ประชาไท | Prachatai3.info |
- ลุ้นศาลให้ประกันตัววันนี้! 22 ผู้ต้องหาเผาศาลากลาง จ.อุดร 19 พ.ค.53
- SIU: อาร์เจนตินาไม่ได้ล่มสลายเพราะ “ประชานิยม” ข้อโต้แย้งที่สื่อไทยควรรับฟัง
- ชวนถก: ว่าด้วยเรื่องนามแฝงในกูเกิลพลัส
- SIU: สารสนเทศการเกษตร ความสำเร็จที่รัฐบาลใหม่ควรต่อยอด!
- คำเตือนก่อนคุณทักษิณไปญี่ปุ่น: ใครฉลาด? ใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน?
- นัดพิพากษา 18 ต.ค.นี้ คดีตำรวจตามหาลูกในม็อบ โดนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- แผนชุมชนรับมือภัยพิบัติ แง้มปฏิบัติการชาวบ้านจัดการตนเอง
- ปาฐกถา สุรินทร์ พิศสุวรรณ: 'ชายแดนใต้สู่อาเซียน ต้องเปลี่ยนทัศนะกรุงเทพฯ'
- มุกหอม วงษ์เทศ
- คนเชียงดาวโวยเมื่อรัฐผุดโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน (ตอน 4)
- เวิลด์แบงก์ยกระดับรายได้คนไทยสู่ชนชั้นกลางระดับบน
- อัยการส่งฟ้องคดีเสื้อแดง "ดีเจหนึ่ง" ข้อหาปลุกปั่นฯ คดีเก่าปี 52
- ผลงานวิจัยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น (ที่นักการเมืองไม่อยากรู้)
- การประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย : ก้าวย่างที่ต้องระวัง
- สุรพศ ทวีศักดิ์: ชาวพุทธกับเสรีภาพทางความคิด
ลุ้นศาลให้ประกันตัววันนี้! 22 ผู้ต้องหาเผาศาลากลาง จ.อุดร 19 พ.ค.53 Posted: 15 Aug 2011 11:08 AM PDT วันนี้ ( 15 ส.ค.) นายคารม พลทะกลาง ทนายความของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ในวันนี้ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว แนวร่วม นปช. 22 คน ซึ่งตกเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปปลุกปั่นยุยง โฆษณาชักชวนให้กระทำผิดกฎหมาย, บุกรุกสถานที่ราชการโดยมีอาวุธ, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, วางเพลิงเผาสถานที่ราชการ ทำให้เสียทรัพย์อันเป็นสาธารณะประโยชน์ และร่วมกันพยายามเผาสถานที่ราชการ เหตุเกิดเมื่อ 19 พ.ค.53 โดยใช้หลักทรัพย์เป็นตำแหน่ง ส.ส.อุดรธานี ของพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ ส.ส.อุดรฯ 9 คน ประกอบด้วย นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี เขต 1 , พ.ต.ท. สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส.อุดรธานี เขต 2 , นายอนันต์ ศรีพันธุ์ ส.ส.อุดรธานี เขต 3 , นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี เขต 4 , นายทองดี มนิสสาร ส.ส.อุดรธานี เขต 5 , นาย เกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี เขต 6 , นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี เขต 7 , นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ส.ส.อุดรธานี เขต 8 และ นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี เขต 9 และตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของ นายวิเชียร ขาวขำ ด้วยรวม 10 คน ซึ่งมูลค่าวงเงินขอประกันตัวจำเลยทั้ง 22 คน อยู่ที่คนละ 500,000 บาท นายคารม กล่าวว่า ผลการขอประกันตัวต้องรอคำสั่งศาลในวันที่ 16 ส.ค.นี้ เวลาประมาณ 13.00 น. เนื่องจากขณะที่ยื่นคำร้องใกล้หมดเวลาทำการของศาล และศาลยังไม่มีคำสั่งออกมา โดยในวันดังกล่าวตนจะยื่นเอกสารชี้แจงภาระของจำเลยที่จำเป็นต้องขอปล่อยตัวเพิ่มเติมต่อศาล นอกเหนือจากคำร้องและเหตุผลการขอปล่อยตัวชั่วคราวที่วันนี้ตนได้ยื่นไปแล้ว เช่น บางคนมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว เขากล่าวอีกว่า เหตุผลหลักในการยื่นประกันคือ ผู้ต้องหาทุกคนมีสิทธิถูกปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่คิดจะหลบหนี เพราะกลุ่มคนเหล่านี้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มี ส.ส.มาประกันด้วยตัวเอง รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลของเค้าเอง DSI-สตช.ไม่ค้านแดงอุดรขอประกันตัว นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยถึง การช่วยเหลือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ด้วยการยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังว่า กรณีกลุ่มผู้ต้องขังเสื้อแดงที่ จ.อุดรธานี ผู้ต้องขังทั้งหมดประมาณ 25 คนไม่ได้ประสงค์ขอความช่วยเหลือในครั้งแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิ์ ทางกรมคุ้มครองสิทธิ์จึงต้องขอความเห็นจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งล่าสุดทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ให้ความเห็นตรงกัน ไม่มีการคัดค้าน โดยกรมคุ้มครองสิทธิ์จะได้นำเรื่องการขอประกันตัวผู้ต้องหากลุ่มเสื้อแดง จ.อุดรธานี เข้าสู่ที่ประชุมกองยุติธรรม เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การเยียวยาผู้เสียหายในเหตุการณ์ทางการเมือง ได้มีการดำเนินการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การยื่นประกันผู้ต้องขังกลุ่มเสื้อแดงและดูแลผู้ต้องขังคดีการเมือง ให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ส่วนที่ 2.การให้ความช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง เรียบเรียงจาก เว็บไซต์เดลินิวส์ เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น เว็บไซต์ไทยรัฐ เว็บไซต์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
SIU: อาร์เจนตินาไม่ได้ล่มสลายเพราะ “ประชานิยม” ข้อโต้แย้งที่สื่อไทยควรรับฟัง Posted: 15 Aug 2011 11:07 AM PDT สิ่งที่ “นิติภูมิ นวรัตน์” ทำลงไป และเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่เขาไม่เคยคิดจะออกมาแก้ไข คือการสร้างภาพให้ “อาร์เจนติน่า” เป็นประเทศล่มจมฉิบหายด้วยนโยบายประชานิยม เพื่อฝังหัวคนในประเทศไทยว่า ประชานิยมเลวร้ายจนต้องขายทรัพย์สินของชาติ และล้มละลายใช้หนี้ บรรดาผู้รับสารที่รับสารครั้งเดียวแล้วไม่ติดตามต่อเนื่อง ก็จะเห็นภาพอาร์เจนติน่าเป็นประเทศยากจนที่ดีแต่เตะฟุตบอลเก่ง และรู้จักชาวอาร์เจนติน่าเพียงดารานักฟุตบอลไม่กี่คน คือมาราโดนา และเมสซี่ จนถึงทุกวันนี้ จากซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจหลังการพ่ายแพ้สงครามเกาะฟอล์กแลนด์กับสห ราชอาณาจักรในปี 1982 ค่าใช้จ่ายในกองทัพเพื่อการทำสงครามและค่าปฏิกรรมสงคราม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาวะหนี้สินของอาร์เจนติน่าเลวร้ายสะสมมาต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายมิใช่เป็นเพียงเพราะนโยบายประชานิยม แต่รวมถึงการครอบงำอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ทุ่มเงินไปกับการซื้อ อาวุธใหม่ๆ มาประจำการอย่างไม่มีจบสิ้น แม้รัฐบาลทหารจะถูกโค่นล้มหลังปราชัยในสงคราม แต่รัฐบาลประชาธิปไตยที่อ่อนแอไม่สามารถจัดการภาวะหนี้ที่คั่งค้างยาวนาน ไม่สามารถจัดการกับเหลือบไรในหมู่หน่วยงานราชการและวิสาหกิจต่างๆ ที่ฝังรากลึกไม่ต้องการการปฏิรูปปรับปรุง และไม่สามารถจัดการกับการแทรกแซงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงจากสหรัฐอเมริกา ที่ปล่อยให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ได้ จนหนองที่บวมเป่งแตกออกด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1999 จนกระทั่งอดีตประธานาธิบดีโฆเซ่ โรดริเกซ ประกาศล้มละลายไม่จ่ายหนี้(debt moratorium) ในปี 2001
การขายสินทรัพย์ แปรรูปรัฐวิสาหกิจของอาร์เจนติน่า ที่หลายคนมองว่าเป็นการขายชาติขายแผ่นดิน กลับปลุกให้ประเทศที่ป่วยไข้กลับมามีอำนาจต่อรอง และเศรษฐกิจกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง หลังการเข้าครองอำนาจของอดีตประธานาธิบดี เนสเตอร์ เกิร์ชเนอร์ ในปี 2003 และการสืบต่ออำนาจของสตรีหมายเลขหนึ่ง คริสติน่า แฟร์นันเดซ เด เกิร์ชเนอร์ ในปี 2007 ด้วยนโยบายประชานิยมที่แทบไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้า แต่รัฐบาลเกิร์ชเนอร์รักษาวินัยการคลัง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเครดิตของอาร์เจนติน่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปลดแอกค่าเงินเปโซออกจากการผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ การปฏิรูป ยุบและแปรรูปหน่วยงานที่ไร้ประโยชน์ที่ผลาญภาษีประชาชน ส่งผลให้งบประมาณไม่เสียเปล่าไปกับเงินเดือนของพนักงานของรัฐที่นั่งกินนอน กินไปวันๆ GDP เติบโตมากกว่า 8% ติดต่อกันหกปี เข้าไปร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ G-20 หนี้สินสาธารณะลดลงเหลือ 40% ของ GDP อัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น 98% อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี ประชาชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน ลดจาก 60% ของประชากรทั้งหมด เหลือเพียง 30% และมีดัชนีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนสูงที่สุดในเขตละตินอเมริกา
คริสติน่า แฟร์นันเดซ ประธานธิบดีหญิงของอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็น “นอมินี” ผู้หนึ่ง คือประธานาธิบดี “คริสตินา แฟร์นานเดซ เด เกิร์ชเนอร์” ภริยาของเนสเตอร์ เกิร์ชเนอร์ ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีระหว่างปี 2003-2007 เส้นทางการเมืองของคริสตินา เริ่มจากการเป็น ส.ส. และลงสมัคร ส.ว. ในขณะที่สามีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ ทำให้เกิดข้อครหาการครอบงำอำนาจแบบผัว-เมีย และเมื่อเธอลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี จนกระทั่งได้รับเลือกตั้ง ก็ถูกกล่าวหาอีกว่า เธอเป็นเพียงนอมินีของสามีเท่านั้น แต่นักวิจารณ์หารู้ไม่ว่า ความจริงแล้ว เนสเตอร์ต่างหากที่อาจเป็นนอมินีของคริสตินาในระหว่างที่เขาเป็น ประธานาธิบดี ความสำเร็จของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา จากภาวะคนป่วยของละตินอเมริกาที่ต้องขายทรัพย์สินทุกอย่างของประเทศ แม้แต่เงินจะจ่ายให้นักฟุตบอลทีมชาติมาแข่งฟุตบอลโลกยังไม่มีในปี 2002 กลายมาเป็นมหาอำนาจควบคู่กับบราซิล ด้วยฝีมือของสองสามีภรรยาเกิร์ชเนอร์ ทำให้ประชาชนชาวอาร์เจนติน่าไม่สนใจว่าใครจะเป็นนอมินีของใคร ตราบเท่าที่พวกเขากินอิ่ม นอนหลับ ประเทศชาติมีศักดิ์ศรีบนแผนที่โลก คริสตินากล้าหาญถึงขนาดประณาม CIA ในแผนลอบสังหารฮูโก ซาเวช ดักจับเครื่องบินจารกรรมของสหรัฐและจับมือกับประธานาธิบดีหญิง ดิลมา รุสเซฟของบราซิล เพื่อสร้างความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องการให้สหรัฐมาแทรกแซงในอเมริกา ใต้อีกต่อไป อดีตประธานาธิบดีเนสเตอร์ เกิร์ชเนอร์ ถึงแก่อสัญกรรมในปลายปี 2010 ที่ผ่านมา และประธานาธิบดีคริสตินาประกาศว่าตนเองจะลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี นี้อย่างแน่นอน แม้ว่าประธานาธิบดีคริสตินา จะประกาศตัวว่าตนเองได้รับแรงบันดาลใจทางการเมืองจากอีวา เปรอง แต่เส้นทางของเธอนั้นมาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ และเธอก็ทำให้อาร์เจนตินาไม่ต้องร้องไห้เพื่อเธอ ทั้งหมดนี้ “นิติภูมิ นวรัตน์” ยังไม่เคยออกมาแถลงชี้แจงต่อสาธารณชนที่เขาเคยสร้างภาพความล่มสลายของอา ร์เจนติน่า เพื่อเนรมิตปีศาจร้ายที่ชื่อ “ประชานิยม” แม้แต่ครั้งเดียว ข้อมูลอ้างอิงจาก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ชวนถก: ว่าด้วยเรื่องนามแฝงในกูเกิลพลัส Posted: 15 Aug 2011 10:49 AM PDT กูเกิลเพิ่งเปิดให้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่ชื่อว่ากูเกิลพลัส (Google+) สิ่งที่ตามมาคือการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับนโยบายเกี่ยวกับการใช้ชื่อในเครือข่ายสังคมแห่งใหม่นี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าบริการกูเกิลพลัสต้องการให้ผู้ใช้เชื่อมสัมพันธ์กันกับผู้คนในโลกของความเป็นจริง กูเกิลจึงมีนโยบายให้ใช้ชื่อสามัญ (common name) โดยกูเกิล [1] อธิบายนโยบายดังกล่าวไว้ดังนี้
กูเกิลยังได้เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติดังกล่าว เช่น ให้ใช้ชื่อและนามสกุลเต็มในภาษาเดียวกัน ให้ระบุชื่อเล่นหรือนามแฝงในส่วนของชื่ออื่น ๆ (Other Names) งดใช้ตัวอักษรแปลก ๆ เช่นตัวเลข หรือสัญลักษณ์อื่น ๆ เป็นต้น เมื่อนโยบายด้านชื่อนี้ถูกบังคับใช้ ผู้ใช้จำนวนหนึ่งพบว่าบัญชีผู้ใช้ของตนโดนระงับใช้ชั่วคราวเนื่องจากผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการตั้งชื่อ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามชื่อ หรือ Nymwars
(เว็บไซต์กูเกิลพลัส เครือข่ายสังคม ที่ให้บริการโดย Google)
1. เหตุผลของกูเกิล นอกจากความสะดวกของการค้นหาเพื่อนด้วยชื่อสามัญแล้ว กูเกิลยังให้เหตุผลอีกจำนวนหนึ่งสำหรับนโยบายนี้ [2] เช่น
นอกจากนี้กูเกิลยังได้ย้ำว่ากูเกิลเข้าใจดีถึงความจำเป็นของผู้ที่ต้องการใช้นามแฝง แต่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วก่อนจะเลือกใช้นโยบายดังกล่าวนี้
2. ความจำเป็นของชื่อปลอม บล็อกเกอร์หลายคนพยายามให้เหตุผลถึงความจำเป็นของการอนุญาตให้ใช้นามแฝง [3] [4] [10] หรือมีผู้รวบรวมกรณีของผู้ใช้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ [5] ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของความปลอดภัย และเรื่องของอิสระในการเลือกใช้อัตลักษณ์บนโลกออนไลน์ ในด้านความปลอดภัย ดานาห์ บอยด์ [4] ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใช้นามแฝงคือกลุ่มที่ถูกกระทำโดยระบบของอำนาจหรือกำลังต่อสู้กับอำนาจต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนักกิจกรรม [6] กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สตรี หรือเยาวชน ที่ได้อาศัยเกราะของนามแฝงเพื่อแยกตัวตนที่แท้จริงออกจากตัวตนในโลกออนไลน์ การบังคับใช้นโยบายชื่อสามัญไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับคนกลุ่มนี้เลย นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ปกติที่พบในโลกออนไลน์ก็คือการที่ผู้ใช้หนึ่งคนมีหลายอัตลักษณ์บนโลกออนไลน์ ผู้ใช้หนึ่งคน ในมุมหนึ่ง อาจจะเป็นพนักงานธรรมดาที่ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานในเครือข่ายสังคม แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้ใช้คนนั้นอาจจะเป็นผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องขององค์กรที่เขาทำงานอยู่ แน่นอนว่า นโยบายบังคับใช้ชื่อสามัญจะทำให้การใช้งานลักษณะดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่กูเกิลบอกว่าถ้าต้องการใช้นามแฝงก็ให้ระบุนามแฝงดังกล่าวในส่วนของชื่ออื่น ๆ ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เนื่องจากการมีหลายอัตลักษณ์เกิดขึ้นเพราะว่าต้องการแยกอัตลักษณ์หนึ่งออกจากตัวตนในชีวิตจริง ส่วนในประเด็นที่กูเกิลเป็นห่วงว่าจะทำให้ผู้ใช้เกิดอันตรายถ้าเชื่อใจว่ากูเกิลจะรักษาความปลอดภัยของนามแฝงนั้น ผู้ใช้คนหนึ่ง (ดูจากบทสนทนาใน [2]) กล่าวว่าจะต้องแยกประเด็นกันระหว่างการที่ใครก็ได้สามารถเข้าถึงชื่อจริงของผู้ที่ใช้นามแฝงได้โดยง่ายผ่านทางระบบทั่วไป กับการที่จะต้องเจาะระบบเข้าไปเพื่อข้อมูลเหล่านั้น ในกรณีแรกน่าจะสามารถป้องกันได้ไม่ยาก ส่วนในกรณีที่สองกูเกิลอาจจะประกาศว่าไม่รับรองความเป็นนิรนามของผู้ใช้ แต่ยินยอมให้ใช้นามแฝงได้ภายใต้ความเสี่ยงที่ผู้ใช้จะต้องรับผิดชอบเอง
3. เหตุผลและเหตุผล ที่น่าสนใจก็คือมีผู้ใช้จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า กลุ่มผู้ใช้ไม่พอใจกับเงื่อนไขนี้ ก็แค่เลิกใช้และไปเลือกใช้บริการเครือข่ายสังคมอื่นเท่านั้น แน่นอนมีผู้ใช้หลายคนเริ่มเลิกใช้กูเกิลพลัสแล้ว อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งทำให้คนกลุ่มที่ไม่พอใจเรียกร้องประเด็นนี้กับกูเกิลแทนที่จะเลิกใช้แล้วเดินจากไปเฉย ๆ ก็อาจจะเป็นเพราะว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญและกำลังสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ คนรวมไปถึงอดีตผู้บริหารของเฟซบุ๊ก ได้ให้ความเห็นว่าความเป็นนิรนามบนอินเทอร์เน็ตควรจะต้องหมดไปได้แล้ว [7] แนวคิดดังกล่าวเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากเหตุการณ์จลาจลที่อังกฤษที่มีการใช้สื่อสังคมในการประสานงานการก่อเหตุต่าง ๆ ดังนั้นในสายตาของผู้ที่เห็นความสำคัญของความเป็นนิรนามบนอินเทอร์เน็ต การที่เว็บไซต์เครือข่ายสังคมขนาดใหญ่ เช่น เฟซบุ๊กและกูเกิลพลัส มีนโยบายที่เอื้อต่อความเป็นนิรนามบนอินเทอร์เน็ต จึงเป็นสิ่งจำเป็น ในมุมกลับกัน ถ้าเราเชื่อว่ากูเกิลเข้าใจเหตุผลและความต้องการของกลุ่มที่ต้องการนามแฝง แต่ยังยืนยันนโยบายการบังคับใช้ชื่อสามัญตามเดิม เราอาจจะมองเห็นความต้องการอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายหลังบริษัทที่มีคำขวัญว่า "ไม่ทำสิ่งที่เลวร้าย" [8] และพยายามยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกในหลาย ๆ กรณี เอสอี สมิธ [9] กล่าวว่าประเด็นทั้งหมดอยู่ที่ว่ากูเกิลมีโอกาสที่จะสร้างรายได้มากกว่าถ้าผู้ใช้ใช้ชื่อจริง และสงครามชื่อก็การปะทะกันระหว่างระบบทุนนิยมกับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งโดยที่มีเรื่องของอัตลักษณ์ออนไลน์เป็นเดิมพันนั่นเอง
ลิงก์อ้างอิง
หมายเหตุ:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
SIU: สารสนเทศการเกษตร ความสำเร็จที่รัฐบาลใหม่ควรต่อยอด! Posted: 15 Aug 2011 10:41 AM PDT ตอนนี้เราเพิ่งจะมีรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยคือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายนโยบายในช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท สำหรับคนจบปริญญาตรี การถมทะเลป้องกันนำ้ท่วม เป็นต้น อีกหนึ่งนโยบายที่เป็นที่ถูกจับตา และเป็นความแตกต่างด้านนโนบายอย่างชัดเจนกับทางประชาธิปปัตย์ นั่นก็คือการกลับมาใช้ระบบจำนำสินค้าเกษตร แทนการประกันรายได้เกษตรกร ความแตกต่างโดยทั่วไปของ 2 นโยบายนี้คือ การประกันรายได้เกษตรกร เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่าง หากขายผลผลิตได้ราคาต่ำกว่าราคาประกัน ส่วนการจำนำเกษตรกรจะนำผลผลิตไปจำนำ เช่น เอาข้าวไปจำนำกับโรงสี โรงสีก็จะจ่ายเงินค่าผลผลิตทั้งหมดตามราคาที่รับจำนำ บทความนี้ไม่ได้มุ่งจะบอกข้อดี หรือ ข้อเสีย ของทั้งสองนโยบาย หากต้องการนำเสนอสิ่งที่ถูกทำควบคู่มากับโครงการประกันรายได้ ที่ไม่ค่อยจะถูกพูดถึงมากนัก นั้นก็คือระบบสารสนเทศ หรือระบบข้อมูลข่าวสาร (Information System) ที่พัฒนาขึ้นมารองรับระบบประกันรายได้ โดยนำเอาประสบการณ์ที่ร่วมกับทีมงานของ Siam Intelligent Unit ที่ทำการศึกษาเรื่องระบบสารสนเทศของการประกันรายได้ มานำเสนอเพื่อให้เห็นว่า นโยบายประกันรายได้นั้น ได้ทำให้เกิดพัฒนาการด้านระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ ระบบสารสนเทศสำคัญอย่างไรต่อการประกันรายได้เกษตรกร แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าประกันแล้ว จะขาดเรื่องระบบข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรต้องตอบคำถามพื้นฐานให้ได้ว่า ใคร ปลูกอะไร ปลูกที่ไหน ปลูกเมื่อไหร่ ผลผลิตปริมาณเท่าไร ในช่วงแรก ๆ ของโครงการหลายคนคงเคยได้ยินข่าว เรื่องการขึ้นทะเบียนเพื่อขอใบรับรองในการประกันรายได้ จนกระทั่งพื้นที่เพาะปลูกที่ขึ้นทะเบียนมีมากกว่าพื้นที่ประเทศไทยเสียอีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มา ที่หลายฝ่ายต้องหาวิธีพิสูจน์ว่าข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีข้อเท็จจริงอย่างไร ดังนั้นระบบสารสนเทศเพื่อทำให้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจึงได้รับการพัฒนาเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยระบบสารสนเทศที่มารองรับการขึ้นทะเบียนเพื่อประกันรายได้ มีดังนี้ 1.ระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกร ดูแลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ระบบนี้เป็นฐานข้อมูลหลักของเกษตรกรทั้งประเทศ โดยจะเก็บข้อมูลทั่วไป อาทิ ชื่อ-ที่อยู่ของเกษตรกร ขนาดพื้นที่เพาะปลูก และพืชที่เพาะปลูก 2.ระบบขึ้นทะเบียนประกันรายได้ และออกใบรับรองการประกันรายได้ ดูแลโดยกรมส่งเสริมการเกษตรอีกเช่นกันระบบข้อมูลนี้จะอัปเดตแต่ละรอบของการเพาะปลูก โดยเกษตรกรต้องมาแจ้งว่ารอบการเพาะปลูกนี้ตนเองปลูกพืชอะไร ในพื้นที่เท่าไหร่ เช่น หากปลูกข้าวก็ต้องแจ้งว่า รอบการปลูกข้าวนาปี ปีนี้ปลูกข้าวพันธุ์อะไร พื้นที่เท่าไหร่ โดยข้อมูลที่แจ้งต้องผ่านการทำประชาคมรับรอง จากนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอ จะเป็นผู้ออกใบรับรองการประกันรายได้ให้ 3.ระบบจ่ายเงินประกันรายได้ ระบบนี้รับผิดชอบโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยเกษตรกรที่เข้าโครงการประกันรายได้ต้องมีบัญชีกับ ธกส.ขั้นตอนก็คือเกษตรกรนำเอาใบรับรองการประกันรายได้มาขึ้นเงินส่วนต่าง ธกส. จะคำนวนราคาส่วนต่างระหว่างราคาผลผลิตที่ขายได้กับราคาที่รับประกัน จากนั้นจึงโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนประกัน ทั้ง 3 ระบบที่กล่าวมานี้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดความซ้ำซ้อนของการขึ้นทะเบียน การเพิ่มความรวดเร็วและความถูกต้องในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร กับ ธกส. เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องการพิสูจน์พื้นที่การขึ้นทะเบียนประกันรายได้ ได้นำเอาเทคโนโลยีทางดาวเทียม และภูมิสารสนเทศเข้ามาช่วย โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออสมาพิสูจน์พื้นที่ ที่ขึ้นทะเบียนได้มีการเพาะปลูกจริงหรือไม่ เข้าใจว่าเป็นงานที่ใช้ดาวเทียมธีออสอย่างคุ้มค่าที่สุด ก่อนหมดอายุใช้งานในปีหน้า โดยงานนี้สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นแม่งานหลัก ผลของการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในงานประกันรายได้เกษตรกร ทำให้ระบบสารสนเทศทางการเกษตรของประเทศไทยจากที่ไม่เคยจัดระบบข้อมูล มาเป็นมีระบบข้อมูลเกษตรกรทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 2 ป แน่นอนว่าเรื่องระบบสารสนเทศที่เกิดขึ้นนี้ เกษตรกรผู้ปลูกพืชผลต่าง ๆ อาจไม่เห็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้โดยเฉพาะในรูปแบบของรายได้ในระยะสั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการวางแผนการผลิตทางการเกษตร วางแผนการจัดการนำ้ การจัดการต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ในอนาคต หรือการพัฒนาไปเป็นการให้ข้อมูลสนับสนุนการผลิตทางการเกษตรแบบรายแปลง จนกระทั้งรูปแบบการประกันการผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น การประกันสภาพอากา เรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้แม้เป็นเรื่องระยะยาว แต่ผลของการจัดการการเกษตรโดยใช้ข้อมูล จะทำให้ต้นทุนการผลิตน้อยลง ขายพืชผลในราคาที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำแล้งและภัยพิบัติต่าง ๆ แต่ต้องมีการริเริ่มและต่อยอดจากระบบข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่เป็นห่วงคือ หากนโยบายเปลี่ยนก็จะยกเลิกสิ่งที่เคยทำจากนโยบายเดิม โดยเฉพาะเรื่องระบบข้อมูลเกษตรกร หากไม่มีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ทำมาก็จะสูญเปล่า ได้แต่หวังว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐนมตรีที่มากำกับกระทรวงเกษตรฯ จะมีแนวทางใช้ประโยชน์และพัฒนาระบบข้อมูลที่เกิดขึ้นต่อไป สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือหากนโยบายใดเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรให้อคติทางการเมืองมาปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาประเทศไทย ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนรัฐบาลครั้งหนึ่งก็เปลี่ยนนโยบายครั้งหนึ่งเพราะเกรงว่ารัฐบาลเก่าจะได้ผลงานไป เรื่องฐานข้อมูลนั้นเป็นเรื่องสำคัญถ้าหากจะวางแผนยุทธศาสตร์ วิเคราะห์ หรือประเมิน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลใหม่พิจารณาและเล็งเห็นความสำคัญของระบบฐานข้อมูลการเกษตรด้วย ไม่ว่าจะถูกนำไปใช้สำหรับนโยบายประกันราคา อุ้มราคา หรือจำนำ เพราะถ้าหากเกษตรกรมีความอยู่ดีกินดีย่อมทำให้ประชาชนมีความสุขตามไปด้วย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
คำเตือนก่อนคุณทักษิณไปญี่ปุ่น: ใครฉลาด? ใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน? Posted: 15 Aug 2011 10:21 AM PDT ใครฉลาด? ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าคุณทักษิณได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศญี่ปุ่น และมีการให้สัมภาษณ์ว่าการเดินทางดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย แม้จะมีรายงานข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ยอมรับว่าได้หารือเรื่องดังกล่าวกับทูตของญี่ปุ่นก็ตาม (http://bit.ly/p91HBp) ล่าสุด (15 สิงหาคม 2554) สำนักข่าว Kyodo ประเทศญี่ปุ่นรายงานการแถลงข่าวโดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า กงสุลใหญ่แห่งญี่ปุ่น ณ ดูไบ ได้ออกหนังสือตรวจลงตรา (วีซ่า) เพื่ออนุญาตให้คุณทักษิณสามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้เป็นกรณีพิเศษ หลังได้รับการร้องขอจากรัฐบาลไทย (“in response to a request from Thailand” http://bit.ly/qVFL8h) สำนักข่าว AFP รายงานคำแถลงข่าวของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในทางเดียวกันว่า รัฐบาลไทยได้แจ้งว่าไม่มีนโยบายห้ามคุณทักษิณเดินทางไปประเทศอื่น และขอให้ประเทศญี่ปุ่นออกวีซ่าให้คุณทักษิณ (“The Thai government… takes a policy of not prohibiting former prime minister Thaksin from visiting any country and requested that Japan issue a visa” http://bit.ly/mRPUg2) หากคำพูดของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นพอเชื่อถือได้ สื่อมวลชนไทยสมควรต้องกลับมาถามรัฐบาลไทยที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่กี่วันว่า ที่มีคนบอกว่ารัฐบาลไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกวีซ่าครั้งนี้นั้น ใครพูดจริง ใครโกหก??? ความจริงหากจะพูดให้ดูดีหน่อย ก็น่าจะบอกว่า กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ข้อ 12 แห่งสนธิสัญญา ICCPR ซึ่งทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องเคารพ) ก็รับรองสิทธิเสรีภาพของคุณทักษิณให้สามารถเดินทางได้อย่างเสรีภายในประเทศใดประเทศหนึ่งได้ หากคุณทักษิณเข้าไปในประเทศนั้นโดยถูกกฎหมาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 82 ก็สื่อความให้รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิมนุษยชนข้อนี้ แน่นอนว่าหากคุณทักษิณเดินทางเข้ามาสู่เขตบังคับของกฎหมายไทย ไทยก็ย่อมต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายไทย ในเมื่อสุดท้ายคุณทักษิณก็ยังคงเป็นมนุษย์ กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งติดตัวคุณทักษิณอยู่แต่เดิมก็มิได้หายไปไหน การที่คุณทักษิณได้รับวีซ่าญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อเดินทางไปแสดงความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ หรือแสดงความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยธรรมชาติ จึงมิใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย และก็คงอยู่นอกอำนาจที่รัฐบาลไทยจะไปห้ามญี่ปุ่นได้ ไทยจะไปยุ่มย่ามเรื่องภายในก็จะหาว่าแทรกแซงและผิดกฎบัตรสหประชาชาติ อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยของประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1953 แก้ไขล่าสุด ค.ศ. 2009 มาตรา 5-2 ได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสามารถออกวีซ่าพิเศษให้กับผู้ที่ต้องโทษจำคุก เช่น คุณทักษิณ ให้เข้าญี่ปุ่นได้ หากเห็นว่าเป็นกรณีสมควร แต่เมื่อรัฐบาลไทยไม่เคยชินกับการอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน และดันมีคนใจดีไปช่วยขอวีซ่าจนกลายเป็นข่าว จนมีผู้ตั้งประเด็นว่า เป็นการทำให้การจับกุมคุณทักษิณลำบากขึ้นและผิดกฎหมายนั้น เป็นการฉลาดหรือไม่ ก็น่าคิดอยู่! ใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน? เกิดคำถามตามมาว่า ในเมื่อคุณทักษิณมีความผิดตามกฎหมายไทย ถูกศาลฎีกาไทยพิพากษาจำคุก 2 ปี แล้วหากคุณทักษิณเดินทางไปญี่ปุ่น ไทยจะขอให้ญี่ปุ่นส่งตัวคุณทักษิณกลับมารับโทษในประเทศไทยในลักษณะการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่? ตอบว่าไทยขอได้ แต่ญี่ปุ่นจะส่งตัวคุณทักษิณมาหรือไม่ เป็นไปได้ยาก หากตอบโดยไม่ต้องนึกถึงข้อกฎหมายใดๆ การที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้คุณทักษิณเข้าเมืองมากล่าวสุนทรพจน์และเยี่ยมผู้ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษแล้วค่อยเข้าจับกุมส่งตัวนั้น คงจะดูแปลกอยู่ และหากพิจารณาในข้อกฎหมาย ก็จะพบอุปสรรคหลายด่าน ดังนี้ ด่านที่ 1: ไทยและญี่ปุ่นยังไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน จริงอยู่ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2552 ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามสนธิสัญญาอีกฉบับ คือสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ซึ่งอาจมีผู้เข้าใจผิดว่า เป็นสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความจริงสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกรณีที่ไทยจับคนญี่ปุ่นที่ทำผิดกฎหมายไทย แล้วอาจส่งตัวคนญี่ปุ่นนั้นกลับไปจำคุกที่ญี่ปุ่นตามโทษกฎหมายไทย ในทางเดียวกัน ญี่ปุ่นก็อาจส่งตัวคนไทยที่ทำผิดกฎหมายญี่ปุ่นกลับมาจำคุกที่ไทย แต่กรณีคดีของคุณทักษิณนั้น เป็นกรณีที่คนไทยต้องโทษจำคุกตามกฎหมายไทย จึงไม่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาดังกล่าว (นอกจากคุณทักษิณเข้าญี่ปุ่นแล้วดันทะลึ่งทำผิดกฎหมายบ้านเขาแล้วถูกจำคุก ไทยก็อาจขอให้ส่งตัวมาได้) ด่านที่ 2: ไม่มีสนธิสัญญาก็ส่งได้ แต่ส่งยาก การที่ไทยและญี่ปุ่นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ไม่ได้แปลว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะทำไม่ได้ เพียงแต่ทำได้ยาก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างต้องอาศัยกฎหมายภายในประเทศและ “วิถีทางการทูต” (diplomatic channel)” ซึ่งอาศัยดุลพินิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ด่านที่ 3: กฎหมายไทยให้อำนาจนักการเมือง ไม่ใช่อัยการ พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 30 ให้อัยการสูงสุดของไทยมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะร้องขอให้ญี่ปุ่นส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ แต่กระนั้น กฎหมายก็ยังเปิดช่องให้ “คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นอย่างอื่น” ได้ กล่าวคือหากอัยการสูงสุดต้องการขอ แต่คณะรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ขอ สุดท้ายก็ขอไม่ได้ ด่านที่ 4: กฎหมายญี่ปุ่นไม่ให้ส่งฟรีๆ แม้หากสุดท้ายคณะรัฐมนตรีไทยไม่ขัดข้อง ก็มิได้แปลว่าไทยขอแล้วญี่ปุ่นจะให้ทันที แต่กฎหมายภายในของประเทศญี่ปุ่น คือ กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ. 1953 แก้ไขล่าสุด ค.ศ. 2004 กำหนดว่า นอกจากฝ่ายไทยต้องส่งคำขอพร้อมเอกสารรายละเอียดที่เข้าเงื่อนไขต่างๆ แล้ว มาตรา 3 ยังบังคับว่า ไทยต้องให้คำมั่นว่าจะส่งตัวผู้ร้ายจากไทยไปที่ญี่ปุ่นในลักษณะต่างตอบแทนอีกด้วย (reciprocity) กล่าวโดยง่ายก็คือ หากไทยไม่มีผู้ร้ายไปสัญญาแลก ญี่ปุ่นก็ไม่ส่งให้ ด่านที่ 5: รัฐมนตรีญี่ปุ่นต้องพอใจ ไทยต้องเอาผู้ร้ายไปสัญญาแลกเท่านั้นไม่พอ กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของญี่ปุ่น มาตรา 4 ยังกำหนดว่า ในกรณีที่ไทยและญี่ปุ่นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นมีดุลพินิจพิจารณาอย่างกว้างขวางว่า “หากเป็นการไม่เหมาะสม” (deemed to be inappropriate) ญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องทำตามคำขอของไทย ซึ่งอะไรจะเหมาะสมหรือไม่นั้น ก็คงสุดแท้แต่ที่ท่านรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะคิด ด่านที่ 6: กฎหมายญี่ปุ่นระบุข้อห้ามไม่ให้ส่งตัว แม้ท่านรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะมองว่าเป็นการเหมาะสมที่จะส่งคุณทักษิณกลับมาประเทศไทย ก็มิใช่ว่าจะส่งได้ แต่ต้องผ่านด่านกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของญี่ปุ่น มาตรา 2 ซึ่งกำหนดข้อห้ามไม่ให้ส่งตัวคุณทักษิณไว้อีกหลายกรณี หากเข้ากรณีใดกรณีหนึ่ง ก็ส่งไม่ได้ อาทิ - ห้ามส่งตัวหากเห็นว่าความผิดของคุณทักษิณเป็นความผิดทางการเมือง (political offense) หรือการขอให้ส่งตัวคุณทักษิณเป็นการพยายามนำตัวคุณทักษิณมาลงโทษทางการเมือง (เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า คดีความทั้งหมดนั้นมุ่งเล่นงานคุณทักษิณตั้งแต่กระบวนการรัฐประหารโค่นอำนาจทางการเมือง ฯลฯ แต่คุณทักษิณก็ต้องไม่ลืมว่า คดีที่ศาลฎีกาตัดสินนั้นเป็นเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับการประมูลที่ดิน ญี่ปุ่นอาจไม่มองว่าเป็นเรื่องการเมือง) - ห้ามส่งตัวหากความผิดคุณทักษิณตามกฎหมายไทยเป็นความผิดที่มีโทษเบา กล่าวคือกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดว่า หากโทษความผิดคุณทักษิณเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ก็ห้ามส่งตัว (เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า คุณทักษิณถูกศาลไทยพิพากษาจำคุกเพียง 2 ปี จึงเป็นกรณีโทษเบาที่ไม่ให้ส่งตัว แต่อย่าลืมว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่ศาลไทยใช้ลงโทษคุณทักษิณนั้น มาตรา 122 ได้บัญญัติให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี สุดท้ายก็ขึ้นอยู่ว่าญี่ปุ่นจะตีความกฎหมายอย่างไร) - ห้ามส่งตัวหากความผิดของคุณทักษิณตามกฎหมายไทยเป็นความผิดที่ไม่สามารถเอาผิดหรือลงโทษตามกฎหมายของญี่ปุ่นได้ (double criminality) (เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า ความผิดเรื่องการทุจริตที่เกิดจากการประมูลที่ดินโดยภรรยานายกรัฐมนตรีนั้น แม้กฎหมายไทยจะมองว่าผิด แต่กฎหมายญี่ปุ่นอาจไม่ถือว่าเป็นความผิด ก็ห้ามส่งตัว) หากจะบอกว่าคุณทักษิณมั่นใจในข้อกฎหมายว่าไม่ถูกส่งตัวกลับไทย ก็พอเข้าใจอยู่ แต่ที่น้องคุณทักษิณต้องมานั่งตอบคำถามว่า ทำไมถึงไม่ขอส่งตัว หรือทำไมขอแล้วส่งมาไม่ได้ ก็อาจเข้าใจยากหน่อย หรือกล่าวอีกทางหนึ่ง สุดท้ายใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ข้อนี้ตอบง่าย แต่งานนี้ใครฉลาดหรือไม่ ข้อนี้ตอบยาก!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
นัดพิพากษา 18 ต.ค.นี้ คดีตำรวจตามหาลูกในม็อบ โดนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน Posted: 15 Aug 2011 09:56 AM PDT 15 ส.ค.54 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ มีการสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย ในคดีหมายเลขดำที่ 1296/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ดาบตำรวจสันติเวช ภูตรี อายุ 59 ปี ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยในวันนี้มีการสืบพยานจำเลย คือ จำเลยและลูกสาวเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ต.ค.54 ทั้งนี้ ดาบตำรวจสันติเวช เป็นเจ้าหน้าที่ตำรจประจำสถานีตำรวจภูธร อำเภท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เดินทางเข้ามาตามหาลูกสาวซึ่งเข้ามาสมัครงานที่กรุงเทพฯ และร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้วเพราะเกรงจะได้รับการอันตราย โดยดาบตำรวจสันติเวชไปตามหายังบริเวณถนนเลียบทางด่วน ซอยลาดพร้าว 71 ในวันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวราว 40 คน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปยังแยกราชประสงค์ได้แล้ว เพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นเส้นทาง แต่ก็ไม่พบบุตรสาว เพราะบุตรสาวเดินทางกลับบ้านจังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะอยู่ในที่เกิดเหตุถูกเจ้าหน้าตำรวจ สน.วังทองหลางถ่ายรูปเป็นหลักฐานและออกหมายจับในเวลาต่อมา จากนั้นผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ก่อนถูกนำไปควบคุมตัวที่กองบัญชาการตำรวจตระเวรชายแดน ภาค 1 เป็นเวลา 7 วันแล้วจึงปล่อยตัว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
แผนชุมชนรับมือภัยพิบัติ แง้มปฏิบัติการชาวบ้านจัดการตนเอง Posted: 15 Aug 2011 09:52 AM PDT ในห้วงหลายปีมานี้ ดูเหมือนทั่วทั้งโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่กำลังเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ที่นับวันจะหนักหน่วงและไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่ขณะนี้ ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กำลังประสบอุทกภัย จากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ก่อนหน้านี้ ปลายปี 2553 ต่อต้นปี 2554 หลายพื้นที่ในขอบเขตทั่วประเทศ ต่างเจอภัยพิบัติกันมาแล้วถ้วนหน้า 6 ชุมชนในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กว่าสิบหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี และอีกสามภูมินิเวศน์ของจังหวัดพัทลุง จึงกลายมาเป็นพื้นที่นำร่องของสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ หรือในชื่อย่อ “วพส.” ให้การสนับสนุนนักวิชาการ กระตุ้นกลุ่มคนและชุมชน เตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ผ่านกิจกรรมฟื้นฟูในแต่ละชุมชน สำหรับจังหวัดปัตตานีดำเนินการมาแล้ว 6 เดือน ใช้ชื่อโครงการสั้นๆ ว่า “PB watch” หรือโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี โครงการนี้ครอบคลุมอำเภอหนองจิก อำเภอสายบุรี อำเภอยะหริ่ง และอำเภอเมืองปัตตานี สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ โอนเงินเข้าบัญชีให้ชาวบ้าน 15 ชุมชน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 10,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการชุมชน และส่วนที่ 2 จำนวน 15,000 เป็นค่าใช้จ่ายซ่อมเรือประมงของชุมชนที่เสียหายจากภัยพิบัติ “การทำงานในส่วนของปัตตานีมีเครือข่ายชุมชน หรือชาวบ้านอยู่ข้างหน้า นักวิชาการ คณะกรรมการภาคประชาสังคมอยู่ข้างหลัง ช่วยผลักดันและสนับสนุนกลไกการทำงานของคณะกรรมการชุมชนกว่า 10 ชุมชน ทั้งสองฝ่ายจะประชุมร่วมกัน ตัดสินใจจากความเห็นร่วมกันของที่ประชุม เพราะปัญหาชุมชนต้องแก้ด้วยคนในชุมชน นักวิชาการแค่อยู่เบื้องหลัง คอยผลักดันให้โครงการฯ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย” เป็นคำอธิบายถึงบทบาทของนักวิชาการในโครงการฯ นี้จาก “รศ.อิ่มจิต เลิศพงศ์สมบัติ” ประธานโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี หรือ PB Watch ซึ่งมีอีกฐานะเป็นคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร “นายมะรอนิง สาและ” กรรมการกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี และประธานกลุ่มประมงหัวทราย หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เล่าว่า เมื่อเห็นสภาพหมู่บ้านถูกภัยพิบัติถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ สิ่งแรกที่นึกถึงคือ “สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้” ที่ให้งบประมาณมาจัดหาอาหารและของใช้ที่จำเป็น มีกลุ่มนักศึกษาเข้ามาช่วยจัดเตรียมอาหารและฟื้นฟูชุมชน ร่วมกับฝ่ายทหาร ช่วงเกิดภัยพิบัติ ทั้งเรือประมงพื้นบ้านและอวนจับปลาได้รับความเสียหาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลงมาตรวจเยี่ยม ได้ให้งบประมาณซ่อมเรือมาประมาณ 500,000 บาท ซ่อมเรือได้เพียง 20 ลำ แต่มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม จนซ่อมเรือได้ถึง 50 ลำ ชาวบ้านคิดว่า หากรอให้รัฐช่วยเหลือฝ่ายเดียว คงไม่สามารถฟื้นฟูชุมชนได้เร็วอย่างที่ต้องการ จึงร่วมกันจัดกิจกรรมฟื้นฟูชุมชนขึ้นมา “ตอนนี้มีเงินจากสหภาพยุโรป หรืออียูเข้ามาสมทบ เรานำมาบูรณาการกับงบประมาณที่ได้จากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ รอให้รัฐช่วยอย่างเดียวไม่ได้” เป็นคำบอกเล่าของ “นายมะรอนิง สาและ” เมื่อซ่อมเรือเสร็จ ชาวบ้านก็ตัดสินใจทำธนาคารปู โดยบูรณาการความรู้ทางวิชาการจาก “PB watch” กับความรู้ที่ชาวบ้านมีอยู่มาใช้ร่วมกัน เนื่องเพราะเห็นว่า ทั้งปูและกุ้งในอ่าวปัตตานีค่อยๆ น้อยลง แต่น้ำในอ่าวปัตตานีมีความเค็มน้อย ทำให้โครงการธนาคารปูไม่บรรลุผลสำเร็จ ชาวบ้านในชุมชนปรึกษาแนวทางแก้ปัญหาปูตายว่า ต้องศึกษาการเพาะเลี้ยงปูจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงโดยตรง จึงต้องการให้นักวิชาการเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการนำปูมาอนุบาลในบ่อแล้วปล่อยลงทะเล แผนการระยะต่อไปของชุมชนดาโต๊ะคือ จัดอบรมเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติชุมชน และโครงการการเลี้ยงปลาดุกทะเลประมาณ 300 บ่อ นำเศษอาหารจากการทำข้าวเกรียบมาเป็นอาหารปลา ขณะที่บ้านปาตาบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ “นายลุตฟี เจ๊ะเย็ง” แกนนำหมู่บ้านบอกว่า หลังจากประสบอุทกภัยและวาตภัย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ทางกรมอนามัยได้เข้ามาตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ และเด็กในหมู่บ้าน กระทั่งเดือนเมษายน 2554 มีการส่งเสริมอบรมจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับยาเสพติด มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมอบรมประมาณ 150 คน โครงการล่าสุดของบ้านปาตาบูดีคือ ทำก๊าซชีวภาพที่เดินทางไปศึกษาถึงจังหวัดพัทลุง ชุมชนปาตาบูดีเป็นชุมชนนำร่องในอ่าวปัตตานี ที่ทดลองทำก๊าซชีวภาพในครัวเรือน คาดว่าในอนาคตจะได้ใช้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง ส่วนระยะต่อไป จะจัดอบรมรับมือกับภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กันไปกับจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การทำก๊าซชีวภาพ หลังเกิดภัยพิบัติที่ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายแวมุสตอปา ดอเลาะ แกนนำชุมชนตำบลตันหยงลุโละ และอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติ เล่าว่า ชาวบ้านได้นำงบประมาณที่ได้รับจาก PB watch มาจัดอบรมการเฝ้าระวังรับมือภัยพิบัติ 2 รุ่น นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการนำขยะมาทำก๊าซชีวภาพในครัวเรือนด้วย ตลอดระยะเวลาที่ได้รับงบประมาณทางตำบลตันหยงลุโละมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย พร้อมกับฝึกให้คนในชุมชนจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และจัดสวัสดิการชุมชน เน้นให้ชุมชนเก็บออมเงิน เป็นต้น กระทั่ง วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 ชาวตันหยงลุโละ จึงได้จัดอบรมให้ความรู้ถึงบทบาทสตรีในการรับมือภัยพิบัติในอนาคต เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนก และสามารถรับมือจากภัยพิบัติได้ หลังจากนี้ ชาวตันหยงลุโละจะปลูกต้นไม้เป็นแนวกั้นคลื่นลมและน้ำทะเล และสร้างธนาคารเขื่อน เพื่อเพิ่มผลิตผลที่เกิดขึ้น และทำก๊าซชีวภาพใช้ในครัวเรือน ทั้งหมดเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่าของ “นายแวมุสตอปา ดอเลาะ” แกนนำชุมชนตำบลตันหยงลุโละ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติ ขณะที่โครงการการพัฒนาและการขับเคลื่อนกลไกการสร้างชุมชนเข้มแข็งให้พร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติของจังหวัดพัทลุง “รศ.ดร.เกษม อัศวตรีรัตนกุล” จากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะประธานโครงการฯ บอกว่า ทางโครงการฯ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสามนิเวศน์ ประกอบด้วย ควน นา เล ที่ผ่านมาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือนา และพื้นที่เกษตรริมทะเลสาบสงขลา หรือพื้นที่เล ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่น้อยที่สุดคือควน ทางโครงการฯ จะเข้าไปเสริมสร้างความพร้อมให้กับชุมชน เพราะถ้าชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติใดๆ ชุมชนสามารถแก้ปัญหาตัวเองได้ การพึ่งพาตัวเองอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ในระยะสั้นจะต้องศึกษาว่า ปรากฏการณ์หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นมีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน โดยเน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหา โดยการเรียนรู้จะต้องควบคู่กับการจัดระบบ มีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ โดยกำหนดพื้นที่เบื้องต้น ทั้งควนและเลประมาณ 15 ชุมชน ทั้งหมดเป็นชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน และมีแกนนำ หรือผู้นำชุมชน ที่หน่วยงานภาครัฐ หรือพรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ยาก เพราะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้รวดเร็ว คณะทำงานนอกจากมหาวิทยาลัยทักษิณแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ เข้ามาร่วมทำงานด้วย โดยมีสมาคมครอบครัวเข้มแข็ง โครงการโรงเรียนใต้ร่มไม้ของมูลนิธิอริยาภา เครือข่ายเกษตรในแต่ละชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ด้วยการเปิดเวที “เวทีคนไม่งอมืองอเท้าก้าวข้ามวิกฤต” จากนั้นตามมาด้วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อปลุกชุมชนให้ตื่นขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง โดยชุมชนต่างๆ เข้าร่วมเวทีกว่า 20 ชุมชน ในจำนวนนี้ประกาศเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 15 ชุมชน จากนั้น จึงจัดเวทีเตรียมคน โดยฝึกอบรมการเข้าถึงชุมชน ขณะนี้เกิดแผนนำร่องที่ชุมชนเขาพนม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และการเยียวยาหลังจากประสบภัยพิบัติ หลังจากนั้น มีการจัดทำแผนที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ใน 4 ชุมชนคือ บ้านคลองดุน บ้านกะทิ บ้านกะตัง บ้านคลองขุด ทั้งหมดเป็นชุมชนริมทะเลน้อย ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ ชุมชนคลองขุด มีการจัดตั้งโครงการกองทุนหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูอาชีพ เป็นเงินยืมไม่คิดดอกเบี้ยในการยืมครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนได้ใช้เงินกองทุนกันอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนยังมีความคิดว่าจะซื้อเรือมาไว้ใช้ ขณะเดียวกันก็จะกองทุนร่วมกันสร้างเครือข่ายชุมชนรับมือกับภัยพิบัติ โดยวัดในชุมชนเป็นที่ศูนย์รวม เมื่อชุมชนคลองขุดเสนอโครงการนี้ ชุมชนบริเวณใกล้เคียงได้จัดตั้งกองทุนเช่นกัน อาทิ ชุมชนสะทัง ขณะที่ชุมชนแหลมดิน มีสมาชิกของเครือข่ายวิทยุเพื่อการเตือนภัย เสนอให้จัดตั้งเครือข่ายวิทยุเพื่อการเตือนภัย เชื่อมโยงจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดใกล้เคียง จึงสร้างโครงการนี้ เพื่อการเตือนภัยเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ ขณะเดียวกันชุมชนเขาพนม ซึ่งเป็นชุมชนทางน้ำผ่านก่อนลงสู่ทะเล ที่กลายเป็นทางระบายน้ำและขยะ ก็ร่วมกันขุดลอกคูระบายน้ำสายเขาพนม–คลองท่า เพื่อความสามัคคี เมื่อวันที่ 23–24 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา จังหวัดพัทลุงได้จัดกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 9 ชุมชน ที่วิทยาลัยภูมิปัญญา มหาวิทยาลัยทักษิณ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน ริมทะเลน้อย โดยเชิญเครือข่ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฏร์ธานีมาร่วมแลกเปลี่ยน ล่าสุด จังหวัดพัทลุงมีแผนจะร่วมกับพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมให้เป็นรูปแบบเดียวกัน สิ่งที่ต้องการคือแผนชุมชนระหว่างพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ด้าน “นางวัลภา ฐาน์กาญน์” ประธานโครงการฟื้นฟูน้ำท่วมหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลกับเครือข่ายภัยพิบัติว่า พื้นที่ภัยพิบัติในหาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนริมคลองร.1 ชุมชนตลาดป้อม 6 ซึ่งเป็นชุมชนแออัด ประชาชนประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง มีทั้งร้านค้า ร้านซ่อมรถ และโรงพิมพ์ จำนวนประชากรเยอะ มีลักษณะเป็นเครือญาติบ้านติดกันใช้บ้านเลขที่ซ้ำกัน พื้นที่ดังกล่าว เป็นทางผ่านของน้ำที่ขึ้นสูงประมาณ 3.5 เมตร เนื่องจากถูกน้ำท่วมประจำ จึงมีการขับเคลื่อนที่จะตั้งกลุ่มฟื้นฟู โดยมีแผนที่จะสร้างเครือข่ายผู้ประสบภัยระหว่างชุมชนริมคลอง ได้จัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้น เช่น กลุ่มการทำขันหมากของชาวไทยพุทธและมุสลิม เป็นกลุ่มแม่บ้านเทศาพัฒนา ส่วนอีกชุมชนนำร่องคือ ชุมชนคลองร.1 มีลักษณะเด่นเกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นำ สร้างแกนนำที่มีจิตอาสาขึ้นมา ตอนนี้มีกลุ่มออมทรัพย์คลองร.1 จากเดิมมีสมาชิก 8 คน ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 132 คน มีเงินออมสะสม 20,000 กว่าบาท โดยเฉลี่ยมีการเก็บทุกเดือน เดือนละ 30 บาท ปัจจุบันจากกลุ่มออมทรัพย์ ได้ตั้งคณะกรรมการทำแผนเตรียมรับภัยพิบัติ แต่งตั้งหัวหน้าซอยแต่ละซอยขึ้นมารับผิดชอบ เช่น ฝ่ายสื่อสาร ฝ่ายกำลังคน ปัจจุบันดำเนินการตามไปได้ 20% มีการวางแผนไว้ว่าจะจัดทำฐานข้อมูลให้สมบูรณ์ในอนาคต ขณะที่ “นางมาลินี กาเดร์” ประธานกลุ่มออมทรัพย์ ชุมชนคลองร.1 กล่าวว่า หลังเกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านไม่ทราบจะเริ่มต้นตรงไหน เมื่อมีงบประมาณเข้ามาช่วย จึงคิดที่จะจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต สำหรับโครงการฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติคลองป้อม 6 “นายรุสดี บินหวัง” ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูน้ำท่วมหาดใหญ่ บอกว่า มีการรวมกลุ่มเพาะเห็ดขายในตลาดใกล้ๆ ชุมชน มีสมาชิก 8 คน โดยในส่วนของเยาวชนมีการรวมกลุ่มกันทำขันหมากชาวไทยมุสลิม พร้อมกับมีการจัดตั้งออมทรัพย์สวัสดิการชุมชนป้อม 6 มีสมาชิก 102 คน หลังจากนี้ ทั้ง 6 ชุมชนของหาดใหญ่ จะวางแผนร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพิ่มแกนนำเป็น 30 คน และมีแกนเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 22 คน มีกิจกรรมฟื้นฟูร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยมีมูลนิธิชุมชนสงขลาให้ความช่วยเหลือ.oการซ่อมบ้าน นอกจากนี้ ยังเริ่มโครงการสร้างอาชีพจากงบประมาณที่ได้รับจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ 10,000 บาท โดยรวบรวมผู้ที่สนใจมาเป็นสมาชิกกลุ่ม มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม 100 บาทเป็นทุนตั้งต้นในการเพาะเห็ด ในอนาคตถ้าหากมีกำไร นอกจากปันผลแล้วจะกันเงินส่วนหนึ่งตั้งกองทุนสาธารณประโยชน์ เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติต่อไป “เราคงต้องช่วยตัวเองเป็นหลัก เพราะเทศบาลนครหาดใหญ่มีภารกิจมาก ตั้งแต่เตรียมความพร้อมเรื่องเยียวยา การขุดลอกและขยายท่อ–คูระบายน้ำ โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการป้องกันอุทกภัย ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล” เป็นเสียงสะท้อนจากแกนนำชุมชน ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่บอกเล่าถึงภาระที่ต้องแบกรับ ในขณะที่แต่ละหน่วยงาน ต่างมีภารกิจขนาดใหญ่ต้องดูแล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ปาฐกถา สุรินทร์ พิศสุวรรณ: 'ชายแดนใต้สู่อาเซียน ต้องเปลี่ยนทัศนะกรุงเทพฯ' Posted: 15 Aug 2011 09:48 AM PDT
อีก 4 ปี ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” อันตามมาด้วยการเปิดเสรีด้านต่างๆ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงาน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะส่งผลบวกหรือลบอย่างไรกับแรงงานไทย นับเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิด ข้อมูลที่ได้จากปาฐกถาของเลขาธิการอาเซียน “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เรื่อง “แนวทางการรับมือกับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีต่อแรงงานไทย” นับเป็นอีกประเด็นที่คนไทยโดยรวมควรมีโอกาสได้รับรู้ เป็นปาฐกถาในโครงการ “แนวทางรับมือกับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีต่อแรงงานไทย” ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดร่วมกับชมรมการจัดการงานบุคลจังหวัดสงขลา ที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ทำไม การจะมอบภาระให้คนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหัวหอกนำไทยสู่ตลาดอาเซียน ถึงต้องเปลี่ยนทัศนคติกรุงเทพมหานคร โปรดไล่สายตาหาเหตุผลได้ จากปาฐกถาชิ้นนี้ 0 0 0 “ชายแดนภาคใต้ ประชากรมีลักษณะแตกต่างหลากหลายดีอยู่แล้ว ขอให้เปลี่ยนทัศนคติของกรุงเทพมหานคร อย่าถือว่าความแตกต่างหลากหลายและเอกลักษณ์เหล่านี้ทำลายความเป็นเอกภาพของชาติ คนที่นี่พูดภาษามาเลย์ท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เปลี่ยนทัศนคติได้ไหมว่า นี่คือทรัพยากรที่มีอยู่ สอนภาษามลายูกลางให้เขา สองภาษาของที่นี่ก็เป็นภาษามลายูกลางกับอังกฤษ เขาจะเป็นหัวหอกในการนำไทยสู่ตลาดอาเซียน นำนักท่องเที่ยวเข้ามา ดึงเอาการลงทุนเข้ามา ดัน SMEs สู่ตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เพราะเขารู้ภาษามลายู ภาษาถิ่นตรงนี้เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญ รักษาไว้ พัฒนามัน สอนให้เขาพูดมาเลย์กลางที่พูดกัน 300 กว่าล้านคนในอาเซียน ครึ่งหนึ่งในอาเซียนพูดภาษามาเลย์ แต่เพราะทัศนะของกรุงเทพมหานครมองว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่การแตกแยก มันถึงพัฒนาต่อไปไม่ได้ มันถึงกลายเป็นความแตกแยก ต้องเปลี่ยนทัศนคติ” 0 0 0 ผมดีใจมากๆ ที่เห็นความตื่นตัวของพี่น้องชาวจังหวัดสงขลามีมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หัวข้อที่ตั้งไว้วันนี้คือ ผลกระทบ การเตรียมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของแรงงาน บุคคลากร ทรัพยากรมนุษย์ ที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 หรือค.ศ. 2015 ปีนี้ ค.ศ. 2011 เหลืออีก 4 ปีจะเป็นประชาคมอาเซียน ที่เรียกว่า The ASEAN Community ประชาคมอาเซียนวางอยู่บน 3 เสาหลัก เสาหลักที่หนึ่งคือ เรื่องการเมืองและความมั่นคง Political and Security Community เสาหลักที่สองคือ Economic Community หรือ AEC ท่านจะเห็นว่ามีการพูดถึง AEC กันบ่อยในสื่อมวลชนทั้งหลาย ในเรื่องการเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC การเตรียมพร้อมที่จะได้ประโยชน์จาก AEC การเตรียมพร้อมที่จะเข้าไปแข่งขันใน AEC การเตรียมพร้อมเพื่อจะแย่งตลาด AEC อีกเสาหลักหนึ่งคือเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ASEAN Socio-Cultural Community แปลว่าเป็นเสาที่จะทำให้ประชากรอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ 600 ล้านคน มีความรู้สึก รู้จัก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเจ้าของประชาคมนี้ด้วยกัน พร้อมจะเข้ามาหาประโยชน์จากประชาคมนี้ แข่งขันในประชาคมนี้ และเป็นเจ้าของในการสร้างประชาคมนี้ด้วยกัน โลกสมัยใหม่คือโลกที่แข่งขันกันด้านเศรษฐกิจ ภาษาที่ใช้กันในการทูตสมัยใหม่คือ ภาษาธุรกิจ การลงทุน การแข่งขัน เดี๋ยวนี้ในทางการทูตมีการพูดถึงเรื่องความมั่นคง ข้อตกลง การรับรองข้อตกลงน้อยลง 60–70% เป็นเรื่องของการลงทุน การแลกเปลี่ยน การท่องเที่ยว การแข่งขัน การลดภาษี การลดกำแพงภาษี การลดกำแพงซึ่งไม่ใช่ภาษี กำแพงซึ่งไม่ใช่ภาษีคือ คุณภาพของสินค้า ขนาด ส่วนผสม สีสันของสินค้า เพื่อที่จะตั้งประเด็นกีดกัน ไม่ให้สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ามา เพราะมีการลดภาษีระหว่างกันหมดแล้ว ตามข้อตกลง เขาเรียกว่า None Tariff Barrier คือ การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การเก็บภาษีสินค้าขาเข้า เพราะฉะนั้น สงขลาหรือภาคใต้ของประเทศไทย ถ้ามองแผนที่ของภูมิภาค จะเห็นเป็นหัวใจที่ยื่นเข้าสู่อาเซียนทางใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ทางตะวันตก เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ทางตะวันออก 200 กว่ากิโลเมตรข้ามอ่าวไทยก็คือ เขมร เวียดนาม ไกลไปอีกหน่อยก็คือ ฟิลิปปินส์ จะเห็นได้ว่า ด้ามขวานของภาคใต้ของเรา ยื่นเข้ามาในหัวใจของอาเซียน มันจึงมีการท้าทายมาก มีสิ่งต้องเตรียมพร้อมเรียนรู้ รับรู้มาก โอกาสมีมาก ลูกหลานของเรา หรือตัวเราเอง สามารถที่จะออกไปหางานทำในภูมิภาคอาเซียนได้ ทั้ง 10 ประเทศ ชีวิตในอนาคต จึงเป็นชีวิตที่เคลื่อนย้าย เคลื่อนไหว (Mobile) เป็นชีวิตที่มีทางเลือกเยอะ เป็นชีวิตที่มีความน่าตื่นเต้น มีโอกาสเปิดกว้าง แต่ก็เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เพราะต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือคุณภาพของคน จะต้องแข่งขันกับคน 600 ล้านคน คนเรียนจบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาเขตหาดใหญ่ หรือปัตตานีก็ตาม ไม่ได้แข่งขันกับคนแค่ 60 ล้านคนในประเทศเท่านั้น ถ้าจะเป็นวิศวกร เป็นสถาปนิก เป็นทันตแพทย์ เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นบุคลากรด้านการท่องเที่ยว Hospitality Industry เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่แปลก สงขลาน่าจะมี เพราะมีท่าเรือ มีสนามบินนานาชาติ ต้องสำรวจสินค้าก่อนเรือและก่อนเครื่องบินออกว่า ถูกต้องตาม L/C ใบสั่ง ตามข้อตกลงที่บริษัทจากมาเลเซีย จากสิงคโปร์ จากยุโรป จากจีน จากญี่ปุ่น สั่งเข้ามาหรือไม่ เรียกอาชีพนี้ว่า Surveyor แปลว่า สำรวจสินค้าให้ถูกต้องตามสเป็คที่เขาสั่ง อีกอาชีพหนึ่งคืออาชีพการบัญชี ขณะนี้ตกลงกันแล้วว่า เป็น 8 อาชีพ ที่จะมีโอกาสเคลื่อนย้ายในภูมิภาคของอาเซียน ไปที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น 8 อาชีพนี้คือ 8 อาชีพที่มองได้ 2 แง่ 1. ทางเลือกเยอะในชีวิต 2. จะไม่จำกัดอยู่ตรงนี้แล้ว จะไปเปิดคลินิกที่สิงคโปร์ก็ได้ ไปเปิดบริษัท Consultant (ที่ปรึกษา) ทางด้านสถาปัตยกรรม และทางด้านวิศวกรรมที่มาเลเซียก็ได้ ไปทำงานใน Hospitality Industry เรียนมาทางด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการต้อนรับขับสู้คือ โรงแรม สปา การให้บริการทางด้านท่องเที่ยว เป็นไกด์ เป็นผู้นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ สามารถจะไปทำงานที่บรูไนได้ หรือที่ฟิลิปปินส์ได้ มองได้ว่าโอกาสมีมากขึ้น ชีวิตน่าตื่นเต้น มีทางเลือก ชีวิตของลูกหลานเราต่อไปนี้ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในขอบขัณฑสีมาของประเทศนี้อีกแล้ว อีกแง่หนึ่งคือ ถ้าเราต้องการจะย้ายไปบ้านเขา เขาก็ย้ายมาที่เราได้ เพราะฉะนั้นการแข่งขันจะสูงขึ้น คุณภาพต้องดีขึ้น สามารถที่จะแข่งขันกับคนอื่นแล้วรอด หรือเอาชนะได้ ตรงนี้แหละคือ ปัญหาของประเทศไทย ปัญหาของคนสงขลา ปัญหาของคนทุกจังหวัดในประเทศไทยคือ เรื่องความสามารถในการแข่งขัน เรื่องของ Competitiveness คุณภาพของบุคคลากรที่ผลิตออกมา คุณภาพของผลผลิตในด้านทรัพยากรมนุษย์ที่เราผลิตออกมา คนสิงคโปร์มาเที่ยวที่นครศรีธรรมราช เข้าไปร้านอาหารที่โรงแรม นั่งโต๊ะบอกว่า May I have a glass of water? พนักงานเสิร์ฟที่นครฯ บอกว่า อะไรก๊อ 3 ครั้ง เขาหายอยากเลยครับ ลุกหนี เข้าใจว่าสงขลา และหาดใหญ่ไม่มีปัญหานั้น ผมดีใจที่ได้ยินนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พูดถึงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เริ่มด้วยภาษา คุณจะเป็นหมอที่ดีเยี่ยม แต่ถ้าคุณยังถามอะไรก๊ออยู่ คุณจะเป็นสถาปนิก หรือวิศวกรที่ดีเยี่ยม แต่ถ้าคุณไม่สามารถบริการลูกค้าได้ เพราะสื่อกับเขาไม่ได้ จะเป็นทันตแพทย์ หรือพยาบาล หรือหมอ ถึงแม้จะไปเปิดคลินิกในต่างประเทศ ภายใต้กรอบของอาเซียนได้ แต่ถ้ายังสื่อกับเขาไม่ได้ พูดได้แค่ภาษาเดียว คุณก็ไม่สามารถจะไปได้ ระวังให้ดี 68% ที่เข้ามาลงทุนในอาเซียน เข้ามาสู่ภาคบริการ ใน 100 บาท มี 68 บาท จะเข้าสู่ระบบของการศึกษา ธุรกิจด้านสาธารณสุข การบริการด้านให้คำปรึกษา ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โรงแรม เป็นธุรกิจภาคบริการ เพราะฉะนั้น จะหวังให้โรงงานจากญี่ปุ่น ย้ายมาตั้งโรงงาน ใช้คำว่า Food Processing หรือการผลิตอาหาร การบรรจุหีบห่อ การแข่งขันด้านแรงงานราคาถูก โรงงานทอผ้า แม้แต่โรงงานผลิตรถยนต์ ภาคการผลิตในโรงงานที่เรียกว่า Manufacturing ลดลง ลดลง ลดลง เหตุเพราะค่าแรงงานที่จีนถูกกว่า ค่าแรงงานที่อินเดียถูกกว่า ค่าแรงงานประเทศเพิ่งเกิดใหม่ในเอเชียกลาง ถูกกว่าในอาเซียน 68% ของการลงทุนต่างประเทศ ปีหนึ่ง 50,000 ล้านดอลลาร์ เกือบ 70% ที่เข้ามาคือ ภาคบริการ ภาคบริการจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ภาคบริการคือการให้มูลค่าเพิ่มกับคนต่างชาติ หรือคนในประเทศ ที่ต้องการมีคุณภาพในชีวิตที่ดีขึ้น เพราะในเรื่องวัตถุ รายได้ เศรษฐกิจ เราขยับขึ้นมาแล้วจ ากการหาเช้ากินค่ำมาเป็นหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หาการบริการในชีวิตที่ดีขึ้น ตรงนี้แหละครับ เป็นสิ่งที่ทั้ง 10 ประเทศ ทั้ง 600 ล้านคน จะต้องให้ความสนใจการพัฒนาบุคคลากรของตัวเอง เพื่อเอาประโยชน์จากการที่เขาจะแสวงหาคุณภาพชีวิต การบริการที่ดีขึ้น ญี่ปุ่นต้องการพยาบาลจากประเทศอาเซียนทั้งหมด เพราะคนของเขาแก่ลง มีคนเข้าไปอยู่ในที่พักคนชรามากขึ้น เขาผลิตพยาบาลไม่ทัน คนรุ่นใหม่ของเขาผลิตไม่ทัน หรือผลิตแล้ว เลือกที่จะมีครอบครัวดูแลลูก แทนที่จะอยู่ในภาคการบริการพยาบาล เขาให้ทุนมาสอนภาษาญี่ปุ่นกับพยาบาลในอาเซียน เรียนไปหนึ่งปีสอบภาษาญี่ปุ่นได้สองคน เพราะกว่าจะจบพยาบาลอายุ 23, 24, 25 ปี มันอาจจะช้าเกินไป ที่จะเลือกเรียนภาษาที่สองให้กับตนเอง ที่สิงคโปร์ขณะนี้ ตลาดการบริการ ไม่ว่าร้านอาหาร สปา โรงแรม เต็มไปด้วยคนจีน และคนจีนเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษ แรงงานจีนเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าแรงงานไทย สมัยหนึ่งเป็นแรงงานจากฟิลิปปินส์ แต่ตอนนี้จีนเต็มไปหมด สมัยหนึ่งเคยเป็นคนอินโดนีเซีย แต่เดี๋ยวนี้จีนเข้ามาแย่งงานด้านการบริการระดับนั้นไป ตอนนี้ สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษาทั้งหลาย ต้องตัดสินใจคือ แรงงานระดับไหนในอาเซียน ที่ต้องการเจาะให้เป็นพื้นที่ของแรงงานไทย จะไปแข่งกับเขาในระดับนั้นไหม ไม่มีทางที่จะสู้เขาได้ จะแข่งกับเขาในระดับนี้ไหม ไม่แน่ว่าจะสู้เขาได้หรือเปล่า จะแข่งกับเขาในเรื่องการบริหารจัดการ หรือด้านการวิจัยค้นคว้า Research and development และพัฒนาสินค้า สู้เขาได้ไหม ไม่แน่ ตรงนี้แหละครับ 64 ล้านคน จะอยู่ตรงไหนของประชาคมอาเซียน เป็นคำถามระดับประเทศ เป็นคำถามสำหรับผู้บริหาร เป็นคำถามสำหรับรัฐบาลใหม่ เป็นคำถามของผู้บริหารระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องถิ่น และจังหวัดที่อยู่ชายแดน สงขลานี่ยิ่งกว่าชายแดนอีก เพราะเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ยื่นเข้าไปในหัวใจของอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะฉะนั้นที่คิดเรื่องนี้นี่ถูกแล้ว แต่อยากจะเรียกร้องว่า ต้องเร็วกว่านี้ ต้องมี Sense of Urgency ความรู้สึกว่ามันฉุกเฉินแล้วนะ วันเดียวก็เสียไปไม่ได้แล้ว ชั่วโมงเดียวก็ปล่อยไม่ได้แล้ว ต้องตื่นตัวทั้งองคาพยพ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาบอกว่า ในตลาดของการขุดเจาะนอกฝั่งสงขลา แรงงานต่างประเทศทั้งนั้น เพราะเราไม่มีบุคลากรด้านนั้น ในราคานั้น ในระดับความรู้ความสามารถ Skill ขนาดนั้น การต่อท่อในโครงสร้างทางทะเล การบริหารจัดการ การส่งทรัพยากร หรือปัจจัยทั้งหลายบนแท่นขุดเจาะ ไม่ว่าอาหาร น้ำ พืชผัก มันจะมีเรื่อง Logistics เข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะมีเรื่องขนส่งสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะมีเรื่องการบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าสงขลาไม่พร้อมที่จะสู้ ถ้าภาคใต้ของไทยไม่พร้อมเข้าไปแข่งขันในตลาดตรงนั้นที่กำลังเกิดขึ้น ก็ต้องระวัง เพราะมันจะเต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาแข่งขันกับเรา ตรงนี้แหละครับที่ท่านทั้งหลายกำลังทำอยู่ในวันนี้ ทำในสิ่งซึ่งเป็นหัวใจ และปัจจัยของประชาคมอาเซียน เราอยากให้คนทั้ง 600 ล้านคนแหละครับได้ประโยชน์ในระดับที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความพร้อม ความสามารถ และความตั้งใจที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดนี้ แต่ที่แน่ๆ รออยู่ตรงนี้ไม่ได้ ทั้งองคาพยพที่มีอยู่ในประเทศนี้ ต้องพัฒนา ต้องปรับปรุง ต้องขยัน อาเซียนคนรู้จักเยอะ โรงแรมอาเซียนมีอยู่ในหาดใหญ่ใช่ไหมครับ โฆษณาให้เขาหน่อย เพราะผมใช้บ่อย ที่ภูเก็ตมีร้านตัดผมอาเซียน ที่พัทยามีสถานอาบ อบ นวด อาเซียน แต่คนไทย 64 ล้านคน เข้าใจสปิริต เข้าใจสาระ เข้าใจจุดประสงค์ และเป้าหมายของคำว่า อาเซียนแค่ไหน นี่คือภารกิจที่ผมต้องทำ ในช่วงที่เหลืออีกปีครึ่ง ก่อนจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ผมหวังจะเห็นคำว่า อาเซียนจะมีความหมายมากกว่าโรงแรมที่หาดใหญ่ มากกว่าร้านตัดผมที่หาดป่าตอง และมากกว่าสถานอาบ อาบ อบ นวดที่พัทยา เพราะถ้าไม่รู้จัก ปี 2558 มันมาเร็วมาก ตอนนั้นผมไม่อยู่แล้ว อีก 44 ปีครึ่ง ประเทศไทยถึงจะมีโอกาสเป็นเลขาธิการอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง เพราะเราผลัดเปลี่ยนกันเป็นประเทศละ 5 ปี 10 ประเทศ 50 ปี เพราะฉะนั้น ถ้าจะเตรียมลูกเตรียมหลานไปเป็นเลขาธิการอาเซียนคนต่อไป ยังมีเวลาให้เตรียมตัวอีก 45 ปี หวังว่าผมหมดวาระแล้ว อย่างน้อยๆ คนไทยจะรู้จักอาเซียนมากขึ้น บางทีนักเรียนมากล่าวหาผมว่า สะกดคำว่า ASEAN ผิด บอกว่าตัว I ครับท่านเลขาธิการไม่ใช่ตัว E อันนี้มัน ASEAN Association Of Southeast Asian Nation เกิดที่ประเทศไทย ตั้งที่ประเทศไทย ประเทศไทยเป็นผู้ขับดัน ผลักดันในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอาเซียนมาโดยตลอด หรือเรื่อง AEC หรือ AFTA หรือ ASEAN Free Trade Area เป็นความคิดของนายอานันท์ ปันยารชุน ตอนเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรก เพราะจีนกับอินเดียกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เราใช้คำว่าจีนกับอินเดีย ดึงเอาออกซิเจนทางเศรษฐกิจ ทางการลงทุนจากต่างประเทศ ไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็วมาก เราไม่มีอากาศจะหายใจ เราไม่มีออกซิเจนบริสุทธิ์ที่จะหายใจ มีแต่คาร์บอนไดออกไซด์ นายอานันท์ถึงบอกว่า ถ้าไม่คิดถึง AFTA เขตการค้าเสรีอาเซียน อย่าหวังเลยว่า จะยืนหยัดอยู่ได้ในรูปของประชาคม เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงเขตการค้าเสรี นี่เป็นความคิดของคนไทย ถามว่าตั้งแต่ปี 1992 ที่คุณอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรก จนกระทั่งบัดนี้เราพร้อมกว่าเดิมไหม ผมไม่แน่ใจ ทัศนคติของภาคเอกชนดีครับ ภาคเอกชนไทยนี่ กล้า มั่นใจ พร้อมที่จะเผชิญ พร้อมที่จะแข่งขัน จะเห็นว่า ผู้นำภาคเศรษฐกิจไทยไม่มีใครบอกว่า ต้องปิดประเทศ ไม่มีใครบอกว่าต้องชะลอ ไม่มีใครบอกว่าต้องถอย ทุกคนบอกว่าต้องสู้ ต้องพัฒนา ต้องปรับปรุง ต้องเปลี่ยนระบบการผลิต ต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ต้องมีการบริหารจัดการใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ต้องแข่งขันกับเขา ต้องพัฒนาบุคคลากร หลายประเทศหวั่นไหว หลายประเทศมีเสียงโอดครวญ หลายประเทศมีทัศนคติที่ค่อนข้างจะรีรอ แต่เชื่อผมเถอะ อาเซียนไม่เปิด WTO ก็เปิด ถึง ASEAN, WTO ไม่เปิด Globalization มันก็จะเปิด เพราะในโลกของยุคโลกาภิวัตน์ การแข่งขันมันเกิดขึ้นในทุกมุม ทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล โรงงานจะย้ายเข้ามาสู่หมู่บ้านมากขึ้น สมัยที่ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ๆ ปี 2529 หาเสียงในเขตพื้นที่ชนบทนครศรีธรรมราช ไม่มีคนต่างชาติ ไม่มีคนตาสีทอง ไม่มีคนตาสีฟ้าแม้แต่คนเดียว 3–4 ปีให้หลัง เดินหาเสียงในพื้นที่ทุกชุมชนทุกหมู่บ้าน ลูกเขยเป็นฝรั่ง ลูกสะใภ้เป็นฝรั่ง หลานสะใภ้เป็นคนญี่ปุ่น หลานเขยเป็นคนเกาหลี เหลนเขยเป็นคนออสเตรเลีย เพราะแรงงานของเราเคลื่อนย้าย โลกาภิวัตน์มันไหลไปทุกที่ ลูกหลานของเราออกไปหางานทุกที่ งานมันเข้ามาหา และการแข่งขันมันเข้ามาหาทุกพื้นที่ มันไม่ใช่สังคมเกษตรกรรมเหมือน 30–40 ปีที่แล้ว ขับรถมาจากพัทลุงก่อนเข้าสงขลา เฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศ เฟอร์นิเจอร์จากจีนทั้งนั้น โรงงานมาจากต่างประเทศทั้งนั้น แทนที่จะเอาน้ำยางหรือก้อนยางออกไปผลิตในโรงงานเขา เขามาผลิตในบ้านเรา ราคายังถูกอยู่ ค่าขนส่งไม่ใช่ขนส่งเป็นก้อนใหญ่ๆ เรือใหญ่ๆ เป็นวัตถุดิบ แต่แปรสภาพเปลี่ยนสภาพเป็นสินค้าที่ใช้ได้ ออกจากสงขลา จากหาดใหญ่ไปสู่ตลาดผู้บริโภค เข้าตลาดเข้าร้านเค้าเรียกว่า Modern Trade หรือศูนย์การค้าใหญ่ๆ ได้ทันที ขึ้นหิ้ง ขึ้น Shelf ได้เลย ประเทศในอาเซียน มีชนชั้นกลางมากขึ้น ประเทศในอาเซียนคนมีกำลังซื้อมากขึ้น ประเทศในอาเซียนการแข่งขันแรงงานจะสูงขึ้น ประเทศในอาเซียนจะถูกแย่งงานในระดับแรงงานขั้นต่ำมากขึ้น ประเทศในอาเซียนมีการประกอบสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ทั้งหมดต้องการแรงงานที่พัฒนามากกว่านี้ ทั้งหมดต้องการผู้บริหารการจัดการด้านแรงงานสูงกว่านี้ ต้องการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความรู้ ประสบการณ์ด้านการบริหารมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมี Sense of urgency รู้สึกว่านี่คือ ภาวะฉุกเฉินแล้ว วิ่งเกียร์หนึ่ง เกียร์สองอยู่เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องเกียร์สี่ เกียร์ห้า สถาบันการศึกษาต้องเข้าใจ สิ่งท้าทายอันนี้ ผลิตหมอไม่ใช่เพื่อ 76 จังหวัด หรือ 77 จังหวัดในประเทศไทย เพราะจะมีหมอฟิลิปปินส์มาแย่งงาน ด้านการบริการสุขภาพ จะมีพยาบาลจากอินโดนีเซีย จะมีแพทย์จากสิงคโปร์ ถ้าเราหวังให้เขาเปิด เขาไม่ได้เปิดอยู่ข้างเดียว yes mobile ชีวิตในอนาคตมีทางเลือกเยอะ แต่ลูกหลานเราก็ต้องเก่งและดีจริงๆ ตรงนี้แหละครับจะทำอย่างไร ตอนอยู่ในรัฐบาล ผมเคยเสนอว่า สาม สี่ ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายดีอยู่แล้ว ขอให้เปลี่ยนทัศนคติของกรุงเทพมหานครนิดเดียว อย่าถือว่าความแตกต่างหลากหลายและเอกลักษณ์เหล่านี้ ทำลายความเป็นเอกภาพของชาติ คนจะนะ สะบ้าย้อย เทพา นาทวี พูดภาษามาเลย์ท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เปลี่ยนทัศนคติได้ไหมว่า นี่คือทรัพยากรที่มีอยู่ สอนภาษามลายูกลางให้เขา สองภาษาของที่นี่ก็เป็นภาษามลายูกลางกับอังกฤษ เขาจะเป็นหัวหอกในการนำไทยออกสู่ตลาดอาเซียน นำนักท่องเที่ยวเข้ามา ไปดึงเอาการลงทุนเข้ามา ดัน SMEs เข้าสู่ตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เพราะเขารู้ภาษามลายู ผมเคยพูดอยู่ตลอดว่า ภาษาถิ่นตรงนี้เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญ รักษาไว้ พัฒนามัน สอนให้เขาพูดมาเลย์กลางที่พูดกัน 300 กว่าล้านคนในอาเซียน ครึ่งหนึ่งในอาเซียนพูดภาษามาเลย์ แต่เพราะทัศนะของกรุงเทพมหานครมองว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่การแตกแยก มันถึงพัฒนาต่อไปไม่ได้ มันถึงกลายเป็นความแตกแยก เพราะฉะนั้น ต้องเปลี่ยนทัศนคติ ผมยืนยันว่าภาษาอังกฤษดีขึ้น 25% วันรุ่งขึ้นประเทศไทย จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้น 100% เพราะเราที่ผ่านมาเราสื่อกับเขาไม่ได้ เราไปหลงภูมิใจในประวัติศาสตร์ว่า อย่ามาโทษเรานะภาษาต่างประเทศเราไม่ดี เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร พูดอยู่อย่างนี้ 30, 40, 50 ปี จนกระทั่งประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งลาว เขมร เวียดนาม พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าเรา สอบ TOFEL ได้มากกว่านักเรียนไทย ดีกว่านักศึกษาไทย ทั้งที่ประเทศเหล่านี้ ใช้ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศอาณานิคม เป็นประเทศแม่ แล้วเราจะอธิบายยังไง ผู้นำไทยทุกระดับที่ออกไปสู่ประชาคมอาเซียน ออกไปแล้วพูดกับเขาไม่ได้ ออกไปแล้วไม่สามารถที่จะแสดงความคิด มีส่วนร่วม โต้ตอบ ดีเบตเสนอความคิดกับเขาได้ มีแต่ Yes Coca cola มีแต่ No Pepsi มันต้องเปลี่ยนตรงนี้ คนที่ควรจะเปลี่ยนคือ คนที่อยู่ชายแดน คนที่ควรจะเปลี่ยนคือ คนที่อยู่ท่ามกลางพายุของการแข่งขัน คนที่ควรจะเปลี่ยนคือ พวกท่านที่อยู่ตรงนี้ คนภาคใต้คือคนที่ถูกโลกาภิวัตน์โดยภาคบังคับ เพราะภูมิศาสตร์ภาคใต้ หยิบยื่นลงไปในภูมิภาคส่วนใหญ่ของอาเซียน ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย กำลังกลายเป็นมหาสมุทรที่มีการแข่งขันสูงยิ่งในขณะนี้ มีทั้งจีน อเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่นเข้ามา เพราะช่องแคบมะละกาคือ เส้นชีวิตของจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หมื่นกว่าลำเรือสินค้า ด้านพลังงาน แก๊ส Oil Fuel แปลว่าน้ำมันดิบ มีอยู่ไม่รู้กี่หมื่นลำ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับช่องแคบมะละกา ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่มีอากาศจะหายใจ เพราะไม่มีพลังงานไปผลิตสินค้า จะผลักดันโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น พลังงานจะต้องผ่านที่ไหนก่อน ถ้าจะผ่านประเทศไทยก็ตรงนี้ ภูเก็ต ตรัง เกาะปีนัง วิชาการเทคโนโลยีทั้งหลาย มันมาทางยุโรปมาที่เรา ถ้ามันมาจากจีน ญี่ปุ่น มันจะขึ้นฝั่งอ่าวไทย ตรงนี้ล่ะครับคือ โลกาภิวัตน์ภาคบังคับของประเทศไทย ลัทธิ ความคิด ความเชื่อ ไปดูสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองหลวงของเรา กรุงเทพมหานคร วัดจีนอยู่ฝั่งนี้ โบสถ์แขกอยู่ฝั่งนั้น โบสถ์คริสต์อยู่ฝั่งนี้ โบสถ์ฮินดูอยู่ฝั่งนั้นคือ สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ มาทางเรือทั้งนั้นแหละ แล้วมาทางไหนก่อน ไม่ได้มาทางตอนเหนือของประเทศไทย แต่มาทางภาคใต้นี้แหละครับ เพราะฉะนั้นทัศนคติของคนตรงนี้ จึงพร้อมที่สู้ พร้อมที่เปิด พร้อมที่จะเผชิญ จึงไม่แปลกที่คนภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล จะคิดอย่างนี้ จึงไม่แปลกที่นครศรีธรรมราชคิดอย่างนี้ แต่ต้องต่อยอด เราอยู่กับอดีตไม่ได้ ต้องมองไปข้างหน้าและพร้อมจะเผชิญ อย่างที่ผมเรียนให้ถือว่าอาเซียนคือ บ้านพักกลางทาง โลกาภิวัตน์มันมาแน่ และเราคุ้นเคยกับมันด้วย สำหรับกระแสนี้ การเปิดตลาด การแข่งขันตามมาแน่ และเราคุ้นเคยกับมัน เราเคยอยู่รอดมาแล้ว ให้ถือซะว่าอาเซียนคือบ้านพักกลางทาง ถ้าไม่มีอาเซียนมันจะแข่งขันกันรุนแรงกว่านี้ อาเซียน ให้เราเปิด ให้เราเผยอ ให้เราแย้ม และให้เราพัก หยุดพักเหนื่อยได้ ไม่เช่นนั้นจะเปิดกว้างทันที สู้เค้าไม่ได้ รับไม่ไหว ทนไม่ไหว เขาเอาหมด เขาแย่งหมด เขากินหมด เขากินเรียบ และอาเซียนค่อยๆเปิด ค่อยๆ เตือน ค่อยๆ สร้างความพร้อม และค่อยๆ ให้เราได้ปรับตัว ไม่มีอาเซียนก็มี WTO ไม่มีอาเซียน ไม่มี WTO ก็มีโลกาภิวัตน์ เราปิดประเทศไม่ได้ ยกกำแพงขึ้นมาล้อมรอบไม่ได้ มีหนังสือเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ฉบับหนึ่งเขาบอกว่า โลกแบนแล้วครับ ซึ่งเป็นชื่อหนังสือที่น่าสนใจมาก The World is flat ซึ่งมันขัดกับที่เราเรียนมา กาลิเลโอบอกว่าโลกกลม วิทยาศาสตร์บอกว่าโลกกลม แต่ไอ้นี่บอกว่า The World is flat เพราะมันไม่มีกำแพงระหว่างกันแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันเคลื่อนย้ายได้ 6 ประเทศอาเซียนบอกว่า ต่อไปนี้ ภาษีสินค้า 0% ทุกชนิด ขณะเดียวกันทั้ง 6 ประเทศก็พยายามกีดกันในส่วนซึ่งไม่ใช่ภาษี เช่น คุณภาพ สีสัน ขนาด ยาของคุณมีส่วนผสมอันนั้นเกินไปจากมาตรฐานของเรา ลิปสติกของ You มีสารชนิดนั้นมากกว่าที่เราอนุญาต เพราะฉะนั้นไม่ให้นำเข้า สิ่งเหล่านี้กำลังได้รับการเจรจา สิ่งเหล่านี้กำลังได้รับการแก้ไข สิ่งเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน สำหรับคน 600 ล้านคน เมื่อตลาดเป็น 600 ล้านคน แน่นอน งานมันจะเพิ่มขึ้น แต่มันต้องแข่งขัน เมื่อตลาดเป็น 600 ล้านคนจริง แน่นอนการลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามา เพราะเขาต้องการลูกค้า 600 ล้านคนตรงนี้ ตรงนี้คือโจทย์ คือปัญหาที่เราต้องเตรียมรับ ผมก็ได้แต่เตือน ได้แต่เรียกร้อง ได้แต่พยายามที่จะกระตุ้น คุณพ่อ คุณแม่อยู่บ้านต้องเอาใจใส่ ในเรื่องที่ลูกเรียน ต้องเอาใจใส่ในเรื่องที่ลูกกำลังเตรียมตัวเพื่ออนาคต ต้องเอาใจใส่สาขาวิชาที่ลูกเรียน และต้องเรียกร้องจากสถาบันการศึกษา ไม่ว่าเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน หลักสูตรของ You ต้องดีเลิศ การฝึกอบรม Training ของ You ต้องตลอดชีพ สนใจวิชาอะไร เข้ามาเรียนภาคฤดูร้อน เรียนภาคค่ำ เพราะต้องแข่งขันกับคนข้างนอก สำคัญที่สุดคือ พอกันทีกับความภูมิใจในอดีต ในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ เช่น เรามีภาษาของเราเอง เราไม่ต้องเรียนภาษาอื่น เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร โลกสมัยนี้ เขาไม่ถามว่าคุณเป็นเมืองขึ้นของใครหรือเปล่า โลกสมัยนี้เขาถามว่า คุณรับการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน แรงงานของคุณมีคุณภาพแค่ไหน เทคโนโลยีของคุณพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน การบริหารจัดการมีสมรรถนะ สมรรถภาพแค่ไหนที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับแรงงานได้ดีและราบรื่นไม่มีปัญหา อีกอันหนึ่งที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาพูดคือ Sustain Ability พัฒนาให้ยั่งยืน พัฒนาแล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาแล้วไม่ทำลายแหล่งน้ำ พัฒนาแล้วไม่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นเครื่องจรรโลงชีวิตที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้น Sustain Ability กับเรื่องของการยั่งยืนและการพัฒนา คือสิ่งที่โลกมองเหมือนกัน แม้แต่สวนปาล์มและน้ำมันปาล์ม ผลิตผลน้ำมันปาล์มก็เป็นประเด็นที่มีความขัดแย้ง เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนออกมาบอกว่า การปลูกปาล์มน้ำมัน เป็นการเปลี่ยนป่าเมืองร้อนเป็นป่าชนิดเดียว กว้างขวางหลายร้อยหลายพันตารางกิโลเมตร คุณทำลาย Diversity ของป่าเมืองร้อน เราบอกว่า นี่คืออาชีพของเรา เขาบอกว่าถ้าคุณปลูกพืชชนิดเดียว มันทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ตอนนี้ มีการต่อต้านการปลูกน้ำมันปาล์ม และผลิตผลจากน้ำมันปาล์มโดยที่เราไม่รู้ตัว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
Posted: 15 Aug 2011 09:43 AM PDT กระแสเห่อการนั่งสมาธิภาวนาสวดมนต์เพ่งจิตเข้าฌาน เป็นที่นิยมแพร่หลายและลงหลักปักฐานในสังคมไทยในหมู่ชนชั้นกลางได้ ก็เพราะมัน ‘ไม่ต้องคิด’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้ากันได้อย่างดีวิเศษกับวัฒนธรรมไทย ที่เน้นการเชื่อฟังและสยบยอมต่อสถาบันทางอำนาจมากกว่าการคิดวิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล การมีสปิริตในการแสวงหาความรู้ความจริง และการขบถต่อจารีตที่กดขี่ นิตยสาร IMAGE | ||
คนเชียงดาวโวยเมื่อรัฐผุดโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน (ตอน 4) Posted: 15 Aug 2011 09:32 AM PDT
ภายในบริเวณวัดโป่งอาง ชาวบ้านและคนทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่น นั่งล้อมวงกันเพื่อถกถึงโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน กันอย่างเคร่งเครียด หลายคนหยิบข้อมูลเอกสารของกรมชลประทาน ออกมาอ่านวิเคราะห์กันดู
เพียงข้อมูลคร่าวๆ เพียงเท่านี้ ก็ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านโป่งอาง ต่างพากันวิตกกังวลกันอย่างหนัก นายโอฬาร อ่องฬะ ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาท้องถิ่น และเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในวงคุยชาวบ้านในวันนั้นว่า จากการศึกษาเอกสารชุดนี้ จะพบว่า เป็นโครงการศึกษาของกรมชลประทานร่วมกับการบริหารโครงการ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 พิกัดที่ 19 องศาลิปดา เป็นโครงการประเภทของอ่างเก็บน้ำ มีความจุน้ำในระดับของอ่างเก็บน้ำในระดับกักน้ำ 50 ล้านลูกบาทเมตร โดยพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีระดับน้ำสูงสุดที่ นั่นหมายถึงว่า หลังจากที่มีการสร้างอ่างเสร็จเรียบร้อย น้ำก็จะมีการท่วมพื้นที่ป่าไปประมาณ 1,500 ไร่ ในสถานการณ์ที่น้ำนิ่ง และยังไม่รวมช่วงที่มีน้ำหลาก โดยตัวเขื่อนสูง ส่วนความยาวของหน้าสันเขื่อนโป่งอาง จะยาว “เมื่อได้มีการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกรมชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ เขาบอกว่า ความสูงของเขื่อนจะสูงกว่าเขื่อนแม่กวง เท่ากับตึก 20 ชั้น หรือสูงกว่าตึกสุจิณโณ ของโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่เลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าเราคิดจินตนาการให้เห็นภาพ นั่นหมายความว่า เราจะมีเขื่อนแม่กวงแห่งที่สองมาตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโป่งอาง และมีโรงผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อปั่นไฟและนำน้ำไปใช้ที่นิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดลำพูนอย่างแน่นอน” นายโอฬาร อ่องฬะ กล่าว และทุกคนเริ่มมองเห็นแล้วว่า ในการประชุมช่วงที่ผ่านมาทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 จนถึงล่าสุดในวันที่ 24 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ทางทีมศึกษา นักวิชาการและบริษัทรับจ้างของกรมชลประทาน ไม่ได้สนใจศึกษาในเรื่องของการซ่อมแซมเหมืองฝาย ซ่อมแซมแหล่งน้ำเดิม ในสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง แต่จะมุ่งสนใจเรื่องของการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำโป่งอาง เท่านั้น จนกระทั่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา จึงมีแผนการศึกษาออกมาเสร็จเรียบร้อยแล้วว่า จะมีการสร้างเขื่อนโป่งอางในพื้นที่จุดไหนอย่างไร เมื่อชาวบ้านร่วมกับนักพัฒนาท้องถิ่น ได้ร่วมกันวิเคราะห์จากเอกสาร จากเอกสารแบบสอบถาม จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน จึงพบว่ามีการกำหนดแนวทางการศึกษาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนไว้อยู่ 3 แนวทาง คือ ตัวเขื่อนจุดแรกมีระยะทางประเมินที่เหมาะสม ในด้านวิศวกรรมและมีความปลอดภัยกับชุมชน โดยตัวเขื่อน (ความหมายของอ่างเก็บน้ำ ก็คือ เขื่อน) สร้างปิดกั้นแม่น้ำปิง บริเวณห้วยก้อ หรือท่าคะนิน ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือจากบ้านโป่งอางเพียง 1 กิโลเมตร ในเอกสาร มีการระบุบอกว่า ถ้าโครงการนี้สำเร็จ จะสามารถส่งน้ำไปให้พื้นที่เกษตร ท้ายน้ำ จำนวน18,500 ไร่ “เมื่อมีการคำนวณพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อำเภอเชียงดาวแล้ว ตั้งแต่บริเวณ โป่งอาง ห้วยไส้ ทุ่งข้าวพวง แม่จา เมืองงาย เชียงดาว แม่นะ นั้นมีพื้นที่ไม่ถึง 18,500 ไร่และที่สำคัญ ในแต่ละพื้นที่ในเขตอำเภอเชียงดาว ไม่ว่าทุ่งข้าวพวง เมืองงาย หรือ เชียงดาว ก็มีอ่างเก็บน้ำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จำนวนพื้นที่ ชาวบ้านจึงรู้ว่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลที่ตรงทั้งหมด แต่เป็นข้อมูลที่เขียนเพื่อจะเลี่ยงบาลีในเอกสารทั้งหมด ซึ่งแท้จริงแล้ว ทีมศึกษาฯ ของกรมชลประทาน นั้นมีการสรุปไว้ชัดเจนไว้ในตอนท้ายอยู่แล้วว่า จะเลือกพื้นที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตบ้านโป่งอาง เพราะมองว่า น่าจะมีการดำเนินการได้สะดวกและมีผลกระทบน้อย เนื่องจากมีถนนเข้าถึงและมีปริมาณน้ำที่มาก ในขณะทางเลือกที่ 2-3 นั้น ต้องทำถนนลึกเข้าไป จากข้อมูลดังกล่าว ได้ทำให้ชาวบ้านโป่งอางและหลายพื้นที่ในอำเภอเชียงดาวนั้นตื่นตัวและมองไปถึงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต หากมีการสร้างเขื่อน และทำให้รู้มากขึ้นว่า ใครได้ ใครเสียจากโครงการนี้ ทั้งในเบื้องต้นและเบื้องปลาย “เพียงแค่โครงการนี้เข้ามาทำการศึกษาเรื่องของการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนโป่งอางครั้งนี้ มีนักวิชาการรับจ้าง และบริษัทปัญญาฯ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ก็ได้ใช้งบประมาณในการศึกษาไปมากถึง 35 ล้านบาท และใช้เวลาศึกษาเพียง600 วัน อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าเอกสารผ่าน มันก็มีความเหมาะสมและความชอบธรรมในการสร้างเป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้คำถามที่ตามมา อาจไม่ได้มีการสร้างในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่กระแสที่บอกว่ายังไม่มีการสร้าง ก็สามารถที่จะเปลี่ยนมาสร้างในวันไหนก็ได้ ก็มีความเป็นไปได้ในการที่จะต้องสร้าง และถ้าหากมีการอนุมัติโครงการและดำเนินการสร้าง จะต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 1,500 ล้านบาท” นายโอฬาร บอกเล่าให้ชาวบ้านฟัง ในขณะที่ชาวบ้านโป่งอาง รู้แล้วว่า เป็นฝ่ายเสียเปรียบและถูกกระทำที่ต้องเจออย่างจัง ก็คือ การอพยพออกจากพื้นที่ หากมีการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่อยู่บริเวณก่อสร้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มีการเขียนไว้ในเอกสารการศึกษา ในเรื่องของค่าเสียหายและค่าชดเชย นายโอฬาร อ่องฬะ ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาท้องถิ่น ต่อกรณีนี้ นายโอฬาร บอกเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า กรณี การชดเชยค่าเสียหาย นั้นจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1) พื้นที่ทำกินจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย (มีโฉนด) และ 2) พื้นที่ตั้งในโครงการ ไปจนถึงน้ำท่วม นั้นไม่มีเอกสารสิทธิและพื้นที่เองก็อยู่ในเขตป่า “เพราะฉะนั้นเรื่องของการเวนคืนที่ดิน ก็เป็นเรื่องทีเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีเอกสารสิทธิก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง” นั่นทำให้ทุกคนมองเห็นภาพ เหมือนที่ตัวแทนทีมศึกษาฯ ของกรมชลประทานได้บอกกับชาวบ้าน ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเมืองนะ เมื่อวันก่อนว่าจะมีรถสิบล้อ รถยนต์ 30 - 40 คัน ต่อเที่ยวต่อวัน ใช้เวลาในการวิ่งเข้าออก เพื่อการสร้างเขื่อน ทำให้ชาวบ้านมองเห็นภาพ แรงงานต่างด้าว แรงงานจากต่างถิ่น เป็นแรงงานจาก ภายนอกจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านโป่งอางอย่างมหาศาล สิ่งที่ติดตามมาก็จะเป็นเรื่องปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอบายมุข เหล้า ผู้หญิง การทะเลาะวิวาท และปัญหาอื่นๆ ที่จะเข้ามาในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะติดตามมาในหมู่บ้านโป่งอาง และเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการศึกษาว่า คนโป่งอาง จะรับได้หรือไม่ ในห้วงระยะเวลา 4-5 ปี “หลังจากมีการสร้างเสร็จแล้ว ชุมชนเองจะเป็นอย่างไร ก็ยังไม่รู้ แต่ถ้าชุมชนโป่งอางมีการสร้างเขื่อนเสร็จและมีการรวมตัวกันอย่างนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่เคยเห็นที่ไหนว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนเสร็จเรียบร้อย จะมีชุมชนที่อยู่อย่างเข้มแข็งอย่างนี้อยู่ได้ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งชุมชนท่าปลา หลังจากมีการสร้างเขื่อนเป็นที่เรียบร้อย ชุมชนท่าปลาอยู่ไม่ได้ จึงต้องมีการขนย้ายออกและเวนคืนพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้า รวมไปถึง กรณีสร้างเขื่อนภูมิพล ก็ได้มีบทเรียนในพื้นที่ชุมชนฮอดทั้งอำเภอ ทั้งวัด และหมู่บ้านนั้นต้องจมอยู่ใต้เขื่อนภูมิพลทั้งหมด และมีการย้ายหรืออพยพมาอยู่ที่เชียงดาว อยู่ดอยเต่าและกระจัดกระจายไปอีกหลายพื้นที่ เพราะฉะนั้น เมื่อหันมามองชุมชนบ้านโป่งอาง ซึ่งมีความห่างจากเขื่อนเพียงแค่ 1กิโลเมตร จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้” นายโอฬาร กล่าวทิ้งท้าย ด้าน นายจตุกร กาบบัว ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง กล่าวว่า สรุปแล้วผลดีที่จะเขามาในหมู่บ้านเรานั้นไม่มีเลย จะมีเพียงแต่ผลเสีย อย่างไรก็แล้วแต่พี่น้องก็มีความเห็นที่ตรงกันในเรื่องของการคัดค้านไม่เอาเขื่อน หรือโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำปิงตอนบน “ก็ขอฝากกับทางพ่อแม่พี่น้องบ้านของเราด้วยว่า บางที บางครั้งที่เราจะต้องใช้เอกสาร เราก็ต้องช่วยกัน ส่วนด้านผู้นำที่อาสาเข้ามาช่วยก็ให้มีความร่วมมือกันอย่างจริงๆจังๆ ส่วนตัวของผมเองก็จะเข้ามาช่วยอย่างเต็มร้อย ในการร่วมกันต่อต้าน เพราะสุดท้ายเองเราก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
เวิลด์แบงก์ยกระดับรายได้คนไทยสู่ชนชั้นกลางระดับบน Posted: 15 Aug 2011 09:26 AM PDT ธนาคารโลกพิจารณายกระดับรายได้ประชาชาติของไทยจากชนชั้นกลางระดับล่างสู่ชนชั้นกลางระดับบน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์แนะต้องพัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานเพื่อแก้ปัญหาช่องว่างรายได้ที่ไม่เท่าเทียมซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของไทย เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารโลก พิจารณาปรับระดับรายได้คนไทยโดยประมินจากรายได้ประชาชาติ (GNI) โดยรายได้ที่จัดอยู่ในเกณฑ์ชนชั้นกลางระดับบนคือผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 3,976 -12,275. เหรียญสหรัฐ ต่อปี ซึ่งตามข้อมูลขณะนี้ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ย 4,210 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ดร. กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่าการปรับอันดับให้กับประเทศไทยนั้นเป็นการยอมรับในความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งรายได้ประชาชาติของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ขณะที่ความยากจนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยชี้ว่าประเทศไทยมีการจัดการกับเศรษฐกิจมหภาคอย่างระมัดระวังโดยมีระบบการคลังที่เข้มแข็งและมีหนี้สาธารณะและอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ ดร. กิริฎากล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจแก่นักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งมีความหลากหลายในการผลิต มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ารวมทั้งขยายตัวสู่ตลาดส่งออกใหม่ๆ ความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของระบบเศรษฐกิจที่มีต่อวิกฤตการเงินระดับโลกครั้งล่าสุด ซึ่งทำให้ไทยมีโอกาสที่ในการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งทั้งในภูมิภาคอาเซียนและในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ดร.กิริฎากล่าวว่า สิ่งที่พึงระวังคือไทยต้องไม่ติดกับดัก โดยต้องไม่ยึดติดอยู่กับภาคอุตสาหกรรม แต่ต้องมองช่องทางอื่นได้แก่ภาคเกษตรและภาคบริการด้วย ทั้งนี้การศึกษาและทักษะที่สูงขึ้นของแรงงานรวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการแข่งขันก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เพียงทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นแต่จะช่วยลดช่องว่างรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
อัยการส่งฟ้องคดีเสื้อแดง "ดีเจหนึ่ง" ข้อหาปลุกปั่นฯ คดีเก่าปี 52 Posted: 15 Aug 2011 08:43 AM PDT อัยการจังหวัดเชียงใหม่ส่งฟ้อง "ดีเจหนึ่ง" ข้อหาปลุกปั่นให้ปั่นป่วนกระด้างกระเดื่อง คดีเก่าปี 2552 เจ้าตัวหวังรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีนโยบายด้านความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาคดีการเมือง วันนี้ (15 สิงหาคม 2554) พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ส่งฟ้องคดีตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1970/2554 โดยคำฟ้องระบุว่าจำเลยคือนายจักรพันธ์ บริรักษ์ หรือ ดีเจหนึ่ง อดีตนักจัดรายการวิทยุประจำคลื่นรักเชียงใหม่ 51 FM 92.5 MHz ได้กระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา "ชักชวน ปลุกปั่น ยุยง ให้ประชาชนที่รับฟังรายการไปร่วมกันปิดกั้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 จนเกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร โดยที่ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมไม่อาจสัญจรไปมาได้ตามปกติ และอาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะของประชาชนที่ใช้ทางหลวงดังกล่าว ทั้งนี้ โดยมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต" ซึ่งความผิดตาม ม.116 นี้มีระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี นายจักรพันธ์ถูกจับกุม 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 ต้องนอนคุก 1 คืน ได้ประกันตัวและรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ 3 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยคดี และมีการจับกุมอีกครั้งในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ที่ร้านกาแฟชื่อ "เรดคอฟฟี่คอร์เนอร์" ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัว รายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนและอัยการตามกำหนดตลอดมา ไม่เคยหลบหนี มีการเลื่อนฟ้องหลายครั้งจนผู้ถูกจับจำจำนวนครั้งไม่ได้ แต่กรณีเหตุคนเสื้อแดงชุมนุมทางการเมืองปิดแยกดอยตินี้ ไม่มีการจับกุมแกนนำรายอื่นแต่อย่างใด จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในเวลา 18.00 น. โดยมีตัวแทนนักการเมืองท้องถิ่นมาวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ผ่านการประสานของทนายความกลุ่มยุติธรรมล้านนา อนึ่ง ดีเจหนึ่งมีชื่ออยู่ในผังล้มเจ้าฉบับ ศอฉ. และปัจจุบันยังคงจัดรายการวิทยุอยู่ที่สถานีวิทยุชุมชนสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ FM 99.15 MHz “มารายงานตัวกับอัยการตั้งแต่เก้าโมงเช้า ถ้าไม่ได้ออกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร กรณีอื่นที่คล้ายๆ กันหลายคดีไม่มีการสั่งฟ้อง เหตุเกิดต้นปี 52 แต่มาจับกลางปี 53 หลังการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพเป็นเดือน เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะตนยังคงจัดรายการวิทยุอยู่ จึงมีความพยายามยุติการเคลื่อนไหวของตน แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีนโยบายด้านความยุติธรรมให้แก่ตน รวมทั้งผู้ต้องคดีการเมืองคนอื่นๆ ด้วย” ดีเจหนึ่งกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ผลงานวิจัยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น (ที่นักการเมืองไม่อยากรู้) Posted: 15 Aug 2011 08:37 AM PDT บทเรียนเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศไทย
ป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่ ออกดอกบานสะพรั่ง ตบหน้าเสธหนั่น ที่บอกว่าไม่มีป่าสักทองแล้ว
ผลการศึกษากรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ผ่านมา 2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุด กรมชลประทานศึกษาแล้วพบว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ถึง 9.6 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละเก้าจุดหก หรือน้ำท่วมสูง หนึ่งเมตร หากมีเขื่อนแก่งเสือเต้น จะเยียวยาปัญหาได้เก้าจุดหกเซนติเมตร) 3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน 4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก 5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ 6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
"การจัดการน้ำต้องฟังเสียงประชาชน ป่าเป็นเรื่องสำคัญ ผมเป็นอธิบดีกรมป่าไม้มาก่อน"
แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน โดยเน้นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติ 2.การผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาแผนการจัดการน้ำของแต่ละชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการวางแผนและสนับสนุนงบประมาณในการผลักดันแผนการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นรูปธรรม 3.แผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา กรณีของลุ่มน้ำยม มีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา ซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดกลางประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้งบประมาณอ่างละไม่เกิน 200-300 ล้านบาท รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
4.แผนการกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในกรณีของลุ่มน้ำยม มีอยู่ 96 ตำบล ใช้งบประมาณไม่เกินแหล่งละ 5-10 ล้านบาท ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่มากนัก แต่จะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนโดยตรงในแต่ละพื้นที่ 5.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน เป็นต้น 6.การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึงการยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ซึ่งมากกว่าความจุของเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก 7.การจัดการทางด้านความต้องการ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน 8.การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 %ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค–บริโภค ในเมืองใหญ่ได้อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น 9.การสนับสนุนให้เกิดการฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง มากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ป่าแม่ยม อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
บทสรุปของผลงานวิจัยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น (ที่นักการเมืองไม่อยากรู้)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
การประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย : ก้าวย่างที่ต้องระวัง Posted: 15 Aug 2011 06:46 AM PDT ถึงวันนี้ อาชีพที่น่าเห็นใจมากที่สุดอาชีพหนึ่งก็คือ “อาจารย์มหาวิทยาลัย” ค่าที่รายได้นั้นไม่สูงมาก แต่ความคาดหวังจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนจะมีอยู่มากจนอาจารย์ที่เป็นปกติทั้งหลายแทบจะรับไม่ไหวกันเลยทีเดียว อาจารย์มหาวิทยาลัยในอดีตนั้น เป็นอะไรที่ใครๆ ก็พากันอิจฉา เพราะเป็นอาชีพที่มีอิสระเสรีมากที่สุด ภายใต้วิชาที่ได้รับมอบหมายมานั้น อาจารย์มีอำนาจเต็มในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด ความ “ยืดหยุ่น” ในการทำงานจึงมีอยู่สูงมาก ขอเพียงสิ้นภาคการศึกษามี “เกรด” ส่งคณบดีเพื่อติดประกาศที่บอร์ดก็เป็นอันใช้ได้แล้ว เรื่องประเมินผลงานนั้นไม่ต้องพูดถึง บางสถาบันถึงกับนำเอาโควต้า 2 ขั้นที่ได้รับไปเฉลี่ยให้กับคณาจารย์ทุกๆ คน ด้วยว่าไม่อาจชี้ให้ชัดได้ว่าแต่ละท่านแตกต่างกันอย่างไร ค่าที่ประเพณีและวัฒนธรรมเป็นมาเช่นนั้น แต่บัณฑิตที่ผลิตออกมาก็มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี จำเนียรการผ่านไป .... ปัจจัยด้านนักศึกษากับคณาจารย์ได้แปรเปลี่ยนทั้งในด้านค่านิยม ทัศนคติ ตลอดจนวิธีคิดต่างๆ ประจวบกับโอกาสทางการศึกษาก็ได้เปิดกว้างขึ้นเป็นอันมาก เบ่งตัวออกจาก 5 – 7 มหาวิทยาลัยในยุค “กูเป็นนิสิตนักศึกษา วาสนากูสูงส่งสโมสร” กลายมาเป็น 100 สถาบัน 1,000 วิทยาเขต ในยุค “iPhonism” ความรู้สึกที่ว่า การเป็นบันฑิตดูเหมือนจะ “ง่าย” ขึ้น และ “มาก” ขึ้น ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ของสังคมในประเด็นคุณภาพ อาทิ ... “จ่ายครบ จบแน่” ได้ก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ยังผลให้มีการจัดตั้ง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) ขึ้น ภายใต้ชื่อย่อที่หลายคนอาจไม่รู้จักว่า “สมศ.” ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่าด้วย มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีภารกิจในการพัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินคุณภาพ และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาระดับต่างๆ ในประเทศ การประเมินคุณภาพของ สมศ. ได้เริ่มทำมาตั้งแต่พุทธศักราช 2544 แต่เพิ่งจะมาเพิ่มความเข้มข้นเป็นการประเมินเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพในปี 2554 นี้ โดยมีตัวบ่งชี้ครอบคลุมทั้ง กระบวนการผลิต และผลผลิต (ซึ่งก็คือตัวบัณฑิต) รวมแล้วประมาณ 18 – 20 ตัว ซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องมีหน้าที่กำกับดูแลให้มหาวิทยาลัยทำ “เอกสาร” เตรียมให้ สมศ. ตรวจทุกปีและตรวจใหญ่ทุกๆ 5 ปี มีเสียงบ่นพรึมจากมหาวิทยาลัย เริ่มต้นที่ฝ่ายบริหารก่อน ทั้งอธิการบดีและคณบดีที่ล้วนต้องง่วนอยู่กับการเข็นให้มหาวิทยาลัยผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ สมศ. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาโดยตรง แถมยังมีตัวชี้วัดจากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐ อีก 1 กระบิ โดนเข้า 3 ดอกพร้อมกัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวันนี้จึงน่าเห็นใจเป็นอันมาก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น ฝ่ายประเมินเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้จัดทำ “ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณาการการจัดระบบการประเมินผล ระหว่าง สกอ. กพร. และ สมศ.” แต่ถ้าใครได้เข้าไปเห็นการ “เชื่อมโยง” ตัวบ่งชี้ของทั้ง 3 องค์กร ก็จะยิ่งเวียนหัวหนักขึ้นไปอีก (ดูรายละเอียดในคู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ระดับอุดมศึกษา ฉบับสถานศึกษา พ.ศ. 2554 หน้า 74 – 79) ที่คณาจารย์รู้สึกเป็นภาระมากก็คือ “งานเอกสาร” ที่ต้องจัดทำให้ผู้ประเมินตรวจดังกล่าว ทำให้เวลาที่ต้องใช้ในการบริหารสถาบันตลอดจนการเรียนการสอนอันเป็นภารกิจหลัก ต้องถูกจัดสรรมาทำงาน “Admin” เป็นส่วนใหญ่ เกิดคำถามขึ้นว่า การศึกษาของประเทศจะเน้นให้บุคลากรทางการศึกษาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานเอกสารหรืออย่างไร ? (กรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับสถานพยาบาลที่ “ตัวพยาบาล” เองถูกดึงออกห่างจาก “คนไข้” เพียงเพราะต้องทำ document จำนวนมากเพื่อให้ผ่านระบบประกันคุณภาพ) ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาจำนวนไม่น้อยในระหว่างนี้ จึงใคร่สะท้อนความคิดเห็นอันอาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาของชาติ ดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์การประเมินคุณภาพเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว หากการนำไปปฏิบัติ (Implementation) ควรต้องปรับจังหวะจะโคนให้สอดรับกับความเป็นจริงของผู้ที่อยู่หน้างาน (Operation) ซึ่งก็คือภาควิชาและคณะฯ อันเป็นผู้ทำการผลิตบัณฑิตโดยตรง การประเมิน ควรมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน เช่น ไม่ไปผลักดันให้หลักสูตร MBA ต้องเน้น “ทำวิทยานิพนธ์-Thesis” แทน “การค้นคว้าอิสระ-Independent Study” ด้วยการกำหนดตัวชี้วัดเป็นสัดส่วน “ผลงาน” ของบัณฑิตที่ได้มีการเผยแพร่หรือนำเสนอในที่ประชุมเชิงวิชาการจำนวนหนึ่ง (อันเป็นมาตรฐานของงานวิทยานิพนธ์) ขณะที่ปรัชญาของหลักสูตรนี้เรียนไปเพื่อเป็นผู้บริหารในองค์กรธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อไปเป็นนักวิชาการ เป็นต้น 2. โจทย์อันเป็นตัวตั้งสำคัญก็คือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นการแย่งเวลาคณาจารย์ออกจากนักศึกษา แย่งเวลาผู้บริหารออกจากงานหลักในการพัฒนาสถาบัน (เข้าทำนองเอา “ก้อนสมอง” มาทำ “งานธุรการ” !) อาทิเช่น ฝ่ายประเมินจะมีระบบ (System) หรือกำลัง (Work Force) ที่จะไปช่วยแบ่งเบาภาระตรงจุดนี้ของแต่ละสถาบันได้อย่างไร เป็นต้น ผู้เขียนเคยฉงนเกี่ยวกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยไทยมานานมากแล้วว่า เหตุใดจึงเป็นพิมพ์เดียวกันหมดทุกที่ไป ไฉนจึงไม่ให้แต่ละสถาบันจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจแลยุทธศาสตร์ของตนเอง เพราะมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศในทางวิจัย ย่อมมียุทธศาสตร์และตัวชี้วัดแตกต่างจากมหาวิทยาลัยที่มุ่งความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน และแน่นอนเมื่อตัวชี้วัดต่างกัน เกณฑ์ในการประเมินก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย การกำหนดตัวชี้วัดแบบ “สำเร็จรูป” ให้กับทุกมหาวิทยาลัยโดยองค์กรผู้ประเมินทั้ง 3 แห่ง ว่าต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้างนั้น จึงไม่ทราบว่าเป็น “วิธีคิด” ที่อาจจะคับแคบเกินไปหรือไม่ ?!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
สุรพศ ทวีศักดิ์: ชาวพุทธกับเสรีภาพทางความคิด Posted: 15 Aug 2011 06:34 AM PDT “ดูกร ชาวพุทธ ในโลกนี้มีคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธมากมายที่เป็นคนดีกว่าชาวพุทธ ในโลกนี้มีคนชอบทำสมาธิวิปัสสนาเยอะแยะที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนดี ในโลกนี้มีคนที่ไม่มีศาสนา (Secular) จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจพุทธศาสนาดีกว่า หรือศึกษาพุทธปรัชญาได้ลึกซึ้งกว่าชาวพุทธ ในโลกนี้มีคนอีกนับไม่ถ้วนที่ปฏิบัติธรรมศึกษาพุทธธรรมเป็นประจำมิได้ขาดแต่หลงผิดในเรื่องทางสังคมการเมืองอย่างมืดบอด และในโลกนี้อาจมีคนดำเนินชีวิตตามครรลองพุทธหรือกระทั่ง‘หลุดพ้น’ได้โดยไม่รู้จักพุทธศาสนา” (บางส่วนของบทความ “อสมการกรรม” ของ มุกหอม วงษ์เทศ http://image.gmember.com/all_monthly/all_monthly_inner.php?id=2396&group_id=5) เคยมีพระบอกกับผมว่า “คำ ผกา เขียนวิจารณ์พระในมติชนสุดสัปดาห์แรงมาก ในฐานะที่โยมเคยบวชเรียนมาก่อน เขียนหนังสือเป็น ช่วยเขียนตอบโต้ คำ ผกา แทนพระหน่อยได้ไหม” ผมได้แต่ยิ้มๆ (เข้าใจว่าท่านคงไม่เคยอ่านประชาไท) นึกในใจว่าปกติพระต้องบอก “ทางสวรรค์” (นี่หว่า) แต่คราวนี้พระกำลังบอก “ทางนรก” ซะแล้ว จำได้ว่าเมื่อสมัยเป็นสามเณรช่วงแรกๆ ที่เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ได้ทราบเรื่องที่ ส.ศิวรักษ์ วิจารณ์ว่า “พระผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯจำนวนหนึ่งมีเมียเก็บ” ปฏิกิริยาของพระเณรตอนนั้นไม่พอใจมากเลย ผมเองก็ไม่พอใจ แต่พออยู่กรุงเทพฯ นานไป ก็พบว่าคำวิจารณ์นั้นมีส่วนจริงอย่างยากจะปฏิเสธได้ ต่อมาความรู้ทางพุทธศาสนาที่ผมได้รับ นอกจากจะมาจากการอ่านงานของท่านพุทธทาส และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แล้ว ความรู้พุทธศาสนาเชิงวิพากษ์ทั้งในแง่มิติประวัติศาสตร์ มิติทางสังคมของพุทธศาสนา และพุทธศาสนาต่างนิกาย ต้องถือว่าผมได้จากการอ่านงานของ ส.ศิวรักษ์ มากเป็นพิเศษ ผมคิดว่าหากชาวพุทธโดยเฉพาะพระสงฆ์เปิดใจกว้างต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของ ส. ศิวรักษ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ หรือแม้แต่ปัญญาชนรุ่นใหม่อย่าง คำ ผกา มุกหอม วงษ์เทศ เป็นต้น สังคมสงฆ์ หรือวงการศึกษาพุทธศาสนาจะก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่มากทีเดียว ผมไม่คิดว่าคนเหล่านี้จะคิดร้ายต่อพุทธศาสนา อย่าง ส.ศิวรักษ์ วิจารณ์ตรงและแรงมาก แต่ในสังคมเราแทบไม่มีใครแสดงออกให้เห็นว่า เขารักและเชิดชูพุทธศาสนาที่เป็นแก่นแท้ และเคารพความหลายกหลายทางความเชื่อในพุทธศาสนามากเท่า ส.ศิวรักษ์ ส่วนคนอื่นๆ แม้เขาอาจวิจารณ์จากวงนอก อาจไม่ใช่ชาวพุทธประเภทแก่วัด หรือแม้ไม่นับถือพุทธก็ตาม ทว่าโดยภาพรวมของสาระที่เขาวิจารณ์แล้ว เราก็สามารถเข้าใจได้ว่าเขาวิจารณ์เพื่อให้สังคมดีขึ้น เช่น ดีขึ้นในแง่ของการยืนยันเสรีภาพ ความเท่าเทียมในสิทธิที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถามท้าทายให้พระสงฆ์หรือชาวพุทธทบทวนบทบาทของตนเอง หรือแม้กระทั่งได้ฉุกคิดเกี่ยวกับคำสอนบางอย่างของพุทธศาสนาที่น่าสงสัยว่าทำไมพระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น นั่นใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ หรือแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าสอนเช่นนั้นผิดหรือไม่ เป็นต้น จะว่าไปแล้ว พระเราก็วิจารณ์ความคิดอื่นๆ เอาไว้มากเช่นกัน อย่างท่านพุทธทาส พระพรหมคุณาภรณ์ ก็วิจารณ์วัฒนธรรมตะวันตกเอาไว้มาก ยิ่งพระเซเลบแห่งยุคปัจจุบันยิ่งวิจารณ์ตั้งแต่เรื่องไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ฉะนั้น หากจะถูกคนอื่นๆ วิจารณ์กลับบ้างก็ต้องเปิดใจรับได้เช่นกัน กล่าวเฉพาะวิธีการวิพากษ์วิจารณ์ของพระสงฆ์ที่สังคมยกย่องว่าเป็นปราชญ์ คือท่านพุทธทาส และพระพรหมคุณาภรณ์ ผมชอบวิธีวิพากษ์วิจารณ์ของท่านพุทธทาสมากกว่า วิธีของพระพรหมคุณาภรณ์แม้จะอ้างอิงข้อมูลแน่นหนา แต่ท่วงทำนองการวิจารณ์อาจดูเหมือนเป็นการผลักใสคนเห็นต่างออกไปจาก “ความรู้ที่ถูกต้อง” ของพุทธศาสนา หรือกระทั่งผลักออกไปจาก “ความเป็นชาวพุทธ” เลยด้วยซ้ำ เช่นถ้อยคำที่ท่านใช้ในกรณีวิจารณ์สันติอโศก ธรรมกาย และกรณีวิจารณ์หนังสือ “เหตุเกิด พ.ศ.1” ของ พระมโน เมตตานนฺโท (ปัจจุบันลาสิกขาบทแล้ว) เป็นต้นว่า “ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต” “จาบจ้วง” หรือ “ทำลายพุทธศาสนาแบบถอนรากถอนโคน” ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะประณาม หรือพิพากษา “เจตนา” หรือ “ตัวตน” ของฝ่ายที่ตีความ หรือมีความเห็นต่างต่อคำสอนหรือเรื่องราวทางพุทธศาสนา ชนิดที่ (อาจทำให้เข้าใจไปได้) ว่า ถ้าคุณเชื่อผิดๆ สอนผิดๆ แบบนั้นก็เท่ากับคุณทำลายพุทธศาสนา คุณไม่ควรจะเป็นชาวพุทธต่อไป เป็นต้น (ขอแทรกตรงนี้ว่า หนังสือ “กรณีสันติอโศก” ของพระพรหมคุณาภรณ์ถูกใช้อ้างอิงอย่างมีน้ำหนักมากในการตัดสินให้พระสงฆ์ชาวอโศกพ้นจากสถานะของ “พระสงฆ์ไทย” น่าจะมีน้ำหนักมากกว่างานวิจัยของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่ศาลใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินยึดทรัพย์คุณทักษิณด้วยซ้ำ แต่ต้องเข้าใจว่า “กรณีสันติอโศก” มีน้ำหนักเพราะว่าสันติอโศกอยู่ตรงข้ามกับมหาเถรสมาคม ขณะที่หนังสือ “กรณีธรรมกาย” ที่พระพรหมคุณาภรณ์วิจารณ์ว่า “คำสอนเรื่องนิพพานเป็นอัตตา” ทำลายพุทธศาสนาแบบถอนรากถอนโคนเช่นกัน กลับไม่มีน้ำหนักให้มหาเถรสมาคมทำอะไรกับเจ้าสำนักวัดพระธรรมกายได้เลย เนื่องจากวัดพระธรรมกายมีความสัมพันธ์สนิทแนบแน่นกับพระผู้ใหญ่ฝ่ายมหาเถรสมาคม) แต่เราแทบจะไม่เห็นท่วงทำนองแบบนี้ในวิธีวิจารณ์ของท่านพุทธทาส ในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” ท่านพุทธทาสชี้ว่า สังคมไทยขาดอิสรภาพหรือเสรีภาพทางปัญญาในเรื่องหลักๆ เช่น 1) ขาดอิสรภาพทางปัญญาในทางศาสนา เพราะถือว่าศาสนาเป็นเรื่องสูงสุดไม่กล้าแตะ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ถือเป็นโมหาคติ และการหลงงมงายในลัทธิประเพณีต่างๆ เรื่องใหญ่หลวงของพุทธบริษัท คือความไม่มีอิสรภาพในการใช้ความคิดนึกเลือกเฟ้นอย่างที่เรียกว่า “ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์” (น.103) 2) ความเป็นทาสทางปัญญาฝ่ายโลก คือเป็นทาสทางปัญญาของฝรั่ง (น.107) เพราะ (1) ไม่มีอิสรภาพในการที่จะรวบรวมเอามาสำหรับวินิจฉัย เพราะศึกษาไม่มากทุกทฤษฎี ทุกแง่มุม (2) ไม่มีอิสรภาพในการที่จะวินิจฉัย เพราะไปติดเฮโรอีนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ซ้าย-ขวา) (3) เราไม่มีอิสรภาพในการที่จะเลือก ไม่เปิดโอกาสให้เลือก ไม่มีสติปัญญาที่จะเลือก มันก็คือไม่มีอิสรภาพที่จะเลือก (4) ไม่มีอิสรภาพที่จะเลือกก็เลยไม่มีอิสรภาพที่จะปฏิบัติ เราปฏิบัติให้ถูกต้องไม่ได้ เพราะเรามันเลือกไม่ได้ (น.109) และท่านเสนอว่า ชาวพุทธควรจะมีเสรีภาพทางปัญญา กล่าวคือ 1) อิสรภาพตามความเหมาะสม คือ (1) เราจะมีอิสรภาพในการรวบรวม ไม่เพียงแต่อ้างอิงทฤษฎี แต่สามารถรวบรวมเอาข้องเท็จจริงตามธรรมชาติ ของพระเจ้า มากำหนดความหมายของคำว่าการเมือง เช่น การเมืองที่ธรรมชาติจัด การเมืองที่พระเจ้าจัด (2) อิสรภาพในการวินิจฉัย เราจะเป็นคนเชื่อถือตัวเอง เคารพตัวเอง ยึดตัวเองเป็นหลัก ตัวเองคือธรรมะ เมื่อยึดธรรมะก็มีอิสระในการวินิจฉัย ก็จะได้ความหมายว่า การเมืองคือการจัดการทำให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกโดยไม่ต้องใช้อาชญา (3) อิสรภาพในการเลือก คือเลือกระบบการเมืองที่เหมาะกับสภาพความเป็นจริงของสังคมเรา สังคมนิยม หรือประชาธิปไตยที่เหมาะกับเรา (4) อิสรภาพในการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติให้เหมาะกับสภาพทรัพยากรที่เรามี ความสามารถที่เรามี (น.109) 2) พุทธบริษัทมีอิสระตามหลักกาลามสูตร พุทธบริษัทนิยมความจริงเด็ดขาดเป็น ultimate truth ยึดถือสิ่งที่มองเห็นอยู่จริง พิสูจน์ได้จริงเป็นหลัก หลักกาลามสูตรเป็นการให้อิสรภาพถึงที่สุดจากพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับการเชื่อและการรับเอาไปถือปฏิบัติ (น.116) ฉะนั้น โดยหลักการแห่งเสรีภาพทางปัญญาที่ว่านี้ จึงทำให้ท่านพุทธทาสมีเสรีภาพอย่างยิ่งในการตีความคำสอนพุทธศาสนาฉีกแนวออกไปจากชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยมอย่างถึงราก เช่นตีความว่า “ธรรมคือพระเจ้า” “กฎธรรมชาติ” หรือ “กฎอิทัปปัจจยาคือพระเจ้า” ขณะที่ชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยมมักรังเกียจคำว่า “พระเจ้า” แต่ท่านพุทธทาสกลับพยายามเสนอความหมายด้านบวกของพระเจ้าทั้งตามคติของศาสนาที่นับถือพระเจ้า และความหมายใหม่ที่ท่านนิยามขึ้นเอง หลักเสรีภาพทางปัญญาที่ท่านพุทธทาสเสนอนี้ เป็นเรื่องที่ชาวพุทธปัจจุบันควรนำมาไตร่ตรอง ในทางกลับกันคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธแนวจารีตนิยม หรือแม้กระทั่งไม่นับถือพุทธก็มีสิทธิ์ที่จะใช้หลักเสรีภาพดังกล่าวนี้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนา วัฒนธรรมการทำความดีในรูปแบบของ “การปฏิบัติธรรม” ของชาวพุทธปัจจุบันได้อย่างถึงรากเช่นกัน อย่างที่มุกหอมทำในบทความที่ยกมาข้างต้น วันนี้ผมฟังสปอร์ตโฆษณาทางสถานีวิทยุ มีเสียง (ผู้พูดบอกว่าตนเป็นทหาร) พูดถึงความดีต่างๆ ของในหลวงไป พร้อมกับประณามคนที่มองในหลวงต่างจากตัวเองไปด้วย ผมไม่อยากเห็นชาวพุทธที่อ้างว่ารักพุทธศาสนา ปกป้องพุทธศาสนาใช้วิธีตอบโต้เช่นนี้กับฝ่ายที่เห็นต่าง ผมคิดว่าวิธียกย่องความดีงามของของบุคคลหรือศาสนาที่ตนเองศรัทธา พร้อมกับประณามสาปแช่งคนที่คิดต่างจากตัวเอง ย่อมไม่ใช่วิธีการที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทำ! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น