกตว่าอำนาจที่จะเชื่อมกับการโปรดเกล้าฯ ไม่ได้อยู่ในมือของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย แต่ไปอยู่กับเครือข่ายภายนอก

อย่างไรก็ตาม ในสายตาผู้เขียนเห็นว่า ช่วงเวลาที่มีนัยทางการเมืองอย่างมากก็คือ การที่สุเมธ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กินเวลาถึง 3 วาระ เป็นระยะเวลา 6 ปี (2548-2554) เพียงการเสนอชื่อ สุเมธ จากกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ก็เกิดข้อสงสัยจากประชาคมธรรมศาสตร์ต่างๆกันไปว่า “ใครเป็นคนเสนอชื่อ” “ชื่อนี้มาได้อย่างไร” “ไม่ใช่คนธรรมศาสตร์ จะเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยได้หรือ” “มีเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้ใช้ระบบบังคับบัญชา จะทำได้หรือ” [43] แต่อย่างไรก็ตามไม่พบว่า นอกจากข้อสงสัยดังกล่าวแล้ว มีอุปสรรคใดๆหรือไม่ที่ขัดขวางการเข้ามาดำรงตำแหน่งของสุเมธ นอกจากนั้นความเชื่อมโยงระหว่างสุเมธกับธรรมศาสตร์นั้น อาจนับได้ตั้งแต่ปี 2513 ที่เขาไปสอน เขาเริ่มไปสอนทฤษฎีการเมือง ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จุดนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เขามีความสัมพันธ์กับธรรมศาสตร์ เขาอ้างว่า ลูกศิษย์รุ่นแรกเขาคือ นพดล เฮงเจริญ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งถึง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ [44]  ดังนั้นในทางคอนเนคชั่นไม่น่าจะเป็นที่กังขาเท่าใดนัก การเข้ามาของสุเมธ อยู่ในช่วงที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเมือง การนัดพบระหว่างสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีกับสุเมธ เพื่อทาบทามอย่างให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ มีการบันทึกไว้ว่าม ประเด็นที่พูดคุยของสุเมธแสดงความเป็นห่วงของสถานการณ์ของบ้านเมืองตั้งแต่เมื่อแรกพบ [45]

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)
เป็นประธานพิธีถวายสังฆทานพระสงฆ์ เนื่องในวัน ปรีดี ประจำปี 2554
ภาพจาก มติชนออนไลน์

 

การถ่ายทอดอุดมการณ์ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในธรรมศาสตร์อย่างเป็นระบบนั้น เข้าใจได้ว่ามาจากสุเมธนั่นเอง พบการบันทึกจาก สมคิด เลิศไพฑูรย์ว่า สุเมธเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวให้นักศึกษาหลายคณะฟัง โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ ที่ระบุว่าจะมีการบรรยายในช่วงที่มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้จบการศึกษาประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน ปีละ 2 รุ่น [46] บารมีและความสามารถที่โดดเด่นของสุเมธในตำแหน่งนายกสภาฯ ทำให้เป็นที่รักใคร่แก่เหล่าอาจารย์นักบริหาร ดังที่เราพบว่า สมคิด เลิศไพฑูรย์ เชิดชูสุเมธอย่างสูงส่งในกรณีที่สุเมธปฏิเสธไม่รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยอีกวาระหนึ่งนั้นว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง และความเหนือชั้นของสุเมธเป็นเรื่องที่นำทฤษฎีการแบ่งอำนาจ ของ Montesquieu มาเทียบใช้ยังไม่ได้ เพราะมีการระแวดระวังเรื่องการหลงอยู่ในอำนาจเป็นอย่างดี

“ดูเหมือนสมมุติฐานของ Montesquieu จะใช้ได้กับคนทั่วไป แต่ใช้ไม่ได้เลยกับนายกพอเพียงที่ชื่อสุเมธ ตันติเวชกุล ของพวกเรา” [47]

สมคิดคงลืมไปว่า สุเมธอยู่ในตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 3 วาระ 6 ปี

 

พลังอนุรักษ์นิยมเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนและการเมือง

ต้นทศวรรษ 2540 กลายเป็นยุคหายนะของเศรษฐกิจทุนนิยมฟองสบู่ของไทย ในอีกด้านหนึ่งมันได้แผ้วถางให้แก่อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมรูปแบบใหม่ขึ้นมาบนซากศพทุนนิยมที่เต็มไปด้วยหนี้เน่าและหายนะทางเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน สังคมไทยเริ่มกลับมาเงี่ยหูฟังเสียงก้องตะโกนจาก นักพัฒนาเอกชน เอ็นจีโอ ที่สมาทานความคิดสำนักคิดชุมชนนิยม หมู่บ้านนิยม ชนบทนิยม และนั่นคือโอกาสทองของการสถาปนาความรู้และอำนาจกระแสรองของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามการเฟื่องฟูของภูมิปัญญาสายนี้ มิได้ยืนได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ยังมีพลังทางอนุรักษ์นิยมและพลังทางการเมืองขนาดมหาศาลที่หนุนเสริมอีกด้วย

สุเมธบันทึกไว้ถึงความสำเร็จของการจับมือกับคนหลายฝ่ายในการจัดทำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544) เขาร่วมกับคนอย่างประเวศ วะสี ในฐานะผู้อาวุโสแห่งค่าย “ภาคประชาชน” ที่แผนนี้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เอาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เคยเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็เกิดขึ้นจากสสร. อันเป็นการร่วมมือกันระหว่าง “ภาคประชาชน” นักพัฒนาเอกชน และผู้ตื่นตัวทางการเมืองทั่วประเทศ ความสำเร็จนี้ยังถูกอ้างอิงเรื่อยมาจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาที่ พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขาธิการ อ้างว่า การดำเนินการจัดทำแผน 8 ถือว่าเป็นเวทีสาธารณะครั้งแรกของประเทศไทยที่ระดมความเห็นจากทั้ง 8 ภาคทั่วประเทศ [48]

นอกจากนี้สุเมธยังได้เดินสายไปบรรยายที่ต่างๆเรื่องเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยอิงอยู่กับในหลวง และชุดคุณค่าทางศีลธรรมแบบชาติ-ศาสนาพุทธเถรวาทนิยม สุเมธได้เดินสายบรรยายเรื่องราวดังกล่าวอย่างไม่ย่อท้อ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเช่นนี้ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ “อดีตอันดีงาม” “พุทธศาสนาแบบเถรวาทไทย” และมีศัตรูที่สำคัญก็คือ “ฝรั่งตะวันตก”

แต่พลังเหล่านี้ดูจะเป็นคู่ตรงข้ามกับพลังของกลุ่มทุนและการเมืองสายพันธุ์ใหม่ ที่ถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ที่แต่เดิมอาจกล่าวได้ว่า เหล่านักคิดแนวท้องถิ่นนิยม นักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนไม่น้อย มีส่วนร่างนโยบายให้กับพรรคไทยรักไทยด้วย อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาของไทยรักไทยที่เน้นไปทั้งสองขา คือ ทั้งเน้นการค้าขายกับตลาดต่างประเทศ และกระตุ้นการใช้เงินภายในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ในสายตาของสุเมธแล้ว ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดความละโมบ แน่นอนว่าขัดกับหลักการของความดีที่ต้องพยายามควบคุมกิเลส นโยบายทางเศรษฐกิจเช่นนี้จึงขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับอุดมการณ์ที่สุเมธสมาทาน

หลังช่วงฮันนีมูนกับรัฐบาล ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลไทยรักไทย สุเมธเคยบรรยายในปี 2545 ว่า สังคมไทยมีโรค 4 บ้า นั่นก็คือ บ้าเงิน บ้าอำนาจ บ้าวัตถุ และบ้าฝรั่ง (ตะวันตก) [49] แต่ก็ยังไม่ได้เป็นการเจาะจงเท่าในปี 2547 ที่เขาเขียนบทความที่ชื่อ "เศรษฐกิจพอเพียง หัวใจเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่ dual track " [50] การจั่วหัวเช่นนี้เป็นการวิจารณ์นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทยโดยตรง ในบทความได้ตอกย้ำถึงหลักคิดของเขาอย่างชัดเจน

"พระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มต้นที่ฐานราก แต่ไม่รากหญ้า ผมเกลียดคำนี้มาก ไม่เคยพูดมาที่สาธารณะเลย เพราะอะไร เพราะเราแปลมาจาก grass root ของฝรั่ง ตามฝรั่งจนเนรคุณคนที่เลี้ยงดูเรามา เราเคยให้เกียรติชาวไร่ชาวนามาตลอด เคยเรียกว่ากระดูกสันหลังของชาติ พอถึงยุคนี้ไม่สำนึกบุญคุณ ดูถูกดูแคลนพวกเขาว่ารากหญ้า เดี๋ยวนี้คนไทยขาดสติอย่างแรง เอะอะอะไรก็ตามฝรั่งจนลืม ความหมายของตัวเอง"

ในฐานะประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ได้แสดงข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อรัฐบาลทักษิณ เนื่องในโอกาสที่รัฐบาลตั้งแคมเปญประกาศสงครามกับคอรัปชั่นในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ขณะที่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและตัวทักษิณเอง กำลังมีปัญหามากขึ้นทุกทีในสายตาของนักวิชาการ มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น กรณีปราบปรามยาเสพติดจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงปี 2546 ประเด็นการลุกฮือของชาวมลายูในภาคใต้ กรณีมัสยิดกรือเซะ เมษายน 2547 กรณีตากใบ 2547 กรณีที่รัฐบาลมีความพยายามจะออกสลากเพื่อซื้อสโมสรลิเวอร์พูลเป็นจำนวนเงินกว่า 46,000 ล้านบาท ในปีเดียวกัน

 

ข่าวลือ เรื่องนายกพระราชทาน คนดีที่จะมาแทนนักการเมืองที่แสนชั่วช้า

รัฐบาลทักษิณยิ่งประสบกับปัญหาอย่างหนักหน่วง เมื่อเครือข่ายต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ขยายตัวเป็นทวีคูณ จากการที่สนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายผู้จัดการ ลงสนามต่อต้านทักษิณด้วยในปี 2548 มีการวิพากษ์วิจารณ์การคอรัปชั่น และยกประเด็นการละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ ในปีต่อมา การขายหุ้นชินคอร์ปก็ยิ่งกลายเป็นผลลบอย่างมากต่อทักษิณ และครอบครัว ในกรณีเลี่ยงภาษีและขายหุ้นให้ต่างชาติซึ่งเชื่อกันว่ามีผลต่อความมั่นคงของชาติ ความง่อนแง่นของรัฐบาลทำให้ในที่สุดทักษิณแก้เกมด้วยการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ในด้านหนึ่งทักษิณก็ถูกกล่าวหาว่า ยุบสภาเพื่อหนีการตรวจสอบ การเลือกตั้งทั่วไปในเดือน เมษายน 2549 ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง อย่างไรก็ตามความตึงเครียดทางการเมืองก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อรัฐบาลถูกกล่าวหาจากเครือผู้จัดการกรณี “ปฏิญญาฟินแลนด์” ในเดือนมิถุนายน 2549

ข่าวและข้อมูลการทุจริตและฉ้อฉลของทักษิณ ชินวัตร ได้โหมกระแสไฟแห่งการเกลียดชังของชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง นักคิด นักวิชาการจำนวนมาก ความอึดอัดทางการเมืองเหล่านี้เองนำไปสู่การเรียกร้องหาข้อยุติที่มีธงอยู่แล้วคือให้ “ทักษิณ...ออกไป” โดยไม่สนใจวิธีการว่า จะเป็น “ประชาธิปไตย” หรือไม่

วิธีการ “อประชาธิปไตย” ข้อแรก ก็คือ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาด้วย “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” จาก มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทักษิณเว้นวรรคทางการเมือง สิ่งนี้เป็นการเสนอโดยหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการและนักการเมือง หนึ่งในนั้นก็มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย [51] ซึ่งกรรมนี้เอง เป็นที่มาของการถูกล้อเลียนในนามของ “มาร์ค ม.7” แน่นอนว่า ภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของทักษิณ ยังส่งผลต่อความเน่าเหม็นของนักการเมืองคนอื่นในระบบด้วย ดังนั้นการที่จะหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงควรจะเป็นคนนอกที่ ไม่มีผลประโยชน์ เป็นกลาง และจะต้องมีคุณสมบัติที่ถึงพร้อมในความเป็น “คนดี” ที่มีศีลธรรม ไม่โกงกิน และอาจรวมถึงเป็นผู้มีสกุลรุนชาติ ได้รับการอบรมมารยาทเป็นอย่างดีด้วย

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ฎีกาขอนายกฯพระราชทาน ลงนามโดย
นายแพทย์ มงคล ณ สงขลา และ
ม.ร.ว.ยงยุทลักษณ์ เกษมสันต์
วันที่ 5 มีนาคม 2549

 

ในขณะนั้นมีข่าวลือว่า คนที่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็คือ สุเมธ ตันติเวชกุล [52] จากการให้สัมภาษณ์ สุเมธ ก็ใช้เทคนิคเดิมก็คือ กล่าวปฏิเสธทั้งยังยกเหตุผลมาอ้างพัลวันว่า "คุณพ่อผมเล่นการเมืองจนหมดตัว สมัยก่อนนักการเมืองเล่นการเมืองจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ผมสาบส่งการเมือง ไม่เอาเด็ดขาด ใจมันไม่ชอบทางนี้เลย ผมว่าช่วงเวลาทำงานที่สุขที่สุดคือ การเป็นข้าราชการระดับ ซี 4 สบายสุดๆ แต่พอยิ่งใหญ่ ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งเครียด"

กระนั้น วิธีการขอนายกพระราชทานก็มีอันตกไป พวกรักบ้านเมืองจนหน้ามืดตามัวมีอันฝันสลาย เมื่อในหลวงทรงปฏิเสธทางอ้อม ผ่านพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษาที่ว่า "...เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย..." [53]

อย่างไรก็ตาม ความสั่นคลอนของรัฐบาลถูกขย่มด้วยการปฏิบัติการทางการเมือง และสงครามข่าวอย่างมหาศาล แม้กรณีคาร์บอมบ์ เดือนสิงหาคม 2549 ที่มุ่งร้ายเอาชีวิตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกทำให้เป็นเรื่องตลกในนาม “คาร์บ๊อง” ความอึมครึมและคลุมเครือทางการเมืองที่ผูกติดแน่นเป็นเงื่อนตายเหล่านี้ ในที่สุดก็ถูกทะลวงด้วยอำนาจของปากกระบอกปืน รถถังได้ออกมายาตรายึดสถานที่สำคัญ ควบคุมการสื่อสารสาธารณะในจุดใหญ่ นี่เป็นวิธีการ “อประชาธิปไตย” ข้อที่สองที่ได้ผลอย่างชะงัด ด้วยฐานคิดที่เชื่อว่าการเอาคนเลวๆหนึ่งออกจากอำนาจ แล้วทุกอย่างจะจบ

 

หกล้มหกลุก กับ รัฐประหาร 2549

อย่างไรก็ตามเรื่องข่าวลือดังกล่าวก็คงส่งผลต่อข้อมูลในการวิเคราะห์ข่าวอื่นๆด้วย ดังที่พบกว่าหลังการรัฐประหาร Shawn W. Crispin นักข่าวจาก Asia Times เขียนวิเคราะห์ว่า สุเมธ เป็นผู้มีความเป็นไปได้ที่จะถูกเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คู่กับอีกคนคือ พลากร สุวรรณรัฐ ในวันที่ 21 กันยายน 2 วันหลังจากรัฐประหาร [54] แต่แล้ว นายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร กลับมาหวยออกที่ สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารยศพลเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก และขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งสุรยุทธ์ก็เข้าข่าย คนดีมีศีลธรรม จริยธรรม ฝักใฝ่พุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเข้ามาสู่แวดวงการเมืองในระบบ ทำให้ “คนดี” อย่างเขาถูกตรวจสอบ กรณีที่โด่งดังเป็นอย่างมาก และทำให้สุรยุทธ์เปลืองตัวและเกือบเสียคน ก็คือ คดีละเมิดป่าสงวน ณ เขายายเที่ยง การที่คนดีได้มาอยู่ในระบบการเมืองแบบรัฐสภาที่ทำให้เกิดการตรวจสอบต่อสาธารณะได้ก็ทำให้คนดีเกิดอาการไม่เป็นเหมือนกัน [55] หรือนี่จะเป็นคราวเคราะห์ของสุรยุทธ์ แต่เป็นโชคดีของสุเมธ?

 

ตำนาน เฟอร์รารี่

ข้อกล่าวหาที่อาจกล่าวได้ว่า เสียดสีกับสิ่งที่สุเมธเทศนาที่สุด นั่นก็คือ สุเมธขับรถสปอร์ตหรูหรา ยี่ห้อเฟอร์รารี่ มาบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งข้อความระบุต่อไปว่า สุเมธ ซื้อรถคันงามต่อมาจาก ชุมพล ณ ลำเลียง ด้วยราคา 500,000 บาท [56] ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น เรื่องเล่านี้น่าจะเป็นเรื่องโจ๊กเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามโจ๊กเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่ากันสนุกๆ หรือใช้นินทาลับหลังกันในวงแคบๆ เท่านั้น ความน่าจะร้อนไปถึงสุเมธ จนทำให้ต้องแก้ข้อกล่าวหาผ่านสื่อมวลชน ดังนี้

“ผมขับรถแอคคอร์ดเก่าๆ ยามเห็นเขาก็ให้ผมไปจอดข้างหลัง แต่ถ้าลองเป็นเบนซ์มาเขาให้จอดข้างหน้า หรือผมไปซื้อรถโฟล์ก 37,000 บาท แต่ซ่อมไปแสนกว่าบาท แถมตอนออกจากราชการ ผมก็ใช้เงิน 5 แสน ซื้อรถสปอร์ต เพราะอยากได้ โคโรลล่า มือสอง แต่ใครไม่รู้ไปเขียนแซวมาผมถอยเฟอร์รารี่ กลายเป็นข่าวคึกโครมไปทั่ว” [57]

 

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

เงินบริจาคจากเทศกาลอาหารหรูหรา

เทศกาล Epicurean Masters of the World ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6-10 ก.พ.2550 ณ ภัตตาคาร The Dome ซึ่งอยู่บนยอดหอคอยงาช้างของตึกสเตททาวเวอร์นั้น เป็นการรับประทานอาหารมื้อค่ำราคาสุดโหด ตัวเลขกลมๆตกอยู่ที่มื้อละ 1 ล้านบาท และบวกค่าบริการอีก 7 เปอร์เซ็นต์ ข่าวนี้เป็นที่สนใจต่อสำนักข่าวบีบีซี [58] และหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ อีกด้วย มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในเวลาไล่เลี่ยกัน สุเมธ ในฐานะ เลขาธิการมูลนิธิ ชัยพัฒนา ได้แสดงบรรยายประกอบการสัมนา เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 หัวข้อ "ความพอเพียงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อสมดุลแห่งชีวิต" ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า “ความจริงร่างกายมนุษย์ต้องการอาหารไม่มากนัก ทานให้อิ่มก็พอ แต่ที่เรากินกันเยอะอย่างทุกวันนี้ เป็นการกินส่วนเกิน เรียกว่า "โรคสังคม"” [59]

ที่เหนือความคาดหมายก็คือ รายได้จากเทศกาลอาหารสุดหรูระดับโลก ส่วนหนึ่งนำมาสมทบแก่องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม หนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ มูลนิธิชัยพัฒนา อยู่ด้วย

 

อำนาจของการปฏิเสธ กับการแก้เกี้ยว

สุเมธมักจะแสดงให้เห็นในบันทึกถึงความใจกว้าง ไม่รับในสิ่งที่ไม่ควรจะได้ ดังเช่น สิทธิพิเศษของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ในปลายทศวรรษ 2510 ต่อต้นทศวรรษ 2520 เขากล่าวปฏิเสธไว้ในบันทึกด้วยเหตุผลว่า “ป้องกันชาติบ้านเมืองต้องจ้างกันด้วยหรือ”แต่สุดท้ายในบันทึกของเขาเองก็ระบุว่าเขารับทั้งเบี้ยเลี้ยงและอายุราชการทวีคูณ [60]

เช่นเดียวกับรางวัลพ่อตัวอย่าง สุเมธปฏิเสธไม่รับเช่นเคย เนื่องจากว่าเขาไม่เคยมีเวลาได้เลี้ยงลูก เพราะไม่มีเวลาให้ อย่างไรก็ตามทางผู้มอบรางวัลก็อ้อนวอนให้ไปรับโดยให้เหตุผลว่า ถึงไม่ได้เลี้ยงลูกตัวเองก็เลี้ยงลูกคนอื่น ดูแลเด็กเล็กในต่างจังหวัด ในชนบท [61]

สุเมธก็เคยอิดออดที่จะไม่รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ได้เรียนจบธรรมศาสตร์จะเป็นได้อย่างไร [62] ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจรับตำแหน่งที่มีวาระ 2 ปีต่อครั้ง อีกกรณีหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งสุเมธได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่สาม ในช่วงใกล้ครบวาระที่สองในปี 2552 สุเมธ แจ้งที่ประชุมสภาว่าจะไม่ขอรับหน้าที่ในวาระที่สาม แต่ด้วยความที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอร้องให้อยู่ต่อ เนื่องจากเห็นว่าสุเมธมีศักยภาพมากพอที่จะผลักดันงานให้ลุล่วง โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอธิการบดีในปลายปี 2553 และก็เป็นอีกครั้งที่สุเมธ กลับคำปฏิเสธ และมุ่งมั่นทำงานตามคำขอร้องต่อไป [63]

 

การรู้จักหยุด

“ "มีคนถามผมว่าจะกลับไปวงการเมืองอีกไหม ไม่แล้ว เหตุผลว่าไม่แล้วเพราะอะไร? ก็ให้พวกคุณเนี่ย เมืองไทย Next Generation, Go on Man! ไม่งั้น “ตาแก่คนนี้เอาอีกแล้ว”" [64]

พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ อายุ 68 ปี

 

“ตลอดชีวิตการทำงานจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตผมไม่เคยลาพักร้อนเลย ตั้งแต่ทำงานราชการไม่เคยลาพักร้อน ไม่รู้จัก นี่ขนาดเกษียณมา 12 ปี ก็ยังไม่รู้จักคำว่าเกษียณ ทำงานทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำ โดยเฉพาะงานตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ บางที่ก็เชิญไปสอน ไปบรรยาย ซึ่งโครงการปริญญาโทชอบสอนวันเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องไป ชีวิตไม่รู้จักคำว่าเสาร์อาทิตย์ ไม่รู้จักวันหยุด หรือปีใหม่ คือ ชีวิตมอบให้การทำงานจริงๆ” [65]

สุเมธ ตันติเวชกุล อายุ 72 ปี

คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าพอ?

 


 

อ้างอิง:

  1. คำต่อคำ อำมาตย์ ชื่อ "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บันทึกไว้ในแผ่นดิน...ตามเส้นทาง http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1260344414&grpid=no&catid=04 (9 ธันวาคม 2552)
  2. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2554?, น.คำนำ
  3. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2554?, น.4
  4. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.21
  5. รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 จากการสืบค้นพบว่า อารีย์ มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในช่วงปี 2501 http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main11.htm (22 สิงหาคม 2554 )
  6. "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
  7. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.7
  8. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.8 และ 10
  9. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.13
  10. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.16
  11. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.16-19
  12. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.19
  13. มติชนออนไลน์. ดร.สุเมธชี้ไทย"รวยกระจุก-จนกระจาย" มุ่งแต่เจริญด้าน ศก. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310041118&grpid=03&catid=03 (7 กรกฎาคม 2554)
  14. หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค (2265-2543) นามสกุลเดิมคือ สนิทวงศ์ เป็นพระมาตุฉา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
  15. รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 ในนี้ระบุลำดับเหตุการณ์การรับตำแหน่งราชการในแต่ละปีอย่างละเอียด
  16. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.23-24
  17. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.24-25
  18. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.25
  19. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.25
  20. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.26-27
  21. รายละเอียดโปรดอ่านใน ธิกานต์ ศรีนารา. หลัง 6 ตุลา ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก), 2552
  22. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27 และ รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554)
  23. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27 และ รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554)
  24. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) http://www.rdpb.go.th/RDPB/front/RDPBHistory.aspx?p=9 (20 สิงหาคม 2554)
  25. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27
  26. ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2550, น.130-131
  27. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.28 และ มูลนิธิชัยพัฒนา (The Chaipattana Foundation). "ความเป็นมา" http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php?option=com_content&view=article&id=13&Itemid=184&lang=th (20 สิงหาคม 54)
  28. "ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12 http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
  29. ขนิดา ชิตบัณฑิตย์, เรื่องเดียวกัน นอกจากนั้นดูใน "เศรษฐกิจพอเพียง" กับ "การสถาปนาพระราชอำนาจนำ": เสวนาที่ ม.อุบลราชธานี http://prachatai.com/journal/2007/11/14954 (27 พฤศจิกายน 2550)
  30. รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545
  31. โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2539) จัดพิมพ์ในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไป พระราชทานเพลิงศพ นางเอื้อนศรี ภักดีผดุงแดน ณ เมรุ วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2539
  32. "ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12 http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
  33. รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 อารีย์ มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในช่วงปี 2501 http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main11.htm (22 สิงหาคม 2554 )
  34. "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
  35. "ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12 http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
  36. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.37
  37. "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
  38. SCG. รู้จักกรรมการบริษัท สุเมธ ตันติเวชกุล. http://www.siamcement.com/th/01corporate_profile/board/sumet_tantivejkul.html (24 สิงหาคม 2554) อย่างไรก็ตามมีหลักฐานว่า มูลนิธิฯ มีการตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2544 ในครั้งนั้น นิรมล สุริยสัตย์ ที่มีคำนำหน้าเป็น “ท่านผู้หญิง” เป็นประธานมูลนิธิฯ ดูใน "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด" " ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 46 ง , 7 มิถุนายน 2544, น.36 และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. "นิรมล สุริยสัตย์". http://th.wikipedia.org/wiki/นิรมล_สุริยสัตย์ (30 มกราคม 2554)
  39. "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด" " ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 46 ง , 7 มิถุนายน 2544, น.35
  40. SCG. รู้จักกรรมการบริษัท สุเมธ ตันติเวชกุล. http://www.siamcement.com/th/01corporate_profile/board/sumet_tantivejkul.html (24 สิงหาคม 2554)
  41. ปอมท ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย. "บทบาทของกรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการปฏิรูปอุดมศึกษา" http://thaifacultysenate.com/Regent_Board.aspx (23 สิงหาคม 2554)
  42. ปอมท ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย. "จากสภาเกียรติยศ สู่สภารับผิดรับชอบ" http://thaifacultysenate.com/Regent_Board.aspx (23 สิงหาคม 2554)
  43. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.51
  44. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.43-45
  45. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.67-68
  46. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.53
  47. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.55
  48. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. “ไม่รัฐประหาร ไม่นองเลือด” http://www.ldinet.org/2008/index.php?option=com_content&task=view&id=412&Itemid=28 (20 สิงหาคม 54)
  49. "ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12 http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
  50. Toxinomics – พิษทักษิณ (2547) อ้างถึงใน จรัญ ยั่งยืน. “เสียงจาก สุเมธ ตันติเวชกุล "เรารวยโดยไม่มีเสาเข็ม"” ใน ประชาชาติธุรกิจ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q2/article2004june28p5.htm (28 มิถุนายน 2547 )
  51. The Nation .Prem stays silent on Democrats' latest call http://nationmultimedia.com/2006/03/26/headlines/headlines_30000239.php (27 March 2006)
  52. โอเพ่นออนไลน์. "วิธีแกะกล่องของขวัญแบบ สุเมธ ตันติเวชกุล" http://www.onopen.com/node/3828 (27 มีนาคม 2549)
  53. พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรม 25 เมษายน พ.ศ. 2549 http://th.wikisource.org/wiki/พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรม 25 เมษายน พ.ศ. 2549 (21 พฤษภาคม 2554 )
  54. เมื่อโลกจ้องมองไทยหลังรัฐประหาร และ coup d’etat Effect : เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน? http://prachatai.wordpress.com/2006/09/21/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87e/ (21 กันยายน 2554)
  55. The Nation, Activists call on Surayud to resign for alleged forest encroachment (29 December 2006)
  56. ประชาไท.ลิปเล่ย์. การแสดงความคิดเห็น ในบทความ "รสนิยมเหนือระดับ กับอาหารค่ำ มื้อละ "1 ล้านบาท"!" http://prachatai.com/node/11561/talk (10 กุมภาพันธ์ 2550)
  57. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์."อย่างผมน่ะหรือจะมี ′เฟอร์รารี่′ ลำพังตัวเองหาได้แค่ ′โคโรลล่า′. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1272018509&grpid=no&catid=04 (27 เมษายน 2553)
  58. BBC NEWS. Bangkok banquet beckons for rich.http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/6335419.stm (7 February 2007)
  59. ประชาไท "รสนิยมเหนือระดับ กับอาหารค่ำ มื้อละ "1 ล้านบาท"!" http://prachatai.com/node/11561/talk (10 กุมภาพันธ์ 2550)
  60. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.26
  61. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.31
  62. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.45
  63. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.68-69
  64. siam intelligence. "Practical Utopia สัมภาษณ์ "พันศักดิ์ วิญญูรัตน์" "." http://www.siamintelligence.com/pansak-interview/ (2 ธันวาคม 2553)
  65. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.29

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สมยศ” ร่อนจดหมาย หวังนักสิทธิ-นักสหภาพฯ ทั่วโลก จี้ไทยปล่อยนักโทษการเมือง

Posted: 26 Aug 2011 06:08 AM PDT

25 ส.ค. 54 – กลุ่มนักกิจกรรมได้เปิดเผยจดหมายของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ถูกคุมขังไว้มาตั้งแต่ วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นต้นมา โดยในจดหมายระบุว่าเป็นการเขียนในวันที่ 20 ส.ค. 54 ซึ่งสมยศมีความคาดหวังว่านักสิทธิมนุษยชนและนักสหภาพแรงงานทั่วโลก จะได้ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นผลสำเร็จซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยต่อไป

   



 

วันที่ 20 สิงหาคม 2554
 
ผมถูกจองจำอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นต้นมาด้วยข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือ ละเมิดต่อมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ผมขอขอบพระคุณทุกท่านทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้ร่วมกันแสดงความห่วงใยมาเยี่ยมเยือนที่เรือนจำและได้ร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองในประเทศไทย
 
ผมได้ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้ใช้แรงงานมากว่า 20 ปี เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานรอดพ้นจากความยากจน หิวโดย มีชีวิตความเป็นอยู่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาทิเช่น สิทธิการประกันสังคมในปี 2533 สิทธิการลาคลอด 90 วันได้รับค่าจ้าง และสิทธิการทำงานที่ปลอดภัยในปี 2536 สิทธิการได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง และประกันการว่างงานในปี 2546 สิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และการนัดหยุดงานในปี 2548
 
สิทธิของผู้ใช้แรงงานในด้านต่าง ๆ เกิดจากการต่อสู้ที่เข้มแข็งของขบวนการแรงงาน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้ว่าความก้าวหน้าด้านสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานได้มาภายใต้การเมืองประชาธิปไตย มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นมักจะทำลายสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างเช่น การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ผู้นำแรงงานนายทะนง โพธิ์อ่าน ถูกอุ้มฆ่าตาย มีการยกเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งจำกัดสิทธิการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงาน ในขณะที่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้มีการจ้างงานเหมาค่าแรงขยายตัวมากขึ้น และมักจะกดค่าจ้างให้ต่ำอยู่เสมอ
 
ดังนั้นเมื่อมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้น ผมจึงไปเข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยการจัดทำนิตยสารการเมืองวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหาร เมื่อประชาชนได้รวมตัวกันเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีการชุมนุมเดินขบวนหลายครั้งจนกระทั่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างป่าเถื่อนในเดือนพฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ รัฐบาลได้สั่งปิดนิตยสารแล้วจับกุมผมไปขังไว้ที่ค่ายทหารจังหวัดสระบุรี โดยไม่มีความผิดเป็นเวลา 21 วัน
 
หลังจากได้รับการปล่อยตัวผมก่อตั้งนิตยสาร Red Power วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลด้านต่าง ๆ ได้เปิดโปงรัฐบาล ซึ่งให้สัญญาจะเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่ำวันละ 250 บาทเท่ากันทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2553 แต่ไม่ได้ทำตามสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เปิดโปงเบื้องหลังการสั่งฆ่าประชาชน 91 ศพ ในเดือนตุลาคม 2553 รัฐบาลสั่งปิดโรงพิมพ์ที่รับจ้างพิมพ์งานให้กับ Red Power ทำให้ผมต้องไปทำการผลิตที่ประเทศกัมพูชา
 
นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา มีประชาชนทุกสาขาอาชีพ อาทิเช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักกิจกรรมแรงงาน นักศึกษา นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ฯลฯ ต้องกลายเป็นนักโทษการเมืองในคดี “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หลายคนถูกซ้อมทุบตีในเรือนจำ หลายคนต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศหลายคนต้องถูกเนรเทศออกไปจากประเทศไทย
 
มีนักกิจกรรมแรงงาน 3 คนด้วยกันซึ่งถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคือ อาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ และภรรยา ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่อังกฤษ นางสาวจรรยา ยิ้มประเสริฐ หัวหน้าโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Compaign) ไม่สามารถเดินทางกลับมาประเทศไทยได้อีกต่อไปอีกต่อไป นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (Center for Labour Information Service and Training)
 
ประชาชนคนไทยถูกปลูกฝังให้ยอมรับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบการปกครองประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยที่ใครก็ตามที่มีความเห็นแตกต่างไปจากนี้ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
 
ผมเป็นเพียงสื่อมวลชนที่เป็นเวทีความคิดอิสระที่ทุกคน ทุกฝ่าย มีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือกระทั่งมีความใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ที่แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบัน แต่ผลลัพธ์ก็คือ ผมถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
 
กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชน นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าวยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวอีกด้วย อันเป็นการละเมิดต่อหลักปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
 
การถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมือง สูญเสียอิสรภาพในทุกด้าน ทำให้ชีวิตของผมเหมือนกับ “สัตว์เลี้ยงในกรงขัง” ผมได้รับความเจ็บปวดทุกทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง นักโทษการเมืองคนอื่น ๆ หลายคนสูญเสียชีวิตครอบครัวและอาชีพการงานไปอย่างน่าเสียดาย
 
ผมได้รับทราบข่าวจากผู้มาเยี่ยมเยียนว่าเพื่อน ๆ นักสิทธิมนุษยชนและนักสหภาพแรงงานทั่วโลกได้ร่วมกันประท้วงต่อรัฐบาลไทยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่มีคุณค่าความหมายของประชาชนคนไทย และประชาชาติทั่วโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของสังคมสันติสุข ที่มีความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยที่แท้จริง
 
ผมเชื่อมั่นอย่างเต็มที่เปี่ยมว่าพลังแห่งความร่วมมือและการสมานฉันท์สากลของสหภาพแรงงานและผู้รักความเป็นธรรมทั่วโลกจะได้ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นผลสำเร็จซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยต่อไป
 
 
ด้วยจิตใจสมานฉันท์
 
(นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข)

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โซเชียลเน็ตเวิร์กยันไม่แบนผู้ต้องสงสัยยุก่อจลาจลในอังกฤษ

Posted: 26 Aug 2011 05:57 AM PDT

24 ส.ค. 2011 - สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานว่า เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ ยังคงยืนยันปฏิเสธไม่ทำตามที่รัฐบาลอังกฤษเรียกร้องให้มีการแบนผู้ทีต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในอังกฤษ หรือให้มีการปิดเว็บไซต์ในช่วงที่เกิดเหตุ

โซเชียลเน็ตเวิร์กยันไม่แบนผู้ต้องสงสัยยุก่อจลาจลในอังกฤษ

โซเชียลเน็ตเวิร์กสองยักษ์ใหญ่แสดงการปฏิเสธดังกล่าว ขณะเตรียมการก่อนเข้าร่วมประชุมหารือกับ เทเรซ่า เมย์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ส่วนทางรัฐบาลอังกฤษเองก็ต้องการถอนจุดยืนที่เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษต้องการให้ผู้ต้องสงสัยกรณีจลาจลในอังกฤษถูกแบนจากเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์ก

รมต. มหาดไทยของอังกฤษบอกจะคอยตรวจตราว่า เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายได้อย่างไรบ้าง รวมถึงว่าจะสามารถบังคับใช้กฏหมายกับเว็บไซต์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไรแทนการปิดหรือแบน โดยก่อนหน้านี้ ทิม ก็อดวิน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล และ ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยมได้เคยสำรวจพิจารณาเรื่องการปิดเว็บไซต์ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินมาก่อนแล้ว

บริษัทด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเหล่านี้ย้ำเตือนกับรัฐบาลในเรื่องที่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการฉุกเฉินที่อาจทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต โดยก่อนหน้านี้ตำรวจสามารถสกัดกั้นไม่ให้ผู้ก่อจลาจลทำการโจมตีจุดสำคัญในอังกฤษอย่างสถานที่จัดโอลิมปิกและห้างสรรพสินค้าเวสท์ฟิลด์ได้ เนื่องจากสามารถดักข้อความจากระบบส่งข้อความของแบล็กเบอร์รี่ไว้ได้ ซึ่งทำให้เห็นว่าการปล่อยให้ระบบยังคงดำเนินต่อไปจะทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากอีกฝ่ายได้

การประชุมหารือที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 ส.ค. ยังไม่มีการคาดหวังว่า รัฐบาลจะส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายใดๆ เนื่องจากการหารือดำเนินไปเพียง 1 ชั่วโมงโดยมีสมาชิกผู้เข้าร่วมหลายสิบรายเป็นผู้บริหารโซเชียลมีเดีย, ตำรวจ และรัฐมนตรี

โดยผู้เข้าร่วมหารือมีผู้บริหารจากเฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และ อาร์ไอเอ็ม ผู้ให้บริการแบล็กเบอร์รี่สมาร์ทโฟนของแคนาดา, ลินน์ โอเวน ผู้ช่วยผู้บังคับการงานปฏิบัติการกลางตำรวจนครบาล, สมาชิกกรมตำรวจ และข้าราชการจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรม-สื่อ-กีฬา โดยรมต.มหาดไทยและรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของอังกฤษจะเป็นผู้นำการหารือ

ทางรัฐบาลอังกฤษอาจมีการเรียกร้องให้โซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งมาจากสหรัฐฯ และแคนาดา แสดงความรับผิดชอบต่อข้อความที่มีการโพสท์ในเว็บไซต์

ขณะที่ฝ่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กโต้กลับด้วยการแสดงให้เห็นขั้นตอนการทำงานที่มีการลบข้อความที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงออกแล้ว โดยทางเฟสบุ๊คที่มีผู้ใช้ในอังกฤษกว่า 30 ล้านรายระบุว่า ตนได้ทำการลบข้อความที่ "เชื่อว่ามีการข่มขู่คุกคามโดยใช้ความรุนแรง" เพื่อช่วยสกัดกั้นไม่ให้เกิดการจลาจลในอังกฤษแล้ว

ด้านผู้ให้บริการเบล็กเบอร์รี่จากแคนาดาจะอธิบายกับรัฐบาลว่า ระบบการส่งข้อความแบล็กเบอร์รี่แมสเซนเจอร์ (BBM) นั้น มีลักษณะเป็นส่วนตัวหรือมีรูปแบบรหัส เดอร์ การ์เดียนระบุว่า BBM ต่างจากเฟสบุ๊คกับทวิตเตอร์ตรงที่ตัวระบบมีการป้องกันด้วยการเข้ารหัส และเป็นเครื่องมือสื่อสารที่นิยมในหมู่ผู้ก่อจลาจล

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้บังคับการตำรวจนครบาลอังกฤษกล่าวว่า ตำรวจได้ทำการสำรวจวิธีการสั่งปิดโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และพบว่าพวกตนไม่มีอำนาจทางกฏหมายในการกระทำการดังกล่าว

ขณะเดียวกันมีตำรวจอีกสองนายให้ความเห็นว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีบทบาทในทางบวกในการสามารถช่วยขจัดข้อมูลข่าวลือและทำให้ประชาชนทั่วไปไว้วางใจในช่วงที่เกิดจลาจล

มีผู้ต้องหา 4 รายที่ถูกจับกุมตัวข้อหาใช้เฟสบุ๊คยุยงให้เกิดจลาจล โดยทั้ง 4 รายถูกนำตัวเข้าสู่ชั้นศาลเมื่อวันที่ 24 ส.ค. นี้ ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้ให้การใดๆ ต่อข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวทุกราย

ที่มา:
Facebook and Twitter to oppose calls for social media blocks during riots, The Guardian, 24-08-2011

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กานดา นาคน้อย: อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจริง “รัฐบาลทักษิณ vs. รัฐบาลอภิสิทธิ์”

Posted: 26 Aug 2011 05:44 AM PDT

สัปดาห์นี้ดิฉันได้อ่านรายงานสรุปผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ีโดยอดีตรมต.กรณ์ จาติกวณิช [1] พบว่าในรายงาน 15 หน้าไม่มีคำว่า “เงินเฟ้อ”แม้แต่คำเดียว ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อเป็นสถิติมหภาคที่สำคัญเทียบเท่าอัตราการเติบโตของผลผลิตประชาชาติและอัตราว่างงาน แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ นโยบายของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังมีผลกระทบโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะการแข่งขัน ระบบภาษี และมาตรการรับมือภัยธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคาสินค้าและบริการร่วมกับการใช้จ่ายในภาครัฐและเอกชน

อัตราเงินเฟ้อสำคัญอย่างไร?

1. อัตราเงินเฟ้อวัดความเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อที่มากกว่า 0% ลดกำลังซื้อของผู้บริโภค แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบหรือที่เราเรียกกันว่า“เงินฝืด”จะเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค สภาวะเงินฝืดมีผลทางลบต่อกำไรของผู้ประกอบการเนื่องจากสภาวะเงินฝืดมักเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าหดตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นภาวะเงินฝืดมักทำให้ผู้ประกอบการลดค่าแรงและการว่าจ้างงาน ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อที่มากกว่า 0% เล็กน้อยจัดว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ไม่สูญเสียเสถียรภาพ ด้วยเหตุนี้ธปท.จึงมีนโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในเป้าหมาย 0.5%-3%

2. อัตราเงินเฟ้อมีผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร หรือการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ผลตอบแทนจริง (Real return) คือส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนตามตลาด (Market return) และอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นดอกเบี้ยจริง (Real interest rate) สำหรับผู้ออมเงินคือส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit rate) และอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทำให้ดอกเบี้ยจริงลดลงและมีผลเชิงลบต่อผู้ออมเงิน

รายงานฉบับดังกล่าวของอดีต รมต.กรณ์เปรียบเทียบสถิติมหภาคบางตัวในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลทักษิณรวมทั้งรัฐบาลีต่างประเทศอย่างคลุมเครือหลายประเด็น [2] อย่างไรก็ตามในบทความนี้ดิฉันขอเน้นที่สถิติเงินเฟ้อซึ่งไม่ปรากฏในรายงานดังกล่าว ในเมื่ออดีตนายกฯอภิสิทธิ์ได้เน้นถึงความสำคัญของอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านด้วยการแนะนำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ระวังปัญหาเงินเฟ้อ [3] เราก็น่าจะลองเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อภายใต้รัฐบาลทักษิณและรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้ชัดเจน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ธปท.ใช้กำหนดนโยบายการเงินคืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่ครอบคลุมสินค้าประเภทอาหารสดและพลังงาน [4] ราคาอาหารและราคาพลังงานมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค ดังนั้นบทความนี้จึงใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งครอบคลุมสินค้าประเภทอาหารสดและพลังงาน ดิฉันเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและดอกเบี้ยจริงที่วัดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในตาราง 1

ตาราง 1. ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและดอกเบี้ยจริง (เปอร์เซ็นต์ต่อปี)

 

ถ้าเปรียบเทียบผิวเผินโดยไม่แยกแยะภาวะเงินเฟ้อออกจากภาวะเงินฝืดซึ่งเกิดจากการหดตัวของความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลก จะดูเหมือนว่าอัตราเงินเฟ้อสมัยรัฐบาลทักษิณสูงกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์เพราะอัตราเงินฝืดในช่วง 9 เดือนแรกในปี 2552 ดึงค่าเฉลี่ยของรัฐบาลอภิสิทธ์ให้ต่ำถึง 1.70% แต่ไม่มีภาวะเงินฝืดในสมัยรัฐบาลทักษิณมาดึงค่าเฉลี่ยให้ต่ำลง แม้ว่าในทางคณิตศาสตร์ภาวะเงินฝืดมีผลเชิงบวกต่อดอกเบี้ยจริง กำไรที่ผู้ออมเงินได้จากภาวะเงินฝืดมาจากการที่ผู้บริโภครอให้สินค้าราคาตกก่อนแล้วค่อยซื้อ จึงเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการถ่ายเทให้กับผู้บริโภค ส่วนกำไรที่ถ่ายเทจากสถาบันการเงินในภาวะเงินฝืดนั้นต่ำมากเพราะธนาคารกลางมักกระหน่ำลดดอกเบี้ยจนเกือบเป็น 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยิ่งผู้บริโภครอนานๆไม่ยอมบริโภคเสียทีก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจถดถอย ด้วยเหตุนี้ดอกเบี้ยจริงที่มาจากภาวะเงินฝืดจึงเป็นอาการของภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอาจกลายเป็นภาวะเรื้อรังที่กินเวลาเป็นทศวรรษเหมือนญี่ปุ่น

เมื่อยกเว้นภาวะเงินฝืดในช่วง 9 เดือนแรกในปี 2552 อัตราเงินเฟ้อในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์สูงกว่ารัฐบาลทักษิณ 0.51% (=3.17%-2.68%) อัตราดอกเบี้ยจริงในช่วงนี้สูงกว่ารัฐบาลทักษิณ 0.81% (=1.42%-0.61%) ตัวเลข 0.51% หรือ 0.81% ดูเหมือนเล็กมาก แต่เมื่อประเมินด้วยยอดเงินฝากในสถาบันการเงินแล้วมีมูลค่ามหาศาล “เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำและเงินฝากอื่น”ในบัญชีการเงินของสถาบันรับฝากเงินหลังภาวะเงินฝืดในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มียอดเฉลี่ย 8.6 ล้านล้านบาท [5] อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 0.51% ถ่ายเทกำไรจากผู้ออมเงินให้สถาบันฝากเงินมากขึ้น 4.4 หมื่นล้านบาทต่อปี (=0.51% x 8.6 ล้านล้านบาทต่อปี) ในปี 2553 ธนาคารพาณิชย์ได้กำไรประมาณ 1 แสนล้านบาท [6] ดังนั้นตัวเลข 4.4 หมื่นล้านจึงมีมูลค่าสูงถึง 44% ของกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์

โปรดสังเกตว่าดอกเบี้ยจริงติดลบภายใต้ทั้งสองรัฐบาลแสดงว่าผู้ออมเงินขาดทุนจากการออมมาตลอด และขาดทุนมากยิ่งขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์หลังพ้นภาวะเงินฝืด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหลังพ้นภาวะเงินฝืดไม่เกินเป้าหมายของ ธปท. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้นมีผลเชิงลบต่อกำลังซื้อและยิ่งทำให้ผู้ออมเงินขาดทุนจากการออมมากขึ้น การขาดทุนจากการออมทำให้ผู้ออมเงินหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ทองคำ ฯลฯ ทำให้รัฐบาลและธปท.ต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่จากเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุน ส่วนตลาดทองคำนั้นอยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลและธปท.เพราะราคาทองคำผันผวนตามตลาดโลกเช่นเดียวกับน้ำมันและแร่ธาตุต่างๆ

ดิฉันขอเปรียบเทียบดอกเบี้ยจริงในไทยและอินโดนีเซียในตาราง 2 อินโดนีเซียเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนประเทศเดียวที่ประสบวิกฤตการเงินในปี 2540 จนต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เหมือนไทย หลังวิกฤตอินโดนีเซียปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจหลายด้าน อัตราการเติบโตของผลผลิตประชาชาติของอินโดนีเซียสูงกว่าไทยตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งช่วงหลังวิกฤตการเงินสหรัฐฯแต่อินโดนีเซียไม่ปรากฏในรายงานของอดีต รมต.กรณ์ จากตาราง 2 ชัดเจนว่าดอกเบี้ยจริงในไทยติดลบแต่ดอกเบี้ยจริงในอินโดนีเซียเป็นบวก แสดงว่าผู้ออมเงินในไทยขาดทุนแต่ผู้ออมเงินในอินโดนีเซียได้กำไร และแสดงว่าต้นทุนของเงินทุนในอินโดนีเซียสูงว่าไทยแต่ไม่มีผลเชิงลบต่อการเติบโตของผลผลิตประชาชาติของอินโดนีเซีย [7]

 

ตาราง 2. ค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยจริงในไทยและอินโดนีเซีย (เปอร์เซ็นต์ต่อปี)

 

บทสรุป

เมื่อวัดผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อต่อผู้บริโภคและผู้ออมเงินแล้ว ผู้บริโภคและผู้ออมเงินเสียหายจากอัตราเงินเฟ้อในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มากกว่ารัฐบาลทักษิณ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียงครึ่งเปอร์เซ็นต์ต่อปีสามารถถ่ายเทกำไรจากผู้ออมเงินไปสู่สถาบันรับฝากเงินได้ถึง 4.4 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ผู้ออมเงินในไทยขาดทุนภายใต้ทั้งสองรัฐบาลถ้าไม่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ทองคำ ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในยุครัฐบาลทักษิณและรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในทางกลับกัน ผู้ออมเงินในอินโดนีเซียได้กำไรจากการออมเงินในสถาบันรับฝากเงินในอินโดนีเซียทั้งในยุครัฐบาลทักษิณและรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนจากการออมในไทยต่ำกว่าอินโดนีเซียคือโครงสร้างตลาดเงินไทย ไทยมีธนาคารพาณิชย์ 16 ธนาคารแต่อินโดนีเซียมี 117 ธนาคาร เทียบแล้วอินโดนีเซียมีจำนวนธนาคาร 7.4 เท่าของไทยทั้งๆประชากรอินโดนีเซียมากกว่าไทยเพียง 3.4 เท่า จำนวนธนาคารพาณิชย์ที่มากมายในอินโดนีเซียทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อระดมเงินฝาก ทำให้ผู้ออมเงินในอินโดนีเซียได้รับผลตอบแทนจริงมากกว่าในไทยแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียสูงกว่าไทย

อ้างอิง

[1] รายงานฉบับนี้แนบอยู่ท้ายข่าว “กรณ์ยันรัฐบาล'อภิสิทธิ์'วางรากฐานศก.ไทยแกร่ง” 22 สิงหาคม 2544 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20110822/405770/กรณ์ยันรัฐบาลอภิสิทธิ์วางรากฐานศก.ไทยแกร่ง.html

[2] สถิติที่คลุมเครือมากในรายงานโดยอดีตรมต.กรณ์คือยอดหนี้ของรัฐบาล ไม่ชัดเจนว่ายอดหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เท่าไร? ธปท.คาดการณ์ไว้ว่ายอดหนี้ของรัฐบาลในปี 2553 สูงกว่าปี 2552 4 แสนล้านบาท แต่รายงานฉบับนี้ไม่มีสถิติที่สอดคล้องกับธปท. (ที่มา : ธปท. ตาราง EC_PF_003_S2 : หนี้ในประเทศและต่างประเทศของรัฐบาล http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/PublicFinance/Pages/Index.aspx# ) ประเด็นที่ 2 คือแหล่งเงินกู้ รายงานนี้เสนอว่า “ทั้งหมดเราได้กู้ยืมจากคนไทยเท่านั้น”แต่ไม่บอกว่ากู้ยืมทั้งหมดเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ยอดหนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเกือบ 100% เป็นหนี้ในประเทศ เมื่อรวมภาครัฐและเอกชนด้วยกันแล้วญี่ปุ่นเป็นประเทศเจ้าหนี้มานานแล้วแต่ไทยยังเป็นประเทศลูกหนี้ แต่รายงานนี้ก็เสนอว่าเปรียบเทียบว่าอัตราหนี้สาธารณะของไทยต่อ GDP ต่ำกว่าญี่ปุ่นมาก ทำให้สับสนว่ารายงานนี้ใช้ตรรกะอะไร? ถ้าจะเสนอว่า”กู้ในประเทศไม่เป็นไร”ญี่ปุ่นก็ไม่เป็นไรเหมือนกัน ถ้าจะเสนอว่า”ยอดหนี้สูงกว่าแปลว่าแย่กว่า” ก็น่าจะเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์เพิ่มยอดหนี้รัฐบาลเท่าไร? การเปิดเผยแต่ยอดหนี้รัฐบาลในปีใดปีหนึ่งไม่ทำให้เห็นว่าหนี้เพิ่มเท่าไร

[3] “'อภิสิทธิ์'เตือนรัฐบาลใหม่ เน้นกระตุ้นศก.ระวังเงินเฟ้อ” 8 สิงหาคม 2554 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20110808/403815/%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%81.%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%AD.html

[4] ธปท.กำหนดนโยบายการเงินโดยอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่ครอบคลุมสินค้าประเภทอาหารสดและพลังงาน เพราะราคาอาหารสดและพลังงานมีความผันผวนมากแต่ดอกเบี้ยนโยบายที่ดีไม่ควรผันผวนมากมิฉะนั้นจะทำลายเสถียรภาพทางการเงิน การใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรป แต่ธนาคารกลางสหรัฐและญี่ปุ่นไม่กำหนดกรอบเงินเฟ้อชัดเจน

[5] ที่มา : ธปท. ตาราง EC_MB_003_S2 : บัญชีการเงินของสถาบันรับฝากเงิน http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/PublicFinance/Pages/Index.aspx#

[6] “แบงก์ฟันกำไรปี′53 อื้อซ่ากว่า 1 แสนล้าน เพิ่มขึ้น25% ธ.กรุงเทพแชมป์โกยมากสุด” 21 มกราคม 2554 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1295573459

[7] การคำนวณความแตกต่างระหว่างประเทศของดอกเบี้ยเพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนข้ามพรมแดนต้องนำอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมาคำนวณด้วย แต่ตาราง 2 เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการออมในสถาบันการเงินภายในประเทศเท่านั้น ผลตอบแทนดังกล่าวเป็นต้นทุนของเงินทุนภายในประเทศ ดังนั้นตาราง 2 จึงไม่จำเป็นต้องนำอัตราแลกเปลี่ยนมาคำนวณด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รมว.ไอซีที เผย 3 เดือนนับจากนี้ จะสามารถเปิดบริการ WIFI ฟรีตามนโยบายของรัฐบาล

Posted: 26 Aug 2011 05:17 AM PDT

26 ส.ค. 54 - สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผย ภายใน 3 เดือนนับจากนี้จะสามารถบริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย( WIFI ) ฟรีตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ขณะเดียวกันเร่งพัฒนาและบูรณาการระบบเตือนภัยของประเทศและเดินหน้าปราบปรามเว็บไซต์ไม่เหมาะสม นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายให้กับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ว่า กรอบนโยบายที่ได้มอบให้จะเป็นมีทั้ง นโยบายเร่งด่วนภายใน 1 ปีและนโยบายกรอบ 4 ปี โดยนโยบายเร่งด่วน 1 ปีหลังจากนี้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายก็จะต้องนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติงานซึ่งจะมีเนื้อหาสอดคล้องตามนโยบายที่รัฐบาลได้มอบหมายไว้ เช่น นโยบายบริการอินเทอร์เน็ต WIFI ฟรี ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มเห็นบริการระยะแรกได้ภายใน 3 เดือน 6 เดือนในพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ สถานศึกษา ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

ขณะเดียวกันจะเร่งดำเนินการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ที่จะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือด้านข้อมูลและระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการเร่งปราบปรามกับเว็บไซต์ที่หมิ่นสถาบัน เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมทุกประเทศ ทั้งโดยการดำเนินการของกระทรวงไอซีทีและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆด้วย ส่วนนโยบาบแจกแทปเล็ตฟรีแก่นักเรียน กระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของแอปพลิเคชั่น ข้อมูลคลังความรู้และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับการใช้งาน ขณะที่นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่เป็นการให้บริการอินเทอร์เน็ตราคาถูกทั่วประเทศ ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ก็จะมีการสานต่อนโยบายที่มุ่งให้ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตครอบคลุมประชากรทุกพื้นที่ในราคาที่เป็นธรรม แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางและวิธีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เฉลิม” ลั่นตั้งวอร์รูมจัดการเว็บหมิ่นสถาบัน

Posted: 26 Aug 2011 05:10 AM PDT

"เฉลิม" ขอเวลา 2 สัปดาห์ มอบนโยบายให้ สตช. ลั่นเดินหน้าปราบยาเสพติด เผยเตรียมตั้งวอร์รูมทำลายเว็บหมิ่นสถาบัน พร้อมให้ สตช.ตามเรื่องนักข่าวโดนขู่ต่อ

26 ส.ค. 54 - เว็บโพสต์ทูเดย์รายงานว่าร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า ขอเวลา 2สัปดาห์ จะแสดงความเห็นถึงแนวทางการทำงานที่จะมอบนโยบายให้สตช. แต่เรื่องยาเสพติดถือเป็นงานที่ถนัด ส่วนตัวมีข้อมูลพร้อมเข้าไปดูแล ทั้งนี้ จะมีการตั้งวอร์รูมดูแลเรื่องเว็บหมิ่นสถาบัน โดยจะไม่ยอมให้มีเว็บหมิ่นในรัฐบาลนี้ ส่วนกรณีที่นักข่าวถูกข่มขู่ก็จะให้สตช. เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ส่วนการดูแลกระทรวงยุติธรรม รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายเพราะเป็นเรื่องของศาล พร้อมเรียกร้องว่าทุกฝ่ฟายไม่ต้องเป็นกังวล เรื่องของการเช็คบิลในกระทรวงยุติธรรม เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐมนตรี  ส่วนการที่นายอภิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กังวลเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น รับปากว่าจะดูแลให้ดี

“ล่าสุดได้ติดต่อขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรฯ ซึ่งนายขวัญชัยรับปากว่า จะดูแลด้วยความเรียบร้อย”รองนายกฯ กล่าวและว่า ส่วนกรณีนักศึกษาเอาพวงหรีดให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา และถูกกลุ่มคนเสื้อแดงรุมทำร้าย ซึ่งเรื่องนี้จนได้สอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในรายละเอียดทั้งหมดแล้ว และยอมรับว่าเป็นเรื่องที่มีอะไรซ่อนเร้นแต่ยังไม่ขอเปิดเผย

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ส่วนภารกิจแรกในวันนี้ (26 ส.ค.) เวลา 15.00 น. ตนจะเดินทางไปเยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่โรงพยาบาลตำรวจด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ค้าสุนัข 10 จังหวัดอีสานประท้วงขอผ่อนผันการค้าสุนัขจนกว่าจะหาอาชีพใหม่ได้

Posted: 26 Aug 2011 04:55 AM PDT

กลุ่มผู้ค้าสุนัขภาคอีสาน 10 จังหวัด ชุมนุมเรียกร้องยืนหนังสือถึงผู้ว่าฯ นครพนมขอผ่อนผันการค้าสุนัขออกไปก่อนจนกว่าจะหาอาชีพอื่นได้ ส่วนชาวสกลนครไม่พอใจที่สื่อประโคมข่าวกินเนื้อสุนัขเกินจริง ด้านสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ เดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์

26 ส.ค. 54 - เมื่อเวลา 11.00 น. กลุ่มผู้ค้าสุนัขจาก 10 จังหวัด คือ จังหวัดสกลนคร, นครพนม กาฬสินธุ์, ศรีสะเกษ, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, นครราชสีมา และนครสวรรค์ จำนวน 500 คน นำรถกระบะกว่า 100 คัน ที่ใช้ตระเวนรับแลกสุนัข เดินทางจากบ้านท่าแร่ มายังจังหวัดนครพนม เพื่อเรียกร้องให้จังหวัดนครพนมผ่อนผันการจับกุมการค้าสุนัข ไปก่อน จนกว่ากลุ่มผู้ค้าสุนัขจะหาอาชีพอื่นรองรับได้ เนื่องจากกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

นายศวง เดชาเลิศ แกนนำกลุ่มผู้ค้าสุนัข  กล่าวว่า กลุ่มผู้ค้า 10 จังหวัดมีความเดือดร้อน หลังถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ห้ามตระเวนรับแลก จำหน่าย และบริโภคเนื้อสุนัข ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ บางคนมีหนี้สินมากต้องหวังพึ่งรายได้จากอาชีพนี้ บางรายนำโฉนดที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินไปดาวน์รถยนต์กระบะเพื่อตระเวนรับแลกสุนัข แต่ ไม่มีเงินส่งค่างวด ทำให้บ้านและรถกำลังจะถูกยึด และไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว จึงขอเรียกร้องจากทางจังหวัด 4 ข้อ 1. ขอเปิดเสรีให้ทำการค้าสุนัขได้ถูกต้องตามกฎหมาย 2.เปิดเสรีในการบริโภคเนื้อสุนัข 3. ขอความอนุเคราะห์จากผู้มีอำนาจให้อนุญาตประกอบอาชีพนี้โดยสุจริต และ 4.ขอกรอบเวลาในการประกอบอาชีพ และให้จัดหาอาชีพรองรับผู้เดือดร้อน

นายโชค อินธิราช ผู้ประกอบการค้าสุนัขชาวท่าแร่ เปิดเผยว่า หลังจากส่งตัวแทนเข้าหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมยื่นข้อเรียกร้องไปแล้ว หากทางการอนุญาตให้ค้าสุนัขได้ ทางกลุ่มผู้ค้าสุนัขก็พร้อมปฏิบัติตามทุกอย่าง แต่หากทางการไม่ออกใบอนุญาตให้ ทางกลุ่มก็จะทำต่อไปเนื่องจากขณะนี้ทุกคนที่มาชุมนุมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก คงต้องยึดอาชีพนี้ไปก่อน ถึงแม้จะถูกจับกุมก็ตาม

ชาวสกลนครไม่พอใจที่สื่อหลายแขนงประโคมข่าวว่ากินเนื้อสุนัขและจำหน่วยเนื้อสุนัข เกินความเป็นจริง

ส่วนที่ จ.สกลนคร ชาวสกลนครกว่า 300 คน รวมตัวกันแสดงความไม่พอใจที่สื่อต่างๆ ประโคมข่าวโจมตีว่า คนสกลนครเป็นต้นต่อในการกินเนื้อสุนัข และจำหน่ายเนื้อสุนัขชำแหละ สร้างความเสียหายเป็นการทำลายชื่อเสียงของจังหวัด ทั้งๆ ที่เหตุเกิดจากที่อื่น และเสนอข่าวเกิดความเป็นจริง

นายโกมุฑ ฑีฆทนานนท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสกลนคร พร้อมด้วยประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร และประชาชนชาวตำบลท่าแร่ 300 คน เดินทางมาชุมนุมที่ถนนหน้าศาลกลางจังหวัดสกลนคร เพื่อคัดค้านแสดงความไม่พอใจที่สื่อต่างๆ ประโคมข่าวโจมตีและให้ร้ายชาวสกลนคร ว่าเป็นต้นต่อในการกินเนื้อสุนัข และจำหน่ายเนื้อสุนัขชำแหละ ซึ่งสร้างความเสียหายและเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของจังหวัดสกลนครอย่างมาก ที่ผ่านมาชาวจังหวัดสกลนคร ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการค้าเนื้อสุนัขมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีสื่อบางสถานีฯ ออกมาเสนอข่าว ให้ให้ร้ายจังหวัดสกลนครอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอด ทั้งๆ ที่เหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากพื้นที่จังหวัดอื่น ขอวอนสื่ออย่าได้โยนบาปให้กับชาวสกลนครอีกเลย สิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่จังหวัดสกลนครยังมีอีกหลายอย่างที่ควรตีแพ่

นายโกมุท ฑีฆทนานนท์ กล่าวอีกว่า ต่อจากนี้ไปจะเดินหน้าชี้แจงข้อเท็จจริงและขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องชาวจังหวัดสกลนคร พร้อมทั้งเรียกร้องให้สื่อที่โจมตีให้ร้ายชาวสกลนครเกินความเป็นจริง จะต้องออกมาขอโทษผ่านสื่อมวลชน จนกว่าจะเป็นที่พอใจของชาวสกลนครด้วย

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ เดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์

วันเดียวกันนี้ (26 ส.ค. 54) ที่รัฐสภา สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ (TSPCA) โดยนายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมฯ และคณะกรรมการ พร้อมผู้นำองค์กรคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ภาคเอกชนในประเทศ และต่างประเทศกว่า 20 องค์กร เข้าพบนายสมศุกดิ์ เกรียติสุรนนท์ ประธานสภา เพื่อขอความร่วมมือผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นร่างที่กรมปศุสัตว์ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย และสภาทนายความร่วมกันพัฒนา พร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมฯ และคณะกรรมการ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการส่งออกสุนัขที่ผิดกฎหมายไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากที่สื่อได้มีการนำเสนอข่าวการจับกุมผู้กระทำผิดในการส่งออกสุนัขอย่างผิดกฎหมายที่จังหวัดนครพนม และมีประชาชนจำนวนมากทยอยเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และเรียกร้องให้มีการออกพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้น โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายแม่บทใดๆ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์แก่ประเทศ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ครอบครัวข่าว, มติชน, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมวางพวงรีดหน้าบ้านป๋าเปรม

Posted: 26 Aug 2011 04:29 AM PDT

นักกิจกรรมไร้สังกัดร่วม 10 คนนำพวงหรีดมาวาง เผาดอกไม้จันทร์หน้าบ้าน พล.อ.เปรม ด้านทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์เผยแดงล้อมรถ ‘ชวน’ คืนสภาล่ม ระบุไม่เอาเรื่องแต่เตือนเสื้อแดงให้เคารพกฎหมาย

26 ส.ค. 54 - เมื่อเวลา 11.00 น. พ.ต.อ.ฤทธิกร สายสนั่น ณ อยุธยา ผกก.สน.สามเสน รับแจ้งว่ามีกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองมารวมตัวกันบริเวณหน้าบ้านพักของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่แยกสี่เสาเทเวศจึงรีบไปตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่สายตรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน

เมื่อไปถึงพบมีกลุ่มคนทั้งชายและหญิงจำนวน 10 คน ได้นำพวงหรีดที่ติดรูปของ พล.อ.เปรม มาวางไว้ที่บริเวณหน้าบ้าน นอกจากนี้ยังจุดไฟเผาดอกไม้จันทน์อีกด้วย เจ้าหน้าที่จึงเชิญแกนนำ 3 รายมาสอบสวนที่โรงพัก

พ.ต.อ.ฤทธิกร กล่าวว่า จากการสอบสวนทั้งหมดอ้างว่าเป็นกลุ่มคนผู้รักประชาธิปไตย ไม่สังกัดกลุ่มการเมืองใด และไม่ใช่คนเสื้อแดง ที่เดินทางมาก็เพื่อแสดงจุดยืนเท่านั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำประวัติก่อนปล่อยตัวไปโดยไม่ได้แจ้งข้อหาใด ๆ

เผยแดงล้อมรถ ‘ชวน’ คืนสภาล่ม

จากกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงรุมข่มขู่ 2 นักศึกษาที่วางพวกหรีดประท้วงการทำงานของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา และกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงฟอร์เวิร์ดเมล์ข่มขู่สื่อมวลชนรายหนึ่ง ล่าสุดมีเหตุการณ์คนเสื้อแดงดักทำร้ายส.ส.ฝ่ายค้าน ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบคือนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
 
นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์และคณะทำงานของนายชวนเปิดเผยเหตุการณ์ว่า ระหว่างที่รถยนต์ของนายชวนกำลังเคลื่อนออกจากสภากลางดึกของคืนวันที่ 24 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่เกิดปัญหาองค์ประชุมล่มขณะการแถลงนโยบายของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาได้ข้ามฝั่งมายืนดักบริเวณประตู

เมื่อรถยนต์ของนายชวนเคลื่อนผ่านหน้าประตูคนเสื้อแดงที่ยืนอยู่บริเวณดังกล่าวได้ตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทำให้คนเสื้อแดงที่ได้ยินต่างกรูเข้ามาเพื่อรุมล้อมรถนายชวน โดยมีคนเสื้อแดงรายหนึ่งพยายามใช้ด้ามธงฟาดไปที่รถ แต่รถเคลื่อนตัวออกไปก่อน จึงทำให้นายชวนรอดออกมาจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างหวุดหวิด

“ขอเตือนว่าพวกเสื้อแดงรักทักษิณเท่าชีวิต แล้วทำได้ทุกอย่าง พวกผมก็รักท่านชวนเท่าชีวิตเช่นกัน แต่พวกผมเป็นสุภาพชนที่เคารพกฎหมาย นี้คือพฤติกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่นายกรัฐมนตรีและแกนนำคนเสื้อแดงต้องออกมาตอบคำถามให้ได้ว่า พฤติกรรมไม่เคารพกฎหมายเช่นนี้ยังจะมีอยู่ต่อไปอีกนานเท่าใด ทั้งที่บ้านเมืองปกครองโดยกฎหมาย แต่บุคคลกลุ่มนี้ไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แกนนำคนเสื้อแดงกลับปิดปากเงียบหมด ปัดว่าเป็นแดงเทียม แต่กลับมีหน้ามาเรียกร้อง ศพละ 10 ล้าน ด้วยเสียงดังฟังชัด ถ้าคนที่อยู่ในประเทศไทย สั่งให้เสื้อแดงหยุดพฤติกรรมป่าเถื่อนไม่ได้ ก็ช่วยกรุณาบอกให้คนที่อยู่ต่างประเทศคือคุณทักษิณ โฟนอิน มาบอกกลุ่มคนเสื้อแดงให้หยุดพฤติกรรมชั่วร้ายดังกล่าวได้แล้ว บ้านเมืองจะได้สงบ” นายราเมศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังนายชวนซึ่งก็การได้รับยืนยันว่าเกิดเหตุการณ์ที่คนเสื้อแดงรุมล้อมจริง แต่นายชวนเห็นว่าเป็นเพียงการตะโกนด่าจึงไม่อยากให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงเห็นว่าผู้ที่นั่งอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าวเป็นนายชวน เพราะนายชวนเปิดไฟอ่านหนังสือในรถ จึงทำให้เห็นหน้าชัดเจน และพยายามที่จะเข้ามาก่อเหตุดังกล่าว

'วัชระ' รับเป็นเจ้าของรถหน้าสภาฯ จริง

ด้านนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงตนว่า เป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อ ซูซูกิ คาริเบียนหมายเลขทะเบียน ญบ 2590 กรุงเทพมหานคร ได้ปฏิเสธว่า ไม่ได้นำนักศึกษาชาย 2 คน มาวางพวงหรีดประท้วงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาจนถูกกลุ่ม นปช. ทำร้ายร่างกาย เมื่อวานนี้ แม้ว่าส่วนตัวจะรู้จักกับ 2 นักศึกษาก็ตาม โดย นายวัชระ อ้างว่า นายไพศาล พุ่มมะเดื่อ ทนายความประจำตัว เป็นผู้ขับรถยนต์คันนี้ มาจอดทิ้งไว้หน้าสวนสัตว์ดุสิต ฝั่งตรงข้ามรัฐสภา แต่ทันทีที่กลุ่ม นปช. ทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เป็นรถยนต์ของตนก็ได้เข้ามาเจาะยาง ที่ล้อรถด้านขวา ทำให้ นายไพศาล ไม่สามารถขับรถออกมาได้

นอกจากนี้ นายวัชระ ยังได้ทวงถามไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแสดงความปรองดองและจุดยืนในประเด็น ที่ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายอาญามาต

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, คมชัดลึก, ไอเอ็นเอ็น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มูลนิธิกระจกเงาถอดบทเรียนกรณี “น้องพอมแพม” ชี้รัฐขาดประสิทธิภาพ

Posted: 26 Aug 2011 04:12 AM PDT

มูลนิธิกระจกเงาถอดบทเรียนกรณีลักพาตัวน้องพอมแพม ชี้กระบวนการติดตามเด็กหายของรัฐเหลว ขาดประสิทธิภาพ ไม่รับแจ้งความ ไม่ติดตามหา ด้านนายกปู โดนอัดอย่าแค่อุ้มเด็กโชว์ผ่านสื่อ ติงให้จริงใจในการแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายในประเทศไทย

ที่มูลนิธิกระจกเงาวันนี้ (26 ส.ค.54 ) มูลนิธิกระจกเงาได้จัดแถลงข่าวเพื่อทบทวนสถานการณ์การลักพาตัวเด็กล่าสุดภายหลังจากพบตัว ด.ญ.ศิรินทิพย์ สำอางค์ หรือน้องพอมแพม ภายหลังจากถูกหญิงลักษณะคล้ายคนเร่ร่อนลักพาตัวไปขอทานนานกว่า 20 วัน

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงากล่าวว่า จากกรณีที่ครอบครัวของน้องพอมแพมได้ลูกคืนกลับมานั้นเป็นเพราะการประสานงานอย่างแข็งขันของหลายฝ่าย ทั้งสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารเรื่องการลักพาตัวในครั้งนี้ ทั้งนี้ในความเป็นจริงหากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามหาน้องพอมแพมตั้งแต่วันแรกที่หายตัวออกไปจากบ้าน ครอบครัวน้องพอมแพมอาจจะได้พบตัวน้องเร็วกว่านี้ก็เป็นได้ ทั้งนี้หน่วยงานหลักที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการในการตามหาน้องพอมแพมคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ให้ความสนใจและไม่ใส่ใจในการตามหาเด็กหาย โดยกรณีของน้องพอมแพมเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำท้องที่ไม่ยอมรับแจ้งความและติดตามการหายตัวของน้องพอมแพมในทันที ซึ่งปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับเด็กหายหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับแจ้งความและไม่ออกสืบสวนติดตามหาโดยเร็ว

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน ให้เข้าใจถึงปัญหาคนหายในสังคม ต้องไม่ละเลยและไม่ตั้งเงื่อนไขว่าต้องหายออกจากบ้านไปครบ 24 ชม.ก่อน ถึงจะรับแจ้งความ ซึ่งในความจริงประเทศเราไม่มีกฎหมายระบุไว้ในเรื่องกรอบเวลา เจ้าหน้าที่ต้องพึงตระหนักว่าเด็กหายหรือคนหายเป็นญาติของตนเองเหมือนดังที่ประกาศไว้ว่าบริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว” หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงากล่าว

นายเอกลักษณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการรวบรวมสถิติคนหายของศูนย์ข้อมูลคนหายมูลนิธิกระจกเงา พบว่าสถิติคนหายในรอบ 7 ปีมีมากว่า 2 พันราย โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ถูกลักพาตัวไปมากถึง 56 กรณี โดยมี 19 กรณีที่ยังตามตัวไม่พบ ตนอยากวิงวอนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหันมาเอาจริงเอาจัง กับคนหายที่ยังไม่สามารถติดตามตัวพบโดยเฉพาะกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย ที่เมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) ได้อุ้มน้องพอมแพมต่อหน้าสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนอกจากการอุ้มน้องพอมแพมโชว์ต่อหน้าสื่อมวลชนแล้วตนอยากเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือติดตามคนหายอย่างเป็นระบบมากกว่าการอุ้มเด็กโชว์

“ตลอดระยะเวลาของการหายตัวไปของน้องพอมแพม คนของฝ่ายรัฐบาลที่ออกมารับเรื่องก็ไม่ได้ใส่ใจในการติดตามเท่าที่ควร ถึงแม้พลเมืองดีจะให้การช่วยเหลือน้องพอมแพมเพราะเห็นภาพน้องพอมแพมผ่านสื่อมวลชนก็ตาม แต่ก็ไม่เคยปรากฏภาพของน้องพอมแพมในสื่อของรัฐเลยแม้แต่นิดเดียว ยังมีเด็กอีกกว่า 20 คน ที่รอให้นายกรัฐมนตรีอุ้ม ผ่านกระบวนการติดตามหาตัวที่ต้องเกิดจากรัฐบาล” หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงากล่าว

นายเอกลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำในการจัดการปัญหาคนหายคือการเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายของหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐจะต้องมีการจัดการความรู้เกี่ยวกับการหายตัวไปของบุคคลในแต่ละประเภท และจะต้องมีบุคลากรในการให้คำปรึกษาและติดตามคนหายอย่างทันท่วงที ซึ่งหลายประเทศมีการจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายในลักษณะแบบนี้ และมีกระบวนการติดตามหาคนหายกลับคืนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายวิธนะพัฒน์ รัตนวลีพงษ์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงากล่าวว่า กรณีของน้องพอมแพมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าถูกลักพาตัวเพื่อนำไปขอทาน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้องพอมแพมถือว่าเข้าข่ายของการค้ามนุษย์และยังมีเด็กอีกจำนวนมาก ที่ถูกนำมาหาผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกันนี้ตามท้องถนนในประเทศไทย ซึ่งการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในลักษณะแบบนี้ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานอย่างจริงจัง ทั้งนี้ในกรณีของน้องพอมแพมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อพลเมืองดีบางส่วนให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ดำเนินใด ๆ จึงทำให้ขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์นำเด็กเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขอทานเพิ่มขึ้น

หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทานมูลนิธิกระจกเงากล่าวอีกว่า กระบวนการที่เป็นปัญหาสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐอีกส่วนคือกระบวนการทำงานของชุดปฏิบัติการเพื่อกวาดล้างเด็กขอทาน ที่หลังจากช่วยเหลือเด็กมาได้แล้วมักไม่มีการคัดแยกเด็กว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่ จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับนายหน้าที่พาเด็กมาขอทานได้ตามความเป็นจริง กรณีแบบนี้จึงทำให้เกิดกลุ่มนายหน้าที่คอยเรียกรับเงินจากผู้ที่พาเด็กมาขอทาน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดระยองหรือชลบุรี เป็นต้น นอกจากนี้การส่งเสริมสวัสดิการให้กับกลุ่มเด็กขอทานไทยที่มาจากความยากจนของครอบครัวก็ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ทำให้เด็กต้องกลับไปเป็นเด็กขอทานข้างถนนอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการแถลงข่าว มูลนิธิกระจกเงาได้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อไปยังรัฐบาลชุดใหม่และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กหายอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ ดังต่อไปนี้

1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานต่อการรับแจ้งความคนหาย กรณีคนหายที่เป็นเด็ก หรือการหายตัวไปที่เข้าข่ายถูกค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรรับแจ้งความทันที โดยไม่ต้องรอให้หายตัวไป ครบ 24 ชม.ก่อน และต้องมีกระบวนการสืบสวนติดตามที่มีประสิทธิภาพในทันที

2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรมีการจัดการความรู้เกี่ยวกับคดีลักพาตัวเด็กในประเทศ เพื่อให้เห็นแผนประทุษกรรมและลักษณะของการกระทำความผิด สำหรับเป็นแนวทางในการป้องกันและปราบปรามกรณีลักพาตัวเด็กต่อไปในอนาคต

3.ในระยะสั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดตั้งคณะทำงานหรือแผนกติดตามคนหาย ในพื้นที่กองบังคับการภูธรจังหวัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษา และสืบสวนติดตามกรณีคนหาย โดยควรทำงานประสานร่วมกับศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

4.รัฐควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และเปิดพื้นที่ให้มีการเผยแพร่ภาพเด็กหาย ในสื่อที่รัฐกำกับดูแลอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

5.รัฐควรรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในสังคมเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กขอทานโดยการงดการให้เงินและเปลี่ยนเป็นการแจ้งเบาะแสอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมในการช่วยเหลือเด็กอย่างถูกวิธี และควรดำเนินการลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที หลังจากที่ได้รับแจ้งเบาะแส เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือออกจากข้างถนนและนำส่งเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพ

6.รัฐควรพิจารณาจัดตั้ง ศูนย์ติดตามคนหายในประเทศไทยเพื่อบริหารจัดการปัญหาคนหายในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน

7.รัฐควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะคนหายพลัดหลง และผลักดันให้มีกฎหมายติดตามคนหายในประเทศไทย

 

 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร สุเมธ ตันติเวชกุล

Posted: 26 Aug 2011 04:03 AM PDT

"ผมเป็นอำมาตย์ 100% ในชีวิตไม่เคยทำอะไร นอกจากเป็นข้าราชการ อำมาตย์ก็คือข้าราชการ มียศ มีศักดิ์ ใช่...แล้วไง แล้วตอนบ้านเมืองจนมุม ก็มีแต่พวกอำมาตย์กู้ชาติ ถ้าผมตายก็ตาย ไม่รู้จะเตือนอย่างไร จำนวนคนอวิชชามันเยอะ ถ้าเขาฟังก็ฟัง เขาด่าเราก็ไม่ด่าตอบ ทำตามบทบาทหน้าที่ ทำได้เท่านี้ แล้วก็ทำไม่เคยหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก็ทำงาน"[1]

สุเมธ ตันติเวชกุล นับเป็นบุคคลสำคัญของป้อมค่ายฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ชีวิตมีสีสันอย่างมาก เขาเรียนระดับปริญญาตรีที่เวียดนาม มีประสบการณ์ที่ฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาลุยงานต่อสู้คอมมิวนิสต์ และคุมโครงการในพระราชดำริ ว่ากันว่าเขาทำงานไม่หยุด แม้อายุจะเลยวัยเกษียณมาแล้วก็ตาม ด้วยความที่เขาเป็นคนทำอะไรจริงจัง เป็นผู้ใหญ่เสียงดังโผงผาง พูดจาขวานผ่าซาก แต่ก็เปี่ยมไปด้วยบารมีอันเป็นที่เกรงใจแก่ผู้น้อยทั้งหลาย

ระยะหลังพบว่า เขามีพฤติกรรมที่น่ากังขา และมีความลักลั่นไม่สมเหตุสมผลในคำเทศนา ดุจจะสวนทางกับสิ่งที่เขากระทำ แต่ด้วยขนบของสังคมไทยที่ยังคงรักษาลำดับชั้นของสังคม มักจะละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ “ผู้อาวุโส” “คนดี” นี่จึงทำให้ “ผู้อาวุโส” “คนดี” จึงทำหน้าเคร่งขรึมลอยหน้าลอยตาเข้ามามีบทบาทสำคัญในสถาบันทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยความเกรงใจหรือเกรงกลัวก็ตาม ขณะที่หากเป็นคนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมและอยู่ในวัยเยาว์ กลับต้องเผชิญกับคำปรามาส และดูถูก การอ้างเหตุผลและถกเถียงกันอย่างอิสระ เป็นหนทางที่น้อยครั้งที่จะนำไปสู่การหาคำตอบ ขณะที่ข้ออ้างของการอาบน้ำร้อนมาก่อน ประสบการณ์ เส้นสายและการอุปถัมภ์ กลับเป็นยาสามัญประจำบ้านในการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาของชาติ

สุเมธจึงเป็นอีกหนึ่งในคนดีและผู้อาวุโสที่ผู้เขียนเห็นว่า ควรถูกตั้งคำถามจากพฤติกรรมและปรากฏการณ์ที่ผ่านมา การที่ใครคนใดคนหนึ่งผลิตข้อเขียนและอุดมการณ์ อันส่งผลกระทบต่อสังคมสาธารณะ โดยไร้การตรวจสอบและการตั้งคำถามนั้น มิใช่สัญญาณที่ดีของสังคมประชาธิปไตย มิใช่หนทางของสังคมแห่งความหวังและจินตนาการ ผู้เขียนเชื่อว่าการที่เราจะปิดตาแกล้งทำตาบอดข้างเดียวให้กับ “การเมืองของคนดี” อาจทำให้เรามืดบอดไปจริงๆ กับหนทางการไปข้างหน้า และนั่นคือ ความฉิบหายที่เราต้องแบกรับ

บทความนี้ตั้งใจเสนอ เนื่องในโอกาสที่ครบ 6 รอบนักษัตรชีวิตของสุเมธใน วันที่ 26 สิงหานี้ โดยใช้ข้อมูลหลักมาจากหนังสือ 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่จัดทำโดยคณะทำงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุไว้ว่าจัดทำ “เพื่อระลึกถึงคุณูปการที่ท่านได้ผลักดันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มั่นคง และต่อเนื่อง” [2]

 

72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
จัดทำโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 ถือกำเนิดในตระกูลอำมาตย์

สุเมธ เกิดในตระกูลโบราณที่เคยเป็นเจ้าเมืองและคหบดีเมืองเพชรบุรีมาก่อน เขาลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2482 สุเมธเล่าว่า เขาได้รับการสอนมาเป็นอย่างดีในคุณสมบัติที่ต้องนอบน้อมถ่อมตน ถึงขนาดว่า เวลาทวดพาไปตลาด เจอแม่ค้าทวดสอนให้ยกมือไหว้แม่ค้า สุเมธเข้าใจว่า “ถูกเลี้ยงดูและโตขึ้นมาอย่างแบบนั้น คือไม่ลืมตัว ถ่อมตน ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันในสังคม” [3]

เขาเล่าว่า เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมของบ้านเรือนไทยหมู่ที่มีอยู่ด้วยกัน 5 หลัง ขณะที่มารดาคือ ประสานสุข ตันติเวชกุล ที่มีคำนำหน้าเป็นท่านผู้หญิง ทำงานเป็น “ต้นเครื่อง” ในวังสวนจิตรลดา เป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[4] ขณะที่บิดาคือ อารีย์ ตันติเวชกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลถนอม กิตติขจร[5] ในปี 2501 เป็นรัฐบาลที่ 2 หลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพิบูลสงครามในปี 2500 อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์ได้ระบุว่า พ่อและแม่ของเขาแยกทางกันอยู่ตั้งแต่เขายังอายุ 5 ปี ได้ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาด้วย[6] นั่นคือ

“โชคดีที่มีแม่เป็นหลัก แม่แทนทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าสังเกตให้ดีกิริยามารยาทของผมบางทีเป็นผู้หญิง เพราะถูกแม่สอนมาตลอด เดินดังก็ไม่ได้ต้องโดนเอ็ด" แม้เขาจะไม่ได้ตัดพ้อและฟูมฟาย แต่ก็ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่ดีงามรายล้อมตัวเขาอยู่ ถึงขนาดกล่าวว่า “หากเกิดมาในสลัมแล้วชีวิตต้องแก่งแย่งปากกัดตีนถีบ เพื่อความอยู่รอด เมื่อโตมาก็ต้องมีชีวิตแบบนั้น ฉันใดก็ฉันนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม”

ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความเท่าเทียมในสายตาของสุเมธนั้นเป็นอย่างไรกันแน่

ชีวิตของสุเมธในวัยเรียน ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาที่เพชรบุรีเพื่อหลบไฟสงคราม พอจบสงครามโลกครั้งที่ 2 สุเมธก็กลับไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก[7] จากนั้นเขาได้ศึกษาต่อ ณ โรงเรียน “ผู้ดี” วชิราวุธวิทยาลัย ราวๆปี 2497-2498 คนดังร่วมรุ่นก็คือ อดิศัย โพธารามิก, พล.อ. แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ฯลฯ[8] และในสถาบันแห่งนี้เองที่เป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรก

สุเมธ ตันติเวชกุล ในเครื่องแบบโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

 

เล่าเรียนถึงเวียดนาม ลาว ฝรั่งเศส

หลังจากจบวชิราวุธวิทยาลัย สุเมธมีโอกาสไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศเวียดนาม ในขณะนั้นยังอยู่ในสถานการณ์สงครามที่เวียดนามต้องการจะปลดปล่อยตนเองจากประเทศเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ทำให้เขาต้องย้ายเข้าไปเรียนต่อในลาว และฝรั่งเศสตามลำดับ[9] สุเมธบันทึกว่า ในครั้งนั้นได้โอกาสรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ที่ทั้งสองพระองค์เสด็จเวียดนามเมื่อ วันที่ 18-21 ธันวาคม 2502

หลังจากที่ได้อนุปริญญาตรีทางปรัชญา ที่ลาวแล้ว จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกรอนอบ ปริญญาโทและเอกทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมองเปลิเอ วิทยานิพนธ์ของสุเมธทำเรื่อง ระบบการปกครองแบบทหาร เป็นตัวจบการศึกษาในปี 2512[10] วิทยานิพนธ์นี้ได้รับพิจารณาให้เป็นวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม พร้อมคำสดุดีจากคณะกรรมการ สำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสนั้น เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากสังคมไทย ทำให้ได้พบเจอประสบการณ์ที่เขาไม่อาจหาได้ สุเมธเล่าว่าเมืองที่เขาเคยอยู่ Lyon มีการนัดหยุดงานประท้วงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นเขายังเคยทำงานพิเศษเป็นกรรมกรในโรงงานน้ำแร่ Evian ที่นั่นทำให้เขาเห็นความแตกต่างจากสังคมไทยอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ การที่ประธานบริษัทที่เข้ามาตรวจงาน หากเห็นว่างานล้นก็จะเข้ามาช่วย[11] สุเมธเลือกอธิบายว่า นั่นคือการปกครองบริหารคนอย่างเข้าถึงจิตวิทยา ว่า “อย่าสั่งอย่างเดียวต้องร่วมทำ” ด้วย นั่นคือวิธีคิดแบบคนที่ถูกฝึกมาให้เป็นเจ้าคนนายคน ขณะที่โอกาสการทำงานของสุเมธนั้น มาจากโครงสร้างระบบการหมุนเวียนแรงงานที่เปิดโอกาสให้กรรมกรหยุดพักร้อน และเป็นช่วงที่รับนักศึกษาเข้ามาทำงานแทน

 

ขณะศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส 

 

อย่างไรก็ตามประสบการณ์กรรมกรครั้งนั้นสุเมธถือว่า ได้สอนอะไรหลายอย่างให้กับเขา “ให้ความรู้สึกมากมาย รู้สึกถึงความเหนื่อยยากของชีวิตกรรมกร เงินแต่ละสิบแต่ละร้อยต้องแลกกับหยาดเหงื่อท่วมกาย รู้สึกและรู้ค่าของเงินอีกมาก”[12] ขณะที่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 พรรคการเมืองอย่าง เพื่อไทย นำเสนอนโยบายค่าแรง 300 บาท รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆเสนอนโยบายประชานิยม สุเมธกลับชี้ว่า

“ผมเหมือนอยู่ในความฝันเวลาขับรถไป เห็นทุกป้ายสร้างความฝันให้ผมว่าแรงงานระดับล่างกำลังจะได้รับเงิน 300 บาทต่อวัน และจะปลดหนี้ไม่มีหนี้แล้ว...แต่เผลอแป๊บเดียวความฝันผมก็หายไป นโยบายต่างๆ กำลังบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่มองว่าจะส่งผลเสียนานัปการไม่เหลืออะไรเลย คนไทยแม้แต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ตามบ้านนอกมีคนเอาของไปล่อ เกิดความอยากได้ กลายเป็นคนหิวกระหายและนิสัยเสียไปหมด” [13]

 

กลับเมืองไทย การเข้าเฝ้า และชีวิตที่ถูกลิขิต

สุเมธกลับมาอยู่เมืองไทยในปี 2512 ด้วยความที่จบรัฐศาสตร์การทูตจึงได้งานที่กระทรวงต่างประเทศ เข้าใจว่าก่อนจะเข้าทำงาน ได้ไปกราบในหลวงที่หัวหินด้วย ในฐานะที่สุเมธเป็นลูกข้าราชบริพาร การเข้าเฝ้าครั้งนั้น ในหลวงรับสั่งถามเรื่องการศึกษาและสถานที่ทำงาน เมื่อทรงทราบว่าเป็นกระทรวงต่างประเทศพระองค์ก็ทรงเฉยและไม่ทรงคุยต่อ ในเวลาต่อมา ก่อนที่สุเมธจะเข้าทำงาน ณ กระทรวงต่างประเทศ ก็ได้ข่าวจากเพื่อนว่า ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องการคนเรียนจบปริญญาเอก และได้ชักชวนสุเมธให้มาทำงานร่วมกัน สุเมธจึงกลับไปเข้าเฝ้าในหลวงอีกครั้ง และกราบบังคมทูลเรื่องดังกล่าว ในครั้งนี้พระองค์ทรงรับสั่งว่า “ดีนะสภาพัฒน์ฯ ช่วยเหลือประเทศที่นี้ดีๆ” จากนั้นก็มีพระกระแสรับสั่งคุณหญิงมณีรัตน์ บุนนาค[14] ว่า “ส่งสุเมธไปพบคุณหลวงเดชสนิทวงศ์ พรุ่งนี้”

นั่นคือ ความเป็นมาของงานแรกที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในตำแหน่ง วิทยากรโท กองวางแผนกำลังคน เมื่อปี 2512[15] ปีต่อมาเขาได้ย้ายไปสังกัด กองวางแผนเตรียมพร้อมทางเศรษฐกิจ ในบันทึกยังระบุว่า กองวางแผนเตรียมพร้อมนั้นมีไว้เตรียมรับกับสงคราม จนคลอดออกมาเป็น “แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ” ไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเขาแสดงความเห็นว่า แผนดังกล่าวเมื่อเสร็จแล้วก็เก็บอยู่ในตู้มิได้มีปฏิบัติการใดๆ สุเมธได้โต้เถียงกับพวกนายทหารที่ดูแลนโยบายด้านความมั่นคง เกี่ยวกับยุทธวิธีทางทหาร สุเมธไม่เห็นด้วยในการประเมินว่าจะต้องใช้สงครามเต็มรูปแบบต่อสู้กับการรบแบบกองโจรของคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามในครั้งนั้น เขาถือว่า ได้รับการดูถูกว่าเป็นเพียงความเห็นของข้าราชการพลเรือน จึงทำให้เขามีมานะในการเรียนต่อที่วิทยาลัยการทัพบก ปรากฏว่าเขาสำเร็จการศึกษาในรุ่น 23 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ประมณฑ์ พลาสินธุ์ (อดีตผู้บัญชาการทหารบก) ศิรินทร์ ธูปกล่ำ ฯลฯ[16]

หลัง 6 ตุลาคม 2519 ยุครัฐบาลหอย ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขณะนั้นสุเมธ อยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 6 และรักษาการหัวหน้ากองวางแผนเตรียมพร้อมและพัฒนาเพื่อความมั่นคง เขาเล่าว่า ได้เข้าพบเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สิทธิ เศวตศิลา ในยศพลอากาศเอก เพื่อนำเสนอแนวทางการต่อสู้ว่า ควรเปลี่ยนเป็นแนวทางการพัฒนาในพื้นที่สีแดง ใช้การต่อสู้ทางความคิด ครั้งนั้น สิทธิ รับปากว่าจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เงื่อนไขของสุเมธในการแก้ไขปัญหาก็คือ จะต้องมีอำนาจและงบประมาณอยู่ในมือ ส่วนอำนาจในระดับชาติ ใช้อำนาจของคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติอนุมัติแผนและโครงการ แล้วนำเรื่องขออนุมัตินายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ขณะที่อำนาจเชิงปฏิบัตินั้น ขอให้แต่งตั้งเขาเป็นเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพภาคทั้ง 4 ภาค โดยมีแม่ทัพภาคเป็นประธาน โดยที่อำนาจก็ยังอยู่ใน อำนาจสั่งการของแม่ทัพภาคในฐาน ผู้บัญชาการกองอำนวยการรักษาความมั่่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค[17]

ในที่สุด นายกรัฐมนตรีก็อนุมัติ การดำเนินการครั้งนั้นมี บุญญรักษ์ นิงสานนท์ เป็นมือขวา และพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต เป็นมือซ้าย ครั้งนั้น สุเมธเองก็ได้บรรจุเป็นกำลังพลของ กอ.รมน. ความหมายของ การบรรจุ นั้นหมายถึง เป็นบุคลากรที่ต้องปฏิบัติการในพื้นที่สู้รบ[18]

 

สู้สงครามคอมมิวนิสต์ อ้างตัวว่าเป็นต้นตอคำสั่งที่ 66/23

สุเมธกล่าวอย่างภูมิใจว่า ตั้งแต่ได้รับงานนี้จนถึงปี 2524 เขาได้ลงสนามรบทั่วประเทศที่มีการก่อการร้ายในทุกภาค ลงไปวางแผนวางโครงการโดยการเมืองนำการทหาร ซึ่งเขาอ้างว่า เป็นต้นตอของคำสั่งที่ 66/23 การลงพื้นที่เพื่อประสานกับแม่ทัพภาคต่างๆ ทำให้เขาเจอกับ เปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่2[19] เขายังเล่าต่อไปว่า “ชีวิตนอนกลางสนามรบ สะพายปืน โดดร่ม ถูกยิง เฉียดกับระเบิด เฮลิคอปเตอร์ตกกลางป่าที่อุทัยธานี”

สุเมธพยายามบ่ายเบี่ยง กอ.รมน. ที่ได้เสนอบรรจุเป็นกำลังพล แต่ก็ไม่ยอม ซ้ำยังย้อนกลับไปว่า “ป้องกันชาติบ้านเมืองต้องจ้างกันด้วยหรือ” ผู้อ่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ในสถานการณ์สงครามเช่นนี้ พวกข้าราชการเหล่านี้จะมีเบี้ยเลี้ยงพิเศษและวันราชการนับทวีคูณ การปฏิเสธคงแค่เป็นการแก้เกี้ยว เพราะในที่สุด กอ.รมน.ก็ตั้งการเบิกจ่ายน้ำมันให้เดือนละ 80 ลิตร เบี้ยเลี้ยงประมาณ 1,000 บาท และได้วันทวีคูณมา 9 ปี[20] ซึ่งกรณีสุเมธ เขาได้อายุราชการเพิ่มตอนเกษียณอีกต่างหาก

แม่ทัพภาคที่ 2 เปรม ติณสูลานนท์

 

แก้ไขแบบไม่ตามก้นฝรั่ง ก็ชนะคอมมิวนิสต์ได้

การทยอยเข้ามามอบตัวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หลังนโยบาย 66/23 แสดงให้เห็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของรัฐไทย สุเมธบันทึกโดยไม่พูดให้หมดถึงปัจจัยสาเหตุความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างจริงจัง นั่นคือ สถานการณ์แตกหักระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียตรัสเซีย ความคุกรุ่นของความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ขณะเดียวกันภายใน พคท.เองก็ประสบปัญหาการแตกแยกทางความคิดภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเอง โดยเฉพาะระหว่างคณะนำกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่เข้าไปพยายามมีบทบาทในพรรค [21] สุเมธสรุปเอาเองอย่างไร้บริบททางประวัติศาสตร์ว่า ทฤษฎีโดมิโน่อันเป็นการอธิบายถึงการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ฝรั่งเสนอ มาหยุดที่เมืองไทย เพราะ “เราแก้แบบไทยไม่ตามฝรั่งเขาที่ใช้อาวุธมากมายมหาศาล แต่สุดท้ายต้องแก้ไข ‘คนและความคิดอุดมการณ์’ ” ชัยชนะที่ได้มาจากภาวะที่ง่อนแง่นของพคท. ทำให้ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะสุเมธย่ามใจในการนิยามความสำเร็จอย่างพิลึกพิลั่น เช่นการพูดว่า “เรา(ทำ)ให้สงครามมาร์กซิสต์ ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง”คนมีกับคนไม่มี” มาเป็นการทำให้ “คนไม่มีเป็นคนมี”” [22]

ขณะที่การอธิบายว่า “เราชนะศึกโดยไม่ได้ใช้อาวุธ เราใช้แทรกเตอร์แทนรถถัง เราใช้จอบเสียมแทนเอ็ม 16 เราใช้ สทก. (หนังสือสิทธิทำกิน ในเขตป่าสงวน) ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของแผ่นดิน”[23] ก็เป็นการละเลยที่จะไม่พูดถึงการใช้อาวุธสงครามหนักถล่มฐานที่มั่นของ พคท. ซึ่งเป็นการกสกัดกั้นเชิงยุทธวิธีที่ต้องทำงานควบคู่กัน

 

ข้าราชการ ซี 22 รับงานโครงการในพระราชดำริควบสภาพัฒน์

หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเปรม ในปี 2523 ก็ได้มีการตั้ง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งเคยเป็นหน่วยงานหนึ่งในกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[24] เปรมได้ทาบทามสุเมธให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วย ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[25]

สุเมธวิเคราะห์ว่า โครงการพระราชดำริมีลักษณะสนับสนุนยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงภายในของฝ่ายทหาร ด้วยการรุกทางยุทธศาสตร์การเมือง เพื่อช่วงชิงพื้นที่เดิมใต้อิทธิพลคอมมิวนิสต์กลับมา และฟันธงว่า โครงการพัฒนาของโครงการพระราชดำริมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงได้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการพัฒนาตามแนวทางของรัฐบาล ซึ่งแน่นนอนว่าโครงการฯ มีเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบททุรกันดาร ในลำดับความสำคัญต่ำที่รัฐบาลมองข้ามไป[26]

ต่อมาในปี 2531 สุเมธก็ได้รับตำแหน่งเลขามูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมูลนิธิมีวัตถุประสงค์เพื่อ “เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว” มูลนิธินี้ในหลวงทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน[27] สุเมธได้รับความไว้วางใจในเรื่องการเงิน จนได้รับฉายาจากในหลวงว่า “ถุงเงิน” [28]

 

ตำแหน่งสำคัญในมูลนิธิชัยพัฒนา 

ภารกิจอันหนักหนาของสุเมธ ทำให้เกิดที่มาของคำว่า ข้าราชการ “ซี 22 ได้มาจากการทำงานควบ 2 ตำแหน่งงาน นั่นคือ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกปร. ที่อยู่ในระดับ ซี 11 ทั้งคู่ และวลี ซี 22 ก็ยังปรากฏการอ้างอิงอยู่เสมอในหมู่คนรู้จักของสุเมธ ซี 22 จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของสุเมธว่า เป็นคนทุ่มเททำงานหนักและเอาจริงเอาจัง และมีความสำคัญเพียงใดในแวดวงราชการ

เดือนมีนาคม 2535 ก่อนเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ที่มาจากการรัฐประหาร อนุมัติหลักการแยก กปร. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยยกฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามมีผลทางกฎหมายก็เมื่อ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2536 มีผลบังคับใช้ในเดือน กันยายน 2536 แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของหน่วยงานกปร.ที่โตเกินจะอยู่ในสภาพัฒน์แล้ว

 

งานเขียน และการสัมมนา การผลิตซ้ำทางอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมโดยสุเมธ

หากเราจะดูพัฒนาการทางความคิดและการปฏิบัติผ่านร่องรอยที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกที่เขาลงสนามรบกับคอมมิวนิสต์จะมีงานเขียนไม่มาก เท่าที่พบก็คือ การพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติ (2521) การศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการพัฒนาหมู่บ้านยากจนเพื่อความมั่นคง (2525) “การพัฒนาชนบทตามระบบ กชช.” ใน ชนบทไทย 2527 (2527) “บทบาทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการสนับสนุนความมั่นคงของชาติในพื้นที่ชนบทของประเทศ” (2529) สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องที่ชนิดา ชิดบัณฑิตได้นำเสนอว่า อุดมการณ์ด้านการพัฒนาของไทยมีความเชื่อมโยงกับสงครามเย็น[29]

โดยเฉพาะเมื่อเขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาในปี 2531 ทำให้เกิดงานเขียนแนวเทิดพระเกียรติในด้านการพัฒนาขึ้น ได้แก่ ในหลวงนักเศรษฐศาสตร์ (2530) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับงานพัฒนา (2531) ในปี 2536 เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)[30] จึงทยอยมีงานทางด้านวิชาการที่เป็นระบบมากขึ้น นั่นคือการจัดสัมมนาดังนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาการเกษตรยั่งยืน (2536 : ฉะเชิงเทรา) การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2537 : ราชบุรี) บทความ “มูลนิธิชัยพัฒนา : พระราชดำริเพื่อนำปวงไทยให้บรรลุถึง “ชัยชนะแห่งการพัฒนา” “ ใน จิตวิทยาความมั่นคง (2538) “แนวพระราชดำริและการพัฒนาชนบท” ใน การประชุมวิชาการเรื่อง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเทคโนโลยีชนบท (2538) การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ครั้งที่ 3 : 2542 : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) แม้กระทั่งการหนังสืออนุสรณ์งานศพในนาม โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2539)[31]

กระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ทำให้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ (ขณะที่สุเมธอ้างว่า ในหลวงตรัสเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2517) ด้วยความใกล้ชิดกับในหลวงและภารกิจงานที่เขารับผิดชอบมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับชุดความคิดนี้ สุเมธจึงถือว่า เป็นอรรถกถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการเผยแพร่ความคิดนี้ออกสู่สาธารณะมากที่สุดคนหนึ่ง

 

คนดี มือสะอาด สมถะ ทำงานหนัก มีผลงาน

“การทำความดีนั้นน่าเบื่อ ประการถัดไป การทำความดีนั้นมันยาก ทำไมมันยากเพราะมันไปสวนกระแสชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์คือสัตว์อย่างหนึ่งที่ถูกกระตุ้นโดยแรงตัณหา แรงอาฆาต กิเลส ความอยาก” [32] นี่คือ นิยามความดีของสุเมธที่ได้เรียนรู้มาจากในหลวง ความดีเหล่านี้เป็นความบริสุทธิ์ที่อยู่ตรงข้ามกับกิเลส ตัณหา แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่า จะมุ่งให้ทุกคนละกิเลสได้หมด แต่การจะเป็นคนดีนั้นหัวใจสำคัญก็คือ ขอเพียงควบคุมกิเลสให้ได้

คำสรรญเสริญที่เป็นรูปธรรมของสุเมธ ก็คือ การได้รับรางวัลการันตีความเป็น “คนดี” จากสถาบันต่างๆ ได้แก่ รางวัลบุคคลตัวอย่าง ประจำปี 2537 จาก มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์[33] รางวัลผู้บริหารราชการดีเด่น (ครุฑทองคำ) ปี 2538 จากสมาคมข้าราชการพลเรือน และได้รับโล่ห์รางวัลเชิดชูเกียรติ บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จากสำนักงาน ป.ป.ป. ปี 2540[34] ที่น่าสนใจก็คือ สุเมธระบุว่า รางวัลนี้ไม่มีใครได้มานานมากแล้วเพราะคนที่ได้ล่าสุดคือ สิทธิ จิระโรจน์ ซึ่งมีอายุห่างจากสุเมธกว่า 20 ปี [35]

แน่นอนว่า “คนดี” นั้นจะต้องเอาใจใส่พุทธศาสนา ฝักใฝ่ต่อการขัดเกลาทางธรรมของตน สุเมธบันทึกเอาไว้ว่า เขาผ่านการบวชมา 4 ครั้ง เณร 1 ครั้ง และบวชพระ 3 ครั้ง โดยสองครั้งหลังเป็นการบวชวัดป่า เขาเล่าต่อไปว่า ครั้งล่าสุดคือเมื่ออายุได้ 65 ปี หากเทียบแล้วก็อยู่ราวๆปี 2547 ครั้งนั้นบวชอยู่ที่สกลนคร ในสายอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ของพระป่านิกายธรรมยุตในยุคปัจจุบัน [36]

“การบวชครั้งล่าสุดนี้ทำให้รู้สัจธรรมว่าร่างกายต้องการอาหารน้อยนิด กินแบบอดอยาก มีน้ำตาลน้อยลง ไขมันก็ไม่อุดตัน ร่างกายก็แข็งแรงแม้ว่าน้ำหนักจะหายไปถึง 8 กก. ไม่ต้องมาอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี มีผ้านุ่งเพียง 4 ผืน กับบาตรเท่านั้น ทำให้ซึ้งสัจธรรมอีกข้อว่า ชีวิตเราเกิดมาจากการขอ อยู่ได้ด้วยความเมตตา มีความสุขที่สุดจากคนที่ไม่มีอะไร...ไม่ต้องรับรู้ในสิ่งที่ไร้สาระ นั่งสมาธิกระทั่งพบพลังจิตอันว่างเปล่า อันเป็นพลังบริสุทธิ์"[37]

 

บรรยายพิเศษเรื่อง “ตามรอยเท้าพ่อ”
โครงการบวชพุทธสาวิกาภาคฤดูร้อน
2553
ณ เสถียรธรรมสถาน

 

ปีที่บวชครั้งสุดท้ายยังตรงกับการที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด 2547[38] ในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ระบุว่า “เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมีจริยธรรม มีคุณธรรม รังเกียจการทุจริต ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีความใสสะอาด” และ “เพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย”[39] นั่นจึงมิใช่เรื่องแปลกอันใดที่ สุเมธยังมีตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ และกรรมการธรรมาภิบาล ในบริษัทเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ด้วยในปัจจุบัน[40]

ดังนั้นคนดีในเชิงการเมือง จึงมิได้เป็น “ความดี” ด้วยตัวของมันเอง แต่การเป็นคนดีเช่นนี้จะมีความสามารถในควบคุมกิเลสให้อยู่หมัดทั้งในกิเลสส่วนตัว และครอบคลุมไปถึงกิเลสของสังคมด้วย การอธิบายเช่นนี้เข้ากันได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับแนวคิด “เผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาส ที่เชื่อมั่นในตัวบุคคลที่มีศีลธรรมและความดีอยู่เต็มเปี่ยม ว่า เมื่อทุกอย่างเริ่มต้นด้วยคนดีแล้วปัญหาทุกอย่างก็ไม่ต้องห่วงแล้วว่าแก้อย่างไร ซึ่งทัศนะเช่นนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา และที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ตำแหน่งบริหารในองค์กรสำคัญในประเทศไทย เมื่อชีวิตเริ่มต้นที่ 60

ภารกิจงานจำนวนมากที่สุเมธได้ทุ่มเท ตลอดชีวิตราชการ นอกจากจะสร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการทำงานอุทิศให้กับในหลวงเรื่อยมา จึงไม่เรื่องแปลกที่สุเมธเป็นบุคคลต้นแบบที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ (เมื่อเดือนเมษายน 2554 เขาได้ออกรายการ The Idol คนบันดาลใจ ทางช่อง Modern Nine ด้วย) ข้าราชการ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม เขาถือเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่ายิ่งสำหรับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการเขาไปเป็นส่วนหนึ่ง สุเมธครบวาระเกษียณอายุเมื่อปี 2542 แต่เราพบว่าก่อนหน้านั้นสุเมธดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในส่วนที่เป็นหน่วยงานของรัฐได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2537-2539) กรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (2537-2539) ประธานกรรมการ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (2540-2541)

ในส่วนของธุรกิจเอกชน ได้แก่ กรรมการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (2537-2544) กรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (2539-2540) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (2540-2541) กรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (2540-2543) 

 

ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “รวมใจ รวมไมล์ เพื่อชัยพัฒนา” ซึ่งการบินไทยจัดขึ้น เพื่อขอรับการบริจาคไมล์จากสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส เพื่อมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา 24 มิถุนายน 53

 

ที่พึ่งของสถานศึกษา กับ 6 ปี ในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การทำงานมาตลอดชีวิตราชการ ทำให้เขาเป็นที่กว้างขวาง ดังที่พบว่าเขาได้รับเชิญให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนั้น เดิมเป็นเพียงตำแหน่งทางเกียรติยศ ถือได้ว่าเป็นสภาเกียรติยศ หรือสภาตรายางที่ไม่มีอำนาจ[41] ที่น่าสนใจก็คือ หลังการปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี 2542 สภามหาวิทยาลัยได้รับการกระจายอำนาจการบริหารจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษา (กพอ.) ได้โอนอำนาจบริหารให้มาอยู่กับสภามหาวิทยาลัย ยกเว้นแต่ การของบประมาณจากรัฐบาล และการแต่งตั้งที่ต้องสู่ระบบโปรดเกล้าฯ ก็คือ การแต่งตั้งตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และศาสตราจารย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาตรายาง มาเป็น “สภารับผิดชอบ” ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นทางกฎหมาย [42] ดังนั้นตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญมากขึ้นหลังปี 2542 ผลของการกระจายอำนาจ ทำให้แต่ละสถานศึกษา ปรับตัวในการดึงบุคลากรที่มีบารมี ความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้น ผู้ที่จะมาอยู่ในสภายิ่งจำเป็นก็ต้องมีพลังขับเคลื่อนมากพอสำหรับมหาวิทยาลัยนั้นๆด้วย

ประจวบเหมาะกับที่ช่วงสุเมธ เกษียณอายุราชการในปี 2542 เขาได้รับตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง บางแห่งก็เป็นกรรมการตั้งแต่ก่อนเกษียณ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2541-2543) กรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ (2542-2544) กรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา (2544-?) กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร (2549-2551) เชื่อได้ว่า สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยจากการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการกระจายอำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว การได้รับการเชิญไปเป็นกรรมการสภา คาดว่าเนื่องมาจากการที่เป็นคนที่มีทุนทางสังคมสูงและมีเครือข่ายที่น่าจะเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยต่างๆได้ โปรดสังเกตว่าอำนาจที่จะเชื่อมกับการโปรดเกล้าฯ ไม่ได้อยู่ในมือของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย แต่ไปอยู่กับเครือข่ายภายนอก

อย่างไรก็ตาม ในสายตาผู้เขียนเห็นว่า ช่วงเวลาที่มีนัยทางการเมืองอย่างมากก็คือ การที่สุเมธ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กินเวลาถึง 3 วาระ เป็นระยะเวลา 6 ปี (2548-2554) เพียงการเสนอชื่อ สุเมธ จากกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ก็เกิดข้อสงสัยจากประชาคมธรรมศาสตร์ต่างๆกันไปว่า “ใครเป็นคนเสนอชื่อ” “ชื่อนี้มาได้อย่างไร” “ไม่ใช่คนธรรมศาสตร์ จะเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยได้หรือ” “มีเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้ใช้ระบบบังคับบัญชา จะทำได้หรือ”[43] แต่อย่างไรก็ตามไม่พบว่า นอกจากข้อสงสัยดังกล่าวแล้ว มีอุปสรรคใดๆหรือไม่ที่ขัดขวางการเข้ามาดำรงตำแหน่งของสุเมธ นอกจากนั้นความเชื่อมโยงระหว่างสุเมธกับธรรมศาสตร์นั้น อาจนับได้ตั้งแต่ปี 2513 ที่เขาไปสอน เขาเริ่มไปสอนทฤษฎีการเมือง ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จุดนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เขามีความสัมพันธ์กับธรรมศาสตร์ เขาอ้างว่า ลูกศิษย์รุ่นแรกเขาคือ นพดล เฮงเจริญ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งถึง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ[44] ดังนั้นในทางคอนเนคชั่นไม่น่าจะเป็นที่กังขาเท่าใดนัก การเข้ามาของสุเมธ อยู่ในช่วงที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเมือง การนัดพบระหว่างสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีกับสุเมธ เพื่อทาบทามอย่างให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ มีการบันทึกไว้ว่าม ประเด็นที่พูดคุยของสุเมธแสดงความเป็นห่วงของสถานการณ์ของบ้านเมืองตั้งแต่เมื่อแรกพบ[45]

 

สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
เป็นประธานพิธีถวายสังฆทานพระสงฆ์ เนื่องในวัน ปรีดี ประจำปี 2554
ภาพจาก มติชนออนไลน์  

การถ่ายทอดอุดมการณ์ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในธรรมศาสตร์อย่างเป็นระบบนั้น เข้าใจได้ว่ามาจากสุเมธนั่นเอง พบการบันทึกจาก สมคิด เลิศไพฑูรย์ว่า สุเมธเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวให้นักศึกษาหลายคณะฟัง โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ ที่ระบุว่าจะมีการบรรยายในช่วงที่มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้จบการศึกษาประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน ปีละ 2 รุ่น[46] บารมีและความสามารถที่โดดเด่นของสุเมธในตำแหน่งนายกสภาฯ ทำให้เป็นที่รักใคร่แก่เหล่าอาจารย์นักบริหาร ดังที่เราพบว่า สมคิด เลิศไพฑูรย์ เชิดชูสุเมธอย่างสูงส่งในกรณีที่สุเมธปฏิเสธไม่รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยอีกวาระหนึ่งนั้นว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง และความเหนือชั้นของสุเมธเป็นเรื่องที่นำทฤษฎีการแบ่งอำนาจ ของ Montesquieu มาเทียบใช้ยังไม่ได้ เพราะมีการระแวดระวังเรื่องการหลงอยู่ในอำนาจเป็นอย่างดี

“ดูเหมือนสมมุติฐานของ Montesquieu จะใช้ได้กับคนทั่วไป แต่ใช้ไม่ได้เลยกับนายกพอเพียงที่ชื่อสุเมธ ตันติเวชกุล ของพวกเรา”[47]

สมคิดคงลืมไปว่า สุเมธอยู่ในตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 3 วาระ 6 ปี

 

พลังอนุรักษ์นิยมเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนและการเมือง

ต้นทศวรรษ 2540 กลายเป็นยุคหายนะของเศรษฐกิจทุนนิยมฟองสบู่ของไทย ในอีกด้านหนึ่งมันได้แผ้วถางให้แก่อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมรูปแบบใหม่ขึ้นมาบนซากศพทุนนิยมที่เต็มไปด้วยหนี้เน่าและหายนะทางเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน สังคมไทยเริ่มกลับมาเงี่ยหูฟังเสียงก้องตะโกนจาก นักพัฒนาเอกชน เอ็นจีโอ ที่สมาทานความคิดสำนักคิดชุมชนนิยม หมู่บ้านนิยม ชนบทนิยม และนั่นคือโอกาสทองของการสถาปนาความรู้และอำนาจกระแสรองของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามการเฟื่องฟูของภูมิปัญญาสายนี้ มิได้ยืนได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ยังมีพลังทางอนุรักษ์นิยมและพลังทางการเมืองขนาดมหาศาลที่หนุนเสริมอีกด้วย

สุเมธบันทึกไว้ถึงความสำเร็จของการจับมือกับคนหลายฝ่ายในการจัดทำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544) เขาร่วมกับคนอย่างประเวศ วะสี ในฐานะผู้อาวุโสแห่งค่าย “ภาคประชาชน” ที่แผนนี้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เอาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เคยเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็เกิดขึ้นจากสสร. อันเป็นการร่วมมือกันระหว่าง “ภาคประชาชน” นักพัฒนาเอกชน และผู้ตื่นตัวทางการเมืองทั่วประเทศ ความสำเร็จนี้ยังถูกอ้างอิงเรื่อยมาจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาที่ พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขาธิการ อ้างว่า การดำเนินการจัดทำแผน 8 ถือว่าเป็นเวทีสาธารณะครั้งแรกของประเทศไทยที่ระดมความเห็นจากทั้ง 8 ภาคทั่วประเทศ[48]

นอกจากนี้สุเมธยังได้เดินสายไปบรรยายที่ต่างๆเรื่องเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยอิงอยู่กับในหลวง และชุดคุณค่าทางศีลธรรมแบบชาติ-ศาสนาพุทธเถรวาทนิยม สุเมธได้เดินสายบรรยายเรื่องราวดังกล่าวอย่างไม่ย่อท้อ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเช่นนี้ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ “อดีตอันดีงาม” “พุทธศาสนาแบบเถรวาทไทย” และมีศัตรูที่สำคัญก็คือ “ฝรั่งตะวันตก”

แต่พลังเหล่านี้ดูจะเป็นคู่ตรงข้ามกับพลังของกลุ่มทุนและการเมืองสายพันธุ์ใหม่ ที่ถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ที่แต่เดิมอาจกล่าวได้ว่า เหล่านักคิดแนวท้องถิ่นนิยม นักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนไม่น้อย มีส่วนร่างนโยบายให้กับพรรคไทยรักไทยด้วย อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาของไทยรักไทยที่เน้นไปทั้งสองขา คือ ทั้งเน้นการค้าขายกับตลาดต่างประเทศ และกระตุ้นการใช้เงินภายในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ในสายตาของสุเมธแล้ว ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดความละโมบ แน่นอนว่าขัดกับหลักการของความดีที่ต้องพยายามควบคุมกิเลส นโยบายทางเศรษฐกิจเช่นนี้จึงขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับอุดมการณ์ที่สุเมธสมาทาน

หลังช่วงฮันนีมูนกับรัฐบาล ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลไทยรักไทย สุเมธเคยบรรยายในปี 2545 ว่า สังคมไทยมีโรค 4 บ้า นั่นก็คือ บ้าเงิน บ้าอำนาจ บ้าวัตถุ และบ้าฝรั่ง (ตะวันตก)[49] แต่ก็ยังไม่ได้เป็นการเจาะจงเท่าในปี 2547 ที่เขาเขียนบทความที่ชื่อ "เศรษฐกิจพอเพียง หัวใจเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่ dual track"[50] การจั่วหัวเช่นนี้เป็นการวิจารณ์นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทยโดยตรง ในบทความได้ตอกย้ำถึงหลักคิดของเขาอย่างชัดเจน

"พระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มต้นที่ฐานราก แต่ไม่รากหญ้า ผมเกลียดคำนี้มาก ไม่เคยพูดมาที่สาธารณะเลย เพราะอะไร เพราะเราแปลมาจาก grass root ของฝรั่ง ตามฝรั่งจนเนรคุณคนที่เลี้ยงดูเรามา เราเคยให้เกียรติชาวไร่ชาวนามาตลอด เคยเรียกว่ากระดูกสันหลังของชาติ พอถึงยุคนี้ไม่สำนึกบุญคุณ ดูถูกดูแคลนพวกเขาว่ารากหญ้า เดี๋ยวนี้คนไทยขาดสติอย่างแรง เอะอะอะไรก็ตามฝรั่งจนลืม ความหมายของตัวเอง"

           

ในฐานะประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ได้แสดงข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อรัฐบาลทักษิณ เนื่องในโอกาสที่รัฐบาลตั้งแคมเปญประกาศสงครามกับคอรัปชั่นในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ขณะที่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและตัวทักษิณเอง กำลังมีปัญหามากขึ้นทุกทีในสายตาของนักวิชาการ มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น กรณีปราบปรามยาเสพติดจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงปี 2546 ประเด็นการลุกฮือของชาวมลายูในภาคใต้ กรณีมัสยิดกรือเซะ เมษายน 2547 กรณีตากใบ 2547 กรณีที่รัฐบาลมีความพยายามจะออกสลากเพื่อซื้อสโมสรลิเวอร์พูลเป็นจำนวนเงินกว่า 46,000 ล้านบาท ในปีเดียวกัน

 

ข่าวลือ เรื่องนายกพระราชทาน คนดีที่จะมาแทนนักการเมืองที่แสนชั่วช้า

รัฐบาลทักษิณยิ่งประสบกับปัญหาอย่างหนักหน่วง เมื่อเครือข่ายต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ขยายตัวเป็นทวีคูณ จากการที่สนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายผู้จัดการ ลงสนามต่อต้านทักษิณด้วยในปี 2548 มีการวิพากษ์วิจารณ์การคอรัปชั่น และยกประเด็นการละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ ในปีต่อมา การขายหุ้นชินคอร์ปก็ยิ่งกลายเป็นผลลบอย่างมากต่อทักษิณ และครอบครัว ในกรณีเลี่ยงภาษีและขายหุ้นให้ต่างชาติซึ่งเชื่อกันว่ามีผลต่อความมั่นคงของชาติ ความง่อนแง่นของรัฐบาลทำให้ในที่สุดทักษิณแก้เกมด้วยการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ในด้านหนึ่งทักษิณก็ถูกกล่าวหาว่า ยุบสภาเพื่อหนีการตรวจสอบ การเลือกตั้งทั่วไปในเดือน เมษายน 2549 ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง อย่างไรก็ตามความตึงเครียดทางการเมืองก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อรัฐบาลถูกกล่าวหาจากเครือผู้จัดการกรณี “ปฏิญญาฟินแลนด์” ในเดือนมิถุนายน 2549

ข่าวและข้อมูลการทุจริตและฉ้อฉลของทักษิณ ชินวัตร ได้โหมกระแสไฟแห่งการเกลียดชังของชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง นักคิด นักวิชาการจำนวนมาก ความอึดอัดทางการเมืองเหล่านี้เองนำไปสู่การเรียกร้องหาข้อยุติที่มีธงอยู่แล้วคือให้ “ทักษิณ...ออกไป” โดยไม่สนใจวิธีการว่า จะเป็น “ประชาธิปไตย” หรือไม่

วิธีการ “อประชาธิปไตย” ข้อแรก ก็คือ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาด้วย “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” จาก มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทักษิณเว้นวรรคทางการเมือง สิ่งนี้เป็นการเสนอโดยหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการและนักการเมือง หนึ่งในนั้นก็มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย[51] ซึ่งกรรมนี้เอง เป็นที่มาของการถูกล้อเลียนในนามของ “มาร์ค ม.7” แน่นอนว่า ภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของทักษิณ ยังส่งผลต่อความเน่าเหม็นของนักการเมืองคนอื่นในระบบด้วย ดังนั้นการที่จะหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงควรจะเป็นคนนอกที่ ไม่มีผลประโยชน์ เป็นกลาง และจะต้องมีคุณสมบัติที่ถึงพร้อมในความเป็น “คนดี” ที่มีศีลธรรม ไม่โกงกิน และอาจรวมถึงเป็นผู้มีสกุลรุนชาติ ได้รับการอบรมมารยาทเป็นอย่างดีด้วย

 

ฎีกาขอนายกฯพระราชทาน ลงนามโดย
นายแพทย์ มงคล ณ สงขลา และ
ม.ร.ว.ยงยุทลักษณ์ เกษมสันต์
วันที่
5 มีนาคม 2549 

 

ในขณะนั้นมีข่าวลือว่า คนที่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็คือ สุเมธ ตันติเวชกุล[52] จากการให้สัมภาษณ์ สุเมธ ก็ใช้เทคนิคเดิมก็คือ กล่าวปฏิเสธทั้งยังยกเหตุผลมาอ้างพัลวันว่า "คุณพ่อผมเล่นการเมืองจนหมดตัว สมัยก่อนนักการเมืองเล่นการเมืองจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ผมสาบส่งการเมือง ไม่เอาเด็ดขาด ใจมันไม่ชอบทางนี้เลย ผมว่าช่วงเวลาทำงานที่สุขที่สุดคือ การเป็นข้าราชการระดับ ซี 4 สบายสุดๆ แต่พอยิ่งใหญ่ ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งเครียด"

กระนั้น วิธีการขอนายกพระราชทานก็มีอันตกไป พวกรักบ้านเมืองจนหน้ามืดตามัวมีอันฝันสลาย เมื่อในหลวงทรงปฏิเสธทางอ้อม ผ่านพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษาที่ว่า "...เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย..." [53]

อย่างไรก็ตาม ความสั่นคลอนของรัฐบาลถูกขย่มด้วยการปฏิบัติการทางการเมือง และสงครามข่าวอย่างมหาศาล แม้กรณีคาร์บอมบ์ เดือนสิงหาคม 2549 ที่มุ่งร้ายเอาชีวิตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกทำให้เป็นเรื่องตลกในนาม “คาร์บ๊อง” ความอึมครึมและคลุมเครือทางการเมืองที่ผูกติดแน่นเป็นเงื่อนตายเหล่านี้ ในที่สุดก็ถูกทะลวงด้วยอำนาจของปากกระบอกปืน รถถังได้ออกมายาตรายึดสถานที่สำคัญ ควบคุมการสื่อสารสาธารณะในจุดใหญ่ นี่เป็นวิธีการ “อประชาธิปไตย” ข้อที่สองที่ได้ผลอย่างชะงัด ด้วยฐานคิดที่เชื่อว่าการเอาคนเลวๆหนึ่งออกจากอำนาจ แล้วทุกอย่างจะจบ

 

หกล้มหกลุก กับ รัฐประหาร 2549

อย่างไรก็ตามเรื่องข่าวลือดังกล่าวก็คงส่งผลต่อข้อมูลในการวิเคราะห์ข่าวอื่นๆด้วย ดังที่พบกว่าหลังการรัฐประหาร Shawn W. Crispin นักข่าวจาก Asia Times เขียนวิเคราะห์ว่า สุเมธ เป็นผู้มีความเป็นไปได้ที่จะถูกเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คู่กับอีกคนคือ พลากร สุวรรณรัฐ ในวันที่ 21 กันยายน 2 วันหลังจากรัฐประหาร[54] แต่แล้ว นายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร กลับมาหวยออกที่ สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารยศพลเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก และขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งสุรยุทธ์ก็เข้าข่าย คนดีมีศีลธรรม จริยธรรม ฝักใฝ่พุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเข้ามาสู่แวดวงการเมืองในระบบ ทำให้ “คนดี” อย่างเขาถูกตรวจสอบ กรณีที่โด่งดังเป็นอย่างมาก และทำให้สุรยุทธ์เปลืองตัวและเกือบเสียคน ก็คือ คดีละเมิดป่าสงวน ณ เขายายเที่ยง การที่คนดีได้มาอยู่ในระบบการเมืองแบบรัฐสภาที่ทำให้เกิดการตรวจสอบต่อสาธารณะได้ก็ทำให้คนดีเกิดอาการไม่เป็นเหมือนกัน[55] หรือนี่จะเป็นคราวเคราะห์ของสุรยุทธ์ แต่เป็นโชคดีของสุเมธ?

 

ตำนาน เฟอร์รารี่

ข้อกล่าวหาที่อาจกล่าวได้ว่า เสียดสีกับสิ่งที่สุเมธเทศนาที่สุด นั่นก็คือ สุเมธขับรถสปอร์ตหรูหรา ยี่ห้อเฟอร์รารี่ มาบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งข้อความระบุต่อไปว่า สุเมธ ซื้อรถคันงามต่อมาจาก ชุมพล ณ ลำเลียง ด้วยราคา 500,000 บาท[56] ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น เรื่องเล่านี้น่าจะเป็นเรื่องโจ๊กเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามโจ๊กเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่ากันสนุกๆ หรือใช้นินทาลับหลังกันในวงแคบๆ เท่านั้น ความน่าจะร้อนไปถึงสุเมธ จนทำให้ต้องแก้ข้อกล่าวหาผ่านสื่อมวลชน ดังนี้

“ผมขับรถแอคคอร์ดเก่าๆ ยามเห็นเขาก็ให้ผมไปจอดข้างหลัง แต่ถ้าลองเป็นเบนซ์มาเขาให้จอดข้างหน้า หรือผมไปซื้อรถโฟล์ก 37,000 บาท แต่ซ่อมไปแสนกว่าบาท แถมตอนออกจากราชการ ผมก็ใช้เงิน 5 แสน ซื้อรถสปอร์ต เพราะอยากได้ โคโรลล่า มือสอง แต่ใครไม่รู้ไปเขียนแซวมาผมถอยเฟอร์รารี่ กลายเป็นข่าวคึกโครมไปทั่ว”[57]

 

ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

เงินบริจาคจากเทศกาลอาหารหรูหรา

เทศกาล Epicurean Masters of the World ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6-10 ก.พ.2550 ณ ภัตตาคาร The Dome ซึ่งอยู่บนยอดหอคอยงาช้างของตึกสเตททาวเวอร์นั้น เป็นการรับประทานอาหารมื้อค่ำราคาสุดโหด ตัวเลขกลมๆตกอยู่ที่มื้อละ 1 ล้านบาท และบวกค่าบริการอีก 7 เปอร์เซ็นต์ ข่าวนี้เป็นที่สนใจต่อสำนักข่าวบีบีซี[58]และหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ อีกด้วย มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในเวลาไล่เลี่ยกัน สุเมธ ในฐานะ เลขาธิการมูลนิธิ ชัยพัฒนา ได้แสดงบรรยายประกอบการสัมนา เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 หัวข้อ "ความพอเพียงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อสมดุลแห่งชีวิต" ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า “ความจริงร่างกายมนุษย์ต้องการอาหารไม่มากนัก ทานให้อิ่มก็พอ แต่ที่เรากินกันเยอะอย่างทุกวันนี้ เป็นการกินส่วนเกิน เรียกว่า "โรคสังคม"”[59]

ที่เหนือความคาดหมายก็คือ รายได้จากเทศกาลอาหารสุดหรูระดับโลก ส่วนหนึ่งนำมาสมทบแก่องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม หนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ มูลนิธิชัยพัฒนา อยู่ด้วย

 

อำนาจของการปฏิเสธ กับการแก้เกี้ยว

สุเมธมักจะแสดงให้เห็นในบันทึกถึงความใจกว้าง ไม่รับในสิ่งที่ไม่ควรจะได้ ดังเช่น สิทธิพิเศษของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ในปลายทศวรรษ 2510 ต่อต้นทศวรรษ 2520 เขากล่าวปฏิเสธไว้ในบันทึกด้วยเหตุผลว่า “ป้องกันชาติบ้านเมืองต้องจ้างกันด้วยหรือ”แต่สุดท้ายในบันทึกของเขาเองก็ระบุว่าเขารับทั้งเบี้ยเลี้ยงและอายุราชการทวีคูณ [60]

เช่นเดียวกับรางวัลพ่อตัวอย่าง สุเมธปฏิเสธไม่รับเช่นเคย เนื่องจากว่าเขาไม่เคยมีเวลาได้เลี้ยงลูก เพราะไม่มีเวลาให้ อย่างไรก็ตามทางผู้มอบรางวัลก็อ้อนวอนให้ไปรับโดยให้เหตุผลว่า ถึงไม่ได้เลี้ยงลูกตัวเองก็เลี้ยงลูกคนอื่น ดูแลเด็กเล็กในต่างจังหวัด ในชนบท[61]

สุเมธก็เคยอิดออดที่จะไม่รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ได้เรียนจบธรรมศาสตร์จะเป็นได้อย่างไร[62] ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจรับตำแหน่งที่มีวาระ 2 ปีต่อครั้ง อีกกรณีหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งสุเมธได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่สาม ในช่วงใกล้ครบวาระที่สองในปี 2552 สุเมธ แจ้งที่ประชุมสภาว่าจะไม่ขอรับหน้าที่ในวาระที่สาม แต่ด้วยความที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอร้องให้อยู่ต่อ เนื่องจากเห็นว่าสุเมธมีศักยภาพมากพอที่จะผลักดันงานให้ลุล่วง โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอธิการบดีในปลายปี 2553 และก็เป็นอีกครั้งที่สุเมธ กลับคำปฏิเสธ และมุ่งมั่นทำงานตามคำขอร้องต่อไป[63]

 

การรู้จักหยุด

“ "มีคนถามผมว่าจะกลับไปวงการเมืองอีกไหม ไม่แล้ว เหตุผลว่าไม่แล้วเพราะอะไร? ก็ให้พวกคุณเนี่ย เมืองไทย Next Generation, Go on Man! ไม่งั้น “ตาแก่คนนี้เอาอีกแล้ว”" [64]

พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ อายุ 68 ปี

           

“ตลอดชีวิตการทำงานจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตผมไม่เคยลาพักร้อนเลย ตั้งแต่ทำงานราชการไม่เคยลาพักร้อน ไม่รู้จัก นี่ขนาดเกษียณมา 12 ปี ก็ยังไม่รู้จักคำว่าเกษียณ ทำงานทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำ โดยเฉพาะงานตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ บางที่ก็เชิญไปสอน ไปบรรยาย ซึ่งโครงการปริญญาโทชอบสอนวันเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องไป ชีวิตไม่รู้จักคำว่าเสาร์อาทิตย์ ไม่รู้จักวันหยุด หรือปีใหม่ คือ ชีวิตมอบให้การทำงานจริงๆ”[65]

สุเมธ ตันติเวชกุล อายุ 72 ปี

 

คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าพอ?

 


เชิงอรรถ

[1] คำต่อคำ อำมาตย์ ชื่อ "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บันทึกไว้ในแผ่นดิน...ตามเส้นทาง http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1260344414&grpid=no&catid=04 (9 ธันวาคม 2552)
[2] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2554?, น.คำนำ
[3] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2554?, น.4
[4] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.21
[5] รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 จากการสืบค้นพบว่า อารีย์ มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในช่วงปี 2501 http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main11.htm (22 สิงหาคม 2554 )
[6] "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
[7] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.7
[8] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.8 และ 10
[9] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.13
[10] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.16
[11] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.16-19
[12] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.19
[13] มติชนออนไลน์. ดร.สุเมธชี้ไทย"รวยกระจุก-จนกระจาย" มุ่งแต่เจริญด้าน ศก. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310041118&grpid=03&catid=03 (7 กรกฎาคม 2554)
[14]หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค (2265-2543) นามสกุลเดิมคือ สนิทวงศ์ เป็นพระมาตุฉา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
[15] รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 ในนี้ระบุลำดับเหตุการณ์การรับตำแหน่งราชการในแต่ละปีอย่างละเอียด
[16] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.23-24
[17] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.24-25
[18] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.25
[19] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.25
[20] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.26-27
[21]รายละเอียดโปรดอ่านใน ธิกานต์ ศรีนารา. หลัง 6 ตุลา ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก), 2552
[22] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27 และ รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554)
[23] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27 และ รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554)
[24] สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
[25] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27
[26]ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2550, น.130-131
[27] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.28 และ มูลนิธิชัยพัฒนา (The Chaipattana Foundation). "ความเป็นมา"
[28]"ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12
http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
[29]ขนิดา ชิตบัณฑิตย์, เรื่องเดียวกัน นอกจากนั้นดูใน "เศรษฐกิจพอเพียง" กับ "การสถาปนาพระราชอำนาจนำ": เสวนาที่ ม.อุบลราชธานี
http://prachatai.com/journal/2007/11/14954 (27 พฤศจิกายน 2550)
[30] รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545
[31] โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2539)จัดพิมพ์ในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไป พระราชทานเพลิงศพ นางเอื้อนศรี ภักดีผดุงแดน ณ เมรุ วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2539
[32]"ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12
http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
[33] รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 อารีย์ มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในช่วงปี 2501 http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main11.htm (22 สิงหาคม 2554 )
[34] "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
[35]"ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12
http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
[36] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.37
[37] "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
[38] SCG. รู้จักกรรมการบริษัท สุเมธ ตันติเวชกุล. http://www.siamcement.com/th/01corporate_profile/board/sumet_tantivejkul.html (24 สิงหาคม 2554) อย่างไรก็ตามมีหลักฐานว่า มูลนิธิฯ มีการตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2544 ในครั้งนั้น นิรมล สุริยสัตย์ ที่มีคำนำหน้าเป็น “ท่านผู้หญิง” เป็นประธานมูลนิธิฯดูใน "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด" " ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 46 ง , 7 มิถุนายน 2544, น.36 และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. "นิรมล สุริยสัตย์". http://th.wikipedia.org/wiki/นิรมล_สุริยสัตย์ (30 มกราคม 2554)
[39]"ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด" " ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 46 ง , 7 มิถุนายน 2544, น.35
[40] SCG. รู้จักกรรมการบริษัท สุเมธ ตันติเวชกุล. http://www.siamcement.com/th/01corporate_profile/board/sumet_tantivejkul.html (24 สิงหาคม 2554)
[41] ปอมท ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย. "บทบาทของกรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการปฏิรูปอุดมศึกษา"
http://thaifacultysenate.com/Regent_Board.aspx (23 สิงหาคม 2554)
[42] ปอมท ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย. "จากสภาเกียรติยศ สู่สภารับผิดรับชอบ"
http://thaifacultysenate.com/Regent_Board.aspx (23 สิงหาคม 2554)
[43] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.51
[44] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.43-45
[45] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.67-68
[46] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.53
[47] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.55
[48] สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. “ไม่รัฐประหาร ไม่นองเลือด”http://www.ldinet.org/2008/index.php?option=com_content&task=view&id=412&Itemid=28 (20 สิงหาคม 54)
[49]"ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12
http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
[50] Toxinomics – พิษทักษิณ (2547)อ้างถึงใน จรัญ ยั่งยืน. “เสียงจาก สุเมธ ตันติเวชกุล "เรารวยโดยไม่มีเสาเข็ม"” ใน ประชาชาติธุรกิจ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q2/article2004june28p5.htm (28 มิถุนายน 2547 )
[51] The Nation .Prem stays silent on Democrats' latest call
[52] โอเพ่นออนไลน์. "วิธีแกะกล่องของขวัญแบบ สุเมธ ตันติเวชกุล" http://www.onopen.com/node/3828 (27 มีนาคม 2549)
[53] พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรม 25 เมษายน พ.ศ. 2549
http://th.wikisource.org/wiki/พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรม 25 เมษายน พ.ศ. 2549 (21 พฤษภาคม 2554 )
[54]เมื่อโลกจ้องมองไทยหลังรัฐประหาร และ coup d’etat Effect : เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน? http://prachatai.wordpress.com/2006/09/21/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87e/ (21 กันยายน 2554)
[55] The Nation, Activists call on Surayud to resign for alleged forest encroachment (29 December 2006)
[56] ประชาไท.ลิปเล่ย์. การแสดงความคิดเห็น ในบทความ "รสนิยมเหนือระดับ กับอาหารค่ำ มื้อละ "1 ล้านบาท"!" http://prachatai.com/node/11561/talk (10 กุมภาพันธ์ 2550)
[57] ประชาชาติธุรกิจออนไลน์."อย่างผมน่ะหรือจะมี ′เฟอร์รารี่′ ลำพังตัวเองหาได้แค่ ′โคโรลล่า′.
[58] BBC NEWS. Bangkok banquet beckons for rich. http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/6335419.stm (7 February 2007)
[59] ประชาไท "รสนิยมเหนือระดับ กับอาหารค่ำ มื้อละ "1 ล้านบาท"!" http://prachatai.com/node/11561/talk (10 กุมภาพันธ์ 2550)
[60] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.26
[61] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.31
[62] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.45
[63] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.68-69
[64] siam intelligence. "Practical Utopia สัมภาษณ์ "พันศักดิ์ วิญญูรัตน์"  http://www.siamintelligence.com/pansak-interview/ (2 ธันวาคม 2553)
[65] 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.29

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น