โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี เรื่องหมาๆ : ความหมายของหมาระหว่างชนชั้นในสังคมไทย

Posted: 25 Aug 2011 11:53 AM PDT

เรื่องหมาๆ : ความหมายของหมาระหว่างชนชั้นในสังคมไทย

ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี เรื่องหมาๆ : ความหมายของหมาระหว่างชนชั้นในสังคมไทย

ดิฉันมีหมา 1 ตัว ชื่อ ‘โบโบ้’ อันที่จริงจะบอกว่าดิฉันมีหมา หรือเลี้ยงหมา 1 ตัว คงไม่ถูกนัก เพราะหากดูตามข้อเท็จจริงว่าใครเป็นเจ้าของมัน น่าจะหมายถึงพ่อและแม่มากกว่า และคนที่เลี้ยงดู น่าจะเป็น ‘คนใช้’ (การใช้คำว่าคนใช้ในปัจจุบันนี้ แลดูเป็นการกระทำอาชญากรรมและ discriminate มาก เราจะใช้คำว่า แม่บ้าน หรือพี่เลี้ยงมากกว่า ส่วนเวลาคุยกับเพื่อน เราจะพูดว่ากะเหรี่ยงที่บ้าน ฟังดูน่ารักน่าเอ็นดู) มากกว่า เพราะฉะนั้นหมาตัวนี้จึงเป็นแค่หมาที่อยู่ในครอบครัวของดิฉัน จะเคลมว่าหมาของดิฉันก็คงไม่ถูก วันไหนอารมณ์ดีๆ ก็จะเล่นกันมันบ้าง วันไหนคิดงานไม่ออก ไม่รู้จะเขียนอะไร แล้วมันมากวน มาเล่นด้วยก็จะให้พี่เลี้ยงเอาตัวมันออกไป

อย่างที่เห็นกันในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ หรือข่าวในโทรทัศน์ ประเด็นเรื่อง ‘หมา’ ตอนนี้ เป็นข่าวใหญ่ในสังคม เมื่อการจับหมาไปขายกลายเป็นอาชญากรรมของสังคม ที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก จากบรรดากลุ่มก้อนต่างๆ และตอนนี้ก็มีการรณรงค์ไม่กินเนื้อหมา รวมถึงการค้าขายหมาอีกด้วย เรื่องใครผิด ไม่ผิด วัฒนธรรม หรือหมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ นั้น ดิฉันไม่ขอพูดถึง ใครสังกัดอุดมการณ์ใด ก็ว่ากันไป ที่จริงมันจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าเราพูดว่าใครสังกัดอุดมการณ์ใดก็ว่ากันไป แต่ทุกวันนี้ที่เกิดปัญหาคือ อุดมการณ์หนึ่งต้องการจะเทคโอเวอร์อีกอุดมการณ์หนึ่ง ด้วยการเชิดชูอุดมการณ์ของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ ‘ถูกต้อง’ ชักจะมีสาระมากเกินไป กลับมาที่เรื่องเจ้า ‘โบโบ้’ ของดิฉันต่อดีกว่า (แหมมม...ทีตามหน้านิตยสารอื่นๆ ยังมีดารา เซเล็บ มาเล่าเรื่องส่วนตัว เป็นคอลัมน์โด่งดังได้ ทำไมดิฉันจะเขียนเรื่องส่วนตัวบ้างไมได้...ฮึ)

โบโบ้ เป็นหมาหน้าตาน่าเกลียดพันธุ์ปั๊ก ในประวัติศาสตร์ครอบครัวของดิฉันเราเคยมีหมา 3 ตัว ตัวแรก ได้มาจากคุณลุงที่ซื้อเป็นของขวัญให้ดิฉันตอนยังเป็นเด็กหญิงรุ้งรวีอยู่ พอตัวแรกตายไป ดิฉันก็โตขึ้น ชักจะสนใจเพศตรงข้ามมากว่าสนใจเรื่องหมา ก็เลยไม่ได้เลี้ยงอีก มามีตัวที่สองชื่อ ‘บิ๊กน้อย’ เมื่อสักปีก่อนได้ แต่ด้วยอุบัติเหตุ พี่เลี้ยงเปิดประตูบ้านให้พ่อขับรถออกจากบ้าน แล้วไม่เห็นว่าบิ๊กน้อยวิ่งออกจากบ้านไปด้วย บิ๊กน้อยจึงโดนรถ (คนอื่น) ทับตาย สิ้นใจคาที่เสีย ณ วินาทีนั้น ยังความสงสัยมาให้ดิฉันอยู่ทุกวันนี้ว่า อีพวกหมาชาวบ้านที่เลี้ยงแบบปล่อยระเกะระกะ นอนตามพื้นถนนหน้าบ้าน ห้องแถว ขี้เยี่ยวรดเหม็นคลุ้งไปหมดเนี่ย ไม่ยักกะโดนรถชนตาย ดูมันจะเชี่ยวชาญเรื่องการใช้ชีวิตนอกรั้วบ้านเหลือเกิน หรือว่าการเลี้ยงหมาแบบไฮโซ ที่ขลุกอยู่แต่ในรั้วบ้าน เล่นแต่กับคนอย่างบิ๊กน้อยของครอบครัวดิฉันจะเป็นเรื่องที่ผิด ที่ทำให้หมาไม่มีภูมิคุ้มกันทางสังคม (ดิฉันยังสงสัยต่อไปว่า ถ้ามันเห็นหมาพันธุ์อื่น มันจะรู้ไหมว่านั่นเป็นหมา เพราะในชีวิต มันไม่เจอหมาตัวอื่นเลย นอกเสียจากเวลาไปร้านหมอ หรือพาไปตัดขนร้านกรูมมิ่งของหมา)

ไม่นาน...เราก็มีเจ้าโบโบ้ สาเหตุที่มีคือ เรา—ลูกๆ เห็นพร้อมกันว่า บ้านนั้นเงียบเหงาลงไปถนัดตา เมื่อไม่มีหมา ลูกๆ ทุกคนก็ง่วนอยู่กับชีวิตของตัวเอง การมีหมาสักตัวให้พ่อแม่ได้เล่นด้วย หรือมีกิจกรรมทำกับมัน อย่างน้อยก็น่าจะลดบาปในการเป็นลูกอกตัญญูของเราไปได้ไม่มากก็น้อย ที่จริง เรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าแม่ดิฉันมีวงไพ่เป็นของตัวเอง หรือเข้าสังกัดสมาคมคุณหญิงคุณนายอะไรสักอย่าง เช่นเดียวกับคุณพ่อ ถ้าพ่อไปเมียมีน้อย หรือไปเล่นกอล์ฟเสียบ้าง ก็คงไม่จำเป็นต้องซื้อหมาให้เพื่อคลายเหงา และเช่นเดียวกัน...หากเป็นพ่อแม่ชาวบ้าน ร้านตลาดในชนบท เหตุการณ์นี้ก็คงไม่เกิดขึ้น แม่ๆ รุ่นเดอะเหล่านั้นก็คงมีวิธีคลายเหงาหลากหลายแบบ เช่นมานั่งรวมกันบนแคร่ใต้ต้นมะม่วง ในตอนบ่ายๆ นอนหลับบ้าง เมาท์กันบ้าง หามะละกอมาตำส้มตำกินกันบ้าง (หมู่บ้านในจินตนการแบบเก่า) หรือจะเป็นหมู่บ้านในจินตนาการแบบใหม่ ที่เหล่าป้าๆ ยายๆ อาจจะไปเข้าสหกรณ์อะไรสักอย่าง รวมหมู่กันทำผลิตภัณฑ์โอท็อปอยู่ เหล่าลุงๆ ตาๆ ก็คงตีไก่ ชนไก่ (หมู่บ้านในจินตนาการแบบเก่า) หรือกำลังบุกสวนหลังบ้านทำเกษตรกรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ (หมู่บ้านในจินตนาการแบบใหม่)

การเลี้ยงหมามีหลายปัจจัยมากกว่าในกรณีของดิฉันที่ซื้อหมามาเพื่อแก้เหงาให้พ่อแม่ ในหมู่บ้านชนบท หรือแม้กระทั่งชนชั้นล่างในเมือง วิธีการดูแลหมานั้นก็ต่างกัน หมาสำหรับชนชั้นล่าง อาจจะไม่เคยได้กินเพ็ดดีกรี อาหารที่ได้ก็คือเสร็จกระดูกจากอาหารมื้อใดๆ ของครอบครัว หรือข้าวคลุกน้ำแกง ไม่ได้ห่วงว่าอาหารจะเค็มไปไหม หมาจะเป็นโรคไตไหม หรือจะมีสารอาหารที่ทำให้หมาขนหนานุ่ม อึเป็นก้อน ร่าเริงสดใส กระโดดโลดเต้น เหมือนในโฆษณาอาหารหมาหรือเปล่า อย่าว่าแต่เพ็ดดีกรีเลย แม้แต่แชมพูหมาๆ ก็คงไม่เคยสัมผัสขน เคยอาบน้ำหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตรรกกะของการเลี้ยงหมาสำหรับชนชั้นนี้ ก็เพียงเพื่อช่วยให้ชีวิตมันรอดไปตามบุญกรรมที่มี มีอะไรก็เลี้ยงๆ มันไป ความหมายของการเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ ของหมาในชนชั้นนี้ จึงเป็นแค่สิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง ที่เราไม่ได้มีหน้าที่ต้องเลี้ยง (มันอาจจะเป็นลูกของหมาตัวแม่มัน หรือหลงมา) แค่ช่วยเหลือกันไปตามหลักมนุษยธรรม ไม่ต้องการให้มันฉลาด ไม่ต้องคอยมาดูแลทุกข์สุขของมัน (หรือหวังให้มันมาดูแลทุกข์สุขของเรา) ว่ามันจะมีใครเล่นด้วยไหม เหงาไหม ซึมไปหรือเปล่า แค่มันไม่มาขโมยไก่ ขโมยเป็ด หรือขี้ให้สกปรกที่หน้าบ้านก็บุญแล้ว ชนชั้นล่างจึงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า ‘รัก’ หมา หรือรักสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า เพราะวิถีการดูแลสัตว์เลี้ยง หรือความหมาของสัตว์เลี้ยงอย่างหมาของชนชั้นล่าง มันเป็นการกระทำต่อกันอย่างไม่ค่อยมีปัจจัยเรื่องอารมณ์ (ดราม่า) มาเกี่ยวข้อง (นอกจากอารมณ์โกรธ เวลามันขโมยไก่กิน หรือขี้ใส่หน้าบ้านให้ต้องเช็ด...มึงโดนก้อนหินปาที่หัวแน่ๆ)

สำหรับไฮโซ หมาก็คงไม่ต่างจากตุ๊กตาบาร์บี้ ที่ชอบเอามาแต่งตัว (ใส่เสื้อผ้า แม้กระทั่งเครื่องเพชร) เหงาก็หยิบมาเล่น ไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะหยิบมาเล่น มันก็คงเป็นแค่เครื่องประดับของบ้าน แต่เป็นเครื่องประดับที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีหน่อย มีคนให้อาหาร (คนใช้ไง) อาบน้ำให้ (ก็คนใช้อีก) ดูแลความเป็นอยู่อย่างดี (วันไหนครึ้มอกครึ้มใจ ก็จะอาบน้ำให้เอง ให้อาหารเอง เล่นด้วย แต่งตัวให้) แต่ความหมายของหมาสำหรับชนชั้นสูง หรือไฮโซ ก็ไม่ถึงกับเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกบุคคลาธิษฐาน ให้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ที่มนุษย์ต้องดูและเอาใจใส่ประคบประหงมยิ่งเสียกว่าลูกในไส้เสียอีก

ส่วนชนชั้นกลาง น่าจะเป็นชนชั้นที่ได้รับอิทธิพลมาจากชนชั้นไฮโซอย่างสูงในการเลี้ยงเลี้ยงสุนัข ด้วยการยกฐานะความเป็นอยู่ของสุนัขให้ทัดเทียมกับความเป็นอยู่ของหมาไฮโซ (ทำไมชนชั้นกลางไม่เคยได้รับอิทธิพลจากชนชั้นล่างเลยล่ะ ทั้งๆ ที่ส่วนมากชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ก็เกิดมาจากพ่อแม่ของชนชั้นล่างทั้งนั้น หรือนั่นคือความพยายามที่จะเขยิบฐานะทางชนชั้น เหมือนกับที่ทุกๆ ชนชั้นพยายามจะเขยิบฐานะของตนให้สูงขึ้นตามคุณค่าที่ตัวเองให้ เช่นชนชั้นไฮโซใหม่ ที่รวยแล้ว ก็อยากเป็นไฮโซแบบผู้ดี เก่าแก่ นามสกุลดัง จึงพยายามเป็นทองแผ่นเดียวกันกับพวกผู้ดีเก่า ตามคุณค่าทางสังคมบางอย่าง) เขยิบจากการให้อาหารแบบเศษอาหารคลุกข้าว มาเป็นอาหารเม็ด จากการอาบน้ำเอง มาเป็นเข้าร้าน ตัดแต่งขนทำสปา พาออกไปนอกบ้านด้วยประหนึ่งเป็นลูก เป็นคน ซื้อเสื้อผ้าให้ใส่ เปลี่ยนตามฤดูกาลเทรนด์ ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก สร้างข้อความให้ประหนึ่งหมามันมีบทพูด ฯลฯ ความหมายของหมาสำหรับชนชั้นกลาง ได้เพิ่มความ ‘ดราม่า’ มากขึ้นไปกว่าชนชั้นสูง ซึ่งการเพิ่ม ‘สตอรี่’ ของหมาในชนชั้นกลางนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการ ‘บลัฟ’ ชนชั้นสูงว่า นอกจากชั้นจะดูแลหมาได้เท่าเทียมกับชนชั้นสูงแล้ว แต่ชั้นยังดูแลด้วยตัวเอง ให้ความอบอุ่นด้วยตัวเอง คือพูดง่ายๆ คือเพิ่มคุณค่าของ ‘ตัวเอง’ ลงไปในการเลี้ยงด้วย (เหมือนเวลาที่แม่ให้นมลูกเอง จะดูดีกว่าแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมกระป๋อง ทั้งๆ ที่นมกระป๋องแพงนะจ๊ะ และแม้จะให้นมกระป๋องแต่กูก็ให้เองเหมือนกัน ใช้เวลาเท่ากัน ถ้ามัวแต่ให้นมแม่เอง จะเอาเวลาทีไหนไปทำมาหากินล่ะ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ลูกก็ไม่มีกิน ตายอีก แล้วพวกที่ไม่ให้นมแม่เองเนี่ย รักลูกน้อยกว่าเหรอ ?)

ประเด็นที่สำคัญนอกจากการบลัฟเพื่อเพิ่มคุณค่าของตัวเองกับการเป็นชนชั้นกลางแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ ‘ความดราม่า’ ที่เกิดขึ้นกับการให้ความหมายแก่หมาของชนชั้นกลาง ซึ่งอาจะเรียกได้ว่าการสร้าง ‘บุคคลาธิษฐาน’ ให่แก่หมา ให้มันมีอารมณ์ มีความรู้สึกนึกคิด (มากไปกว่าที่มันควรจะมี หรือมีจริงๆ) หรือสตอรี่ เรื่องราวในชีวิต ซึ่งเรื่องอารมณ์ความดราม่าที่เกิดขึ้นของชนชั้นกลางนั้นน่าจะมาจากการเสพ ‘วัฒนธรรมป๊อป’ มากกว่า และหนึ่งในหลายๆ วัฒนธรรมป๊อปที่ว่านั้น ก็คือภาพยนตร์

เมื่อเราพูดถึงคำว่าป๊อปคัลเจอร์ หรือวัฒนธรรมป๊อป นอกจากองค์ประกอบของคำว่าป๊อปปูลาร์หรือเป็นที่นิยมแล้ว คำว่าการบริโภคที่เป็นกระแสหลักของสังคมย่อมเป็นคำที่พ่วงมาด้วย และการบริโภคที่เป็นกระแสหลักของสังคมก็คงไม่ใช่สังคมของซูดานที่กำลังประสบภาวะอดอยากที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือสังคมของชนชั้นล่างที่ต้องสนใจเรื่องปากท้องเป็นอันดับแรก สังคมที่ว่าก็คงต้องเป็นสังคมของชนชั้นกลาง ที่กำลังสนใจว่าหนังเรื่องไหนขึ้นบ๊อกซ์ออฟฟิศอันดับหนึ่ง ตอนนี้มีอะไรเด็ดๆ ในยูทูบ หรือทำไมแพนเค้กถึงเล่นละครเรื่อง ‘ทวิภพ’ ได้ห่วยมาก วัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์จึงเป็นวัฒนธรรมที่ผูกขาดโดยชนชั้นกลาง (ไม่ได้หมายถึงแค่ใครส่งอิทธิพลต่อใคร แต่ทั้งสองสิ่งนั้นส่งผลในการต่อรองกันและกัน) เป็นวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นต่อพฤติกรรมการบริโภคของชนชั้นกลาง และในการบริโภคนั้นก็ใส่รหัสอุดมการณ์บางอย่างลงไป เพื่อส่งผ่านไปยังผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครน้ำเน่า เอ็มวี หนังสือการ์ตูน ฯลฯ

แล้วหมาโผล่มาตรงไหนในวัฒนธรรมป๊อป ?

เรื่องหมาๆ ก็ถูกใส่รหัสอุดมการณ์บางอย่างส่งผ่านมายังผู้บริโภคเช่นเดียวกัน เราเติบโตมาใหนหนัง การ์ตูน ละคร ที่มีหมาเป็น ‘ตัวละคร’ หลากหลายเรื่อง หมาไม่ใช่เพียงแค่อุปกรณ์ประกอบฉาก ที่ถือเป้นองค์ประกอบที่ทำให้ฉากของบ้านนั้นสมบูรณ์ แต่หมายังเป็นตัวลครที่มีบทพูด สตอรี่ หรือเรื่องราวเป็นของตัวเอง เรามีการ์ตูนอย่างไอ้เขี้ยวเงิน (ว้าย...รู้หมดว่ารุ่นไหน) ที่หมาเป็นฮีโร่ พิทักษ์คน มีการ์ตูนเบาสมองอย่างสกูปีดู ที่หมาเป็นเพื่อนของคน พูดได้ คุยกันรู้เรื่องด้วยซ้ำไป หรือวรรณกรรมอย่างมอม ของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมท มีหนังหลายพันเรื่องที่มีหมาเป็นตัวละครในนั้น (เสิร์จใน imdb ดูสิ มีมากกว่า 6 พันเรื่องเลยแหละ) จะไม่ยกตัวอย่างไปไกล เดี๋ยวจะจับได้ว่ารุ่นไหน อย่างเช่น Hachi : A Dog’s Tale ที่ฮอลลีวู้ดนำเรื่องราวของญี่ปุ่นมาสร้างใหม่ หรือหนังไทยอย่างหมูปิ้ง (เหมือนที่มีคนเลิกกินหมูเพราะดูหนังเรื่อง Babe )

ในวัฒนธรรมป๊อป หมาจึงถูกสร้างให้เป็นตัวละคร ที่มีบทบาทมากกว่าความหมายของการเป็นหมาทั่วไป หมามีความคิด จิตใจ เหงาเป็น ฟังคนพูดรู้เรื่อง เชื่อฟัง ซื่อสัตย์ หรือแม้กระทั่งเก่งกาจสามารถช่วยชีวิตคนได้ เรื่องราวเหล่านี้ได้สร้างให้ภาพของหมาที่ชนชั้นกลางรับมา (เพราะเสพโดยดตรง และวัฒนธรรมป๊อปมุ่งกระทำต่อชนชั้นกลางโดยตรง) และผูกติดความหมายนี้ให้เป็นความหมายของหมาหนึ่งเดียวในโลกใบนี้ ทั้งหมาที่ตัวเองเลี้ยง หรือหมาตัวอื่นๆ และความสัมพันธ์ระหว่างหมากับคน จึงกลายเป็นความสัมพันธืแบบดราม่าอย่างชนชั้นกลางไปหมด ทั้งๆ ที่ยังมีอีกหลายรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างหมากับคนในสังคมนี้ อย่างเช่นหมาของชนชั้นล่าง หรือแม้กระทั่งหมาในวัฒนธรรมอื่นๆ

จากข่าวที่กำลังโด่งดังอยู่ในตอนนี้ คนที่กินเนื้อหมา รวมถึงคนที่ค้าขายเนื้อหมา จึงกลายเป็น ‘อาชญากรรม’ สำหรับชนชั้นกลาง ที่ถูกต่อต้านและด่าประณาม ว่ากินเนื้อ ‘เพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์’

ดิฉันเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ติดอยู่กับอุดมคติแบบชนชั้นกลางอยู่บ้าง ดิฉันเลี้ยงหมา แม้จะไม่ให้ความรักมันเท่าไหร่ แต่ก็ไม่กินเนื้อหมา เห็นหมาถูกทำร้ายก็สงสาร เห็นหมาถูกฆ่าก็รับไม่ได้เหมือนกัน เป็นพวกแอ๊บขาว หรือหลากสีในกรณีนี้ก็ว่าได้ (ยอมรับตรงๆ ค่ะ) แต่การที่เราจะเอาอุดมการณ์ส่วนตัวมาเพื่อประณามคนอื่น เพียงเพราะเขาสังกัดอยู่กับอีกอุดมการณ์ โดยไม่เข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือความหมายที่ไม่เป็นสากลของหมา ก็เป็นเรื่องที่เราต้องทบทวน ทำความเข้าใจ และหาทางออก ดิฉันคิดว่ากลุ่มที่รักหมาก็สิทธิที่จะรณรงค์ภายใต้แคมเปญความเชื่อของตัวเอง แต่การรณรงค์นั้นไม่ควรถึงขั้นด่ทอ ประณามผู้อื่นเพียงเพราะเขาอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง หมาสำหรับเขาไม่ใช่เพื่อนที่ดีท่สุด ที่จะเอาขึ้นเตียงนอนด้วยทุกคืน การกินหมาสำหรับเขาก็ไม่ต่างจากการกินเนื้อแกะจากนิวซีแลนด์ หรือนกกระจอกเทศจากฟาร์มของเสธ.หนั่น ดิฉันว่าภาพของแกะที่ถูกฆ่า หรือนกกระจอกเทศที่ถูกฆ่า หรือแม้กระทั่งเหี้ย ตะกวด ตัวเงินตัวทอง (มันตัวเดียวกันหมดหรือเปล่า ?) อีแร้ง ที่ถูกฆ่าก็คงน่าสงสารเหมือนกัน ในฐานะสิ่งมีชีวิตหนึ่ง (หรือแม้กระทั่งหมู ไก่ ควาย เป็ด เพียงแต่สัตว์เหล่านี้ถูกสร้างสตอรี่ไม่พอ)

หรือว่าต่อไปนี้ จะต้องสร้างหนัง ‘เหี้ยเพื่อนรัก’ สักเรื่อง เผื่อคนจะหันมาสร้างสตอรี่ หรือบุคคลาธิษฐานให้กับเหี้ยขึ้นมาเหมือนกับหมาบ้าง เอ...ว่าแต่จะเชิญใครมาเป็นพระเอกดี ยังคิดไม่ออก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุบลให้ประกันเพิ่ม 5 จำเลยเผาศาลากลาง ส่วนศาลมหาสารคามไม่ให้ประกัน

Posted: 25 Aug 2011 10:30 AM PDT

25 ส.ค.54 นายวัฒนา จันทรสิงห์ ทนายจำเลยในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จำเลย 4 คน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาเมื่อ 24 ส.ค. 54 ให้จำคุก 2 ปี คือ นายประดิษฐ์ บุญสุข นายลิขิต สุทธิพันธ์ นายไชยา ดีแสง และนายพิสิทธิ์ บุตรอำคา โดยวางหลักทรัพย์รายละ 300,000 บาท รวมทั้งยื่นประกันนายพิเชษฐ์ ทาบุดดาหรืออาจารย์ต้อย แกนนำกลุ่มชักธงรบ ซึ่งต้องโทษเพียง 1 ปี แต่ยังติดคดีอื่นในช่วงการชุมนุมอีก 3 คดี โดยญาติหอบหลักทรัพย์มาวางประกัน รวม 900,000 บาท

จากนั้น เวลา 16.00 น.   ศาลจังหวัดอุบลฯ มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง  5 ทำให้ญาติที่รอลุ้นอยู่ต่างพากันดีใจ และไปรอรับตัวออกจากเรือนจำเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.

ทั้งนี้ หลังจากการปล่อยตัวจำเลยที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง จำเลยที่ต้องขังครบกำหนดโทษแล้วไปเมื่อวานนี้(24 ส.ค.54) รวมทั้งปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ได้ประกันในวันนี้แล้ว ทำให้ในเรือนจำจังหวัดอุบลฯ คงเหลือผู้ต้องขังในคดีเผาศาลากลางอีก 4 คน ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุก 33 ปี 4 เดือน เป็นหญิง  1 คน และชาย 3 คน โดยนายวัฒนา เปิดเผยว่าจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวทั้ง 4 คน ในวันที่ 26 ส.ค.54 โดยทีม ส.ส.จังหวัดอุบลฯ ของพรรคเพื่อไทยจะเดินทางมาเป็นนายประกันให้

ส่วนทางด้านจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ส.ส.เพื่อไทยจากทั้ง จ.มหาสารคามและร้อยเอ็ดจำนวน  3 คน ได้ใช้ตำแหน่งและหลักทรัพย์รวม 1,500,000 บาท ขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย 3 ใน 9 คน ซึ่งต้องโทษจำคุก 5 ปี 8 เดือน ในข้อหาวางเพลิง-ตระเตรียมการวางเพลิง ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 คือ นายอุทัย คงหา นายไพรัช จอมพรรษา และนายเดชอดุลย์ เดชบุรัมย์ โดยขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ศาลจังหวัดมหาสารคาม  มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลเดิมคือ คดีมีอัตราโทษสูง เกรงจำเลยหลบหนี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรรคการเมืองไทใหญ่พบทูต UN ขอช่วยผู้ลี้ภัยการสู้รบในรัฐฉาน

Posted: 25 Aug 2011 10:17 AM PDT

สมาชิกพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) พบหารือนายควินทานา ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เสนอขอช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในรัฐฉาน 

แหล่งข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ส.ค. สมาชิกพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติฉาน (Shan National Democracy Party – SNDP) หรือ "พรรคเสือเผือก" พรรคการเมืองของไทใหญ่ จำนวน 17 คน มีโอกาสพบหารือกับนายโทมัส โอเจีย ควินทานา ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ขณะเดินทางเยือนสหภาพพม่า โดยทางสมาชิกพรรค SNDP ได้รายงานและเสนอขอให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเหตุการสู้รบในรัฐฉาน โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ลี้ภัยในประเทศ

จายสองสี่ รองประธานพรรค SNDP เปิดเผยว่า สมาชิกพรรคได้พบหารือกับนายโทมัส โอเจีย ควินทานา ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และได้ร้องขอให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์สู้รบในรัฐฉานด้วยการตั้งเป็นศูนย์ผู้ลี้ภัย เพื่อให้ผู้ลี้ภัยไม่ต้องอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย และเพื่อให้ง่ายต่อการรับการช่วยเหลือ ในส่วนของพรรค SNDP ซึ่งได้รับเลือกจากประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก

ทั้งนี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน SHRF ได้เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA/SSPP ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ส่งผลในขณะนี้มีประชาชนอพยพหนีจากการกระทำที่โหดร้ายของทหารกองทัพรัฐบาลทหารพม่าแล้วกว่า 30,000 คน และคนเหล่านี้กำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างแสนสาหัส

โดยรายงานระบุว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคม กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้เคลื่อนพลทหารกว่า 4,000 นายจาก 42 กองพัน รวมทั้งใช้เครื่องบินรบเข้าโจมตี เพื่อที่จะยึดกองบัญชาการกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ที่อยู่บ้านไฮ อำเภอเกซี โดยเพิ่มกองกำลังทหารล้อมรอบหลายๆ หมู่บ้าน กองทัพทหารพม่าได้กระทำทารุณกรรมอย่างกว้างขวางต่อประชาชน รวมทั้งฆ่า ข่มขืนและทำร้ายทุกรูปแบบ

ขณะที่เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายโทมัส โอเจีย ควินทานา ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้เดินทางเยือนพม่าโดยมีกำหนดการเยือน 5 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ทั้งนี้ นายควินทานา มีกำหนดพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่าที่กรุงเนปิดอว์ รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีมหาดไทย และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจของพม่า ทั้งมีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมสภาแห่งชาติที่กำลังจะมีขึ้นในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งจะเดินทางไปยังเรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้งด้วย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือมติชน-ข่าวสดโต้คณะอนุกรรมการฯ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ชี้มีอคติ-ตั้งธงผลสอบไว้แล้ว

Posted: 25 Aug 2011 09:07 AM PDT

แถลงการณ์เครือมติชน-ข่าวสดชี้การที่คณะอนุกรรมการฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติออกมายอมรับว่ากำหนดประเด็นสอบขึ้นมาเอง โดยมิได้แจ้งองค์กรที่ถูกสอบสวนให้รับทราบและชี้แจง สะท้อนว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเอนเอียง มีอคติ และมีข้อสรุปล่วงหน้าในใจว่าจะให้ผลสอบออกมาอย่างไร

เวลาประมาณ 20.00 น. วันนี้ (25 ส.ค.) เครือมติชน-ข่าวสด ออกแถลงการณ์ชี้แจงคำแถลงของคณะอนุกรรมการฯสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม (อ่านข่าวย้อนหลัง) ดังนี้

1.แถลงการณ์ของคณะอนุกรรมการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับว่ากำหนดประเด็นการสอบขึ้นมาเอง โดยมิได้แจ้งให้องค์กรที่ถูกสอบสวนรับทราบและชี้แจง หรือการสรุปเอาเองว่าที่ต้องตรวจสอบอย่างเร่งด่วนนั้นเพราะเห็นว่าพฤติกรรม ดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

สะท้อนข้อเท็จจริงตามที่มติชน-ข่าวสดชี้เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ดำเนินการไปด้วยความเอนเอียง มีอคติ และมีข้อสรุปล่วงหน้าเอาไว้ในใจอยู่แล้วว่าจะให้ผลสอบออกมาอย่างไร   

2.ความพยายามในการตอบว่าการเปิดเผยนามปากกามิใช่เรื่องผิด  เพราะไม่ได้ทำให้ผู้เขียนเกิดความเสียหาย สะท้อนว่าคณะกรรมการตั้งกติกาของตนเองขึ้นมาเอง ทั้งที่เมื่อคณะกรรมการทำงานภายใต้ชื่อของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็จะต้องเคารพและดำเนินการตามกรอบและกติกาของข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

3.ในแถลงการณ์ล่าสุด มีความพยายามในการเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาโจมตีหนังสือพิมพ์ที่ถูกกล่าวหา อาทิ การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ อันเป็นงานที่หนังสือพิมพ์ดำเนินการไปโดยสุจริต เปิดเผย และสามารถตรวจสอบได้

ตอกย้ำข้อสังเกตของแถลงการณ์มติชน-ข่าวสดที่ผ่านมา ว่าคณะกรรมการมีธงล่วงหน้าในการสอบสวนอยู่แล้ว เพราะเมื่อไม่ได้ดังใจในประเด็นหนึ่ง ก็เปิดประเด็นใหม่ขึ้นมากล่าวหาโจมตีเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอด

4.เมื่อประกอบกับการที่แถลงการณ์ฉบับล่าสุดนี้มิได้ผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รวมทั้งสะท้อนข้อเท็จจริงอยู่ในตัวเองว่า คณะอนุกรรมการดำเนินการสอบสวนไปโดยความเอนเอียง มีธงในการสอบสวนอยู่ก่อนแล้ว มีการบิดเบือนข้อมูลรับใช้ความต้องการส่วนตัว ขณะที่มีหลักฐานปรากฎชัดเจนว่าอนุกรรมการบางรายมีความเกี่ยวโยงกับพรรคการ เมืองที่ถูกระบุว่าเป็นผู้เสียหายจากแถลงการณ์นี้

เครือมติชน-ข่าวสด ย่อมไม่สามารถรับผลการสอบสวนที่ออกมา และเห็นว่าแถลงการณ์ฉบับล่าสุดนี้ยิ่งตอกย้ำและเปิดเผยจุดยืน และเจตนารมณ์อันไม่บริสุทธิ์ของกระบวนการและขบวนการดังกล่าวได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปราบต์ บุนปาน

Posted: 25 Aug 2011 08:52 AM PDT

เรามักพบว่าคนที่ประกาศตนว่าอยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งหรือผลประโยชน์ มิได้มีพฤติกรรมซึ่ง "ไม่ยุ่งเกี่ยว" กับความขัดแย้งหรือผลประโยชน์นั้นๆ เสมอไป

′ความเป็นกลาง′, 25 ส.ค. 2554

คนเสื้อแดงทำร้ายร่างกายฝ่ายต้านรัฐบาลหลังบุกวางหรีดประท้วง "ขุนค้อน"

Posted: 25 Aug 2011 08:50 AM PDT

ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ปักหลักอยู่หน้ารัฐสภาทำร้ายและขัดขวางหลังชาย 2 คนพยายามนำพวงหรีดมาวางประท้วง "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" เพื่อขอให้ทำตัวเป็นกลางในฐานะประธานรัฐสภา

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันนี้ (25 ส.ค.) ว่า ที่หน้ารัฐสภา ฝั่งสวนสัตว์ดุสิต ยังคงมีกลุ่มเสื้อแดงปักหลักชุมนุมให้กำลังใจในการแถลงนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ซึ่งจนถึงวันนี้เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว โดยเมื่อเวลา 12.10 น. บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา มีชาย 2 คน ทราบชื่อภายหลังคือ นายยุทธภูมิ ตันเล่ง อายุ 34 ปี และ นายอาทิตย์ พูลศิริ ระบุว่ามาในฐานะอดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี พยายามจะมาวางพวงหรีดที่มีข้อความว่า “แด่…นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้ทำหน้าที่เป็นกลางในดวงใจทักษิณ” จากกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตย โดยจะวางพวงหรีดหน้าประตูทางเข้ารัฐสภาฝั่ง ถ.อู่ทองใน และกำลังจะอ่านแถลงการณ์ แต่กลับถูกกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่ปักหลักอยู่หน้ารัฐสภา เข้ามารุมขัดขวาง และทำร้ายไม่ให้วางพวงหรีด พร้อมยื้อยุดฉุดกระชากพวงหรีดไปทำลาย จากนั้นมีกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งพยายามมาห้ามปราม และกันตัวออกไปจากบริเวณดังกล่าว

ภายหลังเหตุการณ์ นายยุทธภูมิ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ตั้งใจจะมายื่นพวงหรีดให้กับนายสมศักดิ์​ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ทำตัวเป็นกลางในการควบคุมการประชุม ซึ่งการมาครั้งนี้เป็นการมาด้วยตัวเอง ไม่มีใครจ้างมา ตามสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อมาถึงก็ถูกกลุ่มคนเสื้อแดง 10-20 คน เข้ามารุมทำร้าย โดนต่อยบ้าง โดนถีบบ้าง ถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามากัน แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะคนเสื้อแดงมีจำนวนมากกว่า อย่างไรก็ตาม​ตนคงไม่ติดใจเอาเรื่อง และจะไม่ไปแจ้งความดำเนินเอาผิดกับคนเสื้อแดง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายสมศักดิ์​ยังทำหน้าที่ไม่เป็นกลางต่อไป ก็จะมายื่นพวงหรีดอีกหรือไม่ ​นายยุทธภูมิ กล่าวว่า คงต้องมาอีก แต่ต้องดูว่าจะมาแบบไหน อาจจะเลี่ยงใช้วิธีอื่น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ช่างภาพเอเอฟพีได้รับรางวัลส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศจากการถ่ายภาพคนเสื้อแดง

Posted: 25 Aug 2011 03:51 AM PDT

เว็บไซต์สเตรทไทมส์รายงานว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ช่างภาพของเอเอฟพี นิโคลัส อัสโฟรี ซึ่งถ่ายภาพชายเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างคนเสื้อแดงและกองกำลังฝ่ายความมั่นคง เป็นหนึ่งในผู้รับรางวัลจากการจัดประกวดรางวัลยอนฮับ อินเตอร์เนชั่นแนลครั้งแรก โดยการจัดงานดังกล่าวมีขึ้นที่สำนักงานองค์การสสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก โดยมีนายบัน คี มุน เป็นประธานในงาน

นายอัสโฟรี ได้รับรางวัลจำนวน 5,000 เหรียญสหรัฐ จากผลงานการถ่ายภาพรูปของชายคนหนึ่งที่ร่างกายอาบด้วยเลือดถูกอุ้มออกมาจากการประท้วงที่มีผู้เสียในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน เม.ย. 2553 ขณะที่ผู้สนับสนุนของทักษิณเผชิญหน้ากับกองกำลังฝ่ายทหาร ซึ่งรางวัลที่เขาได้รับจัดอยู่ในประเภท “ส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศ”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอ็นจีโอแรงงานให้กำลังใจสหภาพรถไฟ หลังปลัดคมนาคมพร้อมเจรจาชะลอเลิกจ้าง

Posted: 25 Aug 2011 02:38 AM PDT

25 ส.ค. 54 - โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยออกจดหมาย "ขอเป็นกำลังใจในการต่อสู้และขอร่วมยืนหยัดการต่อสู้" หลังได้ทำหน้าที่ของสหภาพแรงงาน โดยการปกป้องดูแลคุ้มครองด้านรัฐวิสาหกิจการรถไฟในเรื่องความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคคมนาคมทางรถไฟ แต่กลับถูกการรถไฟฯ ลงโทษกรรมการสหภาพฯสาขาหาดใหญ่จำนวน 6 คนและมีการยื่นฟ้องศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษและขออนุญาตเลิกจ้างประธาน/กรรมการสหภาพฯ 7 คนในที่สุดศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 อนุญาตให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเลิกจ้างประธาน /กรรมการสหภาพฯ ทั้ง 7 คนและให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 15 ล้านบาท

ทั้งนี้ด้านความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 54 ที่ผ่านมานายสุพจน์  ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม  กล่าวภายหลังตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือถึงตนในฐานะประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.) เกี่ยวกับการเลิกจ้างคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาให้ รฟท. เลิกจ้างกรรมการบริหารทั้ง  7  คน  รวมถึงนายสาวิทย์  แก้วหวาน  ประธานสหภาพฯ และชดใช้ค่าเสียหายจำนวน  15  ล้านบาท ว่า สรส.ได้ยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการ รฟท. เจรจากับฝ่ายบริหาร เพื่อให้ชะลอการเลิกจ้างกรรมการบริหารสหภาพฯ รฟท. ทั้ง  7  คน  เพื่อรอให้คดีตามขั้นตอนของศาลแรงงานกลางถึงที่สุด ซึ่งก็พร้อมจะเจรจากับฝ่ายบริหาร  เพื่อชะลอคำสั่งเลิกจ้างจนกว่าศาลแรงงานจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด  ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าการพัฒนาและแก้ปัญหาของกิจการรถไฟ สหภาพฯ  ให้ความร่วมมือที่ดี และเชื่อว่าในอนาคตฝ่ายบริหารและสหภาพฯ จะทำความเข้าใจร่วมกันถึงประเด็นที่จะไม่ให้เกิดการหยุดเดินรถที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีก

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตศาลแรงงานมีคำพิพากษาออกมาเช่นไร คณะกรรมการและฝ่ายบริหาร รฟท.ก็คงต้องปฏิบัติ

 

25 สิงหาคม 2554

เรื่อง ขอเป็นกำลังใจในการต่อสู้และขอร่วมยืนหยัดการต่อสู้
เรียน ประธาน / กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

เนื่องด้วยทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ทราบข่าวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ ได้ทำหน้าที่ของสหภาพแรงงาน โดยการปกป้องดูแลคุ้มครองด้านรัฐวิสาหกิจการรถไฟในเรื่องความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคคมนาคมทางรถไฟ  การรณรงค์เรียกร้องให้การรถไฟฯปรับปรุงด้านความปลอดภัยในการเดินรถแต่กลับได้รับสิ่งตอบแทนจากการรถไฟฯ คือได้มีคำสั่งลงโทษกรรมการสหภาพฯสาขาหาดใหญ่จำนวน 6 คนและมีการยื่นฟ้องศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษและขออนุญาตเลิกจ้างประธาน/กรรมการสหภาพฯ 7 คนในที่สุดศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 อนุญาตให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเลิกจ้างประธาน  / กรรมการสหภาพฯ ทั้ง7 คนและให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 15 ล้านบาท

ทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่ทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟมาโดยตลอด  สหภาพแรงงานรถไฟถือได้ว่าเป็นสหภาพฯที่ทำงานร่วมกับทุกเครือข่ายและเป็นสหภาพที่เคลื่อนไหว รณรงค์เพื่อสังคมของคนยากจน

ดังนั้นไม่ว่าปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ  ทางโครงการรณรงค์เพื่อกรงงานไทยจะร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่จนกว่าจะได้รับความยุติธรรม

ด้วยความสมานฉันท์

สุธาสินี  แก้วเหล็กไหล
ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุกรรมการสอบอีเมลนักการเมืองฯ โต้แถลงการณ์เครือมติชน

Posted: 25 Aug 2011 01:40 AM PDT

25 ส.ค. 54 – คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้เผยแพร่คำชี้แจงต่อแถลงการณ์ของเครือมติชน-ข่าวสด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

คำชี้แจงของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ต่อแถลงการณ์ของเครือมติชน-ข่าวสด

หลังจากที่มีการเผยแพร่รายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะ เรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมือง ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน   หนังสือพิมพ์ในเครือมติชน-ข่าวสด ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 คัดค้านรายงานดังกล่าว   โดยเนื้อหาบางส่วนของแถลงการณ์นั้นได้กล่าวหาคณะอนุกรรมการฯ หลายประการ เช่น  คณะอนุกรรมการฯ ขยายขอบเขตของการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกไปเอง   ไม่เรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรสื่อที่พาดพิงไปถึง  นำผลการตรวจสอบที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผยก่อน  ละเมิดข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วยการเปิดเผย นามปากกาของผู้ถูกตรวจสอบ  กล่าวหาพรรคเพื่อไทยอย่างร้ายแรงโดยใช้ถ้อยคำกำกวมเพื่อให้ตีความไปในทางลบ  เชื่อมโยงข้อมูลการโฆษณากับเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ตามอำเภอใจตนเอง  ตั้งเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้กับหนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นการเฉพาะ  และสรุปผลการตรวจสอบผิดพลาดเพราะไม่เข้าใจหลักการจัดทำหนังสือพิมพ์

เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน   คณะอนุกรรมการฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ข้างต้นดังต่อไปนี้

1. คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการตรวจสอบนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมายหรือไม่?

คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ตามประกาศสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 มิได้ระบุประเด็นในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ ไว้อย่างชัดเจน   คณะอนุกรรมการฯ จึงต้องกำหนดประเด็นในการตรวจสอบโดยพิจารณาจากคำปรารภในประกาศดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงความเป็นห่วงต่อความน่าเชื่อถือต่อองค์กรวิชาชีพสื่อซึ่งอาจได้ รับผลกระทบอย่างร้ายแรง และพิจารณาอีเมลที่เป็นปัญหา ซึ่งมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการ “บริหารจัดการสื่อมวลชน” ของพรรคเพื่อไทย และมีเนื้อหาเพียงเล็กน้อยที่กล่าวถึงการให้สินบนแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ มวลชน ที่อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของการ “บริหารจัดการสื่อมวลชน” ดังกล่าว    การตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดจริยธรรมตามอีเมลที่เป็นปัญหา จึงจำเป็นต้องตรวจสอบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงได้แสดงความเอนเอียงออกมาในบทความของตนหรือไม่ อย่างไร  และหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวในช่วงเวลาการหาเสียง เลือกตั้งอย่างไร    ประเด็นหลังมีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ประกอบ อาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงในอีเมล ล้วนเป็นบุคลากรระดับหัวหน้าข่าว หรือบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้เขียนข่าวหรือบทความเองในบางครั้งแล้ว ยังอาจมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางข่าวของหนังสือพิมพ์ได้  การจะตรวจสอบเฉพาะบทความที่ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์เขียนนั้นจึงไม่น่าจะ เพียงพอ และจำเป็นต้องตรวจสอบเนื้อหาข่าวและบทความทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในหนังสือ พิมพ์ด้วย

ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 6 ครั้งที่ 8/2554 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554   เลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงวิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวของคณะอนุกรรม การฯ แล้ว  โดยรายงานความก้าวหน้าและตอบข้อซักถามว่า เหตุใดจึงต้องขอขยายเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกไป   ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดรวมทั้งกรรมการจากเครือมติชนซึ่งเข้าประชุมด้วยท้วงติง หรือคัดค้านแต่อย่างใด   นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินัดพิเศษ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 เพื่อเสนอรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการที่เข้าร่วมประชุมท่านใดทักท้วงว่า มีการตรวจสอบนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย     ข้อเท็จจริงเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้จากรายงานและเทปบันทึกเสียงการ ประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทั้งสิ้น

จึงสรุปได้ว่า คณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

2. คณะอนุกรรมการฯ ไม่เรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรสื่อที่พาดพิงไปถึง จึงเป็นการดำเนินการลับหลังแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่? 

รายงานของคณะอนุกรรมการฯ  ระบุอย่างชัดเจนว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้พยายามติดต่อเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ที่ถูกพาดพิงผ่านองค์กรหนังสือ พิมพ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี   เว้นแต่ในกรณีของเครือมติชน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือเชิญไปถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาให้ข้อเท็จจริง    แม้แถลงการณ์ของเครือมติชนจะอ้างว่า บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด ได้ให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการฯ ด้วยการชี้แจงเป็นเอกสารก็ตาม  หากพิจารณาเอกสารดังกล่าว จะพบว่า ไม่มีสาระใดที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบเลย นอกจากการยืนยันในทำนองที่ว่า มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการภายในแล้ว แต่ไม่พบพฤติกรรมที่ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพแต่อย่างใด     

จดหมายตอบกลับของเครือมติชนยังแสดงถึงท่าทีของการไม่ต้อนรับการตรวจสอบ จากภายนอก ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “เป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อแต่ละฉบับที่ถูกพาดพิงที่จะบรรเทาผลกระทบที่จะ เกิดขึ้นเอง”  ทั้งที่การตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วนนั้น ก็เนื่องมาจากเห็นว่า พฤติกรรมตามข่าวดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือ พิมพ์ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง  และมีความสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับตรวจสอบกันเอง เป็นการภายใน   

เครือมติชนฯ จึงไม่สมควรกล่าวหา คณะอนุกรรมการฯ ว่า ไม่ได้เรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากตน  เนื่องจากตนไม่ให้ความร่วมมือตามที่ควรกับคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้แก่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

3.  คณะอนุกรรมการฯ นำผลการตรวจสอบที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผยก่อนหรือไม่? 

แถลงการณ์ของเครือมติชน และการลงข่าวของหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ซึ่งพาดหัวข่าวใหญ่ว่า “สภา นสพ. ไม่รับรองผลสอบที่หมอวิชัยแถลง”  มีเนื้อหาที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง  เนื่องจากที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ได้พิจารณาและรับรองผลการศึกษาดังกล่าวแล้ว ดังปรากฏในแถลงการณ์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ว่า   “สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยืนยันรับรองรายงานของอนุกรรมการสอบฯ อีเมลฉาว”    นอกจากนี้ การที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีมติให้ส่งรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ไปให้แก่ผู้ถูกพาดพิง ย่อมเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้พิจารณาและรับรองรายงานดังกล่าวแล้ว   จึงไม่เป็นความจริงที่ว่า คณะอนุกรรมการนำผลการตรวจสอบที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผย

นอกจากนี้ การเปิดเผยรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ด้วยการแถลงข่าว ยังเกิดขึ้นตามมติของที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินัดพิเศษเมื่อวัน ที่ 17 สิงหาคม 2554 และสอดคล้องกับข้อความในเอกสารเผยแพร่ข่าว (press release) ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ออกหลังการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 ที่กำหนดให้คณะอนุกรรมการฯ รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แก่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทราบ เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบแก่สาธารณชนต่อไป     ทั้งนี้ ในการเปิดเผยรายงานดังกล่าว รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 1 ในฐานะประธานที่ประชุม และประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยมีกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่เข้าร่วมประชุมจำนวนมากเป็นสักขี พยาน   จึงมีหลักฐานที่หนักแน่นที่ยืนยันว่า ประธานคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ “ชิงแถลงผลสอบ” ตามที่แถลงการณ์ของเครือมติชนกล่าวอ้าง

4.คณะอนุกรรมการฯ ละเมิดข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์ด้วยการเปิดเผยนามปากกาของผู้ถูกตรวจสอบหรือไม่?

การเปิดเผยนามปากกาของผู้ที่ถูกพาดพิงในรายงานของคณะ อนุกรรมการฯ เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับมอบหมาย    และเป็นการดำเนินการที่มีความจำเป็นต่อการที่สาธารณชนจะสามารถตรวจสอบข้อ สรุปของคณะอนุกรรมการฯ ได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงนั้นมีความเอนเอียงในการเขียนบท ความหรือไม่   ทั้งนี้ การเปิดเผยดังกล่าวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง  ดังนั้น การเปิดเผยนามปากกาของผู้ถูกพาดพิงโดยคณะอนุกรรมการฯ จึงไม่ใช่การเปิดเผยนามปากกาในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความเสียหายตามนัยของ ข้อบังคับด้านจริยธรรมข้อ 14 ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ        

นอกจากนี้ นามปากกาของผู้ถูกพาดพิงบางคนก็เป็นข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว เช่นข้อเท็จจริงที่ว่า “พลุน้ำแข็ง” เป็นนามปากกาของนายจรัญ พงษ์จีน นั้นก็เคยปรากฏอยู่ในคอลัมน์สแควร์พาร์ ประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2551 ในเว็บไซต์มติชนเอง โดยคอลัมน์ดังกล่าวยังได้เปิดเผยชื่อเจ้าของนามปากกา “ไต้ฝุ่น” ของไทยรัฐและ “ตรีศูล” ของเดลินิวส์อีกด้วย

ดังนั้น หากมีการละเมิดข้อบังคับจริยธรรมในเรื่องดังกล่าว ผู้ละเมิดย่อมไม่ใช่คณะอนุกรรมการฯ อย่างแน่นอน   

5. คณะอนุกรรมการฯ กล่าวหาพรรคเพื่อไทยอย่างร้ายแรง โดยใช้ถ้อยคำกำกวม เช่น พรรคดังกล่าวอาจมีการ "ดูแล"  ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรค   เพื่อให้ผู้ที่ได้อ่านรายงานตีความไปในทางลบหรือไม่?  

คำว่า “ดูแล” เป็นคำที่ปรากฏอยู่ถึง 3 ครั้งในอีเมลทั้งสองฉบับที่น่าเชื่อว่าเป็นของนายวิม ซึ่งเป็นต้นเรื่องของการตรวจสอบข้อเท็จจริง  คำดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นคำที่คณะอนุกรรมการฯ เลือกใช้เอง โดยมีจุดประสงค์แอบแฝงใดๆ     นอกจากนี้ ข้อสันนิษฐานของคณะอนุกรรมการฯ ที่ว่า อาจมีการ “ดูแล” ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนบางรายก็ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานที่เลื่อนลอย หากแต่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบจากผู้ให้ข้อมูลซึ่งมีความน่าเชื่อถือ  

6. คณะอนุกรรมการฯ น่าจะมีเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้แก่หนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นการเฉพาะหรือไม่?  

คณะอนุกรรมการฯ ขอชี้แจงว่า ไม่มีอนุกรรมการฯ คนใดที่ขันอาสาเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับอีเมลอื้อฉาวนี้ ด้วยตนเอง  หากแต่ได้รับการร้องขอจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้เข้ามาตรวจสอบเพื่อทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ ทั้งนี้ เนื่องจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมตามอีเมลที่ เป็นข่าวดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง และจำเป็นต้องใช้บุคคลภายนอกเป็นผู้ตรวจสอบ จึงจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการตรวจสอบได้

ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ทำโดยมติเอกฉันท์ของที่ประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยไม่มีผู้ใดรวมทั้งกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากเครือมติชนทักท้วงหรือคัดค้าน แต่อย่างใด   การพยายามลดความน่าเชื่อถือของประธานคณะอนุกรรมการฯ โดยกล่าวหาว่า ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองบางพรรค ภายหลังเมื่อเครือมติชนไม่เห็นด้วยกับรายงานของคณะอนุกรรมการฯ  จึงน่าจะเป็นการแสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อมูลที่เครือมติชนใช้ในการลดความน่าเชื่อถือของ ประธานคณะอนุกรรมการฯ นั้น เป็นข้อมูลเก่าที่ปรากฏเป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเครือมติชนก็ทราบอยู่แล้ว

คณะอนุกรรมการฯ ขอชี้แจงว่า การตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ รวมทั้งข่าวสดนั้น ก็มีที่มาเนื่องจาก การบริหารจัดการสื่อมวลชนตามอีเมลที่เป็นปัญหา มีเป้าหมายที่ระดับ “องค์กรสื่อ” เป็นหลัก โดยมี “ตัวบุคคล” เป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากอีเมลดังกล่าวได้อ้างถึงหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเป็นหลัก โดยมีชื่อของผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์อยู่ในวงเล็บ ดังที่เขียนว่า “ไทยรัฐ (พี่โมทย์) มติชน (พี่เปี๊ยก กับ พี่จรัญ) ข่าวสด (พี่ชลิต) เดลินิวส์ (พี่ป๊อป สมหมาย) คม-ชัด-ลึก (คุณโจ้ และปรีชา)”    ดังนั้นแม้ว่า คณะอนุกรรมการฯ จะได้รับแจ้งจากข่าวสดว่า นายชลิตไม่ได้สังกัดข่าวสดก็ตาม เพื่อความรอบคอบในการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการฯ ก็จำต้องตรวจสอบเนื้อหาของข่าวสดควบคู่ไปกับหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับอื่นด้วย   ทั้งนี้ หากไม่พบพฤติกรรมที่อาจมีการละเมิดจริยธรรม ข้อมูลดังกล่าวก็จะไม่ปรากฏในรายงานของคณะอนุกรรมการฯ   อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบกลับพบว่า การนำเสนอข่าวและบทความในข่าวสด น่าจะมีความเอนเอียงมากกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นที่เหลือ ดังที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นไว้ในรายงานแล้ว   

การตรวจสอบพบความเอนเอียงของหนังสือพิมพ์บางฉบับ จึงเป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และไม่ได้เกิดจากการตั้งเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้แก่หนังสือพิมพ์ฉบับ นั้นเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

7. คณะอนุกรรมการฯ เชื่อมโยงข้อมูลการโฆษณากับเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ตามอำเภอใจตนเองหรือไม่?

คณะอนุกรรมการฯ เห็นด้วยกับเครือมติชนฯ ว่า การเลือกลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ใดย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ลงโฆษณา เอง และการรับโฆษณาไม่ควรจะมีผลต่อการตัดสินใจในการนำเสนอข่าวของกองบรรณาธิการ ของหนังสือพิมพ์นั้น ดังนั้น การตั้งข้อสังเกตในรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ในประเด็นการลงโฆษณาของพรรคการเมือง จึงเป็นข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการบริหารจัดการสื่ออย่างเป็นระบบ โดยเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ  โดยไม่ได้มีข้อความใดที่ระบุว่า การรับโฆษณาจะทำให้หนังสือพิมพ์นั้นต้องนำเสนอข่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อ พรรคการเมืองที่ลงโฆษณาเสมอไป   

อนึ่ง แม้หนังสือพิมพ์บางฉบับมักจะอ้างว่า ได้แยกฝ่ายการตลาดออกจากกองบรรณาธิการแล้ว ทำให้การหารายได้จากโฆษณาและกิจกรรมอื่นๆ ไม่มีผลต่อการนำเสนอเนื้อหาของกองบรรณาธิการก็ตาม    ในความเป็นจริง  กลับเป็นที่ทราบกันในวงกว้างว่า มีหนังสือพิมพ์บางเครือเคยจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ (event) ให้แก่กระทรวงบางแห่ง โดยได้รับค่าตอบแทนมูลค่าสูงหลายสิบล้านบาท  หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ในเครือนั้นก็ได้นำเสนอข่าวการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นข่าวสำคัญ และบทความต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ก็ได้แสดงความชื่นชมและสนับสนุนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ กระทรวงนั้นอย่างไม่สมเหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ในเครือ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก

8.คณะอนุกรรมการฯ สรุปผลการตรวจสอบผิดพลาด  เพราะไม่เข้าใจหลักการจัดทำหนังสือพิมพ์หรือไม่?

อนุกรรมการฯ 2 ใน 5 คนเป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ จึงไม่ใช่ผู้ที่ไม่เข้าใจหลักการจัดทำหนังสือพิมพ์เลยอย่างแน่นอน  อย่างไรก็ตาม หลักการทำหนังสือพิมพ์ที่ดีตามมาตรฐานของคณะอนุกรรมการฯ อาจไม่ใช่หลักการเดียวกันกับที่ใช้ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ   ทั้งนี้ หลักการที่คณะอนุกรรมการฯ ยึดถือ รวมถึงหลักสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติดังต่อ ไปนี้     

ประการที่หนึ่ง แม้ประเด็นข่าวของหนังสือพิมพ์จะเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็ ตาม  การนำเสนอข่าวนั้น ก็ยังจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการพาดหัวข่าว การบรรยายประกอบภาพ และการเขียนเนื้อหาของข่าว จะต้องไม่มีการสอดแทรกความคิดเห็นของตนลงไป  ส่วนการนำเสนอข้อมูลและภาพที่ได้มาจากภายนอก ก็ควรบอกแหล่งที่มาของข้อมูลและภาพนั้นให้ผู้อ่านได้ทราบอย่างชัดเจน

ประการที่สอง แม้หนังสือพิมพ์ควรเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม การเป็นปากเสียงของหนังสือพิมพ์นั้น ไม่ได้หมายความว่า หนังสือพิมพ์จะสามารถลำเอียงเลือกข้างในการนำเสนอข่าวสารโดยไม่พยายามให้ ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย   

ประการที่สาม  แม้การเขียนบทความจะเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน  ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้เขียนจะพึงเขียนบทความได้โดยอิสระ โดยไม่อยู่ภายใต้ของข้อบังคับด้านจริยธรรม  การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลใดในบทความจึงต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่ผู้นั้นด้วย ไม่ใช่มุ่งโจมตีด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ในประเด็นเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องไม่ใช่การแสดงความชื่นชมอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่เคยตั้งคำถามในเชิงตรวจสอบ หรือไปจนถึงขั้นเป็นปากเสียงแก้ต่างให้แทนในแทบทุกเรื่อง  

ในการวิเคราะห์ว่า หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างเป็นธรรมหรือมีความเอนเอียงหรือ ไม่นั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดในด้านองค์ประกอบ ต่างๆ ทั้งการพาดหัวข่าว การลงภาพข่าวและคำบรรยายประกอบภาพ เนื้อหาของข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น  ส่วนการรายงานผลในเชิงปริมาณเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ใช้ในการสรุปผลการวิ เคราะห์ ซึ่งอยู่บนฐานของการใช้ข้อมูลจำนวนมากเท่านั้น  

คณะอนุกรรมการฯ หวังว่า คำชี้แจงข้างต้นนี้จะช่วยให้สาธารณชนเข้าใจถึงแนวทางการทำงานของคณะอนุกรรม การฯ ที่ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อทำความจริงในกรณีที่เป็นปัญหานี้ให้ปรากฏต่อสาธารณะ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปาฐกถานิธิ เอียวศรีวงศ์: สังคมไทยไม่ใช่สังคมนักอ่าน

Posted: 25 Aug 2011 12:22 AM PDT

นิธิ เอียวศรีวงศ์ปาฐกถาหัวข้อ ‘นิสัยการอ่านของคนไทยในมิติด้านวัฒนธรรม’ ในการประชุมวิชาการประจำปี Thailand Conference on READING 2011 จัดโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) วันที่ 25 ส.ค. 2554

โดยอ.นิธิระบุว่า สังคมไทยเดิมนั้นไม่ใช้ตัวอักษร วรรณกรรมของไทยจึงพิ่งเกิดมาในสมัยหลังๆ มานี้เอง และมีจำนวนเทียบไม่ได้เลยกับวรรณกรรมมุขปาฐะ คนไทยจึง “อ่าน” ผ่านการ “ฟัง” และส่งต่อความรู้โดยอาศัย “ความจำ”

เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคของการมีหนังสือบันทึกเรื่องราวและความรู้ลงเป็นตัวอักษร ซึ่งต้องอ่านโดยการตีความ แต่คนไทยก็ยัง “อ่าน” ในรูปแบบเดิมคือ อ่านแล้วจำ การศึกษาไทยยังมีส่วนสำคัญต่อการผลิตคนที่อ่านออกเขียนได้แต่ไม่ใช่นักอ่าน เพราะยังคงสอนความจริงเพียงมิติเดียว ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ การส่งเสริมการอ่าน ก็ดูจะไร้ความหมาย
รายละเอียดดังนี้.....

สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ใช้ตัวอักษร หรือตัวหนังสือมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรป จีน อินเดีย หรือญี่ปุ่น ในระบบการปกครองไทยสมัยโบราณแทบจะไม่มีเอกสารราชการสักเท่าไหร่ เราอาจจะอธิบายว่าเอกสารถูกพม่าเผา แต่ถ้าดูตั้งแต่แต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็จะพบว่ามีเอกสารราชการน้อยมาก คือส่วนกลางแทบไม่ส่งหนังสือถึงหัวเมืองเลยในปีหนึ่งๆ บางเมืองส่งเพียงฉบับหรือสองฉบับเท่านั้น

ดังนั้นหนังสือไม่ใช่สื่อกลางในการบริหารราชการแผ่นดิน การค้าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ตัวอักษรในหลายแห่งทั่วโลก แต่ในเมืองไทย มีใช้ตัวหนังสือในการทำสัญญาน้อยมาก ที่มีมากที่สุดคือหนังสือสัญญาค้าทาสเท่านั้นเอง นอกจากนั้นก็มีเอกสารเกี่ยวกับคดีที่ปรากฏในศาลเรื่องเช่าที่นา โคกระบือเป็นต้น ซึ่งพบว่าไม่มีหนังสือสัญญาการเช่าระหว่างกัน แม้แต่การยืมเงิน

ที่มีการใช้หนังสือมากอีกอย่างหนึ่งก็คือเอกสารด้านศาสนา ซึ่งส่วนหนึ่งลอกมาจากภาษาบาลีทั้งหลาย มีส่วนที่แปลบ้าง และที่ใช่ตัวหนังสือมากจริงๆ คือหนังสือเทศก์ ที่พระเตรียมเทศก์ให้กับอุบาสกอุบาสิกา

แม้ว่าวรรณกรรมไทยที่เหลือตกทอดเป็นลายลักษณ์อักษรจะมีอยู่พอสมควร แต่วรรณรกรรมในส่วนที่ไม่เหลือตกทอดเพราะเป็นวรรณกรรมมุขปาฐกหายนั้นไปมากกว่าที่เหลืออยู่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า

สิ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้จะเขียนเป็นตัวหนังสือ แต่วิธีเสพวรรณกรรมของคนโบราณไม่ได้เสพโดยการอ่าน แต่เขาเสพโดยการฟัง เช่ยประเพณีของเจ้านายสมัยโบราณ มีคนขับเสภากล่อมพระบรรทม ดังปรากฏในหนังสือกฎหมายตราสามดวง
พูดอีกนัยหนึ่งคือวิธีการอ่านให้ฟังเป็นหัวใจสำคัญของวรรณกรรมไทย เป็นการอ่านทำนองเสนาะ เป็นการขับ หัวใจสำคัญของวรรณกรรมต่างๆ ของไทยไม่ใช่มาจากการอ่าน แต่เป็นการฟังอันเป็นเหตุผลที่พบว่าวรรณกรรมที่เป็นความเรียงมีไม่ค่อยมากนัก เพิ่งเริ่มมีมากขึ้นนิดหน่อยเมื่อตอนต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง เหตุผลงายๆ คือความเรียงเป็นหนังสือสำหรับการอ่านมากกว่าการฟัง เพราะความเรียงต้องการการคิดใคร่ครวญบางอย่างไปกับการอ่านด้วย

ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ เราติดต่อกับจีนมาไม่รู้กี่ศตวรรษแล้ว แต่นำเอาเครื่องพิมพ์มาจากฝรั่งมาใช้ในสมัยถึงรัชกาลที่ 4 แต่ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยลอกเลียนเอาแทคโนโลยีการพิมพ์ของจีนมาใช้เลย แต่ถ้าเราเป็นชาตินักอ่านจริง อย่างไรเราก็หนีไม่พ้นเอาเทคโนโลยีการพิมพ์ของจีนมาใช้ เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่รับเอาเทคโนโลยีการพิมพ์ของจีนมาใช้ก่อนที่จะมีระบยบการพิมพ์แบบฝรั่ง

การอ่านในสังคมไทยจึงมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เราฟังมากกว่าอ่าน และถึงแม่ว่าจะมีหลักฐานในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ว่ามีมิชชันนารีที่เข้ามาเปิดคลินิกสอนศาสนาและรักษาผู้ป่วยด้วยใรกรุงเทพฯ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 และเขาขยันพอที่จะเก็บรวบรวมสถิติว่ามีคนไข้อ่านออกเขียนได้กี่เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่าเขาทำสถิตืคือคนไทยอ่านออกเขียนได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ถ้าดูจากตัวเลขนี้จะพบว่าคนไทยอ่านออกเขียนได้พอสมควสร แต่ความจริงเมื่อเขาไม่ได้ใช้การอ่านในชีวิตประจำวันก็น่าสงสัยว่าการอ่านออกเขียนได้นั้นทำหน้าที่ได้จริงหรือไม่ เพราะอาจจะไม่ได้อ่านคล่องอย่างที่เราอ่านกันทุกวันนี้

ในสังคมที่มีการอ่านน้อย และมีการเขียนน้อย คำถามคือเราสามารถส่งทอดความรู้ ความงาม ความจริงกันอย่างไร คำตอบที่ง่ายที่สุดคือส่งทอดผ่านความจำ ซึ่งก็ไม่ใช่องประหลาดอะไร เพราะในระบบการศึกษาแบบโบราณเกือบทุกแห่งก็ส่งทอดความจริง ความงามเหล่านี้ผ่านความจำทั้งนั้น

ขณะเดียวกันพุทธศาสนา (รวมถึงศาสนาอื่นๆ ด้วย) ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาในสังคมโบราณ ก็เสนอว่าความจริงมีอย่างเดียว ทำให้ไม่ต้องใช้สมองวิเคราะห์อะไรมากนัก การศึกษาสังคมโบราณทุกแห่งจึงสอนให้จำ เพราะมีความจริงให้จำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ที่ผมพูดมาถึงตรงนี้เพื่อเตือนให้ระลึกว่า เวลาที่เราพูดถึงการอ่านในสังคมปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าเราไม่ได้ให้ความหมายเดียวกับที่ คนโบราณอ่านหนังสือดังๆ ให้ฟัง ดังที่เราจะเห็นว่าคนเก่าคนแก่จำนวยไม่น้อยที่อ่านแล้วต้องทำเสียงในลำคอ หรือทำปากขมุบขมิบ เพราะการรับความหมายต้องผ่านเสียงก่อนที่จะเข้าไปสู่สมอง
ที่เราเรียกว่าอ่านในปัจจุบันหมายถึงอะไร

ประการแรกสุดผมอยากเตือนว่าแม้ภาษาไทยมีตัวสะกด แต่เราไม่ได้สะกด เราทำเหมือนกับที่คนจีนหรือญี่ปุ่นทำกับภาษาของเขา คือเรามองคำทั้งคำเป็นสัญลักษณ์ คำว่าอ่าน คือการซึมเข้ามาโดยที่เราไมได้ไปสะกดมัน เราจำตัวหนังสือเป็นคำๆ หรือเป็นวลีหรือเป็นประโยคด้วยซ้ำเหมือนว่าเป็นสัญลักษณ์

การที่เราสามารถอ่านได้รวดเร็ว อ่านข้ามไปเวลาอ่านเอกสารบางอย่าง ความสามารถที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้เป็นโอกาสที้จะทำให้เราสามารถคิดวิเคราะห์ความหมายจากตัวสัญลักษณ์เหล่านี้ไปได้พร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างทีเป็นรูปธรรม เช่น เวลาที่เห็นป้ายห้ามเข้า ซึ่งมีวงกลมและขีดตรงกลาง เราคิดต่ออีกหลายอย่าง ว่าเราจะอ้อมไป หรือเข้าทางไหนได้ หรือมีตำรวจแถวนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ฝ่าเข้าไป เป็นต้น

เมื่อเห็นสัญลักษณ์เราจะคิดวิเคราะห์และรับความรู้สึกด้วย เวลาที่เราอ่านหนังสือเราสามารถรับความรู้สึกได้อย่างรวดเร็ว การกระทำทั้งหมดนี้เรียกว่า ‘การอ่าน’ หัวใจของการทำสิ่งเหล่านี้ได้คือ ความเพลิดเพลิน ผมรู้สึกว่าในประเทศไทยเวลาพูดถึงการอ่าน เราเครียดจังเลย เราพูดถึงประโยชน์ของการอ่านว่าจะมีการพัฒนาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่พูดว่ามันสนุกดี ซึ่งนี่เป็นหัวใจของการอ่าน และการสนุกดีจากการอ่านได้ ก็จะต้องอ่านแบบที่กล่าวมา แต่ถ้าจะสนุกจากการอ่านสุนทรภู่ ต้องฟัง คือผ่านสิ่งอื่นมากกว่าผ่านตัวเอกสารโดยตรง

ความสามารถในการวิเคราะห์นี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการอ่านในความหมายแบบใหม่ ซึ่งถ้าเอาความสามารถนี้ไปอ่านหนังสือโบราณ คุณจะรู้สึกว่ามีอะไรขัดๆ อยูตลอดเวลา เพราะคนโบราณไม่ได้เขียนด้วยความคิดว่าผู้เสพจะอ่านแบบปัจจุบัน เขาจึงไม่สนใจที่จะรักษาตรรกะ จากเหตุไปหาผลได้เพื่อที่จะทำให้คนอ่านคล้อยตาม หรือมองเห็นเหตุผบต่างๆ นานาได้

ดังนั้นการที่เราอ่านแบบปัจจุบัน ถ้าเรากลับไปอ่านสุนทรภู่ ก็จะพบว่ามีอะไรขาด หรือกระโดดไป จะไม่ได้รสชาดของการอ่านแบบโบราณ

การอ่านของไทยหลังการพิมพ์แบบตะวันตก

ทั้งหมดที่พูดคือ การอ่านก่อนที่จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์และการอ่านหลังการพิมพ์

การอ่านในประเทศไทยหลังจากได้รับการพิมพ์แบบตะวันตกคือการศึกษาแผนใหม่ เกิดโรงเรียนแบบใหม่ แต่โรงเรียนแบบใหม่ก็ยังคงรักษาจุดมุ่งหมาย หรือวิธีการศึกษาแบบโบราณ นั่นคือมุ่งที่จะให้ผู้เรียนจดจำอะไรบางอย่างที่เราเชื่อว่ามันเป็นความจริงเพียงอย่างเดียว เช่นโลกกลม หรือการแบ่งภูมิภาคต่างๆ ของโลก

กล่าวได้ว่า การศึกษาของไทยในสมัยโบราณความจริงเอามาจากบาลี ขณะที่การศึกษาสมัยใหม่เอาความจริงมาจากภาษาอังกฤษ แต่ยังใช้วิธีการเดียวกันคือ ‘จำ’ สิ่งที่เชื่อว่าเป็น ‘ความจริง’ เอาไว้ ดังนั้น ในแบบเรียนภาษาไทยจะค่อนข้างสั้นและสรุปรวมสิ่งที่ถือว่าเป็นความจริงแท้แน่นอนสำหรับเด็กอ่านและจดจำได้

ผมคิดว่าวิชาวิทยาศาสตร์เป็นตัวอย่างที่เห็นชัด ตำราวิชากวิทยาศาสตร์ของไทยเทียบกับอเมริกันจะเห็นว่าแตกต่างชัดเจน เพราะตำราของอเมริกันหนามาก เพราะเขาจะอธิบายว่าความจริงเป็นแบบนี้ทำไมเป็นแบบนี้ และคนที่ไม่คิดแบบนี้เขาคิดอย่างไร เพราะการเรียนไม่ใช่การเรียนเฉพาะตัวข้อเท็จจริง แต่เป็นการเรียนวิธีคิด วิธีคิดที่ผิดจึงให้การศึกษาและให้ความรู้กับตัวเราสูงมาก สรุปง่ายๆ คือวิชาวิทยาศาสตร์จึงเต็มไปด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับการค้นหาคงวามจริง ไม่ใช่ตัวความจริงที่ยัดไว้ในแบบเรียนเป็นหลัก

ถึงวันนี้การศึกษาของไทยก็ยังไม่ต่างจากโบราณ คือสรุปความจริงให้กระทัดรัด ง่ายต่อการจดจำ ในสภาพการเรียนแบบนี้ คำถามที่ชัดคือ อ่านทำไม เพราะไม่รู้จะอ่านสิ่งที่นอกเหนือจากตำราไปทำไมเนื่องจากเป็นความจริงมิติอื่น ที่ไม่ปรากฏในตำรา

ที่เราบอกว่านักเรียนนักศึกษาควรอ่านให้มาก เพราะความจริงมันสลับซับซ้อนมากกว่า ถ้าเราคิดว่าความจริงเป็นของง่ายๆ ตามตำรา ก็ไม่รู้จะอ่านหนังสือไปทำไม และการเขียนแบบนี้จึงทำให้ครูบังคับให้เด็กอ่านแบบเคร่งเครียดมาก ผมไม่แน่ใจว่ารุ่นหลังนี้ให้อ่านแบบที่ผมเคยเจอหรือเปล่า คือถูกบังคับให้อ่านตั้งแต่ปกรอง คำนำของกระทรวงฯ ถ้าคุณสอนให้เด็กอ่านแบบนี้เขาจะไม่อ่านอีกเลยตลอดชีวิต เพราะมันน่าเบื่อ เหนื่อย ไม่ทำให้รู้สึกว่าการอ่านทำให้เกิดความเพลิดเพลิน และอ่านแล้วคิดไม่เหมือนกันได้ เอามาแลกเปลี่ยนกันได้ เหมือนการดูละครทีวี เรานับถือตัวหนังสือเกินไป ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษาก่อนการพิมพ์ คือชินกับการฟังข้อเท็จจริงมากกว่าการอ่านข้อเท็จจริง

เหตุดังนั้นสงคมไทยในแง่ความสำเร็จของรัฐไทยก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการให้คนอ่านออกเขียนได้มาก แต่เป็นชาติที่มีคนอ่านหรือซื้อหนังสืออ่านน้อยมาก เคยมีหัวข้อถามในเว็บไซต์แห่งหนึ่งเปรียบเทียบระหว่างคนไทยกับคนพม่า ว่าใครเป็นนักอ่านมากกว่ากัน ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือพม่ากับไทยไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนักในสมัยโบราณ พบว่าผู้แสดงความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝรั่งที่ได้คลุกคลีกับทั้งคนไทยและคนพม่าเป็นเวลานาน ลงคะแนนว่าคนพม่าโดยพื้นฐานแล้วมีความเป็นนักอ่านมากกว่าคนไทย เพียงแต่ระยะหลังไม่มีอะไรให้อ่าน

เราไม่ใช่ชาตินักอ่าน และตราบเท่าที่เราไม่ทำสองอย่างคือทำให้การอ่านเป็นการหาความสุขในชีวิตอย่างหนึ่ง อ่านสิ่งที่เขาอยากจะอ่าน ไม่จำเป็นต้องอ่านสิ่งที่เป็นประโยชน์ และประการที่สองคือ การอ่านผูกพันอยู่กับการศึกษาตราบเท่าที่เราไม่ได้ปฏิรูปการศึกษามากไปกว่าการแจกแท็บเบล็ตหรือโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา ทำให้เด็กพบว่าความจริงมองได้หลายชั้น สนุกในการคิดวิเคราะห์ที่แตกต่างจากครูและตำรา ไม่ถูกลงโทษถ้าคิดวิเคราะห์แตกต่างไปจากครูและตำรา ถ้าไม่ทำเช่นนี้ สังคมไทยก็จะไม่ใช่สังคมนักอ่านตลอดไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกฟ้องทุกข้อหา! คดีผู้หญิงยิง ฮ.แต่ยังไม่ปล่อยตัว หลังขังไปแล้ว15เดือน

Posted: 24 Aug 2011 09:22 PM PDT

ศาลจังหวัดพระโขนงยกฟ้องทุกข้อหา นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์, สุรชัย นิลโสภา ,ชาตรี ศรีจินดา ผู้ต้องหาคดีผู้หญิงยิง ฮ.หลังขังฟรี 15 เดือน แต่ยังต้องขังต่อรออุทธรณ์ โดยยังไม่มีใครยื่นประกันตัว

25 ส.ค.54 รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลจังหวัดพระโขนงได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องนางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือจ๋า พร้อมกับพวกอีก 2 ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิด กฎหมาย และร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบ ครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม โดยศาลได้มีคำสั่งให้ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา แต่ศาลยังสั่งให้ขังตัวไว้ในระหว่างรออุทธรณ์

รายงานจากศาลพระโขนงยังมีความคืบหน้าต่อว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับทนายจำเลยว่า วงเงินประกันอยู่ที่350,000บาท /ผู้ต้องขัง1รายสำหรับคดีนี้ ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่ได้มีครอบครัว ญาติมิตรหรือคณะบุคคลใดที่ได้แสดงเจตจำนงค์ว่าจะเข้ายื่นประกันตัว นางนฤมลและพวก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สนใจติดตามคดีดังกล่าวจำนวนมาก ประมาณ 70 คน จนแน่นห้องพิจารณาคดี เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ข้อมูลคดีนี้จนเรียกกันติดปากว่า “คดีผู้หญิงยิง ฮ.” วันที่ 10 เม.ย.53 

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 3 คน ได้แก่ นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือจ๋า วัย 50 ปีอาชีพค้าขาย พร้อมกับพวกอีก 2 คนเป็นจำเลยคือ สุรชัย นิลโสภา อายุ 33 ปี อาชีพขับแท็กซี่ และ ชาตรี ศรีจินดา อายุ 28 ปี อาชีพทำสวน ทั้งหมดถูกจับกุมที่บ้านพักในวันที่ 3 พ.ค.53 พร้อมของกลางที่เจ้าหน้าที่DSIแจ้งว่าพบอยู่ในท่อระบายน้ำในบริเวณบ้าน   ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบ อนุญาตให้ได้ และร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิด กฎหมาย และร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบ ครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งที่ผ่านมากว่า 15 เดือน จำเลยทั้ง3คนไม่เคยได้รับสิทธิในการประกันตัว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เขื่อนแก่งเสือเต้น : ฟังเสียงจากคนต้นน้ำ และคนในพื้นที่น้ำท่วม

Posted: 24 Aug 2011 09:21 PM PDT

สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างปีนี้ รุนแรงไม่น้อยไปกว่าปีก่อนๆ เช่นเดียวกับทุกปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือเสียงเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ข้อถกเถียงของฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านการสร้างเขื่อน ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายปี การพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อนอย่าง วุฒิชัย ศรีคำภา ผู้ประสานงานเยาวชนกลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ และวินัย ตาจา ผู้ประสานงานเครือข่ายที่ดิน จ.แพร่ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น สำเริง เกตุนิล เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ภาคเหนือตอนล่าง จ.อุตรดิตถ์ สะท้อนว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงกับสาเหตุ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น