ประชาไท | Prachatai3.info |
- "ขวัญชัย" เผย ส.ส.อุดร เตรียมประกัน 25 เสื้อแดงจันทร์นี้
- ส.ป.ก. เร่งอัดฉีดรากหญ้ากว่า 5.6 พันล้าน
- ลำปางเตือนภัยระวังภาคประชาชนเก็บเงิน 300 กู้ได้ 30,000-60,000 ไม่มีดอก
- น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
- รมต. ไอซีที ประกาศเข้มบังคับใช้กฎหมายหมิ่นและ พ.ร.บ.คอมพ์อย่างเด็ดขาด
- ‘โอบามา’ ยินดี ‘ยิ่งลักษณ์’ เป็นนายกฯ หญิงคนใหม่
- สัมภาษณ์ประวิตร โรจนพฤกษ์: ตลกร้าย (2) กรณีประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ คนเสื้อแดง และเด็กม.เกษตร
- นิวยอร์กไทมส์: เมื่อยุโรปสวนกูเกิลเรื่องความเป็นส่วนตัวบนเว็บ
- สหรัฐฯ ดันเน็ตบรอดแบนด์เพื่อครอบครัวรายได้น้อย
"ขวัญชัย" เผย ส.ส.อุดร เตรียมประกัน 25 เสื้อแดงจันทร์นี้ Posted: 13 Aug 2011 09:30 AM PDT เดินหน้าใช้ตำแหน่ง ส.ส. เพื่อไทยประกันตัวเสื้อแดง 'ขวัญชัย' เริ่มที่จังหวัดอุดรธานี ในวันจันทร์ (15ส.ค.) นี้ หลังจากที่เคยยื่นประกันไปแล้วถึง 5 ครั้ง 13 ส.ค.54 - เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่านายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร เปิดเผยว่า วันจันทร์(15ส.ค.)ที่จะถึงนี้ ตนจะยื่นประกันตัวผู้ต้องหาคนเสื้อแดง 25 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางอุดรธานี อีกครั้ง หลังจากที่เคยยื่นประกันไปแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ศาลฯไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะถึงวันนี้เราได้รับสัญญาณที่ดีว่า บ้านเมืองกำลังเดินหน้าเข้าสู่การปรองดอง และทาง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุตธรรม เองท่านก็เล็งเห็นว่า เหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว 1 ปีกว่า พวกเราคยเสื้อแดงควรจะได้รับสิทธิความยุติธรรมในเบื้องต้น คือการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว “ผมมีการประสานไปยังผู้พิพากษา โดยในวันจันทร์นี้ (15 ส.ค.) เวลาบ่าย 3 โมง ผมจะทำหน้าที่นำใบรับรองเงินเดือนของ ส.ส.อุดรธานี ทุกคน มาใช้ประกันตัวผู้ต้องหาเสื้อแดง ที่อยู่ในเรือนจำกลางอุดรธานีทั้ง 25 คน ออกมา ส่วนเรื่องของคดีก็ให้ว่ากันไปตามกระบวนการ เราคงไม่ได้ใช้เส้นใช้สายอะไร เราขอเพียงเศษเสี้ยวของความเป็นธรรม ในกระบวนการยุติธรรม ให้อิสระกับคนที่ถูกขังในเรือนจำมาแล้วปีกว่า นี่คือความตั้งใจของผม และก็ได้รับสัญญาณที่ดีจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ว่าจะคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องขังคนเสื้อแดงทุกเรือนจำในประเทศไทย” ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการดำเนินการดังกล่าว ทางพรรคฝ่ายค้านจะออกมาโจมตี รมว.ยุติธรรม หรือไม่ นายขวัญชัยฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องว่ากันด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ คอป. คุณสมชาย หอมละออ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ชัดเจนแล้วว่า การยัดเยียดข้อหาให้กับคนเสื้อแดง มันรุนแรงเกินกว่าเหตุ นี่คือทาง คอป.ที่รัฐบาลชุดที่แล้วแต่งตั้งพูดออกมา ฉะนั้นถึงตอนนี้ต้องคืนความชอบธรรมให้กับผู้ต้องขังเสื้อแดง 132 คน ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มต้นที่ จ.อุดรธานี ก่อน จากนั้นจะดำเนินการที่ จ.อุบลราชธานี และไปยังทุกจังหวัดที่มีคนเสื้อแดงถูกคุมขัง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คนเสื้อแดง 25 คน ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำอุดรธานี ถูกดำเนินคดีในข้อหา โฆษณาชักชวนให้กระทำผิดกฎหมาย , บุกรุกสถานที่ราชการโดยมีอาวุธ , ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน , วางเพลิงเผาสถานที่ราชการ และทำให้เสียทรัพย์อันเป็นสาธารณประโยชน์ และร่วมกันพยายามเผาที่ว่าการ อ.เมืองอุดรธานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ส.ป.ก. เร่งอัดฉีดรากหญ้ากว่า 5.6 พันล้าน Posted: 13 Aug 2011 06:04 AM PDT ส.ป.ก.เร่งอัดฉีดรากหญ้า ปล่อยกู้เงินกองทุนฯ ส.ป.ก.ให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 5,666 ล้านบาทหวังนำไปเพิ่มศักยภาพในพื้นที่เกษตรกรรมให้มีผลผลิตและรายได้สูงขึ้น พร้อมเร่งหามาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นแรงกระตุ้น 13 ส.ค. 54 - ไทยโพสต์รายงานว่านายสถิตย์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ ส.ป.ก.ได้ตั้งเป้าบริหารเงินกองทุนส.ป.ก. โดยมีแผนที่จะปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน สถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวนเงินทั้งสิ้น 758.55 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคเหนือ จำนวน 232.31 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 311.62 ล้านบาท ภาคกลาง จำนวน 173.58 ล้านบาทและภาคใต้ จำนวน 41.03 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้โอนเงินสินเชื่อไปแล้วร้อยละ 99.79 หรือประมาณ 756.98 ล้านบาท ในขณะนี้มีเกษตรกรกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ ส.ป.ก. ประมาณกว่า 145,000 ราย นอกจากนี้ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการสำนักบริหารกองทุน เนื่องจากเงินกองทุนที่ปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินไม่ใช่เป็นการค้ากำไร แต่ส.ป.ก.ต้องบริหารจัดการเงินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร เพื่อนำไปลงทุนและพัฒนาพื้นที่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง นายสถิตย์พงษ์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นกองทุนต้องมีหน้าที่คอยให้การสนับสนุนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำสุดเท่าที่เกษตรกรจะสามารถผ่อนชำระได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลได้ทุ่มเงินสนับสนุนเข้ากองทุนต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถสร้างงานให้เกิดรายได้ที่มั่นคงเพื่อชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด ซึ่งหากเกษตรกรรายใดสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดหรือสามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ตรงเวลา ทางส.ป.ก.จะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษให้กับเกษตรกรเป็นรายๆ ไป อาทิ อาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย "กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นองค์กรทางการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อการปฏิรูปที่ดิน นอกเหนือจากงบประมาณที่ส.ป.ก.ได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อจัดซื้อที่ดินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้สินเชื่อเกษตรกร" นายสถิตย์พงษ์ กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ลำปางเตือนภัยระวังภาคประชาชนเก็บเงิน 300 กู้ได้ 30,000-60,000 ไม่มีดอก Posted: 13 Aug 2011 05:49 AM PDT รองผู้ว่าฯ ลำปางเตือนประชาชนระวังถูกหลอกร่วมเครือข่ายสถาบันเกษตรกร เสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า 300 บาท อ้างกู้ได้ 30,000-60,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย เบื้องต้นแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ก่อนที่จะประกาศแจ้งเตือนไปยังทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน 13 ส.ค. 54 - สำนักข่าวไทยรานงานว่านายสุวรรณ กล่าวสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดแพร่มีกลุ่มบุคคลออกหลอกลวงประชาชน โดยอ้างชื่อสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกร เพื่อชักชวนให้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ประชาชนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า 300 บาท โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว ที่ทำเป็นขบวนการได้จูงใจให้ประชาชน ว่า หากสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว จะมีสิทธิกู้เงินของสมาคมฯ ได้รายละ 30,000-60,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย จึงได้มีการแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ก่อนที่จะประกาศแจ้งเตือนไปยังทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ซึ่งอาจจะตกเป็นพื้นที่เป้าหมายของกลุ่มขบวนการดังกล่าว เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มขบวนการที่ออกหลอกลวงประชาชนได้ทำการหลอกลวงมาแล้วกว่า 2,000 คน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ จังหวัดลำปาง จะออกประกาศเตือนให้ประชาชนทราบในทันที พร้อมติดตามการกระทำผิดในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง หากประชาชนพบเจอ และถูกหลอกลวง แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกพื้นที่ดำเนินการจับกุมได้ในทันที
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 13 Aug 2011 03:55 AM PDT นับจากนี้ไป จะมีการกำชับให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงในทุกระดับ มีการเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ในการกำกับดูแลปราบปรามการกระทำผิด พ.ร.บ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการหมิ่นสถาบันผ่านเว็บไซต์ต่างๆ โดยจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด รมต. ไอซีที ประกาศเข้มบังคับใช้กฎหมายหมิ่นและ พ.ร.บ.คอมพ์อย่างเด็ดขาด |
รมต. ไอซีที ประกาศเข้มบังคับใช้กฎหมายหมิ่นและ พ.ร.บ.คอมพ์อย่างเด็ดขาด Posted: 13 Aug 2011 03:22 AM PDT น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต. ไอซีทีคนใหม่ ประกาศจะบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ให้เข้มงวดมากขึ้น, ส่งสัญญาณไฟเขียว 3G เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) คนใหม่ กล่าวถึงแนวทางในการทำงานว่า นับจากนี้ไป จะมีการกำชับให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ในทุกระดับ มีการเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ในการกำกับดูแลปราบปรามการกระทำผิด พ.ร.บ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมพ์ฯ) และการหมิ่นสถาบันผ่านเว็บไซต์ต่างๆ โดยจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมกันนี้ รมว.ไอซีที ยังกล่าวถึงกรณี 3G ว่า กระทรวงจะเข้าไปดูแลตรวจสอบอีกครั้ง ว่าที่ผ่านมา มีกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่ รวมถึงดูว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงด้วยหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน หลังจากมีการอภิปราย และมีประชาชน เข้ามาตรวจสอบ และหากถูกต้อง เป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่มีการทุจริต คอร์รัปชั่น ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปยับยั้งโครงการดังกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
‘โอบามา’ ยินดี ‘ยิ่งลักษณ์’ เป็นนายกฯ หญิงคนใหม่ Posted: 13 Aug 2011 03:05 AM PDT บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งข้อความแสดงความยินดีถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หวังกระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และทำงานร่วมกันในภายภาคหน้าเพื่อประชาธิปไตยของโลกเสรี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่ข้อความแสดงความยินดีจากบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยสารดังกล่าวระบุว่า ประธานาธิบดีโอบามาขอแสดงความยินดีของตนและประชาชนสหรัฐฯ ถึงยิ่งลักษณ์ ในการได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ประธานาธิบดีโอบามายังกล่าวว่า เขามั่นใจว่าสายใยอันมั่นคงระหว่างสองประเทศจะแน่นแฟ้นขึ้นในภายภาคหน้า และยินดีที่จะสานสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศอันเป็นประชาธิปไตยและเสรี บนพื้นฐานของคุณค่าและความเคารพที่มีร่วมกัน ประธานาธิบดีสหรัฐระบุว่า ให้ความสำคัญกับมิตรภาพและความเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยอย่างมาก และหวังว่าจะได้ร่วมมือกันทำงานเพื่อโลกที่สงบสุข รุ่งเรือง และเสรีต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สัมภาษณ์ประวิตร โรจนพฤกษ์: ตลกร้าย (2) กรณีประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ คนเสื้อแดง และเด็กม.เกษตร Posted: 13 Aug 2011 01:57 AM PDT บทสัมภาษณ์ที่พาดพิงผู้คนมากมายหลายชื่อ สอบทานความเป็นประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง กรณีระหว่างประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์และมติชนที่ยังคงค้างคาใจใครหลายคน โดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใสต่อกรณีดังกล่าว และข้อเสนอต่อท่าทีของคนเสื้อแดงที่ควรมีต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สืบเนื่องจากบทความ ตลกร้าย กรณี “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ถูก มติชน “เชิญออก” โดยประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีการลาออกของประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ หลังจากเป็นผู้สื่อข่าวที่มติชนกว่า 27 ปี ทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอแนะในบทความ บ้างก็กล่าวว่า การที่ประสงค์ถูก “เชิญออก” เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว หากแต่ประวิตรยังยืนยัน ต้องปกป้องแม้คนที่เห็นต่างจากเรา เพราะ “ความเห็นต่างทางการเมือง เป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตยและเสรีภาพ” 0000 จากกรณีระหว่างมติชนและคุณประสงค์ที่ยังคงไม่มีความชัดเจน คิดว่าคนในสังคมต้องมองเรื่องนี้อย่างไร ต้องกลับไปดูทวีตของคุณประสงค์ที่อ้างว่า ทางบรรณาธิการมติชนบอกว่าไม่ต้องเขียนอีกแล้ว และแม้แต่การสัมภาษณ์ซึ่งปรากฎในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ซึ่งผมไม่ได้เป็นผู้สัมภาษณ์ ปรากฎในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา คุณประสงค์ยังพูดอย่างแทงกั๊ก บอกว่าแกจะชี้แจงเรื่องนี้หลังจากวันที่ 15 สิงหา เพราะว่ายังเป็นลูกจ้างจนถึงวันที่ 15 การพูดเช่นนี้ เท่ากับเป็นการ”แทงกั๊ก” หรือทำให้สาธาธารณะตีความได้อีกว่าถูกมติชนจัดการอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพราะความต่างทางจุดยืนทางการเมือง เพราะถ้าเกิดมติชนไม่ได้ทำอะไรผิดจรรยาบรรณสื่อต่อคุณประสงค์ คุณประสงค์น่าจะพูดให้ชัดเจนตั้งแต่วันนี้ได้แล้วว่ามันไม่มีอะไร มันเป็นการออกจากงานธรรมดา เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องฟังหูไว้หู ผมได้คุยกับคนอย่างธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก. ฟ้าเดียวกัน อ้างว่า คุณประสงค์ฉวยโอกาสปั่นตัวเอง ปั่นกระแสความนิยมตนเองตอนที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังขึ้น โดยการสร้างสถานการณ์ว่าตัวเองถูกบีบออก เพื่อให้สังคมเข้าใจผิด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงผมต้องถือว่าเป็นหน้าที่ของมติชนที่จะต้องออกมาชี้แจงว่าอะไรเป็นอะไร ผมจะไปคาดหวังต่อคุณประสงค์ซึ่งเป็นปัจเจกชนเทียบเท่ามติชนได้อย่างไร แน่นอนผมก็อยากจะให้ทั้งสองฝ่ายออกมาชี้แจง แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ชี้แจง ผู้ที่ควรถูกตำหนิมากที่สุด น่าจะเป็นมติชน เพราะมติชนเป็นองค์กร ที่ควรจะมีความโปร่งใส ส่วนคุณประสงค์นั่นเป็นปัจเจกชน มีดีมีชั่วเราไม่รู้ สิ่งที่คุณธนาพลพูดทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ คือเรื่อง Privilege of information หรือ “ข้อมูลวงใน” “คนใน” หรือ “ข้อมูลพิเศษ” ผมคิดว่าถ้าเรามาอ้างอย่างนั้นโดยที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน กล่าวหาคุณประสงค์ ผมคิดว่ามันไม่แฟร์ มันก็ไม่ต่างจากที่เวลามีใครซักคนอกมาปกป้องสถาบัน บอกโอ๊ย คุณไม่ต้องไปวิจาณ์หรอกเพราะผมรู้ว่าข้างในดีอย่างนู้นอย่างนี้ แล้วก็ไม่จบ เพราะไม่มีหลักฐาน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะวิพากษ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องวิพากษ์ไปตามเนื้อผ้า อีกเรื่องหนึ่งที่ผิดหวังคือคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ยังหลงผิดโดยใช้ตรรกะที่ว่า ในเมื่อคุณประสงค์ยืนอยู่ข้างเผด็จการ ในมุมมองของคนเสื้อแดง จึงสมควรแล้วที่จะถูกมติชนไล่ออก ถ้าคิดเช่นนี้ มันไม่ได้นำมาซึ่งสังคมที่ดี มันไม่ได้ทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เสื้อเหลืองขึ้นมามีอำนาจ เขาก็จะจัดการกับพวกคุณเหมือนกันโดยอ้างว่า เพราะพวกคุณก็เผด็จการเหมือนกัน อยู่กับทักษิณ เขาก็จะกล่าวหาเช่นนั้น และก็จะไม่ออกยินดียินร้ายกับการปิดสื่อเสื้อแดง หรืออาจจะเห็นด้วย หรือสนับสนุนกับการปิดสื่อเสื้อแดง และถ้าเป็นเช่นนี้ ผมต้องถามว่าถ้าอย่างนั้นแล้วคุณจะต่างจากเสื้อเหลืองอย่างไร เพราะคุณก็ใช้ตรรกะฟาสซิสต์เหมือนคนเสื้อเหลืองหรือเปล่า ที่ว่า ถ้าอยู่ฝ่ายตรงข้าม ตนก็จะไม่สนใจ จะปกป้องเฉพาะฝ่ายตัวเอง ผมคิดว่าต้องมีการทบทวนมาก โดยเฉพาะคนที่เป็นปัญญาชนอย่างวิภา ดาวมณี เข้าไปโพสต์ในเฟซบุ้กบอกว่า การจัดการให้คุณประสงค์ออกจากงานเป็นเรื่องปรกติของบริษัท ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือมันมีสองเรื่อง คือหนึ่ง ก็มีรุ่นน้องที่ชื่ออดิศร เกิดมงคล ออกมาโต้อาจารย์วิภา บอกว่า ถ้าอาจารย์พูดอย่างนี้แล้วอาจารย์จะออกมาพูดเรื่องสหภาพ สิทธิแรงงาน สิทธิลูกจ้างได้อย่างไร นั่นแปลว่าลูกจ้างจะทำอะไรก็ได้อย่างนั้นหรือ และอย่างมีพวกที่อ้างต่อว่า นายจ้างทำอะไรก็ได้ เพราะนี่เป็นบริษัทเอกชน ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่เราควรเรียกร้องต่อบริษัทสื่อหรือ Corporate Media ให้ทำตัวดีกว่าบริษัททั่วไป ดีกว่าโรงงานผลิตรองเท้า โรงงานนรก หรือร้านโชว์ห่วยที่บริหารโดยครอบครัว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะต้องออกมาเรียกร้อง มิใช่บอกว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็โอเค ก็เหมือนบริษัททั่วไป มันไม่ใช่ ผมคิดว่า มันเป็นหน้าที่ของสื่อ แม้กระทั่งบริษัทสื่อ มากกว่าบริษัทขายน้ำอัดลม บริษัทผลิตรองเท้าหรือร้านโชวห่วยที่มีการบริหารอย่างเป็นเผด็จการอย่างชัดเจน ทำไมเราควรจะต้องปกป้องคนที่คิดเห็นต่างทางการเมือง ทั้งๆที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมากนัก และหากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว คิดว่าอนาคตสังคมไทยจะเป็นอย่างไร เพราะความเห็นต่างทางการเมือง เป็นรากฐานที่สำคัญที่เป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพ มิเช่นนั้น ใครมีอำนาจก็จะขึ้นไปกำหนดเสียงที่เห็นต่างให้ถูกทำลายไป สังคมเช่นนั้น ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ อย่างมากก็เป็นสังคมธรรมาธิปไตย แต่ปัญหาคือ ใครเป็นคนที่จะบอกว่า อะไรคือสิ่งที่ดี อะไรที่ควรจะเซ็นเซอร์หรือไม่เซ็นเซอร์ สุดท้ายเราแทบจะหลีกเลี่ยงเส้นทางที่จะนำเราไปสู่ระบบฟาสซิสต์ไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการที่คุณออกมาดีเฟนด์คุณประสงค์ ไม่ใช่เพราะคุณเห็นด้วยกับคุณประสงค์ หรือเห็นด้วยกับจุดยืนทางการเมืองของคุณประสงค์ แต่เพราะคุณเห็นด้วยว่า สังคมควรจะมีพื้นที่ที่เคารพความเห็นต่าง โดยเฉพาะความเห็นต่างทางการเมือง ขอเพิ่มเรื่องความน่าอายของคุณประสงค์ที่มีแทงกั๊กอย่างนี้ เป็นการปฏิบัติตนที่ไม่สมควรอย่างยิ่งของผู้สื่อข่าวอาวุโสและผู้ที่เคยเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย การที่ปล่อยให้สังคมถกเถียงกันต่อโดยที่ทำให้สังคมแทงกั๊กเช่นนี้ ในขณะที่ตัวเองทำมาหากิน ทำอาชีพที่ไปตรวจสอบคนอื่น อ้างว่าไปทำให้สังคมโปร่งใส มาวันนี้คุณประสงค์ก็ไม่ยอมไปแตะเรื่องนี้เลย นั่งทวีตเรื่องอื่น ทำตัวไม่ต่างจากกรมประชาสัมพันธ์ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การที่หนังสือพิมพ์เอเสทีวีของผู้จัดการได้ปฏิบัติตัวอย่างน่าละอายที่นำรูปของเด็กม.เกษตรที่พึ่งจบใหม่ ที่ถูกจับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ไปลงประจานโดยใช้ชื่อเต็มและนามสกุล ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่การล่าแม่มด การโทรไปขู่ญาติพี่น้อง ครอบครัวของผู้นั้นอีก ในขณะเดียวกัน ผมก็ทราบมาว่า คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งก็ต้องการรูปภาพ ที่อยู่ และโทรศัพท์ของตัวรองอธิการบดี ผู้ฟ้องตัวเด็กม.เกษตรผู้นั้นเช่นเดียวกัน คำถามก็คือว่า จริงๆแล้วคนสองกลุ่มนี้ คิดต่างกันจริงหรือ ผมคิดว่าไม่ต่าง ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะใช้วิธีการที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยในการทำลายฝ่ายตรงข้าม เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่ง ผมยังอยากจะเห็นคนอย่างบ.ก. ลายจุด คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ออกมาแสดงความเห็น ถ้าคนอย่างบ.ก.ลายจุดไม่ออกมาทัก ติง แสดงจุดยืนให้ชัดเจน ผมคิดว่าขบวนการเสื้อแดงจะไถลตกเหว และไม่สามารถจะเป็นขบวนการที่ต่อสู้ให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทยได้ และที่น่าสนใจคือ เท่าที่ผมทราบคือ บ.ก. ลายจุดก็ยังคงเงียบกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าอาจจะถึงจุดที่เขาต้องถามตัวเองเหมือนกันว่า จะเลือกผู้ที่ชื่นชอบและเป็นกองเชียร์สนับสนุน และพูดทุกอย่างที่พวกเขาแฮปปี้ หรือกล้าพอที่จะพูดอะไรบางอย่างที่ฟังแล้วอาจจะไม่เข้าหูพวกเขา แต่ต้องจำเป็น เพื่อที่ว่าสังคมนี้จะได้มุ่งไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยกว่านี้อย่างแท้จริง มันเป็นคำตอบที่เลือกยาก เพราะว่าคุณคงจะเอาทั้งสองอย่างไม่ได้ แต่จุดหนึ่งถ้าคุณเงียบ ก็เท่ากับว่าคุณยอมรับการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ก็ยังเห็นว่าคนเสื้อแดงก็ยังสามารถมีโอกาสถกเถียง เรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้ โดยเฉพาะในเชิงหลักการมากกว่านี้ในอนาคต? ถูกต้อง ประเด็นของผมตอนนี้คือ ผมไม่เห็นด้วยกับใครตอนนี้ที่จะมาอ้างว่า เห็นไหม คนเสื้อแดงเขาก็ไม่เห็นด้วยหรอกในการที่จะเคารพความต่าง หรือการออกมายืนยันต่อสู้เพื่อความเห็นต่างของคนอื่น ถ้าไม่ใช่พวกตัวเอง เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้ก็ควรจะปิดปาก และไม่ควรมีสิทธิทางการเมือง ผมเห็นต่างกับความเห็นเช่นนี้ ซึ่งอาจเป็นความคิดเห็นของชนชั้นอำมาตย์จำนวนหนึ่ง ที่บอกว่าพวกเสื้อแดง นี่ไงเห็นไหม เอาเข้าจริงก็ไม่เข้าใจประชาธิปไตย ไม่เข้าใจความคิดที่เห็นต่างของคนส่วนน้อย ผมคิดว่า มันยังด่วนเกินไปที่จะสรุปเช่นนั้น เสียงของคนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากคนจนเนี่ย เพิ่งมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ มองเห็นผิดบ้างถูกบ้างก็ว่ากันไป แต่ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นหรือข้อเสนอของใครก็ตามที่จะบอกว่า เช่นนั้นเราควรจะปิดปากไม่ให้สิทธิคนเสื้อแดงหรือคนยากคนจนมีสิทธิเสียง เพราะดูแล้วเขาอาจจะไร้วุฒิภาวะ ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมคงต้องเรียนรู้กันไป เรียนรู้กับคนส่วนน้อยในสังคมด้วย ถกเถียงกันไป มีวิวาทะ มี Dialogue (บทสนทนา) เพราะเราเห็นแล้วว่า แม้คนชั้นกลางส่วนใหญ่ ก็ได้กระทำการตัดสินใจผิดซ้ำซากโดยการสนับสนุนการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอดระยะเวลากว่า 60-70 ปี กับสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นหากคนชั้นกลาง ป่านนี้ยังไม่ตื่น หรือคนจำนวนมากในคนชั้นกลางยังไม่ตื่น ผมคิดว่าก็ควรจะให้โอกาสคนส่วนใหญ่ให้ลองผิดลองถูกเช่นเดียวกัน แต่ผมขอร้องว่าคนเสื้อแดงที่ก้าวหน้าและผมก็ทราบดีว่ามีจำนวนหนึ่ง ควรจะต้องออกมามีความกล้าที่จะพูด ไม่ว่าคุณจะใช้ไม้แข็งหรือไม้อ่อน หรือวิธีการเจรจาแบบประนีประนอมหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ออกมาเตือนสติได้แล้ว ไม่งั้นผมคิดว่าหลงทางแน่ ผมคิดว่าเหตุการณ์สามสี่วันที่ผ่านมา เหตุการณ์เรื่องปฏิกิริยาต่อคุณประสงค์ หรือเหตุการณ์ที่มีการพยายามขอรูปถ่าย ข้อมูลส่วนตัวของรองอธิการบดีที่ฟ้องร้องเด็กที่เพิ่งจบจากม.เกษตรนั้น ผมคิดว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่า เอาเข้าจริง คนเหล่านี้พร้อมที่จะเป๋ไปอยู่ในวัฒนธรรมที่ต่อต้านประชาธิปไตย และถ้าพวกคุณไม่ทำตอนนี้ พวกคนเสื้อแดงที่มีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และมองเห็นปัญหาที่แท้จริง ไม่พยายามท้วงติง หรือดึง ออกมาพูดคุยกับคนเสื้อแดงด้วยกันในตอนนี้ ผมเกรงว่า ไปอีกหกเดือนหรือหนึ่งปีมันจะสายเกินไป เราต้องตระหนักว่า เพียงเพราะเราอยู่กับฝ่ายตรงข้ามกับเผด็จการกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า เราเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไปโดยปริยาย เพราะเผด็จการน่าจะมีมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือหนึ่งแบบในสังคมไทย กรุณาอย่าเข้าใจผิด สรุปง่ายๆว่า การตรวจสอบตนเอง เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรมีใช่ไหม สังคมที่มันไม่โปร่งใส ตรวจสอบกันไม่ได้ มันเป็นประชาธิปไตยได้หรือเปล่า สังคมที่คุณไม่มีพื้นที่สำหรับความเห็นต่าง มันเป็นสังคมประชาธิปไตยหรือ มันไม่ใช่ ผมอยากให้เรามองข้ามความขัดแย้งระยะสั้น ใครจะขัดแย้งอะไรหรือกับใคร และคนเสื้อแดง โดยเฉพาะเสื้อแดงที่ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งมีอยู่จริงแต่ผมไม่รู้ว่ามีจำนวนมากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนี้ก็เงียบไปเพราะไม่อยากจะไปตีรวนหรือเปล่า เขาต้องออกมา เขาต้องมองข้ามช็อตไปให้ได้ว่าสิ่งที่เขาอยากมองเห็น มันไม่ใช่เอารัฐบาลที่ดีที่ตัวเองชอบเข้าไปมีอำนาจเท่านั้น แค่นั้นมันไม่พอ เราต้องสร้างวัฒนธรรม อย่างอเมริกาที่เขาไม่มีรัฐประหารเป็นเพราะทหารก็รู้ว่าถ้าทำไปประชาชนเขาก็ไม่ยอมรับ เขาก็อยู่ไม่ได้ เมืองไทย ตราบใดที่ไม่มีวัฒนธรรมที่ยอมรับความเห็นต่าง วัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับรัฐประหาร การรัฐประหารก็ยังเกิด ความเห็นต่างก็มีลำบาก ผมคิดว่าสำคัญมาก ไม่ว่าจะเสื้อสีอะไร ถ้าอ้างว่าตนเองอยากเห็นสังคมเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราต้องมาจัดการปูพื้นฐานสังคมประชาธิปไตยให้ได้ก่อน และพื้นฐานหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยที่สำคัญคือ ความเห็นต่าง การเคารพความเห็นต่าง อันที่สองคือ ทำให้สื่อโปร่งใสและมีความรับผิดชอบกว่าทุกวันนี้ ไม่ใช่บอกว่า อ้างว่า ในเมื่อมติชนไม่เคยอธิบายอะไรที่ผ่านมาในอดีตก็ควรต้องปล่อยไปเป็นอย่างนี้หรือ อันนี้ถกเถียงกับคุณธนาพล (อิ๋วสกุล) เขาบอก มติชนก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่เคยอธิบาย ผมก็เลยว่า อ้าวแล้วอย่างนี้เมื่อไหร่จะเปลี่ยน มันสมควรจะเปลี่ยนไหม ถ้าอย่างนั้นคนอื่นก็จะมาอ้างว่า อ้าว ก็ความสัมพันธ์ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ก็เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วมิใช่หรือ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเปลี่ยนสิ ผมว่านั่นไม่ใช่ข้ออ้าง ปัญหาคือว่าเราอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหน และอย่าไปหลงติดว่าใครสู้ตรงไหน ถ้าใครก็ตามเปลี่ยนจุดยืน และไม่ได้ยืนอยู่กับประชาธิปไตยอย่างชัดเจนแล้ว ผมคิดว่า คนที่สนับสนุนคนนั้นก็ต้องพร้อมที่จะเดินออกมา หรืออย่างน้อยก็ต้องตักเตือนกันก่อน พยายามอย่างเต็มที่เสียก่อนเพื่อจะดึงเขาไปในทิศทางที่จะรังสรรค์ให้สังคมเปิด เป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกองค์กร ถ้าหากคนเสื้อแดงมีสำนึกทางการเมือง มีความตระหนักรู้ด้านความโปร่งใส แต่รัฐบาลใหม่นี้ยังคงเหมือนเดิม ไม่ต่างจากยุคก่อนหน้า อย่างนี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร แต่ก็อาจจะมีคำถามที่ว่า คนชั้นกลางก็พูดเรื่องหลักการ คำใหญ่คำโตได้ แต่ชาวบ้านก็ยังคงสนใจเรื่องนโยบายปากท้อง และชื่นชอบในนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยอยู่ มากกว่าสนใจเรื่องความโปร่งใส คิดว่าอย่างไร ไม่มีปัญหา คือมันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องทำเรื่องหนึ่งและไม่ทำอีกเรื่องหนึ่ง คือใครมีศักยภาพและสนใจทำเรื่องอะไรก็ทำไปพร้อมกัน คือผมเห็นด้วยกับการให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสวัสดิการดีกว่าที่เป็นอยู่ มีการศึกษาที่เท่าเทียม มีโอกาสเข้าสู่การศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกว่าที่เป็นอยู่ มีโอกาสเข้าต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกันมากกว่านี้ มันใมใช่การถกเถียงว่า ต้องเลือกก.ไก่ แล้วไม่เอาข.ไข่ ผมว่าไม่ใช่ มันเป็นเป็นเรื่องที่สามารถทำไปพร้อมกันหลายเรื่องได้ แต่ผมคิดว่ามันเป็นบางอย่างที่มันเป็นพื้นที่รากฐานที่สำคัญ ถ้าไม่จัดการรักษาไว้ หรือสร้างให้มันเกิด สังคมมันก็จะเป๋ เราคงไม่อยากเห็นสังคมเป็นอย่างสิงคโปร์ที่ผู้คนก็มีกินในระดับหนึ่งแต่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อถูกคุม ไม่มีความเห็นต่าง ความเห็นต่างถูกกดทับ ผมคิดว่า สังคมอย่างประเทศสิงคโปร์ก็คงไม่ใช่สังคมอุดมคติ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นิวยอร์กไทมส์: เมื่อยุโรปสวนกูเกิลเรื่องความเป็นส่วนตัวบนเว็บ Posted: 13 Aug 2011 12:01 AM PDT ประชาชนในสเปน 90 รายเรียกร้องให้ลบข้อมูลของพวกเขาออกจากเว็บ หนึ่งในนั้นเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งพบว่าที่อยู่ของเธอสามารถพบได้ง่ายๆ ผ่านกูเกิล ขณะที่อีกรายซึ่งกำลังเข้าสู่วัยกลางคน รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมที่การกดแป้นพิมพ์ไม่กี่ตัวก็สามารถขุดคุ้ยเรื่องที่เธอเคยถูกจับกุมสมัยเรียนได้ เสียงของพวกเขาอาจไม่ได้รับความสนใจนักในสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งบริษัทกูเกิลตั้งอยู่ แต่สำหรับในยุโรปแล้ว แนวคิดที่ว่าปัจเจกบุคคลควรมี "สิทธิที่จะถูกลืม" ในเว็บ เป็นแนวคิดที่ยึดถือโดยทั่วไป รัฐบาลสเปนกำลังต่อสู้เรื่องนี้ โดยสั่งให้กูเกิลหยุดการเก็บข้อมูลของพลเมือง 90 คนซึ่งยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการต่อหน่วยงานคุ้มครองข้อมูล คดีนี้กำลังอยู่ในชั้นศาลและถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากทั่วทั้งยุโรป ว่ามันจะส่งผลอย่างไรต่ออำนาจการควบคุมที่พลเมืองจะมีเหนือข้อมูลที่พวกเขาโพสต์ หรือข้อมูลที่คนอื่นโพสต์เกี่ยวกับพวกเขาบนเว็บ ไม่ว่าผลของคดีดังกล่าวจะออกมาเป็นอย่างไร ก็มีการคาดการณ์ว่าสหภาพยุโรปจะพิจารณาข้อบังคับใหม่ว่าด้วย "สิทธิที่จะถูกลืม" ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ (ประมาณตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป) วิเวียน เรดดิง กรรมการฝ่ายยุติธรรมของคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เสนอรายละเอียดที่เธอคิด แต่ย้ำว่าเธอตัดสินใจแล้วว่าจะมอบอำนาจมากขึ้นให้แก่กลุ่มจับตาเรื่องความเป็นส่วนตัว "ฉันไม่สามารถยอมรับแนวคิดที่ว่า ปัจเจกบุคคลไม่มีสิทธิจะตัดสินใจใดๆ กับข้อมูลของพวกเขาอีก ทันทีที่มันถูกปล่อยเข้าสู่โลกไซเบอร์แล้ว" เธอกล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมา เธอยังระบุด้วยว่าเธอได้ยินข้อโต้แย้งว่าการควบคุมที่มากขึ้นนั้นเป็นไปไม่ได้ และยุโรปควรจะยุติเรื่องนี้ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม เรดดิงกล่าวว่า "ฉันไม่เห็นด้วย" เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเห็นต่างกันอย่างมาก "สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ การปะทะระหว่างสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติก" ฟรานซ์ เวอร์โร ซึ่งเกิดและโตในสวิตเซอร์แลนด์ และปัจจุบันเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในสหรัฐอเมริการะบุว่า "สองวัฒนธรรมนี้ไปกันคนละทาง เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิในความเป็นส่วนตัว" เวอร์โรยกตัวอย่างว่า ในสหรัฐฯ ศาลมักลงความเห็นอย่างสม่ำเสมอว่า สิทธิในการตีพิมพ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอดีตของใครสักคนนั้น อยู่เหนือสิทธิความเป็นส่วนตัว ขณะที่ชาวยุโรปมองต่างออกไป "ในยุโรป คุณไม่มีสิทธิพูดถึงใครอย่างไรก็ได้ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม" เวอร์โรกล่าวว่า ยุโรปเห็นความจำเป็นในการสร้างสมดุลระหว่าง เสรีภาพในการพูดและสิทธิในการรับรู้ กับ สิทธิของบุคคลในความเป็นส่วนตัวและเกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งแนวคิดนี้มีอยู่ทั่วไปในกฎหมายของยุโรป ทัศนะเช่นนี้ของยุโรปเกิดขึ้นจากการที่ข้อมูลถูกรวบรวมและใช้ทำร้ายปัจเจกบุคคล ภายใต้ผู้นำเผด็จการอย่างฟรังโกและฮิตเลอร์และภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ หน่วยงานรัฐบาลรวบรวมแฟ้มข้อมูลของพลเมืองเป็นกิจวัตรเพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุม คดีความในศาลเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ผุดขึ้นทั่วทั้งยุโรป ตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี วูลฟ์กัง แวเล และ มันเฟรด เลาเบอร์ ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักจากการสังหารนักแสดงชาวเยอรมันคนหนึ่งในปี 1990 ได้ฟ้องสารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียให้ลบเนื้อหาที่เกี่ยวกับพวกเขาออกไป ทั้งนี้กฎหมายความเป็นส่วนตัวของเยอรมนีนั้นอนุญาตให้ปิดปังรูปพรรณของผู้ก่ออาชญากรรมในรายงานข่าวทันทีที่มีการชดใช้ความผิดแล้ว ทนายความของมือสังหารทั้งสองกล่าวว่า อาชญากรก็มีสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะอยู่ตามลำพังเช่นกัน กูเกิลเองก็ถูกฟ้องร้องในหลายประเทศ รวมถึงในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก เหตุจากการเก็บภาพบนท้องถนนในบริการกูเกิลสทรีตวิว ศาลเยอรมนีตัดสินว่าบริการนี้ของกูเกิลไม่ผิดกฎหมาย แต่กูเกิลก็เปิดให้ปัจเจกบุคคลและองค์กรธุรกิจเลือกที่จะไม่ถูกเก็บข้อมูลได้ โดยมี 250,000 รายเลือกทำเช่นนั้น ขณะที่ประเด็นเดียวกันนี้ ไม่มีการถอนข้อมูลใดๆ ในสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งทุกคนมีสิทธิถ่ายภาพอะไรก็ตามที่ตาเปล่ามองเห็นได้จากถนน กูเกิลปฏิเสธที่จะพูดถึงคดีในสเปน แต่ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การเรียกร้องให้ระบบเสิร์ชเอนจินมองข้ามข้อมูลบางอย่าง "อาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันจากความกลัวและกระทบต่อการแสดงออกอย่างเสรี โดยไม่ได้ปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน" ในบล็อกของ ปีเตอร์ ฟลีเชอร์ ที่ปรึกษาด้านความเป็นส่วนตัวนานาชาติของกูเกิล เขาพูดถึงประเด็นดังกล่าวภายใต้พาดหัว "ความคิดที่คลุมเครือเกี่ยวกับสิทธิในการถูกลืม" (“Foggy thinking about the Right to Oblivion”) โดยย้ำว่าเขาพูดในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามกูเกิล อย่างไรก็ตาม เขาทิ้งประเด็นสงสัยไว้ว่า เขามองว่าความพยายามของยุโรปในการสร้างสิทธิความเป็นส่วนตัวชนิดใหม่ โดยให้คำจำกัดความที่ไม่รัดกุมและเป็นไปในแนวทางที่ไม่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดคำถามทางกฎหมายและทางเทคนิคที่ซับซ้อน ที่จริงแล้ว วลี "สิทธิที่จะถูกลืม" ถูกใช้กับประเด็นต่างๆ มากมาย ตั้งแต่คดีในสเปนดังกล่าว ไปจนถึงพฤติกรรมของบริษัทที่ทำเงินจากข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งรวบรวมได้จากเว็บ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยุโรปบางรายรู้สึกว่ามันจำเป็นจะต้องมีกฎกติกาใหม่ขึ้นอยู่ดี เวอร์โรกล่าวว่า ชาวยุโรปจำนวนมาก รวมถึงตัวเขาเอง รู้สึกไม่สบายใจที่ข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาถูกพบโดยเสิร์ชเอนจินและถูกใช้เพื่อการค้า เมื่อมีโฆษณาผุดขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์ของเขา เขาพบว่าโฆษณาเหล่านั้นเชื่อมโยงกับเรื่องที่เขาสนใจอยู่อย่างชัดเจน เขาพบว่ามันให้ความรู้สึกแบบออร์เวลเลียน (สภาวะสังคมแบบในนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวล ซึ่งทุกกิจกรรมของพลเมืองถูกสอดส่องโดยรัฐ - ประชาไท) ผลสำรวจโดยสหภาพยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ชาวยุโรปส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเวอร์โร โดยสามในสี่กังวลว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตจะใช้ข้อมูลของพวกเขาอย่างไรและต้องการสิทธิที่จะลบข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อใดก็ได้ และร้อยละ 90 เรียกร้องให้สหภาพยุโรปดำเนินการกับสิทธิที่จะถูกลืม หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของสเปน ซึ่งตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 90 เพื่อคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล เชื่อว่าเสิร์ชเอนจินได้เปลี่ยนกระบวนการที่ข้อมูลจำนวนมากเคยจบวงจรชีวิตของมันลงด้วยการถูกลืม ดังนั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ฮาซู รูบิ รองผู้อำนวยการของหน่วยงานดังกล่าว ยกตัวอย่างราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเคยเผยแพร่ทุกวันทำการ โดยเอกสารดังกล่าวรวมถึงการประกาศล้มละลาย การอภัยโทษ และรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานของรัฐ เอกสารประมาณ 220 หน้าจะไปกองอยู่ที่ชั้นหลังห้องให้ฝุ่นจับ ข้อมูลจะยังอยู่ที่นั่น แต่เข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก แต่เมื่อสองปีที่แล้ว สิ่งพิมพ์อายุ 350 ปีเหล่านี้ถูกนำขึ้นออนไลน์ ทำให้ข้อมูลที่น่าอับอายมีโอกาสถูกพบได้ง่ายขึ้น ไม่ว่ามันจะเก่าเพียงใด รูบีกล่าวว่า เขาสงสัยว่าจะมีใครหรือที่ต้องการให้ข้อมูลดังกล่าวหลอกหลอนพลเมืองไปตลอดกาล "กฎหมายกำหนดให้เราต้องใส่ข้อมูลเหล่านี้ลงในราชกิจจานุเบกษา แต่ผมเชื่อว่าหากกฎหมายถูกเขียนในตอนนี้ ผู้ร่างกฎหมายอาจจะบอกว่า โอเค ตีพิมพ์มันได้ แต่มันไม่ควรจะถูกเข้าถึงได้โดยเสิร์ชเอนจิน" เฟอร์นานโด เปเรซ ผู้พิมพ์สิ่งพิมพ์ของรัฐบาลกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวนั้นเคยมีขึ้นเพื่อความโปร่งใส ตัวอย่างเช่น การเปิดเผยรายชื่อของผู้ที่ได้รับทุนการศึกษา จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเอาเงินไปให้ลูกหลานของตัวเองได้ยากขึ้น แต่เขาก็คิดว่า ข้อมูลบางอย่างนั้นมีวงจรชีวิต และจะมีคุณค่าแค่เฉพาะช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า กูเกิลและเสิร์ชเอนจินอื่นๆ มองว่าคดีบางส่วนเป็นการทำลายหลักกฎหมายที่ลงหลักปักฐานแล้วว่า เสิร์ชเอนจินไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อข้อมูลที่พวกเขารวบรวมมาจากเว็บ และหวังว่าศาลสเปนจะเห็นด้วย บริษัทเหล่านี้เชื่อว่าหากมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว ผู้ฟ้องร้องควรจะฟ้องผู้ที่โพสต์เรื่องนั้นๆ บนเว็บ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายในยุโรปเชื่อว่า เสิร์ชเอนจินควรจะถูกควบคุม "พวกเขาบอกว่าพวกเขาไม่ได้ตีพิมพ์ ดังนั้น คุณควรจะไปจัดการปัญหาที่อื่น" ฮาเวียร์ เดอ ลา คูเอวา ทนายผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและเทคโนโลยีจากมาดริดกล่าว "แต่พวกเขาก็เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลออกไป ถ้าไม่มีพวกเขา ก็ไม่มีใครเจอข้อมูลเหล่านี้"
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สหรัฐฯ ดันเน็ตบรอดแบนด์เพื่อครอบครัวรายได้น้อย Posted: 12 Aug 2011 10:48 PM PDT บริษัทคอมคาสต์เปิดตัว “Internet Essentials” โครงการอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ราคาถูกสำหรับครอบครัวรายได้น้อย พร้อมอบรมการใช้สื่อดิจิทัลฟรี โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในการทำตามเงื่อนไขที่คณะกรรมาธิการกิจการโทรคมนาคมของรัฐบาลกลางสหรัฐ หรือ เอฟซีซี (FCC) ระบุว่า หลังควบรวมกิจการกับเอ็นบีซียูนิเวอร์แซลแล้ว คอมคาสต์จะต้องให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกครัวเรือน โดยเว็บไซต์ HotHardware ระบุว่าโครงการนี้แทบจะเหมือนกับโครงการ “Naked DSL” ของเอทีแอนด์ที ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เอฟซีซีระบุว่าเอทีแอนด์ทีจะต้องทำเช่นกัน หลังการควบรวมกิจการกับเบลล์เซาธ์ โครงการ Internet Essentials คิดราคาอินเทอร์เน็ต 10 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ไม่มีค่าแรกเข้า ไม่เสียค่าอุปกรณ์ และจะไม่มีการขึ้นราคา โดยเปิดบริการในทุกที่ที่คอมคาสต์ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ นอกจากนี้โครงการจะอบรมอินเทอร์เน็ตให้ฟรี ทั้งทางออนไลน์ ทางเอกสารคู่มือ และอบรมแบบตัวเป็นๆ และยังเสนอขายเครื่องคอมพิวเตอร์ในราคาถูกที่ 150 เหรียญสหรัฐพร้อมซอฟต์แวร์เพิ่มความปลอดภัยให้กับคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ของโครงการดังกล่าวมีทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาสเปน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มประชากรได้ทั่วถึงขึ้น เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการจะยึดตามเกณฑ์ของโครงการอาหารกลางวัน (National School Lunch Program) ถ้าครอบครัวไหนมีเด็กที่อยู่ในโครงการอาหารกลางวัน และไม่เคยค้างชำระบริการของคอมคาสต์ ก็มีสิทธิจะเข้าร่วมโครงการได้ โดยจะเปิดรับลงทะเบียนไปจนถึงปีการศึกษา 2013-14 และสามารถใช้บริการไปได้ตราบเท่าที่เด็กคนดังกล่าวยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น สหรัฐอเมริกากำลังพยายามผลักดันอย่างหนักให้ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นและนักการศึกษาต่างก็ต้องการให้ทุกครัวเรือนที่มีนักเรียนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยพิวพบว่าเกือบ 70% ของชาวอเมริกันเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จากบ้านได้ แต่มีเพียง 45% ของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือนเท่านั้นที่เข้าถึงบริการดังกล่าว คณะกรรมาธิการกิจการโทรคมนาคมหวังว่าโครงการในลักษณะนี้จะช่วยให้ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล
เรียบเรียงจาก Comcast’s Internet Essentials offers $10 internet access to low-income families, Engadget, 6 ส.ค. 2554; และ Comcast Launching $9.95 ‘Internet Essentials’ Broadband for Low-Income Families, HotHardware, 6 ส.ค. 2554. ผ่าน Slashdot
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://mycomputerlaw.in.th/2011/08/comcast-internet-for-low-income/ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น